[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:10:59



หัวข้อ: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:10:59
(http://album.taklong.com/addons/albums/images/825824423.jpg)

http://www.fungdham.com/download/song/allhits/28.mp3



ถ่ายภาพประกอบโดยข้าพเจ้า(บางครั้ง)ชื่อภาพ ทางขึ้นสวรรค์



โลกเย็น......เพราะเมตตายิ่ง

โลกร้อน.....เพราะเมตตาหย่อน

นี่เป็นความจริงที่ควรยอมรับและควรแก้ไข

อันการแก้ไขนั้นก็ต้องไม่ไปแก้ที่ผู้อื่น

ต้องแก้ที่ตัวเองแก้ที่ตัวเองให้ยิ่งด้วยเมตตา

หรือให้มีเมตตายิ่งขึ้นนั่นเอง

พุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา แม้ไม่สนใจที่จะอบรมเมตตาให้อย่างยิ่ง ก็เหมือนไม่สนใจในความสงบเย็นเป็นสุขของ

ตนเองไม่สนใจที่จะปฏิบัติตนเป็น

ผู้มีปัญญาทั้ง ๆ ที่ย่อมรู้ว่าผู้มีปัญญานั้น เป็นที่ยกย่องสรรเสริญทุกที่ทุกกาลเวลา


พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



หัวข้อ: Re: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:14:42
(http://album.taklong.com/addons/albums/images/825824423.jpg)



..............................ความหมายของเมตตา.........................



มักมีความเข้าใจสับสนปะปนกันระหว่างความรักที่เป็น เมตตา กับความรักที่เป็นอกุศล ความรักที่เจืออกุศลเรียกว่า สิเน่หา หมายถึงความรัก เยื่อใยเฉพาะบุคคล ความพอใจโปรดปรานส่วนตัว หรือความรักที่เจือด้วยความเห็นแก่ตัว ทำให้จิตใจคับแคบ ติดข้อง มัวหมอง เมตตาที่เกิดจากความรัก แสดงว่ายังมีกิเลสอยู่ทำให้เกิดทุกข์ วิตกกังวล เมื่อผู้ที่ถูกรักนั้นเดือดร้อน พระธรรมปิฏก ป.อ. ปยุตฺโต เขียนไว้ในหนังสือพุทธธรรมว่า การตรวจสอบความรักของตนต่อบุคคลผู้อื่นว่าเป็นเมตตาที่แท้จริง หรือมีเมตตาอยู่บ้างแต่เจือด้วยตัณหา โดยการถามตนเองว่า ถ้าเราไม่อาจหาสุขเวทนาจากตัวเขาได้ ถ้าชีวิตของเขาไม่เป็นเครื่องค้ำจุนความมั่นคงถาวรแห่งตัวตนของเรา เราจะยังคงรักเขาหรือไม่ ? ยังคงเห็นชีวิตเขามีคุณค่าต่อการถนุถนอมหรือไม่ ?
เมตตา คือความปรารถนาดีโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ มีไมตรีจิตอันบริสุทธิ์ ปราศจากความผูกพัน ยึดติด ลุ่มหลง ในผู้ที่ตนแผ่เมตตาอยู่ ถ้ายังหวังผลตอบแทน หรือผูกพัน ยึดติด ลุ่มหลง ก็ไม่นับว่าเป็นเมตตาที่แท้จริง เช่น ความรักระหว่างสามีภรรยาที่ปรารถนาให้คู่ชีวิตเป็นสุข เรียกว่าความรักด้วยตัณหา ตัณหาเปมะไม่ใช่เมตตาธรรม
แม้ความรักของ คนอื่นๆ เช่น บิดามารดาที่มีความผูกพันต่อบุตรธิดา ญาติพี่น้องที่มีความผูกพันกัน นับว่าเป็นเมตตาในบางขณะในเวลาที่ไม่มีความผูกพัน แต่ในบางขณะก็เป็นความผูกพันอันไม่ใช่เมตตาธรรม ความรักระหว่างญาติพี่น้อง มักเป็นความผูกพันที่เกิดขึ้นระหว่างบิดามารดาที่มีต่อบุตรธิดา หรือญาติสนิทที่มีต่อกันและกันเรียกว่าความผูกพันในครอบครัว เคหัสสิตเปมะ ไม่ใช่เมตตาธรรมเช่นกัน
แท้ที่จริง ความรักของบิดามารดา ญาติสนิทมิตรสหาย มักเป็นความผูกพันที่ยึดติดบุคคลว่า คนนี้เป็นบุตรธิดาหรือเป็นญาติพี่น้องของเรา ความผูกพันเช่นนี้คล้ายคลึงกับเมตตา แต่ก่อให้เกิดความทุกข์ใจ ด้วยเหตุดังกล่าวความปรารถนาดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ปราศจากความผูกพัน จึงเป็นเมตตาที่แท้จริง
พระธรรมปิฏก ป. อ. ปยุตฺโต อรรถาธิบายถึงเมตตา ในคำแปลสามัญหมายถึง ความรัก ความมีไมตรี ความปรารถนาดี ความอยากให้ผู้อื่นมีความสุขและประสบสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า เมตตาคือความรักโดยธรรมะ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหนัง เนื้อหนังไม่ถูกต้องกันเลยก็ได้ก็สามารถมีความรักถึงที่สุดได้ ความรักชนิดนี้เรียกว่าเมตตาซึ่งเป็นเรื่องของจิตล้วนๆเมตตาเป็นที่ตั้งแห่ง ความผาสุก และสันติภาพ


