[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => สมถภาวนา - อภิญญาจิต => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 27 กรกฎาคม 2553 13:49:31



หัวข้อ: ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนศีล ๕ พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 27 กรกฎาคม 2553 13:49:31
[ โดย อ.แป๋ม จากบอร์ดเก่า ]



(http://forums.212cafe.com/uploads/2009Dec29/boxser-1262056382-124-121-26-179.jpg)

ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนศีล ๕


พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนศีล๕


ในเมื่อเรามาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่ง ก็หมายความว่าเราจะรับเอาพระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา
สมมติว่าพระพุทธรูปท่านพูดได้เราปฏิญาณตนว่า


"พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก"
ถ้าพระพุทธเจ้าท่านพูดได้….. "เธอจะเอาจริงไหม"

ถ้าเราตอบท่านว่า "เอาจริง"
"เอาจริงแล้วปฏิบัติตามคำสั่งของเราได้ไหม"

"คำสั่งของพระองค์ท่านคืออะไร"
"ศีล ๕ ประการนั้นอย่างไร"

"โอ๊ย! ปฏิบัติไม่ได้แล้ว มันยาก"
"ช่วยไม่ได้" พระองค์จะบอกเราอย่างนี้


ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่า ศีล ๕ข้อนี้เป็นหลักธรรมที่เป็นข้อมูล เป็นจุดเริ่มแห่งการกระทำที่เป็นความดีในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า
ธรรมทั้งหลายที่กล่าวอยู่นั้นมันเป็นธรรมะกลาง ๆ หลักปฏิบัติสมาธิภาวนาก็เป็นหลักกลาง ๆไม่สังกัดในลัทธิและศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าศีล ๕ข้อนี่มันเป็นบทบัญญัติที่พระพุทธเจ้ายอมรับ ยอมรับเอามาสมทบกับหลักคำสอน
ศีล ๕ประการนี้ พระเจ้าองค์ใดบัญญัติไว้เราก็ไม่ทราบได้ยินแต่ว่าเป็นมนุษยธรรมไม่ได้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เรารับทราบกันเพียงว่าเป็นมนุษยธรรมเพราะเป็นธรรมที่ไม่เคยสาบสูญไปจากโลก


ศีล ๕คือจุดกำเนิดของความดีทั้งปวง

…ผู้ใดปฏิบัติธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาให้เกิดผลเกิดประโยชน์ทางมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง ขอให้ยึดมั่นในศีล ๕ ประการเมื่อท่านมีศีล ๕ ข้อนี้โดยบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้วความเป็นมนุษย์ของท่านสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม
เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจะปลูกฝังคุณความดีอันใดลงไป คุณความดีอันนั้นก็จะฝังแน่นในกาย ในวาจาและใจของท่าน


สงครามที่มีการประหัตประหารซึ่งกันและกันด้วยอาวุธระเบิด


ศีล ๕ ป้องกันการฆ่า

…การรักษาศีล ๕เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ฆ่ากัน เราพยายามฆ่าเขา เขาต้องพยายามฆ่าเราตอบ
ถ้าสมมติว่าเราไปฆ่าพ่อฆ่าแม่เขาตาย ลูกเต้าหลานเหลนเขามี เขาก็ผูกพยาบาทอาฆาตพยายามแก้แค้น เพราะ

- ปาณาติบาตการฆ่าเป็นเหตุให้เกิดการอาฆาตจองเวรและเป็นเหตุให้มนุษย์เกิดมีการฆ่ากัน
- อทินนาทาน เบียดเบียนทรัพย์สมบัติของท่าน ท่านโกรธท่านก็ฆ่าเอา
- กาเมสุมิจฉาจาร ข่มเหงน้ำใจท่าน ท่านโกรธ ท่านก็ฆ่าเอา
- สุรามัวเมามอมเมาตัวเองคุมสติไม่อยู่ เดี๋ยวก็ทะเลาะเบาะแว้งกันแล้วก็ได้ฆ่ากัน

