[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 12 กรกฎาคม 2553 19:20:10



หัวข้อ: ปริญญา 2 ใบของไมเคิล แจ็คสัน ( ว.วชิรเมธี )
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 12 กรกฎาคม 2553 19:20:10
[ โดย อ.มดเอ็กซ์ จากบอร์ดเก่า ]



(http://sph.thaissf.org/pic_article/article_174.jpg) (http://"http://sph.thaissf.org/pic_article/article_174.jpg")
 
 
โดย ว.วชิรเมธี
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
7 กรกฎาคม 2552


ไมเคิล แจ็กสัน ราชาเพลงป๊อปของโลกจากไปพร้อมกับความเสียใจของแฟนเพลงมากมายทั่วโลก

มีรายงานข่าวบางกระแสระบุอีกว่า มีคนฆ่าตัวตายตามเขาไปแล้ว 12 คน บทสัมภาษณ์ของแฟนเพลงหลายคนที่เป็นชาวต่างชาติพูดถึงเขาในลักษณะรับไม่ได้ กับการจากไปในลักษณะ “ก่อนเวลาอันควร” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่ปุถุชนจะรู้สึกเช่นนั้น แต่ในมุมมองของพุทธศาสนา การจากไปของไมเคิล แจ็กสัน ไม่ใช่วันเวลาของความโศกเศร้า หรือร่ำหาอาลัยไม่จบสิ้น แต่ควรเป็นวันเวลาของการเรียนรู้สัจธรรมของชีวิต

ชีวิตของไมเคิล ควรให้คุณค่าแก่เราผู้ยังอยู่มากไปกว่าการเที่ยวตามสะสมผลงาน หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ ของที่ระลึก เสื้อผ้า ที่เกี่ยวกับตัวเขา ซึ่งไม่มีคุณค่าแท้แต่อย่างใด เพราะสิ่งของเหล่านี้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะเสื่อมคลายมนต์ขลังลงไป ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางใดๆ ขึ้นมาแก่ชีวิตของเราอีกด้วย นอกจากจะเป็นเพียง “รอยอาลัย” เล็กๆ น้อยๆ ที่จะค่อยๆ เลือนหายไปกับกาลเวลาเท่านั้นเอง

ที่ถูกนั้นเราควรได้ประโยชน์จากมรณกรรมของเขาในทางจิตใจ หรือในทางสติปัญญามากกว่าทางวัตถุ โดยเราควรถือว่า “หนึ่งคนตาย เพื่อให้ล้านคนตื่น”

การตายของไมเคิล แจ็กสัน ควรทำให้เราตื่นในหลายประเด็นด้วยกัน

ประการที่หนึ่ง รำลึกถึงด้านที่งดงามของตัวเขา เช่น การที่เขาเป็น “อัจฉริยศิลปิน” ซึ่งคนอย่างนี้ร้อยปีจึงจะมีสักคนหนึ่ง เมื่อมองในแง่ดี ไมเคิล แจ็กสัน จึงนับเป็น “มงกุฎแห่งดนตรีกาล” ที่เป็นเกียรติยศแก่ประชาคมโลก เป็นเกียรติแก่เราทุกคนที่ได้ดำรงชีวิตอยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกันกับเขา ซึ่งเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง

ประการที่สอง รำลึกถึงแบบอย่างแห่งการมีจิตสำนึกสากลในการร่วมรับผิดชอบต่อชะตากรรมของมนุษยชาติอันงดงามที่เขารังสรรค์ “ประดับไว้ในโลกา” ให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักว่า ครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตอันแสนรุ่งโรจน์ของเขานั้น เขาก็ได้เคยทำสิ่งดีๆ ที่มีคุณูปการแก่มนุษยชาติอย่างน่าสรรเสริญควรเจริญรอยตามเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ เขาได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมกับเครือข่ายคนดนตรีอีกหลายคนรังสรรค์บทเพลง พิเศษที่ชื่อ “We are the world” อันแสนไพเราะเพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กในทวีปแอฟริกา และเพลงต่อมาของเขาอีกเพลงหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึง “ความรักต่อมนุษยชาติ” อย่างสูงยิ่งที่เขาบรรจงขับขานฝากไว้ในยุคสมัยของเรา เพื่อสร้างกระแสแห่งการตื่นรู้ร่วมกันของชาวโลกให้หันกลับมาร่วมกันยุติ สงครามที่ระอุอยู่ทั่วทุกมุมโลก นั่นก็คือเพลง “Heal the world”

บทเพลงแห่งการุณยธรรมทั้งสองเพลงนี้ ได้รับการขับขานอย่างกึกก้องทั้งในยามที่เขายังคงมีชื่อเสียงรุ่งโรจน์ เหมือนพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ และถูกขับขานต่อมาอย่างไม่เสื่อมคลายนับครั้งไม่ถ้วนในงานต่างๆ มากมายที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกสากลของผู้คนในระดับโลกให้ตระหนัก รู้ว่า โลกทั้งผองล้วนเป็นพี่น้องกัน และสงครามไม่ใช่สิ่งอันพึงประสงค์ในทุกกรณี ไมเคิล คือ บุคคลตัวอย่างคนหนึ่งที่รู้จักใช้ “ความดัง” ของตัวเองมาสร้าง “ความเด่น” ในทางดีงามเพื่อเกื้อกูลสังคมและมนุษยชาติ ในลักษณะ “ยืมแสงดาวมาสกาวแสงธรรม” ได้อย่างน่ายกย่องยิ่งนัก โลกนี้มีคนดังมากมายที่ใช้ความดังของตัวเองต่อยอดไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว เพียงอย่างเดียว โดยไม่เคยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมแม้แต่น้อย ทว่าสำหรับไมเคิลแล้ว เขาไม่เคยหลงลืมความรับผิดชอบต่อมนุษยชาติ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมโลกของเขา และเขาแสดงออกซึ่งจิตสำนึกด้านนี้ด้วยศักยภาพด้านดนตรีของเขาให้เราได้เห็น ประจักษ์มาแล้ว

