[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 ตุลาคม 2556 16:30:08



หัวข้อ: ปาฏิหาริย์พระบรมธาตุเจดีย วัดพระบรมธาตุวรวิหาร จังหวัดชัยนาท
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 ตุลาคม 2556 16:30:08
1
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18870232833756_a1.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/93059179186820_a5.jpg)
ปาฏิหาริย์ พระบรมธาตุเจดีย์
วัดพระบรมธาตุวรวิหาร  อำเภอเมือง  จังหวัดชัยนาท

เรื่องราวที่จะนำเสนอนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัดพระบรมธาตุวรวิหาร  ซึ่งมีพระบรมธาตุเจดีย์  สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดชัยนาทมาแต่ครั้งราชธานีกรุงศรีอยุธยา  โดยมีตำนานกล่าวถึงที่มาของการสร้างพระบรมธาตุ และเหตุอัศจรรย์เกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือปาฏิหาริย์ปรากฏเล่าขานสืบต่อมาจนปัจจุบัน

วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุ สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ยุคขอมเรืองอำนาจในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา  

ปัจจุบันวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร มีพื้นที่ ๓๑ ไร่ ๑ งาน ๒๔ ตารางวา อยู่ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ ๔ กิโลเมตร อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านท้ายเมือง หมู่ ๖ ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท  

และเนื่องจากวัดตั้งอยู่บ้านท้ายเมือง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดท้ายเมือง
 
มีตำนานพื้นบ้านเล่ากันว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งลงไปสรงน้ำที่หน้าวัดในเวลาจวนจะพลบค่ำได้ยินเสียงวัตถุกระทบขันตักน้ำ และเห็นแสงเป็นประกายจึงหยิบมาดูก็แน่ใจว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุ จึงอัญเชิญบรรจุไว้ใน องค์พระเจดีย์  เล่าขานกันว่าเมื่อถึงวันดีคืนดีพระบรมสารีริกธาตุจะแผ่รังสีฉายรัศมีพวยพุ่งออกจากซุ้มพระนาคปรกทั้งสี่ทิศ ฉายแสงสว่างไสวจับทั่วองค์เจดีย์พระบรมธาตุเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

ลักษณะขององค์พระเจดีย์ สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม รองรับซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน ลักษณะใกล้เคียงกับซุ้มจระนำที่เจดีย์วัดภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันนักโบราณคดียังมีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับลักษณะของพระเจดีย์  บางท่านก็ว่าเป็นศิลปะแบบอู่ทอง บ้างก็ว่าเป็นศิลปะแบบสุโขทัยเนื่องจากมีอิทธิพลศิลปะศรีวิชัยผสมผสานอยู่ด้วย
 
ตามหลักฐานและจารึกยืนยันปรากฏอยู่ที่วัดพระบรมธาตุวรวิหารแห่งนี้  เชื่อได้ว่าองค์พระเจดีย์ได้รับการบูรณะมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ได้แก่ สมัยพระยาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา สืบต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดแห่งนี้  

และเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์มาที่จังหวัดชัยนาท เพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดพระธาตุ หรือวัดท้ายเมืองเป็นแห่งแรกก่อนปฏิบัติพระราชกรณียกิจอื่น  

 หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ให้ใหม่ นามว่า วัดพระบรมธาตุวรวิหาร และสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิด “วรวิหาร”

 
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/64204622184236_a2.jpg)


ตามประวัติกล่าวว่าพระบรมธาตุเจดีย์ศรีไชยนาท สร้างสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ซึ่งสอดคล้องกับพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ซึ่งทรงพระราชวินิจฉัยสอดคล้องกันว่า  “สร้างมาก่อนสมัยขอม จำหลักจากหินทั้งองค์ แปลกกว่าพระเจดีย์องค์อื่น เป็นฝีมือช่างอินเดีย”

พระเจดีย์องค์นี้บรรจุพระเกตุธาตุลงในพระปรางค์ องค์เจดีย์เป็นทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งต่อมุมขึ้นไปรองรับ ใต้องค์ระฆังมีซุ้มจระนำเล็กๆ ทั้ง ๔ ด้าน ภายในประดิษฐานพระปรางค์นาคปรกทั้ง ๔ ทิศ

หน้าบันของซุ้มจระนำมีสองชั้นซ้อนกัน มีปูนปั้นประดับเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือฐานบัวหงาย ๔ กลีบอยู่ตรงกลาง หน้าตักกว้าง ๒๓ เซนติเมตร สูงจากฐานจรดพระเศียร ๓๑ เซนติเมตร ทรงจีวรแบบห่มตอง หรือห่มเฉียง ผ้าสังฆาฏิพาดลงมาเกือบถึงฝ่าพระบาท  ลักษณะของพระเศียรและพระพักตร์มีเค้าของศิลปะลพบุรีหรืออู่ทองรุ่นแรก  

ระหว่างซุ้มจระนำนี้มีผนังทำเป็นมุมเหลี่ยม ขึ้นไปรองรับองค์ระฆัง และเหนือมุมระหว่างหน้าบันของซุ้มจระนำยังทำเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปอีกหลายองค์เรียงรายอยู่โดยรอบ จากนั้นถึงองค์ระฆังทรงกลมรองรับ ปลีย่อส่วนบนสุดมีลักษณะเป็นโลหะประดับ ทำนองเป็นฉัตรประดับอีกต่อหนึ่ง จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบอู่ทอง (อยุธยาตอนต้น) ที่นิยมใช้เจดีย์เล็กๆ ประดับ


ปาฏิหาริย์ พระบรมธาตุเจดีย์
๑. สมัยสงคราม พม่าได้นำช้างหลายเชือกมาลากพระธาตุให้ล้มเพื่อทำลายและเอาสมบัติที่ฝังอยู่ภายใน
    แต่ลากเท่าไรพระธาตุก็ไม่ล้ม จนพม่าหมดความหวังและยกเลิกไป
๒. ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้เดินทางมามานมัสการพระบรมธาตุเจดีย์
    แล้วอธิษฐานว่าถ้าพระธาตุนี้ศักดิ์สิทธิ์ขอให้พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อเสด็จกลับก็ได้ขึ้นครองราชย์จึงกลับมานมัสการอีกครั้ง
๓. พระบรมธาตุเกิดปาฏิหาริย์สิ่งมหัศจรรย์  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ตามตำนานที่ท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เมื่อถึงวันดีคืนดี
    พระบรมสารีริกธาตุจะแผ่รังสี ฉายรัศมีพวยพุ่งออกจากซุ้มพระนาคปรกทั้งสี่ทิศ ฉายแสงสว่างไสว
    จับทั่วองค์เจดีย์พระบรมธาตุเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง มักจะปรากฏในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
    เช่น วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา หรือวันมาฆบูชา มักจะปรากฏการณ์เป็นบางปี มิใช่ทุกๆ ปี
๔. เรื่องแปลกของพุทธเจดีย์ ไม่ได้หมายถึงลักษณะภายนอกขององค์พุทธเจดีย์
    สิ่งที่แปลกนั่นคือพระพุทธเจดีย์เป็นศิลาแลงเป็นก้อนเดียวกันทั้งองค์
    ยังมีเร้นลับอยู่ภายใต้คอระฆังลงไปภายในองค์เจดีย์คือมีช่องว่างหรือภายในเจดีย์กลวง ซึ่งอยู่ตรงซุ้มพระนาคปรก
    หลังวิหาร มีอยู่ซุ้มเดียวหลังพระนาคปรกทิศตะวันออก  คือท่านหันหลังให้วิหาร หันหน้าไปทางเจดีย์ มีซุ้มเดียว
    มีช่องพอมือของเราล้วงเข้าไปได้ นั้นแหละช่องฝากเงินทำบุญกับพระธาตุ และของมีค่า  
    ได้นำใส่ลงไปในช่องตามเจตนาของคนสมัยก่อน แต่สิ่งที่ลี้ลับมีความสงสัยก็คือ เวลานำของใส่ในช่องทำบุญแล้วเอาหูฟัง
    เราจะได้ยินเสียงวัตถุที่ทิ้งลงไปนั้นไปกระทบข้างๆ เจดีย์ จะได้ยินเสียงดังก๊อกแก๊กๆ นานเล็กน้อยแล้วจะได้ยินเสียงวัตถุ
    ที่ทิ้งลงไปตกถึงน้ำดังจุ๋ม  สันนิษฐานว่าใต้องค์เจดีย์พระธาตุมีสระน้ำรองรับอยู่ด้านล่าง จึงนับว่าแปลกกว่าพุทธเจดีย์องค์อื่นๆ

ต่อมาทางวัดได้พิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากคนสมัยก่อนเขานำวัตถุเงินทองสิ่งของอันมีค่าทิ้งลงไปเพื่อเป็นการบูชาและทำบุญฝากเงินไว้  แต่ต่อมาคนรุ่นหลังได้เห็นเป็นเรื่องเล่น ได้นำเอาก้อนกรวด ก้อนอิฐ ทิ้งลงไปเพื่อจะฟังเล่น เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น  ทางวัดเห็นว่าไม่สมควรจึงทำการปิดช่องฝากเงินนั้น ปิดมาประมาณ ๒๐ ปีเศษ  ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเสียหายกับสิ่งที่เราต้องเคารพบูชากราบไหว้ เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์และเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

วัดพระบรมธาตุแห่งนี้ ในอดีตเป็นสถานที่ประกอบพิธีพุทธาภิเษกของพระมหากษัตริย์  มีพระวิหารเก้าห้อง อายุกว่า ๗๐๐ ปี สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับเจดีย์พระบรมธาตุ ภายในวิหารมีบ่อน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์มีน้ำออกมาตามธรรมชาติ  

ภายในวิหารมี หลวงพ่อเพชรจำลอง (องค์เดิมพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงสร้างไถ่เมืองชัยนาทคืนจากพระเจ้าอู่ทอง ขณะนี้กรมศิลปากรนำไปรักษาไว้)

ส่วนในพระอุโบสถ มีหลวงพ่อทอง พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ลงรักปิดทองปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๒๐ เซนติเมตร  สูง ๔๓๐ เซนติเมตร เป็นพระประธาน ประดิษฐานมาแต่ดั้งเดิม  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

ประเด็นปัญหาที่กำลังถูกสังคมจับตามองในวันนี้คือ หลวงพ่อทอง เกิดรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ และทวีความเสียหายมากขึ้นทุกขณะ พระครูศรีปริยัติอุเทศ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ได้ทำหนังสือยื่นขอทำการบูรณะซ่อมแซมถึงสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๔ แต่ยังไม่มีการตอบรับหรือสั่งการใดๆ ลงมา



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/17663785980807_a4.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/13049648660752_a3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91466067979733_a7.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/44721081977089_a6.jpg)