[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 03:55:27 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 2 [3] 4 5 ... 51
41  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / ผลกรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 17 มกราคม 2567 19:47:48



ผลกรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

            ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอโอกาสพระเถรานุเถระ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่เพื่อนสหธรรมิกตลอดถึงญาติโยมผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน

            วันนี้อาตมภาพ/กระผมก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านอีกวาระหนึ่ง ซึ่งคณะครูบาอาจารย์ก็ได้ประพฤติมานัตเป็นราตรีที่ ๕ พรุ่งนี้ก็เป็นราตรีที่ ๖ มะรืนนี้คณะครูบาอาจารย์ก็จะได้อัพภานกรรม คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็จะได้อำลาพาจากบ้านชัยชนะไปสู่เคหะสถานอาวาสที่อยู่ของตน เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ถือว่าเป็นการแสดงธรรมวันสุดท้าย พรุ่งนี้เจ้าคณะอำเภอท่านก็จะได้มาปิดการประพฤติปฏิบัติธรรม ฉะนั้น จึงขอให้คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้นั่งสมาธิฟังธรรม

            ที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมกันทุกวัน ๆ ตื่นตั้งแต่ตีสามมาทำวัตร เมื่อทำวัตรเสร็จแล้วก็นั่งภาวนา เจริญจิตตภาวนา หลังจากนั้นก็มาฉันภัตตาหารเช้าและมาเดินจงกรมนั่งภาวนา ๒ ชั่วโมง หลังจากนั้นก็มาฉันภัตตาหารเพล แล้วก็มาเดินจงกรมนั่งภาวนาอีก ๓ ชั่วโมง หลังจากฟังเทศน์ฟังธรรมเสร็จแล้วก็ต้องมาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรมนั่งภาวนาอีก ๒ ชั่วโมง เราประพฤติปฏิบัติธรรมเช่นนี้เพื่ออะไร ? เราประพฤติปฏิบัติธรรมเช่นนี้เพื่อที่จะทำจิตทำใจของเราให้ขาวสะอาด เรียกว่าเป็นการฝึกสติ เมื่อเราฝึกสติคือการเดินการนั่งให้ดีแล้ว

            เมื่อสติของเราสมบูรณ์ดีแล้ว เราย่อมเห็นความคิดของเรา เราคิดดี เราคิดชั่ว เราคิดถูกต้อง เราคิดไม่ถูกต้อง ถ้าเรามีสติสมบูรณ์แล้วเราจะเห็นความคิดของเรา ว่าจิตของเราประกอบไปด้วยอกุศลธรรม ประกอบไปด้วยบาป หรือว่าประกอบไปด้วยบุญ อันนี้เราสามารถที่จะเห็นจิตของเราได้ เมื่อเราเห็นจิตของเรา เราก็เห็นกาย การกระทำของเรา เห็นวาจา การพูดของเรา ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการสั่งออกไปจากจิตใจของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงมาประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะฝึกจิตของเรา เมื่อจิตใจของเราดีแล้ว กายของเราก็ดีด้วย วาจาของเราก็ดีด้วย เป็นผู้มีกายงาม เป็นผู้มีวาจางาม เป็นผู้มีจิตงาม

            การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร นอกจากประพฤติปฏิบัติเพื่อฝึกตน เราฝึกตนนั้นเราฝึกไปเพื่ออะไร ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ปาปานิ กมฺมานิ กโรนฺติ โมหา สัตว์ทั้งหลายทำบาปเพราะความเขลา คนทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วทำบาปกรรมต่าง ๆ นั้นก็เพราะความไม่รู้ เพราะความเขลา เพราะโมหะ เพราะตนเองนั้นมีปัญญาอันไม่ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น การฝึกฝนอบรม เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นจึงเพื่อที่จะเป็นการแก้กรรม

            เพราะบุคคลเกิดขึ้นมาแล้วมีกรรมเป็นของ ๆ ตน เรียกว่ามีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ตามที่เราได้สวดกันเป็นประจำ ว่าคนเราเกิดขึ้นมาแล้วก็ล้วนตกอยู่ภายใต้บุญกรรมและบาปกรรม กรรมคือการกระทำ เราทำกรรมไม่ดีก็เรียกว่าอกุศลกรรม ถ้าเราทำกรรมดีก็เรียกว่ากุศลกรรม เราทำกรรมดีก็ตาม เราทำกรรมชั่วก็ตาม เราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ตามอานุภาพของบุญและบาป

            ดังที่เราสวดตอนเย็นว่า กมฺมสฺสโกมฺหิ เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน คือเราทำกรรมอะไรไว้ เราก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น กรรมที่บุคคลทำแล้วแม้เพียงเล็กน้อย จะเป็นบุญก็ตาม เป็นบาปก็ตาม ที่จะไม่ให้ผลนั้นไม่มี พระพุทธเจ้าทรงตรัสอย่างนั้น กมฺมทายาโท เราเป็นทายาทของกรรม คือเราจะต้องได้รับมรดกของกรรม เราทำกรรมใดไว้ เราทำกรรมดี เราก็ต้องได้รับผลดี ไม่วันนี้ก็วันหน้า ไม่วันหน้าก็เดือนหน้า ปีหน้า ภพหน้า ชาติหน้า กรรมดีนั้นย่อมให้ผลแก่เรา กรรมที่เราทำดีนิดหน่อยที่จะไม่ให้ผลนั้นไม่มี

            แต่ถ้าเราทำกรรมชั่ว ถึงบาปกรรมมันจะไม่ติดตามเราให้ผลเราในปัจจุบันหรือว่าวันหน้าเดือนหน้า แต่ก็ต้องให้ผลแก่เราในภพใดภพหนึ่งแน่นอน บาปกรรมที่เราทำแม้แต่เล็กน้อยที่จะไม่ให้ผลนั้นไม่มี พระพุทธเจ้าทรงตรัสอย่างนั้น เราสวดกันว่า กมฺมโยนิ มีกรรมเป็นแดนเกิด คือเราได้มาเกิดในมนุษย์ก็ดี ได้ไปเกิดบนสวรรค์ก็ดี หรือว่ามาเกิดเป็นมนุษย์ บางคนเกิดมามีหน้าตาสดสวยงดงาม อันนั้นก็กรรมมาส่งให้เกิด

            บุคคลบางคนเกิดมาแล้วก็ขี้ริ้วขี้เหร่ อันนั้นเพราะมีกรรมเป็นแดนเกิด หรือว่าบุคคลที่เกิดขึ้นมาแล้วมีความเฉลียวฉลาดเปรื่องปราชญ์ชาติกวี มีไหวพริบดี ปฏิภาณดี มีโวหารดี อันนี้ก็เป็นเพราะกรรม กรรมดีที่เขาได้สั่งสมอบรมมาในภพก่อนชาติก่อน แต่บางคนเกิดขึ้นมาแล้วอาภัพน่าอนาถ เกิดขึ้นมาแล้วต้องเป็นคนมีแข้งขาพิกลพิการ เป็นคนหนวก เป็นคนบอด เป็นคนกระจอก เป็นคนง่อยเปรี้ยเสียขาต่าง ๆ อันนี้เป็นลักษณะของกรรมมันส่งให้เกิดตามบุญกรรมที่เราได้สั่งสมอบรมไว้ หรือว่า กมฺมพนฺธุ เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เราเกิดขึ้นมาแล้วเป็นคนแบบใดชนิดใด เป็นคนเจ้าโทสะ ก็เพราะกรรมที่เราทำไว้แต่ภพก่อนชาติก่อน เราเกิดมาเป็นคนเจ้าราคะ ก็เป็นเพราะเผ่าพันธุ์ที่เราทำไว้แต่ภพก่อนชาติก่อน เราเกิดมาแล้วเป็นคนหลงงมงายต่าง ๆ ก็เป็นเพราะเผ่าพันธุ์

            บางคนเกิดในประเทศไทย บางคนเกิดในประเทศลาว เกิดในยุโรป หรือว่าเกิดในตะวันออกกลางที่มีทะเลทรายร้อนระอุ เหล่านี้ก็เป็นเพราะเผ่าพันธุ์ของบาปกรรมของบุญกรรมที่ส่งให้ไปเกิดในสถานที่ต่าง ๆ เพราะฉะนั้น กรรมจึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายได้พยายามได้เข้าใจ ตอนสุดท้ายท่านกล่าวไว้ว่า กมฺมปฏิสรณา เราทั้งหลายมีกรรมเป็นที่พึ่ง หรือว่าคนทั้งหลายมีกรรมเป็นที่พึ่ง จะเป็นพระเป็นเณร เป็นเถรเป็นชี เป็นคนร่ำคนรวย คนจน คนโง่ คนฉลาด ก็ตาม ก็ล้วนมีกรรมเป็นที่พึ่งด้วยกันทั้งนั้น เรียกว่า เราทั้งหลายมีอยู่มีกิน มีฐานะ มีความเป็นอยู่ มีปัญญาอยู่ในขณะนี้ก็เพราะบาปกรรมบุญกรรมที่เราได้สร้างสมอบรมมาตกแต่งให้เราเป็นต่าง ๆ นา ๆ กัน เรียกว่าเรามีกรรมเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น กรรมจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

            พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา บุคคลทำกรรมดีก็ตาม ทำกรรมชั่วก็ตาม ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสติ จักต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป นี่เรียกว่ากรรมเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายต้องทำความเข้าใจ เพราะว่า ถ้ากล่าวตามปรมัตถธรรมจริง ๆ แล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ที่ไหนไม่มีเลย มีแต่ตัวกรรมทั้งนั้น สมมติว่าเป็นชาย สมมติว่าเป็นหญิง สมมติว่าเป็นคนฉลาด เป็นคนโง่ ล้วนแต่เป็นตัวกรรม นี่ถ้าเรากล่าวตามอริยวินัย คือสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากกรรม คลอดมาจากกรรม ตั้งอยู่เพราะกรรม ดำรงอยู่เพราะกรรม สืบต่อได้เพราะกรรม ดับไปเพราะกรรม เพราะฉะนั้น กรรมจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

            คนทั้งหลายทั้งปวงก็ถือว่าเป็นตัวกรรม เรียกว่าเป็นตัวของกรรมดีบ้าง เป็นตัวของกรรมชั่วบ้าง หยาบ เลว นี่ก็เพราะอกุศลกรรม ประณีต ละเอียด สุขุม ลุ่มลึก ก็เพราะอานุภาพของบุญกุศล เรียกว่ากุศลกรรม เพราะฉะนั้น กรรมนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะกำหนดรู้กรรมทางกาย รู้กรรมทางวาจา แล้วก็รู้กรรมทางใจ ถ้าเราสามารถละกรรมที่เป็นบาปเก่าและบาปใหม่ ไม่ให้เกิดขึ้นทางกาย วาจา ใจ ของเรา จิตใจของเราก็ขาวสะอาดขึ้น เมื่อจิตใจของเราขาวสะอาดขึ้นก็กระทำบุญหรือว่ากระทำสิ่งที่เป็นกุศลให้พอกพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อเราพอกพูนบุญกุศลยิ่ง ๆ ขึ้นไป จิตใจของเราก็จะพ้นจากบาปและบุญ ด้วยการบรรลุมรรคผลนิพพาน

            พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ก็เพราะพวกเราทั้งหลายมาสร้างสมอบรมกรรมดี ถ้าบุคคลใดทำกรรมชั่ว บาปกรรมก็จะตามราวีบุคคลนั้นไป เหมือนหมาไล่ตามเนื้อ ไล่ทันตรงไหนมันก็จะกัดตรงนั้น แม้แต่พระโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ในที่สุดก็ต้องถูกกรรมทำให้ท่านต้องนิพพาน ต้องถูกโจรทั้งหลายประหัตประหารทุบตีท่านให้ย่อยยับไป ก็เพราะบาปกรรมที่ท่านเคยทุบตีบิดามารดาแต่ภพก่อนชาติก่อน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา พระองค์สำเร็จพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง พระองค์ก็ทรงชดใช้กรรมที่พระองค์นั้นได้ทำไว้ ดังที่พระองค์ทรงตรัสเรื่องบุรพกรรมของพระองค์ คือในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่แผ่นศิลาคือแผ่นหินอยู่ข้างสระอโนดาต พระองค์ประทับแล้วก็ทรงตรัสเล่าบุรพกรรมของพระองค์

            คือในสมัยหนึ่งพระองค์เป็นมหาทุคคตบุรุษ คือเป็นคนยากจนอย่างมาก พระองค์ก็หาเก็บผักหักฟืนต่าง ๆ วันหนึ่งไปพบภิกษุผู้อยู่ป่า เป็นผู้ถือธุดงควัตร มีศีลาจารวัตรเป็นอย่างดี ก็เกิดความเลื่อมใส เกิดความศรัทธา ก็เลยน้อมผ้าเก่าผืนหนึ่งถวายแก่พระคุณเจ้าผู้ถือธุดงควัตรอยู่ในป่าแห่งนั้น แล้วก็ตั้งความปรารถนาว่า ด้วยผลทานที่ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าผืนนี้ ขอให้ข้าพเจ้าสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลข้างหน้าโน้นเทอญ นี่เรียกว่าอธิษฐาน พระองค์ตรัสว่า แม้เราถวายผ้าเก่าผืนหนึ่ง ผลของผ้าเก่านั้นก็ยังเราให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ นี่เรียกว่าเราถวายด้วยศรัทธา และพระองค์ตรัสว่า

            ในสมัยหนึ่ง พระองค์เป็นนายโคบาลคือคนเลี้ยงโค ต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากินต่าง ๆ ตรงสถานที่มีหญ้าอุดมสมบูรณ์ มีใบไม้เขียวชอุ่มชุ่มชื่น ให้โคได้อิ่มหนำสำราญ วันหนึ่ง ต้อนฝูงโคกลับ พอดีเกวียนผ่านทางเส้นนั้นไป น้ำที่โคจะดื่มจึงขุ่น คนเลี้ยงโคนั้นก็เลยไปห้ามไม่ให้โคดื่มน้ำ เท่านี้ก็ถือว่าเป็นบาปเป็นกรรม ในสมัยที่พระองค์เสด็จจากเมืองปาวา เพื่อที่จะข้ามไปเมืองกุสินารา ในระหว่างเมืองปาวาและเมืองกุสินารานั้นมีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อว่าแม่น้ำกุกกุธานที เป็นแม่น้ำที่ใสสะอาด แม้ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแม่น้ำที่ใสสะอาด อยู่ระหว่างเมืองกุสินารากับเมืองปาวา พระองค์ทรงอาพาธ มีพระประสงค์ที่จะไปปรินิพพานที่เมืองกุสินาราก็เดินทาง

            ขณะที่เดินทางมาก็ถูกอาพาธนั้นเบียดเบียนทำให้พระองค์กระหายน้ำ จึงให้พระอานนท์ลงไปตักน้ำที่แม่น้ำกุกกุธานที ไปตักครั้งแรก หมู่เกวียน ๕๐๐ เล่ม ผ่านไป น้ำยังขุ่นอยู่ พระอานนท์ก็ขึ้นมากราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าน้ำนั้นยังขุ่นอยู่ ข้าพระองค์ไม่สามารถที่จะตักน้ำนั้นมาถวายพระองค์ได้ ครั้งที่สองไปน้ำก็ยังขุ่นอยู่ ครั้งที่สามพระอานนท์ก็รู้ว่าเกวียนตั้ง ๕๐๐ เล่ม เมื่อเกวียนผ่านไปนั้นน้ำก็ไม่สามารถที่จะใสได้โดยไว แต่ด้วยความเกรงพระทัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคิดว่าความประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจะไม่เกิน ๓ ครั้ง เมื่อพระอานนท์ลงไปอีกครั้งน้ำนั้นก็ใสด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า ก็ตักน้ำนั้นมาถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ความประสงค์ในการดื่มน้ำของเราไม่สำเร็จก็เพราะการที่เราเคยห้ามไม่ให้โคดื่มน้ำขุ่น

            แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสเล่าถึงตอนที่พระองค์เป็นนักเลงชื่อว่าอุนาลิ ไปกล่าวใสร้ายพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุรภี ในสมัยนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุรภีมาอาศัยอยู่ในที่ใกล้ ๆ นักเลงนั้นก็ไปกล่าวใส่ร้ายป้ายสี ด้วยผลกรรมนั้นจึงเป็นเหตุให้พระองค์ซึ่งในสมัยนั้นเป็นนักเลงไปเกิดในนรกหลายหมื่นปี หลังจากสิ้นผลกรรมในนรกแล้วก็มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ถูกใส่ร้ายป้ายสีเรื่อยมา จนในสมัยที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมโพธิญาณ ไปประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ก็ถูกนางสุนทรีย์ใส่ร้ายป้ายสี นางสุนทรีย์นั้น ตอนเย็นก็ทำท่าทีจะไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่พระเชตวัน

            คนทั้งหลายทั้งปวงถามว่าจะไปไหน ก็ตอบว่าจะไปนอนกับพระมหาสมณโคดม ตอนเช้าก็ทำทีกลับจากพระเชตวัน คนทั้งหลายทั้งปวงถือดอกไม้ธูปเทียนไปตอนเช้าถามว่ามาจากไหน ก็ตอบว่ามาจากนอนกับพระสมณะโคดม ทำในลักษณะอย่างนี้สองวันสามวันล่วงเลยไป พวกเดียรถีย์ก็จ้างคนไปฆ่านางสุนทรีย์คล้าย ๆ กับว่าเป็นการฆ่าปิดปาก คนทั้งหลายก็เกิดความสงสัยในความเป็นพระพุทธเจ้า อันนี้ก็เพราะบาปกรรมที่พระองค์ได้ทรงทำไว้ในภพก่อน เศษกรรมมันยังเหลืออยู่ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ถูกใส่ร้าย จนพระราชาได้ส่งราชบุรุษไปสืบสวน เมื่อสืบสวนแล้วก็ไปจับพวกนักเลงที่ฆ่านางสุนทรีย์นั้นได้ ประกาศให้ชนทั้งหลายทั้งปวงทราบ ข่าวคราวเหล่านี้จึงสงบไป

            ในสมัยหนึ่ง พระองค์ได้ไปกล่าวใส่ร้ายจาบจ้วงพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่านันทะ ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าชื่อว่าสัพพภิภู ไปใส่ร้ายป้ายสีต่าง ๆ นา ๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระองค์ตกนรกหมกไหม้อยู่ตั้งหลายหมื่นปี พ้นจากนรกมาแล้วก็ถูกคนอื่นใส่ร้ายอยู่เป็นประจำ สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ยังถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายป้ายสีว่ามีท้องกับพระองค์ ทำท่าทำทีเหมือนกับนางสุนทรีย์

            แต่นางจิญจมาณวิกานี้ เทียวไปเทียวมาระหว่างพระเชตวันนั้นแปดเดือนเก้าเดือน แล้วเอาผ้ามัดใส่ท้อง ทำท้องโตขึ้นไปตามลำดับ ๆ จนถึงเก้าเดือน ท้องโตขึ้นมาก็เอาท่อนไม้มัดไว้ ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในท่ามกลางพุทธบริษัทนั่นแหละ ก็ไปยืนชี้หน้าด่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์ดีแต่เทศน์สอนคนอื่น แต่เมียตนเองท้องแท้ ๆ ไม่เห็นเอาใจใส่เลย ด่าไปต่าง ๆ นา ๆ  ในขณะที่นางแสดงท่าทีโกรธนั่นแหละ ก็กระทืบเท้าไปด้วย ก็ทำให้ท่อนไม้นั้นมันหลุดลงมา คนทั้งหลายทั้งปวงก็รู้ว่านางใส่ร้ายป้ายสีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประชาชนก็รุมประชาทัณฑ์ อีกนัยหนึ่งก็ว่านางวิ่งหนี พอวิ่งหนีพ้นคลองจักษุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แผ่นดินก็สูบนางลงไปในอเวจีมหานรก ที่ที่แผ่นดินสูบนางจิญจมาณวิกานั้น ทุกวันนี้ก็ยังเป็นหนองน้ำเป็นแอ่ง ท่านกล่าวว่า ตรงไหนที่ถูกแผ่นดินสูบ ตลอดพุทธันดรหนึ่ง ตรงนั้นจะไม่เต็ม ตรงที่สูบพระเทวทัตก็เป็นแอ่ง ไม่เต็ม แผ่นดินตรงนั้นจะยุบลงอยู่ในลักษณะอย่างนั้น หรือแผ่นดินสูบพระเจ้าสุปปพุทธะ สูบนันทมานพ หรือว่าสูบนันทยักษ์ ต่าง ๆ ก็ปรากฏในทำนองเดียวกัน อันนี้เป็นบาปกรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ได้ตรัสไว้

            แล้วก็พระองค์ได้ตรัสอีกตอนหนึ่งว่า พระองค์ทรงฆ่าน้องชายต่างมารดา คือพระองค์ทรงโลภในทรัพย์สมบัติ เมื่อโลภในทรัพย์สมบัติแล้วก็ฆ่าน้องชายต่างมารดา ผลักน้องชายต่างมารดาลงไปในเหว แล้วก็เอาก้อนหินทุ่ม น้องชายก็เลยตายไป ตนเองก็ไปเกิดในนรก พ้นจากนั้นมาก็ถูกเขาทุบตีอยู่หลายภพหลายชาติหลายกัปหลายกัลป์ เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ถูกพระเทวทัตเอาก้อนหินกลิ้งลงมาใส่ อันนี้แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรามีความประเสริฐเลิศขนาดนั้น บาปกรรมก็ตามทัน พระเทวทัตกลิ้งหินลงมาทำให้สะเก็ดหินไปถูกหัวแม่เท้าของพระองค์เลยเกิดอาการห้อเลือดขึ้นมา พระเทวทัตนั้นก็ทำอนันตริยกรรม อันนี้เรียกว่าบาปกรรมที่พระองค์เคยทำมาแต่ภพก่อนชาติก่อน

            ในสมัยหนึ่ง พระองค์เป็นเด็กน้อย ไม่รู้บุญรู้บาป เพราะความคะนองของเด็ก เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไปบิณฑบาต รู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้ามาบิณฑบาตสายนี้เป็นประจำ ก็เอาขยะมูลฝอยไปกองขวางทางท่านไว้แล้วก็จุดไฟเพื่อให้เกิดควันรบกวนท่าน ด้วยบาปกรรมนั้นก็ทำให้ตกนรก พ้นจากนรกมาก็ถูกคนอื่นกีดขวางอยู่เป็นประจำ หลังจากนั้นมา เมื่อสมัยที่พระองค์สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ยังถูกพระเทวทัตส่งคนไปฆ่า ก็เพราะบาปอกุศลอันเกิดจากการขวางทางบิณฑบาตของพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะบุคคลที่ขวางทางบิณฑบาตนั้นมีบาปมาก พระเจ้าสุปปพุทธะขวางทางบิณฑบาต ก็ถูกแผ่นดินสูบภายในเจ็ดวัน

            ในสมัยหนึ่ง พระองค์ทรงไปกล่าวจาบจ้วงสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะว่า ท่านอย่าได้เคี้ยวกินข้าวสาลีเลย ท่านจงเคี้ยวกินข้าวเหนียวเถิด ด้วยบาปกรรมที่พระองค์กล่าวตู่บุคคลที่มีศีลบริสุทธิ์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระองค์ต้องตกนรกหมกไหม้ พ้นจากนั้นมาก็ถูกคนอื่นกล่าวส่อเสียดหรือว่ากล่าวใส่ร้ายอยู่เป็นประจำ หลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ถูกพราหมณ์เมืองเวรัญชานิมนต์ไปจำพรรษาอยู่ที่เมืองเวรัญชาตลอด ๔ เดือน

            พราหมณ์ที่อยู่ที่เมืองเวรัญชาพอนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ลืม ด้วยอานุภาพแห่งบาปกรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปดลจิตดลใจให้พราหมณ์นั้นลืม ลืมที่จะถวายอาหารบิณฑบาต ลืมที่จะใส่บาตร แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ เดินผ่านหน้าบ้านทุกวัน ๆ พราหมณ์ก็เห็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นคนธรรมดา ด้วยบาปกรรมที่ให้ผลปิดบังดวงจิตดวงใจของพราหมณ์ไว้ ไม่เห็นคุณค่าของพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสาวกทั้งหลายทั้งปวง นี่คิดดูสิ บาปกรรม เวลามันให้ผลนั้นแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ฉันภัตตาหาร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ฉ้นข้าวแดงที่พ่อค้าม้าซึ่งไปพักแรมอยู่ที่เมืองเวรัญชาเหมือนกันถวาย ฉันข้าวแดงตลอด ๔ เดือน ก็เพราะบาปกรรมที่พระองค์กล่าวแก่สาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ อันนี้เรียกว่าบาปกรรมแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังไม่ละเว้น

            ในสมัยหนึ่ง พระองค์เป็นแพทย์ สามารถที่จะรักษาโรคต่าง ๆ ได้ แต่พอดีรักษาโรคหายแล้ว คนไข้โกงไม่อยากจะจ่ายเงิน ก็เลยเอายาถ่ายให้บุตรของคนไข้กินจนถ่ายท้องจนตายไป ด้วยบาปกรรมนั้นก็ทำให้พระองค์ตกนรก ในสมัยที่มาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงประชวรเป็นปักขันทิกาพาธ ถ่ายเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด ก็เพราะบาปกรรมที่พระองค์ทรงทำไว้แต่ภพก่อนชาติก่อนนั้นยังตามราวีพระองค์ คือตามให้ผล ถึงพระองค์จะเป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ บาปกรรมเหล่านั้นก็ไม่ละเว้น พระองค์ทรงทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากมายขนาดไหนก็ตาม มนุษย์เทวดาทั้งปวงกราบไหว้พระองค์ก็ตาม บาปกรรมนั้นไม่เคยละเว้น บาปกรรมนั้นเป็นสัจธรรม บุคคลใดทำ บุคคลนั้นก็ต้องชดใช้กรรม ไม่วันนี้ก็วันหน้า ไม่วันหน้าก็ภพต่อ ๆ ไป เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้ชดใช้ในวันนั้น ก็ต้องชดใช้ในวันใดวันหนึ่ง แม้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ต้องชดใช้กรรม เพราะฉะนั้น บาปกรรมเหล่านั้นจึงทำให้พระองค์ป่วยเป็นปักขันทิกาพาธ

            ในสมัยหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา ได้กล่าวใส่ร้าย ได้กล่าวประมาทพระโพธิสัตว์ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ท่านนั่งคู้บัลลังก์อยู่ที่ต้นไม้ ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าของเราเป็นพราหมณ์ชื่อว่าโชติปาละ เป็นผู้มากด้วยปัญญา ได้ไปกล่าวใส่ร้ายพระโพธิสัตว์นั้นแหละว่า การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เป็นของหาได้ยาก การบรรลุธรรมของท่านจะมีแต่ที่ไหน การบรรลุธรรมของท่านเป็นไปไม่ได้ ท่านจงลุกจากที่นี่เสีย กล่าวประมาทความเพียรของพระโพธิสัตว์ในสมัยนั้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านต้องตกนรก พ้นจากนั้นมา ในสมัยที่พระองค์ทรงออกบวชแสวงหาโมกขธรรม พระองค์ต้องทำทุกรกิริยาถึง ๖ ปี หลงทางหลงผิดอยู่ตั้ง ๖ ปี คือพระองค์ทรงออกบวชตอนอายุ ๒๙ ได้ตรัสรู้ตอนอายุ ๓๕ ปี ทรงทนทุกข์ทรมานด้วยเศษกรรมที่มันตามราวีอยู่ตั้ง ๖ ปี

            บาปกรรมนิด ๆ หน่อย ๆ บุญกรรมนิด  ๆ หน่อย ๆ ที่เราทำนั้น ที่จะไม่ให้ผลนั้นไม่มี เหมือนกับถวายท่อนผ้าเก่า ๆ ให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่ง ก็ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระองค์ตรัสรูเป็นพระพุทธเจ้าได้ หรือพระองค์ทรงทำบาปกรรมนิด ๆ หน่อย ๆ ด้วยความคะนองในตอนเป็นเด็กก็ตาม หรือด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสมที่เป็นการกล่าวจาบจ้วงพระอริยะ เป็นการจาบจ้วงบุคคลผู้บริสุทธิ์ก็เป็นบาปเป็นกรรม บาปกรรมเหล่านั้นก็จะตามราวีไป บางครั้งบางคราวอาจจะพูดด้วยความคะนอง บางครั้งก็อาจจะพูดด้วยมานะทิฏฐิ

            บางครั้งก็อาศัยกิเลสที่อยู่ในใจของเรานั้นพูดไป พูดวาจาที่ผิด ทำในสิ่งที่ผิด คิดในสิ่งที่ผิด สิ่งเหล่านี้จะเป็นบาปกรรมติดตามเราไปในทุกภพทุกชาติ เพราะฉะนั้น การเว้นจากอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็เหมือนกับบุคคลผู้มีตาดีเว้นจากหลุม เว้นจากบ่อ เว้นจากหนอง เว้นจากขวากหนาม เว้นจากอันตรายทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ? เพื่อที่จะเว้นจากบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเรามีจิตดี จิตงาม จิตขาว จิตบริสุทธิ์จริง ๆ แล้ว บาปกรรมแม้แต่น้อยหนึ่งเราก็ไม่อยากทำ สิ่งใดที่มันเป็นบาป สิ่งใดที่มันเป็นอกุศลกรรม เราก็ไม่ทำ สิ่งใดที่มันเป็นบาป เราก็ไม่ควรพูด เราควรที่จะเว้น มีสติ ระมัดระวัง สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นทำนบป้องกันบาป นี่เรียกว่าเรามาพยายามที่จะพ้นไปจากบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง หนทางอื่นไม่มี

            การที่พวกเราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ จึงถือว่าเป็นผู้มีบุญล้นฟ้าล้นดินแล้ว ภพชาติของเราก็จะได้ประณีต บารมีของเราก็จะได้เพิ่มขึ้น การเกิดในภพต่อ ๆ ไปของเรา ก็จะได้พบกับความสุข วิบากกรรมที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพบกับความลำบากมันก็จะน้อยลง ก็เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงถือว่าเป็นเหตุยังความสุขให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน อนาคต และในภพสืบ ๆ ต่อกันไป ประโยชน์ในภพนี้ ประโยชน์ในภพหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ก็เกิดขึ้นมาด้วยการประพฤติปฏิบัติ ความสุขในโลกนี้ ความสุขในโลกหน้า ความสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพาน ก็เกิดขึ้นเพราะการประพฤติปฏิบัติธรรม

            ถ้าบุคคลใดยังไม่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ควรมา บุคคลใดมาแล้วยังไม่สามารถยังสมาธิให้เกิดขึ้น ยังไม่สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้น ยังไม่สามารถที่จะยังการบรรลุมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้น ก็ควรที่จะทำสมาธิ ทำวิปัสสนาญาณ ทำมรรคทำผลให้เกิดขึ้น บุคคลผู้ทำสมาธิให้เกิดขึ้นแล้วก็ดี ทำมรรคทำผลให้เกิดขึ้นแล้วก็ดี ก็ควรที่จะทำสมาธิให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำมรรคทำผลให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าเราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์เล่าบุพพกรรมจบแล้ว พระองค์จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราพ้นแล้วจากบุญและบาป เราไม่มีความเดือดร้อนโดยประการทั้งปวง เราพ้นแล้วจากความเดือดร้อนทั้งปวง เราพ้นแล้วจากความเศร้าโศกทั้งปวง เราพ้นแล้วจากความคับแค้นทั้งปวง เราเป็นผู้มีอาสวะกิเลสอันละแล้ว ต่อไปเราจักปรินิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น

            เพราะฉะนั้น ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ได้ดีอกดีใจ ได้รักษาการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้สืบต่อไป ถึงคราวประพฤติปฏิบัติธรรมในครั้งต่อไป ก็ขอให้เรานั้นจงพยายามปฏิบัติธรรมเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงจะถือว่าเป็นการสิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร. 

42  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง โดย พอจ.สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร เมื่อ: 13 มกราคม 2567 15:24:49


นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง
โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

วิธีทดสอบกำลังของเรา กับกำลังของตัณหาก็มีอยู่ง่ายๆคือ เวลาที่เราว่างจากภารกิจการงาน ก็นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งบนเก้าอี้ที่สบาย ไม่ลุกจากเก้าอี้จนกว่าจะครบเวลาที่กำหนดไว้ จะเป็น ๖ ชั่วโมง หรือ ๘ ชั่วโมงก็ได้ มีน้ำดื่มไว้ในกรณีที่หิวน้ำ รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อน จะได้ไม่มีปัญหากับการรับประทานอาหาร รับประทานมื้อเดียว แล้วก็นั่งที่เก้าอี้ ต่อสู้กับความอยาก ที่อยากจะลุกจากเก้าอี้ ถ้าจะลุกก็เพื่อเข้าห้องน้ำ ห้ามเถลไถลไปที่อื่น เสร็จกิจแล้วก็กลับมานั่งต่อ ถ้านั่งแล้วปวดเมื่อยอยากจะลุก ก็ยืนที่ข้างเก้าอี้ ให้มีเพียง ๒ อิริยาบถ คือนั่งกับยืน สัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ดูว่าจะทำได้หรือไม่ จะเอาชนะความอยากได้หรือไม่ น่าจะเอาชนะได้ เพราะไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่นั่งเฉยๆหรือยืนเฉยๆเท่านั้นเอง ไม่ทำตามความอยากสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมงดู ห้ามนั่งหลับ ถ้าหลับก็ถือว่าแพ้ ลองทำดู ถ้าอยากจะดูว่ากำลังของเรากับของกิเลสตัณหา ใครจะมีมากกว่ากัน

นี่เป็นวิธีง่ายๆที่จะตรวจดูว่าเรามีกำลังมากน้อย นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งแบบสบายๆ ไม่ต้องนั่งขัดสมาธิหลับตา นั่งบนเก้าอี้นวมก็ได้ นั่งห้อยเท้าก็ได้ แต่ไม่ให้ดูอะไร ไม่ให้ฟังอะไร ไม่ให้อ่านอะไร แม้แต่ธรรมะ ก็ไม่ให้ดูไม่ให้ฟัง ต้องการให้เอาใจมาสู้กับกิเลสตัณหา ดูว่าจะใช้สติสมาธิปัญญา ควบคุมกิเลสตัณหาได้หรือไม่ เวลาเกิดความอยากลุก ก็ควบคุมด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ด้วยการสวดมนต์ พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาพระอริยสัจ ๔ ว่าทุกข์เกิดจากความอยากลุก ทุกข์จะดับไปหายไปถ้าไม่อยากลุก ใช้สติสมาธิปัญญาต่อสู้กับกิเลสตัณหาดู นี่คือวิธีปฏิบัติง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ขังตัวเองไว้ในห้องที่เงียบ แล้วก็นั่งสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ถ้าทำได้จะมีกำลังใจที่จะปฏิบัติมาก จะรู้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ความอยาก นั่งเฉยๆทำไมใจจึงทุกข์ ทำไมนั่งไม่เป็นสุข เพราะใจไม่สงบ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ที่จะดับความอยาก ที่ทำให้ใจทุกข์ ทำให้ใจเครียด

นี่คือการปฏิบัติธรรม ต้องกำหนดเวลา กำหนดสถานที่ กำหนดเงื่อนไข ต้องปลีกวิเวก อยู่ตามสถานที่สงบสงัด สำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่คลุกคลีกัน ไม่คุยกัน อยู่ตามลำพัง ควบคุมการบริโภคอาหาร รับประทานพอประมาณ รับประทานมื้อเดียวก็พอ เจริญสติอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย จะทำให้เกิดความอยาก ความฟุ้งซ่าน ความเครียด จนไม่สามารถนั่งเฉยๆได้ แต่ถ้าสามารถควบคุมความคิดได้ ใจจะสงบ จะเป็นอุเบกขา จะนั่งเฉยๆได้ จะมีความสุขกับการนั่งเฉยๆ พอได้สมาธิแล้ว ก็จะได้ความสุข ที่ดีกว่าความสุข ที่ได้จากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ต้องไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาออกจากสมาธิ ถ้ากิเลสตัณหาอยากจะไปเสพ ก็ใช้ปัญญาสอนใจ ว่าอย่าไปทำตามกิเลสตัณหา เพราะจะพาไปสู่ความทุกข์ เวลาที่ไม่ได้เสพ จะทุกข์มาก จะสุขตอนที่ได้เสพ แต่สุขเดี๋ยวเดียว เวลาไม่ได้เสพจะทุกข์ทรมานใจ เช่นเวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ทุกข์เพราะอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรส ถ้าใจจะสงบเป็นอุเบกขาแล้ว เวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง จะไม่ทุกข์เลย.
43  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม เมื่อ: 12 มกราคม 2567 15:57:57

ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี


            แต่เมื่อเราอยากไปเกิดในพรหมโลก เรามาเดินจงกรมนั่งภาวนาเหมือนกับคณะครูบาอาจารย์เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายนี่แหละ ถ้าจิตใจของบุคคลใดเข้าถึงอารมณ์ของสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เมื่อบุคคลใดมีจิตใจเข้าถึงอารมณ์ของฌานอย่างนี้แหละ บุคคลนั้นเรียกว่ามีกายเป็นมนุษย์แต่ว่ามีใจเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว เมื่อจิตดับลงไปก็จะไปเกิดในพรหมโลกทันทีตามอานุภาพของฌาน ถ้าเราได้ปฐมฌานอย่างหยาบ เราก็ไปเกิดในพรหมปาริสัชชา แต่ถ้าเราได้ปฐมฌานอย่างกลาง เราก็ไปเกิดในพรหมปโรหิตา แต่ถ้าเราได้ปฐมฌานอย่างละเอียด อย่างประณีต อย่างสุขุมลุ่มลึก เราก็จะไปเกิดในชั้นมหาพรหมา นี่เรียกว่าไปเกิดตามลำดับของฌาน แต่ถ้าเราได้ทุติยฌานก็ดี ตติยฌานก็ดี จตุตถฌานก็ดี ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นที่ละเอียดลออขึ้นไปอีก

            แต่ถ้าเราได้อรูปฌาน คือได้อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เราก็จะไปเกิดในอรูปพรหมที่ละเอียด ที่ประณีต ที่สุขุมลุ่มลึก คัมภีรภาพมากขึ้นไปกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าพรหมโลกอยู่ในจิต แล้วท่านกล่าวว่านิพพานอยู่ในมโน มโนนั้นก็คือใจ ทำไมจึงกล่าวว่ามโนนั้นคือใจ เพราะมโนนั้น ท่านกล่าวว่ามโนนั้นแปลว่าม้า สำเร็จได้เร็วดังใจ เรียกว่ามโนมัย เพราะฉะนั้น มโนนั้นท่านจึงแปลว่าใจ เรียกว่ามนะ มนธาตุ เพราะฉะนั้น นิพพานก็อยู่ที่ใจของเรานี่แหละ นิพพานไม่ได้อยู่ที่ตา ไม่ได้อยู่ที่หู ไม่ได้อยู่ที่จมูก ไม่ได้อยู่ที่ลิ้น ไม่ได้อยู่ที่กาย แต่นิพพานอยู่ที่ใจ เพราะกิเลสมันเกิดขึ้นที่ใจ เมื่อกิเลสมันดับลงไป ราคะมันดับลงไป โทสะมันดับลงไป โมหะมันดับลงไป ก็ถึงซึ่งพระนิพพาน แต่ถ้ากิเลสคือราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี มันไม่ดับ นิพพานก็ยังไม่ปรากฏ เรียกว่ามรรคที่หนึ่งคือโสดาปัตติมรรคยังไม่เกิดนิพพานก็ไม่ปรากฏ มรรคที่สองไม่เกิดนิพพานก็ไม่ปรากฏ มรรคที่สามมรรคที่สี่ไม่เกิดนิพพานก็ไม่ปรากฏ

            ผู้ใดอยากเห็นพระนิพพาน ผู้นั้นก็เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เหมือนกันพวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นีแหละ เดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่นี่แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นถึงซึ่งพระนิพพาน เพราะฉะนั้น นิพพานนั้นอยู่ในจิตในใจในมโนของเรานี้เอง เพราะฉะนั้น เราจะสุขก็ดี เราจะทุกข์ก็ดี เราจะไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย ไปเกิดบนสวรรค์ ไปเกิดในพรหมโลก หรือเราจะไปนิพพาน ก็ต้องอาศัยจิตของเรานี่แหละเป็นตัวการเป็นมูลเหตุ เพราะฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเดินจงกรมนั่งภาวนา ก็ถือว่าเรามีโอกาสที่จะได้ฝึกฝนอบรมจิตใจของเรานั้นให้ดีให้งามให้เลิศให้ประเสริฐ เพราะท่านกล่าวไว้ว่า “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์เป็นอันมาก บุคคลผู้ฝึกตนนั่นแหละ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด”

            คือบุคคลจะดีกว่าคนก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะเลิศกว่าคนก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะวิเศษกว่าคนก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะประเสริฐจะอุดมสมบูรณ์ก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะรู้มรรครู้ผลเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาก็เพราะการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะได้เป็นพระอรหันต์ก็เพราะการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็เพราะการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพราะการประพฤติปฏิบัติ เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัตินั้นจึงเป็นทางของอริยวงศ์ เป็นปฏิปทา เป็นการเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แท้จริง

            ถ้าเราตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจริญรอยด้วยการประพฤติปฏิบัติ ก็เหมือนกับเราเดินตามรอยของพระองค์ท่าน ไม่เหมือนเราไปสังเวชนียสถานประเทศอินเดีย ไปที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ปรินิพพาน ก็ไปเพื่อเป็นการยังบุญให้เกิดขึ้นมา เพราะพระองค์ตรัสว่า “ถ้าบุคคลใดได้ไปกราบได้ไปไหว้สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ตำบลใด ตำบลหนึ่ง บุคคลนั้นมีการกราบการไหว้มีศรัทธานั้นเป็นนิมิตเป็นอารมณ์ บุคคลนั้นก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ” พระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่สวรรค์ ป้องกันอบายภูมิ ในเมื่อเราคิดถึงสังเวชนียสถาน แต่ไม่สามารถที่จะทำให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้

            แต่การเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาทด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับเราเดินตามรอยของพระองค์ เห็นรอยของพระองค์เดินไปเมื่อตะกี้นี้เราก็เดินตามพระองค์ไปด้วยการเดินจงกรมนั่งภาวนากำหนดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กำหนดอาการพองอาการยุบ เรียกว่าเราเดินตามรอยพระองค์ไป ตามไป ๆ ในที่สุดก็สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันได้ ในที่สุดก็สามารถบรรลุเป็นพระสกทาคามีได้ ในที่สุดก็สามารถบรรลุเป็นพระอนาคามีได้ ในที่สุดก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” ตัวธรรมนั้นเป็นตัวเดียวกัน ผู้ใดเห็นธรรมก็เท่ากับเห็นพระพุทธองค์ ถึงพระองค์จะทรงปรินิพพานไปแล้ว ตัวธรรมที่พระองค์ได้ค้นพบแต่ก่อนโน้น ในสมัยสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วก็เหมือนกับตัวธรรมที่เราค้นพบในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” นี่เรียกว่าเราเดินตามรอยของพระพุทธองค์ในลักษณะของการประพฤติปฏิบัติ เราก็จะถึงพระองค์ แล้วเราก็จะเห็นพระองค์ แล้วเราก็จะทราบชัดว่าธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสนี้สามารถที่จะนำเราให้พ้นไปจากความทุกข์ ถึงสันติสุขกล่าวคือมรรคผลพระนิพพานได้จริง.
44  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม เมื่อ: 12 มกราคม 2567 15:57:00



ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลจงบังเกิดมีแก่คณะญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้

            วันนี้อาตมภาพได้มีโอกาสมาแสดงพระสัทธรรมเทศนา กล่าวธรรมะเพื่อเสริมการประพฤติปฏิบัติธรรมของญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย ตามสมควรแก่กาลเวลา ก่อนอื่นก็จะขออนุโมทนาสาธุการกับคณะอาจารย์กรรมซึ่งได้เสียสละเวลาอันมีค่า ได้นำพาญาติโยมทั้งหลาย ตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีโอกาสได้เดินจงกรม มีโอกาสได้นั่งภาวนา เรียกว่าเป็นบุญล้นฟ้าล้นดิน

            แล้วก็ขออนุโมทนาสาธุการกับเจ้าคณะตำบล คือท่านพระครูสิริปัญญาวิกรม หรือท่านพระอาจารย์มหาสมจิต ซึ่งเคยเป็นศิษย์วัดพิชโสภาราม ในสมัยก่อนโน้นท่านได้ไปเรียนประโยค ๓ ประโยค ๔ ประโยค ๕ ที่วัดพิชโสภาราม หลังจากนั้นท่านก็ได้เข้าประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภารามเป็นระยะเวลา ๒ ปี ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีทั้งปริยัติ มีทั้งปฏิบัติ นอกจากนั้นก็ขออนุโมทนาสาธุการกับท่านพระอาจารย์ปลัดบุญเลิศ อคฺคปุญฺโญ ซึ่งได้นำพาญาติโยมให้ประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งพระอาจารย์บุญเลิศก็มีโอกาสได้ไปจำพรรษาที่วัดพิชโสภารามหลายปี ๓ ปี ๔ ปี หรือ ๕ ปี ประมาณนั้น นี่เรียกว่าได้ไปประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภารามก็หลายปี

            แล้วก็ได้มาตั้งสำนักสร้างวัดสร้างวาเพื่อที่จะพัฒนาญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้เข้าถึงพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้ก็ขออนุโมทนาสาธุการ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เรียกว่ายากมากที่จะมีการประพฤติปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ก่อนอื่นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้นั่งสมาธิฟัง ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายให้นั่งสมาธิฟัง การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก

            เพราะบุคคลผู้ที่จะมาแนะนำพร่ำสอนในทางประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องเป็นคนผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างขวาง มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา มีความปรารถนาความสุขให้บุคคลอื่นนั้นได้รับความสุขพ้นไปจากความทุกข์ บุคคลนั้นจึงสามารถสอนกรรมฐานได้ บุคคลผู้ที่ปรารถนาให้บุคคลอื่นมีความสุขพ้นไปจากความทุกข์นั้น ต้องมีจิตใจที่มีความสุขเสียก่อน ต้องมีจิตใจที่ประกอบไปด้วยเมตตาธรรม กรุณาธรรม มุทิตาธรรม แล้วก็อุเบกขาธรรมเสียก่อน จึงสามารถที่จะแนะนำพร่ำสอนบุคคลอื่นได้ ตนเองจึงจะไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง อันนี้จึงเป็นบุคคลผู้ที่หาได้ยากมาก เรียกว่าหายากมากสำหรับในยุคปัจจุบันนี้ แต่ก็ยังพอมีให้เราได้เดินจงกรมนั่งภาวนา

            ญาติโยมครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ขอให้ได้อนุโมทนาสาธุการ คิดว่าเรามาพบของหายากแล้ว เราก็ควรที่จะทำจิตทำใจให้เกิดความเลื่อมใส ให้เกิดความเพียร ให้เกิดความมุมานะ ให้เกิดความบากบั่น เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ถือว่าเป็นวิถีทางแห่งความพ้นทุกข์ เป็นวิถีทางแห่งการสลัดทุกข์ เป็นวิถีทางแห่งการออกไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่าเป็นวิถีทางที่เราทั้งหลายนั้นจะก้าวล่วงซึ่งความทุกข์ ก้าวล่วงซึ่งวัฏฏสงสาร ก้าวล่วงซึ่งโอฆะแหล่งแก่งกันดาร ก้าวล่วงซึ่งความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไปถึงฝั่งคือพระนิพพาน ก็คือการประพฤติปฏิบัติธรรม

            เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เป็นของเลิศ เป็นของประเสริฐ เป็นของวิเศษ เป็นของอุดมด้วยคุณต่าง ๆ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีมรรค มีผล เป็นปริโยสาน เพราะฉะนั้น การที่คณะญาติโยมตลอดถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น จึงถือว่าเป็นวิถีทางออกจากความทุกข์อย่างแท้จริง เราเกิดขึ้นมาล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น บางครั้งก็ทุกข์กาย บางครั้งก็ทุกข์ใจ บางครั้งก็ทุกข์ทั้งกายทั้งใจ บางครั้งก็ลำบากทั้งกายทั้งใจ อันนี้เรียกว่าความทุกข์

            เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วความทุกข์มันก็ติดตามเราไป เรียกว่าทุกข์ประจำสังขาร คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ประจำเหมือนเงาติดตามตัว เราไปไหน ๆ ความแก่ก็ติดตามเราไป เราไปไหน ๆ ความเจ็บก็ติดตามตัวเราไป เราไปไหน ๆ ความตายก็ติดตามเราไป อันนี้เรียกว่าความทุกข์ประจำสังขาร มันเกิดมันมีอยู่กับบุคคลทุกตัวทุกตน สัตว์ทุกประเภทก็มีความแก่มีความเจ็บมีความตายด้วยกันทั้งนั้น

            ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีทุกข์ประจำสังขาร แล้วก็มีทุกข์ที่จรมา ทุกข์ที่จรมาอย่างเช่น ทุกข์เพราะลม ทุกข์เพราะฝน ทุกข์เพราะแดด หรือว่าทุกข์เพราะความโกรธ ทุกข์เพราะความโลภ ทุกข์เพราะความหลง ทุกข์เพราะราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทานต่าง ๆ อันนี้มันเกิดขึ้นมา จรมา เรียกว่าเป็นอาคันตุกะ เป็นสิ่งที่จรมา เมื่อจรมาแล้วก็มาทำร้ายจิตใจของเรา ทำให้จิตใจของเราร้อนรุ่มกลุ้มใจ ทำให้จิตใจของเรากระวนกระวาย ทำให้จิตใจของเรานั้น หลงใหลมัวเมาในสิ่งที่เพลิดเพลิน แล้วก็ทำให้จิตใจหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นลักษณะของความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา

            เราทำอย่างไรเราจึงจะพ้นไปจากความทุกข์ด้วยกัน เราจึงจะสามารถพ้นไปจากความทุกข์ได้ เพราะคณะครูบาอาจารย์ก็ดี ญาติโยมก็ดี ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมที่นี่ด้วยกัน ก็ล้วนมีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น จะทุกข์มากทุกข์น้อย ทุกข์เพราะราคะ ทุกข์เพราะโทสะ ทุกข์เพราะมานะ ทุกข์เพราะทิฏฐิอะไรต่าง ๆ ก็มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น บางคนเกิดมานานก็ทุกข์ด้วยความแก่ มีความแก่มีความชรา มีตาฟ่าฟาง มีหูตึง มีฟันหลุด มีหนังเหี่ยว ก็เกิดความลำบาก มองเห็นอะไรก็ไม่ค่อยชัด จะฟังอะไรก็ไม่ได้ยินเท่าที่ควร จะรับประทานอาหาร ลิ้นก็ไม่สามารถที่จะรับรสอะไรต่าง ๆ ได้ทั่วถึง เรียกว่าประสาทตาก็ดี ประสาทหูก็ดี ประสาทลิ้นประสาทกายเริ่มแก่เริ่มชราเริ่มคร่ำคร่าแล้ว จะทำอะไรก็งก ๆ เงิ่น ๆ

            เหมือนกับที่เราสวด “เหมือนดอกไม้โรย ไม่มีเกสร จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย” เป็นสิ่งที่เรานั้นควรพิจารณา เพราะฉะนั้น ความทุกข์เหล่านี้แหละเป็นความทุกข์ที่ตีตราสำหรับบุคคลผู้เกิดขึ้นมา เมื่อบุคคลใดเกิดขึ้นมาแล้วจะต้องมีตราทุกข์คือความแก่ ตราทุกข์คือความเจ็บ ตราทุกข์คือความตายนั้นประทับไว้ที่บุคคลนั้น จะหลีกจะหนีจะหลุดจะพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้นั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นความทุกข์เป็นภัยใหญ่ที่สรรพสัตว์ทั้งหลายจะต้องเผชิญหน้า จะต้องรบจะต้องสู้ หลีกเร้นหนีไม่ได้

            พวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เรามาเพื่อที่จะหนีออกไปจากความทุกข์ เราจะหนีออกจากความทุกข์อย่างไร ? เราจะหนีออกจากความทุกข์ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นแหละ เราจึงจะหนีออกจากความทุกข์นั้นได้ แต่ก่อนที่เราจะหนีออกจากความทุกข์ ให้เรามาพิจารณาว่า ความทุกข์มันเกิดขึ้นมาจากสิ่งใด ความทุกข์นั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงตรัสว่าเกิดขึ้นมาเพราะความโกรธ ถ้าบุคคลใดเกิดความโกรธ ก็แสดงว่าความทุกข์ย่ำยีใจของบุคคลนั้นแล้ว เพราะว่าความโกรธนั้นมีสภาพที่ร้อน มีสภาพที่วุ่นวาย มีสภาพที่เผาจิตใจของบุคคลนั้นให้ร้อนรุ่มกลุ้มใจ บุคคลผู้มีความโกรธ ท่านอุปมาอุปมัยว่าเหมือนกับนรก เพราะอะไร ?

            เพราะว่าความโกรธนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นไปสู่อบายภูมิคือนรก เรียกว่ามนุษย์สัตว์นรก คือร่างกายของบุคคลที่มีความโกรธนั้นเป็นมนุษย์อยู่ก็จริง แต่ว่าจิตใจของเขานั้นเกิดความโกรธ คล้าย ๆ กับว่าถูกไฟนรกนั้นเผาไหม้ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้มีความโกรธนั้นท่านจึงอุปมาอุปมัยว่าบุคคลนั้นกำลังที่จะเดินทางไปสู่นรก หรือว่าเป็นบุคคลผู้กำลังแย้มประตูที่จะก้าวเข้าไปสู่นรก คือถ้าบุคคลมีความโกรธไม่พอใจกำหมดกัดฟันตีรันฟันแทงอะไรต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ทำอย่างนี้เรื่อย ๆ คนพูดอะไรก็ไม่พอใจไปหมัด ได้ยินอะไรก็ไม่พอใจไปหมด คนอื่นทำก็มีความหงุดหงิดมีความรำคาญ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่มีโทสะเป็นเจ้าเรือน

            ถ้าบุคคลใดมีโทสะเป็นเจ้าเรือนอย่างนี้แหละ เวลาโกรธขึ้นมาจิตใจร้อนรุ่มกลุ้มใจ ก็เท่ากับว่าบุคคลนั้นกำลังเดินทางไปสู่นรกแล้ว ถ้าบุคคลนั้นจิตดับลงไปคือตายลงไป ขณะที่จะตายนั้นแหละ ด้วยบาปกรรมที่ตนเองเคยโกรธบ่อย ๆ เคยโมโหบ่อย ๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตนเองนั้นได้เกิดกรรมขึ้นมา คิดถึงกรรมที่ตนเองเคยประหัตประหาร กรรมที่ตนเองเคยขู่เคยฆ่าบุคคลอื่นก็ปรากฏขึ้นมา จิตมันก็ไปยึดเอา เมื่อจิตใจยึดเอาแล้วมันก็ดับลงไป และเมื่อจิตดับลงไปก็ไปสู่นรกทันที เรียกว่าไปเกิดในนรก เมื่อไปเกิดในนรกแล้วก็ถูกไฟเผาไหม้ เหมือนกับที่เราได้ศึกษาได้ฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นแหละ

            เหมือนกับพระเทวทัตที่ถูกไฟนรกเผาไหม้ได้รับความทุกข์ทรมานเป็นอนันตกาล ไม่รู้จะสิ้นสุดตรงไหน เหมือนนายจุนทสูกริกที่ฆ่าหมูอยู่ ๕๕ ปี จนไฟอเวจีมหานรกปรากฏขึ้นมาแล้วก็จิตดับลงไปก็ไปหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน อันนี้เป็นเพราะอะไร ? เป็นเพราะว่าร่างกายเป็นมนุษย์ก็จริงอยู่ แต่ว่าใจเป็นสัตว์นรกแล้ว เพราะอะไร ? เพราะว่าความโกรธเป็นหนทางไปสู่นรก เป็นการเปิดประตูเพื่อไปสู่นรก แต่เมื่อบุคคลตกไปอยู่ในนรกนั้นเป็นอนันตกาลสิ้นกาลนานสิ้นกัปป์สิ้นกัลป์ เมื่อพ้นไปจากนรกแล้ว เศษกรรมที่ทำ บาปกรรมที่ทำ ก็อาจจะทำให้ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้ หรือว่าเรามีบุญกุศลที่สั่งสมมามันให้ผลในขณะนั้น เราก็อาจจะเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ได้

            แต่เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ทำให้เราเป็นคนใบ้บ้าหนวกบอดพิกลพิการ อาจขาขาดแขนขาด อาจแขนเป๋ขาเป๋อะไรเป็นต้น อันนี้ก็คือตราประทับของนรกที่ประทับไว้ให้เรารู้ สิ่งที่เป็นอัปปมงคลเหล่านี้ก็คือเศษกรรมที่เกิดขึ้นมาจากบาปกรรม เรียกว่าเศษกรรมที่มาจากนรก เป็นสิ่งที่เป็นอัปปมงคล เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี เป็นตราประทับของนรก เป็นเศษบาปที่มันเกิดขึ้นมา อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายทั้งปวงที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม

            สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ก็คือความโกรธ เพราะฉะนั้น เวลาที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เราก็ควรที่จะยับยั้งความโกรธ ไม่ควรโกรธคนโน้น ไม่ควรโกรธคนนี้ ชั่วชั่งชี ดีชั่งสงฆ์ นี่เรียกว่า ชั่งหัวมัน ชั่งเขาเถอะ อะไรทอนองนี้ หรือว่าเราจะกำหนดคิดหนอ ๆ โกรธหนอ ๆ ก็สามารถที่จะบรรเทาความโกรธ บรรเทาความเดือดร้อนของจิตของใจได้ นี่เราก็จะพ้นไปจากบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง

            หรือว่าเราเกิดความทุกข์เพราะเกิดความโลภ บางคนเป็นประเภทราคจริต หรือโลภจริต เห็นอะไรก็อยากได้ อยากได้โน้นอยากได้นี้มีความอยากอยู่เป็นประจำ มีความอยากประจำสันดาน มีความอยากประจำจิตประจำใจ มีจิตใจครุ่นคิดอยู่ว่าไม่มี ๆ มีจิตใจครุ่นคิดอยู่ว่า ไม่พอ ๆ เรียกว่ามีความอยาก มีความต้องการอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน

            ในลักษณะอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเรานั้นเปิดประตูแย้มเพื่อที่จะเข้าไปสู่ภูมิคือเปรตอสุรกายภูมิแล้ว เราสร้างหนทางแห่งเปรตแห่งอสุรกายภูมินั้นให้ปรากฏอยู่ในจิตใจของเราแล้ว จิตใจของเรานั้นก็จะรับอารมณ์นั้นลงไปในห้วงภวังคจิต เราอยากบ่อย ๆ เรายินดีบ่อย ๆ เราโลภบ่อย ๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อุปนิสัยของเรานั้นกลายเป็นเปรตโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าเปรตเดินดิน เรียกว่า มนุสฺสเปโต เรียกว่ามนุษย์เปรต เรียกว่าร่างกายนั้นเป็นมนุษย์ แต่ใจของเรานั้นเข้าสู่ภูมิเปรตแล้ว เพราะว่าภูมิของเปรตนั้นหิวอยู่เป็นประจำ กระหายอยู่เป็นประจำ มีความไม่อิ่ม มีความไม่พอ มีคำว่าไม่มี ๆ ไม่พอ ๆ อยู่ในจิตในใจตลอดเวลา นี่ลักษณะอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราทั้งหลายนั้นร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ว่าใจของเรานั้นเป็นเปรตแล้ว

            แต่ถ้าจิตใจของเรามันดับลงไปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เครื่องหมายของเปรตนั้นปรากฏขึ้นมา เรียกว่ากรรมนิมิต คตินิมิตนั้นปรากฏขึ้นมา ด้วยอาการแห่งความโลภที่เราเคยโลภ ด้วยอาการแห่งขโมยทีเราเคยขโมย บางคนก็มีความทะเยอทะยานอยาก ไม่อิ่มในรูป ไม่อิ่มในเสียง ไม่อิ่มในกามารมณ์ บางครั้งก็ไปทำชู้สู่สมอะไรต่าง ๆ นา ๆ อันนี้ก็เป็นเพราะเรามีความหิวมีความกระหายในกามคุณอยู่ตลอดเวลา มีความไม่อิ่ม มีความไม่พอ มีความไม่หยุดไม่ยั้งในการเสพกามารมณ์ต่าง ๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นขาดสติขาดการยับยั้งขาดการระวังจิตระวังใจ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำผิดศีลผิดธรรม ก็ไปเกิดในภูมิของเปรตของอสุรกายได้ บางคนไม่พอในวัตถุ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดการฉ้อการโกงการปล้นการลักการขโมยต่าง ๆ เกิดขึ้นมา อันนี้เพราะอะไร ? เพราะความไม่พอ เรียกว่าไม่พอในวัตถุ เรียกว่าไม่มีสิ้นสุดในวัตถุอยากได้อยู่เป็นประจำ อันนี้ก็ทำให้เรานั้นไปเกิดเป็นเปรตได้

            หรือบางคนไม่พอในทรัพย์สมบัติก็ดี ไม่พอในรูปในเสียงในกลิ่นในรส มีความทะเยอทะยานอยากอยู่เป็นประจำ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พูดเท็จ หลอกลวง ต้มตุ๋น กอบโกย โกงเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นมาเป็นของตัวเอง ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นหนทางแห่งการไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้ตายด้วยอำนาจของโลภะนี่แหละ ก็จะไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ตลอดสิ้นกัปสิ้นกัลป์ กว่าจะพ้นกรรม เป็นภูมิที่ไม่กล้าปรากฏต่อสาธารณชน หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ในลักษณะอย่างนั้นตลอดกาลนาน จนกว่าจะสิ้นกรรม เมื่อสิ้นกรรมแล้ว เศษบาปยังมีอยู่ ท่านก็ยังกล่าวว่าไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือมีบุญพอที่จะสนับสนุนให้มาเกิดเป็นคนก็จะมาเกิดเป็นคน

            เมื่อเกิดเป็นคนแล้วก็จะเป็นคนยากจน เป็นคนถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว เป็นคนผู้ที่อาภพไร้ญาติขาดมิตร เป็นคนผู้ที่หากินไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นคนที่ลำบากต้องขุดต้องคุ้ยเขี่ยอาหารกิน ทั้ง ๆ ที่คนอื่นนั้นเขาอุดมสมบูรณ์ แต่ตนเองเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่มีความสมบูรณ์ เรียกว่าเกิดขึ้นมาแล้วก็อด ๆ อยาก ๆ ไปที่ไหนก็ไม่มีคนเมตตา ไม่มีคนกรุณา ไม่มีคนสงสาร เพราะผลวิบากกรรมที่ตนเองเคยเป็นคนโลภ ไร้เมตตา ไร้ปรานี ในภพก่อนชาติก่อนโน้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ เกิดความทรมาน อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นอัปปมงคล เป็นตราบาปของบุคคลผู้ที่ถูกความโลภครอบงำแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ เรียกว่าตราบาปมันประทับไว้ ให้เรารู้ว่าคนจนทั้งหลายทั้งปวงหากินลำบากในลักษณะดังนี้ ก็ถือว่าเป็นเศษบาปที่เขาได้เคยกระทำมาในภพก่อนชาติก่อนตามที่กล่าวมา อันนี้ก็ถือว่าเป็นความทุกข์ของคนที่เกิดขึ้นมาในทุกวันนี้ เรียกว่าความทุกข์ของคนนั้นก็อาศัยความโลภความโกรธนี่แหละเป็นสมุฏฐาน

            แล้วท่านกล่าวว่าบางคนเป็นประเภทโมหจริต คือเป็นผู้ที่ชอบลุ่มหลง โมหะนั้นก็คือบุคคลผู้มืดมนอนธการ ไม่รู้หนทางแห่งความดีความงาม ไม่รู้หนทางแห่งความสุขความทุกข์ ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือบุคคลผู้ที่มืดมนอนธการ ไม่รู้บุญไม่รู้ทาน ไม่รู้ศีล ไม่รู้ภาวนา ไม่รู้การประพฤติปฏิบัติ ไม่รู้หนทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่เรียกว่าเป็นประเภทโมหะ ตายไปแล้วก็จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เรียกว่าผู้ที่มืดมนอนธการ เขาให้ทานก็ไม่รู้จักให้กับเขา เขารักษาศีลก็ไม่รู้จักยินดี ไม่รู้จักอนุโมทนา เขาเดินจงกรม เขานั่งภาวนา ก็ไม่เกิดปีติ ไม่เกิดความพอใจ มีจิตใจมืดมนอนธการไปด้วยราคะ ด้วยมานะ ด้วยทิฏฐิ ด้วยตัณหา อะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้น บุคคลนี้ ท่านกล่าวว่าร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว เหมือนกับว่าเป็นปฏิปทา เป็นหนทาง ที่จะเดินไปสู่ภูมิแห่งดิรัจฉาน เรียกว่า มนุสฺสติรจฺฉาโน กายเป็นมนุษย์ก็จริงอยู่ แต่ว่าจิตใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน นี่เรียกว่าความมืดมนอนธการ

            เมื่อจิตดับ เมื่อถึงคราวที่จะตาย เรียกว่ามรณาสันนกาล เมื่อจิตที่ใกล้ต่อความตายมันปรากฏขึ้นมา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นเกิดนิมิตขึ้นมา เห็นตมเห็นโคลน เห็นเครื่องมือของการประหัตประหารด้วยอำนาจของโมหะแล้วก็ตายไป ตายไปด้วยอำนาจของกรรมของนิมิตของคตินิมิตที่เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของโมหะอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจิตของเราไปจับปั๊บ จิตของเราก็จะดับแล้วก็ไปเกิดในภูมิของสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานนั้นท่านกล่าวว่าเป็นสัตว์ที่ไปขวางคือไม่ตรง เรียกว่าไปขวาง คือขวางศีลขวางธรรมขวางมรรคขวางผลขวางพระนิพพาน คือจะไม่รู้ศีล ไม่รู้คุณงามความดี ไม่รู้มรรค ไม่รู้ผล ไม่รู้พระนิพพาน มีกินมีกามมีเกียจ เรียกว่ากินแล้วก็สืบพันธุ์เท่านั้นเอง แล้วก็หลับแล้วก็นอน นี่เป็นลักษณะของสัตว์เดรัจฉาน

            แม้พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมา พุทฺโธ อุปฺปนฺโน พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา สัตว์เดรัจฉานก็ไม่รู้ไม่ตื่น ไม่เกิดความพอใจ ไม่เกิดความที่อยากจะเข้าเฝ้า เหมือนกับพญานาคในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงลอยถาดเป็นพระโพธิสัตว์แสวงหาพระสัพพัญญู ไปลอยถาดอยู่ที่แม่น้ำเนรัญชรา เมื่อไปลอยถาดแล้วถาดนั้นก็ไปจมลงทับถาดของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ พญานาคก็ตื่นขึ้นมาครั้งหนึ่ง นี่คือความมืดมนอนธการของสัตว์เดรัจฉาน ในลักษณะอย่างนั้น เมื่อตนเองไปเกิดในภูมิของสัตว์เดรัจฉานแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นก็ไม่เกิดความดีใจ พระธรรมอุบัติขึ้น พระสงฆ์อุบัติขึ้นก็ไม่เกิดความดีใจ ไม่รู้มรรครู้ผล เรียกว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นก็ปิดโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ปิดโอกาสที่จะได้สร้างสมอบรมคุณงามความดี เรียกว่ามรรคผลนิพพานนั้นเป็นสิ่งที่สัตว์เดรัจฉานนั้นไม่สามารถที่จะทำให้เกิดขึ้นมาได้ เรียกว่าขวางมรรค ขวางผล ขวางพระนิพพาน

            เมื่อเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วก็ต้องเกิดความทุกข์ เกิดความลำบาก ด้วยการที่ถูกสัตว์ใหญ่นั้นเบียดเบียน บางครั้งสัตว์ใหญ่ก็เบียดเบียน บางครั้งสัตว์ที่อยู่ด้วยกันก็เบียดเบียน บางครั้งเขาก็เอาไปทำอาหาร บางครั้งเขาก็เอาไปใช้การใช้งาน เหมือนกับวัวกับควายที่เขาเอาไปใช้การใช้งาน ต้องลำบากตรากตรำต่าง ๆ ในภูมิของสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งต้องไปเป็นอาหารของคน เขาต้องเอาไปฆ่า อย่างหมู อย่างวัว อย่างควาย เวลาเขาเลิกใช้งานแล้ว เขาเอาไปเชือด เหมือนเป็ดเหมือนไก่ เอาไปเชือด เอาไปเป็นอาหาร ต้องตายอย่างอนาถ ตายด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะอะไร ? เพราะว่าภูมิสัตว์เดรัจฉานนั้น เป็นภูมิที่ทำบาปทำกรรมไว้เยอะ ฆ่าเขาไว้เยอะ ก็เลยถูกเขาฆ่าคืน ถูกเขาเชือดคืน ถูกเขาทุบหัวคืน อันนี้เป็นบาปกรรมของสัตว์เดรัจฉาน

            บางครั้งก็ลำบากเพราะลมเพราะฝน วัวควายเวลาเกิดความหนาวก็ไม่มีผ้าที่จะห่ม เวลาเกิดความร้อนก็ไม่รู้จักที่จะหลบที่จะซ่อน ต้องทำงานตรากตรำอยู่อย่างนั้นแหละ หรือว่าถูกเหลือบยุงลมแดดก็ต้องเป็นทุกข์ตามอาการอย่างนั้น ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากสิ่งเหล่านั้นเหมือนมนุษย์ได้ ไม่เข้าไปอยู่ในห้อง ไม่เข้าไปอยู่ในมุ้งลวด หรือว่าเข้าไปอยู่ในบ้านในเรือนได้ นี่เป็นความทุกข์ของสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว แทนที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วก็ไปทำบาปกรรมหยาบช้าลงไปอีกในภพภูมิของตนที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วก็ไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำลงไป

            เราเคยเกิดเป็นช้างอาจจะไปเกิดเป็นม้า เคยเกิดเป็นม้าอาจจะไปเกิดเป็นควาย หรือว่าอาจจะไปเกิดเป็นวัว อาจไปเกิดเป็นหมู หรือว่าอาจจะไปเกิดเป็นหมาเป็นแมวเป็นลิงค่างบ่างชะนี เป็นเป็ดเป็นไก่ หรือว่าอาจเป็นกุ้งหอยปูปลา เป็นกิ้งกือเป็นไส้เดือน อะไรทำนองนี้ หรือว่าเป็นจุลินทรีย์ต่าง ๆ อันนี้ก็ถือว่าเป็นจิตวิญญาณดวงหนึ่ง ถ้าเราไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว บางครั้งภพภูมิของเราอาจจะต่ำลงไป ๆ ด้วยความประมาท เพราะอะไร เพราะว่า เมื่อเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วย่อมไม่รู้ดีไม่รู้ชั่ว ไม่รู้เหตุรู้ผล เราอาจเกิดเป็นกิ้งกือ ไส้เดือน หรือเป็นจุลินทรีย์ เป็นหมู่หนอนหมักหมมอยู่ในสิ่งปฏิกูลโสโครกก็ได้ อันนั้นก็ถือว่าเป็นจิตดวงหนึ่งที่ไปเกิดในภพภูมิด้วยอำนาจของบาปกรรมอกุศลกรรมที่ได้สร้างสมอบรม บางครั้งหนอนตัวหนึ่ง ไส้เดือนตัวหนึ่ง เขาก็อาจจะเกิดเป็นพระเหมือนกันกับเรานี่แหละ หรือว่าอาจจะเคยเกิดเป็นแม่ชี อาจจะเคยเกิดเป็นอุบาสกเหมือนกันกับเรา หรืออาจจะเคยเกิดเป็นพระเคยแสดงธรรมอย่างองอาจกล้าหาญก็มี เพราะว่าวิถีชีวิตของบุคคลผู้ยังไม่ได้บรรลุธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่การันตีไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงถือว่าเป็นความทุกข์ที่เราทั้งหลายควรพิจารณา

            เมื่อเราพ้นไปจากสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาแล้ว ท่านยังกล่าวว่า เมื่อพ้นจากสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาแล้ว เรามีบุญได้ทำไว้แต่ปางก่อนโน้นมันให้ผล ก็อาจจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่น่าอนาถใจ เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้วก็เป็นประเภทที่เซ่อซ่าโง่เง่า เรียกว่าเป็นคนที่มีสติไม่เต็ม มีสติไม่ครบ นับสิบไม่ถ้วน หรือว่ามีสติไม่สมบูรณ์ เดินหัวเราะ เดินร้องเพลง ไม่นุ่งผ้านุ่งแพร อะไรต่าง ๆ เดินไปเดินมา คนในลักษณะอย่างนี้ไม่สามารถที่จะมีสติมีสัมปชัญญะพอที่จะหาทรัพย์สมบัติเลี้ยงตัวเอง หรือไม่สามารถที่จะยังความสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัว หรือไม่สามารถที่จะให้ความสุขแม้แก่แม่บังเกิดเกล้าได้ เพราะอะไร ?

            เพราะว่าตนเองนั้นมีร่างกายไม่ดี มีสติมีสัมปชัญญะไม่ดี อันนี้เป็นเพราะอะไร ? เป็นเพราะตราบาปที่เราเคยลุ่มหลงมัวเมาด้วยอำนาจของความมืดมนอนธการ ด้วยอำนาจของโมหะ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายนั้นควรไตร่ตรองให้เข้าใจ ให้คิดว่าสิ่งเหล่านี้แหละเป็นความทุกข์ของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงถูกความโกรธ ถูกความโลภ ถูกความหลงนี่แหละ ทำให้ไปเกิดในภพภูมิต่าง ๆ แล้วก็ได้รับความทุกข์ทรมานตลอดกาลนานก็อาศัยสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เพื่อที่จะให้พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ ให้สิ่งเหล่านี้ตายไปจากจิตจากใจของเราด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน บุคคลที่เกิดขึ้นมาแล้วมีความทุกข์ หันซ้ายแลขวาขึ้นข้างบนลงข้างล่าง ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย ไปเกิดในภพนั้นภพนี้ก็เพราะอำนาจของความโกรธความโลภความหลงนี่แหละเป็นมูลเหตุเป็นสมุฏฐานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

            พวกเราทั้งหลายมีโอกาสได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มีโอกาสได้มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงถือว่าพวกเรานั้นมีบุญล้นฟ้ามีบุญล้นแผ่นดินแล้ว เพราะฉะนั้นก็ขอให้เรานั้นเกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา ดังที่โบราณท่านกล่าวไว้ว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พรหมโลกอยู่ในจิต นิพพานอยู่ในมโน” เรียกว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็อยู่ที่อัตภาพร่างกายอันยาววา หนาคืน กว้างศอก ของเรานี่แหละ เรามาประพฤติปฏิบัติเพื่อฝึกเพื่อฝนเพื่ออบเพื่อรมใจของเรา อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย ตามที่กล่าวมา ก็คือใจของเรานี่แหละเป็นมูลเหตุ เป็นสมุฏฐาน

            ท่านจึงกล่าวว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พรหมโลกอยู่ในจิต นิพพานอยู่ในมโน” ก็คืออยู่ที่จิตใจของเรานี่เอง หรือว่าเราจะไปสวรรค์ เราก็ต้องอาศัยจิตใจของเราที่สร้างสมอบรมคุณงามความดี บุคคลผู้จะไปสู่สวรรค์นั้นต้องมีเทวธรรม ดังที่พระท่านสวดว่า “หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา” ที่เราสวดอยู่เป็นประจำ หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา นี่แหละ ถ้าบุคคลใดถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะ บุคคลนั้นก็จะมีความละอายบาป มีความเกรงกลัวต่อบาป ไม่พยายามทำบาปให้มากขึ้น พยายามลด พยายามหลีก พยายามเว้น จากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่กล้าทำบาป เหมือนกับบุคคลผู้รู้ว่าอันนี้มันเป็นมูตรเป็นคูถก็ไม่อยากเอามือไปแตะต้อง พยายามที่จะถอยห่าง ๆ ออกไปเรื่อย ๆ เพราะอะไร ?

            เพราะรู้ว่านั่นเป็นกองมูตรเป็นกองคูถน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็น ก็พยายามห่างออกไป ๆ บุคคลผู้มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายมีความเกรงกลัวต่อบาปก็เหมือนกัน ย่อมถอยห่างแล้วก็ถอยห่าง ถอยห่างออกไปจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้บุคคลนั้นได้ไปเกิดในเทวโลกอันเป็นแดนสุขาวดี แดนแห่งความสุข มีอาหารอันเป็นทิพย์ มีอารมณ์อันเป็นทิพย์ มีเครื่องทรงอันเป็นทิพย์ มีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทิพย์ แม้แต่ร่างกาย วิมาน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทิพย์ เป็นของละเอียดอ่อน เป็นของประณีต เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็นแดนสุขาวดี เป็นแดนแห่งความสุข หรือท่านกล่าวว่าเป็นแดนที่บุคคลทั้งหลายจะพึงถึงด้วยกรรมอันดีอันงาม ถึงด้วยกรรมอันชอบ ถึงด้วยกรรมอันเป็นกุศล คือบุคคลใดทำบาปแล้ว ทำอย่างไร ๆ จะไปเกิดในสวรรค์นั้นไปเกิดไม่ได้ บุคคลจะไปเกิดในสวรรค์นั้นต้องเคยให้ทาน เคยรักษาศีล เคยเจริญภาวนา จึงสามารถที่จะไปเกิดในสวรรค์ได้ เรียกว่าต้องมีคุณงามความดีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเครื่องพาให้ไปเกิดในสวรรค์

            ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “สัตว์บางจำพวกผู้มีกรรมอันลามกย่อมเกิดในครรภ์ สัตว์บางจำพวกมีกรรมอันลามกย่อมไปเกิดในนรก สัตว์บางจำพวกมีกรรมอันดีงามย่อมไปเกิดในสวรรค์ บุคคลผู้ไม่มีกิเลสแล้วย่อมปรินิพพาน” ท่านกล่าวไว้ในลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะไปเกิดบนสวรรค์เราก็สร้างสมอบรมคุณงามความดี เราไปสวรรค์ได้ก็ด้วยการอบรมจิตของเราให้สวยงาม นี่เรียกว่าสวรรค์อยู่ในอก ส่วนท่านกล่าวว่าพรหมโลกอยู่ในจิตก็หมายความว่า พรหมโลกนั้นไม่ได้อยู่ในที่อื่น พรหมโลกจะเป็นชั้นพรหมปริสัชชาก็ดี หรือว่าเป็นพรหมปโรหิตา หรือว่าเป็นมหาพรหมา ไล่ไปจนถึงอสัญญีสัตว์ หลังจากนั้นก็เป็นพรหมชั้นที่ ๑๒ คืออวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา อกนิฏฐพรหม ไล่ไปโน้น อยู่ที่ไหน ? อยู่ที่จิตของเรา เรียกว่าพรหมโลกนั้นอยู่ในจิต ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น ? เพราะว่าบุคคลผู้จะไปเกิดในพรหมโลกนั้นต้องอาศัยการเจริญฌาน

            ถ้าบุคคลใดไม่ได้สมาธิไม่ได้ฌานเกิดขึ้นมาในจิตในใจแล้ว อยากจะไปเกิดในพรหมโลกอย่างไร ๆ ก็ไม่สามารถที่จะไปเกิดได้ ถึงบุคคลนั้นจะให้อาหารอันประณีตแก่พระขีณาสพ แก่พระอรหันต์เต็มบาตร ให้ทานอันประณีตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ให้อาหารอันประณีตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าที่ยืนติด ๆ กันตั้งแต่มนุษย์โลกจนถึงเทวโลก ตั้งแต่เทวโลกจนถึงขอบปากจักรวาล ตั้งแต่ขอบปากจักรวาลจนถึงพรหมโลก ก็ไม่สามารถที่จะไปเกิดในพรหมได้ ถึงเราจะให้ทานมากมายขนาดไหนก็ตาม ไม่สามารถที่จะไปเกิดในพรหมโลกได้ หรือเราจะสร้างโบสถ์สร้างวิหาร สร้างกฐินร้อยกองพันกอง เราก็ไปเกิดในพรหมโลกไม่ได้

45  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี เมื่อ: 02 มกราคม 2567 16:01:58


ความหมายของสีลัพพตปรามาส
ถาม : สีลัพพตปรามาส ความหมายคืออะไรเจ้าคะ เพราะอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ

พระอาจารย์ : หลวงตาท่านบอกว่าเป็นการลูบคลำศีล คือ ไม่มั่นใจว่าศีลนี้เป็นเหตุของการดับทุกข์ได้หรือเปล่า ถ้าเป็นพระโสดาบันนี้ ท่านรู้ว่าการทำบาปนี้เป็นเหตุที่ทำให้เราทุกข์กัน ถ้าเรารักษาศีลได้เราก็จะไม่ทุกข์ ดังนั้น พระโสดาบันนี่จะรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เวลาท่านทุกข์ท่านก็ไม่ไปแก้ทุกข์ด้วยการทำพิธีกรรมต่างๆ ไปหาหมอดู ไปทำอะไร วิธีเหล่านี้ไม่ได้เป็นการแก้ทุกข์ ทุกข์มันเกิดจากการที่เราไปทำบาป  ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์เราก็อย่าไปทำบาป แล้วเราจะไม่มีความทุกข์ใจ หรือว่าถ้าเราทุกข์เพราะความอยาก เราก็ต้องหยุดความอยาก พระโสดาบันจะรู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นจาก ๒ อย่าง ๑. เกิดจากความอยาก ๒. เกิดจากการทำบาป ดังนั้น เวลาทุกข์นี่ เช่น ทุกข์เพราะว่าไม่สบายแล้วทุกข์ ก็ไปหาหมอดูว่าจะหายไม่หาย แล้วจะทำวิธีทำให้หายได้ไหม อันนี้เป็นวิธีงมงาย มันจะไม่ได้ทำให้หายทุกข์

วิธีจะทำให้หายทุกข์ก็คือ ต้องดูว่าร่างกายนี้มันต้องตายหรือเปล่า มันต้องเจ็บหรือเปล่า มันต้องแก่หรือเปล่า แล้วมีอะไรไปเปลี่ยนมันได้หรือเปล่า ไปห้ามมันได้หรือเปล่า ถ้าห้ามไม่ได้ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่างๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร บางวิธีสมัยโบราณเขาสะเดาะเคราะห์ด้วยการบูชายันต์นี่ ด้วยการฆ่าแพะฆ่าแกะฆ่าเป็ดฆ่าไก่ นี่เขาเรียกว่าสีลัพพต พวกที่ไปสะเดาะเคราะห์เพื่อกำจัดความไม่สบายใจของตนด้วยการไปทำพิธีกรรมต่างๆ นี่เรียกว่าสีลัพพตปรามาส

วิธีที่จะทำให้ใจเราหายทุกข์ก็คือ ต้องหยุดความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ต้องรู้ว่าความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายนี้เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ แล้วการไปทำบาปก็ไม่เป็นวิธีดับทุกข์ แต่เป็นการกระทำให้เกิดทุกข์มากขึ้นไป นี่คือสีลัพพตปรามาส คนที่ไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร ก็จะไปแก้ด้วยวิธีต่างๆ ไปหาหมอดู ไปดูฮวงจุ้ย ไปทำบูชาราหู ไปลอดใต้ถุนโบสถ์ ไปถ้าสมัยก่อนก็มีการบูชายันต์ ต้องฆ่าเป็ดฆ่าไก่ฆ่าวัวฆ่าควายบูชาเจ้าที่เจ้ากรรมนายเวรอะไรต่างๆ ก็ว่าไป


ให้เอาบุญวิ่งหนีบาป
ถาม  :  ถ้าในอดีตเราได้ทำบาปฆ่าสัตว์ แต่ในปัจจุบันรู้แล้วว่าเป็นบาปเราจะทำอย่างไรคะในอดีตที่ทำผิดพลาดไป

พระอาจารย์  :  อ๋อ ในอดีตก็ต้องใช้มันไปละซิ ถ้าทำบาปโดยไม่รู้ก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน งั้นมันห้ามไม่ได้ของเก่าที่ทำไปแล้วก็ต้องรับผลไป แต่เราสามารถรอให้มันลงอาญาได้ เลื่อนเวลาได้ด้วยการพยายามทำบุญให้มากๆ ไว้ ถ้าเราทำบุญไว้มากกว่าบาป เวลาที่เราตายไป บาปมันยังแสดงผลไม่ได้เพราะบุญมันมีกำลังมากกว่า บุญก็จะดึงใจไปสวรรค์ก่อน พอบุญกับบาปมีกำลังเท่ากันเราก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ เราก็มาทำบุญใหม่ พยายามให้มันมากกว่าบาปไว้เรื่อยๆ แล้วเวลาตายมันก็ยังไม่ไปอบาย แต่มันไม่หาย

แต่เวลาใดที่บุญน้อยกว่าบาปแล้วเวลาที่เราตายไป ตอนนั้นแหละบาปมันก็จะดึงเราไปอบาย เราไปลบล้างมันไม่ได้ เพียงแต่เราอาจจะรอลงอาญาได้ด้วยการพยายามทำบุญให้มากกว่าบาปไว้อยู่เรื่อยๆ คือให้เอาบุญวิ่งหนีบาป ถ้าบุญวิ่งเร็วกว่าบาป บาปก็ตามไม่ทัน ถ้าบุญวิ่งช้ากว่าบาป บาปแซงหน้าเมื่อไหร่ บาปมันก็จะพาเราไปอบายเมื่อนั้น.


แผ่เมตตา
ถาม : มีงูเห่าตัวเล็กๆ เข้าบ้าน แล้วคุณพ่อฆ่าแต่ตัวเราเองไม่อยากให้พ่อฆ่า แต่ท่านไม่รับฟัง เราจะบาปด้วยไหมเจ้าคะ และสามารถแผ่เมตตาจะช่วยได้ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ : อ๋อ เราไม่บาปหรอกถ้าเราไม่ได้เป็นคนทำและเป็นคนช่วยเขาทำ เขาทำของเขาเอง ส่วนการแผ่เมตตาก็ต้องไปช่วยเขาซิ ถึงจะเรียกว่าแผ่เมตตา คืออย่าไปทำร้ายเขา ถ้าเราแผ่เมตตาด้วยความคิดว่า เออ ขอให้เธอไปสุคติ นี่ไม่ได้แผ่แล้วละ เพราะมันตายแล้ว

งั้นถ้าเราจะแผ่เมตตาต้องแผ่ตอนที่มันยังไม่ตาย พอใครจะไปทำร้ายเขาก็ไปห้ามเขาไปหยุดเขา อันนี้เพื่อให้มันรอดพ้นจากภัยได้ ถึงจะเรียกว่าแผ่เมตตา แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ แล้วเราสวดบทแผ่เมตตามันไม่ได้แผ่หรอก เพราะเราไม่ได้ทำอะไร เราไม่ได้ช่วยเขา.



เรายังช่วยตัวเราเองไม่ได้เลย
ถาม : ท่านอาจารย์คะ สมมุติว่าเรารู้ว่าทางนี้เป็นทางที่ดีและเราเข้าใจ แต่ว่าคนใกล้ตัวเราเขาไม่ยอมรับ และเขาก็ไม่มาทางนี้กับเราเลย เรามีวิธีช่วยเขาอย่างไรคะ

พระอาจารย์ : ก็เรื่องของเขา ไม่ต้องไปช่วยเขา พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ช่วยใคร  ตอนออกจากวัง ก็ออกมาเพียงพระองค์เดียว

ถาม : เราก็รู้เห็นแต่เราก็ทำอะไรไม่ได้

พระอาจารย์ : ทำไม่ได้หรอก เรายังช่วยตัวเราเองไม่ได้เลย จะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร เรายังว่ายน้ำไม่เป็นเลย เราจะช่วยคนอื่นให้ว่ายได้อย่างไร เราต้องหัดว่ายให้เป็นก่อน ว่ายเป็นแล้วค่อยสอนผู้อื่น พอว่ายเป็นแล้ว ผู้อื่นก็จะเกิดศรัทธาในตัวเรา  อย่างพระพุทธเจ้าพอตรัสรู้แล้วพระราชบิดาก็มีศรัทธา ใครๆก็มีศรัทธา นิมนต์มาสอนในวังเลย ไม่นานก็ได้บรรลุกัน.


นั่งสมาธิแล้วเห็นเป็นสีขาวนวล
ถาม : กราบนมัสการค่ะหลวงพ่อ หนูอยากถามว่าการนั่งสมาธิทำจิตว่าง จะเห็นเป็นสีขาวนวลๆ หมายถึงอะไรเจ้าคะ

พระอาจารย์ : หมายถึงว่ายังใช้ไม่ได้ ต้องนั่งต่อไป อย่าไปสนใจกับสีขาวนวลๆ ถ้าพุทโธก็ต้องพุทโธต่อไป ถ้าดูลมก็ต้องดูลมต่อไป มันต้องเข้าไปจนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ต้องว่างจริงๆ เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ แล้วก็มีความสุขอย่างมาก เป็นความสุขที่มหัศจรรย์ใจ นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเราได้ผลจากการนั่งสมาธิ

ถ้านั่งไปแล้วยังรู้สึกเฉยๆ เหมือนกับตอนที่ไม่ได้นั่งก็ยังถือว่ายังไม่ได้สมาธิ ถึงแม้จะรู้สึกว่างจะเบาบ้างแต่มันยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ต้องนั่งต่อไปต้องดูลมต่อไป หรือต้องพุทโธต่อไปอย่าหยุด. 

ไม่มีสติ
ถาม : เวลานั่งสมาธิแล้วมักจะเห็นอะไรแปลกๆ แวบขึ้นมา นั่นคือเจ้ากรรมนายเวรหรือเราไม่มีสติเจ้าคะ

พระอาจารย์ : อ๋อ ไม่มีสติ พอเผลอสติปั๊บเดี๋ยวก็มีอะไรผุดขึ้นมา ก็แสดงว่ามันเป็นเครื่องเตือนใจเราว่า “เฮ้ย เผลอสติแล้วนะ” กลับมาหาพุทโธต่อ กลับมาดูลมต่อ อย่านั่งเฉยๆ อย่าขี้เกียจ พอขี้เกียจแล้วเดี๋ยวมันก็โผล่ขึ้นมา 

46  สุขใจในธรรม / ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม / Re: ปฏิทินปักข์ปาฏิโมกข์ พ.ศ.2567 (ของฝ่ายธรรมยุต) เมื่อ: 02 มกราคม 2567 15:38:26

47  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / ปรากฏการณ์ "ฝนโบกขรพรรษ" เมื่อ: 21 ธันวาคม 2566 12:56:09


ปรากฏการณ์ "ฝนโบกขรพรรษ"

ครั้งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์ พระบรมวงศ์และชาวเมืองได้ออกมารับเสด็จกันมากมาย  มีพระบรมวงศ์ศานุวงศ์บางองค์ ไม่ทำความเคารพในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อและไม่น่าเชื่อ พระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นอาการจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดยเสด็จขึ้นเหาะสู่อากาศ  พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงกราบพระโอรสพระญาติวงศ์ก้มกราบไหว้ตามๆ กัน

ขณะนั้นได้เกิดเมฆตั้งเค้าครึ้มขึ้นแล้วเกิดฝนเรียกว่า "ฝนโบกขรพรรษ" ตกลงมา "ฝนโบกขรพรรษ" เป็นฝนมหัศจรรย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อน ดังนี้
๑. มีเม็ดฝนแดงเรื่อคล้ายแก้วหรือทับทิม
๒. ผู้ใดปรารถนาได้เปียกก็เปียก ผู้ไม่ปรารถนาแม้ละอองก็ไม่สัมผัสกาย
๓. ไม่ขังนองเลอะเทอะ พอฝนหายพื้นดินแห้งสะอาด
๔. ตกเฉพาะในสมาคมพระญาติ ไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมประชุมด้วย

เมื่อฝนโบกขรพรรษตกลงแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงมหาเวสสันดรชาดก เพราะฝนโบกขรพรรษมีหยาดน้ำที่ชุ่มเย็น ทำให้พระประยูรญาติต่างชุ่มชื่นพระทัย พระองค์จึงทรงแสดงเวสสันดรชาดกขึ้นตามลำดับ และจบด้วยเหตุการณ์ตอนที่ ๖ กษัตริย์พระองค์นั้นได้กลับมาพบกันอีก คือพระเวสสันดร พระนางมัทรี พระกุมารีกัณหา พระกุมารชาลี พระราชบิดา พระราชมารดา ทั้ง ๖ พระองค์ทรงดีพระทัยจนถึงขั้นสลบไป ทรงฟื้นรู้สึกพระองค์ต่อเมื่อได้มีฝนโบกขรพรรษตกลงมาต้องพระวรกาย


ที่มา
- ภาพ จิตรกรรมฝาผนัง "ฝนโบกขรพรรษ" วัดอ่างแก้ว เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครฯ ประเทศไทย
- เรื่อง จิตรกรรมฝาผนังในสยาม
48  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: นรก ๑๐ ขุม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) เมื่อ: 16 ธันวาคม 2566 16:49:12


นรก ๑๐ ขุม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี


            นรกขุมที่ ๗ ก็คือ อโยคุฬนรก นั้นก็หมายถึงว่า นรกที่มีก้อนเหล็กแดงเต็มไปหมด หมายความว่าเมื่อสัตว์นรกที่ตายไปแล้วไปเกิดในนรกขุมนี้แล้ว นายนิรยบาลก็จะเอาคีมงัดปากของสัตว์นรกเหล่านั้นแล้วก็เอาก้อนเหล็กแดงนั้นยัดลงไปในปากให้ได้รับความทุกข์ทรมานแล้วก็ตายไป ตายไปแล้วก็เกิดขึ้นมาอีก เกิดขึ้นมาแล้วก็จับปากอีกยัดเหล็กแดงลงไปอีก ได้รับความทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้จนสิ้นบาปกรรม ไม่รู้ว่ากี่กัป กี่กัลป์ แล้วแต่บุญบาปของบุคคลนั้นจะทำไว้มากน้อยขนาดไหน บาปกรรมที่ทำให้มนุษย์ไปตกนรกขุมนี้ก็คือ การที่เขาไปปล้น  ไปปล้นธนาคารก็ดี ไปลักวัวลักควายก็ดี ลักเป็ด ลักไก่ก็ดี หรือว่าไปปล้นบ้าน ปล้นแท็กซี่ ที่เราเห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็ไปเกิดในนรกขุมนี้ พวกลักวัวลักควายสมัยก่อน ลักเป็ดลักไก่หรือลักสิ่งของของบุคคลอื่น ที่เขาไม่ให้ ตายไปแล้วก็ไปตกนรกขุมนี้ชื่อว่า อโยคุฬนรก ต้องถูกนายนิรยบาลนั้นจับคีมขึ้นมาแล้วก็งัดปากเอาทองแดงนั้นยัดลงไปในปาก ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส

            นรกขุมที่ ๙ ก็คือ อสินขนรก อสิก็คือ ดาบ นข ก็คือ เล็บ เมื่อสัตว์นรกตายไปแล้วไปเกิดในนรกขุมนี้แล้วนี่ เล็บมือก็จะกลายเป็นดาบ กลายเป็นหอก กลายเป็นแหลม กลายเป็นหลาว เล็บเท้าก็เช่นเดียวกัน เมื่อเล็บมือกลายเป็นดาบ เป็นหอก เป็นแหลม เป็นหลาวแล้ว สัตว์นรกแออัดกันมากมาย เหมือนกับข้าวสารที่มันอยู่ในถัง มันจะแออัดกันขนาดไหน สัตว์นรกที่แออัดกันอยู่ขนาดนั้นก็เอาดาบฟันกัน แทงกันด้วยบาปกรรมที่ทำมาได้รับความทุกข์ทรมานบางคนก็แทงกันตายแล้วก็ฟื้นขึ้นมาอีก แทงกันอีกตายแล้วก็ฟื้นขึ้นมาอีกแทงกันอีก ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่อย่างนั้น บุคคลผู้ที่ตายจากมนุษย์แล้วไปเกิดในนรกขุมนั้น ก็เพราะว่าเป็นพวกที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นผู้ที่ฉ้อโกงบุคคลอื่น คือไปเอาทรัพย์สมบัติของหลวงมาเป็นของตนเอง โกงที่นา โกงไร่ของเขา โกงที่ดินเขา ไปปลูกต้นไผ่ ไปปลูกต้นไม้ แล้วก็โกงเอาที่เขา พ่อแม่เขาตายไป ลูกหลานเขาไปกรุงเทพฯ ก็ไปโกงเอาที่ของเขา เขาย้ายเขตแดนไปในลักษณะอย่างนี้ตายไปแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในนรกชื่อว่า อสินขนรก หรือว่าบุคคลใดที่ชอบชก ชอบต่อยกัน ชอบแทงกัน ชอบยิงกัน เวลาตายไปแล้วจะไปตกนรกขุมนี้ หรือว่าไปงานบุญแล้วก็ไปต่อยกัน ไปแทงกัน ไปยิงกัน ตายไปแล้วก็จะไปตกในนรกขุมชื่อว่า อสินขนรก ตกไปแล้วก็มีเล็บเป็นดาบ มีเล็บเป็นหอก เป็นอะไร แล้วก็แทงกันตาย ตายแล้วก็ฟื้น ฟื้นแล้วก็ตาย ตายแล้วก็ฟื้น แทงกันอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะสิ้นบาปกรรม

            นรกขุมที่ ๑๐ ท่านเรียกว่า ยันตปาสาณนรก ยัน ก็คือ ยนต์ เครื่องยนต์ ปาสาณ ก็คือก้อนหิน คือก้อนหินยนต์ คือก้อนหินที่หมุนได้ ก้อนหินนี้จะมีเปลวเพลิงลุกขึ้นมา ก้อนหินนั้นจะหมุนคล้ายๆ กับล้อรถยนต์ใหญ่ กลิ้งเข้ามาๆ ไล่กลิ้งบดสัตว์นรก สัตว์นรกก็วิ่งหนีไป บางครั้งหนีพ้นก็พ้น หนีไม่พ้นก็ถูกบดแบนแล้วก็ตายไป เรียกว่าบดไปเป็นจุน เกิดขึ้นมาด้วยแรงกรรมก็ถูกบดอีกในลักษณะอย่างนี้อยู่เป็นชั่วกัป ชั่วกัลป์เป็นแสนปี เป็นล้านปี จนกว่าจะสิ้นบาปกรรมของเรา มนุษย์ที่ตายไปแล้วไปตกนรกในขุมนี้ก็เพราะว่า เป็นคนที่ชอบยิงสัตว์ เป็นคนที่ชอบทำร้ายสัตว์บุคคลอื่น เป็นคนที่ชอบล่าสัตว์ ไปยิงหนูก็ดี ไปยิงนกก็ดี ไปยิงเป็ดยิงไก่ หรือว่าเอาฉมวกไปแทงปลาก็ดี เอาปืนไปยิงปลาก็ดี ที่เราเห็นการหาอยู่หากินตามภาคอิสานของเรา พวกนี้ตายไปแล้วก็ไปตกนรกชื่อว่า ยันตปาสาณนรก ถูกก้อนหินยนต์กลิ้งบดได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ตายแล้วก็ฟื้นขึ้นมาอีกก็ถูกบดอีกอยู่อย่างนี้เรื่อยไป

            เรื่องนี้มีเรื่องเล่าไว้ว่า มีบุคคลหนึ่งชอบฆ่าสัตว์ เขาชอบฆ่าวัว ฆ่าควาย ฆ่าอยู่เป็นประจำ ฆ่าอยู่ประมาณ ๕๕ ปี เมื่อฆ่าแล้วก็จะเอาเนื้อไว้กิน คือต้องกินเนื้ออยู่เป็นประจำ ไม่กินเนื้อไม่ได้ แล้วเนื้อที่เหลือก็เอาไปขายตลาด เมื่อขายแล้วก็เอาเงินมาให้ภรรยาเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียตามประสาคนฆ่าโค วันหนึ่งเขาฆ่าวัว เมื่อฆ่าเรียบร้อยแล้วก็เอาเนื้อก้อนหนึ่งมาให้ภรรยา บอกภรรยาว่าเนื้อก้อนนี้อย่าไปขายให้ใครนะ เอาไว้ปิ้งให้เรากิน เราจะต้องรับประทานอาหารต้องกินเนื้อทุกวัน แล้วก็เอาเนื้อไปขายหมด เมื่อขายหมดแล้วก็กลับมาจากขายเนื้อแล้วเขาก็ไปอาบน้ำชำระร่างกาย ขณะที่ไปอาบน้ำเพื่อนของสามีมาถึงแล้วก็ว่ามีเนื้อขายให้ไหม พอดีมีแขกมาจากทางไกลไม่มีเนื้อที่จะทำเลย ไม่มีเนื้อที่จะเลี้ยงแขก ภรรยาของคนฆ่าเนื้อก็เลยบอกว่า มีแต่เนื้อที่เหลือไว้เพื่อสามีของตนเองเท่านั้น เนื้ออย่างอื่นไม่มี เพื่อนของสามีก็เลยบอกว่า แขกมาให้ฉันเสียก่อนฉันไม่มีอะไรที่จะทำเลี้ยงแขกเลย ภรรยาก็ว่าให้ไม่ได้ เพราะว่าไม่มีเนื้อแล้วสามีของฉันก็จะไม่ทานอาหารเลย เพราะว่าเขาขาดเนื้อไม่ได้ บุคคลผู้ที่เป็นเพื่อนนี้ก็ถือเอาเลย แล้วก็ไปประกอบอาหารเลี้ยงแขก

            สามีกลับขึ้นมาจากอาบน้ำแล้วก็ถามหาอาหาร ภรรยาก็ยกอาหารมาให้ เปิดดูแล้วมันไม่มีเนื้อ ก็เลยบอกว่า เนื้อไปไหนภรรยาก็เลยพูดให้ฟัง พอพูดให้ฟังแล้วคนที่ฆ่าเนื้อก็เลยจับมีดอันคมกริบเดินลงไปใต้ถุนบ้าน แล้วก็เอามือสอดเข้าไปในปากของโค แล้วก็จับลิ้นวัวดึงออกมาแล้วก็เอามีดอันคมนี้ตัดลิ้นของวัว แล้วเอามาโยนให้ภรรยาเอาไปปิ้ง เอาไปประกอบอาหารมาให้ทาน ภรรยาก็ไปย่างมาให้แล้วตัวเองก็นั่งรอที่จะกินลิ้นวัว ขณะที่ภรรยาเอาใส่จานมาแล้วสามีก็จับเอาลิ้นวัวที่ย่างหอมๆ นั้นมาจะกิน พอเอาลิ้นวัววางลงในปากเท่านั้นแหละ ลิ้นของตัวเองก็ขาดออกมา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ใจขาดแล้วก็ตายไป วัวที่ถูกตัดลิ้นก็ตายไปพร้อมๆ กัน บุคคลผู้ที่ตายไปก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก พ้นจากอเวจีมหานรกแล้วก็มาเกิดในนรกที่ชื่อว่า ยันตปสาณนรกได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมาก อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้

            เพราะฉะนั้นเราผู้เป็นพุทธบริษัท เราเป็นเด็กต้องเรียนรู้เรื่องบาป เรื่องบุญ ถ้าเราไม่รู้เรื่องบาปเรื่องบุญไม่มีหิริ คือความละอายต่อบาป ไม่มีโอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป เราก็จะทำอะไรต่างๆ ได้มากมาย เถียงพ่อก็ได้ เถียงแม่ก็ได้ ลักของคนอื่นก็ได้ พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหลก็ได้ สิ่งเหล่านี้มันบาปทั้งนั้น เถียงพ่อเถียงแม่ ด่าพ่อด่าแม่ผู้มีศีลก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตกโลหกุมภีนรกตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น หรือว่าเราไปทำชู้สู่สมบุคคลอื่นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ต้องไปตกนรกชื่อว่า สิมพลีนรกได้รับความทุกข์ทรมาน ถ้าเราไปโกหกบุคคลอื่น ชอบพูดส่อเสียดบุคคลอื่น ก็เกิดเป็นเปรตมีหางงอกออกมาที่ปากได้รับความทุกข์ทรมาน เพราะฉะนั้นเราผู้เป็นเด็ก เด็กในวันนี้เราควรที่จะเรียนเรื่องนรก เรื่องสวรรค์

            ทางคณะครูบาอาจารย์ก็ดี ทางญาติโยมก็ดี ทำอย่างไรเราจึงจะพ้นจากนรกเหล่านี้ได้ การที่จะพ้นจากนรกเหล่านี้ได้ก็คือ การที่พวกเราทั้งหลายได้มาเดินจงกรม นั่งภาวนานี้แหละ ทางอื่นไม่มี เราจะให้ทานมากน้อยขนาดไหนก็ตามก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากนรกได้ เราจะรักษาศีลดีขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากนรกได้ เราจะเจริญสมถกรรมฐานจนได้รูปฌานที่ ๑ รูปฌานที่ ๒ รูปฌานที่ ๓ รูปฌานที่ ๔ หรืออรูปฌานที่ ๑ เรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน หรือว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ไม่สามารถป้องกันนรกได้

            แต่ถ้าเรามาเดินจงกรมนั่งภาวนา กำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่าง กำหนดขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ กำหนดอาการพองอาการยุบ เราสามารถที่จะปิดประตูอบายภูมิได้ ท่านกล่าวไว้ว่าถ้าเรามาเดินจงกรมนั่งภาวนา ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอนี้ ถ้าวิปัสสนาญาณที่ ๑ เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นมา เพียงแต่เรารู้ว่าต้นยกเป็นอย่างไร กลางยกเป็นอย่างไร สุดยกเป็นอย่างไร ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบเป็นอย่างไร ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไร ท่านเรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นมาแล้ว รู้ว่าเท้าขวาของเรานี้เป็นรูป ใจที่นึกนี้เป็นนาม รู้ว่าเท้าที่เหยียบลงไปนี้เป็นรูป ใจที่นึกนี้เป็นนาม แค่นี้ก็เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นมาแล้ว แต่เราต้องรู้เอง ไม่ใช่บุคคลอื่นนั้นไปบอก เรารู้เองด้วยจิตด้วยใจของเรา เมื่อนามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นมา ท่านกล่าวไว้ในสติปัฏฐานสูตร ด้วยอานิสงส์การเจริญสติปัฏฐานสูตรนั้น เราจะไม่ไปสู่อบายภูมินั้น ๑ ชาติถ้าไม่ประมาท

            แต่ถ้าเราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือว่าพองหนอ ยุบหนอ ต่อไปจนเป็นเหตุให้ ปัจจยปริคคหญาณเกิดขึ้นมาเรียกว่ารู้ญาณที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย รู้ใจของรูปของนาม เมื่อญาณนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เรียกว่าเป็นจุลโสดาบัน เป็นผู้ที่ถึงกระแสของพระนิพพานน้อยๆ ตายไปแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท

            ถ้าเราประพฤติต่อไปอีก เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด สัมมสนญาณเกิดขึ้นมา คือเรากำหนดอาการพองอาการยุบไป อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็หายไป หรือว่าอาการพองอาการยุบของเรามันแน่นขึ้นๆๆ แล้วก็หายไป หรือว่าอาการพองอาการยุบของเรามันแผ่วลงๆๆ แล้วก็จางหายไป คล้ายๆ กับเราเทน้ำใส่ทะเลในกองทราย น้ำมันก็หายวับไปทันที อาการของท้องพองท้องยุบนั้นมันก็เร็วขึ้นๆๆ แล้วก็หายไป อาการพองอาการยุบที่มันแน่นขึ้นๆๆ แล้วก็หายไป อาการท้องพองท้องยุบมันแผ่วลงๆๆ แล้วก็หายไป ถ้ามันเป็นในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเรานั้นถึง สัมมสนญาณแล้ว ถ้าเราถึงญาณนี้แล้วจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยไม่ไปสู่อบายภูมิ ๓-๔ ชาติถ้าไม่ประมาท         

            หรือว่าบุคคลใดนั่งไปๆๆ แล้วเห็นนิมิต เห็นภูเขาบ้าง เห็นแม่น้ำบ้าง เห็นทะเลหลวงชลาลัยบ้าง เห็นพระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนมนี้ก็ถือว่า ถึงวิปัสสนาญาณที่ ๓ แล้ว หรือว่านั่งไปๆ บางคนแขนใหญ่ขึ้นมา ตัวใหญ่ขึ้นมา ตัวยืดขึ้นมา บางคนก็แขนยาว บางคนก็ขายาว บางคนก็ตัวใหญ่ขึ้นสูงขึ้นฟ้าก็มี ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่า เราถึงญาณที่ ๓ แล้ว หรือว่าบางคนบางท่านนั่งไปๆ แล้วแสงมันพุ่งออกมาจากหัวใจ ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วก็แตกออกมาเป็นสีเขียวบ้าง สีแดงบ้าง สีเหลืองบ้าง ก็แสดงว่าบุคคลนั้นถึงญาณที่ ๓ แล้ว หรือว่าบุคคลนั่งไปๆ แล้วมันเกิดนิมิต เห็นวิมานของเทวดา เห็นเครื่องทรงของเทวดา อะไรทำนองนี้ก็ถือว่าถึงญาณนั้นแล้ว ถ้าเราประพฤติถึงญาณนี้แล้วเราไม่ประมาทก็ถือว่า เราจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๓-๔ ชาติ

            แต่ถ้าเราไปเกิดเป็นเทวดา ก็จะเป็นเทวดาที่มีแสงสว่างในตัวเองมาก เป็นเทวดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นเทวดาที่ไม่ประมาทในการบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญทาน บำเพ็ญกุศล แต่ถ้าเรามาเกิดเป็นมนุษย์เราก็จะเป็นผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ถ้าเราเดินจงกรมนั่งภาวนาต่อไป ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ กำหนดการเดินจงกรม นั่งภาวนาอยู่เป็นประจำถึงจะเลิกจากการปฏิบัติแล้วเราก็มาเข้าวัด มาเดินจงกรมกับพระอาจารย์อยู่เป็นประจำ เมื่อเดินจงกรมอยู่เป็นประจำก็เป็นปัจจัยให้เกิดอาการพองยุบมันเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็ดับฟุบลงไป หรือว่า แน่นขึ้นๆๆ แล้วก็ดับฟุปลงไป หรือว่าแน่นขึ้นๆ แล้วสัปหงกวึบลงไปขาดความรู้สึกไป ๑ ขณะจิต หรือว่าขณะที่เราบริกรรมไปท้องพองท้องยุบของเรามันชัดเจนขึ้นๆ เมื่อชัดเจนขึ้นแล้วก็เริ่มแผ่วลงๆๆ ก็เริ่มเบาลงๆๆ เมื่อเบาลงเต็มที่แล้วมันก็ดับฟึบลงไป ขาดความรู้สึกไป ๑ ขณะจิต ขณะที่ขาดความรู้สึกไป ๑ ขณะจิตนั้นเหมือนกับว่าเรากระพริบตา หรือว่าเหมือนกับเราเอาไม้ขีดลงไปในน้ำ หรือเหมือนกับฟ้าแลบ เพียงแค่นี้แหละมันดับลงไป ๑ ขณะจิต เรียกว่าจิตใจของเรามันขาดไป ๑ ขณะจิต สันตติมันขาดไป ๑ ขณะจิต ความสืบต่อแห่งรูปแห่งนามมันขาด ถ้ามันเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ก็แสดงว่าเราถึงญาณที่ ๔ แล้ว บุคคลนั้นจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๓-๔ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ๓-๔ ชาตินี้จะไม่ไปสู่อบายภูมิเด็ดขาด

            ถ้าบุคคลนั้นไปเกิดเป็นเทวดาก็จะเป็นผู้มีศักดิ์มาก มีรัศมีมากกว่าเทวดาที่ยังไม่ได้วิปัสสนาญาณที่ ๔ เกิดขึ้นมา เรียกว่ามีเดชมีอำนาจมากกว่าเทวดาบุคคลอื่น ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็จะเป็นคนมีเดช มีอำนาจ บุคคลเกรงใจ เคารพ นับถือ ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วก็จะเป็นบุคคลที่มีบุญวาสนาบารมี เป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะไม่ไปเกิดเป็นคนหูหนวกตาบอด จะไม่ไปเกิดในที่ห่างไกลจากพุทธศาสนา ไม่ไปเกิดในประเทศที่ไม่มีพระพุทธศาสนา จะได้ไปเกิดในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเกิดในกัปที่ไม่มีพุทธศาสนา ถ้าบำเพ็ญบารมีมาครบ ๒๐ ทัศน์ ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เรียกว่าเป็นผู้ที่มีบุญมาก ถ้าปฏิบัติมาถึงญาณที่ ๔ แล้วถ้าเป็นพระก็ไม่ต้องอาบัติปราชิก ถ้าบุคคลใดต้องอาบัติปราชิกแล้ว วิปัสสนาญาณที่ ๔ มันจะไม่เกิด แต่ถ้าวิปัสสนาญาณที่ ๔ เกิดแล้วแสดงว่าภิกษุรูปนั้นไม่ต้องอาบัติปราชิก แล้วภิกษุรูปนั้นมีโอกาสที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน มีโอกาสที่จะได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี มีโอกาสที่จะได้บรรลุเป็นพระอนาคามี หรือว่ามีโอกาสที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ชั้นใดชั้นหนึ่งตามอำนาจวาสนาบารมี ตามอำนาจวาสนาความเพียรของเราที่บำเพ็ญภาวนา

            เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่เจริญวิปัสสนาถึงญาณที่ ๔ นี้ ถือว่าเราปิดประตูอบายภูมิ ๓-๔ ชาติแล้ว แต่ถ้าเราไม่ประมาทเราเจริญไปเรื่อยๆ ถึงญาณที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ นับตั้งแต่ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ แล้วก็ สังขารุเปกขาญาณ ถึงญาณที่ ๑๑ แล้วก็โอนข้ามไปสู่อนุโลมญาณ เมื่ออนุโลมญาณเกิดขึ้นแล้วก็ส่งไปสู่ โคตรภูญาณ โอนจากโคตรปุถุชน ไปสู่อริยโคตร จากนั้นก็ส่งไปให้มรรคญาณ มรรคญาณก็ส่งให้ผลญาณ ผลญาณก็ส่งให้ปัจจเวกขณญาณ บุคคลนั้นก็ถือว่าสำเร็จเป็นพระโสดาบัน เมื่อสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือจะไม่ตกนรกตามที่อาตมาได้กล่าวไว้แล้ว

            เพราะฉะนั้นหนทางที่เราจะปิดประตูอบายภูมิ คือปิดประตูนรกก็คือการเดินจงกรม นั่งภาวนาเหมือนกับที่เราทั้งหลายได้ทำไว้อยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จนถึงญาติโยมทั้งหลาย ตลอดถึงลูกๆ ทั้งหลายจงตั้งใจบำเพ็ญคุณงามความดี เพราะว่าเราเกิดขึ้นมาแล้วโอกาสที่เราจะไม่ทำบาปนั้นเป็นไปไม่ได้ เราต้องเผลอต้องพลั้งทำบาปโดยประการใดประการหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่มีวิปัสสนาญาณเป็นเครื่องการันตีแล้ว บางครั้งเราตายไปแล้วเราก็อาจจะไปตกนรกก็ได้ แล้วได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เพราะฉะนั้นทางออกของเราที่ดีที่สุดก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

            เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมภาพ กระผมได้น้อมนำเอาธรรมะ ในเรื่องนรก และหนทางที่จะปิดประตูอบายภูมิ หรือว่าหนทางที่จะปิดประตูแห่งนรกนั้นก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามที่กล่าวมาแล้วก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้ ญาติโยมทั้งหลายตลอดถึงลูกๆ ทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น จงตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วจงนำหิริคือความละอายนั้นไปไว้ที่ใจของตนเอง นำโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปนั้นไปไว้ที่ใจตนเอง เป็นคนที่ละอายต่อบาป เป็นคนที่เกรงกลัวต่อบาป รู้จักเคารพคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ รู้จักคุณของพระมหากษัตริย์ รู้จักคุณของพระพุทธศาสนา รู้จักคุณของผู้มีคุณแล้วก็ให้ลูกๆ หลานๆ นั้นจงเจริญรุ่งเรืองด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้ลูกๆ นั้นได้มีโอกาสได้มาประพฤติวัตร ปฏิบัติธรรม นำตนให้พ้นจากทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
49  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / นรก ๑๐ ขุม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) เมื่อ: 16 ธันวาคม 2566 16:47:44



นรก ๑๐ ขุม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้วพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนผู้ใคร่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน

            วันนี้ก็ถือว่าเป็นราตรีที่ ๕ คือเราขึ้นมานัตต์แล้ว ๒ วัน การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ไปได้ เรียกว่าได้ประพฤติปฏิบัติ ได้อธิษฐานได้สมาธิแล้ว แล้ววันนี้ก็ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ มีเด็กได้มาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย ซึ่งเด็กที่มานี้ก็ถือว่าเป็นอนาคตของชาติที่จะต้องฝากไว้กับพวกเขา ถ้าพวกเขาได้เป็นผู้ที่มีศีลาจารวัตร มีขนบธรรมเนียมประเพณี มีจิตใจที่ดีงาม ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ประเทศชาติของเรานั้นพัฒนาเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเด็กที่เข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เขาจะต้องทำความเข้าใจก็คือ เรื่องบุญกับบาป บุญกับบาปนี้เด็กได้ยินเป็นประจำ ก็ขอให้ลูกๆ ทั้งหลายได้เอาสติตั้งไว้ที่หู กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” หรือกำหนดว่า “เสียงหนอๆ” เรื่อยไปจนกว่าจะพูดธรรมะเสร็จ จนกว่าบรรยายธรรมะเสร็จ

            คำว่าบุญกับบาปนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชาวพุทธเราได้เข้าใจได้รู้กันอยู่เป็นประจำ หรือในคำว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” ได้ยินกันอยู่เป็นประจำ แต่ไม่เข้าใจว่าสวรรค์ที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร สวรรค์ตามคำของพระพุทธศาสนานั้น หรือว่านรกในความเป็นจริงมันเป็นอย่างไร นรกตามหลักของพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไรอันนี้ยังไม่ทำความเข้าใจชัดเจน

            เพราะฉะนั้นวันนี้จะได้เอาความหมายของคำว่านรกนั้นมาอธิบายให้ลูกๆ ทั้งหลายได้ฟังว่า นรกนั้นเป็นสภาพที่ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นเดือดร้อน กระวนกระวาย ทำไมนรกนั้นจึงเป็นสภาพที่เดือดร้อน ที่ว่าสวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจก็คือเราทำความเดือดร้อน เช่นเราไปด่าคนอื่น เราไปว่าบุคคลอื่น เราไปลักเล็กขโมยน้อย ก็เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นมาทันที หรือว่าเราทำบาปทันทีเราก็ได้รับทันที หรือว่าเราไปกินเหล้าผิดศีลผิดธรรม เรากินในขณะนั้นเราก็เมาทันที นรกได้เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นคำว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจจึงหมายถึงความหมายประเภทนี้

            แต่ที่อาจารย์ได้นำมากล่าวในวันนี้ไม่ใช่ว่าสวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ แต่นรกนี้ท่านกล่าวไว้ในพระมาลัยสูตร ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ท่านกล่าวไว้ว่า นรกนั้นเป็นสภาพที่ร้อน สภาพที่ต้องได้รับความเร่าร้อนอยู่เป็นประจำ คือนรกนั้นเป็นสภาพที่สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ตกลงไปแล้วต้องได้รับความเดือดร้อนตามบาปกรรมที่ตนทำ ถ้าตกนรกขุมใหญ่ก็เดือดร้อนมากถ้าตกนรกขุมเล็กก็เดือดร้อนตามสภาพกรรม บาปกรรมที่ตนเองได้ทำ

            นรกนั้นแปลว่าสภาพที่ทำจิตทำใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นให้เหือดแห้งไปจากบุญจากกุศล สัตว์ทั้งหลายที่ตกในนรกนั้นจะไม่มีโอกาสที่จะได้รับส่วนบุญส่วนกุศลจะได้รับแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่เป็นประจำ ความสุขในขณะที่หายใจเข้าก็ไม่มี ความสุขในขณะที่หายใจออกก็ไม่มี มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนรกนั้นก็ถือว่าเป็นสภาพที่ยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้เหือดแห้งไปจากความสุข ยังจิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นเหือดแห้งไปจากบุญกุศล

            นรกนั้นท่านกล่าวไว้ว่ามีถึง ๔๕๖ ขุม ขุมใหญ่ๆ นั้นมีอยู่ ๘ ขุม คือ สัญชีวนรก กาฬสุตตนรก สังฆาตนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนนรก มหาตาปนนรก นรกชั้นสุดท้ายก็คืออเวจีมหานรก แต่ถ้ารวมโลกันตมหานรก ก็เป็น ๙ ขุมพอดี นรกใหญ่ตั้งแต่สัญชีวนรก จนถึงอเวจีมหานรกนี้จะมีนรกขุมเล็กขุมน้อยตั้งอยู่เรียงรายต่อมาทั้งนอกทั้งในเรียงกันแล้วก็จะได้ ๔๕๖ ขุม แล้วแต่บาปกรรมของแต่ละท่านที่จะไปตกนรกขุมนั้นๆ แต่อาจารย์จะนำมาอธิบายให้นักเรียนทั้งหลายได้ฟังคือ นรก ๑๐ ขุม ที่จะนำมาอธิบายนี้เป็นนรกขุมเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในนรกทั้ง ๘ ขุม

            นรกขุมที่ ๑ โลหกุมภีนรก คือนรกที่เต็มไปด้วยหม้อทองแดงใหญ่ มีความกว้างถึง ๓ หมื่นโยชน์ มีความลึกถึง ๓ หมื่นโยชน์ มีน้ำทองแดงเดือดพล่านอยู่ตลอดเวลา นายนิรยบาลทั้งหลายก็จับสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ไปตกนรกขุมนี้ทิ้งลงไปในหม้อทองแดง น้ำทองแดงมันก็เดือดเอาสัตว์ทั้งหลายจุ่มลงไปในหม้อ แล้วก็ผุดขึ้นมาเหมือนกับเราทิ้งเม็ดข้าวลงในหม้อเดือดแล้วก็วิ่งขึ้นไปวิ่งขึ้นมา หรือว่าจมลงไปถึงท้องหม้อ แล้วก็โผล่ขึ้นมาแล้วก็จมลงไป กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น

            บุคคลผู้ที่ตกนรกขุมนี้แล้วก็ต้องได้รับความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก ต้องแช่อยู่ในน้ำร้อนน้ำทองแดงที่มันร้อน ทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้จนกว่าจะสิ้นบาปกรรมของตนเอง บุคคลที่ตกนรกขุมนี้ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นบุคคลผู้ที่ชอบทุบตีสมณะ ชอบด่าพระ ด่าสงฆ์ ด่าชี ด่าเณร หรือว่าด่าลูก หรือว่าด่าพ่อด่าแม่ ด่าผู้ที่มีศีลมีธรรมตายไปแล้วจะไปตกนรกขุมนี้ ลูกหลานคนไหน พ่อแม่มีศีลมีธรรมเข้าวัดเข้าวาเป็นประจำ ลูกหลานก็ไปด่าพ่อด่าแม่ เถียงพ่อเถียงแม่ หรือว่าพระท่านมีศีลมีธรรมอยู่ดีๆ ก็มาด่าท่านว่าท่าน แม่ชีมีศีลอยู่ดีๆ ก็มาด่าท่านว่าท่าน ตายไปเราก็จะไปตกนรกขุมนี้

            หรือบุคคลผู้ที่ชอบทำ ทารกรรม คือชอบคบชู้สู่สมกับสามีบุคคลอื่นภรรยาบุคคลอื่น ตายไปก็ไปตกนรกขุมนี้เหมือนกันดังมีตัวอย่างที่ท่านกล่าวไว้ ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ มีบุตรชายเศรษฐี ๔ คน บุตรชายเศรษฐีคนนี้มีทรัพย์มาก มีทรัพย์คนละ ๔๐ โกฏิ รวมกันแล้วก็ประมาณ ๑๖๐ โกฏิ เมื่อมีทรัพย์สมบัติมากขนาดนี้ลูกชายทั้ง ๔ คน ก็เลยปรึกษากันว่าทรัพย์สมบัติที่พ่อแม่ของเราหามาได้นี้มันมากมายเหลือเกิน เราจะกินไปจนถึงตายมันก็ไม่หมด เราจะทำอย่างไรหนอเราถึงจะมีความสุขในการใช้สอยทรัพย์ของเรา ถ้าเราตายไปแล้วเราคงจะไม่ได้ใช้สอยทรัพย์ ทรัพย์ก็จะตกเป็นของบุคคลอื่น อย่ากระนั้นเลยพวกเรามาคิดพิจารณาว่าเรานั้นจะทำอย่างไร เราจึงจะมีความสุขจากการมีทรัพย์

            ลูกชายเศรษฐีก็ตกลงกันประชุมกัน เมื่อประชุมกันแล้วก็พูดขึ้นมาว่า เราต้องไปหาเหล้าดีๆ มีสีแดงเหมือนกับเท้านกพิราบมา เหล้าดีๆ กินแล้วก็มีเนื้ออะไรมาย่างมันถึงจะอร่อย อีกคนหนึ่งก็เลยบอกว่า เราต้องมีข้าวที่ดีๆ เหมือนกัน ข้าวที่เขาเก็บไว้ ๒ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง มีกลิ่นหอมเอามาบริโภคแล้วก็มีเนื้อมีอาหารดีๆ มากินด้วย อีกคนหนึ่งก็บอกว่าเรานั้นนอกจากกินเหล้า กินกับแกล้มที่ดีๆ กินอาหารที่ดีๆ แล้วยังไม่พอ อีกคนหนึ่งก็กล่าวว่า เราต้องหานารี ถ้ามีเหล้าแล้วไม่มีนารีมันก็ไม่สมบูรณ์ เราก็เอาเงินของเราไปหาหญิงสาวก็ดี ภรรยาของบุคคลอื่นก็ดี ลูกสาวของบุคคลอื่นก็ดี เอาเงินไปล่อ เอาเงินไปจ้างเอาเพราะว่ามีเงินมาก เอามาบำรุงบำเรอพวกเราทั้งหลาย เราหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้คงจะได้รับประโยชน์อย่างมาก หาความสุขจากการมีทรัพย์มากที่สุด ก็เลยตกลงกันตามนั้น

            ในที่สุดลูกชายของเศรษฐีก็เลยประพฤติตัวเป็นคนเหลวไหล กินเหล้าเมายาทุกวัน แล้วก็กินกับแกล้มตีกลองร้องเพลงเป็นประจำ มีสนมนารีมาบำรุงบำเรอ ไม่สนใจในการบำเพ็ญการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์จนลูกชายของเศรษฐีนั้นตายไป เมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดในนรกชื่อว่า โลหกุมภีนรกถูกยมบาลนั้นทิ้งลงไปในโลหกุมภีนรก ขณะที่น้ำทองแดงร้อนๆ นั้นร้อนตั้งแต่ปากหม้อจนไปถึงก้นหม้อ ลึกถึง ๓๐,๐๐๐ โยชน์ ต้องใช้เวลาถึง ๓๐,๐๐๐ ปีมนุษย์ ต้องจมตั้งแต่ปากหม้อไปถึงก้นหม้อ กว่าที่จะลอยตุ๊บป่องขึ้นมาปากหม้อต้องใช้เวลาถึงอีก ๓๐,๐๐๐ ปี ได้รับความทุกข์ทรมานมาก ลูกชายของเศรษฐีทั้ง ๔ คนที่ไปตกนรกขุมนั้นก็จมลงไปสิ้น ๓๐,๐๐๐ ปี ในสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะก็ลอยขึ้นมาอีกถึงปากหม้อ ๓๐,๐๐๐ปี ในขณะที่ลอยถึงปากหม้อนั้นแหละ เปรตทั้ง ๔ ตนก็ขึ้นมาพร้อมหน้ากัน จะกล่าวกันจะทักกันมันก็ทักไม่ได้ เปรตตัวแรกก็ว่า “ทุ” เปรตตัวที่ ๒ ก็ว่า “สะ” เปรตตัวที่ ๓ ก็ว่า “นะ” เปรตตัวที่ ๔ ก็ว่า “โส” คือไม่สามารถที่จะพูดเต็มประโยคได้ พอโผล่ขึ้นมาแล้วก็ดำผุดลงไปอีกด้วยแรงแห่งบาปกรรมได้รับความทุกข์ทรมาน

            เปรตตัวแรกที่กล่าวว่า “ทุ” นั้นหมายถึง ทุชชีวิตัง เปรตตัวนั้นหมายถึง ชีวิตของข้าพเจ้าเกิดมานั้นเป็นคนประมาท เป็นคนประพฤติชั่ว กินแต่เหล้าเมาแต่ยา ไปประพฤติผิดศีลผิดธรรม ไม่เคยให้ทาน ไหว้พระ รักษาศีล เจริญภาวนา เปรตตัวนี้มันจะกล่าวว่า “ทุชชีวิตัง” แต่กล่าวไม่ได้กล่าวได้แต่ “ทุ” ชีวิตของข้าพเจ้านั้นเป็นชีวิตที่ทุศีล ไม่บำเพ็ญศีล ไม่บำเพ็ญทาน ไม่บำเพ็ญภาวนาประกอบแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

            เปรตตัวที่ ๒ กล่าวว่า “สะ” หมายความว่า สฏฺฐีวสฺสสหสฺสานิ แปลว่า พันแห่งปีหกสิบ ก็หมายถึงว่า ๖๐,๐๐๐ ปี ในที่นี้หมายความว่า ข้าพเจ้าจมอยู่ในหม้อนั้นตั้งแต่ปากหม้อจนถึงก้นหม้อ จากก้นหม้อจะมาถึงปากหม้อนั้นใช้เวลาถึง ๖๐,๐๐๐ ปี ได้รับความทุกข์ทรมานเหลือเกิน อยากจะกล่าวอย่างนี้แต่กล่าวไม่ได้ กล่าวเพียงแต่ว่า “สะ” ไม่ได้ออกหมดว่า สฏฺฐีวสฺสสหสฺสานิ ได้

            เปรตตัวที่ ๓ ที่ว่า “นะ” นะ ในที่นี้หมายความว่า นตฺถิ อนฺโต กุโต อนฺโต กล่าวไม่หมด นตฺถิ แปลว่า ไม่มี อันโต แปลว่า ที่สุด ที่สุดแห่งทุกข์ของข้าพเจ้านั้นไม่มี มันทุกข์เหลือเกิน ทุกข์มากเพราะถูกน้ำทองแดงนั้นมันลวก กุโตอันโต ที่สุดแห่งความทุกข์ของข้าพเจ้าจะมีแต่ที่ไหน คือไม่รู้จักวันว่าจะพ้นไปจากหม้อทองแดงนั้นได้รับความทุกข์ทรมาน

            เปรตตัวที่ ๔ กล่าวขึ้นว่า “โส” โสในที่นี้หมายความว่า โสหํ นูน อิโต คนฺตวา  โสหังแปลว่าข้าพเจ้านั้น คันตะวา ครั้นไปแล้ว อิโต จากที่นี้ นูน แน่ แปลว่า ข้าพเจ้าไปจากที่นี้แน่แล้วนั้นข้าพเจ้าจะบำเพ็ญแต่คุณงามความดี จะให้ทาน ไหว้พระ รักษาศีล เจริญภาวนา ข้าพเจ้าจะไม่ประมาทอีกแล้ว อยากจะกล่าวอย่างนี้แต่มันกล่าวไม่ได้ ก็ได้แต่กล่าวว่า “ทุ สะ นะ โส”

            บุคคลผู้ที่ทำความประมาทในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ๖๐,๐๐๐ ปี ลงไป ๓๐,๐๐๐ ปี ลอยขึ้นมาอีก ๓๐,๐๐๐ ปี มาพูด ทุ สะ นะ โส ในสมัยนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังบรรทมอยู่ดีๆ ได้ยินคำว่า “ทุ สะ นะ โส” ก็ตกพระทัยขึ้นมาสะดุ้งขึ้นมา กลัวว่าตนเองนั้นจะได้รับอันตรายจากเสียงอันพิลึกสะพรึงกลัวนั้น ก็เลยเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้านอนหลับไปเมื่อคืนนี้ ได้ยินเสียงแสนพิสดารว่า “ทุ สะ นะ โส” ดังขึ้นมามันจะเป็นเสียงอะไรหนอ มันจะมายึดเอาพระราชสมบัติ หรือว่าจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองขอให้พระองค์ช่วยพยากรณ์ คลายความสงสัยให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า ไม่ใช่เสียงอะไรหรอก แต่เป็นเสียงของเปรตที่เป็นลูกชายของเศรษฐีครั้งแต่ก่อน แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสเรื่องทั้งหมดให้พระเจ้าปเสนทิโกศลฟัง พระเจ้าปเสนทิโกศลฟังแล้วก็เกิดความสลดสังเวช ตั้งจิตตั้งใจที่จะบำเพ็ญคุณงามความดี ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในการบำเพ็ญทานจนเป็นผู้ที่ค้ำจุนพระพุทธศาสนาอีกคนหนึ่ง อันนี้เป็นอุทาหรณ์ของนรกชื่อโลหกุมภี

            นรกขุมที่ ๒ เรียกว่า สิมพลีนรก สิมพลีนั้นแปลว่าต้นงิ้วนรก แปลว่า นรกที่มีต้นงิ้วมากมายเต็มไปหมด ต้นงิ้วนั้นเป็นต้นไม้ที่สูงมาก มีสัตว์นรกที่ไปตกในนรกชื่อว่าสิมพลีนรกนั้นก็จะถูกนายนิรยบาลเอาหอกบ้าง เอาแหลมบ้าง เอาหลาวบ้าง เอาดาบบ้างไล่ฟัน เมื่อไล่ฟันแล้วก็วิ่งขึ้นต้นงิ้วหนามที่สูงเป็นโยชน์ โยชน์หนึ่งก็ ๑๖ กิโล ต้นงิ้วนั้นสูงเป็นโยชน์ พอวิ่งขึ้นต้นงิ้วแล้วหนามงิ้วมันจะงอลงมา หนามงิ้วนั้นมันมีความยาวถึง ๑๖ นิ้ว งอลงมาเกาะ มาแทงสัตว์ทั้งหลายที่วิ่งขึ้นไปนั้นแหละ ขณะที่วิ่งขึ้นไปแล้วถ้าหยุดอยู่ยมบาลก็เอาหอกยิงบ้าง เอาธนูยิงบ้าง จำเป็นต้องตะเกียกตะกายขึ้นไป พอขึ้นไปถึงสูงสุดแล้วก็มีแร้งสบเหล็ก (แร้งที่มีจะงอยปากเป็นเหล็ก) ที่มีตัวเท่ากับช้างสารบินมาแล้วก็สับหัวของสัตว์นรกเหล่านั้น สัตว์นรกเหล่านั้นทนไม่ได้ก็ต้องตะเกียกตะกายลงมา

            ขณะที่ตะเกียกตะกายลงมางิ้วหนามมันก็งอขึ้นไปแทงเอาสัตว์นรกเหล่านั้นได้รับความทุกข์ทรมาน นายยมบาลก็เอาธนูยิงใส่บ้าง บ้างก็เอาแหลม เอาหลาวซัดขึ้นไปใส่บ้างได้รับความทุกข์ทรมาน บางครั้งก็ทนไม่ไหวก็ตกลงมา เมื่อตกลงมาก็มีหมาใหญ่ หมาใหญ่นั้นตัวเท่ากับช้างสาร มีฟันเป็นเพลิง มีฟันคมเหมือนกับมีดโกนวิ่งมาแล้วก็กัดกิน ทนไม่ได้บางคนก็วิ่งหนีขึ้นไปบนต้นงิ้ว บางคนก็วิ่งทัน บางคนก็วิ่งขึ้นไม่ทัน ถ้าสัตว์นรกบางตัววิ่งไม่ทันก็ถูกหมานั้นมันกัดขาขาดบ้าง เนื้อสะโพกหลุดไปบ้างรับความทุกข์ทรมาน

            บุคคลผู้ตกนรกขุมนี้ ท่านกล่าวไว้ว่าเป็นบุคคลผู้ทำทารกกรรม คือไปทำชู้กับภรรยาบุคคลอื่น ไปทำชู้กับสามีบุคคลอื่น นอกใจสามีตนเองแล้วก็ไปทำชู้กับสามีบุคคลอื่น นอกใจภรรยาตนเองแล้วก็ไปทำชู้กับภรรยาบุคคลอื่น เมื่อตายไปแล้วก็จะไปตกในนรกขุมนี้ บางครั้งนายนิรยบาลก็จะเอาไปผูกไว้กับกิ่งของต้นงิ้วแล้วห้อยหัวลงมา ขณะที่ชายชู้ห้อยหัวลงมานี้นายนิรยบาลก็เอาหอกแทง ยิงธนูใส่บ้าง ได้รับความทุกข์ทรมานจนกว่าจะสิ้นบาปกรรมของตนเอง ถ้าไม่สิ้นบาปกรรมก็ทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้น ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ กี่หมื่นปี กี่แสนปี กี่ล้านปี จนกว่าจะสิ้นบาปกรรมของตนเอง

            บุคคลผู้ที่ทำบาปกรรมในเรื่องนี้ ท่านกล่าวไว้ว่า มีหญิงคนหนึ่ง ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ หญิงคนนั้นได้สามีดี สามีของเธอนั้นเป็นผู้รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ถวายทานกับพระสงค์องเจ้าเป็นประจำ บางครั้งก็ไปรักษาศีลอุโบสถ นางคนนี้ที่ได้สามีดีก็ไปตามสามี สามีพาไปรักษาศีลอุโบสถก็ไป สามีพาไปให้ทานก็เอา ตามสามีไม่กล้าขัดสามี แต่ใจของนางนั้นไม่ยินดี ทำเพราะว่าสามีชอบเท่านั้นเอง วันหนึ่งสามีไม่อยู่ นางก็อดใจไม่ไหวก็ทำชู้สู่สมเป็นชู้กับสามีของบุคคลอื่น เมื่อทำชู้นั้นสามีก็จับได้ แต่จับไม่ได้คาหนังคาเขา คนนั้นก็ว่าภรรยาของท่านมีชู้นะ คนนั้นก็ว่าคนนี้ก็ว่า คอยดูแล้วคอยดูอีก สังเกตดูแล้วสังเกตดูอีกก็ไม่เห็น ก็เลยตกลงว่าเรียกภรรยามาถามดีกว่า ภรรยาก็ว่าไม่เคยนอกใจสักทีถ้าไม่เชื่อขอสาบานก็ได้ ถ้าข้าพเจ้าได้ทำจริงๆ ข้าพเจ้าได้เกิดภพใดภพหนึ่งขอให้ถูกสุนัขนั้นกัดกินอยู่เป็นประจำทุกภพทุกชาติ กล่าวคำสาบานต่อสามี

            พอนางนั้น กาลัง กัตวา ครั้นกระทำกาละไปแล้วคือตายไปแล้วก็ไปตกนรกโอบต้นงิ้วหนามอย่างนี้แหละ เมื่อสิ้นบาปกรรมแล้วก็มาเกิดเป็นเปรต เป็นนางเวมานิกเปรต กลางวันนั้นเสวยความสุขคือการรักษาศีลอุโบสถด้วยใจที่ไม่ยินดีนั้นแหละ ตอนกลางวันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นเทพธิดามีนางสนมกำนัลแวดล้อม มีอาหารอันเป็นทิพย์ เครื่องทรงอันเป็นทิพย์อยู่ในวิมาน นางก็เสวยความสุขอยู่ในวิทานนั้น แต่พอตอนกลางคืนที่นางสาบานว่าไม่เคยทำชู้สู่สมกับสามีนั้นแหละ บาปกรรมนั้นก็ตามมาไม่นานนั้นนางก็กลายเป็นร่างเปรต หมามันมาแล้วมายื้อแย่งกัดกินเนื้อของนาง นางก็ทนทุกข์ทรมานโอดโอยจนตายไป ตายไปแล้วก็ฟื้นขึ้นมาหมาก็กัดกินอีก ตายไปแล้วฟื้นขึ้นมาหมาก็กัดกินอีกทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้น จนพระเจ้าพาราณสีพระองค์หนึ่งเสด็จไปล่าเนื้อ แล้วก็ไปเห็นนางเวมานิกเปรต ก็เลยเกิดความชอบใจกับนางเวมานิกเปรตก็ไปเสวยกามคุณกับนางเวมานิกเปรตตอนกลางวัน แต่สังเกตว่านางคนนี้ตอนกลางวันก็อยู่กับเรา ตอนกลางคืนไปไหนหนอ ก็พิจารณาไปพิจารณามาไม่เห็นอยู่สักคืนก็เลยเสด็จตามออกมา

            เมื่อเสด็จตามออกมาแล้วก็เห็นหมา มากัดกินเนื้อแข้งบ้างมากัดกินตามเนื้อตามตัวตามแข้งตามขาบ้างนางก็ร้องครวญครางอยู่ พระเจ้าพาราณสีก็ยื้อดาบแล้วก็ไปตัดหมาฟันหมา ฟันครั้งหนึ่งหมาก็ตัดขาดออกเป็น ๒ ตัว ฟันครั้งที่ ๒ ก็แยกออกเป็น ๔ ตัว ฟันครั้งที่ ๓ หมาตัวนั้นก็แยกออกเป็น ๘ ตัว ฟันยังไงหมาก็ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก นางก็เลยบอกว่าถ้าท่านอยากจะให้บาปกรรมเหล่านี้มันหายไป พระองค์ก็ทรงถ่มน้ำลายแล้วก็เอาเท้าขยี้หมาพวกนี้มันจะหายไป ถือว่าเป็นการแก้เคล็ดบาปกรรม พระองค์ก็ทรงทำอย่างนั้นหมาทั้งหมดก็หายไป นางเวมานิกเปรตก็หมดจากกรรมตั้งแต่วันนั้นมา พระเจ้าพาราณสีก็ไม่พอใจในนางแล้วก็กลับไปครองเมืองเหมือนเดิม

            เรื่องนี้ก็เป็นอุทาหรณ์ว่าบุคคลผู้ที่ทำบาป ทำชู้สู่สมกับบุคคลอื่นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ต้องโอบต้นงิ้วหนาม ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมาก ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เหลือที่จะหลีกเร้นได้ เพราะว่าบาปกรรมนี้เป็นบาปกรรมที่ทำร้ายจิตใจของบุคคลอื่นให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เพราะว่าบุคคลใดมีเมียแล้วเมียไปมีชู้ คล้ายๆ กับว่าตกนรกทั้งเป็น ถ้ารู้แล้วก็เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น ไม่สามารถที่จะทำใจยอมรับได้ ถ้าบุคคลใดมีสามีแล้วสามีไปมีชู้ก็เหมือนกับว่า เราตกนรกทั้งเป็นไม่สามารถที่จะมีความสุขเรียกว่าทำร้ายจิตใจของบุคคลอื่น ทำให้จิตใจของบุคคลอื่นนั้นตกนรกทั้งเป็นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้รับความทุกข์ ได้รับความเดือดร้อนก็เลยไปตกนรกขุมนี้

            นรกขุมที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า อโยทกนรก เป็นนรกที่เต็มไปด้วยน้ำร้อน เต็มไปด้วยน้ำเดือดพล่าน แต่เป็นน้ำเหล็ก อโย มาจากคำว่า อยะ แปลว่าเหล็ก บวกกับอุทก แปลว่าน้ำ แปลว่าน้ำเหล็ก จึงแปลว่า นรกที่มีน้ำเหล็กนั้นเดือดพล่านอยู่เป็นประจำ สัตว์นรกที่ตกลงไปนี้ก็จะถูกจมลงไปในน้ำนรกนั้น พอจมลงในน้ำนรกนั้นนายนิรยบาลก็เอาตะขอเหล็กนั้นเกี่ยวปาก เกี่ยวปากแล้วก็ลากสัตว์นรกนั้นลากไปลากมาในน้ำร้อนๆ จนกว่าจะตายไป ฟื้นขึ้นมาก็ลากไปลากมาอยู่นั้นแหละ ทนทุกข์ทรมานไม่รู้กี่กัป กี่กัลป์ กี่แสนปี กี่ล้านปี จนกว่าจะสิ้นบาปกรรม บุคคลผู้ทำบาปแล้วไปตกนรกขุมนี้ก็คือ พวกที่ชอบจับสัตว์เป็นๆ ลงไปในน้ำเดือดๆ เช่นเราต้มน้ำเดือดๆ แล้วก็เอาปลาทิ้งลงไป ปิดฝาหม้อเอาไว้ หรือว่าต้มน้ำเดือดๆ แล้วก็ทิ้งปลาไหลลงไป หรือว่าทิ้งกบลงไปแล้วก็ปิดไว้ หรือว่าต้มน้ำร้อนๆ ลงไปแล้วก็ทิ้งกุ้งบ้าง ปลาซิวบ้างลงไปแล้วก็ปิดหม้อไว้ เราฆ่าสัตว์ที่เป็นๆ อยู่นี่ตายไปแล้วเราก็จะไปตกนรกขุมนี้ หรือว่าพวกที่ชอบใส่เบ็ด ตกปลา ก็จะถูกนายนิรยบาลเอาตะขอ เกาะปากแล้วก็จมอยู่ในหม้อทองแดงแล้วก็ดึงไปดึงมา ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสจนกว่าจะสิ้นบาปกรรม อันนี้เรียกว่า อโยทกนรก

            นรกขุมที่ ๔ ก็คือ ธุสนรก ธุสนรกนั้นเป็นนรกที่มีน้ำใสสะอาด แต่สัตว์นรกที่ไปเกิดนั้นเป็นผู้ที่หิวน้ำมาก เมื่อหิวน้ำเห็นน้ำใสสะอาดแล้วก็วิ่งกันไปกินน้ำ ขณะที่กินน้ำอยู่น้ำนั้นก็กลายเป็นแกลบ เป็นแกลบเพลิงลุกไหม้ท้องของคนนั้นได้รับความทุกข์ทรมานตายแล้วก็ฟื้นขึ้นมาอีกหิวน้ำอีกก็กินน้ำอีก น้ำกลายเป็นแกลบเพลิงอีก ได้รับความทุกข์ทรมานอีกอยู่อย่างนี้ร่ำไป จนกว่าจะสิ้นบาปกรรมได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส บาปกรรมที่ทำให้ตายไปแล้วไปตกในนรกขุมนี้นั้น ท่านกล่าวว่าเวลาไปขายข้าวก็ดี เอาแกลบเอาข้าวลีบไปผสมกับข้าวที่มันเม็ดดีแล้วก็ไปขายให้บุคคลอื่นเขาเรียกว่าโกง โกงข้าวเขา โกงการขาย บางคนก็ไปขายผัก ขายผักกาดก็ดี ขายมะเขือก็ดี ขายพริกก็ดี เวลาไปขายก็เทน้ำใส่ให้มันเปียกๆ แล้วก็ไปโกงเขา บางคนเอารถไปขายข้าวบรรทุกข้าวไปแล้วก็ไปชั่งเอาข้าวแล้วไปเทน้ำใส่ในข้าว โกงการค้าการขายเขาเรียกว่า อยากเงินมากๆ เมื่อตายไปแล้วก็จะไปตกนรกชื่อว่า ธุสนรก อดอยาก หิวน้ำแล้วก็วิ่งไปกินน้ำ น้ำก็กลายเป็นเพลิงแกลบไหม้ไส้ไหม้ท้องรับความทุกข์ทรมานจนกว่าจะสิ้นบาปกรรมของตนเอง

            นรกขุมที่ ๕ ท่านเรียกว่า สุนขนรก เป็นนรกที่เต็มไปด้วยหมาที่ตัวใหญ่เท่ากับช้างสาร มีฟันเป็นเพลิงแล้วก็มีฟันคมเหมือนกับมีดโกน ในนรกนั้นมีหมาตัวเท่านี้แหละเต็มไปหมด สัตว์นรกที่ตกลงไปแล้วก็จะถูกหมาไล่กัด วิ่งหนีขึ้นไปบนภูเขาแล้วหมาก็ไล่กัดกินอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาได้รับความทุกข์ทรมาน บางครั้งหมากัดกินก็ยังไม่หมด มีแร้งบ้าง มีนกตะกรุมบ้าง มาเจาะ มากิน มาจิกเอาได้รับความทุกข์ทรมานจนกว่าจะสิ้นบาปกรรมของตนเอง บุคคลที่จะไปตกนรกขุมนี้ท่านกล่าวไว้ว่า คือบุคคลที่ชอบตระหนี่ ไม่ให้ทาน เห็นบุคคลอื่นให้ทานก็ไม่พอใจห้ามคนอื่นไม่ให้ให้ทาน ว่าอย่าไปทำทานเลยไม่ได้บุญได้กุศลหรอกเรามีเงินมีทองเราเก็บไว้ใช้ เก็บไว้ซื้อกินไม่ดีเหรอ เอาแกงไปมันก็หมด เอาปิ้งปลาไปปิ้งปลามันก็หมด เอาอะไรไปก็หมดพระฉันหมด แม่ชีฉันหมด ไม่เหลือเห็นไหมไม่เหลืออะไรเป็นบุญ อะไรเป็นตัวบุญ ก็ห้ามไม่ให้คนอื่นให้ทาน ตนเองเป็นคนตระหนี่แล้วยังไม่พอ ยังห้ามไม่ให้บุคคลอื่นให้ทานเป็นผู้ที่บาปมาก เพราะการห้ามบุคคลอื่นไม่ให้ทานถือว่าเป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลอื่น คือทำลายประโยชน์ของผู้รับแล้วก็ทำลายประโยชน์ของผู้ให้ และทำลายประโยชน์ของตนเองด้วย เรียกว่าทำลายประโยชน์ทั้ง ๓ ฝ่าย จึงเป็นบาปมาก เมื่อตายไปแล้วเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปตกในนรกชื่อว่า สุนขนรก ถูกสุนัขนั้นมันรุมกัดกินอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะสิ้นบาปกรรมของตนเอง อันนี้เป็นบาปของบุคคลผู้ชอบตระหนี่ หรือป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาทำทาน เวลาจัดปริวาสกรรมมีผู้ใหญ่บ้านมาประชุมประชาสัมพันธ์แล้วก็บอกให้ญาติโยมมาทำบุญทำทาน แต่บุคคลนั้นก็พูดบ่ายเบี่ยงว่าวันนี้ไม่ต้องไปหรอก ไปพรุ่งนี้ดีกว่า พอพรุ่งนี้ก็ว่ามะรืนนี้ผลัดกันไป ห้ามบุคคลอื่นไม่ให้มาทำบุญทำทาน ตายไปแล้วก็จะได้ตกนรกขุมนี้

            นรกขุมที่ ๖ ท่านกล่าวว่า ปิสสกปัพพตนรก คือนรกที่มีภูเขาเพลิงผุดขึ้นทั้ง ๔ ด้าน สัตว์นรกที่ตกลงไปในภูเขาทั้ง ๔ ด้านนั้น ภูเขาเมื่อผุดขึ้นมาแล้วก็จะกลิ้งมาบดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจุนให้ตายไป เมื่อตายไปแล้วก็เกิดขึ้นมาใหม่ก็ถูกบดอีก อยู่ในลักษณะอย่างนี้จนกว่าจะพ้นบาปกรรมของตนเอง บุคคลที่ตายไปแล้วไปตกนรกขุมนี้คือ บุคคลที่ชอบฆ่าสัตว์ ฆ่าด้วยการบด ฆ่าด้วยการโขลก ใช้ครกโขลกบ้าง อะไรบดบ้าง เหมือนกับเราตำส้มตำ ตำถั่วก็ดี นี้เราเอาพวกมดแดงมาใส่ ใส่แล้วก็ตำเข้าไปในลักษณะอย่างนี้ก็เหมือนกับเราฆ่าสัตว์ด้วยการโขลก การตำ ตายไปแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปตกนรกขุมนี้ เรียกว่า ปิสสกปัพพตนรก ถูกภูเขาที่ผุดขึ้นทั้ง ๔ ด้านนั้นกลิ้งเข้ามาบด ได้รับความทุกข์ทรมานตายแล้วก็เกิดขึ้นมาถูกบดอีกตายอีกแล้วก็เกิดขึ้นมาแล้วก็ตายอีก ในลักษณะอย่างนี้จนกว่าเราจะสิ้นบาปกรรม

            นรกขุมที่ ๗ ก็คือ ตัมโพทนรก ตัมพะ ก็คือ ถ้วยตวง อุทก ก็คือ น้ำ คือนรกที่เต็มไปด้วยถ้วยตวงน้ำ ถ้วยตวงน้ำในที่นี้หมายถึงถ้วยตวงน้ำทองแดง นรกนี้จะเต็มไปด้วยน้ำทองแดงอันเดือดพล่าน แล้วก็มีถ้วยตวงคือ ตัมพ นี้ คือถ้วยตวงน้ำทองแดง สัตว์นรกที่ตายไปแล้วก็จะตกลงในนรกนั้น เมื่อตกในนรกนั้นนายนิรยบาลก็จะเอาคีมคาบปาก งัดปากออกแล้วก็เอาหม้อตวงน้ำทองแดงแล้วก็เทลงไปในปาก ทำให้สัตว์นรกนั้นได้รับความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก สัตว์ที่ถูกนายนิรยบาลทำน้ำทองแดงกรอกปากนี้ก็ตายไป ตายไปแล้วก็ฟื้นขึ้นมา แล้วก็จับเอาคีมงัดปากแล้วก็เอาหม้อน้ำทองแดงแล้วก็กรอกเข้าไปในปากอีกได้รับความทุกข์ทรมานตายแล้วก็ฟื้นขึ้นมาอีก เป็นในลักษณะอย่างนี้หลายแสนปี หลายล้านปี หลายกัป หลายกัลป์จนกว่าจะสิ้นบาปกรรมของตนเองที่ทำมา บุคคลผู้ที่ตกนรกขุมนี้ก็เพราะว่า บุคคลผู้ที่ชอบหลอกลวงบุคคลอื่น เรียกว่าชอบพูดเท็จ ชอบหลอกลวงบุคคลอื่นให้บุคคลอื่นนั้นได้หลงกลของตนเองทำให้บุคคลอื่นนั้นต้องเสียทรัพย์ ทำให้บุคคลอื่นนั้นต้องเดือดร้อน เป็นคนชอบพูดปด พูดส่อเสียด ทำให้บุคคลอื่นแตกร้าวสามัคคีกัน ทำให้บุคคลอื่นเสียประโยชน์ ตายไปแล้วจะไปเกิดในนรกขุมนี้ ได้รับความทุกข์ทรมานด้วยการกรอกน้ำทองแดงเข้าไปในปาก

            เรื่องนี้มีอุทาหรณ์ที่ท่านกล่าวไว้ในเรื่องของสุกรเปรต ในสมัยหนึ่ง มีภิกษุ ๒ รูปอาศัยอยู่ในอารามวัดแห่งหนึ่ง สนิทสนมกัน ภิกษุรูปหนึ่งมีพรรษา ๖๐ ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีพรรษา ๕๙ ภิกษุสองรูปนี้รักใคร่กันมาก ภิกษุผู้ที่มีพรรษา ๕๙ นี้ก็ถวายอุปถัมภ์อุปฐากภิกษุผู้ที่มีพรรษา ๖๐ นี้ เหมือนกับสามเณรน้อย ถวายความอุปถัมภ์อุปฐากครูบาอาจารย์ ถวายความอุปถัมภ์อุปฐากด้วยความรักใคร่ สนิทสนมกัน ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกัน ญาติโยมก็เคารพศรัทธา พอดีมีพระอาคันตุกะมาเห็นภิกษุ ๒ รูปอยู่ด้วยกันแล้วก็เกิดความรักใคร่สนิทสนมกัน ญาติโยมก็ศรัทธามากมาย มีอาหารการอยู่การกินมากมาย แล้ววัดวาอารามก็รื่นรมย์ดีก็เลยอยากจะเอาวัดนี้เป็นของตัวเอง ก็เลยไปพูดกับพระเถระว่า ภิกษุผู้เป็นอนุเถระว่าให้ท่านว่าเป็น อลัชชี ไม่มีศีลเป็นที่รัก แล้วก็มาพูดกับภิกษุผู้เป็นอนุเถระว่าพระที่เป็นเถระนั้นเป็นคนไม่ดี ชอบพูดส่อเสียด เป็นผู้ไม่มีศีล อย่าไปคบกับบุคคลเช่นนั้นเลย

            พระเถระก็เลยเกิดความเข้าใจผิดกันก็เลยเกิดความทะเลาะกัน ไปบิณฑบาตก็ไม่ไปด้วยกัน ต่างคนต่างไป แต่ก่อนเคยไปด้วยกัน แต่พอเกิดการทะเลาะกันแล้วก็ต่างคนต่างไป ในที่สุดพระเถระทั้งสองก็แตกแยกกันไป เมื่อแตกแยกกันไปจนอายุได้ ๑๐๐ ปี เมื่ออายุได้ ๑๐๐ ปีแล้วภิกษุทั้ง ๒ นั้นก็มาพบกันอยู่ในอารามแห่งหนึ่งอาวาสแห่งหนึ่งแล้วก็เจอกันเห็นกันแล้วก็ถามข่าวคราวว่าไปไหนมา เป็นอย่างไรมีสุขมีทุกข์อย่างไร ก็เลยเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ก็รู้ว่าภิกษุที่เป็นอาคันตุกะนั้นต้องการที่จะแย่งเอาวัดของตัวเองก็เลยกลับมา พากันขับไล่ภิกษุที่เป็นอาคันตุกะนั้นออกไป เมื่อภิกษุที่เป็นอาคันตุกะนั้นตายไปแล้วก็ไปตกนรก ในอเวจีมหานรก แล้วเหลือเศษกรรมก็มาตกนรกในนรกชื่อว่า ตัมโพทกนรกนี้อีกได้รับความทุกข์ทรมาน เมื่อพ้นจากนรกนี้แล้วก็กลายไปเป็นเปรตหัวเป็นหมูตัวเป็นคน แล้วก็มีหางงอกอกมาในปาก หางที่งอกออกมาในปากนั้นก็เป็นหางที่เน่าเปื่อย แล้วก็มีหนอนเจาะชอนไชยั้วเยี้ยแล้วก็มีกลิ่นส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วทุกสารทิศ บุคคลผู้ที่เข้าไปใกล้ก็เข้าไปไม่ได้

            ในขณะนั้นพระโมคคัลลานะกำลังลงมาบิณฑบาต แล้วก็เห็นแล้วแย้มมุมปาก เห็นด้วยทิพพจักขุญาณของท่านแล้วก็เข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า ภิกษุนี้เป็นคนชอบพูดส่อเสียด พูดหลอกลวง ไม่พูดคำจริง เป็นคนพูดเท็จ ตายไปแล้วก็เลยไปตกนรกตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นบุคคลชอบพูดส่อเสียดก็ดี พูดโกหกก็ดีตายไปแล้วก็จะไปตกนรกขุมนี้ พ้นจากนรกเศษกรรมก็จะนำมาเกิดเป็นเปรต มีหัวเป็นหมูมีหางงอกออกมาในปาก มีหางที่เน่าเหม็นมีหนอนชอนไช ได้รับความทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นบาปกรรมของบุคคลผู้ที่ชอบโกหก ชอบส่อเสียด

50  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี เมื่อ: 14 ธันวาคม 2566 14:38:56



ประสานส่วนเหมือน สงวนส่วนต่าง
ถาม : ดิฉันรักกับสามีปกติ แต่เมื่อทะเลาะกัน เราเหมือนไม่เข้าใจเหตุผลของกันและกัน ต้องใช้เวลาถกเถียงนานมาก บางครั้งดิฉันยอมปล่อยผ่าน เพราะไม่อยากมีปัญหา แต่กลัวอนาคตเราจะระเบิดออกมา เมื่อเก็บสะสมปัญหาในอนาคตมามากๆ เข้า จะแก้ไขอย่างไรดีคะ

พระอาจารย์ : คือเราต้องยอมรับว่าคนเรานี้มีความเห็นที่ต่างกัน จะให้เห็นเหมือนกันทุกอย่างนี้ยาก งั้นเมื่อเราอยู่กับคนที่เขามีความเห็นต่างกันบ้าง เราก็พยายามประสานส่วนที่เหมือนกัน ส่วนที่เราเห็นเหมือนกัน ส่วนต่างก็สงวนไว้ อย่าเอามาพูดกันอย่าเอามาแสดงกัน ถ้าเรารู้ว่าเขากับเรามีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องนี้ก็อย่าไปพูดถึงมัน พูดแต่เรื่องที่เรามีความเห็นตรงกัน เพราะเป็นเรื่องธรรมดา เราจะเห็นเหมือนกันทุกอย่างไม่ได้หรอก บางทีเขาชอบสีแดง เราชอบสีเขียวอย่างนี้ เราจะไปให้เขามาชอบสีเขียวเหมือนเรา มันก็ไม่ได้ งั้นก็ปล่อยให้ต่างคนต่างชอบในสิ่งที่ตนเองชอบไปก็แล้วกัน ส่วนไหนที่ชอบเหมือนกันก็เอามาทำร่วมกัน ถ้าชอบไปดูหนังก็ชวนกันไปดูหนังได้ ถ้าคนหนึ่งชอบไปเต้นรำ อีกคนหนึ่งชอบไปดูหนังก็ไปไม่ได้ ก็อย่าไปฝืนกัน อย่าไปบังคับ


เรียนรู้จากอดีตเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ
ถาม: กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ถ้าผมหยิบเอาเรื่องในอดีตมาพิจารณา ตรึกในธรรม จะถือว่าเป็นการอยู่กับปัจจุบันได้ไหมครับ เพื่อเกื้อกูลสมาธิอบรมปัญญา

พระอาจารย์: ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องในอดีตมันเป็นเรื่องอะไร พิจารณาให้มันเห็นเป็นไตรลักษณ์ ก็ได้ ถ้ามันเป็นอดีตแล้วถ้าเป็นไตรลักษณ์ก็ไม่รู้จะยกมันขึ้นมาทำไม มันผ่านไปแล้ว นอกจากว่าเอามาสอนเป็นบทเรียนว่าได้ทำอะไรผิดพลาดไป แล้วก็พยามที่จะไม่ทำมันอีกต่อไป แต่ส่วนใหญ่เราจะพิจารณาสิ่งที่เป็นปัจจุบัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่า คือทุกสิ่งทุกอย่างในอนาคตมันจะต้องมีการดับไป เป็นธรรมดา ต้องพยามพิจารณาล่วงหน้าไว้ก่อน พอเวลามันดับเราจะได้ไม่ทุกข์ แต่อดีตมันผ่านไปแล้ว ไม่มีผลกระทบต่อเราแล้ว เราไม่ต้องไปเอาอดีตมาคิดให้เสียเวลา ยกเว้นว่าเป็นการมาเรียนรู้จากอดีต เพื่อมาเป็นบทเรียนสอนใจ


ไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่
ถาม : เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม มั่นคงในพระรัตนตรัยนี้ ควรปฏิบัติตัวต่อเทวดาอย่างไร ที่บ้านมีศาลพระภูมิ เราไหว้ท่านได้หรือเปล่าคะ

พระอาจารย์ : ถ้าไหว้แบบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไหว้ได้ แต่ไม่ไหว้แบบเป็นสรณะเป็นที่พึ่งเป็นครูเป็นอาจารย์ ถ้าเป็นเทพที่รู้ธรรมะ จะนับถือเป็นอาจารย์ก็ได้ ถ้าเป็นอริยเทพเป็นพระโสดาบัน อย่างพระพุทธมารดา เราก็นับถือเป็นพระอริยสงฆ์ได้  จะเป็นเทพเป็นพรหมหรือเป็นมนุษย์ ก็มีจิตใจที่มีความโลภโกรธหลงหรือมีธรรมะ ถ้ามีธรรมะก็บูชาได้ ถ้ามีอริยธรรมเป็นพระอริยสงฆ์ จะเป็นเทพเป็นพรหมเป็นมนุษย์ก็เหมือนกัน
ถ้าไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร ก็ให้ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมโลกร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ที่มีบุญมากกว่าเราจึงได้เป็นเทพ เราไม่มีบุญเท่าเขาจึงเป็นมนุษย์ ก็นับถือเขาในฐานะที่มีบุญมากกว่าเรา เช่นเรานับถือคนที่มีศีลมากกว่าเรา
เช่นพระภิกษุที่เรานับถือเพราะมีศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ไม่ได้นับถือท่านเพราะเป็นอริยสงฆ์ ถ้าจะไหว้พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ก็ต้องไหว้ที่คุณธรรม


นั่งสมาธิแล้วเจ็บปวด
ถาม : เวลาที่นั่งแล้วเจ็บปวด ก็พยายามพิจารณา ให้เห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่ใจยังไม่ยอมรับ ใจยังดิ้น ดิ้นที่จะออก

พระอาจารย์ : เพราะสมุทัยกำลังทำงานอยู่ ยังอยากจะหนีจากความเจ็บไป อยากให้ความเจ็บหายไป

ถาม : พอไม่หายไป ก็เลยกลับมาดูที่ร่างกาย ทำใจเบาๆสบายๆ หลังจากนั้นรู้สึกว่าขาที่ชาอยู่ค่อยๆ หายไป

พระอาจารย์ : พอเราปล่อยวางความอยาก ที่จะให้ความเจ็บหายไป ปล่อยวางความอยากจะลุก อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ ความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไปหมดเลย ความเจ็บของร่างกายจะไม่รุนแรง ที่รุนแรงที่ทนไม่ได้นี้ คือความทุกข์ทรมานใจ ที่เกิดจากความอยากให้ความเจ็บหายไป พอระงับความอยากได้แล้ว ร่างกายจะเจ็บขนาดไหนก็ไม่เป็นปัญหา


ไม่นอน
ถาม : ขอถามเรื่องการอดนอนครับ มีอุบายอะไรที่จะสู้กับความง่วง

พระอาจารย์ : ให้ถือ ๓ อิริยาบถ ยืนเดินนั่ง ไม่นอน ให้หลับอยู่ใน ๓ อิริยาบถนี้ จะได้หลับไม่นาน เวลาง่วงมากๆก็จะนั่งหลับไปสักชั่วโมง ๒ ชั่วโมง แล้วก็จะตื่นขึ้นมา ถ้านอนจะหลับนาน เวลาตื่นจะไม่อยากจะลุกขึ้น พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรมต่อ พอเดินจงกรมเมื่อยก็กลับมานั่งสมาธิต่อ  ถ้าจะหลับก็ให้หลับอยู่ในท่านั่ง จะได้ไม่เสียเวลากับการหลับนอน ขึ้นอยู่กับจริต บางคนชอบ ๓ อิริยาบถ บางคนชอบอดอาหาร บางคนชอบไปอยู่ที่เปลี่ยวๆที่น่ากลัว นักปฏิบัติต้องเดนตาย นอนกับดินกินกับทรายได้ ไม่วิตกกับการอยู่การกินมากจนเกินไป ยอมตาย ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ ให้เอาความตายมากระตุ้นให้ปฏิบัติธรรม ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตาย ขณะที่มีชีวิตอยู่มีโอกาสปฏิบัติ ถ้าไม่รีบปฏิบัติพอถึงเวลาตายก็จะหมดโอกาส   พอกลับมาเกิดใหม่ ก็ไม่รู้ว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกหรือไม่ ถ้าปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ถึงแม้จะไม่พบพระพุทธศาสนา ก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจแล้ว


เราฝึกได้
ถาม : กรรมที่เรามีอยู่นี่ ถ้ารู้ว่ามันไม่ดี เราพยายามฝึกฝนใหม่ อุปนิสัยใหม่จะติดไปไหมคะ

พระอาจารย์ : ติดไปด้วย เราฝึกได้เสมอ ถ้ารู้ว่าดื่มเหล้าไม่ดี ก็เลิกเสีย เมื่อก่อนเราไม่รู้ เพราะยังไม่ได้พบพระศาสนา อยู่ในสังคมที่ดื่มเหล้ากัน อย่างฝรั่งต้องดื่มไวน์กับอาหาร แต่ถ้าได้ศึกษาก็จะรู้ว่าไม่ดี ก็อย่าไปดื่ม  แต่ตอนที่เปลี่ยนนิสัยนี่มันจะทรมาน เคยทำอะไรแล้วไม่ได้ทำจะรู้สึกทุกข์ใจ อย่างกินก๋วยเตี๋ยวแล้วไม่ได้ใส่เครื่องปรุงก็กินไม่ลง มันไม่อร่อย


จิตเดิมจิตแท้คืออะไร
ถาม : ขอโอกาสครับ มีคนถามผมเรื่องจิตเดิมจิตแท้คืออะไร ผมบอกเขาว่าจิตเดิมแท้คือกิเลส ผมไม่รู้ว่าถูกหรือผิดครับพระอาจารย์ ขอคำแนะนำพระอาจารย์ด้วยครับ กราบนมัสการครับ

พระอาจารย์ : จิตเดิมก็คือจิตที่ไม่มีการปรุงแต่ง จิตที่มีการปรุงแต่งมันก็ปรุงแต่งไปเป็นอะไรต่างๆ นานา แต่พอหยุดคิดการปรุงแต่งก็เหลือสักแต่ว่ารู้ จิตเดิมก็คือจิตที่อยู่ในสมาธินี่เรียกว่าจิตเดิม เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ อุเบกขาเป็นจิตเดิม แต่พอออกจากสมาธิมามันก็มาปรุงแต่ง ปรุงว่าฉันเป็นนาย ก นาง ข มีธุรกิจมีเงินพันล้านหมื่นล้าน อันนี้ก็กลายเป็นจิตปรุงแต่งไป จิตปรุงแต่งก็เป็นจิตปลอมนี่ เราปรุงแต่งหลอกตัวเอง วันนี้เราเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เป็นอีกอย่าง เดี๋ยววันนี้เป็นโสด เดี๋ยวพรุ่งนี้มีแฟนก็เป็นคู่ขึ้นมาอีก จิตเราก็เปลี่ยนไปตามการปรุงแต่งไปเรื่อยๆ แต่จิตเดิมนี้มันไม่เปลี่ยนนะถ้าทำใจให้สงบหยุดความคิดปรุงแต่ง มันก็จะเหลือแต่อุเบกขาเหลือแต่สักแต่ว่ารู้ นั่นแหละคือจิตเดิม
51  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / อานิสงส์ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อ: 12 ธันวาคม 2566 13:49:06



อานิสงส์ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์

      มีใจความว่าพระปุตถินทายกัตเถระรูปนี้ได้บวชในศาสนาของพระสมณโคดมบรมศาสดาของเราท่าน ได้บำเพ็ญเพียรเรียนวิปัสสนาจนสำเร็จพระอรหันต์ประกอบด้วยอภิญญา ๖ เชี่ยวชาญนัก เมื่อพระผู้เป็นเจ้าได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว วันหนึ่งนั่งอยู่ในที่สงัด พระเถระเจ้าได้ระลึกถึงปุพพกรรมที่ทำให้ได้บรรลุถึงอรหัตตผล เพราะเหตุกุศลผลบุญอะไรที่ตนได้กระทำไว้ในชาติปางก่อน จึงได้เสวยวิมุตติสุขถึงเพียงนี้

      พระเถระเจ้าก็ทราบชัดโดยทิพจักขุญาณ แต่เมื่อมีความประสงค์จะแสดงถึงผลบุญจะได้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทต่อไปในภาคหน้า จึงได้ลุกจากอาสนะไปสู่ที่บริษัททั้ง ๔ แล้วกล่าวว่า วิปสฺสิสฺส ภควโต ดังนี้เป็นอาทิความว่า ดูกรพุทธบริษัททั้งหลายเมื่อครั้งศาสนาพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า อาตมาได้กำเนิดเกิดเป็นบุรุษผู้หนึ่งมีจิตเลื่อมใสในพระศาสนา วันหนึ่งอาตมาได้ออกจากบ้านไปสู่อาราม ได้ทัศนาเห็นต้นไม้ศรีมหาโพธิ์เศร้าหมอง รกปกคลุมไปด้วยหญ้าและใบไม้ จึงได้ชำระถากถางหญ้า และปัดกวาดใบไม้ให้สะอาด แล้วขนทรายมาเกลี่ยทำให้เสมอ ทำเป็นแท่นที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์นั้น แล้วตบแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ของหอม ดูแล้วเป็นที่รื่นรมย์ เมื่อกระทำแล้วมีความปีติยินดียิ่งนัก ครั้นเมื่อถึงมรณะสมัยใกล้จะทำกาลกิริยาตายจิตก็ระลึกถึงกุศลที่ตนได้ทำการปัดกวาด ชำระ และก่อแท่นที่ต้นศรีมหาโพธิ์ ครั้นตายแล้วก็ไปอุบัติในชั้นดุสิตเสวยทิพยมานทอง มีหมู่นางเทพอัปสรแวดล้อมเป็นบริวาร ครั้นจุติจากเทวโลกได้มาถือกำเนิดในมนุษย์โลกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ได้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏฏ์มาจนถึงศาสนาแห่งพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า อาตมาได้เกิดในตระกูลเศรษฐี ครั้นเจริญวัยขึ้นก็ออกบวชในพระพุทธศาสนา เจริญวิปัสสนาไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหันต์ ก็เพราะบุญกุศลที่ได้ปลูกต้นไม้ศรีมหาโพธิ์นี้ก่อพระแท่นนั้น เป็นปฐมเหตุดังนี้เป็นต้น เมื่อจบพระธรรมเทศนาลงแล้ว พุทธบริษัททั้งหลาย ก็มีความยินดีในธรรมภาษิตที่พระเถระเจ้าแสดงเป็นยิ่งนัก



ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
52  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / อานิสงส์ปัญญาบารมี เมื่อ: 04 ธันวาคม 2566 15:05:21


อานิสงส์ปัญญาบารมี

      ในสมัยหนึ่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่บนแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ชั้นดาวดึงส์เทวสถาน ท้าวอมรินทราธิราช ได้ทูลถามถึงธรรมอันประเสริฐ ที่จะสามารถอำนวยมรรคผลให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ขจัดเสียซึ่งภัยอันตราย ที่เกิดขึ้นจากหมู่มนุษย์ และสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไปด้วย อำนาจอานุภาพ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติท่องบ่นสาธยายทรงจำไว้ ซึ่งธรรมจะมีอยู่หรือพระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรมหาราช ธรรมที่ยังผู้ปฏิบัติให้ประสบสุขเช่นนั้น มีอยู่ท้าวอมรินทราธิราชจึงทูลถามต่อไปว่าธรรมนี้ชื่ออะไร พระพุทธเจ้าข้าพระบรมครูจึงตรัสว่า พระธรรมนี้ชื่อว่าปัญญาบารมี

      ท้าวอมรินทราธิราช ทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรมนี้ พระบรมศาสดาทรงแสดงซึ่งปัญญาบารมี ที่พระองค์ได้เคยสร้างมาแล้วในอนันตะชาติว่าปัญญาบารมี 30 ทัศนี้ เป็นยอดแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ทรงบำเพ็ญมาแล้วอย่างเต็มเปี่ยม จึงได้ตรัสเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลใดได้เขียนไว้สักการบูชาก็ดี ได้สดับฟังทุกวันก็ดี ผู้นั้นจะเป็นผู้มีสมบัติข้าวของมาก ผู้ใดได้ท่องบ่นทรงจำไว้สาธยายทุกวัน ผู้นั้นจะพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง ปรารถนาสิ่งใดก็จะสำเร็จดังความมุ่งหมาย เป็นที่รักแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวง เทวดาย่อมให้พรและตามรักษาบุคคลนั้น ผู้ใดได้ประพฤติบารมี 30 ทัศนี้ ให้บังเกิดมีแก่ตนย่อมประสบสมบัติ 3 ประการคือ มนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัตินิพพานสมบัติแม้จะปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ปัจเจกภูมิ สาวกภูมิอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะสำเร็จพระอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปัญญาบารมีจบลงแล้ว ท้าวอมรินทราธิราชแสดงตนเป็นอุบาสก น้อมเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีพ เหล่าเทวดาทั้งหลายได้บรรลุมรรคผลเป็นอันมาก


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
53  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / คาถาบูชาดวงชาตา เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2566 14:15:22


คาถาบูชาดวงชาตา

นะโม  เม  สัพพะเทวานัง             สัพพะคะระหะ จะ  เทวานัง

สุริยัญจะ  ปะมุญจะถะ                สะสิ  ภุมโม  จะ เทวานัง

วุโธ  ลาภุง ภะวิสสะติ                 ชีโว  สุกะโร  จะ มะหาลาภัง

โสโร  ราหูเกตุ  จะ มะหาลาภัง       สัพพะ  ภะยัง  วินาสสันติ

สัพพะทุกขัง  วินาสสันติ              สัพพะโรคัง  วินาสสันติ

ลักขะณา  อะหัง  วันทามิ  สัพพะทา  สัพเพเทวา มัง  ปาละยันตุ  สัพพะทา

เอเตน  มังคะละเตชนะ  สัพพะโสตถี  ภะวันตุ เม ฯ


                ปัจจุบัน  นิยมการผูกดวงชาตาของตน  เอาไว้สำหรับสักการบูชา เรียกกันว่า

"ดวงพิชัยสงคราม" หรือมิฉะนั้นก็เอาดวงชาตาบรรจุไว้ในฐานพระ   เมื่อจะบูชาดวงชาตา

พึงว่าคาถานี้เพื่อจะได้เกิดลาภสักการะ  เป็นสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเลิศล้นดีนักแล ฯ



ที่มา : วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
54  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2566 14:10:47


ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)

            การที่พวกเราทั้งหลายจะพ้นจากความทุกข์ถึงสันติสุขเหมือนกับพระองค์นั้นต้องพิจารณา ถ้าบุคคลใดพิจารณาไม่ได้แสดงว่าบุคคลนั้นมีบารมีอ่อนแล้ว บารมียังไม่แก่กล้าปัญญายังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ต้องพยายามพิจารณาเรื่อย ๆ สอดส่องเรื่อยๆ คิดเรื่อยๆ  ปัญญามันก็จะแก่กล้าขึ้นมาเอง เหมือนกับเราลับมีด ลับไปเรื่อยๆ มันก็คมขึ้นมาเอง เหมือนกับเราทำงานไม่เป็นแต่ว่าเราขยันทำหมั่นทำ ในที่สุดงานนั้นเราก็ชำนิชำนาญคล่องแคล่วขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน การสร้างบารมีก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่หยุดไม่ยั้งเราสร้างไปเรื่อย ๆ อย่างญาติโยมหลายๆ คน หลาย ๆ ท่าน ที่เราเห็นมาประพฤติปฏิบัติธรรมทุกปี ๆ เรียกว่าตักน้ำใส่ตุ่มทุกปี ๆ ไม่ช้ามันก็เต็ม เหมือนกับตุ่มที่เราเปิดไว้กลางแจ้ง ฝนตกลงมา ถึงจะตกรินก็ตาม ตกนิดตกหน่อยก็ตาม มันก็ค่อย ๆ เต็มขึ้นไป ๆ

            บารมีที่เราสั่งสมนี้ก็เหมือนกัน เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราสั่งสมบารมีตั้ง ๔ อสงขัยกับแสนมหากัป พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญบารมีมาให้เต็มบริบูรณ์ อสงขัยหนึ่งนับไม่ได้ว่ามันกี่ล้านๆๆ กัป นับไม่ได้ แต่พระองค์ก็ทรงเพียรสร้างสมอบรมคุณงามความดีนั้นจนเต็ม เพราะฉะนั้นเราผู้ปรารถนาความพ้นจากทุกข์ก็ควรที่จะสร้างสมอบรมคุณงามความดี เราอดทนในการเลี้ยงครอบครัวสร้างเนื้อสร้างตัว เราก็อดทนมามากแล้ว เราสร้างสมบัติภายนอก หาสมบัติภายนอก หาเงินหาทองซึ่งเป็นสมบัตินอกกายตายไปแล้วเอาไปไม่ได้ เราก็อดทนมานานแล้ว แต่นี่ขอให้อดทนเพื่อสร้างบารมีใส่ตัวเราเพื่อให้เกิดความสุขเกิดความร่มเย็นเกิดสติเกิดปัญญาขึ้นมา แล้วก็สามารถที่จะพ้นจากความทุกข์ได้

            เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าบุคคลใดไม่มีบารมี ประพฤติปฏิบัติธรรมไปก็เกิดความสงสัยไป ประพฤติปฏิบัติธรรมไปก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดความทุกข์ เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความรำคาญ ไม่เกิดความสงบขึ้นมา อันนี้ก็ถือว่าบุญน้อยแล้ว แต่ถ้าบุคคลใดมีบุญมาก อย่างเช่น พระโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ฟังธรรมะเพียงกัณฑ์เดียวได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ฟังกัณฑ์ที่สองได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อันนี้เรียกว่ามีบารมีมาก เพราะว่าท่านทำไว้แต่ภพก่อนชาติก่อนมาก ถ้าบุคคลใดฟังธรรมแล้วยังไม่เข้าใจ ก็แสดงว่าบารมีของเรายังไม่แก่กล้า

            แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้เราระมัดระวัง อย่าประมาท ความไม่ประมาทก็คือการไม่เผลอ เราเป็นนักปฏิบัติธรรมต้องมีสติอยู่ทุกเมื่อ เราจะยืนจะเดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด นั้นต้องมีสติกำหนดรู้ ถ้าบุคคลใดขาดสติ บุคคลนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม ถึงเราจะเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ปากว่าขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ แต่ว่าจิตใจเราล่องลอยไปตามอารมณ์ต่าง ๆ อันนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะว่าการปฏิบัติธรรมก็หมายถึงการมีสติ

            ถ้าเรามีสติเราจะอยู่บ้านก็ดี เราจะทำการทำงาน เกี่ยวข้าวก็ดี ค้าขายก็ดีก็ถือว่าเราปฏิบัติธรรมไปด้วย ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมต้องเดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างเดียว ถ้าเรามีสติ เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน อยู่ในอิริยาบถไหนก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมหมด เหมือนกับพระอานนท์บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะกึ่งอิริยาบถทั้งสี่ จะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ตาม ถ้ามีสติก็ถือว่ามีการประพฤติปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม บางรูปบางท่านเดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างไรๆ ก็ไม่ได้สมาธิ แต่พอคลายความยึดมั่นถือมั่น ผ่อนคลายการประพฤติปฏิบัติธรรมลงไป อาบน้ำชำระร่างกายกำหนดไปเรื่อย ๆ ขณะที่จะอาบน้ำก็ดีสรงน้ำก็ดีก็กำหนดไปเรื่อย บางครั้งก็เข้าสมาธิในขณะที่แปรงฟันก็มี บางครั้งก็เข้าสมาธิในขณะที่ตากผ้าก็มี บางครั้งก็เข้าสมาธิในขณะที่ม้วนกลดก็มี บางครั้งก็เข้าสมาธิในขณะที่นั่งเล่นก็มี

            อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่ากำหนดทุกอิริยาบถ เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องมีสติกำหนดทุกอิริยาบถ ถ้าบุคคลใดกำหนดทุกอิริยาบถ บุคคลนั้นก็ถือว่าไม่ห่างจากการบรรลุมรรคผลนิพพาน เรียกว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นอยู่แค่เอื้อม เพียงรัดนิ้วมือเดียว เรียกว่าบุคคลนั้นขึ้นสู่หนทางที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นธรรมะข้อที่ ๓ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้ระมัดระวัง

            ประการที่สี่ คือเป็นผู้เสียสละ คือถ้าบุคคลใดเป็นผู้มีความเสียสละ อย่างเช่นเสียสละทางโลก มีช่วยเสียสละปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ สร้างถนน สร้างสะพาน สร้างโรงเรียน สร้างบ่อน้ำ ขุดบ่อน้ำ ทำให้ประชาชนคนทั้งหลายมีอยู่มีกินมีความร่มเย็น อันนี้ก็ถือว่าเป็นการสร้างชาติสร้างศาสนาของเราให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เรียกว่าเป็นการเสียสละทางโลก

         หรือว่าบุคคลใดที่มีปัญญาก็เสียสละขั้นสูงขึ้นมาคือเสียสละทางธรรม เสียสละทางธรรมก็คือการเสียสละความโลภ ความโกรธ ความหลง เสียสละความไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง อย่างเช่นเรามารักษาศีลนี้ก็ถือว่าเราเสียสละ เสียสละกิเลสอย่างหยาบที่จะล่วงออกมาทางกายวาจา ถ้าเราอยู่บ้านเราอาจจะฆ่าสัตว์ เราอาจจะฆ่าปูฆ่าปลาเลี้ยงครอบครัวของเรา เราอาจจะทำไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราเสียสละสิ่งนั้นไป เราไม่ทำด้วยการที่เรามารักษาศีลให้ดีบริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอด ๙ คืน ๑๐ วัน หรือว่าเราเสียสละกิเลสอย่างกลาง

         คือขณะที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เรามาเดินจงกรมนั่งภาวนา เมื่อจิตใจของเราเป็นสมาธิ กิเลสอย่างกลางคือความวิตกวิจารถึงเรื่องกามารมณ์ ความวิตกวิจารถึงความโกรธความโลภความหลง ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มี เพราะว่าจิตใจของเราเป็นสมาธิ หมดความสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะว่าจิตใจของเราอยู่ในอำนาจของฌาน ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสอย่างกลางนั้นมันอ่อนไปมันหมดไป

         แต่ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา เจริญวิปัสสนา เหมือนกับญาติโยมคณะครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัตินี้ถือว่าเป็นการเสียสละอย่างสูงสุด เรียกว่าเสียสละกิเลสอย่างละเอียด เสียสละความโกรธความโลภความหลง เสียสละความยึดมั่นถือมั่นต่าง ๆ ออกไปจากจิตจากใจ อันนี้เรียกว่าเป็นการเสียสละตามแนวพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเสียสละสิ่งเหล่านี้ พระองค์จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

         เราทั้งหลายอยากจะพ้นไปจากความทุกข์ อยากจะพ้นไปจากความเกิดมันเป็นทุกข์ ความแก่มันเป็นทุกข์ ความเจ็บมันเป็นทุกข์ อยากจะพ้นจากความโศกเศร้าพิไรรำพัน อยากจะพ้นไปจากความเสียอกเสียใจที่เกิดความทุกข์ขึ้นมาทุกวี่ทุกวัน เราก็ต้องมาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมได้แล้ว บุคคลนั้นก็ประสบกับความเจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่ว่าประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วทำการค้าการขายไม่ได้ ทำธุรกิจไม่ได้ เลี้ยงครอบครัวอยู่กับครอบครัวไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น

         นางวิสาขานั้นประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ตลอด นางก็ทำการค้าการขายอยู่ตลอดเวลา แล้วก็อยู่กับครอบครัว มีลูกตั้ง ๒๐ คน มีหลานตั้ง ๒๐๐ คน แล้วก็ทำบุญทำทานทุกอย่างอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เป็นคนดีศรีสังคม ก็ประพฤติปฏิบัติธรรมได้ เหมือนกับอนาถปิณฑิกเศรษฐีก็ทำการค้าการขาย มีลูกมีหลานทำธุรกิจทุกอย่างได้ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติธรรม ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน อันนี้ก็อยู่กับบ้านอยู่กับเรือน

            การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วก็อยู่กับบ้านกับเรือนได้ สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะฉะนั้น การเสียสละกิเลสอย่างละเอียดนั้นก็ต้องเกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเรายังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ยังไม่เป็นพระอริยบุคคลเราก็ไม่สามารถเสียสละสักกายทิฏฐิ ไม่สามารถเสียสละความยึดมั่นถือมั่นในกายได้ ไม่สามารถเสียสละสีลัพพตปรามาสได้ คือไม่สามารถเสียสละทิษฐิที่ยึดมั่นถือมั่นในศีลพรตได้ เราไม่สามารถเสียสละความสงสัยได้ ถ้าเราไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ทำอย่างไร ๆ เราก็ยังสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป ยังสงสัยในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยังสงสัยในเรื่องมรรคผลนิพพานว่ามันมีจริงไหม

            แต่ถ้าบุคคลใดบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วสิ่งเหล่านี้มันก็หมดไป หมดความสงสัยไป แต่ถ้าบุคคลใดยังไม่ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ก็ยังสงสัยอยู่ว่าราคะโทสะโมหะมันจะลดกำลังลงได้หรือเปล่าหนอ มันจะลดลงได้หรือไม่ได้ แต่ถ้าบุคคลใดได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ราคะโทสะมันแผ่วเบาลง เหมือนกับเรานั่งอยู่ใกล้กองไฟร้อน ๆ แต่เมื่อเราขยับออกไปจากกองไฟความร้อนมันก็ค่อย ๆ จางไปเกือบจะหมดไป การที่ได้บรรลุพระสกทาคามีก็เหมือนกัน บุคคลใดผ่านขั้นนี้ไปแล้วก็เหมือนกับว่าความร้อนของราคะก็ดี โทสะก็ดี ก็เบาไปเกือบหมดแล้ว บุคคลนั้นก็ไม่มีความสงสัยว่า เออ ราคะมันเบาลงไปได้ โทสะมันเบาลงไปได้ เมื่อมันเบาลงไปได้ มันก็ต้องหมดไปได้ ก็ไม่มีความสงสัยขึ้นมาอีก

            แต่ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมไปถึงขั้นอนาคามี บุคคลนั้นก็จะหมดความสงสัยในเรื่องความโกรธ ในเรื่องราคะ ว่าการหมดความโกรธก็ดี หมดราคะก็ดีแล้วนั้น จิตใจมันเป็นอย่างไร จิตใจกับอาการกระทำนั้นมันอยู่คนละอย่างกัน เหมือนน้ำกับน้ำมัน มันไม่สามารถที่จะเข้ากันได้ ธรรมะที่ประพฤติปฏิบัติได้รู้แจ้งเห็นจริงแล้วก็เป็นธรรมะที่อยู่ในส่วนนั้น แต่อารมณ์ทางโลกการแสดงออกมาทางโลกก็เป็นอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง เหมือนกับน้ำมันไม่ใช่น้ำ มันเป็นในลักษณะอย่างนี้ ก็คิดว่าเออ ความโกรธก็ดี ราคะก็ดี เกิดขึ้นมา มันก็สามารถที่จะดับไปได้ นี่มันเกิดความเข้าใจขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ ก็หมดความสงสัยในเรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพาน ว่ากิเลสคือราคะก็ดี โทสะก็ดี สามารถหมดไปได้ไหม หรือว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม

            ถ้าใครสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมผ่านขั้นสุดท้ายก็ไม่สงสัยในเรื่องอวิชชาคือความหลง หลงในที่นี้คือหลงในรูป หลงในเสียง หลงในกลิ่น หลงในรส หลงในสัมผัส หลงในอารมณ์ ถ้าบุคคลใดไม่หลงในอารมณ์เหล่านี้ ก็เรียกว่าตนเองนั้นหมดอวิชชาแล้ว แต่ถ้าบุคคลใดยังหลงอยู่ จะหลงน้อยก็ดี หลงมากก็ดี จะเป็นฝุ่นเป็นธุลีเล็กๆ น้อย ๆ ก็ดี ก็ถือว่าหลง ก็แสดงว่ายังไม่ถึงซึ่งความเป็นพระอรหันต์ ก็พยากรณ์ตนเองเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เรียกว่าเป็นกิเลสอย่างละเอียด แต่ถ้าบุคคลใดถึงแล้วก็เรียกว่าชาติสิ้นแล้ว ความเกิดความแก่ความเจ็บความตายสิ้นแล้วเป็นต้น บุคคลนั้นก็จะได้ประสบความสุขเป็นนิรันดร เรียกว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบคือพระนิพพานนั้นไม่มี

            เพราะฉะนั้น นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพฺพานปจฺจโย โหตุ ที่เรากล่าวเป็นประจำ คือนิพพานนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง ขอให้ผลทานที่ข้าพเจ้าทานดีแล้วก็ดี ศีลที่ข้าพเจ้ารักษาดีแล้วก็ดี เจริญภาวนาดีแล้วก็ดี ขอจงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าถึงซึ่งพระนิพพาน ที่พวกเราปรารถนากัน อันนี้ก็เกิดขึ้นมาด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงถือว่าเป็นเหตุให้เราทั้งหลายนั้นประสบกับความสุข ได้ประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าและประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน
55  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2566 14:09:24



ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ
(เทศน์วันที่ ๒๔ ธ.ค. ๕๒)
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

           ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระธรรม ขอนอบน้อมแด่พระสงฆ์ ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน ก่อนที่คณะญาติโยมคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะได้ฟังธรรมะ ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมได้ตั้งใจฟังธรรมโดยนั่งสมาธิฟัง เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น

         เพราะว่าการฟังธรรมนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย ไม่ใช่ว่าเราเดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างเดียว เพราะว่าการฟังธรรมนั้นมีหลายระดับ การฟังธรรมอย่างต่ำ การฟังธรรมอย่างกลาง แล้วก็การฟังธรรมอย่างสูง การฟังธรรมอย่างต่ำ เราทำการทำงานไปเราก็เปิดธรรมะฟังไปด้วย หรือว่าเรานั่งรถไปเราก็ฟังธรรมะไปด้วย หรือว่าเราจะอยู่ที่บ้านที่เรือนที่ทำงานเราก็ฟังธรรมะไปด้วย อันนี้เรียกว่าฟังธรรมะเป็นเครื่องชโลมจิตใจในขณะที่เราทำการทำงาน ประการที่สอง การฟังธรรมอย่างกลาง คือเราฟังแล้วเราพยายามทำจิตของเรานั้นให้เกิดความร่มเย็น เกิดความสงบ เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ขณะที่ฟังธรรมนั้นก็อย่าคิดถึงบ้าน อย่าคิดถึงเรือน อย่าคิดถึงการงานต่าง ๆ ให้ดึงจิตดึงใจจากความฟุ้งซ่านทั้งหลายทั้งปวงนั้นมาตรงต่อธรรมะ ก็จะทำให้จิตใจมันร่มเย็นเป็นสุข

         จิตใจของเราเกิดความเร่าร้อนเพราะอะไร ก็เพราะว่าจิตใจของเรามันคิดถึงบาป คิดถึงการงาน คิดถึงสิ่งที่เราจะต้องทำที่เป็นอดีตเป็นอนาคต หรือว่าเป็นสิ่งที่เราจะทำให้วันพรุ่ง ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่อยู่กับจิตกับใจ ก็เกิดความวุ่นวายสับสนขึ้นมา แต่ถ้าเราดึงจิตดึงใจของเราออกจากการงานเหล่านั้นก็จะทำให้จิตใจของเรานั้นมันเริ่มสงบเย็นลง ๆ เหมือนกับน้ำขุ่น ๆ ที่เราตักใส่ตุ่มใส่โอ่งไว้ ไม่นานตะกอนมันก็ค่อย ๆ จมลงไป ๆ ๆ  น้ำก็จะใสขึ้นมา

         ในขณะที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ บางคนประพฤติปฏิบัติธรรมที่ภูดินผ่านมาแล้ว ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี แต่ไม่เคยเดินจงกรม นั่งภาวนา ไม่เคยมาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรม อย่างนี้ก็มี เรียกว่าไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม พอมาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ คนไม่เคยเข้ามาสู่ธรรมะ เมื่อเข้ามาสู่ธรรมะบาปมันก็ให้ผล ก็ทำให้จิตใจเร่าร้อน กระวนกระวาย กระสับกระส่าย จิตใจว้าวุ่นไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อันนี้ในลักษณะของบุคคลผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ เพราะฉะนั้นตัองดึงจิตดึงใจของเรานั้นมาสู่อารมณ์ปัจจุบันให้ได้ จิตใจของเราก็สงบไป ๆ ถ้าจิตใจของเราสงบเป็นฌานเป็นสมาธิก็เรียกว่าเราฟังธรรมในขั้นกลางได้สมบูรณ์แบบแล้ว ประการที่สามก็คือการฟังไปด้วยแล้วก็กำหนด ได้ยินหนอ ๆ หรือว่า เสียงหนอ ๆ เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปนาม

         ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าฟังธรรมะอย่างสูง ฟังแล้วได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ฟังแล้วเกิดปัญญา เกิดสติ เกิดความสามารถ สามารถประหารกิเลสได้ เรียกว่าฟังตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ เพราะว่าพระองค์ตรัสว่าพุทธบริษัทนั้นเป็นสาวกของพระองค์ จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานั้นเป็นสาวกของพระองค์ สาวกนั้นแปลว่า “ผู้ฟัง” เป็นผู้ฟังที่ดี เพราะฉะนั้น พวกเราก็ถือว่าเป็นผู้ฟัง คือฟังคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้ตั้งใจฟัง

            วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันขึ้นมานัต เมื่อขึ้นมานัตแล้วคณะครูบาอาจารย์ท่านก็จะให้เราเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง เรียกว่าเพิ่มการประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา เพิ่มความเพียร เพิ่มความอดทน เพิ่มสติ เพิ่มปัญญา เพิ่มสมาธิขึ้นมามากกว่าเดิมอีกหนึ่งเท่าตัว เพราะฉะนั้น ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะปรากฏขึ้นมากับเราอีกหนึ่งเท่าตัว แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมก็คล้อยลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งการประพฤติปฏิบัติธรรมก็น่าอนุโมทนาสาธุการ ที่คณะเจ้าอาวาสตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม ถึงจะมีจำนวนน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นบุคคลตัวอย่างในสังคม เป็นบุคคลดีศรีสังคม เป็นบุคคลดีศรีประเทศ เรียกว่าเป็นสิริแห่งประเทศ สิริก็คือความเป็นมงคล

         ถ้าบุคคลใดมาประพฤติปฏิบัติธรรม บุคคลนั้นก็จะระงับบาปทางกาย วาจา ใจ ไม่ไปทำบาปแก่บุคคลอื่น สังคมก็สงบร่มเย็น บ้านเมืองก็สงบร่มเย็น เพราะฉะนั้น ถึงจะน้อยแต่ก็มีคุณภาพ เพราะฉะนั้น ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้ภูมิอกภูมิใจ ซึ่งการประพฤติปฏิบัติธรรมในป่าช้าภูดินหรือว่าสำนักสงฆ์ภูดินนี้ก็ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม ในเดือนธันวาคม การประพฤติปฏิบัติธรรมในเดือนธันวาคมนั้น ก็ถือว่าส่วนมากจิตใจของคนนั้นจะสับสนวุ่นวาย อยากจะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก็ถือว่าพวกเราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพราะว่าอีกไม่กี่วัน

         วันนี้ก็เป็นวันที่ ๒๔ อีกไม่กี่วันปีใหม่ก็จะมาถึง ปีเก่าก็จะสิ้นไป ปีเก่าคือปี ๒๕๕๒ ก็จะค่อย ๆ สิ้นไป ๆ ไม่หวนกลับคืนมาอีก เราจะเอาเงินเอาทองมาแลกให้เวลามันหวนกลับมามันก็ไม่หวนกลับ ปีใหม่คือปี ๒๕๕๓ ก็จะย่างกรายเข้ามา อายุของเราก็จะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ขอให้พวกเรานั้นดีอกดีใจว่าปีหนึ่งผ่านไปแล้วเรายังไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เรายังไม่เกิดอุปสรรคอันตราย ชีวิตของเรายังผ่านมาอีกปีหนึ่ง ก็ขอให้เรานั้นจงดีอกดีใจ ภูมิอกภูมิใจ ว่าเรารอดพ้นอันตรายมาแล้วอีก ๑ ปี บางคนก็รอดพ้นอันตรายมาแล้ว ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี ก็มี แต่ว่าเราก็อย่ามั่นใจ ว่าเรานั้นจะมีชีวิตยืนยาวออกไปอีกกี่ปี อีกกี่เดือน อีกกี่วัน เราก็ไม่รู้ เพราะว่าความตายเราไม่รู้แม้ว่ามันจะเกิดในวันพรุ่งนี้

            ความพลัดพรากจากสามีจากภรรยาจากบุตรจากทรัพย์สินเงินทองนั้น เราก็ไม่รู้ว่าเราจะพลัดพรากวันไหน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ เราไม่สามารถที่จะบังคับไม่ให้พ่อตายไม่ให้แม่ตาย ไม่ให้ทรัพย์สินนั้นมันสูญหายได้ บางครั้งอยู่ดี ๆ อาจเกิดอัคคีภัยเกิดไฟไหม้ขึ้นมา เกิดโจรปล้น หรือว่าเกิดธุรกิจล้มเหลวเป็นต้น อันนี้เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราที่ล่วงมาถึงขณะนี้ก็ถือว่าเป็นที่น่าดีอกดีใจ เรามาได้เพราะบุญของเราจริง ๆ ถ้าเราไม่มีบุญแล้ว เราก็คงไม่มีอายุมาถึงขณะนี้ แล้วเราจะมีอายุไปอีกกี่ปี อันนี้ก็แล้วแต่บุญกุศล แล้วแต่วาสนา แล้วแต่กรรม แล้วแต่เวร ที่เราได้สร้างสมอบรมไว้

            บางคนทำบุญไว้มากอายุก็ยืน บางคนทำบุญไว้น้อยอายุก็สั้นพลันตาย เกิดมาแล้วก็มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน อันนี้เป็นลักษณะของสัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา บางคนเกิดมามีผิวพรรณมีวรรณะมีอายุมีอะไรต่างกัน อันนี้ก็ล้วนแล้วเกิดขึ้นมาจากบุญ ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากอย่างอื่น เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้เรานั้นมีอายุยืนก็คือต้องทำบุญทำทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น อันนี้เป็นบุญกุศล ถ้าบุคคลใดมีบุญมาก บุคคลนั้นก็สามารถที่จะอายุยืนได้ แต่ถ้าบุคคลใดมีบุญน้อย บุคคลนั้นก็ต้องพลันตาย เพราะว่าบุญนั้นเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังเรื่องของอายุวัฑฒนกุมารที่ท่านกล่าวไว้ว่า

            กาลครั้งหนึ่ง เมื่อสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานั้นยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ มีดาบสสองคนออกไปบวช ละบ้านละเรือน ละอาชีพการงาน ละเงินละทอง ละครอบครัว ละญาติพี่น้องทั้งหลายออกบวชถือเพศเป็นดาบส เมื่อถือเพศเป็นดาบสแล้วก็บำเพ็ญตบะธรรมอยู่ ๔๘ ปี คิดดูสิบวชเป็นฤาษี ๔๘ ปี เมื่อบวชเป็นฤาษี ๔๘ ปีแล้ว คนหนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ ก็คิดว่าตระกูลของเราที่เล่าเรียนศึกษามนต์ต่าง ๆ มา

            ถ้าไม่มีใครสืบทอด ไม่มีบุตรสืบทอด ไม่มีศิษย์สืบทอด ตระกูลของเราวงษ์ของเราก็จะสูญสิ้นไป กลัววงษ์ของตนเองจะสูญสิ้นไปก็เลยสึก ลาเพศนักบวชออกมาครองเรือนแต่งการแต่งงานมีครอบครัว มีลูกคนหนึ่ง เมื่อมีลูกแล้วก็ได้ยินข่าวว่าเพื่อนที่เป็นดาบสนั้นมาเยี่ยมเมืองที่ตนเองอยู่ก็พาลูกพาเมีย มีลูกน้อย ๆ ที่เพิ่งคลอดมาใหม่ ก็พาไปไหว้เพื่อนของตนเอง ขณะที่สามีภรรยาไหว้นั้นแหละ ดาบสก็บอกว่าขอท่านทั้งหลายจงมีอายุมั่นขวัญยืนมีอายุยืนยาวนานเถิด แต่ว่าขณะที่พาบุตรของตนเองไหว้นั้นแหละ

            ดาบสนั้นก็นิ่งไม่กล่าวอะไร ก็เลยเกิดความฉงนสนเท่ห์ ก็เลยกล่าวว่า ขณะที่เราทั้งสองไหว้ ท่านก็อวยพรว่าให้มีอายุมั่นขวัญยืนปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ว่าขณะที่ลูกชายของกระผมไหว้ ทำไมท่านถึงนิ่งอยู่ ผู้ทีเป็นดาบสมีญาณวิเศษก็กล่าวว่า เด็กนี้จะมีอายุได้อีก ๗ วันเท่านั้นเอง เมื่อถึง ๗ วันแล้วเด็กนี้ก็จะถึงซึ่งความตาย ผู้เป็นมารดาบิดาก็เกิดความกลัว ก็เลยกล่าวว่ามีอะไรที่พอจะแก้ไขได้ไหม มีหนทางที่จะแก้ไขไหม ดาบสก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ แต่พระมหาสมณะโคดมพระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงรู้ ขอให้ท่านไปหาพระมหาสมณะโคดมเถิด

            แต่ว่าพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของเด็กนั้นไม่อยากไป เพราะว่าบุคคลใด จะเป็นพราหมณ์ที่มีชื่อเสียง จะเป็นนักบวชที่มีชื่อเสียงมากมายมีมนต์ศักดิ์สิทธิ์ขนาดไหนก็ตาม เมื่อเข้าไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็จะถูกพระพุทธเจ้านั้นกลืนเอาไปหมดและจะต้องยอมเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมด ก็เลยไม่อยากจะไป กลัวตนเองจะได้นับถือพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าบุคคลผู้ใดที่เข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะต้องถูกพระพุทธเจ้าเอาเป็นสาวกหมด เหมือนกับแสงหิ่งห้อย เมื่อแสงอาทิตย์ปรากฏขึ้นมา แสงหิ่งห้อยก็จางหายไป ความรู้ทั้งหลายทั้งปวงของพราหมณ์นั้นไม่สู้ความรู้ของพระสัพพัญญู คือไม่สู้ความรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพราหมณ์จึงไม่อยากไป          

            ดาบสก็เลยกล่าวว่า ท่านอย่าคำนึงถึงเรื่องความสูญเสียของเวทย์มนต์เลย ขอท่านจงรักษาชีวิตของบุตรท่านไว้เถิด ก็เลยพาลูกชายกับภรรยาไปไหว้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่ไหว้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า ขอท่านทั้งหลายจงมีอายุยืนยาวนานเถิด แต่พอดีเด็กไหว้ พระองค์ก็ทรงนิ่ง เป็นดุษณีภาพไม่ตรัสอะไร พราหมณ์ก็เกิดความสงสัย และพระพุทธองค์ก็ตรัสเหมือนกับที่ดาบสกล่าวไว้ในเบื้องต้น แล้วพราหมณ์ก็ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีหนทางที่จะแก้ไขไหมเพื่อให้เด็กนั้นมีอายุยืนยาวนานไปกว่า ๗ วัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่ามี ดูก่อนพราหมณ์ หนทางนั้นมีอยู่ แล้วพระองค์ก็ตรัสให้สร้างมณฑปขึ้นในระหว่างเรือนแล้วก็ปูลาดอาสนะ ๘ ที่ ๑๐ ที่ แล้วก็ให้เด็กนั้นนอนอยู่ตรงกลาง แล้วก็นิมนต์พระมา ๘ รูป ๑๐ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ไม่มีระหว่าง คือเจริญพุทธมนต์ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ตั้งแต่ค่ำไปตลอด ไม่เว้น ชุดนี้เข้าชุดนี้ออก ชุดนี้เข้าชุดนี้ออก ตลอด ๗ วัน พอวันที่ ๗ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาเอง พระองค์ก็ทรงเจริญพระพุทธมนต์ทั้งคืน

            ขณะที่พระองค์เจริญพระพุทธมนต์ทั้งคืนนั้น เทวดาทั้งหมื่นจักรวาลก็มารวมกัน เมื่อเทวดาทั้งหมื่นจักรวาลมารวมกัน อาฬวกยักษ์ที่จะมาเอาเด็กคนนั้น ที่ได้รับพรจากท้าวเวสสุวัณว่าอีก ๗ วันท่านจงจับเด็กคนนี้เป็นอาหารได้ แต่เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับในวันที่ ๗ เทวดาหมื่นจักรวาลมาร่วมฟังธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสวด เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยก็ถอยไปตามลำดับ เทวดาศักดิ์ใหญ่มาเทวดาศักดิ์น้อยก็ถอยลงไปตามลำดับ อาฬวกยักษ์นี้ก็เหมือนกัน ก็ต้องถอยไปเหมือนกัน เพราะว่าตนเองนั้นมีศักดิ์น้อย ในที่สุดก็ไม่มีโอกาสที่จะจับเอาเด็ก วันที่ ๘ ก็ต้องกลับไปสู่ที่บำรุงของท้าวเวสสุวัณ

            แล้วก็วันที่ ๘ บิดามารดาของทารกนั้นก็ทำบุญกับพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อพาเด็กไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ให้พรว่า ขอให้เด็กนั้นจงมีอายุยืนยาวนาน บิดามารดาของเด็กก็ถามว่าเด็กนี้จะมีอายุยืนยาวนานขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่ามีอายุยืนยาวนานถึง ๑๒๐ ปี อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าเด็กนั้นทำบุญมีการไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ แล้วก็มีการทำบุญทำทาน เพราะฉะนั้นการทำบุญทำทานนั้นก็ถือว่าทำให้มีอายุยืนยาวนานได้ ในเมื่อเด็กนั้นไม่ตายเด็กนั้นก็เจริญวัยขึ้นมา เมื่อเจริญวัยขึ้นมาก็มีบริวารถึง ๕๐๐ คน

            ในวันหนึ่งภิกษุสนทนาธรรมกันที่โรงธรรมสภาว่า เด็กคนนี้ธรรมดาจะตายในวันที่ ๗ แต่ว่าทำบุญทำทานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอายุยืนยาวนานมาได้ สงสัยว่าเหตุที่จะทำให้อายุยืนนั้นมีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จมาที่โรงธรรม แล้วก็ตรัสธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน เป็นต้น ซึ่งแปลว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้มีความเคารพ มีความกราบไหว้ มีความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่อยู่เป็นนิตย์  อันนี้เป็นธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส ดังที่ภิกษุทั้งหลายได้ให้พรอยู่เป็นประจำว่า

            อภิวาทนสีลิสฺส                 นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน

          จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ      อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ

            พรทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่ผู้มีความเคารพ

            มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์

            อันนี้เป็นเหตุให้อายุมั่นขวัญยืน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่เคารพต่อผู้ใหญ่ก็ดี เคารพต่อบุคคลผู้เกิดก่อน ลูกเคารพต่อพ่อแม่  ลูกศิษย์เคารพต่อครูบาอาจารย์ ไพร่ฟ้าประชาชนเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อายุมั่นขวัญยืน เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา แล้วภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า บุคคลจะมีอายุมั่นขวัญยืนนั้นต้องตั้งอยู่ในธรรมอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ตรัสธรรม ๔ ประการ คือ

            ๑. ปัญญา

            ๒. ความเพียร

            ๓. ความระมัดระวัง ความสำรวม

            ๔. การเสียสละ

            ถ้าบุคคลใดถึงพร้อมด้วยธรรม ๔ ประการนี้ บุคคลนั้นก็จะมีอายุมั่นขวัญยืน อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุทั้งหลายได้สดับรับฟัง คำว่าปัญญาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปัญญาทางโลก แต่หมายถึงปัญญาทางธรรม ถ้าบุคคลใดมีปัญญาทางโลก บุคคลใดมีปัญญาดี บุคคลนั้นก็จะมีเงินไหลนองทองไหลมา ยศถาบรรดาศักดิ์ทุกสิ่งทุกอย่างจะมารวมกัน เรียกว่าบุคคลใดมีปัญญา บุคคลนั้นก็สามารถหาเงินหาทองหายศถาบรรดาศกัดิ์ได้ อันนี้ไม่ขอกล่าว

            แต่ว่าปัญญาในทางธรรมนั้นก็หมายถึงความรอบรู้ ความรอบรู้ในที่นี้หมายถึงความรอบรู้ในกองสังขาร อย่างที่ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติ บุคคลใดไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมได้ มีความเบื่อหน่าย มีความอ่อนแอ มีความท้อแท้ บุคคลนั้นถือว่าปัญญายังไม่เกิด แต่ถ้าบุคคลใดมีปัญญาเกิดแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า บุคคลนั้นเห็นร่างกายของตนเองนั้นเปรียบเสมือนกับซากศพ หรือว่าเห็นร่างกายของตนเองนั้นเปรียบเสมือนของปฏิกูลโสโครก อยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้น เหมือนกับบุคคลผู้ที่ไฟไหม้บนศีรษะ ต้องการที่จะดับไฟบนศีรษะ บุคคลใดมีปัญญาพิจารณาเห็นกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีปัญญา

            การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านหมายถึงว่าปัญญาคือความรอบรู้ คือรอบรู้ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผมจากปลายผมถึงพื้นเท้า เรารอบรู้ในกองสังขารของเรา รอบรู้ในกาย รอบรู้ในวาจา รอบรู้ในใจของเรา เพราะฉะนั้นเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เราก็ควรที่จะมีปัญญาเหนี่ยวรั้งกายวาจาใจของเราให้อยู่ โดยเฉพาะสภาพจิตใจของเรา บุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมส่วนมากจะระวังแต่กาย ระวังแต่วาจา แต่ไม่เคยระวังใจ แต่ว่าใจนั้นถือว่าเป็นตัวแห่งปัญญา ถ้าบุคคลใดไม่ระวังใจ บุคคลนั้นก็ถือว่าปัญญายังไมเกิด เรียกว่าจิตหรือว่าใจของเรานั้นถือว่าเป็นมหาเหตุเป็นต้นเหตุ เพราะฉะนั้นเราต้องหยุดจิตหยุดใจของเราให้ได้ รั้งจิตใจของเราให้อยู่รู้ให้ทันขบวนจิตของเราให้ได้ ถ้าเราหยุดจิตหยุดใจของเราไม่ได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ไม่เป็นไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่สามารถที่จะหยุดเหตุ ๔ ประการนี้ได้ คือ

            ประการที่ ๑ ความโกรธ ถ้าบุคคลใดไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อความโกรธเกิดขึ้นมาแล้วหยุดไม่ได้ รั้งไม่อยู่ รู้ไม่ทันความโกรธ ต้องโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กำหมัดกัดฟัน ชกต่อยตีรันฟันแทงกัน เพราะอะไร เพราะว่าตนเองไม่รู้เท่าทันความโกรธ อันนี้ประการที่ ๑ เพราะไม่เคยกำหนด โกรธหนอ ๆ ตั้งสติกำหนดรู้ไม่ทัน

            ประการที่ ๒ เมื่อราคะเกิดขึ้นมาครอบงำ หยุดไม่ได้ รั้งไม่อยู่ รู้ไม่ทันอำนาจของราคะ คือเมื่อราคะมันเกิดขึ้นมาแล้วก็หยุดไม่ได้ รู้อยู่ว่ามั้นเกิดขึ้นมาแต่ไม่สามารถหยุดการกระทำล่วงเกินบาปทางกายวาจานั้นได้ ต้องทำไปตามอำนาจของราคะ เพราะอะไร ? เพราะไม่รู้วิธีกำหนด แต่ถ้าบุคคลใดเคยประพฤติปฏิบัติธรรม ก็รู้วิธีกำหนด กำหนดว่า ราคะหนอ ๆ เท่านั้นราคะมันอ่อนไปเบาไปสิ้นไปหมดไปจากจิตจากใจของเรา อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้เคยประพฤติปฏิบัติธรรมหยุดได้ แต่บุคคลที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมจะหยุดไม่ได้

            ประการที่ ๓ ก็คือ โมหะ ความหลง เราจะหลงรูป หลงกลิ่น หลงรส หลงธรรมารมณ์อะไรต่าง ๆ ก็ตาม ถ้าจิตใจหลงแล้ว บุคคลผู้ไม่เคยปฏิบัติธรรมก็ต้องทำตามอำนาจของความหลง หลงในเสียงก็ต้องพยายามไขว่คว้าหาเสียงให้ได้ หลงในรูปก็พยายามที่จะไขว่คว้าหารูปให้ได้ จะถูกหรือจะผิดเราต้องเอาให้ได้ เรียกว่าต้องพยายามทำให้ได้ อันนีเรียกว่าหลง ไม่สามารถที่จะหักห้ามจิตใจของตนเองได้

            ประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่า จิตคิดจะไป ถ้าบุคคลใดไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วจิตคิดจะไปนั้นกำหนดไม่อยู่ มันอยากจะไปโน่นไปนี่ เราเดินจงกรมอยู่ดี ๆ ก็คิดว่าเราเดินจงกรมอย่างนี้มันไม่สงบเลย ต้องไปอยู่ถ้ำอยู่เหว หรือว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้มันไม่ดีเลย เราต้องไปเดินธุดงค์ในป่าในถ้ำอย่างนั้นมันจะดี หรือว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้มันมียุงมีความหนาว เราไปนั่งอยู่ในห้องแอร์ อยู่ที่กุฏิอยู่ที่บ้านเราดีกว่า อะไรทำนองนี้ อันนี้ถือว่าเป็นจิตคิดจะไป บุคคลผู้ที่ไม่เคยกำหนดก็ปล่อยให้ล่วงเลยไป มันคิดถึงกรุงเทพก็คิดไปมันคิดถึงเชียงใหม่ก็คิดไป มันคิดถึงภาคใต้ก็คิดไป ไม่กำหนดจิตว่าคิดหนอ ๆ ไม่กำหนด ถ้าเรากำหนดว่าคิดหนอ ๆ สิ่งเหล่านั้นมันก็จะลดลง เบาลง แล้วก็หมดไป

            เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อจิตคิดจะไป เราต้องหยุดมันให้ได้ รั้งมันให้อยู่ ต้องรู้ทันอำนาจของกิเลส ว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่ธรรมะ แต่มันเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส อันนี้ให้เราพยายามกำหนดให้ได้ ถ้าเรากำหนดได้ จิตของเราก็จะนิ่ง เหมือนกับเราเอาเชือกไปล่ามไว้ที่คอวัวคอควาย มันก็ไปไหนไม่ได้ ในที่สุดมันก็หายพยศ จิตใจของเราก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาเราต้องพยายามกำหนด อันนี้เรียกว่าเป็นตัวปัญญา ตัวที่เรากำหนดรู้นี่แหละเป็นตัวปัญญา ตัวที่เราเห็นความโกรธ เห็นราคะ เห็นความหลง แล้วก็เห็นจิตที่คิดจะไปเนี่ย เรียกว่าเป็นตัวปัญญาในทางพระพุทธศาสนา ถ้าเราเห็นสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในจิตใจของเรา เรารู้เท่า รู้ทัน รู้กัน รู้แก้ ในที่สุดศีลมันก็เกิดขึ้นมา สมาธิมันก็เกิดขึ้นมา มรรคผลมันก็เกิดขึ้นมา เมื่อมรรคผลมันเกิดขึ้นมาแล้วก็ถือว่าเป็นปัญญาสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่าให้เรานั้นเป็นผู้มีปัญญา

            ประการที่สองคือพระองค์ทรงตรัสให้เรามีความเพียร ความเพียรนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งที่เลิศ บุคคลใดขาดความเพียร จะเป็นความเพียรทางโลกก็ดี จะเป็นความเพียรทางธรรมก็ดี บุคคลนั้นก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ อย่างที่บุคคลเกิดมาแล้วก็ต้องมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรก็ไม่มีทรัพย์ เรียกว่าหาทรัพย์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีความเพียรนั้นย่อมสามารถที่จะพ้นไปจากความทุกข์ได้

            ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร จะเป็นความทุกข์ความยากจนทางโลกก็ดี อย่างเราเกิดมาเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถาลำบากฝืดเคือง แต่ถ้าเรามีความเพียร มีความขยัน มีความอดทน บางครั้งเราก็หายจากความยากจน มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย เป็นเศรษฐีเป็นกุฎุมพีขึ้นมาก็ได้

            ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า อุฏฐาตา วินฺทเต ธนํ บุคคลผู้ที่มีความเพียรนั้นย่อมประสบกับทรัพย์ เรียกว่า คนมีความเพียรนั้นย่อมได้ทรัพย์ เพราะฉะนั้น เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีความเพียรในการเดินในการนั่งในการกำหนดในการประพฤติปฏิบัติ ตื่นแต่เช้านอนดึกตามที่คณะครูบาอาจารย์ได้แนะนำพร่ำสอน ความสำเร็จในทางธรรมมันก็ไม่ปรากฏขึ้นมา เพราะว่าความเกียจคร้านย่อมทำลายทุกอย่าง

            ถ้าเราถูกความเกียจคร้านครอบงำเมื่อไหร่ การงานทั้งทางโลกทางธรรมก็ถูกทำลาย ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จะมีทรัพย์ก็ไม่มี จะมีศีลก็ไม่มี จะมีสมาธิก็ไม่มี จะมีวิปัสสนาหรือมรรคผลก็ไม่มี ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่าคนเกียจคร้านย่อมไม่มีศิลปะ คือคนเกียจคร้านนั้นไม่มีศิลปะ จะศึกษาก็ขี้เกียจ จะทำงานปูนก็ไม่อยากทำ ขี้เกียจทำ ก็เลยไม่มีศิลปะ จะเรียนหนังสือ ท่องนักธรรม ท่องบาลี ก็ขี้เกียจ ก็ไม่มีศิลปะในการเรียนรู้ หรือว่าจะประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ได้สมาธิ ก็ไม่ปฏิบัติ ขี้เกียจ ก็ไม่มีศิลปะที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิ หรือว่าจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ขี้เกียจ ก็เลยไม่มีศิลปะ

            ท่านจึงกล่าวว่าบุคคลผู้เกียจคร้านจึงไม่มีศิลปะ บุคคลไม่มีศิลปะก็ไม่มีทรัพย์ คือไม่มีศิลปะ ไม่มีความรู้ ไม่มีการงาน แล้วก็ไม่มีทรัพย์ คนไม่มีทรัพย์ก็ไม่มีมิตร บุคคลใดมีทรัพย์ บุคคลนั้นจะมีบริวารมาก เมื่อไม่มีทรัพย์ มิตรก็ไม่มี เมื่อมิตรไม่มี ความสุขก็ไม่มี เมื่อความสุขไม่มี บุคคลนั้นก็ไม่มีหนทางที่จะทำบุญ บุคคลที่ไม่มีบุญก็ไม่ถึงพระนิพพาน เรียกว่ามันเป็นเหตุสืบเนื่องติดต่อกันไป

            ขอให้ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายได้เข้าใจว่าเราต้องมีความเพียร เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา อดตาหลับขับตานอน เพียรที่จะละบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาภายในจิตในใจของเรา บาปจะเป็นบาปอย่างเล็กอย่างกลางอย่างละเอียด เราก็เพียรไม่ให้มันเกิดขึ้นมา แล้วก็เพียรทำบุญด้วยการเดินจงกรมนั่งภาวนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เราเคยให้ทานเราก็เพียรให้ทานต่อไปเรื่อย ๆ เรารักษาศีล ศีลของเราขาดตกบกพร่องด่างพล้อยทะลุตรงไหนเราก็เพียรรักษาศีลของเราให้ดี ๆ ขึ้นไป

            สมาธิก็เหมือนกัน ขณะนี้สมาธิของเรายังไม่สามารถเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานได้ เราก็ต้องเพียรให้เราเข้าสมาธินั้นได้ ตลอดถึงวิปัสสนาญาณของเราขณะนี้มันมีขนาดไหน วิปัสสนาญาณของเราสมบูรณ์ขนาดไหน เราเดินจงกรม นั่งภาวนามา ๓ วัน ๔ วันนี้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นขนาดไหน เราสามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานไหมในการประพฤติปฏิบัติธรรมครั้งนี้ หรือเราจะประพฤติปฏิบัติธรรมนานขนาดไหน อันนี้เราต้องมีความเพียรพิจารณา มีความเพียรประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันไป

            เพราะฉะนั้น ความเพียรนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นทอดทิ้งไม่ได้ ต้องมีความเพียรอยู่เป็นประจำ บางคนมาประพฤติปฏิบัติธรรม คิดว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม การเดินจงกรมนั่งภาวนามันลำบาก แต่เมื่อเราพิจารณาถึงการทำไร่ไถนาทำการค้าการขาย หรือว่าการประกอบอาชีพอย่างอื่นทางโลก ลำบากยิ่งกว่าการเดินจงกรมการนั่งภาวนามาก ไม่ได้ฆ่าปูฆ่าปลาฆ่าเป็ดฆ่าไก่ ไม่ได้เกิดบาปขึ้นมา เรามาเดินจงกรมนั่งภาวนา ลำบากเฉพาะจิตใจของเรา ถ้าเราชนะจิตใจของเรา เราก็สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ เพราะฉะนั้น ความเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ขอให้เราจงมีความอดทนมีความเพียรบากบั่นกำหนดลงไปที่ใจของเรา อย่าให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำจิตใจของเรา

            ประการที่สาม ต้องระมัดระวัง ไม่ให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำจิตใจของเรา ระมัดระวังการประกอบอาชีพของเราให้สุจริต คือเราประกอบอาชีพทางโลก บางครั้งก็ฆ่าสัตว์ บางครั้งก็ต้องพูดเท็จ พูดไม่ตรงความจริง บางครั้งก็เข้าสังคมดื่มเหล้าเมายา อันนี้เรียกว่าการดำรงชีพไม่บริสุทธิ์ ฉะนั้นเวลาเราอยู่ทางโลก เราก็ต้องระวังการงานของเราให้บริสุทธิ์ ไม่ประกอบสิ่งที่มันเป็นบาปเป็นกรรม ประการที่สามก็คือระวังกายวาจาใจของเราให้ดี ไม่ให้ยินดีในการทำความชั่ว ให้จิตใจของเราอยู่กับความดีตลอดเวลา อันนี้เรียกว่าระวังกายวาจาใจของเราไม่ให้ยินดีในบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป แล้วก็ดึงกายวาจาใจของเราให้พ้นจากอำนาจของบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ท่านให้เราระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ต้องระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเราอยู่ทางโลก เราก็ต้องระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกัน เพราะว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นถือว่าเป็นที่เดินของบาปและบุญ

            ถ้าบุคคลใดอยู่ทางโลกไม่ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางครั้งก็อาจจะไปเห็นภรรยาเขาสวย อยากได้ทรัพย์สมบัติของเขา อยากได้สิ่งนั้นอยากได้สิ่งนี้ เกิดความโลภ เกิดราคะ เกิดตัณหา เกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ก็กอบโกยโกงกิน ทุจริตเอาสิ่งนั้นมาเป็นของตนเอง ก็จะเป็นบาปเป็นกรรมขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราต้องสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นสิ่งใดก็ต้องให้พิจารณาสิ่งนั้น รู้จักแยกแยะสิ่งนั้น ฟังสิ่งใดก็ต้องให้รู้จักพิจารณาสิ่งนั้นแล้วก็แยกแยะสิ่งนั้น ได้ลิ้มรสอะไรเราก็ต้องรู้จักแยกแยะรสนั้น เราจะสัมผัสทางกายทางใจก็เหมือนกันเราต้องรู้จักแยกแยะ

            อันนี้ท่านกล่าวไว้เป็นเหตุผลของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส อะไรก็ตามต้องรู้จักแยกแยะ ตัวรู้จักแยกแยะนี่แหละเป็นตัวปัญญาในทางพระพุทธศาสนา บุคคลจะประเสริฐหรือไม่ประเสริฐ บุคคลจะเลิศหรือไม่เลิศ บุคคลจะบริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นก็รู้จักตรงที่แยกแยะนี้ เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงอยู่เหนืออารมณ์ของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของเทวดา ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของพรหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เหนือหมด อารมณ์เหล่านั้นไม่สามารถทำให้จิตของพระองค์เกิดความกำหนัด ไม่สามารถทำให้จิตของพระองค์เกิดความโกรธประทุษร้ายได้ ไม่สามารถทำให้จิตของพระองค์เกิดความลุ่มหลงได้ ไม่สามารถที่จะดึงจิตดึงใจของพระองค์ให้ไปถือปฏิสนธิในมนุษย์ ในเทวดา ในพรหม ได้อีก เพราะว่าจิตของพระองค์พ้นแล้ว อันนี้ถือว่าเกิดขึ้นมาด้วยการประพฤติปฏิบัติ
56  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ติโลกะวิชะยะราชะปัตติทานะคาถา เมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2566 16:53:28


ติโลกะวิชะยะราชะปัตติทานะคาถา

ยังกิญจิ  กุสะลัง  กัมมัง                       กัตตัพพัง  กิริยัง  มะมะ

กาเยนะ  วาจามะนะสา                         ติทะเส  สุคะตัง  กะตัง

เย สัตตา  สัญญิโน  อิตถิ                      เย จะ  สัตตา  อะสัญญิโน

กะตัง  ปุญญะผะลัง  มัยหัง                   สัพเพ  ภาคี  ภะวันตุ เต

เย ตัง  กะตัง  สุวินทิตัง                         ทินนัง  ปุญญะผะลัง  มะยา

เย  จะ ตัตถะ  นะ ชานันติ                      เทวา  คันตวา  นิเวทะยัง

สัพเพ  โลกัมหิ  เย สัตตา                      ชีวันตาหาระเหตุกา

มะนุญญัง  โภชะนัง สัพเพ                    ละภันตุ  มะมะ  เจตะสาติ ฯ



ที่มา : วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
57  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด นมัสการพระอะระหันต์ ๘ ทิศ เมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2566 16:50:17


นมัสการพระอะระหันต์  ๘ ทิศ

(นำ)  หันทะ มะยัง  สะระภัญเญนะ  พุทธะมังคะละคาถาโย  ภะณามะ เส ฯ

(รับ)   สัมพุทโธ  ทิปะมัง  เสฏโฐ               นิสินโน  เจวะ  มัชฌิเม

         โกณฑัญโญ ปุพพะภาเค  จะ          อาคะเณยเย  จะ กัสสะโป

          สารีปุตโต  จะ ทักขิเณ                   หะระติเย  อุปาลี  จะ

          ปัจฉิเมปิ จะ อานันโท                     พายัพเพ  จะ คะวัมปะติ

          โมคคัลลาโน  จะ  อุตตะเร              อิสาเณปิ  จะ ราหุโล

          อิเม โข  มังคะลา  พุทธา                สัพเพ  อิธะ  ปะติฏฐิตา

          วันทิจา  เต จะ  อัมเหหิ                   สักกาเรหิ  จะ  ปูชิตา

           เอเตสัง  อานุภาเวนะ                     สัพพะโสตถี  ภะวันตุ  โน ฯ

                        อิจเจวะมัจจันตะนะมัสสะเนยยัง

                        นะมัสสะมาโน  ระตะนัตตะยัง  ยัง

                        ปุญญาภิสันทัง วิปุลัง  อะลัตถัง

                        ตัสสานุภาเวนะ  หะตันตะราโย ฯ

          (หยุดให้สามเณรสวด  สามเณรสิกขา  เฉพาะคำบาลี)



ที่มา : วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
58  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / สัมมาทิฐิ มิจฉาทิฐิ : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี เมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2566 16:41:40


สัมมาทิฐิ มิจฉาทิฐิ

สัมมาทิฐิจึงมาก่อน สัมมาสังกัปโปคือความคิดชอบก็จะตามมา คิดในทางที่ถูก คิดปล่อยวาง คิดลด คิดละความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ ถ้ามีมิจฉาทิฐิก็จะคิดอยากจะมีมากยิ่งขึ้น อยากจะได้มากยิ่งขึ้น อยากจะเป็นใหญ่มากยิ่งขึ้น อยากจะอยู่นานมากยิ่งขึ้น อยากจะรวยมากยิ่งขึ้น เป็นความคิดที่ตามมาจากมิจฉาทิฐิ แล้วก็จะไปทำเวรทำกรรมต่อไป ทำผิดศีลผิดธรรม พูดจาโกหกหลอกลวง ทำอาชีพที่ไม่ถูกต้อง ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนผู้อื่น

แต่ถ้ามีสัมมาทิฐิแล้ว ก็จะคิดไม่อยากไม่โลภไม่โกรธ เวลาจะทำอะไรก็คำนึงเสมอว่า จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อน ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ไปพูดโกหกหลอกลวงผู้อื่น ให้เสียอกเสียใจช้ำอกช้ำใจ ไม่ไปทำอาชีพที่กระทบกับชีวิตของผู้อื่น จะบำเพ็ญแต่สมณธรรม เจริญมรรคเจริญสมาธิเจริญสติให้มากๆ เพื่อให้จิตสงบให้มากๆ จิตสงบมากเท่าไหร่ ก็จะไม่อยากจะได้อะไรมากขึ้นไปเท่านั้น จนในที่สุดเมื่อสงบเต็มที่ด้วยปัญญา ด้วยสัมมาทิฐิ ปล่อยวางทุกอย่าง ไม่ยึดไม่ติดกับอะไรแล้ว ก็จะไม่หิวไม่อยากไม่ต้องการอะไร นิโรธก็ปรากฏขึ้นมาเต็มที่ ในการบำเพ็ญกิจทั้ง ๔ นี้ ทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องบำเพ็ญให้มาก ตัวที่ดำเนินการจริง ๆก็คือตัวมรรคนี้เอง

เพราะเวลาเราฟังเทศน์ฟังธรรมเราก็กำลังเจริญสัมมาทิฐิ กำลังพิจารณาทุกข์ ได้ยินแล้วว่าร่างกายนี้เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา นี่ก็เป็นการกำหนดรู้ทุกข์แล้ว รู้ว่าร่างกาย รู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา การได้ยินได้ฟังนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฐิ แต่ยังไม่เป็นสัมมาทิฐิที่ถาวร ถ้าฟังแล้วเราไม่เจริญต่อ ไม่เอาไปพิจารณาต่อ พอออกจากศาลานี้แล้วก็ไปคุยเรื่องอื่นกัน จะไปเที่ยวที่ไหน จะไปกินที่ไหนดี เรื่องสัมมาทิฐิก็จะหายไป กลายเป็นเรื่องของกามตัณหาขึ้นมาแล้ว ที่ไหนอร่อย ก็เป็นเรื่องของกามตัณหาแล้ว ถ้าจะกินก็กินตามมีตามเกิด ที่ไหนมีอาหารก็กินไปเลย เหมือนกับเติมน้ำมัน เจอปั้มน้ำมันก็เติมไปเลย น้ำมันเหมือนกัน อย่างนี้ถึงจะเป็นสัมมาทิฐิ

พอได้ยินได้ฟังแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องเอาไปพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นภาวนา คือทำอย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า ต้องพิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก ก็ทรงหมายถึงให้พิจารณาทุกข์นี่แหละ ให้พิจารณารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่ามีการเกิดแล้วก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา ไม่ใช่ฟังแต่ตอนนี้แล้ว พอออกจากที่นี่ก็จบ ถ้าอย่างนี้ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ เหมือนกับฟังเข้าหูซ้ายแล้วก็ออกหูขวา ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในใจเลย ไปแล้วก็ยังมีมิจฉาทิฐิเหมือนเดิม ยังอยากจะสวยยังอยากจะงามไปนานๆ ยังไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตายอยู่ ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าไม่ได้เจริญสัมมาทิฐิ ปล่อยให้มิจฉาทิฐิทำหน้าที่ต่อไปอย่างสบาย.


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๑๔ กัณฑ์ที่ ๓๘๔       
วันที่  ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑
59  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี เมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2566 16:38:00



ผ่านเวทนา ๓ ตัว
ถาม : ถ้าพิจารณาเวทนาจนข้ามเวทนาไปได้แล้ว ต้องดูอะไรต่อไป

พระอาจารย์ : สบายแล้วก็อยู่เฉยๆไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจ็บปวดใหม่ ก็แก้มันใหม่ ทำไปจนกว่าจะไม่กลัวความเจ็บอีกต่อไป

ถาม : แต่ตอนนั้นมันจะสุข

พระอาจารย์ : ถ้าสุขก็อยู่เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ไป นั่งต่อไป อย่างที่หลวงตาท่านเล่าว่าต้องผ่านเวทนา ๓ ตัวด้วยกัน นั่งตลอดคืนตั้งแต่เย็นจนถึงเช้ามืด ประมาณ ๘ ชั่วโมง ท่านบอกจะผ่านเวทนา ๓ ขั้น ขั้นหนู ขั้นเป็ดไก่ แล้วก็ขั้นช้าง พอผ่านขั้นแรกไปก็จะสงบสักระยะหนึ่ง แล้วก็เริ่มเจ็บปวดขึ้นมาใหม่ จะรุนแรงกว่าขั้นแรก ก็ต้องพยายามผ่านไปให้ได้ ผ่านขั้นนี้ได้แล้วก็ไปขั้นที่ ๓ ขั้นสุดท้าย ถ้าผ่านขั้นนี้ได้แล้ว จะไม่กลัวความเจ็บปวดที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ที่เกิดจากความตาย.


ชกไปเรื่อยๆจนกว่าจะชนะ
ถาม : ความสงบที่เกิดจากการนั่งสมาธิในแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน

พระอาจารย์ : เหมือนกับยิงปืน บางทีก็เข้าตรงกลางเป้าก็ได้ ๑๐ คะแนน บางทีไม่เข้าตรงกลางเป้า ได้ ๕ คะแนนบ้าง ได้ ๓ คะแนนบ้าง ได้ ๑ คะแนนบ้าง ภาวนาแต่ละครั้ง บางทีก็สงบน้อย บางทีก็สงบมาก ขึ้นอยู่กับสติว่ามีความต่อเนื่องมากน้อยเพียงไร ถ้าต่อเนื่องมากก็จะสงบมาก เหมือนกับเดินเข้าไปในถ้ำ ถ้าเข้าไปลึกมากก็จะห่างไกลจากเสียงภายนอกมาก เข้าไปสุดถ้ำเลยก็จะไม่ได้ยินเสียงภายนอกเลย ถ้าอยู่แถวปากถ้ำก็จะได้ยินเสียงนั้นเสียงนี้อยู่ ถ้าสติยังไม่แน่นอนยังไม่ชำนาญ ความสงบก็จะเป็นแบบนี้

ถาม : บางวันถ้าภาวนาดี ลมหายใจก็จะสั้นลง แล้วก็ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆจนหายเงียบไปเลย แต่บางวันก็จะมีทุกขเวทนา ก็จะพิจารณาด้วยอุบายของท่านอาจารย์ ทุกขเวทนาก็หายไปเป็นพักๆ แล้วก็กลับมาดูลมหายใจใหม่ ทำเป็นรอบๆไป สุดท้ายก็แพ้มันทุกที แต่ว่าระยะเวลาที่นั่งจะได้นานขึ้นเรื่อยๆ เราควรจะตั้งเป้าที่จะเอาชนะมันให้ได้ หรือทำไปให้ดีที่สุด

พระอาจารย์ : ทำให้ดีที่สุดจนได้ชัยชนะ ถ้าไม่ยกนี้ก็ต้องยกต่อไป เหมือนนักมวยที่ชกไปเรื่อยๆจนกว่าจะชนะ ถ้ายังไม่ชนะก็จะไม่หยุดชก เราก็ต้องภาวนาไปเรื่อยๆ เจริญสติไปเรื่อยๆ พิจารณาธรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะชนะ.


ไม่ได้
ถาม : กามราคะ กามตัณหา กามกิเลสเหมือนกันไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ : เหมือนกัน เป็นสรรพนาม ใช้แทนกันได้ วัตถุของความอยากจะต่างกัน ติดเหล้าติดบุหรี่ก็เป็นกามตัณหาแบบหนึ่ง กามคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ วัตถุของกามจะต่างกัน อยากเหล้า อยากบุหรี่ อยากผู้หญิง อยากผู้ชาย เป็นกามตัณหาทั้งนั้น

ถาม : แล้วการติดกาแฟติดน้ำผลไม้

พระอาจารย์ : เป็นกามตัณหาเหมือนกัน แต่มีความหนักเบาต่างกัน ติดกาแฟไม่หนักเท่ากับติดเหล้า ติดเหล้าติดบุหรี่ไม่หนักเท่ากับติดยาเสพติด แต่ก็ติดเหมือนกัน นักปฏิบัติต้องไม่ติดอะไรเลย

ถาม : ถ้าขอคาเฟอีนสักนิดหนึ่ง จะได้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน

พระอาจารย์ : ไม่ได้ ถ้าจะง่วงเหงาหาวนอน ก็ให้อดอาหารแทน หรือไปอยู่ที่น่ากลัวๆ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ถ้าดื่มคาเฟอีนก็จะติดคาเฟอีน วันไหนไม่ได้ดื่มก็จะปฏิบัติไม่ได้ ไม่ควรอาศัยสิ่งภายนอกมาแก้ปัญหา ต้องใช้ธรรมะ ถ้าง่วงเหงาหาวนอนก็อดอาหารถ้าถูกจริต ถ้าไม่ถูกจริตก็ไปอยู่ที่น่ากลัวๆ หรือไปนั่งที่ปากเหว ถ้าสัปหงกหลับไป หัวจะได้ทิ่มลงเหวไปเลย อย่างนี้จะไม่ง่วงแน่นอน ต้องแก้อย่างนี้

ถาม : ถ้าติดบุคคลติดสัตว์เลี้ยง เช่นคนที่รักหมารักแมวรักสัตว์

พระอาจารย์ : รักสัตว์รักคนรักตุ๊กตาก็เหมือนกัน แม้แต่รักที่นั่ง เวลานั่งสมาธิต้องมีเบาะมีที่พิง ในสติปัฏฐานสูตรไม่ได้บอกให้นั่งบนเบาะทำอานาปานสติ แต่บอกให้นั่งตามโคนไม้ ตามเรือนร้าง.


ปฏิบัติให้มากที่สุด
ถาม : เตรียมลาออกไปปฏิบัติธรรม แรกเริ่มนี้จะปฏิบัติอยู่ที่บ้าน ต้องกำหนดเป็นเวลาหรือไม่คะ

พระอาจารย์ : พยายามปฏิบัติให้มากที่สุดเท่าที่จะปฏิบัติได้ ควรเจริญสติตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ หรือพุทโธๆไปก็ได้ ตั้งแต่ตื่นเลย ก่อนจะลุกจากที่นอนก็พุทโธๆไป พอลุกขึ้นก็พุทโธๆไป ให้พุทโธๆพาไป.


ความหลง
ถาม : วิธีแก้วิปัสสนูนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงบอกอุบายไว้ไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่ได้ศึกษารายละเอียด เพียงแต่อาศัยการวิเคราะห์ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับความหลง แต่ละกรณีไม่เหมือนกัน คือทำอย่างไรให้คนที่หลงมีสติขึ้นมา ให้รู้ว่าตนเองหลง นั่นคือเป้าหมาย กำลังไปผิดทาง อยู่ที่คนหลงว่าอยู่ในฐานะที่จะรับรู้ได้หรือไม่ อย่างคนที่อยู่ในสถานบำบัด คนเสียสตินี่ ไม่อยู่ในสภาพที่จะรับรู้วิธีแก้ปัญหาได้ คุยกันไม่รู้เรื่อง หรือรู้เรื่องก็ทำไม่ได้  คนปกติอย่างเรายังทำกันไม่ได้เลย เราก็หลงเหมือนกัน เพียงแต่ยังอยู่ในระดับที่พอประคับประคองตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคม ก็เลยไม่เป็นปัญหา แต่เราก็หลง คนหลงไปช่วยคนหลงจะได้อะไร.


ไม่เข้าใจอุเบกขา
ถาม : เนื่องจากมีผู้อ่านหนังสือท่านอาจารย์แล้ว เขาไม่เข้าใจอุเบกขาของท่านอาจารย์ เพราะหน้าที่ก็ยังต้องทำอยู่ ไม่ใช่ให้วางลงไปทั้งหมด ความเมตตาก็ยังมีอยู่ อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายตรงนี้ คือคนอ่านเขาบอกว่า ท่านอาจารย์ไม่ให้ทำอะไรเลย ซึ่งไม่ใช่

พระอาจารย์ : ให้ปล่อยวางทางใจ ให้ใช้ปัญญาพิจารณาความเหมาะสม ว่าทำอะไรได้ก็ทำไป ช่วยเหลือใครได้ก็ช่วยเหลือไป สงเคราะห์ใครได้ก็สงเคราะห์ไป แต่กิเลสมันชอบคิดแบบสุดโต่ง พอบอกให้ปล่อยวางก็คิดว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็อย่าไปกินข้าวสิ ทำไมเลือกทำละ ถ้าเรื่องกินก็ยังกินอยู่ ยังหายใจอยู่ เวลาฟังควรใช้ปัญญาวิเคราะห์ไปด้วย นี่ฟังแบบเอาสีข้างฟัง ไม่ได้เอาหูฟัง เข้าใจไหม เอากิเลสฟัง ไม่ได้เอาปัญญาฟัง ฟังก็ต้องวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลสิ

ที่พูดนี้กำลังพูดถึงเรื่องอะไร พูดถึงเรื่องใจ เรื่องปัญหาของใจ ที่ไปวุ่นวาย ไปทุกข์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ให้ปล่อยวางเรื่องนั้น แต่เรื่องที่ไม่ทุกข์ เรื่องที่มีหน้าที่ต้องทำก็ทำไปสิ ยังต้องทำมาหากิน ยังต้องหายใจ ยังต้องอาบน้ำต้องกินข้าว ก็ทำไป ไม่ได้บอกไม่ให้ทำทุกอย่างเลย ไม่ให้ทำในเรื่องที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ก็คืออย่าไปอยาก อย่าไปอยากมี อยากเป็น อยากได้ อะไรต่างหาก นี่คือความหมายของอุเบกขา ที่เทศน์มาตลอดนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือทำใจให้เป็นอุเบกขา ให้ใจอยู่ระหว่างความอยากกับความไม่อยาก อยากก็ไม่ใช่ ไม่อยากก็ไม่เชิง เฉยๆ


มันละเอียด ถ้าไม่สังเกตดูใจ จะไม่รู้ว่าทุกข์
ถาม : เวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย กับความทุกข์ทางใจที่เกิดขึ้นเวลาภาวนานี่ มันปะปนกัน แยกกันไม่ค่อยออก ส่วนใหญ่จะเห็นส่วนของร่างกาย แต่ไม่ชัดเจนเรื่องจิตใจ

พระอาจารย์ : เพราะปัญญาเรายังไม่ทัน ยังไม่สามารถแยกแยะความทุกข์ของ ๒ ส่วนออกจากกันได้ เพราะเกิดขึ้นพร้อมกันทันที พอเกิดความเจ็บปวดทางร่างกายปั๊บ ก็เกิดสมุทัยความอยาก ความกลัวความเจ็บปวดขึ้นมาทันที เพียงแต่หมอบอกจะฉีดยาเท่านั้นยังไม่ทันฉีดเลย ความกลัวเข็มฉีดยาก็มาก่อนแล้ว  แต่มันละเอียด ถ้าเราไม่คอยดูที่ใจด้วยปัญญา ไม่สังเกตดูใจเรา จะไม่รู้ว่าเราทุกข์แล้ว ไม่รู้ว่าเกิดสมุทัยแล้ว เกิดความกลัวขึ้นมาแล้ว เพราะส่วนใหญ่เราจะไม่ดูใจเรา จะดูสิ่งภายนอกเสียมากกว่า ดูอะไรแล้วดีใจเสียใจนี้เราไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกว่าเราดีใจแล้วเสียใจแล้ว เรากลัวแล้ว เรารีบไปทำทันทีเลย พอกลัวตัวแตนก็รีบไปหาวิธีกำจัดมันทันทีเลย พอเห็นปั๊บก็ไปเลย มันไปอย่างรวดเร็ว  ความจริงความทุกข์ทางใจมันเกิดขึ้นแล้ว ความกลัวนี้ก็เป็นความทุกข์ กลัวจะถูกมันต่อย แต่ถ้าเราภาวนามีสติดูใจอยู่เรื่อยๆ เราจะเห็นใจ เห็นอะไรต่างๆที่มีอยู่ภายในใจ ตามลำดับของกำลังของสติ ถ้าได้ยินได้ฟังเรื่องของปัญญาเรื่องของสมุทัยแล้ว พอเกิดอาการอยากขึ้นมาจะเห็นทันที จะรู้ว่าเกิดความอยากแล้ว จิตกระเพื่อมแล้ว ไม่เป็นปกติแล้ว.


ภวังค์
ถาม : จิตตกภวังค์กับจิตเป็นสมาธิ ต่างกันตรงที่มีผู้รู้หรือไม่มี

พระอาจารย์ : อันเดียวกัน สมาธิกับภวังค์

ถาม : บางทีนั่งแล้วมันเผลอๆ

พระอาจารย์ : นั่นมันภวังค์หลับ คนละภวังค์กัน ภวังค์หลับจะไม่รู้สึกตัวเคลิ้มๆ

ถาม : ภวังค์ของสมาธิต้องมีผู้รู้

พระอาจารย์ : มีสติ เหมือนกับเราคุยกันตอนนี้ เวลาจิตตกภวังค์ จิตจะวูบเข้าไปข้างใน มีสติสัมปชัญญะครบร้อย

ถาม : ถ้าเคลิ้มๆแล้ววูบไป เป็นภวังค์หลับ

พระอาจารย์ : นั่นนั่งหลับแล้ว
60  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / จิตของเปรตผี ไม่มีเครื่องมือทำความดี : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต เมื่อ: 03 พฤศจิกายน 2566 13:15:39
.



จิตของเปรตผี ไม่มีเครื่องมือทำความดี

เวลาตายไปแล้วถ้าดวงจิต มีความโลภเป็นตัวเด่นตัวนำ ก็เป็นเปรตไป ไม่สามารถทำความดีได้ ตอนนั้นมีแต่ความหิว อยากจะได้อยากจะกินอย่างเดียว ถ้าจิตมีความสงบสุขก็เป็นเทพไป มีรูปทิพย์เสียงทิพย์ให้สัมผัส เหมือนตอนที่นอนหลับฝันดี ตอนนั้นจิตก็เป็นเทพ เวลานอนหลับฝันร้ายจิตก็เป็นเปรตเป็นนรก ตอนนั้นไม่ได้ใช้ร่างกาย ไม่มีร่างกายจิตก็ยังทำงานได้ ร่างกายเป็นเพียงเครื่องมือ ไว้เสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดหยาบ ซึ่งมีอยู่ ๒ ภพคือมนุษย์และเดรัจฉาน ส่วนภพอื่นจะเสพของทิพย์ที่ดีและไม่ดี

พวกเปรตเสพของทิพย์ที่ไม่ดี คือความหิวความกระหาย พวกนรกเสพความร้อน ความเกลียด ความชัง ความอาฆาตพยาบาท พวกอสุรกายก็เสพความหวาดกลัว พวกเทพเสพรูปทิพย์เสียงทิพย์  พวกพรหมเสพความสงบ ถ้าได้ฌานจิตจะเป็นพรหม

ส่วนพระอริยเจ้ามีปัญญามีวิปัสสนามีไตรลักษณ์ จะเสพความสงบแบบปัญญาอบรมสมาธิ ตัดกิเลสทำจิตให้สงบได้ด้วยปัญญา ละสักกายทิฐิได้ ละความสงสัยวิจิกิจฉา ละสีลัพพตปรามาส ความหลงติดในพิธีกรรมต่างๆ ที่คิดว่าทำให้พ้นจากเคราะห์กรรมหรือเจริญก้าวหน้าได้ เช่นพิธีบวงสรวงเทพเจ้า บูชาราหู เป็นสีลัพพตปรามาส ไม่รู้ว่าความเจริญความเสื่อมอยู่ที่กรรม คือการกระทำ ทำดีก็เจริญ ทำชั่วก็เสื่อม

ส่วนที่กำลังเสื่อมหรือเจริญอยู่ในขณะนี้ เป็นวิบากกรรม คือผลของการกระทำความดีความชั่ว ที่ได้ทำมาในอดีต จึงไม่ต้องไปบวงสรวง ไม่ต้องไปหาหมอดู ไม่ต้องไปเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนนามสกุล ให้เสียเวลาไปเปล่าๆ.


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๑๖ กัณฑ์ที่ ๓๙๓       
วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
หน้า:  1 2 [3] 4 5 ... 51
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.501 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 26 มีนาคม 2567 04:26:59