[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => กระบวนการ NEW AGE => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 พฤศจิกายน 2555 15:59:16



หัวข้อ: ธรรมชาติของสรรพสิ่ง (Descriptive Review)
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 พฤศจิกายน 2555 15:59:16
(http://www.mebmarket.com/meb/server1/393/Thumbnail/middle.gif)


หนังสือเรื่อง "ธรรมชาติของสรรพสิ่ง"

ธรรมชาติของสรรพสิ่ง (Descriptive Review) โดย เบญจ - Benja..



“ธรรมชาติของสรรพสิ่ง” ประกอบด้วยเนื้อหา ๕ บทใหญ่ คือ การเข้าถึงความจริงทั้งหมด จิต-จิตวิญญาณ โลกทางกายภาพ โลกทางชีวภาพและสังคม และบทสุดท้ายกล่าวถึงการบูรณาการศาสตร์ต่างๆซึ่งมนุษย์ได้ค้นพบเหล่านี้เข้าด้วยกัน หนังสือเล่มนี้เกิดจากการร่วมมือระหว่างนักวิชาการแนวหน้าของไทยกลุ่มหนึ่ง กล่าวถึงศาสตร์ในด้านซึ่งตนมีความรู้และความเชี่ยวชาญ แต่โยงย้อนเพื่อบูรณาการเรื่องราวต่างๆให้ประสานเข้าด้วยกัน

ตอนที่ ๑ “การเข้าถึงความจริงทั้งหมด” โดย อ.ประเวศ วะสี นักคิด นักเขียน และนักปฏิบัติสำคัญอีกท่านหนึ่งของไทย เป็นการกล่าวถึงแนวทางในการทำความเข้าใจหนังสือเล่มนี้โดยสรุป โดยการมองธรรมชาติทั้งหมดทุกระดับตั้งแต่ส่วนรวมในระดับจักรวาล จนถึงส่วนบุคคลในระดับจิตวิญญาณ และทุกครั้งที่มองสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วให้มองกลับบูรณาการสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันและมองย้อนกลับเข้ามาในตนเองเพื่อพัฒนาตน รู้จักตนเอง มีมุมมองธรรมชาติอย่างที่เป็นจริง เป็นกลางและเชื่อมโยง โดยใช้แนวทางของพุทธศาสนาเป็นสื่อกลาง

ตอนที่ ๒ “จิต-จิตวิญญาณ” โดย อ. ประเวศ วะสี และ ท่าน สันติกโร ภิกขุ ซึ่งเป็นชาวสหรัฐ เคยเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยในฐานะอาสาสมัคร เข้าบวชเพื่อหาประสบการณ์ในชีวิตและเคยปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกขพลาราม เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่งานเขียนของท่านพุทธทาสในรูปแบบภาษาอังกฤษ

บทนี้เป็นบทซึ่งกล่างถึง “จิต” ในแง่มุมต่างๆ จิตคืออะไร ? คุณสมบัติของจิตเป็นอย่างไร? กล่าวถึงแนวทางเปรียบเทียบในวิธีการและมุมมองของการศึกษาจิตในโลกตะวันตกและตะวันออกให้เห็นถึงวิธีการศึกษาและการเข้าถึงเรื่องจิตของแต่ละฝ่าย และได้กล่าวถึง “จิตวิญญาณ”(spirituality) - มิติที่สูงส่งของจิตมนุษย์ คือ การมีจิตใจสูง(จิตฝ่ายสูง) รู้จักความดี ความงามของชีวิต ซึ่งเป็นลักษณะของจิตซึ่งสูงกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น และวิธีการพัฒนาทางจิตวิญญาณว่าควรมีการปฏิบัติเช่นไร ในแนวทางของพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และได้กล่าวถึง “โพธิจิต” ซึ่งความหมายในนัยยะที่หนังสือเล่มนี้กล่าวไว้จะมีความหมายคล้ายคลึงกับ “จิตวิญญาณ” แต่จะกล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาทางจิตในแนวทางของ “เซน” หรือ พุทธฝ่ายมหายาน และได้กล่าวถึง นพลักษณ์ อีกศาสตร์หนึ่งในการมองบุคลิกของคน

ตอนที่ ๓ “โลกทางกายภาพ” โดย อ.พรชัย พัชรินทร์ตระกูล และอ.สมเกียรติ ตั้งจิตวาณิชย์
บทนี้กล่าวถึงการก่อกำเนิดโลก เริ่มต้นด้วยทฤษฎี BigBang การเกิดขึ้นของพลังงาน สสาร การขยายตัวของเอกภพ จนกลายมาเป็นกาแลกซี่ ระบบสุริยะของเรา และการเกิดขึ้นของดวงดาวต่างๆในจักรวาล และได้กล่าวถึง ทฤษฎีสัมพันธภาพ และทฤษฎีควอนตัม ในแง่ซึ่งเป็นวิทยาศาตร์แนวใหม่ในการทำความเข้าใจโลก ต่างจากวิทยาศาสตร์แนวเก่า ซึ่งมีการมองโลกและเห็นสรรพสิ่งทั้งหลายอย่างตายตัวและแยกส่วนไม่สัมพันธ์กัน มาสู่วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ซึ่งมีการมองโลกอย่างสัมพัทธ์กับผู้มอง เป็นแนวทางให้มนุษย์เข้าใจความเป็นจริงของโลกได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายกล่าวถึง “ระบบซับซ้อน” ว่าการศึกษาระบบต่างๆด้วยวิธีการแยกส่วนต่างๆของระบบออกเป็นส่วนย่อยๆ จะไม่สามารถเข้าใจถึงปรากฏการณ์ ความจริง ความดี และความงาม ซึ่งเกิดขึ้นกับภาพรวมของระบบนั้นได้

ตอนที่ ๔ “โลกทางชีวภาพและสังคม”โดย อ. วิสุทธิ์ ใบไม้ ในหัวข้อ“ระบบโลกทางชีวภาพ” อ.อนุชาติ พวงสำลี ในหัวข้อ “ระบบนิเวศ” และ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม กับ “ความเป็นมนุษย์กับการพัฒนาการทางสังคม-วัฒนธรรม”

ในส่วนของ ระบบโลกทางชีวภาพ เป็นการกล่าวให้เห็นภาพรวมของวิวัฒนาการของโลก ซึ่งค้นพบในแนวทางของวิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของสารเคมีในยุคก่อนที่จะเกิดสิ่งมีชีวิต การกำเนิดและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์ พัฒนาผ่านกาลเวลา จนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมผ่านการพัฒนาของมนุษย์ในยุคต่างๆ จนกลายเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบันและจบด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพ ในส่วนของ ระบบนิเวศ ได้กล่าวถึงภาพรวมที่สำคัญของระบบนิเวศอันหลากหลายบนโลก ในแง่ความสำคัญของระบบต่างๆ เช่นการหมุนเวียนของแร่ธาตุ สมดุลของสิ่งมีชีวิต เสถียรภาพหรือการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศและมนุษย์ ในมุมมองต่างๆ และหัวข้อสุดท้าย คือ ความเป็นมนุษย์กับพัฒนาการทางสังคม-วัฒนธรรม กล่าวถึงลักษณะร่วมกันของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ว่าต้องเกิดความข้องแวะกับสิ่งสำคัญในการดำรงอยู่ 3 เรื่องใหญ่ คือ โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ จักรวาลและความเชื่อ และกล่าวถึงวัฒนธรรมในแง่มุมต่างๆซึ่งสัมพันธ์กับทั้ง 3 หัวข้อนี้ เช่น ศาสนากับไสยศาสตร์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ โครงสร้างทางสังคม และความเชื่อต่างๆตามแต่ละส่วนของโลก สังคมโลกสังคมท้องถิ่น วัฒนธรรมหลวงและวัฒนธรรมราษฎร์ ระหว่างชนชั้นปกครองหรือรัฐ และบรรดาราษฎรระดับล่างว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร เป็นต้น

