[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 17 กันยายน 2556 12:29:50



หัวข้อ: ประเพณีการสวด "คฤหัสถ์" หรือ "สวดกะหัด"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 กันยายน 2556 12:29:50
.

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2012/10/you02231055p1.jpg&width=360&height=360)
การสวดคฤหัสถ์
มีคำอธิบายเรื่องสวดคฤหัสถ์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม โดยภาษิต จิตรภาษา ว่า สวดคฤหัสถ์ หรือ สวดกะหัด คือการสวดชนิดหนึ่ง เป็นการเล่นที่นิยมเล่นในงานศพ เป็นการเล่นเลียนแบบการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ และเล่นในตอนดึกหลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม เสร็จแล้ว

การแสดงจะมีบทสวด "พื้น" อยู่ ๔ อย่าง คือ พื้นพระอภิธรรม (สวดบทพระอภิธรรม) พื้นโพชฌงค์มอญ หรือหับเผย พื้นพระมาลัย (สวดเรื่องพระมาลัย) และพื้นมหาชัย ๑ แต่ที่นิยมใช้สวดกันอย่างแพร่หลาย คือพื้นพระอภิธรรม ทั้งนี้ แต่เดิมเป็นการละเล่นของพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์แล้วออกลำนำเป็นภาษาต่างๆ ซึ่งมีปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ห้ามไม่ให้พระสงฆ์สวดออกลำนำแบบนี้ จากนั้นจึงแพร่หลายมาในหมู่ชาวบ้าน และเริ่มมีการแต่งตัวตามภาษาที่ใช้สวด

การเล่น สถานที่เล่นอาจเล่นตามวัด หรือเล่นที่บ้าน จะเล่นกันแต่ตอนค่ำ บ้างก็เลิกจนรุ่งสว่าง ผู้เล่นสวดคฤหัสถ์มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส เรียกผู้สวดว่า "นักสวด" และเรียกผู้สวดคณะหนึ่งๆ ว่า "สำรับ" โดยแบ่งนักสวดเป็น ๒ ประเภทคือ นักสวดอาชีพ และนักสวดสมัครเล่น นักสวดอาชีพมีทั้งสำรับพระสงฆ์ และสำรับฆราวาส สำรับหนึ่งมี ๔ คน ที่นั่งสำหรับสวดเรียกว่า "ร้าน" ผู้ที่สวดทุกคนถือตาลปัตร ตั้งตู้พระธรรมข้างหน้า ตำแหน่งนักสวดทั้ง ๔ คนนั่งเรียงจากซ้ายไปขวาของผู้ชม ดังนี้

๑. ตัวตุ๊ย คือตัวตลก มีหน้าที่ทำ ความขบขันให้แก่ผู้ชม แต่จะต้องอยู่ในแบบไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางไป
๒. แม่คู่ (หรือคอหนึ่ง) มีหน้าที่ขึ้นต้นบท และนำทางที่จะแยกการแสดงออกไปเล่นในชุดใด ทั้งเป็นตัวซักไซ้ให้เกิดความขบขันจากตัวตลกด้วย
๓. คอสอง มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยแม่คู่ คอยซักสอดเพิ่มเติม และ
๔. ตัวภาษา เป็นตัวภาษาต่างๆ และตัวนาง ผู้ทำหน้าที่นี้จะต้องร้องเพลงได้ดี พูดเลียนสำเนียงภาษาต่างๆ ได้ชัดเจน

เริ่มสวดคฤหัสถ์นักสวดทั้งหมดจะใช้ตาลปัตรบังหน้าเหมือนพระสวดพระอภิธรรม หากเป็นบทสวดคฤหัสถ์ของ "สำรับพระ" จะขึ้นต้นบทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยพร้อมกัน ๓ จบ แล้วจึงขึ้นบทสวดพระอภิธรรมสังคณี ตัวตุ๊ยก็จะขยับมือข้างหนึ่งออกท่ารำขณะที่ยังถือตาลปัตรอยู่ แม่คู่คนที่อยู่ใกล้จึงยึดมือไว้สักอึดใจหนึ่ง แต่ตัวตุ๊ยยังขยับมือรำอีกแต่จะเป็น ๒ มือ หลังจากนั้นจึงมีการเจรจาระหว่างตัวตุ๊ยและแม่คู่

การเริ่มลองเสียงจะร้องว่า "เออเฮอะ เออๆๆๆ" หลายๆ ครั้ง ต่อจากนี้จึงขึ้นบท "เอ๋ย กุ...สลา ฯลฯ" แล้วจึงสวดแยกออกร้องเพลง ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาก็ขึ้นรำแสดงท่าทาง มีการตีและตบกันด้วยตาลปัตรบ้างตามสมควร แล้วจึงหันเข้าบทพระธรรม ตัวภาษาตีกลองเข้าจังหวะเพลง ตัวตุ๊ยเข้าแทรกประกอบ แล้วจึงร้องลำจีนกำกับท้ายกราว ต่อจากนี้จึงแยกออกชุดจีน และชุดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งการแสดงชุดต่างๆ ยังมีอีกมากแล้วแต่ทางคณะ เช่น ชุดภาษาญวน มอญ แขก ลาว พม่า เขมร ฝรั่ง เพลงฉ่อย และละคร เป็นต้น ไม่มีการวางลำดับตายตัว

