[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 09:10:14 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 148 149 [150] 151 152 ... 273
2981  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เมื่อ: 23 กันยายน 2559 16:05:43
.


ผักเสี้ยนผี

ต้นไม้ล้มลุกเล็ก ขึ้นแทรกอยู่กับวัชพืช แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเขียวดก มีลักษณะเป็นใบรวม ใบหนึ่งมี ๓-๕ ใบ ใบย่อยรูปไข่

จัดเป็นใบไม้ที่สวยงามอีกชนิดหนึ่ง

ออกดอกตามซอกใบใกล้ยอด ดอกสีเหลืองเหมือนมี ๕ กลีบ แต่กลีบหนึ่งหายไปอย่างเจาะจง ขณะยังตูมดอกพนมยาว เวลาบานกลีบกลมปลายมน๔ กลีบ สีเหลืองสด มีเกสรกลางดอกสีเหลืองและเขียว

แต่ละดอกสมควรมี ๕ กลีบ แต่ดอกหายไป ๑ คือกลีบที่ควรจะเป็นที่ ๕ นั้น เว้นไว้

เป็นที่สังเกตว่า ต้นไม้นี้คือผักเสี้ยนผี

ผักเสี้ยนผีมีประโยชน์สำหรับเป็นยา รักษาฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เช่น โรคอักเสบ ทั้งภายในภายนอก เช่น ทั้งอักเสบในท้อง ภายนอกก็ปวดข้อปวดเข่า และอักเสบภายใน เช่น หญิงอยู่ไฟ กินยารุ ส่วนภายนอก เช่น แก้ปวดข้อที่อักเสบ ว่ากันว่าชะงัดนัก ตลอดจนแก้แผลอักเสบด้วย

คุณค่าของผักเสี้ยนผี ที่ชาวบ้านนิยม และต้องการมากที่สุดคือ ผักเสี้ยนผีทั้ง ๕ (ต้น ราก ใบ ดอก ผล) นำมาตำละเอียดผสมเหล้าโรงห่อผ้าขาวบางพันตามข้อที่ปวด ไม่ช้าก็หาย ส่วนสตรีคลอดบุตรอยู่ไฟให้กินเยื่ออวัยภายในหายแห้งสนิทได้ นอกจากนี้ แม้โรคบุรุษ หมอยาบางท่านก็นิยมนำมารักษา และหายได้อย่างรวดเร็ว

การขยายพันธุ์ ผักเสี้ยนผีนั้น เมื่อออกดอกจนแก่ร่วง ก็แตกหล่นลงดิน พบดินชื้นก็ขึ้นต้นใหม่ เกิดต้นเกิดผลต่อไป

ปัจจุบัน ผักเสี้ยนผีหายาก เพราะถูกถากถาง ขุดทิ้ง หายไปจนแทบไม่เหลือ ต้องนำฝักแก่มาปลูกไว้ในบ้านเฉพาะ จึงจะรักษาพันธุ์ไว้ได้ต่อไป

ผักเสี้ยนผี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cleome Viscosa.Linn. อยู่ในวงศ์ CAPPARIDACEAE ชื่อสามัญเรียก Polanisia Viscosa ชื่อท้องถิ่น แตกต่างกันไป เช่น ส้มเสี้ยนผี ส้มเสี้ยนตัวเมีย

วันหนึ่งเดินเล่นตอนเช้า เดินผ่าน พบผักเสี้ยนผี ก็ดีใจว่า จะยังมีสมุนไพรพื้นบ้านดีๆ หลงเหลืออยู่ แต่เพียงวันรุ่งขึ้นต้นไม้นี้หายไปแล้วพร้อมๆ กับวัชพืชอื่น ยังจะรออีกหรือไม่ที่จะขึ้นมาอีก

ที่จริงต้นผักเสี้ยนผีก็เป็นต้นไม้สวย มีสง่าราศี มองธรรมดาก็รู้ว่าน่าจะมีคุณค่า แต่เนื่องจากไม่รู้จักคนจึงผ่านเลยไป หรือตัดทิ้งไป

ต้นยาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีหลายชนิด สำหรับข้อสังเกตของผักเสี้ยนผี คือต้องมีดอกสีเหลืองเป็นช่อ แต่ละดอกมีจังหวะกลีบ ๕ กลีบ และหายไป ๑ กลีบ เหมือนกันทุกต้น ดังเป็นสัญลักษณ์

ใบเขียวทั้งต้นเป็นยาง แตะถูกหนึบหนับ นั่นล่ะ ผักเสี้ยนผี

คุณประโยชน์ของผักเสี้ยนผี มีคุณค่าดังกล่าวมา ซึ่งก็เทียบกับคุณค่าทุกสิ่งที่มองเห็นรอบๆ ตัว ถ้าสังเกต และศึกษาก็น่าจะนำไปใช้ประโยชน์ให้สังคม

เพียงแต่จะรู้ว่านำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และเลือกนำมาให้ตรงความต้องการ อันเป็นประโยชน์ที่สูงสุด



มะขวิด ไม้ดีหวิดสูญพันธุ์

มะขวิด มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Burmese thanaka (นักวิชาการฝรั่งคงไปพบแถวพม่าจึงเรียกแบบนั้น), แต่ก็เรียกชื่ออื่นอีก เช่น Elephant’s apple, Gelingga,kavath, Wood apple มะขวิดเคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Feronia limonia (L.) Swing. แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น Limonia acidissima L.

มะขวิดมี ๒ สายพันธุ์ พันธุ์ที่มีผลใหญ่เนื้อหวาน และพันธุ์ที่มีผลขนาดเล็กเนื้อมีรสเปรี้ยว (อมหวานนิดๆ) มะขวิดถือเป็นไม้มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ชาวอินเดียจึงใช้ประโยชน์กันมาก ถึงกับขนานนามมะขวิดว่า เป็นอาหารคนยาก (poor man’s food) ซึ่งเป็นที่พึ่งของคนยากจนจำนวนมากในอินเดีย

ในภาคอีสานบ้านเมืองไทยเรียกมะขวิดว่า มะยม (จึงอย่าสับสนเวลาคุยกับคนอีสาน) ส่วนทางภาคเหนือเรียกว่า มะฟิด

มะขวิดเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางอยู่ในกลุ่มไม้ผลัดใบ สูงถึง ๑๒ เมตร กิ่งแขนงมีหนามเรียวแหลมตรง ยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร

ใบ ประกอบแบบขนนก ใบออกตรงข้าม มี ๒-๓ คู่ รูปไข่กลับ มีจุดต่อมน้ำมัน เมื่อขยี้ มีกลิ่นอ่อนๆ ช่อดอกออกปลายยอดหรือซอกใบ มีทั้งดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศ
ผล เปลือกแข็งรูปกลม ผิวมีลักษณะเป็นขุยสีออกขาวปนสีชมพู ภายในผลมีเนื้อมาก มีกลิ่นหอม เปลือกหนาและมีขน มะขวิดพบได้ในป่าธรรมชาติไปจนถึงประเทศมาเลเซียและเกาะชวากับเกาะบาหลีประเทศอินโดนีเซีย และพบว่ามีการนำไปปลูกเพื่อศึกษาในแคลิฟอร์เนียและฟลอริดาด้วย เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีความทนต่อสภาพดินและภูมิอากาศต่างๆ ได้ดี และยังเติบโตได้ในเขตมรสุมหรือในเขตร้อนที่มีอากาศแห้งแล้งเป็นบางช่วงได้อีกด้วย

มะขวิด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งเป็นอาหารและยารักษาโรค ทุกส่วนของมะขวิดสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เช่น กินเนื้อสดๆ หรือนำไปปรุงเป็นน้ำมะขวิด กินแล้วช่วยบำรุงกำลัง ทำให้สดชื่น เจริญอาหาร

ในมะขวิดมีกากใยอาหารช่วยขับถ่ายสะดวกและมีวิตามินซีสูงด้วย หรือใช้ผลดิบมาหั่นบางๆ นำไปตากแห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อน กินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ทำให้สดชื่น ได้เช่นกัน

ใบมีสรรพคุณช่วยห้ามโลหิตระดูของสตรี และใช้ใบเป็นยาฝาดสมาน นำมาล้างน้ำตำพอกหรือทาแก้อาการฟกบวม ปวดบวม ช่วยรักษาฝี และโรคผิวหนังบางชนิด

ในเวลานี้มีการค้นพบว่าในมะขวิดมีต่อมน้ำมัน เมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์กำจัดเชื้อโรคจึงช่วยแก้อาการโรคผิวหนังได้ และสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้ออหิวาตกโรคในหลอดทดลองได้

นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยในใบหากนำมาต้มดื่มน้ำจะมีสรรพคุณช่วยขับลมในท้อง และแก้ท้องเสีย  

ยางจากลำต้นมะขวิดเป็นยาฝาดสมานจึงช่วยบรรเทาอาการท้องร่วงและห้ามเลือดได้ และด้วยความเหนียวของยางหรือมีกัม (gum) จำนวนมาก จึงนำมาใช้ประโยชน์ติดหรือเชื่อมต่อสิ่งของแบบเป็นกาวยาง และใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาหรือสีในงานจิตรกรรมไทย  ส่วนของเปลือก ใช้แก้ฝีเปื่อย แก้บวม แก้อาการลงท้อง ตกโลหิต และแก้พยาธิ

ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของมะขวิด ได้นำมะขวิดมาใช้ประโยชน์มากมาย เช่น ใช้ผลดิบต้มน้ำกับดีปลีและผสมน้ำผึ้งนำมาจิบบ่อยๆ ช่วยลดอาการสะอึก หรือผลดิบอย่างเดียวใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ไอและเจ็บคอได้ ใบอ่อนคั้นเอาน้ำมาผสมนมและน้ำตาลทำเป็นลูกอมช่วยให้ระบบน้ำดีในร่างกายทำงานเป็นปกติ เพื่อรักษาอาการผิดปกติที่เกิดจากลำไส้

น้ำคั้นจากใบอ่อนให้เด็กกินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้เช่นกัน

ยางเหนียวของผลมะขวิดเมื่อตากแห้งแล้วป่นเป็นผงผสมน้ำผึ้ง ใช้กินรักษาโรคบิดและอาการท้องเสียในเด็ก หนามตามลำต้นนำมาบดเข้ายารักษาการตกเลือดขณะมีประจำเดือน เปลือกนำมาเคี่ยวรวมกับเปลือกต้นจิกใช้รักษาแผล และพบว่าในบางท้องถิ่นนำเปลือกต้นมะขวิดมาบดละเอียดทำเป็นแป้งทาหน้า

นอกจากนี้ ชาวอินเดียยังใช้มะขวิดเป็นยาบำรุงตับและหัวใจด้วย

ในฤดูฝนจะมีน้ำยางจากลำต้นเป็นยางเหนียว ใส ออกมามาก ชาวอินเดียนิยมนำยางมาใช้ติดวัสดุ และใช้เป็นส่วนผสมของสีน้ำสำหรับวาดรูป ใช้ทำหมึกและสีย้อมต่างๆ เปลือกผลมีความแข็งสามารถนำมาทำเป็นภาชนะใส่ของ เนื้อไม้จากลำต้นมีสีเหลืองอมเทา เนื้อแข็งและหนัก นิยมนำมาใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ และนำมาแกะสลักเป็นงานศิลปะให้สีเนื้อไม้สวยงาม

นอกจากนี้ ในเนื้อมะขวิดมีน้ำตาลหลายชนิดที่ร่างกายต้องการ เช่น อะราไบโนส (arabinose) ไซโลส (xylose) ดี-กลูโคลส (d-galactose) แรมโนส (rhamnose) และกรดกลูคิวโลนิต (glucuronic acid) จึงมีการนำมากินสดๆ หรือนำไปทำน้ำผลไม้ ทำแยมทาขนมปังกินกันรสอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ในประเทศไทยจำนวนประชากรมะขวิดลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าจะพบเห็นการปลูกตามหมู่บ้านและในสวนบางแห่งแต่ก็มีไม่มากนัก ในวงการเกษตรกรรมปัจจุบันใช้มะขวิดเป็นต้นตอของมะนาว เพราะมะขวิดทนแล้งทนการระบาดของแมลงได้ดี

แต่ก็แค่เอาต้นมาใช้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของมะขวิดแท้ๆ ซึ่งน่าเสียดายยิ่ง

ผู้รักสมุนไพรจึงควรหันมาช่วยกันปลูกและขยายพันธุ์มะขวิดกันมากๆ จะได้ไม้ใหญ่ยืนต้น ทรงพุ่มสวยงาม และได้ใช้ประโยชน์ทางอาหารและยาด้วย



ต้นกำเนิด “ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชย”

หลายคนอาจเคยได้ยิน ‘ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชย’ แต่ก็มีอีกหลายคนเคยกินเคยใช้ ย่อมรู้ดีถึงสรรพคุณโดดเด่นช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืดเฟ้อที่ได้ผลดีไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน บางท่านบอกว่าใช้แล้วรู้สึกดีกว่า และกินง่ายอร่อยกว่าด้วยซ้ำ

ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยนี้ได้รับการประกาศให้เป็นรายการบัญชียาหลักแห่งชาติในส่วนที่เป็นยาจากสมุนไพร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ เรียกได้ว่ายกชั้นจากตำรับยาที่ใช้กันในหมู่ประชาชนทั่วไปสู่ระดับชาติ และถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการนำเอาตำรับยาพื้นบ้านสู่การยอมรับของประเทศ  

