[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 13 พฤศจิกายน 2556 14:07:14



หัวข้อ: มูลเหตุ การนำไม้ง่ามค้ำกิ่งโพธิ์ หรือ ไม้ค้ำสะหลี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 พฤศจิกายน 2556 14:07:14
.
(http://www.sookjaipic.com/images/7483023227_SAM_0326.JPG)
วัดเจ็ดยอด (Wat Jed Yod Royal Temple)    
ตำบลช้างเผือก  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่

ไม้ค้ำโพธิ์ เป็นความเชื่อของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมายาวนาน โดยเรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า ไม้ค้ำสะหลี ความเชื่อที่ว่านั้นคือ ไม้ใหญ่มักจะมีเทพเทวาสถิต โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีอยู่ในพุทธประวัติ ซึ่งถือกันว่ามีความเป็นมงคลยิ่ง เช่น ต้นสาละ และต้นโพธิ์ หรือต้นศรีมหาโพธิ และหากผู้ใดได้นำไม้มาค้ำต้นไม้มงคลอย่างโพธิ์ไว้ โดยเฉพาะค้ำลำต้นหรือกิ่งก้านที่โน้มเอียงลงมาคล้ายๆ จะไม่มั่นคงให้ดูมั่นคงขึ้น จะช่วยประคองดวงชะตาให้เจริญ ไม่ตกต่ำ เป็นความเชื่อเดียวกับที่เชื่อกันว่า หากใครเดินเที่ยวป่าแล้วพบก้อนหินใหญ่ที่ยื่นออกมาเหมือนทำท่าจะล้ม ให้เอาไม้เท่าที่หาได้มาค้ำหินนั้นไว้ เพื่อค้ำดวงชะตาไม่ให้ตกต่ำ

อาจารย์เพชร แสนใจบาล วิทยากรครูภูมิปัญญาไทย โรงเรียนจอม ทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สืบสาวเรื่องไม้ค้ำโพธิ์มาเล่าสู่ว่า ทางภาคเหนือมีพิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งคำเมืองเรียกว่า ไม้ค้ำสะหลี ในช่วงสงกรานต์ คือปี๋ใหม่เมือง โดยไม้ค้ำดังกล่าวอาจได้มาจากไม้ง่ามที่ใช้ในพิธีสืบชาตา หรือไม้ค้ำที่จัดหาขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในการถวายทานในเทศกาลสงกรานต์ ด้วยศรัทธาว่าเป็นการค้ำชูพระ พุทธศาสนา เป็นประเพณีเก่าแก่ที่จัดกันทั่วไปในล้านนา อย่างที่อำเภอจอมทอง ก็จัดเป็นงานประเพณีใหญ่ประจำปี

คำว่า สะหลี เป็นภาษาล้านนา มาจากคำว่า ศรี หมายถึงศรีมหาโพธิ มีตำนาน เล่าว่า สมัยเมื่อครูบาปุ๊ด หรือครูบาพุทธิมาวังโส เป็นเจ้าอาวาส (องค์ที่ ๑๔) วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ยามเดือนแปดเหนือ (เดือนพฤษภาคม) พ.ศ. ๒๓๑๔ ได้เกิดลมพายุใหญ่พัดเอากิ่งไม้สะหลี (ศรีมหาโพธิ) ภายในวัดหักลงมา ครูบาท่านให้นึกตกใจกลัวยิ่งนัก ด้วยว่าสมัยเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ มิเคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเลย ท่านคิดอย่างนั้นจนเครียดหนัก ตกตอนกลางคืนเข้าจำวัดก็เกิดนิมิตขึ้นว่า มีเทวดามาบอกว่าเหตุอาเพศลมพัดกิ่งไม้สะหลีหัก เป็นเพราะท่านไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม โดยเคร่งครัด นิมิตนั้นทำให้ท่านปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น จวบจนล่วงเวลาได้ ๒ เดือนก็บรรลุธรรมอภิญญาณ สามารถย่นย่อแผ่นดินได้
 
เป็นที่เล่าลือว่าวันหนึ่ง ท่านไปบิณฑบาตที่อำเภอแม่แจ่ม แล้วกลับมาฉันที่วัดพระธาตุศรีจอมทองในเช้าเดียวกัน โดยมีพ่อค้าวัวต่างถิ่นชาวแม่แจ่มที่มาซื้อข้าวของค้าขายแลกเกลือที่อำเภอจอมทอง ยืนยันว่าได้พบครูบาปุ๊ดเดินออกมาจากป่าบริเวณบ้านหัวเสือพระบาท (หมู่บ้านเชิงดอยทางทิศตะวันตกของอำเภอจอมทอง ประมาณ ๗ กิโลเมตร) เวลาเดียวกับที่กองเกวียนของพวกเขาหุงข้าวเสร็จพอดี จึงนิมนต์รับบิณฑบาต และได้ถามว่า ท่านไปบิณฑบาตที่ไหนมาในป่าอย่างนี้ ท่านตอบว่า ไปบิณฑบาตที่แม่แจ่มมา พ่อค้าวัวถามว่า บ้านอะไร พระตอบว่า บ้านสันหนอง พร้อมเปิดฝาบาตรให้พ่อค้าวัวทำบุญใส่บาตร

ตอนนั้นเองที่พ่อค้าได้เห็นข้าวในบาตร เป็นข้าวสีดำๆ ด่างๆ ก็รู้ว่าเป็นข้าวชั้นดี ซึ่งสมัยนั้นมีปลูกกันมากที่แม่แจ่มเท่านั้น จึงถามพระอีกว่า คนลักษณะใดใส่บาตร พระท่านตอบว่า เป็นผู้หญิงคอออม (หมายถึงคอพอง ปูดโปนออกมา) ต่อมาหลังจากซื้อขายข้าวของเสร็จแล้วพ่อค้าเดินทางกลับบ้านแม่แจ่ม ถามภรรยาว่า ได้ใส่บาตรบ้างไหม ภรรยาตอบว่า ใส่บาตรพระเดินออกมาจากป่าวันนี้ โดยเอาข้าวกล่ำใส่ (ข้าวหอมที่ชาวบ้านปลูกไว้ทำขนมทำบุญ) พร้อมอธิบายลักษณะของพระรูปนั้น ซึ่งตรงกันกับพระที่พ่อค้าได้ใส่บาตรเมื่อเช้าวันเดียวกันที่อำเภอจอมทอง จึงได้รู้ว่าพระรูปนี้มีบุญบารมียิ่งนัก คือปรากฏกาย ๒ ที่ในเวลาเดียวกัน

เมื่อครูบาปุ๊ดได้ธรรมอภิญญาณ มีสติปัญญาเกิดขึ้นตามลำดับ ครั้นถึงวันเข้าพรรษาปีต่อมา ชาวบ้านมาทำบุญฟังเทศน์ที่วัดมากมาย ท่านจึงได้บอกถึงเหตุการณ์ไม้สะหลีหัก ที่ประชุมจึงตกลงกันว่า ประมาณเดือน ๗ (เดือนเมษายน) ของทุกปี ให้พากันไปตัดไม้ง่ามมาช่วยกันค้ำกิ่งต้นสะหลีเอาไว้ไม่ให้หักโค่นยามโดนลมพัด ประเพณีแห่ไม้สะหลีหรือไม้ค้ำโพธิ์เข้าวัดจึงมีมานับแต่ พ.ศ. ๒๓๑๕ นั้นเอง


ข้อมูล  : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด