[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ => ข้อความที่เริ่มโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 06 มกราคม 2553 19:19:38



หัวข้อ: ดาวเคราะห์เดือนนี้ (มกราคม 2553) [ดาราศาสตร์]
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 06 มกราคม 2553 19:19:38
โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด
ที่มา : เวบสมาคมดาราศาสตร์ไทย


ดาวพุธ อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนูตลอดเดือนมกราคม 2553 ช่วงแรกยังอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ วันที่ 5 ม.ค. จะผ่านตำแหน่งร่วมทิศแนววงใน (inferior conjunction) จากนั้นราววันที่ 13 ม.ค. ดาวพุธจะเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออก และเป็นวันที่ดวงจันทร์เสี้ยวอยู่ห่างดาวพุธประมาณ 10 องศา สามารถสังเกตดาวพุธได้ต่อเนื่องทุกวันไปจนถึงราววันที่ 12 ก.พ. ซึ่งดวงจันทร์จะมาอยู่ใกล้ดาวพุธอีกครั้ง สภาพท้องฟ้าในฤดูหนาวจะช่วยให้สามารถสังเกตดาวพุธได้ง่าย กล่าวได้ว่าเดือนนี้เป็นช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีที่สุดในรอบปี 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 22-27 ม.ค.

วันที่ 13-31 ม.ค. ความสว่างของดาวพุธเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร +1.0 เป็น -0.2 พื้นผิวด้านสว่างเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 69% ในช่วงเวลาเดียวกัน ดาวพุธสว่างครึ่งดวงในวันที่ 22 ม.ค. และมีขนาดปรากฏลดลงจาก 9 เป็น 6 พิลิปดา มันทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 27 ม.ค. สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ดาวพุธก็ยังคงมีความสว่างเกือบคงที่ด้วยโชติมาตร -0.2 แต่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น

ดาวศุกร์ (โชติมาตร -4.0) เดือนนี้ดาวศุกร์เคลื่อนผ่านพื้นที่ของกลุ่มดาวคนยิงธนูและแพะทะเล เป็นช่วงเวลาที่ดาวศุกร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จึงไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เดือนมีนาคมดาวศุกร์จึงจะกลับมาปรากฏเป็นดาวประจำเมืองบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ

ดาวอังคาร กำลังเคลื่อนที่ถอยหลังโดยออกจากกลุ่มดาวสิงโตเข้าสู่กลุ่มดาวปูในวันที่ 10 ม.ค. ปลายเดือนนี้ดาวอังคารจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุด ทำให้สามารถสังเกตได้ตลอดทั้งคืน ต้นเดือนดาวอังคารขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาก่อน 3 ทุ่ม ปลายเดือนปรากฏบนฟ้าทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาที่ท้องฟ้าเริ่มมืด ตลอดเดือนนี้ความสว่างของดาวอังคารเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร -0.8 ไปที่ -1.3 ขนาดปรากฏก็เพิ่มขึ้นจาก 13 เป็น 14 พิลิปดา

ดาวพฤหัสบดี (โชติมาตร -2.1) ออกจากกลุ่มดาวแพะทะเลเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำในวันที่ 5 ม.ค. มองเห็นได้บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ แต่สูงจากขอบฟ้าไม่มากนัก มุมเงยของดาวพฤหัสบดีในเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มมืดจะลดลงจาก 30 องศาในช่วงต้นเดือน ไปเป็น 10 องศาในปลายเดือน ทำให้มันตกลับขอบฟ้าเร็วขึ้น ต้นเดือนดาวพฤหัสบดีตกลับขอบฟ้าในเวลา 3 ทุ่มเศษ ปลายเดือนตกลับขอบฟ้าในเวลาก่อน 2 ทุ่ม กลางเดือนนี้ดาวพฤหัสบดีมีขนาดปรากฏตามแนวเส้นศูนย์สูตรประมาณ 34 พิลิปดา

ดาวเสาร์ (โชติมาตร +0.8) อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว สังเกตดาวเสาร์ได้ตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ดาวเสาร์เริ่มปรากฏสูงเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก จากนั้นเวลาเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ดาวเสาร์จะขึ้นไปอยู่สูงเกือบถึงจุดเหนือศีรษะ คืนวันที่ 9/10 ม.ค. เวลา 01:46 - 03:54 น. เมื่อสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์จะเห็นเงาของดาวบริวารไททัน (Titan) เป็นจุดดำบนบรรยากาศบริเวณใกล้ขั้วใต้ของดาวเสาร์

ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.9) กำลังจะออกจากกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำเข้าสู่กลุ่มดาวปลาในกลางเดือนนี้ เวลาที่สังเกตดาวยูเรนัสได้ดีที่สุดอยู่ในช่วงเวลา 19:30 - 21:00 น. ของวันที่ 3 ถึง 19 ม.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวนหรือรบกวนไม่มากนัก โดยสามารถคะเนตำแหน่งดาวยูเรนัสได้จากแผนที่ในวารสารทางช้างเผือกฉบับคู่มือดูดาวประจำปี 2552

ดาวเนปจูน (โชติมาตร +8.0) อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล สังเกตได้ยากเนื่องจากอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าในเวลาหัวค่ำ

ดวงจันทร์ วันแรกของเดือนดวงจันทร์สว่างเต็มดวงโดยเกิดจันทรุปราคาบางส่วนในช่วงเช้ามืด จากนั้นวันที่ 3 ม.ค. เวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง ดวงจันทร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าพร้อมกับดาวอังคาร ห่างกันประมาณ 8 องศา คืนวันที่ 6/7 ม.ค. เวลาราวเที่ยงคืนครึ่งจะเห็นดวงจันทร์สว่างมากกว่าครึ่งดวงเล็กน้อยขึ้นมาเหนือขอบฟ้าพร้อมกับดาวเสาร์ ห่างกัน 8-9 องศา เช้ามืดวันที่ 13 ม.ค. น่าจะเป็นวันสุดท้ายที่เห็นดวงจันทร์ในเวลาเช้ามืดก่อนจันทร์ดับ วันนั้นดวงจันทร์อยู่ทางขวามือเยื้องขึ้นไปด้านบนของดาวพุธ 10 องศา

หลังจันทร์ดับในวันที่ 15 ม.ค. ซึ่งเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย วันที่ 16 ม.ค. ดวงจันทร์จะกลับมาปรากฏเป็นเสี้ยวบางเฉียบเหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำ สังเกตได้ดีในเวลาประมาณ 20-25 นาทีหลังดวงอาทิตย์ตก และเป็นเวลาที่ดวงจันทร์มีมุมเงยราว 6 องศา วันที่ 18 ม.ค. ดวงจันทร์อยู่ทางขวามือของดาวพฤหัสบดีด้วยระยะห่าง 5 องศา และสว่างครึ่งดวงโดยอยู่สูงกลางท้องฟ้าในเวลาหัวค่ำของวันที่ 23 ม.ค. สองวันถัดมาดวงจันทร์จะอยู่ใกล้กระจุกดาวลูกไก่โดยบังดาวบางดวงในช่วงที่ท้องฟ้ายังไม่มืด แต่น่าจะสังเกตได้ยากเนื่องจากดวงจันทร์สว่างเกือบเต็มดวง ค่ำวันที่ 30 ม.ค. จันทร์เพ็ญบนท้องฟ้าทิศตะวันออกอยู่ห่างดาวอังคารประมาณ 8 องศา และเป็นวันที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดด้วย


หัวข้อ: Re: ดาวเคราะห์เดือนนี้ (มกราคม 2553) [ดาราศาสตร์]
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 06 มกราคม 2553 19:20:46

(http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/planets/img/2010-01disk.jpg)

ภาพจำลองดาวเคราะห์ในเดือนมกราคม 2553
แสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ
(ดัดแปลงจาก Solar System Simulator/NASA)







หัวข้อ: Re: ดาวเคราะห์เดือนนี้ (มกราคม 2553) [ดาราศาสตร์]
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 06 มกราคม 2553 19:22:43

(http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/planets/img/2010-01chart.jpg)

ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวอังคาร ดาวพุธ และดาวพฤหัสบดี
ในเดือนมกราคม 2553
(ดวงจันทร์ในภาพใหญ่กว่าขนาดจริงเมื่อเทียบตามมาตราส่วน)