[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 02:28:26 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 [2] 3 4 ... 270
21  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดวังไทร ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ: 14 มีนาคม 2567 11:18:20


วัดวังไทร
ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

โบราณสถานวัดวังไทร  ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ บ้านวังไทร ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติวัดวังไทรว่า เดิมแถบนี้เป็นป่าดง มีช้างอาศัยเป็นจำนวนมาก พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งจึงสั่งให้พระยาไทรบุรี – ยะรัง เป็นหัวหน้ามาตั้งเพนียดจับช้างเพื่อส่งให้แก่เมืองหลวง จึงได้มาสร้างที่พำนักหรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่าวังอยู่บริเวณนี้จึงเรียกว่า “วังพระยาไทย” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “วังไทร” อย่างไรก็ดี ชื่อวังไทรนี้บ้านว่ามาจากชื่อต้นไทรใหญ่อยู่ริมคลองในบริเวณวัด

โบราณสถานสำคัญภายในวัดได้แก่ เจดีย์ สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน ๔ องค์ ตั้งเรียงตามแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ซึ่งกรมศิลปากรขุดค้น ขุดแต่งและบรูณะในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ประกอบด้วย เจดีย์องค์ที่ ๑ (องค์ทิศตะวันตกสุด) ขนาดฐานกว้างด้านละ ๑.๖๐ เมตร เจดีย์องค์ที่ ๒ ขนาดฐานกว้างด้านล่ะ ๑.๘๐ เมตร เจดีย์องค์ที่ ๓ ขนาดฐานกว้าง ด้านละ ๑.๓๐ เมตร และเจดีย์องค์ที่ ๔ (องค์ทิศตะวันออกสุด) ขนาดฐานด้านล่ะ ๑.๓๐ เมตร เจดีย์เหล่านี้ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด ส่วนเรือนธาตุย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนองค์ระฆังเป็นดินเผาแกะสลักลวดลาย มีการประดับตกแต่ง ด้วยลายปูนปั้นที่งดงาม

อายุสมัย : สมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓

.
วัดวังไทร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๘๓ ง  หน้า ๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑ เนื้อที่โบราณสถานประมาณ ๘๗ ตารางวา













ขอขอบคุณ : สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช (ที่มาข้อมูล/ภาพประกอบ)
(จัดทำโดย : นายสรรชัย แย้มเยื้อน และนายสหภาพ ขนาน นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช)
22  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: เสนาสนะ : คำวัดน่ารู้ - เกร็ดพุทธศาสน์ เมื่อ: 11 มีนาคม 2567 16:45:24

ภาพเสนาสนะภายในวัด ที่เเขวงสาละวัน ประเทศลาว
ถ่ายโดย Jean-Yves Claeys ในราวปี 1934-1939
ขอขอบคุณ เพจ บรรณาลัย (ที่มาภาพประกอบ)

เสนาสนะ

เสนาสนะ เป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างหนึ่งในจำนวน ๔ อย่างสำหรับพระสงฆ์ หมายถึง ที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ เช่น กุฏิ วิหาร ศาลา รวมถึงที่นอนและที่นั่งและเครื่องใช้ เกี่ยวกับสถานที่หรือสิ่งที่ใช้ในการพำนัก เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียง ตั่ง หมอน หรือแม้แต่โคนต้นไม้ เป็นที่สะดวกสบายเหมาะแก่การกระทำสมณธรรมทุกประการ

พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด คือ วิหาร ๑ เรือนมุงแถบเดียว ๑ เรือนชั้น ๑ เรือนโล้น ๑ ถ้ำ ๑

อนึ่ง คำว่า "เสนาสนะ" มาจากศัพท์บาลี ว่า "เสนาสน" สร้างจากศัพท์ "เสน" และ "อาสน"

เสนาสนะ ประกอบด้วยองค์ ๕ นั้น ตรัสไว้ในทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ดังนี้ คือ
       ๑.ไม่ไกล ไม่ใกล้เกินไป สะดวกด้วยการเดินทางไปมา
       ๒.กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงน้อย
       ๓.มีสัมผัสน้อยเกี่ยวกับ ยุง เหลือบ ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน
       ๔.สมบูรณ์ด้วยจีวรบิณฑบาต (พอจะมีปัจจัย ๔ ได้ไม่ยากนัก)
       ๕.มีภิกษุที่ทรงความรู้อยู่ พอไต่ถามให้ท่านแก้ความสงสัยได้


23  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ / เรื่องของ "น้ำมนต์" เมื่อ: 09 มีนาคม 2567 15:41:55



น้ำมนต์


น้ำมนต์ หรือ น้ำมนตร์ หมายถึง นํ้าที่เสกเพื่อใช้อาบ กิน หรือประพรม เป็นต้น ถือกันว่าเป็นมงคล การทำน้ำมนต์พบเห็นได้ทั่วไปในหลายศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู เป็นต้น

สังคมพุทธศาสนา ตั้งแต่อดีตกาล จะมีการทำน้ำมนต์เพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายในเคหะสถาน เสกน้ำมนต์เพื่อดื่มหรือประพรมเพื่อรักษาโรค ประพรมเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือประพรมเพื่อขับไล่ภูตผีที่มาอาศัยในตัวคน ซึ่งในอดีตจะกระทำโดยพระสงฆ์ นักบวชและผู้มีวิชาอาคม พ่อมดหมอผี ต่อมาได้มีการสร้างขันน้ำมนต์เป็นวัตถุมงคลที่ชาวบ้านสามารถนำไปทำน้ำมนต์ได้เอง โดยตัวขันน้ำมนต์จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ติดไว้ เช่นรูปหล่อ ยันต์ หรือพระกริ่ง พร้อมกับคาถาในการเสกน้ำมนต์

จารกอรรถกถา (หมายความว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้มาจากพระไตรปิฏกตรงๆ แต่พระอาจารย์รุ่นหลังๆ ตั้งใจ แต่งเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์) ... คราวหนึ่งที่เมืองเวสาลี เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ ผู้คนล้มตายซากศพเกลื่อนเมือง อมนุษย์ก็เข้ามา แถมอหิวาตกโรคซ้ำ กษัตริย์ลิจฉวีอาราธนาพระพุทธเจ้า ขณะนั้นอยู่ที่เมืองราชคฤห์ ทรงรับอาราธนา เสด็จมาทางเรือ เมื่อถึงเขตแดนเวสาลี พอย่างพระบาทลงทรงเหยียบฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมา จนน้ำท่วมพัดพาซากศพลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด  เมื่อเสด็จถึงเมืองเวสาลี ท้าวสักกะและประดาเทพก็มาชุมนุมรับเสด็จ พวกอมนุษย์หวาดกลัว พากันหนีไป

ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสรตนสูตรให้พระอานนท์เรียน และเดินทำปริตรไปในระหว่างกำแพงเมืองทั้งสามชั้น   

พระอานนท์เรียนท่องจำรัตนสูตรนั้น แล้วสวดเพื่อเป็นปริตร คือเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน พร้อมถือบาตรของพระพุทธเจ้า ใส่น้ำเดินพรมไปทั่วนครเวสาลี ทำให้อมนุษย์ที่สิงอยู่ทั่วเมืองหนีไปหมด ชาวกรุงเวสาลีจึงหายจากโรคระบาด เป็นอันว่า ทั้งภัยแล้ง ภัยอมนุษย์ และภัยจากโรคก็สงบสิ้นไป

แต่ในสามัญญผลสูตร พระโคตมพุทธเจ้าตรัสถึงการเลี้ยงชีพด้วยการทำน้ำมนต์ว่าเป็นติรัจฉานวิชา ดังนี้  ...ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
24  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: ให้แก่-ให้กับ : ระหว่าง … กับ-ระหว่าง … และ : "รู้และใช้" ภาษาไทยให้ถูกต้อง เมื่อ: 09 มีนาคม 2567 15:03:49



ให้แก่-ให้กับ : ระหว่าง … กับ-ระหว่าง … และ

          ภาษาสำนวนไทยที่ในปัจจุบันใช้สับสนกันมากที่สุดทั้งในหมู่นักวิชาการ นักการเมือง และในข่าวสารทั่ว ๆ ไป ก็คือสำนวนว่า “ให้แก่”-“ให้กับ” และ “ระหว่าง…กับ”-“ระหว่าง…และ”

          ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงสำนวนว่า “ให้แก่” - “ให้กับ” ก่อนในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุมของวุฒิสภา พบว่าบรรดาสมาชิกวุฒิสภาที่อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภานั้น จะใช้คำว่า “ให้กับ” กว่าร้อยละ ๙๐ และเมื่อได้ฟังการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถ่ายทอดออกอากาศทางสถานีวิทยุรัฐสภา ก็ได้ยินคำว่า “ให้กับ” อยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน เมื่อได้ยินการสัมภาษณ์ การให้สัมภาษณ์ การสนทนา และข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะพบสำนวนว่า “ให้กับ” ประมาณร้อยละ ๙๐ เช่นเดียวกัน

           การใช้คำว่า “ให้กับ” นี้คงมีมานานแล้ว อาจจะก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็เป็นได้ ซึ่งคงทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทนรำคาญพระราชหฤทัยไม่ได้จึงได้ทรงมี “ประกาศ” ฉบับหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๒ เป็นฉบับที่ ๑๗๙ “ประกาศให้ใช้คำ กับ แก่ แต่ แต่ ต่อ ใน ยัง ในที่ควร” เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๕ ค่ำ ปีมะแม เอกศก มีข้อความตอนหนึ่ง แห่งประกาศฉบับนั้นเป็นดังนี้

           “…นอกกว่านี้ใช้ แก่ คือ พระราชทานแก่ ให้แก่ บอกแก่ แจ้งความแก่ ทำโทษแก่ ลงโทษแก่ ใครๆ อะไรๆ ว่าไม่สุดแล้ว คำที่ต่อกับ แจ้งแก่ ร้องเรียนแก่ ทำคุณแก่ ทำให้แก่ บอกให้แก่ แจกจ่ายแก่ เสียไปแก่ ลงพระราชอาณาแก่ ให้ปรับไหมแก่ ได้แก่ เสียแก่ ไว้แก่ ไว้ใจแก่ ไว้ความแก่ เอ็นดูแก่ เห็นแก่ ให้ถ้อยคำแก่ ย่อมแก่ โกรธแก่ ไว้ธุระแก่ ให้ศีลให้พรแก่ สมควรแก่ จงมีแก่ สงสารแก่ ขายให้แก่ ให้ช่องแก่ และอื่นๆ ที่คล้ายกัน ให้ว่าแก่ อย่าว่ากับเลย …”

           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของชาติไทย ทั้งในด้านศาสนา ด้านวิเทโศบายในการติดต่อกับต่างประเทศ ฯลฯ และทรงมีความห่วงใยต่อการใช้ภาษาไทยของคนในชาติมาก แม้พระองค์จะทรงมี “ประกาศ” เรื่องการใช้คำว่า “ให้แก่” มาเป็นเวลาเกือบ ๑๔๐ ปีแล้ว ประชาชนชาวไทยแทบทุกระดับชั้นก็ยังคงใช้ “ให้กับ” กันอยู่ ทั้งในการพูดและการเขียน ในการตรวจรายงานการประชุมของวุฒิสภา ข้าพเจ้าได้เสนอให้ใช้สำนวนไทยๆ อยู่หลายคำรวมทั้งคำว่า “ให้แก่” ด้วย ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจรายงานการประชุมฯ เห็นชอบด้วย เมื่อเราพบคำว่า “ให้กับ” ก็ได้แก้เป็น “ให้แก่” หมด ทั้งนี้เพราะบันทึกรายงานการประชุมวุฒิสภาจะเป็นเอกสารสำคัญของชาติตลอดไป เพื่อเด็กรุ่นหลังมาอ่านรายงานการประชุมฯ ของวุฒิสภาแล้วจะได้ใช้ตามมากขึ้น ถือว่าเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เป็นอย่างดียิ่งวิธีหนึ่ง

           นอกจากนั้น เมื่อข้าพเจ้าได้ตรวจผลงานทางวิชาการของบรรดาอาจารย์ที่ขอเลื่อนฐานะเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ก็ดี เป็นรองศาสตราจารย์ก็ดี เป็นศาสตราจารย์ก็ดี หรือเป็นอาจารย์ ๓ ก็ดี ได้พบอยู่เสมอว่า เวลาใช้คำว่า “ระหว่าง” มักจะใช้คู่กับคำว่า “และ” เช่น ระหว่างไทยและฝรั่งเศส ระหว่างฮินดูและมุสลิม ระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและวัฒนธรรมตะวันตก ฯลฯ ข้าพเจ้าต้องแก้เป็น “ระหว่าง … กับ” ทุกแห่งเสมอไป  เพราะรู้สึกรำคาญสำนวนว่า “ระหว่าง … และ” เต็มที ทั้งนี้ก็คงเป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจากภาษาอังกฤษนั่นเอง เพราะภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “between…and…” จึงแปลตามตัวว่า “ระหว่าง…และ” แม้แต่อาจารย์ที่เสนอผลงานเพื่อขอเป็นศาสตราจารย์บางคน ยังใช้ “ระหว่าง … และ” อยู่เกือบตลอดทั้งเล่ม และเป็นอย่างนี้ทุกเล่มด้วยยกเว้นในบัตรเชิญไปร่วมพิธีมงคลสมรส ข้าพเจ้ายังไม่เคยพบข้อความว่า “ระหว่างนาย … และนางสาว…” เลยในเมื่อบัตรเชิญไปร่วมพิธีมงคลสมรสยังใช้ “ระหว่าง … กับ” ได้ แต่ทำไมในการเขียนผลงานทางวิชาการ หรือในการเขียนข่าว จึงต้องใช้ “ระหว่าง … และ” ทำไมจึงไม่ใช้ “ระหว่าง … กับ” ซึ่งเป็นสำนวนไทยที่ดีอยู่แล้วบ้าง

           ในเวลาตรวจรายงานการประชุมฯ ของวุฒิสภา ก็ได้พบสำนวนฝรั่งอีกสำนวนหนึ่งก็คือ สำนวนที่ต่อด้วยคำว่า “ของ”  เช่น “ในเรื่องของ”   “ในกรณีของ” ฯลฯ  เราก็ได้ตัดคำว่า “ของ”  ออก เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เช่น “ในเรื่องของการส่งสินค้าออก” เราก็แก้เป็น “ในเรื่องการส่งสินค้าออก” หรือสำนวน เช่น “ในกรณีของการสั่งสินค้าเข้ามา” ก็แก้เป็น “ในกรณีสั่งสินค้าเข้ามา” ในกรณีดังกล่าวมานี้ แม้ไม่มีคำว่า “ของ” ก็อ่านรู้เรื่อง สำนวนอย่างนี้ก็คงติดมาจากสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “story of” หรือ “in the case of” นั่นเอง ข้าพเจ้าเห็นว่าเราควรหันมาใส่ใจและสนใจการใช้ภาษาไทย สำนวนไทยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแบบฉบับให้อนุชนรุ่นลูกหลานของเราได้ใช้ภาษาไทย สำนวนไทยให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะภาษาไทยก็นับว่าเป็นวัฒนธรรมไทยที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากแสดงให้เห็น “เอกลักษณ์” ของความเป็นไทยอย่างแท้จริง.



ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาวิชาตรรกศาสตร์  สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง

ที่มา :  จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๐๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
25  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: ไต่ไม้ลำเดียว : สำนวน-โวหาร-สุภาษิต และคำพังเพย เมื่อ: 09 มีนาคม 2567 14:50:41

ขอขอบคุณเว็บไซต์ forfundeal.com (ที่มาภาพประกอบ)

ไต่ไม้ลำเดียว

ไต่ไม้ลำเดียว ประกอบด้วยคำว่า ไต่ กับ ไม้ลำเดียว  

ไต่ คืออาการที่เคลื่อนไปหรือคืบคลานไปด้วยความระมัดระวัง  

ไม้ลำเดียว ในที่นี้หมายถึงลำต้นของต้นไม้ ๑ ต้น หรือ ๑ ท่อน  

ไต่ไม้ลำเดียว นำมาใช้เป็นสำนวน หมายถึง กระทำการใด  ตามลำพังตัวคนเดียวโดยไม่มีที่พึ่งหรือไม่พึ่งพาผู้อื่น อาจพลั้งพลาดได้ ดังโคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ว่า


         “ไต่ ตพานพาดไม้   ลำเดียว
         ไม้ สั่นหวั่นกายเสียว   เมื่อเมื้อ
         ลำ ฦกที่พึ่งเหลียว        แลห่อน  เห็นเฮย
         เดียว ดั่งคนบเอื้อ    พึ่งผู้พาศนา”

หมายความว่า คนที่เดินไปบนสะพานที่พาดด้วยไม้ลำเดียว เมื่อไม้สั่นไหวก็รู้สึกหวาดเสียว ครั้นคิดจะหาที่พึ่งก็ไม่มี


ขอขอบคุณ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (ที่มาข้อมูล)
26  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: เสมา ของวัดไทรอารีรักษ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี : ความเป็นมาของใบเสมา เมื่อ: 09 มีนาคม 2567 14:34:20






เสมา ของวัดไทรอารีรักษ์
ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ซึ่งเป็นวัดของชุมชนชาวมอญ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

850
27  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: ภาพ พุทธประวัติสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อ: 09 มีนาคม 2567 14:24:32

        ภาพที่ ๖๙
ครั้นแล้ว ยุทธศิลป์ชิงนางก็ได้เริ่มขึ้น โดยเจ้าชายนันทะท้าประลองยิงธนูสู่เป้าหมายในระยะทาง ๖ โคว (๑๓๐๐ ฟุต) โดยประมาณกำลังของผู้ยิง จะต้องยิงได้ไกลและแม่นยำต่อเป้าหมายด้วย เจ้าชายอรชุนก็ประกาศระยะทาง ๖ โคว เช่นกัน แต่เจ้าชายเทวทัตนั้นเชื่อพระองค์ว่าเหนือผู้ใด จึงประกาศระยะทางถึง ๘ โคว



         ภาพที่ ๗๐
ครั้นถึงเจ้าชายสิทธัตถะเล่า บัดนั้น พระองค์มิใช่หนุ่มที่เงื่องหงอย ที่คอยคิดจะสละสุขอย่างเคย พระองค์ต้องการเด่น ต้องการความชนะ พระองค์เชื่อในตัวเอง จึงประกาศระยะทางถึง ๑๐ โคว ไกลจนเห็นเป้าหมายเท่าเบี้ยเล็กๆ ประชาชนถึงกับอื้ออึงสนเท่ห์ใจ ว่าผู้ใดในโลกจะมีกำลังยิงถึงและแม่นยำตรงเป้าได้



         ภาพที่ ๗๑
การยิงธนูได้เริ่มขึ้นโดยนันทะเป็นผู้ยิงก่อน และท้าวเธอก็น้าวสายยิงไปตามระยะกำหนด ถูกเป้าหมายมิได้พลาด มาถึงอรชุนก็ถูกเป้าหมายตามระยะกำหนดเช่นกัน เทวทัตมีระยะทางไกลกว่า จึงน้าวสายด้วยกำลังข้อที่แข็งแกร่งของพระองค์ แล้วปล่อยลูกธนูทะลุเป้าดังสนั่น ประชาชนได้โห่ร้องขึ้นอึงคะนึง



         ภาพที่ ๗๒
ถึงคราวองค์สิทธัตถะ ได้รับคันธนูจากคู่แข่งขันมาพิจารณา สงสัยว่าจะไม่มีกำลังแรงพอที่จะส่งถูกไปถึงระยะ ๑๐ โคว ได้ พระองค์จึงทรงโก่งคันธนูอย่างเต็มเหนี่ยว คันธนูนั้นได้หักสะบั้น ทั้งนี้เป็นลางนิมิตของผู้ยิ่งใหญ่ทั่วๆ ไปในโลก จะพึงสำแดงเป็นอภินิหารให้เห็น จึงทำให้ประชาชนตะลึงงัน



         ภาพที่ ๗๓
ได้มีผู้เสนอคันธนูอีกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นของสิงหนุเก็บรักษาไว้ในวิหาร เพราะไม่มีผู้ใดในกบิลพัสดุ์จะสามารถโก่งคันธนูนั้นได้ ตลอดจนเจ้าชายทั้งหลายก็ได้ทดลองมาแล้วทั้งนั้น เจ้าชายสิทธัตถะรับคันธนูนั้นมาลองโก่งดู และก็โก่งได้สบาย ซึ่งเป็นเพราะบุญญาบารมีของพระองค์นั่นเอง จึงทำอะไรได้เหนือมนุษย์อื่น



         ภาพที่ ๗๔
เมื่อการโก่งธนูได้สำเร็จแล้ว พระองค์ก็หยิบลูกธนูขึ้นพาดสาย แล้วยิงไปยังเป้าที่ไกลแสนไกล ด้วยอภินิหารของมหาบุรุษ พอธนูออกจากแหล่งวิ่งแหวกอากาศไป ก็เกิดเสียงกัมปนาทขึ้น ซึ่งเกิดจากเสียงสายธนูหนึ่ง และการแหวกอากาศของลูกธนหนึ่ง จึงสะท้านสะเทือนเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่คนทั่วไปยิ่งนัก



         ภาพที่ ๗๕
ครั้นปรากฏว่าลูกธนูของเจ้าชายถูกต้องและทะลุเลยไป ประชาชนได้โห่ร้องกึกก้องหวั่นไหว และได้ถือเป็นมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับกรุงกบิลพัสดุ์ ถ้าจะสังเกตกริยาของผู้ดูการแข่งขันในคราวนี้ ก็จะเห็นพระอิริยาบถของเจ้าหญิงศรียโสธรานั่นเอง ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เมื่อขณะสิทธัตถะยิงธนู เจ้าหญิงพระพักตร์จืดเพราะกลัวผิดเป้า พอยิ่งถูกแล้ว ท้าวเธอก็แจ่มใสยิ่งนัก



         ภาพที่ ๗๖
ครั้นปรากฏว่าลูกธนูของเจ้าชายถูกต้องและทะลุเลยไป ประชาชนได้โห่ร้องกึกก้องหวั่นไหว และได้ถือเป็นมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับกรุงกบิลพัสดุ์ ถ้าจะสังเกตกริยาของผู้ดูการแข่งขันในคราวนี้ ก็จะเห็นพระอิริยาบถของเจ้าหญิงศรียโสธรานั่นเอง ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เมื่อขณะสิทธัตถะยิงธนู เจ้าหญิงพระพักตร์จืดเพราะกลัวผิดเป้า พอยิ่งถูกแล้ว ท้าวเธอก็แจ่มใสยิ่งนัก



         ภาพที่ ๗๗
การแข่งขันตัดไม้ได้ผ่านไปแล้วโดยเจ้าชายสิทธัตถะชนะอย่างขาวสะอาด จึงมีการแข่งขันขี่ม้าพยศขึ้นอีก และต้องเลือกให้สมเกียรติแก่ผู้แข่งขัน คือต้องเป็นม้าร้ายที่สุด มีอยู่ตัวหนึ่งดำดังสีหมึก แม้แต่ยังอยู่ในเครื่องพันธนาการ ยังพยศเอาการ เจ้าชายหลายพระองค์ได้ถูกสะบัดตกหมด เป็นที่อับอายขายหน้า ยังคงเหลือแต่อรชุนกับพระสิทธัตถะเท่านั้น



         ภาพที่ ๗๘
อรชุนเก่งกาจเอาการอยู่ในเรื่องม้าพยศ พระองค์ทรงขึ้นหลังได้โดยไม่ถูกสะบัดตก แต่ครั้นแก้โซ่ออกแล้วก็พยศหนัก แว้งกัดขาอรชุนตกจากหลังลงนอนกับพื้น ซ้ำร้ายกว่านั้นยังจะตรงเข้าพิฆาตฆ่าเสียอีก ด้วยฤทธิ์บ้าประดุจผีร้ายสิง พนักงานกองไม้ได้เฮกันเข้าช่วยยึดมาไว้ แล้วรีบพยุงเอาอรชุนขึ้นจากพื้นพาพ้นที่นั้นไป



         ภาพที่ ๗๙
ถึงคราวพระสิทธัตถะ คนทั้งหมดในที่นั้นต่างขอร้องอื้ออึง มิให้ปล่อยพระราชกุมารไปเกลือกกลั้วกับม้าผีร้ายนั้นให้ทำร้ายพระองค์ แต่เจ้าชายยืนสงบนิ่งด้วยพระทัยอันแน่วแน่ ซึ่งเป็นอิริยาบถของผู้แรงกล้าด้วยเมตตาจิต พระองค์ร้องให้ปล่อยม้า แล้วย่างเข้าหาม้าอย่างช้า ๆ อย่างผู้มีบารมีคุ้มกัน ม้ายืนตะลึง พระองค์ลูบหน้าตามันอย่างปราณี



         ภาพที่ ๘๐
ม้าร้ายได้หมดพยศเสียแล้ว มันได้พบแล้วกับผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาจิตที่ส่งกระแสออกมาทางพระเนตรของพระองค์ มันยืนตัวสั่นด้วยปีติใจ แล้วพระองค์จึงโดดขึ้นขี่หลัง บังคับด้วยพระชานุและพระหัตถ์ของพระองค์ ให้มันเดินไปรอบๆ ให้ประชาชนชมให้ทั่วถึงกัน



ขอขอบคุณ มูลนิธิ เหม เวชกร (ที่มาเรื่อง/ภาพ)
700
28.002 / 12.502
28  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / ชมเก๋งจีนในวิหาร วัดไทรอารีรักษ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เมื่อ: 08 มีนาคม 2567 18:59:11




“เก๋งจีน” สร้างไว้ภายในวิหาร สูงประมาณ ๕ เมตร มีรูปทรงแบบจีน ก่อด้วยอิฐถือปูน แต่มีหลังคาลดชั้น
ที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะไทย สร้างไว้สำหรับครอบรอยพระพุทธบาท ตามผนังมีภาพจิตรกรรมเรื่อง
สามก๊กประดับอยู่ ซึ่งภาพเขียนดังกล่าวเป็นศิลปกรรมของจีน

วัดไทรอารีรักษ์
ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

วัดไทรอารีรักษ์เป็นวัดของชุมชนชาวมอญ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๓ เดิมชื่อว่าวัดวิหาร ในภาษารามัญเรียกว่า เพี้ยซาย

พบหลักฐานด้านศิลปกรรมที่สำคัญภายในวัดประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง และรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทในสมัยรัชกาลที่ ๕ บริเวณสถานที่ตั้งวัดเดิมเรียกว่า ตำบลบางลาว ซึ่งมีชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทร์มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน ต่อมาภายหลัง ตำบลบางเลา เมื่อชาวมอญได้อพยพมาจากหงสาวดีจากการรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ของพม่า ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ จึงเปลี่ยนชื่อวัด เรียกว่า วัดไทรอารีรักษ์ มาจนถึงปัจจุบัน

ภาพจิตกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ผนัง ภายในอุโบสถ เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่นบนรองพื้นดินสอพองรูปแบบจิตรกรรมไทยประเพณี เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ และอดีตพุทธเจ้า รวมทั้งแสดงภาพวิถีชีวิตประเพณี การละเล่น และการแต่งกายของผู้คนในช่วงเวลานั้น ภาพจิตรกรรมที่มีความสำคัญและโดดเด่นคือ “ภาพฉากถวายพระเพลิงพระบรมศพ” ซึ่งมีภาพแสดงฉากขบวนแห่งพระบรมศพพระพุทธเจ้า (หีบศพแบบมอญที่เรียกว่า ลุ้ง ตั้งอยู่ในราชรถ) และภาพการแสดงละเล่นต่างๆ ในงานถวายเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า (ปริเฉทที่ ๒๗ ธาตุวิภัชน์ปริวรรต) ที่มีความสวยงาม และเล่าเรื่องราวได้ดี
.....ขอขอบคุณ "กรมศิลปากร" ที่มาข้อมูล


วิหารวัดไทรอารีรักษ์ ที่ภายในวิหารสร้างเก๋งจีนครอบรอยพระพุทธบาท


พระพุทธรูปปางเลไลยก์ พระประธานในวิหารวัดไทรอารีรักษ์ เล่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก


พระพุทธรูปประดิษฐานด้านหน้าพระวิหาร




ภาพเขียนศิลปะจีน เล่าเรื่องสามก๊ก ที่ผนังเก๋งจีน


รอยพระพุทธบาท ที่สร้างเก๋งจีนครอบไว้


พระอาจารย์กำลังสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองสำหรับให้พุทธศาสนิกชนปิดทอง
ท่านเล่าว่า กรมศิลปากรสั่งห้ามปิดทองพระพุทธบาทองค์จริง และโดยปกติวิหารจะเปิดเฉพาะช่วงของงานประจำปีของวัด
(จึงนับว่าเป็นโชคดีที่ได้เข้าไปกราบนมัสการในช่วงที่พระท่านเปิดวิหารเพื่อสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง)



และท่านยังได้เมตตาเล่าให้ฟังถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปปางเลไลยก์ (องค์ประธานในวิหาร)


พระอุโบสถวัดไทรอารีรักษ์ อยู่ระหว่างการบูรณะ


ภาพพุทธประวัติ และภาพจิตรกรรมไทยประเพณี แสดงเครื่องแต่งกายของผู้คนและวิถีชีวิต ภายในอุโบสถวัดไทรอารีรักษ์
ขอขอบคุณ "กรมศิลปากร" (ที่มาภาพ) เนื่องจากพระอุโบสถปิดเพื่อทำการบูรณะ จึงไม่สามารถเข้าไปได้


เสมา วัดไทรอารีรักษ์






29  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๖๖ สีลวีมังสชาดก : ปุโรหิตทรงธรรม เมื่อ: 08 มีนาคม 2567 12:17:20



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๖๖  สีลวีมังสชาดก
ปุโรหิตทรงธรรม

          ในสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระองค์มีปุโรหิตที่ทรงศีลทรงธรรม
          วันหนึ่งปุโรหิตคิดจะทดสอบศีลของตน จึงหยิบเงินที่กระดานนับเงินไป ๓ วัน อยู่มาไม่นานตำรวจก็จับปุโรหิตไปฟ้องพระราชาว่าเป็นขโมย พระราชาตรัสถามว่าทำไมท่านถึงทำเช่นนี้ ปุโรหิตทูลว่าก็เพื่อจะทำสอบศีลของตน เพราะได้ยินว่าศีลเป็นความงาม ศีลเป็นเยี่ยมในโลก
          เมื่อพระราชาทรงทราบความคิดของเขาแล้ว เขาก็ขอพระราชทานอนุญาตออกบวช เพื่อรักษาศีลให้บริบูรณ์ ระหว่างที่บำเพ็ญภาวนาในป่าพระฤๅษีเห็นเหยี่ยวตัวหนึ่ง ซึ่งเฉี่ยวชิ้นเนื้อจากตลาดแล้วบินขึ้นไปบนอากาศ ถูกนกทั้งหลายห้อมล้อมจิกตี โดยหมายจะช่วงชิงชิ้นเนื้อนั้น เหยี่ยวไม่สามารถจะหลบหลีกได้จึงคายชิ้นเนื้อแล้วถูกนกตัวอื่นคาบเอาไป นกตัวที่คาบชิ้นเนื้อไปได้ก็ถูกนกตัวอื่นห้อมล้อมจิกตี หมายจะช่วงชิงชิ้นเนื้อเช่นกัน นกตัวนั้นจึงปล่อยชิ้นเนื้อแล้วนกตัวอื่นคาบต่อไปอีก เป็นอย่างนี้เป็นทอดๆ ไป
          จากเหตุการณ์ครั้งนี้พระฤๅษีได้แง่คิดว่า “ถ้าเราไม่มีอะไร เราก็ไม่ถูกเบียดเบียน ถ้าเราไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เราก็ไม่มีความกังวล”
          ต่อมาพระฤๅษีได้เดินทางออกจากพระนคร แล้วนอนพักอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง ขณะที่นอนอยู่ที่บ้านหลังนั้น สาวใช้ของบ้านนั้นได้นัดแนะผู้ชายให้มาหาที่บ้าน นางนั่งรอเขาจนเวลาล่วงเลยไปจากยาม ๑ เข้ายาม ๒ ชายหนุ่มก็ยังไม่มา นางรอไปจนถึงใกล้รุ่ง เกิดความหมดหวังว่าเขาจะไม่มาแล้ว จึงนอนหลับไป
          จากเหตุการณ์ครั้งนี้ พระฤๅษีได้แง่คิดว่า “ผู้ไม่มีความหวังย่อมหลับเป็นสุข”
          รุ่งขึ้นพระฤๅษีก็ออกจากบ้านนั้นเดินทางเข้าสู่ป่า เข้าฌานอยู่อย่างเป็นสุข มีพรหมโลกมีที่ไปในโลกหน้า
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“การอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นเป็นความสุขที่สุดในโลก”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อตีตํ นานฺวาคเมยฺย  นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ
อย่าละห้อยความหลัง อย่ามัวหวังอนาคต (๑๔/๕๒๗)
30  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: เป็นกระบี่สี่พักตร์แปดหัตถ์ : สำนวน-โวหาร-สุภาษิต และคำพังเพย เมื่อ: 07 มีนาคม 2567 15:46:34

ภาพจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "เรือพระราชพิธี"  กรุงเทพมหานคร

เป็นกระบี่สี่พักตร์แปดหัตถ์   เขี้ยวแก้วจำรัสประภัสสร
กุณฑลมาลัยอลงกรณ์   ขนเพชรอรชรรูจี
ดาวเดือนดวงตะวันช่วงโชติ       ออกมาจากโอษฐ์กระบี่ศรี
ส่องสว่างพ่างพื้นปัถพี   แล้วลงมายังที่บรรพตา

หนุมานเป็นวานรเผือก เกิดจากการที่พระอิศวรแบ่งกำลังตนเอง แล้วบัญชาให้พระพาย
นำเทพอาวุธไปซัดเข้าปากนางสวาหะ  โดยถือว่าพระพายเป็นบิดา หนุมานเกิดปีขาล
เดือนสาม วันอังคาร โดยกระโดดออกจากปากของนางสวาหะ  เมื่อเกิดก็ร่างใหญ่เท่า
เด็กสิบขวบ เพราะอยู่ในครรภ์มารดานานถึงสามสิบเดือน ในเวลาปกติหนุมานจะมีร่าง
เป็นลิงเผือกธรรมดา และพระรามซึ่งเป็นนารายณ์อวตารเท่านั้นจึงจะเห็น "กุณฑล -
ขนเพชร - เขี้ยวมณี" ได้

จากเรื่อง รามเกียรติ์
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑)
31  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ปีกบนไก่ทอด สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 07 มีนาคม 2567 15:19:08



ปีกบนไก่ทอด


เครื่องปรุง    
- ปีกบนไก่           1 กิโลกรัม
- ผงปรุงรส     1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย         ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันหอย                 1 ช้อนโต๊ะ
- ซอสปรุงรส       1 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วขาว       1 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วญี่ปุ่น                 1+½ ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
1. ล้างปีกไก่ให้สะอาด หมักด้วยเครื่องปรุงทั้งหมดให้เข้ากัน พักไว้ประมาณ 30 นาที
2. นำไปทอดด้วยไฟกลางจนสุกเหลือง
3. จัดใส่จาน รับประทานกับซอสมะเขือเทศหรือซอสพริก







"Segoe Print" : 800/22
32  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๖๕ คุมพิยชาดก : พ่อค้าเกวียนกับยักษ์อำมหิต เมื่อ: 06 มีนาคม 2567 14:31:07



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๖๕ คุมพิยชาดก
พ่อค้าเกวียนกับยักษ์อำมหิต

          สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติที่พระนครพาราณสี ยังมีพ่อค้าเกวียนตระกูลสัตถวาหะ มีอาชีพค้าขายมาช้านาน
          วันหนึ่งพ่อค้าตระกูลสัตถวาหะบรรทุกสินค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม นำสินค้าไปขายที่ต่างเมือง พอเดินทางถึงดงแห่งหนึ่งก็เรียกประชุมลูกน้องทั้งหมด แนะนำให้พวกเขาระมัดระวังเมื่อผ่านเข้ามาในดงนี้ ซึ่งมีต้นไม้มีพิษเป็นจำนวนมาก ใครจะเด็ดใบ ดอก ผล มาดมมากินไม่ได้ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ถึงอย่างไรก็ต้องให้ถามเขาก่อน นอกจากนี้ถ้าใครยื่นอาหารให้กินอย่ากินเด็ดขาด เพราะในอาหารอาจมียาพิษก็ได้ ถ้าใครอยากกินก็ต้องถามเขาก่อนเหมือนกัน พอแนะนำตักเตือนเสร็จก็เดินทางต่อไป
          เดินทางได้พักหนึ่งก็มียักษ์ตนหนึ่ง ชื่อ คุมพิย นำน้ำอ้อยผสมยาพิษมาวางเรียงรายไว้ตามถนนหนทาง พวกคนเกวียนหลายคนรู้ไม่ทัน หยิบขึ้นมากินเพราะความกระหายจนถึงแก่ความตายทุกคน กลายเป็นอาหารของยักษ์ พ่อค้าคุมเกวียนเห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว จึงตักเตือนให้ทุกคนระมัดระวังตัวมากขึ้น
          หลายคนกินเข้าไปยังไม่นานพ่อค้าคุมเกวียนก็ช่วยชีวิตไว้ได้ โดยการให้กินสมุนไพรให้สำรอกยาพิษออกมา เมื่อพวกที่เหลือปลอดภัยดีแล้ว พ่อค้าก็นำลูกน้องเดินทางต่อไป  จนกระทั่งถึงเมืองเป้าหมาย และนำสินค้าออกขายจนหมดสิ้น แล้วเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“การไม่เชื่อฟังผู้รู้ที่คอยตักเตือนด้วยความหวังดี จะทำให้ได้ผลร้ายในที่สุด”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
โย อตฺถกามสฺส หิตานุกมฺปิ โน  โอวชฺชมาโน น กโรติ สาสนํ
กโปตกสฺส วจนํ อกตฺวา  วมิตฺตหตฺถตฺถคโตว เสติฯ

ผู้ใดมีผู้หวังดี มุ่งอนุเคราะห์เกื้อกูล ช่วยว่ากล่าวตักเตือนอยู่ แต่ไม่ยอมทำตาม
ผู้นั้นย่อมถึงความย่อยยับ นอนเสียใจอยู่
เหมือนกาไม่เชื่อคำนกพิราบ เลยตกอยู่ในมือศัตรู (๒๗/๔๒)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
33  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๖๔ สมุททวาณิชชาดก : พ่อค้าทางสมุทร เมื่อ: 06 มีนาคม 2567 14:29:54



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๖๔ สมุททวาณิชชาดก
พ่อค้าทางสมุทร

          ครั้งหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในพระนครพาราณสี ยังมีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ทุกคนในหมู่บ้านล้วนมีอาชีพเป็นช่างไม้ทั้งสิ้น วันหนึ่งพวกเขาหนีเจ้าหนี้ คิดจะไปอยู่ในต่างประเทศ โดยสารเรือไปทางทะเล เมื่อถึงเกาะแห่งหนึ่งทุกคนเห็นว่าเป็นสถานที่มีทำเลดี จึงพากันขึ้นไปอยู่บนเกาะนั้น ซึ่งมีพืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ บนเกาะนั้นมีบุรุษร่างกายกำยำคนหนึ่งมีผมและหนวดรกครื้มอาศัยอยู่บนเกาะนานแล้ว เนื่องจากเรือล่มกลางทะเล
          เมื่อสำรวจพื้นที่และหาที่อยู่ให้แต่ละคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หัวหน้าช่างไม้ก็สั่งลูกน้อง ๗-๘ คนไปสำรวจพื้นที่ และให้ดูว่าบนเกาะจะมียักษ์อยู่หรือไม่ พวกคนที่ไปสำรวจเกาะได้พบกับชายร่างกายกำยำคนนั้นก็ทำความรู้จักกัน ชายร่างกำยำแนะนำว่า “การจะอยู่บนเกาะนี้ได้อย่างปลอดภัยจะต้องไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะเรี่ยราด จะต้องขุดหลุมให้เรียบร้อย หาไม่แล้วเทวดาจะไม่พอใจ
          พอรับทราบแบบนั้นแล้วพวกคนสำรวจก็บอกให้หัวหน้ารับทราบ อยู่มาไม่นานได้มีช่างไม้ส่วนหนึ่งพากันละเมิดกฎนั้น พวกเขาดื่มสุรากันอย่างเมามายและถ่ายอุจจาระปัสสาวะเรี่ยราดส่งกลิ่นเหม็นจนเทวดาไม่พอใจ
          เทวดาตนหนึ่งเกิดจิตเมตตา จึงแนะนำให้คนเหล่านั้นหนีไปอยู่ที่อื่นจะได้ไม่ถูกลงโทษ พอเทวดาตนนั้นไปแล้ว ก็มีเทวดาตนหนึ่งแวะมาแนะนำในทางตรงกันข้าม ผู้คนเหล่านั้นลังเลว่าไม่รู้จะเชื่อใครดี แต่แล้วก็เชื่อเทวดาตนที่ ๒ พวกเขาจึงถูกเทวดาลงโทษด้วยการให้น้ำท่วมเกาะ จนคนเหล่านั้นจมลงสู่ทะเลจนหมดสิ้น
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“การไม่เชื่อฟังผู้รู้ที่หวังดีจะมีจุดจบที่เลวร้ายเสมอ”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
โย อตฺถกามสฺส หิตานุกมฺปิโน  โอวชฺชมาโน น กโรติ สาสนํ
กโปตกสฺส วจนํ อกตฺวา  อมิตฺตหตฺถตฺถคโตว เสติ

ผู้ใดมีผู้หวังดี มุ่งอนุเคราะห์เกื้อกูล ช่วยว่ากล่าวตักเตือนอยู่ แต่ไม่ยอมทำตาม
ผู้นั้นย่อมถึงความย่อยยับนอนเสียใจอยู่ เหมือนกาไม่เชื่อคำนกพิราบ เลยตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรู (๒๗/๔๒)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
34  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๖๓ กณวีรชาดก : หญิงหลายผัว เมื่อ: 06 มีนาคม 2567 14:28:51



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๖๓ กณวีรชาดก
หญิงหลายผัว

          ในสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ครั้งนั้นได้มีโจรคนหนึ่ง เป็นลูกชายของคหบดีอาศัยอยู่ในหมู่บ้านกาสิกคาม โจรนี้เป็นโจรที่กล้าหาญมาก มีพละกำลังเรี่ยวแรงมาก มีความสามารถในการใช้อาวุธ จนใครๆ ไม่สามารถจะจับเขาได้
          อยู่มาวันหนึ่งเป็นวันจุดจบของโจรกล้า เมื่อเขาตัดช่องย่องเบาเข้าไปลักขโมยทรัพย์ของเศรษฐี จนถูกทางการจับได้ นำไปขังไว้เตรียมประหาร ต่อมาเมื่อถึงกำหนดประหารชีวิตโจร เจ้าหน้าที่นำโจรขึ้นไปในแดนประหาร ระหว่างทางมีโสเภณีนางหนึ่งชื่อสามา นางเป็นหญิงสวยขึ้นชื่อในการปรนนิบัติกามอารมณ์จนเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัต นางเห็นโจรร้ายแล้วรู้สึกเกิดจิตเสน่หาอยากได้เขามาเป็นสามี จึงคิดอุบายอย่างหนึ่ง ให้คนใช้นำเงินไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ไม่กล้ามารับสินบนไว้ เพราะเป็นคดีฉกรรจ์ นางสามาก็ไปขอความช่วยเหลือจากลูกชายเศรษฐีที่เคยขึ้นห้องกับนางเป็นประจำ ลูกชายเศรษฐีรับปากจะช่วย
          ระหว่างทางที่ลูกเศรษฐีเดินทางไปนั้น นางสามาก็คิดแผนการได้อย่างหนึ่ง โดยบอกให้คนของตนไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ที่คุมตัวโจรไป ให้คอยดักจับลูกชายเศรษฐีที่กำลังเดินทางมาแล้วให้สลับตัวกันซะ พอลูกเศรษฐีไปถึงจึงถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปประหารแล้วปล่อยโจรไป โจรหลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้วก็ไปอยู่กินกับนางสามาระยะหนึ่ง จากนั้นก็หนีออกมาโดยขโมยเครื่องประดับมีค่าติดตัวไปด้วย เมื่อนางตื่นขึ้นมาก็รู้ว่าโจรได้ทิ้งนางไปแล้ว  นางจึงสร้างข่าวขึ้นมาว่านางสามาตายแล้ว เพื่อให้โจรกลับมาหานาง แต่โจรไม่ยอมกลับไป นางก็ส่งคนใช้มาบอกว่าที่จริงนางยังไม่ตาย แค่อยากให้โจรกลับไปอยู่กับนางเหมือนเดิม
          โจรจึงพูดว่า “ถึงนางจะไม่ตายก็จะไม่กลับไปอยู่กับคนใจร้าย ขนาดคนที่เคยมีบุญคุณกับนาง นางยังฆ่าได้ นับภาษาอะไรกับเรา วันหนึ่งนางเบื่ออาจจะฆ่าเขาก็ได้"
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“สตรีทุกคนทำชั่วได้เมื่อมีโอกาส”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
สพฺพา นที วงฺกคตี สพฺเพ กฏฺฐมยา วนา
สพฺพิตฺถิโย กเร ปาปํ ลพฺภมาเน นิวาตเกฯ

แม่น้ำทุกสายย่อมไหลคดเคี้ยว ป่าไม้ทุกป่าย่อมมีไม้คด สตรีทุกคนอาจทำชั่วได้เมื่อนางมีโอกาส (๒๘/๘๑๘)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
35  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / ขนมโสมนัส ขนมไทยโบราณ หาทานยาก เมื่อ: 03 มีนาคม 2567 14:20:05

ภาพ : ขนมโสมนัส (จากร้านขนมไทยโบราณชื่อดังในตัวเมือง จังหวัดเพชรบุรี)

ขนมโสมนัส มีความคล้ายคลึงกันกับขนมเมอร์แรงก์ เบเกอรี่ยอดนิยมจากต่างประเทศ คือมีเนื้อสัมผัสเบากรอบ
ละลายในปากเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดตรงที่ขนมโสมนัสจะใช้เนื้อมะพร้าวขูดขาวคั่ว ทำให้
มีความกรุบกรอบที่แตกต่าง อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของมะพร้าวคั่วที่จะส่งกลิ่นหอมไปทั่วปากในทุกๆคำ
ที่รับประทาน



ขนมโสมนัส ถือเป็นขนมไทยมงคลอีกชนิดหนึ่ง เพราะความหมายของคำนี้มาจากภาษาบาลีว่า “โสมมนสส” ซึ่งหมายถึงความยินดี ความปลาบปลื้ม และในอดีตนั้นยังไม่ได้เรียกด้วยชื่อโสมนัส เหมือนอย่างในปัจจุบัน แต่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเขียนว่า โคมนัส เชื่อกันว่ามีการเรียกเพี้ยนจากวัตถุดิบหลักของขนมอย่าง “โคโคนัท” หรือมะพร้าวนั้นเอง จนเวลาต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อขนมเป็นเหมือนอย่างในปัจจุบัน เพราะเป็นชื่อเรียกที่มีความหมายดี และยังมีความไพเราะเหมาะจะเป็นชื่อของขนมไทยโบราณ

จุดเริ่มต้นของขนมโสมนัส ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่คนไทยได้มีการติดต่อกับต่างประเทศ โดยผู้คิดค้นสูตรนี้ก็คือ “เท้าทองกับม้า” หรือ “มารี กีมาร์” ราชินีขนมไทย ของเราอีกเช่นเคย โดยได้มีความคิดริเริ่มในการนำไข่แดงมาทำขนมไทย และใช้ไข่ขาวที่เหลือมาดัดแปลงทำเป็นขนมไทยเมนูนี้ให้ส่งต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน


วัตถุดิบการทำขนมโสมนัส
          มะพร้าวขูดขาว 1+1/2 ถ้วยตวง
          ไข่ขาว 3 ฟอง
          น้ำตาลทราย 150 กรัม
          น้ำมะนาว 1 ช้อนชา
          เกลือ 1/8 ช้อนชา

ขั้นตอนวิธีการทำโสมนัส สูตรขนมทำง่าย
          - ขั้นตอนแรกในการทำขนมโสมนัส เริ่มต้นจากการตั้งกระทะเทฟล่อนด้วยไฟอ่อนแล้วใส่มะพร้าวขูด-ขาวลงไปคั่ว จนแห้งดี และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เสร็จแล้วปิดเตาพักไว้ให้เย็น

          - ใส่ไข่ขาว และน้ำมะนาวลงไปในชามผสม ใช้เครื่องผสมอาหารตีด้วยสปีดกลางจนขึ้นฟู จากนั้นทยอยใส่น้ำตาลทรายลงไปในระหว่างตีจนหมด ตามด้วยการใส่เกลือลงไป จากนั้นตีต่อจนตั้งยอด (ในขั้นตอนนี้สามารถใส่ผงโกโก้ ผงชาเขียว หรือสีผสมอาหารลงไปเพิ่มอรรถรสได้ตามชอบ)
          
          - เมื่อส่วนผสมของไข่ขาวได้ที่แล้วให้ใส่มะพร้าวคั่วที่เตรียมไว้ลงไป ตะล่อมให้เข้ากันด้วยไม้พาย เสร็จแล้วนำไปใส่ถุงบีบเตรียมทำขั้นตอนต่อไปได้เลยค่ะ

          - เตรียมถาดรองอบ รองด้วยกระดาษไข หรือกระดาษรองอบ และบีบขนมลงไปเป็นชิ้นพอดีคำ โดยเว้นระยะห่างให้ห่างกันเล็กน้อย เพื่อให้ขนมไม่ติดกันจนเกินไป

          - นำขนมเข้าไปอบด้วยอุณหภูมิ 130 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 50 นาที ครบเวลาแล้วนำออกจากเตาแล้วใช้ไม้พายตักออกมาพักไว้บนตะแกรง และนำมาบรรจุใส่กล่อง


ขอขอบคุณเว็บไซต์ https://bakery-lover.com/ (ที่มาข้อมูล)
36  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: นกแต้วแล้วลาย : รู้จักพันธุ์นก ก่อนสูญพันธุ์ เมื่อ: 03 มีนาคม 2567 13:23:26

นกแต้วแล้วลาย : ภาพวาดระบายด้วยสีชอล์คน้ำมัน

นกแต้วแล้วลาย

นกแต้วแล้วลาย นกขี้อายที่มีสีสันสวยงาม เป็นหนึ่งในนกแต้วแล้วชนิดหนึ่ง ที่มีสีสันสวยที่สุดชนิดในบรรดานกแต้วแล้วทั่วโลกก็ว่าได้ นกแต้วแล้วลายเป็นนกประจำถิ่น พบเฉพาะป่าดงดิบทางภาคใต้ของประเทศไทย และกระจายเป็นหย่อมๆ ในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย นกแต้วแล้วลาย ขนาด ๒๑-๒๔ เซนติเมตร เป็นนกแต้วแล้วขนาดกลาง ตัวผู้และตัวเมียต่างกัน แต่งามกันคนละแบบ คิ้วสีเหลืองสดขับเน้นปลายคิ้วด้วยสีแดงชาด กระหม่อมคาดแถบดำ คอขาวแบบปุยหิมะ ใบหน้าเข้มดุดันด้วยแถบดำคาดตาด สีข้างลาย และปีกสีน้ำตาลคาดด้วยแถบขาวยาวตลอดแนวโดดเด่นและหางสีฟ้า เพศเมียมีท้องสีอ่อนกว่า มีลายขวางสีดำทั่วท้อง หาอาหารอย่างเงียบเชียบตามพื้นป่าในป่าดิบที่ราบ มักได้ยินเสียงร้องคล้ายเสียงครางในลำคอดัง “กรือออ”

สำหรับนกแต้วแล้วลายตัวผู้ต่างจากตัวเมียที่อกและท้องเป็นสีน้ำเงินเข้มไม่มีลาย ลูกนกคล้ายตัวเมียแต่สีจืดชืดกว่ามาก ส่วนการสร้างรังจะสร้างเหนือพื้นดินซึ่งอาจจะสูงถึง ๓ เมตรจากพื้น รังซุกตามง่ามไม้กลุ่มปาล์ม เช่น หวาย นกใช้รากไม้และกิ่งไม้แห้งขัดสานเป็นโครงแล้วบุด้วยใบไม้แห้ง โดยที่ตัวเมียจะวางไข่ครั้งละวางไข่ ๓-๔ ฟอง





800-30
37  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ (จบ) : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 02 มีนาคม 2567 13:47:13


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๐ ความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ (จบ)


(๖)

ฉันลงเรือล่องจากเมืองเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ลำน้ำที่เมืองเพชรบูรณ์แคบกว่าตอนใต้ในแขวงสระบุรีมาก ที่บางแห่งเมื่อเรือล่องลงมาถึงปลายกิ่ง ต้นตะไคร้น้ำที่ขึ้นอยู่กับหาดประเก๋งเรือทั้งสองข้าง น้ำก็ตื้น ฤดูแล้งใช้เรือได้แต่ขนาดเรือพายม้า พอพ้นที่ตั้งเมืองลงมาทั้งสองฝั่งเป็นป่าต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นตะเคียน ต้นยาง และต้นสะตือ ขึ้นทึบบังแสงแดดร่มทั้งเวลาเช้าและบ่าย มีบ้านคนตั้งประปรายมาเพียงบ้านนายม ต่อนั้นก็เป็นป่าเปลี่ยวลงมาทางหลายวัน ในระยะที่เปลี่ยวนั้นล่องเรือลำบาก ด้วยตามปรกติเมื่อถึงฤดูฝนน้ำหลาก สายน้ำแรงมักกัดตลิ่งพัง เป็นเหตุให้ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มลงในลำน้ำกีดขวางทางเรือ บางต้นล้มข้ามลำน้ำเหมือนอย่างสะพาน เรือลอดมาได้ก็มี บางต้นล้มทอดอยู่ในท้องน้ำ ต้องเข็นเรือข้ามมาก็มี บางต้นจะลอดหรือจะเข็นเรือข้ามไม่ได้ทั้ง ๒ สถาน ต้องขุดดินหรือชายตลิ่งพอเป็นช่องให้เรือหลีกมาทางโคนต้นไม้ก็มี โดยปรกติไม่มีใครไปจับต้อง ทิ้งไว้จนสายน้ำหลากปีหลังพัดพาขอนไม้ให้ลอยไป หรือทิ้งอยู่จนผุไปเอง เมื่อฉันไป พวกเมืองเพชรบูรณ์เขาล่วงหน้าลงมาถากถางทางบ้างแล้ว แต่กระนั้นต้นไม้ที่โค่นกีดขวางบางต้นใหญ่โต เหลือกำลังที่พวกทำทางจะตัดทอนชักลากเอาไปทิ้งที่อื่นได้ จึงต้องเข็นหรือข้ามหรือหลีกขอนไม้มา ไม่รู้ว่าวันละสักกี่ครั้ง เป็นความลำบาก และชวนให้ท้อใจในการล่องลำน้ำสักยิ่งกว่าอย่างอื่น แต่ต้องนึกชมความคิดของคนโบราณที่เขาคิดทำเรือมาดขึ้นกระดานเช่นเรือพายม้า ใช้ในที่เช่นนั้น เพราะท้องเรือมาดเป็นไม้หนา ถึงจะเข็นลากลู่ถูกังอย่างไรก็ทนได้ ที่ขึ้นกระดานต่อขึ้นมา ๒ ข้างก็ทำให้เรือเบา บรรทุกได้จุกว่าเรือมาดทั้งลำ เป็นของคิดถูกตามวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นเรือต่อเช่นเรือบดหรือเรือสำปั้น ก็เห็นจะแตกป่นล่องลำน้ำสักลงมาไม่ได้ตลอด เมื่อก่อนไปมณฑลเพชรบูรณ์ฉันเคยเห็นเรือมอขนาดใหญ่บรรทุกสินค้าเมืองเพชรบูรณ์ลงมาขายถึงกรุงเทพฯ เสมอทุกปี เมื่อต้องไปเข็นเรือข้ามขอนดังกล่าวมาแล้ว คิดไม่เห็นว่าเรือใหญ่ที่บรรทุกสินค้าจะล่องลงมาถึงกรุงเทพฯ ได้อย่างไร ถามพวกชาวเมืองเพชรบูรณ์ เขาบอกว่าเรือบรรทุกสินค้าเหล่านั้น ไม่ได้ขึ้นล่องทางลำแม่น้ำสักตลอด ประเพณีของพวกพ่อค้าเมื่อใกล้จะถึงเวลาน้ำหลาก เขาบรรทุกสินค้าลงเรือเตรียมไว้ พอน้ำท่วมฝั่งก็ล่องเรือหลีกลำน้ำสักตอนมีไม้ล้มกีดขวาง ไปตามที่ลุ่มที่น้ำท่วมบนตลิ่ง จนถึงที่กว้างพ้นเครื่องกีดขวาง จึงล่องทางลำน้ำสัก เมื่อส่งสินค้าแล้วก็รีบซื้อของในกรุงเทพฯ บรรทุกกลับขึ้นไปให้ทันในฤดูน้ำ พอถึงเมืองเพชรบูรณ์ก็เอาเรือขึ้นคาน เรือบรรทุกสินค้าขึ้นล่องแต่ปีละครั้งเดียวเท่านั้น นอกจากต้นไม้ล้มกีดขวางทางเดินเรือดังกล่าวมา ยังมีแก่งต้องชะลอเรือหลีกหินมาเนืองๆ แม่น้ำสักตอนข้างเหนือยังผิดกับล้ำน้ำอื่นๆ อีกอย่างหนึ่ง ที่ทางเปลี่ยวเป็นอย่างยิ่ง บางวันฉันถามคนทำทางว่า “นี่เรามาถึงไหนแล้ว” แกตอบว่า “ที่ตรงนี้ยังไม่เคยมีชื่อ” วันหนึ่งแกบอกว่า “พรุ่งนี้จะถึงท่าแดง” ฉันก็เข้าใจว่าคงจะได้เห็นบ้านเรือน แต่เมื่อไปถึงท่าแดงเห็นแต่ไร่อยู่ที่ชายตลิ่งแห่งหนึ่ง แต่ตัวเจ้าของไร่ขึ้นไปขัดห้างอยู่บนกอไผ่ ถามได้ความว่าบ้านอยู่ห่างลำน้ำไปสักวันหนึ่ง มาตั้งทำไร่ชั่วคราว ไม่กล้าปลูกทับกระท่อมอยู่กับแผ่นดิน ด้วยกลัวเสือจึงขัดห้างอยู่บนกอไผ่ สัตว์ป่าก็ชุมจริงอย่างว่า จอดเรือเข้าแห่งใด ตามชายตลิ่งก็เห็นรอยสัตว์ป่าเกลื่อนกล่น มีทั้งรอยช้างเถื่อน รอยเสือ รอยกวางและหมูป่า เพราะตอนนี้เทือกภูเขาห่างทั้งสองฝ่าย ถึงฤดูแล้งที่แผ่นดินแห้งผากไม่มีน้ำ สัตว์ป่าต้องลงมากินน้ำในลำน้ำสัก ลำน้ำสักตอนนี้ก็เป็นที่เปลี่ยว ไม่มีคนไปมาเบียดเบียน สัตว์ป่าจึงชอบมาอาศัยในฤดูแล้ง ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ลำแม่น้ำสักข้างตอนใต้ในแขวงเมืองสระบุรี ไม่ปรากฏว่ามีจระเข้ แต่ในตอนเปลี่ยวมีจระเข้ชุม เห็นรอยตามตลิ่งเกลื่อนไป

การล่องลำแม่น้ำสักตอนเหนือถึงลำบากก็สนุก สนุกตั้งแต่ลงเรือเล็กๆ แยกกันลำละคนสองคน แล่นเรียงเคียงคลอล้อเล่นกันเรื่อยมา แต่หลายวันเข้าก็เกิดไม่สบาย ด้วยอยู่ในเรือได้แต่นอนกับนั่งราบมา ๒ ท่าตลอดวันยังค่ำ จนเมื่อยขบและปวดหัวเข่า บางคนบ่นว่าเหมือนกับมาในโลง ต่างคนก็คิดอุบายแก้เมื่อยขบด้วยประการต่างๆ บางคนเห็นตรงไหนพอจะเดินได้ ก็ขึ้นเดินบก บางคนก็ออกไปรับผลัดแจวเรือ บางคนก็เจาะหลังคาประทุนเรือเป็นช่องมีฝาจับโพล่ปิด ถึงเวลาแดดร่มเปิดฝาจับโพล่ยืนโผล่ขึ้นไปดูอะไรต่ออะไรเล่น และดัดขาแก้ปวดหัวเข่าก็มี ส่วนตัวฉันเองมาในเรือเก๋ง มีที่กว้างและมีช่องหน้าต่างพอเยี่ยมมองดูอะไรๆ ได้ ไม่ปิดทึบเป็นโลงเหมือนเรือประทุน ถึงกระนั้นพอถึงวันที่ ๓ ก็รู้สึกเมื่อย ให้เอาเก้าอี้ผ้าใบมาตั้งนอนเอนหลังและห้อยขาแก้เมื่อยได้บ้าง แต่เวลาเผลอตัวผลกหัวขึ้น ก็โดนเพดานเก๋งเจ็บหลายหน ล่องเรือมาทางลำแม่น้ำสักยังมีแปลกอีกอย่างหนึ่ง ด้วยกำหนดที่พักแรมล่วงหน้าไม่ได้เหมือนเช่นไปทางลำน้ำอื่นๆ เพราะต้องเสียเวลาเข็นเรือข้ามขอนวันละหลายๆ ครั้ง ไม่รู้ว่าวันไหนจะไปได้จนถึงไหน ทางก็เปลี่ยว บ้านช่องผู้คนก็ไม่มีจะเป็นที่อาศัยพักแรม จึงต้องเอาแสงตะวันเป็นหลักล่องลงมาพอถึงเวลาราวบ่าย ๔ โมง ก็มองหาชายตลิ่งที่เป็นหาดพอจะจอดเรือพักแรมได้ จอดแล้วพอพลบค่ำก็ต้องกองไฟรายล้อม ให้บรรดาคนที่ไปด้วยกันอยู่แต่ในวงกองไฟ เพราะไม่รู้ว่าสัตว์ป่ามันจะอยู่ที่ไหน ครั้งนั้นพระยาวจีสัตยารักษ์ (ดิส) เมื่อยังเป็นพระยาสระบุรี คุมเรือขึ้นไปรับฉันที่เมืองเพชรบูรณ์ แกไปเล่าว่าไปกลางทางเวลากลางคืน มีสัตว์อะไรอย่างหนึ่งได้ยินแต่เสียงร้อง “ป๊อกเจี๋ยกๆ” มันมาเที่ยวเลาะอยู่รอบกองไฟ จนพวกคนแจวเรือพากันกลัวอ้ายตัวป๊อกเจี๋ยก เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นตัวอะไร แต่เมื่อฉันลงมาหาได้ยินเสียงสัตว์อย่างใดไม่ พวกที่มาด้วยกันเฝ้าเตือนถึงตัวป๊อกเจี๋ยก จนพระยาวจีฯ ออกเคือง แต่ก็ยืนยันว่ามีตัวป๊อกเจี๋ยกอยู่เสมอ จนเลยเป็นเรื่องขบขัน แต่ลำแม่น้ำสักตอนที่เปลี่ยวนี้ ถ้าว่าในทางชมดงก็น่าชมนัก เพราะสง่างามตามธรรมชาติ จะหาที่อื่นเปรียบได้โดยยาก เวลามาในเรือจะแลดูไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นไม้ป่าต่างๆ ทั้งใหญ่น้อยสลับสลอนซ้อนซับกันไปรอบข้าง บนยอดไม้ก็มีนกพวกอยู่ป่าสูงเช่นนกยูงเป็นต้น จับอยู่ให้เห็นแทบทุกวัน และยังมีสัตว์แปลกๆ เช่นตัวบ่าง รูปร่างคล้ายกระรอกแต่ขนาดสักเท่าแมว มันยืดหนังระหว่างขาออกไปได้เป็นผืน เวลาโผนจากต้นไม้มันกางขายืดหนังแผ่ออกไปเช่นปะระชุดเครื่องบิน ร่อนไปได้ไกลๆ ฉันเพิ่งได้เห็นบ่างร่อนเป็นครั้งแรก ได้ชมนกชมไม้ก็ออกเพลิดเพลินเจริญใจ นับว่าสนุกได้อีกอย่างหนึ่ง

ล่องเรือมาจากเพชรบูรณ์ ๖ วันถึงเมืองวิเชียร ตอนใกล้จะถึงเมืองวิเชียรพ้นที่เปลี่ยว ลำแม่น้ำสักค่อยกว้างออก แก่งก็ค่อยห่าง ยังมีแต่ขอนไม้กีดขวางทางเรือเป็นแห่งๆ แต่น้ำตื้นแจวเรือไม่ถนัดต้องใช้ถ่อจนถึงเมืองวิเชียร เมืองวิเชียรนั้นตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก เดิมเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และมีเรื่องตำนานจะเล่าต่อไปข้างหน้า เขตแดนกว้างขวางกว่าเมืองเพชรบูรณ์แต่เป็นเมืองกันดาร เพราะเทือกภูเขาทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างที่แผ่นดินดอน ไม่มีลำห้วยพอจะชักน้ำมาทำการเพาะปลูกได้เหมือนเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสัก ได้แต่ทำนาน้ำฝนหรือทำในที่ลุ่มใกล้ลำน้ำสัก อาหารการกินอัตคัด บ้านเมืองจึงไม่เจริญ ตัวเมืองวิเชียรตั้งอยู่ห่างลำน้ำสัก ๒๐ เส้น ด้วยตอนริมน้ำเป็นที่ต่ำน้ำท่วมในฤดูฝน แลดูเหมือนกับหมู่บ้านไม่เป็นเมืองมีสง่าราศี เพราะเป็นเมืองกันดารดังกล่าวมาแล้ว เมื่อตั้งมณฑลเพชรบูรณ์จึงลดเมืองวิเชียรลงเป็นแต่อำเภอหนึ่ง ในจังหวัดเพชรบูรณ์

ออกจากเมืองวิเชียร ล่องเรือมา ๓ วันถึงเมืองบัวชุม แต่เมืองบัวชุมมาวันหนึ่งถึงเมืองชัยบาดาล ลำน้ำสักตอนนี้กว้างแจวเรือได้ถนัด ขอนไม้ที่กีดขวางทางเรือก็มีน้อยกว่าข้างเหนือ แต่ต้องหลีกแก่งกรวดแก่งหินถี่ขึ้น เมืองบัวชุมและเมืองชัยบาดาลเดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองวิเชียร เมื่อตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ รวมตั้งเป็นอำเภอหนึ่งต่างหากเรียกว่าอำเภอชัยบาดาล ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้คนมีมากกว่าอำเภอวิเชียร ตั้งบ้านเรือนตามริมน้ำเป็นระยะมาตลอด ไม่เปลี่ยวเหมือนข้างเหนือ เพราะตอนนี้เทือกภูเขาเข้ามาใกล้ลำน้ำสักทั้งสองฝ่าย ท้องที่มีน้ำห้วยทำไร่นาดี และเป็นปากดงพญากลาง ทางคนไปมาค้าขายกับเมืองนครราชสีมา มีสินค้าหาได้ในท้องที่เช่นเสาและไม้แดง ใบลาน สีเสียด หาผลประโยชน์ได้มาก และอาจส่งสินค้าลงมาทางเรือถึงเมืองสระบุรีได้สะดวกกว่าเมืองอื่นทางข้างเหนือด้วย ออกจากเมืองชัยบาดาลล่องมา ๔ วันก็ถึงปากเพรียวที่ตั้งเมืองสระบุรี นับจำนวนวันที่ล่องลำน้ำสักแต่เมืองเพชรบูรณ์ จนถึงที่ขึ้นรถไฟ ณ เมืองสระบุรีรวม ๑๔ วัน

ฉันเคยตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประพาสทางลำแม่น้ำสัก ขึ้นไปจนถึงตำบลหินซ้อนปลายแดนจังหวัดสระบุรีครั้งหนึ่ง เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ที่ตรวจทางเสด็จประพาสครั้งนั้น ท่านว่าลำน้ำสักเที่ยวสนุกเพียงตำบลหินซ้อนเท่านั้น เหนือหินซ้อนขึ้นไปไม่มีอะไรน่าดู ฉันสงสัยไม่เชื่อจนมาเห็นด้วยตาตนเองในครั้งนี้ ต้องยอมรับรองว่าจริงดังว่า เพราะเทือกภูเขาทั้งสองฝ่ายลำน้ำสักวงเข้ามาประจบกันถึงลำน้ำที่ตำบลหินซ้อน ข้างฝ่ายตะวันออกเรียกกันว่าเทือกเขาดงพญาไฟ ข้างฝ่ายตะวันตกเรียกกันว่าเทือกเขาพระบาท ลำแม่น้ำสักผ่านมากลางภูเขา ตั้งแต่หินซ้อนจนถึงแก่งคอย ทั้งสองฝั่งจึงมีเขาตกน้ำถ้ำธาร ที่ขึ้นเที่ยวเล่นสนุกตลอดทางเรือขึ้นไป ๓ วัน เหนือนั้นขึ้นไปก็ไม่มีอะไรน่าชม




(๗)

ฉันไปมณฑลเพชรบูรณ์ครั้งนั้น มีกิจอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะไปสืบเมืองโบราณด้วย ด้วยเมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมือง มีชื่อเมืองศรีเทพเมืองหนึ่ง แต่ตัวเมืองหามีไม่ ฉันถามข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่มีใครรู้ว่าเมืองศรีเทพอยู่ที่ไหน ต่อมาฉันพบสมุดดำอีกเล่มหนึ่งเป็นต้นร่าง กะทางให้คนเชิญตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ ๒ ตามหัวเมืองเป็นทางๆ ให้คนหนึ่งเชิญตราไปเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์ ก็ได้เค้าว่าเมืองศรีเทพเห็นจะอยู่ทางลำแม่น้ำสัก แต่อยู่ตรงไหนยังไม่รู้ เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ ให้หาผู้ชำนาญท้องที่มาถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ทางลำแม่น้ำสักที่ไหนบ้าง ได้ความว่าข้างเหนือเมืองเพชรบูรณ์ทางฝั่งตะวันออกมีเมืองโบราณเมืองหนึ่งเรียกกันว่า “เมืองนครเดิด” แต่อยู่ในดงทึบ ยังมีแต่เทือกเนินดินเป็นแนวกำแพงและมีสระอยู่ในเมืองสระหนึ่งเรียกว่า “สระคงคา” บางคนได้เคยไปพบหัวยักษ์ทำด้วยหิน พอเชื่อได้ว่าเป็นเมืองพวกขอมสร้างไว้แต่ฉันไม่ได้ไปดู เขาบอกว่ามีเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งใหญ่โตมาก ชื่อว่า “เมืองอภัยสาลี” อยู่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรีและอยู่ในป่าแดงไปถึงได้ไม่ยาก เมืองนั้นยังมีปรางค์ปราสาทเหลืออยู่ ฉันอยากดูจึงสั่งให้เอาม้าลงมาคอยรับที่เมืองวิเชียร เมื่อฉันลงมาถึงเมืองวิเชียร ทราบว่าพระยาประเสริฐสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งแก่ชราลาออกจากราชการนานมาแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทุพพลภาพไม่สามารถจะมาหาได้ ฉันจึงไปเยี่ยมถึงบ้าน ถามถึงเรื่องเมืองศรีเทพ ได้ความว่าเมืองวิเชียรนั้นเอง แต่โบราณเรียกชื่อเป็น ๒ อย่าง เมืองท่าโรงก็เรียก เมืองศรีเทพก็เรียก ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่พระศรีถมอรัตน (ตามชื่อเขาแก้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในจังหวัดนั้น) มาจนถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งปราบกบฏเวียงจันทน์ พระศรีถมอรัตนมีความชอบมาก จึงโปรดให้ยกศักดิ์เมืองศรีเทพขึ้นเป็นเมืองตรี เปลี่ยนนามเป็นเมืองวิเชียรบุรี (คงเอาชื่อเขาแก้วเป็นนิมิต) และเปลี่ยนนามผู้ว่าราชการจังหวัดจากพระศรีถมอรัตนเป็นพระยาประเสริฐสงครามแต่นั้นมา ถามแกต่อไปถึงเรื่องเมืองอภัยสาลี แกบอกว่ามีเมืองโบราณใหญ่โตจริง แต่ชื่อที่เรียกว่าเมืองอภัยสาลีนั้นเป็นแต่คำพระธุดงค์บอก จะเอาเป็นแน่ไม่ได้ เป็นอันได้ความตามที่อยากรู้เรื่องตำนานเมืองศรีเทพ ถ้าหากพระยาประเสริฐสงครามไม่มีอยู่ในเวลานั้น เรื่องก็น่าจะเลยสูญ

ฉันล่องเรือจากเมืองวิเชียรมาถึงบ้านนาตะกุด อันเป็นท่าที่จะขึ้นเดินบกไปยังเมืองโบราณในวันนั้น ให้เรียกพวกชาวบ้านศรีเทพอันอยู่ใกล้เมืองโบราณมาถามถึงเบาะแส และสิ่งซึ่งน่าดูในเมืองนั้น แต่คนเหล่านั้นต่างคนพากันปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น จนออกประหลาดใจ ฉันคิดใคร่ครวญดูเห็นว่าคนพวกนั้นไม่เคยพบเจ้านาย และไม่เคยได้ยินใครซักไซ้ไถ่ถามเช่นนั้นมาแต่ก่อน น่าจะเข้าใจตามประสาของเขา ว่าฉันคงได้ลายแทงปริศนามาขุดทรัพย์แผ่นดิน ถ้าพาไปไม่ได้ทรัพย์ก็จะถูกลงโทษ จึงบอกปัดเสียให้พ้นภัย ต้องพูดจาชี้แจงอยู่นานจนคนเหล่านั้นวางใจ จึงบอกออกความตามรู้เห็นและรับจะพาไปตามประสงค์ ฉันพักแรมอยู่คืนหนึ่งพอรุ่งเช้าก็ไปดูเมืองโบราณ ระยะทางห่างลำน้ำราว ๑๕๐ เส้น เป็นเมืองใหญ่โตตั้งในที่ราบ มีคูรอบและมีปราการถึง ๒ ชั้น มีสระน้ำก็หลายสระ ที่กลางเมืองมีปรางค์เทวสถาน ทั้งข้างนอกเมืองและในเมืองเรี่ยรายไปหลายแห่ง แต่ข้อสำคัญของการดูเมืองโบราณแห่งนี้ อยู่ที่ไปพบของจำหลักศิลาแปลกๆ มีอยู่เกลื่อนกล่น เพราะยังไม่มีใครได้เคยไปค้นของโบราณมาแต่ก่อน พวกชาวบ้านนำไปให้ฉันเห็นสิ่งใดชอบใจ ฉันก็ให้เงินเป็นรางวัลแก่ผู้นำ ถ้าเป็นของขนาดย่อม พอจะส่งลงมากรุงเทพฯ ได้ ก็ให้นายอำเภอเอามารวมไว้แล้วส่งตามลงมาเมื่อภายหลัง วิธีให้เงินรางวัลแก่ผู้นำมีผลดีมาก พวกชาวบ้านบอกให้เองไม่ต้องถาม แม้จนเมื่อฉันกลับมาลงเรือแล้ว ก็ยังมีคนตามมาบอกว่ายังมีรูปศิลาจำหลักอยู่ที่นั่นๆ ข้างนอกเมือง ที่ฉันไม่ได้ไปถึงอีกหลายอย่าง ได้เครื่องศิลามาหลายสิ่ง เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน มีส่ิงหนึ่งซึ่งควรจะกล่าวถึง ด้วยเป็นของสำคัญทางโบราณคดีไม่เคยพบที่อื่น คือ “หลักเมือง” ทำด้วยศิลาเป็นรูปตะปูหัวเห็ด ทำรอยฝังปลายตะปูลงในแผ่นดิน เอาแต่หัวเห็ดไว้ข้างบน จารึกอักษรเป็นภาษาสันสกฤตไว้ที่หัวเห็ด เดี๋ยวนี้รักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหลักเมืองตามแบบโบราณ เขาทำอย่างไร

เมื่อดูเมืองโบราณนั้นแล้ว อาจจะลงความเห็นเป็นยุติได้สองอย่าง อย่างที่หนึ่ง เมืองโบราณนั้นพวกพราหมณ์จะขนานชื่อว่ากระไรก็ตาม เป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรที่เรียกว่า “เมืองศรีเทพ” เพราะยังเรียกเป็นชื่อตำบลบ้านชานเมืองมาจนบัดนี้ อย่างที่สอง ในสมัยเมื่อครั้งขอมปกครองเมืองไทย เมืองศรีเทพคงเป็นมหานครอันหนึ่ง ชั้นเดียวกันกับเมืองที่ดงศรีมหาโพธิ (ในแขวงจังหวัดปราจีน) และเมืองสุโขทัย และในสมัยนั้นท้องที่คงจะทำไร่นาได้ผลอุดมดีมีไพร่บ้านพลเมืองมาก จึงสามารถสร้างเป็นเมืองใหญ่โตถึงปานนั้น ทำเลที่เมืองวิเชียร เพิ่งมาเกิดแห้งแล้งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อภายหลัง จึงเป็นเมืองเล็กลงเพราะอัตคัด ถึงกระนั้นปรากฏในเรื่องพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา ว่าครั้งรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมืองศรีเทพ (ในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเอาชื่อเจ้าเมืองเรียกว่า เมืองศรีถมอรัตน) กับเมืองชัยบาดาล (เอาชื่อเจ้าเมืองเรียกว่า เมืองชัยบุรี) เป็นคู่กัน เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๐ ในเวลากรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังด้วยแพ้ศึกหงสาวดีใหม่ๆ พระยาละแวกเจ้ากรุงกัมพูชาให้ทศโยธายกกองทัพมาทางเมืองนครราชสีมาจะมาตีหัวเมืองชั้นในทางตะวันออก เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระปิตุราชอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา โปรดให้พระศรีถมอรัตนกับพระชัยบุรี (เจ้าเมืองชัยบาดาล) คุมพลไปซุ่ม (อยู่ในดงพญากลาง) และสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปยังเมืองชัยบาดาลยกกองทัพตี ตีกองทัพเขมรแตกฉานพ่ายหนีไปหมด ต่อนั้นมาก็ปรากฏตามคำของพระยาประเสริฐสงคราม ว่าเมื่อปราบกบฏเวียงจันทน์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนนามเมืองศรีเทพเป็นเมืองวิเชียรบุรี ยกศักดิ์ขึ้นเป็นเมืองตรี คือรวมเมืองชัยบาดาลและเมืองบัวชุมเข้าเป็นเมืองขึ้นของเมืองวิเชียร เป็นเช่นนั้นมาจนเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งมณฑลเทศาภิบาล ดังกล่าวมาแล้ว

เมื่อฉันลงมาถึงเมืองชัยบาดาล ไปเห็นศิลาจำหลักเป็นตัวเครื่องบนปรางค์ขอม ทิ้งอยู่ที่วัดสองสามชิ้น ถามเขาว่าได้มาจากที่ไหน เขาบอกว่าเอามาจากปรางค์หินที่ตำบลซับจำปาในดงพญากลาง ก็เป็นอันได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่ามีเมืองหรือวัดขอม อยู่ในดงพญากลางอีกแห่งหนึ่ง แต่ฉันหาไปดูไม่ สิ้นเรื่องตรวจของโบราณในมณฑลเพชรบูรณ์เพียงเท่านี้

ฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ รวมเวลาที่ไปมณฑลเพชรบูรณ์ครั้งนั้น ๓๖ วัน พอรุ่งขึ้น ฉันเข้าไปเฝ้าฯ วันนั้นมีการพระราชพิธีเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้านายและข้าราชการเฝ้าอยู่พร้อมกัน เมื่อเสร็จการพิธี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จทรงพระราชดำเนินมายังที่ฉันยืนเฝ้าอยู่ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระหัตถ์มาจับมือฉัน ดำรัสว่า ทรงยินดีที่ฉันได้ไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ แล้วตรัสถามว่ามีใครไปเจ็บไข้บ้างหรือไม่ ฉันกราบทูลว่าด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ หามีใครเจ็บไข้ไม่ แล้วจึงเสด็จขึ้น ฉันรู้สึกว่าได้พระราชทานบำเหน็จพิเศษ ชื่นใจคุ้มค่าเหนื่อย ว่าถึงประโยชน์ของการที่ไปครั้งนั้นก็ได้สมประสงค์ เพราะแต่นั้นมาก็หาคนไปรับราชการในมณฑลเพชรบูรณ์ได้ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน
38  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 02 มีนาคม 2567 13:42:37


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์


(๑)

หัวเมืองที่ขึ้นชื่อลือเลื่องว่ามีความไข้ Malaria ร้ายกาจ แต่ก่อนมามีหลายเมือง เช่นเมืองกำแพงเพชร และเมืองกำเนิดนพคุณ คือบางตะพานเป็นต้น แต่ที่ไหนๆ คนไม่ครั่นคร้ามเท่าความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ ดูเป็นเข้าใจกันทั่วไป ว่าถ้าใครไปเมืองเพชรบูรณ์ เหมือนกับไปแส่หาความตาย จึงไม่มีชาวกรุงเทพฯ หรือชาวเมืองอื่นๆ พอใจจะไปเมืองเพชรบูรณ์มาช้านาน แม้ในการปกครอง รัฐบาลก็ต้องเลือกหาคนในท้องถิ่นตั้งเป็นเจ้าเมืองกรมการ เพราะเหตุที่คนกลัวความไข้ เมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องปล่อยให้เมืองเพชรบูรณ์กับเมืองอื่นในลุ่มแม่น้ำสักทางฝ่ายเหนือ คือเมืองหล่มสัก และเมืองวิเชียร เป็นอยู่อย่างเดิมมาหลายปี เพราะจะรวมเมืองเหล่านั้นเข้ากับมณฑลพิษณุโลกหรือมณฑลนครราชสีมา ที่เขตต่อกันก็มีเทือกเขากั้น สมุหเทศาภิบาลจะไปตรวจตราลำบากทั้ง ๒ ทาง อีกประการหนึ่ง เมื่อแรกฉันจัดการปกครองหัวเมือง มณฑลต่างๆ ขอคนออกไปรับราชการ ฉันยังหาส่งไปให้ไม่ทัน เมืองทางลำน้ำสักมีเมืองเพชรบูรณ์เป็นต้น ไม่มีใครสมัครไป ด้วยกลัวความไข้ดังกล่าวมาแล้ว จึงต้องรอมา

มามีความจำเป็นเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๒๔๔๐ ด้วยตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ว่างลง ฉันหาคนในกรุงเทพฯ ไปเป็นเจ้าเมืองไม่ได้ เลือกดูกรมการในเมืองเพชรบูรณ์เอง ที่จะสมควรเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มี นึกว่ามณฑลพิษณุโลกมีท้องที่ความไข้ร้ายหลายแห่ง บางทีจะหาข้าราชการในมณฑลนั้นที่คุ้นกับความไข้ไปเป็นเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้ เวลานั้นเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ฉันเคยเห็นท่านถนัดเลือกคนใช้ จึงถามท่านว่าจะหาข้าราชการในมณฑลพิษณุโลก ที่มีความสามารถพอจะเป็นเจ้าเมือง และไม่กลัวความไข้เมืองเพชรบูรณ์ ให้ฉันสักคนจะได้หรือไม่ ท่านขอไปตริตรองแล้วมาบอกว่า มีอยู่คนหนึ่งเป็นที่พระสงครามภักดี (ชื่อเฟื่อง) นายอำเภอเมืองน้ำปาด ดูลาดเลามีสติปัญญา และเคยไปรับราชการตามหัวเมืองที่มีความไข้ เช่นเมืองหลวงพระบาง และแห่งอื่นๆ หลายแห่ง เวลานั้นเป็นนายอำเภอที่เมืองน้ำปาดก็อยู่ในแดนความไข้ เห็นจะพอเป็นเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้ ฉันเรียกพระสงครามภักดีลงมากรุงเทพฯ พอแลเห็นก็ประจักษ์ใจว่าแกเคยคุ้นกับความไข้ เพราะผิวเหลืองผิดกับคนสามัญ ดูราวกับว่าโลหิตเต็มไปด้วยตัวไข้มาลาเรีย จึงอยู่คงกับความไข้ ฉันไถ่ถามได้ความว่าเป็นชาวกรุงเทพฯ แต่ขึ้นไปทำมาหากินอยู่เมืองเหนือตั้งแต่ยังหนุ่ม เคยอาสาไปทัพฮ่อทางเมืองหลวงพระบางและที่อื่นๆ มีความชอบ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ จึงชวนเข้ารับราชการมาจนได้เป็นที่พระสงครามภักดี ฉันซักไซ้ต่อไปถึงความคิดการงาน ดูก็มีสติปัญญาสมดังเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ บอก จึงให้พระสงครามภักดีขึ้นไปเป็นผู้รั้งราชการเมืองเพชรบูรณ์ แกไปถึงพอเรียนรู้ความเป็นไปในท้องที่แล้ว ก็ลงมือจัดการปกครองตามแบบมณฑลพิษณุโลก บ้านเมืองมีความเจริญขึ้น พระสงครามภักดีก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นที่พระยาเพชรรัตนสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เต็มตำแหน่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒

การที่พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) สามารถจัดระเบียบแบบแผนปกครองเมืองเพชรบูรณ์สำเร็จนั้น เป็นมูลให้ต้องปรารภต่อไปถึงเมืองหล่มสักและเมืองวิเชียรบุรี ที่อยู่ลุ่มลำน้ำสักด้วยกัน เห็นว่าถึงเวลาควรจะจัดการปกครองให้เข้าแบบแผนด้วย แต่จะเอาหัวเมืองทางลำน้ำสักไปเข้าในมณฑลใด ก็ขัดข้องด้วยทางคมนาคมดังกล่าวมาแล้ว จะปกครองได้สะดวกอย่างเดียวแต่รวมหัวเมืองในลุ่มน้ำสัก ๓ เมือง แยกเป็นมณฑลหนึ่งต่างหาก จึงตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้น (ดูเหมือน) เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ ผู้ที่จะเป็นสมุหเทศาภิบาลเพชรบูรณ์ก็ไม่มีผู้อื่นอยากเป็น หรือจะเหมาะเหมือนพระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) เพราะอยู่คงความไข้ และได้แสดงคุณวุฒิให้ปรากฏแล้วว่าสามารถจะปกครองได้ พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ก็ได้เป็นสมุหเทศาภิบาล แต่แรกคนทั้งหลายอยู่ข้างจะประหลาดใจ ด้วยสมุหเทศาภิบาลมณฑลอื่น ล้วนเป็นเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่อันปรากฏเกียรติคุณแพร่หลาย แต่มิใคร่รู้จักพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) เพราะแกเคยรับราชการอยู่แต่ในท้องที่ลับลี้ห่างไกล คนเห็นสมุหเทศาภิบาลแปลกหน้าขึ้นใหม่ก็พากันพิศวง แต่เมื่อแกได้เข้าสมาคมในกรุงเทพฯ ไม่ช้าเท่าใดก็ปรากฏเกียรติคุณ เช่นนั่งในที่ประชุมสมุหเทศาภิบาล เพื่อนสมุหเทศาภิบาลด้วยกันก็เห็นว่าเป็นคนมีสติปัญญาสมควรแก่ตำแหน่ง แม้ผู้อื่นที่ในสมาคมข้าราชการ พอได้คุ้นเคยเห็นมารยาทและกิริยาอัชฌาสัย ก็รู้ตระหนักว่าเป็นผู้ดีมิใช่ไพร่ได้ดี ก็ไม่มีใครรังเกียจ แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อดำรัสถามถึงราชการต่างๆ ในมณฑลเพชรบูรณ์ แกกราบทูลชี้แจงก็โปรด และยังทรงพระเมตตาเพราะเป็นสหชาติเกิดร่วมปีพระบรมราชสมภพด้วยอีกสถานหนึ่ง แต่สง่าราศีของพระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) ดูเหมือนจะอยู่ที่ผิวแกเหลืองผิดกับผู้อื่นนั้นเป็นสำคัญ ใครเห็นก็รู้ว่าแกได้ดีเพราะได้ลำบากตรากตรำทำราชการเอาชีวิตสู้ความไข้มาแต่หนหลัง อันนี้เป็นเครื่องป้องกันความบกพร่องยิ่งกว่าอย่างอื่น แต่พระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลเพชรบูรณ์อยู่ได้เพียง ๓ ปี พ.ศ.๒๔๔๖ เข้ามาเฝ้าในกรุงเทพฯ เมื่องานฉลองพระชนมายุครบ ๕๐ ปี ก็มาเป็นอหิวาตกโรคถึงอนิจกรรม สิ้นบุญเพียงอายุ ๕๐ ปีเท่านั้น ใครรู้ก็อนาถใจ ด้วยเห็นว่าแกเพียรต่อสู้ความไข้ ชนะโรคมาลาเรียแล้วมาแพ้ไข้อหิวาตกโรคง่ายๆ เพราะไม่ได้เตรียมตัวต่อสู้มาแต่หนหลัง มีคนพากันเสียดาย




(๒)

เมื่อพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลเพชรบูรณ์ เคยปรารภกับฉันเนืองๆ ว่า การปกครองมณฑลเพชรบูรณ์ไม่สู้ยากนัก เพราะราษฎรเป็นคนเกิดในมณฑลนั้นเองแทบทั้งนั้น ชอบแต่ทำมาหากิน มิใคร่เป็นโจรผู้ร้าย บังคับบัญชาก็ว่าง่าย ราชการในมณฑลนั้นมีความลำบากเป็นข้อสำคัญแต่หาคนใช้ไม่ได้พอการ เพราะคนในพื้นเมืองยังอ่อนแก่การศึกษา คนมณฑลอื่นก็มิใคร่มีใครยอมไปด้วยกลัวความไข้ จะจัดทำอะไรจึงมักติดขัดด้วยไม่มีคนจะทำ ที่จริงความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ก็มีแต่เป็นฤดู มิได้มีอยู่เสมอ สังเกตดูอาการไข้ก็ไม่ร้ายแรงถึงอย่างยิ่งยวด ความไข้ทางเมืองหลวงพระบาง หรือแม้ในมณฑลพิษณุโลกทางข้างเหนือร้ายกว่าเป็นไหนๆ แต่มิรู้ที่จะ ทำอย่างไรให้คนหายกลัวไข้เมืองเพชรบูรณ์ได้ ฉันพูดว่าตัวฉันเองก็ลำบากในเรื่องหาคนไปรับราชการมณฑลเพชรบูรณ์เหมือนกัน ได้เคยคิดทำอุบายที่จะระงับความไข้เมืองเพชรบูรณ์เหมือนกัน เห็นว่าตัวฉันจะต้องขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์เอง ให้ปรากฏเสียสักครั้งหนึ่ง คนอื่นจึงจะหายกลัว ด้วยเห็นว่าความไข้คงไม่ร้ายแรงถึงอย่างเช่นกลัวกัน ฉันจึงกล้าไป ถึงจะยังมีคนกลัว ชักชวนก็ง่ายขึ้น ด้วยอาจอ้างตัวอย่างว่าแม้ตัวฉันก็ได้ไปแล้ว พระยาเพชรรัตนฯ ชอบใจว่าถ้าฉันไปคนก็เห็นจะหายกลัวได้จริง ถามพระยาเพชรรัตนฯ ถึงทางที่จะไปมณฑลเพชรบูรณ์ แกบอกว่าไปได้หลายทาง ที่ไปได้สะดวกนั้นมี ๓ ทาง คือไปเรือในแม่น้ำสักทางหนึ่ง ไปจากกรุงเทพฯ ราว ๓๐ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ อีกทางหนึ่งจะเดินบกจากเมืองสระบุรีหรือเมืองลพบุรีก็ได้ เดินทางราว ๑๐ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ แต่ว่าหนทางอยู่ข้างลำบากและไม่มีอะไรน่าดู ทางที่ ๓ นั้นไปเรือ มีเรือไฟจูงจากกรุงเทพฯ ราว ๗ วัน ไปขึ้นเดินบกที่อำเภอบางมูลนาค แขวงจังหวัดพิจิตร เดินบกอีก ๔ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ และว่าทางนี้สะดวกกว่าทางอื่น แต่การที่ฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์ต้องกะเวลาให้เหมาะด้วย คือควรไปในฤดูแล้งเมื่อแผ่นดินแห้งพ้นเขตความไข้แล้ว แต่ต้องเป็นแต่ต้นฤดูแล้งเมื่อน้ำยังไม่ลดมากนัก ทางเรือจึงจะสะดวก ไปในเดือนมกราคมเป็นเหมาะกว่าเดือนอื่น แต่ฝ่ายตัวฉันยังมีข้ออื่นที่จะต้องคิดอีก คือจะต้องหาโอกาสว่างราชการในเดือนมกราคมให้ไปอยู่หัวเมืองได้สักเดือนหนึ่ง เมื่อปรึกษากับพระยาเพชรรัตนสงครามแล้ว ฉันยังหาโอกาสไม่ได้ต้องเลื่อนกำหนดมาถึง ๒ ปี ในระหว่างนั้น พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ถึงอนิจกรรม ก็ไม่ได้ไปด้วยดังนัดกันไว้ ฉันมาได้โอกาสไปเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ กะว่าจะไปทางเรือจนถึงบางมูลนาค แล้วขึ้นเดินบกไปเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสัก ขากลับจะลงเรือที่เมืองหล่มสัก ล่องลำแม่น้ำสักมายังเมืองวิเชียรบุรีแล้วเลยลงมาจนถึงเมืองสระบุรี ขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ

พอข่าวปรากฏว่าฉันเตรียมตัวจะไปเมืองเพชรบูรณ์ ก็มีพวกพ้องพากันมาให้พร คล้ายกับจะส่งไปทัพบ้าง มาห้ามปรามโดยเมตตาปรานี ด้วยเห็นว่าไม่พอที่ฉันจะไปเสี่ยงภัยบ้าง ผิดกับเคยไปไหนๆ มาแต่ก่อน ฉันบอกว่าเป็นราชการจำที่จะต้องไปและได้ทูลลาเสร็จแล้ว ที่ห้ามปรามก็เงียบไป แต่ส่วนพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย ตั้งแต่ฉันกราบทูลความคิดที่จะไปมณฑลเพชรบูรณ์ ตรัสว่า “ไปเถิด อย่ากลัว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ของเราท่านก็เสด็จไปแล้ว” ในเวลานั้นตัวฉันเองตั้งแต่เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ไปตามหัวเมืองต่างๆ เคยผ่านป่าดง แม้ที่ว่าไข้ร้ายมาหลายครั้งแล้ว ไม่รู้สึกครั่นคร้ามอย่างไร แต่ประหลาดอยู่ที่พอรู้กันว่าฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์เป็นแน่ ก็มีผู้มาขอไปเที่ยวด้วยหลายคน แม้พวกที่ฉันเลือกเอาไปช่วยธุระหรือใช้สอยก็สมัครไปด้วยยินดี ไม่เห็นมีใครครั่นคร้าม คงเป็นด้วยอุ่นใจ คล้ายกับจะเข้าไปยังที่ซึ่งเขาว่าผีดุ ไม่มีใครกล้าไปคนเดียว แต่พอมีเพื่อนไปด้วยหลายคน ก็หายกลัวผีไปเอง




(๓)

ฉันออกเรือจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๗ ช้าไปสัก ๑๕ วัน น้ำในแม่น้ำตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไป ลดงวดลงเสียมาก แม้เรือไฟที่จูงเรือพ่วง เป็นอย่างกินน้ำตื้นก็ลำบาก ต้องเดินเรือถึง ๘ วัน จึงถึงอำเภอบางมูลนาค แขวงจังหวัดพิจิตร ที่จะขึ้นเดินทางบก เทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก จัดพาหนะและคนหาบของเตรียมไว้แล้ว พอฉันขึ้นไปถึง ก็มีพวกที่ถูกเกณฑ์จ้างหาบของเข้ามาวิงวอนขอให้ใช้ไปทางอื่น อย่าให้ต้องไปเมืองเพชรบูรณ์ เพราะกลัวความไข้ ฉันประหลาดใจที่คนเหล่านั้นอยู่ใกล้ๆ กับเมืองเพชรบูรณ์ ไฉนจึงกลัวไข้ถึงปานนั้น สืบถามได้ความว่าพวกชาวจังหวัดพิจิตรที่อยู่ตอนริมน้ำ เคยเดินป่าไปทำมาหากินแต่ทางฝ่ายตะวันตก จนถึงเมืองกำแพงเพชร และเมืองสุโขทัย น้อยคนที่จะได้เคยไปทางฝ่ายตะวันออก ห่างลำแม่น้ำไปกว่าวันเดียว เพราะเคยได้ยินเลื่องลือถึงความไข้เมืองเพชรบูรณ์ กลัวกันมาเสียช้านาน ฉันก็ได้แต่ชี้แจงแก่พวกที่มาขอตัว ว่าขอให้คิดดูเถิด ตัวฉันเองถึงเป็นเจ้าก็เป็นมนุษย์ อาจจะเจ็บอาจจะตายได้เหมือนกับพวกเขา ที่ฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์ก็เพื่อจะไปทำราชการของพระเจ้าอยู่หัว มิใช่จะไปหาความสุขสนุกสบายสำหรับตัวเอง พวกเขาก็เป็นข้าแผ่นดินเหมือนกับตัวฉัน มาช่วยกันทำราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวสักคราวเป็นไร อีกประการหนึ่งฉันไม่ได้คิดจะเอาพวกเขาไปจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ จะให้ไปส่งเพียงปลายแดนจังหวัดพิจิตร ทางเพียง ๓ วันเท่านั้นก็จะได้กลับมาบ้าน ฉันจะดูแลป้องกันมิให้ไปเจ็บไข้ในกลางทาง อย่าวิตกเลย พวกนั้นได้ฟังก็ไม่กล้าขอตัวต่อไป แต่สังเกตดูเมื่อเดินทางไปไม่เห็นมีใครหน้าตาเบิกบาน คงเป็นเพราะยังกลัวอยู่ไม่หาย แต่เมื่อเดินทางไป ๒ วัน พอถึงบ้านตำปางที่ในป่าก็ไปเกิดประหลาดใจด้วยไปพบราษฎรที่มีความนิยมตรงกันข้าม หมู่บ้านเหล่านั้นก็อยู่ในแดนจังหวัดพิจิตร แต่ชาวบ้านชอบไปทำมาหากินแต่ทางฝ่ายตะวันออกจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ เมืองหล่มสักและเมืองวิเชียร แต่ไม่ชอบลงไปทางริมแม่น้ำเช่นที่บางมูลนาคเป็นต้น ด้วยเกรงความไข้ในที่ลุ่ม คนที่ได้ไปแล้วคนหนึ่งบอกฉันว่าเคยไปขี่เรือครั้งหนึ่ง พอเรือออกเวียนหัวทนไม่ไหว แต่นั้นก็ไม่กล้าลงเรืออีก ดูประหลาดนักหนา คนอยู่ห่างกันเพียงทางเดิน ๒ วัน ภูเขาเลากาอะไรก็ไม่มีคั่น ความนิยมกลับตรงกันข้ามถึงอย่างนั้น

ระยะทางบกแต่บางมูลนาคไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ราว ๓,๐๐๐ เส้น เดินทางในฤดูแล้งเมื่อแผ่นดินแห้งแล้วไม่ลำบากอย่างไร ออกจากบางมูลนาคเป็นที่ลุ่มราบ ซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำไปสัก ๓๐๐ เส้นถึงเมืองภูมิเก่า ว่าเป็นเมืองโบราณ ทำนาได้ผลดี ยังมีบ้านช่องแน่นหนา ออกจากเมืองภูมิไป ยังเป็นที่ลุ่มเป็นพรุและเป็นป่าไผ่อีกสัก ๕๐๐ เส้นจึงขึ้นที่ดอน เป็นโคกป่าไม้เต็งรัง ชายโคกเป็นห้วยเป็นดงสลับกันไปสัก ๑,๐๐๐ เส้น ถึงเชิงเทือกเขาบรรทัด ที่เป็นเขตแดนจังหวัดพิจิตรกับจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อกันบนสันเขานั้น ทางตอนข้ามเขาบรรทัดเป็นดงดิบเช่นเดียวกับดงพญาไฟ แต่เดินขึ้นเขาได้สะดวกเพราะทางลาดขึ้นไปไม่สู้ชันนัก เมื่อฉันไปถึงที่พักแรมตำบลซับมาแสนบนสันเขาบรรทัด พวกชาวเมืองเพชรบูรณ์มารับ ผลัดหาบหามจากพวกเมืองพิจิตร คืนวันนั้นได้เห็นความรื่นเริงของพวกที่ไปจากเมืองพิจิตรเป็นครั้งแรก พากันร้องเพลงเล่นหัวเฮฮาอยู่จนเวลาจะนอน ถึงต้องให้ไปห้ามปากเสียง ครั้นรุ่งเช้าเมื่อก่อนจะออกเดินทาง ฉันเรียกพวกเมืองพิจิตรมาขอบใจและแสดงความยินดีที่ไม่มีใครเจ็บไข้ พวกเหล่านั้นบอกว่าได้มาเห็นอย่างนี้แล้วก็สิ้นกลัว บางคนถึงพูดว่า “ถ้าใต้เท้ามาอีก ผมจะมารับอาสาไม่ให้ต้องเกณฑ์ทีเดียว” ออกเดินจากตำบลซับมาแสน เป็นทางลงจากเขามาสัก ๒๐๐ เส้น ก็พ้นดงเข้าเขตบ้านล่องคล้า เดินแต่บ้านล่องคล้าขึ้นไปทางเหนือสัก ๕๐๐ เส้นถึงบ้านนายม ไปจากบ้านนายมอีกสัก ๔๐๐ เส้นก็ถึงเมืองเพชรบูรณ์




(๔)

ฉันไปถึงเมืองเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ท้องที่มณฑลเพชรบูรณ์ บอกแผนที่ได้ไม่ยาก คือลำแม่น้ำสักเป็นแนวแต่เหนือลงมาใต้ มีภูเขาสูงเป็นเทือกลงมาตามแนวลำน้ำทั้ง ๒ ฟาก เทือกข้างตะวันออกเป็นเขาปันน้ำต่อแดนมณฑลนครราชสีมา เทือกข้างตะวันตกเป็นเขาปันน้ำต่อแดนมณฑลพิษณุโลก เทือกเขาทั้งสองข้างนั้น บางแห่งก็ห่าง บางแห่งก็ใกล้ลำแม่น้ำสัก เมืองหล่มสักอยู่ที่สุดลำน้ำสักทางข้างเหนือ ต่อลงมาถึงเมืองเพชรบูรณ์ ตรงที่ตั้งเมืองเพชรบูรณ์เทือกเขาเข้ามาใกล้ลำน้ำ ดูเหมือนจะไม่ถึง ๓๐๐ เส้น แลเห็นต้นไม้บนเขาถนัดทั้ง ๒ ฝ่าย ทำเลที่เมืองเพชรบูรณ์ตอนริมลำแม่น้ำเป็นที่ลุ่ม ฤดูน้ำน้ำท่วมแทบทุกแห่ง พ้นที่ลุ่มขึ้นไปเป็นที่ราบทำนาได้ผลดี เพราะอาจจะขุดเหมืองชักน้ำจากลำห้วยมาเข้านาได้เหมือนเช่นที่เมืองลับแล พ้นที่ราบขึ้นไปเป็นโคกสลับกับแอ่งเป็นหย่อมๆ ไปจนถึงเชิงเขาบรรทัด บนโคกเป็นป่าไม้เต็งรัง เพาะปลูกอะไรอย่างอื่นไม่ได้ แต่ตามแอ่งนั้นเป็นที่น้ำซับ เพาะปลูกพรรณไม้งอกงามดี เมืองเพชรบูรณ์จึงสมบูรณ์ด้วยกสิกรรม จนถึงชาวเมืองทำนาปีหนึ่งเว้นปีหนึ่งก็ได้ข้าวพอกันกิน ราคาข้าวเปลือกซื้อขายกันเพียงเกวียนละ ๑๖ บาทเท่านั้น แต่จะส่งข้าวเป็นสินค้าไปขายเมืองอื่นไม่ได้ด้วยทางกันดาร เมื่อข้าวไปถึงเมืองอื่น คิดค่าขนข้าวด้วยราคาแพงกว่าข้าวที่ขายกันในเมืองนั้นๆ ชาวเพชรบูรณ์จึงทำนาแต่พอกินในพื้นเมือง สิ่งซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของเมืองเพชรบูรณ์ก็คือยาสูบ เพราะรสดีกว่ายาสูบที่อื่นหมดทั้งเมืองไทย ชาวเมืองเพชรบูรณ์จึงหาผลประโยชน์ด้วยปลูกยาสูบขายเป็นพื้น ลักษณะปลูกยาสูบที่เมืองเพชรบูรณ์นั้น ปลูกตามแอ่งที่น้ำขังในฤดูฝน ถึงฤดูแล้งพอน้ำในแอ่งแห้ง ราษฎรก็ไปพรวนดินปลูกต้นยาสูบ เมื่อต้นยาสูบงอกงามได้ขนาด ก็เก็บใบยามาผึ่งแล้วหั่นเอาเข้าห่อไว้ พวกพ่อค้าไปรับซื้อตามบ้านราษฎรแล้วบรรทุกโคต่างไปขายทางมณฑลนครราชสีมาบ้าง มณฑลอุดรบ้าง แต่มณฑลพิษณุโลกปลูกยาสูบเหมือนกัน จึงไม่ซื้อยาเมืองเพชรบูรณ์ แต่ตลาดใหญ่ของยาสูบเมืองเพชรบูรณ์นั้นอยู่ในกรุงเทพฯ ถึงฤดูน้ำพวกพ่อค้าเอายาสูบบรรทุกเรือลงมาขายมากกว่าแห่งอื่นเสมอทุกปี ประหลาดอยู่ที่รสยาสูบซึ่งเรียกกันว่า “ยาเพชรบูรณ์” นั้น ดีเป็นยอดเยี่ยมแต่ที่ปลูก ณ เมืองเพชรบูรณ์ ถ้าปลูกที่เมืองหล่มสัก หรือปลูกข้างใต้ห่างเมืองเพชรบูรณ์ลงมา เพียงทางวันเดียวรสยาก็คลายไป เพราะโอชะดินสู้ที่เมืองเพชรบูรณ์ไม่ได้ ถึงที่เมืองเพชรบูรณ์เอง ก็ปลูกยาซ้ำที่อยู่ได้เพียงราว ๖ ปี แล้วต้องย้ายไปปลูกที่อื่น ปล่อยให้ดินพักเพิ่มโอชะเสีย ๕ ปี ๖ ปี จึงกลับไปปลูกที่เก่าอีก

ในเรื่องที่เลื่องลือว่าความไข้เมืองเพชรบูรณ์ร้ายแรงนั้น เมื่อไปเห็นเมืองเพชรบูรณ์ก็พอได้เค้าเข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุใด คงเป็นเพราะเหตุที่เมืองเพชรบูรณ์ตั้งอยู่ที่ลุ่มริมลำน้ำ มีเทือกเขาสูงกระหนาบอยู่ใกล้ๆ ทั้งสองข้าง เทือกเขานั้นเป็นหินปูน ถึงฤดูแล้งต้นไม้แห้งไม่มีใบ หินถูกแดดร้อนจัดไอขึ้น ลมพัดมาแต่ทิศใดก็พัดพาเอาไอหินเข้ามาร้อนอบอยู่ในเมือง พอเริ่มฤดูฝนคนถูกไอร้อนของหินกับไอฝนประสมกัน ก็อาจจะเป็นไข้ได้สถานหนึ่ง ในฤดูฝนฝนตกชะใบไม้ที่หล่นร่วงเน่าเปื่อยอยู่บนเขา พาเอาพิษไข้ลงมากับน้ำ คนก็อาจเป็นไข้ด้วยกินน้ำมีพิษสถานหนึ่ง เมื่อสิ้นฤดูฝนน้ำท่วมแผ่นดินลด กำลังแผ่นดินชื้น ลมหนาวพัดมาระคนกับความชื้นก็อาจเกิดไข้ได้อีกสถานหนึ่ง แต่สังเกตคนในพื้นเมืองหรือแม้คนต่างถิ่นที่ไปอยู่จนคุ้นที่แล้ว ดูอนามัยก็เป็นปรกติไม่แปลกกับที่อื่น ฉันไถ่ถามพวกกรมการในพื้นเมืองถึงลักษณะความไข้ เขาบอกว่าไข้มีชุกแต่เวลาเปลี่ยนฤดู คือเมื่อฤดูแล้งต่อฤดูฝนคราวหนึ่ง กับเมื่อฤดูฝนต่อฤดูแล้งคราวหนึ่ง ไข้คราวต้นปีเมื่อฤดูแล้งต่อฤดูฝนไม่ร้ายแรงเหมือนกับไข้คราวปลายปี ที่เราเรียกว่า “ไข้หัวลม” นอกจาก ๒ ฤดูนั้น ความไข้เจ็บก็มิใคร่มี โดยจะมีก็เป็นอย่างธรรมดาไม่ผิดกับที่อื่น ความเห็นของพวกที่ไปจากต่างถิ่น เขาว่าความไข้เมืองเพชรบูรณ์ร้ายกว่ามณฑลอื่นบางมณฑล เช่นมณฑลอยุธยาเป็นต้น จริงอยู่แต่ไม่ร้ายแรงเหลือทนเหมือนเช่นเลื่องลือ ถ้ารู้จักระวังรักษาตัวก็ไม่สู้กระไรนัก แต่สำคัญอยู่ที่ใจด้วย ถ้าขี้ขลาดก็อาจจะเป็นได้มากๆ เขาเล่าเรื่องเป็นตัวอย่างว่า เมื่อปีที่ล่วงมาแล้ว มีเจ้าพนักงานกรมไปรษณีย์คนหนึ่ง ซึ่งเจ้ากระทรวงส่งขึ้นไปอยู่ประจำการ ณ เมืองเพชรบูรณ์ ขึ้นไปทางเรือในฤดูฝนพอถึงเมืองเพชรบูรณ์ก็จับไข้ อาการไม่หนักหนาเท่าใดนัก แต่เจ้าตัวกลัวตายเป็นกำลัง พวกที่เมืองเพชรบูรณ์บอกว่าจะรักษาให้หายได้ ก็ไม่เชื่อ ขอแต่ให้ส่งกลับกรุงเทพฯ อย่างเดียว เขาก็ต้องให้กลับตามใจ เมื่อลงไปถึงเมืองวิเชียร อาการไข้กำเริบถึงจับไม่สร่าง แต่ต่อไปจะเป็นหรือตายหาทราบไม่

ตัวเมืองเพชรบูรณ์ เป็นเมืองมีป้อมปราการสร้างมาแต่โบราณ เห็นได้ว่าตั้งเป็นเมืองด่าน โดยเลือกที่ชัยภูมิตรงแนวภูเขาเข้ามาใกล้กับลำแม่น้ำสัก มีทางเดินทัพแคบกว่าแห่งอื่น ตั้งเมืองสกัดทางทำปราการทั้งสองฟาก เอาลำน้ำสักไว้กลางเมืองเหมือนเช่นเมืองพิษณุโลก สังเกตตามรอยที่ยังปรากฏ เห็นได้ว่าสร้างเป็น ๒ ครั้ง ครั้งแรกสร้างเมื่อสมัยกรุงสุโขทัย แนวปราการขนาดราวด้านละ ๒๐ เส้น เดิมเป็นแต่ถมดินปักเสาระเนียดข้างบน มาสร้างใหม่ในที่อันเดียวกันเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ร่นแนวย่อมเข้ามาแต่ทำปราการก่อด้วยหินและมีป้อมรายรอบ สำหรับสู้ข้าศึกซึ่งจะยกมาแต่ลานช้าง ข้างในเมืองมีวัดมหาธาตุกับพระปรางค์เป็นสิ่งสำคัญอยู่กลางเมือง ฉันได้ไปทำพิธีพุทธบูชาและถวายสังเวยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่วัดมหาธาตุนั้น ที่ในเมืองแต่ก่อนเห็นจะรกเรี้ยว เพิ่งมาถากถางทำถนนหนทางและปลูกเรือนสำหรับราชการต่างๆ เมื่อพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ขึ้นไปอยู่ ไปเห็นเข้าก็คิดถึง




(๕)

ฉันเดินบก จากเมืองเพชรบูรณ์ไปเมืองหล่มสัก ระยะทางที่ไปราว ๑,๒๐๐ เส้น ต้องค้างทางคืนหนึ่ง ทำเลที่เมืองหล่มสัก เป็นแอ่งกับเนินสลับกัน เหมือนดังพรรณนามาแล้ว แต่มีบ้านเรือนราษฎรในระยะทางถี่ ไม่เปลี่ยวเหมือนทางที่มาจากบางมูลนาคจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ ผ่านไปในป่าลานแห่งหนึ่งดูงามนักหนา ต้นลานสูงใหญ่แลสล้างไป ใบยาวตั้งราว ๖ ศอกผิดกับต้นลานที่เคยเห็นปลูกไว้ตามวัด ดูน่าพิศวง ในจังหวัดหล่มสักมีต้นลานมากกว่าที่อื่น ถึงใบลานเป็นสินค้าใหญ่อย่างหนึ่งซึ่งขายไปที่อื่น จังหวัดหล่มสักมีเมือง ๒ แห่ง เรียกว่าเมืองหล่มเก่าแห่งหนึ่ง เมืองหล่มสักแห่งหนึ่ง ฉันไปถึงเมืองหล่มสักอันเป็นที่บัญชาการจังหวัดก่อน ตัวเมืองหล่มสักตั้งอยู่ริมลำแม่น้ำสักทางฟากตะวันตก ไม่มีปราการเป็นด่านทางอย่างใด แต่ตั้งเมืองบนที่สูง น้ำไม่ท่วมถึง และเขาบรรทัดตรงนั้นก็ห่างออกไป ความไข้เจ็บจึงไม่ร้ายแรงเหมือนเมืองเพชรบูรณ์ ราษฎรจังหวัดหล่มสักเป็นไทยลานช้างที่เรียกกันแต่ก่อนว่า “ลาวพุงขาว” เหมือนอย่างชาวมณฑลอุดร ไม่เหมือนไทยชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นอย่างเดียวกันกับชาวมณฑลพิษณุโลก จำนวนผู้คนพลเมืองมากกว่าเมืองเพชรบูรณ์ เพราะการทำมาหากินได้ผลบริบูรณ์ดีกว่าเมืองเพชรบูรณ์ สินค้าที่ขายไปต่างเมืองมียาสูบและใบลานเป็นต้น แต่โคกระบือเป็นสินค้าใหญ่กว่าอื่น พาเดินลงไปขายทางมณฑลนครสวรรค์ และเมืองลพบุรีปีละมากๆ เสมอทุกปี ฉันได้เลยไปดูถึงเมืองหล่มเก่า ซึ่งอยู่ห่างเมืองหล่มสักไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระยะทางราว ๓๖๐ เส้น เมืองหล่มเก่าตั้งอยู่ในที่แอ่งใหญ่ ภูเขาล้อมรอบ มีลำห้วยผ่านกลางเมืองมาตกลำน้ำสักข้างใต้เมืองหล่มสัก ทางที่เดินไปจากเมืองหล่มสักเป็นที่สูง เมื่อใกล้จะถึงเมืองหล่มเก่าเหมือนกับอยู่บนขอบกระทะ แลลงไปเห็นเมืองหล่มเก่าเหมือนอยู่ในก้นกระทะ แต่เป็นเรือกสวนไร่นามีบ้านช่องเต็มไปในแอ่งนั้น น่าพิศวง แต่สังเกตดูไม่มีของโบราณอย่างใด แสดงว่าเป็นเมืองรัฐบาลตั้งมาแต่ก่อน สันนิษฐานว่าเหตุที่จะเกิดเมืองหล่มเก่า เห็นจะเป็นด้วยพวกราษฎรที่หลบหนีภัยอันตรายในประเทศลานช้าง มาตั้งซ่องมั่วสุมกันอยู่ก่อน แต่เป็นที่ดินดีมีน้ำบริบูรณ์ เหมาะแก่การทำเรือกสวนไร่นาและเลี้ยงโคกระบือ จึงมีผู้คนตามมาอยู่มากขึ้นโดยลำดับจนเป็นเมือง แต่เป็นเมืองมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีชื่อปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า “เมืองลุ่ม” ชั้นหลังมาจึงเรียกว่า “เมืองหล่ม” ก็หมายความอย่างเดียวกัน แต่เมืองหล่มสักเป็นเมืองตั้งใหม่ในชั้นหลัง เข้าใจว่าเพิ่งตั้งเมื่อรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ เพื่อจะให้สะดวกแก่การคมนาคม จึงมาตั้งเมืองที่ริมลำน้ำสัก และเอาชื่อลำน้ำเพิ่มเข้าเรียกว่า “เมืองหล่มสัก” ให้ผิดกับเมืองหล่มเดิม แต่เหตุใดลำน้ำจึงชื่อว่า “ลำน้ำสัก” หรือ “ลำน้ำป่าสัก” ข้อนี้ฉันสืบสวนไม่ได้ความ สิ่งสำคัญอันใดที่มีคำว่า “สัก” เป็นชื่อหรือป่าไม้สักทางนั้นก็ไม่มี ต้องยอมจน

เดิมฉันคิดว่าขากลับจะลงเรือที่เมืองหล่มสัก ล่องลำน้ำสักลงมาจนถึงเมืองสระบุรี แต่น้ำลดเสียมากแล้ว จะลงเรือมาแต่เมืองหล่มสักไม่ได้ จึงต้องเดินบกย้อนกลับมาลงเรือที่เมืองเพชรบูรณ์ ฉันสั่งให้ส่งเรือมาดเก๋ง ๖ แจว ขนาดย่อม ขึ้นไปรับสำหรับตัวฉันจะมาเองลำหนึ่ง เรือสำหรับผู้อื่นจะมา ฉันให้หาซื้อเรือพายม้า ๒ แจวที่ใช้กันในเมืองเพชรบูรณ์ ทำประทุนเป็นที่อาศัยให้มาลำละคนหนึ่งบ้าง สองคนบ้างจนครบตัวกัน




39  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง (จบ) : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 02 มีนาคม 2567 13:31:47


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง (จบ)


(๗)

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างอนุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจำนวนปีแต่พระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปีเป็นอภิลักขิตกาล จึงโปรดให้รวมหนังสือในหอมนเทียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอพุทธศาสนสังคหะ เข้าด้วยกัน ตั้งเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร ขนานนามตามพระสมณามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” และให้มีกรรมการจัดหอพระสมุดฯ นั้น คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นสภานายก กรมพระสมมตอมรพันธ์และตัวฉัน กับทั้งพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) และพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เป็นกรรมสัมปาทิก รวมกัน ๕ คนเป็นคณะพนักงานจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครมาแรกตั้ง เมื่อรวมหนังสือทั้ง ๓ แห่งเข้าเป็นหอสมุดอันเดียวกันแล้ว ถึงชั้นที่จะหาหนังสือจากที่อื่นมาเพิ่มเติม กรรมการปรึกษากันเห็นว่าควรจะหาหนังสือภาษาฝรั่งต่างชาติ แต่เฉพาะซึ่งแต่งว่าด้วยเมืองไทยตั้งแต่โบราณมารวบรวมก่อน หนังสือพวกนี้จะสั่งไปให้หาซื้อในยุโรปและอเมริกา ส่วนหนังสือภาษาไทย จะรวบรวมหนังสือซึ่งยังเป็นฉบับเขียน อันมีกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง เอามารวบรวมไว้ในหอสมุดก่อนหนังสือพวกอื่น เพราะหนังสือไทยที่เป็นจดหมายเหตุและตำรับตำราวิชาการกับทั้งวรรณคดี ยังมีแต่เป็นฉบับเขียนอยู่โดยมาก ถ้าทิ้งไว้ไม่รีบรวบรวมเอามารักษาในหอพระสมุดฯ วิชาความรู้อันเป็นสมบัติของชาติก็จะเสื่อมสูญไปเสีย วิธีที่จะหาหนังสือฉบับเขียนในเมืองไทยนั้น ตกลงกันให้กรมพระสมมตฯ ทรงตรวจดูหนังสือในหอหลวง ซึ่งมิได้โปรดให้โอนเอามารวมในหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่กรมพระสมมตฯ ทรงรักษาอยู่เอง ถ้าเรื่องใดควรจะมีในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ก็ให้ทรงคัดสำเนาส่งมา กรมพระสมมตฯ ทรงหาได้หนังสือดีๆ และเรียบเรียงประทานให้หอพระสมุดฯ พิมพ์ปรากฏอยู่เป็นหลายเรื่อง ส่วนหนังสือฉบับเขียนซึ่งมีอยู่ที่อื่นนอกจากหอหลวงนั้น ให้ตัวฉันเป็นผู้หา ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่เกิดวิธีฉันหาหนังสือด้วยประการต่างๆ จึงรู้เรื่องประวัติหนังสือหอหลวงสิ้นกระแสความ ดังจะเห็นต่อไปข้างหน้า

หนังสือไทยฉบับเขียนของเก่านั้น ลักษณะต่างกันเป็น ๓ ประเภท ถ้าเป็นหนังสือสำหรับอ่านกันเป็นสามัญ เขียนในสมุดไทยสีขาวด้วยเส้นหมึกบ้าง เขียนในสมุดไทยสีดำด้วยเส้นดินสอขาวบ้าง หรือเส้นฝุ่นและเส้นหรดาล หรือวิเศษถึงเขียนด้วยเส้นทองก็มี เขียนตัวอักษรบรรจงทั้งนั้น ต่อเป็นร่างหรือสำเนาจึงเขียนอักษรหวัดด้วยเส้นดินสอแต่ว่าล้วนเขียนในสมุดไทยประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นหนังสือตำรับตำรา เช่นตำราเลขยันต์หรือคาถาอาคมเป็นต้น อันเจ้าของประสงค์จะซ่อนเร้นไว้แก่ตัว มักจารลงในใบลานขนาดสั้นสักครึ่งคัมภีร์พระธรรมร้อยเชือกเก็บไว้ แต่ล้วนเป็นหนังสือคัมภีร์ใบลานประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นจดหมายมีไปมาถึงกัน แม้ท้องตราและใบบอกในราชการ ก็เขียนลงกระดาษข่อยด้วยเส้นดินสอดำม้วนใส่กระบอกไม้ไผ่ส่งไป เมื่อเสร็จกิจแล้วก็เอาเชือกผูกเก็บไว้เป็นมัดๆ มักมีแต่ตามสำนักราชการประเภทหนึ่ง หนังสือฉบับเขียนทั้ง ๓ ประเภทที่ว่ามา ประเภทที่เขียนในสมุดไทยมีมากกว่าอย่างอื่น แต่ที่นับว่าเป็นฉบับดีๆ เพราะตัวอักษรเขียนงามและสอบทานถูกต้องประกอบกัน นอกจากหนังสือหอหลวง มักเป็นหนังสือซึ่งเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลก่อนๆ สร้างไว้ แล้วแบ่งกันเป็นมรดกตกอยู่ในเชื้อวงศ์เป็นแห่งๆ ก็มี ที่ผู้รับมรดกรักษาไว้ไม่ได้ แตกกระจัดกระจายไปตกอยู่ที่อื่นแห่งละเล็กละน้อยก็มี หนังสือพวกที่จารในใบลานมีน้อย ถ้าอยู่กับผู้รู้วิชานั้นมักหวงแหน แต่ก็ได้มาบ้าง มักเป็นเรื่องแปลกๆ เช่นลายแทงคิดปริศนาและตำราพิธีอันมิใคร่มีใครรู้ แต่มักไม่น่าเชื่อคุณวิเศษที่อวดอ้างในหนังสือนั้น แต่หนังสือซึ่งเขียนกระดาษเพลา มักมีแต่ของหลวงอยู่ตามสำนักราชการ ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอยู่ด้วย ให้ส่งหนังสือพวกนี้ที่มีอยู่ในกระทรวงและที่ได้พบตามหัวเมือง ไปยังหอพระสมุดฯ ทั้งหมด แต่ในสมัยเมื่อฉันหาหนังสือฉบับเขียนสำหรับหอพระสมุดฯ นั้น พวกฝรั่งและพวกเล่นสะสมของเก่า เช่นหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถเป็นต้น ก็กำลังหาซื้อหนังสือไทยฉบับเขียนแข่งอยู่อีกทางหนึ่ง ผิดกันแต่พวกนั้นต้องหาโดยปกปิด ฉันหาได้อย่างเปิดเผย และเลือกโดยความประสงค์ผิดกัน พวกนั้นหาหนังสือ “งาม” คือที่มีรูปภาพหรือที่มีฝีมือเขียนอักษรงาม แต่จะเป็นหนังสือเรื่องอย่างไรไม่ถือเป็นสำคัญ ฝ่ายข้างตัวฉันหาหนังสือ “ดี” คือถือเอาเรื่องหนังสือเป็นสำคัญ ถ้าเป็นหนังสือเรื่องที่มีดื่น ถึงฉบับจะเขียนงามก็ไม่ถือว่าดี ถ้าเป็นเรื่องแปลกหรือเป็นฉบับเขียนถูกต้องดี ถึงจะเขียนไม่งามหรือที่สุดเป็นแต่หนังสือเขียนตัวหวัดก็ซื้อ และให้ราคาแพงกว่าหนังสือซึ่งมีดื่น

วิธีที่ฉันหาหนังสือนั้น เมื่อรู้ว่าแหล่งหนังสือมีอยู่ที่ไหน ฉันก็ไปเองหรือให้ผู้อื่นไปบอกเจ้าของหนังสือให้ทราบพระราชประสงค์ ซึ่งทรงตั้งหอสมุดสำหรับพระนคร และขอดูหนังสือที่เขามีอยู่ ถ้าพบหนังสือเรื่องใดซึ่งยังไม่มีในหอพระสมุดฯ ก็ขอหนังสือนั้น เจ้าของจะถวายก็ได้ จะขายก็ได้ หรือเพียงอนุญาตให้คัดสำเนาหนังสือเรื่องนั้นมาก็ได้ตามใจ เจ้าของหนังสือไม่มีใครขัดขวาง อย่างหวงแหนก็เพียงขอต้นฉบับไว้ยอมให้คัดสำเนามา แต่ที่เต็มใจถวายต้นฉบับทีเดียวมีมากกว่าอย่างอื่น บางแห่งก็ถึง “ยกรัง” หนังสือซึ่งได้เก็บรักษาไว้ถวายเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนครทั้งหมด เพราะมีการซึ่งหอพระสมุดฯ ทำอีกอย่างหนึ่ง เป็นปัจจัยให้คนนิยม คือแต่เดิมมาในงานศพเจ้าภาพมักพิมพ์เทศนาหรือคำแปลภาษาบาลี เป็นสมุดเล่มเล็กๆ แจกผู้ไปช่วยงาน ครั้งงานพระศพกรมขุนสุพรรณภาควดีเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริ ว่าหนังสือแจกซึ่งเป็นธรรมปริยายลึกซึ้งคนมิใคร่ชอบอ่าน จึงโปรดให้แปลนิทานนิบาตชาดกตอนต้น พิมพ์พระราชทานเป็นของแจก และทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องประวัติของคัมภีร์ชาดก กับทั้งทรงแนะนำไว้ในคำนำข้างต้น ว่าหนังสือแจกควรจะพิมพ์เรื่องต่างๆ ให้คนชอบอ่าน แต่นั้นเจ้าภาพงานศพก็มักมาขอเรื่องหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกต่อกรรมการหอพระสมุดฯ กรรมการคิดเห็นว่าถ้าช่วยอุดหนุนการพิมพ์หนังสือแจก จะเกิดประโยชน์หลายอย่าง เป็นต้นแต่สามารถจะรักษาเรื่องหนังสือเก่าไว้มิให้สูญ และให้มหาชนเจริญความรู้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงรับธุระหาเรื่องหนังสือให้เจ้าภาพพิมพ์แจกทุกรายที่มาขอ และเลือกหนังสือซึ่งเป็นเรื่องน่าอ่าน เอามาชำระสอบทานให้ถูกต้อง ทั้งแต่งอธิบายว่าด้วยหนังสือเรื่องนั้นไว้ในคำนำข้างต้น แล้วจึงให้ไปพิมพ์แจก จึงเกิด “หนังสือฉบับหอพระสมุด” ขึ้น ใครได้รับไปก็ชอบอ่าน เพราะได้ความรู้ดีกว่าฉบับอื่น เจ้าของหนังสือฉบับเขียนเห็นว่าหอพระสมุดฯ ได้หนังสือไปทำให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นกว่าอยู่กับตน ก็เต็มใจถวายหนังสือดังกล่าวมา การหาเรื่องหนังสือให้ผู้อื่นพิมพ์แจก จึงเลยเป็นธุระส่วนใหญ่อันหนึ่งของหอพระสมุดฯ สำหรับพระนครสืบมา และเป็นเหตุให้มีหนังสือไทยเรื่องต่างๆ พิมพ์ขึ้นปีละมากๆ จนบัดนี้

การหาหนังสือฉบับเขียนซึ่งมีอยู่เป็นแหล่ง ไม่ยากเหมือนหาหนังสือซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง เพราะรู้ไม่ได้ว่าหนังสือจะมีอยู่ที่ไหนบ้าง พบเข้าก็มีแต่แห่งละเล็กละน้อย ทั้งเจ้าของก็มักเป็นชั้นที่ไม่รู้จักคุณค่าของหนังสือ ฉันจึงคิดวิธีอย่างหนึ่ง ด้วยขอแรงพวกพนักงานในหอพระสมุดฯ ให้ช่วยกันเที่ยวหาในเวลาว่างราชการ ไปพบหนังสือเรื่องดีมีที่ไหนก็ให้ขอซื้อเอามา หรือถ้าไม่แน่ใจก็ชวนให้เจ้าของเอามาให้ฉันดูก่อน บอกแต่ว่าถ้าเป็นหนังสือดีฉันจะซื้อด้วยราคาตามสมควร หาโดยกระบวนนี้บางทีได้หนังสือดีอย่างแปลกประหลาด จะเล่าเป็นตัวอย่าง ดังครั้งหนึ่งพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ไปเห็นยายแก่กำลังเอาสมุดดำรวมใส่กระชุที่บ้านแห่งหนึ่ง ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดูก่อน แกก็ส่งมาให้ทั้งกระชุ พบหนังสือพงศาวดารเมืองไทย แต่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ เล่มหนึ่ง อยู่ในพวกสมุดที่จะเผานั้น ออกปากว่าอยากได้ ยายแก่ก็ให้ไม่หวงแหน พระยาปริยัติธรรมธาดาเอาสมุดเล่มนั้นมาให้ฉัน เมื่อพิจารณาดูเห็นเป็นหนังสือพงศาวดารความเก่าแต่งก่อนเพื่อน เรื่องและศักราชก็แม่นยำ ผิดกับฉบับอื่นทั้งหมด ฉันจึงให้เรียกว่า “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” ให้เป็นเกียรติยศแก่พระยาปริยัติฯ และได้ใช้เป็นฉบับสำหรับสอบสืบมาจนบัดนี้ แต่เจ้าของบางคนก็เห็นค่าหนังสือของตนอย่างวิปริต ดังแห่งหนึ่งอวดว่ามีหนังสือเขียนตัวทองอยู่เรื่องหนึ่ง ตั้งราคาขายแพงมาก ผู้ไปพบจะขออ่านก็ไม่ให้ดู ฉันให้กลับไปถามเพียงชื่อเรื่องหนังสือนั้น บอกว่า “เรื่องพระลอ” ซึ่งมีฉบับเขียนอยู่ในหอพระสมุดฯ แล้วหลายฉบับ ทั้งเป็นเรื่องที่พิมพ์แล้วด้วย ก็เป็นเลิกกันเพียงนั้น แต่เมื่อคนรู้กันแพร่หลายว่าหอพระสมุดฯ หาซื้อหนังสือฉบับเขียน ก็เริ่มมีคนเอาหนังสือมาขายที่หอพระสมุดฯ ชั้นแรกดูเหมือนจะเป็นแต่พวกราษฎร ต่อมาเจ้าของที่เป็นผู้ดีแต่งให้คนมาขายก็มี ที่สุดถึงมีพวก “นายหน้า” เที่ยวหาหนังสือมาขายหอพระสมุดฯ เนืองนิจ จนจำหน้าได้ พวกนายหน้านี้เป็นคนจำพวกเดียวกับที่เที่ยวหาหนังสือฉบับหลวง และของประหลาดขายฝรั่ง เขาว่าของที่ขายมักได้มาโดยทุจริต แต่จะไถ่ถามถึงกรรมสิทธิ์ของผู้ที่มาขายหนังสือเสียก่อน ก็คงเกิดหวาดหวั่น ไม่มีใครกล้าเอาหนังสือมาขายหอพระสมุดฯ ฉันนึกขึ้นว่าหนังสือผิดกับทรัพย์สินอย่างอื่น ด้วยอาจจะคัดสำเนาเอาเรื่องไว้ได้ โดยจะเป็นของโจรลักเอามา เมื่อเจ้าของมาพบ คืนต้นฉบับให้เขา ขอคัดแต่สำเนาไว้ก็เป็นประโยชน์สมประสงค์ ไม่เสียเงินเปล่า ฉันจึงสั่งพนักงานรับหนังสือว่าถ้าใครเอาหนังสือมาขาย อย่าให้ไถ่ถามอย่างไร นอกจากราคาที่จะขาย แล้วเขียนราคาลงในเศษกระดาษ เหน็บกับหนังสือส่งมาให้ฉันดูทีเดียว ฉันเลือกซื้อด้วยเอาเรื่องหนังสือเป็นใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว บางทีเป็นหนังสือเขียนงามแต่ฉันไม่ซื้อ หรือไม่ยอมให้ราคาเท่าที่จะขาย เพราะเป็นเรื่องดื่นก็มี บางทีเป็นแต่สมุดเก่าๆ เขียนด้วยเส้นดินสอ ผู้ขายตีราคาเพียงเล่มละบาทหนึ่งสองบาท แต่เป็นเรื่องที่ไม่เคยพบหรือหายาก ยังไม่มีในหอพระสมุดฯ ฉันเห็นว่าเจ้าของตีราคาต่ำ เพราะไม่รู้คุณค่าของหนังสือ จะซื้อตามราคาที่บอกขาย ดูเป็นเอาเปรียบคนรู้น้อย หาควรไม่ ฉันจึงเพิ่มราคาให้เป็นเล่มละ ๔ บาทหรือ ๕ บาทบ้าง ให้บอกเจ้าของว่าราคาที่ตั้งมายังไม่ถึงค่าของหนังสือ พวกคนขายหนังสือได้เงินเพิ่มเนืองๆ ก็เชื่อถือความยุติธรรมของหอพระสมุดฯ จนไม่มีใครตั้งราคาขาย บอกแต่ว่า “แล้วแต่จะประทาน” การซื้อหนังสือในพื้นเมืองก็สะดวก จึงซื้อมาด้วยอย่างนั้นเป็นนิจ




(๘)

แต่ความที่กล่าวไว้ข้างต้นนิทานนี้ ที่ว่านายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ดี ที่ว่าคนในวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกหนังสือหอหลวงไว้ และต่อมาเอาออกขายแก่ฝรั่งและผู้เล่นสะสมของเก่าก็ดี ไม่มีใครรู้มากว่า ๒๐ ปี เค้าเงื่อนเพิ่งมาปรากฏขึ้นเมื่อฉันซื้อหนังสือเข้าหอพระสมุดฯ ดังพรรณนามา ด้วยวันหนึ่งมีคนเอาหนังสือพระราชพงศาวดาร เป็นฉบับเขียนเส้นดินสอมาขาย ๒ เล่มสมุดไทย ฉันเห็นมีลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเส้นดินสอเหลือง ทรงเขียนแก้ไขเพิ่มเติมเป็นแห่งๆ ไปตลอดทั้งเล่ม ฉันตีราคาให้เล่มละ ๑๐ บาท แต่ไม่บอกว่าเพราะมีพระราชหัตถเลขาอยู่ในนั้น ผู้ขายก็พิศวง บอกพนักงานรับหนังสือว่าหนังสือเรื่องนั้นยังมีจะเอามาขายอีก แล้วเอามาขายทีละ ๓ เล่ม ๔ เล่ม ฉันก็ให้ราคาเล่มละ ๑๐ บาทเสมอทุกครั้ง ได้หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาถึง ๒๒ เล่ม จนผู้ขายบอกว่าหมดฉบับที่มีเพียงเท่านั้น

ฝ่ายตัวฉัน ตั้งแต่ได้หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามา ๒ เล่มก็เกิดพิศวง ด้วยเห็นชัดว่าหนังสือฉบับนั้นเป็นของหลวงอันอาลักษณ์รักษาไว้ในหอหลวง เหตุไฉนจึงตกมาเป็นของคนชั้นราษฎร เอาออกเที่ยวขายได้ตามชอบใจ ฉันจึงเรียกหัวหน้าพนักงานรับหนังสือมากระซิบสั่งให้สืบดู ว่าผู้ที่เอามาขายเป็นคนทำการงานอย่างไร และมีสำนักหลักแหล่งอยู่ที่ไหน เขาสืบได้ความจากผู้รู้จัก ว่าคน ๒ คนที่เอาหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาขายนั้น เดิมเป็นมหาดเล็กอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ แต่เมื่อกรมหลวงบดินทร์ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว เห็นเที่ยวร่อนเร่อยู่ จะสำนักอยู่ที่ไหนหาทราบไม่ พอฉันได้ยินว่าคนที่เอาหนังสือมาขาย เคยเป็นมหาดเล็กอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็รู้สึกเหมือนอย่างว่าใครเปิดแสงไฟฟ้าให้แลเห็นเรื่องประวัติหนังสือหอหลวงในทันที ยิ่งคิดไปถึงกรณีต่างๆ ที่เคยรู้เห็นมาแต่ก่อนก็ยิ่งเห็นตระหนักแน่ชัด ด้วยเป็นเรื่องติดต่อสอดคล้องกันมาตั้งแต่กรมหลวงบดินทร์ฯ เอาหนังสือหอหลวงไปรักษาไว้ที่วัง แล้วเอาออกอวดให้คนดูเมื่องาน ๑๐๐ ปี นายกุหลาบได้เห็นจึงพยายามขอยืมจากกรมหลวงบดินทร์ฯ ไปลอบจ้างทหารมหาดเล็กให้คัดสำเนา เอาไปดัดแปลงสำนวนออกพิมพ์ ครั้นถึงเวลาเมื่อขนหนังสือหอหลวงกลับคืนเข้าไปไว้ในวังตามเดิม มีคนที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกหนังสือหอหลวงไว้ แล้วผ่อนขายไปแก่พวกฝรั่งและผู้สะสมของเก่า จึงปรากฏว่ามีหนังสือฉบับหลวงออกเที่ยวขาย จนที่สุดถึงเอามาขายแก่ตัวฉันเอง จึงรู้ว่าล้วนแต่ออกมาจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ทั้งนั้น แต่ผู้ขายหนังสือไม่รู้ว่าฉันให้สืบ เมื่อขายหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้หมดแล้ว ยังเอาหนังสือกฎหมายฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งประทับตรา ๓ ดวงมาขายที่หอพระสมุดฯ อีก ๒ เล่ม ฉันตีราคาให้เล่มละ ๒๐ บาท เลยได้ความรู้อยู่ข้างจะขบขัน ด้วยผู้ขายดีใจจนออกปากแก่พนักงานรับหนังสือ ว่าเสียดายไม่รู้ว่าหอพระสมุดฯ จะให้ราคาถึงเท่านั้น เคยเอาไปบอกขายนายกุหลาบเล่มหนึ่ง นายกุหลาบว่าจะให้ ๒๐ บาท ครั้นเอาหนังสือไปให้ได้เงินแต่ ๒ บาท นอกจากนั้นทวงเท่าใดก็ไม่ได้ ที่ว่านี้คือกฎหมายเล่มที่นายกุหลาบเอาไปแก้ศักราชนั่นเอง ก็ได้ไปจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ เหมือนกัน เมื่อขายกฎหมายแล้วผู้ขายบอกว่าหนังสือซึ่งมีขาย หมดเพียงเท่านั้น ก็เห็นจะเป็นความจริง เพราะคนขายได้เงินมาก และหอพระสมุดฯ ก็มิได้ทำให้หวาดหวั่นอย่างใด ถ้ายังมีหนังสือคงเอามาขายอีก จึงเห็นพอจะอ้างได้ว่าเก็บหนังสือหอหลวงซึ่งยังตกค้างอยู่ในแหล่งกรมหลวงบดินทร์ฯ กลับมาได้สิ้นเชิง เมื่อฉันซื้อหนังสือเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่ตัวฉันยังมีกิจเกี่ยวข้องกับหนังสือหลวง ซึ่งพลัดพรายไปอยู่ที่อื่นต่อมาอีกด้วยเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ฉันไปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงกรุงลอนดอน ฉันนึกขึ้นว่าเป็นโอกาสที่จะตรวจดูให้รู้ว่าอังกฤษได้หนังสือฉบับเขียนไปจากเมืองไทยสักเท่าใด ฉันจึงให้ไปบอกที่หอสมุดของรัฐบาล (British Museum Library) ว่าฉันอยากจะเห็นหนังสือไทยฉบับเขียนที่มีอยู่ในหอสมุดนั้น ถ้าหากเขายังไม่ได้ทำบัญชี จะให้ฉันช่วยบอกเรื่องให้ลงบัญชีด้วยก็ได้ ฉันหมายว่าถ้าพบเรื่องที่ไม่มีฉบับอยู่ในเมืองไทย ก็จะขอคัดสำเนาด้วยรูปฉายเอากลับมา ฝ่ายอังกฤษเขาเคยได้ยินชื่อว่าฉันเป็นนายกหอพระสมุดฯ ก็ยินดีที่ฉันจะบอกให้อย่างนั้น ครั้นถึงวันนัด เขาขนสมุดหนังสือไทยบรรดามีมารวมไว้ในห้องหนึ่ง และให้พนักงานทำบัญชีมาคอยรับ ฉันไปนั่งตรวจ และบอกเรื่องแปลเป็นภาษาอังกฤษให้เขาลงบัญชีทุกเล่ม ต้องไปนั่งอยู่ ๒ วันจึงตรวจหมด ด้วยในหอสมุดนั้นมีหนังสือไทยมากกว่าที่อื่น แต่เห็นล้วนเป็นเรื่องที่มีในหอพระสมุดฯ ทั้งนั้น ก็ไม่ต้องขอคัดสำเนามา เมื่อฉันไปถึงกรุงเบอร์ลิน ให้ไปบอกอย่างเช่นที่กรุงลอนดอน รัฐบาลเยอรมันก็ให้ฉันตรวจหนังสือไทยด้วยความยินดีอย่างเดียวกัน หนังสือไทยที่ในหอสมุดกรุงเบอร์ลินมีน้อยกว่าในหอสมุดกรุงลอนดอน แต่เป็นหนังสือฉบับหลวงซึ่งได้ไปจากหอหลวงในกรุงเทพฯ โดยมาก เขาเชิดชูหนังสือไตรภูมิฉบับหลวงครั้งกรุงธนบุรี ซึ่งซื้อราคาถึง ๑,๐๐๐ บาทนั้นเหมือนอย่างว่าเป็นนายโรง แต่ประหลาดอยู่ที่หนังสือไตรภูมินั้นมี ๒ ฉบับ สร้างก็ครั้งกรุงธนบุรีด้วยกัน และเหมือนกันทั้งตัวอักษรและรูปภาพ ขนาดสมุดก็เท่ากัน ฉบับหนึ่งคุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด รัชกาลที่ ๔) ได้มาจากไหนไม่ปรากฏ แต่ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อตั้งหอพุทธศาสนสังคหะ แล้วโอนมาเป็นของหอพระสมุดสำหรับพระนคร จึงใส่ตู้กระจกไว้ให้คนชมอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ เพราะฉะนั้นถึงเยอรมันเอาไปเสียฉบับหนึ่ง ก็หาสูญสิ้นจากเมืองไทยไม่ แม้เรื่องอื่นๆ ที่เยอรมันได้ไป เรื่องก็ยังมีอยู่ในเมืองไทยทั้งนั้น จึงไม่ต้องขอคัดสำเนามา นึกเสียดายที่ไม่ได้ตรวจในหอสมุดของฝรั่งเศสในครั้งนั้นด้วย เพราะเมื่อไปถึงกรุงปารีส ฉันยังไม่ได้คิดขึ้นถึงเรื่องตรวจหนังสือไทย จึงผ่านไปเสียแต่แรก แล้วก็ไม่มีโอกาสอีก




(๙)

เมื่อฉันออกจากตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา พ้นจากราชการทั้งปวงแล้ว ออกไปสำราญอิริยาบถตามประสาคนแก่ชราอยู่ที่เมืองปีนัง ทราบว่าทางกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงระเบียบการราชบัณฑิตยสภาหลายอย่าง เป็นต้นว่าตั้ง “ราชบัณฑิตยสถาน” เป็นคณะผู้รู้ แยกออกจากกรมการต่างๆ ซึ่งเคยอยู่ในราชบัณฑิตยสภามาแต่ก่อน ส่วนกรมการต่างๆ นั้น แผนกหอพระสมุดสำหรับพระนครคงเป็นแผนกอยู่อย่างเดิม เรียกว่า “หอสมุดแห่งชาติ” แผนกพิพิธภัณฑสถานก็คงอยู่อย่างเดิม เรียกว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” แผนกศิลปากรก็คงอยู่อย่างเดิม เอากรมมหรสพเพิ่มเข้าอีกแผนกหนึ่ง เรียกทั้ง ๔ แผนกรวมกันว่า “กรมศิลปากร” มีอธิบดีเป็นผู้บังคับการทั่วไป จะว่าแต่เฉพาะที่เนื่องด้วยหนังสือหอหลวง ทราบว่าหอสมุดแห่งชาติซื้อมรดกหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ ได้หนังสือหอหลวงซึ่งไปตกอยู่ที่หม่อมเจ้าปิยภักดีนาถมาเข้าหอสมุดแห่งชาติหมด และต่อมารัฐบาลให้โอนหนังสือหอหลวงบรรดาที่อยู่ในกรมราชเลขาธิการ (คือที่กรมอาลักษณ์รักษาแต่เดิม) ส่งไปไว้ในหอสมุดแห่งชาติทั้งหมด เป็นสมุดฉบับเขียนหลายพันเล่ม เดี๋ยวนี้อาจจะอ้างได้ว่าหนังสือหอหลวงซึ่งกระจัดพลัดพรายแยกย้ายกันอยู่ตามที่ต่างๆ มากว่า ๕๐ ปี กลับคืนมาอยู่ในที่อันเดียวกันแล้ว ถึงต้นฉบับจะสูญไปเสียบ้าง เช่นถูกฝรั่งซื้อเอาไปไว้เสียต่างประเทศ ฉันได้ไปตรวจก็ปรากฏว่าเรื่องของหนังสืออันเป็นตัววิทยสมบัติของบ้านเมืองมิได้สูญไปด้วย ที่จะหายสูญทั้งต้นฉบับและตัวเรื่องเห็นจะน้อย เพราะฉะนั้น ถึงตัวฉันพ้นกิจธุระมาอยู่ภายนอกแล้ว ก็มีความยินดีด้วยเป็นอันมาก.
40  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 02 มีนาคม 2567 13:29:13


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง

(๑)

หอหลวง เป็นที่เก็บรักษาหนังสือซึ่งเป็นแบบฉบับ ตำรับตำราและจดหมายเหตุราชการบ้านเมือง (ที่เรียกว่า “หอหลวง” เห็นจะเป็นคำย่อมาแต่ “หอหนังสือหลวง”) มีในพระราชวังมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็มีหอหลวงอยู่ที่ในพระราชวังเช่นเดียวกัน ฉันเคยเห็นเป็นตึกชั้นเดียวหลังหนึ่ง อยู่ริมถนนตรงหน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ยังมีรูปภาพตึกนั้นเขียนไว้ในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐฯ (ห้องที่เขียนการพิธีทำขนมเบื้องเลี้ยงพระ) อาลักษณ์เป็นพนักงานรักษาหนังสือหอหลวง จึงทำการของกรมอาลักษณ์ที่ตึกนั้นด้วย เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเรียกตึกนั้นว่า “ห้องอาลักษณ์” ด้วยอีกอย่างหนึ่ง

ในรัชกาลที่ ๕ (ดูเหมือนในปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙) เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โปรดให้รื้อตึกหอหลวงกับตึกสำหรับราชการกรมอื่นๆ ที่รายเรียงอยู่แถวเดียวกันลง เพื่อจะสร้างใหม่ให้งามสมกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก็ในเวลารื้อตึกสร้างใหม่นั้น จำต้องย้ายของต่างๆ อันเคยอยู่ในตึกแถวนั้นไปไว้ที่อื่น สมัยนั้นกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นอักษรสารโสภณ ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์ หาที่อื่นเก็บหนังสือหอหลวงไม่ได้ จึงให้ขนเอาไปรักษาไว้ที่วังของท่านอันอยู่ต่อเขตวัดพระเชตุพนฯ ไปข้างใต้ หนังสือหอหลวงก็ไปอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ แต่นั้นมาหลายปี




(๒)

เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ มีงานฉลองอายุพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในงานนั้นมีการแสดงพิพิธภัณฑ์ เรียกกันในสมัยนั้นตามภาษาอังกฤษว่า “เอ๊กซหิบิเชน” สร้างโรงชั่วคราวเป็นบริเวณใหญ่ในท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ตลอดจนคฤหบดีที่มีใจจะช่วย ให้จัดของต่างๆ อันควรอวดความรู้และความคิด กับทั้งฝีมือช่างของไทยมาตั้งให้คนดู จัดที่แสดงเป็นห้องๆ ต่อกันไปตามประเภทสิ่งของ ครั้งนั้นกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงรับแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาสมุดในหอหลวงที่มีมาแต่โบราณมาตั้งอวดห้องหนึ่ง นาย ก.ส.ร. กุหลาบรับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่ง อยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทร์ฯ ด้วยเป็นของประเภทเดียวกัน ฉันเคยไปดูทั้ง ๒ ห้อง และเริ่มรู้จักตัวนายกุหลาบเมื่อครั้งนั้น เรื่องประวัติของนายกุหลาบคนนี้กล่าวกันว่า เดิมรับจ้างเป็นเสมียนอยู่ในโรงสีไฟของห้างมากวลด์ จึงเรียกกันว่า “เสมียนกุหลาบ” ทำงานมีผลจนตั้งตัวได้ ก็สร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำข้างใต้วัดราชาธิวาสฯ นายกุหลาบเป็นผู้มีอุปนิสัยรักรู้โบราณคดี ได้พยายามหาหนังสือฉบับแรกพิมพ์ เช่นหมายประกาศที่พิมพ์เป็นใบปลิว และหนังสือเรื่องต่างๆ ที่พิมพ์เป็นเล่มสมุดแต่ในรัชกาลที่ ๔ รวบรวมไว้ได้มากกว่าผู้อื่น จึงกล้ามารับแสดงหนังสือฉบับพิมพ์ในงานครั้งนั้น ก็การแสดงพิพิธภัณฑ์เปิดให้คนดูอยู่นาน นายกุหลาบมีโอกาสเข้าไปดูหนังสือหอหลวงได้ทุกวัน เพราะห้องอยู่ติดต่อกัน เมื่อได้เห็นหนังสือหอหลวงมีเรื่องโบราณคดีต่างๆ ที่ตัวไม่เคยรู้อยู่เป็นอันมากก็ติดใจ อยากได้สำเนาไปไว้เป็นตำราเรียน จึงตั้งหน้าประจบประแจงกรมหลวงบดินทร์ฯ ตั้งแต่ที่ท้องสนามหลวง จนเลิกงานแล้วก็ยังตามไปเฝ้าแหนที่วังต่อมา จนกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงพระเมตตา นายกุหลาบทูลขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงบางเรื่อง แต่กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ประทานอนุญาต ตรัสว่าหนังสือหอหลวงเป็นของต้องห้าม มิให้ใครคัดลอก นายกุหลาบจนใจ จึงคิดทำกลอุบายทูลขออนุญาตเพียงยืมไปอ่านแต่ครั้งละเล่มสมุดไทย และสัญญาว่าพออ่านแล้วจะรีบส่งคืนในวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ทรงระแวง ก็ประทานอนุญาต นายกุหลาบจึงไปว่าจ้างพวกทหารมหาดเล็กที่รู้หนังสือ เตรียมไว้สองสามคน สมัยนั้นฉันเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รู้จักตัวผู้ที่ไปรับจ้างนายกุหลาบคนหนึ่งชื่อนายเมธ

นายเมธนั้นมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “เมธะ” และมีสร้อยชื่อต่อไปยาว เป็นบุตรของจ่าอัศวราช จ่าอัศวราชตั้งชื่อลูกเป็นบทกลอนอย่างแปลกประหลาด ฉันยังจำได้ จึงจดฝากไว้ให้ผู้อื่นรู้ด้วยในที่นี้

๑. อาทิก่อน แม่ “กลีบ” เรนู
๒. เมธะ แปลว่ารู้ นาย “เมธ” ปะสิมา
๓. “กวี” ปรีชา ปิยบุตรที่สาม
๔. “ฉวี” ผิวงาม บุตรแม่พริ้มแรกเกิด
๕. “วรา” ประเสริฐ ที่สองงามสม
๖. “กำดัด” ทรามชม กัลยาลำยอง
๗. “สาโรช” บัวทอง พิศพักตร์ประไพ
๘. “สุมน” สุมาลัย เยาวลักษณ์นารี
๙. “บรม” แปลว่ามี ปรมังลาภา
๑๐. “ลิขิต” เลขา บุตร บุตรพัลลภ
๑๑. “สุพรรณ” วรนพ พคุณสริรา

ที่เรียกกันแต่ตามคำที่หมาย “… ……” ไว้ ลูกผู้ชายรู้หนังสือไทยดีทุกคน

พอนายกุหลาบได้หนังสือจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียน ข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่ในพระระเบียง แล้วเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้คนคัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกสมุดเอาหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม แต่พวกทหารมหาดเล็กที่ไปรับจ้างคัด ก็ไม่รู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือมาจากไหนและจะคัดเอาไปทำไม เห็นแปลกแต่ที่รีบคัดให้หมดเล่มในวันเดียว ได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกัน ตัวฉันได้ยินเล่าก็ไม่เอาใจใส่ในสมัยนั้น นายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่างๆ ไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องเนื่องด้วยโบราณคดี แม้จนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้ แต่เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้วเกิดหวาดหวั่น ด้วยรู้ตัวว่าลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลกจากต้นฉบับเดิม เพื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิใช่ฉบับหลวง เพราะฉะนั้น หนังสือเรื่องต่างๆ ที่นายกุหลาบคัดไปจากหอหลวง เอาไปทำเป็นฉบับขึ้นใหม่ จึงมีความที่แทรกเข้าใหม่ระคนปนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง




(๓)

ถึง พ.ศ.๒๔๒๖ นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งลักคัดจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเสร็จแล้วเรื่องหนึ่ง ส่งไปให้หมอสมิทที่บางคอแหลมพิมพ์ นายกุหลาบตั้งชื่อหนังสือเรื่องนั้นว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” คือคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทย ที่พม่ากวาดเอาไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ไปเล่าเรื่องพงศาวดารและขนบธรรมเนียมไทยแก่พม่า พอหนังสือเรื่องนั้นพิมพ์ออกจำหน่าย ใครอ่านก็พากันพิศวง ด้วยฉบับเดิมเป็นหนังสือซ่อนอยู่ในหอหลวง ลับลี้ไม่มีใครเคยเห็น และไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้มาจากไหน นายกุหลาบก็เริ่มมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้รู้โบราณคดี และมีตำรับตำรามาก แต่หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่นายกุหลาบให้พิมพ์นั้น มีผู้ชำนาญวรรณคดีสังเกตเห็นว่ามีสำนวนแทรกใหม่ปนอยู่ในนั้น แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสังเกตเห็นเช่นนั้น จึงทรงปรารภในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ตอนพิธีถือน้ำ ว่า “แต่ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัด(ฉบับพิมพ์) นั้น ก็ยกความเรื่องถือน้ำไปว่านอกพระราชพิธี มีเค้ารูปความคล้ายคลึงกับที่ได้ยินเล่ากันมาบ้าง แต่พิสดารฟั่นเฝือเหลือเกิน จนจับได้ชัดเสียแล้วว่ามีผู้แทรกแซมความแต่งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนหาได้เสด็จพระราชดำเนินออก ให้ข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาถึงวัดไม่ พึ่งจะมาเกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็เหตุใดในคำให้การขุนหลวงหาวัด จึงได้เล่าเหมือนในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ จนแต่งตัวแต่งตนและมีเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราวุ่นวายมากไป ซึ่งไม่ได้เคยมีมาแต่ก่อนเลยดังนี้ ก็เห็นว่าเป็นอันเชื่อไม่ได้ในตอนนั้น พึ่งมีปรากฏในฉบับที่ตีพิมพ์นี้ฉบับเดียว สำนวนที่เรียงก็ผิดกับอายุขุนหลวงหาวัด ถ้าของเดิมขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ถึงเรื่องนี้จริง เมื่อเราได้อ่านทราบความก็จะเป็นที่พึงใจ เหมือนหนึ่งทองคำเนื้อบริสุทธิ์ซึ่งเกิดจากตำบลบางตะพาน เพราะท่านเป็นเจ้าแผ่นดินเอง ท่านกล่าวเอง ก็ย่อมจะไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่นี่เมื่อมีผู้ส่งทองให้ดูบอกว่าทองบางตะพาน แต่มีธาตุอื่นๆ เจือปนมากจนเป็นทองเนื้อต่ำ ถึงว่าจะมีทองบางตะพานเจืออยู่บ้างจริงๆ จะรับได้หรือว่าทองทั้งก้อนนั้นเป็นทองบางตะพาน ผู้ซึ่งทำลายของแท้ให้ปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนี้ ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวงซึ่งควรจะได้รับ แล้วเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้รักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้ หนังสือนี้จะเคลื่อนคลาดมาจากแห่งใดก็หาทราบไม่ แต่คงเป็นของซึ่งไม่บริสุทธิ์ซึ่งเห็นได้ถนัด” ดังนี้ แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบเป็นผู้ดัดแปลงสำนวน เพราะไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือเรื่องนั้นไปจากที่ไหน และต้นฉบับเดิมถ้อยคำสำนวนเป็นอย่างไร จนมาถึงรัชกาลที่ ๖ ในเวลาฉันเป็นนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นสมุดไทยมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ อีกฉบับหนึ่ง เดิมเป็นของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เรียกชื่อหนังสือนั้นว่า “พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ” และมีบานแพนกอยู่ข้างต้นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงจัดการแปลหนังสือนั้นเป็นภาษาไทย ก็เป็นอันได้หลักฐานว่านายกุหลาบเอาไปเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” เอาหนังสือ ๒ ฉบับสอบทานกันก็เห็นได้ว่าแก้ความเดิมเสียมาก สมดังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภ เมื่อนายกุหลาบมีชื่อเสียงขึ้นด้วยพิมพ์หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ประจวบกับเวลาตั้งกรมโปลิสท้องน้ำ ซึ่งโปรดให้เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต) เป็นผู้บัญชาการ เจ้าพระยานรรัตนฯ เห็นว่านายกุหลาบเป็นคนกว้างขวางทางท้องน้ำและมีความรู้ ผู้คนนับหน้าถือตา จึงเอามาตั้งเป็น “แอดชุแตนต์” (ยศเสมอนายร้อยเอก) ในกรมโปลิสท้องน้ำ นายกุหลาบจึงได้เข้าเป็นข้าราชการแต่นั้นมา



(๔)

สมัยนั้นหอพระสมุดวชิรญาณเพิ่งแรกตั้ง (ชั้นเมื่อยังเป็นหอพระสมุดของพระโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมกันเป็นเจ้าของ) นายกุหลาบขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก เจ้านายที่เป็นกรรมการทราบกันแต่ว่านายกุหลาบเป็นผู้รักหนังสือ ก็รับเข้าเป็นสมาชิกหอพระสมุดฯ ตามประสงค์ ตั้งแต่นายกุหลาบได้เป็นสมาชิกหอพระสมุดฯ ก็มีแก่ใจให้หนังสือฉบับเขียนเรื่องต่างๆ ที่ได้ลักคัดสำเนาจากหอหลวงเอาไปแปลงเป็นฉบับใหม่ เป็นของกำนัลแก่หอพระสมุดฯ หลายเรื่อง กรมพระสมมตอมรพันธ์กับตัวฉันเป็นกรรมการหอพระสมุดฯ ก็ไม่เคยเห็นหนังสือในหอหลวงมาแต่ก่อน และไม่รู้ว่าย้ายหนังสือไปเก็บไว้ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ เป็นแต่พิจารณาดูหนังสือที่นายกุหลาบให้หอพระสมุดฯ เห็นแปลกที่เป็นสำนวนเก่าแกมใหม่ระคนปนกันหมดทุกเรื่อง ถามนายกุหลาบว่าได้ต้นฉบับมาจากไหน นายกุหลาบก็อ้างแต่ผู้ตาย เช่น พระยาศรีสุนทรฯ (ฟัก) และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นต้น อันจะสืบสวนไม่ได้ จึงเกิดสงสัยว่าที่เป็นสำนวนใหม่นั้นน่าจะเป็นของนายกุหลาบแทรกลงเอง จึงมีความเท็จอยู่มาก แต่ตอนที่เป็นสำนวนเดิม นายกุหลาบจะได้ต้นฉบับมาจากไหนก็ยังคิดไม่เห็น กรมพระสมมตฯ จึงตรัสเรียกหนังสือพวกนั้นว่า “หนังสือกุ” เพราะจะว่าแท้จริงหรือว่าเท็จไม่ได้ทั้งสองสถาน กรมพระสมมตฯ ใคร่จะทอดพระเนตรหนังสือพวกนั้นให้หมด จึงทรงผูกพันทางไมตรีกับนายกุหลาบเหมือนอย่างไม่รู้เท่า นายกุหลาบเข้าใจว่ากรมพระสมมตอมรพันธ์ทรงนับถือ ก็เอาหนังสือฉบับที่ทำขึ้นมาถวายทอดพระเนตร จนถึงพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ (ตอนรัชกาลที่ ๓) ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง ก็หนังสือเรื่องนั้นเป็นหนังสือแต่งใหม่ในรัชกาลที่ ๕ สำเนาฉบับเดิมมีอยู่ในหอพระสมุดฯ เมื่อได้ฉบับของนายกุหลาบมา เอาสอบกับฉบับเดิม ก็จับได้ว่านายกุหลาบแทรกลงตรงไหนๆ บ้าง กรมพระสมมตฯ กราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงให้ทรงทราบ ดำรัสเรียกเอาไปทอดพระเนตร ทรงจับได้ต่อไปว่าความที่แทรกนั้นนายกุหลาบคัดเอามาจากหนังสือเรื่องไหนๆ ก็เป็นอันรู้ได้แน่ชัด ว่าที่หนังสือฉบับนายกุหลาบผิดกับฉบับเดิม เป็นเพราะนายกุหลาบแก้ไขแทรกลงทั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรง “มันไส้” ถึงเขียนลายพระราชหัตถเลขาลงในต้นฉบับของนายกุหลาบ ทรงชี้ให้เห็นตรงที่แทรกบ้าง บางแห่งก็ทรงเขียนเป็นคำล้อเลียน หรือคำบริภาษแทรกลงบ้าง แล้วพระราชทานคืนออกมายังกรมพระสมมตฯ กรมพระสมมตฯ ต้องให้อาลักษณ์เขียนตามฉบับของนายกุหลาบขึ้นใหม่ส่งคืนไปให้เจ้าของ เอาหนังสือของนายกุหลาบที่มีลายพระราชหัตถเลขารักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณจนบัดนี้.



(๕)

ต่อมานายกุหลาบต้องออกจากตำแหน่ง (แอดชุแตนต์) โปลิสท้องน้ำ ก็เลยออกจากสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณไปด้วย นายกุหลาบจึงไปคิดออกหนังสือพิมพ์วารสาร เรียกชื่อว่า “สยามประเภท” เหมือนอย่างหอพระสมุดฯ ออกหนังสือ “วชิรญาณ” ทำเป็นเล่มสมุดออกขายเป็นรายเดือน เอาเรื่องต่างๆ ที่คัดไปจากหอหลวงและไปดัดแปลงดังว่านั้น พิมพ์ในหนังสือสยามประเภท และเขียนคำอธิบายปดว่าได้ฉบับมาจากไหนๆ ไปต่างๆ เว้นแต่ที่กรมหลวงบดินทร์ฯ นั้น มิได้ออกพระนามให้แพร่งพรายเลย คนทั้งหลายพากันหลงเชื่อก็นับถือนายกุหลาบ ถึงเรียกกันว่า “อาจารย์กุหลาบ” ก็มี ครั้นจำเนียรกาลนานมาเมื่อนายกุหลาบหมดเรื่องที่ได้ไปจากหอหลวง ก็ต้องแต่งเรื่องต่างๆ แต่โดยเดาขึ้นในหนังสือสยามประเภท แต่อ้างว่าเป็นเรื่องพงศาวดารแท้จริง แต่ก็ยังไม่มีใครทักท้วงประการใดๆ จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัย ตอนเมื่อจะเสียแก่กรุงศรีอยุธยาพิมพ์ในหนังสือสยามประเภท ว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า “พระปิ่นเกส” สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า “พระจุลปิ่นเกส” เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้น ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นความจริง ก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้า ไปแปลงเป็นพระปิ่นเกสและพระจุลปิ่นเกส เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิในการแต่งหนังสือ จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภ สุทัศน์) เมื่อยังเป็นที่พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าจะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติ โปรดให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงเลี้ยงบ้าสัก ๗ วัน แล้วก็ปล่อยไป นายกุหลาบเข็ดไปหน่อย ถึง ร.ศ.๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๓) เมื่องานพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ก็แต่งอธิบายแบบแผนงานพระบรมศพครั้งกรุงศรีอยุธยาในหนังสือสยามประเภท เป็นที่ว่างานพระเมรุที่ทำครั้งนั้นยังไม่ถูกต้องตามแบบแผน และอ้างว่าตัวมีตำราเดิมอยู่ พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ข้าหลวงเรียกนายกุหลาบมาถาม ก็รับสารภาพว่าเป็นแต่คิดแต่งขึ้นอวดผู้อื่น หามีตำรับตำราอย่างอ้างไม่ ครั้งนี้เป็นแต่โปรดให้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคมปีนั้น หาได้ลงโทษนายกุหลาบอย่างใดไม่ นายกุหลาบก็ไม่เข็ด พอถึงงานพระเมรุสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิษฐ ร.ศ.๑๑๙ นั่นเอง นายกุหลาบแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชพิมพ์อีกเรื่องหนึ่ง อ้างว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับแจก คราวนี้อวดหลักฐานเรื่องต่างๆ ที่ตนกล่าวอ้าง ว่าล้วนได้มาจากนักปราชญ์ซึ่งทรงเกียรติคุณ คือกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ โดยเฉพาะ เพราะตนได้เคยเป็นสัทธิงวิหาริก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระดำริว่าถ้าเฉยอยู่ นายกุหลาบจะพาให้คนหลงเชื่อเรื่องพงศาวดารเท็จที่นายกุหลาบแต่งมากไป จึงโปรดให้มีกรรมการ ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น) เป็นประธานสอบสวน ก็ได้ความตามคำสารภาพของนายกุหลาบเอง กับทั้งคำพยาน ว่าหนังสือพงศาวดารที่นายกุหลาบแต่ง และคำอ้างอวดของนายกุหลาบ ที่ว่าเคยเป็นศิษย์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ก็เป็นความเท็จ ครั้งนี้ก็เป็นแต่โปรดให้ประกาศรายงานกรรมการ มิให้ลงโทษนายกุหลาบอย่างใด สำนวนการไต่สวนครั้งนั้น หอพระสมุดฯ พิมพ์เป็นเล่มสมุดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ ยังปรากฏอยู่

ต่อมาเมื่อนายกุหลาบหมดทุนที่จะออกหนังสือสยามประเภทต่อไปแล้ว ไปเช่าตึกแถวอยู่ที่ถนนเฟื่องนครตรงวัดราชบพิธฯ เป็นแต่ยังรับเป็นที่ปรึกษาของคนหาความรู้ เช่นผู้ที่อยากรู้ว่าสกุลของตนจะสืบชั้นบรรพบุรุษถอยหลังขึ้นไปถึงไหน ไปไถ่ถาม นายกุหลาบก็รับค้นคิดสมมตขึ้นไปให้เกี่ยวดองกับผู้มีศักดิ์เป็นบรรพบุรุษสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ยังมีคนนับหน้าถือตา ว่ามีความรู้มากอยู่ไม่ขาด ถึงปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) นายกุหลาบยัง “พ่นพิษ” อีกครั้งหนึ่ง ในสมัยเมื่อมีหอพระสมุดสำหรับพระนครแล้ว จะเอามาเล่าเสียด้วยให้เสร็จไปในตอนนี้ เพราะเกี่ยวกับประวัติหนังสือหอหลวงด้วย วันหนึ่งฉันไปหอพระสมุดฯ เห็นใบปลิวซึ่งนายกุหลาบพิมพ์โฆษณาส่งมาให้หอพระสมุดฯ ฉบับหนึ่ง อวดว่าได้ต้นหนังสือกฎหมายฉบับหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยามาเล่มหนึ่ง และหนังสือนั้นเขียนเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๖๖ ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ มีตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และตราบัวแก้ว ประทับเป็นสำคัญ ถ้าใครไม่เชื่อจะไปพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตาตนเองก็ได้

ความประสงค์ของนายกุหลาบที่โฆษณา ดูเหมือนจะใคร่ขายหนังสือนั้น แต่ตามคำโฆษณามีพิรุธเป็นข้อสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยตามปฏิทินจุลศักราช ๑๐๖๖ เป็นปีวอก มิใช่ปีชวดดังนายกุหลาบอ้าง เวลานั้นฉันเป็นสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร คิดสงสัย จึงกระซิบสั่งพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ให้ไปขอดูเหมือนอย่างตัวอยากรู้เห็นเอง พระยาปริยัติฯ กลับมาบอกว่าหนังสือกฎหมายที่นายกุหลาบได้ไว้นั้นเป็นสมุดไทยกระดาษขาวเขียนเส้นหมึก ดูเป็นของเก่ามีตราประทับ ๓ ดวง และมีกาลกำหนดว่าปีชวดจุลศักราช ๑๐๖๖ ตรงตามนายกุหลาบอ้าง แต่พระยาปริยัติฯ สังเกตดูตัวเลขที่เขียนศักราช ตรงตัว ๐ ดูเหมือนมีรอยขูดแก้ ฉันได้ฟังก็แน่ใจว่านายกุหลาบได้สมุดกฎหมายฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ ไปจากที่ไหนแห่งหนึ่ง ซึ่งในบานแผนกมีกาลกำหนดว่า “ปีชวด ศักราช ๑๑๖๖” นายกุหลาบขูดแก้เลข ๑ ที่เรือนร้อยเขียนแปลงเป็น ๐ ปลอมศักราชถอยหลังขึ้นไป ๑๐๐ ปี ด้วยไม่รู้ว่าจุลศักราช ๑๐๖๖ นั้นเป็นปีวอก มิใช่ปีชวด ปล่อยคำ “ปีชวด” ไว้ให้เห็นชัดว่า ไม่ใช่ต้นฉบับกฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังอ้างในคำโฆษณา ฉันกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงตรัสสั่งเจ้าพระยาอภัยราชา ซึ่งเคยเป็นหมอความนายกุหลาบมาแต่ก่อน ให้ไปเรียกสมุดกฎหมายเล่มนั้นถวายทอดพระเนตร เจ้าพระยาอภัยราชาได้ไปถวายในวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเปิดออกทอดพระเนตรตรัสว่า “ไหนว่าศักราช ๑๐๖๖ อย่างไรจึงเป็น ๑๑๖๖” เจ้าพระยาอภัยราชาก็ตกใจ กราบทูลเล่าถวายว่าเมื่อตอนเช้าวันนั้นจะไปศาลากระทรวงนครบาล เมื่อผ่านหน้าห้องแถวที่นายกุหลาบอยู่ ได้แวะเข้าไปเรียกสมุดกฎหมายนั้นออกมาเปิดดู สังเกตเห็นในบานแผนกลงปีชวด จุลศักราช ๑๐๖๖ ตรงดังนายกุหลาบอ้าง เจ้าพระยาอภัยราชาบอกนายกุหลาบว่า “พระเจ้าอยู่หัวจะทอดพระเนตร” นายกุหลาบก็แสดงความยินดี เลยว่าถ้าต้องพระราชประสงค์ก็จะทูลเกล้าฯ ถวาย เจ้าพระยาอภัยราชาจะไปทำงานที่กระทรวงเสียก่อน จึงบอกนายกุหลาบว่าเวลาบ่ายวันนั้นเมื่อจะไปเฝ้าที่สวนดุสิตจะไปรับหนังสือ เวลาไปรับ นายกุหลาบก็เอาหนังสือมามอบให้โดยเรียบร้อย เจ้าพระยาอภัยราชากราบทูลสารภาพรับผิด ที่ประมาทมิได้เอาสมุดมาเสียด้วยตั้งแต่แรก นายกุหลาบจึงมีโอกาสขูดแก้ศักราชในเวลาเมื่อคอยส่งหนังสือให้เจ้าพระยาอภัยราชานั่นเอง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงฟัง ก็ทรงพระสรวล ดำรัสว่า “พระยารองเมือง ไปเสียรู้นายกุหลาบเสียแล้ว” แล้วพระราชทานสมุดกฎหมายเล่มนั้นมาไว้ให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร รอยที่นายกุหลาบขูดแก้ยังปรากฏอยู่




(๖)

ประวัติหนังสือหอหลวงมีเรื่องหลายตอน ที่เล่ามาแล้วเป็นตอนที่คนทั้งหลายจะรู้เรื่องต่างๆ อันลี้ลับอยู่ในหอหลวง เพราะเหตุที่นายกุหลาบลักคัดเอาสำเนาไปแก้ไขออกโฆษณา จึงต้องเล่าเรื่องประวัติของนายกุหลาบด้วยยืดยาว ยังมีเรื่องประวัติหนังสือหอหลวงเมื่ออยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ต่อไปอีก ด้วยการที่จะสร้างหอหลวงใหม่เริดร้างอยู่ช้านาน จนถึงสมัยเมื่อจัดกระทรวงต่างๆ ใน พ.ศ.๒๔๓๕ โปรดให้รวมกรมอาลักษณ์เข้าในกระทรวงมุรธาธร กรมพระสมมตอมรพันธ์เมื่อยังเป็นกรมหมื่น ได้ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์ จึงให้ไปรับหนังสือหอหลวงจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ เพื่อจะเอากลับเข้าไปรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวังอย่างเดิม เวลาเมื่อจะส่งหนังสือหอหลวงคืนมานั้น มีคนในสำนักกรมหลวงบดินทร์ฯ จะเป็นผู้ใดไม่ปรากฏชื่อ แต่ต้องเป็นมูลนายมีพรรคพวก ลอบแบ่งเอาหนังสือหอหลวงยักยอกไว้ไม่ส่งคืนมาทั้งหมด มาปรากฏเมื่อภายหลังว่ายักยอกเอาหนังสือซึ่งเขียนฝีมือดี และเป็นเรื่องสำคัญๆ ไว้มาก เพราะในเวลานั้นไม่มีบัญชีหนังสือหอหลวงอยู่ที่อื่น นอกจากที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ อันผู้ยักยอกอาจเก็บซ่อน หรือทำลายเสียได้โดยง่าย แต่การที่ยักยอกหนังสือหลวงนั้น กรมหลวงบดินทร์ฯ คงไม่ทรงทราบ พวกอาลักษณ์ที่ไปรับหนังสือก็คงไม่รู้ ได้หนังสือเท่าใดก็ขนมาแต่เท่านั้น หนังสือหอหลวงจึงแตกเป็น ๒ ภาค กลับคืนเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังภาคหนึ่ง พวกที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกเอาไปซ่อนไว้ที่อื่นภาคหนึ่ง ต่อมาเมื่อกรมหลวงบดินทร์ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ชะรอยคนที่ได้หนังสือหอหลวงไว้จะยากจนลง จึงเริ่มเอาหนังสือที่มีรูปภาพและฝีมือเขียนงามๆ ออกขาย โดยอุบายแต่งให้คนชั้นบ่าวไพร่ไปเที่ยวบอกขายทีละเล่มสองเล่ม มีฝรั่งซื้อส่งเข้าหอสมุดในยุโรปบ้าง ไทยที่ชอบสะสมของเก่ารับซื้อไว้บ้าง ฉันเริ่มทราบว่าหนังสือฉบับหอหลวงแตกกระจายไป เมื่อไปเห็นที่ตำหนักหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ เธอมีอยู่ในตู้หลายเล่ม ถามเธอว่าอย่างไรจึงได้หนังสือฉบับหลวงเหล่านั้นไว้ เธอบอกว่ามีผู้เอาไปขาย เธอเห็นเป็นหนังสือของเก่าก็ซื้อไว้ ด้วยเกรงฝรั่งจะซื้อเอาไปเสียจากเมืองไทย แต่ใครเอาไปขายให้เธอ หรือหนังสือเหล่านั้นไปจากที่ไหน เธอหาบอกไม่ บางทีเธอจะไม่รู้เองก็เป็นได้ เกิดลือกันขึ้นครั้งหนึ่งว่ามีผู้เอาหนังสือไตรภูมิฉบับหลวง เขียนประสานสีเมื่อครั้งกรุงธนบุรีไปขายให้เยอรมันคนหนึ่งซื้อส่งไปยังหอสมุดหลวงที่กรุงเบอร์ลินเป็นราคาถึง ๑,๐๐๐ บาทแล้วก็เงียบไป กรณีจึงรู้กันเพียงว่ามีผู้เอาหนังสือฉบับหลวงออกขาย เพราะหนังสือฉบับหลวงย่อมมีชื่ออาลักษณ์ผู้เขียนและผู้ทานอยู่แต่ข้างต้นและมีคำว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” นำหน้าชื่อทุกเล่ม ใครซื้อไว้ก็มักปกปิดด้วยกลัวถูกจับ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าหนังสือฉบับหลวงเหล่านั้น แตกไปจากที่ไหนอยู่ช้านาน

หน้า:  1 [2] 3 4 ... 270
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.438 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 25 มีนาคม 2567 05:10:23