[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 09 ธันวาคม 2554 19:22:22



หัวข้อ: อักษรไทยสมัยสุโขทัย (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๘)
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 09 ธันวาคม 2554 19:22:22
อักษรไทยสมัยสุโขทัย จาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๘
โดย นางวิไลวรรณ ขนิษฐานันท์


(http://guru.sanook.com/picfront/sub/2661B18p161A.jpg)

          ภาษาเขียนของคนไทยเกิดขึ้นหลังจากที่คนไทยสร้างเมืองของตนเองขึ้นแล้ว คือ สุโขทัย เมื่อปี  พ.ศ. ๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ ๓  ของเมืองสุโขทัย ทรงจารึกเรื่องตัวหนังสือไทยไว้ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า
          เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปี ที่แล้วมา เมืองสุโขทัยของคนไทยนับว่าเป็นเมืองใหม่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านั้นชนชาติอื่นๆ  รอบด้าน มีการรวมตัวกันเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้วและที่เป็นเมืองแล้วต่างก็มีภาษาเขียนเป็นของตนเองทั้งสิ้น เมืองเขมร เมืองมอญ เมืองพม่า ล้วนมีภาษาเขียนของตนเองก่อนคนไทย ในยุคนั้นและก่อนหน้านั้นเท่าที่ปรากฏในอินเดีย ลังกา และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจารึกเรื่องของการปกครองเมือง ศาสนา และประชาชน นับเป็นประเพณีนิยมของกษัตริย์ทั่วไป เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นปกครองเมือง เมื่อมีการทำสงคราม การทำบุญครั้งใหญ่ หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นในเมือง ก็เป็นประเพณีของกษัตริย์ที่จะทรงบันทึกเรื่องราวไว้ ในอินเดียและลังกา มีการเก็บบันทึกจารึกต่างๆ ทั้งของวัดและกษัตริย์นับได้เป็นจำนวนแสน ประเพณีการจารึกเรื่องราวนี้ได้แพร่หลายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และในย่านนี้จารึกโบราณมีทั้งภาษาบาลีสันสกฤต และต่อมาก็มีจารึกเป็นภาษาของคนพื้นเมืองด้วย คนไทยคงจะใช้ตัวอักษรอื่นที่ใช้แพร่หลายกันอยู่ในย่านนั้นมาก่อนซึ่งมีทั้งอักษรมอญและขอม แต่เมื่อคนไทยมีเมืองเป็นของตนเอง มีกษัตริย์ไทยเองแล้ว แรงผลักดันที่จะต้องมีตัวอักษรของตนเองเพื่อบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์และเมืองตามประเพณีอยู่ในขณะนั้นก็ย่อมเกิดขึ้น การใช้ภาษาของไทยเองย่อมจะทำให้เมืองไทยมีฐานะเท่าเทียมกับเมืองอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เราอาจนับว่าการเป็นเมืองและประเพณีการจารึกเรื่องราวของกษัตริย์และเมือง เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น
          ตัวอักษรที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นตัวเขียนที่มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีที่แล้ว เข้าใจว่าคงจะได้เปรียบเทียบหรือปรับปรุงจากตัวอักษรที่มีใช้อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ตัวหนังสือในปัจจุบันแตกต่างไปจากสมัยสุโขทัยมากแต่ระบบของตัวพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ยังคงเดิม
          อักษรไทยมีใช้มานานประมาณ ๗๐๐ ปีแล้วจึงเป็นธรรมดาที่จะมีลักษณะแตกต่างไปจากภาษาในปัจจุบันทั้งในด้านการเขียนและการแทนเสียงและเพราะเหตุว่าตัวเขียนไทยเป็นตัวอักษรแทนเสียงระบบภาษาเขียนจึงเป็นเสมือนบันทึกของลักษณะเสียงของภาษาไทยเมื่อสมัยประมาณ ๗๐๐ ปี มาแล้วได้เป็นอย่างดี นักภาษาศาสตร์สามารถใช้วิธี การที่เป็นวิทยาศาสตร์อธิบายให้เห็นว่าเสียงของภาษาในสมัยสุโขทัยต่างไปจากเสียงในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์


หัวข้อ: Re: อักษรไทยสมัยสุโขทัย (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๘)
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 09 ธันวาคม 2554 19:22:43

(http://guru.sanook.com/picfront/main/1747B18p159A.jpg)

พยัญชนะ
          แม้ว่าอักษรไทยที่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ซึ่งถือกันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นการจารึกอักษรไทยครั้งแรกนั้น ได้ใช้พยัญชนะไม่ครบทั้ง ๔๔ ตัว คือมีเพียง ๓๙ ตัวขาดตัว ฌ ฑ ฒ ฬ และ ฮ ไม่ครบชุดพยัญชนะเหมือนที่ใช้สอนวิชาภาษาไทยในโรงเรียนในปัจจุบันแต่เราก็อาจสันนิษฐานว่า ระบบภาษาเขียน ในขณะนั้นมี จำนวนพยัญชนะเท่ากับในปัจจุบัน ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ
          ประการแรก จารึกหลักที่ ๒ และจารึกยุคต่อๆ มาใช้ตัวอักษรอีก ๔ ตัวที่ไม่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ และถึงแม้เราจะไม่พบตัวอักษร "ฮ" ในศิลาจารึกในยุคต่อๆ มาก็เป็นที่เชื่อได้ว่า "ฮ" มีอยู่แล้วในระบบ
          ประการที่ ๒ คือ ภาษาเขียนนั้นประดิษฐ์ขึ้นเป็นระบบ ให้มีอักษรสูงทุกตัวคู่กับอักษรต่ำ "ฮ" มีขึ้นเพื่อคู่กับ "ห"
          ประการที่ ๓ คือ "ฮ" เป็นอักษรที่มีที่ใช้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอักษรอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำในภาษาสมัยโบราณ แม้ในขณะที่เขียนเรื่องภาษาอยู่นี้ถ้าเราไม่กล่าวถึงตัว "ฮ" โอกาสที่เราจะใช้คำที่เขียนด้วยตัว "ฮ" แทบจะไม่มีเลย และเพราะเหตุนี้จึงไม่น่าที่จะมีการคิดเพิ่มอักษร "ฮ" ขึ้นภายหลัง เพราะไม่มีความจำเป็นในการใช้
          ในบรรดาตัวอักษร ๔๔ ตัวที่มีมาแต่สมัยโบราณ มีอยู่ ๒ ตัวที่เราเลิกใช้ไปแล้ว คือ  ฃ  (ขอขวด) และ ฅ (คอคน) ที่เราเลิกใช้ไปโดยปริยายก็เพราะเสียง ๒ เสียงนี้เปลี่ยนไปแล้วกลายเป็นเสียงเดียวกับ ข และ ค ตามลำดับ ในภาษาไทยกลางเมื่อเราออกเสียง "ฃ" เป็น "ข" ก็เป็นธรรมดาที่เราจะไม่ทราบว่าคำโบราณใดบ้างที่เคยออกเป็นเสียง "ฃ" เวลาเขียนเราจึงไม่สามารถเลือกใช้ได้ถูก ซึ่งทำให้เราเลิกใช้ไปในที่สุด แต่ทั้งเสียง "ฃ" และ "ข" นี้ ยังมีใช้อยู่ในภาษาไทถิ่นอื่น คือ ในภาษาไทขาว ในเวียดนาม และตัวเขียนสำหรับ ๒ เสียงนี้ก็ต่างกันด้วยในภาษาไทขาว
          เสียง "ข" และ "ฃ" เป็นเสียงที่มีใช้อยู่ในภาษาไทยสมัยสุโขทัย ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จึงได้มีการคิดอักษรแทนเสียง ๒ เสียงนี้ขึ้นในขณะนั้น และในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ใช้คำที่เขียนด้วยทั้ง "ข" และ "ฃ" หลายครั้งอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ คำใดที่เขียนด้วย "ฃ" เมื่อใช้ซ้ำอีกก็ใช้ "ฃ" ดังเดิม เช่น คำว่า ฃุน  ฃึ้น   และ เฃาและการใช้อักษร ๒ ตัวนี้ก็ไม่ปะปนกันเหมือนในจารึกหรือการเขียนอื่นๆ ที่สำคัญมีนักภาษาศาสตร์นำคำที่ใช้เขียนด้วย "ข" และ "ฃ" ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไปเปรียบเทียบกับภาษาไทถิ่นอื่นๆ เช่น ไทขาว ก็พบว่า เป็นคำที่ใช้เสียง ประเภทเดียวกัน และแยกเสียง "ข" และ "ฃ" เหมือนกัน เพราะคำเหล่านี้เป็นคำที่เป็นมรดกตกทอดมาจากภาษาไทโบราณเก่าแก่ตั้งแต่ยังไม่มีอักษรเกิดขึ้น ภาษาไทถิ่นต่างๆ ยังใช้คำเหล่านี้อยู่แต่ว่าเสียงที่ใช้ในคำเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในหลายถิ่น อันที่จริงเราสามารถเห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ตั้งแต่สมัยสุโขทัยยุคหลังศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวคือ การใช้ "ข" และ "ฃ" เริ่มไม่สม่ำเสมอ คำๆ เดียวกันบางครั้งก็เขียนด้วย "ข" บางครั้งก็เขียนด้วย "ฃ" แสดงว่าผู้เขียนหรือผู้จารึกเริ่มแยกเสียง ๒ เสียงนี้ไม่ออกเสียงทั้งสองอาจเริ่มฟังเหมือนกัน เราต้องไม่ลืมว่าในสมัยสุโขทัยไม่มีโรงเรียนสอนภาษาหรือพจนานุกรมที่ผู้ใช้ภาษาอาจใช้อ้างอิงได้ แต่การเขียนแทนเสียงต้องมาจากการฟังและได้ยินเสียงที่ต่างกันจึงจะเขียนด้วยอักษรที่ต่างกัน แม้สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานที่แสดงว่าเสียง "ฃ" ได้หายไปแล้วโดยสิ้นเชิง แต่ยังมีผู้ใช้ "ฃ" เพราะว่าเป็นตัวอักษรที่มีอยู่ กล่าวคือ คำหนึ่งๆ ใช้เขียนได้ทั้ง ๒ แบบ  และที่ใช้ "ฃ" เขียนนั้นบางคำก็มาจากภาษาเขมร บางคำก็มาจากภาษาบาลี
          ตัวอย่างการใช้อักษร ๒ ตัวนี้ปะปนกันแสดงว่าเสียงได้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้เขียนยุคหลังศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ไม่มีความรู้ว่าคำใดเคยเขียนด้วย "ฃ" จึงเขียนไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้ใช้ภาษาไทยยุคอื่นไม่มีทางทราบได้และไม่มีหลักยึดว่าคำใดควรเขียนด้วย "ข" หรือ "ฃ" แต่ในยุคของศิลาจารึกหลักที่ ๑ เสียงทั้ง ๒ นี้ยังต่างกันอยู่ ผู้จารึกจึงเขียนได้ และคำเหล่านี้เมื่อนักภาษาสมัยใหม่ตรวจสอบกับคำภาษาไทถิ่นอื่นตามหลักการทางภาษาศาสตร์ ก็ปรากฏว่าเป็นคำที่ใช้เสียง "ข" และ "ฃ" มาก่อนจริง ตัวอักษร "ฃ"จึงใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑  มีขึ้นก่อนที่เสียง "ฃ" จะเปลี่ยนแปลงไปในสมัยสุโขทัยยุคต่อมา สมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์
          โดยสรุปในแง่ของพยัญชนะที่ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยสุโขทัยก็คือ มีจำนวน ๔๔ ตัวอักษรเท่าที่ปรากฏในสมัยปัจจุบัน แต่การเขียนตัวอักษรได้เปลี่ยนแปลงไปมาก


