[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 31 มีนาคม 2555 23:40:55



หัวข้อ: ย้อนตำนานเจ้าพ่อกระทิงแดง 'เฉลียว อยู่วิทยา' มหาเศรษฐีหัวใจคุณธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 31 มีนาคม 2555 23:40:55
(http://www.voicetv.co.th/cache/images/ebd7fdf6674d45577a2303e36cd64aae.jpg)

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ภาพ ของชายสูงวัยในเสื้อตัวเก่ากับกางเกงแพร ใส่หมวกงอบ  ขี่จักรยานไปรอบๆโรงงานกระทิงแดง ในทุกเช้า  ทั้งเนื้อทั้งตัวไม่มีของมีค่าใดๆ นอกจากนาฬิการาโด้เก่าๆ เพียงเรือนเดียว  เมื่อเห็นขวดกระทิงแดงที่พนักงานกินทิ้งไว้เขาก็จะก้มลงเก็บแล้วนำไปทิ้งขยะ  ..... หากไม่บอกคงไม่มีใครรู้ว่าเขาคนนี้คือ 'เฉลียว อยู่วิทยา'  มหาเศรษฐีแสนล้าน หนึ่งในสามนักธุรกิจที่รวยที่สุดในประเทศไทย  และถูกจัดให้เป็นเศรษฐีอันดับที่ 205 ของโลก  ที่สำคัญเขายังเป็นเจ้าของธุรกิจกระทิงแดงและเรดบูลที่ส่งขายไปกว่า 70  ประเทศ  และเจ้าของตำนานการสร้างธุรกิจซึ่งกลายเป็นกรณีศึกษาที่ถูกนำไปสอนใน มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก !!
      
       และนับแต่นี้เรื่องราวของเขาคงกลายเป็นตำนานที่เล่าขานถึงความยิ่งใหญ่ของนักธุรกิจเจ้าของฉายา 'มังกรซ่อนเล็บ' อดีตเด็กหนุ่มยากจนในสังคมชนบทที่มุ่งสู่เมืองกรุงพร้อมความฝันว่าสักวันจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
      
       ช่วงเช้าของวันที่ 17มีนาคม2555 ได้ปรากฏข่าว 'ช็อกวงการ'  กับการจากไปของ เจ้าพ่อกระทิงแดง 'เฉลียว อยู่วิทยา'  รายงานแจ้งว่าเขาจากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา ในวัย 89 ปี  ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ซึ่งการจากไปของเขานั้นนอกจากจะสร้างความเศร้าโศกให้แก่ลูกหลานและพนักงานใน เครือกระทิงแดงทุกคนแล้ว  ยังนับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงธุรกิจไทยอีกด้วย
      
       **จากเด็กเลี้ยงเป็ด สู่ธุรกิจขายยา
      
       เจ้าสัวเฉลียว หรือที่เรียกกันในครอบครัวและคนสนิทว่า 'โกเหลียว'  เกิดในครอบครัวคนจีน ที่จังหวัดราชบุรี ก่อนอพยพไปอยู่ที่ตำบลหัวดง  อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร บิดาเป็นชาวจีนไหหลำ ชื่อนายเซ่ง แซ่สี่  อพยพมาจากเมืองจีน ส่วนมารดาชื่อ นางทองอยู่ แซ่สี่ เป็นคนไทย  เขามีพี่น้องทั้งหมด 5 คน
      
       แม้จะเกิดในครอบครัวยากจนแต่ด้วยความที่ถูกปลูกฝังเรื่องของความซื่อ สัตย์ ขยัน อดทนจึงเป็นคนมุมานะหนักเอาเบาสู้มาตั้งแต่เด็กๆ  เป็นเด็กเรียนดีทั้งที่ไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือมากนักเนื่องจากหลังเลิก เรียนเฉลียวต้องไปเลี้ยงเป็ดและช่วยที่บ้านค้าขาย ด้วยความยากจน  ในช่วงที่ไปเรียนชั้นมัธยมในตัวจังหวัดจึงต้องไปอาศัยอยู่กับคุณหมอท่าน หนึ่งโดยช่วยทำงานบ้านเป็นการตอบแทน แต่เรียนได้แค่มัธยม 5 (เทียบเท่ากับ  ม.2 ในปัจจุบัน) ก็ต้องลาออกกลางคันเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสีย
      
       เฉลียวเริ่มทำการค้าเล็กๆน้อยๆตั้งแต่อายุแค่ 10 กว่าปี  และเนื่องจากขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  เฉลียวจึงไปรับจ้างทำงานให้กับญี่ปุ่นด้วย  แม้จะล้มลุกคลุกคลานการค้าเจ๊งไม่เป็นท่าหลายครั้งหลายหน  แต่เฉลียวก็ไม่เคยย่อท้อ  ตรงกันข้ามความล้มเหลวที่ผ่านมากลับทำให้เขาได้ข้อคิดและปรัชญาในการทำ ธุรกิจว่า “ ไม่ควรทำอะไรที่ตนเองไม่เชี่ยวชาญ”
      
       “ ผมทำมาหลายอาชีพ ขายขนุน ขายทุเรียน ขายเนื้อเค็ม  ไม่รู้เรื่องก็เจ๊งหมด เห็นขนุนในกรุงเทพฯ ราคาแพง ลูกละหลายบาท  ที่พิจิตรบ้านเราลูกละสลึงเดียวก็อยากซื้อมาขายเอากำไร ไปถึงสวนเลย  ถ้าคิดลูกละสลึงเขาไม่ขึ้นให้ ต้องขึ้นไปตัดเอง  ผมไม่รู้ว่าลูกไหนอ่อนลูกไหนแก่ ขนุนละมุด หรือขนุนหนังก็ไม่รู้  เห็นลูกโตๆตัดหมด ขนมาเต็มตู้รถไฟ กว่าจะถึงกรุงเทพฯ ขนุนละมุดเละหมด  ขนุนหนังที่ตัดมาส่วนใหญ่ก็ยังไม่แก่ จะเอาเม็ดมาต้มขายก็ไม่อร่อย  เลยขาดทุนหมด สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปรับจ้างโยงเรือให้ญี่ปุ่น  ไม่มีความรู้ก็เจ๊งอีก ” เฉลียวให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร 'THE EXECUTIVE'  เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ถึงประสบการณ์ในการทำการค้าในช่วงวัยรุ่น
      
       ใครจะรู้ว่าวันที่เฉลียวตัดสินใจทิ้งการค้าผลไม้ตามพี่ชายเข้า กรุงเทพฯ จะเป็นจุดเริ่มต้นของเจ้าสัวแสนล้านในวันนี้  โดยช่วงแรกที่มาถึงกรุงเทพฯ เฉลียวเริ่มจากช่วยพี่ชายทำงานที่ร้านขายยา  เมื่อมีความรู้ความชำนาญเรื่องการขายยาจึงเปิดโอกาสให้ตัวเองด้วยการไปสมัคร เป็นเซลขายยา ที่บริษัท แลดเดอร์เลย์ จำกัด  ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายยาออริโอมัยซินที่นำเข้าจากต่างประเทศ  จากนั้นก็ย้ายไปเป็นเซลขายยาของบริษัท เอฟ อี ซี ริค จำกัด  ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาออริโอมัยซินโดยตรง เฉลียวเป็นเซลอยู่ 7 ปี  จึงออกมาตั้งบริษัทนำเข้ายาของตัวเอง ภายใต้ชื่อ 'ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทีซี ฟาร์มาซูติคอล' ซึ่ง ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  เขาจึงขยายกิจการด้วยการเปิดร้านขายยาและตั้งโรงงานผลิตยาเอง  ที่บริเวณถนนสิบสามห้าง ย่านบางลำพู  ก่อนที่จะขยายโรงงานผลิตยาไปที่ตรอกเสถียร แถวถนนราชดำเนิน
      
       **นักการตลาดชั้นเซียน
      
       ในปี 2504  เมื่อเฉลียวมองเห็นช่องทางในการขยายธุรกิจจากการวิเคราะห์ตลาดที่ทำให้เขา มั่นใจว่ายาปฏิชีวนะยี่ห้อ 'ทีซีมัยซิน'  น่าจะเป็นยาที่ชื่อติดหูและขายดีที่สุด  เนื่องจากเป็นยาครอบจักรวาลที่ทุกบ้านขาดไม่ได้ เพราะมีสรรพคุณทั้งแก้ไข้  แก้ปวด แก้อักเสบ เฉลียวจึงไม่รอช้าตัดสินใจตั้ง 'บริษัท ทีซีมัยซิน จำกัด' เพื่อผลิตยาดังกล่าวทันที และไม่เกินไปที่จะกล่าวว่าเจ้าสัวเฉลียวเป็น 'นักการตลาดชั้นครู' โดยไม่เคยกางตำราหรือร่ำเรียนจากสถาบันใดๆ เพราะเขาคือนักธุรกิจคนแรกๆของไทยที่ใช้วิธี 'แจกสินค้าให้ทดลองใช้'   ก่อนที่จะมีบริษัทเอเจนซีที่คิดค้นกลยุทธ์การตลาดขึ้นในประเทศไทยหลายสิบปี นัก  และนับเป็นกลยุทธ์ที่แม้แต่บริษัทโอสถสภาซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจยาในขณะ นั้นยังไม่กล้าใช้และไม่เคยทำมาก่อน !!  เนื่องจากเฉลียววิเคราะห์ตลาดได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่าการจะทำให้ผู้บริโภค มั่นใจในผลิตภัณฑ์ยาตัวใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เขาจึงทุ่มทุนด้วยการ 'แจก' ยา ดังกล่าวให้ใช้ฟรี ทั้งที่ตลาดนัดสนามหลวง และตามชุมชน  ซึ่งถือเป็นการทำตลาดที่มีงประสิทธิภาพ  เพราะเมื่อคนเห็นถึงสรรพคุณของตัวยาจึงเกิดการบอกต่อ ทำให้ 'ยาทีซีมัยซิน'  เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายภายในเวลาอันรวดเร็ว
      
       งานนี้ทำเอายักษ์ใหญ่อย่างอย่างโอสถสภา ผู้ผลิต'ยาทัมใจ' ถึงกับอึ้ง  !! เพราะนึกไม่ถึงว่าจะมาเจอคู่แข่งรายใหม่ที่ใช้กลยุทธ์ 'ป่าล้อมเมือง'  ที่สำคัญยังเป็นเพียงบริษัทยาเล็กๆที่หาญกล้ามาชนกับเจ้าตลาดอีกด้วย
      
       และกลยุทธ์นี้ถือเป็นกลยุทธ์การตลาดสุดคลาสสิก ที่กลายเป็นเรื่องเล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ …
      
       ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาตัวอื่นๆ  ที่ออกมาใหม่ของทีซีมัยซินพลอยได้รับความเชื่อถือไปด้วย จากนั้นในปี  2508เจ้าสัวเฉลียวก็ขยายไลน์ไปยังธุรกิจเครื่องสำอาง โดยตั้ง 'บริษัท ทีซี-มัยซิน อุตสาหกรรม จำกัด'  ซึ่งสินค้าที่รู้จักกันได้แก่ แป้งเบบี้ดอล แป้งแท็ดทู  และยาสีฟันเบลเด็กซ์ แต่แล้วในปี 2513  โรงงานที่ตั้งอยู่บริเวณตรอกเสถียรก็ถูกเวนคืน  จึงต้องย้ายโรงงานไปอยู่ย่านบางบอน  ซึ่งก็คือโรงงานกระทิงแดงในปัจจุบันนั่นเอง แต่ในสมัยนั้นถือว่าป็นจุดที่  'ไกลปืนเที่ยง' ไม่เหมาะกับการทำธุรกิจแต่อย่างใด แต่ด้วยฝีมือของ  'โกเหลียว' แล้วไซร้คงไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
      
       **'กระทิงแดง' ชื่อนั้นสำคัญไฉน
      
       จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ 'โกเหลียว'  ขึ้นสู่ตำแหน่งมหาเศรษฐีแสนล้านจนถึงทุกวันนี้  ก็คือวันที่โกเหลียวตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง  ภายใต้ยี่ห้อ 'กระทิงแดง' โดยตั้ง 'บริษัท ทีซีฟาร์มา ซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด' ขึ้นเมื่อปี 2521 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ชักนำให้เขาเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวก็คือเพื่อนเก่าชาวออสเตรียที่ชื่อ 'ดีทริช เมเทลชิทซ์' ตัวแทนฝ่ายการตลาดของยาสีฟันเบลนเด็กซ์ ยาสีฟันสัญชาติเยอรมันที่เฉลียวซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตนั่นเอง
      
       หลายคนอาจไม่รู้ว่าแบรนด์ 'กระทิงแดง'  นั้นเป็นชื่อที่เจ้าสัวเฉลียวคิดขึ้นเอง  และเดิมทีนั้นเขาตั้งใจจะให้เป็นผลิตภัณฑ์ยา  แต่รัฐบาลขณะนั้นกำหนดให้กระทิงแดงเป็นเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อที่จะได้ สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น
      
       “ กระทิงแดง หมายถึง มีกำลัง กระทิงมีกำลังมาก  ชื่อนี้เป็นชื่อที่ผมคิดขึ้นเอง ออกแบบโลโก้เอง  ส่วนสินค้าอื่นๆที่ออกตามมาที่ใช้ชื่อกระทิงแดงนั้นก็ไม่ได้ถือเคล็ดอะไร  เพียงแต่เห็นว่าเป็นชื่อทางการค้าที่คนส่วนใหญ่รู้จักและจำกันได้อยู่แล้วก็ ไม่ควรไปสร้างชื่อใหม่ให้เปลืองค่าโฆษณา ไม่ต้องเสียเวลาไปสร้าง 'Brand  Loyalty'อีก
      
