[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 26 กรกฎาคม 2553 14:51:01



หัวข้อ: เพชรตัดทำลายมายา : ดอกกุหลาบมิใช่ ดอกกุหลาบ วิภาษวิธีแห่งปรัชญาปารมิตา
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 26 กรกฎาคม 2553 14:51:01
[ โดย อ.มดเอ็กซ์ จากบอร์ดเก่า ]

(http://www.giacngo.vn/UserImages/1/2008/05/27/(2)tuong-nh.gif)
 
 
" ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า บุคคลเช่นนั้นไม่ยึดมั่นอยู่กับ
ความคิดเนื่องด้วยตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ เขาไม่ยึดมั่น
อยู่กับความคิดเกี่ยวกับธรรมและอธรรม ไม่ยึดมั่นว่านี่คือรูป
ลักษณะ นั่นมิใช่รูปลักษณะ เช่นนั้นเพราะเหตุใด ก็เพราะว่า
ถ้าบุคคลยึดมั่นอยู่กับความคิดเกี่ยวกับธรรม จิตบุคคลนั้นก็ยัง
ผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ ถ้าเขายึดมั่นอยู่กับ
ความคิดว่าไม่มีธรรม จิตของเขาก็ยังผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล
สัตวะ และชีวะอยู่ "


รูปลักษณะในที่นี้หมายถึงมโนทัศน์ เมื่อเราเกิดมโนทัศน์เกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง ภาพลักษณ์ ของสิ่งนั้นจะปรากฏอยู่ในมโนทัศน์ เช่นเมื่อเรามีมโนทัศน์เกี่ยวกับโต๊ะ เรานึกเห็นภาพลักษณ์ ของโต๊ะ แต่เราต้องจำไว้ว่ามโนทัศน์ของเราไม่ใช่สิ่งนั้น เป็นเพียงความจำได้หมายรู้ของเรา ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะแตกต่างจากโต๊ะมาก อย่างเช่นปลวกอาจมองโต๊ะว่าเป็นงานเลี้ยงสนุก นักฟิสิกส์อาจมองว่าเป็นมวลของอนุภาคซึ่งเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ส่วนพวกเราซึ่งอยู่บน เส้นทางการปฏิบัติพุทธธรรมนั้น เคยผ่านการฝึกมองอย่างลึกซึ้ง เราอาจมีทัศนะที่ผิดน้อยกว่า และความจำได้หมายรู้ของเราอาจเกือบ ๆ สมบูรณ์ใกล้เคียงความจริงมากกว่า แต่ก็ยังเป็น ความจำได้หมายรู้อยู่นั่นเอง

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว พุทธศาสนานิยามคำ ธรรม ว่าคือ ปรากกฏการณ์ใด ๆ ที่สามารถทรงลักษณะ เฉพาะตัวของมันไว้ ไม่ทำให้เข้าใจผิดไปว่าเป็นปรากฏการณ์อื่น ความโกรธ ความเศร้าหมอง ความวิตกกังวล หรือปรากฏการณ์ทางจิตทั้งหลาย เรียกว่า จิตธรรม โต๊ะ เก้าอี้ บ้าน ยอดเขา แม่น้ำ และปรากฏการณ์ทางกายภาพทั้งหลายเรียกว่า รูปธรรม ปรากฏการณ์ซึ่งไม่เป็นทั้ง ปรากฏการณ์กายภาพหรือปรากกการร์ทางจิต เช่น การได้ การเสีย ความเป็น ความไม่เป็น จัดว่าเป็น จิตวิประยุกตสังสการธรรม ปรากฏการณ์ซึ่งไม่ปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยใดเรียกว่า อสังสกฤตธรรม ( หรือภาษาบาลีเรียกว่า อสังขตธรรม )

พุทธศาสนาสำนักสรวาสติวาทินกล่าวว่า อวกาศเป็น อสังขตธรรม เพราะมีธรรมชาติอันไม่เกิด ไม่ตาย ไม่มีรูปปรุงแต่ง แต่นี่เป็นเพียงวิธียกตัวอย่างของพวกเขา แท้จริงแล้วอวกาศก็ประกอบ ด้วยสิ่งต่าง ๆ เช่น กาลเวลา และวิญญาณ ดังนั้นอวกาศจึงมิใช่ธรรมไร้ปัจจัยปรุงแต่งอย่างแท้ จริง สำนักสรวาสติวาทินเรียก " ความเป็นเช่นนั้น " ว่า เป็นธรรมไม่มีปัจจัยปรุงแต่งเหมือนกัน แต่ถ้ามองอย่างลึกซึ้งเราก็จะเห็นว่า มโนทัศน์ของ " ความเป็นเช่นนั้น " มีเพราะเรามีมโนทัศน์ ของ " ความไม่เป็นเช่นนั้น " ถ้าเราคิดว่าความเป็นเช่นนั้นแตกต่างจากธรรมอื่น ๆ ทั้งหมด มโนทัศน์ความเป็นเช่นนั้นของเราก็เกิดจากมโนทัศน์ความไม่เป็นเช่นนั้นนั่นเอง เมื่อมีข้างบน ย่อมมีข้างล่าง เมื่อมีข้างในย่อมมีข้างนอก เมื่อมีความถาวรย่อมมีความไม่ถาวร ตามกฏแห่ง ความสัมพันแล้ว ทัศนะทั้งหลายของเราถูกนิยามด้วยสิ่งตรงข้ามเสมอ

แต่ในวิภาษวิธีแห่งปรัชญาปารมิตา เราจำเป็นต้องพูดสิ่งตรงข้าม " เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่มันเป็น มันจึงเป็นอย่างที่มันเป็น " เมื่อเรามองเข้าไปในธรรมแล้วเห็นทุกสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม นั่นคือเราเริ่ม เห็นธรรมแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับธรรมมโนทัศน์ ( มโนทัศน์ว่ามีธรรม ) หรือแม้กับอธรรมมโนทัศน์ ( มโนทัศน์ว่าไม่มีธรรม )

อาตมายกตัวอย่างความคิดเกี่ยวกับอธรรม ( ความเชื่อว่าไม่มีธรรม ) มาอธิบาย ก็เพื่อช่วยให้ พวกเราก้าวพ้นจากความคิดเกี่ยวกับธรรม แต่ก็อย่าไปยึดมั่นอยู่กับอธรรมมโนทัศน์ เมื่อเห็น ดอกกุหลาบ เรารู้ว่าดอกกุหลาบคือธรรม การจะเลี่ยงไม่ให้หลงยึดอยู่กับมโนทัศน์ " กุหลาบ " เราต้องจำไว้เสมอว่า กุหลาบดอกนี้ไม่อาจมีชีวิตอยู่เดี่ยว ๆ ได้ มันไม่ได้เป็นชีวิตอิสระ หากแค่มีธาตุซึ่งไม่ใช่ดอกกุหลาบมาประกอบอยู่ด้วยกัน เรารู้ว่าดอกกุหลาบไม่ใช่ธรรม ที่แยกตัวออกมาโดด ๆ แต่เมื่อเราละทิ้งมโนทัศน์ที่ว่าดอกกุหลาบสามารถอยู่ได้อย่างอิสระ แล้ว เราก็อาจไปหลงยึดความคิดว่าไม่มีดอกกุหลาบได้อีก เราจึงต้องเป็นอิสระจากอธรรม มโนทัศน์ด้วย


(http://2.bp.blogspot.com/_1EcY2b8moTQ/Sjv0wgveURI/AAAAAAAAALU/k07e35TmSnw/s320/Thich_Nhat_Hanh_Postcard.jpg)


วิภาษวิธีแห่งปรัชญาปารมิตา มีอยู่ 3 ขั้นตอน

( 1 ) ดอกกุหลาบ
( 2 ) ไม่ใช่ดอกกุหลาบ
( 3 ) นั่นคือดอกกุหลาบ



ดอกกุหลาบ ในขั้นที่สามแตกต่างจาก ดอกกุหลาบ ในขั้นแรกอย่างมาก คำพูดว่า " ว่างจากความว่าง " ( สุญญตา ) ในคำสอนของปรัชญาปารมิตาสูตรมุ่งหมายที่จะช่วยเรา ให้พ้นจากมโนทัศนืของความว่าง ก่อนปฏิบัติจิตภาวนา เราเห็นภูเขาว่าเป็นภูเขา พอเริ่มปฏิบัติ เราเห็นภูเขาว่าไม่ใช่ภูเขาอีกแล้ว เมื่อปฏิบัติไปสักระยะหนึ่ง เราจะเห็น ภูเขากลับเป็นภูเขาอีก แต่ตอนนี้ภูเขาเป็นอิสระยิ่ง จิตเรายังอยู่กับภูเขาแต่ไม่ผูกพันธ์ กับสิ่งใด ภูเขาในขั้นที่สามไม่เหมือนกับภูเขาในขั้นแรก ในขั้นที่สามภูเขาเปิดเผยตัว อย่างอิสระ เราเรียกภาวะนี้ว่า " ความเป็นที่แท้จริง " ซึ่งพ้นไปจากความเป็นและไม่เป็น ภูเขายังอยู่ตรงนั้นเผยตัวอย่างพิเศษยิ่ง แต่ไม่ใช่ในฐานะเป็นมายา เมื่อพระพุทธเจ้า เห็นดอกกุหลาบ ดอกกุหลาบที่พระองค์ทรงเห็นคือความอัศจรรย์ เป็นดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นอยู่แท้จริง แต่ดอกกุหลาบที่เธอกับอาตมาเห็นอาจเป็นตัวตนดอกกุหลาในความ นึกคิด คำว่าความว่างในวรรณกรรมปรัชญาปารมิตานั้นลึกซึ้งยิ่งนัก พ้นไปจากโลกมายา แห่งความเป็นและความไม่เป็น ใช่และไม่ใช่ เรียกว่า " ความว่างที่แท้ " ความว่างที่แท้ ไม่ใช่ความว่าง ความว่างที่แท้คือความเป็นที่แท้จริง

