[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 27 ตุลาคม 2555 15:17:43



หัวข้อ: วัดมณีชลขัณฑ์ จ.ลพบุรี กับ"เจ้าขรัวแสง" พระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 ตุลาคม 2555 15:17:43

ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์สองร้อยกว่าปีล่วงมาแล้ว จะหาพระภิกษุรูปใดที่จะเป็นที่รู้จัก
ของมหาชนยิ่งไปกว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม
พระมหาเถราจารย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นไม่มี แต่จะหาผู้ที่รู้จักพระมหาเถรเจ้า
อันเป็นที่เคารพนับถือและเป็นบูรพาจารย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของพระสมเด็จพุฒาจารย์ (โต)
อันมีนามว่าหลวงปู่แสง แห่งวัดมณีชลขัณฑ์ เมืองลพบุรี น้อยเต็มที่ 

และมีอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่แทบจะไม่เคยได้ยินชื่อของหลวงปู่แสงเลย ทั้งที่หลวงปู่แสง ขรัวตาแสง
หรือพระครูมหิทธิเมธาจารย์ นี้ เป็นคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นอันมาก ในยุคที่ท่านทรงสังขารอยู่
พระเกจิอาจารย์หลายรูปที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันนี้ที่ได้เคยมานมัสการขอมอบตัวเป็นศิษย์
ศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่างๆ จากหลวงปู่แสงมีจำนวนมาก เป็นที่เลื่องลือขจรไปในหมู่ผู้แสวงหาความรู้
ทางวิชาการทั้งสมถะและวิปัสสนา คาถาอาคม ฯลฯ  เป็นที่รู้จักไปจนถึงในรั้วในวัง
เป็นที่น่าเสียดายเหลือเกินที่ประวัติขององค์หลวงปู่แสงหาได้ยากยิ่ง
ทั้งที่มาและที่ไปของหลวงปู่ล้วนเป็นปริศนาจวบจนปัจจุบัน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91824352244536_1.JPG)

วัดมณีชลขัณฑ์
Wat Mani-Sholakhan
ตำบลพรหมมาสตร์  อำเภอเมือง  จังหวัดลพบุรี  

วัดมณีชลขัณฑ์ ตั้งอยู่บนเกาะด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองลพบุรี ในเขตตำบลพรหมมาสตร์ อำเภอเมือง  

วัดนี้เดิมชื่อว่า "วัดเกาะแก้ว" เพราะเป็นวัดตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยายมราช (เฉย  ยมาภัย)  เมื่อครั้งเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ เป็นผู้สร้าง และมีพระครูแสงเป็นผู้อำนวยการสร้างและได้สร้างเจดีย์แบบแปลกองค์หนึ่ง  เรียกกันว่า “เจดีย์หลวงพ่อแสง” สภาพปัจจุบันของวัดไม่ปรากฏร่องรอยของเกาะเดิมให้เห็น เพราะได้มีการถมดินสร้างถนนและสะพานคอนกรีตผ่ากลางวัด เชื่อมไปยังจังหวัดสิงห์บุรี ทำให้วัดนี้ปัจจุบันแบ่งออกเป็นสองส่วน  

พระเจดีย์วัดมณีชลขัณฑ์ หรือเจดีย์หลวงพ่อแสง ก่อเป็นรูปทรงเหลี่ยมงามแปลกตา สูงเทียมฟ้า เด่นเป็นสง่าในเขตสังฆาวาสของวัดมณีชลขันธ์ เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนผู้สัญจรไปมาตั้งแต่สมัยโบราณไม่ว่าทางบกหรือทางน้ำจะสามารถมองเห็นได้แต่ไกล ชาวเมืองลพบุรีเรียกขานพระเจดีย์นี้ว่า “เจดีย์หลวงพ่อแสง”  ซึ่งนับเนื่องได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดลพบุรี และชาวลพบุรีถือเป็นธรรมเนียมนิยมอย่างหนึ่งที่จะปิดทองสักการะและนำนาคมาสักการะหลวงพ่อแสงที่เจดีย์นี้ก่อนที่จะอุปสมบท เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นผลบุญแก่ตน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/24047510739829_2.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/13572847843170_3.JPG)
พระเจดีย์วัดมณีชลขัณฑ์ หรือเจดีย์หลวงพ่อแสง


วัดมณีชลขัณฑ์ รวมถึงเจดีย์หลวงพ่อแสงนี้  ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน  โดยกรมศิลปากร  เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙  เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม  ย่อมุมไม้สิบสอง  คล้ายคลึงกับพระเจดีย์โบราณศิลปะสมัยเชียงแสน  ส่วนของฐานเจดีย์มีขนาด ๑๕.๔๐ เมตร  สูง ๕๐ เมตร  ลักษณะของสถาปัตยกรรมเดิมทีเดียวก่อเรือนธาตุสูงลดหลั่นซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ๓ ชั้น  เรือนธาตุแต่ละทิศมีซุ้มโค้งสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป  ชั้นที่ ๔ ตอนบนเป็นองค์ระฆัง  ส่วนยอดทำเป็นแท่นบัลลังก์ และปล้องไฉนขึ้นไป

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)  พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่  โดยความปรากฏในจดหมายเหตุ พ.ศ. ๒๓๙๗ ว่า “หนังสือเจ้าพระยาจักรีมาถึงพระลพบุรี ด้วยมีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าวัดเกาะแก้วเมืองลพบุรี แต่ก่อนเคยเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระ และประทับแรมอยู่บ้าง แต่พระอุโบสถ กุฏิศาลาการเปรียญ และศาลาท้องพรหมาสตร์ชำรุดยับเยินมาช้านาน โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใหม่ให้รุ่งเรืองสุกใส จะได้เป็นที่กราบไหว้ที่สักการบูชา”

โดยเจ้าพระยายมราช (เฉย  ยมาภัย) ได้มาเป็นผู้ดูแลการบูรณะวัดเกาะแก้วในครั้งนั้น  เมื่อการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จลง  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สังกัดคณะธรรมยุต ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ทรงพระราชทานนามว่า “วัดมณีชลขัณฑ์"

จากงานค้นคว้าของ ผศ.ทัศนีย์ กระต่ายอินทร์  สถาบันราชภัฏเทพสตรี  กล่าวว่า “วัดมณีชลขัณฑ์เป็นวัดเก่าแก่หลายชั่วอายุคน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอนว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างเมื่อใด  ทราบแต่เพียงว่าเดิมชื่อวัดเกาะแก้ว และจากหลักฐานเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน สันนิษฐานได้ว่าสร้างมาแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙–๒๒๓๑)  เพราะพบศาสนวัตถุคู่วัด คือ บุษบกธรรมาสน์ฝีมือช่างหลวง มีจารึกอักษรไทย  ภาษาไทย  ระบุชัดเจนว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๕  บุษบกธรรมาสน์ถือเป็นศาสนวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อคู่กับวัด และพบที่วัดมณีฯ  จึงน่าเชื่อได้ว่ามีวัดนี้ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๒๒๕




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/61278559640049_2.png)  (http://www.sookjaipic.com/images_upload/88191156420442_3.png)

พระศรีมหาโพธิ์ พระราชทานวัดมณีชลขัณฑ์
ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๓-๒๔๑๑)  ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษได้ทูลเกล้าฯ ถวายเมล็ดและใบพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาซึ่งถือกันว่าเป็นต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนา  ด้วยเป็นต้นไม้ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับใต้ร่มเงาเมื่อกาลที่ทรงตรัสรู้ บรรลุพระสัมโพธิญาณ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้พระราชโอรสคือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงเพาะ เมื่อขึ้นเป็นต้นแล้วพระราชทานให้ปลูกที่วัดมณีชลขัณฑ์และพระอารามต่าง ๆ รวม ๔ แห่ง

พระศรีมหาโพธิ์ทรงเพาะ ณ วัดมณีชลขัณฑ์ นี้  พระราชทานให้เจ้าพระยายมราช (เฉย  ยมาภัย)  เป็นผู้นำมาปลูก

ความสำคัญของพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้มีระบุในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันว่า เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๒๖  เวลาบ่ายสามโมง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินที่วัดมณีชลขัณฑ์และเสด็จทรงบูชาพระศรีมหาโพธิ์นี้ด้วย

ถึงกาลเวลา ๑๕๐ ปี แห่งพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพุทธศักราช ๒๕๔๖ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ต่อปวงชนชาวไทย พุทธศาสนิกชนเมืองลพบุรีจึงร่วมใจจัดพิธีสมโภชพระศรีมหาโพธิ์พระราชทานโดยกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖  ด้วยหวังให้พระพุทธศาสนา และพระบรมราชจักรีวงศ์อยู่คู่แผ่นดินไทย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/82846224970287_1.png)
รูปปั้น"เจ้าขรัวแสง" กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ประดิษฐานในวิหารวัดมณีชลขัณฑ์ จ.ลพบุรี

“คนทั้งปวงเขาพากันสร้างรูปของข้าทั่วแผ่นดิน  แต่จะหาใครคิดสร้างรูปของอาจารย์ข้า น้อยเหลือเกิน  
ข้ามิอาจที่จะทำด้วยตัวของข้าเองได้  ขอให้พวกเจ้าจงช่วยเป็นมือ  เป็นแขน  เป็นขา  ทำแทนข้าด้วย  
ช่วยกันเผยแผ่เกียรติคุณของอาจารย์ข้าให้เป็นที่ประจักษ์แก่แผ่นดินนี้สืบไป  
ที่มีขรัวโตได้ในวันนี้ ก็เพราะข้ามีอาจารย์แสงเป็นอาจารย์ของข้านี้เอง..”


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/30479799004064_4.JPG)
วิหารที่ประดิษฐานรูปปั้นหลวงพ่อแสง วัดมณีชลขันฑ์ จ.ลพบุรี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/54563505947589_5.JPG)
ปลายคลองระบายใหญ่ ชัยนาท - ป่าสัก 3
ติดรั้ววัดมณีชลขัณฑ์