[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => คำทำนายภัยพิบัติที่จะเกิด => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 05 มิถุนายน 2553 11:37:21



หัวข้อ: ชะตากรรม โลก ผลกรรม เรา ในวันที่ร้อนจนเกินเยียวยา
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 05 มิถุนายน 2553 11:37:21
คัดลอกมาจาก อ.มดเอ็กซ์ ที่บอร์ดเก่า มาอีกที


ชะตากรรม โลก ผลกรรม “เรา” ในวันที่ร้อนจนเกินเยียวยาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์18 ธันวาคม 2552 08:19 น.(http://www.manager.co.th/images/blank.gif)
นักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมประชุม UNFCCC ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก แสดงให้เห็นว่าถ้ายังไม่ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกในปี 2100 จะเพิ่มขึ้น 2 (สีเหลือง) - 4 องศาเซลเซียส (สีส้ม) ในสิ้นศตวรรษนี้แน่นอน (AFP)[/SIZE]


(http://www.manager.co.th/images/blank.gif)(http://www.manager.co.th/images/blank.gif)หากอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้นจนผิดวิสัย มหันตภัยหลากหลายรูปแบบจะถาโถมเข้ามาสู่ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ และสิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ได้อย่างปกติสุข อาจต้องเผชิญกับความทุกข์ยากจนสุดจะทนทานไหว บางเผ่าพันธุ์อาจถูกกวาดล้างจนสิ้นซากไปพร้อมกับสิ้นศตวรรษนี้
 
นี่ไม่ใช่แค่ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เกี่ยวกับมหันตภัยล้างโลกที่ทำรายได้มหาศาล แต่เป็นหนึ่งในหลายฉากที่มนุษย์อย่างพวกเราอาจได้เผชิญด้วยตัวเอง ดั่งที่ปรากฏในรายงานฉบับที่ 4 (Fourth Assessment Report) ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC (http://www.ipcc.ch/)) ที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2007
 
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในรายงานฉบับดังกล่าว เผยให้เห็นถึงมหันตภัยรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ ภายในศตวรรษนี้ หากอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกราว 1.8-4 องศาเซลเซียส
 
เอเชียเผชิญอุทกภัยทั่ว พืชพันธุ์ถูกทำลาย โรคร้ายระบาด
 
ประชากรในทวีปเอเชียราว 120-1,200 ล้านคน จะต้องเผชิญกับอุทกภัยที่เพิ่มมากขึ้นภายในปี 2020 และอีกราว 185-981 ล้านคน ที่ต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกันภายในปี 2050 พร้อมกับผลผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารในบางพื้นที่ของเอเชียใต้จะถูกทำลายลงไป 30% จากปัจจุบัน
 
แม้ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นไม่มาก แต่ก็หนุนให้แม่น้ำสายสำคัญหลายแห่งเอ่อล้นทะลักตลิ่ง และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำสายสำคัญๆ ที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เช่น แม่น้ำแยงซีในจีน แม่น้ำแดงในเวียดนาม และแม่น้ำคงคา-พรหมบุตร ในบังกลาเทศ
 
เมื่ออุทกภัยแผ่ขยายกินบริเวณกว้างมากขึ้น อหิวาตกโรคและมาลาเรียก็ระบาดหนักยิ่งกว่าเดิม
 
หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยที่มีขนาดไม่ถึง 4 กิโลเมตร จะละลายหายไปหมด และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มตามมา แต่ท้ายที่สุดจะจบลงด้วยความแห้งเหือดของแม่น้ำที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยธารน้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัย ชาวอินเดียจะมีน้ำใช้ต่อหัวลดลงจาก 1,900 ลูกบาศก์เมตร เหลือเพียงแค่ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2025
 
แอฟริกาทำลายโลกน้อยสุด แต่โดนหนักสุด นับร้อยล้านชีวิตขาดน้ำ-อาหาร
 
แม้แอฟริกาจะเป็นพื้นที่ปลดปล่อยก๊าซก่อเรือนกระจกน้อยที่สุด แต่กลับกลายเป็นทวีปที่ต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้ายกว่าใครเพื่อน เพราะจะมีประชากรในทวีปนี้หลายร้อยล้านคนหรือราว 90% ของประชากรทั้งหมด จะต้องประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มอย่างรุนแรงในปี 2080 หรืออาจเร็วกว่านั้น และในตอนนั้นประชากรโลกที่ขาดแคลนอาหารราว 40-50% คือชาวแอฟริกันที่อาศัยอยู่ใกล้กับทะเลทรายซาฮารา เมื่อเทียบกับจำนวนในปัจจุบันนี้ที่คิดเป็น 25% ของผู้ที่ขาดแคลนอาหารจากทั่วโลก
 
ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลให้ฤดูเพาะปลูกหดสั้นลง และหลายพื้นที่ทำการเกษตรไม่ได้อีกต่อไป ทำให้ในบางประเทศเพาะปลูกได้ผลผลิตน้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง ความแห้งแล้งแผ่ปกคลุมผืนดินกินพื้นที่กว้าง 6-9 แสนตารางกิโลเมตร
 
ประชากรในแอฟริกากว่า 500 ล้านคนจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำดื่มอย่างฉับพลัน
 
หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากปี 1990 แม้เพียง 2 องศาเซลเซียส อหิวาตกโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไข้เลือดออก จะระบาดหนักและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์และไนเจอร์ อันเป็นผลพวงมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
 
ยุโรปหิมะละลาย ความหลากหลายหายมากกว่า 60%
 
ประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนจะสามารถยืนหยัดอยู่บนความเสี่ยงต่อภัยแล้งที่รุนแรง ผลผลิตตกต่ำ และมหันตภัยจากคลื่นความร้อนได้มากกว่า ขณะที่ประเทศในยุโรปที่ตั้งอยู่บนละติจูดที่สูงขึ้นไป จะต้องเผชิญกับน้ำท่วมและสภาพอากาศที่เลวร้าย ทว่าจะได้รับความสมดุลจากการที่มีฤดูเพาะปลูกยาวนานขึ้น และมีพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ขยายกว้างมากขึ้น
 
อุณหภูมิบริเวณเทือกเขาแอลป์จะพุ่งสูงขึ้นจนสร้างความเสียหายร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมการเล่นสกี ตลอดจนกวาดล้างชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ให้หมดไปจากบริเวณดังกล่าวมากถึง 60% พื้นที่ลุ่มแม่น้ำที่ได้รับผลจากภาวะน้ำท่วมขยายตัวจาก 19% ในปัจจุบัน เป็น 36% ในปี 2070
 
อุทกภัยฤดูหนาวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นบริเวณชายฝั่งของยุโรป ขณะที่บริเวณตอนกลางของยุโรปจะประสบกับอุทกภัยและน้ำท่วมฉับพลันอันเนื่องมาจากหิมะละลาย เกิดผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อความหลากหลายทางชีวภาพในยุโรป พืชพรรณในท้องถิ่นเกือบทั้งหมดต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หรือบางชนิดอาจสูญพันธุ์เมื่อสิ้นศตวรรษนี้
 
คลื่นร้อนรุนแรง-พายุถาโถมอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ไร้ธารน้ำแข็งเขตร้อน
 
ภาวะโลกร้อนจะเป็นตัวหนุนให้พายุเขตร้อนและคลื่นความร้อนมีพละกำลังรุนแรงมากขึ้นในอเมริกาเหนือ พร้อมกับที่เป็นภัยคุกคามหลายสปีชีส์ในอเมริกาใต้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อถูกทำให้สูญพันธุ์ และต้องอดอยากหิวโหยอีกมากมาย
 
ดินเยือกแข็งรวมทั้งน้ำแข็งในทะเลแถบแคนาดาและอะแลสกาถูกเร่งให้ละลายเร็วขึ้น แมวน้ำและหมีขั้วโลก ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตหลักในบริเวณดังกล่าวจะถูกคุกคามก่อนใครเพื่อน ทั้งยังเป็นการเกื้อหนุนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นให้แพร่กระจายไปในบริเวณนั้นได้มากยิ่งขึ้น และไปเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นมากกว่าเดิม
 
ผู้คนกว่าครึ่งในทวีปอเมริกาต้องตกอยู่ในภาวะยากแค้นจากอุทกภัย วาตภัย คลื่นความร้อน โรคระบาด และหมอกควันในย่านชุมชนเมือง การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองริมชายฝั่งจะทำให้เสี่ยงได้รับความเสียหายจากพายุมากยิ่งขึ้น และจะหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิมเมื่อได้รับแรงหนุนจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น
 
ในอเมริกาใต้มีแนวโน้มสูงมากที่ธารน้ำแข็งเขตร้อนจะละลายหายไปภายในช่วงปี 2020 และมีประชากรราว 7-77 ล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากการขาดแคลนน้ำ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 60-150 ล้านคน ในปี 2100
 
