[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ) => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 12 มิถุนายน 2553 15:00:33



หัวข้อ: ค่าปรับโลกร้อน "ลูกล้ำหน้า"ต้อนไทยสู่จุดอับ
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 12 มิถุนายน 2553 15:00:33
[ โดย อ.มดเอ็กซ์ บอร์ดเก่า ]



เมื่อเรื่องโลกร้อนกลายเป็นประเด็นที่วิตกกังวลทั่วโลก เป็นหัวข้อที่โลกกำลังหยิบยกขึ้นมาเจรจาต่อรองกันในเวทีระดับนานาชาติ โดยที่ทิศทางของการหาผู้รับผิดชอบขยายวงไปยังประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนับว่าเป็นการเบนเข็มจากที่เคยพุ่งเป้าไปที่ชาติพัฒนาแล้ว ซึ่งตกเป็นจำเลยแบบจำนนต่อหลักฐาน ให้มารับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังชั้นบรรยากาศ
 
อย่างไรก็ตาม แม้กติกาโลกจะประดิษฐ์คิดค้นรูปแบบของความรับผิดชอบผู้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นมา และ "คาร์บอนเครดิต" ก็เป็นนวัตกรรมใหม่ที่นำเอาหลักเศรษฐศาสตร์มาเชื่อมโยงปัญหาโลกร้อน หลักการที่ว่านี้ก็คือ การตีค่าปริมาณของก๊าซคาร์บอนฯ ออกมาเป็นรูปของตัวเงินและการซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนฯ กันในระดับประเทศ
 
ปัจจุบันมีกลไกตลาดของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้นอย่างคึกคัก "ผู้ซื้อ" ส่วนใหญ่นั้นแน่นอนว่าต้องเป็นชาติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ก่อก๊าซคาร์บอนฯ หลัก ส่วน "ผู้ขาย" นั้นหนีไม่พ้นชาติกำลังพัฒนาหรือชาติด้อยพัฒนา ที่ไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตที่ก่อมลพิษมากมาย การซื้อขายก๊าซคาร์บอนฯ เริ่มขยายวงขึ้น แม้แต่ในประเทศไทยก็มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลงานด้านนี้เรียกว่าเป็นการรองรับอนาคตการตลาดคาร์บอนเครดิตในอนาคต พร้อมกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างเอกชนไทยกับชาติพัฒนาแล้วบางประเทศก็เริ่มมีความธุรกรรมเกิดขึ้นประปรายบ้างแล้ว
 
บนความเคลื่อนไหวของโลกที่พยายาม "จี้" หาผู้รับผิดชอบปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ และพุ่งเป้าไปที่ชาติอุตสาหกรรม นี้มีปรากฏการณ์แปลกใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยและกลายเป็นประเด็นช็อกสังคมและสร้างความกังขาอย่างมาก เมื่อศาลตัดสินให้ชาวบ้านคือนายกำจาย ชัยทอง ถูกดำเนินดคีแพ่งเรียกค่าเสียหายตามคำฟ้องของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จังหวัดพัทลุง จำนวน 8 ไร่ 2 งานเศษ จากการตัดต้นยางเก่าในพื้นที่ซึ่งชาวบ้างอ้างว่าได้ทำกินมานานแล้วหลายรุ่น คิดเป็นค่าเสียหายทั้งหมด 1,306,875 บาท
 
โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการจังหวัดพัทลุงเพื่อแจกแจงว่ามีหลักเกณฑ์คิดคำนวณความเสียหายอย่างไร พบว่า นอกเหนือจากความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทางกรมอุทยานฯ อ้างถึง เช่น การสูญหายของธาตุอาหาร 4,064.15 บาทต่อไร่/ปี ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่/ปี ยังมีรายการความเสียหายที่ระบุว่าทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่/ปี ทำให้ฝนตกน้อยลง 5,400 บาทต่อไร่/ปี
 
นอกจากนายกำจายแล้วยังมีชาวบ้านเทือกเขาบรรทัดอีก 48 ราย ทั้งจาก จ.พัทลุง ตรัง และกระบี่ ที่ถูกกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งฐานทำให้โลกร้อน รวมมูลค่ากว่า 31 ล้านบาท
 
ล่าสุดนายกำจาย ชาวบ้านผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับ "ข้อกล่าวหาสากล" ว่าเป็นผู้ทำให้เกิดโลกร้อน โดยข้อกล่าวหานี้องค์การสหประชาชาติออกกฎเหล็กขึ้นมาเพื่อบังคับใช้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วโลกและยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นมรดกตกทอดมาจากปู่ย่าหลายชั่วอายุคน ใช้เพื่อการเพาะปลูกมากว่า 200 ปี
 
กฎหมายที่ทางกรมอุทยานฯ นำมาเล่นงานชาวบ้านเทือกเขาบรรทัดนั้นก็คือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่ว่าด้วยมาตรา 97 ซึ่งระบุไว้ดังนี้
 
"กำหนดให้ผู้ใดที่กระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลาย หรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐจากมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปแล้ว"
 
กฎหมายฉบับดังกล่าวแม้จะเกิดขึ้นตอนปี 2535 หรือเมื่อประมาณ 17 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ปัญหาโลกร้อนจะบูมขึ้นทั่วโลก แต่การระบุซึ่งตีความอย่างกว้างๆ กลับสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสอดรับกับเรื่อง "คาร์บอนเครดิต" อย่างพอดิบพอดี
 
หลังจากรัฐบาลประกาศ "ปิดป่า" เมื่อ พ.ศ.2532 ให้ยกเลิกสัมปทานการทำไม้ของเอกชน เนื่องจากสภาพป่าถูกทำลายไปมาก โดยช่วงก่อนที่จะปิดป่าพื้นที่ป่าในประเทศไทยลดลงเหลือแค่ประมาณ 30-40% เท่านั้นเมื่อเทียบกับในอดีต
 
ไม่กี่ปีต่อมา ก็เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของสังคมที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่อีกส่วนหนึ่งมีจุดมุ่งหมายต้องการ "เพิ่มโทษ" พวกตัดไม้ทำลายบุกรุกพื้นที่ป่า โดยนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์ทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น หลักผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย (Polluter Pays Principle) มาเป็นส่วนหนึ่งของบทลงโทษ พร้อมกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวกลับไม่เคยนำมาปปฏิบัติบังคับใช้แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่สถานการณ์บุกรุกทำลายป่ายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ดังนั้น การที่ชาวบ้านสวนยางจังหวัดพัทลุงโดนกฎหมายดังกล่าว "เล่นงาน" จึงนับได้ว่าเป็น "รุ่นทดลอง" ปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ แม้ว่าในการฟ้องร้องจะไม่มีคำว่าคาร์บอนเครดิตแต่อย่างใด แต่ในสาระการฟ้องก็คือการให้ชดใช้และรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนจากการตัดต้นยางของชาวบ้าน
 
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต้องมองเป็น 2 ส่วน อย่างแรกต้องมองเจตนาของกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2535 ว่ามีเจตนาอย่างไร ต้องยอมรับว่าหลักการของกฎหมายฉบับนี้ถูกต้อง มีเจตนาดี เป็นมาตรการที่ต้องการปรามคนบุกรุกทำลายป่า และต้องการเพิ่มการลงโทษคนที่ทำลายป่า จากแต่ก่อนที่หากมีใครมาบุกรุกป่า ทำลายป่า ก็จะใช้วิธีไล่ออกไป ปรับ หรือจำคุก ป่าทุกอย่างทุกประเภทจะใช้บทลงโทษเดียวกันหมด แต่จริงๆ แล้วคุณค่าของป่าแต่ละแห่งไม่เท่ากัน จึงมีการนำหลักการ Ecology System goods services มาใช้ในการลงโทษร่วมด้วย
 
"บางครั้งการตีมูลค่าความเสียหายจากราคาไม้ อาจจะไม่คุ้มค่าความสูญเสียจากการบุกรุกทำลายป่า เพราะเทียบกับราคาไม้ที่เป็น goods ตีราคาไม่ยาก แต่เอาเข้าจริงป่า 1 ไร่ตีราคาไม้ได้ไม่เท่าไหร่ซึ่งเมื่อก่อนเขาคิดกันอย่างนี้ จึงมีนำเรื่องของ services ซึ่งเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้มาคิดรวมด้วย เช่น สิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ หรือการท่องเที่ยว หรือคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมมาคิดรวมด้วย แต่ตรงนี้การคำนวณมูลค่ามันไม่แน่นอน" ดร.อานนท์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะมีมาตั้งแต่ปี 2535 แต่ก็ยังไม่เคยใช้ เข้าใจว่าทางกรมอุทยานฯ เองก็เกรงปัญหาความขัดแย้งกับท้องถิ่นต่างๆ
 
"ผมเข้าใจว่าที่ผ่านมา อุทยานฯ หลายๆ ที่ก็ไม่ค่อยมีความมั่นใจ เลยไม่ได้ใช้กฎหมายฉบับนี้"
 
สำหรับในกรณีที่ชาวบ้านถูกกรมอุทยานฯ ฟ้องทางแพ่ง โดยแจกแจงให้เห็นถึงความเสียหายจากการตัดต้นยางที่เกิดขึ้น ดร.อานนท์กล่าวว่า การฟ้องร้องเรียกค่าปรับของกรมอุทยานฯ ต่อชาวบ้านพัทลุงแม้จะไม่มีคำว่าคาร์บอนเครดิต แต่ก็ระบุว่าการตัดต้นยางดังกล่าวทำให้อุณหภูมิบริเวณนั้นสูงขึ้น ส่วนโดยสูตรการคิดคำนวณค่าปรับก็มาจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งทำมานานแล้ว โดยที่ไม่ได้มีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง
 
"ผมมองว่าเรื่องค่าปรับมีงานวิจัยมารองรับน้อย หลักการกฎหมายที่ให้คิดค่าปรับไม่ขัดแย้ง แต่การทำอย่างนี้ของกรมอุทยานฯ ผมมองว่าเร่งรัดเร่งรีบไปหน่อยมันล้ำหน้าไป มันต้องมีการศึกษาวิจัยให้มากขึ้นกว่านี้ ทำให้เกิดขบวนการมีส่วนร่วมเอาหลายๆ ฝ่ายเข้ามาเลย ให้นักวิชาการมาออกความเห็น ศึกษาวิจัยกันถ้าใช้เวลา 10-15 ปีก็ต้องยอม แต่ตรงนั้นมันจะทำให้สังคมได้มีการรับรู้ มีการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการปรับทัศนคติคนในสังคมดีกว่า ก่อนที่จะนำกระบวนการไปที่ศาลเลย" ดร.อานนท์กล่าว
 
ปัญหาการคิดค่าเสียหายทำให้อากาศร้อนขึ้น และฝนตกน้อยลงจากชาวบ้านของกรมอุทยานฯ ถึงกับทำให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีการจัดเสวนาระดมความคิดเห็นกันเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2552 ที่ผ่านมา โดยนักวิชาการสาขาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านวนศาสตร์ ได้มีข้อสังเกตและข้อวิจารณ์หลายประการ เกี่ยวกับวิธีการคิดคำนวณ โดยหยิบยกประเด็นเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศไทย กับชาติอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา พบว่าไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมคิดเป็นสัดส่วน 0.8% ของทั้งโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาปล่อยก๊าซมีสัดส่วน 21% ของทั้งโลก สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ปล่อยก๊าซ 15 % จีนปล่อยก๊าซ 20% (ข้อมูลปี 2005)
 
ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักวิชาการตั้งคำถามว่า การที่ชาวบ้านตัดสวนยางเก่าไป 8 ไร่เศษนั้นจะส่งผลต่อปัญหาโลกร้อนมากน้อยเพียงใด และเมื่อผู้ศึกษาได้อธิบายว่าการศึกษาในเรื่องนี้เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิอากาศท้องถิ่น (Micro Climate) ยิ่งทำให้เกิดคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระดับท้องถิ่นที่เกิดขึ้น ซึ่งตรวจวัดได้จริงกับฐานความเสียหายที่นำไปโยงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องโลกร้อน
 
นักวิชาการอื่นๆ ที่เคยให้ความเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วยกับการคิดต้นทุนความเสียหายจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของกรมอุทยานฯ จากชาวบ้าน อาทิ ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การนำแบบจำลองคิดค่าเสียหายไปใช้ อาจจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในกลุ่มชาวนา ชาวไร่ ที่ไม่ได้สร้างมลภาวะมากมาย แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วที่ก่อก๊าซเรือนกระจกมากมาตั้งแต่อดีตกาล และมีพันธกรณีลดก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่ได้นำค่าความเสียหายดังกล่าวไปปรับใช้กับชาวบ้าน ขณะที่ในระดับโลกประเทศไทยซึ่งไม่มีพันธกรณีใดๆ แต่ไปคิดค่าปรับดังกล่าว อาจจะเป็นการส่งสัญญาณผิดในเวทีระดับโลกทำให้ประเทศไทยถูกดึงอยู่ในกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งที่ก่อปัญหาก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก
 
