[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2555 18:43:40



หัวข้อ: "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" สหชาติ ๑ ใน ๗ สิ่ง ของพระพุทธองค์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2555 18:43:40
.
(http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSBvQiSUFHezuEyvSeyJshM3Vz2Pe8WdKl0vEa8JQyaPdQENAZCvg)
ต้นพระศรีมหาโพธิ์    

ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ไม้มงคลในพระพุทธศาสนา

ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ถือเป็นต้นไม้ประจำพระพุทธองค์  เนื่องจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แจ้งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพื่อประโยชน์แก่เวไนยสัตว์  ณ  ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ในวันเพ็ญ  (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือนวิสาขมาส  ก่อนพุทธศักราช  ๔๕  ปี  ในตอนเช้าประทับภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ  หลังจากทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา  ทรงกระทำภัตตกิจแล้วทรงอธิษฐานลอยถาดในแม่น้ำเนรัญชรา  ในช่วงบ่ายทรงสรงสนานพระวรกายแล้วเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชรามายังฝั่งตะวันตก  ทรงรับหญ้าคา  ๘  กำ  จากโสตถิยะพราหมณ์  แล้วทรงอธิษฐานปูลาดเป็นอาสนะประทับนั่ง  ณ  ภายใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ  ซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่มีใบดกหนา  แผ่กิ่งก้านสาขากระจายออกไปทั้ง  ๔  ทิศ  เป็นวิชัยบัลลังก์อันรุ่งโรจน์กว่าหมู่ไม้ทั้งหลายในบริเวณนั้น   เมื่อทรงประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ไปทางต้นอัสสัตถะนั้น  ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก  ทรงเริ่มตั้งความเพียรด้วยการอธิษฐานพระทัยอย่างมั่นคงว่า

“กามํ  ตโจ  นหารู  จ  อฏฺฐิ  จ  อวสิสฺสตุ
อวสฺสุสฺสตุ  เม  สรีเร  สมฺพนฺตํ  มํสโลหิตํ
(สพฺพํปิ  หิทํ  สรีเร  มํสโลหิตํ  อุปสุสฺสตุ)

แม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป
เหลือเพียงหนัง  เอ็น  และกระดูก  ก็ตามที
เรายังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด
จะไม่ลุกจากที่นี่ตราบนั้น”

(องฺ.ทุก.๒๐/อุปญฺญาตสูตร,ชา.อ./อวิทูเรนิทาน)

หลังจากนั้นทรงรำลึกถึงพระบารมีทั้ง  ๑๐  หรือทศบารมี  ที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้ว  ในอดีตจนชนะมารทั้งปวงภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า  และทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างต่อเนื่องจนทรงบรรลุในเวลาใกล้รุ่งอรุณแห่งราตรีวันเพ็ญวิสาขะนั้น  พระองค์ก็ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  ภายใต้ร่มไม้อัสสัตถพฤกษ์โพธิ์  หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์  นั้น

พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าได้รับทราบว่า  ในตำราพระพุทธประวัติทั้งหลายได้มีการกล่าวตรงกันว่า  ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น  เป็นสหชาติ ๑ ใน ๗  สิ่งของพระพุทธองค์  คือ  ๑.พระเทวีมารดา  พระราหุล  ๒.พระอานนท์  พระอนุชา  ๓.นายฉันนะ  ๔.กาฬุทายีอำมาตย์  ๕.พระยาม้ากัณฐกะ  ๖.ต้นพระศรีมหาโพธิ์และ  ๗.ขุมทรัพย์ทั้ง  ๔  บรรดา  ๗  สิ่งนี้  เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับพระพุทธองค์ประสูติ
ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ณ  พุทธคยา  ประเทศอินเดีย  นี้  ได้มีการสืบทอดกันมาจากต้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับตรัสรู้  นับถึงต้นปัจจุบันมีช่วงอายุที่สืบทอดกันมา  ๔  ต้น  ดังนี้


     ต้นที่  ๑  เริ่มในสมัยพุทธกาล  จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  เป็นระยะเวลา  ๒๕๒  ปี
     ต้นที่  ๒  เริ่มสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  สิ้นสุดลงสมัยของกษัตริย์ฮินดู  รัฐเบงกอล  พระนามว่า  “ศาศางกา”  มีอายุราว ๘๑๗-๘๙๑  ปี
     ต้นที่  ๓  เริ่มรัชสมัยพระเจ้าปูรณวรมากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เมารยะ  ทรงปลูกขึ้นแทนต้นที่ ๒  มาสิ้นสุดในสมัยอินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  มีอายุราว  ๑,๒๕๘ – ๑,๒๗๘  ปี
     ต้นที่  ๔  นายพลเซอร์  คันนิ่งแฮม  นักโบราณคดีชาวอังกฤษ  ปลูกขึ้นแทนต้นที่  ๓  เมื่อปีพุทธศักราช  ๒๔๒๓  ถึงปัจจุบัน  (พ.ศ.๒๕๕๔)  อายุได้  ๑๓๑  ปี


ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ถือเป็นสิ่งสักการบูชารำลึกถึงพระพุทธองค์  ประเภท  บริโภคเจดีย์   ซึ่งมีการกล่าวไว้ว่า  ในสมัยหนึ่ง  พระอานนท์ได้นำความขึ้นกราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า  ควรจะทำการสักการบูชาสิ่งใด  เพื่อเป็นเครื่องน้อมรำลึกถึงพระพุทธองค์ในขณะที่พระพุทธองค์มิได้ประทับอยู่และทรงประทาน  พระดำรัสแนะนำพระอานนท์ถึงเจดีย์  ๓  ชนิด  คือ

     ๑. สารีริกธาตุ  หรือธาตุเจดีย์
     ๒. บริโภคเจดีย์
     ๓. อุทเทสิกเจดีย์
 
พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่าสารีริกธาตุ  จะมีได้ก็ต่อเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้วเท่านั้น  บริโภคเจดีย์  เครื่องบริขารใช้สอยก็ทรงยังต้องใช้อยู่เป็นประจำ  ส่วนไม้พระศรีมหาโพธิ์ที่ตถาคตตรัสรู้นั้น  เป็นเจดีย์ได้ทุกเมื่อ

เมื่อพระอานนท์ได้สดับดังนั้น  จึงกราบทูลขอพระพุทธานุญาตว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ขอนำเอาเมล็ดพันธุ์ไม้ศรีมหาโพธิ์นั้นมาปลูกไว้ภายในบริเวณวัดพระเชตวันนี้  เพื่อเป็นพุทธบูชานียสถานแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  จักได้กระทำการสักการบูชารำลึกถึงพระพุทธองค์ในคราวที่พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปยังสถานที่อื่นพระพุทธเจ้าข้า” ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอนุญาต

เพราะเหตุที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์มีความหมาย  และมีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์  และเป็นอนุสาวรีย์ของพระพุทธองค์  เป็นเจดีย์ที่ควรแก่การเคารพสักการะเป็นสัญลักษณ์ประจำพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งโบราณกาล


ที่มา : วารสารสายตรงศาสนา ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑ "การปลูกพันธุ์ต้นกล้าพระศรีมหาโพธิ์" หน้า ๔๐-๔๒ จัดพิมพ์เผยแพร่โดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม