[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: Nerobian ที่ 23 พฤษภาคม 2556 14:13:50



หัวข้อ: ประวัติวันวิสาขบูชา, วันวิสาขบูชา 2556
เริ่มหัวข้อโดย: Nerobian ที่ 23 พฤษภาคม 2556 14:13:50
วันวิสาขบูชา 2556 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งถือเป็น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล ของชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก, วันหยุดราชการ ในหลายประเทศ และ วันสำคัญของโลก ตามมติเอกฉันท์ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ
 
(http://ho.files-media.com/ud/variety/imgs/1/4/11518/v3.jpg)
 
วันวิสาขบูชา ประวัติวันวิสาขบูชา

1. เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วิสาขบูชา ย่อมาจากวิสาขปูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน โดยในประเทศไทย ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 หลัง ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอื่นที่ไม่ได้ถือคติตามปฏิทิน จันทรคติของไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม

2. ในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกาย ที่นับถือว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 นั้น เกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ๆ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท

 วันวิสาขบูชา  ประวัติวันวิสาขบูชา ความสำคัญวันวิสาขบูชา

วัน วิสาขบูชานั้น ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจน ปัจจุบัน

วิสาข บูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและ เถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า พุทธชยันตี (Buddha Jayanti) เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย, ประเทศไทย, ประเทศพม่า, ประเทศศรีลังกา, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น วันสำคัญสากลนานาชาติ (International Day) หรือ วันสำคัญของโลก ตามคำประกาศของที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 54 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ ประสูติ ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย พระบริสุทธิคุณ, พระปัญญาคุณ ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือความจริงของโลกแก่พหูชนทั้งปวงโดย พระมหากรุณาธิคุณ จวบจนทรง เสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวาระสุดท้าย ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 ทั้งสิ้นนี้ ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

เนื่อง ในวันวิสาขบูชา 2555  ซึ่งปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษครบ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขอให้พุทธศาสนิกชนรำลึกถึงพระธรรมคำสอน เว้นชั่ว ทำดี ทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ และน้อมนำมาศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจัง

สมเด็จ พระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาทเนื่องในวันวิสาขบูชา 2555 ความว่า วันวิสาขบูชา อันเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญในพระพุทธศาสนาได้เวียนมาถึงอีกวาระหนึ่ง ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 4 มิถุนายน พุทธศักราช 2555 และสำหรับในปีนี้ นับเป็นอภิลักขิตกาลพิเศษ คือเป็นปีที่ครบ 2,600 พุทธศตวรรษ หรือ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือ 2,600 ปีแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนา

พระ พุทธศาสนา คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นั้น เมื่อกล่าวโดยย่นย่อก็คือสอนให้รู้ถึงความจริงของชีวิต คือเรื่องทุกข์ อันเป็นธรรมชาติของชีวิต และความดับทุกข์ อันเป็นเป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์ของชีวิต เมื่อกล่าวโดยหลักกว้าง ๆ ก็คือ สอนให้เว้นชั่ว ทำดี ทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ และเมื่อกล่าวโดยหลักปฏิบัติก็คือ สอนให้ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา ทั้งนี้ ก็เพื่อผลคือประโยชน์สุขของพหูชน หรือเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกทั้งมวล

ฉะนั้น เนื่องในอภิลักขิตกาลครบ 26 ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งได้มีการจัดการเฉลิมฉลองกันทั่วไป จึงใคร่ขอเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้รำลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระ พุทธองค์ ที่ได้ทรงพระกรุณา สั่งสอนไว้ดังกล่าวข้างต้น น้อมนำเข้ามาศึกษาและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง พร้อมทั้งแนะนำเผยแผ่ไปยังชาวโลกให้กว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อศานติสุขของมวลมนุษยชาติตลอดไป ก็จะได้ชื่อว่า ได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง 26 ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ที่มา: variety.horoworld.com