[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => กระบวนการ NEW AGE => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 13 มิถุนายน 2553 13:49:33



หัวข้อ: องค์รวมกับสุขภาวะบูรณาการ
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 13 มิถุนายน 2553 13:49:33
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2547

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้เขียนได้รับหนังสือเชิญให้ไปเข้าร่วม “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ ๑” งานชุมนุมการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ โดยอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ ๑-๕ กันยายน หนังสือเชิญไม่ได้ระบุให้ผู้เขียนเป็นวิทยากรหรือมีหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด เนื่องจากไม่ทราบเรื่องนี้มานานพอที่จะจัดเวลาให้เหมะสมได้ จึงไม่ได้ไปร่วมการชุมนุมตามคำเชิญ ซึ่งจนวันนี้ก็ยังไม่ได้ขอโทษท่านอธิบดีที่เป็นแพทย์รุ่นน้อง เป็นคนดีมีฝีมือและเรียกกันฉันญาติมานานร่วม ๓๐ ปี

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกนี้จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๔๖ นี้เอง และวัตถุประสงค์อันหนึ่งคงจะต้องการแสดงว่าไทยไม่ล้าหลังฝรั่งโดยเฉพาะอเมริกา (สำหรับเรื่องอื่นๆ เช่นการแพทย์ทางเลือกหรือองค์รวมคืออะไร? ผู้ตั้งกรมนี้ขึ้นมาอาจคิดว่า ไม่เป็นไร เราคนไทยที่มักเรียนอะไรได้เร็ว อีกไม่นานก็คงจะสามารถเรียนได้ทั้งหมด) เพราะขณะนี้ ที่เมืองนอกนั้น ผู้ป่วยที่ไปหาแพทย์สมัยใหม่มีน้อยลงไปมาก (The Alternative Medicine Invades Medical Establishment, Clive Daniels, New Life, ๑๙๙๙) วันนี้อาจมีไม่ถึงหนึ่งในสามคน ในขณะที่สองในสามเขาหันไปหาแพทย์ทางเลือกแทน การสำรวจเมื่อสองปีก่อนพบว่า คนอเมริกันใช้เงินเพื่อสุขภาพและการรักษาโรคโดยวิธีอื่นๆ ของการแพทย์ทางเลือกไปถึงหนึ่งล้านล้านบาท (ไม่รวมอาหารเสริม) ส่วนที่บ้านเรานั้น ผู้เขียนบังเอิญได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นวิทยากรหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม โดยรูปแบบของการจัดตั้งเป็นกรมเป็นองค์กรขึ้นมานั้น หากพิจารณาจากชื่อตามที่ยกมาข้างบน ไม่ว่าโดยปรัชญาหรือนิยามที่ยอมรับกัน อาจรู้สึกว่าเหมือนกับมีความขัดแย้งกับคำว่าองค์รวมและสร้างความไม่เข้าใจกับผู้ที่สนใจอย่างจริงจังในเรื่องของการแพทย์องค์รวม หรือการแพทย์ผสมผสาน หรือการแพทย์ทางเลือกเป็นอย่างมาก เพราะจริงๆ แล้ว เท่าที่เข้าใจกัน ปรัชญาและหลักการของธรรมชาติของชีวิต (ในที่นี้คือมนุษย์) คือการไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงแบบเชื่อมโยงกันของทุกๆ ส่วน ทุกๆ ระบบ และทุกๆ มิติที่ประกอบขึ้นเป็นมนุษย์ ในระดับแรกคือ กาย จิตใจ (ที่รวมอารมณ์ความรู้สึก) และจิตวิญญาณ และในระดับต่อมา ครอบครัว สังคมตลอดไปจนถึงสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในไบโอสเฟียร์ ประหนึ่งทั้งหมดคือหนึ่งเดียวกันโดยไล่ความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างกันไปตามลำดับ ผู้เขียนเชื่อว่า มีแต่ความเป็นองค์รวมดังที่กล่าวมานี้เท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าใจในคำว่า “สุขภาพ” และคำว่าการแพทย์องค์รวมหรือการแพทย์ทางเลือก (ชื่อที่ใช้กันบนความเคยชิน) ซึ่งรวมผู้บำบัดรักษา บุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วย และวิธีการอันหลากหลายได้อย่างชัดแจ้ง

