[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะจากพระอาจารย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: Compatable ที่ 21 มีนาคม 2556 11:56:28



หัวข้อ: สติ พระธรรมเทศนาของ หลวงปู่ขาว อนาลโย
เริ่มหัวข้อโดย: Compatable ที่ 21 มีนาคม 2556 11:56:28
สติ

(http://www.trueplookpanya.com/data/product/uploads/other5/NORMAL2.JPG)

พระธรรมเทศนาของ หลวงปู่ขาว อนาลโย

วัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี

เมษายน ๒๕๑๑



การฟังธรรมก็เหมือนกับการประกอบทัพสัมภาระคือเตรียมเครื่องสัมภาระทั้งหลายเพื่อจะลงมือทำการทำงาน ครั้นเตรียมมาแล้วเครื่องกลเครื่องไกอะไรก็ดีถ้าไม่ทำก็ขึ้นขี้สนิมเปล่า ๆ ฉันใดก็ดี การสดับตรับฟังโอวาทคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นกันพระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทางให้เท่านั้นแหละ พวกเราครั้นเชื่อต่อคำสอนของพระองค์แล้ว เป็นผู้ลงมือดำเนินการ เราเองจะทำด้วยตนเอง เพราะเหตุนั้นจะว่าโดยย่อ ๆ เท่านั้น อาตมาไม่มีคำพูดหลาย เพราะอยู่ป่าอยู่ดง จะว่าให้ฟังย่อ ๆ พอเป็นหลักดำเนินปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย

ศาสนาคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อยู่ในตู้ตั้งอยู่ในที่ต่าง ๆ หรือบนใบลานนั้นน่ะก็ดี อันนั้นเป็นเครื่องบอกทางที่จะดำเนินตาม ต้นธรรมแท้ ๆของพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่จำเพาะใคร จำเพาะเรา แก่นของธรรมแท้ ๆ อยู่ที่สติ ให้พากันหัดทำสติให้ดี ให้สำเหนียก ให้แก่กล้า สติทำเท่าไรไม่ผิด สตินี่ ทำให้มันมีกำลังดีแล้ว จิตมันจึงจะล่วง เพราะสติคุ้มครองจิต

ตัวสติก็คือจิตนั่นแหละ แต่ว่าลุ่มลึกกว่า ครั้นใจนึกขึ้นจึงเป็นตัวสติ ก็ใจนั่นแหละเป็นผู้นึกขึ้น เรียกว่าตัวสติ ถ้ารู้นึกขึ้นนั้นแหละสติตัวสติก็เป็นใจ อันเดียวกันนั่นแหละ

เพราะเหตุนั้นพวกเราควรอบรมสติ ครั้นทำสติให้มีแก่กล้า ทำให้มันดีแล้ว ไม่มีพลาด ทำก็ไม่พลาด พูดก็ไม่พลาดคิดก็ไม่พลาด ย่อมถูกไม่ผิด เพราะการทำเอาเอง

ธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์อยู่กับสติอันเดียว พระพุทธเจ้าว่าแล้วในพระโอวาทปาฏิโมกข์ไม่ใช่หรือ บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวอยู่บนพื้นปถพี รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายไปลงอยู่ในรอยเท้าช้างอันเดียว มีรอยเท้าช้างเป็นใหญ่กว่าเขาเสียหมด ฉันใดก็ดี ธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นอยู่ที่สติ





หัวข้อ: Re: สติ พระธรรมเทศนาของ หลวงปู่ขาว อนาลโย
เริ่มหัวข้อโดย: Compatable ที่ 21 มีนาคม 2556 11:56:39
กุศลและธรรมทั้งหลาย คุณงามความดีทั้งหลาย จะเกิดขึ้นเพราะบุคคลอยู่กับสติอย่างเดียว บุญกุศลเค้ามูลกุศลทั้งหลายมาสโมสรมารวมอยู่ในสติ สติเป็นใหญ่ เพราะเหตุนั้นพึงรู้อย่างนี้ว่าสติเป็นแก่นธรรม แก่นธรรมมีอยู่สำหรับทุกคน พุทโธมีอยู่ทุกคนทีเดียว พุทธะผู้ตรัสรู้ของจริงนั้น ผู้จะรู้เท่าความจริงทั้งหลายมีอยู่ทุกรูปทุกนามแต่ว่าเรามันหลง จิตของเราเปรียบอุปมาเด็กอ่อนแอทีเดียว เพราะเหตุนั้นแหละ สติเปรียบเหมือนพี่เลี้ยงก็เจ้าของของจิตนั่นแหละ เมื่อมันนึกขึ้นก็แม่น ( = คือ) สตินี่แหละ

