[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 14:30:50 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 147 148 [149] 150 151 ... 270
2961  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: สารคดี ชีวิตสัตว์โลก เมื่อ: 15 สิงหาคม 2559 18:33:14


ม้าลาย

ม้าลาย (Zebra) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกีบคี่ จัดอยู่ในสกุลม้า (Eguus) และสกุลย่อย Hippotigris (แปลว่า ม้าลายเสือ) และ Dolichohippus แบ่งออกได้เป็น ๓ ชนิด

ม้าลายเป็นม้าจำพวกหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่าม้า แต่มีปลายหางคล้ายลา มีแผงคอที่สั้นเหมือนขนแปรง ลักษณะเด่นคือมีลำตัวเป็นสีขาวสลับดำตลอดทั้งตัว เป็นที่มาของคำถามมาเป็นระยะเวลานานแล้วว่า แท้ที่จริงแล้วม้าลายเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวขาวและมีแถบสีดำพาดผ่าน หรือเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวสีดำและมีแถบสีขาวพาดผ่าน

ชาวพื้นเมืองแอฟริกาซึ่งเป็นพื้นถิ่นแผ่นดินเกิดของม้าลาย เชื่อว่าม้าลายเป็นสัตว์ที่มีสีดำและมีแถบสีขาวพาดผ่าน ซึ่งตรงกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่าม้าลายแท้ที่จริงเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวสีดำและมีลายแถบสีขาวพาดผ่านลำตัว ลายแถบสีขาวนั้นเกิดจากเซลล์ประสาทที่เรียงรายตามแนวกระดูกสันหลังที่ส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นเซลล์ผลิตเม็ดสีสีดำ เรียกว่าเมลาโนไซต์ หลังจากนั้นเมลาโนไซต์เหล่านี้จะเคลื่อนออกไปด้านข้างของกระดูกสันหลังในแนวตั้งฉาก แล้วเปลี่ยนสภาพไปเป็นผิวหนังที่มีเม็ดสีสีดำ

ทั้งนี้ รูปแบบของเม็ดสีในสัตว์แต่ละชนิดขึ้นอยู่กับการกระตุ้น ทางพันธุกรรมในการเปลี่ยนสภาพและการเคลื่อนที่ของเมลาโนไซต์ โดยจากการศึกษาพบว่าตัวอ่อนของม้าลายที่อยู่ในท้องแม่จะเป็นตัวสีดำก่อน จากนั้นลายแถบสีขาวจึงค่อยๆ พัฒนาขึ้น ซึ่งม้าลายแต่ละตัวก็จะมีลายเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าม้าลายมีลายแถบสีขาวไว้เพื่ออะไร ทัศนะของชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญ เชื่อว่าม้าลายมีลายเพื่อจดจำกันได้ และตัวผู้ใช้เกี้ยวพาตัวเมีย นอกจากนั้นยังมีที่เชื่อว่ามีไว้ป้องกันแมลง โดยเฉพาะแมลงวัน มีหลักฐานว่าม้าลายดึงดูดแมลงน้อยกว่าสัตว์กินพืชชนิดอื่นๆ ในแอฟริกา จากการทดลองของนักวิทยา ศาสตร์ชาวฮังการีกลุ่มหนึ่ง โดยการนำหุ่นของม้า ๔ ตัว ที่มีสีสันแตกต่างกันไป รวมถึงม้าลาย ไปตั้งไว้ในทุ่งหญ้า พบว่าหุ่นม้าลายมีแมลงมาเกาะน้อยที่สุด ทั้งนี้ เชื่อว่าเพราะตาของแมลงเป็นระบบตารวมที่มีส่วนประกอบมากมาย และแมลงจะลงเกาะโดยการใช้แสง โพลาไรซ์ช่วย เป็นไปได้ว่าลายทางของม้าลายไปรบกวนแสง โพลาไรซ์ในการมองของแมลง ทำให้ยากในการลงเกาะบนตัวของม้าลาย ขณะที่บางฝ่ายเชื่อว่าใช้ในการพรางตัวจากศัตรู และทำให้ศัตรูซึ่งได้แก่สัตว์กินเนื้อต่างๆ ตาลายเมื่อได้พบเจอม้าลายที่อยู่รวมกันเป็นฝูงในทุ่งหญ้ากว้าง ทำให้จับระยะทางที่จะโจมตีผิดพลาดไป

โดยทั่วไปม้าลายชอบอยู่ตามที่ราบโล่งที่เป็นหญ้า มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งมีหลายร้อยตัวจนถึงเป็นพัน โดยจะเล็มหญ้าหากินร่วมกับสัตว์อื่นในทุ่งกว้าง เช่น นกกระจอกเทศ ยีราฟ แอนทีโลป และสัตว์กีบชนิดอื่นๆ โดยมักจะมีนกจับเกาะอยู่บนหลัง ช่วยระวังภัยและจับกินพวกแมลงที่มารบกวน ทั้งมีนกกระจอกเทศและยีราฟช่วยเป็นป้อมยามคอยเตือนภัยและระวังภัยให้ เพราะม้าลายสายตาไม่ค่อยดี แต่จมูกและหูไวมาก ฟันของม้าลายค่อนข้างคม จึงแทะเล็มในส่วนที่เป็นโคนและลำต้นของหญ้าได้ ขณะที่สัตว์อื่นๆ เช่น แอนทีโลป จะกินยอดหญ้า นับเป็นการแบ่งปันอาหารกันตามธรรมชาติ

ม้าลายมีอายุยืน ๒๕-๓๐ ปี โดยเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ ๒ ปี ตั้งท้องนาน ๓๔๕-๓๙๐ วัน ออกลูกครั้งละ ๑ ตัว ลูกม้าลายแรกเกิดจะมีขนปุกปุยและมีแถบสีน้ำตาลสลับขาว ใช้เวลาไม่นานในการยืนและวิ่งได้ทันทีหลังคลอด

ม้าลายพบได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกาแถบที่ราบโล่งทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า โดยแบ่งได้เป็น ๓ ชนิด และแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดย่อย ทั้งนี้ ในอดีตการจำแนกประเภทของม้าลายแบ่งออกได้เป็นกว่า ๑๐ ชนิด โดยแบ่งออกตามถิ่นที่อยู่อาศัย แต่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียง ๓ ชนิด และไม่สามารถแบ่งตามที่อยู่อาศัยได้เหมือนเดิมอีกแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสภาวะความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป และจากที่เคยมีกันอยู่ไม่น้อยม้าลายในธรรมชาติจะถูกล่าเพื่อเอาเนื้อเป็นอาหารและหนังเพื่อทำเป็นเครื่องประดับและเครื่องนุ่งห่ม ทำให้บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว เหลือกันอยู่แค่ ๓ ชนิดใหญ่ ได้แก่

๑.Equus zebra หรือ ม้าลายภูเขา (Mountain zebra) เป็นม้าลายที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ มีถิ่นอาศัยอยู่ในทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศแองโกลา, นามิเบีย และแถบแอฟริกาใต้ มี ๒ สปีชีส์ย่อย คือ ม้าลายภูเขาเคป (Cape Mountain Zebra) และ ม้าลายภูเขาฮาร์ตมันน์ (Hartmann Mountain Zebra)

๒.Equus quagga ม้าลายควากกา หรือ ม้าลายธรรมดา หรือม้าลายทุ่งหญ้า (Plains zebra, Common zebra) พบกระจายพันธุ์มากที่สุดในบรรดาม้าลายด้วยกัน จากตอนใต้ของประเทศเอธิโอเปียตลอดจนฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ไกลจนถึงตอนใต้ของแองโกลาและทางตะวันออกของประเทศแอฟริกาใต้ มันมีลายแตกต่างจากม้าลายชนิดอื่นตรงที่มีลายขนาดใหญ่สีดำพาดยาวสลับกับลายสีขาวจากหลังลงไปทั้งสองข้างของลำตัวจนถึงใต้ท้อง และแต่ละตัวก็มีลายไม่เหมือนกัน เป็นม้าลายที่มีปฏิสัมพันธ์กันในระหว่างสมาชิกในฝูง มีการตกแต่งร่างกายและทำความสะอาดเนื้อตัวให้กันและกัน จะอยู่รวมฝูงกันทั้งในทุ่งหญ้าที่เป็นที่ราบหรือป่าละเมาะ บางครั้งจะรวมกันเป็นฝูงใหญ่ที่มีสมาชิกถึงหมื่นตัว

ทุกปี ราวเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ม้าลายมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ตัว จะออกเดินทางร่วมกับฝูงวิลเดอบีสต์ที่มีจำนวน ๑.๘-๒ ล้านตัว (มันคอยระวังภัยให้กัน เพราะม้าลายประสาทตาไม่ดี แต่ประสาทหูดีเยี่ยม ขณะที่วิลเดอบีสต์ประสาทตาดี แต่ประสาทหูไม่ดี) ไปตามเส้นทางอพยพระยะยาวกว่า ๑,๕๐๐ กิโลเมตร ระหว่างอุทยานแห่งชาติเซเรงเกติในแทนซาเนีย กับเขตอนุรักษ์แห่งชาติมาไซมาราในเคนยา เพื่อแสวงหาแหล่งอาหาร คือทุ่งหญ้าใหม่ๆ และแหล่งน้ำ จะอยู่กันที่นั่นราว ๒ เดือนจนถึงเดือนกันยายน-ตุลาคม ก็พากันอพยพกลับไปที่ทุ่งหญ้าเซเรงเกติที่จะมีหญ้าขึ้นใหม่เต็มท้องทุ่ง ระหว่างการอพยพทั้งไปและกลับ ม้าลายกับวิลเดอบีสต์จะล้มตายมากมาย ทั้งจากการเบียดเสียด จมน้ำและถูกจระเข้กินขณะข้ามแม่น้ำมารา ส่วนตัวที่อ่อนแรงก็จะถูกสัตว์กินเนื้ออย่างสิงโต เสือดาว ชีตาห์ ไฮยีน่า ล่าเป็นอาหาร

ม้าลายสปีชีส์ย่อยตัวสำคัญของสายพันธุ์ธรรมดา คือ ม้าลายเบอร์เชลล์ (Burchell zebra) แพร่กระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกาตอนใต้ เช่น บอตสวานา สวาซิแลนด์ แอฟริกาใต้ ชื่อของมันตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่วิลเลียม จอห์น เบอร์เชลล์ วิศวกรและนักสำรวจธรรมชาติชาวอังกฤษ เป็นม้าลายอีกชนิดหนึ่งที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยฝีมือของมนุษย์ที่ล่าเอาเนื้อหนัง ทั้งถูกบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัย

๓.quus grevy ม้าลายเกรวี หรือ ม้าลายอิมพีเรียล (Grevy zebra, Imperial zebra) เป็นม้าลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นม้าป่าที่ใหญ่ที่สุด พบได้เฉพาะถิ่นในป่าของเคนยาและเอธิโอเปีย ชื่อของสายพันธุ์ตั้งเป็นเกียรติแด่ชูเลส เกรวี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยรัฐบาลของแอบบินซินเนีย ม้าลายเกรวีมีลายแคบและเบียดชิดกันมาก และจากลวดลายที่แปลกจากม้าลายชนิดอื่นๆ นี่เองที่ทำให้มันถูกล่าอย่างหนักจนเกือบจะสูญพันธุ์ กว่าจะมีกฎหมายอนุรักษ์ออกมาคุ้มครองก็เกือบจะสายไปแล้ว ม้าลายเกรวีไม่ได้มีสังคมในฝูงที่ใกล้ชิดเหมือนกับม้าลายธรรมดา มีการเกื้อกูลช่วยเหลือกันน้อยมาก อีกคุณสมบัติเด่นคืออดน้ำได้นานถึง ๓ น





ผีเสื้อกลางวัน-กลางคืน

จากบทความทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า ผีเสื้อแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ ผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืน ซึ่งหากดูเพียงผิวเผินจะเห็นว่าทั้งผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืนไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย

แต่ในทางอนุกรมวิธานผีเสื้อกลางวันกับผีเสื้อกลางคืนอยู่ในอันดับย่อย (suborder) ต่างกัน คือ อันดับย่อย ผีเสื้อกลางวัน (butterfly) และ อันดับย่อยผีเสื้อกลางคืน (moth) หรือเรียกว่า แมลงมอธ

ในจำนวนผีเสื้อนับแสนชนิดในโลกนี้พบว่าส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อกลางคืน ส่วนผีเสื้อกลางวันมีเพียงประมาณ ๑๐% ของผีเสื้อทั้งหมด แต่ด้วยสีสันอันสวยงามสะดุดตา และโอกาสที่พบเห็นได้ง่ายคือเวลากลางวัน ผีเสื้อกลางวันจึงเป็นที่รู้จักมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในการจะชี้ชัดลงไปว่าเป็นผีเสื้อกลางวันหรือผีเสื้อกลางคืน จะต้องใช้หลักเกณฑ์หลายๆ อย่างประกอบการพิจารณา หากจะให้ละเอียดลงไปต้องอาศัยลักษณะทางกายวิภาคและพฤติกรรมอื่นๆ มาประกอบด้วย

สำหรับลักษณะสำคัญที่พอจะสังเกตได้ง่ายๆ มีดังนี้
๑.หนวด ผีเสื้อกลางวันมีปลายหนวดพองโตออกคล้ายกระบอง บางพวกมีปลายหนวดโค้งงอเป็นตะขอ เวลาเกาะจะชูหนวดขึ้น เป็นรูปตัววี (V) ส่วนผีเสื้อกลางคืนมีหนวดรูปร่างต่างกันหลายแบบ เช่น รูปเรียวคล้ายเส้นด้าย รูปฟันหวี หรือแบบพู่ขนนก เวลาเกาะพักจะวางแนบไปกับขอบปีกคู่หน้า แต่บางชนิดคล้ายผีเสื้อกลางวัน

๒.ลำตัว ผีเสื้อกลางวันมีลำตัวค่อนข้างยาวเรียวเมื่อเปรียบเทียบกับความกว้างของปีก ไม่มีขนปกคลุม หรือมีเพียงบางๆ เห็นไม่ชัดเจน ในขณะที่ผีเสื้อกลางคืนมีลำตัวอ้วนสั้น มีขนปกคลุมมากและเป็นเส้นยาวเห็นได้ชัดเจน

๓.การออกหากิน ผีเสื้อกลางวันส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางวัน แต่มีบางชนิดออกหากินในเวลาเช้ามืดและเวลาใกล้ค่ำ ในขณะที่ผีเสื้อกลางคืนออกหากินในเวลากลางคืน ดังที่พบเห็นบินมาเล่นแสงไฟตามบ้านเรือน แต่ก็มีบางชนิดที่ออกหากินกลางวัน เช่น ผีเสื้อทองเฉียงพร้า ซึ่งมีสีสันฉูดฉาดสวยงามไม่แพ้ผีเสื้อกลางวัน

๔.การเกาะพัก ผีเสื้อกลางวันขณะเกาะพักมักหุบปีกขึ้นตั้งตรง ยกเว้นกรณีที่ปีกเปียกฝนอาจกางปีกออกผึ่งแดด แต่ก็มีบางชนิดที่กางปีกตลอดเวลา เช่น ผีเสื้อในสกุลผีเสื้อกะลาสี ส่วนผีเสื้อ กลางคืนจะกางปีกออกแนบกับพื้นที่เกาะ ขอบปีกด้านหน้าอยู่ข้างลำตัวต่ำกว่าระดับของหลัง เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือคล้ายกระโจม และคลุมปีกคู่หลังจนมิด

๕.ปีก โดยทั่วไปผีเสื้อกลางวันจะมีปีกกว้างเมื่อเทียบกับขนาดของลำตัว ส่วนผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อกลางคืนจะมีปีกขนาดเล็กใกล้เคียงกับลำตัว แต่ก็มีบางชนิดที่ปีกมีขนาดใหญ่มากๆ เช่น ผีเสื้อหนอนกท้อน

๖.การเชื่อมติดของปีก เพื่อให้ปีกกระพือไปพร้อมกันเวลาบินของผีเสื้อกลางวัน ปีกคู่หลังจะขยายกว้างยื่นเข้าไปซ้อนทับและแนบสนิทอยู่ใต้ปีกคู่หน้า แต่ในผีเสื้อกลางคืนจะมีขนแข็งจากปีกคู่หลัง ซึ่งอาจจะมี ๑ หรือ ๒ เส้น สอดเข้าไปเกี่ยวกับตะขอเล็กๆ ที่โคนปีกด้านใต้ของปีกคู่หน้า

โดยสรุปข้อสังเกตง่ายๆ ผีเสื้อกลางวันมีสีสันสวยงามสดใส ปากมีลักษณะเป็นงวง ลำตัวเรียวยาว ปีกไม่มีขนปกคลุมหรือถ้ามีก็จะบางมากๆ เวลาเกาะปีกจะยกพับขึ้นตั้งฉากกับลำตัว ส่วนหนวดจะชูเป็นรูปตัววี โดยที่ปลายหนวดมีตุ่มเล็กๆ คล้ายกระบองให้สังเกต

ส่วนผีเสื้อกลางคืนส่วนมากสีสันออกโทนเรียบๆ ไม่มีลวดลายเด่นชัดสวยงาม ลำตัวกลมอ้วน ปีกมีขนปกคลุมอยู่เป็นจำนวนมากเป็นเส้นยาวๆ มองเห็นชัดเจน เวลาเกาะจะกางปีกขนานกับลำตัว พร้อมเอาลำตัวซ่อนไว้ใต้ปีก ส่วนหนวดมีขนเหมือนแปรงลวดหรือขนนก บางชนิดมีปากลดรูปไปจนไม่สามารถกินอาหารได้ เช่น ผีเสื้อยักษ์




ช้างแกลบ

ความรู้นำมาจากการสืบค้นของ เอนก นาวิกมูล ผู้เชี่ยวชำนาญประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ ว่า "ช้างแกลบ" เป็นช้างที่มีขนาดเล็ก คนจึงเรียกว่าช้างแกลบ ซึ่งแปลว่าช้างขนาดย่อม เหมือนเรียกม้าแกลบ วิหารแกลบ หรือบางทีก็เรียกช้างแคระ หรือช้างค่อม ซึ่งหมายถึงช้างตัวเตี้ย หลังงอ บางทีเรียกตามถิ่นที่ช้างหากินว่าช้างโพระ หรือช้างพรุ คือหากินตามบริเวณที่ลุ่มมีน้ำท่วมขัง อาหารของช้างพันธุ์นี้คือหญ้าพื้นเมืองที่ขึ้นอยู่ตามพรุ เช่นหญ้ากก หญ้าปรือ ใครจับมันไปเลี้ยงเพื่อใช้งานก็เลี้ยงไม่ได้ ช้างจะตายเพราะผิดน้ำผิดอาหารทุกตัว

ทั้งนี้ จากการบันทึกของเอนก นาวิกมูล ระบุด้วยว่า นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักนิยมไพรคนสำคัญของไทย ได้กล่าวถึงเรื่องช้างแคระในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๖ ว่า เมื่อสิบปีก่อนนั้นเคยพบช้างแคระ หรือช้างค่อม ๒ ครั้ง บริเวณทิศเหนือของทะเลสาบสงขลา โดยครั้งแรกพบ ๗ เชือก ครั้งที่ ๒ พบ ๔ เชือก ขณะที่ยืนกินหญ้าอยู่ตามหนองน้ำ เห็นได้ชัดว่ารูปร่างสูงใหญ่เหมือนควายตามบ้าน มีนิสัยไม่ดุร้ายเหมือนช้างป่า ต่อมาใกล้ๆ ถึงปีพ.ศ.๒๕๐๖ ได้ออกไปสำรวจอีกครั้ง แต่ไม่พบช้างประเภทนี้ สืบสวนได้ความว่าสาเหตุเพราะส่วนหนึ่งชาวบ้านไล่ล่ามากินต่างหมู

ส่วนหนังสือ Five Year in Siam ของ เฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ ชาวอังกฤษ กล่าวว่า ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ สมิธได้ไปสำรวจดินแดนชายฝั่งภาคใต้ซีกอ่าวไทย พบว่าในทุ่งระโนดซึ่งแทบจะไม่มีต้นไม้ใหญ่ และมีบ้านเรือนเพียงน้อยหลัง มีฝูงช้างที่มีขนาดเล็กอย่างประหลาด เรียกกันว่าช้างแดง ตามสีขนของมัน ขนาดสูงราว ๘ ฟุต หัวและเท้าเล็ก ลำตัวอ้วนใหญ่ เป็นที่หวาดกลัวในความดุดันของมันเช่นเดียวกับช้างป่าทั่วไป ช้างแดงพวกนี้ไม่ตื่นตกใจง่ายๆ ชอบบุกรุกเอาบ้านและทุ่งแทนป่า หากจับมาแล้วมักตายง่าย เพราะช้างพวกนี้คุ้นเคยกับน้ำกร่อยในหนองน้ำ ถ้าเปลี่ยนไปอยู่กับน้ำใสๆ จากภูเขาก็จะตาย นอกจากนี้ยังพบว่ากระดูกช้างแกลบถูกนำมาดัดแปลงทำกระต่ายขูดมะพร้าว ด้ามมีดจักตอก
 
ยังมีข้อมูลจากโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ โรงเรียนสตรีพัทลุง สืบค้นศึกษาเกี่ยวกับช้างแคระ หรือช้างแกลบ ไว้ว่า มีหลักฐานจากหลายแหล่งชี้ชัดว่า ประมาณทศวรรษ ๒๔๘๐ ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยมีช้างที่มีขนาดเล็กกว่าช้างทั่วไปอยู่โขลงหนึ่ง จำนวนประมาณ ๓๐-๔๐ เชือก อาศัยอยู่ในบริเวณทุ่งหญ้าและป่าพรุรอบๆ ทะเลสาบตอนบน ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า ช้างค่อม ช้างแคระ ช้างแกลบ ช้างพรุ

เล่ากันว่าช้างชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะอย่างช้างทั่วไป แต่ขนาดเล็กกว่า ลำตัวสูงประมาณควายป่าคือราวๆ ๗-๘ ฟุต หัวและเท้าเล็ก ลำตัวอ้วนใหญ่ คุ้นเคยกับสภาพน้ำกร่อยและหนองน้ำในทุ่งหญ้าริมทะเล หรือภูมิประเทศแบบกึ่งป่ากึ่งน้ำเป็นอย่างดี ชอบรวมตัวกันเป็นฝูงหรือโขลง มีนิสัยดุร้ายเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้านในชุมชนรอบทะเลน้อย (ช่วงต้นของทะเลสาบสงขลา คาบเกี่ยวอยู่กับ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และ อ.ระโนด จ.สงขลา)

มีการตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องเล่าและ/หรือการพบเห็นช้างค่อมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงทศวรรษ ๒๕๐๐ น่าจะเป็นเรื่องราวช่วงสุดท้ายของพวกมัน เพราะเรื่องเล่าในทุ่งชุ่มน้ำทางทิศตะวันออกของทะเลน้อยเมื่อปลายทศวรรษ ๒๔๘๐ ช้างค่อมถูกเอ่ยถึงในฐานะศัตรูสำคัญที่ออกจากป่ามาทึ้งกินเหยียบย่ำทำลายนาข้าว ชาวบ้านจึงช่วยกันขับไล่พวกมันออกจากพื้นที่โดยไม่จำกัดวิธีการ

โดยเฉพาะเรื่องเล่าที่ยังเป็นที่จดจำกันว่า ชาวบ้านรอบทะเลน้อยระดมแรงกันออกล่าศัตรูนาข้าวชนิดนี้เพื่อใช้เป็นอาหารด้วยแล้วก็น่าจะเชื่อได้ว่ายุคสุดท้ายของพวกมันได้ผ่านไปแล้วจริงๆ เพราะเมื่อนายแพทย์บุญส่งลงมาสำรวจอีกครั้งเมื่อปี ๒๕๐๖ ก็ไม่ปรากฏร่องรอยของช้างค่อมในทุ่งหญ้าและป่าพรุรอบทะเลน้อยอีกเลย



ลิงธรรมชาติไทย

มารู้จักลิงที่มีในธรรมชาติประเทศไทยกันเถอะ ซึ่งทุกชนิด ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

ลิงอ้ายเงียะ, ลิงอัสสัม หรือลิงภูเขา (Assam macaque ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaca assamensis) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานร (Primates)

มีรูปร่างอ้วนเทอะทะ แขน-ขาสั้น ขนปุย ขนตามลำตัวมี สีเหลืองปนเทา บางตัวอาจมี สีเข้มมากจนดูคล้ายสีน้ำตาลดำ ส่วนที่หัวไหล่ หัวและแขนมี สีอ่อนกว่าบริเวณอื่นๆ

ขนหัวและหางมักมีสีเทา ในบางฤดูกาลผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมฟ้า

มักอาศัยในป่าบนภูเขาสูงหรือตามที่ราบสูงซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๐๐-๓,๕๐๐เมตร ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ซึ่งมีเรือนยอดสูงจากพื้นดิน ๑๐-๑๕ เมตร

มักอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ฝูงหนึ่งมีสมาชิก ๔๐-๖๐ ตัว จัดเป็นลิงนิสัยดุร้าย ทั้งกระดิกหางได้เหมือนสุนัข อาหาร ได้แก่ ผลไม้ ยอดไม้อ่อน แมลง และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า

ลิงเสน
การกระจายพันธุ์พบในเนปาล ภูฏาน สิกขิม รัฐอัสสัมของอินเดีย ภาคใต้ของจีน ภาคเหนือของพม่าและเวียดนาม รวมถึงภาคตะวันตกและภาคอีสานของไทย ซึ่งปัจจุบันพบได้เพียง ๙ แห่ง ที่วัดถ้ำปลา และวัดถ้ำผาแลนิภาราม เชียงราย, บ้านป่าไม้ เชียงใหม่, เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ถ้ำผาท่าพล พิษณุโลก, อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองลาน กำแพงเพชร, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ตาก, อุทยานแห่งชาติภูเขียว ชัยภูมิ, เขื่อนเขาแหลม และอุทยานแห่งชาติน้ำตกเอราวัณ กาญจนบุรี

ลิงเสน หรือลิงหมี (Stump-tailed macaque, Bear macaque; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaca arctoides) จัดอยู่ในวงศ์ลิงโลกเก่า (Cercopithecidae) ลำตัวยาว หลังสั้น หางสั้นมากจนดูเหมือนกับไม่มีหาง หน้ากลม เมื่ออายุมากหน้าจะเป็นสีแดง ก้นแดง หน้าท้องมีขนน้อย ขนตามตัวมีสีเทาออกแดง ขนบนหัวจะขึ้นวนเป็นก้นหอย ขนที่แก้มชี้ไปทางหลังและคลุมหูไว้

พฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ หากินตอนกลางวัน เป็นลิงที่หากินตามพื้นดินมากกว่าบนต้นไม้ ชอบอยู่ป่าทึบมากกว่าป่าโปร่ง และพบทั้งป่าสูงและป่าต่ำ เวลาตกใจจะวิ่งขึ้นต้นไม้อย่างรวดเร็ว

ลิงแสม
พบได้ในป่าทุกชนิดของเขตร้อนและกระจายกันอยู่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ตะวันตกของมาเลเซีย แหลมมลายู พม่า ไทย เวียดนาม และตะวันออกของบังกลาเทศ สำหรับประเทศไทย เดิมพบได้ทุกภูมิภาค แต่ปัจจุบันมีสถานะในธรรมชาติลดลงเป็นจำนวนมากจนเหลือเพียงไม่กี่ฝูงเท่านั้น อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง, อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง, อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง, อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เป็นต้น

ลิงแสม (Long-tailed macaque, Crab-eating macaque ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaca fascicularis) จัดอยู่ในวงศ์ลิงโลกเก่า เป็นลิงขนาดกลาง ขนตามลำตัวสีน้ำตาล หางยาวกว่าความยาวของลำตัว ขนตรงกลางหัวตั้งแหลมชี้ขึ้น ขนใต้ท้องสีขาว โดยสีขนจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ ฤดูกาล และถิ่นที่อยู่อาศัย มีการแพร่กระจายพันธุ์ค่อน ๑๐ ชนิด เป็นลิงอีกชนิดหนึ่งที่พบได้แทบทุกภูมิประเทศ ทั้งในป่าชายเลนใกล้ทะเล โดยลิงฝูงที่อาศัยที่นี่จะว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง หากินสัตว์ทะเลขนาดเล็กเป็นอาหาร แต่บางครั้งก็พบอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นและพื้นที่สูงประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล หรือพื้นที่เกษตรกรรม

ลิงแสมในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิด ชนิดที่พบทางอ่าวไทยมีขนยาวเป็นจุกอยู่บนหัว ขนมีสีเหลือง ส่วนชนิดที่พบทางฝั่งทะเลอันดามันมีขนาดเล็กกว่าและหน้าดำ

โดยทั่วไปมันพยายามจะปรับตัวให้สามารถอยู่ในพื้นที่บริเวณขอบนอกของป่า มากกว่าอยู่ในป่าลึก และปรับตัวให้เข้ากับมนุษย์ในบางโอกาส ดังที่มักพบเห็นทั่วไปตามศาลพระกาฬ ลพบุรี หรือศาลเจ้าแม่เขาสามมุข ชลบุรี ซึ่งมักจะอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ อาจมีสมาชิกถึง ๒๐๐ ตัว ทั้งยังพบเห็นได้แม้ในเขตกรุงเทพมหานคร

ลิงวอก (Rhesus macaque ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaca mulatta) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานร เป็นลิงที่มีร่างกายอ้วนสั้น ลำตัวส่วนหลังสีน้ำตาล ส่วนอื่นเป็นสีน้ำตาลเทา หางยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว ขนหางค่อนข้างยาวและฟู โคนหางค่อนข้างใหญ่และเรียวเล็กลงไปทางปลายหาง แต่หางสั้นกว่าลิงแสม ขนบริเวณสองข้างแก้มม้วนวนเป็นก้นหอย ผลัดขนประมาณช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม โดยจะเริ่มที่บริเวณปากก่อน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มผลัดขนที่หลัง ตัวเมียอาจมีขนสีแดงในฤดูผสมพันธุ์ ขนที่หัวของลิงวอกจะชี้ตรงไปด้านหลัง

มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ตั้งแต่ ๕๐ ตัวขึ้นไป มีตัวผู้แก่เป็นจ่าฝูง ชอบอยู่ตามป่าที่มีโขดหินหรือหน้าผา และเป็นป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ออกหากินบริเวณใกล้เคียงกับที่อาศัย ชอบลงมาเดินบนพื้นดิน เป็นลิงที่เชื่องและไม่ค่อยกลัวคน จากการศึกษาพบว่าลิงวอกมีความสัมพันธ์กับชุมชนมนุษย์มาเป็นเวลานาน แต่การที่มันมักเข้ามาอาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้บางครั้งถูกจับฆ่าเพื่อนำมาทำเป็นอาหารและฆ่าเพื่อลดความรำคาญ

ลิงวอกมีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อัฟกานิสถาน ภาคเหนือของอินเดีย เนปาล พม่า ภาคใต้ของจีน ลาว เวียดนาม ภาคตะวันตก ภาคเหนือของไทย โดยในประเทศไทย เชื่อว่าเหลือฝูงสุดท้ายที่วัดถ้ำผาหมากฮ่อ อ.วังสะพุง จ.เลย

ลิงลม หรือนางอาย หรือลิงจุ่น
(Slow loris, Loris ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nycticebus)
เป็นสกุลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสกุลหนึ่งในวงศ์ Lorisidae ในอันดับไพรเมต โดยปกติเคลื่อนไหวได้เชื่องช้ามาก แต่จะว่องไวในเวลากลางคืน และแว้งกัดได้รวดเร็ว เมื่อหาอาหาร และเวลาที่โดน ลมพัด อันเป็นที่มาของชื่อลิงลม และเมื่อตกใจมันจะเอาแขนซุกใบหน้าไว้ อันเป็นที่มาของชื่อนางอาย

ลิงลมมีขนนุ่มสั้นหนาเป็นปุย ลำตัวกลมอ้วน หน้าสั้น ตากลมโต ใบหูเล็กจมอยู่ในขน มีเส้นสีน้ำตาลเข้มจากหัวไปตลอดแนวสันหลัง หรือขีดคาดตามใบหน้า ส่วนหัว ดวงตา และ เส้นกลางหลัง อันเป็นลักษณะสำคัญในการแบ่งแยกชนิด มีส่วนหางที่สั้นมากจนดูเหมือนไม่มีหาง ไม่มีนิ้วหัวแม่มือ นิ้วเท้าอันที่สองมีเล็บเป็นตะของอโค้งไว้จับกิ่งไม้ได้แน่นในขณะมันลุกขึ้นยืนเพื่อจับแมลงกินเป็นอาหาร ทั้งสภาพของขนและสียังสามารถแฝงตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติได้ด้วย

ทุกชนิดพบกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย จนถึงหมู่เกาะต่างๆ ในอินโดนีเซีย มีพฤติกรรมหากินตามลำพังในเวลากลางคืน เว้นแต่ตัวที่มีลูกอ่อนจะเอาลูกเกาะติดอกไปด้วย กลางวันจะซ่อนหน้าเพื่อหลบแสงสว่าง โดยใช้ใบไม้บังหรืออยู่ในโพรงไม้ อาหารที่ลิงลมปีนป่ายหากินตามต้นไม้ คือแมลง สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก และไข่นก แต่ก็กินสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ค้างคาว หรือนกที่หลับบนกิ่งไม้เป็นอาหารได้ด้วย ลิงลมมีกระดูกสันหลังแบบพิเศษ คือบิดตัวได้คล้ายงู ใช้ปีนป่ายต้นไม้ได้เป็นอย่างดี และมีมือที่เก็บซ่อนนิ้วเพื่อให้จับเหยื่อและเคลื่อนที่ไปทั่วได้โดยไม่เป็นที่สังเกต นิ้วชี้ของขาหลังมีเล็บยาวปลายแหลมเห็นได้ชัด ขาหน้าและขาหลังสั้นแต่แข็งแรง

ลิงกัง
(Pig-tailed Macaque ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macacanemestrina) วงศ์ Cercopithecidae
อันดับไพรเมต เป็นลิงที่มีรูปร่างอ้วนสั้น ขนสั้นสีเทาหรือสีน้ำตาล หน้าค่อนข้างยาว ขนบนหัวสั้นและขึ้นวนเป็นก้นหอย ขนตรงส่วนใต้ท้องมีสีจางจนเกือบขาว หางค่อนข้างสั้น ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า และมีขนปรกหน้าผากน้อยกว่าตัวผู้ ชอบกินผลไม้ เมล็ดพืช และแมลงเป็นอาหาร เวลากินอาหารมักชอบเก็บไว้ข้างแก้มแล้วค่อยๆ เอามือดันอาหารที่เก็บไว้ออกมากินทีละน้อย

ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบบริเวณเชิงเขา ชอบท่องเที่ยวไปเรื่อย ไม่ค่อยอยู่เป็นที่ บางตัวออกหากินตัวเดียว ไม่รวมฝูง ชอบลงมาอยู่ตามพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ แต่เวลานอนขึ้นไปนอนบนต้นไม้ ชอบส่งเสียงร้องและมักร้องรับกันทั้งฝูง ลิงกังพบในอัสสัม พม่า ไทย มาเลเซีย สุมาตรา บอร์เนียว สำหรับประเทศไทยพบทั่วไปแทบทุกภาค พบมากตั้งแต่ราชบุรี เพชรบุรี จนถึงภาคใต้