ความเห็นที่เป็นส่วนตัวจากการได้คิดได้เขียนเรื่องของมนุษย์กับสังคม และโลกกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมานาน ผู้เขียนจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจทุกครั้งกับอะไรก็ตามที่เน้นความเป็นสอง (dualism) และแยกส่วน (reductionism) ซึ่งผิดกระบวนการธรรมชาติอย่างเป็นตรงกันข้าม ดังนั้นชื่อของกรมนี้หรือกรมกองไหนกระทรวงใดที่ชี้บ่งโลกทัศน์ของผู้ตั้งไปในทางนั้น (ส่วนมากเป็นนักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์สังคมที่กลายมาเป็นผู้นำหรือผู้ทรงอิทธิพลต่อกรมกองหนึ่งใดในขณะนั้นๆ) ผู้เขียนจึงเข้าใจดีต่อการที่เรายังจำเป็นต้องใช้คำเหล่านั้น การแพทย์ทางเลือกที่ต่างประเทศใช้กันในเบื้องแรกก็มีที่มาไปทางด้านนั้น และคิดว่าเรื่องนี้เรา ที่ไม่จำเพาะเจาะจงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่รวมสาธารณชนคนทั่วไปด้วย ต้องมาพูดกันและแลกเปลี่ยนความเห็นกันโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปหรือโต้แย้งกันจนหน้าตาแดงใส่กัน

ว่าจริงๆ แล้ว ทำไมต้องมีการแพทย์องค์รวมหรือการแพทย์ทางเลือก? การแพทย์ที่ใช้กันอยู่มันไม่ถูกไม่ดีตรงไหน หรือมีปัญหาอย่างไร? ตอบรวมๆ ทั้งสองคำถามได้ว่า หนึ่ง การแพทย์แผนปัจจุบันนั้นตั้งบนหลักการสำคัญของวิทยาศาสตร์เก่าเดิมสมัยนิวตัน กาลิเลโอ เมื่อปีมะโว้ และชีววิทยาของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เมื่อปีมะแว้ง ที่ทุกวันนี้ เราต่างรู้ดีว่าไม่สมบูรณ์ หรือกระทั่งผิด หรือไม่จริงเอามากๆ นั่นก็คือ วัตถุ (Materialism) เครื่องจักร (Machinism) และแยกส่วน (Reductionism) จึงเยือกเย็น แข็งกระด้าง ไร้ชีวิตชีวา และเครื่องจักรแห่งชีวิตที่ว่ามานั้นเป็นผลโดยตรงและโดยอ้อมของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) สอง สุขภาวะและการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเป็นสหปรากฏการณ์หรือสหมิติ (Multidimensional) และมิติขององค์ชีวิตนั้น ไม่ได้มีเพียงร่างกาย แต่ยังมีอารมณ์ความรู้สึก มีจิตใจ มีจิตวิญญาณ แถมยังมีสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทั่งปุ๋ยหรือสารเคมี (คนเราจะมีสุขภาวะดีพร้อมได้อย่างไร? หากอากาศก็ป่วย ดินและน้ำก็ป่วยจากการปนเปื้อนสารเคมี) หรือแม้แต่ระบบการเมืองสังคมและเศรษฐกิจที่ป่วย ก็มีส่วนในการกำหนดสุขภาพและสภาวะโรค (คุณจับเอาผู้ก่อการร้ายไปตรวจ จับเอาตัวฮิตเล่อร์ หรือประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีบางคนไปเจาะเลือด เอ็กซ์-เรย์ แล้วทำ MRI ผลออกมาดีหมดแจ๋วแหวว แต่สุขภาวะของประชาชนในที่นั้นๆ จะสมบูรณ์ได้อย่างไร?) เด็กวัยรุ่นที่วิ่งแทงคนบนรถเมล์ชี้บ่งโรคจิตแห่งสังคมได้อย่างชัดเจน หากพ่อก็ทุบตี แม่ก็ติดเหล้า ทะเลาะกันเป็นรายชั่วโมง แล้วจะให้เด็กวัยรุ่นเหล่านั้นมีสุขภาวะดีเลิศหรือสมประกอบได้อย่างไร? อย่าได้คิดว่าที่พูดมานั้นไม่เกี่ยวกับการแพทย์หรือสุขภาพของประชาชน

ทุกวันนี้ ที่เมืองนอกมีนักเรียนแพทย์ที่ต้องการเป็นแพทย์เฉพาะทางน้อยลงไปมาก (Noetic Model Of Medicine, Marilyn Schiltz, IONs ๑๙๙๘) ก็เพราะไม่ต้องการเป็นหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่รักษาหุ่นยนต์ (คำพูดของ เคน วิลเบอร์ ที่ขยายจากคำว่า biophysical) ดังที่เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์แพทย์มักย้ำแล้วย้ำอีกกับนักเรียนหรือแพทย์ฝึกหัดว่า “จงอย่ามีความใกล้ชิดจนรู้สึกผูกพันหรือสงสารผู้ป่วยมากนัก เพราะจะทำให้การรักษาโรคหรือการตัดสินใจและประสิทธิภาพของแพทย์ต้องหย่อนยานลง” นั่นจริงๆ เป็นความหวังดีอย่างแท้จริงและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์เก่า (วัตถุและแยกส่วน) แห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ภายในทศวรรษเศษๆ มานี้อาจารย์แพทย์ทุกคนที่อเมริการู้ดีว่า ที่เคยพูดเช่นนั้น มันผิดไปอย่างไร? เมื่อผลของการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์สายหลักสายตรงจำนวนมากเหลือเกินต่างล้วนชี้บางอย่างชัดแจ้งว่า อารมณ์กับความรู้สึกและความเมตตาของผู้รักษาและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งจิตใจและความรู้สึกของคนไข้ต่อแพทย์และการรักษา ให้ผลดีอย่างที่สุดกับผู้ป่วยและแพทย์ ที่เทียบกันกับหลักการรักษาแบบเดิมไม่ได้เลย ไม่ว่าโอกาสของการหายจากโรคได้ดีกว่าและเร็วกว่าแล้ว ยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงไปมาก (Integral Medicine: A Noetic Reader, Marilyn Schiltz and Tina Hyman, , to be published in ๒๐๐๕) นั่นอาจสรุปแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า การรักษาแบบที่หมอไม่ได้ใส่ใจหรือไม่มีความเมตตากับคนไข้นั้น นอกจากทำให้การรักษาต้องใช้เวลามากกว่าแล้ว แพทย์เองอาจกลายจากการเป็นผู้รักษาไปเป็นผู้ที่ทำร้ายผู้ป่วยของตนเองก็ได้

ผู้เขียนคิดว่า การแพทย์ต้องมีเรื่องของจิตใจและจิตวิญญาณของผู้รักษาเป็นปฐม หรืออย่างน้อยก็ต้องมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิธีการซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิค กับประสบการณ์และศิลปะ การแพทย์ทางเลือกจึงเป็นรูปแบบและแนวทางที่เราต้องนำมาผสมผสานกับการแพทย์ “สมัยใหม่” โดยที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องทำหน้างอ กระนั้นก็ดี แพทย์ทางเลือกเอง ที่คิดว่าตนเข้าใจในธรรมชาติของความเป็นองค์รวมของจักรวาลได้หมดแล้ว ก็คงต้องสำรวจตัวเองบ่อยๆ ว่า ตนมีความเข้าใจในเรื่องของสุขภาวะในรูปแบบขององค์รวมอย่างไร




วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 12:49 น. (http://"http://jitwiwat.blogspot.com/2004/10/blog-post_02.html") by knoom    (http://"http://www.blogger.com/email-post.g?blogID=17492984&postID=365499125614379063")   (http://"http://www.blogger.com/post-edit.g?blogID=17492984&postID=365499125614379063")
ป้ายกำกับ: บทความมติชน (http://"http://jitwiwat.blogspot.com/search/label/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%99"), ประสาน ต่างใจ (http://"http://jitwiwat.blogspot.com/search/label/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%20%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%88") | 0 ความคิดเห็น (http://"https://www.blogger.com/comment.g?blogID=17492984&postID=365499125614379063&isPopup=true")