หัวข้อ: Re: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:17:22
(http://album.taklong.com/addons/albums/images/825824423.jpg)




.................................ลักษณะของเมตตา........................



พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงลักษณะหน้าที่อาการปรากฏ และเหตุใกล้เคียงของเมตตาไว้ดังนี้......................

๑. ลักษณะของเมตตา คือ ปรารถนาดีต่อบุคคลอื่น(หิตาการปวตฺติลกฺขณา)

๒. หน้าที่ของเมตตา คือ ก่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น(หิตูปสงฺหารรสา)

๓. อาการปรากฏของเมตตา คือ กำจัดความอาฆาตพยาบาท(อาฆาตวินยปจฺจุปฏิฐานา)

๔. เหตุใกล้เคียงของเมตตา คือ ความรักอันบริสุทธิ์ที่มีต่อบุคคลอื่น(มนาปภาวปทฏิฐานา)

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแสดงว่า นักปฏิบัติควรแผ่เมตตาแก่ตนเองก่อน แล้วจึงแผ่เมตตาแก่ผู้อื่นต่อมา เพื่อเป็นสักขีพยานให้เกิดเมตตาในตัวเราก่อนว่า
เราปรารถนาสุข เกลียดทุกข์ คนอื่น ๆ ก็เช่นกัน ทุกคนก็ปรารถนาสุข เกลียดทุกข์ โดยปรกติแล้ว ผู้ประสงค์จะให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่ผู้อื่น จำต้องมีสิ่งของนั้นเสียก่อน จึงจะให้แก่ผู้อื่นได้ ถ้าไม่มีสิ่งของนั้นก็จะให้ไม่ได้ ความรู้สึกเช่นนี้ จะทำให้น้อมจิตในการแผ่เมตตาแก่ผู้อื่น จึงควรแผ่เมตตาแก่ตัวเองสักระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงแผ่เมตตาแก่ผู้อื่นในภายหลัง


หัวข้อ: Re: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:19:51
(http://album.taklong.com/addons/albums/images/825824423.jpg)



.................................ประเภทของเมตตา.......................


๑. เมตตาที่มีขอบเขต จำกัดบุคคล (โอทิสสกเมตตา)

๒. เมตตาที่ไม่มีขอบเขตไม่จำกัดบุคคล (อโนทิสสกเมตตา)