ส่วนในบริเวณอ่างแคริบเบียนจะมีพายุเฮอริเคนเกิดถี่และรุนแรงมากขึ้น ขณะที่หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะเกิดการสูญเสียน้ำในดินไปในบริเวณอะเมซอนตะวันออก และป่าฝนเขตร้อนทางตอนกลางและตอนใต้ของเม็กซิโกจะกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา
 
โลกร้อนพ่วงท่องเที่ยวทำลายแนวปะการังยักษ์
 
ประเทศและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จะสูญเสียทั้งชนิดพันธุ์ต่างถิ่นและสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมในท้องถิ่นนั้น อันเป็นผลพวงมาจากการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะระบบนิเวศบริเวณแนวปะการังยักษ์ (Great Barrier Reef) และอุทยานแห่งชาติคาคาดูในออสเตรเลีย ที่เสี่ยงจะถูกทำลายได้มากที่สุด
 
ปัญหาขาดแคลนน้ำที่สั่งสมมานานทางใต้และตะวันออกของออสเตรเลียจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2030 พื้นที่ลุ่มน้ำเมอเรย์-ดาร์ลิ่ง (Murray-Darling Basin) จะลดลงอีก 10-25% ในปี 2050 ผลิตผลจากภาคเกษตรกรรมและป่าไม้ลดลงอย่างมากทั้งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ยังมีบางพื้นที่ของนิวซีแลนด์ที่มีแนวโน้มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น
 
ส่วนหมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบทั้งจากระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรวดเร็ว กำแพงตามธรรมชาติถูกทำลายลง ทั้งป่าชายเลนและแนวปะการัง ท่าเรือบางแห่งของเกาะฟิจิและซามัวถูกน้ำทะเลท่วม ผลผลิตลดลง 18% ในปี 2030
 
ขั้วโลกร้อนยาวนาน ลดปริมาตรธารน้ำแข็ง
 
สิ้นศตวรรษนี้มีแนวโน้มว่าน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะหายไปราว 23% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาด้วย ส่วนธารน้ำแข็งขนาดใหญ่บริเวณขั้วโลกเหนือ รวมถึงดินแดนแถบขั้วโลกเหนือที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งและกรีนแลนด์ ก็จะสูญเสียความหนาของชั้นน้ำแข็งไป
 
ชั้นน้ำแข็งจะบางลงแค่ไหนเป็นสิ่งที่ยากเกินคาดเดาได้ แต่จะมีประชากรที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวราว 4 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน
 
ส่วนชั้นดินเยือกแข็งในแถบอาร์กติกจะลดลงไปราว 20-35% ในปี 2050 และฤดูร้อนของขั้วโลกเหนือจะยาวนานขึ้นกว่าปัจจุบันราว 15-25% ซึ่งน้ำแข็งที่ละลายในฤดูร้อนก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในบริเวณนั้นด้วย
 
น้ำแข็งขั้วโลกใต้จะค่อยๆ ละลายหายไปตั้งแต่บริเวณแหลมแอนตาร์กติก ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นจุดหนึ่งบนโลกที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ามีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก และคาดการณ์ว่าก้อนน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกจะละลายเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ และละลายจนเกือบหมดในฤดูร้อนของขั้วโลกใต้
 
ขณะที่อนาคตของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกยังไม่มีความแน่นอน เพราะมีหลักฐานที่แสดงถึงแผ่นน้ำแข็งด้านตะวันตกถูกทำลายลง ทว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกนี้จะยังคงอยู่ เพราะยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเมื่อราว 12,000 ปีที่แล้ว มากกว่าที่จะละลายหายไปเพราะภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เมื่อไม่นานมานี้
 
แม้ข้อมูลจากไอพีซีซีตามที่เราหยิบยกมาจะทำให้หลายฝ่ายตระหนักดีว่า โลกในวันข้างหน้าเป็นเช่นไรหากยังไร้การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ผู้แทนรัฐบาลจาก 192 ประเทศทั่วโลกที่กำลังร่วมโต๊ะประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC (http://unfccc.int/)) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กก็ยังคงมีความขัดแย้งและไม่ลงตัวกับการเจรจาต่อรองจากผู้แทนของรัฐบาลจากหลายๆ ประเทศ
 
ถ้าเวทีที่โคเปนเฮเกนปิดลง โดยที่ยังไม่สามารถตกลงแนวทางหลังปี 2012 ได้ ขณะเดียวกันกิจกรรมของมนุษย์ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเพิ่มความร้อนให้โลกได้ วันสิ้นโลกอาจมาถึงเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้.