[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 31 กรกฎาคม 2556 17:38:49



หัวข้อ: พิพิธภัณฑ์หอยหิน ๑๕๐ ล้านปี และไดโนเสาร์โนนทัน จ.หนองบัวลำภู
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 31 กรกฎาคม 2556 17:38:49
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48703701504402_1_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/53423871762222_1.JPG)

พิพิธภัณฑ์หอยหิน ๑๕๐ ล้านปี และไดโนเสาร์โนนทัน
อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู

จังหวัดหนองบัวลำภูได้พัฒนาพื้นที่บริเวณที่ขุดพบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หอยหิน ๑๕๐ ล้านปีและไดโนเสาร์โนนทัน ตั้งอยู่บ้านห้วยเดื่อ ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู  ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นเอกลักษณ์และมรดกของจังหวัด และเป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้  

ภายในพิพิธภัณฑ์มีนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของซากฟอสซิลหอยหินโบราณ ๑๕๐ ล้านปี   การจัดแสดงหอยหินสองฝาที่ค้นพบบริเวณบ้านห้วยเดื่อ  การแสดงหุ่นจำลองสภาพภูมิศาสตร์ของ จังหวัดหนองบัวลำภู ที่รายล้อมไปด้วยภูเขา โดยภายในมีห้องโถงจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ต่างๆ อาทิ การท่องจักรวาล โลกแหล่งกำเนิดชีวิตทั้งพืชและมนุษย์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่สำคัญมีหุ่นยนต์ไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัส เรกซ์  ไดโนเสาร์ในตระกูล ทีเรกซ์ ขนาดเท่าตัวจริงยาวกว่า ๗ เมตร สูง ๔ เมตร น้ำหนัก ๑.๗ ตัน  หุ่นยนต์ดังกล่าวถูกตั้งโปรแกรมให้สามารถขยับส่วนหัว อ้าปาก ขยับตา ขยับขาหน้า ขยับลำตัวและหาง พร้อมทั้งเสียงร้องคำราม และที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่มีหุ่นไดโนเสาร์ที่ขยับร่างกายได้เหมือนตัวนี้  ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยว  โดยเฉพาะเด็กนักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบใน จังหวัดหนองบัวลำภู ในบรรยากาศที่หาชมได้ยากยิ่ง...


ไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทย
ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ (ที เร็กซ์) Tyrannosaurus rex เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ วงศ์ไทรันโนซอริเด พบซากแพร่หลายในทวีปอเมริกาเหนือ มีอายุประมาณ ๘๐ – ๖๕ ล้านปีมาแล้ว ยาว ๑๒-๑๓ เมตร หนักกว่า ๖ ตัน  ฟันของ ที เร็กซ์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ มีความยาวถึง ๓๐ เซนติเมตร (รวมรากฟัน) ซึ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาไดโนเสาร์กินเนื้อทั้งหมด ที เร็กซ์ มีญาติร่วมวงศ์เดียวกันหลายสายพันธุ์ เช่น สยามโมไทรันนัส (Siamotyrannus)  อีสานเอนซิส (Esanensis) และ ทาร์โบซอรัส (Tarbosaurus)

ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ มาจาก Tyrun แปลว่า ทรราช กับ Saurus แปลว่าสัตว์เลื้อยคลาน และ Rex แปลว่าราชา รวมหมายถึง ราชาไดโนเสาร์ทรราช ซึ่งสื่อถึงความเป็นนักล่าที่ยิ่งใหญ่และโหดเหี้ยมของไดโนเสาร์ชนิดนี้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/51327075436711_1.1.JPG)
ภายในอาคารหอยหิน ๑๕๐ ล้านปี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/77460093258155_8.JPG)
โครงกระดูกส่วนศีรษะ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/11401708672443_2_3585_3619_3632_3604_3641_358.JPG)
กระดูกแข้ง Tibia

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/79423654658926_3_3585_3619_3632_3604_3641_358.JPG)
กระดูกน่อง Finger Flula

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/26746689693795_4_3585_3619_3632_3604_3641_358.JPG)
กระดูกนิ้ว Finger bone

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/55421330738398_5.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/64721181119481_6.JPG)
ลักษณะของ "หินน้ำย้อย"

-------------------------------------------

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/85433942948778_1.JPG)

เมื่อปี ๒๕๓๗ ชาวบ้านห้วยเดื่อ ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู พบซากดึกดำบรรพ์หอยหินด้วยความบังเอิญ ที่บริเวณหน้าผาของเหมืองหินร้างในเขตหมู่บ้าน  จากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญ พบว่าซากหอยหินดังกล่าวเป็นหอยน้ำจืดสองฝา ยุคครีเทเชียส อายุประมาณ ๑๕๐-๑๒๐ ล้านปีมาแล้ว ซึ่งมีปริมาณและชนิดมากที่สุดในอีสาน ถือเป็นการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่น่าอัศจรรย์ครั้งหนึ่งในประเทศไทย

ซากดึกดำบรรพ์พบที่บ้านห้วยเดื่อ เป็นหอยสองฝา หรือหอยกาบคู่ (Phylum Mollusca, Class Pelecypoda หรือ Bivalvia) ซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำจืด เช่น ลำธาร หนอง บึง ทะเลสาบ ที่มีสภาพอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง มีอายุประมาณ ๑๕๐-๑๒๐ ล้านปี (ร่วมสมัยกับไดโนเสาร์)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47056582363115_2.JPG)

หอยเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ทางชีววิทยาจัดอยู่ในอันดับ มอลลัสกา (Phylum Mollusca) คือสัตว์ที่มีลำตัวนิ่ม มีเปลือกแข็งหุ้มอยู่ภายนอก ลำตัวไม่แบ่งเป็นข้อปล้อง ประกอบด้วย หัว เท้า แมนเทิล ช่องแมนเทิล และอวัยวะภายใน

หัว : อยู่ด้านหน้าสุด มีปากและอวัยวะรับสัมผัส เช่น ตาและหนวด
เท้า : อยู่ทางด้านล่างของลำตัว เป็นกล้ามเนื้อแข็งแรง ใช้ในการเคลื่อนที่และใช้ขุดพื้นเพื่อฝังตัว
แมนเทิล : อยู่ใต้เปลือก เป็นแผ่นเนื้อที่คลุมตัวและอวัยวะภายใน และทำหน้าที่สร้างเปลือกซึ่งเป็นสารประกอบหินปูน ในพวกที่ไม่มีเปลือก เช่น ทากทะเล แผ่นเนื้อแมนเทิลเป็นส่วนที่ปกคลุมร่างกาย
ช่องแมนเทิล : อยู่ระหว่างแมนเทิลกับเท้า เป็นช่องที่มีเหงือก (ทำหน้าที่หายใจ) อยู่ภายใน เป็นบริเวณที่มีน้ำผ่านเข้าออกตลอดเวลา ภายในช่องแมนเทิลยังมีอวัยวะรับสัมผัส (เพื่อตรวจสอบสภาพน้ำ) ต่อมใต้เหงือก ช่องเปิดของท่อนำเซลล์สืบพันธุ์ ท่อของเสีย และช่องทวารหนัก
อวัยวะภายใน : ประกอบด้วย ระบบทางเดินอาหาร หัวใจ เส้นเลือด อวัยวะขับถ่าย ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์  

สัตว์ตระกูลหอยกระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลก เป็นสัตว์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีและไม่ได้มีเฉพาะอยู่ในน้ำ แต่พบได้ทั่วไปทั้งบนยอดเขาสูง ในป่า เรือกสวน ไร่นา บึง บ่อ แม่น้ำ ลำธาร และทะเล  

ทั้งโลกพบสัตว์ตระกูลหอยกว่า ๔๕,๐๐๐ ชนิด (มากเป็นอันดับ ๒ รองจากแมลง) และจัดเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีวิวัฒนาการยาวนานที่สุดชนิดหนึ่ง มีมาตั้งแต่ยุคแคมเบรียน (Cambrian) หรือเมื่อประมาณ ๕๔๐ ล้านปีมาแล้ว จนถึงปัจจุบัน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/89634056968821_4.JPG)

การค้นพบซากฟอสซิลหอยหินโบราณ ๑๕๐ ล้านปี ที่บริเวณบ้านห้วยเดื่อ

ประมาณ ๑๕๐-๑๒๐ ล้านปีมาแล้ว พื้นที่บริเวณบ้านห้วยเดื่อบริเวณที่พบซากหอยหิน เคยเป็นแหล่งน้ำจืด (หนอง บึง หรือทะเลสาบ) มีหอยสองฝาอาศัยอยู่บริเวณชายน้ำและท้องน้ำซึ่งเป็นพื้นทรายหรือทรายปนโคลน

เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก กระแสน้ำที่รุนแรงได้พัดพาเอาตะกอนกรวดมากลบทับฝังหอยเหล่านี้อย่างรวดเร็วจนหอยตาย และกลายสภาพเป็นฟอสซิลหิน หลายล้านปีต่อมาเกิดแรงดันมหาศาลภายใต้เปลือกโลก  แผ่นดินอีสานในปัจจุบันถูกยกตัวขึ้นเกิดเป็นที่ราบสูงและเทือกเขาต่างๆ    พื้นที่บริเวณที่เคยเป็นหนองน้ำที่หอยสองฝาเหล่านี้เคยอาศัยอยู่ ก็ถูกยกตัวขึ้นกลายเป็นเทือกเขาภูชัน ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน


แหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์หอยหิน อยู่บนไหล่เนินที่ระดับความสูงประมาณ ๒๘๐ เมตร จากระดับทะเลปานกลาง หรือ ๑๕ เมตรจากพื้นดิน (ใต้ชั้นหินที่พบซากไดโนเสาร์ ประมาณ ๒ เมตร) บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันตกของเทือกเขาภูชัน ซึ่งเป็นเทือกเขาที่แบ่งเขตระหว่างจังหวัดหนองบัวลำภู กับจังหวัดอุดรธานี)

สภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่บริเวณนี้ จัดอยู่ในหมวดหินเสาขัว  (มักมีเนื้ออ่อนผุสลายได้ง่าย) ของกลุ่มหินโคราช ประกอบด้วยหินทรายสีเทาแกมเหลืองถึงน้ำตาลแกมเหลืองและแดงอ่อน มักเกิดเป็นชั้นหนาๆ  โดยมีหินทรายแป้งสีแดงแกมเทาเป็นชั้นบางๆ แทรกอยู่ โดยซากหอยหินที่พบ อยู่ในชั้นหินกรวดมน ซึ่งวางตัวอยู่บนชั้นหินทรายที่ไม่แสดงชั้นเฉียงระดับ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/82989961488379_3.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91111927810642_9.JPG)
ทางไปบริเวณที่พบฟอสซิลหอยหิน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/67528448502222_10.JPG)
จุดชมวิวในบริเวณพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์และหอยหิน ๑๕๐ ล้านปี
สภาพภูมิทัศน์แวดล้อมด้วยภูเขา และป่าไม้เขียวขจี