[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 00:59:22 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 146 147 [148] 149 150 ... 273
2941  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: พระบรมฉายาลักษณ์ “สุดท้าย” ร.๕ เมื่อ: 28 ตุลาคม 2559 14:41:50


ภาพประกอบข่าววันสวรรคตรัชกาลที่ ๕ จากหนังสือพิมพ์ L'ILLUSTRATION
วันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ.๑๙๑๐ ซึ่งเป็นภาพพระราชกรณียกิจระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง ใน ค.ศ.๑๙๐๗

พระบรมฉายาลักษณ์ “สุดท้าย” ร.๕
พร้อมลำดับพระอาการก่อนสวรรคตไม่ถึงสัปดาห์

๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ เป็นวันแห่งความวิปโยคของชาวสยามทั้งแผ่นดิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต โดยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานถึง ๔๒ ปี

ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการอิสระ และนักเขียนชื่อดังได้เรียบเรียงลำดับพระอาการ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่ทรงมีพระอาการประชวรว่า ภายหลังทรงขับรถไฟฟ้าออกไปประพาสฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ทุ่งพญาไท แต่มิได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง รับสั่งว่า “ท้องไม่ค่อยสบายจะรีบกลับ”

ต่อมา ระหว่าง ๑๗-๑๙ ตุลาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปีถวายรัชกาลที่ ๔ ในพระบรมมหาราชวัง แต่เนื่องจากพระนาภี (ท้อง) ยังไม่ปกติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมฯ เสด็จแทน

วันที่ ๒๐ ตุลาคม พระอาการกำเริบหนักขึ้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถมีรับสั่งให้ตามหมอฝรั่ง มีนายแพทย์เบอร์เมอร์ นายแพทย์ไรเตอร์ และนายแพทย์ปัวซ์ เข้ามารักษา และอยู่เฝ้าอาการประจำ

วันที่ ๒๑ ตุลาคม เวลาย่ำรุ่งบรรทมตื่น ตรัสว่าพระศอแห้ง แล้วเสวยพระสาธุรสเย็น รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ถวายน้ำเงาะคั้น ๑ ลูก พอเสวยได้ครู่เดียวก็ทรงพระอาเจียนออกมาหมด ในวันนี้ทรงพระราชดำรัสเพียง ๒ ประโยคว่า

“การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไร ก็ให้รักษาเถิด” และ “การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว”

ตอนค่ำวันนี้มีพระบังคนเบา (ปัสสาวะ) ประมาณ ๑ ช้อนชา และเป็น “ครั้งสุดท้าย”

วันที่ ๒๒ ตุลาคม พิษของพระบังคนเบาซึมไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ ทำให้มีพระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ

วันนี้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ แพทย์แผนไทย มาเข้าเฝ้าเพื่อตรวจพระอาการ ทรงพระราชดำรัสเป็น “ครั้งสุดท้าย” ว่า “หมอมาหรือ” แล้วก็มิได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป

เย็นวันนี้พระหทัยเต้นอ่อนลง ลืมพระเนตรได้ แต่หายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล

สมเด็จพระบรมราชินีนาถกราบทูลว่า เสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์ได้ แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตรคล้ายทรงพระกันแสง แบบน้อยพระทัยพระองค์เองว่าทำไมหมดเรี่ยวแรง

หลัง ๒ ยามเพียง ๔๕  นาทีก็เสด็จสวรรคตในลักษณะที่ยังบรรทมหลับอยู่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะ (ไต) พิการ บนชั้นที่ ๓ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริรวมพระชนมพรรษา ๕๗พรรษา



พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งทรงฉายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนสวรรคตไม่ถึงสัปดาห์
หลังประชวรด้วยโรคพระวักกะ (ไต) พิการมา ๕ ปี

ภาพ/เรื่อง : มติชนออนไลน์
2942  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: “นายจ่ายวด” มหาดเล็กอยู่งาน “ปลายพระแท่นบรรทม” วันสวรรคตรัชกาลที่ ๕ เมื่อ: 28 ตุลาคม 2559 14:32:59

“นายจ่ายวด”
มหาดเล็กอยู่งาน “ปลายพระแท่นบรรทม” วันสวรรคตรัชกาลที่ ๕



ริ้วกระบวนพระบรมศพหน้ามณฑลพิธี ในงานพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๕
ภาพจากวารสาร Collier's, Nov.๑๙๑๐

๒๓ ตุลาคม วันปิยมหาราช เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวสยามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ข้อความต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของคำบอกเล่า โดย นายจ่ายวด (นพ ไกรฤกษ์) ซึ่งเป็นมหาดเล็กอยู่งานปลายพระแท่นบรรทมในช่วงวันใกล้วันสวรรคต จนถึงนาทีสุดท้าย


“วันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่ง ๓ คน ขึ้นไปเฝ้าตรวจอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยตามเคย เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยาท่าทางของหมอและเจ้านายไม่สู้ดี ได้ความว่าพระอาการหนักมาก พระบังคนเบาที่คาดว่าจะมีก็ไม่มี พิษของพระบังคนเบาซึมไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ จึงทำให้เป็นพิษเซื่องซึม บรรทมหลับอยู่เสมอ หมอตั้งพระโอสถถวายเร่งให้มีพระบังคนเบาแรงขึ้นทุกที

พวกหมอฝรั่งประชุมกันเขียนรายงานพระอาการยื่่นต่อเจ้านาย เสนาบดี ว่าพระอาการมากเหลือกำลังของหมอที่จะถวายการรักษาแล้ว

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานารถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จมาแต่เช้าได้ทอดพระเนตรรายงานพระอาการที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่าควรให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย ข้าพเจ้าจึงให้นายฉัน หุ้มแพร (ทิตย์ ณ สงขลา) รีบเอารถยนต์ไปรับมาทันที

พระองค์เจ้าสายฯ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน้ำพระเนตรไหล แต่ไม่ตรัสว่าอะไร พระองค์เจ้าสายฯ กลับลงมา ยืนยันว่าพระอาการยังไม่เป็นอะไร เชื่อว่ามีบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่นั้นเป็นตัวฤทธิ์พระโอสถต่างๆ พอฤทธิ์พระโอสถหมดแล้วก็คงจะทรงสบายขึ้น เพราะพระชีพจรก็ยังเต้นเป็นปรกติดี

พระองค์เจ้าสายฯ กลับไปนำพระโอสถมาตั้งถวายแก้ทางพระศอแห้ง ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้ตรัสว่า ‘หมอมาหรือ’ ได้เท่านั้นแล้วก็ไม่ได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป

พระอาการตั้งแต่เช้าไปจนเย็น ไม่มีพระบังคนหนักและเบาเลย พระหฤทัยอ่อนลงมา ยังบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่เสมอ

เวลาย่ำค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปด้วย และเห็นหายพระทัยดังยาวๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุได้แต่ไกล สังเกตดูพระเนตรไม่จับใครเสียแล้ว ลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเอง แต่พระกรรณยังได้ยิน

สมเด็จพระราชินีนาถกราบทูลว่าเสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์รับได้ และกราบทูลว่าพระโอสถแก้พระศอแห้งพระองค์เจ้าสาย ก็ยังรับสั่งว่า “ฮือ”

แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตร คล้ายทรงพระกันแสง พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีซับเช็ดพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์ชุบน้ำถวาย หมอฉีดพระโอสถถวายช่วยบำรุงพระหฤทัยให้แรงขึ้น

ตั้งแต่เวลานี้ต่อไป หมอฝรั่งนั่งประจำคอยจับพระชีพจร ตรวจพระอาการผลัดเปลี่ยนกันประจำอยู่ที่พระองค์

การหายพระทัยค่อยๆเบาลงทุกที พระอาการกระวนกระวายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่มีเลย คงบรรทมหลับอยู่เสมอ เจ้านายจะขึ้นไปเฝ้าอีกครั้ง ก็พอหมอรีบลงมาทูลว่า เสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ พร้อมกันเสด็จขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคมด้วยความเศร้าโศกอาลัย ทรงกันแสงคร่ำครวญสอึกสอื้นทั่วกัน ข้าพเจ้าก็อยู่ที่นั่นด้วย กราบถวายบังคมมีความเศร้าโศกอาลัยแสนสาหัส ร่ำร้องมิได้หยุดหย่อยเลย

ในที่พระบรรทมและตามเฉลียงเต็มไปด้วยฝ่ายในและฝ่ายหน้า ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ระงมเซ็งแซ่และทุ่มทอดกายทั่วไป ประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ถูกลมพายุใหญ่พัดต้นและกิ่งก้านหักล้มราบไปฉันใด บรรดาฝ่ายในและฝ่ายหน้าทั้งหมดล้มกลิ้งเป็นลมไปตามกันฉันนั้น ด้วยความเศร้าโศกาดูรเป็นอย่างล้นเหลือที่จะรำพันให้สิ่นสุดได้”


ภาพ/เรื่อง : มติชนออนไลน์
2943  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: เปิดคำให้การ “นางร้องไห้” ในงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕ เมื่อ: 28 ตุลาคม 2559 14:20:03

ตุลาคม เดือนแห่ง “ปริวิโยค”
เปิดคำให้การ
“นางร้องไห้” ในงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕



เครื่องกงเต๊กในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ ๗ วัน
(ภาพจาก L'Instantane๒ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๑๑)

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ตุลาคมปีนั้น นับเป็นเดือนแห่งความทุกข์โศกของชาวสยามทั้งปวง เมื่อพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม นำความ “ปริวิโยค” ใหญ่หลวงมาสู่คนไทยและผู้อยู่ใต้ร่มพระบารมี

ในงานพระบรมศพครั้งนั้น ยังมี “นางร้องไห้” เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ ๖

หม่อมศรีพรหมา หรือ เจ้าศรีพรหมา ธิดาพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช (เจ้าสุริยะ ณ น่าน) ผู้ครองนครน่าน ชายาหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งเป็นนางกำนัล รับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ได้รับหมายให้เป็นนางร้องไห้ในงานพระบรมศพ ได้เขียนเล่าถึงเรื่องราวและความรู้สึกในห้วงเวลานั้นอย่างละเอียดไว้



หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา

ข้อความส่วนหนึ่ง มีดังนี้

“………..ต่อมาผู้เขียนได้รับหมายให้ไปเป็นนางร้องไห้ ให้ไปตั้งแต่ ๘ โมงเช้าวันนั้น (๒๓ ตุลาคม) โดยแต่งชุดขาวทั้งชุด ท่านผู้สำเร็จราชการของสมเด็จ (คุณท้าวปั้ม) ท่านก็จัดไปตามหมาย เมื่อผู้เขียนออกจากพระตำหนัก จะเข้าไปเป็นนางร้องไห้ในวังหลวง สมเด็จก็ยังไม่คืนพระสติ ภายหลังทราบจากเพื่อนๆ ที่ไมได้เข้าไปเป็นนางร้องไห้ว่า พอรู้สึกพระองค์ ก็ทรงพระกรรแสงจนหมดพระสติไปอีกหลายครั้งหลายคราว

ผู้เขียนได้ไปนั่งร้องไห้อยู่ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท การร้องไห้นั้น แท้ที่จริงเป็นการร้องเพลงอย่างเศร้าที่สุด เกิดมาผู้เขียนก็เพิ่งเคยได้ยิน ขณะนั้นผู้เขียนอายุในราว ๑๙-๒๐ และรู้สึกว่าเพลงร้องไห้นี้ช่างเศร้าเสียนี่กระไร ทุกคนน้ำตาไหลรินจริงและสะอื้นจริงๆ ยิ่งมีเสียงปี่ที่โหยหวน และเสียงกลองชนะ (เปิงพรวด) เลยยิ่งไปกันใหญ่

นางร้องไห้มีผลัดกันหลายผลัด แต่ละผลัดแบ่งเป็นยามๆ คือ ยามรุ่ง ยามเที่ยง ยามค่ำ และสองยาม เมื่อได้เวลาผลัดใครผู้นั้นๆ ก็ไปรวมกันที่พระที่นั่งดุสิตฯ แต่ละผลัดของนางร้องไห้ จะมีทั้งหมด ๑๔ คน  แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ ต้นเสียง ๖ คน นอกนั้นเป็นลูกคู่ พวกต้นเสียงนั้น โดยมากเป็นคนประจำของวงดนตรีของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ส่วนลูกคู่ ๘ คนก็จัดเอาพวกเจ้าจอมที่ยังสาวอยู่ไปรวมทั้งตัวผู้เขียนด้วย

การจะตั้งต้นร้องไห้นั้น ต้องคอยฟังเสียงประโคมก่อน แล้วจึงจะร้องบทเพลงพิเศษโดยร้องกันไปรับกันไป จนเสียงประโคมหยุด เป็นอันหมดพิธีของผลัดนั้น แต่หากผลัดใดประจวบกับวันทำบุญใหญ่ทุกๆ ๗ วัน นางร้องไห้จะต้องร้องแทรกระหว่างยามค่ำกับสองยามอีกวาระหนึ่ง

วันทำบุญใหม่จะมีเจ้านาย ขุนนาง และชาวต่างประเทศมาร่วมเป็นจำนวนมาก นางร้องไห้ต้องปฏิบัติหน้าที่ดีเป็นพิเศษ และต้องทำงานหนักกว่าวันธรรมดาหน่อย ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปเป็นเวลาร่วมปีจนถวายพระเพลิง”



เครื่องกงเต๊กในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ ๗ วัน
(ภาพจาก L’Instantane ๒ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๑๑


บทนางร้องไห้

ต้นเสียงร้องพร้อมกัน  
“โอ้พระร่มโพธิ์ทองพระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้วพระพุทธเจ้าข้าเอย

ลูกคู่รับ
“พระพุทธเจ้าข้าเอยพระทูลกระหม่อมแก้ว”
“พระพุทธเจ้าข้าเอย”

ต้นเสียง                
“โอ้พระร่มโพธิ์ทอง พระเสด็จสู่สวรรคตชั้นใด”
“ละข้าพุทธบาทยุคลไว้ พระพุทธเจ้าข้าเอย”
“พระทูลกระหม่อมแก้วพระพุทธเจ้าข้าเอย”

ลูกคู่รับ                      
“พระพุทธเจ้าข้าเอยพระทูลกระหม่อมแก้ว”
“พระพุทธเจ้าข้าเอย”

ต้นเสียง              
“โอ้พระร่มโพธิ์ทอง พระเสด็จสู่สารทิศใด”
“ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไป พระพุทธเจ้าข้าเอย”
“พระทูลกระหม่อมแก้วพระพุทธเจ้าข้าเอย”

ลูกคู่รับ
“พระพุทธเจ้าข้าเอยพระทูลกระหม่อมแก้ว”
“พระพุทธเจ้าข้าเอย”

ภาพ/เรื่อง : มติชนออนไลน์
2944  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นิทรรศการ ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยามผ่านภาพที่บันทึกไว้บนฟิล์มก เมื่อ: 27 ตุลาคม 2559 19:52:13


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้ากรุงสยาม
เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ ขณะพระชนมายุ ๓๐ พรรษา


พ.ศ.๒๔๕๔ เมื่อครั้งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเชิญบรรดาผู้แทนรัฐบาล
และผู้แทนประมุขจากหลายประเทศ เข้าร่วมเฉลิมฉลอง จึงโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงออกรับแขกเมือง
ไว้พระเกศายาวตามแบบสากล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชนิพนธ์บทความชื่อ “เครื่องหมายแห่งความรุ่งเรือง คือ สภาพแห่งสัตรี”
ทรงใช้พระนามแฝงว่า “รามจิตติ” ทรงแสดงพระราชนิยมว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่ง
เป็นผู้ที่เห็นควรให้หญิงไทยไว้ผมยาว เพราะคนที่ไว้ผมสั้นได้แก่เงาะ...”

พ.ศ.๒๔๕๕ ทรงเปลี่ยนปฏิทินจากแบบรัตนโกสินทรศกเป็นแบบพุทธศักราช
คือเริ่มปีใหม่ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นต้นไป


พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
พระมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
มีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ บุตรีของพระยาอภัยภูเบศร
(เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค


พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี  
ทรงรับบทเป็นสาวใช้ของนางจันทร์ ในโอกาสร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระร่วง"
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเป็นนายมั่นปืนยาว



The End...จบบริบูรณ์


2945  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นิทรรศการ ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยามผ่านภาพที่บันทึกไว้บนฟิล์มก เมื่อ: 27 ตุลาคม 2559 19:25:26

ฟิล์มกระจก

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้ดำเนินการรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุในรูปแบบหลากหลาย ทั้งเอกสารจดหมายเหตุลายลักษณ์ โสตทัศนจดหมายเหตุ แผนที่ แผนผัง แบบแปลน และเอกสารประเภทอิเล็กทรอนิกส์ มาแต่พุทธศักราช ๒๔๙๕ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในเอกสารจดหมายเหตุทรงคุณค่าที่สะท้อนให้เห็นถึง วิวัฒนาการของการถ่ายภาพและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในอดีตของประเทศไทย ได้ถูกบันทึกไว้ในรูปของ “ฟิล์มกระจก” อันเป็นวัสดุที่ใช้ในการบันทึกภาพ โดยการนำแผ่นกระจกฉาบสารเคมีแล้วนำไปสร้างภาพในลักษณะเนกาทีฟและโพซิทีฟ

ความสำคัญของฟิล์มกระจก
การบันทึกภาพเริ่มต้นราวพุทธศักราช ๒๓๗๐ โดยนายโจเซฟ เนียฟฟอร์ เนียฟซ์ (Joseph Nicéphore niépce) ได้ใช้สารบิทูเมน (Bitumen) เป็นสารไวแสงสำหรับบันทึกภาพ โดยฉาบสารบิทูเมนบนแผ่นโลหะผสมระหว่างดีบุกและตะกั่ว บริเวณใดถูกแสงของสารบิทูเมนจะเกิดการแข็งตัว และบริเวณที่ไม่ถูกแสงจะเกิดการอ่อนตัว เพราะถูกสารไลต์ปิโตรเลียม (Light Petroleum) ผสมกับน้ำมันลาเวนเดอร์ (Lavender Oil) ละลายออกไป

พุทธศักราช ๒๓๗๒ นายหลุยส์ ฌาร์ค มองเด ดาแกร์ (Louis Jacgues Mandé Daguerre) ได้ร่วมกับนายโจเซฟ เนียฟฟอร์ เนียฟซ์ ค้นคว้าเรื่องการใช้สารไวแสงพวกซิลเวอร์คลอไรด์ (Silver Choride) ในการบันทึกภาพ แต่นายโจเซฟ เนียฟเฟอร์ เนียฟซ์ ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน และนายหลุยส์ ฌาร์ค มองเด ดาแกร์ ก็ได้ค้นคว้าต่อมา  นายหลุยส์ ฌาร์ค ดาแกร์ ได้ใช้ซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Silver Iodide) เป็นสารไวแสง โดยนำแผ่นเงินอังด้วยไอของไอโอดีนแล้วไปติดตั้งในส่วนหลังของกล้องถ่ายภาพแบบดาแกร์ (Daguerreotype) หันด้านไวแสงเข้าหาเลนส์ สร้างภาพโดยนำแผ่นเงินที่ถ่ายภาพแล้วไปอังเหนือไอปรอท ทำให้ไอปรอทไปเกาะที่ผิวหน้าของแผ่นเงิน จากนั้นนำแผ่นเงินไปคงสภาพด้วยสารละลายของเกลือแกง ใช้ไฮโป (Hyposulphite of Soda) เพื่อละลายซิลเวอร์ไอโอไดด์ส่วนที่ไม่ถูกแสงให้หมดไป ก็จะได้ภาพถ่ายคงตัวถาวร ผลจากการเผยแพร่ของดาแกร์ ทำให้ระบบการถ่ายภาพแบบดาแกร์โรไทป์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ในช่วงเวลาสงครามกลางเมืองของอเมริกา (พ.ศ.๒๔๐๔-พ.ศ.๒๔๐๘) มีการพัฒนาใช้แผ่นสังกะสีแทนแผ่นเงินเพื่อประหยัดต้นทุน ภาพถ่ายระบบดาแกร์โรไทป์นี้ถ่ายได้เพียงครั้งละรูปและอัดสำเนาไม่ได้ เท่ากับว่าหากต้องการ ๑๐ รูป ก็ต้องถ่าย ๑๐ ครั้ง จนกระทั่งชาวอังกฤษ นามว่า นายวิลเลียม เฮ็นรี่ ฟ็อกซ์ ทัลบอต (William Henry Fox Talbot) ได้ค้นพบวิธีการถ่ายภาพที่เรียกว่า ทัลโบไทป์ (Talbotype) ซึ่งเป็นการผลิตภาพถ่ายลงบนกระดาษที่อาบด้วยซิลเวอร์คลอไรด์ ทำให้สามารถทำสำเนาภาพได้ตามต้องการ จากเทคนิคต่างๆ ข้างต้น จึงนำมาสู่การปรับปรุงและทดลองจากผู้คิดค้น จนนำไปสู่การใช้กระจกอาบน้ำยาเป็นตัวรับแสง ที่เรียกว่า “ฟิล์มกระจก” แล้วนำไปอัดภาพลงบนกระดาษ

ประเภทของฟิล์มกระจก
ฟิล์มกระจกแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
     -ฟิล์มกระจกเปียก และ
     -ฟิล์มกระจกแห้ง

ฟิล์มกระจกเปียก เกิดขึ้นเมื่อชาวอังกฤษ นามว่า นายเฟรดเดริค สก็อต อาร์เชอร์ (Frederick Scott Archer) ทำการทดลองโดยใช้กระจกเป็นวัตถุรองรับในการถ่ายภาพแทนแผ่นโลหะ และใช้สารละลายโคโลเดียน (Collodian) เป็นตัวช่วย ฟิล์มกระจกเปียกจึงประกอบด้วย แผ่นกระจก สารโคโลเดียน และสารละลายเงิน เมื่อมีแสงตกกระทบจะทำให้ภาพที่ได้มีโทนสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข้ม วิธีนำกระจกถ่ายรูปต้องจุ่มแผ่นกระจกลงในสารเคมีซิลเวอร์ไนเตรต (Silver Nitrate) ในห้องมืด แล้วนำไปใช้ในการถ่ายภาพทันทีขณะที่กระจกยังเปียกอยู่ กระบวนการนี้ทำให้ผู้ถ่ายภาพนอกสถานที่ต้องนำกระโจมห้องมืด ขนขวดน้ำยาและเครื่องมือจำนวนมากไปด้วยเสมอ หลังจากนี้จึงมีผู้คิดค้นฟิล์มกระจกแห้งหรือฟิล์มกระจกสำเร็จรูปขึ้น

ฟิล์มกระจกแห้ง คิดค้นโดย ดร.ริชาร์ด ลีช แมดด๊อกซ์ (Dr.Richard Leach Maddox) ใช้วัตถุไวแสงที่เป็นเจลาติน (พัฒนาจากการใช้โคโลเดียนซึ่งมีกลิ่นเหม็น) ต่อมา นายชาร์ลส์ เบนเน็ต (Mr.Charles Bennet) ได้ปรับปรุงการทำฟิล์มกระจกแห้ง ด้วยการนำกระจกที่ฉาบสารเคมีมาล้างในขณะที่ยังหมาด เพื่อล้างเกลือเงินที่อยู่ในอิมัลชันออกให้หมด เพื่อไม่ให้กระจกมีรอยตำหนิ และปรับปรุงเรื่องความไวแสง จนเกิดฟิล์มกระจกแห้งสำเร็จรูป ฟิล์มกระจกแห้งจึงประกอบด้วย แผ่นกระจก เจลาตินที่ใช้เคลือบ และสารละลายเงิน ซึ่งภาพที่ได้จะมีสีโทนสีเทาไปจนถึงสีดำ

การถ่ายภาพในประเทศไทยได้เริ่มจากการถ่ายภาพแบบดาแกร์โรไทป์ พบหลักฐานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการนำของพระสังฆราช ฌ็อง บัปทิสต์ ปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) และบาทหลวง หลุยส์ ลาร์โนดี (Father Louis Larnaudie)

ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้เขียนเล่าในหนังสือสยามประเภท ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๔๔ ว่า “...พึ่งมีมีช่างถ่ายรูปครั้งแรกในรัชกาลที่ ๓ นั้นคือ ท่านสังฆราชฝรั่งเศส ชื่อปาเลอกัว เป็นผู้ถ่ายรูปแผ่นเงินในกรุงสยามก่อนมนุษย์ที่ ๑ ภายหลังพระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด) แต่ยังเป็นมหาดเล็กอยู่นั้น ได้ถ่ายรูปเป็นครั้งที่ ๒ เป็นศิษย์สังฆราชด้วย...ภายหลังหลวงพระปรีชากลการ (สำอาง) เป็นช่างถ่ายรูปครั้งที่ ๓ ภายหลังหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) เป็นช่างถ่ายรูปครั้งที่ ๔”

ภายหลังจากการถ่ายภาพแบบดาแกร์โรไทป์ การถ่ายภาพโดยใช้ฟิล์มกระจกได้เริ่มมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๙๔-พ.ศ.๒๔๑๑) เมื่อมีการผลิตฟิล์มชนิดเซลลูลอยด์ทดแทน ฟิล์มกระจกจึงมีความนิยมลดลง และเลิกใช้ในการบันทึกภาพทั่วไป แต่ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ในกลุ่มเฉพาะ ฟิล์มกระจกมีความเปราะบาง แตกง่าย แต่จัดได้ว่าเป็นวัสดุในการบันทึกภาพที่มีคุณภาพมากกว่าฟิล์มชนิดอื่น ไม่เสื่อมสลายง่ายตามกาลเวลา และอัดภาพได้จำนวนมากๆ ข้อมูลที่บันทึกบนแผ่นฟิล์มกระจก บันทึกเรื่องราวในอดีตที่สะท้อนให้เห็นถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ บุคคล สถานที่ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พุทธศักราช ๒๕๒๐ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รวบรวมฟิล์มกระจกจากหอพระสมุดวชิรญาณ (หวญ.) นำมาจัดเก็บ ณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และติดตามฟิล์มกระจกเพิ่มเติมจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมแผนที่ทหาร (ผท.) และภาพส่วนพระองค์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทำให้สามารถรวบรวมฟิล์มกระจกได้ราว ๔๐,๐๐๐ แผ่น และนำเก็บรักษาในคลังเอกสารที่ควบคุมอุณหภูมิที่ ๑๘ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน ๔๐ องศาเซลเซียส ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับฟิล์มกระจก โดยทำการสแกนฟิล์มกระจกต้นฉบับให้ได้ภาพดิจิทัล เพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ฟิล์มกระจกต้นฉบับ และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วต่อการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์




(ซ้าย) กล้องถ่ายรูปแบบดาแกร์โรไทป์ หรือรูปบนแผ่นเงิน
(ขวา) รูปแผ่นเงินของผู้ประดิษฐ์ หลุยส์ ฌาร์ค มองเด ดาแกร์




(ซ้าย) ตัวอย่างกล้องฟิล์มกระจกเปียก
(กลาง) ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้ในกล้องฟิล์มกระจกเปียก
(ขวา) การเคลือบแผ่นกระจกด้วยสารโคโลเดียนก่อนจะนำไปใช้ในการถ่ายภาพ



(บน-ซ้าย) การแช่สารเคมีซิลเวอร์ไนเตรต เพื่อชุบกระจก (Sensitising Process)
(บน-ขวา) ภาพการล้างฟิล์มกระจกเปียก
(ล่าง-ซ้าย) ภาพฟิล์มกระจกเปียกที่ล้างแล้ว
(ล่าง-ขวา) อุปกรณ์ใส่แผ่นฟิล์มกระจกแห้ง



(ซ้าย) พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐
ถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ถ่ายโดยเทคนิคดาแกร์โรไทป์
โดยพระวิสูตรโยธามาตย์ (โหมด อมาตยกุล)
(ขวา) พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙
ถ่ายโดยเทคนิคฟิล์มกระจก โดยนักถ่ายภาพชาวสก๊อต จอห์น ทอมสัน (John Thomson)


ข้อมูล/ภาพ : นิทรรศการ ฉัฐรัช พัสตราภรณ์
ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยามผ่านภาพที่บันทึกไว้บนฟิล์มกระจก
ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร
๑๐ สิงหาคม - ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙
2946  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / สาคูแปะก๊วย สูตร/วิธีทำ - ของหวานมากคุณค่าตามตำรับยาจีนโบราณ เมื่อ: 25 ตุลาคม 2559 16:44:39



สาคูแปะก๊วย
ของหวานมากคุณค่าตามตำรับยาจีนโบราณ

ส่วนผสม
- สาคูเม็ดเล็ก ½ ถ้วย
- แปะก๊วยต้มสุก ½ - 1 ถ้วย
- น้ำตาลทรายขาว¾ ถ้วย
- น้ำสะอาด2+½ ถ้วย
- หัวกะทิ 1 ถ้วย
- เกลือป่น ¼ ช้อนชา
- แป้งข้าวโพด 1 ช้อนชา

วิธีทำ
1. ใส่สาคูในชามก้นลึก เติมน้ำให้ท่วม แล้วรีบรินน้ำทิ้งให้หมด
    พักสาคูไว้ประมาณ 10 นาที (ให้ความชื้นของน้ำซึมไปในเม็ดสาคู จะช่วยให้กวนไม่นาน)
2. ตั้งน้ำสะอาดสองถ้วยครึ่ง พอน้ำเดือด ใส่สาคูลงไปกวนประมาณ 3-5 นาที ใส่น้ำตาลทราย
    พอน้ำตาลทรายละลายหมด ใส่แปะก๊วยคนให้เข้ากันแล้วยกลง
3. ทิ้งไว้จนเย็น เสิร์ฟพร้อมหัวกะทิสด
4. วิธีทำกะทิราดสาคู ผสมแป้่งข้าวโพดละลายให้เข้ากับกะทิ ใส่เกลือป่น ยกขึ้นตั้งไฟ คนตลอดเวลาจนน้ำกะทิร้อน
    ยกลงจากเตา (อย่าให้กะทิเดือด จะแตกมัน)









  
วิธีกำจัดความขมของแปะก๊วย (ต้มสุกแล้ว) ให้สังเกตที่ผลของแปะก๊วย ถ้ามีจุดเขียวเล็กๆ ตรงกลางผลด้านบน  แสดงว่ามีต้นอ่อนของแปะก๊วยงอกอยู่ด้านใน  
และต้นอ่อนนี้เองที่ทำให้แปะก๊วยมีรสขม  ให้ใช้ไม้จิ้มฟันแทงจากด้านล่างของผล ซึ่งเป็นส่วนที่เรียวเล็ก แทงขึ้นไปด้านบนตรงๆ  ต้นอ่อนของแปะก๊วยจะหลุดออกมาอย่างง่ายดาย
ทำให้ความขมหมดไปอย่างได้ผลดีที่สุด เรื่องนี้ มีผู้ให้คำแนะนำหลากหลาย บางตำราให้นำไปต้มโดยใส่ผงโซดาไบคาร์บอเนตไปด้วย บางตำราให้นำไปต้มหลายๆ ครั้ง  จะทำให้ความขมหมดไป  
ซึ่งเป็นไปได้แต่ก็จะทำให้คุณค่าของสารอาหารหมดตามไปด้วยเช่นกัน ...  