ในบทที่ ๕ ซึ่งเป็นบทสุดท้าย คือ “บูรณาการ” โดย อ. ประสาน ต่างใจ นักคิด นักเขียน ท่านสำคัญอีกท่านหนึ่งของไทย และ อ.ประเวศ วะสี
บทนี้เป็นการกล่าวรวมถึง หัวใจของหนังสือ “ธรรมชาติของสรรพสิ่ง” เล่มนี้ คือการบูรณาการทั้งสิ่งที่อยู่ในตนเอง และนอกตัว หรือ ศาสนาและวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความรู้ใหญ่ๆอีก 2 กระแสซึ่งมนุษย์ได้ค้นพบ โดยการบูรณาการในครั้งนี้ ไม่ใช่การรวมเข้าด้วยกันเพียงความรู้ทางวิชาการซึ่งเป็นเพียงความคิดหรือความจำ เป็นเป็นการบูรณาการทั้งสองศาสตร์เข้าด้วยกัน ในตัวของ “มนุษย์ ” เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในตนเองมากยิ่งขึ้น และในส่วนสุดท้าย โดย อ.ประเวศ วะสี คือ “ระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ และการจัดองค์กรระบบใหม่ในโลกแห่งอนาคต” ซึ่งกล่าวถึงแนวทางและมุมมอง จิตสำนึก ของคนในสังคม ว่าควรเป็นอย่างไร ควรอยู่ร่วมกันอย่างไร เพื่อให้ในที่สุดแล้วกลายเป็นสันติภาพและการอยู่ร่วมกันได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นของมนุษย์โลก

-------------

free essay เขียนโดย ยุรี เชาวน์พิพัฒน์ ภาควิชาชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล วิชา Biology 466 Interdisciplinary Approach to Biodiversity