หัวข้อ: Re: อักษรไทยสมัยสุโขทัย (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๘)
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 09 ธันวาคม 2554 19:23:46

สระ
          การเขียนสระในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑  ต่างจากการเขียนสระในสมัยปัจจุบันมาก ทั้งรูปร่าง สระและวิธีการเขียนกล่าวคือ สระเขียนอยู่ในบรรทัดเช่นเดียวกับพยัญชนะ แต่ในสมัยสุโขทัยยุคต่อมา ได้กลับไปเขียนแบบให้มีสระอยู่รอบๆ พยัญชนะ คือ มีทั้งที่เขียนข้างหน้า ข้างบน ข้างหลัง และข้างล่าง พยัญชนะที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนนี้คงให้เหมือนกับระบบภาษาเขียนอื่นที่คนไทยสมัยนั้นใช้อยู่ก่อนและมีความเคยชินด้วยนอกจากเรื่องตำแหน่งแล้ว วิธีเขียนสระก็ต่างไป คือ สระอัว ในหลักที่ ๑ ใช้ วว ในคำที่ไม่มีเสียงสะกด เช่น หวว "หัว" ตวว "ตัว" ถ้ามีตัวสะกดก็ใช้ "ว" ตัวเดียว เช่นเดียวกับในปัจจุบัน เช่น  สวน แสดงว่ายังไม่มีการใช้ไม้หันอากาศ เพราะ เสียง "ะ" ในคำที่มีตัวสะกดก็ใช้พยัญชนะสะกดซ้ำ ๒ ตัว เช่น มนน "มัน" แต่ในสมัยสุโขทัยยุคต่อมาก็มีการใช้ไม้หันอากาศ ส่วนสระเอียใช้เขียนเป็น "ย" เช่น วยง "เวียง" สยง "เสียง" โดยภาพรวมแล้ว สระที่มีการเขียนเป็นตัวอักษรแทนเสียงมีจำนวนเท่ากับสระในปัจจุบัน


หัวข้อ: Re: อักษรไทยสมัยสุโขทัย (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๘)
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 09 ธันวาคม 2554 19:24:05

วรรณยุกต์
          รูปวรรณยุกต์ที่ใช้เขียนกำกับในยุคสุโขทัยมีเพียง ๒ รูป คือ ไม้เอก และไม้โท แต่ไม้โทใช้เป็นเครื่องหมายกากบาทแทน สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับรูปวรรณยุกต์คือไม่ใช่ตัวอักษรแทนเสียงในทำนองเดียวกับตัวพยัญชนะและสระ เพราะไม้เอกไม่ได้กำกับเฉพาะคำที่มีเสียงเอกเท่านั้น ใน ทำนองเดียวกันไม้โทก็ไม่ได้กำกับเสียงโทเท่านั้นแต่เสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนไปตามลักษณะพยัญชนะต้นของคำ คือ ไม้เอก บอกเสียงเอกในคำที่ขึ้นต้น ด้วยอักษรสูงและกลาง แต่บอกเสียงโทในคำที่ขึ้น ต้นด้วยอักษรต่ำ และไม้โท บอกเสียงโทในคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูงและกลาง แต่บอกเสียงตรีในคำที่ขึ้นต้นด้วยอักษรต่ำแสดงว่ารูปวรรณยุกต์ไม่ได้ใช้แทนเสียงหนึ่งเสียงใดโดยเฉพาะ แต่ใช้บอกความต่างกันของเสียงเท่านั้น ซึ่งน่าจะหมายความว่ารูปวรรณยุกต์แบบนี้สร้างขึ้นเพื่อให้ใช้ผันเสียงวรรณยุกต์กับอักษรสูง กลาง ต่ำ ใช้แสดงความแตกต่างกันและจะใช้กับเสียงวรรณยุกต์ในถิ่นใดก็ได้ และคงเป็นเพราะรูปวรรณยุกต์มิได้ใช้แทนเสียงวรรณยุกต์ใดวรรณยุกต์หนึ่งนี้เองที่ทำให้จารึกในยุคหลังๆ ไม่ใช้วรรณยุกต์กำกับเลยก็มี



หัวข้อ: Re: อักษรไทยสมัยสุโขทัย (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๘)
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 09 ธันวาคม 2554 19:25:06

(http://guru.sanook.com/picfront/sub/2664B18p163A.jpg)

ตัวเลขไทย
          ตัวเลขนับเป็นส่วนสำคัญของการเขียน ดังเราได้ทราบแล้วว่า การบันทึกระยะแรกๆ ของภาษาโบราณของโลก เป็นการบันทึกเรื่องจำนวนสิ่งของและผู้คน และตัวเลขก็ยังมีความสำคัญตลอดมา
          ตัวเลขไทยคงจะประดิษฐ์ขึ้นในเวลาเดียวกันกับตัวอักษรอื่นๆ แม้ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ เราจะไม่พบเลขครบทั้ง ๑๐ ตัว ขาด ๓ ๖ ๘ และ ๙ แต่เราก็อนุมานได้ในทำนองเดียวกับพยัญชนะว่าต้องมีตัวเลขเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะการประดิษฐ์ตัวเลขนั้นต้องเป็นระบบและมีลำดับ ที่สำคัญเราพบตัวเลขที่ขาดไปในจารึกสมัยของพระยาลิไท แสดงว่าตัวเลขทั้งหมดมีอยู่แล้ว ตัวเลขสมัยสุโขทัยเขียนแตกต่างไปจากตัวเลขสมัยปัจจุบันมาก


หัวข้อ: Re: อักษรไทยสมัยสุโขทัย (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๘)
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 09 ธันวาคม 2554 19:26:23

(http://guru.sanook.com/picfront/main/1747B18p159B.jpg)

อักษรไทยอื่นๆ
          ในสมัยอยุธยามีการเรียนการสอนภาษาไทยดังเห็นได้จากมีตำราสอนอ่านและเขียนภาษาไทยเกิดขึ้น ชื่อว่า จินดามณี คนไทยนิยมแต่งโคลงกลอน (และแต่งตำราต่างๆ) ในยุคนี้คนมีโอกาสเขียนหนังสือ การเขียนคงแพร่หลายมากกว่ายุคสุโขทัย และเป็นการเขียนด้วยมือ ตัวหนังสือจึงพัฒนาเปลี่ยนไปมากและมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวเขียนในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเขียนตัวอักษรเท่านั้น ส่วนระบบการเขียนยังคงเดิม
          นอกจากอักษรไทยที่สืบทอดมาจากสุโขทัยที่กล่าวมาแล้ว ในเมืองไทยยังมีตัวอักษรพื้นเมืองอื่นๆ ที่รู้จักกันอีกคือ ตัวอักษรฝักขาม และตัวอักษรพื้นเมืองล้านนา ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้ใช้เขียนอ่านในชีวิตประจำวันแล้ว
          ตัวอักษรที่เราใช้เขียนในราชการ ในโรงเรียน และในการสื่อสารทั่วๆ ไป ในปัจจุบันเป็นตัวเขียนที่มีวิวัฒนาการสืบทอดมาจากลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นที่เราได้เห็นในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จาก "การจารึก" บนแผ่นศิลา มาสู่การเขียนด้วยมือ และในปัจจุบันนอกจากการเขียนแล้ว เรายัง "พิมพ์" ภาษาไทยด้วยพิมพ์ดีด และด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์อีกด้วยรูปร่างลักษณะของตัวหนังสือไทยได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและเทคโนโลยีของแต่ละยุค เช่น  เดียวกับคนไทยที่เปลี่ยนลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม