[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 10:41:05



หัวข้อ: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 10:41:05

(http://www.gmwebsite.com/upload/phuttawong.net/webboard/DSC08119(1).gif)

พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
ท่านพระโพธินันทมุนี  (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต)
ศิษย์ใกล้ชิดท่าน
(ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม)ได้บันทึกไว้

ผู้เขียน(webmaster) ขอกราบอารธนาธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ด้วยเล็งเห็นว่าธรรมข้อคิดต่างๆของท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระอริยสงฆ์ แฝงไว้ด้วยแก่นธรรมที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะปฏิจจสมุปบาท, อริยสัจ และขันธ์๕ แต่เป็นไปในลักษณะปริศนาธรรม สั้น กระชับ มีคุณประโยชน์มากแก่ผู้ที่มีพื้นฐานทางธรรมอย่างแท้จริง แต่ยากเกินเข้าใจสําหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานในธรรม จึงได้พยายามอธิบายความหมายตามความเห็นตามความเข้าใจของผู้เขียน เพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย อันอาจมีข้อผิดพลาดสื่อผิดจุดมุ่งหมายบางประการ ก็ต้องกราบขออภัยต่อท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล, ท่านผู้บันทึก และท่านผู้รวบรวมและเรียบเรียงหนังสือนี้ด้วย, เพราะผู้เขียนกระทําด้วยกุศลจิต และท่านนักปฏิบัติทั้งหลายต้องโยนิโสมนสิการด้วยตัวเองอีก จึงจักเกิดประโยชน์บริบูรณ์ ในคําสอนของท่านที่ได้บันทึกไว้เพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง

         เนื่องด้วยแต่เดิมมี "หลวงปู่ฝากไว้" อยู่ใน Internet แล้ว  แต่ในปัจจุบันไม่สามารถใช้งานได้  ผู้เขียน(webmaster)เล็งเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าถ่ายทอดบันทึกไว้ให้กว้างขวาง เพื่อให้นักปฏิบัติตลอดจนอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้ากันได้  เพราะข้อคิดข้อธรรมใน "หลวงปู่ฝากไว้"ของพระอริยเจ้า หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่บันทึกถ่ายทอดมาโดยพระโพธินันทะมุนี (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต)นั้นเป็นข้อคิดข้อธรรม ตลอดจนปริศนาธรรมที่สั้นกระชับแต่กินความหมายอันลึกซึ้ง ซึ่งถ้ากระทำการโยนิโสมนสิการด้วยความเพียรแล้ว จะทำให้เข้าใจในสภาวธรรม ตลอดจนแนวการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี  สมควรที่จะเผยแผ่แก่ผู้ที่สนใจ  จึงได้บันทึกตามต้นฉบับในหนังสือ "อตุโล ไม่มีใดเทียม"  โดยแบ่งเป็นฉบับย่อยๆเพื่อความสะดวกในการเข้าเว็บ  

[และมีคำอธิบายในวงเล็บสีม่วงท้ายข้อธรรมในบางข้อของท่าน โดยผู้เขียนเอง(webmaster) เพื่อให้ผู้อ่านได้เน้นพิจารณา เพื่อให้เห็นสภาวธรรมบางประการที่ท่านได้กล่าวสอนฝากไว้ได้ชัดง่ายขึ้นบ้าง]
    
พนมพร


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 10:42:39
ธรรมะปฏิสันถาร

         เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมหลวงปู่เป็นการส่วนพระองค์  เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงถามถึงสุขภาพอนามัยและการอยู่สำราญแห่งอริยาบถของหลวงปู่  ตลอดถึงทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่แล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชปุจฉาว่า "หลวงปู่  การละกิเลสนั้นควรละกิเลสอะไรก่อน" ฯ

         หลวงปู่ถวายวิสัชนา

         "กิเลสทั้งหมดเกิดรวมที่จิต  ให้เพ่งมองดูที่จิต  อันไหนเกิดก่อนให้ละอันนั้นก่อน"

[Webmaster-เป็นการปฏิบัติจิตตานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ กล่าวคือ จิตหรือสติเห็นอาการของจิต(เจตสิก)ดัง ราคะ โทสะ โมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ฯ. หรือจิตเห็นเวทนา กล่าวคือสติเห็นอันใดแล้วก็ละในสิ่งนั้นๆกล่าวคืออุเบกขาเสียนั่นเอง]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 10:46:04

หลวงปู่ไม่ฝืนสังขาร

         ทุกครั้งที่ล้นเกล้าฯ  ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมหลวงปู่  หลังจากเสร็จพระราชกรณียกิจในการเยี่ยมแล้ว  เมื่อจะเสด็จกลับทรงมีพระราชดำรัสคำสุดท้ายว่า "ขออาราธนาหลวงปู่ให้ดำรงค์ขันธ์อยู่เกินร้อยปี  เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป  หลวงปู่รับได้ไหม"ฯ

         ทั้งๆที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม  ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย  หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร  จึงถวายพระพรว่า

         "อาตมาภาพรับไม่ได้หรอก  แล้วแต่สังขารจะเป็นไปของเขาเอง."

[Webmaster-แสดงสภาวธรรมหรือธรรมชาติของสังขารทั้งปวง  แม้แต่ในสังขารกายของพระอริยเจ้า]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 10:49:23

ปรารภธรรมะเรื่องอริยสัจสี่

        พระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าถวายสักการะหลวงปู่ในวันเข้าพรรษาปี ๒๔๙๙  หลังฟังโอวาทและข้อธรรมะอันลึกซึ้งข้ออื่นๆ  แล้วหลวงปู่สรุปใจความอริยสัจสี่ให้ฟังว่า

จิตที่ส่งออกนอก  เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก  เป็นทุกข์
 
จิตเห็นจิต   เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต  เป็นนิโรธ


[Webmaster-ข้อธรรมแสดงหลักธรรมอริยสัจ ๔  รวมทั้งหลักปฏิบัติต่อจิต ทั้งเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ อย่างแจ่มแจ้ง]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 10:53:25

สิ่งที่อยู่เหนือคำพูด

         อุบาสกผู้คงแก่เรียนผู้หนึ่ง  สนทนากับหลวงปู่ว่า  "กระผมเชื่อว่า  แม้ในปัจจุบันพระผู้ปฏิบัติถึงขั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็คงมีอยู่ไม่น้อย  เหตุใดท่านเหล่านั้นจึงไม่แสดงตนให้ปรากฎ  เพื่อให้ผู้สนใจปฏิบัติทราบว่าท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมนั้นแล้ว  เขาจะได้มีกำลังใจและความหวัง  เพื่อเป็นพลังเร่งความเพียรในทางปฏิบัติให้เต็มที่" ฯ

         หลวงปู่กล่าวว่า

         "ผู้ที่เขาตรัสรู้แล้ว  เขาไม่พูดว่าเขารู้แล้วซึ่งอะไร  เพราะสิ่งนั้นมันอยู่เหนือคำพูดทั้งหมด"

[Webmaster-เป็นปัจจัตตัง   รู้ได้เฉพาะตน   และการรู้ ล้วนเป็นเพียงรู้เพื่อนิพพิทาญาณ เพื่อการปล่อยวางเป็นสำคัญ]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 10:55:51

หลวงปู่เตือนพระผู้ประมาท

         ภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท  คอยนับจำนวนศีลของตนแต่ในตำรา  คือมีความพอใจภูมิใจกับจำนวนศีลที่มีอยู่ในพระคำภีร์  ว่า ตนนั้นมีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ

         "ส่วนที่ตั้งใจปฏิบัติให้ได้นั้น  จะมีสักกี่ข้อ"

[Webmaster-กล่าวแสดง การพ้นทุกข์ว่าไม่ใช่ด้วยการถือศีลแต่ฝ่ายเดียว  ต้องประกอบด้วยการมีจิตที่มี สติ สมาธิที่หมายถึงตั้งใจมั่น เพื่อให้บรรลุถึงปัญญา]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 10:57:41

จริง  แต่ไม่จริง

         ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน  ทำสมาธิภาวนา  เมื่อปรากฎผลออกมาในแบบต่างๆ  ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา เช่น  เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง   ปรากฎในอวัยวะของตนเองบ้าง   ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข  หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก  มีจำนวนมากที่ถามว่า  ภาวนาแล้วก็เห็น นรก  สรรรค์  วิมาน เทวดา  หรือไม่ก็เป็นองค์พระพุทธรูปปรากฎอยู่ในตัวเรา  สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ ฯ

         หลวงปู่บอกว่า

         "ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง  แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"

[Webmaster-หมายเตือนเรื่องนิมิต ที่ไปยึดหมาย อันจะก่อให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสเป็นที่สุด,  หลวงปู่กล่าวดังนี้เพราะ ผู้ที่เห็นนั้น เขาก็อาจเห็นจริงๆตามความรู้สึกนึกคิดหรือสังขารที่เกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของสัญญาเขา  เพียงแต่ว่าสิ่งที่เห็นนั้น ไม่ได้เป็นจริงตามนั้น   อ่านรายละเอียดความเป็นไปได้ในบทนิมิตและภวังค์]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 10:59:42

แนะวิธีละนิมิต

         ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า  นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกยังเป็นของภายนอกทั้งหมด  จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้  ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น  ไม่ก้าวต่อไปอีก  จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้มานานหรืออย่างไร  จึงหลีกไม่พ้น  นั่งภาวนาทีไร  พอจิตจะรวมสงบก็เข้าถึงภาวะนั้นทันที  หลวงปู่โปรดได้แนะนำวิธีละนิมิตด้วยว่า  ทำอย่างไรจึงจะได้ผล

         หลวงปู่ตอบว่า

        เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี  น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก  แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า  วิธีละได้ง่ายๆก็คือ  อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น   "ให้ดูผู้เห็น  แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง"

[Webmaster-ผู้เห็น หมายถึงจิตหรือสติ จึงหมายถึงกลับมาอยู่กับสติเสียนั่นเอง,   ส่วนผู้ที่เห็นนิมิตอยู่เสมอๆเนื่องจากการปฏิบัติสั่งสมดังนั้นมานานโดยไม่รู้คือตามหรือเชื่อในนิมิต จนเป็นสังขารองค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาทธรรมนั่นเอง จึงมักเกิดขึ้นเองเสมอๆ แม้โดยไม่ได้เจตนา]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 11:03:13

เป็นของภายนอก

         เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ หลวงปู่อยู่ในงานประจำปี วัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพฯ   มีแม่ชีพราหมณ์หลายคนจากวิทยาลัยครูพากันเข้าไปถาม  ทำนองรายงานผลของการปฏิบัติวิปัสสนาให้หลวงปู่ฟังว่า  เขานั่งวิปัสสนาจิตสงบแล้ว  เห็นองค์พระพุทธรูปในหัวใจของเขา  บางคนว่า ได้เห็นสวรรค์เห็นวิมานของตนเองบ้าง  บางคนว่าเห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถานบ้าง  พร้อมทั้งภูมิใจว่าเขาวาสนาดี  ทำวิปัสสนาได้สำเร็จ

         หลวงปู่อธิบายว่า

         "สิ่งที่ปรากฎเห็นทั้งหมดนั้น  ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้นจะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก."

[Webmaster-เป็นเพียงสังขารขึ้นมา ไม่ใช่ของเที่ยงแท้ที่นำพาให้พ้นทุกข์ หรือดับภพชาติ  จึงยังไม่เป็นสาระที่ไปยึดหมาย  สิ่งที่เห็นยังเป็นเพียงนิมิตอยู่เท่านั้นเอง   และพึงแยกแยะหรือพิจารณาให้ดีว่ามาปฏิบัติสมถสมาธิ(สมาธิ)แต่เพียงอย่างเดียว อันอาจเสียการ,   หรือปฏิบัติสมถวิปัสสนา อันดีงาม]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากŭ
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 11:39:26

หยุดเพื่อรู้

         เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๗ มีพระสงฆ์หลายรูป ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติได้เข้ากราบหลวงปู่เพื่อรับโอวาทและรับฟังการแนะแนวทางธรรมะที่จะพากันออกเผยแผ่ธรรมทูตครั้งแรก  หลวงปู่แนะวิธีอธิบายธรรมะขั้นปรมัตถ์  ทั้งสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนเอง ให้เข้าถึงสัจจธรรมนั้นด้วย  ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ให้คิดด้วยว่า

         คิดเท่าไรก็ไม่รู้    ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้    แต่ต้องอาศัยความคิดนั้นแหละจึงรู้

[Webmaster-คิดทั้ง ๓ ต้องจำแนกแตกความให้ถูกต้อง  แต่ละคิดมีความหมายดังนี้    คิดนึกปรุงแต่ง(หมายถึงการคิดฟุ้งซ่านเท่า่นั้น)เท่าไรก็ย่อมไม่รู้จักนิโรธ-การดับทุกข์    ต่อเมื่อหยุดการคิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง อันยังให้ไม่เกิดเวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาและทุกข์ในที่สุด นั่นแหละจึงจักรู้หรือพบนิโรธหรือความสุขสงบ    แต่ก็ต้องอาศัยการคิดพิจารณาธรรมคือการโยนิโสมนสิการ(ธรรมวิจยะ)เสียก่อนจึงจักรู้เข้าใจด้วยตนเองจึงเกิดกำลังของปัญญา ในโทษของการคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากŭ
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 11:42:23

ทั้งส่งเสริมทั้งทำลาย

         กาลครั้งนั้น  หลวงปู่ได้ให้โอวาทเตือนพระธรรมทูตครั้งแรกมีใจความตอนหนึ่งว่า ฯ

         "ท่านทั้งหลาย การที่จะออกจาริกไปเพื่อเผยแผ่ ประกาศพระศาสนานั้น เป็นได้ทั้งส่งเสริมศาสนาและทำลายพระศาสนา ที่ว่าเช่นนี้เพราะองค์ธรรมทูตนั่นแหละตัวสำคัญ คือ เมื่อไปแล้วประพฤติตัวเหมาะสม มีสมณสัญญาจริยาวัตร งดงามตามสมณวิสัยผู้ที่ได้พบเห็น หากยังไม่เลื่อมใส ก็จะเกิดความเลื่อมใสขึ้น  ส่วนผู้ที่เลื่อมใสแล้ว  ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสมากขึ้นเข้าไปอีกฯ  ส่วนองค์ที่มีความประพฤติและวางตัวตรงกันข้ามนี้  ย่อมทำลายผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้ถอยศรัทธาลง สำหรับผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสเลย ก็ยิ่งถอยห่างออกไปอีกฯ  จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้พร้อมไปด้วยความรู้และความประพฤติ  ไม่ประมาท  สอนเขาอย่างไร  ตนเองต้องทำอย่างนั้นให้ได้เป็นตัวอย่างด้วย"


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากŭ
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 11:45:20

เมื่อถึงปรมัตถ์แล้วไม่ต้องการ

         ก่อนเข้าพรรษาปี ๒๔๘๖ หลวงพ่อเถาะ ซึ่งเป็นญาติของหลวงปู่ และบวชเมื่อวัยชราแล้ว  ได้ออกธุดงค์ติดตามท่านอาจารย์เทสก์  ท่านอาจารย์สาม ไปอยู่จังหวัดพังงาหลายปี  กลับมาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่  เพื่อศึกษาข้อปฏิบัติทางกัมมัฎฐานต่อไปอีกจนเป็นที่พอใจแล้ว  หลวงพ่อเถาะพูดตามประสาความคุ้นเคยว่า  หลวงปู่สร้างโบสถ์  ศาลาได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้  คงได้บุญได้กุศลอย่างใหญ่โตทีเดียว ฯ

         หลวงปู่กล่าวว่า

         "ที่เราสร้างนี่ก็สร้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  ประโยชน์สำหรับโลก  สำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้นแหละ  ถ้าพูดถึงเอาบุญเราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้."

[Webmaster- เพราะการดับทุกข์แห่งตน  คืออานิสงส์ ผลของบุญอันสูงสุดแล้ว ไม่มีอานิสงส์ของสิ่งใดสูงส่งไปกว่านี้อีกต่อไปแล้ว  กิจอันควรทำยิ่งได้ทำแล้วโดยบริบูรณ์]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากŭ
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:01:45

ทุกข์เพราะอะไร

         สุภาพสตรีวัยเลยกลางคนผู้หนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ พรรณาถึงฐานะของตนว่าอยู่ในฐานะที่ดี  ไม่เคยขาดแคลนสิ่งใดเลย  มาเสียใจกับลูกชายที่สอนไม่ได้  ไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี  ตกอยู่ภายใต้อำนาจอบายมุขทุกอย่าง  ทำลายทรัพย์สมบัติและจิตใจของพ่อแม่จนเหลือที่จะทนได้  ขอความกรุณาหลวงปู่ให้ช่วยแนะอุบายบรรเทาทุกข์  และแก้ไขให้ลูกชายพ้นจากอบายมุขนั้นด้วย ฯ

        หลวงปู่ก็แนะนำสั่งสอนไปตามเรื่องนั้นๆ  ตลอดถึงแนะอุบายทำใจให้สงบ   รู้จักปล่อยวางให้เป็น ฯ

        เมื่อสุภาพสตรีนั้นกลับไปแล้ว  หลวงปู่ปรารภธรรมะให้ฟังว่า

        "คนเราสมัยนี้  เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด."

[Webmaster-ความคิด นี้ท่านหมายถึงความคิดชนิดฟุ้งซ่าน หรือความคิดนึกปรุงแต่งไปต่างๆนาๆ   มิได้หมายความถึงความคิดทั้งมวล แบบยึดถือว่าความว่างอย่างผิดๆ]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากŭ
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:03:54

อุทานธรรม

         หลวงปู่ยังกล่าวธรรมกถาต่อมาอีกว่า  สมบัติพัสถานทั้งหลายมันมีประจำอยู่ในโลกมาแล้วอย่างสมบูรณ์  ผู้ที่ขาดปัญญาและไร้ความสามารถ  ก็ไม่อาจจะแสวงหาเพื่อยึดครองสมบัติเหล่านั้นได้  ย่อมครองตนอยู่ด้วยความฝืดเคืองและลำบากขันธ์   ส่วนผู้ที่มีปัญญาความสามารถ ย่อมแสวงหายึดสมบัติของโลกไว้ได้อย่างมากมายอำนวยความสะดวกสบายแก่ตนได้ทุกกรณีฯ   ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านพยายามดำเนินตนเพื่อออกจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด  ไปสู่ภาวะแห่งความไม่มีอะไรเลย  เพราะว่า

         "ในทางโลก  มี สิ่งที่ มี   ส่วนในทางธรรม มี สิ่งที่ ไม่มี"


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากŭ
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:07:19



อุทานธรรมต่อมา

         เมื่อแยกพันธะแห่งความเกี่ยวเนื่องจิตกับสรรพสิ่งทั้งปวงได้แล้ว  จิตก็จะหมดพันธะกับเรื่องโลก  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  จะดีหรือเลว  มันขึ้นอยู่กับจิตที่ออกไปปรุงแต่งทั้งนั้น  แล้วจิตที่ขาดปัญญาย่อมเข้าใจผิด  เมื่อเข้าใจผิดก็หลง ก็หลงอยู่ภายใต้อำนาจของเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจ  อันโทษทัณฑ์ทางกายอาจมีคนอื่นช่วยปลดปล่อยได้บ้าง  ส่วนโทษทางใจ มีกิเลสตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้นั้น ต้องรู้จักปลดปล่อยตนด้วยตนเอง

         "พระอริยเจ้าทั้งหลาย  ท่านพ้นจากโทษทั้งสองทางความทุกข์จึงครอบงำไม่ได้"


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากŭ
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:09:40



อุทานธรรมข้อต่อมา

         เมื่อบุคคลปลงผม หนวด เคราออกหมดแล้ว  และได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เรียบร้อยแล้ว  ก็นับว่าเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเป็นภิกษุได้  แต่ยังเป็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น  ต่อเมื่อเขาสามารถปลงสิ่งที่รกรุงรังทางใจ  อันได้แก่อารมณ์ตกตํ่าทางใจได้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุในภายในได้ฯ

         ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว  สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อยเช่นเหา  ย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด   จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดจากการปรุงแต่งแล้ว  ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น  ผู้มีปกติเป็นอยู่อย่างนี้ควรเรียกได้ว่า "เป็นภิกษุแท้"


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:16:09

พุทโธเป็นอย่างไร

         หลวงปู่รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่กรุงเทพฯ เมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๑  ในช่วงสนทนาธรรม  ญาติโยมสงสัยว่าพุทโธ เป็นอย่างไร  หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า

         เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก  ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด  ความรู้ที่เราเรียนกับตำหรับตำรา   หรือจากครูบาอาจารย์  อย่าเอามายุ่งเลย  ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้  รู้จากจิตของเรานั่นแหละ  จิตของเราสงบเราจะรู้เอง  ต้องภาวนาให้มากๆเข้า  เวลามันจะเป็น  จะเป็นของมันเอง  ความรู้อะไรๆให้มันออกมาจากจิตของเรา

         ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกมาจากจิตนั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ

         ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว  อย่าส่งจิตออกนอก  ให้จิตอยู่ในจิต  แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง  ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ  พุทโธอยู่นั่นแหละ  แล้วพุทโธ  เราจะได้รู้จักว่า  พุทโธ  นั้นเป็นอย่างไร  แล้วรู้เอง...เท่านั้นแหละ  ไม่มีอะไรมากมาย.

[Webmaster-จิตอยู่ในจิต หมายถึง จิตอยู่กับสติ,   ส่วนคำบริกรรมพุทโธ หรือสัมมาอรหัง หรือการตามลมหายใจ หรือยุบหนอพองหนอ หรือการเคลื่อนไหวร่างกายหรือส่วนหนึ่งของร่างกาย ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงนั้นล้วนด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือใช้เป็นอารมณ์ คือสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องล่อคือเครื่องกำหนดของจิต ให้จิตไม่ดำริ(คิด)พล่านออกไปปรุงแต่งต่างๆนา จนเป็นสมาธิตั้งใจมั่นในกิจที่ปฏิบัตินั้นๆ]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:17:39




(:88:) (:88:) (:88:)


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝาก&
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:18:19


อยากได้ของดี

         เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๒๖ คณะแม่บ้านมหาดไทย โดยมีคุณหญิงจวบ จิรโรจน์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้นำคณะแม่บ้านมหาดไทยไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ทางภาคอีสาน  ได้ถือโอกาสแวะมนัสการหลวงปู่ เมื่อเวลา ๑๘.๐๐ น.ฯ

         หลังจากกราบมนัสการและถามถึงอาการสุขสบายของหลวงปู่และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากหลวงปู่แล้ว  เห็นว่าหลวงปู่ไม่ค่อยสบาย  ก็รีบออกมา  แต่ยังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง  ถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า  ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะ ฯ

         หลวงปู่จึงเจริญพรว่า  ของดีก็ต้องภาวนาเอาจึงจะได้  เมื่อภาวนาแล้ว  ใจก็สงบ  กายวาจาก็สงบ  แล้วกายก็ดี  วาจาใจก็ดี  เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง

        ดิฉันมีภาระมาก  ไม่มีเวลาจะนั่งภาวนา  งานราชการเดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน  มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้คะ ฯ

        หลวงปู่จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า

         "ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ  ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา"


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:22:20

มี  แต่ไม่เอา

         ปี ๒๕๒๒ หลวงปู่ไปพักผ่อน และเยี่ยมอาจารย์สมชายที่วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี  ขณะเดียวกันก็มีพระเถระอาวุโสรูปหนึ่งจากกรุงเทพฯ  คือพระธรรมวราลังการ วัดบุปผารามเจ้าคณะภาคทางภาคใต้ไปอยู่ฝึกกัมมัฏฐานเมื่อวัยชราแล้ว  เพราะมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียว ฯ

         เมื่อท่านทราบว่าหลวงปู่เป็นพระฝ่ายกัมมัฏฐานอยู่แล้ว  ท่านจึงสนใจและศึกษาถามถึงผลของการปฏิบัติ  ทำนองสนทนาธรรมกันเป็นเวลานาน  และกล่าวถึงภาระของท่านว่า มัวแต่ศึกษาและบริหารงานการคณะสงฆ์มาตลอดวัยชรา  แล้วก็สนทนาข้อกัมมัฏฐานกับหลวงปู่อยู่เป็นเวลานาน  ลงท้ายถามหลวงปู่สั้นๆว่า  ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม ฯ

หลวงปู่ตอบเร็วว่า

         "มี  แต่ไม่เอา"

[Webmaster-หมายถึงมีความโกรธเกิดขึ้นในระดับของขันธ์ ๕ ธรรมดาในลำดับแรก  แล้วไม่เอาไปคิดนึกปรุงแต่งต่อซึ่งย่อมไม่มีสังขารเกิดขึ้นใหม่อีก  ดังนั้นเวทนาก็่เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้จึงระงับไปเช่นกัน  เมื่อดับเวทนา(ที่หมายถึง ไม่ปรุงแต่งให้เกิดเวทนาขึ้นอีก)เสียแล้ว  ตัณหาและอุปปาทานความเป็นตัวตนของตนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทธรรม,  ความโกรธจะไปอาศัยเหตุเกิดกับสิ่งใดได้ จึงต้องดับไปอย่างรวดเร็ว  ไม่เกิดอาการ เกิดดับๆๆๆ จนต่อเนื่องแลเป็นสายเดียวกันคือยืดยาวนาน อันเป็นทุกข์]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:30:43




รู้ให้พร้อม

         ระหว่างที่หลวงปู่พักรักษา  ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ  ในรอบดึกมีจำนวนหลายท่านด้วยกัน  เขาเหล่านั้นมีความสงสัยและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง  โดยที่สังเกตว่า  บางวันพอเวลาดึกสงัดตีหนึ่งผ่านไปแล้ว  ได้ยินหลวงปู่อธิบายธรรมะนานประมาณ ๑๐ กว่านาที  แล้วสวดยถาให้พร  ทำเหมือนหนึ่งมีผู้มารับฟังอยู่เฉพาะหน้าเป็นจำนวนมาก ครั้นจะถามพฤติการที่หลวงปู่ทำเช่นนั้นก็ไม่กล้าถาม  ต่อเมื่อหลวงปู่ทำเช่นนั้นหลายๆครั้ง  ก็ทนสงสัยต่อไปไม่ได้  จึงพากันถามหลวงปู่ตามลักษณาการนั้นฯ

        หลวงปู่จึงบอกว่า

        "ความสงสัยและคำถามเหล่านี้  มันไม่ใช่เป็นแนวทางปฏิบัติธรรม"


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:33:41



ประหยัดคำพูด

         คณะปฏิบัติธรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์หลายท่าน  มีร้อยตำรวจเอกบุญชัย สุคนธมัต อัยการจังหวัด เป็นหัวหน้า  มากราบหลวงปู่ เพื่อฟังข้อปฏิบัติธรรมแลเรียนถามถึงการปฏิบัติยิ่งๆขึ้นไปอีก  ซึ่งส่วนมากก็เคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์แต่ละองค์มาแล้ว  และแสดงแนวทางปฏิบัติไม่ค่อยจะตรงกัน  เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยยิ่งขึ้น  จึงขอกราบเรียนหลวงปู่โปรดช่วยแนะแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง  และทำได้ง่ายที่สุด  เพราะหาเวลาปฏิบัติธรรมได้ยาก  หากได้วิธีที่ง่ายๆ แล้วก็จะเป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง ฯ

         หลวงปู่บอกว่า

         "ให้ดูจิต  ที่จิต"

[Webmaster- จิต นี้มีความหมายถึงจิตตสังขารหรือเจตสิกคืออาการของจิต เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ. และอาจหมายรวมถึงเวทนาอีกด้วยก็ได้,   จึงมิได้มีความหมายถึง จิตที่เป็นดวง เป็นแสงเป็นโอภาส  หรือวิญญาณในลักษณะเจตภูต หรือเป็นนิมิตใดๆทั้งสิ้น]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:41:42

ง่าย  แต่ทำได้ยาก

         คณะของคุณดวงพร ธารีฉัตร จากสถานีวิทยุทหารอากาศ ๐๑ บางซื่อ นำโดยคุณอาคม ทันนิเทศ  เดินทางไปถวายผ้าป่า  และกราบนมัสการครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆทางอีสาน  ได้แวะกราบมนัสการหลวงปู่ หลังจากถวายผ้าป่า  ถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่หลวงปู่  และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากท่านแล้ว  ต่างคนต่างก็ออกไปตลาดบ้าง  พักผ่อนตามอัธยาศัยบ้าง

         มีอยุ่กลุ่มหนึ่งประมาณสี่ห้าคน  เข้าไปกราบหลวงปู่แนะนำวิธีปฏิบัติง่ายๆ  เพื่อแก้ไขความทุกข์ความกลุ้มใจ  ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ  ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ผลเร็วที่สุด ฯ

         หลวงปู่บอกว่า

         "อย่าส่งจิตออกนอก."

[Webmaster-อย่าส่งจิตออกนอก ไปคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านคือไปเสวยอารมณ์(รูป เสียง กลิ่น ฯ.)ภายนอก   หรือให้พิจารณาอยู่ในกาย, เวทนา, จิต, ธรรม ในสติปัฏฐาน ๔

ข้อควรระวัง พิจารณาอยู่ในกายหรือภายในกาย ไม่ใช่หมายถึง "จิตส่งใน" ที่จิตเคยเป็นสมาธิหรือฌาน แล้วคอยสอดส่องหรือจับสังเกตุแต่กายหรือจิตของตนเอง ด้วยความเคยชินสั่งสมจากการเสพรสอันสุขสบายจากอำนาจของฌานหรือความสงบจากสมาธิ และมักขาดการวิปัสสนา   อย่างนี้จัดเป็นอันตรายอย่างยิ่งในภายหลัง ที่ย่อมสั่งสมจนเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทธรรมในที่สุด จึงกล้าแข็งเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียด ที่แก้ไขได้ยากมาก]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 12:49:01



ทิ้งเสีย

         สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เป็นชนชั้นครูบาอาจารย์  เมื่อฟังธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่จบแล้ว  ก็อยากทราบถึงวิธีไว้ทุกข์ที่ถูกต้องตามธรรมเนียม  เขาจึงพูดปรารภต่อไปอีกว่า  คนสมัยนี้ไว้ทุกข์กันไม่ค่อยจะถูกต้องและตรงกัน  ทั้งๆที่สมัย ร.๖ ท่านทำไว้เป็นแบบอย่างดีอยู่แล้ว เช่น เมื่อมีญาติพี่น้องหรือญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมลง ก็ให้ไว้ทุกข์ ๗ วันบ้าง ๕๐ วันบ้าง  ๑๐๐ วันบ้าง  แต่ปรากฎว่าคนทุกวันนี้ทำอะไรรู้สึกว่าลักลั่นกันไม่เป็นระเบียบ  ดิฉันจึงขอเรียนถามหลวงปู่ว่า  การไว้ทุกข์ที่ถูกต้อง  ควรไว้อย่างไรเจ้าคะ ฯ

         หลวงปู่บอกว่า

         "ทุกข์  ต้องกำหนดรู้   เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย    ไปไว้มันทำไม."

[Webmaster-หลวงปู่สอนกิจญาณในอริยสัจ๔,  อ่านรายละเอียดของกิจอันพึงกระทำในแต่ละอริยสัจได้ในบท อริยสัจ ๔]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 22:42:34




จริง ตามความเป็นจริง

         สุภาพสตรีชาวจีนผู้หนึ่ง  ถวายสักการะแด่หลวงปู่แล้ว  เขากราบเรียนถามว่า  ดิฉันจะต้องไปอยู่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรมย์เพื่อทำมาค้าขายอยู่ใกล้ญาติทางโน้น  ทีนี้ทางญาติๆก็เสนอแนะว่า  ควรจะขายของชนิดนั้นบ้าง  ชนิดนี้บ้าง  ตามแต่เขาจะเห็นดีว่าอะไรขายได้ดี   ดิฉันยังมีความกังวลใจตัดสินใจเอาเองไม่ได้ว่าจะเลือกขายของอะไร  จึงให้หลวงปู่ช่วยแนะนำด้วยว่า  จะให้ดิฉันขายอะไรจึงจะดีเจ้าคะ ฯ

         "ขายอะไรก็ดีทั้งนั้นแหละ  ถ้ามีคนซื้อ."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 22:44:22




ไม่ได้ตั้งจุดหมาย

         เมื่อจันทร์ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๒  คณะนายทหารประมาณ ๑๐ กว่านายเข้านมัสการหลวงปู่เมื่อเวลาคํ่าแล้ว  ก็จะเดินทางต่อเข้ากรุงเทพ ฯ  ในคณะนายทหารเหล่านั้น  มียศพลโทสองท่าน  หลังสนทนากับหลวงปู่เป็นเวลาพอสมควร  ก็ถอดเอาพระเครื่องจากคอของแต่ละท่านรวมใส่ในพานถวายให้หลวงปู่ช่วยอธิษฐานแผ่เมตตาพลังจิตให้  ท่านก็อนุโลมตามประสงค์  แล้วก็มอบคืนไป  นายพลท่านหนึ่งถามว่า  ทราบว่ามีเหรียญหลวงปู่ออกมาหลายรุ่นแล้ว  อยากถามหลวงปู่ว่ามีรุ่นไหนดังบ้าง ฯ

         หลวงปู่ตอบว่า

         "ไม่มีดัง"


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 22:46:12


คนละเรื่อง

         มีชายหนุ่มจากต่างจังหวัดไกลสามสี่คนเข้าไปหาหลวงปู่  ขณะที่ท่านพักผ่อนอยู่ที่มุขศาลาการเปรียญ  ดูอากัปกิริยาของเขาแล้วคงคุ้นเคยกับพระนักเลงองค์ใดองค์หนึ่งมาก่อนแล้ว  สังเกตุจากการนั่งการพูด  เขานั่งตามสบาย  พูดตามถนัด  ยิ่งกว่านั้นเขาคงเข้าใจว่าหลวงปู่นี้คงสนใจกับเครื่องรางของขลังอย่างดี  เขาพูดถึงชื่อเกจิอาจารย์อื่นๆ  ว่าให้ของดีของวิเศษแก่ตนหลายอย่าง  ในที่สุดก็งัดเอาของมาอวดกันเองต่อหน้าหลวงปู่  คนหนึ่งมีหมูเขี้ยวตัน  คนหนึ่งมีเขี้ยวเสือ  อีกคนมีนอแรด  ต่างคนต่างอวดอ้างว่าของตนดีวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้  มีคนหนึ่งเอ่ยปากว่า  หลวงปู่ฮะ  อย่างไหนแน่ดีวิเศษกว่ากันฮะ ฯ

        หลวงปู่ก็อารมณ์รื่นเริงเป็นพิเศษยิ้มๆ แล้วว่า

        "ไม่มีดี  ไม่มีวิเศษอะไรหรอก  เป็นของสัตว์เดียรัจฉานเหมือนกัน."

[Webmaster-ท่านกล่าวอย่างตรงไปตรงมาเป็นที่สุด เพราะต่างล้วนแล้วแต่เป็นศรัทธาอย่างอธิโมกข์ ด้วยกำลังของสีลัพพตุปาทาน หรือทิฏฐุปาทาน]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 25 พฤษภาคม 2553 22:49:13
สาธุครับ

หลวงปู่ดูลย์นี่ส่วนมากผมจะได้อ่านประวัติท่านซะมากกว่า

หนังสือประวัติพระส่วนมากจะกล่าวถึง การฝึกตน การต่อสู้กิเลส ฯลฯ

มีบ้างที่กล่าวถึงธรรมะ แต่ก็ไม่ค่อยได้ลงเนื้อหาเท่าไหร่

ขออนุโมทนากับหัวข้อดี ๆ ครับ


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 22:49:35


ปรารภธรรมะให้ฟัง

         คราวหนึ่ง  หลวงปู่กล่าวปรารภธรรมะให้ฟังว่า  เราเคยตั้งสัจจะจะอ่านพระไตรปิฎกจนจบ  ในพรรษาที่ ๒๔๙๕  เพื่อสำรวจดูว่าจุดจบของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน  ที่สุดแห่งสัจจธรรม  หรือที่สุดของทุกข์นั้น  อยู่ตรงไหน   พระพุทธเจ้าทรงกล่าวสรุปไว้ว่าอย่างไร  ครั้นอ่านไป  ตริตรองไปกระทั่งถึงจบ  ก็ไม่เห็นตรงไหนที่มีสัมผัสอันลึกซึ้งถึงจิตของเราให้ตัดสินใจได้ว่า  นี่คือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์  ที่สุดแห่งมรรคผล  หรือที่เรียกว่านิพพาน ฯ

         มีอยู่ตอนหนึ่ง  คือ  ครั้งนั้นพระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ  พระพุทธเจ้าตรัสเชิงสนทนาธรรมว่า  สารีบุตร  สีผิวของเธอผ่องใสยิ่งนัก  วรรณะของเธอหมดจดผุดผ่องยิ่งนัก  อะไรเป็นวิหารธรรมของเธอ  พระสารีบุตรกราบทูลว่า "ความว่างเปล่าเป็นวิหารธรรมของข้าพระองค์"  (สุญฺญตา) ฯ

         ก็เห็นมีเพียงแค่นี้แหละ  ที่มาสัมผัสจิตของเรา.


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 22:53:45



ปรารภธรรมะให้ฟัง

         จบพระไตรปิฎกหมดแล้ว  จำพระธรรมได้มากมาย  พูดเก่งอธิบายได้อย่างซาบซึ้ง  มีคนเคารพนับถือมาก  ทำการก่อสร้างวัตถุไว้ได้อย่างมากมาย  หรือสามารถอธิบายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างละเอียดแค่ไหนก็ตาม  "ถ้ายังประมาทอยู่  ก็นับว่ายังไม่ได้รสชาติของพระศาสนาแต่ประการใดเลย  เพราะสิ่งเหล่านี้ยังเป็นของภายนอกทั้งนั้น  เมื่อพูดถึงประโยชน์  ก็เป็นประโยชน์ภายนอกคือเป็นไปเพื่อสงเคราะห์สังคม  เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น  เพื่อสงเคราะห์อนุชนรุ่นหลัง  หรือเป็นสัญญลักษณ์ของศาสนวัตถุ  ส่วนประโยชน์ของตนที่แท้นั้น  คือ  ความพ้นทุกข์   "จะพ้นทุกข์ได้ต่อเมื่อรู้ จิตหนึ่ง."

[Webmaster- รู้จิตหนึ่ง จิตที่มีความหมายถึงจิตในเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนา]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 22:57:51

คิดไม่ถึง

         สำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง  ซึ่งเป็นสาขาของหลวงปู่นี่นเอง  อยู่ด้วยกันเฉพาะพระประมาณห้าหกรูป  อยากจะเคร่งครัดเป็นพิเศษ  ถึงขั้นสมาทานไม่พูดจากันตลอดพรรษา  คือ  ไม่ให้มีเสียงเป็นคำพูดออกมาจากปากใคร  ยกเว้นการสวดมนต์ทำวัตร  หรือสวดปาติโมกข์เท่านั้น  ครั้นออกพรรษาแล้ว  พากันไปกราบหลวงปู่  เล่าถึงการปฏิบัติอย่างเคร่งของพวกตนว่า  นอกจากปฏิบัติข้อวัตรอย่างอื่นแล้วสามารถหยุดพูดได้ตลอดพรรษาด้วย ฯ

         หลวงปู่ฟังฟังแล้วยิ้มหน่อยหนึ่ง พูดว่า

         "ดีเหมือนกัน  เมื่อไม่พูดก็ไม่มีโทษทางวาจา  แต่ที่ว่าหยุดพูดได้นั้นเป็นไปไม่ได้หรอก  นอกจากพระอริยบุคคลผู้เข้านิโรธสมาบัติชั้นละเอียดดับสัญญาเวทนาเท่านั้นแหละที่ไม่พูดได้  นอกนั้นพูดทั้งวันทั้งคืน  ยิ่งพวกที่ตั้งปฏิญาณว่าจะไม่พูดนั่นแหละยิ่งพูดมากกว่าคนอื่น   เพียงแต่ไม่ออกเสียงให้คนอื่นได้ยินเท่านั้น."

[Webmaster-กล่าวคือ แม้ไม่ได้พูดคือเป็นวจีสังขารออกมาเป็นคำพูด,  แต่ก็พูดอย่างฟุ้งซ่านอยู่ในใจอยู่เสมอๆเนืองๆด้วยมโนสังขารหรือจิตตสังขารนั่นเอง]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝาก&
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 23:02:36



อย่าตั้งใจไว้ผิด

         นอกจากหลวงปู่จะนำปรัชญาธรรมที่ออกจากจิตของท่านมาสอนแล้ว  โดยที่ท่านอ่านพระไตรปิฎกจบมาแล้ว  ตรงไหนที่ท่านเห็นว่าสำคัญและเป็นการเตือนใจในทางปฏิบัติให้ตรงและลัดที่สุด  ท่านก็จะยกมากล่าวเตือนอยู่เสมอ เช่น หลวงปู่ยกพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า

         "ภิกษุทั้งหลาย  พรหมจรรย์นี้  เราประพฤติ  มิใช่เพื่อหลอกลวงคน  มิใช่เพื่อให้คนมานิยมนับถือ  มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและสรรเสริญ  มิใช่อานิสงส์เป็นเจ้าลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ฯ  ที่แท้พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติ เพื่อสังวระ-ความสำรวม   เพื่อปหานะ-ความละ   เพื่อวิราคะ-ความหายกำหนัดยินดี   และเพื่อนิโรธะ-ความดับทุกข์   ผู้ปฏิบัติและนักบวชต้องมุ่งตามแนวทางนี้   นอกจากแนวทางนี้แล้วผิดทั้งหมด."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 23:05:50



พระพุทธพจน์

         หลวงปูว่า  ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ตราบนั้นย่อมมีทิฎฐิ  และเมื่อมีทิฎฐิแล้วยากที่จะเห็นตรงกัน  เมื่อไม่เห็นตรงกัน ก็เป็นเหตุให้โต้เถียงวิวาทกันอยู่รํ่าไป   สำหรับพระอริยเจ้าผู้เข้าถึงธรรมแล้วก็ไม่มีอะไรสำหรับมาโต้แย้งกับใคร  ใครมีทิฎฐิอย่างไร ก็ปล่อยเป็นเรื่องของเขาไป  ดังพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

         ภิกษุทั้งหลาย  สิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่ามีอยู่ แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามีอยู่   สิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่าไม่มี แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี   ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่โต้แย้งเถียงกับโลก  แต่โลกย่อมวิวาทโต้เถียงกับเรา (ปุปผสูตร)


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 23:08:39


นักปฏิบัติลังเล

         ปัจจุบันนี้  ศาสนิกชนผู้สนใจในการปฏิบัติฝ่ายวิปัสสนา  มีความงงงวยสงสัยอย่างยิ่งในแนวทางปฏิบัติ  โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นสนใจเนื่องจากคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาแนะแนวปฏิบัติไม่ตรงกัน  ยิ่งไปกว่านั้นแทนที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจโดยความเป็นธรรม  ก็กลับทำเหมือนไม่อยากจะยอมรับคณาจารย์อื่น  สำนักอื่น ว่าเป็นการถูกต้อง  หรือถึงขั้นดูหมิ่นสำนักอื่นไปแล้วก็เคยมีไม่น้อย ฯ

         ดังนั้น  เมื่อมีผู้สงสยทำนองนี้มากแลัเรียนถามหลวงปู่อยู่บ่อยๆ  จึงได้ยินหลวงปู่อธิบายให้ฟังอยู่เสมอๆว่า

         "การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น  จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้  เพราะผลมันก็เป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว   ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้นเพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน  จึงต้องมีวัตถุ  สี  แสง  และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ  อรหัง  เป็นต้น  เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน  สงบ  แล้ว คำบริกรรมเหล่านั้นก็หลุดหายไปเอง   แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน  รสเดียวกัน  คือมีวิมุตติเป็นแก่น  มีปัญญาเป็นยิ่ง."

[Webmaster-หลวงปู่ท่านหมายถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ได้แตกแขนงออกเป็นหลายแนวทางการปฏิบัติตามจริตผู้ปฏิบัติ หรือตามสำนักนั้นๆ จึงมีความแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ความจริงแล้ว ล้วนมุ่งสู่จุดหมายเดียวกันคือละความดำริคือคิดพล่านลงไปเสียก่อน,   แต่ก็มิได้หมายถึงการปฏิบัติแบบผิดๆอันย่อมยังให้เกิดโทษอย่างแน่นอน]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 23:11:10



อยู่  ก็อยู่ให้เหนือ

         ผู้ที่เข้านมัสการหลวงปู่ทุกคนและทุกครั้ง  มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  แม้หลวงปู่จะมีอายุใกล้ร้อยปีแล้วก็จริง  แต่ดูผิวพรรณยังผ่องใส  และสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี  แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านตลอดมาก็ยากที่จะได้เห็นท่านแสดงอาการหมองคลํ้า  หรืออิดโรย  หรือหน้านิ่วคิ้วขมวดให้เห็น  ท่านมีปรกติสงบเย็น  เบิกบานอยู่เสมอ  มีอาพาธน้อย  มีอารมณ์ดี  ไม่ตื่นเต้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ไม่เผลอคล้อยตามไปตามคำสรรเสริญ  หรือคำตำหนิติเตียนฯ

         มีอยู่ครั้งหนึ่ง  ท่ามกลางพระเถระฝ่ายวิปัสสนา สนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติกับหลวงปู่ ถึงปรกติจิตที่อยู่เหนือความทุกข์ โดยลักษณาการอย่างไรฯ

        หลวงปู่ว่า

        "การไม่กังวล  การไม่ยึดถือ  นั่นแหละวิหารธรรมของนักปฏิบัติ."   


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 23:16:24


ทำจิตให้สงบได้ยาก

         การปฏิบัติภาวนาสมาธินั้น  จะให้ผลเร็วช้าเท่าเทียมกันเป็นไปไม่ได้  บางคนได้ผลเร็ว  บางคนก็ช้า  หรือยังไม่ได้ผลลิ้มรสแห่งความสงบเลยก็มี  แต่ก็ไม่ควรท้อถอย  ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรทางใจ  ย่อมเป็นบุญกุศลขั้นสูงต่อจากการบริจาคทานรักษาศีล  เคยมีลูกศิษย์จำนวนมากเรียนถามหลวงปู่ว่า  อุตส่าห์พยายามภาวนาสมาธินานมาแล้ว  แต่จิตไม่เคยสงบเลย  แส่ออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย  มีวิธีอื่นใดบ้างที่พอจะปฏิบัติได้ ฯ

         หลวงปู่เคยแนะวิธีอีกอย่างหนึ่งว่า

         "ถึงจิตจะไม่สงบก็ไม่ควรให้มันออกไปไกล  ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้  ดูให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา  หาสาระแก่นสารไม่ได้  เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว  จิตก็จะเกิดความสลดสังเวช  เกิดนิพพิทา   ความหน่าย  คลายกำหนัด  ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน."

[Webmaster- เนื่องจากฌานสมาธิ เป็นอจินไตย ขึ้นอยู่กับจริต การสั่งสม ความเพียร แนวทางปฏิบัติ ฯลฯ.]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 23:20:48



หลักธรรมแท้

         มีอยู่อย่างหนึ่งที่นักปฏิบัติชอบพูดถึง  คือ  ชอบโจษขานกันว่า นั่งภาวนาแล้วเห็นอะไรบ้าง[Webmaster-หมายถึงนิมิตที่ย่อมรวมโอภาสด้วย]  ปรากฎอะไรออกมาบ้าง  หรือไม่ก็ว่า ตนนั่งภาวนามานานแล้วไม่เคยเห็นปรากฎอะไรออกมาบ้างเลย  หรือบางคนก็ว่า ตนได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ  ทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ภาวนาแล้วตนจะได้เห็นสิ่งที่ต้องการเป็นต้น ฯ

         หลวงปู่เคยเตือนว่า  การปรารถนาเช่นนั้นผิดทั้งหมด  เพราะการภาวนานั้นเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมอย่างแท้จริง

         "หลักธรรมที่แท้จริงนั้น  คือ  จิต  ให้กำหนดดูจิต  ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง  เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้ว  นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม."

[Webmaster-จิต ที่หมายถึงเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนา  หรือแม้แต่กายานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนาที่ต่างล้วนอาศัยจิตเช่นกัน]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 23:24:35




มีปรกติไม่แวะเกี่ยว

         อยู่รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่เป็นเวลานานสามสิบกว่าปี  จนถึงวาระสุดท้ายของท่านนั้น  เห็นว่าหลวงปู่มีปฏิปทา ตรงต่อพระธรรมวินัย ตรงต่อการปฏิบัติ เพื่อพ้นทุกข์อย่างเดียว  ไม่แวะเกี่ยวกับวิชาอาคม  ของศักสิทธิ์  หรือสิ่งชวนสงสัยอะไรเลยแม้แต่น้อย  เช่น  มีคนขอให้เป่าหัวให้ ก็ถามว่า เป่าทำไม  มีคนขอให้เจิมรถ ก็ถามเขาว่า เจิมทำไม  มีคนขอให้บอกวันเดือนหรือฤกษ์ดี ก็บอกว่าวันไหนก็ดีทั้งนั้นฯ   หรือเมื่อท่านเคี้ยวหมาก  มีคนขอชานหมากฯ

         หลวงปู่ว่า

         "เอาไปทำไมของสกปรก."

[Webmaster-แสดงให้เห็นสีลัพพตปรามาสในการปฏิบัติหรือยึดถือ]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 23:27:34



ทำโดยกริยา

         บางครั้งอาตมานึกไม่สบายใจ  เกรงว่าตัวเองจะมีบาป  ที่เป็นผู้มีส่วนทำให้หลวงปู่ต้องแวะเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ได้สนใจหรือไม่ถนัดใจครั้งแรก  คือ วันนั้นหลวงปู่ไปร่วมงานเปิดพิพิธภัณฑ์บริขารท่านอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุธาวาส สกลนคร  มีพระเถระวิปัสสนามากประชาชนก็มาก  เขาเหล่านั้นจึงถือโอกาสเข้าหาครูบาอาจารย์ทั้งหลายเพื่อกราบเพื่อขอ  จึงมีหลายคนที่มาขอให้หลวงปู่เป่าหัว  เมื่อเห็นท่านเฉยอยู่ จึงขอร้องท่านว่า  หลวงปู่เป่าให้เขาให้แล้วๆไป ท่านจึงเป่าให้  ต่อมาเมื่อเสียไม่ได้ก็เจิมรถให้เขา  ทนอ้อนวอนไม่ได้ก็ให้เขาทำเหรียญ และเข้าพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ฯ

         แต่ก็มีความสบายใจอย่างยิ่งเมื่อฟังคำหลวงปู่ว่าฯ

         "การกระทำของเราในสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงกริยาภายนอกที่เป็นไปในสังคม  หาใช่เป็นกริยาที่นำไปสู่ภพ ภูมิ หรือมรรคผลนิพพานแต่ประการใดไม่."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 23:34:01




ปรารภธรรมะให้ฟัง

         คำสอนทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น  เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง  คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะกิเลสมีมากมาย  แต่ทางดับทุกข์ได้มีทางเดียว พระนิพพาน  การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก  หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ทันในชาตินี้   แล้วจะต้องหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อที่จะพบธรรมอันเดียวกันนี้  ดังนั้น  เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว  รีบปฏิบัติให้พ้นเสีย  มิฉนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป  เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูกลืม  ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่กองทุกข์สิ้นกาลนาน.

[Webmaster-จิต ที่หมายถึงเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนา  หรือแม้แต่กายานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนาที่ต่างล้วนอาศัยจิตเช่นกัน]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 พฤษภาคม 2553 23:40:07



ปรารภธรรมะให้ฟัง

         มิใช่ครั้งเดียวเท่านั้นที่หลวงปู่เปรียบเทียบธรรมะให้ฟัง  มีอยู่อีกครั้งหนึ่ง  หลวงปู่ว่า

         ปัญญาภายนอกคือปัญญาสมมติ  ไม่ทำให้จิตแจ้งในพระนิพพานได้  ต้องอาศัยปัญญาอริยมรรคจึงเข้าถึงพระนิพพานได้  ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์เช่น ไอสไตน์ มีความรู้มาก มีความสามารถมาก  แยกปรมาณูที่เล็กที่สุด จนเข้าถึงมิติที่ ๔ แล้ว  แต่ไอสไตน์ไม่รู้จักนิพพาน  จึงเข้าพระนิพพานไม่ได้  "จิตที่แจ้งในอริยมรรคเท่านั้นจึงเป็นไปเพื่อการตรัสรู้จริง  ตรัสรู้ยิ่ง  ตรัสรู้พร้อม  เป็นไปเพื่อการดับทุกข์  เป็นไปเพื่อนิพพาน."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 10:29:59




วิธีระงับดับทุกข์แบบหลวงปู่

         ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐  โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์   กำลังครอบงำข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยอย่างหนัก  คือ  เสื่อมลาภ  เสื่อมยศ  ถูกนินทา  และทุกข์  แน่นอน  ความทุกข์โศกนี้อันนี้ย่อมปกคลุมถึงบุตรภรรยาด้วย

         จึงมีอยู่วันหนึ่ง  คุณหญิงคุณนายหลายท่านได้ไปมนัสการหลวงปู่  พรรณนาถึงทุกข์โศกที่กำลังได้รับ  เพื่อให้หลวงปู่ได้แนะวิธีหรือช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ท่านจะเมตตาฯ  หลวงปู่กล่าวว่า

         "บุคคลไม่ควรเศร้าโศกอาลัยถึงสิ่งนอกกายทั้งหลายที่มันผ่านพ้นไปแล้ว  มันหมดไปแล้ว  เพราะสิ่งเหล่านั้นมันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้องโดยสมบูรณ์ที่สุดแล้ว."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 10:36:51



เมื่อกล่าวถึงสัจจธรรมแล้ว  ย่อมลงสู่กระแสเดียวกัน

         มีท่านผู้คงแก่เรียนหลายท่านชอบถามว่า  คำกล่าวหรือเทศน์ของหลวงปู่ดูคล้ายนิกายเซ็น  หรือคล้ายมาจากสูตรเว่ยหล่างเป็นต้น  อาตมาเรียนถามหลวงปู่ก็หลายครั้ง  ในที่สุดท่านกล่าวอย่างเป็นกลางว่า

         สัจจธรรมทั้งหมดมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว  พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจจธรรมนั้นแล้ว  ก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก  เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน  หยาบบ้าง  ประณีตบ้าง  พระองค์จึงเปลืองคำสอนไว้มากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์   เมื่อมีนักปราชญ์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อจะอธิบายสัจจธรรมนั้นนำมาตีแผ่เผยแจ้งแก่ผู้มุ่งสัจจธรรมด้วยกัน  เราย่อมต้องอาศัยแนวทางในสัจจธรรมนั้น ที่ตนเองไตร่ตรองเห็นแล้วว่าถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดนำเผยแผ่ออกไปอีก โดยไม่คำนึงถึงคำพูด หรือไม่ได้ยึดติดในอักขระพยัญชนะตัวใดเลยแม้แต่น้อยนิดเดียว.


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 10:39:09



ละเอียด

         หลวงพ่อเบธ วัดป่าโคกหม่อน  ได้เข้าสนทนาธรรมถึงการปฏิบัติทางสมาธิภาวนา เล่าถึงผลการปฏิบัติขั้นต่อๆไปว่าได้บำเพ็ญสมาธิภาวนามานานให้จิตเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้เป็นเวลานานๆก็ได้  ครั้นถอยจากสมาธิออกมา  บางทีก็เกิดความรู้สึกเอิบอิ่มอยู่เป็นเวลานาน  บางทีก็เกิดความสว่างไสว เข้าใจสรรพางค์กายได้ครบถ้วน  หรือมีอะไรต้องปฏิบัติต่อไปอีก

         หลวงปู่ว่า

         "อาศัยพลังอัปปนาสมาธินั่นแหละ  มาตรวจสอบจิต  แล้วปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมด  อย่าให้เหลืออยู่."

[Webmaster-คืออาศัยสมาธินั่นแหละเป็นกำลัง  แล้วนำมาตรวจสอบจิตหรือการเจริญวิปัสสนานั่นเองเป็นสาระสำคัญ  ก็เพื่อให้เกิดปัญญาญาณคือนิพพิทาญาณเพื่อการปล่อยวาง]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 10:44:55


ว่าง

         ในสมัยต่อมา หลวงพ่อเบธ พร้อมด้วยพระสหธรรมิกอีกสองรูป และมีคฤหัสถ์หลายคนด้วย  เข้านมัสการหลวงปู่ฯ

         หลังจากหลวงปู่ได้แนะนำข้อปฏิบัติแก่ผู้ที่เข้ามาใหม่แล้ว  หลวงพ่อเบธถามถึงข้อปฏิบัติที่หลวงปู่แนะเมื่อคราวที่แล้ว  ว่าการปล่อยวางอารมณ์นั้น ทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น  ไม่อาจให้อยู่ได้เป็นเวลานานฯ

         หลวงปู่ว่า

         "แม้ที่ว่าปล่อยวางอารมณ์ได้ชั่วขณะหนึ่งนั้น  ถ้าสังเกตุจิตไม่ดีหรือสติไม่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว  ก็อาจเป็นไปได้ว่าละจากอารมณ์หยาบไปอยู่กับอารมณ์ละเอียดก็ได้  จึงต้องหยุดความคิดทั้งปวงเสียแล้วปล่อยจิตให้ตั้งอยู่บนความไม่มีอะไรเลย."

[หมายเหตุ Webmaster - การ"ละจากอารมณ์หยาบไปอยู่กับอารมณ์ละเอียด"  เป็นสิ่งที่ควรสังวรระวังอย่างมาก  เพราะนักปฏิบัติจะไปยึดความสงบ ความสบาย ความสุข อันเกิดจากการปฏิบัติ แทนอารมณ์หยาบเดิมๆ ด้วยความเคยชินจากการสั่งสมปฏิบัติเดิมๆนั่นเอง จึงคอยจับจ้องคอยยึดอยู่โดยไม่รู้ตัวและด้วยความไม่รู้,  ซึ่งเป็นการปฏิบัติผิด ไม่ถูกทางเช่นกัน,  ต้องไม่ยึดมั่น ไม่หมายมั่น ในความสงบความสุขความสบายอันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมาธิหรือฌานที่ถูกต้องเพราะย่อมระงับทุกข์เป็นบางส่วนคือนิวรณ์๕ ได้ระยะหนึ่งนั่นเอง  กล่าวคือยังต้องดำเนินการวิปัสสนาเป็นสำคัญควบคู่ไปด้วย จึงดีงาม,  ผู้เขียนมีประสบการณ์แบบนี้มาแล้วจึงอยากเตือนกันไว้บ้าง]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 10:47:55



ไม่ค่อยแจ่ม

         กระผมได้อ่านประวัติการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เมื่อสมัยเดินธุดงค์ว่า  หลวงปู่เข้าใจเรื่องจิตได้ดีว่า จิตปรุงกิเลส  หรือว่ากิเลสปรุงจิต  ข้อนี้หมายความว่าอย่างไร ฯ

         หลวงปู่อธิบายว่า

         "จิตปรุงกิเลส  คิอ การที่จิตบังคับให้กาย  วาจา  ใจ  กระทำสิ่งภายนอก  ให้มี  ให้เป็น  ให้เลว  ให้เกิดวิบาก  แล้วยึดติดอยู่ว่า  นั่นเป็นตัว  นั่นเป็นตน  ของเรา  ของเขา

         กิเลสปรุงจิต  คือ การที่สิ่งภายนอกเข้ามา  ทำให้จิตเป็นไปตามอำนาจของมัน  แล้วยึดว่ามีตัว  มีตนอยู่  สำคัญผิดจากความเป็นจริงอยู่รํ่าไป."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 10:51:32



ความหลังยังฝังใจ

         ครั้งหนึ่งหลวงปู่ไปพักผ่อนที่วัดโยธาประสิทธิ์  พระเณรจำนวนมากพากันมากราบนมัสการหลวงปู่  ฟังโอวาสของหลวงปู่แล้ว  หลวงตาพลอยผู้บวชเมื่อแก่  แต่สำรวมดี  ได้ปรารภถึงตนเองว่า กระผมบวชมานานก็พอสมควรแล้ว  ยังไม่อาจตัดห่วงอาลัยในอดีตได้แม้ตั้งใจอย่างไรก็ยังเผลอจนได้  ขอทราบอุบายวิธีอย่างอื่นเพื่อปฏิบัติตามแนวนี้ต่อไปด้วยครับกระผม ฯ

         หลวงปู่ว่า

         "อย่าให้จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก  ถ้าเผลอ  เมื่อรู้ตัวให้รีบดึงกลับมา  อย่าปล่อยให้มันรู้อารมณ์ดีชั่ว  สุขหรือทุกข์  ไม่คล้อยตาม และไม่หักหาญ."

[Webmaster-อารมณ์ ที่หมายถึง สิ่งที่จิตไปยึดติดหรือกำหนดในขณะนั้นๆ  ดังนั้นอารมณ์ภายนอกจึงหมายถึง สิ่งที่จิตไปกำหนดหรือยึดไว้ในขณะนั้นๆ เช่นใน รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  คือกามทั้ง๕ใดๆ]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 11:00:02



รู้จากการเรียนรู้  กับ  รู้จากการปฏิบัติ

         ศีล  สมาธิ  ปัญญา  วิมุตติ  ที่กระผมจำจากตำราและฟังครูสอนนั้น  จะตรงกับเนื้อหาตามที่หลวงปู่เข้าใจหรือ ฯ

         หลวงปู่อธิบายว่า

         "ศีล  คือ  ปรกติจิตที่อยู่อย่างปราศจากโทษ   เป็นจิตที่มีเกราะกำบังป้องกันการกระทำชั่วทุกอย่าง,  สมาธิ ผลสืบเนื่องมาจากการรักษาศีล   คือ จิตที่มีความมั่นคง มีความสงบเป็นพลัง ที่จะส่งต่อไปอีก(ให้ปัญญานั่นเอง-webmaster),    ปัญญา  ผู้รู้ คือ  จิตที่ว่างเบาสบาย  รู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริงอย่างไร ฯ.   วิมุตติ   คือ  จิตที่เข้าถึงความว่าง  จากความว่าง คือ ละความสบาย  เหลือแต่ความไม่มี  ไม่เป็น  ไม่มีความคิด(หมายถึง ไม่มีเฉพาะความคิดปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านเท่านั้น-webmaster)เหลืออยู่เลย."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 11:07:38



หยุด  ต้องหยุดให้เป็น

         นักปฏิบัติกราบเรียนหลวงปู่ว่า  กระผมพยายามหยุดคิดหยุดนึก(คือไปพยายามผิดคือไปหยุดคิดนึกทั้งปวง  หรือคิดหาทางที่จะหยุดคิด จนกลายเป็นความคิดชนิดคิดปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านไปในการหยุดคิดเสีย - webmaster)ให้ได้ตามที่หลวงปู่เคยสอน  แต่ไม่เป็นผลสำเร็จสักที  ซํ้ายังเกิดความอึดอัด  แน่นใจ  สมองมึนงง  แต่กระผมก็ยังศรัทธาว่าที่หลวงปู่สอนไว้ย่อมไม่ผิดพลาดแน่  ขอทราบอุบายวิธีต่อไปด้วย ฯ

         หลวงปู่บอกว่า

         "ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว  เพราะบอกให้หยุดคิดหยุดนึก  ก็กลับไปคิด (ปรุงแต่งคือฟุ้งซ่าน) ที่จะหยุดคิดเสียอีกเล่า  แล้วอาการหยุดคิด(ปรุงแต่งคือฟุ้งซ่าน)จะอุบัติขึ้นได้อย่างไร  จงกำจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิดหยุดนึก(ปรุงแต่งคือฟุ้งซ่าน)เสียให้สิ้น  เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิด(คือหยุดฟุ้งซ่านกับการหาทางหยุดคิด หรือก็คืออุเบกขา)เสียก็สิ้นเรื่อง."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 11:12:03




ผลคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน

         แรม ๒ คํ่า เดือน ๑๑ เป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่  ซึ่งพอดีกับวันออกพรรษาแล้วได้ ๒ วันของทุกปี  สานุศิษย์ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติก็นิยมเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่  เพื่อศึกษาและไตร่ถามข้อวัตรปฏิบัติ  หรือรายงานผลของการปฏิบัติตลอดพรรษา  ซึ่งเป็นกิจที่ศิษย์ของหลวงปู่กระทำอยู่เช่นนี้ตลอดมา ฯ

         หลังจากฟังหลวงปู่แนะนำข้อวัตรปฏิบัติอย่างพิสดารแล้ว หลวงปู่จบลงด้วยคำว่า

         "การศึกษาธรรม  ด้วยการอ่านการฟัง  สิ่งที่ได้ก็คือ สัญญา (ความจำได้)  การศึกษาธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติ  สิ่งที่เป็นผลของการปฏิบัติ คือ ภูมิธรรม."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 11:17:44



มีอยู่จุดเดียว

         ในนามสัทธิวิหาริกของหลวงปู่  มีพระมหาทวีสุข สอบเปรียญ ๙ ประโยค ได้เป็นองค์แรก  ทางวัดบูรพารามจึงจัดฉลองพัดประโยค ๙ ถวาย ฯ

         หลังพระมหาทวีสุขถวายสักการะแก่หลวงปู่แล้ว  ท่านได้ให้โอวาทแบบปรารภธรรมว่า  "ผู้ที่สามารถสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้นั้น  ต้องมีความเพียรอย่างมาก  และมีความฉลาดเพียงพอ  เพราะถือว่าเป็นการจบหลักสูตรฝ่ายปริยัติ  และต้องแตกฉานในพระไตรปิฎก  การสนใจทางปริยัติอย่างเดียวพ้นทุกข์ไม่ได้ ต้องสนใจปฏิบัติทางจิตต่อไปอีกด้วย." ฯ

         หลวงปู่กล่าวว่า

         "พระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น  ออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหมด  ทุกสิ่งทุกอย่างออกจากจิต  อยากรู้อะไรค้นได้ที่จิต."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 14:21:54



หวังผลไกล

         เมื่อมีแขกหรืออุบาสกอุบาสิกาไปกราบนมัสการหลวงปู่  แต่หลวงปู่มีปรกติไม่เคยถามถึงเรื่องอื่นไกล  มักถามว่า  ญาติโยมเคยภาวนาบ้างไหม?  บางคนก็ตอบว่าเคย  บางคนก็ตอบว่าไม่เคย  ในจำนวนนั้นมีคนหนึ่งฉะฉานกว่าใคร  เขากล่าวว่า  ดิฉันเห็นว่าพวกเราไม่จำเป็นต้องมาวิปัสสนาอะไรให้มันลำบากลำบนนัก  เพราะปีหนึ่งๆ ดิฉันก็ฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ตั้งหลายวัด  ท่านว่าอานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาตินี้จะได้ถึงศาสนาพระศรีอาริย์  ก็จะพบแต่ความสุขความสบายอยู่แล้ว(สีลัพพตปรามาส-Webmaster) ต้องมาทรมานให้ลำบากทำไม ฯ

         "สิ่งประเสริฐอันมีอยู่เฉพาะหน้าแล้วไม่สนใจ  กลับไปหวังไกลถึงสิ่งที่เป็นเพียงการกล่าวถึง  เป็นลักษณะของคนที่ไม่เอาไหนเลย  ก็ในเมื่อมรรคผลนิพพานในศาสนาสมณโคดมในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์   กลับเหลวไหลไม่สนใจ  เมื่อถึงศาสนาพระศรีอาริย์  ก็ยิ่งเหลวไหลมากกว่านี้อีก."

[หมายเหตุ Webmaster - แสดงให้เห็นสีลัพพตปรามาสในการปฏิบัติหรือยึดถือ]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 14:25:35



โลกนี้ มันก็มีเท่าที่เราเคยรู้มาแล้วนั่นเอง

        บางครั้งที่หลวงพ่อสังเกตเห็นว่า  ผู้มาปฏิบัติยังลังเลใจ  เสียดายในความสนุกเพลิดเพลินแบบโลกล้วน  จนไม่อยากจะมาปฏิบัติธรรมฯ

        ท่านแนะนำชวนคิดให้เห็นชัดว่า

        "ขอให้ท่านทั้งหลาย  จงสำรวจดูความสุขว่า  ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต  ครั้นสำรวจดูแล้ว  มันก็แค่นั้นแหละ  แค่ที่เราเคยพบมาแล้วนั่นเอง  ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น  มากกว่านั้นไม่มีในโลกนี้  มีอยู่แค่นั้นเอง  แล้วก็ซํ้าๆซากๆอยู่แค่นั้น เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่รํ่าไป   มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า  ประเสริฐกว่านั้น  ปลอดภัยกว่านั้น  พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย  เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย  สงบจิต  สงบกิเลส  เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 พฤษภาคม 2553 14:28:19



ไม่ยาก สำหรับผู้ที่ไม่ติดอารมณ์

        วัดบูรพารามที่หลวงปู่จำพรรษาตลอด ๕๐ ปี  ไม่มีได้ไปจำพรรษาที่ไหนเลย  เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง  หน้าศาลากลางติดกับศาลจังหวัดสุรินทร์  ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงรบกวนความสงบอยู่ตลอดเวลา  โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูงานช้างแฟร์หรือฤดูเทศกาลแต่ละอย่าง  แสงเสียงอึกทึกครึกครื้นตลอดเจ็ดวันบ้าง  สิบห้าวันบ้าง  ภิกษุสามเณรผู้มีจิตใจยังอ่อนไหวอยู่  ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนเป็นอย่างยิ่ง ฯ

         เมื่อนำเรื่องนี้กราบเรียนหลวงปู่ทีไร  ก็ได้คำตอบทำนองเดียวกันทุกครั้งว่า

         "มัวสนใจอะไรกับสิ่งเหล่านี้  ธรรมดาแสงย่อมสว่าง  ธรรมดาเสียงย่อมดัง  หน้าที่ของมันเป็นเช่นนั้นเอง   เราไม่ใส่ใจฟังเสียงก็หมดเรื่อง  จงทำตัวเราไม่ให้เป็นปฎิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม  เพราะมันมีอยู่อย่างนี้  เป็นอยู่อย่างนี้เอง  เพียงแต่ทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งเท่านั้นเอง."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 05:05:48




กล่าวเตือน

         บางครั้งหลวงปู่แทบจะรำคาญกับพวกที่ปฏิบัติเพียงไม่กี่มากน้อย  ก็มาถามแบบเร่งผลให้ทันตาเห็น ฯ

         ท่านกล่าวเตือนว่า

         "การปฏิบัติ  ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม  เพื่อความละ  เพื่อคลายความกำหนัดยินดี  เพื่อความดับทุกข์  ไม่ใช่เพื่อสวรรค์วิมาน  หรือแม้แต่นิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น  ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ  ไม่ต้องอยากเห็นอะไร  เพราะนิพานมันเป็นของว่างไม่มีตัวไม่มีตน  หาที่ตั้งไม่ได้  หาที่เปรียบไม่ได้  ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 05:08:49


ละอย่างหนึ่ง  ติดอีกอย่างหนึ่ง

        ลูกศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง  เข้านมัสการหลวงปู่  รายงานผลการปฏิบัติให้หลวงปู่ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า  ปลื้มใจอย่างยิ่งที่ได้พบหลวงปู่วันนี้  ด้วยกระผมปฏิบัติตามที่หลวงปู่แนะนำก็ได้ผลไปตามลำดับ คือ เมื่อลงมือนั่งภาวนาก็เริ่มละสัญญาอารมณ์ภายนอกหมด  จิตก็หมดความวุ่น  จิตรวม  จิตสงบ  จิตดิ่งลงสู่สมาธิ  หมดอารมณ์อื่น  เหลือแต่ความสุข  สุขอย่างยิ่ง  เย็นสบาย  แม้จะให้อยู่ตรงนี้นานเท่าไรก็ได้ ฯ

        หลวงปู่ยิ้มแล้วพูดว่า

        "เออ  ก็ดีแล้วที่ได้ผล  พูดถึงสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ  จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้  แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น  มันก็ได้แค่นั้นแหละยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรค  ที่จะตัดภพ  ชาติ  ตัณหา  อุปาทานได้  ให้ละสุขนั้นเสียก่อน  แล้วพิจารณาขันธ์ ๕ ให้แจ่มแจ้งต่อไป."