จระเข้ : น้ำจืด-น้ำเค็ม

จากข้อมูลเผยแพร่ของกรมประมงซึ่งแยกความแตกต่างของจระเข้ ๒ ชนิดไว้ว่า จระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) จระเข้น้ำจืดในสภาพธรรมชาติมักอยู่เดี่ยวๆ อาศัยตามแหล่งน้ำนิ่ง บึง หรือวังน้ำที่สงบ มีความลึกไม่เกิน ๕ ฟุต มีร่มเงาพอสมควร เพราะจระเข้เป็นสัตว์เลือดเย็น ถ้าอากาศร้อนมันจะแช่อยู่ในน้ำมากกว่าอยู่บนบก แต่ถ้าอากาศหนาวจะขึ้นมานอนผึ่งแดดบนบกในตอนกลางวันโดยจะนอนนิ่งอ้าปากกว้างเพื่อปรับอุณหภูมิในร่างกาย

โดยเฉลี่ยแล้วจระเข้น้ำจืดมีความยาวตลอดลำตัวประมาณ ๓-๔ เมตร แต่ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่กลับเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว วิ่งในระยะทางสั้นๆ ได้เร็วพอๆ กับคนเลยทีเดียว จระเข้มีสายตาไวมากมันงับนกที่บินผ่าน รืออาหารที่คนโยนให้ไว้ได้ก่อนตกถึงพื้น ตาของมันมองเห็นได้รอบทิศเป็นมุม ๑๘๐ องศา จึงมองเห็นวัตถุเหนือหัวได้ด้วย หรือแม้แต่เมื่ออยู่ในน้ำก็สามารถมองเห็นได้โดยมีม่านตาใสอีกชั้นหนึ่งปิดทับลูกตา

นอกจากจมูกเป็นปุ่มกลมนูนที่ปลายปากแล้ว จระเข้ยังมีกระเปาะเป็นโพรงภายในปาก จึงรับรู้กลิ่นได้ทั้งบนบกและในน้ำ ประสาทสัมผัสพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือการรับรู้ทางผิวหนังเมื่อมีแรงสั่นสะเทือนพื้นดินหรือน้ำ และสามารถรับรู้เหตุการณ์ทางธรรมชาติได้ล่วงหน้า เช่น ฝนตก พายุ แผ่นดินไหว จะส่งเสียงร้องในลำคอคล้ายเสียงคำรามและมีอาการตื่นตระหนกตกใจ

เพศของจระเข้จะเห็นได้ชัดในจระเข้ที่มีอายุ ๓ ปีขึ้นไป โดยสังเกตได้จากหลายแห่งด้วยกัน คือ ลำตัว จระเข้ตัวผู้จะมีช่วงลำตัวยาวกว่า มีสีเข้มกว่าเป็นสีเกือบดำ ในขณะที่ตัวเมียลำตัวจะสั้นและป้อมกว่า เกล็ดตัวผู้มีเกล็ดใหญ่กว่า ที่ท้ายทอยมีเกล็ดขนาดใหญ่สองข้าง ข้างละ ๒ เกล็ด ซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของจระเข้น้ำจืด และจะมีเกล็ดอยู่ที่ด้านบนของส่วนคอเป็นกลุ่มเกล็ดขนาดใหญ่ประมาณ ๖ เกล็ด ส่วนหัว ตัวผู้มีโหนกหลังตาสูงคมเด่นชัด

ส่วนจระเข้น้ำเค็ม (Crocodylus porosus) ธรรมชาติของจระเข้น้ำเค็ม จระเข้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อโตเต็มที่มีความยาวถึง ๙ เมตร ชอบอาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำหรือป่าชายเลน ลักษณะแตกต่างจากจระเข้น้ำจืดคือไม่มีเกล็ด ๔ เกล็ดที่ท้ายทอย ปากเรียวยาวกว่า ตีนคู่หลังมีพังผืดระหว่างนิ้วตีนมากกว่า บางครั้งจึงเรียกว่าจระเข้ตีนเป็ด สีลำตัวออกสีเหลืองอ่อน และการเรียงตัวของลายที่ส่วนหางดูคล้ายตาหมากรุก และมีนิสัยดุร้าย

ความแตกต่างของเพศผู้และเพศเมีย ส่วนที่สังเกตได้ชัดเจนคือลำตัว จระเข้น้ำเค็มตัวผู้จะมีลำตัวผอมยาว ตัวเมียจะมีลำตัวอ้วนสั้นกว่า ขนาดตัวโดยรวมดูเล็กกว่าตัวผู้ที่อายุเท่ากัน และหางจระเข้น้ำเค็มตัวผู้จะมีหางยาวกว่าจระเข้ตัวเมีย หัวตัวผู้ระยะห่างของโหนกหลังตาจะกว้างกว่า หัวของตัวผู้จะดูป้อมสั้นในขณะที่ตัวเมียจะดูหัวยาวเรียวกว่า

มีความรู้จากวิกิพีเดียเพิ่มเติมว่า จระเข้ (Crocodile) เป็นวงศ์ของสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Crocodylidae อยู่ใน อันดับจระเข้ (Crocodilia) มีลักษณะโดยรวมคือ ส่วนปลายของหัวแผ่กว้างหรือเรียวยาว ขากรรไกรยาวและกว้าง เมื่อหุบปากแล้วจะเห็นฟันซี่ที่ ๔ ของขากรรไกรล่างเนื่องจากขอบปากบนตรงตำแหน่งนี้เป็นรอยหยักเว้า ส่วนปลายของขากรรไกรล่างข้างซ้ายและข้างขวาเชื่อมต่อกันเป็นพื้นที่แคบ มีก้อนเนื้อที่ปลายปากนูนสูงที่ช่องเปิดรูจมูกเรียกว่า "ก้อนขี้หมา" ซึ่งแตกต่างตามชนิดและเพศหรือขนาด โคนหางเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ แข็งแรงเรียกว่า "บ้องตัน" หางแบนยาวใช้โบกว่ายน้ำ

ถือเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากเป็นสัตว์ผู้ล่ากินเนื้อขนาดใหญ่ที่ไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ แต่จระเข้ก็ไม่ใช่สัตว์กินจุ กินอาหารวันละครั้งคิดเป็นน้ำหนักประมาณ ๓-๕% ของน้ำหนักตัวเท่านั้น จระเข้ไม่สามารถกินอาหารใต้น้ำได้ เพราะจะทำให้น้ำไหลเข้าหลอดลม จระเข้ตัวโตเต็มวัยจะมีพฤติกรรมกินอาหารแบบหมุนตัว มันจะใช้ปากที่มีฟันอยู่กว่า ๖๐ ซี่ งับเหยื่อแล้วหมุนตัวเองพร้อมสะบัดเหยื่ออย่างแรงจนฉีกเป็นชิ้นๆ ก่อนกลืนลงคอ ส่วนเหยื่อตัวเล็กจะถูกบดแหลกด้วยลิ้นขนาดใหญ่ โดยใช้ลิ้นดัน เหยื่ออัดแน่นกับเพดานของอุ้งปาก นอกจากนี้จระเข้ยังกลืนก้อนกรวดหรือก้อนหินเข้าไปในกระเพาะเพื่อช่วยในการบดอาหารด้วย

จระเข้พบได้ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก นับเป็นสัตว์ที่มีจำนวนสมาชิกมากและหลากหลายที่สุดของอันดับจระเข้ที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน


เรื่อง : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
2962  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม : แหล่งสรรพวิทยาการ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในเมือ เมื่อ: 15 สิงหาคม 2559 17:29:14



พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดฯ ให้จารึกวิชาว่าด้วยการบริหารร่างการแก้โรคลมต่างๆ

การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ จนกลายเป็นวัดขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูป เจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหาร ตลอดจนภาพเขียนบนฝาผนัง ซึ่งช่างศิลป์ได้สร้างสรรค์ผลงานอันสูงเยี่ยมและงดงามจับตาจนเป็นสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมทางศาสนาในเขตพระนครหลวงจนถึงปัจจุบันนี้แล้ว  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีรับสั่งให้ช่างสลักหิน สลักภาพไว้บนแผ่นหินอ่อน เป็นตำรับตำรา ไว้ตามพระระเบียงโบสถ์ภายในวัดพระเชตุพนฯ เป็นอันมาก ฝีมือสลักภาพหินเหล่านั้นประกอบด้วยภาพพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาพเขียนที่แสดงถึงขนบประเพณีต่างๆ ของไทย ตำรับพิชัยสงคราม ตำรายา ตำราโหราศาสตร์ ตำราโคลงฉันท์กาพย์กลอน สุภาษิต ตำราพฤกษศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และมานุษยวิทยา  เพื่อให้ไพร่ฟ้าประชากรได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ในสรรพวิทยาการแขนงต่างๆ และเป็นสิ่งแสดงถึงวัฒนธรรมอันสูงส่งของชาติไทยเราสืบไป

พระฤๅษีดัดตน
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีเรื่องราวเกี่ยวกับฤๅษีเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯ ให้จารึกวิชาว่าด้วยการบริหารร่างกายแก้โรคลมต่างๆ ตลอดจนแก้อาการปวดเมื่อยในร่างกายโดยให้เอาดีบุกและสังกะสีมาหลอมหล่อเป็นรูปฤๅษีดัดตนในลักษณะต่างๆ รวม ๘๐ รูป แต่ละรูปมีโคลงสี่สุภาพจารึกไว้ว่า ฤๅษีตนนั้นๆ ชื่ออะไร ดัดตนท่าอะไร แก้เมื่อยแก้ลมอย่างไร ฯลฯ  พระราชดำริในการนี้ปรากฏอยู่ในจารึกเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ดังความว่า

“ลุจุลศักราชพ้น        พันปี เศษเฮย
น้อยกับเก้าสิบแปดปี    วอกตั้ง
นักษัตรอัฐศกรวี        วารกติก มาศแฮ
สุกรปักษ์ห้าค่ำครั้ง      เมื่อไท้บรรหารฯ”

“ให้พระประยุรราชผู้     เป็นกรม หมื่นแฮ
ณรงค์หริรักษ์รดม        ช่างใช้
สังกสีดีบุกผสม           หล่อรูป
นักสิทธิ์แปดสิบให้        เทิดถ้าดัดตนฯ”

“เสร็จเขียนเคลือบภาคพื้น   ผิวกาย
ตั้งทุกศาลาราย           รอบล้อม
อาวาสเชตวันถวาย       นามทั่ว องค์เอย
จารึกแผ่นผาพร้อม       โรคแก้หลายกลฯ”

“เป็นประโยชน์นรชาติสิ้น    สบสถาน
เฉกเช่นโอสถทาน         ท่านให้
พูนเพิ่มพุทธสมภาร       สมโพธิ์ พระนา
ประกาศพระเกียติยศไว้    ตราบฟ้าดินศูนย์ฯ”

พระฤๅษีดัดตน แต่เดิมมีจำนวนมากถึง ๘๐ รูป เป็นรูปซึ่งปั้นแล้วหล่อด้วยโลหะเจือประกอบด้วยสังกะสี เมื่อทำขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้มีการตกแต่งด้วยการเขียนระบายสีให้มีสภาพสมจริงเพื่อชวนให้คนทั่วไปสนใจชม  ปัจจุบันสีที่ระบายแต่งแต้มโลหะลบเลือนไม่เหลือติดให้เห็น

รูปหล่อโลหะพระฤๅษี ๘๐ รูปนี้ กรมหมื่นณรงคหริรักษ์ พระประยุรราชวงศ์ผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้ดำเนินงานสองพระราชดำริ

กรมหมื่นณรงคหริรักษ์ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลำดับที่ ๓๕ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายดวงจักร ประสูติเมื่อวันจันทร์เดือน ๘ แรม ๖ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๙ กรกฎาคม ปีชวด พุทธศักราช ๒๓๓๕ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นณรงคหริรักษ์ โปรดให้ทรงกำกับกรมช่างหล่อ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๒๓๘๙ พระชนม์ ๕๕ พรรษา เป็นต้นราชสกุลดวงจักร

รูปพระฤๅษีดัดตน ทำขึ้นโดยอาศัยลักษณะนามและรูปของพระฤๅษีที่มีอยู่ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรื่อง รามเกียรติ์ อาทิ พระฤๅษีอัจนะคาวี พระฤๅษียุทธ พระฤๅษีโคดม พระฤๅษีอิสีสิงค์ เป็นแนวคิดในการสร้างรูป แต่ในหมู่รูปพระฤๅษีจำนวน ๘๐ รูปนี้ ยังมีรูปพระฤๅษีที่เป็นนักพรตต่างภาษาปนอยู่ด้วย ๒ รูป ซึ่งในปัจจุบันรูปทั้ง ๒ ไม่ปรากฏให้เห็นเสียแล้ว ยังจะทราบได้ก็เพียงอาศัยความในโคลงจารึกพรรณนาลักษณะรูปนักพรตทั้ง ๒ ดังนี้

“ปริพาชกนี้ชื่อ      โยฮัน แลเฮย
น้ำพึ่งตั๊กแตนฉัน     เช่นเข้า
อยู่ยังฝั่งโยระดัน       หนังอูฐ ครองนา
นั่งดัดหัตถ์ถ่างเท้า    ขัดแข้งขาหายฯ”

“ผู้ผนวชจีนแจ้งชื่อ   หลีเจ๋ง
อยู่เขตรเขาซ่าเหล็ง  ตึ่งสิ้ว
ลัทธิท่านเคร่งเขม็ง   เมืองท่าน ถือฮอ
มือเหวี่ยงผวาท่างิ้ว   รงับเส้นสลักทรวงฯ”



เขามอ หรือสวนหย่อม เป็นสวนหินปลูกไม้ประดับที่รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อขนก้อนศิลาใหญ่ และเล็กซึ่งก่อเป็นภูเขาในสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง แต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ มาก่อนเป็นภูเขาเป็นสวนประดับรอบวัด ปลูกต้นไม้ไว้ตามเชิงเขาและบนเขา มีทั้งสถูปและเสาโคมแบบจีน รูปตุ๊กตาจีนและรูปสัตว์จัตุบาท (สัตว์สี่เท้า) ต่างๆ เรียงรายอยู่ทั่วไปทั้งบนเขา และเชิงเขา เขามอมีทั้งหมด ๒๔ ลูก เช่น เขาประดู่ เขาสะเดา เขาอโศก เขาสมอ เขาฤๅษีดัดตน เขาศิวลึงค์ เป็นต้น พรรณไม้ที่ปลูกประดับส่วนใหญ่ตายลงทางวัดได้ปรับปรุงเป็นสวนหิน ประดับด้วยไม้ดอกไม้ใบนับเป็นมุมนั่งพักผ่อนที่เพลิดเพลินตาเย็นกายสบายใจ

เขาฤๅษีดัดตน คือสวนสุขภาพแห่งหนึ่งอยู่ใกล้กับพระวิหารทิศใต้ เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณ และศิลปวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำริเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถ แก้ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ประยุกต์รวมกับคติไทยที่ยกย่องฤๅษีเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาการต่างๆ เป็นรูปปั้นฤๅษีดัดตน แสดงท่าต่างๆ ไว้ที่วัดเพื่อให้ราษฎรทั่วไปได้ศึกษาเล่าเรียน และรักษาโรคได้อย่างกว้างขวาง สมัยแรกสร้างนั้นปั้นด้วยดิน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ หล่อเป็นเนื้อชินอยู่จนถึงปัจจุบันเดิมมีทั้งหมด ๘๐ ท่า แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่ ๒๔ ท่า

รูปปั้นฤาษีดัดตน เป็นท่าตรงตามหลักโยคะ ของโยคีอินเดียเป็นการออกกำลังกายที่ใช้ศิลปะ เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง นอกจากนั้นยังมีโคลงสี่สุภาพ ซึ่งจารึกไว้ในแผ่นศิลาประดับอยู่ตามศาลาราย ปัจจุบันได้รวบรวมไว้ที่ศาลาราย เช่น ศาลาเปลื้องเครื่อง (โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ) เป็นต้น โคลงภาพฤๅษีดัดตน เป็นตำรากายภาพบำบัดของแพทย์ไทย แผนโบราณอันเป็นพระราชประสงค์ ขององค์พระพุทธบุรพมหากษัตริย์ที่ทรงพระราชดำริให้วัดนี้เป็นแหล่งรวมวิชาการ



สมัยโบราณคนไทยสมัยก่อนมักไม่ค่อยได้รู้หนังสือ
เพราะไม่มีสถานที่เรียน รัชกาลที่ ๓ จึงโปรดฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิต
ที่มีความรู้ความชำนาญแต่ละสาขาวิชา จดตำราให้นายช่าง
จารึกไว้ในแผ่นศิลา หรือปั้นรูปแสดงท่าทางต่างๆ ให้เห็นเด่นชัด
เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ แม้คนที่อ่านหนังสือไม่ออก
ก็สามารถเรียนรู้หรือทำได้ถูกต้อง เท่ากับสร้างอุปกรณ์ทำการสอนไว้
แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน















ท่าทางแสดงอาการดัดตนเพื่อแก้โรคต่างๆ ด้วยท่วงท่าอาการไม่ซ้ำกัน
โดยตั้งแสดงแก่คนทั่วไปได้อาศัยดูเป็นแบบอย่างและจำไปดัดตน
แก้โรคภัยต่างๆ ตามอาการของโรคภัยที่เป็นอยู่


ควรจะมีตอนต่อไปอีกหลายตอน
แต่ได้พรรณามามากจนไม่เป็นอันได้โพสท์ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวอื่น
ไว้โอกาสอันเหมาะควร ค่อยมาต่อกันใหม่

ผู้เรียบเรียง : Kimleng
อ้างอิง : ๑.พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่๓ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่
          ๒.แผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ, วอลเตอร์ เอฟ.เวลลา แต่ง, พันเอก นิจ ทองโสภิต แปล, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
          ๓.ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์, กาญจนาคพันธุ์, สำนักพิมพ์สาส์นสวรรค์
          ๔.สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช,  ณัฐวุฒิ  สุทธิสงคราม เรียบเรียง, จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘
          ๕.สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, หน้า ๕๗๓๔-๕๗๓๗, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เผยแพร่
          ๖.เว็บไซท์ watpho.com
          ๗.เว็บไซท์ dooasia.com
          ๘.เว็บไซท์ th.wikipedia.org


2963  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / ‘ฮินดู’ กิน ‘วัว’ ใครก็รู้ว่า ฮินดูมีข้อห้ามรับประทานเนื้อวัว เมื่อ: 12 สิงหาคม 2559 12:10:18



‘ฮินดู’ กิน ‘วัว’

ใครก็รู้ว่า ฮินดูมีข้อห้ามรับประทานเนื้อวัว ซึ่งรวมถึงไม่ให้ฆ่าวัวด้วย การฆ่า (และกิน) วัวถือกันว่าเป็นบาปหนัก (ปาตกะ) แต่ก็ไม่ใช่บาปที่สุดแบบอนันตริยกรรม ที่เรียกว่า “มหาปาตกะ” เท่าฆ่าพราหมณ์ (เรียกว่า พราหมณะทหัน)

แม้จะไม่ใช่บาปที่สุด แต่ก็ถือเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างมากในปัจจุบัน

ชาวฮินดูในประเทศอินเดียกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นมังสวิรัติ โดยเฉพาะวรรณะสูงกินแต่ถั่วงานมเนย ที่ทานเนื้อสัตว์ก็ทานปลา ไก่ และแกะ แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก

เนื้อหมูเขาก็ไม่ค่อยกินกันครับ การไม่กินหมูเป็นคติเดิมของฮินดูเอง เพราะในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ระบุว่าไม่ควรกินหมูบ้าน แต่ไม่เห็นว่าหมูบ้านนั้นสกปรกมากกว่าหมูป่า

ต่อเมื่ออิสลามเข้ามาในดินแดนอินเดีย การกินหมูยิ่งกลายเป็นสิ่งต้องห้ามขึ้นไปอีก  

แต่ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักปฏิบัติของฮินดูโบราณ กล่าวว่า “นมางฺสภกฺษเณ โทโษ น มทฺเย น จ ไมถุเน, ปฺรวฤติเรษา ภูตานำ นิวฤติสฺตุ มหาผลา” แปลว่าการกินเนื้อสัตว์ ดื่มสุราและเสพเมถุนไม่เป็นโทษ เพราะเป็นปกติของสัตว์ทั้งหลาย แต่การละเว้นย่อมเป็นผลบุญใหญ่

มีหลักฐานจากคัมภีร์และวัฒนธรรมหลายกลุ่ม แสดงให้เห็นว่าคนฮินดูแต่เดิมจึงไม่ใช่นักมังสวิรัติ และกินเนื้อสัตว์กันโดยทั่วไปไม่ว่าวรรณะไหน

การกลายเป็นนักมังสวิรัติ มาจากสองสาเหตุ เรื่องแรก คืออิทธิพลของพุทธศาสนา ซึ่งเน้นหลักอหิงสาและเมตตาธรรม เช่นเดียวกับศาสนาไชนะ และทำให้พราหมณ์ต้องปรับตัวอย่างมากจนเริ่มคติการถือมังสวิรัติกันแพร่หลาย

อีกส่วนคือ เรื่องความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสภาพทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากการกินมังสวิรัติเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและทรัพยากรที่มีจำกัดในอินเดีย โดยเฉพาะภาคเหนือ

ปัจจุบันพราหมณ์พังคลีและพราหมณ์ภาคใต้บางพวกยังกินปลาบางชนิด เช่น ปลาตะเพียน โดยไม่ถือว่าผิดบาปอะไร เพราะเขาว่ามันเป็นของบริสุทธิ์ (ศัพท์พราหมณ์ว่า ปริตระ) และบรรพบุรุษก็กระทำสืบมาแบบนี้

ที่จริงผมควรจะบอกด้วยว่ามีรัฐเดียวในอินเดียปัจจุบันที่ชาวฮินดูเขากินวัวกันเป็นเรื่องปกติครับ และยังเป็นรัฐที่อนุญาตให้ฆ่าวัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือ รัฐเกรละ ในภาคใต้ของอินเดีย

ชาวเกรละ บอกว่าการกินเนื้อวัวเป็นประเพณีของเขามายาวนานแล้ว ซึ่งโดยวัฒนธรรมก็เป็นรัฐที่รักษาขนบดั้งเดิมแบบก่อนฮินดูไว้มาก  อีกทั้งรัฐเกรละมีการปกครองระบบสังคมนิยมและเป็น ฆราวาสนิยม (secularism) เข้มข้น รัฐจึงไม่เข้ามายุ่มย่ามกับเรื่องความเชื่อของประชาชน

นอกนั้นเกือบทุกรัฐมีกฎหมายเกี่ยวกับการฆ่าวัวเข้มงวดมากน้อยแตกต่างกันไป บางรัฐห้ามการฆ่าวัวเด็ดขาด บางรัฐผ่อนปรนให้มีการจำกัดการฆ่า โดยเฉพาะในส่วนชุมชนมุสลิม บางรัฐอนุญาตแค่การนำเข้า

แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า คนฮินดูกินเนื้อวัวกันมาก่อนอยู่แล้ว และยังฆ่าวัวเพื่อบูชายัญต่อเทพเจ้า ในคัมภีร์ฤคเวทมีหลายแห่งที่แสดงว่าชาวอารยันฆ่าและกินวัว และมีเทพบางองค์ที่โปรดปรานเนื้อวัว อย่างพระอินทร์ (ในพระเวท)

นอกจากคัมภีร์พระเวท คัมภีร์อื่นๆ เช่น อปัสตัมพคฤหยสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์แสดงพิธีกรรมสำหรับคฤหัสถ์ ยังกล่าวว่าให้เจ้าบ้าน “ล้มวัว” เมื่อมีแขกมาเยือน เมื่อมีพิธีศราทธ และมีพิธีการแต่งงาน หรือในคัมภีร์แพทยศาสตร์ยังแนะนำให้มีการปรุงเนื้อวัวเพื่อรักษาโรคบางอย่าง

แม้แต่พิธีกรรมบูชาเทพเจ้าของชาวฮินดูในปัจจุบัน เมื่อถึงขั้นตอนที่จะถวายอาหาร (ไนเวทยํ) ซึ่งล้วนเป็นขนมมังสวิรัติและผลไม้ ในสายที่ครูบาอาจารย์ของผมเรียนมา พราหมณ์จะทำ “มุทรา” หรือ “ท่ามือ” สองท่าเบื้องหน้าเทพ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมถวายอาหาร ได้แก่ มัสยมุทรา และ เธนุมุทรา

“มัสยะ” แปลว่า “ปลา” ส่วน “เธนุ” หมายถึง “โค”

อันนี้ชัดเลยครับว่าทุกวันนี้ชาวฮินดูส่วนมากไม่ได้ถวาย “เนื้อและปลา” จริงๆ ต่อเทพแล้ว จึงใช้การทำมุทราถวายสองสิ่งนี้โดยจินตภาพแทน แต่เพราะเป็นธรรมเนียมโบราณ จะทิ้งก็ไม่ได้ จะถวายจริงก็ไม่ได้อีก เลยมีทางออกแบบนี้

จึงเป็นหลักฐานอีกอย่าง ว่าสมัยก่อนนั้นทั้งเนื้อและปลาเป็นของในพิธีกรรมและกินกันโดยทั่วไป

วัวสำหรับชาวอารยัน มีสถานะเป็น “ปศุสัตว์” คือสัตว์เลี้ยงในระบบครัวเรือน และถือเป็นทรัพย์สมบัติที่แสดงเศรษฐสถานะได้

แม้จะมีบางแห่งในพระเวท เขียนว่าแม่วัวเป็นสิ่งไม่ควรถูกฆ่า แต่ก็มิใช่เป็นห้ามการกินเนื้อวัวอย่างเด็ดขาด เพียงแต่เป็นการปรามไว้ในเชิงประโยชน์ด้านต่างๆ เช่นใช้ในการกสิกรรม แรงงาน และในแง่ผลผลิตมากกว่า

แม่โคให้ผลผลิตที่สำคัญต่อครัวเรือนอินเดีย ให้นมซึ่งนำมาทำเนยและโยเกิร์ต ฉี่ (โคมูตร) ใช้รักษาโรค และมูล (โคมัย) ใช้เป็นเชื้อเพลิงและสมุนไพร

พราหมณ์มีชื่อเรียกของทั้งห้าอย่างนี้ว่า “ปัญจคัภย์” หรือของจากโคห้าอย่าง นอกจากมีประโยชน์สารพัดนับถือกันว่าบริสุทธิ์สะอาด ชำระบาปได้

แล้วเหตุใจวัวจึงกลายมาเป็น “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” กลายเป็น “โคมาตา” ของฮินดู อีกทั้งการฆ่าการกินกลายเป็นเรื่องร้ายแรง

มีความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วนในสังคมไทยว่า ที่ชาวฮินดูถือว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่กินไม่ฆ่า เพราะวัวเป็นสัตว์พาหนะของพระศิวะ และเป็นเทพนนทิ

ถ้าใช้เหตุผลเดียวกันนี้ จะมีของที่ชาวฮินดูกินใช้ไม่ได้อีกมาก ไม่ว่าจะหมูป่า (วราหาวตาร) ปลากราย (มัสยาวตาร) แพะ (พระทักษะ มีหัวเป็นแพะ) ไก่ (พาหนะของพหุชละเทวี) ต้นกะเพรา (พระแม่ตุลสี) ต้นไม้อีกมากมายหลายชนิด น้ำจากแม่น้ำ (ล้วนแต่เทวี) ฯลฯ

แต่เขาก็กินใช้สิ่งเหล่านี้กันเป็นปกติ ดังนั้นลำพังแค่เทวตำนานอาจไม่ใช่เหตุผลมากพอที่จะทำให้วัวศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ เพราะเป็นเพียงแต่ตัวช่วยส่งเสริมและสร้างพื้นฐานรองรับความสำคัญของวัวในทางศาสนามากกว่า

เหตุที่วัวกลายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่จริงเป็นการเมืองเรื่องศาสนาด้วย  

ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว (๒๕๕๘) มีการฆาตกรรมชายมุสลิมคนหนึ่งที่ฆ่าและกินเนื้อวัวในเดลี มีการทำร้ายผู้หญิงมุสลิมคนหนึ่งขณะที่เธอหิ้วถุงที่คนเข้าใจว่าเป็นเนื้อวัวบนรถไฟ ยังไม่นับม็อบประท้วงกฎหมายและการอนุญาตให้มีการฆ่าวัว ที่เกิดขึ้นเสมอในอินเดีย

ความรุนแรงเช่นที่ว่านี้ค่อยๆ บ่มเพาะขึ้นด้วยปัจจัยทางประวัติศาสตร์และการเมืองอินเดีย

ดร.DN Jha นักประวัติศาสตร์เห็นว่าหลังราชวงศ์เมายะและสมัยคุปตะ พราหมณ์เริ่มไม่ค่อยเห็นด้วยกับการฆ่าวัว เหตุผลหนึ่งคือต้องการแข่งขันกันกับพุทธศาสนา จึงต้องแสดงให้เห็นว่าพราหมณ์เองมีท่าทีเมตตาธรรมเช่นเดียวกัน

อีกทั้งการส่งเสริมอำนาจของพราหมณ์และความแตกต่างระหว่างวรรณะ ทำให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับความบริสุทธิ์มีความสำคัญยิ่งขึ้น การฆ่าและการกินวัวกลายเป็นเรื่องของคนวรรณะต่ำ (และเป็นมาจนบัดนี้) ในขณะที่พราหมณ์ละเลิกเนื้อสัตว์บนโต๊ะอาหาร เพื่อแสดงถึงความสูงส่งของตน

ช่วงยุคกลางของอินเดียซึ่งมีการเข้ามาของผู้ปกครองชาวมุสลิม การกินและไม่กินวัวกลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แยกชาวฮินดูกับมุสลิมออกจากกัน และการฆ่าวัวได้กลายเป็นเรื่องร้ายแรงที่ผู้ปกครองรัฐเองยังต้องระมัดระวัง

ต่อมาในช่วงรุ่งเรืองของอาณาจักรฮินดูมาราฐา นำโดยฉัตรปติศิวาจีผู้ต่อต้านจักรพรรดิโมกุล ศิวาจีได้ชื่อว่า “ผู้รับใช้พราหมณ์และวัว” วัวก็ยิ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนามากขึ้น

ครั้นถึงช่วงอังกฤษปกครองอินเดียในปลายศตวรรษที่ ๑๙ ชาวสิกข์นามธารีและฮินดูใช้วัวเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันในการต่อต้านอังกฤษ ซึ่งออกกฎหมายอนุญาตให้มีการฆ่าวัวในรัฐปัญจาบ

หลังได้รับเอกราชจนถึงทุกวันนี้ กลุ่มศาสนานิยมและชาตินิยมฮินดู เช่น RSS  หรือ VHP ยังคงใช้วัวเป็นสัญลักษณ์ในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการส่งเสริม “ฮินดุสฺตวะ” (Hindustva) หรือการปกครองแบบฮินดูและใช้เป็นข้ออ้างในการจัดการกลุ่มความเชื่ออื่นๆ เช่น มุสลิม

การผลิตซ้ำเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของวัวจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งแง่มุมทางอารมณ์ เช่น ความสงสารและโกรธแค้นเมื่อมีการทำร้ายวัว (แบบเดียวกับที่สังคมไทยมักมีต่อกรณีการทารุณสุนัข)


ที่มา :  คอลัมน์ ‘ผี พราหมณ์ พุทธ’ โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๘๑ ฉบับที่ ๑๘๗๗ ประจำวันที่ ๕-๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๙
2964  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม : แหล่งสรรพวิทยาการ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในเมือ เมื่อ: 11 สิงหาคม 2559 14:18:07


รื้อฟื้นการสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่
ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓

ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ตลอดมาจนสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ หากมีการสร้างวัดวาอารามขึ้นมาใหม่ พระประธานประจำโบสถ์หรือประจำพระวิหารก็มิได้หล่อขึ้นมาใหม่  แต่ได้ไปอัญเชิญพระพุทธปฏิมากร หล่อด้วยทองเหลือง ทองสัมฤทธิ์ มาจากกรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย เมืองพิษณุโลก เมืองลพบุรี และหัวเมืองประเทศราช ได้แก่ อาณาจักรล้านนา และอาณาจักรล้านช้าง มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ประจำพระวิหาร เช่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗ ครั้งนั้นโปรดให้อัญเชิญพระบางอันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหลวงพระบางลงมาพร้อมกับพระแก้วมรกต เข้ามาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สถิตอยู่เป็นเวลา ๓ ปีเศษ ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านันทเสนอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองเวียงจันทน์

การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชื่อว่าการสร้างพระพุทธรูปเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ ฉะนั้น ในระหว่างรัชสมัยจึงได้มีการรื้อฟื้นการสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่อีกครั้ง โปรดฯ ให้สร้างพระพุทธรูปสำคัญหลายพระองค์ด้วยกัน เช่น พระประธานในพระอุโบสถวัดราชโอรส วัดราชนัดดา วัดสุทัศนเทพวราราม วัดเฉลิมพระเกียรติ และวัดปรินายก กับในพระวิหารวัดกัลยาณมิตร และวัดพระเชตุพน



พระนอนวัดพระเชตุพนมีขนาดยาวเป็นอันดับสามของประเทศไทย
รองลงมาจากพระนอนจักรสีห์ จ.สิงห์บุรี และพระนอนวัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง

พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีแบบและลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่อ่อนช้อยเหมือนกับที่สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยและเมืองพิษณุโลก  แต่จะเป็นแบบเรียบๆ ดูเข้มแข็ง และมักนิยมสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ

โดยเหตุที่การหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีจำนวนมากแล้ว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริว่า พระพุทธรูปปางสำคัญได้สร้างขึ้นในวัดนี้หลายปางแล้ว ขาดแต่ปางปรินิพพาน หรือเรียกโดยทั่วไปว่า "ปางไสยาสน์"  จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์ ไว้ที่วัดพระเชตุพนองค์ ๑  เป็นพระก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองทั้งองค์ พุทธลักษณะบรรทม (นอน) ตะแคงเบื้องขวา พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา ฝีมือช่างสิบหมู่ของหลวง พระองค์เจ้าลดาวัลย์ (กรมหมื่นภูมินทรภักดี) เป็นผู้ควบคุมการสร้าง มีความยาว ๑ เส้น ๓ วา สูง ๑๕ เมตร เฉพาะพระพักตร์วัดจากไรพระศกถึงพระหนุยาว ๑๐ ศอก กว้าง ๕ ศอก พระบาทยาว ๕ เมตร สูง ๓ เมตร จำหลักด้วยมุกเป็นภาพอัฎฐตดรสตมงคล หรือมงคล ๑๐๘ ล้อมรอบด้วยกงจักร ประดับที่พื้นฝ่าพระบาท ฝีมืองดงามมาก

อัฎฐตดรสตมงคลหรือมงคล ๑๐๘ ประการ เป็นคติความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกา โดยระบุว่าเป็นมงคลที่พราหมณ์ได้เห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติได้ ๕ วัน แต่ปรากฏว่าไม่มีการสร้างพระพุทธบาทรูปลักษณ์นี้ในลังกา หากแต่พบที่พุกาม ประเทศพม่า กล่าวกันว่า มงคล ๑๐๘ ประการนี้ เป็นการพัฒนาแนวความคิด และสืบทอดมาจากรูปมงคล ๘

มงคล ๑๐๘ ประการ ประกอบด้วยมงคลต่างๆ แบ่งประเภทได้ดังนี้
   ๑.เป็นลักษณะแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่นหม้อน้ำ ปลาคู่ สวัสดิกะ พวงมณี ดอกบัว เป็นต้น
   ๒.เป็นเครื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิ เช่น สัตตรัตนะ ๗ ประการ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ บัลลังก์ เครื่องสูง เครื่องยศ เครื่องตันต่างๆ และราชพาหนะ เป็นต้น
   ๓.เป็นส่วนประกอบของพระภูมิในจักรวาลตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา เช่น เขาจักรวาล มหาสมุทร ทวีปทั้ง ๔ เขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ ป่าหิมพานต์ เป็นต้น
 



พระพุทธโลกนาถ พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลัง
พุทธลักษณะประทับยืน หล่อด้วยโลหะ สูง ๒๐ ศอก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายพระนามพระพุทธรูปประธาน
ในพระวิหารทิศใหม่ และจารึกพระนามไว้ที่ผนังด้านหลังพระพุทธรูปว่า
" พระพุทธโลกนารถ ราชมหาสมมุติวงษ์ องคอนันตญาณสัพพัญญู
สยัมภูพุทธบพิตร" ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

พระพุทธโลกนาถ หรือพระโลกนาถ พระนามเดิมว่า "พระโลกนาถศาสดาจารย์" พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลัง เป็นพระพุทธรูปยืน หล่อด้วยโลหะ สูง ๒๐ ศอก  เดิมเคยประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพน ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช น่าจะพร้อมกับการอัญเชิญพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ เมื่อราวปี พ.ศ.๒๓๓๒ ในศิลาจารึกกล่าวว่า “พระพุทธรูปยืนสูงยี่สิบศอก ทรงพระนามว่าพระโลกนาถศาสดาจารย์ ปรักหักพัง เชิญมาแต่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์กรุงเก่า ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วเชิญประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลัง บรรจุพระบรมธาตุด้วย”  

พระพุทธโลกนาถเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญในวัดพระเชตุวิมลมังคลารามที่มีหลักฐานเกี่ยวกับที่มาดั้งเดิมว่าอัญเชิญมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงเก่า ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๔๓ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๑๐

พระพุทธโลกนาถ นับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในทางขอลูก มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏเรื่องเล่ากันว่า เจ้าจอมแว่น (พระนามเดิมว่า เจ้านางคำแว่น เป็นพระบรมวงศานุวงศ์จากนครเวียงจันทน์) หรือที่เรียกกันว่า “คุณเสือ” พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๑ ได้เคยมาบูชากราบทูลอธิษฐานความปรารถนาใคร่จะขอบุตรและได้ถวายตุ๊กตาศิลาไว้ ๑ คู่ ปัจจุบันนี้ก็ยังติดอยู่ที่ผนังพระวิหาร

เรื่องนี้มีโคลงจารึกในรัชกาลที่ ๓ ว่า
รจนาสุดารัตนแก้ว       กุมารี หนึ่งฤา
เสนอธิบายบุตรี           ลาภไซร้
บูชิตเชตชินศรี           เฉลาฉลัก หินเฮย
บุญส่งจงลุได้              เสร็จด้วยดังถวิล

กุมารหนึ่งพึงฉลักตั้ง     ติดผนัง
สถิตย์อยู่ทิศเบื้องหลัง    พระไว้
คุณเสือสวาดิหวัง        แสวงบุตร ชายเฮย
เฉลยเหตุธิเบศร์ให้      สฤษดิ์แสร้งแต่งผลฯ
 
แต่ตามประวัติของคุณเสือนั้น ปรากฏว่ามิได้ประสูติพระราชบุตร คือไม่สมหวังในเรื่องขอบุตรนี้



พระพุทธรูปองค์สำคัญในวัดพระเชตุพนฯ


พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานประจำพระอุโบสถ


พระพุทธโลกนาถศาสดาจารย์


พระพุทธรูปปางปรินิพพาน หรือปางไสยาสน์ หรือเรียกกันทั่วไปว่า "พระนอนวัดโพธิ์"


กล่าวกันว่าพระบาทมุก เป็นผลงานอันยอดเยี่ยมหาที่ติมิได้
พระพุทธไสยาสวัดพระนอน จึงเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้น
ด้วยฝีมือช่างในยุคแห่งศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ที่รุ่งโรจน์ที่สุด


ลวดลายอันประณีต วิจิตรงดงาม ที่ข่างศิลป์สมัยรัชกาลที่ ๓
ฝากฝีมือไว้ที่พระเขนย หรือหมอนหนุนพระเศียรพระนอนวัดพระเชตุพน




พระโปรดปัญจวัคคีย์ ปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย
พระประธานประจำพระวิหารทิศใต้ มีหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว
ได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย  ส่วนพระปัญจวัคคีย์นั้น โปรดฯ ให้หล่อขึ้นใหม่
ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกซึ่งเข้าใจว่าจารึกในสมัยรัชกาลที่ ๔
ได้พระราชทานสร้อยพระนามเพิ่มว่า
“พระพุทธชินราช วโรวาทธรรมจักร อัครปฐมเทศนา นราศภบพิตร”


"พระปาเลไลย์" ภาพจาก : เว็บไซต์วัดพระเชตุพนฯ
พระปาเลไลยก์ หรือ พระปาลิไลยก์  มีพระนามว่า
พระพุทธปาลิไลยก์ ภิรัติไตรวิเวก เอกจาริกสมาจารวิมุตติญาณบพิตร
พระประธานประจำวิหารทิศเหนือ พุทธลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท
มีความสูง ๘ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้วมีลิงและช้างอยู่เบื้องหน้า
สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เมื่อทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนฯ


พระพุทธชินศรี

พระพุทธชินศรี หรือ พระนาคปรก พระประธานพระวิหารทิศตะวันตก เดิมเป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว อัญเชิญมาจากเมืองลพบุรี ครั้นบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว จึงประดิษฐานไว้เป็นพระประธานพระวิหารทิศตะวันตก และได้สร้างพญานาคแผลงฤทธิ์และต้นจิกไว้ด้านหลังพระประธานด้วย จึงเรียกว่า "พระนาคปรก" ดังปรากฏความใน "จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ ๑ ว่า

"...พระพุทธรูปน่าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว เชิญมาแต่ลพบุรีปติสังขรณ์เสรจ์แล้ว ประดิษถานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตกบันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระนาคปรก มีพญานาคแผลงฤทธิ์เลิกพังพานมีต้นจิกด้วยแลผนังนั้นเขียนเรื่องระเกษธาตุ์..."


โปรดติดตามตอนต่อไป
2965  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม : แหล่งสรรพวิทยาการ เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย เมื่อ: 10 สิงหาคม 2559 18:00:52



โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระอุโบสถวัดพระเชตุพน

ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทั้งทรงมีพระราชปณิธานยึดมั่นอยู่ว่า การสร้างถาวรวัตถุและเสนาสนะเป็นการบุญการกุศลอย่างยิ่ง  ตามจดหมายเหตุที่มีผู้บันทึกไว้ในรัชสมัยของพระองค์ว่า พระองค์ไม่เพียงแต่ทรงสร้างวัดวาอารามด้วยพระองค์เองแต่อย่างเดียว ยังได้ทรงบอกบุญไปยังบรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนางและเศรษฐีให้ทำบุญทำกุศลโดยการสร้างโบสถ์วิหารด้วย ครั้งนั้นจึงได้มีการสร้างวัดขึ้นใหม่ ๙ วัด วัดสำคัญๆ ที่ได้สร้างในรัชสมัยของพระองค์มีวัดราชนัดดา วัดเทพธิดา วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดบวรนิเวศ วัดประยุรวงศ์ วัดบวรสถาน และวัดกัลยาณมิตร  

ส่วนที่ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมก็มี วัดพระโพธิ์หรือวัดพระเชตุพน วัดสุทัศน์ วัดราชบุรณะหรือวัดเลียบ วัดสระเกศ วัดอรุณราชวราราม และวัดยานนาวา

ในส่วนของวัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพน ทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้พระยาศรีพิพัฒน์กับพระยาเพ็ชร์พิไชย เป็นแม่กองจัดการปฏิสังขรณ์รื้อพระอุโบสถเก่า หลังจากทรงเสด็จไปพระราชทานพระกฐินที่วัดพระเชตุพน โดยกระบวนพยุหะยาตรา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๔  เสร็จแล้วเสด็จทอดพระเนตรทั่วพระอาราม เห็นบูชนียสถานในเขตพุทธาวาสซึ่งสมเด็จพระไอยกาธิราชเจ้า ทรงสถาปนาไว้ล่วงมาแล้ว ๓๑ ปี ชำรุดทรุดโทรมปรักหักพังเป็นอันมาก เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศและเป็นการแสดงกตัญญูต่อสมเด็จพระบุรพการี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำนุบำรุงให้คงอยู่สิ้นกาลนาน

การซ่อมพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ให้จัดการรื้อพระอุโบสถเก่า ครั้นเมื่อยกเครื่องบนพระอุโบสถครั้งแรก ผนังพังทลายลงทับคนตาย ต้องจัดการยกกันใหม่  เหตุการณ์นี้บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า “การพระอุโบสถวัดพระเชตุพนนั้นทำใหม่ มาถึง ณ วันจันทร์เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ (เป็นวันอังคาร ตรงกับวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๓๗๗) ยกเครื่องบนขึ้น ผนังทลายพังทับคนตาย ๕๐ คน ลำบากเป็นหลายคน เป็นเหตุด้วยพระอุโบสถใหญ่เสารายในเล็ก ไม่มีเสาแกน หนักตัวเข้าจึ่งได้ท้อลงมา โปรดให้ทำใหม่ ใส่แกนเสาก็มั่นคงดี”

พระอุโบสถวัดพระเชตุพนที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้นมีขนาดใหญ่และสวยงาม ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังก่ออิฐถือปูน มีหลังคาลาดเป็นชั้น มุงกระเบื้องสี และมีเสาใหญ่รายรอบรับชายคา บนฝาผนังโบสถ์ระหว่างช่องหน้าต่างได้มีรับสั่งให้ช่างเขียนภาพไว้มากมาย เรื่องราวที่เขียนเป็นเรื่องชาดกทางพระพุทธศาสนา เทพนิยายทางศาสนาพราหมณ์ วิถีความเป็นอยู่ของผู้คนพลเมือง ตึกรามบ้านช่อง ตลอดจนภาพวาดกระหนก ภาพลวดลายเป็นรูปดอกไม้ใบไม้ต่างๆ นานา



ภาพเขียนสีสด บรรจุเรื่องราวต่างๆ บนผนังที่กว้างใหญ่หลังพระพุทธเทวปฏิมากร
พระประธานประจำพระอุโบสถวัดพระเชตุพน


ผูกพัทธสีมาพระอุโบสถวัดพระเชตุพน
พระอุโบสถวัดโพธิ์ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ของเดิม เป็นพระอุโบสถที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นใหม่ โดยรื้อของเก่าขยายให้ใหญ่กว่าเดิม  โดยได้เสด็จวางรากฐานพระอุโบสถ ณ วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเมีย พ.ศ.๒๓๗๘  เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทรงพระราชดำริว่า พระอุโบสถวัดพระเชตุพนทำขึ้นใหม่มีขนาดใหญ่กว่าของเดิม ต้องผูกพัทสีมาใหม่  ได้ฤกษ์ ณ เดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ (ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๓๘๒) โปรดฯ ให้ตั้งการสวดพระพุทธมนต์ตั้งแต่ ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ๑๒ ค่ำ โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๑๐๐ รูป ทั้งสวดทั้งฉัน  และ ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ได้เพิ่มเติมพระเข้าไปอีก ๒๐๐ รูป รวมพระสงฆ์ ๓๐๐ รูป  เวลาบ่ายหลังสวดพระพุทธมนต์จบแล้ว ให้ผูกพัทธสีมาในค่ำวันนั้น  

ฉลองวัดพระเชตุพน
ครั้นมาถึงวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ในปีวอก สัมฤทธิศกนั้น (ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๙๑ ) โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฉลองวัดพระเชตุพน เป็นการมหรสพอย่างใหญ่  มี ผ้าไตรจีวรถวายพระสงฆ์ แพรเม็ดพริกไทย ไตรแพรทั้งไตร ๕,๐๐๐ ไตร บาตร ย่าม พัด เครื่องบริขารเป็นอันมาก สิ่งละ ๕,๐๐๐  ของไทยทานครั้งนั้นมีจำนวนมาก ทรงตระเตรียมมาหลายปีแล้ว ขอแรงข้าราชการรับเงินไทยทานทำข้าวกระทงๆ* ละ ๒ สลึง ถวายพระสงฆ์ฉันทั้ง ๓ วัน แล้วก็ฉลองอีก ๓ วัน การฉลองมีโขนโรงใหญ่ติดรอกที่หน้าวังกรมหมื่นสวัสดิ์วิไชย มีเครื่องเล่นทุกสิ่ง มีพระสงฆ์ทำดอกไม้พุ่มประกวดประชันกันสิ้นฝีมือ  เสร็จการฉลองแล้ว ก็ทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์และโปรยทานที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ มีฉลากต่างๆ เหมือนอย่างฉลองวัดราชโอรส
 (* ข้าวกระทง คือ ภัตตาหารถวายพระที่บรรจุในกระทงใบตองซ้อนกัน โดยใส่ข้าวสุกไว้ในกระทงล่าง ปิดใบตองคั่น ซ้อนด้วยกระทงของคาวและของหวาน ปิดด้วยใบตอง แล้วปักธง – กวป.)



พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว
สูงตลอดพระรัศมี ๗ ศอกคืบ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในชั้นเดิมเป็นพระประธานอยู่ที่วัดศาลาสี่หน้า หรือ วัดคูหาสวรรค์ ภาษีเจริญ กรุงธนบุรี  
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้อัญเชิญมาเป็นพระประธานแทนองค์เดิม
และถวายพระนามว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร”





โปรดติดตามตอนต่อไป
2966  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ก๋วยเตี๋ยวหลอดไส้กุยช่าย สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 10 สิงหาคม 2559 15:15:05



ก๋วยเตี๋ยวหลอดไส้กุยช่าย
ที่ถูกต้องควรเรียกว่า "ก๋วยเตี๋ยวแผ่นไส้กุยช่าย"
เพราะผู้ทำไม่ได้ม้วนเป็นหลอดกลม แต่พับเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
แต่ได้อนุโลมให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองเสร็จสรรพ ด้วยการตั้งชื่อว่า "ก๋วยเตี๋ยวหลอดไส้กุยช่าย"
เพื่อสะดวกแก่การค้นหาข้อมูลค่ะ

• ส่วนผสม
- แผ่นก๋วยเตี๋ยวสด ½ กิโลกรัม
- กุยช่ายหั่นท่อนสั้นๆ 200 กรัม
- หมูสับ 100 กรัม
- หมูยออย่างดีหั่นชิ้นเล็กๆ ½ ถ้วย
- ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนชา
- ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ


• วิธีทำ
1.ตั้งกระทะใส่น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ พอร้อนใส่หมูสับและหมูยอลงไปผัด
   ใส่ผักกุยช่าย ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว และซอสหอยนางรม
2.ตักไส้กุยช่ายลงบนแผ่นก๋วยเตี๋ยว 3 ช้อนโต๊ะ แล้วพับให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
   หรือม้วนเป็นแท่งกลม
3.จัดวางบนภาชนะที่ทาด้วยน้ำมันพืช นำไปนึ่งไฟปานกลาง 2 นาที
4.ทาน้ำมันพืชหรือน้ำมันกระเทียมเจียวที่แผ่นก๋วยเตี๋ยวนึ่งสุกแล้วให้ทั่วกัน
5.จัดวางใส่จาน โรยด้วยกระเทียมเจียวกรอบ เสิร์ฟพร้อมซอสเปรี้ยวหวาน


• ส่วนผสมซอสราดก๋วยเตี๋ยวหลอด
- น้ำตาลทราย ½ ถ้วยตวง
- น้ำส้มสายชู 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำสะอาด 2 ช้อนโต๊ะ
- พริกสีแดงโขลกหยาบ 2-3 เม็ด
- เกลือป่น ½ ช้อนชา
* ผสมน้ำตาลทราย น้ำส้มสายชู น้ำสะอาด และเกลือป่น ยกขึ้นตั้งไฟ เคี่ยวให้ข้น
  ใส่พริกสีแดงโขลกหยาบ คนให้ละลายเข้ากันดี ยกลงจากเตา พักไว้ให้เย็น


ส่วนผสมไส้กุยช่าย ควรใช้หมูยออย่างดี ถ้าหมูยอคุณภาพไม่ดี ควรใส่แต่หมูสับอย่างเดียวก็ได้
* ผู้ทำเพิ่งกลับจาก จ.อุบลราชธานี
ซึ่งหลายๆจังหวัดในภาคอีสานมีชื่อเสียงเรื่องหมูยอและกุนเชียงอร่อยๆ
จึงได้หมูยออย่างดีติดไม้ติดมือกลับบ้าน








2967  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม : แหล่งสรรพวิทยาการ มหาวิทยาลัยหินสลักในเมืองไทย เมื่อ: 10 สิงหาคม 2559 14:23:04



พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)
ทรงสร้าง พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมนิทาน
และ พระมหาเจดีย์มุนีปัตตบริขาร

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าในพระบวรพุทธศาสนามากยิ่งนัก จนมีคำกล่าวกันว่า “ใครสร้างวัดก็โปรด” ที่โปรดก็เพราะต้องด้วยพระราชอัชฌาสัยและพระราชศรัทธาของพระองค์ นั่นเอง  

ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ทรงประกอบการพระราชกุศลต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมากตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นครองราชสมบัติ เช่น ทรงบาตรในพระราชวังทุกๆ เช้า  นิมนต์พระสงฆ์เข้ามาถวายพระธรรมเทศนาในพระบรมมหาราชวังเป็นนิจสิน ถึงวันพระก็ทรงให้ปล่อยสัตว์ที่ถูกกักขังหรือจะถูกนำไปฆ่าให้รอดจากความตาย และทรงให้ทำเก๋งโรงทานหลวงสำหรับทรงแจกทานแก่ยาจกวณิพกที่ริมกำแพงพระราชวังด้านข้างแม่น้ำ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงทราบ ก็ทรงอนุโมทนาและมีพระราชดำรัสว่า เป็นแต่เพียงพระเจ้าลูกเธอยังทำทานอยู่เนืองนิตย์ ควรที่พระองค์จะทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่งกว่า

นอกจากพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาและปฏิบัติพระองค์ตามคำสอนในหลักพุทธศาสนาแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงสนพระทัยและสนับสนุนให้มีการสร้าง-บูรณะซ่อมแซม พระพุทธรูป อาราม เจดีย์ โบสถ์ วิหาร ขยายเขตวัด และประดับประดาอารามอย่างสวยงามไว้มากมาย หากมีการซ่อมแซม หรือต่อเติม พระองค์จะทรงกำชับให้แบบการก่อสร้างคงอนุโลมตามศิลปะที่ได้กระทำไว้แล้ว และให้ระมัดระวังรักษาแบบดั้งเดิมเอาไว้ให้ดี  ดังนั้นจึงมีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า งานทางศิลปะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะประณีตงดงาม “สูงเด่นเป็นเยี่ยมในวงของศิลปะไทย” เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยเริ่มสร้างกรุงเทพฯ หรือในสมัยหลังๆ ต่อมา  เนื่องจาก นับแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา อิทธิพลของยุโรปได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศสยาม ได้มีผู้พยายามดัดแปลงให้ศิลปะไทยมีลักษณะผสมผสานกับศิลปะของชาวยุโรป  ฉะนั้น งานช่างในยุครัชกาลที่ ๓ จึงเป็นยุครุ่งโรจน์สุดท้ายที่รักษาแบบดั้งเดิมของไทยเอาไว้  

ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ขณะทรงพระประชวรอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงความเป็นห่วงเป็นใยในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ได้มีพระราชดำรัสกับข้าราชบริพารที่ไว้วางพระราชหฤทัยว่า ถ้าผู้ใดเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ให้ช่วยบอกแก่เขา ขอเงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินมีอยู่ ๔ หมื่นชั่ง ขอสัก ๑ หมื่นเถิด เอาไปทำบุญบำรุงวัดวาอารามที่ทรงสร้างไว้ใหญ่โตหลายวัดที่ยังค้างอยู่ก็มี ให้สำเร็จเสร็จสิ้นไป


 

การพระศาสนาในวัดพระเชตุพน
ในส่วนการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เฉพาะที่จะกล่าวถึง “วัดพระเชตุพนฯ” นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ในวัดพระเชตุพนขึ้นเคียงข้างพระเจดีย์ศรีสรรเพ็ชดาญาณ ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ข้างละองค์ องค์ทางทิศเหนือประดับกระเบื้องสีขาว พระราชทานนามว่า “พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมนิทาน” (หรือ “ดิลกธรรมกรกนิธาน”) เพื่อพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)  องค์ด้านใต้ประดับกระเบื้องสีเหลือง พระราชทานนามว่า “พระมหาเจดีย์มุนีปัตตบริขาร” เป็นเจดีย์ส่วนพระองค์เอง  หลักฐานเรื่องราวตอนนี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๓๘) ดังนี้ “...จึ่งทรงพระราชดำริว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาพระเจดีย์ในวัดพระเชตุพนองค์ ๑ สูง ๒๐ วา ๒ ศอก บรรจุพระศรีสรรเพ็ชญ์ซึ่งได้มาแต่กรุงเก่า ที่พม่าเอาเพลิงสุมเอาทองคำหุ้มนั้น ยังเหลืออยู่แต่ทองเหลืองชำรุด ปรุไปทั้งพระองค์จะแก้ไขก็ไม่ได้ จึ่งเชิญเข้าบรรจุไว้ พระราชทานชื่อว่า มหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ หุ้มด้วยดีบุก จะก่อสร้างขึ้นถวายในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิราชเจ้าองค์ ๑ และเป็นส่วนในแผ่นดินปัตยุบันนี้องค์ ๑ เรียงกันเป็นแถวไป  จึ่งโปรดให้ช่างทำต่อองค์กลางข้างเหนือขึ้นองค์ ๑ ประดับกระเบื้องขาวอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิราช พระราชทานชื่อว่า พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน (ในทำเนียบภาค ๑ ชื่อ พระมหาเจดียดิลกธรรมนิทาน) องค์กลางของพระบาทสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช ให้ประดับด้วยกระเบื้องเขียว องค์ข้างใต้ให้ประดับด้วยกระเบื้องเหลือง อุทิศเป็นส่วนในพระองค์ พระราชทานชื่อ พระมหาเจดีย์มุนีปัตะปริกขาร (ในทำเนียบนามภาค ๑ ชื่อ พระมหาเจดียมุนีปัตตบริกขา ปัจจุบันเรียก พระมหาเจดีย์มุนีบัตรบริขาร)

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) โปรดฯ ให้สร้างเพิ่มตรงพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพ็ชญ์อีกองค์หนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันตก ประดับกระเบื้องสีม่วงแก่ โดยถ่ายแบบจาก พระเจดีย์วัดสวนหลวงสบสวรรค์  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

พระมหาเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างปฏิสังขรณ์ใหม่นั้น ต่อมาในเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ.๒๓๘๒ ยอดพระเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ ก็เอนเอียงไปองค์ละหนึ่งศอกบ้าง ศอกเศษบ้าง เป็นเหตุให้ทรงไม่สบายพระทัย เสด็จขึ้นบนพระแท่นที่ใหญ่ หลับพระเนตรนิ่งอยู่ หาตรัสกับผู้ใดไม่ ทรงระงับการให้ขุนนางเข้าเฝ้าถวายข้อราชการ   ความเสียพระราชหฤทัยในเหตุการณ์นี้ทำให้ทรงพระประชวรอยู่หลายวัน  ซึ่งเรื่องราวตอนนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ ที่เล่าเรื่องภายในกรุงออกไปให้พระยาศรีพิพิฒน์ (ต่อมาได้เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) ในครั้งนั้นมีหน้าที่เข้าเฝ้าถวายแบบพระอารามต่างๆ  ซึ่งได้ยกกองทัพไปปราบกบฏทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ดังนี้ “ครั้น ณ วันเดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๘๒) เพลากลางวัน พระองค์เจ้าชุมสาย (กรมขุนราชสีหวิกรม) กราบทูลว่า ยอดพระเจดีย์ใหญ่วัดพระเชตุพนนั้นเอียงไปตั้งแต่คอระฆังขึ้นไปทั้ง ๓ องค์ องค์เหนือเอียงมาข้างเหนือ องค์กลางเอียงมาข้างตวันตก องค์ใต้เอียงไปข้างใต้ เอียงไปองค์ละศอก ๑  ศอกเศษ บ้าง  ทรงตรัสถามว่า ทำอย่างไรจึงเอียงไปหมดทั้ง ๓ องค์ พระองค์เจ้าชุมสายกราบทูลว่า เอียงด้วยหนักบัวกลุ่ม ทรงตรัสว่า พระยาศรีพิพัฒน์ยังอยู่ก็ได้อาศัยให้ไปดูแลทำอยู่ ก็หาเป็นเหตุการสิ่งใดไม่  ครั้นออกมาเสียแล้วก็แล้วกันเท่านั้น ถ้ายังอยู่แล้ว ที่ไหนจะเป็นไปถึงอย่างนี้ จะหาใครช่วยดูแลเข้าบ้างก็ไม่มี พระยาเพ็ชร์พิไชยก็เปล่าๆ ทั้งนั้น ไม่เอาใจใส่ดูแลเลย ทำการใหญ่การโตทีเดียวยังเป็นไปได้ ไม่พอที่จะให้อายเขาเปล่าๆ แล้วทรงนิ่งไปจนเสด็จขึ้น......

......ครั้น ณ วันเดือน ๘ แรม ๕ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๘๒) เพลาเช้า จึงเสด็จออกเจ้าต่างกรม หากรมมิได้ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เข้าเฝ้าพร้อมกัน แต่ยังไม่ขึ้นพระแท่น ทรงตรัสถึงยอดพระเจดีย์ว่า ช่างกระไรเลยเอียงไปหมดทั้ง ๓ องค์ทีเดียว จะเหลือให้สักองค์ ๑ ก็ไม่ได้ พระยาศรีพิพัฒน์ออกมาเสียแล้ว จะอาศัยพระยาเพ็ชร์พิไชยช่วยดูแลให้ดีหน่อยหนึ่งก็ไม่ได้ ของทำไปจนแล้วๆ ทีเดียวยังเป็นไปได้ ถึงจะเป็นเมื่อกำลังทำอยู่ก็ไม่น้อยพระไทยเลย นี่มาเป็นเอาเมื่อแล้วอย่างนี้น่าอายเขานักหนา  ทรงคิดขึ้นมาแล้วเสียพระไทยไปทีเดียว พระวาโยก็กำเริบเอาวิงเวียนไป ไม่สบายพระไทยเอาเลย แล้วรับสั่งๆ เจ้าคุณหาบนว่า จะคิดจัดแจงแก้ไขอย่างไรก็จัดแจงทำเสียให้ดี อย่าให้เป็นเหตุเป็นการต่อไปได้ฯ”

นอกจาก การสร้างพระมหาเจดีย์ที่งามเด่นสององค์ไว้ที่วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้โปรดฯ ให้สร้างพระอุโบสถ  วิหารพระพุทธไสยาสน์ หล่อพระพุทธรูปประธานในโบสถ์วัดพระเชตุพน ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์และขยายบริเวณวัดให้กว้างขวางออกไป ทั้งมีรับสั่งให้ช่างสลักหินเป็นตำรับตำราและวาดภาพไว้ตามฝาผนัง จนวัดพระเชตุพนได้ชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัยหินสลัก” ที่ศิลปินได้ผลิตผลงานทางศิลปะที่สำคัญทางศาสนาขึ้นไว้มากหลายด้วยกัน



ในระหว่างรัชกาลที่ ๓ ได้มีการสร้างเจดีย์ขึ้นมาก เจดีย์สององค์ซึ่งสร้างไว้ที่วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพน
เป็นเจดีย์ที่งดงามมาก ได้สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมแทนรูปมนกลม ทำให้เป็นแบบที่นิยมสร้างกันในสมัยนั้น






โปรดติดตามตอนต่อไป
2968  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: พงศาวดารจีน เปาเล่งถูกงอัน 'เปาบุ้นจิ้น' เมื่อ: 09 สิงหาคม 2559 15:59:02
.


     พงศาวดารจีน
     เรื่อง
     เปาเล่งถูกงอั้น  เปาบุ้นจิ้น
     ราชวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๘๑๙)

     เรื่องที่ ๑๑ รองเท้าข้างเดียว

มีความว่าที่เมืองกังจิวเสีย ยังมีชายผู้หนึ่งชื่อเตียเต๊กฮั๊วๆ มีภรรยาชื่อนางหันหลันเอ็ง นางเป็นบุตรของหันเอ้งสิว อยู่บ้านตำบลน่ำเฮียง เตียเต๊กฮั้วอยู่กินกับนางหันหลันเอ็งมาก็ช้านาน แต่ไม่เกิดบุตรด้วยกันถ้าถึงวันพระข้างขึ้นและข้างแรม เตียเต๊กฮั้วก็ตั้งพิธีบวงสรวงนิมนต์หลวงจีนหงออ้วนเสี่ย สำนักวัดย่งเนงยี่มาสวดมนต์อธิษฐานขอให้มีบุตร

หลวงจีนหงออ้วนเสี่ยมาสวดมนต์ครั้งใด แลเห็นนางหันหลันเอ็งมีลักษณะรูปร่างมารยาทสะอาดหมดจด ก็มีใจประหวดผูกพันธ์ปฏิพัทธ์ เกิดความกำหนัดนึกรักไม่รู้เสื่อมคลาย อยู่มาวันหนึ่งหลวงจีนหงออ้วนเสี่ยมาสวดมนต์ที่บ้านเตียเต๊กอั้ว วันนั้นเตียเต๊กฮั้วไม่อยู่บ้าน ไปจ่ายเครื่องแจช่ายที่ตลาด เพื่อจะได้หุงต้มเลี้ยงหลวงจีนหงออ้วนเสี่ยๆ คิดอุบายได้อย่างหนึ่ง จึงให้หญิงเด็กคนใช้ของนางหันหลันเอ็งไปลักเอารองเท้าของนางหันหลันเอ็งมาได้ข้างหนึ่ง แล้วหลวงจีนก็เอารองเท้านั้นไปยังวัด ทำเป็นเอารองเท้านั้นขึ้นชูชมเชยแล้วก็วางลง

ขณะนั้นพอเตียเต๊กฮั้วมา จะนิมนต์หลวงจีนหงออ้วนเสี่ยไปเลี้ยงเจ ครั้นเตียเต๊กฮั้วเห็นหลวงจีนหงออ้วนเสี่ยถือรองเท้าเชิดชูชมเชยอยู่ดังนั้น ก็จำได้ว่าเป็นรองเท้าของนางหันหลันเอ็ง เตียเต๊กฮั้วให้มีความสงสัยสนเท่ห์ว่า หลวงจีนหงออ้วนเสี่ยจะเป็นชู้กัน จนถึงทำการสังวาสขาดจากศีลสมณะแล้ว นางหันหลันเอ็งจึงได้ปลงใจให้รองเท้ามาดังนี้ เตียเต๊กฮั้วคิดเห็นดังนั้นแล้วก็มีความโกรธยิ่งนัก จึงกล่าวความหยาบช้าแก่หลวงจีนนั้นเป็นอันมาก ครั้นกลับมาถึงบ้านก็ตีด่านางหันหลันเอ็งผู้ภรรยา ด้วยความโกรธหึงหวง แล้วจึงพูดว่ามึงเป็นหญิงไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี ไปเป็นชู้ทำการชั่วอันมิดีกับด้วยหลวงจีนแล้วให้รองเท้ากันไปข้างหนึ่งเป็นสำคัญกูได้รู้เห็น

นางหันหลังเอ็งภรรยาจึงเถียงว่า เมื่อเวลากลางวันข้าพเจ้านอนหลับไป ครั้นตื่นขึ้นมารองเท้าข้าพเจ้าหายไปข้างหนึ่งเป็นการดังนี้ นางหันหลันเอ็งพูดชี้แจงสักเท่าใดๆ เตียเต๊กฮั้วก็มิได้เชื่อฟัง เตียเต๊กฮั้วก็ขับไล่นางหันหลันเอ็งมิให้อยู่ในบ้านด้วยต่อไป นางหันหลันเอ็งก็ร้องไห้ลาเตียเต๊กอั้วกลับไปอยู่บ้านเดิมของนางกับด้วยบิดามารดา

ฝ่ายหลวงจีนหงออ้วนเสี่ย ครั้นแจ้งว่าเตียเต๊กฮั้วขับไล่นางหันหลันเอ็งกลับไปยู่บ้านเดิมแล้ว หลวงจีนหงออ้วนเสี่ยก็หนีออกจากสำนักกลับมาอยู่ตำบลไซเฮียง แขวงอำเภอไทหงวนบ้านเดิม หลวงจีนหงออ้วนเสี่ยก็แปลงเพศเป็นคฤหัสถ์ไว้ผมยาวเกล้ามวย แล้วเปลี่ยนแซ่และชื่อเสียใหม่ ชื่อพังหยินๆ จึงวานอ๊วงคิม ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเป็นสื่อไปขอนางหันหลันเอ็งต่อเอ้งสิวผู้บิดาๆ ก็ยอมยกนางหันหลันเอ็งผู้บุตรให้แก่พังหยิน แล้วก็นัดวันแต่งงานให้นางหันหลังเอ็งอยู่กินเป็นสามีภิริยากันกับพังหยิน ครั้นอยู่มาถึงฤดูสารทเดือนสิบในวันนั้น พังหยินนั่งเสพสุราอยู่ด้วยกันกับนางหันหลันเอ็ง พังหยินก็พูดสัพยอกนางหันหลันเอ็งว่าเจ้ากับพี่ได้กันเป็นภิริยาสามีทุกวันนี้ ก็เพราะคุณของนางเส่ยหมุยลักเอารองเท้าของเจ้ามาให้พี่ พี่จึงได้เจ้าเป็นภรรยาสมความปรารถนารักใคร่

นางหันหลันเอ็ง ได้ฟังดังนั้นก็ยังมีความสงสัยอยู่ จึงถามพังหยินๆ ก็เล่าตามความจริงว่าด้วยเรื่องรองเท้าข้างหนึ่ง จนถึงเตียเต๊กฮั้วขับไล่ให้นางหันหลันเอ็งฟังทุกประการ

ครั้นนางหันหลันเอ็งได้ทราบความตลอดต้นจนปลายดังนั้น ก็มีความเสียใจว่าเสียรู้เล่ห์กลของหลวงจีน จึงมิได้อยู่กินด้วยกันกับสามีเดิม ครั้นคิดเห็นดังนั้นแล้ว นางหันหลันเอ็งก็ยิ่งมีความโกรธพังหยินยิ่งนัก แต่แสร้างกระทำหน้าชื่นมิให้พังหยินรู้ ครั้นเวลาดึกพังหยินนอนหลับสนิท นางหันหลันเอ็งก็เอามีดเชือดคอของตัวเองถึงแก่ความตาย

ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า หันเอ้งสิวผู้บิดาของนางหันหลันเอ็งแจ้งว่าบุตรตาย แต่ไม่ทราบว่าจะตายด้วยเหตุใด หันเอ้งสิวก็ทำฟ้องไปยื่นต่อเปาเล่งถู ใจความว่าเดิมได้ยกนางหันหลันเอ็งผู้บุตรให้แก่เตียเต๊กฮั้วเป็นภรรยา ครั้นอยู่มาเตียเต๊กฮั้วเกิดหึงหวง คิดสงสัยภรรยาว่ามีชู้ เพราะด้วยรองเท้าข้างหนึ่งซึ่งหลวงจีนวัดย่งเนงยี่ลักเอาไป เตียเต๊กฮั้วจึงได้ตีขับไล่นางหันหลันเอ็งจนถึงขาดจากผัวเมีย ข้าพเจ้าจึงได้ยกนางหันหลันเอ็งให้เป็นภรรยาพังหยิน  มาบัดนี้ด้วยเหตุอย่างไรกันขึ้นนางหันหลันเอ็งบุตรของข้าพเจ้าจึงได้ตายด้วยคมอาวุธฉะนี้ ขอท่านได้พิจารณาให้ได้ความจริงโดยยุติธรรม

เปาเล่งถูครั้นอ่านฟ้องแจ้งความดังนั้นแล้ว จึงให้ผู้คุมขังทั้งโจทก์ทั้งจำเลยไว้ ครั้นเวลาค่ำเปาเล่งถูนั่งตรึกตรองเรื่องความนางหันหลันเอ็งอยู่เคลิ้มหลับไป ฝันเห็นว่ามีหญิงคนหนึ่งมาคุกเข่าลงคำนับที่ตรงหน้าเปาเล่งถู แล้วก็เล่าความซึ่งพังหยินเมื่อยังบวชเป็นหลวงจีน คิดอุบายให้นางหันหลันเอ็งขาดจากผัวเมียกัน ตั้งแต่ต้นจนปลายให้เปาเล่งถูฟังทุกประการ แล้วปีศาจนางหันหลันเอ็งก็อันตรธานหายไป

เปาเล่งถูได้สติตื่นขึ้นทันที ครั้นรุ่งเช้าเวลาเช้าเปาเล่งถูจึงให้ผู้คุมๆ ตัวทั้งโจทก์ทั้งจำเลยมาถาม เปาเล่งถูยกกรณีเหตุเรื่องรองเท้าขึ้นถามพังหยินว่า เหตุใดจึงคิดอุบายกระทำให้สามีภิริยาเขาขาดจากผัวเมียกัน ภายหลังตัวจึงย้อนไปสู่ขอเอามาเป็นภรรยา จนถึงนางหันหลันเอ็งได้ความเจ็บแค้นถึงแก่เชือดคอตาย จงให้การไปแต่ตามความจริงที่ตนได้กระทำมาโดยดีทุกประการ อย่าให้ต้องผูกถือเฆี่ยนตีเลย

พังหยินมีความกลัวสะทกสะท้าน คิดเห็นว่าเป็นความจริงโดยจะไม่รับ เปาเล่งถูก็คงจะเฆี่ยนตีผูกทำให้ได้ความลำบากมากไปเปล่าๆ ที่ไหนเราจะทนไปได้ ประการหนึ่งก็เป็นความจริงอยู่ด้วย พังหยินก็ให้การรับเป็นสัตย์โดยชื่นตา

เปาเล่งถูจึงตัดสินปรับโทษของพังหยิน ข้อที่บวชเป็นชีบาณาสงฆ์แล้ว มาคิดอุบายกระทำให้เขาขาดจากผัวเมียกัน แล้วกลับมาย้อนขอกระทำให้เขาเสียตัวโดยที่ไม่รู้กล โทษของพังหยินถึงเชือดเนื้อให้กากินจนถึงแก่ความตาย ครั้นตัดสินแล้วเปาเล่งถูจึงสั่งเพชฌฆาตให้นำตัวพังหยินไปทำโทษตามคำตัดสิน




     พงศาวดารจีน
     เรื่อง
     เปาเล่งถูกงอั้น  เปาบุ้นจิ้น
     ราชวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๘๑๙)

     เรื่องที่ ๑๒ ทำคุณบูชาโทษ

มีความว่า ที่ตำบลซินเอียแขวงเมืองตังเกีย ตำบลนั้นระยะทางห่างเมืองตังเกีย ๒๐ ลี้ มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อชินติดหงวนๆ ได้นางสิวหมึงเป็นภรรยา  นางสิวหมึงเป็นบุตรของซ้องเตร็กๆ อยู่ตำบลน่ำถวน  นางสิวหมึงเป็นผู้ได้เล่าเรียนหนังสือความรู้ลึกซึ้ง อายุได้ ๑๙ ปี จึงได้มาเป็นภรรยาชินติดหงวน นางสิวหมึงมีกิริยามารยาทเรียบร้อย ราษฎรชาวบ้านตำบลนั้น พากันพูดสรรเสริญนางสิวหมึงเป็นอันมาก

ครั้นอยู่มาวงศ์ญาติของชินติดหงวนกระทำการวิวาห์มงคล แต่งงานบ่าวสาว จึงมีเทียบมาเชิญชินติดหงวนไปนั่งโต๊ะกินเลี้ยง ชินติดหงวนสั่งเสียนางสิวหมึงภรรยาแล้ว ก็ออกจากบ้านไปช่วยการของวงศ์ญาติ ครั้นชินติดหงวนไปจากบ้านได้สองสามวันแล้ว นางสิวหมึงไม่เห็นสามีกลับมา นางสิวหมึงตั้งตาคอยแลดูต้นทางอยู่จึงออกไปคอยมองดูว่า ชินติดหงวนผู้สามีจะกลับมาหรือยัง

ยังมีหลวงจีนรูปหนึ่งเดินมาแต่ไกล แลเห็นนางสิวหมึงยืนอยู่ที่ประตูบ้าน มัวแลดูนางไม่วางตาจนเท้าถลำตกลงในคูริมคันถนน เสื้อกางเกงเปียกน้ำทั้งสิ้น ด้วยฤดูนั้นเป็นฤดูหนาว

ฝ่ายนางสิวหมึงครั้นเห็นหลวงจีนขึ้นมาจากคู เสื้อกางเกงเปียกเนื้อตัวเปื้อนดังนั้น ก็มีความสงสาร นางสิวหมึงจึงเข้าไปในโรงครัวก่อไฟใส่อั้งโล่มาให้หลวงจีนผิง แล้วเอาน้ำร้อนมาให้หลวงจีนกิน

หลวงจีนจึงพูดว่า ข้าพเจ้าเดินถลำตกลงไปในคูจนเนื้อตัวเสื้อกางเกงเปียกเปื้อนหมดทั้งสิ้น ท่านเป็นผู้ใจบุญเอาไฟมาให้ผิงและได้ย่างเสื้อกางเกงให้แห้ง และทั้งได้รับประทานน้ำชาด้วย ข้าพเจ้ามีความขอบใจท่านยิ่งนัก

นางสิวหมึงจึงว่าท่านย่างเสื้อกางเกงแห้งแล้ว ก็เชิญไปเสียเถิด ถ้าอยู่ช้าสามีข้าพเจ้ากลับมาเห็นท่านอยู่ที่นี้จะมีความเคลือบแคลงใจว่า ข้าพเจ้าเป็นคนไม่ดีคบหาแก่ท่านดูหาสมควรไม่ หลวงจีนก็รับคำว่าจะไป ในทันใดนั้นพอดีชินติดหงวนมาถึงเข้า แลเห็นหลวงจีนกับนางสิวหมึงนั่งผิงไฟอยู่ด้วยกัน ชินติดหงวนมีความสงสัยกระทบจิตคิดหึงก็มึนตึงขึ้งโกรธอยู่ในใจ  ครั้นหลวงจีนได้เห็นกิริยาชินติดหงวนทำอาการมึนตึงนั้นก็ตกใจกลัว ลุกขึ้นทันทีรีบเดินหลีกไปเสียให้พ้น

ชินติดหงวนครั้นเห็นหลวงจีนลุกขึ้นเดินไปโดยด่วนดังนั้น ก็โกรธจึงด่านางสิวหมึงว่า ตัวเป็นผู้หญิงมีสามีชอบแต่จะอยู่ดูแลแต่ในการบ้านเรือนจึงจะถูกต้องตามธรรมเนียมผู้หญิงๆ อะไรเช่นนี้ ออกไปนั่งลอยหน้าอยู่กับหลวงจีน ชะรอยจะกระทำการชั่วเป็นชู้กันเป็นแน่ ชินติดหงวนว่าดังนั้นแล้ว ก็ขับไล่นางสิวหมึงมิให้อยู่ต่อไป

นางสิวหมึงก็ร้องไห้ มิได้โต้ตอบแก่ชินติดหงวนผู้สามีประการใด  นางสิวหมึงก็กลับไปอยู่กับบิดามารดาที่บ้านเรือนของนาง และนางสิวหมึงก็มิได้เล่าบอกความซึ่งสามีหึงหวงด้วยเรื่องก่อไฟให้หลวงจีนผิงให้บิดามารดาฟังไม่

ฝ่ายหลวงจีนนั้นกลับมาอยู่สำนักวัดไซเลมยี่ ครั้นสืบรู้ว่านางสิวหมึงนั้น ชินติดหงวนผู้สามีขับไล่ กลับมาอยู่กับบิดามารดาประมาณได้ปีหนึ่งแล้ว หลวงจีนนั้นจึงหนีเจ้าวัดกลับมาบ้านเดิม กลับแปลงเพศเป็นฆราวาสไว้ผมมวยตามเดิม เปลี่ยนชื่อเสียใหม่เรียกว่าเล่าอี้ๆ จึงวานลี้ โอว เป็นสื่อไปพูดจากับซ้องเตร๊กผู้บิดาของนางสิวหมึง ขอนางสิวหมึงเป็นภรรยาเล่าอี้

ซ้องเตร๊กจึงพูดว่าบุตรของข้าพเจ้า ชินติดหงวนสามีขับไล่มาอยู่บ้าน จะเป็นเพราะบุตรของข้าพเจ้าทำความผิดประการใดข้าพเจ้าก็หาทราบไม่ แต่ดูน้ำใจของบุตรข้าพเจ้า พิเคราะห์ดูกิริยาเขายังซื่อตรงรักสามีของเขาอยู่ หรือเขาจะตัดขาดกันประการใด ข้อนี้ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถจะหยั่งรู้น้ำใจของเขาได้ ครั้นข้าพเจ้าจะยกให้ไว้ปันก็จะเป็นการข่มขืนน้ำใจบุตรของข้าพเจ้าไป ดูเป็นการหาสมควรไม่ ว่าดังนั้นแล้วซ้องเตร๊กก็หัวเราะ

ลี้โอวผู้แม่สื่อได้ฟังดังนั้นแล้วก็มิได้ว่าประการใด จึงไปหามารดาของนางสิวหมึง แล้วก็เล่าความตามที่เล่าอี้วานให้เป็นสื่อมาขอนางสิวหมึงนั้นให้มารดานางสิวหมึงฟัง ฝ่ายมารดาของนางสิวหมึงได้ฟังเล่าอี้บอกดังนั้น ก็มีความยินดีด้วยปรารถนาแต่จะให้บุตรมีสามีเท่านั้นตามวิสัยน้ำใจหญิง จึงพูดแก่เล่าอี้ว่าสามีของนางสิวหมึงได้ขับไล่นางสิวหมึงมาอยู่บ้านข้าพเจ้าช้านานประมาณได้ปี ๑ แล้ว หาได้เลี้ยงดูกันตามธรรมเนียมภรรยาสามีไม่ อีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ได้ทราบว่า ชินติดหงวนก็มีภรรยาใหม่แล้ว เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจะยอมยกให้นางสิวหมึงมีสามีต่อไปก็ได้ เจ้าจงไปบอกนัดแก่เล่าอี้เถิดว่า ให้เล่าอี้หาวันดีฤกษ์ดีมาแต่งงานตามธรรมเนียมเถิด

ลี้โอวได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงไปแจ้งความแก่เล่าอี้ว่า บัดนี้มารดาของนางสิวหมึง ยอมยกนางสิวหมึงให้แล้วให้ท่านคิดหาวันดีฤกษ์ดีเถิด เมื่อเล่าอี้ได้ฟังลี้โอวบอกดังนั้น มีความยินดีเป็นที่ยิ่ง

ฝ่ายนางสิวหมึงครั้นแจ้งความว่า มารดาจะยกให้มีสามีต่อไป นางสิวหมึงไม่เต็มใจ ด้วยยังมีความอาลัยถึงสามีของตนอยู่จึงพิไรรำพันบ่นโดยความเสียใจที่มารดาจะข่มขืนให้มีสามีใหม่

ครั้นวันฤกษ์ดีเล่าอี้ก็จัดสิ่งของมาแต่งงานตามธรรมเนียม ฝ่ายนางสิวหมึงโดยขัดมารดาไม่ได้ ก็จำใจเป็นภรรยาอยู่กินด้วยกับเล่าอี้ ครั้นอยู่มาเวลาวันหนึ่งเล่าอี้ไปเสพสุรามา มานั่งเคียงนางสิวหมึงแล้วพูดสัพยอกว่า เจ้าจำข้าไม่ได้หรือ นางสิวหมึงตอบว่า เดิมท่านเป็นคนชาวบ้านใด ข้าพเจ้าจำท่านไม่ได้  เล่าอี้จึงบอกว่าเดิมข้าพเจ้าเป็นหลวงจีนอยู่วัดไซเลมยี่ เดินมาตามทางมัวแลชมเจ้าจนลืมสติพลัดตกลงในคูถนน เจ้าได้สงเคราะห์ให้ผิงไฟและซักเสื้อกางเกง กินน้ำชา  ตั้งแต่ต้นจนปลายให้นางสิวหมึงฟังทุกประการ

นางสิวหมึงได้ฟังดังนั้นก็มีความแค้นยิ่งนัก ครั้นอยู่มาได้สองสามวัน นางสิวหมึงก็หนีกลับบ้าน เล่าความให้ซ้องเตร๊กผู้บิดาฟังทุกประการ  ซ้องเตร๊กจึงทำฟ้องไปยื่นต่อเปาเล่งถู กล่าวโทษเล่าอี้ตามความที่นางสิวหมึงเล่าบอกแก่ซ้องเตร๊กทุกประการ เปาเล่งถูจึงหาตัวเล่าอี้มาถามว่า ตัวไปบวชเป็นหลวงจีนอยู่วัดวาอาราม เป็นชีบาณาสงฆ์ฝ่ายสมณะแล้วเหตุใดจึงแปลงเพศคืนมาเป็นคฤหัสถ์ไปมีภรรยานั้นจริงหรือหาไม่

เล่าอี้ได้ฟังเปาเล่งถูถามดังนั้นก็ไม่รับ เปาเล่งถูจึงให้นักการไปสืบที่วัดไซเลมยี่ ได้ความว่าเล่าอี้บวชอยู่วัดไซเลมยี่แล้ว หนีไปแปลงเพศเป็นฆราวาส ครั้นสืบได้ความจริงดังนั้นแล้ว เล่าอี้ก็รับเป็นสัตย์สมแก่ฟ้องของซ้องเตร๊กทุกประการแล้ว เปาเล่งถูจึงสั่งให้เอาตัวเล่าอี้ไปจำขังไว้ ณ คุก แล้วตัดสินให้เนรเทศเล่าอี้ไปอยู่เสียเมืองไกลกำหนดพันลี้ ส่วนนางสิวหมึงก็กลับไปอยู่กับบิดามารดาตามเดิม

ฝ่ายชินตัดหงวนครั้นหายโกรธนางสิวหมึงแล้ว จึงให้คนใช้ไปรับนางสิวหมึงกลับมาเลี้ยงเป็นภรรยาต่อไปตามเดิม


2969  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: ปกิณกธรรม เมื่อ: 08 สิงหาคม 2559 11:02:09



• ปฐมบัญญัติ - ศีล ๒๒๗

.....ฯลฯ ใครๆ ก็ทราบว่าพระสงฆ์นั้นท่านมีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ

แต่ความจริงนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเริ่มประกาศศาสนา และพระสงฆ์สาวกยังมีแต่พระอรหันต์นั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติศีล ๒๒๗ ข้อนี้ไว้ก่อนเลย เพราะศีลนั้นแปลว่าปรกติ  

ศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อนั้นเป็นปรกติของพระอรหันต์ ผู้ใดสำเร็จอรหันต์แล้วก็ไม่สามารถล่วงศีลทั้งปวงนั้นได้  กล่าวคือ ไม่สามารถฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ กล่าวเท็จ ร่วมประเวณี หรือดื่มน้ำเมาได้  ตลอดจนไม่สามารถทำของเขียวให้ขาดจากกัน หรือกินมูมมามเคี้ยวดังจับๆ หรือโยนขยะมูลฝอยออกทางหน้าต้่างกุฏิได้  ทั้งหมดนี้เป็นปรกติของพระอรหันต์

และตราบใดที่พระอรหันต์ยังอยู่กับพระอรหันต์  ศีลและวินัยทั้งปวงก็ไม่จำเป็นต้องมี เพราะท่านไม่ทำสิ่งที่ผิดศีลเป็นปรกติอยู่แล้ว และไม่มีความประสงค์ที่จะทำผิดเกิดขึ้นในใจเลย  

แต่เมื่อต่อมามีผู้ยังมิได้บรรลุอรหันต์เข้าบวชในพระศาสนา เป็นต้นว่าลูกกษัตริย์เจ้าสำราญบ้าง พราหมณ์หนุ่มๆ ทรงจิ้งเหลนบ้าง อาเสี่ยลูกนายวาณิชที่เป็นมหาเศรษฐีบ้าง  คนเหล่านี้ ย่อมไม่มีอะไรเป็นปรกติเหมือนพระอรหันต์เลย มีแต่จะทำสิ่งที่ผิดปรกติทั้งสิ้น  พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงกำหนดศีลทีละข้อตามเรื่องที่จิ้งเหลนทั้งปวงเข้ามาแผลงฤทธิ์จนครบ ๒๒๗ ข้อ  จึงอุดช่องโหว่ได้หมด

พระสงฆ์ทั้งที่อยู่ในภูมิพระอรหันต์และภูมิจิ้งเหลน จึงอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก.


ที่มา : วรรณกรรม "คนรักหมา" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช





• ยาในสมัยพุทธกาล

เวลาได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่นั่งคุยฟื้นความหลังกัน ใจหนึ่งก็อิ่มเอมที่ได้ฟังเรื่องน่ารู้ต่างๆ ในครั้งเก่าก่อนเป็นบุญหู

อีกใจก็พาให้ดีใจที่โชคดีได้เกิดมาในยุคที่บ้านเมืองเจริญแล้ว เพราะความเจริญทำให้อะไรๆ สะดวกสบายขึ้นมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การแพทย์

อีกใจก็พาให้ดีใจที่โชคดีได้เกิดมาในยุคที่บ้านเมืองเจริญแล้ว เพราะความเจริญทำให้อะไรๆ สะดวกสบายขึ้นมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การแพทย์

สมัยนี้เมื่อเจ็บป่วยก็มีหมอและพยาบาลคอยดูแลรักษา มีหยูกยากินให้ความเจ็บป่วยทุเลาลง ผิดกับสมัยปู่ย่าตาทวด ที่ไม่มีทั้งหมอและยาดีๆ มากมายอย่างทุกวันนี้

เวลาใครเป็นอะไรสาหัสสากรรจ์ขึ้นมาที ก็ต้องเข้าเมืองเพื่อไปให้หมอตรวจรักษา บางรายไปไม่ทันเวลา เสียชีวิตไปก็มี

ส่วนที่ไม่ได้เจ็บป่วยร้ายแรงมากก็คงใช้ยากลางบ้าน หรือไม่ก็พืชสมุนไพรต่าง ๆ มาปรุงเป็นยารักษากันเองตามอาการ

แต่ถ้าจะนึกย้อนไปนานกว่านั้นอีก อย่างในสมัยพุทธกาล ก็มียาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้รักษาอาการอาพาธได้อยู่หลายชนิด ซึ่งสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ดังนี้...

มหาวิกัฏเภสัช หรือ ยามหาวิกัฏ ๔ ได้แก่ มูตร (น้ำปัสสาวะ) คูถ (อุจจาระ) เถ้า (ขี้เถ้า) และดิน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันเพื่อแก้พิษงูขบกัด

มูลเภสัช [มูนละ-] คือ รากหรือหัวพืชที่เป็นยาแก้โรค ได้แก่ ขมิ้น ขิง ข่า ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิษ แฝก และแห้วหมู นำมาต้มหรือตากแห้ง บดด้วยลูกหินบด ทำเป็นลูกกลอน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้ภิกษุรับประเคน แล้วเก็บไว้ฉันเป็นยาแก้โรคได้ตลอดชีวิต

ปัณณเภสัช คือ ใบไม้ที่เป็นยา ได้แก่ ใบสะเดา ใบโมกมัน ใบกระดอม ใบกะเพรา ใบแมงลัก หรือใบไม้อื่นๆ ที่มีสรรพคุณเป็นยา พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต

กสาวเภสัช [กะสาวะ-] คือ น้ำฝาดเป็นกระสายยา ได้แก่ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดกระดอม น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดพญามือเหล็ก น้ำฝาดกถินพิมาน หรือน้ำฝาดจากพืชอื่นๆ ที่มีสรรพคุณเป็นยา ซึ่งภิกษุสามารถรับประเคนแล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต.


ที่มา : คอลัมน์ องค์ความรู้ ภาษา วัฒนธรรม "ยาในสมัยพุทธกาล" โดย สนง.ราชบัณฑิตยสภา, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph___paragraph_104_163.jpg

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงกราบนมัสการและสนทนาธรรมกับ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
ภาพจาก เว็บไซต์ธรรมจักรดอทเน็ต
 
• เชิงธรรม

พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระผนวช ๑๕ วัน เมื่อทรงลาสิกขาก็ยังทรงเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด เข้าวัดรับศีลฟังธรรมตามวาระไม่ขาด 

แต่เวลาการเข้าวัดขาดหายไป เพราะพระราชภารกิจแก้ปัญหาให้ราษฎร

ครั้งหนึ่ง ก่อนปี พ.ศ.๒๕๒๐ ช่วงเวลาที่เสด็จฯ อีสาน โดยไม่มีหมายกำหนดการล่วงหน้า ทรงขอให้ ฮ.พระที่นั่งลงจอดที่วัดป่าพรรณานิคม  อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ที่จริงทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินในถิ่นไกลกันดาร ผู้ที่ตามเสด็จฯ เพิ่งมาเปิดเผยภายหลัง ทุกสถานที่ที่พระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไป ไม่มีหมายกำหนดการล่วงหน้า

พระราชภารกิจ...จึงมีเรื่องเล่าระทึก อัศจรรย์ ไม่คาดฝันอยู่หลายเรื่อง

เรื่องอัศจรรย์ ขณะเสด็จฯ วัดป่าพรรณานิคม หลวงพ่อฝั้น อาจาโร จัดเสนาสนะในโบสถ์น้ำ เตรียมการรับเสด็จไว้เรียบร้อย ซุบซิบกันหลวงพ่อฝั้น ท่านรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า

บทสนทนาหนึ่ง ระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับพระบ้านนอกธรรมดา ไม่มีสมณศักดิ์ กระทั่งชั้นพระครู
“ทำไมคนสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าวัด” พระราชปุจฉา 
“พระมหาบพิตร ควรเข้าวัดเป็นตัวอย่างก่อน” หลวงพ่อฝั้นวิสัชนา   
“ที่บ้าน (วังสวนจิตรฯ) กับที่วัด (วัดบวรฯ) ไกล จะไปแต่ละครั้งไม่ง่าย”
“ขอถวายพระพร วัด...ไม่ใช่วัดบวรฯ”
“ที่ไหน”
หลวงพ่อฝั้นวิสัชนาภาษากาย ยกฝ่ามือไปแปะไว้ที่กลางอก สื่อความหมาย “วัด หมายถึง ใจ”

บทสนนาระหว่างพระมหากษัตริย์ นักปราชญ์ฉลาดรู้เชิงธรรม ล้ำลึก กับพระป่า ที่ลูกศิษย์บันทึกไว้และเล่าขานกันต่อๆ มาจบแค่นี้ ทิ้งปมให้ตีความกันตามอัธยาศัย

ในหนังสือ “ทรงพระผนวช” หนังสือในโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรม บันทึกข้อธรรมะที่พระพรหมมุนี และพระโสภนคณาภรณ์ แสดงถวายวันที่ ๔ พฤศจิกายน  วันที่ ๑๔ ที่ทรงพระผนวชไว้ในหัวข้อ จิต-รู้

จิต คือ ธรรมะที่ให้สำเร็จความคิด แต่ความคิดกับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน

รู้ แบ่งออกเป็น ๑ รู้มีอาการ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น รู้ซึ่งอารมณ์ รู้คุณ รู้โทษ รู้เหตุ รู้ผล จิตเข้าสู่มโนทวาร ๒ รู้ไม่มีอาการ รู้นิ่ง ไม่มีอารมณ์เลย รู้วาง รู้โปร่ง รู้ปล่อย รู้อย่างนี้จิตไม่มาเกี่ยวกับทวาร

เมื่อจิตไม่เข้าเกี่ยวกับทวาร อารมณ์ตามไปไม่ถึง รู้ตัวเองทางธรรม โดยภาวะเรียกว่า “ปัญญา” หรือไม่เป็นภาวะก็เรียกว่า มุนี คือ ผู้รู้

พุทโธ คือ ผู้ตื่น  ตถาคโต คือ ผู้บรรลุสัจธรรม  วิมุติโต คือ ผู้หลุดพ้น

พระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจแจ่มแจ้ง “วัดอยู่ที่ใจ” จากบทสนทนาหลวงพ่อฝั้น เพราะท่านเป็นศิษย์มีครู

ผมเป็นนักข่าวคนหนึ่ง ไปทำข่าวที่วัดป่าพรรณนานิคมวันที่หลวงพ่อฝั้นมรณภาพ หลังเสด็จฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ มีพระมหากรุณา โปรดให้ประชาชนได้เข้ารดน้ำต่อ

พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานหีบทองแท่งทึบ บรรจุศพหลวงพ่อฝั้น

ตามโบราณราชประเพณี หีบทองแท่งทึบ พระราชทานอิสริยยศเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า ถ้าเป็นพระสมณศักดิ์ ก็เจ้าคุณชั้นเทพ

ตามประวัติหลวงพ่อฝั้น ท่านหนีการตั้งสมณศักดิ์หลายครั้ง แต่ครั้งนี้ท่านหนีไม่พ้น
          ฯลฯ


ที่มา : คอลัมน์ ชักธงรบ "เชิงธรรม" น.๓, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
2970  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / แกงป่าหมูกับวุ้นเส้น - สูตรและวิธีทำ เมื่อ: 07 สิงหาคม 2559 11:03:46



แกงป่าหมูกับวุ้นเส้น


เครื่องปรุง
- สันคอหมู 100 กรัม
- มะเขือเปราะ (มะเขือเจ้าพระยา) 3 ผล
- วุ้นเส้นสด ½ ถ้วย
- พริกสดสีแดง
- ใบกระเพรา
- กระชาย 1 ราก
- น้ำปลาดี
- น้ำตาลทราย
- น้ำพริกแกงเผ็ด 1 ช้อนโต๊ะ


เครื่องปรุงน้ำพริกแกง
- พริกขี้หนูแห้ง 3-5 ม็ด
- พริกไทยเม็ดขาว 5 เม็ด
- กระเทียมไทย ½ หัว
- หอมแดง 1 หัว
- ข่าหั่นหั่นบาง 2 แว่น
- ตะไคร้ ½ ช้อนโต๊ะ
- ผิวมะกรูด ¼ ช้อนชา
- กะปิอย่างดี ¼ ช้อนชา

* โขลกเครื่องแกงทั้งหมดรวมกันให้ละเอียด ตามด้วยกะปิโขลกพอเข้ากัน


วิธีทำ
1.ล้างหมูให้สะอาด หั่นชิ้นพอคำ
2.ผัดพริกแกงกับน้ำมันเล็กน้อยด้วยไฟอ่อนๆ  พอหอมดีใส่น้ำสะอาดหรือน้ำซุป 1 ด้วย
3.ใส่กระชาย เคี่ยวให้น้ำเดือด จึงใส่เนื้อหมู มะเขือเปราะ และกระชาย
4.ปรุงรสด้วยน้ำปลาดี น้ำตาลทราย...ใส่วุ้นเส้น ใบกระเพรา และพริกสีแดงหั่นแฉลบ
   คนให้เข้ากัน ตักใสชามเสิร์ฟ (ไม่ต้องเคี่ยว วุ้นเส้นจะเปื่อย)



เครื่องปรุง อาจเพิ่มผักอื่นๆ ตามชอบ เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือพวง เห็ดฟาง ฯลฯ และพริกไทยสด
(ผู้ทำใส่เครื่องปรุงตามที่มีอยู่ในตู้เย็นเท่านั้น)






พริกแห้งกะเหรี่ยง...น้ำซีดๆ แต่เผ็ดลมออกหู...
2971  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 03 สิงหาคม 2559 15:49:24

http://www.mahamodo.com/modo/dhama_bud/bud_history/images/pic_page/68.jpg


ปางประทานบาตรและจีวร (๑)

ไม่มีปางนี้มาก่อน ผม "ตั้งขึ้นมา" เอง โบราณาจารย์ท่านตั้งไว้หลายปาง แต่ก็ยังไม่หมด น่าจะคิดขึ้นอีกหลายๆ ปาง โดยเอาเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระพุทธองค์เป็นหลัก เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ของพระบรมศาสดา

เรื่องที่พระพุทธเจ้าประทานบาตรและจีวรแก่พระมหากัสสปะนี้ มีกล่าวถึงจริงในตำรา และมีนัยสำคัญในกาลต่อมา คือเป็นพันธะทางใจที่พระมหากัสสปะพึงสนองพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่นี้ในภายหลัง และพุทธศาสนิกฝ่ายเซน ถือเป็นที่มาของนิกายเซนด้วย จะเล่าให้ฟัง ตามผมมา (ไม่ตามจะรู้หรือ ปานนั้นเชียว)

พระมหากัสสปะ เป็นพระที่เคร่งครัดมาตั้งแต่บวชใหม่ๆ (ความจริงแล้วเคร่งมาก่อนบวชอีก เมื่อพ่อแม่จับแต่งงาน ก็มิได้อยู่กับภรรยา ดังคู่อื่นเขา เป็นสามีภรรยาแต่ในนาม ทั้งสองตกลงใจออกบวช เพราะมีความประสงค์ตรงกัน) เมื่อบวชแล้ว ท่านก็ถือธุดงควัตร ๓ ข้ออย่างเคร่งครัดคือ ถือบิณฑบาตเป็นวัตร (คือเป็นนิตย์) ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อยู่ป่าเป็นวัตร

เฉพาะอย่างที่สองนั้น ทำให้พระท่านลำบากมิใช่น้อย ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งไว้คลุกฝุ่น ส่วนมากก็เป็นเศษผ้าที่เขาไม่ใช้ หรือใช้ไม่ได้ อย่างดีก็เป็นผ้าที่เขาห่อศพเอาไปทิ้ง พระท่านก็จะเอาผ้าเหล่านั้นมาเย็บเป็นจีวร ย้อมด้วยน้ำฝาด คิดดูก็แล้วกัน มันจะปุปะขนาดไหน ที่แน่ๆ คือคงหนักน่าดู ยิ่งเวลาเปียกฝน ก็แทบจะ "ลาก" ไปไม่ไหว

พระมหากัสสปะ ท่านเป็นพระผู้เฒ่าด้วย คงลำบากมาก พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาคุณแก่พระมหากัสสปะ ถึงกับตรัสว่า ไม่ต้องถือธุดงควัตรก็ได้ เพราะท่านก็เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ หมดกิเลสแล้ว กิจด้วยการถือปฏิบัติขัดเกลาไม่จำเป็นแล้ว แต่ท่านก็กราบทูลพระบรมศาสดาว่าจำเป็นต้องถือ

คำกราบทูลของท่านนั้น น่าจะจดจำเอาเป็นแบบอย่างในภายหลังกันให้มาก

ท่านกราบทูลว่า "ข้าพระองค์มิได้ถือธุดงควัตร เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หากเพื่ออนุเคราะห์อนุชนภายหลัง" (ปัจฉิมาชนตาย อ่านว่า "ปัด-ฉิม-มา-ชะ-นะ-ตา-ยะ" ขอรับ) นี้คือพระอรหันตสาวกของพระพุทธองค์ ท่านมิได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านอย่างเดียว หากจะทำอะไรต้องคำนึงถึงอนุชนภายหลังด้วย คือพยายามวางแบบอย่างที่ดีงามให้คนภายหลังได้ประพฤติปฏิบัติตาม เป็นความกรุณาอันยิ่งใหญ่นัก

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า พระมหากัสสปะลำบากในการครองจีวรอันหนาเตอะนั้น จึงประทานจีวรของพระองค์ให้พระมหา กัสสปะ ทรงรับเอาจีวรของพระมหากัสสปะมาห่มเสียเอง นัยว่าประทานบาตรให้ท่านด้วย

พระมหากัสสปะจึงสำนึกในพระมหากรุณาครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ได้สนองงานพระศาสนาตามความถนัดของตนตลอดมา เมื่อครั้งพาเหล่าศิษย์เดินทางไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ที่ทรงประชวรหนัก ไปไม่ทัน พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานก่อน ได้ถามข่าวคราวจากปริพาชกคนหนึ่ง ที่ถือดอกมณฑารพเดินสวนทางมา

ได้ทราบจากปริพาชกนั้นว่า พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานก่อนหน้านั้น ๗ วันแล้ว เหล่าภิกษุสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ก็นั่งนิ่งปลง "ธรรมสังเวช" ฝ่ายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์



ปางประทานบาตรและจีวร (จบ)
ภิกษุแก่รูปหนึ่งนามว่า สุภัททะ ได้ปลอบโยนภิกษุเหล่านั้นว่า อย่าได้ร้องไห้เสียใจเลย ควรจะดีใจเสียอีก เพราะขณะทรงพระชนม์อยู่ พระศาสดาทรงจู้จี้สารพัด ห้ามนั่นห้ามนี่ จะเหยียดแขนเหยียดขาก็ยาก ดูเหมือนจะผิดไปหมด บัดนี้พวกเราเป็นอิสระแล้ว อยากทำอะไรก็ได้ตามปรารถนา

วาทะอันเป็นดุจหนามแทงใจนี้ ได้ยินไปถึงหูของพระมหากัสสปะ ท่านเกิดความสลดใจว่า พระบรมศาสดาปรินิพพานยังไม่ทันไรเลย สาวกยังพูดจ้วงจาบพระธรรมวินัยปานนี้ ถ้ากาลล่วงเลยไปนานเข้า จะเกิดภัยอันยิ่งใหญ่แก่พระศาสนาแน่นอน

เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว ท่านมหากัสสปะจึงดำเนินการเพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระบบระเบียบ ก่อนลงมือทำงาน ท่านก็มานั่งรำพึงอยู่คนเดียว

รำพึงอะไร รำพึงถึงพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ที่มีต่อตัวท่าน

ขอคัดเอาคำรำพึงของท่านมาลงเลยดีไหม ไม่ต้องฟังจาก version ของผม เอาของจริงเลย

"ฐานํ โข ปเนตํ วิชฺชติ ยํ ปาปภิกฺขู อีตสตฺถุ ปาวจนนฺติ มญฺญานา ปกฺขํ ลภิตฺวา นจิรสเสว สทฺธมฺมํ อนฺตรธาเปยฺยุ อุตฺริมนุสฺสธมฺเม อตฺตนา สมสมฏฺฐาเน จ อนุคฺคหิโต ตสฺส เม กิมญฺญํ อาณณฺยํ ภวิสฺสติ...อิมินา อสาธารเณน อนุคฺคเหน อนุคฺคเหสิ จินฺตยนฺโต ธมฺมวินยสงฺ คายนตถํ ภิกฺขูนํ อุสฺสาหํ ชเนสิ"

 แปลเป็นไทยว่า เป็นไปได้ ที่ภิกษุบาปทั้งหลายจะคิดว่า พระศาสนาไม่มีศาสดาแล้ว ได้สมัครพรรคพวกแล้วก็จะทำให้พระสัทธรรมอันตรธาน เราเองพระพุทธองค์ให้เกียรติยกไว้ในฐานะเสมอกับพระองค์ ในด้านอุตริมนุสสธรรม ทางอื่นจะปลดเปลื้องหนี้ไม่มี พระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์เราด้วยการสงเคราะห์นี้ ที่ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น คิดดังนี้ พระมหากัสสปะจึงชักชวนให้ภิกษุทั้งหลายคิดสังคายนาพระธรรมวินัย

คำว่า "ทรงสงเคราะห์ด้วยการสงเคราะห์ที่ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น" ท่านมหากัสสปะหมายเอาการที่พระองค์ประทานบาตรและ จีวรให้ท่าน

นับเป็นกรณีพิเศษจริงๆ เพราะไม่ปรากฏว่าประทานให้สาวกรูปใด นอกจากท่านมหากัสสปะ

ชาวพุทธนิกายเซน จึงยกเอาเหตุการณ์ครั้งนี้ไปสร้างเป็น "นิทาน" (ในที่นี้แปลว่าต้นเหตุ) แห่งการเกิดขึ้นของนิกายเซน

โดยเล่าว่า พระพุทธเจ้าประทาน "เซน" แก่พระมหากัสสปะ พร้อมมอบบาตรและจีวรให้ด้วย พระมหากัสสปะก็ถ่ายทอดแก่พระอานนท์ พระอานนท์ก็ถ่ายทอดต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงพระโพธิธรรม (หรือ ตั๊กม้อโจวซือ) ตั๊กม้อ จีน ก็ไปถ่ายทอดต่อๆ กันไป จนถึงเว่ยหล่าง หรือ ฮุยเน้ง

ฮุยเน้ง ยกเลิกประเพณีการมอบบาตรและจีวร เพราะท่านเองกว่าจะมีโอกาสเผยแพร่พระศาสนา ก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุน หนีการตามไล่ล่าแย่งเอาบาตรและจีวรสิครับ รายละเอียดเคยเขียนไว้ใน ธรรมะของท่านพุทธทาส แล้ว โปรดหาอ่านเอาเทอญ





ปางโปรดสุภมาณพ (๑)

มาณพหนุ่มคนนี้เป็นบุตรเศรษฐีมีสมบัติสี่สิบห้าโกฏิ (คำนวณเอาก็แล้วกันว่ามากขนาดไหน) พ่อสุภมาณพเป็นคนขี้เหนียว ฝังทรัพย์ไว้ในดิน ไม่บอกให้ใครรู้จำนวนหนึ่ง เมื่อถึงแก่กรรมลงไป สุภมาณพเป็นผู้สืบทอดมรดก ไม่รู้ว่าสมบัติมหาศาลส่วนหนึ่งพ่อฝังไว้ในดิน แต่ที่เหลืออยู่ก็มหาศาล กินใช้ชั่วชีวิตไม่หมด

โตเทยยพราหมณ์ไม่ได้ทำบุญทำทานแม้แต่ครั้งเดียว เพราะกลัวทรัพย์จะหมดเปลืองด้วยการให้ทาน แถมยังสอนลูกๆ มิให้ประมาทในการใช้จ่ายทรัพย์ ทรัพย์ที่มีถึงจะมากก็มีวันหมดไปได้ดุจเดียวกับยาหยอดตา หยอดบ่อยๆ ก็หมดขวด หมั่นสะสมทรัพย์ที่เล็กๆ ดุจปลวกก่อจอมปลวก แมลงผึ้งสะสมน้ำหวาน

ตายไป เกิดเป็นสุนัขในบ้านของตนเพราะห่วงขุมทรัพย์ที่ซ่อนไว้ สุภมาณพผู้บุตรก็เลี้ยงลูกสุนัขตัวนั้นด้วยความรัก ให้กินอาหารอย่างดี ให้นอนบนที่นอนอย่างดี สุนัขมันก็รักสุภมาณพมากเช่นกัน เพราะความผูกพันที่มีแต่ปางก่อน

เช้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตในเมือง เสด็จผ่านไปยังคฤหาสน์ของสุภมาณพ สุนัขตัวโปรดของมาณพเห่าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเรียกมันว่า "โตเทยยะ เมื่่อก่อนแกไม่เห็นความสำคัญของเรา มาบัดนี้ยังจะมาเห่าเราอีก แกจะไปเกิดในอเวจีแล้ว"

สุนัขเลิกเห่า วิ่งหางจุกตูดไปนอนคลุกขี้เถ้าข้างเตาไฟ ไม่ยอมขึ้นนอนบนที่นอนหรูหราเหมือนเช่นเคย

สุภมาณพกลับจากทำธุระนอกบ้านเห็นอาการของหมาตัวโปรดผิดปกติไป จึงซักถามคนในบ้านว่าเกิดอะไรขึ้นกับสุนัขตัวโปรดของเขา ใครทำอะไรมัน ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีใครทำอะไร มีแต่พระพุทธเจ้าดุมันเมื่อมันเห่าพระองค์ โดยตรัสเรียกว่า "โตเทยยะ"

สุภมาณพได้ยินก็หูร้อนทันที คิดว่าพระพุทธองค์หมิ่นประมาทพ่อเขาและเขาอย่างแรง "ใครๆ ก็เข้าใจว่า พ่อเราไปเกิดในพรหมโลก ทำไมพระสมณะโคดมมาดูหมิ่นกันปานนี้" ไม่รอให้พระพุทธองค์เสด็จมาในวันรุ่งขึ้น เพราะไม่ทันใจ จึงรีบไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตวันเลยทีเดียว


ปางโปรดสุภมาณพ (จบ)
ไปถึงก็ต่อว่าพระพุทธองค์ หาว่าดูหมิ่น กล่าวหาว่าพ่อตนเป็นหมา พระพุทธองค์ตรัสว่า มิได้ดูหมิ่นเขาแต่ประการใด ที่ตรัสนั้นเป็นความจริง บิดาเขาเกิดเป็นสุนัขตัวนั้นจริงๆ แล้วตรัสถามเขาว่า
“มาณพ ทรัพย์สมบัติที่บิดาเธอมิได้บอกมีไหม”
“มีมาลาทองราคาแสนหนึ่ง รองเท้าทองราคาแสนหนึ่ง ถาดทองราคาแสนหนึ่ง และกหาปณะอีกแสนหนึ่ง หายไป” มาณพกราบทูล
“มาณพ วันนี้เธอกลับไปบ้านให้อาหารอย่างดีแก่สุนัขของท่าน ให้มันนอนบนที่นอนหรูหรา เมื่อมันใกล้จะหลับ ให้กระซิบถามมันว่า พ่อ พ่อซ่อนสมบัติที่เหลือไว้ไหน สุนัขจะพาท่านไปยังที่ฝังทรัพย์”

สุภมาณพกลับไปคฤหาสน์ของตนด้วยความคิดสองประการคือ (๑) ถ้าไม่พบขุมทรัพย์ตามที่บอกจริง คอยดูเถอะเราจะเล่นงานพระสมณะโคดมให้เข็ด  (๒) ถ้าพบจริง เราก็จะยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูจริงๆ จัดการตามที่ตรัสบอกทุกอย่าง

เมื่อสุนัขตัวโปรดใกล้จะหลับ ก็กระซิบถามว่า “พ่อ พ่อเอาสมบัติไว้ที่ไหน”  

ทันใดนั้นสุนัขตัวโปรดก็ลุกขึ้น ร้องและกระดิกหางด้วยความดีใจว่า ลูกชายจำตนได้แล้ว จึงวิ่งลงไปหลังคฤหาสน์ เห่าพลางเอาเท้าคุ้ยดิน

สุภมาณพสั่งให้ขุดตรงนี้ พบสมบัติที่หายไปตามที่พระพุทธองค์ตรัสบอกจริงๆ เขาจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามข้อข้องใจ ๑๔ ข้อ ได้รับวิสัชนาจนหายสงสัย จึงประกาศตนถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แต่บัดนั้นมา




ปางโปรดสุภัททะ ปัจฉิมสาวก
สุภัททะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในเมืองกุสินารา ตั้งใจว่าถ้ามีเวลาจะเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจของตนที่มีมานาน ที่ยังรีรออยู่ก็เพราะคิดว่ายังมีเวลา แต่พอทราบว่าพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว จึงรีบไปยังสาลวโนทยาน สถานที่พระพุทธองค์ประทับก่อนปรินิพพาน

พระอานนท์ พุทธอนุชา ปรนนิบัติพระพุทธองค์อยู่ รู้ว่าพระอาการประชวรหนักหนาสาหัสมาก ไม่ควรอนุญาตให้ใครเข้าเฝ้า เป็นการรบกวนพระยุคลบาท สุภัททะมาถึงก็ขอเข้าเฝ้าพระอานนท์ไม่ยินยอมให้เข้าเฝ้า เขาก็ยังยืนกรานขอเข้าเฝ้าให้ได้ หาไม่เขาจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว

เสียงโต้เถียงกันแว่วไปถึงพระกรรณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามผ่านพระวิสูตรว่า เสียงใคร พระอานนท์กราบทูลว่ามีมาณพคนหนึ่งยืนกรานจะเข้าเฝ้าให้ได้ ข้าพระพุทธองค์เห็นว่ามิบังควรเข้าเฝ้าเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท พระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณา รับสั่งให้เขาเข้าเฝ้า สุภัททะเข้าไปถวายบังคม แล้วกราบทูลถามว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณะพราหมณ์ที่เป็นเจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นเจ้าลัทธิ มีชื่อเสียง ชนเป็นอันมากยอมรับว่าเป็นคนดี คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ ทั้งหมด หรือว่าไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกได้ตรัสรู้ บางพวกไม่ได้ตรัสรู้"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "สุภัททะ ข้อนั้นยกไว้ก่อนเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟัง จงตั้งใจฟังธรรมนั้นให้ดี สุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคมีองค์แปด ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใดมีอริยมรรคมีองค์แปด ในธรรมวินัยนั้นมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ดูก่อนสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้นมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง

ดูก่อนสุภัททะ หากภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์"

มีเรื่องขอแทรกตรงนี้นิดหนึ่ง ๒ ประเด็นคือ
(๑) พระพุทธองค์จะไม่ทรงเสียเวลาสนทนาเรื่องที่นอกประเด็น หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ยิ่งเป็นการทับถมลัทธิศาสนาอื่น แม้ว่าจะมีผู้ถามนำก็ตาม พระองค์จะไม่ต่อประเด็น ดังสุภัททะทูลถามว่า ครูทั้งหก อันมีปูรณกัสสปะ เป็นต้น ตรัสรู้จริงหรือเปล่า พระองค์ก็ตัดบทว่า เรื่องนั้นยกไว้ก่อนเถิดเราจะแสดงธรรมให้ฟัง จงตั้งใจฟังธรรม

เมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูเข้าเฝ้า ก็ถามในทำนองเดียวกันว่าปูรณกัสสปะ เป็นต้น ใครสอนธรรมมีเหตุมีผลมากกว่ากัน พระองค์ก็ตัดบทว่าอย่าไปสนใจเลยว่าใครจะสอนมีเหตุมีผลมากกว่าใคร เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง

(๒) สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ หมายถึง พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ลัทธิศาสนาใดไม่สอนอริยมรรคมีองค์แปด ลัทธิศาสนานั้นไม่มีพระอริยบุคคลทั้ง ๔ ระดับนี้

พระพุทธวจนะที่ตรัสว่า "ถ้าภิกษุทั้งหลายพึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์" คำว่า "อยู่โดยชอบ" คือปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด สรุปลงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา หรือสรุปให้สั้นกว่านั้นคือ สมถะ กับ วิปัสสนา

ปัจจุบันนี้คนชอบถามว่า มีพระอรหันต์หรือเปล่า ถ้าถูกถามอย่างนั้น เราควรย้อนถามว่าเดี๋ยวนี้มีผู้ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์แปดหรือเปล่าล่ะ ถ้ามี พระอรหันต์ก็มี ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติถูกต้องตาม อริยมรรคมีองค์แปด พระอรหันต์ก็ไม่มี

สุภัททะ ฟังพระธรรมเทศนาโดยย่อแล้ว ประกาศตนเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ทูลขอบวช เนื่องจากสุภัททะเป็นเดียรถีย์คือนับถือศาสนาอื่นมาก่อน การจะบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ต้องผ่านการอยู่ "ปริวาส" (คืออยู่ปฏิบัติทดสอบศรัทธา) เป็นเวลา ๔ เดือนก่อน จึงจะบวชได้ แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าไม่มีเวลาแล้ว จึงทรงอนุญาตให้เธอบวชเป็นกรณีพิเศษ โดยประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ด้วยพระองค์เอง

เป็นอันว่า พระสุภัททะ ได้เป็นพระสาวกรูปสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำว่า "สาวกสุดท้าย" หมายถึงสาวกที่พระพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทให้เอง มิใช่หมายความว่า หลังจากพระสุภัททะแล้ว ไม่มีใครบวชในพระพุทธศาสนาเลย หามิได้



http://www.bloggang.com/data/t/travelaround/picture/1290009758.jpg

พระพุทธรูป ปางประทานธรรม

ปางประทาน มรดกธรรม (๑)

ปางนี้ เป็นเรื่องที่ประทานมรดกธรรม หรือพระพุทธวจนะตอนเกือบสุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ประทานคำสอน อันเป็นประดุจมรดกธรรม ให้เหล่าสาวกสืบทอดต่อๆ กันไป ไว้หลายเรื่องด้วยกัน อาทิ

๑.เกี่ยวกับอนาคตพระพุทธศาสนา พระองค์ตรัสประทานหลักการกว้างๆ ไว้ว่า "อานนท์ต่อไปภายหน้า ถ้าสงฆ์ประสงค์จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้"

ทรงมองเห็นการณ์ไกลว่า ในอนาคตเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป พระสงฆ์อาจประสบความลำบากในการรักษาสิกขาบทวินัยบางข้อ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พระองค์จึงมีพุทธานุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ได้ แต่ต้องเป็นความเห็นร่วมกันของสงฆ์ มิใช่ผู้ใดผู้หนึ่งจะยกเลิกเอาเองโดยพลการ  เนื่องจากพระอานนท์มิได้ทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใดบ้าง พระสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป ที่ประชุมสังคายนาพระธรรมวินัย หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน จึงไม่ยอมยกเลิก มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จะคงไว้ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มติที่ว่านี้เรียกว่า "เถรวาท" (แปลว่าข้อตกลงของพระเถระทั้งหลาย) ต่อมาเมื่อเกิดมีนิกายขึ้น คำว่าเถรวาท กลายเป็นชื่อนิกายดั้งเดิม และดำรงอยู่มาจนปัจจุบัน

๒.เรื่องมหาปเทส (ข้ออ้างใหญ่) ๔ ประการ ทรงมองเห็นการณ์ไกลอีกเช่นกันว่า ต่อไปในอนาคตอันยาวไกล คงจะต้องมีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า บางเรื่องไม่ปรากฏว่ามีห้ามไว้ หรืออนุญาตไว้จะยึดถืออย่างไร จึงจะรู้ว่าถูกหรือผิด พระพุทธองค์จึงประทานหลักสำหรับตรวจสอบเทียบเคียงอันเรียกว่า "มหาปเทส" มี ๔ ประการ คือ
   (๑) หากภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับฟังมาเฉพาะพระพักตร์ ของพระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์
   (๒) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีสงฆ์อยู่ พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาติโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าสงฆ์ ว่านี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์
   (๓) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระจำนวนมาก เป็นพหูสูต ถึงอาคม (หมายถึงเชี่ยวชาญในพุทธวจนะ) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) ข้าพเจ้าสดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้น
   (๔) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่ง เป็นพหูสูต ถึงอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าสดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์



ปางประทาน มรดกธรรม (จบ)

เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในพระสูตร เทียบดูในพระวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้นสอบลงในพระสูตร เทียบเข้าในพระวินัยไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาค ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น, พระเถระเหล่านั้น, พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิด พึงทิ้งเสีย

ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรได้ เทียบเข้าในพระวินัยได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแน่แท้ ภิกษุนั้น (สงฆ์นั้น, พระเถระเหล่านั้น, พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดี

กล่าวโดยสรุปก็คือ การยกข้ออ้างเพื่อพิสูจน์ว่า ใช่ธรรม ใช่วินัย ใช่สัตถุสาสน์ของพระผู้มีพระภาคหรือไม่ มีหลักอยู่ ๔ ข้อ
(๑) พุทธาปเทส = ยกพระพุทธเจ้าขึ้นอ้าง
(๒) สังฆาปเทส = ยกพระสงฆ์ขึ้นอ้าง
(๓) สัมพหุลเถราปเทส = ยกพระเถระหลายรูปขึ้นอ้าง
(๔) เอกเถราปเทส = ยกพระเถระรูปเดียวขึ้นอ้าง

ถ้าเขายกพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ทั้งปวง พระเถระหลายรูป พระเถระรูปเดียวขึ้นมาอ้าง ก็ให้ตรวจสอบกับพระสูตร พระวินัย ว่าเข้ากันได้ ลงกันได้ไหม ถ้าเข้ากันไม่ได้ ลงกันไม่ได้ ก็ไม่ควรเชื่อถือ ถ้าเข้ากันได้ ลงกันได้ ก็ควรถือปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังมี มหาปเทส ทางพระวินัยอีก ๔ ข้อที่ตรัสไว้ในที่อื่น โดยสรุปคือ (๑) สิ่งใดที่ไม่ทรงห้ามไว้ แต่ขัดกับสิ่งที่ควรทำ นับว่าไม่ควร (๒) ไม่ได้ห้ามไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ นับว่าควร (๓) สิ่งใดที่ไม่อนุญาตไว้ แต่ขัดกับสิ่งที่ควร นับว่าไม่ควร (๔) ไม่ได้อนุญาตไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ นับว่าควรหลักมหาปเทส หรือข้ออ้างใหญ่ ทั้งด้านธรรม และด้านวินัย เมื่อพระศาสดาไม่อยู่แล้ว ถ้าเกิดข้อถกเถียงกัน หรือไม่แน่ใจ ว่าอย่างไหนควรทำ อย่างไหนไม่ควรทำ ก็จะได้อาศัยตรวจสอบเทียบเคียง ถ้าลงรอย เข้ากันได้ ก็พึงเชื่อถือ ถ้าลงรอยกันไม่ได้ก็ไม่พึงเชื่อถือ

นี้เป็นมรดกธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ทรงฝากไว้ให้เหล่าสาวกในภายหลังของพระพุทธองค์ นอกจากพระธรรมวินัยอันเป็นมรดกใหญ่แล้ว ยังมีมหาปเทส อันเป็นเสมือนหลักสำหรับดูแลรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ควบคู่กันไปด้วย

นับว่าชาวพุทธมีโชคดี เป็นพุทธโอรสที่ได้รับมรดกอันมหาศาล


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
2972  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / Re: พระประวัติ-บันทึกข้อคิด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) เมื่อ: 01 สิงหาคม 2559 12:47:25

การเตรียมพร้อม

ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา อาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๗ พระมหาละออ นิรโช ป.๗ จะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระราชาคณะที่ พระชินวงศเวที เพราะเป็นสัทธิวิหาริกรุ่นสุดท้ายในเสด็จฯเจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า จึงนำพระนามมาเชิดชูพระเกียรติไว้ด้วย ที่จริงวัดเรา เป็นวัดขนาดเล็ก มีภิกษุสามเณรจำนวนน้อย มีพระราชาคณะอยู่แล้ว ๔ รูป เมื่อพระมหาละออจะได้รับสมณศักดิ์อีก ๑ รูป รวมเป็น ๕ รูป ดูออกจะเฝือ เป็นสี่สะดุดใจแก่ผู้อื่นอยู่บ้าง ต้องชี้แจงว่า วัดเล็กพระเณรน้อยก็จริง แต่ได้เข้าร่วมในฝ่ายบริหารถึง ๒ รูป โดยตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะธรรมยุตภาค เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัด และสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ ก็จำเป็นที่จะต้องมีผู้ช่วยมากรูปอยู่เอง

ในการรับสมณศักดิ์ ตกลงใช้พระอุโบสถเป็นสถานที่รับรอง ด้วยมีภิกษุสามเณรในวัดทั้งหมดประชุมสวดชยันโต และรับรองผู้มาแสดงมุทิตาจิต ได้สั่งเตรียมจัดสถานที่ เพื่อความเรียบร้อยเป็นระเบียบ ตั้งแต่วันที่ ๔ นึกอะไรได้ที่ควรตระเตรียมก็บอกสั่งไว้ และมอบหมายผู้สมควรให้ดูแลจัดการ แม้เช่นนี้ยังอดบกพร่องในสิ่งเล็กน้อยไม่ได้

เช่น พระชินวงศเวที ควรจะได้พาดสังฆาฏิเข้าในพระอุโบสถ โดยเปลี่ยนจีวรที่ซ้อนไปพับแทนสังฆาฏิเสียตัว ๑ หรือสั่งให้เตรียมสังฆาฏิเดิมมาคอยอยู่หน้าพระอุโบสถ ก็ขาดไป

ควรมีน้ำล้างเท้า ผ้าสำหรับเช็ดเท้า ก่อนเข้าพระอุโบสถ เพราะเท้าเปื้อนมาจากพระที่นั่งในวัง ก็ขาด ไม่ได้เตรียม ไม่มีใครนึกถึง

ดอกไม้สำหรับบูชาพระประธาน ควรเตรียมไว้ใกล้ที่จัดส่งได้ง่าย ก็ไปเตรียมเก็บรวมไว้เสียห่างไกล ถึงคราวจุดธูปเทียน ต้องวิ่งเที่ยวค้นหาดอกไม้

เหล่านี้ แม้เป็นการเล็กน้อย แต่ถ้าได้จัดเตรียมพร้อมไว้ก่อนก็จะเรียบ+ร้อย=เรียบร้อย งามตาขึ้นอีกมาก เหล่านี้ผู้น้อยมักเห็นว่าผู้ใหญ่จู้จี้จุกจิก แต่พอตนเป็นผู้ใหญ่ขึ้นบ้าง จึงจะเห็นคุณประโยชน์

เรื่องเช่นนี้ หัวหน้าต้องอ่านงานได้ตลอดก่อนว่า ขึ้นต้นทำอย่างไร ท่ามกลาง สุดท้าย ทำอย่างไร แล้วมอบหมายหรือทำกำหนดการให้รับทราบทุกหน่วยงาน

ทุกหน่วย ก็ต้องพิจารณาจัดทำหน่วยของตนๆ ให้เรียบร้อยทุกอย่าง ควรเตรียม ควรจัด อะไรที่จะต้องปฏิบัติ ก็เตรียมจัดพร้อมไว้ คอยประสานงานกับหน่วยอื่น สงสัยอย่างไร ต้องรีบไต่ถามแก้ไขเสียก่อนถึงงาน อย่างนี้ เท่ากับทุกหน่วยได้ช่วยคิดค้นความบกพร่องของงานไปด้วย

หัวหน้างาน จะต้องคอยสอบถาม ตรวจตรา ตักเตือน แนะนำ เป็นหูเป็นตาสอดส่องทั่วไป มิใช่คอยแต่จะนั่งสั่งงานโดยไม่ได้เห็นรูปงาน

การเตรียมพร้อมก่อนเริ่มงาน เท่ากับช่วยให้เหน็ดเหนื่อยในขณะปฏิบัติงานน้อยลง และสะดวกในการเก็บงาน ไม่ว่างานอะไร งานเล็กงานใหญ่ก็ตาม ถ้าขาดการเตรียมพร้อมแล้วก็เท่ากับเชิญแขกมาดูความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของตนนั่นเอง เหนื่อยใจ เหนื่อยกาย แล้วมิหนำซ้ำถูกตำหนิให้กระเทือนใจอีก มิเป็นการเหน็ดเหนื่อยอย่างเสียหายที่สุดหรือ วิสัยทำงาน เมื่อตกลงทำ ต้องไม่กลัวเหนื่อย ถ้ากลัวเหนื่อยก็ไม่ควรทำ เมื่อเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว ถึงเหนื่อย ก็อาจหายเหนื่อยด้วยได้รับคำชมเชย ว่าเรียบร้อยเป็นระเบียบ

ทำอย่างไร ต้องทุมเททำกันจริงๆ อย่าทำอย่างเสียไม่ได้ อย่าทำอย่างคอยเอาหน้า อย่าทำอย่างคอยกินแรงผู้อื่น อย่าทำแต่เพียงคอยกิน หรือทำด้วยคำพูด เป็นการทำลายสามัคคี ตัวเองก็จมอยู่ในปลักแห่งการถือตัวอย่างบรมโง่เท่านี้น เหมือนโคถึก เนื้อของมันเจริญจริง แต่สติปัญญาหาเจริญไม่เลย..  

บันทึก ๘ ธ.ค.๙๗



การเตรียมพร้อม (ต่อ)

คืนวันอังคารที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๙๗ สัตตมวารศพ นายซุ่นใช้ บำรุงตระกูล เจ้าภาพผู้มีอุปการะแก่วัดมานาน อาราธนาพระภิกษุในวัดไปสวดคาถาแปล ซึ่งทางวัดต้องอนุโลมเพื่อรักษาศรัทธา

จึงได้กำชับภิกษุผู้จะไปสวดให้ซักซ้อมเพื่อความเรียบร้อย ตลอดจนอากัปอย่างอื่นๆ ให้มาก เป็นการออกหน้าแก่ผู้ฟังหลายชั้น เพราะเคยทราบว่า มักคร้านต่อการซ้อม ถึงเวลาทำงาน ก็ไปแสดงความบกพร่องอวดเจ้าภาพ น่าขายหน้า ครั้นถูกตำหนิกลับไม่พอใจ ในชุดนี้ไม่ทราบว่าซักซ้อม ๒ ครั้ง  ครั้นถึงเวลาทำงาน วางพัดก็ไม่รักษาระเบียบ (วางทางซ้าย) สวดจบที่ ๓-๔ เริ่มแสดงความบกพร่องให้เห็น คณะผู้สวดจะสำนึกผิดแล้วจำไว้แก้ตัวให้เรียบร้อยในภายหลังหรือไม่ ยังทราบยาก แต่เราผู้เป็นประธานรู้สึกหน้าชา เพราะคนของเราไม่พยายามรักษาเกียรติของตนและของเราด้วย

เคยพร่ำเตือนกันเสมอ ในเรื่องการเตรียมพร้อมเพื่อรักษาระเบียบเรียบร้อย ครั้งนี้ก็เตือน แต่ดูเหมือนคำเตือนไม่ถึงใจคล้ายกับจะนึกว่า เตรียมมากเหนื่อยมาก ไทยทานไม่คุ้มเหนื่อย กล้อมแกล้มถ่วงเวลาไปประเดี๋ยวก็อนิจจาเป็นเสร็จเรื่อง นี่มิกลายเป็นความคิดของนักสวดหากินเข้ามาสิงใจไปหรือ หากได้รับตักเตือนเป็นเชิงตำหนิ กลับไม่พอใจ หาว่ารุนแรงเกินไปบ้าง ระเบียบจัดไปบ้าง กลับจะเข้าตำรา “การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ การพายการถ่อ พ่อไม่สู้ใคร” หรือ “ทำแต่น้อย หวังผลให้มาก” เสียแล้วกระมัง

จึงจำเป็นต้องนำมาเขียน เป็นการเตรียมพร้อมต่อไว้อีกเพื่อผลภาคหน้า เวลานี้ผู้ถูกพร่ำว่าจะอิดหนาระอาใจเพียงไรก็ตาม ก็หวังผลภาคหน้า คงจะสำนึกได้เป็นแท้ เพียงธุระหน้าที่การงานเป็นเรื่องธรรมเนียมหยาบๆ ยังไม่สามารถทำให้เรียบร้อยงดงามตาน่าสดับตรับฟังได้แล้ว จะป่วยกล่าวไปใย ถึงเรื่องเตรียมพร้อมในด้านคุณธรรมความดีงาม ซึ่งเป็นของละเอียดลึกซึ้งอยู่ภายใน จะได้เตรียมพร้อมเป็นปุพเพกตปุญญตาละหรือ เห็นเหลือหวังอย่างยิ่งเป็นแท้

และในบทคาถาแปล มีแสดงอานิสงส์ของศีลอยู่มาก จึงชี้แจงแก่หมู่เจ้าภาพว่า คำว่า ศีลๆ ที่ฟังสวดเมื่อกี้นี้ ควรเข้าใจว่า ตรงกับคำว่าวัฒนธรรมในสมัยนี้นี่เอง ผู้มีวัฒนธรรมพร้อมในด้านกิริยามารยาท การสังคม การอยู่หลับนอน เป็นต้น มีเจริญมั่นคงแก่ผู้ใด คณะใด หมู่นั้นคณะนั้นก็ชื่อว่า ผู้มีศีล ตามความหมายแล้ว ศีลคือยอดคุณของวัฒนธรรม ส่วนข้อห้าม ๕ ข้อนั้น เป็นการตั้งบังคับไว้ไม่ให้ละเมิดความชั่วอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า ๕ ข้อนี้เท่านั้น เพียงข้อห้ามหยาบๆ ง่ายๆ ๕ ข้อเท่านี้ ก็ยังมีผู้สารภาพว่ายังรักษาไม่ได้ครบทั้ง ๕ เสมอไป อย่างนี้ยังจะหวังสวรรค์นิพพานที่ไหนอีกเล่า ขอให้ตั้งใจงดเว้นเพียง ๕ ข้อ ก็ยังไม่สมบูรณ์พร้อมเพียงได้แล้ว อย่าเอื้อมที่สูงทำนองกระต่ายหมายจันทร์เลย ไร้ประโยชน์เป็นแท้

ฉะนั้นการเตรียมพร้อมในหน้าที่การงาน ก็นับเป็นความดีที่ควรอบรมไว้ ย่อมส่งเสริมให้เจริญยิ่งขึ้นในโลกนี้ ฉันใด การเตรียมพร้อมในด้านคุณธรรมความดี เป็นบุญกุศล ก็นับเป็นปุพเพกตปุญญตาส่งเสริมให้เจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าตลอดกาล ฉันนั้น  

บันทึก ๙ ธ.ค.๙๗



การเตรียมพร้อม (ใหม่)

ในการบำเพ็ญกุศลของกรมราชทัณฑ์ ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่ออาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๗ ขณะฉันเพล (อาหารจีน จัดแบ่งเป็นที่รวมมาในถาดไม้ พร้อมอาหารและน้ำจิ้ม เฉพาะรูป) ท่านอธิบดี (พระนิกรบดี) ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานทั่วๆ ไปว่า ต้องมีความรู้ความเข้าใจโดยเฉพาะทั้งนั้น เพียงการล้างชาม ก็ต้องมีความเข้าใจว่าล้างอย่างไรจึงสะอาดรวดเร็วเรียบร้อย อาศัยเหตุที่เคยไปพบความบกพร่องของข้าราชการในต่างจังหวัดมามากแห่ง จึงเล่าว่า ในการอบรมข้าราชการซึ่งจะได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านจึงนำความบกพร่องตามที่พบมาเล่าให้ผู้รับการอบรมฟัง ต่างนิทานจนหมดเวลาอบรม

เรื่องที่ ๑ ว่า ในการต้อนรับรัฐมนตรี เห็นงานจัดเลี้ยงกาแฟต้อนรับ ด้วยนำกาแฟใส่ขวดขนาดขวดแม่โขงตั้งบนโต๊ะมีแก้วเปล่าวางล้อมไว้ นี่ก็เป็นการไม่เหมาะสมกับฐานะผู้ใหญ่ น่าจะขวนขวายหยิบยืมที่ชุดกาแฟให้เหมาะสม แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดนี้ก็ทำได้อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจเลย

เรื่องที่ ๒ ในการเปิดป้ายโรงไฟฟ้าจังหวัด ซึ่งนายกเทศมนตรี เตรียมให้ท่านรัฐมนตรีกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย ครั้นถึงใกล้เวลา เครื่องไฟฟ้าเสียใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องให้คนคอยรูดผ้าแพร พร้อมกับท่านรัฐมนตรีกดปุ่มไฟฟ้า แต่ด้วยไม่ซักซ้อมให้เป็นที่เข้าใจก่อน เมื่อท่านรัฐมนตรีกล่าวตอบ พอลงท้ายถึงตอนว่าบัดนี้ได้อุดมฤกษ์แล้ว ข้าพเจ้าจะทำพิธีเปิดนามโรงไฟฟ้า เพียงนี้เท่านั้น พวกคนที่สั่งไว้ให้รูดผ้าแพรคลุมป้าย ก็รูดผ้าเปิดเสียเรียบร้อยแล้ว ครั้นท่านรัฐมนตรีกล่าวจบ เตรียมจะกดปุ่มไฟฟ้า เหลียวดูป้าย อ้าว! เปิดเสียเมื่อไหร่.

