[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:14:22



หัวข้อ: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:14:22
ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์)

ที่มา เว็บ http://www.chiangrai.ru.ac.th/%E0%B8...2%E0%B8%95.htm (http://www.chiangrai.ru.ac.th/%E0%B8...2%E0%B8%95.htm)

ผมขอกราบขอบพระคุณม.ล. พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา , มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ,
เว็บ http://www.chiangrai.ru.ac.th/%E0%B8...2%E0%B8%95.htm (http://www.chiangrai.ru.ac.th/%E0%B8...2%E0%B8%95.htm)
และท่านผู้พิมพ์ ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) เป็นอย่างสูงครับ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:15:37
ผมจะทยอยนำเรื่องราวของประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสีมาลงเรื่อยๆครับ

http://board.palungjit.com/groups/ (http://board.palungjit.com/groups/)ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต-จากบันทึกของ-มหาอำมาตย์ตรี-พระยาทิพโกษา-สอน-โลหะนันท์-281.html


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:16:27
คำปรารภและอนุมานสันนิษฐานว่า ประวัติเรื่องความเป็นไปของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
ครั้งในรัชกาลที่ ๔ กรุงเทพฯ นั้นมีความเป็นมาประการใด เพราะเจ้าพระคุณองค์นี้เป็นที่ฤาชาปรากฏเกียรติศัพท์เกียรติคุณเกียรติยศ ขจรขจายไปหลายทิศหลายแคว มหาชนพากันสรรเสริญออกเซ็งแซ่กึกก้องซ้องสาธุการ บางคนก็บ่นร่ำรำพรรณประสานขาน ประกาศกรุ่นกล่าวถึงบุญคุณสมบัติ จริยสมบัติ ของท่านเป็นนิตกาลนานมา ทุกทิวาราตรีมิรู้มีความจะจืดจางฯ
· อนึ่งพระพุทธรูปของที่ท่านสร้างไว้ในวัดเกตุไชโย ใหญ่ก็ใหญ่โตก็โต วัดหน้าตักกว้างถึงแปด
เศษนิ้ว เป็นพระก็ก็สูงลิ่ว เป็นพระนั่งทั้งศักดิ์สิทธิ์ ดูรุ่งเรื่องกระเดื่องฤทธิ์มหิศรเดชานุภาพ พระองค์นี้เป็นที่ทราบทั่วกันแล้วตลอดประเทศว่าเป็นพระที่มีคุณพิเศษสามารถอาจจะบันดาลดับระงับทุกข์ภัยไข้ป่วยช่วยป้องกันอันตรายได้ จึงดลอกดลใจให้ประชาชนคนเป็นอันมาก หากมาอภิวันทนาการ สักการะบูชาพลีกรรม บรรณาการเส้นสรวงบวงบล บางคนมาเผดียงเสี่ยงสัตย์อธิษฐาน ก็อาจสำเร็จเสร็จสมปณิธานที่มุ่งมาตร์ปรารถนา จึงเป็นเหตุให้มีสวะนะเจตนาแก่มหาชนจำนวนมากว่าร้อยคน คิดใคร่จะรู้ประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) วัดระฆังโฆสิตาราม บ้างก็คืบเที่ยวสืบถามความเป็นไปแต่หลังๆ แต่คราวครั้งดั้งเดิม เริ่มแรกต้นสกุลวงศ์เทือกเถาเหล่ากอ พงษ์พันธุ์พวกพ้อง พื้นภูมิฐาน บ้านช่องข้องแขว แควจังหวัด เป็นบัญญัติของสมเด็จนั้นเป็นประการใดนานมาแล้วจะถามใครๆ ไม่ได้ความ หามีใครตอบตรงคำถามให้ถ่องแท้ จึงได้พากันตรงแร่เข้ามาหานาย พร้อม สุดดีพงศ์ ตลาดไชโย เมืองอ่างทอง จึงได้รีบล่องลงมาสู่หา ท่านพระมหาสว่าง วัดสระเกษ นมัสการแล้วยกเหตุขึ้นไต่ถาม ตามเนื้อความที่ชนหมู่มากอยากจะรู้ จะดูจะฟังเรื่องราวแต่คราวครั้งต้นเดิมวงศ์สกุล ของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) นั้นเป็นฉันใด ขอพระคุณให้สำแดงให้แจ้งด้วยฯ
· ตั้งแต่เดิมเริ่มแรก ต้นเดิมวงศ์สกุลของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) องค์นี้ตั้งคฤหสถานภูมิลำเนา
สืบวงศ์พงศ์เผ่า พืชพันธุ์พวกพ้อง เป็นพี่น้องต่อแนวเนื่องกันมาแต่ครั้งเก่าบุราณนานมา ณ แถบแถวที่ใกล้ใต้เมืองกำแพงเพชร เป็นชนชาวกำแพงเพชรมาช้านาน ครั้นถึงปีระกา สัปตศกจุลศักราช ๑๑๒๗ ปี จึงพระเจ้าแผ่นดินอังวะ ภุกามประเทศยกพลพยุหประเวสน์สู่พระราชอาณาเขตร์ประเทศสยามนี้ กองทัพพม่ามาราวี ตีหัวเมืองเอกโทตรีจัตวา ไล่ลุกเข้ามาทุกทิศทุกทางทั้งบกทั้งเรือ ทั้งปากใต้ฝ่ายเมืองเหนือและทางตะวันตก ยกเว้นไว้แต่ทิศตะวันออกหัวเมืองชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นโท ต่อรบต้านทานทัพพม่าไม่ไหว ก็ต้องล่าร้างหลบหนีซ่อนเร้นเอาตัวรอด ราษฎรก็พากันทอดทิ้งภูมิลำเนาสถานบ้านเรือน เหลี่ยมหลี้หนีหายพรัดพรากกระจายไป คนละทิศคนละทางห่างๆวันกัน ในปีระกาศกนั้น จำเพาะพระยาตาก(สิน) เจ้าเมืองกำแพงเพชรก็หาได้อยู่ดูแลรักษาเมืองไม่ มีราชการเข้าไปรับสัญญาบัตรเลื่อนที่เป็นพระยาวชิรปราการ แล้วยังมิได้กลับมา พอทราบข่าวศึกพม่าเสนาบดีให้รอรับพม่าอยู่ในกรุงนั้น ครั้นทัพหน้าพม่ารุกเข้ามาถึงกรุง พระยาวชิรปราการก็ต้องคุมพลรบพุ่งต้านทานรบรับทัพพม่า พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยานั้นไว้ กองทัพพม่ามาล้อมกรุงเก่าคราวนั้นเกือบสามปีฯ
· ครั้นถึงปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๒๒๙ ปี ถึง ณ วันอังคารเดือนห้า แรมเก้าค่ำ เวลาบ่ายสามโมงเย็น พม่าจึงนำปืนใหญ่เข้าระดมยิงพระมหานคร พระมหานครก็แตกเสียแก่พม่าในวันอังคาร เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีกุนศกนั้นฯ
· ฝ่ายพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้ถือพล ๕000 ช่วยป้องกัน พระมหานคร ครั้นเห็นว่าชาตากรุงขาด ไม่สามารถจะต่อสู้พม่าได้ก็พาพล ๕000 นั้น ฝ่าฟันหนีออกไปทางทิศตะวันตก ข้ามไปทางเพนียดคล้องช้าง เดินทางไปเข้าเขตเมืองนครนายก แล้วข้ามฟากไปแย่งเอาเมืองจันทรบุรี ตีได้แล้วก็เข้าตั้งมั่นบำรุงพลพาหนะลำเลียงเสบียงอาหาร สรรพศาสตราวุธยุทธภัณฑ์ไว้พร้อมมูลบริบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งตัวเป็นเจ้าชาวเมืองเรียกว่าพระยาตาก ตั้งอยู่เมืองจันทรบุรีก๊กหนึ่งในคราวนั้นฯ
· ครั้นถึงปีชวดสัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๑๓0 ปี พระเจ้าตาก(สิน) ได้ยกพลโยธีแสนยากรเป็นกองทัพ เข้าบุกบั่นรับทัพพม่า ตั้งแต่เมืองปากใต้ฝ่ายตะวันตกวกเข้าตีกองทัพพม่ามาถึงกรุงเก่า กองทัพพม่าสู้มิได้ก็แตกฉานล่าถอยขึ้นไปทางหัวเมืองฝ่ายเหนือแล้วก็เข้าชิงเอากรุงเก่าคืนจากเงื้อมือพม่าข้าศึกได้แล้ว ลอยขบวนมาตั้งราชธานีที่เมืองธนบุรี ตำบลที่วัดมะกอกนอก เหนือคลองบางกอกใหญ่ ใต้คลองคูวัดระฆังโฆสิตาราม ทรงขนานนามเมืองว่ากรุงธนบุรี พระนามาภิธัยว่า พระเจ้ากรุธนบุรี แต่ปีชวดศกนั้นมาฯ
· จีงหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ออกไปตั้งคฤหสถานบ้านเรือนครอบครองทรัพย์สมบัติอยู่ ณ บ้านอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม ได้เข้ามาพร้อมด้วยเอกะภรรยาและน้องแลบุตรทั้ง ๔ เข้ามารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี ๆ ได้ทรงตั้งให้หลวงยกกระบัตรเป็นที่พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ถือศักดินา ๑๖00 ไร่ จึงตั้งคฤหสถานบ้านเรือนอยู่เหนือพรราชวังหลวง ใต้วัดบางว้าใหญ่(คือวัดระฆังในบัดนี้) ในปีชวดศกนั้นเองพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานเกียรติยศเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ ยกทัพขึ้นไปปราบเจ้าพิมายมีชัยชำนะกลับลงมา ทรงพระกรุณาเลื่อนขึ้นเป็นที่พระยาอภัยรณฤทธิ์จางวางกรมพระตำรวจซ้าย ทรงศักดินา ๓000ไร่ ครั้นถึงปีขาลโทศก ๑๑๓๒ ปี พระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพยกกองทัพไปปราบเจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี ตีกองทัพเจ้าพระฝางแตก จับตัวเจ้าพระฝางได้พร้อมทั้งช้างพังเผือกกับลูกดำ จับตัวและพรรคพวกและช้างลงมาถวาย ส่วนพระยาอภัยรณฤทธิ์รั้งหลังเพือจัดการบ้านเมืองฝ่ายเหนือป่าวร้องให้อาณาประชาราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็น ให้รวมเข้ามาเป็นหมวดหมู่ตั้งอยู่ดังเก่า ตามภูมิลำเนาเดิมของตน ที่ขัดขวางยากจนก็แจกจ่ายให้ปันพอเป็นกำลังสำหรับให้ตั้งตัวต่อไปในภายหน้า เมื่อขณะนี้เองชาวเมืองเหนือจึงได้พากันนิยมสวามิภักดี ต่อท่านพระยาอภัยรณฤทธิ์ รักใคร่สนิทแต่คราวนั้นเป็นต้นเป็นเดิมมา เมื่อกองทัพกลับแล้ว พวกราษฎรชาวเมืองเหนือบางครัว จึงได้พากันมาอยู่ในกรุงเก่าบ้าง เมืองอ่างทองบ้าง เมืองปทุมบ้าง เมืองนนบุรีบ้าง เมืองพระประแดงบ้าง ในกรุงธนบุรีบ้าง ในบางขุนพรหมบ้าง ต่างจับจองจำนองที่ดินซื้อหา ตามกำลังและวาสนาของตนๆ เป็นต้นเหตุ ที่มีผู้คนคับขันขึ้น ทั้งในกรุงและหัวเมืองแน่นหนาขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นลำดับมาฯ
· ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงเลื่อนที่ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ขึ้นเป็นเจ้าพระยายมราชเสนาบดีที่จตุสดมภ์ กรมพระนครบาล ทรงศักดินา ๑0000 ไร่ พรรษายุกาลได้ ๓๔ ปี ในปลายปีขาลศกนั้นเอง พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนที่ เจ้าพระยมราชขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก อรรคมหาเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยทรงศักดินา ๑0000 ไร่ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:17:50
ครั้นถึงปีเถาะตรีศกจุลศักราช ๑๑๓๓ ปี พระเจ้ากรุงธนบุรี มีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ต่างพระองค์ ยกกองทัพใหญ่ออกไปปราบปรามเมืองเขมรกัมพูชาประเทศก็มีชัยชำนะเรียบร้อยกลับมา ได้รับพระราชทานรางวัลพิเศษฯ
· ครั้นถึงปีมะเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ ปี มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ ยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปล้อมเมืองเชียงใหม่ที่พม่ารักษาอยู่นั้น พม่าซึ่งรักษาเมืองเชียงใหม่ได้ความอดอยากยากแค้นเข้าก็พากันละทิ้งเมืองเชียงใหม่เสียแล้วหนีไปสิ้น ก็ได้เมืองเชียงใหม่โดยสะดวกง่ายดาย ในปลายปีมะเมียฉศกนั้นเอง อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าอายุ ๗๒ ปี เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในพระเจ้ามังระ กรุงอังวะ ครั้งนั้นพระเจ้าอังวะ มีพระราชโองการรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ถืออาญาสิทธิ์ยกทัพใหญ่เดินกองทัพเข้ามาถึงด่านเมืองตาก แล้วให้พม่าล่ามถามนายด่านว่า พระยาเสืออยู่รักษาเมืองหรือไม่ นายด่านตอบว่าพระยาเสือไม่อยู่ยังไม่กลับฯ
· อะแซหวุ่นกี้จึงหยุดกองทัพหน้าไว้นอกด่าน แล้วประกาศว่าให้เจ้าเมืองเขากลับมารักษาเมืองเสียก่อน จึงจะยกเข้าตีด่าน เลยเข้าตีเมืองพิษณุโลกทีเดียวฯ (เขียนตามพงศาวดารพม่า)
· สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบข่าวศึก จึงกรีฑาทัพหลวงขึ้นไปรักษาเมืองพระพิษณุโลกไว้ แล้วให้หากองทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ทราบว่ากองทัพพม่าอยู่ปลายด่านเมืองตาก และทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกรีฑาทัพหลวงขึ้นมาประทับอยู่เพื่อป้องกันรักษาเมืองพิษณุโลกด้วย จึงรีบยกกองทัพกลับ ครั้นถึงเมืองพิษณุโลกแล้วเข้าเฝ้าถวายบังคมเจ้าพระยาจักรีอยู่จัดการเมืองเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว ได้เลยตั้งข้าหลวงไปพูดจาปลอบโยนชี้แจงแนะนำเจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำพูน เป็นต้นเหล่านี้ ยอมสวามิภักดีต่อกรุงเทพฯ ขอพึ่งพระบารมีโพธิสมภารเป็นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไปตลอดกาลนาน เจ้าพระยาจักรีจึงได้เลิกทัพพาเจ้าลาวและพระยาลาวทั้งปวง ลงมาถึงเมืองพิษณุโลก เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพร้อมกัน ณ เมืองพิษณุโลกนั้นฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:19:30
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระโสมนัสนัก จึงได้พระราชทานฐานันดรศักดิ์เจ้าลาว พระยาลาวทั้งปวงนั้นให้กลับขึ้นไปรักษาเมืองดังเก่า แล้วจึงพระราชทานรางวัลเป็นอันมากแก่เจ้าพระยาสุรสีห์นั้น ได้ออกไปรักษาด่านหน้าเมืองตากโดยแข็งแรงกวดขันมั่นคงทุกประการฯ
· ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพใหญ่พม่า ทราบว่าเจ้าพระยาเสือกลับมาแล้ว ออกมารักษาด่านอยู่ จึงสั่งให้มังเรยางู แม่ทัพหน้าพม่าเข้าตีด่าน ฝ่ายทหารรักษาด่านต้านทานทหารพม่าไม่ไหวก็ร่นเข้ามา กองทัพพม่าก็ตีรุกเข้าไปแล้วตั้งค่ายมั่นลงภายในด่านถึง ๓0 ค่ายฯ
· ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีทราบว่า กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์เสียด่านร่นเข้ามา จึงกราบบังคมทูลรับอาสาช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชโองการรับสั่งว่า ข้าก็อยากเห็นความคิดสติปัญญาของเจ้าและฝีมือของเจ้าว่าจะเข้มแข็งสักเพียงใด ข้าจะขอดูด้วย จงรีบออกไปช่วยสุรสีห์เถิดฯ
· เจ้าพระยาจักรีกราบถวายบังคมลา ออกมาจัดขบวนทัพพร้อมสรรพ์ แล้วยกออกไปถึงค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ แล้วจึงเจรจาว่า เจ้าถึงแม้ว่าจะเป็นขุนนางผู้ใหญ่ก็จริงอยู่ แต่เจ้าเป็นขุนนางบ้านนอก อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่านั้น เขาเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่อยู่ในเมืองหลวงพม่าทั้งเขากอปรด้วยความคิดสติปัญญาเยี่ยมยิ่งอยุ่ ความรู้ก็พอตัวที่จะรบเอง ต่อแต่นั้นมา เจ้าพระยาจักรีก็จัดทัพออกรุกรับรบพุ่งกับกองทัพอะแซหวุ่นกี้เป็นหลายครั้ง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ล่วงวันและเวลาช้านานมา จนถึงเดือนห้าเดือนหก ปีมะแมสัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ ปี เป็นปีที่๘ ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีฯ
· ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่า ก็คิดขยาดระอิดระอา ทั้งทางเมืองพม่าก็ชักจะวุ่นวายขึ้น ทั้งเสบียงอาหารก็บกพร่องจวนเจียนไม่พอจ่าย จึงคิดเพทุบายถามว่า ใครผู้ใดออกมาเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการ ทหารไทยบอกไปว่าเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ อะแซหวุ่นกี้จึงประกาศหย่าทัพ ขอดูตัวแม่ทัพไทยฯ
· ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี ก็สั่งสงบชั่ววันกำหนด เจ้าพระยาจักรีก็จัดขบวนยืนทัพเสด็จ ส่วนเจ้าพระยาจักรีก็แต่งตัวอย่างจอมโยธาเต็มที่ ขี่ม้าสีแดง เหน็บกระบี่กั้นกรด ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งของที่ได้รับพระราชทานทั้งนั้นฯ
· เวลานั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จทอดพระเนตรอยู่ในค่ายนั้นด้วยได้ทรงทอดพระเนตรเห็นกิริยาท่าทางสุภาพองอาจ และท่วงทีรูปโฉมของเจ้าพระยาจักรี เมื่อแต่งตัวออกยืนทัพรับอะแซหวุ่นกี้คราวนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระเกษมสันต์โสมนัสปราโมทย์ถึงกับออกพระโอษฐรับสั่งชมว่า งามเป็นเจ้าพระยากษัตริย์ศึกเจียวหนอ แต่นั้นมานามอันนี้ จึงเป็นนามที่แม่ทัพนายกองแลทหารทั้งปวงพากันนิยมเรียกว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึกแต่คราวนั้นมา ในกองทัพพม่าก็พลอยเรียกว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึก ตลอดจนไปถึงทางราชการฝ่ายพม่า ก็ได้จดหมายเหตุลงพงศาวดารไว้ว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพฝ่ายไทยได้รบกับอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่า ที่เมืองพระพิษณุโลก เมื่อปีมะเมียถึงปีมะแมสัปตศกจุลศักราช ๑๑๓๗ ปี ครั้นเมื่อทอดพระเนตรแลทรงชมเชยแล้ว ก็ยาตรากระบวนออกยืนม้าหน้าพลเสนา ณ สนามกลางหน้าค่ายทั้งสองฝ่ายฯ
· ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ก็จัดกระบวนแต่งตัวเต็มที่อย่างจอมโยธา ออกยืนอยู่หน้ากระบวน ณ กลางสนาม หน้าค่ายทั้งสองฝ่ายเช่นเดียวกัน (ตอนดูตัวนี้ความพิศดารมีแจ้งอยุ่ในพระราชพงศาวดาร) ครั้นอะแซหวุ่นกี้ ได้เห็นได้เจรจาชมเชย พูดจาประเปรยตามชั้นเชิงพิชัยสงครามแล้วก็นัดรบต่อไป แต่อะแซหวุ่นกี้ คิดจะล่าทัพถอยกลับกรุงอังวะเป็นอย่างมากกว่าจะคิดแข็งใจรบเอาเมืองพิษณุโลก แต่แตกแล้วก็ร่นถอยล่าไปออกทางพระเจดีย์ ๓ องค์ ทำกิริยาท่าทางเหมือนจะไปชิงเอาเมืองกำแพงเพชร ทำให้แม่ทัพฝ่ายไทยต้องแบ่งออกเป็นหลายกองติดตามตีพม่า ก้าวสกัดหน้าตีวกหลังตามเชิงกลยุทธ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็เสด็จกลับเข้ากรุงธนบุรีป้องกันพระราชธานีต่อไปฯ
· ฝ่ายพระยาจักรีนั้น ครั้นส่งเสด็จแล้วจึงจัดกองทัพออกติดตามสกัดจับพม่าตีรุกหลังพม่าแตกฉานเป็นหลายทัพจับได้ลี้พลช้างม้าเป็นอันมาก ทั้งตัวเจ้าพระยาจักรีเอง ก็ยกทัพหนุนไปด้วยจนถึงเมืองกำแพงเพชร แล้วจัดการพิทักษ์รักษาเมืองโดยกวดขันส่วนตัวของท่านเจ้าพระยาเอง ก็ออกขี่ม้าสำรวจตรวจตรากองทัพน้อยๆ ทั่วไป เพราะใส่ใจต่อหน้าที่ราชการจนพม่าไม่กล้าหาญชิงเอาเมืองเหนือได้ ต้องส่งออกไปยังด่านชั้นนอกพ้นเขตแดนสยามกองทัพไทยไล่จับพม่าที่ล้าหลังได้ไว้เป็นกำลังราชการเป็นอันมาก ทัพอะแซหวุ่นกี้ล่าทัพออกพ้นประเทศอาณาเขตสยามในคราวนี้ ตามกำหนดมีว่าเดือน ๗ ปีมะแม สัปตศกจุลศักราช ๑๑๓๗ ปีฯ
· ครั้นนั้นเจ้าพระยาจักรี ตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร เวลาเช้าวันหนึ่งออกลาดตระเวนกองทัพทั้งปวงเพื่อบัญชาการ และชักม้าวกลัดเพื่อตัดทาง ม้าก็เลยพาท่านเข้าป่าฝ่าพงจำเพาะมายังบ้านปลายนาใต้เมืองกำแพงเพชรเป็นเวลาเย็น จึงแลเห็นโรงหนึ่งตั้งอยู่ปลายทุ่งนา เจ้าคุณแม่ทัพผู้นั้นจึงได้ชักม้าไปถึงโรงนั้น ไม่เห็นมีคนผู้ใหญ่อยู่ ได้เห็นแต่หญิงสาวคนหนึ่งเดินออกมา เจ้าคุณแม่ทัพผู้นั้นจึงบอกแก่นางสาวคนนั้นว่า ข้ากระหายน้ำ เจ้าจงตักน้ำมาให้ข้ากินสักขันเถิด นาวสาวคนนั้นจึงวิ่งด่วนเข้าไปในห้องหยิบได้ขันล้างหน้าใบหนึ่งแล้วจ้วงตักน้ำในหม้อลั่น แล้วล้วงไปหักดอกบัวหลวงในหนองน้อยข้างโรงนั้นสองสามดอก แล้วฉีกกลีบเด็ดเอาแต่เกษรบัวโรยลงไปในขันน้ำนั้นจนเต็ม แล้วนำไปส่งให้บนหลังม้า เจ้าคุณแม่ทัพรับเอามาเป่าเกษรเพื่อแหวกหาช่องน้ำแล้วต้องเอาริมฝีปากเบื้องบนเม้มเกษรไว้ แล้วดูดดื่มน้ำจนหมดขันด้วยอยากกระหายน้ำ ครั้นดื่มน้ำหมดแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพจึงถามนางสาวคนนั้นว่า เราอยากกระหายน้ำ สู้อุตส่าห์บากหน้ามาขอน้ำเจ้ากิน เหตุไฉนจึงแกล้งเราเอาเกษรบัวโรยลงส่งให้ เรากินน้ำของเจ้าลำบากนัก เจ้าแกล้งทำเล่นแก่เราหรือฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:20:13
นางสาวคนนั้นตอบว่า ดิฉันจะได้คิดแกล้งท่านก็หาไม่ ที่ดิฉันเอาเกษรบัวโรยลงในขันน้ำให้เต็มนั้น เพราะดิฉันเห็นว่าผากแดดแผดลมเหนื่อยมา และกระหายน้ำด้วยก็เพื่อจะป้องกันเสียซึ่งอันตรายแห่งท่าน เพื่อจะกันสำลักน้ำและสะอึกน้ำ และกันจุกแน่นแห่งท่านผู้ดื่มน้ำของดิฉัน ถ้าท่านไม่มีอันตรายในการดื่มน้ำแล้ว น้ำจะได้ทำประโยชน์แก้กระหายแห่งท่าน ดิฉันจะพลอยได้ประโยชน์เพราะให้น้ำแก่ท่าน ท่านสมปรารถนาแล้วก็จะเป็นบุญแก่ดิฉัน เหตุนี้ดิฉันจึงโรยเกษร เจ้าคุณแม่ทัพฟังนางสาวตอบอย่างไพเราะอ่อนหวาน ถ้อยคำที่ให้การมานั้นก็พอฟัง จึงลงมาจากหลังม้าแล้วถามว่า ตัวของเจ้าก็เป็นสาวเป็นเนื้อแล้วมีใครๆ มาหมั้นหมายผูกสมัครรักใคร่เจ้าบ้างหรือยัง นางสาวบอกว่ายังไม่เห็นมีใครๆ มารักใคร่หมั้นหมายดิฉัน และดิฉันก็ยังไม่ได้ไปเที่ยวบอกใครว่าเป็นสาวมัวแต่หลบหัวซ่อนตัวอยุ่ ด้วยบ้านเมืองเกิดยุ่งนุงถุงมานานจนกาลบัดนี้ จึงมิได้มีใครเห็นว่าดิฉันเป็นสาว เจ้าคุณแม่ทัพว่า ถ้ากระนั้นเราเองเป็นผู้ที่ได้มาเห็นเจ้าเป็นสาวก่อนคน เจ้าต้องยอมตกลงเป็นคู่รักของเรา เราจะต้องเป็นคู่ร่วมรักของเจ้าสืบไป เจ้าจะพร้อมใจยินยอมเป็นคู่รักของเราโดยสุจริตหรือว่าประการใดฯ
· นางสาวตอบว่า การที่ท่านจะมาเป็นคู่รักของดิฉันนั้น ก็เป็นพระเดชพระคุณยิ่งอยู่แล้ว แต่ทว่าการจะมีผัวมีเมียกันตามประเพณีนั้น ดิฉันไม่ทราบเรื่อง จะว่าประการใดแก่ท่านก็ไม่มีอะไรจะว่า เรื่องการผัวการเมียนั้นท่านต้องเจรจากับผู้ใหญ่จึงจะทราบการ เจ้าคุณแม่ทัพถามว่า ผู้ใหญ่ของเจ้าไปไหน นางสาวตอบว่าไปรดน้ำถั่วจวนจะกลับแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพขยับเดินเข้าให้ใกล้ นางสาวไพล่วิ่งปรู๋ออกแอบที่หลังโรงเลยไม่เข้าหา ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็ต้องนั่งเฝ้าโรงคอยท่านบิดามารดาของนางสาวต่อไป จนเกือบตะวันตกดินจวนค่ำฯ
· ฝ่ายตาผล ยายลา กลับมาถึงโรงแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพได้เห็นแล้วจึงยกมือขึ้นไหว้ ตายายก็น้อมตัวก้มลงไหว้ตอบ ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็ก้มลงไหว้ให้ต่ำลงไปอีก ตายายก็หมอบลงไปไหว้อีก ท่านแม่ทัพก็หมอบไหว้อยู่นั้น ต่างคนต่างหมอบแต้วกันอยู่นั้นทั้งสองฝ่าย ฝ่ายยายแกเป็นคนปากเร็ว แกนึกขันและประหลาดใจแกจึงเปิดปากถามออกไปก่อนว่า นี่เป็นขุนนางมาแต่บางน้ำบางกอก เหตุไฉนจึงมาหมอบกราบไหว้ข้าเจ้า เป็นชาวบ้านนอกเป็นชาวทุ่งชาวป่า เป็นคนยากจน ท่านจะมาหมอบไหว้ข้าพเจ้าทำไม เจ้าคุณแม่ทัพบอกว่า ฉันจะสมัครเข้ามาเป็นลูกเขยท่านทั้งสองจ๊ะจ๊ะฯ
· ยายถามว่าท่านเห็นดีเห็นงามอย่างไร เห็นลูกสาวฉันเป็นอย่างไร ท่านจึงจะมายอมตัวเป็นลูกเขยเล่า เจ้าคุณแม่ทัพว่า ฉันเห็นบุตรสาวท่านดีแล้วพอใจแล้วจึงเข้ามาอ่อนน้อมยอมตัวเป็นลูกเขยท่าน ท่านเจ้าคุณแม่ทัพเล่าถึงกาลแรกมาขอน้ำ และนางเอาเกษรบัวโรยลงและได้ต่อว่านางได้โต้ตอบถ้อยคำน่าฟังน่านับถือจึงทำให้เกิดความรักปราณีขึ้น และตั้งใจจะเลี้ยงดูจริงๆ จึงต้องทนอยู่คอยท่าน เพื่อจะแสดงความเคารพและขอเป็นเขย ขอให้แม่พ่อมีเมตตากรุณาเห็นแก่ไมตรีที่ได้มาอ่อนน้อมพูดจาโดยเต็มใจจริงๆ ไม่ได้มีแยบยลอะไร ตั้งใจช่วยทนุบำรุงนางสาวกับพ่อแม่ให้บริบูรณ์พูลเถิดไม่เริดร้างจริงๆ ตามวาจาที่ว่ามานี้ทุกอย่าง ขอพ่อแม่ได้โปรดอนุญาติยกนางสาวลูกนั้นให้เป็นสิทธิแก่ฉันในวันนี้ ยายตาแกร้องขึ้นด้วยความตกใจว่า โอตายจริงข้าเจ้าเป็นคนยากจนข่นแค้นและต่ำศักดิ์ ทั้งผ้าผ่อนที่หลับที่นอนก็เหม็นตืดเหม็นสาบ ทั้งเครื่งเย้ามาเรือนก็ขัดขวาง ทั้งถ้วยชามรามไหมที่ดีงามก็ไม่มีฉิบหายป่นปี้แต่ครั้นบ้านเมืองเกิดยุ่งนุงนังหลายครั้งหลายครามา แลตัวนางหนูเล่าก็ยังไม่เป็นภาษา ทั้งจริตกิริยาก็ยังป่าเถื่อนไม่เหมือนชาวใต้ จะใฝ่สูงเกินศักดิ์เกินสมควรไปละกระมังพ่อคุณฯ
· เจ้าคุณแม่ทัพว่า ข้อนั้นพ่อแม่อย่ามีความวิตกหวาดกลัวอะไรเลย ข้อสำคัญก็คือแม่พ่อยกให้เป็นกรรมสิทธิแก่ฉันเด็ดขาดแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของฉันฝ่ายเดียว ตามที่แม่พ่อยกขึ้นเป็นทางปรารมภ์นั้น เป็นธุระของฉันหมดทุกอย่าง ขอแต่ว่าอย่าเกี่ยงงอนขัดขวางดิฉันเลยฯ
· ยายลา ตาผล ขอทุเลาถามเจ้าตัวว่า มันจะอยากมีผัวหรืออย่างไรไม่ทราบ แล้วก็ออกไปตามหาที่หลังโรง ตายายพูดจากับลูกสาว ลูกสาวพูดกับพ่อกับแม่ได้ยินแต่กระจู๋กระจี๋กระเส่าๆ กระซิบกระซาบอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็กลับมา แล้วนั่งลงถามว่าในเวลานี้ท่านก็มาแต่ตัวกับม้าตัวหนึ่ง ถ้าหากว่าดิฉันทั้งสองจะพร้อมใจยกอีงุดลูกสาวฉันให้เป็นเมียท่าน ท่านจะจัดการประการใดแก่ดิฉันเพื่อให้เป็นมงคล จงว่าให้ดิฉันฟังก่อนเถิดเจ้าข้ะฯ
· เจ้าคุณแม่ทัพ ถอดแหวนออกจากนิ้วแล้วบอกว่าแหวนวงนี้มีราคาสูง ถ้าว่าท่านบิดามารดายินยอมพร้อมใจกันยกแม่งุดให้เป็นเมียเป็นสิทธิแก่ฉันแล้ว ฉันจะยกแหวนวงนี้ ตีราคาทำสัญญาให้ไว้เป็นสินถ่าย ๒0 ชั่ง คิดเป็นทุนเป็นค่าทองหมั้นขันหมากผ้าไหว้อยู่ใน ๒0 ชั่ง ทั้งค่าเครื่องเย่าเครื่องเรือนเบี้ยเลี้ยงค่าเลี้ยงค่าดู ค่าเครื่องเส้นวักตั๊กกระแตนเสร็จในราคา ๒0 ชั่ง ด้วยแหวนวงนี้สองตายายได้ฟังดีใจ เต็มใจพร้อมใจตกลงยกลูกสาวให้ตามปรารถนา เจ้าคุณแม่ทัพก็จัดแจงยืมพานปากกระจับทองเหลืองมาแล้วเขียนสัญญาถ่ายแหวนแล้วเอาใบตองรองก้นพาน แล้ววางแหวนที่ว่านั้นลงบนใบตองรองในพาน เชิญเข้าไปคุกเข่าส่งให้ตายายๆ ก็ให้ศีลให้พรเป็นต้นว่าขอให้พ่อมีความเจริญขึ้นด้วยลาภและยศ ให้เป็นเจ้าคนนายคนเถิด แล้วจัดแจงหุงข้าวต้มแกงพล่ายำตำน้ำพริกต้มผักเผาปลาเทียบสำรับตามป่าๆ แล้วเชิญให้อาบน้ำทาดินสอพอง ยายตาก็อาบน้ำ ลูกสาวก็อาบน้ำ ตาตักน้ำให้ม้ากิน พาไปเลี้ยงให้กินหญ้า ครั้นคุณแม่ทัพอาบน้ำทาดินสีพองแล้วลูกสาวทาขมิ้นแล้ว ยายก็ยกสำรับปูเสื่อลำแพน แล้วเอาผ้าขาวม้าปูบนเสื่อลำแพน ยายเชิญเจ้าคุณแม่ทัพให้รับประทานฯ
· ยายตาก็รับประทานพร้อมกัน นางงุดนั้นให้กินภายหลัง ครั้นรับประทานอาหารแล้วต่างคนนั่งสั่งสนทนากัน ครั้นเวลา ๔ ทุ่มจึงพาลูกสาวออกมารดน้ำรดท่าเสร็จ แล้วก็ส่งตัวมอบหมายฝากฝังตามธรรมเนียมของชาวเมืองกำแพงเพชร อันเคยทำพิธีมาแต่ก่อนฯ
· ส่วนเจ้าคุณแม่ทัพรับตัวแล้ว ก็หลับนอนอยู่ด้วยนางงุดในกระท่อมโรงนาจนรุ่งสางสว่างฟ้าแล้ว ตื่นขึ้นอาบน้ำ รับประทานอาหารแล้วก็ลาตายายขึ้นม้ามาบัญชาการที่กองทัพ พอเวลาค่ำสั่งการเสร็จสรรพแล้ว ห่อเงิน ๒0 ชั่งมาสู่โรงบ้านปลายนา ถ่ายแหวนคืนสัญญาแล้วก็หลับนอน เช้ากลับค่ำไปหา เป็นนิยมมาดังนี้ แม่ทัพนายกองทั้งปวงจะได้ล่วงรู้และร่ำลือให้อื้อฉาวก็เป็นอันว่าหามิได้ แต่บุตรชายของเจ้าคุณแม่ทัพซึ่งนอนอยู่ในค่ายมีอายุ ๘ ขวบโดยปี จะรู้ก็เข้าใจว่าไปดูแลตรวจตราบัญชาการ แต่เป็นดังนี้นานประมาณเดือนเศษ ตามสังเกตรู้ว่านางงุดตั้งครรภ์ ต่อแต่นั้นก็เพียงแต่ไปมาถามข่าวฯ
· ครั้นมีท้องตราหากองทัพกลับ เจ้าคุณแม่ทัพก็ไปร่ำลาและสั่งสอนกำชับกำชาโดยนานับประการ จนนางเข้าใจราชการตลอดรับคำทุกประการ แล้วท่านก็คุมกองทัพกลับกรุงธนบุรีฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:21:02
ครั้นนางงุดได้แต่งงานแล้ว เมื่อเดือนแปด ปีมะแมสัปตศก แล้วก็ตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ยังอ่อนๆ อยู่นั้น นางงุดไปปรึกษาหารือด้วยตาผล ยายลาผู้เป็นบิดามารดาว่าจะคิดการขึ้นล่องค้าขายกรุงธนบุรีและเมืองเหนือนั้น ครั้นคนทั้งสามปรึกษาตกลงเห็นชอบพร้อมใจกันแล้ว คนทั้งสามจึงได้รวบรวมเงินต้นทุนที่ได้ไว้ปันส่วนออกเป็นค่าเรือ ค่าสินค้า ค่ารองสินค้า ค่าจ้างคน ค่าซ่อมแซมอุดยาเรือมั่นคงเรียบร้อยแล้วจึงละโรงนานั้นเสีย ส่วนนาและไร่ผักก็ให้เขาเช่าเสียแล้วพากันลงอยู่ในเรือใหญ่ จัดการซื้อสินค้าบรรทุกเรือนั้นเต็มระวางฯ
· ครั้นถึงกำหนดล่องกรุงธนบุรี จึงเรียกคนแจวออกเรือ ล่องลงมาถึงบ้านบางขุนพรหม ฝั่งตะวันออกแห่งกรุงธนบุรีแล้ว เข้าจอดเรืออาศัยท่าหน้าบ้านนายทอง นางเพียนบางขุนพรหม เป็นคนเคยอยู่เมืองเหนือแต่ก่อน และนายทองนางเพียนได้ลงมาอยุ่บางขุนพรหม ครั้นตาผลจัดการจอดเรือเรียบร้อยแล้ว จึงผ่อนสินค้าขายส่งจนหมดลำจึงจัดซื้อสินค้าบางกอกและสินค้าเมืองปักษ์ใต้บรรทุกเรือตามระวางแล้วพอถึงวันกำหนดจึงแจวกลับขึ้นไปปากน้ำโพจำหน่ายในตลาดเมืองเหนือ ตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ขึ้นไป จนถึงเมืองกำแพงเพชร ครั้นคนทั้งสามซื้อและขายสินค้าหมดเสร็จแล้วก็กลับบรรทุกสินค้าเมืองเหนือกลับล่องเรือลงมาจอดท่าหน้าบ้านนายทองนางเพียนบางขุนพรหม ค้าขายมาโดยนิยมดังนี้ ล่วงวันและราตรีมาถึงเก้าเดือน ได้กำไรมากพอแก่การปลูกเรือนแล้ว จึงเหมาช่างไม้ให้ปลูกเรือนแพสองหลังแฝด มีชานสำหรับผึ่งแดดพร้อมทั้งครัวไฟ บันไดเรือนบันไดน้ำจำนองที่ดินลงในถิ่นบางขุนพรหมเหนือบ้านนายทอง นางเพียนขึ้นไปสัก ๔ วาเศษ เพื่อเหตุจะได้อาศัยคลอดลูกและใช้ผูกพักผ่อนหย่อนสินค้า เห็นเป็นการสะดวกดีที่สุดฯ
· ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือนหก ปีวอก อัฏฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ ปี นางงุดปั่นป่วนครรภ์เป็นสำคัญรู้กันว่าจะคลอดบุตร จึงจัดแจงห้องนางงุดให้เป็นที่คลอดบุตรโดยฉับไว บนเรือนที่ปลูกใหม่บางขุนพรหมนั้น ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี นางงุดก็คลอดบุตรเป็นชายที่ล่ำสัน หมู่ญาติมิตรก็ได้มาพร้อมกันช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพยาบาลฯ
· ครั้นบุตรนั้นเจริญวัฒนาการประมาณได้สักเดือนเศษ ญาติมิตรพากันมาสังเกตตรวจตราจับต้อง ประคองทารกน้อยขึ้นเชยชม บางคนคลำถูกกระดูกแขนเห็นเป็นแกนกระดูกเป็นท่อนเดียวกัน ก็พากันเฉลียวใจโจทย์กันไปโจทย์กันมา ครั้นช้อนทารกขึ้นนอนบนขาเพื่อจะอาบน้ำจึงพากันเห็นปานดำที่กลางหลังอยู่หนึ่งดวงต่างคนต่างก็ทักท้วงกันไปทายกันมาพูดกันไปต่างๆ นานา เป็นวาจาต่ำบ้างสูงบ้างเป็นความเห็นของคนหมู่มากทักทายหลายประการ จึงทำความรำคาญให้แก่นางงุดไม่สบายใจ เกรงไปว่าวาสนาตัวน้อยจะไม่สามารถคอยเลี้ยงลูกคนนี้ยาก นางงุดจึงออกปากอ้อนวอนบิดา นายทองและนางเพียนให้ช่วยสืบเสาะดูให้รู้ว่าพระสงฆ์องค์เจ้ารูปใดอยู่วัดไหนที่อย่างดีมีอยู่บ้างในแถวนี้ เห็นพระสงฆ์ที่ดี มีศีลธรรมวิชาภูมิรู้ปฏิบัติเคร่งครัดอยู่ในวัดใด ขอได้ช่วยพาบุตรไปถวายเป็นลูกท่านองค์นั้นในวัดนั้นด้วยเถิดฯ
· นายทองนางเพียนจึงพากันนิ่งนึกตรึกตราไปทุกวัดในแถบนั้นจึงคิดถึงหลวงพ่อแก้ว วัดบางลำภูบน จึงบอกแก่นายผลว่า หลวงพ่ออาจารย์แก้ววัดบางลำภูบนนี้ท่านดีจริง ดีทุกสิ่งตามที่กล่าวมานั้น ทั้งเป็นพระสำคัญเคร่งครัด ปริยัติ ปฏิบัติก็ดี วิชาก็ดีมีผู้คนไปมานับถือขึ้นท่านมาก ถ้าพวกเราไปออกปากฝากถวายเจ้าหนูแก่ท่าน เห็นท่านจะไม่ขัดข้อง เพราะท่านมีอัธยาศัยกว้างขวางดี เมื่อคนทั้ง ๔ นั่งปฤกษาหารือตกลงเห็นพร้อมใจกันแล้ว จึงได้พากันลงเรือช่วยกันแจวล่องมาวัดบางลำภูบนเมื่อเวลาบ่าย ๔ โมงเย็น ถึงแล้วก็พากันขึ้นวัด นางงุดอุ้มเบาะลูกอ่อนพาไปนอนแบเบาะไว้มุมโบสถ์วัดบางลำภูตอนข้างใต้หน้ากุฏิพระอาจารย์แก้ว แล้วนายทองนางเพียนจึงไปเที่ยวตามหาพระอาจารย์แก้ว เวลาเย็นนั้นท่านพระอาจารย์แก้วเคยลงกระทำกิจกวาดลานวัดทุกๆ วันเป็นนิรันดรมิได้ขาดฯ
· นายทอง นางเพียน หามาพบหลวงพ่อ กำลังกวาดลานข้างตอนเหนืออยู่ นายทองนางเพียนจึงทรุดตัวนั่งยองยองยกมือทั้งสองขึ้นประนมไหว้แล้วออกวาจาปราศรัยบอกความตามที่ตนประสงค์มาทุกประการ ฝ่ายหลวงพ่ออาจารย์แก้ว ฟังคำนายทองนางเพียนแล้ว ตรวจนิ้วมือดูรู้ฤกษ์ยามตามตำรา ท่านจึงพิงกวาดไว้ที่ง่ามต้นไม้ แล้วก็ขึ้นมากุฏิ ออกนั่งที่สำหรับรับแขกบ้านทันทีฯ
· ตาผล นางงุด ก็ประคองบุตรน้อยขึ้นกุฏิ เข้ากราบกรานพระอาจารย์แก้ว แล้วจึงกล่าวคำว่า กระผมเป็นตาของอ้ายหนูน้อย อีแม่มันนั้นเป็นลูกสาวของกระผมๆ กับอีแม่มันมีความยินยอมพร้อมใจกันยกอ้ายหนูน้อยถวายหลวงพ่อเป็นสิทธิขาดแต่วันนี้ ขอหลวงพ่อได้ปรานีโปรดอนุเคราะห์ รับอ้ายหนูน้อยเป็นลูกของหลวงพ่อด้วยเถิดภ่ะค่ะ ครั้นกล่าวคำเช่นนั้นแล้ว จึงพร้อมอุ้มเบาะทารกขึ้นวางบนตักหลวงพ่อพระอาจารย์แก้วแล้วก็ถอยมานั่งอยู่ห่างตามที่นั่งอยู่เดิมนั้นฯ
· ฝ่ายพระอาจารย์แก้ว ตั้งใจรับเด็กอ่อนไว้แล้ว ท่านก็ตรวจตราพิจารณาดู ท่านก็รู้ด้วยการพิจารณา รู้ว่าเด็กคนนี้มีปัญยาสามารถ ทั้งเฉลียวฉลาดในการร่ำเรียนทั้งประกอบด้วยความเพียรและความอดทน ทั้งจะเป็นบุคคลที่เปรื่องปราชญ์อาจหาญ ทั้งจะเป็นคนที่เชี่ยวชาญวิทยาคม ทั้งจะมีแต่คนนิยมฦาชาปรากฏ ทั้งจะเป็นคนกอปรด้วยอิสริยศบริวารยศมาก ทั้งจะเป็นคนประหลาดแปลกกว่าคน ทั้งจะเจริญทฤฑชนม์มีอายุยืนนาน ครั้นพระอาจารย์แก้วตรวจวิจารณ์ชะตาราศีแล้วจึงผูกข้อมือเสกเป่าเข้าปากนวดนาบด้วยนิ้วของท่านเพื่อรักษาเหตุการณ์ตาลทราง หละ ละลอก ทรพิศม์ มิให้มีฤทธ์มารบกวนแก่กุมารน้อยต่อไป แล้วท่านก็ฝากให้นางงุดช่วยเลี้ยงกว่าจะได้สามขวบเป็นค่าจ้างค่าน้ำนมข้าวป้อนเสร็จปีละ ๑00 บาท แล้วท่านประสาทสั่งซ้ำว่า อย่าให้มารดากินของขมและของเผ็ดร้อน และของบูดแฉะเกรงขีระรสธาราจะเสีย แล้วท่านก็กำชับสั่งนายผลให้เอาใจใส่ระวังระไวคอยเตือน อย่าให้นางแม่มันเล่นเล่อเหม่อประมาทคอยขู่ตวาดนางแม่มันอย่าให้กินของแสลงตามที่เราห้าม จงทำตามทุกประการฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:21:37
ฝ่ายตาผล นางงุด พนมมือรับปฏิญาณแล้วกราบกรานลา รับเบาะลูกน้อยมาแล้วลงกุฏิ พากันมาลงเรือปู้แหระ ช่วยกันแจวแชะแชะมาจนถึงเรือใหญ่ท่าหน้าบ้านบางขุนพรหมแล้วก็รออยู่พอหายเหนื่อย จนอายุเด็กเจริญขึ้นได้ ๓ เดือน จึงหาฤกษ์โกนผมไฟในเดือน ๙ ปีวอก ฉศกนั้น ครั้นกำหนดวันฤกษ์แล้วจึงนายผลออกไปวัดบางลำภูบนนิมนต์ท่านพระอาจารย์แก้ว แล้วขอเผดียงสงฆ์อีก ๔ รูปรวมเป็น ๕ เข้ามาเจริญพระปริตพุทธมนต์ในเวลาเย็น รุ่งขึ้นฤกษ์โกนผมไฟ แล้วนิมนต์รับอาหารบิณฑบาตร
· ครั้นนายผลทราบว่า พระอาจารย์ทราบแล้ว จึงนมัสการลากลับมา เที่ยวบอกงานและจัดหาเครื่องบูชา เครื่องใช้สอย โตกถาดภาชนะ ทั้งเครื่องบุดาดอาสนะพร้อมแม่ครัว เมื่อถึงวันกำหนด พระสงฆ์มาพร้อมจึงเผดียงขึ้นสู่โรงพิธีบนเรือนแพที่ปลูกใหม่นั้น แล้วพระสงฆ์เริ่มการสวดมนต์ ครั้นสวดมนต์แล้ว พระสงฆ์กลับแล้วจึงจัดการเลี้ยงดูกันฯ
· ครั้นรุ่งเช้าพระสงฆ์มาพร้อมนั่งอาสน์ จึงนำเด็กออกมาฟังพระสวดมนต์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาแล้วโกนผมไฟกันไปเรื่อย แล้วจัดอาหารบิณฑบาตรอังคาสแก่พระสงฆ์แล้ว พระสงฆ์ทำภัตตกิจ อนุโมทนาแล้วกลับ จึงจัดการประพรหมเย่าเรือนจุณเจิมเรือและเรือนเสร็จฯ
· ครั้นจัดการทำบุญให้ทานเสร็จแล้ว พักผ่อนพอหายเหนื่อย จึงจัดสรรพสินค้าเมืองปักษ์ใต้ ได้เต็มระวางแล้วจึงออกเรือไปเมืองเหนือ จำหน่ายสินค้า ก็จัดรองสินค้าเมืองเหนือมาจำหน่ายในบางกอก กระทำพานิชกรรมสัมมาอาชีวะอย่างนี้เสมอมา ก็บันดาลผลให้เกิดหนุนภูลเถามั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นหลายสิบเท่า พ่อค้าแม่ค้าทั้งปวงก็รู้จักมักคุ้นมากขึ้นเป็นลำดับมา ตาผล ยายลา นางงุด จึงได้ละถิ่นฐานทางเมืองกำแพงเพชรเสียลงมาจับจองจำนองหาที่ดินเหนือเมืองพิจิตร ปลูกคฤหสถานตระหง่านงามตามวิสัย มีเรือนอยู่ หอนั่ง ครัวไฟ บันไดเรือน บันไดน้ำ โรงสี โรงกระเดื่อง โรงพักสินค้า โรงเรือ รั้วล้อมบ้าน ประตูหน้าบ้าน ประตูหลังบ้าน ได้ทำบุญให้ทานที่วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรนั้น จึงได้มีความชอบชิดสนิทกับท่านพระครูใหญ่ วัดใหญ่นั้น มีธุระปะปังอันใดก็ได้สังสรรไปหาทายกแจกฎีกาไม่ว่าการอะไร มาถึงแล้วไม่ผลักยินดีรักในการทำบุญการกุศล เลยเป็นบุคคลมีหน้าปรากฏในเมืองพิจิตรสืบไปฯ
· ท่านพระครูใหญ่ วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรนั้น ท่านองค์นี้ดีมากในทางรู้วิชาคาถาอาคมก็ขลังมาก วิชาฝ่ายนักเลงต่างๆ พอใช้ เป็นที่เคารพยำเกรงของหมู่นักเลงขยั้นเกรงกลัวท่านมาก ท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่พระองค์นี้ เชี่ยวชาญชำนาญชอบรู้ในคัมภีร์มูลประกรณ์ทั้ง ๕ คัมภึร์หาผู้มีเปรียบเทียบเท่าท่านในเมืองนั้นในคราวนั้นมิได้ใช่แต่เท่านั้นท่านขลังในอาคมทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีทางภูตทางผีทางปีศาจก็เก่งพร้อมห้ามเสือห้ามจรเข้ ห้ามสัตว์ร้ายก็ได้ ป่าเสกให้คนและสัตว์ร้ายอ่อนเพลียเสียกำลัง ยืนงงนั่งจังงังก็ทำได้ พระสงฆ์ในเมืองพิจิตรเกรงกลัวท่านมากตลอดแขวงตลอดคุ้ม ไม่มีวัดไหนล่วงบัญญัติกัตติสัญญาณาบัติเลย ทั้งเจ้าเมืองกรมการก็ยำเกรงขามท่านพระครูวัดใหญ่มาก ใช่แต่เท่านั้น ท่านกอปรด้วยเมตตากรุณาอนุกูล สัปปุรุส อุบาสิกา สานุศิษย์ มิตรญาติ สงเคราะห์อนุเคราะห์ อารีอารอบทั่วไป มีอัธยาศรัยกว้างขวางเผื่อแผ่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลคนที่ควรสงเคราะห์ไม่จำเพาะบุคคล ข่มขี่ขัดเกลากิเลสด้วยไม่โลภโมห์โทสันต์ ขันติธรรมก็พอใช้ วินัยก็พอชม มีผู้นิยมสู่หามาไปมิได้ขาด ทั้งฉลาดในข้อปฏิสันฐานการวัดก็จัดจ้านเอาใจใส่ การปฏิสังขรก็เข้าใจปะติปะต่อก่อปรุงถาวรวัตถุกรรม แนะนำภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ให้รู้จักกิจถือพระพุทธศาสนาให้กอปรด้วยประสาทะศรัทธามั่นคง จำนงแน่ในพระรัตนตรัยหมั่นเอาใจใส่สอนศิษ์ให้รู้ทางประโยชน์ดีฯ
· เมื่อตาผล ยายลา นางงุด จะล่องลงมาค้าขาย ก็ต้องออกไปร่ำลารดน้ำมนต์รับน้ำมาพรหมสินค้า และพรหมเรือพรหมคนแจว พรหมบ้านเรือน เพื่อให้พ้นภัยอันตรายให้ซื้อง่ายขายคล่อง เวลาตาผลนางงุดกลับ ก็ต้องขึ้นสักการะท่านพระครู จึงบันดาลให้มีผู้นิยมรักแรงแข็งขอบไปทั้งเมืองเหนือเมืองใต้ มีคนเกรงใจเชื่อหน้าถือตา เมื่อจะค้าก็ไม่ต้องลงทุนได้ผ่อนทรัพย์ออกไปหมุนหาดอกเบี้ย และปัวเปียเข้าหุ้นกับพ่อค้าใหญ่ๆ ก็ได้ทำกำไรงอกงาม ตามประวัติการแห่งพานิชกรรมร่ำมาด้วยประการดังนี้ฯ
· ครั้นถึงปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีสิ้นอำนาจแล้ว เป็นปีที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชย์ปราบดาภิเษกเปลี่ยนเป็นปฐมบรมจักรีพระองค์แรก และย้ายพระมหานครมาข้างฝั่งตะวันออกแห่งกรุงธนบุรี ตรงหัวแหลมระหว่างวัดโพธิ์และวัดสลัก เป็นวัดเก่ามากทั้ง ๒ วัด เป็นคราวผลัดแผ่นดินใหม่ ทรงขนานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพพระมหานคร ฯลฯ พระบรมราชนามาภิไธยว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ ทรงตั้งเจ้าพระยาสุรสีห์น้องชาย เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ามหาสุรสีหนาทกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงตั้งพระมเหสีเดิม เป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ทรงตั้งพระราชโอรสที่ ๔ อันมีพระชนม์พรรษาได้ ๑๖ พรรษา เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าภคิเณยราช กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายพระราชวังหลังรับพระราชบัญชาฯ
· ฝ่ายหนูโตบุตรชายของนางงุดเมืองพิจิตรนั้น มีชนมายุได้ ๗ ขวบ ครั้นการบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติแล้ว นางงุดจึงได้นำหนูโต อายุ ๗ ขวบ นั้นเข้าไปถวายท่านพระครูใหญ่เมืองพิจิตรให้เป็นศิษย์เรียนหนังสือไทยหนังสือขอมและกิริยามารยาทและขนบธรรมเนียมการวัด การบ้าน การเมือง การโยธา การเรือน การค้าขาย เลขวิธีการของผู้อยู่การของผู้ไป การรับการส่ง การที่เจ้าจะใช้นายจะวาน การไว้ท่าวางทาง ทำท่วงทำทีสำหรับผู้ลากมากดี ในสำนักนี้ ท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่นั้นฯ
· คั้นถึงปีวอกสัมฤธิศก จุลศักราช ๑๑๕0 อายุหนูโตได้ ๑๓ ขวบ เป็นคราวที่จะทำการโกนจุกแล้ว ตาผล นางงุดจึงรับเข้าพักอยู่ที่บ้าน เพื่อระวังเหตุการณ์ แล้วจึงจัดบ้านช่องค้ำจุนหนุนเตาหม้อ ก่อเตาไฟ ซ่อมบันได เตรียมเครื่องครัวพร้อม กำหนดวันฤกษ์งามยามดี หนีกาฬกิณีตามวิธีโหราจารย์บุราณประเพณีได้วันดีแล้วในเดือน ๖ ข้างขึ้น จึงเผดียงท่านพระครูใหญ่ พระอาจารย์ พระเจ้า อธิการวัด พระฐานา พระที่เป็นญาติ และพระที่เป็นมิตรรวม ๑๑ รูป กำหนดวันเวลาแล้วเผดียงสวดมนต์ฉันเช้า และเชิญท่านเจ้าเมืองกรรมการผู้ใหญ่ พ่อค้า แม่ค้า คฤหบดี คฤหปตานี เจ้าภาษีนายอากร อำเภอ กำนัน พันทะนายบ้าน นายกองขุนตำบล และคณะญาติผู้ใหญ่ผู้น้อยรอบคอบแล้ว จัดกระจายใบบัวบรรจุขนมของกินและผลาผลกับปิยจรรหรรมัจฉมังสาหาร เป็นเครื่องไทยทาน ถวายแถมพกตอนเช้า ผ้าไตรจีวรถวายตอนเย็น หาเสภามาขับตลอดกลางคืน หาละครสมโภชในตอนทำขวัญ แล้วบุดาษมุงบัง ปู ปัด จัดตั้ง พร้อมทุกสิ่งทุกประการฯ
· ครั้นถึงวันกำหนด พระสงฆ์มา แขกก็มา จัดบุคคลที่สมควรรับรองเชื้อเชิญ นั่งลุกตามขนบธรรมเนียมอย่างชาวเหนือในเวลานั้น เริ่มการสวดมนต์ตั้งหม้อเต้าน้ำสังข์มังสี มีดโกนด้ามสามกษัตริย์ บัตรบายศรีมีพร้อมในโรงพิธี บนหอนั่งเป็นที่เอิกเกริก สวดมนต์พระสงฆ์แล้วก็จัดแจงเลี้ยงดูกันอิ่มหนำสำราญ พอตกพลบค่ำ ก็จุดตามประทีปโคมไฟไสวสว่างมีเสภารำต่อไปฯ
· ครั้นเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น พระสงฆ์มาพร้อมตามเวลา แขกที่เชิญมานั่งพร้อมตามกำหนดนัด นำหนูโตออกจากเรือน มานั่งในโรงพิธีที่หอนั่ง ฟังพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาแล้ว ได้เวลากำหนดฤกษ์ พระสวดชะยันโต ท่านเจ้าเมืองหยิบกรรไกรยกกระบัตรแหวกจุกผูกสามจอมเรียกว่า ไตรสิงขร พระสวดถึง(ปัลลังเกสีเส) ท่านเจ้าเมืองลงกรรไกรคีบจุกขาดออกทั้งสามจอมแล้วโกนด้วยมีดด้ามนาก ด้ามเงิน ด้ามทอง เรียกว่ามีดสามกษัตริย์


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:22:20
ครั้นพนักงานโกนผมที่ศีรษะหนูโตหมดแล้ว จึงอุ้มหนูโตออกไปนั่งเตียงเบญจาท่านเจ้าเมืองรดน้ำมนต์ด้วยสังข์ก่อนแล้วบรรดาแขกที่เชิญมาและคณะญาติมิตรก็ช่วยลดน้ำหลั่นกันลงไป เสร็จการรดน้ำแล้วก็อุ้มหนูโตเข้าเรือนจัดแจงเปลี่ยนเสื้อผ้าต่อไปฯ
· ฝ่ายพนักงานยกสำรับก็ยกมา พวกใส่บาตรก็ใส่ไป เสร็จแล้วก็ยกประเคนพระ พระลงมือฉัน ครั้นพระเสร็จการภัตตกิจแล้ว เจ้าของงานก็จัดแจงถวายเครื่องไทยทานตามที่จัดไว้ และเพิ่มเติมค่าจตุปัจจัยตามสมควร พระอนุโมทนาแล้วกลับไปฯ
· ฝ่ายจ้างงานก็จัดแจงเลี้ยงดูปูเสื่อกันเสร็จ แล้วจึงตั้งระเบียบบายศรี แว่นเวียนแวดล้อมญาติมิตรคนเชิญขวัญก็มานั่ง จึงอุ้มหนูโตออกมานั่งกลางหอนั่งให้คอยฟังคนเชิญขวัญร่ำรำพรรณ พรรณาสิ้นวาระ ๓ จบแล้ว ก็ออกเทียน แว่นที่มีรูปหอยออกก่อนเวียนเป็นทักษินาวัฏ ๓ รอบแล้ว ผู้อวยพรก็รับมาเศกวิศณุเวทย์มนตราคมน์ เป่าลมแล้วระบายควันดับเทียนนั้นเป่าควันให้กุมารได้รับสัมผัส แล้วผจงผลัดผ้าหุ้มคลุมบายศรี หยิบเครื่องพลี มีกุ้งพล่าและปลายำ สิ่งละคำคลุกเข่าป้อน เปิดมะพร้าวอ่อน ช้อนตักน้ำนำให้ซดจุณจันทน์บทกระแจะเจิมเสกส่งเสริมสวัสดี ตามพิธีไสยศาสตร์ พวกพิณพาทย์บรรเลงเพลงครื้นเครงครึกโครม เสียงส่งสำเนียงโห่สนั่น เมื่อทำขวัญกุมารโตเป็นทะโหราดิเรกเป็นเอ้เอก อึกกระธึก ที่ระลึกทั่วไป สำหรับให้เป็นตัวอย่างคนลางบางในภายหลังจะได้ฟังเป็นการดี ครั้นทำพิธีทำขวัญแล้ว เป็นที่แผ้วผ่องภิญโญ กุมารโตจึงส่งผ้าให้มารดารับไว้เก็บเข้าไปในเรือนพลัน พวกลงขันยื่นเงินตราให้เสื้อผ้าตามฐานะ ไม่เกณฑ์กะเป็นอัตราเคยมีมาแต่โบราณฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:23:01
ครั้นการนั้นเสร็จแล้ว โดยสะดวกเรียบร้อยทุกประการ พวกละครรำก็โหมโรงเล่นไปวันหนึ่งจึงเลิกงาน แล้วเลี้ยงดูกันสำราญในเวลาเย็นอีกคราวหนึ่ง ครั้นล่วงมาอีก ๗ วัน นางงุดจึงนำกุมารโตบุตรออกไปมอบถวายท่านพระครูวัดใหญ่ในเมืองพิจิตรอีก แล้วให้ท่านสอนสามเณรสิกขา นาสะนังคะให้รู้ข้อปฏิบัติในวัตรทางสามเณรภูมิต่อไปฯ
· ครั้นถึงเดือน ๘ ปีวอกนั้นเอง นางงุดมารดาและคณาญาติใหญ่น้อย นางงุดมารดา และคณาญาติใหญ่น้อย ได้จัดบริขารไตรจีวร และย้อมรัดประคตของบิดา ที่ได้กำชับมอบหมายไว้แต่เดิมนั้นเป็นองคะพันธะบริขารพร้อมทั้งบาตร์โอตะลุ่ม เสื่อมุ้งน้ำมันมะพร้าวตะเกียง กับเครื่องถวายพระอุปัชฌาย์ และถวายพระอันดับอีก ๔ องค์ แล้วพากันออกไปที่วัด อาราธนาท่านพระครูให้ประทานบรรพชาแก่กุมารโตและขอสงฆ์นั่งปรกอีก ๔ องค์รวมเป็น ๕ ทั้งพระอุปัชฌาย์ลงโบสถ์ พระครูก็อนุมัติตามทุกประการ ฯ
· ครั้นสามเณรโตได้บรรพชาเสร็จแล้ว ก็ตั้งใจเคร่งครัด เกรงต่อพระพุทธอาญาอุตส่าห์เอาใจใส่ปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์ทุกวันวาร อุตส่าห์กิจการงานในหน้าที่ อุตส่าห์เล่าเรียนคัมภีร์มูละกัจจายนะปกรณ์ เป็นต้นว่าเล่าสูตร์จบเล่าโจทย์จบจำได้แม่นยำดี เรียนบาลีไวยกรณ์ตั้งแต่ สนธิ นาม และสมาส ตัทธิต อุณณาท กริต การก และสนธิ พาลาวะการ สัททะสาร สัททะพินธุ์ สัททะสาลินี คัมภีร์มูลทั้งสิ้นจบบริบูรณ์แม่นยำจำได้ดี ถึงเวลาค่ำราตรีก็จุดประทีปถวายพระอุปัชฌาย์นวดบาทาบีบแข้งขานวดเฟ้น หมั่นไต่ถามสอบทานในการที่เรียนเพียรหาความตามประสาเด็ก ถามเล็กถามน้อยค่อยๆ ออเซาะพูดจาประจ๋อประแจ๋ กระจุ๋มกระจิ๋มยิ้มย่องเป็นที่ต้องใจในท่านพระครูอุปัชฌาย์ ท่านเกิดเมตตากรุณาแนะนำธรรมปริยาย ท่านต้องขยายเวทมนต์ดลคาถาสำหรับ แรด หมี เสือ สางช้างม้า มะหิงษา โคกระทิงเถื่อนที่ดุร้าย จรเข้เหราว่ายวนเวียนไม่เข้าใกล้ สุนัขป่า สุนัขไน สุนัขบ้าน อันธพาล คนเก่งกาจฉกรรจ์เป่าไปให้งงงันยืนจังงัง ตั้งฐานภาวนาบริกรรมทำสูนย์ตรงนี้ๆ ตั้งสติไว้เบื้องหน้าแห่งวิถีจิตต์อย่างนี้ๆ ท่านบอกกะละเม็ด วิธีสองสามเณรให้ชำนิชำนาญ รอบรู้ในวิทยาคุณคาถามหานิยมเกิดเป็นมหาเสน่ห์ทั่วไป สามเณรโตก็อุตส่าห์ร่ำเรียนได้ในอาคมต่างๆ หลายอย่างหลายประการ ออกป่าเข้าบ้านทดลองวิชาความรู้ในวันโกนวันพระ ที่ว่างเรียนมูละปกรณ์แล้วก็ต้องทดลองวิชาเบ็ดเตล็ดเป็นนิตยกาล จนคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ใช้ได้ดังประสงค์ทุกอย่าง ฯ
· ครั้นถึงปีจอโทศก จุลศักราช ๑๑๕๒ ปี อายุสามเณรโตได้ ๑๕ ปี บวชเป็นสามเณรได้สามพรรษา เล่าเรียนคัมภีร์มูละกัจจายนะปกรณ์จบ เข้าใจไวยากรณ์ รู้สัมพันธ์บริบูรณ์ ครั้นถึงเดือน ๑๒ ปีจอโทศกนั้น สามเณรโตเกิดกระสันใคร่เรียนคัมภีร์พระปริยัติศาสนาเป็นกำลัง ทนความกระหายการเรียนพระปริยัติธรรมนั้นไว้ไม่ได้ จึงคลานเข้าไปนั่งพนมก้มกราบไหว้ท่านพระครูผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วอ้อนวอนขอเรียนคัมภีร์พระปริยัติศาสนาต่อไป ฯ
· ฝ่ายท่านพระครูได้ฟังคำสามเณรโต เข้ามาร้องขอเรียนคัมภีร์พระปริยัติธรรมอีกท่านก็อั้นอกอึกอักอีกด้วยคัมภีร์พระปริยัติได้กระจัดกระจายตกเรี่ยเสียหายป่นปี้มาแต่ครั้งพม่าเข้ามาตีกรุง ซ้ำสังฆราชเรือง เผยอตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้สมบัติของวัดวาอารามเสียหายหมดอีกเป็นคำรบ ๒ ซ้ำร้ายพวกผู้ร้ายเข้าปล้นพระพุทธศาสนาคว้าเอาพระคัมภีร์ปริยัติสำหรับวัดนี้ไปจนหมดสิ้นเป็นคำรบ ๓ และวัดแถบนี้ก็หายากหาตำราหยิบยืมกันยาก ถึงจะมีบ้างก็เล็กน้อยสักวัดละผูกสองผูกก็จะไม่พอแก่สติปัญญาของออสามเณรโต จะเป็นทางกระดักกระเดิด ครั้นกูจะปิดบังเณรเพื่อหน่วงเหนี่ยวชักนำไปทางอื่นก็จะเป็นโทษมากถึงอเวจี ควรกูจะต้องชี้ช่องนำมรรคาจึงจะชอบด้วย พระพุทธศาสนาตามแบบพระอรหันตาขีณาสพแต่ก่อนๆ ท่านได้กุลบุตรที่ดีมีสติปัญญาวิสาระทะแกล้วกล้าสามารถจะทำกิจพระศาสนาได้ตลอด ท่านก็มิได้ทิ้งทอดหวงห้ามกักขังไว้ ท่านย่อมส่งกุลบุตรนั้นๆ ไปสู่สำนักพระมหาเถระเจ้าซึ่งเชี่ยวชาญต่อๆ ไปเป็นลำดับจนตลอดกุลบุตรนั้นๆ ลุล่วงสำเร็จกิจตามประสงค์ทุกๆ พระองค์มา ก็กาลนี้สามเณรโตเธอมีปรีชาว่องไวมีอุปนิสัยยินดีต่อบวรพุทธศาสนามากอยู่ ไม่ควรตัวกูเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์จะทานทัดขัดไว้ ฯ
· ครั้นท่านดำริเห็นแจ่มแจ้งน้ำใจที่ถูกต้องตามคลองพระพุทธศาสนานิกมณฑลฉะนี้แล้ว ท่านจึงมีเถระบัญชาแก่สามเณรโตดังนี้ ฯ
· เออแน่ะ สามเณรโต ตัวกูนี้มีคัมภีร์มูล กูชอบและกูสอนกุลบุตรได้ตลอดทุกคัมภีร์ แต่กูก็มีแต่คัมภีร์มูลครบครัน เหตุว่ากูรักกูนิยม กูรวบรวมรักษาไว้ ถึงว่าจะขาดเรี่ยเสียหายกระจัดกระจายไป ก็จัดงานซ่อมแซมขึ้นไว้จึงเป็นแบบแผนพร้อมเพรียงอยู่ เพราะกูมีนิสัยรู้แต่เรื่องมูลและไวยากรณ์เท่านั้น แต่คัมภีร์ปริยัติธรรมนั้นเป็นของสุดวิสัยกู กูจึงไม่ได้สะสมตำรับตำราไม่มีคัมภีร์ฎีกาอะไรไว้เลย ในตู้หอไตรเล่าก็มีแต่หอและตู้อยู่เปล่าๆ ถ้าหากว่ากูจะเที่ยวยืมมาแต่อารามอื่นๆ มาบอกมาสอนเธอได้บ้าง แต่กูไม่ใคร่จะไว้ใจตัวกูก็คงบอกได้แต่ก็คงไม่ได้ เพราะกูไม่สู้ชำนาญในคัมภีร์พระปริยัตินัก จะกักเธอไว้ ก็จะพาเธอโง่งมงายไปด้วย เพราะครูโง่ลูกศิษย์ก็ต้องโง่ตาม กูเองก็เป็นเพราะเหตุนี้จึงได้ยอมโง่ แต่ครั้นมาถึงเธอเข้า จะทำให้เธอโง่ตามนั้นไม่ควรแก่กู และว่าถ้าเธอมีศรัทธาอุสาหะใคร่แท้ในทางเรียนคัมภีร์พระปริยัติศาสนาแน่นอนแล้ว กูจะบอกหนทางให้ กูจะแนะนำไปถึงท่านพระครูวัดเมืองไชยนาท ท่านพระครูเจ้าคณะพระองค์นี้ดีมาก ทั้งท่านก็คงแก่เรียน ทั้งเป็นผู้เอาใจใส่หมั่นตรวจตราสอบสวนศัพท์แสงถ้อยคำบทบาทพระศาสนาเสมอ ทั้งบอกพระบอกเณรเสมอ จึงเรียกว่ามีความรู้กว้างขวางทางคัมภีร์พระพุทธศาสนา อรรถกถาฎีกาก็มีมาก ทั้งท่านเอาใจใส่ตรวจตรารวบรวมหนังสือไว้มาก ถึงนักปราชญ์ในกรุง ท่านก็ไม่หวั่นหวาดสยดสยอง
· ถ้าเธอมีความอุตส่าห์จริงๆ เธอก็พยายามหาหนทางไปเรียนกับท่านให้ได้จะรู้ธรรมดีทีเดียว ฯ
· ฝ่ายสามเณรโต ได้สดับคำแนะนำของท่านพระครูผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ดังนั้นเธอยิ่งมีกระสันเกิดกระหายใจใคร่เรียนรู้ จึงกราบลาท่านพระครู เลยเข้าไปบ้ายอ้อนวอนมารดาและคุณตาโดยเอนกประการ เพื่อจะให้นำไปถวายฝากมอบกับท่านพระครูจังหวัด วัดเมืองไชยนาทบุรี ฯ
· ฝ่ายคุณตาผล นางงุดโยมผู้หญิง ฟังสามเณรโตมาออดแอดอ้อนวอนก็คิดสงสารไม่อาจขัดขวางห้ามปรามได้ จึงได้รับคำสามเณรว่าจะนำจะพาไปฝากให้ ขอรอให้จัดเรือจัดคนจัดเสบียงอาหารสัก ๒ วัน จะพาไป สามเณรโตได้ฟังก็ดีใจกลับมาสู่อารามเดิม
· ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเย็นๆ นางงุด ตาผล จึงออกไปกราบเรียนบอกความประสงค์ของสามเณรโตแก่ท่านพระครูวัดใหญ่ทุกประการ แล้วขอลาพาเณรไปส่งตามใจในวันรุ่งเช้าพรุ่งนี้ ท่านพระครูก็ยินดีอนุญาตตามประสงค์ทั้ง ๒ ผู้ใหญ่นั้นก็ลากลับมาบ้านจัดเรือจัดคนจัดเสบียงอาหารไว้พร้อมเสร็จบริบูรณ์ ครั้นได้เวลารุ่งเช้าสามเณรโตเข้าไปฉันที่บ้าน ครั้นฉันเช้าแล้วก็ออกเรือแจวออกไปทางแม่น้ำไชยนาทบุรี ฯ
· ครั้นคนแจว แจวเรือเป็ดมาสุดระยะทาง ๒ คืนก็ถึงท่าเรือวัดเมืองไชยนาทบุรี จึงได้จอดเรือเข้าที่ท่าในเวลากลางคืน คนแจวเรือจอดเรือเรียบร้อยแล้ว จึงอาบน้ำดำเกล้าแล้วพักผ่อนในเรือทั้ง ๓ คน ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:23:50
ครั้นเวลารุ่งเช้าสว่างแล้ว เจ้าจรเข้ใหญ่ในน่านน้ำหน้าท่านั้น ก็ขึ้นเสือกตัวมาตรงหัวเรือเป็ดของตาผลนั้น คนบนเรือริมตลิ่ง ๓ คน แม่ลูกและหญิงผู้ใหญ่ลงอาบน้ำหน้าบันไดบ้านแต่เช้า ครั้นเห็นจรเข้ขึ้นจะคาบคนนอนหลับที่หัวเรือใหญ่ จึงพากันตกใจกลัว แล้วร้องบอกกล่าวกันโวยวายขึ้น คนแจวที่ ๒ นอนถัดเข้ามา ได้ยินเสียงคนบนบ้านเรือนนั้นร้องเอะอะโวยวายจึงตกใจตื่นขึ้น เห็นจรเข้ขึ้นตรงหัวเรือ ลุกขึ้นโยงโย่จับบั้นเอวคนนอนหลับหัวเรือ เพื่อจะให้พ้นจากปากจรเข้ ส่วนคนแจวเรือคนที่ ๓ ก็ตื่นขึ้นนั่งไขว่ห้างหัวเราะคนบนบ้านที่กำลังหนีจรเข้ขึ้นบันไดผ้าผ่อนหลุดลุ่ยล่อนจ้อน ลูกเด็กหญิงเหนี่ยวขาแม่นางแม่เหนี่ยวขายาย ยายผ้าลุ่ยหมดก้าวขาต่อไปก็ก้าวไม่ออก ตาผลอยู่ในเรือก็โผล่ออกมายืนดูอยู่หน้าอุดเรือเฉย จะว่าอย่างไรก็ไม่ว่าดูชอบกล ฯ
· ฝ่ายสามเณรโตก็ลุกขึ้นนั่งภาวนาอยู่ในประทุนเรือ จรเข้ขึ้นมาแล้วก็อ้าปากไม่ออกจมก็ไม่ลง และไม่ว่ายไม่ฟาดหางทั้งนั้น ดูอาการอ่อนมาก คนบนบ้านก็งง คนในเรือก็งันอยู่ท่าเดียว ฯ
· ครั้นเวลาเช้า โยมของสามเณรโต ก็จัดแจงหุงต้มอาหารอยู่ตอนท้ายเรือเป็ดนั้น ครั้นได้เวลาก็จัดแจงเลี้ยงดูกัน ถวายอาหารให้เณรขบฉันเสร็จแล้วพอถึงเวลา ๓ โมงเช้าก็พาเณรขึ้นจากเรือ เณรเดินหน้า ตาผลตามเณร นางงุดโยมผู้หญิงพากันเดินตามเป็นแถว ขึ้นกุฏิท่านพระครู ครั้นถึงท่านพระครูแล้วต่างคนต่างปูผ้าลงกราบกันเป็นแถว เณรก็ยืนวันทา แล้วลงกราบท่านพระครูแล้วนั่ง ฯ
· ฝ่ายท่านพระครูวัดเมืองไชยนาทบุรี จึงมีปฏิสันฐานปราศรัยไต่ถามถึงเหตุการณ์ที่มา ถามถึงบ้านช่องและถามความประสงค์ ฯ
· ฝ่ายตาผลจึงกราบเรียนท่านว่า เณรหลานชายของเกล้ากระผมบวชอยู่ในสำนักท่านพระครูใหญ่ เจ้าคณะวัดใหญ่ในเมืองพิจิตร ได้ร่ำเรียนบาลีไวยากรณ์ทั้ง ๕ คัมภีร์จบแล้ว เณรใคร่จะเรียนคัมภีร์ใหญ่ต่อไป จึงขอเรียนที่ท่านพระครูวัดใหญ่ แต่ท่านไม่เต็มใจสอนเณรและท่านพระครูวัดใหญ่ได้แนะนำเณรให้ได้มาสู่สำนักพระเดชพระคุณเพื่อเล่าเรียนคัมภีร์ใหญ่กับพระเดชพระคุณแล้ว จะมีความรู้ดีกว่าเรียนกับท่านๆ แนะนำมาดังนี้ เณรดีใจเต็มใจใคร่เรียนในสำนักของพระเดชพระคุณ เณรจึงมารบเร้าเกล้ากระผมและมารดาเณร ขอร้องให้เกล้ากระผมเป็นผู้นำพามาสู่สำนักพระเดชพระคุณ ในวันนี้เกล้ากระผมพร้อมด้วยมารดาเณร ขอถวายเณรให้เป็นศิษย์เรียนพระคัมภีร์กับพระเดชพระคุณต่อไป ฯ
· ครั้นกล่าวสุดถ้อยคำแล้ว จึงบอกให้เณรถวายดอกไม้ธูปเทียนต่อท่านพระครู ฝ่ายท่านพระครูผู้รู้พระปริยัติธรรมวัดเมืองไชยนาทบุรี จึงรับเครื่องสักการะแล้ว พิจารณาดูเณรก็รรู้ด้วยการพินิจพิจารณาว่า สามเณรนี้มีวาสนาบารมีธรรมประจำอยู่สรรพอวัยวะก็สมบูรณ์โตพร้อมไม่บกพร่องต้องตามลักษณะ ท่านก็ออกวาจาว่า รูปจะช่วยแนะนำเสี้ยมสอนให้มีความรู้ในคัมภีร์ต่างๆ ตามวัยและภูมิของสามเณรดังที่โยมทั้ง ๒ ได้อุตส่าห์มาทางไกล ไม่เป็นไรรูปจะช่วยให้สมดังประสงค์ทุกประการ ฯ
· ตาผลและนางงุดก็ดีใจ กราบไหว้แล้วมอบหมายฝากฝังทุกสิ่งอัน แล้วถวายกับปิยะจรรหรรมัจฉะมังสาหารทั้งปวงแล้ว พระสมุห์ของท่านก็เรียกคนมายกถ่ายทันที แล้วจัดห้องหับให้พักอาศัยสำราญ ตาผลและนางงุดก็ยกบริขารของสามเณรเข้าบรรจุจัดปูอาศน์เรียบเรียงตั้งไว้ตามตำแหน่งที่ แล้วออกมากราบลาท่านพระครูลงไปพักในเรือค้างคืนคอยปรนนิบัติสามเณรดูลาดเลา การอยู่การขบฉันบิณฑบาตรยาตรา เห็นว่าสะดวกดีไม่คับแค้นเดือดร้อน พอเป็นที่ไว้วางใจได้แล้วจึงขึ้นนมัสการลาท่านพระครู กลับมายังบ้าน ณ แขวงเมืองพิจิตร ฯ
· ตั้งแต่สามเณรโตได้เข้าสู่สำนักท่านพระครูวัดเมืองไชยนาทบุรีแล้ว เป็นปรกติก็หมั่นทำกรณียกิจตามหน้าที่และอนุโลมตามข้อกติกาไม่ฝ่าฝืน ชะอ้อนอ่อนน้อมต่อพระลูกวัดมิให้ขัดอัชฌาสัย เพื่อนศิษย์เพื่อนเณรเหล่านั้นก็ปราณีปรานอมกันพร้อมหน้าไม่ไว้ท่า ไม่ถือตัว ไม่หัวสูง อดเอาเบาสู้ ระงับไม่หาเหตุแข่งดีกว่าเพื่อนไม่ส่อเสียดสอพลอพร่อย เรียบร้อยหยิบเสงี่ยมเจียมตัวหมั่นเอาใจใส่รับใช้รับปฏิบัติท่านพระครู ระแวดระวังหน้าหลัง ท่านมีกิจธุระจะไปไหน ก็จัดการสิ่งของที่จะต้องเอาไป ไม่เกี่ยงงอนเพื่อนศิษย์เวลาท่านจะกลับ ก็รับรองเก็บงำสม่ำเสมอตลอดมา ครั้นถึงเวลาเรียนก็เข้าเรียน ถึงคราวฟังก็ฟัง ตั้งสติสัมปชัญญะ สำเหนียกสำเนาเสมอ เรียนแล้วจดจำตกแต้มกำหนดกฏหมาย กลางคืนก็เข้ารับโอวาทปริยายของท่านพระครู สิ่งใดที่ไม่รู้ก็ถาม รู้เท่าไม่ถึงความก็ซัก ที่ตรงไหนขัดข้องไม่ต้องกันก็หารือ ตามบาฬีที่มีมาในพระคัมภีร์นั้นๆ ถ้าบทไหนบาฐไหนเป็นนิรุติ ไม่ชอบด้วยเหตุผลไม่เข้ากัน เธอก็ยังไม่ลงมติไม่ถือเอาความคิดเห็นความรู้ของตนเองป็นประมาณ ตั้งใจวิจารณ์จนเห็นถ่องแท้แน่นอนตามพระบาฬี ในธรรมบททีปะนีทศะชาติ (๑0 ชาติ) สาราตถ์ สามนต์ ฎีกาโยชนาคันฐี ในคัมภีร์พระไตรปิฎกธรรมนั้น ทุกวันทุกเวลาเรียน แปลเป็นภาษาลาวบ้าง แปลเป็นภาษาเขมรบ้าง แปลเป็นภาษาพม่าบ้างตามเวลา ครั้งล่วงมาได้ ๓ ปี เรียนจบถึงแปดบั้นบาฬี สามเณรโตไม่มีอุปสรรคกีดกั้น ไม่มีอาการเจ็บป่วยไข้ สดวกดีทุกเวลาทั้งไม่เบื่อไม่หน่าย นิยมอยู่แต่ที่จะหาความจริงซึ่งยังบกพร่องภูมิปัญญาอยู่ร่ำไป
· ครั้งถึงเดือน ๑๒ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ สามเณรโตมีความกระหายใคร่จะล่องลงมาร่ำเรียนในสำนักราชบัณฑิตย์นักปราชญ์หลวงบ้าง ใคร่จะเข้าสู่สำนักพระเถระเจ้าผู้สูงศักดิ์อรรคฐานในกรุงเทพพระมหานครโดยความเต็มใจ ฯ
· ครั้นสามเณรโต อายุได้ ๑๘ ปีย่าง ปลงใจแน่วแน่แล้วในการที่จะละถิ่นฐานญาติโยมได้ จะทนทานในการอนาถาในกรุงเทพ ฯ ได้แน่ใจแล้ว จึงได้กราบกรานท่านพระครูจังหวัดบรรยายแถลงยกย่องพิทยาคุณและความรู้ของท่านพระครูเมืองไชยนาทบุรี พอเป็นที่ปลื้มปราโมทย์ปราศจากความลบหลู่ดูหมิ่น ด้วยระเบียบถ้อยคำอันดีพอสมควรแล้ว ขอลาว่าเกล้ากระผมขอถวายนมัสการลาฝ่าท้าวเพื่อจะลงไปสู่สำนักราชบัณฑิตย์ ผู้สูงศักดิ์อรรคฐานให้เป็นการเชิดชูเกียรติคุณของฝ่าท้าวให้แพร่หลายในกรุงเทพฯ ขอบารมีฝ่าท้าวจงกรุณาส่งเกล้ากระผมให้ถึงญาติโยม ณ แขวงเมืองพิจิตรด้วย ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:24:45
ฝ่ายท่านพระครูเจ้าคณะเมืองไชยนาทบุรีได้ฟัง ซึ่งมีความพอใจอยู่แล้วในการที่จะแสวงหาศิษย์ที่ดีมีสาระทะแกล้วกล้าองค์อาจ ฉลาดเฉลียวรอบรู้คัมภีร์ คิดจะส่งศิษย์อย่างดีเข้ากรุงเทพฯ เพื่อช่วยเผยแพร่ให้ความรู้และความดีของท่านนั้นโด่งดังปรากฏแพร่หลายไปในกรุงเทพฯ บ้าง แทนคำประกาศโฆษณา ก็พอดีที่สามเณรโตขอลากลับไปบ้านเพื่อให้ญาติจัดการส่งเข้ากรุงเทพฯ อนึ่งสามเณรองค์นี้ก็เป็นคนดี มีความรู้ กอปร์ด้วยคติสติปัญญา ความเพียรก็กล้าไม่งอนง้อท้อถอยเลย หัวใจก็จดจ่ออยู่แต่การเล่าเรียนหาความรู้ดูฟังตั้งใจจริง ไม่เป็นคนโง่งมซมเซา พอจะเข้าเทียบเทียมเมธีที่กรุงเทพพระมหานครได้ ท่านพระครูเห็นสมควรจะอนุญาติได้ ท่านจึงกล่าวเถระวาทสุนทรกถาเป็นการปรุงปลูกผูกอาลุยแก่สามเณรพอสมควรแล้ว ท่านก็ออกวาจาอนุญาติว่า “ดีแล้วนิมนต์เถอะจ๊ะ” เราขอรอผลัดจัดการส่งสัก ๓ วัน เพื่อเตรียมตัวเตรียมการส่งให้เป็นที่เรียบร้อยตามระเบียบแบบธรรมเนียมการ สามเณรก็กราบถวายนมัสการลามายังกุฏิที่อยู่แล้วก็จัดการตระเตรียมเก็บสรรพสิ่งเครื่องอุปโภคต่างๆ ที่ควรจะนำไปใช้สรอยข้างหน้าจัดบรรจุลงหีบลั่นกุญแจผูกรัดมัดหนังสือคัมภีร์ต่างๆ ส่งคืนเข้าที่ตามเดิม คัมภีร์ที่ยังเรียนค้างอยู่ ก็ทำใบยืมๆ ไปเรียนต่อ สิ่งของที่เหลือบริโภค อุปโภคแล้ว ก็แบ่งปันถวายเพื่อนสามเณรที่อยู่ที่เคยเป็นเพื่อนกันไว้ใช้สรอยพอเป็นทางผูกอาลัยทำไมตรี ฯ
· ครั้นเวลารุ่งเช้า สามเณรโตก็ออกพายเรือสามปั้นบิณฑบาตรไปถึงบ้านที่สุดเหนือน้ำและใต้น้ำ สามเณรก็บอกกล่าวร่ำลาแก่ญาติโยมอุปฐากและที่ปวารณา และผู้ที่มีวิสาสะทั่วน้ากันทั้งสองฝั่ง ที่อยู่บ้านดอนขึ้นไปก็บอกลาฝากขึ้นไปทั่วกัน ฯ
· ฝ่ายเจ้าพวกเด็กๆ ลูกศิษย์วัดทั้งปวงรู้ว่าหลวงพี่เณรของเขาจะลงไปอยู่บางกอก พวกเด็กทั้งหลายก็พากันเสียดายใจเขาหาย เขาทำได้แต่หน้าแห้ง ทำตาแดงๆ เหตุเขามีความคุ้นเคยรักใคร่อาลัยหลวงพี่สามเณรโต เขาเคยกินอยู่สำราญด้วยอาหารเกิดทวีขึ้น เพราะอำนาจบารมีศีลธรรมของสามเณรโต จนเข้าของแปลกประหลาดเหลือเฟือเอื้อเอาใจเขามาช้านานประมาณ ๓ ปีล่วงมา ฯ
· ฝ่ายแม่รุ่นสาวๆ คราวกันกับพ่อเณร ซึ่งมีใจโอนเอนไปข้างฝ่ายรักก็ทำอึกอักผะอืดผะอมกระอักกระอ่วนรัญจวนใจ ด้วยพ่อเณรเธอจะไปอยู่ไกลถึงบางน้ำบางกอกต่างก็อั้นอันจนใจไม่อาจออกวาจาห้ามปรามเพราะความอาย รักก็รักเสียดายก็เสียดาย ทั้งความยึดถือมุ่งหมายก็ยังมีอยู่มั่นคงในใจ ทั้งเกรงผู้หลักผู้ใหญ่จะล่วงรู้ดูแคลน แสนกระดากทำกระเดื่องชำเรืองชมโฉมพ่อเณรโต แอบโผล่หน้าต่างตามมองแลรอดสอดตามช่องรั้วหัวบ้านแลจนลับนัยน์ตา เสียวซ่านถึงโสกาเช็ดน้ำตาอยู่ก็มี ฯ
· ฝ่ายพวกเด็กๆ พอกลับถึงวัด เขาก็ตะโกนบอกเพื่อนกันว่า ต่อแต่วันนี้พวกเราจะอดกันละโว้ยๆ ฯ
· ครั้นพระเณรฉันเช้าแล้ว ท่านพระครูเจ้าคณะจังหวัดจึงเรียกพระปลัด พระสมุห์มาสั่งการว่า แน่ะพระปลัดจ๋าพรุ่งนี้เธอต้องสั่งเลขวัด ให้เขาจัดเรือเก๋ง ๔ แจวคนแจวประจำพร้อมและจัดเสบียงทางไกลให้พร้อมมูลด้วย ให้พอเลี้ยงกันทั้งเวลาไปและมาด้วย ส่วนเธอและพระสมุห์ช่วยพาสามเณรโตเข้าไปส่งให้ถึงญาติโยมเณร ณ เมืองพิจิตร ในวันรุ่งพรุ่งนี้แทนตัวดิฉันด้วย พรุ่งนี้มารับจดหมายส่งของฉันก่อน ฯ
· ฝ่ายพระปลัด ๑ พระสมุห์ ๑ รับเถระบัญชาแล้วออกมาเรียกร้องกะเกณฑ์เลขวัดสั่งให้จัดเรือจัดเสบียงให้พร้อมทั้งเครื่องต้ม เครื่องแกง หม้อน้อยหม้อใหญ่ กระทะ หม้ออวย จวัก จรว ครกใหญ่ ครกเล็ก ไม้ตีพริก กระชอน แผงลวดนึ่ง เกลือ กะปิ น้ำปลา ข้าวเหนียว น้ำตาล มะขามเปียก พริกสด พริกแห้ง หอม กระเทียม ขิง ข่า กระทือ พริกไทให้พร้อมไว้ เวลาเที่ยงแล้วมาจอดไว้ที่ท่าวัดนี้ตามที่ท่านพระครูสั่ง ฯ
· ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๓ พระปลัดฉันเช้าแล้วเข้าหาท่านพระครู รับจดหมายแล้วกราบลาออกมา แล้วนัดหมายพระสมุห์และนัดสามเณรโตว่าเที่ยงแล้วลงเรือพร้อมกัน ครั้นเวลาเพลฉันเพลแล้ว ขอแรงศิษย์วัดและเพื่อนเณร ๒-๓ คน ช่วยขนบริขารหีบ ตระกร้า กระเช้า กระบุงที่บรรจุของของสามเณรโตลงท่าวัดพร้อมกัน สามเณรโตก็เข้าสักการวันทา ลาท่านพระครูด้วยความเคารพ ฯ
· ส่วนท่านพระครูก็ประสิทธิ์ประสาทพรให้วัฒนาถาวรภิญโญภาวะยิ่ง ให้สัมฤทธิ์สมความมุ่งหมาย จงทุกสิ่งทุกประการเทอญ ฯ
· ครั้นเวลาเที่ยงทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระปลัด พระสมุห์ และสามเณรโต พร้อมด้วยคนแจวก็ลงเรือ ได้เวลาบ่ายโมงก็ออกเรือทางแม่น้ำ บ่ายหัวเรือไปเมืองพิจิตรในวันนั้น ฯ
· ครั้นแจวมา ๒ คืนก็ถึงท่าหน้าบ้านสามเณรโต ฝ่ายตาผล ยายลา นางงุด เห็นเรือเป็ดเก๋งมาจอดท่าหน้าบ้าน ต่างก็ออกมาดู รู้ว่าท่านปลัด ท่านสมุห์และสามเณรโตมาก็ดีใจลงไปถึงในเรือต้อนรับแล้วนิมนต์ขึ้นเรือน แล้วขึ้นมาปูลาดอาศน์ ตักน้ำเย็น ต้มน้ำร้อน จัดเภสัชเพลายาสูบใส่พานแล้ว ครั้นพระปลัด พระสมุห์ สามเณรขึ้นมาอาราธนาที่หอนั่งประเคนหมาก น้ำ ยาสูบ แล้วก็กราบ ฯ
· ครั้นพระปลัดเห็นเจ้าบ้านนั่งปรกติเรียบราบแล้วจึงปฏิสันฐาน และนำจดหมายของท่านพระครูเมืองไชยนาทบุรี ส่งให้ตาผล ๆ รับมาอ่านได้ทราบความตลอดแล้วด้วยความพอใจ เมื่อสนทนาเสร็จจึงพาพระปลัด พระสมุห์และสามเณรออกไปยังวัดใหญ่ เข้าหาท่านพระครูใหญ่แล้วถวายลายลิขิตของท่านพระครูวัดเมืองไชยนาทบุรี ออกให้ท่านพระครูใหญ่วัดเมืองพิจิตรทราบ ฯ
· ครั้นท่านพระครูอ่านดูรู้ข้อความตลอดแล้ว ก็เห็นดี เห็นชอบด้วย ตกลงก็เห็นดีเห็นงามด้วยกันทั้งครูอาจารย์ และคณะญาติโยมพร้อมใจกันหมด ครั้นได้เวลาพระปลัด พระสมุห์ ตาผล และนางงุดก็ลาท่านพระครูใหญ่กลับมาบ้าน แล้วก็จัดแจงอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงเณร และคนแจวเรือจนอิ่มหนำสำราญแล้วทั้ง ๓ เวลา ส่วนพระปลัดและพระสมุห์ เมือได้ทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายมาเสร็จและสมควรแก่เวลา ก็ลาเจ้าบ้านๆ ก็จัดการส่งพระปลัดและพระสมุห์ให้กลับไปยังวัดเมืองไชยนาทบุรี ฯ
· ส่วนทางบ้านเมื่อได้กำหนด นางงุดก็จัดเรือจัดคนจักลำเลียงเสบียงอาหาร จัดของแจกของให้ ของฝากชาวกรุงเทพฯ ทั้งของถวาย ของกำนัลท่านผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ลงบรรทุกในเรือเรียบร้อยเสร็จแล้ว ก็เกณฑ์ตาผลให้เป็นผู้นำพร้อมด้วยคนแจวส่งสามเณรไปกรุงเทพฯ แต่ต้องให้แวะนมัสการบูชาพระพุทธชิณราชในวันกลางเดือน ๑๒ นี้ก่อน และพ่อต้องอ้อนวอนขอหลวงพ่อชิณราชให้ช่วยคุ้มกันกำกับรักษาส่งพ่อเณรอย่าให้มีเหตุการณ์ และอย่าให้ป่วยไข้ได้เจ็บอย่าให้มีภัยอันตราย ตั้งแต่วันนี้จนตราบเท่าจนเฒ่าจนแก่ และขอให้เณรร่ำเรียนลุสำเร็จทุกสิ่งทุกประการ กับขอบารมีหลวงพ่อชิณราชช่วยป้องกันศัตรูหมู่อันธพาล อย่าผจญและอย่าเบียดเบียฬพ่อเณรได้ ขอพ่อจงแวะไหว้บูชาอ้อนวอนว่าตามคำข้าสั่งนี้อย่าหลงลืมเลย ฯ
· ฝ่ายตาผลรับคำลูกสาวแล้ว ก็ลงเรือออกเรือจากท่าหน้าบ้าน และให้แจวออกทางแม่น้ำพิษณุโลก ล่องมาหลายเพลาก็มาถึงวัดพระชิณราชในวันขึ้น ๑๔ เดือน ๑๒ ปีฉลู เบญจศกจุลศักราช ๑๑๕๕ ปีนั้น


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:25:46
ครั้น ณ วันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ศกนั้น ตาผลนิมนต์สามเณรโตขึ้นไปโบสถ์ พระชิณราช เดินปทักษิณรอบแล้วเข้านมัสการทำสักการะบูชา สามเณรยืนขึ้นวันทาแล้วตั้งสักการะ โดยสักกัจจะเคารพแก่พระพุทธชิณราช ตาผลจึงพร่ำรำพรรณาถวายเณรแก่พระชิณราชและวิงวอนขอฝาก ขอความคุ้มครองป้องกัน ขอให้พระพุทธชิรราชบันดาลดลส่งเสริมแก่สามเณรตามคำนางงุดโยมของเณรสั่งมาทุกประการ ฯ
· ครั้นทำการเคารพสักการะบูชาแกพระพุทธชิณราชเสร็จแล้ว ก็กราบลาพาสามเณรโตมาลงเรือแจวล่องลงมา ๒ คืนก็ถึงหน้าท่าวัดบางลำภูบนกรุงเทพฯ ตอนเวลาเช้า ๒ โมงวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพพระมหานคร ฯ
· ตาผลชาวเมืองกำแพงเพชร ซึ่งถอยลงมาตั้งถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่เหนือเมืองพิจิตรได้นำสามเณรโตผู้หลานอันเป็นลูกของนางงุดลูกสาว สามเณรโตนั้นมีอายุย่างเข้า ๑๘ ปี ตาผลผู้เป็นตา จึงได้นำพาสามเณรโตขึ้นไปมอบถวายพระอาจารย์แก้ววัดบางลำภูบน พระนคร ตาผลได้เล่าถึงการเรียนของสามเณรโตจนกระทั่งถึงท่านพระครู จังหวัดวัดเมืองเหนือทั้ง ๒ อาราม มีความเห็นชอบพร้อมกันที่จะให้ลงมากรุงเทพฯ เกล้ากระผมจึงได้นำสามเณรโตมาสู่ยังสำนักของหลวงพ่อ เพื่อหลวงพ่อจะได้ทำนุบำรุงชี้ช่องนำทาง ให้สามเณรดำเนินหาคุณงามความดีมีความรู้ยิ่งในพระมหานครสืบไป ฯ
· ฝ่ายพระอาจารย์แก้วทราบพฤติการณ์ ตามที่ตาผลเล่า ก็เกิดความเชื่อและเลื่อมใสในสามเณรโต และมีความเห็นพ้องด้วยกับท่านพระครูทั้ง ๒ จังหวัด สมจริงดังที่พยากรณ์ไว้แต่ยังนอนเบาะและได้รับเป็นลูกไว้ จึงนึกขึ้นได้ถึงเงินที่ได้ลั่นวาจาว่าจะจ้างแม่มันเลี้ยงปีละ ๑00 บาท ส่งมอบให้ตาผลเพื่อฝากไปใช้ให้นางงุดเป็นค่าน้ำนม ข้าวป้อน ๓ ปีเงิน ๓00 บาท ฯ
· ตาผลน้อมคำนับรับเอาเงิน ๓00 บาทมากำไว้สักครู่ เมื่อจวนจะลากลับจึงพร่ำพรรณนามมอบฝากเณรโดยเอนกประการแล้วถวายเงิน ๓00 บาทนั้นคืนหลวงพ่อแก้ว แล้วถวายอีก ๑00 บาทเป็นค่าบำรุงเณรสืบไป แล้วก็ลาท่านพระอาจารย์แก้วไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ณ บางขุนพรหมต่อไป ฯ
· ฝ่ายพระอาจารย์แก้ว จึงจัดห้องหับให้สามเณรอยู่บนหมู่บนคณะวัดบางลำภูบน วันนั้นมา เวลาเช้าก็ลุกขึ้นบิณฑบาต และสำรับกับข้าวของฉันในคณะอาจารย์แก้วนั้นอุดมล้นเหลือไม่บกพร่อง ทั้งบารมีศีลและธรรมที่สามเณรโตประพฤติดี ก็บันดาลให้มีผู้ขึ้นถวายเช้าและเพลและที่ปวารณาก็กลายเป็นโภชนะสับบายของโยคะบุคคล ทุกเวลา ฯ
· ฝ่ายพระอาจารย์แก้วเมื่อเห็นเวลาฤกษ์ดีแล้ว จึงได้นำพาสามเณรโตไปฝากพระโหราธิบดี,พระวิเชียร กรมราชบัณฑิตให้ช่วยแนะนำสั่งสอนสามเณรให้มีความรู้ดีในคัมภีร์พระปริยัติธรรมทั้ง ๓ ปิฎก พระโหราธิบดี,พระวิเชียรก็รับและสอนตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฯ
· พระโหราธิบดี พระวิเชียร อยู่บ้านหลังวัดบางลำภูบนเสมียนตราด้วงบ้านบางขุนพรหม ท่านขุนพรหมเสนา บ้านบางขุนพรหม ปลัดกรมนุท บ้านบางลำภูบน เสมียนบุญ และพระกระแสร ทั้ง ๗ ท่านนี้เป็นคนมั่งคั่งหลักฐานดีทั้งมีศรัทธาความเชื่อมั่นในบวรพุทธศาสนาเมื่อได้เห็นจรรยาอาการของสามเณรโต และความประพฤติดี หมั่นเรียนเพียรมาก ปากคอลิ้นคางคล่องแคล่วไม่ขัดเขิน เคร่งครัดดี รูปร่างก็ผึ่งผายองอาจ ดูอาการมิได้น้อมไปในกามคุณ มรรยาทเณรก็ละมุนละม่อม เมื่อร่ำเรียนธรรมะในคัมภีร์ไหนก็เอาใจใส่ไต่ถามให้รู้ลักษณะ จะเดินประโยคอะไร ก็ถูกต้องตามในของรูปประโยคแบบอย่าง ถูกใจอาจารย์มากกว่าผิด ท่านทั้ง ๗ คนดั่งออกนามมานี้พร้อมกันเข้าเป็นโยมอุปัฏฐากช่วยกันอุปถัมภ์บำรุง หมั่นไปมาหาสู่ที่วัดบางลำภูเสมอ และสัปปรุษอื่นๆ ต่างก็เลื่อมใสใส่บาตร์อย่างบริบูรณ์ บางคนก็นิมนต์แสดงธรรมเทศนา ถึงฤดูหน้าเทศน์มหาชาติตามวัดแถวนั้น คนก็ชอบนิมนต์สามเณรโตเทศน์ หิมพานบ้าง เทศน์ทานกัณฑ์บ้าง เทศน์วันประเวศน์บ้าง เทศน์ชูชกบ้าง เทศน์จุลพนบ้าง เทศน์มหาพนบ้าง เทศน์กุมารบรรพบ้าง เทศน์มัทรีบ้าง เทศน์สักกะบรรพบ้าง เทศน์มหาราชบ้าง เทศน์ฉกษัตริย์บ้าง เทศน์นครกัณฑ์บ้าง ตกลงเทศน์ได้ถูกต้องทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ทำเสียงเล็กแหลมก็ได้ ทำเสียงหวานแจ่มใสก็ได้ ทำเสียงโฮกฮากก็ได้ กลเม็ดมหาพนและแหล่สระแหล่ราชสีห์ ว่ากลเม็ดแพรวพราวที่หยุดที่ไป ที่หายใจขึ้นลงเข้าออกสนิททุกอย่างทุกกัณฑ์ กระแสเสียงเสนาะน่าฟังทุกกัณฑ์ ทำนองเป็นหมดไม่ว่ากัณฑ์อะไรเทศน์ได้ทุกกัณฑ์ จังหวะก็ดีเสมอ แต่สามเณรโตมิได้มัวเมาหลงใหลในการรวยเรื่องเทศนามหาชาติ และมิได้มัวเมาหลงใหลด้วยอุปัฏฐากมาก เอาใจใส่แต่การเรียนการปฏิบัติทางเพลิดเพลินเจริญสมณธรรมเป็นเบื้องหน้า จึงได้เป็นที่รักที่นับถือของท่านโหราธิบดี,พระวิเชียร,เสมียนตราด้วง,ปลัดกรมนุท,ขุนพรหมเสนา,และท่านขรัว ยายโหง,เสมียนบุญ,พระกระแสร,ท่านยายง้วน และใครต่อใครอีกเป็นอันมากจนจดไม่ไหว ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 16 มิถุนายน 2553 11:27:06
ครั้นถึงวันเดือนห้า ปีขาล ฉศกจุลศักราช ๑๑๕๖ เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพพระมหานครฯ พระชนมายุกาลแห่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรย่างขึ้นได้ ๒๘ พระพรรษาโดยจันทรคตินิยม อายุสามเณรโตก็ได้ ๑๘ ปีบริบูรณ์ในเดือน ๕ ศกนั้น ฯ
· จึงท่านพระโหราธิบดี,พระวิเชียร,และเสมียนตราด้วง ได้พิจารณาเห็นกิริยาท่าทาง และจรรยาอาการสติปัญญาอย่างเยี่ยมแปลกกว่าที่เคยได้เห็นมาแต่ก่อน ทั้งมีรัดประคด หนามขนุนคาดด้วย จะทักถามและพยากรณ์เองก็ใช่เหตุ จึงปรึกษาเห็นตกลงพร้อมกันว่าควรจะนำเข้าถวายตัวแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรให้ได้ทรงทอดพระเนตร อนึ่งพระองค์ท่านก็ทรงโปรดพระและเณรที่ร่ำเรียนรู้ในธรรมทั้ง ๒ คือ คัณถธุระและวิปัสสนาธุระ บางทีพ่อเณรมีวาสนาดีก็อาจจะเป็นพระหลวง เณรหลวงก็ได้ ครั้นท่านขุนนางทั้ง ๓ ปฤกษาตกลงเห็นพร้อมใจกันแล้ว จึงแนะนำสามเณรโตให้รู้ตัวว่าจะนำเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอิศรสุนทร ในวันเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำศกนี้เป็นแน่ ฯ
· ฝ่ายสามเณรโตรู้ตัวแล้วจึงเตรียมตัวสุผ้าย้อมผ้า และสุย้อมรัดประคดหนามขนุนของโยมผู้หญิงให้มานั้น ซึ่งโยมผู้หญิงกระซิบสั่งสอนเป็นความลับกำกับมาด้วย ฟอกย้อมรัดประคดสายนั้นจนใหม่เอี่ยมดี
· ครั้นถึงวันกำหนด จึงพระโหราธิบดี,พระวิเชียร และเสมียนตราด้วงได้ออกมาที่วัดบางลำภู เรียนกับท่านอาจารย์แก้วให้รู้ว่าจะพาสามเณรโต, เข้าเฝ้าถวายตัวแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรฯ พระอาจารย์แก้วก็อนุมัติตามใจ แล้วท่านจึงเรียกสามเณรโต มาซ้ำร่ำสอนทางขนบธรรมเนียมเดินนั่ง พูดจากับเจ้าใหญ่นายโตใช้ถ้อยคำอย่างนั้นๆ เมื่อจะทรงถามอะไรมาให้มีสติระวังระไว พูดมากเป็นขี้เมาก็ใช้ไม่ได้ พูดน้อยจนต้องซักต่อก็ใช้ไม่ได้ ไม่พูดก็ใช้ไม่ได้ พูดเข้าตัวก็ใช้ไม่ได้ จงระวังตั้งสติสัมปะชัญญะไว้ในถ้อยคำของตน เมื่อพูดอย่าจ้องหน้าตรงพระพักตร์ เมื่อพูดอย่าเมินเหม่อไปอื่น ตั้งอกตั้งใขฃจเพ็ดทูลให้เหมาะถ้อยเหมาะคำ ให้ชัดถ้อยชัดคำ อย่าหัวเราะ อย่าตกใจ อย่ากลัว อย่ากล้า จงทำหน้าที่ให้ดีอย่ามีความสะทกสะท้าน จงไปห่มผ้าครองจีวรให้เรียบร้อยไปกับพระคุณเดี๋ยวนี้ ฯ
· สามเณรโตน้อมคำนับรับเถโรวาใส่เกล้าแล้ว ไปเข้าห้องครองผ้า คาดรัดประคดเสร็จแล้ว จุดธูปเทียนอาราธนาพระบริกรรมภาวนาประมาณอึกใจหนึ่ง แล้วก็ออกเดินมาหาพระโหราธิบดี พระวิเชียร เสมียนตราด้วง ท่านทั้ง ๓ จึงนมัสการลาพระอาจารย์แก้ว แล้วพาสามเณรโตลงเรือแหวด ๔ แจว คนแจวล่องลงมาจอดที่ท่าตำหนักแพ หน้าพระราชวังเดิม แล้วนำพาเณรขึ้นไปบนท้องพระโรงในพระราชวังเดิม ณ ฝั่งธนบุรีใต้ วัดระฆังนั้น ฯ
· ฝ่ายพนักงานหน้าท้องพระโรง นำความขึ้นกราบทูลว่า พระโหราธิบดี พาสามเณรมาเฝ้า จึงเสด็จออกท้องพระโรง ทรงปราศรัยทักถามพระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วงแล้ว ได้ทรงสดับคำพระโหราธิบดีกราบทูลเสนอคุณสมบัติของสามเณรขึ้นก่อน เพื่อให้ทรงทราบ ฯ
· จึงทอดพระเนตรสามเณรโต ทรงเห็นสามเณรโตเปล่งปลั่งรังษีรัศมีกายออกงามมีราษี เหตุด้วยกำลังอำนาจศีละคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณหากอบรมสมกับผ้ากาสาวะพัตร์ และมีรัดประคดหนามขนุน อย่างของขุนนางนายตำรวจใหญ่,คาดเป็นบริขารมาด้วย ฯ
· สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ พระองค์นั่น ทรงพระเกษมสันต์โสมนัสยิ่งนัก จึงเสด็จตรงเข้าจับมือสามเณรโตแล้ว จูงมาให้นั่งพระเก้าอี้เคียงพระองค์แล้วทรงถามว่าอายุท่ไรฯ ทูลว่า ขอถวายพระพรอายุได้ ๑๘ เต็มในเดือนนี้ฯ ทรงถามว่าเกิดปีอะไรฯ ทูลว่า ขอถวายพระพรเกิดปีวอกอัฐศกฯ รับสั่งถามว่า บ้านเกิดอยู่ที่ไหนฯ ทูลว่าขอถวายพระพรฯ บ้านเดิมอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร์ แล้วย้ายลงมาตั้งบ้านอยู่เหนือเมืองพิจิตร ขอถวายพระพรฯ รับสั่งถามว่า โยมผู้ชายชื่ออะไรฯ ทูลว่าขอถวายพระพรไม่รู้จักฯ รับสั่งถามวง่า โยมผู้หญิงชื่ออะไรฯ ทูลว่าขอถวายพระพร ชื่อแม่งุดฯ รับสั่งถามว่า ทำไมโยมผู้หญิงไม่บอกตัวโยมผู้ชายให้เจ้ากูรู้จักบ้างหรือฯ ทูลว่า โยมผู้หญิงเป็นแต่กระซิบบอกว่า เจ้าต้องรัดประคดนี้เป็นเจ้าคุณแม่ทัพขอถวายพระพร ฯ
· ครั้นได้ทรงฟัง ตระหนักพระหฤทัยแล้ว ทรงพระปราโมทย์เอ็นดูสามเณรยิ่งขึ้น จึงทรงรับสั่งทึกทักว่า แน่ะคุณโหราเณรองค์นี้ ฟ้าจะทึกเอาเป็นพระโหรานำช้างเผือกเข้ามาถวาย จงเป็นเณรของฟ้าต่อไป ฟ้าจะเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงเอง แต่พระโหราต้องเป็นผู้ช่วยเลี้ยงช่วยสอนแทนฟ้า ทั้งพระวิเชียรและเสมียนตราด้วง ช่วยฟ้าบำรุงเณร เณรก็อย่าศึกเลยไม่ต้องอนาทรอะไร ฟ้าขอบใจพระโหรามากทีเดียว แต่พระโหราอย่าทอดธุระทิ้งเณรช่วยเลี้ยง ช่วยสอนต่างหูต่างตาช่วยดูแลให้ดีด้วย และเห็นจะต้องย้ายเณรให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชมี จะได้ใกล้ๆ กับฟ้า ให้อยู่วัดนิพพานารามจะดี (วัดนิพพานาราม คือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์เดี๋ยวรนี้) ฯ
· ครั้นรับสั่งแล้ว จึงทรงพระอักษรเป็นลายพระราชหัตถเลขามอบสามเณรโตแก่สมเด็จพระสังฆราช (มี) แล้วส่งลายพระราชหัตถเลขานั้นมอบพระโหราธิบดีให้นำไปถวาย พระโหราธิบดีน้อมเศียรคำนับรับมาแล้วกราบถวายบังคมลา ทั้งพระวิเชียรและเสมียนตราด้วง สามเณรโตก็ถวายพระพรลา ฯ
· ฝ่ายขุนนางทั้ง ๓ ก็พาสามเณรลงเรือแจวข้ามฟากมาขึ้นท่าวัดมหานิพพานารามตามคำสั่ง พาเณรเดินขึ้นบนตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (มี) ครั้นพบแล้วต่างถวายนมัสการ พระโหราธิบดีก็ทูลถวายลายพระราชหัตถเลขาแก่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ คลี่ลายพระหัตถออกอ่านดูรู้ความในพระกระแสรับสั่งนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้พระครูใบฎีกาไปหาตัวพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน ซึ่งเป็นเจ้าของสามเณรเดิมนั้นขึ้นมาเฝ้า ครั้นพระอาจารย์แก้วมาถึงแล้วจึงรับสั่งให้อ่านพระราชหัตถเลขา พระอาจารย์แก้วอ่านแล้วทราบว่าพระยุพราชนิยมก็มีความชื่นชม อนุญาติถวายเณรให้เป็นเณรอยู่วัดนิพพานารามต่อไปได้รับนิสัยแต่สมเด็จ พระสังฆราชด้วย แต่วันนั้นมา ฯ
· สามเณรโตนั้นก็อุตส่าห์ทำวัดปฏิบัติแก่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และเข้าเรียนคัมภีร์พระปริยัติธรรม จนทราบสัทธิวิธีของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าจนชำนิชำนาญดี และเรียนกับพระอาจารย์เสมวัดนิพพานารามอีกอาจารย์หนึ่งด้วย ฯ
· ครั้นถึงเดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ เป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพพระมหานครฯ จึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงพระคำนวนปีเกิดของสามเณรโต เป็นกำหนดครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ควรอุปสมบทได้แล้ว จึงรับสั่งให้พระโหราธิบดีกับเสมียนตราด้วงมาเฝ้า แล้วทรงรับสั่งโปรดว่า พระโหราฯ ต้องไปบวชสามเณรโตแทนฟ้า ต้องบวชที่วัดตะไกร เมืองพิษณุโลก แล้วทรงมอบกิจการทั้งปวงแก่พระโหราธิบดี พร้อมทั้งเงินที่จะใช้สอย ๔00 บาท ทั้งเครื่องบริขารพร้อม และรับสั่งให้ทำขวัญนาค เวียนเทียนแต่งตัวนาคอย่างนาคหลวง การซู่ซ่าแห่แหนนั้นอนุญาติตามใจญาติโยมและตามคติชาวเมือง แล้วรับสั่งให้เสมียนตราด้วง แต่งท้องตราบัวแก้วขึ้นไปวางให้เจ้าเมืองพิษณุโลก ให้เจ้าเมืองเป็นธุระช่วยการบวชนาคสามเณรโตให้เรียบร้อยดีงาม ตลอดทั้งการเลี้ยงพระเลี้ยงคน ให้อิ่มหนำสำราญทั่วถึงกัน กับทั้งให้ขอแรงเจ้าเมืองกำแพงเพชร์ เจ้าเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิชัย และเจ้าเมืองไชยนาทบุรี ให้มาช่วยกันดูแลการงานให้เจ้าเมืองพิษณุโลกจัดการงานในบ้านในจวนนั้นให้เรียบร้อยและให้ได้บวชภายในข้างขึ้นเดือน ๖ ปีนี้ แล้วแต่จะสะดวกด้วยกันทั้งฝ่ายญาติโยมของเณร ฯ
· รับสั่งให้สังฆการีในพระราชวังบวรวางฎีกาอาราธนาสมเด็จพระวันรัต วัดระฆังให้ขึ้นไปบวชนาคที่วัดตะไกร ให้ขึ้นไปแต่ข้างขึ้นอ่อนๆ ให้สำเร็จกิจบรรพชาอุปสมบทภายในกลางเดือน ให้ไปนัดหมายการงานต่อเจ้าเมืองพิษณุโลกพร้อมด้วยญาติโยมของเณร และตามเห็นดีของเจ้าเมืองด้วย ฯ
พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง รับพระกระแสร์รับสั่งแล้วถวายบังคมลา ออกมาจัดกิจการตามรับสั่งทุกประการ ฯ
· ฝ่ายข้างญาติโยมของสามเณรโต ทราบพระกระแสร์รับสั่งแล้ว จึงจัดเตรียมข้าวของไว้พร้อมสรรพ แล้วไปนิมนต์ท่านพระอาจารย์แก้ววัดบางลำภูบนให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์รับขึ้นไปพร้อมด้วยตน แล้วนิมนต์ท่านเจ้าอธิการวัดตะไกรเป็นอนุสาวนาจารย์ จะเป็นวัดไหนก็แล้วแต่สมเด็จพระอุปัชฌาย์จะกำหนดให้ และเผดียงพระสงฆ์อันดับ ๒๕ รูป ในวัดตะไกรบ้าง วัดที่ใกล้เคียงบ้าง ให้คอยฟังกำหนดวันที่ๆ สมเด็จพระอุปัชฌาย์จะกำหนดให้ ฯ
· ฝ่ายพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง จึงจัดเรือญวณใหญ่ ๖ แจว ๑ ลำ เรือญวณใหญ่ ๘ แจว ๑ ลำ,เรือครัว ๑ ลำคนแจวพร้อม และจัดหาผ้าไตรคู่สวดอุปัชฌาย์ จัดเทียนอุปัชฌาย์คู่สวด จัดเครื่องทำขวัญนาคพร้อมผ้ายกตลอมพอกแว่น เทียน ขัน ถม ผ้าคลุม บายศรี เสร็จแล้วเอาเรือ ๖ แจว ไปรับสมเด็จพระวันรัต ลาเณรจากสมเด็จพระสังฆราช แล้วนำมาลงเรือ ๖ แจว ส่วนพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง ไปลงเรือ ๘ แจว ฯ
· เรือสมเด็จพระวันรัตและสามเณรโต เรือพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วงออกเรือแจวขึ้นไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาตามกันเป็นแถวขึ้นไปรอนแรมค้างคืนตามหนทางล่วง ๒ คืน ๒ วัน ก็ถึงเมืองพิษณุโลก ตรงจอดที่ท่าหน้าจวนพระยาพิษณุโลก เสมียนตราด้วงจึงขึ้นไปเรียนท่านผู้ว่าราชการเมือง ให้เตรียมตัวรับท้องตราบัวแก้ว และรับรองเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตวัดระฆังตามพระกระแสร์รับสั่ง ฯ
· ครั้นท่านพระยาพิษณุโลกทราบแล้ว จึงจัดการรับท้องตราก่อน เสมียนตราด้วงจึงเชิญท้องตราบัวแก้วขึ้นไปบนจวน เชิญท้องตราตั้งไว้ตามที่เคยรับมาแต่กาลก่อน เมื่อเจ้าเมืองยกกระบัตร กรมกรามาประชุมพร้อมกันแล้ว เสมียนตราด้วงจึงแกะครั่งประจำถุงตรา เปิดซองออกอ่านท้องตรา ให้เจ้าเมือง ยกกระบัตร กรมการฟัง ทราบพระประสงค์ และพระกระแสร์รับสั่งตลอดเรื่องแล้ว เจ้าเมืองกรมการน้อมคำนับถวายบังคมพร้อมกันแล้ว เสมียนตราด้วงจึงวางไว้บนพานถมบนโต๊ะแล้วคุกเข่าถวายบังคมภายหลังแล้วจึงคำนับท่านเจ้าเมือง ไหว้ยกกระบัตรกรมการทั่วไป ตามฐานันดรแลอายุท่านเจ้าเมืองจึงลงไปอาราธนาสมเด็จพระวันรัต แลสามเณรโตขึ้นพักบนหอนั่งบนจวนกระทำความคำนับต้อนรับเชื้อเชิญตามขนบธรรมเนียม โดยเรียบร้อยป็นอันดี ผู้ว่าราชการจึงสั่งหลวงจ่าเมือง หลวงศุภมาตรา ๒ นาย ให้ออกไปบอกข่าวท่านสมภารวัดตะไกรให้ทราบว่า สมเด็จพระวันรัตวัดระฆัง มาถึงตามรับสั่งแล้ว ให้ท่านสมภารจัดเสนาศ์ ปูอาศนะให้พร้อมไว้ ขาดแคลนอะไร หลวงจ่าเมือง หลวงศุภมาตรา ต้องช่วยท่านสมภารสั่งหลวงแพ่ง หลวงวิจารณ์ ให้จัดที่พักคนเรือ และนำเรือเข้าโรงเรือ เอาใจใส่ดูแลรักษาเหตุการณ์ทั่วไป สั่งขุนสรเลขให้ขอแรงกำนันที่ใกล้ๆ ช่วยยกสำรับเลี้ยงพระเลี้ยงคนในตอนพรุ่งนี้ จนตลอดงาน สั่งพระยายกกระบัตรให้มีตราเรียกเจ้าเมืองทั้ง ๔ ให้มาถึงปะรืนนี้ สั่งหลวงจู๊ให้ขอกำลังเลี้ยงผู้พายบางกอก สั่งรองวิจารณ์ รองจ่าเมือง ให้นัดประชุมกำนันในวันปะรืนนี้ สั่งรองศุภมาตราให้เขียนใบเชิญพ่อค้าคฤหบดี ครั้นเวลาเย็นเห็นว่าที่วัดจัดการเรียบร้อยแล้ว จึงอาราธนาสมเด็จวันรัต ออกไปพักผ่อนอิริยาบทที่วัด สบายกว่าพักบ้านตามวิสัยของพระส่วนท่านเจ้าเมืองพร้อมด้วยเสมียนติดตาม ส่งสมเด็จพระวันรัต ณ วัดตะไกร และนัดหมายสามเณรโตให้นัดญาติโยมพร้อมหาฤากันใน ๒ วันนี้ ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 10:52:26
ครั้นท่านเจ้าเมืองมาส่งสมเด็จพระวันรัตที่วัดตะไกรถึงแล้ว ได้ตรวจตราเห็นว่าเพียงพอถูกต้องแล้ว จึงสั่งกรรมการ ๒ นายให้อยู่ที่วัดคอยระวังปฏิบัติ และให้กำนันตำบลนี้คอยดูแลระวังพวกเรือญาติโยมของสามเณรโต อย่าให้มีเหตุการณ์ได้ ครั้นสั่งเสียแล้วจึงนมัสการลาสมเด็จพระวันรัต นัดหมายกับท่านว่าอีก ๒ หรือ ๓ วัน จึงจะออกมาให้พร้อมจะได้นัดหมายการงานให้รู้กัน แล้วนมัสการลามาจัดแจงการเลี้ยงดูที่บ้านอีก ท่านเจ้าเมืองได้สั่งให้หลวงชำนาญคดีจัดห้องบนจวนให้ข้าหลวงและเสมียนตราพักให้เป็นที่สำราญ สั่งในบ้านหุงต้มเลี้ยงคนเลี้ยงแขกเลี้ยงกรรมการ ที่มีหน้าที่ทำงานในวันพรุ่งนี้ต่อไปติดกันไปในการเลี้ยง ฯ
· ครั้นล่วงมาอีก ๓ วัน เจ้าเมืองกำแพงเพชร์ ๑ เจ้าเมืองพิจิตร ๑ เจ้าเมืองไชยนาท ๑ เจ้าเมืองพิชัย ๑ พ่อค้าคฤหบดี กำนันในตำบลเมืองพิษณุโลก กรมการเมืองพิษณุโลกทั้งสิ้นมาประชุมพร้อมที่จวนท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก จึงได้พาคนทั้งปวงออกไปประชุมที่ศาลใหม่วัดตะไกร โดยอาราธนาสมเด็จพระวันรัต ให้ลงมาประชุมร่วมด้วยพร้อมทั้งตาผลนางงุดและคณะญาติของสามเณรโต ครั้นเข้าในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกจึงขอความตกลงที่แม่งุด เจ้าของนาคหลวงนั้นก่อนว่าการบวชนาคหลวงครั้งนี้ มีพระกระแสร์รับสั่งโปรดเกล้า ให้เจ้าเมือง กรมการ อำเภอ เจ้าภาษี นายอากร คฤหบดี ทั้งปวงนี้เป็นผู้ช่วยสนับสนุนการจนตลอดแล้วโดยเรียบร้อย แต่รับสั่งให้อนุมัติตามเจ้าของนาคหลวง ก็ฝ่ายแม่งุดเป็นมารดาจะคิดอ่านอย่างใดขอให้แจ้งมา ฝ่ายบ้านเมืองจะเป็นผู้ช่วยอำนวยการทั้งสิ้น ฯ

· ฝ่ายนางงุดจึงเรียนท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกว่า ดิฉันกะไว้ว่าจะบวชแต่เช้าบวชแล้วเลี้ยงเช้าทั้ง ๒๙ รูป เลี้ยงเพลอีก ๒๙ รูป ดิฉันจะตั้งโรงครัวที่วัดนี้ ดิฉันใคร่จะมีพิณพาทย์ กลองแขกตีกระบี่กระบอง มีแห่นาคมีแห่พระใหม่ มีการสมโภชฉลองพระใหม่ ดิฉันใคร่จะนิมนต์ท่านพระครูวัดใหญ่ที่เมืองพิจิตร ๑ ท่านพระครูที่วัดเมืองไชยนาท ๑ มาสวดมนต์ฉันเช้าในการฉลองพระใหม่ มีการทำขวัญเวียนเทียน มีการสมโภชพระใหม่ มีการมหรสพด้วยเจ้าคะ ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก ก็รับที่จะจัดทำตามทุกประการ ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 10:55:58
ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก หันเข้าขอประทานมติ ต่อสมเด็จพระวันรัต ต่อไปว่า เมื่อวันไหนจะสะดวกในรูปการเช่นนี้ สมเด็จพระวันรัตตอบว่า โครงการที่ร่างรูปเช่นนี้เป็นหน้าที่ๆ เจ้าคุณจะดำริห์และสั่งการ จะนานวันสักหน่อย ข้าพเจ้าคิดเห็นเหมาะว่า วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๖ ปีมะเส็งนพศกนี้ เป็นวันนิวัติสามเณรออกมาเป็นเจ้านาค สามโมงเย็นวันนั้นห้อมล้อมอุปสัมปทาเปกเข้าษ์ไปทำขวัญในจวน ให้นอนค้างในจวน เช้ามืดจัดขบวนแล้วแห่มา วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ เวลา ๑ โมงเช้า บวชเสร็จ ๒ โมงเช้าพระฉัน มีมหรสพเรื่อยไปวันยังค่ำ พอ ๕ โมงเย็นจัดกระบวนแห่พระใหม่ เข้าไปในจวนเจ้าคุณ เริ่มการสวดมนต์ธรรมจักร์ต่อ ๑๓ ตำนานตามแบบหลวง แล้วรุ่งเช้าฉัน ฉันแล้วเลี้ยงกัน มีเวียนเทียน แล้วมีการเล่นกันไปวันยังค่ำอีกค่ำลงเสร็จการ เจ้าเมืองรับเถรวาทว่าสาธุ เอาละ ฯ

· ครั้นท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก หารือด้วยสมเด็จพระวันรัต ลงมติกำหนด การกำหนดวันเป็นที่มั่นคงแล้ว จึงประกาศให้บรรดาที่มาประชุมกันรู้แน่ว่า วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๖ เป็นวันทำขวัญ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ เป็นวันบวชเช้า ตามโครงการบวชนาคหลวงคราวนี้มีรายงานอย่างนั้นๆ ท่านทั้งหลายทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย จงได้กำหนดไว้ทุกคน และขอเชิญไปฟังคำสั่งที่แน่นอนที่จวนอีกครั้ง แล้วท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกก็นมัสการลาสมเด็จพระวันรัตและพระสงฆ์ทั้งปวง นำเจ้าเมืองทั้ง ๔ กับบรรดาที่มาประชุมกันสู่จวนท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกจึงแสดงสุนทรกถาชลอเกียรติคุณของทางพระรัฎฐะปสาสน์ ปลุกน้ำใจข้าราชการ และราษฎรทั้งปวงให้มีความเอื้อเฟื้อต่อพระกุศลอันนี้ พอเป็นที่พร้อมใจกันแล้ว จึงสั่งกิจการทั้งปวงและแบ่งหน้าที่ทุกแห่งตำแหน่งการ ทั้งทางที่วัดและจัดที่บ้านตลอดการปรุงปลูกมุงบังบุดาษปูปัดจัดตั้งแบกหามยกขน และขอแรงมาช่วยเพิ่มพระบารมีกุศลตามมีตามได้ ตามสติกำลังความสามารถ จงทุกกำนันเป็นต้นว่าขอเลี้ยงกันเข้าโรงครัวถั่วผัก มัจฉมังสากระยาหารตาลโตนด ตาลทราย หมาก มะพร้าว ข้าวเหนียว ข้าวสาร เจ้าภาษี นายอากรขุนตำบลช่วยกันให้แข็งแรง พวกที่ไม่มีจะให้ มีแต่ตีเป่าเต้นรำทำท่าพิณพาทย์ กลองแขก กระบี่กระบอง ชกมวย มวยปล้ำ ให้มีอะไรมาช่วยกันให้พร้อมทั้งของข้าว นำมาเข้าโรงครัว แต่ ณ วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นต้นไป จนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำ สิ้นกำหนดส่งจะลงบัญชีขาด การโยธาเล่าให้เรียบร้อยแล้วเสร็จ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำเหมือนกัน ฝ่ายท่านเจ้าเมืองทั้ง ๔ จงนำฎีกาสวดมนต์ฉันเช้า ไปวางฎีกาอาราธนาพระครูจังหวัดทั้ง ๔ มาสวดมนต์พระธรรมจักรแล ๑๒ ตำนาน ในการสมโภชพระบวชใหม่ที่จวนนี้ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ รุ่งขึ้นวันแรม ๑ ค่ำเดือนนี้ ศกนี้ นิมนต์ฉัน เจ้าเมืองทั้ง ๔ ต้องนำบอกงานแก่ผู้มีชื่อในจังหวัดของเมืองนั้นๆ จงทั่วหน้า ฯ

· ถ้าหากว่าผู้ที่จะมาช่วยงานในการนี้ ติดขัดมาไม่สดวก ขอเจ้าเมืองจงเป็นธุระส่งแลรับให้ไปมาจงสดวกทุกย่านบ้านบึงบาน ขอให้เจ้าเมืองมอบเมืองแก่ยกกระบัตร กรมการ ให้กำนันเป็นธุระเฝ้าบ้านเฝ้าควายเฝ้าเกวียน แก่บรรดาผู้ที่จะมาในงานนี้ แต่ ณ วันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือนนี้ศกนี้ ท่านเจ้าเมืองทั้ง ๔ จงมาถึงให้พร้อมกัน คำสั่งดังกล่าวนี้จงอย่าขาดเหลือได้ กิจการทั้งวัดทั้งบ้านทั้งใกล้ทั้งไกล ขอให้ยกกระบัตรเป็นพนักงานตรวจตรา แนะนำตักเตือนต่อว่าเร่งรัดจเรทั่วไปจนตลอดงานนี้ หลวงจ่าเมือง รองจ่าเมือง เป็นหน้าที่พนักงานตรวจตราอาวุธ การทะเลาะวิวาทอย่าให้มีในการนี้ หลวงแพ่ง รองแพ่ง เป็นหน้าที่รับแขกคนเชิญนั่ง หลวงวิจารณ์ รองวิจารณ์ เป็นพนักงานจัดการเลี้ยงน้ำร้อนน้ำชา ทั้งพระทั้งแขกคนที่จะมาจะไป หลวงชำนาญ รองชำนาญ เป็นพนักงานเลี้ยงหมากพลูยาสูบ ทั้งพระทั้งแขกคนเตรียมเครื่องด้วยหลวงศุภมาตรา รองศุภมาตราเป็นพนักงานจัดการหน้าฉากทุกอย่าง ทั้งการพระ การแขก ขุนสรเลข เป็นเสมียนจดนามผู้นำของมา จดทั้งบ้านเมืองอำเภอหมู่บ้านให้ละเอียด ทั้งมากทั้งน้อย พระธำรงผู้คุมต้องเป็นพนักงานปลูกปรุงมุงบังบุดาษ เสมียนทนายดูเลี้ยง หลวงจ่าเมืองต้องจัดหาตะเกียงจุดไฟทั่วไป ขัดข้องต้องบอกข้าพเจ้าช่วยกันให้เต็มฝีมือด้วยกัน สั่งการเสร็จแล้ว สั่งแขกที่เชิญมากลับไป ส่งเจ้าเมืองทั้ง ๔ กลับขึ้นบ้านเมือง ฯ

· ส่วนผู้ว่าราชการเมืองพร้อมด้วยโหราธิบดี เสมียนตราด้วง คิดการจัดไทยทานถวายพระ จัดซื้อผ้าดอกผ้ายี่โป้ไว้สำหรับสำร่วยการมหรสพทั้งปวง ขอแรงภรรยากรมการเป็นแม่ครัว ท่านผู้หญิงเป็นผู้อำนวยการครัว พระยกกระบัตรเป็นพนักงานเลี้ยงพระเลี้ยงคนด้วย พวกผู้หญิงลูกหลานพี่น้องกรมการ ขอแรงเย็นบายศรี เจียนหมากจีบพลู มวนยาควั่น เทียน ตำโขลก ขนมจีน ทำน้ำยาเลี้ยงกัน ครั้นท่านผู้ว่าราชการเมือง จัดการสั่งการเสร็จสรรพแล้ว พักผ่อนพูดจากับท่านเสมียน ท่านพระโหราธิบดี ตามผาสุขสำราญคอยเวลา ฯ

· ตั้งแต่วันที่กำหนดส่งของเข้าครัว อาหารก็ล้นไหลเรื่อยมาแต่ขึ้น ๘ ค่ำ จนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำ ทางเจ้าเมืองส่งไปครัวทางวัดบ้าง เข้าครัวบ้านบ้าง คนทำกิจการงานได้ บริโภคอิ่มหนำตลอดถึงกรมการและลูกเมีย กำนันและลูกบ้านที่ยังค้างอยู่ก็ได้บริโภคอิ่มหนำทั่วกัน นายอากรสุราก็ส่งสุรามาเลี้ยงกันสำราญใจ ต่างก็ชมเชยบารมีพ่อเณร และชมอำนาจเจ้าคุณผู้ว่าราชการเมืองและชมเชยพระยุพราชกุศลกัลยาณวัตรของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์นี้ เป็นที่สนุกสนานทั่วกัน ฯ

· ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือนหก ปีมะเส็งนพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ ปี เวลาเช้าเจ้าเมืองทั้ง ๔ ก็มาถึงพระครูจังหวัดก็มาถึง ผู้มีชื่อที่มาช่วยกิจการอุปสมบทนี้ ก็มาถึงพร้อมกันทั้งใกล้ไกล ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกก็ยิ้มแย้มทักทายต้อนรับ พระยายกกระบัตรก็ดูแลเลี้ยงดูเชื้อเชิญให้รับประทานทั่วถึงกัน ตลอดจนพวกมหรสพ ฝีพาย ทั้งเรือพระเรือเจ้าเมือง เรือคฤหบดี ก็เรียกเชิญเลี้ยงดูอิ่มหนำทุกเวลา ฯ

· ครั้นเวลาเที่ยงแล้ว ท่านผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยเจ้าเมืองทั้ง ๔ และพระโหราบดี เสมียนตราด้วงกับทั้งพวกกระบวนแห่ก็เตรียมออกไปรับนาคที่วัด สมเด็จพระวันรัตก็ให้สามเณรโตลาสิกขาบท นิวัติออกเป็นนาค ท่านสมภารวัดตะไกร ก็สั่งพระให้โกนผมเจ้านาคแล้ว พระโหราธิบดีก็บอกให้ญาติโยมช่วยกันอาบน้ำขัดถู แต่อย่าทาขมิ้น ครั้นอาบน้ำขัดถูกันเสร็จแล้ว พระโหราก็แต่งตัวเจ้านาค นำเครื่องผ้ายกออกจากหีบ เสื้อกรุยเชิงมีดอกพราวออกแล้ว นุ่งจีบโจงหางโหง ชักพก แล้วติดผ้าหน้าเรียกว่าเชิงงอน ที่ภาษชวาเรียกว่า “ซ่าโปะ” แล้วคาดเข็มขัดทองประดับเพชร์ สอดแหวนเพชร์ถือพัชนีด้ามสั้น สรวมเสริดยอดประดับพลอยทับทิมแลมรกฎที่คำสามัญเรียกว่า “ตะลอมพอก” ทรงเครื่องแต่งตัวเสร็จแล้ว ท่านผู้ว่าราชการก็นำนาค พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง เดินแซงข้างนาค ญาติโยมตามหลังเป็นลำดับลงไป พวกกระบวนแห่ก็เต้นรำตามกันมา ตามเจ้าคุณพระยาพิษณุโลกนำนาคเข้ามาทำขวัญที่จวนเมื่อเวลาบ่าย ๓ โมงเย็น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ศกนั้น ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 11:00:20
ครั้นถึงจวนเจ้าเมืองก็นำนาคเข้าโรงพิธีที่จัดไว้บนหอนั่ง แล้วเรียงรายเจ้าเมือง กรมการ เจ้าบ้านคหบดี เจ้าภาษี นายอากร ราษฎรสูงอายุ และญาติโยมของเจ้านาค พระโหราธิบดีเรียกคนเชิญขวัญ ที่นำไปแต่กรุงเทพทั้งพราหมณ์ พรหมบุตรชุดหนึ่งขึ้นมาจากเรือ แล้วเข้านั่งทำขวัญๆ แล้วเวียนเทียน พิณพาทย์ก็บรรเลงตามเพลงกระ,กรม,กราว,เชิด,ไปเสร็จแล้วจัดการเลี้ยงเย็น ค่ำลงจุดไฟแล้วมีการเต้นรำร้องเพลงสนุกจริง ฯ

· ครั้นเวลาย่ำรุ่ง ท่านผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยเจ้าเมืองทั้ง ๔ แลกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย พ่อค้าแม่ค้า เจ้าภาษีนายอากร อำเภอ กำนัน พันทนายบ้านขุนตำบล พระธำมะรงผู้คุม ผู้ใหญ่มาพร้อมกันที่หน้าจวน จึงจัดกระบวนแห่เป็น ๗ ตอน ตอน ๑ พวกกระบี่กระบอง ตอน ๒ พวกมวยชกมวยปล้ำ ตอน ๓ กลองยาว ตอน ๔ เทียนอุปัชฌาย์ไตรบาตร์ ไตรอุปัชฌาย์ ตอน ๕ เจ้าเมืองทั้ง๕ กรมการเสมียนตรา ข้าหลวง ตอน ๖ ญาติมิตรคนช่วยงานถือของถวายอันดับ ตอน ๗ พวกเพลงพวกเต้นรำต่างๆ เป็นแถวยืดไปแห่แหนห้อมล้อมเป็นขบวนเดินมา จนถึงเขตกำแพงวัดตะไกร ผ่อนๆ กันเดินเข้าไป ตั้งชุมนุมเป็นกองๆ แต่พวกกลองยาวพวกขบวนถือเทียน ถือไตรบาตร์บริขารของถวายพระนั้นเวียนโบสถ์ไปด้วย พวกพิณพาทย์ กลองแขกนั่งตีที่ศาลาหน้าโบสถ์ ครบสามรอบแล้ว เจ้านาควันทาสีมา เจ้าเมืองทั้ง ๔ แวดล้อม พระโหราเป็นผู้คุมและสอน แล้วขึ้นโบสถ์ก็ทิ้งทานเปลื้องเครื่องที่แต่งแห่มา ผลัดเป็นยกพื้นขาว ผ่กรองทองห่มสะไบเฉียง เปลื้องเสื้อกรุยออกถอดตะลอมพอก ถอดแหวนแลสร้อยส่งให้เสมียนตราๆ รับบันจุลงหีบลั่นกุญแจมอบเจ้าเมืองทั้ง ๕ เป็นผู้รักษา แล้วโยมญาติช่วยกันจูงช่วยกันรุมเข้าโบสถ์ พระโหราธิบดีนำเข้าวันทาพระประทาน แล้วมานั่งคอยพระสงฆ์ ฯ

· ฝ่ายพระสงฆ์ ๒๙ รูป มีสมเด็จพระวันรัตเป็นประธานที่พระอุปัชฌาย์ลงโบสถ์พร้อมกันแล้ว นางงุดจึงยื่นผ้าไตรบวชส่งให้นาคๆ พร้อมคำนับรับเอาเข้ามาในท่ามกลางสงฆ์พวก กรมการยกเทียนอุปัชฌาย์ ไตรอุปัชฌาย์พร้อมด้วยกรวยหมากเข้ามาส่งให้เจ้านาคถวายพระอุปัชฌาย์ แล้วให้เจ้านาคยืนขึ้นวันทาอ้อนวอนขอบรรพชาเป็นภาษาบาฬี (ตามวิธีบวชพระมหานิกาย) ครั้นเสร็จเรียนกัมมัษฐานแล้วออกไปครองผ้าเข้ามาถวายเทียน ผ้าไตร แก่พระกรรมวาจา แล้วยืนขึ้นขอประทานวิงวอนขอพระสรณาคมณ์นั่งลงรับพระสรณาคมณ์ เสร็จรับศีล ๑0 ประการเป็นเณรแล้วเข้ามายืนขอนิสสัยพระอุปัชฌาย์สำเร็จเป็นภิกษุภาวะในเพลา ๓๒ ชั้นคือ ๗ นาฬิกาเช้า วันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ปีมะเส็งนพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ ปี ประชุมสงฆ์ ๒๘ รูป เป็นคณะปักกะตัดตะในพัทธสีมา วัดตะไกร เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระวันรัตวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แก้ววัดบางลำภูบน เป็นกัมวาจา พระอธิการวัดตะไกรเมืองพิษณุโลก เป็นอนุสาวะนะ ครั้นเสร็จการอุปสมบทแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงออกจากโบสถ์ ลงมาฉันเช้าที่ศาลาวัดตะไกรพร้อมกันทั้งพระภิกษุโตด้วย ฯ

· ครั้นเจ้าภาพอังคาสถวายอาหารบิณฑบาตร์ พระสงฆ์ทำภัตตกิจเสร็จแล้วก็ถวายไทยทานเป็นอันมากมายนักหนา พระภิกษุโตก็รับของถวายเป็นก่ายกองสุดจะพรรณา ครั้นเสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพจัดการเลี้ยงกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกกระบี่ก็รำกระบี่กระบองราวี พวกมวยก็เข้าคลีเป็นคู่คู่ พวกเพลงก็ร้องสู้กันแซ็งแซร่ พวกกลองยาวของพม่าก็บุ้มบ้ำรำถวาย คนดูก็เดินกรายชายตามองจ้องที่ต้องใจ สมโภชพระบวชใหม่จนถึงห้าโมงเย็น ครั้นเย็นแล้ว ท่านเจ้าเมืองทั้ง ๕ จัดกระบวนพระ กระบวนแห่ แห่พระเข้าไปเจริญพุทธมนต์เย็นที่จวนสมโภชพระบวชใหม่ ฯ

· ครั้นถึงแล้ว พระสงฆ์นั่งบนอาสนะถวายน้ำร้อนน้ำตาลเภสัชหมากพลูบุหรี่เป็นที่สำราญ ผู้ว่าราชการจุดเทียนหลวงบูชา หลวงนาวาว่าที่กรมการอาราธนาศีล แล้วอาราธนาพระปริตต์ สวดธรรมจักร์ต่อกับ ๑๒ ตำนาน จบแล้วพระสงฆ์ก็กลับ ก็จัดการเลี้ยงกันจนเรียบร้อยก็จุดไฟมีการสมโภชต่อไปเป็นที่สนุกสนานครึกครื้นรื่นเริงทั่วหน้ากัน ฯ

· เวลาเช้าพระสงฆ์มาสวดมนต์ฉันเช้าแล้ว ก็ถวายเครื่องไทยทานต่างๆ เป็นอันมาก พระสงฆ์รับแล้วอนุโมทนาทานเสร็จแล้วก็กลับ พราหมณ์ ๓ คนเข้าที่ โอมอ่านพระศุลีเทวราชประสิทธิ์ เบิกแว่นอุณาโลม แล้วตีพิณพาทย์ฆ้องกลอง เป่าแตร เป่าสังข์ แกว่งบัณเฑาะว์ เดาะกรับ และเวียนเทียน ๗ รอบสมโภชพระภิกษุโตผู้บวชใหม่ เป็นอันเสร็จพิธีดีงามทุกสิ่งทุกประการ ฯ

· ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันแรมสองค่ำเดือนหกศกนั้น ท่านพระยาพิษณุโลกได้มาส่งสมเด็จพระวันรัตและพระภิกษุโตกับพระอาจารย์แก้วกลับกรุงเทพฯ ได้ขอทุเลากับสมเด็จพระวันรัตว่า “เกล้าฯ ขอทุเลาให้หายเหนื่อยสัก ๒ วัน และสั่งกิจการ ต่อวันแรม ๔ ค่ำเดือน ๖ จึงจะไปหาพระคุณเจ้า” สมเด็จพระวันรัตว่า “ตามใจเจ้าคุณเถิด” ครั้นตกลงกันแล้วพระยาพิษณุโลกก็ทำรายงานเรื่องอุปสมบทตามพระกระแสร์รับสั่ง มอบให้เสมียนตราด้วงน้อมเกล้าถวายแล้วส่งเจ้าเมืองทั้ง ๔ กลับพร้อมทั้งผู้คน สั่งยกกระบัตรและกรมการใหญ่น้อยให้ทำหน้าที่ แล้วจัดเรือแจว ๖ แจวมีฝีพาย เรือครัวไปส่งพระในกรุงเทพฯ ในวันแรม ๔ ค่ำเดือนนั้น ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 11:02:47
ครั้นแรม ๔ ค่ำศกนั้น พระยาพิษณุโลกได้อาราธนาสมเด็จพระวันรัต พระอาจารย์แก้ว พระภิกษุโตบวชใหม่เข้าไปฉันในจวน เลี้ยงข้าหลวงเสมียนตรา ฝีพายพราหมณ์เสร็จแล้วก็ลงเรือล่องลงมาเป็น ๕ ลำด้วยกัน

· วันแรม ๖ ค่ำศกนั้น ครั้นถึงวัดนิพพานาราม สมเด็จพระวันรัต พระอาจารย์แก้วได้พาภิกษุโต พระยาพิษณุโลก พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง เฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพร้อมกัน กราบเรียนให้ทราบพอสมควร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจึงมอบให้เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระวันรัตเป็นอาจารย์สอนและบอกคัมภีร์พระปริยัติธรรมต่อไป ด้วยพระดำรัส “การสอนการบอกจงเป็นภาระของสมเด็จฯ ด้วยข้าพเจ้าชรามากแล้วลมก็กล้า อาหารก็น้อยจำวัดไม่ใคร่หลับ บอกหนังสือก็ออกจะพลาดๆ ผิดๆ” รับสั่งให้พระครูฐานาจัดกุฏิให้ภิกษุโตอาศัยต่อไปในคณะตำหนักวัดนิพพานารามแต่วันนั้นมา ฯ

· บรรดาสัปปุรุษ สีกา ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เลื่อมใสคุ้นเคยกับพระภิกษุโตแต่ครั้งเป็นสามเณร ครั้นทราบว่าอุปสมบทแล้ว ต่างก็พากันมาเยี่ยมเยียนปวารณาตัว ความอัตคัตขัดข้องไม่มีแก่ภิกษุโตเลย ฟุ่มเฟือยสง่าโอ่โถงองอาจผึ่งผายเสมอๆ มา ฯ

· ครั้นเข้าพรรษาปีนั้น จึงได้ข้ามไปเรียนคัมภีร์กับสมเด็จพระวันรัตเสมอๆ มาก็มีความรู้แตกฉานลึกซึ้งในพระธรรมวินัยไตรปิฎกไม่ติดขัด ทั้งท่านก็ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัย มีความเคารพยำเกรงต่อผู้ใหญ่ ปฏิบัตินอบน้อมยอมตนให้สม่ำเสมอไป จึงเป็นเหตุให้อำมาตย์ราชเสนา คฤหบดี คฤหปตานี คุณท้าว คุณแก่ คุณแม่ คุณนาย คุณชาย คุณหญิง ผู้คุ้นเคยไปมาหาสู่อาราธนาให้แสดงธรรมตลอดไตรมาสบ้าง พิเศษบ้าง เทศน์มหาชาติบ้าง สวดมนต์เย็น ฉันเช้าในงานมงคลต่างๆ เกิดอดิเรกลาภเสมอๆ มิได้ขาดทั้งพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง พระวิเชียร ขุนพรหม ปลัดนุท ขรัว ยายโหง เสมียนบุญ ๗ ท่านนี้ ได้เป็นอุปัฏฐากประจำที่ไว้วางใจ ฯ

· ครั้นเห็นว่างราชกิจควรเข้าเฝ้าถวายราชกุศล จึงหารือด้วยพระโหราธิบดี พระวิเชียร เสมียนตราด้วง ทั้งหมดเห็นดีด้วย จึงพร้อมกันเข้าเฝ้าถวาย ณ พระราชวังเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จออกทรงรับพระราชกุศล ถวายองค์เป็นอุปัฏฐากแต่นั้นมา ท่านก็รุ่งเรืองในกรุงเทพฯ แต่นั้นมา ฯ

· ครั้นลุปีขาล อัฏฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ ปี พระภิกษุโตมีอายุ ๓0 ปี มีพรรษาได้ ๑0 อันเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้รับพระราชทานพระบวรราชอิศรศักดิ์สูงขึ้น เมื่อเสร็จอุปราชาภิเศกแล้ว ท่านได้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลจึงได้ทรงโปรดพระราชทานเรือพระที่นั่งกราบเป็นเรือสี ถวายแก่พระภิกษุโต โปรดรับสั่งว่า “เอาไว้สำหรับไปเทศน์โปรดญาติโยม” ทั้งยังทรงตั้งให้เป็น “มหาโต” ด้วย แต่นั้นมาทุกคนจึงเรียกท่านมหาโตทั่วทั้งแผ่นดิน หากมีราชกิจกุศลในวังหน้าหรือการงานเล็กน้อยแล้ว พระมหาโตเป็นต้องถูกราชการด้วยองค์หนึ่ง ฯ

(๒ ปีล่วงมา สมเด็จพระสังฆราชมีชราภาพ ถึงมรณะล่วงไปแล้ว ยังหามีสมเด็จพระสังฆราชครองวัดนิพพานารามไม่) ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ ปี กรมพระราชวังบวรเสด็จขึ้นเถลิงราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงทรงพระมหากรุณาโปรดยกพระปัญญาวิสารเถร (พระชินวร) วัดถมอรายขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงพระราชทานนามวัดนิพพานารามเสียใหม่ว่า “วัดมหาธาตุ” สมเด็จพระสังฆราชได้ลงมาประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุด้วย พระมหาโตจึงร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับสมเด็จพระสังฆราชถึง ๒ พระองค์ คือสมเด็จพระสังฆราชมี สมเด็จพระสังฆราชนาค (จึงได้ให้ช่างเขียนเป็นรูปพระสังฆราชไว้ ๒ พระองค์ ตามที่ท่านได้ผ่านพบมา ที่ฝาผนังโบสถ์ วัดอิทรวิหาร บางขุนพรหม) ในศกนี้ พระมหาโตมีพรรษา ๑๒ ในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ กรุงเทพฯ พระมหาโตทำสง่าโอ่โถงพากพูมมาก เทศนาวาจากล้าหาญองอาจ เพราะเชี่ยวชาญรอบรู้พระไตรปิฎกแตกฉาน ทั้งยังเป็นพระของพระเจ้าแผ่นดิน อันพระองค์ทรงเป็นอุปัฏฐากอีกด้วย อดิเรกลาภก็มีทวีคูณมากมาย ลูกศิษย์ลูกหามากมาย ชื่อเสียงโด่งดังกึกก้องตลอดกรุง ฯ

· ลุปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ ปี ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าให้สร้างพระตำหนักใหม่ในวัดมหาธาตุ เพราะทูลกระหม่อมฟ้าพระองค์ใหญ่จะทรงพระผนวชเป็นสามเณร ครั้นทรงพระผนวชแล้วก็เสด็จมาประทับอยู่ พระมหาโตก็ได้เข้าเป็นพระพี่เลี้ยง และได้เป็นครูสอนอักขระขอม ตลอดจนถึงคัมภีร์มูลกัจจายน์ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชมีกิจพระมหาโตก็ได้อธิบายขยายความแทน เป็นเหตุให้ทรงสนิทคุ้นเคยกันแต่นั้นมา ฯ
· ครั้นทูลกระหม่อมเณรทรงลาสิกขานิวัติกลับราชวังแล้ว ก็ทรงทำสักการะแก่พระมหาโตยิ่งขึ้น พระมหาโตเลยกว้างขวางยิ่งใหญ่รู้จักคุณท้าว คุณนางฝ่ายในทั้งจ้าวนายฝ่ายนอกมากมาย บ้านขุนนางก็แยะ เมื่อมีงานต้องนิมนต์พระมหาโตมิได้ขาด ฯ

· จุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศกวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ทูลกระหม่อมองค์ใหญ่ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จขึ้นไปประทับวัดถมอราย (เปลี่ยนเป็นวัดราชาธิวาส) ภายหลังเสด็จกลับมาประทับ ณ ตำหนักเดิมวัดมหาธาตุ พระมหาโตก็ได้เป็นผู้บอกธรรมวินัย และพระปริยัติธรรมอีก เป็นเหตุให้ทรงคุ้นเคยกันมากขึ้น เพราะมีอัธยาศัยตรงกัน ฯ

· ในศกนี้ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต วันพฤหัสบดี เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีวอก ฉศกจุลศักราช ๑๑๘๖ เสด็จขึ้นเถลิงราชย์ได้ ๑๔ ปี ๑0 เดือน ศิริพระชนมายุได้ ๕๖ พรรษา ฯ

· ปีนี้พระมหาโตอายุได้ ๔๙ พรรษา ๒๘ พระชนมายุทูลกระหม่อมได้ ๒๑ พรรษา พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงราชย์ เปลี่ยนเป็นรัชกาลที่ ๓ ในปีนั้น วันนั้น ฯ

· ลุจุลศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฏฐศก สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้เผดียงทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ ให้ทรงแปลพระปริยัติธรรม ๓ วันก็ทรงแปลได้หมด แล้วให้พระมหาโตแปลแก้รำคาญหูเสียบ้าง ท่านเข้าแปลถวายวันหนึ่ง แปลไปได้สักลานกว่า ผู้กำกับการสอบไล่ถือพัดยศเข้ามาท่านก็เลยม้วนหนังสือถวายกราบลามาข้างนอกพระราชวังใครถามว่า “ได้แล้วหรือครับคุณมหา” ท่านรับคำว่า “ได้แล้วจ๊ะ” ฯ

· ปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ ปี ทูลกระหม่อมองค์ใหญ่ไม่สำราญพระหฤทัยในวัดมหาธาตุ จึงทรงกลับมาประทับ ณ พระตำหนักเดิมวัดถมอราย ฯ

· ในศกนี้พระมหาโตมีอายุ ๕๔ ปี พรรษา ๓๒ ยังรอรักอยู่วัดมหาธาตุ มีผู้บอกข่าวว่าโยมผู้หญิงอยู่ทางเหนือป่วยหนัก ท่านขี่เรือเสาขึ้นไป พร้อมกับนำเรือสีไปด้วยเพื่อจะพายอวดโยมของท่าน แต่โยมก็ถึงแก่อนิจจกรรมเสียก่อน ท่านก็ทำฌาปนกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงแบ่งทรัพย์มรดกของโยมแก่บรรดาญาติและหลานๆ ทั่วกันแล้ว ที่ยังเหลือเป็นเงินทองก็นำมาถึงอำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง ณ ที่วัดขุนอินทร์ประมูล ท่านก็เอาทรัพย์นั้นออกสร้างพระนอนไว้ มีลักษณะงดงามองค์หนึ่งยาวมาก สร้างอยู่หลายปีจึงสำเร็จ ต่อนั้นท่านก็เป็นพระสงบมีจิตแน่วแน่ ต่อญาณคติมีวิถีจิตแน่วไปในโลกกุตตรภูมิ ไม่ฟุ้งซ่านโอ่อ่า เจียมตัวเจียมตนเทศน์ได้ปัจจัยมาสร้างพระนอนนั้นจนหมด ท่านทำซอมซ่อเงียบๆ สงบปากเสียงมา ๒๕ ปี ตลอดรัชสมัยของแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 13:20:08
ครั้นถึงปีกุน ยังเป็นโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ ปี วันพุธขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๘ ทุ่ม ๕ บาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคต ศิริพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา กับ ๑๑ วัน ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี ๗ เดือน ๒๓ วัน พระมหาโตอายุได้ ๖๔ ปี ๔๒ พรรษา พวกข้าราชการได้ทูลอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อม พระราชาคณะ วัดบวรนิเวศน์วรวิหาร ให้เสด็จนิวัติออกเถลิงราชย์ พระมหาโตเลยออกธุดงค์หนีหายไปหลายเดือน ครั้นทรงระลึกได้จึงรับสั่งให้หาตัวมหาโตก็ไม่พบ ก็ทรงกริ้วสังฆการี รับสั่งว่า “ท่านเหาะก็ไม่ได้ ดำดินก็ไม่ได้ แหกกำแพงจักรวาฬหนีก็ยังไปไม่ได้” จึงรับสั่งให้พระญาณโพธิออกติดตามก็ไม่พบ ก็รับสั่งว่า “ฉันจะตามเอง” ครั้นถึงเดือน ๗ ปีนั้น มีกระแสร์รับสั่งถึงเจ้าเมืองฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ทั่วพระราชอาณาจักร จับพระมหาโตส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ ให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ตก ออก ออกค้นหามหาโต เลยสนุกกันใหญ่ทั้งฝ่ายพุทธจักร์ อาณาจักร์ แม้จะมีท้องตรารับสั่งเร่งรัดอย่างไรก็ยังเงียบอยู่ เจ้าเมืองเจ้าหมู่ฝ่ายพระร่วมใจกันจับพระอาคันตุกะทุกองค์ส่งยังศาลากลาง คราวนี้พระมหาโตลองวิชาเปลี่ยนหน้า ทำให้คนรู้จักกลับจำไม่ได้เห็นเป็นพระองค์อื่นปล่อยท่านไปก็มี (อาคมชนิดนี้พระอาจาริย์เจ้า เรียกว่า นารายณ์แปลงรูป) ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่านายด่าน นายตำบล เจ้าเมืองกรมการ จับพระไปอดเช้าบ้าง เพลบ้าง ตากแดดตากฝนได้รับความลำบาก ทำทุกข์ทำยากแก่พระสงฆ์คงไม่ดีแน่ จึงแสดงตนให้กำนันบ้านไผ่รู้จัก จึงส่งตัวมายังศาลากลาง เจ้าเมืองมีใบบอกมายังกระทรวงธรรมการๆ บอกส่งไปวัดโพธิเชตุพนฯ พระญาณโพธิขึ้นไปดูตัวก็จำได้ แล้วคุมตัวลงมาเฝ้า ณ พระที่นั่งอมรินทรท่ามกลางขุนนางข้าราชการ

ครั้นเห็นพระญาณโพธินำมหาโตเข้าเฝ้า จึงมีพระดำรัสว่า “เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดินท่านต้องช่วยกันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน” แล้วมีพระบรมราชโองการให้กรมสังฆการีวางฎีการตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม พระมหาโตก็เข้าไปตามฎีกานิมนต์ จึงทรงถวายสัญญาบัตรตาลิปัตแฉกหักทองขวางด้ามงาเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มีฐานานุกรม ๓ องค์ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ทั้งค่าข้าวสาร เมื่อออกจากพระบรมราชวังแล้ว ท่านแบกพัดไปเองถึงบางขุนพรหมและบางลำภูบอกลาพวกสัปปุรุษที่เคยนับถือ มีเสมียนตราด้วงและพระยาโหราธิบดีเก่า และผู้อื่นอีกมาก

แล้วท่านก็กลับมาวัดมหาธาตุลาพระสงฆ์ทั้งปวง ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระพุทธเลิศหล้าข้ามไปกับเด็กช้างผู้เป็นหลาน ท่านถือบาตร ผ้าไตร และบริขารไปบอกพระวัดระฆังว่า “จ้าวชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นที่พระธรรมกิตติมาเฝ้าวัดระฆังวันนี้จ๊ะ เปิดประตูโบสถ์รับฉันเถอะจ๊ะ ฉันจะต้องเข้าจำวัดเฝ้าโบสถ์ จะเฝ้าจัดตามพระราชโองการรับสั่งจ๊ะ” ท่านแบกตาละปัดพัดแฉก สพายถุงย่ามสัญญาบัตรไป เก้ๆ กังๆ พะรุงพะรัง พวกพระนึกขบขันจะช่วยท่านถือ เจ้าคุณธรรมกิตติก็ไม่ยอม พระเลยสนุกตามมุงดูกันแน่น แห่กันป็นพรวนเข้าไปแน่นในโบสถ์ บางองค์ก็จัดโน่นทำนี่ ต้มน้ำบ้าง ตักน้ำถวายบ้าง ตะบันหมากบ้าง กิติศัพท์เกรียวกราวตลอดกรุง คนนั้นก็มาเยี่ยม คนนั้นก็มาดูเลื่อมใสในจรรยาบ้าง เลื่อมใสในยศศักดิ์บ้าง ท่านทำขบขันมาดูสนุกเป็นมหรสพโรงใหญ่ทีเดียว บางคนชอบหวยก็เอาไปแทงหวยขลังเข้าทุกๆ วัน คนก็ยิ่งเอาไปแทงหวยถูกกันมากรายยิ่งขึ้น เลยไม่ขาดคนไปมาหาสู่ บางคนก็ว่าท่านบ้าบ้าง บางคนก็ตอบว่า “เมื่อขรัวโตบ้า พวกกันนิยมชมว่าขรัวโตเป็นคนดียามนี้ ขรัวโตเป็นคนดีพูดกันบ่นอู้อี้ว่าขรัวโตบ้า” บางวันเขานิมนต์ไปเทศน์ เมื่อจบท่านบอกว่า “เอวํ พังกุ้ย” บ้าง บางวันก็บอกว่า “เอวํ กังสือ” บางวันก็บอกว่า “เอวํ หุนหัน” เล่ากันต่อๆ มาว่าท่านเทศน์ไม่เว้นแต่ละวัน

ครั้งหนึ่ง ที่วังเจ้าฟ้ามหามาลากรมหมื่นบำราบปรปักษ์มีเทศน์ไตรมาส ๓ วัน ยกพระพิมลธรรม (อ้น) ถวายเทศน์พระธรรมกิตติเป็นผู้รับสัพพี พระพิมลธรรมถวายเทศน์เรื่องปฐมสมโพธิ ปริเฉทลักขณะปริวัติความว่า “กาลเทวินทร์ดาบร้องไห้ เสียใจว่า ตนจะตายไปก่อนไม่ทันเห็นพระสิทธาตถ์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซ้ำจะต้องไปเกิดในอสัญญีภพเสียอีก เพราะผลของอรูปสมาบัติเนวะสัญญานาสัญญายะตะนะฌานในปัจจุบันชาติ” วันที่ ๓ ก็มาถวายอีก พระธรรมกิตติ (โต) ก็ไปรับสัพพีอีก เจ้าฟ้ามหามาลาฯ ทรงรับสั่งถามพระพิมลธรรมว่า “พระคุณเจ้าฌาณโลกีย์นี้ได้ยินว่าเสื่อมได้ไม่ใช่หรือ” พระพิมลธรรมรับว่า “ถวายพระพรเสื่อมได้” ทรงรับสั่งรุกอีกว่า “เสื่อมก็ได้ ทำไมกาลเทวินทร์ไม่ทำให้เสื่อมเสียก่อน บำเพ็ญแต่กามาวจรฌาณถึงตายก่อนสิทธาตถ์ ก็พอไปเกิดอยู่ในรูปพรหม หรือฉกามาพจรชั้นใดชั้นหนึ่งก็พอจะได้ เหตุใดไม่ทำฌาณของตนให้เสื่อม ต้องมานั่งร้องไห้เสียน้ำตาอยู่ทำไม” คราวนี้พระพิมลอั้นตู้ ไม่สามารถแก้ไขออกให้แจ้งได้ ส่วนพระธรรมกิตติ(โต) เป็นพระรับสัพพี เห็นพระพิมลธรรมเฉยไม่เฉลยข้อปัญหานั้น จึงออกเสียงเรอดัง “เออ” แล้วบ่นว่า “เราหนอช่างกระไรวัดระฆังอยู่ใกล้ๆ ตรงวังข้ามฟาก เหตุใดจึงไม่ข้ามฟาก ต้องมาฝืนร่างกายทนลำบากจนดึกดื่น ๒ วัน ๓ คืนดังนี้” แล้วท่านก็นั่งนิ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ก็ทรงจุดเทียน พระพิมลธรรมก็ขึ้นถวายเทศน์จนจบ ลงธรรมาสน์แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ก็ประเคนเครื่องไทยธรรม พระพิมลธรรมยะถา พระธรรมกิตติรับสัพพี พระพิมลธรรมถวายพระพรลา เมื่อถึงกำหนด เทศน์อีก พระธรรมกิตติก็ได้รับฎีกาอันเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ นิมนต์เทศน์ต่อจากพระพิมลธรรมท่านเต็มใจรับ และบอกมหาดเล็กให้ไปกราบทูลให้ทรงทราบ ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 13:21:55
ครั้นวัน ๗ ค่ำ เวลา ๓ ทุ่ม พระธรรมกิตติก็ไปถึงท้องพระโรง สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ เสด็จออกทรงเคารพ แล้วปราศรัยแล้วจุดเทียน พระธรรมกิตติขึ้นธรรมาสน์ ถวายศีล ถวายศักราช ถวายพระพร แล้วจึงเดินคาถาที่ผูกขึ้นว่า วมลธมฺมสฺส ฯลฯ กสฺมาโส วิโสจตีติ อธิบายความว่า “มหาบพิตรเจ้า มีพระปุจฉาแก่เจ้าคุณพระพิมลธรรมว่า เหตุไฉนกาลเทวินทร์จึงร้องไห้ ควรทำฌาณของตนให้เสื่อมดีกว่านั่งร้องไห้” ดังนี้ข้อนี้อาตมาภาพผู้มีสติปัญญาทรามหากได้รับพระอภัยโทษ โปรดอนุญาติให้แสดงต่อข้อปุจฉา อาตมาจำต้องแก้ต่างเจ้าคุณพระพิมลธรรมดังมีข้อความตามพระบาลีที่มีมาในพระปุคคลบัญญัติ มีอรรถกถาฎีกา แก้ไว้พร้อม

ตามพระคัมภีร์ว่า กุปฺธมฺโม อกุปฺปธมฺโม ท่านแสดงตามคัมภีร์เสียพักหนึ่ง ว่าด้วยข้อฌาณโลกีย์ เสื่อมได้ในคนที่ควรเสื่อม ไม่เสื่อมได้ในคนที่ไม่ควรเสื่อม ฌาณก็เสื่อมไม่ได้ตามบาฬี แล้วอธิบายซ้ำว่า ธรรมดาฌาณโลกีย์เสื่อมได้เร็วก็จริงอยู่ แต่บุคคลผู้เป็นเจ้าของผู้ได้ฌาณมีความกระหายต่อเหตุการณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจเป็นของใหม่ ของเก่าก็ยังอาลัย สละทอดทิ้งเสียไม่ได้ เพราะเคยเสวยสุขคุ้นเคยกันมานาน ของเก่าคือฌาณที่ตนอาศัยสงบอารมณ์ก็เห็นมีคุณดีอยู่ของใหม่ตามข่าวบอกเล่ากันต่อมา และคนที่ควรเชื่อได้ชี้แจงอย่างถี่ถ้วนว่า ของใหม่ดีอย่างนั้นๆ แต่อาลัยของเก่ามาก จึงทิ้งไม่ได้ ทำไปไม่ได้ จะยึดสองฝ่ายก็ไม่ได้ เพราะของใหม่ไม่คุ้นกัน ไม่เคยเห็นใจกันผะอืดผะอมมากเสียดายของรักก็มีเสียดายของใหม่ คือรู้แน่ว่าพระสิทธาตถ์จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก็มี แต่แกเสียใจว่าจะตายไปเสียก่อน และเห็นว่าพรหมโลกอยู่ในเงื้อมือแน่นอน แต่คุณของการพบพระพุทธเจ้านั้นจะทำประโยชน์สุขสมบัติอะไร กาลเทวินทร์ยังไม่รู้ จึงไม่อาจทำฌาณให้เสื่อม ทั้งเป็นบุคคลที่เป็นอุปปธรรมยังไม่เป็นคนที่ควรเสื่อมจากคุณธรรมที่ตนได้ตนถึงด้วย เปรียบเหมือนคนที่ป่วยไข้อยู่ จะกระทำกระปรี้กระเปร่าแข็งแรงคึกคัก กินข้าว กินน้ำ อร่อยอย่างคนธรรมดาดีดีนั้นไม่ได้ คนที่ดีดีผิวพรรณผุดผ่องจะมารยาทำป่วยไข้ จะนั่งห่มผ้าคลุมกรอมซอมซ่อพูดกระร่อกระแร่เป็นคนไข้ก็ทำไม่ได้ ทำให้คนอื่นแลเห็นรู้เป็นแน่ว่า คนที่ทำเป็นไข้นั้น เป็นไข้มารยาไข้ไม่จริง คนในเห็นคนนอกเป็นสุขสบายก็ออกมาเป็นคนนอกไม่ได้เหตุอาลัยความคุ้นเคยข้างในอยู่มาก คนนอกเห็นคนในนวยนาฏน้ำนวลผ่องใสด้วยผ้านุ่งห่ม แต่ไม่อาจเป็นคนในกับเขา เพราะเป็นห่วงอาลัยของข้างนอก จะไปเที่ยวชั่วคราวนั้นได้ แต่จะไปอยู่ทีเดียวไม่ได้ เพราะไม่ได้วางใจว่าเหตุการณ์ข้างในจะดีหรือเลวยังไม่แน่ใจ เป็นแต่กระหายอยู่เท่านั้น คนที่มีความสุขสบายอยู่ด้วยเพศบวชมาช้านาน แต่แลเห็นคนที่ไม่เคยบวชเที่ยวแตร่ กินนอน ดู ฟัง เล่นหัวสบาย ไม่มีเครื่องขีดคั่นอะไร บางคราวชาววัดบางคนเห็นดีแต่ไม่อาจออกไป เพราะถ้าออกไปไม่เหมือนเช่นเขา หรือเลวทรามกว่าเขา จะทุกข์ตรมระบมทวีมาก จะเดือดร้อนยิ่งใหญ่มาก ก็เป็นแต่นึกสนุกแต่ไม่ออกไปทำอย่างเขา เพราะอาลัยในความสุขในการบวชค้ำใจอยู่ออกไปไม่ได้ เป็นแต่ทำเอะอะฮึดฮัดไปตามเพลง คนที่ยังไม่เคยบวชนั้น เห็นว่าผู้บวชสบายไม่ต้องกังวลอะไรกินแล้วก็นอน นอนแล้วก็เที่ยวตามสบาย ไม่ต้องเหงื่อไหลไคลย้อย ไม่ต้องแสวงหาอาหารมีคนเลี้ยงคนเชิญน่าสบาย คนที่ไม่บวชคิดเห็นดีไปเพ้อๆ เท่านั้น แต่ไม่กล้าหันเข้ามาบวช เหตุว่ากามคุณทั้งห้าเหนี่ยวรั้งน้ำใจไว้ สละมาเอาอย่างผู้บวชไม่ได้ เลยนั่งดูกันไปดูกันมา เพราะยังไม่ถึงคราวจะบวช หรือยังไม่ถึงคราวจะสึก ก็ยังสึกและยังบวชไม่ได้นั่นเอง ข้ออุปมาทั้งหลายดังถวายวิสัชนามานี้ ก็มีอุปมัยเปรียบเทียบด้วยฌาณทั้ง ๙ ประการ ที่เป็นธรรมเสื่อมได้เร็วก็จริง แต่ยังไม่ถึงคราวเสื่อม ก็ยังเสื่อมไม่ได้ กาลเทวินทร์ดาบสก็เปรียบดังชาววัด ชาวบ้าน ชาวนอก ชาวใน ต่างเห็นของกันและกัน ไม่อาจแสร้งให้ฌาณเสื่อม ที่ตรงแกร้องไห้นั้น อาตมาภาพเข้าใจว่า แกร้องไห้เสียดายขันธ์ เพราะแกกล่าวโดยอันยังไม่รู้เท่าทันขันธ์ว่ามันเป็นสภาพแปรปรวนแตกดับเป็นธรรดาของมันเอง แต่เวลานั้นโลกยึดถือขันธ์มาช้านาน ที่กาลเทวินทร์เจริญอรูปฌาณจนสำเร็จก็เพราะคิดรักษาขันธ์ เพื่อมิให้ขันธ์พลันแตกสลายทำลาย จึงพยายามมาได้สำเร็จความปรารถนาและเสียดายหน้าตา ถ้าชีวิตของแกอยู่มาอีก ๓๖ ปี แกจะได้เข้าบรรจบประสบคุยกับหมู่พุทธบริษัทและหมู่พระประยูรญาติ และหมู่พุทธมามกะผู้นับถือ แกจะพลอยมีชื่อยกตัวเป็นครูอย่างดีกว่าที่แล้วมา แต่พระอรรถกถาจารย์ท่านไม่ว่าอย่างขรัวโตเห็นท่านว่าเพียงว่า กาลเทวินทร์เสียใจว่าจะตายเสียก่อนเท่านั้น ไม่ทันพระสิทธาตถ์เป็นพระพุทธเจ้าเท่านี้ ฯ

· เรื่องเทศน์ถวายและเฉลยพระปัญหาถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ กรมหมื่อบำราบปรปักษ์ ตามที่เรียบเรียงไว้นี้ ได้ฟังมาจากสำนักพระปรีชาเฉลิม(แก้ว) เจ้าคุณพระปรีชาเฉลิม(แก้ว) ได้ฟังมาจากเจ้าคุณปรีชาเฉลิม(เกษ) พระปรีชาเฉลิม(เกษ) เป็นเปรียญ ๖ ประโยค อยู่วัดอรุณราชวรารามได้เป็นพระรับสัพพี จึงได้ยินเทศนาถวายของคุณธรรมกิตติ(โต) ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ฯ

· ต่อแต่นั้นมาท่านก็มีชื่อเสียงในทางเทศน์ ตัดทอนธรรมะให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรองสำนวน เพราะเทศน์อย่างคำไทยตรงๆ จะเอาข้อธรรมะอะไรมาแสดงก็ง่ายต่อผู้ฟังดังประสงค์ อย่างที่ถวายในวังสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ผู้ฟังชมว่าดี เกิดโอชะในธรรมสวนะได้ง่าย โลกนิยมเทศน์อย่างนี้มาก พระธรรมกิตติแสดงธรรมตามภาษาชาวบ้าน ถือเอาความเข้าใจของผู้ฟังเป็นเกณฑ์ไม่ต้องร้อยกรอง ฯ

· ครั้นถึงปีชวดฉศก จุลศักราช ๑๒๒๖ ปี ได้ถูกนิมนต์เทศน์หน้าพระที่นั่ง พอเข้าไปถึงพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออก จึงปราศรัยสัพยอก “ว่าไงเจ้าคุณ เขาพากันชมว่าเทศน์ดีนักนี่ วันนี้ต้องลองดู” พระธรรมกิตติ(โต) ถวายพระพรว่า “ผู้ที่ไม่มีความรู้เหตุผลในธรรม ครั้นเขาฟังรู้ เขาก็ชมว่าดี ขอถวายพระพร” พระองค์ทรงพระสรวล แล้วทรงถามว่า “ได้ยินข่าวเขาว่า เจ้าคุณบอกหวยเขาถูกกันจริงหรือ” ทูลว่า “ขอถวายพระพร อาตมาภาพจะขอแถลงแจ้งคำให้การแก้พระราชกระทู้ดดยสัจจ์ว่า ตั้งแต่อาตมาภาพได้อุปสมบทมา ไม่เคยออกวาจาว่าหวยจะออก ด กวางเหมงตรงๆ เหมือนดังบอก ด กวางเหมงแด่สมเด็จพระบรมบพิตร์ พระราชสมภารเจ้าอย่างวันนี้ไม่ได้เคยบอกแก่ใครเลย” ได้ทรงฟังแล้วพระสรวลอีกแล้วทรงจุดเทียน พระธรรมกิตติจับตาลปัตแฉกขึ้นธรรมมาสน์ เมื่ออาราธนาแล้ว ก็ถวายศีลแล้วถวายศักราช พอถึงปีชวดท่านก็ย้ำ “ฉศก ฉศก ฉศก ฉศก” สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระอักษรอยู่ ได้ทรงฟังปีชวด ฉศก ย้ำๆ อยู่นาน ก็เงยพระพักรขึ้นพนมหัตถ์รับว่า “ถูกแล้ว ชอบแล้ว เจ้าคุณ” แต่กาลก่อนที่ล่วงมาแล้ว เดิมเลข ๖ ท้ายศักราช เขียนและอ่านต่อๆมาว่า “ฉ้อศอ” นั้นไม่ถูก แล้วรับสั่งกรมราชเลขาให้ตราพระราชบัญญัติ ออกประกาศเป็นใบปลิวให้รู้ทั่วกันทั่วพระราชอาณาจักร์ว่า “ตั้งแต่ปีชวด ฉศก เหมือนศกนี้มีเลข ๖ เป็นเศษท้าย ไม่ให้เขียนและอ่านว่า ฉ้อศก อย่าเขียนตัว อ เคียงไม่ให้เขียนไม้โท ลงไปเป็นอันขาด ให้เขียน ฉ เฉยๆก็พอ ถ้าเขียนและอ่านว่า ฉ้อศก อีก จะต้องว่าผู้นั้นผิดและฝ่าฝืน” กรมราชเลขาก็บันทึกและออกประกาศให้ทราบทั่วกัน และนิมนต์ท่านเทศน์ต่อไป ฯ

· พระธรรมกิตติก็ตั้งคัมภีร์บอกศักราชต่อจนจบ ถวายพรแล้วเดินคาถาจุณณียบท อันมีมาในพราหมณ์สังยุตตนิกายปฏิกวรรคนั้น แปลถวายว่า ยังมีพราหมณืผู้หนึ่งแกนั่งคิดว่า “สมณํ โคตมํ อุปสงฺกมิตฺวา อิมํ ปณฺหํ ปุจฺฉามิ อหํ กูจะเข้าไปหาพระสมณะโคดมแล้ว กูจะถามปัญหากับเจ้าสมณะโคดมดูสักหน่อย” สีสณฺหตฺวา ปารุปนํ นิวาเสตฺวา คามโตนิกฺขมิตฺวา เชตวน มหาวิหาราภิมุโข อคมาสิ” แปลว่า โสพฺราหฺมโณ พราหมณ์ผู้นั้น คิดฉะนี้แล้ว แกจึงลงอาบน้ำดำเกล้า โสพฺเภ ในห้วยแล้วแกออกจากบ้านแก แกตั้งหน้าตรงไป พระเชตวันมหาวิหาร ถึงแล้ว แกจึงตั้งข้อถามขึ้นต้น แกเรียกกระตุกให้รู้ตัวขึ้นก่อนว่า “โภ โคตม นี่แน่ะพระโคดม” ฯ

· ครั้นท่านว่ามาถึงคำว่า “นี่แน่ะพระโคดม”เท่านี้แล้ว ก็กล่าวว่า คำถามของพราหมณ์และคำเฉลยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่เป็นประการใด สมเด็จพระบรมพิตร์เจ้าได้ทรงตรวจตราตริตรองแล้ว ก็ได้ทรงทราบแล้วทุกประการ ดังรับประทานวิสัชชนามาควรแก่เวลาแต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการดังนี้ ขอถวายพระพร ฯ

· พอยถาสัพพีแล้ว ก็ทรงพระสรวลตบพระหัตถ์ว่า “เทศน์เก่งจริงพวกพราหมณ์ที่เขาถือตัวว่าเขารู้มากเขาแก่มาก เขาไม่ใคร่ยอมคำรพพระเจ้านักเขามาคุยๆ ถามๆ พอแก้รำคาญต่อนานๆ เขาก็เชื่อในธรรม เขาก็สำเร็จเป็นพระโสดาที่ความดำริห์ของพราหมณ์ผู้เจ้าทิฏฐิทั้งหลายเขาวางโตทุกคน เจ้าคุณแปล อหํ กูว่านั้น ชอบแท้ทางความดีจริงๆ รางวัล ก็ได้รับพระราชทานรางวัล ๑๖ บาท เติมท้องกัณฑ์ ๒0 บาท รวมเป็น ๓๖ บาท” ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 13:23:05
* (เรื่อง ฉศก เรื่องถวายเทศน์อย่างที่เรียงมานี้ พระปรีชาเฉลิมแก้วเคยเล่าให้ฟังเป็นพื้นจำมีอยู่บ้าง ซึ่งได้สืบถามพระธรรมถาวรอีกท่านก็รับว่าจริง แต่เทศน์ว่าอย่างไรนั้นลืมไป พระธรรมถาวรว่า แต่ความคิดของพราหมณ์ใช้คำว่ากู กูนี้ยังจำได้ เจ้าคุณธรรมถาวรเลยบอกต่อไปว่าวันที่ถวายเทศน์ถวาย ฉศก นี้ และถวาย ด กวางเหมงไว้ก่อนขึ้นเทศน์นั้นว่า วันนั้นหวยจำเพาะออก ด กวางเหมงจริงอย่างที่ท่านแก้พระราชกระทู้ว่า ไม่เคยบอกตัวตรงๆ กับใครๆ เหมือนดังบอกสมเด็จพระบรมพิตรวันนี้)

· ครั้นถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีชวดศกนี้เอง ทรงพระมหากรุณาโปรดเลื่อนสมณศักดิ์พระธรรมกิตติ(โต) ขึ้นเป็นพระเทพกวีราชาคณะผู้ใหญ่ในตำแหน่งสูง มีนิตยภัตร ๒๘ บาท ค่าเข้า ๑ บาท ฯ

· ครั้นออกพรรษาในปีชวดศกนั้นแล้ว พระเทพกระวี(โต) จึงลงมากวาดล้างกุฏิใหญ่ ๕ ห้อง ข้างคลองคูวัดระฆังข้างใต้ แล้วบอกบุญแก่บรรดาผู้ที่มาสันนิบาตให้ช่วยการทำบุญขึ้นกุฏิ ได้เผดียงสงฆ์ลงสวดมนต์ทั้งวัดที่กุฏินั้น ค่ำวันนั้นมีมหรสพฉลองผู้ที่ศรัทธานับถือลือไปถึงไหน ก็ได้มาช่วยงานถึงนั่น บรรดาผู้ที่มานั้นต่างก็หาเลี้ยงกันเอง งานที่ทำคราวนั้นเป็นงานใหญ่มาก เลี้ยงพระถึง ๕00 องค์ ผู้คนต่างนำสำรับคาวหวานเครื่องไทยทานมาถวายพระเทพกระวีแน่นวัดแน่นวา ครั้นการเลี้ยงพระเลี้ยงคนสำเร็จเรียบร้อย ท่านลงแจกด้ายผูกถักข้อมือคนละเส้น แล้วท่านบอกว่าดีนักจ๊ะ ลองดูจ๊ะตามประสงค์ ฯ

· ครั้นพระเทพกระวี(โต) ขึ้นอยู่บนกุฏิ ๕ ห้องแล้ว ผู้คนก็ละเล้าละลุมเพื่อจับหวยทุกวัน ครั้นนั้นพระยาโหราธิบดี ทำบุญฉลองสัญญาบัตร พระเทพกระวีก็ได้ไปสวดมนต์ไปฉัน ครั้นพระยาโหราธิบดี และเสมียนตราด้วง ปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหม (วัดอินทรวิหาร) สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระเทพกระวีก็ได้ไปเทศน์ไปฉันการฉลองวัด เมื่อท่านพระยานิกรบดินทร์สร้างวัดกัลยาณมิตรแล้วก็มีการฉลอง สมเด็จพระสังฆราช(นาค) พระเทพกระวี(โต) ก็ได้ไปฉันคราวพระยานิการบดินทร์สร้างโบสถ์วัดเกตุไชโย พระเทพกระวี(โต) ก็ได้ไปเป็นแม่งานฉลองโบสถ์ มีการมหรสพใหญ่โตตามประสาชาวบ้านนอกอำเภอไชโยนั้น มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ขึ้นไปช่วยงานฉลองโบสถ์วัดเกตุไชโยนั้นมากท่านด้วยกัน ฯ

· ครั้นกาลล่วงมาสมเด็จพระวันรัตวัดมหาธาตุ ถึงมรณภาพแล้ว สมเด็จพระวันรัตเซ่ง วัดอรุณเป็นเจ้าคณะกลาง ครั้งนั้นพระอันดับในวัดระฆังทะเลาะกัน และฝ่ายหนึ่งได้ตีฝ่ายหนึ่งศีรษะแตก ฝ่ายศีรษะแตกได้เข้าฟ้องพระเทพกระวีเจ้าอาวาสๆ ก็ชี้หน้าว่าคุณตีเขาก่อน พระองค์หัวแตกเถียงว่าผมไม่ได้ทำอะไร องค์นั้นตีกระผม พระเทพกระวีว่าก็เธอตีเขาก่อน เขาก็ต้องตีเธอบ้าง พระก็เถียงว่าเจ้าคุณเห็นหรือ พระเทพกระวีเถียงว่าถึงฉันไม่ได้เห็นก็จริง แต่ฉันรู้อยู่นานแล้วว่าคุณตีเขาก่อน คุณอย่าเถียงฉันเลย พระองค์ศีรษะแตกเสียใจมาก จึงได้อุตส่าห์เดินลงไปวัดอรุณ เข้าอุทธรณ์ต่อสมเด็จพระวันรัต(เซ่ง) เจ้าคณะกลาง ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 13:24:20
ส่วนสมเด็จพระวันรัต(เซ่ง) จึงเรียกตัวพระเทพกระวี(โต) ไปชำระตามคำอุทธรณ์ พระเทพกระวี(โต) ก็โต้คำอุทธรณ์และตอบสมเด็จพระวันรัตว่า ผมรู้ดีกว่าเจ้าคุณอีก เจ้าคุณได้รู้แต่ว่าเห็นเขาหัวแตกเท่านั้น ไม่รู้ถึงเหตุในกาลเดิมมูลกรณี ผมรู้ดีว่าคุณองค์นั้นได้ตีคุณองค์นั้นก่อน แต่เขาบ่ห่อนจะรู้สึกตัว เขามามัวแต่ถือหัว หัวเขาจึงแตก ฯ

· สมเด็จพระวันรัต(เซ่ง) ฟังๆ ก็นึกแปลก แยกวินิจฉัยก็ไม่ออก กลับจะเป็นคนถือเอาแต่คำบอก จึงย้อนถามว่า เจ้าคุณเห็นอย่างไรจึงรู้ได้ว่า พระองค์นี้ตีพระองค์นั้นก่อน แจ้งให้ฉันฟังสักหน่อยให้แลเห็นบ้าง จะได้ช่วยกันระงับอธิกรณ์ ฯ

· พระเทพกระวีว่า พระเดชพระคุณจะมีวิจารณ์ยกขึ้นพิจารณาแล้ว กระผมก็เต็มใจอ้างอิงพยานถวาย พระวันรัตว่า เอาเถอะผมจะตั้งใจฟังเจ้าคุณชี้พยานอ้างอิงมา พระเทพกระวีจึงว่า ผมทราบตามพุทธฎีกา บอกให้ผมทราบว่า นหิเวรานิวูปสัมมันติ ว่าเวรต่อเวรย่อมเป็นเวรกันร่ำไป ถ้าจะระงับเวรเสียด้วยไม่ตอบเวร เวรย่อมระงับ นี่แหละพระพุทธเจ้าบอกผมเป็นพยานกระผมว่าเวรต่อเวร มันจึงทำกันได้ ผมเห็นตามคำพระพุทธเจ้าบอกผมเท่านี้ ผมจึงวิจารณ์พิจารณากล้ากล่าวได้ว่า คุณตีเขาก่อน ฯ

· สมเด็จพระวันรัต(เซ่ง) ชักงงใหญ่ จะเถียงก็ไม่ขึ้น เพราะท่านอ้างพุทธภาษิตจึงล้มเข้าหาพระเทพกระวี(โต) ว่าถ้ากระนั้นเจ้าคุณต้องระงับอธิกรณ์เรื่องนี้ว่าใครเป็นผู้ผิด ผู้ถูกโทษจะตกกับผู้ใด แล้วแต่เจ้าคุณจะตัดสินเถิด พระเทพกระวีมัดคำพระวันรัตว่าพระเดชพระคุณอนุญาติตามใจผม ผมจะชี้โทษชี้คุณให้ยินยอมพร้อมใจกันทั้งคู่ความทั้งผู้พิพากษาให้อธิกรณ์ระงับได้ ให้เวรระงับด้วย สมเด็จพระวันรัตก็อนุญาติ ฯ

· พระเทพกระวี(โต) ก็ประเล้าประโลมโน้มน้าวกล่าวธัมมิกถาพรรณาอานิสงฆ์ของผู้ระงับเวร พรรณาโทษของผู้ต่อเวรให้โจทย์จำเลยสลดจิต คิดเห็นบาปบุญคุณโทษ ปราโมทย์เข้าหากัน ท่านจึงแก้ห่อผ้าไตรออกกับเงินอีกสามตำลึง ทำขวัญองค์ที่ศีรษะแตกแยกบทชี้เป็นสามสถาน ผู้ตีตอบเอาเป็นหมวดเวรจักไม่ตีใครต่อไป ถ้าขืนไปตีใครอีกจะลงโทษว่าเป็นผู้ก่อเวรฝืนต่อพระบวรพุทธศาสนา มีโทษหนักฐานละเมิด ฯ

· ผู้ที่ถูกตีก็ระงับใจไม่อาฆาฏ ไม่มุ่งร้ายต่อก่อเวรอีก ถ้าขืนคดในใจทำหน้าไหว้หลังหลอกเอาฉันเป็นผู้ปกครอง หรือขืนฟ้องร้องกันต่อไป ว่าฉันเอนเอียงไม่เที่ยงธรรมแล้ว จะต้องโทษฐานบังอาจหาผู้ใหญ่ โดยหาความผิดมิได้ ทั้งจะเป็นเสี้ยนหนามต่อพระบวรพุทธศาสนาเป็นโทษใหญ่ร้อนถึงรัฐบาล จะต้องลงอาญาตามรบิลเมือง ฯ

· ฝ่ายฉันเป็นคนผิดเอาแต่ธุระอื่น ไม่สอดส่องดูแลลูกวัด ไม่คอยชี้แจงสั่งสอนอันเตวาสิก สัทธิงวิหาริก ให้รู้ธรรมรู้วินัย จึงลงโทษตามพระวินัยว่าไม่ควรย่อมเป็นโทษแท้ ขอคดีเรื่องนี้จะเลิกระงับไปตามวินัยนี้ พระถานาที่นั่งฟังทั้งมหาและพระอันดับพระคู่ความ ก็สาธุการเห็นดีพร้อมกันอย่างเย็นใจ พระวันรัต(เซ่ง) ก็เห็นดีสงบเรื่องลงเท่านี้ ฯ

· ครั้งหนึ่งพระวัดระฆังเต้นด่าท้าทายกันขึ้นอีกคู่ พระเทพกระวี(โต) ท่านเอกเขนกนั่งอยู่นอกกุฏิท่าน ท่านแลเห็นเข้า ทั้งได้ยินพระทะเลาะกันด้วย จึงลุกเข้าไปในกุฏิ จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พานรีบเดินเข้าไปในระหว่างวิวาท ซุดองค์ลงนั่งคุกเข่าไปถวายดอกไม้ธูปเทียนพระคู่นั้นแล้วอ้อนวอนวอนฝากตัวว่า พ่อเจ้าประคุณ พ่อจงคุ้มฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่า พ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้เก่งแท้แท้ พ่อเจ้าประคุณ ลูกฝากตัวด้วย เลยพระคู่นั้นเลิกทะเลาะกัน มาคุกเข่ากราบพระเทพกระวีๆ ก็คุกเข่ากราบต่อพระ กราบกันอยู่นั่น หมอบกันอยู่นั่นนาน ฯ

· ครั้งหนึ่งสมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง) นิมนต์เข้าไปเทศน์ที่จวน สมเด็จเจ้าพระยาจุดเทียน พระเทพกวีขึ้นธรรมาสน์ ครั้นรับศีลเสร็จแล้ว พวกหัวเมืองเข้ามาหาสมเด็จเจ้าพระยาหมอกันเป็นแถว ส่วนตัวเจ้าพระยานั้นเอกเขนกรินน้ำชาไขว่ห้างกำลังพระเทศน์ พระเทพกวีเลยเทศน์ว่า สัมมามัวรินกินน้ำชามิจฉาหมอบก้มประนมมือ สมเด็จเลยบาดหูลุกเข้าเรือน ส่วนพระเทพกวีก็ลงจากธรรมาสน์กลับวัดระฆัง ข่าวว่าตึงกันไปนาน ฯ

· ครั้นสมเด็จพระวันรัต(เซ่ง) ถึงมรณภาพแล้ว พระเทพกวีต้องเป็นผู้ใหญ่นั่งหน้า ครั้งหนึ่งเมื่อมีกิจการฉลองสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวัง พระเทพกวีเป็นผู้ชักนำพระราชาคณะอ่อนๆ ลงมา ครั้นสวดเสร็จแล้วยถา พระรับสัพพีแล้วสวดคาถาโมทนาจบแล้ว พระเทพกวี(โต) จึงถวายอดิเรกขึ้นองค์เดียวดังนี้
อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ อติเรกวสสฺตํ ชีวตุ ฑีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ สุขิโต โหตุ มหาราชา สิทฺธิกิจฺจำ สิทฺธิกัมมํ สิทฺธิลาโก ชโย นิจฺจํ มหาราชสฺส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพรดังนี้


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:08:53
สมเด็จพระจอมเกล้าทรงโปรดมาก รับสั่งถามว่า แก้ลัดตัดเติมจะได้บ้างไหม พระเทพกระวี(โต) ถวายพระพรว่าอาตมาภาพได้เปยยาลไว้ในตัวบทคาถา สำหรับสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าได้ทรงตรอกลง ตามพระบรมราชอัธยาศัยแล้ว สมเด็จพระจอมเกล้าทรงตรอกซ้ำลงตรงฑีฆายุอีกบันทัดหนึ่ง ทรงตรอกลงที่หน้าศัพท์มหาราชสฺสเป็นปรเมนฺ ทรงมหาราชวรสฺส นอกนั้นคงไว้ตามคำพระเทพกระวี(โต) ทุกคำ แล้วตราพระราชบัญญัติประกาศไปทุกๆ พระอารามให้เป็นขนบธรรมเนียม ต้องให้พระราชาคณะผู้นั่งหน้าถวายคาถาอติเรกนี้ก่อน จึงรับภาตุสัพฯ จึงถวายพรลาออกจากพระที่นั่งได้ ตลอดจนการพระเมรุ การถวายพระกฐินทานตามพระอารามหลวง ต้องมีพระราชาคณะถวายอติเรกนี้ทุกคราวพระราชดำเนิน จึงเป็นราชประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้แล ฯ

· ครั้นถึงปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ปี สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเทพกระวี(โต) ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รับหิรัญบัตรมีถานา ๑0 มีนิตยภัตร ๓๒ บาท ค่าข้าวสาร ๑ บาทต่อเดือน สมเด็จฯ มีชนมายุ ๗๔ พรรษา ๕๖ ได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีโสกันต์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโสกันต์คราวนี้มีเขาไกรลาศ รวมที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้ ๑๕ ปี จึงได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ปี เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลที่ ๔ กรุงเทพพระมหานครแล ฯ

· ครั้งหนึ่งมีราชการโสกันต์ สังฆการีวางฎีกาว่าย่ำรุ่งถึง แล้วถวายพระพร ถวายชัยมงคลคาถา พระฤกษ์โสกันต์วางฎีกาสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ครั้นได้เวลาย่ำรุ่งตรงท่านก็มาถึง พระมหาปราสาทยังไม่เปิดพระทวารสมเด็จพระพุฒาจารย์ก็มานั่งอยู่บนบันไดพระมหาปราสาทชั้นบน แล้วท่านก็สวดชัยมงคลคาถาชยันโตโพธิยาลั่นอยู่องค์เดียว สามจบแล้ว ท่านก็ไปฉันข้าวต้มที่ทิมสงฆ์ แล้วท่านก็ไปพักจำวัดในโรงม้าต้น ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นเวลาสามโมงเช้า เสด็จออกจวนพระฤกษ์ สังฆการีประจุพระราชาคณะประจำที่หมดยังขาดแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์เดียว เที่ยวตามหากันลั่นไปหมด สมเด็จพระจอมทรงกริ้วใหญ่ พวกทนายเลือกสนมใน บอกต่อๆ กันเข้าไปว่าได้เห็นสมเด็จหายเข้าไปในโรงม้าต้นพวกสังฆการีเข้าไปค้นคว้าเอาองค์ท่านมาได้ ช่วยกัรรุนกันดันส่งเข้าไปในพระทวาร ครั้นทอดพระเนตร์เห็นก็กริ้วแหวรับสั่งว่าถอดๆ ไม่ระวังรั้วงานราชการเป็นขุนนางไม่ได้แฉกคืนๆ เร็วๆ เอาชยันโตทีเดียวขรัวโตก็เดินชยันโตจนถึงอาสน์สงฆ์ แล้วนั่งลงเข้าแถวสวด พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงคีบพระเมาฬี พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้ใหญ่ก็คีบแลโกนเป็นลำดับไป ครั้นเสด็จแล้วทรงประเคน อังคาสพระสงฆ์แล้วเสด็จเข้าในพระฉาก ฯ
 
· ขรัวโตฉันแล้วก็นั่งนิ่ง เสด็จออกเร่งให้ยถา ขรัวโตก็ยถาแต่ไม่ตั้งตาลิปัต เวลานั้นพระธุระมาก มัวหันพระพักตร์ไปรับสั่งราชกิจอื่นๆ พระพุฒาจารย์โต ก็เดินดุ่มๆ รีบออกไปลงเรือข้ามฟาก พอแปรพักตร์มารับสั่งว่าถวายอติเรก จะรีบฯ พระราชาคณะรองๆ ลงมา ก็ไม่มีใครกล้านั่งงันกันไปหมด รับสั่งถามว่า อ้าวสมเด็จหายไปไหน เขาทูลว่าท่านกลับไปแล้ว อ้าวพัดยังอยู่ ชรอยจะทำใจน้อยไม่เอาพัดไป เร็วเอาพัดไปส่งตัวมาถวายอติเรกก่อน สังฆการีรับออกเรือตามร้องเรียกเจ้าคุณขอรับ นิมนต์กลับมาก่อนเอาพัดแฉก ท่านร้องตอบมาว่า พ่อจะมาตั้งสมเด็จกลางแม่น้ำได้หรือ สังฆการีว่ารับสั่งให้หา ท่านก็ข้ามกลับมาเข้าทางประตูต้นสนดุ่มๆ ขึ้นมาบนพระปราสาท แล้วรับสั่งให้ถวายอติเรกเร็วๆ ฯ ทูลว่าขอถวายพระพรถวายไม่ได้ฯ รับสั่งถามว่าทำไมถวายไม่ได้ฯ ทูลว่าขอถวายพระพร เหตุพระราชบัญญัติตราไว้ว่า ให้พระราชาคณะถวายอติเรก บัดนี้อาตมภาพกลายเป็นพระอันดับแล้ว จึงไม่ควรถวายอติเรก ขอถวายพระพรฯ รับสั่งว่า อ้อจริงๆ เอาสิตั้งกันใหม่ กรมวังออกหมายตั้งสมเด็จ บอกวิเสศเลี้ยงพระอีก สังฆการีวางฎีกาเอาพระชุดนี้ก็ได้ วิเศสทำไม่ทันก็ทำแต่น้อยก็ได้เพียง ๕ องค์ ศุภรัตน์เตรียมผ้าไตรตั้งและพระไตรพระชยันโต แล้วเสด็จพวกสังฆการี วางฎีกาพระชุดโสกันต์กำหนดเวลาเลยกลับไม่ได้
ครั้นเวลา ๕ โมงเสด็จออกทรงประเคน พระฉันแล้ว (ประกาศตั้งสมเด็จ) ทรงประเคนหิรัญบัตร ประเคนไตร บาตร์ ตาลิปัต ย่าม พระชยันโต คราวนี้สมเด็จยกไตรแพรครองกลับเข้ามาอนุโมทนาแล้ว ถวายอติเรก ถวายพระพรลา เป็นอันเสร็จการไปคราวหนึ่ง ฯ

· ครั้งหนึ่งเข้าไปฉันในพระบรมราชวัง ได้ทรงประเคนไตรแพร ท่านก็นำไตรแพรนั้นเช็ดปากเช็ดมือยุ่งไปหมด รับสั่งทักว่าไตรเขาดีดี เอาไปเช็ดเปรอะหมด ท่านตอบว่าอะไรถวายได้ผ้าเช็ดมือถวายไม่ได้ อาตมภาพก็ต้องเอาผ้าไตรของอาตมาเองเช็ดอาตมาเอง เป็นอันได้บริโภคของทายกแล้ว ไม่เป็นสัทธาเทยยวินิบาต ฯ

· ครั้งหนึ่งเข้าไปฉันในพระบรมมหาราชวังอีก ถวายเงินองค์ละ ๒0 บาท สมเด็จทำดีใจรวบเงินใส่ย่ามกราว ทรงทักว่าอ้าว พระจับเงินได้หรือ ขอถวายพระพร เงินพระจับไม่ได้ผิดวินัย แต่ขรัวโตชอบ เรื่องแผลงๆ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) องค์นี้ ตั้งแต่เป็นพระธรรมกิตติ มาจนเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ต่อหน้าที่นั่งเสมอๆ มา แต่ก็ทรงอภัย ซ้ำพระราชทานรางวัลอีกด้วย ถึงวันรวบเงินนี้ ก็รางวัลอีก ๓0 บาท รวบใส่ย่ามทันที ครั้นหิ้วคอนย่ามออกมา คนนั้นล้วงบ้าง คนนี้ล้วงบ้าง จนหมดย่ามท่านคุยพึมว่า วันนี้รวยใหญ่ๆ ฯ

· ครั้นคราวหนึ่งนักองค์ด้วง เจ้าแผ่นดินเขมร กลุ้มพระหทัยมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดให้เผดียงสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ให้ออกไปแสดงธรรมโปรดนักองค์ด้วง ณ เมืองเขมร คราวนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์ถึงกับบ่นที่วัดระฆังว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าก็ไม่ใช่โง่ แต่ว่าใช้ขรัวโตไม่ได้ สมเด็จพระจอมเกล้าฉลาดว่องไวกลับมาได้ใช้ขรัวโต ฯ

· ครั้นถึงวันกำหนด ท่านก็พาพระถานา ๔ รูป ไปลงเรือสยามูปสดัมถ์ เจ้าพนักงานไปส่งถึงเมืองจันทบุรี แล้วขึ้นเกวียนไปทางเมืองตราด ไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แขวงเมืองตราดนั้น เป็นตำบลที่มีเสือชุมมาก มันเผ่นเข้าขวางหน้าเกวียน เวลารอนๆ จวนค่ำ คนนำทางหน้าเกวียนจดพลองเล่นตีกับเสือ เจ้าเสือแยกเขี้ยวหื้อใส่รุกขนาบคนถือพลองถอยหลังทุกที จนถึงหน้าเกวียนสมเด็จ คนหน้าเกวียนยกเท้ายันคนถือพลองไว้ไม่ให้ถอย ฯ

· สมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านเห็นเสือมีอำนาจดุมาก ท่านจึงบอกว่าเสือเขาจะธุระฉันคนเดียวดอกจ๊ะ ฉันจะพูดจาขอทุเลาเสือสักคืนในที่นี้ ครั้นแล้วท่านก็ลงส่งเกวียนส่งคนให้ไปคอยอยู่ข้างหน้า ท่านก็นอนขวางทางเสือเสีย เสือก็นั่งเฝ้าท่านคืนหนึ่ง เสือก็ไปไหนไม่ได้ จะไปไล่คนอื่นก็ไปไม่ได้ต้องเฝ้ายามสมเด็จยันรุ่ง ครั้นเวลาเช้าท่านเชิญเสือให้กลับไป แล้วท่านลาเสือว่า ฉันลาก่อนจ๊ะ เพราะมีราชกิจใช้ให้ไปจ๊ะ ว่าแล้วท่านก็เดินตามเกวียนไปทันกันแล้วท่านเล่าให้พระครูปลัดฟัง (พระครูปลัดคือ พระธรรมถาวรเดี๋ยวนี้) พวกครัวก็หุงต้มเลี้ยงท่าน เลี้ยงกันเสร็จแล้วก็นิมนต์สมเด็จขึ้นเกวียนคนลาก ท่านไม่ชอบวัวควายเทียมเกวียน ฯ

· ครั้นไปถึงเมืองพระตระบอง ข้าหลวงฝ่ายสยามบอกการเข้าไปถึง กรมเมืองเมืองเขมร กรมเมืองทราบแล้ว นำความทูลนักองค์ด้วงเจ้าเมืองเขมร ๆ เขมรทรงทราบ แล้วสั่งคนนำแคร่ออกไปรับสมเด็จ เข้าไปถึงในวัง กระทำความเคารพปฏิสันฐาน ปราศรัยปรนนิบัติแก่สมเด็จเป็นอันดี แล้วสั่งให้จัดการเลี้ยงดูข้าหลวง และผู้คนที่เชิญสมเด็จมานั้น แล้วให้จัดที่พักที่อยู่ให้ตามสมควร ครั้นเวลาเช้าจัดแจงตั้งธรรมาสน์บอกกล่าวพระยาพระเขมร แล้วเจ้านายฝ่ายเขมรตลอดพ่อค้าคฤหบดีเขมร ให้มาฟังธรรมของสมเด็จจอมปราชญ์สยาม สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามรับสั่งโปรดให้สมเด็จพระพุฒาจารย์มาโปรดเขมร เขมรทั้งหลายต่างก็ยินดีเต็มใจ พร้อมใจกันมาฟังเทศนาสมเด็จทุกตัวคน ฯ

· ครั้นเพลแล้วก็อาราธนาให้ขึ้นเทศน์ สมเด็จก็เลือกเฟ้นหาธรรมะนำมายกขึ้นแสดงชี้แจงและแปลงแก้ไขเป็นภาษาเขมร ให้พวกเขมรเข้าใจต่อตลอดมา ถึงพระมหากรุณาธิคุณของกรุงสยามด้วย เชื่อมกับสาสนปสาสน์ และพระรัฏฐปสาสน์ ให้กลมเกลียวกลืนกันเทศน์ให้ยึดโยงหยั่งถึงกัน ชักเอาเหตุผลตามชาดกต่างๆ พระสูตรต่างๆ ทางพระวินัยต่างๆ อานิสงษ์สันติภาพ และอานิสงษ์สามัคคีธรรม นำมาปรุงเป็นเทศนากัณฑ์หนึ่ง ครั้นจบลงแล้วนักองค์จันทร์มารดานักองค์ด้วง ได้สละราชบุตร ราชธิดา บูชาธรรม และสักการะด้วยแก้วแหวนเงินทองผ้าผ่อน และขัชชะโภชาหารตระการต่างๆ เขมรนอกนั้นก็เลื่อมใส เห็นจริงตามเทศนาของสมเด็จทุกคน และต่างก็เกิดความเลื่อมใสในองค์เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:10:02
สมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงได้ฝากนางธิดากุมารี ไว้กับมารดาเจ้านักองค์ด้วงรับมาแต่เจ้ากุมารชายคนเดียว นักองค์ด้วงเจ้าเมืองเขมรจึงจัดการส่งสมเด็จ มีเกวียนส่งเข้ามาจนถึงเมืองตราด เจ้าเมืองตราดจัดเกวียนส่งมาถึงเมืองจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีจัดเรือใบเรือเสาส่งเข้ามาถึงกรุงเทพพระมหานครจอดหน้าวัดระฆังทีเดียว ฯ
· ครั้นรุ่งเช้าสมเด็จพระพุฒาจารย์จึงเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เสด็จออกรับและทรงสดับรายงาน การที่ไปและไปถึง และเจ้าเขมรยินดีรับรองเลื่อมใส ได้เทศน์โปรดด้วยข้อนั้น นำข้อนั้นเทียบข้อนั้น ให้เจ้าเขมรเข้าใจด้วยนัยอย่างนั้น ลงมติอย่างนั้นตลอดเสนาเขมรทั่วกัน เขมรบูชาธรรมเป็นธรรมพลีบรรณาการมาอย่างนั้นเท่านั้น ของเท่านั้นๆ ให้ทรงถวายโดยละเอียดทุกประการ ฯ

· สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบรายงานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บรรยายถวาย เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ทรงนิยมชมเชยความสามารถของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงทรงยินดีถวายเครื่องกัณฑ์ที่ได้มานั้น จงเป็นสรรพสิทธิของเจ้าคุณทั้งหมด ทั้งทรงปวารณาว่าเจ้าคุณประสงค์สิ่งอะไร พอที่โยมจะอนุญาตได้โยมก็จะถวายแล้วก็เสด็จขึ้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็กลับวัดระฆัง ฯ

· ครั้นหายเหนื่อยสองสามวัน จึงเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เสด็จออกรับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ขอถวายพระพร ขอพระบรมราชานุญาตที่ดินที่วัดเกตุไชโยเท่านั้นวา ขอพระราชานุญาตสร้างพระใหญ่นั่งหน้าตัก ๘ วาไว้ในอำเภอไชโย ขอให้ทรงพระกรุณารับสั่งเจ้าเมืองกรมการให้วัด ให้มีพระราชลัญจกรประทับ รับสั่งว่าดีแล้ว จึงเป็นแบบที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน ต้องมีบัตรพระราชลัญจกรอนุญาตแล้วจึงเป็นวิสุงคาม ทรงพระกรุณาโปรดมีใบพระบรมราชานุญาต ประทับตราแผ่นดินถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เลยตราพระราชบัญญัติวิสุงคามสีมาต่อไปในคราวนั้นเป็นลำดับมา ฯ

· สมเด็จจึงจำหน่ายเครื่องกัณฑ์เทศน์จากเมืองเขมรลงเป็นอิฐ เป็นปูน เป็นทราย เป็นค่าแรงงานคน เป็นทุนรองงานขึ้นไปจัดการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ณ ที่ริมวัดเกตุไชโย เจ้าเมืองกรมการก็มารางวัดที่ตามที่มีท้องตราบังคับ ราชบุรุษทั้งปวงให้สมเด็จนำชี้ที่ สมเด็จก็ชี้หมดทั้งวัด และชี้ที่สร้างพระวิหารวัดเกตุ สำหรับคลุมองค์พระ และชี้ที่ถานสุกะชี ชี้ที่สร้างองค์พระ ราชบุรุษก็วัดตามประสงค์ ชี้ที่โบถ์ด้วย ชี้ที่อุปจารทั้งหมดด้วย รวมเนื้อที่วัดเกตุไชโยมีประมาณแจ้งอยู่ในบัญชีหรดารของหลวงเสร็จแล้ว ฯ

· เมื่อกำลังสร้างพระใหญ่องค์นี้ พระยานิกรบดินทร์ และอำมาตย์ราชตระกูล ราษฎรพ่อค้าแม่ค้า คฤหบดี และสมเด็จพระจอมเกล้า สมเด็จพระปิ่นเกล้า และแขก ฝรั่ง เขมร ลาว มอญ จีน ก็ได้เข้าส่วนด้วยมากบ้างน้อยบ้าง สร้างอยู่นานเกือบสามปีจึงสำเร็จ จึงได้ถวายวัดไชโยเป็นวัดหลวง พระราชทานนามว่า วัดเกตุไชโย แปลว่า พระธงไชย วัดธงไชย ในอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง มีอธิบายว่า รถต้องมีธงที่งอนรถ เป็นที่ปรากฏประเทศ เมืองหลวงว่า ราชรัฏฐะต้องมีธงทุกประเทศ ทุกชาติ ทุกภาษา พระศาสนาก็ควรมีธงประกาศให้เทวดา มนุษย์ รู้ว่าประเทศนี้นับถือพระพุทธศาสนา จึงสมมุติพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้ เป็นประดุจดังธงไชย ให้ปลิวไปปลิวมาปรากฏทั่วกัน เหตุนั้นเทพยดาผู้มีฤทธิ์จึงเข้าสถิตย์ในองค์พระปฏิมากร จึงได้ศักดิ์สิทธิ์ลือขจรทั่วนานาทิศาภาคย์ คนหมู่มากเส้นสรวงบวงบน ให้คุ้มกันรักษาช่วยทุกข์ร้อนยากจน บางคนบางคราวก็ได้สมมาตร์ปรารถนาจึงมีผู้สักการะบูชามิได้ขาด เป็นด้วยอำนาจสัจจาธิฐานของสมเด็จบรมพิตรพระราชสมภารเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงปณิธานไว้อย่างหนึ่ง เป็นไปด้วยความสัจความจริงที่ดีที่แท้ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านแน่วแน่อยู่ในเมตตา กรุณา หวังว่าจะให้เป็นประโยชน์แล ความสุขสวัสดิมงคลแก่ปัจฉิมชนิกชน แต่บรรดาที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้บูชาได้หยั่งน้ำใจแน่วแน่ลงไปถึงคุณพระพุทธเจ้าว่า มีพระคุณแก่สัตว์โลกพ้นประมาณ พระจึงบันดาลเปล่งแสงออกมาด้วยอำนาจเทวดารักษา แสดงอิทธิฤทธิ์ออกรับเส้นสรวงบวงบนของคนที่ตั้งใจมาจริง จึงให้สำเร็จประโยชน์สมคิดทุกสิ่งทุกประการ ฯ

· แหละในขณะระหว่างการสร้างพระนั้น ท่านได้ขึ้นไปดูแลกิจการต่างๆ อยู่เสมอได้ตั้งพระสมุห์ไว้องค์หนึ่ง ชื่อพระสมุห์จั่น พระสมุห์จั่นได้เล่าให้ใครๆ ฟังอยู่เสมอว่า ได้ถามสมเด็จดูว่า พระโพธิสัตว์นั้นจะรู้จักได้อย่างไร สมเด็จก็ชูแขนของท่านว่าจงคลำดูแขนขรัวโต ครั้นพระสมุห์และใครๆ คลำแขนก็เห็นเป็นกระดูกท่อนเดียว ฯ

· ครั้งหนึ่งท่านตั้งขรัวตาขุนเณรเป็นพระวัดชีปะขาว เป็นที่พระอุปัชฌาย์ เมื่อแห่จากวัดมาวัดเกตุไชโยแล้ว นั่งพร้อมกันบนอาสน์สงฆ์ สมเด็จเจ้าโตอุ้มไตรเข้าไปกระแทกลงที่ตักขรัวตาขุนเณรแล้วออกวาจาว่า ฉันให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์หนาจ๋า พระอื่นก็เศกชยันโตโพธิยา ฯ

· ขรัวตาทองวัดเกตุไชโยเล่าว่า ท่านได้ทันเห็นสมเด็จฝังตุ่มใหญ่ไว้เหนือพระโตแล้วเอาเงินใส่ไว้ ๑ บาท เอากระเบื้องหน้าวัวปิดหลุมไว้ ครั้งหนึ่งท่านขึ้นไปตรวจงานที่วัดเกตุไชโย ท่านป่าวร้องชาวบ้านมาช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระบนศาลา ท่านแจกทานของท่านคนละเหรีญ ฬศ ๑ ในรัชกาลที่ ๔ กับผ้าขาวคนละฝ่ามือจนทั่วกันหมดทุกคน ครั้นตอนสุดที่พระแล้วท่านขึ้นไปที่วัดเกตุไชโย สัปปรุสเอาแคร่คานหามลงไปรับท่าน ครั้นท่านนั่งมาบนแคร่แล้วสองมือเหนี่ยวแคร่ไว้แน่น ปากก็ว่าไปไม่หยุดว่า หามเขาดีดีจ๊ะ อย่าให้เขาตกหนาจ๋า เขาเป็นของหลวงหนาจ๋า ฯ

· สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านทำแปลกๆ ทำขันๆ พูดแปลกๆ พูดขันๆ แต่พูดทำแล้วแล้วไม่ซ้ำยักร่ำไป ได้ปรากฏทันตาเห็นทันหูได้ยินแจ้วๆ แว่วๆ อยู่จนทุกวันนี้ เมื่อการสร้างพระเสร็จถวายเป็นวัดหลวงแล้ว ทรงรับเข้าทะเบียนแล้ว ท่านอยู่ในกรุงเทพ ท่านก็ไม่มีเวลาว่างเปล่าสักวันเดียว มีผู้คนไปมาหาสู่ไม่ขาดสาย จนท่านต้องนำปัสสาวะสาดกุฏิบ้าง เอาทาหัวบ้างจนหัวเหลือง ต้องมาพักผ่อนอารมณ์ในป่าช้าผีดิบวัดสระเกษ เป็นที่สำราญของท่านมาก จนพวกวัดสระเกษหล่อรูปท่านไว้ ปรากฏจนทุกวันนี้ กุฏิเก่าเขาสร้างถวายท่านหลังหนึ่ง ท่านเขียนภาษิตไว้ในกุฏินี้บทหนึ่งยาวมาก จำได้บ้าง ๒ วรรค ท่านว่า “อย่าอวดกล้ากับผี อย่าอวดดีกับตาย” บางวันก็ไปผ่อนอารมณ์อยู่ในวัดบางขุนพรหม มีคนแถบนั้นนิยมนับถือท่านมาก บางรายถวายที่สวนเข้าเป็นที่วัดก็มากเต็มไปทั้ง ๔ ทิศ ทางตะวันตกถึงแม่น้ำซึ่งเป็นวัดทั้ง ๒ อยู่ในบัดนี้ ฝั่งเหนือจดคลองตะวันออกก็เป็นพรมแดนกับบ้านพานบ้านหล่อ พระนคร เป็นวัดกลางสวน ท่านจึงสร้างพระคิด จะสร้างพระปางโปรดยักษ์ตนหนึ่งในป่าไม้ตะเฆียน ท่านคิดจะทำพระนั่งบนตอไม้ตะเฆียนใหญ่ ท่านจึงเตรียมอิฐ ปูน ทราย ช่างก่อ แต่เป็นการไม่เร่ง ท่านก่อตอไม้ขึ้นก่อนแล้วก่อขาพระเป็นลำดับขึ้นไป อนุมาณดูราวๆ ปีเถาะนพศก จุลศักราช ๑๒๒๙ ปี ทำพระพิมพ์ ๓ ชนิด สามชั้นนั้น ๘๔000 องค์ ทำด้วยผงบ้างลานจานเผาบ้าง กระดาษว่าว เขียนยันต์เผาบ้าง ปูนบ้าง น้ำมันบ้าง ชันบ้าง ปูนแดงบ้าง น้ำลายบ้าง เสลดบ้าง เมื่อเข้าไปมองดูคนตำคนโขลก มีจามมีไอขึ้นมา ท่านก็บอกว่าเอาใส่เข้าลงด้วย เอาใส่เข้าลงด้วย แล้วว่าดีนักจ๊ะ ดีนักจ๊ะ เสร็จแล้วตำผสมปูนเพ็ชร์ กลางคืนก็นั่งภาวนาไปกดพิมพ์ไป ตั้งแต่ยังเป็นพระเทพกวี จนเป็นพระพุฒาจารย์ พระยังไม่แล้ว ยังอีก ๘ หมื่น ๔ พัน ที่สามกับที่สี่ ฯ

· ครั้นถึงปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓0 ปี ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลายามกับ ๑ บาท นาฬิกา สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระชนมายุศม์ได้ ๖๔ พรรษา เถลิงถวัลยราชได้ ๑๗๖ เดือนกับ ๑๔ วัน เวลานั้น อายุสมเด็จได้ ๘๑ ปี เป็นสมเด็จมาได้ ๓ ปีเศษ ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:10:55
เมื่อสมเด็จทราบแน่ว่า สมเด็จพระจอมเกล้าสวรรคตแล้ว ท่านเดินร้องไห้รอบวัดเดินบ่นได้ด้วยร้องไห้ไปด้วยว่าสิ้นสนุกแล้วๆ ครั้งนี้ๆ สิ้นสนุกแล้ว เดินร้องไห้โฮๆ รอบวัดระฆัง ดังจนใครๆ ได้ยิน ครั้นสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเถลิงถวัลยราชสืบสันตติวงศ์แล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงทำพระพิมพ์ ๕ ชั้น ๗ ชั้น ๙ ชั้น ขึ้นอีก ตั้งใจว่าจะถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พิมพ์แล้วครั้งก่อนนั้น ได้แอบบันจุไว้ในพระเกตุไชโยหมด แล้วพิมพ์พระ ๕ ชั้น ๗ ชั้น ๙ ชั้น รวมกันให้ได้ ๘๔000 เท่ากับพระธรรมขันธ์ กำลังพิมพ์อยู่ วิธีกระทำเช่นครั้งก่อน แปลกแต่เสกข้าวใส่บาตร์ใส่ด้วย จานหนังสือใส่บาตร์ไปด้วย ไปบิณฑบาตร์ก็จานหนังสือไปด้วย แล้วทำผงลงตัวเขียนยันต์ ตำปูน เพ็ชร์พิมพ์ไปทุกวันๆ กลางวันไปก่อเท้าพระบางขุนพรหม เจริญทิวาวิหารธรรมด้วย ดูช่างเขียนออกแบบกะส่วนให้ช่างเขียนๆ ประวัติของท่านขึ้นที่ผ่านมาแล้วแต่ต้นจนจบตลอด จนท่านนมัสการพระพุทธบาท ตั้งแต่เป็นพระมหาโตมา จนเป็นพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ยังขึ้นพระพุทธบาทตามฤดูเสมอ เมื่อครั้งทูลกระหม่อมพระ คือสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงผนวชอยู่วัดถมอราย (ราชาธวาส) ยังทรงซักถามพระมหาโตว่า ท่านเชื่อพระบาทลพบุรีเป็นของแท้หรือ พระมหาโตทูลว่า เป็นเจดีย์ที่น่าประหลาด เป็นที่ไม่ขาดสักการะ ฯ

· ครั้นเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ยังเป็นมหาโตในแผ่นดินพระนั่งเกล้า ทูลกระหม่อมพระยังเป็นพระราชาคณะ เจ้าอาวาสวัดถมอราย ได้นิมนต์มหาโตไปสนทนาด้วยเป็นทางที่จะชวนเข้าหมู่ รับสั่งถามว่ามีบุรุษสองคนเป็นเพื่อนเดินทางมาด้วยกัน คนทั้งสองเดินมาพบไหมเข้าจึงทิ้งปอที่แบกมาเสียเอาไหมไป อีกคนหนึ่งไม่เอาคงแบกเอาปอไป ท่านจะเห็นว่าคนแบกปอดี หรือคนแบกไหมดี ฯ

· มหาโตเฉลยไปอีกทางหนึ่งว่า ยังมีกระต่ายสองตัว ขาวตัวหนึ่ง ดำตัวหนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมหากินกันมาช้านาน วันหนึ่งกระต่ายสองตัวเที่ยวและเล็มหญ้ากิน แต่กระต่ายขาวเห็นหญ้าอ่อนๆ ฝั่งฟากโน้นมีชุมจึงว่ายน้ำข้ามฟากไปหากินฝั่งข้างโน้น กระต่ายดำไม่ยอมไปทนกินอยู่ฝั่งเดียว แต่นั้นมากระต่ายขาว ก็ข้ามน้ำไปหาหญ้าอ่อนกิน ฝั่งข้างโน้นอยู่เรื่อย วันหนึ่งขณะที่กระต่ายขาวกำลังว่ายน้ำข้ามฟาก บังเกิดลมพัดจัด มีคลื่นปั่นป่วน กระแสน้ำเชี่ยวกราดพัดเอากระต่ายขาวไป จะเข้าฝั่งไหนก็ไม่ได้ เลยจมน้ำตายในที่สุด แต่กระต่ายดำก็ยังเที่ยวหากินอยู่ไม่ได้ตาย ฝ่าธุลีพระบาทลองทำนายว่ากระต่ายตัวไหนจะดี ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:11:59
(ทั้งสองเรื่องนัยอันนี้ เชิญออกความเห็นเอาเอง)



· เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยายคุ้นท้าวแฟงเก็บตลาดเอาผลกำไรได้มาก แกรู้ว่าในหลวงทรงโปรดผู้ทำบุญสร้างวัด แกจึงสร้างวัดด้วยเงินรายได้ของแก สร้างเป็นวัดไว้ที่ในตรอกแฟง พระนคร ครั้นสร้างวัดแล้ว แกทูลขอพระราชทานนาม ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามว่า วัดคณิกาผล แกจึงนิมนต์มหาโตไปเทศน์ฉลอง มหาโตเทศน์ว่า เจ้าภาพคิดเพื่อเหตุเช่นนี้ ทำด้วยผลทุนรอนอย่างนี้ ย่อมได้อานิสงษ์สลึงเฟื้อง เช่นตากับยายฝังเงินเฟื้องไว้ที่สิลารองหน้าบันได เงินสลึงเฟื้องหนีไปเข้าคลังเศรษฐี ไปติดอยู่กับเงินก้อนใหญ่ของเศรษฐี ตาจึงขุดตามรอยที่เงินหนีไปเข้าไปจนถึงบ้านเศรษฐี เศรษฐีจึงห้ามมิให้ขุด ตาก็จะขุดให้ได้ อ้างว่าจะขุดตาม ไอ้น้อยไปหาอ้ายใหญ่ เศรษฐีจึงถามว่าไอ้น้อยคืออะไร ตาก็บอกว่าอ้ายน้อยคือเงินที่เทวดาให้ผสมสลึงเฟื้อง เศรษฐีมั่นใจว่าเงินในคลังมีแต่ก้อนใหญ่ๆ ทั้งนั้น เงินย่อมหามีไม่ จึงท้าตาว่า ถ้าขุดตามได้เงินสลึงเฟื้อง เราจะทำขวัญให้ตาหนักเท่าตัว ถ้าขุดตามไม่ได้จะเอาเรื่องตาฐานเป็นคนร้ายบุกรุก ตาก็ยินยอมเลยขุดต่อไปได้พบเงินสลึงเฟื้อง คลานเข้าไปกอดกับเงินก้อนใหญ่ของเศรษฐีอยู่ เศรษฐีก็ยอมให้ตาปรับตามที่ตกลงกันไว้ ครั้นเอาตัวตาขึ้นชั่ง ก็ได้น้ำหนักเพียงแค่สลึงเฟื้องตามที่เทวดาเคยชั่งให้ ด้วยผลบุญที่ทำไว้น้อยตั้งมูลไว้ผิดฐาน ดังเจ้าของวัดนี้สร้างลงไปจนแล้วเป็นการดี แต่ฐานตั้งไม่ถูกบุญใหญ่ ผลจึงใหญ่ไปไม่ได้คงได้สลึงเฟื้องของเศษบุญเท่านั้น ฯ

· เจ้าของวัดขัดใจโกรธหน้าแดง แกเกือบจะด่าเสียอีก แต่เกรงเป็นหมิ่นประมาท แกประเคนเครื่องกัณฑ์กระแทกๆ ดังกุกกักใหญ่ แกก็ขึ้นไปเชิญเสด็จทูลกระหม่อมพระ มาประทานธรรมบอกอานิสงษ์บ้างต่ออีกกัณฑ์ ทูลกระหม่อมทรงแสดงถึงจิตของบุคคลที่ทำกุศลว่า ถ้าทำด้วยจิตผ่องใสไม่ขุ่นมัวจะได้ผลมาก ถ้าทำด้วยจิตขุ่นมัวย่อมได้ผลน้อย ดังเช่นสร้างวัดนี้ ด้วยเรื่องขุ่นมัวทั้งนั้น แต่ท่านมหาโตท่านชักนิทานเรื่องทุกคะตะบุรุษที่เคยทำกุศลเศร้าหมองไว้แต่ปุเรชาติ ครั้นมาชาตินี้ได้อัตตภาพเป็นมนุษย์เหมือนเขา แต่ยากจนจึงได้ไปอ้อนวอนขอเงินเทวดาที่ต้นไม้ใหญ่ เทวดารำคาญจึงชั่งตัวบุรุษนั้นแล้วให้เงินตามน้ำหนัก ครั้นจะให้น้อยก็จะว่าแกล้งให้ ครั้นจะให้มากก็ไม่เห็นมีบุญคุณ ควรจะได้มาก เทวดาจึงชั่งตัวให้เขาจะได้สิ้นธุระต่อว่าต่อขาน ชั่งให้ตามน้ำหนักตัวเป็นอันหมดแง่ที่จะค้อนติงต่อว่า เรื่องนี้ในฎีกาพระอภิธรรมพระฎีกาจารย์ท่านแต่งไว้ทำฉากให้พระมหาโตตัดสินบุญรายนี้ ว่าได้ผลแห่งบุญจะอำนวยเพียงเล็กน้อย คือท่านแบ่งผลบุญเป็น ๘ ส่วน คงได้ผลแต่ ๓ ส่วนเหมือนเงิน ๑ บาท แปดเฟื้อง โว่งเว้าหายไปเสีย ๕ เฟื้อง คือ ๕ ส่วน คงได้แต่ ๓ ส่วน นี่ยังดีนักทีเดียว ถ้าเป็นความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว คงจะตัดสินให้ได้บุญเพียงสองไพเท่านั้น ในการสร้างวัดด้วยวิธีคิดในใจไว้แต่เดิมเท่านี้ มีดีเท่านี้ เอวัง กมี ฯ


(เทศน์ ๒ กัณฑ์นี้ ควรผู้สดับคิดวินิจฉัยเอาเอง)

> >
· อนึ่งในแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แต่เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพกวีได้เคยเทศน์คู่กับพระพิมลธรรม (ถึก) วัดพระเชตุพนเสมอ เป็นคู่เทศน์ที่เผ็ดร้อนถึงอกถึงใจคนฟัง จนความทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระจอมเกล้า ทรงนิมนต์เจ้าคุณทั้ง ๒ เข้าไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวังครั้งหนึ่ง สมเด็จพระจอมเกล้าทรงติดเงินพระราชทานให้สลึงเฟื้อง พระเทพกระวีไหวทัน หันมาบอกพระพิมลธรรมว่า เจ้าถึกจ๋าเจ้าถึก เจ้าถึกรู้หรือยังฯ พระพิมลธรรมถามว่าจะให้รู้อะไรหนาฯ อ้าวท่านเจ้าถึกยังไม่รู้ตัวโง่จริงๆ แฮะๆ ท่านเจ้าถึกถามรุกใหญ่ว่า จะให้รู้อะไรอีก นอกคอกเปล่าๆ พระเทพกระวีว่า จะนอกคอกทำไม เรามาเทศน์กันวันนี้ในวังมิใช่หรือฯ รับว่าในวังนั่นซีฯ ก็ในวังในคอก ในกำแพงด้วยซ้ำรู้ไหมหละฯ รู้อะไรนะฯ จงรู้เถิดจะบอกให้ว่า ท่านเจ้าถึกนั้นหัวล้านมีศรี ฝ่ายพระเทพกระวีนั้นหัวเหลือง สมเด็จบรมพิตร จึงทรงติดให้สลึงเฟื้องรู้ไหมฯ พอหมดคำ ก็ฮาครืนแน่นคึกบนพระที่นั่ง เลยให้รางวัลองค์ละ ๑0 บาท พ่อจงเอาเงินนี้มาแบ่ง จงจัดแจงให้เข้าใจ พ่อถึกหัวล้าน พ่อโตหัวเหลือง เป็นหัวละเฟื้องสองไพฯ ได้อีกฮา ได้องค์ละ ๑0 บาท คราวนี้เจ้าจอมคึกคักกันแซ่ คุณเฒ่าคุณแก่ยิงเหงือกยิงฟันอ้าปากกันหวอไปหมด สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงพระสรวล แล้วถวายพระธรรมเทศนาปุจฉา วิสัชนาสืบไปจนจบ ฯ

· ครั้งหนึ่งเมื่อยังเป็นพระเทพกระวี ได้เข้าไปฉันบนพระที่นั่งแล้วยถาจบ สมเด็จพระจอมเกล้า ทรงสัพพยอกว่า ทำไมจึงไปให้เปรตเสียหมด คนผู้ที่ทำจะไม่ให้บ้างหรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ยถาใหม่ว่า ยถาวาริ วหา ปุราปริ ปุเรนฺติสาครํ เอวเมวอิโตทินนํ ทายกานํ ทายิกานํ สพฺเพสํ อุปกปฺปติ ฯ รับสั่งว่า ยถาอุตตริ สัพพิอุตตรอย แล้วทรงรางวัล ๖ บาท สมเด็จเข้าวังทีใด อะไรมิอะไรก็ขยายให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้รางวัลทุกคราว ฯ

· การจะนิมนต์สมเด็จไปเทศน์ ถ้ากำหนดเวลาท่านไม่รับ ถ้าไม่กำหนดเวลาท่านรับทุกแห่ง ตามแต่ท่านจะไปถึง คราวหนึ่งเขานิมนต์ท่านไปเทศน์ที่วัดหนึ่งในคลองมอญ สมเด็จไปถึงแต่เช้า เจ้าภาพเลยต้องจัดให้มีเทศน์พิเศษขึ้นอีกกัณฑ์หนึ่ง เพราะกำหนดเอาไว้ว่าจะมีเทศน์คู่ตอนฉันเพลแล้ว เมื่อสมเด็จไปถึงก่อนเวลาเลยต้องนิมนต์ให้เทศน์เป็นพิเศษเสียก่อนกัณฑ์หนึ่ง พอ ๔ โมงกว่า พระพิมลธรรม (ถึก) คู่เทศน์ก็ไปถึง สมเด็จก็หยุดลงฉันเพล ครั้นฉันแล้วก็ขึ้นเทศน์ สมเด็จถามท่านเจ้าถึก ท่านเจ้าถึกติดเลยนิ่ง สมเด็จบอกกล่าวสัปปรุสว่า ดูนะดูเถิดจ๊ะ ท่านเจ้าถึกเขาอิจฉาฉัน เขาเห็นฉันเทศน์ ๒ กัณฑ์ เขาเทศน์ยังมิได้สักกัณฑ์เขาจึงอิจฉาฉัน ฉันถามเขา เขาจึงไม่พูด ถามไม่ตอบนั่งอม... ได้ยินว่าทายกเขาจัดเครื่องกัณฑ์ให้ท่านเจ้าถึกได้เท่ากับ ๒ กัณฑ์ เครื่องเท่ากันแล้ว ท่านเจ้าถึกจึงถามบ้างว่า เจ้าคุณโทโสเป็นกิเลสสำคัญ พาเอาเจ้าของต้องเสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง เงินทอง เสียน้องเสียพี่ เสียที่เสียทาง เสียอย่างเสียธรรมเนียม เสียเหลี่ยมเสียแต้ม ก็เพราะลุแก่อำนาจโทโส ให้โทษให้ทุกข์แก่เจ้าของมากนัก ก็ลักษณะแรกโทโสจะเกิดขึ้น เกิดตรงที่ไหนก่อนนะขอรับ ขอให้แก้ให้ขาว ฯ

· สมเด็จนั่งหลับกรนเสียด้วย ทำเป็นไม่ได้ยินคำถาม ท่านเจ้าถึกก็ถามซ้ำอีก ๒-๓ ครั้ง สมเด็จก็นั่งเฉย ท่านเจ้าถึกชักฉิวตวาดแหวออกมาว่า ถามแล้วไม่ฟังนั่งหลับใน ท่านเจ้าถึกตวาดซ้ำไป สมเด็จตกใจตื่นแล้วด่าออกไปด้วยว่า อ้ายเปรต อ้ายกาก อ้ายห่า อ้ายถึกกวนคนหลับ ฯ

· ท่านเจ้าถึกมีพื้นฉิวอยู่ก่อนแล้ว ครั้นถูกด่าเสียเกียรติในที่ประชุมชนเช่นนั้น ก็ชักโกรธชักฉิวลืมสังวร จึงจับกระโถนปามาตรงสมเด็จ สมเด็จนั่งภาวนากันตัวอยู่ กระโถนไพล่ไปโดนเสาศาลา กระโถนแตกเปรี้ยงดัง สมเด็จเทศน์ผสมซ้ำแก้ลักษณะโทโสว่า สัปปรุสดูซิเห็นไหมๆ เจ้าคุณพิมลธรรมองค์นี้ ท่านดีแต่ชอบคำเพราะๆ แต่พอได้รับเสียงด่า ก็เกิดโทโสโอหัง เพราะอนิฐารมณ์ รูปร่างที่ไม่อยากจะดู มากระทบนัยน์ตา เสียงที่ไม่น่าฟังมากระทบหู กลิ่นที่ไม่น่าดมมากระทบจมูก รสที่ไม่น่ากินมากระทบลิ้น สัมผัสความกระทบถูกมากระทบถึงกาย ความคิดที่ไม่สมคิดผิดหมายมากระทบใจ ให้เป็นมูลมารับเกิดสัมผัสชาเวทนาขึ้นภายใน สำรวมไม่ทันจึงดันออกข้างนอกให้คนอื่นรู้ว่าเขาโกรธ ดังเช่นเจ้าคุณพิมลธรรมเป็นตัวอย่าง ถ้าเขายอท่านว่าพระเดชพระคุณแล้วท่านยิ้ม พอเขาด่าก็โกรธ โทโสเกิดในทวาร ๖ เพราะถูกกระทบกระเทือนสิ่งที่เป็นอนิฐารมณ์ ไม่พอใจ ก็เกิดโกรธ แต่โทโสก็ไม่มีอำนาจกดขี่เจ้าของเลยเว้นแต่เจ้าของโง่ เผลอสติเช่นพระพิมลธรรมถึกนี้ โทโสจึงกดขี่ได้ ถ้าฉลาดแล้วระวังตั้งสติไม่พลุ่มพล่ามโทโสเป็นสหชาติเกิดกับด้วยจิต ไม่ได้ติดอยู่กับใจ ถึงเป็นรากเง่าเค้ามูลก็จริง แต่เจ้าของไม่นำพา หรือคอยห้ามปรามข่มขู่ไว้โทโสก็ไม่เกิดขึ้นได้ เปรียบเช่นพืชพันธุ์เครื่องเพาะปลูก เจ้าของอย่าเอาไปดอง อย่าเอาไปแช่ อย่าเอาไปหมักในที่ฉำแฉะแล้ว เครื่องพืชพันธุ์เพาะปลูกทั้งปวงไม่ถูกชื้นแล้วงอกไม่ได้ โทโสก็เช่นกัน ถ้าไม่รับให้กระทบถูกแล้ว โทโสก็ไม่เกิดขึ้นได้ ดูแต่ท่านเจ้าถึกเป็นตัวอย่าง ตัวท่านป็นเพศพระ ครั้นท่านขาดสังวร ท่านก็กลายเป็นพระ กระโถนเลยพลอยแตกโพล๊ะ เพราะโทโสของท่าน ท่านรับรองยึดถือทำให้มูลแฉะชื้น จงจำไว้ทุกคนเถิด ฯ

· มีรายหนึ่งนิมนต์ท่านเจ้าคู่นี้ไปเทศน์ ท่านก็ใส่กันเป็นต้นว่า สมเด็จเจ้าโตท่านเทศน์บอกสัปปรุสว่า รูปไปเทศน์กลางทุ่งนายังมีหมาตัวหนึ่ง เจ้าของเขาเรียกว่า อ้ายถึก อ้ายถึกมันแห้ใส่อาตมา อาตมาไม่มีอะไรจะสู้อ้ายถึก หมา มีแต่หุบบานๆ สู้มันจะหุบบานไม่ใช่อื่นหยาบคายหนาจ๋า คือฉันเอาร่มนี่เอง กางบานแล้วหุบเข้าจ๊ะหุบบานๆๆ แล้วหมาหนี ฯ


(อันการเทศน์ของท่านวิจิตรพิศดาร จดจำไม่หวาดไม่ไหวขอหยุดที)


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:13:01
ครั้งหนึ่งเข้าบิณฑบาตเวรในพระบรมมหาราชวัง พอถึงตรงขันทรง เสื่อกระจูดลื่นแทบขะมำ แต่ท่านหลักดีมีสติสัมปชัญญะมาก ท่านผสมก้มลงจับมุมเสื่อ เต้นตามเสื่อตุ้บตั๊บไป สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทำพระสุรเสียง โอ่ะ โห่ะๆๆ เจ้าคุณหลักดี เจ้าคุณหลักดีทรงชม ฯ

· ครั้งหนึ่งไปเทศน์บ้านขุนนางผู้หนึ่ง พอบอกศักราชแล้วคุยขึ้นว่า วันนี้เสียงคล่องเทศน์กุมารก็ได้ ขุนนางผู้นั้นเลยให้เทศน์ทำนองกุมาร ข่าวว่าเพราะดีผู้หญิงชอบ ครั้งหนึ่งเขานิมนต์ไปเทศน์ที่ศาลาบ้านหม้อ อ. บางตะนาวศรี กัณฑ์ชูชก ท่านไปถึงยามสาม เขาไปนอนกันหมด ท่านไปถึงให้คนแจวตีกลองตูมๆ ขึ้นแล้ว ท่านเทศน์ชูชกไปองค์เดียว ชาวบ้านต้องลุกมาฟังท่านยันรุ่ง ฯ
· ครั้งหนึ่งไปเทศน์ที่ไหนมา บ้านขุนนางอยู่ริมน้ำ เขาตั้งธรรมมาสน์เทศน์ยังไม่มา ท่านจอดเรือถีอคัมภีร์ขึ้นธรรมมาสน์เทศน์ว่า อด อด อด อด ๆ อยู่นานแล้วลงธรรมมาสน์ไป ฯ

· ครั้งหนึ่งไปทอดกฐินทางอ่างทอง ไปจอดนอนท้ายเกาะใหญ่ ท่านจำวัดบนโบสถ์วัดท่าซุง คนเรือนอนหลับหมด ขโมยล้วงเอาเครื่องกฐินไปหมด ท่านดีใจยิ้มแต้ แล้วกลับลงมาชาวบ้านถามว่า ท่านทอดแล้วหรือ ท่านตอบว่าทอดแล้วจ๊ะ แบ่งบุญให้ด้วย แล้วท่านเลยซื้อหม้อบางตะนาวศรีบรรทุกเต็มลำ ใคนถามว่าเจ้าคุณซื้อหม้อไปทำไมมาก ท่านตอบว่า ไปแจกชาวบางกอกจ๊ะ แล้วแจวลัดเข้าคลองบางลำภูไปออกคลองโอ่งอ่าง คลองสะพานหิน เลยออกไปแม่น้ำแล้วขึ้นวัดระฆัง วันนั้นหวยออก ม หุนหันเชิด คนคอยจับหวยถูกกันมาก แต่กินหู้หมด ท่านแจกหม้อหมดลำ ถ้าบ้านไหนนิมนต์เทศน์ท่านรับ กำหนดเวลาไม่ได้ ที่แห่งหนึ่งเจ้าของเขาหลับแล้ว ท่านไปนั่งเทศน์ที่ประตูบ้านก็มี หัวบันไดบ้านก็มี ฯ

· อนึ่งการบิณฑบาตไม่ขาด ท่านชอบไปจอดเรือในคลองบางนกแขวก พวกเข้ารีตมาก แล้วท่านออกบิณฑบาตตอนเช้า พวกเข้ารีตเข้าใจว่ามาขอทาน เขาใส่ข้าวสาร หมูดิบ ท่านก็มานั่งเคี้ยวข้าวสาร กับหมูดิบ ฯ

· บางทีไปเทศน์ทางคลองบางนกแขวก ท่านนอนจำวัดหลับไป พอบ่ายสองโมงตื่น ท่านถามคนแจวเรือว่าเพลหรือยัง เขาเรียนว่าเพลแล้วขอรับ ท่านถามว่าเพลที่ไหนจ๊ะ เขาเรียนว่าเพลที่วัดล่างขอับกระผม ฯ

ท่านอ้อนวอนเขาว่า พ่อคุ้น พ่ออย่าเห็นกับเหน็ดกับเหนื่อย พ่อช่วยพาฉันไปฉันเพลที่วัดตีกลองเพลสักหน่อยเถอะจ๊ะ นึกว่าช่วยชีวิตฉันไว้ คนเรือแจวกลับลงไปอีกสามคุ้งน้ำถึงวัดที่ตีกลอง ท่านขึ้นไปขออนุญาตสมภารเจ้าวัด สมภารยอมปูเสื่อที่หอฉันใกล้กับกลองแล้วคนเรือยกสำรับกับข้าวขึ้นไปประเคนท่าน ท่านก็ฉัน สมภารมาคอยดูแล พระเด็กๆ แอบดู เจ้าพวกเด็กวัดก็กรูเกรียวมาห้อมล้อม บ้างตะโกนบอกกันว่า พระกินข้าวเย็นโว๊ย เด็กบางคนเกรียวเข้าไปบอกผู้ใหญ่ถึงบ้าน เขาพากันออกมา บ้างมีส้มขนมกับข้าว ลูกไม้ก็ออกมาถวายเป็นอันมาก ฉันไม่หวาดไหวเลยเลี้ยงเด็กเลี้ยงคนเรืออิ่มแต้ตามกัน ฯ
(บางทีท่านเห็นในตติยคัณฐ๊ฎีกา แก้โภชนะมีบาลีว่า “อญญตฺร รตฺติยา มาภุญชติ” แปลว่า ให้เจ้าภิกษุขบฉันในเวลากาลตั้งแต่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้น จนถึงดวงอาทิตย์ตกยังเห็นดวงเรียกว่ากาล ถ้าค่ำคืนเรียกว่า วิกาล ฉันกลางวันนี้ เป็นบัญญัติเพิ่มเติม เมื่อครั้งแผ่นดินพระพิมลธรรมในกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่นั้น)

· อนึ่งจรรยาอาการของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตพระองค์นี้ ประพฤติอ่อนน้อมยำเกรงผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ ถ้าพระแบกคัมภีร์เรียน สามเณรแบกคัมภีร์เรียน หากท่านไปพบกลางถนนหนทาง ท่านเป็นต้องหมอบก้มลงเคารพ ถ้าพระเณรไม่ทันพิจารณาสำคัญว่าท่านก้มตนเคารพตน และก้มตอบเคารพตอบท่าน ทีนั้นเถอะไม่ต้องไปกันต่างคนต่างหมอบกันแต้อยู่นั่นเอง ฯ

· ตั้งแต่ท่านรับสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมกิติ จนกระทั่งเป็นพระเทพกวี ได้มีความผิดครั้งหนึ่ง เมื่อเทศน์ถึงตั้งกรุงกบิลพัสดุ์ และตั้งวงศ์สักยราช ในพระปฐมโพธิปริเฉทที่ ๑ นั้น แต่ในสมัยใช่กาลจะเทศน์พระปฐมโพธิปริเฉทที่ ๑ ไม่ใช่ กลางเดือน ๖ ท่านก็นำไปเทศน์ถวายว่า เมื่อตั้งกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว จึงนำบุตรกษัตริย์ในวงศ์เดียวกันมาเสก แต่กษัตริย์องค์แรกได้นำพระขนิษฐษนารีมาอภิเษก ตามลัทธิคติของพวกพราหมณ์ที่พากันนิยมว่าแต่งงานกันเองไม่เสียวงศ์ จนเป็นโลกยบัญญัติสืบมาช้านาน จนถึงกษัตริย์โอกากะวงศ์รัชกาลที่ ๑ รวมพี่น้อง ๗ องค์ เจ้าชาย ๓ เจ้าหญิง ๓ ออกจากเมืองพระราชบิดามาตั้งเป็นราชธานี ขนานนามว่า กรุงกบิลพัสดุ์ ตามบัญญัติของกบิลฤาษี ต่อนี้ไปก็แต่งงานราชาภิเษก พี่เอาน้อง น้องเอาพี่ เอากันเรื่อยไม่ว่ากัน เห็นตามพราหมณ์เขาถือมั่นว่า อะสมภินนะวงศ์ไม่แตกพี่แตกน้องแน่นแฟ้นดี บริสุทธิ์ไม่เจือไพร่ คราวนี้เลียนอย่างมาถึงประเทศใกล้เคียงมัชฌิมประเทศก็พลอยเอาอย่างกันสืบๆ มาจนถึงสยามประเทศก็เอาอย่าง เอาพี่เอาน้องขึ้นราชาภิเษก และสมรสกันเป็นธรรมเนียมมา ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:14:09
สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ไม่พอพระราชหฤทัย ไล่ลงธรรมมาสน์ ไป ไป ไป ไปให้พ้นพระราชอาณาจักร ไม่ให้อยู่ในดินแดนของฟ้า ไปให้พ้น พระเทพกระวีออกจากวังเข้าไปนอนในโบสถ์วัดระฆังออกไม่ได้นาน ใช้บิณฑบาตบนโบสถ์ ลงดินไม่ได้เกรงผิดพระบรมราชโองการ ครั้งถึงคราวถวายพระกฐิน เสด็จมาพบเข้ารับสั่งว่า อ้าวไล่แล้วไม่ให้อยู่ในราชอาณาจักรสยาม ทำไมยังขีนอยู่อีกละ ขอถวายพระพร อาตมาภาพไม่ได้อยู่ในพระราชอาณาจักร อาตมาภาพอาศัยอยู่ในพุทธจักร ตั้งแต่วันมีพระราชโองการ อาตมาภาพไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย ก็กินข้าวที่ไหน ไปถานที่ไหน ขอถวายพระพร บิณฑบาตบนโบสถ์นี้ฉัน ถานในกระโถน เทวดาคนนำไปลอยน้ำ รับสั่งว่า โบสถ์นี้ไม่ใช่อาณาจักรสยามหรือ ถวายพระพรว่า โบสถ์เป็นวิสุงคาม เป็นส่วนหนึ่งจากพระราชอาณาจักร กษัตริย์ไม่มีอำนาจขับไล่ได้ ขอถวายพระพร ลงท้าย ขอโทษๆ แล้วทรงถวายกฐิน ครั้นเสร็จการกฐินแล้ว รับสั่งว่าอยู่ในพระราชอาณาจักรสยามได้ แต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ


(เหตุนี้แหละทำให้พระเทพกระวี คิดถวายอติเรก ทั้งเป็นคราวหมดรุ่นพระผู้ใหญ่ด้วย)


· ครั้นเป็นสมเด็นพระพุฒาจารย์แล้ว ท่านก็ยิ่งเป็นตลกมากขึ้น คอยไหวพริบในราชการแจจัดขึ้น ยิ่งกว่าเป็นพระเทพกระวี ดูเหมือนคอยแนะนำเป็นปโรหิตทางอ้อมๆ ฯ

· ครั้งหนึ่งไปสวดมนต์ที่วังกรมเทวาฯ วังเหนือวัดระฆัง พอพายเรือไปถึงท้ายวังเกิดพายุใหญ่ ฝนตกห่าใหญ่เม็ดฝนโตโต คลื่นก็จัดละลอกก็จัด สมเด็จพระพุฒาจารย์เอาโอต้นเถามาใบหนึ่ง แล้วจุดเทียนติดปากโอแล้วลอยลงไป บอกพระให้คอยดูด้วยว่าเทียนจะดับเมื่อใด พระธรรรมถาวรเล่าว่าเวลานั้นท่านเป็นที่พระครูสังฆวิชัยได้เป็นผู้ตั้งตาคอยตามดู แลเห็นเป็นแต่โอโคลงไปโคลงมา เทียนก็ติดลุกแวบวาบไปจนสุดสายตาเลยหน้าวัดระฆังก็ยังไม่ดับ ฯ

· และท่านเข้าบ้านแขกบ้านจีน ส่วนใหญ่ๆ เดินได้สบายไม่ต้องเกรงสุนัขที่เขาเลี้ยงนอนขวางทาง ท่านต้องก้มให้สุนัขแล้วยกมือขอทางเจ้าสุนัขว่า ขอดิฉันไปสักทีเถิดจ๊ะแล้วก้มหลีกไป ไม่ข้ามสุนัข จะดุเท่าดุอย่างไร จะเป็นสุนัขฝรั่ง หรือสุนัขไหหลำ ก็ไม่แห้ไม่เห่าท่าน นอนดูท่านทำแต่ตาปริบๆ มองๆ เท่านั้น โดยสุนัขจูที่ปากเปรอะๆ ก็ไม่เห่าไม่ห้ามท่าน ฯ

· ครั้งหนึ่งสมโภชพระราชวังบนเขามไหสวรรค์ เมืองเพชรบุรี สังฆการีวางฎีกาท่านไปเรือญวณ ๔ แจว ออกทางปากน้ำบ้านแหลม เวลานั้นทะเลเป็นบ้าคลื่นลมจัดมากชาวบ้านในอ่าวบ้านแหลมช่วยกันร้องห้ามว่า เจ้าประคุณอย่าออกไปจะล่มตาย ท่านตอบว่าไปจ๊ะ ไปจ๊ะ ท่านออกยืนหน้าเก๋งเอาพัชนีใบตาลโบกแหวกลมหน้าเรือ ลูกคลื่นโตกว่าเรือท่านมากบังเรือมิดแต่ทางหน้าเรือคลื่นไม่มี ลมก็แหวกทางเท่ากับแจวในลำท้องร่องน้ำเรียบ แต่น้ำข้างๆ กระเซ็นบ้าง เพราะคลื่นข้างเรือทั้งสองโตเป็นตลิ่งทีเดียว พระธรรมถาวรเล่าว่า เวลานั้นท่านเป็นพระครูปลัดไปกับท่านด้วย ได้เห็นน่าอัศจรรย์ใจท่านหายๆ ดูไม่รู้ว่าจะคิดเกาะเกี่ยวอะไร สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านยืนโบกพัดเฉย คนก็แจวเฉยเป็นปกติจนเข้าปากน้ำเมืองเพชร ท่านจึงเข้าเก๋งเอนกายชาวปากอ่าวเมืองเพชรเกรงบารมีสมเด็จท่านมาก ยกมือท่วมๆ หัว สรรเสริญคุณสมบัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตลอดจนเจ้าคุณนางที่ตามเสด็จคราวนั้นว่าเจ้าพระคุณสำคัญมาก แจวฝ่าคลื่นลมกลางทะเลมาได้ ตลอดปลอดโปร่งปราศจากอุทอันตราย ฯ

· สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ว่างราชการและว่างเทศนา ท่านก็อุตส่าห์ให้คนโขลกปูนเพชรผสมผงและเผาลาน โขลกกระดาษข่าวเขียนยันต์อาคมต่างๆ โขลกปนกันไป จัดสร้างเป็นพระพิมพ์ผง ฯ

· ในปีฉลู สัปตศก ๑๒๒๗ ปีนั้นเอง สมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศร์รังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบวรราชวัง (วังหน้า) เสด็จสวรรคต ในพระที่นั่งอิศเรศร์ ณ วัน...เดือนยี่ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลที่ ๔ เถลิงราชย์ ได้อุปราชาภิเศก ๑๔ ปี กับ ๓ เดือน พระชนม์ ๕๗ กับ ๔ เดือน ประกอบโกศตั้งบนพระเบญจา ในพระที่นั่งอิศเรศร์ฯ นั้น ฯ

· สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในพระบวรศพ แต่พอเสด็จถึงพระทวารพระที่นั่งนั้น พวกพระสวดพระอภิธรรม ๘ รูป ท่านตกใจเกรงพระบรมเดชานุภาพ ท่านลุกวิ่งหนีเข้าแอบในพระวิสูตร (ม่าน) ที่กั้นพระโกศ ทรงทราบแล้วกริ้วใหญ่ แนวๆ ว่าดูซิ ดูซิ ดูถูกข้า มาเห็นข้าเป็นเสือ เป็นยักษ์ เอาไว้ไม่ได้ต้องให้มันสึกให้หมด รับสั่งแล้วทรงพระอักษรถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ส่งให้พระธรรมเสนา (เนียม) นำลายพระราชหัตถเลขามาถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รับจากสังฆการีมาอ่านดูแล้ว ท่านก็จุดธูป ๓ ดอก แล้วจี้ที่กระดาษที่ว่างๆ ลายพระหัตถ์นั้น ๓ รูป แล้วส่งให้พระธรรมเสนานำมาถวายคืนในเวลานั้น ฯ

· ครั้นพระธรรมเสนาทูลเกล้าถวาย ทรงทอดพระเนตรเห็นรูกระดาษไหม้ไม่ลามถึงตัวหนังสือ ก็ทรงทราบธรรมปฤษณา จึงรับสั่งว่า อ้อ ท่านให้เราดับราคะ โทษะ โมหะ อันเป็นไฟ ๓ กอง งดที งดที เอาเถอะๆ ถวายท่าน พระธรรมเสนาไปเอาตัวพระสวดมานั่งประจำที่ให้หมด แล้วทรงแนะนำสั่งสอนระเบียบจรรยาในหน้าพระที่นั่งให้พระรู้ระเบียบรับเสด็จแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้ ฯ
 
· ครั้งหนึ่งถึงเดือน ๑๑-๑๒ ลอยกระทงหลวง เสด็จลงประทับบนพระที่นั่งชลังคะพิมาน (ตำหนักแพ) พร้อมด้วยฝ่ายในเป็นอันมาก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แจวเรือข้ามฟากฝ่าริ้วเข้ามา เจ้ากรมเรือดั้งจับเรือแหกทุ่น รับสั่งถามว่าเรือใคร เจ้ากรมกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รับสั่งว่าเอาเข้ามานี่ ครั้นเจ้ากรมเรือดั้งนำเรือสมเด็จฯ เข้าไปถวาย นิมนต์ให้นั่งแล้วรับสั่งว่าไปไหน ทูลขอถวายพระพรตั้งใจมาเฝ้า ทำไมเป็นถึงสมเด็จเจ้าแล้ว เหตุใดต้องแจวเรือเอง เสียเกียรติยศแผ่นดิน ทูลขอถวายพระพรอาตมาภาพทราบว่าเจ้าชีวิตเสวยน้ำเหล้า สมเด็จเจ้าก็ต้องแจวเรือ อ้อ จริง จริง การกินเหล้าเป็นโทษ เป็นมูลเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติยศแผ่นดินใหญ่โตทีเดียว ตั้งแต่วันนี้ไปโยมจะถวายพระคุณเจ้า จักไม่กินเหล้าอีกแล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์เลยถวายยถาสัพพี ถวายอติเรก ถวายพระพรลา รับสั่งให้ฝีพายเรือดั้งไปส่งถึงวัดระฆัง ฯ

· เรื่องราวของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) กระทำและเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตามที่มีผู้เล่าบอกออกความให้ฟังนั้นหลายร้อยเรื่องได้เลือกดัดจดลงแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านผู้ฟัง จะเป็นหิตานุหิตสาระประโยชน์แก่บุคคลชั้นหลังๆ ที่นับถือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) และจะได้ประกอบเกียรติคุณของท่านไว้ให้เป็นที่ระลึกของคนชั้นหลังๆ จะยกขึ้นเล่าให้เป็นเรื่องหลักฐานบ้าง พอเป็นความดำริตามภูมิรู้ ภูมิเรียน ภูมิปัญญาของสุตวาชน สุตะภามะชน ธัมมฑังสิกชน เพื่อผู้แสดงความรู้ ใครเป็นพหูสูตรออกความเห็นเทียบเคียงคัดขึ้น เจรจาโต้ตอบกัน บุคคลที่ใคร่แสดงตนว่าช่างพูด ถ้าหากว่าอ่านหนังสือน้อยเรื่อง หรืออ่านแล้วไม่จำ หรือจำแล้วไม่ตริตรองตาม หรือตริตรองแล้วแต่ไม่มีวิจารณ์ วิจารณ์มีบ้างแต่ไม่มีญาณ เครื่องรู้ผุดขึ้น ก็เป็นพหูสูตรไม่ได้เพราะขาดไร้เครื่องรู้ไม่ดูตำรา เหตุนี้ท่านจึงยกย่องบำรุงตำราไว้มาก สำหรับเป็นเครื่องรู้ เครื่องเห็น เครื่องเทียบ เครื่องทาน เครื่องเรียนต่างๆ ไว้เป็นปริยัติศาสนา แต่เรื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์นี้ไม่มีกวีใดจะเรียบเรียงให้เป็นเรื่องราวเลย เป็นแต่เล่าสู่กันฟังพอหัวเราะแก้รำคาญ คนละคำสองคำ แต่ไม่ใคร่ตลอดเรื่องสักคนเดียว ข้าพเจ้าจึงอุตริอุตส่าห์สืบสาวราวเรื่องของท่านรวบรวมไว้ แล้วนั่งเรียงเป็นตัวร่างเสียคราวหนึ่ง ตรวจสอบอ่านทวนไปมาก็อีกคราวหนึ่ง อ่านทานแล้วขึ้นตัวหมึกนึกรวบรัดเรื่องราวของท่านไว้อีกคราวหนี่งกินเวลาช้านานราวๆ ๒ เดือน ยังจะต้องเสนอเรื่องนี้ต่อเจ้านายใหญ่ๆ ให้ทรงตรวจอีกก็หลายวัน จะต้องขออนุญาตสมุห์กรมพระนครบาลอีกก็หลายวัน ต้องพิมพ์จ้างอีกก็หลายสิบบาท หลายเวลาด้วย ฯ

· จะขอรวบรัดตัดความเบ็ดเตล็ดของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ออกเสียบ้าง จะบรรยายเรียบเรียงไว้แต่ข้อที่ควรอ่าน ควรฟัง ควรดำริ เป็นคติปัญญาบ้าง แห่งละอันพันละน้อยต่อข้อความหลัง ครั้งในแผ่นดินสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านได้ประพฤติคุณงามความดี ดำรงตะบะเดชะชื่อเสียงกระเดื่องเฟื่องฟุ้งมาในราชสำนักก็หลายประการ ในสงฆ์สำนักก็หลายประการจนท่านมีคนนับถือลือชาปรากฏ ตลอดสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓0 เวลายาม ๑ กับ ๑ บาท สิริพระชนม์ ๖๔ เสวยราชสมบัติได้ ๑๗ ปี กับ ๖ เดือน ๑๕ วัน อายุสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ ๘๑ ปี รับตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้ ๔ ปี สิ้นรัชกาลที่ ๔ นี้ ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:15:33
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ คือสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเถลิงราไชยสุริยสมบัติ เป็นบรมกษัตริย์ครอบครองสยามรัฐอาณาจักรในเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ วันพุธ ปีมะโรง ศกนั้น พึ่งเจริญพระชนม์มายุได้ ๑๕ ปี ๗ เดือน ๙ วัน ฯ

· สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านจุดเทียนเล่มใหญ่ เข้าไปในบ้านสมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) คือสมเด็จพระประสาท ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เอาคัมภีร์หนีบรักแร้ ตาลปัตรทำหางเสือ จุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปที่บ้าน สมเด็จพระประสาทในเวลากลางวันแสกแสก เดินรอบบ้านสมเด็จพระประสาท (คลองสาร) สมเด็จพระประสาทอาราธนาขึ้นบนหอนั่งแล้วว่า โยมไม่สู้มืดนักดอกเจ้าคุณ อนึ่งโยมนี้มีใจแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาแน่นอนมั่นคงเสมอ อนึ่งโยมทะนุบำรุงแผ่นดินโดยเที่ยงธรรม และตั้งใจประคับประคองสนองพระเดชพระคุณโดยตรงโดยสุจริตคิดถึงชาติและศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่ตั้งตรงอยู่เป็นนิตย์ ขอเจ้าคุณอย่าปริวิตกให้ยิ่งกว่าเหตุ นิมนต์กลับได้ ฯ

· ครั้งหนึ่ง หม่อมชั้นเล็กตัวโปรดของสมเด็จพระปราสาทถึงอนิจกรรมลง สมเด็จพระประสาทรักหม่อมชั้นมาก ถึงกับโสกาไม่ค่อยห่าง จึงใช้ทนายให้ไปอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังให้ไปเทศน์ดับโศกให้ท่านฟัง ทนายก็ไปอาราธนาว่า พณฯ หัวเจ้าท่านให้อาราธนาพระเดชพระคุณ ไปแสดงธรรมแก้โศกให้ พณฯ ท่านฟังขอรับกระผมในวันนี้ เพลแล้วขอรับกระผม ฯ

· สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รับว่าจ๊ะ เรื่องเทศน์แก้โศกนั้น ฉันยินดีเทศน์นักจ๊ะ ฉันจะไปจ๊ะ ครั้นถึงเวลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ลงเรือกราบสี ไปถึงบ้านสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์นั่งที่บัญญัติพาสน์

· ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ออกรับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ปฏิสันฐาน แล้วจุดเทียน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ขึ้นธรรมมาสน์ ให้ศีลบอกศักราชแล้วถวายพร แล้วเริ่มนิกเขปบทเป็นทำนองเส้นเหล้าในกัณฑ์ชูชกว่า “ตะทากาลิงคะรัฏเฐ ทุนนะวิฏฐะพราหมณวาสี ชูชโกนามพราหมโณ ฯลฯ ตัสสอทาสิ” แปลความว่า “ตะทากาเล ในกาลเมื่อสมเด็จพระบรมสอหน่อชินวงศ์วิศณุเวทฯ ว่าความพระคลัง ที่สมเด็จพระประสาทแต่งขึ้นนั้น พอกล่าวถึงกำเนิดชูชกของท่านว่าผูกขึ้นใหม่ ขบขันคมสันมากกว่าความพระคลัง เพราะแหล่นอกแบบต้องขำอยู่เองและแลเห็นเป็นความจริงเสียด้วย คราวนี้สมเด็จพระประสาทก็ยิ้มแป้น พวกหม่อมๆ เหล่านั้น และคนผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้เด็ก ทนาย ข้าราชการ ฟังเป็นอันมาก ก็พากันยิ้มแป้นแป้นทุกคนพอถึงแหล่ขอทาน แหล่ทวงทอง แหล่พานาง คราวนี้ก็ถึงกับหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง ถึงกับเยี่ยวรดเยี่ยวราดก็มีบ้าง ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาเองก็หัวเราะถึงกับออกวาจาว่าสนุกดีจริง ขุนนางและทนายหน้าหอพนักงานเหล่านั้นลืมเกรงสมเด็จพระประสาท สมเด็จพระประสาทก็ลืมโศกถึงหม่อมเล็ก ตั้งกองหัวเราะกิ๊กก๊ากไปทั้งบ้าน เทศน์ไปถึงแหล่ยิง แหล่เชิญ แหล่นำทาง แหล่จบก็จบกัน ลงท้ายเหนื่อยไปตามกัน รุ่งขึ้นที่บ้านนั้นก็พูดลือกันแต่ชูชก สมเด็จเทศน์ ฝ่ายสมเด็จพระประสาทก็ลืมโศกชักคุยแต่เรื่องความชูชก ตรงนั้นผู้นั้นๆ แต่ง ไม่มีใครร้องไห้ถึงหม่อมเล็กมานาน ฯ

· ครั้นล่วงมาอีกปีหนึ่ง สมเด็จพระประสาท จัดการปลงศพหม่อมเล็กจึงใช้ให้ทนายไปนิมนต์สมเด็จฯ มาเทศนาอริยสัจหน้าศพ ทนายไปถึงสมเด็จฯ ที่วัดแล้วก็กราบเรียนว่า พณฯ ให้อาราธนาพระเดชพระคุณไปแสดงธรรมหน้าศพพรุ่งนี้ เพลแล้วขอรับกระผม ฯ

· ฝ่ายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านจึงถามว่า จะให้ฉันเทศน์เรื่องอะไรจ๋า ทนายลืมคำอริยสัจเสีย ไพล่ไปอวดดีเรียนท่านว่า ให้เทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แจ้งชัดแล้วว่า เขาลืมแนะท่านก็ยิ้มแล้วรับว่า ๑๒ นักษัตรนั้นฉันเทศน์ดีนักจ๊ะ ไปเรียนท่านเถิดว่าฉันรับแล้วจ๊ะ ฯ

· ครั้นถึงวันกำหนดการตั้งศพหม่อมเล็ก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ไปถึงบ้าน พณฯ ท่านขึ้นบนหอ พอสมเด็จเจ้าพระยาออกหน้าหอ ขุนนางเจ้านายที่เข้าฝากตัวแลจีนเถ้าแก่เจ๊สัว เจ้าเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือมาประชุมในงานนี้มาก สมเด็จพระประสาททายทักปราศรัยบรรดาผู้ที่มา แล้วเข้ากระทำอัญชลีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แล้ว ท่านกล่าวชักชวนบรรดาผู้ที่มานั้นให้ช่วยกันฟังเทศน์ แล้วสมเด็จพระประสาท จุดเทียนธรรมมาสน์เบิกธรรมะ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ให้ศีลบอกศักราชขอเจริญพรเสร็จแล้ว ท่านก็เทศน์เริ่มกล่าวนิกเขปคาถา บทต้นขึ้นว่า มูสิโก อุสโภ พยัคโฆ สะโส นาโค สัปโป อัสโส เอฬโก มักกุโฏ กุกกุโฎ สุนักโข สุกโร สังวัจฉโร ติวุจจเตติ ท่านแปลขึ้นทีเดียวว่า ชวด หนู ฉลู วัว ขาล เสือ เถาะ กระต่าย มะโรง งูใหญ่ มะเส็ง งูเล็ก มะเมีย ม้า มะแม แพะ วอก ลิง ระกา ไก่ จอ หมา กุน หมู นี่แหละเป็นชื่อของปี ๑๒ เป็นสัตว์ ๑๒ ชนิด โลกบัญญัติให้จำง่าย กำหนดง่าย ถ้าไม่เอาสัตว์ ๑๒ ชนิดมาขนานปี ก็จะไม่รู้ปีกี่รอบ ฯ

· ทีนี้สมเด็จเจ้าพระยา แลไปดูทนายผู้ไปนิมนต์ ขึงตาค้อนไปค้อนมา ทำท่าจะเฆี่ยนทนายผู้ไปนิมนต์ผิดคำสั่งของท่าน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ชี้แจงอยู่ด้วยเรื่อง ๑๒ สัตว์ง่วนอยู่ ท่านรู้ในกิริยาอาการของสมเด็จเจ้าพระยาว่าไม่พอใจทนายในการเปลี่ยนแปลงคำสั่งคำบัญชาการ ท่านจึงย้อนเกร็ดกล่าวคำทับ ๑๒ สัตว์ให้เป็นอริยสัจธรรมขึ้นว่า ผู้นิมนต์เขาดีมีความฉลาด สามารถจะทราบประโยชน์แห่งการฟังธรรม เขาจึงขยายธรรมออกให้กว้างขวาง เขาจึงนิมนต์รูปให้สำแดง ๑๒ นักษัตรซึ่งเป็นต้นทางพระอริยสัจจ์ พระอริยสัจจ์นี้ล้ำลึกสุขุมมาก ยากที่จะรู้แก่ผู้ฟังเผินๆ ถ้าจะฟังให้รู้ให้เข้าใจจริงๆ แล้ว ต้องรู้นามปีที่ตนเกิดให้แน่ใจก่อนว่าตนเกิดแต่ปีชวด ถึงปีชวด และถึงปีชวดอีก เป็น ๓ ชวด ๓ หนู รวมเป็นอายุที่ตนเกิดมานั้นคิดรวมได้ ๒๕ ปี เป็นวัยที่ ๑ เรียกว่า ปฐมวัย ในปฐมวัยต้นชั้นนี้ กำลังแข็งแรง ใจก็กล้าหาญ ความทะยานก็มาก ความอยากก็กล้า ถ้าเป็นลูกผู้ดีมีเงิน มีหน้าที่ประกอบกิจการงาน มีที่พึ่งพักอิงสถานที่อาศัย ถ้าเป็นลูกพลคนไพร่ไร้ทรัพย์กับไม่มีที่พึ่งพาอาศัยสนับสนุนค้ำจุน ซ้ำเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย ด้อยอ่อนในการเรียนรู้ คราวนี้ก็ทำหน้าเศร้าสลดเสียใจ แค้นใจตัวเองบ้าง แค้นใจบิดามารดา หาว่าตั้งฐานะไว้ไม่ดีจึงพาเขาลำบาก ตกทุกข์ได้ยากต้องเป็นหนี้ เป็นข้าอายุเป็นยี่สิบห้าแล้วยังหาชิ้นดีอะไรไม่ได้ คราวนี้ชาติทุกข์ในพระอริยสัจจ์เกิดปรากฏแก่ผู้ได้ทุกข์เพราะชาติ ความเกิดคราวนี้ ยังมีอีกคนหนึ่งเกิดขึ้นในปีฉลูแล้วฉลูอีก แล้วถึงฉลูอีก รวม ๕ รอบ นับไปดูจึงรู้ว่า ๖0 ปี จึงรู้สึกตัวว่าแก่ ตกในปูนชรา ตาก็มัว หัวก็มึน หูก็ตึง เส้นเอ็นก็ขัด ท้องไส้ก็ฝืด ผะอืดผะอม ทีนี้ความตงิดว่าเรารู้ตงิด แก่ เราชราอายุถึงเท่านี้ๆ เป็นส่วนเข้าใจว่า ชราทุกข์ถึงเราเข้าแล้วจะกำหนดได้ก็เพราะรู้จักชื่อปีเกิด ถ้าไม่รู้ชื่อปีเกิดก็ไม่รู้ว่าตัวแก่เท่านั้นเอง เพราะใจอันเป็นอัพยากฤตจิต ไม่รู้แก่ ไม่รู้เกิด จะรู้ได้ก็ต้องตน กำหนดหมายไว้จึงรู้การ ที่จะกำหนดหมายเล่า ก็ต้องอาศัยจำปีเกิด เดือนเกิด วันเกิดของตนก่อน จึงจะกำหนดทุกข์ให้เข้าใจเป็นลำดับปีไป เหตุนี้จึงได้กล่าวว่า ๑๒ นักษัตร เป็นต้นทางของพระอริยสัจจ์ ถ้าไม่เดินต้นทางก่อน ก็จะเป็นผู้หลงทางไปไม่ถูกที่หมายเท่านั้น แล้วท่านจึงสำแดงพระอริยธรรม ๔ สัจจ์ โดยปริยายพิจิตรพิศดาร พระอริยสัจจ์ที่ท่านแสดงในครั้งนั้น มีผู้ได้จำนำลงพิมพ์แจกกันอ่านครั้งหนึ่งแล้ว ในประวัติเรื่องนี้จะไม่มีเทศน์ เพราะไม่ประสงค์จะสำแดงพระอริยสัจจ์ ประสงค์จะขียนแต่ประวัติข้อที่ว่าผู้นิมนต์ลืมคำสั่งสมเด็จเจ้าพระยา ไพร่ไปบอกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ว่าเทศนา ๑๒ นักษัตร ท่านจึงวิสัชชนาตามคำนิมนต์ ครั้นท่านเห็นไม่ชอบกล นายจะลงโทษบ่าว ฐานเปลี่ยนแปลงคำสั่งคำบัญชา ท่านจึงมีความกรุณาเทศน์ยกย่องคำผิดของบ่าวขึ้นให้เป็นความดี จึงเทศนาว่า ๑๒ นักษัตร ๑๒ ปีนี้ เป็นต้นทางของพระอริยสัจจ์ ควรบุคคลจะรู้ก่อนรวมความว่า ท่านเทศน์ทุกสัจจ์แล้ว เทศน์สมุทัย อริยสัจจ์ แล้วเทศน์มรรคอริยสัจจ์ จบลงแล้ว ใจสมเด็จเจ้าพระยาก็ผ่องแผ้ว ไม่โกรธทนายผู้นิมนต์พลาดทนายคนนั้นรอดไป ไม่ถูกด่า ไม่ถูกเฆี่ยน เป็นอันแล้วไป ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:16:33
ครั้นเข้าฤดูบวชนาค ท่านก็บวชนาคเสมอทุกวัด มีผู้เลื่อมใสนิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั่งที่พระอุปัชฌาย์ และท่านได้ประทานบรรพชาอุปสมบทแก่หม่อมเจ้าทัส อันเป็นพระบุตรสุดพระองค์ในพระราชวงศ์ วังกรมหลวงเสนีบริรักษ์ก็ทรงพระผนวชในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง หม่อมเจ้าพระทัสพระองค์นี้ ภายหลังได้เป็นพระราชาคณะที่หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นหม่อมเจ้าพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร หม่อมเจ้าพระธรรมเจดีย์ (ทัส) พระองค์นี้ได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ผู้เรียบเรียงเรื่องนี้ด้วย ภายหลังทรงเลื่อนจากพระธรรมเจดีย์ ขึ้นเป็นหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์วัดโพธิ์ (เชตุพน) รับพระสุพรรณปัฎในรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพพระมหานคร ฯ

· ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ชราภาพมากแล้ว ท่านไปไหนมา เผอิญปวดปัสสาวะ ท่านออกมาปัสสาวะกรรมหลังเก๋งข้างท้าย แล้วโยงโย่โก้งโค้งข้ามพนักเก๋งเรือกลับเข้าไปในเก๋ง พอถึงกลางพระองค์ จำเพาะคนท้ายทั้ง ๔ ออกแรงกระทุ่มแจวพร้อมกันส่งท้ายเข้า สมเด็จท่านยันไม่อยู่เพราะชราภาพมาก เลยล้มลงไปหน้าโขลกกระดานเรือปากเจ่อ ท่านก็ไม่โกรธไม่ด่า ท่านอุตส่าห์ขยับลอดศีรษะออกจากเก๋งเหลีบวหลังไปว่ากับคนท้ายว่า พ่อจ๋าพ่ออย่าเข้าใจว่าพ่อมีแรงแต่พ่อคนเดียวหนาจ๋า คนอื่นเขาจะมีแรงยิ่งกว่าพ่อก็คงมีจ๊ะ ว่าแล้วก็โยงโย่กลับเข้าเก๋งไปจำวัดอีก คราวนี้หม่อมราชวงศ์เจริญบุตรหม่อมเจ้าทัพในกรมเทวา เป็นศิษย์นั่งหน้าเก๋งไปด้วยจึงได้ยินหม่อมราชวงศ์องค์นี้ภายหลังได้เป็นสามเณร เป็นหม่อมราชวงศ์สามเณรเปรียญ ๖ ประโยค ภายหลังได้อุปสมบทในสำนักหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ ภายหลังเลื่อนเป็นพระราชาคณะที่พระราชพัทธ เจ้าอาวาสวัดท้ายตลาด ภายหลังเลื่อนเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆัง ภายหลังเลื่อนเป็นหม่อมราชวงศ์พระพิมลธรรม ภายหลังเลื่อนเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดระฆัง รับพระสุพรรณปัฎทุกคราวในรัชกาลที่ ๕ ฯ

· ต่อไปนี้จะได้กลับกล่าวถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อีกว่า ครั้นถึงปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๒๓๒ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพฯ ที่บ้านสมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) มีการประชุมนักปราชญ์ทุกชาติ ทุกภาษา ล้วนเป็นตัวสำคัญๆ รอบรู้การศาสนาของชาตินั้น ฯ

· สมเด็จเจ้าพระยา ให้ทนายอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปแสดงเผยแผ่ความรู้ในสิ่งที่ถูกที่ชอบด้วยการโลกการธรรม ในพุทธศาสนาอีกภาษาหนึ่งในชาติของสยามไทย ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ยินคำอาราธนา จึงรับสั่งว่า ฉันยินดีแสดงนักในข้อเข้าใจ ทนายกลับไปกราบเรียนสมเด็จพระประสาทว่า สมเด็จฯ ที่วัดรับแสดงแล้ว ในเรื่องแสดงให้รู้ความผิดถูกทั้งปวงได้ ฯ

· พอถึงวันกำหนด สมเด็จฯ ที่วัดระฆังก็ไปถึง นักปราชญ์ทั้งหลายยอมให้นักปราชญ์ของไทยออกความก่อนในที่ประชุมปราชญ์ และขุนนางทั้งปวงก็มาประชุมฟังด้วยสมเด็จพระประสาทจึงอาราธนาสมเด็จฯ ที่วัดระฆังขึ้นบัลลังก์ แล้วนิมนต์ให้สำแดงทีเดียว ฯ

· สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ออกวาจาสำแดงขึ้นว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พึมทุ้มๆ ครางๆ ไปเท่านี้นาน กล่าวพึมพำสองคำเท่านี้สักชั่วโมงหนึ่ง สมเด็จพระประสาทลุกขึ้นจี้ตะโพกสมเด็จฯ ที่วัด แล้วกระซิบเตือนว่าขยายคำอื่นให้ฟังบ้าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็เปล่งเสียงดังขึ้นกว่าเดิมอีกชั้นหนึ่งขึ้นเสียงว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา ฯลฯ ว่าอยู่นานสักหนึ่งชั่วโมงอีก สมเด็จพระประสาทลุกขึ้นมาจี้ตะโพก สมเด็จฯ ที่วัดอีก ว่าขยายคำอื่นให้เขาฟังรู้บ้างซิ สมเด็จฯ ที่วัดเลยตะโกนดังกว่าครั้งที่สองขึ้นอีกชั้นหนึ่งว่า พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา อธิบายว่า การของโลกก็ดี การของชาติก็ดี การของศาสนาก็ดี กิจที่จะพึงกระทำต่างๆ ในโลกก็ดี กิจควรกระทำสำหรับข้างหน้าก็ดี กิจควรทำให้สิ้นธุระทั้งปัจจุบันละข้างหน้าก็ดี สำเร็จกิจเรียบร้อยดีงามได้ด้วยกิจพิจารณาเป็นชั้นๆ พิจารณาเป็นเปราะๆ เข้าไปตั้งแต่หยาบๆ และปูนกลางๆ และชั้นสูงชั้นละเอียด พิจารณาให้ประณีตละเมียดเข้าจนถึงที่สุดแห่งเรื่องถึงที่สุดแห่งอาการให้ถึงที่สุดแห่งกรณีให้ถึงที่สุดแห่งวิธีให้ถึงที่สุดแห่งประโยชน์ยืดยาวพิจารณาให้รอบคอบทั่วถึงแล้ว ทุกๆ คนคงจะรู้จักประโยชน์คุณเกื้อกูลตน ตลอดทั้งเมื่อนี้ เมื่อหน้าจะรู้ประโยชน์อย่างยิ่งได้ ก็ต้องอาศัยกิจพิจารณาเลือกเฟ้นคั้นหาของดีของจริงเด่นเห็นชัดปรากฏแก่คน ก็ด้วยการพิจารณาของคนนั่นเอง ถ้าคนใดสติน้อยถ่อยปัญญา พิจารณาเหตุผล เรื่องราวกิจการงาน ของโลก ของธรรม แต่พื้นๆ ก็รู้ได้พื้นๆ ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาเป็นอย่างกลางก็รู้เพียงชั้นกลาง ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง ในข้อนั้นๆ อย่างสูงสุดไม่หลับหูหลับตา ไม่งมงายแล้ว อาจจะเห็นผลแก่ตน ประจักษ์แท้แก่ตนเอง ดังปริยายมา ทุกประการ จบที ฯ

· ครั้นจบแล้ว ท่านลงจากบัลลังก์ ก็ไม่มีนักปราชญ์ชาติอื่นๆ ภาษาอื่นๆ มีแขกแลฝรั่งเป็นต้น ก็ไม่อาจออกปากขัดคอคัดค้านถ้อยคำของท่านสักคน อัดอั้นตู้หมด สมเด็จเจ้าพระยาพยักหน้าให้หมู่นักปราชญ์ในชาติทั้งหลายที่มาประชุมคราวนั้นให้ขึ้นบัลลังก์ก็ต่างคนต่างแหยงไม่อาจนำออกแสดงแถลงในที่ประชุมได้ ถึงต่างคนต่างเตรียมเขียนมาก็จริง แต่คำของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครอบไปหมด จะยักย้ายโวหารหรือจะอ้างเอาศาสดาของตนๆ มาแสดงในที่ประชุมเล่า เรื่องของตัวก็ชักจะเก้อ จะต่ำจะขึ้นเหนือความพิจารณาที่สมเด็จฯ ที่วัดระฆังกล่าวนั้นไม่ได้เลย ลงนั่งพยักหน้าเกี่ยงให้กันขึ้นบัลลังก์ก็ใครก็ไม่อาจขึ้น สมเด็จพระประสาทเองก็ซึมซาบ ได้ดี เห็นจริงตามปริยายของทางพิจารณา รู้ได้ตามชั้นตามภูมิ ตามกาล ตามบุคคลที่ยิ่งและหย่อน อ่อนและกล้า จะรู้ได้ก็ด้วยการพิจารณา ถ้าไม่พิจารณา ก็หาความรู้ไม่ได้เลย ถ้าพิจารณาต่ำ หรือน้อยวันพิจารณาก็มีความรู้น้อยห่างความรู้จริงของสมเด็จฯ ที่วัดทุกประการ วันนั้นก็เป็นอันเลิกประชุมปราชญ์ต่างคนต่างลากลับ ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:17:52
ก็และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์นี้ พูดธรรมสากัจฉากันในที่สภาการต่างๆ ถ้ามีผู้ถาม ถามขึ้นว่า คำที่เรียกกันว่านิพพานๆ นั้น บางคนเป็นนักแปล ก็แปลตามศัพท์ ว่าดับบ้าง ออกจากเครื่องร้อยรัดบ้าง แปลว่า เกิดแล้วไม่ตายบ้าง ตายแล้วไม่มาเกิดบ้าง ดับจากกิเลสบ้าง ดับไม่มีเศษเป็นนิรินทพินาสบ้าง เลยไม่บอกถิ่นฐานเป็นทางเดียวกัน จะยังกันละกันให้ได้ความรู้จักพระนิพพานเป็นเงาๆ หรือรู้รางรางบ้างก็ทั้งยาก จึงพากันหารือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ในเรื่องใคร่รู้จักนิพพาน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านว่า ท่านก็ไม่รู้แห่ง แต่จะช่วยชี้แจงอุปมาเปรียบเทียบให้รู้และเข้าใจเอาเอง ตามเหตุแลผล เทียบเทียมได้บ้างว่านิพพานจะรู้ได้อย่างไร ท่านอุปไมยด้วยหญิงสองคนพี่น้องจ้องคิดปรารภปรารมภ์อยู่แต่การมีผัว อุตส่าห์อาบน้ำทาขมิ้น นุ่งผ้าใหม่ ผัดหน้า หวีผมแปร้ ก็ประสงค์ความรักให้เกิดกับชายผู้แลหน้าจะได้มาสู่ขอเป็นสามีเท่านั้น ครั้นล่วงมาก็สบโชคสบช่องของคนพี่สาวมีผู้มีชื่อมีหน้ามาขอ ได้ตกลงแต่งงานร่วมห้องร่วมหอกันแล้ว หญิงผู้ที่เป็นนางน้องสาวก็มาเยี่ยมแล้วตั้งวิงวอนเซ้าซี้ซักถามว่าพี่จ๋า การที่พี่หลับนอนกับผัวนั้น มีรสมีชาติครึกครื้นสนุกสนานชื่นบานเป็นประการใด จงบอกให้ฉันรู้บ้าง นางพี่สาวก็ไม่รู้แห่งจะนำความรื่นรมย์สมสนิทด้วยสามีนั้น ออกมาตีแผ่เปิดเผยให้น้องสาวสมรู้ตามเห็นตามในความรื่นรมย์แห่งโลกสันนิวาสได้ นางพี่สาวก็ได้แต่บอกว่าน้องมีผัวบ้างน้องก็จะรู้เอง ไม่ต้องถามเอาเรื่องกับพี่หรอก ฯ

· ครั้นอยู่มาไม่ช้านาน นางผู้เป็นน้องได้สามีแล้วไปหาพี่สาวๆ ถามว่า การหลับนอนรมย์รื่นชื่นใจกับผัวน้องมีความรู้สึกว่าเป็นเช่นไร ลองเล่าบอกออกความให้พี่เข้าใจบ้างซีแม่น้อง นางน้องสาวฉอเลาะตอบพี่สาวทันทีว่า พี่ไม่ต้องเยาะ ไม่ต้องเยาะ และพี่น้องหญิงคู่นั้นก็นั่งสำรวลหัวเราะกันตามฐานที่รู้รสสังวาสเสมอกัน ข้ออุปมานี้ฉันใดก็ดี พระโยคาวจรกุลบุตรมีความมุ่งหมายจะออกจากชาติจากภพ เบื่อหน่ายโลกสันนิวาส เห็นว่าเป็นหม้อต้มหรือเรือนอันไฟไหม้ คิดจะออกจะหนีให้พ้น ก็ทำความพยายามแข็งข้อถกเขมรจะเผ่นข้ามให้พ้นจากหม้อต้มสัตว์ และเรือนไฟไหม้อันลุกลาม ก็เตรียมตัวทำศีลให้บริสุทธิ์ปราศจากโทษเศร้าหมอง ทำสมาธิตั้งใจตรงจงใจทำสัมมะถะกัมมัฎฐาน ทำปัญญาให้เป็นวิปัสสนาญาณอย่างยิ่งยอด ตัดสังโยชน์ให้ขาดเด็ดแล้วด้วยมีดคมกล้า กล่าวคือ โคตรภูญาณ อนุโลมญาณ มรรคญาณ ทำช่องให้เวิ้งว้างเห็นแสงสว่างปรากฏ พระโยคาวจรกุลบุตรก็กำเนิดดวงจิต จิตวางอารมณ์ วางสัญญา วางอุปาทานด้วยเครื่องยึด ทำลายเครื่องกั้นทั้ง ๕ ละวางได้ขาด ประกอบองค์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกักคตา ฟอกใจ คราวนี้ใจก็กอปรด้วยวิสุทธิ ๗ เมื่อวิสุทธิ ๗ ประการผุดขึ้นแล้ว พระโยคาวจรกุลบุตรก็มาละวิตก ละวิจารณ์ ละปิติ ละสุข ละเอกักคตา เหลือแต่อุเบกขาญาณดำเนินไปอุเบกขาญาณมีองค์ ๖ ประการ เป็นพื้นมโนธาตุ ก็กลายเป็นอัพยากฤตไม่ติดบุญ ไม่ติดบาป ต่อไปจะยังมีลมหายใจ หรือหมดลมหายใจมโนธาตุก็ตั้งอยู่ตามตำแหน่ง ไม่เข้าสิงในเบญจขันธ์ต่อไป เรียกว่า ธรรมธาตุ บริสุทธิ์จำเพาะตน เรียกว่าพระนิพพาน ท่านผู้ได้ ผู้ถึงท่านรู้กันว่า เป็นเอกันตบรมสุข ไม่ระคนปนด้วยทุกข์ต่อไปท่านไม่ต้องซักถามเซ้าซี้ เช่นหญิงทั้ง ๒ ดังสำแดงมา (จบสากัจฉา) ฯ
(จงตริตรองตามความเปรียบเทียบแลกอปรธรรมะต่างๆ ตามความแนะนำมาก็จะเห็นพระนิพพานบ้าง)

· ในปลายปีมะเมีย โทศก นี้มา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มีลายลิขิตแจ้งแก่กรมสังฆการีว่า จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกเป็นกิตติมศักดิ์ ด้วยเหตุชราทุพพลภาพไม่สามารถรับราชการเทศน์แลสวดฉัน ในพระบรมมหาราชวังได้ ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตตกเป็นพระมหาเถรกิตติมศักดิ์ และได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา หม่อมเจ้าพระ (ทัส) ในกรมสมเด็จพระราชวังหลัง ขึ้นเป็นพระราชาคณะรองเจ้าอาวาสพระราชทานพระสุบรรณบัฏ มีราชทินนามว่า หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์มีฐานา ๓ รูป มีนิตยภัตรเดือนละ ๑๖ บาท ค่าข้าวสาร ๑ บาท เป็นผู้ช่วยบัญชากิจการวัดระฆังต่อไป ฯ

· ฝ่ายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตั้งแต่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตปลดชรายกเป็นสมเด็จพระราชาคณะกิตติมศักดิ์แล้ว ท่านก็คลายอิสริยยศ บริวารยศแบกตาลิปัตรเอง พายเรือบิณฑบาตเอง จนเป็นที่คุ้นเคยกับอีกา กาจับป่ากินอาหารกับท่าน จนท่านพูดกับกาที่ประตูอนงคลีลา (ประตูดิน) กาตัวหนึ่งบอกว่าจะไปวัดมหาธาตุ กาตัวหนึ่งว่าจะไปท่าเตียน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ว่า ไปท่าเตียนดีกว่าไปวัดมหาธาตุ เพราะคนเขาทิ้งหัวกุ้งหัวปลาหมักหมมไว้มาก ที่วัดมหาธาตุถึงมีโรงครัวก็จริง แต่ทว่าคนเขาขนเก็บกวาดเสียหมดแล้วจ๊ะ ฯ

· เวลาจำวัดอยู่ในกุฏิของท่านที่วัดระฆังนั้น เจ้าขโมยเจาะพื้นกุฏิล้วงเอาข้าวของที่วางเกลื่อนไว้ เจ้าขโมยล้วงไม่ถึง ท่านก็ช่วยเอาไม้เขี่ยของนั้นๆ เข้าไปให้ใกล้มือขโมย เจ้าขโมยลักเข็นเรือใต้ถุนกุฏิ ท่านก็เปิดหน้าต่างสอนขโมยว่า เข็นเบาๆ หน่อยจ๊ะ ถ้าดังไปพระท่านได้ยินเข้าท่านจะตีเอาเจ็บเปล่าจ๊ะ เข็นเรือบนแห้ง เขาต้องเอาหมอนรองข้างท้ายให้โด่งก่อนจ๊ะ ถึงจะกลิ้งสะดวกดี เรือก็ไม่ช้ำไม่รั่วจ๊ะเลยเจ้าขโมยเกรงใจไม่เข็นต่อไป ฯ

· ครั้งเมื่อนางนาคบ้านพระโขนง เขาตายทั้งกลม ปีศาจนางนาคกำเริบ เขาลือกันต่อมาว่า ปีศาจนางนาคมาเป็นรูปคนช่วยผัววิดน้ำเข้านาได้ จนทำให้ชายผู้ผัวมีเมียใหม่ไม่ได้ ปีศาจนางนาคเที่ยวรังควานหลอนหลอก คนเดินเรือในคลองพระโขนงไม่ได้ตั้งแต่เวลาเย็นตะวันรอนๆ ลงไป ต้องแลเห็นปีศาจนางนาคเดินห่มสีบ้าง โหนตัวบนต้นโพธิ์ต้นไทรบ้าง พระสงฆ์ในวัดพระโขนงมันก็ล้อเล่น จนกลางคืนพระภิกษุสามเณรต้องนอนรวมกัน ถ้าปลีกไปนอนองค์เดียวเป็นต้องถูกปีศาจนางนาครบกวน จนเสียงกร็อกแกร๊กอื่นๆ ก็เหมาว่าเป็นปีศาจนางนาคไปหมด จนชั้นนักเลงกลางคืนก็ต้องหยุดเซาลงเพราะกลัวปีศาจนางนาค พวกหมอผีไปทำเป็นผู้มีวิเศษตั้งพิธีผูกมัดเรียกภูตมัน มันก็เข้ามานั่งแลบลิ้นเหลือกตาเอาเจ้าหมอต้องเจ๊งมันมาหลายคนจนพวกแย่งชิงล้วงลักปลอมเป็นนางนาคหลอกลวงเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านกลัวนางนาคเลยมุดหัวเข้ามุ้งขโมยเก็บเอาของไปสบายค่ำลงก็ต้องล้อมต้องนั่งกองกันยันรุ่งก็มี ฯ

· สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านรู้เหตุปีศาจนางนาคกำเริบเหลือมือหมอท่านจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศในคลองพระโขนง พอค่ำท่านก็ไปนั่งอยู่ปากหลุม แล้วท่านเรียกนางนาคปีศาจขึ้นมาสนทนากัน ฝ่ายปีศาจนางนาคก็ขึ้นมาพูดจาตกลงกันอย่างไรไม่ทราบลงผลท้ายที่สุดท่านได้เจาะเอากระดูกหน้าผากนางนาคที่เขาฝังไว้มาได้ แล้วท่านมานั่งขัดเกลาจนเป็นมัน ท่านนำขึ้นมาวัดระฆัง ท่านลงยันเป็นอักษรไว้ตลอด เจาะเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ไปไหนท่านก็เอาติดเอวไปด้วย ปีศาจในพระโขนงก็หายกำเริบซาลง เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ) ยังเป็นสามเณรอยู่ในกุฏิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นางนาคได้ออกมารบกวน ม.ร.ว.เณรๆ ก็ร้องฟ้องสมเด็จฯ ว่า สีกามากวนเขาเจ้าข้า สีกามากวนเขา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านร้องว่า นางนาคเอ๊ย อย่ารบกวนคุณเณรซี ปีศาจนั้นก็สงบไป นานๆ จึงออกมารบกวน ครั้นท่านชรามากแล้ว ท่านจึงมอบปั้นเหน่งกระดูกหน้าผากนางนาคประทานไว้กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ มอบหม่อมราชวงศ์สามเณรเจริญให้ไปอยู่กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ด้วยนานๆ นางนาคออกหยอกเย้าหม่อมราชวงศ์สามเณรเจริญ หม่อมราชวงศ์สามเณรเจริญต้องร้องฟ้องหม่อมเจ้าพระพุทธบาทฯ ต้องทรงกริ้วนางนาคว่า เป็นผู้หญิงยิงเรืออย่ามารบกวน คุณเณรจะดูหนังสือหนังหาเสร็จกริ้วแล้วก็เงียบไป (เรื่องนี้สำหรับเจ้านายหม่อมราชวงศ์วังหลังเล่าให้ฟัง) ฯ

· ส่วนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตั้งแต่ปลดภาระการวัดการสอนให้หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์แล้ว ส่วนตัวท่านก็ไปตามสบาย กับรีบทำพระพิมพ์ ดูให้คนโขลกปูนเพชร และนั่งพิมพ์ไป บางทีไปเยี่ยมป่าช้าวัดสระเกศ เช้าก็บิณฑบาตได้อะไรก็ฉันไปพลาง บางทีเที่ยวสะพายบาตรไป ใครใส่เวลาไหน ท่านก็ฉันฉลองศรัทธาเวลานั้น บางทีก็ไปนั่งในโลหะปราสาทวัดราชนัดดารามไปคุยกับหลวงพ่อรัตวัดเทพธิดารามบ้างแล้วถูกคอ บางทีไปดูช่างเขียนประวัติของท่านที่ผนังโบสถ์วัดบางขุนพรหมใน ดูให้ช่างก่อๆ พระโต ก่อขึ้นไปจนถึงพระโสณี (ตะโพก) ถึงหน้าขึ้นพระบาท ก็ขึ้นนมัสการพระพุทธบาทเสมอทุกปีจนพวกลพบุรี สระบุรี นับถือเอาน้ำล้างเท้าท่านไปเก็บไว้รักษาฝีดาษดีนัก ถึงฝีจะร้ายแรงดาษตะกั่วก็หาย เด็กๆ ที่ออกฝีไม่มีใครเป็นอันตรายเลย เรื่องฝีดาษเป็นดีมาก จนตลอดมาถึงพระโตวัดเกตุไชโยก็ศักดิ์สิทธิ์ในการรดน้ำมนต์รักษาฝีดาษดี ชาวเมืองอ่างทองนับถือมากจนตราบเท่าทุกวันนี้ ฯ

· สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ขึ้นนมัสการพระพุทธบาทคราวใด เป็นต้องมีไตรไปพาดที่หัวนาคตีนกระได แล้วนิมนต์พระชักบังสุกุลโยมผู้หญิงของท่านที่เมืองพิจิตรทุกคราว ว่านิมนต์บังสุกุลโยมฉันด้วยจ๊ะ พระจ๋า แล้วเลยไปนมัสการพระฉายเขามันฑกบรรพตด้วย จนกระเหรี่ยงดงนับถือมากเข้าปฏิบัติ ท่านไปกับอาจารย์วัดครุฑ อาจารย์อื่นๆ บ้าง กลับมาแล้วก็มาจำวัดสบายอยู่ ณ วัดบางขุนพรหมในเป็นนิตยกาล ฯ

· และพระพิมพ์ที่วัดบางขุนพรหมในนั้น เสมียนตราด้วง ขอเอาพิมพ์ของท่านไปพิมพ์ปูนแลผงของเสมียนตราด้วง ทำตามวุฒิของเสมียนตราด้วงเอง ชาวบ้านบางขุนพรหมปฏิบัติอุปฐาก บางทีขึ้นพระบาท หายเข้าไปในเมืองลับแลไม่กลับ คนลือว่าสมเด็จถึงมรณภาพแล้วก็มี ทางราชการเอาโกศขึ้นไป ท่านก็ออกมาจากเมืองลับแล พนักงานคุมโกศต้องเอาโกศเปล่ากลับหลายคราวฯ

· ครั้นท่านกลับลงมาแล้ว ก็รีบพิมพ์พพระไป ท่านพระยานิกรบดินทร(โต) ได้ถวายทองคำเปลวมา ท่านก็ปิดพระได้สัก ๔0000 กว่า ทองนั้นก็หมด พระพิมพ์ ๘ หมื่น ๔ พันคราวนี้ เดิมตั้งใจจะถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงปิดทองแต่จะได้ถวายหรือไม่ได้ถวายไม่ได้ความปรากฏ พระธรรมถาวรยังเป็นพระครูปลัดก็ไม่รู้ ผู้เรียงจะซักถามให้ได้ความจริงก็เกรงใจ เพราะเกณฑ์ให้ท่านเล่าเรื่องอื่นๆ มามากแล้วฯ

· ครั้นถึง ณ วันเดือน ๕ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ ปี เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพพระมหานครฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ไปดูการก่อพระโตวัดบางขุนพรหมในก็ไปอาพาธด้วยโรคชราภาพ ๑๕ วัน ก็ถึงมรณภาพ บนศาลาใหญ่วักบางขุนพรหมใน ในเวลาปัจจุบันสมัยวันนั้น สิริรวมชนมายุ ๘๔ ปีบริบูรณ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามมาได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ รับตำแหน่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้ ๗ ปีบริบูรณ์ ถ้าจะนับปีตามจันทรคติก็ได้ ๘ ปี นับอายุตามจันทรคติก็ได้ ๘๔ ปี เพราะท่านเกิดปีวอก เดือน ๖ วอกรอบที่ ๗ ถึงวอกรอบที่ ๘ เพียงย่างขึ้นเดือน ๕ ท่านก็ถึงมรณภาพคิดขาดหักเดือนตามอายุโหราจารย์ตามสุริยคตินิยม จึงป็นอายุ ๘๔ ปีบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้แล ฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:18:49
คำนวณอายุผู้เรียงเรื่องนี้ได้ ๗ ขวบยังไม่บริบูรณ์ คือหลักเหลือ ๖ ปีกับ ๓ เดือน เวลาที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ยังอยู่นั้น ผู้เรียงเรื่องนี้ยังอยู่กับคุณเฒ่าแก่กลิ่น ในตึงแถวเต๊งแถบข้างทิศใต้ ทางออกวัดพระเชตุพน ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน คุณกลิ่นเฒ่าแก่เคยพาขึ้นไปรับพระราชทานเบี้ยจันทร เบี้ยสูรย์ คือเงินสลึงจากพระราชหัตถ์สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็สองคราว ได้เคยฟังเทศน์สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ก็สองคราว ได้เคยเข้านมัสการท่านก็สองคราว ท่านผูกมือให้ที่พระที่นั่งทรงธรรม ยังจำได้ว่ามีต้นกาหลงใหญ่ในพระบรมมหาราชวังฯ

· ครั้งเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ถึงมรณภาพที่ศาลาใหญ่ ในวัดบางขุนพรหมในแล้วได้รับพระราชทานน้ำสรงศพ ไตรครอง ผ้าขาวเย็บถุง โกศ กลองชนะ อภิรมย์ สนมซ้าย ฝีพาย เรือตั้งบรรทุกศพ เมื่อเจ้านาย ขุนนาง คุณท้าว เฒ่าแก่ พวกอุปฐาก พวกอุบาสิกา ประชาชน ชาวบ้านบางขุนพรหม ปวงพระสงฆ์ สรงน้ำสมเด็จเจ้าโตแล้ว สนมก็กระสันตราสังศพ บรรจุใบโกศไม้ ๑๒ เสร็จแล้วก็ยกลงมาที่ท่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝีพายหลวงพายลงมาตามลำแม่น้ำ เรือตามก็ตามหลายแม่น้ำ ส่งศพกระทั่งถึงหน้าวัดระฆัง สนมเชิญโกศศพขึ้นบนกุฏิสมเด็จฯ อยู่แถบข้างท้ายวัดริมคลองคูวัดระฆัง ตั้งศพบนฐานเบ็ญจาสองชั้นมีอภิรมย์ ๖ คัน มีกลองชนะ ๒๔ จ่าปี จ่ากลองพร้อม มีพระสวดพระอภิธรรม มีเลี้ยงพระ ๓ วัน เป็นของหลวงฯ

· วันเมื่อศพสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) มาถึงวัดระฆังวันนั้น ผู้คนมาส่งศพรับศพนมัสการศพนั้นแน่นอัดคับคั่ง ทั้งผู้ดี ผู้ไพร่ พลเมืองไทย จีน ลาว มอญ ชาวละครเขมร พราหมณ์ พระสงฆ์ทุกๆ พระอาราม เด็กวัด เด็กบ้าน แน่นไปเต็มวัดระฆัง พระครูปลัดสัมพิพัฒน์(ช้าง) คือพระธรรมถาวรราชาคณะ ที่มีอยู่ ๘๔ ปี มีตัวอยู่ถึงวันเรียงประวัติเรื่องนี้ได้ตักพระพิมพ์แจกชำร่วยแก่บรรดาผู้มาส่งศพ สักการะศพ เคารพศพนั้น แจกทั่วกันคนละองค์สององค์ ท่านประมาณราวสามหมื่นองค์ที่แจกไป และต่อๆ มาก็แจกเรื่อย จนถึงวันพระราชทานเพลิงและยังมีผู้ขอ และแจกให้อีกหลายปีจนพระหมด ๑๕ กระถางมังกร เดี๋นี้จะหาสักครึ่งก็ไม่มี มีแต่จำเพาะตนๆ และปั้นเหน่งซึ่งเป็นกระดูกหน้าผากของนางนาคพระโขนงนั้นตกอยู่กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทรน์ ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมเจดีย์ ได้เป็นเสด็จอุปัชฌาย์ของผู้เรียงประวัติเรื่องนี้ ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์(ม.จ.ทัศ) ไปคลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระนคร จึงได้มอบปั้นเหน่งกระดูกหน้าผากนางนาคพระโขนง ให้กรรมสิทธิ์ไว้แก่พระพุทธโฆษาจารย์(ม.ร.ว.เจริญ) เจ้าอาวาสวัดระฆัง แต่ครั้งดำรงตำแหน่งพระพิมลธรรมนั้น (ได้ยินแว่วๆ ว่าปั้นเหน่งนั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ถวาย ฯลฯ แล้ว)


และสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ถึงมรณภาพแล้ว

ล่วงมาถึงปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๒๙๒ ปี
พุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๒๓ ปี

รัตนโกสินทรศักราชถึง ๑๔๙ ปี


อายุรัชกาลที่ ๕ เสวยราชย์ ๔๓ ปี

รัชกาลที่ ๖ เสวยราชย์ ๑๕ ปี
รัชกาลที่ ๗ เสวยราชย์ ๖ ปี

คิดแต่ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ ปี มาถึงปีมะเมีย โทศกนี้ จึงรวมแต่ปีมรณภาพนั้น มาถึงปีมะเมียนี้ได้ ๖๑ ปี กับเศษเดือนวันแลฯ (ได้ลงมือเรียบเรียงแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓)
พระธรรมถาวรช้างบอกว่า คำแนะนำกำชับสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) นั้นดังนี้
๑. คุณรับเอาฟันของฉันไว้ ดียิ่งกว่า ๑00 ชั่ง ๑000 ชั่ง คุณจะมีความเจริญเอง
๒. คุณใคร่มีอายุยาว คุณต้องไหว้คนแก่
๓. คุณใคร่ไปสวรรค์ นิพพาน และมีลาภผล คุณหมั่นระลึกนึกถึง
พุทธ พุทธา พุทเธ พุทโธ พุทธํ อรหํ พุทโธ อิติปิโส ภควา นะโม พุทธายะฯ
ถึงเถรเกษอาจารย์ ผู้วิเศษของเจ้าสามกรมว่าดี ก็ไม่พ้น พุทธะ พุทธา พุทเธ พุทธํ พุทโธ อรหํ พุทโธฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:19:57
ต่อแต่นี้ไป จะขอกล่าวถึงเรื่องพระโต และเรื่องวัดบางขุนพรหมใน ตำบลบางขุนพรหม พระนครนี้สักเล็กน้อย พอเป็นที่รู้จักกันไว้บ้าง
เดิมวัดบางขุนพรหมในนี้ เป็นวัดเก่าแก่นาน แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี หรือจะก่อนนั้นก็ไม่แน่ใจ วัดนี้เป็นวัดกลางสวน อยู่ดอนมาก ใครเป็นผู้สร้างก็ไม่ปรากฏนาม หรือชาวสวนแถวนั้นจะพร้อมใจกันสร้างไว้ คนเก่าเจ้าทิฏฐิในการถือวัด ว่าวัดเราวัดเขา ดังเคยได้ยินมา ก็ไม่สู้แน่ใจนัก แต่เป็นวัดเก่าแก่จริง โบสถ์เดิมเป็นเตาเผาปูนกลายๆ มีกุฏิฝากระแชงอ่อน มีศาลาโกรงเกรง แต่ลานวัดกว้างดี มีต้นไม้ใหญ่มากครึ้มดี มีลมเหนือ ลมตะวันตก ลมตะวันออก พัดโกรกตรงกรองส่งเข้าสู่โบสถ์แลลานวัดเย็นละเอียดดี เมื่อตั้งเป็นราชธานีแล้วในฝั่งนี้ ถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ พระองค์เจ้าอินทร์ในพระราชวังบวรได้ทรงพระศรัทธาปฏิสังขรณ์เปลี่ยนแปลงทรงโบสถ์ เป็นรูปท้องพระโรงงามมีผี่งผายอ่าโถงยาว ๕ ห้อง มึมุข ๒ ข้าง ก่ออิฐถือปูนเสร็จและสร้างศาลา ขุดคลอง เหนือใต้วัด หลังวัด หน้าวัดเป็นเขตคันทำกุฏิสงฆ์ซ่อมถานเรียบร้อย ฉลองแล้วทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระกระแสรับสั่งว่า ผู้ที่ถวายตนเข้าเป็นวัดหลวงนั้น จำเพาะเจ้าของเป็นพระยาพานทรง ถ้าเป็นเจ้าต้องได้รับพระราชทานพานทองก่อน จึงถวายจัดเป็นวัดหลวงได้ ซึ่งพระองค์เจ้าอินทร์ก็ยังหาได้รับพระราชทานพานทองไม่ ได้พานทองแล้วจึงควรถวายวัดของเธอเป็นวัดหลวงได้ วัดนี้ก็คงเป็นวัดราษฎร์ วัดเจ้าอินทร์ บางขุนพรหม

ครั้นถึงปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๒๘๘ ปี มีราชการสงครามกับเจ้าอนุเวียงจันทน์ พระองค์เจ้าอินทร์เจ้าของวัดบางขุนพรหมนี้ ได้โดยเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ ขึ้นไปปราบขบถเมืองเวียงจันทน์ มีชัยชนะกลับมาแล้วได้รับพระราชทานพานทองเป็นบำเหน็จความชอบในสงครามนั้น แล้วพระองค์เจ้าอินทร์จึงทูลเกล้าฯ ถวายวัดนี้เป็นวัดหลวงอีกครั้งหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตำรวจราชองครักษ์และกรมเมืองมาสำรวจชัยภูมิสถานที่ของวัดนี้ ตลอดถึงทางพระราชดำเนินในการถวายพระกฐินทานด้วย เจ้าพนักงานทำรายงานถวายตลอด แต่ทางพระราชดำเนินนั้นขัดต่อทางราชการหลายประการ เพราะวัดตั้งอยู่กลางสวนทั้ง ๔ ทิศ ไม่สะดวกแก่ข้าราชบริพานที่จะโดยเสด็จ จึงมิได้ทรงรับเข้าบัญชีเป็นวัดหลวง พระองค์เจ้าอินทร์ก็ทรงทอดธุระวัดนั้นเสียไม่นำพา วัดก็ชำรุดทรุดโทรมลงอีก และพระองค์เจ้าอินทร์ก็มาสิ้นพระชนม์ไปด้วยจึงท่านพระเสมียนตราด้วงได้มีศรัทธาสละที่สวนขนัดทางหน้าวัด ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดขึ้นไปถึงกำแพงวัดแถบหน้าวัดทั้ง ๒ ในปัจจุบันนี้จนจดวัดถวายแป็นที่กัลปนาบ้าง เป็นหน้าวัดบ้าง เป็นสมบัติของวัดบางขุนพรหม ด้วยพระเสมียนตราด้วงนิยมนับถือ ฟังคำสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) จึงได้อุทิศที่บ้านที่สวนออกบูชาแก่พระรัตนตรัยในเนื้อที่ๆ ว่าแล้วนั้น พระเสมียนตราด้วงแลสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) จึงได้ช่วยกันปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมในด้วยผลค่าที่กัลปนาตลอดจนมาถึงสร้างพระโต ท่านเสมียนตราด้วงก็ถึงอนิจกรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ก็ถึงมรณภาพ สมภารวัดแลทายกก็ทำโลเลร่องแร่ง ผลประโยชน์ของวัดก็เสื่อมทรามหายไป วัดก็ทรุดโทรมรกรื้อ ภิกษุที่ประจำในวัดก็ล้วนรุ่มร่ามเลอะเทอะเป็นกดมะตอทั้งปทัด

ครั้นพระมหานครมาสู่ความสะอาดรุ่งเรืองงาม จึงดลพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๕ นั้น ให้ทรงสถาปนาพระมหานคร ตัดถนนสัญจรให้โล่งริ่วตลอดถึงกัน หลายชั้นหลายทาง ทะลุถึงกันหมดทุกสายทั้ง ๔ ทิศติดต่อกันไป ทางหน้าวัดบางขุนพรหมก็ถูกตัดถนนด้วยช่วยเพิ่มพระบารมีทางริมน้ำก็ถูกแลกเปลี่ยนที่ ทรงสร้างวัดลงตรงที่นั้น ๒ วัง ที่ใหม่ของหลวงที่พระราชทานให้แก่วัดบางขุนพรหมนั้นเดี๋ยวนี้ ก็ได้ยินว่าหายไปไม่ปรากฏแก่วัดบางขุนพรหม และชาวบ้านเหล่านั้นช่วยกันพยุงวัดนี้มาด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวบ้าง ผลประโยชน์ของวัดเกิดในกัลปนาบ้างช่วยกันเสริมสร้างพระโตองค์นี้มานานก็ไม่รู้จักจะแล้วได้ ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ท่านพระครู เป็นพระธรรมยุติกนิกายมาคิดสถาปนาพระโตองค์นี้เปลี่ยนแปลงเป็นพระยืนห้ามญาติพอเป็นองค์ขึ้นสมมติว่าแล้วนัดให้กันไม่ช้าเท่าไรก็เกิดวิบัติขึ้นแก่ผู้ต้นคิด เพราะผิดทางกำหนดในบทหนังสือปฐม ก กา ว่าขืนรู้ผู้ใหญ่เครื่องไม่เข้าการ เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) นั้น ท่านประพฤติ กาย วาจา ใจ เป็นผู้ใหญ่แท้ ท่านสร้างพระนั่งตอตะเคียนโปรดยักษ์ พระปรางนี้ไม่มีใครๆ สร้างไว้เลย แต่สยามฝ่ายเหนือลงมาก็หามีผู้สร้างขึ้นไว้ไม่ ท่านจึงคิดตั้งใจและสร้างไว้ให้ครบ ๑0๘ ปาง แต่อายุและโอกาสไม่พอแก่ความคิด พระจึงไม่แล้ว ท่านพระครูมาขืนรู้ ท่านจึงไม่เจริญกลับเป็นคนเสียกล เป็นคนทรุดเสื่อมถึงแก่ต้องโทษทางอาญา ราชภัยบันดาลเป็น เพราะโลภเจตนาเป็นเค้ามูล จึงพินาศวิบากผลปฏิสังขรณ์ อำนวยไม่ทัน วิบากของโลภแลความลบหลู่ดูหมิ่นผู้ใหญ่ โทษขืนรู้ผู้ใหญ่แรงกว่า อำนวยก่อนจึงเห็นเป็นทิฐิธรรมเวทนียะกรรมเข้า กลับเป็นบุคคลลับลี้ หายชื่อหายหน้าไม่ปรากฏเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ท่านก่อสร้างสิ่งซึ่งเป็นถาวรวัตถุชิ้นใดๆ เป็นการเกี่ยวแก่พระพุทธศาสนาตรงต่อพระมหากษัตริย์ ตรงต่อชาติ อาจทำให้ประโยชน์โสตถิผลให้แก่ประชุมชนเป็นอันมากดังสำแดงมาแล้วแต่หนหลัง

และวัดบางขุนพรหมในนี้นั้น สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหารได้สืบเค้าเงื่อนได้ทราบเหตุการณ์บ้างว่า เดิมพระองค์เจ้าอินทร์ซ่อมแซมก่อสร้างเป็นหลักฐานไว้ก่อนสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์(ม.ร.ว.ชื่น) วัดบวรนิเวศ ได้ขนานนามวัดนี้ ให้ชื่อว่า วัดอินทรวิหาร(แปลว่าวัดเจ้าอินทร์) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗0 นั้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ถ้าผู้มีทรัพย์มีอำนาจมีกำลังอานุภาพ ได้มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นพระนั่งบนตอตะเคียนตามประสงค์ของสมเด็จเจ้าโตได้และทำยักษ์คุกเข่าฟังพระธรรมเทศนา ได้ลุสำเร็จปฐมมรรคหายดุร้ายไม่เบียดเบียนมนุษย์ ไม่เบียดเบียนพระภิกษุสงฆ์สามเณรต่อไป ผู้แปลงใหม่ คงมั่งคั่งสมบูรณ์ พูนพิพัฒน์สถาพรประเทศก็จะรุ่งเรืองปราศจากวิหิงสาอาฆาตพยาธิก็จะไม่บีฑาเลยฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:20:55
ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงเรื่องราวของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) นี้ ได้ทรงจำและเสาะสางสืบค้นฉบับตำรับกะรุ่งกะริ่ง และได้อาศัยพึ่งพิงท่านผู้หลักผู้ใหญ่ผู้สูงอายุเล่ากล่าวสืบๆ มา จนมาติดอยู่ในสมองของข้าพเจ้า และได้ถือเอาคำของเจ้าคุณธรรมถาวร(ช้าง) ผู้มีอายุราว ๘๔ ปีบ้าง อนุมัติดัดแปลงบ้าง ประมาณบ้าง สันนิษฐานบ้าง วิจารณ์บ้าง เทียบศักราชในพงศาวดารบ้าง บรมราชประวัติแห่งสยามบ้าง พอให้สมเหตุสมผลให้เป็นต้นเป็นปลาย พิจารณาในรูปภาพที่ฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหารบ้าง ได้ยกเหตุผลขึ้นกล่าว ใช้ถ้อยคำเวยยากรณ์ เป็นคำพูดตรงๆ แต่คงจะไม่เหมือนสมเด็จพระเป็นแน่ เพราะคนละยุค คนละคราว คนละสมัย และข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าคงไม่ผิดจากความจริง เพราะข้าพเจ้าใช้คำตามหลักเป็นคำท้าว คำพระยา คำพระสงฆ์ คำบ้านนอก คำราชการ คำโต้ตอบทั้งปวงนั้น ข้าพเจ้าเขียนเองตามหลักของการแต่งหนังสือ แต่คำทั้งปวงเห็นว่าสมเหตุสมผลแล้วจึงเขียนลงแต่คงไม่คลาดจากความจริง ถ้าว่าไม่ได้ยินกับหู ไม่ได้รู้กับตา มากล่าวเล่าสู่กันฟังคล้ายกับเล่านิทานเหมือนเล่าเรื่องศรีธนชัย เรื่องไกรทอง เรื่องขุนช้างขุนแผน เรื่องอะไรทั้งหมด ที่เรียกว่านิทานแล้ว ธรรมดาต้องมีต่อมีเติมมีตัด ไม่ให้ขัดลิ้นขัดหู แต่ไม่ผิดหลักแห่งความจริง เพราะสิ่งที่จริงมีปรากฏเป็นพยานของคำนั้นๆ ถ้าหากว่าอ่านรูดรูด ฟังรูดรูดไม่ยึดถือเรื่องราว ก็เห็นมีประโยชน์เล็กน้อยแก่ผู้อ่านผู้ฟังบ้าง คือสอนพูด ถึงเป็นคนโง่ คนบ้านนอก ก็รู้การเมืองได้บ้างไม่เซอะซะต่อไป นักโต้ตอบก็จะได้ทราบหลักแห่งถ้อยคำ นักธรรมะก็พอสกิดให้เข้าใจธรรมะบ้าง นักเชื่อถือก็จะได้แน่นแฟ้นเข้าอีก นักสนุกก็พอเล่าหัวเราะแก้ง่วงเหงา ถ้าจะถือว่าหนังสือแต่งใหม่ก็ดีเหมือนกัน ถ้าท่านเห็นถ่องแท้ว่าผิดพลาดโปรดฆ่ากาแต้มตัดต่อเติมได้ให้ถูกต้องเป็นดีฯ

นี่แหละหนาท่านทานบดีที่มีน้ำใจเลื่อมใสศรัทธาเชื่อถือสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ได้อุตส่าห์มาประชุมกันไหว้กราบสักการะพระเกตุไชโยใหญ่โต ในอำเภอไชโยนี้ทุกปีมา พระพุทธปฏิมากรองค์นี้หนา ก็เป็นพระของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ได้ขอพระบรมราชานุญาตแล้วก่อสร้างไว้ ท่านได้เชิญเทวดาฟ้าเทวดาดินเป็นผู้เฝ้าพิทักษ์รักษาป้องกันภัยอันตราย ไม่ให้มีแก่พระของท่านจึงถาวรตั้งมั่นมาถึงปีนี้นานถึง ๖0 ปีเศษล่วงมา ก็ด้วยอำนาจสัตยาธิษฐานของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ผู้มีสัตย์ มีธรรม ทั้งกอปร กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นฝ่ายบุญฝ่ายกุศล ทั้งระคนข้องอยู่ในภูมิรู้ ภูมิเมตตา ภูมิกรุณา เอ็นดูแก่อาณาประชาชนนิกร ท่านตั้งใจให้ความสุขอันสุนทร และให้สุขสโมสร แก่นิกรประชาชนทั่วหน้ากัน ท่านหวังจะให้มีแต่ความปรีดิ์เปรมเกษมสันต์สารภิรมย์ ให้สมแก่ประเทศเป็นเขตพระบวรพุทธศาสนารักษาพระรัตนตรัยให้ไพบูลย์ ต่อตั้งศาสนาไว้มิให้เสื่อมสูญ เศร้าหมอง ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องสนองพระเดชพระคุณพระพุทธเจ้า อันได้ทรงฟักฟูมใฝ่เฝ้าฝากฝังตั้งพระศาสนาไว้เป็นของบริสุทธิ์สำหรับพุทธเวไนย พุทธสาวก พุทธมามะกะ พุทธบาท พุทธบิดามารดา แห่งพระพุทธเจ้า จะได้ตรัสไปข้างหน้าใสอนาคตกาลนิกรชนะ จะได้ชวนช่วยกันรักษาศีลบำเพ็ญทานทำแต่การบุญ ผู้สละผู้บริจาคจะได้เป็นทุนเป็นเสบียงทางผลที่ทำไว้จะมิได้ระเหิดเริศร้างจางจืดชืดเชื้อ หรือยากจนค่นแค้นเต็มเข็ญเป็นไปในภายหน้า จะได้ทวีมีศรัทธากล้าปัญญาแหลมหลักอรรคภูมิวิจารณ์จะเกิดบุญจุติ กามยตาญานหยั่งรู้หยั่งเห็นพระอริยสัจจธรรม จะได้นำตนให้ข้ามพ้นจากวัฏฏะสงสารได้ก็ต้องอาศัยกุศลวัตรภูมิ ภูมิรู้ภูมิปฏิบัติในปัจจุบันชาตินี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำเร็จความสุขความดีความงามตามวาสนาบารมีในกาลภายภาคหน้า เพราะเหตุนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) จึงได้ชะโลชะลอ หล่อศรัทธาปสันนา ของพระพุทธศาสนิกชนไว้ใหญ่อะโข ตั้งพระไว้จะได้ระลึกนึกถึงพระพุทโธได้ง่ายๆ ต่างคนต่างจะได้ไหว้นมัสการบูชา ทุกวันทุกเวลาราตรีปีไป จะได้สมดั่งพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาสั่งสอนไว้แก่พระสาริบุตรอุตตองค์สาวกว่า “อตีตํนานวาคะเมยยะนัปปฏิกังเขอะนาคะตัง ยทะตี ตัมปหินันตัง อัปปัตตัญจะอะนาคะตัง ปัจจุบันปันนัญจะโยธัปมัง ตัตถะตัตถะวิปัสสะติ อะสังหิรังอะสังกุปปัง ตังวิทธามะนุพรูหะเย อัชเชวะกิจจะมาตับปัง โกชัญญามะระณังสุเวนะหิโนสังคะรันเตนะมหาเสเนนะ มัจจุนา เอวัง วิหาริมาตาปิง อะโหรัตตะมะตันทิตัง ตังเวภัทเทกะรัตโตติ สันโตอาจิกขะเตมุนีติ” แปลความตามพระคาถาทั้ง ๔ คาถานี้ว่า “บุคคลไม่พึงตามไปถึงเหตุการณ์ที่ล่วงไปแล้ว ๑ บุคคลไม่พึงหวังจำเพาะเหตุผลข้างหน้า อันยังไม่มาถึง บุคคลใดย่อมเห็นชัดเห็นแน่ว่า ธรรมะคือคุณงามความดีในปัจจุบันทันตานี้แล้ว ย่อมทำประโยชน์ในเหตุการณ์นั้นๆ เถิด อะสังหิรัง อะสังกุปปัง ไม่พึงย่อหย่อน ไม่พึงคืนคลาย เกียจคร้าน พึงจำเพาะเจาะจงผลประโยชน์นั้นๆ ให้เจริญตามๆ เป็นลำดับไป พึงทำกิจการงานของตนให้เสร็จสุข สำเร็จเสียในวันนี้ จะเฉื่อยชาราข้อละทิ้งกิจการงานให้นานวันนั้นไม่ได้ โกชัญญามรณังสุเว ใครเล่าจะพึงรู้ว่า ความตายจะมาถึงในวันพรุ่งนี้ นะหิโนสังคะรันเตนะมหาเสเนนะมัจจุนา ความผัดเพี้ยนผ่อนผันของเราทั้งหลายไม่มีต่อด้วยความตายอันมีเสนาใหญ่นั้น คนผู้เห็นภัยมฤตยูราชตามกระชั้นแล้ว ไม่ควรทุเลาวันประวันพรุ่งว่าพรุ่งนี้เถอะ มะเลืองเถอะ เราจึงจะกระทำไม่พึงย่อหย่อนเกียจคร้านอย่างนี้ รีบร้อนกระทำเสียให้แล้ว จึงอยู่ทำไปทั้งกลางวันและกลางคืน ตังเวภัทเทกะรัตโตติสันโตอาจิกขะเตมุนี นักปราชญ์ผู้รู้ผู้สงบระงับแล้ว ท่านกล่าวบอกว่า บุคคลผู้หมั่นเพียรกระทำนั้นว่า เป็นบุคคลมีราตรีเดียวเจริญด้วยประการดังนี้”


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:21:47
ถ้าจะอธิบายตามความในพระธรรมเทศนาในพระคาถาที่แปลมาแล้วนี้ให้เข้าใจตามประสาชาวบ้าน ต้องอธิบายดังนี้ว่า คำหรือเรื่องหรือเหตุการณ์ก็ตาม ถ้ามันล่วงเลยไปเสียแล้ว มันบ่ายไปเสียแล้ว เรียกว่าอดีตล่วงไปแล้ว อย่าให้ไปตามคิด ตามหาถึงมัน จะทำความเสียใจให้ ท่านจึงสอนไม่ให้คิดตาม สุภาษิตก็ว่าไว้ว่า “อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บให้เจ็บใจ” ตามคิดถึงมัน ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เสีย และดีกว่า ถึงเรื่องราวเหตุผลข้างหน้า หรือมีคนมีผู้กล่าวมาส่อถึงเหตุผลข้างหน้า ว่าเมื่อนั้นเมื่อนั่น จะให้นั่นจะให้นั่นทำนั่นทำนั่นให้ กล่าวอย่างนี้ เรียกว่า อนาคตเหตุ ท่านว่าอย่าพึงจำนง อย่าหวังใจ อย่าวางใจในกาลเข้างหน้าจะเสียใจอีกจะเหนื่อยเปล่าด้วย เพราะไม่จริงดังว่า สุภาษิตก็ว่า “ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งกระสุนหน้าไม้ สายกระสุนจะล้า คันกระสุนจะอ่อน คนเราถ้าเชื่อกาลข้างหน้า ทำไปเพราะหวังและสำคัญมั่นใจมุ่งหมายว่าจริงใจ ถ้าไปถูกหลอกถูกล่อเข้าจะเสียใจ แห้งใจ อ่อนใจเหนื่อยเปล่า เหตุนี้ ท่านจึงสอนว่าอย่าหวังกาลข้างหน้า ในปัจจุบันชั่ววันหนึ่งๆ นี่แหละควรพึงกระทำให้เป็นผลประโยชน์ไว้สำหรับเกื้อกูลตน ทำบุญทำกุศลไว้สำหรับตนประจำตัวไว้สม่ำเสมอทุกวัน ทุกเวลา ถึงโดยว่าข้างหน้า ภพหน้า โลกหน้าจะมีหรือไม่มีเราก็ไม่วิตก เพราะเราไม่ทำความผิด ความชั่วความบาปไว้ เราไม่เศร้าไม่หมอง เมื่อเราทำตนให้บริสุทธิ์ ทำตนให้มั่นคง ทำตนให้มีคนรักคนนับหน้าถือนาม เราก็ไม่หวาดไม่ไหวต่อการขัดสน เรารับจ้างเขาทำงาน เรารีบทำให้เขาแล้วตามกำหนด เจ้างานก็ต้องให้ค่าจ้างรางวัลเราตามสัญญา ถ้าเราจะขอรับเงินล่วงหน้า นายจ้างก็ไม่รังเกียจให้เราทันทีทันงาน เพราะนายจ้างเชื่อว่าเราหมั่นทำงานของท่านจริงไม่ย่อหย่อนผ่อนผัดวัน ถ้าว่าเป็นงานของของเราเองรีบทำให้แล้วไม่ผัดเพี้ยนเปลี่ยนเวลา ก็ยิ่งได้ผลความเจริญ เมื่อการงานเงินของเราพอดีแล้วพอกินพอใช้ เราก็มีโอกาสมีช่อง ที่จะแสวงหาคุณงามความดีทำบุญทำกุศลสวดมนต์ไหว้พระได้ตามสบายใจ เมื่อเราสบายใจไม่มีราคีไม่มีความขัดข้องหมองใจ ไม่เศร้าหมองใจแล้ว เราก็ยิ่งมีสง่าราศีดีขึ้น เป็นที่ชื่นตาของผู้ที่เราจะไปสู่มาหา ผู้รับก็ไม่กินแหนงรังเกียจรำคาญ เพราะตนของเราบริสุทธิ์ ไม่รบกวนหยิบยืมให้เจ้าของบ้านรำคาญใจ ทำได้ดังนี้ และจึงตรงต่อพระพุทธศาสนา ตรงกับคำในภัทธกรัตคาถา วา ตํ เวภัทเธกะรัตโตติ ว่าคนทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ ดังสำแดงมาจึงมีนามกล่าวว่าผู้นั้น มีราตรีคืนเดียวเจริญ

ถ้าเป็นบรรพชิตเล่า ก็จงทำให้เจริญคือ อย่าเกียจอย่าคร้าน การเล่า การเรียน การประพฤติ การปฏิบัติ การสงเคราะห์ตระกูลชอบด้วยธรรมวินัย อย่าประทุษร้ายตระกูลให้ผิดต่อธรรมวินัย ให้ชอบด้วยพระราชกฤษฎิกากฏหมายบ้านเมืองท่าน สำหรับวันหนึ่งๆ แล้ว ก็อาจได้รับความยกย่องนับถือลือชา มีสักการะมานะเสมอไปตามสมควร พระมหามุนีก็ทรงชี้ชวนให้นิยมชมว่า ตํ เวภัทเธกะรัตโต ว่าท่านผู้นั้น มีราตรีเดียวเจริญ บุคคลใด ถ้าถูกพระอริยเจ้าผู้เป็นอริยนักปราชญ์ สรรเสริญแล้วก็หวังเถอะว่า คงมีแต่ความสุข ความเจริญทุกวันทุกเวลาหาความทรุดเสื่อม บ่มิได้ ถ้ายิ่งเป็นผู้เข้าใกล้ไหว้กราบนมัสการบูชาสักการะ เชื่อมั่นถือมั่นในสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ได้ช่วยกันพร้อมใจกัน นมัสการสักการะบูชาพระโตของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) สร้างไว้เป็นฐานเช่นนี้ ผู้บูชาสักการะนมัสการ ก็ได้ชื่อว่ากตัญญูกตเวทีต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน เหตุว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสกำชับกับพระอานนท์เถระเจ้าไว้ว่า ผู้ใดเลื่อมใสประสาทะศรัทธา ใคร่บูชาพระตถาคตด้วยความซื่อสัตย์กตเวที “ปฏิมาโพธิรุกขาถูปาจะชินะธาตุโย จตุราสีติสหัสสธัมมักขันธาสุเทสิตา” ให้บุคคลผู้นั้นบูชาสักการะนอบน้อม พร้อมด้วย กาย วาจา ใจ ให้ลึกซึ้ง แล้วบูชาซึ่งพระปฏิมาการ๑ ไม้พระมหาโพธิ ที่นั่งตรัสรู้๑ พระสถูปเจดีย์ที่บรรจุเครื่องพุทธโภคแลอุทเทศเจดีย์ที่ทำเทียมไว้๑ ซึ่งพระสารีริกธาตุของพระศาสนาคือ กระดูกของพระพุทธเจ้า๑ พระคัมภีร์ที่บรรจุพระธรรมขันธ์แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์๑ วัตถุทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นที่สมควรสักการะบูชาของผู้ที่มุ่งหมายนับถือ เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑0 คือ ทานมัย๑ ศีลมัย๑ ภาวนามัย๑ ทิฏฐชุมัย๑ อปัจจายนมัย๑ ไวยาวัจจมัย๑ เทศนามัย๑ ปัตติทานมัย๑ ปุญญัตตานุโมทนามัย๑ สะวนมัย๑ ทั้ง ๑0 ประการนี้ บังเกิดเป็นที่ตั้งของบุคคลผู้ที่ไหว้นพ เคารพบูชา เมื่อทำเข้า บูชาเข้า ฟังเข้า แสดงเข้า ขวนขวายเข้า อ่อนน้อมเข้า ให้ทานเข้า ภาวนาเข้า เห็นตรงเข้า เพราะอาศัยเหตุที่พระเกตุไชโยนี้ ก็เป็นบุญเลิศประเสริฐวิเศษเห็นทันตาทันใจ ก็มีปรากฏเป็นหลายคนมาแล้ว ถ้าได้สร้างเรื่องราวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ให้เรื่องนี้ไว้สำหรับเป็นความรู้ ไว้สำหรับบ้านเรือน สืบบุตรหลานเหลนโหลนไปอีก ก็ได้ชื่อว่ากตัญญูรู้พระคุณพระพุฒาจารย์(โต) เหมือนได้นั่งใกล้สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ได้บุญเพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ได้สุขสวัสดีมงคลเพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ได้สดับรับฟังเพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ได้รู้จักศาสนาแน่นอนเพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) เหตุนี้ ควรแล้วที่สาธุชนทั้งปวง จะช่วยกันสร้างประวัติเรื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ไว้เชิดชูเฉลิมพระเกียรติคุณของท่าน เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) องค์โน้น เป็นพระควรอัศจรรย์ ควรรู้ ควรฟัง จรรยา อาการ กิริยา ท่าทาง พูด เจรจาโต้ตอบ ปฏิบัติ ก่อสร้างแปลกๆ ประหลาดว่าพระสงฆ์องค์อื่นเทียมหรือเหมือนหรือยิ่งด้วยวุฒิปาฏิหาริย์ต่างๆ ไม่ใคร่จะมีใครรู้จักทั่วแผ่นดินเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ไม่ใคร่จะเคยได้ยินเป็นแต่ธรรมดาเรียบๆ ก็พอมีบ้าง

ถ้าท่านได้ช่วยกันสร้างเรื่องประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ไว้อ่านรู้ดูฟังสำหรับบ้านเรือน และตู้หนังสือของท่านแล้ว ท่านจะมีอานิสงส์ทำให้ท่านผ่องแผ้วพ้นราคีจะมีแต่ทางสุขสวัสดีเท่ากับมียันต์ชื่อว่า มหามงคล อุปัทวันตรายแลภัยจัญไรเป็นต้น ไม่มีมายายีบีฑาท่านได้เลย สมด้วยพระบาลีท่ารำพันเฉลยไว้ว่า “สัพพิเรวะสะมาเสถะสัพพิกุพเพถะสัณฑวิง สะตังธัมมะ ภิญญายะ สัพพะทุกขาปะ มุจจะติ” ดังนี้ มีความว่า ให้บุคคลพึงนั่งใกล้ด้วยสัปปุรุษคนดี๑ ได้ฟังคำชี้แจงของสัปปุรุษอย่างแน่นอน ก็จะรู้เท่ารู้ธรรมของสัปปุรุษคนดีพร้อมย่อมพ้นทุกข์ยากลำบากทั้งปวง

สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) องค์โน้น ท่านเป็นสัปปุรุษเที่ยงแท้ผู้หนึ่ง เพราะตั้งแต่ต้นจนปลายท่านมิได้เบียดตนและเบียดผู้อื่น ให้ได้ความทุกข์ยากลำบากเลยแม้สักคนเดียว ตั้งแต่เกิดมาเห็นโลกจนตลอดวันมรณภาพ จนถึงปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ก็ยังมีพระโตตั้งไว้ให้เป็นที่ไหว้ที่บูชาแก่บรรดาพุทธศาสนิกชน คนทุกชั้นได้รำพันนับถือไม่รู้วาย ควรที่ท่านทายกทั้งหลายจงพร้อมกันสร้างหนังสือประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) นั้นไว้คนละเล่มเทอญฯ


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:22:30
จบบันทึกประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ฉบับของ มหาอำมาตย์ตรีพระยาทิพโกษา ซึ่งเป็นฉบับที่รวบรวมโดย ม.ล. พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ได้รวบรวมขึ้นปี พ.ศ.๒๔๗๓ ตามคำโคลงตอนท้ายดังนี้.



คำอธิษฐานของหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)



ข้าพเจ้าขอกราบนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธพจน์ พระสัจจธรรม ทั้งพระอรหันต์ พระอริยสงฆ์เจ้าทุกพระองค์ ขอประทานพระเมตตาบารมี พระฉัพพรรณรังสี พุทธบารมีทุกประการ ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรมา จงเป็นตบะ เดชะประสิทธิ์ประสาท รักษาผืนแผ่นดินไทยน่านน้ำของไทย พระบวรพุทธศาสนา อภิบาลรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระราชชนนี พระโอรส พระธิดา พระวรชายา ให้ทรงพระเกษมสำราญ รักษาชีวิตผู้ปฏิบัติการรักษาผืนแผ่นดินไทยทั้งมนุษย์และวิญญาณตลอดทั้งปวงประชา ข้าราชการผู้ซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งข้าพเจ้าละครอบครัวให้รอดปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ให้ประเทศชาติผู้คนพลเมืองอยู่เย็นเป็นสุขมั่งมีศรีสุข ให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ให้พืชพรรณธัญญาหาร ทรัพยากรธรรมชาติงอกงามอุดมสมบูรณ์
ขออัญเชิญพลังพระสัจจธรรม น้ำทิพย์ น้ำอมฤต โปรดหมู่มวลมนุษย์วิญญาณทั้งหลายทั่วสากลโลกให้พ้นทุกข์ มีความสุข ขอบารมีพระเมตตาของพระองค์จงบันดาลมนุษย์ทั้งหลายมีหิริโอตัปปะ รักธรรมะ ไม่เห็นแก่ตัว เลิกทุจริต พยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน ให้มีจิตเมตตาปราณี ประพฤติธรรม ผู้หลงผิดคิดกลับใจ และขอให้พระสัจจธรรมที่พระองค์ทรงประกาศไว้ว่า ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว ให้ปรากฏชัดแก่สายตาโลกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ขออัญเชิญพระบารมีนานาประการที่กล่าวแล้ว แผ่กระจายขยายออกไปทั่วทุกภพ มนุษย์ไตรโลกา หมื่นโลกธาตุ แสนโกฎจักวาลพิภพ จบเจ็ดคาบสมุทรตลอดสุดก้นบาดาลให้เนืองแน่นไปด้วยบารมี ให้มนุษย์ทั้งหลายพากันมานับถือพระพุทธศาสนา โลกนี้จะได้ร่มเย็นเป็นสุข ขอพุทธบารมีโปรดคำอธิษฐานทั้งปวงนี้จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จทุกประการเทอญ ๓ ครั้ง


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:22:58
ผมขอกราบขอบพระคุณม.ล. พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา , มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ,เว็บ http://www.chiangrai.ru.ac.th/%E0%B8...2%E0%B8%95.htm (http://www.chiangrai.ru.ac.th/%E0%B8...2%E0%B8%95.htm) และท่านผู้พิมพ์ ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) เป็นอย่างสูงครับ

โมทนาสาธุ
http://board.palungjit.com/showthread.php?t=22445&page=505 (http://board.palungjit.com/showthread.php?t=22445&page=505)


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 18 มิถุนายน 2553 18:24:17
(http://board.palungjit.com/attachment.php?attachmentid=315834&d=1209476038)


"บุญเราไม่เคยสร้าง...ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า"..!

"ลูกเอ๋ย ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด
เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเองคือบารมีของตนลงทุนไปก่อน
เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่ว ย
มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สิน ในบุญบารมี
ที่เที่ยวไปขอยืมมาจนพ้นตัว... เมื่อทำบุญทำกุศลได้
บารมี ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด ไม่มีอะไรเหลือติดตัว..
แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้..แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง"...!

"จงจำไว้นะ...เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่ วยเจ้าไม่ได้....
ครั้นถึงเวลา...ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่..
จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดินเมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า..."

นี่คือคำเทศนา ของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรมรังษี ที่ได้โปรดชี้ธรรมไว้ในนิมิตหลังจากที่ท่านล่วงลับไป แล้วเมื่อ 100 กว่าปี อันเป็นปฐมเหตุที่ต้องสร้างความดีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


http://board.palungjit.com/groups/ (http://board.palungjit.com/groups/)ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต-จากบันทึกของ-มหาอำมาตย์ตรี-พระยาทิพโกษา-สอน-โลหะนันท์-281-page2.html?pp=30
.


หัวข้อ: Re: ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 22 มิถุนายน 2553 10:42:57
บุญกิริยาวัตถุ 10. ทางทำความดี 10 ประการ

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่า การกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล แก่ผู้กระทำดังต่อไปนี้

๑. บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน (ทานมัย) คือการเสียสละนับแต่ทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง ตลอดจนกำลังกาย สติปัญญา ความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยส่วนรวม รวมถึงการละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจ จนถึงการสละชีวิตอันเป็นสิ่งมีค่าที่สุดเพื่อการปฏิบัติธรรม

๒. บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล (สีลมัย) คือการตั้งใจรักษาศีล และการปฏิบัติตนไม่ให้ละเมิดศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา ศีล ๑๐ ของสามเณร หรือ ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ เพื่อรักษากาย วาจา และใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด พ้นจากกายทุจริต ๔ ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม และเสพสิ่งเสพติดมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท วจีทุจริต ๔ ประการ คือไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดคำหยาบ มโนทุจริต ๓ ประการ คือ ไม่หลงงมงาย ไม่พยาบาท ไม่หลงผิดจากทำนองคลองธรรม

๓. บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา (ภาวนามัย ) คือการอบรมจิตใจในการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไป จนถึงกิเลสอย่างละเอียด ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด

๔. บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ (อปจายนมัย) คือการให้ความเคารพ ผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ ๓ ประเภท คือ ผู้มี วัยวุฒิ ได้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้องและผู้สูงอายุ ผู้มี คุณวุฒิ หรือคุณสมบัติ ได้แก่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ และผู้มี ชาติวุฒิ ได้แก่พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์

๕. บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ (เวยยาวัจจมัย) คือ การกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา เช่น การชักนำบุคคลให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ในฝ่ายสัมมาทิฎฐิ

๖. บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไป

๗. บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า “สาธุ” เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำ ก็ขอให้ได้มีโอกาสได้แสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย

๘. บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) คือ การตั้งใจฟังธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน หรือที่เคยฟังแล้วก็รับฟังเพื่อได้รับความกระจ่างมากขึ้น บรรเทาความสงสัยและทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาหรือความรู้ก็พยายามนำเอาความรู้และธรรมะนั้นนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สู่หนทางเจริญต่อไป

๙. บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในทางที่ชอบ ตามรอยบาทองค์พระศาสดา ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น หรือการนำธรรมไปขัดเกลากิเลสอุปนิสัยเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป

๑๐. บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐชุกัมม์) คือ ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สิ่งที่เป็นแก่นสารสาระหรือที่ไม่ใช่แก่นสารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม สิ่งอันควรประพฤติสิ่งอันควรละเว้น ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ

บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้ ผู้ใดได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือยิ่งมากจนครบ ๑๐ ประการแล้ว ผลบุญย่อมเกิดแก่ผู้ได้กระทำมากตามบุญที่ได้กระทำ ยิ่งได้มีการเตรียมกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ตั้งใจจรดเข้าสู่ศูนย์กลางกาย หยุดในหยุด เข้าไปแล้วก็ยิ่งได้รับบุญมหาศาลตามความละเอียดประณีตที่เข้าถึงยิ่งๆ ขึ้นไป

ที่มา
http://www.dhammakaya.org/dhamma/boon01.php (http://www.dhammakaya.org/dhamma/boon01.php)


.
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=138455 (http://www.oknation.net/blog/print.php?id=138455)

-------------------------


วันนี้เป็นวันครบรอบการมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ท่านมรณภาพเมื่อ 22 มิถุนายน 2415

อย่าลืมทำบุญและถวายบุญแด่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี กันครับ

เลือกวิธีการทำบุญกันเองครับ

http://board.palungjit.com/f179/ (http://board.palungjit.com/f179/)พระวังหน้า-ที่หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดรเสก-ถ้าต้องการที่จะได้-22445-1940.html