[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะจากพระอาจารย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 21 ตุลาคม 2555 15:00:47



หัวข้อ: ค ติ ธ ร ร ม ๑๐๘ :ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 21 ตุลาคม 2555 15:00:47


(http://sphotos-h.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn1/66333_338875102875437_1137523340_n.jpg)

ค ติ ธ ร ร ม ๑๐๘
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรามธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

(http://www.dd-pra.com/medias/uploads/auction/2012/08/29/full/212630_0HvY5.jpg)

เรื่องพุทธศาสนา
๑.วัดเป็นเครื่องวัดคุณธรรมของเราว่ามีมากน้อยเพียงไร
๒.พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของความจริง
ถ้าใครไม่จริงต่อพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาก็ย่อมไม่เจริญกับผู้นั้น
๓.พระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของการอ้อนวอน ร้องขอ หรือให้กันได้
ทุกคนจะต้องทำด้วยตนของตนเอง จึงจะได้รับผล

๔.สิ่งใดที่มิได้ประกอบไปด้วยเหตุและผลแล้ว
สิ่งนั้นก็มิใช่พุทธศาสนา

๕.พระพุทธประสงค์ก็มุ่งให้ปฏิบัติทางจิตเป็นข้อใหญ่
ใครไม่ปฏิบัติตาม เรียกว่า ไม่รักไม่เคารพในพ่อของเราเลย

๖.การดำเนินทางศาสนา เท่ากับเดิน ๒ ขา
คือปริยัติ ขาหนึ่ง ปฏิบัติขาหนึ่ง
ถ้าเราเดินแต่ขาเดียวก็ต้องล้มแน่

๗.พระพุทธรูป เป็นพุทธนิมิตภายนอก สำหรับเป็นที่กราบไหว้สักการะ
ธรรมะภายนอกสำหรับให้คนได้สดับฟังศึกษาเล่าเรียน สังฆะภายนอก
สำหรับเป็นพี่เลี้ยงคอยตักเตือนว่ากล่าวสั่งสอน
ส่วนรัตนภายในนั้นคือ การทำพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ให้มีขึ้นในจิตใจ

๘.คนที่มีศีล มีทาน แต่ไม่มีภาวนา ก็เท่ากับถือศาสนาเพียงครึ่งเดียว
๙.ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ต้องไปซื้อล็อตเตอรี่
ถ้าเชื่อ   ความดี   แล้ว... ไม่ต้องกลัว   จน

 เรื่องพระธรรม
๑๐. สละกายบูชาพระพุทธ สละวาจาบูชาพระธรรม สละใจบูชาพระสงฆ์
--- เรียกว่า “ปฏิบัติบูชา” ---
๑๑. ความดี ความชั่ว สุข ทุกข์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทวบุตร เทวดา หรือใครที่ไหน
มันขึ้นอยู่ที่การกระทำอันเกิดจากการกรรมดี กรรมชั่วของตัวเรานี่เอง

๑๒. สมบัติที่เป็นของกาย เรียกว่า โลกียทรัพย์
สมบัติที่เป็นของใจเรียกว่า อริยทรัพย์
สมบัติของกายอาศัยใช้ได้เฉพาะแต่ในโลกนี้
แต่สมบัติของใจใช้ได้สำหรับโลกหน้า

๑๓.โลกียทรัพย์ เป็นของที่เราจะนำติดตัวไปโลกหน้าไม่ได้
จึงต้องแปรโลกียทรัพย์ให้เป็น อริยทรัพย์ เสียก่อน จึงจะนำติดตัวไปโลกหน้าได้
๑๔. สมบัติของผู้ดีคือ อริยสัจ หรือ อริยทรัพย์

๑๕.โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเป็นฝ่ายดี
กับเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ซึ่งเป็นฝ่ายชั่ว
ทั้งหมดนี้บุคคลใดติดอยู่ก็เท่ากับผู้นั้นถูกเขาจองจำไว้

๑๖.คนในโลกมี ๔ จำพวก คือ
๑. คนพาล ชอบทำชั่ว โทษของตัวมองไม่เห็น
๒. กัลยาณชน คนดีทำตนให้มีค่า ทำเวลาไม่ให้สูญ
๓. บัณฑิต ผู้ฉลาด เลือกการงานสิ่งคู่ควร คบคนรู้จักเลือก ทำความดีให้เกิดได้
๔. มหาบัณฑิต ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่เบียดเบียนใคร ประโยชน์ใหญ่จักเกิดมี

๑๗. โลกมนุษย์มีทั้งเกิด แก่ เจ็บ ตาย
โลกของเทวดานั้นมีแต่เกิดกับตาย ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ
โลกนิพพานไม่มีทั้งเกิด ไม่มีทั้งตาย

๑๘.บุคคลทั้งหลายไม่ควรประมาทในกาลของชีวิต คือ
๑. ในเมื่อยังมีทรัพย์สินบริบูรณ์
๒. ยังมีกำลังวังชาแข็งแรง
๓. ยังไม่เจ็บไข้ แก่ ตาย ก็ควรจะรีบเร่งทำบุญให้ทาน รักษาศีล
และเจริญเมตตาภาวนา หาความดีให้แก่ตนตามสติกำลังที่จะทำได้

๑๙. ความตายมี ๓ ประเภท
ประเภทที่ ๑ คือ ตายไปกับความชั่ว
ประเภทที่ ๒ ตายไปกับความดี
***   ประเภทที่ ๓ ไม่ตาย   ***

๒๐. ถ้าจิตของเราตั้งอยู่ในบุญกุศล เราก็จะมีสุคติเป็นที่ไป
ถ้าจิตของเราตั้งอยู่ในบาป อกุศล วิญญาณของเราก็จะต้องไปสู่ทุคติ
๒๑. บุญภายนอกทำจากร่างกายของเรา บุญภายในหาจากดวงจิต
บุญย่อมนำมาซึ่งความสุข ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

