[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 08 มกราคม 2557 18:04:07



หัวข้อ: ผึ้ง : วิวัฒนาการ ชีวิต สังคม พฤติกรรม ภาษาผึ้ง ศัตรูผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากผึ้งฯลฯ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มกราคม 2557 18:04:07
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63298540148470__3612_2.gif)
เกือบรุ่งฟุ้งกลิ่นเกลี้ยง   เพียงสุคนธ์
หึ่งหึ่งผึ้งเวียนวน         ว่อนเคล้า
มาลีคลี่กลีบบน           บานกลิ่น ระรินเอย
ยิ่งรุ่งฟุ้งหอมเร้า          เร่งให้ใจเจริญ....  

                     นิราศสุพรรณ - สุนทรภู่

             ผึ้ง
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72216179304652__3612_1.gif)  ผึ้งเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ทุกคนรู้จักกันดี เล่ากันว่าผึ้งเป็นสัตว์ชนิดแรกที่สอนให้คนรู้จักกับรสหวานตามธรรมชาติ สิ่งนั้นคือ น้ำผึ้งนั่นเอง คนโบราณรู้จักลิ้มรสน้ำผึ้งมานานนับหมื่นปีแล้ว มีหลักฐานเป็นภาพวาดอายุประมาณ ๙,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล บนผนังถ้ำในประเทศสเปน รูปวาดนั้นแสดงให้เห็นคนยุคหินกำลังปีนขึ้นไปตีรังผึ้งที่อยู่ในโพรงตามธรรมชาติ และเก็บน้ำผึ้งใส่ภาชนะไว้กิน ภาพนั้นแสดงว่ามนุษย์รู้จักกินน้ำผึ้ง และน่าจะเป็นอาหารที่มีความหวานจากธรรมชาติชนิดแรกที่คนโบราณรู้จักเก็บนำมาใช้ ก่อนที่จะรู้จักน้ำตาลจากพืชซึ่งใช้กินกันในปัจจุบัน

ประมาณ ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว เมื่อคนเราเริ่มรู้จักเขียนหนังสือ ชาวอียิปต์ได้จารึกเรื่องราวเกี่ยวกับผึ้งและการเลี้ยงผึ้งเป็นครั้งแรก พระเจ้าเมนิสฟาโรห์แห่งอียิปต์ (ประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล) ให้ความสำคัญกับผึ้งมาก จนถึงกับใช้ผึ้งเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ ทั้งนี้เพราะผึ้งมีความสำคัญต่อชาวอียิปต์มาก นอกจากจะให้น้ำผึ้งที่เป็นอาหารแล้ว ยังนำไขผึ้งหรือขี้ผึ้งมาทำเทียนสำหรับจุดบูชาเทพเจ้าและให้แสงสว่างอีกด้วย  ประโยชน์อีกประการหนึ่งของผึ้ง คือ ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร อันเป็นผลงานของผึ้งที่ผสมเกสรให้พืชนานาชนิดติดลูกติดผลดก และขยายพันธุ์ออกไปได้มากมาย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/12133562150928__3612_3.gif)
๑. รูปสลักนูนต่ำ "ลิงถวายรวงผึ้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ที่ผนังวิหารวัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี
๒. ภาพวาดอายุประมาณ ๙,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ที่ถ้ำในประเทศสเปน เป็นภาพคนกำลังปีนไปตีรังผึ้ง
๓. รูปผึ้งจารึกบนแผ่นศิลาของชาวอียิปต์โบราณ

ในประเทศไทยพบรูปสลักนูนต่ำลิงถวายรวงผึ้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ที่ผนังพระวิหารของวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร หรือวัดหลวงพ่อโต จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดที่สร้างก่อนสมัยอยุธยาตอนต้น และตามตำนานทางพระพุทธศาสนา มีกล่าวถึงอานิสงส์การถวายน้ำผึ้งแก่พระภิกษุเพื่อเป็นเภสัชว่า จะมีผลบุญมาก

วิวัฒนาการและการกระจายตัวของผึ้ง
ปัจจุบันนี้ได้มีการนำหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ (fossil) มาใช้อธิบายความเป็นมาของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของผึ้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก นำไปสู่การวิจารณ์ผลทางวิวัฒนาการของผึ้งสกุลเอพิส (Apis) ได้อย่างน่าเชื่อถือ มีซากดึกดำบรรพ์มากมายที่สวยงามถูกหุ้มอยู่ในอำพันหรือยางไม้ที่เป็นหิน ซึ่งได้นำมาเก็บไว้เป็นตัวอย่างในการศึกษาเมื่อ ๑๒๐ ล้านปีที่ผ่านมา เหล่าแมลงที่ตอมพืชมีดอกในยุคเริ่มแรกเป็นแมลงจำพวกต่อและบรรพบุรุษของผึ้งที่ปกคลุมไปด้วยขนสั้นๆ อาศัยอยู่ตามโพรงไม้ ตัวเต็มวัยจะอาศัยดอกไม้เหล่านั้นเป็นแหล่งอาหาร โดยเก็บเกสรดอกไม้ (เกสรดอกไม้ที่ผึ้งไปเก็บ ในทางวิชาพฤกษศาสตร์ คือ เรณู-pollen หรือละอองเรณู-pollen grain ของดอกไม้) และช่วยผสมเกสรดอกไม้จากดอกหนึ่งไปสู่อีกดอกหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน ทำให้แมลงเหล่านี้พัฒนาลักษณะทางสัณฐานวิทยาให้เหมาะสมกับการเก็บเกสรดอกไม้  ดังนั้น ผึ้งและพืชมีดอกจึงมีความสัมพันธ์แบบได้ประโยชน์ต่อกันและกัน มีวิวัฒนาการร่วมกันมานาน โดยผึ้งจะช่วยผสมเกสรให้กับดอกไม้ และดอกไม้เป็นแหล่งอาหารให้แก่ผึ้ง

ผึ้งได้แยกออกมาจากวิวัฒนาการชาติพันธุ์ (phylogeny) ของต่อและแตนในยุคครีเทเชียส (cretaceous) ช่วง ๖๕-๑๔๐ ล้านปีมาแล้ว ผึ้งบางชนิดมีความเฉพาะเจาะจงกับชนิดของพืช ในทางตรงกันข้ามยังมีผึ้งชนิดอื่นๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจงกับชนิดของพืชเช่นกัน ปัจจุบันพบว่ามีผึ้ง ๑๗,๐๐๐ ชนิด ที่มี ตะกร้าเก็บเกสร ซึ่งเป็นผึ้งที่พบเมื่อ ๙๐-๑๐๐ ล้านปีมาแล้ว ผึ้งเหล่านี้มีลิ้นยาว มีตะกร้าเก็บเกสรซึ่งเป็นขนที่แข็งแรงเส้นเดี่ยวๆ เรียงกันอยู่บริเวณขา ใช้สำหรับแทงเกสรดอกไม้ ผึ้งที่มีตะกร้าเก็บเกสรมี ๔ กลุ่ม คือ ผึ้งกล้วยไม้ (orchid bee) ผึ่งหึ่ง (bumble bee) ชันโรง (stingless bee) และผึ้งกินน้ำหวาน (honey bee)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/54055039750205__3612_4.gif)
ซากดึกดำบรรพ์ของผึ้งที่ฝังอยู่ในหิน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18023859792285__3612_5.gif)
ซากดึกดำบรรพ์ของผึ้งที่อำพันหุ้มอยู่

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/34421832321418__3612_6.gif)
๑. ผึ้งกล้วยไม้กำลังเข้ารังซึ่งอยู่ใต้ดิน
๒. ชันโรงกำลังสร้างทางเข้ารังโดยใช้ชันที่ผลิตออกมา
๓. ผึ้งหลวงกำลังดูดน้ำหวานจากดอกสาบเสือ
๑. ผึ้งหึ่งกำลังเก็บเกสร (เรณู) ดอกไม้


ผึ้งกล้วยไม้ เป็นแมลงสังคมที่ทำรังอยู่ใต้พื้นดินด้วยยางไม้ พบการกระจายตัวทางตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ ผึ้งชนิดนี้ยังไม่พบในประเทศไทย โดยทั่วไปเพศเมียแต่ละตัวจะบินแยกรังออกมาดูแลตัวอ่อนของตัวเอง ลูกเพศเมียที่ออกมาจะช่วยเลี้ยงดูตัวอ่อน ส่วนเพศผู้จะออกหาอาหารจากดอกกล้วยไม้และแหล่งอาหารอื่นๆ

ผึ่งหึ่ง เป็นแมลงสังคมที่มีเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย นอกจากนั้นพบการกระจายตัวอย่างกว้างขวางในแถบทวีปอเมริกา เอเชีย ยุโรป และทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ผึ้งหึ่งมีความแตกต่างจากชันโรงและแมลงภู่ รวมทั้งผึ้งกินน้ำหวานอย่างมีนัยสำคัญ โดยหลังจากเพศเมียได้ผสมพันธุ์แล้วจะทำหน้าที่เลี้ยงดูตัวอ่อนชุดแรก แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเหล่าผึ้งงาน

ชันโรง เป็นแมลงสังคมที่มีความคล้ายคลึงกับผึ้งกินน้ำหวาน (Apis) แต่เป็นผึ้งสกุล Trigona ภายในรังมีประชากร ๕๐๐-๑๐,๐๐๐ ตัวต่อรัง นางพญามีขนาดใหญ่สุดภายในรังและไม่มีตะกร้าเก็บเกสร อาศัยอยู่ในโพรง พบการกระจายตัวในแถบทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย รวมถึงตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ พบมากในประเทศไทยถึง ๓๕ ชนิด

ผึ้งกินน้ำหวาน เป็นแมลงสังคมที่พบการกระจายตัวในแถบทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา มีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากผึ้งที่มีตะกร้าเก็บเกสรกลุ่มอื่นๆ พบว่านางพญาสามารถผสมพันธุ์กับผึ้งเพศผู้เป็นจำนวนมาก มีพฤติกรรมที่ผึ้งงานเป็นพี่เลี้ยงดูตัวอ่อนและมีการเต้นเป็นภาษาเพื่อสื่อสารกันในกลุ่มผึ้งงานบอกแหล่งอาหารและสถานที่สร้างรัง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/17660909435815__3612_7.gif)
ผึ้งหลวงสามารถออกหาอาหารจากดอกไม้จนถึงค่ำได้

• ผึ้งกินน้ำหวานชนิดต่างๆ
ผึ้ง ในภาษาไทยจะหมายถึงแมลงที่เก็บน้ำหวานจากดอกไม้มาทำน้ำผึ้ง เป็นแมลงในวงศ์ Apidae สกุล Apis ในประเทศไทยมีผึ้งกินน้ำหวานที่สำคัญอยู่ ๕ ชนิดคือ

๑. ผึ้งหลวง มีขนาดตัวและรังใหญ่ที่สุด ขนาดของลำตัวผึ้งยาวประมาณ ๑.๕-๒ เซนติเมตร ส่วนท้องเป็นปล้องสีเหลืองสลับดำ ปีกแข็งแรง บินเร็วมักพบอยู่ในป่าหรือตามชนบททั่วไป ชอบสร้างรัง (รวงผึ้ง) บนต้นไม้สูงๆ หรือภายนอกอาคารบ้านเรือน ตามวัด หรือใต้ถังเก็บน้ำสูงๆ ลักษณะรังมีชั้นเดียวเป็นรูปครึ่งวงกลมขนาดเท่าแขนผู้ใหญ่กางออก (ขนาดประมาณ ๐.๕-๒ เมตร) รวงรังไม่มีที่ปกปิด ผึ้งหลวงเป็นผึ้งที่สร้างรังได้หลากหลาย สามารถสร้างรังตั้งแต่ระดับต่ำกว่า ๒ เมตร จนถึงระดับความสูงมากกว่า ๒๐ เมตร สร้างรังได้ทั้งบนต้นไม้หรือบนหน้าผาสูงๆ มีทั้งเกาะอยู่แบบรังเดียวและอยู่แบบหลายรังใกล้ๆ กันบนต้นไม้หรือบนหน้าผา ด้วยเหตุที่ผึ้งหลวงมีขนาดตัวใหญ่จึงมีปริมาณพิษมากพอที่จะทำให้ศัตรูหรือมนุษย์ที่มารบกวนเสียชีวิตได้ ถ้าโดนผึ้งงานจำนวนมากๆ รุมต่อยพร้อมกัน น้ำผึ้งที่เก็บในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่ผึ้งหลวงให้น้ำผึ้งดีที่สุดเรียกว่า น้ำผึ้งเดือนห้า

๒. ผึ้งโพรงไทย มีขนาดตัวใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง ลำตัวมีสีน้ำตาลหรือดำสลับเหลืองเป็นปล้องๆ ที่ส่วนท้อง ผึ้งโพรงสร้างรังในโพรงไม้ ในอาคารบ้านเรือนที่มิดชิดและมืด เช่น ใต้หลังคา รวงรังมีลักษณะหลายรวงห้อยลงมาเรียงขนานกัน ขนาดของรวงรังมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ผึ้งโพรงไทยสามารถนำมาเลี้ยงในหีบได้ ให้น้ำผึ้งในช่วงเวลาที่ดอกเงาะ ดอกทุเรียน ดอกมะพร้าว หรือดอกไม้จากสวนผลไม้กำลังบานในขณะนั้น ทำให้สามารถเก็บน้ำผึ้งได้หลายครั้ง วิธีการเก็บน้ำผึ้งตามธรรมชาติที่ถูกต้องควรตัดเฉพาะรังส่วนที่มีน้ำผึ้ง ไม่ควรเผารังผึ้ง เพราะทำให้ผึ้งตายหมดทั้งรัง

๓. ผึ้งโพรงฝรั่ง หรือ ผึ้งพันธุ์ คือ ผึ้งพื้นเมืองของทวีปแอฟริกาและยุโรป ลักษณะคล้ายผึ้งโพรงไทย ตัวมีขนาดใหญ่กว่าผึ้งโพรงไทย แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง เป็นผึ้งที่คนไทยนำมาจากต่างประเทศ ดังนั้น บางครั้งจึงนิยมเรียกว่า ผึ้งพันธุ์ยุโรป บ้าง ผึ้งพันธุ์อิตาเลียน บ้าง สร้างรังหลายๆ รวงขนาดเท่าๆ กันห้อยลงมาถ้าพบตามธรรมชาติในยุโรปจะอยู่ตามโพรงไม้ ซอกหิน หรือตามอาคารที่ปิดมิดชิด ต่อมาได้มีการนำมาเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมทั่วโลก เนื่องจากเป็นผึ้งที่มีขนาดรังเหมาะสมกับการนำมาประยุกต์เลี้ยงในหีบผึ้งขนาดมาตรฐานได้พอดี และสามารถเก็บสะสมน้ำผึ้งได้ปริมาณมากที่สุด ไม่ดุเหมือนผึ้งหลวงและไม่ทิ้งรังง่ายเหมือนผึ้งโพรงไทย ปัจจุบัน พบว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่เลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งมากที่สุดในโลก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41197071224450__3612_8.gif)
ผึ้งหลวงชอบสร้างรังอยู่บนต้นไม้และชายคาอาคาร

๔. ผึ้งมิ้ม มีขนาดตัวและรังเล็กกว่าผึ้งหลวงและผึ้งโพรง ขนาดของลำตัวใหญ่กว่าแมลงวันบ้านเล็กน้อย ท้องปล้องแรกมีสีเหลือง ที่เหลือเป็นปล้องสีดำสลับขาวชัดเจน บางท้องถิ่นเรียกว่าผึ้งแมลงวัน พบอยู่ทั่วไป ชอบตอมขนมหวานและผลไม้ตามตลาด ผึ้งมิ้มชอบสร้างรังที่ระดับความสูงตั้งแต่ ๑ เมตรขึ้นไปจากพื้นดิน ลักษณะรวงรังมีชั้นเดียว ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือผู้ใหญ่กางเต็มที่ (ประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร) ผึ้งมิ้มมักจะปกปิดรังอยู่ในพุ่มไม้และกิ่งไม้พรางตาเพื่อป้องกันศัตรู เดือนกุมภาพันธ์-เมษายนเป็นช่วงเวลาที่ผึ้งมิ้มให้น้ำผึ้งมากที่สุด

๕. ผึ้งมิ้มเล็ก หรือ ผึ้งม้าน มีขนาดตัวและรังเล็กกว่าผึ้งมิ้ม จัดเป็นผึ้งที่เล็กที่สุดในโลก ต่างจากผึ้งมิ้มที่ท้องปล้องแรกมีสีดำ ผึ้งมิ้มเล็กเป็นผึ้งที่หายาก พบเฉพาะบริเวณป่าใกล้ภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น สร้างรังบนต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ระดับความสูงต่ำกว่า ๑ เมตร จนถึง ๗ เมตร ลักษณะรังมีชั้นเดียวบอบบางและเล็กกว่ารังของผึ้งมิ้ม คือ มีขนาดเท่าฝ่ามือผู้ใหญ่เท่านั้น (ขนาดประมาณ ๑๐-๒๐ เซนติเมตร) ด้วยเหตุที่ผึ้งมิ้มเล็กมีรังขนาดเล็ก จึงมักสร้างรังในที่มิดชิดเหมือนผึ้งมิ้ม แต่ปกปิดมิดชิดกว่าในช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันลมพายุและฝนพัดทำลายรัง ในฤดูแล้งจะสร้างรังใกล้บริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ ผึ้งมิ้มเล็กเป็นผึ้งที่มีชื่อเรียกหลากหลายตามแต่ละท้องถิ่น บางแห่งเรียก ผึ้งม้าน ผึ้งมิ้มดำ ผึ้งกระโปกวัว มั่ม แม้ม ผึ้งหวี่

ผึ้งมิ้มเล็กเป็นผึ้งที่จำเป็นต้องอนุรักษ์เพราะพบได้ยากในประเทศไทย เนื่องจากเป็นผึ้งที่มีขนาดตัวเล็กและต่อยเจ็บปวดน้อยกว่าผึ้งชนิดอื่น จึงถูกล่าตีหรือเผานำน้ำผึ้งมากกินได้ง่าย ผึ้งมิ้มเล็กที่อยู่บริเวณแห่งเดียวกับผึ้งมิ้มมักจะถูกนักล่าผึ้งมิ้มทำลาย เพื่อนำน้ำผึ้งป่ามาขาย จนกลายเป็นผึ้งที่ใกล้สูญพันธุ์ไป


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/30542499116725__3612_9.gif)
ซ้าย ผึ้งโพรงไทยกำลังเก็บเกสรดอกไม้ไว้ที่ตะกร้าเก็บเกสร
ขวา) ลักษณะรังผึ้งโพรงไทยจะมีหลายรวงห้อยเรียงขนานกัน

• ชีวิตและสังคมผึ้ง
ในชีวิตและสังคมของผึ้งไม่มีผึ้งตัวใดตัวหนึ่งสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลานาน โดยขาดความสัมพันธ์กับผึ้งวรรณะอื่นภายในสังคมเดียวกัน เพราะผึ้งเป็นแมลงสังคมที่มีวิวัฒนาการสูง มีระบบสังคมมาเป็นเวลาช้านานประมาณถึง ๓๐ ล้านปี ผึ้งแต่ละรังเปรียบเสมือนครอบครัวหนึ่งซึ่งประกอบด้วย ๓ วรรณะ คือ ผึ้งนางพญาหนึ่งตัว ผึ้งเพศผู้หลายร้อยตัว และผึ้งงานอีกจำนวนเป็นหมื่นตัว โดยเฉพาะผึ้งหลวงและผึ้งพันธุ์อาจจะมีผึ้งงานได้หลายหมื่นตัว

ผึ้งรังหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่งๆ จะดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีระเบียบในระบบสังคมที่มีผึ้งนางพญาเป็นศูนย์กลาง โดยทำหน้าที่ผสมพันธุ์เพื่อสร้างประชากร ปกตินางพญาผึ้งโพรงไทยจะวางไข่ได้วันละ ๑,๐๐๐ ฟอง นางพญาผึ้งโพรงฝรั่งสามารถวางไข่ได้ถึงวันละ ๓,๐๐๐ ฟอง โดยมีผึ้งงานคอยรับใช้ ทำความสะอาด ให้อาหาร และนำของเสียที่อยู่ในรังไปทิ้ง

ผึ้งนางพญา เป็นผึ้งเพศเมียที่มีขนาดของลำตัวใหญ่กว่าผึ้งงาน และลำตัวยาวกว่าผึ้งเพศผู้ ยกเว้นผึ้งหลวงที่นางพญามีรูปร่างขนาดเท่าๆ กับผึ้งงาน แต่มีปีกสั้นกว่า ปกติจะมีอายุ ๑-๒ ปี บางตัวอาจมีอายุนานถึง ๓ ปี

ผึ้งงาน เป็นผึ้งเพศเมียมีขนาดเล็กที่สุดในรัง เนื่องจากในระยะที่เป็นตัวอ่อนได้รับอาหารพิเศษ คือ นมผึ้งหรือรอยัลเยลลี (royal jelly) เพียง ๓ วัน หลังจากนั้นตัวอ่อนผึ้งงานที่มีอายุมากขึ้นจะได้กินแต่เกสรและน้ำผึ้ง ในขณะที่ผึ้งนางพญาได้กินนมผึ้งตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอายุ ๑ วันไปจนตลอดชีวิต ทำให้การพัฒนาของผึ้งงานแตกต่างจากผึ้งนางพญามาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เพศเมีย ๒ วรรณะนี้ ผิดแผกแตกต่างกันทั้งลักษณะภายนอกและภายใน ตลอดจนภารกิจต่างๆ ผึ้งงานมีหน้าที่หลักในการทำงาน ได้แก่ หาอาหาร เลี้ยงดูป้อนอาหารให้ผึ้งตัวอ่อน สร้างและซ่อมแซมรัง ทำความสะอาดรัง เป็นทหารเฝ้ารังป้องกันศัตรู ผึ้งงานต้องรับภาระดังกล่าวเท่ากันทุกตัว ไม่มีการเอาเปรียบแก่งแย่งกันหรือหลบงาน ทุกตัวรับผิดชอบงานของตนโดยไม่มีใครบังคับ และไม่ต้องสั่งสอนกันเหมือนในสังคมมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ผึ้งงาน คือ หุ่นยนต์มีชีวิตตัวน้อยๆ ที่ทำงานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น จึงมีอายุสั้นเพียง ๖-๘ สัปดาห์เท่านั้น

ผึ้งเพศผู้ มีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนและสั้นกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งเพศผู้ไม่มีเหล็กในจึงไม่ต่อยศัตรูเหมือนผึ้งงาน มีลิ้นสั้น หาอาหารเองไม่ได้ต้องรับอาหารจากผึ้งงานเท่านั้น ผึ้งเพศผู้ไม่มีหน้าที่ทำงานภายในรัง มีหน้าที่ผสมพันธุ์อย่างเดียว เมื่อผสมพันธุ์ในอากาศเสร็จจะตกลงมาตาย ส่วนผึ้งเพศผู้ที่ยังไม่มีโอกาสผสมพันธุ์จะถูกผึ้งงานปล่อยให้อดตายเมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ เราจะพบผึ้งเพศผู้ปรากฏในรังเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52176663031180__3612_10.gif)
๑. การเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย
๒. ผึ้งมิ้มกำลังสร้างหลอดรวงนางพญาที่ด้านล่างของรัง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95073757527603__3612_11.gif)
๑.ผึ้งมิ้มเล็กหรือผึ้งม้านกำลังเก็บน้ำหวานจากดอกมะพร้าว
๒.(ตรงลูกศรชี้สีแดง) ท้องปล้องแรกมีสีดำ
๓.รังผึ้งมิ้มเล็กเป็นรูปรีหลอดรวงนางพญาอยู่ด้านล่างของรัง