ประการที่สาม ใครๆ มักพูดถึงไมเคิลว่า เขาเป็นอัจฉริยศิลปิน ที่มีเยาวภาพในหัวใจสูงมาก เสียงร้องของเขานั้นสดใส กังวานดังหนึ่งเสียงระฆังเงิน ทั้งยังมีมนต์เสน่ห์เหมือนหนึ่งจะสะกดให้คนทั้งโลกต้องเงี่ยโสตลงสดับอย่าง ไม่มีทางขัดขืน แต่แล้ว อัจฉริยภาพและเยาวภาพที่ซื่อใสของเขาก็เริ่มเลือนรางจางหายไป และมีความวุ่นวาย ยุ่งเหยิง รวมทั้งเรื่องราวอื้อฉาวมากมาย ถึงขนาดเคยถูกตำรวจจับกุมใส่กุญแจมือ และต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่หลายครั้งเข้ามาแทนที่

คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเขา อัจฉริยภาพของเขาหายไปไหนหมด

ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้อย่างหมดจด เพราะคงไม่มีใครรู้จักเขาดีที่สุดเท่าตัวเขาเอง แต่จากข่าวคราวที่เราได้ทราบ และจากฐานข้อมูลที่เราพอจะสืบค้นได้ ทำให้เราพอจะสันนิษฐานได้ว่า ความยุ่งเหยิงมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขานั้น คงหนีไม่พ้นเกิดจากการขาด “ทักษะในการดำเนินชีวิต” นั่นเอง

“ทักษะในการดำเนินชีวิต” ก็คือ ธรรมะที่จะใช้เป็นคู่มือในการบริหารจัดการชีวิตทั้งในยามสุขยามทุกข์ ยามรุ่งโรจน์และยามร่วงโรย

ทักษะในการดำเนินชีวิต ก็คือ หนึ่งในปริญญาสองใบที่ผู้เขียนพูดถึงอยู่เสมอ

พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า คนเรานั้นจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีตาครบทั้งสองข้าง ตาข้างหนึ่งเป็นความจัดเจนในการดำเนินชีวิตทางโลกเพื่อทำให้บุคคลสามารถดำรง ชีวิตรอดอย่างมีความสุข ตาอีกข้างหนึ่งเป็นความจัดเจนในทางธรรมเพื่อทำให้บุคคลสามารถบริหารจัดการ ชีวิตได้เป็นอย่างดีเวลามีความสุข (โด่งดังประสบความสำเร็จมีเงินทองมากมาย) และเวลาที่ความทุกข์เคลื่อนตัวเข้ามาสู่ชีวิตทั้งโดยคาดฝันและโดยไม่คาดฝัน มาก่อน

ตาสองข้างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปริญญา 2 ใบ”

ปริญญาใบที่หนึ่ง เป็นปริญญาวิชาชีพ (ทำงานเป็น, ตั้งตัวได้)
ปริญญาใบที่สอง เป็นปริญญาวิชาชีวิต (ปัญหาเกิดขึ้นมา แก้ปัญหาได้)
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ไมเคิล แจ็กสัน สอบผ่านได้ปริญญาเอก เกียรตินิยมเหรียญทองในแง่ปริญญาวิชาชีพ เพราะเขาได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า เขาคือ “อัจฉริยศิลปิน” ที่โลกไม่ลืม และไม่มีทางหาอะไหล่สำรองได้อีกแล้ว

แต่ในแง่ปริญญาวิชาชีวิตนั้น เขาคงสอบผ่านเพียงปริญญาตรีแบบคาบเส้นเท่านั้น เพราะเขาไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตให้เกิดความสมดุลได้ ชีวิตของเขาตกอยู่ในภาวะ “งานสัมฤทธิ์ แต่ชีวิตไม่รื่นรมย์”

ไมเคิล แจ็กสัน จากพวกเราสู่สวรรค์ชั้นดนตรีรุจีรัตน์เรียบร้อยแล้ว เหลือก็แต่เราทั้งหลายที่ยังคงอยู่ ซึ่งจะต้องเรียนรู้จากชีวิตของไมเคิลอย่างลึกซึ้งว่า สิ่งใดที่ขาดไปในชีวิตของไมเคิล สิ่งนั้นเราจะต้องหามาเติมให้เต็มให้ได้ในช่วงชีวิตของเรา

ปริญญาวิชาชีพ ปริญญาวิชาชีวิต

เราทุกคนควรพัฒนาตัวเองขึ้นไปจนได้ปริญญาเอกทั้งสองสาขานี้ให้ได้ด้วย ตนเอง มิเช่นนั้นแล้ว เราทั้งหลายก็จะเป็นเพียงคนที่ประสบความสำเร็จเพียงครึ่งเดียวเหมือนไมเคิล ส่วนอีกครึ่งหนึ่งกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า ไมเคิลจากไปแล้ว จึงหมดเวลาแก้ตัว แต่เราทุกคนที่ยังคงอยู่ ยังไม่สายเกินไปที่จะแสวงหาปริญญาทั้งสองใบนี้มาประดับชีวิตให้เกริกเกียรติ มีคุณค่า น่าภูมิใจ และจากไปอย่างคนที่สมบูรณ์ด้วยปริญญาทั้งสองใบ



 ;D

http://sph.thaissf.org/index.php?module=article&page=detail&id=174 (http://sph.thaissf.org/index.php?module=article&page=detail&id=174)