…ถ้าหากว่าใครไม่สามารถที่จะรักษาศีล ๕ ได้ตลอดถึงสัตว์เดรัจฉาน ไม่ต้องหนักใจตั้งใจกันเอาอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ฉันจะไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหงไม่รังแก ใครมีความจำเป็นจะฆ่าเป็ดฆ่าไก่แกงกินเชิญตามสบายแต่ว่ามนุษย์อย่าไปแตะต้องในเมื่อเราปรับพื้นฐานรักษาในระดับมนุษย์ให้มีพื้นฐานอันมั่นคงจนรู้สึกว่ามนุษย์นี้เราแตะต้องไม่ได้ ฆ่าไม่ได้ เบียดเบียนไม่ได้ความเมตตาปราณีมันจะเพิ่มพลังงานขึ้น ในที่สุดมันจะแผ่คลุมไปถึงสัตว์เดรัจฉานเองแล้วสัตว์เดรัจฉานเราก็จะฆ่าไม่ได้ นี่ความเป็นไปของมันจะเป็นอย่างนี้ เช่นอย่างนักรักษาศีลบางคน แม้แต่มดแมงก็ไม่ฆ่า แต่โมโหมาจับปืนยิงเพื่อนมนุษย์อะไรทำนองนี้แสดงว่าเราปูพื้นฐานในระดับมนุษย์ไม่สมบูรณ์


ตัดกรรมตัดเวรด้วยศีล ๕

การทำบาปทำกรรมสิ่งที่เรียกว่าเป็นบาป การกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา โดยมีใจเป็นผู้เจตนาคือมีความตั้งใจทำลงไปแล้วเป็นบาปทันที มีแต่ละเมิดศีล ๕ ข้อเท่านั้นนอกนั้นไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นใครรักษาศีล ๕ ให้ บริสุทธิ์บริบูรณ์จึงเป็นการตัดทอนผลเพิ่มของบาปกรรม

…พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ใครทำกรรมใดไว้ได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปทำพิธีตัดกรรมก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า กรรมใดใครก่อลงไปแล้วใจเป็นผู้จงใจคือเจตนาที่ทำลงไป พอทำลงไปแล้วกรรมอันเป็นบาปภายหลังมาเรามานึกว่าเราไม่ต้องการผลของบาป มันก็หลีกเลี่ยงปฏิเสธไม่ได้เพราะใจเป็นผู้สั่งให้ กาย วาจา ทำลงไป พูดลงไปใจตัวนี้ต้องรับผิดชอบโดยความเป็นธรรม โดยหลักของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการที่เราจะไปทำพิธีตัดกรรมนี่หมายถึงตัดผลของบาป มันตัดไม่ได้ อย่าไปเข้าใจผิดขอให้พุทธบริษัททั้งหลายจงปลูกฝังนิสัยให้เด็กของเราในข้อนี้เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่สุด ถ้าเด็ก ๆของเรานี่ไปเข้าใจว่าทำบาปทำกรรมแล้วไปทำพิธีล้างบาปทำพิธีตัดกรรม แล้วมันหมดบาปประเดี๋ยวเด็ก ๆ มันทำบาปแล้วไปหาหลวงพ่อ หลวงพี่ ตัดบาปตัดกรรมให้มันก็ไม่เกิดความกลัวต่อบาป เพราะฉะนั้นอย่าไปเข้าใจผิดว่าทำกรรมอันเป็นบาปแล้วตัดกรรมให้มันหมดไป มันเป็นไปไม่ได้แต่ตัดเวรนี่มีทาง

…เวรหมายถึง การผูกพยาบาทอาฆาต คอยแก้แค้นกันอยู่ตลอดเวลาเช่นอย่างเราฆ่าเขาตาย บางทีนึกถึงบาปกรรมกลัวว่าเขาจะอาฆาตจองเวรเราทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา ถ้าหากว่าเขาได้รับส่วนกุศลจากเรา เขาได้รับความสุขเขาเลื่อนฐานะจากภาวะที่ทุกข์ทรมานไปสู่ฐานะที่มีความสุข เขานึกถึงคุณงามความดีถึงบุญถึงคุณของเรา เขาก็อโหสิกรรมให้แก่เรา ไม่ตามล้างตามผลาญกันอีกต่อไปอันนี้ตัดเวรนี่ตัดได้


ใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรมด้วยศีล๕…

หลวงพ่อ หลวงพี่ทั้งหลายท่านไปเที่ยวสอนคนไปเทศน์ที่ไหน ก็บอกว่า โยมละโลภ โกรธ หลง ให้มาก ๆ หน่อยนะ ละให้มันหมด อย่าโลภมากหลายแต่อาตมาพิจารณาดูแล้ว พยายามละกิเลส โลภ โกรธ หลง มาแต่อายุ ๑๔ ปี เดี๋ยวนี้๗๐ ปีย่างแล้ว ยังมีโลภอยู่ สิ่งที่ยังโลภอยู่เวลานี้ โลภใหญ่ที่สุดก็คืออยากให้วัดวาศาสนาเจริญ อยากให้คณะสงฆ์มีทุนการศึกษาปริยัติธรรมและการเผยแพร่อยากให้โรงพยาบาลมีเครื่องมือเครื่องใช้ครบ ล้วนเป็นกิริยาของความโลภทั้งนั้นความโลภนี้ จริงอยู่ มันเป็นกิเลสประเภทอกุศลมูลแต่เมื่อมันมีอยู่ในจิตในใจของเรานี่ เราพยายามละอย่างไรมันก็ละไม่ได้มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปอาบน้ำฟอกสบู่ให้มันสะอาดเหมือนร่างกายที่มีขี้โคลนเปรอะเปื้อนมันทำอย่างนั้นไม่ได้
…เมื่อมันมี แล้วเรายอมรับสภาพความจริงว่าเรามี… เราลองพิจารณาคุณประโยชน์ของมัน คนอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น เพราะมีความโลภถ้าคนหมดความโลภแล้ว จะไม่รู้จักทำอะไรเอาไว้ให้มันกระตุ้นเตือนใจให้เกิดความทะเยอทะยาน

…สิ่งปรารถนาในสังคมมนุษย์มี๕ อย่าง : ความมีลาภ ความมียศ สรรเสริญ ความสุข อำนาจห้าอย่างนี้ทุกคนปรารถนาและทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสวงหาด้วยกันทั้งนั้นแต่ว่าการแสวงหานี่ควรจะมีขอบเขต ขอบเขตก็คือศีล ๕ นั่นเองเราทำอะไรลงไปด้วยอำนาจของกิเลส โลภ โกรธ หลง แต่ว่าเราไม่ละเมิดศีล ๕ข้อใดข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตำหนิว่าเราเป็นผู้ทำผิด




ศีล ๕ปรับพื้นฐานความเป็นมนุษย์

เราทั้งหลายที่พากันนึกภูมิใจว่าเราเป็นมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง มีความเห็นเข้าข้างตนเอง เห็นว่าเรามีขา ๒ ขา หัวชี้ฟ้าพูดได้ มีความคิดสูง ว่าเราเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เราพิจารณาตามหลักดูว่า…
ขณะใดเรามีจิตใจเมตตาปรานี เอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารี
ขณะนั้น ใจเราเป็นมนุษย์กายเราก็เป็นมนุษย์
ขณะใดใจมีหิริโอตตัปปะ อายต่อบาป สะดุ้งกลัวต่อบาปไม่อาจทำบาปทั้งในที่
ลับและที่แจ้ง
ขณะนั้น กายเราเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเทวดา
ขณะใดที่ใจของเรามันเกิดโหดเหี้้ยมขึ้นมา… อยากฆ่าใคร ฆ่าอยากด่าใคร ด่า
อยากตีใคร ตี…
ในขณะนั้น กายของเราเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ขณะใดที่เราเกิดความเหนื่อยหน่ายท้อแท้ไม่เอาไหนประโยชน์ตนไม่คำนึงถึง
ประโยชน์ท่านก็ไม่เอาปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยไปโดยไม่มีประโยชน์อันใด
ขณะนั้น กายของเราเป็นมนุษย์แต่ใจของเราเป็นเปรต
ขณะที่เรามีความรู้สึกสำนึกผิดชอบ ชั่วดี มีจิตใจรู้ ตื่นเบิกบาน สว่าง สะอาด
ในขณะนั้น กายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราเป็นพระสงฆ์ถ้าสำเร็จเป็นอรหันต์ ก็เป็นพระอริยเจ้า
…นี่คือการพิจารณาตัวเองอยู่กันที่ตรงนี้



