[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: sithiphong ที่ 09 มิถุนายน 2553 08:51:48



หัวข้อ: บุตรบุญธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 09 มิถุนายน 2553 08:51:48
บุตรบุญธรรม
 /อ้วน อารีวรรณ
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 มิถุนายน 2553 08:54 น.
 
jatung_32@yahoo.com

เมื่อตอนที่แล้ว ได้เขียนถึงเรื่อง “บุตรนอกสมรส” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นฐานทั่วไปที่น่ารู้ บางท่านอาจทราบดีอยู่แล้ว หรืออาจทราบมากกว่าผู้เขียนเสียอีก แต่บางท่านอาจทราบอยู่บ้าง ถือว่าเป็นการทบทวนความทรงจำกันไปนะคะ

และสืบเนื่องจากเนื้อหาตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงการใช้อำนาจปกครองบุตร ในกรณีได้ยกบุตรของตนเองให้เป็นบุตรบุญธรรมคนอื่น ก็ทำให้ตนเองนั้นไม่มีอำนาจปกครองบุตรอีกต่อไปเพราะผู้รับบุตรบุญธรรมจะเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรนั้นแทนตน

ทำให้คราวนี้ ดิฉันจึงตั้งใจเขียนถึงเรื่อง “บุตรบุญธรรม” เพื่อให้หลายๆ ท่านที่สนใจอยากรับบุตรบุญธรรมได้ทราบหลักข้อกฎหมายที่สำคัญๆ ในการรับบุตรบุตรธรรมกันค่ะ

หลักเกณฑ์สำคัญอันดับแรกที่ควรทราบ คือ อายุ ซึ่งหมายถึงอายุของบุคคลที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมได้ ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี ดังนั้นอายุมากกว่านี้ไม่มีปัญหา และผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องอายุน้อยกว่าผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี หมายความว่า ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมอายุ 25 ปี สามารถรับบุตรบุญธรรมที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงไม่เกิน 10 ปี ได้ แต่เนื่องจากผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมยังเป็นเด็กอยู่ ผู้รับบุตรบุญธรรมจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองของเด็กก่อนด้วย

ดังนั้นหากเป็นกรณี ผู้รับบุตรบุญธรรมอายุ 35 ปี อยากรับบุตรบุญธรรมอายุ 20 ปี ก็สามารถกระทำได้ หากบุคคลที่จะเป็นบุตรบุญธรรมยินยอม โดยไม่ต้องถามพ่อแม่หรือผู้ปกครองอีกเพราะบรรลุนิติภาวะแล้ว และในกรณีผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุ 15 ปีแล้วแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แม้พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความยินยอม ตัวเด็กก็ต้องให้ความยินยอมด้วยเช่นกัน

ผู้รับบุตรบุญธรรมจะรับบุตรบุญธรรมกี่คนก็ได้ ไม่มีกฎหมายกำหนดห้าม และผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่บรรลุนิติภาวะแล้วจะเป็นบุตรบุญธรรมบุคคลอื่นมากกว่า 1 ท่านก็ได้ เว้นแต่ในกรณีผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่ยังเป็นเด็ก ไม่สามารถเป็นบุตรบุญธรรมคนอื่นได้มากกว่า 1 ท่าน มีข้อยกเว้นกรณีเดียว คือ สามีหรือภริยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมได้ขอรับเด็กคนนั้นเป็นบุตรบุญธรรมด้วยกัน

ในกรณีรับเด็กที่ถูกทอดทิ้งจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด จากมูลนิธิต่างๆ หรือหน่วยงานภาครัฐดูแลอยู่ เช่น สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนต่างๆ ซึ่งเด็กอยู่ในการปกครอง ต้องให้ผู้รับผิดชอบในองค์กรเหล่านี้ให้ความยินยอมในการที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม



 
   
 
 
ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมหากได้สมรสถูกต้องตามกฎหมายก่อนแล้ว การรับบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อนด้วย และความยินยอมนี้ ไม่ได้หมายความว่าคู่สมรสได้เข้าร่วมเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมกับตน แต่หากรับบุตรบุญธรรมไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส จะส่งผลให้การรับบุตรบุญธรรมไม่สมบูรณ์และไม่มีผลตามกฎหมาย แม้ว่าจะได้มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม เนื่องจากคู่สมรสมีสิทธิร้องขอต่อศาลขอให้เพิกถอนการรับบุตรบุญธรรมนั้นได้

เนื่องจากการรับบุตรบุญธรรมจะก่อให้เกิดภาระความรับผิดชอบระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้เป็นบุตรบุญธรรม โดยเฉพาะหากผู้เป็นบุตรบุญธรรมยังเป็นเด็กอยู่ เช่น ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองดูแลบุตรบุญธรรมในด้านต่างๆ เช่น ทำโทษว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร มีสิทธิกำหนดที่อยู่อาศัย เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมในการกระทำใดๆ แทนบุตรบุญธรรม ตลอดจนจัดการทรัพย์สินของผู้บุตรบุญธรรมในช่วงเวลาที่ยังเป็นเด็ก

