[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 22 พฤษภาคม 2555 18:51:08



หัวข้อ: พระอาจารย์ลี ธัมมธโร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 พฤษภาคม 2555 18:51:08
       (http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTwXe1tjCw10ohK_w4nw9g_R7BlsPthDEKrtXnfAqnQhXkB-5m4)                                พระอาจารย์ลี ธัมมธโร
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ
           ภาพจาก :audio.palungjit.com  


๑. พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร  ก่อนพบพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต

เรื่องราวของ พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร  เป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างโลดโผน  สะท้อนบทเรียนเป็นอย่างมากของผู้อยู่ในสมณวิสัย

ท่านเป็นคนบ้านหนองสองห้อง  ตำบลยางโยงภาพ  อำเภอม่วงสามสิบ  จังหวัดอุบลราชธานี  อุปสมบทกรรมที่วัดบ้านหนองสองห้อง  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นการอุปสมบทในมหานิกาย พร้อมกับเพื่อน ๆ ด้วยกัน ๖ องค์  


จากคำบอกเล่าของพระอาจารย์ลี  ธัมมธโร

“บวชแล้วก็ได้เรียนสวดมนต์และพระธรรมวินัย  แล้วตรวจดูภาวะของตนและพระภิกษุอื่น ๆ ในสมัยนั้นเห็นว่าไม่ไหวแน่ เพราะแทนที่จะปฏิบัติสมณกิจกลับมั่วสุมแต่การสนุกมากกว่า  เป็นต้นว่า นั่งเล่นหมากรุกกันบ้าง  เล่นมวยปล้ำกันบ้าน  เล่นดึงหัวไม้ขีดไฟกับผู้หญิง (เวลามีงานเฮือนดี) บ้าง  เล่นนกกันบ้าง  เล่นชนไก่กันบ้าง  บางทีถึงกับมีการฉันข้าวเย็น”
แม้กระทั่งตัว  พระอาจารย์ลี ธัมมธโร เองก็ฉันข้าวเย็นไปกับเขาด้วยถึง ๓ ครั้งด้วยกัน

ที่รู้สึกเบื่อที่สุด คือการรับนิมนต์ไปสวดมนต์คนตาย  เพราะรู้สึกรังเกียจมาก  ตั้งแต่เกิดมาจนอายุ ๒๐ ปี  ถ้าบ้านไหนเกิดมีคนตายจะไม่ยอมไปกินข้าวน้ำในบ้านนั้น  เมื่อบวชแล้วนิสัยนี้ก็ยังติดอยู่”

แต่แล้ววันหนึ่งก็มีผลสะเทือนอันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทางความคิด

เดือนพฤศจิกายนข้างแรมได้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดบ้านโนนรังใหญ่  ตำบลยางโยงภาพ  อำเภอม่วงสามสิบ  จังหวัดอุบลราชธานี  พอดีไปพบพระกรรมฐานองค์หนึ่งกำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์  รู้สึกแปลกประหลาดในจิตขึ้นโดยโวหารของธรรมะน่าเลื่อมใส  จึงได้ไต่ถามญาติโยมว่าท่านองค์นั้นเป็นใคร มาจากไหน   ได้รับตอบว่า “เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ชื่อ อาจารย์บท”  

ท่านได้พักอยู่ในป่ายางใหญ่ใกล้บ้านราว ๒๐ เส้น  พองานหาชาติเสร็จก็ได้ติดตามไปดู  ได้เห็นปฏิปทาความประพฤติของท่านเป็นที่น่าพอใจ  จึงถามท่านว่า “ใครเป็นอาจารย์ของท่าน”    ท่านตอบว่า  “พระอาจารย์มั่น  พระอาจารย์เสาร์  เวลานี้พระอาจารย์มั่น  ได้ออกเดินทางจากจังหวัดสกลนครไปพักอยู่ที่วัดบูรพาราม  จังหวัดอุบลราชธานี”    พอได้ความเช่นนั้น ก็รีบเดินทางกลับบ้าน นึกแต่ในใจว่า “เราคงสมหวังแน่ ๆ “