ศีล ๕ปูพื้นฐานการปกครองแบบประชาธิปไตย

…หัวใจของประชาธิปไตยอยู่ที่การเคารพสิทธิมนุษยชนผู้มีศีล ๕ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ก็เป็นผู้เคารพทุกสิทธิแม้สิทธิในความมีชีวิตอยู่ของมด แมง เหลือบ ยุง เราก็เคารพเขา เพราะฉะนั้น ศีล ๕จึงเป็นธรรมะที่เป็นมูลฐานให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยนักกฎหมายลองเอาไปวินิจฉัยลองดูว่าเป็นจริงไหม


สมาธิต้องอาศัยศีล

…การปฏิบัติธรรมนี้ ต้องพยายามปรุงแต่งกายวาจาให้เป็นศีลโดยเจตนาเบื้องต้นก่อน แล้วพยายามฝึกหัดจิตให้มีความมั่นคงเป็นปกติสามารถสร้างความเป็นปกติจิตขึ้นมาได้ กลายเป็น ศีลใจ ในเมื่อศีลใจบังเกิดขึ้นศีลกาย ศีลวาจา ก็พลอยเป็นปกติไปด้วย โดยที่เราไม่ต้องควบคุมและบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น
…การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่ความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ นักภาวนาที่ไม่ค่อยได้ผลหรือจิตสงบลงไปแล้วไปนิ่งซีด ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่มีน้ำมีนวล เพราะศีลไม่บริสุทธิ์ถ้าใครเจอปัญหาอย่างนี้ให้รีบพิจารณาศีลของตนเอง
…สมาธิที่มีศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัย มิจฉาสมาธิเข้ามาแทรกไม่ได้แม้แต่จิตสงบสว่างลงไปแล้วมองเห็นภาพนิมิตต่าง ๆผู้ภาวนาเพราะอาศัยศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัยจะไม่เข้าใจผิดในนิมิตนั้น ๆ
…แม้จะเป็นนิมิตภาพผู้วิเศษ ภูติ ผี ปีศาจ ตามที่เราเข้าใจหรือใคร ๆอาจชักจูงให้เราเข้าใจผิด เราจะไม่เข้าใจผิด แต่จะเข้าใจว่า ภาพนิมิตต่าง ๆที่มองเห็นนั้นเป็นแต่เพียงอารมณ์จิต เป็นมโนภาพที่จิตของเราปรุงแต่งขึ้นมาแล้วจะมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทัน ไม่หลงยึดในสิ่งเหล่านั้น…
การภาวนาเห็นภาพนิมิตต่าง ๆ นี้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เพียงพอ หรือรู้ไม่ทันอันตราย