แต่หลายคนอาจไม่รู้ประวัติความเป็นมาของตำรับยานี้  จึงขอนำมาบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ขอย้อนหลังกลับไป พ.ศ.๒๕๒๒ ปีก่อตั้งโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (ก่อนจะกลายมาเป็นมูลนิธิสุขภาพไทย) ช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งพื้นที่แรกในการทำงานอยู่ในอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รู้จักกับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลแรกๆ ที่ถอยห่างจากระบบการเกษตรสมัยใหม่ที่มีแต่สร้างหนี้สินและบั่นทอนสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต

การทำงานของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองสมัยนั้น เก็บรวบรวมตำรายาพื้นบ้านมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ตำรายาของหมอจันดี เข็มเฉลิม ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบลเกาะขนุน อ.สนามชัยเขต และคือคุณพ่อของผู้ใหญ่วิบูลย์ นั่นเอง

หมอจันดี เป็นหมอยาไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในอดีต ในตำรายาดังกล่าว มีตำรับยาน้ำเปลือกอบเชยอยู่ด้วย ซึ่งผู้ใหญ่วิบูลย์นำมาต้มเผยแพร่ และทางโครงการสมุนไพรฯ ก็นำมาขยายผลต่อเมื่อเริ่มไปทำงานในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

ผลปรากฏว่า ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๒๘ นิยมชมชอบตำรับยานี้มาก มีการขยายตัวผ่านโรงพยาบาลชุมชุนหลายแห่ง  สรรพคุณยา แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยย่อยอาหารอย่างดี  ยิ่งผู้สูงอายุที่มักมีอาการกินอาหารแล้วย่อยยาก พอจิบยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยสัก ๑-๒ ช้อน สบายท้องไปตามๆ กัน ฯ

มาถึงตรงนี้ ขอแนะนำตำรับยาน้ำเปลือกอบเชยให้รู้จัก ดังนี้คือ เปลือกอบเชย เปลือกสมุนแว้ง ชะเอมเทศ ดอกกานพลู น้ำหนักสิ่งละ ๕๐ กรัม การบูร ๑ ช้อนชา เมนทอล ๑ ช้อนชา น้ำ ๗,๐๐๐ ซีซี (สูตรนี้จะได้ยาปริมาณมาก หากต้มกินเองลดลงตามส่วนได้)

วิธีเตรียม  
นำสมุนไพรทั้ง ๔ อย่างต้มน้ำประมาณ ๑๕ นาที จากนั้นตั้งทิ้งไว้พออุ่น จึงเติมการบูรและเมนทอล แล้วหาขวดยามาบรรจุเก็บไว้ (ขวดยาควรนำไปนึ่งทำความสะอาดก่อน)

วิธีใช้ ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๒-๓ ช้อนโต๊ะ เด็กลดลงตามส่วน รับประทานหลังอาหารหรือทุก ๒-๓ ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ ยาธาตุเปลือกอบเชยนี้รสชาติอร่อยมาก ทำนองเด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี

หากใครสนใจตำรับยานี้ สามารถติดต่อมูลนิธิสุขภาพไทยได้ แต่ถ้าใครอยากทำเองแต่ไม่สามารถหาตัวยาได้ครบ แนะนำให้ใช้เปลือกอบเชยเทศเท่านั้น น้ำหนัก ๑๕ กรัม ต้มในน้ำ ๑ ลิตร ให้เดือดนาน ๕-๑๐ นาที กินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยได้ผลดีเช่นกัน

อบเชยเป็นสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม ชาวอียิปต์รู้จักใช้มาตั้งแต่เมื่อ ๓,๕๐๐ ปีแล้ว และในปัจจุบันก็ค้นพบและยอมรับในสรรพคุณทางยาเพิ่มมากขึ้น ในอบเชยมีส่วนประกอบสำคัญ คือ น้ำมันหอมระเหย ซึ่งในทางยาไทยถือว่า มีรสเผ็ด หวาน สุขุม กินแล้วช่วยทั้งขับลม ช่วยย่อย และยังบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจด้วย



ยอป่า
Morinda coreia Buch-Ham.
RUBIACEAE

ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมรี ตามก้านและกิ่งอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป ลำต้นมักคดงอ เปลือกสีเทาปนน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดเล็กตามยาวลำต้น

ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปไข่กลับหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบคอดและสอบไปสู่ก้านใบหรือบิดเบี้ยว ผิวใบด้านบนมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนนุ่มหนา ขอบใบเป็นคลื่น

ดอก ช่อกระจุก กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม แน่นติดกันเป็นก้อนกลม ตามปลายกิ่งหรือซอกใบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปแจกันทรงสูง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก

ผล รวมสีเขียว ทรงบิดเบี้ยวหรือกลม ผิวนอกผลเป็นปุ่มปมมีขน เนื้อเยื่อข้างในสีขาวมีน้ำมาก ก้านผลมีขนสั้นนุ่ม เมล็ดบิดเบี้ยว

ยาพื้นบ้านภาคใต้ใช้ แก่น ต้มน้ำดื่ม บำรุงน้ำนม ผล ตากแห้ง ต้มน้ำดื่ม แก้อาเจียน แพ้ท้อง



 
ตับเต่าน้อย ตำรับยาพื้นบ้าน

ตับเต่า คือชื่อพืชสมุนไพร ไม่ใช่สมุนไพรที่มาจากสัตว์ ใครที่ชอบค้นคว้าอ่านตำราแพทย์แผนไทย หรือเคยคุยกับหมอพื้นบ้านจะได้ยินชื่อพืชสมุนไพรนี้ และจะได้ยินคำว่า “ตับเต่าทั้งสอง” 

ในตำรับยาไทยจึงมีตัวยาสมุนไพรที่กล่าวถึงตับเต่าทั้งสองอยู่ในตำรับยามากพอสมควร ตับเต่าทั้งสองเป็นเครื่องยาอะไรกันแน่ เมื่อสอบถามหมอยาไทยหลายท่านได้คำอธิบายว่า ตับเต่าทั้งสองหมายถึง ตับเต่าต้นและตับเต่าน้อย

จากหนังสือ “ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์” ให้ข้อมูลในส่วนของตับเต่าต้น บอกว่ามีเพียงชนิดเดียว คือ ต้นไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyrosehretioides Wall.exG.Don แต่เมื่อพลิกตำราของอาจารย์เต็ม สมิตินันท์ พบว่า ตับเต่าน้อย มีถึง ๓ ชนิดคือ

ตับเต่าน้อย (สุพรรณบุรี) มีชื่อสามัญว่า ตับเต่าเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphoidescristata (Roxb.) Kuntze เป็นพืชน้ำ อยู่ในสกุลเดียวกับบัวสาย

ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ) มีชื่อสามัญว่า ตับเต่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trivalvariacostata (Hook.f. & Thomson) I.M.Turner อยู่ในวงกระดังงา แต่เป็นต้นไม้ที่หายากมากๆ

ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ) มีชื่อสามัญว่า กล้วยเต่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthiadebilis (Pierre) Finet & Gagnep. อยู่ในวงกระดังงาเช่นกัน แต่พืชชนิดนี้พบเห็นได้ทั่วไป

เมื่อตับเต่าน้อย มีถึง ๓ ชนิดนั้น จึงเป็นที่มาของการค้นหาพืชสมุนไพรให้ถูกต้น เมื่อใช้จะได้ปลอดภัยและได้สรรพคุณตรงกับภูมิปัญญาดั้งเดิม

ในการประชุมหารือกันระหว่างแพทย์แผนไทยและหมอยาพื้นบ้าน ได้ข้อสรุปว่า ตับเต่าน้อยที่มีอยู่ในตำรายาไทยน่าจะเป็นพืชสมุนไพรที่ชาวบ้านเรียกว่า กล้วยน้อย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthiadebilis (Pierre) Finet & Gagnep. หรือมีชื่อสามัญว่า “กล้วยเต่า”

ตับเต่าน้อยนี้จึงเป็นชนิดที่ ๓ ตามตำราของอาจารย์เต็ม สมิตินันท์ ตับเต่าที่นำมาปรุงยาชนิดนี้จะมีชื่อพื้นเมืองต่างกันเช่น ไข่เต่า (เชียงใหม่) ก้นครก (มหาสารคาม ยโสธร) กล้วยตับเต่า กล้วยเต่า (ราชบุรี) ไข่เต่า ตับเต่า ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ) รกคก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ตับเต่าน้อย เป็นพืชในวงศ์กระดังงา มีลักษณะเป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก สูงประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร มีใบเป็นแบบใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่กลับแกมรูปใบหอก ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงเล็ก มี ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยมกลายๆ กลีบดอกเรียงสลับกัน ๒ ชั้น เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่เป็นกลุ่มบนแกนกลางดอก เกสรเพศเมีย ๔ อัน อยู่ที่ปลายของแกนกลางดอก ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม แต่ละผลรูปทรงกระบอก ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลอมเหลือง แต่บางพื้นที่พบว่ามีผลสีแดง ข้างในมีเมล็ดเดียว

ตับเต่าน้อยหรือกล้วยเต่า เป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระจายทั่วไปในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั้งในประเทศพม่า ไทย ลาว จีนตอนใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค พบมากในภาคเหนือและภาคอีสาน

คนอีสานที่เกิดและเติบโตมาแบบคนรุ่นก่อนต้องเคยได้กินผลตับเต่าน้อยแน่ๆ เพราะเมื่อผลที่สุกเป็นสีเหลืองหรือแดงจัดนำมากินเล่น รสอร่อยดี รสออกรสหวาน บางลูกอาจจะหวานปนฝาดเล็กน้อย ใครที่ชอบอาหารพื้นบ้านต้องลองกินผลตับเต่าน้อยสักครั้งในชีวิต

นอกจากกินเล่นแล้ว บางแห่งก็นำมาให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย กินเป็นอาหารสัตว์ด้วย

ในส่วนของสรรพคุณสมุนไพร ตำรับยาอีสาน ใช้ตับเต่าน้อยเข้ายาแก้เลือดไม่ปกติและแก้มะเฮ็ง ในตำรายาไทยใช้เข้ายาแก้สรรพไข้ทั้งปวง ถ้าแยกตามส่วนของสมุนไพร พบว่า รากมีรสเย็น ใช้เป็นยาแก้ตัวร้อน ดับพิษไข้ทั้งปวง ดับพิษตานซาง ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ แก้วัณโรค และใช้บำรุงน้ำนมด้วย

ส่วน รากและลำต้น นำมาบดใช้ทาแผล รักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง

ผล นำมารับประทานช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อม ภูมิปัญญาของภาคอีสานจะใช้

เหง้า เปลือก และ เนื้อไม้ นำมาใช้เป็นยาแก้ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายกะปริดกระปรอย และท้องเสียในเด็ก และต้น ต้มกับน้ำกิน แก้ปวดท้อง บางพื้นที่อาจใช้ส่วนของรากต้มน้ำกินได้เช่นกัน นอกจากแก้ปวดท้องแล้วยังกินน้ำต้มรากตับเต่าน้อยแก้อาการปวดท้องโรคกระเพาะด้วย

จากการรวบรวมเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีการศึกษาตับเต่าน้อยอยู่บ้าง สาระสำคัญที่มีอยู่ในราก ได้แก่ 3-o-acetyl aleuritolic acid,Suberosol, stigmasterol, β-sitosterol, 1-methyl-4-azafluoren-9-one (onychine), 7-megthoxy-1-methyl-4-azafluoren-9-one,triterpenes และจากการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดจากตับเต่าน้อยมีฤทธิ์ในการต่อต้านและทำลายเชื้อมาลาเรียได้


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์

2982  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เมื่อ: 23 กันยายน 2559 15:56:25
.

มะลิวัลย์เถา
Jasminum siamense Craib
OLEACEAE


ไม้เลื้อยเป็นพุ่มกึ่งล้มลุก แตกกิ่งก้านน้อย โคนต้นมีเนื้อไม้ กิ่งอ่อนมีขนละเอียด

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีกว้างถึงรูปใบหอก ปลายใบแหลมมีติ่งขนาดเล็ก ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้านหรือมีขนละเอียดที่โคนใบของเส้นกลางใบเมื่อยังอ่อนอยู่ ไม่มีตุ่มใบ

ดอกช่อกระจุก ออกที่ปลายยอด ดอกย่อย ๑-๓ ดอกเกลี้ยง วงกลีบเลี้ยงเหมือนใบเชื่อมติดกันเป็นหลอด
กลีบดอก สีขาว กลิ่นหอม หลอดดอกยาว
ผลสด มีเนื้อหลายเมล็ด รูปคล้ายทรงกลม เมื่อสุกสีส้มถึงแดง
ดอก บำรุงหัวใจ



คนทีสอต้น
Vitex trifolia L.
Lamiaceae (VERBENACEAE)


ไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑-๔ เมตร กิ่งก้านมีขน
ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๓ ใบ รูปขอบขนานแกมใบหอก ขอบเรียบ ปลายแหลม โคนสอบ ท้องใบสีนวลขาว มีขน
ดอก ออกเป็นช่อ แยกแขนง ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอก ๕ กลีบ สีฟ้าอมม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ ปาก
ผล สด ทรงกลม มีเมล็ดเดียว
ใบ บำรุงน้ำดี ขับลม ใบ ใช้แก้กลิ่นสาบในร่างกาย เคี้ยวอมตอนเช้าทุกวันทำให้ฟันแข็งแรง
ดอก แก้ไข้ แก้พิษ และหืดไอ และใช้หั่นผสมเป็นยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก
ลูก แก้มองคร่อ และหืดไอ ริดสีดวง ท้องมาน
ราก ใช้แก้โรคตับ โรคตา ถ่ายน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ
ชาวบ้านใช้ใบแห้งบดเป็นผง ทำขนมคนทีโดยผสมแป้งและน้ำตาล นึ่งจนสุก



