[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 25 กันยายน 2556 18:53:57



หัวข้อ: แกะรอยปริศนา ตุ๊กตา "โดกุ" โบราณวัตถุแห่งแดนอาทิตย์อุทัย
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 25 กันยายน 2556 18:53:57
.

แกะรอยปริศนา ตุ๊กตา "โดกุ"

(http://static.cdn.thairath.co.th/media/content/2013/08/17/364050/hr1667/630.jpg)
โดกุที่มีใบหน้ารูปหัวใจ

ประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะมีดีในด้านการท่องเที่ยว ทางด้านเทคโนโลยีก็โดดเด่นและถูกจับตามองในฐานะศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีอัจฉริยะล้ำยุค แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ให้ควบคู่ไปกับวิวัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่างดีเยี่ยม

ถึงแม้ในปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์สามารถไขความลับ ค้นหาคำตอบในเรื่องที่ชวนสงสัยได้ก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อย่างที่ทราบกันว่าประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมอันยาวนานผ่านกาลเวลามาหลายสมัย หลักฐานและโบราณวัตถุก็มีจำนวนมาก สิ่งของบางชิ้นสามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้โดยไม่ต้องตีความใดๆ แต่อีกหลายชิ้นที่นักโบราณคดี และนักวิชาการต้องปวดหัวในการค้นหาคำตอบ ทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน จะนำท่านไปแกะรอยปริศนาของโบราณวัตถุลึกลับแห่งแดนอาทิตย์อุทัยที่มีชื่อว่า “โดกุ”

(http://static.cdn.thairath.co.th/media/content/2013/08/17/364050/o4/420.jpg)   โดกุรูปสัตว์

ตุ๊กตาดินเผาโดกุของประเทศญี่ปุ่น เป็นสิ่งหนึ่งที่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามันคืออะไร ตุ๊กตาดินเผาโดกุเป็นผลงานประติมากรรมโบราณที่มีอายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถูกจัดอยู่ในยุคสมัยโจมง (หรือโจมอน) อายุราว 1,100-300 ปีก่อนคริสต์กาล และสิ้นสุดวิวัฒนาการลงในสมัยโกกิ เมื่อราว 400-300 ปีก่อนคริสตกาล

เหตุที่กล่าวว่าสิ้นสุดลง เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการขุดค้นทางโบราณคดีแล้ว ในสมัยต่อมาคือ สมัยยาโยอิของญี่ปุ่น ไม่ปรากฏหลักฐานการค้นพบแต่อย่างใด สาเหตุของการสิ้นสุดก็ไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ในปัจจุบันตุ๊กตาเหล่านี้ถูกนำไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก

สถานที่พบตุ๊กตาดินเผาโดกุคือ แหล่งโบราณคดีอันเป็นสถานที่ฝังศพของคนโบราณ นอกจากนี้ยังถูกพบในสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงพบในสถานที่อยู่อาศัย หรือแหล่งพักพิงของคนสมัยโบราณ โดยถูกพบที่บริเวณแท่นบูชา จะสังเกตได้ว่าตุ๊กตาเหล่านี้ถูกพบในสถานที่ 2 แห่งหลักๆ คือ สุสาน และบ้านพัก


(http://static.cdn.thairath.co.th/media/content/2013/08/17/364050/o5/420.jpg)  โดกุที่มีใบหน้าคล้ายนกฮูก


ลักษณะทางศิลปกรรมอันโดดเด่น สามารถแบ่งออกตามยุคสมัย เป็น 2 สมัยคือ สมัยโจมงตอนต้น ซึ่งมีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีการตกแต่งรายละเอียดโดยการปั้นแปะลายเครื่องประดับบนร่างกาย และในสมัยที่สองคือ สมัยโจมงตอนปลาย ตุ๊กตาเหล่านี้ เริ่มมีความแปลกประหลาดไปจากเดิมคือ มีลักษณะของใบหน้าที่คล้ายสัตว์จำพวกลิง แมว และนกฮูก บริเวณใบหน้านั้นจะเจาะรูจมูกอย่างเห็นได้ชัดเจน ดวงตามีขนาดใหญ่มาก ดูแล้วคล้ายกับดวงตาของแมลง โดยส่วนใหญ่จะมีขนาดเฉลี่ย 30 เซนติเมตร