ส่วนผู้เป็นบุตรบุญธรรมก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อผู้รับบุตรบุญธรรมเฉกเช่นเดียวกับบิดามารดาผู้ให้กำเนิด นั้นคือต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรมเช่นเดียวกับบิดามารดาด้วย เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินให้ใคร บุตรบุญธรรมย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในฐานะบุตรผู้สืบสันดาน

หลักสำคัญต่อมา คือ การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 ซึ่งผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขของกฎหมาย และร้องขอจดทะเบียนได้ที่นายทะเบียน ยังเขต หรืออำเภอ

เงื่อนไขของกฎหมายที่สำคัญ กรณีผู้เป็นบุตรบุญธรรมเป็นเด็ก คือ ต้องมีการทดลองเลี้ยงดูเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยผู้ประสงค์จะขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจะต้องยื่นคำขอพร้อมทั้งหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่ออธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ในกรณีผู้ยื่นคำขออยู่ในกรุงเทพหรือต่างประเทศ แต่หากผู้ยื่นคำขออยู่ในต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ตามทะเบียนบ้าน

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพครอบครัว ความเป็นอยู่ ความเหมาะสมของผู้ขอรับบุตรบุญธรรม ผู้มีอำนาจให้ความยินยอม และเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมก่อนมีคำสั่งให้ทดลองเลี้ยงดูเด็กได้

กรณีที่ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นเครือญาติใกล้ชิดกับเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม เช่น เป็นพี่ร่วมบิดาหรือพี่ร่วมมารดา เป็น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือเป็นคู่สมรสที่ได้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอยู่ก่อนแล้ว หรือเป็นบุตรที่ติดมาของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องทดลองเลี้ยงดูเด็กไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนแต่อย่างใด

ข้อควรทราบ กรณีการขอเลิกรับบุตรบุญธรรม สามารถกระทำได้หากทั้งฝ่ายผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้เป็นบุตรบุญธรรมยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย หากผู้เป็นบุตรบุญธรรมยังเป็นเด็ก การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะกระทำได้เมื่อได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ของผู้เป็นบุตรบุญธรรม หากเป็นความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สมัครใจกันทั้งสองฝ่าย ก็จำเป็นต้องฟ้องคดีต่อศาล โดยมีเหตุฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ ดังนี้

1. ฝ่ายหนึ่ง ทำการชั่วร้าย ไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญา หรือไม่ก็ตาม หากทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

2. ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือพ่อแม่ของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือผู้เป็นบุตรบุญธรรมได้หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมอย่างร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

3. ฝ่ายหนึ่งกระทำการประทุษร้ายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจอย่างร้ายแรง แก่อีกฝ่ายหนึ่งหรือพ่อแม่หรือคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นความผิดที่มีบทลงโทษทางอาญา อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

4. ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

5. ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

6. ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 3 ปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทจึงฟ้องไม่ได้

7. ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดา ได้กระทำละเมิดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดหรืออาจจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบุตรบุญธรรม เช่น ไม่ให้การศึกษากับบุตรบุญธรรม ไม่จัดการทรัพย์สินของบุตรบุญธรรมด้วยความระมัดระวัง เอาเงินได้ของบุตรบุญธรรมไปใช้จ่ายนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่เอาไปใช้จ่ายส่วนตัวจนเกินฐานะ เป็นต้น

การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย และการฟ้องคดีขอเลิกรับบุตรบุญธรรมต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ผู้ขอเลิกรับบุตรบุญธรรมรู้หรือควรได้รับรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เลิกรับบุตรบุญธรรม หรือเมื่อไม่เกิน 10 ปีนับแต่เหตุนั้นเกิดขึ้น

สุดท้ายนี้ จะว่าไปแล้วการเขียนบทความของดิฉันนั้นเปรียบเสมือนแม่ครัวที่พยายามปรุงรสชาติอาหารแบบกลางๆ ไม่ให้เผ็ดร้อนเกินไป และก็ไม่ให้จืดชืดมีแต่น้ำ รวมถึงอาจให้เครื่องปรุงรสไม่ครบถ้วนนัก รสชาติที่ออกมาจึงอาจไม่ถูกปากถูกใจใครหลายคน ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย อีกทั้งหากการกระทำใดๆ ที่ผ่านมาของดิฉันเคยล่วงเกินท่านไป โดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ดี ไม่ว่าจะด้วยทางบทความ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็ขออโหสิกรรมต่อกันด้วยนะคะ
 
 


.

Celeb Online