สตินั่นอบรมจิต ครั้นอบรมจนจิตรู้เท่าตามความเป็นจริงแล้ว มันจึงหายความหลงพบความสว่าง ความหลงนั้นก็คือไม่มีสติ ครั้นมีสติคุ้มครอง หัดไปจนมันแน่วแน่แล้ว ให้มันแม่นยำให้มันสำเหนียกแล้ว มันก็จะรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง

สติเป็นเครื่องตี คือตีสนิมของจิต ดวงจิตมีความหลงเรียกว่าอวิชชา จิตนั่นแหละมันหลง ความหลงคืออวิชชา ขี้สนิมมันก็อยู่กับอวิชชา คือที่มันหลงนั้นขี้สนิมโอบมัน แต่ก่อนจิตผ่องใส พระพุทธเจ้าจึงว่า จิตเดิมธรรมชาติเลื่อมประภัสสร แต่อาศัยอาคันตุกะกิเลส คือ รูป เสียงกลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั้งหลายเข้ามาสัมผัสแล้ว มันจึงหลงไปตาม จึงเป็นเหตุให้จิตนั้นเศร้าหมองขุ่นมัวจึงไม่รู้เท่าตามความเป็นจริงไป

ปัจจัยของอวิชชาความโง่เหมือนกันกับเหล็ก เหล็กนั้นมันก็ดี ๆ อยู่นั่นแหละแต่สนิมก็เกิดขึ้นในเหล็กนั่นเอง เมื่อเขาตีสนิมออกแล้วจึงเป็นดาบคม ขัดเกลาแล้วจึงเป็นดาบคมใช้การได้ เมื่อไม่ตีมันก็อยู่อย่างนั้น จนขี้สนิมกินมากก็ใช้การไม่ได้ จิตของเราก็ดี อาศัยสติเป็นผู้ขัดผู้เกลา อาศัยสติเป็นผู้คุ้มครอง เชื่อสติเชื่อมั่น

อันที่จริงอาคันตุกะกิเลสก็ไม่เป็นปัญหาที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอกไม่เป็นปัญหา ข้อมูลรากเง่าของมันก็คือ กามาสวะ ภวาสวะ วิภวาสวะ อันนี้เป็นอนุสัยเป็นสนิมของมันเป็นสนิมหุ้มห่อจิตให้มืดมนอนธการ เช่นนี้แหละ เมื่อเราหัดสติทำสติให้ดีแล้ว สู้มีกำลังแล้ว จตมันก็จะรู้เท่าต่อความเป็นจริง ครั้นมีสติแล้ว สัมปชัญญะ ความรู้ตัวพร้อมก็เจริญ สัมปชัญญะก็ดวงปัญญานั่นแหละญาณก็ว่า ปัญญาก็ว่า ความรู้ตัวพร้อมกับสติทั้งสองอย่างนี้เป็นคู่กัน พอสติระลึกขึ้นแล้ว สัมปชัญญะก็รู้ว่าผิดหรือถูก รู้พร้อม ถูกก็รู้พร้อม ผิดก็รู้พร้อม

เมื่อเราอบรมสติดีแล้ว มันจะมีกำลังความสามารถ สามารถทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถจะแทงตลอดได้ทุกสิ่งทุกอย่างแม้ว่าจะทำอันใดก็ดี คิดดูเถอะน่ะ เวลาไฟไหม้บ้านเขายังเกิดกำลัง สามารถหอบเอาของหนัก ๆ ออกจากไฟได้ หมดไฟไหม้แล้ว ไฟดับแล้ว สามสี่คนไปหามของนั้นก็ไม่ไหว จิตก็ปานนั้นแหละมีกำลังมาก เพราะเหตุนั้น เมื่อเราหัดดีแล้วเหาะได้เหมือนพระโมคคัลลาน์มุนีก็มี แล้วพวกเราสงสัยว่า เหาะก็คือท่านนั่งอยู่นี่แหละแล้วจิตท่านไปสวรรค์ไปนรกไปนั่น ๆ ตัวท่านนั่งอยู่ที่นี่ อันนั้นก็แม่น แต่ว่าไปได้จริง ๆ เหาะเอากายไปด้วย คิดดูเถอะ จะมัวกลัวอะไรกับตาย ให้พากันอบรมจิต

พวกเรานี้อะไร ๆ ก็ดีแล้ว สมบูรณ์บริบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว พวกศรัทธาทั้งหลายก็นับว่าเป็นผู้สูงอยู่แล้ว ศรัทธาก็มีอยู่แล้ว ได้สดับตรับฟังแล้วก็มีอยู่แต่จะทำเอาเท่านั้น ให้พากันทำเอา มันจะไปไหนเสีย ธรรมทั้งหลายมันก็อยู่นี่แหละ แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น เหล่านั้นเป็นเปลือกเป็นนอก แก่นมันก็คือสติ ให้ทำเอา สตินั่นแหละ ทำให้มีกำลัง เมื่อสติมีแล้วมันก็รักษาจิตของมัน มันไม่ให้ไปออกซ้ายออกขวา สติคอยขนาบเข้ามา ๆ สติแก่กล้า จิตย่อมทนไม่ได้ เมื่อทนไม่ได้มันก็สงบลง ครั้นสงบลงแล้วมันก็รู้ เดี๋ยวนี้มันไม่มีปัญญา มันก็ส่ายไปมา เพราะมันไปหลายทาง จึงไปหลายทางเพราะเป็นอาการของมัน มันไปตามแง่ของมัน คือเวทนามันเป็นแสงของจิต สัญญาก็เป็นแสงของจิต ความปรุง (= สังขาร) นั้นก็เป็นแสงของจิต วิญญาณ เครื่องรู้ทวารทั้งหกก็เป็นแสงของจิตออกไปทั้งนั้น ผู้รู้แท้ ๆ ถ้าจะสมมุติว่าตนก็แม่น เจ้าจิตนั้นแหละแม่นเจ้าสตินั้นเหละที่สมมุติว่าตนนอกจากนั้นเป็นอาการทั้งนั้น

รูป (กาย) อันนี้ก็เป็นแต่เพียงธาตุประชุมกัน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟประชุมกันเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อจิตสงบลงไป เวทนาก็ดับแล้ว พอมันสงบลงไปแล้ว คนก็ไม่มี อะไรเล่ามันจะมาเจ็บมาทุกข์ อะไรเล่ามันจะมาจำ คนไม่มี มันก็สว่าง ๆ ขึ้น เมื่อจิตสงบลงมันก็สว่างโร่ขึ้นมา ว่าง ๆว่างๆ จิตสงบลงก็ว่าง ความจำหมายก็ไม่มี ความปรุงแต่งขึ้นอีกก็ไม่มี ที่จะรู้วิญญาณ รู้ไปตามทวารทั้งหกก็ไม่มี มันดับไปสิ้น เท่ากับว่าของไม่มีอยู่นี้ แล้วของที่มีอยู่นี้เป็นของหนัก ครั้นใครยึดใครถือไว้ก็หนัก ไปถือขันธ์ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ใครยึดไว้ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ถือหาบอันหนัก พระพุทธเจ้าจึงว่า ขันธ์ห้าเป็นภาระอันหนักเน้อ

ขันธ์ห้าก็รวมทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณใครถืออันนี้ ใครถือไปเป็นทุกข์ เมื่อผู้ว่างภาระคือวางไม่ยืดถือว่าขันธ์ห้านี้เป็นตัวเป็นตนแล้ว ไม่ยึดถือแล้วได้ชื่อว่าเป็นผู้วางภาระ ก็มีความสุข จะนั่ง ยืน เดิน ก็มีความสุข ไม่ถือเอาภาระคือถือเอาขันธ์ห้านี้

เพราะรู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว ไม่ถือเอา ไม่ยึดเอา ได้ชื่อว่าเป็นผู้ขุดตัณหาขึ้นได้ทั้งราก เป็นผู้เที่ยงแล้ว เที่ยงว่าจะเข้าสู่ความสุขตามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เที่ยงแล้ว เมื่อจิตมันรวมแล้ว มันก็จะรู้ตามความเป็นจริง มันจะวางขันธ์นี้ เมื่อมันรวมนั่นแหละ ถ้าจิตรวมแล้วมันก็วาง วางแล้วก็มีแต่ว่าง ๆ แล้วค้นหาตัวก็ไม่มี เมื่อค้นหาตัวไม่มีแล้วก็อันนั้นแหละ

พอจิตสงบลงแล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นของมันเอง ครั้นจิตสงบถึงฐานถึงที่ ถึงอัปปนาแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นเองนะแหละ ถึงตอนนั้น แม้จิตมันฟุ้งขึ้น ฟุ้งแล้วมันก็ไป มันไม่ยึดอันใด แม้แสงสว่างอันสว่างหมดทั้งโลกก็ตาม มันไม่ไปยึด มันสาวเข้าหาคนไหน คนอยู่ที่ไหนมันจึงมาอวดว่าถือตนถือตัว อยู่ไหนเล่า สาวเข้าไป ๆ อันนั้นหรือคน อันนี้หรือคน หาไม่มี ถ้าจิตรวมลงอยางนั้น ก็ได้อาศัยสติควบคุมให้มันอยู่ ไม่ให้มันไป จิตรวมลงอย่างนั้น แจ่มใสทีเดียว ไม่ใช่นั่งง่วงนอน ง่วงนอนไม่ใช่นิสัยของสติ สตินั้นแจ่มใส แจ่มใสอย่างนี้แหละเรียกว่า สัมมาสติ เป็นสมาธิอันถูกต้อง อันนั้นแล้ว สติก็แม่น (= ค ) จิตนั่นแหละเป็นตัวแจ่ม จิตนั่นแหละเป็นตัวสมาธิ จิตนั่นแหละเป็นตัวปัญญา อันเดียวนั่นแหละ มันจะถึงอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาได้ ต้องอาศัยสติควบคุมนั่นแหละ

ผู้ศรัทธาได้ยินได้ฟังแล้ว ให้พากันตั้งใจทำ มันไม่อยู่ที่อื่นหนา ไม่ต้องไปหาเอามาจากที่อื่นหนา อยู่จำเพาะใคร จำเพาะเรานี้นะ ไม่ต้องไปคว้าเอาที่ไหนดอก ทำเอานั่นแหละ นึกขึ้นก็พอ ปะกันโลด ( = โดยเร็ว) เห็นกันโลด นึกขึ้นก็เห็นกันโลด แล้วก็คุมสติเข้าเอง มันจะรู้เอง ปัจจัตตัง หรือ สันทิฏฐิโก จะเห็นเอง อกาลิโก ไม่อ้างกาลเวลา จิตเราหายจากราคะแล้ว จะรู้จำเพาะตนน่ะแหละ จิตเรายังมีราคะ ก็จะรู้ จิตมีโทสะก็จะรู้ จิตหายโทสะก็จะรู้ จิตมีโมหะ ความหลงงมงาย ก็จะรู้ จิตหายโมหะก็จะรู้ จิตซบเซาก็จะรู้ จิตฟุ้งซ่านก็จะรู้ รู้ได้แล้วก็จะได้ปลดเปลื้องแก้ไข ผู้ว่างจิตเบาบางแล้วก็จะเพิ่มความยินดีเพิ่มความศรัทธาขึ้น รีบเร่งความเพียรเข้าอีก เอาเท่านั้นแหละ พากันทำเอา ไม่อ้างที่อ้างฐานดอก อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เวลาจิตมันสงบสติมันก็มีอยู่นั่นแหละ.

(นพ.อวย เกตุสิงห์ ถอดจากเทปบันทึกเสียง)