[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 25 เมษายน 2555 18:52:25



หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๗ :พระศาสนโสภณ (ภา ภาณโก)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 เมษายน 2555 18:52:25
พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์



(http://www.sookjai.com/index.php?action=dlattach;topic=33300.0;attach=2154;image)

พระศาสนโสภณ (ภา  ภาณโก) วัดราชบพิธ  กรุงเทพมหานคร



พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๗
ภา  ภาณโก



พระศาสนโสภณ (ภา  ภาณโก) วัดราชบพิธ  นามเดิมว่า “ใช้” ภายหลังเปลี่ยนเป็น “ภา  กังสวร”  เกิดที่ตำบลทองนพคุณ  อำเภอคลองสาน  จังหวัดธนบุรี   เป็นบุตรของเถ้าแก่ชุนกับนางฟักทอง แซ่แต้ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี  แรม ๒ ค่ำ  เดือน ๑๒  ปีมะโรง  จ.ศ. ๑๒๔๒  หรือตรงกับวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๓  บิดามีอาชีพค้าสำเภาไปมาระหว่างเมืองไทยและเมืองจีน  นัยว่าเป็นก๊กเจ้าสัวสอน  หน้าบ้านบิดาของท่านเป็นท่าเรือสำหรับจอดพักของเรือค้าขายจำพวกเดียวกันเรียกว่าห๋วยจุ๋นล้ง  ท่านเป็นบุตรคนเดียวของบิดา และกำพร้าบิดาแต่อายุยังน้อย ภายหลังมีน้องชายร่วมมารดาอีกผู้หนึ่งชื่อเทียนเป๊า  และต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  ประทานเปลี่ยนนามใหม่เป็น “วร”  และประทานนามสกุลว่า “กังสวร”  ซึ่งต่อมาเป็นพันโท  พระสุวรรณชิต  มารดาของท่านเป็นน้าของหม่อมเจ้าหญิงประทุมแมนในกรมขุนวรจักร์ธรานุภาพ  ยายของท่านเป็นบุตรีพระยาไกรโกษา (ฤกษ์) ต้นสกุลไกรฤกษ์



การศึกษาและการบรรพชาอุปสมบท

ก่อนบวชท่านได้ศึกษาภาษาไทยกับนายรองสนองราชบรรหาร (แย้ม)  โดยบิดามารดาจ้างครูมาสอนเฉพาะเป็นพิเศษ  ไม่ได้สอบไล่เลื่อนชั้นอย่างเป็นนักเรียนในโรงเรียนสามัญ   เมื่ออายุ ๑๘ ปี ท่านแสดงความประสงค์จะบวชเป็นสามเณร  มารดาจึงจัดการให้ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐  ที่วัดบุรณศิริมาตยาราม  จังหวัดพระนคร   มีพระปัญญาวิสารเถร  (สิงห์)  เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม  จังหวัดพระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์   ในปีนั้นเองท่านได้ย้ายมาอยู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร  เจ้าอาวาสวัดราชบพิธยุคที่ ๑   เมื่ออายุครบอุปสมบท ได้เข้าอุปสมบท ณ วัดราชบพิธฯ เมื่อวันที่  ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒  โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์   พระภัทรศีลสังวร (เทด)  เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม  ครั้งยังอยู่วัดบุรณศิริ  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ภาณโก"

อุปสมบทแล้วได้ศึกษาภาษาบาลีกับอาจารย์หลายท่าน ได้แก่ สำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  ครั้งยังเป็นหม่อมเจ้าและพระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรตบ้าง  เรียนกับพระยาธรรมปรีชา (ทิม)  นายชู เปรียญ และนายนวลบ้าง ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงพระกรุณาโปรดให้ไปเรียนกับพระองค์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

จนปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ท่านสอบไล่บาลีเวยยากรณ์ ชั้นนักเรียนตรีสามัญได้ในมหามกุฎราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๔๖  สอบบาลีสนามหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค และได้เข้าสอบชั้นเปรียญธรรม ๔ ประโยคอีกแต่แปลตก หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้เข้าสอบอีกเลย  ท่านเป็นเปรียญเพียง ๓ ประโยคก็จริง แต่ความรู้ภาษาบาลีของท่านหาได้น้อยตามประโยคไม่ ดังปรากฏว่าท่านได้แปลและถือเอาใจความในพระไตรปิฏก ทั้งบาลีอัฏฐกถาและฎีกาได้เป็นอย่างดี  พยานข้อนี้ก็มีปรากฏอยู่ คือท่านได้เป็นผู้หนึ่งที่ช่วยชำระพระไตรปิฎกบาลีอัฏฐกถาอันควรแก้ไขและพิมพ์ใหม่   ในรัชกาลที่ ๗  ดังมีข้อความปรากฏในสมุดบันทึกประจำปีของท่านว่าดังนี้

