[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เอกสารธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 14 ตุลาคม 2554 09:11:53



หัวข้อ: พระอภิธรรมปรมัตถสังคหะ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 14 ตุลาคม 2554 09:11:53


(http://new.goosiam.com/for-mail/img/newspict/00000055367.jpg)

พระอภิธรรมปรมัตถสังคหะ
(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

นมตถุ สุคตสส ฯ สมมาสมพุทธมตุลํ สสทธมม คณุตตมํ
อภิวาทิย ภาสิสสํ อภิธมมตตถ สงคหํ ตตถ วุตตาภิธมมตถา
จตุธา ปรมตถโต จิตตํ เจตสิกํ รูปํ นิพพานมีติ สพพถาติ

บัดนี้จะแสดงพระอภิธรรมปรมัตถสังคหะ ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาค
บรมศาสดาจารย์ญาณสัพพัญญู ผู้เป็นบรมครูเจ้าได้ตรัสไว้
อันท่านพระอนุรุทธาจารย์นำมาประพันธ์เป็นคาถา 9 ปริเฉทดังต่อไปนี้

สังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง จัดโดยหมวดเป็น 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สงเคราะห์ลงเป็น 3 ประการ คือจิต เจตสิก รูป ฯ วิญญาณขันธ์เป็นจิต เวทนา สัญญา สังขาร เป็นเจตสิก รูปขันธ์แยกเป็นภูตรูป และอุปาทายรูป ส่วนอสังขธรรมนั้นได้แก่พระนิพพาน ซึ่งมีอารมณ์เหี่ยวแห้งด้วยอริยมรรคจิต - อริยผลจิตแล้ว

จิตแยกเป็น 4 ประเภท โดยภูมิ คือกามาวจรจิต 1 รูปาวจรจิต 1 อรูปาวจรจิต 1 โลกุตตรจิต 1 จิตซึ่งเป็นไปในสันดานของสัตว์ ซึ่งเกิดในกามภพ 11 คืออบายภูมิ 4 กามสุคติภูมิ 7 ชื่อว่ากามาวจรจิต 54 ดวง จิตซึ่งเป็นไปโดยมากในสันดานของสัตว์ ซึ่งเกิดในรูปภพชื่อว่า รูปาวจร 15 ดวง จิตซึ่งเป็นไปโดยมากในสันดานของสัตว์ ซึ่งเกิดในอรูปภพชื่อว่า อรูปาวจรจิต 12 ดวง จิตซึ่งข้ามขึ้นจากโลก คือปัญจุปาทานขันธ์ไม่มีอาสวะชื่อว่า โลกุตตรจิต คือ อริยมรรคคจิต 4 อริยผลจิต 4 เป็น 8 ดวง สิริรวมเป็นจิต 89 ดวง ด้วยประการฉะนี้

เจตสิก 25 ดวง เป็นธรรมเป็นไปในจิต เกิดกับดับพร้อมกับจิต ซึ่งแจกโดยประเภท และอาการแตกต่างแห่งหมวดธรรม นับได้ 25 ดวงด้วยประการฉะนี้

ธรรมสังคหะ 6 อาการ คือ เวทนา 6 เหตุ 6 กิจ 6 ทวาร 6 อารมณ์ 6 วัตถุ 6 ด้วยประการฉะนี้
ฉักกะ 6 คือ วัตถุ 6 ทวาร อารมณ์ 6 วิญญาณ 6 วิถีจิต 6 วิสยปวัตติ 6
จตุกกะ 4 คือ ภูมิจตุกะ ได้แก่ภูมิทั้ง 4 คือ อบายภูมิ 1 กามสุคติภูมิ 1 รูปาวจรภูมิ 1 อรูปาวจรภูมิ 1

ปฏิสนธิจตุกกะ ท่านจำแนกปฏิสนธิออกเป็น 4 คือ อบายภูมิปฏิสนธิ 1 กามสุคติปฏิสนธิ 1 รูปาวจรปฏิสนธิ 1 อรูปาวจรปฏิสนธิ 1 กัมมจตุกกะ
ท่านแสดงกรรมโดยประเภทแห่งกิจ 4 คือ ชนกกรรม 1 อุปฆาตกะกรรม 1 ยังกรรมอีก 4 ประการ คือ ครุกรรม 1 อาสันนกรรม 1 อาจิณณกรรม 1 กตัตตากรรม 1 อธิบายครุกรรมนั้นคือ กรรมหนัก ฝ่ายบุญได้แก่ฌาณสมาบัติ ฝ่ายบาปได้แก่อนันตริยกรรมธรรมทั้ง 5 อาสันนกรรมนั้นได้แก่กุศลกิจและอกุศลกิจที่ทำใกล้เวลามรณะ อาจิณณกรรมนั้นได้แก่กุศลและอกุศลที่บุคคลทำอยู่เนืองๆ กตัตตากรรมนั้นได้แก่กุศลและอกุศลมีกำลังอ่อน ยังกรรมอีก 5 ประการ คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม 1 อุปปัชชเวทนียกรรม 1 อปราปรเวนียกรรม 1 อโหสิกรรม 1

มรณจตุกกะ ท่านแสดงลักษณะมรณะ 4 ประการ คือ อายุกขยมรณะ 1 กัมมักขยะมรณะ 1 อุภยักขยมรณะ 1 อุปัจเฉทกัมมุนามรณะ 1 ชาติทุกข์เป็นเบื้องต้น ชราพยาธิเป็นท่ามกลาง มรณทุกข์เป็นเบื้องปลาย

รูปสังคหะสังเขป 5 ประการ คือ สมุทเทศนัย 1 วิภาคนัย 1 สมุฏฐานนัย 1 กลาปนัย 1 ปวัตติกนัย 1 อธิบายว่าลักษณะที่แสดงรูปโดยย่อชื่อว่าสมุเทศนัย วิธีจำแนกรูปทั้งปวงโดยส่วนหนึ่งๆ ชื่อว่าวิภาคนัย วิธีแสดงปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดรูปมีกุศลากุศลเป็นต้นชื่อว่า สมุฏฐานนัย วิธีแสดงรูปบรรดาที่เกิดดับพร้อมกันเป็นหมู่เป็นแผนกมีจักขุทสกะเป็นต้นชื่อว่ากลาปนัย วิธีแสดงความเกิดเป็นลำดับแห่งภพและกาลของสัตว์ทั้งหลายชื่อว่าปวัตติกนัย

พิพพานํ ปน โลกุตตร อสงขตํ บัณฑิตกล่าวว่า โลกุตตระธรรมสังขตธาตุ ไม่มีเครื่องปรุงเป็นของบริสุทธ์ ไม่มีเรื่องเกิดและดับ พระนิพพานนั้นเป็นของธรรมชาติอันบุคคลจะพึงทำให้แจ้งได้ด้วยอริยมรรคญาณทั้ง 4 เมื่ออริยมรรคธรรมเกิดขึ้นแล้วจึงเห็นพระนิพพาน เอวิธมปิ พระนิพพานนั้นเมื่อกล่าวโดยสภาพก็มีอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเหตุนั้นแหละ พระนิพพานนี้จึงเป็นเอกปฏิเวธาภิสมัย ตรัสรู้ได้ในขณะจิตเดียวด้วยประการฉะนี้

สมุจจัยสังคหะ 4 คือ อกุศลสังคหะ 1 มิสสกสังคหะ 1 โพธิปักขิยสังคหะ 1 สัพพัตถสังคหะ 1 อกุศลสังคหะนั้นท่านสงเคราะห์เหล่าธรรมที่เป็นอกุศลเป็นอาการ 535 มิสสกสังคหะนั้น ท่านสงเคราะห์เหล่าธรรมทั้งกุศลและอกุศลเจือปนกัน โพธิปักขิยสังคหะนั้นท่านสงเคราะห์เหล่าธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ 37 ประการ สัพพัตถสังคหะนั้นท่านสงเคราะห์ธรรมส่วนที่เรียกว่า ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อริยสัจจ์
จะแสดงสมุจจัยสังคหะตามที่ได้ยกนิเขปบทขึ้นตั้งไว้นั้นสืบไป

ในอกุศลสังคหะนั้น ท่านสงเคราะห์เหล่าธรรมที่เป็นอกุศลสังกิเลส 7 หมวด
คือ อาสวะ 4 โอฆะ 4 โยคะ 4 คันถะ 4 อุปทาน 4 นิวรณ์ 5 สังโยชน์ 10
ในมิสสาสังคหะนั้น ท่านสงเคราะห์เหล่าธรรมที่เจือกันทั้งกุศลอกุศล เป็น 7 หมวด
คือธาตุ 6 หมวด 1 องค์ฌาณ 5 หมวด 1 อายตนะ 12 หมวด 1 อินทรีย์ 22 หมวด 1 อธิปติ 4 หมวด 1 อาหาร 4 หมวด 1

ในโพธิปักขิยสังคหะนั้น ท่านสงเคราะห์ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งโพธิญาณ 7 หมวด
คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8

ในสัพพัตถสังคหะนั้น ท่านสงเคราะห์ธรรมที่ไม่ได้เรียกว่าสัตว์บุคคล จัดไว้ 5 หมวด
คือ ขันธ์ 5 อุปาทานขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อริยสัจจ์ 4
จะแสดงปัจจัยสังคหะปริเฉทที่ 8 สืบไป

ปัจจัยสังคหะนี้ ท่านสงเคราะห์ซึ่งธรรมปัจจัยตามนัย 2 ประการ
คือ ปฏิจจสมุปบาทปัจจัยนัย 1 สมนตมหาปัฏฐานปัจจัยนัย 1 นัยอันใดที่พระบรมครูสัพพัญญูตรัสเทศนาไว้ใน ปฏิจจสมุปบาทธรรม นัยอันนั้น ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาทนัย นัยอันใดซึ่งพระองค์ตรัสเทศนาไว้ในพระคัมภีร์สมันมหาปัฏฐาน นัยอันนั้นชื่อว่า ปัฏฐานนัย
ในปัจจัยสังคหะนี้ พระอรรถกถาจารย์ยกเอานัยทั้งสองประการนั้นประชุมกันแสดงออกให้พิศดารเพื่อให้สาธุชนได้ทราบว่า ธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัย ธรรมเหล่านี้เกิดแต่ปัจจัย โดยนัยพระบาลีในปฏิจจสมุปบาทธรรมว่า อวิชชา ปจจยา สงขารา สงขารา ปจจยา วิญญาณํ ดังนี้เป็นต้น มีเนื้อความว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ โสกปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมอาศัยเหตุปัจจัยต่อๆ กันด้วยประการฉะนี้
ในปัฏฐานนัยนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาจำแนกปัจจัย 24 ประการ มีเหตุปัจจัยเป็นต้น มีอวิคตปัจจัยเป็นที่สุด

ก็เหตุปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมเป็นเหตุ เป็นเค้า เป็นมูล ในฝ่ายกุศลมี 3 คือ อโลภะ ความไม่โลภ อโทสะ ความไม่โกรธ อโมหะ ความไม่หลง ในฝ่ายอกุศลก็มี 3 คือ โลภะ โทสะ โมหะ นี้แหละท่านว่า เหตุปัจจัยฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมปรมัตถสังคหะ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 14 ตุลาคม 2554 09:22:24


อารัมมณปัจจัยนั้น ได้แก่อารมณ์ทั้ง 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อารมณ์ ทั้ง 6 นั้น ย่อมเป็นที่ยึดหน่วงแห่งจิตและเจตสิกทั้งปวง อันเกิดขึ้นในทวารทั้ง 6 มีจักขุทวารเป็นต้น จึงชื่อว่าอารัมมณปัจจัย

อธิปติปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมอันเป็นอุปการะด้วยความเป็นใหญ่ในธรรมทั้งหลายอันเนื่องกัน อนันตรปัจจัย แลสมนันตรปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมอันบังเกิดก่อนแล้วจึงเป็นอุปการปัจจัยให้โอกาสแก่ธรรมอันบังเกิดภายหลัง หาธรรมอื่นขั้นในระหว่างมิได้ สหชาตปัจจัยนั้น ได้แก่ ธรรมอันเป็นอุปการะด้วยความเป็นของเกิดขึ้นพร้อมกัน ประหนึ่งเปลวประทีปกับแสงสว่างอันเกิดพร้อมกันฉะนั้น อัญญมัญญปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมที่เกิดอาศัยกันและกันจึงตั้งอยู่ได้ ดังไม้สามท่อนอันอิงอาศัยกันและกันฉะนั้น

นิสสัยปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมอันเป็นอุปการะคือที่อาศัย ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่อาศัยแห่งต้นไม้แลภูเขาฉะนั้นฯ อุปนิสสัยปัจจัยนั้น ได้แก่ธรรมอันเป็นอุปการะ คือเป็นอุปนิสสัยตามติดตนฯ ปุเรชาตปัจจัยนั้น ได้แก่รูปธรรมอันเกิดขึ้นก่อนแล้วเป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกอันบังเกิด ณ ภายหลังฯ ปัจฉาชาตปัจจัยนั้น ได้แก่จิตและเจตสิกอันเกิดภายหลัง แล้วเป็นอุปการะแก่รูปอันเกิดก่อนฯ อาเสวนปัจจัยนั้นได้แก่ชวนจิตอันมีชาติเสมอกัน ย่อมให้กำลังในกิจที่เป็นบุญและบาปทุกประการฯ กัมมปัจจัยนั้น ได้แก่กุศลและอกุศลอันเป็นปัจจัยให้สำเร็จผลคือสุขและทุกข์แก่สัตว์ วิปากปัจจัยนั้น ได้แก่วิบากจิตอันบังเกิดเป็นอุปการแก่สัตว์อันเสวยสุขและทุกข์ฯ อาหารปัจจัยนั้น ได้แก่อาหาร 4 ประการ คือ ผัสสาหาร 1 มโนสัญเจตนาหาร 1 วิญญาณาหาร 1 กวฬึการาหาร 1ฯ

อินทรีย์ปัจจัยนั้น ได้แก่ปสาทรูปทั้ง 5 มีจักขุปสาทเป็นต้น เป็นใหญ่ในที่จะกระทำให้วิญญาณทั้ง 5 เป็นไปในอำนาจ หรือรูปชีวิตินทรีย์เป็นใหญ่ในที่จะกระทำให้กำลังรูปประพฤติเป็นไปในอำนาจฯ ฌาณปัจจัยนั้น ได้แก่องค์ฌาณ มีวิตกวิจารณ์เป็นต้น เป็นปัจจัยให้กำลังแก่นามและรูปฯ มัคคปัจจัยนั้น ได้แก่มรรคมีองค์ 8 ประการ ทั้งฝ่ายโลกีย์และโลกุตตระเป็นปัจจัยให้แก่นามธรรมและรูปธรรม อันเกิดพร้อมกันฯ สัมปยุตตปัจจัยนั้น คือจิตและเจตสิก อันเป็นปัจจัยแก่กันเกิดกับดับพร้อมกัน มีอารมณ์เป็นอันเดียวกันฯ วิปปยุตตปัจจัยนั้น คือรูปธรรมนามธรรมที่ยังไม่ประกอบกัน มิได้ระคนกันฯ อตถิปัจจัยนั้น คือรูปธรรมนามธรรมที่ยังไม่ดับ ย่อมเป็นปัจจัยให้กำลังแก่กันฯ นัตถิปัจจัยวิคตปัจจัยนั้น คือนามและรูปดับแล้ว มีปัจจัยให้บังเกิดต่อไปในเบื้องหน้าฯ วิคตปัจจัยนั้น มีเนื้อความเหมือนอัตถิปัจจัย การที่ตรัสพยัญชนะให้ต่างกันแต่เนื้อความเป็นอย่างเดียวกันนั้น ก็ด้วยทรงอนุโลมตามอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ที่ควรรู้ได้ด้วยอรรคพยัญชนะ ประการใด ก็ทรงภาษิตไว้ด้วยประการนั้น ฉะนี้แล

จะแสดงกรรมฐานภาวนาต่อไป กรรมฐานภาวนามี 2 ประการ คือ สมถกรรมฐานภาวนา 1 วิปัสสนากรรมฐานภาวนา 1 ก็ในกรรมฐานสังคหะ 2 ประการนั้น จะแสดงสมถสังคหะก่อน ก็สมถกรรมฐานนั้นที่อารมณ์เป็นเครื่องยึดหน่วงแห่งจิต ทำจิตให้สงบถึง 40 ทัศ จัดเป็นหมวดได้ 7 หมวด คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 อัปปมัญญาพรหมวิหาร 4 อาหารปฏิกูลสัญญา 1 ธาตุววัตถาน 1 อรูปกรรมฐาน 4

ก็สมถกรรมฐานนี้มีอารมณ์มากถึง 40 ทัศ นั้นท่านแสดงไว้โดยสมควรแก่จริตของโยคาวจรบุคคลเพราะบุคคลย่อมมีจริตต่าง ๆ กันถึง 6 ประการ

1. โยควจรที่เป็นราคจริต มากไปด้วยความกำหนัดยินดี ในเบญจกามคุณควรเจริญอสุภะ 10 และกายคตาสติเป็นอารมณ์จึงเป็นที่สบาย
2.โยคาวจรที่เป็นโทสจริต มักโกรธมักประทุษร้าย ควรเจริญพรหมวิหาร 4 และวรรณกสิณ 4 คือ นีลกสิณ 1 ปีตกสิณ 1 โลหิตกสิณ 1 โอทาตกสิณ 1 จึงเป็นที่สบาย

3-4 โยคาวจรที่เป็นโมหจริต มักลุ่มหลงมาก กับที่เป็นวิตกจริต มักตรึกตรองมาก ควรเจริญอานาปานสติกรรมฐาน จึงเป็นที่สบาย

5. โยคาวจรที่เป็นสัทธาจริต มักเชื่อคนพูดง่ายๆ ควรเจริญ พุทธานุสสติ ธมมานุสสติ สงฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวดานุสสติ จึงเป็นที่สบาย

6. โยคาวจรที่เป็นพุทธิจริต มากไปด้วยปัญญา ควรเจริญมรณัสสติ อุปสมานุสสติ อาหารปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัตถาน จึงเป็นที่สบาย

ส่วนกรรมฐานที่เหลือ 10 ประการ คือ รูปกสิณ 4 ได้แก่ ปฐวี - อาโป - เตโช - วาโยกสิณ อรูปกสิณ 2 คือ อาโลกกสิณ และอากาสกสิณ และอรูปกรรมฐาน 4 ย่อมเป็นที่สบายแก่จริตทั้งปวง

จะแสดงวิปัสสนากรรมฐานสืบไปในวิปัสสนากรรมฐาน ท่านแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ วิสุทธิ 1 วิโมกข์ 1 อริยบุคคล 1 สมาบัติ 1

วิสุทธิ นั้นแจกออกเป็น 7 ประการคือ สีล วิสุทธิ 1 จิตตวิสุทธิ 1 ทิฏฐิวิสุทธิ 1 กังขาวิตรณวิสุทธิ 1
วิโมกข์ นั้นแจกออกเป็น 3 ประการคือ สุญญตวิโมกข์ 1 อนิมิตตวิโมกข์ 1 อัปปณิหิตวิโมกข์ 1 ฯ
บุคคลนั้นท่านจำแนกออกเป็นอริยบุคคล 8 จำพวก มีพระโสดามรรคบุคคลเป็นต้น พระอรหัตตผลบุคคลเป็นที่สุด ฯ
สมาบัติ ท่านจำแนกเป็นรูปสมาบัติ 4 อรูปสมาบัติ 4 เป็นสมาบัติ 8 ประการ ด้วยประการฉะนี้แล

(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTnbUBL5kSmKce_wDYYuoALNIc9Gw7r2rny5ksXXtd3EsAzjfSObA)

:http://www.84000.org/supatipanno/dham3.html
: http://truthoflife.fx.gs/index.php?board=35.0 (http://truthoflife.fx.gs/index.php?board=35.0)
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