ตุ๊กตาโดกุมีใบหน้าหลายรูปทรง แต่ที่พบเป็นจำนวนมากคือ ใบหน้ารูปหัวใจ รูปนกเค้าแมว และใบหน้าที่มีดวงตาโตคล้ายแมลง ส่วนทางกายภาพส่วนมากมักไม่สมสัดส่วน จะมีแขนขาที่สั้น ล่ำ อวบอ้วน หรือในบางครั้งพบในรูปแบบที่ผอมบาง มีความยาวเกินความสมจริง อาทิ บ่ากว้าง ลำตัวลีบแบน ถึงจะดูผิดแผกไม่มีความสมดุลทางกายภาพก็จริง แต่มีความสมมาตรซ้ายขวาที่เท่าๆกัน คือ ถ้าหากแขนมีลักษณะลีบแบน ก็จะลีบแบนทั้งสองข้าง

ตุ๊กตาโดกุที่กลายเป็นสัญลักษณ์ สากลของตุ๊กตาโดกุทั้งหมดคือ ชาโกกิโดกุ (Shakokidogu) มีลักษณะเด่นคือ มีดวงตาขนาดใหญ่มากแลดูคล้ายกับตาแมลง รูปร่างคล้ายกับผู้หญิงที่มีหน้าอกยื่น ต้นแขน ต้นขาอวบอ้วน มีการตกแต่งบริเวณส่วนหัวของตุ๊กตาคล้ายกับการสวมมงกุฎ และนอกจากนี้บริเวณร่างกายมีการปั้นตกแต่งอย่างละเอียด ดูคล้ายกับการสวมเสื้อผ้าปกคลุมทั่วเรือนร่าง


(http://static.cdn.thairath.co.th/media/content/2013/08/17/364050/o6/420.jpg)  โดกุที่มีขาอวบอ้วนผิดปกติ

จากลักษณะที่แปลกประหลาดนี้เอง นักวิชาการจึงตั้งสมมติฐานถึงหน้าที่การใช้งาน คุณประโยชน์ในการสร้างสรรค์ว่า สร้างขึ้นเพื่อสิ่งใด และรวมถึงการตีนัยทางสัญลักษณ์ที่แอบแฝงมากับตุ๊กตา ทำให้เกิดมีข้อสันนิษฐานขึ้นเป็นจำนวนมาก

ข้อสันนิษฐานที่เป็นประเด็นหลักที่ถูกกล่าวถึงและมักถูกหยิบยกมาอ้างอิงมากที่สุดคือ ตุ๊กตาโดกุอาจเป็นผลงานที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้ในศาสนา หรือเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมของผู้คนในยุคนั้น มากกว่าจะถูกสร้างหรือผลิตมาเพื่อเป็นสินค้าส่งออกต่างแดน หรือเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล เพราะจากการค้นพบมีเป็นจำนวนมากก็จริง แต่จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่ ไม่ได้กระจายออกไปยังที่อื่น

และอาจเป็นของที่จำเป็นอย่างยิ่งในพิธีศพ ที่ต้องนำมาใช้ร่วมกับการฝังศพ อย่างการใส่ข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายลงหลุมฝังศพ เช่นเดียวกันกับการใส่ภาชนะดินเผายังหลุมฝังศพของแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงในเมืองไทยเรา

(http://static.cdn.thairath.co.th/media/content/2013/08/17/364050/o7/420.jpg)  ชาโคกิโดกุ

นอกจากนี้ตุ๊กตาโดกุอาจเป็นเครื่องรางของขลังในสมัยโบราณ ที่มีหน้าที่สำหรับป้องกันภัยอันตรายจากภูติผีปีศาจ รวมไปถึงอำนาจเร้นลับ โดยมีความเชื่อที่ว่า การที่สร้างตุ๊กตาที่มีลักษณะแปลกประหลาดพิลึกนี้ก็เพื่อเป็นการข่มขวัญปีศาจร้าย รวมถึงขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่อาจเยือนมายังบ้านเรือน

จึงมีการจัดวางบนแท่นบูชาของแต่ละครอบครัว ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ตุ๊กตาเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของเทพเจ้าของคนสมัยโบราณ พอผู้คนในอดีตหวาดกลัวต่อสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องสร้างรูปเคารพ เพื่อเป็นตัวแทนหรืออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิต เพื่อปกปักรักษา

จากการที่พบตุ๊กตาเหล่านี้ในสภาพที่ชำรุดเสียหายแตกหักตามสุสาน ก่อให้เกิดสมมติฐานบางประการขึ้นอีกว่า อาจถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ โดยอาจทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการรับเคราะห์ร้ายแทนบุคคล

(http://static.cdn.thairath.co.th/media/content/2013/08/17/364050/o8/420.jpg)  โดกุรูปแบบหนึ่งในสมัยโจมง

อีกสมมติฐานหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากคือ ตุ๊กตาโดกุอาจถูกสร้างขึ้นโดยที่ผู้สร้างได้รับเอาลักษณะและรูปลักษณ์มาจากมนุษย์ต่างดาว หรือผู้มีอารยธรรมสูงส่งอื่นจากนอกโลก ที่ได้มาสั่งสอน และมอบวิทยาการความรู้ทางด้านเกษตรกรรมให้แก่มนุษย์โลก ซึ่งทฤษฎีนี้มักปรากฏแทบในทุกอารยธรรมของโลก

อีกข้อสมมติฐานหนึ่งที่น่าสนใจ อันมีรากฐานมาจากตัวตุ๊กตาชาโกกิโดกุคือ การที่ถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่อวบอ้วน และเน้นไปยังรูปลักษณ์ของผู้หญิงอย่างชัดเจนนี้ อาจมีความเชื่อมโยงกับลักษณะของรูปร่างสรีระ การตั้งครรภ์ของสตรี ประกอบกับการประดับประดาเรือนร่างที่หรูหรากว่าบุคคล ธรรมดาสามัญ

นอกเหนือจากเป็นเทพีหรือลัทธิการนับถือพระแม่แล้ว ชาโกกิโดกุอาจเป็นเค้าโครงของชุดเกราะ หรือเครื่องแต่งกายของคนชั้นสูงในสมัยโบราณ เพราะจากลวดลาย และความเทอะทะใหญ่โตนี้เอง จึงเกิดมีทฤษฎีใหม่ขึ้นมาว่า มีการสร้างขึ้นมาจากต้นแบบของชุดเกราะโบราณที่ใช้สำหรับการออกรบ

(http://static.cdn.thairath.co.th/media/content/2013/08/17/364050/o9/420.jpg)  โดกุที่มีลวดลายไม่ซับซ้อน

จึงเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า ชาโกกิโดกุถูกนับถือในฐานะของเทพีของความอุดมสมบูรณ์ หรือพระแม่แห่งปฐพี เพราะคนสมัยโบราณมักให้ความสำคัญกับผู้หญิงที่อวบอ้วน สุขภาพแข็งแรง มากกว่าผู้หญิงที่ผอมบาง เพราะความสมบูรณ์นี้สื่อให้เห็นว่า เป็นแม่พันธุ์ที่ดีได้ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นขวัญกำลังใจให้คุณแม่ที่ใกล้คลอด คลอดบุตรออกมาได้อย่างปลอดภัย

ในปัจจุบัน ความหมายที่แท้จริงของตุ๊กตาโดกุยังมิอาจมีใครทราบคำตอบที่แน่ชัดว่ามันถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร และทำไมพวกมันถึงมี หน้าตาและรูปร่างที่แปลกประหลาดผิดธรรมชาติ

สาเหตุของการสิ้นสุดการสร้างตุ๊กตาโดกุนั้น อาจมาจากความเชื่อด้านศาสนาในยุคโบราณเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หรืออาจมีสิ่งอื่นที่มีความสำคัญ และได้รับความนิยมมากกว่าเข้ามาแทนที่ ตุ๊กตาโดกุจึงถูกลดบทบาทไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถูกละทิ้งไปในที่สุด

ถึงหน้าที่ และความสำคัญจะถูกลืมเลือนไปตามยุคสมัย แต่ความลับ และปริศนาของตุ๊กตาโดกุ ยังคงมีผู้คิดค้นหาคำตอบกันอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าสักวันพวกเราจะได้ทราบความหมายที่แท้จริงของมัน.

โดย...GaRaven
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน