[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 16 กรกฎาคม 2555 14:20:02



หัวข้อ: ข้อแตกต่างของ เจดีย์ ปรางค์ สถูป ถะ
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 16 กรกฎาคม 2555 14:20:02
ข้อแตกต่างของ เจดีย์ ปรางค์ สถูป ถะ

เจดีย์

(http://4.bp.blogspot.com/-CQE2QVdmQ0w/Twpfc5R2cdI/AAAAAAAAASg/IanOEG0lBfs/s1600/get_auc3_img.jpg)

เจดีย์ เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีว่า เจติย ภาษาสันสกฤตใช้ว่า ไจตฺย แปลว่า กองดินที่พูนขึ้นเดิม ทำขึ้นเพื่อกลบเศษเถ้าถ่านที่เผาศพ และปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่สังเกต เรียกว่า รุกขเจดีย์ ต่อมาได้สร้างสิ่งที่เป็นเครื่องหมายแทนกองดินที่พูนไว้ เรียกว่า สถูปเจดีย์ ในชั้นแรกๆสถูปเจดีย์ทำเป็นรูปคล้ายโอคว่ำ มีบัลลังก์อยู่ข้างบน เนื่องจากรุกขเจดีย์ และสถูปเจดีย์เป็นสถานที่ที่ผู้คนให้ความเคารพ คำว่า เจดีย์ จึงกลายความหมายไปหมายถึง ที่เคารพ ดังในคำว่า เจดียสถาน ที่หมายถึง สถานที่เคารพ ในทางศาสนาใช้คำว่า เจดีย์ ในความหมายว่า สิ่งที่ควรเคารพบูชาอันเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า สิ่งนั้นๆรวมทั้งที่เป็นวัตถุสิ่งของ และมิใช่สิ่งของ จัดเป็นเจดีย์ ๔ อย่าง คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุเทสิกเจดีย์ ธาตุเจดีย์ คือ สิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระธาตุ มักทำเป็นรูปลอมฟางมียอดแหลม บริโภคเจดีย์ คือ ที่บรรจุของใช้ของพระพุทธเจ้า รวมทั้งสังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง ธรรมเจดีย์ คือ พระไตรปิฎก และที่บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อุเทสิกเจดีย์ เป็นคำเรียกเจดีย์ที่บรรจุพระพุทธรูป และรอยพระพุทธบาทซึ่งเป็นที่เคารพบูชาด้วย

ปัจจุบัน คำว่า เจดีย์ หรือ พระเจดีย์ มักใช้เรียกสิ่งก่อสร้างที่มีรูปคล้ายลอมฟาง มียอดแหลม บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือไว้ภายใน เช่น วัดที่มีชื่อว่าวัดมหาธาตุ จะมีพระเจดีย์ใหญ่ที่บรรจุพระมหาธาตุของพระพุทธเจ้า เจดีย์ทีเรียงรายอยู่ข้างกำแพงนั้นบรรจุอัฐิของผู้ที่ได้เคยอุปถัมภ์วัดนี้มาแต่อดีต พระเจดีย์ที่บรรจุพระมหาธาตุของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระมหาธาตุเจดีย์ คำว่า เจดีย์ จึงกลายเป็นคำเรียกรูปแบบสถาปัตยกรรม ที่ช่างไทยพัฒนาจากเจดีย์เดิมของอินเดีย ซึ่งมีรูปคล้ายโอคว่ำ มาเป็นรูปลอมฟางยอดแหลมตามความนิยมของคนไทย เจดีย์มีฐาน ซึ่งทำเป็นชั้นๆหลายชั้น ชั้นล่างสุดเรียกว่า ฐานเขียง และมีฐานซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น ต่อจากฐานเป็นส่วนที่มีรูปคล้ายตัวระฆัง เรียกว่า องค์ระฆัง ต่อขึ้นไปเป็นคอ ระฆัง ถัดจากคอระฆัง เป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่า บัลลังก์ ถัดบัลลังก์ขึ้นไปเป็นเสาเตี้ยๆ เรียกว่า ระย้า จัดเป็นระย้าของฉัตรที่อยู่ข้างบน ต่อไปเป็นชั้นกลมหลายชั้นที่เล็กลงเรื่อยๆเรียงซ้อนกัน เรียกว่าปล้องไฉน ถัดขึ้นไปเป็นรูปคล้ายปลีกล้วย เรียกว่า ปลีกล้วย ปลีกล้วยมี ๒ ปลี คั่นด้วย ลูกแก้ว ปลายสุดเป็นตุ่มกลมๆ เรียกว่า หยาดน้ำค้าง โครงสร้างของเจดีย์ที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ตามแบบดังกล่าวนี้เป็นแบบเจดีย์ที่ช่างไทยแต่โบราณพัฒนาขึ้น และสร้างกันเรื่อยมา

ปัจจุบัน สิ่งก่อสร้างที่บรรจุสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า หากมิได้สร้างเป็นรูปคล้ายลอมฟางที่มียอดแหลม และประกอบด้วยโครงสร้างดังกล่าวข้างต้นนี้ ไม่เรียกว่า เจดีย์ แม้สถานที่ต่างๆที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าก็ไม่เรียกว่า เจดีย์ เช่น สถานที่ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่แสดงปฐมเทศนา และที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เรียกว่า สังเวชนียสถาน ที่เก็บพระธรรมมักเรียกว่า หอพระไตรปิฎก หรือ หอไตร เป็นต้น



สถูป

(http://www.mysrilankaholidays.com/gallery/polonnaruwa-7.jpg)

สถูป เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า สฺตูป ภาษาบาลีใช้ว่า ถูป แปลว่า เนินดิน กองดินที่บรรจุอัฐิธาตุของผู้ที่สิ้นชีวิตแล้ว ภาษาไทยใช้ว่า สถูป ก็มีบ้าง หรือใช้เป็นคำซ้อนว่า สถูปเจดีย์ เป็นคำเรียกสิ่งก่อสร้างที่มีรูปคล้ายลอมฟาง มียอดแหลม บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือไว้ภายใน สิ่งที่ปัจจุบันเรียกกันว่า เจดีย์ นั้น ตามรูปศัพท์ คือ สถูป แต่สถูปสร้างขึ้นเพื่อบรรจุสิ่งที่ควรเคารพ สถูปจึงเป็นที่เคารพด้วย สถูปจึงเป็น สถูปเจดีย์ทุกองค์ ที่ในภาษาไทยเรียกว่า เจดีย์ จึงถือว่า เป็นการตัดคำเรียก



ปรางค์

(http://www.laksanathai.com/book2/LargeImages/326.jpg)

ปรางค์ หรือ พระปรางค์ เป็นคำเรียกสิ่งก่อสร้างที่มีรูปสูงคล้ายฝักข้าวโพดที่วางตั้งด้านปลายแหลมขึ้น ยอดมีเหล็กแหลม ซึ่งทำเป็นรูปคล้ายหอก มีกิ่งเป็นรูปดาบแตกออกไปเป็น ๔ทิศ ซึ่งเรียกกันว่า นพศูล แง่งขิง หรือฝักเพกา

สิ่งก่อสร้างที่มีทรงแหลมอย่างสถูปเจดีย์ หากยอดทำเป็นรูปคล้ายฝักข้าวโพด ก็รวมเรียกว่า ปรางค์ เช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม หรือที่ในภาษาปากทั่วไปเรียกว่า พระปรางค์วัดแจ้ง ส่วนล่างก่อเป็นรูปลอมฟางแหลมเรียวขึ้นไป แล้วต่อยอดเป็นรูปปรางค์ ปรางค์จึงใช้เรียกสิ่งก่อสร้างที่มีฐานเป็นรูปทรงแหลมแบบสถูปเจดีย์ได้ด้วย ปรางค์ในความหมายนี้นำไปใช้เรียกยอดของปราสาทที่ทำรูปแหลมขึ้นไปคล้ายสถูปเจดีย์ด้วย เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งที่มียอดปรางค์ ปรางค์ที่ประดับอยู่บนหลังคาปราสาท ทำให้เกิดคำว่า ปรางค์ปรา ซึ่งหมายถึง ปราสาทที่มียอดปรางค์ในคำประพันธ์ ปัจจุบัน ปรางค์ กับ เจดีย์ ใช้เป็นคำเรียกสิ่งก่อสร้างที่ต่างกันด้วยรูป แต่ทั้ง ปรางค์ และ เจดีย์ ล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาที่ใช้เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์เช่นเดียวกัน



ถะ

(http://www.bloggang.com/data/moonfleet/picture/1294239075.jpg)

ถะ เป็นคำเรียกสถูปเจดีย์แบบจีน มีลักษณะคล้ายอาคารแปดเหลี่ยม ซึ่งหมายถึง ๘ ทิศ ทำซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น ชั้นบนสุดมีลักษณะคล้ายหลังคาแหลม ตรงฐานล่างอาจทำซุ้มไว้พระทั้งแปดทิศ ในเมืองไทยมักใช้ถะประดับตามโบสถ์วิหาร เช่น ถะที่โบสถ์วัดสุทัศน์ ถะที่วัดอรุณราชวราราม



บทความ-สารคดี โดย กาญจนา นาคสกุล นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2638 ปีที่ 50 ประจำวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2548