[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 15 มิถุนายน 2553 02:39:42



หัวข้อ: การปล่อยวางคือธรรมขั้นสูงสุด ( อาจารย์ บูรพา ผดุงไทย )
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 15 มิถุนายน 2553 02:39:42
[ โดย อ.มด จากบอร์ดเก่า ]


(http://www.ubook.msu.ac.th/ecommerce/img_products/9789746182485.png)


สิ่งใดก็ตามเมื่อก้าวมาถึงจุดที่สูงสุดแล้ว ย่อมต้องคืนกลับไปสู่ความเดิมแท้อันเป็นธรรมดาสามัญอีกครั้ง ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ที่มีภูมิความรู้ทางด้านธรรมะ อย่างผู้ที่เพิ่งได้ธรรมใหม่ๆ แม้ส่วนใหญ่จะเกิดอาการหลงโลกหลงธรรมไปบ้าง แต่พอผ่านเข้าถึงธรรมขั้นสูงสุดแล้วก็จะเกิดการปล่อยวางมายากิเลสเหล่านั้นลงได้เอง

     โดยทั่วไปผู้ปฏิบัติที่เพิ่งเริ่มเดินทางเข้าสู่เส้นทางธรรมมักจะมีไฟแรงในช่วงต้น เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาในการปฏิบัติ ประกอบกับจิตใจอันดีที่อยากให้เพื่อนมนุษย์ทุกคนได้เข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริง และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ออกไปได้ ดังนั้นเมื่อจิตของตนได้สัมผัสกับภาวะจิตเช่นใด จึงอยากให้คนอื่นได้มาสัมผัสกับภาวะแห่งจิตเช่นเดียวกับที่ตนสัมผัสได้ และอยากให้ทุกคนได้เข้าถึงสมาธิ เมื่อพบปะเจอะเจอใครๆ จึงมีความปรารถนาที่จะถ่ายทอดและเผยแผ่ในประสบการณ์ดีๆ ทางจิตที่ตนได้สัมผัสมาจากการปฏิบัติ     

     แต่บางครั้งความศรัทธาอันแรงกล้าก็อาจนำมาซึ่งความหลงโลกหลงธรรมได้เช่นกัน ด้วยเพราะภูมิปัญญาแห่งธรรมในขั้นต้นสามารถเกิดขึ้นได้ในภาวะที่ผู้ปฏิบัติยังคงมีความหลงในกิเลสโลกอยู่ ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะเป็นกิเลสในฝ่ายดีอันเป็นทางบุญทางกุศลก็ตาม แต่หากไม่เท่าทันแล้ว กิเลสฝ่ายดีนั้นก็อาจเข้าทำร้ายจิตใจของนักปฏิบัติให้ได้รับความเศร้าหมองได้เหมือนกัน

     ในช่วงที่ได้ธรรมใหม่ๆ ผู้ปฏิบัติจะยังคงไม่เท่าทันต่อกิเลสและตกอยู่ในอำนาจมายาของกิเลสโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกิเลสที่มีความละเอียดด้วยแล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาจารย์ในหลายๆ สำนักก็ยังมีความรู้สึกอยากมี อยากได้ อยากเป็น อยากมีชื่อเสียง อยากเป็นที่เคารพนับหน้าถือตา อยากเป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคม อยากสร้างโน่นสร้างนี่ให้ดีกว่า ให้สวยกว่า ราคาแพงกว่าของที่อื่น

     ถึงแม้หลายท่านจะเป็นผู้ที่มีจิตใจดี แต่ด้วยความหลงโลกที่อยู่ภายในจิต เมื่อจิตไม่เท่าทันต่อความหลงเหล่านี้ (หลงในกิเลสมายาโลก หลงในคำชื่นชมสรรเสริญเยินยอที่ชาวโลกมอบให้)

สุดท้ายจึงกระทำกิจกรรมที่สนองตอบมายากิเลสโลกเหล่านั้น เพื่อต้องการให้ผู้คนหันมาศรัทธาในคำสอนของตน
     ตราบใดที่สภาวะจิตของผู้ปฏิบัติยังพัฒนาไปไม่ถึงจุดสูงสุดแห่งธรรม ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดความหลงปรากฏอยู่ภายในจิตใจได้ ต่อเมื่อภูมิแห่งจิตก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งการปฏิบัติแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถปล่อยวางมายากิเลสโลกลงได้อย่างแท้จริง ภูมิแห่งจิตจะลอยอยู่เหนือสมมติโลก เป็นโลกุตระภูมิ ไม่ใยดีต่อมายาสมมติโลกแต่ประการใด ผู้ที่ถึงสภาวะเช่นนี้จึงเลือกที่จะสอนธรรมให้เฉพาะผู้ที่มีความสนใจในธรรม แต่เป็นการสั่งสอนแบบหมดซึ่งความอยาก ไม่มีความอยากหลงเหลืออยู่ภายในจิตใจเลยแม้แต่น้อย แม้กระทั่งความคิดที่จะอยากเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนใครก็ยังไม่มี อีกทั้งไม่ได้ยินดีต่อคำสรรเสริญชื่นชมในการปฏิบัติธรรมของตนว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติเก่ง เนื่องจากภาวะจิตอยู่ในขั้นหลุดโลกไปแล้ว

