[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 04:33:32 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  [1] 2 3 ... 51
1  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / Re: พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ เวรัญชกัณฑ์ เมื่อ: 12 ชั่วโมงที่แล้ว


เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์
      [๙] ครั้นปวารณาพรรษาแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท ข้อนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย มาไปกันเถิดอานนท์ เราจะบอกลาเวรัญชพราหมณ์.
      ท่านพระอานนท์ทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นดังรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า.
      ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย ทันใดนั้น เวรัญชพราหมณ์ดำเนินเข้าไปสู่ที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์รับสั่งว่า ดูกรพราหมณ์ เราเป็นผู้อันท่านนิมนต์อยู่จำพรรษาแล้ว เราขอบอกลาท่าน เราปรารถนาจะหลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท.
      เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า เป็นความจริง ท่านพระโคดม ข้าพเจ้านิมนต์พระองค์อยู่จำพรรษา ก็แต่ว่าไทยธรรมอันใดที่จะพึงถวาย ไทยธรรมอันนั้นข้าพเจ้ายังมิได้ถวาย และไทยธรรมนั้นมิใช่ว่าจะไม่มี ทั้งประสงค์จะไม่ถวายก็หาไม่ ภายในไตรมาสนี้ พระองค์จะพึงได้ไทยธรรมนั้นจากไหน เพราะฆราวาสมีกิจมาก มีกรณียะมาก ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยพระสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด.
      พระผู้มีพระภาคทรงรับอัชเฌสนาโดยดุษณีภาพ และแล้วทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
      หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตในนิเวศน์ของตน โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านพระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว.
  ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเวรัญชพราหมณ์อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนจนให้ห้ามภัตรแล้ว ได้ถวายไตรจีวรแด่พระผู้มีพระภาค ผู้เสวยเสร็จทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้วให้ทรงครอง และถวายผ้าคู่ให้ภิกษุครอง รูปละสำรับ จึงพระองค์ทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชาตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมืองกัณณกุชชะ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จพระพุทธดำเนินถึงพระนครพาราณสี ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่พระนครพาราณสีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครเวสาลี เมื่อเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลีนั้นแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น


เวรัญชภาณวาร จบ.

ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
2  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ เวรัญชกัณฑ์ เมื่อ: 13 ชั่วโมงที่แล้ว


พระวินัยปิฎก เล่ม ๑
มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.


เวรัญชกัณฑ์
เรื่องเวรัญชพราหมณ์

     [๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณะโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูลประทับอยู่ ณ บริเวณต้นไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์แม้เพราะเหตุนี้ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ แม้เพราะเหตุนี้ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะแม้เพราะเหตุนี้ เสด็จไปดีแม้เพราะเหตุนี้ ทรงทราบโลกแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลายแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพุทธะแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพระผู้มีพระภาคแม้เพราะเหตุนี้ พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทพและมนุษย์ ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นความดี.


เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า
      [๒] หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์ได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิงเป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เวรัญชพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณะโคดม ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อที่ข้าพเจ้าทราบมานี้ นั้นเป็นเช่นนั้นจริง อันการที่ท่านพระโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะนี้นั้น ไม่สมควรเลย.
      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะว่า ตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไป.
      ว. ท่านพระโคดมมีปกติไม่ไยดี.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะความไยดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมไม่มีสมบัติ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะสมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมกล่าวการไม่ทำ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการไม่ทำดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการไม่ทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมกล่าวความขาดสูญ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมช่างกำจัด.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสภาพ ที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนช่างเผาผลาญ พราหมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ผุดเกิด พราหมณ์ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.


ทรงอุปมาด้วยลูกไก่
      [๓] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไข่เหล่านั้น อันแม่ไก่พึงกกดีแล้ว อบดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวใดทำลายกระเปาะฟอง ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง.
      ว. ท่านพระโคดม ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา.


ทรงแสดงฌาน ๔ และวิชชา ๓
      ภ. เราก็เหมือนอย่างนั้นแล พราหมณ์ เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟองอันกระเปาะฟองหุ้มห่อไว้ ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายกระเปาะฟอง คือ อวิชชา แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง.


ปฐมฌาน
      เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่.


ทุติยฌาน
      เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่.


ตติยฌาน
      เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้ อยู่.


จตุตถฌาน
      เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.


บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
      เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลป์ เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอุเทส พร้อมทั้งอาการ ด้วยประการฉะนี้ พราหมณ์ วิชชาที่หนึ่งนี่แล เราได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไปแล้วอยู่ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่หนึ่งของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ฉะนั้น.


จุตูปปาตญาณ
      เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้ พราหมณ์ วิชชาที่สองนี้แล เราได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไป แล้วอยู่ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สองของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.


อาสวักขยญาณ
      เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พราหมณ์วิชชาที่สามนี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สามของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.


เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
      [๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงทรงรับอาราธนาอยู่จำพรรษา ที่เมืองเวรัญชาของข้าพเจ้าเถิด.
      พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี ครั้นเวรัญชพราหมณ์ทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไป.


เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย
      [๕] ก็โดยสมัยนั้นแล เมืองเวรัญชา มีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้นพวกพ่อค้าม้าชาวอุตราปถะ มีม้าประมาณ ๕๐๐ ตัว ได้เข้าพักแรมตลอดฤดูฝนในเมืองเวรัญชา พวกเขาได้ตกแต่งข้าวแดงสำหรับภิกษุรูปละแล่งไว้ที่คอกม้า เวลาเช้าภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชา เมื่อไม่ได้บิณฑบาต จึงเที่ยวไปบิณฑบาตที่คอกม้า รับข้าวแดงรูปละแล่ง นำไปสู่อารามแล้วลงครกโขลกฉัน ส่วนท่านพระอานนท์บดข้าวแดงแล่งหนึ่งที่ศิลา แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้นอยู่ ได้ทรงสดับเสียงครกแล้ว.


พระพุทธประเพณี
      พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงสอบถาม ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการสองอย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง.
      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ นั่นเสียงครกหรือหนอ จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่า ดีละ ดีละ อานนท์ พวกเธอเป็นสัตบุรุษ ชนะวิเศษแล้ว พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลังจักดูหมิ่นข้าวสาลีและข้าวสุกอันระคนด้วยเนื้อ.


พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท
      [๖] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้เมืองเวรัญชา มีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย พระพุทธเจ้าข้า พื้นเบื้องล่างแห่งแผ่นดินผืนใหญ่นี้ สมบูรณ์ มีรสอันโอชา เหมือนน้ำผึ้งหวี่ที่ไม่มีตัวอ่อนฉะนั้น ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงพลิกแผ่นดิน ภิกษุทั้งหลายจักได้ฉันง้วนดิน พระพุทธเจ้าข้า.
      พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรโมคคัลลานะ ก็สัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเล่า เธอจะทำอย่างไรแก่สัตว์เหล่านั้น?
      ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักนิรมิตฝ่ามือข้างหนึ่งให้เป็นดุจแผ่นดินใหญ่ ยังสัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเหล่านั้นให้ไปอยู่ในฝ่ามือนั้น จักพลิกแผ่นดินด้วยมืออีกข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า.
      ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การพลิกแผ่นดิน เธออย่าพอใจเลย สัตว์ทั้งหลายจะพึงได้รับผลตรงกันข้าม.
      ม. ขอประทานพระวโรกาส ขอภิกษุสงฆ์ทั้งหมดพึงไปบิณฑบาตในอุตรกุรุทวีป พระพุทธเจ้าข้า.
      ภ. ก็ภิกษุผู้ไม่มีฤทธิ์เล่า เธอจักทำอย่างไรแก่ภิกษุเหล่านั้น?
      ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักทำให้ภิกษุทั้งหมดไปได้ พระพุทธเจ้าข้า.
      ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การที่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตถึงอุตรกุรุทวีป เธออย่าพอใจเลย.


เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน
      [๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ดังนี้ ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน.
      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสารีบุตร พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะดำรงอยู่นาน.
      ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?
      ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กำจัด ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงกำหนดจิตของสาวกด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนสาวก.
      ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามเวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัยแล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอน ภิกษุสงฆ์ประมาณพันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวแห่งหนึ่งว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้ ลำดับนั้นแล จิตของภิกษุประมาณพันรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามเวสสภูทรงสั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนั้น ได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในเพราะความที่ไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยอง จึงมีคำนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน.
      ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดำรงอยู่นาน.
      ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?
      ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้
ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน.
      ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน.


ปรารภเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท
      [๘] ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระสุคตถึงเวลาแล้ว ที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้
พระศาสนานี้ยั่งยืนดำรงอยู่ได้นาน.
      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จงรอก่อน สารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีย์นั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนาน ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนานแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลายแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ ดูกรสารีบุตรก็ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมองบริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ำ ก็เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.


3  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / บัญญัติ 2 และ 6 เมื่อ: 13 ชั่วโมงที่แล้ว


        บัญญัติ 2 และ 6

บัญญัติ 2 และ 6 (การกำหนดเรียก หรือ สิ่งที่ถูกกำหนดเรียก, การกำหนดตั้งหรือตราไว้ให้เป็นที่รู้กัน - designation; term; concept)
       1. ปัญญาปิยบัญญัติ หรือ อรรถบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นสิ่งอันพึงให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นความหมาย, บัญญัติคือความหมายอันพึงกำหนดเรียก, ตัวความหมายที่จะพึงถูกตั้งชื่อเรียก - the Pannatti to be made Known or conveyed; concept)
       2. ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ หรือ สัททบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นเครื่องให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นชื่อ, บัญญัติที่เป็นศัพท์, ชื่อที่ตั้งขึ้นใช้เรียก - the Pannatti that makes Known or conveys; term; designation)

       ปัญญาปิยบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปิยตฺตา ปญฺญตฺติ, ปัญญาปนบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปนโต ปญฺญตฺติ

       ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ แยกย่อยออกเป็น 6 อย่าง คือ
       1. วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มีอยู่ เช่น รูป เวทนา สมาธิ เป็นต้น - designation of reality; real concept)
       2. อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มีอยู่ เช่น ม้า แมว รถ นายแดง เป็นต้น - designation of an unreality; unreal concept)
       3. วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น คนดี นักฌาน ซึ่งความจริงมีแต่ดี คือภาวะที่เป็นกุศล และฌาน แต่คนไม่มี เป็นต้น - designation of an unreality by means of a reality; unreal concept by means of a real concept)
       4. อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงหญิง ซึ่งความจริง หญิงไม่มี มีแต่เสียง เป็นต้น - designation of a reality by means of an unreality; real concept by means of an unreal concept)
       5. วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น จักขุสัมผัส โสตวิญญาณ เป็นต้น - designation of a reality by means of a reality; real concept by means of a real concept)
       6. อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น ราชโอรส ลูกเศรษฐี เป็นต้น - designation of an unreality by means of an unreality; unreal concept by means of an unreal concept)

ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

 

บัญญัติ 2 และ 6 (การกำหนดเรียก หรือ สิ่งที่ถูกกำหนดเรียก, การกำหนดตั้งหรือตราไว้ให้เป็นที่รู้กัน - designation; term; concept)
       1. ปัญญาปิยบัญญัติ หรือ อรรถบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นสิ่งอันพึงให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นความหมาย, บัญญัติคือความหมายอันพึงกำหนดเรียก, ตัวความหมายที่จะพึงถูกตั้งชื่อเรียก - the Pannatti to be made Known or conveyed; concept)
       2. ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ หรือ สัททบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นเครื่องให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นชื่อ, บัญญัติที่เป็นศัพท์, ชื่อที่ตั้งขึ้นใช้เรียก - the Pannatti that makes Known or conveys; term; designation)

       ปัญญาปิยบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปิยตฺตา ปญฺญตฺติ, ปัญญาปนบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปนโต ปญฺญตฺติ

       ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ แยกย่อยออกเป็น 6 อย่าง คือ
       1. วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มีอยู่ เช่น รูป เวทนา สมาธิ เป็นต้น - designation of reality; real concept)
       2. อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มีอยู่ เช่น ม้า แมว รถ นายแดง เป็นต้น - designation of an unreality; unreal concept)
       3. วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น คนดี นักฌาน ซึ่งความจริงมีแต่ดี คือภาวะที่เป็นกุศล และฌาน แต่คนไม่มี เป็นต้น - designation of an unreality by means of a reality; unreal concept by means of a real concept)
       4. อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงหญิง ซึ่งความจริง หญิงไม่มี มีแต่เสียง เป็นต้น - designation of a reality by means of an unreality; real concept by means of an unreal concept)
       5. วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น จักขุสัมผัส โสตวิญญาณ เป็นต้น - designation of a reality by means of a reality; real concept by means of a real concept)
       6. อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น ราชโอรส ลูกเศรษฐี เป็นต้น - designation of an unreality by means of an unreality; unreal concept by means of an unreal concept)

ที่มา :  พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
4  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก ว่าด้วยราคาข้าวสาร เมื่อ: 13 ชั่วโมงที่แล้ว




ขุททกนิกายภาค ๑  เอกนิบาต ๑. อปัณณกวรรค
๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก ว่าด้วยราคาข้าวสาร

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ทรงปรารภ พระโลฬฺทายีเถระ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

สมัยนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตร ได้เป็นพระภัตตุเทสก์ของสงฆ์ เมื่อพระทัพพมัลลบุตรนั้นแสดงสลากภัตเป็นต้น แต่เช้าตรู่ บางคราวพระอุทายีก็ได้ภัตดี บางคราวก็ได้ภัตเลว ในวันที่ได้ภัตเลว พระอุทายีนั้น ก็กระทำโรงสลากให้วุ่นวาย ด้วยการกล่าวว่า มีเพียงพระทัพพะเท่านั้น ที่รู้การให้สลากหรือ ? พวกเราไม่รู้หรือ ? เมื่อพระอุทายีนั้นทำโรงสลากให้วุ่นวายอยู่ ภิกษุทั้งหลายจึงได้ให้พระอุทายีนั้นเป็นผู้ให้สลาก

นับแต่พระอุทายีนั้นได้เป็นผู้ให้สลากแก่สงฆ์ แต่เมื่อท่านไม่รู้วิธีการที่เหมาะสม เมื่อจะให้ ก็ไม่รู้ว่า นี้ภัตดีหรือภัตเลว หรือ ไม่รู้ว่า ภัตดีตั้งไว้ที่โรงโน้น ? ภัตเลวตั้งไว้ที่โรงโน้น ? ไม่ได้กำหนดว่า บัญชีแสดงยอดจำนวนอยู่ในโรงโน้น ? จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น ลำดับนั้น ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย จึงกล่าวกะพระอุทายีนั้นว่า ดูก่อนอาวุโสอุทายี เมื่อท่านเป็นผู้ให้สลาก ภิกษุทั้งหลายพากันเสื่อมลาภ ท่านไม่สมควรให้สลาก จงออกไปจากโรงสลาก แล้วฉุดคร่าออกจากโรงสลาก ขณะนั้น ในโรงสลาก ได้มีความวุ่นวายมาก.

พระศาสดาได้ทรงสดับดังนั้นจึงตรัสถามพระอานนท์เถระว่า อานนท์ ในโรงสลากมีความวุ่นวายมาก นั่นชื่อว่าเสียงอะไร พระเถระได้กราบทูล เรื่องนั้นแด่พระตถาคต พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ อุทายีกระทำความเสื่อมลาภแก่คนอื่น เพราะความที่ตนเป็นคนโง่ มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็ได้กระทำแล้วเหมือนกัน พระเถระทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อตรัสเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงเรื่องในอดีตไว้ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล ได้มีพระราชาพระนามว่าพรหมทัต อยู่ในพระนคร พาราณสี แคว้นกาสี ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายได้เป็นพนักงานตีราคาทองของพระเจ้าพรหมทัตนั้น ได้ตีราคาช้างและราคาม้าเป็นต้น และแก้วมณีกับทองเป็นต้น ครั้นตีราคาแล้วให้มูลค่าอันสมควรแก่เจ้าของทรัพย์นั้น แต่พระราชาทรงเป็นคนโลภ จึงทรงดำริว่า พนักงานตีราคาคนนี้ เมื่อตีราคาอยู่อย่างนี้ ไม่นานนัก ทรัพย์ในวังของเราจักถึงความหมดสิ้นไป เราควรตั้งคนอื่นให้เป็นพนักงานตีราคาจะดีกว่า

พระราชานั้นจึงทรงให้เปิดสีหบัญชรทอดพระเนตรดูพระลานหลวง ทรงเห็นบุรุษชาวบ้านคนหนึ่งผู้ทั้งเหลวไหลและโง่เขลา จึงทรงพระดำริว่า

“ผู้นี้จักอาจกระทำงานในตำแหน่งพนักงานตีราคาของเราได้”

จึงรับสั่ง ให้เรียกเขามา แล้วจึงทรงตั้งบุรุษเขลาคนนั้นไว้ในงานของผู้ตีราคา เพื่อต้องการรักษาทรัพย์ของพระองค์ ตั้งแต่นั้น บุรุษผู้โง่เขลานั้น เมื่อจะตีราคาช้างและม้าเป็นต้น ก็ตีราคาเอา ตามความชอบใจ ทำให้เสียราคา เพราะเมื่อเขาดำรงอยู่ในตำแหน่งนั้น เขากล่าวคำใด คำนั้นนั่นแหละเป็นราคา

ครั้งหนึ่งพ่อค้าม้าคนหนึ่ง นำม้า ๕๐๐ ตัว มาจากแคว้นอุตตราปถะ พระราชารับสั่งให้เรียกบุรุษนั้นมาให้ตีราคาม้า บุรุษนั้นได้ตั้งราคาม้า ๕๐๐ตัว ด้วยข้าวสารทะนานเดียว และเมื่อตีราคาแล้ว จึงกล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงให้ข้าวสารหนึ่งทะนานแก่พ่อค้าม้า แล้วให้พักม้าไว้ในโรงม้า.”

พ่อค้าม้าจึงไปยังสำนักของพนักงานตีราคาคนเก่า บอกเรื่องราวที่เกิดขึ้น แล้วถามว่า

“บัดนี้ ควรจะทำอย่างไร ?”

พนักงานตีราคาคนเก่านั้นกล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงให้สินบนแก่บุรุษนั้นแล้วถามอย่างนี้ว่า ม้าทั้งหลายของพวก ข้าพเจ้ามีราคาข้าวสารทะนานเดียว ข้อนี้รู้กันอยู่แล้ว แต่ข้าพเจ้าประสงค์จะรู้ราคาของข้าวสารทะนานเดียว ท่านสามารถจะตีราคาข้าวสารหนึ่งทะนาน ต่อเบื้องพระพักตร์พระราชาหรือไม่ ถ้าเขาพูดว่า สามารถทำได้เช่นนั้น พวกท่านก็จงพาเขาไปยังพระราชวัง และเราก็จะไปในที่นั้นด้วย”

พ่อค้ารับคำพระโพธิสัตว์แล้วก็ให้สินบนแก่นักตีราคา แล้วบอกเนื้อความนั้น นักตีราคานั้นพอได้สินบนเท่านั้นก็กล่าวว่า

“เราสามารถจะตีราคาข้าวสารหนึ่งทะนานได้”

พ่อค้าม้ากล่าวว่า

“ถ้าอย่างนั้น พวกเราจงพากันไปยังพระราชวังเถิด”

แล้วได้พานักตีราคานั้นไป พระโพธิสัตว์ก็ดี อำมาตย์เป็นอันมากก็ดี ได้พากันไปอยู่ ณ ที่นั้น พ่อค้าม้าถวายบังคมพระราชา แล้วทูลถามว่า

“ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ได้ทราบว่าม้า ๕๐๐ ตัวมีราคาเท่าข้าวสารหนึ่งทะนาน แต่ข้าวสารหนึ่งทะนานนี้มีราคาเท่าไร ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้โปรดถามพนักงานตีราคา พระเจ้าข้า”

พระราชาไม่ทราบความเป็นไปนั้นจึงตรัสถามว่า

“ท่านนักตีราคาผู้เจริญ ม้า ๕๐๐ ตัวมีราคาเท่าไร ?”

พนักงานตีราคากราบทูลว่า

“มีราคาข้าวสารหนึ่งทะนานพระเจ้าข้า”

พระราชาตรัสถามว่า

“แล้วข้าวสารหนึ่งทะนานนั้น มีราคาเท่าไร ?”

บุรุษโง่ผู้นั้นกราบทูลว่า “ข้าวสารหนึ่งทะนานย่อมถึงค่าเมืองพาราณสี ทั้งภายในและภายนอก พะย่ะค่ะ.”

ได้ยินว่า ในกาลก่อน บุรุษโง่นั้นสนองพระราชประสงค์ของพระราชา จึงได้ตีราคาม้าทั้งหลายด้วยข้าวสารทะนานหนึ่ง แต่เมื่อได้สินบนจากมือของพ่อค้า กลับตีราคาเมืองพาราณสีทั้งภายในและภายนอก ด้วยข้าวสารหนึ่งทะนานนั้น ก็ในกาลนั้น เมืองพาราณสีได้ล้อมกำแพงประมาณ ๑๒ โยชน์ และถ้าจะรวมแคว้นทั้งภายในและ ภายนอกเมืองพาราณสีนี้ก็จะมีประมาณ ๓๐๐ โยชน์ บุรุษโง่นั้นได้ตีราคาเมือง พาราณสีทั้งภายในและภายนอกอันใหญ่โตอย่างนี้ ด้วยข้าวสารหนึ่งทะนาน ฉะนี้.

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถานี้ว่า

“ข้าวสารหนึ่งทะนานมีราคาเท่าไร

พระนครพาราณสีทั้งภายในนอกมีราคาเท่าไร

ข้าวสารทะนานเดียว มีราคาม้า ๕๐๐ ตัวเทียวหรือ.”

อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้น จึงพากันตบมือหัวเราะ และทำการเยาะเย้ยว่า “เมื่อก่อน พวกเราได้มีความสำคัญว่า แผ่นดินและราชสมบัติหาค่ามิได้ นัยว่าราชสมบัติในเมืองพาราณสีพร้อมทั้งพระราชวังอันใหญ่โตอย่างนี้ มีค่าเพียงข้าวสารทะนานเดียว โอ ! ความเพียบพร้อมของพนักงานตีราคาเช่นท่าน ช่างเหมาะสม กับพระราชาของพวกเราทีเดียว”

ครั้งนั้น พระราชาทรงละอาย ให้ฉุดคร่าบุรุษโง่นั้นออกไป แล้วได้พระราชทานตำแหน่งพนักงานตีราคาแก่พระโพธิสัตว์ตามเดิม พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วทรงประชุมชาดกว่า


พนักงานตีราคาผู้เป็นชาวบ้าน โง่เขลาในกาลนั้น ได้เป็นพระโลฬุทายีในบัดนี้
พนักงานตีราคาผู้เป็นบัณฑิต ในกาลนั้น ได้เป็น เราผู้ตถาคต แล.


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
5  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด อภิธัมมนิทาน เมื่อ: 13 ชั่วโมงที่แล้ว
                   

                    อภิธัมมนิทาน


กะรุณา  วิยะ  สัตเตสุ                 ปัญญายัสสะ  มะเหสิโน

เญยยะธัมเมสุ  สัพเพสุ                ปะวัตติตถะ  ยะถารุจิง

ทะยายะ ตายะ  สัตเตสุ                สะมุสสาหิตะมานะโส

ปาฏิเหราวะสานัมหิ                    วะสันโต  ติทะสาละเย

ปาริจฉัตตะกะมูลัมหิ                   ปัณฑุกัมพะละนามะเก

สิลาสะเน  สันนิสินโน                  อาทิจโจวะ  ยุคันธะเร

จักกะวาฬะสะหัสเสหิ                   ทะสะหาคัมมะ  สัพพะโส

สันนิสินเนนะ เทวานัง                  คะเณนะ  ปะริวาริโต

มาตะรัง  ปะมุขัง  กัตวา               ตัสสา  ปัญญายะ  เตชะสา

อะภิธัมมะกะถัง  มัคคัง                 เทวานัง  สัมปะวัตตะยิ

ตัสสะ  ปาเท นะมัสสิตวา               สัมพุทธัสสะ  สิรีมะโต

สัทธัมมัญจัสสะ  ปูเชตวา              กัตวา  สังฆัสสะ  จัญชะลิง

นิปัจจะการัสเส   ตัสสะ                กะตัสสะ  ระตะนัตตะเย

        อานุภาเวนะ  โสเสตวา                   อันตะราเย  อะเสสะโต

        อิติ  เม ภาสะมานัสสะ                    อะภิธัมมะกะถัง อิมัง

        อะวิกขิตวา   นิสาเมถะ                   ทุลละภา  หิ  อะยัง  กะถา ฯ


เอกัง  สะมะยัง  ภะคะวา  เทเวสุ วิหะระติ  ตาวะติงเสสุ  ปาริจฉัตตะ-

กะมูลัมหิ  ปัณฑุกัมพะละสิลายัง ตัตระ โข  ภะคะเว  เทวานัง  ตาวะติง-

สานัง  อะภิธัมมะกะถัง กะเถสิ


        จิตตะวิภัตติรูปัญจะ                        นิกเขโป  อัตถะโชตะนา

        คัมภีรัง   นิปุณัง  ฐานัง                   ตัมปิ  พุทเธนะ  เทสิตัง ฯ


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
6  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / ปฏิจจสมุปบาท เมื่อ: 24 เมษายน 2567 09:41:57


ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท มีองค์หรือหัวข้อ 12 (การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น — the Dependent Origination; conditioned arising)
       1/2. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี
           (Dependent on lgnorance arise Kamma-Formations)
       3. สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี
           (Dependent on Kamma-Formations arise Consciousness)
       4. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี
           (Dependent on Consciousness arise Mind and Matter)
       5. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี
           (Dependent on Mind and Matter arise the Six Sense-Bases.)
       6. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี
           (Dependent on the Six Sense-Bases arises Contact)
       7. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี
           (Dependent on Contact arise Feeling)
       8. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี
           (Dependent on Feeling arise Craving.)
       9. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี
           (Dependent on Craving arises Clinging.)
       10. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี
           (Dependent on Clinging arises Becoming.)
       11. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี
           (Dependent on Becoming arises Birth.)
       12. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี
           (Dependent on Birth arise Decay and Death.)

       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม
           (There also arise sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)

       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ.
       ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus arises this whole mass of suffering.)

       แสดงตามลำดับ จากต้นไปหาปลายอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมเทศนา (teaching in forward order) ถ้าแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น ว่า ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขาร มีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา (teaching in backward order)

       องค์ (factors) หรือหัวข้อ 12 นั้น มีความหมายโดยสังเขป ดังนี้
       1. อวิชชา ความไม่รู้ คือไม่รู้ในอริยสัจ 4 หรือตามนัยอภิธรรม ว่า อวิชชา 8  อวิชชา 4; อวิชชา 8
       2. สังขาร (Kamma-formations) สภาพที่ปรุงแต่ง ได้แก่ สังขาร 3๒ หรือ อภิสังขาร 3
       3. วิญญาณ (consciousness) ความรู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ วิญญาณ 6
       4. นามรูป (mind and matter) นามและรูป ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ หรือตามนัยอภิธรรมว่า นามขันธ์ 3 + รูปขันธ์ 5 (ข้อ 2, 3, 4); รูป 2๑, 28; มหาภูต หรือ ภูตรูป 4; อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24; รูป 2๒
       5. สฬายตนะ (six sense-bases) อายตนะ 6 ได้แก่ อายตนะภายใน 6
       6. ผัสสะ (contact) ความกระทบ, ความประจวบ ได้แก่ สัมผัส 6
       7. เวทนา (feeling) ความเสวยอารมณ์ ได้แก่ เวทนา 6
       8. ตัณหา (craving) ความทะยานอยาก ได้แก่ ตัณหา 6 มีรูปตัณหา เป็นต้น (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย และในธัมมารมณ์) ตัณหา 3 ด้วย
       9. อุปาทาน (clinging; attachment) ความยึดมั่น ได้แก่ อุปาทาน 4
       10. ภพ (becoming) ภาวะชีวิต ได้แก่ ภพ 3 อีกนัยหนึ่งว่า ได้แก่ กรรมภพ (ภพคือกรรม — active process of becoming ตรงกับอภิสังขาร 3) กับ อุปปัตติภพ (ภพคือที่อุบัติ — rebirth-process of becoming ตรงกับภพ 3)
       11. ชาติ (birth) ความเกิด ได้แก่ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะ
       12. ชรามรณะ (decay and death) ความแก่และความตาย ได้แก่ ชรา (ความเสื่อมอายุ, ความหง่อมอินทรีย์) กับมรณะ (ความสลายแห่งขันธ์, ความขาดชีวิตินทรีย์)

       ทั้ง 12 ข้อ เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป หมุนเวียนเป็นวงจร ไม่มีต้นไม่มีปลาย เรียกว่า ภวจักร (วงล้อหรือวงจรแห่งภพ — wheel of existence) และมีข้อควรทราบเกี่ยวกับภวจักรอีกดังนี้

       ก. อัทธา (periods; times) คือ กาล 3 ได้แก่
           1) อดีต = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ
           3) อนาคต = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ข. สังเขป หรือ สังคหะ 4 (sections; divisions) คือ ช่วง หมวด หรือ กลุ่ม 4 ได้แก่
           1) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ค. สนธิ 3 (links; connection) คือ ขั้วต่อ ระหว่างสังเขปหรือช่วงทั้ง 4 ได้แก่
           1) ระหว่าง อดีตเหตุ กับ ปัจจุบันผล
           2) ระหว่าง ปัจจุบันผล กับ ปัจจุบันเหตุ
           3) ระหว่าง ปัจจุบันเหตุ กับ อนาคตผล

       ง. วัฏฏะ 3 หรือ ไตรวัฏฏ์

       จ. อาการ 20 (modes; spokes; qualities) คือองค์ประกอบแต่ละอย่าง อันเป็นดุจกำของล้อ จำแนกตามส่วนเหตุ (causes) และส่วนผล (effects) ได้แก่
           1) อดีตเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           2) ปัจจุบันผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
       อาการ 20 นี้ ก็คือ หัวข้อที่กระจายให้เต็ม ในทุกช่วงของสังเขป 4 นั่นเอง

       ฉ. มูล 2 (roots) คือ กิเลสที่เป็นตัวมูลเหตุ ซึ่งกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นในวงจรแต่ละช่วง ได้แก่
           1) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ส่งผลถึงเวทนาในช่วงปัจจุบัน
           2) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบัน ส่งผลถึงชรามรณะในช่วงอนาคต

       พึงสังเกตด้วยว่า การกล่าวถึงส่วนประกอบของภวจักรตามข้อ ก. ถึง ฉ. นี้ เป็นคำอธิบายในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น

       การแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท ให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่างๆ โดยอาศัยปัจจัยสืบทอดกันไปอย่างนี้ เป็น สมุทยวาร คือฝ่ายสมุทัย ใช้เป็นคำอธิบายอริยสัจข้อที่ 2 (สมุทัยสัจ) คือ แสดงให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแบบนี้ เรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท — direct Dependent Origination)

       การแสดงในทางตรงข้ามกับข้างต้นนี้ เป็น นิโรธวาร คือฝ่ายนิโรธ ใช้อธิบายอริยสัจข้อที่ 3 (นิโรธสัจ) เรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท (reverse Dependent Origination ซึ่งความจริงก็คือ Dependent Extinction นั่นเอง) แสดงให้เห็นความดับไปแห่งทุกข์ ด้วยอาศัยความดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลายสืบทอดกันไป ตัวบทของปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมนี้ พึงเทียบจากแบบอนุโลมนั่นเอง เช่น

       1/2. อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
           (Through the total fading away and cessation of lgnorance, cease Kamma-Formations.)

       3. สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
           (Through the cessation of Kamma-Formations. ceases Consciousness.)
       ฯลฯ

       12. ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)
           (Through the cessation go Birth, cease Decay and Death.)
       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
           (Also cease sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ.
       ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus comes about the cessation of this whole mass of suffering.)

       นี้เป็นอนุโลมเทศนาของปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท ส่วนปฏิโลมเทศนา ก็พึงแสดงย้อนว่า ชรามรณะ เป็นต้น ดับ เพราะชาติดับ ชาติดับเพราะภพดับ ฯลฯ สังขารดับเพราะอวิชชาดับ อย่างเดียวกับในอนุโลมปฏิจจสมุปบาท

       ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — specific conditionality) ธรรมนิยาม (ความเป็นไปอันแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law) และ ปัจจยาการ (อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน — mode of conditionality; structure of conditions) เฉพาะชื่อหลังนี้เป็นคำที่นิยมใช้ในคัมภีร์อภิธรรม และคัมภีร์รุ่นอรรถกถา.



ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
7  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ๔.จุลลกเศรษฐีชาดก ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ เมื่อ: 24 เมษายน 2567 09:31:05




ขุททกนิกายภาค ๑  เอกนิบาต ๑. อปัณณกวรรค
๔.จุลลกเศรษฐีชาดก ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ใน ชีวกัมพวัน ทรงปรารภ พระจุลลปันถกเถระ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้ เบื้องต้น พึงกล่าวการเกิดขึ้น และการบรรพชาของพระจุลลปันถกในอัมพวันนั้นก่อน มีกถาตามลำดับดังต่อไปนี้

      ได้ยินว่า ในกรุงราชคฤห์ มีธิดาของเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก ได้ทำความเชยชิดกับทาสของตนเอง กลัวว่า แม้คนอื่นจะรู้กรรมนี้ของเรา จึงกล่าวอย่างนี้ ถ้าบิดามารดาของเราจักรู้โทษนี้ จักกระทำให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ พวกเราจักไปอยู่ต่างประเทศ จึงถือของสำคัญที่จะถือไปได้ ออกทางประตูลับ.

   แม้ทั้งสองคนได้พากันไปด้วยคิดว่า จักไปยังที่ที่คนอื่นไม่รู้จัก แล้วอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง. เมื่อผัวเมียทั้งสองนั้นอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง เพราะอาศัยการอยู่ร่วมกัน ธิดาเศรษฐีก็ตั้งครรภ์. ธิดาเศรษฐีนั้นอาศัยครรภ์แก่ จึงปรึกษากับสามี แล้วกล่าวว่า

  “ครรภ์ของเราแก่แล้ว ชื่อว่าการคลอดบุตร ในที่ที่ห่างเหินจากญาติและพวกพ้อง ย่อมเป็นทุกข์แท้สำหรับเราทั้งสอง พวกเราจักไปเฉพาะยังเรือนของตระกูล.”

   สามีนั้นคิดว่า ถ้าเราจักไปบัดนี้ ชีวิตของเราจะไม่มีจึงผลัดวันอยู่ว่า จะไปวันนี้จะไปวันพรุ่งนี้.

   ธิดาเศรษฐีนั้นคิดว่า สามีนี้เป็นคนโง่ ไม่อุตสาหะที่จะไปเพราะโทษของตนมีมาก ธรรมดาว่า บิดามารดามีประโยชน์เกื้อกูล โดยส่วนเดียวในบุตรธิดา สามีนี้จะไปหรือไม่ก็ตาม เราควรจะไป เมื่อสามีนั้นออกจากเรือน นางจึงเก็บงำบริขารในเรือน บอกถึงความที่ตนไป เรือนของตระกูลแก่ชาวบ้านใกล้เคียง แล้วเดินทาง.

   ลำดับนั้น บุรุษนั้นมาเรือนไม่เห็นนาง จึงถามคนที่คุ้นเคย ได้ฟังว่า ไปเรือนตระกูล จึงรีบตามไปทันในระหว่างทาง. ฝ่ายธิดาเศรษฐีนั้นก็ได้คลอดบุตรในระหว่างทางนั้น นั่นเอง. สามีนั้นถามว่า

   “นางผู้เจริญ นี่อะไร.”

   ฝ่ายธิดาเศรษฐีนั้นกล่าวว่า “บุตรคนหนึ่งเกิดแล้ว.”

   สามีกล่าวว่า “บัดนี้ พวกเราจักทำอย่างไร.”

   ธิดาเศรษฐีกล่าวว่า “พวกเราจะไปเรือนของตระกูล เพื่อประโยชน์แก่กรรมใด กรรมนั้นได้สำเร็จแล้ว ในระหว่างทาง พวกเราจักไปที่นั้นทำอะไร พวกเราจักกลับ.”

   แม้ทั้งสองคนเป็นผู้มีความคิดเป็นอันเดียวกันกลับแล้ว.

   ก็เพราะทารกนั้นเกิดในระหว่างทาง บิดามารดาจึงตั้งชื่อว่าปันถก ไม่นานเท่าไรนัก นางก็ตั้งครรภ์อื่นอีก เรื่องราวทั้งปวงพึงให้พิศดาร โดยนัยก่อนนั่นแหละ. ก็เพราะทารก แม้คนนั้นก็เกิดในหนทาง บิดามารดาจึงตั้งชื่อ บุตรผู้เกิดทีแรกว่า มหาปันถก ตั้งชื่อบุตรคนที่สองว่า จุลลปันถก สามีภรรยานั้นพาทารก แม้ทั้งสองคนมายังที่อยู่ของตน นั่นแล.

   เมื่อสามีภรรยาทั้งสองนั้นอยู่ในที่นั้น มหาปันถกทารกได้ฟังคนอื่นๆ พูดว่าอา ว่าปู่ ว่าย่า จึงถามมารดาว่า

   “แม่จ๋า พวกเด็กอื่นๆ พูดว่าปู่ พูดว่าย่า ญาติของเราไม่มีหรือ.”

   มารดากล่าวว่า “จ้ะพ่อ ในที่นี้ ญาติของพวกเราไม่มี แต่ในพระนครราชคฤห์ พวกเรามีตาชื่อว่ามหาธนเศรษฐี ญาติของพวกเรามีอยู่ในเมืองราชคฤห์นั้นมาก.”

   มหาปันถกกล่าวว่า “เพราะเหตุไร พวกเราจึงไม่ไปที่เมืองราชคฤห์นั้น ละแม่.”

   นางไม่บอกเหตุที่ตนมาแก่บุตร เมื่อบุตรทั้งสองรบเร้าถามอยู่ จึงกล่าวกะสามีว่า

   “เด็กเหล่านี้ทำเราให้ลำบากเหลือเกิน บิดามารดาเห็นพวกเราแล้ว จักกินเนื้อเทียวหรือ มาเถิดพวกเราจักแสดงตระกูลของตาแก่เด็กทั้งหลาย.”

   สามีกล่าวว่า “เราจักไม่อาจไปประจัญหน้า แต่เราจักนำไป.”

   ภรรยากล่าวว่า “ดีแล้ว พวกเด็กๆ ควรจะเห็นตระกูลของตานั่นแล โดยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง.”

   ชนแม้ทั้งสองนั้นพาทารกทั้งสองไปถึงเมืองราชคฤห์โดยลำดับ แล้วพักอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งใกล้ประตูเมือง แล้วให้บอกบิดามารดา ถึงความที่มารดาของทารก พาเอาทารก ๒ คนมา.
             ตายายเหล่านั้นได้ฟังข่าวนั้น แล้วกล่าวว่า

   “คนชื่อว่าไม่ใช่บุตร ไม่ใช่ธิดา ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลายผู้เที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ คนเหล่านั้นมีความผิดมากแก่พวกเรา คนเหล่านั้นไม่อาจเพื่อจะดำรงอยู่ในคลองจักษุของพวกเรา ชนแม้ทั้งสองจงถือเอาทรัพย์ชื่อมีประมาณเท่านี้ ไปยังที่ที่ผาสุกเลี้ยงชีวิตอยู่เถิด แต่จงส่งทารกทั้งสองคนมาไว้ที่นี้.”

   ธิดาเศรษฐีถือเอาทรัพย์ที่บิดามารดาส่งมา แล้วส่งทารกทั้งสองให้ไปในมือของพวกทูตที่มา นั่นแหละ. ทารกทั้งสองเจริญเติบโตอยู่ในตระกูลของตา.

   บรรดาทารกทั้งสองนั้น จุลลปันถกยังเยาว์เกินไป ส่วนมหาปันถกไปฟังธรรมกถาของพระทศพลกับตา เมื่อมหาปันถกนั้นฟังธรรมในที่พร้อมพระพักตร์ของพระศาสดาเป็นนิตย์ จิตก็น้อมไปเพื่อบรรพชา. เขาจึงกล่าวกะตาว่า

   “ถ้าท่านยอมรับ กระผมจะบวช.”

   ตากล่าวว่า “เจ้าพูดอะไร พ่อ เจ้าเป็นที่รักของตา การบรรพชาเฉพาะของเจ้าเท่านั้น ดีกว่าการบรรพชา แม้ของชาวโลกทั้งสิ้น ถ้าเจ้าอาจ จงบวชเถอะพ่อ.”

   ครั้นรับคำแล้ว จึงไปยังสำนักของพระศาสดา. พระศาสดาตรัสว่า

   “ท่านมหาเศรษฐี ท่านได้ทารกนี้มาหรือ.”

   มหาเศรษฐีกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทารกนี้เป็นหลานของข้าพระองค์ เขาพูดว่า จะบวชในสำนักของพระองค์.”

   พระศาสดาจึงทรงสั่งภิกษุผู้บิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งว่า “เธอจงให้ทารกนี้บวช.”

   พระเถระบอกตจปัญจกกรรมฐานแก่มหาปันถกนั่น แล้วให้บวช มหาปันถกนั้นเรียนพุทธวจนะเป็นอันมาก มีพรรษาครบบริบูรณ์แล้ว ได้อุปสมบทเป็นอุปสัมบัน กระทำกรรมฐานโดยโยนิโสมนสิการ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว.

   พระมหาปันถกนั้นยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในฌานและความสุขในมรรค จึงคิดว่า เราอาจไหมหนอเพื่อจะให้สุขนี้แก่จุลลปันถก. ลำดับนั้น ท่านมหาปันถกจึงไปยังสำนักของเศรษฐีผู้เป็นตา กล่าวว่า

   “ท่านมหาเศรษฐี ถ้าท่านยินยอม อาตมภาพจักให้จุลลปันถกบวช.”

   มหาเศรษฐีกล่าวว่า “จงให้บวชเถิดท่านผู้เจริญ.” พระเถระให้จุลลปันถกทารกบวชแล้ว ให้ตั้งอยู่ในศีล ๑๐.

   สามเณรจุลลปันถกพอบวชแล้วเท่านั้น ได้เป็นคนเขลา สมดังที่ท่านกล่าวว่า โดยเวลา ๔ เดือนไม่อาจเรียนคาถาเดียวนี้ว่า

   “ดอกบัวโกกนุทมีกลิ่นหอม ไม่ปราศจากกลิ่นหอม พึงบานแต่เช้าฉันใด ท่านจงดูพระอังคีรสผู้ไพโรจน์ เหมือนพระอาทิตย์ส่องแสงจ้าในอากาศ ฉะนั้น.”

   ได้ยินว่า พระจุลลปันถกนั้นบวชในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้มีปัญญา ได้ทำการหัวเราะเยาะ ในเวลาที่ภิกษุผู้เขลารูปหนึ่งเรียนอุเทศ. ภิกษุนั้นละอาย เพราะการเย้ยหยันนั้น จึงไม่เรียนอุเทศ ไม่ทำการสาธยาย. เพราะกรรมนั้น พระจุลลปันถกนี้พอบวชเท่านั้นจึงเกิดเป็นคนเขลา เมื่อท่านเรียนบทเหนือๆ ขึ้นไป บทที่เรียนแล้วๆ ก็เลือนหายไป เมื่อท่านจุลลปันถกนั้นพยายามเรียนคาถานี้เท่านั้น ๔ เดือนล่วงไปแล้ว

   ลำดับนั้น พระมหาปันถกจึงคร่าพระจุลลปันถกนั้นออกจากวิหาร โดยกล่าวว่า

   “จุลลปันถก เธอเป็นผู้อาภัพในพระศาสนานี้ โดย ๔ เดือนไม่อาจเรียนคาถาเดียวได้ ก็เธอจักทำกิจแห่งบรรพชิตให้ถึงที่สุดได้อย่างไร จงออกไปจากวิหาร.” พระจุลลปันถกไม่ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ เพราะความรักในพระพุทธศาสนา.

   ในคราวนั้น พระมหาปันถกได้เป็นพระภัตตุเทสก์ผู้แจกภัต. หมอชีวกโกมารภัจถือของหอมและดอกไม้เป็นอันมาก ไปยังอัมพวันของตน บูชาพระศาสดา ฟังธรรม แล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระทศพล แล้วเข้าไปหาพระมหาปันถก ถามว่า

   “ท่านผู้เจริญในสำนักของพระศาสดา มีภิกษุเท่าไร?”

   พระมหาปันถกกล่าวว่า “มีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป.”

   หมอชีวกกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ พรุ่งนี้ ท่านจงพาภิกษุ ๕๐๐ รูปมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ไปรับภิกษาในนิเวศน์ของผม.”

   พระเถระกล่าวว่า “อุบาสก ชื่อว่าพระจุลลปันถก เป็นผู้เขลา มีธรรมไม่งอกงาม อาตมภาพจะนิมนต์ เพื่อภิกษุที่เหลือ ยกเว้นพระจุลลปันถกนั้น.”

   พระจุลลปันถกได้ฟังดังนั้น จึงคิดว่า พระเถระพี่ชายของเรา เมื่อรับนิมนต์เพื่อภิกษุทั้งหลาย มีประมาณเท่านี้ก็รับ กันเราไว้ภายนอก พี่ชายของเราจักผิดใจในเรา โดยไม่ต้องสงสัย. บัดนี้ เราจะประโยชน์อะไรด้วยพระศาสนานี้ เราจักเป็นคฤหัสถ์กระทำบุญ มีทานเป็นต้น เลี้ยงชีวิต.

   วันรุ่งขึ้น พระจุลลปันถกนั้นไปแต่เช้าตรู่ ด้วยคิดว่าจักเป็นคฤหัสถ์. ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจโลก ได้ทรงเห็นเหตุนั้นนั่นแล จึงเสด็จไปก่อนล่วงหน้า ได้ประทับยืนจงกรม อยู่ที่ซุ้มประตู ใกล้ทางที่พระจุลลปันถกจะไป. พระจุลลปันถก เมื่อจะเดินไปสู่เรือน เห็นพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้า แล้วถวายบังคม.

   ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพระจุลลปันถกนั้นว่า

   “จุลลปันถก ก็เธอจะไปไหน ในเวลานี้.”

   พระจุลลปันถกกราบทูลว่า

   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระพี่ชายฉุดคร่าข้าพระองค์ออก ด้วยเหตุนั้น ข้าพระองค์จะไปด้วยคิดว่า จักเป็นคฤหัสถ์.”

   พระศาสดาตรัสว่า “จุลลปันถก ชื่อว่าการบรรพชาของเธอในสำนักของเรา เธอถูกพระพี่ชายฉุดคร่าออกไป เพราะเหตุไร จึงไม่มายังสำนักของเรา มาเถิด เธอจะประโยชน์อะไรด้วยความเป็นคฤหัสถ์ เธอจักอยู่ในสำนักของเรา”

   แล้วทรงพาพระจุลลปันถกไป ให้พระจุลลปันถกนั้นนั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ตรัสว่า

   “จุลลปันถก เธอจงผินหน้าไปทางทิศตะวันออก จงอยู่ในที่นี้แหละ ลูบคลำผ้าท่อนเก่าไปว่า รโชหรณํ รโชหรณํ ผ้าเป็นเครื่องนำธุลีไป ผ้าเป็นเครื่องนำธุลีไป”

   แล้วทรงประทานผ้าเก่าอันบริสุทธิ์ ซึ่งทรงปรุงแต่งด้วยฤทธิ์. เมื่อเขากราบทูลเวลา (ภัตตาหาร) ให้ทรงทราบ จึงแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จไปยังนิเวศน์ของหมอชีวก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดแล้ว

   ฝ่ายพระจุลลปันถกมองดูพระอาทิตย์ นั่งลูบท่อนผ้าเก่านั้นว่า รโชหรณํ รโชหรณํ เมื่อพระจุลลปันถกนั้น ลูบท่อนผ้าเก่านั้นอยู่ ผ้าได้เศร้าหมองไป แต่นั้น พระจุลลปันถกจึงคิดว่า ท่อนผ้าเก่าผืนนั้นบริสุทธิ์อย่างยิ่ง แต่เพราะอาศัยอัตภาพนี้ จึงละปรกติ เกิดเศร้าหมองอย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ จึงเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อม เจริญวิปัสสนา.

   พระศาสดาทรงทราบว่า จิตของจุลลปันถกขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว จึงตรัสว่า

   “จุลลปันถก เธออย่ากระทำความสำคัญว่า ท่อนผ้าเก่านั่นเท่านั้น เป็นของเศร้าหมองย้อมด้วยฝุ่นธุลี แต่ธุลีคือราคะเป็นต้นเหล่านั้น มีอยู่ในภายใน เธอจงนำธุลีคือราคะเป็นต้นนั้นไปเสีย” แล้วทรงเปล่งโอภาสเป็นผู้มีพระรูปโฉมปรากฏ เหมือนประทับนั่งอยู่เบื้องหน้า ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

   “ราคะเรียกว่า ธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่าธุลี คำว่า ธุลี นี้เป็นชื่อของราคะ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี.

   โทสะเรียกว่าธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่า ธุลี คำว่า ธุลี นี้เป็นชื่อของโทสะ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี.

   โมหะเรียกว่า ธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่า ธุลี คำว่า ธุลี นี้เป็นชื่อของโมหะ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี.”

   ในเวลาจบคาถา พระจุลลปันถกบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ปิฎกทั้งสามมาถึงแก่พระจุลลปันถกนั้น พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายเทียว.

   ได้ยินว่า ในกาลก่อน พระจุลลปันถกนั้นเป็นพระราชา กำลังทำประทักษิณพระนคร เมื่อพระเสโทไหลออกจากพระนลาต จึงเอาผ้าสาฎกบริสุทธิ์เช็ดพระนลาต ผ้าสาฎกได้เศร้าหมองไป พระราชานั้นทรงได้อนิจจสัญญา ความหมายว่าไม่เที่ยง ว่าผ้าสาฎกอันบริสุทธิ์เห็นปานนี้ ละปรกติเดิม เกิดเศร้าหมอง เพราะอาศัยร่างกายนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ด้วยเหตุนั้น ผ้าเป็นเครื่องนำธุลีออกไปเท่านั้น เกิดเป็นปัจจัยแก่พระจุลลปันถกนั้น.

   ฝ่ายหมอชีวกโกมารภัจน้อมนำนํ้าทักษิโณทกเข้าไปถวายพระทศพล พระศาสดาเอาพระหัตถ์ปิดบาตร โดยตรัสว่า

   “ชีวก ในวิหารมีภิกษุอยู่มิใช่หรือ.”

   พระมหาปันถกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวิหารไม่มีภิกษุมิใช่หรือ พระเจ้าข้า.” พระศาสดาตรัสว่า “ชีวก มีภิกษุ.” หมอชีวกจึงส่งบุรุษไป โดยสั่งว่า “พนาย ถ้าอย่างนั้นท่านจงไป อนึ่ง จงรู้ว่า ในวิหารมีภิกษุหรือไม่มี.”

   ขณะนั้น พระจุลลปันถกคิดว่า พี่ชายของเราพูดว่า “ในวิหารไม่มีภิกษุ” เราจักประกาศความที่ภิกษุทั้งหลายมีอยู่ในวิหาร แก่พี่ชายของเรานั้น แล้วบันดาลให้อัมพวันทั้งสิ้น เต็มไปด้วยภิกษุทั้งหลายเท่านั้น ภิกษุพวกหนึ่งทำการจีวรกรรม ภิกษุพวกหนึ่งทำกรรม คือย้อมจีวร ภิกษุพวกหนึ่งทำการสาธยาย ท่านนิรมิตภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ซึ่งเหมือนกันและกันอย่างนี้ บุรุษนั้นเห็นภิกษุมากมายในวิหาร จึงกลับไปบอกหมอชีวกว่า ข้าแต่นาย อัมพวันทั้งสิ้นเต็มด้วยภิกษุทั้งหลาย ณ ที่นั้นแหละ แม้พระเถระ

   ก็นิรมิตอัตภาพตั้งพัน [ล้วนเป็น] พระปันถกนั่ง

   อยู่ในอัมพวันอันรื่นรมย์จนกระทั่งประกาศเวลา

   [ภัต] ให้ทราบกาล.

   ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะบุรุษนั้นว่า

   “ท่านจงไปวิหาร กล่าวว่า พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุชื่อว่า จุลลปันถก.”

   เมื่อบุรุษนั้นไป กล่าวอย่างนั้นแล้ว ปากตั้งพัน ก็ตั้งขึ้นว่า อาตมะชื่อจุลลปันถก อาตมะชื่อจุลลปันถก. บุรุษไปกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นัยว่า ภิกษุแม้ทั้งหมด ชื่อจุลลปันถกทั้งนั้น.”

   พระศาสดาตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปจับมือภิกษุผู้พูดก่อนว่า อาตมะชื่อจุลลปันถก ภิกษุที่เหลือจะอันตรธานไป”

   บุรุษนั้นได้กระทำอย่างนั้น ทันใดนั้นเอง ภิกษุประมาณพันรูปได้อันตรธานหายไป พระเถระได้ไปกับบุรุษนั้น.

   ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระศาสดาตรัสเรียกหมอชีวก มาว่า ชีวก ท่านจงรับบาตรของพระจุลลปันถก พระจุลลปันถกนี้จักกระทำอนุโมทนาแก่ท่าน. หมอชีวกได้กระทำอย่างนั้น พระเถระบันลือสีหนาท ดุจราชสีห์หนุ่มยังปิฎกทั้ง ๓ ให้กำเริบ กระทำอนุโมทนา.

   พระศาสดาเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ มีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จไปยังพระวิหาร เมื่อภิกษุทั้งหลายแสดงวัตรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ ประทับยืนที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ประทานโอวาทของพระสุคตแก่ภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสบอกพระกรรมฐาน ทรงส่งภิกษุสงฆ์ไป แล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎีอันอบด้วยของหอมอันมีกลิ่นหอม ทรงเข้าสีหไสยา โดยพระปรัศว์เบื้องขวา

   ครั้นในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายประชุมกันรอบด้าน ในโรงธรรมสภา นั่งเหมือนวงม่านผ้ากัมพลแดง ปรารภเรื่องพระคุณของพระศาสดาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระมหาปันถกไม่รู้ อัธยาศัยของพระจุลลปันถก ไม่อาจให้เรียนคาถาเดียวโดยเวลา ๔ เดือน ฉุดออกจากวิหาร โดยกล่าวว่า “จุลลปันถกนี้ โง่เขลา. แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาแก่พระจุลลปันถกนั้น ในระหว่างภัตคราวเดียวเท่านั้น เพราะพระองค์เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ปิฎกทั้งสามมาพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ทีเดียว น่าอัศจรรย์ ชื่อว่า พุทธพลังใหญ่หลวง.”

   ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความเป็นไปของเรื่องนี้ในโรงธรรมสภา ทรงพระดำริว่า วันนี้ เราควรไป จึงเสด็จลุกขึ้นจากพุทธไสยา ทรงนุ่งผ้าสองชั้นอันแดงดี ทรงผูกรัดประคดประดุจสายฟ้าแลบ ทรงห่มมหาจีวรขนาดพระสุคตเช่นกับผ้ากัมพลแดง เสด็จออกจากพระคันธกุฎีอันมีกลิ่นหอม เสด็จไปยังโรงธรรมสภา ด้วยความงามอันเยื้องกราย ดุจช้างตัวประเสริฐอันซับมันและดุจราชสีห์ และด้วยพุทธลีลาอันหาที่สุดมิได้ เสด็จขึ้นบวรพุทธอาสน์ที่ลาดไว้ ทรงเปล่งพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการเสมือนทรงยังท้องทะเลให้กระเพื่อม ประดุจพระอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆ เหนือยอดเขายุคนธร ฉะนั้น ประทับนั่งท่ามกลางอาสนะ.

   ก็เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอสักว่าเสด็จมา. ภิกษุสงฆ์ได้งดการพูดจา นิ่งอยู่แล้ว. พระศาสดาทรงแลดูบริษัท ด้วยพระเมตตาจิต อันอ่อนโยน ทรงพระดำริว่า บริษัทนี้งามเหลือเกิน การคะนองมือคะนองเท้า หรือเสียงไอเสียงจาม แม้ของภิกษุรูปเดียว ก็มิได้มี. ภิกษุแม้ทั้งปวงนี้ มีความเคารพด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า อันเดชของพระพุทธเจ้าคุกคามแล้ว เมื่อเรานั่ง ไม่กล่าวแม้ตลอดกัป.

   ภิกษุทั้งหลายจักไม่ตั้งถ้อยคำขึ้นกล่าวก่อน ชื่อว่าวัตรในการตั้งเรื่อง เราควรจะรู้ เราแหละจักกล่าวก่อน จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ด้วยพระสุรเสียง ดุจเสียงพรหมอันไพเราะ ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไร เรื่องอะไรที่พวกเธอพูดค้างไว้ในระหว่าง.

   ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั่งอยู่ในที่นี้ ไม่กล่าว เดียรฉานกถาอย่างอื่น แต่นั่งพรรณนาพระคุณทั้งหลายของพระองค์เท่านั้น ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระมหาปันถกไม่รู้อัธยาศัยของพระจุลลปันถก ไม่อาจให้เรียนคาถาเดียวโดย ๔ เดือน ฉุดออกจากวิหาร โดยกล่าวว่า พระจุลลปันถกนี้โง่เขลา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทาน พระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาแก่พระจุลลปันถกนั้น ในระหว่างภัตครั้งเดียวเท่านั้น เพราะพระองค์ทรงเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม น่าอัศจรรย์ ชื่อว่า พระกำลังของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ใหญ่หลวงนัก.”

   พระศาสดาได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลาย แล้วตรัสว่า

   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระจุลลปันถกบรรลุถึงความเป็นใหญ่ในธรรม ในธรรมทั้งหลายในบัดนี้ เพราะอาศัยเราก่อน แต่ในปางก่อน จุลลปันถกนี้ถึงความเป็นใหญ่ในโภคะ แม้ในโภคะทั้งหลาย ก็เพราะอาศัยเรา.”

   ภิกษุทั้งหลายจึงทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อตรัสเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำ เหตุอันระหว่างภพปกปิดไว้ ให้ปรากฏ ดังต่อไปนี้.

   ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในเมืองพาราณสี ในแคว้นกาสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐี เจริญวัยแล้ว ได้รับตำแหน่งเศรษฐีได้ชื่อว่าจุลลกเศรษฐี จุลลกเศรษฐีนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม รู้นิมิตทั้งปวง. วันหนึ่ง จุลลกเศรษฐีนั้นไปสู่ที่บำรุงพระราชา เห็นหนูตายในระหว่างถนน คำนวณนักขัตฤกษ์ในขณะนั้นแล้ว กล่าวคำนี้ว่า "กุลบุตรผู้มีดวงตา คือปัญญา อาจเอาหนูตัวนี้ไปกระทำการเลี้ยงดูภรรยา และประกอบการงานได้."

   กุลบุตรผู้ยากไร้คนหนึ่งชื่อว่าจูฬันเตวาสิก ได้ฟังคำของเศรษฐีนั้น แล้วคิดว่า ท่านเศรษฐีนี้ไม่รู้ จักไม่พูด จึงเอาหนูไปขายในตลาดแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นอาหารแมว ได้ทรัพย์กากณึกหนึ่ง จึงซื้อนํ้าอ้อยด้วยทรัพย์หนึ่งกากณึกนั้น แล้วเอาหม้อใบหนึ่งตักนํ้าไป เขาเห็นพวกช่างดอกไม้มาจากป่า จึงให้ชิ้นนํ้าอ้อยคนละหน่อยหนึ่ง แล้วให้ดื่มนํ้ากระบวยหนึ่ง พวกช่างดอกไม้เหล่านั้นได้ให้ดอกไม้คนละกำมือแก่เขา.

   แม้ในวันรุ่งขึ้น เขาก็เอาค่าดอกไม้นั้น ซื้อนํ้าอ้อยและนํ้าดื่มหม้อหนึ่ง ไปยังสวนดอกไม้ทีเดียว พวกช่างดอกไม้ได้ให้ กอดอกไม้ที่เก็บไปแล้ว ครึ่งกอแก่เขาในวันนั้นแล้วก็ไป ไม่นานนัก เขาก็ได้เงิน ๘ กหาปณะ โดยอุบายนี้.

   ในวันมีฝนเจือลมวันหนึ่ง ไม้แห้งกิ่งไม้ และใบไม้เป็นอันมาก ในพระราชอุทยาน ถูกลมพัดตกลงมาอีก คนเฝ้าอุทยานไม่เห็นอุบายที่จะทิ้ง เขาไปในพระราชอุทยานนั้น แล้วกล่าวกะคนเฝ้าอุทยานว่า

   "ถ้าท่านจักให้ไม้และใบไม้เหล่านั้นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักนำของทั้งหมด ออกไปจากสวนนี้ของท่าน"

   คนเฝ้าอุทยานนั้นรับคำว่า "เอาไปเถอะ นาย."

   จูฬันเตวาสิกจึงไปยังสนามเล่นของพวกเด็กๆ ให้นํ้าอ้อย ให้ต้นไม้และใบไม้ทั้งหมด ออกไปโดยเวลาครู่เดียว ให้กองไว้ที่ประตูอุทยาน. ในกาลนั้น ช่างหม้อหลวงเที่ยวหาฟืนเพื่อเผาภาชนะดินของหลวง เห็นไม้และใบไม้เหล่านั้นที่ประตูอุทยาน จึงซื้อเอาจากมือของจูฬันเตวาสิกนั้น. วันนั้น จูฬันเตวาสิกได้ทรัพย์ ๑๖ กหาปณะ และภาชนะ ๕ อย่างมีตุ่มเป็นต้น ด้วยการขายไม้.

   เมื่อมีทรัพย์ ๒๔ กหาปณะ จูฬันเตวาสิกนั้นจึงคิดว่า เรามีอุบายนี้ แล้วตั้งตุ่มนํ้าดื่มตุ่มหนึ่งไว้ ในที่ไม่ไกลประตูพระนคร บริการคนหาบหญ้า ๕๐๐ คนด้วยนํ้าดื่ม. คนหาบหญ้า แม้เหล่านั้นกล่าวว่า สหาย ท่านมีอุปการะมากแก่พวกเรา พวกเราจะกระทำอะไรแก่ท่าน (ได้บ้าง). จูฬันเตวาสิกนั้นกล่าวว่า เมื่อกิจเกิดขึ้นแก่เรา ท่านทั้งหลายจักกระทำ แล้วเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้ ได้กระทำความสนิทสนม โดยความเป็นมิตรกับคนผู้ทำงานทางบก และคนทำงานทางนํ้า.

   คนทำงานทางบกบอกแก่จูฬันเตวาสิกนั้นว่า

   "พรุ่งนี้ พ่อค้าม้าจักพาม้า ๕๐๐ ตัวมายังนครนี้."

   นายจูฬันเตวาสิกนั้นได้ฟังคำของคนทำงานทางบกนั้นแล้ว จึงกล่าวกะพวกคนหาบหญ้าว่า

   "วันนี้ ท่านจงให้หญ้าแก่เราคนละกำ และเมื่อเรายังไม่ได้ขายหญ้า ท่านทั้งหลายอย่าขายหญ้าของตนๆ คนหาบหญ้าเหล่านั้นรับคำแล้ว นำหญ้า ๕๐๐ กำ มาลงที่ประตูบ้านของจูฬันเตวาสิกนั้น."

   พ่อค้าม้าไม่ได้อาหารสำหรับม้าในพระนครทั้งสิ้น จึงให้ทรัพย์หนึ่งพันแก่จูฬันเตวาสิกนั้น แล้วถือเอาหญ้านั้นไป.

   แต่นั้นล่วงไป ๒-๓ วัน สหายผู้ทำงานทางนํ้าบอกแก่จูฬันเตวาสิกนั้นว่า เรือใหญ่มาจอดที่ท่าแล้ว. จูฬันเตวาสิกนั้นคิดว่า มีอุบายนี้. จึงเอาเงิน ๘ กหาปณะไปเช่ารถ ซึ่งเพียบพร้อมด้วยบริวารทั้งปวง แล้วไปยังท่าเรือด้วยยศใหญ่ ให้แหวนวงหนึ่งเป็นมัดจำแก่นายเรือ ให้วงม่าน นั่งอยู่ในที่ไม่ไกล สั่งคนไว้ว่า

   "เมื่อพ่อค้าภายนอกมา พวกท่านจงบอก โดยการบอกประวิงไว้สามครั้ง."

   พ่อค้าประมาณร้อยคนจากเมืองพาราณสีได้ฟังว่า เรือมาแล้ว จึงมาโดยกล่าวว่า

   “พวกเราจะซื้อเอาสินค้า.”

   นายเรือกล่าวว่า “พวกท่านจักไม่ได้สินค้า พ่อค้าใหญ่ในที่ชื่อโน้น ให้มัดจำไว้แล้ว”

   พ่อค้าเหล่านั้นได้ฟังดังนั้น จึงมายังสำนักของจูฬันเตวาสิกนั้น. คนผู้รับใช้ใกล้ชิด จึงบอกความที่พวกพ่อค้าเหล่านั้นมา โดยการบอกประวิงไว้สามครั้ง ตามสัญญาเดิม. พ่อค้าประมาณ ๑๐๐ คนนั้น ให้ทรัพย์คนละพัน เป็นผู้มีหุ้นส่วนเรือกับจูฬันเตวาสิกนั้น แล้วให้อีกคนละพันให้ปล่อยหุ้น ได้กระทำสินค้าให้เป็นของตน จูฬันเตวาสิกถือเอาทรัพย์สองแสน กลับมาเมืองพาราณสี คิดว่า เราควรเป็นคนกตัญญู จึงให้ถือเอาทรัพย์แสนหนึ่งไปยังที่ใกล้จุลลกเศรษฐี.

   ลำดับนั้น จุลลกเศรษฐีจึงถามจูฬันเตวาสิกนั้นว่า “ดูก่อนพ่อ เธอทำอะไรจึงได้ทรัพย์นี้.”

   จูฬันเตวาสิกนั้นกล่าวว่า “ข้าพเจ้าตั้งอยู่ในอุบายที่ท่านบอก จึงได้ทรัพย์ภายใน ๔ เดือนเท่านั้น แล้วบอกเรื่องราวทั้งหมด ตั้งแต่หนูตายเป็นต้นไป.”

   ท่านจุลลกมหาเศรษฐีได้ฟังคำของจูฬันเตวาสิกนั้น แล้วคิดว่า บัดนี้ เรากระทำทารกเห็นปานนี้ให้เป็นของเรา จึงจะควร จึงให้ธิดาของตนผู้เจริญวัยแล้ว กระทำให้เป็นเจ้าของทรัพย์ทั้งสิ้น.

   เมื่อท่านเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว จูฬันเตวาสิกนั้นก็ได้ตำแหน่งเศรษฐีในนครนั้น. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ได้ไปตามยถากรรม.

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นตรัสพระธรรมเทศนานี้ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมยิ่งทีเดียว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

   บุคคลผู้มีปัญญารู้จักใคร่ครวญ ย่อมตั้งตนได้ด้วยทรัพย์อันเป็นต้นทุน แม้มีประมาณน้อย เหมือนคนก่อไฟกองน้อย ให้เป็นกองใหญ่ ฉะนั้น.

   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จุลลปันถก อาศัยเราแล้ว ถึงความเป็นใหญ่ในธรรม ในเพราะธรรมทั้งหลาย ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็อาศัยเรา จึงถึงความเป็นใหญ่ในโภคะ แม้เพราะโภคะทั้งหลาย แล้วตรัสเรื่อง ๒ เรื่อง สืบอนุสนธิกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า



จูฬันเตวาสิกในกาลนั้น ได้เป็น พระจุลลปันถก ในบัดนี้
         ส่วนจุลลกมหาเศรษฐีในกาลนั้น ได้เป็น เราผู้ตถาคต แล.

 
          พระคาถาประจำชาดก
อปฺปเกนปิ เมธาวี ปาภเฏน วิจกฺขโณ    สมุฏฐาเปติ อตฺตานํ อณุ อคฺคีว สนฺธนํ

คนมีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตนได้ด้วยทุนแม้น้อย
ดุจคนก่อไฟน้อยๆ ให้เป็นกองใหญ่ฉะนั้น


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง

8  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ปฐมพุทธะวะจะนะ เมื่อ: 24 เมษายน 2567 09:26:17
                    

                    ปฐมพุทธะวะจะนะ


                    อะเนกะชาติสังสารัง                         สันธาวิสสัง  อะนิพพิสัง

                    คะหะการัง  คะเวสันโต                      ทุกขา  ชาติ  ปุนัปปุนัง

                    คะหะการะกะ  ทิฏโฐสิ                       ปุนะ  เคหัง  นะ กาหะสิ

                    สัพพา เต  ผาสุกา  ภัคคา                  คะหะกูฏัง  วิสังขะตัง

                    วิสังขาระคะตัง  จิตตัง                       ตัณหานัง  ขะยะมัชฌะคาติ ฯ


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
9  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ๓. เสรีววาณิชชาดก ว่าด้วยเสรีววาณิช เมื่อ: 21 เมษายน 2567 12:02:54




ขุททกนิกายภาค ๑  เอกนิบาต ๑. อปัณณกวรรค
๓. เสรีววาณิชชาดก ว่าด้วยเสรีววาณิช

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุ รูปหนึ่งผู้ละความเพียรเหมือนกัน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ดังนี้ก็พระศาสดาทรงเห็นภิกษุนั้นถูกภิกษุทั้งหลาย นำมาโดยนัยก่อนนั่นแล จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ  เธอบวชในศาสนาอันให้ มรรคผลเห็นปานนี้ เมื่อละความเพียรเสีย จักเศร้าโศกตลอดกาลนาน เหมือน เสรีววาณิชเสื่อมจากถาดทองอันมีค่าแสนหนึ่งฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอน พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงเรื่องนั้น ให้เเจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงอดีตนิทานไว้ดังนี้ในอดีตกาล ในกัปที่ ๕ แต่ภัทรกัปนี้ พระโพธิสัตว์ได้เป็นพ่อค้าเร่  ในแคว้นเสริวรัฐ เสรีววาณิชนั้น เมื่อออกเดินทางไปค้าขายก็ไปกับพ่อค้าเร่ผู้โลเลคนหนึ่ง ชื่อว่า เสรีวะ ก็ข้ามแม่น้ำชื่อว่า นีลพาหะ แล้วเข้าไปยังพระนครชื่อว่า อริฏฐปุระ แบ่งเขตถนนในนครกันแล้ว ต่างก็ไปเที่ยวขายสินค้าในถนนที่เป็นเขตของตนก็ในนครนั้น ได้มีตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง เป็นตระกูลเก่าแก่ บุตร พี่น้อง และทรัพย์สินทั้งปวง ได้หมดสิ้นไป ได้มีเด็กหญิง คนหนึ่งเหลืออยู่กับยาย ยายหลานแม้ทั้งสองนั้น กระทำการรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีวิต ก็ในเรือนได้มีถาดทองที่ได้รับตกทอดมาถูกเก็บไว้กับภาชนะอื่น ๆ เมื่อไม่ได้ใช้สอยมานาน เขม่าก็จับ ยายและหลาน เหล่านั้นไม่รู้ว่าถาดนั้นเป็นถาดทองคำสมัยนั้น วาณิชโลเลคนนั้น เที่ยวร้องขายของว่า “มีเครื่องประดับมาขาย มีเครื่องประดับมาขาย”ครั้นได้ไปถึงประตูบ้านนั้น กุมาริกานั้นเห็นวาณิช นั้นจึงกล่าวกะยายว่า “ยาย ขอยายจงซื้อเครื่องประดับอย่างหนึ่งให้หนู”ยายกล่าวว่า “หนูเอ๋ย เราเป็นคนจน จักเอาอะไรไปซื้อ”กุมาริกากล่าวว่า “พวกเรามีถาดใบนั้นอยู่ และถาดใบนั้นไม่มีประโยชน์แก่พวกเรา จงให้ถาดใบนี้แล้ว แลกเอาเครื่องประดับมาเถิด” ยายจึงให้เรียกนายวาณิชมาแล้วให้นั่งบนอาสนะ ให้ถาดใบนั้นแล้วกล่าวว่า “เจ้านาย ท่านจงถือเอาถาดนี้ แล้วให้เครื่องประดับ อะไร ๆ ก็ได้แก่หลานสาวของฉัน” นายวาณิชเอามือจับถาดนั้น คิดว่าจักเป็นถาดทอง จึงพลิกเอาเข็มขีดที่หลังถาด รู้ว่าเป็นทอง จึงคิดว่า เราจักไม่ ให้อะไร ๆ แก่คนเหล่านี้ จักนำเอาถาดนี้ไป แล้วกล่าวว่า “ถาดใบนี้จะมีราคาอะไร ราคาของถาดใบนี้แม้กึ่งมาสกก็ยังไม่ถึง”จึงโยนไปที่พื้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป.พระโพธิสัตว์คิดว่า คนอื่นย่อมเข้าไปยังถนนที่นายวาณิชเจ้าของเขตนั้น เข้าไปขายของและออกไปแล้วได้ จึงเข้าไปยังถนนนั้นร้องขายของว่า “มีเครื่องประดับมาขาย”และได้ไปถึงประตูบ้านนั้นแหละ กุมาริกานั้นกล่าวกะยายเหมือนอย่างนั้นแหละอีก ลำดับนั้น ยายได้กล่าวกะกุมาริกานั้นว่า “หลานเอ๋ย นายวาณิช ผู้มายังเรือนนี้ โยนถาดนั้นลงบนพื้นไปแล้ว บัดนี้ เราจักให้อะไรแลกกับเครื่องประดับ”กุมาริกากล่าวว่า “ยาย นายวาณิชคนนั้นพูดจาหยาบคาย ส่วนนายวาณิชคนนี้ น่ารัก พูดจาอ่อนโยน คงจะรับเอา”ยายกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นจงเรียกเขามา”กุมาริกานั้นจึงเรียกนายวาณิชนั้นมา ลำดับนั้น ยายและหลานได้ให้ถาดใบนั้นแก่พระโพธิสัตว์นั้น ผู้เข้าไปยังเรือนแล้วนั่ง พระโพธิสัตว์นั้นรู้ว่าถาดนั้นเป็นถาดทอง จึงกล่าวว่า “แม่ ถาดใบนี้มีค่าตั้งแสน สินค้าอันมีค่าเท่าถาด ไม่มีในมือของเรา” ยายและหลานจึงกล่าวว่า “เจ้านาย นายวาณิชผู้มาก่อนพูดว่า ถาดใบนี้มีค่าไม่ถึงแม้กึ่งมาสก แล้วเหวี่ยงถาดลงพื้นไป แต่ถาดใบนี้จักเกิดเป็นถาดทอง เพราะบุญของท่าน พวกเราให้ถาดใบนี้แก่ท่าน ท่านให้อะไร ๆ ก็ได้แก่พวกเรา แล้วถือเอาถาดใบนี้ไปเถิด”ขณะนั้น พระโพธิสัตว์จึงให้กหาปณะ ๕๐๐ ซึ่งมีอยู่ในมือ และสินค้าซึ่งมีราคา ๕๐๐ กหาปณะ ทั้งหมด แล้วขอเอาไว้เพียงเท่านี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงให้ตาชั่งนี้กับ ถุง และกหาปณะ ๘ กหาปณะแก่ข้าพเจ้า แล้วถือเอาถาดนั้นหลีกไป”พระโพธิสัตว์นั้นรีบไปยังฝั่งแม่น้ำ ให้นายเรือ ๘ กหาปณะ แล้วขึ้นเรือไป ฝ่ายนายวาณิชพาล หวนกลับไปเรือนนั้นอีก แล้วกล่าวว่า “ท่านจง นำถาดใบนั้นมา เราจักให้อะไร ๆ บางอย่างแก่ท่าน”หญิงนั้นบริภาษนายวาณิชพาลคนนั้นแล้วกล่าวว่า “ท่านได้กระทำถาดทองอันมีค่าตั้งแสนของพวกเรา ให้มีค่าเพียงกึ่งมาสก แต่นายวาณิชผู้มีธรรมคนหนึ่งเหมือนกับนายท่านนั่นแหละ ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่พวกเรา แล้วถือเอาถาดทองนั้นไปแล้ว”นายวาณิชพาล ได้ฟังดังนั้น คิดว่า เราเป็นผู้เสื่อมจากถาดทองอันมีค่าตั้งแสน วาณิชคนนี้ ทำความเสื่อมอย่างใหญ่หลวงแก่เราหนอ เกิดความโศกมีกำลัง ไม่อาจดำรง สติไว้ได้ จึงสลบไป (พอฟื้น) ได้โปรยกหาปณะที่อยู่ในมือ และสิ่งของไว้ที่ประตูเรือนนั่นแหละ ทิ้งผ้านุ่งผ้าห่ม ถือคันชั่งทำเป็นไม้ค้อน หลีกไปตามรอยเท้าของพระโพธิสัตว์ ไปถึงฝั่งแม่น้ำนั้น เห็นพระโพธิสัตว์กำลังไปอยู่ จึงกล่าวว่า “นายเรือผู้เจริญ ท่านจงกลับเรือ”พระโพธิสัตว์ห้ามว่า “อย่ากลับ.”เมื่อนายวาณิชพาล แม้นอกนี้ เห็นพระโพธิสัตว์ไปอยู่นั่นแล เกิดความโศกมีกำลัง หทัยร้อน เลือดพุ่งออกจากปาก หทัยแตก เหมือนโคลนในบึงฉะนั้น วาณิชพาลนั้นผูกอาฆาตในพระโพธิสัตว์ของพระเทวทัตเป็นครั้งแรก พระโพธิสัตว์กระทำบุญมีทานเป็นต้น ได้ไปตามยถากรรม.พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นตรัสพระธรรมเทศนาแล้ว ทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วแล ได้ตรัสพระคาถานี้ว่าถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือความแน่นอนแห่งพระสัทธรรมในศาสนานี้ ท่านจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง สิ้นกาลนาน เหมือนวาณิชชื่อ เสรีวะผู้นี้ ฉะนั้นพระศาสดาทรงถือเอาถาดทองด้วยพระหัตถ์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้ แก่ภิกษุนี้อย่างนี้ แล้วทรงประกาศสัจจะทั้ง ๔ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้ละความเพียรดำรงอยู่ในพระอรหัตอันเป็นผลเลิศ แม้พระศาสดาก็ทรงตรัสเรื่อง ๒ เรื่องสืบต่อกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า วาณิชพาลในกาลนั้น ได้เป็นพระเทวทัตในบัดนี้ นายวาณิชผู้เป็นบัณฑิตในกาลนั้น ได้เป็น เราเอง ทรงให้เทศนาจบลงแล้ว. 

คาถาประจำชาดก
อิธ เจ นํ วีราเธสิ  สทฺธมฺมสฺส นิยามกํจิรํ ตวํ อนุตปฺเปสิ  เสริวายํว วาณิโชติถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือความแน่นอนแห่งพระสัทธรรมในศาสนานี้ ท่านจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง สิ้นกาลนาน เหมือนวาณิชชื่อ เสรีวะ ผู้นี้ ฉะนั้น




ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัว
10  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ภัทเทกะรัตตะคาถา เมื่อ: 21 เมษายน 2567 11:56:25


ภัทเทกะรัตตะคาถา

        อะตีตัง  นานวาคะเมยยะ                  นัปปะฏิกังเข  อะนาคะตัง

        ยะทะตีตัมปะหีนันตัง                       อัปปัตตัญจะ    อะนาคะตัง

        ปัจจุปปันนัญจะ  โย  ธัมมัง               ตัตถะ  ตัตถะ ตัตถะ  วิปัสสะติ

        อะสังหิรัง  อะสังกุปปัง                     ตัง  วิทธา มะนุพรูหะเย

        อัชเชวะ  กิจจะมาตัปปัง                   โก  ชัญญา มะระณัง สุเว

        นะ  หิ โน  สังคะรันเตนะ                  มะหาเสเนนะ  มัจจุนา

        เอวัง  วิหาริมาตาปิง                       อะโหรัตตะมะตันทิตัง

        ตัง  เว  ภัทเทกะรัตโตติ                    สันโต  อาจิกขะเต  มุนีติ ฯ
11  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี เมื่อ: 21 เมษายน 2567 11:51:36



ต้องปรากฎตอนที่มีปัญหา
ถาม : บางทีเราไม่ตั้งใจพิจารณา ก็ขึ้นมาเอง

พระอาจารย์ : ไม่เป็นปัญหาอะไร ขึ้นมาก็ขึ้นมา

ถาม : เหมือนอย่างเวลาถูบ้าน ก็ไม่ได้คิดอะไร ก็ปรากฏขึ้นมาเองว่า นี่ไม่ใช่บ้าน เป็นอิฐเป็นหิน ไม่ใช่ของเรา เดิมเป็นของแม่ พอแม่ตายไป ก็สมมุติว่าเป็นของเรา ปรากฏขึ้นเองเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ : ถ้าปรากฏขึ้นมาตอนที่ไม่มีปัญหา ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ต้องปรากฏตอนที่มีปัญหา ถึงจะได้ประโยชน์ เช่นตอนที่ธนาคารจะมายึดบ้าน


นั่งสมาธิแล้ว ใจสงบไหม
ถาม : นั่งสมาธิกับน้องสาว น้องสาวจะใช้พุทโธๆ แต่หนูชอบใช้ลมหายใจเข้าออก ทำอย่างนี้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : ช่ แต่ต้องดูที่ผล ว่านั่งแล้วใจสงบไหม

ถาม : สงบค่ะ

พระอาจารย์ : ต้องสงบเย็นสบาย ไม่คิดปรุงแต่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ การใช้ลมหายใจนี้เป็นการดึงใจไว้ ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ธรรมดาใจชอบคิดเรื่อยเปื่อย คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ทำให้มีอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัว ถ้าควบคุมความคิดได้ ด้วยการบังคับใจให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ความคิดต่างๆก็จะสงบตัวลงไปชั่วคราว ใจก็จะมีความสุข ความสบายใจ ความอิ่มใจ นี่คือผลที่เราต้องการ ต้องนั่งให้ได้นานๆ ครึ่งชั่วโมงหรือ ๑ ชั่วโมงถึงจะดี ถ้านั่งเพียง ๕ นาที  ๑๐ นาที ยังไม่ได้ผลมาก ต้องนั่งบ่อยๆนั่งนานๆ ต่อไปเวลาไม่สบายใจก็นั่งสมาธิ ไม่ไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ก็จะหายจากความไม่สบายใจ ถ้ากลับไปคิดเรื่องนั้นอีก ก็จะไม่สบายใจอีก  ถ้าอยากจะแก้ปัญหาอย่างถาวร ก็ต้องใช้ปัญญา ต้องคิดว่าความไม่สบายใจเกิดจากความอยากของเราเอง อยากให้เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เลยไม่สบายใจ เพราะไม่ได้เป็นอย่างที่อยากให้เป็น ต้องสอนใจว่า อยากให้เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นไปตามความอยากของเราไม่ได้ ต้องยอมรับความจริง เขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไป เช่นเขาอาจจะไม่ชอบเรา โกรธเกลียดเรา ก็อย่าไปอยากให้เขารักเรา ปล่อยเขาไป วันนี้เขาโกรธเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะรักเราก็ได้ วันนี้เขารักเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะเบื่อเราก็ได้ ให้คิดอย่างนี้เพื่อจะได้ไม่ไปทุกข์กับเขา ต้องคิดว่าเขาไม่แน่นอน เขาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ วันนี้เขาดีพรุ่งนี้เขาร้ายก็ได้ วันนี้เขาร้ายพรุ่งนี้เขาดีก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วก็จะหายจากความไม่สบายใจได้ คืออย่าไปอยากให้เขาเป็นไปตามความอยากของเรา ต้องยอมรับความจริง เขาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ แล้วเราจะหายจากความไม่สบายใจ


ปฏิบัติง่ายๆ
ถาม : ขอคติธรรม เพื่อนำไปปฏิบัติง่ายๆ

พระอาจารย์ : นั่งสมาธิ สวดมนต์ไหว้พระ ทุกเช้าเย็น


ง่วง
ถาม : เวลานั่งสมาธิเดินจงกรมเจริญสติ แล้วถูกความง่วงครอบงำ ควรจะทำอย่างไร

พระอาจารย์ : ต้องกินอาหารให้น้อยลง กินมื้อเดียว ต้องยอมหิวหน่อย ความจริงไม่ได้หิวที่ร่างกายหรอก แต่หิวที่ใจ ร่างกายกินอาหารเกินความต้องการอยู่แล้ว มีอาหารสะสมอยู่มาก ก็อย่างที่บอก ต้องถือศีล ๘ ให้ได้ อย่างน้อยก็ไม่กินหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว การภาวนาต้องยอมอด ถึงจะได้ผล ถ้าอยากจะมีความสุขกับรูปเสียงกลิ่นรส การภาวนาจะมีอุปสรรคมาก ถ้าไม่ง่วงเหงาหาวนอนก็ฟุ้งซ่าน ถ้าไม่ชอบอดอาหารก็ต้องไปอยู่ที่น่ากลัว ไปนั่งในป่าช้าจะไม่ง่วง.


แล้วแต่ใจว่า หยาบหรือละเอียด
ถาม : ก่อนที่จะนั่งสมาธินี้ ควรสวดมนต์ไหว้พระก่อน หรือว่านั่งเลย อย่างไหนจะดีกว่ากันครับ

พระอาจารย์ : อยู่ที่จิตของเรา ว่าหยาบหรือละเอียด ถ้าจิตหยาบคิดมาก นั่งไม่ได้ ก็ต้องสวดมนต์ไปก่อน เพื่อทำให้จิตละเอียดลงไป ให้ความคิดปรุงแต่งหมุนช้าลง พอคิดน้อยลงไปแล้ว ก็ดูลมได้

ถาม : หมายความว่าไม่จำเป็นต้องสวดมนต์มากมายหลายบท
พระอาจารย์ : ก็อย่างที่บอก แล้วแต่ใจของเราว่า หยาบหรือละเอียด อย่างสมัยที่เราเริ่มนั่งแรกๆนี้ ต้องท่องมหาสติปัฏฐานสูตรไปประมาณ ๔๐ นาทีก่อน ถึงจะดูลมได้ แต่ตอนหลังนี้ไม่ต้องท่องแล้ว เพียงแต่กำหนดสติให้ดูลมปั๊บ มันก็สงบได้ การท่องนี้เพื่อพัฒนาสติ ให้มีกำลังหยุดความคิดปรุงแต่ง พอสติมีกำลังมากๆ ก็เหมือนเบรกที่มีกำลังมาก แตะนิดเดียวก็หยุดกึ๊กเลย ถ้าเบรกไม่ดีนี้ เหยียบจนติดพื้นก็ยังไม่หยุด ถ้ารถวิ่งเร็วมาก ก็จะไม่หยุดง่าย  ถ้าภาวนาบ่อยๆ หยุดความคิดปรุงแต่งบ่อยๆ จะเหมือนรถที่วิ่งช้าลงไปเรื่อยๆ เวลาภาวนาให้สงบนี้จะสงบเร็วมาก เพียงกำหนดแป๊บเดียว ไม่ต้องภาวนาพุทโธ เพียงตั้งสติปั๊บ ความคิดปรุงแต่งก็หยุดแล้ว การควบคุมจิตนี้เหมือนกับการขับรถ ตอนเริ่มทำใหม่ๆนี้ เหมือนกับรถที่ไม่มีเบรกและวิ่งเร็ว เหมือนรถวิ่งลงเขา พอสร้างเบรกให้มีกำลังมากขึ้นๆ เจริญสติมากขึ้นๆ ก็จะทำให้วิ่งช้าลง การภาวนาจะง่ายขึ้นๆ สงบเร็วขึ้น สงบได้นานขึ้น ต้องดูตอนจะนั่งว่า ใจของเราเป็นอย่างไร ไม่ฟุ้งซ่านมากก็นั่งง่าย ฟุ้งซ่านมากก็นั่งยาก เพราะชีวิตของฆราวาสยังต้องวุ่นวายกับการงาน ถ้ามีอารมณ์ตกค้างจะนั่งไม่ได้ ดูลมไม่ได้ พุทโธไม่ได้ อย่างนี้ก็สวดมนต์ไปก่อน ถ้าสวดไม่ได้ ก็ฟังเทศน์ไปก่อน ถ้าไม่ได้ก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม แล้วก็ซ้ายขวาซ้ายขวาไป เดินให้หมดแรงก่อน ถึงค่อยมานั่ง.


สุขก็ได้ทุกข์ก็ได้
ถาม : เวลามีสิ่งมากระทบ อ่านข่าวแล้วเกิดอารมณ์ไม่พอใจ แล้วเกิดสติรู้ทัน ก็พิจารณาว่าทำไม เพราะอะไร จนอารมณ์ความรู้สึกเบาบางลงไป แล้วก็กลับมาบริกรรมต่อ

พระอาจารย์ : ถ้าใจสงบแล้ว จะบริกรรมก็ได้ ไม่บริกรรมก็ได้ ถ้าใจทุกข์กับสิ่งที่ได้ยิน ก็ต้องใช้สมาธิหรือใช้ปัญญาแก้ ถ้าใช้สมาธิก็ให้บริกรรมไป ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องที่ได้ยินมา จนกว่าจิตจะสงบแล้วลืมเรื่องนั้นไป ถ้าจะใช้ปัญญาก็พิจารณาว่าเป็นธรรมดาของโลก มีเจริญมีเสื่อม มีสุขมีทุกข์ แต่ใจเรามีอคติ ชอบฟังแต่เรื่องสุขเรื่องเจริญ พอได้ยินเรื่องทุกข์เรื่องเสื่อมก็จะหดหู่ใจ ต้องสอนใจว่า ต้องฟังได้ทั้ง ๒ เรื่อง เรื่องสุขก็ได้ เรื่องเจริญก็ได้ เรื่องทุกข์ก็ได้ เรื่องเสื่อมก็ได้ เพราะเราไม่สามารถไปสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้ ให้สักแต่ว่ารู้ แล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปมีปฏิกิริยา ถ้ามีปฏิกิริยาก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  เรื่องจะร้ายแรงขนาดไหนก็ต้องยอมรับ จะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม ถ้าแก้ไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมันไป แม้แต่ความตายก็ต้องอยู่กับมันไป ยอมรับมันไป ต้องทำใจเป็นเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนที่เราเป็นอยู่ขณะนี้ สมมุติว่าถ้าต้องหยุดหายใจขณะนี้ ถ้าใจรู้แล้วเฉยได้ ก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ บรรลุได้ ถ้าหายใจไม่ออกแล้วตกใจกลัว แสดงว่าสอบตก จะสอบผ่านก็ต้องเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตอนนี้เป็นอย่างไร ตอนที่จะตายก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทำใจให้เฉยเหมือนตอนนี้ จะเฉยได้ก็ต้องมีสติมีสมาธิมีปัญญา ที่เราต้องเจริญให้มาก พอมีมากแล้วจะรักษาใจให้นิ่งเฉยได้ ถ้าไม่มีก็จะถูกกิเลสดึงไป จะเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา ต้องปฏิบัติให้มาก ตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่พวกเราไม่ปฏิบัติกัน ไม่ตั้งสติกัน ปล่อยให้ใจไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ พอไปเจออารมณ์ไม่ดีก็หยุดไม่ได้ จึงต้องหัดหยุดให้ได้ ต้องสร้างอุเบกขาให้เกิดขึ้น ด้วยการเจริญสติและสมาธิ พอมีอุเบกขาแล้วก็เจริญปัญญา เตรียมรับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ต้องพร้อมอยู่ทุกเวลา ถ้าพร้อมแล้วจะไม่ตื่นตระหนก ไม่ทุกข์ทรมานใจ จะตั้งอยู่ในความสงบ เหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้


ทุกข์ในจิต ทุกข์ในขันธ์
ถาม : อุเบกขากับไม่สุขไม่ทุกขเวทนาเหมือนกันไหมครับ

พระอาจารย์ : เป็นคำเดียวกัน แต่เป็นคนละเรื่องกัน เวทนาเป็นเรื่องของขันธ์ อุเบกขาเป็นความสงบนิ่งของใจ ขันธ์เป็นอาการของใจ คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เขาเรียกว่าอาการหรือแขนขาของใจ เวทนาก็มีสุขมีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ ตามการสัมผัสรับรู้กับอายตนะภายนอก ถ้าเห็นภาพที่ไม่ชอบก็เกิดทุกขเวทนา เห็นภาพที่ชอบก็เกิดสุขเวทนา เห็นภาพที่เป็นกลางก็จะเกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนา เป็นเรื่องของขันธ์ ในขณะที่เกิดเวทนานี้ ก็จะมีทุกข์หรือไม่ทุกข์ในใจได้ด้วย ถ้าเกิดความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ทุกข์ในจิตกับทุกข์ในขันธ์เป็นคนละอย่างกัน อุเบกขาในจิตกับในอุเบกขาในขันธ์ก็เช่นเดียวกัน เวทนาขันธ์นี้เราควบคุมบังคับไม่ได้ แต่เราควบคุมบังคับอุเบกขาในจิตได้ ควบคุมด้วยสติปัญญา.
12  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ๒. วัณณุปถชาดก ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน เมื่อ: 17 เมษายน 2567 15:25:51




ขุททกนิกายภาค ๑  เอกนิบาต
๒. วัณณุปถชาดก ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน

ดังได้สดับมา เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในนครสาวัตถี มีกุลบุตร ชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ไปเชตวันวิหาร สดับพระธรรมเทศนาในสำนักของพระศาสดา มีจิตเลื่อมใส เห็นโทษในกามและอานิสงส์ในการออกจากกาม จึงบวช อุปสมบทได้ ๕ พรรษา เรียนได้มาติกา ๒ บท ศึกษาการประพฤติ วิปัสสนา รับพระกรรมฐานที่จิตของตนชอบ ในสำนักของพระศาสดาเข้าไป ยังป่าแห่งหนึ่ง จำพรรษา พยายามอยู่ตลอดไตรมาสไม่อาจทำสักว่าโอภาสหรือ นิมิตให้เกิดขึ้น ลำดับนั้นภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า พระศาสดาตรัสบุคคล ๔ จำพวก ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น เราคงจะเป็นปทปรมะ เราเห็นจะไม่มี มรรคหรือผงในอัตภาพนี้ เราจักกระทำอะไรด้วยการอยู่ป่า เราจักไปยังสำนัก ของพระศาสดา และดูพระรูปของพระพุทธเจ้าอันถึงความงามแห่งพระรูปอย่างยิ่ง ฟังพระธรรมเทศนาอันไพเราะอยู่ (จะดีกว่า) ครั้นคิดแล้วก็กลับมายัง พระเชตวันวิหารนั่นแลอีก

ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนเห็นและคบกัน กล่าวกะภิกษุนั้นว่า

"ดูก่อนอาวุโส ท่านเรียนกรรมฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปด้วยหวังใจว่า จักกระทำสมณะธรรม แต่บัดนี้มาเที่ยวรื่นรมย์ด้วยการคลุกคลีอยู่ กิจแห่งบรรพชิตของท่านถึงที่สุดแล้วหรือหนอ ท่านจะเป็นผู้ไม่มีปฏิธิแลหรือ"

ภิกษุนั้นกล่าวว่า "ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราไม่ได้มรรคหรือผล จึงคิดว่าเราน่า จะเป็นอภัพพบุคคล จึงได้สละความเพียรแล้วมาเสีย" ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า "ดูก่อนอาวุโส ท่านบวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้มีความมั่นแล้ว ละความเพียรเสีย กระทำสิ่งอันมิใช่เหตุแล้ว มาเถิดท่าน พวกเราจักแสดงท่านแด่พระตถาคต" ครั้นกล่าวแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงได้พาภิกษุนั้นไปยังสำนักของพระศาสดา.

พระศาสดาพอทรงเห็นภิกษุนั้น จึงตรัสอย่างนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้พาภิกษุผู้ไม่ปรารถนารูปนี้มาแล้ว ภิกษุนี้ทำอะไร"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุนี้บวชในพระศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ ไม่อาจกระทำสมณธรรม ละความเพียรเสียมาแล้ว"

ลำดับนั้นพระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า "ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอละ ความเพียรจริงหรือ"

ภิกษุนั้นกราบทูลว่า "จริงพระเจ้าข้า."

พระศาสดาตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ ทำไมจึงไม่ให้เขารู้จักตนอย่างนี้ว่า เป็นผู้มักน้อย หรือว่าเป็นผู้สันโดษหรือว่าเป็นผู้สงัด หรือว่าเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้อง หรือว่าเป็นผู้ปรารภความเพียร ให้เขารู้จัก เป็นภิกษุผู้ละความเพียร เมื่อครั้งก่อน เธอได้เป็นผู้มีความเพียรมิใช่หรือ เมื่อเกวียน ๕๐๐เล่ม ไปในทางกันดาร เพราะทราย พวกมนุษย์และโคทั้งหลายได้น้ำดื่มมีความสุข เพราะอาศัยความเพียรซึ่งเธอผู้เดียวกระทำแล้ว เพราะเหตุไร บัดนี้ เธอจึงละความเพียรเสีย" ภิกษุนั้นได้กำลังใจด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้.

ฝ่ายภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความที่ความเพียรอันภิกษุนี้สละแล้ว ปรากฏแก่ ข้าพระองค์ทั้งหลายในบัดนี้แล้ว ก็ในกาลก่อน ความที่โคและมนุษย์ทั้งหลาย ได้น้ำดื่มมีความสุขในทางกันดารเพราะทราย เหตุอาศัยความเพียรที่ภิกษุนี้ กระทำ ยังลี้ลับสำหรับข้าพระองค์ทั้งหลาย ปรากฏแก่พระองค์ผู้ทรงบรรลุ พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น ขอพระองค์จงตรัสนี้แม้แก่ข้าพระองค์ ทั้งหลายเถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังการเกิดสติให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นด้วยพระดำรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง แล้วได้ทรงกระทำเหตุการณ์อันระหว่างภพปกปิดไว้ให้ปรากฏ."

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนคร พาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในตระกูลพ่อค้าเกวียน พระโพธิสัตว์นั้น เจริญวัยแล้ว เที่ยวกระทำการค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม พระโพธิสัตว์นั้นเดินทางกันดารเพราะทรายแห่งหนึ่งมีระยะประมาณ ๖๐ โยชน์ ก็ในทางกันดารนั้น ทรายละเอียดกำมือไว้ยังติดอยู่ในมือ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นมีความร้อน เหมือนกองถ่านเพลิง ไม่อาจข้ามไปได้ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์นั้นเมื่อดำเนินทางกันดารนั้นจึงเอาเกวียนบรรทุกฟืน น้ำ น้ำมัน และข้าวสารเป็นต้น ไปเฉพาะกลางคืน

ในเวลาอรุณขึ้นกระทำเกวียนให้เป็นวงแล้ว ให้ทำปะรำไว้เบื้องบนทำกิจในเรื่องอาหารให้เสร็จแต่เช้าตรู่แล้วนั่งในร่มเงาจนหมดวัน เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้ว บริโภคอาหารเย็น เมื่อพื้นดินเกิดความเย็น จึงเทียมเกวียนเดินทางไป การไปเหมือนกับการไปในทะเลนั่นแหละ ธรรมดาผู้บอกทางควรจะมี เพราะเหตุนั้น พระโพธิสัตว์นั้น จึงให้กระทำการไปของหมู่เกวียนไปตามสัญญาของดวงดาว

ในกาลนั้น พ่อค้าเกวียนนั้น เมื่อจะไปยังทางกันดารนั้น ก็ดำเนินการตามทำนองนี้นั่นแล จึงไปได้ ๕๙ โยชน์ คิดว่า บัดนี้ โดยราตรีเดียวเท่านั้น จักออกจากทางกันดาร จึงบริโภคอาหารเย็น ใช้ฟืนและน้ำทั้งปวงให้หมดสิ้นแล้วจึงเทียมเกวียน ๑ คนนำทาง เช่นเดียวกับคนนำร่องในทางน้ำไป คนนำทางให้ลาดอาสนะในเกวียนเล่มแรก นอนดูดาวในท้องฟ้าบอกว่า จงขับไปข้างนี้ จงขับไปข้างโน้น คนนำทางนั้นเหน็ดเหนื่อยเพราะไม่ได้หลับ เป็นระยะกาลนาน จึงหลับไป เมื่อโคหวนกลับเข้าเส้นทางที่มาเดิม ก็ไม่รู้สึก โคทั้งหลายได้เดินทางไปตลอดคืนยังรุ่ง คนนำทางตื่นขึ้นในเวลาอรุณขึ้น มองดูดาวนักษัตรแล้วกล่าวว่าจงกลับเกวียน จงกลับเกวียน และเมื่อคนทั้งหลายพากันกลับเกวียนทำไว้ตามลำดับ ๆ นั่นแล อรุณขึ้นไปแล้ว มนุษย์ทั้งหลายพากันกล่าวว่า นี่เป็นที่ตั้งค่ายที่พวกเราอยู่เมื่อวานนี้ แม้ฟืนและน้ำของพวกเราก็หมดแล้ว บัดนี้พวกเราฉิบหายแล้ว จึงปลดเกวียนพักไว้โดยเป็นวงกลมแล้วทำปะรำไว้เบื้องบน นอนเศร้าโศกอยู่ภายใต้เกวียนของตน ๆ

พระโพธิสัตว์คิดว่า เมื่อเราละความเพียรเสีย คนทั้งหมดนั้นจักพากันฉิบหาย พอเวลาเช้า จึงเที่ยวไปในเวลาที่ยังมีความเย็น เห็นกอหญ้าแพรกกอหนึ่งจึงคิดว่า หญ้าเหล่านี้จักเกิดขึ้น เพราะความเย็นของน้ำข้างล่าง จึงให้คนถือจอบมาให้ขุดลงยังที่นั้น คนเหล่านั้นขุดลึกลงไปได้ ๖๐ ศอก เมื่อคนทั้งหลาย ขุดไปถึงที่มีประมาณเท่านี้ จอบได้กระทบหินข้างล่าง พอจอบกระทบหิน คนทั้งปวงก็พากันละความเพียรเสีย ฝ่ายพระโพธิสัตว์คิดว่า ภายใต้หินนี้จะพึงมีน้ำ จึงลงไปยืนที่พื้นหิน ก้มลงเงี่ยหูฟังเสียง ได้ยินเสียงน้ำเบื้องล่าง จึงขึ้นมาบอกกะคนรับใช้ว่า

"ดูก่อนพ่อ เมื่อเธอละความเพียรเสีย พวกเราจักฉิบหาย เธออย่าละความเพียร จงถือเอาค้อนเหล็กนี้ลงไปยังหลุม ทุบที่หินนี้"

คนรับใช้นั้นรับคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว ไม่ละความเพียรในเมื่อคนทั้งปวงละความเพียรยืนอยู่ จึงลงไปทุบหิน หินแตก ๒ ซีกตกลงไปข้างล่างได้ตั้งขวาง กระแสน้ำอยู่ เกลียวน้ำประมาณเท่าลำตาลพุ่งขึ้น คนทั้งปวงพากันดื่มกิน แล้วอาบ ผ่าเพลาและแอกเป็นต้นที่เหลือเพื่อหุงข้าวยาคูและภัตบริโภคและให้โคกิน และเมื่อพระอาทิตย์อัสดง จึงผูกธงใกล้บ่อน้ำ แล้วได้พากันไปยัง ที่ที่ปรารถนาแล้ว ๆ คนเหล่านั้นขายสินค้าในที่นั้นแล้วได้ลาภ ๒ เท่า ๓ เท่า จึงได้พากันไปเฉพาะที่อยู่ของตน คนเหล่านั้นดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นจนชั่ว อายุแล้วไปตามยถากรรม ฝ่ายพระโพธิสัตว์กระทำบุญมีทานเป็นต้น ได้ไปตามยถากรรมเหมือนกัน.

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานี้แล้ว ทรงตรัสกับภิกษุผู้ละความเพียรนั้นว่า

"ดูก่อนภิกษุ ในกาลก่อน เธอนั้นกระทำความเพียรเพื่อต้องการทางน้ำ บัดนี้ เพราะเหตุไร เธอจึงละความเพียรในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เพื่อประโยชน์แก่ มรรคผลเห็นปานนี้."

พระศาสดาครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้ อย่างนี้แล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ ๔ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุละความเพียรดำรงอยู่ในพระอรหัต อันเป็นผลอันเลิศ ทรงประชุมชาดกแสดงว่า คนรับใช้ผู้ไม่ละความเพียร ต่อยหินให้น้ำแก่มหาชน ในสมัยนั้น ได้เป็นภิกษุผู้ละความเพียรรูปนี้ ในบัดนี้ บริษัทที่เหลือในสมัยนั้น เป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนหัวหน้าพ่อค้าเกวียนได้เป็นเรา ดังนี้


คาถาประจำชาดก
อกิลาสุโน วณฺณปเถ ขณนฺตา  อุทงฺคเณ ตตฺถ ปป อวินฺทํ
เอวํ มุนิ วิริยพลูปปนฺโน  อกิลาสุ วิทฺเท หทยสฺส สนฺติ

ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย
ได้พบน้ำในทางทรายนั้น ณ ที่ลานกลางแจ้ง ฉันใด
มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรกำลัง
เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจฉันนั้น

ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
13  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด พุทธะอุทานะคาถา เมื่อ: 17 เมษายน 2567 15:20:17


พุทธะอุทานะคาถา

           ยะทา หะเว ปาตุภะวันติ ธัมมา
อาตาปิโน ฌายะโต พราหมะณัสสะ
อะถัสสะ กังขา วะปะยันติ สัพพา
ยะโต ปะชานาติ สะเหตุธัมมัง ฯ

          ยะทา หะเว ปาตุภะวันติ ธัมมา
อาตาปิโน ฌายะโต พราหมะณัสสะ
อะถัสสะ กังขา วะปะยันติ สัพพา
ยะโต ขะยัง ปัจจะยานัง อะเวทิ ฯ

          ยะทา หะเว ปาตุภะวันติ ธัมมา
อาตาปิโน ฌายะโต พราหมะณัสสะ
วิธูปะยัง ติฏฐะติ มาระเสนัง
สูโรวะ โอภาสะยะมันตะลิกขันติ ฯ



ที่มา : วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
14  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ / นครเพตรา จอร์แดน สิ่งมหัศจรรย์ของโลก เมื่อ: 17 เมษายน 2567 15:13:58




 
นครเพตรา จอร์แดน สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

 
นครเพตรา (Petra) ซ่อนตัวอย่างลึกลับในหุบเขาวาดี มูซา หุบเขาที่ตั้งอยู่ระหว่างทะเลสาบเดดซี กับทะเลอัคบาในประเทศจอร์แดน นครนี้ในสมัยโบราณนั้นเป็นนครแห่งการค้าขนาดใหญ่ เป็นเมืองหลวงของชนเผ่านาบาเชียน ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจอร์แดนในสมัยก่อน และถูกละทิ้งเป็นเวลานานกว่า 700 ปี ซึ่งได้ถูกค้นพบโดย นักสำรวจชาวสวิตเซอร์แลนด์ โจฮันน์ ลุควิก เบิร์กฮาร์ท ในปี ค.ศ.1812

ชาวนาบาเชียนสร้างเมืองแห่งนี้โดยใช้วิธีการแกะสลักหินให้เป็นช่องอุโมงค์ โรงละครของเมืองแห่งนี้ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงละครแบบกรีก-โรมัน ส่วนหน้าของวิหารเอล เดียร์ ซึ่งสูง 42 เมตร ในเมืองแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีอีกแห่งหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบกรีกโบราณ ทำให้นครเปตราได้รับลงทะเบียนจากองค์กร UNESCO ให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2528
15  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ / ป่าแอมะซอน เมื่อ: 14 เมษายน 2567 16:55:01
.



          ภาพมุมสูงป่าแอมะซอน

          ป่าแอมะซอน

วันนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับ Amazon (แอมะซอน)  แต่อย่าพึ่งเข้าใจผิดไปว่าจะเป็นร้านกาแฟยี่ห้อดังที่เราคุ้นเคย เพราะแอมะซอนที่กำลังจะนำเสนอนี้ คือชื่อป่าสำคัญแห่งหนึ่งของโลกในทวีปอเมริกาใต้นั่นเอง ส่วนที่ว่าจะมหัศจรรย์ยังไง ติดตามอ่านกันได้เลย

ลักษณะทั่วไปทางภูมิศาสตร์
          แอมะซอน (Amazon) ป่ามหัศจรรย์ของโลกก็เนื่องมาจากลักษณะสำคัญต่างๆ อย่างมากมาย เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ ขนาดพื้นที่และอีกมากมาย นับเป็นป่าที่ถูกยกให้เป็นป่าลึกลับและเป็นปอดของโลก อันเนื่องมาจากเป็นป่าดิบชื้นเขตร้อนที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในโลก โดยมีอาณาเขตพื้นที่ประมาณ 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ประมาณ 9 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ คือ บราซิล เปรู โคลอมเบีย เวเนซุเอลา เอกวาดอร์ โบลิเวีย กายอานา ซูรินาม และเฟรนช์เกียนา โดย 60% ตั้งอยู่ในประเทศบราซิล และมีแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลกไหลผ่าน คือ แม่น้ำแอมะซอน  ทิศตะวันตกของป่าคือภูเขาแอนดีส ส่วนทิศตะวันตกคือมหาสมุทรแอตแลนติก มีปริมาณน้ำตลอดปี เนื่องจากมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งขนาดใหญ่รวมถึงแม่น้ำใต้ดินที่ชื่อว่า แม่น้ำริโอแฮมซ่า ที่มีพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์

          ป่าแห่งนี้เป็นป่าที่ถือว่ามีระบบนิเวศที่สมบูรณ์สุดในตอนนี้ แหล่งรวมพืชพันธุ์นานาชนิด ทั้งชนิดที่หายากและชนิดที่ยังรอการสำรวจและค้นพบอีกมากมาย  จากข้อมูลการสำรวจและประมาณการของนักสำรวจ กล่าวว่า พบต้นไม้ประมาณ 390 พันล้านต้นและมีพันธุ์ไม้ประมาณ 16,000 ชนิด  พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าทึบ ต้นไม้สูงใหญ่จะมีใบขึ้นในส่วนที่สูงที่สุดของลำต้น ทำให้แสงอาทิตย์ไม่สามารถสอดส่องไปยังพื้นดินได้ ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพียง 1% เท่านั้น  ดินในผืนแห่งนี้จะมีลักษณะไม่หน่าแน่น ทำให้ต้นไม้ต้องหยั่งลึกรากลึกลงไปกินรัศมีในวงกว้าง

          พืชพรรณหายากสามารถหาได้จากผืนป่าแห่งนี้ เช่น ต้นไม้ระเบิด ที่เป็นต้นไม้ที่มีการขยายพันธุ์ที่โดยการระเบิดตัวเองกลายเป็นเม็ดพันธุ์ โดยสามารถขยายพันธุ์ด้วยแรงระเบิดไปได้ไกลถึง 150 ฟุต

          สัตว์ป่าหายากก็สามารถพบได้ที่ป่าแอมะซอนได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างสัตว์ที่พบในป่านี้เท่านั้นก็อย่างเช่น เคเมนหรือไคเมน สีขาว (Caiman) ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มเดียวกับจระเข้

          ในป่าแห่งนี้จึงขึ้นชื่อว่าเป็นป่าที่รวบรวมสัตว์ดุร้าย รวมถึงมีพิษมากที่สุดในโลก เช่น มดหัวกระสุน ชื่อก็บอกถึงความเจ็บปวดราวกับถูกกระสุนปืนยิงได้เลย โดยความเจ็บนี้อาจเทียบได้ 30 เท่าเมื่อเทียบกับการถูกผึ้งต่อย  เสือจากัวร์ ที่มีความดุร้ายรุนแรงจนสามารถทำกะโหลกของสัตว์ที่เป็นเหยื่อแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ได้ในพริบตา นอกจากนี้ยังมีสัตว์อื่น ๆ อีกมากมายเช่น กบลูกศรพิษ ที่มีความสวยงามแต่มีพิษร้ายแรง รวมไปถึงสัตว์น่ากลัวที่เรารู้จักกันดีอย่าง อนาคอนด้างูยักษ์ และปลาที่ดุร้ายที่สุดอย่างปลาปิรันยา


แม่น้ำสายสำคัญ
          ป่าแอมะซอนมีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน เช่น แม่น้ำแอมะซอน ซึ่งถือเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีความยาวประมาณ 4,100 ไมล์ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนและสัตว์ป่าในกลุ่มลุ่มแม่น้ำแอมะซอน


กลุ่มชาติพันธุ์
         จากข้อมูลนักสำรวจ ได้รายงานว่า ป่าแอมะซอนเป็นบ้านเกิดของกลุ่มคน 300 กลุ่ม รวมถึงยังมีหลายชนเผ่า ที่คงยังเป็นชนเผ่าที่ปิดตัวเองจากโลกภายนอก ไม่ติดต่อและรับคนต่างถิ่นเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด


https://www.scimath.org
16  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / กายกับจิต แยกให้ออกจากกัน พอจ.สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี เมื่อ: 14 เมษายน 2567 16:45:50



พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๒๕ กัณฑ์ที่ ๔๒๗  วันที่  ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔


กายกับจิต แยกให้ออกจากกัน

เรื่องของจิตจึงเป็นเรื่องที่ลึกลับ ถ้าไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติก็จะไม่รู้ เพราะหลงยึดติดกับร่างกาย ที่ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ว่าเป็นตัวเราของเรา ก็เลยว่าจิตเป็นสิ่งที่วิเศษ ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย แต่ถูกความหลงหลอกให้ไปยึดติดกับร่างกาย พอร่างกายเป็นอะไรจิตก็เป็นไปด้วย มีนิทานในสมัยพุทธกาล มีคนเลี้ยงม้าคนหนึ่งขาไม่ดี ขาเป๋ เดินกะเผลกๆ ม้าที่เลี้ยงก็เดินกะเผลกตามคนเลี้ยง ทั้งๆที่ขาม้าไม่ได้เป็นอะไร จิตเราก็เหมือนกัน พอได้ร่างกายมาครอบครอง ก็หลงคิดว่าร่างกายเป็นจิต พอร่างกายเป็นอะไรก็เป็นตามร่างกายไป ร่างกายแก่ก็แก่ตาม ร่างกายเจ็บก็เจ็บตาม เพราะไม่มีปัญญาแยกแยะจิตออกจากร่างกาย ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง ที่เกิดแก่เจ็บตาย ส่วนจิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้ที่มีความรู้สึกนึกคิด ผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ จะลุกขึ้นได้ จิตต้องสั่งก่อน ว่าจะลุกถึงจะลุกได้ จะเดินจิตก็ต้องสั่ง จะมาที่นี่ได้จิตก็ต้องสั่งไว้ก่อน ว่าวันนี้จะมาที่นี่ พอถึงเวลาก็ออกเดินทางมากัน ร่างกายไม่รู้เรื่อง ร่างกายเป็นผู้ทำตามคำสั่งของจิต

พวกเราต้องศึกษาร่างกายกับจิต แยกให้ออกจากกัน อย่าให้เป็นคนเดียวกัน เพราะเป็นคนละคนกัน ใจเป็นเจ้าของร่างกาย ที่เป็นสมบัติชั่วคราว ที่จะต้องหมดสภาพไป ถ้าใจต้องอาศัยร่างกายทำประโยชน์ ก็ต้องรีบทำอย่างเต็มที่ คือปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ เจริญสติให้เต็มที่ พอทำงานนี้เสร็จแล้ว ร่างกายจะเป็นอะไรก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าปฏิบัติไม่เสร็จแล้วร่างกายตายไป ก็ต้องรอให้ได้ร่างกายอันใหม่ ถึงจะปฏิบัติต่อได้ ก็จะเสียเวลาไป จึงควรเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะตายวันนี้ก็ได้ ตายพรุ่งนี้ก็ได้ อีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้าก็ได้ ไม่มีใครรู้ ถ้าจะไม่ประมาท ก็ต้องคิดว่าอาจจะต้องตายในวันนี้ ถ้าคิดอย่างนี้เวลาไม่สบายไปหาหมอ พอหมอบอกว่าเหลืออีก ๓ เดือน ก็จะดีใจ เพราะคิดว่าจะตายวันนี้ แต่หมอให้ตั้ง ๓ เดือน ถ้าไม่คิดอย่างนี้ พอหมอบอกว่าเหลือ ๓ เดือน ก็จะหมดกำลังใจ วันก่อนก็มีผู้หญิงคนหนึ่งมาบอกว่า หมอบอกว่าเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เหลืออีกไม่กี่เดือน จะให้ทำอย่างไร เราก็บอกให้รีบปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด ตอนนี้ไม่ต้องไปคิดถึงความตายแล้ว เพราะรู้อยู่ตลอดเวลา ถ้าไปคิดก็จะไม่มีกำลังใจปฏิบัติ ต้องลืมเรื่องความตาย ให้พุ่งไปที่การปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด เจริญสตินั่งสมาธิเจริญปัญญาให้มากที่สุด

ถ้าไม่เห็นความตายก็จะไม่รีบขวนขวาย จึงต้องอยู่ใกล้เหตุการณ์จริง จะได้กระตือรือร้นปฏิบัติและบรรลุธรรมได้ อย่างพระราชบิดา ก็ทรงบรรลุ ๗ วันก่อนเสด็จสวรรคต เพราะเห็นความจริง เห็นความตาย กิเลสที่อยากจะอยู่ก็จะหายไป เพราะรู้ว่าอยากอย่างไรก็อยู่ไม่ได้ ก็เลยไม่มีกิเลสมาคอยขัดขวาง ไม่ให้ตั้งใจปฏิบัติ ความห่วงใยความกังวล กับเรื่องสมบัติข้าวของเงินทอง กับบุคคลต่างๆ ตอนนั้นไม่สนใจแล้ว สนใจอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ทุกข์กับความตาย ที่จะตามมาในระยะอันใกล้นี้ ถ้ามีคนสอนวิธีให้ทำจิตให้สงบ ก็จะทำได้อย่างรวดเร็ว พอจิตสงบแล้วร่างกายจะเป็นอะไรก็จะไม่เดือดร้อน ต้องไปดูศพไปงานศพอยู่เรื่อยๆ ไปอยู่ในสถานที่ที่ท้าทายกับความเป็นความตาย ก็จะทำให้ไม่ประมาท จะรีบขวนขวาย จะเห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ไม่มีความหมายเลย ช่วยไม่ได้เลยเวลาใกล้เป็นใกล้ตาย สมบัติเงินทองต่างๆช่วยไม่ได้เลย มีแต่การปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยได้ ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา ก็เหมือนมีอาวุธไว้ต่อสู้กับศัตรู ที่จะสร้างความทุกข์ต่างๆให้เกิดขึ้นตอนใกล้ตาย จะไม่หวั่นไหวเดือดร้อน จะปล่อยวางร่างกาย ใจก็จะสงบ.
17  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี เมื่อ: 14 เมษายน 2567 16:41:16



ตัวโกรธ
ถาม : วันหนึ่งลูกนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ได้ข่าวว่าคนที่รู้จักเสียชีวิต ก็เลยคิดไปว่า ถ้าเราโกรธเขาอยู่ พอเขาตายไป เรายังโกรธเขาอยู่หรือไม่ ถ้าไม่โกรธ แสดงว่าเราโกรธกายเขาใช่หรือไม่ กายเขาตายไป เราถึงได้หยุดโกรธ แต่ถ้าเราโกรธใจเขา เราน่าจะโกรธข้ามชาติไป ชาติหน้าโกรธอีก โกรธไปเรื่อยๆ ถ้าเราหยุดโกรธก็ไม่น่าจะโกรธใจ ก็เลยวนมาคิดว่า หรือว่าเราโกรธการกระทำ ถ้าเราโกรธการกระทำนั้นแปลว่าอะไร แปลว่าการกระทำนั้นมันน่าโกรธ ถ้าใจเราเป็นตัวโกรธ มันก็ไม่ใช่การกระทำ มันเป็นที่ใจ ก็หยุดคิดไปดื้อๆ ทั้งๆที่กำลังคิดเพลินดี ยังอยากคิดต่อ แต่ก็ไม่คิดต่อ หยุดไปเฉยๆ

พระอาจารย์ : เกือบจะได้คำตอบแล้ว เข้าไปถึงจุดแล้ว คือใจที่ไม่ชอบการกระทำของเขา พอเขาทำเราก็โกรธ ถ้าเราไม่มีความไม่ชอบ เขาจะทำอะไรเราก็จะไม่โกรธ ตรงประเด็นกับวันนี้ที่เทศน์ว่า อย่าไปแก้ที่เขา ต้องแก้ที่ใจเรา แก้ความโกรธที่เกิดจากความอยาก พอไม่ได้ดังใจก็โกรธ อยากให้เขาดี พอเขาไม่ดีก็โกรธ เกือบจะได้คำตอบแล้ว แต่หยุดเสียก่อน.


ไม่มีของทำบุญก็รักษาศีลไป
ถาม : มีญาติโยมคนหนึ่งต้องแอบซื้อของมาทำบุญ เพราะญาติไม่ให้มา

พระอาจารย์ : เพราะมีจิตใจใฝ่บุญใฝ่ธรรม จะแอบทำก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ต้องการให้ผู้อื่นคิดไม่ดี แต่อย่าแอบเอาของของคนอื่นมาทำบุญ เพราะจะขาดทุนมากกว่ากำไร ถ้าไม่มีของทำบุญก็รักษาศีลไป จะได้บุญมากกว่า  บุญที่ได้จากการให้ทานเป็นเหมือนแบงก์ ๒๐ แบงก์ ๕๐ บุญที่ได้จากการรักษาศีลเป็นเหมือนแบงก์ ๑๐๐ บุญที่ได้จากการนั่งสมาธิเป็นเหมือนแบงก์ ๕๐๐ บุญที่ได้จากการเจริญปัญญาเป็นเหมือนแบงก์ ๑๐๐๐   ถ้าทำบุญให้ทานไม่ได้ เพราะไม่มีเงินหรือมีคนขัดขวาง ไม่ต้องทำก็ได้ รักษาศีลนั่งสมาธิเจริญปัญญาจะได้บุญมากกว่า.


ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว
ถาม : เวลานั่งไปถึงตรงที่จิตแยกออกจากกาย ควรดึงกลับมาหรือควรจะเฉยๆ ปล่อยเขาไป
 
พระอาจารย์ : เวลาจิตสงบจะปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร

ถาม : ปล่อยให้เขาแยกหรือคะ

พระอาจารย์ : ให้เขาอยู่ตามลำพัง ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ปล่อยตาหูจมูกลิ้นกาย ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาทำสมาธิจะดึงกระแสของจิต ที่ไปเกาะติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เข้ามาข้างในจิต เหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ จะปล่อยวางเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ พอเข้าไปถึงก้นถ้ำแล้ว จะไม่รับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ จะพักอยู่ในนั้น เพราะเป็นที่เย็นสบาย มีความสุขมาก จนกว่ากำลังของสติจะอ่อนลง กระแสของกิเลสก็จะผลักออกมา ออกมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่อไป

ถาม : ไม่ดึงออกมา

พระอาจารย์ : ไม่ต้องดึงออกมา ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อให้จิตเข้าไป พอเข้าไปแล้วก็อย่าดึงออกมา ปล่อยให้อยู่ในความสงบจนกว่าจะออกมาเอง ที่ออกมาก็เพราะยังไม่ได้เข้าไปถึงที่ ถ้าถึงที่แล้วจะไม่อยากออกมา เพราะมีความสุขมาก เบาสบายมาก.


บริกรรมพุทโธไปดีกว่า
ถาม : เวลานั่งสมาธิบริกรรมพุทโธ เพื่อไม่ให้ฟุ้งซ่านใช่ไหมคะ บางคนแนะนำให้พิจารณาความคิด ก็เลยสงสัยว่าแบบไหนจะถูก

พระอาจารย์ : ให้พิจารณา ถ้าไม่สามารถบริกรรมได้ ให้ใช้ปัญญาข่มใจแทน เช่นกำลังฟุ้งซ่านกับการเรียน วิตกกังวลว่าปีนี้จะผ่านหรือไม่ จิตไม่ยอมอยู่กับพุทโธ ก็ต้องวิเคราะห์ด้วยปัญญาดูว่า จะผ่านหรือไม่ผ่านก็อยู่ที่เหตุ เหตุก็คือ การเรียนการศึกษา ถ้าขยันศึกษาเต็มที่แล้ว จะผ่านไม่ผ่านก็แล้วแต่ ถ้ายังศึกษาไม่เต็มที่ ก็ควรศึกษาให้เต็มที่
ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาศึกษา ก็อย่าเพิ่งไปคิดถึงมัน บริกรรมพุทโธไปดีกว่า ใจก็จะปล่อยวาง ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเรียน กลับมาบริกรรมพุทโธได้ อย่างนี้เรียกว่า ปัญญาอบรมสมาธิ เป้าหมายของการนั่งสมาธิ ก็เพื่อหยุดความคิดปรุงแต่ง ถ้านั่งเฝ้าดูความคิดจะไม่มีวันหยุด  อย่างที่โยมพูดว่าปล่อยให้คิดให้พอ แล้วจะพอ ไม่มีวันพอหรอก จะทนนั่งไม่ได้ นั่งไปสักพักจะเจ็บ จะอึดอัด อยากจะลุกไปทำอย่างอื่น ถ้าไม่ได้คิดจะนั่งได้นาน ยิ่งสงบเท่าไหร่ยิ่งไม่อยากจะลุกไปไหน เพราะความสงบเป็นความสุขที่เลิศที่สุด เป็นความสุขที่แท้จริง ทดแทนความสุขต่างๆได้ เช่นอยากจะดื่มเป๊ปซี่ พอจิตสงบก็ไม่อยากจะดื่ม ไม่หิวกระหาย ถ้าไม่อยู่กับพุทโธ คิดแต่เป๊ปซี่เป๊ปซี่ ก็จะลุกขึ้นไปดื่มเป๊ปซี่จนได้.


เอาทีละอย่าง
ถาม : เวลาดูร่างกายว่าไม่เที่ยง แล้วต้องดูจิตด้วยหรือเปล่าคะ ว่าจิตเรานี้เดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลง

พระอาจารย์ : เอาทีละอย่าง เอาร่างกายก่อน เอาให้หมดเป็นเรื่องๆไป จิตมันละเอียดยิ่งกว่าร่างกาย ถ้ายังเอาร่างกายไม่ได้ ก็จะเอาจิตไม่ได้ มันคนละขั้นกัน ต้องเอาขั้นร่างกายก่อน ละสักกายทิฐิละกามราคะก่อน แล้วค่อยไปละจิต.


ความกลัว
ถาม : บ้านพี่สาวมีคนตาย ก็กลัวเหมือนกัน ตั้งใจจะเข้าไปดู พอเข้าไปจริงๆเริ่มหวั่นนิดๆ

พระอาจารย์ : ตอนที่ไม่ตายไม่รู้สึกอะไร พอตายก็กลัวขึ้นมาทันที เวลาเป็นกับเวลาตายต่างกันตรงไหน ก็ต่างกันตรงที่หายใจกับไม่หายใจเท่านั้นเอง ทำไมต้องไปกลัวคนที่ไม่หายใจแล้ว

ถาม : พอไปเจอของจริง ก็รู้สึกกลัว วันแรกๆรู้สึกไม่ดี พอวันต่อๆไปก็พยายามฝืนตัวเอง เพราะต้องอยู่ตรงนั้น ก็ค่อยๆดีขึ้นมาทีละนิด แต่ก็ยังไม่หายกลัว

พระอาจารย์ : ต้องใช้สมาธิช่วย บริกรรมพุทโธๆไป เวลาเกิดความกลัวก็ให้พุทโธๆไป ถ้าไม่สามารถใช้ปัญญาพิจารณา ว่าเขากับเราก็เหมือนกัน เราก็เป็นผี เขาก็เป็นผี ทำไมไม่กลัวร่างกายของเรา ทำไมไปกลัวร่างกายของเขา ร่างกายของเขาก็มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน มีผมขนเล็บฟันฯลฯเหมือนกัน  เหมือนอย่างที่หลวงตาเขียนไว้ในหนังสือปฏิปทาฯ เรื่องกลัวเสือ เสือมันมีอะไรที่เราไม่มี ก็พิจารณาไป มันมีขนเราก็มีขน มันมีเขี้ยวเราก็มีฟัน พิจารณาไปพิจารณามา ก็มีอย่างเดียวที่เราไม่มี ก็คือหาง อ้อเรากลัวหางมันเหรอ ต้องพิจารณาซากศพว่า เขามีอะไรที่เราไม่มีบ้าง เราไปกลัวผมเขาเหรอ แล้วเราไม่กลัวผมเราเหรอ ถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลก็จะดับความกลัวได้ เพราะความกลัวเป็นอารมณ์ เป็นความหลง ไม่มีเหตุไม่มีผล ก่อนที่จะพิจารณาด้วยปัญญาได้ ต้องมีสมาธิก่อน ถ้ายังไม่มีสมาธิเวลากลัว ก็ต้องใช้การบริกรรมไปก่อน ให้จิตสงบ ไม่อย่างนั้นจะฟุ้งซ่าน จะเป็นบ้าได้ ถ้ามีสมาธิแล้ว ก็จะคิดด้วยเหตุด้วยผลได้ คิดเปรียบเทียบตามความเป็นจริง ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรน่ากลัว.


การปฏิบัติมีอยู่ ๓ ขั้น
ถาม : ถ้ารู้ว่าจิตเป็นอย่างไร รู้ว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่อย่างนี้ ไม่ได้คิดอะไร อย่างนี้จะเกิดวิปัสสนาญาณไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่เกิด เป็นการเจริญสติเท่านั้นเอง การปฏิบัติมีอยู่ ๓ ขั้น คือสติสมาธิปัญญา เจริญสติแล้วก็ต้องนั่งสมาธิทำใจให้สงบ พอออกมาจากความสงบ ก็ต้องเจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะเกิดวิปัสสนาญาณ พิจารณาว่าร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย  ร่างกายไม่สวยงามเป็นอสุภะ เป็นปฏิกูลสกปรก อย่างนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา.


ต้องให้เห็นว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด
ถาม : กลางคืนหลังจากสวดมนต์ทำวัตรแล้วก็นั่งภาวนาพุทโธๆ พอตื่นขึ้นมาตอนตีสองตีสาม จะพิจารณาได้ไหมคะ

พระอาจารย์ : ได้ พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา พิจารณาทั้งตัวเราเองและคนอื่น ไม่ใช่ร่างกายของเราเท่านั้น คนที่เรารักที่เรารู้จักก็เป็นเช่นเดียวกัน คนที่เราไม่รักเราไม่รู้จักก็เป็นเช่นเดียวกัน ต้องให้เห็นว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ควรเจริญสติและพิจารณาทางปัญญาในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่เจริญสติ ก็ควรพิจารณาทางปัญญา เห็นอะไรก็คิดว่าไม่เที่ยง อย่าไปอยากได้ ถ้าอยากได้ก็จะทุกข์ ก็จะตัดกิเลสได้.


แต่ทำไม่ได้
ถาม : ถ้าเอาปัญญามาคิดว่าเป็นดินน้ำลมไฟ

พระอาจารย์ : เป็นอนัตตา เราไปควบคุมบังคับไม่ได้ ถ้ายอมรับก็เป็นปัญญา ก็จะปล่อยวางได้ ก็จะไม่มีทุกข์ใจ เพราะไม่มีตัณหา ความอยากที่จะให้ความเจ็บของร่างกายหายไป

ถาม : จะดับทุกข์อย่างถาวรไหมคะ

พระอาจารย์ : จะดับอย่างถาวร ทุกครั้งที่เจอความเจ็บจะไม่เดือดร้อน จะเฉยๆ

ถาม : ความรู้สึกยินดีหรือไม่ยินดี

พระอาจารย์ : เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความอยาก ถ้ายินดีก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ ถ้าไม่ยินดีก็อยากจะให้หายไปเร็วๆ ต้องตัดความยินดีและไม่ยินดี เพราะเป็นเหตุทำให้เกิดความอยากขึ้นมา ถ้าเฉยๆ จะอยู่จะไปก็ได้ ไม่เป็นปัญหา ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้ คือไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เฉยๆ อะไรก็ได้ เจ็บก็ได้ ไม่เจ็บก็ได้ ใจต้องเฉยๆ แต่ใจถูกกิเลสซุ่มสอนให้รัก ให้ชัง ให้กลัว ให้หลงอยู่ตลอดเวลา ใจมีอคติ ๔ อยู่ตลอดเวลา ต้องใช้ปัญญาดับอคติ ๔ ให้รู้ว่าสิ่งที่ไปรักไปชัง ไปกลัว ไปหลง ไม่ได้ให้คุณให้โทษกับใจเลย ใจไปหลงเอง  ถ้าคิดว่าจะเป็นคุณกับใจก็รัก ถ้าคิดว่าจะเป็นภัยก็ชังก็กลัว ความจริงไม่มีอะไรในโลกนี้สามารถให้คุณให้โทษกับใจเลย เพราะใจไม่ได้อยู่ในโลกนี้ ใจเพียงรับรู้สิ่งต่างๆผ่านทางร่างกาย ร่างกายเป็นเครื่องมือรับข้อมูลต่างๆไปให้ใจ ใจไม่ได้อยู่ในมิตินี้ อยู่ในอีกมิติหนึ่ง ถึงแม้โลกจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆ ใจจะไม่ถูกทำลายไปด้วย เพราะใจไม่ได้อยู่ในโลกนี้

ใจไม่ได้ไม่เสียกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดจะดับ ใจไม่ได้ไม่เสียด้วย แต่ใจไม่รู้ความจริงนี้ เพราะใจไปหลงยึดติดกับร่างกาย ไปคิดว่าใจกับร่างกายเป็นอันเดียวกัน ได้เสียไปกับร่างกาย เวลาร่างกายเจ็บ ใจก็จะเจ็บตามไปด้วย เวลาร่างกายสุข ใจก็จะสุขตามไปด้วย ต้องแยกใจออกจากร่างกายให้ได้ ให้ร่างกายเป็นเหมือนกับเครื่องบินที่ใช้วิทยุบังคับ ผู้ที่บังคับเครื่องบินไม่ได้อยู่ในเครื่องบิน เครื่องบินตกก็ไม่ได้ทำให้ผู้บังคับเครื่องบินเดือดร้อนแต่อย่างใด ร่างกายเป็นเหมือนหุ่นตัวหนึ่ง ที่ใจเป็นผู้บังคับ ด้วยการใช้กระแสจิต บังคับให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ใจไม่ได้ไม่เสียไปกับร่างกาย แต่ใจไปหลงคิดว่าได้เสียตามร่างกาย เวลาขึ้นเงินเดือนก็ดีใจ เวลาได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งก็ดีใจ เวลาถูกตัดเงินเดือนก็เสียใจ


อยู่ที่ความสามารถของสติ
ถาม : เวลาร่างกายตายไป จิตยังไม่เห็นหรือคะว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา

พระอาจารย์ : จิตไม่เห็น เพราะไม่มีสติปัญญา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจิตจะหลง จิตไม่นิ่ง

ถาม : แล้วหลังจากที่ตายไปแล้ว

พระอาจารย์ : เหมือนคนที่สลบไสล ตายไปแล้วก็เหมือนนอนหลับฝันไป ถ้าฝันดีก็ขึ้นสวรรค์ ถ้าฝันร้ายก็ตกนรก จะมาตื่นก็ตอนที่มาเกิดใหม่ มาได้ร่างกายใหม่

ถาม : ถ้าบริกรรมพุทโธๆไปตลอด จะทันไหมคะ

พระอาจารย์ : ขึ้นอยู่กับความสามารถของสติ ถ้าทำได้ก็จะเป็นฌาน เป็นสมาธิ ก็จะไปเกิดบนพรหมโลก อย่างพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูป ท่านชำนาญในการเข้าฌาน เวลาร่างกายท่านตายไป ท่านก็เข้าฌานไป ปล่อยวางร่างกายไปเข้าไปอยู่ในสมาธิ พอร่างกายตายไปจิตก็ไปสวรรค์ชั้นพรหม ถ้าฝึกบ่อยๆก็จะทำได้ ถ้าฝึกไม่บ่อย พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ก็จะตกใจ ตื่น ลืมไปหมด ควรจะทำจิตให้สงบ กลับไม่ทำ กลับไปยึดติดกับร่างกาย ไม่ยอมให้ร่างกายตาย ก็เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา จึงต้องซ้อมไว้ก่อน การปฏิบัติก็เป็นการซ้อมไว้ก่อน ก่อนที่จะเข้าห้องสอบ พวกเราทุกคนต้องเข้าห้องสอบ คือความเจ็บและความตาย ถึงต้องนั่งให้เจ็บ จะได้ทำใจให้ปล่อยวางความเจ็บ อย่าไปอยากให้ความเจ็บหาย หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป ให้อยู่กับความเจ็บให้ได้ รับรู้ความเจ็บให้ได้ ความเจ็บทำลายใจไม่ได้หรอก เราไปกลัวความเจ็บเอง

เหมือนดูหนังผี ผีอยู่ในจอ ออกมานอกจอไม่ได้ ทำร้ายคนดูไม่ได้ แต่คนดูต้องปิดตาไม่กล้าดู เพราะไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าเป็นเพียงหนัง ร่างกายเป็นเหมือนตัวละครในจอหนัง ส่วนใจเป็นคนดู แต่ใจไปติดอยู่กับตัวละคร พอตัวละครเป็นอะไรไปก็เป็นไปด้วย ไม่มีปัญญาแยกใจออกจากร่างกาย ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นตัวละคร ใจเป็นคนดูละคร ไม่ดูเฉยๆ ไปแสดงด้วย ไปดีใจ ไปเสียใจ ไม่ดูเฉยๆ สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา ถึงต้องทำสมาธิเพื่อให้เข้าถึงอุเบกขาก่อน พอเข้าถึงสักแต่ว่ารู้ ถึงอุเบกขาได้แล้ว เวลาออกจากสมาธิก็ใช้ปัญญาประคับประคองใจ ไม่ให้ออกจากอุเบกขาได้ เพราะเวลาออกมาเห็นอะไรก็จะชอบจะชัง จะหลุดจากอุเบกขา ก็ต้องใช้ปัญญาให้กลับเข้าไปในอุเบกขา ให้เฉยๆ ชอบก็เฉย ชังก็เฉย ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็จะอยาก จะว้าวุ่นขุ่นมัว

ต้องมีสมาธิก่อน เพื่อเราจะได้พบจุดยืนของจิต คือสักแต่ว่ารู้ หรืออุเบกขา ไม่รักไม่ชัง ไม่ยินดียินร้าย รู้เฉยๆ พอออกจากสมาธิแล้ว กิเลสจะลากจิตให้ออกจากจุดนี้ ให้ไปรักไปชัง ไปกลัวไปหลง ต้องใช้ปัญญาสกัด ด้วยการพิจารณาว่าทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ภายใต้คำสั่ง อย่าไปอยากเลย บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ ได้มาแล้วก็ต้องเสียไปอยู่ดี ถ้าอยากแล้วไม่ได้ ก็จะเสียใจ ไม่นิ่ง ไม่สงบ ต้องใช้ปัญญาหลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว การเจริญปัญญาก็เจริญได้ ๒ ลักษณะ ถ้ายังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงก็ซ้อมไปก่อน ถ้าอยู่ในเหตุการณ์จริง เช่นเราทำงาน พบคนพูดดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็ต้องรักษาใจไม่ให้ยินดียินร้าย ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไปซ้อมก่อน ไปอยู่วัดสักพัก ไปพิจารณาเตรียมตัวไว้ก่อน ซ้อมไว้ก่อน พิจารณาว่าห้ามเขาไม่ได้ เป็นเหมือนฝนตกแดดออก แต่ห้ามใจเราได้ ห้ามไม่ให้ไปยินดียินร้าย รักษาอุเบกขาไว้ เป็นจุดที่ปลอดภัยที่สุดของใจ.


ไม่เกิน ๗ ชาติ
ถาม : ถ้าบรรลุโสดาบันแล้ว ต้องกลับมาเกิดอีกหรือเปล่า

พระอาจารย์ : ต้องกลับมาเกิดอีก แต่ไม่เกิน ๗ ชาติ ในพระคัมภีร์แสดงไว้อย่างนี้ ถ้าขยับขึ้นไปเป็นพระสกิทาคามี ก็จะกลับมาเกิดอีกชาติเดียว ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป เพราะท่านตัดกามตัณหาได้หมดแล้ว ได้เจริญอสุภกัมมัฏฐานจนเบื่อหน่าย ในรูปร่างหน้าตาของคน ไม่เห็นว่าสวยงาม เหมือนตอนที่ยังไม่ได้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน พอพิจารณาเห็นอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง เห็นสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่มีอยู่ภายในร่างกาย ที่ถูกขับออกมาทางทวารต่างๆ ก็เกิดความขยะแขยง แทนที่จะกำหนัดยินดี กลับขยะแขยง ไม่อยากจะเข้าใกล้ ถ้าพิจารณาจนเห็นเป็นซากศพ ก็จะไม่อยากร่วมหลับนอนด้วยเลย ความกำหนัดยินดีคือราคะตัณหา ได้หมดไปจากใจของพระอนาคามี ท่านก็เลยไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป เพราะท่านมีความสุขที่เหนือกว่า คือความสุขสงบของใจที่เรียกว่า ฌาน ท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม และบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสวรรค์ชั้นพรหม

นี่คือเรื่องของภพชาติที่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เป็นผลจากการได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถ้าปฏิบัติเพียงทานศีลและสมาธิ จะไม่ได้อริยมรรคอริยผล ตายไปก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเหมือนเดิม เช่นพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ องค์ที่ได้ฌาน หลังจากที่ท่านตายไปแล้ว ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม แต่เป็นสวรรค์ชั้นพรหมที่ต้องเสื่อม เพราะขึ้นไปด้วยกำลังของสมาธิ ไม่ได้ขึ้นไปด้วยกำลังของปัญญา เช่นของพระอนาคามี พระอนาคามีได้ชั้นพรหมด้วยการชำระกิเลส ที่ทำใจไม่ให้สงบ พอชำระกามราคะออกไปจากใจได้ ใจก็สงบเป็นธรรมชาติ เป็นฌานโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบริกรรมพุทโธเพ่งกสิณให้จิตสงบ ฌานแบบนี้ไม่มีวันเสื่อม

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าน่าเสียดาย ที่ไม่มีโอกาสได้สอนพระอาจารย์ทั้ง ๒ รูป วิธีทำฌานไม่ให้เสื่อม ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เพราะท่านตายไปก่อน ถ้าท่านยังไม่ตาย และพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง เรื่องอริยมรรคอริยผลให้ฟังรับรองได้ว่าจะสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ได้ในขณะที่ฟังเลย เช่นพระปัญจวัคคีย์ผู้ติดตามรับใช้พระพุทธเจ้า พอทรงแสดงธรรมครั้งแรกก็มีพระรูปหนึ่งบรรลุโสดาบันทันที หลังจากนั้นทรงแสดงพระธรรมอีกครั้งสองครั้ง ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้งหมด ๕ รูปเลย เป็นอำนาจของพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทำได้ ไม่มีใครสามารถทำได้ เพราะปัญญาระดับนี้ต้องเป็นของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะทำได้ ที่จะเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นพระอริยสัจ ๔

พวกเราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้พบกับพระพุทธศาสนาแล้ว อย่าปล่อยให้พระอริยสัจ ๔ อย่าปล่อยให้อนิจจังทุกขังอนัตตา ห่างไกลไปจากใจ ต้องเจริญอยู่เรื่อยๆ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง จะได้เสร็จงานนี้ได้อย่างรวดเร็ว ดังที่ทรงพยากรณ์ไว้ว่า ๗ วัน หรือ ๗ ปี ถ้าปฏิบัติกันอย่างเต็มที่ เจริญสติอย่างเต็มที่ พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอริยสัจ ๔ อย่างเต็มที่ ไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างมาก ถ้าฉลาดมาก ๗ วันก็สามารถบรรลุได้ ไม่ทรงปฏิเสธว่าคนนั้นคนนี้บรรลุไม่ได้ มีแต่พวกเราที่ไปปฏิเสธกันเอง ว่าบรรลุไม่ได้ ไปพูดกันเองต่างหากว่าเราเป็นไปไม่ได้เอง ทำไมไปปฏิเสธตัวเราเอง ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงปฏิเสธเลย ทรงตรัสว่ามีสิทธิมีความสามารถเท่ากันหมด.
18  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ปะฏิจจะสะมุปปาทะปาฐะ เมื่อ: 09 เมษายน 2567 15:47:15
.



ปะฏิจจะสะมุปปาทะปาฐะ

         อะวิชชาปัจจะยา  สังขารา  สังขาระปัจจะยา  วิญญาณัง  วิญ-

ญาณะปัจจะยา  นามะรูปัง  นามะรูปะปัจจะยา  สะฬายะตะนัง  สะฬา-

ยะตะนะปัจจะยา  ผัสโส  ผัสสะปัจจะยา  เวทะนา  เวทะนาปัจจะยา

ตัณหา  ตัณหาปัจจะยา  อุปาทานัง อุปาทานะปัจจะยา ภะโว  ภะวะ-

ปัจจะยา  ชาติ ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง  โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะ-

นัสสุปายาสา  สัมภะวันติ ฯ  เอวะเมตัสสะ  เกวะลัสสะ  ทุกขักขันธัสสะ

สะมุทะโย  โหติ  ฯ

         อะวิชชายะเตววะ  อะเสสะวิราคะนิโรธา  สังขาระนิโรโธ  สังขา-

ระนิโรธา    วิญญาณะนิโรโธ  วิญญาณะนิโรธา  นามะรูปะนิโรโธ  นามะรู-

ปะนิโรธา  สะฬายะตะนะนิโรโธ  สะฬายะตะนะนิโรธา  ผัสสะนิโรโธ

ผัสสะนิโรธา  เวทะนานิโรโธ  เวทะนานิโรธา ตัณหานิโรโธ  ตัณหานิโรธา

อุปาทานะนิโรโธ   อุปาทานะนิโรธา  ภะวะนิโรโธ  ภะวะนิโรธา  ชาตินิโรโธ

ชาตินิโรธา  ชะรามะระณัง  โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา

นิรุชฌันติ  ฯ  เอวะเมตัสสะ  เกวะลัสสะ  ทุกขักขันธัสสะ  นิโรโธ  โหติ ฯ

วัดโพรงจระเข้ ตรัง
19  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: สมาธิ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อบลราชธานี เมื่อ: 06 เมษายน 2567 17:20:10

ศาสนา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี


            ประการที่ ๒ ท่านกล่าวว่า เป็นบาทแห่งวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนากรรมฐานถ้ามีสมาธินั้น สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ไวมาก ไวอย่างไร ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมไป เราเดินจงกรมไปเราก็สามารถที่จะเข้าสมาธิ ขณะที่เรา “ยืนหนอ” มันเข้าสมาธิเราก็พยายามจำว่ามันเข้าสมาธิไปตอนไหน เข้าสมาธิไปตอนเรายก ตอนเราย่าง ตอนเราเหยียบ หรือว่าตอนเรายืน

            หรือขณะที่เรายืนกำหนดจิตตอนไหนมันดับลงไป ร่างกายส่วนไหนมันดับลงไป นี้เราต้องพยายามจำให้ได้ บุคคลผู้ได้สมาธิเวลานั่งภาวนา “พองหนอ ยุบหนอๆ” ถ้าสมาธิมันรวมจริงๆ บางครั้งอาการพองหนอยุบหนอไม่ถึง ๓ ครั้ง มันดับลงไป ขณะที่มันดับพรึบลงไป สมาธิมันนิ่งลงไป ๕ นาที ๑๐ นาที รู้สึกตัวขึ้นมา ขณะที่เรารู้สึกตัวขึ้นมาบางครั้งมันก็ปรากฏนิมิตขึ้นมา นิมิตเห็นครูบาอาจารย์ เห็นพระธาตุพนม องค์พระปฐมเจดีย์ นิมิตมันดับลงไป

            เมื่อนิมิตมันดับลงไปแล้วปีติมันก็ปรากฏขึ้นมา ขณะปีติมันปรากฏขึ้นมานั้นแหละ ใจของเราความรู้สึกของเรามันก็จะเริ่มปรากฏขึ้นมา เรากำลังจะกำหนดว่า “พอง” หรือกำลังจะกำหนดว่า “ยุบ” มันก็ดับพรึบลงไปอีก นี่ในลักษณะของการเข้าสมาธิ บางคนที่มาถามในวันนี้ว่ามันดับลงไป บางครั้งมันดับลงไปจนเราตั้งตัวไม่ทัน เรารู้สึกตัวเรากำลังจะหายใจออกมันดับพรึบลงไปอีก เรายังไม่หายใจออกเลย บางครั้งเรากำลังจะหายใจเข้าเรายังไม่หายใจเข้ามันดับพรึบลงไปอีก อันนี้เป็นลักษณะของสมาธิ เวลาสมาธิมันรวมเราก็ปล่อยให้มันรวมไป แต่ให้เราจำให้ได้ว่ามันจะเข้าสมาธิไปตอนเราหายใจเข้าหรือหายใจออก เราบริกรรมว่า “พอง” หรือว่า “ยุบ” นี้เป็นบาทแห่งวิปัสสนา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานไว

            ข้อที่ ๓ อานิสงส์ของสมาธิ ท่านกล่าวว่าทำให้บุคคลนั้นได้อภิญญา คือได้อภิญญา ๖ ได้ฤทธิ์ได้เดช อภิญญา ๖ มีอะไรบ้าง อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ มีทิพพจักขุ มีตาทิพย์ เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของผู้อื่น ทิพพโสต มีหูทิพย์  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้ อาสวักขยญาณ การรู้จักทำอาสวะให้สิ้น นี้เป็นลักษณะของอภิญญา ๖ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะว่าบุคคลนั้นได้จตุตถฌาน แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรือเป็นพระอรหันต์

            สิ่งสำคัญก็คือ บุคคลนั้นได้จตุตถฌาน จึงสามารถยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นมาได้ วิชชา ๓ ก็เหมือนกัน ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ก็ต้องได้อรูปฌาน ต้องได้อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน   เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ต้องได้ตัวนี้ด้วย จึงจะได้ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นความอัศจรรย์ใจในพระศาสนา สรุปประมวลลงที่สมาธิ ถ้าไม่ได้สมาธิแล้ว ความอัศจรรย์ใจน้อยมาก เหมือนกับโยมนี้แหละถามกัน ถามว่า “ทำไมผมไม่เห็นสักที อาจารย์ เขาว่าเห็นอย่างโน้นอย่างนี้ทำไมผมไม่เห็น” อาตมาก็เลยว่า “เออ อันนั้นบารมีมันไม่เหมือนกันคุณโยม” โยมก็เลยเข้าใจ เพราะฉะนั้นบารมีไม่เหมือนกัน ถ้าบุคคลใดไม่ได้สมาธิ ความอัศจรรย์ใจนั้นก็น้อยลงไป แต่ก็สามารถที่จะหมดกิเลส ทำให้ราคะมันสิ้นไป โทสะมันสิ้นไป โมหะมันสิ้นไป เมื่อได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

            ประการที่ ๔ บุคคลใดเจริญสมาธิแล้วบุคคลนั้นไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ตายแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก เหมือนกับอาฬารดาบสและอุทกดาบสตายไปแล้วก็ไปเกิดในรูปพรหม อรูปพรหม ตามบุญญาธิการของตนเองที่ได้สั่งสมอบรมมา

            ประการที่ ๕ คือประการสุดท้าย บุคคลผู้ได้สมาธิแล้วยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ก็ดี เป็นพระอนาคามีก็ดี ถ้าบุคคลใดได้รูปฌาน อรูปฌานแล้วบรรลุเป็นพระอนาคามี ส่วนมากจะเข้านิโรธสมาบัติได้ ผู้ใดได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ได้รูปฌาน อรูปฌานด้วยจะเข้านิโรธสมาบัติได้ แต่ถ้าบุคคลใดไม่ได้อรูปฌาน ถึงจะบรรลุเป็นพระอนาคามีก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ ถึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้

            เพราะฉะนั้น ฌานหรือว่าสมาธินั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าบุคคลใดทำ บุคคลนั้นก็จะได้รับความสุข ทั้งในปัจจุบัน ทั้งรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือเราจะอธิษฐานอย่างไรก็ได้ อย่างเช่นภิกษุที่ไปอยู่ป่า จะอธิษฐานว่า “สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขออย่าให้ไฟที่มันไหม้ ไม่สามารถที่จะไหม้กุฏิของข้าพเจ้าได้ ไม่สามารถที่จะไหม้บริขารของข้าพเจ้าได้ หรือว่าเสือก็ดี ช้างก็ดี ขณะที่ข้าพเจ้านั่งเข้าสมาธิอยู่นี้ ขออย่าได้มาทำอันตรายแก่ข้าพเจ้า อย่าให้เป็นอันตรายแก่บริขาร ร่างกายและชีวิตของข้าพเจ้าได้ นี่เราอธิษฐานอย่างนั้น บางครั้งพระธุดงค์ไปธุดงค์ ไฟป่ามันไหม้มา ไหม้ไปๆๆ แล้วไม่ไหม้กุฏิท่านก็มี ไม่ร้อนกุฏิท่าน อันนี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ โยมที่เขากำลังไปมอดไปดับไฟ ไปเห็นแล้วก็เกิดความอัศจรรย์ก็มี นี้ในลักษณะของคุณงามความดี ในลักษณะของสมาธิ อำนาจของคุณธรรมมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลถ้ามีสมาธิแล้วจะเป็นที่พึ่งของลูกของหลาน เป็นที่พึ่งของญาติของโยม เป็นที่พึ่งของพระศาสนาได้

เท่าที่อาตมภาพได้กล่าวเรื่องสมาธิโดยย่อ ก็เห็นว่าพอสมควรแล้ว ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอำนาจของพระธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจของพระสงฆ์ทั้งปวง ด้วยอำนาจของคุณงามความดีของพระอาจารย์ที่มาสอนกัมมัฏฐาน ทั้งหมด ด้วยอำนาจของคุณงามความดีของโยมทั้งหลายที่มาร่วมกันบำเพ็ญบารมี รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนาทั้งหมดนี้ ขอให้บารมีทั้งหลายทั้งปวงที่เอ่ยนามมาแล้วนั้น จงได้มารวมกัน เป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้ญาติโยมทั้งหลายจงเป็นผู้มีอายุ มีวรรณะ มีความสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เงินไหลนองขอให้ทองไหลมา ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุปสรรคอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มีโอกาสรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระอริยสัจจธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลอันไม่ช้าไม่นานนี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
20  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / สมาธิ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อบลราชธานี เมื่อ: 06 เมษายน 2567 17:18:56



ศาสนา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลจงบังเกิดมีแก่เพื่อนสหธรรมิกตลอดถึงญาติโยมผู้ใฝ่ในบุญในกุศลทุกท่านทุกคน

            วันนี้อาตมภาพก็มีโอกาสได้มาบรรยายธรรมประกอบการประพฤติปฏิบัติ ก็ขอน้อมนำเอาเรื่องสมาธิมาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่าญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็มาปฏิบัติเป็นวันที่ ๔ เมื่อผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมถึงวันที่ ๔ ตามหลักการของวัดพิชโสภารามนั้น ท่านจะให้เราขึ้นระยะที่ ๒ เดินจงกรมว่า “ยกหนอ เหยียบหนอ” คือเราจะก้าวจากขั้นสมมุติบัญญัติ แต่ก่อนโน้นเราบริกรรมว่า “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหน”อ คำว่า “ขวา” ก็ดี คำว่า “ซ้าย” ก็ดี ถือว่าเป็นสมมุติ เป็นคำสมมุติว่าขวาหรือว่าซ้าย แต่เมื่อขึ้นระยะที่ ๒ แล้วก็ถือว่าสภาวะนั้นเป็นปรมัตถ์สภาวะ ไม่มีขวาไม่มีซ้าย มีแต่รูปกับนาม เรียกว่า “ยกหนอ เหยียบหนอๆ” อันนี้เป็นปรมัตถ์สภาวะ

            เมื่อเราขึ้นระยะที่ ๒ แล้ว เราก็เดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง คือเดินระยะที่ ๑  ๓๐ นาที ระยะที่ ๒  ก็ ๓๐ นาที รวมเป็น ๑ ชั่วโมง เพราะฉะนั้น การนั่งนั้นต้องใช้ความอดทนมาก ต้องใช้ความเพียรมาก ต้องใช้ขันติ ต้องใช้บารมีอย่างมาก ถ้าเราสามารถทำได้ก็แสดงว่าสมาธิของเราแก่กล้า บุญวาสนาบารมีที่เราทั้งหลายได้นั่งภาวนานั้นก็จะส่งให้เรานั้น เจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากภัยทั้งหลายทั้งปวง คำว่าสมาธินั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสไว้

            คำว่าสมาธินั้นแปลว่าตั้งใจมั่น คือมีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หวั่นไหว ดังที่มีบทวิเคราะห์ว่า ธรรมชาติใดย่อมไม่หวั่นไหว ธรรมชาติใดย่อมตั้งมั่น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าสมาธิ อันนี้เป็นบทวิเคราะห์ที่ท่านได้กล่าววิเคราะห์ไว้ในภาษาบาลี เมื่อเรามาพิจารณาว่าสมาธินี้เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ เมื่อเรามาพิจารณามรรคมีองค์ ๘ นับตั้งแต่สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมาวายาโม สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็มีสัมมาสมาธิ มรรค ๘ จะขาดสมาธิเสียไม่ได้

            มรรค ๘ ก็คือหนทางแห่งความพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น เรามาฝึกสมาธินี้ก็ถือว่าเพื่อเป็นการที่จะพัฒนาหนทางแห่งความพ้นทุกข์นั้นให้เกิดมีขึ้นในขันธสันดานของเรา แต่เมื่อเรามาพิจารณาพละ ๕ อย่างเช่นศรัทธา พละ ๕ ก็คือกำลัง กำลังคือศรัทธา กำลังคือความเพียร กำลังคือสติ กำลังคือสมาธิ กำลังคือปัญญา

            กำลังที่จะทำให้บุคคลได้บรรลุมรรคผลนิพพาน  ก็อาศัยกำลังของสมาธิ หรือเรามาพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านย่อไว้มี ๓ ประการ คือ ๑. ศีล ๒. สมาธิ ๓. ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นี้แหละเป็นองค์แห่งตัวของพระศาสนา ถ้าบุคคลใดทำให้ดี ทำให้สมบูรณ์ ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ก็แสดงว่าบุคคลนั้นรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระศาสนา ได้บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ได้เข้าถึงธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

            เพราะฉะนั้น สมาธินั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าบุคคลใดยังไม่ทำให้เกิดต้องทำให้เกิด บุคคลใดทำให้เกิดแล้ว ต้องรักษา ต้องพัฒนา รักษาไว้ให้ดี ไม่ให้มันเสื่อม ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าเราจะบรรลุมรรคผลนิพพาน พ้นไปจากชาติกันดาร พยาธิกันดาร มรณะกันดาร ถึงฝั่งคือพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข นั่นแหละจึงจะถือว่าเรานั้นนิ่งนอนใจได้

            คำว่าสมาธินั้นเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเรารู้ว่าสมาธินั้นเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทางแห่งการตรัสรู้แล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะได้สมาธิ บุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีความต่างกัน บางคนก็ได้สมาธิเร็ว บางคนก็ได้สมาธิช้า บางคนก็ได้สมาธิตื้น บางคนก็ได้สมาธิลึกๆ ก็มี อันนี้เป็นเพราะเหตุไร ? ถ้าเราจะสรุปใจความเหตุแห่งสมาธินั้นก็พอได้อยู่ ๒ ประการ คือ ๑ เหตุตั้งแต่อดีต เรียกว่า ปุพเพกตปุญญตา บุคคลนั้นสั่งสมอบรมในเรื่องสมาธินั้นมามาก

            ประการที่ ๒ เหตุปัจจุบัน ถ้าบุคคลใดไม่ได้สั่งสมอบรมบารมีมาตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน ไม่เคยบำเพ็ญสมถะบารมีมาก่อน เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว เดินจงกรมนั่งภาวนา เดินอย่างไรจิตใจก็ไม่สงบเป็นสมาธิ เพราะอะไร เพราะว่าบุญตนเองไม่ได้สั่งสมอบรมไว้ ครูบาอาจารย์แนะอย่างโน้นแนะอย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ คิดว่าอาจารย์รูปโน้นสอนสมาธิดี อาจารย์รูปนี้ท่านมีคุณธรรม ท่านสอนสมาธิเก่ง เราก็ไปแสวงหาท่าน

            ขณะที่เราไปเราก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ เพราะอะไร เพราะว่าบารมีแต่ภพก่อนชาติก่อนของเรามันน้อย อันนี้เป็นประเภทหนึ่งที่ทำสมาธิได้ยาก ประเภทที่ ๒ บุญแต่ชาติก่อนนั้นได้ทำไว้เยอะอยู่ แต่ในปัจจุบันนี้เป็นผู้ที่ขาดความเฉลียวฉลาด หรือไปอยู่ในสำนักที่ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ฝึกหรือว่าปฏิบัติผิดหลักผิดวิธี บางครั้งก็ไม่ได้ แต่บางครั้งฝึกถูกต้องเข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่เป็นสัปปายะ มีการฝึกสมาธิที่ถูกต้อง แต่ว่าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่นห่วงการงานเกินไป ห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงการค้าการขาย หรือก่อนที่จะมาประพฤติปฏิบัติธรรมสามีก็ไม่อนุญาต หรือว่าผู้ที่เป็นสามีมาภรรยาก็ไม่อนุญาต หรือผู้เป็นลูกมาประพฤติปฏิบัติธรรมพ่อแม่ก็ไม่อนุญาต ถ้าเป็นในลักษณะอย่างนี้แล้ว เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม การเดินจงกรมนั่งสมาธินั้น ก็ถือว่าเป็นการยาก

            บางคนบางท่านสามีมาประพฤติปฏิบัติธรรม ขณะที่นั่งภาวนาไป พองหนอ ยุบหนอไป อารมณ์ดิ่งลงไปสู่สมาธิ มือมันแน่นเข้า ตัวมันรัดเข้า ดิ่งลงไป อารมณ์มันดิ่งลงไป ปรากฏเสียงดังขึ้นมาว่า พี่ๆๆ อย่าเพิ่งไปรอหนูด้วย อย่างนี้ก็มี อันนี้สามีมาประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนั้นก็มี พอได้ยินเสียงจิตมันยึดเสียง เมื่อจิตยึดเสียง จิตมันก็คลายออกจากสมาธิ เมื่อคลายออกจากสมาธิอารมณ์มันก็เข้ามาสู่ปกติ เวลามันจะดิ่งลงไปอีกๆๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เสียงนั้นมันดังมาอีก อันนี้เรียกว่าจิตมันพ่วงกัน

            บางคนเคยทำให้พ่อแม่เสียอกเสียใจ เวลามันดิ่งลงไปๆๆ รูปภาพตัวนั้นมันก็ปรากฏขึ้นมา จิตมันก็ถอนออกจากสมาธิเหมือนกัน หรือบางคนบารมีไปทางวิปัสสนาญาณ ขณะที่สมาธิมันดิ่งลงไปๆๆ นั้นแหละ ขณะที่มันดิ่งลงไปมันจะเข้าไป มันจะแน่นเข้าๆๆ แล้วก็คลายออกหายไปเหมือนกับเราเทน้ำลงทะเลทราย บางคนก็ไปนอน นอนแล้วก็เห็นเจดีย์ขาวสูงขึ้นเสียดฟ้า เจดีย์นั้นมันพังลงมา ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ในขณะนั้นเพราะว่าจิตใจมันไปสู่อารมณ์ของวิปัสสนาญาณอย่างนี้ก็มี

            เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าบุคคลใดเคยสั่งสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน เดินจงกรมนั่งภาวนาก็สามารถที่จะทำได้ เหมือนกับสามเณรรูปหนึ่งในสมัยก่อนโน้น พรรษา ๓ พรรษา ๔ ได้ไปช่วยสอนกรรมฐาน ไปพาสามเณรเดินจงกรม ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ เป็นผู้กำหนดอยู่ที่บ้านอีเติ่ง สามเณรนั้นเดินจงกรมก็เข้าสมาธิท่าเดิน นั่งก็เข้าสมาธิท่านั่ง เวลาไปฉันภัตตาหารเช้าก็ดี ภัตตาหารเพลก็ดีต้องเดินคุมไป

            ถ้าปล่อยให้เขาเดินเขาก็เข้าสมาธิอยู่กลางทาง เวลาฉันภัตตาหารบอกว่าอย่ากำหนด สามเณร ให้ฉันภัตตาหาร มันจะเหนื่อย ขณะที่ฉันภัตตาหารกำหนดก็เข้าสมาธิในขณะฉัน นี่เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ เวลาอาบน้ำไปแปรงฟันก็เข้าสมาธิในขณะที่แปรงฟัน นี้เกิดความอัศจรรย์ใจขึ้นมา เวลานั้นก็ให้สามเณรหลายๆ รูปนั้นนั่งล้อม ล้อมสามเณรรูปนั้น เมื่อนั่งล้อมแล้วก็คนที่ไม่ได้สมาธิก็ได้สมาธิ เรียกว่าเป็นดาวล้อมเดือน เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิเหมือนกัน อันนี้ก็เป็นบุคคลผู้มีบุญ

            ที่วัดพิชโสภารามในสมัยโน้น มาปฏิบัติที่วัดพิชฯ พรรษาแรกมีพระอาจารย์รูปหนึ่งเป็นคนดำแล้วก็เป็นคนผอม เขาจะเข้าสมาธิได้ดี เวลาเดินมาทำวัตรจะเข้าสมาธิกลางทาง เวลากราบแล้วก็จะไม่เงยอะไรทำนองนี้ เวลาฉันก็ถือช้อนค้างไว้ เขาก็เลยให้ฉายาว่าอาจารย์ดำ เพราะว่าท่านเข้าสมาธิเก่งมาก ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนทั้งหลายทั้งปวงเห็นแล้วเกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส อยากเข้าไปใกล้ อยากสนทนา อยากนั่งใกล้ อยากขอสมาธิด้วย อันนี้ก็ถือว่าเป็นบุคคลผู้บำเพ็ญบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน

            แต่บางรูปบางท่านก็ไม่มีบารมี บำเพ็ญบารมีมาน้อย บางครั้งก็ไม่ยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นมาก็มี เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมไป เราจะมีบารมีน้อย หรือมีบารมีมากเราก็เริ่มตั้งแต่วันนี้แหละ เป็นต้นไป ถ้าเราแยกสมาธิออกก็จะได้เป็นสมาธิ ๓ ประเภท คือ

            ๑. ขณิกสมาธิ

            ๒. อุปจารสมาธิ

            ๓. อัปปนาสมาธิ

            ประการที่ ๑ ขณิกสมาธิ ก็คือ สมาธิชั่วขณะ เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายเดินจงกรมนี้แหละ ถ้าเรามีสติกำหนด “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” นี้ก็ถือว่าเป็นขณิกสมาธิแล้ว แต่ถ้าเรามีสติกำหนด “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” “พองหนอ ยุบหนอ” นี่ก็ถือว่าเป็นขณิกสมาธิแล้ว ขณิกสมาธินี้ก็ถือว่าเป็นบาทของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้เราเห็นรูปเห็นนามชัดเจน ทำให้เราเห็นพระไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา ได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็อาศัยขณิกสมาธิ

            ประการที่ ๒ คือ อุปจารสมาธิ อุปจารสมาธินั้นมีอยู่ ๒ วิถี คือวิถีที่ ๑ เป็นอุปจารในวิถีของฌาน อุปจารประเภทที่ ๒ นั้นเป็นอุปจารที่อยู่ในวิถีของวิปัสสนา อุปจารในวิถีของฌานเป็นอย่างไร คือขณะที่เรานั่งไป ตัวของเรามันเย็นเข้า แข็งเข้า มือของเรามันบีบรัดเข้า ความรู้สึกของเรามันเล็กลงๆๆ อยู่ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า เป็นอุปจารในฌานแล้ว แต่ถ้าจิตใจของเรามันนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็เป็นปฐมฌานแล้ว เพราะว่าปฐมฌานนั้นก็ยังบริกรรมอยู่ เรียกว่ายังมีวิตกวิจารณ์ มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตาอยู่

            แต่ถ้าเราบริกรรมไปๆ พองหนอยุบหนอไปๆ เราบริกรรมไปดีๆ คำบริกรรมมันหมดไปเฉยๆ คำบริกรรมมันหยุดไปเฉยๆ แต่ความรู้ตัวทั่วพร้อมมันยังมีอยู่อันนั้นเรียกว่าเราเข้าถึงทุติยฌานแล้ว เราข้ามปฐมฌานไปแล้ว เรายังรู้สึกตัวอยู่แต่ว่าคำบริกรรมมันหมดไป ก็พยากรณ์ได้ว่าเรานั้นเข้าถึงทุติยฌานแล้ว แต่ในขณะนั้นเรายังไม่ทิ้งคำบริกรรม ยังไม่ทิ้งภาวะที่กำหนด เรามีสติจี้ลงไป ดูอารมณ์นั้นให้ละเอียดเข้าๆๆ ไม่ให้เผลอ

            เมื่อเราจี้สภาวะนั้น จี้สภาวะนั้นให้ละเอียดเข้าๆๆ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ร่างกายของเรามันแข็ง ปลาที่ถูกเสียบที่เขาปิ้งแล้วความรู้สึกมันก็น้อยลงไปเบาลงไป ร่างกายของเราแข็งเหมือนกับตะคริวกิน บางคนก็แข็งถึงหัวเข่า บางคนก็แข็งถึงเอว บางคนก็แข็งถึงไหล่ บางคนก็แข็งหมดตัวเหมือนกับถูกสาปอะไรทำนองนี้ มันก็แข็งอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่าเราเข้าถึงตติยฌานแล้ว แต่ถ้าเราบริกรรมไปเราไม่ได้บริกรรมแต่เรานึกอารมณ์นั้นให้ละเอียดเข้าจี้เข้าไม่ให้มันเผลอ ไม่ให้อารมณ์อื่นมันมารบกวน ไม่ให้เรายินดีในอารมณ์อื่น

            จี้ลงไปๆๆๆ บางครั้งก็ดับ เรียกว่ามันเป็นเอง มาถึงนี้มันเป็นเองของมันโดยอัตโนมัติมันก็ดับลงไป ถ้าดับลงไปได้เมื่อไหร่ก็เป็นจตุตถฌาน เรียกว่าเข้าถึงจตุตถฌานนี้เป็นลักษณะของสมาธิในวิถีของฌาน แต่อุปจารสมาธิ ในวิถีของวิปัสสนาญาณนั้นคือขณะที่เรา บริกรรมไปๆ อุปจารในวิถีของวิปัสสนาญาณนั้นจะเกิดขึ้นแก่ติกขบุคคล มันทบุคคลนั้นจะเกิดไม่ค่อยชัดเจน ไม่เหมือนติกขบุคคล เพราะว่าติกขวิถีจิตของติกขบุคคลนั้นจะไม่มีบริกรรม จะมีอุปจารเลยทันที เมื่ออุปจาระแล้วก็อนุโลมญาณ โคตรภูญาณทันที เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมอาการพองอาการยุบมันจะเร็วขึ้นๆๆ มือมันจะแน่นเข้าๆ บีบเข้าๆ อันนี้เรียกว่า อุปจารในวิถีของวิปัสสนาญาน

            ทำไมจึงรู้ว่าเป็นอุปจารในวิถีของวิปัสสนาญาณ ก็เพราะว่าพระไตรลักษณ์มันเกิดร่วม เร็วขึ้นๆๆ มือมันแน่นเข้าๆ บีบเข้าตัวมันรู้สึกรัดเข้าๆๆ ดับพึบลงไป นี่ลักษณะของอำนาจของวิปัสสนาญาณ บางคนบางท่านก็แน่นเข้าๆๆๆ มือมันก็บีบเข้ารัดเข้าแน่นเข้าบีบเข้าแล้วก็ความรู้สึกเล็กลงๆ ดับลงไป อันนี้เป็นวิถีจิตของติกขบุคคลในทุกขาปฏิปทา เรียกว่าเป็นบุคคลผู้บำเพ็ญสมถะมามาก แต่วิถีจิตของบุคคลผู้เจริญอนัตตามาก่อน เวลาบริกรรมไปอาการพอง อาการยุบมันแผ่วเบาเข้าๆ มือมันก็แน่นเข้าๆๆ ความรู้สึกมันก็ ละเอียดลงๆๆ แล้วก็ดับลงไป อันนี้เป็นวิถีจิตของวิปัสสนาญาณผู้เคยบำเพ็ญทานมามาก อาการพองอาการยุบมันเป็นเร็วขึ้นๆๆ เรียกว่าอนิจจัง

            แต่ถ้าบุคคลใดเคยบำเพ็ญสมถะมามากเวลาบริกรรมไปท้องพองท้องยุบมันจะแน่นเข้าๆๆ แล้วก็จะดับลงไป แต่ถ้าบุคคลใดเคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาก่อน อาการพอง อาการยุบมันจะแผ่วเบาลงๆๆ แล้วก็จะดับไป อันนี้เป็นลักษณะของบุญที่คนเราต้องเกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง บางครั้งก็เกิด ๒ อย่าง ๓ อย่างก็มีแล้วแต่บุญวาสนาบารมี อันนี้เป็นลักษณะของสมาธิ

            ต่อไปก็จะพูดเรื่องสมาธิ การฝึกสมาธินั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ การฝึกสมาธินั้นก็คือการรวมความคิด การฝึกสมาธินั้นก็คือการรวมกระแสจิต การรวมกระแสจิตก็คือการรวมกระแสของความคิด การรวมกระแสของความคิดนั้นก็คือการรวมกระแสของอารมณ์ การรวมกระแสของอารมณ์ก็คือการตัดทอนอารมณ์ให้มันสั้นลงไปๆๆ นี่การทำสมาธิไม่มีอะไรมาก เราตัดอารมณ์ให้มันสั้นลงไปๆ น้อยลงไปๆ นี้มันก็เป็นสมาธิของมันเองโดยธรรมชาติของมัน

            เมื่อเราไม่คิดแล้วก็เป็นสมาธิของมันเอง ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับการที่เขาปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ถ้าเขาปล่อยให้น้ำนั้นไหลไปทางโน้นบ้างไหลไปทางนี้บ้าง น้ำนั้นก็ไม่มีพลัง แต่ปล่อยน้ำไหลไปทางเดียวกันน้ำนั้นก็มีพลังสามารถที่จะปั่นเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้าเอาไปใช้ได้ ปั่นกระแสไฟฟ้าได้ เรียกว่าหาประโยชน์จากการปล่อยน้ำก็ได้ เหมือนกับกระแสจิตของเราถ้าปล่อยคิดอย่างโน้นคิดอย่างนี้คิดอย่างนั้น บางครั้งมันก็ไม่มีพลัง

            แต่ถ้าจิตของเรามีสมาธิแล้วมีพลัง สมัยหนึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดพิชโสภาราม ท่านลองฝึกกระแสจิตขณะที่ท่านฝึกสมาธินั้นว่าสมาธินั้นจะมีพลังหรือไม่ เวลาไปฉันเช้าก็ดี ฉันเพลก็ดี ก็ได้อธิษฐานว่า สาธุข้าพเจ้าฉันข้าวคำเดียวให้โยมที่นั่งอยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๒ คำ ข้าพเจ้าฉันข้าว ๒ คำ ให้โยมที่อยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๔ คำ ข้าพเจ้าฉัน ๓ คำ ให้โยมอยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๖ คำ ข้าพเจ้าฉัน ๔ คำ ให้โยมที่อยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๘ คำ ทวีคูนขึ้นไปเรื่อยๆ

            ขณะที่ท่านฉันไปด้วยกำหนดสมาธิไปด้วยๆ โยมที่อยู่ข้างหน้ากุมท้องร้องขึ้นมา มันแน่นท้องขึ้นมา แล้วก็ทดลองว่าสามเณรนี้ขี้เกียจ เวลามาทำวัตรไม่อยากมาทำ เวลาเพื่อนทำงานก็ไม่อยากช่วยทำงาน มีแต่หลบนอนหลบหลีกหลบลี้ ในสมัยก่อนโน้น เวลาเรียกทำงานก็มาพร้อมกันหมด ไม่มีใครหลบไม่มีใครซ่อน แต่สามเณรนั้นหลบ หลวงพ่อก็อธิษฐานจิตถ้าให้นอนก็นอนอยู่อย่างนั้น ก็นอนอยู่อย่างนั้นลุกไม่ได้ ลืมตา ขยับเขยื้อนไม่ได้ อันนี้เป็นเพราะอะไร เพราะอำนาจของจิต

            วันหนึ่งท่านทดลองสมาธิครั้งสุดท้าย ท่านทดลองสมาธิว่าอำนาจจิตมันมีจริงมั้ย ท่านทดลองในสมัยหนึ่งนั้นท่านไม่มีเงินที่จะไปบวชพระ พอดีมีสามเณรโตอยากบวชไม่มีเงินที่จะบวชพระก็อธิษฐานจิตก็หยิบเอาวัตถุมงคลมา แล้วก็มาวางลงต่อหน้าโยม แล้วก็อธิษฐานว่าขอให้โยมคนนี้จงบูชาวัตถุมงคลนี้ ๕๐๐ บาท โยมเขาก็บูชา ๕๐๐ บาท แล้วก็อธิษฐานว่าโยมคนนี้จงร้องไห้ โยมคนนั้นก็ร้องไห้ อธิษฐานว่าโยมคนนี้จงหัวเราะ โยมคนนั้นก็หัวเราะ หลังจากนั้นท่านก็เอาปัจจัยไปบวช ซื้อกองบวชสมัยนั้นมันถูก หลังจากนั้น

            ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ท่านไม่เคยทำในลักษณะอย่างนั้นอีก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย แต่ทดลองสมาธิว่าสมาธินั้นจะมีผลจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น อำนาจของจิตถ้าบุคคลใดฝึกสมาธิดีแล้ว ทำให้จิตมีพลังแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้รับอานิสงส์ของการฝึกสมาธินั้นด้วย แล้วก็สมาธินั้นถ้าบุคคลใดฝึกดีแล้วสามารถที่จะช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมบางคนก็เป็นโรคมะเร็งอะไรทำนองนี้

            มีโยมคนหนึ่งซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากที่วัดพิชฯในปัจจุบันนี้แหละ สมัยก่อนโน้นเขาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เป็นครูสอนปริญญาโท ขณะที่สอนหนังสือนั้นแหละ ก็มีความรู้มีความสามารถ เป็นหัวกะทิของโรงเรียน ขณะนั้นก็เป็นที่จับจ้องหมายปองว่าจะได้เป็นหัวหน้าฝ่ายอะไรทำนองนี้ แต่สอนอยู่ดีๆ นั้นแหละเกิดไปตรวจว่าเป็นโรคมะเร็ง ว่าเป็นขั้นสุดท้ายจะต้องตายภายใน ๓ เดือน ๕ เดือน ๖ เดือน จะอยู่ไม่เกินนี้ก็ลาออกจากครู ก็ไปบวชในฝ่ายของธรรมยุติ

            เมื่อบวชแล้วก็ถือว่าไปตายเอาดาบหน้ายังไงก็ต้องตายอยู่แล้วก็ให้ตายอยู่ในศีลในธรรม ก็เข้าป่าไปเจริญสมาธิ เมื่อเจริญสมาธิค่ำคืนเดินไม่ได้นอน นั่งภาวนาทำความเพียรเต็มที่ ในที่สุดโรคมะเร็งนั้นไม่รู้หายไปไหน ๓ เดือนแล้วก็ไม่ตาย ๔ เดือนก็ไม่ตาย ๕ เดือนก็ไม่ตาย ๖ เดือนก็ไม่ตายร่างกายก็แข็งแรงเหมือนเดิมก็มาตรวจหมอก็ว่าเป็นอัศจรรย์ ไม่รู้ว่าเชื้อมันหายไปไหน อันนี้ก็ด้วยอำนาจของสมาธิ

            ในสมัยหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้อย่างเช่น อาจารย์จำลองที่อยู่ถ้ำเสือน้อยแต่ก่อนโน้น รุ่นฑิตปางแก้วที่มาฟังเทศน์ร่วมกัน ฑิตปางแก้วในสมัยนั้นก็บวช อาจารย์จำลองนี้ก็เข้าสมาธิเก่ง เวลาไปผ่าไส้ติ่งที่โรงพยาบาลเขมราฐ ถามหมอว่าจะผ่าใช้เวลาผ่ากี่ชั่วโมง หมอก็ว่า ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ก็เข้าสมาธิไปประมาณนั้น เรียกว่าเข้าสมาธิเหนือไปกว่าหน่อยนึงบอกหมอไม่ใช้ยาสลบหรือยาชา ก็เข้าสมาธิ หมอเขาก็ทำการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยแล้วก็เกิดความโกลาหลกัน ผู้อำนวยการก็ดี พยาบาลก็ดี พากันมาทำบุญที่วัดพิชโสภารามเป็นจำนวนมาก นี่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านกล่าวในสมัยนั้นว่า ทำให้ศรัทธาในโรงพยาบาลเขมราฐทั้งหมดนั้นศรัทธาด้วยอำนาจของสมาธิ

            หรือบางคนหรือบางรูปที่มีสมาธิดี เวลามาฝึกสมาธิรวมกระแสจิตได้ดี จิตใจเป็นสมาธิบางรูปบางท่านมาภาวนา พองหนอยุบหนอไป ขณะที่บริกรรมพองหนอยุบหนอไป อาการพองมันก็พองขึ้นเต็มที่แล้วก็ยุบลงเต็มที่ พอมันพองขึ้นมาท้องพองนั้นเปิดออกไปเลย เมื่อท้องพองนั้นเปิดออกไปเลยก็เห็นวิมานของเทวดา เห็นเครื่องทรงของเทวดา เห็นสวนดอกไม้อันเป็นทิพย์น่ารื่นรมย์น่าชมชื่น ก็เพลินไปกับสิ่งเหล่านั้นก็มี นี้เป็นลักษณะของสมาธิ บางรูปบางท่านนั่งภาวนาพองหนอ ยุบหนอไป อาการพองยุบมันดิ่งลงๆๆๆ ปรากฏเป็นรูปเปรตเห็นเปรตร้องโหยหวนเสียงหวีดหวิวน่าพิลึกสะพรึงกลัวก็มี

            บางครั้งก็เห็นคล้ายๆ กับหมาใหญ่หมาดำมาร้องเหมือนกันกับพวกเปรตอันนี้เป็นในลักษณะอสุรกายร้องครวญครางขึ้นมา เกิดความกลัวแล้วก็มาส่งอารมณ์แล้วก็มาอย่างนี้ก็มี นี่ลักษณะของสมาธิมันปรากฏขึ้นมา จะเห็นของอะไรแปลกๆ เรียกว่าเป็นอจินไตย เป็นสิ่งที่บุคคลผู้ไม่ได้ไม่เห็นนั้นไม่ควรคิด ว่ามันจริงหรือเปล่า มันเห็นจริงหรือเปล่า ถ้าบุคคลใดคิด ตนเองไม่ได้สมาธิ ตนเองคิดก็มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เพราะว่ามันไม่สามารถที่จะคิดได้ ปกติสามัญธรรมดาถ้าจิตไม่ได้สมาธิ

            เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ความตั้งมั่นในพระศาสนามันยิ่งตื้น บางรูปบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม ขณะที่เดินจงกรมไปนั่นแหละ ยืนหนอๆ เข้าสมาธิแพ๊บไป พอเข้าสมาธิแพ๊บไป ที่ไหนได้อยู่ข้างๆ นั้นมีแต่ผีหัวขาดเต็มไปหมดก็เกิดความกลัวขึ้นมา เมื่อเกิดความกลัวทำยังไงได้ ก็ตั้งสติ ดึงสติ ความกลัวนี้เราแก้ง่ายนิดเดียว เมื่อเกิดความกลัว เมื่อได้ยินเสียงผีก็ดีเห็นผีเห็นอะไรก็ดีในนิมิตก็ดี หรือเราเห็นปรากฏในขณะที่เราลืมตาก็ดี ถ้ามันกลัวขึ้นมา เราดึงจิตเข้ามาในร่างกายของเรา กำหนดที่จิตใจของเราก็ได้ “กลัวหนอ” เท่านั้นแหละความกลัวหายแว๊บไป หายไปแป๊บเดียว ถ้าเรามีสติมันจะเป็นอย่างนั้น

            ถ้าเราไม่เคยไปประสบกับความกลัวจริงๆ แล้วเราจะไม่รู้สภาวะเช่นนี้ แต่ถ้าเราเคยไปแล้วเราดึงจิตมากำหนด “กลัวหนอ” หรือเราดึงจิตเข้ามาในกายความกลัวก็หมดไปแล้ว อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีสมาธิ บางรูปบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมไปมีปีติสูงมาก มีสมาธิสูงมาก เวลานั่งภาวนาไปแสงสว่างขึ้นมา เมื่อเกิดแสงสว่างขึ้นมาก็กำหนดแสงสว่าง เมื่อกำหนดแสงสว่างแล้วก็ไปเห็นว่ากำลังนั่งอยู่ที่โน้นในห้องกรรมฐาน แต่มองมาที่ศาลาที่เขากำลังจัดฉัน เห็นพระเณรเห็นญาติเห็นโยมกำลังขวักไขว่กันไปมา ยกอาหารคนโน้นก็ยกคนนี้ก็ยก ไปมองดูที่พาข้าวที่ตนเองจะฉันว่ามันมีอะไรบ้าง ก็มองเห็นส้มตำ มะละกอ ปิ้งปลา ปิ้งกบอะไรสมัยเข้าพรรษานั้นมีอาหารประเภทปิ้งกบอะไรนี้ด้วย แล้วก็มาดูก็เห็นอย่างนั้นจริงๆ อันนี้เป็นลักษณะอำนาจของสมาธิ

            เมื่อสมาธิมันสูงแล้วมันจะเป็นไปได้ บางรูปบางท่านก็นั่งไปตัวเบา ตัวเบาก็ไม่ใช่ตัวเบาเฉยๆ คล้ายๆ กับว่าลอย แต่ว่าลืมตาแล้วก็อยู่ที่เดิม ภิกษุรูปนั้นก็เกิดความสงสัยว่ามันลอยจริงหรือเปล่าหนอ ก็หลับตาไม่ลืมตาปล่อยให้มัน ลอยไปๆ ลอยไปดูสิ กุฏิอาจารย์มหาชอบนี้ทำอะไรอยู่ก็ไปดูอาจารย์กำลังดูอย่างนั้นทำอย่างนั้น ก็ลืมตาขึ้นก็นั่งอยู่ที่เดิม พอนั่งอยู่ที่เดิมก็รีบมาหาเลย ภิกษุรูปนั้นรีบมาหา มาแล้วก็มาทักขึ้นทันทีเลยว่า อาจารย์ทำอะไรอยู่ ทำอย่างโน้นใช่มั้ย ทำอย่างนี้ใช่มั้ยก็บอก ครับ ทำอย่างนั้นๆ ผมเห็นอย่างนั้นจริงๆ นี่ในลักษณะที่มันเกิดโอภาส เกิดแสงสว่าง เกิดปีติ เกิดรวมกันขึ้นมามันจะเกิดความอัศจรรย์ใจ นี้แหละสมาธิมันเป็นในลักษณะอย่างนั้น

            บางคนบางท่านเป็นโรค เป็นโรคปอดก็ดี โรคอะไรก็ดี เวลานั้นเขาให้อธิษฐาน ใช้สมาธิอธิษฐานว่า สาธุๆ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้โรคมะเร็งของข้าพเจ้าจงเบาลงไป จงหายไป จงหมดไป จากขันธสันดานของข้าพเจ้า หรือว่าโรคตับก็ดี โรคดีซ่านก็ดี โรคหืดโรคหอบก็ดีอะไรทำนองนี้ให้หมดไปจากขันธสันดานของข้าพเจ้า อันนี้เรียกว่า ธรรมโอสถใช้สมาธินั้นแหละเป็นตบะแผดเผารักษาโรคนี้ให้หายไปได้ อันนี้เป็นลักษณะอานิสงส์ของการเจริญสมาธิ เพราะฉะนั้น เราต้องควรทำสมาธิให้ได้ เป็นการรวมกระแสจิตเหมือนกับการรวมกระแสน้ำ

            เหมือนกับเราปักกรวยไฟฉาย เวลาเราทำสมาธินี่ ไฟฉายแต่ก่อนโน้นถ้าเราไม่ปรับกรวยมันก็จะแผ่กว้างไป แต่ถ้าเราปรับกรวยแล้วมันจะบีบเข้าๆ เราจะส่องไปให้ไกลๆ มีพลังที่จะส่องไปไกล หรือเหมือนกับการฝังเสาเข็มก็ดี ตึกสูงๆ ประมาณ ๗ ชั้น ๘ ชั้น ๙ ชั้น ๑๐ ชั้น ถ้าเราฝังเสาเข็มไม่ดีมันก็โค่นมันก็พัง แต่ถ้าเราฝังเสาเข็มลึกๆ เสาเข็มได้เต็มที่ตึกนั้นก็ตั้งอยู่ได้ ลมพายุ ลมอะไรมามันก็สามารถที่จะต้านทานได้มั่นคงไม่หวั่นไหว ลักษณะของสมาธิก็เหมือนกัน

            การฝึกสมาธินั้นเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสสรรเสริญ ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด เพราะว่าบุคคลเจริญสมาธิแล้วจิตของบุคคลนั้นจะตั้งมั่น เมื่อจิตของบุคคลนั้นตั้งมั่นแล้วก็เหมือนกับบุคคลผู้มีตาดียืนอยู่ฝั่งน้ำที่ใสสะอาด ย่อมมองเห็นก้อนหินบ้าง ก้อนกรวดบ้าง ย่อมมองเห็นหอยโข่งบ้าง หอยกาบบ้าง ย่อมมองเห็นฝูงปลาที่แหวกว่ายไปมาบ้าง ย่อมมองเห็นฝูงปลาที่หยุดอยู่บ้าง

            บุคคลผู้เจริญสมาธิจนจิตได้สมาธิดีแล้วย่อมเห็นอารมณ์นั้นชัดเจน คืออารมณ์วิปัสสนากรรมฐานที่เกิดขึ้นมากับเรามันก็ปรากฏชัดเจนขึ้นมา อารมณ์ อาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก อาการเดิน ทุกสิ่งทุกอย่างสภาวะมันปรากฏชัดเจนขึ้นมา ถ้าเป็นปีติ ปีติก็ชัดเจนเหลือเกิน ตัวโยกตัวโคลง อย่างเช่น เมื่อเช้านี้โยมเข้ามาหา ตัวโยกตัวโคลงตัวไหวตัวโอนตัวเอนเหมือนกับเราไกวเปลก็มี นี้ในลักษณะของโอกกันติกาปีติปรากฏขึ้นมา บางครั้งมันเป็นแรง เรานั่งขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้ายตั้งกายให้ตรง

            เราบริกรรมพองหนอยุบหนอนี่ตัวของเราหมุนเหมือนกับลูกข่าง แต่มันไม่หมุนเร็ว หมุนไปๆๆ อันนี้มันเป็นลักษณะของปีติ มันเป็นไปได้อย่างไร ขาของเราก็ขัดกันอยู่มือของเราก็เข้ากันอยู่ แต่มันหมุนเหมือนกับลูกข่างนี่ด้วยอำนาจของปีติ มันจะเหาะขึ้นไปข้างบนก็ไม่ได้ มันจะดำลงไปในดินก็ไม่ได้ มันจะไปข้างซ้ายข้างขวาก็ไม่ได้ก็หมุนเลยคราวนี้ นี่มันหมุน ลักษณะของปีติ แต่มันหมุน มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความสบาย เกิดความแช่มชื่นไม่ใช่เหนื่อย บางครั้งมันก็สัปหงกไปข้างหน้า สัปหงกไปข้างหลัง

            บางครั้งหัวก็โขกกับพื้นกระดาน บางครั้งก็หงายมา บางครั้งก็คว่ำไปข้างหน้า ข้างซ้ายข้างขวา คว่ำอยู่อย่างนั้นทั้งชั่วโมง แทนที่มันจะเหน็ดมันจะเหนื่อย แต่ขณะที่ออกจากอาการปีตินั้นแหละเหมือนกับหมอนวดชั้นดี นวดจับถูกเส้นเอ็นถูกข้อ ทำให้เรานั้นกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง ไม่มีอาการเมื่อยล้าแม้แต่นิดหนึ่ง มีจิตใจอิ่มเอิบดูหน้าดูตาก็เบิกบาน นี่ลักษณะของปีติมันเกิดขึ้นมาเป็นในลักษณะอย่างนี้

            สิ่งเหล่านี้มันเป็นไปไม่นานมันก็หาย เรากำหนดรู้เฉยๆ มันหมดกำลังมันก็หายแล้ว ถ้าเราอยากให้มันหยุดเราก็กำหนดว่า “หยุดหนอๆ” ถ้ามันไม่หายเราก็ “หยุดหนอๆ หยุด!” อะไรทำนองนี้มันก็หายไป อันนี้เป็นลักษณะของการแก้สภาวะ สิ่งสำคัญเราอย่าไปตามมัน ถ้าเราตามมันแล้วมันจะไม่หยุด นั่งครั้งไหนมันก็เป็น แต่ถ้าเราไม่ตามมัน มันก็หาย

            สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะของสิ่งที่เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของสมาธิ แล้วก็สมาธินั้นมีอานิสงส์อยู่ ๕ ประการ ๑ ท่านกล่าวไว้ว่า ทิฏฐสุขวิหารธรรม คือบุคคลใดที่ประพฤติปฏิบัติได้สมาธิแล้วจะมีความสุขมาก ท่านกล่าวว่าความสุขอันสุดยอดของโลกิยะนั้นคือความสุขในตติยฌาน ถ้าใครสามารถเข้าตติยฌานได้ บุคคลนั้นก็จะได้รับความสุข ตติยฌานก็คือตัวที่มันแข็งเข้าๆๆ ความรู้สึกมันละเอียดเข้าๆๆ เกือบจะดับ แต่มันไม่ดับ

            ถ้าบุคคลใดเข้าได้อย่างนี้ พอออกจากตติยฌานแล้วจะมีความรู้สึกแช่มชื่นเบิกบาน เย็น ทั่วทุกเส้นขน เหมือนกับเย็นเข้าไปในกระดองใจหรือว่ากระดูกของเรา เรามีความสุขมีความเยือกเย็น มีความละเอียดอ่อนมาก ความสุขในตติยฌานท่านกล่าวว่าเป็นความสุขสุดยอดของโลกีย์  ถ้าบุคคลใดทำได้ บุคคลนั้นก็จะมีความสุขมาก เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ทิฏฐสุขวิหารธรรม เป็นความสุขที่มีอยู่ในปัจจุบันธรรมนี้ ไม่ต้องรอให้เราเข้าถึงพระนิพพาน ไม่ต้องรอให้ตาย พระพุทธศาสนาถ้าเราปฏิบัติได้เราก็จะได้รับความสุขในปัจจุบันชาตินี้ ไม่ต้องรอไปถึงภพหน้าชาติหน้า ท่านกล่าวว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องอาศัยเรือนแก้ว คือสมาธินั้นพักผ่อนเวลาพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย แม้แต่พระอรหันต์พระอริยบุคคลทั้งหลายทั้งปวง เวลาเหนื่อย ก็ต้องอธิษฐานเข้าสมาธิ เป็นอาหารใจ เป็นที่หลบภัย หลบแดด หลบฝน หลบอารมณ์ต่างๆ ออกมาแล้วก็มีกำลังมีความสดชื่นแล้วก็ทำงานพระศาสนาต่อไป เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็น ทิฏฐสุขวิหารธรรม

หน้า:  [1] 2 3 ... 51
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.467 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้