[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 18:44:35 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 30 31 [32] 33 34 ... 51
621  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ทำวัตรสวดมนต์ เมื่อ: 04 ธันวาคม 2560 11:30:21



บทสวด ทำวัตรสวดมนต์

การทำวัตรสวดมนต์ ถือว่าเป็นประเพณี เป็นกิจวัตรข้อปฏิบัติอันเป็นมงคลของบุคคลผู้นับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่กาลนานแล้ว มีปรากฏในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จไปเพื่อทรงระงับภัย ๓ ประการ ที่เมือง ไพสาลี มีทุพภิกขภัย ภัยคือความที่ข้าวยากหมากแพง ภัยจากอมนุษย์ปีศาจร้ายต่างๆ และภัยจากอหิวาตกโรค ทำให้ประชาชนในเมืองนั้นเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก พระองค์ก็ทรงประทานบาตรศิลาของพระองค์ที่ท้าวมหาพรหมเป็นผู้ถวาย ประทานให้พระอานนท์เถระบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ และทรงให้พระอานนท์เถระเรียนเอารตนสูตร สวดรตนสูตรพร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์ไปรอบพระนคร พวกอมนุษย์ที่อยู่ในเมืองนั้น พอพระอานนท์พร้อมคณะสงฆ์เพียงเริ่มสวดว่า “ยัง กิญจิ” ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ไปเท่านั้น พวกอมนุษย์ที่อยู่ในที่นั้นๆ ก็วิ่งหลบหนีกันโกลาหล อมนุษย์ตนที่หนีไปไม่ทันก็พังกำแพงฝาเรือนหนีออกไป คนที่ป่วยอยู่เมื่อได้ยินเสียงสวดรตนสูตร ถูกน้ำพระพุทธมนต์ที่พระอานนท์ประพรมไปเท่านั้น อาการป่วยไข้ก็พลันหายไป ลุกขึ้นมาเดินตามขบวนของท่านไปรอบพระนคร ทำให้เมืองไพสาลีสงบระงับจากภัย ๓ ประการ ด้วยการสวดมนต์ และการทำวัตรสวดมนต์ ถือว่าเป็นกิจวัตรอันเป็นมงคลอย่างยิ่งของผู้นับถือพระพุทธศาสนาเพราะเป็นเหตุ

- ให้ได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เนืองๆ

- ให้ได้ระลึกถึงคุณของพระธรรมเจ้า เนืองๆ

- ให้ได้ระลึกถึงคุณของพระสังฆเจ้า เนืองๆ

- ให้ได้พิจารณาธรรม วิจัยธรรม ไตร่ตรองธรรม เนืองๆ

- ให้จิตใจสงบระงับจากความวิตกกังวล ความฟุ้งซ่าน จากนิวรณ์ธรรมต่างๆ ทำจิตใจให้สงบเย็นสบาย

- เป็นบ่อเกิดแห่งศรัทธาในพระรัตนตรัย เนืองๆ

- เป็นบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า เนืองๆ

- เป็นการเจริญสมาธิหมู่ ทำให้ได้สมาธิ มีขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ปฐมฌาน เป็นต้น

- เป็นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำให้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานได้

ฉะนั้น จึงควรทำการอนุรักษ์การทำวัตรสวดมนต์ เพราะถือว่าเป็นขุมแห่งบุญ เป็นขุมแห่งปัญญาอันจะเป็นปฏิปทารักษาพระพุทธพจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าให้เจริญอยู่กับจิตใจของพุทธบริษัททั้งหลายตลอดเวลา และเป็นปฏิปทาอันจะเป็นเหตุให้ได้โลกิยบุญ ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ เทวดา และพรหม เป็นปฏิปทาแห่งโลกุตตรบุญ อันจะเป็นเหตุทำให้แจ้งซึ่งความพ้นทุกข์ ถึงสันติสุขกล่าวคือการบรรลุ มรรค ผล พระนิพพานได้

พระครูสิริภาวนาภิรม



บทสวดทำวัตรเช้า

  คำบูชาพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา,
พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์, ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง, ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง;

พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ.
ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน; (กราบ)

ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม,
พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า, ตรัสไว้ดีแล้ว;

ธัมมัง นะมัสสามิ.
ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม; (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ปฏิบัติดีแล้ว;

สังฆัง นะมามิ.
ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์. (กราบ)

        -----------------------

  ปุพพภาคะนมะการะ

(นำ) หันทะ มะยัง พุทธัสสะ ภะคะวะโต ปุพพะภาคะนะมะการัง กะโรมะ เส.

(รับ) นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น;
อะระหะโต ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทธัสสะ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น;
อะระหะโต ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทธัสสะ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น;
อะระหะโต ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทธัสสะ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง.

        -----------------------

  พุทธาภิถุติ

(นำ) หันทะ มะยัง พุทธาภิถุติง กะโรมะ เส.

(รับ) โย โส ตะถาคะโต พระตถาคตเจ้านั้น พระองค์ใด;
อะระหัง เป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
วิชชาจะระณะสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
สุคะโต เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี
โลกะวิทู เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
สัตถา เทวะมะนุสสานัง เป็นครูผู้สอน ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรร
ภะคะวา เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์

โย อิมัง โลกัง สะเทวะกัง สะมาระกัง สะพรัห๎มะกัง, สัสสะมะณะพราห๎มะณิง ปะชัง สะเทวะมะนุสสัง สะยัง อะภิญญา สัจฉิกัต๎วา ปะเวเทสิ,

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด, ได้ทรงทำความดับทุกข์ให้แจ้งด้วยพระปัญญาอันยิ่งเองแล้ว, ทรงสอนโลกนี้พร้อมทั้งเทวดา, มาร, พรหม, และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์, พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม;

โย ธัมมัง เทเสสิ, พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใด ทรงแสดงธรรมแล้ว;  
อาทิกัล๎ยาณัง ไพเราะในเบื้องต้น
มัชเฌกัล๎ยาณัง ไพเราะในท่ามกลาง
ปะริโยสานะกัล๎ยาณัง ไพเราะในที่สุด

สาตถัง สะพ๎ยัญชะนัง เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง พรัห๎มะจะริยัง ปะกาเสสิ,

ทรงประกาศพรหมจรรย์, คือแบบแห่งการปฏิบัติอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง, พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ;

ตะมะหัง ภะคะวันตัง อะภิปูชะยามิ,

ข้าพเจ้าบูชาอย่างยิ่ง เฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น;

ตะมะหัง ภะคะวันตัง สิระสา นะมามิ,

ข้าพเจ้านอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ด้วยเศียรเกล้า;

        (กราบระลึกถึงพระพุทธคุณ)

        -----------------------


  ธัมมาภิถุติ

(นำ) หันทะ มะยัง ธัมมาภิถุติง กะโรมะ เส.

(รับ) โย โส ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม,

พระธรรมนั้นใด เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า, ได้ตรัสไว้ดีแล้ว;

สันทิฏฐิโก เป็นธรรมที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
อะกาลิโก เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล
เอหิปัสสิโก เป็นธรรมที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด
โอปะนะยิโก เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ เป็นธรรมที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน
ตะมะหัง ธัมมัง อะภิปูชะยามิ ข้าพเจ้าบูชาอย่างยิ่ง เฉพาะพระธรรมนั้น
ตะมะหัง ธัมมัง สิระสา นะมามิ  ข้าพเจ้านอบน้อมพระธรรมนั้น ด้วยเศียรเกล้า.  

        (กราบระลึกถึงพระธรรมคุณ)

        -----------------------


  สังฆาภิถุติ

(นำ) หันทะ มะยัง สังฆาภิถุติง กะโรมะ เส.

(รับ) โย โส สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น หมู่ใด, ปฏิบัติดีแล้ว;

อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติตรงแล้ว;

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว;

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติสมควรแล้ว;

ยะทิทัง ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ
จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่, นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
อาหุเนยโย เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
ปาหุเนยโย เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ
ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
อัญชะลิกะระณีโย เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญของโลก, ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ตะมะหัง สังฆัง อะภิปูชะยามิ ข้าพเจ้าบูชาอย่างยิ่ง เฉพาะพระสงฆ์หมู่นั้น
ตะมะหัง สังฆัง สิระสา นะมามิ ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์หมู่นั้น ด้วยเศียรเกล้า.

        (กราบระลึกถึงพระสังฆคุณ)

        -----------------------


แหล่งที่มา : วัดพิชโสภาราม
622  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / Re: ธรรมะวันหยุด เมื่อ: 01 ธันวาคม 2560 15:49:37



ความสงบ
ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว จะพูดก็ดี จะทำก็ดี ความสุขย่อมอำนวยผลติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น

ใจดี ใจผ่องใส ต้องเป็นใจที่มีความสงบ สุขุม เยือกเย็นอยู่ภายใน ความสงบจึงเป็นคุณสมบัติของผู้มีปัญญา เป็นยอดปรารถนาของทุกคน ก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งตนเองและผู้อื่น ความสงบ 3 ประการ

สงบกาย คือ ประพฤติดีทางกาย ไม่ทำลายทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น มีแต่ช่วยป้องกันรักษาชีวิตและทรัพย์สินของตนและผู้อื่น พยายามตั้งตนไว้ไม่ให้เป็นเหตุแตกแยกสามัคคี และเป็นที่รังเกียจสงสัยของคนรอบข้าง ทำหน้าที่การงานที่เป็นประโยชน์สุข ไม่มุ่งหน้าก่อความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดแก่ตนและส่วนรวม

สงบวาจา คือ ประพฤติดีทางวาจา เจรจาคำสัตย์ซึ่งเป็นถ้อยคำที่อมตะ ไม่สูญหายไปจากความนิยม น่าเคารพ น่านับถือ เป็นที่ไว้วางใจของชาวโลก ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเพราะลมปาก เป็นคนพูดจริงทำจริง พูดอย่างไรทำได้อย่างนั้น จัดว่าเป็นคนรักศักดิ์ศรีของตัว ทำตนให้มีคุณค่าสามารถชนะใจคนพูดไม่จริงได้ พูดถ้อยคำอ่อนหวานประสานประโยชน์ พูดถ้อยคำมีหลักมีฐาน ไม่พูดถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ความทุกข์ความเดือดร้อนอันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่ตนและผู้อื่น จึงควรระวังวาจาให้ดีมีบทกวี สุนทรภู่ ประพันธ์ว่า

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์    มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร    จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา

สงบใจ คือ ประพฤติดีทางใจ เว้นจากอาฆาตพยาบาทปองร้ายกัน มีความพอใจด้วยของๆ ตน ประกอบด้วยเมตตาธรรม ปรารถนาความสุขความเจริญให้กันและกัน มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม อุปถัมภ์ใจให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากอุปสรรคปัญหาที่จะมากีดกั้นให้ทำความดี ความสงบใจเป็นสิ่งสำคัญ สนับสนุนให้เกิดความสงบกายและสงบวาจาได้ดียิ่งนัก

เมื่อความสงบเข้าเยือน จิตใจจะตั้งมั่นไม่หวั่นไหว สงบนิ่งสามารถเข้าใจในสรรพสิ่งได้อย่างชัดเจน ดุจน้ำที่ใสและนิ่งที่อยู่ในภาชนะที่สะอาด ผู้คนสามารถมองผ่านภาชนะได้ชัดเจน พร้อมใช้สอยดื่มกินได้ตามประสงค์

ผลดีของความสงบครบถ้วนทั้งกาย วาจา และใจ เมื่อสำรวจตนเองแล้วน่าชื่นชม ไม่มีตำหนิแม้สักนิด ผู้มีปัญญาพิจารณาแล้วยกย่องสรรเสริญ ชื่อเสียงกิตติศัพท์อันดีงามนี้ ย่อมฟุ้งขจรไปทั่วสารทิศ



ความสุข
ความสุข เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และพากันแสวงหาด้วยวิธีการต่างๆ ตามแต่ระดับสติและปัญญาที่จะอำนวยให้ได้ แต่ถ้าระดับสติและปัญญาอ่อนลงมากเท่าไร การแสวงหาความสุขนั้น ก็ย่อมจะพาเอาความทุกข์พ่วงเข้ามาด้วยมากเข้าเท่านั้น

บางคนไปหลงเสพความทุกข์แต่เข้าใจว่าเป็นความสุข เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ โดยหลงไปว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นสุข กว่าจะรู้ตัวก็เกิดโรคร้ายแรงเสียแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตก็มาดับสลายลงกับสิ่งที่ไร้สาระ อย่างน่าเวทนายิ่งนัก

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนเรื่องของความสุขไว้ 4 ประการ คือ

ประการแรก สุขเกิดจากการมีทรัพย์ มีความภูมิใจ สุขใจที่ตนมีโภคทรัพย์ เพราะทรัพย์เป็นเหตุให้ปลื้มใจ คือความสมบูรณ์ในปัจจัย 4 คนมีทรัพย์ย่อมได้รับความสุข แต่ต้องรู้จักการใช้สอยทรัพย์สมบัตินั้น กล่าวคือการใช้จ่ายในทรัพย์สินเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ ถ้าไม่รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ก็หาความสุขมิได้ มีแต่ความเดือดร้อน กังวลใจในการรักษาทรัพย์สมบัติ

ประการที่ 2 สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค มีทรัพย์แล้วไม่จับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ควรใช้สอยก็ไม่มีความสุข การใช้จ่ายทรัพย์ จึงจัดว่าเป็นความสุขชนิดหนึ่งของคน ผู้ที่ไม่มีปัญญาย่อมใช้สอยทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงความหมดเปลือง ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติก็มีแต่อันจะต้องสิ้นไปหมดไป

ส่วนผู้มีปัญญาย่อมใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ รู้จักประมาณในการใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย ให้พอเหมาะกับรายได้กับที่ตนได้รับ และให้เหลือพอที่จะอดออมเป็นทุนสะสมสำหรับชีวิตครอบครัว

ประการที่ 3 สุขเกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้ หนี้คือสิ่งที่ตกค้างจะต้องชำระเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และทำให้เกิดความทุกข์ คนมีหนี้จะเกิดอาการหวาดผวา นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ คนมีหนี้สินมากๆ สังคมจะขาดความเชื่อถือ ไม่เป็นที่ยอมรับ ยิ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาหรือตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะกลายเป็นคนล้มละลาย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะยากจนก็ตาม แต่การไม่มีหนี้สินใคร จัดว่าเป็นความสุขใจอย่างหนึ่ง

ประการที่ 4 สุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ การประกอบการงานที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม แม้ว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็ไม่มีความภูมิใจในทรัพย์สินเหล่านั้น และหาความสุขใจอย่างแท้จริงไม่ได้ ผู้ที่ทำงานปราศจากโทษย่อมจะมีความสุข เพราะเป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดต่อกฎหมาย และศีลธรรม ไม่เป็นที่เดือดร้อน แก่ใครๆ คนที่ทำงานที่ปราศจากโทษนั้น ย่อมได้รับความสุขเพราะไม่ต้องหวาดผวา

ความสุขจะเกิดมีขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกันและกัน ให้คำนึงถึงส่วนรวมคือประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อช่วยกันสร้างประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง เพราะเมื่อประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองแล้ว

เราก็มีความสุขโดยถ้วนหน้า



ทุกข์
ทุกข์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากส่วนประ กอบของชีวิตไม่สมดุลกัน โดยส่วนมากมุ่งหาแต่ทรัพย์อย่างเดียว ได้มากเท่าไรก็ยังไม่พอ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ถูกธรรม จะถูกดูหมิ่นอย่างไรก็ไม่ใส่ใจ ขอเพียงให้ได้ทรัพย์มาสนองความต้องการของตนเท่านั้น ซึ่งเป็นรูปแบบของความทุกข์มากขึ้น และทำให้เกิดปัญหาไม่รู้จักหมดสิ้น

ความอยากได้สิ่งต่างๆ นี้ เป็นความรู้สึกทุกข์ที่มีอยู่ประจำใจของมนุษย์ ตั้งแต่เป็นเด็กจนกระทั่งเติบใหญ่ และเมื่อเติบใหญ่ขึ้นแล้ว ความอยากได้สิ่งต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ อยากได้อย่างนั้นอยากได้อย่างนี้

จนกระทั่งตนเองก็หาให้แก่ตนเองไม่ทัน คือ ความอยากมันพองตัวมากขึ้น ยิ่งเมื่อมีครอบครัวแล้ว ความต้องการซึ่งเคยมีเพื่อตนเองคนเดียวกลับถูกขยายโครงการออกไปอีก เป็นความต้องการเพื่อคนอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนาจะเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนนานาประการ

ความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งปวงที่เกิดมีแก่มนุษย์ทุกวันนี้ เมื่อสืบหามูลเหตุแล้วล้วนแต่เกิดจากความอยากทั้งสิ้น พระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า ภิกษุทั้งหลาย เหตุเกิดแห่งทุกข์นี้เป็นความจริงของพระอริยเจ้า ได้แก่ ความอยากอันเป็นเหตุให้มีภพใหม่ พัวพันกับความกำหนัดยินดีในอารมณ์นั้นๆ คือ ตัณหา 3 ประการ

- กามตัณหา ความอยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนี้

- ภวตัณหา ความอยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้

- วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นอย่างนั้น อยากไม่เป็นอย่างนี้

ตัณหา 3 ประการนี้เป็นมูลเหตุให้เกิดความอยากและเหตุความทุกข์ทั้งปวง

ความอยากนี้เป็นเพียงธรรมที่จรมาเกิดร่วมกับจิต เมื่อจะเกิดก็อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยก็เกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดความอยากนั้น ได้แก่ รูปพรรณสัณฐานทรวดทรงที่สวยสดงดงามตา เสียงที่ไพเราะเสนาะโสตจับใจ กลิ่นที่หอมหวนชวนให้ชื่นใจ รสที่ดีที่อร่อยชวนให้บริโภค สัมผัสที่อ่อนนุ่ม ตลอดถึงลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจเพราะเป็นเครื่องยั่วยวนชวนใจให้เกิดความลุ่มหลง ให้เกิดความอยากได้ ทำใจให้ดิ้นรนแสวงหาอารมณ์ที่ปรารถนาอยากได้นั้น เมื่อได้แล้ว มิใช่ว่าจะพอเพียงนั้น ย่อมทะยานอยากแสวงหาอย่างอื่นๆ ต่อไปอีก

ความอยากนี้เกิดขึ้นอยู่ร่ำไป ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น ความอยากมีอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุด และความอยากที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ถ้าบุคคลไม่รู้เท่าทัน ไม่คอยควบคุมไว้ ปล่อยให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ย่อมมีอำนาจบังคับใจให้ทำอะไรได้ไม่มีขีดจำกัด ทำให้ผู้นั้นไม่รู้เหตุผลตามความเป็นจริง มีแต่ความมืดมน ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกหรือผิด



ความอยาก
มนุษย์ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้ เพราะอาศัยเหตุปัจจัยกล่าวคือ ตัณหา ดังที่พระพุทธองค์ตรัส ไว้ว่า ตัณหาย่อมยังบุคคลให้เกิดได้ และนอกจากจะทำบุคคลให้เกิดขึ้นมาแล้ว ยังปกคลุมหุ้มห่อมนุษย์โลก ทำให้วุ่นวาย คิดประกอบกรรมทั้งดีและชั่ว

ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยากดิ้นรน ทำบุคคลให้สะดุ้งหวั่นไหว ทำชั่วบ้างทำดีบ้าง คนที่มีทุกข์มากมายประสบแต่ความ เดือดร้อนก็เพราะตัณหานี้เอง ซึ่งมีอยู่ 3 ประการ คือ

1.กามตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากดิ้นรนค้นหา รูป เสียง เป็นต้น อันเป็นทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม 2.ภวตัณหา หมายถึง ความอยากมีอยากเป็น คือ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้อันเป็นเรื่องดีและชั่ว 3.วิภวตัณหา หมายถึง ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เพราะมองเห็นทุกข์โทษ

บรรดาตัณหาทั้ง 3 นั้น ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น นับว่าเป็นตัวสำคัญ ทำให้เกิดกามตัณหาและวิภวตัณหา ก่อกรรมทั้งดีและชั่วไม่มีที่สิ้นสุด คนที่ถูกตัณหาเข้าควบคุมครอบงำแล้ว เปรียบเสมือนคนตาบอด มองไม่เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นโทษ

ตัณหาความอยากนี้ ถ้าอยากจะทำดี ทำประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ใคร นับได้ว่าเป็นความทะยานอยากในฝ่ายดี เช่น อยากจะทำตนให้เป็นประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับความสุข พ้นจากความทุกข์ ก็เป็นที่น่าสรรเสริญ ยกย่องบูชาได้

ทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งทรงเป็นสุเมธดาบสโพธิสัตว์ ได้พบพระทีปังกรพระพุทธเจ้าแล้วก็เลื่อมใสพอใจในความเป็นพระพุทธเจ้า จึงปรารถนาอยากจะเป็นบ้าง ก็ริเริ่มประกอบกรรมดี มีบำเพ็ญทานบารมี เป็นต้น ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า สมความปรารถนาที่ตั้งไว้ อย่างนี้นับว่าเป็นตัณหาเหมือนกัน แต่เป็นตัณหาในทางดี

ถ้าเป็นตัณหา ความทะยานอยากในทางประกอบกรรมทำความชั่ว ก่อทุกข์ให้เกิดทั้งแก่ตนและคนอื่น ก็จัดเป็นตัณหาในทางชั่ว เช่น โลภอยากได้สมบัติสิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยการคดโกงหลอกลวง และการประพฤติผิดในสามีภรรยาผู้อื่น เป็นต้น จัดเป็นตัณหาในทางชั่วที่ร้ายแรง บุคคลจะละหรือบรรเทาให้เบาบางลงได้ ก็ต้องใช้คุณธรรมกล่าวคือ ศีล สมาธิ และปัญญา

บุคคลจะละตัณหาหรือบรรเทาตัณหาให้เบาบางจางลงไปได้ ก็ต้องพยายามรักษาศีล ฝึกสมาธิทำจิตใจให้สงบ ระงับและทำปัญญา ความรอบรู้ให้เข้าใจถูกต้องอย่างแท้จริง

คนที่มีศีลดี มีสมาธิดี และมีปัญญาดี จะไม่ประกอบกรรมทำชั่วโดยเด็ดขาด จะทำแต่ความดี ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์โทษทั้งแก่ตนและคนอื่น

ส่วนคนที่มีแต่ความยุ่งเหยิง เดือดร้อน เพราะขาดศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง จึงถูกตัณหาเข้าครอบงำ สร้างแต่บาปกรรมความชั่วไม่สิ้นสุด ผลสุดท้ายก็ได้รับทุกข์โทษทั้งในชาติปัจจุบันนี้และภพต่อไป

คนที่มีปัญญาดี ควรพยายามบรรเทาตัณหาที่มีอยู่ให้ลดน้อยลง แล้วประกอบแต่คุณงามความดี ก็ย่อมจะทำประโยชน์ให้เกิดแก่ตนและคนอื่นได้ ถ้าแม้ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีคนเคารพบูชา ละจากโลกนี้ไปแล้วก็มีคนยกย่องสรรเสริญ



ความสามัคคี
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสอนให้สร้างความสามัคคี ปรองดองกัน มีจิตใจชื่นบานต่อกัน เป็นมิตรเป็นสหายกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยเหตุว่าเป็นเหตุสงบความทะเลาะ วาทได้

ความสามัคคี คือ ความพร้อมเพรียง สนิทสนมกลมเกลียว เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่วิวาทบาดหมางกัน หรือไม่แก่งแย่งซึ่งกันและกัน เมื่อกล่าวโดยประเภทมี 2 คือ กายสามัคคี พร้อมเพรียงกันด้วยกำลังกาย จิตสามัคคี พร้อมเพรียงกันด้วยกำลังใจ

เมื่อมีความพร้อมเพรียงกันทั้ง 2 ประเภท ก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลเต็มที่ หรือมีผลอันสมบูรณ์ดีไม่มีความบกพร่อง ถ้าเป็นแต่สามัคคีด้วยกาย แต่ใจไม่สามัคคีด้วย หรือมีจิตใจที่ไม่คิดจะช่วยให้เต็มความสามารถ ก็ขาดผลที่จะพึงได้ไปครึ่งหนึ่ง แต่ถ้ามีจิตสามัคคีด้วยก็จะช่วยให้สำเร็จประโยชน์อย่างไพบูลย์ ไม่มีความขาดตกบกพร่องแต่ประการใด

ความสามัคคีมีนัยดังกล่าวมานี้มีอยู่ในหมู่สมาคมใด หมู่สมาคมนั้นย่อมดำเนินไปสู่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมทราม และความสามัคคีนั้นจะเกิดขึ้นได้ หรือเกิดขึ้นแล้วจะยืนยงมั่นคงไปได้ด้วยดี ก็เพราะมีคุณธรรมเป็นหลัก คุณธรรมนั้นมีมากมายหลายอย่าง แต่จะยกขึ้นมาแสดงในที่นี้อย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าสังคหวัตถุ คือ ธรรมเป็นอุบายเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน มี 4 ประการ คือ การให้ ความเป็นผู้มีวาจาไพเราะ การประพฤติกิจที่เป็นประโยชน์แก่กัน ความมีตนเสมอ

การให้ คือ ความเป็นผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน นี้เป็นอุบายให้เกิดความสามัคคี ส่วนความเป็นผู้รู้มาก เอาเปรียบตระหนี่ถี่เหนียว เห็นแก่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ไม่แลเหลียวถึงประโยชน์ของผู้อื่น นี้เป็นเหตุแห่งความแตกสามัคคี

ความเป็นผู้มีวาจาไพเราะ คือ มีวาจาอ่อนหวานนุ่มนวลชวนให้น่าฟัง ไม่กระทบกระทั่งเสียดสีผู้อื่น หรือไม่ยกตนข่มท่าน นี้เป็นเหตุแห่งความสามัคคี ส่วนการเจรจาด้วยถ้อยคำหยาบคาย ไม่ไพเราะหู หรือกระทบกระทั่งเสียดสีผู้อื่นเป็นต้น นี้เป็นเหตุทำลายความสามัคคี

การประพฤติกิจที่เป็นประโยชน์แก่กัน คือ ไม่เพิกเฉยดูดาย ช่วยขวนขวายด้วยความเต็มใจ นี้เป็นเหตุแห่งความสามัคคี ส่วนการเพิกเฉยดูดาย ไม่ขวนขวายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มุ่งแต่จะเอาตัวรอดเป็นใหญ่ การแสดงอัธยาศัยใจจืดเช่นนี้เป็นเหตุทำลายความสามัคคี

ความมีตนเสมอ คือ มีมารยาทอ่อนน้อมถ่อมตนในบุคคลไม่เลือกหน้า ปฏิบัติตนวางตนพอดี นี่เป็นเหตุแห่งความสามัคคี ส่วนความเป็นผู้ถือตัวถือตน ถือยศถืออำนาจ แสดงกิริยามารยาทดูหมิ่นผู้อื่น ไม่ประพฤติตนให้เหมาะสมแก่ฐานะ นี้เป็นเหตุทำลายความสามัคคี

ผู้ที่จะบำรุงรักษาความสามัคคีให้ยืนยงมั่นคงอยู่ได้ ต้องเป็น ผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้ง 4 ประการนี้ และพึงเว้นจากธรรมอีก 4 ประการ ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามนั้นเสีย ความสามัคคีก็จะดำรงมั่นคงอยู่ได้ด้วยดีตลอดไป และพึงเป็นผู้มีขันติธรรมประจำใจ

มีความอดทนอดกลั้น บั่นรอนตัดทอนเหตุที่จะทำให้แตกความสามัคคีนั้นๆ


ธรรมะวันหยุด
พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
623  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / Re: เป็นอยู่อย่างคนเหนือดวง เมื่อ: 28 พฤศจิกายน 2560 13:52:31


อย่ากลัวความสำเร็จ

คราวหนึ่งผู้เขียนเคยมีโอกาสรับฟังโอวาทธรรมของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดร ธานี ที่แสดงไว้ในเรื่อง "จิตของผู้มีบุญ" ซึ่งข้อหนึ่งท่านกล่าวไว้ว่า "ผู้มีบุญจะไม่กลัว" เพราะผลแห่งบุญที่เคยสะสมอบรมมา จะแปรเปลี่ยนสภาพจิตใจให้มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ และเด็ดเดี่ยว ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้จิตใจไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ด้วยเหตุว่ามีความมั่นใจในความเป็นผู้บริสุทธิ์และบุญอันสะสมไว้ดีแล้วของตนเอง ดังนั้นไม่ว่าจะคิด พูด หรือกระทำสิ่งใด ก็ล้วนแต่มีกำลังบุญมารองรับ จนทำให้ความกลัวนั้นปลาสนาการไป

ความกลัวถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของความสำเร็จ ผู้ที่ถูกความกลัวครอบงำจะไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าทดลอง หรือแม้แต่ไม่กล้าคิดถึงความสำเร็จ เช่น โทมัส เอดิสัน ถ้ากลัวความล้มเหลว โลกใบนี้ก็อาจจะยังไม่มีโอกาสได้เห็นแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้า หรือถ้าหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ถูกอาจารย์ของตัวเองตราหน้าว่า "สมองช้า ไม่ชอบสังคม และล่องลอยอยู่ในความฝันอันโง่เขลาของตัวเองตลอดเวลา" ยังคงกลัวและยึดติดกับคำสบประมาทนั้น โลกคงไม่รู้จักผู้ชายที่ชื่อ "อัลเบิร์ต ไอสไตน์" บิดาแห่งปรมาณู

บางครั้งความกลัวยังเป็นประดุจเพชฌฆาตที่ลงดาบซ้ำเติมจากโรคภัยทั้งหลาย เช่น เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้รู้จักคนขับรถสามล้อเครื่อง ซึ่งมีรูปร่างสูงใหญ่ ร่างกายกำยำ แลดูแข็งแรงเป็นพิเศษ คนผู้นี้ออกกำลังกายทุกวัน จนใครๆ ต่างยกให้เป็นพ่อจอมพลังประจำซอย วันหนึ่งเกิดจับพลัดจับผลูไปตรวจสุขภาพร่างกายตามภรรยา ปรากฏว่าโดนแจ๊กพอตแตก คือ หมอตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง จะอยู่ได้อีกประมาณครึ่งปี ซึ่งทันทีที่เขารู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็ง กำลังใจก็ห่อเหี่ยว เต็มไปด้วยความหวาดกลัว และที่สุดก็ต้องตายไปภายในเวลาเพียงแค่ 2 อาทิตย์นับจากนั้น

ซึ่งความจริง "หลายเรื่องไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวที่เกาะกินจิตใจ" เหมือนกับที่ "มะเร็งไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวมะเร็ง" หรือ "ความล้มเหลวไม่น่ากลัวเท่ากับการกลัวล้มเหลว"

ในทางพระพุทธศาสนา ความกลัวทุกอย่างล้วนเป็นเพราะ "สักกายทิฏฐิ" คือ ความรักตัว กลัวความทุกข์ กลัวเสียชื่อเสียง กลัวเจ็บ และกลัวตาย เพราะสำคัญว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา เมื่อคิดจินตนาการว่าร่างกายนี้จะต้องเจ็บปวดหรือมีอันเป็นไป จึงเกิดอาการทนไม่ได้ รับไม่ไหว ทำให้ความกลัวมาปรากฏกายหลอกหลอนจนไม่กล้าก้าวเดินต่อไป

แต่นิยามของชาวพุทธ คือ คนทุกคนสามารถเป็นผู้ที่ปราศจากความกลัวเกรงต่อสิ่งใดๆ ได้ ขอเพียงให้ทรงไว้ซึ่งคุณของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ขอให้มั่นใจว่าคุณของพระรัตนตรัยนั้น มีอยู่ทุกอณูรอบตัวเราเป็นสิ่งอันมีค่า มีอานุภาพมาก ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ อยู่ที่จะสามารถน้อมนำออกมาใช้ได้มากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถดึงเข้ามาสู่ตัวได้มาก นำหลักมาปฏิบัติได้มาก ก็ยิ่งมีความมั่นคงได้มาก พระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่ฝากชีวิตได้จริง นึกถึงเมื่อไหร่ย่อมมีความอบอุ่นใจในทุกเวลา ขอเพียงเรามีศรัทธา มีศีลให้บริสุทธิ์ และทรงไว้ซึ่งความเคารพในพระรัตนตรัย แล้วเราจะเป็นผู้ขึ้นชื่อว่า "มีบุญ" ที่จะไม่หวั่นไหวกับภัยใดๆ ในโลกนี้อีก

ยิ่งถ้าต้องการความสำเร็จ ทั้งทางโลกหรือทางธรรม ขอให้ก้าวข้ามความกลัวโดยใช้เหตุแห่งการสร้างบุญเป็นปัจจัย แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำไปด้วยความมุ่งมั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหนก็ตาม จะร้อยคนพลาด หมื่นคนไม่สำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องพลอยกระทำไม่สำเร็จตามไปด้วย ขอเพียงมีกำลังใจเข้มแข็ง เดินลุยไปข้างหน้าอย่างไม่หวั่นเกรง มั่นใจในความดีของตนเอง ก้าวข้ามความกลัว แล้วทำสิ่งที่มั่นใจนั้นให้ถึงที่สุด...ขอให้เชื่อเถิดว่า แม้แต่มรรคผล ความพ้นทุกข์ถึงพระนิพพาน ก็ยังสามารถทำให้ถึงได้แม้ในชาติปัจจุบัน



บุญใหญ่ที่ไม่ต้องลงเงิน

ถ้าใครมีโอกาสเข้าวัดในเวลายามเย็นหรือหัวรุ่ง อาจได้เห็นภาพมงคลที่พระสงฆ์กำลังจับไม้กวาด ทำความสะอาดลานวัด ปัดฝุ่นเช็ดถูอาราม โดยเฉพาะในสำนักของวัดปฏิบัติธรรม ที่จะเคร่งครัดต่อการรักษากิจวัตรด้วยการปัดกวาดในทุกเช้าเย็น ตามที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยแนะนำพระเณรว่า "การปัดกวาดลานวัด เป็นศีลวัตรอันควรแก่ผู้ฝึกฝนขั้นอุกฤษฏ์ จะพึงปฏิบัติ" ซึ่งแม้แต่ท่านเองก็ต้องลงกวาดลานวัดทุกวันในเวลา 3-4 โมงเย็น จนถึงคราวใกล้มรณภาพ เพราะการกวาดลานวัดนี้ นอกจากจะทำให้วัดสะอาดแล้ว ยังถือเป็นเครื่องฝึกจิตใจอย่างดีและมีอานิสงส์มากมายติดพ่วงมาอีกหลายประการ

นับตามคติโบราณ มักเชื่อถือกันว่า ผู้ที่มีโรคผิวหนัง เป็นแผลพุพอง เป็นภูมิแพ้ มีสิวฝ้าหน้ายับเยิน หรือโรคเรื้อน ถ้าได้หมั่นเก็บขยะ กวาดใบไม้ที่ร่วงหล่น ทำ ความสะอาดลานวัดให้สวยงามดูสะอาดตาแล้วนั้น เชื่อกันว่าจะทำให้ผิวพรรณวรรณะงดงามและทำให้โรคร้ายหายไป

สอดคล้องกับเนื้อหาในพระไตรปิฎก ที่บ่งบอกอานิสงส์แห่งการทำความสะอาดลานวัดไว้หลายตอน เช่น เรื่องของพระโพธิสัมมัชชกะ ที่ในอดีตชาติได้เคยเก็บกวาดใบไม้บริเวณลานโพธิ์ไปทิ้ง ด้วยผลบุญนั้นทำให้ทุกชาติต่อมา ท่านกลายเป็นผู้มีอวัยวะสมบูรณ์ สวยงามสะอาด มีผิวพรรณนุ่มละเอียด ไม่มีโรคผิวหนัง ไม่มีความทุกข์ใจสาหัส ไปไหนก็มีแต่คนปกป้องคุ้มครอง และในชาติสุดท้ายก็สามารถบรรลุอรหันต์

หรือเรื่องของพระปภังกร ที่ในอดีตเคยแผ้วถางลานเจดีย์รกร้าง อันมีต้นไม้ ใบหญ้า และเถาวัลย์ปกคลุม ด้วยอานิสงส์นั้นทำให้ท่านได้เสวยทิพยสุขอยู่นานแสนนาน เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณสีสวยประดุจดั่งทองคำและไม่เป็นโรคผิวหนังใดๆ อีก เมื่อถึงชาติสุดท้ายก็สามารถบรรลุอรหันต์ได้อย่างง่ายดาย

กระทั่งเรื่องของพระนางโรหินี ที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังมีแผลพุพองไปทั่วทั้งตัว จนเกิดความอับอายไม่กล้าออกจากบ้าน พระอนุรุทธะจึงได้แนะนำว่า ให้สร้างศาลาขึ้นหลังหนึ่งเพื่อเป็นโรงฉันสำหรับพระสงฆ์ และให้คอยปัดกวาดทำความสะอาดศาลา พร้อมทั้งตั้งน้ำฉันสำหรับพระภิกษุอยู่เสมอ ซึ่งนางก็ว่าง่าย กระทำตามทุกอย่าง ต่อมาในเวลาไม่นาน โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นตามร่างกายก็ทุเลาเบาลงอย่างน่าอัศจรรย์

การใช้แรงกายต่างทรัพย์สินในการทำบุญนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินตรา แต่กลับให้ผลอันคุ้มค่า เช่น กวาดลานวัด ส่งผลภายนอกให้ผิวพรรณสดสวย ปราศจาคโรคผิวหนัง, ช่วยล้างจาน ทำความสะอาดภาชนะ มีอานิสงส์ทำให้ร่างกายหรือชีวิตสะอาดปราศจากโทษภัย, ล้างห้องน้ำสาธารณะ ช่วยเรื่องโรคภายในให้ดีขึ้น, เช็ดถูองค์พระปฏิมา ทำความสะอาด พระเจดีย์ ส่งผลตรงต่อการขจัดอุปสรรคและเครื่องเศร้าหมองของชีวิต

นอกจากนี้ การทำความสะอาดพระเจดีย์หรือสมบัติของสงฆ์ยังมีอานิสงส์พิเศษ คือ เป็นอุปนิสัยให้บรรลุธรรมได้เร็ว และพลอยทำให้ผู้ที่พบเห็นพระเจดีย์ที่สะอาดสะอ้านเกิดความเลื่อมใส ทำให้ได้อุปนิสัยแห่งการบรรลุธรรมติดตัวไปด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าใครมักง่ายชอบไปทิ้งขยะเรี่ยราด ทำความสกปรกให้เกิดขึ้นกับวัดวาอาราม ลานพระเจดีย์ หรือพุทธสถาน ก็มักเป็นเหตุให้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องผิวหนังผิวหน้า และมีอุปสรรคความติดขัดอยู่เสมอ จึงควรระมัดระวังไม่ให้สร้างเหตุอันเป็นโทษเช่นนี้แก่ตน

ดังนั้น บุญการทำความสะอาดปัดกวาดลานวัด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการสร้างเสบียงบุญอันยิ่งใหญ่ และเป็นบุญที่ไม่ต้องลงทุนด้วยทรัพย์สินเงินทองใดๆ เพียงมีกำลังและความตั้งใจก็สามารถเดินตัวปลิวเข้าไปที่วัด แล้วไปหาไม้กวาด เครื่องทำความสะอาดเอาที่นั่น เท่านั้นก็สามารถสร้างบุญใหญ่ให้กับตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างเหตุให้เกิดการพัฒนาตนได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย

กวาดลานวัด กวาดกิเลส ในใจตน

จิตหลุดพ้น หากเรากวาด ด้วยปัญญา

กวาดลานวัด ละมานะ ลดอัตตา

ละอวิชชา ให้หมดสิ้น ไปจากใจ


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
624  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2560 08:39:34



วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ (ต่อ)

ร้อยทั้งร้อย ท่านทั้งหลาย หากว่าเราไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ๆ จะเข้าใจผิด ท่านทั้งหลายลองย้อนหลัง จะนึกถึงสภาวธรรมที่หลวงพ่อได้นำมาบรรยายให้ฟังนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราทั้งหลายเข้าใจผิด บางรูป ๕ ปี ปฏิบัติกัมมัฏฐานไม่ได้ผล ก็เพราะว่ามาหลงติดอยู่ในญาณนี้ บางรูปปฏิบัติ ๑๐ ปี ๒๐ ปี บางรูป ๓๐ พรรษา

บางรูปตั้ง ๔๐ พรรษาที่มาอยู่กับหลวงพ่อ จะเป็น ๔๐ พรรษาหรือ ๕๐ พรรษาอย่างนี้ก็มี มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่กับหลวงพ่อ ท่านก็บอกว่า ท่านได้บรรลุธรรมอย่างโน้น บรรลุธรรมอย่างนี้ แต่ว่าพอเราสอบเข้าไปๆ สอบเข้าไปเรื่อยๆ ถามไปๆ ผลสุดท้ายยังไม่ได้บรรลุธรรมอะไรเลย ตกอยู่ในอำนาจของอุปกิเลสดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะสภาวะที่นำมาบรรยายนี้มันน้อยนิดเดียว ที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ สภาวะที่ยังไม่เล่านั้นยังมีมากกว่านี้ แต่ให้เราเปรียบเทียบเอาว่าอะไรเป็นอะไร เปรียบเทียบเอา

สรุปแล้วว่า ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่สามารถที่จะได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานนั้น ส่วนมากมาติดอยู่ในสภาวะของอุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ถ้าจะเป็นบ้าก็เป็นอยู่ตรงนี้ จะฆ่าตัวตายก็มาฆ่าตัวตายอยู่ตรงนี้

ตัวอย่าง หลวงปู่ทูล เวลาปฏิบัติ สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา ท่านว่าท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว เวลาจะแนะนำเตือนอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านก็บอกว่า อย่ามาแนะนำผมซิ ผมเป็นพระอรหันต์แล้ว คุณยังเป็นปุถุชนอยู่ เวลาทานยาปวดหายนั้น ใช้ ๕ ซอง ฉีกรวมกันเลย เมื่อฉีกรวมกันแล้วก็ฉันทีเดียว เราก็บอกว่า หลวงปู่อย่าฉันมากเกินไป มันบีบหัวใจ คุณเป็นพระอรหันต์หรือ คุณยังเป็นปุถุชนอยู่ คุณจะมาสอนพระอรหันต์อย่างฉันได้อย่างไร ว่าเลย

อีกอาจารย์หนึ่ง อาจารย์วิเชียร อยู่ถ้ำพวง เมื่อก่อนสภาวะเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว คิดว่าจะไปนิพพานเดี๋ยวนี้ นิพพานอยู่ใกล้ จะไปนิพพาน ผลสุดท้าย ก็เอามีดโกนมาเชือดคอตัวเองตาย มันเป็นอย่างนี้

เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้าจะเสียก็เสียอยู่ตรงนี้ ถ้าจะเป็นบ้าก็เป็นบ้าอยู่ตรงญาณนี้ จะฆ่าตัวตาย ส่วนมากก็เป็นอยู่ตรงญาณนี้ แต่ถ้าว่ามันผ่านสภาวะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นไปได้ คนนั้นก็มีหวังได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ในชาตินี้ ถ้าไม่ประมาท

แต่ที่ท่านจัดว่าเป็นอุปกิเลสเครื่องขัดขวางไม่ให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้น ก็เพราะว่า เมื่อประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้ เกิดตัณหา มานะ ทิฏฐิ คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันเกิดร่วม ตัณหาคือความทะยานอยากอย่างแรงกล้า นึกว่าตนได้สำเร็จแล้ว มานะคือความถือตัว ทิฏฐิคือความเห็นผิด มานะทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว ว่าตนได้บรรลุแล้ว ตนได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานแล้ว

เวลาทำกัมมัฏฐานไป บางรูป เวลาสภาวธรรมมันเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนไปๆ ท่านมาบอกว่า หลวงพ่อ ผมได้สมาบัติ ๘ แล้ว ผมได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานแล้ว ผมได้อรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แล้ว อย่างนี้ก็มี คือมันสำคัญผิด ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าจะไม่ให้มันหลงผิดเป็นเด็ดขาด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาจริงๆ มันหลงผิดนะท่านทั้งหลาย

ทุกสิ่งทุกอย่างคล้ายกับเป็นความจริง เช่น ปรจิตตญาณ คือ รู้วาระจิตของผู้อื่น รู้ความคิดของผู้อื่น รู้ใจของผู้อื่น เวลามันเกิดขึ้นมาคล้ายกับว่าเราได้บรรลุจริงๆ คนโน้นเดินมา คนนี้มาหา เขายังไม่มาถึง ทางนี้รู้ก่อนแล้ว พอดีมาถึงก็ทักเอาเลย คุณเป็นอย่างนี้นะ คุณพูดอย่างนี้นะ มันรู้เลย คล้ายกับว่าเราได้บรรลุแล้ว

แต่พอดีสภาวะมันเสื่อมลงไป ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีอะไรเลย มันหลอกตัวเอง สรุปแล้วว่า สภาวะทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ มันดีอยู่ สภาวะนี้เกิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ของจิต เมื่อจิตบริสุทธิ์ขึ้นมาแล้ว ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา มันก็สร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่ที่ท่านเรียกว่าเป็น อุปกิเลส เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว ตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันเกิดพร้อม เมื่อตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันเกิดพร้อม ตัวอวิชชาก็เกิดขึ้นมาด้วย อุปาทานมันก็เกิดขึ้นมาด้วย ผลสุดท้ายทำให้หลงผิด

แต่ถ้าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วเราไม่หลงผิด อะไรเกิดขึ้นมาเราก็กำหนด รู้หนอๆ อะไรเกิดขึ้นมาก็กำหนดรู้แล้วก็ปล่อยวาง กำหนดรู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่จัดเป็นอุปกิเลส และไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดขวางกั้นกางการบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจตามนี้

และต่อไปท่านทั้งหลาย มีสภาวะอย่างหนึ่งที่จะพึงสังวร คือเมื่อมันเกิดสภาวะอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ทำให้เกิดความกลุ้มใจ ระวังให้ดี เกิดกลุ้มใจ อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น เลิกทำกัมมัฏฐานต่อไป อยากกลับวัด อยากกลับบ้าน ขี้น้อยใจ ครูบาอาจารย์ทำไม่ถูกใจ บางทีครูบาอาจารย์พูดนิดพูดหน่อยก็ไม่พอใจ โกรธ บางทีก็ร้องไห้อยู่เป็นวันๆ

มีพระกัมมัฏฐานรูปหนึ่งที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ เวลาสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา ก็เดินไปสอบอารมณ์คนโน้นบ้าง เดินไปสอบอารมณ์คนนี้บ้าง เดินไปถามคนโน้น เดินไปถามคนนี้ แนะนำผู้นั้น แนะนำผู้นี้ เดินจงกรมแล้วก็เทศน์ให้เพื่อนฟังไปด้วย เดินไปเทศน์ไปๆ

หลวงพ่อก็เลยไปแนะเอาว่า คุณ ตอนนี้เรามาปฏิบัตินะ ตอนนี้เรามาปฏิบัติ เรายังไม่อยู่ในขั้นที่จะแนะนำผู้อื่น ให้ออกจากห้องกัมมัฏฐานเสียก่อนเถอะแล้วค่อยเทศน์ แล้วค่อยสอน เดี๋ยวเขาจะเข้าใจผิด จะทำให้การปฏิบัติของเรามันเดินช้า โกรธขึ้นเป็นฟืนเป็นไฟเลย วันนั้นไม่ทำกัมมัฏฐานเลย นั่งร้องไห้ตลอดทั้งวันเลย นั่งร้องไห้ตลอดทั้งวัน ตอนเย็นจะทำวัตรอย่างนี้แหละ ไปเตือนสติ เขาก็รู้สึกตัวขึ้นมา มันเป็นอย่างนี้

บางทีก็ข้ามกำแพงไปเลย บางทีไม่บอกครูบาอาจารย์ ไปเลย มันก็น่าน้อยใจเหมือนกันนะ ก็เหมือนกันกับที่เราอยู่ด้วยกันในขณะนี้แหละ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ครูบาอาจารย์ก็เอาใจใส่ทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการ แต่เวลาจะไปไม่บอกครูบาอาจารย์เลย ขึ้นรถไปเลย บางทีไม่ขึ้นรถดอก เดินออกไปตามทางดำเลย เวลามารวมกัน ถามว่า องค์นี้ไปไหน องค์นี้อยู่ไหน ถามกัน ตามหากัน ถึงกับนั่งรถเหมารถตามหากันก็มี

สภาวะอย่างนี้มันสำคัญนะท่านทั้งหลาย ทำให้อยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ใจน้อยก็ใจน้อย กลุ้มใจก็กลุ้มใจ เดินจงกรมก็ไม่อยากเดิน บางทีเดินจงกรมก็เดินเฉยๆ ไม่กำหนด นั่งก็ไม่อยากนั่ง บางทีนั่งก็นั่งเฉยๆ ไม่อยากกำหนด บางทีนั่ง บางทีนอน บางทีลุก บางทีไปโน้นไปนี้

สภาวะอย่างนี้เป็นสภาวะที่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะต้องทำความเข้าใจ ต้องรู้จักอดรู้จักทน รู้จักข่มจิตข่มใจ ลักษณะที่เป็นเช่นนี้เป็นลักษณะของ อวิชชาปฏิจจสมุปบาท คือความโง่เป็นเหตุให้เกิดสังขาร แต่เรากำหนดไม่ทัน มันจึงสร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้น พึงระวังให้ดี

เอาล่ะ เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทั้งหลาย ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
625  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2560 08:37:39



วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ

วันนี้ จะน้อมนำเอาธรรมะเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระลูกชีทั้งหลายสืบต่อไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อันตรายของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มิใช่ว่าจะมีเฉพาะที่ได้นำมาบรรยายสู่ฟังนั้น ก็หามิได้ อันตรายอื่นนั้นยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก แต่ว่าวันนี้จะนำมาบรรยายถวายความรู้ เฉพาะเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส คือ อุปกิเลสของวิปัสสนา ๑๐ ประการ

หมายความว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนูปกิเลสนี้จะต้องเกิดขึ้นแก่ทุกรูปทุกนาม คล้ายๆว่า นี่เป็นหลักสากลของการประพฤติปฏิบัติ จะต้องผ่านด่านนี้ไปเสียก่อนแล้วจึงจะดำเนินไปสู่ปฏิปทา จึงจะดำเนินไปสู่มัคควิถีได้

หลวงพ่อพูดอีกอย่างหนึ่ง ในเวลาประพฤติปฏิบัติจะให้ชื่อเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส นี้ว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน คล้ายๆกับชุมทางรถไฟ ชุมทางจิระ ชุมทางภาชี คือบรรดารถไฟทั้งหลายที่จะไปสายต่างๆ เมื่อไปแล้วก็จะผ่านชุมทางนี้แล้วก็แยกย้ายกันไป อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ดำเนินมาตามลำดับๆ แล้วก็ต้องมาตกอยู่ในภาวะนี้ เรียกว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน

วิปัสสนูปกิเลสนั้น มีอยู่ ๑๐ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. โอภาส แสงสว่าง เมื่อเกิดขึ้นจะมีลักษณะดังนี้

๑) จะมีแสงสว่างเท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ คือในขณะที่เรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น จะทำให้เห็นแสงสว่างปรากฏขึ้นเท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นหมู่ดาว เห็นดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดว่าตนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว

๒) บางทีสว่างทั้งห้อง จนสามารถมองเห็นตัวเอง

๓) สว่างคล้ายกับว่าห้องไม่มีฝากั้น เรานอน เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ เรานั่งกัมมัฏฐานในกุฏิก็ดี ในร่มก็ดี ในกลดก็ดี สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ มาปรากฏในที่ใกล้ๆ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพระธาตุพนม พระปฐมเจดีย์ เห็นกรุงเทพฯ เห็นประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

๔) สว่างคล้ายๆ กับเห็นประตูเปิดออกๆ บางทีเห็นประตูหน้าต่างมันเปิดออก ผู้ปฏิบัติยกมือไปปิดบ้าง เดินไปปิดบ้าง บางทีเดินเอามือไปปิดบ้าง

บางทีสว่างจนเห็นดอกไม้ มีสี มีกลิ่น สวยสดงดงาม ที่ลานพระเจดีย์ หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง บางทีสว่างจนเห็นทะเล คือนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นทะเลสุดลูกหูลูกตา พร้อมทั้งสัตว์น้ำทั้งหลายมีปลาและเต่าเป็นต้น ที่ลอยแหวกว่ายอยู่ในสายธารนั้น

บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากร่างกายของตัวเอง คือ บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากหัวใจ บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกที่ลูกตา บางทีแสงสว่างพุ่งออกทางศีรษะแล้วก็ลอยออกไปสู่ข้างนอก บางทีเห็นแสงสว่างลอยจากข้างนอกมาสู่ตัวเรา บางทีเมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว เราสามารถที่จะน้อมนึกเอาแสงสว่างนั้นเป็นรูปนั้น เป็นรูปโน้น เป็นรูปนี้ได้ นึกให้แสงสว่างนั้นเป็นรูปช้างบ้าง นึกแสงสว่างนั้นเป็นรูปม้าบ้าง หรือนึกให้แสงสว่างเป็นพระพุทธรูป เป็นเจดีย์ ก็สามารถเป็นไปตามใจนึก เป็นลักษณะอย่างหนึ่ง เรียกว่า โอภาส แสงสว่าง

๒. ปีติ คือความอิ่มใจ ความเอมอิ่ม ปราโมทย์ มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กๆ น้อยๆ มีลักษณะดังนี้ ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นสีขาวๆ เหมือนปุยฝ้ายหรือสำลี ในขณะนั้น คล้ายๆ กับจะเห็นอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังมองไม่เห็น

บางทีก็มีอาการเยือกเย็น ขนลุก มึนตึงหนักๆ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เย็นผิดปกติ บางทีขนลุกซู่ขึ้นมาตามร่างกาย บางทีมีอาการมึนๆ คล้ายๆ ว่าเป็นโรคเหน็บชา บางครั้งมีอาการหนักๆ คล้ายกับว่าเราเป็นโรคเหน็บชา มีอาการผิดปกติ หนักแข้ง หนักขา หนักตามตนตามตัว บางท่านใจอ่อน นึกว่าเราเป็นโรคอัมพาตเป็นโรคเหน็บชา

บางทีนั่งกัมมัฏฐานอยู่ น้ำตามันไหลออกมา หรือเดินจงกรมอยู่ น้ำตามันไหลออกมา ทั้งๆ ที่เราไม่ได้คิดอะไรมาก นั่งอยู่เฉยๆ น้ำตามันไหลออกมา บางทีนึกถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายาย น้ำตามันไหลออกมา บางทีหนังหัวพองสยองเกล้า ภาษาบ้านเราภาคอีสานเรียกว่า ขนหัวลุก เหมือนกันกับพวกผีปีศาจมาหลอกมาหลอน

บางครั้งตัวชา ตัวพองขึ้น คือปรากฏว่าตัวของเรานั้นพองขึ้นๆ จนเต็มกลดกัมมัฏฐาน หรือจนเต็มกุฏิกัมมัฏฐาน บางทีปรากฏว่าตัวของเรามันเล็กเข้าไปๆ เท่าเด็กน้อย เท่ากบเท่าเขียดก็มี บางทีปรากฏแขนยาว ขายาว ฟันยาว อันนี้เป็นลักษณะของขุททกาปีติ

หลวงพ่อจะไม่ได้อธิบาย พูดแต่หัวข้อ คือคิดว่าเนื้อความมันก็ชัดอยู่แล้ว หากมันมีอะไรก็ค่อยว่ากันทีหลัง ก็คิดว่าที่นำมาพูดเพียงย่อๆ คิดว่ามันชัดอยู่แล้ว จึงจะไม่อธิบาย เพราะว่าตามปกติแล้ว แค่พูดตามหัวข้อนี้ก็ต้องใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ถ้าเทศน์บรรยายพิสดารก็ใช้เวลามากกว่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พยายามทำความเข้าใจต่อไป

๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ มีลักษณะดังนี้ คือ ในขณะเรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นสีแดงๆ ด่างๆ คล้ายกับจีวรของพระภิกษุสามเณร คล้ายกับพระอาทิตย์แรกอุทัย บางทีเกิดในจักษุทวารดุจสายฟ้าแลบ คือนั่งกัมมัฏฐานอยู่คล้ายกับสายฟ้ามันแลบ ภาษาอีสานเรียกว่า ฟ้าเลื่อม ภาษาลาวเรียกว่า ฟ้าเลี่ยม มันเกิดอาการคล้ายฟ้าแลบขึ้นมา เห็นแสงฟ้าแลบ

บางทีปรากฏในจักษุทวารนี้เป็นประกายเหมือนกันกับตีเหล็กไฟ คือ เมื่อเราขีดไม้ขีด ขีดไฟแช็ค ภาษาอีสานเรียกว่าไม้ไฟโป๊ก เอาหินมากระทบกัน ปรากฏมีประกายขึ้นมา บางทีแสบทั่วกาย บางทีกายของเรามันแข็งคล้ายกับว่าเป็นโรคตัวแข็ง

บางทีเป็นเหมือนแมลงเม่ามากัดมาไต่ไปตามตนตามตัว บางครั้งร้อนไปตามตนตามตัว บางทีหัวใจสั่นๆ ไหวๆ บางทีขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก บางทีคันยุบยิบคล้ายกับมดไต่ไรคลานตามหน้าตาตามตัว ตัวนี้ก็สำคัญอย่างหนึ่ง เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เวลาไปสอบอารมณ์ ส่วนมากครูบาอาจารย์จะถาม นี้เป็นอย่างไร มีอาการคันยุบๆ ยิบๆ ตามใบหน้าและตาไหม ถ้าตอบว่า ไม่มี ก็ถือว่ายังไม่ผ่าน ตามปกติมันต้องเกิดขึ้นทุกรูป คล้ายกับตัวไรมาไต่มาตอมตามหน้าตามตา ไต่ไปข้างนี้ไปข้างนั้น ไต่ข้างนั้นมาข้างนี้เหมือนกับตัวไร

บางทีคล้ายเป็นดั่งกับปลาตอด พวกทั้งหลายที่ลงอาบน้ำ ลงสรงน้ำ คงจะเคยเห็น เวลาเราแช่อยู่ในน้ำ ปลามันมากินเหงื่อกินไคลของเรา กัดที่โน้น กัดที่นี้ อันนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นไปตามร่างกาย บางครั้งเส้นเอ็นชักเหมือนปลาตอด คือเดินจงกรมอยู่ดีๆ เรานั่งอยู่ดีๆ มันชักกระตุกๆ บางทีเรามองเห็นมีอาการชักขึ้นมาตามร่างกาย ชักกระตุกๆ เป็นแห่งๆ ไป บางคนก็ตกใจ คิดว่าภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน

บางทีมีอาการคล้ายๆ กับน้ำร้อนกำลังเดือดพล่าน เหมือนกันกับเราเอาน้ำใส่ไฟที่กำลังเป็นเถ้าเป็นถ่าน เวลาเราเทลงไปมันจะมีอาการซู่ขึ้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน มันมีอาการซู่ขึ้นมาตามร่างกาย คล้ายกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่าน

บางทีเหมือนกันกับปลาผุดขึ้น เวลาเราโยนเศษอาหารลงไป คือเวลาเราเลี้ยงปลา เราจะโยนเศษขนมปัง หรือเศษนั้นเศษนี้ลงไป ปลามันก็ค่อยๆ ฟูขึ้นๆ สูงขึ้นๆ แล้วก็สะดุดกึก คล้ายๆ กับว่ามันหายใจแล้วก็จมลงไปๆ สภาวะนี้ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา เหมือนกันกับอยู่ในท้อง อยู่ในทรวงอกของเรา มันฟูขึ้น สูงขึ้นๆ คล้ายๆ กับปลามันหายใจ สะดุด แล้วก็จมลงไป

๓) โอกกันติกาปีติ คือ ปีติเป็นพักๆ มีลักษณะอย่างนี้

(๑) ขณะที่เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่นี้ มีลักษณะตัวไหว ตัวเอน โยก โคลง มีอาการไหวๆ บางทีตัวเราเอนไปข้างซ้ายข้างขวาบ้าง ไปข้างหน้าข้างหลังบ้าง มันนั่งไม่ตรง บางทีก็มีอาการโยกโคลง เวลานั่งไปมันโยกไปโยกมาๆ

(๒) บางทีก็มีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า มือของเราวางอยู่ดีๆ มันสะบัดพรึดออกไป เท้าของเราวางอยู่ดีๆ นั่งอยู่ดีๆ มันสะบัดพรึดออกไป บางทีก็มีอาการสะบัดหน้า คล้ายกับมีคนมาพูดด้วย บางทีก็พยักหน้า บางทีก็สั่นศีรษะ

(๓) บางทีก็มีอาการสั่นๆ หรือมีอาการสูงๆ ต่ำๆ เรานั่งอยู่บนเตียง คล้ายกับตั่งกับเตียงจะพาคว่ำ

(๔) คลื่นไส้ดุจจะอาเจียน บางครั้งอาเจียนออกมาจริงๆ ก็มี ภาษาอีสานภาษาลาวว่า ปุ้นท้อง คือสิฮาก

(๕) บางทีเป็นดุจระลอกซัด

(๖) มีอาการสั่นระรัวๆ เหมือนกันกับไม้ปักไว้ที่น้ำไหล คือเวลานั่งอยู่คล้ายกับว่าตัวเรามันสั่นระรัวๆ อยู่ตลอดเวลา เหมือนกันกับเอาไม้ปักไว้ที่น้ำไหล ไม้ที่เราปักไว้มันก็สั่นระรัวๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างนี้แหละ เวลาเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอสภาวะอย่างนี้จะเกิดขึ้น ร่างกายของเราจะปรากฏเหมือนกัน

(๗) บางทีมีสีเหลืองอ่อน สีดอกผักตบ ปรากฏเฉพาะหน้า ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นสีเหลืองๆ อ่อนๆ หรือสีดอกผักตบ บางทีกายของเรามันโยกไปโยกมาๆ บางทีมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวคล้ายๆ กับจะเป็นไข้ บางทีมีอาการวูบวาบจากข้างล่างขึ้นมาสู่ข้างบน บางทีอาการวูบวาบจากข้างบนไปสู่ข้างล่าง

บางทีคล้ายกับเล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล คล้ายกับเราลงไปเดินหรือไปวิ่งอยู่ในน้ำไหล หรือเล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล แทนที่มันจะไปเร็วๆ คล้ายๆ กับมีอะไรมาโต้ไว้ วิ่งไปหรือลอยไป หรือเดินไปไม่สะดวก บางทีได้ยินเสียงเหมือนพรายกระซิบ ตี ๔ คล้ายกับมีคนมาปลุก ลุกๆ ลุกขึ้นทำกัมมัฏฐาน ลุกขึ้นเดินจงกรม อะไรทำนองนี้ มันเกิดขึ้นมา

๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน มีลักษณะดังนี้ คือ

กายของเรามันปรากฏสูงขึ้นจนเฉียดฟ้าก็มี เมื่อมองลงมาพื้นดิน สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ เห็นตำบล อำเภอ จังหวัด หรือเห็นไปถึงอนันตจักรวาล มันจะมากหรือจะน้อยก็แล้วแต่อุปนิสัยของผู้ปฏิบัติ

บางทีตัวเบา ตัวลอย บางคนตัวลอยพ้นพื้นขึ้นไป คืบหนึ่งบ้าง ศอกหนึ่งบ้าง บางทีลอยไปค้างอยู่บนขื่อเรือนหรือบนต้นไม้ ที่ในห้องกัมมัฏฐานนี้ เมื่อก่อน เวลาประพฤติปฏิบัติ บางทีนั่งอยู่ที่พื้นดิน มันก็ลอยขึ้นไปนั่งอยู่บนกุฏิพระกัมมัฏฐานก็มี บางทีลอยไป รู้สึกตัวขึ้นมาก็นั่งอยู่บนหมอนที่หัวนอน เอ้า ขึ้นมานั่งอยู่บนนี้ได้อย่างไร เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่บนพื้น แล้วมานั่งอยู่บนหมอนบนกุฏินี้ได้อย่างไร

บางทีมันลอยขึ้นไปบนขื่อเรือนก็มี รู้สึกตัวขึ้นมา บางคนก็ร้องไห้ บางคนก็หัวเราะดีใจ แต่เวลาลง ลงไม่ได้ ต้องเอาบันไดไปพาดให้จึงลงมาได้ บางคนเขาเข้าใจว่าตนได้อภิญญาจิต เหาะได้ แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ เรื่องอย่างนี้ก็เกิดขึ้นระดับประเทศ คือในสมัยนั้นหลวงพ่อเป็นสามเณร เขาลงข่าวหนังสือพิมพ์ว่า สามเณรเหาะกับ(ด้วย)วิปัสสนากัมมัฏฐาน พาดหัวข่าวเบ้อเร่อเลย คือมีเรื่องอยู่ว่า

หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ฝั่งธนบุรีนั้น จะพาสามเณรน้อยมานมัสการหลวงพ่อพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุฯ พอดีตื่นเช้าขึ้นมา สามเณรก็ดีอกดีใจว่าจะได้มานมัสการหลวงพ่อพระพิมลธรรม

ตื่นขึ้นมาก็เดินจงกรมกลับไปกลับมา อุพเพงคาปีติ เกิดขึ้นอย่างแรง ปลิววับโน้น ไปตก(ลง)ที่อยุธยา คิดดูว่า วัดระฆังฝั่งธนบุรีกับอยุธยามันไกลกันขนาดไหน ๒๕ กิโลฯ หรือเท่าใด มันไกลกว่านั้นนะ คิดว่ามันมากกว่านั้น ตีสี่ไปเคาะประตูบ้าน พี่สาวเปิดประตูออกมา เอ๊า น้องเณรมาได้อย่างไร ใครพาน้องเณรมา แต่เวลากลับเหาะกลับไม่ได้ ต้องขี่รถไฟกลับมา มันหมดฤทธิ์แล้ว

ปีนั้นเป็นข่าวเกรียวกราวกัน พอเรื่องนี้เกิดขึ้นมา คนก็เฮโลไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานที่วัดมหาธาตุฯ คนโน้นก็ไป คนนี้ก็ไป จนไม่มีสถานที่ที่จะอยู่ ผลสุดท้าย ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่เกิดอิจฉาตาร้อนขึ้นมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองก็เข้าใจผิดว่าเป็นคอมมิวนิสต์มันจะยึดประเทศ (ตำรวจ)สันติบาลก็มาจับหลวงพ่อพระพิมลธรรมไปเข้าตะราง อยู่ในตะรางเป็นเวลา ๕ ปีพอดี เพราะเป็นการเข้าใจผิด แต่ผลสุดท้ายท่านก็ออกมาเป็นอิสระ แล้วก็ได้เป็นรักษาการฯ สมเด็จพระสังฆราช

บางทีก็มีอาการท้องเดิน เป็นบิด อาการท้องเดินคือท้องร่วง บางทีก็เป็นบิด จนเข้าโรงพยาบาลก็มี บางทีมีอาการสัปหงกพึบลงไป ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง บางทีคล้ายกับมีคนมาผลักหน้าคะมำลงไป บางครั้งคล้ายกับมีคนมาจับศีรษะของเราหมุนไปหมุนมา คล้ายกับคอของเราไม่มีกระดูก บางครั้งมีอาการปากงับๆ บ้าง อ้าปากบ้าง หุบปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง นั่งไปเคี้ยวปากไป นั่งไปเคี้ยวปากไป โดยเฉพาะ ส่วนมากจะเป็นเฉพาะกับโยมผู้หญิง

บางทีกายหกคะเมนถลำไป คือมันเดินไม่ตรง บางทีเวลาเรานั่งกัมมัฏฐานไปคล้ายๆ กับว่าตัวของเรามันไหลไปๆ ลอยไปๆ ไปค้างอยู่ต้นไม้บ้าง ค้างอยู่บนเจดีย์บ้าง หลังคาโบสถ์หลังคาวิหารบ้าง คล้ายๆ กับว่ามันไหลไป บางทีกายกระโดดขึ้นปลิวไป

บางคนก็ เวลาเดินจงกรม ขวาย่างหนอ มันกระโดดปลิววับไป ๕ เมตรก็มี ๑๐ เมตรก็มี โยมแม่ของหลวงพ่อนี้ ในสมัยที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เดินจงกรมอยู่บนบ้าน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ก็ปลิววับไปจากห้องนี้ไปห้องนั้น ตั้ง ๓ เมตร ๖ เมตร บางทีมันปลิวไปถึง ๖ เมตร ก็มี ถ้าลักษณะอย่างนี้ บางคนก็เข้าใจว่าตัวเองเหาะได้แล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่ มันเป็นลักษณะของปีติ

บางทีกายกระดุกกระดิก ยกแขนยกเท้า บางครั้งกายเงื้อมไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายข้างขวาบ้าง พูดง่ายๆ คือนั่งไม่ตรง เอนไปข้างนั้นข้างนี้บ้าง บางทีเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานหลับตาอยู่ ปรากฏเห็นสีไข่มุกสีขี้รม สีรุ้ง บางทีมือของเราวางอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับมีคนมาจับให้คว่ำลงไป บางทีเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คล้ายกับว่าหันหน้าไปทางทิศตะวันตก บางทีเรานั่งอยู่เฉย จะรู้สึกว่ามีอาการโอนไปเอนมา เหมือนกันกับต้นอ้อที่ลู่ไปตามลม

๕) ผรณาปิตี ปีติซาบซ่าน มีลักษณะอย่างนี้

(๑) มีอาการแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย

(๒) สงบเป็นพักๆ

(๓) คันยุบยิบๆ ตามตนตามตัว

(๔) มีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา

(๕) ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย

(๖) บางทีมีอาการซู่ซ่า จากเท้าถึงศีรษะ

บางทีมีอาการซู่ซ่าจากศีรษะถึงเท้า คล้ายกับปลาไหลมันไหลไปตามร่างกายของเรา มันชอนไปตามฝ่าเท้าของเรา ตามแข้งขาจนถึงศีรษะ ขนลุกซู่ทั่วสรรพางค์กาย คล้ายกับผีสิงในขณะนั้น

สมัยที่ปฏิบัติอยู่ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา หลวงพ่อคิดว่าผีมันเข้าไปสิง คล้ายกับปลาไหลมันชอนไชเข้าที่ฝ่าเท้า วิ่งไปตามแข้งตามขาไปจนถึงศีรษะ แล้วมันมานอนขดอยู่บนศีรษะ แต่เวลาไปเดินจงกรม มันกลับไชลงไปอีกถึงฝ่าเท้าแล้วก็ออกไปเลย เขาก็คิดว่ามันเป็นพวกผีปีศาจ แต่ที่จริงมันไม่ใช่ มันเป็นลักษณะของผรณาปีติต่างหาก พยายามทำความเข้าใจตรงนี้ หากว่าท่านผู้ใดมีสภาวธรรมกล้าแล้วมันจะเกิดมันจะเกิดอย่างนี้ หรือมันจะมีลักษณะคล้ายอย่างนี้

บางทีกายเย็นดุจอาบน้ำแข็งหรืออยู่ในห้องเย็น บางทีขณะที่เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ ปรากฏเห็นสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีแก้วมรกต บางทีทำให้เพลิดเพลินไม่อยากลุก ไม่อยากกระดุกกระดิกร่างกาย บางทีตาที่หลับอยู่ก็ไม่อยากเปิดขึ้นเลย อันนี้เป็นลักษณะปีติ

๓. ปัสสัทธิ ความสงบ มีลักษณะดังนี้

๑) มีอาการสงบเงียบ ดุจเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่

๒) ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เยือกเย็นสบาย ไม่กระวนกระวายใจ

๓) พอใจในการกำหนด และกำหนดได้ดี

๔) ความรู้สึกเงียบไป คล้ายกับว่าหลับไป

๕) เบา คล่องแคล่วดี คล้ายกับร่างกายของเราไม่มีน้ำหนัก

๖) สมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม

๗) ไม่จำเป็นจะต้องขมักเขม้นในการกำหนดประการใด เพราะใจไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์

๘) ทั้งกายและจิตใจรู้สึกเบา นิ่มนวล แช่มช้อย และอ่อนโยน

๙) ผู้มีนิสัยดุร้าย โหดร้าย หรือเหี้ยมโหดทารุณ จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดมาก ส่วนเรายังไกลมาก ต่อไปเราจะละความชั่ว กระทำแต่ความดี บางคนผู้เป็นพาลเกเร เคยกินเหล้าเมาสุรา เคยสูบฝิ่นกัญชา ก็จะเลิกละนิสัยเดิมได้

๔. สุข ความสบายกายความสบายใจ มีลักษณะดังนี้ คือ

มีความสุข มีความสบาย มีความเอิบอิ่มดีมาก ทำให้เพลิดเพลิน สนุกสนาน ไม่อยากออก อยากนั่งกัมมัฏฐานอย่างนั้นอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย บางคนดีใจคล้ายกับจะระงับไว้ไม่ไหว บางคนถึงกับพูดว่า นับตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยได้รับความสุขเช่นนี้เลย บางคนนึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ บางทีเห็นหน้าอาจารย์มาอยู่ใกล้ๆ คล้ายกับว่าท่านจะมาช่วยเหลือเราอยู่ ในขณะนั้น มีสีหน้าเอิบอิ่ม ร่าเริง เบิกบาน เป็นอันมาก

๕. ศรัทธา ความเชื่อ มีลักษณะดังนี้ คือ

มีความเชื่อความเลื่อมใสมากเกินไป อยากให้พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนที่รู้จัก เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

บางทีก็อยากสนองบุญคุณของสำนัก สำนักมีพระคุณแก่เราเป็นอันมาก ก็อยากสนองคุณของสำนัก โดยคิดว่าจะไปหาผ้าป่ามาทอด อยากสร้างกุฏิวิหาร อยากหาจตุปัจจัยไทยธรรมมาปรับปรุงแก้ไขห้องกัมมัฏฐานให้ดีไปกว่านี้ อะไรทำนองนี้ มันคิดไปเอง บางทีก็อยากให้การปฏิบัติก้าวหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อยากทำบุญทำทาน อยากสร้าง อยากปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ

ข้อนี้สำคัญนะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาที่สภาวะนี้เกิดขึ้นมาแล้ว หมดเงินบ้างก็มี คือศรัทธามันแรงกล้า บางคนสามารถที่จะเอาผัวไปทาน เอาเมียไปทาน เอาลูกเอาหลานไปทาน ญาติของหลวงพ่อเคยเป็น

เมื่อก่อนเขาเคยมาบวชอยู่นี้แหละ เคยเอาลูกไปทาน ศรัทธามันแรงกล้า เอาลูกไปทาน เอาภรรยาไปทาน เอาโรงสีไปทาน สมัยนั้น จนตำรวจที่เป็นญาติเอาปืนมายิง ไม่ได้ยิงคน ยิงพระ ยิงขึ้นตรงหน้าจั่ว พวกนี้ถ้าเขาไม่รีบกำหนด มันจะเกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างแรงกล้า

บางที ครูบาอาจารย์มีปัจจัยเท่าไหร่เอาให้หมด พอไม่มีอะไรให้ เลือดที่อยู่ในร่างกายก็เอาไปบริจาค ทั้งที่เพิ่งบริจาคมาไม่กี่วัน ไม่ถึงเดือนก็ไปบริจาคแล้ว จนหลวงพ่อได้เอ็ดเอาก็มี แต่นี้ต่อไปถ้าจะบริจาคโลหิตต้องผ่านหลวงพ่อเสียก่อน ถ้าไม่ผ่านหลวงพ่อแล้ว ห้ามบริจาคเด็ดขาด ก็บอกว่า ผมไม่มีอะไรจะทำบุญทำทาน มีแต่เลือดเท่านั้นที่จะทำบุญทำทาน

หลวงพ่อไม่ห้ามหรอก การทำบุญทำทาน แต่ต้องให้มันครบกำหนดเสียก่อน มันอยู่ในเกณฑ์ที่จะบริจาคจึงจะให้บริจาค คือถ้าจะบริจาคบ่อยๆ ผลกระทบนี้ทำให้เลือดไปเลี้ยงระบบสมองไม่ทัน ทำให้เป็นบ้า

บางที ในขณะที่บิณฑบาตนี้แหละ ก็เลิกบิณฑบาตแล้ว มีอาจารย์รูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ พอดีสภาวะนี้มันเกิดขึ้นแล้วก็เลิกบิณฑบาต เดินจงกรม เดินไปเดินมา ศรัทธามันแรงกล้า บางรูปถวายปัจจัยจนหมด มาปฏิบัติร่วมกันนี้ก็มี หน้าฤดูหนาวก็มี

หลวงพ่อเคยบอกว่า ท่านทั้งหลาย ปัจจัยที่มีอยู่ให้เก็บไว้ให้ดี เวลาจะกลับวัด ทางสำนักไม่มีปัจจัยถวายเป็นค่าพาหนะ เพราะท่านทั้งหลายคงจะทราบว่าสำนักนี้เป็นอย่างไร ญาติโยมมาทำบุญทำทาน เขาจะถวายจตุปัจจัยไทยธรรมไหม เหตุนั้น ท่านทั้งหลายก็เก็บปัจจัยไว้ อย่าได้บริจาคจนหมด เวลากลับบ้านจะได้กลับไปได้อย่างสบาย

บางรูปถวายจนหมด บางทีหลังจากสวดออกอัพภานแล้วก็เข้ามาหาหลวงพ่อว่า หลวงพ่อๆ ผมขอปัจจัยกลับบ้านหน่อยครับ ไม่มีค่ารถกลับบ้าน หลวงพ่อก็บอกแล้วนี่ บอกแล้วก็บอกอีก มีปัจจัยให้เก็บไว้เป็นค่าพาหนะกลับบ้าน เพราะทางสำนักไม่มีปัจจัยที่จะถวาย เพราะว่าแต่ละวัน ค่าน้ำปานะ ค่าอาหาร ก็ไม่พออยู่พอฉันอยู่แล้ว

ไม่เป็นไรหรอกท่าน นิมนต์อยู่จำพรรษาด้วยกันเสียก่อน เมื่อใดมีปัจจัยพอเป็นค่าพาหนะแล้วค่อยกลับบ้านก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก อยู่จำพรรษา ๓ เดือน ออกพรรษาแล้วค่อยกลับบ้าน ถ้าอยู่ในภาคฤดูหนาวก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอกท่าน นิมนต์อยู่ด้วยกันเสียก่อน ได้ปัจจัยเสียก่อนแล้วค่อยกลับ มันเป็นไปได้ท่านทั้งหลาย ศรัทธามันกล้า

บางทีก็นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้อุตส่าห์พยายามแนะนำพร่ำสอนให้ตนได้รู้ได้เข้าใจ โดยไม่นึกถึงความลำบากเหนื่อยยากของตนเองเลย บางทีก็อยากนำของไปถวายครูบาอาจารย์ บางทีถ้าอยู่ครองฆราวาสก็อยากออกบวช อยากอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย บางทีก็อยากไปอยู่ในที่สงัด อยากตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเต็มที่

บางทีก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าใจว่าธรรมที่ตนปฏิบัติอยู่นี้เป็นธรรมที่วิเศษที่สุด ไม่มีธรรมอื่นที่จะเสมอเหมือนได้ และก็เป็นธรรมะที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติ ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน บางทีก็อยากไปประกาศ ไปโฆษณาให้ท่านทั้งหลายได้รู้ได้เข้าใจว่า สมัยนี้ มรรค ผล พระนิพพาน ยังมีอยู่ บางทีก็รู้สึกสำนึกในพระคุณของครูบาอาจารย์มาก

๖. ปัคคาหะ ความเพียร มีลักษณะดังนี้ คือ

ขยันมากเกินไป ครูบาอาจารย์จะยุ(เร่งเร้าอีก)ไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นบ้าได้ ข้อนี้สำคัญนะท่านทั้งหลาย พอความเพียรเกิดขึ้นมา เราต้องมีสติกำหนดให้มันทัน

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความเพียรมันเกิด คือมันคิดมาก นั่ง ๕ นาที คิดแต่งหนังสือจบเป็นเรื่องๆ นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง ถ้าอย่างนี้เรียกว่า ความเพียรมันเกิดขึ้นมาแก่กล้าแล้ว ถ้ามีความเพียรอย่างเดียว สติสัมปชัญญะหย่อน อาจจะทำให้เป็นบ้าได้

ตัวอย่าง ท่านอาจารย์ที่มาจากอำเภอม่วงสามสิบ ในสมัยนั้น คิดมาก อยากเป็นผู้วิเศษ หลวงพ่อนั่งดูอยู่ นั่งเขียนหนังสืออยู่ เมื่อก่อน เวลาเดินจงกรม หลวงพ่อก็มานั่งอยู่ในห้องกัมมัฏฐาน ดูลูกศิษย์ลูกหาว่าเดินจงกรมถูกไหม การประพฤติปฏิบัติดำเนินไปในทางที่ดีไหม หลวงพ่อดูอยู่

อาจารย์รูปนั้นเดินจงกรมไปก็คุยไป คุยกับคนโน้น คุยกับคนนี้ เราก็ว่า พระองค์นี้มันแปลก ทำไมเป็นอย่างนี้ เดินไปสังเกตดูก็รู้ว่า พระองค์นี้คิดว่าตัวเองได้โทรจิตแล้ว ได้หูทิพย์แล้ว พูดกับคนโน้นกับคนนี้ หลวงพ่อก็จับเลย จับไปกุฏิแล้วก็เอ็ดว่า

คุณ ที่คุณปฏิบัติมา ความรู้ที่คุณปฏิบัติได้นี้มันเท่ากับหางอึ่งเท่านั้นนะ มันยังใช้ไม่ได้ ไป เข้าไปนอนอยู่ในห้องเสียก่อน

พอเข้าไปในห้องแล้วก็ปิดประตู แกล้งเอ็ดเอาแล้วก็ยัดเข้าห้องเลย พอเข้าห้องแล้วก็ปิดประตูล็อกกุญแจไว้ แกก็ทำเสียงดังโครมคราม พอดีความโกรธเกิดขึ้นมาแล้วทำให้สมาธิมันตก พอสมาธิมันตกแกก็นั่งเงียบ เราก็ค่อยเปิดออก แกก็เข้ามากราบขออภัย กราบขอโทษ ผมเข้าใจผิดว่าผมได้บรรลุอย่างนั้นอย่างนี้

เหตุนั้น เป็นอย่างนี้นะท่านทั้งหลาย พยายามสังวรระวังให้ดี บางทีก็ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง สู้ตาย หวังจะเอามรรค ผล พระนิพพานให้ได้ บางทีก็ขยันลุกขึ้นปฏิบัติ ทั้งอดทน ไม่เกียจคร้าน ขยันอดทน มีความบากบั่นไม่ท้อถอย ไม่ต้องมีใครบอกใครเตือน ขยันขึ้นมาเองตามธรรมชาติ

บางทีก็มีความพยายามดี ประคองใจไว้มั่นคง ไม่ยอมเสียเวลา ไม่อยากพูดจากับใคร บางทีไม่ยอมหยุดยั้งในการปฏิบัติ อยากประพฤติปฏิบัติจริง ไม่อยากให้ใครมารบกวนให้เสียเวลา ความเพียรนั้นดีอยู่ แต่สติสัมปชัญญะมันหย่อน เลยทำให้จิตใจฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์นานาประการ

๗. อุปัฏฐาน สติเข้าไปปรากฏชัด มีลักษณะดังนี้ คือ

สติมากเกินไป ทำให้ผู้ปฏิบัตินึกถึงแต่เรื่องอดีต นึกถึงแต่เรื่องอนาคต ทิ้งอารมณ์ปัจจุบันเสียเป็นส่วนมาก บางทีนึกถึงแต่เรื่องอดีตที่ผ่านมา

บางทีก็นึกถึงอนาคต ผู้ปฏิบัติก็คิดว่า เราออกไปนี้ เราจะไปตั้งห้องกัมมัฏฐาน เราจะสอนกัมมัฏฐาน จะสอนให้ดี จะเทศน์ให้ดี บางทีคล้ายกับจะระลึกชาติหนหลังได้ บางคนก็ระลึกได้จริงๆ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้างก็มี บางทีก็คิดอยากส่งเสริมการปฏิบัติให้ได้ผลและเจริญก้าวหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

๘. ญาณะ ความรู้ มีลักษณะดังนี้ คือ

๑) มีความรู้ทางด้านปริยัติเข้าผสมกันกับด้านปฏิบัติ ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดว่า ตนเองได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้ว

๒) ชอบวิพากษ์วิจารณ์อารมณ์ต่างๆ เช่น พองเป็นเกิด ยุบเป็นดับ เป็นต้น

๓) นึกถึงหลักฐานที่ตนเองได้ศึกษาเล่าเรียนได้ปฏิบัติจากสำนักครูบาอาจารย์ เอามาเปรียบเทียบกันว่าจะตรงกันไหม หรือมันขัดแย้งกันที่ตรงไหน กัมมัฏฐานที่หลวงพ่อสอนอยู่ในขณะนี้มันถูกไหม อะไรทำนองนี้ ชอบหาหลักฐานที่ตนได้เรียนมาได้เคยประพฤติปฏิบัติมา

ส่วนมากท่านนักปฏิบัติปฏิบัติมาถึงตรงนี้ โดยมากผู้ปฏิบัติไม่ได้ปัจจุบันธรรม เป็นจินตาญาณ คือเป็นความรู้ที่นึกที่คิดขึ้นมาเอง ไม่ใช่วิปัสสนา เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา แต่ที่จริงไม่ใช่วิปัสสนา เป็น วิปัสสนึก คือ นึกเอาเอง

๙. อุเบกขา ความวางเฉย มีลักษณะ ดังนี้ คือ

ใจเฉยๆ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ใจหลงๆ ลืมๆ พองยุบก็มัวๆ บางครั้งไม่เห็นอาการพองอาการยุบเลย บางทีก็ใจลอยๆ เลือนๆ คล้ายกับว่าไม่ได้นึกไม่ได้คิดอะไร นั่งก็เหม่อไป เดินจงกรมก็เหม่อไป คล้ายกับไม่ได้กำหนด คล้ายกับไม่ได้คิดอะไรเลย บางครั้งเห็นอาการพองอาการยุบ แต่บางครั้งก็ไม่เห็นอาการพองอาการยุบ มีแต่หนังท้องตึงอยู่ตลอดเวลา

บางทีก็ไม่กระวนกระวายใจ จิตสงบดี บางทีก็ไม่ฟุ้งซ่านหงุดหงิด ไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไรทั้งสิ้น เมื่อก่อนโน้น อยากเป็นโน้นอยากเป็นนี้ อยากได้โน้นอยากได้นี้ แต่เมื่อประพฤติปฏิบัติมาถึงตรงนี้จะรู้สึกไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไร แม้แต่อารมณ์ดีชั่วก็ไม่ปรากฏรบกวนได้เลย นั่งปฏิบัติอยู่ในห้องกัมมัฏฐาน สามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้สบายๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย แต่ไม่ได้กำหนด ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามอารมณ์เป็นส่วนมาก

บางทีรู้สึกคล้ายกับว่ากิเลสไม่มี คล้ายกับว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมันดับไปสูญไปจากขันธสันดานแล้ว คล้ายกับเราได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว บางทีก็พูดว่าตัวเองได้บรรลุเป็นพระอรหันต์จริง

มีอาจารย์รูปหนึ่งมาประพฤติปฏิบัติด้วยกัน เวลามีครูบาอาจารย์มาจากที่โน้นจากที่นี้ จะไปคุยอวดตัวเองว่า การปฏิบัติเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ รูปนั้นได้ขั้นนั้น รูปนี้ได้ขั้นนี้ รูปนั้นได้โสดาบัน รูปนั้นได้สกทาคามี รูปนั้นได้อนาคามี ว่าไปว่ามา สำหรับผมนั้น ๒ (ขั้นแล้ว) คือหมายความว่า ตัวเองได้บรรลุสกทาคามีแล้ว คือชอบพูดมาก คล้ายกับตนเองได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว

๑๐. นิกันติ ความใคร่ มีลักษณะดังนี้ คือ

มีความใคร่ในอารมณ์ต่างๆ เช่นว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็มีความใคร่ความพอใจในอารมณ์นั้น บางทีก็มีความใคร่ความพอใจในแสงสว่าง ในปีติ ในความสงบ ในความสูญ ในศรัทธา ในความเพียร ในความคิด ในความรู้ ในอุเบกขา ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

บางทีก็มีความใคร่ในนิมิตต่างๆ เช่น นั่งไป เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ ก็อยากเห็นอีก หายไปแล้วก็อยากเห็นอีก แล้วนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไปแล้วก็อยากเห็นอีก หายไปแล้วก็อยากเห็นอีก สมเป็นอุปกิเลส แท้ที่จริง สิ่งทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นของไม่ดีนะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เป็นของดีอยู่ และก็เกิดจากความประณีตของจิต

เมื่อใดจิตของเรามีสมาธิแล้ว เมื่อนั้นนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ คือกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็เกิดขึ้นในจิตในใจของเราไม่ได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า ในขณะนั้นกิเลสตัณหามันครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจของเราก็เป็นอิสระไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา

เมื่อจิตของเราเป็นอิสระแล้ว มันสร้างสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นให้เกิดขึ้น หลวงพ่อจึงว่า นี้เป็นอาการของจิต จิตแสดงปฏิกิริยาขึ้นมา แสดงปรากฏการณ์ขึ้นมา ท่านจึงกล่าวว่า เป็นอุปกิเลส เป็นสิ่งที่ขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำให้ไม่ได้ผล ที่จัดว่าเป็นอุปกิเลส เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดว่า ตนได้บรรลุแล้ว ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานแล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว

626  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2560 10:46:48


ชุมทางพระกัมมัฏฐาน

สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ชุมทางกัมมัฏฐาน มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์และท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การงานทั้งทางคดีโลกทั้งทางคดีธรรม จะดำเนินไปด้วยวิธีไหนอย่างไรนั้น ก็ต้องมีการประชุมกัน มีการรวมกัน มีการเสนอข้อคิดเห็นกัน เป็นต้น ข้อนี้ฉันใด ในทางปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็ต้องมีชุมทางเหมือนกัน คือหมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องผ่านชุมทางกัมมัฏฐาน แล้วก็ดำเนินไปในทางที่ถูกที่ชอบ จึงจะถึงจุดหมายปลายทาง

อุปมาเหมือนกันกับเราเดินทางรถไฟอย่างนี้ รถไฟจากวารินฯ (อำเภอวารินชำราบ) ก็ไปรวมกันที่ชุมทางจังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็จะแยกกัน ใครจะไปสายไหน สายใต้ สายตะวันออก ก็ไปกัน

หรือว่าเราจะไปรถยนต์ก็เหมือนกัน เราจะไปทางไหน เช่นว่า ไปกรุงเทพฯ ก็ไปรวมกันที่ตลาดหมอชิต หลังจากนั้นใครจะไปสายไหน สายเหนือ ใต้ ตะวันออก ก็ไปกันตามความประสงค์ ผู้ที่จะมาอีสานก็มารถขบวนหนึ่ง ผู้ที่จะไปภาคใต้ก็ไปรถอีกขบวนหนึ่ง ข้อนี้ฉันใด

การปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม ก็ต้องเดินไปตามลำดับ ให้ถึงชุมทางกัมมัฏฐานเสียก่อน เมื่อไปถึงชุมทางแล้ว ใครสร้างบุญวาสนาบารมีไว้อย่างไรแล้ว ก็ต้องไปตามอำนาจบุญวาสนาของตน บางท่านอาจจะไปทางสมถะ บางท่านอาจจะไปทางวิปัสสนา

ชุมทางกัมมัฏฐานนั้น มีลักษณะดังนี้

บางทีเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ว่า พองหนอ ยุบหนอ เป็นต้น ในขณะที่หลับตาภาวนาอยู่นั้น อาจจะมีแสงสว่างมาปรากฏ เท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าแสงไฟฉาย เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ บางทีนั่งไปปรากฏเหมือนคนเอาไฟฉายมาส่องหน้า บางครั้งนั่งไปปรากฏเห็นแสงของตะเกียงเจ้าพายุ บางครั้งนั่งไปปรากฏเห็นแสงไฟฟ้า ไฟนีออน บางครั้งนั่งไปปรากฏเห็นดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ก็มี

ในขณะที่นั่งหลับตาภาวนาอยู่ บางครั้งสว่างทั้งห้อง จนสามารถมองเห็นตัวเองก็มี บางทีเราเดินจงกรมตอนค่ำๆ ทั้งๆ ที่ดวงตะวันอยู่ทิศตะวันตก แต่เงาของเราก็ไปทางทิศตะวันตก แทนที่จะไปทางทิศตะวันออก หรือบางทีตอนเช้าๆ เราฉันเช้าแล้วไปเดินจงกรม ดวงอาทิตย์อยู่ทางทิศตะวันออก เวลาเราเดิน แทนที่เงาของเราจะไปอยู่ทางทิศตะวันตก กลับอยู่ทางทิศตะวันออก นี้ด้วยอำนาจแสงสว่างเกิดขึ้นทำให้เข้าใจผิด

บางทีสว่างในห้องเหมือนกันกับไม่มีฝากั้น นั่งอยู่ในห้องกัมมัฏฐานก็สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ มองเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เหมือนกับห้องไม่มีฝากั้น ไม่มีกระดานปิด บางครั้งสว่างจนเห็นสถานที่ต่างๆ มาปรากฏในที่ใกล้ เช่น นั่งไป เห็นพระธาตุพนม เห็นพระปฐมเจดีย์ เห็นกรุงเทพฯ เห็นอุบลฯ เห็นนครราชสีมา เห็นอเมริกา เป็นต้น คือเห็นสถานที่ต่างๆ นั้นมาปรากฏเฉพาะหน้า

บางครั้งสว่างจนเห็นประตูเปิดออก หน้าต่างเปิดออก เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ จนต้องลุกไปปิด แต่แล้วประตูหน้าต่างก็ยังปิดอยู่ตามเดิมไม่ได้เปิด บางครั้งสว่างจนสามารถเห็นสวนดอกไม้ มีกลิ่นมีสี สวยสดงดงาม ปรากฏอยู่ในที่ใกล้ๆ บางทีสว่างจนเห็นทะเลตั้ง ๑ โยชน์ พร้อมทั้งสัตว์น้ำทั้งหลายที่แหวกว่ายอยู่

บางครั้งมีแสงสว่างพุ่งออกจากร่างกายของเรา บางทีปรากฏว่ามีแสงสว่างพุ่งออกจากดวงตาทั้งสองข้าง ออกจากศีรษะบ้าง ออกจากหัวใจบ้าง ออกจากมือบ้าง ออกจากร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งบ้าง พุ่งออกไปภายนอก แต่บางครั้งก็ปรากฏเห็นแสงสว่างพุ่งจากภายนอกมาหาตัวเรา บางครั้งสว่างมากจนสามารถน้อมนึกระลึกแสงสว่างนั้นให้เป็นรูปต่างๆ เป็นรูปช้าง รูปม้า รูปคน ให้เป็นรูปอะไรๆ ก็ได้ นี้ก็เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการเจริญพระกัมมัฏฐานจะเกิดขึ้น

บางที ขณะที่นั่งหลับตาภาวนาอยู่นั้น ปรากฏเห็นสีขาวๆ คล้ายๆ ว่า เราจะมองเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ในขณะนั้น แต่ว่ามองไม่เห็น บางครั้งทำให้เยือกเย็น ทำให้ขนลุกที่นั้นบ้างที่นี้บ้าง บางทีทำให้เกิดอาการมึนๆ ตึงๆ หนักๆ ตามร่างกาย จะเดินจงกรมก็คล้ายๆ จะยกขาไม่ขึ้น บางครั้งคล้ายจะเป็นโรคเหน็บชา แต่บางทีก็เกิดน้ำตาไหลออกมา บางครั้งหนังหัวพองสยองเกล้า บางท่านอาจเข้าใจว่าเป็นภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน

บางครั้งตัวชา ตัวพองขึ้น คือปรากฏว่าตัวของเรานี้ใหญ่ออกๆ บางทีจนเต็มกุฏิก็มี แต่บางทีปรากฏว่าตัวของเราเล็กเข้าไปๆๆ เท่าเด็กน้อยก็มี บางทีปรากฏเห็นแขนของเรายาวออกไป บางครั้งปรากฏว่าฟันของเรายาวออกไปๆ บางครั้งในขณะที่เรานั่งหลับตาอยู่ ปรากฏเห็นสีแดงๆ ด่างๆ คล้ายๆ กับพระอาทิตย์แรกอุทัย คล้ายกับสีจีวรของพระภิกษุสามเณร

แต่บางครั้งจะเกิดในจักขุทวารเป็นประกายเหมือนกับสายฟ้าแลบ คือนั่งไปคล้ายกับมีฟ้าแลบอยู่เรื่อย นั่งอยู่ในห้องก็ต้องลุกออกมาดูว่าฝนจะตกหรืออย่างไรก็มี แต่บางทีไม่เป็นเช่นนี้ กลับมีประกายเหมือนดังตีเหล็กไฟ เหมือนขีดไฟแช็ค เป็นประกายออกมาเป็นแสงออกมา

บางทีมีอาการแสบทั่วกาย บางทีกายของเราก็แข็งขึ้นมา เหมือนกับเป็นโรคกระดูกแข็งหรือสันหลังแข็ง แขนแข็งมือแข็งขึ้นมา จะเดินไปก็ลำบาก จะก้มก็ลำบาก เราก็คิดว่าโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน บางทีเป็นดั่งแมลงเม่ามาจับตัวของเราแล้วก็ไต่ไปตามตนตามตัว

บางครั้งก็มีอาการร้อนตามร่างกาย ทั้งที่ฝนตกพร่ำๆ อยู่ก็ร้อนอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่าเราเป็นไข้ บางครั้งหัวใจสั่นๆ ไหวๆ คล้ายกับว่าเป็นโรคหัวใจอ่อน บางคนก็คิดว่าจะเป็นบ้า ไม่อยากทำกัมมัฏฐานต่อไป บางครั้งก็ขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก บางทีมีอาการคันยุบยิบตามหน้าตาเหมือนมดไต่ ลูบข้างนั้นไต่มาข้างนี้ ลูบที่หน้าไต่ขึ้นไปบนศีรษะก็มี

บางครั้งเป็นดังปลาตอด เป็นดังเส้นเอ็นชักหรือกระตุกขึ้นมา บางครั้งมีอาการเหมือนกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่าน บางครั้งมีอาการซู่ขึ้นมาตามร่างกาย ถ้าใครเคยเทน้ำใส่ไฟหรือเทใส่ดุ้นไฟที่เรายกมาแล้ว เวลาเทน้ำลงไปมันจะเกิดอาการซู่ขึ้น อันนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน มีอาการซู่ขึ้นมาตามร่างกาย ร้อนขึ้นมา

บางครั้งเหมือนกันกับปลาผุดขึ้นในเวลาเราโยนเศษอาหารลงไป เราจะเห็นได้ว่าเวลาเราเอาอาหารให้ปลากิน ปลาอยู่ในสระในน้ำค่อยฟูขึ้น พอดีพ้นน้ำแล้วมันก็จมลงไป อาการเช่นนี้ก็เช่นเดียวกัน คล้ายกับว่ามีอะไรที่มีตัวตนอยู่ในท้องของเรา หรืออยู่ในหน้าอกของเรา ฟูขึ้นมาผิดปกติแล้วก็จมลงไป อันนี้เป็นในผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงๆ เป็นส่วนมาก

บางทีทำกัมมัฏฐานไป ทำให้เกิดอาการตัวไหวตัวเอนอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ทำให้ตัวเอนไปข้างซ้าย บางทีก็เอนไปข้างขวา หรือเอนไปข้างหน้าข้างหลัง บางทีตัวของเรานี้ก็โยกไปมา บางครั้งมีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า บางทีเรานั่งอยู่ดีๆ เหมือนมีคนมาพูดกับเรา เราก็พยักหน้าบ้าง สั่นศีรษะบ้าง บางครั้งมีอาการสั่นๆ บางคนก็สั่นมาก นั่งอยู่บนเตียงก็คล้ายกับเตียงจะคว่ำ นั่งอยู่บนพื้นดินก็สั่นๆ นั่ง ๓๐ นาทีสั่นทั้ง ๓๐ นาทีก็มี นั่ง ๑ ชั่วโมง ก็สั่นทั้งชั่วโมงก็มี เหมือนไข้จับสั่น

บางทีทำให้คล้ายจะอาเจียน บางทีอาเจียนออกมาจริงๆ ก็มี อันนี้เห็นนักปฏิบัติธรรมไปขอยาบ่อยว่า ขอยาแก้อาเจียน ที่จริงมันเป็นลักษณะของสภาวธรรมต่างหาก เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้เกิดอาการอยากจะอาเจียน ถ้าอดไม่ได้หรือกำหนดไม่ได้ก็อาเจียนออกมาจริงๆ ถ้าว่าไม่ทานยาเราก็กำหนดไป ผลสุดท้ายก็จะหายไปเอง ทีนี้บางครั้งเป็นดุจระลอกซัด คือเราอยู่ในน้ำแล้วคลื่นซัดมาถูกตัวเรา นี้ก็เป็นแบบเดียวกัน บางทีก็มีอาการสั่นระรัวๆ เหมือนกับไม้ที่ปักไว้ในน้ำไหล เกิดขึ้นในขณะที่เรานั่งภาวนาอยู่นั้น บางทีปรากฏในจักขุทวารเป็นสีเหลืองอ่อน

บางทีมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว มีอาการคล้ายจะเป็นไข้ บางคนต้องไปขอยาแก้ไข้ก็มี บางทีมีอาการวูบวาบมาจากข้างล่าง มาจากข้างบน บางท่านเข้าใจว่าเป็นภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน บางทีเหมือนกับเล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล บางทีมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก บางครั้งได้ยินเสียงเหมือนใครมากระซิบ เช่น ตอนเช้าดึกๆ ก็มีคนมากระซิบ มาปลุกให้ลุกขึ้นทำความเพียร ลุกขึ้นเดินจงกรม

บางทีก็เหมือนกับได้ยินเสียงพวกเปรตร้องว่า ช่วยด้วยๆ อย่างนี้ก็มี บางทีเหมือนกันกับเสียงภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน บางครั้งเหมือนกับได้ยินเสียงทำวัตรสวดมนต์ บางทีก็ได้ยินเสียงเทศน์เสียงบรรยายธรรม เรื่องเสียงนี้ ถ้าใครสนใจเสียงของอะไรก็จะได้ยินเสียงนั้นทันที

บางทีทำให้กายของเราสูงขึ้นตามลำดับ เรานั่งอยู่ปรากฏเหมือนกายของเราสูงขึ้นไปครึ่งฟ้า สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ ได้ บางทีตัวของเราเบาเหมือนกับไม่มีน้ำหนัก บางทีเบาจนลอยขึ้น ๑ ศอกบ้างก็มี บางทีนั่งอยู่บนพื้น ลอยขึ้นไปนั่งอยู่บนกุฏิก็มี บางทีนั่งอยู่ในเรือนตัวเบาลอยขึ้นไปค้างบนขื่อเรือนก็มี บางทีก็ทำให้เกิดอาการลงท้องเป็นบิดจนเข้าโรงพยาบาลก็มี หมายความว่า อาการที่ไม่น่าจะเป็นก็เป็นไปได้ คือตนเองจะเข้าใจว่าเจ็บท้องจริงๆ ท้องเดินจริงๆ บางทีเลือดออกมาเป็นกระโถนก็มี แต่ว่ามันไม่เมื่อย มันธรรมดา

บางทีก็สัปหงกไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง บางทีคล้ายกับคนมาผลักข้างหลังของเราคะมำไปข้างหน้าบ้าง บางทีคล้ายกับมาผลักข้างหน้าผงะไปข้างหลังบ้างก็มี บางครั้งคล้ายกับคนมาจับศีรษะหมุนไปมา เหมือนคอของเราไม่มีกระดูก บางครั้งอ้าปากบ้าง หุบปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง เราจะเห็นบ่อยเวลาทำกัมมัฏฐาน ไปเดินสังเกตดู บางคนก็อ้าปากหุบปาก บางคนก็เคี้ยวปากเหมือนกันกับเคี้ยวอาหาร บางคนก็ทำปากงับๆ เราอาจจะคิดว่าเป็นจิตวิปลาสอะไรทำนองนี้ แต่ความจริงเป็นสภาวะ

บางทีเดินจงกรมไม่ตรง หกคะเมนถลำไป ขณะที่เรากำหนดเดินจงกรมอยู่นั่นแหละว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พอเรายกเท้าเดินไปเท่านั้น ก็หกคะเมนถลำไปคล้ายจะล้ม บางทีล้มไปจริงๆ ก็มี บางทีปรากฏว่าตัวของเรานี้ไหลไปค้างอยู่ตามหลังคาโบสถ์บ้าง หลังคาศาลาบ้าง ตามต้นไม้บ้าง บางทีกายกระโดดขึ้นปลิวไป คือขณะที่เราเดินจงกรมขวาย่างหนอ กระโดดแว่บปลิวไปตั้ง ๕-๖ เมตรก็มี

บางครั้งกายกระดิกยกแขนยกเท้า คล้ายๆ กับว่าจะปลิวไปในขณะนั้น บางครั้งกายของเรานี้ก็เงื้อมไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง บางทีมีสีปรากฏคล้ายกับสีไข่มุก สีขี้รม สีนุ่น บางทีมือวางอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับคนมาจับคว่ำลง บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก คล้ายกับว่านั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บางครั้งเวลาเรานั่งอยู่เฉยๆ จะรู้สึกว่ามีอาการโอนไปเอนมา เหมือนกับต้นอ้อที่เอนไปตามลมขณะที่ลมพัด

บางทีก็จะมีอาการแผ่ซ่านเยือกเย็นไปทั่วกาย ไปตามกาย รู้สึกว่าเย็นชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา ร่างกายก็เย็นสบาย จิตใจก็เย็นสบาย คล้ายๆ กับว่าได้บรรลุอมตธรรมแล้ว บางครั้งก็สงบเป็นพักๆ บางครั้งก็คันยุบๆ ตามตัว บางทีมีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา เดินก็ไม่อยากลืมตา นั่งอยู่ก็ไม่อยากลืมตา บางครั้งก็ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย อยากอยู่นิ่งๆ นั่งอยู่อย่างไรก็อยากนั่งอยู่อย่างนั้น นอนอยู่อย่างไรก็อยากนอนอยู่อย่างนั้น ไม่อยากเคลื่อนไหว ไม่อยากกระดุกกระดิกเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอย่างอื่น

บางทีมีอาการซู่ซ่า ตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะ เหมือนกับมีตัวอะไรวิ่งอยู่ตามร่างกาย จนขนลุกทั่วตัวขึ้นมา บางทีก็เกิดความกลัวขึ้นมาด้วย ลักษณะอย่างนี้ ควรสังวรระวังเวลาเกิดขึ้น บางทีก็มีอาการเย็นดุจอาบน้ำหรือถูกน้ำแข็ง หรืออยู่ในห้องแอร์ บางทีก็มีสีเหมือนสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีแก้วมรกต มาปรากฏเฉพาะหน้าในเวลานั่งภาวนา

บางทีก็ทำให้เพลิดเพลินไม่อยากลืมตา อยากหลับตาอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งวันทั้งคืน บางทีก็เกิดอาการสงบเงียบดุจเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้หูยังได้ยินอยู่ บางครั้งใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เยือกเย็นสบาย ไม่กระวนกระวายใจ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานได้ดี ทำให้พอใจในการกำหนด บางทีความรู้สึกเงียบไป คล้ายกับว่าเราหลับไป บางครั้งร่างกายของเราเบาคล่องดี เวลาเรานอนอยู่ คิดจะตะแคงไปข้างซ้ายข้างขวา เราพลิกนิดเดียวเท่านั้นมันก็ตะแคงไปแล้ว คล้ายกับร่างกายไม่มีน้ำหนัก เวลาเดินก็คล้ายกับร่างกายไม่มีน้ำหนัก เบาเหมือนปุยนุ่น นั่งอยู่ก็เบาเหมือนปุยนุ่น คล้ายกับว่านั่งอยู่กลางอากาศ

บางทีสมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม ไม่จำเป็นจะต้องขะมักเขม้นในการกำหนดแม้แต่ประการใด เพราะจิตใจของเราไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ภายนอก บางครั้งจิตใจของเรารู้สึกเบาและนุ่มนวลอ่อนโยน คือนอกจากกายจะเบาแล้วจิตใจก็รู้สึกเบาเป็นพิเศษ รู้สึกว่ามีความสุข จิตใจนุ่มนวลอ่อนโยน อุปมาเหมือนกันกับว่าแช่อยู่ในน้ำผึ้งดีๆ น้ำผึ้งแท้สดๆ ชุ่มฉ่ำ หวานเย็นอยู่ตลอดเวลา

ถ้าผู้มีนิสัยดุร้ายเป็นอันธพาล ติดเหล้าเมาสุรา ติดฝิ่นกินกัญชามาแล้ว ก็จะเห็นว่าความประพฤติของเราเมื่อก่อนนั้นไม่ดี เรานี้ห่างไกลจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากเกินไป แต่นี้ต่อไปเราจะตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญคุณงามความดี เราจะเลิกละสิ่งเสพติดทั้งปวงนี้ให้ได้ จะสอนตัวเอง นิสัยจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน

บางทีเวลาทำกัมมัฏฐานไป เกิดความสุขขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก คือมีความสุขความสบายยินดีมาก ทำให้เพลิดเพลินสนุกสนาน ไม่อยากออกจากการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อยากจะอยู่นานๆ อยากปฏิบัติอย่างนี้ตลอดไป บางคนระงับไม่ไหวจนเปล่งอุทานออกมาว่า สุขหนอๆๆๆ อยู่อย่างนี้ก็มี บางคนภูมิใจดีใจจนระงับไว้ไม่ไหวพูดขึ้นว่า ตั้งแต่เกิดมา ยังไม่เคยได้รับความสุขเช่นนี้เลย อย่างนี้ก็มี บางคนก็นึกถึงบุญคุณครูบาอาจารย์ที่ได้อุตสาหะพยายามสั่งสอนอบรม บางทีก็เห็นหน้าครูบาอาจารย์มายืนอยู่ใกล้ๆ คล้ายๆ กับว่าท่านจะมาช่วยเรา มาแนะนำเราในขณะนั้น

บางทีก็มีสีหน้าเบิกบาน อิ่มเอิบอยู่เป็นอันมาก บางครั้งนั่งสมาธิไป เห็นพระพุทธเจ้า ๑ องค์บ้าง ๕ องค์บ้าง ๑๐ องค์บ้าง ๑๐๐ องค์บ้าง บางครั้งนั่งไป เห็นพระอรหันต์เป็นพันองค์บ้าง เป็นเหตุให้เข้าใจผิดนึกอยากจะฟังเทศน์ฟังธรรม ก็นั่งสมาธิไปฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า ใครจะเทศน์จะสอนจะแนะนำก็ไม่ฟัง เพราะคิดว่าตัวเองได้ฟังจากพระพุทธเจ้าแล้ว อย่างนี้ก็มี อันนี้เป็นชุมทางกัมมัฏฐานทั้งนั้น

ทีนี้บางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น เวลานั่งไป เกิดความเชื่อความเลื่อมใสมากเหลือเกิน อยากให้ทุกคนได้เข้าประพฤติปฏิบัติ หรืออยากให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ครูอาจารย์ได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ นั่งไปก็นึกไปอยู่อย่างนี้ บางครั้งก็คิดอยากสนองบุญคุณของสำนัก บางครั้งอยากให้การปฏิบัตินี้ก้าวหน้าไปไกลและรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อยากให้การปฏิบัตินี้แผ่ขยายกว้างขวางออกไป

บางครั้งนั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็คิดอยากทำบุญทำทาน เหตุนั้น เวลาทำกัมมัฏฐานนี้ หลวงพ่อเคยเตือนอยู่เสมอว่า ปัจจัยนั้นให้เก็บไว้ด้วย เวลาศรัทธาเกิด คิดอยากแต่ทำบุญทำทาน เวลากลับบ้านเดี๋ยวจะไม่มีปัจจัยกลับบ้าน ถ้าอยากทำบุญก็หลังจากปฏิบัติปิดภาคแล้วจึงค่อยทำบุญทำทาน ต้องเตือนไว้ เพราะบางคนจะเดินจงกรมนั่งสมาธิ มีแต่คิดอยากทำบุญทำทาน ทำเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ

แต่บางครั้งก็นึกถึงบุญคุณผู้ที่ชักชวนตนเข้ามาปฏิบัติ ว่าถ้าไม่มีผู้นี้ชักชวนมาปฏิบัติ เราคงไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสธรรมะซึ้งๆ อย่างนี้ ก็คิดอย่างนี้ขึ้นมา บางครั้งก็อยากนำของไปถวายครูบาอาจารย์ นั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็คิดว่า วันนี้เราจะนำเอาอะไรดีหนอไปถวายหลวงพ่อ คิดอยากจะหาโน้นไปถวายหานี้ไปถวายครูบาอาจารย์ บางครั้ง ถ้าผู้ที่อยู่ในบ้านก็อยากออกบวช ถ้าผู้ที่อยู่ในวัดบวชแล้ว ก็อยากไปอยู่ที่สงบ บางท่านก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเต็มที่

บางครั้งก็มีศรัทธาเลื่อมใส แน่ใจว่าธรรมที่ตนปฏิบัติอยู่นี้เป็นธรรมที่วิเศษสุด เป็นธรรมที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือนได้ เป็นธรรมที่จะให้ผู้ประพฤติปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลนิพพาน บางครั้งก็อยากไปประกาศให้ชนทั้งหลายได้เข้าประพฤติปฏิบัติ บางครั้งก็รู้สึกสำนึกในบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้อุตสาหะพยายามสั่งสอนให้เป็นคนได้รู้ได้เห็นธรรมโดยไม่คำนึงถึงความลำบากของตัวเอง

บางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น เกิดความขยันมากเกินไป ทำความเพียรตลอดทั้งวัน นั่งสมาธิแล้วก็เดินจงกรมอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่เช้าถึงเพล ฉันเพลเสร็จก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ บางทีเดินจงกรมไม่ยอมนั่งเลยก็มี บางทียืนขาเดียวตั้ง ๒-๓ ชั่วโมงก็มี บางครั้งนั่งสมาธิปวดเท่าไรก็อดกลั้นทนทานเอาจน ๒-๓ ชั่วโมงก็มี เรียกว่ามีความเพียรมากเกินไป

บางทีก็ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมตายวันนี้ ถ้าจะตายก็ให้ตาย ยอมตายดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป มีความขยันลุกขึ้นปฏิบัติอย่างกล้าหาญ ไม่เกียจคร้าน ไม่ท้อถอย ไม่ต้องมีใครบอก ไม่ต้องมีใครเตือน เพียรเองตามธรรมชาติ บางครั้งมีความพยายาม มีความตั้งใจไว้มั่นคง ไม่ยอมให้เสียเวลา ไม่อยากให้ใครมาพูดด้วย ไม่อยากให้ใครมารบกวน อยากปฏิบัติจริงๆ ไม่ยอมหยุดยั้งการปฏิบัติ ไม่ยอมพูดจากับใครๆ แต่บางทีความเพียรมากเกินไปแต่สติสัมปชัญญะหย่อน ทำให้คิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ กว่าจะเลิกเดินจงกรมก็คิดไปหลายๆ เรื่อง เวลานั่งกัมมัฏฐานก็คิดอยู่อย่างนั้นแหละ นึกอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะเป็นวิปัสสนา กลายเป็นวิปัสสนึกไป เลยไม่ได้อะไร นั่งทั้งชั่วโมง คิดทั้งชั่วโมง

บางครั้งมีสติมากเกินไป เป็นเหตุให้นึกถึงแต่เรื่องอดีตเรื่องอนาคต ทิ้งอารมณ์ปัจจุบัน บางครั้งก็นึกถึงแต่เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้ว จนคล้ายกับว่าจะระลึกชาติได้ บางคนก็ระลึกได้จริงๆ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง บางทีก็นึกแต่เรื่องอนาคต เช่นว่า เรากลับไปบ้านจะไปสอนพวกนั้น ให้พวกนั้นได้ปฏิบัติอย่างนี้ หรือว่าเราจะไปตั้งห้องกัมมัฏฐาน จะเทศน์ให้ดี จะสอนให้ดี เป็นต้น

บางครั้งก็อยากส่งเสริมการปฏิบัติให้ได้ผล ให้เจริญกว่าที่เห็นทุกวันนี้ แต่บางครั้งนั่งพระกัมมัฏฐานไป เกิดความรู้ขึ้นมา คือความรู้ที่ยังไม่รู้ก็รู้ขึ้นมา ที่รู้แล้วก็รู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ความรู้ทางด้านปริยัติที่เราเรียนมา บางทีลืมไปนานแล้ว คิดไม่ได้ แต่เวลาทำกัมมัฏฐานไปก็กลับคิดนึกขึ้นมาได้อีก มนต์คาถาที่เราเคยศึกษาเล่าเรียนมาจากอาจารย์ ไม่ได้ท่องบ่นไม่ได้สาธยายมาตั้ง ๙ ปี ๑๐ ปี ก็กลับท่องได้จำได้สบายก็มี บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่าตนเองได้สำเร็จมรรคผลนิพพานแล้ว

บางครั้งก็ชอบวิพากษ์วิจารณ์อารมณ์ต่างๆ เช่น การเกิดดับ หรือว่าอาการพองเป็นรูปหรือเป็นนาม เหล่านี้เป็นต้น บางครั้งก็นึกถึงหลักฐานที่ตนศึกษาเล่าเรียนมา หรือได้เคยประพฤติปฏิบัติมาจากสำนักครูบาอาจารย์ มาเปรียบเทียบกันว่าตรงกันไหม ขัดแย้งกันตรงไหน เป็นต้น บางทีเวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐานนั้น ยังไม่ได้ปัจจุบันธรรม ส่วนมากเป็นวิปัสสนึก นึกเอาเอง เป็นจินตาญาณ ไม่ใช่ภาวนาญาณ

แต่บางครั้ง เวลาปฏิบัติมักมีอาการหลงๆ ลืมๆ นั่งเฉยๆ ใจหลงๆ ลืมๆ พองยุบก็มัวๆ หรือบางครั้งไม่เห็นพองยุบเลย บางครั้งใจลอยๆ ไม่ได้นึกไม่ได้คิดอะไร บางครั้งเห็นพองยุบ บางครั้งไม่เห็น บางครั้งจิตใจดีไม่กระวนกระวาย มีอารมณ์ดีไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด กำหนดได้ดี อารมณ์ดีชั่วไม่ปรากฏมากระทบได้เลย แม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มากระทบก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ว่าไม่ได้กำหนด ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามอารมณ์ภายนอก แต่บางครั้งคล้ายๆ กับว่ากิเลสไม่มี บางทีนึกว่าตนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ที่นี่ เกิดอาการเช่นนี้ขึ้นมา นึกว่าตนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็บอกเพื่อนว่า ท่านๆ ท่านลองเอาไม้ตีหัวผมดูซิว่าจะเป็นอย่างไร คืออยากให้เพื่อนตีลองดูว่าจะเจ็บไหม กิเลสยังมีอยู่ไหม ความโกรธยังมีอยู่ไหม สภาวะแบบนี้คล้ายๆ ว่ากิเลสตัณหาหมดไป จิตใจสะอาดจริงๆ

แต่ทีนี้ บางครั้งก็มีความใคร่ในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีความใคร่ในแสงสว่าง ในปีติ ในความสงบ ในสุข ในศรัทธา ในความเพียร ในความคิดความรู้ ในสติ ในอุเบกขา บางทีก็มีความใคร่ในนิมิตต่างๆ เช่น นั่งกัมมัฏฐานไป ปรากฏคนโน้นเอาข้าวมาถวาย เอาอาหารมาถวาย เกิดดีใจขึ้นมา บางทีก็รับเอา บางทีปรากฏเห็นเขาเอากล้วยมาป้อนใส่ปาก ก็หลงเคี้ยวกินไปก็มี บางทีปรากฏเห็นกับข้าวมากมาย

บางท่านก็เห็นพระพุทธรูป เห็นนรก เห็นสวรรค์ พระนิพพาน ก็เกิดมีความพอใจความใคร่ขึ้นมา ทั้งหมดนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน

ผู้ที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานจะต้องผ่านชุมทางกัมมัฏฐานดังที่กล่าวมานี้ทุกท่านทุกคน แต่ว่าจะประสบมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับบารมีแต่ละท่านละคนที่ได้สั่งสมอบรมมา แต่ต้องผ่านด้วยกันทั้งนั้น เมื่อผ่านชุมทางกัมมัฏฐานนี้แล้วก็จะแยกกัน ทางแยกมีหลายอย่าง ถ้าผู้ใดปราศจากครูบาอาจารย์ หรือว่าตกอยู่ในอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ ก็จะพาไปผิดทาง

บางทีก็ไปเล่นทางสายอภิญญา แล้วก็ว่า คนนี้เมื่อก่อนนี้เป็นแม่ของเรา คนนี้เมื่อก่อนเป็นภรรยาของเรา ชาติที่เท่านั้นเท่านี้เคยเป็นป้าของเรา เคยเป็นอาของเรา เล่นไปทำนองนี้ก็มี บางทีก็พาญาติโยมไปทัวร์นรก วันนี้พาไปสวรรค์ วันนี้พาไปพรหมโลก ท่านที่เล่นทางนี้ก็มี เป็นการไปผิดทางเสียแล้ว หลงทางไปแล้ว เลยตกไปในความประมาทอันเป็นทางแห่งความตาย เพราะว่าติดอยู่ในชุมทางกัมมัฏฐานนี้ ออกไม่ได้ไปไม่ได้

