[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 21:15:14 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 39 40 [41] 42 43 ... 51
801  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / Re: ประมวญ "ชาดก" ในพระพุทธศาสนา เมื่อ: 14 มีนาคม 2559 16:39:19


สสบัณฑิตชาดก

นครสาวัตถี มีเศรษฐีมั่งคั่งผู้หนึ่ง ปรารถนาจะทำบุญถวายบริขาร (เครื่องใช้สอยจำเป็นของพระ) ทุกอย่างแก่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จึงให้สร้างมณฑป (เรือนยอดที่มีรูปสี่เหลี่ยม)ไว้ที่ประตูเรือนของตน แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้ากับหมู่สงฆ์มา ครั้นถวายทานอันประณีตมีรสเลิศต่างๆ แล้วยังนิมนต์ติดต่อกันอีกถึง ๗ วัน
 
ในวันสุดท้าย เศรษฐีจึงถวายบริขารทุกอย่างที่ตระเตรียมไว้แก่พระพุทธเจ้าและภิกษุทั้ง ๕๐๐ นั้นจนหมดสิ้น พระศาสดาทรงได้กระทำอนุโมทนา (ยินดีด้วย) ว่า ดูก่อนอุบาสก ควรที่ท่านจะเกิดปีติยินดียิ่งเพราะขึ้นชื่อว่าการทำทานนี้เป็นวงศ์ตระกูลของบัณฑิตมาแต่โบราณกาล แม้บัณฑิตเก่าก่อนนั้นก็ได้บริจาคมาแล้ว ถึงกับทำทานหมดแม้ด้วยชีวิตของตนทีเดียว"
 
เศรษฐีได้ฟังเช่นนั้น จึงทูลอาราธนา (นิมนต์) ให้ทรงเล่า พระศาสดาจึงตรัสแสดงชาดกนั้น
 
ในอดีตกาล ณ ป่าใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ติดเชิงเขา มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลเลียบราวป่านั้น และไม่ไกลนักก็มีหมู่บ้านชายแดนตั้งอยู่
 
ที่ป่านั้นเอง มีสัตว์ ๔ สหายเป็นเพื่อนรักกันอาศัยอยู่ คือ กระต่าย นาก สุนัขจิ้งจอก และลิง สัตว์ทั้ง ๔ ล้วนเป็นบัณฑิตคบหาสมาคมกันสนิทสนม ทุกๆ เย็นจะหมั่นมาประชุมสนทนาธรรมเสมอๆ
 
เย็นวันหนึ่ง สสบัณฑิต (กระต่าย) ซี่งเป็นเสมือนพี่ใหญ่ของสัตว์ทั้ง ๔ ได้พูดคุยกันสักครู่ แล้วก็บอกสอนน้องๆ ว่า "การที่ชีวิตจะมีคุณค่า มีความประเสริฐ พึงให้ทาน พึงรักษาศีล พึงกระทำอุโบสถ (ถือศีล๘) เถิด"
 
สัตว์ทั้ง ๓ ก็น้อมรับคำอย่างเห็นดีด้วย แล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับไปที่อาศัยของตน จนกระทั่งวันหนึ่ง สสบัณฑิตได้กล่าวบอกกับมิตรสหายว่า "พรุ่งนี้แล้วจะเป็นวันอุโบสถ (วันพระขึ้นและแรม ๘ ค่ำ, ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำของทุกเดือน) พวกเราพึงให้ทาน พึงรักษาศีลอุโบสถ เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลแล้วให้ทานย่อมมีผลบุญมาก ฉะนั้นแม้จะเป็นคนจนเข็ญใจมาถึง พวกเราทั้งหลายก็พึงให้อาหารที่ควรแก่เขาก่อน ตัวเองค่อยกินในภายหลัง"
 
บัณฑิตทั้ง ๔ ต่างยอมรับตามนั้น ด้วยใจปีติยินดีร่วมกัน
 
วันรุ่งขึ้น นากผู้เป็นบัณฑิตได้ออกแสวงหาเหยื่อแต่เช้าตรู่ ลัดเลาะไปตามฝั่งแม่น้ำ ครั้นได้กลิ่นคาวปลาบริเวณพื้นทรายแห่งหนึ่ง จึงลองขุดคุ้ยลงไปดู ได้พบปลาตะเพียน ๗ ตัวถูกฝังเอาไว้ จึงคิดว่า "เจ้าของปลาเหล่านี้มีไหมหนอ"
 
ร้องตะโกนถามหาเจ้าของด้วยเสียงอันดังถึง ๓ ครั้ง แต่ก็ไม่เห็นเจ้าของเลย จึงถือเป็นของเหลือเดน นำกลับไปยังที่อาศัยของตน เก็บไว้เป็นอาหารด้วยความคิดว่า
"เราจะกินเมื่อถึงเวลาเหมาะควรในวันนี้"
 
แล้วก็บำเพ็ญศีลของตน รอเวลานั้นอยู่
 
ส่วนสุนัขจิ้งจอกผู้เป็นบัณฑิต ก็ออกแสวงหาอาหารตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง ได้เจอเนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัวและนมส้ม ๑ หม้อ ที่เขียงนาแห่งหนึ่งเข้า จึงเที่ยวดูรอบๆ บริเวณนั้นแล้วร้องเรียกเจ้าของสักครู่ใหญ่ แต่ก็ไม่พบใครเลย ดังนั้นจึงนำอาหารทั้งหมดมาเก็บไว้ที่อยู่ของตน แล้วถือศีลรอเวลาอันควรที่จะกินอาหารนั้น
 
ฝ่ายลิงผู้เป็นบัณฑิต ก็ออกหาผลไม้ในป่า ได้เก็บเอาผลมะม่วงมาไว้ยังที่พักของตน แล้วตั้งใจว่า "ตอนนี้เราบำเพ็ญศีลก่อน รอให้ถึงเวลาอันควรเราจึงจะกินอาหารนี้" แล้วลิงก็รักษาศีล เฝ้ารอเวลาอยู่และจะมีแต่สสบัณฑิตเท่านั้นที่ไม่ได้ออกไปหาอาหารใดๆ เลย ด้วยความคิดว่า "พอถึงเวลาอันควร เราจะออกไปหาหญ้าแพรกกิน" จึงพักอยู่ในโพรงของตนรักษาศีลอยู่ และตั้งจิต(อธิษฐาน)ของตนไว้ว่า "หากมีผู้ใดมาขออาหารกับเราในวันอุโบสถนี้ แต่เราไม่มีอาหารใดๆ ให้ เราก็จะมอบเนื้อในกายนี้เป็นทานแก่เขา"
 
ด้วยอานุภาพแห่งศีลและอธิษฐานนี้เองทำให้สะเทือนถึงท้าวสักกะจอมเทพ (ผู้มีจิตใจสูงอย่างยิ่งใหญ่) เกิดอาการร้อนรุ่มขึ้นมาทันที จึงทรงดำริในพระทัยว่า "เห็นทีเราจะต้องทดลองการตั้งอยู่ในธรรมของของพญากระต่ายนี้ดู ว่าจะจริงแท้หรือไม่"
 
แล้วทรงจำแลงแปลงร่างเป็นพราหมณ์ เพื่อทดสอบสัตว์ทั้ง ๔ สหาย เริ่มต้นด้วยการเข้าไปปรากฏตัวหานากบัณฑิต แล้วอ้อนวอนว่า "ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าขออาหารเป็นทานบ้างเถิด จะได้เป็นบำเพ็ญอุโบสถ กระทำสมณธรรม(ธรรมของผู้สงบระงับบาป) ได้ธรรมของผู้สงบระงับบาปได้ต่อไปด้วยดี
 
นากบัณฑิตดีใจนัก รีบรับคำทันที "ดีละ! ข้าพเจ้าจะให้อาหารทั้งหมดแก่ท่าน มีปลาตะเพียน อยู่ ๗ ตัว ท่านจงบริโภคสิ่งนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าต่อไปเถิด"
 
พราหมณ์ฟังแล้วพอใจอย่างยิ่ง แต่ตอบว่า "เรื่องของอาหารเหล่านี้ ยกเอาไว้ก่อนเถิดท่านบัณฑิตจะรู้ได้ภายในหลัง"
 
กล่าวแล้วพราหมณ์ก็ตรงไปที่อยู่ของสุนัขจิ้งจอกบัณฑิต แล้วก็เอ่ยปากขออาหารเช่นเดิม สุนัขจิ้งจอกบัณฑิตตอบว่า "ดีแล้วพราหมณ์ ข้าพเจ้าจะให้เนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัวและนมส้ม ๑ หม้อแก่ท่านทั้งหมด ท่านจงบริโภคอาหารเหล่านี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด"
 
ยังคงเป็นที่พอใจของพราหมณ์ แล้วก็มิได้รับอาหารนั้นมา แต่ตรงไปยังที่อาศัยของลิงบัณฑิตกล่าวขออาหารเหมือนเดิม ลิงบัณฑิตก็ให้ด้วยใจยินดี
 
"เชิญเถิดท่านพราหมณ์ มีผลมะม่วงสุก น้ำเย็นใสสะอาด ทั้งสถานที่ก็มีเงาอันรื่นรมย์ใจท่านจงบริโภคอาหารทั้งหมดนี้แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่านี้เถิด"
 
เป็นที่พอใจของพราหมณ์อีก โดยมิได้รับอาหารนั้นมา คราวนี้เข้าไปหาสสบัณฑิตถึงที่โพรงแล้วออกปากขออาหาร สร้างความดีใจแก่สสบัณฑิตยิ่งนักถึงกับบอกว่า
 
"ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมาถึงที่อยู่ของข้าพเจ้าเพื่อต้องการอาหาร มาได้ดีแล้ว แม้ข้าพเจ้าจะไม่มีงา ไม่มีถั่ว ไม่มีข้าวสาร แต่วันนี้ข้าพเจ้าจะให้ทานที่ยังไม่เคยให้แก่ท่าน ท่านไปรวมไม้ฟืนก่อเป็นกองไฟใหญ่เถิด แล้วท่านจะได้บริโภคเนื้อสุก เจริญสมณธรรมได้ต่อไป"
 
พราหมณ์จึงใช้อานุภาพของท้าวสักกะจอมเทพ ได้เนรมิตรกองไฟใหญ่เอาไว้ แล้วกลับมาบอกกับสสบัณฑิตว่า "ท่านบัณฑิต ไฟกำลังลุกร้อนแรงดีเหลือเกิน"
 
สสบัณฑิตจึงออกมาจากโพรงของตน ตรงไปที่กองไฟ แล้วคิดขึ้นว่า "สัตว์ตัวเล็กๆ ที่ติดขนของเราอาจมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นอย่าตายด้วยเลย"
 
จึงสะบัดตัวอย่างแรง ๓ ครั้ง เพื่อให้หลุดออกไปเสียที แล้วก็กระโดดเข้าสู่กองไฟทันที แต่กลับเสมือนเช่นพญาหงส์กระโดดลงสู่สระบัวฉะนั้นไฟกลับเย็นสบาย ไม่ร้อน ไม่ไหม้ร่างกายสักขุมขนหนึ่งเลย
 
ขณะนั้นเองท้าวสักกะจอมเทพจึงคืนสู่สภาพเดิมของพระองค์ แล้วตรัสว่า "ท่านบัณฑิต เรามิใช่พราหมณ์ เราเป็นท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งเทพทั้งหลาย มานี่เพื่อทดลองการให้ทานของท่าน"
 
สสบัณฑิตเมื่อเข้าใจเรื่องราวแล้วถึงกับเปล่งเสียงดังก้องออกไปว่า "ข้าแต่ท้าวสักกะ พระองค์จงหยุดการทดลองเช่นนี้เถิด ในโลกมนุษย์นี้หากใครพึงทดลองข้าพระองค์ ด้วยการขอให้ทำทานไซร้ จะไม่มีใครพบเห็นได้เลยว่าข้าพระองค์ประสงค์จะไม่ให้ทาน"
 
"ดูก่อนสสบัณฑิต คุณธรรมของท่านจงปรากฏอยู่ตลอดกัปทั้งสิ้นเถิด"
 
ตรัสแล้วก็เสด็จไปยังเทวโลกทันที ส่วนบัณฑิตทั้ง ๔ นั้นได้พร้อมเพรียงกันบันเทิงอยู่ พากันมุ่งบำเพ็ญศีล รักษาอุโบสถจนตลอดชีวิต

พระศาสดาทรงแสดงชาดกนี้จบแล้ว ตรัสว่า "นากบัณฑิตในกาลนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ สุนัขจิ้งจอกบัณฑิตได้มาเป็นพระโมคคัลลานะ ลิงบัณฑิตได้มาเป็นพระสารีบุตร ท้าวสักกะจอมเทพได้มาเป็นพระอนุรุทธะ ส่วนสสบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคตนี่เอง"
 
แล้วพระศาสดาทรงประกาศสัจจะ ในเวลาที่จบสัจจะนั้น เศรษฐีผู้ถวายบริขารทุกอย่าง ก็ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๖๒ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๔๘๑

จบ สสบัณฑิตชาดก
802  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / ชีวิตในธรรมชาติ เมื่อ: 08 มีนาคม 2559 16:35:03
.



ชีวิตในธรรมชาติ : ถ้ำ

ดีน สมริท นักสำรวจถ้ำชาวอเมริกัน ช่วงที่มาสำรวจถ้ำในเมืองไทยแรก ๆ ก่อนจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำคนหนึ่งในโลกนี้
       ผมมีโอกาสร่วมทีมกับเขา เพื่อเข้าไปดูถ้ำเสาหินแถบอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
       การเดินทางซึ่งต้องทั้งเดินป่า ว่ายน้ำ และลอดเข้าไปอยู่ในความมืดมิด
       เราพบสิ่งมีชีวิตมากมายตั้งแต่แมลง งู ปลา และอีกหลายชนิด พวกมันอยู่ในความมืดมิดโดยไม่ต้องอาศัยดวงตาเพื่อมอง แต่ใช้ประสาทอื่น ๆ
       ในถ้ำนั้นเราค้นพบความมหัศจรรย์มากมาย ระหว่างอยู่ในถ้ำ ผมพยายามมองหาหนทางออก เพราะรับรู้ได้อย่างหนึ่งว่า ในความมืดมิด การหาหนทางออกนั้นไม่ง่ายเลย
       โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ที่ซึ่งไม่คุ้นเคย
       โอกาสที่จะเดินหลงเข้าไปอีกทางที่ไม่ใช่หนทางออกเกิดได้เสมอ
- - - - -

      เดือนธันวาคม พ.ศ. 2558
       บรรยากาศในประเทศไทย มีการถกเถียงเรื่องของพืชตัดแต่งพันธุกรรม หรือเรียกง่าย ๆ ว่า GMO มากมาย
       ด้วยความไม่รู้ ผมค่อนข้างสนใจ ในประเด็นที่คนจำนวนมากคัดค้านการเปิดโอกาสให้มีการปลูกพืช GMO ได้ในแปลงเปิดนั้น ว่าจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘หายนะ’ อย่างไร ทั้งตลาดการค้าในโลกที่ไม่ต้อนรับ ผลเสียอันจะเกิดขึ้นต่าง ๆ
       ข้อมูลทางฝ่ายนี้ ผมพอรู้อยู่บ้าง
       แต่ฝ่ายที่สนับสนุนนั่นผมสนใจ และพยายามติดตามดูข้อมูล
       ผ่านมาสักระยะหนึ่ง ผมพบว่า เรามีข้อมูลมากมายว่าพืช GMO จะช่วยมนุษย์ได้มากอย่างไร
       ตั้งแต่มีกรณีของการตัดแต่งพันธุกรรมพืชแรก ๆ ซึ่งกว่า 10 ปีมาแล้ว
       สิ่งที่น่ากังวลคือ มันจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ
       ชีวิตต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อาหารจะถูกตัดตอน ผลจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อม
       คนนั้นไม่น่าห่วงนักหรอก เพราะถึงที่สุดก็เลือกได้ว่าจะบริโภคหรือไม่
- - - - -

 
       ผมเห็นความมุ่งมั่นเอาจริงของผู้มีความรู้ที่สนับสนุนพืช GMO
       ที่คล้ายจะเชื่ออย่างจริงจังว่า เทคโนโลยีรวมทั้งความรู้ที่คนเรามีจะช่วยแก้ปัญหาของโลกได้จริง
       เชื่อจริง ๆ หรือว่าวันหนึ่งเปิดสวิตช์แล้วไม่มีไฟฟ้าจะทำอะไรได้
       เชื่อจริง ๆ หรือว่าเปิดก๊อกแล้วน้ำไม่ไหลจะทำอะไรได้
       เพราะเรามุ่งไปข้างหน้าจนกระทั่งลืมความรู้ชั้นประถมฯแล้วว่า น้ำ อากาศ รวมทั้งพลังงาน
       มาจากที่ใด
- - - - -
 ​
       ผู้คัดค้านเทคโนโลยีนี้ถูกมองด้วยสายตาที่คล้ายกับว่ายังอยู่ใน ‘ถ้ำ’
       มีความจริงอยู่ว่า อยู่ในถ้ำที่รู้จักดีย่อมหาหนทางออกได้
       ‘ไม่รู้จัก’ ถ้ำที่ตัวเองอยู่
       การหาหนทางออกไม่ใช่เรื่องง่าย
       แล้วก็สายเกินไปเมื่อรู้ตัวว่าติดค้างอยู่ในความมืดมิด

.kwanruen.com
803  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / Re: ประมวญ "ชาดก" ในพระพุทธศาสนา เมื่อ: 08 มีนาคม 2559 16:03:53
.



สันธิเภทชาดก
ว่าด้วยโทษที่เชื่อถือคำส่อเสียด

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ เปสุญญสิกขาบท จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้
 
ได้ยินว่า สมัยหนึ่งพระศาสดาได้ทรงสดับว่า ภิกษุฉัพพัคคีย์ ๑ นำความส่อเสียดป้ายร้ายเข้าไปให้ จึงรับสั่งให้เรียกภิกษุฉัพพัคคีย์ เหล่านั้นมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนำความส่อเสียดป้ายร้ายเข้าไปให้แก่พวกภิกษุผู้บาดหมาง ทะเลาะวิวาทกัน จริงหรือ? เพราะเหตุนั้น ความบาดหมางที่ยังไม่เกิดขึ้น และความ บาดหมางที่เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญยิ่งขึ้น
 
เมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่าจริงพระเจ้าข้า จึงทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าวาจาส่อเสียดคมกล้าประดุจประหารด้วยศาตรา ถึงความคุ้นเคยที่เหนียวแน่นมั่นคงก็แตกสลายไปได้โดยรวดเร็ว เพราะวาจาส่อเสียดนั้น ก็แหละชนผู้เชื่อถือวาจาส่อเสียดนั้นแล้วทำลายไมตรีของตนเสีย ย่อมเป็นเช่นกับราชสีห์และโคผู้ทีเดียว แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:
 
๑ ฉัพพัคคีย์ กลุ่มพระ ๖ รูปที่ชอบก่อเรื่องเสียหาย ทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติสิกขาบทหลายข้อ
 
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นโอรสของพระเจ้าพาราณสีนั้น เจริญวัยแล้วเล่าเรียนศิลปะในเมืองตักกสิลาเสร็จแล้ว เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้วได้ครองราชสมบัติโดยธรรม
 
ครั้งนั้น นายโคบาลคนหนึ่งรับจ้างเลี้ยงโคในตระกูลทั้งหลาย เมื่อจะมาจากป่าไม่ได้นึกถึงแม่โคตัวหนึ่งซึ่งมีครรภ์จึงทิ้งไว้แล้วไปเสีย แม่โคนั้นเกิดความคุ้นเคยกับแม่ราชสีห์ตัวหนึ่ง แม่โคและแม่ราชสีห์ทั้งสองนั้นเป็นมิตรกันอย่างมั่นคงเที่ยวไปด้วยกันจำเนียรกาลนานมา แม่โคจึงตกลูกโค แม่ราชสีห์ตกลูกราชสีห์ ลูกโคและลูกราชสีห์ทั้งสองนั้นก็ได้เป็นมิตรกันอย่างเหนียวแน่น ด้วยไมตรีซึ่งมีมาโดยสกุล จึงเที่ยวไปด้วยกัน ครั้งนั้น พรานป่าคนหนึ่งเข้าป่าเห็นสัตว์ทั้งสองนั้นคุ้นเคยกัน จึงถือเอาสิ่งของที่เกิดขึ้นในป่า แล้วไปเมืองพาราณสี ถวายแด่พระราชา ครั้นพระราชาตรัสถามว่า สหาย ท่านเคยเห็นความอัศจรรย์อะไรๆ ในป่าบ้างไหม?

จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นอะไรๆ อย่างอื่น แต่ได้เห็นราชสีห์ตัวหนึ่งกับโคผู้ตัวหนึ่ง สนิทสนมกันและกันเที่ยวไปด้วยกัน
 
พระราชาตรัสว่า เมื่อสัตว์ตัวที่สามเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งสองเหล่านั้น ภัยจักบังเกิดมี เมื่อใดท่านเห็นสัตว์ตัวที่สามเพิ่มขึ้นแก่สัตว์ทั้งสองนั้น เมื่อนั้นท่านพึงบอกเรา
 
นายพรานป่านั้นทูลรับว่า ได้พระเจ้าข้า ก็เมื่อพรานป่าไปเมืองพาราณสีแล้ว มีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเข้าไปบำรุงราชสีห์และโคผู้
 
นายพรานป่าไปป่า ได้เห็นสุนัขจิ้งจอกนั้นคิดว่า จักกราบทูลความที่สัตว์ตัวที่สามเกิดขึ้น แล้วแก่พระราชาจึงได้ไปยังพระนครพาราณสี
 
สุนัขจิ้งจอกคิดว่า เว้นเนื้อราชสีห์และเนื้อโคผู้เสีย ขึ้นชื่อว่าเนื้ออื่นที่เราไม่เคยกิน ไม่มี เราจักยุยงทำลายสัตว์ทั้งสองนี้แล้วกินเนื้อสัตว์ทั้งสองนี้ สุนัขจิ้งจอกนั้นจึงยุยงสัตว์ทั้งสองนั้นให้ทำลายกันและกันโดยพูดว่า ผู้นี้พูดอย่างนี้กะท่าน ผู้นี้พูดอย่างนี้กะท่าน ไม่นานนักก็ได้ทำให้ถึงแก่ความตาย เพราะทำการทะเลาะกัน
 
ฝ่ายพรานป่ามาถึงแล้วกราบทูลแก่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ สัตว์ตัวที่สามเกิดขึ้นแล้วแก่ราชสีห์และโคผู้เหล่านั้น
 
พระราชาตรัสถามว่า สัตว์ตัวที่สามนั้น คืออะไร?
 
พรานป่ากราบทูลว่า สุนัขจิ้งจอกพระเจ้าข้า
 
พระราชาตรัสว่า สุนัขจิ้งจอก จักยุยงทำลายสัตว์ทั้งสองนั้นให้ตาย พวกเราจักไปทันในเวลาสัตว์ทั้งสองนั้นจะตาย จึงเสด็จขึ้นทรงราชรถเสด็จไปตามทางที่พรานป่าชี้ แสดงให้ เสด็จไปทันในเวลาเมื่อสัตว์ทั้งสองนั้นทำการทะเลาะกันและกันแล้วถึงแก่สิ้นชีวิตไป สุนัขจิ้งจอกมีใจยินดีกินเนื้อราชสีห์ครั้งหนึ่ง กินเนื้อโคผู้ครั้งหนึ่ง
 
พระราชาทรงเห็นสัตว์ทั้งสองนั้นถึงความสิ้นชีวิตไปแล้ว ทรงประทับยืนอยู่บนรถนั่นแล เมื่อจะตรัสเจรจากับนายสารถี จึงตรัสคาถาเหล่านี้ว่า :
 
[๖๙๔] ดูกรนายสารถี สัตว์ทั้ง ๒ นี้ ไม่ได้มีความเสมอกันเพราะสตรีทั้งหลายเลย ไม่ได้มีความเสมอกันเพราะอาหารเลย ภายหลัง เมื่อสุนัขจิ้งจอก ยุยงทำลายความสนิทสนมกันเสียจนถึงให้ตาย ท่านจงเห็นเหตุนั้นซึ่งฉันคิดไว้ถูกต้องแล้ว.
 
[๖๙๕] พวกสุนัขจิ้งจอกพากันกัดกินโคและราชสีห์ เพราะคำส่อเสียดใด คำส่อเสียดนั้น ย่อมเป็นไปถึงตัดมิตรภาพเพราะเนื้อ ดุจดาบคม ฉะนั้น.
 
[๖๙๖] ดูกรนายสารถี ท่านจงดูการนอนตายของสัตว์ทั้ง ๒ นี้ ผู้ใด เชื่อถือถ้อยคำของคนส่อเสียด ผู้มุ่งทำลายความสนิทสนม ผู้นั้น จะต้องนอนตายอย่างนี้.
 
[๖๙๗] ดูกรนายสารถี นรชนเหล่าใด ไม่เชื่อถือถ้อยคำของคนส่อเสียด ผู้มุ่งทำลายความสนิทสนม นรชนเหล่านั้น ย่อมได้ประสบความสุขเหมือนคนไปสวรรค์ ฉะนั้น.
 
พระราชาครั้นตรัสคาถานี้แล้ว รับสั่งให้เก็บเอาหนัง เล็บ และเขี้ยวของไกรสรราชสีห์ แล้วเสด็จไปยังพระนครทีเดียว
 
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล


สันธิเภทชาดก
804  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / ธรรมทำให้อายุยืน เมื่อ: 29 กุมภาพันธ์ 2559 16:00:06
.



ธรรมทำให้อายุยืน


วิธีทำให้อายุยืน
๑.แผ่เมตตา ปล่อยสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่า
๒.บำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐
๓ ทำบุญต่ออายุ
๔.สวดมนต์สาธยาย เช่น สิริธิติ สักกัตวา นัตถิเม และอุณหัสสวิชัยสูตร เป็นต้น
๕.บำเพ็ญอนิมิตตเจโตสมาธิ
   วิธีเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ
   ๑.ไหว้พระ
   ๒.ตั้งนะโม ๓ จบ
   ๓.ไตรสรณคมน์ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ฯลฯ
   ๔.เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ
   ๕.สมาทานพระกรรมฐาน“อุกาสะ อุกาสะ ณ โอกาสบัดนี้ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งพระกรรมฐาน ขอขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ และวิปัสสนาญาณ จงบังเกิดขึ้นในขันธสันดานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตั้งสติกำหนดไว้ที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้ารู้ลมหายใจออกรู้ สามหนและเจ็ดหน ร้อยหนและพันหน ด้วยความไม่ประมาทตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
   ๖. คำอธิษฐานจิต“สาธุ สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับแน่นิ่งอยู่ในอนิมิตตเจโตสมาธิ เป็นเวลา ๑๕ นาที พร้อมนี้ขอให้โรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่เป็นอยู่ในร่างกายนี้ จงหายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของข้าพเจ้า อย่าได้กลับเกิดขึ้นมาอีก และขอให้ข้าพเจ้ามีอายุยืนยาวนาน ตลอดถึงกัลป์หรือเกินกว่ากัลป์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเทอญ”
   ๗.คำบริกรรมนึกบริกรรมภาวนาว่า “จิตตัง อะนิมิตตัง” หรือ “จิตตัง นิพพานัง อะนิมิตตัง” ก็ได้ เอาสติตั้งไว้ที่ท้องพอง ท้องยุบ ภาวนาเรื่อยไปจนกว่าจะขาดความรู้สึก หรือได้เวลาอธิษฐานไว้หมายเหตุ ถ้านั่ง ๓๐ นาที, ๑ ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ขอให้อธิษฐานเพิ่มขึ้นตามต้องการ ขอให้เพียรภาวนาทุกวัน ถ้านั่งลำบากให้นอนเอา แล้วบริกรรมภาวนาเรื่อยไปจนกว่าจะหลับรู้สึกตัวขึ้นมาให้ภาวนาต่อไป จนกว่าจะได้เวลาที่เราอธิษฐานจิตไว้


watpitch.com
805  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ญาณ ๑๖ เมื่อ: 29 กุมภาพันธ์ 2559 15:53:20
.

ญาณที่ ๘
นิพพิทาญาณ

ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในรูปนามคือเมื่อ เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้ว ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย ไม่รื่นเริงเพลิดเพลินหลงใหลในรูปนาม

ให้ถามผู้ปฏิบัติว่า “จิตใจกระฉับกระเฉงไหม” บางท่านเมื่อญาณนี้เกิดแล้วจะตอบว่า โอย...เดี๋ยวนี้จิตใจห่อเหี่ยว อยากอยู่ในที่สงบให้จงได้ ถามว่า “กำหนดดีไหม พอใจในการกำหนดไหม หรือข่มใจกำหนด” ถามเวลาเดิน นั่ง ว่า “พอใจทำหรือข่มใจทำ ทานอาหารอร่อยไหม” บางท่านทานอาหารไม่อร่อยเลย เบื่ออาหาร อาเจียน ผู้ปฏิบัติธรรมสูงๆ เห็นอวัยวะสืบพันธุ์เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด ไม่ทานข้าว อาเจียน บ้วนน้ำลายทั้งวันก็มี บางท่านบางรูปเหมือนสุกกะไหลขึ้นคอ จะอาเจียนออกมาให้ได้ แสดงว่าสภาวะชัดเต็มที่แล้ว เกิดอาการเบื่อคนเบื่อไม่อยากจะสอบอารมณ์ ไม่อยากเห็นใคร อยากอยู่คนเดียว ถ้าเป็นญาติโยมเบื่อเพศคฤหัสถ์ อยากออกบวชเป็นบรรพชิตบำเพ็ญศีลธรรม ถ้าเป็นพระก็อยากสึก เบื่อพรหมจรรย์ อยากจะไปเป็นคฤหัสถ์ หลวงพ่อเคยคิดเบื่อว่าเมื่อเราอายุ ๗๐ ปี ๘๐ ปีจะทนสู้ญาติโยมไหวหรือเปล่า ถ้าผู้ปฏิบัติปฏิบัติมาถึงญาณนี้แล้ว ไม่อยากได้อะไร จิตใจหงอยเหงา คล้ายๆ พลัดพรากจากของรักของชอบใจมา คิดเห็นเจ้าหญิงคุณนายทั้งหลายก็ตายเหมือนกัน เกิดความเบื่อหน่าย จิตใจก็น้อมเข้าสู่พระนิพพาน กลิ่นธูปเพียงก้านเดียวเหมือนกลิ่นธูปร้อยก้านพันก้าน บางท่านหอมกลิ่นปัสสาวะ สูดดมเหมือนกลิ่นดอกเกตุสำหรับผู้ที่ขากเสลดรบกวนผู้อื่นในเวลาปฏิบัติ ในเมื่อบาปกรรมตามทัน จะมีสิ่งที่จะทำให้เกิดความเหม็น ทำให้เน่าอยู่เสมออาการของการเหม็นจะเริ่มที่ตัวเองก่อน แล้วเหม็นพ่อแม่พี่น้องไปเรื่อย ไปจนถึงเทวดาพรหม ญาณนี้น้อยคนจะเป็นแรงๆ ถ้าอาการหอม หอมจนกลิ่นหอมปรากฏชัดเป็นตัวแล้วบินเข้าจมูกอย่างแรง เหมือนตัวต่อตัวแตน เกิดความกลัวตลอดเวลา อุปกิเลสที่เกิดในญาณนี้จะกำหนดไม่หาย ปีติในญาณนี้เกิดขึ้นจนเบื่อ การกำหนดเวทนาในญาณนี้กำหนดก็ไม่หาย นิมิตก็ไม่หาย จงพยายามให้สังเกตอาการ อารมณ์จะดีก็ตามชั่วก็ตามจะเป็นไปในความเบื่อหน่าย ถ้าเกิดแก่กล้าจะเบื่ออาหาร เบื่อตนเอง เบื่อคน เทวดา พรหม เบื่อการปฏิบัติ แต่สามารถข่มใจให้ปฏิบัติได้อยู่ แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๘ ส่วนญาณที่ ๙ เลิกเลย ญาณที่ ๘ นี้เป็นญาณเกลียดเพื่อน คอยแต่จะจับผิดคนอื่น ให้เราสังเกตง่ายๆ คนที่เคยพูดมากพูดง่ายพูดดี เมื่อมาถึงญาณนี้จะไม่ค่อยพูด ซึมๆ เหงาๆ หงอยๆ ปีติในญาณที่ ๘ นี้เป็นเหมือนจะเหาะได้ (สำหรับญาณที่ ๗ ผู้ปฏิบัติที่เป็นนักดนตรีเก่าจะชอบร้องเพลง)

เวลาปฏิบัติต้องให้ลูกศิษย์เห็นกรรมของตัวเอง แล้วให้ตัดกรรมตัวเอง โดยเฉพาะพวกโจร ให้ตั้งขัน ๕ จัดดอกไม้ ธูปเทียน ขัดสัคเคเทวดา แล้วอาจารย์กล่าวนำว่า “ต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ข้าพเจ้า พระ,นาย................จะเลิกจากการทำกรรมไม่ดีนั้นเด็ดขาด ถ้าไม่เลิก.................และด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าละกรรมไม่ดีนั้นได้ แล้ว ขอให้ข้าพเจ้า........................ตลอดถึงพ่อแม่ ครอบครัว และสรรพสัตว์ จงพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงเถิด” เป็นต้น ให้ลูกศิษย์เห็นกรรม เพื่อคลายทิฏฐิของเขา อย่าปล่อยให้ตามกรรมเวลาสอบอารมณ์ ต้องสอบถามว่าผ่านมาตามลำดับหรือเปล่า


วิธีฝึกอ่านหนังสือ

การฝึกอ่านหนังสือนั้น คำภาวนาให้ว่า “อรหัง” เวลาฝึกในเวลากลางวัน ต้องหาอากาศครื้มๆ ถ้าแสงสว่างมากเกินไป อ่านไม่ได้ ถ้าฝึกกลางคืน กลางวันอ่านไม่ได้ก็มี ควรฝึกในเวลากลางวันตรงที่มีอากาศครื้มๆ ตัดกระดาษสีต่างๆ เป็นสี่เหลี่ยมประมาณ ๗-๘ อัน หรือ ๑๐ สี แล้วพับผ้าปิดตาหรือหลับตา เวลานั่งบริกรรมอย่าให้เข้าสมาธิ ให้อยู่ในอุปจารสมาธิ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ เวลาเพ่งให้บริกรรมว่า “อรหังๆๆ” ไปเรื่อยๆ แล้วถามว่า “นี้สีอะไร” ถ้าเขาตอบไม่ถูกอย่าต่อว่า ให้พูดขึ้นเองว่า “เออ..สีนั้นๆ” แล้วทำท่าจะเปลี่ยนกระดาษสี แต่ไม่เปลี่ยน แล้วถามเขาต่อไปว่า “สีอะไร” ถ้าเขาตอบผิดอีก ให้ทำท่าจะเอาออกแต่ไม่เอาออก จนกว่าเขาจะตอบถูกจริงๆ จึงเอาออก แล้วเอากระดาษสีใหม่ใส่แล้วทำคล้ายกันนี้แหละ จนกว่าจะหมดทุกสี เมื่อเพ่งสีถูกต้องแล้ว ต่อไปให้เพ่งพยัญชนะ ในการเพ่งพยัญชนะนั้น พยัญชนะภาษาไทยมีเท่าไร กี่ตัว เอาใส่ให้เพ่งหมด เพ่งพยัญชนะได้ทุกตัวแล้ว ก็ให้เพ่งสระต่อ ทำเหมือนกัน จนเพ่งได้ทุกสระ ขั้นต่อไปก็เอาสระกับพยัญชนะผสมกันให้อ่าน ให้ผสมสลับกัน เช่น กะ ขา คุ คี เป็นต้น เมื่ออ่านได้ดีแล้ว ให้เขียนเป็นภาษิตสอนใจ เช่น ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย แต่อย่าเขียนประเภทคำล้อเลียนเป็นอันขาด ก่อนจะสาธิตต้องซ้อมเสียก่อน ทำให้สมาธิติดต่อกันดีแล้วจึงจะสาธิตได้ เวลาฝึกต้องให้สมาธิอยู่ในวงจำกัด การเพ่งกสิณจิตใจต้องอยู่ในวงกสิณ ไม่ใช่จิตใจฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายอย่างนี้ใช้ไม่ได้

นิพพิทาญาณ จบ


ญาณที่ ๙
มุญจิตุกัมยตาญาณ

ปัญญากำหนดพิจารณาปรารถนาอยากจะออก อยากจะหนีไปจากรูปนาม บ้านเราเรียกว่าญาณน้อยใจ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าญาณม้วนเสื่อม้วนหมอน อยากออกอยากหนี

ผู้ปฏิบัติถูกเขาพูดให้นิดเดียวกลุ้มใจทั้งวันก็มี อาการน้อยใจ เช่น เราสอบอารมณ์ไปถามไป เขาตอบมา เราแกล้งพูดว่า “จำคำพูดมาจากคนนั้นคนนี้หรือเปล่า” แค่นี้ก็ร้องไห้แล้ว ถ้าญาณนี้เกิดแก่กล้า สภาวะจะรุนแรงมาก กลัวจะด่วนตัดสินใจเร็วเกินไป เช่นเลิกการปฏิบัติไปทันที สึกทันที ถ้าเกิดแรงกล้าถึงกลับฆ่าตัวตายได้ อาจารย์ผู้สอนต้องระมัดระวัง เช่นการพูดการคุย การเทศน์การสอน ต้องเป็นสัปปายะแก่เขา ถ้าผู้ปฏิบัติรู้ว่าวันนี้อยู่ญาณที่ ๘ พรุ่งนี้จะขึ้นญาณที่ ๙ ต้องให้คอยระวัง ถ้าในขณะนั้นเกิดขโมยหนีไปสึกทำผิดต้องอาบัติถึงปาราชิก ไม่ต้องให้กล่าวคำลาสิกขาเพราะขาดไปแล้ว การถาม ถ้าเขาตอบไม่ถูก ต้องถามไปทีละข้อๆ เช่น “มีอาการคันตามตัวไหม” ถ้าญาณนี้เกิด ส่วนมากจะตอบว่า โอย...คันมากเลยครับอาจารย์ เกาจนเลือดออกเลย ถ้าอาการคันนั้นเล็กๆ น้อยๆ แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๓ ถ้าคันมากก็ให้เขากำหนดไปเดี๋ยวก็หาย บางทีขาบวม ตั้งใจกำหนดไป เดี๋ยวมันก็หายเอง บางทีเป็นตัวตะขาบ ตัวบุ้ง ตัวหนอน แมลงป่อง งู เป็นต้น ไต่ เลื้อยตามตัวของเรา บางทีต้องแก้สบงสะบัดหาแมลงต่างๆ ก็มีนี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๘ ถามต่อไปว่า “เวลานั่งสมาธินั่งได้ดีอยู่หรือเปล่า” บางท่านตอบว่าผมนั่งไปค่อยได้ มีแต่อยากเดิน แล้วให้ถามว่า “เวลาเดินกำหนดไหม” ถ้าผู้ปฏิบัติตอบว่ากำหนดบ้าง ไม่กำหนดบ้าง เดินนั่งไม่ค่อยกำหนด ตั้งใจว่าจะนั่ง ๓๐ นาที นั่งได้แค่ ๕ นาทีต้องข่มใจไว้ พอได้อีก ๒ นาทีก็ข่มใจไว้อีก บางทีข่มใจไม่ได้ลุกขึ้นไปเลยก็มี ผู้ปฏิบัติอยากจะเหยียดขา ล้มหัว อยากนอน นี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๙

ต้องคอยระวังสังวรพวกภิกษุที่เคยติดยามาก่อน เช่น พวกยาบ้านี้ เวลาขึ้นมาจริงๆ จะเอาไม่ค่อยอยู่ ถ้ามีพวกติดยาเสพติดมาขอบวช ต้องให้รักษาให้หายเสียก่อน ยารักษา เช่น ปลาไหลเผือก นางแซงแดงก็ได้ นางแซงขาวก็ได้ และฮังฮ้อนฝนรวมกันเอาใส่น้ำ ให้ฉันหายได้ วิธีรักษาผู้ติดยาเสพติดที่มาหา ให้ตั้งขัน ๕ ดอกไม้ธูปเทียน ขัดสัคเคเทวดา ตั้งนโม ๓ จบ แล้วให้กล่าวว่า “ต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าข้าพเจ้าไม่เลิกจาก............................ขอให้ข้าพเจ้าตายถ้า ข้าพเจ้าปฏิบัติได้ ขอให้ข้าพเจ้าพร้อมทั้งครอบครัวจงเจริญ” เป็นต้น

สรุป ญาณนี้จะนั่งไม่ได้นาน การปฏิบัติของผู้ปฏิบัติตั้งแต่เกิดญาณนี้ จะนั่งไม่ค่อยได้นาน นั่งไม่ดี กำลังนั่งอยู่ หัวใจเทศน์ปุจฉาวิสัชนาถาม-ตอบกันไปมาไม่หยุดเลยก็มี คิดมากก็มีอย่างนี้ให้ได้ ถามว่า “ในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้คิดจะออกจากการปฏิบัติ หรือคิดจะปฏิบัติต่อ” บางท่านขอลดเวลาลง ขอให้มีวันเสาร์วันอาทิตย์ก็มี ถ้าลักษณะของการเจ็บป่วย ญาณที่ ๗ นี้ทนได้อยู่ ญาณที่ ๘ ก็ทนได้อยู่ พอมาถึงญาณที่ ๙ ต้องไปหาหมอทนไม่ได้ บางคนก็นอนตรอมใจ ขอลากลับบ้าน ถ้าไม่ให้กลับจะไปกระโดดน้ำตาย เหล่านี้เป็นต้น บางทีหลวงพ่อก็ปลอบอยู่ บางคนก็ไปเลย ญาณนี้เป็นญาณที่จะต้องคอยระมัดระวัง รู้จักปลอบโยน หาคำพูดดีๆ มาพูด อย่าดุด่า บางท่านครูบาอาจารย์ไม่พูดด้วยเท่านั้นก็ผิดใจ กล่าวว่าแต่ก่อนครูบาอาจารย์ก็ถามดีอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ถามเราเลย คือจะค้นเรื่องอดีตมาพูดกัน บางคนคิดว่าเราคงหมดบุญวาสนาบารมีแล้วหนอ เอาแค่นี้พอเป็นอุปนิสัยก็พอแล้ว สำหรับพระเณรที่ปฏิญาณตน เมื่อมาถึงญาณนี้ อยากสึก เอาไม่อยู่ สึกไปจริงๆ ก็มี


มุญจิตุกัมยตาญาณ จบ
806  สุขใจในธรรม / กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ / Re: เรื่องจริงอิงนิทาน โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ) เมื่อ: 25 กุมภาพันธ์ 2559 13:16:10
.



เรื่องที่ 14 ผีนางไม้
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)

ท่านผู้ฟังทั้งหลายวันนี้วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2516 เมื่อวานนี้พูดถึงผีวัดท่าซุงยังค้างอีกนิดหนึ่ง คือว่าตอนที่ผีพระมาบอกว่า การสร้างวัดท่าซุงของหลวงพ่อใหญ่ เดินทีท่านธุดงค์มา แล้วมาพบสถานที่มีชัยภูมิดี ก็ปักกลดตรงนี้ และในที่สุดท่านก็สร้างเป็นวัดขึ้น อันดับแรกทำเป็นอาคารทำด้วยไม้ไผ่ มุงแฝก แล้วก็ใช้สถานที่นั้นเป็นที่อาศัย แม่น้ำหน้าวัดแคบนิดเดียว ที่กว้างออกมาได้ก็เพราะอาศัยเรือเมล์ เรือเขียว เรือแดง วิ่งไปวิ่งมา คลื่นซัดฝั่งพังมาไกล แล้วท่านก็บอกว่าเดิมทีเดียวมีเสาหงส์อยู่หน้าวัด สมัยที่วัดรุ่งเรือง ถ้าจะดูในระดับเวลานี้ก็อยู่กลางแม่น้ำ บริเวณที่กุฏิพระตั้งอยู่สมัยนี้เป็นเขตแดนของป่าช้า เวลาใช้น้ำจริงๆ ก็ใช้น้ำบึงเล็กๆ ที่หลังวัด นี่ตามที่ท่านเล่าให้ฟังอย่างนี้ ก็รับฟังไว้เหมือนกัน เพราะผีเล่าให้ฟัง ทำไมจึงเรียกว่าผี เพราะว่าคนที่ตายไปแล้ว จะเป็นผีก็ตามเป็นเปรตก็ตาม เทวดาหรือพรหมก็ตาม บรรดามนุษย์ทั้งหลายยกให้เป็นผีเสมอกัน อย่างนี้จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องของผี หลังจากนั้นมาไม่นาน

อาตมาก็ได้พบกับอดีตกำนันชื่ออ่อง เรียกกันว่ากำนันอ่อง ก็แล้วกัน เมื่อปี พ.ศ. 2511 ท่านมีอายุ 93 ปี ท่านกำนันคนนี้รู้เรื่องวัดนี้มาก จึงได้เชิญมาพบ ตอนนั้นท่านยังเดินได้แข็งแรง จึงได้ถามว่าโยม เคยเห็นเสาหงส์ของวัดนี้บ้างไหม ท่านกำนันอ่องก็บอกว่าสมัยผมเป็นเด็กๆ เห็นขอรับ เสาหงส์อยู่ที่นี่ขอรับ แล้วแกก็ชี้ไปที่หน้าศาลา บอกว่าอยู่บริเวณกลางแม่น้ำขอรับ แล้วก็ตลิ่งก็ยาวออกไปประมาณ 4 - 5 วา แสดงว่ำแม่น้ำตอนนั้นเล็กนิดเดียวสมัยนั้น แล้วถามว่าโยมเคยรู้จักบึงหลังวัดบ้างไหม บึงเล็กๆ แกก็บอกว่ามี แล้วก็พาไปชี้สถานที่ ว่าที่ตรงนี้แหละขอรับบึงเล็กๆ ตลอดปีน้ำไม่แห้ง สมัยนั้นชาวบ้านแถวนี้ก็ดี ชาววัดก็ดีต้องอาศัยบึงเล็กๆ อันนี้แหละขอรับ รับประทานน้ำกันในฤดูแล้ง เพราะว่าในฤดูแล้งน้ำไม่มีจะใช้ ในคลองขาดน้ำ สมัยก่อนมีเขื่อน ก็เป็นอันว่าเรื่องราวของวัดท่าซุงที่ผีเล่าให้ฟังนั้นเรื่องจริง จะว่าผีเหลวไหลก็ไม่ได้ หรือจะว่าเป็นอุปาทาน ฝันไปมันก็ไม่ถูกเหมือนกัน

นี่สำหรับอาตมาแน่ใจว่าผีพูดจริง เพราะหลักฐานมีจริง สำหรับท่านผู้ฟังจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นเรื่องของท่าน เอาละตอนนี้ เรื่องของวัดท่าซุงก็ยกยอดไป เพราะเหลืออีกนิดเดียวก็เอามาต่อเข้า ต่อจากนี้ไปก็มาคุยเรื่องผีกันต่อไปดีกว่า

เราจะหาผีที่ไหนดีล่ะ ประเดี๋ยวก่อน ดูก่อนซิ เอาย้อนไปวัดบางนมโคอีกสักครั้งหนึ่ง ตานี้มาว่ากันถึงผีนางไม้ คำว่านางไม้นี้เรียกกันว่ารุกขเทวดาตามภาษาพระพุทธศาสนานะ คือว่าเป็นเทวดาประเภทหนึ่งที่มีบุญญาธิการน้อย วิมานไม่สามารถจะลอยอยู่บนอากาศได้ ต้องอาศัยยอดไม้พะอยู่ ถ้ามีต้นไม้ที่มีแก่น ตามบาลี ที่
 
พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัส ว่าต้นไม้ที่มีแก่น สูงคืบหนึ่งก็มีรุกขเทวดา ตานี้รุกขเทวดานี่ ความจริงเขาว่าดุ นางไม้นี่นะ เขาลือกันว่าดุ แต่ความจริงไม่แน่นักหรอก ทราบจากหลักฐานในบาลีว่าบางองค์ท่านก็ดุบางองค์ก็ไม่ดุ บางคนบอกว่าถ้าเทวดามีจริง รุกขเทวดามีจริง ตัดต้นไม้มาหลายหมื่นหลายแสนต้นแล้ว ทำไมถึงไม่มีอันตราย แต่บางคนไปตัดเข้าเพียงต้นเดียวก็เป็นอันตราย อันนี้ ขอแจ้งให้ทราบว่าเทวดามีคุณธรรมพิเศษอยู่ 2 อย่าง คือ หิริ และโอตตัปปะ หิริ แปลว่ามีความละอายต่อผลของความชั่ว โอตตัปปะ เกรงกลัวผลของความชั่ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วเป็นการเบียดเบียนตัวและคนอื่น เทวดาไม่ปรารถนาที่จะทำ ตานี้บางคนที่บังเอิญไปโค่นต้นไม้เข้าแล้วก็เป็นอันตราย นั่นต้องถือว่าเป็นกฎของกรรมของตัวเอง มิใช่ว่าเทวดารุกราน โปรดทราบตามนี้ไว้ด้วย เทวดาแปลว่าผู้ประเสริฐ คนที่ประเสริฐแล้วย่อมไม่รุกรานชาวบ้านย่อมไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน นี่ขอบรรดาท่านผู้ฟังรับทราบไว้ด้วย
 
ทีนี้มาว่ากันถึงนางตะเคียน คือรุกขเทวดาที่อาศัยอยู่บนต้นตะเคียนที่วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางตะเคียนที่มีความสำคัญอยู่ 2 ต้น คือต้นใหญ่เวลานี้ยังอยู่ ยังไมมีใครโค่น สมัยนั้นหลวงพ่อปานท่านมีความประสงค์จะโค่น แต่ว่านางตะเคียนไม่ยอมให้โค่น จะรานกิ่งท่านก็บอกว่าเธอไม่ยอมให้ราน ถามว่าแล้วหลวงพ่อว่ายังไงล่ะขอรับ ก็เลยสัญญากับเขา ท่านว่าอย่างนั้น ฉันก็เลยสัญญากับเขาว่า ถ้ากิ่งของตะเคียนนี่หล่นมาโดนหลังคากุฏิ ถ้ากระเบื้องของฉันลิไปนิดเดียวฉันจะตัด นางตะเคียนเขาก็ให้สัญญาว่าจะไม่ทำอันตรายแต่กุฏิพระ นี่ก็เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เหมือนกัน บางคราวนะ กิ่งใหญ่ๆ แห้งหักแล้วก็แห้งห้อยอยู่ ก็คิดว่าหล่นมาเมื่อไหร่ หลังคากุฏิพระจะต้องแตก หรือไม้อาจจะต้องหัก แต่ห้อยอยู่นั่นนานแสนนานไม่ยอมหล่น พอจะหล่นเข้าจริงๆ ก็ปรากฏว่ามีลมพัดมา ทำเอากิ่งตะเคียนอันนั้นแหละไปหล่นอยู่โน่น เลยกุฏิพระไปประมาณ 2 วา อันนี้อาตมาเห็นเองนะ รับรองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ก็เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ แต่ว่าลมนั่นจะเป็นลมของนางตะเคียน หรือว่าธรรมชาติ อาตมาก็ไม่ทราบเหมือนกัน เป็นว่าเคยเห็นก็แล้วกัน
 
ตานี้มาคุยกันถึงนางตะเคียนให้ห้วย นางตะเคียนนี่ก็มีดีเหมือนกัน ให้หวยได้ เลขท้าย 3 ตัว เลขท้าย 2 ตัวนี่ให้ได้ เรื่องราวก็มีอยู่ว่า มีหญิงคนหนึ่ง เป็นหญิงหม้าย ชื่อว่าละออ นามสกุลงามลักษณ์ เป็นภรรยาของอดีตครูของอาตมานี่เอง ครูคนนี้เคยสอนเบื้องต้นในชั้นประถม ความจริงท่านเป็นคนดีมาก เป็นคนที่ชาวบ้านรักมาก เข้าสังคมได้ดี ทำตัวเป็นคนเสมอกัน ต่อมาก็มาเป็นปลัดอำเภอ เมื่อท่านตายไปแล้ว ตระกูลนี้เมื่อท่านอยู่รู้สึกว่ามีความรุ่งเรืองตามสมควร อาศัยความดีของท่าน สมัยที่เป็นปลัดอำเภอเวลาคนเขาไปหา ขึ้นไปบนอำเภอไปดูโต๊ะโน้นโต๊ะนี้ บางท่านเขาไม่สนใจ คือเรียกว่าชาวบ้านเขาขึ้นไปอำเภอน่ะ ไปหาเจ้าหน้าที่ของอำเภอ หาคนสนใจไม่ได้ บางรายจะไปติดต่อเสียภาษีอากร เจ้าหน้าที่ก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ลืมดินสอบ้าง ลืมปากกาบ้าง ลืมลูกกุญแจเสียบ้าง ทำโยกๆ โย้ๆ จนกระทั่งพ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา เบื่อข้าราชการไปตามๆ กัน เพราะว่าข้าราชการเลวๆ อย่างนี้มีปริมาณสูง ในอำเภอนั้นนะ แต่ว่าอำเภออื่นเขาจะเป็นยังไงก็ไม่ทราบ ตอนคุณยุ้ย งามลักษณ์ สามีคุณละออ งามลักษณ์ไปเป็นปลัดอำเภอ ไม่ว่าอำเภอไหนที่ท่านขึ้นไปอยู่ เมื่อเห็นคนขึ้นไปแล้วในฐานะที่เคยเป็นครูมาก่อน ก็ออกต้อนรับขับสู้ ถามว่ามาธุระอะไร มีธุระอะไร ถ้าใครเขาไม่ว่างก็ทำให้เลย อย่างนี้เป็นที่รักของคนไปติดต่อบนสถานที่ราชการมาก ก็เลยมีรายได้ดี คำว่าได้ในที่นี้ไม่ใช่ได้มาจากไหน ถึงเวลาวันเกิดทีหนึ่งก็มีคนมาสงเคราะห์ท่าน เอาเงินมาช่วยบ้าง เอาอะไรมาช่วยบ้าง ตามเรื่องตามราวของชาวบ้านที่มีความกตัญญูกตเวที และบูชาความดีของคน เป็นอันว่าฐานะของบ้านนี้อยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควร ไม่มั่งคั่ง เรียกว่าพอใช้พอสอย

ต่อมาไม่ช้า ท่านปลัดอำเภอยุ้ย งามลักษณ์ ก็ตาย วันหนึ่งแกมาขอหวยอาตมา บอกว่าขอหวย ถามว่าจะเล่นไปทำไม บอกว่าจะเอาเงินไปส่งลูก ก็เลยบอกว่าพี่ พระน่ะให้หวยไม่ได้นะ ถ้ารู้จริงๆ มีเหมือนกัน บางคราวถ้าเผลอเท่านั้น จึงได้พูดไป ถ้าเวลาไม่เผลอ ตั้งใจพูดจริงนี่ให้ไม่ได้ เป็นระเบียบของพระ เพราะการให้ไปแบบนั้นก็เท่ากับเอาอาวุธให้แก่โจร เป็นการปล้นเจ้ามือเขา การเล่นกันตามธรรมดาเป็นการเสี่ยงโชค แล้วอีกประการหนึ่ง คนที่รับหวย เลขหวยไปจากมือพระหรือจากใครก็ตาม ถ้าหากว่าไม่มีลาภสักการะจริงๆ ตัวเองบุญยังไม่ถึงจริงๆ ก็มักจะไม่เล่น

ดูตัวอย่างหลวงพ่อจง ให้คนบอกว่าเลขนี้ตรง เล่นไม่ต้องกลับ แต่ท่านก็ทราบว่าเขาไม่เล่นของท่าน ท่านก็บอกว่าให้ไปแล้วก็ไม่เล่น คนนั้นก็ยืนยันว่าจะเล่น ในที่สุดเวลาหวยออกจริงๆ ปรากฏว่าเลขของหลวงพ่อจง เขาไม่ได้เล่น เล่นของอาจารย์อื่น เมื่อหวยออกมาแล้วเป็นเลขของหลวงพ่อจงตรงเป๋ง ไม่ต้องกลับ เลยบอกแกอย่างนี้ บอกว่าไอ้นี่มันเป็นเรื่องของโชคลาภ พี่อย่าเล่นมันเลยพี่ จะเล่นก็เล่นอย่างอื่นเถอะ ค้าขายดีกว่า แกก็บอกว่าทุนมันน้อย แล้วก็ไม่ถนัด ก็เลยจะหาทางให้แกเลิกเล่นหวย ในฐานะที่แกเป็นผู้หญิง ก็คิดว่าจะทำไม่ได้ แล้ววัดบางนมโคสมัยนั้น ต้นไม้ก็ครึ้มไปหมด กลางคืนน่ากลัวมาก ไฟฟ้าก็ไม่มี บอกว่าพี่ เอายังงี้ดีกว่านะ นางตะเคียนที่หน้าวัดนี่นะมีอยู่ 2 ต้น ต้นใหญ่ๆ ต้นหนึ่งมีโพรง นางตะเคียนนี่นะ ต้นหนึ่งให้หวยเก่งจริงๆ ถ้าหากว่าพี่จะขอหวยให้ดีละก็ เวลากลางคืนประมาณ 4 ทุ่มนะ หรือว่าเลยนั้นไปแล้วก็ดี อย่าให้คนเห็น

พี่เอาดินสอมาเล่มหนึ่ง แล้วก็เอากระดาษเปล่าๆ มาแผ่นหนึ่ง เอาธูปจุดบูชานางตะเคียนขอให้ให้หวย จะเอาเลขข้างล่างหรือเลขข้างบนก็บอกให้ชัด จะให้ให้เลขกี่ตัวก็ได้ตามที่นางตะเคียนจะบอก จะบอกได้ตัวเดียว หรือ 2 ตัว หรือ 3 ตัวก็ตามใจ ขอให้บอกเท่านั้น บอกว่าขอให้เขียนเป็นเลขลงไปในกระดาษ แล้วพี่ต้องมาเอาเวลาเช้ามืดนะ ประมาณตี 4 เพราะถ้าสว่างแล้วเลขที่นางตะเคียนเขียนจะมองไม่เห็น จะลบไป ไอ้ที่บอกอย่างนี้ไม่ใช่อะไร เพราะแกเป็นผู้หญิง เวลามาขอหวยต้องมาคนเดียว ก็คิดว่าแกเป็นผู้หญิงจะมายังไง วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้นไม้ครึ้มน่ากลัวจะตาย เวลากลางคืนพระองค์เดียวยังไม่ค่อยจะกล้าเดินนัก แต่ที่ไหนได้ พี่ละออแกเกิดไม่กลัวขึ้นมา อาตมาไปรู้เอาเวลาผ่านไปประมาณ 3 ปีแล้ว แกจึงมาเล่าความจริงให้ฟัง รู้สึกว่านับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 2 - 3 เดือน ค่าใช้จ่ายที่แกจ่ายในการทะนุบำรุงลูก ให้การศึกษาดูเหมือนจะไม่อั้น ลูกอยากจะเรียนอะไร ก็ส่งให้เรียน ทั้งๆ ที่รายได้อะไรก็ไม่มี คิดว่าแกมีรายได้อย่างอื่น หรือมีเงินกู้หลังจากสามีตายไปแล้ว คือว่าสมัยอยู่อาจจะมีเงินให้เขากู้ก็ได้ คิดว่ายังงั้น ไม่ได้สงสัยว่าได้หวย 3 ปีผ่านไป

นางตะเคียนเขียนไว้ในกระดาษบอกว่านับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้เลิกเล่นหวย เงินที่ได้จากรายได้หวยพอแล้ว แกจึงมาเล่าให้ฟัง แกบอกว่าท่านมหารู้ไหมที่ท่านมหาบอกฉันให้ไปขอหวยที่นางตะเคียนน่ะ มีผลดีจริงๆ ก็ตกใจถามว่า พี่มาขอจริงๆ น่ะรึ แกบอกว่า ก็ท่านบอกอย่างนั้นนี่ ฉันก็มาจริงๆ ถามว่ามากับใคร บอก มาคนเดียว ถามว่าพี่ไม่กลัวผีรึ บอกฉันอยากได้เงินนี่ ฉันไม่กลัวผีหรอก แล้วกัน เอาเข้าแบบนี้ แล้วถามว่าผลเป็นยังไง แกก็เลยเล่าให้ฟังว่า เอาธูปมา 3 ดอกจุดบูชาขอหวย ขอให้นางตะเคียนให้หมายเลขรางวัลที่ 1 ตอนท้าย 3 ตัว จะให้ได้ 1 ตัว 2 ตัว หรือ 3 ตัว ก็ตามอัธยาศัยตาที่ท่านบอก ถ้าให้ละก็ขอให้เขียนใส่กระดาษ แล้วแกก็เอากระดาษใส่ไว้ในโพรงไม้ เอาดินสอใส่ไว้ด้วย เวลาตอนตี 4 หรือตี 3 เศษๆ แกก็มา ได้หมามันก็เห่า แกว่ายังงั้น ต้องถือขนมมาด้วยสัก 2 - 3 คราว แทนที่มันจะเห่า มันก็วิ่งไปขอขนมกิน แกบอกว่าได้อาศัยหมาเป็นเพื่อน หมาตอนนั้นเยอะ เกือบร้อยตัว เพราะว่าวัดเลี้ยงหมา ไม่เลี้ยงก็ไม่ได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่าหมามันมาก มันมาเองนี่ ก็เลยต้องเลี้ยงมัน

แกบอกว่าบางคืน พอหยิบออกมาแล้ว ทั้งๆ ที่อากาศมืดๆ ก็เห็นเลขชัด งวดแรกจริงๆ ได้เลขท้าย 3 ตัว แล้วก็มีหนังสือเขียนไว้ว่า จงอย่าเล่นเกิน 20 บาท คือว่าอย่าซื้อเกิน 20 บาท และอย่าบอกใคร แกไปแกก็ซื้อเลขตัวนั้นในอัตรา 20 บาท ปฏิบัติตามคำสั่งจริงๆ แกก็ได้เงินหมื่นสองพันบาท งวดต่อมาอีกให้ 2 ตัว บอกว่าคราวนี้จงอย่าเล่นเกิน 5 บาท แกก็เล่น 2 ตัว ไม่เกิน 5 บาท มาคราวที่ 3 ให้เลขตัวเดียว บอกว่าเลขตัวนี้อยู่ท้าย ให้เล่นปักท้าย จงอย่าเล่นเกิน 5,000 บาท แกก็ไปซื้อปักท้าย 5,000 บาท เขาก็ใช้มานะบาทละ 7 บาท ก็คิดดูแล้วกันได้เท่าไหร่ แล้วในระยะต่อมาก็ให้ตัวเดียวมาอีกสัก 2 - 3 ครั้ง กำหนดเงินให้เล่นคราวละพันบาทบ้าง 2 พันบาทบ้าง สัก 5 - 6 คราว ก็ให้สามตัวครั้งหนึ่ง แล้วก็ให้ 2 ตัวอีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าจำกัดเงินในการซื้อ แกบอกว่าได้อย่างนี้มาตลอดปี เป็นเวลา 3 ปี เวลานี้มีเงินที่เก็บไว้ และให้เขากู้ไปประมาณ 2 แสนบาทเศษ เป็นเงินกู้ที่พอจะเลี้ยงตัวเลี้ยงลูกได้ แล้วก็เงินใช้สอยในการลงทุนค้าขายเล็กๆ น้อยๆ มีทุนหมุนเวียนพอสมควร

เวลานี้นางตะเคียนบอกให้เลิกแล้ว แล้วถามว่าพี่จะเล่นต่อไหม แกก็เลยบอกว่าฉันไม่เล่นหรอก เพราะว่านางตะเคียนให้ทำแบบไหนฉันก็ทำแบบนั้น แล้วก็บางคราวฉันมีความขัดข้องอะไรขึ้นมา ฉันก็มาตอนมืดๆ อย่างที่แล้วมานั่นแหละ เดินดินสอใส่ลงไป กระดาษใส่ลงไป ขอให้แม่นางตะเคียนพยากรณ์เหตุร้ายหรือความต้องการหรือความกลุ้มใจที่เกิดขึ้นนี่ จะปัดเป่าให้หายไปด้วยวิธีใด ก็ปรากฏว่าตอนเช้ามืดมารับกระดาษนั้น ก็เห็นขอคามที่นางตะเคียนเขียนหนังสือบอกไว้ แกก็ปฏิบัติตามนั้น ผลจริงๆ ที่ได้รับก็คือความสุขใจ คลายความขัดข้องลงไปได้
 
นี่แหละท่านผู้ฟัง เรื่องของผีที่ตายแล้วนี่ก็มีประโยชน์กับคนเหมือนกัน นางตะเคียนก็ถือว่าเป็นผี จะว่าไม่จริงก็ไม่ได้ เมื่อความจริงมันปรากฏอย่างนี้ ประสพการณ์มีมาอย่างนี้ก็มาเล่าสู่กันฟัง ท่านผู้ฟังจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจท่าน คนพูดมีหน้าที่พูด คนฟังมีหน้าที่ฟัง แล้วก็มีหน้าที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ขอให้เป็นไปตามอัธยาศัยของท่าน
 
ต่อนี้ไปก็มาคุยกันถึงนางตะเคียนชุดนี้อีก นางตะเคียนชุดนี้มีชื่อมาก สมัยที่อาตมาเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอยู่ที่นั่น ก็อาศัยนางตะเคียนเหมือนกัน หลวงพ่อปานท่านก็อาศัย ถึงเวลาปีหนึ่งก็เอาผ้าไปห่มต้นตามประเพณี แล้วก็เอาทองไปปิดให้ แสดงการคารวะ จะหาว่าพระไหว้ผีก็ตามใจเถอะ ในเมื่อผีมีคุณ เวลาเกิดขัดข้องอะไรขึ้นมาก็ไปถาม เวลาบูชาพระอาตมาเรียกว่าโยม ก็มีอยู่ 2 ต้นด้วยกัน ก็บอกว่าโยมทั้งสองน่ะ เวลานี้อาตมาขัดข้องอย่างนั้นอย่างนี้ จะแก้ไขได้ด้วยวิธีใด กรุณามาบอกด้วย เพียงเท่านี้นอนใกล้จะหลับก็ปรากฏมีหญิงสาว 2 คน แต่งตัวสวย คนหนึ่งนุ่งผ้าสีชมพู ใส่เสื้อสีชมพู อีกคนหนึ่งนุ่งผ้าสีทอง ใส่เสื้อสีทอง มานั่งอยู่ข้างๆ แล้วก็พูดเรื่องที่ต้องการจะรับทราบให้ฟัง หรือว่ามีบุคคลใดก็ตามจะมาคิดร้ายอะไรก็ตาม ส่วนมากมักจะมาบอกข่าวลักษณะนั้นอยู่เสมอ อาตมาก็ยอมรับนับถือว่าท่านเป็นโยม คำว่าโยมแปลว่าผู้รับเลี้ยง อย่างนี้เขาเรียกว่าเลี้ยงใจ หรือว่าเลี้ยงกายด้วยก็ได้ เพราะว่าความดีของท่านที่หาอาหารมาให้ด้วย หมายความว่าถ้าเวลาไหนเขาเกิดยากจนขึ้นมา พระเจ้าในวัดนั้นมีอาหารไม่บริบูรณ์ ฉันกันไม่ค่อยจะพอ ก็บอกนางตะเคียน บอกหลวงพ่อปาน ส่วนใหญ่หลวงพ่อปานท่านบอกว่าเป็นภาระของนางตะเคียน แล้วท่านก็มา ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร ท่านก็รับภาระไปหาอาหารมาให้ แล้วผลที่สุดท่านก็บอกว่าจะหาอะไรมาให้ บางทีก็ได้จากคนไกลๆ บ้าง ได้จากคนใกล้ๆ บ้าง เป็นอย่างนี้ จะว่าผีไม่มีประโยชน์มันก็ไม่ได้ สำหรับคนที่รู้จักกับผีและรู้เรื่องราวของผีดี
 
ทีนี้ นางตะเคียนท่านนี้ ตามปกติแล้วถ้าคนมาพักที่วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กุฏิอาตมา ถ้าไม่เคารพในพระรัตนตรัยละก็ได้ดีทุกคน เป็นอันว่านอนไม่หลับ คราวหนึ่งเพื่อนกันในสมัยที่เป็นฆราวาสอายุเท่ากัน แต่ว่าเขาเป็นฆราวาส อาตมาเป็นพระ เขามาเยี่ยมก็คุยกันมาถึงเวลาดึกประมาณสัก 5 ทุ่ม เขาถามว่าที่วัดนี้ผีดุไหม ก็เลยบอกเขาว่าต้องการแบบไหนล่ะ ต้องการแบบดุหรือต้องการแบบไม่ดุ เขาก็นิ่ง เลยถามเขาอีกคำหนึ่งว่า ต้องการนอนหลับ หรือต้องการนอนไม่หลับ เขาบอกว่าต้องการแบบนอนไม่หลับ เพราะเจ้าเพื่อนคนนี้เขาบอกว่าผีไม่มี ก็เลยบอกว่า เอา ตกลง คืนนี้จงอย่าหลับเลย เท่านั้นแหละ แล้วก็ปูเสื่อให้นอนใกล้ๆ กัน พออาตมานอนลงไป เขาก็ล้มตัวลงนอน นอนแล้วเขาก็ลุกขึ้น พอลุกขึ้นแล้วก็นอนลงไปอีก รู้สึกว่าหัวพอจะถึงหมอนมันก็ลุกขึ้น เวลาที่นอนนั่น นอนใกล้ๆ กับอาตมา ในที่สุดเขาก็เอาไฟฉาย ฉายมาในระหว่างกลางแล้วก็นอนลงไปอีก อาตมาก็สงสัย ดูเหมือนกันว่าเจ้าทองหล่อนี่มันทำอะไรของมัน แล้วก็ลุกขึ้นมา เขาก็เลยบอกว่า เอางี้ก็แล้วกัน เอาอย่างนอนหลับดีกว่า ถามว่าเป็นไงล่ะ ตอบว่านอนไม่ได้ซี แขนใครก็ไม่รู้ใหญ่จริงๆ มารองทับอยู่ข้างหลัง นอนลงไปก็เอาหลังทับแขน ทีแรกผมนึกว่าแกล้งผมเลยเอาไฟฉาย ฉายตรงกลางไว้ เห็นท่านนอนเฉยๆ พอนอนลงไปอีก ก็พบแขนอีก เป็นอันว่าไม่ใช่แขนท่าน ก็เลยบอกว่าดีแล้ว จะได้รู้ เชื่อหรือยังเล่าว่าผีมีจริง เขาบอกว่าเชื่อแล้ว ถ้าไม่เชื่อน่ากลัวคืนนี้จะไม่ได้นอน บอกแน่นอนแกไม่ได้นอนแน่ เมื่อเขาบอกว่าเชื่อก็บอกเขาว่า เอ้า บูชาพระเสีย ที่กุฏินี้ ถ้าไม่บูชาพระไม่มีโอกาสจะนอนหลับ เขาก็กลายเป็นเด็กว่าง่ายไปนั่งบูชาพระตามสมควรแล้วก็นอน นอนหลับสนิทตลอดคืน
 
ทีนี้ มาอีกพวกหนึ่ง มาจากจังหวัดสุพรรณบุรี พวกนี้มา 4 คน มีคนแก่มา 3 คน แล้วมีคนหนุ่มมาคนหนึ่ง เจ้าเด็กหนุ่มคนนี้เคยเข้าป่า มันปกติจะไปไหนก็ตามมันต้องไหว้ผีป่าผีบ้าน ผีเรือนอะไรของมันก็ตาม เพราะอะไร เพราะเคยโดนมา ถ้าไม่เคารพต่อสถานที่ละเป็นอยู่ไม่เป็นสุข มันเคยโดนมาแบบนั้น เกิดความเชื่อถือมาก แต่ว่าเจ้าแก่สามแก่นี่ซี หูหนัก ใจหนัก เมื่อเวลาจะนอนก็เอาตะเกียงมาแขวนให้ใกล้ๆ แล้วก็พรางแสงไว้ คือด้านหนึ่งสว่าง ด้านหนึ่งให้มืด คือว่าแสงไฟเข้าตาเดี๋ยวเขาจะนอนไม่หลับ สมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า แล้วก็สั่งว่าทุกคนนะ ก่อนจะนอนบูชาพระเสียก่อนนะ ถ้าไม่บูชาพระจะนอนไม่หลับ เจ้าหนุ่มเคยกระทบแบบนี้มาแล้วมาก บูชาพระด้วยความเต็มใจคนเดียว แต่ว่าเจ้าแก่สามแก่นี่ไม่ยอมบูชาพระ ทั้งๆ ที่มันนอนอยู่ในกุฏิของพระ มันยังไม่บูชาพระดูเถอะ คนสมัยนี้ มันเป็นเสียแบบนี้ คิดว่าตัวน่ะดี รู้อะไรทั้งหมด แต่ว่าพระน่ะแปลว่าผู้ประเสริฐ การบูชาพระน่ะให้บูชาพระพุทธเจ้า เขาเองเขาก็ประกาศตัวเป็นกรรมการวัด เรียกว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ใกล้ชิดกับพระมาก บางทีอาจจะมีความรู้สึกว่า เขาเป็นเจ้านายพระเสียเลยก็ได้ ไม่ยอมบูชาพระ พอเวลาตีสองอาตมาออกมาจากห้องนอน เห็นเจ้าหนุ่มหลับสบาย แต่ว่าเจ้าแก่ 3 คนนั่งคุยกัน ก็สงสัยว่านี่ทำไมถึงไมนอนล่ะ มันดึกป่านนี่แล้วนี่ หรือว่านอนตื่นขึ้นมาแล้ว ทั้งสามคนเขาก็รายงานบอกว่า นอนไม่ได้ขอรับ ถาม ทำไมล่ะ มีเจ้าหน้าที่มาจัดระเบียบหัวอยู่ตลอดเวลา ถามว่ายังไง ไหนลองเล่าให้ฟังที เขาก็เลยบอกว่าเวลานอนลงไปมีผู้หญิงสองคน คนหนึ่งนุ่งผ้าสีทองเป็นผ้ายก ใส่เสื้อสีทอง อีกคนหนึ่งนุ่งผ้าสีชมพู ใส่เสื้อสีชมพู เป็นผู้หญิงสาวทั้งคู่ สวยมากมายืนอยู่ด้านหัวนอนคนหนึ่ง ปลายเท้าคนหนึ่ง เวลานอนลงไป คนมันสูงต่ำไม่เท่ากัน ยาวสั้นไม่เท่ากัน ขามันก็ไม่เสมอกัน คนใส่เสื้อและนุ่งผ้าสีชมพูอยู่ปลายเท้า ดึงเท้าให้เสมอกัน พอเท้าเสมอกัน หัวมันก็เกิดไม่เสมอกัน คนนุ่งผ้าสีทองใส่เสื้อสีทองอยู่ทางศีรษะก็ดึงหัวให้เสมอกัน เล่นกันอยู่แบบนี้ตลอดเวลา แล้วผมจะนอนยังไงเล่าขอรับ เวลาผมลุกขึ้นมานั่ง ก็ไม่เห็นแก ถ้านอนลงไปเมื่อไร แกก็จัดระเบียบหัวเมื่อนั้น ก็เลยถามว่าพวกเราสามคนนี่น่ะ ไม่ได้บูชาพระใช่ไหม เขาก็รับว่าใช่ ก็ดีแล้วนี่ เราเป็นกรรมการวัด แต่ไม่ใช่วัดบางนมโค วัดของเขาสี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เราเป็นกรรมการวัด มันน่าจะปฏิบัติตามแบบฉบับของพระพุทธศาสนาให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นในทางที่ดี คือการเคารพในพระพุทธเจ้า แต่เราเองกลับเป็นคนเลวแบบนี้ ไอ้วัดสารี ทั้งวัดนี่คนมันไม่เลวตามนี้หมดรึ นี่เพราะเราเลวนะ เขาจึงมาสอนให้ แล้วไอ้เจ้าอาจล่ะ ทำไมมันถึงนอนหลับ เขาก็เลยรายงานบอก มันหลับจริงๆ ขอรับ จับมันสั่นมันก็ไม่ลุก แล้วก็อีก 2 คน ก็บอกว่าไม่มีทางจะตื่นหรอก เจ้านั่น ถ้าไม่ถึง 6 โมงเช้าเมื่อไรไม่มีทางตื่น เพราะเขาไม่ให้ตื่น แล้วเขาก็ไม่ไปยุ่งกับมัน เขาปล่อยมัน ก็เลยถามว่าเจ้าอาจน่ะ มันบูชาพระใช่ไหม เขาก็บอกว่าใช่ ก็บอกราต้องการจะนอนหลับไหมล่ะ ถ้าต้องการจะนอนหลับก็ไปบูชาพระด้วยความเต็มใจนะ ถ้าสักแต่ว่าบูชาก็คงจะได้ดีอีก หมายความว่าประเดี๋ยวคงจะมาจัดการแบบใดแบบหนึ่งเป็นแน่ เขาถามว่าสองท่านเป็นใคร ก็เลยบอกว่าเป็นนางตะเคียน
 
นี่เรื่องหนึ่งที่ผ่านไปนะ ขอเริ่มอีกเรื่องหนึ่ง ตอนหนึ่งนางตะเคียนชุดนี้เหมือนกันเปิดหน้าพระ เรียกว่าตอนนางตะเคียนเปิดหน้าพระ คำว่าหน้าพระในที่นี้ก็หน้าพระสงฆ์ คือว่าระหว่างนั้นเป็นเวลาเทศกาลมีงานประจำปี ที่วัดนี้สมัยที่อาตมาอยู่ คนมากเหลือเกิน เวลามีงานประจำปี ดี ไม่ต้องมีมหรสพ ขึ้นชื่อว่าลิเก หนัง หรือละครนี่ คนเขาไม่สนใจ เขาสนใจอย่างเดียวคือทำบุญกัน มาปิดทองหลวงพ่อทั้งสาม หลวงพ่อปาน หลวงปู่คล้าย หลวงพ่อแช่ม แล้วก็มาบำเพ็ญกุศลที่กองการกุศลที่อาตมานั่งรับอยู่ การรับบำเพ็ญกุศลน่ะต้องหลายคนด้วยกันรับเงิน คนมายืนกันจนแน่น สถานที่หลังนั้นเป็นกุฏิ 4 ห้องยาว นั่งเต็มหมด แล้วก็ยืนซ้อนกันเป็นตับอีกมาก นักบำเพ็ญกุศลนี่หาเวลาว่างไม่ได้ ฉะนั้นงานบำเพ็ญกุศลวัดนี้ไม่ต้องมีมหรสพดี ปีๆ หนึ่งก็มีเงินสุทธิเหลือจากค่าใช้จ่ายหลายหมื่น อย่างเลวๆ ก็ห้าหกหมื่นบาท ถ้ามีความจำเป็นจะต้องใช้หนี้เป็นแสนก็ได้เป็นแสน นี่ผลเพราะความดีของหลวงพ่อปานท่านทำไว้ ไม่ใช่อาตมาดี หลวงพ่อปานท่านทำไว้ดี แล้วอาตมาก็บูชาหลวงพ่อปาน เวลาจะทำงานทีไรก็ต้องบวงสรวงท้าวมหาราช เมื่อบวงสรวงแล้วก็อาราธนาหลวงพ่อปานและอดีตเจ้าอาวาส ท่านผู้มีทรงคุณความดีทั้งหมด ตามเรื่องของพระเพ้อพระฝัน เรียกว่าเรียกคนที่ไม่มีตัวมาช่วย แต่ผลมันก็เป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ จะว่าไม่ได้ผลจริงก็ไม่ได้ ทีนี้คนจะกลับก็ไม่ได้ คนที่มาจากต่างจังหวัด ก็พักบนกุฏิพระ โดยเฉพาะกุฏิอาตมาใหญ่กว่าเขา มีคนนอนกันเต็มทั้งผู้หญิงผู้ชาย ไฟฟ้าต้องจุดสว่างตลอดเวลา เกรงว่าอันตรายจะเกิด
 
ตานี้ มีพระองค์หนึ่งมาจากวัดเจ้าแปด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แกมาเที่ยวงานเป็นเพื่อนกับพระลูกศิษย์ของอาตมา เวลาตอนดึกสองนาฬิกาแกง่วงก็มานอน คนน่ะเขานอนเต็มหมดแล้ว สองสามแถวในกุฏิ ทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชาย ผู้ชายนอนอยู่แถวบน ผู้หญิงนอนแถวล่าง ประตูใส่กลอนสนิท แล้วก็มีคนระวังข้างนอก เกรงว่าใครจะย่องมาตัดสร้อยเขาเวลาหลับ แล้วมีเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารเรือกับตำรวจคุมอยู่ทุกจุดที่มีคนพัก แล้วก็นอกจากนั้นก็ยังมีคณะขโมย เอามาเป็นกรรมการคุมงาน แล้วก็คณะนักแซ้ง คณะนักเลง หัวหน้านักเลง มาคุมงาน พ่อพวกนี้ถ้ามาคุมงานเสียแล้ว อันตรายในงานมันก็ไม่มี แล้วเงินทองเบี้ยเลี้ยงเขาก็ไม่เอา เรียกว่าเขาไม่เอาหรอก เขาทำงานให้จริงๆ
 
พระองค์นั้นเวลาแกง่วงแกก็มานอนบนเตียง บนเตียงของพระที่เป็นเพื่อน พระที่เป็นเพื่อนกันก็บอกแล้วนะ บอกว่ากุฏินี้ไม่ได้นะ ถ้าจะนอนต้องบูชาพระเสียก่อน ถ้าไม่บูชาพระก่อนละท่านจะนอนไม่หลับ พระองค์นั้นน่ากลัวจะเป็นพระหัวดื้อ หรือบางทีก็จะเป็นพระส่งเดช เรียกว่าประเภทสักแต่ว่าบวช เวลาจะนอนจะกินนี่คงไม่ได้นึกถึงพระพุทธเจ้า แกรับฟังแล้วแกก็ไม่ปฏิบัติ แกก็นอนคลุมโปง เอาจีวรคลุม พระที่เป็นเพื่อนแกบอกว่าแกก็ต้องร้องเตือนไป บอกว่าทำไมไม่กราบพระเสียก่อนล่ะ เขาก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก ที่วัดเขาไม่เคยกราบพระสักทีก็นอนได้ พระเพื่อนกันก็รู้อยู่ คิดในใจว่าตามใจเขา ประเดี๋ยวมันคงเห็นดี แกก็ไปนอนใกล้ๆ ไปนอนอีกที่หนึ่ง ครั้นสักประเดี๋ยวเดียวพระองค์นั้นลุกพรวดพราดขึ้นมา พระเพื่อนกันถามว่าอะไรล่ะ บอกมีหญิงผู้หญิงคนสาวๆ คนหนึ่งมาเปิดโปง เปิดทางด้านหัว แกเอาจีวรคลุมหัวคลุมเท้า พอเปิดแล้วก็มองหน้า จ้องหน้าลงไปต่ำ หน้าเกือบจะชนกัน

พระเพื่อนก็เลยลุกขึ้นมา เพราะไฟฟ้ามันสว่างนี่ ไม่ได้ดับริบหรี่ จุดติดอยู่ 3 - 4 ดวง สว่างมาก ถามว่าดูซิผู้หญิงคนไหน มีผู้หญิงเขานอนเป็นตับสักสามสิบสี่สิบ แกก็ไปตรวจดูไม่มี รูปร่างแบบนั้นไม่มี แต่งตัวแบบนั้นไม่มี พระเพื่อนกันก็ถามว่าผู้หญิงคนนั้นน่ะ รูปร่างเป็นยังไง แต่งตัวแบบไหน ตอบว่าผิดขาว หน้าตาสวยมาก ดูลีลาดูลักษณะหน้าแล้วคล้ายๆ เป็นเด็กรุ่นๆ อายุ 14 -15 นุ่งผ้าสีทอง ใส่เสื้อสีทอง พระเพื่อนกันก็บอก ได้ดีแล้ว ได้ดีแล้ว พระองค์นั้นถามว่ายังไง บอกว่า นี่นางตะเคียน ไม่ใช่คนที่มานอนอยู่ที่นี่ แต่คนที่นอนที่นี่ลุกไปประเดี๋ยวนี้ จะไปผลัดเครื่องแต่งตัวได้ที่ไหน ประตูก็ปิด ไอ้ท่านมันเป็นคนหัวดื้อ ไมบูชาพระใช่ไหม แกก็บอกว่าใช่ ก็บอกแล้วว่าที่นี่ไม่ได้ ไม่บูชาพระเป็นโดนดี นี่แกไม่เชื่อข้านี่ ก็ดีแล้ว โดนเสียบ้างก็ดี พระองค์นั้นเลยกลัว ออกจากกุฏิไปเดินเล่นจนกว่าจะสว่าง เป็นอันว่าไม่ได้นอน อันนี้เรียกว่าคนบวชเป็นพระ แต่ว่าใจไม่ได้เป็นพระ เป็นพระแต่ตัวแต่ว่าหัวใจไม่ใช่พระ เป็นอันว่าเป็นคนเลวก็แล้วกัน ต้องให้ผีสั่งสอน เรื่องนี้ก็ยุติไว้เพียงเท่านี้นะ เดี๋ยวจะต่อใหม่ เรื่องนางตะเคียนนี่ขอผ่านไป เล่ากันจริงๆ มันไมจบหรอก มีเรื่องเยอะ



จากหนังสือ เรื่องจริงอิงนิทาน เล่ม ๑
807  สุขใจในธรรม / เอกสารธรรม / มาฆบูชารำลึก เมื่อ: 25 กุมภาพันธ์ 2559 13:06:10
.



มาฆบูชารำลึก 

ในโอกาสที่วันมาฆบูชามหามงคลเวียนมาบรรจบครบ  ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันอุโบสถที่ ๖ แห่งเหมันตฤดู ความสำคัญในวันนี้ คือ เป็นวันประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ที่เรียกว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งจักได้หยิบยกเอาพระคุณนามแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ามาสาธยายให้ท่านสาธุชนได้สดับ พอเป็นเครื่องรื่นเริงในธรรมนำไปสู่สัมมาปฏิบัติต่อไป
 
วันมาฆบูชา ถือเป็นวันกตัญญูแห่งชาติ เป็นวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ ที่องค์พระอรหันตสาวกเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ล้วนทรงอภิญญา ๖  และเป็น เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา  ทั้งมิได้นัดหมาย ต่างเดินทางมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อแสดงออกซึ่งความรักเทิดทูนและกตัญญู ต่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ อันหาประมาณมิได้
 
เมื่อครั้งที่พระเทวทัตพยายามจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ด้วยการให้นายขมังธนูมาลอบยิงก็ไม่สำเร็จ  จึงคิดอุบายปล่อยช้างนาฬาคีรีที่ถูกมอมเมาด้วยสุราจนเสียสติคุ้มคลั่ง วิ่งชูงวงส่งเสียงร้องคำรามด้วยท่าทีดุร้าย วิ่งตรงไปในทางที่พระพุทธองค์กำลังเสด็จมา
 
ขณะนั้นพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ซึ่งอยู่ในภูมิธรรมชั้นพระโสดาบัน ด้วยความรักในพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงกลับถลันไปยืนขวางหน้าพระยาช้างตัวดุร้ายนั้นไว้ มิได้มีความรักตัวกลัวตายอาลัยในชิวิตตัวเองแม้แต่น้อย ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากแม้พระยาช้างนี้ จักทำร้ายซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไซร้ ขอจงข้ามศพของเราผู้ชื่อว่าอานนท์นี้ไปก่อนเถิด
 
แม้พระพุทธองค์จะทรงตรัสห้ามว่า "อานนท์ อย่าเข้าไป อานนท์ จงหลีกไป นั่น ไม่ใช่ธุระของเธอ"  แต่พระอานนท์ก็หายินยอมไม่ ซึ่งพระอานนท์นั้น ไม่เคยที่จะขัดพระบัญชาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก่อนเลย แต่ด้วยความรักในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอันสุดเปรียบประมาณ พระอานนท์ถึงกับยอมมอบกายถวายชีวิตอย่างมิได้สะทกสะท้าน
 
"ไม่ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะไม่หลีกไป หากช้างนี้จะทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ขอให้ข้ามศพ ข้าผู้ชื่อว่า อานนท์นี้ไปก่อนเถิด" พระอานนท์กล่าววาจาด้วยอาจหาญ ในที่สุดพระพุทธองค์จำต้องบันดาลด้วยฤทธิ์ให้พระอานนท์ไปอยู่ด้านหลัง ในขณะที่ช้างนาฬาคีรีพุ่งมาสู่ที่เฉพาะพระพักตร์ พระพุทธองค์ทรงยืนสงบนิ่ง แผ่กระแสแห่งพระเมตตาออกจากดวงหฤทัยอันบริสุทธิ์พุ่งไปยังพระยาช้างผู้คุ้มคลั่ง
 
ด้วยน้ำพระทัยอันใสบริสุทธิ์นั้น ได้ชำแรกเข้าสู่ดวงใจของพระยาช้าง ทำให้ฤทธิ์สุรามึนเมาได้จางหายไป พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระยาช้างด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะนุ่มนวล "นาฬาคีรี เธอจงมีสติคืนมาเถิด" พระยาช้าง พลันสะดุ้งสะท้านเฮือก สติ สัมปชัญญะกลับคืนมา ค่อยๆมอบกราบลงแทบพระบาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า สายตาจับจ้องที่พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า น้ำตาหลั่งไหลหยาดหยด ด้วยความสำนึกซาบซึ้งในพระคุณอันหาประมาณมิได้  หากว่าช้างนี้ได้ทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วไซร์ ความปรารถนาในพระโพธิญาณที่เป็นบารมีสั่งสมมานานเป็นอันต้องอันตรธานหายวับไปในทันที
 
พระอานนท์ที่สังเกตการณ์อยู่เบื้องหลังนั้น ได้เห็นเป็นอัศจรรย์ในพระพุทธานุภาพที่หาใดเสมอเหมือนมิได้ ถึงกับเอ่ยปากอุทาน "พระพุทธานุภาพ ช่างอัศจรรย์หนอ" อยู่ไม่ขาดปาก ฝ่ายพระเทวทัตที่เฝ้าดูอยู่แต่ไกลนั้นเล่า เมื่อเห็นเหตุการณ์กลับผิดคาดไปดังนั้น ก็ถึงแก่อาเจียนเป็นโลหิต พลันสำนึกได้ว่า แม้ธนูไม่มีชีวิต ยังรู้จักพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระยาช้างตัวดุร้ายตกมัน ก็ยังรู้จักพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราเป็นคนแท้ๆไฉนจึงไม่รู้ในพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันประเสริฐ ครานั้น พระเทวทัตก็ถึงกับสิ้นสติสมฤดีด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง
 
ดูเอาเถิด ท่านสาธุชนทั้งหลาย แม้พระอานนท์ผู้เป็นพระโสดาบัน ยังมีความรักตัวเองมิได้เทียบเท่ากับความรักในพระบรมศาสดาเลย แล้วบรรดาพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ล้วนทรงอภิญญา ๖  ท่านเหล่านั้น ล้วนเป็น เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา คือเป็นพุทธเวไนย ผู้ที่อันพระพุทธเจ้าเท่านั้นจักพึงบวชให้ และสำเร็จการบวชด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า "เอหิ ภิกขุ" แปลว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ปรากฏโดยชอบเถิด"
 
การที่พระพุทธองค์จะทรงประทาน "เอหิ ภิกขุ" แก่ผู้ใด หมายความว่า ผู้นั้นจักต้องสร้างบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว และเคยให้ทานผ้าไตรจีวร ในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เมื่อเป็นภิกษุแล้ว จึงมีจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์มาสวมกายในทันที สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แม้บวชใหม่ แต่มีศีลาจารวัตรอันหมดจดงดงาม มีสติสำรวมปานพระเถระมีพรรษาตั้ง ๑๐๐ ด้วยประการฉะนี้
 
พระอรหันต์ทั้งนั้น ๑,๒๕๐ รูป ล้วนทรงอภิญญา ๖ เมื่อดิถีแห่งมาฆบุรณมีมาถึงแล้ว ต่างองค์ต่างมีจิตคิดใคร่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ในที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยความรักและเทิดทูน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาคุณ แม้พระอานนท์ผู้เป็นพระโสดาบัน ยังมีความรักในพระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นปานนั้น จะกล่าวไปใยถึงพระอรหันต์ขีณาสวะเจ้าทั้งหลาย จะมิยิ่งมีความรักเทิดทูนในพระบรมศาสดายิ่งไปกว่าพระอานนท์อีกมากมาย
 
เมื่อต่างองค์ต่างเดินทางมาถึงพระเวฬุวันมหาวิหาร ในเวลาตะวันบ่าย ก็จึงเข้าสู่ในที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตนั่งสงบนิ่งเงียบอย่างสำรวม มิได้มีเสียงพูดคุย สนทนาปราศรัยใดๆ  เป็นสังฆโสภณา คือความงดงามพร้อมพรั่งแห่งสงฆ์  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่ที่ประชุม และประทับนั่งบนธรรมาสน์ในท่ามกลางสงฆ์ แม้จะมีภิกษุสงฆ์ประชุมกันอยู่ถึง ๑,๒๕๐ รูป แต่ในที่ประชุมนั้น กลับมิได้มีเสียงใดๆปรากฏ ยังคงสภาพสงบ นิ่งเงียบสงัด ปานประหนึ่งเป็นสถานที่ว่างเปล่า ปราศจากสิ่งมีชีวิตใดๆ ฉะนั้น
 
นี่คือ ความมหัศจรรย์ของการที่ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ทรงอภิญญา ๖ ล้วนเป็นเอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา ได้มาประชุมพร้อมกันในที่เฉพาะพระพักตร์ โดยมิได้นัดหมาย ไม่มีใครอาราธนาให้มา ต่างมากันเองด้วยดวงใจรักเทิดทูนในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นมหาสังฆสันนิบาตอันงดงาม เช่นนี้ ย่อมปรากฏมีเพียงครั้งเดียว ในสมัยของพระโคดมพุทธเจ้าของพวกเรา เนื่องจากพระองค์มาอุบัติในช่วงที่มนุษย์มีอายุขัยต่ำสุด คือ ๑๐๐ ปี เพราะช่วงอายุขัยของมนุษย์ที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาอุบัติตรัสรู้ธรรมได้นั้น ต่ำสุด คือ ๑๐๐ ปี และสูงสุดไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ ปี ดังเช่น พระศรีอริยเมตไตรย มีอายุขัย ถึง ๘๐,๐๐๐ ปี มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ เช่นนี้มากกว่า ๑ ครั้ง
 
และในวาระดิถีที่ ๑๕ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงกระทำวิสุทธอุโบสถ คือการแสดงพระปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ ที่ล้วนเป็นพระอรหันต์  ซึ่งจะมีได้ก็เฉพาะในมหาสังฆสันนิบาตเช่นนี้เท่านั้น  พระศาสดาทรงแสดงพระปาติโมกข์เอง และทรังตรัสโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนามาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งในสมัยปัจจุบัน ในวันมาฆบูชานี้ พระสงฆ์ทั่วประเทศก็จะกระทำสังฆอุโบสถ แสดงพระปาติโมกข์ เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล เมื่อจบแล้ว ก็จะมีการสวดท้ายปาติโมกข์ด้วยคาถาโอวาทปาติโมกข์ มีใจความดังต่อไปนี้ :-
 
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี 
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโตฯ
 
ขันติ คือความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่า เป็นเยี่ยม
ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
 
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
เอตัง พุทธานะสาสะนังฯ
 
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑
การบำเพ็ญแต่ความดี ๑
การทำจิตของตนให้ผ่องใสและบริสุทธิ์ ๑
 
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
 
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
ปาติโมกเข จะ สังวะโร
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสสะมิง
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
อะธิจิตเต จะ อาโยโค
เอตัง พุทธานะ สาสะนังฯ
 
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑
 
ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑
ที่นั่งนอนอันสงัด ๑
ความเพียรในอธิจิต ๑
 
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
 
ดังนั้น ในโอกาสอันเป็นมหามงคลสมัย วันมาฆบูชา เวียนมาบรรจบครบ ท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน จงอย่าได้พลาดโอกาสอันดีงาม ต่างมีมือถูกดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม และภัตตาหารหวานคาว ไปสู่อารามที่ตนเลื่อมใสศรัทธา เพื่อกระทำอามิสบูชา ทำบุญตักบาตรในยามเช้า จากนั้น ก็สมาทาน ศีล ๕ หรือ ศีลอุโบสถ ตามกำลังความสามารถของตน เป็นปฏิบัติบูชา  เสร็จภารกิจแล้ว ก็นั่งสมาธิ เดินจงกรมภาวนาเป็นปฏิบัติบูชาอันยิ่งๆขึ้นไป ตกเย็นก็มีการทำวัตรค่ำ และสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน และปิดท้ายด้วยการสวดโอวาทปาติโมกข์ พระเถระผู้ทรงพรรษายุกาล ก็จักแสดงธรรมเพื่อให้เกิดความอาจหาญ ให้รื่นเริงในสัมมาปฏิบัติสืบตลอดไป เอวัง
 
------------------

อภิญญา ๖ : อภิญญา แปลว่า “ความรู้ยิ่ง” หมายถึง ปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิต เจริญปัญญา หรือบำเพ็ญกรรมฐาน
๑. อิทธิวิธิ หมายถึง แสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้
๒. ทิพพโสต หมายถึง มีหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ หมายถึง กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ หมายถึง ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุ หมายถึง มีตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ หมายถึง รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป

doisaengdham.org
808  สุขใจในธรรม / เอกสารธรรม / Re: ของหายาก ๔ ประการ เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2559 15:39:47
.

(ต่อ)

การเจริญกัมมัฏฐานนั้น ถ้าเราใช้เพียงขั้นบริกรรม ก็เป็นสมถภาวนา สมถกัมมัฏฐาน คือเพียงบริกรรมว่า พุทโธๆ หรือ ยุบหนอพองหนอไปเรื่อยๆ ทำใจให้สงบเป็นอุปจารสมาธิ อย่างนี้ก็ถูกแบบสมถภาวนา

แต่ถ้าเราใช้วิธีกำหนด เช่นในเวลาเดินเราภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ก็กำหนดรู้ไปด้วยว่า เริ่มยกเป็นอย่างไร เหวี่ยงเท้าไปเป็นอย่างไร เหยียบลงเป็นอย่างไร ขาไหนหนัก ขาไหนเบา ในเวลานั่งภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ก็กำหนดรู้อาการพองอาการยุบว่า ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไร เรากำหนดรู้ตามอาการของมัน

ถ้าใช้วิธีกำหนดแบบนี้ ก็ถูกตามแบบวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนากัมมัฏฐานแต่ถึงอย่างไร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจว่าการบริกรรมก็ดี การกำหนดก็ดี เราไม่เอา เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ รอการเกิดขึ้นของมรรคผลพระนิพพานต่างหากอุปมาเหมือนกับเราต้องการจะดื่มเครื่องดื่มสักขวด เราก็ซื้อมาทั้งขวด เมื่อซื้อมาแล้ว ก็เปิดดื่มแต่น้ำเท่านั้น ขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด เราจะใช้บริกรรมหรือกำหนดบทไหนก็ตาม เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เท่านั้น

เมื่อสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือภาวนานั้นเราก็ทิ้งไป เราเอาสมาธิ เอามรรค ผล เอานิพพานต่างหากและขอให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุไร การบริกรรมการภาวนานั้นจึงมีมาก เพราะเหตุว่า ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีมาก คือมีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ดังนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติ ใครจะเอาที่ไหนๆ มาบริกรรม มาภาวนา มากำหนด ได้ทั้งนั้น ใครจะบริกรรมอย่างไร ภาวนาอย่างไร หรือกำหนดอย่างไรก็ตาม ผลที่ต้องการเหมือนกันหมด อุปมาเหมือนกันกับคนทั้งหลายที่ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น ผู้ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้ทำสวนก็ต้องการเงิน ผู้ทำไร่ก็ต้องการเงิน ผู้เย็บปักถักร้อยก็ต้องการเงิน พวกเสริมสวยก็ต้องการเงิน พวกเลี้ยงสัตว์ก็ต้องการเงิน ผู้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องการเงิน พวกเดินรถก็ต้องการเงิน ผู้เป็นข้าราชการก็ต้องการเงิน ผู้ทำมาค้าขายก็ต้องการเงินหนักๆ เข้า ผู้ที่ไปลัก ไปขโมย ไปปล้น ไปจี้ จับคนไปเรียกค่าไถ่ ก็ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินของคนไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ต้องการที่จะบรรลุสุขอันไพบูลย์ คือ มรรค ผล นิพพานทั้งนั้น

แต่เพราะธรรมะมีมาก การประพฤติปฏิบัติจึงไม่เหมือนกันดังนั้น ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้เข้าใจหลักการและวิธีการประพฤติปฏิบัติในพรรษานี้ ขอให้ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน เพื่อสะดวกในการสอบการสอน ถ้ารูปนั้นปฏิบัติอย่างหนึ่ง รูปนี้ก็ปฏิบัติอย่างหนึ่ง เพราะเกรงว่าการปฏิบัติตามแนวที่ทางสำนักนี้ปฏิบัติอยู่จะทำให้สภาวธรรมที่เราเคยปฏิบัติมานั้นเสื่อมไป ถ้าคิดอย่างนี้เรียกว่าเข้าใจผิดหลา ๆ รูปที่มาประพฤติปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ตั้งใจมาอยู่ ตั้งใจมาศึกษา แต่พอมาแล้ว ทิฏฐิมานะไม่ยอมลด เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นไป ไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ยอมทำตาม ขอให้ภาวนาอย่างที่สำนักนี้ให้ภาวนาก่อนเถิด ออกจากวัดไปแล้วค่อยภาวนาอย่างอื่นไป แต่ก็ไม่ยอมสมมติว่า เคยเพ่งลูกแก้วมาอย่างนี้ ก็อยากเพ่งอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่ออยากเพ่งก็เพ่งลูกแก้วนั้นอยู่ตลอดเวลา การประพฤติปฏิบัตินั้นก็ไม่เดินหน้า การสอบ การแนะนำ การสอนก็เป็นไปได้ยาก ไม่เข้ากัน ความจริง เราไม่ควรที่จะเกรงว่าสภาวธรรมที่เราเคยปฏิบัติมาตามแบบของตนจะเสื่อม

ท่านทั้งหลายจะภาวนาหมวดไหนอย่างไรก็ตาม ก็ดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าข้อสำคัญ ครั้งแรกนี้ เราต้องทำให้ได้ให้ถึงเสียก่อน เมื่อเราเคยได้เคยถึงแล้ว ต่อไปเราจะภาวนาอย่างไรได้ทั้งนั้นสมมติว่า เราเคยภาวนาอย่างนี้แล้วเข้าฌานได้ เคยเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานได้ เคยเข้าอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ เมื่อเราเคยได้อย่างนี้แล้ว ต่อไปเราจะเข้าสมาธิอีก เราไม่ต้องภาวนาเลย เรานั่งดูวัตถุอย่างไรอย่างหนึ่งก็ได้ โดยที่สำรวมจิตแล้วนั่งเพ่งถึงวัตถุนั้นๆ จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ เป็นนาฬิกาก็ได้ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกันหรือไม่อย่างนั้น เราจะใช้คำภาวนาว่า ขี้เกียจหนอๆ แต่ที่จริงเราไม่ขี้เกียจ แต่เราใช้คำภาวนาว่า ขี้เกียจหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกันทั้งนั้น หรือเราจะภาวนาว่าอยากตายหนอๆ แต่เราไม่ได้อยากตาย ใช้เป็นคำภาวนาว่าอยากตายหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกัน

ถ้าเราเคยเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง มาแล้ว ทีนี้เราจะมาเพ่งอะไร ภาวนาว่าอย่างไร เราก็สามารถเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ได้เหมือนกัน แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องประพฤติปฏิบัติให้ได้ถึงที่เสียก่อนจึงจะทำอย่างนั้นได้ หากว่ายังไม่ได้ไม่ถึง เราจะมาภาวนาว่าอย่างนี้ไม่ได้ต่อไปเป็นองค์คุณของผู้ปฏิบัติ ถ้านักปฏิบัติธรรมต้องการที่จะให้การประพฤติปฏิบัติได้ผลเร็วนั้น ต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยองค์คุณทั้งหลายเหล่านี้ คือ
๑.สติมา ต้องมีสติ คือสติสมบูรณ์ กำหนดให้ทันปัจจุบัน เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม ต้องกำหนดให้ทันปัจจุบัน
๒.สัมปชาโน มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม คือ จะยืน เดิน นั่ง นอน ทำกิจใดๆ ก็ตาม ให้รู้ตัวทุกขณะ เหมือนกับเราเขียนหนังสือ สมมติว่าเราจะเขียนตัว ก เราก็ต้องรู้ว่าอักษร ก มีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ ก็เขียนไป ในขณะที่เขียน เขียนถูกก็รู้ว่าเขียนถูก เขียนผิดก็รู้ว่าเขียนผิด
๓.อาตาปี มีความเพียร คือ มีความหมั่น ความขยัน มีฉันทะ พอใจทำกัมมัฏฐาน มีวิริยะ แข็งใจทำกัมมัฏฐาน มีจิตตะ ตั้งใจทำกัมมัฏฐาน มีวิมังสา ฉลาดทำกัมมัฏฐาน

เมื่อท่านทั้งหลาย ตั้งอยู่ในองค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นได้ผลเร็ว และขอรับรองว่า ไม่เสียสติ ไม่เป็นบ้า แต่ถ้าขาดคุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ อาจเสียสติเป็นบ้า เสียผู้เสียคนไปก็ได้เอาละ เท่าที่บรรยายมา ก็พอสมควรแก่เวลา
809  สุขใจในธรรม / เอกสารธรรม / ของหายาก ๔ ประการ เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2559 15:30:43
.



ของหายาก ๔ ประการ

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ของหายาก ๔ ประการ มาบรรยายของหายาก ๔ ประการนั้น คือ

ประการที่ ๑ มนุสฺสภาโว จ ทุลฺลโภ การที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากนักยากหนา เพราะเหตุอะไรจึงได้เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุที่ว่า การจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้นั้น ในภพก่อนชาติก่อน จะต้องได้บำเพ็ญมนุษยธรรมให้สมบูรณ์เสียก่อนแล้ว จึงจะสามารถเกิดเป็นมนุษย์ในภพนี้ชาตินี้ได้ และขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ใส่ใจว่าคำว่า มนุษย์ กับคำว่า คน นั้นไม่เหมือนกัน

พอเรามาถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา เขาก็เรียกว่า คน แล้ว คลอดออกมาเขาก็เรียกว่า คน เจริญเติบโตขึ้นมาเขาก็เรียกว่า คน ยังเรียกว่าเป็น มนุษย์ ไม่ได้ ต่อเมื่อใดเราได้บำเพ็ญมนุษยธรรม คือ สุจริตธรรม ๑๐ ประการ หรือศีล ๕ ประการให้สมบูรณ์แล้ว จึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ได้ท่านทั้งหลายลองสังเกตดู ในวันที่เราอุปสมบท ท่านพระอาจารย์ได้สอบถามอันตรายิกธรรมบทหนึ่ง มีอยู่ว่า มนุสฺโสสิ เจ้าเป็นมนุษย์หรือ ทำไมท่านจึงถามคำอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่ ท่านก็ถามว่า เป็นมนุษย์หรือ ถ้าเราตอบว่า นตฺถิ ภนฺเต ข้าพเจ้าไม่ใช่มนุษย์ ท่านก็ไม่บวชให้คำนี้ โบราณท่านกล่าวเอาไว้ว่า มีพญานาคมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงแปลงกายมาบวชในพระศาสนา วันหนึ่ง จำวัดตอนกลางวัน ขาดสติ ไม่ทันระวังตัว เพศจึงกลับมาเป็นพญานาคตามเดิม พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้สึก พญานาคก็ยอมสึกและขอพรว่า ผู้ใดมาบวช ขอให้ชื่อว่า นาค

ที่จริง ถ้าพูดตามหลักการ หรือพระไตรปิฎกแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ท่านถามว่า มนุสฺโสสิ ท่านเป็นมนุษย์หรือ เราจะตอบว่า อาม ภนฺเต ขอรับ กระผมเป็นมนุษย์ ก็ต่อเมื่อเราบำเพ็ญมนุษยธรรม หรือมีมนุษยธรรมประจำจิตประจำใจเสียก่อน จึงจะตอบว่า อาม ภนฺเต ได้เหตุนั้น ก่อนจะมาอุปสมบท ท่านจึงให้มามอบตัวเป็นศิษย์วัดเสียก่อน ให้เรียนคำขอบวช ให้เรียนวิธีบวช ท่านเรียกว่า นาค ตอนนี้ นาคะ แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือผู้มาสู่ทางอันประเสริฐ ในขณะที่มาเป็นนาคนี้ ท่านต้องการที่จะให้เจ้านาคนั้นบำเพ็ญมนุษยธรรมให้สมบูรณ์ จึงจะบรรพชาอุปสมบทได้เหตุนั้น เวลาบรรพชาอุปสมบทนี้ หลวงพ่อเอาจริงเอาจัง ถ้าผู้ใดเข้าโบสถ์แล้วมีกลิ่นเหล้ามานี้ หลวงพ่อไม่บวชให้เลย ไล่ออกจากโบสถ์ไปเลย ต้องไปสมาทานศีลใหม่ หมดกลิ่นเหล้าแอลกอฮอล์ไปแล้ว สมาทานศีลใหม่ ประพฤติปฏิบัติใหม่เสียก่อน เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว จึงจะบวชให้

เหตุนั้น ที่พวกเราทั้งหลาย ได้มานั่งรวมกันอยู่ในขณะนี้ มีร่างกายสมบูรณ์ด้วยอวัยวะทุกส่วน ไม่มีบรรพชาโทษ คือพระวินัยท่านไม่ห้าม เราสามารถบวชในพระศาสนา ทั้งจิตใจก็สมบูรณ์ อันนี้ก็หมายความว่าเราได้พบของหายากประการที่หนึ่ง

ประการที่ ๒ พุทฺธภาโว จ ทุลฺลโภ การที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะได้พบพระพุทธศาสนา เป็นของหายากนักยากหนา เพราะเหตุไร เพราะพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้แต่ละพระองค์ๆ นั้น ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนแล้ว จึงจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยทีเดียว เป็นไปไม่ได้ เหตุนั้นท่านจึงแบ่งจึงจัดระยะการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เจ้า ไว้ดังนี้คือถ้าพระโพธิสัตว์เจ้าองค์ใด เป็นประเภท ปัญญาธิกะ คือมีปัญญามาก มีปัญญามากกว่าศรัทธาและความเพียร จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๒๐ อสงขัยกับแสนกัป คือหมายความว่า นึกอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๗ อสงขัย ออกปากว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๙ อสงขัย นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมาว่า ผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้านามว่าอย่างนั้นๆ ตั้งแต่วันนั้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๔ อสงขัยกับแสนกัป รวมทั้งหมด ๒๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้พระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์ใด เป็นประเภท สัทธาธิกะ คือมีศรัทธามากกว่าปัญญาและความเพียร จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๔๐ อสงขัยกับแสนกัป หมายความว่า นึกอยู่ในใจอยู่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๑๔ อสงขัย ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๑๘ อสงขัย นับตั้งแต่ได้ลัทธพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งว่า ผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้ามีพระนามว่าอย่างนั้นๆ

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๘ อสงขัยกับแสนกัป รวมทั้งหมดเป็น ๔๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์ใด เป็นประเภท วิริยาธิกะ คือยิ่งด้วยความเพียร มีความเพียรมากกว่าศรัทธาและปัญญา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๘๐ อสงขัย หมายความว่า นึกอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๒๘ อสงขัย ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๓๖ อสงขัย นับตั้งแต่ได้ลัทธพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาว่า ผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า มีพระนามว่าอย่างนั้นๆ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๑๖ อสงขัย รวมทั้งหมดเป็น ๘๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

พระโพธิสัตว์เจ้าที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จึงแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ นิยตโพธิสัตว์ และอนิยตโพธิสัตว์อนิยตโพธิสัตว์นี้ ยังมีคติไม่แน่นอน คือยังไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาลข้างหน้าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า มีคติไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนคำอธิษฐานได้ สามารถเปลี่ยนจิตใจได้แต่ถ้าเป็นประเภทนิยตโพธิสัตว์ จะมีคติอย่างมั่นคงแน่นอน โดยได้รับคำพยากรณ์จากสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า พระโพธิสัตว์ประเภทนี้เปลี่ยนจิตไม่ได้เพราะเหตุใดเพราะว่า พระวาจาของพระพุทธเจ้านั้น เป็นพระวาจาสิทธิ์ ใครจะมาเปลี่ยนพระดำรัสของพระองค์ไม่ได้ เมื่อพระองค์ตรัสไว้อย่างไรแล้ว ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าพระองค์ตรัสว่า ผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้า ผู้นี้จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า ก็เป็นอย่างนั้นอย่างเช่นพระอานนท์ พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันปฐมสังคายนา พระอานนท์บำเพ็ญเพียรตลอดคืนยันรุ่ง ก็นึกว่าพระองค์ทรงพยากรณ์ผิด อ่อนจิตอ่อนใจก็เอนหลังลงเพื่อจะนอน ในขณะที่เอนหลังลงนอน หัวยังไม่ทันถึงหมอน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อันนี้ก็หมายความว่า พระวาจาของพระองค์เป็นพระวาจาสิทธิ์ พระองค์ตรัสอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น เช่นตรัสว่า พระเจ้าสุปปพุทธะ ที่ปิดทางโคจรบิณฑบาตของพระพุทธเจ้า จะถูกธรณีสูบที่เชิงบันไดปราสาท ๗ ชั้น นับตั้งแต่วันนี้ไป ๗ วัน เมื่อถึงวันที่พระองค์ตรัสไว้ แม้พระเจ้าสุปปพุทธะจะทำการป้องกันอย่างไรๆ ก็ไม่พ้น ต้องถูกธรณีสูบที่ตรงนั้นจนได้

นี่แหละท่านทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ประเภทนิยตะนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะได้บำเพ็ญบารมีจนครบสมบูรณ์แล้วจึงจะตรัสรู้ได้แต่บัดนี้ พวกเราทั้งหลาย มานั่งรวมกันอยู่ในที่นี้ แม้ว่าจะไม่ได้เห็น ไม่ได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าเราได้พบพระธรรมวินัย อันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ ก็เท่ากับว่าเราได้พบพระพุทธองค์ เพราะก่อนจะทรงปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสไว้ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราตถาคตปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมก็ดี พระวินัยก็ดี ที่เราตถาคตได้แสดงไว้แล้วบัญญัติไว้แล้วนั้นแหละ จะเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายคือพระองค์ไม่ได้ให้ผู้ใดผู้หนึ่งทำหน้าที่แทนพระองค์ แต่พระองค์เอาธรรมวินัยที่ทรงประกาศไว้แล้ว ที่ตรัสไว้แล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์ สืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ และบัดนี้ พระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน ก็ยังสมบูรณ์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ธรรมเหล่าใด ที่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติบรรลุอริยมรรคอริยผล เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็ยังสมบูรณ์อยู่ทุกประการเหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ที่ได้มีโอกาสมาบรรพชาอุปสมบท บวชในพระพุทธศาสนา มีโอกาสได้มาเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานี้ ก็นับว่าได้พบของหายากเป็นประการที่ ๒

ประการที่ ๓ ปพฺพชิตภาโว จ ทุลฺลโภ การที่บุคคลได้เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว จะได้มาบวชในพระพุทธศาสนานั้น ก็ยากนักยากหนาเพราะเหตุใดเพราะผู้ที่จะมาบวชในพระศาสนานั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัย ที่ตนได้สั่งสมไว้ในภพก่อนชาติก่อน และก็ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันประกอบกันเข้า จึงจะมีโอกาสบวชได้ บางท่านมีความประสงค์อยากบวช แต่สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยก็บวชไม่ได้ หรือบางท่าน สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเอื้ออำนวย ยินดีที่จะให้บวช แต่เราไม่มีปสาทะศรัทธาในการที่จะบวชในพระพุทธศาสนานี้ ก็บวชไม่ได้แต่พวกเราทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่นี้ นับว่าได้สั่งสมอบรมบุญกุศลไว้ในปุเรกชาติจนล้นฟ้าล้นดิน จึงได้มีโอกาสมาบวชในพระศาสนา การมาบวชในพระพุทธศาสนาของเราทั้งหลายในขณะนี้ ก็นับว่าได้พบของหายากเป็นประการที่ ๓

ประการที่ ๔ วิปสฺสนาภาโว จ ทุลฺลโภ การที่บุคคลเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา มาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว จะได้มีโอกาสเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ก็เป็นของยากนักยากหนาท่านทั้งหลายลองนึกดูสิว่า รอบตัวของเรา ภายในหมู่บ้านของเรานั้นแหละ ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนานั้น มากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือว่าในวัดของเรา ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา มากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือภายในตำบลของเรา ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนามากน้อยแค่ไหนเพียงไรดังนั้น ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนา ท่านจึงอุปมาเหมือนเขาโค แต่ผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา อุปมาเหมือนกันกับขนโค ขนโคนั้นย่อมมากกว่าเขาโคฉันใด ผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา ย่อมมากกว่าผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนาฉันนั้นบัดนี้

พวกเราทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่ในสถานที่แห่งนี้ และก็ได้มีโอกาสมาเจริญวิปัสสนาอยู่นี้ ก็นับว่าเป็นผู้มีบุญ ได้พบของหายากประการที่ ๔

การเจริญภาวนานั้น มีอยู่ ๒ ประการ คือ๑. สมถภาวนา ภาวนาเป็นอุบายสงบใจ ภาวนาประเภทนี้ ไม่เกี่ยวด้วยปัญญา เพียงแต่ว่าต้องการที่จะทำใจให้สงบเป็นสมาธิเท่านั้นอารมณ์ของสมถภาวนา ตามที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีอยู่ ๔๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ อรูปกัมมัฏฐาน ๔

ก็แล ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น มีนิมิต ๓ อย่าง มีภาวนา ๓ อย่างนิมิต ๓ คือบริกรรมนิมิต นิมิตในบริกรรม อุคคหนิมิต นิมิตติดตา ปฏิภาคนิมิต นิมิตเทียบเคียงบริกรรมนิมิต กับอุคคหนิมิต ๒ อย่างนี้ ได้ทั่วไปในกัมมัฏฐานทั้งสิ้น แต่ปฏิภาคนิมิตนี้ ได้เฉพาะกัมมัฏฐาน ๒๒ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ภาวนา ๓ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนาบริกรรมภาวนานั้น ได้ทั่วไปในกัมมัฏฐานทั้งสิ้น อุปจารภาวนา ได้เฉพาะกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการคือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อุปสมานุสสติ มรณัสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน(กัมมัฏฐาน ๑๐) เหล่านี้ ย่อมให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนาหรืออุปจารฌานเท่านั้น เพราะว่ากัมมัฏฐานเหล่านี้เป็นกัมมัฏฐานที่สุขุม ละเอียดยิ่งนัก ไม่ปรากฏชัดได้ จิตและเจตสิก ไม่สามารถแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน จึงให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนาเท่านั้นส่วนอัปปนาภาวนานั้น ได้ในกัมมัฏฐาน ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ เหล่านี้ย่อมให้สำเร็จตลอดถึงอัปปนาภาวนาเพราะเหตุใดเพราะกัมมัฏฐานเหล่านี้ อารมณ์ปรากฏชัด อันจิตและเจตสิกเข้าไปแนบสนิทตั้งอยู่ได้นานกัมมัฏฐาน ๓๐ ประการ อันจะให้สำเร็จถึงอัปปนาภาวนา จะมีอานุภาพเสมอกันก็หาไม่อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ รวม ๑๑ ประการนี้ ให้สำเร็จเพียงรูปาวจรปฐมฌานอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะให้สำเร็จถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เว้นแต่ท่านผู้ใดมีสติปัญญา เมื่อเจริญอสุภกัมมัฏฐาน หรือกายคตาสติ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเจริญไปๆ ถ้ามีสีปรากฏชัดขึ้นมา เช่น มีสีแดง สีขาว สีเขียว เป็นต้น ปรากฏขึ้นมา

หลังจากนั้นเราเอาสีนั้นมาบริกรรมเป็นกสิณ ก็สามารถให้สำเร็จถึงจตุตถฌานได้ แต่ถ้าเราบริกรรมแค่อสุภะหรือกายคตาสติอย่างเดียว ก็ให้สำเร็จเพียงปฐมฌานเท่านั้นสำหรับพรหมวิหาร ๓ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา มีอานุภาพให้สำเร็จตั้งแต่ปฐมฌาน ถึงจตุตถฌาน (ว่าตามปัญจกนัย ถ้าตามจตุกกนัยก็ถึงตติยฌาน แต่ว่าโดยองค์ฌานแล้วมีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน)อุเบกขาพรหมวิหาร มีอานุภาพให้สำเร็จได้เพียงแต่รูปาวจรจตุตถฌาน หรือรูปาวจรปัญจมฌานอย่างเดียวอรูปกัมมัฏฐาน ๔ ก็ให้สำเร็จเพียงอรูปฌาน ๔ เท่านั้น หมายความว่า อรูปกัมมัฏฐานที่ ๑ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๑ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๒ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๒ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๓ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๓ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๔ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๔ โดยเฉพาะๆ สลับกันไม่ได้รวมกัมมัฏฐานที่ให้สำเร็จรูปาวจรฌานมี ๒๖ และให้สำเร็จอรูปาวจรฌานมี ๔ เป็น ๓๐ ประการ ที่ให้สำเร็จอัปปนาภาวนา เหลือจากนั้น ให้สำเร็จอุปจารภาวนา หรืออุปจารฌานเท่านั้นอานิสงส์ของการเจริญสมถภาวนา

เมื่อเราเจริญให้ยิ่งให้สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถให้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และก็เป็นเหตุให้เกิดคุณสมบัติขึ้นมา เช่นว่า ให้สำเร็จซึ่งวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อีกด้วย๒. วิปัสสนาภาวนา ภาวนาเป็นอุบายเรืองปัญญา คือการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ ต้องใช้ปัญญา ต้องให้เกิดปัญญาทันรูป ทันนาม ทันปัจจุบัน เห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔ จึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนาถ้าเจริญไปๆ เท่าไรก็ตาม สติสัมปชัญญะของเราไม่ทันปัจจุบัน ไม่ทันรูปทันนาม ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้อริยสัจ ๔ แม้เจริญเท่าไรก็ตาม ไม่จัดว่าเป็นวิปัสสนาภาวนาอารมณ์ที่ใช้เจริญวิปัสสนาภาวนา คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ แต่เมื่อสรุปแล้ว ก็ได้แก่ รูปกับนามนั่นเอง ย่นเข้าในการปฏิบัติ ก็ได้แก่ อาการพอง อาการยุบ เป็นต้น นี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนาอานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ย่อมจะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งแทงตลอด ซึ่งสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติ คือสิ่งใดเป็นอยู่ ก็สามารถที่จะรู้สิ่งนั้นตามธรรมชาตินั้น เช่น รู้สังขารทั้งหลายที่มีใจครองก็ดี ไม่มีใจครองก็ดี ว่าสังขารเหล่านี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ดับไป เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้แล้วดับไป เป็นต้นการรู้สภาวธรรมของธรรมชาติ มีประโยชน์อย่างไรมีประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ อย่างต่ำที่สุด ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยไม่ให้พวกเราทั้งหลายหลงใหลอยู่ในสมมติบัญญัติ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้มานะทิฏฐิลดน้อยลงไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทานลดน้อยลงไป หรืออ่อนกำลังลงไป ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลชั้นใดเลย นี้เป็นอย่างต่ำ อย่างสูง ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เมื่อกล่าวมาถึงนี้

ท่านทั้งหลายอาจจะมีความข้องใจสงสัยอยู่ว่า บัดนี้ พระศาสนาก็ล่วงเลยมาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว ยังจะมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ยังจะมีพระอรหันต์อยู่อีกหรือ อาจจะสงสัยอย่างนี้ก็ได้ข้อนี้ ขอยกหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ หน้า ๑๑๑ ถึง ๑๑๒ บรรทัดที่ ๒๑ และบรรทัดที่ ๑ ที่ ๒ ท่านกล่าวไว้ว่าปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๑ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาหนึ่งพันปี ในช่วงหนึ่งพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว หากว่าเราได้สั่งสมบุญกุศลไว้ในปุเรกชาติ ก็สามารถที่จะบรรลุปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ นั้นคือ ๑.อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ ๒.ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม ๓.นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในการกล่าวนิรุตติ์ ๔.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณฉฬภิญฺเฐหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ

ช่วงพันปีที่ ๒ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสองพันปี ในช่วงสองพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว สามารถที่จะยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นได้ หากว่าตนได้สั่งสมอบรมบารมีไว้แล้วในชาติปางก่อน คือ สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ สามารถได้หูทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ มีตาทิพย์ รู้วิธีที่จะทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน อภิญญาทั้ง ๖ นี้ สามารถเกิดขึ้นได้เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสามพันปี ในช่วงสามพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สามารถยังวิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นได้วิชชา ๓ นั้นคือ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นว่าผู้นี้เขามาเกิดที่นี้ด้วยบุญกรรมอะไร ผู้นี้ตายแล้วไปเกิดในที่ไหนก็รู้ได้ และอาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไปแต่ทั้งนี้ ก็ต้องได้เคยสั่งสมอบรมบารมีมาในภพก่อนชาติก่อนมาแล้ว คือเคยตั้งสัจจะอธิษฐานว่า สาธุ ด้วยอานิสงส์บุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมอบรมไว้นี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าสำเร็จวิชชา ๓ ในอนาคตกาลข้างหน้าเถิด เหมือนดังหลวงพ่อพากล่าวคำบูชาอธิษฐานจิตในวันอาสาฬหบูชานั้นว่าด้วยบุญกุศลที่ทำการบูชาพระรัตนตรัย เนื่องในวันอาสาฬหปุณณมีครั้งนี้ ขอจงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุซึ่งสมาธิสมาบัติ ให้ได้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ มโนมยิทธิ

อย่างนี้เรียกว่า เราได้สั่งสมอบรมบารมีไว้ ถ้าว่าในภพก่อนชาติก่อนเราได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าในภพก่อนชาติก่อนไม่เคยตั้งจิตอธิษฐานไว้เลย ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาบารมีที่เราได้สั่งสมอบรมไว้สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๔ เป็นยุคของพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะหมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสี่พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สำเร็จโดยแห้งแล้ง ไม่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงทำลายความโลภ โกรธ หลง ราคะ ตัณหา อุปาทานให้หมดไปจากขันธสันดานเท่านั้น เรียกว่าบรรลุโดยแห้งแล้ง ปาติโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๕ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีหมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงห้าพันปีนี้ แม้ว่าเราจะทำความเพียรเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถเป็นพระอรหันต์ อย่างสูงเพียงแต่ได้เป็นพระอนาคามีเท่านั้น

เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย หากว่าเข้าใจผิดมา ก็ขอให้กลับจิตกลับใจเสียใหม่ ผลของการปฏิบัตินั้น หากว่าเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติอยู่ ผลก็ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา ดุจเราปลูกต้นไม้ ถ้าเราตั้งอกตั้งใจปลูก พรวนดินใส่ปุ๋ยรดน้ำ กำจัดศัตรูพืช ก็จะผลิดอกออกผลมาให้เราเชยชมได้ ข้อนี้ฉันใด การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน หากว่าเรานั้นมีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริง ย่อมมีผลตามมาเป็นธรรมดา เพราะธรรมดาเป็นมาอย่างนี้

อนึ่ง การเจริญภาวนาที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น ไม่เหมือนกัน คือสำนักหนึ่งก็ภาวนาไปอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกุศโลบายของอาจารย์ท่านผู้สอน คือ
บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆ
บางสำนักภาวนาว่า สัมพุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า อิติปิ โส ภะคะวาๆ
บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ
บางสำนักหายใจเข้าภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกภาวนาว่า พุทโธ
บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า นะมะพะทะ หายใจออกภาวนาว่า นะมะพะทะ
บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆบางสำนักภาวนาว่า นั่งหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ถูกหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า กระทบหนอๆ
บางสำนัก ท้องพองขึ้นภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า ยุบหนอ
บางสำนักภาวนาว่า นั่งเป็นรูป รู้เป็นนาม
บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ
บางสำนัก ยกมือไปยกมือมาภาวนาว่า เกิดดับๆ
บางสำนัก หายใจเข้าหายใจออก นั่งดูเฉยๆ ไม่ได้ภาวนาว่ากระไรส่วนการเดินจงกรมนั้นก็ไม่เหมือนกัน
บางสำนัก เวลาเดินจงกรมภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ
บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า ก้าวหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม
บางสำนักภาวนาว่า ย่างหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ยก ย่าง เหยียบ
บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า เกิดดับๆ
บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ
บางสำนัก กำหนดรู้เฉยๆ ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สำนักไหนผิด สำนักไหนถูกถูกด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีสำนักไหนผิดเลย คือหมายความว่า การภาวนานั้น เราภาวนาต้องการที่จะทำจิตของเราให้สงบเป็นสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน ก็ถูกแบบสมถภาวนา หรือสมถกัมมัฏฐาน

แต่ถ้าเราภาวนาหรือบริกรรมเพื่อจะทำให้เกิดปัญญา เพื่อจะให้รู้แจ้งซึ่งสภาวธรรม หรือสิ่งที่ตนภาวนานั้น เช่น เรากำหนดท้องพองท้องยุบ ท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พุทโธ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า พุทโธ หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า ยุบหนอ เราต้องการจะรู้ว่า ต้นพองเป็นอย่างไร กลางพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร ต้นยุบเป็นอย่างไร กลางยุบเป็นอย่างไร สุดยุบเป็นอย่างไร เราสำเหนียกในใจให้รู้สภาวะความเป็นจริงในอารมณ์กัมมัฏฐานที่ตนบริกรรมหรือฝึกภาวนานั้น ก็ถูกแบบวิปัสสนากัมมัฏฐาน


810  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ญาณ ๑๖ เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2559 14:57:50
.

ญาณที่ ๕
ภังคญาณ
ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไป ความสลายไปของรูปนาม คือพิจารณาให้เห็นชัดลงไปในส่วนแห่งความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ว่าสังขารทั้งปวงล้วนดับสลายไปทั้งสิ้นเป็นญาณพิจารณาความดับของรูปนาม อุปปาทะ ความเกิดขึ้นมีอยู่ ฐิติ ความตั้งอยู่มีอยู่ แต่ผู้ปฏิบัติไม่สนใจดู ไปดูเฉพาะความดับไป แต่เมื่อญาณนี้เกิดขึ้นเต็มที่แล้ว มีอาการเหมือนง่วงอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ง่วง แม้แต่เวลาเดินจงกรมก็ง่วงเหมือนกันลักษณะจะซึมเซาอยู่ตลอดเวลา เราต้องถามดูอาการต้นพอง กลางพอง สุดพองว่ามีอาการอย่างไร อาการต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ มีอาการอย่างไร ถ้าอาการสุดยุบปรากฏชัด ก็ให้ได้เวลา เดินจงกรม ขณะเท้าก้าวไปหรือขณะเหยียบลง อาการไหนชัดกว่ากัน ในขณะยกเท้าขึ้นเหมือนมีอะไรมาดึงมารั้งเท้าของเราไว้ อาการเช่นนี้แสดงว่าต้นยกชัดเวลาเหยียบลงไปเหมือนมีอะไรมาค้ำเท้า หนุนเท้าของเราไว้ต้องเหวี่ยงอย่างแรง หัวคะมำไปก็มี ขณะเหยียบลงไปมีอาการร้อนผ่าว เหยียบลงไปเหมือนเหยียบเหล็กแหลม อาการเหล่านี้แสดงว่าขณะเหยียบปรากฏชัดดีถ้าขณะนั่งอยู่รู้ว่ามันวูบไปอยู่ในญาณที่ ๔ แต่ถ้าขณะนั่งอยู่ฝันเรื่อยไป อยู่ในญาณที่ ๕ ดังมีภิกษุรูปหนึ่ง อาการดับของท่านปรากฏชัดมาก นั่งไปมีแต่ฝันจนท่านเกิดความคิดขึ้นมาว่า เรามาจับฝันกันเถิด คือให้เราสังเกตดูอาการพองว่า ท้องของเราพองขึ้นมาถึงตรงไหนจึงฝัน อาการยุบของเรายุบลงไปถึงตรงไหนจึงฝันเป็นต้น ถามเขาต่อไปว่า “เวลากำหนด กำหนดได้ตามขั้นตอนดีไหม” บางท่านก็ตอบว่าไม่ได้กำหนดอะไรเลย เหมือนนั่งอยู่เฉยๆ ตลอดเวลา ผู้ปฏิบัติบางท่านอาจคิดว่าจะได้บุญหรือเปล่า เพราะเรานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้กำหนดอะไร ให้ถามต่อว่า “อาการพอง อาการยุบ สม่ำเสมอกันดีไหม” บางท่านตอบว่าอาการพอง-ยุบมันห่างๆ เลือนๆ ลางๆ บางครั้งต้องเอามือจี้ อาการเช่นนี้เราก็ให้ได้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๕ อาการพอง-ยุบเหมือนท้องตึง กำหนดไม่ดีเลย เห็นแต่สัณฐานหน้าท้องตลอดเวลา อาการอย่างนี้ก็ให้ได้เวลานั่งไปกำหนดไป เหมือนแขน ขา หัวของเราไม่มีอาการเช่นนี้ก็ให้ได้ เหมือนเรานั่งอยู่กลางอากาศ หรือเหมือนเรานั่งอยู่ใต้ดินคนเดียว ทั้งๆ ที่ยังได้ยินเสียงนก เสียงคนอยู่ลักษณะอย่างนี้ให้ได้ ถามต่อไปว่า “มีอะไรอีกไหม” บางท่านก็มีอาการคล้ายภูตผีปีศาจมุดเข้าไปสู่ร่างกาย ร้อนวูบตรงหัวใจร้อนวูบตรงสันหลัง บางทีตัวชาทั้งคืนจนถึงเช้า ต่อเมื่อมีใครมากระแอม ไอ จาม หรือเสียงระฆังทำวัตรเช้าดังขึ้น จึงทำให้สมาธิลดลงแล้วจึงเคลื่อนที่ได้ก็มี ที่ว่านั่งทั้งคืนนี้คือคู้เหยียดไม่ได้เลย เมื่อได้ยินเสียงระฆังแล้ว อาการนั้นจึงแตกออกจากหัวของเรา แล้วก็มึนชาออกไปทางด้านเท้า อาการเช่นนี้ก็ให้ได้บางครั้ง เห็นแต่อาการพอง-ยุบ แต่ไม่เห็นตัวของเราเอง เช่นนี้ก็ให้ได้ ถ้าการกำหนดไม่เห็นอาการพอง-ยุบ ให้ตั้งสติกำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” ต่อไปจนกว่าจะเห็นอาการพอง-ยุบปรากฏขึ้นมา ถ้าอาการอย่างนี้ปรากฏขึ้นมา ต้องให้เขาเดินจงกรมให้มากๆ เช่น เดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๓๐ นาที เดิน ๒ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง เป็นต้น บางครั้งเห็นอาการพอง-ยุบเกิดขึ้นแล้วหายไปก็ให้ได้ มองอะไรก็ไม่ปรากฏชัด มองดูท้องฟ้าอากาศก็มัวๆ ขยี้ตาอยู่เป็นประจำเหมือนควันไฟ ก็ให้ได้ อาการเหล่านี้ไม่ใช่จะเกิดหมดทุกอย่าง ถ้าเกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้ได้

ภังคญาณ จบ


ญาณที่ ๗
อาทีนวญาณ
ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามคือเมื่อ พิจารณาเห็นรูปนาม สังขารทั้งปวงแตกสลาย เห็นรูปนามสังขารเป็นของน่ากลัวแล้ว ก็ย่อมจะพิจารณาถึงว่าสังขารรูปนามทั้งปวงเป็นทุกข์เป็นโทษอาการท้องพอง-ยุบของญาณนี้ ต้องการเห็นถึงจะเห็นอาการของท้องพอง-ยุบนี้ ต้องถามทุกญาณ ให้ถามผู้ปฏิบัติว่า “กำหนดได้ดีไหม” ถ้าญาณนี้เกิด บางท่านก็จะว่ากำหนดไม่ได้ดีเลย คล้ายๆ อาการพอง-ยุบหายไปทีละนิดๆ แล้วก็หายไปเลย เลือนๆ ลางๆ บางท่านอาการพอง-ยุบปรากฏเร็วขึ้นๆ แต่ก็กำหนดได้ดีอยู่ ถามอาการนั่งว่า “นั่งได้ดีไหม” ถ้าญาณนี้เกิดจะตอบว่า โอย....นั่งไม่ได้เลย ๕ นาทีก็ลุกแล้ว บางท่านนั่งอยู่ตาเขม่นขึ้นมา นั่งอยู่คันคอขึ้นมา จาม น้ำลายไหล ปวดหัวคล้ายจะเป็นบ้า เวลานั่งไปเกิดความคิดว่ารูปนามนี้เป็นของปฏิกูล แล้วพิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เหม็นตัวเอง บางท่านเหม็นปัสสาวะ แต่ว่าไม่เหม็นปัสสาวะ เหม็นเป็นอย่างอื่นก็มี บางท่านจะมีอาการหิวกระหายตลอดเวลา วิงเวียนคล้ายจะเป็นไข้ตลอดเวลา นั่งอยู่ร่างกายกระตุกขึ้นมา ถามว่า “วันนี้ปฏิบัติดีไหม” บางท่านตอบว่าไม่ดีเลย นั่งก็ไม่ได้นาน พอง-ยุบก็เลือนๆ ลางๆ ถามอาการของจิตว่า “อาหารเป็นอย่างไร พอฉันได้อยู่หรือเปล่าฉันอร่อยไหม” บางท่านก็ตอบว่า โอย...ไม่อยากฉันอาหารเลยมองดูอะไรก็มีแต่ของน่าเกลียด สกปรก มองดูกบ เขียด ปลา เนื้อ เป็นของน่าเกลียด เป็นเหมือนร่างกายแสดงทุกข์โทษขึ้นอืดเน่าเฟะ อาการเหล่านี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๗

อาทีนวญาณ จบ

.watpit.org-
811  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / เกินพอดี เรื่องเล่าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสระแก เมื่อ: 10 กุมภาพันธ์ 2559 15:08:05
.



เกินพอดี
เรื่องเล่าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
วัดสระแก จ.พระนครศรีอยุธยา

 
ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา คือความพอดีถ้ามากเกินหรือน้อยเกินไปจะมีผลต่อจิตใจ

ผู้เขียนเคยเรียนถามหลวงปู่เกี่ยวกับคนที่เสียจริต กรรมอะไรที่ทำให้ต้องเป็นเช่นนั้น

หลวงปู่ท่านตอบแบบปัจจุบันกรรมคือกรรมในชาตินี้ว่า "ผู้ที่เสียใจสุดขีด หรือดีใจสุดขีด จะทำให้เป็นบ้าได้"
 
นอกจากนี้ หลวงปู่ยังกล่าวถึงอารมณ์ของคนไม่ปกติ ท่านบอกว่าเป็นโรคลมบาทจิต บาดทะยักเกิดขึ้นกับร่างกาย บาทจิตเกิดขึ้นกับจิตใจ มีผลถึงประสาท ดังนั้นการรักษาอารมณ์ของคนจึงมีความจำเป็น บุคคลบางประเภทเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายไม่แน่นอน หากที่เรียกว่า "ลมขึ้น ลมลง"

เนื่องจากไม่ได้มีการฝึกจิตหรือฝึกสติให้มั่นคงการชำระแต่เพียงร่างกายถ้าไม่ได้ชำระจิตใจเสียบ้างในที่สุดจะเกิดการหมักหมมของอารมณ์เช่นเดียวกับผลไม้ที่เกิดการหมักหมมกลายเป็นเหล้าทำให้เกิดความมัวเมาหาทิศทางไม่เจอจิตใจเต็มไปด้วยอธรรมมีการแก่งแย่งชิงดีริษยาอาฆาตไปต่างๆ นานาเมื่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจิตก็เกิดการล้มละลายได้ลำพังความรู้ทางโลกอย่างเดียวนั้นไม่สามารถนำมาปฏิรูปจิตได้
 
มีครั้งหนึ่งหลวงปู่ท่านนั่งอ่านวิชาการทางโลก เมื่อเจ้าของหนังสือได้เรียนถามว่า "หลวงปู่อ่านเรื่องอะไร"
 
หลวงปู่ "ข้าอ่านไปยังงั้นแหละ ข้าถามหลวงปู่ทวดว่า อ่านแล้วจะได้อะไร ท่านตอบข้าว่า อ่านยังไงก็ไม่พ้นทุกข์ ที่ท่านทำอยู่นั้นคือ ทางพ้นทุกข์ นั่นคือการปฏิบัตินั่นเอง"
 
พระพุทธองค์ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมาหนึ่งกำมือ แล้วตรัสถามพระภิกษุว่า
 
"ปริมาณใบไม้ในมือกับในป่า อันไหนมากกว่ากัน"
 
พระภิกษุทูลตอบว่า "ในป่ามีมากกว่ากันจนประมาณไม่ได้"
 
พระพุทธองค์ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรู้ที่ตถาคต นำมาสอนพวกเธอก็เช่นเดียวกัน เพราะความรู้มีมากมาย แต่ที่ทำให้พ้นทุกข์คือ สิ่งที่นำมาสอนพวกเธอเท่านั้น"
812  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: กรรมฐาน ๔๐ เมื่อ: 10 กุมภาพันธ์ 2559 14:59:05
กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๓๔ อาณาปานสติ (ต่อ)


สำหรับวันนี้ก็จะได้พูดถึงอานาปานสติต่อ แต่ว่าก่อนที่จะพูดอะไรทั้งหมดรับฟังอะไรทั้งหมด ก็จงอย่าลืมให้พิจารณาไว้เสมอว่า พิจารณาไว้เป็นปกติว่า อัตภาพนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นเพียงร่างกายที่มาอาศัยชั่วคราว เมื่อความเกิดมีขึ้นแล้วก็มีความแปรปรวน มีความป่วยไข้ ความแก่ ไม่สบาย มีการสลายตัวไปในที่สุด ขณะใดที่มีอัตภาพอยู่ ขณะนั้นชื่อว่าเรามีความทุกข์ ฉะนั้น เราไม่ต้องการอัตภาพนี้อีก ความปรารถนาในความเป็นมนุษย์ก็ดี ความเป็นเทวดาก็ดี ไม่เป็นเหตุให้หมดทุกข์ เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการคือพระนิพพาน และตั้งใจไว้เสมอว่าเรายอมรับนับถือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเหตุผล และจะใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง จะได้เกิดความมั่นใจว่าพระพุทธเจ้าสอนจริงถูกจริง อย่าน้อมใจเชื่อ เมื่อเราไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทำใจให้เข้าถึงคุณพระรัตนตรัย ยอมรับนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยความจริงใจ สำหรับพระสงฆ์นี้ต้องเลือกนะ เพราะถือว่าตั้งแต่พระอริยสงฆ์ขึ้นไป แต่ถึงแม้ว่าสงฆ์ที่เป็นปุถุชนเราก็ไม่ดูถูก หากว่าองค์ไหนไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเราก็งดเว้นการยอมรับนับถือเสีย เพราะอันนั้นเป็นการยอมรับนับถือโจรให้ปล้นพระพุทธศาสนา ตัดการสงเคราะห์เสีย ดูตัวอย่าง เช่น อนาถบิณฑิกคหบดีตัดการสงเคราะห์พระสุธรรมเถรเพราะการปฏิบัติไม่ดี อันนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า ช่วยกันกำจัดโจรร้ายที่ปรากฎในพระพุทธศาสนา แต่นี้ในเมื่อเรายอมรับนับถือความดีของพระสงฆ์คือพระอริยสงฆ์ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปด้วยความมั่นคงถือว่าเป็นสรณะ จากนั้นก็พยายามรักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ สำหรับศีลแปดนี้ก็ให้เป็นไปตามกาลตามสมัย แต่ว่าบุคคลใดจะรักษาได้ก็เป็นการดี บุคคลใดรักษาศีลห้าเป็นปกติ มีจิตใจยอมรับนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างมั่นคง อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่าท่านเป็นพระโสดาบัน จำองค์พระโสดาบันไว้ให้ครบว่า

เรายอมรับนับถือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่มีข้อสงสัย การที่จะไม่สงสัยก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนว่าพระพุทธเจ้าสอนเกิด แก่ เจ็บ ตาย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นความจริงไหม ถ้าจริง เชื่อได้ ใจเรายึดถือได้มั่นคงก็ยอมรับนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้ายอมรับนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในเมื่อเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของมีจริง เราต้องการพ้นจากการเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อย่างแรกเราปิดอบายภูมิเสียก่อน โดยที่ไม่ยอมเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ก็เพราะว่าเรามีศีลห้าบริสุทธิ์ เรียกว่าศีลห้าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ให้ระมัดระวัง ทรงให้ได้ ความเป็นพระโสดาบันจะเข้าถึงเรา สำหรับการเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูงเอาไว้ว่ากันทีหลัง อันดับแรกเป็นพระโสดาให้ได้เสียก่อนเท่านี้ดีพอแล้ว แล้วก็อย่าเพ่อหยุดยั้งตั้งใจระงับกิเลส ทำลายกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปทานจริง ๆ แล้วอารมณ์ใจจุดนี้ก็ควรรักษาไว้ตลอดชีวิตและทุกลมหายใจเข้าออกว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายเป็นธาตุสี่ เป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว ไม่ช้ามันก็สลายก็พัง ปกติมันก็เต็มไปความสกปรกโสมม มันเป็นแดนนำมาซึ่งความทุกข์ เราไม่ต้องการมันอีก ขึ้นชื่อว่าความเป็นมนุษย์ก็ดี ความเป็นเทวดาก็ดี ไม่เป็นแดนที่หมดทุกข์ เราไม่ต้องการ เราต้องการความสิ้นทุกข์ คือ พระนิพพาน แล้วทำจิตให้มั่นในคุณพระรัตนตรัย รักษาศีลห้าให้เป็นปกติเป็นการป้องกันอบายภูมิไว้ก่อน พระโสดาบันคุ้มตัวได้เพียงไม่ลงอบายภูมิ แต่ก็ต้องเกิดเป็นมนุษย์กับเทวดา แต่ว่าจำกัดเขต อันนี้ชื่อว่าเราเข้าถึงความดี องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์เบื้องแรกก็ได้กระแสพระนิพพาน คือพระโสดาบัน มั่นใจเหยียบหัวหาดเข้าไว้ ยึดให้ได้ต่อไปก็ตะลุยเข้าถึงพระอรหัตผล วันนี้ก็จะขอพูดถึงอานาปานสติกรรมฐานต่อไป การใคร่ครวญแบบที่จะพูดต่อไปนี้ท่านจะไม่ภาวนากรรมฐานกองไหนเลยก็ยิ่งดี พิจารณาตามนั้นเป็นการตัดกิเลสโดยเฉพาะ
 
วานนี้เราพูดถึงอานาปานสติกรรมฐานเข้าถึงฌานสี่ หวังว่าพอเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจไปพลิกหนังสือดู ทีนี้เมื่ออานาปาน์เข้าถึงฌานสี่แล้ว เราก็ทำกรรมฐานอีกสามสี่ห้ากอง กองไหน นี่เป็นของง่าย เราจะต้องฝึกซ้อมฌานสี่ให้มีความคล่องแคล่ว เข้าเมื่อไรออกเมื่อไรให้มีการทรงตัวตามอัธยาศัย จึงค่อยย้ายไปหาฌานอื่น นี่เป็นแต่เพียงอานาปานสติกรรมฐานอย่างเดียว ถ้าเราเข้าถึงฌานสี่หรือเข้าไม่ถึงฌานสี่ก็ตาม ถามว่าจะไปนิพพานได้ไหม อันนี้ก็ต้องขอตอบว่าได้ ใช้อานาปานสติอย่างเดียวเป็นพื้นฐาน เป็นกำลังแค่ขณิกสมาธิก็ดี อุปจารสมาธิก็ดี ปฐมฌานก็ดี เราทำวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป แต่ความจริงมันต้องคู่กันทุกบท ไม่ว่ากำหนดกรรมฐานกองใดก็ต้องยึดอารมณ์วิปัสสนาญาณไว้ให้ควบคู่ ให้ทรงตัวอยู่ด้วยกัน
 
การที่เรามีอานาปานสติกรรมฐานเข้ามาเป็นวิปัสสนาญาณ เราทำได้อย่างไร ความจริงอานาปานสติกรรมฐานจริง ๆ เป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้ นอกจากว่าเราดัดแปลงให้เป็นวิปัสสนาญาณเท่านั้น แล้วก็มีผลเท่ากัน

คือในอันดับแรกอานาปานสติกรรมฐาน เราอาศัยการทรงจิตให้อยู่ตัวเสียก่อน ให้จิตมันไม่กระสับกระส่ายในอารมณ์อื่น ด้วยอำนาจอานาปานสติเป็นเครื่องควบคุม
 
เมื่อจิตสบายแล้วก็มาน้อมถึงกาย คือมาน้อมถึงลมหายใจเข้าออก ว่าลมหายใจเข้าก็ดีออกก็ดี ว่ามันไม่ใช่ของเก่า เราดึงลมข้างนอกหายใจเข้ามาช่วยบริหารร่างกายภายใน เมื่อปอดขยายตัวแล้ว การทำงานของอวัยวะภายในทรงตัว เวลาหายในออกลมหายใจในท้องออกไป และหายใจเข้าใหม่ ความจริงมันไม่ใช่ลมเก่า มันเป็นลมใหม่ ส่วนของเก่ามันก็หมดไป ของใหม่เข้ามาแทนที่ ชีวิตเรายังทรงอยู่ได้
 
นี่เรามานั่งพิจารณาว่าถ้าเราหายใจออกแล้วเราไม่หายใจเข้ามันจะเป็นอย่างไร หรือหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกมันจะเป็นอย่างไร ก็ต้องตอบว่าตาย ถ้าขาดลมหายใจเสียอย่างเดียวก็ต้องตาย ที่เราทรงอาการอยูได้เพราะอาการสันตติ คือความสืบต่อของชีวิต ลมหายใจเข้าหายใจออกท่านกล่าวว่าเป็นอาหารอย่างหนึ่งที่เรียกว่าผัสสาหาร คืออาหารของการสัมผัส ถ้าขาดอาหารจุดนี้เสียแล้ว จะมีอาหารจุดไหนก็ตาม มีกินมีใช้เท่าไรก็ตาม ไม่มีประโยชน์ การที่เราทรงชีวิตอยู่ได้ก็เพราะอาศัยการหายใจเข้าหายใจออกไม่หยุด มันติดต่อตลอดไป ถ้าอาการหายใจเข้าหายใจออกหยุดเมื่อไรเราก็ตาย หรือถ้าหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก มันก็ตายหมดชีวิตกัน
 
ชีวิตที่มันต้องสลายไปมันเป็นเราเป็นของเราหรือเปล่า ชีวิตที่มันเป็นเรามันเป็นของเรามันเป็นความเป็นอยู่แต่ขันธ์ห้าคือร่างกายล่ะมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราเสียแล้ว เรามาอาศัยอยู่ ขันธ์ห้ามันก็สลายตัวมันก็พังไปสิ้นลมปราณเรียกกันว่าเป็นผีไป นี่เราก็มานั่งดูการเกิดไปเป็นคนแล้วก็ไปเป็นผี เป็นผีแล้วก็กลายเป็นคน เป็นคนแล้วก็กลายเป็นผี มันไม่มีอะไรจะสนุก ถ้าเป็นผีดี อย่างไปเป็นเทวดาหรือเป็นพรหมก็พอทำเนา เป็นผีชั่วอย่างเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต อสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่เป็นเรื่อง มันมีความทุกข์หนัก ทุกข์มาจากไหน ทุกข์มาจากความหลง คือ โลภะ-ความโลภ หรือราคะ-ความรัก โทสะ-ความโกรธ โมหะ-ความหลง มันอยู่ในใจ
 
เวลานี้เรามีแต่อานาปานสติกรรมฐานมันเป็นอย่างไร เราก็กำหนดทิ้งร่างกายว่าชีวิตของเราไม่ต่างอะไรกับลมหายใจเข้าออก ร่างกายที่มันทรงอยู่ได้ก็เพราะอาหารใหม่เข้าไปเลี้ยง อาหารเก่าสลายตัวไปหมดคุณภาพ ร่างกายต้องการใหม่คือความหิว แสดงความหิวให้ปรากฎ แสดงความอยากให้ปรากฎ ร่างหายหิวแสดงว่าอาหารเก่าที่เข้าไปเลี้ยงร่างกายหมดกำลังหมดสมรรถภาพไปแล้ว ต้องการอาหารใหม่เข้าไปแทนที่ เราก็หาให้ นี่มันก็เหลือลมหายใจ ลมหายใจเก่าหมดไปลมหายใจใหม่ก็พอดีเข้ามา มันทรงตัว ถ้าเราไม่ส่งอาหารใหม่เข้าไปมันก็ตาย พัง เพราะมันขาดการช่วยเหลือ นี่มันเป็นจุดหนึ่งที่เราควรจะคิดเพราะว่าชีวิตของเรานี่มันเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ยังมีความต้องการในอาหาร ความต้องการในอาหารมี ๒ ประเภท คือหิวธรรมดา แสดงว่าอาหารที่ปรนปรือร่างกายหมดสมรรถภาพต้องการอาหารใหม่เข้าไป ทีนี้อารมณ์อยากเปรี้ยว อยากขม อยากเผ็ด อยากเค็ม อยากร้อนอะไรก็ตาม ถ้าอยากเป็นกรณีพิเศษ นั่นก็เป็นความต้องการของร่างกายที่ร่างกายขาดตกบกพร่อง ร่างกายต้องการสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเข้าไปจุนเจือ
 
อันนี้ถ้าหากว่าเราไม่จุนเจือมัน หรือเราจุนเจือมันอยู่อย่างนี้แหละ ถ้าเราบอกอย่าแก่เลยนะ เธออยากจะกินอะไรฉันจะหาให้ มันอยากอะไรเราก็หามาให้มัน อย่ายอมแก่ไหม มันไม่ยอม ไม่ยอมเลิกแก่ มันก็ต้องแก่ไปตามสภาพของมัน
 
ความแก่เราไม่ว่า อย่าป่วยเลยนะ อย่างไรฉันก็ช่วยลูกช่วยหลานดูปลาดูไก่ไปตามเรื่อง เลี้ยงหลานได้ แต่อาการอย่างนี้มันจะเชื่อเราที่ไหน เราจะปรนเปรอมันขนาดไหนก็ตาม หาอาหารอย่างดีมาให้มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดประโยชน์ มันอยากจะป่วยเสียอย่างมันก็ป่วย นี่แสดงถึงการที่เราบังคับไม่ได้
 
จะป่วยก็ไม่ว่าละ จะนอนซมอยู่กับบ้านมีลืมตาเห็นลูกหลานคุยกับลูกคุยกับหลาน มองดูทรัพย์สินที่เราหาได้ อย่าตายเลยนะ เอาแค่ป่วยก็แล้วกันต่อไปมันเชื่อไหม มันก็ตาย
 
นี่หากว่าเราจะเกิดมาใหม่มันก็มีสภาพแบบนี้ถ้าเป็นคน เป็นสัตว์ก็มีสภาพเหมือนคน มีเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน เป็นเทวดาหรือพรหมถ้าหากหมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องหล่นลงมา ดีไม่ดีเลยไปหานรก เพราะกรรมที่เป็นอกุศลมันมีอยู่ นี้เราจึ่งนำอานาปานสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่องค์สมเด็จพระบรมครูสอนว่าเวลาหายใจเข้านึกว่าพุท หรือโธก็ตาม หายใจออกนึกยังไงก็ตาม แล้วกลับมาพิจารณาใหม่ ว่าลมหายใจเข้าหายใจออกนี่มันเป็นอนิจจังนะ มันเป็นของไม่เที่ยง ถ้ามันเที่ยงจริง ๆ มันก็ไม่ต้องหายใจเข้าใหม่หรือไม่ต้องหายใจออกใหม่ อันนี้มันไม่ทรงตัว ไอ้การไม่ทรงตัวแบบนี้มันก็ต้องทุกข์ ถ้าบังเอิญจมูกหายใจไม่ออกต้องหายใจทางปากมันก็ทุกข์ หรือจมูกหายใจได้ข้างหนึ่งไม่เต็มสองข้าง อย่างนี้เราก็ทุกข์ และต่อไปแม้ว่าเราจะบำรุงร่างกายสักเท่าไรก็ตามแต่ร่งกายมันแก่ไปมากกว่านี้เราก็ทุกข์ เป็นอันว่าการเกิดนี้มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ลมหายใจเลี้ยงร่างกายเราไว้เพื่อให้ทนต่อสู้กับความทุกข์ เราไม่เอาแล้ว มันทุกข์ เราไม่เอา เราต้องการความสุข
 
ต้องการความสุขทำยังไง แทนที่จะบอกว่าตัดราคะเสีย ตัดโลภะ ตัดโทสะ ตัดโมหะ ความหลง ไม่บอก เอาอย่างนี้ดีกว่า ให้คิดไว้เสมอว่าร่างกายนี้มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ มันไม่เที่ยง และมันสลายตัวไปในที่สุด เราต้องการมันทำไม นั่งนึกดูร่างกายว่าอะไรมันดีบ้าง มองดูแล้วจริง ๆ ด้วยความจริงใจจะเห็นว่าไม่มีอะไรในร่างกายมันทรงตัวอยู่ได้เลย คำว่าดีไม่มี มันมีแต่แก่ลงไปทุกวัน ๆ หาความพัง ก่อนจะพังก็เต็มไปด้วยความทุกข์นานาประการ จากความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ความกระทบกระทั่งจากอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ และมีการสัมผัสที่ไม่เป็นไปตามความปรารถนาทุกอย่างนี่ เราแบกทุกข์ไว้ทั้งหมด แต่เราไม่เป็นทุกข์ นี่เรามองทุกข์แล้วเราทำยังไงดีล่ะ เกิดมีร่างกายไม่ดีแล้วว่าร่างกายมีเพียงใด ความเป็นเทวดาหรือพรหมก็หวังยากเพียงนั้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องนิพพาน ถ้ายังมัวเมาในร่างกายแล้วละก็ ไป แหมลำบาก แล้วก็ไปโน่นแหละ นรก การขึ้นสวรรค์มันก็ไม่มี ทีนี้ทำไง
 
เราก็มานั่งปลงตัวเดียวว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ถ้าใจมันยังทรงอยู่ก็ไม่ต้องไปทำลมมันหรอก คิดพิจารณาไปเลย แล้วมันก็สลายตัว เราจะไปมัวยึดถือร่างกายนี้มันเป็นเราเป็นของเราเพื่อประโยชน์อะไร มันอยากจะตายก็เชิญตาย มันอยากจะแก่ก็เชิญแก่ มันอยากจะป่วย ที่เชิญนี่ไม่ใช่อะไร มันห้ามไม่ได้ ถ้ามันเป็นเข้าจริง ๆ แล้วเราก็ไม่ดิ้นรน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ชื่อว่าเป็นธรรมดาของมัน พอเราจับธรรมดาได้แล้ว พอจิตมันตกอยู่ในธรรมดาเป็นปกติ อย่างนี้เขาเรียกว่าลงทางตรง เข้าทางตรง ความเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา เป็นของไม่ยาก เมื่อจิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา มีใครเขามายั่วยวนให้เกิดกามราคะถือว่าเป็นธรรมดา แต่ว่าปัจจัยนี้มันเป็นปัจจัยของความทุกข์เราไม่เอาด้วย ใครเขาจะมาแนะนำสั่งสอนให้คดโกงชาวบ้านชาวเมืองเราไม่เอาด้วย นี่ใครเขาบอกว่าจงคิดให้ดีนะ ชาตินี้เกิดแล้วชาติหน้าเราก็มาเกิดกันใหม่ เราสั่งสมบุญบารมีเพื่อความเกิดเป็นมนุษย์ เราก็บอกเขา ไม่เอา ฉันจะไปนิพพาน ฉันต้องการจุดเดียว คือไปพระนิพพาน
 
มองดูตัวทุกข์ให้เห็นว่ามันเป็นทุกข์จริง และปัจจัยที่ทำลายความทุกข์ได้คือการตัดตัณหาความทะยานอยาก ตัดอยากเสียให้หมด อยากเที่ยว อยากกิน อยากหวาน อยากเฝื่อน อยากทำอะไรก็ช่าง อยากสวย อยากงาม อยากแก่ อยากหนุ่ม เลิกกัน ไม่อยากแล้ว ขี้เกียจ อยากไปเท่าไร ๆ ก็อยากไม่ได้นาน ไม่ช้าก็ตาย ก็เลยไม่อยากต่อไป ทำอารมณ์ว่าเราจะยอมรับนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเราแล้ว เราจะรักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ เราจะพยายามทำลายกามราคะให้สิ้นไป เราจะพยายามทำลายโทสะให้สิ้นไป นี่เป็นพระอนาคามีแล้ว
 
เราจะไม่เมาในรูปฌาน อรูปฌาน เราไม่ถือตัวถือตนว่าเราดีกว่าเขา เลวกว่าเขา เราเสมอเขา ทำใจสบาย ใครมาอย่างไรก็รับรองได้ ไม่ถือว่าใครใหญ่ใครเล็ก เราจะระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านด้วยอานาปานสติกรรมฐานคุมไว้ตลอดเวลา ให้จิตจับอยู่เฉพาะพระนิพพานเป็นอย่างเดียว ตัดฉันทะ-ความพอใจในการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นพรหม เป็นเทวดา ตัดราคะที่เห็นว่าโลกมนุษย์มีความสวยสดงดงามด้วยอำนาจของความโง่สั่งสอนเราไม่เอา ต่อแต่นั้นเราก็มาตัดราคะ คือความกำหนัดยินดีว่าโลกนี้สวยสดงดงาม พรหมโลกและเทวโลกสวยสดงดงาม เราไม่เอา เราต้องการพระนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วเราก็ดูใจของเรา พิจารณาอารมณ์ของเราว่ารักร่างกายไหม หรือว่าถือเป็นเรื่องธรรมดาที่มันจะพัง ร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรก ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร อารมณ์นี้มีกับเราหรือเปล่า มีตลอดวันไหม ถ้าเป็นได้ตลอดวันละก็ ชื่อว่าใจของเราเข้าสู่จุดแห่งพระนิพพานแล้ว
 
เอาละท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อไปนี้ขอให้ท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
 
813  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: กรรมฐาน ๔๐ เมื่อ: 10 กุมภาพันธ์ 2559 14:56:38

กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๓๓ อานาปานสติ

บัดนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้พากันสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปก็เป็นโอกาสที่บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายจะพึงกำหนดจิตให้เป็นสมาธิวิปัสสนาญาณ

สำหรับวันนี้ก็จะพูดถึงอานาปานสติกรรมฐานต่อ แต่ว่าก่อนที่บรรดาท่านพุทธบริษัทจะใช้อารมณ์เป็นอานาปานสติกรรมฐานหรือว่ากรรมฐานกองใดก็ตามที่ได้เคยศึกษามา ในตอนต้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัทกำหนดใจหาความจริงของขันธ์ห้าไว้เป็นปกติ ความจริงที่เราควรจะยอมรับนับถือที่เราเรียกว่าอริยสัจ กล่าวโดยย่อ คือ อนิจจัง-ความไม่เที่ยง ทุกขัง-ความทุกข์ อนัตตา-การสลายตัว

เมื่อความเกิดมีขึ้นในร่างกายย่อมมีความเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ คือ จากความเป็นเด็กหถึงความเป็นผู้ใหญ่ ความมีสภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์บริบูรณ์เข้าถึงความเสื่อม การทรงตัวในฐานะเป็นคนปกติมาถึงความเป็นคนป่วยไข้ไม่สบาย จากความเป็นหนุ่มเป็นสาวมาถึงคราวเป็นคนแก่ นี่เรียกว่าความเสื่อม คือความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงอย่างนี้ย่อมมีเป็นปกติธรรมดาของคนและสัตว์ที่เกิดมาในโลก

แต่ความไม่เที่ยวปรากฎมันก็มีความทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจเกิดขึ้น เราไม่ต้องการความไม่เที่ยง แต่ความไม่เที่ยงมันก็จะต้องมี เราห้ามอาการมันไม่ได้เพราะมันเป็นปกติธรรมดา ถ้าเราไม่ใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริง อารมณ์ทุกข์มันก็เกิด เกิดตรงไหน เกิดตรงที่เราไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราไม่ต้องการความป่วยไข้ของร่างกาย เราไม่ต้องการควมปรารถนาไม่สมหวังที่เกิดขึ้นกับจิต แต่มันก็ต้องมี มีความไม่ต้องการความไม่ปรารถนา การมีอารมณ์ความรู้สึกฝ่าฝืนอาการที่เป็นไปตามปกติ อย่างนี้เรียกว่าคนที่ไร้ปัญญา ขาดการพิจารณาหาความจริง เมื่อขาดการพิจารณาตามความเป็นจริง เมื่อความจริงมาปรากฎเราไม่ต้องการ ความทุกข์มันก็เกิด เพราะมันมีอารมณ์ฝืน

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เรายอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง เรามีอารมณ์รู้อยู่เสมอว่าเมื่อความเกิดมีขึ้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงมันย่อมปรากฎ ความแก่เข้ามาถึง ความป่วยไข้ไม่สบายเข้ามาถึง ความตายจะเข้ามาถึงในที่สุด อาการพลัดพรากจากของรักของชอบใจยังมีอยู่ ในเมื่อจิตของเรายอมรับความเป็นจริง ยอมรับนับถือกฎธรรมดาแบบนี้แล้ว ถ้าอาการเหล่านี้ทั้งหลายปรากฎ จิตเราก็มีความสบาย เรารู้อยู่แล้วว่าอาการมันจะต้องเป็นอย่างนั้น ต่อมาเมื่อความตายมันเข้ามาถึงเรา ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันเกิด แก่ เจ็บแล้วก็ตายในที่สุด เป็นอันว่า ความเกิดมีขึ้นก็มีความตายคู่กันเป็นของธรรมดา

เมื่อความตายมันมีแล้ว ก็หันไปพิจารณาร่างกาย มันเป็นเราเป็นของเราจริงหรือเปล่า ก็จะเห็นว่าร่างกายมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เพราะว่ามันมีความเกิดในเบื้องต้น มันมีความแก่ในท่ามกลาง มีการแตกสลายไปในที่สุด เราไม่ต้องการอย่างนั้น แต่เราก็ไม่สามารถจะห้ามปรามมันได้ ถ้ามันเป็นเราจริงเป็นของเราจริง เราก็ห้ามมันได้ ในเมื่อเห็นว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราจะหลงความเกิดต่อไป เราก็ต้องพบกับความตายอย่างนี้อีก นี่ พระพุทธเจ้าท่านให้วางภาระในการเกิดเสีย เมื่อเราไม่เกิดมันก็ไม่ตาย

แล้วการที่เราไม่เกิดเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องทำจิตให้บริบูรณ์ไปด้วยทาน ตัดโลภะ-ความโลภ จิตบริบูรณ์ไปด้วยศีล ตัดโทสะ-ความโกรธ เพราะศีลจะมีได้เพราะอำนาจเมตตาบารมีเป็นสำคัญ แล้วก็ตัดความหลงการยึดถือสภาพร่างกายเป็นเราเป็นของเราเสีย ถือว่ามันมีความเกิดในเบื้องต้น ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด อย่างนี้เป็นภาระที่มีความทุกข์ อย่างนี้เราไม่ต้องการมันอีก ไม่ยึดถือขันธ์ห้าว่าเป็นเราเป็นของเราต่อไป ทีนี้จิตใจของเราก็มีความสุข นี่พูดถึงวิปัสสนาญาณโดยย่อควรคิดไว้เป็นปกติ แล้วควรคิดให้มันแนบเนียนไปกว่านี้ แต่นี่มันเบื้องต้นธรรมดา ท่านพุทธศาสนิกชนคิดได้ก็จะมีความสบายใจขึ้นมาก
 
ทีนี้อารมณ์ที่จะทรงวิปัสสนาญาณได้จริง ๆ อารมณ์ของบรรดาท่านพุทธบริษัทชาย-หญิงจะต้องมีสมาธิจิตเป็นสำคัญ ต้องระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านให้สิ้นไป ไม่ยอมให้อารมณ์ใด ๆ เข้ามายุ่งกับร่างกาย ในเมื่อเราพิจารณาวิปัสสนาญาณ การระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านนั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดากล่าวว่าต้องใช้อานาปานสติกรรมฐานเป็นสำคัญ เพราะอานาปานสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานที่ระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต อานาปานสติกรรมฐานก็คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เมื่อเวลาที่จิตมันซ่านจริง ๆ ก็ไม่ต้องใช้คำภาวนา ใช้กำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นสำคัญอย่างเดียวเท่านั้น ถ้ามันซ่านจริงถ้าเราภาวนามันจะยิ่งซ่านกันใหญ่

ทีนี้การกำหนดลมหายใจเข้าออกทำอย่างไร ตั้งใจไว้โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก นี่เบื้องต้น นี่เริ่มฝึกในจุดต้น ถ้ากำหนดรู้โดยเฉพาะ ให้รู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าสั้นหรือยาว อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้เป็นด้านของมหาสติปัฏฐานสูตร เรียกว่าเป็นพื้นฐานของสุกขวิปัสสโก ถ้าหากเราต้องการศึกษาเพื่อเตวิชโช คือ วิชชาสาม ฉฬภิญโญ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทัปปัตโน ปฏิสัมภิทาญาณ ก็ต้องกำหนดฐานลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้าลมหายใจกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือริมฝีกปาก ถ้าคนริมฝีปากเชิด ลมจะกระทบริมฝีปาก ริมฝึกปากคุ้มจะกระทบจมูก
 
การเจริญอานาปานสติกรรมฐานนี้แยกออกเป็น ๒ ประเภทด้วยกันตามขั้นสุดท้าย ถ้ารักแค่สุกขปัสสวิโกก็ไม่ต้องกำหนดลม ๓ ฐาน ถ้าจะใช้สมาธิให้ได้ถึงวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณ ก็ใช้ ๓ ฐาน ให้เลือกเอาตามอัธยาศัย นี่การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกมันเป็นของยาก ถ้าเราพูดกันนี่มันไม่ยาก เวลาทำจริง ๆ มันยากเพราะว่าจิตของเรามันชอบซ่านชอบคิดเป็นปกติ จิตมีสภาพกลับกลอกดิ้นรนตลอดเวลา มีความไวมาก การจะบังคับจิตให้อยู่นิ่ง ๆ เหมือนบังคับลิงไม่ให้มันเคลื่อนไหว มันก็ยากเหมือนกัน แต่ทว่ามันก็ไม่เกินวิสัยที่เราจะทำได้
 
ในระดับแรก ถ้าเราบังเอิญเราไม่เคยปฏิบัติทางด้านจิตกับสมาธิ ท่านให้ใช้เวลาสั้น ๆ อย่าใช้เวลายาวเกินไป โดยตั้งใจไว้ว่าในช่วงเวลาเพียงเท่านี้ เราจะไม่ยอมให้อารมณ์จิตคิดเรื่องอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่เรากำหนดไว้ว่ารู้ลมหายใจเข้าออก ถ้าจิตมันไม่ฟุ้งซ่านเพียงใดจะควบคำภาวนาใด ๆ ก็ได้ตามอัธยาศัย แล้วให้ทรงอยู่เฉพาะอย่างนั้น เพราะจะกำหนดจิตไว้ว่า ๑๐ ช่วง เฉพาะลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าหายใจออกนับเป็นหนึ่ง เข้าออกอีก ๑ คู่นับเป็น ๒ อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็ช่วงจังหวะ ๑๐ คู่ของลมหายใจเข้าลมหายใจออก เราจะไม่ยอมให้จิตคิดถึงเรื่องอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งหมด นอกจากแต่เพียงว่ารู้ลมหายใจเข้าออก อย่างนั้นก็ดี หรือว่าเราจะใช้พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติควบก็ได้ไม่บังคับ ถ้าจิตมันซ่านเกินไป ท่านใช้พุทธานุสสติควบ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุธ เวลาหายใจออกนึกว่า โธ อย่างนี้ก็ได้ หรือว่าจะภาวนาว่าอย่างไรก็ได้ นี่สอนเลย อานาปานสติ แต่ก็ไม่เป็นไรมันไม่ผิด ถ้าจิตไม่ซ่านเกินไปก็ใช้ได้ ในชั่วช่วง ๑๐ คู่ของลมหายใจเข้าออก หรือบางทีท่านพุทธบริษัทที่ฝึกใหม่ก็อย่าให้มันน้อยเกินไป เราอย่าถือปริมาณของเวลาเป็นสำคัญ การเจริญพระกรรมฐานควรจะถือคุณภาพเป็นสำคัญ การใช้ปริมาณของเวลานั่งครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมง ถ้าหากจิตซ่านล็อกแล็ก ๆ หาการทรงตัวไม่ได้ มันก็จะมีสภาพไม่ต่างอะไรกับการเอาตะกร้าไปตักน้ำ ตักทั้งวันทั้งคืนไม่มีน้ำติดขึ้นมา อย่างดีที่สุดก็เป็นตะกร้าเปียก ๆ เท่านั้น สู้เราเอาจอกเล็ก ๆ เข้าไปตักจ้วงทีเดียวน้ำติดขึ้นมาหน่อยหนึ่งไม่ได้ ไม่ต้องเสียเวลามาก ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ท่านนักปฏิบัติพระกรรมฐานหวังเอาความดีกันจริง ๆ นี่เราพูดเอาดีกันจริง ๆ ตามที่เขาปฏิบัติกันมามันมีผล เขาใช้เวลาน้อย ๆ อย่าให้มากนัก แต่ว่าไม่ใช่เกณฑ์ให้น้อยเสมอไป คือใช้เวลาช่วงสั้น ๆ สัก ๑๐ คู่ของลมหายใจเข้าออก ในช่วง ๑๐ คู่นี้เราจะไม่ยอมให้จิตคิดอย่างอื่นเลย ถ้าเราจะไม่ภาวนาด้วย หรือว่าภาวนาด้วย จิตจะอยู่เฉพาะภาวนาที่เราต้องการ ถ้าบังเอิญในช่วง ๑๐ คู่นี่ในระหว่างที่มันไม่ทันถึง ๑๐ จิตมันแวบไปสู่อารมณ์อื่น พอรู้สึกตัวมันเริ่มต้นใหม่ ทรมานมันเสีย อย่าตามใจมัน อย่างนี้ใน ๑ ถึง ๑๐ ภาวนาไป ก็จับลมหายใจได้ ๑ คู่ จะนับนิ้วมือก็ได้ ให้จิตมันทรงตัว คือบังคับให้จิตอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เรียกว่าสมาธิ แล้วถ้าบังเอิญนับ ๑ ถึง ๑๐ แล้วมันยังดีอยู่ เราถือว่าเป็นทุนที่เราตั้งใจไว้ จิตยังไม่ซ่านนับต่อไปอีก ๑๐ ตอนนี้ถือว่าเป็นกำไร ถ้านับต่อไปถึง ๑๐ ยังดีอยู่ ก็นับต่อไปอีก ๑๐ การที่จะคิดว่าการนับอยู่นี่จะเป็นสมาธิได้อย่างไร อารมณ์แนบสนิทในสมาธิไม่ต้องรู้อะไร ถ้าคิดอย่างนี้ผิดถนัด
 
การรู้ลมหายใจเข้าออก รู้อยุ่ ๑ ถึง ๑๐ เราคิดว่าเรากำหนดรู้เพียงเท่านี้ ถ้าจิตมันทรงอยู่แบบนี้ เขาเรียกกันว่าสมาธิ เพราะว่าสมาธิแปลว่าความตั้งใจมั่น คือว่าตั้งใจไว้ว่าจะรู้อะไรเราก็รู้อยู่เท่านั้น เราเรียกกันว่าสมาธิ คือ เวลาฝึกใหม่ ๆ ท่านทั้งหลายอย่าใช้เวลามาก คือว่าเราจะไม่ต้องการไม่บังคับในการใช้เวลามาก ถ้าจิตยังทรงอารมณ์ดีอยู่ จะทรงอยู่เท่าไรก็ได้ไม่ห้าม ถ้าเห็นวาอารมณ์จิตซ่านเกินไป ทำอย่างไรมันจึงจะหยุดหรือควรจะปฏิบัติอย่างไร นี่มีความสำคัญมาก ต้องฟังคำแนะนำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำถึงการบังคับจิตไม่ให้อารมณ์จิตซ่าน
 
นักปฏิบัติ ถ้าเขาฉลาดละก็ เรื่องสมาธิไม่เป็นของยาก โดยเฉพาะอานาปานสตินี่ก็ต้องใช้เวลาพูดหลายคืนหน่อย เพราะว่าเวลาพูดแต่ละคืนมีจำกัด ถ้าอารมณ์จิตดี ซ่านจริง ๆ ก็มีวิธีปฏิบัติอยู่ ๒ อย่าง ถ้าซ่านจริง ๆ บังคับไม่ไหวจริง ๆ ให้เลิกเสียอย่างหนึ่ง อย่าฝืนทำต่อไป จิตมันจะดิ้นรน ถ้าจิตมันซ่านเราบังคับไม่ได้มันจะกลุ้ม ความกลุ้มเกิด ความกระวนกระวายปรากฎ ความทุกข์กายไม่สบายใจปรากฎ ดีไม่ดีถ้าคิดมากไปก็เลยกลายเป็นโรคเส้นประสาท ไอ้ที่ทำกรรมฐานแล้วคลั่งขาดสติสัมปชัญญะ เพราะไม่รู้จักการประมาณตัวเป็นสำคัญ ยังมีวิธีหนึ่ง ถ้ามันซ่านจริง ๆ พระพุทธเจ้าให้เลิกเสีย
 
แล้วมีอีกวิธีหนึ่ง พระพุทธเจ้าแนะนำให้ใช้การยืดหยุ่น การยืดหยุ่นเป็นของสำคัญ อันนี้เคยปฏิบัติมาแล้วทั้ง ๒ อย่าง มันมีผลจริง ๆ แต่ว่าวิธีที่ ๒ นี้ เป็นวิธีที่อาตมาชอบที่สุด แต่ว่าทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นวิธีของพระพุทธเจ้าที่จะต้องการอย่างไหนก็ได้ วิธีที่ ๒ พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ว่าถ้าบังคับไม่หยุดจริง ๆ บังคับไม่อยู่แน่ ๆ เว้นไว้แต่เพียงว่าถ้าเราเป็นพระอริยแล้วขึ้นไปถึงอรหัตผล หรือว่าเป็นผู้ทรงฌานได้จริง ๆ ก็บังคับได้ชั่วระยะเวลา ยามว่างเข้าเวลาปกติก็ดิ้นรนตึงตัง ๆ ถ้าเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันไปมันยังไม่หมดได้ แต่ตั้งอยู่ในอารมณ์ของกุศล อกุศลไม่มี ถ้าถึงพระอรหันต์แล้วสบายมาก วันทั้งวันสบาย น้อมอยู่ในกุศลตลอดเวลา มีแต่ความเยือกเย็นของจิต
 
หวนกลับมาวิธีที่ ๒ ถ้ามันซ่านจริง ๆ พระพุทธเจ้าบอกให้ปล่อยให้มันคิดไปส่งเดชเลยเพราะบังคับ ๆ ไม่อยู่ มันอยากจะคิดอะไรก็เชิญคิดตามอัธยาศัย อย่าขัดคอมัน แต่ตั้งใจไว้เลยว่ามันเลิกเมื่อไรจะเริ่มต้นกันใหม่ วิธีนี้เป็นวิธีที่มีความสำคัญมาก เหมือนคนที่บังคับม้าพยศ ถ้าม้ามันพยศมันยังมีกำลังอยู่ไม่สามารถจะบังคับให้เข้าทางได้ ท่านบอกให้กอดคอถือแส้เข้าไว้ มันจะไปไหนให้มันวิ่ง ปล่อยให้มันวิ่งให้มันหมดฤทธิ์ ในเมื่อมันหมดฤทธิ์ที่มันจะวิ่งไปได้แล้ว กำลังมันก็น้อย เราจะบังคับให้มันวิ่งไปสบาย ไปขวา ไปหน้า ไปหลังก็ได้ เพราะหมดแรงพยศ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันจะฟุ้งบังคับไม่อยู่ ก็เชิญมันคิดตามอัธยาศัย ลองดูนะ ลองดูแล้ว ลองดูหลายครั้ง เพราะว่าตอนระยะแรกๆ คุมมันไม่อยู่เหมือนกัน ก็เลยปล่อยให้มันคิดไปตามที่ท่านแนะนำมันก็ไม่เกิน ๑๕ นาทีถึง ๒๐ นาที มันเลิกคิด ปล่อยไปตามอัธยาศัยจะเข้าบ้านเข้าช่องใครก็ช่างหัวมัน พอมันเลิกคิดก็กลับมาจับอารมณ์ใหม่ คราวนี้มาจับอารมณ์เพียงวินาที หรือสองวินาที อารมณ์มันจะหยุดซ่านทันที เพราะมันเหนื่อย อารมณ์จะดิ่งเป็นฌานนานแสน บางทีชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง มันยังไม่ถอน อารมณ์จะเงียบจริง ๆ จะทรงเป็นสมาธิจริง ๆ
 
วิธีทั้งสองประการขอบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ทั้งชายหญิง และพระภิกษุสามเณร จงพยายามกำหนดเอาชนะจิตด้วยวิธีนี้ คือว่า สู้มันไม่ไหวจริง ๆ ปล่อยมันคิด ถ้ามันเลิกคิดแล้วดึงมันกลับเข้ามาสู่ลมหายใจเข้าออกภาวนาด้วยก็ได้ อันนี้จิตจะแนบสนิทเป็นฌานได้อย่างดีมาก อันนี้คำแนะนำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องพยายามประพฤติปฏิบัติตลอดเวลา เพราะเป็นวิธีเดียวกับที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติมาแล้วก็มีผล ตลอดจนท่านอริยชนทั้งหมดคือพระอริยเจ้าที่บรรลุมาแล้วก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระพิชิตมารก็มีผลเช่นเดียวกัน ไม่ควรจะทอดทิ้งเสีย ควรจะยึดถือเอาไว้ปฏิบัติเพราะอานาปานสติกรรมฐานเป็นตัวคุมอารมณ์จิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน ตัวนี้เป็นกรรมฐานสำคัญมาก เราจะเจริญวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทา ทำกสิณ ทำอสุภะ อะไรก็ตามถ้าไม่ยึดอานาปานสติกรรมฐาน จิตมันจะไม่ลงเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น อานาปานสติกรรมฐานจึงถือเป็นกรรมฐานใหญ่อย่างยิ่ง ครอบกรรมฐานทั้งหมด เพราะฉะนั้น ในมหาสติปัฏฐานสูตร องค์สมเด็จพระบรมสุคตจึงขึ้นอานาปานสติกรรมฐาน พอเริ่มต้นก็สอนอานาปานสติกรรมฐานก่อน เป็นการคุมใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เวลากาลที่เราจะพูดกันก็หมดลงแล้วก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
 
ต่อไปนี้ก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

814  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: พุทธประวัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อ: 05 กุมภาพันธ์ 2559 16:34:12
.

ตอนที่ 5
พระพุทธเจ้าเมื่อเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก)




ในสัปดาห์ที่ห้าได้เสด็จไปประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร)
 
ในสัปดาห์ที่หก ได้มีฝนเจือลมหนาวตกพรำอยู่เจ็ดวัน พญานาคชื่อมุจลินท์เข้ามาวงด้วยขนดเจ็ดรอบ แล้วแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อป้องกันลมและฝนมิให้ถูกพระกาย ครั้นฝนหายแล้วก็คลายขนดออกจำแลงเพศเป็นมาณพ เข้ามายืนเฝ้า ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า "ความสงัดเป็นความสุขสำหรับบุคคลผู้ได้สดับธรรมแล้วยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามเป็นอย่างไร ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย  และความปราศจากกำหนัดคือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ ถือว่ามีตัวตนให้หมดได้เป็นสุขอย่างยิ่ง"

 

ธิดาพระยามาราธิราชแสดงยั่วยวนพระพุทธองค์

เมื่อพระพุทธองค์อยู่ภายใต้ร่มไม้อชปาลนิโครธ อันตั้งทางทิศบูรพาของต้นพระศรีมหาโพธิ ในสัปดาห์ที่ห้าทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ ธิดามาร 3 คน คีอนางตัณหา นางราคา และนางอรดี ได้อาสาพระยามารเข้าไปเฝ้า เนรมิตอัตภาพเป็นหญิงนานาชนิด หวังให้พระองค์พอพระทัย แต่พระองค์มิได้ใฝ่พระทัยกลับทรงขับไล่ให้ออกไป  อันแสดงถึงความไม่ยอมกลับมาเป็นผู้แพ้อีก
 
เรื่องนี้พระพุทธโฆษาจารย์กล่าวไว้ในอรรถคถาธรรมบ


 

ตปุสสะและภัลลิกะ สองพาณิชถวายข้าวสัตตุแด่พระพุทธองค์

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ได้สี่สัปดาห์ และได้ประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นเกต ซึ่งได้นามว่า ราชายตนะ ได้มีนายพานิชสองคน คือ ตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางมาจากอกุกลชนบท เมื่อได้เห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั่น มีพระรัศมีผ่องใสยิ่งนักก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงได้นำข้าวสตุก้อนสตุผง ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตนเข้าไปถวาย แล้วได้อ้างถึงพระองค์และพระธรรมว่าเป็นสรณะ นายพาณิชทั้งสองนี้ได้เป็นปฐมอุบาสกที่ถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ เรียกว่า เทวาจิกะ  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับบาตรที่ท้าวจตุมหาราชนำมาถวายซึ่งพระองค์ได้ทรงอธิษฐานให้บาตรทั้งสี่ใบเป็นใบเดียวกัน

 

ท้าวจตุมหาราชถวายบาตรพระพุทธองค์

เมื่อพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และได้ประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นเกตอันมีนามว่า ราชายตนะ ซึ่งอยู่ทางทิศทักษิณของต้นพระศรีมหาโพธิ ครั้งนั้นมีนายพาณิชสองคนคือตปุสสะกับภัลลิกะ ได้น้อมนำเอาข้าวสตุก้อนและสตุผงเข้าไปถวายพระองค์ และพระองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่ขณะนั้นพระองค์ไม่มีบาตร ครั้นจะรับด้วยพระหัตถ์ก็ผิดประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน
 
ฝ่ายท้าวมหาราชทั้งสี่ คือท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ ท้าวกุเวร ทราบพุทธประสงค์ จึงต่างนำบาตรศิลาองค์ละใบเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับบาตรจากท้าวมหาราชทั้งสี่แล้วทรงอธิษฐานให้รวมกันเป็นบาตรใบเดียว แล้วทรงรับข้าวสตุก้อนสตุผงของนายพาณิชทั้งสองด้วยบาตรนั้น




พระผู้มีพระภาคเสด็จมาเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์

เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ต้นเกตได้เจ็ดวันอันเป็นสัปดาห์ที่เจ็ด หลังจากได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ใกล้เมืองพาราณสี ในเวลาเย็นแห่งวันขึ้น 14 ค่ำ ก่อนพุทธศก 45 ปี เพื่อเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ผู้ซึ่งเคยได้อยู่อุปัฏฐากพระองค์ เมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ 

เมื่อปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาตั้งแต่ระยะไกล ปัญจวัคคีย์เข้าใจว่าพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยาแล้วและคงไม่ได้บรรลุธรรมวิเศษอะไร จึงนัดกันไม่ออกไปต้อนรับอย่างที่เคยปฏิบัติมา และเมื่อพระองค์เสด็จมาใกล้ก็ยังใช้โวหารเรียกพระนามโดยไม่เคารพ ต่อเมื่อพระองค์ตรัสว่า "เราได้ตรัสรู้อมฤตธรรมโดยชอบแล้ว  จะนำมาสั่งสอนพวกเธอ ถ้าพวกเธอตั้งใจฟังและปฏิบัติตามในไม่ช้าจะบรรลุอมฤตธรรมนั้น ปัญจวัคคีย์ระลึกได้ว่า พระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อน จึงได้ปฏิบัติเช่นที่เคยปฏิบัติมาก่อน"

ในวันรุ่งขึ้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์เป็นปฐมเทศนา เพื่อประกาศสัจธรรมอันประเสริฐ

 


ทรงแสดงปฐมเทศนา

พระบรมศาสดาได้เสด็จไปสู่สำนักปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี และได้แสดงพระปฐมเทศนา ชื่อว่าธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ทรงแสดงถึงที่สุดสองอย่างที่ไม่พึงเสพ คือ กามสุขัลลิกานุโยค ความพัวพันหนักในกามสุข และอัตตกิลมถานุโยค การประกอบกรรมเป็นการทรมานตนให้เหนื่อยเปล่า ไม่ใช่ทางแห่งอริยภูมิ ทรงชี้ทางมัชฌิมาปฏิปทาคือทางสายกลาง ซึ่งมีอยู่ 8 ประการได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ  สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ สัมมากัมมันตา การงานชอบ สัมมาวาจา การเจรจาชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ การระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ  ความตั้งใจมั่นชอบ

แล้วทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัยสาเหตุแห่งทุกข์ ทุกขนิโรธ ความคับทุกข์ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หนทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์
1.ทรงชี้ว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความโศก คือแห้งใจ ความคร่ำครวญ รัญจวนใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ คับแค้นใจ เป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังเป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อขันธ์ที่ยึดไว้ทั้งห้าประการเป็นทุกข์

เหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหา อันเป็นความดิ้นรนทะยานอยากของใจ อันมีลักษณะซัดส่ายไปสู่ภพ คือภาวะใหม่เสมอ ไปด้วยกันกับความเพลิดเพลิน ความติดความยินดี มีความเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ  มีสามประการคือ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในกาม คือ สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ภวตัณหา  ความดิ้นรนทะยานอยากในภพ คือความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ ความดับทุกข์ คือการดับตัณหาเสียได้หมด สละตัณหาเสียได้หมด ปล่อยคืนตัณหาเสียได้หมด พ้นตัณหาเสียได้หมด ไม่อาลัยพัวพันอยู่ในตัณหาทั้งหมด

หนทางปฎิบัติเพื่อความดับทุกข์ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า มรรค ได้แก่ มรรค อันมีองค์แปดประการคือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ

ทรงชี้แจงว่า รู้ที่เรียกว่าตรัสรู้นั้นเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่า นี้เป็นทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่าทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่าทุกข์นี้ได้กำหนดแล้ว เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่า นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า เหตุแห่งทุกข์นี้ควรละ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า สาเหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่า นี้เป็นความดับทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า ความดับทุกข์นี้ควรกระทำให้แจ้ง เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า ความดับทุกข์นี้ได้ทำให้แจ้งแล้ว เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า นี้เป็นทางปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า ทางปฎิบัติเพื่อความดับทุกข์นี้ควรอบรมให้มีขึ้น เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า ทางปฎิบัติเพื่อความดับทุกข์นี้ได้อบรมให้มีบริบูรณ์แล้ว

ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นญาณคือความหยั่งรู้ที่มีวนรอบสาม มีอาการสิบสอง จึงเรียกว่าเป็นความตรัสรู้ ท่านผู้ที่ได้มีความรู้ดังกล่าวนี้จึงเรียกว่าเป็น พุทธะ คือเป็นผู้ตรัสรู้ ถ้าจะเรียกปัญญาของท่านก็เป็นโพธิ คือความตรัสรู้

ทรงประกาศว่าเมื่อความรู้ที่มีวนรอบสามมีอาการสิบสองดังกล่าวนี้ ยังไม่บริสุทธิบริบูรณ์ตราบใด ก็ยังไม่ทรงปฎิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้ ต่อญาณดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นบริสุทธิบริบูรณ์พระองค์จึงปฎิญญาว่าเป็นพุทธะ และเรียกว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองเพราะเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นในธรรมะ คือ ในความจริงที่ไม่ได้ทรงเคยสดับฟังมาจากใคร ไม่ได้ทรงเคยเรียนมาจากใคร พระองค์ทรงพบขึ้นเอง เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระโกญทัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า
 
ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพัญตัง นิโรธธัมมัง
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
 
เป็นเหตุให้พระบรมศาสดาทรงเปล่งอุทานว่า "โกญทัญญะรู้แล้วหนอ" แล้วพระโกญทัญญะก็กราบทูลขออุปสมบท ทรงประทานอุปสมบทด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา   

ต่อมาพระองค์ได้เทศนาสั่งสอนจนพระปัญจวัคคีย์บรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด
815  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ญาณ ๑๖ เมื่อ: 05 กุมภาพันธ์ 2559 16:00:25
.

ญาณที่ ๔
อุทยัพพยญาณ

ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเกิดและความดับของรูปนาม คือพิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปนามขันธ์ ๕ จนทราบชัดว่า สิ่งทั้งปวงมีความเกิดขึ้นแล้วก็ล้วนแต่ต้องดับไปเป็นธรรมดา

เมื่อญาณนี้เกิดขึ้นแล้ว จะเห็นความเกิดดับของรูปนามตั้งแต่ญาณที่ ๔ เป็นต้นไป เป็นวิปัสสนาล้วนๆ วิธีถามอาการท้องพอง-ยุบ มี ๒ ระยะบ้าง บางคนก็มี ๓ ระยะบ้าง ถ้าบางคนอาการท้องยุบชัดเจนดี อาการท้องพองก็จะเป็นพักๆไป อาจถึง ๗-๘ พัก อย่างนี้ให้ได้ สภาวะเช่นนี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๔ สภาวะนี้จะเป็นอยู่ในญาณที่ ๔ นี้นาน เวลาปฏิบัติไป นานๆ อาการพอง อาการยุบไปปรากฏข้างนอกร่างกายของเราก็มี ปรากฏอยู่ตรงหน้าที่เรานั่งอยู่ก็มี ปรากฏอยู่ด้านนอกทั้งข้าง ซ้าย-ขวาก็มี และให้ถามถึงอาการของต้นพอง กลางพอง สุดพอง ว่าอะไรปรากฏชัดเจนกว่ากัน และเวลาเดินจงกรม เช่น เวลายกเท้า ย่างไป เหยียบลง ขณะไหนชัดกว่ากัน ถ้าขณะยกกับขณะเหยียบชัดเจนดี กลางไม่ชัด ก็ให้ได้ และพึงเตือนผู้ปฏิบัติในขณะเวลากำหนดเวทนา เช่น กำหนดทุกขเวทนามีความปวดเป็นต้นว่า “ปวดหนอๆๆ” นั้น ไม่ใช่กำหนดแต่ปาก ถ้าอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ต้องเอาจิตเพ่งตรงไปที่อาการปวดนั้นกำหนดว่า “ปวดหนอๆๆ” ถ้ากำหนด ๒-๓ ครั้งหาย ให้ได้บางครั้ง คิดจะกำหนด ยังไม่ทันจะกำหนด หายไปเลยก็มีอาการเช่นนี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๔ บางครั้งนั่งไปๆ นิมิตเห็นตัวเลขสีแดง ปรากฏว่าถูกจริงๆ ด้วยก็มี ถามอาการนั่งว่า “นั่งตัวตรงตลอดเวลาไหม” อาการของญาณนี้ เมื่อนั่งไปจะมีการวูบลงไปๆ อยู่เป็นประจำ เหมือนคนเคยนั่งเครื่องบินตกหลุมอากาศ ข้อสำคัญ ถ้าขาดหลักสำคัญ ๓ ประการคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่าพึ่งให้ ถ้าอาการพอง-ยุบเร็วขึ้นๆ แล้วก็ผ่อนหายไปเลย นี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๓ แต่ถ้าอาการ พอง-ยุบเร็วขึ้นๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป หรือผงะไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวาบ้าง โดยเฉพาะผู้มีสมาธิดีๆ นี้ เวลาสัปหงกก็จะสัปหงกแรงหรือผงะแรง ส่วนผู้มีสมาธิเบาก็วูบลงไปช้าๆ ค่อยวูบลงไปๆ ก็มี อย่างนี้ให้ได้

อาการของทุกขังแน่นหน้าอก คือจะแน่นเข้าๆ แล้วผงะไปข้างหน้า ผงะไปข้างหลังอย่างแรง จนทำให้ตกใจ แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๔ อาการของอนัตตา คือการกำหนดอาการพองอาการยุบนี้จะค่อยแผ่วเบาลงไปๆ เมื่อแผ่วเบาเต็มที่แล้ว ก็จะผงะไปข้างหลังแรงๆ บ้าง สัปหงกวูบลงไปข้างหน้าบ้าง ลักษณะเหล่านี้ ทั้งลักษณะของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักษณะของสันตติขาด ไม่มีการสืบต่อ คือขาดไปชั่วขณะจิตหนึ่ง ลักษณะของพระไตรลักษณ์ปรากฏชัดนี้จะไม่เกิดมากครั้งและเป็นอยู่ไม่นาน ชั่วโมงหนึ่งหรือวันหนึ่งอาจจะเกิดครั้งเดียวถ้าอาการของพระไตรลักษณ์ปรากฏ ชัดนั้น ขอให้พยายามจำให้ได้ว่ามันสัปหงกไปขณะไหน

เหตุที่ทำให้ญาณนี้ไม่เกิด
๑.ทำหมัน พวกนี้บวชไม่ขึ้น ต้องให้เขาต่อให้ และมีใบประกาศรับรองว่าใช้การได้ตามปกติก่อน จึงจะบวชให้
๒.ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก
๓.ฆ่าบิดามารดา
๔.ฆ่าพระอรหันต์
๕.ทำบุญไม่ครบไตรเหตุแต่ถ้าญาณนี้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่ประมาทสามารถบรรลุมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่งได้ในปัจจุบันชาติ

วิถีของญาณ ญาณที่ ๔,๕ เป็นวิถีเดียวกัน ญาณที่ ๖,๗,๘ เป็นวิถีเดียวกัน ญาณที่ ๙,๑๐,๑๑ เป็นวิถีเดียวกัน ญาณที่ ๑๒,๑๓,๑๔,๑๕,๑๖ เป็นวิถีเดียวกัน ญาณแต่ละวิถีนี้ ถ้าตัวแรกชัดจะเกิดหมดทั้งวิถีเลยผู้มีชีวิตเป็นอยู่วันเดียว แต่เห็นรูปนาม ประเสริฐกว่าผู้มีอายุเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี แต่ไม่เห็นรูปนาม หมายเอาญาณนี้ด้วย ญาณนี้เมื่อเกิดแล้วจะตัดภพตัดชาติได้ คือขณะเดินจงกรม ๑ ก้าว สามารถตัดภพตัดชาติได้ ๖ ชาติ เวลาตายจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๓-๔ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ชาติแรกถ้าไปเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ก็จะเป็นพวกสัมมาทิฏฐิมีความเห็นชอบมีเดชานุภาพ ถ้าไปเกิดในกาลที่โลกว่างจากพระพุทธศาสนา ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องบำเพ็ญบารมีให้ครบ ๒๐ ทัศ

ถ้าอาจารย์ผู้สอนเอาสภาวะเหล่านี้ไปเล่าให้โยมฟัง อุปมาอุปไมยมากๆส่วนมากโยมจะตามมาบวชด้วย


อุทยัพพยญาณ จบ

www.watpit.org-
816  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / ฝึกบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เมื่อ: 02 กุมภาพันธ์ 2559 12:57:12
.



ฝึกบุพเพนิวาสานุสสติญาณ

ให้เรานั้น อธิษฐานเข้าปาทกฌาน ๑๐ นาที แล้วถอยออกจากปาทกฌาน อธิษฐานอีกว่า “ขอให้บุพเพนิวาสานุสสติญาณ จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า ตลอด ๒ ชั่วโมง”

เมื่อทำได้แล้วก็ให้นึกย้อนหลังไปตั้งแต่ชั่วโมงแรกไป ย้อนหลังไปเรื่อยๆ จนถึง ๒๔ ชั่วโมง จากนั้นก็ย้อนไปอีกเป็น ๒ วัน ๓ วัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายปี จนถึงครรภ์ของแม่

แล้วก็ระลึกถัดจากชาตินี้ไป ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓-๔-๕ ชาติต่อไป จะระลึกได้มากหรือน้อยแล้วแต่อำนาจของสมาธิอภิญญาจิต

ถ้าเราอธิษฐาน ๒ ชั่วโมง เมื่อครบ ๒ ชั่วโมงแล้ว จะหมดหายไปเอง อธิษฐานเป็น ๑๒-๒๔ ชั่วโมง ครบแล้วจะหมดหายไปเอง

ถ้าต้องการให้หายไวกว่าเวลาปกติให้เข้าสมาธิแล้วอธิษฐานให้หายไปตามเวลาที่ต้องการ

ถ้าออกก่อนเวลาที่เราอธิษฐานไว้ ออกแล้วอภิญญานั้นยังเกิดอยู่ตามเดิมก็มีการรู้จิตใจของผู้อื่นทำได้ยาก เพราะต้องรู้ความโลภ โกรธ หลง ความดีใจ เสียใจ รู้ระดับจิตใจของตัวเองให้ดีเสียก่อนว่าอยู่ในระดับไหนแล้ว จึงจะสามารถรู้จิตของผู้อื่นได้การแสดงฤทธิ์ได้ แล้วแต่บุญวาสนาบารมี และอำนาจของสมาธิว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน
817  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ญาณ ๑๖ เมื่อ: 02 กุมภาพันธ์ 2559 12:49:06

ญาณที่ ๓
สัมมสนญาณ

ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์ คือกำหนดยกรูปนามขึ้นพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

ให้อาจารย์ผู้สอนถามทวนหลังก่อนว่า “กำหนดดูอาการ พอง-ยุบ ชัดเจนดีไหม พอง-ยุบ นี้มีกี่ระยะ” เมื่อเราถามเขา บางคนก็นั่งคิดก่อน บางทีก็บอกว่าไม่ได้สังเกต ถ้าเขาไม่ได้สังเกตต้องเตือนให้เขาสังเกต บางคนตอบออกมาเลยว่าเป็น ๓ ระยะ คือ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง และถามว่า “เวลากำหนดพองยุบ อาการฝืดๆ แน่นๆ จนกำหนดไม่สะดวก มีไหม” บางท่านก็พูดขึ้นมาเอง และบางท่านไม่ยอมปฏิบัติต่อเกรงว่าจะตาย หรือได้รับอันตรายจากการปฏิบัติ (อาการเหล่านี้ ถ้าเกิดขึ้นมานิดเดียวก็หายไป เช่น อาการพอง-ยุบฝืดๆ แน่นขึ้นๆ แล้วหายไป ไม่สัปหงก เป็นญาณที่ ๓ ถ้าฝืดๆ แน่นขึ้นๆ แล้วสัปหงกลงไป เป็นญาณที่ ๔) เหล่านี้เป็นอาการของทุกขัง นอกจากอาการฝืดและเร็วแล้ว มีอะไรอีกบ้างไหม เวลาเรากำหนดดูอาการพอง-ยุบไปๆ อาการพอง-ยุบเล็กลงๆ เท่ากับเส้นด้ายเหมือนใจจะขาดมีไหม (เมื่อเล็กเข้าๆ แล้วหายไป อยู่ในญาณที่ ๓ แต่ถ้าเล็กเข้าๆ แล้วสัปหงกไป นี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๔) สิ่งเหล่านี้เป็นอาการแสดงชัดของอนัตตา อนัตตาปรากฏชัด

นักปฏิบัตินี้ส่วนมากติดอยู่ในญาณที่ ๓ นี้ เพราะญาณนี้เป็นน้ำหวานทำให้ยึดมั่นถือมั่น

ถามเรื่องนามทางใจ เช่นถามว่า “คิดมากหรือเปล่า” หรือปกติบางครั้งเขาก็บอกมาเองว่าคิดมาก ๕ นาทีนี้คิดเป็นร้อยๆ เรื่อง คิดแต่เรื่องจะทำบุญ ทำทาน คิดมากจนผิวคล้ำ (ถ้าต้องการให้หยุดคิด ต้องทำให้สมาธิอ่อนกำลัง เช่น พูดให้เจ็บใจเป็นต้น) ถามว่า “เวลาคิดมากนี้กำหนดไหมว่ามันเริ่มคิดขณะต้นพอง กลางพอง หรือสุดพอง และมันหยุดคิดและเปลี่ยนเรื่องคิดขณะไหน ขณะต้นพอง กลางพอง หรือสุดพอง” ให้สังเกต เดินจงกรมก็เหมือนกัน ให้รู้และพยายามสังเกตว่าเราคิดขณะไหน ขณะยก ย่าง เหยียบ และเปลี่ยนเรื่องคิดหยุดคิดขณะไหน ให้พยายามสังเกตให้รู้ พยายามจำให้ได้ เวลาเดินจงกรม ถ้าคิดมากต้องให้หยุดกำหนดที่จิตเสียก่อนว่า “คิดหนอๆๆ” จี้ลงตรงหทัยวัตถุ อาการคิดมากนั้นเป็นเพราะจิตใจของเราก็เป็นพระไตรลักษณ์ได้เหมือนกัน อาการเหล่านี้อยู่ในญาณที่ ๓ อุปกิเลส ๑๐ ประการจะเกิดขึ้นในญาณนี้

อาจารย์ผู้สอนถามว่า “เวทนามีไหม ได้กำหนดเวทนาไหม กำหนดกี่ครั้งจึงจะหาย หรือไม่หายเลย หรือยิ่งปวด” ถ้าอยู่ในญาณนี้กำหนดไม่หาย บางครั้งแทนที่จะปวดขาข้างล่างกลับปวดขาข้างบนก็มี เห็นนิมิต เช่น ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ โบสถ์ ฯลฯ สภาวะของญาณนี้ ถ้าเป็นพระแก่ หลวงปู่ หลวงตา จะเห็นบุคคลนั้นบุคคลนี้เอาของมาถวาย บางครั้งฉันไปแล้วก็มี แถมยังกลัวตายด้วย เพราะคิดว่าเราฉันของผี ถ้าเป็นเช่นนี้ให้เขากำหนด (ถ้ากำหนด ๗-๘ ครั้งหาย แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๓ ถ้ากำหนด ๒-๓ ครั้งหาย อยู่ในญาณที่ ๔) และญาณนี้มีอาการพยักหน้า สั่นศีรษะ เป็นสภาวะตายตัว


อุปกิเลสที่เกิดขึ้นในญาณที่ ๓
๑.โอภาส แสงสว่าง สอบถามว่า “นั่งไปมีแสงสว่างไหม” เช่นเท่าแสงตะเกียง เท่าตารถยนต์ ตารถไฟ พุ่งออกจากตัวเรา พุ่งจากด้านนอกมาหาตัวเราบ้าง ถูกตัวเราล้มไปบ้างก็มี แสงสว่างพุ่งออกจากตาจากศีรษะ บางครั้งก็เห็นอสุภะชัดเจนแจ่มแจ้ง มองเห็นทะลุเข้าไปในร่มผ้าก็มี นั่งอยู่ในห้องเห็นพระปฐมเจดีย์ จนถึงอเมริกา ฯลฯ เป็นต้น บางรูปปิดประตูไว้เหมือนคนมาเปิดประตูออก บางรูปนั่งอยู่ในห้องมืดๆ เกิดแสงสว่างจนสามารถมองเห็นตัวเอง เดินจงกรมตอนเช้าเงาน่าจะไปทางทิศตะวันตก แต่กลับมาอยู่ทางทิศตะวันออก คือเงากลับไปอยู่ด้านตรงกันข้าม (ถ้าแสงเท่ากับแสงหิ่งห้อย ตารถยนต์ ตารถไฟ นี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๓ สว่างมากเหมือนดวงเดือน ดวงจันทร์ ตะเกียงเจ้าพายุ แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๔)

๒.ปีติ ความอิ่มเอิบใจ ภาคภูมิใจ ความดื่มด่ำ เป็นอาหารของจิตใจ จะปฏิบัติธรรมต้องมีปีติเกิดขึ้นก่อน ถ้าไม่มีปีติเกิดขึ้นก่อน ปฏิบัติไม่ได้


การไม่ฉันอาหารอยู่ได้
การที่จะไม่ฉันอาหารอยู่ได้เป็นนานๆนั้น ต้องมีอุบายคือต้องอธิษฐานจิตว่า “ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓๐ นาที พร้อมกันนี้ขอให้เกิดปีติธรรมเป็นโอชะหล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจของข้าพเจ้า ให้มีความกระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง พร้อมนี้ขอโรคภัยไข้เจ็บอย่าได้เกิดมีขึ้นแก่ข้าพเจ้าเลย” วันหนึ่งทำประมาณ ๑-๓ ครั้ง เช้า-เที่ยง-เย็น เวลาอดอาหารไม่ให้ฉันนั้นอัดลม น้ำนม เพราะจะทำให้ท้องร่วง แต่น้ำเปล่านี้ต้องฉันให้มากๆ ถ้าได้ฉันน้ำอ้อย จะรู้สึกเย็นไปตามร่างกายอยู่ได้ ๓ เดือน ผลเสียเวลาเลิก จะป่วยก็ป่วยตรงนี้ เวลาเลิกให้ฉันข้าวต้ม ฉันของอ่อนๆ ก่อน แต่อย่าฉันมากและอย่าฉันข้าวนึ่ง ข้าวเหนียว และของที่ย่อยยาก วันแรกฉันน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มขึ้นๆ อย่าอดน้ำเป็นอันขาด ไม่ถึง ๗ วันตาย

หลวงพ่อขอรางวัลในการบวชตลอดชีวิต ๓ อย่าง คือ
๑.ดำดินได้
๒.ย่อแผ่นดินได้
๓.เดินบนน้ำได้

โอภาสกับปีติเกิดพร้อมกัน จะเป็นอภิญญาน้อยๆ นึกอะไรจะเป็นไปตามความคิด เช่น อยากจะทราบว่าในอดีตชาติ ใครเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นบุตร ภรรยา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น ก็สามารถที่จะทราบได้ โอภาสกับปีติเกิดพร้อมกันเล่นอภิญญาได้ ฉันข้าวเผื่อคนอื่นก็ได้ เช่น อธิษฐานว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ข้าพเจ้าฉันข้าว ๑ คำ ขอให้โยมคนนั้นอิ่ม ๒ คำ หรือว่าขอให้โยมคนนั้นอิ่มเหมือนข้าพเจ้าด้วยเถิด” เอาผ้ามัดตา อ่านหนังสือก็ใช้ตัวนี้ ไม่ได้เอาพวกจบสมาบัติมาหรอกอธิษฐานให้ผู้อื่นหัวเราะ ร้องไห้ ยืนตากแดด อธิษฐานสะกดจิตเอาเงิน รถ ทรัพย์สินต่างๆ ฯลฯ ตามต้องการ

ปีติมี ๕ อย่าง คือ ขุททกาปีติ ขณิกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ ผรณาปีติ

ถ้าเป็นจำพวกสีต่างๆ
   - ขุททกาปีติ (ปีติเล็กๆ น้อยๆ) จะเห็นเป็นเหมือนสีขาวคล้าย ปุยฝ้าย
   - ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ) จะเห็นเป็นสีแดงหรือแสงอาทิตย์ แรกอุทัย
   - โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือเป็นพักๆ) จะเห็นเป็นสีไข่มุก
   - อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดโผน) จะเห็นเป็นสีเหลืองอ่อนดอกผักตบ
   - ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน) จะเห็นเป็นสีคราม สีเขียวตองอ่อน สีแก้วมรกต สีน้ำเงิน

ถ้าเป็นจำพวกอื่นๆ เช่น
   - ขุททกาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ขนลุก น้ำตาไหล ตัวชา ตัวใหญ่ขึ้นเต็มห้องก็มี ตัวเล็กลงๆ มากๆ ก็มี ฟันยาว แขนยาว ขายาว ฯลฯ
   - ขณิกาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นเหมือนฟ้าแลบ เหมือนขีดไฟแช็คที่ไม่ติด มีแต่แสงแลบแปลบๆ เหมือนตัวไรมาไต่ตามหน้า จะเข้าหู หรือแมลงค่อมทอง (แมลงเม่า) ไต่ตามตัว
    - โอกกันติกาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ตัวไหว ตัวโยกโคลง เอน นั่งไม่ตรง เวลาปฏิบัติต้องช่วยดันไว้จึงจะได้สมาธิมีอาการไหว เช่น ไหวไปตามตัว เช่น แขนไหวดิ๊กๆ หรือกล้ามเนื้อบางส่วนกระตุกดิ๊กๆ
    - อุพเพงคาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้กายสูงขึ้นไปถึงครึ่งฟ้า มองเห็นจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ มองเห็นหมด ตัวเบาตัวลอย เวลานั่งนี้ ตัวค่อยๆ ลอยขึ้นไปๆ จรดขื่อเรือนแล้วลอยลงมาเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าประคองจิตไม่อยู่จะลอยตัวขึ้นอย่างแรงไปกระแทกเข้ากับขื่อเรือน ตกลงมากระแทกพื้นอย่างแรงก็มี เกิดอาการลงท้องถ่ายเป็นโลหิต ผงะไปด้านหน้าบ้าง ด้านหลังบ้าง ด้านซ้ายบ้าง ด้านขวาบ้าง เหมือนมีคนมาจับคอหมุนมักเคี้ยวปากเปล่า โดยเฉพาะคนแก่ที่กินหมาก สำหรับคนแก่ผู้เฒ่า แม้จะตั้งใจเดินจงกรมให้ตรง ก็ไม่สามารถจะเดินให้ตรงได้ กายกระตุก ยกมือ ยกเท้า สั่นมือ สั่นเท้า จิตอาจเกิดขึ้นหลอกพร้อมก็มี
   - ผรณาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้เย็นซาบซ่านทั่วสรรพางค์กาย ห่มผ้าก็ไม่อุ่น เหมือนปลาไหลชอนเข้าเท้าเย็น วูบถึงศีรษะ ชอนเข้าศีรษะเย็นวูบลงไปถึงเท้าก็มี บางท่านเกิดมากมายหลายอย่าง บางท่านเกิดน้อย เกิด ๑-๒ อย่างก็ให้ได้

๓.ปัสสัทธิ ความสงบเย็น เมื่อปัสสัทธิเกิดขึ้นแล้วบางท่านมีอาการคล้ายกับเข้าผลสมาบัติ แต่หูยังได้ยินอยู่สงบเงียบเข้าไป สมาธิก็ดี จำอารมณ์ต่างๆ ได้สบาย สมองปลอดโปร่ง คิดอะไรได้หมด แต่งกาพย์แต่งกลอนเก่ง เทศน์ ๓ วันไม่จบ (หลวงพ่อเทศน์ ๗ วันยังไม่จบเลย) คิดว่าจะไปโปรดโยมพ่อโยมแม่ เพียง ๑ วันเท่านั้น ก็สามารถที่จะทำได้ แต่ถ้าเวลาสภาวะตัวนี้สงบแล้ว ทำให้ฆ่าตัวเองตายได้ บุคคลผู้สูบบุหรี่ กินหมาก มาถึงตรงนี้จะหยุดเอง

๔.สุข ความสุขสบายใจ เมื่อสุขเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เพลิดเพลินสนุกสนาน เกิดความภาคภูมิใจ ไม่อยากจะออกจากห้องกรรมฐาน นั่งไปจะเห็นอาจารย์ พระอรหันต์ พระอสีติมหาสาวก พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ตลอดจนพระพุทธเจ้า เกิดความคิดขึ้นมาว่าเราควรจะไปฟังเทศน์ของพระอรหันต์ของ พระพุทธเจ้าดีกว่า นึกอย่างไรก็จะเห็นอย่างนั้น อาการเหล่านี้เกิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ให้ได้ ไม่ต้องเกิดทั้งหมด

๕.ศรัทธาอธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ศรัทธาแก่กล้าความปลงใจเชื่อ เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้คิดถึงผู้ใกล้ชิดเสียก่อน เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร ภรรยา เป็นต้น อยากให้มาปฏิบัติ คิดอยากทำบุญ ทำทาน คิดอยากโฆษณาธรรม คิดอยากชักชวนคนอื่นให้มาปฏิบัติธรรม เหล่านี้เป็นต้น (เวลาปฏิบัติธรรมหน้าหนาว หลวงพ่อขอให้ญาติโยมเกิดศรัทธาเป็นสัมมาทิฏฐิก็พอแล้ว)

๖.ปัคคาหะ ความเพียร เมื่อความเพียรเกิดขึ้นแล้วจะเกิดความขยันขันแข็งขึ้นมาเอง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการปฏิบัติ นั่งตากแดด ยืนขาเดียว ส่วนมากจะคิดมาก มีความเพียรอย่างเดียว สติหย่อน ให้กำหนดว่า “คิดหนอๆๆ” อย่างเดียว ถ้าไม่หายคิด ให้เลิกปฏิบัติชั่วคราวก่อน

๗.สติ (อุปัฏฐานะ) สติแก่กล้า สติเข้าไปปรากฏชัดทำให้มีความคิดขึ้นว่าเราจะไปตั้งห้องกรรมฐาน เราจะเทศน์ให้ดีสอนให้ดี

๘.ญาณ ความหยั่งรู้ คนเรียนปริยัติ โดยเฉพาะพระอภิธรรม จะชอบวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบธรรม ถ้าหลวงพ่อเทศน์ผิดไปตัวเดียวก็ติแล้ว

๙.อุเบกขา ความวางเฉย ความมีใจเป็นกลางต่อความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลง หายไปหมดในขณะนั้น มีความสุขใจ ชุ่มฉ่ำใจ เหมือนกับเอาใจไปแช่ไว้ในน้ำผึ้งฉะนั้น

๑๐.นิกันติ ความพอใจรักใคร่ติดใจในอารมณ์ของอุปกิเลสตั้งแต่ ๑-๙ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วชอบใจ อยากให้เกิดขึ้นมาอีก

ทบทวนอุปกิเลส ๑๐ ประการ
   โอภาส เมื่อเกิดขึ้นแล้ว นึกว่าตนได้บรรลุมรรคผล ได้ดวงตาเห็นธรรม อย่างเช่นเมื่อเห็นแสงสว่างเป็นลูกกลมๆ นึกว่าดวงธรรม เป็นต้น
   ปีติ บางอย่างเกิดความท้อแท้ใจก็มี เกิดความภาคภูมิใจก็มี ได้ยินเสียงของพวกเปรต เทวดา อมนุษย์ ได้ยินเสียง พูดข้างหน้า ข้างหลัง หรือทั้งสองข้างเป็นต้น บางครั้งหูข้างหนึ่งฟังเสียงนรก ฟังเสียงอมนุษย์ หูอีกข้างหนึ่งฟังเสียงของเทวดาเป็นต้นก็มี เข้าใจผิดคิดว่าตนได้ทิพยโสตะก็มี
   ปัสสัทธิ เข้าใจผิดไปบ้างก็มี เพราะนั่งเวลาไหนก็ได้แต่สมาธิ ยืนกำหนดก็ได้แต่สมาธิ ทำอย่างก็ได้แต่สมาธิ จิตไม่แล่นไปทางโน้นไม่ไปทางนี้ จิตอยู่กับคำบริกรรม เข้าใจว่าตนเข้าผลสมาบัติได้แล้วเป็นต้นก็มี
   ศรัทธา ส่วนมากเมื่อเกิดศรัทธาแล้ว ชอบทรมานตนยืนขาเดียว อดอาหาร เป็นต้น โทษของการอดอาหารทำให้ระบบมันสมองส่วนกลางเสื่อม ความจำเสื่อม (ตัวอย่างหลวงพ่อ)
   ความเพียร ความเพียรเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้คิดมากอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคประสาท เป็นโรคความดันสูง ในที่สุดอาจถึงเป็นบ้าได้
   สติ สตินี้ถ้ามีมากเกินไป หากมานะ ทิฏฐิเป็นต้นเหล่านี้เกิดร่วม ก็เป็นเหตุให้คิดมากทิ้งอารมณ์ปัจจุบันได้
   ญาณ ญาณนี้อวดดีสู้ครู ความรู้กล้า (โดยเฉพาะบุคคลผู้ปรารถนาพุทธภูมิ จะไม่ยอมฟังใครเลย)

หลวงพ่อพูดประสบการณ์ให้ฟังว่า ทุกวันนี้จะว่าเป็นความฝันก็ไม่ใช่ กำหนดนอนไปแวบเดียว ไปเที่ยวสวรรค์มาแล้ว ๖ ชั้น ในลักษณะเช่นนี้ ถ้าเป็นมโนมยิทธิแท้ เมื่อจะออกจากร่าง จะเห็นรูปนามแยกออกจากกัน เมื่อรูปนามแยกออกจากกันแล้ว เหลียวกลับมาจะเห็นร่างกายของตนนั่งอยู่ ตัวของเราจะเบา

ญาณที่ ๓ นี้ผ่านยาก บางท่าน ๑๕ วัน ๑ เดือน ๑ ปี ไม่ผ่านเอาเสียเลยก็มี

คู่มือสอบอารมณ์เป็นดาบสองคม ถ้าไม่สนใจปฏิบัติจริงเพื่อพ้นทุกข์จริงๆ หลวงพ่อไม่ให้ ครูบาอาจารย์ผู้ที่ได้ไปแล้วไม่รักษา ปล่อยให้ลูกศิษย์เห็น อ่านแล้วทิ้งเกะกะ เหมือนเศษกระดาษ เวลาปฏิบัติจ้องเกินไปจิตใจกระเพื่อม

เรื่องทรัพย์ในดินสินในน้ำเคลื่อนที่ได้ ถ้าไม่เชื่อลองฝังลึกประมาณ ๑ เมตร ทิ้งไว้สักปีหนึ่งสองปีแล้วกลับมาดูใหม่ บางครั้งเคลื่อนไปประมาณ ๑ เมตรบ้าง ๒-๓ เมตรบ้าง ถ้าฝังลึกเกินไป พวกอมนุษย์ก็จะเคลื่อนไปได้ การเสกมะนาวหาทรัพย์ในดินสินในน้ำ

เสกมะนาวแล้วก็กลิ้งไป ถ้าทรัพย์ไม่มี เมื่อหมดกำลังส่งมะนาวก็จะหยุดกลิ้งแต่ถ้าจุดไหนมีทรัพย์ มะนาวจะหมุนไม่ยอมหยุด เมื่อรู้แล้วก็กางฝ้ายพรหมจารีขุด ถ้าเจ้าของเขาไม่ให้ ฟ้าจะผ่าเปรี้ยง (ฟ้าผ่าแล้ง) เมื่อรู้ว่าเจ้าของไม่ให้แล้ว เราก็ทำน้ำมนต์ต้มให้จืดเสียก่อนจึงค่อยเอา ในขณะได้ทรัพย์มาใหม่ๆ มีใครคิดโกงก็ให้เขาไปเลย มาไม่ถึงบ้านหรอก ถูกผีบีบคอตายกลางทาง ไม่งั้นคนที่อยู่ทางบ้านก็ตายแล้ว

อุปกิเลส ๑๐ ประการนี้เป็นของดี แต่เพราะตัณหา มานะทิฏฐิเกิดร่วม จึงจัดเป็นอุปกิเลส

ผู้ปฏิบัติธรรมบางคน บางท่าน บางองค์มีบารมีไปทางสมถะบ้าง มีบารมีไปทางวิปัสสนาบ้าง

เมื่อเกิดอุปกิเลสต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ถ้ากำหนด ๓-๔ ครั้งหาย แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๔ ถ้ากำหนด ๗-๘ ครั้งจึงหาย แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๓

เวลาปฏิบัติ จิตเป็นอิสระเลยคิดสร้างเรื่องที่เป็นมหากุศล
   ๑.โอภาส
   ๒.ปีติ
   ๓.ปัสสัทธิ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้เป็นวิปัสสนา ๑๕% จึงจัดเป็นสมถะ
   ๔.สุข
   ๕.ศรัทธา
   ๖.ความเพียร
   ๗.สติ
   ๘.ญาณ ปฏิบัติมาถึงตรงนี้ ตรงเข้าวิปัสสนาญาณเลย
   ๙.อุเบกขา
   ๑๐.นิกันติ

ปีติ ๕ เหล่านี้เป็นสมถะ

สมาธิหน้าหนาวเป็นสมถะ เว้นผู้ผ่านมรรคผล เมื่อได้สมาธิแล้วฝึกวสีให้ชำนาญ เวลาจะเข้าสมาธิอย่าอธิษฐานสมาธิปล่อยให้เข้าสมาธิไปตามธรรมชาติของมัน เพราะถ้าอธิษฐานแล้ว จิตใจจะโน้มไปในสมาบัติ แต่ขอให้จำให้ได้ว่าเวลาเข้าสมาธินั้น เข้าเวลาไหน เวลาต้นพอง กลางพอง หรือสุดพอง กำหนดจงกรม กำหนดถึงขณะไหน ขณะเท้าย่าง ยกเท้า หรือเหยียบเท้า เหล่านี้เป็นต้น ขอให้จำให้ได้ แต่ถ้าบารมีเคยอบรมวิปัสสนามาแต่ปางก่อน มาถึงญาณ (ในอุปกิเลส ๑๐) ก็จะต่อวิปัสสนาเลย


สัมมสนญาณ จบ

www.watpit.org-
818  สุขใจในธรรม / กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ / Re: เรื่องจริงอิงนิทาน โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ) เมื่อ: 29 มกราคม 2559 16:22:59
.



เรื่องที่ 13 ผีวัดท่าซุง
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)

ตานี้ก็ผ่านเรื่องนี้ไป เอาอะไรกันดีล่ะ เอายังงี้ดีกว่า ผีวัดท่าซุง เหลือเวลาอีกประมาณ 28 นาที วันหนึ่ง คราวหนึ่งพูดประมาณ 1 ชั่วโมง
 
ผีวัดท่าซุงนี้ก็ดีเหมือนกัน คือว่าเมื่อ พ.ศ.2509 กับ พ.ศ.2510 พระอาจารย์อรุณ อรุโณ เจ้าอาวาสวัดท่าซุงไปพบกับอาตมา ขอร้อง แค่นหลายวาระให้ช่วยมาสร้างหอสวดมนต์ให้ ทีนี้เมื่อปี พ.ศ.2510 แกไปขอร้องอีก ก็เลยรับปาก ตอนนั้นอยู่วัดสะพาน เมื่อปี พ.ศ.2509 อยู่วัดปากคลองมะขามเฒ่า แล้วท่านเจ้าอาวาสวัดสะพานมาขอให้ไปร่วม ก็เลยบอกว่าปี พ.ศ.2510 จะไปอยู่ด้วย 1 ปี หลังจากนั้น อยากจะเข้ากรุงเทพฯ แต่ก็พอดีพระอาจารย์อรุณ อรุโณ ไปขอร้องบอกว่าช่วยสร้างหอสวดมนต์ด้วยเถอะ เสาตั้งค้างมา 10 ปีแล้ว แล้วปีนั้นก็พอดีขอพระครูฐานานุกรมให้พระครูแช่มกับพระครูประเทือง แล้วก็พระครูปลัดผ่อง ก็เลยขอให้พระอรุณด้วย อธิการอรุณ เป็นพระครูสังฆรักษ์

นี่ขอให้นะ ไม่ได้ขาย ครั้นเมื่อปี พ.ศ.2511 ทางพระครูสังฆรักษ์ อรุณ อรุโณ เจ้าอาวาสวัดท่าซุง ก็จัดขบวนแห่ไปรับ ตรงกับวันที่ 11 เห็นจะเป็น 11 มีนาคม พ.ศ.2511 กระมัง อ้อวันที่ 25 วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2511 เขาไปแห่กันเป็นการใหญ่ ก็นึกในใจว่านี่มันจะแห่กันไปถึงไหน แล้วก็คิดไว้แล้วว่า วัดนี้คงไม่เป็นเรื่อง มีความรู้สึกยังงั้นนะ ว่าวัดนี้คงไม่เป็นเรื่อง ชาวบ้านอาจจะดีบ้าง บางส่วนอาจจะเป๋ไป ตอนที่เขาไปชวนมีความรู้สึกแบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนี่ไม่ได้ความ แต่ที่ตัดสินใจมา ก็เพราะเรื่องราวของอดีต มีความรู้สึกในใจอยู่อย่างหนึ่ง คิดว่าวัดท่าซุงนี่เคยร่วมทำการสร้างมาในกาลก่อนนะ ไอ้นี่ไม่ใช่ผู้วิเศษละ มันมีความรู้สึกขึ้นมาเฉยๆ คิดว่าเวลานี้วัดที่เราเคยทะนุบำรุงมาถึงสองวาระมันพังไปหมดแล้วนี่ ควรจะไปทำอีกวาระหนึ่ง เป็นวาระที่ 3 และเป็นครั้งสุดท้าย เพราะพระนี่ไม่เคยทำอะไรเกิน 3 วาระ ตามระเบียบของพระ เมื่อครบ 3 ครั้งแล้วก็เลิกกัน ก็เลยรับปากแก แกยกกระบวนแห่ไปรับมาก็มา พอถึงหน้าวัด เห็นโรงลิเกตั้งอยู่ก็ถามว่าอะไร ท่านก็บอกว่าโรงลิเก ก็เลยถามว่ามีลิเกทำไม ตอบว่ามีลิเกต้อนรับท่าน บอกว่านี่ ฉันไม่ชอบนะไอ้มหรสพนี่ ไม่น่าจะมีเลยนี่ ความจริงมันเสียเงินเสียทองเปล่าๆ เอาเงินจำนวนนั้นมาทะนุบำรุงวัดจะดีกว่า เขาก็บอกว่าชาวบ้านจะมีกัน ก็บอกใช่ละ ชาวบ้านมีก็ควรจะบอกชาวบ้านว่าเงินบาทหนึ่งก็ซื้อตะปูได้ตั้งหลายตัว ไอ้เรื่องการมีมหรสพนี่ไม่ควรจะปรารภ แต่ว่ามันมีแล้วก็แล้วกันไป เขาก็นิมนต์ขึ้นกุฏิ ไอ้กุฏิที่เขาให้ขึ้นน่ะ ความจริงนาวาอากาศเอกอาทร และคุณศิริรัตน์ โรจนวิภาต ช่วยส่งของมาตั้งเยอะ ทำครบได้ เอาเงินไว้ให้ด้วย ให้พระอรุณ อรุโณ หรือพระครูสังฆรักษ์นี่ จัดช่างมาทำ เพราะท่านรับรองไว้ว่าถ้ามาอยู่ที่วัดนี้ เรื่องอาหารการบริโภคบริบูรณ์สมบูรณ์ การทำงานทำการต่างๆ ช่างมีเยอะไม่ต้องจ้างอะไรเขาก็ช่วยกัน แล้ววัตถุก่อสร้างที่ซื้อเข้ามาท่านจะออกครึ่งหนึ่ง ให้อาตมาออกครึ่งหนึ่งนี่เป็นสัญญาเดิม แล้วหมูหมาต่างๆ ที่มีอยู่เอาไปเถอะ อาหารเหลือเยอะ

เมื่อมาสำรวจแล้วก็เป็นความจริง จริงตามนั้นทุกอย่าง แต่ว่าสัญญาของท่านไม่มีอะไรจริงเลย พอมาแล้วพ่อเบี้ยวหมด ทีนี้ตอนก่อนจะขึ้นวัด มองก่อนไปที่กุฏิที่ให้ทำของมีครบ เงินเขาไว้ให้แล้ว ปรากฏว่ามีแต่พื้นกับหลังคา ฝาไม่มี เสร็จ คิดแล้วว่าพระองค์นี้น่ากลัวจะแย่ ไม่ไหวแล้ว หาความเป็นพระจะยาก เพราะว่าสัจจะไม่มี สัญญาว่าจะทำได้เท่านั้นเท่านี้ ใช้เวลาไม่เท่าไหร่ ช่างก็เยอะไม่ต้องจ้างกัน แต่เอาเข้าจริงๆ จังๆ สตางค์ที่เขาให้ไว้ก็สูญไป ของที่เขาให้ไว้ก็ทำไม่เสร็จ ก็นึกว่าไอ้ที่เราคิดไว้คงไม่ผิด แต่ว่าเพื่อพระศาสนาก็ตัดสินใจมา นี่เขาบอกให้ไปกุฏิก็บอกว่ายังก่อน เดี๋ยวเข้าโบสถ์กันก่อน พอเข้าโบสถ์ก็ทำพิธีบวงสรวงตามแบบฉบับของหลวงพ่อปาน และวิธีการของพระพุทธเจ้า

มีอีกอย่างหนึ่งคือ เมตตัญสัพพโร นี่เป็นแบบฉบับ ขณะที่บวงสรวงก็เห็นอดีตเจ้าอาวาสทั้งหมดท่านมานั่งพร้อมกัน แต่ว่ามีพระอยู่องค์หนึ่งไม่ยอมเข้ามา เดินกรายไปกรายมาอยู่หลังโบสถ์ ก็ถามว่านี่ จะเอายังไงกัน จะเต็มใจให้มาอยู่หรือไม่เต็มใจให้มาอยู่ นี่ของยังไม่ได้สั่งขนนะ ยังไม่ได้ขนขึ้นจากเรือ ถ้าไม่เต็มใจให้มาอยู่ก็จะไปเดี๋ยวนี้แหละ จะกลับ ถ้าเต็มใจให้มาอยู่ก็มาประชุมพร้อมกัน แกก็มาประชุม พอมาประชุมพร้อมกันก็ถามพฤติกรรมต่างๆ ท่านก็บอกว่า เอายังงี้ก็แล้วกัน เวลานี้เวลามันน้อย เวลากลางคืนจะเล่าสู่กันฟัง เป็นอันว่าท่านมาผมรับรอง ผมสนับสนุนทุกอย่าง นี่บรรดีผีอดีตเจ้าอาวาสว่ายังงั้น นี่ตามวิธีการบวงสรวงนะ เขาเห็นผีกัน เขาพบผีกันได้ เมื่อท่านรับปากแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธีขึ้นกุฏิ ขึ้นกุฏิแล้วเขาก็จัดการอาบน้ำเป็นพิธีการ เขาเรียกว่าเอาผักชีโรยหน้า มีการสวดมนต์เย็น ว่ากันไปตามเรื่อง เช้าทำบุญ พอทำบุญตอนเช้า แจกผ้าแดงปรากฏว่านอกชานหัก แหมถ้ามันหักตรงนั้นตรงที่เขาตั้งให้รดน้ำ ถ้าหากมันหักตอนนั้น อาตมาหัวแตกหัวแตนแน่ คนมาก เวลาคนมากมักไม่หักไปหักตอนคนน้อยก็ดีอยู่
 
ตานี้หลังจากนั้นมาเวลากลางคืนนะ วันถึงวันแรก ลิเกเขาก็เริ่มแสดง อาตมาก็เริ่มนอน โรคมันไม่ถูกกัน พอนอนลงไปแล้วก็ใส่กลอนห้องที่เขาให้พัก แทนที่จะหลับ ก็ไม่หลับ แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงลิเก พระองค์ไม่เดินเข้ามาตอนบวงสรวงน่ะแหละ แกมานั่งคุยด้วย พระผี ชื่อหลวงตาเส็ง เสียงเป็นเจ๊กคุยล้งเล้งๆๆ แกก็เล่าให้ฟัง ว่า
 
วัดท่าซุงนี้ตั้งมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในยุคต้นของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วส่วนใหญ่พระที่เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่หลวงพ่อใหญ่ หลวงพ่อใหญ่องค์แรกที่เป็นผู้สร้างวัด ชื่อปานเหมือนกัน ชื่อปานเหมือนกับหลวงพ่อปาน รูปร่างหน้าตาใหญ่โต ท่านธุดงค์มาพบที่นี่เข้าแล้วก็เลยสร้างวัดตรงนี้ ปลูกหลังคาแฝกขึ้นมา แล้วท่านก็คุยต่อไปว่าในสมัยก่อนโน้น ลำคลองนี้เป็นลำคลองเล็ก ลำคลองนี้มันโตสมัยที่มีเรือเมล์ เรือเขียว เรือแดง วิ่ง มีคลื่น ตลิ่งมันพัง สมัยก่อนลำคลองเล็ก ใช้น้ำในลำคลองไม่ได้ ต้องใช้น้ำในห้วยเล็กๆ หลังวัด แกก็ชี้ออกไปให้เห็น เดิมในสมัยที่วัดมีความรุ่งเรืองมีเสาหงส์ แต่เสาหงส์ที่ปักอยู่ ถ้าจะวัดถึงเวลานี้ก็ประมาณกลางแม่น้ำ แกว่ายังงั้น แกชี้สถานที่ให้ดูว่า เสาหงส์สมัยตั้งวัด ตั้งตรงนั้น บริเวณที่ท่านจะสร้างกุฏินี่เป็นบริเวณป่าช้าเดิม ท่านขุดหลุมลงไปบางหลุม จะพบกระดูกและหม้อ หม้อดินใส่กระดูก แกบอกว่ายังงั้น

สำหรับวัดนี้ตั้งแต่หลวงพ่อใหญ่ ลงมาจนกระทั่งหน้าหลวงพ่อเล่ง หลวงพ่อไล้ ก่อนหลวงพ่อเล้งหลวงพ่อไล้ ส่วนใหญ่เป็นพระอริยเจ้า ท่านบอกว่าพระเจ้าอาวาสทั้งหมดที่เป็นลำดับมาน่ะ เป็นพระอริยเจ้าทั้งหมด เป็นดินแดนของพระอริยะ คำว่าอริยะในที่นี้ ท่านหมายตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอรหันต์ จะเป็นขั้นไหนบ้างท่านไม่ได้บอก ท่านบอกว่ามาขาดตอนพระอริยเจ้าเอาตอนหลวงพ่อเล้ง หลวงพ่อไล้ แต่ก็เป็นพระทรงฌาณอยู่ดี เมื่อหลวงพ่อเล้งหลวงพ่อไล้ตายแล้ว มาหลวงพ่อทองรู้สึกว่าเป็นพระพอไปได้ มีศีลาจารวัตรพอสมควรหลังจากหลวงพ่อทองมาแล้วทั้งหมดก็ปรากฏว่าเป็นภิกขุพานิช หมายความว่ามีจิตไม่เป็นพระแล้ว เจ้าอาวาสตั้งแต่บัดนี้มาจนถึงปัจจุบัน ท่านบอกว่าพวกนี้แสวงหาความร่ำรวยเอาภาษีให้วัด ของวัดมีเท่าไหร่ก็ขายหมด รื้อขายบ้าง เอาซุงมาเลื่อยขายบ้าง มาทำตู้ทำโต๊ะ ขายกันบ้าง ทำไร่บ้าง อะไรก็ตาม หาอาชีพกัน เอาวัดเป็นอาชีพ การซ่อมแซมไม่มีมาแล้ว 47 ปี นี่พูดกันถึงว่าปี พ.ศ.2511 นะ ท่านบอกว่าการซ่อมแซมไม่มีมาแล้ว 41 ปี มีแต่รื้อถอนปล่อยให้พัง เจ้าอาวาสผ่านไป 7 ท่าน แต่ละท่านมีเงินร่ำรวยมาก แต่ออกไปไม่ช้าก็บรรลัยหมด เพราะเงินของสงฆ์นี่น่ะ เอาไปได้ไม่นาน
 
ท่านเล่าสู่กันฟังก็เป็นอันทราบประวัติความเป็นมา แล้วท่านก็เลยถามว่าท่านรู้ไหม ว่าตัวท่านเองเคยร่วมในการก่อสร้างวัดนี้มาก่อน ก็เลยถามว่าผมเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้รึ ท่านบอกว่าไม่เคย แต่ว่าเป็นฆราวาสเคยสนับสนุนในการสร้างวัดนี้ เป็นตัวตั้งตัวตีในการทะนุบำรุง เรียกว่าทำมาแล้ว 2 วาระ ก็เลยบอกว่าท่านว่าความรู้สึกมันก็เป็นยังงั้น เวลาที่เจ้าอาวาสไปนิมนต์ก็รู้สึกว่าเจ้าอาวาสองค์นี้คงจะเข้ากันไม่ได้ เพราะว่ามีจริยะกันคนละทางตามความรู้สึก แต่ทว่าที่ตัดสินใจมาก็เพราะความรู้สึกอีกดวงหนึ่งมันเกิดขึ้น ว่าวัดนี้ เราเคยบูรณะปฏิสังขรณ์มา แต่กำลังจะทรุดโทรมหนัก มีสภาพไม่เป็นวัดก็อยากจะมาทำคืน ให้มันทรงตัวขึ้นมา มีความรู้สึกอย่างนั้น ก็เลยถามท่านว่า ผมมานี่ก็รู้สึกลำบาก นาวาอากาศเอกอาทร โรจนวิภาตกับภรรยาก็รู้สึกว่ายังเป็นเด็กอยู่ ไม่กว้างขวาง เพราะว่ายังไม่เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่มาก จะไปเกณฑ์ใครก็ยาก นี่ผมจะทำได้หรือขอรับ ท่านก็ตอบว่าได้ ท่านผู้ใหญ่ทั้งหมดที่มาประชุม เป็นพระอริยเจ้าทั้งหมด มีพระไม่ใช่พระอริยะเจ้ามีหลวงพ่อเล่ง หลวงพ่อไล้เท่านั้นที่ตายไปแล้ว แต่ว่าหลวงพ่อไล้ก็เป็นพระฌานโลกีย์ จัดว่าดีอยู่ ตัวท่านเองที่พูดท่านก็บอกว่าเป็นพระอริยะเจ้า

ท่านบอกว่าทุกองค์เต็มใจช่วย เทวดาเขาก็ช่วย ไม่เป็นไร ก็เป็นอันว่าปีต้น นาวาอากาศเอก อาทร กับ ศิริรัตน์ โรจนวิภาตเป็นกำลัง แล้วคุณอาทรก็มาบวช เงินช่วยในการบวชเขา 8,000 บาท เขาไม่ได้หักค่าใช้จ่ายเลย เอาเงินส่วนตัวจ่าย ถวายเข้ามาเป็นทุนซ่อมวัด ตอนที่อยู่วัดสะพานเขาจัดงานกันขึ้น ในฐานะที่จะรวมสตางค์ทอดผ้าป่าหรือทำบุญนั่นแหละ เลี้ยงพระเพลได้เงิน 8,000 บาท ให้อาตมาไว้รักษาตัว อาตมาใช้ไป 2,000 บาท เหลือ 6,000 บาท เลยเอามารวมหมด แล้วปีนั้นก็ปรากฏว่าพลอากาศโทพะเนียง กานตรัตน์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศคนปัจจุบัน มาทอดกฐินให้ ขณะที่ทอดกฐินก็ปรากฏว่าพลอากาศตรีหม่อมราชวงศ์ เสริม สุขสวัสดิ์ เจ้ากรมสื่อสารทหารอากาศมาด้วย ก็เลยขอร้องท่านบอกว่า ขอให้เป็นทายกประจำวัด ปรากฏว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมา ท่านพลอากาศตรีหม่อมราชวงศ์ เสริม สุขสวัสดิ์ เจ้ากรมสื่อสารทหารอากาศ กับภรรยาก็เป็นกำลังใหญ่ ช่วยทุนบำรุงวัดนี้เท่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี่แหละ นับตั้งแต่วัดโกรงเกรงมีสภาพไม่เป็นวัด จนกระทั่งบัดนี้รู้สึกว่าเป็นวัดในชนบทพอที่จะลืมตาอ้าปากได้ เรียกว่าพอโชว์เขาได้นิดๆ นะ ไม่ใช่สวยหรู วัดชนบท พอดูหน้าดูตาเป็นวัดขึ้นมาได้ ถ้าจะดูวัดแถวอุทัยกันละก็ วัดชนบทด้วยกันน่ากลัวจะไม่พบละ ดีกว่าเขา ใช้เวลาก่อสร้างเอาที่เป็นล่ำเป็นสันจริงๆ แค่ 2 ปี คือ ปี พ.ศ.2513 กับ พ.ศ.2515 เพราะปี พ.ศ.2514 ไปสร้างเสียที่โน่น วัดสามจีนท่าโป๊ะ ยกคณะไปสร้างกันที่นั่น แล้วก็ปี พ.ศ.2511 ก็ทำกันแต่ที่พักอาศัย ปี พ.ศ.2512 ทำอาคารสื่อสารขึ้นมา เป็นอาคารชั่วคราว เพื่อเป็นการรับกฐิน ทีนี้กำลังงานจริงที่เป็นหลักเป็นฐานจริงๆ ก็แค่ 2 ปี คือ พ.ศ.2513 กับ พ.ศ.2515 แล้วก็มาดูกันเอาก็แล้วว่าชั่วระยะเวลา 2 ปี ท่านพลอากาศตรีหม่อมราชวงศ์ เสริม สุขสวัสดิ์ พร้อมด้วยภรรยารับเป็นภาระธุระทายกประจำ ชักชวนบรรดาญาติมิตรทั้งหลายมาซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วก็สร้างใหม่ในวัดนี้ มีอะไรบ้าง อย่าขอให้บอกเลย ประเดี๋ยวจะหาว่าโชว์พรรคพวกมากเกินไป จะเลยดีไป
 
เป็นอันว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของผีมีจริง ในขณะนั้น ขณะที่ทำการก่อสร้างปีแรกก็คิดว่าจะทำอะไรให้เป็นอนุสรณ์สักอย่าง ก็เอายังงี้ก่อน ตอนก่อสร้างอาคารเล็กๆ เป็นที่พักชั่วคราวหน้าท่า ก็เอา ชย. ของ บน. 4 มาช่วย ขณะนั้น
 
นายโต อ่อนคำ เขาก็มาช่วยด้วย นอนอยู่ใต้ถุนอาคารที่พัก พอตกตอนดึกปรากฏว่าเห็นคน 2 คน คนหนึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ อีกคนหนึ่งเดินอยู่ใกล้ๆ นายโต เดินผ่านไปผ่านมา นายโตแกก็คิดว่าขโมย หยิบไฟฉายจะส่อง ยกไฟฉายไม่ขึ้น พอหยิบปืนขึ้นมา ก็ปรากฏว่ายกปืนไม่ขึ้น เสียงเจ้าคนนั้นเขาบอกว่าไอ้ปืนไม่มีความหมายสำหรับข้า นายโตก็ถามว่าแกเป็นใคร เขาก็บอกว่าข้าเป็นผีโว้ย กูเฝ้าทรัพย์ของกูอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ โน่นเพื่อนกูนั่งอยู่โน่นคนหนึ่ง ถามว่ามาเดินทำไม ตอบว่ากูก็มาเดินเล่นของมั่งน่ะซี มึงจะทำไมล่ะ ไอ้ปืนมึงน่ะอย่าหยิบขึ้นมาเลย ยิงผีไม่ได้หรอก หยิบก็ยกไม่ขึ้น นี่เป็นตอนหนึ่งของผีโคนต้นโพธิ์
 
ทีนี้อีตอนหนึ่งก็มีอยู่ว่า อาตมามีความตั้งใจอยากจะหล่อรูปหรือปั้นรูปเจ้าอาวาสอดีตเจ้าอาวาส ก็คิดในใจว่าเอเจ้าอาวาสก็มีเยอะที่มีความดี ถ้าหากจะปั้นกันจริงๆ (หล่อมันแพง) จะปั้นกันจริงๆ แล้วก็ต้องปั้นกันทุกองค์ ถ้าปั้นองค์อื่นนะ ที่ถูกแล้วต้องปั้นองค์แรก องค์สถาปนา ถ้าปั้นองค์สถาปนาก็ไม่ต้องไล่เบี้ย ก็คิดว่าจะปั้นองค์แรก คือหลวงพ่อใหญ่ ที่เรียกกันว่าหลวงพ่อปาน หลวงพ่อปานเหมือนกันนะ อาจารย์อาตมาก็หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ที่วัดนี้องค์แรกที่เราเรียกว่าหลวงพ่อใหญ่ ท่านมาบอกว่าท่านชื่อปาน ก็ให้ช่างเขามาปั้นให้ปั้นรูปหลวงพ่อใหญ่ หลวงพ่อสุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า แล้วก็หลวงพ่อปานวัดบางนมโค แล้วก็พระพุทธรูป ให้ปั้น 4 องค์ ช่างเขาก็ปั้นไปแล้ว 3 องค์ รูปหลวงพ่อใหญ่ทำเป็นองค์เล็กๆ ไว้ก่อน เพราะหารูปดูไม่ได้ เขาถามว่ารูปร่างท่านเป็นยังไง ก็บอกว่ารูปร่างท่านใหญ่ ท่านอ้วนขาว เหลือง ว่าอย่างงั้นนะ ช่างเขาถามว่าทำยังไงถึงจะถูกล่ะ ก็ตอบว่าปั้นส่งเดชไปเฮอะ เอาอ้วนๆ ใหญ่ๆ ก็แล้วกัน อย่าไปทำองค์เล็กเข้า รูปจะดูไม่มีนี่จะทำให้เหมือนน่ะไม่ได้ ขั้นแรกเขาก็ทำเอาดินพอกเหล็กขึ้นไป พอตกกลางคืนสัก 6 ทุ่ม ปรากฏว่ายังไม่หลับ หลวงพ่อใหญ่มาหา ท่านก็เลยมาบอกว่า นี่ ข้ามันตัวโตขนาดนี้นี่หว่า มันอ้วนยังงี้ และมันทำตัวเล็กๆ ยังงั้นใช้ได้หรือไอ้ช่าง ถ้าขืนทำแบบนั้นข้าจะไปบีบคอมัน ท่านพูดแบบนั้นก็เป็นการล้อเล่น ก็เลยกราบเรียนท่านว่า หลวงพ่อ ยังงั้นไม่ถูกหรอก บีบคอไม่ดี ทางที่ดีละก็ หลวงพ่อไปทำตัวให้เขาเห็นซี ให้เขาจำได้ แล้วเขาสเก็ชภาพไว้ เขาจะได้ทำถูก ท่านก็เลยบอกเอ้อ ดีเหมือนกันว่ะ ไอ้ช่างมันอยู่ที่ชัยนาทใช่ไหม ก็ตอบว่าใช่ขอรับ อยู่หน้าวัดสะพาน ชัยนาท เอาถ้ายังงั้นข้าจะไป ข้าลาละ แล้วท่านก็หายไป
 
พอรุ่งเช้า ช่างจะมาปั้น ปรากฏว่ามีรูปหลวงพ่อใหญ่มาด้วย เขียนมา แกมาถึงแสดงอาการตกใจใหญ่ บอกว่า เมื่อคืนนี้มีพระองค์หนึ่งไปปลุกให้ตื่นขึ้น ท่านบอกว่าท่านชื่อหลวงพ่อใหญ่ที่เขาจะปั้นรูปนี่แหละ แล้วท่านก็นั่งให้ดู บอก นี่มึงจำรูปกู รูปใหญ่โตขนาดนี้ มึงเอาไปปั้น มึงจะทำเล็กๆอย่างนั้นไม่ได้หรอก ถ้ามันจำไม่ได้ กลัวจะไม่ได้ก็เขียนเอาไว้ ช่างก็เลยหยิบกระดาษมาเขียนวาดภาพ ปรากฏว่ามีส่วนคล้ายคลึงท่านมาก เป็นอันว่าปั้นได้ เมื่อปั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาท้วงอีก บอกว่า เฮ้ย หัวกูมันโตกว่านี่หน่อยว่ะ ทำไมปั้นหัวเล็กไปวะ แต่ไม่เป็นไร มันปั้นเล็กไปนิดก็ไม่เป็นไรหรอก มันย่อมทำไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เห็นข้าจริงๆ มันไม่ได้วัดสัดวัดส่วน นี่ก็เป็นเรื่องของผีเหมือนกันผีพระ แล้วนอกจากผีพระ ก็มีผีฆราวาส จะขอเล่าเรื่องให้ฟังอีกสักนิด คือว่าผีฆราวาส ก็เรียกว่าผีเผ้าทรัพย์นั่นแหละ
 
ในกาลบางครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2512 อาตมาอยู่คนเดียว ทุกคนเขาไปธุระกันหมด กลางคืนก็ออกมาเดินจงกรมใต้อาคารหลังที่เป็นครัวเดี๋ยวนี้ ขณะทีเดินจงกรม เดินไป เสียงบนหลังคาก็เดินบ้าง หลังคาสังกะสีเสียงปังๆๆๆ เอาเท้ากระทืบ เราเดินมา แกก็เดินบ้าง เราเดินไปแกก็เดินบ้าง เป็นอันว่าแกชอบเดินตาม ก็เลยหยุด แล้วบอกว่านี่พ่อคุณ อยากจะเดินตามก็เชิญเดินเถอะ เดินไป ฉันจะหยุด แกก็เลยไม่เดินต่อไป แล้วก็เลยบอกว่านี่เรา ฉันอยู่คนเดียวนะ ช่วยอยู่ยามนะ อย่าให้ใครมันย่องเข้ามาในเขตรั้วนี่ไม่ได้นะ เราเป็นนายยาม ฉันจะได้ไม่ต้องห่วงยาม เสียงข้างบนเขาว่ายังไง บอกขอรับ ถามเขาว่าชอบอะไรล่ะ แกบอกว่าเหล้ากับไก่ก็ดีเหมือนกันแหละ ก็เลยบอกว่าเอาอย่างนี้ซี เป็นพระจะไปซื้อยังไงเล่า ถ้าคนเขากลับมาแล้วล่ะ จะให้เขาซื้อมาเลี้ยงนะ เสียงข้างบนบอกขอรับ ขอรับ ถามว่ามีกี่คนด้วยกันล่ะ บอกมาว่ามีผู้ชาย 4 ผู้หญิง 5 ขอรับ ถามว่าผู้หญิงกินเหล้าไหม เสียงบอกลงมาบอกว่า ไม่ชอบเจ้าค่ะ ชอบผลไม้ ก็เป็นอันว่าจะเลี้ยงไก่กับเหล้าและผลไม้ เมื่อเวลาคนเขามากันจริงๆ ก็เลี้ยงตามนั้นไม่โกหกผี
 
เอาละบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ตามที่กล่าวมานี้ มันก็ยาวนะ เวลาใกล้จะถึงชั่วโมงเหลือเวลาอีก 3 นาทีครึ่งก็จะถึง 1 ชั่วโมงแล้ว ก็เป็นอันว่าเลิกกันดีละมัง
 
ทีนี้ก็มาสรุปเรื่องกันเสียนิดหนึ่ง ว่าเรื่องที่กล่าวมามันเป็นเรื่องของผี จริงหรือไม่จริง เรื่องนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงรับรองนะ ว่าผีมีจริง ปู่ย่าตาทวดของเราทั้งหลายท่านก็รับรองว่าผีมีจริง ตานี้พวกเด็กๆ เล็กๆ ก็กลัวผี บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายก็กลัวผี แต่ก็มีหลายคนทั้งๆ ที่ตนเองกลัวผี แต่ก็ไม่เชื่อว่าผีมี นี่น่าคิดไหม น่าคิดไหมว่าทั้งๆ ที่กลัวผีแต่ไม่เชื่อว่าผีมี ทีนี้จะทำยังไงเล่าจึงจะพิสูจน์ได้ว่าผีมีจริงหรือไม่จริง

ถ้าเราจะไปนั่งให้ผีหลอกนั่นเป็นการไม่สมควรแน่ อย่าลืมนะ ถ้าคนไม่กลัว ผีไม่หลอก ผีจะหลอกได้แต่คนกลัวเท่านั้น เพราะผีเป็นพวกอทิสมานกาย คล้ายๆ กับพวกอสุรกาย คือกายไม่กล้า ถ้าหากเราไม่กลัวเสียอย่างเดียว ผีก็ไม่ปรากฏ ถ้าหากจะให้ผีปรากฏเราก็อาจจะสงสัยว่ามันจะเป็นผีจริงๆ หรือว่าตาฝาดไป มองอะไรเข้าใจว่ามันเป็นผี มันก็ไม่แน่นัก ทางที่ดีเรามาศึกษาเพื่อการรู้เรื่องของผีสักหน่อยดีไหม การศึกษาแบบนี้ก็ไม่มีอะไร นอกจากขอเรียนสมาธิจิตจากสำนักอาจารย์ใดอาจารย์หนึ่งที่ท่านสามารถจะดูผีเห็น หรือว่าสามารถจะไปพบผีได้ วิธีเรียนอันนี้ก็ไม่ยาก ทำได้แต่ขอให้ทำจริงๆ นะ ทำให้ตรงตามแบบของพระพุทธเจ้า แบบของคนอื่นนี่รับรองไม่ได้ เพราะไม่เคยเรียน แบบของพระพุทธเจ้าก็มีอยู่ว่า หนึ่งตัดอารมณ์ยุ่งเสียให้หมด อารมณ์ฟุ้งซ่านอย่าให้มี สองมีศีลบริสุทธิ์ สามระงับนิวรณ์ 5 ประการได้ทุกขณะจิตที่เราตั้งใจจะระงับได้ สี่มีพรหมวิหาร 4 แล้วก็ห้า ทรงสมาธิจิตในด้านกสิณ 3 ประการ คือ เตโชกสิณ หรือโอทาตกสิณ หรืออาโลกกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่งให้มั่นคง แล้วต่อจากนั้นไปก็ฝึกความต้องการเห็นผี เห็นสัตว์นรกเห็นเปรต เห็นอสุรกาย เห็นพรหม อะไรก็ได้ตามความปรารถนา ทำให้ได้จริงๆ อย่างนี้แล้ว ก็ลองดูผีกัน เอาให้ได้เป็นฌานเสียก่อนนะ แล้วก็ลองดูผีกัน ว่าเราจะเห็นผีได้ไหม ถ้าเห็นไม่ได้ เราทำได้ดีแล้วเห็นผีไม่ได้ ก็ให้คิดว่าวิชาในพระพุทธศาสนาเหลวไหล พระพุทธเจ้าใช้ไม่ได้ แต่หากว่าท่านทำไม่ได้ แล้วท่านไม่เห็นผี ท่านจะไปโทษพระพุทธเจ้าไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่เหลวไหล ตัวท่านเองนั่นแหละเหลวไหล คือไม่เอาจริงไม่เอาจัง
 
เอาละท่านผู้ฟัง เวลาหมดแล้ว ครบชั่วโมงพอดี สำหรับวันที่ 28 นี้ก็ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลจงมีแด่ทุกๆ คนที่รับฟังทุกท่าน สวัสดี

 
 
จากหนังสือ เรื่องจริงอิงนิทาน เล่ม ๑
819  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ญาณ ๑๖ เมื่อ: 29 มกราคม 2559 16:04:10
.

ญาณที่ ๒
ปัจจยปริคคหญาณ

ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารู้เหตุรู้ปัจจัยของรูปนาม คือรู้ว่ารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยรวมกันอยู่

อาจารย์ผู้สอบถามว่า “เวลากำหนดท้องพอง ท้องยุบกำหนดยากไหม กำหนดยากเป็นอย่างไร” อาการของญาณนี้ เป็นต้นว่า เวลาบริกรรมกำหนดว่าพอง แต่ท้องกลับยุบลงไปเวลาบริกรรมกำหนดว่ายุบ แต่ท้องกลับพองขึ้นมา และถามการเดินจงกรมด้วยว่า “กำหนดยากไหม ทันปัจจุบันหรือเปล่า” ถามดูอาการพอง อาการยุบมีกี่ระยะ ถ้าตอบมี ๒ ระยะ ให้ได้ระยะใดระยะหนึ่งก็ให้ได้บางครั้งไม่เห็นอาการพอง-ยุบ ต้องถึงกับเอามือไปดันไปจี้ถึงเห็นก็มี นั่งภาวนาไปๆ มือดีดผึง นั่งภาวนาไปๆ สัปหงกไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา สะดุ้งกระโดดไปข้างหน้า สะดุ้งหงายไปข้างหลัง เป็นต้น

โรคภัยไข้เจ็บที่หายนานแล้วกลับเกิดมาอีก นี้คือสภาวะของญาณนี้ ให้ถามว่ากำหนดได้ไหมเป็นตัวยืน ส่วนอาการอื่นเป็นเพียงตัวประกอบ ถ้าเขาทำได้แล้วให้เทศน์เรื่องเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ และอาการเกิดอาการดับของรูปนามทุกอย่างมีเหตุปัจจัยเป็นแดนเกิด

อาการเกิดของรูปนาม
รูปเกิดจากอวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว เช่น อยากเกิดเป็นคน เป็นตัณหา รักษาศีลเป็นกรรม แล้วก็ปรนเปรอด้วยอาหาร
เวทนาเกิดจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว
สัญญาเกิดจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างเดียว
สังขารเกิดจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว
วิญญาณเกิดจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว

อาการดับของรูปนาม
รูปดับไปเพราะอวิชชา ตัณหา กรรม อาหารดับไป และความดับไปของรูปอย่างเดียว
เวทนาดับไปเพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะดับไปและความดับไปของเวทนาอย่างเดียว
สัญญาดับไปเพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะดับไปและความดับไปของสัญญาอย่างเดียว
สังขารดับไปเพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะดับไปและความดับไปของสังขารอย่างเดียว
วิญญาณดับไปเพราะอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะดับไปและความดับไปของวิญญาณอย่างเดียว

รวมอาการของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดพร้อมกัน ๒๕ ดับพร้อมกัน ๒๕ รวมทั้งหมดเกิดดับ ๕๐ (อาการเกิดดับก็คือการเปลี่ยนแปลงของรูปนามนั่นเอง)

ผู้อยากตาย ถ้าจะตายก็ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลงตายให้หมดเสียก่อน หรือตายไม่หมด ตายเสียครึ่งหนึ่งก็ยังดี หลวงพ่อไม่ห้าม ทำไมจึงอยากตาย ก็เพราะมันเป็นทุกข์มาก เออ...คนรู้จักทุกข์นี้เป็นผู้มีปัญญา เมื่อเราเป็นคนมีปัญญาแล้ว เราก็หาสาเหตุและวิธีแก้ให้ได้สิ

ผู้หญิงสาวมีธรรมข้อหนึ่งที่เท่าเทียมกันกับภิกษุสามเณร คือการรักษาพรหมจรรย์ของตนเองให้บริสุทธิ์ เกิดเป็นผู้หญิงนี่ดีแล้วได้รักษาธรรม

สำหรับผู้ไม่อยากตาย ถ้าเจ็บปวดมากให้อธิษฐานอนิมิตตเจโต พร้อมทั้งอธิษฐานให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บผู้ได้ญาณที่ ๒ นี้เรียกว่าจุลโสดาบัน ไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒-๓ ชาติเป็นอย่างน้อย เมื่อไปเกิด ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ



ปัจจยปริคคหญาณ จบ


www.watpit.org-
820  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / ญาณ ๑๖ เมื่อ: 28 มกราคม 2559 16:32:50
.



ญาณ ๑๖

ลำดับญาณ ๑๖ โดยสังเขป
 ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารู้จักแยกรูปแยกนามออกจากกัน คือรู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เพราะรู้แจ้งชัดซึ่งรูปนาม
 ๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารู้เหตุ รู้ปัจจัยของรูปนาม คือรู้ว่ารูปธรรม และนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยรวมกันอยู่
 ๓. สัมมสนญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์ปรากฏแจ้งชัด ๑๕ % คือกำหนดยกรูปนามขึ้นพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
 ๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความดับไปของรูปนาม พระไตรลักษณ์ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้ง ๙๐ % สันตติขาดจนเป็นเหตุทราบชัดว่า สิ่งทั้งปวงมีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ล้วนแต่ต้องดับไปเป็นธรรมดา
 ๕. ภังคญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม คือ อุปาทะ ความเกิดขึ้น ฐิติ ความตั้งอยู่ มีอยู่ แต่ปรากฏไม่ชัดเจน เพราะวิปัสสนาญาณมีกำลังกล้าขึ้น รูปนามปรากฏเร็วขึ้น จึงเป็นเหตุให้พิจารณาเห็นชัดลงไปเฉพาะในส่วนแห่งความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ว่า สังขารทั้งปวงล้วนดับสลายไปทั้งสิ้น
 ๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามโดยความเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่ต้องแตกสลายไปทั้งสิ้น
 ๗. อาทีนวญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม คือเมื่อเห็นรูปนามล้วนแต่ดับสลาย เป็นของน่ากลัวมาตามลำดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นว่า รูปนามทั้งปวงล้วนแต่เป็นทุกข์ เป็นโทษ
 ๘. นิพพิทาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในรูปนาม คือเมื่อเห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนามแล้ว ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่รื่นเริง เพลิดเพลิน หลงใหลในรูปนาม
 ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาปรารถนาอยากจะออก อยากจะหนี อยากหลุดพ้นไปจากรูปจากนาม เพราะพิจารณาเห็นทุกข์ เห็นโทษ และเกิดความเบื่อหน่ายในรูปนามที่ผ่านมา
 ๑๐. ปฏิสังขาญาณ ปัญญากำหนดกลับไปพิจารณาทบทวนพระไตรลักษณ์อีก เพื่อที่จะหาทางหลุดพ้นไปจากรูปนาม คือตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ไม่ย่อท้อ ใจหนักแน่นมั่นคง เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว สู้ตาย
 ๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาวางเฉยเป็นกลางในรูปนาม คือทราบชัดตามความเป็นจริงในรูปนามแล้วจึงเป็นผู้มีใจเป็นกลาง วางเฉยได้
 ๑๒. อนุโลมญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารูปนามที่เป็นไปตามลำดับอนุโลมญาณต่ำ อนุโลมญาณสูง อันเป็นเครื่องตัดสินใจว่าไม่ผิดแน่ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่มรรค ผล นิพพาน โดยอาการของพระไตรลักษณ์ อาการใดอาการหนึ่ง
 ๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาที่โอนจากโคตรของปุถุชนเข้าสู่โคตรของพระอริยะ เพื่อจะหน่วงยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
 ๑๔. มรรคญาณ ปัญญาที่ปหานกิเลสให้เป็น สมุทเฉทปหาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
 ๑๕. ผลญาณ ปัญญาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มรรคญาณปหานกิเลสแล้วมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
 ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญากำหนดพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว ที่ยังเหลืออยู่ ตลอดถึงมรรค ผล และนิพพาน



ญาณที่ ๑
นามรูปปริจเฉทญาณปัญญา

นามรูปปริจเฉทญาณปัญญา กำหนดพิจารณารู้จักแยกรูปแยกนามออกจากกันอาจารย์ผู้สอบอารมณ์ถามเขาว่า “กำหนดง่ายไหม” ถ้าเขาตอบว่า “กำหนดง่าย” ก็แสดงว่าเขาโกหก เพราะการกำหนดบทพระกรรมฐานนั้นกำหนดยาก ถ้าเขาตอบว่า “กำหนดสบาย คิดก็ไม่คิด” ก็แสดงว่าคนนั้นสติหย่อน สติตามจิตไม่ทัน (เว้นแต่ได้ฌาน) (การไม่คิดมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ๑.สติตามจิตไม่ทัน ๒.เข้าฌาน) ถ้าเขาว่าไม่คิด ควรถามเขาดูว่า “เวลาคนอื่นคุยกันได้ยินเสียงไหม ได้ยินเสียงดังมากน้อยขนาดไหนหงุดหงิดไหม ได้ยินเสียงดังๆ สะดุ้งตกใจหรือเปล่า” (ถ้าตกใจแสดงว่ายังไม่ได้ฌานแม้แต่ฌานเดียว) ถ้าเขาตอบว่า “กำหนดยาก” ก็เข้าล็อคของเราถามต่อไปอีกว่า “ท้องพองกับท้องยุบเป็นอันเดียวกันหรือไม่” การตอบไม่คงที่ก็มี วันนี้ตอบอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้ตอบอีกอย่างหนึ่งก็มี ถ้าเขาตอบว่า “อาการพอง-ยุบเป็นอันเดียวกัน” แล้ว ก็ยกตัวอย่างขึ้นมา เช่น การเดินจงกรม กำหนดขวาย่าง-ซ้ายย่าง อันเดียวกันหรือไม่ ถ้าเขาตอบว่าอันเดียวกัน ถามต่อไปอีกว่า “เท้าขวากับเท้าซ้ายนี้ก้าวไปพร้อมกันหรือไม่”

ถามทางจิต “เวลากำหนดท้องพองท้องยุบเอาอะไรมากำหนด” ถ้าเขายังไม่รู้ให้ถามเขาว่า “คนตายพูดได้ไหม” ตอบว่า “ไม่ได้” ถามว่า “ไม่ได้เพราะอะไร” ตอบว่า “เพราะไม่มีจิต”ถามว่า “เวลากำหนดท้องพอง-ยุบนี้ ใจที่กำหนดท้อง พอง-ยุบ เป็นใจเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “เป็นใจเดียวกัน” ถามว่า “แล้วใจบุญกับใจบาป ใจโลภ ใจโกรธ ใจหลง ใจเดียวกันหรือเปล่า” ใจกำหนดท้องพองท้องยุบต้องเป็นคนละขณะกันจึงจะใช่ สอบท้องพอง-ท้องยุบ ขวาย่าง-ซ้ายย่างเสร็จแล้ว ถ้ามีเวลามาก ก็สอบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สอบไปหมดทุกทางถ้าพื้นฐานของการปฏิบัติดี มานะ ทิฏฐิก็ลดลงไปด้วย ถ้าพื้นฐานไม่ดีไม่ค่อยได้ผล หนักๆ เข้าก็หาว่าอาจารย์สู้เราไม่ได้ เสียผู้เสียคนเกิดทิฏฐิวิปลาสไปก็ได้ ถ้ามานะ ทิฏฐิกล้า เจ็บปวดนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่กล้าสู้ ถ้ามานะ ทิฏฐิลดลง ไปธุดงค์ก็ได้ไม่กลัวตาย

ถามทางตา “สีขาวกับตาเป็นอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “เป็นอันเดียวกัน” แล้วให้เอาผ้าปิดตาไว้ ถามเขาว่า “เห็นหรือไม่” ถ้าตอบว่า “เห็น” หยุดสอบแค่นั้น แต่อย่าบอกว่าเป็นคนละอันกันอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ได้

ถามทางหู “หูได้ยินเสียงนกร้องไหม เสียงกับหูเป็นอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “เป็นอันเดียวกัน” ถามว่า “คุณฟังเสียงวิทยุเทปอยู่ที่บ้านสนุกไหม เสียงวิทยุเทปติดหูมาไหม” ถ้าตอบว่า “ติด” ก็ถามว่า “ไหนลองฟังเสียงวิทยุเทปดูซิ” แล้วก็แนะให้สังเกตว่าขณะที่ฟังเสียงแล้วดีใจ เสียใจ กลุ้มใจมีหรือเปล่า แนะให้สังเกตกำหนดดูให้รู้

ถามทางจมูก “จมูกกับกลิ่นอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “อันเดียวกัน” ถามว่า “กลิ่นติดจมูกมาหรือไม่”

ถามทางลิ้น “ลิ้นกับรสอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “อันเดียวกัน” ถามว่า “รสเผ็ด รสเค็ม เป็นต้น ที่เกิดจากอาหารที่เราบริโภคติดอยู่ที่ลิ้นหรือไม่”

ถามทางกายสัมผัส “เสื่ออ่อนไหม” ถ้าเขาตอบว่า “อ่อน” ถามเขาว่า “อ่อนกับกายอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “อันเดียวกัน” แล้วก็ถามว่า “สัมผัสอ่อนนั้นติดกายไปด้วยหรือเปล่า” สอบเสร็จเป็นลำดับๆ ไปในการสอบอารมณ์ ถ้ามีเวลามาก ให้ถามรูปกับนามควบคู่กันไป เช่น ถามตากับรูปและความรู้สึก ๓ อย่างนี้เป็นอันเดียวกันหรือไม่ตา+สี เกิดความรู้สึกขึ้น ให้ถามว่า “ตาเป็นรูปหรือเป็นนาม สีเป็นรูปหรือเป็นนาม ความรู้สึกเป็นรูปหรือเป็นนาม ตา สี และความรู้สึกทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นอันเดียวกันหรือไม่”หู+เสียง เกิดความรู้สึกขึ้น ฯลฯ จมูก+กลิ่น เกิดความรู้สึกขึ้น ฯลฯ ลิ้น+รส เกิด ความรู้สึกขึ้น ฯลฯ กาย+ผัสสะ เกิดความรู้สึกขึ้น ถามเขาว่า “กายเป็นรูปหรือเป็นนาม ผัสสะเป็นรูปหรือเป็นนาม ความรู้สึกเป็นรูปหรือเป็นนาม และกาย ผัสสะ และความรู้สึกทั้ง ๓ นี้เป็นอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบถูก ก็เทศน์โปรดเขาต่อ เช่น การปฏิบัติธรรมนี้ต้องตั้งใจสำเหนียกรูปนามที่เกิดขึ้นให้เห็นชัดให้เห็นรูป กับนามเกิดขึ้นพร้อมกัน จึงจะใช้ได้ สิ่งเหล่าใดสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งเหล่านี้เป็นรูป (ลิ้นสัมผัสกับโอชารส)ถ้าผู้ถูกสอบอารมณ์ถามขึ้นว่า “ผมตอบถูกไหม” พึงตอบเขาไปว่า “จะถูกหรือไม่ไม่เป็นไรหรอก อาจารย์ต้องการทราบถึงความรู้สึกในเวลานี้เท่านั้น” สอบอารมณ์ขั้นต่อไป คือสอบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับขันธ์ ๕ หมายความว่า ขณะที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ใจรู้ธรรมารมณ์ การกระทบกันของอายตนะเหล่านี้แต่ละครั้ง ขันธ์ ๕ (ย่อก็คือ รูปนาม) ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกันทุกครั้ง เช่นตาเห็นรูปคน ตาและรูปนั้นจัดเป็นรูปขันธ์ เมื่อเห็นคนแล้วรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ถ้าจำได้ว่าคน จัดเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าใจปรุงแต่งให้รู้ว่าเป็นคนดีหรือว่าเป็นคนไม่ดี จัดเป็นสังขารขันธ์ และการเห็นเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่า จักขุวิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์หูกับเสียง จัดเป็นรูปขันธ์ เมื่อได้ยินเสียงแล้วรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ความจำเสียงได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าใจปรุงแต่งให้รู้ว่าเป็นเสียงดีหรือว่าเป็นเสียงไม่ดีจัดเป็นสังขารขันธ์ และการฟังเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่าโสตวิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์จมูกกับกลิ่น จัดเป็นรูปขันธ์ เมื่อได้กลิ่นแล้วรู้สึกดีใจเสียใจ หรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ความจำกลิ่นได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าใจปรุงแต่งให้รู้ว่าเป็นกลิ่นดีหรือว่าเป็นกลิ่นไม่ดี จัดเป็นสังขารขันธ์ และการดมกลิ่นเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่า ฆานวิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์ลิ้นกับรส จัดเป็นรูปขันธ์ เมื่อได้รับรสแล้วรู้สึกดีใจ เสียใจหรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ความจำรสได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าใจปรุงแต่งให้รู้ว่าเป็นรสดีหรือว่าเป็นรสไม่ดี จัดเป็นสังขารขันธ์ และการลิ้มรสเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่า ชิวหา วิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์กายกับโผฏฐัพพะ จัดเป็นรูปขันธ์ เมื่อกายถูกต้องโผฏฐัพพะแล้วรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ความจำการถูกต้องโผฏฐัพพะได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าใจปรุงแต่งให้รู้ว่าการถูกต้องโผฏฐัพพะนั้นดีหรือไม่ดี จัดเป็นสังขารขันธ์ และความถูกต้องเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่า โผฏฐัพพวิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์ใจกับธรรมารมณ์ หทัยวัตถุ จัดเป็นรูปขันธ์ ธรรมารมณ์เป็นนาม เมื่อใจถูกต้องกระทบอารมณ์ เกิดความรู้สึกดีใจเสียใจ หรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ความจำการกระทบอารมณ์นั้นได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ การปรุงแต่งใจให้รู้ว่าอารมณ์นั้นดีหรือไม่ดี จัดเป็นสังขารขันธ์ การรับรู้อารมณ์เป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่ามโนวิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์

ถ้าไม่มีสติกำหนด ขันธ์ ๕ ไม่เกิด ถ้ารูปนามขันธ์ ๕ ไม่ชัด มานะ ทิฏฐิจะแรงกล้ามาก เราจะต้องแก้ด้วยวิธีพูดให้เขาเจ็บใจมากๆ แล้วความโกรธก็จะเกิดขึ้น เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว สมาธิก็ลดลงทันที สภาวะต่างๆ ช่วงนั้นจะหายไป แล้วเขาก็จะเกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้ ถ้ารูปนามขันธ์ ๕ ชัด ตายก็ยอมตาย ขาขาดเอาคางเกาะไป เมื่อรูปนามชัด จะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่มีอะไรดี มีแต่รูปนามเท่านั้น บางท่านจะไม่ยอมเรียกชื่อตนเอง เพราะเห็นแต่รูปแต่นามเท่านั้น ใช้อนัตตาแทนชื่อตัวเองบ้างญาณนี้อย่าปล่อยให้ผ่านเร็วมากนัก ให้ใจเย็นๆ สอบให้ละเอียดๆ ถ้าจะไปเพิ่มบทพระกรรมฐานเข้าไป จะเกิดความฟุ้งซ่าน ถ้าผ่านแล้วก็เพิ่มบทจงกรมเข้าไปอีก ญาณจะผ่านช้าหรือเร็วแล้วแต่บารมีญาณที่ ๑ ถ้าตายในขณะที่อยู่ในญาณ หรือเวลาที่จะตาย เรามีสติกำหนดท้องพอง ท้องยุบ ภาวนาพองหนอ ยุบหนอ เวลาตายจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๑ ชาติ ถ้าไม่ประมาท เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา ก็จะเป็นสัมมาทิฏฐิ  


นามรูปปริจเฉทญาณ จบ


-www.watpit.org-
หน้า:  1 ... 39 40 [41] 42 43 ... 51
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.035 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 30 สิงหาคม 2566 13:41:54