วิธีแผ่เมตตาที่มีขอบเขตจำกัดบุคคล เป็นการแผ่เมตตาแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในสถานที่หนึ่ง หรือเหล่าสัตว์ที่อยู่ในทิศแห่งใดแห่งหนึ่ง การแผ่เมตตาโดยจำกัดบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสถานที่ จึงเรียกว่าเมตตาที่มีขอบเขต โอทิสสกเมตตาในวิธีแผ่เมตตาชนิดนี้
นักปฏิบัติพึงประกอบด้วยความปรารถนาดี พยายามแผ่เมตตาแก่เขาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยใช้คำภาวนาที่กระชับว่าขอให้บุคคลนั้นจงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยเถิด
วิธีแผ่เมตตาที่ไม่จำกัดบุคคล เป็นการแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ในสากลโลก ตั้งแต่สัตว์เล็ก เช่น มด ปลวก จนกระทั่งสัตว์ใหญ่ และไม่จำกัดสถานที่ เช่น มนุษยโลก เทวโลก หรือพรหมโลก ในการเจริญเมตตากรรมฐานชนิดนี้ นักปฏิบัติได้แผ่เมตตาครอบคลุมสรรพสัตว์ โดยไม่เจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็จะได้รับผลจากการปฏิบัติต่างๆ เช่น ความสงบเยือกเย็นจิตใจอิ่มเอิบผ่องใสเป็นสุขในเมตตาชนิดนี้ นักปฏิบัติต้องแผ่เมตตาแก่ตนเอง เพื่อเป็นสักขีพยานก่อน  เหมือนเมตตาที่จำกัดบุคคล หลังจากนั้น จึงแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์


หัวข้อ: Re: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:25:46
(http://album.taklong.com/addons/albums/images/825824423.jpg)



............................ผู้ที่ไม่ควรแผ่เมตตาให้ก่อน.................


เมตตาที่มีขอบเขตจำกัดบุคคล เป็นการแผ่เมตตาโดยระบุบุคคลผู้ที่ไม่เป็นอารมณ์ของการเจริญเมตตาชนิดนี้ ในเบื้องต้นของการปฏิบัติ

มี ๖ จำพวก คือ...........................................

๑. มิตรสหายที่สนิทสนม

๒. คนที่ไม่สนิทสนมคุ้นเคยกับเรา

๓. ผู้ที่เราไม่พอใจ

๔. ศัตรูของเรา

๕. เพศตรงข้าม

๖. คนที่ล่วงลับไปแล้ว

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.........................................

ใช้ว่าคนที่เกลียดชัง ๑

เพื่อนที่รักมาก ๑

คนที่เป็นกลาง ๆ ๑

คนที่เป็นคู่เวรกัน ๑

คนต่างเพศกันและคนที่ตายแล้ว

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แสดงว่านักปฏิบัติไม่ควรแผ่เมตตาแก่มิตรสหายที่สนิทสนิมก่อน เพราะถ้าแผ่เมตตาแก่พวกเขา อาจระลึกถึงความทุกข์ที่เขาเคยประสบมาก่อน แล้วจะเกิดความทุกข์ใจ จะทำให้กรรมฐานถูกรบกวน วันนี้อาตมาได้พบนักปฏิบัติที่แผ่เมตตาแก่มารดา ปรารถนาให้ท่านมีความสุข
แต่เกิดวิตกกังวลว่าท่านมีความสุขอยู่หรือไม่ และเกิดโทมนัสน้อยใจต่อมา จนกระทั่งร้องไห้เสียใจ ด้วยเหตุดังกล่าว ท่านจึงห้ามแผ่เมตตาแก่มิตร
สหายที่สนิทสนมเป็นเบื้องแรก
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคยังแสดงว่าไม่ควรแผ่เมตตาแก่คนที่ไม่สนิทสนมคุ้นเคยกับเรา คือเป็นคนที่เราพอรู้จักเมื่อพบเห็นกันก็ทักทายปราศรัยกัน จากนั้นก็ลืมเลือนกันไปไม่เคยช่วยเหลือกันมาก่อน บุคคลดังกล่าวไม่พึงเป็นอารมณ์แห่งการเจริญกรรมฐานก่อน เพราะนักปฏิบัติต้องพยายามยกจิตของตนให้เกิดเมตตาแก่เขา จึงลำบากที่จะแผ่เมตตาไปได้ คนที่เราไม่พอใจ ก็ไม่ใช่อารมณ์ของเมตตา เพราะเมื่อคิดถึงเรื่องพวกเขา จะทำให้เกิดความไม่พอใจ โกรธเคือง ความปรารถนาดีก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากนั้น ศัตรูของเราก็ไม่ใช่อารมณ์กรรมฐาน เพราะจะทำให้เราเกิดความโกรธเคืองอาฆาตพยาบาท เมื่อระลึกถึงอากัปกิริยาหรือถ้อยคำที่เขาเคยล่วงเกินมาก่อน
นักปฏิบัติไม่พึงแผ่เมตตาแก่เพศตรงข้าม วิสภาคารมณ์ เพราะจะเกิดตัณหาความกำหนัดต่อมาเนื่องจากตัณหาเป็นคู่ปรับที่ใกล้เคียงกับ เมตตา ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ๒. ๑๐๖ แสดงสาธกเรื่องนี้ว่า ครั้งหนึ่ง ณประเทศศรีลังกา มีบุตรอำมาตย์คนหนึ่งถามพระภิกษุที่มาบิณฑบาตว่า ควรจะแผ่เมตตาแก่
บุคคลไหนก่อน ท่านตอบโดยสังเขปว่า ควรแผ่แก่คนที่เรารักที่สุดก่อน เมื่อท่านกลับไปแล้ว เขาพิจารณาว่าตนรักภรรยามากที่สุดจึง
แผ่เมตตาแก่เธอ แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติ เพราะเกิดความกำหนัดต่อมาจึงทราบว่าการแผ่เมตตาแก่เพศตรงข้าม ไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง



หัวข้อ: Re: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:31:38
(http://album.taklong.com/addons/albums/images/825824423.jpg)




................................ควรแผ่เมตตาตามลำดับ.......................


บุคคลที่เป็นอารมณ์ของการแผ่เมตตาที่มีขอบเขตจำกัดบุคคล ในเบื้องต้นของการปฏิบัติ มี ๕ จำพวก คือ........................

๑. คนที่เราเคารพนับถือ

๒. มิตรสหายที่สนิทสนม

๓. คนที่เราวางเฉยไม่รักหรือชัง

๔. คนที่เราไม่พอใจ

๕. ศัตรูของเรา

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แสดงว่า คนที่เราควรแผ่เมตตาก่อน ต้องเป็นคนที่เราเคารพนับถือประกอบด้วยคุณธรรมต่าง ๆ เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา การเอื้อเฟื้อ

เผื่อแผ่ หรือการให้อภัย นักปฏิบัติพึงแผ่เมตตาโดยเพ่งจิตของตนไปยังบุคคลนั้น



...............................บริกรรมได้ตามถนัด.........................



บางคนที่เข้าใจภาษาบาลี มักจะบริกรรมด้วยภาษาบาลีว่า สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ อัพยาปัชชา โหนตุ อะนีฆา โหนตุ สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ บางคนที่ไม่เข้าใจภาษาบาลีก็บริกรรมด้วยภาษาไทยว่า ขอให้สรรพสัตว์จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยเถิดอย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติอาจบริกรรมด้วยภาษาที่ตนถนัด อาตมาขอแนะนำวิธีแผ่เมตตาที่จำง่ายว่า ”ขอให้สรรพสัตว์จงมีสุขภาพดี มีความสุขกายสุขใจ ปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ และพ้นจากอุปสรรคอันตรายต่างๆ” ในสำนักวิปัสสนาที่อาตมาดูแลอยู่ เมื่อนักปฏิบัติสมาทานศีลแปดแล้ว จะแผ่เมตตาเช่นนี้ก่อนปฏิบัติธรรมเสมอนักปฏิบัติอาจบริกรรมในใจ หรือเปล่งเสียงออกมาเบา ๆ ไม่ดังนัก คำภาวนาเป็นเพียงเครื่องช่วยให้รู้ตัวว่ากำลังเจริญกรรมฐานอยู่ และก่อให้เกิดเมตตาจิตแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะบริกรรมในใจหรือเปล่งเสียงออกมาก็ตาม จะต้องมีความปรารถนาดีอย่างแท้จริง จึงจะนับว่าเจริญเมตตากรรมฐาน ถ้าไม่มีความปรารถนาดีดังกล่าว ก็ไม่นับเป็นการเจริญเมตตา


หัวข้อ: Re: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:36:10
(http://album.taklong.com/addons/albums/images/825824423.jpg)



.....................อานิสงส์ของเมตตา......................