ทีนี้ บางท่านได้สร้างสมอบรมบุญบารมีมาทางสายสมถะ เวลามาถึงชุมทางก็ไม่ไปทางวิปัสสนา พอดีเกิดปัสสัทธิเกิดปีติขึ้นมา ก็เลยไปเลย เข้าสู่ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นฌานไป คือจะไปสายสมถะเสียก่อน ดังที่เราทั้งหลายไปฝึกสอนกัมมัฏฐานในภาคฤดูหนาว

เวลาปฏิบัติมาถึงนี้เราก็พาปฏิบัติไปทางสายสมถะก่อน เพราะเวลาของเราน้อย มีเวลาเพียง ๙ วัน ๑๐ วัน เราก็พาเดินไปในสายสมถะก่อน เพราะการสอนสายสมถะได้ผลเร็วกว่าวิปัสสนา เมื่อไปสายสมถะ ฝึกสมาธิจนชำนาญในวสีแล้วก็จะยกขึ้นสู่วิปัสสนาต่อไป ถ้าผู้นั้นตามไป ปฏิบัติต่อไปอีก ก็สอนวิปัสสนา ให้แยกกันตรงนี้

แต่ถ้าหากว่าผู้ที่สร้างสมอบรมบารมีมาในทางวิปัสสนาภาวนา พอดีมาถึงนี้แล้วก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า รูป นาม ขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนิจจังไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ไม่ได้ ดับไป เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้ ดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องดับไป ปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์เช่นนี้แล้ว หลังจากนั้น วิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ จนเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ เข้าสู่มัคควิถี แล้วก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล วิธีนี้เรียกว่า เดินไปทางสายวิปัสสนา

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจในสิ่งทั้งหลายที่ได้กล่าวมานี้ว่า ผู้ใดเป็นบ้าง ไม่ใช่ว่าเป็นหมดทุกข้อ บางท่านก็เป็นหมด บางท่านก็เป็นเพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น แต่จะเป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ ท่านจะเป็นข้อไหนก็ตาม แสดงว่าท่านถึงชุมทางกัมมัฏฐานแล้ว

หลังจากนั้น ท่านจะเลือกเอาทางไหน จะไปสายสมถะหรือวิปัสสนา หรือจะไปสายนรก สวรรค์ก็ได้ แล้วแต่ถนัดใจ ถ้าไปไม่ถูกทางก็เป็นบ้า คนจะมาเป็นบ้าอยู่ตรงชุมทางกัมมัฏฐานนี้ คนที่ผูกคอตาย เชือดคอตาย กินยาตาย ก็มาตายอยู่ที่ชุมทางกัมมัฏฐานนี้

ผู้ปฏิบัติมาหลายปียังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ก็เพราะว่ามาติดอยู่ที่ชุมทางกัมมัฏฐานนี้ แต่สำหรับผู้ที่มาติดอยู่ที่ชุมทางกัมมัฏฐานแล้วเห็นว่าเป็นชุมทางกัมมัฏฐานต่างหาก ไม่ใช่เป็นมรรค เป็นผล เป็นนิพพาน แล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พยายามทำต่อไป ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผล บรรลุพระนิพพาน

เพราะสิ่งทั้งหลายอันเป็นชุมทางกัมมัฏฐานที่เกิดมานี้ ไม่ใช่เป็นของเลว เป็นของดี เกิดจากความประณีตของจิต ขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานไป จิตใจของเราเป็นสมาธิ จะเป็นขณิกสมาธิก็ตาม อุปจารสมาธิก็ตาม เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วกิเลสก็เข้าครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ จิตใจของเราก็เป็นอิสระ เป็นจิตที่สะอาด สว่าง สงบเย็น ปราศจากสังกิเลสธรรมทั้งปวง

เมื่อจิตสะอาดปราศจากสังกิเลสธรรมแล้ว จิตใจก็จะสร้างสิ่งทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วขึ้นมาเอง เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว หากเราติดอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ก็จะพาหันเหไปในทางที่ผิด ทำให้เสียผู้เสียคน หรือเสียจริตไปได้ ถ้าเราสร้างสมอบรมคุณความดีมาทางสายสมถะ ก็จะไปทางสมถะ ถ้าสั่งสมมาทางสายวิปัสสนา ก็จะดำเนินไปสู่ทางวิปัสสนา จนกว่าจะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

ดังนั้น จึงขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า เวลาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิด ระวังให้ดี อย่าให้ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เกิดด้วย คือถ้าตัณหาเกิด ก็ทำให้ยินดีในสภาวธรรมเหล่านี้มากเกินไป ทำให้สมาธิตก ปัญญาไม่เกิด แต่ถ้ามานะทิฏฐิเกิด ก็ทำให้เห็นผิด ถือตัวว่าเป็นผู้ได้ถึงธรรมแล้ว ได้บรรลุแล้ว ผลสุดท้ายก็เสื่อมจากผลที่จะพึงได้พึงถึง

สำหรับข้อปฏิบัตินั้น ขอให้ท่านทั้งหลายสำเหนียกให้ดี อย่าให้สิ่งเหล่านี้ครอบงำจิตใจได้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ให้กำหนดตามอาการของมันว่า รู้หนอๆ จนมันหายไป แล้วจึงค่อยกำหนดพองยุบต่อไป

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ชุมทางพระกัมมัฏฐาน มาบรรยายนี้ ก็คิดว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
627  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / ธรรมะวันหยุด เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2560 10:41:20



ความเป็นใหญ่

ความเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในติกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า มี 3 ประการ คือ

1.ความมีตนเป็นใหญ่ คือ การกระทำด้วยปรารภตนเป็นประมาณ ถือเอาประโยชน์ตนเป็นสำคัญ แม้จะทำการอะไรก็ตามที่แสดงว่ายอมเสียสละประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็เป็นไปโดยความประสบโอกาสเหมาะเท่านั้น ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือมุ่งเฉพาะประโยชน์ของตนเป็นประมาณ

บุคคลผู้มีตนเป็นใหญ่ ย่อมไม่เอื้อเฟื้อต่อประโยชน์ของชุมชน แม้จะบำเพ็ญทานอะไรก็ตาม ก็มุ่งทำเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว เช่น ทำบุญแล้วบนบานสานกล่าว ขอพรเพื่อให้ตนได้ประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้

การกระทำเช่นนี้ก็เป็นการทำความดีเหมือนกัน คือการได้บริจาค ได้กระทำบุญเหมือนกัน แต่เจตนาในการทำบุญนั้นไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นเพียงทานที่ทำไปด้วยมุ่งถึงประโยชน์ตนเป็นหลัก ยึดประโยชน์ของตนเป็นประมาณ

2.ความมีโลกเป็นใหญ่
คือ การกระทำโดยปรารภถึงความต้องการของโลกเป็นประมาณ ทำอะไรก็นึกถึงหมู่ชนเป็นใหญ่ เช่น ทำทานเพื่อป้องกันคำติเตียนของคนอื่น หรือทำให้ใหญ่โต เพื่อให้คนอื่นสรรเสริญ ทำทานโดยยึดถือความที่นึกถึงคนอื่นเป็นเบื้องหน้า ไม่นึกถึงว่าตนเองมีกำลังพอที่จะบริจาคได้หรือไม่ เป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่ตนเอง

ผู้ที่มุ่งโลกเป็นใหญ่ นับได้ว่าตกอยู่ในอำนาจของโลกธรรม คือปรารถนาที่จะได้ แต่ไม่ได้นึกถึงความเสื่อมเสียที่จะตามมา ปรารถนาจะได้รับความสรรเสริญยกย่อง ไม่ปรารถนาความเสื่อมยศ อันจะทำให้คนอื่นคลายความนิยมนับถือในตน

3.ความมีธรรมเป็นใหญ่ คือ การกระทำด้วยปรารภความถูกต้อง สมควรเป็นประมาณ ทำอะไรด้วยมุ่งความถูกต้อง ชอบธรรมเป็นเบื้องหน้า พิจารณาโดยรอบคอบแล้วยึดถือธรรมคือความถูกต้องชอบธรรมเป็นประมาณ ไม่ได้นึกถึงว่า ตนจะได้ประโยชน์ด้วยการทำอย่างนั้นๆ และไม่ได้นึกว่าเขาจะติเตียน เขาจะสรรเสริญด้วยการทำอย่างๆ แต่นึกว่า การบำเพ็ญทาน รักษาศีล และการอบรมภาวนา เป็นความถูกต้อง ความชอบ เป็นหลักปฏิบัติในทางธรรม และเป็นไปเพื่อกำจัดความโลภ ความโกรธและความหลง

การกระทำกิจการงานอะไรก็ควรให้เป็นไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกันและกัน ทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความขยัน ไม่เกียจคร้าน และพยายามปรับปรุงการงานให้เจริญก้าวหน้าโดยยึดหลักความถูกต้อง ชอบธรรมเป็นหลักสำหรับปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้ ชื่อว่าเป็นธรรมาธิปไตย ย่อมอำนวยทั้งความสุข ความเจริญแก่ตนและคนทั่วไปได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ผู้ที่หวังความสุข ความเจริญ ควรพยายามละความมีตนเป็นใหญ่ เพราะถ้าถือตนเป็นใหญ่ ย่อมตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ควรพยายามละความมีโลกเป็นใหญ่ เพราะถ้าถือโลกเป็นใหญ่ โลกธรรมย่อมจะเข้ามาครอบงำจิตใจได้ แต่ควรจะยึดถือเอาเฉพาะความถูกต้อง ชอบธรรมเท่านั้นเป็นใหญ่ เพราะถ้ายึดถือธรรมเป็นใหญ่เสียแล้ว

จิตใจย่อมได้รับแต่ความสุข ไม่ขึ้นไม่ลงคงอยู่สม่ำเสมอ



ความพอเพียง

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมามีชีวิตอยู่ได้ในโลกนี้ ล้วนแต่มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น อาจเหมือนกัน ต่างกัน หรือเชื่อมโยงเป็นปัญหาเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ และจะต้องหาวิธีแก้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องกิน การทำงาน การครองชีวิต ดังนั้น ชีวิตที่ดีที่สุด คือ ชีวิตที่สามารถแก้ปัญหาได้

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาได้แนะนำวิธีมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย สงบ วิธีควบคุมตัวเองไม่ให้เป็นทาสความอยากมากจนเกินไป นั่นก็คือความพอเพียง เพราะเห็นว่าคนในสังคมทุกวันนี้มีชีวิตที่วุ่นวาย กระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อแสวงหาปัจจัยมาสนองความปรารถนาทางใจ โดยไม่มีขอบเขตสิ้นสุด ไม่รู้จักพอ ขาดความพอดีในชีวิต หาหลักชีวิตไม่ได้  

คนเช่นนี้ เมื่อพบอะไรก็ไขว่คว้าเรื่อยไป โดยนึกว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ซึ่งจะขาดเสียไม่ได้เลย เหมือนคนลอยคออยู่กลางทะเลมองไม่เห็นฝั่ง มือก็ไขว่คว้าหาที่ยึดพยุงตัว พบสิ่งใดเข้าก็คว้าไว้ก่อน แม้สิ่งนั้นจะเป็นเพียงสวะลอยน้ำก็ตาม

นอกจากนั้นแล้ว ยังขาดการควบคุมใจตนเอง จึงก่อเวรให้แก่ตนและคนอื่น ก่อปัญหาต่างๆ ขึ้นในสังคม ทำให้เกิดความเดือดร้อน วุ่นวายไม่สิ้นสุด เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาเหล่านั้นจึงมีชีวิตอยู่อย่างไม่สงบสุข เป็นชีวิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ มีขึ้นมีลง ประสบสุขบ้างทุกข์บ้างตลอดเวลา

ในการแสวงหาปัจจัย 4 และสิ่งอำนวยความสุขอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตนั้น จำเป็นต้องใช้กำลัง ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา

ผู้ที่มีกำลังหรือมีความรู้ความสามารถน้อย ย่อมหาได้น้อย แต่ความต้องการในปัจจัยและสิ่งอำนวยความสุขอื่นๆ ของคนเรามีปริมาณเท่ากัน เมื่อสิ่งเหล่านั้นมีจำกัด ถึงแม้เราจะพัฒนาอย่างไรผลผลิตก็ยังมีจำกัดอยู่ดี จึงเกิดปัญหาว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งสามารถหาได้มาก เก็บไว้ได้มาก อีกฝ่ายหนึ่งหาได้น้อย หรือไม่สามารถหาได้เลย ความขาดแคลนของฝ่ายหลังนี้จึงเกิดขึ้น

เมื่อเกิดความขาดแคลนและมีความต้องการปัจจัยที่จำเป็นขึ้นมา ก็จะต้องดิ้นรนแสวงหาเพิ่ม ครั้นหาได้ไม่พอเท่าที่ต้องการ จึงหันมาแสวงหาในทางที่ได้ง่ายๆ ซึ่งไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมากมาย อาศัยเพียงความกล้าและโอกาสอำนวยเท่านั้น นั่นก็คือ การปล้น ลักขโมย ทุจริต ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการแสวงหาที่ผิด

ส่วนผู้ที่มีความสามารถ แม้จะได้ปัจจัยมามาก พอที่จะเลี้ยงตัวแล้วก็ตาม ก็ยังใช้ความสามารถนั้นแสวงหาอยู่ร่ำไป หาได้แล้วก็นำมาเก็บ กักตุนไว้ หรือใช้อย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายจนเกินจำเป็น ไม่รู้จักคำว่า พอ หรือ หยุด ทำให้อยากได้อยู่เรื่อยไปจนไม่สามารถจะควบคุมใจไว้ได้ ยิ่งหามาได้มากเท่าไร ก็ยิ่งอยากได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ การแสวงหาก็มีวิธีพิสดารมากขึ้น ถ้าควบคุมไว้ไม่ได้ ก็อาจแสวงหาในทางทุจริต ฉ้อโกง ซึ่งเท่ากับว่าตกเป็นทาสของความอยากตลอดเวลา

ความพอเพียง คือ รู้จักยับยั้งความปรารถนาของตน ในขอบเขตที่เหมาะสมแก่ภาวะและฐานะของตน รู้จักควบคุมความอยากไว้ให้พอดี ไม่เกินขอบเขต ในกรณีที่ขาดแคลนก็แสวงหาปัจจัยมาบำรุงตัวเองและครอบครัว ให้พออยู่ได้อย่างเป็นสุขก็เพียงพอแล้ว ไม่ดิ้นรนให้มากไปกว่านี้อีก

ครั้นยับยั้งได้แล้วชีวิตก็เริ่มจะสงบสุข มีเวลาเป็นของตัวเอง คิดถึงตัวเองได้บ้าง ต่อจากนั้นก็จะคิดถึงคนอื่นและคิดถึงสังคมต่อไป



ความเพียร 4 ประการ

วิริยะ ความเพียรอย่างยิ่งในการทำความดี เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความเพียรที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา มี 4 ประการ คือ

เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นภายในใจ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ระวังปลูกฝังความพอใจใช้ความ เพียรอย่างต่อเนื่อง ในการรักษาใจ ประคองใจไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ในเวลาที่ตาเห็นรูป หูฟัง เสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจนึกตรึกตรองปรุงแต่งถึงอารมณ์ที่มาสัมผัส ถูกต้อง

เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว พระพุทธองค์ทรงสอนให้มีความพอใจ ใช้ความพยายามกระทำความเพียรอย่างต่อเนื่องในการละบาปอกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว จะมากหรือน้อยเท่าไรก็ตาม เมื่อละได้แล้วให้ประคองจิตไว้ในที่นั้นๆ แล้วพยายามต่อไป โดยพิจารณาเห็นโทษของบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นนั้น มีผลนำความทุกข์มาให้ เช่น เมื่อทำความผิด ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เป็นต้น

เพียรพยายามสร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้นในใจ พระพุทธองค์ทรงสอนให้สร้างความพอใจความยินดีในการทำความดี มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้นให้บังเกิดขึ้น โดยยึดหลักการปฏิบัติดีอย่างต่อเนื่อง ความดีที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น เมื่อสร้างได้แล้ว ให้พยายามรักษาคุณภาพจิตไว้และพยายามต่อไป ไม่ย่อท้อแม้มีอุปสรรคสะดุดล้มในบางครั้ง ต้องพยายามประคับประคองใจ ไม่ยอมแพ้

เพียรรักษาสิ่งที่ดี ที่บังเกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ไป พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปลูกฝังความพอใจใช้ความพยายามกระทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง ในการที่รักษากุศล คือ ความดีต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้เสื่อมไป เหมือนเกลือรักษาความเค็ม ฉะนั้น

ความเพียร 4 ประการนี้ เรียกว่า ความเพียรในทางที่ชอบ หรือ ความเพียรชอบ ในอริยมรรค เป็นหลักธรรมที่ทรงสอนให้บุคคลประกอบความดีให้บังเกิดขึ้นในชีวิตของตน แม้แต่การบริหารบ้านเมือง อยู่ในโครงสร้างของความเพียรเช่นกัน

เพียรป้องกันสิ่งซึ่งเป็นพิษเป็นภัยที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้น

เพียรกำจัดสิ่งที่เห็นว่าเป็นโทษเป็นภัยเป็นอันตรายที่เกิดขึ้น แล้วกำจัดให้หมดไป

เพียรทำแต่เรื่องที่ดี มีประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนและบุคคลอื่น ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น

เพียรรักษาสิ่งดีงามเหล่านั้นให้คงอยู่และมีความเจริญงอกงามไพบูลย์เต็มที่

พระพุทธศาสนาเน้นความสำคัญเรื่องความเพียรอย่างถูกต้อง ซึ่งสามารถให้ผลสำเร็จก้าวหน้าในชีวิตของบุคคล ในหน้าที่การงาน ในการดำเนินชีวิต และในการปฏิบัติธรรม ล้วนต้องอาศัยความเพียรพยายามทั้งนั้น แต่จะต้องเป็นความเพียรพยายามในทางที่ชอบดังกล่าว

เพราะเมื่อปฏิบัติเช่นนี้ ได้ชื่อว่าดำเนินตามหลักอริยมรรคที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้


ธรรมะวันหยุด
พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
628  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / Re: เป็นอยู่อย่างคนเหนือดวง เมื่อ: 21 พฤศจิกายน 2560 11:25:35


มารยาทของ ผู้ประเสริฐ

เรื่องราวที่ครึกโครมมากที่สุดในแวดวงข่าวสารของประเทศอินเดียคงหนีไม่พ้นเรื่องนายรามนาถ โกวินท์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของชาวภารตชน ที่ได้รับการโหวตเลือกจากคณะกรรมการเลือกตั้ง 4,896 คน ซึ่งก่อตั้งจากสมาชิกรัฐสภา และสภารัฐต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้มีการประกาศผลเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา

ความน่าสนใจอยู่ที่ นายรามนาถ เป็นคนมาจากชนชั้นต่ำสุดของสังคม คือ "จัณฑาล" ซึ่งถือเป็นกลุ่มพวก อวรรณะ หรือ นอกวรรณะ ที่สังคมวรรณะแบบฮินดูดูถูกเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติมากที่สุด เพราะตามความเชื่อเรื่องวรรณะในศาสนาฮินดูนั้น วรรณะมี 4 ระดับ ไล่ตามศักดิ์ศรีสูง ส่งลงไปต่ำสุด คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร แต่เมื่อมีการแต่งงานข้ามวรรณะ บุตรที่เกิดมาก็จัดเป็นพวกจัณฑาลในทันที และความเป็นจัณฑาลนี้ จะคงอยู่สืบไปตราบชั่วกัลปาวสาน ไม่ว่าจะสืบเชื้อสายต่อไปอีกกี่ชั่วโคตรก็ตาม

จัณฑาลถูกคนวรรณะอื่นรุมรังเกียจจนถึงกับไม่กล้าถูกเนื้อต้องตัว ด้วยกลัวว่าจะติดเชื้อโรค แม้โดนเงาก็ไม่ได้ วัดฮินดูก็ถูกสั่งห้ามเข้า เมื่อคนมีวรรณะทำร้ายถ้าตอบโต้ก็กลายเป็นความผิด โดนกีดกันเรื่องการศึกษา ถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา เช่น สาปแช่ง ก่นด่า เยาะเย้ย ถ่มถุย จนดูเหมือนคนจัณฑาลเป็นสิ่งสกปรกที่ถูกโยนขึ้นมาจากท่อน้ำทิ้ง ซึ่งเหล่านี้เป็นคำสอนกันมาแต่โบราณและยังคงเชื่อกันมาจนทุกวันนี้

อาชีพของพวกเขาส่วนใหญ่คือกวาดถนน ล้างท่อระบายน้ำ เก็บขยะ เก็บสิ่งปฏิกูล ทำความสะอาดส้วมสาธารณะ เป็นต้น ถ้าจะทำการเกษตรก็ทำได้เพียงเช่าที่เขาทำ ไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่อนุญาตให้ใช้ของบางชนิดซึ่งคนในวรรณะอื่นๆ ใช้ และจะอาศัยแถวๆ กองขยะหรือตามแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งบางคัมภีร์ของศาสนายังมีการระบุว่า จัณฑาลมีสิทธิ์ครอบครองเพียงผ้านุ่ง 1 ผืน และแพะ 1 ตัวเท่านั้น

เมื่อเกิดมาเป็นจัณฑาลก็ต้องมีชีวิตอยู่อย่างจัณฑาล และตายไปอย่างจัณฑาล ที่สำคัญพวกเขาแทบทั้งหมดก็ยอมรับว่าพวกตนถูกพระเจ้าสาปให้เกิดมาใช้เวรใช้กรรม เขาจึงเป็นคนที่แตกสลาย ไร้อนาคต รอเพียงวันตาย สมดังคำว่า จัณฑาล (Dalit) ซึ่งแปลว่า มืดมน ไร้อนาคต

และเพราะเหตุที่จัณฑาลถูกกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงทำให้พวกเขาจำนวนไม่น้อยหาทางออกด้วยการเปลี่ยนศาสนา โดย "ศาสนาพุทธ" ถือเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้

ดังที่ อโชกะ สำราต ผู้นำกลุ่มชาวจัณฑาลที่มีชื่อเสียงในรัฐคุชราต ได้กล่าวว่า "มีผู้คนเสียชีวิตจากความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับระบบวรรณะมากกว่าเสียชีวิตจากการก่อการร้ายเสียอีก พุทธศาสนาแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะทำให้มนุษย์มีศักดิ์ศรีและมีความเท่าเทียมกัน"

แต่มาถึงวันนี้ เมื่ออินเดียได้ประธานาธิบดีคนใหม่ เป็นคน "จัณฑาล" ทำให้กลุ่มคนประเภทเดียวกัน ซึ่งมีกว่า 200 ล้านคนจากทั่วประเทศได้เฮกันลั่น เพราะนี่เป็นความหวังใหม่ในหมู่จัณฑาลที่เป็นฮินดู ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการสร้างอินเดียที่เห็นคุณค่าของความเป็นคนอย่างเท่าเทียม และเปิดโอกาสให้คนชั้นล่างสุดมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในสังคมอย่างที่ควรจะเป็นมากยิ่งขึ้นไป

ถ้าได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้พร้อมทั้งพิจารณาตาม จะพบว่าพวกเราชาวพุทธเป็นผู้มีโชคอย่างยิ่ง ที่ไม่ต้องทนรับกับสภาพการบีบคั้นด้านชนชั้นวรรณะอย่างรุนแรงเหมือนสังคมอินเดีย ไม่ต้องคอยพะวงว่าจะมีลูกเกิดเป็นจัณฑาลที่สังคมไม่ยอมรับ ซึ่งแต่แรกมาพระพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาแห่งความเสมอภาค ทุกชั้นชนวรรณะตั้งแต่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ถึงจัณฑาล เมื่อบวชเข้ามาก็จะกลายเป็นเนื้อเดียวกันอย่างไม่แบ่งแยก

เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงไว้ชัดเจนว่า "บุคคลจะเป็นคนเลวหรือเป็นผู้ประเสริฐเพราะชาติกำเนิดก็หาไม่ แต่ย่อมเป็นคนเลวหรือเป็นผู้ประเสริฐได้เพราะการกระทำต่างหาก"

เพราะศาสนาพุทธเชื่อเรื่องกรรม "ไม่ว่าชั่วดี เมื่อกระทำ ย่อมต้องรับผลแห่งกรรมนั้นอย่างแน่นอน" ดังนั้นหากคนจะเป็น "ผู้ประเสริฐ" ก็มิใช่เพราะชาติตระกูลดี ไม่ได้อยู่ที่เกิดก่อน ไม่เพียงเพราะเรียนสูง หรือมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย

หากแต่จรรยาของการเป็นผู้ประเสริฐ คือ ต้องสุขุมรอบคอบ มีศีล มีสัจจะ แต่ละคำที่ออกมาจากปากต้องเป็นธรรมและมีประโยชน์ และไม่เอาชื่อเสียง ชาติตระกูล ความมั่งคั่งร่ำรวย มาเป็นตัวตัดสินคน และที่สำคัญต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ นี่เองคือมารยาทของ "ผู้ประเสริฐ" อย่างแท้จริง


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
629  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 14 พฤศจิกายน 2560 16:55:56



อันตรายของวิปัสสนา ๑๒ ประการ

วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง อันตรายที่เกิดขึ้นขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติวิปัสสนา ไม่ให้ได้ผล มาบรรยาย เพื่อประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ๑๒ ประการ

อันตรายของวิปัสสนา ๑๒ ประการนั้นคือ

๑.กมฺมารามตา[1] ทำการงานไม่มีสติ คำว่า ทำงานไม่มีสติ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำงานใช้กำลังทั่วไป หมายเอาตั้งแต่เรา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ดี จะมองซ้าย แลขวา เดินไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลังก็ดี ตลอดจนนุ่งสบง ห่มจีวร พาดสังฆาฏิ เป็นต้น เราไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่าทำงานไม่มีสติ

เมื่อเราไม่กำหนดอิริยาบถ หรือทำงานทุกสิ่งทุกประการ ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล แม้แต่การปัดกวาดห้องนอนก็ดี กุฏิวิหารอันเป็นที่อยู่ที่อาศัย ตลอดถึงบริเวณวัดก็ดี เราไม่มีสติ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเช่นนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน

การทำความสะอาด จะเป็นภายนอกก็ตาม ถ้าเรารู้จักนำมาใช้เป็นคติเตือนใจ คือนอกจากมีสติทันปัจจุบันแล้ว ก็พิจารณาควบคู่กันไป โดยใช้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิจัยธรรม สอดส่องธรรมในขณะนั้นว่า ร่างกายของเรานี้ หากว่าอาบน้ำชำระฟอกสบู่แล้ว ก็หมดจากสภาวะความสกปรกฉันใด หากว่าใจของเราสามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงลงไปได้แล้ว ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความผ่องใสมากกว่านี้

หรือเมื่อทำความสะอาดบริเวณวัดก็ดี กุฏิที่อยู่ก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี เราก็พิจารณาควบคู่กันไป เช่นว่าเครื่องนุ่งห่มของเรา เมื่อซักฟอกแล้วก็สะอาด มองดูสวยสดงดงามน่าดู เอามานุ่งมาห่มก็ไม่มีกลิ่นอันไม่พึงปรารถนาเป็นต้น หากว่าใจของเราสามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา ให้หมดไปแล้ว ยิ่งจะได้รับความสุขความสบาย ความชื่นชมมากกว่านี้

เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้เกิดความเพียรอุตสาหะในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหตุนั้น ในการทำงาน นอกจากจะกำหนดอยู่แล้ว ขอให้พิจารณาควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจของเรา หรือกระตุ้นการปฏิบัติของเราให้ได้ผลดีขึ้น

๒.นิทฺทารามตา มัวนอน คือนักปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ ท่านกำหนดไว้ วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงนี้ เรานอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว เหตุไรนอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว ก็เพราะว่าหลับอยู่ในตัว บางครั้งเรานั่งกัมมัฏฐานไป จิตตกภวังค์เป็นบางครั้งบางคราว จิตตกภวังค์ไปวับเดียวเท่านั้น ความง่วงก็หายไป บางทีเดินจงกรมอยู่ จิตตกภวังค์วับเดียวเท่านั้น อิ่มอยู่ในตัว

ท่านทั้งหลายลองนึกดู เราปฏิบัติในตอนบ่ายนี้ เราเดินจงกรมมาแล้วนั่งสมาธิ ชั่วโมงแรกจะรู้สึกว่าเหมือนได้สมาธิดี สงบดี พอได้เวลาแล้ว ลุกขึ้นไปเดินจงกรมครบกำหนดแล้วมานั่ง ชั่วโมงที่สองนี้จะไม่ค่อยได้ดี จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่ค่อยขาดความรู้สึก อาการครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ไม่มี เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้ เพราะว่าจิตของเราอิ่มมาตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้ว เมื่อจิตอิ่มแล้ว ก็ไม่สามารถจะทำให้หมดความรู้สึก หรือจะเข้าสมาธิไปได้

เหตุนั้น นักปฏิบัติธรรมนี้ ถ้าธรรมเกิดจริงๆ บางทีนอน ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็พอแล้ว และสิ่งที่ควรสังวรที่สุดก็คือไม่ควรจำวัดกลางวัน ถ้าหากจำวัดกลางวันแล้ว การปฏิบัติของเราจะไม่ได้ผลเลย เพราะว่าจิตมันอิ่มอยู่ตลอดเวลา และการจำวัดกลางวันนั้น มีโทษหลายอย่าง โดยเฉพาะ ทำให้จิตไม่เบิกบาน ไม่แช่มชื่น ทำให้หงุดหงิดโกรธง่าย เหตุนั้น ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่เจ็บไม่ป่วยแล้ว อย่าจำวัดกลางวัน

๓.ภสฺสารามตา มัวพูดคุย หมายความว่า เลิกจากชั่วโมงปฏิบัติแล้วก็คุยกัน ภาคค่ำก็คุยกันจนถึงเวลาทำวัตร ทำวัตรเสร็จก็คุยกันอีก กว่าจะลุกไปปฏิบัติ ก็เกินเวลาไปหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมงๆ

พักการปฏิบัติ ก็เดินแวะเข้าไปหากัน เดินเข้าไปคุยกัน การพูดคุยบางทีก็เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติ บางทีก็คุยไปออกนอกเรื่องของพระ นอกเรื่องของการปฏิบัติ หรือคุยเรื่องของชาวบ้าน ผลสุดท้ายการปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล หากว่าเราไม่ได้กำหนด สติของเราก็ขาดไปสมาธิก็ไม่เกิดปัญญาก็ไม่เกิด

๔.สงฺคณิการามตา มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ การคลุกคลีด้วยหมู่คณะนี้ ก็เป็นอันตรายต่อการประพฤติปฏิบัติ

ดังนั้น การปฏิบัติอยู่ในวัดของเรา หลวงพ่อก็เห็นใจ นึกไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมหนอ เราจึงมาตั้งหลักลงในที่นี้ เพราะว่าในที่นี้ พระเณรอยู่กันเป็นจำนวนมาก เสียงก็ไม่ค่อยสงบ นอกจากจะไม่สงบภายในวัดแล้ว ภายนอกก็ไม่สงบเหมือนกัน เมื่อก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ค่อยยังชั่ว แต่เดี๋ยวนี้มีไฟฟ้าใช้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าเสียงอะไรต่อเสียงอะไร เสียงรถก็เกลื่อนกล่นไปหมด เป็นเหตุให้ไม่สบายใจ เห็นใจท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

แต่ก็มีวิธีที่จะเอาชนะได้ โดยพิจารณาว่าช่างมันเถอะ ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วก็มีภาระหน้าที่ของตน พระก็ทำหน้าที่ของพระ สามเณรก็ทำหน้าที่ของสามเณร นักศึกษาก็ทำหน้าที่ของนักศึกษา โยมชาวบ้านก็ทำหน้าที่ของโยมชาวบ้าน มีเสียงอะไรเกิดขึ้นมา เราเอาเสียงนั้นแหละมากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ร่ำไป จนกว่าจะสามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้

ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เสียงนี้ก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐานเหมือนกัน ผู้ที่กำหนดเสียงอย่างเดียว ก็สามารถบรรลุสมาธิ สมาบัติ อริยมรรค อริยผลได้ ถ้าปฏิบัติให้ถูกแล้ว การกำหนดเสียงนี้ได้สมาธิเร็วที่สุด คือเวลากำหนดภาวนา หากว่ามีเสียงบรรยายธรรมะควบคู่ไปด้วย หรือเปิดเทปธรรมะเบาๆ แล้วก็นั่งสมาธิ กำหนดไปๆ ในที่สุดก็สามารถเข้าสมาธิได้ เหมือนกับแม่ หรือพี่เลี้ยง หรือพ่อที่กล่อมลูกของตน กล่อมไปกล่อมมาเด็กก็หลับ ฉันใด

เมื่อเรากำหนดเสียงไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็เข้าสมาธิได้ นี้เรารู้จักใช้ให้เป็น ก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ให้เป็น มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีอะไรเกิดขึ้นก็มีความรำคาญในจิตในใจ มีแต่อยากไปอยู่ภูเขาลำเนาไพร อะไรทำนองนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

๕.อคุตฺตทฺวารตา ไม่สำรวมทวาร ๖ คือไม่สำรวมตา ไม่สำรวมหู ไม่สำรวมจมูก ไม่สำรวมลิ้น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมใจ ปล่อยให้ความโลภ โกรธ หลง ราคะ ตัณหา อุปาทานเกิดขึ้น ในเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็ทำให้เกิดความโลภ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เกิดโมหะ เป็นต้น ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ดี ก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ ไม่พอใจ มีความคับแค้นใจ แห้งผากใจ เป็นต้น

เหตุนั้น การสำรวมทวารคืออินทรีย์ทั้ง ๖ นี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ที่ปฏิบัติกัมมัฏฐาน โดยเฉพาะผู้เจริญสมถกัมมัฏฐาน ไม่สามารถจะได้สมาบัติ ไม่สามารถจะเข้าฌานได้ ตัวการสำคัญคือขาดการสำรวมระวังในทวารทั้ง ๖ นี้ ปล่อยให้เกิดความยินดียินร้ายอยู่ตลอด ในขณะที่กระทบอารมณ์ เช่น เวลาได้ยินเสียงอย่างนี้

จิตของเราก็ออกไปแล้ว เวลาตาเห็นรูปก็เหมือนกัน จิตก็ออกไปหารูปแล้ว เวลาได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ได้ธรรมารมณ์ ก็จะออกไปหาอารมณ์เหล่านั้น วิ่งไปหาอารมณ์นั้นบ้าง วิ่งไปหาอารมณ์นี้บ้าง ไม่มีเวลาอยู่ปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถให้สมาธิเกิดขึ้นได้

หรือผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อสมาธิไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เจริญขึ้นได้ ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป การเจริญวิปัสสนาก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นก็ขอให้สำรวมระวังให้ดี เวลากระทบอารมณ์ให้ตั้งสติไว้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ให้กำหนดให้ดี

เมื่อเรากำหนดนั้น จิตก็วิ่งออกไปไม่ได้ ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ สมาธิก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิด เมื่อปัญญาเกิดแล้ว วิปัสสนาก็จะเกิดตามมา เมื่อวิปัสสนาเกิดถึงที่แล้ว เราก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลสมกับความตั้งใจ

๖.อโภชเนมตฺตญฺญุตา ไม่รู้จักประมาณในอาหาร อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเป็นอาหารที่แสลงต่อโรคภัยไข้เจ็บแล้ว การประพฤติปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลเลย

ทีนี้อาหารบางอย่างไม่แสลงต่อโรค แต่เป็นอาหารที่มีรสจัดเกินไป เช่น เปรี้ยวเกินไป เค็มเกินไป เป็นต้น ก็ทำให้จิตใจไม่สงบ อาหารบางอย่าง เช่น พวกนมเนย กระเทียม ของหวานต่างๆ อย่างนี้ก็ทำให้เกิดราคะ เมื่อเกิดราคะ เวลาปฏิบัติก็ใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ผ่านมา หรือใฝ่หาแต่อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ

อาหารบางชนิดบริโภคเข้าไปแล้ว ก็เกิดถีนมิทธะ เกิดโมหะ คือเกิดความง่วงเหงาหาวนอน โดยเฉพาะพวกของหวาน กะทิข้นๆ พวกของหวานปรุงด้วยนมเนย ก็เป็นเหตุให้ความง่วงเกิดได้เหมือนกัน จึงขอให้สำรวมระวังเรื่องอาหารนี้ อะไรบริโภคเข้าไปแล้วทำให้จิตใจ ทำให้ร่างกายสบาย อาหารประเภทใดทำให้ร่างกาย ทำให้จิตใจไม่สบาย ก็ขอให้ใคร่ครวญพิจารณา

อาหารประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติ ก็ขอให้บริโภคไป อาหารประเภทไหนไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติ ก็งดเสีย อย่างที่ฉันนมฉันโอวัลตินตอนค่ำนี้ หลวงพ่อไม่ส่งเสริม เพราะเป็นบ่อเกิดของราคะ ก็พวกนม โอวัลติน ไมโล ไข่ดาว อะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เสียศีลได้เหมือนกัน

เมื่อก่อนนั้นอยู่ที่นี้ หลวงพ่อห้ามฉันเด็ดขาดตั้งแต่เวลาเที่ยงแล้วไป เพราะเห็นว่าพระเณรเสียศีลเพราะพวกนี้มามากต่อมาก และบางแห่งที่เขาเคร่งครัดเขาก็ไม่ฉันประเภทนี้ ต่อมาไม่รู้ว่าลูกศิษย์ลูกหามาจากไหน จากทิศใต้ ทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันตก มากๆ เข้าก็มีพระหลวงปู่ หลวงตาผู้เฒ่า ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แก่แล้วจะไปห้ามเด็ดขาดก็ไม่ได้ เลยอนุญาตเฉพาะพระหลวงตาหลวงปู่ ร่างกายมันต้องการสิ่งเหล่านี้ ไม่รู้จะหาอะไรมาเยียวยา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา

เมื่ออนุญาตให้หลวงปู่ หลวงตา ผลสุดท้ายพระเล็กเณรน้อยก็เอากันไป หลวงพ่อก็ได้แต่ปลง ช่างหัวมันเถอะ ใครอยากตกนรกก็ตกไป ถ้าบริโภคเข้าไปแล้วกำหนดไม่อยู่ บังคับไม่อยู่ ก็ปล่อยให้ไปนรกกัน ดีเหมือนกัน ยมบาลจะได้มีงานทำ ปลงธรรมสังเวชเอา ปล่อยเลยตามเลย ไม่ว่ากระไร จนถึงทุกวันนี้

เหตุนั้นท่านทั้งหลาย ก็ขอให้เป็นเรื่องส่วนตัวของใครของมันก็แล้วกัน เห็นว่าบริโภคเข้าไปแล้วเป็นการสนับสนุนส่งเสริมกามราคะ ก็งดเสีย เห็นว่าร่างกายมันจะสะบักสะบอมเหลือเกิน เพราะได้รับความลำบากจากการเจริญกัมมัฏฐาน มันอ่อนปวกเปียก อ่อนเพลียเหลือเกิน จะดื่มจะฉัน ก็ให้พิจารณาอยู่ในดุลยพินิจของท่านทั้งหลายเอง ให้ถือภาษิตที่ว่า นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ใคร่ครวญแล้วจึงบริโภค จึงฉันดีกว่า

๗.จิตฺตํ วิมุตฺตํ น ปจฺจเวกฺขติ ไม่พิจารณาจิต คือไม่ติดตามความเคลื่อนไหวของจิต ว่าขณะนี้จิตของเราเป็นอย่างไร จิตมีโลภะไหม มีโทสะไหม มีโมหะไหม มีราคะตัณหา อุปาทานไหม เราก็ไม่รู้ จิตของเราเป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล เราก็ไม่รู้ ไม่ได้พิจารณาติดตามดู

มิใช่ว่าเราจะกำหนดภาวนาเอาอย่างเดียว เราต้องรู้ด้วยว่า ในขณะนั้นๆ จิตใจของเราเป็นอย่างไร มีกิเลสหรืออกุศลเกิดร่วมด้วยไหม หรือมีแต่บุญแต่กุศล หากเราไม่พิจารณาจิต ไม่ติดตามความเคลื่อนไหวของจิต ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

๘.มิจฺฉาทิฏฺฐิ ความเห็นผิด ความเห็นนี้สำคัญ ถ้าเราเห็นผิดแล้ว การประพฤติปฏิบัติทุกอย่างก็พลอยผิดไปด้วย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปลาส เช่น จิตตวิปลาส คิดผิด สัญญาวิปลาส สำคัญผิด ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิด

เห็นผิดว่า รูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะคือเป็นของสวยของงามเป็นต้น ตลอดถึงมีความเห็นผิดว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี มรรคผล พระนิพพานไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี

เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว ก็เป็นอันว่าปิดกั้นทุกอย่าง การทำความดีทุกอย่างไม่อาจที่จะสำเร็จผลได้ตามต้องการ เพราะการงานทุกสิ่งทั้งทางโลกและทางธรรม ความเห็นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเห็นถูกก็เป็นเหตุให้ทำถูก พูดถูก คิดถูก ถ้าเห็นผิดก็เป็นเหตุให้ทำผิด พูดผิด คิดผิด ผลที่เกิดก็เป็นไปตามความคิด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว สงสัยก็ให้ถามอาจารย์ผู้สอบอารมณ์ หรือครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้ชิด

๙.อนนฺตริยกมฺมํ[2] อนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่สุด มีอยู่ ๕ ประการคือ

๑) มาตุฆาต ฆ่ามารดา

๒) ปิตุฆาต ฆ่าบิดา

๓) อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์

๔) โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป

๕) สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกกัน

ผู้ที่ทำอนันตริยกรรมแล้ว แม้ว่าเมื่อก่อนจะทำบุญทำกุศล เจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ได้สมาบัติ ๘ ได้อภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ตาม ถ้าว่ามาทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นอันหมดเลย ฌานก็เสื่อม อภิญญาก็เสื่อม และอนันตริยกรรม ๕ นี้ ก็เริ่มให้ผลตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไป

สมมติว่า เมื่อก่อนนี้เราเข้าสมาธิได้ แต่ได้ไปทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ก็เข้าสมาธิไม่ได้เลย เมื่อก่อนเรามีอภิญญาจิต พอไปทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า อภิญญาจิตก็ไม่เกิด เพราะอนันตริยกรรมต้องให้ผลก่อน เมื่ออนันตริยกรรมให้ผลแล้ว กรรมอื่นจึงจะให้ผล

ถ้าหากว่าทำยังไม่ถึงอนันตริยกรรม เช่นว่า พ่อแม่ของเรานี้ เราไม่ได้ฆ่าท่าน แต่ทำให้ท่านเจ็บใจ บางทีถึงหลั่งน้ำตาก็มี หากว่าเป็นเช่นนี้ เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่สามารถผ่านการปฏิบัติได้เลย ในขณะที่จิตของเราจะสงบหรือกำลังจะเข้าสู่มรรควิถีอยู่นั้น กรรมประเภทนี้ก็จะเกิดขึ้นมากั้นกระแสจิตทันที จิตก็จะพรากจากสมาธิ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

เราจะทำอย่างไรจึงจะให้กรรมนั้นหายไป หากว่าพ่อแม่ยังอยู่ เราก็ขอขมาโทษท่าน หากว่าอยู่ต่างสถานที่กันไกลกัน ในพรรษาด้วย เราก็เขียนหนังสือไปขอโทษ ขอขมาท่านอย่างนี้ก็ได้ เพียงแค่ท่านรับทราบเท่านั้น กรรมนั้นก็หายไป แต่ถ้าท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว เราก็ต้องไปขอขมาที่หลุมฝังศพ ที่อัฐิของท่าน

ถ้าหลุมฝังศพหรืออัฐิไม่มี หรือว่าไม่รู้อยู่ไหน หาไม่เจอเสียแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็นิมนต์พระสงฆ์สัก ๔ รูป ๕ รูป ให้เป็นสักขีพยานแล้วขอขมาโทษท่าน ต่อหน้าพระประธาน ต่อหน้าคณะสงฆ์ หมายความว่า ขอขมาโทษลับหลังท่าน เมื่อทำดังนี้แล้วก็สามารถปฏิบัติผ่านพ้นไปได้

แต่ถ้าปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน ยิ่งละเอียดกว่านี้ เป็นแต่เพียงว่าเราไม่ได้ตั้งอกตั้งใจทำให้ท่านเจ็บใจ หรือไม่สบายใจ แต่คำพูดนั้นไปทำให้ท่านเจ็บใจไม่สบายใจเข้า หรือทำให้ท่านไม่พอใจ เช่น คำพูดกระแนะกระแหน เวลามาเจริญสมถกัมมัฏฐาน เช่น เราเพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่อาจที่จะเกิดอุคคหนิมิตได้เลย

บางทีเรานั่งอยู่กับพ่อหรือแม่ของเรา พูดไปพูดมาพูดทีเล่นทีจริง หรือพูดหยอกล้อ ไม่ได้ตั้งใจจะให้ท่านเจ็บใจหรือไม่พอใจ แต่คำพูดไปกระทบกระเทือนจิตใจท่าน ทำให้ท่านไม่พอใจ หรือไม่สบายใจขึ้นมา เวลาเราไปเจริญสมถกัมมัฏฐาน ไม่สามารถจะได้อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตเลย หรือเราจะทำกับครูบาอาจารย์ก็เป็นทำนองเดียวกัน

๑๐.วิปาโก คำว่า วิบาก หมายถึง ผลของกรรม หมายความว่า การเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ เราตั้งใจจะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา แต่ยิ่งปฏิบัติไปเท่าไรๆ ความโลภก็ยิ่งเกิดขึ้น ความโกรธยิ่งเกิดขึ้น ความหลงก็ยิ่งเกิดขึ้นมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติจะไม่ได้ผลเลย เหตุนั้น เมื่อผลของกรรมคือความโลภ โกรธ หลง ปรากฏเกิดขึ้นอย่างนี้ ก็ขอให้รีบกำหนดให้ทันปัจจุบันในทันที แล้วมันจะได้สงบระงับไป การปฏิบัติของเราจะได้ผลเร็วขึ้น

๑๑.อริยุปวาโท[3] กล่าวร้ายพระอริยเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า หมายความว่า เราไปด่าหรือใส่ร้ายพระอริยเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้าเข้า

ใครเป็นผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า ก็พวกเราทั้งหลายนี้แหละ ทั้งพระสงฆ์ ทั้งสามเณร ปะขาว แม่ชี เรียกว่า ประพฤติปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า คือประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะออกจากกองทุกข์กองกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเราไปกล่าวร้ายใส่ร้ายท่าน ด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี ด้วยผรุสวาจาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำให้ไม่สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้เลย

ดังตัวอย่างครั้งพุทธกาล มีพระหลวงตา กับ พระหนุ่ม อยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน วันหนึ่ง ไปบิณฑบาตร่วมกัน พระหลวงตาปวดท้องอยู่ เมื่อโยมเอาข้าวยาคูกำลังร้อนๆ มาใส่บาตร เมื่อโยมไปแล้ว หลวงตาคิดว่า ขณะนี้เรากำลังปวดท้องอยู่พอดี ถ้าเราฉันข้าวยาคูกำลังร้อนๆ นี้ คงจะทำให้อาการปวดท้องหายไป เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว ก็มองซ้ายแลขวา หาที่นั่ง เห็นขอนไม้อันหนึ่งแล้วก็ไปนั่ง ล้วงเอาถ้วยข้าวยาคูในบาตรมาซดเอาๆ

พระหนุ่มที่เดินตามหลังมา ก็เกิดความละอาย เพราะเป็นคนหนุ่ม มีความละอายเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว พอเดินไปถึงก็ตวาดว่า หลวงตา ทำไม่ถึงตะกละอย่างนี้ กลับถึงวัดเสียก่อนจึงค่อยฉันไม่ได้หรือ ว่าเอาๆ พระหลวงตาท่านก็เฉยไม่ว่าไร ฉันของท่านไป

พอกลับถึงวัดพระหลวงตาก็ถามว่า คุณ ที่คุณปฏิบัติกัมมัฏฐานมา คุณได้มรรคผลชั้นไหน ผมได้โสดาบันขอรับ เออ ถ้าอย่างนั้นคุณไม่ต้องปฏิบัติต่อไปอีกดอก พระหนุ่มได้ฟังก็ได้สติขึ้น พูดว่า หลวงตาโกรธผมหรือ ท่านก็พูดว่า ผมไม่โกรธหรอก คือหลวงตาท่านนั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

เมื่อภิกษุหนุ่มนั้นไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ปฏิบัติอย่างไร ก็ไม่สามารถยังสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นได้ ผลสุดท้ายต้องขอขมาโทษหลวงตา หลังจากนั้นจึงสามารถปฏิบัติให้ผ่านพ้นไปได้ นี่แหละ อริยุปวาท ก็เป็นเครื่องขัดขวางการปฏิบัติไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน

๑๒.ปรารถนาพุทธภูมิ หมายความว่า ผู้ใดปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สภาวธรรมจะเกิดขึ้นตามลำดับ จนถึงสังขารุเปกขาญาณ คือญาณที่ ๑๑ ก็หมดแล้ว

จะปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ ต้องเกิดอีกหลายกัปหลายกัลป์ จนกว่าจะได้บำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมแล้วนั้นแหละ จึงจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าครั้งเดียว ไม่สามารถบรรลุโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ไม่สามารถบรรลุอรหันต์สาวก เพราะว่าได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว

แต่ว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้ก็แก้ได้เหมือนกัน หากเราคิดว่าเกิดมาภพนี้ชาตินี้ การบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานก็ลำบากลำบนถึงขนาดนี้ เพียงชาติเดียวเราก็เห็นแล้วว่าเป็นทุกข์เหลือทนแล้ว หากว่าเราจะเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร กว่าจะบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยม ไม่รู้ว่าจะได้รับทุกข์แสนสาหัสขนาดไหน

เรานึกถึงความทุกข์ที่จะมีแก่เรา ในการที่จะบำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีนี้ เห็นว่าลำบากเหลือเกิน เราก็แก้คำอธิษฐานใหม่โดยที่เราเข้าไปในโบสถ์กราบพระประธาน ตั้ง สัคเค แล้วอธิษฐานใหม่ว่า

แต่ก่อนโน้น ข้าพเจ้าได้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้ตั้งจิตปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า แต่บัดนี้ ไม่สามารถที่จะบำเพ็ญบารมี เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ข้าพเจ้าจึงขอเปลี่ยนคำอธิษฐาน

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอเลิกความปรารถนาพุทธภูมิ ขอให้ข้าพเจ้าปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล จนถึงเป็นพระอรหันตสาวกก็พอ ขอทวยเทพนิกรเจ้าเป็นสักขีพยานด้วย

เมื่อเราเปลี่ยนคำอธิษฐานในจิตในใจอย่างนี้แล้ว ก็สามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ ทั้งนี้หมายถึงผู้ที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงพยากรณ์ไว้ คือยังไม่ได้รับคำพยากรณ์ จากสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมา เราแก้ได้

แต่ถ้าได้รับพุทธพยากรณ์มาแล้ว ไม่สามารถที่จะแก้ได้ เพราะวาจาของพระพุทธเจ้าเป็นวาจาสิทธิ์ ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนคำที่พระองค์ตรัสไว้แล้วได้ แต่เราก็มองดูง่ายว่า ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้ว หรือยังไม่ได้รับคำพยากรณ์ เราดูที่จิตใจ

ถ้าจิตใจยังคลอนแคลนอยู่ ยังไม่มั่นคง ก็แสดงว่ายังไม่ได้รับคำพยากรณ์ แต่ถ้าจิตใจไม่คลอนแคลน มั่นคง มีทิฏฐิมานะกล้า จนไม่ยอมฟังเทศน์ฟังธรรมจากผู้อื่น ถือว่า การปรารถนาพุทธภูมินี้สูงกว่าพระธรรมดา เพราะว่าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ถือว่ามีธรรมสูงกว่าพระเณรธรรมดา และก็มีจิตใจที่ไม่คิดจะเปลี่ยนคำอธิษฐานเลย แสดงว่าได้รับคำพยากรณ์มาแล้ว เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพึงสังเกตเอา

ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เท่าที่ได้บรรยายธรรมะ ในเรื่อง อันตรายของวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๑๒ ประการ มานี้ ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


------------------------------------------
[1] (สุตฺต องฺ. ปญฺจกนิปาตา ๒๒/๑๘๙-๑๕๐/๑๙๓-๔)

[2] (สุตฺต องฺ. ปญฺจกนิปาตา ๒๒/๓๖๔/๔๘๙)

[3] (วิสุทธิมคฺค ทุติโย ภาโค หน้า ๒๗๔)

พระราชปริยัตยากร
630  สุขใจในธรรม / ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม / ขอเชิญร่วมงานปริวาสกรรม ปฏิบัติธรรม ณ วัดพิชโสภาราม อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 13 พฤศจิกายน 2560 10:21:33

631  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 13 พฤศจิกายน 2560 10:12:10


อุปกิเลส ๑๑ ประการ

สำหรับวันนี้ จะได้น้อมนำมาเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง อุปกิเลส ๑๑ ประการ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านนักปฏิบัติธรรมสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ท่านทั้งหลายก็ทราบดีแล้วว่า เป็นมรรคาดำเนินไปสู่อริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไป จนถึงชั้นได้เป็นพระอรหันต์

แต่การดำเนินตามปฏิปทา เพื่อบรรลุสามัญผลนั้น ย่อมมีอุปสรรคขัดขวางเป็นของธรรมดา การงานทุกอย่าง จะเป็นการงานทางโลกก็ตาม จะเป็นการงานทางธรรมก็ตาม ก็ย่อมมีอุปสรรค การศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม จะเป็นนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอกก็ดี ธรรมศึกษาตรี โท เอกก็ดี หรือจะเป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ก็ดี ต้องมีอุปสรรคกีดกันขัดขวางทั้งนั้น

หากว่าคนเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วไม่มีอุปสรรคขัดขวาง ป่านนี้โลกทั้งโลกคงมีแต่ความร่มเย็น ไม่มีสิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้นมาแทรกแซง ทุกคนคงจะมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาสำหรับบำบัดโรค

หากว่าทุกคนทำงานสำเร็จตามความประสงค์ ตามความตั้งใจทุกประการแล้ว โลกทั้งโลกคงเป็นแดนเทวโลกไป แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามต้องการของคนเรานั้น เพราะว่าการงานทุกอย่าง ทั้งทางโลกและทางธรรม มีอุปสรรคมากั้นกางขัดขวาง จึงไม่ได้ผลเต็มที่

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน ตามปกติถ้าหากว่าผู้ไม่มีอุปสรรคขัดขวางในการปฏิบัติ เราปฏิบัติมาเดือนหนึ่งนั้น สามารถที่จะบรรลุเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามีได้ เพราะว่ากฎเกณฑ์การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าว่าทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมมูล และไม่มีอุปสรรคขัดขวางแล้ว ผู้เจริญตอนเช้าย่อมได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตอนเย็น ผู้เจริญตอนเย็นย่อมได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตอนเช้า

หรือบางครั้ง ก็ผ่านไปวันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง ก็สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หรืออย่างมากที่สุด การได้บรรลุเป็นพระโสดาบันนี้ หากไม่มีอุปสรรคใดๆ ขัดขวาง ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือน

แต่ที่ไม่อาจเป็นไปตามที่กล่าวมานี้ได้ ก็เพราะว่ามีอุปสรรคเข้ามาขัดขวาง อุปสรรคนั้นมีมากมายหลายประการ แต่จะได้นำมาบรรยายวันนี้ เพียง ๑๑ ประการ[1] คือ

๑.วิจิกิจฉา ความสงสัย ความสงสัยนี้ เราแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ

ความสงสัยอย่างต่ำ ได้แก่ สงสัยในเรื่องบาปมีจริงไหม บุญมีจริงไหม เปรตมีจริงไหม อสุรกายมีจริงไหม นรกสวรรค์ พระนิพพานมีจริงไหม นี้เป็นความสงสัยขั้นพื้นฐาน

ความสงสัยอย่างกลาง ได้แก่ การสงสัยซึ่งเกิดขึ้นจากการเจริญสมถภาวนา สภาวธรรมใดๆ เกิดขึ้น มีความสงสัยเอะใจว่า นี้หรือท่านว่า เป็นฌาน เป็นสมาบัติ นี้เป็นปฐมฌานหรือทุติยฌาน ตติยฌานหรือจตุตถฌานหนอ หรือว่าอันนี้เป็นอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หรืออย่างไรเป็นต้น จัดเป็นวิจิกิจฉาอย่างกลาง

ความสงสัยอย่างละเอียด เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา คือเมื่อเจริญพระกัมมัฏฐานไป จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ตาม เป็นนิมิตเห็นป่าไม้ ภูเขา ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ก็ตาม เกิดปีติ เกิดโอภาสแสงสว่าง เกิดศรัทธา เกิดความเพียร เกิดอุปกิเลสอะไรก็ตาม มีความสงสัยเอะใจขึ้นมาว่า เอ๊ะ นี่อะไรหนอ เพียงแต่เอะใจเท่านั้น ยังไม่ได้คิดอะไรเลย จัดเป็นวิจิกิจฉาแล้ว วิจิกิจฉาเกิดขึ้นมาแล้ว

หมายความว่า สิ่งไรที่เกิดขึ้นมาทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี สภาวะที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว เกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า อันนี้อะไรหนอ เพียงแต่ว่า เอ๊ะ เท่านั้น ยังไม่ว่าอะไรหนอ เป็นวิจิกิจฉาแล้ว

วิจิกิจฉานี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราลังเล ถ้าเป็นไปอย่างสูง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วทำให้จิตของเราพรากจากสมาธิ ตกจากสมาธิ เมื่อจิตของเราตกจากสมาธิ วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

เหตุนั้น ครูบาอาจารย์จึงแนะนำพร่ำเตือนอยู่เสมอว่า มีอะไรเกิดขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ตาม ขออย่าได้มองเฉยอยู่ ให้กำหนดตามอาการของมัน เช่น เจ็บหนอ คันหนอ ปวดหนอ หรือเฉยหนอ อะไรทำนองนี้

ให้กำหนดตามอาการของมัน อย่าไปมองเฉยอยู่ ไม่รู้จักชื่อหรือไม่รู้จะกำหนดว่าอย่างไร ก็ให้กำหนดว่า รู้หนอๆ เรียกว่ารู้อาการของมัน อย่าปล่อยให้เอะใจ เมื่อเอะใจก็ขาดการกำหนด ทำให้เป็นตัวโมหะ ทำให้กั้นกางสภาวธรรมของเราไม่ให้เจริญขึ้นได้ ขอให้สังวรระวังให้ดี

๒.อมนสิการะ เมื่อปฏิบัติไป ทำใจไม่ดี ปกครองใจไว้ไม่ตรง จิตฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็คิดเรื่องโน้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ ไม่ได้ประคับประคองจิต ไม่ได้เชิดชูจิต ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ขาดโยนิโสมนสิการ ไม่ได้เอา สติ หยั่งลงไปถึงที่เกิดที่ดับของรูป ของนาม ของอาการพองอาการยุบ

หรือในเวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน ไม่ได้เอาจิต ไม่ได้เอาสติปักลงไปในขณะเดิน ตั้งแต่ เริ่มยก กลางยก สุดยก เราไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่ได้ตริตรอง ไม่ได้เอาจิต เอาสติหยั่งให้ถึงที่เกิดที่ดับ เราจะ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม เป็นต้น ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ

เมื่อเราไม่ประคองใจ ปล่อยใจไปตามธรรมชาติอย่างนี้ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ในเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ อยู่ก็ตาม ต้องตั้งสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา

๓.ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน เกิดขึ้นครอบงำจิต ทำให้การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่ได้ดี ไม่กระฉับกระเฉง จิตจับอารมณ์ไม่ได้มั่นคง จิตไม่สามารถตัดสินอารมณ์ได้ เช่น เวลานั่งไป สัปหงกไปข้างหน้าข้างหลัง หรือข้างซ้าย ข้างขวา หรือหลับไป

หรือบังเอิญเข้าสมาธิไป ก็ไม่สามารถที่จะจำได้ว่า สัปหงกหรือผงะไป หรือนั่งหลับไป ตอนท้องพองหรือท้องยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก หรือตอนที่ภาวนาว่าอย่างไร ก็ไม่รู้ จำไม่ได้ หรือว่าตอนเข้าสมาธินั้น เข้าไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ หรือกำหนดบทพระกัมมัฏฐานว่าอย่างไรก็จำไม่ได้ ไม่สามารถตัดสินใจได้ ไม่สามารถที่จะจับปัจจุบันธรรมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ผล

๔.ฉัมภิตัตตะ จิตเกิดความสะดุ้ง หมายความว่าในขณะที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น บางครั้งจิตของเรากำลังจะสงบเป็นสมาธิ ก็ปรากฏนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น เห็นสัตว์ร้ายที่น่ากลัว มีตะขาบบ้าง งูบ้าง แมงป่องบ้าง เห็นยักษ์ เห็นภูตผีปีศาจพวกนี้ เป็นต้น จิตก็เกิดความสะดุ้งเกิดความกลัวขึ้นมา บางทีกลัวจะเป็นอันตราย กลัวจะเป็นบ้าเสียสติอะไรทำนองนี้

เมื่อจิตเกิดความกลัวเกิดความสะดุ้งเช่นนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล เพราะผู้ปฏิบัติไม่กล้าตัดสินใจ หรือ บางครั้ง จิตก็เกิดความกลัวขึ้นมาว่า ถ้าเราทำกัมมัฏฐานไป ได้ฌาน ได้สมาบัติ เราจะไม่ได้สิกขาลาเพศไปอยู่กับลูกกับผัว ไปอยู่กับลูกกับเมียอีก นี้ก็คิดขึ้นมา

หรือบางทีก็คิดว่า ถ้าเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปอย่างนี้ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เราคงไม่ได้ลูกได้เมียกับเขา เราคงไม่ได้ลูกได้ผัวกับเขา เพราะหลวงพ่อท่านว่า ถ้าใครบรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว สามารถตัดความโกรธ ตัดกามราคะ ให้หมดไปจากขันธสันดาน ไม่มีการสร้างครอบครัวอีกต่อไป เรานี้เกิดขึ้นมาแล้ว ยังไม่ได้ลิ้มรสทางโลกกับเขาเลยว่าเป็นอย่างไร อย่ากระนั้นเลย เราหยุดเพียงแค่นี้ก็พอแล้ว

เหมือนกันกับหลวงตารูปหนึ่ง ที่มาจากอำนาจเจริญ มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ได้สมาธิ นั่งสมาธิได้นานตั้ง ๖ ชั่วโมง หลังๆ มาแล้วไม่ยอมเดินจงกรม ไม่ยอมนั่งสมาธิเลิกปฏิบัติทั้งๆ ที่ครั้งแรกนั้น ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ พอไปถามว่า ท่านหลวงตา ทำไมไม่เดินจงกรม ทำไมตอนนี้ถึงไม่ปฏิบัติ ท่านก็บอกว่า ผมคิดว่าถ้าผมได้สมาธิอย่างนี้ๆ สมาธิผมดีขึ้นเรื่อยๆ แก่กล้าขึ้นไป ผมคงจะไม่ได้สึก ผมกลัวจะไม่ได้ไปหาลูกหาเมียที่อยู่ทางบ้าน พอพูดเท่านั้นแหละ เพื่อนๆ ก็หัวเราะขึ้นมา เป็นอย่างนี้ กิเลสสามารถที่จะทำให้จิตใจของเราเปลี่ยนแปลงไปได้

๕.อุพพิละ ความตื่นเต้น หมายความว่า แต่ก่อนเรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรมดา เมื่อเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สิ่งอันใดที่ยังไม่เคยรู้ก็รู้ ยังไม่เคยเห็นก็เห็น ยังไม่เคยเป็นก็เป็นขึ้นมา สิ่งอะไรลึกลับ เมื่อก่อนเราไม่ได้คิดถึงเรื่องอย่างนี้เลย ก็ปรากฏขึ้นมา

บางครั้งก็เห็นแสงสว่าง เห็นดวงแก้ว เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ บางครั้งนั่งไป ก็เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทพบุตรเทพธิดา บางทีก็เห็นเปรต เห็นอสุรกาย บางครั้งนั่งไป เห็นคนที่ตายไปแล้ว บางครั้งนั่งไปเห็นพ่อเห็นแม่ เห็นครูบาอาจารย์ บางครั้งนั่งไป เห็นพระอรหันต์ เห็นพระพุทธเจ้า ก็เกิดความตื่นเต้นขึ้นมาว่า เราเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเกิดความตื่นเต้น จิตก็ตกจากสมาธิ วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

๖.ทุฏฐุลละ ความที่จิตหยาบ หมายความว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ตามปกติแล้ว ยิ่งปฏิบัติไปเท่าไร จิตก็ยิ่งประณีตขึ้นไปตามลำดับๆ เพราะกิเลสตัณหามันลดลงไป จิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ

ในทางตรงกันข้าม แทนที่กิเลสหยาบเหล่านี้จะลดลงไป เบาบางลงไป หรือสงบระงับลงไปจากขันธสันดาน ยิ่งปฏิบัติไปก็ยิ่งหยาบขึ้นมา ความโลภก็เกิดขึ้นเป็นหลายเท่าตัว ความโกรธก็ทวีขึ้น ความหลงก็เพิ่มขึ้น

พวกราคะ แทนที่จะเบาบางลง ยิ่งกลับเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนไม่เคยเป็นอย่างนี้ แต่เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เราคิดดูแล้ว พวกราคะนี้ยิ่งรุนแรง เกิดขึ้นเป็น ๓๐ เท่า ๔๐–๕๐ เท่า บางทีเกิดราคะความกำหนัดอยู่ตั้ง ๓ วันก็มี ๕ วันก็มี ๗ วันก็มี

บางทีก็ทำให้เพลิดเพลินใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ บางทีก็ทำให้เพลิดเพลินในนิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น บางครั้งก็ให้ชอบใจพอใจในอารมณ์ต่างๆ นี่แหละ เมื่อเกิด ทุฏฐุลละ ความที่จิตหยาบขึ้นมา ยิ่งปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปเท่าไร โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทานก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล

๗.อัจจารัทธวิริยะ ทำความเพียรเกินพอดี อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน ความเพียรนี้เป็นของดี แต่หากว่ามันเกินพอดี ก็ใช้ไม่ได้ เพราะทำให้เกิดความตึงเครียด ทำให้เป็นบ้าเสียสติได้

เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ว่า ความเพียรเกินพอดี คือเวลาเดินจงกรมอยู่ก็ดี เวลานั่งสมาธิอยู่ก็ดี จะคิดมาก ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง บางที ๑๐ นาที คิดสร้างหนังสือ แต่งหนังสือจบไปเป็นเล่มๆ หรือบางทีคิดอยากสร้างถาวรวัตถุคิดสร้างกุฏิวิหาร ๑๐ นาที เสร็จไปหลายๆ หลัง สามารถที่จะเนรมิตกุฏิวิหารวัดวาอาราม อะไรร้อยแปดพันประการ สร้างวิมานในอากาศ สร้างสมบัติบ้าขึ้นมา

ถ้าจิตของเราอยู่ในลักษณะดังนี้ แสดงว่าความเพียรเกินพอดีแล้ว เกิดความตึงเครียดขึ้นมาแล้ว คิดมากไปเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะควบคู่กันไป เพราะถ้าความเพียรมากเกินไป สติสัมปชัญญะหย่อน อาจจะทำให้เสียสติเป็นบ้าไปได้ เหตุนั้น เมื่อความเพียรเกิดขึ้น ท่านต้องเป็นผู้ฉลาด พยายามจำปัจจุบันธรรมให้ได้ จำอารมณ์ให้ได้

๘.อติลีนวิริยะ มีความเพียรหย่อนเทิบทาบ นอกจากจะมีความเพียรเกินพอดีแล้ว หากว่าความเพียรของเราหย่อนจนเกินไป การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน

อย่างไรเรียกว่าความเพียรหย่อนเทิบทาบ เช่นว่า วันหนึ่งนี้ ควรที่จะปฏิบัติได้ ๘ ชั่วโมง หรือ ๑๐ ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย แต่การปฏิบัติของเราย่อหย่อนกว่านั้น หรือบางทีนอกจากชั่วโมงปฏิบัติกัมมัฏฐานไปแล้ว เราไม่ได้ตั้งสติกำหนดอิริยาบถให้ติดต่อกันไป

เราจะไปห้องน้ำห้องสุขา หรือจะเดินไปฉันภัตตาหาร หรือจะปัดกวาดวิหาร ลานพระเจดีย์ กุฏิที่อยู่อาศัย นุ่งสบงทรงจีวร เหล่านี้เป็นต้น เราไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีก็คลุกคลีด้วยหมู่คณะ คุยกัน ลืมกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

๙.อภิชัปปา กิเลสกระซิบที่จิต ข้อนี้สำคัญ เวลามาปฏิบัติ ส่วนมาก หากว่าเรากำหนดไม่ทัน ก็ทำให้เสียผู้เสียคนไปได้ คือบางที เรานั่งพระกัมมัฏฐานไป มีเสียงมากระซิบว่า อย่านั่งๆ เรานอนกำหนดดีกว่า หรือว่าการกำหนดอย่างนี้ไม่ถูก กำหนดอย่างนั้นจึงจะถูก บางทีเวลาเดินจงกรมก็มีเสียงกระซิบว่า อย่าเดินๆ นั่งเอาดีกว่า

บางทีก็กระซิบว่า ขณะนี้เจ้าบรรลุโสดาปัตติผลญาณไปแล้วนะ ขณะนี้เจ้าบรรลุสกทาคามิผลญาณไปแล้วนะ ขณะนี้เจ้าบรรลุอนาคามิผลญาณไปแล้วนะ ขณะนี้เจ้าเป็นพระอรหันต์แล้วนะ เจ้าเป็นพระโพธิสัตว์นะ เจ้าเป็นพระอรหันต์ประเภทโพธิสัตว์นะ อะไรทำนองนี้

หรือบางทีก็กระซิบว่า เจ้านี้เมื่อก่อนทำบาปทำกรรมไว้มาก เอาเป็ดเอาไก่มาฆ่า หากว่าอยากได้ผลจากการปฏิบัตินี้ ต้องไปเอาเป็ดเอาไก่มาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ไปหาซื้อไก่ซื้อเป็ดมา หรือไปหาขอเอาไก่เอาเป็ดชาวบ้านมาฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย หรือกระซิบว่า แต่ก่อนนั้นเจ้าได้ฆ่าหมู หากว่าอยากได้ผลจากการปฏิบัติ ต้องเอาหมูมาฟังเทศน์ฟังธรรม ถึงเวลาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะจูงหมูมาฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย

ดังแม่ชีคนหนึ่ง ที่มาจากอำเภอตระการ บางทีก็เอาเป็ดเอาไก่มาฟังเทศน์ฟังธรรม บางทีก็เอาหมูมาฟังธรรม บางครั้งก็เอานกมาฟังธรรม อภิชัปปา นี้ หากว่าเราทำไปตามอำนาจของมัน ก็จะทำให้เสียผู้เสียคนได้

บางที เรานั่งขัดสมาธิดีๆ มันก็มากระซิบว่า นั่งอย่างนี้ไม่ดี ไปหาหมอนมาพิงจะดีกว่า เหมือนกันกับหลวงปู่เดชา ที่ท่านกลับไปวัดแล้ว เวลาปฏิบัติ อภิชัปปา มากที่สุด เดี๋ยวให้ทำไปอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ท่านหลวงปู่ก็ทำไปตามนั้น แล้วมาเล่าให้ฟัง ก็คิดว่า อย่างนี้ไม่ได้การแล้ว ปล่อยไว้นานจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ ก็เตือนไปว่าอย่าทำอะไรตามจิตสั่ง อย่าทำตามอำนาจของกิเลสกระซิบที่จิตเรา กำหนดไม่ทันจะทำให้เสียผู้เสียคน ให้ทำอัตวินิบาตกรรมฆ่าตัวตายก็ได้ ชี้แจงแสดงไขไปหลายสิ่งหลายประการ ท่านก็ตั้งอกตั้งใจกำหนด ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมาได้

อันนี้แหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติ พวกอภิชัปปานี้ เราพึงสังวรระวังให้มาก บางทีจะกระซิบว่า หยุดการปฏิบัติเสียเถิด ปฏิบัติในชาตินี้เพียงเท่านี้ก็พอ ขั้นสังขารุเปกขาญาณนี้พอแล้ว ไม่สามารถจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลหรอก เพราะว่าเราได้ปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนแล้ว เราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องออกไปบำเพ็ญบารมี ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนจึงจะได้ตรัสรู้ ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานชาตินี้พอแค่นี้ก่อน เพราะเต็มเปี่ยมแล้ว เราทำบุญทำทานอย่างอื่น บำเพ็ญบารมีอย่างอื่นไป อย่างนี้ก็มี

หรือบางทีก็กระซิบว่า ไม่สามารถที่จะทำไปได้หรอก เพราะยังขาดผู้บำเพ็ญบารมีร่วมกัน ถ้าอยากประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล ต้องกลับไปโปรดเขาเสียก่อน ก็ต้องสะพายบาตรแบกกลดไปเที่ยวโปรดเขา

บางทีกระซิบมาว่า ไม่ได้ๆ ต้องไปโปรดพ่อแม่เสียก่อน พ่อแม่นี้ได้ทำบุญร่วมกันมา ได้ปรารถนาร่วมกันมา ต้องไปโปรดพ่อแม่ก่อนจึงจะได้ผล เราก็ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง เป็นภาระต้องออกจากห้องปฏิบัติ ไปขอร้องพ่อแม่ให้มาประพฤติปฏิบัติ

เหตุนั้น ขอให้สังวรระวังให้ดี อย่าตกอยู่ใต้อำนาจของมัน และการกระซิบของ อภิชัปปา นี้ บางทีก็เป็นแบบฉุกคิดขึ้นมาเอง ไม่มีเสียง บางทีก็เป็นเหมือนมีผู้มาพูดอยู่ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายข้างขวาบ้าง ข้างหน้าบ้าง หรือเหมือนเทวดาเหาะมาพูดอยู่ข้างบนก็มี หรือมาพูดอยู่ใต้ที่นั่ง ใต้แคร่ใต้เตียงก็มี ได้ยินเสียงพูดมาจากนอกตัวเรา

แต่บางทีมันเกิดขึ้นอย่างแก่กล้า ก็จะมีเสียงดังขึ้นที่หัวใจของเราทีเดียว เกิดขึ้นที่ หทัยวัตถุ ของเรา เหมือนกันกับเราเอาวิทยุไปไว้ภายในอกของเรา ถ้าสภาวธรรมแก่กล้า สมาธิก็แก่กล้าแล้ว เพียงแค่คนอื่นคิดเท่านั้นก็มาดังอยู่ที่หัวใจของเราแล้ว บางทีก็เข้าใจผิดคิดว่าเราได้ ปรจิตตอภิญญาขึ้นมา อภิชัปปา นี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าทำตามอำนาจของอภิชัปปา ก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ได้บรรลุสามัญผลได้

๑๐.นานัตตสัญญา เมื่อปฏิบัติไป จิตมุ่งไม่แน่ คือมุ่งอารมณ์นั้นบ้าง อารมณ์นี้บ้าง หลายอย่าง สับสน จับอารมณ์ไม่มั่น เช่น กำหนดว่า พุทโธๆ อย่างนี้ก็คิดว่าใช้ไม่ได้ สู้พองหนอยุบหนอไม่ได้ ก็กำหนดพองหนอยุบหนอไป แล้วก็คิดอีกว่า พองหนอยุบหนอไม่ดี สู้กำหนดว่ารู้หนอๆ ไม่ได้ ก็กำหนดรู้หนอๆ ไป

กำหนดรู้หนอๆ ไป แล้วก็คิดจะกำหนดอย่างอื่นไปอีก บางทีก็กำหนดว่า สัมมาอะระหังๆ บางทีก็กำหนดว่า นะมะพะทะๆ เปลี่ยนไปเรื่อย เดี๋ยวก็ภาวนาบทนั้น เดี๋ยวก็ภาวนาบทนี้ บางทีก็คิดว่า การภาวนาการบริกรรมนี้ใช้ไม่ได้ เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ สู้มองดูความเคลื่อนไหวของรูปนามเฉยๆ ไม่ได้ การตั้งสติจับอยู่หรือดูอยู่ พิจารณาอยู่ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นปรมัตถ์แท้

ผลสุดท้ายก็นั่งอยู่เฉยๆ ทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้ภาวนา ไม่ได้กำหนดเลย เมื่อจิตจับอารมณ์ไม่มั่น สับสนอย่างนี้หรือปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจจิตอย่างนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

๑๑.อตินิชฌายิตัตตา เพ่งเกินไป เร่งเกินไป คือเวลาทำกัมมัฏฐาน ก็ตั้งไว้ในจิตในใจว่า นั่งคราวนี้ เราจะทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น นั่งคราวนี้ จะทำสมาธิ สมาบัติให้เกิดขึ้น เราจะให้ได้อย่างนี้ๆ ในชั่วโมงนี้แหละ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเพ่งเกินไป เร่งเกินไป เพ่งเกินควร

หากว่าการปฏิบัติของเราตึงเครียดเกินไป อย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพานอะไรได้ หนักๆ เข้าก็จะทำให้เสียผู้เสียคนได้

เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อุปกิเลส ๑๑ ประการ มาบรรยายแล้วนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


----------------------------------------------
[1] (สุตฺต. ม. อุปริปณฺณาสก ๑๔/๔๕๙-๔๖๓/๓๐๗)

พระราชปริยัตยากร
632  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 02 พฤศจิกายน 2560 11:25:26



สิ่งที่วิปัสสนาควรละ (โอฆะ ๔)

ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา คณะแม่ชีทั้งหลาย หลายวันที่ผ่าน ๆ มา ท่านทั้งหลายก็พอที่จะสังเกตได้ว่า ภาคบ่ายนี้ธรรมะเกี่ยวกับการปฏิบัติจะไม่เกิดอาการเครียด คือจะไม่มีอารมณ์เครียด

เพราะว่า ธรรมะที่นำมาบรรยายให้ฟังแต่ละวันๆ ก็เป็นธรรมะที่ทำให้เบาสมอง เป็นธรรมะที่ทำให้สบายใจ ไม่ต้องเครียด เป็นธรรมะที่นำท่านทั้งหลายได้ไปตรวจดูผลของการปฏิบัติของเราว่า นับตั้งแต่เราปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้ เราปฏิบัติได้ผลอย่างไร และเราสามารถทำลายกิเลสตัณหาไปได้อย่างไร อะไรทำนองนี้

เหตุนั้น ธรรมะอาจจะไม่ได้กล่าวยืดยาวเพียงแต่หัวข้อเล็กๆ น้อยๆ ให้เบาสมอง เป็นวันๆ ไป สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะนำเรื่อง สิ่งที่วิปัสสนาควรละ มาให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณา

สิ่งที่ผู้เจริญวิปัสสนาควรละนั้น ก็มีอยู่หลายประการ แต่สำหรับวันนี้หลวงพ่อจะนำเรื่องของ โอฆะ ๔ ประการ มาบรรยายโดยสังเขปกถา ประมาณสักสามนาทีหรือห้านาทีก็แล้วแต่ คำว่า โอฆะ แปลว่า ห้วงน้ำ เพราะว่า เป็นสภาวะที่เหมือนกันกับกระแสน้ำท่วมใจสัตว์

โอฆะนั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. กาโมฆะ โอฆะคือกาม คือความใคร่อยู่ในรูปของมนุษย์ ทั้งชายทั้งหญิงบ้าง หรือมีความใคร่ความพอใจอยู่ในรูปของสัตว์เดรัจฉาน ทั้งตัวผู้ตัวเมียด้วย หรือมีความใคร่ความพอใจในวัสดุต่างๆ ที่เราได้ประสบ หรือว่ามีความใคร่ความพอใจในเสียงที่ไพเราะ สรุปแล้วว่า มีความใคร่ความพอใจในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

ความใคร่นี้ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมใจสัตว์ถอนได้ยาก การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่วนมากนั้น เราข้ามไม่ได้ เมื่อข้ามยากหรือทำจิตทำใจไม่ได้ เพราะจิตใจของเรานั้น มันถูกราคะท่วมจิตท่วมใจของเราอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ไปถูกรูปที่สวยๆ เช่น รูปของผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม ของสัตว์เดรัจฉานก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วทำให้เกิดความพอใจ ชอบใจ ติดใจ หลงใหลอยู่ไปในสิ่งเหล่านั้น ความใคร่อย่างนี้ ท่านจึงกล่าวว่าเป็น ดุจกระแสน้ำท่วมใจสัตว์

สรุปง่ายๆ ว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาแล้ว จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็ตาม มีชีวิตก็ตาม ไม่มีชีวิตก็ตาม เป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม เป็นของที่มีวิญญาณก็ตาม ไม่มีวิญญาณก็ตาม สิ่งใดที่ทำให้เกิดความใคร่ ความพอใจ คนชอบ และติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น สิ่งนั้นแหละถือว่า เป็นกาโมฆะ โอฆะคือกาม

กาโมฆะนี้ เป็นกระแสน้ำที่ท่วมทับใจสัตว์อยู่ ถอนได้ยาก เราทั้งหลายลองคิดดูเถิดว่า บางทีเราไปติดอยู่ในรูป เมื่อก่อนเรายังไม่บวช ก็ไปติด สมมติว่า ไปติดอยู่ในรูปของผู้หญิงอย่างนี้ เรามาบวชแล้วก็ยังไปติดอยู่ ถอนได้ยาก หากว่าเราไปชอบรูปผู้หญิง หรือชอบคนโน้น ชอบคนนี้ บางทีก็นอนไม่หลับ หนักๆ เข้าเป็นประสาท หนักๆ เข้าทำอัตตวินิบาตกรรม ฆ่ากัน ทำลายกัน อะไรจิปาถะ

สัตว์โลกทั้งหลาย เกิดความวุ่นวายทำการประหารกันอยู่ทุกวันๆ นี้ เพราะเรื่องกาโมฆะ เป็นสิ่งสำคัญ บางทีเราเองก็ไปติดเขา เด็กผู้หญิงอายุ ๑๐ ปี, ๑๑ ปี หรือ ๑๒ ปี ก็ต้องเป็นผู้ขายตัวแล้ว นี่มันติดกันอยู่อย่างนี้ เด็กผู้ชาย ๑๑ ปี,๑๒ ปี ไปสุงสิงติดอยู่ในรูปที่เป็นสภาคารมณ์ คือรูปผู้หญิง ถอนตัวได้ยาก เพียงแต่รูปอย่างเดียวเกือบตายแล้ว

พวกเราเจริญพระกัมมัฏฐาน แทนที่จะได้ผ่านไปได้เร็วๆ กลับมาติดอยู่ในรูปนี้ บางทีพรรษาทั้งพรรษา ปีทั้งปี ก็ยังไม่สามารถที่จะยกจิตยกใจให้พ้นจากกระแสของกามนี้ไปได้ หลงใหล ลุ่มหลงอยู่ตลอดเวลา คือว่าเป็นของที่รุนแรงพอสมควร

เพียงพูดย่อๆ อย่างนี้ เราทั้งหลายก็คงพอที่จะรู้ว่า เพียงแต่รูปอย่างเดียวก็เกือบตายแล้ว บางทีอยู่ไม่ได้ต้องลาสิกขาลาเพศไป บางทีต้องทำบาปทำกรรม ในขณะที่เรายังเป็นพระ เป็นเณร เป็นชีอยู่ ถ้าเราตกอยู่ในอำนาจของรูป เพราะมีความใคร่ในรูปนี้

๒. ภโวฆะ โอฆะคือภพ คืออยากอยู่ อยากเป็น อยากมี อยากเกิด ในภพที่ตนชอบ ที่ตนเห็นว่าเป็นสุข เช่น อยากอยู่ อยากเป็น อยากเกิดในภพทั้ง ๓ ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าหากยังมีความเกิดอีก ก็ขอให้เกิดในมนุษย์นี้

บางคนก็ว่า ถ้าหากข้าพเจ้ายังเกิดอีก ก็ขอให้ไปเกิดในเทวโลก หรือหากว่า ข้าพเจ้ายังเกิดอีก ก็ขอให้เกิดอยู่ในพรหมโลก แต่ก็ไม่มีใครปรารถนาที่จะไปเกิดในอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน

ส่วนมากก็อยากไปเกิดในมนุษย์บ้าง เกิดในเทวโลกบ้าง เกิดในพรหมโลกบ้าง ทำบุญสุนทานอะไรๆ ก็ตาม ก็ปรารถนาแต่อยากไปเกิดในภพในภูมินั้นๆ โดยไม่ได้พิจารณาให้เห็นว่าภพทั้ง ๓ ก็เหมือนกันกับหลุมถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว พร้อมที่จะเผาไหม้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้เกรียมไปหมดไป

ภพทั้ง ๓ ที่ท่านว่าเป็น โอฆะ ก็เพราะว่าภพทั้ง ๓ ยังมีเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ แม้ว่าจะไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา เป็นพรหมก็ยังมีเกิด มีแก่อยู่ ยังมีทุกข์ ยังเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาสภาวะที่บังคับบัญชาไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าเราขาดการพิจารณา เพราะตกอยู่ในอำนาจของภวตัณหา เหตุนั้น ความปรารถนาภพ หรือความข้องอยู่ในภพ ติดอยู่ในภพ จึงจัดเป็นโอฆะ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมทับใจของสรรพสัตว์อยู่ตลอดเวลา

๓. ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ หมายถึง มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด เช่น สัสสตทิฏฐิ คือ เห็นว่าสัตว์โลกนี้เป็นของเที่ยง สมมติว่า คนเรานี้เที่ยง เกิดเป็นอะไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้น เกิดเป็นคนก็จะเป็นคนอยู่อย่างนั้นตลอดไป เกิดเป็นสัตว์อยู่ ก็เป็นสัตว์อยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรียกว่า สัสสตทิฏฐิ

บางพวกก็เห็นว่าเป็น อุจเฉททิฏฐิ เห็นผิดว่าขาดสูญ คือเห็นว่าเกิดมาเป็นคนนี้ หากว่าตายแล้วก็ขาดสูญ ไม่เกิดในภพหน้าชาติหน้าอีกต่อไป

บางทีก็เป็นประเภท อกิริยทิฏฐิ เห็นว่าไม่เป็นอันทำ เห็นว่าคนฆ่ากัน ทำลายกันก็ไม่เป็นบาป เป็นแต่ธาตุแต่ละธาตุๆ ที่มันเป็นปฏิปักษ์กัน ก็ทำลายกัน เช่น ธาตุน้ำกับธาตุไฟ มันเป็นปฏิปักษ์ต่อกันก็ทำลายกัน หรือธาตุใดที่เกื้อกูลกัน เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำอย่างนี้ มันก็เกื้อกูลกัน เมื่อเกื้อกูลกัน แล้วก็ทำลายกัน ก็ไม่เป็นบาป ฉะนั้น การฆ่ากันเบียดเบียนกัน ก็ถือว่าไม่เป็นบาป เป็นเพียงธาตุแต่ละธาตุๆ ที่มันเป็นปฏิปักษ์กัน เกื้อกูลกันแล้วก็ทำลายกัน อะไรทำนองนี้ เขาเรียกว่าเป็นพวก อกิริยทิฏฐิ

บางทีก็เป็นประเภท อเหตุกทิฏฐิ คือหาเหตุไม่ได้ ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ถือว่าหาเหตุไม่ได้ เมื่อมันถึงคราวสุขมันก็สุขเอง ถึงคราวทุกข์มันก็ทุกข์เอง ผลของบุญของบาปนั้นไม่มี

บางทีก็เป็นประเภท นัตถิกทิฏฐิ คือ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มี ขอพูดย่อๆ

มิจฉาทิฏฐินี้ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมใจสัตว์ถอนได้ยาก เหตุนั้น ท่านจึงจัดเป็นโอฆะประการหนึ่ง

ทิฏฐิ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ หากว่ายังไม่สามารถที่จะละได้ ก็ถือว่าเป็นการปิดกั้นพระนิพพาน คือผู้ปฏิบัติ หากว่ามีทิฏฐิดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ถึงจะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างไร ก็ไม่สามารถได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน แต่ไม่ห้ามสวรรค์ คือผู้มีทิฏฐิประเภทนี้ยังไปสวรรค์ได้อยู่ และมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อยู่ ไปเกิดในเทวโลกได้อยู่ แต่ว่าจะไปพระนิพพานนั้นไม่ได้ หากว่ามีทิฏฐิอยู่อย่างนี้

๔. อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา ความโง่ ความเขลา ความไม่ฉลาด ความไม่รู้ โดยใจความ ก็คือไม่รู้อริยสัจ ๔ คือไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย คือตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้นิโรธความดับทุกข์ ไม่รู้มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยมีอวิชชาเป็นรากเหง้า เป็นรากแก้วของกิเลสทั้งหลาย เป็นต้นสายของกิเลสทั้งปวง เป็นสภาวะที่พาให้สัตว์จมอยู่ในวัฏฏะ ล่องลอยอยู่ในสงสารสาคร มองไม่เห็นฝั่งคือพระนิพพาน เหตุนั้น อวิชชาจึงจัดว่าเป็น โอฆะ คือเป็นดุจกระแสน้ำท่วมทับใจสัตว์อยู่ประการหนึ่ง

โอฆะทั้ง ๔ นี้ บางทีก็เรียกว่า โยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ บางทีก็เรียกว่า อาสวะ เพราะเป็นสภาพหมักดองอยู่ในขันธสันดาน เป็นสิ่งที่วิปัสสนาควรละ นอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ยังมีอีก คือเรียกอีกหลายประการ บางทีก็เรียกว่า คันถะ เพราะเป็นเครื่องร้อยรัดใจของสัตว์ทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา เช่น

อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ พยาบาท ความปองร้าย อิทังสัจจาภินิเวส ความยึดมั่นว่า สิ่งนี้มีจริง สีลัพพตปรามาส ความยึดถือศีลพรต คือเห็นว่า(ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วแห่งดวงจิต) มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างโน้นอย่างนี้

สีลัพพตปรามาส นี้ถือว่าเป็นความเห็นผิดจากหลักธรรมของพระศาสนา ดังมีบาลีอภิธรรมว่า เอเตน สีเลน สุทฺธิ เอเตน วตฺเตน สุทฺธิ ฯเปฯ

การสำคัญผิดว่า ถ้าเราประพฤติศีลอย่างนี้ ประพฤติพรตอย่างนี้ จะบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสตัณหา

ความคิดอย่างนี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส ดังที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเรื่องปริพาชกสองคน คนหนึ่งชื่อ ปุณณะ คนหนึ่งชื่อ เสณียะ

คนหนึ่งประพฤติอย่างนี้ คือไม่กินข้าว กินแต่หญ้า ไม่นุ่ง ไม่ห่ม เปลือยกายล่อนจ้อน ที่นอนไม่นอน ชอบนอนกับดิน ลงโคลนลงเลนไป เหมือนกันกับวัว

อีกคนหนึ่งกินข้าว แต่ไม่กินเหมือนคน เอาปากขม้ำกินเหมือนกันกับสุนัข ผ้าก็ไม่นุ่ง ไม่ห่ม เวลาจะนอน ก็ไปเดินวนก้อนเส้าเตาไฟเหมือนสุนัขเสียก่อน

การที่พวกเขาปฏิบัติกันอย่างนี้ เพราะมีความเห็นว่า คนที่นุ่งผ้า ห่มผ้า กินข้าวอย่างนั้นเป็นคนมีกิเลส ต้องทำอย่างเขาจึงจะหมดกิเลส

ความเห็นความประพฤติอย่างนี้แหละเรียกว่า สีลัพพตปรามาส ความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จัดเข้าในทิฏฐิสังโยชน์ ดังบาลีว่า ทิฏฺฐิคตํ ทิฏฺฐิคหนํ เป็นต้นใจความว่า ทิฏฐิ คือความเห็นผิด ความเห็นตกไปในทาง สีลัพพตปรามาส การถือมั่นศีลและพรตว่า(ความบริสุทธิ์)มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างนั้นอย่างนี้

สรุปแล้วที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาสนี้ คือความประพฤติใดๆ ก็ตามที่ขัดจากอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ สิ่งนั้นถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส หากว่าเรายังละไม่ได้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล พระนิพพานได้เลย

สรุปว่า โอฆะทั้ง ๔ ประการ คือ กาโมฆะ โอฆะคือ กาม ภโวฆะ โอฆะคือภพ ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา โอฆะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมใจของสรรพสัตว์อยู่ ละได้ยาก

เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องละโอฆะคือ สภาวะที่ลามกท่วมจิตใจสรรพสัตว์อยู่นี้ ให้หมดไปสูญไปจากขันธสันดานถ้าว่าเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าโอฆะทั้ง ๔ ประการนี้ ยังท่วมจิตใจของเราอยู่ เราก็ไม่มีโอกาสที่จะพ้นจากสังสารจักรไปได้ อุปมาเหมือนดอกบัวที่พ้นขึ้นมาจากน้ำแล้ว หากไม่มีแสงอาทิตย์ ก็ไม่สามารถที่จะบานได้ ข้อนี้ ฉันใด พวกเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากว่าเราไม่พยายามละโอฆะทั้ง ๔ ประการนี้ ให้หมดไปจากขันธสันดานแล้ว โอกาสที่จะบรรลุอริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพานนั้น ไม่ได้เป็นอันขาด

เอาละท่านทั้งหลาย สำหรับเรื่องโอฆะ หลวงพ่อก็ขอพูดแต่ย่อ ๆ แต่เพียงแค่นี้.


พระราชปริยัตยากร
633  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: วิสุทธิธรรม เมื่อ: 02 พฤศจิกายน 2560 11:19:48


สิ่งที่วิปัสสนาควรละ

สิ่งที่วิปัสสนาควรละ
๑. อวิชชา-โมหะ
๒. อาสวะ ๔
๓. โอฆะ ๔
๔. โยคะ ๔
๕. คันถะ ๔
๖. อุปาทาน ๔
๗. อันตราย ๔
๘. นิวรณ์ ๕
๙. มาร ๕
๑๐. อันตราย ๗
๑๑. อนุสัย ๗
๑๒. ปลิโพธ ๑๐
๑๓. กิเลส ๑๐
๑๔. สังโยชน์ ๑๐
๑๕. ทุจริต ๑๐
๑. อวิชชา-โมหะ

(ความไม่รู้ ๘ ประการ)
๑. ไม่รู้ทุกข์
๒. ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์
๓. ไม่รู้ความดับทุกข์
๔. ไม่รู้หนทางดับทุกข์
๕. ไม่รู้เบื้องต้น
๖. ไม่รู้เบื้องปลาย
๗. ไม่รู้ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย
๘. ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท

๒. อาสวะ ๔
(เครื่องหมักดอง ๔ ประการ)
๑. กามาสวะ อาสวะ คือ กาม
๒. ภวาสวะ อาสวะ คือ ภพ
๓. ทิฏฐาสวะ อาสวะ คือ ทิฐิ
๔. อวิชชาสวะ อาสวะ คือ อวิชชา

๓. โอฆะ ๔
(ห้วงน้ำ ๔ ประการ)

๑. กาโมฆะ โอฆะ คือ กาม
๒. ภโวฆะ โอฆะ คือ ภพ
๓. ทิฎโฐฆะ โอฆะ คือ ทิฐิ
๔. อวิชโชฆะ โอฆะ คือ อวิชชา

๔. โยคะ ๔
(สิ่งที่ประกอบสัตว์ให้ติดอยู่ในวัฏฏะ)

๑. กามโยคะ โยคะ คือ กาม
๒. ภวโยคะ โยคะ คือ ภพ
๓. ทิฏฐิโยคะ โยคะ คือ ทิฐิ
๔. อวิชชาโยคะ โยคะ คือ อวิชชา
๕. คันถะ ๔

(ความเกี่ยวข้องผูกพัน ๔ ประการ)
๑. อภิชฌากายคันถะ ความเพ่งเล็งอยากได้
๒. พยาบาทกายคันถะ ความปองร้าย
๓. อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว
๔. สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ความยึดถือสิ่งอื่นๆ

๖. อุปาทาน ๔
(ความยึดมั่น ๔ ประการ)

๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม
๒. ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในทิฐิ
๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลพรต
๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในวาทะของตน

๗. อันตราย ๔
(สิ่งขัดขวาง ๔ ประการ)

๑. กิเลสมิจฉาทิฏฐิ กิเลสเป็นเหตุให้เห็นผิด
๒. กรรม อนันตริยกรรม
๓. วิบาก เกิดเป็นเปรต อสุรกาย เดรัจฉาน
๔. อริยูปวาท กล่าวร้ายพระอริยเจ้าหรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า

๘. นิวรณ์ ๕
(สิ่งขวางกั้น ๕ ประการ)

๑. กามฉันทะ ความพอใจในกาม
๒. พยาบาท ความปองร้าย
๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ท้อถอย
๔. อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความสงสัย

๙. มาร ๕
(สิ่งที่ยังกุศลธรรมให้ตาย ๕ ประการ)

๑. กิเลสมาร โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมาร
๒. ขันธะมาร ขันธ์ ๕ เป็นมาร
๓. มัจจุมาร ความตายเป็นมาร
๔. อภิสังขารมาร การปรุงแต่งเป็นกรรมเป็นมาร
๕. เทวปุตตมาร เทวดาเป็นมาร

๑๐. อันตราย ๗
(สิ่งขัดขวาง ๗ ประการ)

๑. กัมมารามตา มัวทำงานไม่มีสติ
๒. นิททารามตา มัวนอน
๓. ภาสารามตา มัวคุย
๔. สังคณิการามตา มัวคลุกคลีกับหมู่คณะ
๕. อคุตตทวารามตา ไม่สำรวมทวาร ๖
๖. อโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณอาหาร
๗. จิตตัง วิมุตตัง นะ ปัจจเวกขติ ไม่พิจารณาจิตที่หลุดพ้นแล้ว

๑๑. อนุสัย ๗
(สิ่งที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ๗ ประการ)

๑. กามราคะ ความอยากได้ในกาม อนาคามิมรรคถอนได้
๒. ภวราคะ ความอยากได้ในภพ อรหัตตมรรคถอนได้
๓. ทิฎฐิ ความเห็นผิด โสดาปัตติมรรคถอนได้
๔. มานะ ความถือตัว อรหัตตมรรคถอนได้
๕. ปฏิฆะ ความโกรธ อนาคามิมรรคถอนได้
๖. วิจิกิจฉา ความสงสัย โสดาปัตติมรรคถอนได้
๗. อวิชชา ความไม่รู้ อรหัตตมรรคถอนได้

๑๒. ปลิโพธ ๑๐
(เครื่องกังวล ๑๐ ประการ)

๑. อาวาสปลิโพธ ห่วงอาวาส
๒. ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ
๓. โภคปลิโพธ ห่วงทรัพย์
๔. กัมมปลิโพธ ห่วงการงาน
๕. โรคปลิโพธ ห่วงโรค
๖. อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล
๗. คณปลิโพธ ห่วงหมู่คณะ
๘. ญาติปลิโพธ ห่วงญาติ
๙. คันถปลิโพธ ห่วงการเล่าเรียน
๑๐. อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงฤทธิ์

๑๓. กิเลส ๑๐
(เครื่องทำจิตให้เศร้าหมอง ๑๐ ประการ)

๑. โลภะ ความอยากได้อารมณ์ทั้ง ๖
๒. โทสะ ความโกรธทำให้ใจเศร้าหมอง
๓. โมหะ ความหลงไม่รู้สิ่งต่างๆ
๔. อหิริกะ ความไม่ละอายบาป ไม่ละอายการกระทำบาป
๕. อโนตัปปะ ความไม่เกรงกลัวบาป ไม่กลัวผลของการทำบาป
๖. ทิฎฐิ ความเห็นผิดในสิ่งต่างๆ
๗. มานะ ความถือตัว ด้วยมานะทั้ง ๙
๘. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ
๙. ถีนะ ความหดหู่ท้อถอยต่ออารมณ์ต่างๆ
๑๐. วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

๑๔. สังโยชน์ ๑๐
(เครื่องผูกมัดให้ติดอยู่ในภพ ๑๐ ประการ)

๑. สักกายทิฐิ ความเห็นผิดเป็นเหตุให้ถือตัวตน
๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
๓. สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยศีลพรตอย่างนั้นอย่างนี้
๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลส เรียกแต่เพียงราคะก็มี
๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ได้แก่ความหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ เรียกโทสะตรงทีเดียว ก็มี
    (๕ ข้อนี้เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ คือ อย่างหยาบ เรียกว่า “โอรัมภาคิยสังโยชน์” พระอนาคามีตัดได้ขาด)
๖. รูปราคะ ความติดในรูปธรรม เช่น ชอบใจในบุคคลบางคนหรือพัสดุบางสิ่งหรือแม้ในวัตถุ อันเป็นอารมณ์แห่งรูปฌาน
๗. อรูปราคะ ความติดอยู่ในอรูปธรรม เช่น พอใจในสุขเวทนาอันเป็นอารมณ์แห่งอรูปฌาน
๘. มานะ ความสำคัญว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่
๙. อุทธัจจะ ความคิดพล่าน เช่น นึกอะไรก็เกินไปกว่าเหตุ
๑๐. อวิชชา ความหลง เป็นเหตุไม่รู้จริงอีก
    (๕ ข้อนี้ เรียกว่า “อุทธัมภาคิยะสังโยชน์” นี้ พระอรหัตตมรรคตัดขาดได้สิ้นเชิง)

๑๕. ทุจริต ๑๐
(ความประพฤติชั่ว ๑๐ ประการ)

๑. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทาน ลักทรัพย์
๓. กาเมสุมิจฉาจารา ประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาท พูดเท็จ
๕. ปิสุณวาสจา พูดส่อเสียด
๖. ผรุสวาจา พูดหยาบ
๗. สัมผัปปลาปา พูดเพ้อเจ้อ
๘. อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้
๙. พยาบาท ความปองร้าย
๑๐. วิหิงสา ความเบียดเบียน


watpitch.com
634  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / Re: เป็นอยู่อย่างคนเหนือดวง เมื่อ: 31 ตุลาคม 2560 11:50:15



แค่เดินเป็นก็เติมบารมีได้

ความคึกคักของข่าวคราวแวดวงสงฆ์ระดับภูมิภาค ในช่วงนี้คงไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงไปกว่า "โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง" ที่พระสงฆ์เกือบ 100 ชีวิต จาก 5 ชาติ กำลังเดินทางจาริกไปบน 5 แผ่นดิน คือ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า เพื่อประกาศพระพุทธศาสนา สร้างความสงบสันติ และเชื่อมไมตรีระหว่างกันด้วยพุทธธรรม ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ ด้วย "พุทธศาสน์การทูต" ในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง

งานธรรมยาตราในครั้งนี้ มีบุคคลสำคัญระดับตัวแทนรัฐบาล จากทั้ง 5 ประเทศเข้าร่วมอย่างคับคั่ง เช่น พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีไทย, นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา, ดร.คินฉ่วย ประธานสหพันธ์พุทธเถรวาทเมียนมา, นายประสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์ เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำกัมพูชา และนายเหวียน จั๊ก ถ่วน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ส่วนผู้แทนคณะสงฆ์ระดับสูงจากประเทศต่างๆ ที่ปรากฏโฉมในงาน ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช เทพวงศ์ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา, พระอาจารย์ใหญ่มหางอน ดำลงบุญ ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, พระอัคคะ มหาสัตธัมมะโชติกะธะชะ สังฆนายกแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่ง 2 ท่านหลังนี้ บ้านเราจะเรียกหาแต่ละท่านว่า "สมเด็จพระสังฆราช" ด้านเวียดนามมี ดร.พระติ๊ด เทียน ต๋าม รองประธานสมัชชาสงฆ์เวียดนาม ส่วนประเทศไทยได้ พระธรรม โพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เข้าร่วม

ความน่าตื่นตาตื่นใจมิได้หยุดอยู่เพียงแค่การมีตัวแทนระดับสูงของรัฐบาลและฝ่ายสงฆ์จากทุกประเทศเข้าร่วมเท่านั้น หากแต่ทั้งพ่อค้า ประชาชน และภาคเอกชน ของแต่ละประเทศก็ให้ความสนใจออกมา ร่วมเดินธรรมยาตรากับคณะสงฆ์กันอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะเมื่อออกบิณฑบาตในแต่ละเช้า ไม่ว่าไปสู่ประเทศใด ประชาชนจะมารอใส่บาตรไม่ต่ำกว่าหลักพัน ซึ่งผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในพระธรรมทูตไทยที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมเดินจาริกบุญจารึกธรรมในครั้งนี้ จึงได้สัมผัสรับกับอลังการแห่งศรัทธาที่มีศาสนสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขงเป็นตัวเชื่อมโยงอย่างตำตา

ในการเดินธรรมยาตราข้ามประเทศแบบนี้ โอกาสพูด โอกาสแสดงธรรม ของพระสงฆ์ต่อประชาชนถือว่ามีน้อย เพราะถูกขีดกั้นด้วยความแตกต่างด้านภาษา แต่สิ่งหนึ่งที่ใช้ในการเผยแผ่ให้เกิดความศรัทธาระหว่างกัน คือ การเดิน!! และ การนั่ง!!

เพียงสองอิริยาบถนี้ ถ้าทำเป็นบางครั้ง ยังเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ดีกว่าการพูด อีกด้วย เช่น "การเดิน" ต้องเดินให้ได้แบบ "พระอัสสชิ" เพราะเพียงแค่เดินอย่างสงบสำรวม ไม่พูดไม่จา รักษากิริยาอย่างเรียบ ร้อย ระยะทางไม่กี่เมตร ก็ทำให้เกิดลูกศิษย์คนสำคัญ ซึ่งต่อมากลายเป็นพระอรหันต์นามกระเดื่องว่า "พระสารีบุตร" ถ้าในปัจจุบัน ก็ต้องเดินให้ได้แบบ "หลวงพ่อชา" วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ที่เดินทางไปเผยแผ่ธรรมะทางฝั่งตะวันตกเมื่อปี ๒๕๒๐ ทั้งที่พูดภาษาเขาไม่ได้ วัฒนธรรมก็ไม่รู้ แต่ท่านก็อาศัยการเดินบิณฑบาตเพื่อประกาศพุทธธรรม จนเป็นเหตุให้ได้วัดไทยในยุโรปถึง 2 แห่ง ดังท่านเขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวว่า

"พระใบ้ เลยเป็นเหตุให้ได้สาขาตั้งสองแห่ง คือ กรุงลอนดอนและฝรั่งเศส"

นอกจากเดินแล้ว ยังต้อง "นั่งเป็น" ซึ่งชาวพุทธควรนั่งให้ได้แบบ "พระควัมปติ" เพราะพระองค์นี้ใครๆ ก็อยากพบ อยากเจอ อยากทำบุญด้วย จนครูบาอาจารย์ในยุคหลังอดไม่ได้ต้องนำท่านมาทำเป็นวัตถุมงคล เรียกว่า "พระปิดตา" ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า คือ พระสังกัจจายน์ ทั้งที่เป็นคนละองค์กัน โดยพระปิดตา หรือ พระควัมปติ มีค่านิยมว่า ใครบูชาจะเป็นมหาอุตม์ อยู่ยงคงกระพัน ทั้งเป็นเมตตามหานิยม มีลาภมาก เป็นต้น ก็ด้วยเหตุว่าในอดีต พระควัมปติ เป็นลูกเศรษฐีใหญ่ พอบวชท่านก็ชอบนั่งหลับตาเข้าฌานสมาบัติ มีความสำรวมมาก ยิ่งพระพุทธเจ้าใช้ให้ท่านไประงับภัยพิบัติแก่หมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม ยิ่งดังเป็นพลุแตก คนสมัยก่อนจึงนิยมตามหาท่านเพื่อใส่บาตรทำบุญด้วย จนเกิดเป็นความเมตตามหานิยมขึ้นมา

โบราณาจารย์จึงจับมาใช้เป็นอุปเท่ห์สร้างเป็นพระปิดตา เพราะท่านสำรวมและชอบนั่งหลับตาเข้าฌานสมาบัติ อีกทั้งยังใช้เป็นคติสอนใจให้ธรรมด้วยว่า พระปิดตา แทนการไม่รับสิ่งไม่ดีเข้ามา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกาย เรียกง่ายๆ ว่ามีความสำรวม ไม่ต้องไปสอดรู้เรื่องชาวบ้านมันทุกเรื่องก็ได้!!

สรุปรวมจึงได้ความว่า ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพียงเดินให้เป็น นั่งให้ดี มีความสำรวมก็ได้ชัยไปเกินครึ่ง ส่วนนักปฏิบัติธรรมผู้หวังแบ่งปันความรู้สู่ผู้อื่น ก็ควรทราบว่าวิธีเผยแผ่มิเพียงแค่พูดเท่านั้น ยังต้องสำรวมเป็น ปฏิบัติให้ธรรมะเกิด ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส การบอกสอนธรรมะแก่ใครจึงมีผล...

มิฉะนั้นถ้าเอาแต่เถียงธรรมะกันได้ คำพูด ได้ทะเลาะกันตายไปข้างหนึ่งพอดี!!




ท่ามกลางความแตกต่างของมนุษย์ ทั้งรูปร่าง หน้าตา ปัญญา ความคิดความเก่งกาจ เฉลียวฉลาด พรสวรรค์ ความร่ำรวย ความสามารถพิเศษ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงว่า "ล้วนมีเหตุมาจากกรรม" เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้หยาบและประณีต

กรรมจะถักทอให้เกิดรูปนามจนกลายเป็นเราได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ซึ่งทางวิทยาศาสตร์อาจมองลักษณะการถ่ายทอดรูปร่าง หน้าตา บุคลิกลักษณะ และอุปนิสัย จากพ่อแม่สู่ลูก ด้วยกระบวนการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ในพุทธศาสนาอธิบายไว้กว้างขวางยิ่งกว่านั้น ทั้งเหตุผลที่ต้องลงมาสู่ตระกูลของพ่อแม่ในรูปแบบต่างๆ เพราะอะไรต้องได้พ่อแม่ที่รักใคร่ ได้พ่อแม่ที่เอาใจใส่ หรือได้พ่อแม่ที่ทิ้งขว้าง อธิบายลักษณะการรวมตัวกันจนเกิดเป็นชีวิต บอกเหตุแห่งการมีรูปร่างและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน บอกไว้ละเอียดขนาดว่า อวัยวะแต่ละส่วนที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งสิ่งทั้งมวลนั้น ล้วนอธิบายได้ด้วยนิยามของ "กฎแห่งกรรม"

เนื่องจากชีวิตถูกออกแบบมาด้วยผลแห่งกรรม ทั้งเก่าใหม่ผสมผสาน จึงส่งผลให้มีความสุขทุกข์คละเคล้ากันอยู่ตลอด เพราะบุคคลที่ยังไม่ได้ฝึกตนย่อมทำทั้งความดีและความชั่วปะปนกัน เมื่อเวลาใดที่ผลของความดีเข้ามาสนอง ในช่วงนั้นทำสิ่งใดจะง่าย มีความสะดวกคล่องตัว ประสบโชคลาภ จับอะไรก็พบกับความสำเร็จไปหมด แต่ถ้าวาระที่ผลแห่งความชั่วที่เคยทำไว้ตามมาสนอง ช่วงนั้นจะเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทรัพย์สินพังพินาศ สูญเสียของรัก ทำสิ่งใดก็แย่ไปเสียทุกครั้ง นี่คือลักษณะการดำเนินชีวิตไปตามเกมกรรม

พระพุทธศาสนากำเนิดขึ้นมาเพื่อสอนให้มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ถอนเส้นทางสายที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ให้เป็นหนทางแห่งความสุขโดยถาวร สอนให้รู้จักลิขิตชีวิตด้วยสองมือตัวเอง สอนให้ออกแบบรูปลักษณ์ทั้งภายในภายนอกด้วยการกระทำ รวมถึงสอนให้สร้างกรรมใหม่ที่ดียิ่งกว่า เพื่อเอาชัยเหนือกรรมเก่าที่ยอดแย่ของตน

ถึงแม้ว่ากรรมดีกรรมชั่วจะลบล้างกันไม่ได้ สิ่งที่เคยกระทำมาแล้วย่อมต้องส่งผลอยู่วันยังค่ำ แต่กระนั้น การสร้างความดีใหม่ที่ใหญ่กว่าและตรงจุด ย่อมสามารถตัดรอนการส่งผลของกรรม ทำให้กรรมชั่วที่กำลังจะให้โทษ มีความคลาดเคลื่อนออกไป หรือทุเลาเบาลงกว่าที่ควรจะเป็นได้ เพราะอำนาจแห่งบุญที่ทำอย่างต่อเนื่องโอบอุ้มค้ำชูไว้ หรือที่นิยมเรียกกันว่า "ทำบุญลบล้างกรรมไม่ได้ แต่ทำบุญหนีกรรมจนตามไม่ทันได้" นั่นเอง

ซึ่งบุญพิเศษที่ให้ผลหนีกรรมได้รวดเร็วที่สุด มี 3 ประการ คือ

1.ทาน ต้องเพิ่มเติมให้มากขึ้น และมีความต่อเนื่อง โดยคำว่ามากมิได้หมายความว่าต้องให้เงินทอง วัตถุสิ่งของครั้งละมากๆ แต่หมายถึงการให้ทำบ่อยขึ้นตามกำลัง และที่สำคัญต้องมีความต่อเนื่อง เช่น ใส่บาตรพระ ถวายสังฆทาน สร้างถนน สะพานสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล แจกขนมให้เด็ก ให้เศษสตางค์แก่ขอทาน เลี้ยงอาหารสุนัขจรจัด เป็นต้น ให้พยายามฝึกให้ทานจนชินเป็นนิสัย

2.ศีล ควรพยายามรักษาให้ได้ รักษาได้ 1 ข้อ ได้หลักประกันชีวิตคุ้มครองเพิ่ม 1 ด้าน รักษาได้ 2 ข้อ เพิ่ม 2 ด้าน รักษาครบถ้วน ก็ครอบคลุมทุกด้าน เพราะศีลคือยันต์คุ้มกันภัยที่ดีที่สุด เพียงศีล 5 ถ้ารักษาได้ครบถ้วน จะเป็นการป้องกันความชั่วแบบครบวงจร และหนุนส่งให้บังเกิดแต่ความดีงาม

3.ภาวนา คือ การฝึกจิตตนเอง ให้ตั้งมั่นอยู่ในกรอบของความดี เช่น การสวดมนต์ เจริญสมาธิ ฝึกวิปัสสนา ซึ่งถือเป็นบุญที่มีคุณภาพมากที่สุด เพราะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในทุกด้านได้อย่างดีที่สุด จึงควรทำทุกวัน

หากหมั่นสร้างบุญทั้ง 3 ด้านนี้ อย่างต่อเนื่อง วิถีแห่งกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างพลิกชะตา ชีวิตจะพบความสุขและความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และวิบากอกุศลกรรมต่างๆ ก็จะค่อยๆ สลายตัวไป


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
635  สุขใจในธรรม / พุทธศาสนสุภาษิต / Re: ประมวล พุทธศาสนสุภาษิต เมื่อ: 27 ตุลาคม 2560 10:10:24


๖.จิตตวรรค คือ หมวดจิต
๓๐.อนวฏฺฐิตจิตฺตสฺส            สทฺธมฺมํ อวิชานโต
    ปริปฺลวปสาทสฺส            ปญฺญา น ปริปูรติ.
    เมื่อมีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้พระสัทธรรม  มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย
    ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์.
    (พุทฺธ)            ขุ.ธ.  ๒๕/๒๐.

๓๑.อปฺปมาณํ หิตํ จิตฺตํ            ปริปุณฺณํ สุภาวิตํ
    ยํ ปมาณํ กตํ กมฺมํ            น ตํ ตตฺราวสิสฺสติ.   
    จิตเกื้อกูลที่อบรมบริบูรณ์ดีแล้ว  เป็นจิตหาประมาณมิได้,  กรรม
    ใดที่ทำแล้วพอประมาณ  กรรมนั้นจักไม่เหลือในจิตนั้น.
    (อรกโพธิสตฺต)                ขุ.ชา.ทุก.  ๒๗/๕๙.
         
๓๒.อานาปานสฺสติ ยสฺส            อปริปุณฺณา อภาวิตา
    กาโยปิ อิญฺชิโต โหติ            จิตฺตมฺปิ โหติ อิญฺชิตํ.
    สติกำหนดลมหายใจเข้าออก อันผู้ใดไม่อบรมให้บริบูรณ์,  ทั้ง
    กายทั้งจิตของผู้นั้นก็หวั่นไหว.
    (สารีปุตฺต)            ขุ.ปฏฺ.  ๓๑/๒๕๐

๓๓.อานาปานสฺสติ  ยสฺส            ปริปุณฺณา สุภาวิตา
    กาโยปิ  อนิญฺชิโต โหติ            จิตฺตมฺปิ โหติ อนิญฺชิตํ.
    สติกำหนดลมหายใจเข้าออก  อันผู้ใดอบรมบริบูรณ์ดีแล้ว,  ทั้ง
    กายทั้งจิตของผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหว.
    (สารีปุตฺต)            ขุ.ปฏิ.  ๓๑/๒๕๐.

๓๔. ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา            เวรี วา ปน เวรินํ   
    มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ            ปาปิโย นํ ตโต กเร.
    โจรกับโจรหรือไพรีกับไพรี  พึงทำความพินาศให้แก่กัน, ส่วน
    จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำเขาให้เสียหายยิ่งกว่านั้น.
    (พุทฺธ)            ขุ.ธ.  ๒๕/๒๐.

๓๕.ทูรงฺคมํ เอกจรํ            อสรีรํ คุหาสยํ
    เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ            โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา.
    ผู้ใดจักสำรวมจิตที่ไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำ
    (คือกาย) เป็นที่อาศัย, ผู้นั้นจักพ้นจากเครื่องผู้ของมารได้.
    ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรทำลูกศรให้ตรงได้ฉะนั้น.
    (พุทฺธ)            ขุ.ธ.  ๒๕/๑๙,๒๐.

๓๖.น ตํ มาตา ปิตา กยิรา            อญฺเญ วาปิจ ญาตกา
    สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ            เสยฺยโส นํ ตโต  กเร.
    มารดาบิดาหรือญาติเหล่าอื่น   ไม่พึงทำเหตุนั้นให้ได้,  ส่วนจิต
    ที่ตั้งไว้ดีแล้ว พึงทำเขาให้ดีกว่านั้น.
    (พุทฺธ)            ขุ.ธ.  ๒๕/๒๐.

๓๗.ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ            ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ   
    อุชุํ กโรติ เมธาวี            อุสุกาโรว เตชนํ.
    คนมีปัญญาทำจิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก
    ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรทำลูกศรให้ตรงได้ฉะนั้น.
    (พุทฺธ)            ขุ.ธ.  ๒๕/๑๙.
         
๓๘.ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ            วุฏฺฐี สมติวิชฺฌติ
    เอวํ  อภาวิตํ จิตฺตํ            ราโค สมติวิชฺฌติ. 
    ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีฉันใด, ราคะย่อมรั่วรดจิตที่ไม่ได้
    อบรมฉันนั้น.
    (พุทฺธ)            ขุ.ธ.  ๒๕/๑๖.

๓๙.โย จ สทฺทปฺปริตฺตาสี            วเน วาตมิโต ยถา
    ลหุจิตฺโตติ ตํ อาหุ            นาสฺส สมฺปชฺชเต วตํ.
    ผู้ใด มักหวาดสะดุ้งต่อเสียง เหมือนเนื้อทรายในป่า, ท่านเรียก
    ผู้นั้นว่ามีจิตเบา, พรตของเขาย่อมไม่สำเร็จ.
    (อญฺญตฺรภิกฺขุ)            สํ.ส.  ๑๕/๒๙๖.

๔๐.วาริโชว ถเล ขิตฺโต            โอกโมกตอุพฺกโต     
    ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ            มารเธยฺยํ ปหาตเว.
    จิตนี้ถูกยกขึ้นจากอาลัยคือกามคุณ  เพื่อละที่ตั้งแห่งมาร  ย่อม
    ดิ้นรน  เหมือนปลาถูกจับขึ้นจากน้ำโยนไปบนบกฉะนั้น.
    (พุทฺธ)            ขุ.ธ.  ๒๕/๑๙.
   
๔๑.สญฺญาย วิปรีเยสา            จิตฺตนฺเต ปริฑยฺหติ
    นิมิตฺตํ ปริวชฺเชหิ            สุภํ ราคูปสญฺหิตํ. 
    จิตของท่านย่อมเดือดร้อน  เพราะเข้าใจผิด, ท่านจงเว้นเครื่อง
    หมายที่สวยงามประกอบด้วยความรัก.
    (อานนฺท)            สํ.ส.  ๑๕/๒๗๗.
       
๔๒.เสโล ยถา เอกฆโน            วาเตน น สมีรติ
    เอวํ นินฺทาปสํสาสุ            น สมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตา. 
    ภูเขาหินแท่งทึบ ไม่สั่นสะเทือนเพราะลมฉันใด, บัณฑิตย่อมไม่
    หวั่นไหวในนินทาและสรรเสริญฉันนั้น.
    (พุทฺธ)            ขุ.ธ.  ๒๕/๒๕.



636  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: วิสุทธิธรรม เมื่อ: 27 ตุลาคม 2560 09:48:21


สิ่งที่วิปัสสนาควรทำ

๑.สติ กำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม
๒.สติปัฏฐาน ๔
๓.สัมมัปปธาน ๔
๔.อิทธิบาท ๔
๕.อินทรีย์ ๕
๖.พละ ๕
๗.โพชฌงค์ ๗
๘.มรรคมีองค์ ๘

สติปัฏฐาน ๔
(ที่ตั้งแห่งสติ ๔ ประการ)

๑.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้กายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้สักว่ากาย จนรู้แจ้งชัดด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า กายนี้สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ฐานเป็นที่ตั้งแห่งสติอันเป็นเครื่องตามพิจารณาให้เห็นกายในกาย)

๒.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้เวทนาทั้งสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้สักว่าเวทนา จนรู้แจ้งชัดด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า เวทนานี้สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ฐานเป็นที่ตั้งแห่งสติอันเป็นเครื่องตามพิจารณาให้เห็นเวทนาในเวทนา)

๓.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของจิตที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว จิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ จิตปราศจากราคะ จิตปราศจากโทสะ จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ จิตถึงความเป็นใหญ่ เป็นต้น จนรู้แจ้งชัดด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า จิตสักแต่ว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ฐานเป็นที่ตั้งแห่งสติ อันเป็นเครื่องตามพิจารณาให้เห็นจิตในจิต)

๔.ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือให้มีสติกำหนดพิจารณารู้ธรรมที่เป็นกุศล หรืออกุศล อันบังเกิดขึ้นกับจิตเป็นอารมณ์ จนรู้แจ้งชัดด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า ธรรมนี้สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ฐานเป็นที่ตั้งแห่งสติ อันเป็นเครื่องตามพิจารณาให้เห็นธรรมในธรรม)

สัมมัปปธาน ๔
(ความเพียรที่เป็นประธาน ๔ ประการ)

๑.สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน คือ ให้มีสติระวังทวารทั้ง ๖
๒.ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป คือให้เพียรระวังไม่ให้วิตกทั้ง ๓ เกิดขึ้น
๓.ภาวนาปธาน เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น คือมีสติไม่ประมาท เช่น บำเพ็ญสติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น
๔.อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป คือให้ตามรักษากรรมฐานไว้ไม่ให้เสื่อม เช่น ตามรักษาอัฏฐิกสัญญากรรมฐาน ตามรักษาขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ วิปัสสนาญาณ เป็นต้น ไม่ให้เสื่อมไป

อิทธิบาท ๔
(คุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ ประการ)
๑.ฉันทะ ความพอใจในการปฏิบัติในสิ่งนั้นๆ
๒.วิริยะ ความเพียรในการปฏิบัติ
๓.จิตตะ เอาใจใส่จดจ่อในการปฏิบัติ
๔.วิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ

อินทรีย์ ๕
(ความเป็นใหญ่ ๕ ประการ)
๑.สัทธินทรีย์ อินทรีย์ (ความเป็นใหญ่) คือ ศรัทธา
๒.วิริยินทรีย์ อินทรีย์ คือ ความเพียร เช่น ความเพียรรู้ รูป นาม
๓.สตินทรีย์ อินทรีย์ คือ สติ ความระลึกได้ทัน รูป นาม
๔.สมาธินทรีย์ อินทรีย์ คือ สมาธิ ความตั้งใจมั่นในการที่จะรู้แจ้งรูป นาม
๕.ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ คือ ปัญญา ความรอบรู้ในรูป นาม

พละ ๕
(กำลัง ๕ ประการ)
๑.สัทธาพละ กำลัง คือ ศรัทธา
๒.วิริยพละ กำลัง คือ ความเพียร
๓.สติพละ กำลัง คือ สติ
๔.สมาธิพละ กำลัง คือ สมาธิ
๕.ปัญญาพละ กำลัง คือ ปัญญา

โพชฌงค์ ๗
(องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ๗ ประการ)
๑.สติสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ สติ) คือในขณะนั้นจิตมีสติระลึกอยู่ได้ว่า ตนกำลังปฏิบัติอย่างไร เช่น ตนกำลังเพ่งกสิณ ตนกำลังบริกรรม ตนกำลังกำหนดลมหายใจ ระลึกถึงวัตรของตนได้อยู่ ไม่เผลอ ไม่ประมาท ไม่หลับ เป็นต้น

๒.ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ ธัมมวิจัย) คือ ในขณะนั้นปัญญาหรือวิจรณญาณก็ทำงานอยู่ หมายความว่าได้ใช้ปัญญาธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ใจ ให้เห็นตามพระไตรลักษณ์อยู่ มิใช่มัวคิดเพลิดเพลินไป ทางอื่น หรือหลับไป หรือไม่ได้ทำอะไรเลย

๓.วิริยสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือวิริยะ) คือ ความเพียรพยายามในการใช้ปัญญาพิจารณา ซึ่งเรียกว่า วิปัสสนานั้นจิตไม่ซบเซาไม่เกียจคร้านท้อแท้

๔.ปีติสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ ปีติ) คือ ความเอิบอิ่มใจในการเจริญวิปัสสนา เป็นความเอิบอิ่มใจที่ไม่อิงอามิสไม่ข้องเกี่ยวกับกามารมณ์ คือไม่มีความติดพันในลาภยศ หรือ อิฏฐารมณ์ใดๆ แต่เป็นความเอิบอิ่มแห่งจิตอันบริสุทธิ์แท้

๕.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ ปัสสัทธิ) ได้แก่ความสงบระงับ คือในขณะนั้นได้เกิดความสงบระงับทั้งกายและจิต ไม่มีอาการกระวนกระวายด้วยอำนาจแห่งกิเลสตัณหาใดๆ เลย

๖.สมาธิสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ สมาธิ) ได้แก่ความตั้งมั่นแห่งจิต คือในขณะนั้นจิตหยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวไม่วอกแวก ไม่หลุกหลิก หากมั่นอยู่ในอารมณ์ของวิปัสสนาญาณแท้

๗.อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คืออุเบกขา) ได้แก่ความวางเฉยของจิต คือ จิตในขณะนั้นตั้งอยู่ในอารมณ์แห่งอุเบกขา ไม่เอนเอียงไปข้างอิฏฐารมณ์ (อารมณ์อันน่าปรารถนา) ไม่เอนเอียงไปข้างอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์อันไม่น่าปรารถนา) แต่มีความวางเฉย ดุจยานพาหนะที่แล่นไปบนทางราบเรียบได้ที่ดีแล้ว สารถีก็วางเฉยในการควบคุมได้

จากโพชฌงค์ ๗ นี้ เราจะเห็นได้ว่า จิตจะเข้าสู่จุดตรัสรู้มีอาการอย่างไร และการตรัสรู้ที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่ผีเข้าเจ้าทรง ไม่ใช่คาดคะเนนึกเดาเอาเอง และไม่มีความทะเยอทะยานใดๆ ทั้งสิ้นฯ

มรรคมีองค์ ๘
(หนทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ)
๑.สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ได้แก่ เห็นอริยสัจ ๔

๒.สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ ได้แก่ ดำริจะออกจากกาม ดำริในการไม่พยาบาท ดำริในการไม่เบียดเบียน

๓.สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ ได้แก่ เว้นจากวจีทุจริต ๔

๔.สัมมากัมมันตะ คือ การทำงานชอบ ได้แก่ เว้นจากกายทุจริต ๓

๕.สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นจากการเลี้ยงชีพที่ผิด

๖.สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ ได้แก่เพียรในที่ ๔ สถาน (สัมมัปปธาน ๔)

๗.สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ ได้แก่ ระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔

๘.สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่ เจริญฌาน ๔ ให้เกิดขึ้น

ในองค์ทั้ง ๘ นั้น ความเห็นชอบ ความดำริชอบ จัดเข้าในปัญญาสิกขา วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ จัดเข้าในสีลสิกขา ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ จัดเข้าในจิตตสิกขา


watpitch.com
637  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 20 ตุลาคม 2560 09:50:59


สังโยชน์ ๑๐ (ต่อ)


สรุปทีนี้

(พระโสดาบัน) ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๑ ได้ชื่อว่าบรรลุโสดาปัตติผลญาณ สามารถละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส คือละสังโยชน์ได้ ๓ ตัว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีคติเที่ยง ตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิอีก มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

คือ พระโสดาบันนั้น แม้จะประมาทมากสักปานใดก็ตาม ก็จะไม่เกิดอีกในชาติที่ ๘ คือจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

(พระสกทาคามี) ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ เป็นครั้งที่ ๒ ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ผู้ที่สำเร็จเป็นพระสกทาคามีแล้วนี้ แม้ไม่สามารถที่จะละสังโยชน์ที่เหลืออยู่ให้หมดไปได้ แต่ก็ทำให้สังโยชน์ที่เหลืออยู่นั้นเบาบางลงไป คือแม้ท่านไม่สามารถละสังโยชน์ตัวใดตัวหนึ่งเพิ่มขึ้นได้อีก แต่ทำให้เบาบางลง ก็สามารถทำลายภพชาตินั้นให้น้อยลงไป

คือหมายความว่า ผู้ที่เป็นพระสกทาคามีนี้ จะมาสู่ภพสู่ภูมิอีกเพียงชาติเดียว คือจะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น พอมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน

(พระอนาคามี) ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกระทั่งสามารถยังอนาคามิมัคคญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน สามารถละสังโยชน์เพิ่มเติมได้อีก ๒ ตัว คือ กามราคะ และปฏิฆะ ผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้วจะไม่มาเกิดในกามภพนี้อีก ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายของท่าน เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมในรูปพรหม แล้วก็เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพานในพรหมโลกชั้นนั้นๆ

(พระอรหันต์) ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๔ ยังอรหัตตมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน สามารถละสังโยชน์ได้เพิ่มอีก ๕ ตัว คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ก็เป็นอันว่าพระอรหันต์นั้นสามารถละสังโยชน์ได้ครบทั้ง ๑๐ ตัว

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตามที่หลวงพ่อได้บรรยายมานี้ ก็พอที่จะทำให้ท่านทั้งหลายสามารถตัดสินใจได้แล้วว่า การที่เรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานครั้งนี้ เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ก็พอที่จะตัดสินใจเอาเองได้แล้วตอนนี้

หากว่าเราได้บรรลุแล้วก็จะได้เบาใจ หลวงพ่อก็สาธุ อนุโมทนา หากว่าเรายังไม่ได้บรรลุ เราก็มีโอกาสแก้ตัวอยู่ เพราะว่าเรายังเหลืออีก ๑๕ วันเศษๆ จึงจะออกจากห้องกัมมัฏฐานแห่งนี้ หรือในครั้งนี้เรายังไม่สามารถแก้ตัว ก็คิดว่าท่านทั้งหลายยังไม่ละสังขารไปในเร็ววัน ในปีนี้หรือปีต่อไป พวกเราทั้งหลายคงจะได้อยู่ในโลกนี้อีกหลายปีอยู่ เราก็มีโอกาสที่จะแก้ตัวได้

ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้นำข้อวัตรปฏิบัติที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติมา ไปดำเนินในปฏิปทาให้ถูกต้อง ประพฤติปฏิบัติต่อไปจนกว่าจะสามารถยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน เพื่อว่าจะไม่ได้เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารยาวนานอีกต่อไป

หากว่ายังมีการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอยู่ เราก็จะไม่ได้ไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน จะมีสุคติเป็นที่ได้ที่ถึง จนกว่าจะถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน

เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมเรื่อง สังโยชน์ ๑๐ ประการ มา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
638  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 20 ตุลาคม 2560 09:46:35



สังโยชน์ ๑๐

การที่เรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในครั้งนี้ เราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ขอให้ท่านทั้งหลายได้ตัดสินใจเอาเอง

กิเลสนั้น ถ้ากล่าวโดยพระอภิธรรมจะมีอยู่ ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ ตัว โทสะ ๒ ตัว แล้วก็โมหะอีก ๒ ตัว

โลภะ ๘ ตัวนั้น แยกเป็นความโลภที่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๔ ตัว แล้วก็เป็นความโลภที่ไม่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฏฐิอีก ๔ ตัว รวมเป็น ๘ ตัว

สำหรับ โทสะ ความโกรธ แยกออกเป็น ๒ ตัว คือ

โทสะตัวที่ ๑ เป็นความโกรธที่เกิดขึ้นโดยลำพัง คือเป็นอสังขาริก ไม่มีเครื่องกระตุ้น หรือไม่มีผู้ชักจูง เกิดขึ้นเองโดยลำพัง ท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าเรานึกย้อนหลัง ก็คงจะรู้ว่าความโกรธนี้ บางครั้งเรานอนอยู่เฉยๆ มันเกิดขึ้นมาเอง คือนึกถึงเรื่องอะไรที่ผ่านมาแล้วแต่อดีต ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความโกรธขึ้นมา ความโกรธนั้นเกิดขึ้นมาอีก

โทสะตัวที่ ๒ เกิดขึ้นเพราะมีผู้ชักจูง คือมีแรงกระตุ้น เป็นสสังขาริก คือมีผู้ชักจูง หรือมีผู้กระตุ้นก่อนจึงเกิดขึ้น

สำหรับ โมหะ ๒ ตัวนั้น

ตัวที่ ๑ เป็นความหลงที่เกิดโดยอำนาจของวิจิกิจฉา

ตัวที่ ๒ เป็นโมหะคือความหลงที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของ อุทธัจจกุกกุจจะ

หมายความว่า เราคิดมาก จิตใจของเราคิดฟุ้งซ่าน ซัดส่ายตามอารมณ์ต่างๆ คิดมากจนเกินไป คิดมากจนเกินขอบเขต ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความหลงขึ้นมาได้เหมือนกัน

กิเลสโดยแนวทางของอภิธรรมนั้นมีอยู่ ๑๒ ตัว ดังนี้

สำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าผ่านการประพฤติปฏิบัติไปได้ครั้งหนึ่ง คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จะละโลภะไปได้ ๔ ตัว โทสะละยังไม่ได้ โมหะละได้ ๑ ตัว คือวิจิกิจฉา

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๒ (เป็นพระสกทาคามี) โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะยังละไม่ได้ แต่ว่าอ่อนกำลังลง คือกิเลสที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดนั้นจะอ่อนกำลังลง แต่โมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิม คือวิจิกิจฉา

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๓ (เป็นพระอนาคามี) โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม ส่วนโทสะละได้หมดทั้ง ๒ ตัว สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิมคือวิจิกิจฉา

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๔ (เป็นพระอรหันต์) จึงจะละโลภะได้หมดทั้ง ๘ ตัว คือโลภะที่ละไปแล้ว ๔ ตัว ยังอีก ๔ ตัว ก็จะละให้หมดไปจากขันธสันดาน สำหรับโมหะก็ละได้ครบทั้ง ๒ ตัว คือเมื่อก่อนนั้นละโมหะ(ที่เกิดขึ้น)ด้วยอำนาจของวิจิกิจฉา เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ แล้ว จึงจะละโมหะที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของอุทธัจจกุกกุจจะ

นี้แนวทางของพระอภิธรรมโดยคร่าวๆ

สำหรับกิเลส ๑๐ นั้น จะไม่พูดถึง จะขอพูดถึงเฉพาะเรื่อง สังโยชน์ ๑๐ กิเลส ๑๐ นั้น ได้เคยบรรยายมาแล้ว

สำหรับ สังโยชน์ ๑๐ นั้น กล่าวโดยพระสูตร คือมีในพระสูตร ดังนี้

สังโยชน์ แปลว่า เครื่องผูก ถ้าเป็นคุณบทของบุคคล ก็เรียกว่าเป็นเครื่องผูกบุคคลไว้ ถ้าเป็นคุณบทของสัตว์ ก็เรียกว่าเป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ หมายความว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาในกามภพก็ดี ในรูปภพก็ดี ในอรูปภพก็ดี ที่ยังข้องอยู่ในภพ ไม่สามารถที่จะออกจากภพจากภูมิที่ตนเกิดแล้วได้ ก็เพราะว่ามีสังโยชน์นี้เป็นเครื่องผูกไว้ ไปได้ยาก ออกได้ยาก สลัดออกได้ยาก

เราคิดง่ายๆ ผู้ที่ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานบางพวกคิดว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มีความสุขพอแล้ว ก็อยากเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่อย่างนั้นต่อไป ไม่อยากออกจากกำเนิดของสัตว์เดรัจฉาน นี่มันผูกไว้อย่างนี้ คือเห็นว่าการมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนี้ก็ดีอยู่แล้ว การมาเกิดเป็นประเภทนี้ก็ดีแล้ว มันเป็นอย่างนี้

หรือว่า ผู้ที่มาเกิดในมนุสสภูมิ คือพวกเราทั้งหลายที่มาเกิดในโลกมนุษย์ เมื่อเกิดในโลกมนุษย์ ได้บำรุงบำเรอด้วยกามคุณ ก็เห็นว่าการอยู่ในโลกมนุษย์นั้นมีความสุขแล้ว ยิ่งผู้มีอันจะอยู่จะกินเป็นกุฎุมพี เป็นเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐี เป็นอภิมหาเศรษฐี เป็นพระราชา มหาราชา เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็เห็นว่าการที่ได้มาเกิดอยู่ในเมืองมนุษย์แล้วก็อยู่ในฐานะอย่างนี้ ก็ถือว่ามีความสุขพอดีแล้ว ไม่จำเป็นที่จะแสวงหาความสุขอื่นอีกต่อไป

ผู้ที่คิดเห็นอย่างนี้มีเป็นจำนวนมาก ดังที่พวกเราทั้งหลายได้เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เช่นว่า ในบ้านของเราที่ผ่านมาหลายปีดีดัก นับตั้งแต่มีการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาจนถึงป่านนี้ ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้นมีน้อยนิดเดียว ผู้ไม่ปฏิบัตินั้นมีเป็นจำนวนมาก

ผู้ไม่ปฏิบัติโดยเฉพาะโยมผู้ชาย เวลามีการจัดงานปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน คือเมื่อก่อนเราจัด ๓ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๔๐ วันบ้าง ๑ เดือนบ้าง จนได้ลดลงมาถึง ๑๐ วัน ถึงกระนั้น เราก็เห็นโยมผู้ชายมาประพฤติปฏิบัตินั้นเป็นจำนวนน้อยเต็มที ปีหนึ่งๆ นี้มีไม่ถึง ๒๐ คนบางครั้ง บางคนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าท่านจัดอะไร

อย่างพ่อใหญ่อยู่ใกล้ๆวัดนี้ เราจัดงานปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปตั้ง ๖, ๗, ๘ ปีแล้ว วันหนึ่งแกเข้ามาในวัด เห็นพระกำลังทำกุฏิกัมมัฏฐานกันอยู่ ทำปะรำบ้าง ทำกุฏิกัมมัฏฐานบ้าง กางกลดบ้าง ทำความสะอาดบ้าง แกก็ถามว่า เพิ่นทำอีหยังกัน เพิ่นเฮ็ดอีหยังกัน คือพระท่านทำอะไรกัน ครูบาอาจารย์ทำอะไรกัน คือไม่รู้เลยว่าทางวัดนี้ทำอะไร ทางบ้านทำอะไร มันเป็นอย่างนี้

แล้วก็โยมผู้หญิงก็เหมือนกัน หายาก ยิ่งเป็นรุ่นใหม่มานี้ก็ยิ่งหายาก คือเห็นว่าการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีฐานะเป็นอยู่อย่างนี้ มีอาหารการบริโภค มีเครื่องบำรุงบำเรออยู่อย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นสุขพอดีแล้ว ก็อยากเป็นมนุษย์อยู่อย่างนี้ร่ำไป ผู้เป็นสามีภรรยากันก็อยากเป็นสามีภรรยากันตลอดไป ผู้เป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเป็นหลานกัน ก็อยากเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเป็นหลานกันตลอดไป นี่มันผูกมัดไว้ในภพอย่างนี้

หรือผู้ไปเกิดในฉกามาวจรสวรรค์ เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา ก็เห็นว่าการได้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดานี้ก็มีความสุขเหลือเฟือแล้ว ไม่สามารถที่จะกอบโกยเอาความสุขนั้นไปหมดได้ เพราะติดอยู่หรือข้องอยู่ในฉกามาวจรสวรรค์ หรือผู้ที่ไปเกิดเป็นรูปพรหม ก็เห็นว่าการได้เกิดเป็นรูปพรหมนี้ก็มีความสุขแล้ว

ผู้ไปเกิดในอรูปพรหม ก็ถือว่าการไปเกิดในอรูปพรหมนี้ก็มีความสุขแล้ว ก็ไม่มีการแสวงหาความสุขอันเกษม ความสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส คือความสุขในพระนิพพาน ก็ไม่มีการแสวงหาอีก

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอะไร ก็เพราะว่าสังโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่ผูกรัดใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ข้องอยู่ ให้ติดอยู่ ในภพในภูมิที่ตนเกิดแล้ว

สังโยชน์นั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. สักกายทิฏฐิ คือความเห็นเป็นเหตุถือตัว คือเห็นว่าร่างกายอันยาววาหนาคืบ ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้านี้ เป็นเรา เป็นตัวของเรา โดยที่ไม่ได้พิจารณาแยบคายให้เห็นแจ้งประจักษ์โดยไตรลักษณ์

คือหลงติดอยู่ในสมมติว่าเป็นอัตตา คือเป็นตัวเป็นตน เป็นฆนะ หรือว่าเป็นก้อน ไม่ได้แยกออกไปว่า รูปนามนี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ประชุมกันอยู่ ก็สมมติว่าเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวของเรา คือหลงติดอยู่

แต่สำหรับผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าได้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดจนสามารถยังมัคคจิตผลจิตให้เกิดขึ้นในใจได้ครั้งหนึ่ง คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็เห็นแจ้งประจักษ์ทันทีว่า รูปนามขันธ์ ๕ นี้ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ ประชุมกันเข้าเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา ก็เมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ด้วยอำนาจใดๆทั้งสิ้น ถือว่าทำลายสักกายทิฏฐิได้แล้ว ไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป

แต่คนส่วนมากที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็จะพากันยึดมั่นถือมั่นในตัวในตนว่า เป็นเรา เป็นของเรา ที่ทำสงครามประหารกันอยู่ทุกเมื่อทุกวันนี้ก็ดี การทะเลาะเบาะแว้งกัน การโกงกิน การคอร์รัปชั่น การทำลายกัน การประหัตประหารกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพราะสักกายทิฏฐินี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย

๒. วิจิกิจฉา ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาของตน หมายความว่า มีความลังเลสงสัยในข้อปฏิบัติ

สมมติว่า เราได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ได้ฟังครูบาอาจารย์บรรยายธรรมะ นี้เป็นประเภทเบื้องต้น จัดเป็นกามาวจรกุศล ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมประเภทนี้แล้วหรือข้อนี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นเทพบุตรเทพธิดาในฉกามาวจรสวรรค์ ก็เกิดความลังเลสงสัยขึ้นมาว่า เอ๊ะ คนตายแล้วมันเกิดจริงหรือ มันไปเกิดได้อย่างไร เทพบุตร เทพธิดานั้นมีจริงหรือ สวรรค์นั้นมีจริงหรือ ถ้าสวรรค์มีจริง ไหน? ไม่เห็นเลย ไม่เห็นสวรรค์ปรากฏเลย

เครื่องบินบินขึ้นไปบนอากาศก็ไม่เห็นปราสาทวิมานของเทพบุตรเทพธิดา นักวิทยาศาสตร์เขาสามารถไปนอกโลก นำยานอวกาศไปลงบนดวงจันทร์ ไปดาวอังคาร ดาวศุกร์ เป็นหลายๆล้านกิโลฯ แต่เขาก็ยังไม่เห็นปราสาทของเทพบุตรเทพธิดา คงจะเปล่าละมั้ง คงจะเป็นเรื่องโกหกกัน คงจะเป็นเรื่องหลอกให้หลงเชื่อให้ปฏิบัติตาม ก็เกิดความลังเลสงสัยขึ้นมา ในเรื่องการเกิด ในเรื่องวิญญาณ ในเรื่องภพนี้ภพหน้า ก็เกิดความสงสัยขึ้นมา

ตลอดถึงสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ท่านกล่าวไว้ในอดีตน่ะ มีจริงหรือ ดังที่พวกเราทั้งหลายเห็นประชาชนคนไทยทั้งหลายพากันสงสัย พวกเราพากันไปนมัสการพระบรมธาตุ พระธาตุพนมอย่างนี้ คนทั้งหลายก็หาว่าโกหกกัน ไม่ใช่ ไม่มีหรอก ไม่เป็นของจริง เรื่องโกหกพกลมกัน มีในประเทศอินเดียอย่างโน้นอย่างนี้ ก็ไม่ยอมเชื่อ และมีความลังเลสงสัยอยู่ตลอดเวลา

ถ้าพูดเรื่องพระธรรมก็เหมือนกัน พระธรรมที่ท่านกล่าวไว้ว่า ข้อนี้ประพฤติปฏิบัติแล้วทำให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ ไปเกิดเป็นเทวดา ข้อนี้ไปเกิดเป็นพรหม ข้อนี้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ได้ฌาน ปฏิบัติได้อย่างนี้ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นพระอริยบุคคล สามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วก็จะไม่จมไปสู่อบายภูมิ มีพระนิพพานเป็นที่ได้เป็นที่ถึง มีพระนิพพานเป็นที่ไป ก็เกิดความลังเลสงสัยขึ้นมา ไม่กล้าตัดสินใจ

สำหรับเรื่องพระสงฆ์ก็เหมือนกัน ก็สงสัยว่าพระอริยสงฆ์นี้มีจริงหรือ สมัยนี้ยังมีพระอริยสงฆ์อยู่หรือ ก็เกิดความสงสัย พูดเอาง่ายๆ สมมุติว่าเราทั้งหลายอยู่ร่วมกันอยู่ในทุกวันนี้ ในวัดพิชโสภารามนี้ มีพระอริยบุคคลอยู่หรือ หรือว่าในบ้านแก้งเหนือ บ้านคำม่วง บ้านเรืองอุดมนี้ ยังมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันนี้ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลนั้นมีอยู่ด้วยหรือไม่หนอ มันมีความเป็นจริงหรือไม่

ผู้ที่ละกิเลสตัณหาได้นี่ มันละได้จริงๆหรือ เกิดความสงสัยขึ้นมา ที่จริงมันก็น่าจะสงสัยอย่างนั้น สมมุติว่าโลภะความโลภอย่างนี้ ถ้าเราคิดแล้วมันไม่น่าจะละได้ ไม่น่าจะทำลายได้ เพราะว่ามันมีอำนาจจริงๆ หรือว่าโทสะคือความโกรธอย่างนี้ คิดแล้วมันไม่น่าจะละได้ มันไม่น่าจะหมดไปจากจิตจากใจของเรา หรือโมหะความหลงอย่างนี้ มันก็ไม่น่าจะหมดไปจากจิตใจของเรา

ราคะคือความกำหนัดในเพศตรงกันข้ามอย่างนี้ คิดๆแล้วมันไม่น่าจะหมดไปจากจิตใจของเรา หรือว่าความเศร้าโศก โสกะปริเทวะ ความน้อยใจ ความแห้งผากใจ ความขัดใจ ความคับแค้นใจเวลาประสบอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่น่าจะหมดไปจากจิตจากใจของเรา มันน่าจะมีอยู่อย่างนี้ เพราะว่าถือว่ามันเป็นธรรมชาติของมัน คือเราคิดแล้วว่ามันไม่น่าจะหมดไป

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็หมดไปได้ คือมันมีแล้ว มันเกิดขึ้นมาได้มันก็ดับได้ สิ่งใดมี สิ่งนั้นก็สูญไปได้เหมือนกัน มีร้อนก็ต้องมีเย็น มีชั่วก็ต้องมีดี มีบาปก็ต้องมีบุญ มีโลกิยะก็ต้องมีโลกุตตระ มันเป็นของคู่กันอย่างนี้

แต่สำหรับผู้มีวิจิกิจฉานั้นก็จะเป็นผู้มีความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในข้อวัตรปฏิบัติของตนอยู่ตลอดเวลา พูดธรรมะข้อใดๆก็มีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ตลอดไป ไม่กล้าตัดสินใจได้ นี้เป็นตัววิจิกิจฉา

แต่สำหรับท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านโสดาปัตติมัคคญาณไปแล้ว คือยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้ครั้งหนึ่ง ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็จะหมดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หมดความเคลือบแคลงสงสัยในปฏิปทาคือข้อปฏิบัติของตนในทันที

๓. สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นว่า พวกเราทั้งหลายจะเห็นในตำรับตำรา หรือไปเห็นสถานที่ต่างๆ เขามีการบูชายัญ บูชาพระภูมิเจ้าที่ ตั้งศาลพระภูมิไว้ในบริเวณบ้านของตน ในเรือนของตน กราบไหว้ภูเขาแม่น้ำลำธาร ตลอดถึงการทรงเจ้าเข้าผีเป็นต้น โดยเข้าใจว่าการปฏิบัติเช่นนั้นทำให้พ้นทุกข์ ได้รับความสุข ทำให้ไปเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์

บางทีก็บำเพ็ญตบะ เช่นว่า ถือการกินผลไม้เป็นวัตร ไม่ยอมรับประทานอาหารอย่างอื่น ไม่ยอมรับประทานพวกปลาพวกเนื้อ มีแต่ฉันผักผลไม้ บางทีก็ปฏิบัติเหมือนโค คือเดินเหมือนโค นอนเหมือนโค กินเหมือนโค เวลากินก็ไม่เอามือจับ เอาปากคาบเอาเลย คือโคมันกินอย่างไรก็กินอย่างนั้น เหมือนโคทุกอย่าง บางทีก็ปฏิบัติเหมือนแพะ เหมือนแกะ เหมือนลา

บางทีก็ปฏิบัติเหมือนสุนัข บางทีก็ปฏิบัติเหมือนแมว คือสุนัขมันเป็นอย่างไร เวลานอนมันนอนอย่างไร เวลากินมันกินอย่างไร แมวก็เหมือนกัน เวลามันเดินมันเดินอย่างไร เวลามันจะนอนมันทำอย่างไร เวลามันกินมันกินอย่างไร ก็ปฏิบัติเหมือนอย่างนั้น

บางทีก็ถือการนั่งตากแดดเป็นวัตร บางทีถือการยืนตากแดดเป็นวัตร หมายความว่า จะนั่งตากแดดอย่างนั้น ทั้งวันก็จะนั่งตากแดดอยู่อย่างนั้น บางทีก็ถือการเดินบนขวากบนหนามหรือการนั่งการนอนบนขวากบนหนามเป็นวัตร โดยเข้าใจว่าการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ได้บุญได้กุศล หากจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุคติภพ

บางพวกก็ทำตนให้หมกมุ่นพัวพันอยู่ในกาม คือกามสุขัลลิกานุโยค บางพวกก็ทรมานตนให้ได้รับความลำบากลำบน เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

สรุปสั้นๆว่า การประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดำเนินไปตามทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ จัดว่าเป็นสีลัพพตปรามาส

ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อ หรือ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์พระคาถานั้น ถ้าเราอนุโลมลงมามันจะได้กัน ถ้าว่าเป็นธรรมที่จะทำให้พ้นทุกข์ ไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนาแล้ว จะไม่ขัดกับหลักของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือจะไม่ขัดกับกฎหลักของพระศาสนาคืออริยสัจ ๔ คืออริยมรรค ๘ ประการนั้น เมื่อย่อลงมาแล้วก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อนั้น เมื่อย่อลงมาก็มี ๓ ประการเท่านั้นคือ (๑) เป็นศีล (๒) เป็นสมาธิ (๓) เป็นปัญญา

เมื่อเรากล่าวมาอย่างนี้ก็พอจะชี้ให้เห็นได้ว่า ข้อปฏิบัติใดๆที่ขัดกับหลักของศีล ขัดกับหลักของสมาธิ ขัดกับหลักของปัญญา หากว่าขัดต่อหลักทั้ง ๓ ประการนี้ ธรรมะหรือข้อปฏิบัตินั้นถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส ขอให้เข้าใจง่ายๆอย่างนี้ ถ้าว่าพูดไปอย่างอื่นก็จะเข้าใจได้ยาก

สรุปเอาสั้นๆว่า ข้อปฏิบัติข้อใด ถ้าขัดกับหลักศีลสมาธิปัญญาแล้ว ข้อปฏิบัตินั้นถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส เป็นธรรมหรือเป็นสิ่งที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ ไม่สามารถจะออกจากภพชาติได้

สีลัพพตปรามาสนี้ เมื่อผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้ว ก็จะรู้จะเข้าใจได้ทันทีว่า การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ไม่ถูก การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้จึงถูก ก็จะละสีลัพพตปรามาสได้ทันที ไม่ยึดมั่นถือมั่นในข้อวัตรปฏิบัติใดๆทั้งสิ้น ที่ขัดต่อหลักอริยมรรค ๘ ประการ หรือขัดกับหลักศีล สมาธิ ปัญญา

๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม คือมีความกำหนัดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ทั้งที่เป็นสภาคารมณ์ ทั้งที่เป็นวิสภาคารมณ์

หมายความว่า ความกำหนัดในที่นี้ หากว่าพูดถึงบุคคล ก็จะมีความกำหนัดทั้งที่เป็นเพศเดียวกันด้วย ทั้งที่ต่างเพศด้วย ไม่ใช่ว่ากำหนัดเฉพาะเพศตรงข้ามเท่านั้น คือมีความใคร่ ความพอใจ ความชอบใจ ความติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ทั้งที่เป็นสภาคารมณ์ และวิสภาคารมณ์

แต่ถ้าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๓ คือสามารถยังอนาคามิมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ก็สามารถที่จะทำลายกามราคะให้หมดไปจากขันธสันดาน แม้ถ้าว่าผู้นั้นบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ก็สามารถที่จะบวชอยู่ได้ตลอดชีวิต หากว่าผู้นั้นอยู่ครองฆราวาส ก็จะออกบวช หากว่าไม่ออกบวช ก็จะไม่มีการบริโภคกาม

หากมีสามีภรรยา ก็ต่างคนต่างอยู่ เหมือนกันกับพี่กับน้อง คือจะไม่มีการร่วมสังวาส คือตัดขาดจากกามแล้ว ครั้นจุติแล้วก็จะไม่มาสู่กามภพอีก คือจะไม่มาเกิดในมนุสสภูมิ จะไม่ไปเกิดในเทวภูมิ ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายของพระอนาคามี เมื่อจุติแล้วก็จะไปเกิดยังพรหมโลกในสุทธาวาสพรหมชั้นใดชั้นหนึ่ง แล้วบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

หากผู้ใดมีความมั่นใจว่าเราพ้นแล้วจากกาม ไม่ข้องเกี่ยวในกามแล้ว ในภพนี้ชาตินี้ไม่คิดว่าจะมีลูกมีเมียจะมีลูกมีผัวอีกต่อไป ก็เป็นอันว่าเราประพฤติปฏิบัติจนสามารถยังอนาคามิมรรคอนาคามิผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๓ แล้ว

๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ได้แก่ ความหงุดหงิดด้วยอำนาจของโทสะ อันนี้ก็เป็นตัวโทสะนั่นเอง คือหมายความว่า เมื่อผู้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนสามารถยังมัคคญาณผลญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดานครั้งที่ ๓ แล้ว ปฏิฆะความกระทบกระทั่งแห่งจิต หรือความหงุดหงิดในเมื่อกระทบกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส กับสัมผัสใดๆนั้นก็ไม่มี

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดๆ ที่เกิดขึ้นมา จะเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ชอบใจพอใจก็ตาม จะเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ชอบใจไม่พอใจก็ตาม ก็จะไม่มีความหงุดหงิด ไม่มีความกระทบกระทั่งในจิตในใจ จิตใจก็จะเฉยอยู่ตลอดเวลา พูดง่ายๆว่า ไม่โกรธ คือมันจะเป็นเรื่องดีๆเกิดขึ้นมาก็เฉยๆ เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นมาก็เฉยๆ เหมือนกับคนไม่มีหัวใจ เหมือนคนใจจืดใจจาง

บางทีดูเหมือนกับคนบ้า ไม่รู้จักดีใจ ไม่รู้จักเสียใจ เขาได้ทองเป็นแท่งๆ ก็เฉยๆ เขาได้เงินเป็นล้านๆบาท หรือเป็นพันๆล้านบาท ก็เฉยๆ ขึ้นไปธนาคารเห็นเงินเขากองพะเนินเทินตั้ง ก็เฉยๆ เหมือนเห็นกระดาษธรรมดา คือความดีใจเสียใจจะไม่มี ใครจะมายั่วมายุยังไงก็ตาม ก็จะรู้สึกเฉยๆอยู่ตลอดเวลา

อันนี้ ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านผู้นั้นสามารถยัง มัคคญาณ ผลญาณ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้ ๓ ครั้งแล้ว ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว ข้อนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ส่วนมากนักปฏิบัติเข้าใจว่าตนได้บรรลุเป็นอรหันต์แล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

เพราะว่าสภาวะจิตใจของพระอนาคามีกับพระอรหันต์นั้นมันคล้ายๆกัน มันคล้ายคลึงกันจริงๆ ได้บรรลุพระอนาคามีแล้วก็คล้ายๆกับว่าได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ คือว่า เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็คล้ายๆว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น คล้ายๆว่าไม่ได้ทำลายกิเลสตัณหาอะไรให้หมดไปเลย คือใจมันเฉยไปตั้งแต่เราผ่านอนาคามิมรรคครั้งที่ ๓ แล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ก็ได้เบาบางลงไปมาก

สังโยชน์ ๕ ข้อเบื้องต่ำนี้ เป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือเป็นสังโยชน์อย่างต่ำ หรือว่าอย่างหยาบ

๖. รูปราคะ คือความใคร่ ความพอใจ ความติดใจอยู่ในรูปธรรม เช่น ชอบใจในบุคคลบางคน หรือวัสดุบางสิ่ง หรือในวัตถุอันเป็นอารมณ์แห่งรูปฌาน

มันแปลกนะท่านทั้งหลาย ความรักในเพศเดียวกันอย่างนี้ มันเป็นความรักที่ชุ่มฉ่ำเหลือเกิน จนไม่อาจหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ คือเราจะหาอะไรมาเปรียบมันก็เปรียบไม่ได้ สมมุติว่า พระไปรักสามเณรอย่างนี้ ก็เป็นความรักที่ชุ่มฉ่ำในจิตในใจ ไม่เคลือบแคลงด้วยกิเลสตัณหาอะไรทั้งนั้น

หากไปรักไปชอบเพศที่ตรงกันข้าม เช่นว่า เราเป็นผู้ชายไปชอบผู้หญิงอย่างนี้ ความชอบนั้นก็เรียกว่าเป็นไปโดยธรรม เป็นความชอบที่ไม่เจือด้วยกิเลสตัณหา แต่ในจิตในใจน่ะ คล้ายๆกับว่าความชอบนั้นไม่มีกิเลสตัณหาอะไรทั้งสิ้น นี้มันเป็นอำนาจแห่งอริยมรรคอริยผลทั้งสิ้นอย่างนี้

สรุปอีกอย่างหนึ่งว่า รูปราคะนี้ หมายความว่า จิตใจของผู้ปฏิบัติยังมีความพอใจชอบใจ มีความติดใจ มีความใคร่อยู่ในรูปธรรม เช่น เราชอบใจในบุคคลบางคน หรือชอบใจวัสดุบางสิ่งบางประการ หรือชอบใจในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งรูปฌาน เช่นว่า เราเจริญสมถกัมมัฏฐาน เอากสิณ ๑๐ มาบริกรรมอย่างนี้ พอดีได้อุคคหนิมิต ได้ปฏิภาคนิมิตขึ้นมา ก็มีความชอบใจพอใจในปฏิภาคนิมิตนั้น

เช่น เราเอาดินมาเป็นอารมณ์อย่างนี้ พอดีปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นมา ก็เห็นดินนั้นเหมือนแก้วมณีสวยสดงดงาม เมื่อก่อนมันเป็นดินธรรมดา เมื่อมันเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้นมาแล้ว จะเห็นดินนั้นมีแสงเหมือนกับแสงพระอาทิตย์แรกอุทัย เห็นดินนั้นเหมือนแก้วมณี ก็จะมีความพอใจชอบใจในสีในแสงนั้นๆที่เกิดขึ้น

กัมมัฏฐานอันอื่นก็ตาม เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว ปฏิภาคนิมิตนั้นจะแปรสภาพเป็นของที่สวยสดงดงามเหมือนกับของมีค่าและวัตถุล้ำค่า ผู้ปฏิบัติที่ยังละไม่ได้ก็จะมีความพอใจชอบใจ มีความติดใจหรือมีความใคร่ในรูปนั้นๆ

๗. อรูปราคะ ความติดใจอยู่ในอรูปธรรม เช่น พอใจในความสุขที่เกิดขึ้น นั่งพระกัมมัฏฐานไป เกิดความสุขขึ้นมา เกิดความสุขกายขึ้นมาก็ดี เกิดความสุขใจขึ้นมาก็ดี ก็พอใจ บางทีมีสัญญาคือความจำได้ ของต่างๆที่ล่วงมาเลยมาตั้ง ๑๐, ๒๐, ๓๐ ปี ก็จำได้ หรือว่าเราท่องหนังสืออ่านหนังสือ หรือว่าเราฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่น่าจะจำได้อย่างนี้ก็จำได้ จำได้โดยฉับพลัน จำเนื้อหาสาระได้มาก

สิ่งใดที่ผ่านมา โน้น เมื่ออายุของเรา ๓ ปี เราก็ยังจำได้ มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ ก็เลยติดอยู่ในสัญญานั้น บางทีเรามีความรู้ความฉลาด ก็ติดอยู่ในความรู้ความฉลาดความสามารถของเรา เรียกว่าติดอยู่ในส่วนที่เป็นนามธรรม เรียกสั้นๆว่า ติดอยู่ในส่วนที่เป็นนามธรรม ตลอดถึงการติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาน

ก็อรูปฌานนั้น เอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นอารมณ์ เช่นว่า เอาวิญญาณคือความรู้ เอาสัญญาคือความจำได้หมายรู้อย่างนี้ มาบริกรรมเป็นอรูปฌาน ก็ติดใจอยู่ในสภาวธรรมนั้นๆ อันนี้ก็เป็นอรูปราคะ

๘. มานะ คือ ความถือตัว สำคัญตัวว่าเป็นโน่นเป็นนี่ เช่นว่า

(๑) เราเป็นผู้เลิศกว่าเขา ก็สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา

(๒) เราเลิศกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเสมอเขา

(๓) เราเลิศกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา หรือบางที

(๔) เราเสมอเขา แต่สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา

(๕) เราเสมอเขา ก็สำคัญตัวว่าเสมอเขา

(๖) เราเสมอเขา แต่สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา หรือบางที

(๗) เราเลวกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา

(๘) เราเลวกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเสมอเขา

(๙) เราเลวกว่าเขา ก็สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา

อันนี้เป็นลักษณะของมานะ

หากว่าผู้ปฏิบัติยังไม่ได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล มานะทั้ง ๙ ประการนี้ก็ยังมีอยู่ในขันธสันดาน โดยเฉพาะว่าเราเลิศกว่าเขาแต่สำคัญว่าเราเลวกว่าเขาอย่างนี้ คือมันเป็นการถ่อมตัวจนเกินไป ไม่เข้าใจฐานะตามความเป็นจริง ก็ถือว่าเป็นมานะ มานะนี้ ผู้ได้สำเร็จอรหัตตมรรคอรหัตตผลแล้ว จึงจะละได้

๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน คือความคิดพล่าน เช่น นึกอะไรๆก็เกินไปกว่าเหตุ จิตไม่สามารถยับยั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นานๆ แล้วก็คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ ภาษาบ้านเราว่า ตัวทำให้คิดมาก จนจิตไม่สามารถจับอารมณ์เดียวได้นานๆ เดี๋ยวก็คิดโน้น เดี๋ยวก็คิดนี้

ส่วนมาก สิ่งที่เป็นเหตุให้คิดนั้นก็เพราะกุกกุจจะ คือตัวที่ทำให้นึกถึงบาปเก่าที่ทำไว้ และบุญที่ไม่ได้ทำ ก็เกิดความเดือดร้อนขึ้นมาในจิตในใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอุทธัจจะ คือคิดมาก

อย่างพวกเราทั้งหลาย สมมุติว่าเราทำบาปมาก เราล่วงละเมิดศีลของเราอย่างนี้ เมื่อตายแล้วเราอาจไปตกนรก หรือไปเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ได้ทนทุกข์ทรมานอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เกิดความคิดมากขึ้นมา เลยกลายเป็นโมหจริตไป

อุทธัจจะ คือคิดมากตัวนี้ ถ้าผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านมัคคญาณผลญาณครั้งที่ ๔ คือยังอรหัตตมรรคอรหัตตผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้แล้วโน้นแหละถึงจะละได้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะละได้ทำลายได้

๑๐. อวิชชา ความเขลา อันเป็นเหตุให้ไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ สรุปแล้วก็คือไม่รู้อริยสัจ ๔ คือ แม้ว่าการประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านมัคคญาณผลญาณ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีมาแล้ว ก็ยังมีอวิชชาอยู่

ความหลงหรือความไม่รู้ในที่นี้ ก็คือความไม่รู้ว่าอาการบรรลุอริยมรรคอริยผลครั้งที่ ๔ นั้นจะเป็นอย่างไรหนอ เราไม่รู้ เพียงแค่ว่าเราสำเร็จเป็นพระอนาคามีเท่านั้น เราไม่สามารถที่จะตัดสินใจว่าสภาวะความเป็นไปของพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร จิตใจของท่านเป็นอย่างไร ในเมื่อบรรลุอริยมรรคอริยผลครั้งที่ ๔ นั้น

การเห็นอริยสัจทั้ง ๔ ประการจะเป็นอย่างไร เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นอย่างไร กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง เมื่อมันดับแล้วจะเป็นอย่างไร ก็ยังมีความข้องใจสงสัยอยู่ แต่เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็หมดความเคลือบแคลงสงสัย ตัวอวิชชานี้ก็หมดไปจากขันธสันดาน

639  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: วิสุทธิธรรม เมื่อ: 20 ตุลาคม 2560 09:35:03


สิ่งที่วิปัสสนาควรรู้

๑.ความหมายของคำว่า วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานเป็นอุบายทำให้เกิดวิปัสสนาญาณ เพราะว่า วิปัสสนาญาณเท่านั้น ที่จะเป็นเหตุให้รู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริงของธรรมชาติได้ คือความเห็นรูปนามชัดเจน ทันปัจจุบันแล้วเป็นเหตุให้เห็นแจ้งพระไตรลักษณ์ มรรค ผล พระนิพพาน อันเป็นกิจสูงสุดในพระพุทธศาสนา

๒.ความหมายของคำว่า ปัจจุบันธรรม

ปัจจุบันธรรม คือสิ่งที่ปรากฏขึ้นในขณะนั้น หรือสิ่งที่กำลังเป็นไปในขณะนั้น ในที่นี้หมายถึง ความปรากฏขึ้นของรูปนาม หรือความที่รูปนามกำลังเป็นไปอยู่

๓.ความหมายของคำว่า วิปัสสนาภูมิ

วิปัสสนาภูมิ หมายความได้ดังต่อไปนี้

วิ แปลว่า วิเศษ ประเสริฐสุด เว้นอย่างเด็ดขาด คือ เว้นอย่างยอดเยี่ยม เป็นอิสระ เป็นไท เกิด คลอด สว่างทั่ว ปรากฏ แจ้งชัด เป็นต้น

ปัสสนา แปลว่า การรู้ การดู การเห็น การพบ การกำหนด การพิจารณา การหยั่งรู้ การพิสูจน์ให้รู้ การแทงตลอด เป็นต้น

ภูมิ แปลว่า พื้น ชั้น เป็นดุจแผ่นดิน คือร่างกายอันจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ทั้งโลกียปัญญาและโลกุตตรปัญญา เป็นสถานที่ฝึก คือฝึกกายและใจอันจะให้สำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง เป็นต้น

วิปัสสนาภูมิ แปลว่า ภูมิเป็นที่แทงตลอดอย่างวิเศษ ภูมิเป็นที่เห็นอย่างยอดเยี่ยม ภูมิเป็นที่พบอย่างประเสริฐสุด ภูมิเป็นที่หยั่งลงสู่ความวิเศษสุด ภูมิเป็นที่เกิดแห่งวิปัสสนา ภูมิเป็นที่รู้แจ้งแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พร้อมทั้งแทงตลอดซึ่งมรรค ผล พระนิพพาน อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์

วิปัสสนาภูมิ ท่านจำแนกไว้ ๖ ประการ คือ

(๑) ขันธ์ ๕ (๒) อายตนะ ๑๒ (๓) ธาตุ ๑๘ (๔) อินทรีย์ ๒๒ (๕) อริยสัจ ๔ (๖) ปฏิจจสมุปบาท ๑๒

(๑) ขันธ์ ๕

ขันธ์ แปลว่า กอง หมวด อัตตภาพร่างกาย ธรรมชาติที่ไม่เป็นแก่นสาร ธรรมชาติที่ปราศจากความสวยงาม ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมชาติที่ทรงไว้ ซึ่งความว่างเปล่าธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสวรรค์ คือเป็นผู้สร้างสวรรค์,ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่ง มรรค ผล พระนิพพาน คือ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดขึ้นเพราะอาศัยร่างกายและจิตใจของเรานี้เอง เป็นต้น

ขันธ์ ๕ แปลว่า กองแห่งรูป...เวทนา....สัญญา.....สังขาร กองแห่งวิญญาณ เช่น ปรากฏในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ (วิภังค์) ว่า

“ยงฺกิญฺจิ รูปํ.......อยํ วุจฺจติ รูปกฺขนฺโธ”

แปลว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม อยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ก็ตาม ย่อมกล่าวรวมกันเรียกว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

ย่อขันธ์ ๕

รูป เป็น รูปธรรม

เวทนา สัญญา สังขาร เป็น นามเจตสิก

วิญญาณ เป็น นามจิต

ย่อให้เหลือ ๒

รูปธรรม เป็น รูป

นามเจตสิก และนามจิต เป็น นาม

ย่อให้สั้น คือ รูปและนามเท่านั้น

ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ ถูกต้องโผฏฐัพพะหนอ รู้ธรรมารมณ์หนอเป็นต้น

(๒) อายตนะ ๑๒

อายตนะ แปลว่า เป็นที่ต่อ เป็นที่เกิด เป็นแดนเกิดเป็นที่อาศัยอยู่ เป็นที่ประชุม เป็นเหตุเป็นปัจจัย เป็นธรรมชาติที่ขยายธรรมที่เกิดในทวารทั้ง ๖ อารมณ์ทั้ง ๖ และขยายอกุศลธรรม และกุศลธรรมทั้งปวงให้กว้างขวางได้ เป็นต้น

อายตนะ ๑๒ หมายเอาที่ต่อ ๑๒ อย่าง คือ

อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

ย่ออายตนะ ๑๒ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นรูป ใจเป็นนาม ธรรมารมณ์เป็นได้ทั้งรูปและนาม

ย่อให้สั้น คือ รูปและนามเท่านั้น

ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ เป็นต้น

(๓) ธาตุ ๑๘

ธาตุ แปลว่า สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน สภาพที่รักษาสภาวะของมันให้อยู่ได้เองตามเหตุ ตามปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะที่จะให้เกิดมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และพระนิพพานสมบัติ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน อันเป็นเครื่องยืนให้วิปัสสนาพิสูจน์ ยืนให้วิปัสสนาเห็นแจ้งชัดว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเครื่องยืนให้วิปัสสนาแทงตลอดซึ่งมรรค ผล ตลอดถึงพระนิพพาน

ธาตุ ๑๘ คือ

จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ

โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ

ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ

ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ

กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ

มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ

ย่อธาตุ ๑๘

เป็นรูปล้วนๆ มี ๑๐ คือ จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ รูปธาตุ สัททธาตุ คันธธาตุ รสธาตุ โผฏฐัพพธาตุ

เป็นนาม มี ๗ คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุ มโนธาตุ

เป็นทั้งรูปและนาม คือ ธัมมธาตุ

ย่อให้สั้น คือ รูปและนาม เท่านั้น

ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ เป็นต้น

(๔) อินทรีย์ ๒๒

อินทรีย์ แปลว่า เป็นใหญ่ในการทำกิจของตน เช่น ตาเป็นใหญ่ในการดู หูเป็นใหญ่ในการฟัง จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้อง ใจเป็นใหญ่ในการรับ จำ คิด รู้ธรรมารมณ์ เป็นต้น

แปลว่า เป็นใหญ่ในการทำกิจแห่งการที่จะรู้แจ้ง แทงตลอดเฉพาะตน เช่น ตา เป็นใหญ่ในทางที่จะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งวิปัสสนาญาณ มรรค ผล และพระนิพพานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นใหญ่ในทางที่จะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งมรรคผล และพระนิพพาน เฉพาะทางของตนๆ

แปลว่า สำเร็จมาแต่อกุศลกรรมและกุศลกรรม เพราะอินทรีย์มีจักขุ เป็นต้นนั้น เกิดพร้อมเพราะอาศัยกรรม ยึดเอากรรมที่เป็นอกุศลและกุศล และสำเร็จมาจากกรรมทั้ง ๒ นั้น จึงชื่อว่า อินทรีย์

อินทรีย์ ๒๒ คือ

๑.จักขุนทรีย์ เป็น รูป
๒.โสตินทรีย์ เป็น รูป
๓.ฆานินทรีย์ เป็น รูป
๔.ชิวหินทรีย์ เป็น รูป
๕.กายินทรีย์ เป็น รูป
๖.อิตถินทรีย์ เป็น รูป
๗.ปุริสินทรีย์ เป็น รูป
๘.ชีวิตินทรีย์ เป็น ทั้งรูปและนาม
๙.มนินทรีย์ เป็น นามจิต
๑๐.สุขินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๑.ทุกขินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๒.โสมนัสสินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๓.โทมนัสสินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๔.อุเปกขินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๕.สัทธินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๖.วิริยินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๗.สตินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๘.สมาธินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๙.ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ปัญญา หมายเอาตั้งแต่ ปุถุชน ถึง โคตรภูญาณ) เป็นนามเจตสิก
๒๐.อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ (อินทรีย์ของผู้ปฏิบัติ ด้วยมุ่งหวังว่าเราจักรู้สัจจธรรมที่ยังไม่รู้ หมายเอา โสดาปัตติมัคคญาณพวกเดียว) เป็นนามเจตสิก
๒๑.อัญญินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ปัญญาอันรู้ทั่วถึง หมายเอาญาณทั้ง ๖ นับตั้งแต่โสดาปัตติผลญาณ ถึง อรหัตตมัคคญาณ) เป็นนามเจตสิก
๒๒.อัญญาตาวินทรีย์ (อินทรีย์ของท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้ว หมายเอา ปัญญาของพระอรหันต์ ได้แก่ อรหัตตผลญาณ) เป็น นามเจตสิก

ย่ออินทรีย์ ๒๒

ข้อ ๑-๗ เป็น รูป
ข้อ ๘ เป็น ทั้งรูปและนาม
ข้อ ๘-๒๒ เป็น นามเจตสิก
ข้อ ๙ เป็น นามจิต

ย่อให้สั้น คือ รูปและนาม เท่านั้น

ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ เป็นต้น

(๕) อริยสัจ ๔

อริยสัจ แปลว่า ของจริงอันประเสริฐ ของจริงที่พระอริยเจ้าค้นพบ ของจริงแห่งพระอริยเจ้า ของจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นพระอริยเจ้าของจริงอันเป็นเหตุให้ห่างไกล จากกิเลส ของจริงอย่างพระอริยเจ้า คือ ของจริงแท้แน่นอน เป็นเหตุให้ดับทุกข์ได้ ของจริงเป็นเหตุให้ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน

อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ ทุกขสัจจ์ สมุทัยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ และมัคคสัจจ์

(๑) ทุกขสัจจ์ แปลว่า ความจริง คือ ทุกข์ ทุกข์นั้นมีสภาวะที่ทนได้ยาก มีสภาวะบีบคั้น เบียดเบียน เป็นลักษณะ มีสภาวะขัดแย้ง บกพร่องขาดสาระแก่นสาร และมีสภาพเดือดร้อนนานัปการเป็นรส มีการเวียนว่ายตายเกิดให้ห้วงมหรรณพภพสงสาร เป็นเครื่องปรากฏให้เห็นโดยองค์ธรรม ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ ดวง (เว้นโลกุตตรจิต ๘ ดวง) เจตสิก ๕๑ ดวง (เว้นโลภะ) รูป ๒๘ รวมเป็น ๑๖๐

ย่อให้สั้น ได้แก่ ขันธ์ ๕

ย่อลงให้สั้น คือรูปและนาม เท่านั้น

(๒) สมุทัยสัจจ์ แปลว่า ความจริงที่เป็นเหตุทำให้ทุกข์เกิดขึ้น ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา ๓ ประการนี้ ถือว่าเป็นแดน เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุทำให้เราต้องเกิดแล้วเกิดเล่าประสบกับความทุกข์บ่อยๆ นี้เป็นรสของตัณหาและมีการกีดกัน ขวางกั้นปิดบังห้ามไม่ให้เราออกไปจากภพนี้ เป็นเครื่องปรากฏให้เห็นของตัณหาว่าโดยพิสดาร มีถึง ๑๐๘ สมุทัยสัจจ์ จัดเป็น นาม

(๓) นิโรธสัจจ์ แปลว่า ความจริงที่ดับทุกข์ได้ หมายเอาการดับตัณหาทั้ง ๓ ด้วยอำนาจของมรรคญาณ โดยองค์ธรรม ได้แก่ พระนิพพาน อันเป็นที่ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้น นิโรธสัจจ์ จึงมีความสงบอันบริสุทธิ์ ไร้การปรุงแต่งเป็นลักษณะ และมีการไม่จุติ ไม่เคลื่อนย้าย เป็นรส ทั้งไม่มีนิมิต คือ รูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต วิญญาณนิมิต ไม่มีให้เป็นเครื่องปรากฏผูกรัดจิตใจของสรรพสัตว์ ขันธ์ห้าดับหมด นิโรธสัจจ์ จัดเป็น นาม

(๔) มัคคสัจจ์ แปลว่า ความจริง คือ ข้อปฏิบัติอันจะให้ถึงความดับทุกข์ได้ ฉะนั้น มัคคสัจจ์ จึงมีการนำบุคคลออกจากอวิชชา สังขาร วิญญาณ...ภพ ชาติ ชรา มรณะ เป็นลักษณะ มีการประหารกิเลสตายคลายกิเลสหลุด ผุดเป็นองค์อริยสงฆ์ เป็นรสอันเลิศ มีการพ้นไปจากเครื่องผูกรัดทั้งปวง และมีการพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเครื่องปรากฏให้เห็นโดยองค์ธรรมมี อยู่ ๘ ประการ คือ

๑.สัมมาทิฏฐิ
๒.สัมมาสังกัปโป
๓.สัมมาวาจา
๔.สัมมากัมมันโต
๕.สัมมาอาชีโว
๖.สัมมาวายาโม
๗.สัมมาสติ
๘.สัมมาสมาธิ

สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ จัดเป็นปัญญา

สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ จัดเป็นศีล

สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ จัดเป็นสมาธิ

ศีล สมาธิ ปัญญา จัดเป็นนาม

ย่ออริยสัจ ๔

ทุกขสัจจ์ เป็น ทั้งรูปและนาม

สมุทัยสัจจ์ เป็น นาม

นิโรธสัจจ์ เป็น นาม

มัคคสัจจ์ เป็น นาม

ย่อให้สั้น คือ รูปและนาม เท่านั้น

ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ เป็นต้น

(๖) ปฏิจจสมุปบาท ๑๒

ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า ธรรมที่เกิดขึ้น เพราะอิงอาศัยกันและกัน หมายถึง ธรรมที่อาศัยกันและกันเป็นเหตุ และเป็นผลอยู่ในตัวของมันเองแล้วผูกพันเกาะเกี่ยวต่อเนื่องกันดุจลูกโซ่ คล้องกันไปหาเบื้องต้นและที่สุดยุติลงมิได้ โดยองค์ธรรมมีอยู่ ๑๒ ประการ คือ

๑.อวิชชา เป็น นาม
๒.สังขาร เป็น นาม
๓.วิญญาณ เป็น นาม
๔.นามรูป เป็น ทั้งรูปและนาม
๕.สฬายตนะ เป็น ทั้งรูปและนาม
๖.ผัสสะ เป็น นาม
๗.เวทนา เป็น นาม
๘.ตัณหา เป็น นาม
๙.อุปาทาน เป็น นาม
๑๐.ภพ เป็น นาม
๑๑.ชาติ เป็น นาม
๑๒ ชรา-พยาธิ-มรณะ เป็น นาม

ย่อปฏิจจสมุปบาท ๑๒ คือ

หมายเลข ๑ ถึง ๓ และหมายเลข ๖ ถึง ๑๒ เป็นนาม

หมายเลข ๔ และ ๕ เป็นทั้ง รูปและนาม

ย่อให้สั้น คือ รูปและนาม เท่านั้น

ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ เป็นต้น

๔.ความหมายของคำว่า ปรมัตถสัจจะ

ปรมัตถสัจจะ หมายความว่า ความจริงอันเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของจริง

ย่อให้สั้น คือ รูปและนาม เท่านั้น

ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ เป็นต้น

๕.ความหมายของคำว่า จิต

จิต หมายความว่า สภาวธรรมที่ รับ จำ คิด รู้อารมณ์

จิตนั้นมี ๘๙ ดวง ๑๒๑ ดวง

จิตโดยย่อ ๘๙ ดวง โดยพิสดาร ๑๒๑ ดวง

จิต ๘๙ ดวงนั้น คือ

อกุศลจิต ๑๒ ดวง

อเหตุกจิต ๑๘ ดวง

กามาวจรจิต ๒๔ ดวง

รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง

อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

โลกุตรจิต ๘ ดวง

รวม ๘๙ ดวง

จิต ๑๒๑ ดวงนั้น โดยนับเอาโลกุตตรจิต ๘ ดวง ออกไปกระจายตามฌาน ๕ คือ เอา ๕ คูณ ๘ เป็น ๔๐ ดวง จิต ๘๙ ดวง เมื่อชักออกเสีย ๘ ดวง คงเหลือ ๘๑ ดวง

รูปาวจรจิตกับอรูปาวจรจิต รวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มหัคคตจิต” คือจิตที่มีอำนาจมาก กามาวจรจิต ๒๔ ดวง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหากุศลจิต ๘ ดวง มหาวิบากจิต ๘ ดวง มหากิริยา ๘ ดวง รวมเป็น ๒๔ ดวง จิต ๘๑ นั้น เรียกโลกียจิต ส่วนอีก ๘ ดวง หรือที่เอาไปกระจายเป็น ๔๐ ดวง ดังกล่าวมาแล้วนั้น เรียกว่า โลกุตตรจิต

ย่อให้สั้น คือ นามจิตและนามเจตสิก เท่านั้น

ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ คิดหนอ เป็นต้น

๖.วิสุทธิ ๗

ความหมายของคำว่า วิสุทธิ ๗ ได้แก่ ความหมดจดวิเศษ ๗ ประการ คือ

๑.สีลวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งศีล
๒.จิตตวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งจิต
๓.ทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔.กังขาวิตรณวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕.มัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง
๖.ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ
๗.ญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ

ย่อให้สั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ รูปและนาม คือ พองหนอ-ยุบหนอ เป็นต้น

๗.วิปัสสนาญาณ ๑๖

๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารู้จักแยกรูปนามออกจากกัน คือ รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เพราะรู้แจ้งชัดซึ่งรูปนาม
๒.ปัจจยปริคหญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารู้เหตุ รู้ปัจจัยของรูปนาม คือ รู้ว่ารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจาก เหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยรวมกันอยู่
๓.สัมมสนญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์กำหนดแจ้งชัด ๑๕ % คือกำหนดยกรูปนามขึ้นพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
๔.อุทยัพพยญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปนาม พระไตรลักษณ์ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้ง ๙๐% สันตติขาดจนเป็นเหตุทราบชัดว่าสิ่งทั้งปวงมีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ล้วนต้องดับไปเป็นธรรมดา
๕.ภังคญาณ ปัญญากำหนดพิจารณเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนามคืออุปาทะ ความเกิดขึ้น ฐิติ ความตั้งอยู่มีอยู่ แต่ปรากฏไม่ชัดเจนเพราะวิปัสสนาญาณมีกำลังกล้าขึ้นรูปนามปรากฏเร็ว จึงเป็นเหตุให้พิจารณาเห็นชัดลงไปเฉพาะแห่งความดับอันเป็นจุดจบสิ้นว่า สังขารทั้งปวงล้วนดับสลายไปทั้งสิ้น
๖.ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามโดยความเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่ต้องแตกสลายไปทั้งสิ้น
๗.อาทีนวญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนาม คือ เมื่อเห็นรูปนามล้วนแต่ดับสลายเป็นของน่ากลัวมาตามลำดับแล้วย่อมพิจารณาเห็น ว่ารูปนามทั้งปวงล้วนแต่เป็นทุกข์ เป็นโทษ
๘.นิพพิทาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในรูปนาม คือ เมื่อเห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนามแล้ว ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่รื่นเริง เพลิดเพลิน หลงใหล ในรูปนาม
๙.มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาปรารถนาอยากจะออก อยากจะหนี อยากหลุดพ้นไปจากรูปนาม เพราะพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษ และเกิดความเบื่อหน่ายในรูปนามที่ผ่านมา
๑๐.ปฏิสังขาญาณ ปัญญากำหนดกลับไปพิจารณาทบทวนพระไตรลักษณ์อีก เพื่อจะหาทางหลุดพ้น ไปจากรูปนาม คือตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ไม่ย่อท้อ ใจหนักแน่น มั่นคงเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว สู้ตาย
๑๑.สังขารุเปกขาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาวางเฉย เป็นกลางในรูปนาม คือ ทราบชัดตามความเป็นจริงในรูปนามแล้วจึงเป็นผู้มีใจเป็นกลางวางเฉยได้
๑๒.อนุโลมญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารูปนามที่เป็นไปตามลำดับอนุโลมญาณต่ำ อนุโลมญาณสูง อันเป็นเครื่องตัดสินใจว่าไม่ผิดแน่เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่มรรค ผล นิพพาน โดยอาการของพระไตรลักษณ์อาการอย่างใดอย่างหนึ่ง
๑๓.โคตรภูญาณ ปัญญาที่โอนจากโคตรของปุถุชน เข้าสู่โคตรของพระอริยะเพื่อจะหน่วงยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๔.มรรคญาณ ปัญญาที่ปหานกิเลสให้เป็นสมุทเฉทปหานมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๕. ผลญาณ ปัญญาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มรรคญาณปหานกิเลสแล้ว มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ปัญญากำหนดพิจารณากิเลสที่ละได้แล้วที่ยังเหลืออยู่ ตลอดถึงมรรค ผล และนิพพาน


watpitch.com
640  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / Re: เป็นอยู่อย่างคนเหนือดวง เมื่อ: 12 ตุลาคม 2560 09:29:03


ไหว้เทพเจ้าให้ถึงธรรม

วันที่ 17 กันยายน ของทุกปี ชาวฮินดูนับพันล้านในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะตระกูลช่างจะจัดแจงนำเครื่องไม้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ทางการช่างทุกชนิด ตลอดจนเครื่องจักรกลที่ถูกสร้างขึ้น เช่น รถยนต์ รถบรรทุก และรถไถ มาทำความสะอาดขัดถูจนเงางาม งดการใช้งานตลอดทั้งวัน แล้วนำมาเรียงรายรวมกัน เพื่อประกอบพิธีบูชาในเทศกาล "วิศวกรมบูชา"หรือ เทศกาลบูชาองค์ "พระวิศวกรรมา" ผู้เป็นเทพแห่งการช่างและการออกแบบ ซึ่งในพิธีกรรมนี้จะมีการเชิญพราหมณ์ที่ตนนับถือมาทำพิธีเจิมผงแป้งและสาธยายมนตราให้แก่เครื่องมือทุกชนิดภายในบ้านหรือห้างร้าน เพื่ออัญเชิญองค์เทพให้ลงมาสถิตอยู่ในเครื่องมือทำมาหากินเหล่านั้น พระวิศวกรรมาพระองค์นี้คนไทยเรานิยมเรียกสั้นๆ ว่า "พระวิศวกรรม" หรือเรียกตามความคุ้นเคย ซึ่งพ้องกับชื่อของพระวิษณุ หนึ่งในสามมหาเทพของศาสนาฮินดูว่า "พระวิษณุกรรม" จนทำให้หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าพระวิษณุเป็นเทพแห่งวิศวะ หรือ เทพแห่งการช่าง สำหรับเทพแห่งวิศวะตัวจริง คือ พระวิศวกรรมา หรือ พระวิษณุกรรม นั้น ท่านเป็นทั้งสถาปนิกและวิศวกรที่มีความชำนาญในงานช่างทุกแขนง และมีผลงานปรากฏอยู่ทั้งในคัมภีร์ของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ

แม้แต่ "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรฯ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" ชื่อเมืองหลวงของประเทศไทย ก็มีความหมายว่า กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งเทวดา ที่พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้าง ตามพระบัญชาของพระอินทร์

แต่ทั้งนี้ไม่ว่าท่านจะสร้างกรุงเทพฯ หรือไม่อย่างไร คงไม่นำมาเป็นประเด็นในบทความนี้ เพราะสาระน่าสนใจอยู่ที่คุณธรรมอันถอดออกมาจากรูปลักษณ์แทนตัวของท่าน ตามตำนานฮินดูกล่าวว่า ท่านมีพระเนตร 3 ดวง มีกายสีขาว ทรงอาภรณ์สีเขียว โพกผ้า มือถือคทา แต่คนไทยนิยมวาดหรือปั้นรูปพระวิศวกรรมา ให้ทรงชฎา มือถือลูกดิ่ง และจอบ หรือผึ่ง หรือไม้เมตร อันสื่อถึงเครื่องมือทางช่าง ที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาในวิถีแห่งช่างว่า "ต้องมีความซื่อตรง ไม่คดโกง เที่ยงตรง และแม่นยำ จึงถือเป็นสุดยอดแห่งช่างฝีมือ"

และไม่เพียงคุณธรรมที่ต้องยึดถือปฏิบัติเมื่อยอมรับนับถือเทพเจ้าแล้วเท่านั้น คนอินเดียที่ทำพิธีกรรมบูชาพระวิษณุกรรมนี้ ยังให้ความเคารพต่อเครื่องมือของตนเอง เสมือนหนึ่งว่ามีเทพสิงสถิตอยู่ การจะจับวางทุกครั้งต้องระมัดระวัง เวลาจะใช้งานก็ทำด้วยความเคารพ เมื่อจะเก็บต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพราะถือว่ามีครูอยู่กับเครื่องมือ จึงกลายเป็นว่าช่างอินเดียจะหวงแหนและทะนุถนอมเครื่องมือทำมาหากินของตัวเองอย่างมาก

วัฒนธรรมอินเดียนั้น มีความเกื้อกูลธรรมชาติ ผ่านการเคารพนับถือเทพเจ้า คนอินเดียกราบไม้ ไหว้เหล็ก บูชาค้อน ถ้ามองอย่างไม่ลึกซึ้ง อาจมีอคติแล้วเผลอไปดูถูกดูแคลนเขา ทั้งที่จริงการกราบไหว้เป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนลง ทำลายสักกายทิฏฐิ คือ ความถือตัวถือตน เพื่อยอมให้ความดีหลั่งไหลเข้าสู่จิตใจ เคารพกันและกัน เคารพครูบาอาจารย์ เคารพธรรมชาติ คนอินเดียไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์ เพราะเชื่อว่าของทุกชิ้นมีครู คนอินเดียไม่กล้าทำชั่ว เพราะเกรงกลัวว่าเทวดาทั้งหลายจะรู้เห็นความผิดของตน

ในพระพุทธศาสนา การกราบไหว้นับถือ เทวดาหรือเหล่าเทพเจ้าไม่ใช่เรื่องผิด พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงคุณงามความดี ที่ควรนับถือของเทวดาไว้ในอนุสติ 10 คือ เทวตานุสติ หมายถึง การระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์ เพราะการจะเป็นเทวดาได้ต้องมีหลักธรรมที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่

1.หิริ คือ มีความละอายต่อความชั่วทั้งหมด ไม่ทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

2.โอตตัปปะ คือ มีความเกรงกลัวผลของความชั่วจะลงโทษ ไม่ยอมประพฤติชั่วทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

ดังนั้นคนทั่วไปก็สามารถเป็นเทวดาได้ ถ้าหมั่นปฏิบัติในธรรมของเทวดา ให้ชินเป็นนิสัย จนพาติดตัวข้ามภพชาติ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำต่อไปว่า ที่สูงส่งและมีอานุภาพยิ่งกว่าเทวดา คือ "พรหม" อันมีหลัก "พรหมวิหาร 4" เป็นคุณธรรม ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าใครสามารถปฏิบัติในธรรมทั้ง 4 นี้ได้ ก็เท่ากับการมีคุณธรรมเสมอด้วยพรหม และที่สูงยิ่งไปกว่านั้น คือ "พระ" ผู้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง อันถือเป็นยอดแห่งความสูงส่งกว่าสิ่งทั้งปวง มีอานุภาพยิ่งใหญ่เหนือทุกภพทุกภูมิ ซึ่งสามารถเป็นได้ด้วยการปฏิบัติใน ศีล สมาธิ และปัญญา

ปฏิบัติน้อย ทำลายทุกข์ได้เล็กน้อย ปฏิบัติมากทำลายทุกข์ได้มาก ดังนั้นทั้งหมดก็อยู่ที่เลือกเอง ว่าชีวิตของเราจะเป็นอะไร



"ศาสนา"สู่ความเป็นมหาอำนาจ ของอินเดีย

อินเดียวันนี้ กลายเป็นประเทศสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อโลกในหลายแง่มุม ดังที่ผู้เขียนเคยเขียนลงคอลัมน์ในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยทุกมิติอันโดดเด่น มักผสมผสานการสร้างชาติขึ้นมาบนพื้นฐานความเชื่อทางศาสนา ดังที่ชาวภารตะทั้งหลายภาคภูมิใจเรียกประเทศของตัวเองว่า "ฮินดูสถาน" คือ ถิ่นที่อยู่ของคนฮินดู

ด้วยสายใยแห่งความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนา จึงทำให้วิถีชีวิตคนอินเดียผูกโยงไว้กับหลักธรรมคำสอนตามความเชื่อของตน ไม่เว้นแม้กระทั่งการเมืองการปกครอง จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า เพราะเหตุใด? ทำไมชนชาติหนึ่งถึงมีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยขาดตอนมาอย่างยาวนาน และมีพัฒนาการต่อเนื่อง ผ่านความยิ่งใหญ่ เคยล้ม และกำลังจะกลับมาผงาดบนหน้าประวัติศาสตร์โลกในฐานะมหาอำนาจได้อีกครั้ง

บทวิเคราะห์เหตุที่ทำให้อินเดียมีความสำคัญ จนประเทศมหาอำนาจในโลกไม่อาจมองข้าม

1.สร้างความเจริญบนอัตลักษณ์แห่งตน อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้จากสิ่งที่มีอยู่โดยไม่ต้องตามง้อประเทศอื่นใด ในด้านการเกษตร อินเดียมีผลผลิตเพียงพอที่สามารถเลี้ยงดูคนได้ทั้งประเทศ ด้านเทคโนโลยี เยาวชนอินเดียบางคนสร้างดาวเทียมได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยใช้วัสดุทั้งหมดจากในท้องถิ่น ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐีอินเดียส่วนใหญ่ร่ำรวยจากการสร้างแบรนด์ของตนเองที่ผลิตภายในประเทศ มากกว่าการนำสินค้าเข้ามาขาย เพราะคนอินเดียเชื่อว่าประเทศของตนมีดีมากพอด้วยการประทานจากเหล่าทวยเทพ จึงนิยมใช้สิ่งที่ผลิตได้เองมากกว่า ดังนั้นการหยิบจับสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ ความฉลาดล้ำที่ทำให้อินเดียไม่ต้องพึ่งพาชาติตะวันตกหรือชาติใดๆ

2.การใช้หลักการ "Simple and Better" คือ ทำทุกอย่างให้ง่ายและสิ่งที่ดีกว่าจะตามมา ซึ่งหลักการนี้ถือเป็นหัวใจในวิถีชีวิตของชาวอินเดีย เพราะคนส่วนใหญ่ที่นี่ อยู่ง่ายกินง่าย ใช้ชีวิตไม่ซับซ้อนตามหลักของศาสนาที่ตนนับถือ ดังนั้นทุกเรื่องจึงต้องทำให้ง่าย และคนอินเดียจะทำอะไรโดยเน้นที่ประโยชน์ใช้สอย มากกว่ารูปลักษณ์หรือรูปแบบ สิ่งนี้เองคือเหตุผลที่ทำให้อินเดียสามารถผงาดในโลกได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก

3.เป็นเมืองแห่งเหตุผลของคนนักคิด อินเดียเป็นประเทศแห่งการเรียนรู้และแสดงออก มีการศึกษาวิชาปรัชญาและศาสนากันอย่างกว้างขวาง โดยการเรียนการสอนในโรงเรียน จะเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้เวลาในห้องเรียนไม่มาก เพียงวันละ 4-5 ชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสการสืบค้นเรียนรู้ด้วยตนเอง ใช้เวลากับครอบครัวและศาสนา อีกทั้งหนังสือทุกประเภทที่ขายในท้องตลาดก็มีสนนราคาถูกมาก ถูกเสียยิ่งกว่าประเทศต้นตำรับที่เขียนอีก จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมประเทศอินเดียถึงสามารถผลิตนักคิด นักเขียน และนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีอิทธิพลในระดับโลกได้มากมาย

4.ค่านิยมความรักชาติ คนอินเดียมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของตนเองอย่างสูง ซึ่งในความภูมิใจก็มีการแสดงออกอย่างหลากหลาย เช่น ผ่านสติ๊กเกอร์ท้ายรถสิบล้อ ด้วยข้อความว่า "อินเดียคือที่สุด" , "อินเดียเป็นแผ่นดินแม่" หรือ "อินเดีย ประเทศแห่งอิสรภาพ" หรือการแสดงออกแบบสุดเหวี่ยงอย่างที่คนบ้านเราเรียกว่า "ปล่อยผี" ไปทั่วประเทศในงานวันชาติ ตลอดจนเรื่องการเมือง ก็เป็นหนึ่งหัวข้อสุดฮิตในการพูดคุยของคนที่นี่ ดังนั้นเมื่อชาวอินเดียมีสายเลือดแห่งความรักชาติฝังแน่นอยู่อย่างนี้ ก็เชื่อว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งเสริมให้ประเทศก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ในโลกได้อย่างไม่ยากเย็น

5.ใช้ศาสนารักษามาตรฐานของศีลธรรม ชาวอินเดียยอมลงทุนเทเวลาอันมีค่าของตัวเองให้กับเรื่องศาสนา ในทุกเดือนต้องมีวันหยุดที่เกี่ยวเนื่องกับเทพเจ้า บางเดือนหยุดถึง 10 วัน เพื่อให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตอยู่กับที่พึ่งทางใจ อีกทั้งยังมีการปลูกฝังความรักต่อศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเห็นได้จากเด็กชาวอินเดีย ที่แม้ว่าอายุไม่ถึง 10 ขวบ แต่ส่วนใหญ่กลับสามารถไล่เรียงชื่อเทพเจ้าที่มีมากมายเหมือนดวงดาวบนท้องฟ้าให้ฟังได้อย่างน่าประทับใจ อีกทั้งยังสามารถบอกเล่าตำนานเกี่ยวกับองค์เทพต่างๆ ได้อย่างไม่สะดุดติดขัดอีกด้วย ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่กับศาสนาของชาวอินเดีย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คอยค้ำจุนศีลธรรมของคนพันกว่าล้านในอินเดีย

มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่ยอมรับกันโดยสากลว่า เป็นศาสนาแห่งภูมิปัญญาและความสุข ดังนั้นทำไมชาวพุทธจึงไม่คิดที่จะนำข้อดีในศาสนามาส่งเสริมศีลธรรม ตลอดจนใช้เป็นนโยบายการพัฒนาชาติบ้าง เพื่อให้มีการพัฒนาก้าวไปโดยมีจุดขายเป็นของตัวเอง และยิ่งใหญ่ในแบบของความเป็นไทยอย่างยั่งยืนสืบต่อไป


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
หน้า:  1 ... 30 31 [32] 33 34 ... 51
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.694 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 17 มีนาคม 2567 06:44:50