“ได้ตรวจชำระฉบับสุตฺตนฺตปิฎก  อฺงคุตฺตรนิกาย สตฺตก-อฏฐก-นวกนิบาต เสร็จเมื่อวันที่ ๑๙ พ.ย.๗๐  สั่งโรงพิมพ์ให้พิมพ์ วันที่ ๒๑ พ.ย. ๗๐ โรงพิมพ์เรียงและพิมพ์ ยกแรกส่งปรู๊ฟมาให้ตรวจตั้งแต่วันที่ ๒๕ พ.ย.๗๐ เป็นต้นไป จนถึงวันที่ ๒๖ เม.ย. ๗๑  จึงส่งยกที่สุดคือยกที่ ๓๑ มาให้ตรวจได้ตรวจเสร็จในวันที่ ๒๗ เม.ย. ๗๑  ต่อนี้ได้ตรวจคำผิดทำโสธนปตฺต ตรวจจบวันที่ ๒๖ มิ.ย. ๗๑  ต่อนี้ตรวจใบพิมพ์ปทานุกกโมเป็นต้น ตรวจเสร็จทั้งหมดวันที่ ๒๗ มิ.ย. ๗๑” (เสร็จจบบริบูรณ์) ภ.ป.


สมณศักดิ์

ก่อนท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ท่านได้เคยเป็นพระครูฐานานุกรม ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ คือ พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นพระครูพุทธพากย์ประกาศ, พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นพระครูวินัยธรรม, พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นพระครูวิจารณ์ธุรกิจ, พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นพระครูปลัดสัมพิพัฒนพรหมจรรยาจารย์

ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระมหาคณิศร ตำแหน่งปลัดมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖

ในรัชกาลที่ ๗ ได้เลื่อนเป็นพระราชกวี เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ และเลื่อนเป็นพระเทพกวี เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖

ในรัชกาลที่ ๘  ได้เลื่อนเป็นพระธรรมปาโมกข์ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘  ต่อมางดการพระราชทานสมณศักดิ์ชั่วคราว ครั้นเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนาเป็นพระศาสนโศภน  ตำแหน่งเจ้าคณะรองคณะธรรมยุตติกา หรือเรียกตามประกาศว่า รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามและเกียรติคุณปรากฏในคำประกาศสถาปนาว่าดังนี้



ประกาศสถาปนา
อานันทมหิดล

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  มีพระบรมราชโองการโปรดให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระธรรมปาโมกข์ ประกอบด้วยปรีชาญาณในพระปริยัติไตรปิฎกธรรม สำเร็จภูมิเปรียญ ได้เป็นฐานานุกรมผู้ใกล้ชิดสนิทในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า โดยลำดับมาช้านาน จนถึงทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระมหาคณิศรตำแหน่งพระราชาคณะ ปลัดมหาสังฆปริณายกเป็นที่สุด ได้รับภารธุระพระพุทธศาสนา ช่วยแบ่งเบาภาระธุรกิจทั่วไปของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ให้ดำเนินไปเรียบร้อยด้วยดีเป็นที่เบาพระหฤทัยและไว้วางพระหฤทัยได้สนิท  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชกวี  พระเทพกวี  และพระธรรมปาโมกข์  เป็นลำดับมา  ก็รักษาสังวรสมณวัตรและขนบธรรมเนียมประเพณีราชการเรียบร้อยสมควรแก่ตำแหน่งมาด้วยดี  มีอุตสาหะวิริยะประกอบพุทธศาสนกิจเป็นอัตตหิต  ปรหิตประโยชน์ไพศาลทั้งทางการศึกษาและการบริหาร เป็นผู้รอบรู้ระเบียบประเพณีพิธีราชการและพิธีสงฆ์ทั่วถึง  สามารถจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ได้เรียบร้อยและเป็นประธานอนุกรรมการมหาเถรสมาคม  พิจารณาอธิกรณ์ชั้นฎีกาในคณะสงฆ์ เป็นกำลังของมหาเถรสมาคม ช่วยให้กิจการส่วนนี้ให้ลุล่วงไปด้วยดี เป็นที่นิยมสรรเสริญปรากฏเกียรติคุณโอฬาร  จึงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสังฆสภา  และสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง กับได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนคร บัดนี้ พระธรรมปาโมกข์ เจริญด้วยพรรษายุกาลเถรธรรม ประพฤติพรหมจรรย์สมบูรณ์บริสุทธิ์ มีมรรยาทอันงดงามเป็นปสาทนียคุณ ไพบูลย์ด้วยสมณวัตร์ทุกสถานเป็นหลักเป็นประธานอยู่ในคณะธรรมยุติการรูปหนึ่ง เป็นที่นิยมสักการะบูชาคารวะของพุทธมามกชนทั่วไป สมควรยกย่องให้ดำรงสมณฐานันดรศักดิ์สูงขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาพระธรรมปาโมกข์ เป็นที่รองสมเด็จพระราชาคณะมีราชทินนามตามจารึกในหิรัญยบัฏว่า พระศาสนโศภน วิมลญาณอดุลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร อุดมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ พิพิธธรรมโกศล วิมลสุตาคม อุดมคณานุนายก ตรีปิฎกญาณวิตร ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิศิษฐ์สรเวท พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิเศษสรวุฒิ พระครูคู่สวด ๑ พระครูสังฆวุฒิกร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาพระคุณทั้งปวงผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดรเพิ่มอิสสริยยศในครั้งนี้จงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในพระอาราม  ตามสมควรแก่กำลังและอิสสริยยศที่พระราชทานนี้ และขอจงเจริญ อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภานคุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วุรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธเทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘  เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