ด้วยดวงใจที่กระหายใคร่รู้ หนทางที่มุ่งเดินไปสู่ความจริงทั้งหมด ด้วยความคิดที่แสวงหาว่าจะเข้าใจและรู้จักตัวเองได้อย่างไร มุ่งมั่นไปบนหนทางที่จะพบคำตอบเหล่านี้ จะทำอย่างไรเพื่อให้ใจเปิดกว้างขึ้นกับตัวตนของเราแบบเก่าๆ จะพัฒนาตัวเองไปอย่างไร ที่จริงแล้วเรามีตัวตนหรือไม่ เราเป็นจุดศูนย์กลางของสรรพสิ่งไม่ใช่หรือ เราเป็น Homo sapiens (wise man) คนฉลาด เราเป็นนายของทุกสิ่งและเป็นเจ้าของสรรพสิ่ง รวมทั้งตัวเราเองด้วยจริงหรือ ลองถามหัวใจและไตร่ตรองดูให้ดี มันเป็นคำตอบที่ถูกต้องแน่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ใยใจเรายังไม่พบความสุขที่แท้จริง อะไรเป็นความสุขที่แท้จริงหรือเป็นนัยแห่งความหมายของชีวิตเรา คำถามมากมายที่เราอยากรู้ สิ่งที่เราคิดอยู่ภายในสมองของเราจะพาเราหลงทางหรือไม่ แน่นนอนหนังสือเล่มนี้มีคำตอบ “ธรรมชาติของสรรพสิ่ง การเข้าถึงความจริงทั้งหมด” อย่าเพิ่งทรนงตัวไปมนุษย์เอ๋ย เปิดใจให้กว้างทิ้งทิฐิข้อยึดมั่นเก่าๆและวางตัวเป็นกลาง เป็นผู้มิสติที่ทรงธรรม อย่าให้อคติและความคิดใดๆก่อนหน้านี้เข้าครอบคลุมหัวใจของเราเด็ดขาด ลองเปิดใจอ่านไปเรื่อยๆ แล้วจะพบอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปภายในตัวเรา ข้างในลึกๆอาจได้รับการรักษา เป็นการเปิดการเรียนรู้จากภายในตัวเรา เพื่อเข้าใจตำแหน่งและความสัมพันธ์ของทั้งหมด เราเป็นธรรมชาติ และธรรมชาติเป็นเรา สัมผัสกับแนวคิดใหม่ๆ เข้าใจทั้งในสิ่งที่เป็นวัตถุและจิต เพื่อเฝ้าดูความบรรสานสอดคล้องในท่วงทำนองของสรรพสิ่ง ที่เฝ้าบรรเลงจากบรรพกาลจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ได้พยายามทำให้ท่วงทำนองความบรรสานสอดคล้องนั้นเสียความไพเราะไป ตัวโน้ตเริ่มเพิ่มความแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ เพราะความไม่ละทิ้งความเป็นตัวตน การระเบิดเกิดขึ้นของบิ๊กแบงแห่งตัวกูของมนุษย์ ด้วยความรู้สึกและความยึดติดว่าเป็นของของเรา ความห็นแก่ตัวที่เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการมนุษย์ เพียงแค่เราละทิ้งความเป็นเจ้าของ การมีตัวตนของเรา ปล่อยให้เกิดการระเบิดของบิ๊กแบงแห่งความรักอันบริสุทธิ์ ละทิ้งตัวตนจะปลดปล่อยเราสู่อิสรภาพ การโผบินออกจากกรงขังของตัวตนที่บีบคั้นจิตใจและความรู้สึกของเรา เพียงเศษเสี้ยวเดียวของการเปลี่ยนแปลงภายในเราก็จะค้นพบความสุขที่แท้จริง เพราะเหตุนี้เองความรัก คือการสละตนเอง เอาตัวตนของเราไปทิ้ง สวมใส่วิญญาณของธรรมชาติ เพราะธรรมชาติและเราเป็นสิ่งเดียวกัน ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะไม่เกิดการทำลายธรรมชาติอีกต่อไป หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มุ่งมั่นเฉพาะเรื่องทางจิตวิญญาณ เพราะธรรมชาติของสรรพสิ่งคือการเข้าถึงความจริงทั้งหมด บทบาทของวิทยาศาตร์ยังคงคุณค่าและได้รับการกล่าวถึง เพราะเราต้องเข้าใจความจริงของวัตถุด้วย เราคือใคร โลกเกิดมาได้อย่างไร สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นเมื่อไร การก่อกำเนิดจักรวาล และอีกหลายเรื่องราวถูกร้อยเรียงขึ้น ขมวดปมความคิดอย่างลงตัวกับคุณค่าของการรู้ความจริงทั้งหมด เป็นอันว่าเราสารถเข้าใจธรรมชาติของทุกสิ่งตามที่มันเป็นอย่างไม่ยาก แล้วอะไรละที่ทำให้ตัวเราเป็นเช่นนี้ หลายคนคงเคยสงสัยว่าทำไมเราจึงมีบุคลิกลักษณะเช่นที่เป็นอยู่ ความหมายของสิ่งแวดล้อมต่อการเจริญเติบโต หลายสิ่งหลายอย่างกำหนดความเป็นเรา การหลอมขึ้นของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัจจัยภายในและภายนอกตัวเรา นพลักษณ์ที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งที่น่าติดตาม ค้นหา ทำความเข้าใจ การรู้ว่าตนเองมีบุคลิกภาพแบบไหน ทำให้เราเปิดหัวใจสำรวจดูภายในตนเอง และปรับปรุงแก้ไขตนเองได้ง่ายขึ้น และทำให้เราสามารถเข้าสู่ความสุข อิสระจากการบีบคั้น บรรลุถึงความดี ความงาม และความถูกต้องได้ไม่ยาก นอกจากนี้เราก็จะเข้าใจธรรมชาติของผู้คนรอบข้างด้วย การเข้าใจถึงคุณค่าความหลากหลายเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เพราะมีสิ่งนี้ จึงเกิดอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ได้ก่อเกิดจากความบังเอิญ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบความแตกต่างหลากหลาย ไม่เข้าใจว่าทำไมทุกสิ่งจึงไม่เหมือนและเท่าเทียมกัน คุณจะยอมรับและเข้าใจมัน รวมทั้งในความเป็นทั้งหมดที่เป็นหนึ่งเดียวกันของความหลากหลายแตกต่างนั้น ไม่มีการแยกส่วนอีกต่อไป จะมองและเห็นทุกอย่างในภาพรวม

ในวิถีทางที่มนุษย์เดินอยู่บนเส้นทางแห่งการอยู่รอดและการสูญพันธุ์ของชีวิต มันช่างเสี่ยงเหลือเกินกับความคิดที่ปิดกั้นและตีบตัน หนังสือเล่มนี้จะช่วยเปิดความคิดและให้คุณค่าของความสำคัญในทุกสรรพสิ่ง เปรียบเหมือนตัวโน้ตของเพลง ถ้าขาดหายไปก็ขาดความไพเราะ เราจะเข้าใจว่าการที่มนุษย์ทำลายธรรมชาติและเข้าไปมีอำนาจเหนือทุกสิ่งเกิดผลกระทบเช่นไร การหายไปของสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ดูไม่น่ามีผลกับเรา กลับมีผลต่อเราอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะทุกอย่างสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน มนุษย์เกิดขึ้นและมีอยู่ในช่วงเวลาไม่นานบนโลก แต่อาจกลายเป็นผู้หยิบยื่นหายนะที่ร้ายแรงที่สุดให้กับโลก วิทยาศาตร์และเทคโนโลยีได้ลบเลือน และยื่นความหมายที่ไร้ค่าให้กับโลกทางจิตวิญญาณ วิทยาศาตร์ละทิ้งการศึกษาในสิ่งที่ตวง วัด รวมทั้งประเมินค่าเป็นตัวเลขไม่ได้อย่างจิตวิญญาณ ทำให้มิติทางจิตวิญญาณขาดหายไป พระเจ้าตายไปแล้วจริงหรือ ในบางสังคมอาจเป็นจริงก็ได้ พระเจ้าตายไปแล้ว มีอยู่แค่เพียงมิติแนวแบนราบทางวัตถุ ขาดมิติทางลึกของจิตวิญญาณ วัตถุและความก้าวหน้าทางวิทยาศาตร์ไม่สามารถที่จะเยียวยารักษาจิตใจมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ หนังสือเล่มนี้สามารถที่จะเผยให้รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียด และความทุกข์ของมนุษย์ พอคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบจงหันกลับไปถามใจตัวเองให้ดีว่า พระเจ้าตายแล้วจริงหรือ พระเจ้าตายไปจากตัวคุณหรือไม่ ถ้าพระองค์ตายไปคุณคงไม่มีโอกาสสัมผัสกับความสุขที่แท้จริงได้ นอกจากนี้เรายังไม่ให้คุณค่ากับบทบาทความเชื่อและจิตวิญญาณท้องถิ่น ภูมิปัญญาของพื้นแผ่นดินที่ถูกปลูกฝังให้เหมาะกับพื้นที่และสังคมนั้นๆ สิ่งเหล่านี้ย่อมถูกคัดเลือกและกัดกร่อนทางสังคมมาเป็นเวลานานแล้วว่าเหมาะกับท้องถิ่นนั้นจริง แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปจัดการหาผลประโยนช์สูงสุดให้กับมนุษย์ เพื่อผลผลิตและทุกสิ่งที่มนุษย์ต้องการ ความเชื่อและวิถีทางเก่าๆถูกขุดหลุมฝังกลบ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพิ่งผุดบังเกิดมาไม่นาน อาจไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่การนำไปใช้ฝังกลบวิถีแห่งภูมิปัญญาที่มีมานานแล้วเป็นสิ่งที่ผิด บางทีการ เรียนรู้และการเปิดใจให้กว้างในการบูรณาการวิทยาศาสตร์กับจิตวิญญาณ ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็เป็นสิ่งสำคัญ การให้ความเคารพกับจิตวิญญาณธรรมชาติ พระแม่คงคา แม่พระธรณี หรือตำนานกายาเป็นอีกวิถีหนึ่งที่ไม่ควรได้รับการขวางกั้น ความเชื่อเช่นนี้ทำให้มนุษย์และธรรมชาติดำรงอยู่ร่วมกันอย่างปรกติมาช้านาน สิ่งที่สำคัญคือมนุษย์ละธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน การเข้าถึงความจริงทั้งหมดจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และจากนี้ไปจะไม่มีเจตนามุ่งร้ายกันของทุกสรรพสิ่งเหลืออยู่อีกเลย