       “เดิมทีเดียวกระทิงแดงก็เป็นยารักษาโรค  กระทั่งรัฐบาลสมัยหนึ่งอยากได้ภาษีมากๆ  ก็เลยปรับกระทิงแดงเป็นเครื่องดื่มที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเยอะ โดยเสีย 22  เปอร์เซ็นต์ คิดจากราคาขายปลีกขวดละ 10 บาท ก็เสียภาษี 2.20 บาท ต่อขวด  ถ้าเป็นยาคิดภาษีจากราคาขายปลีกแค่ขวดละ 11 กว่าสตางค์ ”  เฉลียวเคยให้ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร 'THE EXECUTIVE'
      
       แต่เรื่องที่เป็นตำนานซึ่งทั้งตื่นเต้นและคลาสสิกก็คือชื่อ  'กระทิงแดง'  ซึ่งเป็นแบรนด์ของเครื่องดื่มชูกำลังขวดนี้ดันไปเหมือนกับชื่อกลุ่มการเมือง ฮาร์ดคอร์ที่ชื่อ 'กลุ่มกระทิงแดง'  ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อต่อกรกับนักศึกษาในยุค 14 ตุ.ค.16 และ 6 ตุ.ค.19  ซึ่งถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิตส์ ทำให้ 'พล.ต.สุดสาย หัสดิน '  ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง 'กลุ่มกระทิงแดง' ไม่พอใจ  จึงต้องนัดเคลียร์กันครั้งใหญ่  กระทั่งสุดท้ายเมื่อเจ้าสัวเฉลียวมีหลักฐานมายืนยันว่าเขาได้จดทะเบียนชื่อ นี้ไว้ก่อนที่จะมีการก่อตั้งกลุ่มกระทิงแดงถึง 5 ปี เขาจึงสามารถใช้ชื่อ  'กระทิงแดง' เป็นชื่อแบรนด์มาได้จนได้ถึงทุกวันนี้
      
       **กลยุทธ์โดนใจ
      
       การเข้ามาตีตลาดของกระทิงแดงก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเพราะว่าขณะนั้นมี  'ลิโวิตัน-ดี' ของบริษทโอสถสภา เต็กเฮงหยู จำกัด  ที่มีตระกูลดังอย่างโอสถานุเคราะห์นั่งบริหาร เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว  และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 90%  เรียกว่าแทบไม่เหลือที่ว่างให้แทรกเลยทีเดียว  แต่นักการตลาดชั้นเซียนอย่างเจ้าสัวเฉลียวก็หาได้กลัวเกรงแต่กลับมองว่านี่ คือโอกาสดีเพราะการที่มีรายใหญ่เพียงรายเดียวแสดงว่ายังมีที่ว่างทางการตลาด เหลืออยู่  และการสู้กับเจ้าใหญ่เพียงรายเดียวนั้นย่อมง่ายกว่าการต้องต่อสู้กับคู่แข่ง หลายๆรายที่แห่ลงมาเล่นในตลาดเดียวกัน  ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเกิดสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดชนิดต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บ สะบักสะบอมจนไม่มีใครยืนอยู่ในตลาดได้  ขณะที่การสู้กับเจ้าตลาดรายเดียวนั้นเราสามารถหาจุดแข็งที่ยักษใหญ่ไม่มีมา เป็นกลยุทธ์ช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดได้
      
       โดยกระทิงแดงเลือกที่จะใช้ 3 กลยุทธ์ในการบุกตลาด ประการแรกคือ 'กลยุทธ์ด้านราคา' ที่เจ้าสัวเฉลียวใช้เป็นหัวหอกในการตีตลาด ขณะเดียวกันก็ควบคุมคุณภาพในอยู่ในระดับเดียวกับลิโพวิตัน-ดี กลยุทธ์ที่ 2 คือ 'การโปรโมชั่น'  หรือการส่งเสริมการขายที่มีประสิทธิภาพ โดยปูพรมทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์  หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร  เพื่อสร้างความรู้จักและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกพื้นที่ของประเทศ และ 3  คือ 'การแจกฟรี' ให้ทดลองดื่มซึ่งถือเป็นสุดยอดกลยุทธ์การ ตลาดที่เจ้าสัวเฉลียวเคยใช้ได้ผลมาแล้ว  ในช่วงนั้นจึงได้เห็นภาพการแจกเครื่องดื่มกระทิงแดงให้บรรดาสิงห์รถบรรทุก  และสายตรวจทางหลวงทุกจุดทั่วประเทศ  ไม่นับรวมการแจกจ่ายให้ผู้ใช้แรงงานที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่  ถึงขั้นที่บางครั้งเจ้าสัวเฉลียวลงไปเดินสายแจกด้วยตัวเองเลยทีเดียว  ว่ากันว่าในการบุกตลาดในช่วงแรกนั้นมีการแจกกระทิงแดงให้ลูกค้าไปทดลองดื่ม กันฟรีๆ เป็นจำนวนหลายล้านขวด คิดเป็นมูลค่าหลายสิบล้าน
      
       แต่การทุ่มทุนครั้งนั้นก็นับว่าได้ผลเกินคาด  เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ปูพรมในทุกรูปแบบทำให้ไม่ว่าบ้านเล็กซอยน้อยต่าง ก็รู้จักกระทิงแดง ชนิดที่เรียกว่า ถ้าใครไม่รู้จักกระทิงแดง ต้องถือว่า  'เชยแหลก' ซึ่งส่งผลให้ยอดขายของกระทิงแดงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว  และเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าใหญ่อย่างลิโพวิตัน-ดีได้ภายในเวลาอัน รวดเร็ว  ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ยักษ์ใหญ่ค่ายโอสถสภาต้องขยับปรับกลยุทธ์ใน เวลาต่อมา โดยส่งเอ็ม 150  เครื่องดื่มชูกำลังอีกยี่ห้อหนึ่งมาเป็นคู่แข่งในตลาดล่างเพื่อช่วงชิงส่วน แบ่งการตลาดคืน
      
       ต่อมาในปี 2527 กระทิงแดงได้สยายปีกบุกตลาดไปสู่ต่างประเทศ  โดยลงทุนร่วมกับนายดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz)  นักธุรกิจชาวออสเตรีย ก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH.  ในประเทศออสเตรียโดยนายเฉลียวถือหุ้น 49% และนายเฉลิม ลูกชายถือหุ้นอีก 2%  ผลิตและวางจำหน่ายกระทิงแดงในยุโรป ภายใต้ยี่ห้อเรดบูล (Red  Bull)และส่งไปขายในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก  ซึ่งถือเป็นการประกาศศักดาของสินค้าไทยชนิดที่ฝรั่งตาน้ำข้าวยังต้องทึ่ง  และกลายเป็นกรณีศึกษาที่มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลกต้องนำไปบรรจุไว้ในหลักสูตร การตลาด
      
       จากความมุมานะ  และมันสมองอันชาญฉลาดของเจ้าสัวเฉลียวนี่เองที่ทำให้เขาสามารถปั้นบริษัท เล็กๆ ที่มีพนักงานไม่ถึง 10  คนจนกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานนับพันคน  แตกไลน์ผลิตสินค้าออกไปหลากหลายชนิด และทำให้ชื่อของ 'เฉลียว อยู่วิทยา'  ติดอยู่ในมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของโลก โดยเขารวยติดอันดับโลกมาตั้งแต่ปี 2546  โดยขณะนั้นเขาอยู่ในอันดับ 386 และไต่อันดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
      
       ล่าสุด นิตยสารฟอร์บส์เพิ่งจัดอันดับเศรษฐีระดับโลกประจำปี 2554  ไปเมื่อไม่นานที่ผ่านมา และชื่อ นายเฉลียว อยู่วิทยา  เจ้าของแบรนด์ดังกระทิงแดงหรือเรดบูล ก็อยู่ในอันดับ 205 และรวยเป็นอันดับ 3  ของประเทศไทย มีมูลค่าทรัพย์สิน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.5 แสนล้านบาท
      
       **มรสุมครั้งใหญ่
      
       อย่างไรก็ดี  เส้นทางธุรกิจของมหาเศรษฐีผู้นี้ก็หาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ  เขาต้องผ่านมามรสุมชีวิตมาหลายครั้งหลายหน  ตั้งแต่ค้าขายเจ๊งไม่เป็นท่าเมื่อครั้งที่เริ่มทำการค้าในช่วงแตกเนื้อหนุ่ม  ต้องย้ายโรงงานผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ยาเพราะถูกเวนคืนที่  แต่ครั้งที่ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุดและนับเป็นช่วงวิกฤตของชีวิตก็คือใน ช่วงที่ถูกมรสุมการเมืองเล่นงาน  โดยมีกรรมาธิการสาธารณสุขและกลุ่มนักวิชาการจับมือกันรุมกระหน่ำ  โดยการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบขององค์การอาหารและยา (อย.) ที่ใช้อยู่   และตั้งเงื่อนไขเข้ามาควบคุมเครื่องดื่มชูกำลังทุกยี่ห้อด้วยการจำกัดปริมาณ กาเฟอีนให้เหลือไม่เกิน 0.050 กรัม จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 0.080 กรัม  ซึ่งครั้งนั้นเครื่องดื่มชูกำลังที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือกระทิงแดง  เพราะมีกาเฟอีนมากกว่ายี่ห้ออื่น เนื่องจากชูจุดขายว่า  “กระทิงแดงแน่นอนกว่า” จึงต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่นทันที  หากกระทิงแดงต้องปรับสูตรตามเงื่อนไขของ  อย.ผู้บริโภคที่เคยเป็นขาประจำอยู่อาจตัดสินใจเลิกซื้อเพราะสรรพคุณไม่ เหมือนเดิม
      