อยู่มาไม่กี่วัน จึงได้ลาโยมผู้ชาย  ลาพระอุปัชฌาย์  ท่านทั้ง ๒ ก็พูดจาขัดขวางทุกด้านทุกมุม  แต่ได้ตัดสินใจเด็ดขาดว่า “เราต้องไปจากบ้านนี้โดยเด็ดขาด  จะให้สึกก็ต้องไป  จะให้อยู่เป็นพระก็ต้องไป  พระอุปัชฌาย์และโยมผู้ชายไม่มีสิทธิ์ใด ๆ  ทั้งหมด  ถ้าขืนก้าวก่ายสิทธิ์ในตัวเรานาทีใดต้องลุกหนีไปนาทีนั้น”ได้พูดกับโยมผู้ชายอย่างนี้  ในที่สุดโยมผู้ชายและอุปัชฌาย์ก็ยอม

ทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดอันมาจากหนังสือชีวประวัติ  พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร)  ตีพิมพ์เผยแพร่โดยวัดอโศการาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙   นี่ย่อมพ้องกับบันทึกของ พระอาจารย์วิริยังค์ ที่เขียนจากคำ พระอาจารย์กงมา  จิรปุญโญ   เป็นคำบอกเล่าหลังจาก พระอาจารย์กงมา  จิรปุญโญ  พบและปฏิบัติธรรมอยู่กับ พระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม  ที่บ้านหนองขอน  อำเภออำนาจเจริญ  

“ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่นกำลังเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี  เราจึงได้พยายามธุดงค์ติดตามท่านไป  ในระหว่างทาง  เราได้พบพระลี (อาจารย์ลี  ธัมมธโร)  ที่บ้านหนองสองห้อง  อำเภอม่วงสามสิบ  ท่านก็เป็นพระมหานิกายเหมือนกัน   เราได้อธิบายธรรมปฏิบัติที่ได้ศึกษามาจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้วก็พาปฏิบัติจนเกิดความอัศจรรย์  พระลีมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง  จึงได้ธุดงค์ร่วมกันกับเราเพื่อจะได้พบท่านอาจารย์มั่น  เรากับพระลีได้ไปพบท่านอาจารย์มั่นที่วัดบูรพาราม   นั่นเป็นสถานการณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐

เป็นการพ้องกันอย่างมิได้นัดมายระหว่างพระอาจารย์ลี  ธัมมธโร  กับพระอาจารย์กงมา  จิรปุญโญ  เป้าหมายเดียวกัน คือ วัดบูรพาราม  จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งแน่ชัดอย่างยิ่งว่า พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโตและคณะ พำนักอยู่  

ความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นของพระอาจารย์ลี  ธัมมธโร ที่มุ่งมั่นจะไปหาพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  เป็นความศรัทธาอย่างแรงกล้า กระทั่งโยมบิดาก็ไม่สามารถยับยั้งลงได้ด้วยถ้อยปลอบประโลม





๒. บันทึกของ พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร  เมื่อได้พบพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต

เดือนอ้าย  ข้างแรม  เวลาเพลแล้ว  ประมาณ ๑๓.๐๐ น.  ได้ออกเดินทางด้วยบริขารโดยลำพังองค์เดียว  โยมผู้ชายได้ติดตามออกไปส่งถึงกลางทุ่งนา   เมื่อได้ล่ำลากันแล้ว  ต่างคนก็ต่างไป      วันนั้น เดินทางผ่านอำเภอม่วงสามสิบพุ่งไปสู่จังหวัดอุบลราชธานี  ได้ทราบข่าวว่า พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  พักอยู่ที่บ้านกุดลาด  ตำบลกุดลาด  อำเภอเมือง  อยู่ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ ๑๐ กิโลเมตรเศษ  พอดี พระบริคุตฯ  ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอม่วงสามสิบ  ถูกปลดออกจากราชการขี่รถผ่านมา  พบเรากำลังเดินทางอยู่คนเดียว  ท่านผู้นี้ได้นิมนต์ขึ้นรถขนย้ายครอบครัวของท่านไปส่งถึงสนามบินจังหวัดอุบลราชธานี ทางไปบ้านกุดลาด   บัดนี้ก็ยังระลึกถึงบุญคุณของท่านผู้นี้อยู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันเลย

ประมาณ ๕ โมงเย็นเดินทางมาถึงสำนักวัดป่าบ้านกุดลาด  แต่ได้ทราบว่า พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  กลับมาพักอยู่ที่วัดบูรพา

รุ่งเช้า  เมื่อฉันอาหารแล้วได้เดินเท้ากลับมายังจังหวัดอุบลราชธานี  ได้ไปนมัสการกราบเรียนความประสงค์ของตนต่อพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต   ท่านก็ได้ช่วยแนะนำสงเคราะห์เป็นที่พอใจ  สอนคำภาวนาให้ว่า “พุทโธ  พุทโธ”   เพียงคำเดียวเท่านั้น

พอดีท่านกำลังอาพาธ  ท่านได้แนะนำให้ไปพักอยู่บ้านท่าวังหิน  ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงัด  วิเวกดี ที่นั่นมีพระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม  พระอาจารย์ปิ่น  ปัญญาพโล  มีพระภิกษุสามเณรราว ๔๐ กว่าองค์พักอยู่  ได้เข้าไปฟังพระธรรมเทศนาของท่านทุกคืน  รู้สึกว่ามีผลเกิดขึ้นในใจ ๒ อย่างคือ   เมื่อนึกถึงเรื่องเก่า ๆ ของตนที่เป็นมาก็ร้อนใจ  เมื่อนึกถึงใหม่ ๆ ที่กำลังประสบอยู่ก็เย็นใจ  ทั้ง  ๒ อารมณ์นี้ติดตนอยู่เสมอ

พอดีได้พบเพื่อนที่หวังดี  ๒ องค์  ได้ร่วมอยู่ร่วมฉันร่วมศึกษาสนทนากันตลอดมา  เพื่อน ๒ องค์นั้น คือ พระอาจารย์กงมา  จิรปุญโญ  และ พระอาจารย์สาม  อภิญโย  ได้พากเพียรพยายามภาวนาอยู่เสมอทั้งกลางวัน กลางคืน    เมื่อได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ได้ชวน พระอาจารย์กงมา  จิรปุญโญ  ออกเดินทางไปเรื่อย ๆ   ไปพักตามศาลเจ้าผีปู่ตาของหมู่บ้านตำบลต่าง ๆ  แล้วได้เดินทางกลับไปถึงบ้านเดิมเพื่อบอกข่าวกุศลให้โยมผู้ชายทราบว่าพบ พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต เป็นที่พอใจในชีวิตแล้ว  อาตมาจักไม่กลับมาบ้านนี้ต่อไป

คือได้นึกเป็นคติในใจอยู่ว่า  “เราเกิดมาเป็นคนต้องพยายามไต่ขึ้นอยู่บนหัวคน  เราบวชเป็นพระต้องพยายามให้อยู่บนหัวพระที่เราเคยพบผ่านมา”   ตอนนี้รู้สึกว่าเกิดสมหวังในความคิด    


ความสมหวังในความคิดเมื่อแรกได้พบ  พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  เป็นความสมหวังที่จะต้องผ่านด่านอีกหลายด่านสำหรับ พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร   นั่นก็คือด่านในเรื่องของนิกายอันแตกต่างกัน  เนื่องเพราะอุปสมบทมาในพระมหานิกาย  มีอุปสรรคมากหลายเพราะเป็นการเดินทางเข้าร่วมในหมู่เพื่อนซึ่งส่วนใหญ่เป็นธรรมยุต  ไม่ว่าพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  ไม่ว่า พระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม

การญัตติเปลี่ยนนิกายจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก  
 





๓. เข้าสู่วงศ์ธรรมยุต

ปี ๒๔๗๐  พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร  ดำริภายในใจของตนว่า “เราต้องสวดญัตติใหม่ ล้างบาปเก่าเสียที”  แล้วจึงหารือพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต    เมื่อพระอาจารย์มั่นเห็นดีเห็นชอบจึงได้ทำการญัตติจากมหานิกายเข้าสู่วงศ์ธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐

“เมื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ก็ได้ติดตามท่านไปเที่ยวในตำบลต่าง ๆ  ได้รู้สึกมีความเลื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง  เพราะได้รับความอัศจรรย์จากท่านหลายอย่าง เช่น บางเรื่องคิดอยู่ในใจของเรา  ไม่เคยแสดงให้ท่านทราบเลย ท่านกลับทักทายถูกต้อง  ก็ยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสยิ่งขึ้นทุกที”   (คำว่า “ท่าน” ในที่นี้ของ พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร  หมายถึง พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต)  

อุปสมบทเข้าสู่วงศ์ธรรมยุตได้เพียง ๑ วัน  ก็ได้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัด คือ ฉันมื้อเดียว  พักอยู่วัดบูรพาคืนเดียวก็ได้ออกไปอยู่ป่าวัดท่าวังหิน  

เมื่อพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  กับ พระปัญญาพิศาล กลับมหานครกรุงเทพฯ  พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร  ก็ได้รับมอบหมายให้ไปอยู่กับ พระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม  พระมหาปิ่น  ปัญญาพโล  และพระอาจารย์เทศก์  เทสรังสี   และได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโมไปหลายแห่ง  เพราะว่าระยะกาลนั้น พระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม  ได้รับมอบหมายจากอาณาจักรให้ไปเทศนาอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน   เป็นการอบรมอย่างที่เรียกว่า สู้กับความเชื่อเรื่องผี เรื่องไสยศาสตร์    เป็นพรรษาที่ พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร  อยู่ห่างจาก พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  แต่ก็เป็นระยะกาลที่ได้อยู่กับตนเองอย่างใกล้ชิด  ได้ปฏิบัติปรารภความเพียรอย่างเข้มแข็ง  

พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร ได้บันทึกเอาไว้อย่างน่าศึกษา....โปรดอ่าน

“ในพรรษานั้น ได้พากเพียรทำสมาธิอย่างเข้มแข็ง  บางคราวก็นึกเสียใจอยู่บ้าง  เพราะพระอาจารย์ผู้ใหญ่หนีไปหมด  จิตบางขณะก็นึกอยากจะลาเพศ  แต่หากมักมีเหตุบังเอิญให้สำนึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ   วันหนึ่ง เวลากลางวันประมาณ ๑๗.๐๐ น.  ขณะกำลังเดินจงกรม  จิตกำลังแกว่งไปในทางโลก  พอดีมีหญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาข้าง ๆ วัด  เธอได้ร้องรำเป็นเพลงขึ้น โดยภาษาว่า “กูได้เล็งเห็นแล้ว  หัวใจนกขี้ถี่ (นกถืดทือ)  หากมันทัก ร้องถืดทือ  ใจเลี้ยวใส่ปู”  (นกชนิดนี้ชอบกินปู)

ก็ได้จำเพลงบทนี้มาบริกรรมเป็นนิจว่า เขาว่าใส่เรา คือเราเป็นพระ  กำลังก่อสร้างความดีอยู่  แต่ใจมันแส่ไปในอารมณ์ของโลก  ก็นึกละอายตนเองเรื่อย ๆ มาว่าเราจะทำใจของเราให้อยู่กับภาวะของเรา  จึงจะไม่สมกับที่ผู้หญิงคนนั้นพูดเช่นนั้น”

เรื่องเหล่านี้ได้กลายมาเป็นธรรม   ในห้วงที่พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร  ห่างไกลจากพระอาจารย์ใหญ่ (พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต)  และพระปัญญาพิศาล (หนู)  ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์  เส้นทางของพระอาจารย์ลี  ธัมมธโร   จึงคดเคี้ยววกวน  กระทั่งแม้เดินทางไปยังวัดสระปทุม  อันพระปัญญาพิศาล (หนู)  เป็นเจ้าอาวาสอยู่  ก็ยังได้ประสบกับการต่อสู้ทางความคิดอย่างต่อเนื่องเอาเป็นเอาตายว่าจะสึกหาลาพรตหรือไม่

ระยะกาลนั้น  พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  เดินทางขึ้นเชียงใหม่   ตามคำอาราธนาของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท  จันทร์)  กระนั้นก็ยังห่วงอาทร พระอาจารย์ลี  ธัมมธโร





ข้อมูล : คอลัมน์    “ดังได้สดับมา”  : วิเวกา  นาคร,  มติชนสุดสัปดาห์  
-ตอนที่ ๑ : ฉบับที่ ๑๖๕๗ (๑๘ – ๒๔ พ.ค. ๕๕)
-ตอนที่ ๒ : ฉบับที่ ๑๖๕๘  (๒๕ – ๓๑ พ.ค. ๕๕)
-ตอนที่ ๓ : ฉบับที่ ๑๖๕๙ (๑ - ๗ มิ.ย. ๕๕)
       



หัวข้อ: Re: พระอาจารย์ลี ธัมมธโร ก่อนพบ พระอาจารย์มั่น
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 พฤษภาคม 2555 19:51:25
ประวัติโดยย่อ
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี  ธมฺมธโร)
        วัดอโศการาม  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรปราการ


พระอาจารย์ลี  ธุมฺมธโร (พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์)  นามเดิม ชาลี  ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ  เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙  ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ณ บ้านหนองสองห้อง ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี  โยมบิดาชื่อ ปาว  นารีวงศ์  โยมมารดาชื่อพ่วย  นารีวงศ์   มีพี่น้องร่วมบิดามารดา รวม ๙ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๔ คน  โยมบิดามารดามีอาชีพทำนา

เมื่อท่านอายุได้ ๑๑ ปี  โยมมารดาได้ถึงแก่กรรม  พออายุ ๑๒ ปี ท่านได้เข้าเรียนหนังสือ แต่ผลการเรียนไม่ดี  เรียนไม่จบชั้นประถม ๔  มีความรู้แค่พออ่านออกเขียนได้เท่านั้น เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี จึงได้ลาออกจากโรงเรียนมาช่วยโยมบิดาทำนา   ในระหว่างนี้เกิดมีการขัดใจกับโยมบิดาบ่อยๆ   ด้วยโยมบิดาต้องการให้ท่านทำการค้าขายของที่ไม่ถูกอัธยาศัย  เช่น ให้ไปหาซื้อหมูมาขาย ซื้อวัวมาขาย เป็นต้น  ครั้นเมื่อท่านอยากจะไปทำบุญทำทานก็คอยขัด  บางทีต้องการไปทำบุญก็หายอมให้ไปไม่ กลับบอกให้ไปทำไร่ทำนาเสีย  บางวันน้อยใจนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวกลางทุ่งนา นึกแต่ในใจว่าเราจักไม่อยู่ในหมู่บ้านนี้ แต่ก็ต้องอดทนอยู่ไปก่อน  ต่อมาโยมบิดาได้ภรรยาใหม่คนหนึ่งชื่อ แม่ทิพย์ ตอนนี้ค่อยรู้สึกสบายใจขึ้น

ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๖๘  ขณะอายุครบ ๒๐ ปี  โยมมารดาเลี้ยงได้ถึงแก่กรรม  ขณะนั้นท่านได้ไปอยู่กับญาติที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม  พอปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้กลับขึ้นไปบ้าน โยมบิดาก็แนะนำให้บวช    ท่านจึงได้ทำการบวชพร้อมเพื่อน รวม ๙ คน  เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันพุธที่ ๖ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๖๙    ในระหว่างพรรษาที่ ๒   ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “เวลานี้ข้าพเจ้ายังมุ่งดี  หวังดีต่อพระศาสนาอยู่  ในกาลต่อไปนี้ขอจงได้พบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบภายใน ๓ เดือน”    

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ได้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดบ้านโนนรังใหญ่ ได้พบพระรูปหนึ่งกำลังเทศน์บนธรรมาสน์ รู้สึกแปลกประหลาดในจิตขึ้นโดยโวหารของธรรมะน่าเลื่อมใส  จึงได้ไต่ถามญาติโยมว่าท่านองค์นั้นเป็นใคร มาจากไหน   ได้รับตอบว่า “เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ชื่อ อาจารย์บท” พอเสร็จงานมหาชาติจึงได้ตามไปดูเห็นปฏิปทาของท่านเป็นที่น่าพอใจจึงถามถึงอาจารย์ของท่าน   ท่านตอบว่า “พระอาจารย์มั่น  พระอาจารย์เสาร์  เวลานี้พระอาจารย์มั่นอยู่ที่วัดบูรพา  จังหวัดอุบลราชธานี”  จากนั้นท่านจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์เพื่อเดินรุกขมูลไปพบพระอาจารย์มั่น  ท่านสอนให้ภาวนา “พุทโธ”  เนื่องจากท่านกำลังอาพาธ  ท่านจึงได้แนะนำให้ไปศึกษากับพระอาจารย์สิงห์  ขนฺตยาคโม  และพระอาจารย์มหาปิ่น  ปญฺญาพโล  ที่วัดบ้านท่าวังหิน ณ ที่นี้ท่านได้พบเพื่อนสหธรรมิก ๒ รูป คือพระอาจารย์กงมา  และพระอาจารย์สาม  ต่อมาท่านติดตามพระอาจารย์มั่นไปในที่ต่างๆ เป็นเวลา ๔ เดือน ภายหลังพระอาจารย์มั่นได้ให้ท่านญัตติใหม่เป็นธรรมยุต

ท่านจึงญัตติเป็นพระธรรมยุติกนิกาย  เมื่อวันที่ ๒๗  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๗๐  ณ วัดบูรพา  จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระปัญญาพิศาลเถร (หนู)  เป็นพระอุปัชฌาย์  ท่านได้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัด  ปีแรกที่ได้สวดญัตติแล้ว ได้อยู่จำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ๖ พรรษา มาจำพรรษาวัดสระปทุมพระนคร ๓ พรรษา ไปจำพรรษาอยู่ที่เชียงใหม่ ๒ พรรษา จำพรรษาที่จังหวัดนครราชสีมา ๒ พรรษา จังหวัดปราจีนบุรี ๑ พรรษา มาสร้างสำนักที่จันทรบุรี จำพรรษาอยู่ ๑๔ พรรษา ต่อจากประเทศอินเดียผ่านประเทศพม่า ไปจำพรรษาที่วัดควนมีด จังหวัดสงขลา ๑ พรรษา จากนั้นได้จำพรรษาที่วัดบรมนิวาส ๓ พรรษา  ต่อเมื่อสมเด็จพระมหาวีรวงส์ (อ้วน) มรณภาพแล้วได้ออกไปจำพรรษาอยู่วัดอโศการาม ๔  พรรษา  

ในพรรษา ๔  นี้ตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๐๒  ท่านเริ่มอาพาธ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า  เมื่ออาการทุเลาลงแล้วได้กลับวัดอโศการาม และในวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔  ท่านได้ถึงแก่มรณภาพในกุฏิของท่านโดยสงบและไม่มีใครรู้เห็น  สิริรวมอายุได้ ๕๕ ปี ๓ เดือน ๖ วัน


.


หัวข้อ: Re: พระอาจารย์ลี ธัมมธโร ก่อนพบ พระอาจารย์มั่น
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 พฤษภาคม 2555 20:18:23
(http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRFsnyvl97lnjeQjwNB-L41T6mHv7wks7c3PhV7E4s4rCN_mZvs)
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)  
ภาพจาก : board.palungjit.com

เกี่ยวกับเรื่องการมรณภาพของท่านนั้น  ท่านได้บอกกกล่าวกับพระสงฆ์และศิษย์ผู้ใกล้ชิดให้ได้รับรู้ล่วงหน้าแล้วว่าท่านจะสิ้นอายุขัยเมื่ออายุได้ ๕๕ ปี  และเมื่อท่านมีอายุได้ ๕๕ ปี ท่านก็ละสังขารตามที่ได้เคยบอกกล่าวไว้    

หลังจากท่านมรณภาพ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช “จวน อุฏฐายี”  มีพระบัญชาให้เก็บศพท่านไว้ยังไม่ถวายเพลิง  เอาอย่างพระมหากัสสปะเถระ    ที่ในวันหนึ่งในอนาคตกาลจะมีพระศรีอริยเมตไตรย  มาเผาศพพระมหากัสสปะอย่างสมศักดิ์ศรี

นัยของท่านพ่อลีก็ขอให้เอาเยี่ยงอย่างนี้ เป็นอุทาหรณ์ว่า  “ผู้มีบุญกรรมที่เกี่ยวข้องกับท่านในวันข้างหน้า จะได้มาถวายเพลิงสรีระร่างของท่านอย่างสมศักดิ์ศรี” เช่นกัน

และท่านมีบัญชาอีกว่า การบำเพ็ญกุศลและสวดมนต์อุทิศถวายท่านพ่อลีทุกคืน  บรรดาบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นคณะศิษย์ของท่านพ่อลีได้ปฏิบัติตามมาโดยตลอด    

ปัจจุบันนี้ สังขารของท่านพ่อลียังคงเก็บรักษาไว้ที่วัดอโศการาม   หากสาธุชนท่านใดต้องการไปสักการะเคารพ  ก็ขอเชิญที่วัดอโศการามได้ทุกวัน


.


หัวข้อ: Re: พระอาจารย์ลี ธัมมธโร ก่อนพบ พระอาจารย์มั่น
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 มิถุนายน 2555 15:51:47


นำเสนอตอนที่ ๓ :  เข้าสู่วงศ์ธรรมยุต