[หมายเหตุ Webmaster - ภพ  ชาติ  ตัณหา  อุปาทาน ที่หลวงปู่กล่าวถึงนั้น หมายถึงองค์ธรรมต่างๆในปฏิจจสมุปบาท]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 05:14:16


ตัวอย่างเปรียบเทียบ

        มรรคผลนิพพาน  เป็นสิ่งปัจจัตตัง  คือ  รู้เห็นได้จำเพาะตนโดยแท้  ผู้ใดปฏิบัติเข้าถึง  ผู้นั้นเห็นเอง  แจ่มแจ้งเอง  หมดสงสัยในพระศาสนาได้โดยสิ้นเชิง  มิฉนั้นแล้วจะต้องเดาเอาอยู่รํ่าไป  แม้จะมีผู้อธิบายให้ลึกซึ้งอย่างไร  ก็รู้ได้แบบเดา  สิ่งใดยังเดาอยู่สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่นอน ฯ

         ยกตัวอย่างเช่น  เต่ากับปลา  เต่าอยู่ได้สองโลกคือ โลกบนบกกับโลกในนํ้า  ส่วนปลาอยู่ได้โลกเดียวคือในนํ้า  ขืนมาบนบกก็ตายหมด ฯ วันหนึ่ง  เต่าลงไปในนํ้าแล้ว  ก็พรรณนาความสุขสบายบนบกให้ปลาฟังว่า มันมีแต่ความสุขสบาย  แสงสีสวยงาม  ไม่ต้องลำบากเหมือนอยู่ในนํ้า ฯ

         ปลาพากันฟังด้วยความสนใจ และอยากเห็นบก  จึงถามเต่าว่า  บนบกลึกมากไหม  เต่าว่า มันจะลึกอะไร ก็มันบก ฯ
         เอ  บนบกนั้นมีคลื่นมากไหม   มันจะคลื่นอะไรก็มันบก ฯ

         เอ  บนบกมีเปือกตมมากไหม   มันจะมีอะไรก็มันบก ฯ
         ให้สังเกตดูคำที่ปลาถาม  เอาแต่ความรู้ที่มีอยู่ในนํ้าถามเต่า  เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ

         "จิตปุถุชนที่เดามรรคผลนิพพาน  ก็ไม่ต่างอะไรกับปลา."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 05:16:59



ไม่เคยเห็นหวั่นไหวในเหตุการณ์อะไร

         เวลา ๔ ทุ่มผ่านไปแล้ว  เห็นหลวงปู่ยังนั่งพักผ่อนอยู่ตามสบายจึงเข้าไปกราบเรียนว่า  หลวงปู่ครับ  หลวงปู่ขาวมรณภาพเสียแล้ว  หลวงปู่ก็แทนที่จะถามว่า  ด้วยเหตุใด  เมื่อไร  ก็ไม่ถาม  กลับพูดต่อไปเลยว่า

         "เออ  ท่านอาจารย์ขาว  ก็หมดภาระการแบกหามสังขารเสียที  พบกันเมื่อ ๔ ปีที่ผ่านมาเห็นลำบากสังขาร  ต้องให้คนอื่นช่วยเหลืออยู่เสมอ  เราไม่มีวิบากของสังขาร  เรื่องวิบากของสังขารนี้  แม้จะเป็นพระอริยเจ้าชั้นไหนก็ต้องต่อสู้จนกว่าจะขาดจากกัน  ไม่เกี่ยวข้องกันอีก  แต่ตามปรกติสภาวะของจิตนั้นมันก็ยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้เอง เพียงแต่จิตที่ฝึกดีแล้วเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นย่อมละและระงับได้เร็วไม่กังวล  ไม่ยึดถือ  หมดภาระเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น  มันก็แค่นั้นเอง."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 06:21:58



ผู้ที่เข้าใจธรรมะได้ถูกต้อง  หายาก

         เมื่อไฟไหม้จังหวัดสุรินทร์ครั้งใหญ่ได้ผ่านไปแล้ว  ผลคือความทุกข์ยากสูญสิ้นเนื้อประดาตัว  และเสียใจอาลัยอาวรณ์ในทรัพย์สิน  ถึงขั้นเสียสติไปก็มีหลายราย  วนเวียนมาลำเลิกให้หลวงปู่ฟังว่า  อุตส่าห์ทำบุญเข้าวัด  ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย  ทำไมบุญกุศลจึงไม่ช่วย  ทำไมธรรมะจึงไม่ช่วยคุ้มครอง  ไฟไหม้บ้านวอดวายหมด  แล้วเขาเหล่านั้นก็เลิกเข้าวัดทำบุญไปหลายราย  เพราะธรรมะไม่ช่วยเขาให้พ้นจากไฟไหม้บ้าน ฯ

         หลวงปู่ว่า

         "ไฟมันทำตามหน้าที่ของมัน  ธรรมะไม่ได้ช่วยใครในลักษณะนั้น  หมายความว่า  ความอันตรธาน  ความวิบัติ  ความเสื่อมสลาย  ความพลัดพรากจากกัน   มันมีประจำโลกอยู่แลัวสิ่งเหล่านี้(สภาวะธรรมชาติ-ผู้เขียน)   ทีนี้ผู้มีธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมะ เมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก  ไม่ใช่ธรรมะไม่ให้แก่  ไม่ให้ตาย  ไม่ให้หิว  ไม่ให้ไฟไหม้  ไม่ใช่อย่างนั้น."

[หมายเหตุ Webmaster - ผู้เขียนเมื่อปฏิบัติใหม่ๆอันเป็นไปตามความเชื่อความยึดเดิมๆที่แอบซ่อนอยู่ในจิตตามที่ได้สืบทอดกันต่อๆมา  การปฏิบัติจึงเป็นเพื่อหวังบุญ หวังกุศล ก็ด้วยหวังว่าบุญกุศลนั้นจะยังประโยชน์โดยตรง ในอันที่จะไม่ให้เกิดทุกข์  โศก โรคภัย ฯ กล่าวคือ เพื่อไม่ให้เกิด  ไม่ให้มี  ไม่ให้เป็น,  อยากให้เป็นดังนี้  ดังนั้น  เป็นต้น.  อันล้วนเป็นความเข้าใจผิดที่เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน หรือสีลัพพตปรามาส หรือ  อันเป็นธรรมหรือสิ่งที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์(สังโยชน์)  อันทำให้ไม่สามารถเจริญในธรรมได้เพราะความไม่เข้าใจสภาวธรรมอันถูกต้องแท้จริงดังที่หลวงปู่กล่าวไว้    เมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องจึงจะยังให้เกิดประโยชน์โดยตรงและยิ่งใหญ่ได้]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 06:30:51



ต้องปฏิบัติจึงหมดสงสัย

เมื่อมีผู้ถามถึง  การตาย  การเกิดใหม่  หรือถามถึงชาติหน้า  ชาติหลัง  หลวงปู่ไม่เคยสนใจที่จะตอบ  หรือมีผู้กล่าวค้านว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่มีประการใด  หลวงปู่ไม่เคยคว้าหาเหตุผลเพิ่อจะเอาค้านใคร  หรือไม่เคยหาหลักฐานเพื่อยืนยัน  เพื่อให้ใครยอมจำนนแต่ประการใด  ท่านกลับแนะนำว่า

         "ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น  ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลังหรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้  ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง  ศีล  สมาธิ  ปัญญาอย่างแน่วแน่ก็พอ    ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ได้เลื่อนฐานะตนเองโดยลำดับ    หรือถ้าสวรรค์นรกไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วขณะนี้ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุขเป็นมนุษย์ชั้นเลิศ  "การฟังจากคนอื่น  การค้นคว้าจากตำรานั้น  ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้  ต้องเพียรปฏิบัติ  ทำวิปัสสนาญาณ  ให้แจ้งความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง."

[หมายเหตุ Webmaster - เรื่องชาติหน้า ชาติหลัง  แม้องค์พระบรมศาสดาก็ไม่ทรงพยากรณ์ ดังความว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑๐  เพราะความที่ไม่เป็นไปเพื่อการดับชาติ ชรา-มรณะ หรือก็คือเพื่อการดับทุกข์ในปัจจุบันแสดงใน จูฬมาลุงโกยวาทสูตร   ผู้ที่เกิดวิปัสสนาญาณแล้วก็ย่อมรู้ได้ด้วยอาการปัจจัตตังในที่สุด   แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเยี่ยงไร ผู้ฟังก็ย่อมไม่สามารถเข้าใจหรือพิสูจน์ได้ตามคำสอนนั้นๆ นอกจากน้อมเชื่อด้วยศรัทธาหรือน้อมเชื่อแบบอธิโมกข์อันงมงาย    และไม่เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ในปัจจุบัน จึงรังแต่จะเป็นโทษแก่ผู้ฟังเป็นที่สุด  และจะเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ หาเหตุหาผลมาถกหักล้างกันไม่รู้จักสิ้น แม้ตราบเท่าทุกวันนี้  เพราะทั้งผู้พูดและผู้ฟังย่อมไม่สามารถพิสูจน์ให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นอะไรๆได้ตามตนเอง]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 06:33:51



เขาต้องการอย่างนั้นเอง

         แม้จะมีคนเป็นกลุ่ม  อยากฟังความคิดเห็นของหลวงปู่เรื่องเวียนว่ายตายเกิด  ยกบุคคลมาอ้างว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้สามารถระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติว่าตนเคยเกิดเป็นอะไรบ้าง  และใครเคยเป็นแม่เป็นญาติกันบ้าง

         หลวงปู่ว่า

         "เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้  แค่อุปจารสมาธิก็เป็นได้แล้วทุกอย่าง  มันออกไปจากจิตทั้งหมด  อยากรู้อยากเห็นอะไร  จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้เร็วเสียด้วย   หากพอใจเพียงแค่นี้  ผลดีที่ได้ก็คือ ทำให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตํ่า  แล้วตั้งใจทำดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเยียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตน    ส่วนการที่จะกำจัดกิเลสเพื่อทำลายอวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง อีกอย่างหนึ่งต่างหาก."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝาก&
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 06:38:11




ไม่มีนิทานสาธก

         อยู่ใกล้ชิดหลวงปู่ตลอดระยะเวลายาวนาน  คำสอนของท่านไม่เคยมีนิทานสาธก หรือนิทานสนุกอะไรที่หลวงปู่ยกมาบรรยายให้ฟังสนุกๆเลย  ไม่ว่าชาดกหรือเรื่องประกอบปัจจุบันฯ

         คำสอนของท่านล้วนแต่เป็นสัจจธรรมขั้นปรมัตถ์  หรือไม่ก็เป็นคำจำกัดความอย่างกะทัดรัด  ชนิดระมัดระวัง หรือคล้ายประหยัดคำพูดอย่างยิ่ง  แม้แต่การสอนพิธีกรรม หรือศาสนพิธีและการทำบุญบริจาคทานอะไร   ในระดับศีลธรรมหลวงปู่ทำในระดับปล่อยวางหมด   ส่วนมากหลวงปู่กล่าวว่า

        "เรื่องพิธีกรรม  หรือบุญกริยาวัตถุต่างๆทั้งหลาย  ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่  หากแต่ว่าสำหรับนักปฏิบัติแล้ว  อาจถือได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศลเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 06:44:25



ปฏิปุจฉา

        ด้วยความคุ้นเคยและอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มาเป็นเวลานาน  เมื่ออาตมาถามปัญหาอะไรท่าน  หลวงปู่ท่านมักจะตอบด้วยการย้อนกลับคืน  ทำนองให้คิดหาคำตอบเอาเอง ฯ

        เช่นถามว่า  พระอรหันต์ท่านมีใจสะอาด  สว่างแล้ว  ท่านอาจรู้เลขหวยได้อย่างแม่นยำหรือครับ ฯ
         ท่านตอบว่า "พระอรหันต์  ท่านใส่ใจเพื่อจะรู้สิ่งเหล่านี้หรือ"

         ถามว่า  พระอรหันต์ท่านเคยนอนหลับฝันเหมือนคนธรรมดาด้วยหรือเปล่าครับ ฯ
         ท่านตอบว่า  "การหลับแล้วเกิดฝัน  เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ไม่ใช่หรือ."

         ถามว่าพระปุถุชนธรรมดายังหนาด้วยกิเลส  แต่มีความสามารถสอนคนอื่นให้เขาบรรลุถึงอรหันต์  เคยมีบ้างไหมครับหลวงปู่ ฯ
         ท่านตอบว่า "หมอบางคน  ทั้งที่ตัวเองยังมีโรคอยู่  แต่ก็เคยรักษาคนอื่นให้หายจากโรคได้  มีอยู่ทั่วไปไม่ใช่หรือ."

[หมายเหตุ Webmaster - การหลับแล้วฝันเป็นเรื่องของสังขารขันธ์ จึงหมายถึงย่อมเกิดขึ้นแก่ทุกคนที่ยังดำรงขันธ์อยู่  จึงยังคงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 06:50:43


ปรกตินิสัยประจำตัวของหลวงปู่

         ทางกาย  มีร่างกายแข็งแรง  กระฉับกระเฉงว่องไว  สมสัดส่วนสะอาดปราศจากกลิ่นตัว  มีอาพาธน้อย  ท่านจะสรงนํ้าอุ่นวันละครั้งเท่านั้น

         ทางวาจา   เสียงใหญ่  แต่พูดเบา  พูดน้อย  พูดสั้น  พูดจริง  พูดตรง  ปราศจากมายาทางคำพุด  คือ ไม่พูดเลียบเคียง  ไม่พูดโอ๋  ไม่พูดปลอบโยน  ไม่พูดประชด  ไม่พูดนินทา  ไม่พูดขอร้อง  ขออภัย  ไม่พูดขอโทษ  ไม่พูดถึงความฝัน  ไม่พูดเล่านิทานชาดกหรือนิทานปรัมปรา  เป็นต้น ฯ

          ทางใจ  มีสัจจะ  ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วทำโดยสำเร็จ  มีเมตตากรุณาเป็นประจำ  สงบเสงี่ยมเยือกเย็น  อดทน  ไม่เคยมีอาการกระวนกระวายวู่วาม  ไม่แสดงอาการอึดอัดหงุดหงิด หรือรำคาญ  ไม่แสวงหาของหรือสั่งสมหรืออาลัยอาวรณ์กับของที่สูญหาย  ไม่ประมาท  รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะและเบิกบานอยู่เสมอ  เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์  ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์  ไม่ถูกภาวะอื่นครอบงำ

         ท่านสอนอยู่เสมอว่า

         "ให้ทำความเข้าใจกับสภาวธรรมอย่างชัดแจ้งว่า  เกิดขึ้น  เปลี่ยนแปลง  สลายไป  อย่าทุกข์โศกเพราะสภาวะนั้นเป็นเหตุ."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 06:55:11



มีเวทนาหนัก  แต่ไม่หนักด้วยเวทนา

         หลวงปู่อาพาธหนักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ. เป็นวันที่ ๑๗ ของการอยู่โรงพยาบาล  คืนนั้น  หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียอย่างมากถึงกับต้องให้ออกซิเจนช่วยหายใจโดยตลอด  เวลาดึกมากแล้วคือหกทุ่มกว่า  ท่านอาจารย์ยันตระ  พร้อมบริวารหลายท่าน  เข้าไปขอกราบเยี่ยมหลวงปู่  เห็นเป็นกรณีพิเศษจึงให้ท่านเข้าไปกราบเยี่ยมได้  หลวงปู่นอนตะแคงขวา หลับตาตลอด  เมื่อคณะของอาจารย์ยันตระกราบนมัสการแล้ว  ท่านอาจารย์ยันตระขยับก้มไปชิดหูหลวงปู่แล้วถามว่า "หลวงปู่ยังมีเวทนาอยู่หรือ"

         หลวงปู่ตอบว่า

         "เวทนากับร่างกายนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติของมัน   แต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย"

[หมายเหตุ Webmaster - เวทนาหรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของชีวิต  ที่ย่อมต้องเกิดขึ้นจากการผัสสะของอายตนะต่างๆเป็นธรรมดา ในทุกรูปนามหรือทุกบุคคลเขาเรา ท่านจึงคงมีทุกขเวทนาทางกายเป็นธรรมดาโดยธรรมชาติ  แต่องค์ท่านไม่เสพเสวยกล่าวคืิอไม่ไปพัวพัน ไม่ไปปรุงแต่ง หรือไปยึดมั่นจนทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์เป็นธรรมดาโดยธรรมชาติหรือเป็นทุกข์ธรรมชาติของชีวิตนั้น  เกิดการแปรปรวนไปเป็นอุปาทานเวทนาคือเวทนูปาทานขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานอันแสนเร่าร้อนเผาลนทุรายกว่าทุกข์ธรรมชาติยิ่งนัก  กล่าวคือไม่เสพเสวยอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์ที่แสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายอันเกิดจากการฟุ้งซ่านหรือส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่ง ดังที่เกิดขึ้นในองค์ธรรมชราในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 06:59:43




เดินทางลัด ที่ปลอดภัย

         เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๖  ก่อนที่หลวงปู่จะกลับจากโรงพยาบาลจุฬาฯ  ได้ชักชวนกันทำบุญถวายสังฆทาน  เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนที่สร้างโรงพยาบาลฯ ที่ล่วงลับแล้วฯ

         เมื่อพิธีถวายสังฆทานผ่านไปแล้ว  มีนายแพทย์และนางพยาบาลจำนวนหนึ่งเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่  แสดงความดีใจที่หลวงปู่หายจากอาพาธครั้งนี้  พร้อมทั้งกล่าวปิยวาจาว่า  หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี  หน้าตาสดใสเหมือนไม่ได้ผ่านการอาพาธมา คงจะเป็นผลจากการที่หลวงปู่มีภาวนาสมาธิจิตดี  พวกกระผมมีเวลาน้อยหาโอกาสเพียรภาวนาสมาธิได้ยาก  มีวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติได้ง่ายๆ หรือโดยย่อที่สุด ฯ

         หลวงปู่ตอบว่า

         "มีเวลาเมื่อไร  ให้ปฏิบัติเมื่อนั้น,   การฝึกจิต  การพิจารณาจิตเป็นวิธีลัดสั้นที่สุด."


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝาก&
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 07:03:48


ทั้งหมดอยู่ที่ความประพฤติ

        ตลอดชีวิตของหลวงปู่  ท่านไม่ยอมรับกับการถือฤกษ์งามยามดีอะไรเลย  แม้จะถูกถามถูกขอให้บอกเพียงว่า  จะบวชวันไหน  จะสึกวันไหน  หรือวันเดือนปีไหนดีเสียอย่างไร  หลวงปู่ก็ไม่เคยเผลอเอออวยด้วย  มักจะพูดว่าวันไหนเดือนไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ  คือ  ถ้ามีผู้ขอเช่นนี้  ท่านมักให้เขาหาเอาเอง  หรือมักบอกว่าวันไหนก็ได้  ถ้าสะดวกดีแล้วเป็นฤกษ์ดีทั้งหมด ฯ

         หลวงปู่สรุปลงว่า

         "ทุกอย่างรวมอยู่ที่ความประพฤติ  คือ  ฤกษ์ดี  ฤกษ์ร้าย  โชคดี  โชคร้าย  เรื่องเคราะห์  กรรม  บาป  บุญ  อะไรทั้งหมดนี้  ล้วนออกไปจากความประพฤติของมนุษย์ทั้งนั้น"

[หมายเหตุ Webmaster - หลวงปู่สอนไว้ อันเป็นจริงยิ่ง และถูกต้องตามหลัก"อิทัปปัจจยตา"  อันมีสาระสำคัญว่า"เพราะเหตุนี้มี  ผลนี้จึงเกิดขึ้น" หรือธรรมใดเกิดแต่เหตุ อันคือกรรมที่หมายถึงการกระทำ-ความประพฤตินั่นเอง  ล้วนมิได้เกิดแต่ฤกษ์ผานาทีเป็นสำคัญ  ความสำคัญจึงขึ้นอยู่ที่กรรมคือการประพฤติหรือการกระทำเป็นสำคัญ อันเป็นดั่งพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า "บุคคลประพฤติชอบเวลาใด  เวลานั้นได้ชื่อว่า  เป็นฤกษ์ดี  เป็นมงคลดี  เป็นเช้าดี  อรุณดี  เป็นขณะดี  ยามดี  และ(นับด้วยว่า)เป็นอันได้ทําบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย  แม้กายกรรมของเขาก็เป็นสิทธิโชค  วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค  มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค  ประณิธานของเขาก็(ย่อมต้อง)เป็นสิทธิโชค  ครั้นกระทํากรรม(การกระทําใดๆ)ทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค"  (สุปุพพัณหสูตร)]


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 07:08:17



ไม่เคยกระทำแบบแสดง

         หลวงปู่ไม่มีมารยาในทางอยากโชว์  เพื่อให้เด่น  ให้สง่าแก่ตนเอง  เช่นการถ่ายรูปของท่าน  ถ้าใครอยากถ่ายรูปท่าน  ก็ต้องหาจังหวะให้ดี  ระหว่างที่ท่านห่มผ้าสังฆาฏิเรียบร้อย  เพื่อลงปาฎิโมกข์หรือบวชนาคหรือเข้าพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  แล้วขอถ่ายรูปท่านในจังหวะนี้ย่อมได้ถ่าย  เมื่อท่านอยู่ตามธรรมดา แล้วขอร้องท่านให้ลุกไปนุ่งห่มมาตั้งท่าให้ถ่าย แบบนี้หวังได้ยากอย่างยิ่ง  เช่น  มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ  นำผ้าห่มชั้นดีมาถวายหลวงปู่เมื่อหน้าหนาว  พอถึงเดือนห้าหน้าร้อน  เผอิญเขาได้ไปกราบหลวงปู่อีก  จึงขอให้ท่านเอาผ้ามาห่มให้เขาถ่ายรูปด้วย เพราะตอนถวายไม่ได้ถ่ายไว้  หลวงปู่ปฏิเสธว่า  ไม่ต้องหรอก  แม้เขาจะขอเป็นครั้งที่สองที่สาม  ท่านก็ว่าไม่จำเป็นอยู่นั่นเองฯ

         เมื่อสุภาพสตรีนั้นลากลับไปแล้ว  อาตมาไม่ค่อยสบายใจจึงถามท่านว่า  โยมเขาไม่พอใจ  หลวงปู่ทราบไหม ฯ

         หลวงปู่ยิ้มแล้วตอบว่า

         "รู้อยู่  ที่เขามีความไม่พอใจ  ก็เพราะใจเขามีความไม่พอ"


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 07:12:30


สิ้นชาติขาดภพ

         พระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน  สนทนาธรรมะขั้นปรมัตถ์กับหลวงปู่หลายข้อ  แล้วลงท้ายด้วยคำถามว่า  พระเถระนักปฏิบัติบางท่าน  มีปฏิปทาดี  น่าเชื่อถือ  แม้พระด้วยกันก็ยอมรับว่าท่านเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนา  แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด  ถึงขั้นต้องสึกหาลาเพศไปก็มี  หรือไม่ก็ทำไขว้เขวประพฤติตนมัวหมองอยู่ในพระธรรมวินัยก็มี จึงไม่ทราบว่าจะปฏิบัติถึงขั้นไหนอีก จึงจะตัดวัฏสงสารให้สิ้นภพสิ้นชาติได้ ฯ

         หลวงปู่กล่าวว่า

         "การสำรวมสำเหนียกในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด  และสมาทานถือธุดงค์นั้น  เป็นปฏิปทาที่ดีงามอย่างยิ่ง น่าเลื่อมใส  แต่ถ้าเจริญจิตไม่ถึงอธิจิิต  อธิปัญญาแล้ว  ย่อมเสื่อมลงได้เสมอ  เพราะยังไม่ถึงโลกุตตรภูมิ  ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้ในขันธ์ ๕  แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท  หยุดการปรุงแต่ง  หยุดการแสวงหา  หยุดกริยาจิต  มันก็จบแค่นี้  เหลือแต่ บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง มหาสุญตา ว่างมหาศาล


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 07:15:45




อยู่อย่างไรปลอดภัยที่สุด

         จำได้ว่าเมื่อปี ๒๕๑๙  มีพระเถระ ๒ รูป เป็นพระฝ่ายวิปัสสนากัมัฏฐานจากอีสานเหนือแวะไปกราบมนัสการหลวงปู่  แล้วสนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติ เป็นที่เกิดศรัทธาปสาทะ  และดื่มด่ำในรสพระธรรมอย่างยิ่ง  ท่านเหล่านั้นกล่าวย้อนถึงคุณงามความดีตลอดถึงภูมิธรรมของครูบาอาจารย์ที่ตนเคยไปพำนักศึกษาปฏิบัติมาด้วยเป็นเวลานานว่า  หลวงปู่องค์โน้นมีวิหารธรรมคืออยู่กับสมาธิตลอดเวลา  อาจารย์นี้อยู่กับพรหมวิหารเป็นปรกติ คนจึงนับถือท่านมาก  หลวงปู่องค์นั้นอยู่กับอัปปมัญญาพรหมวิหาร ลูกศิษย์ของท่านจึงมากมายทั่วสารทิศไม่มีประมาณ ดังนี้เป็นต้น ท่านจึงมีแต่ความปลอดภัยอันตรายตลอดมา ฯ

         หลวงปู่กล่าวว่า

         เออ  ท่านองค์ไหนมีภูมิธรรมแค่ไหน  ก็อยู่กับภูมิธรรมนั้นเถอะ  เราอยู่กับ " รู้ "


หัวข้อ: Re: พระราชวุฒาจารย์(ดูลย์ อตุโล), หลวงปู่ฝากไว้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 28 พฤษภาคม 2553 07:38:29



สนทนาต่อมา

         ครั้นเมื่อพระเถระทั้ง ๒ รูปได้ฟังคำพูดของหลวงปู่ว่า  หลวงปู่ท่านอยู่กับ " รู้ "  ต่างองค์ก็นิ่งสงบชั่วระยะหนึ่ง  แล้วก็เรียนถามหลวงปู่ต่อไปว่า  อาการที่ว่าอยู่กับรู้ มีลักษณะเป็นอย่างไร ฯ

         หลวงปู่ตอบอธิบายว่า

         " รู้ " (อัญญา) เป็นปรกติจิตที่  "ว่าง  สว่าง บริสุทธิ์  หยุดการปรุงแต่ง  หยุดการแสวงหา  หยุดกริยาของจิต  ไม่มีอะไรเลย  ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง."



(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/%CB%C5%C7%A7%BB%D9%E8%B4%D9%C5%C2%EC%20%CD%B5%D8%E2%C5%202.jpg)


Credit by : http://www.nkgen.com/pudule3.htm (http://www.nkgen.com/pudule3.htm)
Pics by : Google

เรียนขออนุญาตนำมาเผยแพร่
อนุโมทนาสาธุ ที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