       ขณะที่คู่แข่งเครือโอสถสภานั้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก  โดยเฉพาะลิโพวิตัน-ดีที่วางตัวเองไว้เป็นเครื่องดื่มชูกำลังในตลาดบน  ส่วนผสมจึงมีกาเฟอีนน้อย ส่วน เอ็ม 100 และ เอ็ม 150  ที่ค่ายโอสถสภาส่งมาตีตลาดเดียวกับกระทิงแดงนั้นก็ยังมีกาเฟอีนในระดับกลางๆ   เพราะขณะออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโอสถสภายังไม่แน่ใจว่าทิศทางตลาดจะไปในทางไหน จึงเลือกสูตรกลางๆไว้ก่อน  นอกจากนั้นก็มีการเปิดช่องให้สินค้าค่ายอื่นๆเข้ามาบุกตลาดเครื่องดื่มชู กำลังได้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าระดับท้องถิ่นที่มีราคาต่ำกว่า
      
       ในครั้งนั้นจะเห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองที่ไม่ ธรรมดา โดยขณะที่ นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม และนายปิยะณัฐ วัชราภรณ์  เลขาธิการพรรคกิจสังคม ออกรายการ 'มองต่างมุม'  ได้มีการกล่าวพาดพิงถึงพ่อค้าในธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังในทำนองว่ามี อภิสิทธิ์ในกระทรวงสาธารณสุขและในองค์การอาหารและยา  พร้อมทั้งโจมตีว่าเครื่องดื่มประเภทนี้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแม้จะมีการลด ปริมาณคาเฟอีนลงแล้วก็ตาม  ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้ได้
      
       ในแวดวงต่างฟันธงตรงกันว่านักธุรกิจที่ถูกกล่าวถึงนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “เจ้าสัวเฉลียว อยู่วิทยา” !!
      
       ข้อกล่าวหาดังกล่าวถึงกับทำให้เจ้าสัวเฉลียวซึ่งปกติไม่ชอบสุงสิงกับ ใคร ถึงกับนั่งไม่ติด  ถึงกับลงทุนซื้อหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเพื่อลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เครื่องดื่มกระทิงแดงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ได้โฆษณาเกินจริง  พร้อมทั้งเสนอผลวิจัยที่ชี้ว่ากระทิงแดงมีปริมาณคาเฟอีนเท่ากับกาแฟ 1  ถ้วยเท่านั้น และมีการระบุในโฆษณาทุกชิ้นด้วยว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด”  ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
      
       ทั้งนี้  เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมานั้นธุรกิจของเจ้าสัวเฉลียวมักถูกถล่มจากกลุ่ม แพทย์และนักวิชาการอยู่เป็นระยะ  นอกจากนั้นทุกครั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมักจะมีการหยิบยกประเด็น เรื่องเครื่องดื่มชูกำลังขึ้นมาโจมตี  ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เฉลียวจะต้องหาเครือข่ายการเมืองไว้เป็นพันธมิตรเพื่อ เป็นเกราะคุ้มกัน  ว่ากันว่าเจ้าสัวเฉลียวนั้นมีความสนิมสนมกับนักการเมืองใหญ่ในหลายพรรค  โดยเฉพาะกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น นายชวน หลีกภัย , พล.ต.สนั่น  ขจรประศาสน์ , ดร.พิจิตต รัตตกุล มารุต บุนนาค สุทัศน์ เงินหมื่น  นอกจากนั้นเขายังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ  อดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่  เนื่องจากเจ้าสัวเฉลียวเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนรายใหญ่ของโครงการอีสานเขียว  ที่ พล.อ.ชวลิต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน
      
       การสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองของเจ้าสัวเฉลียวแห่งค่ายกระทิงแดง นั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะบรรดาผู้บริหารของค่ายโอสถสภา  เจ้าของลิโพวิตัน-ดี ก็มีความสนิทสนมกับพรรคชาติพัฒนา ของ พล.อ.ชาติชาย  ชุณหะวัณ เช่นกัน !!
      
       ณ วันนี้หลายคนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า  หากเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้แบรนด์กระทิงแดงมีปัญหาต่อสุขภาพจริง เหตุใด  'เรดบูล' ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน  จากผู้ผลิตรายเดียวกันสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วโลก  และได้รับความนิยมอย่างสูงในแถบยุโรปและอเมริกา  ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ
      
  


หัวข้อ: Re: ย้อนตำนานเจ้าพ่อกระทิงแดง 'เฉลียว อยู่วิทยา' มหาเศรษฐีหัวใจคุณธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 31 มีนาคม 2555 23:41:57
     **แทนคุณแผ่นดิน
      
       แม้เจ้าสัวเฉลียวจะเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบออกงานสังคม  ไม่ชอบให้สัมภาษณ์หรือเป็นประธานในงานปาฐกถาใดๆ  แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนในสังคมเห็นตรงกันก็คือเจ้าสัวเฉลียวเป็นคนที่อ่อนน้อม ถ่อมตน มุ่งเน้นคุณธรรมในการทำธุรกิจ ใช้ชีวิตอย่างสมถะ พอเพียง  ต่างจากมหาเศรษฐีทั่วไป ที่สำคัญเขายังมีแนวคิดว่า  “เงินทุกบาททุกสตางค์นั้นได้มาจากกำลังซื้อของพี่น้องคนไทย  ดังนั้นจึงควรนำเงินกำไรที่ได้รับกลับไปตอบแทนคุณแผ่นดิน”
      
       ดังนั้นเครือกระทิงแดงจึงมีโครงการเพื่อช่วยเหลือสังคมนับร้อย โครงการตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คิดเป็นเงินกว่ากว่าพันล้านบาท  โดยแทบจะไม่มีการประชาสัมพันธ์ใดๆให้สังคมรับรู้  ที่สำคัญยังเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ได้ทำเพียงเพื่อต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้ องค์กร  แต่เป็นการช่วยเหลืออย่างจริงจังถึงขั้นที่มีการจัดตั้งเป็นแผนกขึ้นมาโดย เฉพาะ โดยมี 'ตุ๊กตา' สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา  ลูกสาวที่ถอดแบบการดำเนินชีวิตมาจากป๋าเฉลียว เป็นผู้ดูแลแผนกนี้โดยตรง  ซึ่งในหลายโครงการคุณตุ๊กตามีคำสั่งสายตรงให้ทีมงานลงไปฝังตัวทำโครงการใน พื้นที่จนกว่าโครงจะแล้วเสร็จ ไม่ว่าเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำ  โครงการสร้างอาชีพ
      
       อีกทั้งขณะนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายเพื่อหาแนวร่วมในการพัฒนาสังคม  โดยมีการดึงกลุ่มวัยรุน วัยทำงาน  และประชาชนทั่วไปร่วมทำกิจกรรมพัฒนาสังคมต่างๆ  ซึ่งถือเป็นการขยายเครืข่ายในการทำความดีให้กว้างออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ซึ่งโครงการหนึ่งที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากก็คือ 'โครงการกระดานดำ'   ซึ่งกระทิงแดงสนับสนุนโครงการค่ายอาสาสมัครเพื่อสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กๆใน พื้นที่ธุรกันดาร
      
       นอกจากนั้นน้อยคนนักที่จะทราบว่ายาที่ใช้ใน 'โครงการแพทย์อาสา' นั้น  เจ้าสัวเฉลียวได้ผลิตถวายในนามบริษัท ทีซีมัยซิน จำกัด มาตลอด  และในวงการแพทย์จะทราบกันดีว่าโรงพยาบาลใดขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ก็ สามารถขอความอนุเคราะห์จากเจ้าสัวเฉลียวได้  แม้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยหรือรักษาจะมีราคาหลายสิบล้าน  จนถึงขั้นเป็นร้อยล้านก็มี  แต่ทุกโรงพยาบาลที่ไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าสัวเฉลียวก็ไม่เคยผิดหวังกลับไป  อย่างเช่น โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งมีผู้สร้างตึกรักษาโรคหัวใจให้  แต่ไม่มีเงินซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาซึ่งมีราคาสูงถึง 40  ล้านบาท ตระกูลอยู่วิทยาก็บริจาคให้ด้วยความเต็มใจ
      
       “สมัยเด็กดิฉันค่อนข้างใกล้ชิดกับคุณพ่อ  เห็นท่านทำงานตามเสด็จโครงการพัฒนาชนบท สร้างฝายชลประทาน อีสานเขียว  คุณพ่อจะให้ทุนกับทหารที่ทำงาน  ช่วงหน้าหนาวก็แจกผ้าห่มและเสื้อผ้าให้เด็กๆในต่างจังหวัด  มันเป็นภาพที่เราเห็นมาตลอด ตอนเด็กๆ  จะถามคุณพ่อมาตลอดว่าคราวนี้ไปจังหวัดไหนมา เอาอะไรไปให้ชาวบ้าน  และเราก็ตั้งใจตั้งแต่นั้นเลยว่าถ้าเรียบจบจะทำแบบที่คุณพ่อทำ” สุทธิรัตน์  เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอมุ่งมั่นทำโครงการต่างๆ เพื่อสังคม  จนเป็นที่มาของฉายา 'ไฮโซเอ็นจีโอ' ที่บรรดาสื่อมวลชนตั้งให้กับเธอ  แม้วันนี้ เจ้าสัวเฉลียวจะจากไป  ...แต่แนวคิดเหล่านี้ยังคงมีลูกๆที่ช่วยกันสานต่อ ด้วยเชื่อมั่นในคำสอนของ  'ป๋าเฉลียว' ที่บอกลูกๆให้ “ยึดคุณธรรม และแทนคุณแผ่นดิน”
      