ในการเล่นพื้นพระอภิธรรม ทั้งสี่คนจะสวดบทพระสังคิณี เริ่มจากบทสวดภาษาบาลีก่อน แล้วจึงเจือลำนำทีละน้อยจนเป็นลำนำล้วน เมื่อท้ายตู้กับหัวตู้แต่งตัวพร้อมแล้วจะร้องลำนำเป็นเรื่องต่างๆ เช่น ออกภาษาไทยจะเล่นเรื่องไกรทอง รามเกียรติ์ เป็นต้น ถ้าออกภาษาจีนจะนิยมเล่นเรื่องตั๋งโต๊ะ-เตียวเสี้ยน (สามก๊ก) ไกโซบุ๋น และจีนไหหลำ ซึ่งเป็นการเจรจาโต้ตอบแบบจำอวด ถ้าออกภาษาลาวนิยมเล่นเพลงเส่เหลเมา ถ้าออกภาษาญวน ใช้บทสวดสังคโหและใช้เพลงญวนทอดแห

เมื่อการเล่นสวดคฤหัสถ์เสื่อมความนิยมลงไป ได้มีอิทธิพลต่อการละเล่นในยุคต่อมาคือการเล่นจำอวด ปี่พาทย์ออกสิบสองภาษา การออกหางเครื่องลูกบทของมโหรี ปี่พาทย์ และเครื่องลูกบทของลิเก


(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2012/10/you02231055p3.jpg&width=360&height=360)


จาก : เว็บไซต์ หนังพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: ประเพณีการสวด "คฤหัสถ์" หรือ "สวดกะหัด"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 มิถุนายน 2557 13:04:56
.

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2012/10/you02231055p2.jpg&width=360&height=360)
ภาพจาก เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์

การสวดคฤหัสถ์

ในสมัยโบราณ หลังการสวดอภิธรรมศพ...ญาติพี่น้องคนตาย ก็ยังไม่ทิ้งศพกลับบ้าน แต่ยังอยู่เป็นเพื่อนศพจนถึงรุ่งเช้า และในค่ำคืนอันหดหู่เศร้าหมองนั้น ก็มักมีการละเล่น กึ่งธรรมะ กึ่งสนุกสนาน ที่เรียกกันว่าสวดคฤหัสถ์

นามานุกรมขนบประเพณีไทยหมวดประเพณีราษฎร์ เล่ม ๑ กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๔๙ พรรณนาไว้ว่า สวดคฤหัสถ์ เป็นการเล่นเลียนแบบการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ และเล่นกันดึกๆ

ผู้เล่นสวดคฤหัสถ์ มีพระทั้งพระฆราวาส เรียกผู้เล่นว่า นักสวด นักสวดคณะหนึ่งเรียกว่าสำรับ สำรับหนึ่งมี ๔ คน คนหัวแถวถูกเรียกว่า ตัวตุ๊ย เล่นเป็นตัวตลกผู้ชาย คนท้ายแถวเรียกว่า ตัวภาษา เล่นเป็นตัวผู้หญิง

สองคนนี้แต่งตัวตามชาติภาษาของเรื่องที่จะเล่น

ส่วนอีกสองคน นั่งอยู่ตรงกลางเรียกว่า แม่คู่ ช่วยกันร้องบทดำเนินเรื่อง

การเล่นสวดคฤหัสถ์ ใช้สถานที่ที่พระนั่งสวดอภิธรรมนั่นเอง อุปกรณ์การเล่นมีตู้พระธรรม ๑ ใบ ตาลปัตร ๔ ด้าม ตะเกียงลาน ๑ ดวง เทียนและแจกัน ดอกไม้ ๑ คู่ การจัดวางเหมือนอย่างเวลาสวดศพ

การเล่นเริ่มต้น ขึ้นบทสวดสรรเสริญพระรัตนตรัยพร้อมกันทั้งสำรับ ๓ จบ ต่อด้วยบทสวดพระอภิธรรมสังคณี

จากนั้นแม่คู่ก็จะเจรจากับตัวตุ๊ยว่า คืนนี้ จะเล่นหรือออกลำนำเรื่องอะไร เรื่องเล่น

ส่วนใหญ่ตัดตอนมาจาก เรื่องในวรรณคดีไทย เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ลักษณวงศ์ อิเหนา ฯลฯ

เมื่อตกลงกันได้ ว่าเล่นเรื่องอะไร นักสวดทั้งสำรับก็จะขับลำนำเรื่องนั้น ขณะที่ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาก็จะแต่งหน้าตามบทที่จะออก โดยนั่งแต่งบนตั่งหรือบนเตียงที่ใช้ในการแสดง

แต่งตัวเสร็จแล้ว แม่คู่จะเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ให้ตัวตุ๊ยและตัวภาษาเล่นตามลำนำต่อไป

และหากจะเปลี่ยนลำนำใหม่ นักสวดทั้งสำรับจะร้องลำนำพร้อมกันอีกครั้ง เพื่อให้ตัวตุ๊ยและตัวภาษาได้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวตามบทใหม่

การเล่นสวดคฤหัสถ์ จะสนุกและทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงดึก มีการขับลำนำตลกโปกฮา บางครั้งออกไปในทางหยาบโลน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้ชมง่วงนอน

และเมื่อถึงเวลาเลิกเล่นสวดคฤหัสถ์ จะขาดเพลงปรมัตถ์ไม่ได้

เพลงปรมัตถ์ เป็นเพลงที่กล่าวถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร เตือนให้คนที่ยังอยู่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และให้ประกอบแต่ความดี

ปัจจุบัน การเล่นสวดคฤหัสถ์ในงานศพเสื่อมความนิยมลง จนเกือบไม่มีใครเคยรู้จัก นักสวดคฤหัสถ์สำรับต่างๆ ที่นับวัน จะน้อยตัว ก็ลาโรงไปประกอบอาชีพอื่น

น่าเสียดาย ขณะนี้ไม่มีการสืบทอดการละเล่นชนิดนี้กันแล้ว.
...คัดจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