[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะจากพระอาจารย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 20 ตุลาคม 2555 02:00:09



หัวข้อ: ต้อง "ชอบพูด" อย่า"พูดชอบ" (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 20 ตุลาคม 2555 02:00:09


(http://sphotos-f.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash4/430023_181809718596869_468712220_n.jpg)

ต้อง "ชอบพูด" อย่า"พูดชอบ" (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   5 ตุลาคม 2555 11:10 น.

ตามหลักท่านแสดงไว้ วาจาชอบนั้น คือเว้นจากมิจฉาวาจา มิจฉาวาจานั้นมีการพูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดคำส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ
       
       พูดเท็จ คือพูดปราศจากความจริง พูดคำหยาบคาย ให้ผู้อื่นเจ็บใจ เกิดความไม่สบายใจ พูดส่อเสียด ใช้พูดเพื่อให้แตกสามัคคีกัน ไม่ปรองดองกัน ให้คนสองฝ่ายเข้าใจผิด พูดเพ้อเจ้อนั้นพูดไม่มีสาระ เป็นคำพูดที่เหลวไหล ทั้ง 4 อย่างนี้เป็นวจีกรรม การกระทำทางวาจา เป็นฝักฝ่ายในทางอกุศล
       
       บุคคลผู้ต้องการอบรมจิตใจให้ได้รับความละเอียด ให้ได้รับความสงบ ได้รับความสุข จะต้องเว้นจากวาจาอันเป็นมิจฉาวาจาอันนี้เสีย แล้วมาสมาทาน สัมมาวาจา คือ พูดแต่คำสัจ คำจริง สิ่งที่รู้เราก็พูดว่ารู้ สิ่งที่เห็นเราก็พูดว่าเห็น สิ่งที่เรามีก็พูดว่าเรามี สิ่งที่เราไม่มีก็พูดว่าไม่มี สิ่งที่เราเป็นก็พูดว่าเราเป็น สิ่งที่ไม่เป็นก็พูดว่าไม่เป็น ความจริงเป็นอย่างใด เราก็พูดอย่างนั้น ไม่พูดคำหยาบ คือพูดแต่คำที่ผู้ฟังเข้าใจความ ได้รับประโยชน์จากการพูด พอดี พองาม ไม่พูดส่อเสียด ใช้คำพูดสมัครสมานสานความสามัคคีซึ่งกันและกัน ไม่พูดเพ้อเจ้อ คำที่ไม่เป็นประโยชน์ เลือกพูดแต่คำที่ประกอบไปด้วยประโยชน์ มีกาลมีเวลา มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง
       
       เราต้องการอบรมภาวนาเพื่อยกจิตใจของเราให้สูงขึ้นตามลำดับ จำเป็นจะต้องรักษาบริขารนี้ให้มีประจำตัวของเรา เราจะพูดครั้งใด เมื่อไรที่ไหน กับใคร เราก็ควรมีสติระวังในคำพูด เพื่อให้เกิดประโยชน์
       
       คำพูดนั้น ถ้าพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือพูดไปในสิ่งที่เป็นโทษแล้ว อาจจะได้รับโทษในปัจจุบันและเบื้องหน้า มีมากต่อมากแล้ว เพราะเป็นกรรม ส่วนคำพูดที่เป็นคุณประโยชน์ เมื่อพูดแล้วย่อมได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน เพราะเป็นกุศลกรรมในทางวจีกรรม
       
       องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสใช้พระวาจาทำประโยชน์แนะนำพร่ำสอนธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระวาจาของพระองค์ทรงได้ใช้แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นสัจวาจา เป็นวาจาที่ประกอบไปด้วยประโยชน์ เป็นวาจาสะอาด เป็นวาจาบริสุทธิ์ ใครได้ฟังแล้วไม่เบื่อ แม้แต่คนที่อยู่ไกลๆ ก็ปรารถนาที่จะเดินทางไปฟังพระวาจาของพระองค์ ผู้ที่ได้ฟังแล้วก็ต้องการอยากจะฟังเพิ่มขึ้นอีก แม้แต่พระอริยสาวก ผู้เป็นพระอรหันต์สำเร็จกิจแล้ว ท่านก็มีความปรารถนาที่จะฟังไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ เพราะวาจาของพระองค์ประกอบไปด้วยประโยชน์
       
       วาจาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะว่าเป็นอมตวาจาก็ได้ ยังอำนวยประโยชน์ให้แก่สัตว์โลก มีพวกเราด้วย ได้ศึกษาประพฤติปฏิบัติอบรม ได้รับความสงบสุขตามภาวะพอสมควรในปัจจุบัน ก็เพราะอาศัยพระวาจาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
       
       เพราะฉะนั้นวาจาเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เราควรสำเหนียกศึกษาในคำพูด ในการพูดทางวาจาให้เกิดประโยชน์
       
       แม้แต่อัตภาพร่างกายแตกสลายไปแล้ว แต่วาจาก็ยังเหลืออยู่ไม่สลายไปด้วย เหมือนกับพระโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และโอวาทของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตลอดถึงปฏิปทาที่ท่านพาประพฤติปฏิบัติก็ยังเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นความจริงจึงเป็นสิ่งที่มั่นคงแน่นอน เราควรฝึกคำพูดของเราให้พูดแต่ความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีสาระ
       
       ถ้าเราทั้งหลายฝึกหัดมัน มีสติรักษาคำพูดของเรา พูดตามกาลตามเวลา ให้มีขอบเขต ให้เป็นสัจจะ เป็นความจริงแล้ว การอบรมภาวนาทำสมาธิ ก็เป็นการสะดวกสบาย ไม่มีอุปสรรคขัดข้อง เพราะไม่มีอารมณ์เป็นเครื่องก่อกวนจากวาจาจากคำพูด ซึ่งเป็นเหตุให้มัวหมอง เป็นเหตุให้ข้องใจ เป็นเหตุให้ขัดใจ เป็นเหตุให้ก่อกวนใจ เพราะเป็นคำพูดที่ได้ชำระแล้ว ไม่มีอะไรจะข้องอยู่ เป็นเหตุให้มัวหมองต่อไปอีก
       
       เมื่อเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว ให้ตั้งใจสำเหนียกสมาทานว่า เราจะพยายามมีสติในคำพูด อยู่ที่ไหนไปที่ไหน กลางวันกลางคืน อย่างไรก็ตาม ให้พยายามสำรวมระวังในคำพูด เพื่ออบรมจิตใจของเราให้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย พระโพธิธรรมาจารย์เถระ (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ) วัดป่าเขาน้อย จ.บุรีรัมย์)

(http://www.dhammajak.net/forums/download/file.php?id=54912)