เจริญ คัมภีร์ภาพ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า กรณีกรมอุทยานฯ ดำเนินคดีกับชาวบ้านสั่งให้เสียเงินค่าปรับที่ทำให้โลกร้อนเป็นการประยุกต์ใช้กฎหมายที่ลุแก่อำนาจ ฝ่ายบริหารขาดดุลพินิจเรื่องที่ทำให้โลกร้อนจนเกินความจำเป็น และกฎหมายที่นำมาใช้นี้ไม่มีความยุติธรรม ถ้าคิดใช้สูตรนี้คนขับรถ คนขายน้ำมัน ก็ควรต้องรับผิดชอบค่าปรับโลกร้อน คนเหล่านี้ใช้รถยนต์แล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าชาวบ้านที่ตัดต้นยางเก่าออก รวมถึงคนที่ละเว้นไม่ดูแลรักษาทรัพยากรของชาติ จนเป็นต้นทุนค่าเสียหายจากปัญหาโลกร้อน
 
"รัฐใช้กฎหมายเช่นนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติไม่ถูกต้อง ผมไม่คิดว่าจะช่วยปกป้องหรือแก้ปัญหาได้ เป็นความมักง่ายใช้กฎหมายมั่วนิ่มมาก เวลานี้สังคมสับสนจะป้องกันโลกร้อนยังไงจะใช้กฎหมายยังไง เพราะลักษณะความผิดกับโทษที่ได้รับไม่ได้เหมาะสมกัน เป็นความตกต่ำของวงการวิชานิติศาสตร์ของประเทศไทย แสดงถึงความอ่อนเปลี้ยของผู้ใช้กฎหมาย ไม่มีกฎหมายชัดเจนว่า ผู้ใดก่อให้เกิดโลกร้อนทำให้เกิดความผิด ปรากฏการณ์นี้น่าเป็นห่วง "
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแสดงความเห็นว่า หากนำเรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโยงกับความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคมากกว่าความรู้ทางกฎหมาย ในปัจจุบันไม่เพียงพอ วงการนิติศาสตร์ที่ศึกษาตลอดจนวิธีพิจารณาที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ล้าสมัย สมมติการตัดป่าไม้เป็นสาเหตุของโลกร้อนต้องมีสูตรคิดคำนวน กรณีเช่นนี้ต้องมีศาลพิเศษหรือศาลสิ่งแวดล้อม มีผู้เชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละด้านร่วมพิจารณา บางเรื่องไม่ควรใช้บริการของศาลแต่บ้านเราก็ผลักภาระให้ศาลชี้ความเหมาะสม ระบบศาลปัจจุบันควรใช้ในข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมบางประการเท่านั้น
 
อาจารย์เจริญ กล่าวต่อว่า การกังวลเรื่องภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันในการลดต้นเหตุที่ทำให้โลกร้อน แต่ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นผลจากการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ นักการเมือง นายทุน ไม่ใช่ชาวบ้านผู้หาเช้ากินค่ำ แต่กลับผลักภาระรับผิดชอบให้ชาวบ้าน เห็นได้ถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ครอบงำสังคมไทยมาตลอด ถ้านโยบายของรัฐไม่เปิดเพื่อการมีส่วนร่วมของสังคม องค์ความรู้ไม่ถูกถักทอสู่ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ก็คงได้เจอข้าราชการไอเดียกระฉูด คิดด้วยตรรกะง่ายๆ ตื้นๆ นำมาสู่การใช้อำนาจที่ส่งผลเสียต่อสังคม ตามมาด้วยความขัดแย้งที่ไม่มีวันสิ้นสุด
 
ส่วน บัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในคณะทำงานด้านการประชุมโลกร้อนที่จะมีขึ้นในประเทศไทยในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ก็มีความเห็นว่า
 
"ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านเรื่องป่าไม้-ที่ดินในประเทศไทยโดยตัวมันเองก็ยุ่งมากอยู่แล้ว มีทั้งปัญหาชาวบ้านบุกรุกป่า และกฎหมายบุกรุกคน อย่าเอาปัญหาเรื่องโลกร้อนซึ่งซับซ้อนยุ่งยากไปทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นอีกดีกว่า"


http://www.thaipost.net/sunday/200909/11009 (http://www.thaipost.net/sunday/200909/11009)