       ชีวิตสมถะของเศรษฐีแสนล้าน
      
       ภาพที่เด่นชัดและคำจำกัดความของ 'เจ้าสัวเฉลียว อยู่วิทยา'  ก็คือเมหาเศรษฐีที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย ไม่สนใจรถโก๋  ไม่เห็นความสำคัญของแบรนด์เนม  และมีเสียงเล่าลือว่าบ้านที่เจ้าสัวเฉลียวพำนักอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของ ชีวิตนั้นเป็นเพียงบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้  หาใช่คฤหาสน์หรูดังเช่นเศรษฐีทั่วไป  ในสายตาของบรรดาลูกน้องในบริษัทกระทิงแดงนั้นแม้เจ้าสัวเฉลียวจะเป็นคนที่ทำ งานจริงจัง และลงมาดูรายละเอียดในทุกขั้นตอน แต่ก็เป็นเจ้านายที่ไม่ถือตัว  ไม่มีมาด ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ  ป๋าเหลียวจึงเป็นที่รักและเคารพของบรรดาพนักงานทุกคน
      
       ในด้านของชีวิตครอบครัวนั้น เจ้าสัวเฉลียวมีภรรยา 2 คน  และลูกด้วยกันรวมทั้งหมด 11 คน ภรรยาคนแรกคือ 'คุณนกเล็ก สดศรี'  มีบุตรด้วยกัน 5 คน ได้แก่ สายพิณ เฉลิม พิณทิพย์ พึงใจ และศักดิ์ชาย  ส่วนภรรยาคนที่ 2 คือ 'ภาวนา หลั่งธารา' มีบุตรด้วยกัน 6 คน ได้แก่  สุทธิรัตน์ จิรวัฒน์ ปนัดดา สุปรียา สราวุฒิ และนุชรี  ซึ่งปัจจุบันนี้ลูกๆเกือบทุกคนก็ยังคงช่วยกันบริหารธุรกิจของครอบครัวอยู่  และต่างก็รับแนวคิดแบบสมถะเช่นนี้จากบิดามาเช่นกัน
      
       ทั้งนี้ สุทธิรัตน์อยู่วิทยา หรือคุณตุ๊กตา  พูดถึงคุณพ่อในขณะให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า “  ทั้งเนื้อทั้งตัวของป๋าไม่มีเครื่องประดับอื่น นอกจากนาฬิกาเรือนเดียว  ยี่ห้อราโด้ เสื้อผ้าก็ไม่ยอมซื้อไม่พกเงิน  โดยชีวิตประจำวันจะเริ่มจากการขี่จักรยานตอนเช้า  ใส่เสื้อตัวเดียวนุ่งกางเกงแพร วาไรตี้  ใส่หมวกงอบแล้วขี่จักรยานวนไปรอบโรงงานเจออะไรไม่เรียบร้อยก็จะแวะเข้าไป  ตรวจดู”
      
       จนมีเรื่องตลกครั้งหนึ่งว่า มียามหน้าใหม่ที่ไม่รู้จัก เฉลียว  อยู่วิทยา เมื่อ เห็นลุงแก่ๆ  ขี่จักรยานเข้ามาในโรงงานซึ่งเป็นเขตคนนอกห้ามเข้า  เขาจึงตะโกนห้ามแต่มียามเก่าแก่สะกิดบอก เฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของกระทิงแดง  จึงทำให้ยามใหม่ถึงกับหน้าถอดสี
      
       นอกจากนี้ยังเคยมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  เสนอมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่เขา  แต่เจ้าสัวเฉลียวปฏิเสธโดยกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม  เพราะเขาไม่ได้ร่ำเรียนมา การรับปริญญาจึงเป็นการเอาเปรียบคนที่ร่ำเรียนมา  ซึ่งปรัชญาในการทำงานที่เรียบง่าย แต่จริงจังเหล่านี้  เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่ถ่ายทอดมาจนถึงทายาทในรุ่นปัจจุบัน

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000037467 (http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000037467)