[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ อนามัย => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 19 มิถุนายน 2553 21:09:15



หัวข้อ: ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เฉียบพลัน
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 19 มิถุนายน 2553 21:09:15
(Myocarditis)

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นภาวะที่พบการเปลี่ยนแปลงการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยมีการอักเสบ เกิดขึ้น หลังจากมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นก็อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกำลังกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือนำมาสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้
     
อุบัติการณ์ พบได้ไม่บ่อย แต่เมื่อเกิดอาจนำไปสู่ภาวะอันตรายถึงเสียชีวิต สามารถพบโรคนี้ได้ 5-13% ในผู้ป่วยที่เสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ
     
ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคชัดเจนว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ง่ายมากกว่าผู้ไม่ติด (ไม่ป่วย) จากโรคนี้
     
สาเหตุของโรค อาจเกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ Coxackiea, Coxackieb,  Influeneae, Admovirus, CMV, EBV เป็นต้น ส่วนเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราก็พบได้ ในแง่ของสาเหตุของโรคอื่น ๆ ก็พบได้จากโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue disease) เช่น โรคลูปัส และอาจเกิดจากยาบางชนิดก็ได้
     
อาการของโรค
   
อาการของโรคมีความแตกต่างกันได้มากในแต่ละบุคคล ตั้งแต่เหมือนเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ไปจนถึงการมีภาวะน้ำท่วมปอดที่รุนแรง และการดำเนินโรคนี้ก็ทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือมีอาการเปลี่ยนแปลงทรุดลงอย่างรวดเร็วก็พบได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีอาการให้ตรวจพบการอักเสบของ กล้ามเนื้อหัวใจ อาจมีอาการดังต่อไปนี้
   
-อาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ (Flu-live symptom) โดยมีไข้ ปวดเมื่อยกล้าม เนื้อ อาเจียน และท้องเสีย และร่วมกับอ่อนเพลียจนหมดเรี่ยวแรง
   
-เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้า
   
-การหายใจลำบาก
   
-หมดสติ
   
-ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากอาจนำไปสู่ภาวะการเสียชีวิตเฉียบพลันได้ และในระยะยาว อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ จนเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังได้
     
การวินิจฉัยโรค
   
-การตรวจเพื่อวินิจฉัยให้ได้โรคนี้ ก็มีความยากในการตรวจวินิจฉัย โดยจะใช้กระบวนการตรวจวินิจฉัยด้วยกราฟไฟฟ้าหัวใจ (ECG-electrocardiogram) เอกซเรย์ ปอด ผลการตรวจเลือดของเอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจ การตรวจหัวใจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องแม่เหล็กหัวใจ (Cardiac magnetic resonance imaging) และอันดับสุดท้ายคือการตรวจหาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจโดยการตัดตัวอย่างกล้ามเนื้อหัวใจไปตรวจสภาวะการอักเสบ (Endomyocardial biopsy)
   
-ครั้งหนึ่งขณะที่ผู้เขียนได้ไปศึกษาใน Children’s Hospital Boston, Harvard University ได้ร่วมทีมกับ Professor ผู้ดูแลเครื่อง Cardiac MRI และได้ทำการตรวจผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส ด้วยเครื่อง MRI อยู่ 2 ราย และพบว่ามีอาการอักเสบอยู่ 1 ราย เมื่อทราบผลวินิจฉัยที่ชัดเจนแล้ว ผู้ป่วยเด็กหญิงรายนั้นก็ได้รับยาที่เข้าไประงับการอักเสบของกล้ามเนื้อนั้นปฏิกิริยาการได้อย่างรวดเร็ว ผู้เขียนได้นำภาพตัวอย่างของภาพหัวใจจากเครื่อง Cardiac MRI ของผู้ป่วยปกติ (รูปที่ 1) เทียบกับภาพหัวใจจากของผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแบบเป็นหล่อม ๆ มาแสดงให้ดูด้วยดังรูปแสดง (รูปที่ 2) ผู้อ่านจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน
   
-การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันแบบรุนแรง (Fulminant myocarditis) ต้องใช้ทีมรักษาที่มีความเชี่ยวชาญอย่างสูงในการร่วมทีมรักษาอย่างเต็มที่ รวมทั้งต้องมีการเตรียมเครื่องมือให้มีความพร้อม เพื่อแก้ไขให้ผู้ป่วยพ้นจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนี้ให้ทันท่วงที
   
แนวทางการรักษาดังกล่าวประกอบไปด้วย
   
1.การ Support ของการทำงานของหัวใจ
   
- โดยอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยการทำงานของหัวใจ แบบพิเศษ (Intraaortic balloon pump หรือ Extracorporeal membrane oxygenation) รวมทั้งการให้ออกซิเจนเพื่อพยุงช่วยเหลือปอดและหัวใจ
   
2.การให้ยาคุ้มกันหรือยาต้านการอักเสบ
   
- มีการให้ยาดังกล่าวในผู้ป่วยที่ผล biopsy ยืนยันค่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจริง แล้วพบว่าอาการดีขึ้นโดยหนึ่งในโรงพยาบาลนั้นคือโรงพยาบาลในฮ่องกง ซึ่งพบว่า 7 ใน 8 รายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาด้วยยาดังกล่าว
   
3.การให้ยารักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานน้อย
   
- ผู้เขียนเองมีโอกาสรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้เช่นกัน แต่เป็นความโชคดีของผู้ป่วย  และของผู้เขียน ที่ไม่ใช่กลุ่มอาการที่รุนแรงมาก ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจึงมีอาการดีขึ้นภายหลังรับการรักษามาช่วงหนึ่ง
   
ท่านผู้อ่านครับ การมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถทำให้เราวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้นและถูกต้องตรงประเด็นมากขึ้น และแน่นอนว่าย่อมนำไปสู่การรักษาที่ตรงตามโรคได้เป็นอย่างดี องค์ความรู้ดังกล่าว ทำให้ชีวิตยุคใหม่มีโอกาสรักษาโรคที่แต่เดิมคิดว่ารักษาไม่ได้ เพื่อให้มีสุขภาพชีวิตยืนยาวและ/หรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์