พระบรมศาสดาตรัสอานิสงส์ของการเจริญเมตตากรรมฐาน ๑๑ ประการไว้ในอังคุตตรนิกาย

->อง. เอกาท สก. ๒๔.๑๕.๒๘๔-< ดังนี้

๑. หลับเป็นสุข (หลับสนิท ไม่กระสับกระส่าย)

๒. ตื่นเป็นสุข (สดชื่น แจ่มใส ในขณะตื่น)

๓. ไม่ฝันร้าย

๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

๕. เป็นที่รักของเหล่าอมนุษย์

๖. ทวยเทพพิทักษ์รักษา

๗. ภยันตรายต่าง ๆ เช่น ไฟ ยาพิษ หรือศาสตรา ไม่สามารถกล้ำกรายได้

๘. จิตเป็นสมาธิง่าย

๙. ใบหน้าผ่องใสมีสิริมงคล

๑๐>ไม่หลงลืมสติระลึกถึงกุศลกรรมได้ในเวลาเสียชีวิต

๑๑>จะเกิดในพรหมโลกถ้ายังไม่บรรลุอรหัตผล


หัวข้อ: Re: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:40:04
(http://album.taklong.com/addons/albums/images/825824423.jpg)




.................................ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแสดงสาธกว่า...........................



ครั้งหนึ่ง ณ.ประเทศศรีลังกา มีพระมหาเถระรูปหนึ่งนามว่าวิสาขเถระ เดินทางไปพำนักอยู่ที่ภูเขาจิตรบรรพต ท่านเป็นนักปฏิบัติที่หมั่น
เจริญวิปัสสนากรรมฐาน และเจริญเมตตากรรมฐานบ้างในบางโอกาส ท่านมักจะไม่อยู่ในสถานที่เดียวนานกว่าสี่เดือน หลังจากพำนักนานสี่เดือนแล้ว
จะย้ายจากสถานที่นั้นไปสถานที่อื่น ๆ เมื่อท่านได้พำนักอยู่ที่ภูเขาจิตรบรรพตครบสี่เดือนแล้ว ในวันสุดท้ายเกิดความคิดว่าวันนี้เป็นวันครบสี่เดือน
เราได้ตั้งกติกาว่าจะไม่อยู่นานเกินกว่านี้ พรุ่งนี้เราจะย้ายจากภูเขานี้ไปยังสถานที่อื่น
ในขณะนั้นท่านได้ยินเสียงร้องไห้ใกล้ต้นไม้ข้างทาง จึงถามว่าใครร้องไห้อยู่หรือ มีเสียงตอบว่า ดิฉันเป็นรุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่ ณ.ภูเขาแห่งนี้ ก่อนที่พระคุณเจ้าจะมาพำนักในที่นี้ เทวดาที่ประจำอยู่ในที่นี้ ไม่มีเมตตาธรรมต่อกันและกัน ปราศจากความสามัคคี มักทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เสมอ แต่เมื่อพระคุณเจ้ามาพำนักในที่นี้ ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาที่พระคุณเจ้าแผ่ไปแก่เทวดา ทำให้พวกเขามีเมตตาต่อกันและกัน มีความสามัคคีกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
เมื่อดิฉันทราบว่าพระคุณเจ้าจะเดินทางจาก ไปในวันพรุ่งนี้ก็คิดว่าในเวลาที่พระคุณเจ้าจากไป สถานที่นี้คงจะวุ่นวายทะเลาะกันเหมือนในกาลก่อนเป็นแน่ จึงเสียใจร้องไห้ เมื่อท่านได้ฟังคำพูดของเทวดาแล้ว ก็ทราบว่าการที่ตนพำนักอยู่ในที่นี้ เป็นประโยชน์ต่อเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนภูเขานี้ จึงได้สัญญาว่าจะอยู่ต่ออีกสี่เดือน และเมื่อพำนักต่อจนครบกำหนดแล้ว เทวดาก็ร้องไห้อ้อนวอนอีก ท่านจึงพำนักอยู่จนตลอดชีพของตน โดยปรินิพพานที่ภูเขานั้นนั่นเอง


หัวข้อ: Re: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:43:01
(http://album.taklong.com/addons/albums/images/825824423.jpg)


..........ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ยังแสดงสาธกที่เกิดในสมัยพุทธกาลว่า..........



เมื่อพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ มีสามเณรน้อยรูปหนึ่งนามว่าสังกิจจะ อายุเพียงเจ็ดขวบ ประสงค์จะเจริญสมณธรรมในป่าที่เงียบสงัด จึงไปพำนักอยู่ในป่าร่วมกับภิกษุอื่นๆ ในตอนนั้น มีโจรกลุ่มหนึ่งต้องการจะแสวงหาเหยื่อเพื่อบูชายัญ จึงจับตัวท่านไป พวกโจรจับท่านไว้ด้านหนึ่งแล้ว ได้ตระเตรียมพิธีบูชายัญ แม้ท่านจะมีอายุเพียงเจ็ดขวบก็เปี่ยมด้วยบารมีธรรม บรรลุอรหัตผลตั้งแต่เริ่มบวชในขณะปลงผมเสร็จเมื่อท่านถูกพวก
โจรจับไว้เช่นนี้ ก็เจริญเมตตากรรมฐานโดยเข้าเมตตาฌานที่ตนบรรลุ หลังจากพวกโจรตระเตรียมพิธีบูชายัญเสร็จสิ้นแล้ว จึงนำท่านออกมายังที่บวง
สรวง หัวหน้าโจรได้เงื้อดาบขึ้นแล้วฟันลงที่ก้านคออย่างแรงแต่
ดาบได้อ่อนพับ ลงทันทีเมื่อกระทบตัวท่าน หัวหน้าโจรคิดว่าดาบคงจะไม่แข็งเพียงพอ จึงเปลี่ยนดาบใหม่แล้วฟันลงอีกครั้ง แต่ดาบที่สองก็เหมือนกับดาบแรกอ่อนพับลงอีกเหมือนใบตาล เมื่อหัวหน้าโจรและสมุนเห็นปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์เช่นนี้ จึงวางดาบลงแล้วกราบขอขมา พวกเขาต้องการจะกลับตัวใหม่เป็นคนดี ประพฤติธรรมของสัตบุรุษ จึงอ้อนวอนให้ช่วยบวชให้ ท่านได้บวชให้แล้วพาไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ท่านเหล่านั้นพากเพียรปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา อานุภาพแห่งเมตตาของสังกัจจสามเณรที่ทำให้ศาสตรากล้ำกรายไม่ได้ เป็นสาธกในเรื่องนี้


หัวข้อ: Re: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 12 กรกฎาคม 2553 14:51:36
(http://album.taklong.com/addons/albums/images/825824423.jpg)



..........................อานิสงส์อื่น ๆ.......................


เมตตาที่ท่านสาธุชนหมั่นเจริญอยู่นั้น เปรียบเสมือนเกราะเพชรที่ป้องกันภยันตรายต่างๆ จากอมนุษย์ได้คนที่เจริญเมตตาอยู่เสมอ
จะแคล้วคลาดจากอุปสรรคอันตรายนั้นๆ เพราะมีเกราะเพชรคือเมตตาเป็นเครื่องป้องกันตัว ส่วนคนที่ไม่เจริญเมตตา มักจะได้รับอันตรายต่าง ๆ สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า
อมนุษย์ที่ ประสงค์จะทำร้ายผู้เจริญเมตตา จะประสบภัยพิบัติเองเหมือนคนที่ใช้มือจับหอกอันคมกริบ ย่อมได้รับอันตรายจากการจับหอกนั้นนั่นเอง
(สํ. นิ. ๑๖.๒๒๗.๒๕๑)
อมนุษย์ ย่อมไม่เบียดเบียนผู้เจริญเมตตาเหมือนโจรไม่กล้ำกรายบ้านที่มีบุรุษมาก มีสตรีน้อย ส่วนผู้ไม่เจริญเมตตาย่อมประสบอันตรายจากอมนุษย์เหมือนโจรที่มักกล้ำกราย บ้านที่มีบุรุษน้อย มีสตรีมาก” (สํ. นิ. ๑๖.๒๒๕.๒๕๑)
ดูกรภิกษุทั้ง หลาย พระภิกษุผู้แผ่เมตตาเพียงลัดนิ้วมือเดียว เป็นผู้เจริญฌาน เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระศาสดา เป็นผู้บริโภคก้อนข้าวของชาวราษฎร์โดยไม่มีโทษ ส่วนพระภิกษุผู้แผ่เมตตาเสมอ ย่อมจะได้รับอานิสงส์มหาศาล(องฺ. เอกก. ๒๐.๕๓.๙๑)



.........................เมตตาที่บริสุทธิ์แท้จริงนำชัยชนะมาสู่ตนได้.......................



เด็กหญิงน่ารักอายุ ๒ ขวบคนหนึ่ง อบรมเมตตาให้เพื่อนรุ่นราวคราวกัน และควรจะเป็นการอบรมจิตใจผู้ใหญ่ที่ได้รู้ได้ยินด้วย คือ วันหนึ่งเมื่อเพื่อนตัวน้อยๆ เท่ากัน จะบี้มดที่กำลังเดินอยู่กับพื้น เด็กหญิงห้ามทันที มีเหตุผลจากใจจริง ที่จับใจผู้ใหญ่ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง อย่าทำ ! เดี๋ยวแม่มดกลับมาไม่เห็นลูกมด

แม้ใครทั้งหลายที่กำลัง คิดจะทำลายชีวิตสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ หรือกระทั่งชีวิตมนุษย์ ก็น่าจะนำเสียงห้ามของเด็กหญิงน้อยๆ ดังกล่าว มาเตือนตนเองบ้าง

อย่าทำ ! เดี๋ยวแม่ปลาหาลูกปลาไม่พบ หรือ

อย่าทำ ! เดี๋ยวลูกยุงร้องไห้ คิดถึงแม่ยุง หรือ

อย่าทำ ! เดี๋ยวลูกนกไม่มีแม่นก หรือ

อย่าทำ ! เดี๋ยวไม่มีใครเลี้ยงลูกเขา

เตือนตนเองด้วยจริงใจ ให้รู้สึกจริงจังดังที่คิด หรือที่เปล่งวาจา ก็ย่อมเป็นการอบรมเมตตาอีกวิธีหนึ่งที่ง่ายและน่าทำเสมอๆ

เมตตานั้นไม่จำเป็นที่ผู้ใหญ่จะเป็นฝ่ายสอนเด็กเสมอไป แม้เด็กก็สอนผู้ใหญ่ได้ทั้ง ๆ ที่เด็กไม่ได้รู้ว่ากำลังเป็นผู้สอน และเด็กก็ไม่รู้ว่า

ความคิดของตนเกิด

แต่เมตตาที่บริสุทธิ์แท้จริง



ข้อมูลโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



สุดท้ายนี้ขอจบด้วยพระราโชวาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ความว่า................................
เมตตา ท่านอธิบายว่า คือความรักใคร่ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข เป็นธรรมสำหรับบำราบพยาบาท อันเป็นมูลของความประพฤติทุจริตเบียดเบียนผู้อื่น ให้เสื่อมหายไป เมตตามีอยู่ในผู้ใด ย่อมค้ำชูให้ผู้นั้นอยู่เย็นเป็นสุข และพลอยให้ผู้อื่นได้รับกระแสแห่งความอยู่เย็นเป็นสุขนั้นด้วย จึงกล่าวว่า เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก อันความเมตตาที่จะค้ำจุนโลกได้นั้น จะต้องเป็นเมตตาที่แท้ที่บุคคลเจริญขึ้น หรืออบรมขึ้นอย่างถูกต้อง คือเจริญขึ้นโดยอาศัยจิตใจที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ไม่มีอคติทั้งสี่ประการครอบงำเป็นพื้นฐาน จิตใจที่มีอคติครอบงำ จะเป็นพื้นฐานการเจริญเมตตามิได้เลย ขอให้คิดดูว่า ถ้ามีฉันทาคติหรือโมหาคติเป็นฐาน เมตตาที่เจริญขึ้น จะกลายเป็นความหลงรัก หรือเป็นความรักอย่างงมงาย ซึ่งมีโทษมาก และถ้ามีภยาคติโทสาคติก็เจริญเมตตาไม่ขึ้นเลย เพราะพื้นฐานจิตใจมีแต่ความกลัวกับความร้ายกาจ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเจริญเมตตา บัณฑิตจะต้องชำระอคติออกให้ได้ เมื่อจิตใจเป็นปรกติ ตั้งมั่นในความเป็นกลางแล้ว จึงจะอบรมเมตตาให้เกิดได้ เป็นเมตตาแท้จริง ที่จะค้ำจุนตนเองและค้ำจุนโลกให้เป็นสุขร่มเย็นได้ถาวรตลอดไป


หัวข้อ: Re: the power of hearted episode 1
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 กรกฎาคม 2553 16:16:06



(http://www.thecontrarianmedia.com/wp-content/uploads/2009/01/zazen6-289x300.jpg)

อนุโมทนาสาธุธรรมค่ะน้อง"บางครั้ง"