[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ) => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 05 มิถุนายน 2553 22:21:17



หัวข้อ: โลกร้อน วิกฤติอนาคต ผู้หญิง
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 05 มิถุนายน 2553 22:21:17
ข้อความเดิมโดย อ.มดเอ็กซ์ เวบเก่าครับ




ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทั่วโลกเผชิญ ทั้งพายุเฮอริเคน อย่างพายุเฮอริเคนแคทรีนาที่รุนแรงและสร้างความเสียหายสุดในประวัติศาสตร์อเมริกา พายุไซโคลนนาร์กีสมหันตภัยครั้งใหญ่พัดถล่มพม่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวมณฑลเสฉวน จีน คลื่นยักษ์สึนามิ จนกระทั่งน้ำท่วมดินถล่มที่ฟิลิปปินส์ ผลพวงจากสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงที่จะสร้างความเสียหายปั่นป่วนให้กับระบบนิเวศของโลก แต่ยังคุกคามชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ซึ่งเหยื่อภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้หญิง
 
นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว ภาวะโลกร้อนมหันตภัยที่กำลังคุกคามมวลมนุษยชาติ ยังทำให้ฤดูกาลแปรปรวน เกิดน้ำท่วม แห้งแล้ง เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับการดำรงชีวิตของประชากรโลก โดยเฉพาะกับชีวิตของ "ผู้หญิง" ซึ่งอาจฟังดูแปลกๆ แต่นักวิชาการระดับโลกได้มีการคำนวณและประมาณการคร่าวๆ แล้วว่า เพศที่จะตกระกำลำบากมากที่สุดในช่วงที่โลกอยู่ในภาวะโลกร้อนนั้นก็คือเพศหญิงนั่นเอง โดยเฉพาะผู้หญิงในกลุ่มประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา มีโอกาสจะดำเนินชีวิตได้อย่างยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว
 
โธรายา อาเหม็ด โอเบด ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA (กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ) กล่าวถึงรายงานสถานการณ์ประชากรโลกประจำปี 2552 ซึ่งเผยแพร่โดย UNFPA ว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกัน โดยเฉพาะประเด็นภาระอันไม่เป็นธรรมของผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงบ่อนทำลายวิถีการดำรงชีวิต แต่ยังทำให้ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนยิ่งแย่ลง และขยายความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชายให้เพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในประเทศเหล่านี้มีจำนวนผู้หญิงในแรงงานภาคกสิกรรมมากกว่าผู้ชาย อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผู้หญิงมักจะเข้าถึงโอกาสในการหารายได้ได้น้อยกว่าผู้ชาย
 
"การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความแห้งแล้ง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนกระทั่งหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วมจนเพาะปลูกไม่ได้ ขณะที่ผู้ชายย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินที่อื่น แต่ผู้หญิงต้องดูแลบ้านและสมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดความเสียเปรียบยิ่งขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ"
 
นอกจากนี้โธรายาระบุด้วยว่า ความแห้งแล้งยังเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงทำงานหนักขึ้นเพื่อความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงานของครอบครัว ส่วนเด็กๆ ก็มีแนวโน้มที่จะต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อหาทางจุนเจือครอบครัว ส่วนผู้หญิงในเมืองใช่ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อมีการอพยพเข้ามาของคนในชนบท ปัญหาชุมชนแออัดจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สภาพเศรษฐกิจที่บีบรัดทำให้การหางานทำยากขึ้น การแก่งแย่งทรัพยากรทำให้ต้องต่อสู้ดิ้นรนยิ่งกว่าเดิม รวมถึงปัญหาสังคมก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ผู้หญิงวันข้างหน้าจึงต้องกร้าวแกร่งกว่าปัจจุบันเพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านั้น
 
ในรายงานสถานการณ์ประชากรโลกประจำปี 2552 ซึ่งเผยแพร่โดย UNFPA ฉบับนี้ ยังให้ภาพภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดผลกระทบต่อโลกอย่างใหญ่หลวง เริ่มต้นจากน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือละลายครั้งใหญ่ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ไปจนถึงเหตุการณ์โคลนถล่ม น้ำท่วม พายุหิมะครั้งรุนแรง ความแห้งแล้ง และวิกฤติทางสังคมอีกมากมายที่ดูเผินๆ แล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน แต่เมื่อวิเคราะห์กันอย่างลึกซึ้งก็จะพบว่าล้วนมีสาเหตุเดียวกันทั้งนั้น
 
รายงานสถานการณ์ประชากรโลกประจำปี 2552 ซึ่งเผยแพร่โดย UNFPA ฉบับนี้ ได้ให้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีผลอย่างมากต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะฉะนั้น ข้อตกลงระดับนานาชาติเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการลดโลกร้อนในอนาคตจะต้องคำนึงถึงพลวัตด้านประชากร ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ การอยู่ดีกินดี การปรับปรุงการศึกษาของเด็กหญิง ความเสมอภาคทางเพศ ฯลฯ เพราะปัจจัยเหล่านี้ช่วยลดอัตราการเกิดของประชากร ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในระยะยาว ภาครัฐหรือองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมจึงน่าจะนำข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ไปใช้ประโยชน์ในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ
 
โนบุโกะ ฮอริเบ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ข้อตกลงระดับนานาชาติเกี่ยวกับโลกร้อนจะบรรลุผลในระยะยาว ถ้ามีการชะลอการขยายตัวของจำนวนประชากร ซึ่งจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้กับสังคม อีกทั้งจะมีส่วนในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในอนาคต
 
"การถกเถียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน จะวนเวียนอยู่กับประเด็นความรับผิดชอบของแต่ละประเทศเกี่ยวกับการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความพยายามในการระดมทุนเพื่อเปลี่ยนสู่พลังงานที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนน้อยและเทคโนโลยีอื่นๆ แต่แนวทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนคืออะไร ใครจะเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและในอนาคต คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สำคัญ แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ คำถามที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กหญิงแตกต่างกันยังไงทั่วโลก แม้แต่ภายในแต่ละประเทศ"
 
โนบุโกะกล่าวเสริมว่า การเคลื่อนย้ายประชากรมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดการทิ้งถิ่นฐานที่เกิดน้ำท่วม แห้งแล้ง การย้ายถิ่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพมากมาย สภาพจิตใจที่กดดันจากการโยกย้าย หรือความขัดแย้งของผู้คนที่อาจเกิดขึ้น เพราะความวุ่นวายในการอพยพโยกย้ายประชากร จะมีผู้คนจำนวนหลายล้านคนที่อาศัยในพิ้นที่ชายฝั่งต้องทิ้งบ้านเรือนถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ความแห้งแล้งรุนแรงจะเป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรย้ายจากพื้นที่ชนบทเข้ามาในเมืองเพื่อหาที่อยู่ใหม่ คนในเมืองที่อยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มของการเกิดน้ำท่วม อาจย้ายถิ่นฐานไปพื้นที่ชนบทเพื่อหลบอันตราย การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศดูเหมือนจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญของการเคลื่อนย้ายประชากรในอนาคต เป็นไปได้มากว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ มีบางส่วนที่เป็นการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ
 
แม้บรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศทั่วโลกมีความเชื่อมั่นว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ผลจากกิจกรรมที่สร้างความมั่งคั่งให้กับประชากรโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย การเผาไหม้พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซที่เพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นตามไปด้วย เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก
 
แต่โนบุโกะให้ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานสถานการณ์โลกประจำฉบับนี้ว่า เรื่องของการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจนเกือบจะถึง 7 พันล้านคน เพราะการขยายตัวทางเศรศฐกิจ จำนวนประชากรและการบริโภคได้แซงหน้าเกินกำลังของโลกที่จะปรับตัว การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจรุนแรงมากขึ้น และอาจจะสร้างความเสียหายได้อย่างเหลือเชื่อ จากรายงานคาดการณ์ล่วงหน้าว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 8-10.5 พันล้านคนในอีก 40 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ.2593
 
เมื่อพูดถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้บรรยากาศของโลกร้อนขึ้น โนบุโกะบอกว่าจนถึงวันนี้ ประเทศอุตสาหกรรมยังเป็นที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซอื่นๆ ที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศ แต่กลับป้องกันตัวเองจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางสภาภูมิอากาศ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบกับการปล่อยก๊าซน้อยกว่ากลับต้องแบกภาระในการจัดการและปรับตัวในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ประเทศอุตสาหกรรมสร้างปัญหาส่วนใหญ่ ประเทศยากจนกลับต้องเผชิญความท้าทายใหญ่ในการปรับตัว
 
"ความเร็วและความรุนแรงจากการเพิ่มจำนวนประชากร เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นที่ตระหนักดีในหมู่นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงบรรดาผู้ที่อยู่ในคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ การชะลออัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา อาจจะช่วยให้งานในการสร้างความสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศง่ายยิ่งขึ้นในระยะยาว"
 
ผู้อำนวยการสำนักงานส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้ให้ข้อคิดเห็นด้วยว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สุขภาพ และโอกาสของความเสมอภาคหญิงชาย จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจและดูแลด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ พร้อมๆ กับบริการสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งความมั่นคงทางด้านประชากรจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่โดยการบังคับหรือควบคุม โดยรัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องคาดหมายและเตรียมการสำหรับความตึงเครียดในการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ต้องมีมาตรการเฉพาะเจาะจงที่จะขานรับกับปัญหา ซึ่งจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่ความบ้าคลั่ง นอกจากนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงปัจจุบันยังมีช่องว่าง ซึ่งต้องได้รับการเติมเต็มก่อนจะสายเกินไป
 
สำหรับรายงานสถานการณ์ประชากรโลกประจำปี 2552 นี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ แผนกข้อมูลและความสัมพันธ์ภายนอก โทรศัพท์ +1-212 297-4992 โทรสาร +1-212 557-6416 อีเมล์ kollodge@unfpa.org (kollodge@unfpa.org) หรือดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม สารคดีและสำเนาสรุปภาคภาษาอารบิก อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และรัสเซียได้ที่ www.unfpa.org (http://www.unfpa.org/)
 
ตอนนี้อุณหภูมิโลกได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว เราจึงไม่มีทางเลือกใดนอกจากการปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นสิ่งที่ต้องลงมือทำโดยทันทีคือ ยับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระวังป้องกันไม่ให้กิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์กระทำส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศโลกและสภาพอากาศภายนอกโลก โลกอาจไม่พลิกโฉมกลับมาดีขึ้นภายในวันนี้พรุ่งนี้.


http://www.thaipost.net/sunday/221109/13909 (http://www.thaipost.net/sunday/221109/13909)