------------

free essay โดย สุมาลี บุญยัง
ภาควิชาชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล วิชา Biology 466 Interdisciplinary Approach to Biodiversity



การเรียนรู้จากการอ่าน “ธรรมชาติของสรรพสิ่ง การเข้าถึงความจริงทั้งหมด”

หนึ่งชีวิตที่ดำเนินอยู่ จะปฏิเสธได้อย่างไรว่าเป็นส่วนหนึ่งของความโยงใยในธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของสรรพสิ่งทั้งมวล แต่จิตใจในสภาวะที่บีบคั้น แน่นอนมันคือความทุกข์ ทางแห่งสุขคืออิสระภาพจากความบีบคั้นนั้น ความชัดเจนถึงความจริง คุณค่าอันยิ่งใหญ่จากการได้เข้าถึง และสัมผัสจิตวิญญาณอันแท้จริง มันชั่งควรค่าแก่การได้มาซึ่งความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ที่มิใช่เป็นเพียงการแต่งเติมจากภายนอก แต่หากคือจิตใจที่เกิดสุขแห่งความพอเพียง…มันชั่งดีโดยแท้…แต่สิ่งดีที่ควรค่าแก่การน้อมนำนี้ หาใช่สิ่งที่หยิบฉวยได้จากสิ่งเสพย์สุขที่มีอยู่อย่างดาษดื่นไม่ มันอยากจริงๆที่จะเข้าถึง แต่อยากยิ่งกว่าที่จะปฏิเสธว่าหากได้สิ่งที่มีค่านั้นมาแล้ว ชีวิตหนึ่งที่ดำเนินอยู่นี้จะเป็นสุขมากเท่าใด

ความเป็นทั้งหมดหรือองค์รวมคือความจริงตามเหตุปัจจัยที่แน่ชัดแล้ว จากแรกในความเป็น Singularity ก่อนเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง ผ่านมากว่า 15000 ล้านปี จนบัดนี้ในวันที่ วันพรุ่งนี้จะมีได้ หากดวงตาภายในนั้นต้องเห็นถึงสัจธรรมที่เป็นอยู่จริงตามเดิม และยังคงจริงเช่นนั้นอย่างไม่มีจุดเริ่ม และจุดสุดท้าย แม้ว่าชีวิตๆหนึ่งจะไม่มีรูปที่เห็นด้วยตาภายนอกแล้วก็ตาม

ตามความเป็นจริงที่ของการรับรู้ภายใน สมบัติแห่งความเป็นทั้งหมดคือ “ความงาม” ที่งามจากความเป็นทั้งหมดมิใช่ส่วนย่อย ซึ่งตระหนักรู้ได้ด้วย การคิดแบบบูรณาการไม่แยกส่วน อีกสมบัติหนึ่งของความเป็นทั้งหมดคือ “มิติทางจิตวิญญาณ” ซึ่งจิตวิญญาณนี้หาใช่มีอยู่ในทุกสรรพชีวิตไม่ ด้วยความเป็นมนุษย์นี้เท่านั้นถึงจะครอบครองสัมผัสสิ่งนี้ได้ จิตวิญญาณที่กล่าวถึงนี้ คือการสำนึกรู้บาปบุญคุณโทษ มิใช่กระทำตามความอยาก ที่ส่งมาจากสัญชาตญาณแห่งตัวตนเช่นสัตว์โลกทั่วไป จิตวิญญาณหรือโพธิจิต ที่แสวงหาสัจธรรมและความรักอันบริสุทธ์ ตราบใดที่ใจเข้าหาสัจธรรมและความรักอันบริสุทธ์ ตราบนั้นจิตจะอยู่เหนือความทุกข์และอยู่เหนือปัญหาทั้งหลาย เมื่อใดจิตไม่เข้าถึงสัจธรรมและความรักอันบริสุทธ์ ก็จะถูกครอบงำด้วยความไม่รู้ สัญชาตญาณ การคิดฟุ่งซ่าน และอารมณ์ความรู้สึก เมื่อนั้นก็จะเกิดปัญหาอยู่เรื่อยไป
การจะมีจิตวิญญาณหรือโพธิจิตได้ ต้องเอาชนะความเห็นแก่ตัว หนึ่งในหลายวิธีคือ “การให้หรือการเสียสละ” จะเป็นสิ่งใดก็ได้ที่เป็นสิ่งดี มีประโยชน์ ซึ่งก่อคุณค่าต่อผู้อื่นและเชิดชูยกระดับจิตใจตนเอง “การแสวงหาความหมายและคุณค่า” คืออีกทางหนึ่งสู่การยกระดับจิต คุณค่านี้จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงที่สุด ไม่ว่าเราจะอยู่ระดับใดของชีวิต มักจะมีความหมายหรือคุณค่าบางอย่างที่เรานับถืออยู่ ความหมายหรือคุณค่าของชีวิตมนุษย์มีอยู่หลายชั้นตามช่วงวัยของชีวิต โพธิจิตก็เลื่อนชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่เรียกว่าคุณค่าสูงสุดหรือความหมายอันแท้จริงแห่งชีวิต และนอกจากนี้การที่มนุษย์มีธรรมชาติที่มักจะแสวงหา และมีสรรมถภาพที่ต้องการความก้าวหน้า ด้วยการก้าวพ้นจากจุดเดิมแล้วไปสู่จุดใหม่ “การพ้นไป” จึงเป็นวิถีหนึ่งสู่จิตสำนึกใหม่ได้ ซึ่งอาจต้องอาศัยคำเตือนหรือเสียงจากผู้อื่นที่เป็นกัลยาณมิตร ช่วยส่งเสริมชี้แนะแนวทางให้ปรากฏเร็วขึ้น

จากข้างต้นได้ทราบถึงสมบัติของความเป็นทั้งหมดแล้วว่าคือ การประกอบกันซึ่ง “ความงาม” ด้วยความเป็นทั้งหมดไม่แยกส่วน และ “มิติทางจิตวิญญาณ” การเข้าถึงและการเป็นหนึ่งเดียวกับความจริงของทั้งหมด จึงต้องทำให้องค์ประกอบความงามและมิติทางจิตวิญญาณมาประกอบกัน และบังเกิดแก่ตนให้ได้ จึงจะเกิดปัญญา ที่เรียกว่าเป็นสิ่งเดียวกันกับความเป็นอิสระ ความสงบ และความมีพลัง วิถีแห่งการเข้าถึงจึงคือ การการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน, การรู้เห็นธรรมชาติตามความเป็นจริง และการรู้ตัวเอง

“การเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน” คือการเรียนรู้จากธรรมชาติภายนอก (วัตถุ) อันประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนบุคคลที่เริ่มตั้งแต่ส่วนย่อยจากอะตอมไปจนถึงประกอบรวมกันเป็นอวัยวะ สมอง ร่างกายของแต่ละชีวิต และส่วนรวมที่เป็น จักรวาล โลก สิ่งแวดล้อมภายนอก และสังคม แล้วนำมาเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาสู่ธรรมชาติภายในตัว (จิต) ซึ่งประกอบด้วยจิตวิญญาณทั้งขั้นสูงและต่ำ และวิวัฒนาการของวัฒนธรรม ตลอดเวลา จนทำให้บรรลุความจริง ความงาม ความดี ความสุขและอิสระภาพ

การเรียนรู้ได้เป็นสิ่งประเสริฐสุดของมนุษย์ ดังนั้นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ต้องให้มนุษย์รู้เห็น และเข้าถึง “ความเป็นธรรมชาติตามความเป็นจริง” ซึ่งต้องประกอบไปกับ “การไม่รู้เห็นอย่างสั้น” จากการโดนหลอกด้วยประสบการณ์ และการเรียนรู้จาก “จิตที่เป็นกลาง” ไม่มีอคติ อันไม่บิดเบือนการรับรู้ความจริงตามธรรมชาติที่เป็นอยู่ จึงกล่าวได้ว่า การรู้เห็นเป็นส่วนๆ จะเรียกว่าเป็นเพียงความรู้ แต่หากรู้เห็นอย่างเชื่อมโยงจะเรียกว่า ปัญญา ดังนั้นเมื่อเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ด้วยปัญญาจะพบว่าสิ่งยิ่งใหญ่นี้ คือความเคลื่อนไหล เปลี่ยนแปลง หรืออนิจตา มิใช่ภาวะสถิต หรือตายตัว แต่เป็นไปด้วยความเชื่อมโยงที่เป็นปัจจัยต่อกันและกัน หรือเป็นกระแสของเหตุปัจจัยอันหนุนเนืองกันเป็นนิรันดรอย่างมีพลวัต

“การรู้ตนเอง” เป็นอีกทางหนึ่งแห่งวิถีสู่ความเป็นทั้งหมด แต่การเรียนในปัจจุบันเป็นการเอาวิชาของเรื่องภายนอกอย่างแยกส่วนเป็นตัวตั้ง มิได้เอาจิต ของผู้เรียนเป็นรากฐาน การเรียนในปัจจุบัน จึงรู้แต่เรื่องภายนอก แต่ไม่ทำให้รู้ตัวเอง จึงเกิดปัญหาและแก้ปัญหาไม่ได้ การฝึกให้รู้ตัวเอง จำเป็นต้องทำการเจริญสติคือ การระลึกรู้ ในแบบที่ “ขณะคิดจะไม่รู้ตัว ขณะรู้ตัวจะไม่คิด” ซึ่งการระลึกรู้นี้ไม่ได้แปลว่า จะฝึกมาไม่ให้คิดอะไรเลย แต่เพื่อให้สามารถควบคุมการคิดว่า เมื่อไรจะคิด เมื่อไรจะไม่คิด และคิดอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์

นอกจากนี้แล้วการเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งให้สมบูรณ์หรือตามความเป็นจริงให้มากขึ้น อาจอธิบายได้ด้วย “ทฤษฏีแห่งความซับซ้อน” ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 อันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้มองเห็นความเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ของสรรพสิ่ง โดยไม่ถูกปิดบังจากการสังเกตอย่างผิวเผิน ซึ่งลักษณะโดยทั่วไปของระบบซับซ้อนเกิดจาก การมีส่วนประกอบที่อาจแตกต่างกันมาประกอบรวมกัน ด้วยการมีปฏิกิริยาต่อกันในแต่ละส่วนแบบไม่เป็นเชิงเส้น ปฏิกิริยาระหว่างส่วนประกอบย่อยๆนี้ทำให้ระบบซับซ้อนมีพลวัตที่น่าสนใจและแตกต่างจากระบบที่ส่วนประกอบเหล่านั้นมาอยู่รวมกันแต่ไม่มีปฏิกิริยาต่อกัน และเมื่อส่วนประกอบแต่ละส่วนมามีปฏิกิริยาต่อกันแล้ว ผลของปฏิกิริยาจะทำให้เกิด “การผุดบังเกิด” ของแบบแผนหรือความสามารถต่างๆ ซึ่งทำให้ระบบรวมแตกต่างจากผลรวมของส่วนประกอบย่อยทั้งหมด การผุดบังเกิดนี้มักกลับมามีผลกระทบต่อส่วนประกอบย่อยนั้นๆ และยังทำให้ระบบซับซ้อนมีความต่อเนื่องเป็นระดับชั้นอีกด้วย

การเข้าใจและเข้าถึงความเป็นสรรพสิ่งจากวิถีการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตามความเป็นจริงของธรรมชาติและการรู้ตัวเอง อาจเป็นภาพที่เสมือนเป็นนามธรรม ที่หาใช่เป็นเพียงนามไม่ แต่มีรูปที่ปรากฏผลได้จริงหากน้อมนำเข้าสู่ภายในและยกระดับจิตตามคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่พึ่งมี “ความจริง ความงาม ความดี” แห่งสรรพสิ่งย่อมผุดบังเกิดแก่ตนในวันหนึ่ง

-----------------

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=nature-dialogue&date=15-01-2006&group=4&gblog=3 (http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=nature-dialogue&date=15-01-2006&group=4&gblog=3)