๒๒. เขาว่าทำบุญทำทานนั้น ทำไปทำไม
คนทำบุญก็ต้องตาย ไม่ทำก็ตาย
ตายด้วยกันจริงอยู่ดอก แต่ว่าตายผิดกัน

คนทำบาปนั้นตายไปกับผีกับเปรต ตายตามป่าตามดงตามถนนหนทาง  
แต่คนทำบุญนั้น ตายไปในกองบุญกองกุศล ตายสบาย
แล้วไปเกิดก็สบายอีก ไม่ต้องไปเกิดในที่ทุกข์ที่ยากเหมือนคนทำบาป

๒๓. วัตถุภายนอก มิใช่เป็นสิ่งที่เราจะนำติดตัวไปด้วยได้
ถ้าเราไม่ทิ้งมันไป มันก็ทิ้งเราไปวันหนึ่ง
ฉะนั้นจึงควรรีบสะสมแต่บุญภายในให้มาก เพราะเราจะได้นำติดตัวไปด้วย
๒๔. ปริยัติ เรียนรู้คัมภีร์ ปฏิบัติดี รู้ทันกิเลส ปฏิเวธ รู้แล้วและวาง

๒๕. ความตายและความเกิด เป็นกำเนิดแห่งความทุกข์
ความสุขอันประเสริฐไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย
๒๖. กุศลและอกุศล ย่อมให้ผลแก่ผู้ทำทั้ง ๓ กาล
อกุศล คิดจะทำก็เป็นทุกข์ กำลังทำก็เป็นทุกข์ ทำแล้วก็เป็นทุกข์
กุศล คิดจะทำก็เป็นสุข กำลังทำก็เป็นสุข ทำแล้วก็เป็นสุข

๒๗.เมื่อเราต้องการความบริสุทธิ์
เราต้องทำความบริสุทธิ์ให้พร้อมในกาย วาจา ใจ ทาน ศีล ภาวนา ก็ทำให้บริสุทธิ์
๒๘.ทาน สละโลภะ ศีล สละโทสะ ภาวนา สละโมหะ
๒๙.สมาธิ คือ ความมีจิตตั้งมั่น
เมื่อเราคิดว่าจะทำอะไร ก็ต้องทำให้มันจริงลงไป จึงจะเกิดผล

๓๐. ปัญญา เกิดแต่การสังเกตหาเหตุหาผล
รู้แต่ผลไม่รู้เหตุก็ใช้ไม่ได้ รู้แต่เหตุไม่รู้ผลก็ใช้ไม่ได้
ต้องรู้พร้อมทั้งเหตุทั้งผล

๓๑. สุตมยปัญญา เปรียบเหมือนคนที่ตื่นจากหลับแล้ว แต่ยังไม่ได้ลืมตา
จินตมยปัญญา เปรียบเหมือนคนที่ตื่นนอนแล้ว แต่ยังไม่ออกจากมุ้ง
ภาวนามยปัญญา เปรียบด้วยคนที่ตื่นออกจากมุ้งล้างหน้าล้างตาสว่างแจ่มใสแล้ว
สามารถมองเห็นอะไร ๆ ได้ถนัดชัดเจน

๓๒. ความดีของโลกจะวิเศษวิโสอย่างไร
ก็ไม่นานดอก แล้วมันก็ต้องแยกกันกับเรา
ไม่เหมือนสุขในทางธรรม คือ จิตสุข มันย่อมจะติดกับตัวเราไปเสมอ

๓๓.โลก เขาเอาสุขทางกายเป็นใหญ่ จิตใจจะทุกข์อย่างไรก็ช่างมัน
แต่ธรรมเอาสุขทางใจเป็นใหญ่ เพราะถือว่าใจเป็นส่วนสำคัญยิ่ง
๓๔.มติทางโลกเขาว่า จะดีหรือไม่ดีก็ช่าง ให้มีเงินมาก ๆ แล้วเป็นดี
ส่วนมติทางธรรมว่า จะมีหรือจนก็ช่างเถิด ขอให้เป็นคนดีก็แล้วกัน

๓๕.สุขในอัตภาพร่างกายเป็นความสุขทางโลก
สุขชั่วขณะหนึ่งแล้วก็จะปรวนแปรไปเหมือนข้าวสุก พอข้ามวันก็เหม็นบูด
ส่วนสุขทางธรรมนั้น สุขเหมือนดาวบนท้องฟ้า เป็นสุขที่สว่างไสวตลอดกาลนาน
๓๖.บุญมีอยู่เสมอ แต่ไม่หาให้ตัว เหมือนนามีแล้วไม่ทำ ข้าวมีแล้วไม่กิน

๓๗. การบำเพ็ญทาน เท่ากับหาทรัพย์ไว้ให้ตัวของเรา
การบำเพ็ญศีลเท่ากับสร้างร่างกายของเราไม่ให้พิการง่อยเปลี้ยบอดใบ้
การบำเพ็ญภาวนา เท่ากับสร้างจิตใจของเราให้เป็นคนสมบูรณ์

๓๘. คนที่ทำ “ทาน” มากก็จะให้ผล ให้เขาเป็นคนมีทรัพย์สินอุดมสมบูรณ์
คนมี “ศีล” จะทำให้ได้รับอัตภาพที่ดี มีรูปร่างผิวพรรณงดงาม
ถ้ามี “ภาวนา” ด้วย ก็จะทำให้ผู้นั้นเป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด


(มีต่อค่ะ)  (http://sphotos-g.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash4/418201_262612410517176_1297462082_n.jpg)              

กุหลาบสีชา - http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25776 (http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25776)