ศีลของจิตคือสติสัมปชัญญะ

…กฎเกณฑ์ตั้งแต่ศีล ๕ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นวิธีการ เวลาท่านเรียงลำดับท่านยกศีลไว้ในเบื้องต้นเพราะว่า ศีลเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องละวางโดยเจตนา… เมื่อเรารักษากาย วาจา ให้เรียบร้อยเป็นปกติ กายปกติ วาจาปกติ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยหนุนเนื่องให้จิตมีความเป็นปกติ เมื่อจิตเป็นปกติ ศีลก็วิ่งไปสู่จิตจิตจะปรากฏเหลือแต่สติวินโยตัวเดียว คือมีสติเป็นผู้นำมีความสำนึกผิดชอบชั่วดีอยู่ตลอดเวลา เป็นสัญญลักษณ์ให้เรารู้ตัวว่า พุทธะกำลังเกิดขึ้นที่จิตของเราเมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะควบคุมกันอยู่ตลอดเวลาสำนึกรู้พร้อมอยู่ตลอดเวลา บางครั้งบางโอกาสจิตจะวิ่งไปสู่ความสงบนิ่ง รู้ ตื่นเบิกบาน มีปีติ มีความสุข ก็กลายเป็นจิตพุทธะ แล้วการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาปฏิบัติไปแล้ว สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี กลายเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศีลอย่างมั่นคง


ฝึกสติเพื่อสร้างจิตให้เป็นพุทธะ

เพียงแต่เราทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอนรับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ไม่ต้องไปนั่งสมาธิหลับตาภาวนากันที่ไหนไม่ต้องเข้าห้องกรรมฐาน ๗ วัน ๑๕ วันไม่ต้องสละงานในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบอยู่ไปสู่สถานที่วิเวกแห่งใด… เมื่อเราพยายามฝึกหัดทำสมาธิแบบนี้ เราจะไม่พบอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติและเราไม่ต้องเลือกกาล เลือกเวลา ไม่ต้องอ้างโน่นอ้างนี่ว่าเราไม่มีเวลาจะทำ…
…ในหลักมหาสติปัฏฐานท่านสอนว่า การก้าวไปก็รู้ การถอยกลับก็รู้การคู้แขนเหยียดแขนก็รู้… เอาตัวรู้ตัวเดียวตามรู้ เมื่อสติสัมปชัญญะทรงพลังขึ้นตัวรู้ที่เราตกแต่งเอานี้จะกลายเป็นอัตโนมัติสามารถที่จะตามรู้ความรู้สึกนึกคิดและความเคลื่อนไหวของเราเองทุกขณะจิตเมื่อตัวรู้นี้มีพลังแก่กล้าขึ้นจิตสามารถที่จะมีสติตามรู้ทุกอย่างอันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอยู่ทุกขณะจิตเมื่อเป็นเช่นนั้นโอกาสที่จิตจะสงบลงเป็นสมาธิย่อมมีได้ในโอกาสใดโอกาสหนึ่ง



…พยายามกำหนดพิจารณารู้เรื่องของจิตของกายนี้ให้รู้ชัดเจนลงไปอย่ามัวแต่มุ่งที่จะรู้โลกหน้าโลกอื่น รู้แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรถ้าภาวนาไปแล้วไปเห็นเทวดา ๆ เขาก็ไม่มาช่วยขัดกิเลสให้เราหรอกถ้าภาวนาแล้วไปเห็นนรก เราจะเอาน้ำทองแดงในหม้อนรกมาชำระล้างกิเลสก็เป็นไปไม่ได้เห็นพระอินทร์ พระพรหมท่านก็ช่วยอะไรเราไม่ได้การปฏิบัติธรรมตามแนวพระพุทธเจ้าที่ถูกต้องอยู่ที่การสร้างจิตของตัวเองให้มีพลังเข้มแข็ง มีสติสัมปชัญญะรู้รอบอยู่ที่ตัวเองสามารถยืนหยัดอยู่ในความเป็นอิสระได้ตลอดกาล ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร พุทโธ ธัมโมสังโฆ หรืออารมณ์ที่กำหนดรู้เป็นแต่เพียงสื่อนำจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีสติปัญญาเมื่อเรามีสมาธิ มีสติปัญญาแก่กล้าแล้ว คำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆหรือสิ่งที่กำหนดเหล่านั้นไม่มีความหมายเรามากำหนดหมายเอาเฉพาะแต่สิ่งที่มาสัมผัสรู้กับจิต แล้วสติรู้ทันในขณะปัจจุบันนี่เป็นเรื่องสำคัญ



ผลเบื้องต้น

…แม้ว่าใครภาวนาแล้วจิตไม่สงบเป็นสมาธิไม่ได้ญาณไม่ได้ฌานอย่างที่ท่านว่าก็ตามแม้ไม่รู้เห็นอะไรก็ตามแต่ให้สังเกตดูสติของเรานี้มันดีขึ้นกว่าที่เราไม่เคยภาวนาไหมถ้าสังเกตดูสติ เมื่อเรามีความคิดอะไรแล้วสติมันโผล่ขึ้นมา คิดอะไรมันตามรู้ไป ๆเมื่อพูดมันไปจ้องอยู่กับคำพูด เมื่อคิดมันไปจ้องอยู่กับความคิดเมื่อทำงานมันไปจ้องอยู่กับงาน เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจิตสามารถมีสติปัญญาแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้ทันท่วงทีเมื่อมีปัญหาชีวิตประจำวันมันแก้ได้ เมื่อมีปัญหาการงานมันแก้ได้ ขอให้สังเกตดูถ้าได้อย่างนี้แล้ว แม้ว่าจิตจะยังไม่สงบเป็นสมาธิเท่าที่ควรก็ตามถือว่าเป็นการปฏิบัติได้ผล


ผลบั้นปลาย

…ขณะใดที่เราสามารถฝึกอบรมจิตใจของเราให้มีสติสัมปชัญญะกลายเป็นตัวปกติเด่นชัดอยู่ภายในเมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นรู้ รู้แล้วจักปล่อยวาง มีสติสัมปชัญญะมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในกฎธรรมชาติ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาปล่อยวางจิตเป็นกลางโดยปกติ เป็นกลางโดยเที่ยงธรรม สิ่งใดเกิดขึ้นดับไปภายในจิตสักแต่ว่ารับรู้ รู้แล้วก็ปล่อยวางไป เพราะอาศัยความที่จิตมีสติสัมปชัญญะเข้มแข็งสามารถปรุงจิตให้มีพลังงานดำรงตัวเด่นอยู่โดยความเป็นอิสระไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งใด เมื่อเป็นเช่นนั้น นิโรธธรรมชาติของจริงฝ่ายคุณธรรมที่เราปฏิบัติถึงย่อมปรากฏเด่นชัดขึ้นมาเมื่อจิตเป็นปกติ ไม่หวั่นไหวต่อกิเลสและอารมณ์ มีแต่ความปกติ รู้ ตื่นเบิกบานอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนน้ำในท้องทะเลหรือน้ำในขัน ในตุ่มที่ไม่กระเพื่อมมีแต่นิ่งปราศจากคลื่นฟอง แม้น้ำจะลึกแสนลึกแต่เราสามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในใต้ท้องทะเลหรือก้นตุ่ม ก้นขันได้อย่างถนัดแม้จะมองดูเงาหน้าของเราก็มองเห็นได้ชัดเจน

เมื่อจิตของเราเป็นปกติ นิ่งไม่กระเพื่อม รู้ ตื่น เบิกบานเป็นปกติ เราก็สามารถมองเห็นสภาพความจริงภายในจิตเปรียบเหมือนมองเห็นเงาหน้าของตัวเอง นอกจากจะมองเห็นเงาหน้าของตัวเองแล้วยังมองเห็นช่องทางที่จะดำเนินชีวิตไปเพื่อปฏิบัติดำเนินชีวิตไปสู่แนวทางแห่งการบรรลุมรรค ผล นิพพานหรือการพ้นทุกข์ซึ่งเรียกว่า มัคคปฏิปทา ย่อมปรากฏเด่นชัดขึ้นนี่คือกฎธรรมชาติฝ่ายดี ซึ่งเกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราอบรมแล้ว



(http://www.dokmaithai.com/Thienpae2.jpg)
พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา



ภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต

ที่มา : agalico.com / palungjit.com

Credit by : http://bossxiii.exteen.com/20080808/entry (http://bossxiii.exteen.com/20080808/entry)

ขอบพระคุณที่มาทั้งหมดมากมาย
อนุโมทนาสาธุธรรมค่ะ