เมื่อเราอยู่ในโลกแห่งทวิลักษณ์ เราจึงติดอยู่ในเงื่อนไขปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเพื่ออาตมา กล่าวว่า " เพื่อนของผมเสียชีวิต " แล้วเราร้องไห้ เราเป็นทาสอยู่ในโลกของการมา และการไป โลกแห่งปัจจัยปรุงแต่งย่อมเต็มไปด้วยทัศนะผิด ๆ ด้วยการฝึกมองให้ ลึกซึ้งเข้าไปในธรรมชาติของสรรพสิ่งเท่านั้น เราจึงจะเป็นอิสระจากมโนทัศน์ของ ไป-มา มีอยู่-ไม่มีอยู่ เกิด-ตาย หนึ่งเดียว - มากมาย ข้างบน-ข้างล่าง เหล่านี้ล้วน หายไป เมื่อเราเป็นอิสระแล้ว โลกนี้ก็ยังมีอยู่ในตัวเราและรอบตัวเรา แต่ตอนนี้โลก นั้นได้กลายเป็นโลกของความว่างที่แท้ไปแล้ว หลักการณ์เกี่ยวกับรูปลักษณะเปรียบได้ กับยอดของต้นไม้ ส่วนโลกของความเป็นที่แท้จริงคือราก หลักการณ์เกี่ยวกับรูปลักษณะ เป็นมูลฐานของมโนทัศน์เกี่ยวกับตัวตน ดังนั้นเราจึงต้องฝ่าทั้งตาข่ายธรรมและตาข่าย อธรรม ไปให้พ้นจากความสำคัญมั่นหมายและความไม่สำคัญมั่นหมาย


(http://pasadenanow.com/main/wp-content/uploads/2009/08/monk.jpg)


" ฉะนั้นบุคคลจึงไม่พึงยึดถือผูกพันอยู่กับธรรมหรือคิดว่าหรือคิดว่าธรรม
เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ นี่คือนัยยะความหมายเมื่อตถาคตกล่าวว่า ' ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายพึงกำหนดรู้ ว่า ธรรมที่เราตรัสแสดงมีอุปมาดังพ่วงแพ '
แม้สิ่งที่ตถาคตสอนก็ต้องละเสีย จักกล่าวไปใยถึงสิ่งที่ไม่ได้กล่าวเทศนา "


ประโยคแรกหมายความว่า เราไม่ควรยึดถืออยู่กับความเป็นความไม่เป็น เพราะทั้งเป็น และไม่เป็นล้วนเป็นมายา เมื่อเราไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดผิด ๆ เหล่านี้ เราก็จะลุถึงฝั่ง อันอัศจรรย์ของโลกแห่งความว่างที่แท้จริง

ตรงนี้ วัชรสูตร ได้กล่าวย้ำสิ่งที่กล่าวไว้ใน " อลคัททูปสูตร " ( สูตรที่เปรียบการศึกษา เหมือนงูพิษ ) พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในพระสูตรหลังนี้ว่า คำสอนของพระองคืเปรียบ เหมือนลำแพที่เราต้องสละเมื่อข้ามไปถึงฝั่งแล้ว คำว่า " นัยยะความหมาย " พบเฉพาะ พระสูตรภาษาสันสกฤต ไม่พบในฉบับภาษาจีน เมื่อพระพุทธองค์ประทานพระธรรมเทศนา เป็นไปได้ว่าผู้ฟังอาจยึดมั่นอยู่กับคำสอนทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นและไม่เหมาะที่จะทำอย่างนั้น การฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกับการจับงูพิษ ถ้าเธอไม่รู้วิธี เธออาจจับ ส่วนหางก่อน งูก็จะแว้งกัดเอาได้ ถ้าเธอรู้วิธีจับงู เธอต้องใช้ไม้ง่ามตรึงตัวมันไว้ แล้วจึง จับคอมัน อย่างนี้แล้วงูก็ไม่อาจกัดเธอได้ คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ทำนองเดียวกัน ถ้าไม่ชำนาญพอเธออาจเจ็บตัว เธอต้องระวังอย่าไปยึดติดออยู่กับคำสอน ความคิดเกี่ยว กับความว่าง ความไม่เที่ยง ความไม่มีตัวตน ล้วนเกื้อกูลให้ประโยชน์ แต่ถ้าเธอนำมาใช้ อย่างไม่เข้าใจลึกซึ้งแจ่มแจ้ง เธออาจเกิดทุกข์และทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้ด้วย


คัดบางส่วนจาก เพชรตัดทำลายมายา ของท่าน ติช นัท ฮัน

จาก

http://board.agalico.com/forumdisplay.php?f=169 (http://board.agalico.com/forumdisplay.php?f=169)