[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี => ข้อความที่เริ่มโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 18 พฤษภาคม 2555 12:06:36



หัวข้อ: ตำนานผีล้านนา ตอน หำยนต์กั๋นผี
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 18 พฤษภาคม 2555 12:06:36
ตำนานผีล้านนา ตอน หำยนต์กั๋นผี

(http://www.bansongthai.com/images/stories/humyon1.jpg)

“หำยนต์” ไม้แกะสลักแผ่นเล็กๆ แต่อุดมไปด้วยเรื่องราวชวนพิศวงงงงวยอย่างคาดไม่ถึง ชาวล้านนานิยมประดับ “หำยนต์” ขนาดกว้างราว 1 ฟุต ยาวสัก 3 ฟุต ไว้เหนือประตูทางเข้าห้องนอนของเจ้าเรือน นัยว่าเป็นสัญลักษณ์บอกให้ผู้มาเยือนรู้ว่าห้องนี้เป็น “ที่รโหฐาน” หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มิปรารถนาให้ผู้อื่นเข้าไปข้องแวะ

เพราะชาวล้านนามีธรรมเนียมการถือ “ผีประจำตระกูล” กันมาแต่โบราณกาล กรวยดอกไม้ไหว้ผีก็วางไว้บนหิ้งเหนือหัวนอนเจ้าเรือน ห้องนอนจึงถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือที่อยู่ของ “ผี” ที่เชื่อว่าจะบันดาลความร่มเย็นเป็นสุขให้ครอบครัว จึงมิพึงปรารถนาให้ผู้มาเยือน ซึ่งถือเป็น “คนต่างผี” ย่างกรายเข้าไปทำให้ผีที่ตนนับถือขุ่นเคือง

บางตำราว่าลวดลายพรรณพฤกษาที่ประดับ “หำยนต์” นั้น ไม่ใช่งานแกะสลักหรือฉลุให้ดูสวยงามเท่านั้น แต่ยังซ่อนคาถาอาคมไว้ในลวดลาย เผื่อว่า “คนต่างผี” ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจรุกล้ำเข้าไปในห้องนอน ผีหรืออวิชชาในตัวคนนั้น ก็จะถูก “สแกน” หรือสยบให้ราบคาบเสียก่อน จนมีภาษิตล้านนากล่าวว่า “หำยนต์กั๋นผี ขอบธรณีกั๋นขึ้ด” (ขึ้ด คือสิ่งไม่ดีหรือเสนียดจัญไรทั้งหลาย)

ว่ากันว่าเวลาขึ้นบ้านใหม่ เจ้าเรือนต้องนำหำยนต์เข้าร่วมพิธีด้วย ในกรณีที่ซื้อหรือได้สิทธิ์ครอบครองบ้านต่อจากคนอื่น ก่อนจะเข้าไปอยู่ ต้องถอดหำยนต์ของเดิมออกมาทำลาย แล้วนำหำยนต์ของตนเองไปติดแทน นัยว่าเป็นการอัญเชิญผีประจำเข้าไปสถิตในที่ใหม่

แต่เพราะตำแหน่งที่ตั้งของหำยนต์ใกล้เคียงกับตำแหน่ง “ทับหลัง” ในสถาปัตยกรรมชวาและขอม คือแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางไว้เหนือประตู นิยมประดับลวดลายพรรณพฤกษาและรูปเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ ไว้สักการบูชา จึงมีข้อสันนิษฐานว่าบางที “หำยนต์” อาจได้รับอิทธิพลจากชวาและขอมที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน

แต่ที่น่าสนใจคือแล้วทำไมต้อง “หำ” ซึ่งตรงตัวได้ว่า “ลูกอัณฑะ” เรื่องนี้ปราชญ์ล้านนาอย่างศาสตราจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ตีความว่า “อัณฑะ” เป็นแหล่งรวมพลังของผู้ชายหรือของเจ้าเรือน ส่วน “ยนต์” หมายถึงสิ่งปกปักรักษาพื้นที่ศักดิ์สิทธ์ รวมความแล้ว “หำยนต์” น่าจะหมายถึงสิ่งคุ้มครองพลังศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าเรือน คือผีประจำตระกูล

ทำให้นึกถึงคำเรียกเด็กผู้ชายของชาวอีสานที่ว่า “บักหำน้อย” หรือ “ไอ้ไข่นุ้ย” ของคนใต้ สะท้อนว่าคนไทยให้ความสำคัญกับ “หำ” หรือ “ไข่” มาแต่โบราณแล้ว

ปราชญ์อีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์อุดม รุ่งเรืองศรี ตีความว่า “หำยนต์” มาจาก “หัมมิยะ” กับ “อันตะ” หมายถึงชิ้นส่วนที่ใช้ตกแต่งส่วนยอดของปะรำหรือสถานที่ให้เกิดความสวยงาม ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสถาปัตยกรรมล้านนา ไม่เกี่ยวกับคาถาอาคมที่ใช้สยบหรือกำราบใคร และบ้างก็ว่าชาวล้านนาได้รับคติเรื่องหำยนต์ มาจากชาวลัวะ ชนพื้นเมืองเดิมที่นิยมแกะสลักไม้ประดับเหนือประตูทางเข้าห้องนอน เหมือนกับที่รับ “กาแล” มาจากเขาควายที่หน้าจั่วบ้านชาวลัวะเช่นกัน

แต่ไม่ว่า “หำยนต์” จะมาจากไหน มีความหมายอย่างไร ผมคิดว่านี่คือสัญลักษณ์ที่ทำให้เราตระหนักว่า มนุษย์ล้วนมีเกียรติศักดิ์ศรีเท่ากัน แต่ละคนมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้อื่นต้องเคารพ เช่น พื้นที่ทางความคิดที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร และไม่อาจมีใครมาล่วงละเมิดได้

“หำยนต์” ของคนโบราณอาจบอกเราว่า ถ้าเราไม่เคารพพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเราเอง ก็อย่าคาดหวังว่าจะได้รับความเคารพจากคนอื่น

(สังเขปจากบทความ ‘หำยนต์’ ศักดิ์ศรีคน ศักดิ์สิทธิ์บ้าน" คอลัมน์: ความยอกย้อนของกาลเวลา)


หัวข้อ: Re: ตำนานผีล้านนา ตอน หำยนต์กั๋นผี
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 18 พฤษภาคม 2555 12:07:53
หำยนต์เป็นชื่อของแผ่นไม้แกะสลักลวดลายโบราณที่ติดตั้งเหนือประตูห้องนอนของเรือนล้านนา

(http://www.bansongthai.com/images/stories/humyon3.jpg)

หำยนต์เป็นชื่อของแผ่นไม้แกะสลักลวดลายโบราณที่ติดตั้งเหนือประตูห้องนอนของเรือนล้านนา ส่วนใหญ่เป็นแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามักเกี่ยวข้องกับความเชื่อลี้ลับที่สามารถดลบันดาลความเป็นไป ต่างๆ ให้กับเจ้าของบ้าน แม้ความเชื่อเรื่องหำยนต์ จะซ่าลงไปในยุคสมัยปัจจุบัน แต่กระนั้นตามบ้านเรือนล้านนาโบราณยังคงความเชื่อเช่นนี้อยู่และอาจสืบทอดไปสู่คนรุ่นหลังในบางพื้นที่ หำยนต์มักจะทำขึ้นพร้อมๆ กับการปลูกเรือนใหม่ เมื่อเจ้าของบ้านได้แผ่นไม้ที่จะทำหำยนต์ อาจารย์หรือพระผู้มีวิชาจะนำแผ่นไม้มาผูกไว้กับเสาเอกเพื่อทำพิธีถอน ทั้งนี้เพราะคนเมืองล้านนานั้นเมื่อจะประกอบพิธีกรรมใดๆ จะต้องทำพิธีสูตรถอนก่อนทุกครั้งและก่อนที่แกะสลักลวดลายหำยนต์ เจ้าของบ้านจะต้องนำดอกไม้ ธูปเทียนมาอัญเชิญอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่หำยนต์ เมื่อทำการแกะสลักหำยนต์แล้วจึงนำมาประดับไว้ที่บริเวณเหนือประตูทางเข้าห้องนอนของเจ้าของบ้าน โดยจะมีการทำพิธียกขันตั้งหลวง ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ผ้าขาว ผ้าแดงและสุราอาหาร ให้อาจารย์กล่าวอัญเชิญเทวดา อารักษ์ ผีบ้านผีเรือนมาปกป้องรักษาบ้านหลังนั้นให้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุข นี่เป็นความเชื่อหนึ่งของคนล้านนาที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน ทว่าในช่วงเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมา มีนักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่นออกมาให้ทัศนะต่อหำยนต์ในหลายความคิดเห็น บ้างก็ว่าเป็นการทำไสยศาสตร์ มนต์ดำของพม่าในยุคที่ปกครองเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งให้ความหมายของหำยนต์ว่าเป็น ยันตร์สำหรับป้องกันภัยอันตราย อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าหำยนต์มีที่มาจากทับหลัง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเขมร แล้วแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนล้านนา ซึ่งก็ว่ากันไป... ต่อไปนี้เป็นนานาทัศนะของผู้รู้หลายท่านที่ได้กล่าวถึงความหมายของหำยนต์ อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ กล่าวไว้ในหนังสือศิลปลานนาไทย เรื่องเรือนแบบล้านนาว่า คำว่า "หำ" เป็นศัพท์ล้านนาไทยแปลว่า "อัณฑะ" ถือว่าเป็นสิ่งที่รวมแห่งพลังบุรุษชน ส่วนคำว่า "ยน" คงได้มาจากภาษาสันสกฤตคือ "ยนตร์" แปลว่าสิ่งป้องกันรักษาที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นหำยนต์จึงเป็นส่วนตกแต่งเรือนและทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะป้องกันอันตรายจากภายนอก ซึ่งมีที่มาจากเกียรติมุขในศิลปชวา

(http://www.bansongthai.com/images/stories/humyon2.jpg)

อาจารย์ไกรศรี ยังกล่าวอีกว่า เมื่อครั้งที่สมัยพม่าเข้าปกครองล้านนา ได้บังคับให้คนเมืองอยู่อาศัยในบ้านที่มีรูปร่างคล้ายโลงศพของพม่า และหำยนต์นี้เป็นอัณฑะของพม่านั้นเอง เมื่อเจ้าของบ้านชาวล้านนาและคนในครอบครัวเดินเข้าออกห้องและลอดใต้อัณฑะนั้นก็จะถูกข่มและทำลายจิตใจไม่ให้คิดกระด้างกระเดื่องต่อสู้ขับไล่พม่า ซึ่งไปสอดคล้องกับความคิดเห็นของ อาจารย์เฉลียว ปิยะชน กล่าวไว้ในหนังสือเรือนกาแลว่า เมื่อชาวล้านนาจะขายบ้านหรือซื้อบ้านต่อจากเจ้าของบ้านคนเก่า ก็จะทำพิธีด้วยการตีหำยนต์แรงๆ เพื่อทำลายความขลัง การทุบตีหำยนต์เปรียบเหมือนการตีลูกอัณฑะวัวควายในการทำหมัน ซึ่งเป็นการทำให้หมดสมรรถภาพ การหมดความศักดิ์สิทธิ์ของหำยนต์ก็เช่นกัน

ด้านอาจารย์มณี พยอมยงค์ ปราชญ์พื้นบ้านล้านนาให้ทัศนะว่า หำยนต์ มาจากคำว่า อรห+ยนต รวมเป็นคำว่า อรหันยันตะ แปลว่า ยันต์ของพระอรหันต์ ท่านกล่าวว่าในลวดลายต่างๆ ที่แกะสลักบนแผ่นหำยนต์นั้น น่าจะมีคาถาติดอยู่ เช่น คาถานโมพุทธศาสนา คาถากันผี เป็นต้น

ในการกำหนดขนาดของหำยนต์ จะวัดจากความยาวของเท้าเจ้าของบ้าน ถ้าเป็นประตูขนาดเล็กก็จะใช้ขนาดสามเท่าของเท้า ประตูขนาดใหญ่จะต้องวัดให้ได้ขนาดสี่เท่าของเท้าเจ้าของบ้าน ทั้งนี้การปลูกเรือนในสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะใช้สัดส่วนจากมนุษย์เป็นตัวกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานและมีความเชื่อเข้าไปสัมพันธ์ว่า ควรจะเป็นขนาดเท้าของเจ้าของบ้านถือว่าเป็นการข่มผู้ที่จะลอดใต้หำยนต์ หากเป็นผู้มีวิชาอาคมต่างๆ ก็จะเสื่อมถอยลง คนล้านนาโบราณจึงถือว่าหำยนต์เป็นสิ่งที่สามารถคุ้มครองป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเข้ามากล้ำกลายเจ้าของบ้านได้

ขณะเดียวกัน อาจารย์อุดม รุ่งเรืองศรี ปราชญ์พื้นบ้านชาวล้านนาอีกท่านหนึ่งได้ให้ความหมายของหำยนต์ในอีกทัศนะหนึ่งว่า หำยนต์ น่าจะเรียกว่า หัมยนต์ มากกว่า สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า หมมิย+อนต อ่านว่า หัมมิยะอันตะ คำว่า "หัมมิยะ" แปลว่า ปราสาทโล้น หมายถึงเพิงบังแดดชั่วคราว ส่วนคำว่า "อันตะ" แปลว่า ยอด ดังนั้น "หัมมิยะอันตะ" แปลว่า ปราสาทที่ไม่มียอด จึงอาจเป็นส่วนที่ตกแต่งในส่วนยอดของปะรำที่ห้อยลงด้านล่าง ท่านยังแสดงความคิดเห็นว่า หำยนต์ เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เป็นคาถาอาคม เป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการให้เกิดความสวยงามแก่ตัวบ้านเท่านั้นเอง

ในงานนิทรรศการเรื่องเกี่ยวกับ หำยนต์ ซึ่งอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ จากคณะวิจิตรศิลป์จัดขึ้นที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนสปาร์ค เมื่อ ปี พ.ศ.2537 ท่านได้อธิบายเรื่อง หำยนต์ในสถาปัตยกรรมการสร้างเรือนแบบล้านนาว่า อาจจะมาจากส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมของชาวลัวะ ซึ่งเป็นชนชาติ พื้นเมืองเดิมของล้านนา เป็นรูปแบบลายไม้แกะสลักเหนือประตูทางเข้า ห้องนอนของเรือนรุ่นเก่าของชาวลัวะด้วยและต่อเนื่องมาถึงเรือนกาแลของล้านนา แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับทับหลังปราสาทหินของขอมซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน ก็อาจเป็นข้อสันนิษฐานอย่างหนึ่งว่า อาจจะมีที่มาจากแหล่งต้นกำเนิดใกล้เคียงกันก็เป็นได้

ขณะที่ความสำคัญของหำยนต์แต่เดิมนั้น เป็นตัวบอกว่านี่คือประตูห้องนอนของเรือนหลังนั้น ซึ่งประตูห้องนอนนั้นมีความสำคัญมาก เพราะได้แบ่งพื้นที่ห้องนอนกับพื้นที่เติน คือห้องรับแขก เป็นการจัดแบ่งพื้นที่เฉพาะส่วนตัวของครอบครัวซึ่งนับถือผีเดียวกันของตระกูล เพราะตามปกติคนล้านนาก็จะไม่อนุญาตให้คนต่างผีหรือแขกผู้มาเยือนล่วงล้ำเข้าไปในเขตของตน หำยนต์จึงเป็นกำหนดจัดแบ่งพื้นที่เฉพาะ

ดังนั้นเมื่อเราขึ้นไปเยี่ยมบ้านคนอื่นถ้าเห็นหำยนต์ติดไว้เหนือประตู แสดงว่าพื้นที่นั้นห้ามมิให้คนภายนอกล่วงล้ำเข้าไป ถ้าเข้าไปก็จะเป็นการผิดผี จะต้องทำพิธีขอสูมาลาโทษ

นานาทัศนะของเรื่อง หำยนต์ จากผู้รู้หลายท่านก็ว่ากันไป ซึ่งความเชื่อดังกล่าวจะถูกผิดอย่างไรก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนเสี้ยวจากผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามจะพบว่าปัจจุบันหำยนต์ถูกหลงลืมไปในหมู่คนรุ่นใหม่ หลายคนอาจไม่รู้จักและไม่เคยเห็นด้วยซ้ำว่าหำยนต์หน้าตาเป็นอย่างไร

หำยนต์จะเป็นเพียงงานสถาปัตยกรรมล้านนาที่ประดับตามบ้านเรือนทั่วไป หรืออาจเป็นความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ที่ป้องกันภยันตรายต่างๆ ไม่ให้เข้ามาในบ้าน ก็ยังไม่มีการค้นหาศึกษา อย่างจริงจัง คงมีเพียงข้อสันนิษฐานว่ากันไปต่างๆ นานา กระนั้นบทความชิ้นนี้น่าจะมีส่วนสะท้อนให้คนหันมาเห็นคุณค่าและค้นหาความหมายของหำยนต์กันมากขึ้น ซึ่งบางทีเราอาจไม่ได้เห็นหำยนต์เป็นเพียงไม้แกะสลักโบราณที่วางขายกันตามร้านค้าของเก่าเพียงเท่านั้น


ที่มา chiangmainews.co.th


หัวข้อ: Re: ตำนานผีล้านนา ตอน หำยนต์กั๋นผี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 พฤษภาคม 2555 13:10:05


(http://www.bansongthai.com/images/stories/humyon2.jpg)

ฝีมือแกะสลักสุดยอด...ชาวล้านนา โชคดีที่ได้อยู่ในเขตภูมิอากาศที่เย็นสบาย และธรรมชาติแวดล้อมอุดมสมบูรณ์
ด้วยป่าเขา  ลำเนาไพร....สิ่งเหล่านี้มีผลสำคัญต่อจิตใจและอารมณ์  งานหัตถกรรม ศิลปกรรม  ที่ผลิตออกมาจึงอ่อนช้อย สวยงามหาที่เปรียบมิได้.....