• ชีวิตและการเจริญเติบโตของรังผึ้ง
ผึ้งแต่ละวรรณะมีระยะการเจริญเติบโตในแต่ละขั้นตอนที่ใช้เวลาแตกต่างกัน
ขึ้นกับวิถีการดำรงชีวิตและอาหารที่ตัวอ่อนได้รับ ระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญจากไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย
อาจสรุปได้ดังตารางที่แสดงการเจริญเติบโต ดังนี้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58064911887049__3612_12.gif)
ผึ้งงานกำลังป้อนอาหารให้ผึ้งนางพญา

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/13469517769084__3612_13.gif)
ตารางแสดงจำนวนวันที่ผึ้งโพรงและผึ้งพันธุ์แต่ละวรรณะเจริญจากไข่จนเป็นตัวเต็มวัย


ขั้นตอนการเจริญจากไข่เป็นตัวเต็มวัย  ไข่ของผึ้งทุกวรรณะมีอายุ ๓ วัน
ตัวอ่อนผึ้งงานมีขั้นตอนการเจริญเติบโตต่างจากตัวอ่อนผึ้งนางพญาและผึ้งเพศผู้
ในช่วงระยะเวลาและอาหารที่ได้รับ อาจแบ่งขั้นตอนการเจริญเป็นดังนี้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/88380023961265__3612_14.gif)
ภาพ ๑ วันที่ ๑ ไข่จะติดแน่นกับฐานของหลอด และตั้งตรงอยู่ที่กลางหลอดรวง ขนานกับผนังหลอดรวง
         วันที่ ๒ ไข่จะเอนประมาณ ๔๕ องศา
         วันที่ ๓ ไข่จะเอนนอนราบกับฐานหลอดรวง
ภาพ ๒ วันที่ ๔ หนอนจะเจริญขึ้นและฟักออกมาจากไข่
ภาพ ๓ วันที่ ๕-๖ ผึ้งงานพี่เลี้ยงจะผลิตนมผึ้ง (royal jelly) ออกมาให้เป็นอาหารป้อนหนอน เป็นเวลา ๓ วันติดต่อกัน และพบว่าผึ้งงานพี่เลี้ยงจะเวียนมาดูบ่อยกว่า ๑,๐๐๐ ครั้งต่อวัน หรือ ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ระหว่างชั่วชีวิตของมัน ตัวหนอนก็จะว่ายอยู่ในนมผึ้งและใช้กินเป็นอาหารด้วย ตัวอ่อนจะมีการงดตัวทางด้านหนึ่ง อาจทางด้านซ้ายหรือขวา จนกว่าเจริญเต็มที่เกือบเต็มหลอดรวง หลังจาก ๓ วันไปแล้ว ผึ้งงานจะหยุดให้นมผึ้ง แต่ให้เกสรและน้ำผึ้งแทน ตัวหนอนจะกินจนเริ่มเข้าสู่ระยะดักแด้เมื่ออายุได้ ๘ วัน ก็หยุดกินอาหาร ในระยะที่เป็นตัวหนอนมีการลอกคราบ ๔ ครั้ง
ภาพ ๕ วันที่ ๙ (นับจากระยะที่เป็นไข่) ตัวหนอนจะปั่นปลอกหุ้มอยู่ภายใน และลอกคราบเป็นครั้งสุดท้ายกลายเป็นดักแด้
ภาพ ๖ วันที่ ๑๐ ลำตัวจะเหยียดยาว ส่วนหัวชี้ไปทางปากหลอดรวง
ภาพ ๗ วันที่ ๑๓ จะเกิดสารสีที่ตาก่อน โดยตอนแรกเป็นสีชมพู ต่อมาจะเป็นสีแดงม่วง และเป็นสีน้ำตาลในที่สุด ตัวเต็มวัยกัดหลอดรวงออกมา

ระหว่างการเจริญจะลอกคราบทั้งหมด ๕ ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายจะกลายเป็นตัวเต็มวัย เมื่อเจริญสมบูรณ์เปลือกดักแด้จะแยกออก ผึ้งตัวเต็มวัยอาศัยกรามกัดฝาปิดหลอดรวงออกมา โดยส่วนหัวออกมาก่อน รวมเวลาทั้งหมดนับจากวางไข่ ๒๑ วัน สำหรับในผึ้งโพรง พบว่า ระยะการเจริญเติบโตของผึ้งงานจากไข่ถึงตัวเต็มวัยอายุเพียง ๒๐ วัน เท่านั้น

ส่วนผึ้งนางพญาเมื่อตัวหนอนออกจากไข่ (วันที่ ๓) ระยะนี้ไม่มีความแตกต่างจากตัวหนอนผึ้งงานเลย แต่จะได้รับนมผึ้งทุกวันเป็นปริมาณมากกว่าผึ้งงาน และจะเริ่มฟักตัวเข้าดักแด้ในวันที่ ๘ ดังนั้น ผึ้งนางพญามีระยะที่เป็นตัวหนอนเพียง ๕ วัน และเข้าดักแด้อีก ๘ วัน รวมอายุจากไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยเพียง ๑๖ วัน สำหรับในผึ้งพันธุ์ ส่วนผึ้งโพรงใช้เวลาประมาณ ๑๕-๑๖ วัน

ผึ้งเพศผู้ในผึ้งพันธุ์และผึ้งโพรงมีระยะเป็นตัวหนอนนานประมาณ ๖-๖.๕ วัน เท่านั้น แต่ในระยะดักแด้ของผึ้งโพรงนาน ๑๓ วัน และในผึ้งพันธุ์นาน ๑๔.๕ วัน รวมอายุจากไข่ถึงตัวเต็มวัยของผึ้งโพรงเพศผู้ ๒๒ วัน และของผึ้งพันธุ์นานประมาณ ๒๔ วัน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/43643315715922__3612_15.gif)

• ลักษณะทั่วไปของผึ้ง
ลำตัวของผึ้งแบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง
ส่วนหัว เป็นที่ตั้งของหนวด ตา และปาก
หนวด เป็นอวัยวะรับความรู้สึกและสัมผัสโดยเฉพาะการดมกลิ่นแทนจมูก
ตา มีตาประกอบใหญ่ ๑ คู่ ช่วยให้มองเห็นได้ในระยะไกลและเป็นบริเวณกว้าง สามารถมองเห็นดอกไม้สีต่างๆ ได้ในระยะไกล ผึ้งมองเห็นสีได้เกือบเหมือนคน นอกจากสีแดงซึ่งผึ้งจะเห็นเป็นสีดำ ตาของผึ้งเพศผู้ใหญ่กว่าตาผึ้งงานและผึ้งนางพญา
ปาก เป็นแบบกัดเลีย ประกอบด้วยอวัยวะเล็กๆ หลายส่วน คือ ปากบนมีกรามแข็งแรง ๑ คู่ ด้านข้างเป็นฟัน ตรงกลางเป็นงวงใช้ดูดน้ำหวาน ปากของผึ้งเพศผู้และผึ้งนางพญาสั้นมากเพราะไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากผึ้งงานจะช่วยป้อนอาหารให้ผึ้งทั้งสองวรรณะ
ส่วนอก เป็นส่วนรวมของกล้ามเนื้อเป็นที่ตั้งของขาและปีก
ขา มี ๓ คู่ ขาหลังมีอวัยวะพิเศษสำหรับเก็บเกสรดอกไม้ (ละอองเรณู) เรียกว่า ตะกร้าเก็บเกสร ซึ่งมีเฉพาะในผึ้งงานเท่านั้น ส่วนผึ้งเพศผู้และนางพญาไม่มีอวัยวะนี้ เพราะไม่มีหน้าที่ออกหาอาหาร
ปีก มี ๒ คู่ เป็นปีกบางใส คู่แรกใหญ่กว่าคู่หลังเล็กน้อย ปีกคู่แรกและคู่หลังเกี่ยวกันด้วยตะขอเรียงกันเป็นแถว เรียกว่า ฮามูไล (hamuli)
ส่วนท้อง ผึ้งงานมี ๖ ปล้อง ส่วนผึ้งเพศผู้มี ๗ ปล้อง ด้านข้างแต่ละปล้องมีรูหายใจ ปล้องละ ๑ คู่ ที่ปลายท้องของผึ้งงานและผึ้งนางพญามีเหล็กใน แต่ผึ้งเพศผู้ไม่มีเหล็กใน
อวัยวะวางไข่ อยู่ที่ปล้องสุดท้ายในผึ้งงานและผึ้งนางพญา บางส่วนของอวัยวะวางไข่ถูกแปลงเป็นเหล็กใน มีลักษณะเป็นเข็มแหลม
รูหายใจ เป็นรูเปิดที่ด้านข้างส่วนอกและส่วนท้อง มีทั้งหมด ๑๐ คู่ ๓ คู่แรกอยู่ที่ส่วนอก อีก ๗ คู่อยู่ที่ส่วนท้อง รูหายใจปิดเปิดตลอดเวลา เพราะผึ้งหายใจเข้าออกทางรูเหล่านี้ รูหายใจอยู่ติดต่อกับท่อลมและถุงลม ผึ้งมีถุงลมใหญ่มากอยู่ภายในลำตัวช่วยพยุงตัวขณะที่บิน ทำให้สามารถบินได้เร็วและไกลด้วย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/62812861634625__3612_16.gif)
ภาพ ๑ รังผึ้งมิ้มเล็ก (บน) มีขนาดเล็กกว่ารังผึ้งมิ้ม (ล่าง)
ภาพ ๒ ภาพวาดแสดงลักษณะหลอดรวงแต่ละหลอดเป็นรูปหกเหลี่ยม

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/84821034305625__3612_17.gif)
ต่อมไขผึ้งผลิตไขออกมาสร้างหรือซ่อมแซมรัง

• ลักษณะของรังและหลอดรวง
รังผึ้ง หรือ รวงผึ้ง (comb) ของผึ้งทุกชนิดประกอบด้วยหลอดรวง (cell) รูปหกเหลี่ยมด้านเท่าจำนวนพันๆ หลอดรวง ขนาดของหลอดรวงขึ้นอยู่กับชนิดของผึ้ง เช่น ผึ้งหลวงตัวใหญ่ ขนาดของหลอดรวงก็ใหญ่ด้วย ผึ้งมิ้มมีขนาดเล็กที่สุด ดังนั้น ขนาดหลอดรวงผึ้งมิ้มจึงมีขนาดเล็กที่สุด จำนวนหลอดรวงในรังผึ้งขึ้นอยู่กับขนาดของรัง เช่น รังผึ้งหลวงรังใหญ่ๆ อาจมีจำนวนมากถึงหมื่นๆ หลอดรวง เช่นเดียวกับผึ้งเลี้ยง โดยเฉพาะผึ้งโพรงฝรั่งมีประชากรมากที่สุด เพราะในครอบครัวของรังผึ้งรังเดียว (colony) อาจมีหีบซ้อนกันได้ถึง ๓-๔ หีบ แต่ละหีบมีรังผึ้ง ๘-๑๐ รวง ดังนั้น ผู้เลี้ยงผึ้งสามารถจัดการให้มีประชากรผึ้งงานมากกว่าแสนตัวได้