แปะก๊วย เป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดจากทางตะวันออกของประเทศจีน (แถบภูเขาด้านตะวันตกของนครเซี่ยงไฮ้) ที่มีการแยกต้นเป็นเพศผู้และเพศเมีย ใบมีลักษณะคล้ายใบพัด แยกออกเป็น 2 กลีบ  พบว่ามีการนำเข้าไปปลูกในประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเซนเมื่อประมาณช่วงราว ค.ศ. ๑๓๐๐ หรือสมัยคามากุระ  ลักษณะพิเศษของต้นแปะก๊วยคือ จะผลัดใบไม่พร้อมกันทุกต้น แต่เมื่อผลัดใบใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วร่วงหล่นทั้งต้นภายในไม่กี่วัน  

ในปัจจุบันหลายๆ ประเทศได้ให้การยอมรับถึงสรรพคุณของใบแปะก๊วยในการรักษาโรคสมองเสื่อม โดยการนำสารสกัดจากใบแปะก๊วยมารวมกับสารอื่นๆ ช่วยให้การดูดซับที่ผนังลำไส้เล็กดีขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถนำเอาสารสกัดจากใบแปะก๊วยนี้มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำสารสกัดดังกล่าวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อบำรุงสมอง และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ใช้รักษาโรคความจำเสื่อม  โรคซึมเศร้า อาการหลงๆ ลืมๆ อันเนื่องมาจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอในผู้ป่วยสูงอายุ

ผลแปะก๊วย ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารจีนหลากหลายชนิด มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง ช่วยให้เลือดลมหมุนเวียนได้สะดวก แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าแหล่งใหญ่ของสารที่ทำหน้าที่ช่วยเสริมสุขภาพดังกล่าว กลับพบมากในส่วนของใบมากกว่าผลเสียอีก



แปะก๊วยในน้ำลำใย - สุขใจดอทคอม
2947  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อ: 25 ตุลาคม 2559 14:06:29

ความหมาย ประวัติ และวิวัฒนาการ
                        (ต่อ)

การใช้งานและการจัดกระบวนในพระราชพิธี
หลักฐานเกี่ยวกับการใช้พระราชยานในสมัยอยุธยารัชกาลต่างๆ เท่าที่ปรากฏในเอกสารจะเห็นว่ามีการใช้พระราชยานแบบต่างๆ ในการเสด็จทั้งหนทางระยะใกล้และไกล ใช้ทั้งยามปกติ ใช้ในการพระราชพิธี และการเลียบพระนครในยามสงคราม พระราชยานบางองค์ใช้ทั้งในพระราชพิธีอันเป็นมงคลและพระราชพิธีพระบรมศพ

การใช้พระราชยานในเวลาปกติและในพระราชพิธีที่กล่าวไว้ในกฎหมายตามสามดวง และที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารมีดังนี้

กฎหมายตราสามดวง ในกฎมณเฑียรบาลตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีสิบสองเดือน ได้พรรณนาถึงการเสด็จพระราชดำเนินโดยพระราชยานของพระมหากษัตริย์และพระอัครมเหสีไว้ในพระราชพิธีเดือน ๒ พระราชพิธีบุตรยาภิเศกเฉวียรพระโคกินเลี้ยง พระราชพิธีเดือน ๙ พระราชพิธีดุลาภาร ว่า พระมหากษัตริย์ทรงพระราเชนทรยาน พระอัครมเหสีทรงเทวียาน พระราชพิธีเดือน ๕ พระราชพิธีเผดจศกลดแจรตออกสนามก็กล่าวว่าใช้พระราเชนทรยานในการเสด็จ และในพระราชพิธีสมโภชพระแม่หยัวพระพี่เจ้า (สมโภชเจ้านายฝ่ายใน) พระมหากษัตริย์ทรงพระราเชนทรยาน เจ้านายฝ่ายทรงเทวียาน ทิพยาน และพระยานุมาศ

พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ได้กล่าวถึงการใช้ราชยาน ดังนี้
     ๑.พ.ศ.๒๐๗๑ เมื่อพระแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์มีพระเสาวนีย์ให้รับขุนวรวงศาธิราชเข้าวังนั้น โปรดให้จัดราชยาน เครื่องสูง แตรสังข์ กับขัตติยวงศ์ไปรับเข้ามาในพระราชมณเฑียร แต่ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นพระราชยานแบบใด
     ๒.พ.ศ.๒๐๙๔ เมื่อพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทูลขอพระเทพกษัตรีไปเป็นพระชายา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้พระยาแมนกับทูตานุทูตเชิญพระเทพกษัตรีไปส่งโดยทรง สีวิกากาญจน์ยานุมาศ เสด็จทางสถลมารค
     ๓.พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระเอกาทศรถได้โปรดให้จัดพระราชพิธีสงครามาภิเษกขึ้น ในพระราชพิธีนี้พระองค์ได้ทรงพระราเชนทรยานในกระบวนพยุหพยาตรา เสด็จพระราชดำเนินจากขนานน้ำประจำท่าไปยังพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาท และใน พ.ศ.๒๑๓๗ ก็ทรงพระราเชนทรยานในกระบวนพยุหยาตราสู่พระที่นั่งอรรณพ เพื่อทอดพระเนตรกระบวนเรือต้น เรือแห่ เรือแข่ง ในพระราชพิธีอาศวยุช
     ๔.เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเพทราชาได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ในการนี้ ได้ทรงพระราชยานเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคด้วยตามราชประเพณี
     ๕.พ.ศ.๒๒๙๘ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เหตุการณ์ตอนที่โปรดให้เรียกตัวเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์มาชำระคดีในข้อหาเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลนั้น ปรากฏว่าเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ทรงเรือพระที่นั่งจากพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วทรงเสลี่ยงจากฉนวนน้ำประจำท่าเสด็จเข้าไปในพระราชวัง
     ๖.พ.ศ.๒๓๐๐ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงการเสด็จไปสมโภชพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศว่า ได้เสด็จโดยกระบวนทางชลมารคไปประทับที่พระตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วทรงวอขึ้นไปประทับ ณ พระตำหนักท้ายพิกุล
     ๗.พ.ศ.๒๓๐๑ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงพระประชวรหนัก เมื่อจะทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส ได้ทรงพระเสลี่ยงหิ้วจากพระราชมณเฑียรมายังพระที่นั่งทรงปืน และทรงมอบราชสมบัติแก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

หลักฐานเกี่ยวกับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์สมัยอยุธยา ปรากฏว่าได้นำพระราชยานมาใช้ในการพระราชพิธีหลายองค์ ได้แก่ พระยานุมาศสามคาน พระยานุมาศสองคาน พระเสลี่ยงเงิน พระราชยานทอง พระเสลี่ยงงา พระยานุมาศสำหรับโสกันต์ พระราชยานองค์ใดใช้อย่างไรมีตัวอย่างกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง สมเด็จพระบรมศพ อันเป็นจดหมายเหตุงานพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระมเหสีฝ่ายซ้ายในสมเด็จพระเพทราชา สิ้นพระชนม์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๘ สรุปความได้ดังนี้

การเชิญพระบรมศพจากวัดพุทไธสวรรย์ไปประดิษฐานในพระราชวัง
เจ้าพนักงานเชิญพระบรมโกศขึ้นพระเสลี่ยงเงินไปลงเรือพระที่นั่ง เชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามคานซึ่งตั้งอยู่บนเรือพระที่นั่ง แล้วแห่เป็นกระบวนทางชลมารคไปยังพระราชวังหลวง ครั้นถึงเชิญพระบรมโกศขึ้นพระเสลี่ยงเงินไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท

ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงเรือพระที่นั่งตามเรือพระบรมศพมาในกระบวนด้วย เมื่อเทียบเรือพระที่นั่ง ณ ขนานน้ำประจำท่าแล้ว เสด็จขึ้นพระราชยานทองไปยังพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาทเพื่อรับพระบรมศพ ครั้นเชิญพระบรมศพขึ้นไปประดิษฐานบนพระมหาปราสาทเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงพระเสลี่ยงงาจากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาทไปลงเรือพระที่นั่ง กลับพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งเป็นที่ประทับขณะนั้น

การเชิญพระบรมศพสู่พระเมรุมาศ
เชิญพระบรมโกศขึ้นพระเสลี่ยงเงินเคลื่อนลงจากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท มีคู่แห่ ๕ คู่ ไปขึ้นพระยานุมาศซึ่งรออยู่นอกประตูกำแพงมหาปราสาทด้านซ้าย เข้ากระบวนแห่ซึ่งมีเจ้ากรมหมื่นอินทรภักดีทรงพระยานุมาศโยง พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นจิตรสุนทร ทรงพระยานุมาศปรายข้าวตอก และสมเด็จพระสังฆราชทรงเสลี่ยงงาอ่านพระอภิธรรมนำ มีคู่แห่ ๓๐ คู่ เมื่อกระบวนถึงหน้าพระที่นั่งซึ่งพระมหาพิชัยรถกฤษฎาธารคอยอยู่ เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระเสลี่ยงเงินเข้ารับพระบรมโกศจากพระยานุมาศสามคานขึ้นประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถฯ แล้วเคลื่อนกระบวนสู่พระเมรุมาศ เมื่อถึงเจ้าพนักงานชาวที่และชาวภูษามาลาเชิญพระบรมโกศขึ้นพระเสลี่ยงเงินเวียนรอบพระเมรุมาศ ๓ รอบ แล้วเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระเบญจาในพระเมรุมาศ ในการนี้สมเด็จพระเจ้าบรมโกศจะทรงพระราชยานทองเสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระเมรุมาศทุกวัน โดยประทับแรม ณ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท



               พระที่นั่งกงเรือ พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต

วันแห่พระบรมอัฐิกลับ
หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพและเสด็จการพระราชกุศลพระบรมอัฐแล้ว เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นพระมหาพิชัยราชรถฯ เชิญห่อพระราชสรีรางคารซึ่งประดิษฐานบนพานทองขึ้นตั้งบนพระยานุมาศสามคาน เข้ากระบวนแห่ไปยังวัดพระศรีสรรเพชญ เมื่อถึงวัดจึงเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นพระยานุมาศสำหรับโสกันต์ มีคู่แห่ ๒๕ คู่ แห่ไปยังหน้าพระวิหารใหญ่ พระราชโกษาเชิญพระโกศลงจากพระยานุมาศเข้าพระวิหารไปยังท้ายจระนำ พระสงฆ์สดับปกรณ์แล้วจึงบรรจุพระบรมอัฐิ ส่วนพระราชสรีรางคารนั้นเมื่อเกณฑ์แห่พระบรมอัฐิกลับออกจากวัดแล้ว จึงเคลื่อนกระบวนแห่ไปออกประตูท่าปราบ ลงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์แห่โดยกระบวนไปลอยพระราชสรีรางคาร ณ บริเวณหน้าวัดพุทไธสวรรย์

การเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในการเก็บพระบรมอัฐิคือ เมื่อเสด็จโดยเรือพระที่นั่งจากพระราชวังบวรสถานมงคลมาถึงขนานน้ำประจำท่าพระราชวังหลวงแล้ว จะทรงพระเสลี่ยงงามาประทับขึ้นเกยในพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ แล้วเสด็จออกเกยพระที่นั่งข้างหน้าฝ่ายขวา ทรงพระราชยานทองเสด็จออกไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและเก็บพระบรมอัฐิ ณ พระเมรุมาศ แล้วทรงพระราชยานทองไปยังวัดพระศรีสรรเพชญเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิ ครั้นถึงวัด เสด็จลงจากพระราชยานทองทรงพระดำเนินเข้าไปทรงปฏิบัติพระราชกิจในวัด ส่วนขากลับได้ทรงพระราชยานทองจากวัดมาประทับ ณ เกยฝ่ายหน้าด้านขวาพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์แล้วเสด็จมาทรงพระเสลี่ยงงาที่เกยในพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์เสด็จไปลงเรือพระที่นั่งกลับพระราชวังบวรสถานมงคล

ข้อความดังกล่าวมาแล้วแสดงให้เห็นว่า พระเสลี่ยงเป็นพระราชยานที่ใช้ทั่วไปคือ เจ้านายจะทรงไปมาในบริเวณพระราชฐานตามปกติ แล้วยังใช้ทรงถ่ายจากพระราชยานหนึ่งไปยังอีกพระราชยานหนึ่งด้วย ส่วนในการเคลื่อนย้ายอันเป็นการแสดงพระอิสริยยศ เช่น งานพระบรมศพ ก็จะใช้พระเสลี่ยงเชิญพระบรมโกศขึ้นลงพระที่นั่ง ถ่ายขึ้นลงจากพระราชยาน หรือถ่ายขึ้นลงจากราชรถ เป็นต้น ทำให้เข้าใจว่าพระเสลี่ยงจะต้องมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบากว่าพระราชยาน จึงสามารถนำเข้าเทียบหรือยกขึ้นลง ณ สถานที่ซึ่งคับแคบ สูง หรือมีขนาดจำกัดได้ ที่สำคัญคือเมื่อพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ทรงพระราชยานถึงพระอารามใดก็ตาม จะทรงลงจากพระราชยาน (เทียบเกย) และทรงพระดำเนินด้วยพระบาทเข้าพระอาราม ไม่ทรงพระราชยานภายในพระอาราม ส่วนในพระราชวังนั้น เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ที่มิได้ประทับในพระราชวังทรงพระราชยานเข้ามาในเขตพระราชวังแล้ว จะต้องลงจากพระราชยานทรงพระดำเนินต่อไป ถือเป็นประเพณีปฏิบัติรวมทั้งพวกขุนนางบรรดาศักดิ์ทั้งปวงด้วย

การใช้พระราชยานในยามสงคราม เท่าที่พระราชพงศาวดารกล่าวไว้มีไม่กี่ครั้ง สรุปความได้ดังนี้

ในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งที่ ๒ พระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระมหินทราธิราชมิได้ทรงนำพาการศึกพม่าที่มาติดพระนคร มีแต่เจ้าพระยารามที่คอยบัญชาการรักษาพระนคร และนั่งคานหามเก้าอี้ทอง (ยานสำหรับตำแหน่ง) มีมยุรฉัตรประดับซ้ายขวาออกเลียบพระนครบัญชาการรบ

เมื่อพระเจ้ากรุงหงสาวดีโปรดให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาช่วยเจรจาเกลี้ยกล่อมมิให้พระมหาเทพซึ่งรักษาค่ายเกาะแก้วสู้รบทหารพม่าต่อไป สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ทรงพระเสลี่ยงมาร้องเรียกพระมหาเทพที่หน้าค่าย แต่พระมหาเทพไม่ไว้ใจให้ทหารยิงปืนใหญ่น้อยออกไป สมเด็จพระมหาธรรมราชาต้องลงจากพระเสลี่ยงให้ขุนทรเดชะแบกพระองค์หลบกระสุนออกมา

ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ใน พ.ศ.๒๐๙๙ สมเด็จพระมหินทราธิราชได้เสด็จโดยพระราชยานออกไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ณ พลับพลาวัดมเหยงคณ์ เป็นการยอมรับการพ่ายสงคราม

นอกจากพระราชยานต่างๆ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยายังกล่าวถึงยานของผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ไว้ด้วย ดังนี้
     ๑.ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักพรรดิ ขณะเมื่อเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกใหม่ๆ นั้น ได้พระราชทานบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่มีส่วนสนับสนุนให้พระองค์ได้รับราชสมบัติ ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามหานคร ได้รับพระราชทานเสลี่ยงงา และเสลี่ยงกลีบบัว ลูกพระสนมได้รับพระราชทานเจียดทองคู่ พานทองคู่ น้ำเต้าทอง กระบี่กั้นหยุ่น เสลี่ยงกลีบบัว และเครื่องสูง
     ๒.รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเชิญพระมหาเถรคันฉ่องจากเมืองแครงมาอยู่ ณ วัดมหาธาตุในพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชารทรงแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระอริยวงศาญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาปรินายกติปิฎกธราจารย์ สฤษดิขัตติยสารสุนทรมหาคณฤครอุดรวามคณะสังฆารามคามวาสี ได้รับสัปทน กรรชิง คานหามพร้อมคนหาม จังหันนิรภัตรและเครื่องสมณบริขารต่างๆ (เป็นเจ้าคณะคามวาสีหนเหนือ ฝ่ายซ้าย สมเด็จพระวนรัตนสังฆราชคามวาสีเดิม ให้เป็นคณะปักษ์ใต้ฝ่ายขวา แยกเป็น ๒ คณะ)
     ๓.ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชดำริจะแสดงสติปัญญาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ให้ปรากฏแก่เสนาอำมาตย์ทั้งหลาย โดยโปรดให้เสนาอำมาตย์หาน้ำหนักของปืนใหญ่พระพิรุณนั้น ผลปรากฏว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์หาวิธีชั่งน้ำหนักได้ จึงทรงพระราชทานบำเหน็จความชอบให้แก่เจ้าพระเยาวิชเยนทร์เป็นเสลี่ยงงา ซึ่งจะมีบโทนแห่น้ำหน้าสามร้อยตามยศพร้อมทั้งได้รับเครื่องอุปโภคอื่นๆ อีกจำนวนมาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิทธิพิเศษให้นั่งเบาะสูงศอกหนึ่งได้ในเวลาเข้าเฝ้า

เสลี่ยงดังกล่าวนี้ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ใช้เป็นเกียรติแก่ตนเสมอมาจนกระทั่ง พ.ศ.๒๒๓๑ เมื่อสมเด็จพระนาราย์มหาราชทรงพระประชวรหนัก พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ยึดอำนาจในพระนครและได้มีกลลวงแจ้งไปยังเจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่ามีพระบรมราชโองการให้เข้าเฝ้า เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงขึ้นเสลี่ยงงามีบโทนและมีทนายแห่นำมายังประตูพระราชวัง ครั้นถึงก็ถูกทหารของหลวงสรศักดิ์ซึ่งคอยทีอยู่ทำร้าย ใช้พลองตีจนกระทั่งตกจากเสลี่ยงแล้วประหารชีวิต



ลำดับต่อไป
สมัยรัตนโกสินทร์
โปรดติดตาม
2948  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อ: 25 ตุลาคม 2559 14:04:22


ราชยาน
ความหมาย ประวัติ และวิวัฒนาการ

คำว่า ยาน ตามความหมายกว้างๆ ซึ่งบัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง เครื่องนำไป หรือพาหนะต่างๆ เช่น รถ เกวียน เรือ เป็นต้น เมื่อนำมาสมาสกับคำว่า ราช ซึ่งหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน แล้ว จะหมายถึงพาหนะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ ได้แก่ ราชรถ (รถพระที่นั่ง) ราชยาน พระคชาธาร (ช้างพระที่นั่ง) ม้าต้น และเรือพระที่นั่ง เป็นต้น  แต่ถ้าพิจารณาจากคำเรียกขานโดยทั่วไปนับตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา จะเห็นว่าความหมายของ ราชยาน ได้จำกัดวงแคบลงเฉพาะในกลุ่มของแคร่ วอ เสลี่ยง และคานหามของหลวงคือของพระเจ้าแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะราชยานในกลุ่มหลังนี้เท่านั้น

ราชยาน เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ส่วน ยาน เป็นเครื่องประกอบยศของบุคคลชั้นสูงในสังคมสมัยโบราณ แสดงให้เห็นฐานะและอำนาจอันแตกต่างจากสามัญชนทั่วไป จุดกำเนิดของยานคานหามต่างๆ นั้น น่าจะเกิดในกลุ่มสังคมที่เจริญก้าวหน้าเป็นวัฒนธรรมเมืองแล้ว เพราะเป็นช่วงแห่งการคิดสร้างสรรค์เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ขึ้น มีการสร้างยานพาหนะต่างๆ เพื่อใช้ในการเดินทางนอกจากใช้สัตว์พาหนะประเภทช้างม้าหรือลา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำหรือบุคคลชั้นสูงตามระบบสังคมขณะนั้น จะต้องมียานพาหนะซึ่งมีลักษณะพิเศษ หรืออาจกล่าวได้ว่า ยานได้เกิดขึ้นในกลุ่มบุคคลผู้ทรงอำนาจเหล่านี้ก่อน เนื่องจากมีข้าทาสบริวารประจำสามารถอาศัยแรงงานแบกหามได้ ยานจึงเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก เครื่องแสดงฐานะ อำนาจ และการยอมรับนับถือของชนในกลุ่มสังคมไปพร้อมๆ กัน

ก่อนการสถาปนาอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่น ได้มีอาณาจักรต่างๆ เจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศไทยหลายอาณาจักร และมีการปกครองในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทั้งสิ้น วัฒนธรรมส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลหรือถ่ายทอดมาจากอินเดีย แม้ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะเด่นชัดเช่นประเทศต้นแบบอารยธรรม แต่จากสภาพความเป็นอยู่และฐานะทำให้สันนิษฐานว่าอาจแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ
     -ชนชั้นสูง ได้แก่ พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ พราหมณ์ปุโรหิต และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
     -ชนชั้นกลาง ได้แก่ ข้าราชการระดับรองลงมาจนถึงประชาชนทั่วไป
     -ไพร่และทาสต่างๆ

ในสภาพสังคมดังกล่าว ชนชั้นสูงคือผู้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง เป็นผู้นำทุกด้านและสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ชาติ บุคคลเหล่านี้จึงได้รับการยกย่องและยอมรับเป็นพิเศษ โดยเฉพาะประมุขหรือพระมหากษัตริย์จะเปรียบประดุจสมมติเทพ และมีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศหลายประการ ด้านพระราชยานประเภทแคร่ เสลี่ยง คานหาม หรือวอนั้น ปรากฏหลักฐานเก่าสุดในสมัยลพบุรีหรือขณะที่วัฒนธรรมเขมรเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศไทย (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘) คือ ปรากฏกล่าวถึงในศิลาจารึก ปรากฏภาพจำหลักศิลา และพบชิ้นส่วนโบราณวัตถุสำริด ดังนี้

     ๑.จารึกสดกก๊อกธม อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤษและเขมร พ.ศ.๑๕๙๕ กล่าวถึงทรัพย์สมบัติและเครื่องประดับที่พระบาทศรีอุทยาทิตยวรมเทวะ พระราชทานในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ความว่า  “...ทั้งยังพระราชทานทรัพย์และเครื่องประดับเป็นจำนวนมาก เป็นค่าบูชายันต์ เช่น มงกุฎ กำไล ผ้าผูกมือ แก้วมุกดา ตั่งทอง คณโฑ ทองคำ แส้ เสลี่ยงปิดทอง เพชรพลอย ทองคำ เงิน ทรัพย์สมบัติอีกมาก...”
     ๒.จารึกปราสาททัพเสียม ๒ อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๗ โศลกที่ ๑๐ กล่าวถึงยานที่มีผู้ถวายแก่พระเจ้าศรีสูรยวรมัน ความว่า “...ยานประดับด้วยทรัพย์มากมาย มีดาวทองคำ เป็นส่วนแห่งการตกแต่งตามความคิดเป็นหน้างูแกว่งไปมา ภูษาอันงดงาม ซึ่งบุคคลได้ทำเป็นเครื่องประดับเพราะความเลื่อมใสในพระราชา...”
     ๓.จารึกปราสาทหินพระวิหาร ๒ อักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร พุทธศักราช ๑๖๖๔ ด้านที่ ๑ และ ๒ ได้กล่าวถึงเสลี่ยงทอง ความว่า “...ภควัตบาทกัมรเตงอัญดคุรุศรีทิวากรบัณฑิต ได้รับเชิญให้เป็นพระครูทำราชาภิเษกและทำการบวงสรวงในการประกอบพิธีกรรมทั้งปวง (ด้วยเหตุนี้เองพระเจ้าแผ่นดิน) จึงพระราชทานนามว่า ภควัตบาทกัมรเตงอัญดคุรุศรีทิวากรบัณฑิต ทรงถวายเสลี่ยงทองสำหรับเป็นที่นั่ง พร้อมด้วยผู้ชายเพื่อทำหน้าที่กางร่มและหาม (เสลี่ยงทอง) และทรงปราสาทราชทรัพย์เป็นต้นว่า หม้อทอง พาน ถ้วย กระโถน ช้าง ม้า หมู่บ้าน ทาสชาย ทาสหญิง เป็นจำนวนมาก...



พระมหาพิชัยราชรถ สำหรับอัญเชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวง

ในมหาศักราช ๑๐๓๕ พระบาทกัมรเตงอัญศรีสุริยวรมันเทวะ...พระบาทกัมรเตงอัญศรีชัยวรมันเทวะ พระบาทกัมรเตงอัญศรีธรณินทรวรมันเทวะ...ภควัตบาทกัมรเตงอัญดคุรุศรีทิวากรบัณฑิต เป็นพระครู ได้รับอัญเชิญให้ทำราชาภิเษก และทำการบวงสรวงในการประกอบพิธีกรรมทั้งปวง ... ทรงถวายพระเสลี่ยงทองซึ่งประดับด้วยรูปพระยานาค ๕ เศียร พัดขนนกยูงด้ามทอง ๒ อัน...”

จะเห็นได้ว่าข้อความจารึกนั้น ยานเป็น เสลี่ยงทอง มีการประดับด้วย หน้างู หรือพระยานาคหลายเศียร เสลี่ยงดังกล่าวจึงน่าจะสร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทอง มีส่วนประดับบางส่วนทำเป็นรูปนาคไม้หรือโลหะ ในการสำรวจขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานสมัยลพบุรีหลายแห่งในประเทศไทย ได้พบโบราณวัตถุสำริด ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของยานคานหามหลายชิ้น อายุของเครื่องสำริดส่วนใหญ่อยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ได้แก่
     -เศียรนาคสำริด ซึ่งอาจเป็นส่วนยอดหรืองอนของเสลี่ยงหรือคานหาม ส่วนยอดหรืองอนของเปลหาม
     -ลูกกรงสำริด อาจเป็นส่วนประดับพนักพิงหรือประดับพนักด้านข้างเสลี่ยงหรือคานหาม
     -ส่วนประดับปลายราวลูกกรงหรือปลายคาน อาจเป็นส่วนปลายราวลูกกรงของที่นั่งบนเสลี่ยงหรือคานหาม ส่วนปลายคานรองรับส่วนหลังคาของเปลหาม
     -ขอรัด อาจเป็นส่วนขอรัดประดับส่วนที่เป็นคานของเสลี่ยงหรือคานหาม หรือส่วนที่เป็นคานของเปลหาม
     -ขอแขวนและห่วงเปลหาม

สถานที่พบ ได้แก่ เมืองศรีมโหสถ อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

จากหลักฐานที่พบดังกล่าวแสดงว่าในบรรดานครรัฐทั้งหลาย ซึ่งตั้งอยู่บนดินแดนประเทศไทยปัจจุบันได้มียานคานหามสำหรับบุคคลชั้นสูง เป็นขนบธรรมเนียมที่ถ่ายทอดอิทธิพลให้แก่กันระหว่างนครใกล้เคียงหรือระหว่างผู้มีอำนาจเหนือกว่าและนครในปกครอง



จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ในสมัยสุโขทัย นับตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนาอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นแล้ว สันนิษฐานว่าขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนักส่วนใหญ่ยังรักษารูปแบบเดิมที่มีมาก่อนหน้านี้ เพราะปรากฏว่า ราชปุโรหิตของสุโขทัยก็ยังเป็นพราหมณ์ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ตลอดจนเครื่องประกอบเกียรติยศของบุคคลชั้นสูงในสมัยนี้ ประเภทเสลี่ยง ยานคานหาม อาจมีลักษณะดังเช่นปรากฏในรูปศิลปกรรมเขมร เพียงแต่อาจต่างในรายละเอียดโดยมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยมากขึ้น หลักฐานที่เป็นของสุโขทัยเองไม่ว่าจะเป็นศิลาจารึก ศิลปกรรม โบราณวัตถุ หรือโบราณสถาน ก็ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจนนัก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก ราชยาน ประเภทนี้ใช้ในการเดินทางระยะใกล้ หรือใช้เฉพาะในการพระราชพิธีหรือกิจพิธีซึ่งค่อนข้างเป็นรายละเอียดเกินไป หลักฐานซึ่งเป็นลายลักษณ์ของสุโขทัยจึงไม่กล่าวถึง ส่วนหลักฐานทางวัตถุคงผุพังสูญหายไปตามกาลเวลา ส่วนยานประเภทอื่นเช่น ราชรถนั้น ภาพสลักลายเส้นบนแผ่นหินในอุโมงค์วัดศรีชุม เรื่อง โภชาชานิยชาดก อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ มีภาพราชรถปรากฏอยู่ แสดงว่าในสมัยนี้พระมหากษัตริย์มีราชรถเป็นเครื่องราชูปโภคอีกประเภทหนึ่งด้วย จึงมีการจำลองรูปแบบไว้ในภาพสลักได้ ดังนั้นพระราชยานคานหามต่างๆ ซึ่งจำเป็นในการเสด็จพระราชดำเนินเส้นทางใกล้ๆ และใช้ในพระราชพิธีจึงน่าจะมีอยู่ด้วย

ข้อความในศิลาจารึกวัดศรีชุม (ภาษาไทย) ตอนที่กล่าวถึงเรื่องพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณีบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูป ได้พูดถึงการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป ซึ่งอาจถือได้ว่าให้ภาพของคานหามเล็กน้อย ดังนี้  “...สืบค้นหาเอาพระพุทธรูปเก่าแก่แต่บูราด้วยไกล ชั่วสองสามคืน เอามาประดิษฐานไว้ในมหาวิหาร ลางแห่งได้คอได้ตน ลางแห่งได้ผมได้แขนได้อก ลางแห่งได้ตัวตกไกล แลสี่คนหามเอามาจึงได้ ลางแห่งได้แข้งได้ขา ลางแห่งได้มือได้ตีน ย่อมพระหินอันใหญ่ ชักมาด้วยล้อด้วยเกวียน เข็นเข้ามาในมหาพิหาร เอามาติดต่อประกิดด้วยปูน มีรูปโฉมโนมพรรณอันงามพิจิตร...”

คานหามตามข้อความในจารึกเป็นคานหามวัตถุขนาดใหญ่ ซึ่งอาจให้เชือกผูกแล้วสอดห้อยกับคานโดยตรง หรืออาจมีไม้กระดาน ผ้า หวาย หรือไม้ไผ่สาน หรือเชือกถักรองรับใต้วัตถุอีกทีหนึ่งก็ได้ ลักษณะนี้จะคล้ายๆ กับคานหามที่มีลักษณะคล้ายเปลหรือแคร่

ส่วนหลักฐานในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงนั้น ปรากฏภาพสลักที่ระเบียงปราสาทนครวัดเป็นภาพสตรีสูงศักดิ์ทรงวอมีหลังคา ส่วนในประเทศจีนพบว่ามีการใช้คานหามเป็นเครื่องประดับเกียรติยศในราชวงศ์จิ้น จากข้อมูลดังกล่าวมาแล้วนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า ราชยานในยุคแรกๆ ของไทย หรือยุคสุโขทัย คงมีรูปแบบใกล้เคียงกับของขอม และมีทั้งแบบนั่งราบ นั่งห้อยขา และแบบมีหลังคา ซึ่งสืบทอดต่อมาถึงยุคหลังๆ ด้วย



ในสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับพระราชยานคานหาม โดยตราไว้ในกฎมณเฑียรบาล มีการแบ่งชั้นและประเภทของพระราชยานไว้ และในพระไอยการนาพลเรือนก็ได้กล่าวถึงผู้มีสิทธิ์ในการใช้ยานคานหามของหลวงอีกเล็กน้อย หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ก็ได้กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระราชยานในงานพระราชพิธี หรือการพระราชทานพระราชยานเพื่อเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในกรุงศรีอยุธยา เช่น มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ (Monsieur de la Loubere) ได้กล่าวถึงคานหามและยานซึ่งใช้กันในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.๒๒๓๐ สรุปความได้ว่า ยานคานหามเป็นพาหนะสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และบุคคลชั้นสูงเท่านั้น ไม่ใช่ของสามัญชนที่จะใช้ได้ทั่วไป ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินว่า “...แต่ถ้าพระองค์จะทรงพระราชยานให้คนหามไป ซึ่งบางทีก็ทรงอยู่บ่อยๆ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นเกยที่สูงพอเทียมพระราชยาน ย่างพระบาทประทับในพระราชยานนั้นได้ง่ายๆ หรือจะเทียบต่อพระบัญชรหรือพระเฉลียงก็แล้วแต่ควร โดยพระอาการฉะนี้ จึงไม่มีไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์หรือชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จะได้เห็นพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระยุคลบาท เกียรติยศยวดยานอันนี้สงวนไว้ชั่วแต่สำหรับพระชายา ข้าราชบริจาริกาฝ่ายในและขันทีธรรมดาที่ต้องกักกันอยู่ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับบำเรอพระบาทบงกชเท่านั้น...”

ส่วนลักษณะของยานคานหามในสมัยนี้ มองซิเออร์ เดอลาลูแบร์ กล่าวว่า มีทั้งที่เป็นที่นั่งราบแบนๆ ใช้คนหาม ๔ หรือ ๘ คน หรือแบบที่มีกระดานพิงและพนักวางแขน หรือแบบมีหลังคา ดังความต่อไปนี้ “...ยวดยานคานหามหรือพระราชยานและวอสยาม ไม่เหมือนกับของเราด้วยเป็นเหลี่ยมและเป็นที่นั่งแบนๆ ตัวยานนั้นยกสูงขึ้นไป มากบ้างน้อยบ้าง เมื่อตั้งบนคานหามใช้คน ๔ หรือ ๘ คน สุดแต่เกียรติยศของคนที่จะใช้ยานนั้นๆ เป็นประมาณ หามคานยานนั้นๆ ด้วยบ่าเปล่าๆ คานละคนหรือสองคนและยังมีคนสำรับอื่นคอยผลัดกันอีกด้วย บางทีราชยานอย่างว่านี้มีที่พิงข้างหลัง และมีที่วางมือเหมือนเก้าอี้สำหรับยศศักดิ์ของเรา บางทีก็เป็นแต่เครื่องกั้นข้างๆ สูงราวครึ่งฟุตและมีพนักกระดานพิงข้างหลัง แต่คนสยามนั่งยานมักขัดสมาธิ์ บางทียานอย่างว่านี้ก็โถง บางทีก็มีหลังคา และอย่างมีหลังคานั้นก็มีหลายชนิด ซึ่งข้าพเจ้าจะได้รำพันในเมื่อจะกล่าวถึงเรื่องเรือยาว ในกลางลำย่อมตั้งที่นั่งอย่างยานบนบกด้วยเหมือนกัน ทั้งบนหลังช้างก็ตั้งอย่างนั้นอีกด้วย...”

นอกจากนี้ ยังมียานอีกประเภทหนึ่งซึ่งอาจอนุญาตให้คนเจ็บ หรือคนชราทุพพลภาพใช้ได้นอกจากขุนนางคือ คานหามที่จัดเป็นยานชั้นต่ำ ดังข้อความว่า

“...ในปัจจุบันนี้ ยังมีขุนนางผู้ใหญ่ที่สำคัญๆ อยู่ชั่วแต่ ๓ หรือ ๔ ท่านเท่านั้นที่ได้รับพระราชานุญาตให้ใช้ยวดยานคานหามดังที่ข้าพเจ้าพรรณนามาแล้วได้สมศักดิ์ เปลญวนอันเป็นเครื่องนอนอย่างหนึ่งแขวนไว้กับไม้คานหาม ห้อยลงมาแทบจะระดิน มีคนแบกปลายคานทั้งสองข้าง อนุญาตให้คนป่วยเจ็บหรือคนชราทุพพลภาพบางคนใช้ได้ ด้วยเป็นยานอย่างเดียวที่พอคนไปในนั้นจะนอนได้ มาตรว่าชาวสยามสามัญไม่อนุญาตให้ใช้ยานอย่างนี้กันได้ตามใจ พวกฝรั่งที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงสยามก็ได้อนุญาตให้ใช้ได้ดีกว่าพลเมืองเจ้าของเมืองเอง...”

สรุปข้อมูลตามเนื้อความจากจดหมายเหตุลาลูแบร์จะเห็นว่า ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นจะมียานดังนี้ คานหาม (เปล) แคร่ เสลี่ยง พระราชยาน และวอ


จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุทัศนเทพวราราม  


จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุทัศนเทพวราราม  

หลักฐานเอกสารในสมัยอยุธยาเองที่กล่าวถึงราชยานคานหามมีหลายฉบับ ได้แก่ กฎมณเฑียรบาล พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ และเรื่อง กฎหมายสมเด็จพระบรมศพ เอกสารเหล่านี้ได้กล่าวถึงชื่อและการใช้ราชยานคานหามต่างๆ ไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะกฎมณเฑียรบาลได้แบ่งชั้นและประเภทพระราชยานสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนได้กล่าวถึงผู้มีสิทธิ์ในการใช้ยวดยานคานหามของหลวง ส่วนหลักฐานที่เป็นวัตถุหรือภาพจิตรกรรม ซึ่งจะเป็นเค้าเงื่อนเกี่ยวกับรูปลักษณะของพระราชยานแบบต่างๆ นั้นมีน้อย หลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ได้แก่ ยานมาศไม้แกะสลัก ๒ หลัง หลังหนึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อีกหลังหนึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ส่วนอื่นๆ นอกจากนี้เข้าใจว่าบางส่วนคงสูญไปด้วยภัยสงครามครั้ง พ.ศ.๒๓๑๐ และบางส่วนคงปรักพังตามกาลเวลา ภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยาที่พบส่วนมากมักจะเป็นภาพเรือ ราชรถ และช้างม้าพระที่นั่ง

ถ้อยคำที่ใช้เรียกพระราชยานที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กฎมณเฑียรบาล พระไอยการนาพลเรือน และกฎหมายสมเด็จพระบรมศพ มีต่างๆ หลากหลาย ซึ่งน่าจะจัดกลุ่มตามประเภทได้ดังนี้
     -พระราชยาน พระราเชนทรยาน
     -พระยานุมาศ พระยานนุมาศกลีบบัว
     -ทิพยานทอง ทิพยานนาก
     -เทวียานมีมกรชู ราชยานมีจำลอง
     -พระเสลี่ยง พระเสลี่ยงหิ้ว พระเสลี่ยงเงิน พระเสลี่ยงงา
     -เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว
     -คานหาม คานหามเก้าอี้ คานหามเก้าอี้ทอง
     -ยั่ว ยาน

สมัยรัตนโกสินทร์ พระราชยานซึ่งสร้างขึ้นเป็นเครื่องประกอบพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์ในยุคนี้มีหลายองค์ เข้าใจว่าสร้างตามแบบแผนพระราชประเพณีสมัยอยุธยา แต่ได้ดัดแปลงและปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลสมัยและสภาพการใช้สอย คือ ยังคงมีลักษณะอยู่ในเครื่องยานคานหาม ๔ ประเภท ได้แก่
     ยานมาศ – แบกสองลำคานขึ้นบ่า
     เสลี่ยง – ที่นั่งโถงหามด้วยสาแหรกผูกคาน
     วอ – ลักษณะอย่างเสลี่ยงแต่มีหลังคา
     คานหาม – มีคานเดียวหาม ๒ คน

พระราชยานสมัยรัตนโกสินทร์ที่ปรากฏชื่อ ปรากฏภาพ และบางองค์ยังเหลือร่องรอยมาจนปัจจุบัน ได้แก่
     ๑.พระที่นั่งราเชนทรยาน
     ๒.พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง
     ๓.พระที่นั่งราชยานพุดตาลถม
     ๔.พระราชยานทองลงยา
     ๕.พระราชยานถม
     ๖.พระราชยานงา
     ๗.พระราชยานกง
     ๘.พระยานมาศ
     ๙.พระยานมาศสามลำคาน
    ๑๐.พระเสลี่ยง/พระเสลี่ยงหิ้ว/พระเสลี่ยงน้อย/พระเสลี่ยงแว่นฟ้า (เสลี่ยงหิ้ว)
    ๑๑.พระวอประเวศวัง/พระวอสีวิกา/วอประเทียบ


จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

จากหลักฐานที่ปรากฏทั้งด้านเอกสารและวัตถุทำให้ทราบว่า ได้มีการสร้างพระราชยานขึ้นใช้ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นต้นมาหลายองค์ ได้แก่ พระยานมาศ พระยานมาศสามลำคาน และพระเสลี่ยงแบบต่างๆ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่ปรากฏหลักฐานว่าโปรดให้สร้างพระราชยานใดขึ้นหรือไม่ ปรากฏเพียงว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ได้ทรงพระดำริเอาแบบแคร่กันยาของขุนนางไปสร้างเป็นวอดาดหลังคาด้วยผ้าขี้ผึ้ง ผูกม่านแพรสำหรับทรงเสด็จเข้าวัง และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ได้โปรดให้สร้างวอลักษณะดังกล่าวขึ้นสำหรับพระองค์บ้าง พระราชทานนามว่า วอประเวศวัง ต่อมาเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้พระราชทานวอประเวศวังแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะที่ยังทรงผนวชอยู่

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้สร้างพระราชยานถม (เงิน) และพระแท่นถม นำเข้ามาน้อมเกล้าฯ ถวายเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๑ นอกจากนี้ยังมีการแก้แบบแคร่ขุนนางในสมัยนี้ใหม่ เรียกว่า แคร่กันยา ใช้สำหรับขุนนางผู้ใหญ่สูงอายุ มีลักษณะเป็นแคร่ที่ทำจากไม้จริง มีเสามีกันยาหลังคากันแชงเตย มีพนัก และคานไม้ลำมะลอก ส่วนขุนนางที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศแค่ชั้นพานทองก็ใช้แต่แคร่เปล่าตัดหลังคากันยาออก ซึ่งครั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้คิดประดิษฐ์แคร่ให้งามยิ่งขึ้น โดยสรรหาไม้ที่มีลายงามในตัวมาสร้างเป็นแม่แคร่ แล้วใช้ทองเหลืองหรือเงินหุ้มที่มุมแคร่ ไม้คานทำด้วยไม้แก้วบ้าง ไม้ลายต่างๆ บ้าง ไม้แสมสารหรือไม้กะพี้เขากระบือบ้าง และมีปลอกหุ้มคาน จากนั้นได้กลายเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นสร้างขึ้นใช้ต่อมา

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชยานงาขึ้นองค์หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าในรัชกาลที่ ๕ ได้มีการส่งพระราชยานงาองค์แรกไปถวายพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งในยุโรป และสร้างพระราชยานงาขึ้นใหม่แทนของเดิม โดยโปรดให้พลเรือโท พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นนายช่าง นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเสลี่ยงกงขึ้นใช้ในรัชกาลของพระองค์ด้วย พระเสลี่ยงกงดังกล่าวไม่ใช่พระราชยาน เข้าใจว่ามีลักษณะดังพระเสลี่ยงทั่วไป แต่มีพนักสำหรับพิงและมีกงสำหรับวางพระกร

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสร้างพระราชยานขึ้นหลายองค์ ได้แก่พระราชยานทองลงยา พระราชยานพุดตานถม และพระราชยานงา การสร้างพระราชยานทองลงยานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่าอาจเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่มาสำเร็จในรัชกาลที่ ๕ หรือเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง หรืออาจจะเป็นปรารภของผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยนั้นกราบทูลเสนอว่า ควรจะสร้างพระราชยานด้วยของวิเศษขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติดังเช่นพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ ก็ได้ และเหตุที่สร้างเป็นพระราชยานนั้นก็เพราะอาจเทียบได้กับบายศรี พระราชยานถมเงินในรัชกาลที่ ๓ เทียบได้กับบายศรีเงิน พระราชยานงา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเทียบได้กับบายศรีแก้ว และพระราชยานทองลงยาเทียบได้กับบายศรีทอง สร้างเป็นสำรับ ๓ องค์ พระราชยานทองลงยานี้สร้างขึ้นในต้นรัชกาลที่ ๕ ส่วนพระที่นั่งพุดตานถมนั้น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) สร้างโดยนำช่างทองของพระยาเพชรพิชัย (จีน) ไปจากกรุงเทพฯ นอกจาพระราชยานดังกล่าวมา เข้าใจว่ามีพระราชยานที่สร้างในรัชกาลนี้อีกหลายองค์ เช่น พระวอประเวศวัง (มีจารึกปี ๑๑๖ ที่กระดานพิง) และพระเสลี่ยงบางองค์ เป็นต้น แต่ไม่มีบันทึกประวัติการสร้างไว้ ในรัชกาลต่อๆ มา ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างพระราชยานใดขึ้นอีก

จากชื่อที่ปรากฏและการแยกประเภทใช้งานตามที่ปรากฏในเอกสาร จะเห็นว่าราชยานของไทยมีวิวัฒนาการ คือ
๑.วิวัฒนาการในด้านรูปแบบ ตามหลักซึ่งมีมาแต่สมัยโบราณก่อนอยุธยานั้น เข้าใจว่ารูปแบบของราชยานทั่วๆ ไป จะมีหลักใหญ่ ๔ ประการ คือ ยานแบบนั่งราบ ยานแบบนั่งห้อยขา ยานแบบโถง (ไม่มีหลังคา) และยานแบบมีหลังคา ในหลักใหญ่ดังกล่าวนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคงสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนแปลงแต่รูปแบบปลีกย่อยอันเป็นรายละเอียด เช่น ขนาดของลวดลายประดับที่ฐานพนักและกระดานพิง เป็นต้น นอกจานี้ราชยานยังมีวิวัฒนาการด้านรูปแบบเปลี่ยนไปตามโอกาสที่ใช้งาน เช่น ราชยานซึ่งใช้ในเวลาปกติจะมีลักษณะกระทัดทัด การตกแต่งค่อนข้างเรียบง่าย ส่วนพระราชยานที่ใช้ในพระราชพิธีจะมีขนาดใหญ่กว่า และมีการประดับตกแต่งวิจิตรพิสดารมากกว่า พระราชยานบางองค์ในเวลาปกติอาจใช้เป็นพระราชบัลลังก์ เมื่อถึงพระราชพิธีสำคัญก็อาจเชิญออกมาเป็นพระราชยานด้วย เช่น พระราชยานพุดตานทอง พระราชยานบางองค์ก็สร้างขึ้นให้มีรูปแบบเหมาะสมในการนำเข้าประกอบกับการเสด็จฯ โดยพระราชพาหนะ (ยาน) อื่น เช่น พระที่นั่งกงเรือใช้กับเรือพระที่นั่ง พระที่นั่งประพาสโถง พระที่นั่งพุดตานคชาธาร และพระที่นั่งจำลองทองใช้กับช้างพระที่นั่ง เป็นต้น  วิวัฒนาการด้านรูปแบบประการสุดท้ายขึ้นอยู่กับเพศและศักดิ์ของบุคคลที่ใช้ยาน ได้แก่ ราชยานสำหรับเจ้านายฝ่ายหน้า (ชาย) และเจ้านายฝ่ายใน (หญิง) จะมีลักษณะแตกต่างกัน เพราะยานสำหรับฝ่ายในจะเป็นยานนั่งราบ ฝ่ายหน้าจะมีทั้งนั่งราบและห้อยขา และลักษณะรูปแบบการประดับตกแต่งในพระราชยานของพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมวงศ์ชั้นสูง จะมีความวิจิตรงดงามหรือลักษณะเฉพาะต่างจากพระราชวงศ์ลำดับรองลงมา แม้ในยานของขุนนางข้าราชการชั้นสูงก็จะแตกต่างจากขุนนางหรือข้าราชการชั้นผู้น้อย

๒.วิวัฒนาการด้านวัสดุที่ใช้สร้าง จากหลักฐานทางโบราณวัตถุ ประติมากรรมภาพสลัก ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และหลักฐานตัวเขียน ได้แก่ จารึกและเอกสารประวัติศาสตร์ จะพบว่าราชยานตั้งแต่แรกเริ่มนั้นสร้างด้วยไม้และมีการตกแต่งเพิ่มความงาม เช่น แกะสลักลวดลาย ปิดทอง ในสมัยต่อมาคงมีบางส่วนที่ประดับด้วยโลหะ เช่น เศียรนาคสำริดที่บพก่อนสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากจะมีราชยานที่สร้างด้วยไม้ปิดทองประดับกระจก หรือประกับเพชรพลอยดังยุคอื่นแล้ว ยังปรากฏชื่อ ทิพยานทอง ทิพยานนาก พระเสลี่ยงเงิน พระเสลี่ยงงา ในสมัยอยุธยา  ครั้นถึง สมัยรัตนโกสินทร์ก็มีทั้งชื่อพระราชยานปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ และมีพระราชยานองค์จริงอยู่ในปัจจุบันนี้หลายองค์สร้างด้วยวัสดุต่างๆ กัน คือ พระราชยานพุดตานถม พระราชยานพุดตานทอง พระราชยานทองลงยา และพระราชยานงา แสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนานำวัสดุหลายประเภทมาสร้างพระราชยาน มีทั้งทอง ทองลงยา เงิน ถม(เงิน และงา ส่วนพระราชยานที่เป็นไม้นั้น มีทั้งสร้างด้วยไม้จริงทั้งองค์และสร้างด้วยไม้ประกอบหวาย

ศักดิ์และการใช้งาน
สมัยอยุธยา
สมัยอยุธยา ได้กำหนดศักดิ์หรือการใช้พระราชยานไว้ในกฎมณเฑียรบาลตามลำดับพระราชอิสริยยศแห่งพระราชวงศ์ สรุปได้ดังนี้
     ๑.พระราเชนทรยาน พระราชยาน ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน
     ๒.ราชยานมีจำลอง ใช้สำหรับพระอัครมเหสีและพระมเหสี
     ๓.เทวียานมีมกรชู ใช้สำหรับพระราชเทวีและพระอัครชายา
     ๔.ทิพยานทอง ใช้สำหรับสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า
     ๕.ทิพยานนาก ใช้สำหรับอุปราช
      ๖.ยานนุมาศกลีบบัว ใช้สำหรับลูกเธอกินเมือง (ชั้นเจ้าฟ้า)

เจ้านายตั้งแต่ชั้นพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าลงมา ไม่ปรากฏกำหนดว่าทรงพระราชยานประเภทใด แต่ความในกฎมณเฑียรบาลตอนหนึ่งกล่าวว่า
“ถ้าเสด็จด้วยพระราชยาน ลูกพระอัครมเหษี ลูกพระอัครชายา
ลูกแม่หยัวเมือง ลูกหลวง นั่งบนราชยานด้วย ลูกหลานหลวง
ลูกพระสนมนั่งหลั่นลงหน้าหลัง...”

ข้อความดังกล่าวทำให้เข้าใจว่าคงมียานลำดับรองๆ ลงไปสำหรับเจ้านายชั้นผู้น้อยใช้ทรงเวลาเสด็จออกนอกวังด้วย ซึ่งน่าจะได้แก่พระเสลี่ยงต่างๆ และพระวอ นอกจากนี้ขุนนางข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนผู้มีบรรดาศักดิ์ ก็จะได้รับพระราชทานยานคานหามตามศักดิ์ คือ
     ๑.ขุนนางในเมืองผู้มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ ใช้ยั่ว
     ๒.ขุนนางหัวเมืองผู้มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ ใช้คานหามเก้าอี้
     ๓.ขุนนางหัวเมืองผู้มีศักดินา ๕,๐๐๐ ใช้ยั่ว
     ๔.ขุนนางหัวเมืองผู้มีศักดินา ๓,๐๐๐ ใช้ยาน
     ๕.ขุนนางกินเมือง ศักดินา ๑๐,๐๐๐ ท้าวกินเมือง ใช้คานหามเก้าอี้ทอง
     ๖.ท้าวนาง (หญิง) ศักดินา ๔๐๐ ใช้คานหาม

จะเห็นว่า ยั่ว และ ยาน น่าจะมีหลายชั้นตามศักดินาของขุนนาง ยั่วหรือยานของผู้มีศักดินาสูงอาจจะวิจิตรงดงามกว่า หรือเพิ่มลักษณะพิเศษบางประการที่อาจเป็นที่สังเกตยศศักดิ์ได้ในขณะนั้น ส่วนลักษณะพระราชยานประเภทต่างๆ ดังกล่าวชื่อมาแล้วก็ไม่อาจกล่าวถึงรูปทรงได้แน่ชัดเช่นกัน แต่คาดว่าคงจะไม่แตกต่างจากสมัยรัตนโกสินทร์มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเรียกชื่อซ้ำ ด้านการหามพระราชยานในสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานว่านอกจากใช้ผู้ชายหามพระราชยานแล้วยังใช้ผู้หญิงด้วย ในพระไอยการนาพลเรือนกล่าวว่า นางพระราชยานแห่แหนถือศักดินา ๒๐๐ หญิงหามวอ ถือศักดินา ๒๐ ส่วนกริยาอาการนั่งยานคานหามนั้น สมัยนี้ใช้คำสองคำ คือ ทรง สำหรับเจ้านาย และ ขี่ ใช้ทั้งเจ้านายและบุคคลทั่วไป ซึ่งคำว่า ขี่ อาจเป็นเค้าเงื่อนมาจากยานที่ต้องนั่งห้อยขาก็ได้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า ยานคานหามต่างๆ อาจจำแนกลักษณะความแตกต่างกันด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

ยานประเภทนั่งห้อยขา เป็นยานสำหรับบุคคลชั้นสูง ดังเช่น พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ การหามจะต้องนำลำคานขึ้นพาดบ่า และต้องคัดเลือกผู้หามที่สูงต่ำขนาดไล่เลี่ยกัน ดังเช่น พระยานมาศ พระราเชนทรยาน และคานหามเก้าอี้ เป็นต้น

ยานประเภทนั่งราบ ลักษณะการหามต้องใช้เชือกผูกลำคานสองข้างทำเป็นสาแหรกขึ้นไปผูกกับคานน้อยอีกอันหนึ่ง คนหามๆ ปลายคานน้อยทั้งสองข้าง

ในบรรดายานทั้ง ๒ ประเภทดังกล่าว อาจจัดให้เข้ากับชื่อพระราชยานที่ปรากฏเข้าเป็นกลุ่มได้ดังนี้
๑.ยานประเภทยานมาศ ได้แก่ ยานที่เรียกว่า พระราเชนทรยาน ยานมาศ ยานมาศกลีบบัว คานหามเก้าอี้ทอง มีลักษณะรวม คือ
     -คนขี่นั่งห้อยเท้าอย่างนั่งเก้าอี้
     -คนหามแบกลำคานพาดบ่า
     -ใช้เฉพาะวาระที่เป็นการเฉลิมพระเกียรติ

๒.ยานประเภทเสลี่ยง ได้แก่ ยานที่เรียกว่า ราชยาน ทิพยาน เสลี่ยง ยาน และแคร่ มีลักษณะรวม คือ
     -คนขี่นั่งราบกับพื้น
     -หามลำคานแบบมีสาแหรก
     -เป็นที่นั่งโถงไม่มีหลังคา
     -ใช้ในเวลาปกติ

๓.ยานประเภทวอ ได้แก่ ยานที่เรียกว่า ราชยานมีจำลอง เทวียาน สีวิกา วอ และยั่ว มีลักษณะรวม คือ
     -คนขี่นั่งราบกันพื้น
     -หามคานแบบมีสาแหรก
     -มีหลังคาและม่าน
     -ใช้ในเวลาปกติทั่วไป

๔.ยานประเภทคานหาม เป็นยานที่มีตั้งแต่สมัยโบราณ และมีแบบเดียวกัน คือ
     -ลักษณะเหมือนเปล คนขี่จะนั่งหรือนอนก็ได้
     -คนหาม ๒ คน หามปลายลำคานหัวท้ายพาดบ่าข้างละคน
     -ใช้ในเวลาปกติ หรือเมื่อเดินทางไกล
2949  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์ เมื่อ: 23 ตุลาคม 2559 11:14:23


ภาพจาก : memocent.chula.ac.th

⊚ แห่พระบรมศพเจ้า จอมจักร
หวนระลึกนึกตระหนัก เนตรแสร้ว
ฉนำฉนำภาพจำหลัก จารึก
สามสิบสี่ปีแล้ว จิรไร้ใจลืม
⊚ รวิวารแรม ๕ ค่ำเดือน ๑๑
เชิญพระศพสมเด็จชนกเจ้า
ปิ่นรัฐขัติยเพ็ชราวุธ
ทรงพระดำเนินเข้า  เคลื่อนคล้อยรอยทาง ฯ
⊚ ย่ำค่ำคำสั่งให้ เดินขบวน
เสียงสุรางค์นางครวญ คร่ำก้อง
แตรปี่มี่รัญจวน ใจสลด
เปิงพรวดพรวดๆ ซร้อง ศัพท์ซ้ำกำศรวญ ฯ
⊚ สามคานยานมาศเรื้อง จำรัส
นพปฎลเสวตฉัตร เชิดกั้ง
พระโกศโรจนรัตน์ ไรแอร่ม
ยังบ่เคยมีครั้ง อื่นให้ใครเห็น ฯ
⊚ ธูปเทียนดอกไม้เนื่องแนวถนน
ยามค่ำชะอ่ำฝน ฟ้ามืด
แลบ่เห็นตัวได้สดับเพี้ยงเสียงครวญ ฯ
⊚ ท้าววรุณเทวราชให้วลาหก มาฤๅ
เพื่อกระทั่งหลั่งอุทก ที่กว้าง
เมฆมิดปิดดารก เดือนลบ
เทียนส่องแซงสองข้าง คู่ริ้วทิวขบวน ฯ
⊚ ยานมาศยาตร์เยื้องท่องแถวถนน
ยังมิถึงครึ่งหน เหือดอ้าว
มารุตดุจดังฝน แสนห่า มาแฮ
ฟ้าแลบแทบทุกก้าว ที่ก้าวยาวทาง ฯ
⊚ เมื่อขบวนจวนเข้าราช ดำเนิน ในนา
ถนัดดั่งฟ้ามาเชิญเสด็จฟ้า
อัมพรอมรเหิร เห็นแวบ
แววประกายพรายกล้าเกลื่อนท้องเวหา ฯ
⊚ ยิ่งใกล้ไฟแลบฟ้า นำฝน
ปราบแปรบแถบนภดลดื่นข้าง
สว่างทั่วปริมณฑล ทุกอึด ใจเอย
ดังทิวามามล้าง มืดมล้าราตรี ฯ
⊚ เมขลาล่อแก้วช่วง ชัชวาลย์
รามสูรขว้างขวาน ไขว่คว้า
รำไรไล่รำบาญ ฤๅเบื่อ
เปรี้ยงแวบสายแลบฟ้า ผ่าฟ้าพาฝน ฯ
⊚ เมขลารามสูรร้าย ราวี
มาช่วยอำนวยกี รณกล้า
โอภาศราชวิถีทางแห่ง
ดังประทีปกลีบฟ้าซึ่งฟ้ามาถวาย ฯ
⊚ อจิรประภาอากาศก้องก่องจรัส
ฉายพระโกษฐ์เสวตร์ฉัตร เชิดถ้ำ
อึดใจไป่เว้นอัส นีส่อง
ช่วงโชติโรจนล้ำ เลิศพ้นคนทำ ฯ
⊚ ถั่นถึงทวารเวศม์เจ้า จอมปราณ
ยานมาศราชศวาธาร เทิดเงื้อม
สายฟ้าประภาการ ปรากฏ
ดั่งพระอาทิตย์เอื้อม อร่ามทั้งวังหลวง ฯ
⊚ เสร็จเชิญพระศพไท้ เถลิงอาศน์
ดุสิตมหาปราสาทสุดเศร้า
จึ่งพระพิรุณสาดฝนส่ง
ทึกท่วมถึงข้อเท้า ท่องน้ำดำเนิน ฯ
⊚ ฝนดั่งฝนสั่งฟ้า ส่งรัชกาลที่ห้า
เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์ ฯ

พระนิพนธ์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงใช้นามแฝง "น.ม.ส."
ในการประพันธ์โคลงดังกล่าวข้างต้น
2950  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์ เมื่อ: 23 ตุลาคม 2559 10:43:27

๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓
เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๒๓๐ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้วได้ ๒๔๑๑ พรรษา ถ้าเทียบปฏิทินทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม คริสต์ศักราช ๑๘๖๘ นับวันนี้เป็นต้นรัชกาลที่ ๕ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งได้ประดิษฐานดำรงกรุงเทพมหานคร เป็นราชธานีแห่งสยามประเทศได้ ๘๗ ปี

พงศาวดารได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระปิยมหาราช” ไว้โดยละเอียดแล้วทั้งยังชาวไทยและชาวต่างประเทศก็ล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโดยทั่วกัน

จึงจักได้มุ่งไปถึงเหตุการณ์ตอนสิ้นรัชกาล ซึ่งพสกนิกรชาวไทยต้องโศกเศร้าเป็นล้นพ้น และเหตุการณ์ในตอนนี้มีผู้จดบันทึก เขียนเอาไว้มากมายดังจะได้รวบรวมมาไว้ดังต่อไปนี้

จกหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงประชวรจนถึงสวรรคต ของ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ซึ่ง ประพัฒน์ ตรีณรงค์ ได้นำตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ พระชีวประวัติและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า

“เมื่อเสด็จกลับมาสู่พระมหานครแล้ว ดูทรงพระสำราญดีกว่าเมื่อก่อนเสด็จประพาสยุโรป จะมีที่ไม่ปกติเล็กน้อยก็ในเรื่องพระนาภี เพราะพระบังคนหนักไม่สะดวก ต้องทรงใช้พระโอสถระบายอยู่เสมอๆ แต่การประชวรที่เรียกกันว่าถึงล้มหมอนนอนเสื่อนั้นไม่ปรากฏเลยตลอดมา จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๙  (พ.ศ.๒๔๕๓) ในวันนั้นได้ทรงขับรถไฟฟ้าเสด็จออกประพาสทอดพระเนตรการเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศที่พญาไท แต่มิได้เสด็จจากรถพระที่นั่ง มีรับสั่งว่า “ท้องไม่ค่อยจะสบายจะรีบกลับ” แล้วก็ทรงขับรถพระที่นั่งกลับยังพระที่นั่งอัมพรทีเดียว

วันที่ ๑๙ ตุลาคม เวลาค่ำมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดชและเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ชั้น ๓ ในที่พระบรรทม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิตเสด็จมาทีหลังตามขึ้นไปเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังตรัสราชการ และตรัสเล่นกับผู้ไปเฝ้าเหมือนเวลาทรงพระสำราญ

วันที่ ๒๐ ตุลาคม
เวลา ๓ โมงเช้า คุณพนักงานออกมาบอกว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปตามหมอเบอร์เตอร์ หมอไรเตอร์ และหมอปัวส์ ให้รีบมาเฝ้าโดยเร็ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จออกมารับสั่งแก่ข้าพเจ้า (พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ) ว่าให้จัดอาหารเลี้ยงหมอ และจัดที่ให้หมออยู่ประจำ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เมื่อหมอมาเฝ้าตรวจอาการกลับลงมา ข้าพเจ้าได้ถามพระอาการหมอไรเตอร์ๆ ตอบว่าเป็นเพราะพระบังคนหนักคั่งอยู่นาน เมื่อเสวยพระโอสถปัดพระบังคนหนักออกมาจึงอ่อนพระทัย พระกระเพาะอาหารอ่อน ไม่มีแรงพอที่จะย่อยพระอาหารใหม่ ควรพักบรรทมนิ่งอย่าเสวยอาหารสัก ๒๔ ชั่วโมง ก็จะเป็นปกติ หมอฉีดมอร์ฟีนถวายหนหนึ่ง

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการมาฟังพระอาการ มาด้วยกันตั้งแต่ ๕ ทุ่ม ได้บรรทมหลับเป็นปกติ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ หมอฝรั่ง หมอไทย และมหาดเล็กอยู่ประจำพรักพร้อมกันตลอดทุกเวลา

วันที่ ๒๑ ตุลาคม ย่ำรุ่งบรรทมตื่นตรัสว่าพระศอแห้งแล้วเสวยพระสุธารสเย็น คณะแพทย์ไทยถวายพระโอสถแก้พระเสมหะแห้ง รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรๆ ให้ชุ่มพระศอ  สมเด็จพระบรมราชินีนาถถวายน้ำผลเงาะคั้นผลหนึ่ง พอเสวยได้สักครู่เดียวทรงพระอาเจียนออกมาหมด สมเด็จพระบรมราชินีนาถตกพระทัย เรียกหมอทั้งสามคนขึ้นไปตรวจพระอาการ หมอกราบบังคมทูลว่า ที่เสวยน้ำผลเงาะหรือเสวยอะไรอื่น ในเวลานี้ไม่ค่อยจะดีเพราะกระเพาะว่างและยังอักเสบเป็นพิษอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเสวยพระกระยาหาร หรือพระโอสถจึงทำให้ทรงพระอาเจียนออกมาหมด และเสียพระกำลังด้วย สู้อยู่นิ่งๆ ดีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกริ้วหมอว่า อาหารก็ไม่ให้กิน ยาก็ไม่ให้กิน ให้นอนนิ่งอยู่เฉยๆ จะรักษาอย่างไรก็ไม่รักษา มันจะหายอย่างไรได้ และตรัสต่อไปว่า เชื่อถือหมอฝรั่งไม่ได้ ประเดี๋ยวพูดกลับไปอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่แน่นอนเป็นหลักฐานอะไรได้ เมื่อหมอกลับลงมาแล้วมีรับสั่งกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่า ให้ไปตามใครๆ เขามาพูดจากันดูเถิด สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จลงมารับสั่งกับข้าพเจ้า ให้มหาดเล็กไปเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรง  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์  ในเวลาย่ำรุ่งวันนี้  สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จลงมาทรงเล่าพระอาการให้เจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ฟัง แล้วเจ้านายซักถามหมอ หมอก็ยืนยันว่าไม่เป็นอะไรบรรทมอยู่นิ่งๆ ดีกว่า เจ้านายพากันเห็นจริงตามหมอไปหมด รวมกันถวายความเห็นว่า ที่หมอรักษากันอยู่เวลานี้ถูกต้องแล้ว  สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จขึ้นไปกราบบังคมทูลว่า เจ้านาย ๔ พระองค์เสด็จมาแล้ว ได้ซักถามหมอและเห็นด้วยตามที่หมอชี้แจง ทรงนิ่งอยู่มิได้รับสั่งอะไรต่อไป

เวลาที่เลี้ยงเครื่องอาหารเช้าเจ้านายและหมออยู่นั้น มีพระอาเจียนอีกครั้งหนึ่งเป็นน้ำสีเขียวเหมือนข้าวยาคูประมาณ ๑ จานซุป หมอว่าสีเขียวนั้นเป็นน้ำดี ตั้งแต่นี้ต่อไปก็มีพระอาการซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ  สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จลงมารับสั่งเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า “การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไรก็ให้รักษากันเถิด” ตามที่รับสั่งเช่นนี้ข้าพเจ้ารู้สึกใจหายให้หวั่นหวาดหนักใจไปเสียจริงๆ

ตอนเที่ยงเจ้านายและหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ตามขึ้นไปด้วย กลับลงมาได้ความว่า นับแต่พระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับอยู่ตลอดเวลา มีพระบังคนเบาครั้งหนึ่งประมาณ ๑ ช้อนกาแฟสีเหลืองอ่อน สังเกตดูกิริยาอาการของหมอและเจ้านายยังไม่สู้ตกใจอะไรมากนัก  สมเด็จพระบรมราชินีนาถรับสั่งให้เจ้านายผลัดเปลี่ยนกันประจำฟังพระอาการอยู่เสมอไป

ตอนบ่ายมีความร้อนในพระองค์ ปรอท ๑๐๐ เศษ ๔ แต่เป็นเวลาทรงสร่าง เพราะมีพระเสโทตามพระองค์บ้าง มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๒ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟเหมือนคราวก่อน  ในเรื่องพระบังคนเบาน้อยเป็นครั้งที่ ๒ นี้ เจ้านายออกจะสงสัยถามหมอๆ ก็ให้การว่าเป็นเพราะไม่ได้เสวยอะไร เสวยแต่พระสุธารส ๒-๓ ช้อนเท่านั้น ก็ซึมซาบไปตามพระองค์เสียหมด เพราะฉะนั้นพระบังคนเบาจึงน้อยไป ไม่เป็นอะไร เมื่อเสวยพระกระยาหารและพระสุธารสได้มากแล้ว พระบังคนเบาก็จะมีเป็นปรกติ แต่พระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับยังมีอยู่เสมอ

ตอนเย็นเมื่อเจ้านายและหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ยินรับสั่งกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ว่า “การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว” แล้วก็ไม่ตรัสสั่งอะไรอีก เมื่อเจ้านายและหมอกลับลงมาคราวนี้พากันรู้สึกว่า พระอาการมาก ไมใช่ทางพระธาตุพิการอย่างเดียวเป็นทางพระวักกะ (คิดนี) เครื่องกรองพระบังคนเบาเสีย เสียด้วย  มีพระบังคนเบาอีกเป็นครั้งที่ ๓ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟ  ตอนนี้หมอและเจ้านายยิ่งแน่ใจทีเดียวว่า เป็นพระวักกะพิการ หมอได้รับประชุมกันประกอบพระโอรสบำรุงพระบังคนเบา แต่ไม่ได้ผล เพราะไม่มีพระบังคนเบาเลย

ตอนค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์และหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยเช่นเคย เห็นพระพักตร์แต่ห่างๆ เข้าไปใกล้พระแท่นไม่ได้ เพราะข้างในอยู่เต็มไปหมด ได้ยินเสียงหายพระทัยดังและยาวมากบรรทมหลับอยู่ ถ้าจะถวายพระโอสถ พระอาหาร หรือพระสุธารสก็ต้องปลุกพระบรรทม หมอกลับลงมาได้ความว่า การหายพระทัยและพระชีพจรยังดีอยู่ ความร้อนในพระองค์ลดลงแล้วเห็นจะไม่เป็นไร หมอประชุมกันตั้งพระโอสถแก้พระบังคนเบาน้อยอีกประมาณ ๑ ทุ่มเศษ มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๔ ประมาณ ๑ ช้อนเกลือ และเป็นครั้งสุดท้ายด้วย

ค่ำวันนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมาฟังพระอาการเต็มไปทั้งพระที่นั่ง  เจ้านายก็ยังเชื่อกันว่าพระบังคนเบาคงจะมีออกมามากแน่ ตั้งแต่ยามหนึ่งแล้วมีพระบังคนหนัก ๓ ครั้ง เป็นน้ำสีดำๆ หมอฝรั่งหมอไทยตรวจดูก็ว่าดีขึ้น คงจะมีพระบังคนเบาปนอยู่ด้วย  วันนี้เสวยน้ำซุปไก่เป็นพักๆ พักละ ๓ ช้อนบ้าง ๔ ช้อนบ้าง  พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ทรงชงน้ำโสมส่งขึ้นไปถวายให้ทรงจิบเพื่อบำรุงพระกำลัง หมอฝรั่งหมอไทยไม่คัดค้านอะไร  คืนนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการกลับดึกกว่าคืนก่อนๆ

วันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม เวลาเช้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ และหมอฝรั่งสามคนขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยตามเคย เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยาท่าทางของหมอและเจ้านายไม่สู้ดี ได้ความว่าพระอาการหนักมาก พระบังคนเบาที่คาดว่าจะมีก็ไม่มี พิษของพระบังคนเบาขึ้นไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์

พวกหมอฝรั่งประชุมกันเขียนรายงานพระอาการยื่นต่อเจ้านายเสนาบดีว่า พระอาการมากเหลือกำลังของหมอที่จะถวายการรักษาแล้ว  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาแต่เช้า ได้ทอดพระเนตรรายงานพระอาการที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่า ควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย  ข้าพเจ้าจึงให้นายฉันหุ้มแพร (นิตย ณ สงขลา) รีบเอารถยนต์ไปรับมาทันที พระองค์เจ้าสายฯ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น้ำพระเนตรไหลแต่ไม่ตรัสว่าอะไร  พระองค์เจ้าสายฯ กลับลงมายืนยันว่า พระอาการยังไม่เป็นไร เชื่อว่าที่บรรทมหลับเซื่อมซึมอยู่นั้น เป็นด้วยฤทธิ์พระโอสถต่างๆ พอฤทธิ์พระโอสถหมดแล้ว ก็คงจะทรงสบายขึ้น เพราะพระชีพจรก็ยังเต้นเป็นปรกติ พระองค์เจ้าสายฯ กลับไปนำพระโอสถมาตั้งถวายแก้ทางพระศอแห้งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตรัสทักว่า “หมอมาหรือ” ได้เท่านั้นแล้วก็ไม่ได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป

พระอาการตั้งแต่เช้าไปจนเย็น ไม่มีพระบังคนหนักและเบาเลย พระหฤทัยอ่อนลงไปมาก ยังบรรทมหลับเซื่อมซึมอยู่เสมอ เวลาย่ำค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ (ยศขณะนั้น) และหมอฝรั่งขึ้นไปตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าขึ้นไปด้วย และเห็นหายพระทัยยาวๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล  สังเกตดูพระเนตรไม่จับใครเสียแล้ว ลืมพระเนตรค้างอยู่อย่างนั้นเอง แต่พระกรรณยังได้ยิน  สมเด็จพระบรมราชินีนาถกราบทูลว่าเสวยน้ำ ยังทรงพระยักพระพักตร์รับได้ และกราบทูลว่า พระโอสถแก้พระศอแห้งของพระองค์เจ้าสายฯ ก็ยังรับสั่งว่า “ฮือ” แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นนั้นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตรคล้ายทรงพระกรรแสง  พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซับเช็ดพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์ชุบน้ำถวาย หมอฉีดพระโอสถถวายช่วยบำรุงพระหฤทัยให้แรงขึ้น

ตั้งแต่เวลานี้ต่อไป หมอฝรั่งนั่งประจำคอยจับพระชีพจร ตรวจพระอาการผลัดเปลี่ยนกันประจำอยู่ที่พระองค์ การหายพระทัยค่อยเบาลงๆ ทุกที พระอาการกระวนกระวายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่มีเลยคงบรรทมหลับอยู่ เจ้านายจะขึ้นไปเฝ้าอีกครั้ง ก็พอหมอรีบลงมาทูลว่า เสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที (ของวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระชนมายุ ๕๘ พรรษา ดำรงสิริราชสมบัติมาได้ ๔๐ พรรษา”

ที่คัดมานี้เป็นบันทึกของผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้รับถวายพระนามว่า “พระปิยมหาราช” และได้รับยกย่องว่าเป็นบันทึกที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง

การสวรรคตครั้งนี้ยังความเศร้าโศกแก่พสกนิกรเป็นอย่างมาก หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าเหตุการณ์วันสวรรคตไว้ในหนังสือ ปาริชาติ ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ข้าพเจ้าเจ็บเป็นบิดมีไข้อยู่ที่วังประตูสามยอด กำลังนอนหลับสนิทและสะดุ้งตื่นขึ้นด้วยได้ยินเสียงผู้ชายร้องไห้อย่างเต็มเสียง ข้าพเจ้าตกใจเพราะไม่เคยได้ยินผู้ชายร้องไห้ แล้วก็นึกว่าฝันไป สักครูได้ยินเสียงนั้นอีก และคราวนี้จำได้ว่าเป็นสุรเสียงของเสด็จพ่อ (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)  ข้าพเจ้าก็ยิ่งตกใจมากขึ้น จึงหันไปปลุกแม่นมของข้าพเจ้าซึ่งนอนอยู่ข้างๆ ถามเขาว่า “ได้ยินอะไรไหม?” นมแจ๋วลุกขึ้นนั่งแล้วตอบว่า “ได้ยินค่ะ อย่าตกพระทัยไป เสียงทางท้องพระโรงน่ะ!” แล้วเขาก็หันไปมองดูนาฬิกา ข้าพเจ้ามองตามเขาไป จึงเห็นว่าเวลา ๒ น.เศษ  ทันใดนั้นได้ยินเสียงคนขึ้นบันไดมาทางเฉลียงที่เรานอน ข้าพเจ้าลุกขึ้นนั่งก็พอดีเห็นเสด็จพ่อทรงยืนอยู่ทางปลายมุ้ง ตรัสว่า “พระเจ้าอยู่หัวสวรรคตเสียแล้วลูก!” แล้วก็ทรงกรรแสงโฮใหญ่ ข้าพเจ้าก็ร้องไห้โฮตามไปด้วย แล้วท่านก็เสด็จกลับไปทางท้องพระโรง ทรงพระดำเนินไปช้าๆ เหมือนคนหมดแรง ข้าพเจ้านั่งตะลึงมองตามไปด้วยไม่รู้ว่าจะทำอะไร!”

และอีกตอนหนึ่งว่า
“เสด็จพ่อทรงสั่งราชการพลางทรงพระกรรแสงพลางอยู่ที่วังตอนเช้าวันอาทิตย์ พวกพี่น้องของข้าพเจ้า เขาก็พากันกลับเข้าวังหมดแทบทุกคน ข้าพเจ้ายังมีไข้ เข้าไปช่วยทำงานในวังไม่ได้ พอเสด็จพ่อทรงเครื่องเต็มยศใหญ่เข้าไปสวนดุสิตแล้วข้าพเจ้าก็เข้าไปเฝ้าพระบรมศพที่ริมถนนราชดำเนินแถวโรงเรียนนายร้อยทหารบก พวกราษฎรเอาเสื่อไปปูนั่งกันเป็นแถวตลอดสองข้างทาง จะหาหน้าใครที่มีแม้แต่ยิ้มก็ไม่มีสักผู้เดียว ทุกคนแต่งดำน้ำตาไหลอย่างตกอกตกใจด้วยไม่เคยรู้รส  อากาศมืดครึ้มมีหมอกขาวลงจัดเกือบถึงหัวคนเดินทั่วไป ผู้ใหญ่เขาบอกว่า นี่แหละคือหมอก ชุมเกตุ ที่ในตำราเขากล่าวว่ามักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ๆ เกิดขึ้น  ไม่ช้าก็ได้ยินเสียงปี่ในกระบวน เสียงเย็นใสจับใจมาแต่ไกลๆ แล้วได้ยินเสียงกลองรับเป็นจังหวะใกล้เข้ามาๆ ในความมืดเงียบสงัด ที่มืดเพราะต้องตัดสายไฟฟ้าบางตอนให้พระบรมศพผ่านได้ และที่เงียบสงัดก็เพราะไม่มีใครพูดจากันว่ากระไร ข้าพเจ้าเคยได้ยินเสียงปี่กลองมาแล้ว เคยได้เห็นแห่พระบรมศพเจ้านายมาแล้วหลายองค์ แต่คราวนี้ตกใจสะดุ้งทั้งตัว เมื่อเห็นพระมหาเศวตฉัตรกั้นมาบนพระบรมโกศสีขาวกับสีทองเป็นสง่า ทำให้รู้ทันทีว่า พระบรมศพ! แล้วก็ร้องไห้ออกมาโดยไม่รู้ตัวเหลียวไปทางอื่นเห็นแต่แสงไฟจากเทียนที่จุดถวายสักการะอยู่ข้างถนนแวมๆ ไปตลอด ในแสงเทียนนั้นมีแต่หน้าเศร้าๆ ปิดหน้าอยู่  เราหมอบลงกราบกับพื้นปฐพี พอเงยหน้าก็เห็นทหารที่ยืนถือปืนเอาปลายลงดินก้มหน้าลงกันปืนอยู่ข้างหน้าเราเป็นระยะไปตลอด ๒ ข้างถนนนั้น น้ำตาของเขากำลังหยดลงแปะๆ อยู่บนหลังมือของเขาอื่น ทหารผู้อยู่ในยินิฟอร์มอันแสดงว่ากล้าหาญ ยังเสียดายประมุขของประเทศอันเลิศของเขา! เสด็จพ่อตรัสเล่าว่า ได้โทรเลขไปตามหัวเมืองให้ระวังเหตุการณ์ในตอนเปลี่ยนแผ่นดิน ได้ตอบมาทุกทางว่าภายใน ๗ วันนับแต่วันสวรรคตนั้น ไม่มีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นเลยสักแห่งเดียวในพระราชอาณาจักร ฉะนั้น จึงจะต้องเข้าใจว่าแม้แต่โจร ก็ยังเสียใจในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราชของเรา”

แม้มิได้อยู่ในเหตุการณ์วันเสาร์ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เพียงได้อ่านบันทึกเหตุการณ์ในวันนั้น ก็ยังความหม่นหมองในหัวใจได้ บารมีของพระองค์ท่านแผ่ไปทุกหย่อมหญ้า ภายใน ๗ วัน นับแต่วันสวรรคตนั้น ไม่มีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นเลยสักแห่งเดียวในพระราชอาณาจักร

หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บรรยายความเศร้าสลดไว้ใน สี่แผ่นดิน ว่า
“ตลอดทางที่พลอยผ่านมีแต่ชาวบ้านร้านตลาดแต่งกายไว้ทุกข์ นุ่งดำเดินมุ่งหน้าไปทางเดียวกันทั้งสิ้น ทุกคนมีใบหน้าอันเศร้าหมอง ส่วนมากถือดอกไม้ธูปเทียนในมือ บางคนเดินร้องไห้ดังๆ บางคนก็เดินเช็ดน้ำตา ทุกคนต่างมุ่งหน้าไปคอยกระบวนพระบรมศพ เพื่อถวายบังคมสักการะในวันนี้

รถม้าที่พลอยนั่งมาแล่นถึงสะพานช้างโรงสี พลอยบอกให้รถหยุดรออยู่ที่นั้น แล้วก็เดินปนกับฝูงคนไปถนนราชดำเนินใน เมื่อพลอยไปถึงนั้นก็มีทหารยืนถือปืนหันปากกระบอกลงดินยืนรายทางอยู่ทั้งสองข้างถนน และตามสองข้างถนนนั้นราษฎรมานั่งคอยถวายบังคมพระบรมศพกันโดยตลอด ทุกคนเงียบกริบ ไม่มีใครส่งเสียงกระโตกกระตาก พลอยค่อยๆ หลีกคนเข้าไป เห็นมีที่ว่างข้างถนนหน่อยหนึ่งก็เข้าไปนั่งเยื้องไปข้างหน้าพอเอื้อมมือถึง มีทหารยืนรายทางอยู่คนหนึ่ง

พลอยนั่งคอยอยู่นาน ฝูงคนที่มาคอยถวายบังคมก็มากขึ้นทุกที อากาศที่ครึ้มอยู่ตลอดวันนั้นกลายเป็นเมฆฝนขนาดหนัก บดบังท้องฟ้าไปมืดมิดไปทั่วราวกับเวลากลางคืนที่มืดสนิท พลอยมองไปข้างหน้าตามขอบฟ้าเห็นฟ้าแลบไกลๆ เป็นระยะๆ และเสียงฟ้าร้องดังครืนอยู่ไกลๆ แต่ดินฟ้าอากาศที่แสดงว่าฝนจะตกนั้น มิได้ทำให้ฝูงชนที่มาคอยถวายบังคมพระบรมศพนั้นท้อถอยไปได้เลย เวลายิ่งล่วงไป ความมืดก็ยิ่งทวีขึ้น พลอยขนลุกเมื่อได้ยินเสียงคนเป็นอันมากร้องไห้โฮดังมาจากถนนราชดำเนินนอกอันเป็นต้นทาง ในที่สุดก็ได้ยินเสียงดนตรี เสียงปี่เสียงกลองจากกระบวนแห่ กระบวนหน้าข้ามสะพานมัฆวาฬเดินมาตามถนนราชดำเนินใน คู่แห่นั้นถือเทียนแวววาวแลดูเป็นทางยาวคู่หนึ่งสุดลูกตา เสียงปี่เสียงกลองชนะดังใกล้เข้ามาอีก หมู่คนที่นั่งอยู่ริมถนนเริ่มจุดดอกไม้ธูปเทียน ที่ต่างถือมาราวกับนัดกันไว้ อีกสักครู่ตามสองข้างถนนก็มีแสงธูปเทียนดารดาษเหมือนดาวในท้องฟ้า นางพิศจุดธูปเทียนส่งมาให้จากข้างหลัง พลอยรับมาถือไว้ ยกสองมือกำแน่น  พระบรมโกศประดิษฐานอยู่บนพระยานมาศสามลำคาน กั้นกางด้วยพระมหาเศวตฉัตร และดูสูงทะมึนข้ามสะพานมาแล้ว ทุกคนเปล่งเสียงดังร้องไห้ด้วยความรู้สึกจากหัวใจ ทุกคนก้มลงกราบถวายบังคม พลอยนั่งใจเต้นระทึก มือที่ถือธูปเทียนอยู่นั้นเริ่มสั่นด้วยความเศร้าสลด

ยิ่งพระบรมโกศถูกเชิญใกล้เข้ามา เสียงคนร้องไห้ก็ดังใกล้ติดตามมาเหมือนกับจะแข่งกับเสียงปี่กลอง พอพระยานมาศเคลื่อนมาอยู่ตรงหน้า พลอยก็ก้มลงกราบถวายบังคมและเมื่อเงยหน้าขึ้น ตาก็พอดีไปจับอยู่ที่ใบหน้าทหารที่ยืนรายทาง ทหารคนนั้นยืนถือปืนกลับปลายกระบอกลงก้มหน้าไม่มีกระดิกตามที่ได้รับคำสั่ง ใบหน้าของทหารคนนั้นเป็นใบหน้าของเด็กหนุ่มชาวบ้านนอกเหมือนกับทหารอื่นๆ ที่เกณฑ์เข้ามา แต่สิ่งที่เข้ามาปลดปล่อยความรู้สึกของพลอยให้ปะทุออกมาทั้งหมดก็คือ บนใบหน้าทหารหนุ่มนั้นมีทางน้ำตาเป็นทางยาวไหลออกมาจากเบ้าตาทั้งสองข้างและน้ำตานั้นไหลอยู่ไม่ขาดสาย พลอยเป็นคนที่ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกออกมาให้คนอื่นเห็น แต่เมื่อเห็นทหารคนนั้นด้วยแสงเทียนที่ถืออยู่ พลอยก็ปล่อยโฮออกมาอย่างหมดอับอาย

พลอยนั่งอยู่ข้างถนนนั้นอีกนานจนกระบวนแห่หายเข้าประตูวังไปแล้ว พลอยจึงลุกขึ้นเดินกลับช้าๆ ตามองขึ้นดูยอดปราสาทและหลังคาตำหนักในวัง ซึ่งแลเห็นได้เป็นครั้งคราวด้วยสายฟ้าแลบ ชีวิตที่ได้ผ่านมาทั้งหมดดูนานหนักหนา แต่เหตุการณ์วันนี้ก็เหมือนหลักบอกระยะทางแห่งชีวิตว่าได้ผ่านพ้นไประยะหนึ่งแล้ว ระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้นดูมืดเหมือนกับความมืดที่กั้นขวางอยู่ข้างหน้า ฟ้าแลบอีกปลาบหนึ่งจนแลเห็นทุกอย่างได้ชัด เสียงฟ้าร้องแสบแก้วหู แล้วฝนห่าใหญ่ก็กระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา พลอยเดินช้าๆ ต่อไปอย่างไม่รีบร้อน นางพิศก็รู้ใจไม่เร่ง พอถึงรถและขึ้นรถได้พลอยเปียกโชกไปทั้งตัว รถม้านั้นมุ่งหน้ากลับบ้านมีพลอยนั่งมาอย่างทอดอาลัย ไม่เดือดร้อนต่อความเปียกและความหนาวเย็นในขณะนั้น!”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุ ๕๘ พรรษา ดำรงสิริราชสมบัตินานถึง ๔๐ พรรษา
....."ตะวันตก"

---------------------
* คำว่า"เมื้อ" หมายถึง กลับ...เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์-เสด็จกลับสู่สวรรคาลัย


2951  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นิทรรศการ ฉัฐรัชพัสตราภรณ์ ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยามผ่านภาพบนฟิล์มกระจก เมื่อ: 22 ตุลาคม 2559 19:14:37

นิทรรศการฉัฐรัช : พัสตราภรณ์
เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙

เป็นงานจัดแสดงภาพถ่ายการแต่งกายในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ของเจ้านายในราชสำนักและบุคคลในรัชสมัย นำเสนอเทียบเคียงกับพัฒนาการแห่งยุค
ของแฟชั่นสากล โดยจัดแสดงภาพถ่ายฟิล์มกระจก รวม ๔๕ ภาพ(ตามกระทู้ด้านบน)
เป็นภาพถ่ายแบบโบราณ เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ  ซึ่งยังไม่เคยเผยแพร่
มาก่อน  นอกจากภาพถ่ายโบราณแล้ว ภายในงานยังจัดแสดงชุดแต่งกายของสตรีใน
ราชสำนักและแฟชั่นที่นิยมในยุคนั้น รวมถึงให้ข้อมูลความรู้เรื่องวิวัฒนาการถ่ายภาพ
ด้วยฟิล์มกระจก ผู้เข้าชมนิทรรศการจึงได้ทั้งสาระความรู้ทางวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม
ที่พวกเราควรตระหนักถึงความสำคัญและร่วมกันอนุรักษ์ไว้เป็นมรดของชาติสืบไป
 




กระเป๋าหนังพิมพ์ลายพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕
กระเป๋าหนังพิมพ์ลายพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แบบเหรียญ
ประพาสมาลาสำหรับสตรีใบนี้ มีลายพระราชหัตถ์ในรัชกาลที่ ๕ ระบุว่า
ของฝากจากแฮมเบิก” พระราชทานเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสยุโรป
ครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ซึ่งในการนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร
ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ในพระนคร


แบบจำลองการแต่งกายขององค์ราชนารี ตามพระราชนิยม
ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงต้นรัชกาลที่ ๖

แบบจำลองนี้จัดสร้างขึ้นใหม่สำหรับแสดงครั้งแรกในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาส ๑๕๐ ปี วันพระราชสมภพ
๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
โรงเรียนราชินีให้ยืมจัดแสดง


แพรปักจุลจอมเกล้าของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ท.จ.
พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฉบับเก่านับแต่รัชกาลที่ ๕
บัญญัติเครื่องยศสำหรับสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
ใช้ในงานมีหมายกำหนดการไว้ในมาตรา ๑๖ ว่า “เครื่องยศสำหรับสมาชิกฝ่ายในนั้น
คือแพรห่มสีชมพูปักดิ้นเลื่อมลายทอง” โดยจำแนกออกเป็น ๔ ชั้น ตามลำดับชั้น
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลดังกล่าว ทั้งนี้การห่มแพรปักเป็นเครื่องยศถูกยกเลิกไป
เมื่อต้นรัชกาลที่ ๗


ลำดับที่ ๑ เข็มใกล้ชิด รูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๖
คุณหญิงนิธิวดี (กูรมะโรหิต) อันตระการ (พ.ศ.๒๔๕๔-พ.ศ.๒๕๕๗) คุณพนักงาน
ฝ่ายในในสมัยนั้น เล่าว่า “การขึ้นเฝ้าฯ ปฏิบัติอยู่เวรในพระราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๖
คุณพนักงานทุกคนต้องกลัดเข็มใกล้ชิดที่ได้รับพระราชทานเสมอ ขาดไม่ได้ ถือเป็น
เครื่องหมายแทนเหรียญราชรุจิ สำหรับงานที่ไม่ได้กำหนดให้แต่งกายเต็มยศครึ่งยศ
หากเป็นงานมีหมายกำหนดให้แต่งกายเต็มยศครึ่งยศ โปรดเกล้าฯ ให้ประดับเหรียญราชรุจิ
แทนเข็มใกล้ชิด ส่วนแพรรองเข็มนั้น ให้ใช้ตามแพรของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่
ได้รับพระราชทานขณะนั้น”
(เดิมเป็นของคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ ต.จ. : ทายาทมอบให้มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา)



ลำดับที่ ๒ เสมาอักษรพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖
ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาคล้องสร้อยทองคำคุณพนักงานฝ่ายใน ในรัชกาลที่ ๖
(เดิมเป็นของคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ ต.จ. : ทายาทมอบให้มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา)



ลำดับที่ ๓ กำไลงาช้างประดับทองคำลงยาอักษรพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖
พื้นรองอักษรพระบรมนามาภิไธยลงยาเป็นสีของแพรเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมี
เกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พระราชทานสำหรับคุณพนักงานฝ่ายใน ที่ถวายตัวรับราชการทุกคน
(เดิมเป็นของคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ ต.จ. : ทายาทมอบให้มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา)



ลำดับที่ ๔ เข็มกลัดพระปรมาภิไธย วชิราวุธ ปร.ทองคำลงยา
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นบำเหน็จในพระองค์แก่คุณหญิงแม้น
สุนทรเทพกิจจารักษ์ (พ.ศ.๒๔๓๖-พ.ศ.๒๕๒๕) ภริยาพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์
(ทอง จันทรางศุ) เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ คราวติดตามสามีขณะมีราชทินนามที่พระยาสุรินทรฦๅชัย
ไปปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี อันเป็นจังหวัด
ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน
(ทายาทคุณหญิงแม้ สุนทรเทพกิจจารักษ์ ให้ยืมจัดแสดง)



ลำดับที่ ๕ เข็มราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม
สร้างเป็นที่ระลึกสำหรับผู้สมทบทุนซื้อเรือรบหลวงพระร่วง นิยมใช้เป็นเครื่องประดับ
ทั้งบุรุษและสตรี ในยุคนั้น (อาจารย์ระวี สัจจโสภณ ให้ยืมจัดแสดง)





เครื่องแต่งกายของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ท.จ.
เครื่องแต่งกายของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ท.จ. (พ.ศ.๒๔๑๙-พ.ศ.๒๕๐๔)
ภริยาเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) อธิบดีศาลฎีกา และราชเลขาธิการ
ในรัชกาลที่ ๖ ท่านผู้หญิงกลีบเป็นผู้มีความสามารถด้านคหกรรมศาสตร์
และเป็นหนึ่งในสตรีชั้นนำในยุครัชกาลที่ ๖ ผู้มีรสนิยมในการเรือนและการ
แต่งกายตามพระราชนิยม เครื่องแต่งกายเหล่านี้ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  -
มาลากุล ณ อยุธยา ธิดาของท่านผู้หญิงได้มอบไว้เพื่อจัดแสดง ณ โรงเรียน
ราชประชาสมาสัย ซึ่งท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาฯ เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการ
(โรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ยืมจัดแสดง)






คอร์เซ็ต (Corset)
คอร์เซ็ต (Corset) ที่จัดแสดงเป็นของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ท.จ.
การใส่คอร์เซ็ตมีความยุ่งยากพอสมควร และต้องสวมใส่ให้ถูกต้องตามแบบ โดยตะขอ
สำหรับยึดตัวอยู่ข้างหน้า และเชือกสำหรับดึงตัวอยู่ข้างหลัง ส่วนบนของคอร์เซ็ตมักจะ
ตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้เพื่อเพิ่มความงาม และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการสวมใส่



หนังสือที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ (The Siamese Exhibition)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น ณ สวนลุมพินี
เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและการพาณิชย์ของชาติ ประมวลเรื่องราว
ของประเทศสยามรวมถึงภาพการแต่งกายของสตรียุคนั้นไว้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม งานนี้ถูกล้มเลิกไปเนื่องจากการเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่
๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘
(ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ให้ยืมจัดแสดง)




2952  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยามผ่านภาพที่บันทึกไว้บนฟิล์มกระจก เมื่อ: 22 ตุลาคม 2559 12:42:00

ประมวลภาพอาภรณ์สตรีสยามในสมัยรัชกาลที่ ๖
ที่บันทึกไว้บนฟิล์มกระจก เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
และยังมิได้เคยมีการเผยแพร่มาก่อน
(ต่อ)

--------------------------


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


การแต่งกายสมัยทีนส์ตอนปลาย เสื้อผ้าแพรแบบพอง ชายเสื้อยาว
ถึงสะโพก แขนเสมอศอกพร้อมริบบิ้น นุ่งผ้านุ่งไหมยก พร้อมเครื่อง
ประดับที่เกี่ยวเนื่องกับสกุลหรือบุพการี เช่น เข็มกลัดนามราชสกุล
“เกษมศรี” สร้อยรูปงูคล้องจี้ล็อกเกตพระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ เป็นต้น ผมยาวรวบไว้ข้างหลัง และสวม
เครื่องประดับศีรษะ สังเกตว่าเสื้อนี้อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจาก
ชุดเดินตากอากาศ (Promenade dress) ในยุคนี้จากยุโรป
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ภาพถ่ายแม่และเด็กในช่วงรัชกาลที่ ๖ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
และวัฒนธรรมสยามโดยเฉพาะชุดแต่งกายเด็กที่ได้หยิบยืมมาจากทางตะวันตก  
ในสมัยวิกตอเรียและเอ็ดวอร์เดียน เพศสภาพของเด็กเล็กไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ
เหมือนสมัยปัจจุบัน  การใช้สีเสื้อผ้าตามเพศนั้นยังไม่เกิดขึ้น ภาพส่วนมาก
จากสมัยนี้ มักจะเห็นเด็กเล็กทั้งชายและหญิงแต่งตัวคล้ายกัน เด็กเล็กชาย
และหญิงที่ยังเดินไม่ได้มักจะสวมชุดกระโปรงพร้อมทั้งหมวกบอนเน็ตสำหรับ
เด็กเล็ก(Baby Bonnet) เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาดผ้าอ้อม
และสวมหมวกเพื่อช่วยให้อบอุ่นและป้องกันการเจ็บป่วย
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ควรสังเกตทรงผมว่าตรงกับแฟชั่นของยุโรปอย่างไม่มีผิดเพี้ยน และลักษณะ
การยืนเบียดเทียมบ่าบุรุษได้ แม้ในการถ่ายภาพอย่างเป็นทางการ แสดงนัย
เชิงสัญลักษณ์ สะท้อนบทบาทและสถานภาพสตรีในยุคนั้น
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


เสื้อผ้าแพรชีฟองแบบพอง ชายเสื้อยาวเกือบถึงเข่า แขนเสมอศอก
พร้อมพู่ไหม นุ่งซิ่นไหมเชิงกรวยพร้อมเครื่องประดับ ผมยาวดัดลอน
ตกแต่งด้วยศิราภรณ์  การถ่ายภาพในสตูดิโอแบบนั่งหันข้างให้แสง
สะท้อนอย่างมลังเมลืองเป็นที่นิยมในยุคนี้
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


เสื้อผ้าแพรแบบพอง ชายเสื้อยาวถึงสะโพก แขนเสมอศอกแต่งริบบิ้น
นุ่งซิ่นไหมเชิงกรวย พร้อมเครื่องประดับ ผมยาวดัดลอน เก็บมวยไว้
ด้านหลัง ยังคงสวมถุงน่องรองเท้าตามสมัยนิยม
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



หม่อมประยูร (สุขุม) โสณกุล ณ อยุธยา
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


หม่อมประยูร (สุขุม) โสณกุล ณ อยุธยา  แต่งกายตามแฟชั่นสมัย
รัชกาลที่ ๖ ตอนกลาง ตรงกับยุคทีนส์ตอนปลาย ควรสังเกตรองเท้า
ผู้หญิงแบบมีสายรัดข้างหน้าแบบสไตล์แมรี เจน  ที่เคยเป็นที่นิยมมา
แต่ปลาย รัชกาลที่ ๕ เริ่มถูกแทนที่ด้วยแบบใหม่  เป็นรองเท้าส้นสูง
แบบคัทชู (Court Shoes)
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ท่านผู้หญิง ตลับ ยมราช และธิดา คือ นางสาวประจวบ สุขุม
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


การแต่งกายของท่านผู้หญิง ตลับ ยมราช และธิดา คือ นางสาวประจวบ สุขุม
บอกเล่าเรื่องราวแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนกลาง หรือทีนส์ตอนปลาย
ได้อย่างน่าสนใจ    ท่านเป็นผู้หญิงเป็นบุคคลผู้สื่อสะท้อนถึงแฟชั่นของ
ผู้หญิงที่เติบโตมาในรัชกาลที่ ๕ ยังคงความคุ้นชินในการนุ่งโจง สวมเสื้อ
ลูกไม้แบบพอง ทิ้งแขนสามส่วน สะพายแพร  แล้วทับด้วยสายสะพาย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า  สวมถุงน่องและรองเท้าหนังสไตล์
แมรี เจน  ขณะที่หญิงสาวผู้เป็นธิดานุ่งซิ่นไหมเชิงกรวยและไว้ผมยาว
สวมรองเท้าหนังแบบคัทชู สะท้อนแฟชั่นยุคใหม่ตอนกลางของรัชกาลที่ ๖
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


เสื้อผ้าลูกไม้แบบไม่รัดรูป ชายเสื้อยาวถึงสะโพก แขนเสมอศอก
แขนเสื้อปล่อยชาย นุ่งซิ่นไหมเชิงกรวย พร้อมเครื่องประดับ
ผมยาวดัดลอนปล่อยยาว ยังคงสวมถุงน่องรองเท้าตามสมัยนิยม
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ท่านผู้หญิงเยี่ยม (อิศรเสนา) จรัญสนิทวงศ์
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ท่านผู้หญิงเยี่ยม ผู้เป็นมารดา พลเอกหญิง ท่านผู้หญิงนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
แต่งกายตามแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนกลางทีนส์ตอนปลาย น่าสังเกตลักษณะ
การวางท่าทางของสตรีสยามในยุครัชกาลที่ ๖ ว่ามีการทอดสายตา ยกแขน การทิ้ง
น้ำหนักสะโพกและขา ที่สอดคล้องกับสตรียุโรปผู้มีรสนิยมตามแค็ตตาล็อก
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เต็มยศ สวมชุด
เสื้อชีฟองปักเลื่อม และกระโปรงผ้าไหมชายเสื้อยาวถึงหัวเข่า กระโปรงยาว
ถึงน่อง แขนสั้นถึงต้นแขน ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่สตรียุโรป
ผมสั้นดัดลอน ถือพัดขนนก สวมถุงน่องรองเท้าตามสมัยนิยม
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ในพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)

ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ฉายพระฉายาลักษณ์นี้ในสตูดิโอ
เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ ขณะทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก  ซึ่งทรง
ฉลองพระองค์แบบค็อกเทลสายเดี่ยวสไตล์อาร์ตเดคโค (Art Deco)
ยาวถึงครึ่งพระชงค์ (แข้ง) ทรงรัดพระองค์ตรงพระโสณี (สะโพก)
ด้วยลักษณะเครื่องประดับแบบระย้าสไตล์อาร์ตเดคโค  ทรงมงกุฎ
ประดับขนนกกระจอกเทศ ทรงสวมสะพายทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
ทรงสร้อยพระศอเพชร และพระธำมรงค์หมั้น

เข็มกลัดบนสายสะพายเหนือเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖
๑.เข็มพระบรมนามาภิไธย ราม ร.(ราม รามาธิบดี) เพชรล้วน  
๒.เข็มอักษรพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖ (ราม รามาธิบดี ๖) ภายใต้
พระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีฝังเพชรล้วน  ที่ปลายรัศมีฝังไพลิน
ที่รองซับหลังอักษรพระบรมนามาภิไธยเป็นตลับแก้วสีน้ำเงินบรรจุ
เส้นพระเจ้า    ที่พระอุระขวา เข็มพระราชลัญจกรประจำพระองค์
ในรัชกาลที่ ๖ รูปวงรี เรียกกันว่า เข็มใกล้ชิด ประดับเพชรล้วน
รองด้วยแพรของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับชั้นตระกูลสูงสุดที่ได้รับ
พระราชทาน ซึ่งในขณะนั้นทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา ท.จ.ว. จัดสอด
แพรใต้เข็มใกล้ชิดเป็นแพรชมพู
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



พระยาสุรินทรเสวี (เถา วัลยะเสวี)
คุณหญิงสุรินทรเสวี (เอื้อ วัลยะเสวี สกุลเดิม เศรษฐบุตร)

ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


คุณหญิงสวมชุดแต่งงานแบบตะวันตกร่วมสมัย ชุดผ้าไหมสีขาวและผ้าคลุม
ผมลูกไม้บางยาวถึงพื้น  กระโปรงเริ่มที่จะสั้นขึ้นมาใต้หัวเข่า  ถือช่อดอกไม้
ผมตัดสั้น ดัดลอนใต้ติ่งหู การถ่ายภาพบุรุษสตรีคู่สามีภริยาคู่กัน เป็นความ
นิยมแพร่หลายในรัชกาลที่ ๖ สื่อสะท้อนถึงพระราชประสงค์ให้คนไทยดำเนิน
ชีวิตสมรสแบบเอกภริยา (Monogamy) หรือที่เรียกโดยสามัญ
ว่าระบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” ตามอารยประเทศในยุโรป อันเป็นรากฐานของ
การพระราชทานสิทธิสตรี และสิทธิทางกฎหมายแพ่ง โดยเฉพาะเรื่องบุคคล
และครอบครัวตามระบบกฎหมายสมัยใหม่
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


แฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนปลายสมัยอาร์ตเดคโค เสื้อผ้าสตรีสยาม
ในยุคนี้จะเป็นทรงตรงดิ่ง และแบบตัดเย็บไม่รัดรูปมากเหมือนช่วงกลา
งรัชสมัย และเอวจะเลื่อนลงมาเลยสะโพกเกือบถึงต้นขา แขนเสื้อเริ่ม
สูงเลยข้อศอก หรือแขนสั้นถึงหัวไหล่ ชายกระโปรงหรือผ้าซิ่นสูงขึ้น
ถึงระดับน่องและใต้หัวเข่า สวมถุงน่องและรองเท้าแบบคัทชู
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ควรสังเกตว่า สตรีในภาพนี้มีฟันขาว สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรม
การกินหมากเริ่มลดความนิยมลงแล้วในยุคนี้ การถ่ายภาพบุคคล
ในปลายรัชกาลที่ ๖ จึงเริ่มมีการยิ้มเผยให้เห็นฟันมากขึ้น
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


สุภาพสตรีในภาพสวมเสื้อแขนสั้นทรงกระบอก ตัวเสื้อทิ้งต่ำ เอวของตัวเสื้อเลื่อน
ลงมาถึงสะโพก แต่ยังคงนุ่งซิ่นไว้ผมบ๊อบ นยุคนี้เด็กสาวรุ่นใหม่ยกเลิกการสวมคอร์เซ็ต
และมาสวมบราเซีย แบบอ่อนเต็มตัวแทนที่ เพื่อ “เสริมทรง” แทนที่จะ “รัดทรง”
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


สุภาพสตรีในภาพสวมเสื้อแขนสั้นถึงหัวไหล่ ตัวเสื้อทิ้งต่ำ เอวของตัวเสื้อ
เลื่อนลงมาถึงสะโพก นุ่งซิ่นเชิงกรวย ไว้ผมบ๊อบ การถือช่อบูเกต์เป็นช่อ
ดอกไม้ใบไม้ หรือการนำช่อบูเกต์มาประกอบการจัดท่าทาง  เป็นที่นิยม
แพร่หลาย โดยช่อดอกไม้หรือใบไม้นั้นจัดในลักษณะเรียบง่ายแสดงความ
งามตามธรรมชาติ ไม่กรุยกราย ใช้ดอกไม้แต่น้อย
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ กับพระอัยยิกา (ยาย)
คือท้าวสุนทรนาฎ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ผู้อำนวยการมหรสพหลวงฝ่ายใน
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


พระนางเจ้าสุวัทนาฯ  ฉลองพระองค์แบบสตรีสยามนิยม ในช่วงอาร์ตเดคโค
เสื้อเป็นผ้าชีฟอง แบบทรงกระบอก พร้อมซับในแขนยาวเหนือพระกัประ (ศอก)
ทรงพระภูษาซิ่นไหม ทรงถุงน่องฉลองพระบาท พระเกศาดัดเป็นลอน ทรงสร้อยมุก
และนาฬิกา ทรงพระมาลาตามสมัยนิยม ในขณะที่ท้าวศรีสุนทรนาฏ ยังแต่งกาย
เหมือนสตรีปลายรัชกาลที่ ๕  เสื้อกระดุมผ่าอก แขนยาว สะพายผ้าแถบ กลัด
เข็มพระปรมาภิไธย วชิราวุธ ป.ร. เป็นอาทิ และนุ่งผ้าโจง
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ในขณะที่สตรีวัยรุ่งแต่งกายอย่างสมัยใหม่ สตรีในภาพมีวัยกลางอายุ ค่อนไปทาง
ปลายอายุ  กลับยังคงดำเนินตามแฟชั่น สมัยรัชกาลที่ ๖ตอนกลาง  ซึ่งเป็นสมัย
ทีนส์ตอนต้น สวมเสื้อลูกไม้ผสมผ้าแพร แบบพอง คอกลม  ประดับด้วยผ้าลูกไม้
แถบสีเข้ม ปักเลื่อมแขนปล่อยชายยาวเลยข้อศอก สะพายแพรพิมพ์ลาย ทิ้งชาย
นุ่งโจง พร้อมเครื่องประดับ และไว้ผมสั้น ตามสมัยนิยมช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ และ
ต้นรัชกาลที่ ๖  เช่น เหรียญรัชมังคลาภิเศกรัชกาลที่ ๕ เหรียญบรมราชาภิเษก
รัชกาลที่ ๖ เหรียญปีกุน พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นต้น
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี  แต่งตัวตามสมัยรัชกาลที่ ๖
ช่วงปลาย ซึ่งยังคงไว้ทรงผมตามแบบรัชกาลที่ ๕ สวมถุงเท้ายาวถึงเข่า
สีเข้ม พร้อมรองเท้าหนังแบบมีกระดุมอยู่ข้างหน้า สไตล์แมรี เจน  
ภาพนี้ทำให้เข้าใจได้ว่าแฟชั่นยุคนั้นเจ้านายและผู้ใหญ่ยังคงนุ่งโจง
และไว้ผมสั้น เพียงเปลี่ยนเสื้อตามสมัยนิยม    เด็กชายในภาพคือ
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล น่าจะถ่ายก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ
ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย กฤดากร เพ็ญพัฒน์ (ขวา)
หม่อมเจ้าหญิงลีลาศหงษ์ กฤดากร เทวกุล

ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย กฤดากร เพ็ญพัฒน์ (ขวา)
หม่อมเจ้าหญิงลีลาศหงษ์ กฤดากร เทวกุล
พระธิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และหม่อมแช่ม กฤดากร
ทรงแต่งองค์ตามแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนปลาย สมัยอาร์ตเดคโค เป็นทรง
ตรงดิ่ง และแบบตัดเย็บไม่รัดรูปมากเหมือนช่วงกลางรัชสมัย  แขนฉลององค์
ยาวเสมอต้นกร ฉลององค์ทิ้งต่ำ ภูษาผ้าซิ่นไหมลายขวาง ไว้เกศาบ๊อบตามสมัย  
ภาพนี้เป็นภาพที่น่าสนใจว่า เทคโนโลยีการถ่ายภาพเจริญขึ้นจนไม่จำเป็น
ต้องถ่ายภาพแบบพอร์เทรตในห้องสตูดิโออีกต่อไป เพราะเป็นการบันทึกภาพที่วังที่ประทับ
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*



ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


สตรีทั้งสอง แต่งกายตามแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ ๖ ตอนปลาย สมัยอาร์ตเดคโค เป็นทรง
ตรงดิ่ง และแบบตัดเย็บไม่รัดรูปมากเหมือนช่วงกลางรัชสมัย แขนยาวเสมอไหล่
ตัวเสื้อทิ้งต่ำ สวมผ้าซิ่นไหมลายขวาง ไว้ผมบ๊อบตามสมัย ภาพนี้เป็นภาพที่น่าสนใจ
เพราะทุกคนยิ้มฟันขาวสดใส และวางท่าทางอย่างสบายๆ เป็นธรรมชาติ สะท้อนสภาพ
สังคม สิทธิเสรีภาพ และบรรยากาศแห่งยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
*~ •.•´¯`•.• •.•´¯`•.• ~*
2953  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: เปิดข้อมูลโบราณราชประเพณี "พระบรมศพ" เมื่อ: 20 ตุลาคม 2559 09:33:20


เปิดข้อมูลโบราณราชประเพณี
๒.ราชประเพณี "พระบรมศพ"
จากยุคสุโขทัย ถึง รัตนโกสินทร์

หลักฐานที่กล่าวถึงการจัดพระราชพิธีพระบรมศพที่เก่าแก่ที่สุดนั้น ปรากฏอยู่ในหนังสือไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง หนังสือวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของชาติไทย พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทย แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีระกา พุทธศักราช ๑๘๘๘ พรรณนาการจัดการพระศพพระยามหาจักรพรรดิราช ว่า

“เมื่อนั้น จิงพระญาจักรพรรดิราชนั้น ธ ก็ทิพธรชงคต พิธรชะโลม
ด้วยกระแจะจวงจันทน์ แลจิงเอาผ้าขาวอันเนื้อละเอียดนั้น มาตราสังศพ
พระญาจักรพรรดิราชนั้น แล้วจึงเอาสำลีอันดีด้วยสะพัดได้แลร้อยคาบ
มาห่อชั้นหนึ่ง แล้วเอาผ้าขาวอันละเอียดมาห่อชั้น ๑ เล่า แล้วเอาสำลี
อันละเอียดมาห่อเล่าดังนั้น นอกผ้าตราสังทั้งหลายเป็น ๑๐๐๐ ชั้น

คือว่าห่อผ้า ๕๐๐ ชั้น แลสำลีอันอ่อนนั้นก็ได้ ๕๐๐ ชั้น จิงรดด้วย
น้ำหอมอันอบแลได้ ๑๐๐ คาบ แล้วเอาใส่ในโกศทองอันประดับ
นิคำถมอ แลรจนาด้วยวรรณลวดลายทั้งหลายอันละเอียดนักหนา
แล้วจิงยกศพไปสงสการด้วยแก่นจันทน์กฤษณาทั้งห้าแล้วบูชาด้วย
เข้าตอกดอกไม้ทั้งหลาย ครั้นว่าสงสการเสร็จแล้ว คนทั้งหลาย
จิงเก็บเอาธาตุพระญามหาจักรพรรดิราชนั้นไปประจุแลก่อพระเจดีย์
แทบทางพบแห่งกลางเมืองนั้น แต่ให้คนทั้งหลายไปไหว้นบบูชา…”

ล่วงมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานการพระศพ กระทั่งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวเฉพาะลักษณะพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิงเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการจัดพิธีกรรม การสร้างพระเมรุมาศในสมัยอยุธยายิ่งใหญ่โอฬารมาก ปรากฏตามจดหมายเหตุและพระราชพงศาวดารว่า พระเมรุมาศสูงถึง ๒ เส้น มีปริมณฑลกว้างใหญ่ เช่น พระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะสร้างพระเมรุทองอยู่ในพระเมรุใหญ่ กล่าวคือ

“ขนาดใหญ่ ขื่อ ๗ วา ๒ ศอก โดยสูง ๒ เส้น ๑๑ วาศอกคืบ
มียอด ๕ ยอด ภายในพระเมรุทองนั้นประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณ
วิจิตรต่าง ๆ สรรพด้วยพระเมรุทิศ พระเมรุราย แลสามสร้าง”

ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จดหมายเหตุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พรรณนาเฉพาะตอนถวายพระเพลิง แห่พระบรมอัฐิและพระอังคาร และงานพระเมรุมาศสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คงรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมไว้เช่นกัน ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัดทอนอย่างมากในรัชกาลที่ ๕ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการกำหนดจัดการพระบรมศพของพระองค์ไว้ก่อนเสด็จสวรรคตหลายประการเป็นต้นว่า ให้สร้างพระเมรุมาศมีขนาดเล็กเพียงพอแก่ถวายพระเพลิงได้ มิให้สูงถึง ๒ เส้นดังแต่กาลก่อน ครั้นรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบันทึกตัดทอนการปลูกสร้างพระเมรุมาศและการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระองค์ลงอีกหลายประการ งานพระเมรุจึงลดขนาดลงนับตั้งแต่นั้นมา

การสร้างพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง

การสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ สำหรับถวายพระเพลิงจะมี “ขนาดและรูปแบบ” งดงามวิจิตรแตกต่างกันตามยุคสมัย เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่าง โดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานคติการสร้างว่า “พระเมรุ” ได้ชื่อมาแต่การปลูกสร้างปราสาทอันสูงใหญ่ท่ามกลางปราสาทน้อยที่สร้างขึ้นตามมุมทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน ปักราชวัติเป็นชั้น ๆ ลักษณะประดุจเขาพระเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อม จึงเรียกเลียนชื่อว่า พระเมรุ ภายหลังเมื่อทำย่อลง แม้ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลม ๆ ก็ยังคงเรียกเมรุด้วย คนไทยมีความเชื่อและยึดถือเรื่องไตรภูมิตามคติของพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงจักรวาล มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสามรายล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา อันเป็นวิมานของท้าวจตุโลกบาลและเขา สัตตบริภัณฑ์

ดังนั้นจึงนำคติความเชื่อจากไตรภูมิมาใช้ในการประกอบพิธีถวายพระเพลิงเพื่อให้ได้ ถึงภพแห่งความดีงาม อันมีแดนอยู่ที่เขาพระเมรุนั้นเอง สิ่งก่อสร้างในการพระราชพิธีถวายพระเพลิง จะมีส่วนจำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ ดังเช่น โบราณจะมีรูปสัตว์หิมพานต์ลักษณะหลากหลายนานาพันธุ์ บนหลังตั้งสังเค็ดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ เข้าขบวนแห่อัญเชิญพระศพ


จากเว็บไซต์กรมศิลปากร
2954  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / #องค์ความรู้ภาษาวัฒนธรรม เมื่อ: 19 ตุลาคม 2559 16:16:25



สลากกินแบ่ง

สลากกินแบ่ง มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า สลากที่จัดให้มีเพื่อขายให้แก่ผู้เล่นเป็นการเสี่ยงโชค โดยมีการให้รางวัลที่แบ่งเป็นหลายรางวัลแก่ผู้เล่น ซึ่งถือสลากเลขหมายรางวัลที่ออกตามวิธีการที่กำหนด มีชื่อเรียกอื่นว่า ลอตเตอรี่ หวย หรือหวยเบอร์

หลักฐานการใช้คำว่า “สลากกินแบ่ง” เป็นครั้งแรกปรากฏในหนังสือของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ ๑๕๒/๒๙๒๔ ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งแต่เดิมเรียกทับศัพท์ว่า ลอตเตอรี่ หมายถึง การเสี่ยงโชค เป็นลักษณะการออกรางวัลสลากแบบยุโรป คือ เสี่ยงโชคด้วยตัวเลข การออกลอตเตอรี่ครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ผู้เขียนมีคำตอบจากสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตย สถาน เล่ม ๒๗ ดังนี้...

สลากกินแบ่งหรือลอตเตอรี่ได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากนายทหารมหาดเล็กคนหนึ่งมีดำริที่จะช่วยเหลือชาวต่างประเทศที่นำสิ่งของมาร่วมในงานแสดงพิพิธภัณฑ์

ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สามารถขายของได้บ้าง จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการออกสลากกินแบ่งโดยใช้ของที่นำมาจัดแสดงเป็นของรางวัลตามมูลค่าของเงินรางวัลที่จะได้รับ แต่ถ้าต้องการรับเป็นเงิน จะต้องถูกลดเงินรางวัลลงร้อยละ ๑๐

การออกรางวัลครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเป็นครั้งเดียวในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสลากกินแบ่งชุดแรกนี้พิมพ์ออกจำหน่ายจำนวน ๒๐,๐๐๐ ฉบับ ขายราคาฉบับละ ๑ ตำลึง หรือ ๔ บาท

ผลการออกรางวัลมีเฉพาะรางวัลที่ ๑-๓ คือ รางวัลที่ ๑ เลขที่ออก ๑๖๗๒ เงินรางวัล ๑๐๐ ชั่ง หรือ ๘,๐๐๐ บาท รางวัลที่ ๒ เลขที่ออก ๑๔๒๕ เงินรางวัล ๕๐ ชั่ง หรือ ๔,๐๐๐ บาท และรางวัลที่ ๓ เลขที่ออก ๓๖๖๒ เงินรางวัล ๒๕ ชั่ง หรือ ๒,๐๐๐ บาท.


อารี พลดี/เรียบเรียง
#องค์ความรู้ภาษาวัฒนธรรม






ศตวรรษธงไตรรงค์

ไปรษณีย์ไทยร่วมกับพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยจัดทำ iStamp ชุดพิเศษ "ร้อยปีธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั้งชาติ" เนื่องในโอกาสก้าวสู่ ๑๐๐ ปี การประกาศใช้ "ธงไตรรงค์" เป็นธงชาติไทย เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๖๐

เป็นภาพวิวัฒนาการของธงชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นภาพธงแดงประกอบรูปจักรขาว ต่อมาได้เพิ่มรูปช้างเผือก และเปลี่ยนมาเป็นธงช้างเผือก และธงช้างเผือกยืนบนแท่นตามลำดับ ก่อนจะปรับเป็นธงแดงขาว ๕ ริ้ว

กระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนแถบสีแดงตรงกลางเป็นสีน้ำเงิน จนได้ชื่อว่า "ธงไตรรงค์" หรือ ธงสามสี อันหมายถึงสามสถาบันหลักของประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งกำหนดให้เป็นธงชาติไทยและใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สนใจหาซื้อได้ ที่พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยในราคาชุดละ ๕๐๐ บาท พร้อมลายเซ็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย แถมฟรี! สายรัดข้อมือฉลอง ๑๐๐ ปีธงชาติไทย สอบถามโทร.08-4623-3223


แสตมป์ที่ฉันรัก/ข่าวสดออนไลน์



การ์ตูนไทยเริ่มมีตั้งแต่เมื่อไร แล้วใครเป็นคนเขียน?

หากไม่นับการเขียนภาพฝาผนังลักษณะเหมือนจริงแบบตะวันตกของจิตรกร “ขรัวอินโข่ง” ในสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ ประวัติศาสตร์การ์ตูนสยามก็น่าจะนับว่า ตั้งต้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ (พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปล cartoon เป็นคำไทยว่า ภาพล้อ)

โดยมี “ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต” (เปล่ง ไตรปิ่น) ได้รับการยกย่องเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยคนแรก

มีบันทึกว่า สมัยที่ท่านติดตามราชทูตไปอังกฤษ เคยเป็นเด็กรับใช้ครูศิลปะ มีหน้าที่ล้างพู่กันและถือกระป๋องสี อาศัยครูพักลักจำวิชาวาดรูป ก่อนเริ่มศึกษาอย่างจริงจังในเวลาต่อมา ครั้นเก่งกล้าจึงออกเดินทางแสวงโชคในหลายประเทศ และยังชีพด้วยการเขียนรูปเรื่อยมา

เมื่อกลับคืนแผ่นดินสยามก็มีงานวาดการ์ตูนล้อนักการเมืองลงหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ไทยหนุ่ม บางกอกไทม์ ฯลฯ

ฝีมืออันโดดเด่นของท่านทำให้ได้รับพระราชทานรางวัลการประกวดวาดภาพล้อจากรัชกาลที่ ๖ ด้วย

ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี
ฉบับที่ ๓๗๖ มิถุนายน ๒๕๕๙





คำไม่จริง

คำโกหกของใครบางคนถูกอ้างว่าเป็นไปเพื่อรักษาน้ำใจ เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด ขึ้นชื่อว่า โกหก แล้ว ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี ดังบทนิยามในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ว่า โกหก คือ จงใจกล่าวคำที่ไม่จริง, พูดปด, พูดเท็จ

นอกจากคำ โกหก แล้ว พจนานุกรมฯ ยังอธิบายคำที่เกี่ยวข้องไว้อีก ๒ คำ คือ โกหกพกลม และ โกหกโกไหว้ ทั้ง ๒ คำนี้เป็นภาษาปาก และมีความหมายใกล้เคียงกัน

โดย โกหกพกลม หมายถึง พูดไม่จริง, เหลวไหล ส่วน โกหกโกไหว้ หมายถึง พูดหลอกไปวันๆ

หนังสือรู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๗ ฉบับราชบัณฑิตยสภา อธิบายว่า การโกหกมีหลายลักษณะและหลายระดับ สำนวนที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ โกหกหน้าตาย และ โกหกพกลม

สำนวน โกหกหน้าตาย หมายถึง พูดคำเท็จโดยไม่เห็นพิรุธในสีหน้าและแววตา ทั้งๆ ที่ผู้อื่นรู้ดีว่าความจริงเป็นเช่นไร เช่น ในประโยคที่ว่า เรามีหลักฐานทั้งภาพและเสียงว่าเขายุให้ ๒ ฝ่ายตีกัน ยังมา โกหกหน้าตาย อีกว่าพยายามเข้าไปไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ๒ ฝ่ายนั้น

ส่วน โกหกพกลม หมายถึง โกหกแบบหาความจริงไม่ได้แม้แต่น้อย อุปมาเหมือนกับพูดแล้วมีแต่ลมคือความว่างเปล่า หาความจริงใดๆ ไม่ได้ สำนวน โกหกพกลม พบในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนสู่ขอนางศรีมาลาให้พลายงาม

โดยเนื้อเรื่องในตอนนี้เป็นตอนที่นางบุษบา มารดาของนางศรีมาลากังวลว่า พลายงามต้องไปราชการไกล เกรงจะไปรักกับลูกเจ้านายอื่น พลายงามก็ให้สัญญาว่าจะรักมั่นคงอยู่กับนางศรีมาลา โดยที่ขุนแผนก็รับรองคำสัญญาของพลายงามด้วยว่า


”ขุนแผนพ่อพูดต่อเจ้าพลายงาม ความที่มันสัญญาน่าจะสม
เห็นจะไม่ โกหกพกลม แต่นานนมหนักไปก็ไม่ดี
ลูกคิดว่าถ้าหมั้นต่อกันไว้ถึงห่างไกลก็พะวงตรงที่นี่
เหมือนตัวไปใจอยู่ด้วยคู่มี อย่างนี้เป็นทำนองที่ป้องกัน”




ปั้นน้ำเป็นตัว

สำนวนว่าด้วยเรื่องการโกหก นอกจากให้นิยามของการโกหกแบบต่างๆ เป็นวิทยาทานให้เราได้เรียนรู้และระมัดระวังแล้ว ยังแฝงความหมายและให้ข้อคิดเตือนใจ ไม่ให้พูดปดอยู่ในทีด้วย

สำนวนเกี่ยวกับการพูดโกหกสำนวนหนึ่งที่หลายท่านคงคุ้นหูกันดีคือ สำนวน ปั้นน้ำเป็นตัว

หนังสือรู้รักภาษาไทย เล่ม ๖ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่าหมายถึง แต่งเรื่องหรือสร้างเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้ เช่น เขา ปั้นน้ำเป็นตัว ให้ข่าวจนเธอเสียหาย กว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่จริงเธอก็หมดอนาคตเสียแล้ว

สำนวนนี้บางครั้งมีผู้นำไปใช้เรียกอาชีพการทำน้ำให้เป็นน้ำแข็งก้อน หรือเรียกการทำนาเกลือว่าปั้นน้ำเป็นตัวซึ่งมักเป็นไปในทางเย้าแหย่ ดังที่ปรากฏในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ว่า


“ถึงบางขวางข้างซ้ายชายชลาไขคงคาขังน้ำไว้ทำเกลือ
หรือบ้านนี้ที่เขาว่าตำราร่ำช่างปั้นน้ำเป็นตัวน่ากลัวเหลือ”

อย่างไรก็ตาม สำนวน ปั้นน้ำเป็นตัว ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะมีจุดประสงค์ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือเดือดร้อนเสมอ ดังตัวอย่างจากวรรณคดีเรื่อง มณีพิชัย พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

โดยเหตุการณ์ในตอนที่ยกมานี้ กล่าวถึงท้าวพิชัยนุราช พระบิดาของพระมณีพิชัยรู้ความจริงว่า นางยอพระกลิ่นถูกนางจันทรเทวีใส่ร้ายว่ากินแมว จึงบริภาษนางจันทรเทวีว่า


“น้อยหรืออีเฒ่าเจ้าความคิด ทุจริตอิจฉาขายหน้าผัว
เสกสรรปั้นน้ำเป็นตัว เอออะไรไม่กลัวเขานินทา”

เมื่อการโกหกไม่เคยให้คุณแก่ใครแล้ว ก็หวังเพียงให้ผู้อ่านทุกท่านเลือกพูดแต่ความจริง พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่โกหกหลอกลวงกันไม่ว่ากับใครก็ตาม.

อารยา ถิรมงคลจิต/เรียบเรียง - นสพ.เดลินิวส์




เฒ่าแก่-เถ้าแก่

ประเพณีการแต่งงานของไทยที่แม้จะมีการตัดทอนพิธีการต่างๆ ให้กระชับและสะดวกขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ในขั้นตอนการสู่ขอนั้นพบว่ายังคงนิยมให้มีผู้หลักผู้ใหญ่มาเป็นประธานในการหมั้นและงานแต่งงานเสมอ โดยเรียกผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่นี้ว่า เฒ่าแก่

เฒ่าแก่ นอกจากจะหมายถึง สตรีสูงอายุที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ตั้งไว้ในตําแหน่งข้าราชการ มีหน้าที่ดูแลสตรีฝ่ายในในพระราชสำนักแล้ว เฒ่าแก่ยังหมายถึง ผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในการสู่ขอและการหมั้นด้วย

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า เฒ่าแก่ แบ่งออกเป็น ๓ อย่างคือ
๑.เฒ่าแก่ทาบทาม เมื่อฝ่ายชายต้องเนื้อพึงใจหญิงคนใด ก็มักจะจัดผู้หลักผู้ใหญ่ให้เป็นผู้แทนไปสู่ขอหญิงนั้น โดยวานให้ผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไปพูดจาดูลาดเลาว่า จะยินดียอมยกลูกสาวให้หรือไม่ หากพึงพอใจไม่มีข้อรังเกียจใดๆ ฝ่ายชายก็จะต้องให้ผู้ใหญ่สูงอายุหรือผู้ที่มีคนนับหน้าถือตาให้ไปเป็นเฒ่าแก่ทาบทามพูดจาสู่ขอฝ่ายหญิง และตกลงเป็นหลักฐานเป็นทางการ

๒.เฒ่าแก่ขันหมากหมั้น เมื่อได้เวลาฤกษ์ ฝ่ายชายต้องจัดเฒ่าแก่ขันหมากหมั้น ซึ่งเป็นคู่สามีภริยาหรือสามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งก็ได้ เป็นผู้นำของหมั้นไปมอบให้แก่เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าเฒ่าแก่ของทั้ง ๒ ฝ่าย ทำหน้าที่รู้เห็นเป็นพยานในการหมั้นนั้น เพราะหากมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในภายหลังจะได้มีเฒ่าแก่ของทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นผู้รู้เห็นเป็นหลักฐาน

๓.เฒ่าแก่ขันหมากแต่ง คู่สามีภริยาที่ทางฝ่ายชายให้เป็นผู้นำขันหมากแต่งพร้อมกระบวนแห่ตามฐานะไปยังบ้านเจ้าสาว

นอกจากนี้ คำว่า เฒ่าแก่ บางครั้งก็สะกดว่า เถ้าแก่ ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ อธิบายว่าเป็นคำที่มาจากภาษาจีนว่า เถ่าแก่

เถ้าแก่มี ๒ ความหมาย คือ เถ้าแก่ ที่หมายถึงผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในการสู่ขอและการหมั้น และเถ้าแก่ ที่หมายถึงคำเรียกชายจีนที่เป็นผู้ใหญ่และมีฐานะดี หรือคำเรียกชายจีนที่เป็นเจ้าของกิจการ

นอกจากนี้ ยังมีคำว่า เถ้าแก่เนี้ย ที่ใช้เป็นคำเรียกหญิงจีนที่เป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นภรรยาของเถ้าแก่


กนกวรรณ ทองตะโก/เรียบเรียง - นสพ.เดลินิวส์





ทะเบียนบ้าน

ในสมัยก่อน เราเรียกทะเบียนบ้านว่า ทะเบียนสำมะโนครัว หรือสำมะโนครัว คำว่า สำมะโนครัว หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจํานวนราษฎรในแต่ละครัวเรือน

นอกจากนี้ ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยังได้อธิบายความหมายของคำว่า สำมะโนครัว ไว้โดยละเอียดว่า สำมะโนครัวเป็นคำที่ได้นำมาใช้ในกฎหมายเป็นครั้งแรกในพระราชบัญญัติสำหรับทำบัญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชบัญญัติกำหนดหลักการไว้ ๓ ข้อคือ...

๑) ให้จัดทำบัญชีสำมะโนครัว ๒) ให้จัดทำบัญชีคนเกิดและคนตาย และ ๓) ให้จัดทำบัญชีคนเข้าและคนออก

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีสำมะโนครัวขึ้น เพื่อสำรวจจำนวนคนในเขตท้องที่ต่างๆ และจัดทำบัญชีในรูปของทะเบียนสำมะโนครัวแสดงรายการชื่อคน ชื่อสกุล ความเกี่ยวพันกันระหว่างครอบครัวว่าเป็นพ่อ แม่ บุตร หลาน อายุ วันเดือนปีเกิด สัญชาติ เชื้อชาติ ที่เกิดและภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยไว้เป็นหลักฐาน

โดยผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่จัดทำบัญชีสำมะโนครัวในหมู่บ้านของตน และคอยแก้ไขบัญชีให้ถูกต้องเสมอ ส่วนกำนันมีหน้าที่รักษาบัญชีสำมะโนครัวและทะเบียนบัญชีของรัฐบาลในตำบลนั้นให้ถูกต้องตรงกับบัญชีผู้ใหญ่บ้าน

กระทั่ง พ.ศ.๒๔๙๙ ในรัชกาลปัจจุบัน ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ให้สำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎรทั่วราชอาณาจักร โดยเป็นการสำรวจเพื่อตรวจสอบบุคคลในทุก ๆ บ้านที่มีอยู่ทุกเขตพื้นที่เพื่อให้ปรากฏตัวคนที่อยู่จริงในแต่ละบ้าน

โดยนำทะเบียนสำมะโนครัวออกตรวจสอบร่วมกับสมุดคู่มือกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเมื่อการสำรวจตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้จัดทำทะเบียนบ้านของแต่ละบ้านขึ้น โดยคัดลอกรายการคนที่อยู่ในบ้านจากแบบสำรวจตรวจสอบ หรือทะเบียนสำมะโนครัวที่จัดทำไว้ก่อนนั้น

และนับจากวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙ เป็นต้นมา การจัดทำทะเบียนสำมะโนครัวเป็นอันยกเลิก และเริ่มมีการจัดทำหลักฐานทะเบียนบ้านขึ้นใช้แทนจนถึงปัจจุบันนี้





ปาสตุรสภา
กำเนิดสถานเสาวภา

ปาสตุรสภา เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามชื่อของหลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้ค้นพบวิธีฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในอดีตคนที่โดนสุนัขกัดจะมีความเสี่ยงมากที่อาจเสียชีวิตได้ หากสุนัขที่กัดนั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคโรคพิษสุนัขบ้า

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่าไว้ว่า ในประเทศไทย ปาสตุรสภาก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีดำริที่ต้องการให้จัดตั้งสถานที่ทำการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โรคกลัวน้ำ ขึ้น เนื่องจากหม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริสาร ดิศกุล พระธิดา ได้สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระบรมราชานุญาตให้อาศัยตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมือง เป็นที่ผลิตและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยย้ายงานทำพันธุ์หนองฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือที่เราเรียกว่าโรคฝีดาษจากนครปฐมเข้ามารวมกัน และเปิดทำการเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ ใช้ชื่อว่า ปาสตุรสภา และในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น สถานปาสเตอร์

ต่อมา ใน พ.ศ.๒๔๖๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินตรงบริเวณหัวมุมสนามม้า (ถนนอังรีดูนังต์) เชื่อมต่อกับถนนไปหัวลำโพง หรือถนนพระรามที่ ๔ ในปัจจุบัน และเงินทุนสำหรับสร้างตึกที่ทำการหลังใหญ่ พระราชทานนามว่า สถานเสาวภา

โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นอนุสรณ์สถานเชิดชูพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) เคียงคู่กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกาธิราช (พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว

และเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิด อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๕ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจการของสถาน ปาสเตอร์ทั้งหมดจึงได้ย้ายมาดำเนินการที่สถานเสาวภา




ภูษามาลา

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ อธิบายว่า ภูษามาลา หมายถึง ข้าราชการในราชสำนัก มีหน้าที่รักษาเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องแต่งพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนถวายทรงพระเครื่องใหญ่ ถวายพระกลด ถวายสุกำ ทำสุกำ เปลื้องเครื่องสุกำศพพระบรมศพ พระศพ และเปลื้องเครื่องสุกำศพที่ได้รับพระราชทานโกศ เป็นต้น

เรียกกันว่า เจ้าพนักงานภูษามาลา ในสมัยโบราณ พนักงานภูษามาลายังมีหน้าที่ถวายเครื่องต้นด้วย และในกฎหมายตราสามดวงเรียกแยกเป็น พนักงานพระภูษา และ พนักงานพระมาลา

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า พนักงานภูษามาลา มีมาแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพราะเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าพระองค์นั้น ทรงตราบทพระอัยการนาพลเรือน กำหนดศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ และข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ ขึ้นนั้น ได้กำหนดศักดิ์เจ้ากรมปลัดทูลฉลองและพนักงานพระภูษามาลาไว้ด้วย

หน่วยงานที่พนักงานภูษามาลาสังกัดในสมัยโบราณเรียกว่า กรมมาลาภูษา ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อกรมว่า กรมภูษามาลา ส่วนเจ้ากรมภูษามาลา หรือหัวหน้าพนักงานภูษามาลานั้น ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระ มีราชทินนามว่า อุไทยธรรม ในสมัยต่อมามีศักดิ์เป็นพระยาก็มี แต่ก็ยังคงราชทินนามเดิมกันเรื่อยมา

กรมภูษามาลามีสืบเนื่องมาจนถึงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จึงได้ยุบกรมภูษามาลาลงเป็นแผนก เรียกว่า แผนกราชูปโภค แต่คงปฏิบัติหน้าที่ในงานของกรมภูษามาลาเดิม และผนวกงานพระแสงต้นรวมเข้าไว้ด้วย





วัดสำคัญในราชธานี

การสร้างวัดหรือบูรณะวัดอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งเพื่อถวายเป็นพระอารามหลวง เพื่อให้เป็นวัดประจำรัชกาล เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคล รวมถึงการสร้างและบูรณะวัดด้วยเหตุที่ว่า ต้องการให้มีตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ดังที่ในพจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ซึ่งนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้เรียบเรียง และสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ ได้อธิบายไว้ว่า...

ธรรมเนียมประเพณีโบราณนั้น ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ ๓ วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบุรณะ และวัดราชประดิษฐาน เหมือนเช่นที่สุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยาในอดีต

จากราชประเพณีดังกล่าว ทำให้ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดสลัก เป็นวัดนิพพานาราม และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์

และในเวลาต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชดำริว่า ในกรุงเทพฯ ยังไม่มีวัดมหาธาตุ จึงให้เปลี่ยนชื่อวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็น วัดมหาธาตุ

วัดราชบุรณะซึ่งถือว่าเป็น ๑ ใน ๓ ของวัดสำคัญที่ต้องมีในราชธานี นั้น พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงบูรณะวัดเลียบ ซึ่งต่อมาได้ให้นามว่า วัดราชบุรณะ ทำให้ยังคงขาดแต่วัดราชประดิษฐ์เท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี และทรงอุทิศถวายแด่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เพื่อที่พระองค์เองและเจ้านาย ข้าราชการ ที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้สะดวก

เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม” เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เปลี่ยนเป็น วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

อนึ่ง ได้มีผู้เรียกวัดราชประดิษฐ์ว่า วัดราชบัณฑิต วัดทรงประดิษฐ์ ไม่ถูกต้องกับที่พระราชทานนามไว้ จึงทรงกำชับให้เรียกชื่อวัดว่า “วัดราชประดิษฐ์” หรือ “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม” วัดนี้ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๔.



ผาติกรรม

การทําให้เจริญขึ้นนั้น ในบางครั้งอาจเกิดจากการเสื่อมหรือร้างมาก่อน ดังเช่นการทำผาติกรรมในทางพระพุทธศาสนาที่พบว่า วัดหลายแห่งเคยถูกรื้อเอาอิฐ หรือแม้กระทั่งเอาที่ของวัดที่ร้างไปทำอย่างอื่น โดยผู้กระทำจะต้องทำผาติกรรมด้วยในภายหลัง

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ อธิบายความหมายคำ ผาติกรรม ไว้ว่า หมายถึง การทําให้เจริญ, ใช้ในวินัยว่า การจําหน่ายครุภัณฑ์เพื่อประโยชน์สงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ หรือเอาของของตนถวายสงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทําของสงฆ์ชํารุดไปบ้าง, รื้อของที่ไม่ดีออกเสียทําให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่นเอาที่วัดไปทําอย่างอื่นแล้วสร้างวัดถวายใหม่เป็นการชดใช้

ดังเช่นเมื่อคราวสร้างพระนครซึ่งเริ่ม ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ ที่สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่าไว้ว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ มีการสร้างกำแพงป้องกันพระนครกันอย่างเร่งรีบ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการหาอิฐจำนวนมากมาใช้ในการสร้างกำแพง

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งต่อมาทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงขอพระบรมราชานุญาตไปรื้อเอาอิฐจากวัดชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นวัดโบราณสร้างสมัยอยุธยา แต่ได้ร้างไปก่อนสร้างกรุงเทพฯ เหลือซากสิ่งก่อสร้างอยู่หลายอย่างมาก่อสร้างกำแพงพระนคร

หลังจากนั้นเมื่อก่อสร้างกำแพงพระนครและพระราชมณเฑียรเสร็จลง รัชกาลที่ ๑ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปบูรณะวัดชัยพฤกษ์ร้างนั้นขึ้นมาใหม่ เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลและเป็นการทำผาติกรรมด้วย

โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าไม้ อิฐ ปูน ไปสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และกุฎีสงฆ์สำหรับจำพรรษา และรับวัดชัยพฤกษ์แห่งนี้อยู่ในพระอุปถัมภ์ โดยเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินบ้าง ประทานผ้าไตรจีวรบริขารให้พระโอรสพระธิดาทรงนำไปถวายแทนทุกปีมิได้ขาด

กระทั่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงมอบให้เป็นพระธุระของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จไปทรงจุดเทียนพรรษาและถวายผ้าพระกฐินทุกปีจนสิ้นรัชกาลของพระองค์.


กนกวรรณ ทองตะโก/เรียบเรียง
#องค์ความรู้ภาษาวัฒนธรรม
2955  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / สมเด็จพระปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เสด็จเมื้อเมืองสวรรค์ เมื่อ: 18 ตุลาคม 2559 14:13:01



สมเด็จพระปิยมหาราช

ตลอดระยะเวลากว่า  ๑๐๐ ปีมาแล้ว ที่ประชาชนชาวไทยได้พร้อมใจกันประกอบกรณียกิจอย่างหนึ่งอันน่าพึงชมอย่างยิ่งคือ การแสดงความจงรักภักดีและความกตัญญูกตเวที ต่ออดีตพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระคุณต่อประเทศชาติ ในยามที่พระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ ทรงปกครองไพร่บ้านพลเมืองให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขถ้วนทั่ว ในโอกาสที่คล้ายวันสวรรคตของพระองค์ท่านได้เวียนมาบรรจบในรอบปี คือ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ชนชาวไทยต่างพากันนำพวงมาลาตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม รวมทั้งดอกไม้ธูปเทียน ไปกระทำการสักการบูชาพระบรมรูปพระองค์ท่าน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ก็คือ พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกที่ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ประดิษฐาน ณ ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นรัฐสภาแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เจ้าของพระราชานุสาวรีย์พระองค์นั้น เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และเป็นพระองค์ที่ ๑ ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระนามเดิมว่า พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์  พระองค์เสด็จสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖ ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร ซึ่งคำว่า "จุฬาลงกรณ์" นั้นแปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึง "พระเกี้ยว" ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา  ทรงมีพระขนิษฐาร่วมพระชนนี รวม ๓ พระองค์ มีพระนามดังต่อไปนี้
     ๑.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล  สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ ต่อมารัชกาลที่ ๕ ทรงเฉลิมพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ  กรมหลวงวิสุทธิกษัตรีย์
     ๒.สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ในรัชกาลที่ ๕
     ๓.สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ในรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชปิโยรสของพระบรมชนกนาถมาแต่ทรงพระเยาว์ มีพระนามเรียกเล่นๆ ว่า “พ่อใหญ่”  พระองค์เสด็จอยู่ใกล้ชิดพระบรมชนกนาถตลอดเวลา แม้เสด็จประพาสหัวเมืองก็เสด็จติดตามไปด้วย เมื่อพระชันษาได้ ๙ พรรษา สมเด็จพระชนนีประชวรและสวรรคต  ในปีนั้นเองพระองค์ได้ทรงรับพระสุพรรณบัฏ เฉลิมพระนามตามจารีตเจ้าฟ้าในโบราณราชประเพณีว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชวโรรส”

ครั้น พ.ศ.๒๔๐๔ สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และพระเจ้าลูกเธอชายหญิงอีกหลายพระองค์ พระชันษาก็ควรจะเล่าเรียนความรู้ให้สูงขึ้นไป จึงมีรับสั่งให้สืบหาครูฝรั่งที่เมืองสิงคโปร์ ได้หญิงชาวอังกฤษเกิดที่แคนาดาคนหนึ่งชื่อแอนนา ลิโอโนเวนส์ รับเข้ามาสอน พระองค์ก็ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับแหม่มคนนี้จนกระทั่งทรงผนวชเป็นสามเณร ต่อมาได้หมอจันดเล ชาวอเมริกันเป็นครูสอน ทรงศึกษาภาษาอังกฤษต่อมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงราชย์แล้ว พ.ศ.๒๔๑๖ ยังได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับนายแปตเตอรสันอีก แต่ทรงอยู่ไม่ได้นาน เพราะไม่มีเวลาว่าง แม้กระนั้นก็ได้ชื่อว่าทรงรู้ภาษาอังกฤษดีกว่าใครๆ ในเวลานั้น ด้วยพระอุตสาหะศึกษาด้วยพระองค์เองโดยลำพังในเวลาต่อมา

การศึกษาของพระองค์ท่าน เหมาะสมกับกาลสมัยในฐานะขัตติยกุมาร นอกจากภาษาบาลีแล้ว มีวิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ กระบี่กระบอง วิชาอัศวกรรม คชกรรม    แต่ส่วนวิชารัฐประศาสน์ ราชประเพณี และโบราณคดี สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา

เมื่อพระชนมายุได้ ๙ พรรษา พระองค์ได้ทรงรับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ ต่อมาเมื่อชันษาย่างเข้า ๑๕ พรรษา ก็ทรงรับเลื่อนกรมขึ้นเป็น กรมขุนพินิจประชานาถ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐ และทรงปฏิบัติราชการแผ่นดิน โดยพระบรมชนกนาถทรงมอบให้ทำหน้าที่บัญชาการกรมมหาดเล็ก กรมทหารบกวังหน้า (เวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว) และกรมพระคลังมหาสมบัติ

ตั้งแต่สมเด็จพระบวรราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังหาได้ทรงตั้งผู้ใดเป็นกรมพระราชวังบวรหรือรัชทายาทไม่ แต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันว่า พระราชโอรสจะได้ดำรงองค์พระมหากษัตริย์สืบต่อไป รัชกาลที่ ๔ ทรงวางนโยบายสำหรับพระราชโอรสของพระองค์ หากพระชนมายุบรรลุเวลาอันสมควรแล้ว เป็นเหตุให้เกิด “วังสราญรมย์” ขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ ดังนี้  “อนึ่ง เมื่อปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ลงมือสร้างพระราชวังสราญรมย์ขึ้นที่ใกล้พระบรมมหาราชวัง ทางด้านตะวันออก อีกแห่งหนึ่งด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมบูรณ์พระชันษา พอเสร็จกิจทรงผนวชเป็นภิกษุภาวะแล้ว จะทรงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน ส่วนพระองค์เองนั้นจะเสด็จออกเป็น “พระเจ้าหลวง” (ทรงกำหนดว่า คำว่า “พระพุทธเจ้าหลวง ให้ใช้เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ในเวลาเมื่อเสด็จละพระราชสมบัติ แต่ยังดำรงพระชนม์อยู่ ให้ใช้ว่า “พระเจ้าหลวง”) และออกไปประทับอยู่ที่วังสราญรมย์ ทรงช่วยแนะนำกำกับราชการต่อไปจนตลอดพระชนมายุ แต่กระแสพระราชดำริข้อนี้ หาได้ทรงเปิดเผยไม่ ถึงกระนั้นก็ทราบกันอยู่ในบรรดาผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์รัชทายาท ทรงพระประชวรก่อนสวรรคต ทรงโปรดปรานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์ยิ่งนัก ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จขึ้นเฝ้าเยี่ยมเยียนพระอาการประชวร พระบวรราชเจ้าพระองค์นี้ยังตรัสพร้อมทั้งยกพระหัตถ์ลูบที่พระเศียรว่า “เจ้าใหญ่ที่แหละจะเป็นที่พึ่งของญาติต่อไปได้” พระราชดำรัสนี้สมจริงต่อมาภายหลัง

เหตุการณ์บ้านเมืองของไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แตกต่างกับสมัยกรุงศรีอยุธยามาก นอกจากศึกอันเกิดจากศัตรูภายนอกแล้ว ภายในนับว่าสงบเรียบร้อยดีมาก พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการส่วนใหญ่กลมเกลียวกันดีมาก ไม่ปรากฏว่าบ้านเมืองจะเกิดความยุ่งเหยิงด้วยการแย่งชิงราชสมบัติเหมือนประเทศใกล้เคียงบางประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นรัชสมัยที่ไทยได้มีสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศทางตะวันตก ไทยดำรงความเป็นเอกราชมาได้เพราะมหากษัตริย์ทรงมีพระเนตรเล็งเห็นการณ์ไกล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงนำรัฐนาวาผ่านกระแสชลด้วยความราบรื่น ไทยกับฝรั่งเวลานั้นเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ได้มีการแลกเปลี่ยนเยี่ยมเยียนทางทูต หนังสือเรื่อง “นิราศลอนดอน” ของ หม่อมราโชชัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) ซึ่งเป็นล่ามหลวงไปในคณะทูต ที่โปรดให้แต่งออกไปเจริญทางพระราชไมตรียังประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ ในรัชกาลที่ ๔ ทำให้เราทราบถึงสภาพของประเทศอังกฤษ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศมหาอำนาจและมีอาณานิคมในทวีปเอเชียนี้มากที่สุด

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระชนกนาถ พระชนมายุได้ ๖๕ พรรษา เนื่องด้วยทรงศึกษาวิชาการแทบทุกชนิด โดยเฉพาะโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ พระองค์ทรงสามารถคำนวณได้ว่า จะเกิดมีสุริยปราคาสูรย์มืดหมดดวงที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์จึงทรงมีพระบรมราชโองการจะเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง นอกจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารใกล้ชิดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงอัญเชิญ ท่านเซอร์แฮริออด อุปราชเมืองสิงคโปร์และภรรยาไปร่วมทอดทัศนาด้วยในครั้งนั้น

หลังจากเสด็จไปดูสูรย์ที่จังหวัดประจวบฯ คราวนั้นแล้ว เมื่อเสด็จกลับพระนคร ผู้ที่ร่วมขบวนเสด็จต่างประชวรและป่วยด้วยโรคไข้มาเลเรียไปตามๆ กัน ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและบรมโอรสาธิราช พระองค์ออกจะมีอาการร้ายแรงมากกว่าผู้อื่น ประชวรหนักจนตระหนักพระทัยว่าพระอาการครั้งนี้คงไม่รอดตลอดคืน จึงมีรับสั่งให้เรียกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ๓ พระองค์พร้อมด้วยพระยาศรีสุริยวงศ์เข้าเฝ้า มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์เห็นจะมีพระชนม์ชีพต่อไปไม่ได้เสียแล้ว เป็นห่วงด้วยราชสมบัติไม่อยากผูกมัดว่าจะให้ใครขึ้นครองแทน จึงใคร่ให้ที่ประชุมตัดสินคัดเลือกว่า ใครสมควรที่จะเป็นกษัตริย์สืบแทนพระองค์ต่อไป  

ที่ประชุม ณ ที่นั้น มีพระบรมราชวงศ์ ๓ องค์ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กราบบังคมทูลเป็นเสียงเดียวกันว่า สมเด็จพระบรมราชโอรสาธิราช เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ทรงเหมาะสมที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไป จึงพร้อมใจกันถวายปฏิญาณที่จะมอบราชสมบัติ ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต ณ วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ด้วยพระอาการสงบ

พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการน้อยใหญ่ พร้อมใจกันยก เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถเถลิงถวัลยราชสมบัติ แต่เนื่องด้วยยังทรงพระเยาว์อยู่ พระชันษา ๑๖ พรรษาเท่านั้น ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว

เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัตินั้น ยังมิได้มีพิธีพระบรมราชาภิเษกทันที ต้องรอฤกษ์ก่อน พระองค์ประทับแรม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นเวลากว่าเดือน ครั้นถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน จึงถึงพระฤกษ์ทำพิธีราชาภิเษกเฉลิมราชมณเฑียร ครั้นทรงบรรลุนิติภาวะในปี พ.ศ.๒๔๑๖ ก็เสด็จออกทรงผนวช นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรีที่เสด็จออกทรงผนวชในขณะครองราชย์ แต่พระองค์ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศเพียง ๑๕ วัน ก็ทรงลาผนวช เมื่อทรงลาผนวชแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกวาระหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๖ เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ต่อจากนี้ก็ทรงรับผิดชอบในการบริหารบ้านเมืองโดยสิทธิ์ขาดแต่พระองค์เดียว

พระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เรียกว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงปฏิรูปบ้านเมืองเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองด้วยพระปรีชาสามารถ ปฏิรูปขนบธรรมเนียมของไทยบางอย่างที่ชาวต่างประเทศเห็นว่าเป็นการล้าสมัย ให้เป็นไปตามแบบชาวตะวันตกอันเหมาะสมด้วยกาลเทศะ เช่นประเพณีการหมอบเฝ้าซึ่งใช้กันมาสมัยกรุงศรีอยุธยาและตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็รับสั่งให้เลิก เปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าและนั่งเก้าอี้ แบบผมของชายไทย เคยตัดกันแบบที่เรียกว่า “ทรงมหาดไทย” คือด้านข้างศีรษะเกรียนเรียบ ไว้เป็นจุกหย่อมเดียวกลางศีรษะ ก็เปลี่ยนรูปทรงดังเช่นปัจจุบัน ท่านหญิงที่เคยไว้ทรงผม “ทรงปีก” อย่างท่านผู้หญิงโมแห่งนครราชสีมาก็เปลี่ยนทรง “ยาวประบ่า”  แต่เครื่องแต่งกายแบบข้าราชการนั้น ยังค่อนข้างน่าขันอยู่ ท่อนบนแบบสากล คือสวมเสื้อเปิดอกผูกเน็คไท แต่ท่อนล่างยังคงผ้าม่วงโจงกระเบน ตอนหลังเมื่อเสด็จไปประเทศอินเดียแล้ว ได้ทรงออกแบบเสื้อใหม่ คล้ายๆ เสื้อแขกเป็นเสื้อคอปิด กระดุมเรียงแถว ๕ เม็ด ทรงขนานนามเสื้อแบบนี้ว่า “เสื้อราชประแตน” และใช้กันมาตลอดจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๗ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มิใช่ทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างเท่านั้น ที่ทรงปฏิรูปให้เหมาะสมทัดเทียมอารยประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขบ้านเมืองทุกด้านที่เห็นสมควร เช่น ระเบียบการปกครองประเทศซึ่งแต่เดิมก็เป็นไปแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งส่วนกลางนั้นมีสมุหพระกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร ปกครองชาวเมืองฝ่ายใต้ สมุหนายก หัวหน้าฝ่ายพลเรือนปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ และมีจตุสดมภ์ มีเสนาบดีกรมคลัง จัดการพระคลังและการต่างประเทศ เสนาบดีกรมเมือง จัดการปกครองพระนคร และหัวเมืองใกล้เคียง เสนาบดีกรมวัง จัดการในพระบรมมหาราชวัง และเสนาบดีกรมนา จัดการเกี่ยวกับไร่นา

ระเบียบการปกครองดังกล่าว ได้ทรงดัดแปลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยตั้งเป็นกระทรวงทบวงกรม และมีเสนาบดีประจำทุกกระทรวง การจัดการปกครองส่วนภูมิภาค ได้ทรงจัดแบ่งออกเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังคงปกครองกันอยู่แบบนี้ เว้นแต่ยกเลิกมณฑลเสียเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองทุกด้าน หากจะพรรณนาแยกแยะออกโดยละเอียดแล้ว คงเป็นหนังสือขนาดเล่มโตๆ หลายเล่ม ดังที่มีผู้เคยกระทำมาแล้ว และเราจะหาอ่านได้โดยง่ายไม่ว่าทางปรับปรุงบ้านเมือง เช่น การศึกษา การศาล การทหาร การคมนาคม ทางศิลปวรรณกรรม ทางศาสนา ไม่ทรงละเว้นแม้แต่ทางที่ทำให้มนุษย์เสียคน เช่นทรงเลิกบ่อนเบี้ย   เสด็จประพาสในที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ แต่ที่เราตระหนักในพระเดชพระคุณมากที่สุดนั้น คือ การเลิกทาส ด้วยพระราโชบายอันนุ่มนวล การเลิกทาสของไทยเราได้รับคำยกย่อง แม้แต่ชาวต่างประเทศเองที่ทราบเรื่องราวของไทยเราในรัชสมัยนั้น

แม้แต่สายตาของชาวต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ของเรา ยังอดที่จะสรรเสริญพระองค์ท่านไม่ได้ มีตัวอย่างเช่น มิสเตอร์คาร์ลบ๊อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ได้เคยเข้ามาสำรวจดินแดนไทยในด้านภูมิศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ๑๓ ปี เกือบ ๗๐ ปีนี้เอง  นายคาร์ลบ๊อคได้เขียนเล่าถึงพระราชกรณียกิจบางอย่างเท่าที่เขาทราบและตลอดจนพระลักษณะนิสัยที่เห็นได้ด้วยตาของตนเอง ตอนหนึ่งว่าดังนี้

“เราได้มาถึงห้องรับแขก ซึ่งเป็นห้องกว้างขวาง โอ่อ่าตกแต่งแบบยุโรปทั้งหมดอย่างหรูหราที่สุด เมื่อเราเข้าไปในห้อง ก็ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยามและลาว ประทับอยู่ตรงหน้าเราพอดี พระองค์มีลักษณะอันสง่างามมาก พระชนมายุประมาณ ๓๐ พรรษา พระวรกายค่อนข้างผอมและประทับตรงมาก พระฉวีงามตามแบบชาวไทย พระเนตรดำวาวเป็นประกาย

เราหยุดถวายคำนับ ๓ ครั้ง ตามประเพณี พระองค์ทรงลุกขึ้นต้อนรับ และพระราชทานพระหัตถ์ให้มิสเตอร์นิวแมน (กงสุลอังกฤษ) สัมผัส เมื่อเพื่อนข้าพเจ้าได้กล่าวนำข้าพเจ้าเข้าเฝ้าเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็พระราชทานพระหัตถ์ให้สัมผัสเช่นเดียวกัน และพระราชทานอนุญาตให้เรานั่งเก้าอี้ใกล้กับกึ่งกลางห้อง ส่วนพระองค์ประทับพระเก้าอี้ที่ตั้งไว้บนยกพื้นใกล้กับผนังห้อง การยกเลิกขนบธรรมเนียมแบบเก่าที่ระบุให้ทุกคนที่เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินหมอบลงกับพื้น เป็นพระราชบัญญัติเรื่องแรกเรื่องหนึ่งที่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงยกเลิกเสียเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ.๒๔๑๑ บัดนี้ ประชาชนทุกชั้นและทุกคนต่างก็เข้าเฝ้าได้โดยสะดวก  และจะยืนตรงเมื่อเข้าเฝ้าใกล้ๆ ได้

การถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นถวายได้ด้วยตนเอง ประชาชนคอยเฝ้าถวายฎีกาเมื่อพระองค์ทรงพระราชดำเนินเล่นในลานพระบรมมหาราชวัง นโยบายการเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าก้าวหน้าไปไกลทุกๆ ด้าน พระองค์มิได้ละเว้นความพยายามอันใดที่จะเพิ่มพูนความสุขความเจริญให้แก่ประชาชนของพระองค์ พระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุดในรัชสมัยคงจะได้แก่การเลิกทาสทั่วพระราชอาณาจักร กฎหมายการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ เริ่มบังคับใช้ในปี ๒๔๑๕ และค่อยๆ มีผลบังคับใช้มาตามลำดับ จนกระทั่งลูกของทาสก็ได้เป็นอิสระด้วย สำหรับเรื่องนี้เรื่องเดียวไม่นับเรื่องอื่น และไม่ว่ากษัตริย์องค์นี้จะทรงสามารถทำการปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่พระองค์ทรงเริ่มกระทำมาตั้งแต่ได้เสวยราชสมบัติได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม พระองค์ก็สมควรจะได้ถวายพระนามว่า “ปิยราช” หรือ “มหาราช” โดยแท้

พระนามเต็มของพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังมีสร้อยพระนามเป็นทางการตามประเพณียืดยาวออกไปอีกว่า “พระเจ้าช้างเผือก”


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ของพระราชบิดา และพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนคือ คิงมงกุฎ หรือตามพระนามเต็มว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ” ผู้ทรงเป็นทั้งนักศึกษาและกษัตริย์ทางตะวันออกที่มีชื่อเสียงมากพระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงได้ประโยชน์อย่างมากจากการศึกษาเบื้องต้นที่พระราชบิดาทรงกวดขันประสิทธิ์ประสาทให้ การศึกษาในด้านต่างๆ ของพระองค์ทำให้ทรงเป็นประโยชน์ และพยายามจะให้บังเกิดผลตามพระราชดำริที่เกิดขึ้นเพราะการที่ได้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และรัชสมัยของพระองค์ก็เป็นการเริ่มยุคใหม่ในด้านความด้าวหน้าของประเทศสยาม”

พระราชกรณียกิจต่อบ้านเมืองทรงมีอย่างมากมายดังปรากฏมีผู้เขียนเรื่องราวพรรณนามาแล้วเนืองๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการศึกษา พระองค์ทรงเห็นการณ์ไกลมาก ทรงเห็นว่าประเทศจะเจริญก้าวหน้าทันเทียมอารยประเทศ ประชาชนพลเมืองจะต้องได้รับการศึกษา อาศัยการศึกษาเป็นกำลังสำคัญ ในขั้นแรกก็ทรงส่งพระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปศึกษาในต่างประเทศใหญ่ๆ แทบทุกประเทศ และทรงจัดการศึกษาภายในบ้านเมืองโดยสละพระราชทรัพย์อุดหนุน พระองค์ทรงเล็งเห็นสาธารณประโยชน์สำคัญกว่าประโยชน์ส่วนพระองค์ ดังลายพระหัตถ์ไปถึงพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (ภายหลังคือเจ้าพระยาพระเสด็จฯ) เจ้ากระทรวงธรรมการ มีใจความว่าได้ทรงทราบถึงเรื่องการขยับขยายการศึกษาให้เจริญก้าวหน้าด้วยการขยายโรงเรียนต่างๆ ออกรับนักเรียนให้กว้างขวางขึ้น และเมื่อทรงทราบว่าเงินทุนอุดหนุนยังมิสามารถจะหาที่ไหนได้ ทรงสู้สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออก ดังจะเห็นพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่าดังนี้

“เมื่อไม่มีกำลังหนุนก็จะสำเร็จไม่ได้ จึงได้หากำลังเวลานี้ เห็นว่าลูกหญิงเล็กเยาวมาลย์นฤมลกรมขุนสวรรคโลกตายลง ทรัพย์สมบัติมีอยู่ ซึ่งจะจัดออกน้อมไปเพื่อสาธารณประโยชน์ สำหรับแก่ชาติไทยสักประมาณ ๗๐,๐๐๐ บาท จะยอมให้เงินรายนี้ใช้ในการศึกษา เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การเล่าเรียนของชาติ และให้เป็นส่วนข้างสมบัติตั้งอยู่ไม่ใช่จ่ายสูญไป เพื่อจะได้เป็นที่ระลึกถึงผู้ตายให้ญาติพี่น้องเขาได้อนุโมทนา จะเป็นสร้างโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ซีกข้างใต้หรืออย่างไรก็ตาม แต่จะคิดเห็นเป็นประโยชน์ ถ้าจะขาดเงินเพียง ๑๐,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท คงจะหาเติมได้...”

พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาการกุศลในการสร้างโรงเรียน ซึ่งทุกวันนี้ก็มีสาธุชนจำนวนไม่น้อย ที่อุทิศเงินเพื่อสาธารณประโยชน์มีการสร้างสถานการศึกษาให้แก่บ้านเมือง

พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปกแผ่ทั่วไปทุกแห่งทุกหนทั่วประเทศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๖ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ เมื่อพระชนมายุย่างเข้า ๑๖ พรรษา นับเป็นรัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ นับพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา รวมเวลาที่ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๔๒ ปีเศษ ทรงมีพระโอรสและพระราชธิดา รวมทั้งสิ้น ๗๗ พระองค์

ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “สมเด็จพระปิยมหาราช” ทรงราชย์นั้น นับได้ว่าเป็นระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงประเทศชาติเป็นอย่างมาก ชาวไทยได้รับความร่มเย็นเป็นสุข แม้จะมีเหตุการณ์อันน่าระทึกใจอยู่บ้าง เช่น กรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ร.ศ.๑๑๒ ในกรณีกบฏฮ่อ กบฏเงี้ยว แต่พระองค์ก็ทรงขจัดปัดเป่าให้ไทยพ้นจากเรื่องร้ายแรงไปได้ด้วยดี  ฉะนั้น เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ คนไทยทุกคนทุกหนทุกแห่งต้องน้ำตาหลั่งไหลประดุจสูญเสียบิดาผู้มีพระคุณของตนไป

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ นั้นเอง ประเทศไทยได้เกิดปรากฏการณ์บนท้องฟ้า แม้จะเป็นไปตามธรรมชาติของหลักวิทยาศาสตร์ แต่คนในสมัยนั้นถือว่าเป็นอาเพศ คือเหนือท้องฟ้ากรุงเทพมหานคร ปรากฏดาวหางดวงใหญ่ซึ่งมีหัวและหางจดคนละขอบฟ้า ชาวพสกนิกรพากันตระหนกตกใจว่าจะเกิดสงครามใหญ่ หรือมิฉะนั้นบุคคลสำคัญของชาติจะต้องสูญเสียชีวิต แต่หามีผู้ใดตระหนักถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักยิ่งของตนไม่

หนังสือฉบับหนึ่งได้เขียนไว้ว่า
“เมื่อคืนวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ เวลาดึกภายในพระบรมมหาราชวังปั่นป่วนที่สุด เมื่อนายแพทย์หลวงได้ถูกติดตามมาโดยด่วนทุกคน ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงพระประชวรด้วยพระโรควักกะ (ไต) พิการมา ๒-๓ วัน แล้วนั่นเอง

นอกเสียจากนายแพทย์หลวงเหล่านั้นแล้ว พระเลขานุการ ยังได้ลุกไปปลุกบรรทมเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธมกุฎราชกุมารจากวังสราญรมย์มาโดยด่วน พร้อมด้วยพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ มเหสี และเจ้าจอมหม่อมห้ามนางในเข้าเฝ้าโดยพร้อมเพรียง แต่เมื่อพระองค์เผชิญพระพักตร์พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์โต ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะเสวยราชย์แทนนั้น พระองค์ไม่อาจมีกระแสรับสั่งได้แล้ว หากแต่มีน้ำพระเนตรคลอ และในที่สุดพระองค์ก็สิ้นพระอัสสาสะ ปัสสาสะ โดยอาการสงบ เมื่อเวลา ๒๔.๒๕ น.นั่นเอง ในท่ามกลางความวิปโยคอย่างใหญ่หลวง...”


การสูญเสียองค์พระประมุขของไทยในครั้งนั้น เสมือนหนึ่งเชือดเฉือนเอาดวงใจของประชาชนทั่วไปไม่มีใครจะไม่รู้สึกเศร้าโศกสลด มีผู้เขียนไว้กล่าวถึงไพร่บ้านพลเมืองขณะนั้น ดังนี้

“ขณะที่ขบวนแห่พระบรมศพออกจากพระราชวังดุสิตเมื่อเวลา ๑๙ น.เศษ มาตามถนนราชดำเนินทั้งสามสายนั้น ประชาชนทั้งสองฟากฝั่งถนนมิได้มีเสียงคนพูดจากันเลย นอกจากเสียงสะอึกสะอื้นร่ำไห้อึงคะนึงอยู่ทั่วไป ผสมกับในขณะเชิญพระบรมศพนั้นไฟฟ้าทุกแห่งดับมืดถึงกับต้องจุดเทียนวอมแวม   ในรัตติกาลอันมืดมิด จึงดูวังเวงยิ่ง ซึ่งกล่าวกันว่านับแต่ประเทศไทยตั้งมา ๘๐๐ กว่าปี ไม่เคยมีครั้งใดสมัยใดที่ประชาชนทั้งเมืองจะสวมชุดดำกลืนกับความมืดมายืนร่ำไห้ริมสองฟากถนนที่พระบรมศพแห่ผ่านเสมือนครั้งนี้ ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาต่างระลึกกันว่า ได้สูญเสียพระบิดาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาไปนั่นเอง”



http://www.sookjaipic.com/images_upload/92547080872787__3619_3634_3617_3634_5.gif


แม้สมเด็จพระปิยมหาราชจะสิ้นพระองค์มานานแล้ว แต่สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างไว้เป็นอนุสรณ์
ดังประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้เป็นเครื่องเตือนใจอนุชนรุ่นหลัง ยังระลึกถึงความดีของพระองค์
ที่ทรงมีต่อประเทศชาติในอดีต ฉะนั้นวันที่ ๒๓ ตุลาคม ที่จะถึงนี้เราทุกคนจงน้อมระลึกถึง
การสักการะพระบรมรูปของพระองค์ท่าน ดังที่เคยกระทำมาแล้วทุกปี.

'ตะวันตก'


โปรดติดตามตอนต่อไป
2956  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / พุทธมามกะ เมื่อ: 17 ตุลาคม 2559 16:24:27



พุทธมามกะ

เอกสารของสำนักงานพระพุทธศาสนา อธิบายไว้ว่า พุทธมามกะ แปลว่า ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน

การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ หมายถึง การประกาศตนของผู้แสดงว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตน แต่ทั้งนี้ การปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะคราวเดียว ทำซ้ำๆ ตามกำลังแห่งศรัทธาและความเลื่อมใสก็ได้

ความเป็นมาของการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ย้อนไปสมัยรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคสมัยนั้นความนิยมในการบวชสามเณรลดลง พร้อมกับการส่งลูกหลานไปเรียนในต่างประเทศมากขึ้น มีพระราชปริวิตกว่า "เด็กๆ จักไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อพระพุทธศาสนา" จึงโปรดให้พระราชโอรส ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อนไปศึกษาต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงเป็นพระองค์แรกที่ปฏิญาณพระองค์ตามธรรมเนียมที่พระราชชนกทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น และใช้เป็นราชประเพณีต่อมาอีกหลายพระองค์ อาทิ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมพฎพงศ์บริพัตร พระโอรสของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต กับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆ ก่อนจะไปศึกษาในยุโรป ก็ได้แสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะก่อน

เหตุนี้ จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะ สืบต่อกันมาถึงช่วงเวลาปัจจุบัน โดยปฏิบัติกันเมื่อ

๑.เมื่อบุตรหลานของตนรู้เดียงสาเจริญวัยอยู่ในระหว่าง ๑๒-๑๕ ปี ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะเพื่อให้สืบความเป็นชาวพุทธตามตระกูลต่อไป

๒.เมื่อจะส่งบุตรหลานไปเรียนยังต่างประเทศที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา

๓.เมื่อจะปลูกฝังนิสัยของเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา ส่วนมากโรงเรียนจะเป็นผู้จัดทำพิธีกรรม อาจจะเป็นปีละครั้ง และ

๔.เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต้องการจะประกาศตนเป็นชาวพุทธ

ระเบียบพิธี นิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป เข้าพระอุโบสถ หรือศาลา หรือสถานที่ที่เหมาะสม คณะผู้ปฏิญาณตนนั่งพร้อมกันหน้าพระสงฆ์ ผู้แทนจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (ถ้านั่งกับพื้น พึงนั่งคุกเข่า ถ้านั่งบนเก้าอี้ให้ยืนประนมมือ) แล้วกล่าวคำบูชาตามผู้นำ ว่า อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมะ ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้ อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมะ ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระธรรมด้วยเครื่องสักการะนี้ อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมะ ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะนี้

จากนั้นผู้ปฏิญาณตนหันหน้าไปทางพระสงฆ์ แล้วว่า นะโม ตามผู้กล่าวนำ ดังนี้ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น (ว่า ๓ จบ) ต่อด้วยว่า คำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ดังนี้

เอเต มะยัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามะ, ธัมมัญจะ สังฆัญจะ, พุทธะมามะกาติ โน, สังโฆ ธาเรตุ. ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถึงผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าทั้งหลายไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ เป็นผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือผู้นับถือพระพุทธเจ้า

(ถ้าปฏิญาณคนเดียว เปลี่ยนคำปฏิญาณจาก เอเต มะยัง เป็น เอสาหัง, คัจฉามะ เป็น คัจฉามิ, พุทธะมามะกาติ ชายเปลี่ยนเป็น พุทธะมามะโกติ หญิงเปลี่ยนเป็น พุทธะมามิกาติ, โน เป็น มัง แปลว่าข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพุทธมามกะ)

พระสงฆ์ทั้งนั้นประนมมือรับ สาธุพร้อมกัน จากนั้นผู้ปฏิญาณตนนั่งประนมมือฟังโอวาทจากพระสงฆ์ หลังจากจบโอวาทแล้วผู้แทนนำกล่าวคำอาราธนาศีล ลำดับจากนี้ ถ้ามีเครื่องไทยธรรม พึงนำเครื่องไทยธรรมมาถวายพระสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ปฏิญาณกรวดน้ำรับพร เสร็จแล้วกราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี


คอลัมน์ รู้ไปโม้ด/ข่าวสดออนไลน์
2957  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อ: 17 ตุลาคม 2559 15:32:25



ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ
จากหนังสือ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙

ประเทศไทยมีการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งชาติสืบเนื่องมาแต่โบราณ เป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๗๐๐ ปี นับแต่กรุงสุโขทัยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีเมื่อราว พ.ศ.๑๘๐๐ เป็นต้นมา  ในสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์ทรงปกครองบ้านเมืองในลักษณะของบิดาปกครองบุตร ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในขณะนั้น เพราะอาณาเขตยังไม่กว้างขวางนัก จำนวนประชากรก็ยังน้อย พระมหากษัตริย์จึงสามารถดูแลและสร้างความสัมพันธ์กับราษฎรได้อย่างใกล้ชิด เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาร้องทุกข์ และเข้าเฝ้าขอความเป็นธรรมได้ตลอดเวลา

เมื่อถึงสมัยอยุธยา ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่โตขึ้นมาก การปกครองจึงย่อมมีความซับซ้อนแตกต่างไปจากสมัยสุโขทัย แม้จะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในการปกครองอยู่เช่นเดิม แต่ฐานะของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยได้รับการยกย่องเป็นพ่อเมืองในสมัยสุโขทัย ก็ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นสมมติเทพ ตามคติเทวราชของขอมอันเป็นคติที่ขอมได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดูที่เชื่อในเรื่องเทพอวตาร โดยเฉพาะพระวิษณุ (พระนารายณ์) ซึ่งอวตารหรือแบ่งภาคลงมาปราบยุคเข็ญให้แก่ชาวโลก ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์จึงได้รับการเคารพนับถือและทรงพระราชอำนาจประดุจเทพเจ้า ทรงเป็นทั้งเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิตของประชาชน มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองราชอาณาจักร

การปกครองในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเรียกว่าการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้เป็นระบอบการปกครองที่สืบเนื่องมายาวนานตลอดสมัยอยุธยา จนกระทั่งถึงปีที่ ๑๕๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นเวลาถึง ๕๗๒ ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยได้ผ่านทั้งภาวะของการสงครามและภาวะของความสันติสุข มีการติดต่อค้าขายกับประเทศอื่นทั้งไกลและใกล้ การติดต่อสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศตะวันตกชักนำให้มีชาวตะวันตกเข้ามาตั้งถิ่นฐานตลอดจนรับราชการในแผ่นดิน ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาแพร่หลายในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ได้หยุดชะงักไปในช่วงสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากความไม่สงบของบ้านเมือง จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัฒนธรรมตะวันตกจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง และตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา คนไทยได้มีโอกาสออกไปศึกษาเล่าเรียนในประเทศตะวันตกกันมาก จึงได้นำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการปฏิบัติราชการ ตลอดจนนำสิ่งที่พบเห็นหรือได้ประพฤติปฏิบัติจนเห็นว่าดีงามเป็นประโยชน์แก่ชาติกลับมาเผยแพร่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในประเทศอย่างมากมาย ทั้งทางด้านวัตถุธรรมและนามธรรม จนในที่สุดระบอบการปกครองก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ตามกระแสของยุคสมัย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปกครองประเทศ

สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูงสุดของประเทศ และเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของประชาชนชาวไทยตลอดมา ไม่ว่าในยุคสมัยใด เราต่างระลึกอยู่เสมอว่า ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง ดำรงเอกราชมาได้จนทุกวันนี้ ก็ด้วยพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของพระบุรพมหากษัตริย์ ที่ทรงนำประเทศหลีกพ้นอันตรายมาด้วยวิเทโศบายอันชาญฉลาด ทรงปกครองแผ่นดินด้วยหลักทศพิธราชธรรม นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ประชาราษฎร ทรงทะนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งยังคงสืบทอดเป็นมรดกอันล้ำค่า นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเอกราชที่มีอารยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีงามมาจนทุกวันนี้




การปกครองประเทศตั้งแต่โบราณมา พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกสรรบุคคลที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาช่วยปฏิบัติราชการ โดยแต่งตั้งให้มีตำแหน่ง มียศตามหน้าที่ตามลำดับความสำคัญของงานที่ได้รับมอบหมาย และพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ แก่ผู้ปฏิบัติราชการต่างพระเนตรพระกรรณเหล่านั้นเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบและเพื่อเป็นเครื่องแสดงฐานะ หรือเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศตามศักดิ์ตามตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ของพระราชทานดังกล่าวเรียกว่า เครื่องยศ

การพระราชทานเครื่องยศ คงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณแล้ว เพียงแต่ไม่มีเรื่องราวจารึกไว้เป็นหลักฐาน และอาจจะยังไม่มีการวางระเบียบไว้เป็นประเพณี มามีหลักฐานปรากฏชัดว่าได้มีพระราชกำหนดตราขึ้นเป็นระเบียบประเพณีในสมัยอยุธยา ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นมา ดังที่มีกล่าวถึงในเอกสารต่างๆ เช่น ในกฎมณเฑียรบาลบ้าง ในพระราชพงศาวดารบ้าง

การพระราชทานเครื่องยศในสมัยต่อมา ได้ยึดถือโบราณราชประเพณีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นหลัก ถึงแม้เมื่อมีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นดวงตราสำหรับติดเสื้อ เรียกกันในสมัยนั้นว่า ตรา และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรับปรุง ตลอดจนกำหนดระเบียบตั้งเป็นพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และบุคคลอื่นๆ แล้วประเพณีการรับพระราชทานเครื่องยศก็ยังคงมีอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่จำกัดลงเฉพาะในโอกาสรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และในการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์พระราชวงศ์

เครื่องยศดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้มากมายหลายประเภท เป็นของต่างชนิดกันบ้าง ชนิดเดียวกันแต่ต่างกันที่รูปแบบบ้าง ที่เนื้อวัสดุบ้าง ที่การตกแต่งบ้าง ตามแต่ยศ ศักดิ์ และตำแหน่ง ตลอดจนความดีความชอบของผู้ได้รับพระราชทาน อาจจำแนกประเภทของเครื่องยศเป็นหมวดหมู่ได้ ๗ หมวด คือ หมวดเครื่องสิริมงคล เครื่องศิราภรณ์ เครื่องภูษณาภรณ์ เครื่องศัตราวุธ เครื่องอุปโภค เครื่องสูง และยานพาหนะ

ในส่วนขององค์พระมหากษัตริย์นั้น ทรงมีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับเป็นเครื่องแสดงฐานะเช่นกัน สิ่งสำคัญที่ถือว่าเป็นเครื่องแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งยึดถือมาแต่โบราณ ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจราชกกุธภัณฑ์ มี ๒ แบบ ดังนี้

แบบที่ ๑ ประกอบด้วย
     ๑.นพปฎลมหาเศวตฉัตร
     ๒.พระมหาพิชัยมงกุฎ
     ๓.พระแสงขรรค์ชัยศรี
     ๔.พัดวาลวิชนี และพระแส้จามรี (หรือพระแส้หางช้างเผือก)
     ๕.ฉลองพระบาทเชิงงอน

แบบที่ ๒ ประกอบด้วย
     ๑.พระมหาพิชัยมงกุฎ
     ๒.พระแสงขรรค์ชัยศรี
     ๓.ธารพระกรชัยพฤกษ์
     ๔.พัดวาลวิชนี และพระแส้จามรี (หรือพระแส้หางช้างเผือก)
     ๕.ฉลองพระบาทเชิงงอน

สมัยโบราณนับถือพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งสำคัญกว่าอย่างอื่น ถือว่ามีความหมายเท่ากับความเป็นพระราชามหากษัตริย์ ส่วนมงกุฎนั้นถือเป็นราชกกุธภัณฑ์ที่เป็นเครื่องราชศิราภรณ์เท่านั้น มิได้ถือเป็นยอดแห่งความสำคัญอย่างเช่นพระมหาเศวตฉัตร จนถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยเราได้สมาคมกับชาติตะวันตกที่นับถือพระมงกุฎอยู่หลายประเทศ คติที่นับถือพระมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในจำนวนราชกกุธภัณฑ์จึงได้เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่นั้น

คำว่า พระราชอิสริยยศ เป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง ตั้งแต่พระบรมราชโอรสธิดาขึ้นไป เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอื่นๆ ที่นอกไปจากเบญจราชกกุธภัณฑ์อันเป็นเครื่องพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ จึงเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงดังกล่าวแล้วนั้นด้วย  โดยมีความแตกต่างลดหลั่นกันไปตามพระราชอิสริยยศของพระบรมราชวงศ์นั้นๆ อาจจำแนกประเภทของเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศออกเป็นหมวดหมู่ได้เช่นเดียวกันกับเครื่องยศดังนี้

เครื่องสิริมงคล
ได้แก่ พระสังวาล พระธำมรงค์ พระประคำทองคำ ๑๐๘ เม็ด พระสายดิ่ง และพระตะกรุดทองคำ

เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศหมวดนี้ เป็นของสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงฝ่ายหน้า ซึ่งรัชกาลปัจจุบันมีพระองค์เดียว ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

พระสังวาล ที่เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญ มีอยู่ ๒ องค์ คือ สังวาลพระนพ และพระมหาสังวาลนพรัตน์ ส่วนพระธำมรงค์ คือ พระธำมรงค์วิเชียรจินดา และพระธำมรงค์รัตนวราวุธ

เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในหมวดนี้ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงได้รับพระราชทาน มีดังนี้
     ๑.พระสังวาลพระนพน้อย
     ๒.พระธำมรงค์นพรัตน์
     ๓.พระประคำทองคำ ๑๐๘ เม็ด
     ๔.พระสายดิ่งทองคำ
     ๕.พระตะกรุดทองคำสายทอง
     ๖.พระตะกรุดทองคำลงยาประดับเพชร

เครื่องศิราภรณ์
คือเครื่องประดับพระเศียร ได้แก่ พระมงกุฎ พระชฎา และพระมาลา ซึ่งมีหลายแบบหลายองค์ สำหรับทรงในโอกาสต่างๆ กัน

เครื่องราชศิราภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันพระราชทาน เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้แก่
     ๑.พระอนุราชมงกุฎ
     ๒.พระมาลาเส้าสูงทองคำลงยา

เครื่องภูษณาภรณ์
ได้แก่ ฉลองพระองค์ต่างๆ เช่น ฉลองพระองค์ครุย สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในงานพระราชพิธีสำคัญ ที่มีการเสด็จออกมหาสมาคม เพื่อรับการถวายพระพรชัยมงคล

เครื่องศัสตราวุธ
คือ พระแสงต่างๆ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ฝ่ายหน้า ซึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน มีพระบรมราชวงศ์ที่ได้รับพระราชทานพระแสงเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระแสงที่ได้รับพระราชทานมีดังนี้
     ๑.พระแสงฝักทองเกลี้ยง
     ๒.พระแสงกระบี่สันปรุทองศีรษะนาค ๓ เศียร ฝักทองคำลงยาราชาวดีลายมงคล ๘ และพระเศวตฉัตร ๗ ชั้น

เครื่องราชูปโภค
เครื่องราชูปโภคสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ กล่าวเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่
     ๑.พานพระขันหมาก สำหรับวางมังสี (พานรูปรีทองคำทองยา) ใส่พระศรี คือ หมากพลู และยา สำรับใหญ่ชุดกลมตัด ทำด้วยทองคำลงยาทั้งชุด
     ๒.พระมณฑปรัตนกรันฑ์ คือ ภาชนะบรรจุน้ำเย็นทำด้วยทองคำลงยามีพานรองและจอกลอย
     ๓.พระสุพรรณศรีบัวแฉก คือ กระโถนเล็กปากเป็นกลีบๆ ทำด้วยทองคำลงยา
     ๔.พระสุพรรณราช คือ กระโถนใหญ่ ทำด้วยทองคำลงยา

นอกจากนั้น ยังมีเครื่องพานพระศรีอีก ๒ สำรับ คือ ชุดไม้สิบสอง เรียก ชุดพระสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ทำด้วยทองคำลงยาสำหรับหนึ่ง อีกสำรับหนึ่งทำด้วยนาก

ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ได้มีการพระราชทานเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในหมวดนี้ดังต่อไปนี้

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
     -พานพระศรีทองคำลงยาลายบัวเครื่องพร้อม
     -หีบพระศรีทองคำลงยาลายบัว พร้อมพานทองคำลงยาลายบัว
     -พระสุพรรณศรีทองคำลงยาลายบัว
    -ขันพระสุธารสทองคำลงยาลายบัว พร้อมพานรองทองคำลงยา
     -กาพระสุธารสทองคำลงยา พร้อมถาดรองรูปไข่
     -ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยาลายบัว พร้อมพานรอง และคลุมปักดิ้นทอง
     -กล่องหมากตราจุลจอมเกล้าพร้อมพานรองทองคำลงยา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
     -พานพระศรีทองคำลงยาเครื่องพร้อม
     -คนโทน้ำทองคำลงยา พร้อมพานรอง
     -พระสุพรรณศรีทองคำลงยา
     -หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรอง
     -กากระบอกทองคำ พร้อมถาดรอง
     -ที่พระสุธารสทองคำเครื่องพร้อม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

     -พานพระศรีทองคำลงยาเครื่องพร้อม
     -หีบพระศรีทองคำลงยา ตราพระจุลมงกุฎฝังเพชร
     -ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา พร้อมพานรอง
     -ขันน้ำฝาครอบทองคำลงยา พร้อพานและจอก
     -กากระบอกทองคำลายสลัก
     -ที่ชาทองคำเครื่องพร้อม
     -พระสุพรรณศรีทองคำลงยา

เครื่องสูง
ได้แก่ ฉัตร อภิรุมชุมสาย บังสูรย์ บังแทรก จามร กลด พัดโบก เป็นต้น

ฉัตรประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ คือฉัตรขาว ๙ ชั้น มีระบายขลิบทอง ๓ เส้น แต่ละชั้น เรียกว่า พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือเรียกโดยย่อว่า พระมหาเศวตฉัตร เป็นเครื่องแสดงพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชโดยสมบูรณ์แล้ว

ฉัตร ๗ ชั้น มีชื่อว่า พระสัปตปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตรสำหรับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ที่ยังคงมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก และสำหรับสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังสถานมงคล สมเด็จพระยุพราช และสมเด็จเจ้าฟ้าที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศพิเศษ เช่น สมเด็จพระบรมราชกุมารี

ฉัตรขาว ๕ ชั้น มีชื่อว่า พระเบญจปฎลเศวตฉัตร สำหรับพระราชทานพระบรมราชวงศ์ที่ดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าฟ้า

อภิรุมชุมสาย เป็นฉัตรประเภทหนึ่ง ทรงชะลูด มีสีต่างๆ สำหรับตั้งหรือเข้ากระบวนแห่ สำรับหนึ่งประกอบด้วย ฉัตร ๗ ชั้น ๔ คัน ฉัตร ๕ ชั้น ๑๐ คัน ชุมสาย ๔ คัน มี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่ง ปักดิ้นทอง เรียกรวมทั้งสำรับที่ปักดิ้นทองด้วยกันคือรวมทั้ง บังสูรย์ ๑ บังแทรก ๖ กลด ๑ และจามร ๘ ว่า เครื่องสูง หักทองขวาง อีกชนิดกรุเย็บด้วยแผ่นทองแผ่ลวด เรียกว่า เครื่องสูงทองแผ่ลวด

พระบรมราชวงศ์ในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ที่ได้รับพระราชทานเครื่องสูงหักทองขวาง เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ มีดังนี้
     -สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
     -สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
     -สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
     -สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ยานพาหนะ
แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
เครื่องคานหาม คือ ยานพาหนะประเภทมีคานหาม เคลื่อนที่โดยมีเจ้าพนักงานแบกหาม ได้แก่ พระราชยาน มีลักษณะต่างๆ ทั้งชนิดประทับราบ และประทับห้อยพระบาท

ยานพาหนะประเภทมีล้อ เคลื่อนที่โดยเจ้าพนักงานฉุดชักหน้าหลัง เรียกว่า ราชรถ

ยานพาหนะทางเรือ แต่โบราณเรียกเรือลำที่พระมหากษัตริย์ทรงว่า เรือต้น เรียกในเวลาต่อมาจนในปัจจุบันว่า เรือพระที่นั่ง เรือพระที่นั่งสำหรับเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มี ๔ ประเภท คือ เรือพระที่นั่งกราบ เรือพระที่นั่งศรี เรือพระที่นั่งเอกชัย และเรือพระที่นั่งกิ่ง

เครื่องประโคม
สำหรับพระมหากษัตริย์ยังมีเครื่องประโคมเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ๒ ประเภท คือ
      ๑.เครื่องประโคมแตรและมโหระทึก ใช้ในการเสด็จออกขุนนาง เสด็จพระราชพิธีบวงสรวงเสด็จเปิดสภาผู้แทนราษฎร หรือนำเสด็จพระราชดำเนินขบวนน้อย
      ๒.เครื่องประโคมสังข์แตรและกลองชนะ ประโคมในเวลาเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตรา หรือโปรดเกล้าฯ ให้มีการแห่ในงานพระราชพิธีใหญ่ที่มีการยืนช้างยืนม้า และแห่เชิญพระบรมศพ

พระโกศ
นอกจากเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศประเภทต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับพระบรมศพ หรือพระศพสำคัญคือ พระโกศ ได้แก่ พระโกศทองใหญ่ และพระโกศทองน้อย ตามลำดับ

สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จเจ้าฟ้าที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศพิเศษ เมื่อเสด็จสวรรคต พระบรมศพจะทรงพระโกศทองใหญ่ประดิษฐานบนพระมหาปราสาท

สำหรับพระศพพระบรมราชวงศ์ที่ดำรงพระอิสริยศักดิ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า พระศพจะทรงพระโกศทองน้อย แต่ถ้ารับราชการหรือทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่เป็นกรณีพิเศษ

ในวาระที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่ตามพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมราชชนนี และประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพตามพระราชประเพณี พระโกศทองใหญ่ประดิษฐานอยู่เหนือพระแท่นสุวรรณเบญจฎล ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร แวดลอมด้วยอภิรุมชุมสาย เครื่องสูงหักทองขวาง พุ่มดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง และตั้งแต่งเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้เบื้องหน้าพระแท่นสุวรรณเบญจฎล ดังนี้ (อธิบายตามผัง)




๑.เครื่องราชอิสริยยศราชูปโภค  ที่ตั้งแต่งถวายหน้าที่ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนพระแท่นสุวรรณเบญจปฎล มีดังนี้
    ๑.พานพระศรีทองคำลงยาเครื่องพร้อม
     ๒.หีบพระศรีทองคำลงยา
     ๓.คนโทน้ำทองคำสลักลายลงยา
     ๔.พระสุพรรณศรีทองคำลงยา
     ๕.ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยาพร้อมพานรอง
     ๖.ที่ชาทองคำเครื่องพร้อม
     ๗.พานเครื่องพระสำอาง
     ๘.พระคันฉ่อง
     ๙.ราวผ้าซับพระพักตร์




๒.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงได้รับพระราชทาน และตั้งแต่งไว้หน้าที่ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนพระแท่นสุวรรณเบญจฎล มีดังนี้
    ๑.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์ (ฝ่ายใน)
     ๒.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน)
     ๓.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน)
     ๔.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่ง มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
     ๕.เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๘ ชั้นที่ ๑
         เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ชั้นที่ ๑
     ๖.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่ง มหาวชิรมงกุฎ
     ๗.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ทรงได้รับจากประเทศญี่ปุ่น (Grand Cordon of the Order of the Precious Crown)
     ๘.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมดิเรกคุณาภรณ์
     ๙.เหรียญสุขภาพดีถ้วนหน้า จากองค์การสหประชาชาติ



เมื่อครบกำหนดการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ การพระราชพิธีในชั้นนี้มีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศที่สำคัญคือ
     -พระยานมาศ ๓ ลำคาน ๒ องค์
     -พระมหาพิชัยราชรถ
     -ราชรถพระอ่านพระอภิธรรมนำ
     -ราชรถประดิษฐานพระพุทธรูป
     -พระเมรุมาศ ยอดสัปตปฎลเศวตฉัตร
     -เสลี่ยงกลีบบัว พระอ่านพระอภิธรรมนำเวียนพระเมรุมาศ
     -พระที่นั่งราเชนทรยาน ทรงพระโกศพระบรมอัฐิ
     -พระโกศทองคำลงยาประดับเพชรฝาปักพระเศวตฉัตร ๗ ชั้น
     -พระวอสีวิกากาญจน์ ทรงผอบพระราชสรีรางคาร

พระราชยานและราชรถ เป็นยานพาหนะที่ใช้ในกระบวนแห่เชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุมาศเพื่อประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ซึ่งออกแบบก่อสร้างขึ้นสำหรับการพระราชพิธีนี้โดยเฉพาะ ณ ปริมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ทั้งพระราชยาน ราชรถ พระเสลี่ยง พระที่นั่งราเชนทรยาน พระวอ และพระเมรุมาศ ล้วนเป็นงานศิลปกรรมที่ประณีตงดงามยิ่ง จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่ไทยเราสามารถรักษาและสืบทอดกันมาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมและภาคภูมิใจ ควรที่เราทั้งหลายจะได้ช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานมรดกอันดีงามนี้ไว้สืบไป.



ลำดับต่อไป
ราชยาน
ความหมาย ประวัติ และวิวัฒนาการ

โปรดติดตาม
2958  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ผักกวางตุ้ง ผัดไฟแดง สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 16 ตุลาคม 2559 16:48:07



ผักกวางตุ้ง ผัดไฟแดง

• ส่วนผสม
- ผักกวางตุ้ง 150 กรัม
- กระเทียมไทยบุบให้แตก 5-6 กลีบ
- พริกสีแดง 4-5 เม็ด บุบให้แตก
- เต้าเจี้ยว 1 ช้อนชา
- ซอสหอยนางรม 2 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย ½ ช้อนชา
- ผงปรุงรส ½ ช้อนชา


• วิธีทำ
1.ล้างผักกวงตุ้งให้สะอาด หั่นท่อน ผสมเครื่องปรุงทุกอย่างใส่ในจานผักกวงตุ้ง
2.ตั้งน้ำมันพืชให้ร้อนจัดเต็มที่ (สังเกตมีควันลอยขอบน้ำมัน) ใส่ผักกวงตุ้งพร้อมเครื่องปรุงลงไปพร้อมกัน  
3.เติมน้ำสะอาดเล็กน้อย ผัดด้วยไฟแรง พอสุก ตักใส่จานเสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ






2959  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: 'ศพใส่โกศ' เรื่องที่คนทั้งหลายอยากรู้ เมื่อ: 15 ตุลาคม 2559 16:36:21


(ซ้าย) โกศ (ลองใน) (ขวา) พระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศ
(ภาพจากหนังสือสารานุกรมไทย เล่ม ๒ ของ อุทัย สินธุสาร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๑๖ หน้า ๒๙๑)

ในพระบรมโกศ
ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มา : มติชนออนไลน์

ในพระโกศ” หรือ “ในพระบรมโกศ” หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่เพิ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ มีบอกในคำอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๗) จะคัดมาโดยเฉพาะ ดังนี้

“พระนามที่เรียกว่าขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่าในพระโกศนี้เอง” (อธิบายเรื่องในรัชกาลต่างๆ ท้ายเล่มพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา)

โกศ (อ่านว่า โกด) แปลว่าที่ใส่ศพแบบนั่ง เป็นทรงกระบอกผายออกด้านบน ฝาครอบมียอด, ภาชนะใส่กระดูกคนตายขนาดเล็ก (พจนานุกรม ฉบับมติชน หน้า ๑๐๙)

มีความเป็นมาหลายพันปีมาแล้วอยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์ พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีจำนวนมาก ไม่มาจากอินเดียหรือจีน

โกศ มี ๒ ชั้น ชั้นในเรียก โกศ  ชั้นนอกเรียก ลอง หมายถึง ส่วนประกอบนอกตัวโกศ หรือที่หุ้มโกศไว้ข้างใน สร้างเพิ่มสมัยหลังๆ มีระดับชั้นยศหลายระดับ

คำอธิบายของสมเด็จฯ เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมโกศ มีฉบับเต็ม ดังนี้

พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลแล้วนั้น ดังเช่นเรียกว่า ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงทรงปลา เป็นต้น จนตลอดขุนหลวงบรมโกศ ขุนหลวงหาวัดและพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เกิดแต่ไม่รู้ว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ที่ล่วงรัชกาลแล้วพระองค์ใดเรียกพระนามในราชการว่าอย่างไร ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกำหนดกัน

ดังเช่น เรียกว่าขุนหลวงเพทราชา ก็เพราะได้เป็นที่พระเพทราชาอยู่เมื่อก่อนได้ราชสมบัติ เรียกว่าขุนหลวงเสือ ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินนั้นร้ายกาจ เรียกว่าขุนหลวงท้ายสระ ก็เพราะเสด็จอยู่พระที่นั่งข้างท้ายสระ เรียกขุนหลวงทรงปลา ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงชอบตกปลา

พระนามที่เรียกว่าขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่าในพระโกศนี้เอง

สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หลังในกรุงเก่าที่ได้ทรงพระโกศ) คนคงเรียกกันว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หรือในพระโกศมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว

ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้น พระนามเดิมเรียกในราชการว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เป็นกรมขุนพรพินิตเมื่อเสวยราชย์ อยู่ในราชสมบัติไม่ช้าก็ละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัดมาแต่ครั้งกรุงเก่า ส่วนพระเจ้าสุริยามรินทร์นั้น ครั้งกรุงเก่าคงเรียกกันเพียงว่าขุนหลวงหรือพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์พระองค์หลังที่สุด มาเรียกพระนามอื่นตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เรียกว่าขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เพราะเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งนั้น

ครั้นถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ต่อมาชั้นหลังเรียกกันว่าขุนหลวงตาก ด้วยเหตุได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตากครั้งกรุงเก่า

ประเพณีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตามปากตลาดอย่างนี้ มีตลอดจนเมืองพม่ารามัญ พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ ซึ่งเป็นราชโอรสรับราชสมบัติต่อพระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกภายหลังว่า “พระเจ้าเชลยตองอู” เพราะที่สุดเมื่อหนีสมเด็จพระนเรศวรถูกเอาไปกักไว้ที่เมืองตองอูจนทิวงคต และพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์หนึ่งในราชวงศ์อลองพญา พม่าเรียกว่าพาคยีดอ แปลว่าพระเจ้าอา ดังนี้ก็มี


โปรดติดตาม
เนื่องในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
อันเป็นโบราณราชประเพณีที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา


จาก จดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึก
จัดพิมพ์โดยรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ได้ที่ "สุขใจห้องสมุด" เว็บไซต์ "สุขใจ ดอทคอม" ในเร็วๆ นี้
2960  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / เปิดข้อมูลโบราณราชประเพณี "พระบรมศพ" เมื่อ: 15 ตุลาคม 2559 16:26:01


แผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์ พร้อมด้วยพระสางและซองพระศรี
(ภาพจาก จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑)

เปิดข้อมูลโบราณราชประเพณี
๑. สรงน้ำพระบรมศพและพระศพ

ข้อมูลจากหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” โดย นนทพร อยู่มั่งมี

การสรงน้ำพระบรมศพหรือพระศพ อนุโลมเรียกอย่างชาวบ้านก็คือ อาบน้ำศพ เป็นการอาบน้ำชำระศพให้สะอาด ธรรมเนียมนี้เป็นเรื่องการทำความสะอาดเพื่อให้ผู้ตายที่ไปอยู่ในภพภูมิอื่นในลักษณะบริสุทธิ์หมดจด บางทีก็เชื่อกันว่าเป็นการเตรียมตัวสำหรับไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์

วิธีปฏิบัติตามแบบแผนโบราณที่สืบกันมาคือ ต้องต้มน้ำด้วยหม้อดิน เก็บเอาใบไม้สดต้มลงไปด้วย และหาก้อนเส้า ๓ ก้อนมาเตรียมไว้ เมื่อน้ำเดือดยกหม้อน้ำวางบนก้อนเส้านั้น การอาบน้ำจะต้องอาบด้วยน้ำร้อนก่อนแล้วจึงอาบด้วยน้ำเย็น ฟอกด้วยส้มมะกรูดชะล้างให้สะอาดหมดจด ตำขมิ้นชันสดกับผิวมะกรูดมาขัดสีอีกทีให้ทั่วร่างกาย




พระบรมศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กษัตริย์กรุงกัมพูชา ในพระหัตถ์ทั้งสองข้างทรงถือซองพระศรีบรรจุเครื่องบูชาพระจุฬามณี
พร้อมกับทรงแผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์
(ภาพจากลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๒๐ : ราชกำหนดกรุงกัมพูชา เรื่องการพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์พระเจ้ากรุงกัมพูชา)

ถ้าเป็นศพผู้ใหญ่ก็มักเอาผ้าขาวมาซับฝ่าเท้า ฝ่ามือ หรือหน้า เพื่อถอนเอารอยจากส่วนต่างๆนี้ให้ลูกหลานไว้บูชา ในราชสำนักวิธีการดังกล่าวยังไม่ปรากฏเป็นลายลักษณะอักษรเด่นชัด เนื่องจากถือเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในหมายรับสั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เตรียมงานพระศพพระองค์เจ้าอรุณ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๔ (จ.ศ.๑๒๐๓) ระบุให้เจ้าพนักงานวิเสทนอกตำขมิ้นและมะกรูดส่งให้เจ้าพนักงานสนมพลเรือน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระบรมศพและพระศพ

ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวิธีสรงน้ำพระบรมศพหรือพระศพแต่โบราณนั้น คงเป็นเช่นเดียวกันกับพิธีศพของราษฎรที่ใช้ขมิ้นกับมะกรูดขัดสีร่างกาย ธรรมเนียมการสรงน้ำพระบรมศพ ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาจาก คำให้การชาวกรุงเก่า อธิบายวิธีการไว้ดังนี้ “เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาสวรรคต ได้จัดการพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีดังนี้ คือ สรงน้ำชำระพระบรมศพสะอาดแล้ว ถวายพระสุคนธ์ สรงพระบรมศพ แล้วเอาผ้าคลุมบรรทม มีลายริมเงินคลุมพระบรมศพไว้ จนถึงเวลาสรงพระบรมศพ

ครั้นสรงเสร็จแล้วถวายภูษาอาภรณ์ ทรงพระบรมศพ และทรงสังวาลและพระชฎา ประดิษฐานไว้ยังพระแท่นในพระมหาปราสาท




การตั้งแต่งอันสรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในพระที่นั่งพิมานรัตยา

สำหรับพิธีของราชสำนักจะเตรียมการเมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ลง ด้วยการจัดแต่งสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆในด้านสถานที่คงเป็นไปตามความสะดวกและพระเกียรติยศ เช่น การสรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ เวลา ๔ โมงเช้า กระทำบนพระที่นั่งอัมพรสถานอันเป็นที่สวรรคตถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกให้ฝ่ายในสรงน้ำพระบรมศพประทับบนพระแท่นที่เคยบรรทม มีสมเด็จพระบรมราชเทวีประทับเป็นองค์ประธาน จากนั้นเจ้าพนักงานภูษามาลาได้เชิญพระบรมศพไปที่ห้องบรรณาคมจัดบรรทมบนพระแท่นทอง ที่นำมาจากพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าถวายน้ำสรงทั่วกัน

อุปกรณ์ที่ใช้ในการนี้ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ให้รายละเอียดการตั้งแต่งสถานที่และเครื่องใช้ต่างๆ ที่จัดภายในพระที่นั่งพิมานรัตยา ว่ามีการเตรียมพระแท่นปิดทองลายเท้าสิงห์ปูพรมลาดพระสุจหนี่เยียรบับ ทอดพระยี่ภู่พระเขนยผ้าสีขาวสำหรับสรงพระบรมศพ ซึ่งบรรทมหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ที่ด้านเหนือพระเศียรตั้งม้าหมู่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทน์ประจำพระชนมวาร ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ พร้อมด้วยเครื่องทองน้อย ๑ เครื่อง และพานตั้งทองคำดุนสำหรับถวายปิดพระพักตร์ ซองพลูทองคำลงยา มีดอกบัว ธูปไม้ระกำ เทียน อย่างละ ๑ สิ่ง สำหรับถวายพระพนม (พนมมือ) และพระชฎาทองคำลงยา สวมเวลาเชิญลงสู่พระโกศ พร้อมกับลาดพระสุจหนี่ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงกราบราบที่หน้าพระแท่นมณฑล พร้อมด้วยเครื่องทองน้อย ๒ เครื่อง




พระชฎา แผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์ ซองพระศรี และพระสางไม้
(ภาพจาก จดหมายเหตุงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗
เล่ม ๑ โดยกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙)

ส่วนเครื่องใช้สำหรับการพระราชพิธีครั้งนี้ อาทิ หม้อน้ำทองคำลงยา บรรจุน้ำสรง ผอบทองคำลงยาใส่น้ำขมิ้น น้ำพระสุคนธ์ อย่างละ ๑ สิ่ง พระโกศและพระลองทองใหญ่ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพุ่ม เฟื่องพู่ ดอกไม้ฝา และดอกไม้เอวพร้อม พระภูษาฉลองพระองค์ยกทองพื้นสีขาว เครื่องพระสุกำสำหรับทรงพระบรมศพ เป็นต้น อุปกรณ์และเครื่องใช้ที่ปรากฏล้วนจำเป็นสำหรับการพระราชพิธีในส่วนนี้และทำให้ทราบถึงธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาแต่โบราณราชประเพณี

น่าสังเกตว่าการถวายน้ำสรงพระบรมของพระมหากษัตริย์จะถวายบริเวณพระบาท ต่างกับสามัญชนที่รดน้ำลงบนฝ่ามือ คงเนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่มีสถานะสูงสุดแห่งแผ่นดิน การที่บุคคลมีศักดิ์ต่ำกว่าจะถวายสิ่งของต่อพระหัตถ์โดยตรงจึงไม่สมควร ในกรณีนี้ยังรวมถึงสมเด็จพระพันปีหลวง สมเด็จพระราชชนนี และพระราชินี ด้วย ลำดับของพระอิสริยยศและฐานันดรจึงเป็นเครื่องกำหนดตำแหน่งถวายน้ำสรงพระบรมศพ บางครั้งมีการถวายน้ำสรงต่างกันในคราวเดียว เห็นได้จากงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับน้ำสรงจากเจ้าพนักงานทรงถวายน้ำสรงบนพระอุระ

ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถวายน้ำสรงที่พระบาทพระบรมศพ ทั้งสองพระองค์ทรงกราบราบที่หน้าพระแท่นแล้วเสด็จฯ ไปประทับที่พระราชอาสน์นอกพระฉาก จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถวายน้ำสรงพระบรมศพที่พระบาท ขณะถวายน้ำสรงนั้น เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี หยุดประโคมเมื่อประดิษฐานพระโกศพระบรมศพที่แท่นสุวรรณเบญจดลเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ถวายน้ำสรงพระบรมศพเป็นขั้นตอนการสาง (หวี) พระเกศา (ผม) โดยใช้พระสางไม้ที่เจ้าพนักงานเตรียมไว้ มีวิธีการสาง (หวี)

เริ่มจากสางพระเกศาขึ้นครั้งหนึ่ง ลงครั้งหนึ่ง แล้วสางกลับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงหักพระสางวางไว้ที่พานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่

วิธีการลักษณะนี้กระทำพอเป็นพิธีในเชิงปริศนาธรรม เพื่อแสดงว่าไม่ต้องการความสวยงาม และเป็นเครื่องหมายว่าหมดประโยชน์ไม่มีความเป็นจำเป็นต้องแต่งกายใดๆ ส่วนพระสางที่หักแสดงว่าไม่ต้องการใช้พระสางนั้นอีกแล้ว ต่อจากนั้นจะเป็นพิธีสุกำศพ (ใส่เครื่องแต่งกายและมัดตราสัง) ก่อนอัญเชิญพระบรมศพหรือพระศพลงสู่พระโกศเพื่อประดิษฐานบนพระแท่นสุวรรณเบญจดลในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หรือสถานที่อื่นตามความเหมาะสมเป็นลำดับต่อไป


ทีมา : มติชนออนไลน์




สรงน้ำพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งราชกรัณยสภา ไปยังพระที่นั่งพิมานรัตยา เสด็จฯ ขึ้นทางบันไดพระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งพระบรมศพบรรทมอยู่บนพระแท่น จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย กราบถวายบังคมพระบรมศพ ทรงรับขวดน้ำพระสุคนธ์จากเจ้าพนักงาน ถวายสรงที่พระบาทพระบรมศพ กราบถวายบังคมพระบรมศพ

จากนั้นทรงรับหม้อน้ำพระสุคนธ์ โถน้ำขมิ้นและโถน้ำอบไทยจากเจ้าพนักงานสนมพลเรือน ถวายสรงที่พระบาทพระบรมศพ จากนั้นทรงหวีเส้นพระเจ้าขึ้นครั้งหนึ่ง หวีลงอีกครั้งหนึ่ง แล้วหวีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วหักพระสางนั้น วางไว้ในพานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่

ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เชิญพระหีบพระบรมศพมาเทียบที่พระแท่นบรรทมพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประทับทอดพระเนตรการย้ายพระบรมศพลงพระหีบ

เจ้าพนักงานถวายซองพระศรี บรรจุดอกบัวและธูปเทียน ทรงวางซองพระศรี บรรจุดอกบัวและธูปเทียน แล้วพระราชทานคืนเจ้าพนักงาน ทรงรับและทรงวาง แผ่นทองคำจำหลักลายปิดพระพักตร์ แล้วพระราชทานคืนเจ้าพนักงาน ทรงรับพระชฎาห้ายอด ทรงวางข้างพระเศียรแล้วพระราชทานคืนเจ้าพนักงาน จากนั้นทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ๑๐ นาย เชิญพระหีบพระบรมศพ มีตำรวจหลวงนำ ๔นาย ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จตามพระบรมศพ ประทับยืนที่หน้าพระราชอาสน์


ก่อนเสด็จฯ ไปทรงวางพวงมาลาที่หน้าพระโกศพระบรมศพ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และเครื่องราชสักการะ กราบถวายบังคมพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ บูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงทอดผ้าไตร ๑๐ ไตร  ทรงหลั่งทักษิโณทก เสด็จฯ ไปทรงทอดผ้าไตร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงกราบพระพุทธที่หน้าเครื่องนมัสการหน้าพระแท่นเศวตฉัตร

จากนั้นเสด็จฯ ไปที่หน้าพระบรมโกศพระบรมศพ ทรงกราบ ทรงรับการถวายการเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จฯ ผ่านแถวข้าราชการ ผู้มาเฝ้าฯ ไปที่พระแท่นเตียงพระพิธีธรรม ด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ณ มุขหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียน เครื่องบูชากระบะมุขที่หน้าเตียงพระสวดพระอภิธรรม เสด็จออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทลงทางบันไดมุขกระสันทางทิศเหนือ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูกำแพงแก้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต






หน้า:  1 ... 146 147 [148] 149 150 ... 273
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.78 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 14 เมษายน 2567 12:25:53