เรื่องที่ ๓ ในลักษณะพิธีเปิดป้ายสถานที่ เช่นเรื่องที่ ๒ แต่รายนี้ใช้ลูกโป่งให้ฉุดผ้าเปิดลอยไป ใช้แถบแพรกว้างใหญ่เป็นเชือกดึง เมื่อถึงพิธีอ่านรายงาน รัฐมนตรีกล่าวตอบ ได้อุดมฤกษ์ดึงแถบแพรเปิดป้ายแล้ว แทนที่ลูกโป่งจะพาผ้าลอยขึ้นไปบนอากาศ กลับลอยลงมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวเชิงบันไดนั่นเอง นี้ก็เพราะไม่ทดลองตรวจตรา ลูกโป่งอัดมานานกำลังก็ลดลง แถมยังมีแถบแพรกว้างใหญ่ถ่วงอยู่อีก จึงลอยหยามน้ำหน้าอยู่เพียงบันไดเท่านั้น

เรื่องที่ ๔ มีพิธีสงฆ์ในกาลมงคลครั้งหนึ่ง เมื่อพระสวดถวายพรพระ (คือพาหุํ) ท่านอธิบดีก็เตือนให้เตรียมสำรับมาแต่ก็ยังไม่มีการยกสำรับ พระสวดจบเวลา ๑๑.๐๐ น. ต้องรอไปอีกราว ๓๐ นาที สำรับจึงได้ยกมาถวายพระ พอพระจะเริ่มฉัน เปิดฝาชามข้าว! ตายจริง ข้าวไม่มี ท่านรัฐมนตรีต้องพูดแก้เก้อ อาราธนาให้ฉับกับไปพลางก่อน ว่าสมัยนี้เขานิยมทานกับมากกว่าข้าว รอไปอีกจนเกือบเที่ยงจึงได้ข้าวมา ตกลงพระคงฉันข้าวได้เพียงรูปละไม่กี่คำ เหตุทั้งนี้ สืบได้ความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบให้ศึกษาๆ มอบให้ครูโรงเรียนๆ มอบให้ภารโรงเป็นทอดกันลงไป ไม่มีใครลงมือตรวจตราด้วยตนเอง ได้แต่สั่งไปเท่านั้น

ท่านอธิบดียังเล่าต่อไปว่า สมัยเมื่อท่านยังรับราชการเป็นชั้นอำเภอ ผู้ใหญ่จะสั่งอะไรท่านมักสอนมักแนะนำให้สิ่งที่ควรไปด้วย หรือจะย้ายข้าราชการไปประจำอยู่ที่ไหน ผู้ใหญ่ก็กำชับไปเสร็จทีเดียวว่า ถ้าไปทำให้ผู้ใหญ่ในจังหวัดนั้นไม่พอใจแล้ว อย่าหวังได้เลื่อนตำแหน่งเลย จึงเป็นเหตุให้รู้ตัวว่า จะเร่งให้สูงขึ้นดี หรือจะย่ำอยู่ที่เดิม เช่นนี้ข้าราชการจึงสามารถปฏิบัติราชการได้ผลเป็นที่พอใจ

เราได้ฟังแล้วพอใจมาก เพราะถูกกับอัธยาศัยของเรา ที่ได้ปลุกปล้ำเคี่ยวเข็ญผู้อยู่ในปกครองซ้ำซากมาแล้วเสมอ เรื่องการจะเป็นนายเขา ต้องหัดเป็นบ่าวเสียก่อน หรือการเตรียมพร้อมไว้เสมอ เป็นความเจริญของชีวิต ที่นำมาบันทึกไว้ ก็เพื่อแสดงให้ปรากฏว่า การงานทุกอย่าง ไม่เลือกว่าฝ่ายโลกหรือฝ่ายธรรมย่อมมีหลักการเป็นอย่างเดียว คือการเตรียมพร้อม เพื่อให้งานสำเร็จไปด้วยความเรียบร้อย สมเกียรติ ถ้าไม่รู้ก็ต้องหาทางไต่ถาม จะรับรองท่านผู้ใหญ่ ก็ต้องทราบอัธยาศัยผู้ใหญ่เสียก่อน เช่นเวลาเช้าท่านชอบทานอะไร ไม่ชอบอะไร ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติให้สบอัธยาศัยเป็นต้น ข้อสำคัญ ตนเองโง่เขลา ยังทะนงว่าฉลาด ครั้นปฏิบัติงานพลั้งพลาด ได้รับการติเตียน กลับโพทนาว่าผู้ใหญ่อคติ อย่างนี้แหละ ควรเรียกว่า “บรมมหาพาล” เทียวแล  

บันทึก ๑๒ ธ.ค.๙๗



ปรอทวัดอารมณ์

ตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ อากาศแปรปรวนกลับหนาวเย็นอยู่ ๓-๔ วัน  บางเสียงว่าเพราะประหารชีวิตนักโทษคราวเดียว ๓ คน อากาศจึงหนาวเย็น, บางเสียงก็ว่า อากาศหนาวเย็นต้อนรับพวกฝรั่งจะเข้ามาประชุมในพระนคร  ในระหว่างนั้น พระภิกษุ พระลิปิกกรณ์โกศล มาหาด้วยกิจธุระบางประการ แล้วปรารภว่า ปรอทลดลงอีก ๒-๓ ดีกรี จึงทำให้หนาวเย็นมาก จึงตอบไปตามแนวความคิดในทันทีนั้นว่า “ช่างเถอะ เรื่องดินฟ้าอากาศก็มีแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อยู่เสมอ จะเอาแน่นอนคงที่อยู่ไม่ได้ อย่าไปสนใจนัก ปรอทสำหรับวัดอากาศให้ทราบหนาวร้อนมีอยู่ ก็พออาศัยเทียบเคียงดูลักษณะของอากาศได้บ้าง แต่สู้สร้างปรอทไว้สำหรับวัดอารมณ์ของเราเองไม่ได้ คือหมั่นมีสติคอยพิจารณาดูจิตใจของเราเองอยู่เสมอ อารมณ์โกรธมากระทบ ทำให้ใจฉุนเฉียว นี่ก็เหมือนความร้อนสูง อบอ้าว อารมณ์โลภมากระทบ ทำให้กระสับกระส่ายดิ้นรนเที่ยวแสวงหา ก็เหมือนความร้อนลดต่ำใกล้ศูนย์. อารมณ์หลงมากระทบ ทำให้งมงายขาดใคร่ครวญ หลงเป็นจริงเป็นจังไป ก็เหมือนความร้อนลดลงใต้ศูนย์ดีกรี เมื่อรู้ลักษณะอารมณ์ของตัวได้เช่นนี้ พยายามประคับประคองอย่าให้สูงเกินไป หรือลดลงต่ำจนหลงงมงายขาดสติปัญญา ปล่อยตามอารมณ์แล้วแต่จะนำไป คอยพยายามควบคุมเหนี่ยวรั้ง ให้อยู่ในระดับอบอุ่นด้วยคุณธรรม สร้างปรอทไว้วัดอารมณ์ของเราเช่นนี้ เป็นคุณประโยชน์แก่เราเอง ดีกว่าปรอทวัดอากาศมากมาย”

คุณพระรับว่า “จริงครับ”  

บันทึก ๖ มี.ค.๙๘


โปรดติดตาม
พระนิพนธ์ในลำดับถัดไป
หัวข้อ “ปล่อยผ่านไป”
2973  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ปลาช่อนแดดเดียว สูตร/วิธีทำ - สด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารเจือปน เมื่อ: 30 กรกฎาคม 2559 10:30:42





ปลาช่อนแดดเดียว

ส่วนผสม
- ปลาช่อน  น้ำหนัก 1 กิโลกรัม
- น้ำสะอาด 4 ถ้วยตวง
- เกลือ 6 ช้อนโต๊ะ
  (หมายเหตุ สัดส่วนน้ำและเกลือ ตวงด้วยถ้วยตวงและช้อนขนาดมาตรฐาน มีขายตามร้านอุปกรณ์ทำขนมอบหรือห้างสรรพสินค้า)  


วิธีทำ
• ขอดเกร็ดปลา ตัดหัว ควักเครื่องในออกให้หมด แล้วแล่สันหลังปลา แผ่ออกเป็นแผ่น (ตามภาพ) นำไปล้างให้สะอาด
• แช่ปลาในน้ำเกลือ ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง
• นำปลาไปตากแดดประมาณ ครึ่งวัน หรือจนกว่าเนื้อและหนังปลาแห้งตึง
• ทอดปลาด้วยไฟปานกลางจนสุกเหลืองสองด้าน



ใส่เกลือในน้ำสะอาด คนให้ละลาย


นำปลาไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง
(น้ำนักปลาตามภาพ 1 กิโลกรัม หลังจากตัดส่วนหัวและควักเครื่องในออกแล้ว)


นำไปวางบนตะแกรงโปร่ง ตากแดดจนผิวปลาแห้งตึง (ผู้ทำใช้เวลาตากแดดครึ่งวัน)


ทอดด้วยไฟกลางจนสุกเหลืองสองด้าน รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยเด็ดนัก
2974  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: วัดพระเชตุพนฯ : แหล่งสรรพวิทยาการ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย เมื่อ: 29 กรกฎาคม 2559 15:31:23


พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี คือ พระยาสรรค์ได้ตั้งตัวเป็นกบฏ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จกลับจากกัมพูชาเข้ามาปราบจลาจลที่กรุงธนบุรี ก็ได้เสด็จประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธารามก่อน แล้วจึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งข้ามไปยังพระราชวังธนบุรี แล้วปราบปรามกบฏจนบ้านเมืองสงบ ทรงเห็นว่าเหตุเพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระสติวิปลาส จึงให้นำไปสำเร็จโทษ แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ พระชนมายุ ๔๗ พรรษา กับทั้งให้ย้ายพระมหานครมาตั้งทางฝั่งตะวันออก สมัยกรุงธนบุรีจึงสิ้นสุดลงในที่สุด

บริเวณที่ทรงให้สร้างพระบรมมหาราชวังนั้น อยู่ในระหว่างวัดสองวัด คือด้านเหนือเป็นวัดมหาธาตุ (วัดสลัก) ด้านใต้เป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธาราม)  การที่มีวัดอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังเช่นนี้ จะปล่อยให้วัดเสื่อมโทรมอยู่มากไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบมา พระราชกรณียกิจประการสำคัญประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็คือ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรยิ่งขึ้น ในปีพุทธศักราช ๒๓๓๑ จึงโปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธารามให้บริบูรณ์งดงามขึ้น ดังปรากฏอยู่ใน “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑” ซึ่งจารึกไว้ที่พระวิหารทิศพระโลกนาถมุขหลัง ดังต่อไปนี้

“ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว สองพันสามร้อยสามสิบเบ็ดพระวษา ณ วันจันทร์เดือนสิบเบ็ด แรมแปดค่ำ ปีระกานักษัตรเอกศก สมเด็จพระบรมธรรมมฤกมหาราชาธิราช พระเจ้ารามาธิบดีบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านพิภพไอศวรรยาธิปัติถวัลยราชกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานี บุรีรมย์อุดมพระราชมหาสถาน เสด็จทอดพระเนตร์เห็นวัดโพธารามเก่าชำรุดปรักหักพังเป็นอันมาก ทรงพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์สร้างให้บริบูรณ์งามขึ้นกว่าเก่า ซึ่งที่เป็นลุ่มดอนห้วยคลองสระบ่อร่องคูอยู่นั้น ทรงพระกรุณาให้เอาคนสองหมื่นเศษขนดินมาถมเต็มแล้ว รุ่งขึ้นปีหนึ่งสองปีกลับยุบลุ่มไป จึงให้ซื้อมูลดินถมสิ้นพระราชทรัพย์สองร้อยห้าชั่ง สิบห้าตำลึง  จึงให้ปราบที่พูนดินเสมอดีแล้ว  ครั้น ณ วันพฤหัศบดี เดือนสิบสอง แรมสิบเบ็ดค่ำ ปีฉลูนักษัตรเบญจศก ให้จับการปฏิสังขรณ์สร้างพระอุโบสถ มีกำแพงแก้วกระเบื้องปรุล้อมรอบ พื้นในกำแพงแก้วแลหว่างพระระเบียงชั้นในชั้นนอก ก่ออิฐห้าชั้นแล้วดาดปูน กระทำพระระเบียงล้อมสองชั้น ผนังพระระเบียงข้างในประดับกระเบื้องปรุ ผนังหลังพระระเบียงเขียนเป็นลายแย่ง มุมพระระเบียงนั้นเป็นจัตุรมุขทุกชั้น มีพระวิหารสี่ทิศ บรรดาหลังคาพระอุโบสถพระวิหารพระระเบียงนั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวเหลืองสิ้น ตรงพระวิหารทิศตวันตกออกไป ให้ขุดรากพระเจดีย์ใหญ่กว้างสิบวา ลึกห้าศอก ตอกเข็มเอาอิฐหักใส่กะทุ้งให้แน่น แล้วเอาไม้ตะเคียนยาวเก้าวาน่าศอกจัตุรัส เรียงประดับประกับกันเป็นตะรางสองชั้น แล้วจึงเอาเหล็กดอกเห็ดใหญ่ยาวสองศอกตรึงตลอดไม้แกงแนงทั้งสองชั้น หว่างช่องแกงแนงนั้น เอาอิฐหักทรายถมกะทุ้งให้แน่นดีแล้ว รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือนสาม ขึ้นสิบค่ำ ปีขาลฉศก เพลาเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรพร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ์ เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตโหราจารย์ มายังที่ลานพระมหาเจดีย์ จึงให้ชักชะลอพระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพชญ์อันชำรุดรับมาแต่กรุงเก่าเข้าวางบนราก ได้ศุภฤกษประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยางดนตรีปี่พาทย์ เสด็จทรงวางอิฐทองอิฐนากอิฐเงินก่อราก ข้าทูลละอองทุลีพระบาททั้งปวงระดมกันก่อฐานกว้างแปดวาถึงที่บรรจุ จึงเชิญพระบรมธาตุแลฉลองพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง พระเขี้ยวทององค์หนึ่ง พระเขี้ยวนากองค์หนึ่ง บรรจุในท้องพระมหาเจดีย์ แล้วก่อสืบต่อไปจนสำเร็จ ยกยอดสูงแปดสิบสองศอก กระทำพระระเบียงล้อมสามด้าน ผนังนั้นเขียนนิยายรามเกียรติ  จึงถวายนามพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ แลในวงพระระเบียงชั้นในมีพระมหาธาตุสี่ทิศ นอกพระระเบียงชั้นนอกหว่างพระวิหารคดนั้น มีพระเจดีย์ฐานเดียวห้าพระองค์ สี่ทิศยี่สิบพระองค์ เข้ากันทั้งพระมหาเจดีย์ใหญ่ พระมหาธาตุ เป็นยี่สิบห้าพระองค์ บรรจุพระบรมธาตุสิ้น แลมีพระวิหารคดสี่ทิศ กำแพงแก้วคั่น ประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบสองประตู มีรูปสัตว์ประตูละคู่ ทำหอไตรย์มุงกระเบื้องหุ้มดีบุก ฝาแลเสาปิดทองลายรดน้ำ แลตู้รูปปราสาทใส่คัมภีร์พระปริยัติไตรปิฎก ทำการบุเรียนหอระฆัง พระวิหารน้อยซ้ายขวา สำหรับทายกไว้พระพุทธรูป ขุดสระน้ำ ปลูกพรรณไม้ ทำศาลารายห้าห้อง เจ็ดห้อง เก้าห้อง เป็นสิบเจ็ดศาลา เขียนเรื่องพระชาดกห้าร้อยห้าสิบพระชาติ ตั้งตำรายาและฤๅษีดัดตนไว้เป็นทาน ทำกำแพงแก้วล้อมรอบนอก มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องถ้วยสี่ประตู มีรูปอสูรประจำประตูละคู่ มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบเก้าประตู ทั้งประตูกำแพงคั่นสองเป็นสิบเบ็ดประตู มีรูปสัตว์ประตูละคู่ เป็นรูปสัตว์ยี่สิบสองตัว แล้วทำตึกแลกุฎีสงฆ์หลังละสองห้อง สามห้อง สี่ห้อง ห้าห้อง หกห้อง เจ็ดห้อง ฝากระดาน พื้นกระดานมุงกระเบื้อง เป็นกุฎีร้อยยี่สิบเก้า ทำหอฉัน หอสวดมนต์ ศาลาต้มกรักตากผ้า สระน้ำ ทำกำแพงล้อมกุฎีอีกวงหนึ่ง แลริมฝั่งน้ำนั้น มีศาลาสามหน้าต้นสะพานพระสงฆ์สรงน้ำ ทำเว็จกูฎีสี่หลัง แลในพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียงนั้น เชิญพระพุทธปฏิมากรอันหล่อด้วยทองเหลืองทองสำฤท ชำรุดปรักหักพังอยู่ ณ เมืองพระพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุกโขไท เมืองลพบุรี เมืองกรุงเก่า วัดศาลาสี่หน้า ใหญ่น้อย พันสองร้อยสี่สิบแปดพระองค์ ลงมาให้ช่างหล่อต่อพระศอ พระเศียร พระหัตถ พระบาท แปลงพระภักตร์พระองค์ให้งามแล้ว พระพุทธรูป พระประธานวัดศาลาสี่หน้า น่าตักห้าศอกคืบสี่นิ้ว เชิญมาบุณะปฏิสังขรณ์ เสร็จแล้วประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ บรรจุพระบรมธาตุ ถวายพระนามว่า พระพุทธเทวะปฏิมากร แลผนังอุโบสถ เขียนเรื่องทศชาติทรมานท้าวมหาชมภูแลเทพชุมนุม พระพุทธรูปยืนสูงยี่สิบศอก ทรงพระนามว่า พระโลกนาถศาสดาจารย์ ปรักหักพัง เชิญมาแต่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงเก่า ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วเชิญประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลัง บรรจุพระบรมธาตุด้วย ผนังเขียนพระโยคาวจรพิจารณาอาศภสิปและอุปรมาญาณสิบ พระพุทธรูปวัดเขาอินเมืองสวรรคโลก หล่อด้วยนาก น่าตักสามศอกคืบ หาพระกรมิได้ เชิญลงมาบุณะปฏิสังขรณ์ด้วยนาก เสร็จแล้วประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในพระวิหารทิศตวันออก บรรจุพระบรมธาตุถวายพระนามว่าพระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ์ มีต้นพระมหาโพธิ์ด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องมารผะจญ  พระพุทธรูปน่าตักสี่ศอกห้านิ้วเชิญมาแต่กรุงเก่า ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศใต้ ถวายพระนามว่าพระพุทธเจ้าเทศนาพระธรรมจักร มีพระปัญจวัคคียทั้งห้านั่งฟังพระธรรมเทศนาด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องเทศนาพระธรรมจักรแลเทศนาดาวดึงษ์ พระพุทธรูปน่าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว เชิญมาแต่ลพบุรี ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตก บรรจุพระบรมธาตุถวายพระนามว่าพระนาคปรก มีพญานาคแผลงฤทธิเลิกพังพาน มีต้นจิกด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องพระเกษธาตุ พระพุทธรูปหล่อใหม่สูงแปดศอกคืบห้านิ้ว ประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศเหนือ บรรจุพระบรมธาตุ ถวายพระนามว่าพระป่าเลไลย มีช้างถวายคนทีน้ำ มีวานรถวายรวงผึ้ง แลผนังนั้นเขียนไตรภูม มีเขาพระสุเมรุราชแลเขาสัตตะพันท์ ทวีปใหญ่ทั้งสี่ แลเขาพระหิมพานต์ อะโนดาตสระแลปัญจมหานที พระพุทธรูปในพระอุโบสถอารามเก่าน่าตักสี่ศอก เชิญเข้าประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในการบุเรียน แล้วจัดพระพุทธรูปใส่ในพระระเบียงชั้นในชั้นนอกแลพระวิหารคด เป็นพระพุทธรูปมาแต่หัวเมืองชำรุดปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ หกร้อยแปดสิบเก้าพระองค์ พระพุทธรูปทำด้วยอิฐปูนสำหรับอาราม ชำรุดอยู่ร้อยแปดสิบสามพระองค์ เข้ากันเป็นพระพุทธรูปและพระอรหันต์แปดร้อยเจ็ดสิบสองพระองค์ ลงรักปิดทองสำเร็จ เหลือนั้นข้าทูลละอองทุลีพระบาทสัปรุษทายก รับไปบุณะไว้ในพระอารามอื่น แลการถาปนาพระอาราม เจ็ดปี ห้าเดือน ยี่สิบแปดวันจึงสำเร็จ สิ้นพระราชทรัพย์แต่ที่จำได้ คิดค่าดินถมอิฐปูนไม้ทรุงสัก ขอนสัก ไม้แก่น เหล็ก กระเบื้อง ฟืน ไม้จากทำโรงงานร่างร้าน เรือนข้าพระ เสากะดานกุฎี น้ำอ้อย น้ำมันยาง ชัน ดีบุก ทองเหลือง ทองแดง สีผึ้งหล่อ ถ่าน กระจก น้ำรัก ทองคำ กระดาด ขาด เสน เครื่องเขียน รง ดินแดง พระราชทานช่างแลเลี้ยงพระสงฆ์ เลี้ยงช่าง แล้วช่วยคนชายสกันหกสิบหกคน สมโนครัวสองร้อยยี่สิบสี่คน เป็นเงินเก้าสิบห้าชั่ง สิบเบ็ดตำลึง สักแขนขวาถวายเป็นข้าพระขาดไว้ในพระอาราม ตั้งหลวงพิทักษชินศรี เจ้ากรม ขุนภักดีรศธรรม ปลัดกรม ควบคุมข้าพระรักษาพระอาราม เข้ากันสิ้นพระราชทรัพย์สร้างและช่วยคนเป็นเงินสามพันเจ็ดร้อยแปดสิบห้าชั่งหกตำลึง แล้วทรงพระกรุณาให้เอาแพรลายย้อมครั่ง ทรงพระพุทธรูปในพระวิหารทิศ พระระเบียงวิหารคด การบุเรียน พระมหาธาตุเจดีย์ใหญ่น้อย สิ้นแพรร้อยพับ แต่พระพุทธรูปเทวะปฏิมากรในพระอุโบสถ ทรงผ้าศรีทับทิมชั้นใน ตาดชั้นนอก ครั้น ณ วันศุกร์ เดือนห้า แรมสิบสองค่ำ ปีระกาตรีนิศก ให้ตั้งการฉลอง  อาราธนาพระราชาคณะ ถานานุกรม อธิการอันดับฝ่ายคันธะธุระวิปัศนาธุระพันรูปพร้อมกัน ณ พระอุโบสถ เพลาบ่ายแล้วสี่โมงห้าบาต  สมเด็จพระบรมนาถบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชพระราชวงษานุวงษ์ เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตาจารย์ มายังพระอุโบสถ  ทรงสมาทานพระอุโบสถศีล แล้วหลั่งน้ำอุทิโสทกลงเหนือพระหัตถพระพุทธปฏิมากร  ถวายพระอารามตามพระบาฬีแก่พระสงฆ์  มีองค์พระพุทธปฏิมากรเป็นประธานมีนามปรากฏชื่อวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ  มอบถวายพระวันรัตนพิพัฒฌานอดุลสุนทรวรนายกปิฎกธรา มหาคณิศรบวรทักขิณาคณะสังฆารามคามวาสีสถิตในวัดพระเชตุพน แล้วถวายแก่พระพุทธปฏิมากร แพรยกไตรย์หนึ่ง บาตร์เหล็กเครื่องอัฐะบริขารพร้อม ย่ามกำมะหยี่ เครื่องย่าม พร้อมพัชแพร ร่มแพร เสื่ออ่อน โอเถา โอคณะ กาน้ำ ช้อนมุก ขวดแก้วใส่น้ำผึ้ง น้ำมันพร้าว น้ำมันยา กลักใส่เทียนธูปสิ่งละร้อย ไม้เท้า รองเท้า สายระเดียง  พระสงฆ์พันหนึ่งก็ได้เหมือนกันทุกองค์  ครั้นจบพระบาฬีที่ทรงถวาย พระสงฆ์รับสาธุพร้อมกัน  ประโคมดุริยางค์ดนตรี แตรสังข์ฆ้องกลองสนั่นไปด้วยสัรทสำเนียงกึกก้องโกลาหล พระสงฆ์รับพระราชทานแล้วไปสรงน้ำครองไตรย์ มาสวดพระพุทธมนต์เพลาเย็นวันละพันรูป ปรนนิบัติพระสงฆ์ฉันเช้าเพนสามวันๆ ละพันรูป  ถวายกระจาดทุกองค์ให้มีพระธรรมเทศนาบอกอานิสงส์ทุกวัน แล้วปรนิบัติพระสงฆ์ซึ่งศรัทธาทำดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนไตร์ฉันเช้าทั้งเจ็ดวัน เป็นพระสงฆ์หกร้อยยี่สิบสี่รูป ถวายผ้าสบงทุกองค์ ถวายบาตร์เหล็ก ซึ่งพระสงฆ์ไม่มีครอง แล้วถวายกระจาด เสื่อ ร่ม รองเท้า ธูป เทียน ไม้เท้าด้วย


ภาพวาดการละเล่นและความรื่นเริงต่างๆ ในวันปีใหม่ของไทย
ในแผ่นดินของพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อสร้างบรรยากาศให้ครึกครื้นบันเทิงเสมือนกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา)
ตามบันทึกของคณะนักบวช บาทหลวงชาวฝรั่งเศส


การละเล่นต่างๆ ลอดบ่วง ระทาดอกไม้ไฟ โรงหนังจีน (หุ่น)


ระทาดอกไม้ไฟ โรงหนังไทยญวนหก โปรดสังเกตร้านน่ังที่อยู่โรงมหรสพทุกแห่ง
มีบันไดพาด และมีหม้อน้ำตั้งไว้สำหรับดับไฟ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการจุดดอกไม้ไฟ


การแสดงของโรงงิ้ว


การต่อยมวย และการละเล่นต่างๆ

แล้วให้ตั้งโรงฉ้อทานเลี้ยงสมณะชีพราหมณะอนาประชาราษฎรทั้งปวง แลมีโขนอุโมงค์โรงใหญ่ หุ่น ละคอน มอญรำ ระบำ มงครุ่ม คุลาตีไม้ ปรบไก่ งิ้วจีน ญวน หกขะเมนไต่ลวด ลวดบ่วง รำแพน นอนหอกดาบ โตฬ่อแก้วแลมวย เพลากลางคืนประดับไปด้วยประทีบ แก้วระย้า แก้วโคม พวงโคมรายแลดอกไม้รุ่งสว่างไปทั้งพระอาราม แล้วให้มีหนังคืนละเก้าโรง มีดอกไม้เพลิงคืนละสองร้อยพุ่ม ระทาใหญ่แปดระทา พลุ ประทัด พะเนียง ดอกไม้ม้า ดอกไม้กะถาง ดอกไม้กลต่างต่าง แลมังกรฬ่อแก้ว ญวนรำโคม  เป็นที่โสมนัศบูชาโอฬาริกวิเศษ เป็นพระราชทรัพย์ทิ้งทานต้นกามพฤกษ์  ฉลากพิกัดค่าพระราชบุตร์ บุตรี พระภาคีไนยราช แลนางพระสนม ราชกุญชรอัศดรนาวา ฉลากละห้าชั่ง สี่ชั่ง สองชั่ง  เป็นเงินสามร้อยสามสิบแปดชั่ง เงินใส่ผลมะนาวร้อยหกสิบแปดชั่ง เข้ากันทิ้งทานห้าร้อยหกชั่ง คิดทั้งเงินค่าผ้าทรงพระ ดอกไม้สดบูชา เลี้ยงพระสงฆ์ กระจาดและโรงฉ้อทาน เครื่องไทยทาน ทำเครื่องโขน โรงโขน เครื่องเล่นเบ็ดเสร็จ พระราชทานการมะโหระสพ แลถวายระย้าแก้ว โคมแก้ว บูชาไว้ในพระอาราม เป็นเงินในการฉลอง พันเก้าร้อยสามสิบชั่งสี่ตำลึง เข้ากันทั้งสร้างเป็นพระราชทรัพย์ ห้าพันแปดร้อยสิบเบ็ดชั่ง  ครั้นเสร็จการฉลองพระอารามแล้ว ภายหลังทรงพระกรุณาให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้งสอง ซึ่งสถิตในพระวิหารฝ่ายทักขิณทิศแลทิศประจิมนั้น ขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้งสองพระองค์ ซึ่งเชิญมาแต่เมืองศุกโขไท น่าตักห้าศอกคืบกับนิ้วหนึ่งเท่ากัน พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระพุทธชินราช เข้าประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหารฝ่ายทักขิณทิศ  พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระพุทธชินศรี เข้าประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหารฝ่ายปัจจิมทิศคงดังเก่า  ซึ่งทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งนี้ ใช่พระทัยจะปรารถนาสมบัติบรมจักรจุลจักรท้าวพญาสามลราช แลสมบัติอินทร์พรหมหามิได้  ตั้งพระทัยหมายมั่นพระบรมโพธิญาณในอนาคตกาล จะรื้อสัตว์ให้พ้นจากสงสารทุกข์ แลการพระราชกุศลทั้งนี้ ขออุทิศให้แก่เทพเจ้าในอนันตจักรวาล แลเทพยเจ้าในฉกามาพจร แลโสฬศมหาพรหม อากาศเทวดา พฤกษเทวดา ภูมเทวดา อารักษเทวดาแลกษัตราธิราช พระราชวงษานุวงษ์ เสนาพฤฒามาตย์ ราชปโรหิต สมณชีพราหมณ์ อนาประชาราษฎร์ ทั่วสกลราชอาณาจักรในมงคลทวีป จงอนุโมทนาเอาส่วนพระราชกุศลนี้ ให้เป็นลาภศิริสวัสดิ์ทีฆายุศม์ ฯ “

กว่าจะมาเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า วัดโพธารามซึ่งมีมาแต่กรุงศรีอยุธยา และก่อนการบูรณะคงมีความเสื่อมโทรมอยู่มาก ยิ่งตอนกรุงแตก อาณาจักรทั้งปวงก็แปรปรวนวิปริต มิได้ปกติเหมือนแต่ก่อน ประชาราษฎรก็ได้ความเดือดร้อนทุกขภัย ทิ้งเหย้าเรือนอพยพครอบครัวหนีเข้าป่าดงไปก็มีเป็นอันมาก บ้านเรือนถูกทิ้งร้างว่างเปล่าอยู่ทุกแห่งทุกตำบล

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ  เสด็จทอดพระเนตรเห็นวัดโพธาราม ชำรุดปรักหักพังเป็นอันมาก ทรงพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์งามขึ้นกว่าเก่า จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้บูรณะวัดโพธารามขึ้นใหม่ กลายเป็นวัดที่มีระเบียบสวยงาม การก่อสร้างก็ล้วนวิจิตรบรรจง จนเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมที่เชิดหน้าชูตา และเป็นสง่าแก่ชนผู้ได้ทัศนาการมากที่สุด  

พระราชภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทรงโปรดฯ ให้รวบรวม อัญเชิญพระพุทธปฏิมากร หล่อด้วยทองเหลือง ทองสัมฤทธิ์ มาจากหัวเมืองต่างๆ  ได้แก่ กรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย เมืองพิษณุโลก เมืองลพบุรี วัดศาลาสี่หน้า จำนวน ๑,๒๔๘ พระองค์ ซึ่งส่วนใหญ่ชำรุดเสียหาย หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะเสียหายมากยิ่งขึ้น มาบูรณปฏิสังขรณ์ ให้ช่างหล่อต่อพระเศียร พระศอ พระหัตถ์ พระบาท เสร็จแล้วอัญเชิญประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ประจำพระวิหาร พระระเบียง พระวิหารทิศ พระวิหารคด และพระระเบียงล้อมพระมหาเจดีย์ กับทั้งให้ไปประดิษฐานตามวัดวาอื่นๆ บ้าง

จาก “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑”  มีเรื่องราวที่ต้องขยายให้ละเอียด ดังนี้
๑.การลงทุนลงแรง ใช้กำลังคนมากถึงสองหมื่นคนเศษ ขนดินมาถมที่ปราบที่ให้เสมอกัน  
๒.ใช้เวลาก่อสร้าง ทำนุบำรุงถึง ๑๒ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๓๒ ถึง พ.ศ.๒๓๔๔  
๓.สิ้นพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์วัด เฉลิมฉลองพระอาราม ทิ้งทาน และบูชาพระ (เท่าที่จำได้) ๕,๘๑๑ ชั่ง (หรือ ๔๖๔,๘๘๐ บาท – ราคาในสมัยรัชกาลที่ ๑)
๔.ให้วัดโพธาราม มีนามปรากฏชื่อ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ
๕.นับรวมพระเจดีย์ทั้งหมดแล้ว  มีเจดีย์มากถึง ๙๙ องค์ (รวมพระมหาธาตุรูปปรางค์รอบพระอุโบสถ)
๖.ให้ตั้งการฉลอง มีการสวดพระพุทธมนต์เพลาเย็นสามวันวันละ ๑,๐๐๐ รูป ปรนนิบัติพระสงฆ์ฉันเช้าเพลสามวัน วันละ ๑,๐๐๐ รูป
๗.ปรนนิบัติพระสงฆ์ ๖๒๔ รูป ซึ่งศรัทธาทำดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนตรัย ฉันเช้าทั้ง ๗ วัน  

พึงสังเกตว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเป็นนักรบที่สามารถ ก่อนขึ้นเสวยราชย์ พระองค์ไม่มีเวลาว่างจากการทำศึกสงคราม ทรงได้ต่อสู้ข้าศึกจากภายนอกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อความร่มเย็นของราษฎรมาโดยตลอด  เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็มิได้ทรงลืมความสำคัญของการพระศาสนา โปรดฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต (ที่เมื่อครั้งยังเป็นที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ได้ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๔ ได้ชัยชนะกวาดต้อนผู้คนข้ามมาไว้ ณ เมืองพรนพร้าวฟากตะวันตก และอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตปฏิมากรแก้วมรกต มาพร้อมกันด้วยในครั้้งนั้น  พระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ โรงริมพระอุโบสถวัดแจ้งภายในพระราชวัง ต่อมาเมื่อได้ครองราชย์ จึงได้นำไปประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงทุกวันนี้), โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม),  โปรดฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ฯลฯ  เพื่อให้พระพุทธศาสนาวัฒนาการรุ่งเรืองมั่นคงถาวรยิ่งขึ้น  

หลักฐานแม้เพียงบางเรื่องที่นำมาลงไว้ในที่นี้ ย่อมเห็นว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงเอาพระทัยใส่ฟื้นฟู ทำนุบำรุงเกี่ยวกับการพระศาสนาไว้เป็นอันมาก





พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ

พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ประดับกระเบื้องสีเขียว นับเป็นพระมหาเจดีย์ที่สำคัญของวัดพระเชตุพนฯ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อครอบพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง ๑๖ เมตร ได้ชะลอมาจากพระราชวังที่กรุงศรีอยุธยา ภายในบรรจุพระบรมธาตุ นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑

ตำนานของพระมหาเจดีย์องค์นี้ มีเรื่องราวเกี่ยวข้องไปถึงพระพุทธรูปครั้งกรุงศรีอยุธยาองค์หนึ่ง คือ พระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพ็ชญ์  ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงโปรดให้สร้างขึ้น ปรากฏความว่า ศักราช  ๘๖๒  วอกศก  (พ.ศ.๒๐๔๓)  สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า แรกให้หล่อพระพุทธเจ้าพรีศรีสรรเพชญ์  และแรกหล่อในวันพระ อาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ครั้นเถิงศักราช ๘๖๕ กุนศก (พ.ศ.๒๐๔๖) วันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ฉลองพระพุทธเจ้าศรีสรรเพชญ์คณนา พระพุทธเจ้านั้น แต่พระบาทเถิงยอดรัศมีนั้น สูง ๘ วา (๑๖ วา) พระพักตร์นั้นยาวได้ ๔ ศอก (๒ เมตร) กว้างพระพักตร์นั้น ๓ ศอก (๑.๕ เมตร) และพระอุระนั้นกว้าง ๑๑ ศอก (๕.๕ เมตร) และทองหล่อพระพุทธเจ้านั้นหนัก ๕ หมื่น ๓ พันชั่ง ใช้ทองสำริดหล่อเป็นแกนในน้ำหนัก ๕,๘๐๐ ชั่ง (๓,๔๘๐ กิโลกรัม) ทองคำหุ้มนั้นหนัก ๒๘๖ ชั่ง (๓๔๗.๗๗๖ กิโลกรัม)  ข้างหน้านั้นทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา ข้างหลังนั้นทองเนื้อหกน้ำสองขา  (สมัยนั้นถือว่าทองนพคุณเก้าน้ำหรือทองเนื้อเก้าเป็นทองคำบริสุทธิ์กว่าทองเนื้ออื่นน้ำอื่น) แล้วถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าได้เอาไฟสุมลอกทองไป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้ชะลอมากรุงเทพฯ หวังจะหลอมหล่อขึ้นใหม่ เพราะเห็นว่าพระพุทธรูปที่ชำรุดมีมากมายนัก โดยเฉพาะพระศรีสรรเพ็ชญ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ชำรุดเหลือกำลังซ่อมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ  แต่เมื่อทรงปรึกษาสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะแล้ว ต่างก็เห็นว่าไม่สมควร ดังมีสำเนาพระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๑ ดังต่อไปนี้

“ทรงพระกรุณาพระราชปุจฉาสืบต่อไปว่า ผู้มีศรัทธาแต่ก่อน ถวายส่วยสัดพัฒนากรค่าที่เรือกสวนไร่นา อุทิศเป็นกัลปนาบูชาไว้เป็นของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สำหรับอารามใดๆ ก็ดี บัดนี้พระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ วัดวาอารามทั้งปวง ก็ยับเยินสาปสูญไปเป็นอันมาก แลพระธรรม พระสงฆ์ผู้รักษาพยาบาลก็หามิได้ ยังแต่ค่าเรือกสวนไร่นา ส่วนสัดพัฒนากรนั้น ชอบจะเอาของนั้นไปกระทำประการใดจึงจะสมควร หาโทษมิได้ ถ้าจะเอาทรัพย์สิ่งของนั้นมาสร้างพระไตรปิฎก และจะทำการบูชาพระพุทธบาทมหาเจดียฐานนั้นจะควรฤๅมิควรประการใด ให้สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง วิสัชนามาให้แจ้ง”

“อาตมภาพ สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง ๑๒ รูป ขอถวายพระพรว่า อารามมีผลไม้ดอกไม้ ถ้าหาผลไม้ดอกไม้มิได้ มีแต่ที่เปล่าก็ดี แลพระมหากษัตริย์ เศรษฐี ท่านอุทิศเป็นกัลปนาไว้ สำหรับขึ้นเป็นของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในอารามต่างๆ สืบๆ กันมาแต่ก่อน ท่านอุทิศไว้แต่เดิมนั้นเป็นค่าจตุปัจจัย ถึงปีแล้วให้ถวายเป็นบิณฑบาท เสนาศนคิลานเภสัช ครั้นเรียวมา ราชบุรุษ อารามิกโยมวัด คิดอ่านกันเรียกเอาเป็นกัปปิยวัตถุ เอาเป็นเงินเป็นทอง สืบกันมาตราบเท่าทุกวันนี้  บัดนี้ วัดวาอารามสาปสูญไปเป็นอันมากแล้ว มีแต่ที่เรือกสวนไร่นา ซึ่งเคยขึ้นมาแต่ก่อน แลจะเอาส่วยสัดพัฒนากรอารามนี้ ไปอุทิศบูชาแด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อารามอื่นนั้นมิควร  ครั้นจะเอาส่วยสัดพัฒนากรไปส่งไว้ตามตำแหน่งอารามเดิมนั้น หาผู้จะรักษาแลปฏิสังขรณ์มิได้ ของนั้นก็จะสาปสูญเสียเปล่า ถ้าอารามใดยังมีพระพุทธรูปอยู่ ควรจะนิมนต์ลงมาปฏิสังขรณ์ได้ ให้อาราธนาลงมาปฏิสังขรณ์โดยควร ถ้าพระพุทธรูปใหญ่โตนัก มิควรจะอาราธนาลงมาได้ ให้เอาทรัพย์นั้นไปจำหน่ายเป็นสัมภาระ ซื้อไม้ ซื้อจาก ซึ่งจะเป็นร่มพระพุทธรูป พอสมควรที่จะทำได้ ถ้าทรัพย์ทั้งปวงนั้นเหลืออยู่ จะสร้างพระไตรปิฎกนั้นเสร็จแล้ว ให้เขียนจาฤกอุทิศเฉภาะไว้สำรับอารามนั้น แล้วจะช่วยพิทักษ์รักษาบูชาเรียนไปพลางกว่าอารามจะมีผู้พิทักษ์รักษา แล้วจึงส่งไปก็ควร ถ้าเป็นของสงฆ์ ให้สร้างเป็นกุฎีแลเตียงตั่งเป็นอาทิ ถวายอุทิศไว้ให้สงฆ์อื่นบริโภคพลาง แม้นสงฆ์ในอาวาศเก่านั้นมีขึ้นเมื่อใด พึงให้ไปเป็นของสงฆ์ในอาวาศนั้น ถ้าปลงเจตนาไว้ดั่งนี้แล้ว จะเอาทรัพย์นั้นมาจำแนกแจกจ่ายปฏิสังขรณ์ดังว่ามานี้ก็หาโทษมิได้ อนึ่งของเขาอุทิศพระเจดีย์องค์นี้แล้ว ผู้ใดจะเอาของพระเจดีย์องค์นี้ไปบูชาองค์อื่น มิควร ถ้าบูชาพระเจดีย์องค์เดิมนั้นแล้ว แลเหลือไปบูชาองค์อื่นนั้นได้ แลซึ่งห้ามไว้โดยเลอียดว่า จะน้อมของที่นี่ ไปที่โน่น มิได้นั้น พบบทแต่ห้ามสิกขาบทข้างพระภิกษุฝ่ายเดียว มิได้พบในฆราวาศ ถ้าฆราวาศผู้ใดบูชาพระเจดีย์เดิมแล้วแลเหลือ จะเอาของที่เหลือสร้างพระไตรปิฎกจาฤกไว้สำหรับอารามก็ควร จะทำบูชาสักการพระพุทธบาทมหาเจดียฐานก็ควร หาโทษมิได้ ขอถวายพระพร”

เมื่อจะซ่อมก็ไม่ได้ ครั้นจะยุบก็เกรงจะผิด เมื่อสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะ เห็นว่าไม่สมควรจะยุบ จึงได้โปรดฯ ให้บรรจุพระศรีสรรเพ็ชญ์ไว้ในพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ ตามนามพระพุทธรูปพระศรีสรรเพ็ชญ์




มหาเจดีย์ก่อเบื้อง    โบราณ แลฤๅ
นามพระศรีสรรเพ็ชญ์    พากย์พร้อง
ชำรุดธริการย์   กอบประกิจ ใหม่แฮ
ประกาศโลกให้ซร้องสร้อง    สาธุ์แถลง

ประดับลวดลายติดกระเบื้อง     บางเคลือบ สีนา
พิมพ์ภาคพื้นเขียวแสง    สดแพร้ว
ดอกดวงพิลาศเหลือบ     เล็งเลิศ แลพ่อ
อย่างแย่งยลล้ำแล้ว     เลิศหลาย

ฐาปนาใหม่ผเจิดสร้าง     สององค์ อีกเอย
สูงใหญ่หมายเดิมเทียม     เท่าแท้
ลายลวดประกวดผจง     ผจองดุจ เดียวนา
ต่างแต่เหลืองแล้พื้น      แผกพรรณ
พระนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโรรส








โปรดติดตามตอนต่อไป

2975  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / จตุรมาสยะ : เข้าพรรษาของพราหมณ์ เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2559 15:27:18



จตุรมาสยะ : เข้าพรรษาของพราหมณ์

เรารู้กันเป็นอย่างดีว่าช่วง “เข้าพรรษา” เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุจะได้หยุดจำพรรษา คือพำนักยังที่ใดที่หนึ่ง โดยไม่ “จาริก” ไปที่อื่น  คงด้วยเหตุผลจากธรรมชาติเป็นสำคัญ เพราะเข้าพรรษาเป็น “ฤดูฝน” ซึ่งในอดีตการเดินทางเป็นเรื่องไม่สะดวกอย่างยิ่ง  บางท่านก็ว่าเป็นเพราะชาวบ้านติเตียนพระภิกษุที่เหยียบย่ำลงไปในนาข้าวของเขาเสียหายในช่วงฤดูเพาะปลูก  ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติการเข้าพรรษาขึ้น

ในประเทศอินเดีย นักบวชทุกศาสนาตั้งแต่โบราณ ไม่เคยมีชีวิตเป็นหลักเป็นแหล่ง ต้องจาริกไปเรื่อยๆ เสมอ เพราะถือว่าได้ทอดทิ้งบ้านเรือนชีวิตเดิม โลกทั้งโลกก็คือบ้านไปแล้ว ดังมีคำกล่าวว่า “สฺวเทเศ ภุวตฺรยมฺ – สามโลกก็คือถิ่นฐานของตัว” ปัจจุบันนี้นักบวชฮินดูบางพวกยังคงปฏิบัติอยู่

ในทางประวัติศาสตร์ เดิมนักบวชพุทธศาสนาใช้ชีวิตเร่รอนไม่มีหลักแหล่ง “เพื่อประโยชน์และความสุข (ของสรรพสัตว์)” (หิตายะ สุขายะ) แต่ภายหลังเป็นนักบวชกลุ่มแรกที่มีการตั้งชีวิตใน “อาราม” ขึ้น และมีกฎมีเกณฑ์กติกาองค์กรอย่างเป็นทางการ

นับแต่นั้นการจาริกก็ไม่ใช่รูปแบบหลักของชีวิตนักบวชพุทธอีกต่อไป

ภายหลังศาสนาอื่นๆ เช่น ฮินดูและไชนะ ก็เริ่มตั้งชีวิตนักบวชในอารามขึ้นมาเช่นเดียวกัน แต่พวกที่เน้นการจาริกยังมีมากอยู่

ในอินเดีย โดยเฉพาะในโลกโบราณ ศาสนาไม่ได้มีพรมแดนชัดเจนอย่างที่เรามีในปัจจุบัน ความคิดความเชื่อต่างๆ รวมทั้งประเพณีพิธีกรรมมักจะหยิบยืมกันไปมา บางอันพอจะทราบว่ามาจากไหน บางอันไม่ทราบว่าศาสนาใดเป็นต้นคิด แต่ก็มีร่วมกันเป็นสมบัติทางความคิดของดินแดนอินเดีย

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็มีการ “เข้าพรรษา” ด้วยเช่นกัน เรียกว่า “จตุรมาสยะ” แปลว่า “สี่เดือน” หรือ จตุรมาสยะวรัต (วรัต เป็นคำเดียวกับ พรต) เพราะการเข้าพรรษาของพราหมณ์นั้นกินเวลาทั้งสิ้นสี่เดือนจนหมดฤดูฝน

จตุรมาสยะของพวกไวษณวนิกายมักจะเริ่มในวัน ๑๑ ค่ำ (เรียกว่า เอกาทศี) ในเดือน “อาษาฒะ” (บาลีว่า อาษาฬห) ตามจันทรคติ จนไปถึง ๑๑ ค่ำ ในเดือน “การติกะ” ตกในราวเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน

บางนิกายจะเริ่มในวันเพ็ญเดือนอาษฒะ ซึ่งจะตรงกับวันอาสาฬหบูชาของเราพอดี

เข้าพรรษาของฮินดูกับของพุทธ จึงเกือบจะตรงกันเป๊ะๆ

วันแรกของเอกาทศีในจตุรมาสยะ เรียกว่า “เทวศยนีเอกาทศี” แปลว่า วัน ๑๑ ค่ำ “(เทพ) หลับ” และวันสุดท้ายเรียกว่า “อุฐนีเอกาทศี”, หรือวัน ๑๑ ค่ำ “ตื่น” เพราะเชื่อกันว่าในช่วงจตุรมาสยะ พระวิษณุจะบรรทมและตื่นบรรทมเมื่อสิ้นสุดจตุรมาสยะแล้ว

พระเป็นเจ้าทรงบรรทมหลับไปก่อน เช่นเดียวกับเมล็ดพืชพันธุ์ที่ยังหลับใหลอยู่ใต้อกพระแม่ธรณี รอวันจะตื่นจากบรรทมเช่นพืชพันธุ์ที่งอกเงยขึ้นจากความมืดหลังสี่เดือนในฤดูฝนผ่านไป

เพราะพืชก็คือจิตวิญญาณของโลก และคือเทพนั่นแหละครับ ในวันเทวศยนีเอกาทศี เขาจึงให้ถือพรตห้ามกินธัญพืชต่างๆ

คนฮินดูมักไม่ค่อยจัดงานมงคลในช่วงจตุรมาสยะ เช่น แต่งงานหรือสวมด้ายศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่อยากรบกวนทวยเทพที่ยังหลับใหล

ในวัฒนธรรมผีพราหมณ์พุทธบ้านเราก็เช่นกันครับ ครูดนตรีอาวุโสท่านเคยบอกผมว่า แต่ก่อนไหว้ครูนาฏศิลป์ดนตรีไทยอะไร เขาไม่ทำกันในช่วงเข้าพรรษา ท่านบอกโบราณว่า เทวดาถือศีลกันไม่รับเครื่องเซ่นสรวง

ที่จริงก็คือ “ผี” ที่ยอมโอนอ่อนต่อพุทธนั่นแหละครับ คือ พิธีเซ่นไหว้ต้องมีเนื้อและเหล้า ต้องเชือดต้องฆ่า พอรับพุทธมาทั้งเทวดาและผีพากันยอมพุทธ (บ้าง) โดยไม่ฆ่าไม่แกงในช่วงเวลาพุทธศาสนาถือว่าเป็นช่วงละเว้น

เข้าพรรษาฮินดูจะเก่าแก่แค่ไหนยังไม่ทราบ แต่น่าจะถึงสมัยปุราณะ เพราะมีบันทึกในคัมภีร์สกันทะปุราณะ และเข้าพรรษานี้ถือกันทั้งนักบวชและฆราวาส

ในฝ่ายนักบวชฮินดู การเข้าจตุรมาสยะจะต้องถือไม่จาริกไปไหนเป็นเวลาสี่เดือน ติรุวัลลุวาร์ กวีทมิฬที่มีชีวิตอยู่ในราว คริสต์ศตวรรษที่หนึ่งบรรยายไว้ว่า เพื่อที่บรรดาสันยาสีจะได้หยุดจาริกเพื่อประพฤติอหิงสาธรรม โดยไม่เบียดเบียนมดแมลง สัตว์เล็กน้อยทั้งหลาย

การอธิษฐานจตุรมาสยะเรียกว่า “จตุรมาสยะ สังกัลปะ” โดยมากศิษย์มักกล่าวคำอาราธนาให้ สันยาสีหรือนักบวชคุรุของตนจำพรรษาในที่นั้นๆ ตลอดสี่เดือน เพื่อจะได้มีโอกาสศึกษาข้อธรรมต่างๆ และได้อยู่ใกล้ชิดครู และสันยาสีจะต้องปลงผมตัดเล็บทุกวันเพ็ญ

สันยาสีมีธรรมเนียมนับอายุพรรษาโดยผ่านการเข้าพรรษาจตุรมาสยะเช่นเดียวกันกับพระภิกษุ แม้จะมีอายุมากกว่า แต่ถ้าอีกฝ่ายมีพรรษา “จตุรมาสยะ” มากกว่า ฝ่ายที่อายุมากกว่าก็ต้องแสดงความเคารพ

ในฝ่ายฆราวาสที่ถือพรต จตุรมาสยะนั้น จะต้องงดอาหารบางชนิดตลอดจตุรมาสยะ เช่น น้ำผึ้ง มะเขือยาว ฯลฯ ข้อนี้มีกล่าวไว้ในปุราณะ และในแต่ละเดือนจะต้องงดอาหารดังนี้
ในเดือนแรก คือผักใบเขียว เช่น ผักโขม ในเดือนที่สอง คือโยเกิร์ต ในเดือนที่สาม คือนม และในเดือนที่สี่ คือถั่วบางชนิด เช่น ดาล หรือคนที่ไม่ได้ทานมังสวิรัติจะงดเนื้อและปลาในช่วงนี้

นอกนั้นจะต้องบำเพ็ญภาวนา สวดมนต์ไหว้พระฟังธรรมตลอดจตุรมาสยะ เชื่อว่าผลบุญในจตุรมาสยะจะไพศาล

ส่วนในศาสนาไชนะ หรือศาสนาเชน การเข้าพรรษาเรียกว่า “วรษโยคะ” นักบวชจะหยุดการจาริกไปยังที่ต่างๆ และเข้าจำพรรษา ตลอดสี่เดือนในอารามหรือที่ที่กำหนดไว้ โดยนักบวชผู้ใหญ่จะใช้เวลาช่วงนั้นให้คำสอนแก่ศิษย์

ที่แสดงมาทั้งหมด มิได้จะมีข้อสรุปว่าพุทธศาสนารับประเพณีการเข้าพรรษามาจากฮินดูนะครับ เพราะหลักฐานยังไม่มากพอ (ในเรื่องนี้)

แต่ที่สำคัญ ผมอยากแสดงให้เห็นว่า ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ที่เราเคยเชื่อกันว่ามันมีแต่เรา มันเป็นของเราเท่านั้น คนอื่นเขาก็มี มีกันทุกศาสนาในอินเดีย เป็นประเพณีปฏิบัติของนักบวชโดยทั่วๆ ไป ไม่ใช่ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

สายปฏิบัติที่เรียกว่า “สมณะ” หรือสายพรตนิยมในอินเดียนี่ไม่ได้เป็นของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่มีผลต่อทุกศาสนา  เราจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นว่า เราดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ประเสริฐที่สุด คนอื่นผิดหมด

นั่นแหละครับ ท่าทีที่ควรมีควรเป็น ของคนนับถือศาสนา 

ไม่งั้นก็รอแต่จะไปกระทืบคนอื่นในนามแห่งศาสนา.


ที่มา : จตุรมาสยะ : เข้าพรรษาของพราหมณ์ คอลัมน์ "ผี พราหมณ์ พุทธ" โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หน้า ๘๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๕ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙
2976  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / ราชรถน้อย : มรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของชาติ เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2559 13:28:12

มีคำถามแสดงความสงสัยว่าราชรถเก่าที่จอดเรียงยาวข้างระเบียงหมู่พระวิมาน ไม่แน่ใจว่าจะเป็นราชรถแห่พระศพเจ้านายหรือใช้แสดงโขน เนื่องจากมีขนาดเล็ก

ตอบ : บรรดาราชรถที่จอดอยู่ข้างระเบียงหมู่พระวิมาน มีทั้งสิ้น ๖ รายการ เดิมเคยจัดแสดงไว้ภายในโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภา ผู้กำกับดูแลพิพิธภัณฑสถานฯ ให้สร้างโรงราชรถขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒ เพื่อเก็บรักษาราชรถ และจัดแสดงตามแบบอย่างโรงราชรถโบราณของประเทศโปรตุเกส ให้ประชาชนได้ชม

ราชรถน้อย-ใหญ่ โดยมากใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ ส่วนหนึ่งภายในโรงราชรถจึงเก็บรักษาวัตถุเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระราชทานเพลิงพระศพด้วย เช่น พระยานมาศสามลำคาน พระโกศ พระโกศจันทน์ พระจิตกาธาน พระแท่นแว่นฟ้า ชิ้นส่วนองค์ประกอบพระเมรุต่างๆ มีฉากบังเพลิง ฉัตร เทวดาอัญเชิญฉัตร บังแทรก เสาหงส์ และตุง เป็นต้น

เมื่อเวลาผ่านไป มีสิ่งของจัดแสดงเพิ่มเติมขึ้นจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระราชทานเพลิงพระศพทวีจำนวนมากยิ่งขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันภายในโรงราชรถเก็บรักษาเฉพาะราชรถสำคัญขนาดใหญ่ พร้อมเครื่องประกอบในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ จึงจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายราชรถขนาดเล็กเก็บรักษาไว้ ณ ระเบียงหมู่พระวิมาน พระราชมณเฑียรสถานของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นการชั่วคราว

ราชรถขนาดเล็กเหล่านี้ใช้ในการเชิญพระศพเจ้านายและผู้มียศ ไปในขบวนแห่อัญเชิญพระศพและศพไปยังพระเมรุและเมรุ เป็นเกียรติยศตามฐานานุศักดิ์ สืบต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์กว่า ๒๐๐ ปี ซึ่งจะทำการซ่อมแซมและจัดเตรียมการใช้งาน ก็ต่อเมื่อมีการพระศพและการศพตามโบราณราชประเพณี ส่วนใหญ่เมื่อมิได้ใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวแล้ว จึงมีสภาพเก่าและชำรุดไปตามกาลเวลา

ราชรถขนาดเล็ก มีชื่อเรียก รูปทรงสัณฐานและการใช้สอย ต่างกันไปตามลำดับแห่งเกียรติยศ มีลำดับการใช้ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า พระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระราชวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระวงศ์เธอ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมหม่อมห้าม ท้าวนางราชสกุล ขุนนางชั้นสมเด็จเจ้าพระยา พระยา พระ พระสงฆ์ผู้ทรงสมณะศักดิ์ ตั้งแต่ชั้นสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือใช้ตามแต่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้ได้เป็นกรณีพิเศษ ดังนี้
   ๑.รถโถง
   ๒.ราชรถน้อย
   ๓.รถพระวอวิมาน หรือ รถมณฑป
   ๔.รถพระวิมาน หรือ รถจัตุรมุข
   ๕.รถวอพระประเทียบ
   ๖.รถวอประเทียบ
   ๗.รถวอ
   ๘.รถแปลง
   ๙.รถปืน

ราชรถโถง คือรถไม่มีหลังคาและเสาสำหรับเทียมม้า มี ๔ ล้อ กึ่งกลางมีแท่นทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสำหรับทรงพระโกศ ทำเป็นชั้นเกรินซ้อนกัน ๒ ชั้น ชั้นบนตกแต่งกระหนกเศียรนาคและกระหนกหางนาคเรียงกัน ๓ แถว ชั้นล่างมีกระหนก ๕ แถว มีเทพนมประดับโดยรอบ ส่วนบนสุดซ้อนฐานบัวกลุ่มรองรับพระโกศ ส่วนหน้าและส่วนท้ายมีเกรินราชรถ จำหลักกระหนกเศียรนาคและหางนาค ๗ แถว สำหรับชาวภูษามาลาแต่งตัวเป็นเทวดาขึ้นประคองพระโกศ ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ ด้านหลังมีที่นั่งสำหรับเทวดาถือเครื่องสูง ที่มุมทั้งสี่ของราชรถและฐานเกรินชั้นบนล้อมราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง เว้นช่องไว้ทางด้านข้าง สองข้างราชรถตกแต่งเป็นรูปลำตัวนาค ใต้ลำตัวนาคที่กึ่งกลางมีบันได้รูปนาค สำหรับเหยียบขึ้นราชรถ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ๒ รถ หมายเลขทะเบียน ๙๗๘๕ และ นช.๕๓๘ จากลักษณะทางศิลปกรรมเทียบเคียงได้กับพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถ จึงอาจสร้างขึ้นครั้งรัชกาลที่ ๑ โดยใช้เป็นรถโกศจันทน์ (ประดิษฐานพระโกศจันทน์) และรถเครื่องหอม (ตั้งพานแว่นฟ้าใส่ไม้จันทน์เทศ จันทน์คันนา (จันทนา หรือ จันทน์ขาว) สน กรักขี กฤษณา สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ) ในกระบวนแห่พระบรมศพของพระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหาอุปราช

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เคยใช้ทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ จากถนนระหว่างพระอุโบสถและกุฎีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปยังพระเมรุวัดราชบพิธ ในวันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘ (พุทธศักราช ๒๔๒๙) ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตมธำรง จากวังพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ไปยังหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงพระมหาพิไชยราชรถ เข้าสู่พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุนนพศก ๑๒๔๙ พุทธศักราช ๒๔๓๐ และใช้แห่ศพเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม (พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี  พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี  และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จากวังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการไปยังพระเมรุสวนมิสกะวัน เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๓

ราชรถโถง จึงใช้สำหรับเจ้านายซึ่งมีพระเกียรติยศตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า (เจ้าฟ้าลูกเธอ) ถึงพระองค์เจ้า (พระองค์เจ้าลูกเธอ) ตลอดจนถึงใช้กับศพสามัญชนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้เป็นกรณีพิเศษ



ราชรถโถง
เลขทะเบียน ๙๗๘๕
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด ยาว ๕๘๕ เซนติเมตร สูง ๒๖๖ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ราชรถโถง
เทียมม้า เชิญโกศกุดั่นใหญ่ศพเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม
เคลื่อนจากถนนราชดำเนินนอกไปสู่เมรุสวนมิสกะวัน
วันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๓ เครื่องสูงสำหรับยศ
มีบังแทรก กลดกำมะลอ บังสูรย์ พักโบก และภูษามาลา
ขึ้นประคองพระโกศ


ราชรถโถง
เลขทะเบียน นช.๕๓๘
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด ยาว ๕๔๕ เซนติเมตร สูง ๒๖๘ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ราชรถโถง
เทียมด้วยม้าเทศ ๖ ม้า เชิญพระโกศมณฑปทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอ
พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ไปสู่พระเมรุวัดราชบพิธ วันจันทร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๒๙
มีอินทรพรหมถือจามรคู่เคียงราชรถ เครื่องสูงกลดกำมะลอ บังสูรย์
พัดโบก ๑ สำรับ บนรถมีสารถีขับม้า ภูษามาลาประคองพระโกศ
ปักฉัตรประกอบเกียรติยศที่มุมทั้งสี่ของราชรถ
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๒๔๕-๒๔๖


ราชรถน้อย ลักษณะอย่างราชรถโถง คือไม่มีหลังคาและเสา มี ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า หรือใช้กำลังคนฉุดชัก (คนฉุดชัก ๔๐ คน) แท่นรองรับพระโกศทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ส่วนหน้าและส่วนท้ายมีเกรินราชรถ สำหรับชาวภูษามาลาขึ้นประคองพระโกศ ด้านหน้าจำหลักไม้เป็นกระหนกเศียรนาค และด้านหลังจำหลักเป็นกระหนกหางนาค สองข้างราชรถจำหลักเป็นลำตัวนาค ใช้สำหรับพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้นพี่เธอ น้องเธอ) และพระองค์เจ้า (ชั้นลุง ป้า อา น้า ของพระเจ้าแผ่นดิน และชั้นพี่เธอ น้องเธอ) และอาจโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นกรณีพิเศษสำหรับพระอนุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ และพระวรวงศ์เธอ (พระองค์เจ้าชั้นพระนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน) สำหรับพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์ ใช้สำหรับสมเด็จพระสังฆราช และอาจโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นกรณีพิเศษสำหรับสมเด็จพระราชาคณะ

ราชรถน้อยมีหลายองค์ รูปลักษณ์การสร้างปรับเปลี่ยนไปตามสุนทรียภาพแห่งยุคสมัย ปัจจุบันภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เก็บรักษาราชรถน้อย จำนวน ๒ องค์ องค์แรกเลขทะเบียน นช.๕๓๙ อาจสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ และองค์ที่สอง (ไม่มีเลขทะเบียน) สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖




ราชรถน้อย
สมัยรัชกาลที่ ๖ เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ราชรถน้อย
เลขทะเบียน นช.๕๓๙
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด ยาว ๕๒๐ เซนติเมตร สูง ๒๑๓ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่ง พระนคร

ราชรถน้อย มี ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า ส่วนหน้าและส่วนท้ายมีเกรินราชรถ
จำหลักกระหนก ๕ แถว ตรงกลางเป็นแท่นรองรับพระโกศ ตัวแท่นทำเป็นฐานสิงห์
ด้านหน้าและด้านหลังแท่นมีเกยลา สำหรับชาวภูษามาลาขึ้นประคองพระโกศ
เหนือแท่นมีพนักลูกกรงล้อมโดยรอบ เว้นช่องพนักตรงเกยลาทั้งสองด้าน
คานสองข้างราชรถจำหลักรูปนาค สภาพชำรุด ลวดลายไม้จำหลักหักหายไปบางส่วน



ราชรถน้อย
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค ไม้แกะสลักลงรักปิดทองทาชาดประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๓๐ เซนติเมตร ยาว ๗๘๐ เซนติเมตร สูง ๒๓๐ เซนติเมตร

ประวัติ สร้างสำหรับทรงพระโกศสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา ออกพระเมรุ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๘ และใช้ในการรัฐพิธีหลายครั้ง เช่น ใช้ในการแห่พระบรมสารีริกธาตุเข้าบรรจุในพระธาตุพนม แห่พระบรมสารีริกธาตุจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปประดิษฐานยังโลหะปราสาท แห่พระพุทธสิหิงค์ออกสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ แห่ไฟพระฤกษ์ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๑๓ และแห่ไฟพระฤกษ์ในการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ ๗

ราชรถน้อย ตรงกลางมีแท่นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสำหรับทรงโกศ ทำด้วยไม้จำหลักลงรักปิดทองประดับกระจก เป็นแท่นเท้าสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง ท้องสิงห์ยกสูง ทำลวดลายแผลงราชวัตรประดับดอกสี่กลีบทรงกลมฉลุลายโปร่ง กึ่งกลางแท่นประดับลายหน้ากาล ๓ ด้าน เว้นด้านหน้า เหนือแท่นเท้าสิงห์ประดับลายกระจัง รองรับด้วยฐานบัวกลุ่มทรงสี่เหลี่ยม สำหรับรองรับโกศ ส่วนด้านหน้าและด้านหลังแท่นเท้าสิงห์ประกอบด้วยเกริน ตกแต่งกระหนกท้ายเกริน ๑ ชั้น ใช้สำหรับชาวภูษามาลาขึ้นประคองพระโกศ ด้านหน้าราชรถมีแท่นขาสิงห์ทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก สองข้างประดับลายหน้ากาล สำหรับพลขับนั่งหรือตั้งเครื่องสูง สี่มุมราชรถมีที่สำหรับปักฉัตร คานสองข้างจำหลักรูปลำตัวนาค งอนราชรถทาชาดปลายงอนทำเป็นรูปเหราคายนาค ๑ เศียร มีธงพร้อมพู่ประดับอยู่บนงอนราชรถ




ราชรถน้อย
เทียมม้า ๔ ม้า อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพ
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุ
ท้องสนามหลวง วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๕๗


ราชรถพระวอวิมาน หรือ รถมณฑป หลังคาทรงจัตุรมุขพิมานประกอบยอด หลังคาทองก้านแย่งประดับช่อผ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนยอดมีชั้นเชิงกลอนซ้อน ๓ ชั้น องค์ระฆัง เหม บัวกลุ่ม ปลีต้น เม็ดน้ำค้าง ปลีปลาย และพุ่ม ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขยื่นยาวออกไปเป็น ๓ ห้อง ทำหลังคาซ้อน ๓ ชั้น มีเสารองรับหลังคา ๘ คู่ ผูกม่านทุกเสา ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ มีล้อ ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า มีลำดับศักดิ์การใช้ต่ำกว่าราชรถน้อย โดยเป็นราชรถอัญเชิญพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้นพี่เธอ น้องเธอ) และพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้นลุง ป้า อา น้าของพระเจ้าแผ่นดิน) ทรงกรมไปขึ้นราชรถใหญ่หรือราชรถน้อย นอกจากนี้ใช้กับพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ไม่ทรงกรม) และพระองค์เจ้าชั้นพี่เธอ น้องเธอ เป็นต้น

รถพระวอวิมานเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา




รถพระวอวิมาน หรือ รถมณฑป
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๕๐ เซนติเมตร สูง ๕๕๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



(บน) รถพระวอวิมาน เทียมม้า ๔ ม้า อัญเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ จากวังเทวะเวสม์ไปทรงเวชยันตราชรถ
ที่หน้าพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๓๒

(ล่าง) รถพระวอวิมาน เทียมม้า ๔ ม้า อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพ
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา สิรินิภาพรรณวดี
กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา จากพระที่นั่งอภิเษกดุสิตไปประดิษฐาน
บนราชรถน้อย หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วันที่ ๑๓ กรกฎาคม
พุทธศักราช ๒๔๖๘ ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๕๖


รถวิมาน หรือ รถจัตุรมุข  คือรถหลังคาทรงจัตุรมุข มีล้อ ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า หลังคาทองก้านแย่งประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่มียอด ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขยื่นยาวออกไปเป็น ๓ ห้อง ทำหลังคาซ้อน ๓ ชั้น มีเสารองรับหลังคา ๘ คู่ ผูกม่านทุกเสา ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ ใช้สำหรับพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ และพระราชวงศ์เธอ (พระโอรส พระธิดาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) เจ้าจอม ท้าวนางราชสกุล และสมเด็จพระราชาคณะ เป็นต้น

รถวิมานเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา



รถวิมาน หรือ รถจัตุรมุข
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๕๐ เซนติเมตร สูง ๕๕๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


รถพระประเทียบ หรือ รถประเทียบบราลี
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๕๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


รถพระประเทียบ รถประเทียบ และรถวอ คือ รถมีหลังคาทรงคฤห (ทรงจั่ว) อย่างวอ สำหรับเทียมม้า มีลักษณะการตกแต่งและลำดับศักดิ์การใช้ต่างกันเป็นลำดับ คือ

รถพระประเทียบ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารถประเทียบบราลี ใช้สำหรับพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ (พระนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน) พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระราชวรวงศ์เธอ (พระโอรสธิดาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) และพระวรวงศ์เธอ (พระองค์เจ้าที่ได้รับการสถาปนาเป็นพิเศษ) ไปจนถึงเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า และเจ้าจอม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้เป็นกรณีพิเศษ ลักษณะรถพระประเทียบ หลังคาหุ้มผ้าทองซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และบราลี มีเสารองรับหลังคา ๔ คู่ แบ่งเป็น ๓ ห้อง ผูกม่านทอง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รถประเทียบ ใช้สำหรับเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ท้าวนาง เจ้าจอม หม่อมห้าม ขุนนางชั้นเจ้าพระยา พระยา พระ และพระสงฆ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ลักษณะรถพระประเทียบหลังคาหุ้มผ้าทอง ซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีเสารองรับหลังคา ๔ คู่ แบ่งเป็น ๓ ห้อง ผูกม่านดาดสี เดิมเคยเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา




(บน) รถพระประเทียบ หรือรถประเทียบบราลี
เทียมม้า เชิญโกศลองในศพ เจ้าจอมมารดาชุ่ม
ในรัชกาลที่ ๔ เวียนพระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๙๔

(ล่าง) รถพระประเทียบ หรือรถประเทียบบราลี
เลขทะเบียน ๙๗๘๖
อายุสมัยฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาดกว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๕๐ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รถพระประเทียบ มี ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า หลังคาเป็นวอช่อฟ้า ทรงจั่ว ซ้อน ๒ ชั้น ดาดด้วยผ้าทอง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ รูปเศียรนาค สันหลังคาประดับบราลี อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า “รถประเทียบบราลี” หน้าบันจำหลักลายพุ่มหน้าขบอยู่กึ่งกลางลายก้านขดฉลุโปร่ง ปิดทองทึบ มีเสารองรับข้างละ ๔ เสา รวม ๘ เสา ปลายเสามีคันทวยรูปนาครองรับชายคา ส่วนหน้ารถมีแท่นที่นั่งสำหรับพลขับนั่ง ตรงกลางรถเป็นแท่นกว้าง สำหรับวางโกศผู้มีศักดิ์ ลวดลายประดับทำด้วยดีบุกหล่อปิดทอง สองข้างราชรถจำหลักลายรูปนาค



(บน : ภาพซ้าย/ขวา) รถประเทียบ
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๐๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

รถประเทียบหลังคาทรงจั่ว ซ้อน ๒ ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
มีเสา ๔ เสา ผูกม่านดาดสี สองข้างรถตกแต่งไม้จำหลักรูปนาค
ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ เทียมม้า

(ล่าง : ภาพซ้าย/ขวา) รถประเทียบ
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๖
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๔๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๒๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

รถประเทียบ หลังคาทรงจั่ว ซ้อน ๒ ชั้น ประดับช่อฟ้า
ใบระกา หางหงส์ มีเสา ๔ คู่ ผูกม่านทอง สองข้างรถตกแต่งไม้
จำหลักรูปนาค  ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ เทียมม้า


รถวอ ใช้สำหรับเจ้าจอม ท้าวนาง และขุนนาง ชั้นพระยา ไม่ทราบลักษณะรถ เข้าใจว่าเป็นรถหลังคาซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ดาดผ้าสีและผูกม่านดาดสี

รถแปลง ไม่ทราบลักษณะ เข้าใจว่าเป็นรถไม่มีหลังคา อาจดัดแปลงจากรถวอ จึงเรียกรถแปลง ใช้กับท้าวนางราชนิกุล เจ้าจอมมารดา ขุนนางชั้นเจ้าพระยา พระยา และผู้มียศอื่นๆ

รถปืน คือรถดัดแปลงจากรถบรรทุกปืนใหญ่ มีฐานรองรับโกศ ใช้โดยเฉพาะกับผู้มียศทางทหาร นับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศ์ และผู้มียศอื่นๆ รถปืนซึ่งเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เดิมใช้เชิญศพจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

นอกจากนี้ รถขนาดเล็กซึ่งใช้ในการศพยังมีอีกมาก โดยใช้เป็นรถพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรมนำหน้าศพรถโยงผ้าสดับปกรณ์ รถโปรยข้าวตอกดอกไม้ รถตามขบวน รถสังเค็ต ตามธรรมเนียมแห่ศพไปสู่เมรุที่เผา เป็นขบวนใหญ่โตครึกครื้นมาแต่ในอดีต รถดังกล่าวนี้ได้เสื่อมหายและชำรุดหักพังไปตามเวลาอันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมการศพ ตัดการโยง การโปรย กระบวนรถนำ รถตามต่างๆ ให้มีความเรียบง่ายสมสมัยมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ รถขนาดเล็กซึ่งห่างหายจากการใช้สอยตามธรรมเนียมดั้งเดิมจึงเป็นแต่เพียงหลักฐานของอดีตให้รำลึกถึงวันวารที่ร่วงโรยพ้นผ่านกาลเวลาล่วงสมัยไปแล้วในปัจจุบัน





(บน) รถปืนใหญ่รางเกวียน ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เวียนพระเมรุมาศ วันที่ ๒๔ มีนาคม
พุทธศักราช ๒๔๖๘ โดยอนุโลมตามพระราชพินัยกรรม ซึ่งทรงระบุให้ใช้
รถปืนใหญ่บรรทุกพระบรมศพจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุ
มีความตอหนึ่งว่า “เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางระยะสุดนี้เป็นอย่างทหาร”
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๘๒

(ล่าง) รถปืน
เลขทะเบียน ไม่มีหมายเลข
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค โครงสร้างเหล็กและไม้
ขนาด กว้าง ๑๘๙ เซนติเมตร ยาว ๖๑๐ เซนติเมตร สูง ๑๗๙ เซนติเมตร
ประวัติ กรมสรรพาวุธทหารบกมอบให้ เคยใช้รองโกศของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รถปืนใหญ่ มีล้อหลัง ๒ ล้อ และล้อบังคับเลี้ยว ๑ ล้อ ท้ายมีแท่นรองโกศ
ทำด้วยไม้ทาสีปิดทอง ทำเป็นฐานบัวกลุ่มย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้าและด้านหลัง
มีมุขประดับรูปนาคเหรา สำหรับผู้ขึ้นประคองโกศสองข้างรถประดับรูปนาคเหรา


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : ถามมา - ตอบไป "ราชรถน้อย" โดย เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
                         นิตยสารศิลปากร กรมศิลปาการ จัดพิมพ์เผยแพร่
2977  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ประเพณี "จกสาว" สุดแปลก! เรื่องจริงที่ต้องเล่า เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2559 11:20:11

ประเพณี "จกสาว"
เรื่องจริงที่เหลือเชื่อ (จบ)

ปัญหาที่เล่าค้างไว้ ว่าเมื่อการลูบคลำได้บังเกิดอารมณ์ถึงขั้นสุดท้ายจะทำอย่างไร ปัญหานี้อยู่ที่ตัวสาว หากอารมณ์นั้นตรงกันถึงขีดสุด สาวเจ้าก็จะเปิดหน้าต่างซึ่งอยู่เหนือ "ช่องล้วงสาว" นั้นให้ไอ้หนุ่มปีนขึ้นไปหาเท่านั้นก็สิ้นเรื่องราว แต่มิได้หมายความว่าจะให้ไอ้หนุ่มได้กินไข่แดงฟรีๆ  เมื่อนาทีอันสุดยอดนั้นผ่านไปแล้วสาวก็จะเรียกพ่อเฒ่าแม่เฒ่าให้ลุกขึ้นมาดูหน้าลูกเขยแมวขโมยคนนั้นทันที

เมื่อมาถึงขั้นนี้ ประเพณี "ล้วงสาว" ก็ได้คลายไปอีกเปราะหนึ่งโดยกลายเป็นประเพณีของการได้ผัวได้เมียในแบบฉบับที่เขาเรียกกันว่าประเพณี "ซู"  ความพิสดารของประเพณีนี้ก็มีแยกแตกแขนงออกไปอีก เพราะมันคาบเกี่ยวกับประเพณีแรก   นั้นคือเมื่อเกิดการ "ซู" กันขึ้นซึ่งหมายถึงการลักลอบได้เสียกันเอง ถ้าหากว่าสาวเจ้าไม่ร้องเรียกพ่อแม่ให้รู้ว่าตนถูกไอ้หนุ่มกินไข่แดง หรือเผลอไปโดยกะว่าจะร้องเรียกแม่พ่อในตอนใกล้จะสว่าง ไอ้หนุ่มมันแว๊บหายตัวโดดหน้าต่างไปก็เป็นอันว่าชวด โดนกินไข่แดงฟรีไป แต่ถ้าสาวเจ้าไม่เผลอ หรือไม่ประมาทร้องเรียกพ่อเฒ่าแม่เฒ่าให้รู้เสียแล้วก็เป็นอันว่าเจ้าหนุ่มนั้นจะต้องเสียผี ตบแต่งตามประเพณี ถ้าหากไอ้หนุ่มไม่ยอมแต่งก็จะต้องเสียค่าสินไหมตามคำเรียกร้องของฝ่ายหญิง และไอ้หนุ่มคนนั้นก็อย่าได้มาแหย็มอีกต่อไปตลอดชาตินี้

ความยอกย้อนของประเพณี "ซู" ที่คาบเกี่ยวกับประเพณีล้วงสาวยังมีปลีกย่อยพิสดารออกไปอีกคือ หากไอ้หนุ่มยินยอมตบแต่งตามประเพณี ซู และอยู่กินกับสาวถึง ๓ วัน ต่อไปหมอจะโดดตุ๊บลงเรือนหายป๋อมไปเลยเป็นแรมเดือนยังไงก็แล้วแต่ หากหมอกลับมาสาวคนนั้นก็ยังเป็นสิทธิของหมออยู่ แต่หากหมอนั่นอยู่กับสาวเพียงคืนเดียว แล้วหายป๋อมไม่มาบ้านสาวอีกเลยเป็นระยะเวลาเลยสามวันขึ้น ถือว่าสาวคนนั้นอิสระไม่มีพันธะใดๆ ต่อกันอีก ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลกลใดก็ตาม ฟังดูให้ดีครับสามคืนกับคืนเดียวมีผลแตกต่างกันมหาศาลอย่างนี้  นี่แหละครับประเพณีอันพิสดารที่ให้ความอิสระในเรื่องความรักและกามารมณ์ โดยวางอยู่บนมาตรฐานของศีลธรรมอันดีงาม

ย้อนกล่าวถึงน้ำใจอันกว้างขวางของหนุ่มเจ้าถิ่นต่ออาคันตุกะ หากอาคันตุกะผู้นั้นอยู่ในหมู่บ้านนั้นนานเหมือนผู้เขียน การคบหาสมาคมเป็นบันไดแรกที่จะไต่เต้าเข้าไปถึงประเพณีของเขา หากการคบหาสมาคมเป็นบันไดแรกที่จะไต่เต้าเข้าไปถึงประเพณีของเขา หากการคบหานั้นเป็นที่ถูกอกถูกใจรักใคร่ซึ่งกันและกัน และลงได้ถึงขั้นผูกแขนเป็น "เสี่ยวเหยเพยแพง" กันแล้วก็ยิ่งง่ายเข้า เพื่อนรักซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นหากหมอบังเอิญเป็นคนเจ้าชู้มีโค๊ตลับหลายอันกับสาวๆ หมอก็จะแบ่งปันโค๊ตอันนั้นให้ ซึ่งไม่ผิดอะไรกับ "บัตรปันส่วน" หรือหากหมอไม่เจ้าชู้หมอก็จะไปขอจากเพื่อนๆ ที่เจ้าชู้มาเป็นการต้อนรับหรือรับรองแขกเมืองให้เรา ๑ อัน แล้วก็พาเราไปชี้ตัวสาวเจ้าของโค๊ต หรือนำไปแนะนำให้รู้จักกันโดยไม่ให้เกิดพิรุธว่าไอ้หนุ่มต่างถิ่นมันมีใบเบิกทางที่จะย่องมาล้วงตับสาวละ

ตานี้ก็เป็นบทบาทของเราเองที่จะขึ้นไป "แอ่ว" ดังได้กล่าวข้างต้นเป็นการกรุยทางแล้วก็ลองขอสิ่งแลกเปลี่ยน (โค๊ต) หากสาวไม่ให้ก็ บ่เป็นหยังดอก เพราะเรามีอยู่แล้ว กะว่าได้เวลาสาวควรจะหลับนอนแล้วเราก็ลาลงเรือนมาเสีย แล้วก็ย้อนกลับไปเคาะสัญญาณลับที่ช่องล้วงสาว

ในขณะที่ "แอ่ว" สายตาเราก็โลมเลียมหน้าตาส่วนสัดของสาวเจ้าไว้แล้ว (สัปดนวันละนิดจิตแจ่มใส) อดใจไว้อีกสักนิดก็จะได้พิสูจน์ด้วยประสาทสัมผัสอยู่แล้วน่า อะไรทำนองนั้น ปากก็คุยไปตาก็โลมเลียมไป

สาวๆ ในหมู่บ้านที่มีประเพณีอันนี้ ถ้าดูเพียงฉาบฉวยจะเหมือนคนใจง่าย แต่ที่จริงแล้วสาวๆ เหล่านั้นได้ถูกฝึกปรือให้มีความคิดเห็น มีความพอใจ โดยตนของตนเอง โดยเฉพาะเหตุผลของเจ้าหล่อนเหล่านั้น ไม่มีใครจะกล้ายื่นมือเข้าไปสอดแทรก ทั้งนี้ก็เพราะหมู่บ้านได้ตราประเพณีเสรีภาพ อิสรภาพ  ทั้งกายและใจไว้แก่พวกหล่อนอย่างนั้นนี่...  ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เจ้าหล่อนจะอ่อนไหวไปกับคำโลมเลียมของหนุ่มและไม่หนุ่ม หากอารมณ์ของพวกหล่อนเกิดพ้องพานกันขึ้น

สาวที่หมู่บ้าน 'ห้วยกระเดียน' ไม่เห็นเป็นของแปลกหรือเป็นที่เสียหายอะไร ในเมื่อเจ้าหล่อนจะให้ "โค๊ต" ไปกับหนุ่มหลายๆ คน ในเมื่อหนุ่มๆ เหล่านั้นยังรักเผื่อเลือกได้ทำไมพวกเจ้าหล่อนจะทำบ้างไม่ได้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น

ผู้เขียนผวาร่างไปที่ "ช่องล้วงสาว" เคาะป๊อกๆ ตามโค๊ตที่ได้รับมา ๒ ที  ภายในห้องของสาวยังเงียบกริบอยู่ อีกอึดใจหนึ่งก็เคาะป๊อกๆ อีกสองที คราวนี้ได้ยินเสียงฟากไม้ไผ่ที่รองรับร่างของหล่อนดังกรอบแกรบ  แสดงว่าเจ้าหล่อนรู้แล้วว่าเป็นสัญญาณหรือโค๊ตของใคร  พออีกป๊อกๆ หนสุดท้าย สลักที่ปิดบนช่องล้วงก็ดังแกร๊กแต่หล่อนไม่เปิดเอง ผู้เขียนลองเอานิ้วมือดันเบาๆ มันก็เปิดออก แล้วผู้เขียนก็เสือกลำแขนเข้าไปจนสุดช่วงไหล่ เอามือควานคว้าหาตัวสาวเจ้า ปรากฏว่าควานพบแต่อากาศอันว่างเปล่าท่ามกลางเสียงหัวเราะคิกคักชอบใจของเจ้าหล่อน  ควานจนแขนล้าก็ไม่พบเจ้าของห้อง จึงเลยทอดแขนลงด้วยความอ่อนใจ ตอนนี้เองที่สาวเจ้าตะครุบมือของผู้เขียนปั๊บ  หล่อนเอามือหนึ่งกดแขนไว้ให้อยู่นิ่งๆ กับที่ อีกมือหนึ่งของหล่อนก็คลำหา "โค๊ต" ที่นิ้วมือผู้เขียนได้ "โค๊ต" เป็นแหวนถักด้วยหวายสวมไว้ที่นิ้วกลาง หล่อนคลำดูที่แหวนนั้นจนมั่นใจแล้วจึงหยิกมั๊บลงบนหลังมือ แล้วร่างของหล่อนก็ขยับมาจนชิด "ช่องล้วงสาว" ตัดพ้อต่อว่า ว่าทำไมมาถึงดึกนัก เค้าง่วงนอนแล้วไม่ใช่เหรอ  วันหลังมาใหม่ดีกว่า ฯลฯ อะไรทำนองนี้เป็นเชิงเง้างอน ผู้เขียนก็โอ้โลมด้วยคำหวานเบาๆ เพื่อคล้อยตามอารมณ์งอนของเจ้าหล่อน

ตอนที่หล่อนขยับตัวเข้ามาชิด "ช่องล้วงสาว" นั้น แขนของผู้เขียนเป็นอิสระแล้ว ผู้เขียนได้ยกมันขึ้นลูบไล้ตามหลังไหล่และลำแขนของเจ้าหล่อนอย่างแผ่วเบาละมุนละไม ไม่ปรากฏว่าสาวเจ้าขัดขืนแต่ประการใด  แต่พอผู้เขียนทำท่าจะเลยเส้นขนานไปตามสัญชาตญาณของเพศผู้ สาวเจ้ากลับปัดป้องอย่างเหนียวแน่น ผู้เขียนจึงต้องใช้ลิ้นลมเข้าโลมเล้าอีกแรงหนึ่ง สาวเจ้าจึงทอดตัวลงนอนเหยียดอยู่ข้างๆ "ช่องล้วงสาว"

ปล่อยให้ผู้เขียนลูบไล้ไปตามสบาย ท่านลองหลับตานึกภาพเอาเองเถอะว่าการที่ผู้ชายอย่างเราท่าน มีโอกาสได้ลูบไล้ร่างของหญิงสาวด้วยความเต็มใจของเจ้าหล่อน เพียงมีแขนและมือข้างเดียวนั้น มันจะทารุณจิตใจสักเพียงไหน?  ผู้เขียนชักกระตุกดิ้นงอแดยันอยู่เพียงฝ่ายเดียว  สาวเจ้ากลับนอนหัวเราะคิ๊กๆ เหมือนจะยั่วให้ทลายฝาห้องเข้าไปพิชิตเสียสิ้นดี แต่ก็ทำไม่ได้ จนแล้วจนรอดมันก็ไอ้แค่นั้น วอนเสียงสั่นเสียงเครือให้สาวเปิดหน้าต่าง สาวก็เงียบเฉย แม้ว่าบางครั้งร่างของหล่อนจะบิดเบี้ยวไปมา แต่เสียงกระซิบที่ดังโต้ตอบออกมาก็มีอยู่เพียงประโยคเดียวซ้ำซากอยู่อย่างนั้นว่า...ไม่ได้ ไม่ได้ ..ผิดผี...ผิดผี...!!  ไม่มีอะไรดีกว่ากระซิบกระซาบนัดหมายหล่อนอีกในคืนวันรุ่งขึ้น, นัดเวลา, นัดแนะโค๊ตใหม่ที่จะใช้ในวันรุ่งขึ้น ซักซ้อมกันจนเป็นที่ขึ้นใจ  ผู้เขียนก็ลาสาวกลับไปนอนที่พักด้วยอาการอันโผเผเบาเนื้อเบาตัวพอประมาณ...เฮ่อ...เหนื่อย...


คืนวันรุ่งขึ้น เมื่อถึงเวลานัดผู้เขียนก็ตรงไปเลย โดยไม่ต้องขึ้นไปแอ่วอย่างเมื่อวานนี้ เมื่อได้โค๊ตที่ได้นัดหมายกันไว้ถูกต้องแล้ว “ช่องล้วงสาว” ก็เปิดออกมาดังแกร๊ก แต่คราวนี้สาวเจ้าเป็นคนเปิดเอง

มีการตรวจสอบเครื่องหมายที่นิ้วมืออีกเช่นเคย แต่คราวนี้สาวเจ้ายอมทอดตัวให้ลูบไล้เร็วกว่าคืนที่แล้ว กระบิดกระบวนต่างๆ ก็ไม่มี เสียงพูดคุยจากเจ้าหล่อนก็ชักจะหายไป มีแต่เสียงลมหายใจฟืดฟาดดังลอดฝาออกมาแทน  ผู้เขียนได้รับทราบเคล็ดลับมาจากไอ้หนุ่มเจ้าของโค๊ตแล้วว่าจักต้องดำเนินการอย่างไรกับสาวนางผู้นี้  หลักใหญ่หรือเคล็ดที่ว่านี้ก็ไม่มีอะไรนอกจากไอ้หนุ่มผู้ใจกว้างมันสอนไว้ว่า ให้ใจเย็น, ข่มอารมณ์,  ดำเนินการอย่างละมุนละไม,  อย่าตะกรุมตะกราม  หากดำเนินการอย่างนี้ได้แล้วโดยไม่ด่วนวิ่งล่วงหน้าหล่อนไปถึงหลักชัยก่อนแล้ว ไม่นานนักดอกสาวเจ้าก็จะลุกพรวดพราดขึ้นมาเปิดหน้าต่างรับอย่างแน่นอน นั่นแหละคือชัยชนะของคำว่า ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’

และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลาผ่านไปไม่ถึง ๓๐ นาที เสียงครางของสาวกลายเป็นเสียงสะอื้นถี่ๆ อยู่พักหนึ่ง หน้าต่างเหนือ ‘ช่องล้วงสาว’ ก็เปิดผลั๊วะออกมา ก็ไม่มีปัญหาอะไรต่อไปอีกแล้วใช่ไหม? ครับ!

ความจริงประเพณีการล้วงสาว มันสิ้นสุดสมบูรณ์แบบตั้งแต่คืนแรกโน่นแล้วขอยืนยันอีกครั้งว่า ประเพณีการล้วงสาวมีเพียงแค่นั้นจริงๆ ผู้เขียนยอมรับว่าไอ้เพียงแค่นั้นของประเพณีนี้ ทำให้อารมณ์หนุ่มของผู้เขียนผ่อนคลาย หรือที่เรียกว่า “แก้ขัด” ไปได้อย่างสบายมาก แต่ก็อย่างว่าคำว่าพอของโลกมนุษย์มีซะเมื่อไหร่ ได้เท่านี้แล้วก็อยากจะได้ให้มันมากไปยิ่งกว่านั้น เป็นสันดานของมนุษย์

ส่วนเหตุเกิดในคืนที่สองนั้น มันได้กลายเป็นประเพณี “ซู” ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ ไปเสียแล้ว ไม่ใช่ประเพณีล้วงสาว

ผู้เขียนอาจเป็นคนโชคดีในการคบมิตร ไอ้หนุ่มเพื่อนเกลอผู้เสียสละหมอยังอุตส่าห์แนะทีเด็ดเกี่ยวกับทางหนีทีไล่ไว้เสร็จ เมื่อก้าวล้ำเข้าไปถึงขั้น “ซู” แล้วจะแก้ไขอย่างไร ไอ้เพื่อนรักมันบอกให้ผู้เขียนต่อยให้หนัก อย่าให้คู่ต่อสู้โงหัวขึ้นมาได้ ยิ่งใกล้จะสว่างเท่าไหร่ มีหมัดน็อคเท่าไหร่ น็อคให้สลบเหมือดไปเลย อย่าได้ปรานี  

ดังนั้น พอไก่ขันครั้งที่ ๓ ผู้เขียนก็กล่อมสาวน้อยบ้านห้วยกะเดียนเสียสลบไสลไปเลย แล้วผู้เขียนก็ปาฏิหาริย์ตุ๊บลงทางหน้าต่าง หายลับไปกับความสลัวๆ ของเวลารุ่งอรุณ  หวานไปรายหนึ่งละ

สามอาทิตย์ที่อยู่ ณ หมู่บ้านวิมานทิพย์แห่งนั้น ผู้เขียนได้ล้วงสาวโดยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของบรรดาเสี่ยวๆ รุ่นราวคราวเดียวกันไม่เว้นแต่ละคืน และแทบทุกคืนมักจะถึงขั้น “ซู” ทั้งนั้น ทั้งนี้เพราะได้ลับเคล็ดหรือทริกจากเพื่อนๆ นั่นเอง  

เพียงอาทิตย์ที่ ๓ ผู้เขียนก็เดินโต๋เต๋ จำต้องอำลาหมู่บ้านพิสวาสแห่งนั้นกลับมาด้วยความอาลัย

จากวันนี้ไปจนถึงวันหน้า ประเพณีอันนี้ก็คงจักได้เป็นเพียงอดีตที่ฝังใจของผู้ได้ผ่านพบประสบมาเท่านั้น โลกได้วิวัฒนาการก้าวไกลไปจนมนุษย์ถึงโลกพระจันทร์แล้ว ประเพณีดังกล่าวนี้ก็คงสูญหายไปทีละนิดๆ จนกระทั่งมลายไปตามความเจริญของโลกยุคใหม่  ประเพณีอันพิสดารนี้วางมาตรการอยู่ได้ด้วยจิตใจของคนในสมัยนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียจริงๆ ถึงแม้ว่ามันจะถูกประคับประคองมาจนถึงปัจจุบันนี้ มันก็คงจะดำเนินไปบนหลักการดังกล่าวนั้นไม่ได้ เพราะคนในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงจิตใจ ไปจนไม่มีสิ่งใดที่จะกระชากฉุดหยุดรั้งไว้ได้เสียแล้ว...น่าเสียดาย...[/size]

...เฮ๊อ...น่าเสียดาย...น่าเสียดายจริงๆ...

2978  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ไก่ทอดตะไคร้ สูตรและวิธีทำ เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2559 18:50:08

ตะไคร้ ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคหืด แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ แก้อหิวาตกโรค ทำเป็นยาทาแก้ปวดก็ได้
และยังใช้รวมกับสมุนไพรชนิดอื่นรักษาได้ เช่น บำรุงธาตุ เจริญอาหาร และขับเหงื่อ
ตำรายาไทยใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด
ประโยชน์เยอะขนาดนี้ ถ้าเอามาทำให้อร่อยด้วยละก็ถึงกับกินจนลืมนึกถึงประโยชน์กันเลยทีเดียว





ไก่ทอดตะไคร้
กรอบ อร่อย - กิมเล้ง

เครื่องปรุง
- น่องไก่ติดสะโพก ½ กิโลกรัม
- พริกไทยดำ ¼ ช้อนชา
- กระเทียมไทย 4-5 กลีบ
- ตะไคร้  1 ต้น
- เกลือป่น 1 ช้อนชา
- แป้งทอดกรอบ 2 ช้อนโต๊ะ


วิธีทำ
1.ล้างตะไคร้ให้สะอาด หั่นเป็นท่อนตามขวาง ยาวประมาณ 2 ซม. ใช้สากหรือมีดหนักๆ ทุบให้แตก ยีให้กระจาย แล้วนำไปตากแดด พอหมาดๆ หรือเกือบแห้ง
2.ล้างไก่ให้สะอาด แล่เนื้อด้านละ 2-3 บั้ง (เนื้อไก่สุกยาก และเพื่อให้เครื่องหมักซึมเข้าเนื้อ)  
3.โขลกพริกไทยดำ กระเทียม ตะไคร้หั่นละเอียด และเกลือป่น
4.นำเครื่องที่โขลกไปหมักกับเนื้อไก่แช่ไว้ในตู้เย็นอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือข้ามคืน
5.โรยแป้งทอดกรอบที่ชามหมักไก่ คลุกให้ทั่ว นำไปทอดด้วยไฟปานกลางจนสุกเหลือง



ท่านที่ติดตาม "สุขใจ ในครัว" มาต่อเนื่อง วันนี้อาจรู้สึกแปลกใจ
ทำไมครัวมีลักษณะแปลกๆ ... ทุกทีเคยเห็นวางอาหารโพสต์บนโต๊ะหินแกรนิต
พอดีหยุดต่อเนื่องเข้าพรรษา 5 วัน kimleng ลาพักผ่อนต่อในวันพฤหัสฯ-ศุกร์ อีก 2 วัน
ได้วันหยุดรวม 9 วัน จึงหิ้วกระเป๋าไปพักสมองบ้านแฝดหลังเล็กๆที่ลพบุรี พร้อมกับผู้คุ้มครองที่เราต้องไปด้วยกันเสมอ

ครัวอาจแปลกตา แต่ผู้ปรุงและเจ้าของสูตรอาหารยังเป็น kimleng คนเดิมค่ะ


ภาพประกอบจากหัวข้อ หมูทอดตะไคร้ เว็บไซต์ สุขใจดอทคอม


ภาพประกอบจากหัวข้อ หมูทอดตะไคร้ เว็บไซต์ สขใจดอทคอม
ใช้ตะไคร้สดหั่นตามขวางบางๆ ก็ได้ แต่ให้ลดปริมาณลงไปด้วย
เพราะตะไคร้สดมีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยในเนื้อเยื่อที่ให้รสปร่า  
จะให้ดีควรใช้ตะไคร้แห้ง จะหอมกว่าใช้ตะไคร้สด



ไก่ที่หมักทิ้งไว้ข้ามคืน พอจะทอดก็โรยแป้งทอดกรอบสัก 2 ช้อนโต๊ะ เคล้าให้เข้ากันโดยไม่ต้องผสมน้ำ


นำไปทอดด้วยไฟกลาง (น้ำมันอาจสีเข้มไป เพราะเป็นน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารเป็นครั้งที่ 2)






ผู้คุ้มครอง "โคล่า (ปิ๊บ ปิ๊บ)" ต้องจับโยนใส่รถไปด้วยกันเสมอ




2979  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม : แหล่งสรรพวิทยาการ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2559 14:39:35





วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ผู้เรียบเรียง : Kimleng
อ้างอิง : ๑.พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่๓ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่
          ๒.แผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ, วอลเตอร์ เอฟ.เวลลา แต่ง, พันเอก นิจ ทองโสภิต แปล, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
          ๓.ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์, กาญจนาคพันธุ์, สำนักพิมพ์สาส์นสวรรค์
          ๔.สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช,  ณัฐวุฒิ  สุทธิสงคราม เรียบเรียง, จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘
          ๕.สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, หน้า ๕๗๓๔-๕๗๓๗, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เผยแพร่
          ๖.เว็บไซท์ watpho.com
          ๗.เว็บไซท์ dooasia.com
          ๘.เว็บไซท์ th.wikipedia.org
----------------------------------------

วัดพระเชตุพน หรือ วัดโพธิ์ หรือนามทางราชการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร  เป็นวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดในเมืองไทย

หากจะย้อนถามว่า อะไร “สำคัญ”.....สำคัญอย่างไร?

คำตอบ : ไม่มีวัดไหนในเมืองไทย จะให้สิ่งที่เป็นความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางเท่าเทียมกับวัดโพธิ์

วัดโพธิ์ เป็นวัดที่ให้ความรู้ ทั้งทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ศาสนคดี  แพทยศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งปรากฏให้เห็นตามภาพเขียน รูปหล่อ รูปปั้น ประกอบคำจารึกอยู่ตามบานประตู หน้าต่างของพระอุโบสถ วิหาร และศาลาต่างๆ มากมาย  เป็นเครื่องเชิดชูให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาการอันล้ำค่าต่างๆ ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงสร้างขึ้นไว้ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นวิทยาทานแก่ไพร่ฟ้าประชากรของพระองค์ ดังนั้น จึงถือกันว่า วัดโพธิ์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีมาเก่าแก่แห่งหนึ่งในเมืองไทย เป็นแหล่งที่รวมเอารวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ ภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กันอย่างไม่รู้จบสิ้น

วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมัลคลาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี แต่เดิมเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณกันว่าคงสร้างในระหว่าง พ.ศ.๒๒๓๑-๒๒๔๖ ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นคนสร้าง  เข้าใจว่าในชั้นเดิมเป็นเพียงวัดราษฎร์ธรรมดาสามัญเท่านั้น ไม่ได้สร้างใหญ่โตอะไร เพราะอยู่ไกลเมืองหลวงกรุงศรีอยุธยามาก  และในครั้งนั้นเห็นจะปลูกต้นโพธิ์ขึ้นในวัดด้วย จึงมีชื่อเรียกกันว่า “วัดโพธาราม” แต่คนธรรมดาสามัญ เรียกกันติดปากว่า “วัดโพธิ์” มาจนทุกวันนี้

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ วัดโพธิ์ซึ่งคงจะเป็นวัดราษฎร์มาได้ประมาณ ๖๐-๗๐ ปี ก็คงจะกลายเป็นวัดร้างไปด้วย  ต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพปราบพม่าข้าศึกหมดแล้ว ได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง  ทรงเห็นว่า วัดโพธิ์เป็นวัดที่อยู่ใกล้พระราชวัง  จึงให้ปฏิสังขรณ์และยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีพระราชาคณะปกครองสืบมา

วัดโพธารามในยุคตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เห็นจะไม่ได้สร้างถาวรวัตถุอะไรมากนัก  ส่วนเจ้าอาวาสนั้น ปรากฏว่าเป็นตำแหน่งพระพิมลธรรม  พระพิมลธรรมองค์แรกที่ออกชื่อปรากฏว่าชื่อ อิน

ในพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อวันอังคาร เดือนห้า ขึ้นสิบสี่ค่ำ ศักราช ๑๑๔๒ ปีชวด โทศก (เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๓๒๓) ได้มีผู้เป็นโจทก์มาฟ้องหลายคน ต่างยกข้ออธิกรณ์พระพิมลธรรมวัดโพธาราม ด้วยข้ออทินนาทานปาราชิก  พระยาเสด็จฯ กราบทูล พระกรุณาดำรัสสั่งให้ชำระคดี ได้ความเป็นสัตย์จริง จึงให้สึกเสีย และนายอินพิมลธรรมนั้น โปรดฯ ตั้งให้เป็นหลวงธรรมรักษา เจ้ากรมสังฆการีขวา

เมื่อเจ้าอาวาสวัดโพธารามว่างลงเช่นนี้ จึงโปรดฯ ให้พระธรรมเจดีย์ (ฉิม) วัดนาค เลื่อนขึ้นเป็นพระพิมลธรรม มาครองวัดโพธารามสืบไป  

ครั้นในปีรุ่งขึ้นนั้นเองก็เกิดเหตุใหญ่ ในพงศาวดารกล่าวว่า  
     "สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ โรงพระแก้ว ให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกัน และพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือน ถึงสัญญาวิปลาส สำคัญพระองค์ว่าได้โสดาปัตติผล จึงดำรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์ปุถุชน จะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น จะได้หรือมิได้ประการใด และพระราชาคณะที่มีสันดานโลเล มิได้ถือมั่นในพระบาลีบรมพุทโธวาท  เกรงพระราชอาญา เป็นคนประสมประสาน จะเจรจาให้ชอบพระอัธยาศัยนั้น มีเป็นอันมาก มีพระพุทธโฆษาจารย์ วัดบางหว้าใหญ่ พระโพธิวงศ์ พระรัตนมุนี วัดหงส์ เป็นต้นนั้น  ถวายพระพรว่า พระสงฆ์ปุถุชน ควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดาบันนั้นได้ แต่สมเด็จพระสังฆราช วัดบางว้าใหญ่ พระพุฒาจารย์ วัดบางว้าน้อย พระพิมลธรรม วัดโพธาราม สามพระองค์นี่ มีสันดานมั่นคง ถือพระพุทธวจนะโดยแท้ มิได้เป็นคนสอพลอประสมประสาน จึงถวายพระพรว่า ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์จะเป็นโสดาบันก็ดี แต่เป็นหีนเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร และพระจตุปาริสุทธศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์อันเป็นพระโสดาบันนั้น ก็มิบังควร   สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระพิโรธว่า ถวายพระพรผิดจากพระบาลี ด้วยพวกที่ว่าควรนั้นเป็นอันมาก ว่าไม่ควรแต่สามองค์เท่านี้ จึ่งดำรัสให้พระโพธิวงศ์ พระพุทธโฆษาจารย์ เอาตัวสมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม กับทั้งฐานาเปรียญอันดับ ซึ่งเป็นอันเตวาสิกสัทธิงวิหาริก แห่งพระราชาคณะทั้งสามนั้น ไปลงทัณฑกรรม ณ วัดหงส์ทั้งสิ้น”

สรุปแล้ว พระพิมลธรรมที่มาจากวัดนาค ได้ครองวัดโพธารามอยู่เพียงปีเดียว ก็ถูกถอดจากสมณฐานันดรศักดิ์ลงเป็นพระอนุจร และถูกควบคุมตัวอยู่ที่วัดหงส์ ส่วนวัดโพธารามนั้นไม่มีเจ้าอาวาส จึงโปรดฯ ให้พระญาณไตรโลก วัดเลียบ มาครองแทน และเห็นจะครองอยู่ได้ไม่ถึงปี ก็เปลี่ยนแผ่นดินใหม่.




พระพุทธเทวปฏิมากร
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม







โปริดติตามตอนต่อไป
2980  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: ชุดภาพ 'เงาะป่า' ภาพและคำบรรยาย โดย เหม เวชกร เมื่อ: 25 กรกฎาคม 2559 12:44:06




















หน้า:  1 ... 147 148 [149] 150 151 ... 270
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.715 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 23 มีนาคม 2567 10:06:01