รวงรังของผึ้งเปรียบเหมือนบ้าน หลอดรวงต่างๆ คือห้องของตัวอ่อน ผึ้งนางพญาจะวางไข่ลงที่ฐานแต่ละหลอดรวง ตัวอ่อนหรือตัวหนอนเจริญในหลอดรวงจนถึงระยะเข้าดักแด้ เมื่อลอกคราบครั้งสุดท้าย ผึ้งตัวเต็มวัยจะคลานออกจากหลอดรวง รวงรังผึ้งชนิดเดียวกันมีขนาดหลอดรวงไม่เท่ากัน เพราะขนาดของผึ้งแต่ละวรรณะไม่เท่ากัน เช่น หลอดรวงผึ้งงานมีขนาดเล็กที่สุด รังผึ้งโพรงไทยหลอดรวงผึ้งงานกว้าง ๐.๑๘ นิ้ว ส่วนหลอดรวงผึ้งเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่า คือ กว้าง ๐.๒๑ นิ้ว หลอดรวงของผึ้งนางพญามีลักษณะพิเศษคือใหญ่ที่สุด เป็นหลอดยาวอยู่ทางด้านล่างของรวงรังในลักษณะที่ห้อยหัวลง ผึ้งทุกวรรณะเมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะไม่เข้าไปอยู่ในหลอดรวงอีก แต่เกาะอาศัยห้อมล้อมรอบๆ รวงรัง หลอดรวงตัวอ่อนนี้อาจใช้สำหรับเก็บน้ำผึ้งและเกสรดอกไม้ได้ด้วย โดยเฉพาะในฤดูดอกไม้บาน ปกติหลอดรวงเก็บน้ำผึ้งจะอยู่บนสุด เรียกว่า “หัวรวง” หรือ “หัวน้ำผึ้ง” ต่ำลงมาเป็นหลอดรวงเก็บเกสรและหลอดรวงตัวอ่อน

การสร้างหรือซ่อมแซมรัง เป็นหน้าที่ของผึ้งงานโดยใช้ไขผึ้งจากต่อมไขผึ้ง๔ คู่ ซึ่งอยู่ที่ด้านล่างส่วนท้องของผึ้งงานอายุ ๑๒-๑๘ วัน ผึ้งผลิตไขผึ้งออกมาเป็นแผ่นๆ เพื่อสร้างหรือซ่อมแซมรังโดยจะเขี่ยแผ่นไขผึ้งออกจากท้องเอามาเคี้ยวผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลง แล้วนำไปเชื่อมต่อๆ กันเป็นหลอดรวงรูปหกเหลี่ยมหลายๆ หลอด ก่อให้เกิดรวงรังขึ้น

การสร้างหรือซ่อมแซมรัง เป็นหน้าที่ของผึ้งงานโดยใช้ไขผึ้งจากต่อมไขผึ้ง ๔ คู่ ซึ่งอยู่ที่ด้านล่างของส่วนท้องของผึ้งงานอายุ ๑๒-๑๘ วัน ผึ้งผลิตไขผึ้งออกมาเป็นแผ่นๆ เพื่อสร้างหรือซ่อมแซมรัง โดยจะเขี่ยแผ่นไขผึ้งออกจากท้องเอามาเคี้ยวผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลง แล้วนำไปเชื่อมต่อๆ กันเป็นหลอดรวงรูปหกเหลี่ยมหลายๆ หลอด ก่อให้เกิดรวงรังขึ้น



หัวข้อ: Re: ผึ้ง : วิวัฒนาการ ชีวิต สังคม พฤติกรรม ภาษาผึ้ง ศัตรูผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากผึ้งฯลฯ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 มกราคม 2557 12:55:23
.


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83267458114359__3612_18.gif)
๑.ลักษณะการเต้นรำแบบวงกลมของผึ้งงาน เป็นการบอกแหล่งอาหารที่อยู่ในรัศมี ๑๐๐ เมตร
๒.ลักษณะการเต้นรำแบบส่ายท้องเป็นการบอกทิศทางแหล่งอาหารที่อยู่ไกลกว่า ๑๐๐ เมตร
ขวา แสดงภาพการเต้นรำแบบส่ายท้อง แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ ดอกไม้ และตำแหน่งรังผึ้ง
 
พฤติกรรมและภาษาผึ้ง
• พฤติกรรม
คือ การแสดงออกในลักษณะท่าทางเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ผึ้งเป็นแมลงสังคมที่มีพฤติกรรมแสดงออกมากกว่าแมลงอื่นๆ พฤติกรรมเหล่านี้ ได้แก่ ภาษาผึ้ง การผสมพันธุ์ การวางไข่ และการแยกรัง

• ภาษาผึ้ง เป็นภาษาใบ้ชนิดหนึ่ง เป็นอาการที่แสดงออกของผึ้งเพื่อใช้บอกแหล่งอาหารให้สมาชิกในรังรู้ และพากันบินไปหาอาหารนั้นทันที
ภาษาผึ้งเป็นภาษาที่น่าสนใจและน่าแปลกประหลาด นำเสนอโดยศาสตราจารย์ คาร์ล ฟอล ฟริช (Karl von Frisch) ชาวเยอรมัน ได้ค้นพบจากการที่เฝ้าดูผึ้งตัวน้อยๆ บอกภาษากันด้วยการเต้นรำ และศึกษาเรื่องนี้อยู่นานถึง ๔๐ ปี จึงสรุปและอธิบายแง่มุมต่างๆ ของภาษาผึ้งได้อย่างละเอียด ผลงานนี้ได้รับรางวัลสูงสุด คือ รางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยา พ.ศ. ๒๕๑๖

การเต้นรำบอกแหล่งอาหารของผึ้งมีอยู่ ๒ แบบ คือ การเต้นรำแบบวงกลม และการเต้นรำแบบส่ายท้อง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42566129937767__3612_27.gif)
แสดงภาพการเต้นรำแบบส่ายท้อง แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ ดอกไม้ และตำแหน่งรังผึ้ง
ก. ตำแหน่งดอกไม้อยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์และที่ตั้งของรัง
ข. ตำแหน่งดอกไม้ทำมุมแหลม (x) กับดวงอาทิตย์และที่ตั้งของรัง
ค. ตำแหน่งของดอกไม้ทำมุมป้าน (y) กับดวงอาทิตย์และที่ตั้งของรัง
ง. ตำแหน่งของดอกไม้อยู่คนละด้านกับดวงอาทิตย์และรัง

• การเต้นรำแบบวงกลม (round dance)  ผึ้งงานที่กลับจากการสำรวจแหล่งอาหารในรัศมีไม่เกิน ๑๐๐ เมตร จะบินกลับรังแล้วเต้นแบบวงกลมบนผนังของรวงรังในแนวตั้งฉากกับฐานรัง เอบอกให้สมาชิกผึ้งงานด้วยกันได้รู้ ลักษณะของการเต้นแบบวงกลมนี้จะเต้นวนอยู่หลายรอบนาน ๑/๒ – ๑ นาที จึงหยุด แล้วย้ายไปเต้นในตำแหน่งต่างๆ บนผนังรวงรัง เพื่อบอกให้สมาชิกผึ้งงานตัวอื่นๆ ให้รู้ต่อไป ตลอดเวลาของการเต้นนี้จะมีผึ้งงานประมาณ ๕ – ๑๐ ตัว ใช้ลิ้นเลีย เพื่อชิมรสของน้ำหวานที่ผึ้งไปเก็บมา ถ้ามีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ผึ้งที่ออกไปสำรวจนี้จะเต้นรุนแรงและเร็ว ถ้าอาหารมีน้อยก็จะเต้นช้าและมักไม่ได้รับความสนใจจากสมาชิกผึ้งงานที่ล้อมดูอยู่รอบ ในขณะที่ผึ้งสำรวจเต้น ผึ้งงานที่อยู่รอบๆ จะดมกลิ่นและสังเกตลักษณะสีของแหล่งอาหารซึ่งก็คือเกสรและน้ำหวานที่ติดมากับผึ้งสำรวจ การเต้นแบบวงกลมไม่ได้บอกทิศทางแหล่งอาหารแต่อย่างใด เพราะระยะทางในรัศมี ๑๐๐ เมตร เมื่อผึ้งงานที่ตอมดูอยู่รอบๆ ผึ้งสำรวจ บินออกไปรอบๆ รัง ก็จะพบแหล่งอาหารซึ่งอยู่ไม่ไกลได้ทันที

• การเต้นแบบส่ายท้อง (tail wagging dance)  ผึ้งงานที่ออกไปสำรวจและพบแหล่งอาหารไกลกว่า ๑๐๐ เมตร จะบินกลับรังแล้วเริ่มเต้นแบบส่ายท้องบนผนังรวงรังทันที ลักษณะการเต้นแบบนี้ท้องจะส่ายไปมา โดยผึ้งวิ่งเป็นเส้นตรงขึ้นไปก่อน แล้วหมุนวนรอบซ้ายและขวา รอบละครึ่งวงกลม รูปแบบการเต้นทำองศาบนเส้นแบ่งครึ่งวงกลมกับแนวดิ่งของฐานรังนี้เองจะบอกทิศทางระหว่างแหล่งอาหาร ที่ตั้งของรัง และดวงอาทิตย์ ผึ้งที่ออกไปสำรวจจะเต้นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จำนวนรอบและระยะเวลาการเต้นเป็นตัวกำหนดระยะทางของแหล่งอาหารกับที่ตั้งของรัง ผึ้งที่ไปสำรวจจะย้ายตำแหน่งการเต้นไปยังที่ต่างๆ บนรวงรัง ให้สมาชิกภายในรังได้รู้มากที่สุดแล้วจึงหยุดเต้น ผึ้งงานที่ตอมอยู่รอบๆ จะพากันบินไปสู่แหล่งอาหารทันที

ความรุนแรงของการเต้นเป็นสิ่งบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร จำนวนรอบของการเต้นบอกระยะทางของแหล่งอาหาร ผึ้งงานจะสังเกตลักษณะของกลิ่นและชนิดของดอกไม้จากเกสรที่ติดมาบนตัวผึ้งสำรวจเช่นเดียวกับการเต้นแบบวงกลม

ผึ้งเกือบทุกชนิดจะบินออกหาอาหารตอนกลางวัน ยกเว้นผึ้งหลวงที่บินออกหาอาหาร (ตอมดอกไม้) ทั้งตอนกลางวันจนถึงช่วงพลบค่ำได้ เคยพบผึ้งหลวงออกหาอาหารจนถึง ๒๑.๐๐ นาฬิกา

ชีวิตและสังคมของผึ้งเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งด้านความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในการทำงานและความพร้อมเพรียงกัน ผึ้งจึงสามารถสร้างรังและสะสมอาหารหรือน้ำผึ้งได้มากมายอย่างน่าประหลาดใจ แม้ว่าผึ้งเป็นเพียงแค่สัตว์ตัวเล็กๆ แต่คนโบราณก็ยกย่องพฤติกรรมของผึ้ง โดยสั่งสอนให้คนขยันและสามัคคี ช่วยกันทำงานให้ได้อย่างผึ้ง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/71242242223686__3612_19.gif)
บน ฝูงผึ้งเพศผู้ออกไปผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญาที่กลางอากาศ
ล่างซ้าย ไข่ผึ้งตั้งตรงอยู่ที่ฐานรวง  ล่างขวา ตัวอ่อนระยะเป็นตัวหนอน


• การผสมพันธุ์  คือ พฤติกรรมที่ผึ้งเพศผู้บินออกไปผสมพันธุ์กับนางพญากลางอากาศหรือที่สูงบนยอดไม้ โดยจะบินออกไปผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ ๓-๗ วัน ผึ้งเพศผู้บินออกไปเป็นกลุ่มและชอบทำเสียงแหลมที่ต่างจากผึ้งงาน เพราะความถี่ในการขยับปีกต่างกัน ก่อนบินออกไปจะกินน้ำผึ้ง ทำความสะอาดหนวดและตาของมัน แล้วจึงบินออกไปรวมกลุ่มกันก่อนยังบริเวณที่เรียกว่า “ที่รวมกลุ่มของผึ้งเพศผู้” ทันทีที่ผึ้งนางพญาปล่อยสารเฟโรโมนซึ่งทำให้ผึ้งเพศผู้มีพฤติกรรมตอบสนองทางเพศ โดยบินเข้าหาผึ้งนางพญา สารนี้จะทำงานเฉพาะเมื่ออยู่ภายนอกรัง และอยู่สูงจากพื้นดินไปไม่น้อยกว่า ๔–๕ เมตร ผึ้งเพศผู้ตัวแรกที่บินไปก่อนจะได้ผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้วอวัยวะสืบพันธุ์จะขาดจากตัว ทำให้ผึ้งเพศผู้ตายและตกลงมา ผึ้งนางพญาจะสลัดอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งเพศผู้ออกและผสมกับผึ้งเพศผู้ตัวต่อไปจนครบ ๑๐ ตัว จึงบินกลับรัง โดยทั่วไปแล้วผึ้งนางพญาจะผสมพันธุ์กับผึ้งเพศผู้จากรังอื่นๆ ที่ต่างสายเลือดกัน ผึ้งนางพญาเก็บน้ำอสุจิผึ้งเพศผู้ได้ถึง ๕–๖ ล้านตัว เพื่อใช้ผสมกับไข่ไปจนตลอดชีวิต โดยไม่ต้องบินไปผสมกับผึ้งเพศผู้อีก ผึ้งเกือบทุกชนิดผสมพันธุ์ในเวลากลางวันถึงตอนบ่ายๆ ยกเว้นผึ้งหลวงจะผสมพันธุ์เวลาพลบค่ำ เป็นผึ้งชนิดเดียวที่ผสมพันธุ์ตอนกลางคืนได้

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/13879772524038__3612_20.gif) ภาพรังผึ้งเปล่าที่ผึ้งทิ้งรังไปแล้ว

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/44348050322797__3612_21.gif) สภาพรังผึ้งมิ้มเล็กที่ขาดผึ้งนางพญา

• การวางไข่  เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากการผสมพันธุ์ ผึ้งนางพญาที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วจะเดินหาหลอดรวงว่างๆ เพื่อวางไข่ ผึ้งนางพญาใช้ส่วนหัว หนวดและขาหลัง สัมผัสตามหลอดรวงต่างๆ เพื่อวัดขนาดของหลอดรวง เมื่อพบแล้วจะยื่นส่วนปลายท้องลงไปวางไข่ ปกติผึ้งนางพญาวางไข่ ๑ ฟอง ภายใน ๑ หลอดรวง ถ้าเป็นหลอดรวงใหญ่จะวางไข่ที่ไม่ได้รับการผสม ไข่นั้นจะเจริญเป็นผึ้งเพศผู้ แต่ถ้าเป็นหลอดรวงเล็กจะวางไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้ว ไข่ฟองนั้นจะเจริญเป็นผึ้งเพศเมีย คือ ผึ้งงานนั่นเอง ไข่ที่เกิดเป็นผึ้งนางพญาเป็นไข่ที่ได้รับการผสมเช่นเดียวกัน

การวางไข่โดยมากจะเริ่มใน ๒–๓ วัน หลังจากผสมพันธุ์ และดำเนินต่อไปตลอดชีวิตที่เหลือ ยกเว้นช่วงที่ขาดแคลนเกสร ปกติผึ้งงานประจำรังจะให้อาหารนางพญาอย่างสม่ำเสมอในระยะวางไข่และกำจัดของเสียของผึ้งนางพญา รวมทั้งเก็บไข่ที่ผึ้งนางพญาทำหล่นนอกหลอดรวง กำจัดไข่ที่ผึ้งนางพญาวางไข่มากกว่าหนึ่งฟองในหลอดรวงเดียว พฤติกรรมกำจัดไข่ (policing) นี้เกิดกับผึ้งงาน ในช่วงเวลาผึ้งกำลังจะแยกรังและหนีรังด้วย หรือในกรณีที่ผึ้งนางพญาหายไปจากรัง หรือผึ้งงานที่เป็นเพศเมียเหมือนกันซึ่งสามารถวางไข่ได้ และจะวางไข่หลายๆ ฟองในหลอดรวงเดียว ก็อาจเกิดพฤติรรมกำจัดไข่ขึ้นได้ในระหว่างผึ้งงานด้วยกันเอง


• การแยกรัง เป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติที่ผึ้งจะสร้างรังใหม่ เมื่อผึ้งนางพญาอายุมาก ผึ้งรังนั้นมีโอกาสจะแยกรังมากกว่าผึ้งนางพญาที่มีอายุน้อย สัญญาณการแยกรังจะเกิดขึ้นอย่างน้อย ๓–๗ วัน ก่อนแยกรัง โดยเริ่มแรกผึ้งงานจะสร้างหลอดรวงนางพญาขึ้นใหม่ที่ด้านล่างของรวงรังให้นางพญาวางไข่ ในขณะเดียวกันตัวอ่อนผึ้งงานซึ่งเกิดจากนางพญาที่ครองรังอยู่มีจำนวนมากขึ้น ผึ้งเพศผู้จะมีมากขึ้นด้วยเมื่อใกล้ถึงเวลาแยกรัง ผึ้งนางพญาจะเพิ่มอัตราการวางไข่เพื่อเพิ่มประชากรให้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการหาอาหารมากขึ้น มีการรวบรวมน้ำหวานและเกสร เกือบทุกหลอดรวงเต็มไปด้วยน้ำผึ้ง เกสร หรือตัวอ่อน เมื่อมีประชากรหนาแน่นขึ้นถึงจุดหนึ่งจนไม่มีหลอดรวงว่างให้นางพญาวางไข่ ผึ้งงานจะป้อนอาหารให้นางพญาน้อยลง ทำให้น้ำหนักตัวของนางพญาลดลง ผึ้งนางพญาจะเริ่มวางไข่ เพื่อสร้างนางพญาตัวใหม่ในหลอดรวงที่ผึ้งงานสร้างขึ้นใหม่ ในบางกรณีที่ผึ้งนางพญาหายไป และรวงรังมีประชากรล้นรังมากๆ ผึ้งงานซึ่งสามารถวางไข่ได้ด้วยจะเริ่มวางไข่ แต่จะถูกกำจัดไข่ด้วยผึ้งงานด้วยกันเอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผึ้งงานกำจัดไข่ เนื่องจากต้องการกำจัดไม่ให้มีผึ้งเพศผู้เกิดขึ้นมากเกินไป เพราะไข่ของผึ้งงานจะเกิดเป็นเพศผู้เท่านั้น

เมื่อนางพญาตัวใหม่ฟักตัวออกจากไข่ ช่วงนี้เองตัวอ่อนที่อยู่ในหลอดรวงปิดทั้งหมดไม่ต้องการอาหารเพิ่มอีก ดังนั้น จะมีผึ้งงานอายุน้อยเป็นจำนวนมากมายที่เกิดขึ้นและไม่มีงานทำ เพราะผึ้งนางพญาตัวแม่ที่สูงอายุได้หยุดวางไข่แล้ว สภาพประชากรล้นรังเหล่านี้เป็นสัญญาณให้ผึ้งเตรียมตัวที่จะแยกรัง ในขณะที่ผึ้งนางพญาตัวใหม่กำลังจะเกิดขึ้นออกมาจากดักแด้ ในวันที่อบอุ่นมีแสดงแดดตามปกติระหว่าง ๑๐–๑๔ นาฬิกา ผึ้งที่มีอายุสูงจำนวนมากจะรีบบินออกจากรังพร้อมกับผึ้งนางพญาตัวแม่ที่มีน้ำหนักลดลงประมาณร้อยละ ๓๐ ผึ้งนางพญาจะบินตามผึ้งงานไปโดยมีผึ้งงานห้อมล้อม ผึ้งงานที่แยกไปส่วนใหญ่อายุมากกว่า ๒๐ วัน ผึ้งงานบางตัวจะหยุดใกล้รังและปล่อยกลิ่นนำทาง ทำให้ผึ้งตัวอื่นๆ ที่บินไม่ทันสามารถบินตามกันไปในทิศทางเดียวกัน และรวมตัวกันเป็นฝูงเพื่อไปหาที่ตั้งสร้างรังใหม่ต่อไป ส่วนในรังเดิมจะมีผึ้งนางพญาตัวใหม่เกิดขึ้น มีผึ้งงานที่มีอายุน้อยซึ่งเหลืออยู่ห้อมล้อม ปกครองในรังเดิมต่อไป ผึ้งโพรงและผึ้งหลวงจะมีการแยกรังหลายครั้ง จนในที่สุดจะอพยพหรือหนีรังไปจนหมดเหลือแต่รังเปล่า


• กรณีที่ผึ้งนางพญาสูญหาย  ในขณะที่ย้ายรัง ผึ้งนางพญาอาจถูกนกหรือตัวต่อจับกินเป็นอาหาร หรืออาจเกิดอุบัติเหตุทางธรรมชาติ เช่น ลมแรง ฝนตก ไฟไหม้ผ่า ทำให้ผึ้งนางพญาพลัดหลงจากฝูงผึ้งงาน เป็นเหตุให้ผึ้งนางพญาตายได้ กลุ่มผึ้งงานที่เหลือรอดจะบินกลับรังเดิม หรืออาจมีผึ้งงานบางกลุ่มบินพลัดหลงออกจากฝูงไป ผึ้งงานเหล่านี้หากดูดน้ำหวานไว้ขณะย้ายรังจะสามารถเข้าไปอาศัยรังอื่นได้โดยไม่ถูกผึ้งงานเจ้าของรังทำร้าย บางกรณีจะมีกลุ่มผึ้งงานที่ขาดผึ้งนางพญา อยู่ครองต่อไปได้ภายใน ๑–๒ สัปดาห์ รังไข่ของผึ้งงานเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นมาจนสามารถวางไข่ได้ เนื่องจากไม่มีเฟโรโมนของผึ้งนางพญาซึ่งเสมือนเป็นยาคุมกำเนิด ควบคุมการพัฒนารังไข่ของผึ้งงานไว้ แต่ไข่เหล่านี้เป็นไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจากน้ำเชื้อเพศผู้จึงพัฒนากลายเป็นเพศผู้ ดังนั้น รังที่ขาดผึ้งนางพญาเป็นเวลานาน รังจึงมีแต่ผึ้งงานที่สูงอายุกับผึ้งเพศผู้เท่านั้น ในที่สุดจะค่อยๆ ตายไปจนหมดรัง  


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/40265068867140__3612_22.gif)  
๑.ไรของผึ้งพันธุ์ (Varroa jacobsoni) ทำลายตัวอ่อนผึ้ง  
๒.ภาพขยายไรผึ้งมิ้มเล็ก (Eurarroa wongsirii)
๓.ตัวต่อกำลังเข้าโจมตีรังผึ้งในหีบเลี้ยง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63508368531862__3612_24.gif)
๑.มดแดงกำลังเข้าโจมตีรังผึ้งมิ้ม
๒.หนอนผีเสื้อกินไขผึ้ง เข้าไปกินไขผึ้งและชักใยจนผึ้งต้องทิ้งรัง
๓.นกจาบคาศัตรูแสนสวยของผึ้ง


ศัตรูผึ้ง
ถึงแม้ผึ้งจะมีเหล็กในสำหรับป้องกันตัว ผึ้งก็ยังมีศัตรูต่างๆ ได้แก่

• ไร เป็นสัตว์ขนาดเล็กที่มี ๘ ขา มองแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไรดูดเลือดผึ้งเป็นอาหาร โดยเฉพาะชอบดูดเลือดผึ้งในระยะดักแด้มากที่สุด ถ้ามีไรเป็นจำนวนมากๆ ทำให้ประชากรผึ้งลดลง

• ตัวต่อ เป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่เป็นศัตรูสำคัญของผึ้ง สามารถจับผึ้งตามบริเวณดอกไม้และที่หน้ารังผึ้งกินเป็นอาหารได้ ถ้าผึ้งอ่อนแอลงมากๆ ตัวต่อจะยกพวกเข้าโจมตีผึ้งให้เสียหายได้ทั้งรัง แต่ผึ้งโพรงไทยสามารถต่อสู้กับตัวต่อได้ดี ถ้ามีการดูแลรักษาให้ผึ้งมีประชากรมากๆ และแข็งแรงอยู่เสมอ จะสามารถต่อสู้กับตัวต่อได้

• มด เป็นศัตรูที่สำคัญของผึ้งทุกชนิด โดยเฉพาะมดแดงที่ชอบสร้างรังบนต้นมะม่วงและต้นไม้ผลต่างๆ มดแดงจะเฝ้าคอยจับผึ้งตามดอกไม้เพื่อกินผึ้งเป็นอาหาร บางครั้งมดแดงจะบุกโจมตีผึ้งทั้งรัง ทำให้ผึ้งหนีรังไปในที่สุด เพราะไม่สามารถสู้กับมดแดงได้ ดังนั้น ก่อนตั้งรังผึ้งทุกครั้งต้องกำจัดมดแดงให้หมด

นอกจากศัตรูทั้ง ๓ ชนิดแล้ว ยังมี หนอนผีเสื้อกินไขผึ้ง ถึงแม้ว่าหนอนผีเสื้อกินไขผึ้งจะไม่ได้เป็นศัตรูโดยตรงกับผึ้ง แต่หนอนผีเสื้อกินไขผึ้งจะเข้าทำลายกินไขผึ้ง ทำให้ผึ้งหนีรังไปในที่สุด โดยเฉพาะผึ้งโพรงที่หนีรังอยู่เสมอ เพราะโดนหนอนชนิดนี้รบกวน การทำความสะอาดภายในรังบ่อยๆ การบำรุงรักษาผึ้งให้แข็งแรง จะลดการระบาดของหนอนผีเสื้อชนิดนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมี นกจาบคา ที่สวยงามก็ชอบกินผึ้งมากเช่นกัน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/59749411957131__3612_25.gif)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72168083613117__3612_26.gif)

ชนิดและปริมาณพืชอาหาร
ผึ้งและดอกไม้ซึ่งเป็นพืชอาหารของผึ้งเป็นของคู่กันในการดำรงชีวิต ผึ้งจะขาดน้ำหวานและเกสรดอกไม้ไม่ได้ ในเวลาเดียวกัน พืชดอกไม้ย่อมต้องการให้ผึ้งช่วยผสมพันธุ์ด้วย น้ำหวานเป็นส่วนที่หลั่งออกมาจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้ ผึ้งงานจะบินไปดูดน้ำหวานจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้ เพื่อนำกลับมาบ่มให้น้ำระเหยออกไปจนเข้มข้นกลายเป็นน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ผึ้ง เกสร (เรณู) ดอกไม้เป็นอาหารประเภทโปรตีน ช่วยให้ผึ้งเจริญเติบโตจนถึงวัยสืบพันธุ์ ผึ้งงานต้องการโปรตีนเพื่อผลิตนมผึ้งป้อนให้กับผึ้งตัวอ่อนที่อายุ ๑-๓ วัน และผึ้งนางพญา

ผู้ที่ต้องการเลี้ยงผึ้งจะต้องรู้จักแหล่งและชนิดพืชอาหารของผึ้ง เพราะว่าดอกไม้ของพืชบางชนิดให้น้ำหวานมาก ดอกไม้หลักที่ให้น้ำหวานกับผึ้ง เช่น สาบเสือ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ และพืชบางชนิดที่ให้เกสรมาก เช่น ดอกข้าวโพด ดอกไมยราบ แต่ดอกไม้บางชนิดให้ทั้งน้ำหวานและเกสร เช่น ดอกนุ่น และ ดอกทานตะวัน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91493983028663__3612_28.gif)
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้ง
ผึ้งเป็นแมลงที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ ทั้งในด้านช่วยเพิ่มผลผลิตของพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะการผสมเกสรให้กับพืชไร่และพืชสวนได้เป็นอย่างดี คือ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ มะม่วง ทุเรียน ชมพู่ ส้ม มะนาว เป็นต้น  นอกจากนี้ ผึ้งยังเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรพืชในสกุลแตง เช่น แตงโม แตงกวา แตงไทย ผึ้งช่วยผลิตเมล็ดพันธุ์ในระดับอุตสาหกรรมเกษตร และยังให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยสามารถจัดแบ่งตามธรรมชาติของการเกิดผลิตภัณฑ์เป็น ๒ กลุ่ม คือ
๑. ผลิตภัณฑ์ซึ่งเกิดจากวัตถุดิบ (พืช) ที่ผึ้งนำมาจากภายนอกรัง ได้แก่ น้ำผึ้ง (honey) พรอพอลิส (propolis) และเกสรผึ้ง (beepollen)
๒. ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากตัวผึ้งโดยเป็นผลทางด้านสรีรวิทยาของผึ้ง ได้แก่ ไขผึ้ง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ขี้ผึ้ง (beewax) นมผึ้งหรือรอยัลเยลลี (royal jelly) และพิษผึ้ง (bee venom)




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/89451547836263__3612_29.gif)

น้ำผึ้ง
น้ำผึ้งเป็นผลิตผลของน้ำหวานหรือน้ำต้อยของดอกไม้ (nectar) และจากแหล่งน้ำหวานอื่นๆ เช่น น้ำหวานจากเพลี้ย ที่ผึ้งไปเก็บมา และผ่านขึ้นตอนการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและกายภาพบางประการ แล้วสะสมไว้ในรังผึ้ง

• ผึ้งผลิตน้ำผึ้งได้อย่างไร
เมื่อผึ้งเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ลงสู่กระเพาะ จะมีเอนไซม์ (enzyme) จากต่อมน้ำลายขับออกมาย่อยเพื่อเปลี่ยนหรือเรียกว่าเมแทบอไลซ์น้ำตาลกลูโคสและฟรักโทสให้เป็นน้ำตาลแปรรูป (invert sugar) คือ น้ำตาลลีวูโลสและเดกซ์โทรส นอกจากนั้นยังมีน้ำตาลอื่นๆ อีก แต่มีจำนวนน้อยมาก ปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ผึ้งเริ่มบินกลับรัง ในขณะที่ผึ้งกระพือปีกจะเกิดพลังงานความร้อนช่วยเร่งการทำงานของเอนไซม์ ตลอดจนช่วยเผาผลาญลดความชื้นในน้ำหวานให้กลายเป็นน้ำผึ้งเร็วขึ้น เมื่อผึ้งงานกลับถึงรังจะคายน้ำหวานแปรรูปนี้ให้กับผึ้งงานประจำรัง ซึ่งจะรับกันด้วยปากต่อปาก น้ำหวานแปรรูปนี้ยังไม่เป็นน้ำผึ้งที่สมบูรณ์ เพราะยังมีความชื้นหรือน้ำในน้ำหวานมากถึงร้อยละ ๓๐-๔๐ เมื่อผึ้งงานประจำรังนำน้ำหวานนี้ไปเก็บในหลอดรวงน้ำผึ้ง ตอนเย็นผึ้งกลับรังกันเป็นส่วนใหญ่จะช่วยกันกระพือปีก เพื่อให้น้ำหวานระเหยจนเป็นน้ำผึ้งที่สมบูรณ์ มีน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ ๒๐-๒๕ เท่านั้น หลังจากนั้นผึ้งงานจะใช้ไขผึ้งปิดหลอดรวงเก็บน้ำผึ้งไว้เป็นอาหารเพื่อให้พลังงานในชีวิตประจำวันและยามขาดแคลนอาหารต่อไ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/93289091438055__3612_30.gif)
การตั้งหีบเลี้ยงผึ้งแบบเกษตรอินทรีย์ในสวนผลไม้

• น้ำผึ้งอินทรีย์ (organic honey)
น้ำผึ้งอินทรีย์ คือ น้ำผึ้งบริสุทธิ์ตามธรรมชาติที่ปราศจากสารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ (pesticide) และสารปฏิชีวนะ (antibiotic) รวมทั้งสารเจือปนใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้นถ้าเป็นน้ำผึ้งอินทรีย์แท้ๆ จะได้จากผึ้งเลี้ยงในพื้นที่ห่างไกลจากพื้นที่ทำการเกษตรที่ปราศจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการใช้ปุ๋ยเคมีในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย เช่น น้ำผึ้งจากดอกสาบเสือและดอกไม้ป่าอย่างดอกเปล้า ในอนาคตตลาดต่างประเทศจะมีผู้บริโภคน้ำผึ้งอินทรีย์มากขึ้น เนื่องจากคนต้องการน้ำผึ้งบริสุทธิ์ของแท้จากธรรมชาติ

• สรรพคุณน้ำผึ้ง
มนุษย์รู้จักสรรพคุณของน้ำผึ้งมาตั้งแต่ยุคโบราณ ชาวกรีกจะดื่มน้ำผึ้งก่อนลงแข่งกีฬาโอลิมปิก เพราะเชื่อว่าน้ำผึ้งช่วยขจัดความเมื่อยล้าได้ แพทย์ชาวอียิปต์ใช้น้ำผึ้งช่วยสมานแผลผ่าตัดเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนที่จะรู้จักแบคทีเรียเสียอีก ในปัจจุบันเราทราบดีแล้วว่า น้ำผึ้งมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เนื่องจากน้ำผึ้งมีปริมาณน้ำน้อย มีแรงดูดซึม (osmotic pressure) สูง  ดังนั้น จึงดูดซึมน้ำจากเซลล์จุลินทรีย์ต่างๆ ออกมาหมด ทำให้เชื้อโรคตายได้ ด้วยเหตุนี้แพทย์ในสมัยปัจจุบันจึงยอมรับในเรื่องการใช้น้ำผึ้งเป็นยารักษาแผลบางชนิดได้ รวมทั้งช่วยสมานแผลที่เกิดจากการผ่าตัดนำทารกออกทางหน้าท้องอีกด้วย

น้ำผึ้งมีกลิ่นและลักษณะทางกายภาพแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับน้ำหวานของดอกไม้ที่ผึ้งเก็บมาสะสมเป็นอาหาร น้ำผึ้งตามธรรมชาติจะมีรสหวานจัด กลิ่นหอม มีสีเหลืองอ่อนๆ จนถึงน้ำตาลเข้ม แล้วแต่แหล่งหรือชนิดของพืชอาหารหรือชนิดของดอกไม้ที่ได้มา ในบ้านเรายังมีคนนิยมน้ำผึ้งป่าที่ได้จากผึ้งตามธรรมชาติ ได้แก่ ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม และผึ้งหลวง อย่างแพร่หลาย คนไทยสมัยก่อนรู้จักน้ำผึ้งในลักษณะของยามากกว่าอาหาร แต่ปัจจุบันมีผู้รู้คุณค่าของน้ำผึ้งกันอย่างกว้างขวาง ทำให้มีผู้นิยมรับประทานน้ำผึ้งกันมากขึ้น จนทำให้ผลิตผลตามธรรมชาติไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงมีการเลี้ยงผึ้งเป็นอุตสาหกรรมแพร่หลายมากขึ้น


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/54692982840869__3612_31.gif)
ขั้นตอนการสลัดน้ำผึ้งออกจากรัง

ผึ้งที่นำมาเลี้ยง คือ ผึ้งโพรงไทยและผึ้งโพรงฝรั่ง น้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งเลี้ยงนี้มีคุณสมบัติเหมือนกับน้ำผึ้งที่ได้ตามธรรมชาติ และยังสามารถเจาะจงให้ได้น้ำผึ้งจากแหล่งของดอกไม้ตามความต้องการ เช่น น้ำผึ้งจากดอกลำไย ดอกเงาะ และดอกลิ้นจี่ ผึ้งเลี้ยงจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยวิธีการที่ดี ทำให้ได้น้ำผึ้งปริมาณมากกว่าผึ้งป่าที่หาอาหารตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันน้ำผึ้งยังมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเปรียงเทียบกับน้ำตาล ดังนั้น จึงมีการปลอมปนน้ำผึ้งโดยนำน้ำเชื่อมมาแปลงให้มีส่วนประกอบที่คล้ายน้ำผึ้งแล้วแต่งกลิ่น ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อ และควรอ่านสลากตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย น้ำผึ้งที่ดีควรมีลักษณะข้นหนืด ซึ่งแสดงว่ามีน้ำน้อย มีกลิ่นหอมของน้ำผึ้งและดอกไม้ตามแหล่งที่ได้มา ไม่มีฟองเนื่องจากการบูด ไม่มีไขผึ้งหรือเศษตัวผึ้งปะปน ใสสะอาด มีสีเหลืองอ่อนๆ หรือเป็นสีน้ำตาลเข้ม สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการรับประทานน้ำผึ้งสามารถพิสูจน์ได้ง่ายๆ จากการดมกลิ่นและชิม แต่ถ้าไม่คุ้นเคยก็เป็นการยาก นอกจากจะวินิจฉัยโดยการตรวจสอบทางเคมี

นอกเหนือจากความแตกต่างในเรื่อง รส กลิ่น และสีของน้ำผึ้งแล้ว น้ำผึ้งจากดอกไม้ต่างชนิดกันยังมีองค์ประกอบของน้ำตาลแตกต่างกันไปด้วย เช่น มีสัดส่วนของน้ำตาลกลูโกสและน้ำตาลฟรักโทสไม่เท่ากัน ฉะนั้น น้ำผึ้งที่มาจากแหล่งต่างๆ จะมีคุณสมบัติเฉพาะแตกต่างกัน เช่น สี กลิ่น รส หรือคุณสมบัติในการตกผลึก เราอาจพบว่าน้ำผึ้งที่ได้จากการเลี้ยงผึ้งในสวนยางพาราและจากดอกสาบเสือสามารถตกผลึกได้ทั้งหมด เมื่อนำไปแช่ในตู้เย็นหลายชั่วโมง ในขณะที่น้ำผึ้งจากดอกลิ้นจี่ตกผลึกได้น้อยกว่า หรือน้ำผึ้งจากดอกลำไยแทบจะไม่ตกผลึกเมื่ออยู่ในสภาพเดียวกัน
นอกจากใช้น้ำผึ้งในอุตสาหกรรมยาแล้ว ยังใช้ทำขนมหวาน ขนมปัง ลูกกวาด ไอศกรีม และผสมเครื่องดื่ม เช่น น้ำมะนาว นอกจากทำให้มีรสอร่อยแล้วยังมีคุณค่าทางอาหารสูง น้ำผึ้งใช้แทนน้ำตาลปรุงรสอาหารได้เกือบทุกชนิด ปัจจุบันนิยมนำน้ำผึ้งไปผสมทำเครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู และครีมต่างๆ

สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานของน้ำผึ้งที่จำหน่ายในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อความมั่นใจว่าน้ำผึ้งที่ซื้อมารับประทานเป็นของแท้ ควรเลือกซื้อน้ำผึ้งชนิดที่มีเครื่องหมายมาตรฐานแสดงไว้ที่สลาก หรือซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/32163908125625__3612_32.gif)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/53743876640995__3612_33.gif)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/87056096022327__3612_34.gif)
บน ผลิตภัณฑ์เกสรผึ้งที่จำหน่ายในท้องตลาด
ตาราง-ล่าง อินทรียสารในเกสรผึ้ง

เกสรผึ้ง  
เกสรผึ้ง ในทางพฤกษศาสตร์ คือ เรณู (pollen) ของดอกไม้ ผึ้งไปเก็บรวบรวมโดยวิธีการเข้าไปคลุกเคล้ากับอับเรณูให้ละอองเรณู (pollen grain) ติดตามตัว และใช้ขาปัดเขี่ยรวมกันเป็นก้อนติดไว้ที่ขาหลังบริเวณอวัยวะที่เรียกว่า “ตะกร้าเก็บเกสร” แล้วนำกลับมาเก็บยังรังเพื่อใช้เป็นอาหารประเภทโปรตีนสำหรับประชากรในรังและใช้เลี้ยงตัวอ่อน เกสรที่นำมาบ่มในรังจนผนังเกสรนุ่มถูกนำไปเลี้ยงผึ้งงานตัวอ่อนที่อายุมากกว่า ๓ วัน โดยผึ้งงานจะบดผสมกับน้ำผึ้ง องค์ประกอบในเกสรพืชแต่ละชนิดแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วมีโปรตีนเป็นพื้นฐาน และมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เอนไซม์ แร่ธาตุต่างๆ และวิตามินครบทุกชนิด

ผู้เลี้ยงผึ้งเป็นอุตสาหกรรมนิยมการดักเก็บเกสรที่ผึ้งขนเข้ารัง และนำเกสรไปทำให้แห้งด้วยกรรมวิธีที่ไม่สูญเสียคุณค่าทางอาหาร เกสรเหล่านี้มีผู้นิยมรับประทานโดยชงกับกาแฟ หรือทำเครื่องดื่มซึ่งให้ประโยชน์ บางบริษัททำเป็นเม็ดๆ และนิยมเรียกว่า “เกสรผึ้ง” (bee pollen) เป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่า สามารถกระตุ้นร่างกายที่เมื่อยล้าจากการทำงานให้ปกติ โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร เพราะเกสรผึ้งมีฤทธิ์ต่อการทำงานของแบคทีเรีย และช่วยควบคุมแบคทีเรียในลำไส้
เกสรผึ้งนับว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์มาก เพราะได้จากอินทรียสารในธรรมชาติ ประกอบด้วยสารต่างๆ ดังต่อไปนี้
     คาร์โบไฮเดรต   ร้อยละ ๔๐
     โปรตีน           ร้อยละ ๓๕
     กรดแอมิโน      ร้อยละ ๑๕-๒๕
     น้ำ                ร้อยละ ๑๘
     ไขมัน             ร้อยละ ๕

นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยวิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค แมกนีเซียม แคลเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี ฟอสฟอรัส และกำมะถัน

สรรพคุณของเกสรผึ้ง  ฤทธิ์ทางชีวภาพของเกสรผึ้งนั้นได้รับความสนใจ มีผู้ศึกษาทั้งในสัตว์ทดลองและการวิจัยทางคลินิกถึงผลของเกสรผึ้ง ซึ่งมีผลบำรุงร่างกาย ชะลอความชรา เสริมสมรรถภาพทางการกีฬาและทางเพศ พบว่าเกสรผึ้งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ ผิวหนัง กระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงเซลล์ได้อย่างทั่วถึง และยังให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังที่แห้ง จึงสามารถรักษาผิวไม่ให้ย่นเร็ว ทำให้ดูอ่อนวัย ทางการแพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โดยเริ่มให้ในปริมาณต่ำๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เพื่อให้ร่างกายสร้างความต้านทานต่อเกสรดอกไม้นั้นๆ ในยุโรปใช้เกสรผึ้งในการป้องกันและบรรเทาอาการแทรกซ้อนของไข้หวัด ทั้งนี้ เกสรผึ้งยังเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่างๆ เช่น ครีมล้างหน้า ครีมรองพื้น ครีมบำรุงผิว และใช้รักษาผมให้สลวยเงางาม ป้องกันรังแค โดยเติมลงในแชมพูและน้ำมันใส่ผมอีกด้วย  





หัวข้อ: Re: ผึ้ง : วิวัฒนาการ ชีวิต สังคม พฤติกรรม ภาษาผึ้ง ศัตรูผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากผึ้งฯลฯ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 มีนาคม 2557 12:35:00
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81591498727599__3612_35.gif)
ขวา ไขผึ้งที่หลอมจากรัง

ไขผึ้ง หรือ ขี้ผึ้ง
โดยปกติไข (WAX) ที่พบอยู่ตามธรรมชาติมี ๓ อย่างด้วยกันคือ ไขจากสัตว์ ไขจากพืช และไขจากแร่ธาตุหรือปิโตรเลียม ไขผึ้งจัดเป็นไขสัตว์ ไขผึ้งบริสุทธิ์ต้องได้มาจากรวงรังผึ้งเท่านั้น ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดผสมกัน โดยผลิตออกมาจากต่อมผลิตไขผึ้งที่อยู่ที่ผิวด้านล่างส่วนท้องของผึ้ง ไขผึ้งมีประวัติการใช้ที่น่าสนใจยิ่งนับตั้งแต่ได้มีการเปิดพีระมิด พบไขผึ้ง ณ ที่เก็บศพของชาวอียิปต์โดยใช้ไขผึ้งเป็นส่วนผสมทำมัมมี่ (ศพที่มีการเก็บรักษาด้วยวิธีการพิเศษ) การใช้เทียนไขในพิธีทางศาสนาของทุกศาสนา นับพันปีมาแล้วจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในแผ่นดินสุวรรณภูมินั้น พบว่ามีการใช้เทียนไขจุดบูชาเทพเจ้าและแลกเปลี่ยนซื้อขายกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๓) ปัจจุบันยังมีพิธีแห่เทียนพรรษากันทุกปีก่อนที่จะเข้าพรรษา และในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะมีโครงการน้ำผึ้งหลวงแล้ว ยังมีโครงการเทียนหลวงที่นำไขผึ้งจากเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งมาแปรรูปเป็นเทียนหลวงใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ

เมื่อเริ่มมีการทำพลาสติกก็ได้นำไขผึ้งมาใช้เป็นส่วนผสมอยู่หลายปี สมัยนั้นนับว่าไขผึ้งมีราคาสูงมาก บางแห่งยังใช้ไขผึ้งเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนเงิน บางแห่งยังใช้ไขผึ้งสำหรับปั้นหุ่นหรือโครงสร้างจำลองต่างๆ ปั้นหุ่นคนในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง (wax museum) กะลาสีเรือเคยใช้ไขผึ้งสำหรับอุดเรือกันเรือรั่ว พวกทหารเคยใช้ไขผึ้งสำหรับอุดค่ายที่พักเพื่อกันน้ำ หรืออุดภาชนะที่ใช้เก็บอาหาร เมื่อไม่นานมานี้มีการใช้ไขผึ้งในการทำเป็นฉนวนสำหรับเครื่องมือทางไฟฟ้าและเครื่องมือของทันตแพทย์

ปัจจุบันไขผึ้งส่วนใหญ่ได้นำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เช่น ครีมล้างหน้า น้ำมันทาผิว ลิปสติก และยังใช้ไขผึ้งในการทำเทียน กาว หมากฝรั่ง ตลอดจนดินสอสีและหมึกอีกด้วย เหตุผลที่ต้องใช้เทียนที่มีส่วนผสมของไขผึ้งเป็นจำนวนที่พอเหมาะเนื่องจากคุณประโยชน์ที่มีควันน้อยและมีกลิ่นหอม


บน (เหนือเส้นสีแดง) บางขั้นตอนในการทำหุ่นขี้ผึ้ง
ล่าง หุ่นขี้ผึ้งในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ กรงเทพฯ

ในธรรมชาตินั้นแต่ละวันผึ้งงานจะผลิตนมผึ้งออกมาน้อยมาก ผึ้งงานจำนวนมากกว่า ๖๐,๐๐๐ ตัวต่อรัง สามารถผลิตนมผึ้งได้เพียง ๑.๕-๓.๓ กรัม เท่านั้น  ดังนั้น ในทางการค้าที่ต้องการนมผึ้งปริมาณมาก จึงมีการหลอกล่อผึ้งงานโดยเตรียมหลอดรวงนางพญาเทียมจำนวนมาก ซึ่งมีตัวหนอนผึ้งนางพญา (อายุ ๑-๓ วัน) อยู่ภายในหลอดและจะเก็บนมผึ้งทุก ๓ วัน เพราะเป็นช่วงที่มีนมผึ้งอยู่ในหลอดนางพญามากที่สุด การผลิตต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอนจึงจะผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม ดังนั้น นมผึ้งจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพง

นมผึ้งตามธรรมชาติเป็นอาหารของผึ้งตัวอ่อนและผึ้งนางพญา ผลิตโดยผึ้งงานที่มีอายุประมาณ ๕-๑๕ วัน คือ ผึ้งงานวัยที่มีหน้าที่เลี้ยงดูตัวอ่อนจะผลิตอาหารพิเศษต่อจากต่อมไฮโพฟาริงจ์ (hypopharyngeal gland) ที่อยู่ติดกับต่อมน้ำลายในบริเวณส่วนหัวของผึ้งงาน ต่อมนี้ทำหน้าที่ผลิตนมผึ้ง และผึ้งงานจะคายนมผึ้งออกจากปากใส่ลงในหลอดรวงตัวอ่อน (brood cell) นอกจากนั้นผึ้งงานจะใช้นมผึ้งป้อนให้กับผึ้งนางพญาที่เป็นแม่รังทุกวันด้วย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/28408105340268__3612_37.gif)
นมผึ้งหรือรอยัลแยลลี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58843824722700__3612_38.gif)

นมผึ้งมีลักษณะและสีขาวคล้ายครีมหรือนมข้น มีกลิ่นออกเปรี้ยวและรสค่อนข้างเผ็ดเล็กน้อย ผึ้งงานจะนำนมผึ้งที่ผลิตขึ้นมาได้นี้ไปเลี้ยงตัวอ่อนของผึ้งทุกวรรณะแต่แรกเกิดจนมีอายุครบ ๓ วัน เฉพาะตัวอ่อนที่จะเจริญไปเป็นผึ้งนางพญาเท่านั้น ที่จะได้รับนมผึ้งจำนวนมากและได้รับติดต่อไปจนตลอดชีวิต จึงเรียกอาหารนี้ว่าเป็น “อาหารราชินีหรืออาหารนางพญา” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผึ้งนางพญามีขนาดโตกว่าผึ้งวรรณะอื่นๆ และมีข้อแตกต่างหลายประการที่ต่างไปจากผึ้งงานทั่วๆ ไปภายในรัง

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ด้านชีวเคมีพบว่า นมผึ้งหรือรอยัลเยลลีนั้น มีส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งเป็นสารอาหารที่สมบูรณ์มาก องค์ประกอบของสารอาหารในนมผึ้ง ได้แก่
     คาร์โบไฮเดรต      ร้อยละ ๑๐-๑๒
     โปรตีน               ร้อยละ ๑๔-๑๕
     ไขมัน                ร้อยละ ๓-๕
     น้ำ                    ร้อยละ ๒๗-๗๐  
     เถ้าหรือธาตุอื่นๆ ประมาณร้อยละ ๑-๒ ประมาณร้อยละ ๑-๒
นอกจากนี้ พบว่าในนมผึ้งนี้มีวิตามินอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๒ วิตามินบี ๕ วิตามินบี ๖ และวิตามินบีอื่นๆ อีกเกือบทุกชนิด

ปัจจุบันได้มีการนำเอานมผึ้งมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทางอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งนิยมใช้กันทั่วไปในรูปครีมทาหน้า แชมพู และเป็นอาหารเสริมมากขึ้น แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้ง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/23104392116268__3612_39.gif)
๑.พรอพอลิสนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางเวชภัณฑ์
๒.ตารางแสดงองค์ประกอบของสารอาหารในนมผึ้ง
๓.ตารางแสดงองค์ประกอบของพรอพอลิส

พรอพอลิส
พรอพอลิสหรือชันผึ้ง เป็นสารเหนียวหรือยางเหนียวๆ ที่ผึ้งงานเก็บได้จากตาพืชหรือเปลือกของต้นไม้ เพื่อใช้ปิดรอยรั่วหรือรูรั่วภายในรัง และห่อหุ้มศัตรูที่ถูกฆ่าตายในรังแต่ไม่สามารถนำออกไปทิ้งนอกรังได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเน่าเหม็นในรัง ผึ้งโพรงไทยไม่มีพรอพอลิส ซึ่งพบเฉพาะในรังผึ้งพันธุ์หรือผึ้งโพรงฝรั่งและผึ้งชันโรง คนไทยโบราณใช้ชันผึ้งนี้สำหรับยาเรือกันน้ำซึมเข้าเรือหรืออุดรูรั่วของเรือ ชาวกรีกตั้งชื่อสารนี้ว่า “propolis” ซึ่งมาจากคำว่า “pro” หมายถึง “ก่อน” และ “polis” หมายถึง “เมือง” ในสมัยนั้น ชาวกรีกเองก็สันนิษฐานว่า ผึ้งคงจะใช้พรอพอลิสสำหรับป้องกัน “เมือง” คือรังของตนเองให้พ้นจากเชื้อโรคและศัตรูต่างๆ ไม่ให้บุกรุกเข้ามาภายในรัง

พรอพอลิสมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
     ยางไม้          ร้อยละ ๔๕
     ไขมัน           ร้อยละ ๓๐
     น้ำมัน           ร้อยละ ๑๐
     เกสรดอกไม้    ร้อยละ ๕
     นอกจากนี้ยังประกอบด้วยวิตามินบีหลายชนิด

ผึ้งใช้พรอพอลิสเพื่อสุขอนามัยภายในรังของตนเอง ในรังผึ้งรังหนึ่งๆ ประกอบด้วยผึ้งเป็นจำนวนถึงหมื่นๆ ตัวและอยู่กันอย่างแออัด ผึ้งใช้พรอพอลิสเป็นสารป้องกันเชื้อโรค ความสามารถของผึ้งในการใช้พรอพอลิสต่อต้านเชื้อโรคนั้นนับว่าน่าสนใจยิ่ง ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมหรือศัตรูเข้าในรังก็จะถูกผึ้งต่อยถึงตาย สิ่งแปลกปลอมนั้นย่อมจะเน่าเปื่อยก่อให้เกิดเชื้อโรค ผึ้งใช้พรอพอลิสห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอมนั้นคล้ายกับ “มัมมี่” ทำให้หยุดการแพร่เชื้อโรคได้

คุณสมบัติของพรอพอลิสอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของยางไม้และพืชอาหารที่ผึ้งไปเก็บ ฮิปโปเครตีส (Hippocretes) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาทางการแพทย์ของโลก ใช้พรอพอลิสในการรักษาฝีและบาดแผลต่างๆ ชาวยุโรปและชาวจีนมีความสนใจพรอพอลิสมากกว่าประชาชนในทวีปอื่น เพราะมีรายงานหลายฉบับที่กล่าวถึงการใช้ประโยชน์ของพรอพอลิสรักษาบาดแผล โรคผิวหนังและโรคเน่าเปื่อยบางอย่างของวัวควาย พรอพอลิสมีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรียและไวรัส เนื่องจากคุณสมบัติของพรอพอลิสที่เป็นสารฆ่าเชื้อโรคนี้เอง จึงมีการนำพรอพอลิสมาเป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน และหมากฝรั่ง เป็นต้น นอกจากนี้พรอพอลิสยังประกอบด้วยน้ำมันที่ระเหยได้ (volatile oil) และมีเทอร์ฟีนส์ (terpenes) ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ซึ่งเป็นสารประกอบจากพืชที่มีคุณสมบัติต้านออกซิเดชัน (antioxidation) มีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรีย รา และไวรัส รวมทั้งต้านการอักเสบและการเกิดโรคมะเร็งด้วย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/28144885061515__3612_40.gif)
บน นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนนำพรอพอลิสมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง
ล่างซ้าย ผู้ที่ถูกผึ้งต่อยบ่อยๆ จะมีภูมิต้านทานต่อพิษผึ้ง
ล่างขวา อาการบวมเนื่องจากพิษผึ้ง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/94166989790068__3612_41.gif)
การใช้ผี้งต่อยเพื่อใช้พิษผึ้งรักษาโรค

พิษผึ้ง
พิษผึ้งประกอบด้วยสารเคมีต่างๆ มีสารหลายตัวที่มีฤทธิ์ไวมาก เพราะว่าหลังจากผึ้งต่อยผู้ป่วยจะมีอาการปวดและบวมอย่างรวดเร็ว พิษผึ้งประกอบด้วยสารสำคัญๆ คือ ฮิสตามีน โดพามีน เมลิทิน อะพามีน และเอนไซม์ เป็นต้น ไม่ว่าพิษผึ้งจะสกัดมาจากแหล่งใดในโลกก็ตามจะประกอบด้วยสารเคมีชนิดเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผึ้งสังเคราะห์พิษขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับสถานที่ที่ผึ้งไปเก็บพืชอาหารเลย

สรรพคุณของพิษผึ้ง นำมาใช้รักษาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้จากพิษของผึ้ง โดยใช้เป็นภูมิคุ้มกันบำบัดสำหรับผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับผึ้ง และมีความไวเกินต่อพิษผึ้ง (hypersensitivity to bee venom) โดยใช้พิษผึ้งที่สกัดมาทำเป็นยา เพื่อฉีดเข้าร่างกายของผู้ที่แพ้พิษผึ้งด้วยความเข้มข้นต่ำมาก เช่น ๐.๑ ไมโครกรัมต่อ ๑ มิลลิลิตร ฉีดทุกสัปดาห์ แล้วค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ พิษผึ้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ปัจจุบันในประเทศสหรัฐอเมริกายังใช้พิษของผึ้งแก้โรครูมาติซึม (rheumatism) และโรคเกาต์ (gout) ชาวยุโรปโบราณผู้สูงอายุที่มีอาการปวดข้อใช้ผึ้งต่อยโดยตรงเพื่อรักษาโรคนี้ จึงมีหมูบ้านชนบทในยุโรปที่ผู้สูงอายุนิยมเลี้ยงผึ้งเพื่อใช้พิษของผึ้งเป็นยารักษาโรค

ปัจจุบันผลผลิตของผึ้งส่วนใหญ่ได้มาจากการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ที่เลี้ยงกันจำนวนมากเป็นอุตสาหกรรม แต่ผึ้งหลวงและผึ้งมิ้มก็ยังเป็นที่นิยมบริโภคกันอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และพบว่าชาวบ้านในชนบทนิยมไปหาตีผึ้ง เพื่อนำเอารังผึ้งมิ้มมาเป็นอาหารและเร่ขายตามท้องตลาดหรือตามข้างถนน ผลผลิตจากรวงรังของผึ้งมิ้มยังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในตลาดผู้บริโภคของเมืองไทย โดยนักล่าผึ้งบางคนจะตัดเอาทั้งรวงรังไปบีบน้ำผึ้งมิ้มออก เพื่อนำไปบริโภคสดหรือผสมยาแผนโบราณ บางคนจะแขวนผึ้งไว้บนตะกร้าหรือสาแหรกหาบเร่ขายตามตลาดชุมชน หรือวางขายข้างถนนสายหลักที่มีรถวิ่งผ่านเป็นจำนวนมาก


หัวข้อ "ผึ้ง" : วิวัฒนาการ ชีวิต สังคมผึ้ง ลักษณะ พฤติกรรมผึ้ง ภาษาผึ้ง ศัตรูผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ฯลฯ ในเว็บไซต์นี้
       คัดลอกและสแกนภาพจากหนังสือสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๗
       โดยได้รับอนุญาต จาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์  พงศะบุตร กรรมการและเลขาธิการ โครงการสารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       ให้คัดลอกและสแกนรูปภาพ เผยแพร่ใน www.sookjai.com (http://www.sookjai.com) เพื่อเป็นวิทยาทานแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปผู้ใฝ่การเรียนรู้ 
       ตามหนังสือที่ ส.๒๐/๒๕๕๖ ลง ๑๗ ม.ค. ๕๖



จบบริบูรณ์