                                                                                                              ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                                                                                                              ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช
                                                                                                                                 นายกรัฐมนตรี



หน้าที่การงาน

ท่านได้เป็นครูสอนธรรมวินัยนวกะภิกษุสามเณรมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๘ ชั้นต้นก็สอนเป็นบางเวลา แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ต่อมาก็โปรดให้เป็นผู้สอนแทนพระองค์ตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐  ซึ่งเป็นปีสิ้นพระชนม์  จึงหยุดการสอนมอบภารธุระนั้นแก่พระจินดากรมุนี ครั้งยังเป็นพระครูวิจิตรธรรมคุณ รวมเวลาที่ท่านสอนอยู่ถึง ๒๒ ปี

ท่านได้เป็นกรรมการสนามหลวงทั้งนักธรรมและบาลี  ตั้งแต่สมัยจัดตั้งการสอบไล่ในยุคต้น ๆ และเป็นกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย  ตั้งแต่เป็นพระครูปลัดฯ ตลอดถึงมรณภาพ

เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ตั้งแต่เป็นพระเทพกวี เป็นประธานอนุกรรมการมหาเถรสมาคม  ซึ่งมีหน้าที่พิจารณา วินิจฉัย อธิกรณ์ ชั้นฎีกา และกิจการบางอย่าง เสนอประธานกรรมการมหาเถรสมาคม บัญชาการคณะสงฆ์แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ตั้งแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖

เป็นกรรมการเถรสมาคม คณะธรรมยุตติกาประเภทประจำ ตั้งแต่วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นกรรมการคณะธรรมธรรมยุตติกา  ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗  เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุตติกา  ตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธในยุคที่ ๓ สืบต่อมาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ตั้งแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

อนึ่ง ในสมัยประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔  เปลี่ยนระบอบการปกครองคณะสงฆ์อนุโลมการปกครองทางบ้านเมือง ท่านก็ได้เป็นสมาชิกสังฆสภา โดยตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง และต่อมาก็ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครอีกตำแหน่งหนึ่ง และดำรงตำแหน่งทั้งสองนี้จนถึงวันมรณภาพ


อวสานกาล

๘ ตุลาคม ๒๔๘๙   พระศาสนโศภน (ภา) อาพาธด้วยไข้ทรพิษ และเป็นชนิดร้ายแรงที่เรียกว่าดาดเลือด  มีโอกาสรักษาหายได้น้อย สถิติของโรงพยาบาลมักตายภายใน ๗ วัน อย่างเร็วภายใน ๓ วัน

อาพาธคราวนี้ ท่านมีสติสัมปชัญญะดีตลอดเวลา ท่านได้ถามพระบริรักษ์กฤษฎีกาศิษย์ผู้ถูกอัธยาศัยกับท่าน ซึ่งมาพยาบาลอยู่ด้วยในที่นั้นว่า “ตายหรือยัง”  เมื่อพระบริรักษ์เรียนท่านว่า “หมอเขาว่ายังไม่ตาย”  ท่านตอบว่า “ไปละอยู่กันเป็นสุข ๆ เถิด”  ต่อนั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะค่อย ๆ สั้นและน้อยจนดับหายไปในที่สุด ในเวลา ๒๓.๒๕ นาฬิกา ของวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๙






กิมเล้ง : http://www.sookjai.com (http://www.sookjai.com)

ข้อมูลคัดลอกจาก

อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
- http://th.wikipedia.org (http://th.wikipedia.org)  






.