     ภูมิแห่งจิตเมื่อพัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุด จิตจะมีอาการปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่าง หมดมานะ ทิฐิ อัตตาตัวตน ดูราวเสมือนเป็นมนุษย์ปกติธรรมดาที่ไม่มีดีวิเศษแต่ประการใด สูงสุดย่อมคืนสู่สามัญ ผู้ที่บรรลุสำเร็จทางจิตจะกลับมีสภาพเป็นเพียงคนปกติธรรมดาอย่างเราๆ นี้เอง ไม่หลงในลาภยศสักการะ ไม่หลงในคำสรรเสริญเยินยอ ไม่หลงในเกียรติยศชื่อเสียง ไม่อยากออกโทรทัศน์ ไม่อยากลงหนังสือพิมพ์ ไม่อยากโด่งอยากดัง ไม่ต้องการให้ผู้คนมาคอยนอบน้อมกราบไหว้บูชา หมดซึ่งความอยากมี อยากได้ อยากเป็น บนโลกนี้แล้วอย่างเด็ดขาด

     ส่วนอาจารย์ท่านใดที่ยังคงมีกิเลสมายาสมมติโลกหลงเหลืออยู่ในจิต ก็ย่อมทราบดีอยู่แก่ใจตนเอง แม้ว่าท่านจะสามารถสร้างภาพหลอกคนทั้งโลกให้หลงเชื่อท่านได้ แต่ถึงอย่างไรท่านก็ไม่อาจที่จะหลอกจิตใจของตัวท่านเองได้เลย ผู้ที่สั่งสอนผู้คนให้เกิดความหลง สร้างอัตตาตัวตน เป็นเขาเป็นเรานั้นเป็นบาปเป็นกรรม

     ผู้ใดที่รู้ตัวว่าตนได้หลงทางไปแล้ว เมื่อรู้ตัวแล้วสำนึกผิดและคิดกลับตัวกลับใจ ก็ให้ตั้งจิตก้มกราบลงขอขมาต่อแม่พระธรณี ขอให้แม่พระธรณีช่วยบรรเทาบาปกรรมที่ตนได้นำพาผู้คนไปในทางที่ผิด ด้วยเพราะอวิชชาความไม่รู้จริง คิดซื้อขายบุญกุศล ซื้อขายนรกสวรรค์ ซื้อขายสวรรค์วิมาน จองบาปจองบุญ อันเป็นเหตุแห่งเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้ 

     ทุกวันนี้ในสังคมบ้านเราถูกแทรกซึมไปด้วยนักธุรกิจที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการปฏิบัติธรรม จากความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนจนแทบแยกไม่ออกว่าอันไหนของจริง อันไหนของปลอม ทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปในแนวทางที่ผิดเพี้ยน

     หากผู้ปฏิบัติขาดปัญญาในการพิจารณาไตร่ตรองจนเกิดความหลงเชื่อในคำโฆษณาเชิญชวน และการสร้างภาพให้หลงเชื่อต่างๆ ด้วยแล้ว ความศรัทธาก็จะกลายเป็นความงมงายไปได้ ศรัทธากับความงมงายนั้นอยู่ใกล้กันมาก ถ้าก้าวพลาดเพียงนิดเดียว การปฏิบัติธรรมของเราก็จะเริ่มเดินออกนอกเส้นทาง กลายเป็นหลงทาง และไปผิดทางตามที่พวกเขาต้องการให้เป็น

     อาการของผู้ปฏิบัติที่ถึงธรรมขั้นสูงสุดคือการปล่อยวางจากกิเลสโลก มิใช่การสะสมกิเลสโลกเอาไว้ มิใช่การสร้างให้เกิดอัตตาตัวตนเป็นพวกเขาพวกเรา ให้เห็นว่าเราเก่งกว่าดีกว่าคนอื่น เหล่านี้เป็นการสอนที่ผิดทาง

     ทุกคนที่เกิดมาบนโลกล้วนยังคงมีความโง่ติดอยู่ภายในจิตด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่จะโง่มากหรือโง่น้อยกว่ากัน แต่ดวงจิตที่หมดซึ่งอวิชชาความโง่แล้วนั้นไม่มีเลย เพราะหากหมดอวิชชาความโง่แล้วย่อมไม่ต้องมาเกิด แต่ที่ยังเห็นเกิดกันอยู่นี้ก็เพราะอวิชชายังไม่หมดสิ้นไปจากจิต มนุษย์เราทุกคนจึงไม่มีใครดีไปกว่าใคร หรือใครเก่งไปกว่าใคร เราต่างก็เกิดและตายได้เท่าเทียมกันทุกคน.

 

อ.บูรพา  ผดุงไทย


http://www.thaipost.net/tabloid/271209/15564 (http://www.thaipost.net/tabloid/271209/15564)