คนทีเขมา
Vitex negundo L.
Lamiaceae (VERBENACEAE)


ไม้พุ่ม สูง ๑-๕ เมตร
ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๕ ใบ อาจมี ๓ ใบย่อย หรือ ๗ ใบย่อย รูปใบหอกแคบ ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบหยัก
ดอกช่อ แยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกย่อย สีขาวแกมม่วงอ่อน กลีบรองดอกเชื่อมติดกัน เป็นถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เชื่อมกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง เกสรผู้ ๔ อัน
ผล รูปทรงกลม ขนาดเล็ก
เปลือก แก้ไข้ และฟกบวม แก้ริดสีดวง แก้ลมเสียดแทง แก้พยาธิ
ใบ แก้เสมหะ
ยาง ขับเลือดและลมให้กระจาย ฆ่าแม่พยาธิ และคุดทะราด บำรุงกำลัง
น้ำคั้นจากใบสด รับประทานแก้ปวดศีรษะ แก้เยื่อจมูกอักเสบ
ใบสด ขยี้ ทาถอนพิษสาหร่ายทะเล ปวดแสบปวดร้อน
ราก แก้ลม ขับเหงื่อ แก้ริดสีดวงแห้ง
รากและใบ รับประทานหรือประคบแก้ปวดตามข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ



หวายลิง
Flagellaria indica L.
FLAGELLARIACEAE


ไม้เลื้อยอายุหลายปี ลำต้นโคนแข็ง ใบเดี่ยวเรียงสลับ คล้ายแผ่นหนัง รูปใบหอก ปลายเรียวแหลม
ดอก ช่อแบบช่อแยกแขนง มักแยกเป็นสองแขนง ดอกย่อยไร้ก้าน ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกสั้น กลีบรวม ๖ กลีบ สีขาวครีม กลีบนอกขนาดใหญ่กว่ากลีบในเล็กน้อย
ผล เมล็ดเดียวแข็ง ทรงกลม
ยาพื้นบ้านภาคใต้ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ บีบมดลูก



ขิงสนธยา
Zingiber idae P.Triboun & K.Larsen
ZINGIBERACEAE


ไม้ล้มลุกหลายปีมีเหง้า ลำต้นเทียมคล้ายใบ สูง ๑.๓-๑.๘ เมตร
ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลมหรือรูปยาวคล้ายหาง ท้องใบและเส้นกลางใบมีขน โคนใบรูปลิ่ม ก้านใบสั้นมาก มีขนอุย ก้านช่อดอกออกจากราก ตั้ง เรียวยาว ยาว ๑๕-๓๐ เซนติเมตร กาบใบ ๕-๗ ใบ มีขนอุย
ดอก ช่อ สีขาวครีม รูปกระสวยแคบ ปลายกลีบเรียวแหลม ใบประดับ ๒๕-๔๐ ใบ รูปใบหอก สีเขียวเข้มเปลี่ยนเป็นสีแดงส้มเมื่อเป็นผล
ผล แห้งแตก รูปกระสวย มีขน ช่องละ ๔-๖ เม็ด เมล็ดดำมีริ้วสีขาว ทรงกลม
เหง้า ขับลม



หญ้าเกล็ดหอย
Desmodium triflorum (L.) DC.
FABACEAE


ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก
ใบ ประกอบแบบขนนก ใบย่อย ๓ ใบ หูใบรูปไข่ ขนาดไม่สม่ำเสมอ ปลายใบรูปไข่กลับ

ดอก ช่อแยกแขนง ดอกย่อยขนาดเล็ก จำนวนมาก กลีบดอกสีม่วงเข้ม
ผล เป็นฝักมีก้านชู รูปกลมรี เมล็ดรูปขอบขนาน

ยาพื้นบ้านภาคใต้ ใช้ ทั้งต้นผสมหญ้าใต้ใบหรือลูกใต้ใบทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคไตพิการ




กัญชา เป็นยาเสพติดหรือยารักษาโรค?

กัญชา ยังถูกแขวนป้ายว่าเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ แม้จะเป็นยาเสพติดประเภทที่ ๕ ซึ่งให้โทษต่อร่างกายน้อยกว่าประเภทอื่น แต่ก็ยังมีบทลงโทษไม่เบา คือผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งกัญชาต้องระวางโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยจำคุกตั้งแต่ ๒ ปี ถึง ๑๕ ปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท  หรือถ้าหากขายกัญชาด้วยก็อาจมีโทษสูงสุดเท่ากับโทษฐานการผลิต

ด้วยเหตุนี้ “กัญชา” จึงถูกตีตรวนไว้ด้วยกฎหมายที่ขาดการพัฒนา เป็นเหตุให้ประเทศไทยและคนไทยขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์อันมหาศาลจากกัญชาอย่างน่าเสียดาย

ในเวลานี้โลกสากลได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์การมองกัญชาจาก “ยาเสพติดให้โทษ” มาเป็น “ยารักษาโรค” อย่างน้อยใน ๑๒ รัฐของสหรัฐอเมริกา การจำหน่ายและเสพยากัญชา ไม่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอีกต่อไป และอีก ๑๕ รัฐ กำลังพิจารณาให้กัญชาเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยที่ก่อนหน้านี้มีบันทึกในปี ค.ศ.๑๘๗๖ (พ.ศ.๒๔๑๙ ตรงกับรัชกาลที่ ๕ ของไทย) ซึ่งเป็นวาระเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการได้รับเอกราชและการก่อตั้งประเทศอิสระขึ้นบนผืนทวีปอเมริกา ทางการสหรัฐได้ต้อนรับแขกผู้ทรงเกียรติด้วยการเสิร์ฟ “แฮ็ชชีช” (Hashish)!

ขอใส่เชิงอรรถเพิ่มเติมตรงนี้ว่า “แฮ็ชชีช” คือยางของกัญชา ซึ่งเตรียมได้ด้วยการนำเอา “กะหรี่กัญชา” (curry) หรือส่วนช่อดอกตัวเมียของกัญชามาใส่ในถุงผ้า ใช้ไม้ทุบให้ยางไหลออกมาแล้วจึงขูดยางออกจากถุงผ้า เท่านี้แหละก็ได้ “แฮ็ชชีช” ผลิตภัณฑ์กัญชาคุณภาพสูงราคาแพงที่เอาไว้เสิร์ฟเฉพาะพวกผู้ดีฝรั่ง

กล่าวกันว่าประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน ก็ยังชื่นชอบสมุนไพรใบแฉกชนิดนี้เป็นพิเศษ ท่านนำกัญชาไปปลูกไว้ที่บ้านพักบนภูเขาเมาท์เวอร์นอน (Mount Vernon) ด้วยตระหนักในสรรพคุณเภสัชอันล้ำค่าของมันนั่นเอง

ในช่วงที่เริ่มมีการต่อต้านการเสพกัญชาในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น เคยปราศรัยปกป้องการใช้กัญชาของประชาชนว่า “การสั่งห้ามเสพกัญชาดำเนินการเลยขอบเขตของเหตุผล เป็นความพยายามควบคุมความต้องการของมนุษย์โดยใช้กฎหมาย ทำให้สิ่งที่มิได้เป็นอาชญากรรมกลายเป็นอาชญากรรม การห้ามเสพกัญชาเป็นการทำลายหลักการที่รัฐบาลของเรากำหนดขึ้น”

เช่นกัน ในยุควิกตอเรียของอังกฤษ (ค.ศ.๑๘๓๗-๑๙๐๑) กัญชาเป็นยารักษาโรคที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในทางเภสัชกรรม เพื่อรักษาโรคภัยหลายอย่าง อาทิ อาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน โรครูมาติซั่ม และลมบ้าหมู

เซอร์รัสเซลล์ โรโนลด์ แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียกล่าวไว้ในบันทึกปี ค.ศ.๑๘๙๐ ว่า เขาใช้กัญชาเป็นพระโอสถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนให้กับสมเด็จพระราชินีองค์นี้  ทั้งยังระบุว่า “เมื่อทำการสกัดให้บริสุทธิ์ กัญชาเป็นหนึ่งในยาทรงคุณค่าที่สุดเท่าที่มนุษย์มีอยู่”




เท้ายายม่อม ยาแก้ไข้

เท้ายายม่อม เป็นสมุนไพรที่มีชื่อเรียกซ้ำกันในพืช ๒ ชนิด

เท้ายายม่อมหรือไม้เท้ายายม่อม ชนิดแรกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clerodendrum indicum (L.) Kuntze เป็นไม้พุ่ม 

ข้อมูลจาก website บางแห่ง กล่าวว่า รากของไม้เท้ายายม่อมชนิดนี้ใช้ทำแป้งได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะรากของไม้เท้ายายม่อมซึ่งเป็นไม้พุ่มนี้ ไม่มีแป้งมากพอที่จะนำไปผลิตเป็นผงแป้งเพื่อใช้เป็นอาหารได้ ที่ทำเป็นแป้งนั้น คือ เท้ายายม่อมที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีประเภทเดียวกับบุก

จึงเป็นพืชลงหัวมีการสะสมแป้งที่สามารถนำไปผลิตเป็นแป้งได้

ในตอนนี้จะกล่าวถึงเท้ายายม่อมหรือไม้เท้ายายม่อมที่เป็นไม้พุ่ม มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ Tubeower, Turk’s-Turban, Sky Rocket, Bowing Lady คำว่าไม้เท้ายายม่อมเป็นการบ่งบอกลักษณะที่สำคัญคือ ลำต้นตรงไม่มีกิ่งก้าน รวมทั้งรากก็มีลักษณะเป็นลำตรงแทงลงในดิน หมอยาพื้นบ้านจึงนิยมเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า พญารากเดียว ไม้เท้ายายม่อมยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลากหลายมาก เช่น พญาเลงจ้อน พญาเล็งจ้อน เล็งจ้อนใต้ (เชียงใหม่) พินพี (เลย) ท้ายายม่อมป่า (อุบลราชธานี) พมพี (อุดรธานี) โพพิ่ง (ราชบุรี) ว่านพญาหอกหล่อ (สระบุรี) หญ้าลิ้นจ้อน (ประจวบคีรีขันธ์) กาซะลอง จรดพระธรณี ดอกคาน (ยะลา) ฯลฯ

เท้ายายม่อมจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงไม่เกิน ๓ เมตร เป็นไม้ลงรากแก้วอันเดียว ลึกพุ่งตรง รากกลม ดำ โต ลำต้นตั้งตรง ไม่มีกิ่งก้านสาขา จะแตกกิ่งบริเวณใกล้ยอด บริเวณปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ดอกเป็นช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง เป็นพุ่มกระจาย คล้ายฉัตรเป็นช่อชั้นๆ ตั้งขึ้น กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว กลีบเลี้ยงสีเขียวหรือแดง มี ๕ แฉก

ผลสดรูปกลมแป้น เมื่อสุกมีสีน้ำเงินแกมสีดำหรือสีดำแดง มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง

ดอกออกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน

หลายท่านนึกว่าเท้ายายม่อมเป็นแค่ยาสมุนไพรเท่านั้น แต่ในวิถีชาวบ้านยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริกกินได้ และยังนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามหน้าบ้านด้วย ส่วนรากของไม้เท้ายายม่อมเป็นเครื่องยาที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่ง นำไปเข้าตำรับยาไทยพิกัดยาเบญจโลกวิเชียรหรือที่เรียกกันทั่วไปว่ายาห้าราก ใช้ลดไข้ รักษาหวัดต่างๆ รากไม้เท้ายายม่อม มีรสจืดขื่น ใช้แก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้หวัด แก้ไข้เหนือ ไข้พิษ ไข้กาฬ ตัดไข้จับ แก้ไข้เพื่อดีพิการ ถอนพิษไข้ทุกชนิด ลดความร้อนในร่างกาย แก้ร้อนในกระหายน้ำ ยังแก้พิษสัตว์กัดต่อย ดับพิษฝี ขับเสมหะลงสู่เบื้องต่ำ แก้หืดไอ แก้อาเจียน

ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้รากผสมใบพิมเสน ต้น เหง้าว่านกีบแรด เนระพูสีทั้งต้น ใช้น้ำซาวข้าวและน้ำเกสรบุนนาคเป็นน้ำกระสายยา ปั้นเป็นลูกกลอน กินถอนพิษไข้กาฬ (ไข้ที่มีตุ่มที่ผิวหนัง ตุ่มอาจมีสีดำ

ไม้เท้ายายม่อมยังเป็นสมุนไพรที่สำคัญชนิดหนึ่งของกลุ่มชนเชื้อสายอินเดียและจีน มีการใช้ส่วนต่างๆ เช่น
ใบ ที่มีรสขมใช้เป็นยาบำรุงกำลังและขับพยาธิ
ใบแห้ง นำมามวนเป็นยาสูบช่วยลดอาการหอบหืด ในบางกลุ่มชาติพันธุ์ใช้สูบเพื่อลดการสูบฝิ่น
น้ำสกัดจากส่วนของลำต้น ใช้ทาผิวทำให้ผิวพรรณดีขึ้น
ราก นำมาทุบผสมกับขิง ต้มดื่มแก้หอบหืด ไอ และความผิดปกติอื่นภายในปอด
ยางจากลำต้น ใช้รักษาโรคไขข้อที่เกิดจากการติดเชื้อซิฟิลิสหรือโรคไขข้ออื่นๆ ในประเทศอินเดียจัดว่าเป็นสมุนไพรที่สำคัญมาก มักนำมาใช้ในการลดไข้ ลดอาการฝ่อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายหรือโรคผอมแห้ง

ในบังคลาเทศมีการศึกษาอย่างละเอียดและนำมาใช้อย่างเป็นทางการในการรักษาโรคหอบหืดและระบบทางเดินหายใจผิดปกติ โดยใช้ส่วนของรากบดให้เป็นผง ใช้ผงยาขนาด ๕๐ กรัม ผสมกับน้ำผึ้งกินก่อนนอน ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากความหนาวเย็น ให้ใช้เปลือกรากสด ๓ กรัม หรือเปลือกรากแห้ง ๒ กรัม ชงกับน้ำอุ่นดื่ม สำหรับตำรับใช้ขับพยาธิให้นำเอารากสด ๒ กรัม มาหมักกับใบ ๓-๔ ใบ เมื่อสมุนไพรเปื่อยยุ่ยดีแล้ว ปั้นให้เป็นก้อน นำมาทำให้แห้ง กินครั้งละ ๑.๓ เม็ด มีรายงานว่า ยาเม็ดนี้สามารถใช้รักษาหอบหืดได้ด้วย

เท้ายายม่อมเป็นพืชสมุนไพรที่ควรส่งเสริมให้ปลูกกันมากๆ และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดภูมิปัญหาดั้งเดิมอย่างครบวงจร เนื่องจากสรรพคุณแก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย แก้หวัด แก้หอบหืด เป็นอาการโรคที่เป็นกันบ่อย หากส่งเสริมกันมากขึ้นและต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทันสมัย

เชื่อมั่นว่าเท้ายายม่อมหรือพญารากเดียว จะเป็นที่พึ่งด้านยาที่สำคัญทางหนึ่งของประชาชนแน่นอน


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
2983  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / Re: พระปริตรธรรม ๑๒ ตำนาน เมื่อ: 22 กันยายน 2559 17:37:15


ภาพประกอบตำนานวัฏฏกปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานวัฏฏกปริตร

วัฏฏกปริตร คือปริตรของนกคุ้ม เป็นพระปริตรที่กล่าวถึงสัจวาจาของพระพุทธเจ้าที่เคยกระทำ เมื่อเสวยพระชาติเป็นนกคุ้ม แล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้พ้นจากอัคคีภัย พบประวัติในพระสูตร ๒ แห่ง คือชาดกและจริยาปิฎก ในคัมภีร์ชาดก มีเพียงคาถาเดียว คือคาถาที่ ๓ ส่วนในคัมภีร์จริยาปิฎกพบคาถา ๑๑ บท ส่วนพระปริตรที่นิยมสวดอยู่ในปัจจุบันมีคาถาทั้งหมด ๔ บท  ทั้งนี้เพราะโบราณาจารย์ได้คัดมาสวดเฉพาะคาถา ๔ บทหลัง โดยไม่มีคาถา ๗ บทแรก เนื่องจากคาถา ๔ บทเหล่านั้นแสดงสัจวาจาของพระโพธิสัตว์ ส่วนเจ็ดคาถาแรกแสดงประวัติความเป็นมา

ในคัมภีร์จริยาปิฎกแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระปริตรนี้แก่พระสารีบุตร เพื่อแสดงบารมีที่พระองค์เคยสั่งสมไว้ในภพก่อน ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาชาดก มีประวัติว่า สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าร่วมกับภิกษุสงฆ์ เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ ทรงพบไฟป่าโดยบังเอิญ เมื่อไฟป่าลุกลามล้อมมาถึงสถานที่ ๑๖ กรีสะ คือพื้นที่หว่านเมล็ดพืชได้ ๗๐๔ ทะนาน ไฟป่านั้นได้ดับลงทันทีเหมือนถูกน้ำดับไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไฟป่านี้มิใช่ดับลงด้วยอานุภาพของตถาคตในภพนี้ แต่ดับลงด้วยอานุภาพของสัจวาจาที่ตถาคตเคยกระทำในชาติที่เกิดเป็นนกคุ้ม สถานที่นี้จะเป็นสถานที่ไม่มีไฟไหม้ตลอดกัป แล้วตรัสพระปริตรนี้แก่ภิกษุเหล่านั้น



วัฏฏกปริตร

๑.อัตถิ โลเก สีละคุโณ      สัจจัง โสเจยยะนุททะยา
เตนะ สัจเจนะ กาหามิ     สัจจะกิริยะมะนุตตะรัง.

ศีลความประพฤติอันประเสริฐ ความสัตย์ ความหมดจด และความเอื้ออาทร ปรากฏอยู่จริงในโลก เราขอเสี่ยงสัจวาจาอันยิ่งด้วยความจริงนี้

๒.อาวัชเชตฺวา ธัมมะพะลัง     สะริตฺวา ปุพพะเก ชิเน
สัจจะพะละมะวัสสายะ     สัจจะกิริยะมะกาสะหัง.

เราผู้ครุ่นนึกถึงอานุภาพแห่งพระธรรม ระลึกถึงพระชินเจ้าองค์ก่อนๆ แล้ว อาศัยอานุภาพแห่งความจริง ขอเสี่ยงสัจวาจา

๓.สันติ ปักขา อะปะตะนา     สันติ ปาทา อะวัญจะนา
มาตา ปิตา จะ นิกขันตา     ชาตะเวทะ ปะฏิกกะมะ.

เรามีปีกก็บินไม่ได้ มีเท้าก็เดินไม่ได้ มารดาบิดาก็บินหนีไปแล้ว ดูก่อนไฟ ขอท่านจงหลีกไปเถิด

๔.สะหะ สัจเจ กะเต มัยหัง     มะหาปัชชะลิโต สิขี
วัชเชสิ โสฬะสะ กะรีสานิ     อุทะกัง ปัตฺวา ยะถา สิขี
สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ     เอสา เม สัจจะปาระมี.

เมื่อเราทำสัจวาจาเช่นนี้แล้ว ไฟที่ลุกโชติช่วงอยู่ ก็ดับไปเป็นพื้นที่ถึง ๑๖ กรีสะในทันที ดั่งไฟถูกน้ำดับไป ฉะนั้นสิ่งที่เสมอกับความสัตย์ของเราไม่มี นี้เป็นสัจบารมีของเรา




ภาพประกอบตำนานมังคลปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานมังคลปริตร

มังคลปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงมงคล ๓๘ มีประวัติว่าในกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสมงคลนี้ ได้เกิดปัญหาถกเถียงกันในมนุษยโลกว่า อะไรเป็นมงคล บางคนกล่าวว่ารูปที่เห็นดีเป็นมงคล บางคนกล่าวว่าเสียงที่ได้ยินดีเป็นมงคล  บางคนกล่าวว่ากลิ่นรสสัมผัสที่ดีเป็นมงคล ต่างฝ่ายก็ยืนยันความเห็นของตน แต่ไม่สามารถอธิบายให้ฝ่ายอื่นยอมรับได้ ปัญหานี้ได้แพร่ไปถึงเทวโลกและพรหมโลก จนเทวดาและพรหมได้แบ่งแยกเป็น ๓ ฝ่ายเหมือนมนุษย์ และปัญหานั้นหาข้อยุติไม่ได้เป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ในปีต่อมา เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ได้ทูลถามปัญหานี้กับพระอินทร์ ท้าวเธอจึงทรงมอบหมายให้เทพบุตรตนหนึ่งทูลถามปัญหานี้กับพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จมาเฝ้าพร้อมกับเหล่าเทวดาเพื่อสดับมงคล ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสพระปริตรนี้ตามคำอาราธนาของเทพบุตรนั้น

มังคลปริตร
 
เอวัง เม สุตัง.
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วดังนี้
เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

อะถะ โข อัญญะตะรา เทวะตา อะภิกกันตายะ รัตติยา อะภิกกันตะวัณณา เกวะละกัปปัง เชตะวะนัง โอภาเสตฺวา เยนะ ภะคะวา, เตนุปะสังกะมิ.
ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงแล้ว เทวดาตนหนึ่งทรงรัศมีงามยิ่ง ทำพระเชตวันโดยรอบทั้งหมดให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

อุปะสังกะมิตฺวา ภะคะวันตัง อะภิวาเทตฺวา เอกะมันตัง อัฏฐาสิ
เมื่อถึงที่ประทับ ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ข้างหนึ่ง

เอกะมันตัง ฐิตา โข สา เทวะตา ภะคะวันตัง คาถายะ อัชฌะภาสิ.
ครั้นแล้วเทวดาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

พะหู เทวา มะนุสสา จะ มังคะลานิ อะจินตะยุง
อากังขะมานา โสตถานัง พฺรูหิ มังคะละมุตตะมัง.

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก มุ่งคิดหามงคลเพื่อความสวัสดีอยู่ ขอพระองค์จงตรัสสิ่งที่เป็นมงคลอันประเสริฐเถิด

(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)

๑.อะเสวะนา จะ พาลานัง   ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา
ปูชา จะ ปูชะนียานัง   เอตัง มังคะละมุตตะมัง.

การไม่คบคนพาล การคบแต่บัณฑิต และการบูชาผู้ที่ควรบูชานี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

๒.ปะติรูปะเทสะวาโส จะ     ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา
อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ     เอตัง มังคะละมุตตะมัง.

การอยู่ในสถานที่เหมาะสม การได้บำเพ็ญบุญมาก่อน และการวางตัวถูกต้องนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๓.พาหุสัจจะ สิปปัญจะ     วินะโย จะ สุสิกขิโต
สุภาสิตา จะ ยา วาจา     เอตัง มังคะละมุตตะมัง.

การมีความรู้มาก การทำงานช่าง การมีวินัยอย่างดี และการพูดถ้อยคำไพเราะนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๔.มาตาปิตุอุปัฏฐานัง     ปุตตะทารัสสะ สังคะโห
อะนากุลา จะ กัมมันตา     เอตัง มังคะละมุตตะมัง

การเลี้ยงดูมารดาบิดา การสงเคราะห์ญาติ และการทำงานที่ปราศจากโทษนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๕.ทานัญจะ ธัมมะจะริยา จะ     ญาตะกานัญจะ สังคะโห
อะนะวัชชานิ กัมมานิ     เอตัง มังคะละมุตตะมัง

การให้ทาน การประพฤติธรรม การสงเคราะห์ญาติ และการทำงานที่ปราศจากโทษนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

๖.อาระตี วิระตี ปาปา     มัชชะปานา จะ สัญญะโม
อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ     เอตัง มังคะละมุตตะมัง

การอดใจไม่กระทำบาป การระวังตนห่างจากการดื่มน้ำเมา และการประพฤติตนไม่ประมาท นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๗.คาระโว จะ นิวาโต จะ     สันตุฏฐิ จะ กะตัญญุตา
กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง      เอตัง มังคะละมุตตะมัง

ความเคารพ การไม่ทะนงตน ความสันโดษ ความรู้บุญคุณและการฟังธรรมในเวลาที่เหมาะสม นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๘.ขันตี จะ โสวะจัสสะตา     สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง
กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา     เอตัง มังคะละมุตตะมัง.

ความอดทน ความเป็นคนว่าง่าย การได้พบเห็นสมณะ และการสนทนาธรรมในเวลาอันสมควร นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๙.ตะโป จะ พฺรหฺมะจะริยัญจะ     อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง
นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ     เอตัง มังคะละมุตตะมัง

การบำเพ็ญตบะ การประพฤติพรหมจรรย์ การเห็นแจ้งอริยสัจ และการทำนิพพานให้แจ้ง นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๑๐.ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ     จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ
อะโสกัง วิระชัง เขมัง     เอตัง มังคะละมุตตะมัง

จิตของบุคคลผู้ถูกโลกธรรมมากระทบแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไม่ขุ่นมัว เบิกบานอยู่นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๑๑.เอตาทิสานิ กัตฺวานะ     สัพพัตถะ มะปะราชิตา
สัพพัตถะ โสตถิง คัจฉันติ     ตัง เตสัง มังคะละมุตตะมัง

ผู้ปฏิบัติเช่นนี้ได้แล้ว จะไม่พ่ายแพ้ในที่ทุกสถาน ถึงความสวัสดีทุกแห่ง นี้เป็นมงคลอันสูงสุดของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย





ภาพประกอบตำนานวัฏฏกปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานธชัคคปริตร

ธชัคคปริตร คือปริตรยอดธง เป็นพระปริตรที่กล่าวถึงเรื่องที่เทวดาชั้นดาวดึงส์แหงนดูยอดธงของพระอินทร์ ในสงครามระหว่างเทวดากับอสูร และแนะนำให้ภิกษุระลึกถึงพระคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ในเวลาเกิดความสะดุ้งกลัวเมื่ออยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง

พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวว่า พระปริตรนี้สามารถคุ้มครองผู้ที่ตกจากที่สูงได้ และเล่าเรื่องที่เกิดในประเทศศรีลังกาว่า เมื่อภิกษุช่วยกันโบกปูนพระเจดีย์ชื่อว่าทีฆวาปี มีพระรูปหนึ่งพลัดตกลงจากพระเจดีย์ พระที่ยืนอยู่ข้างล่างได้รีบบอกว่า “ท่านจงระลึกถึงธชัคคปริตรเถิด” พระที่พลัดตกได้กล่าวว่า “ขอธชัคคปริตรจงคุ้มครองข้าพเจ้า” ขณะนั้นอิฐสองก้อนในพระเจดีย์ได้ยื่นออกมารับเท้าของท่าน เมื่อพระรูปอื่นพากันนำบันไดมารับพระรูปนั้นลงไปแล้ว อิฐสองก้อนนั้นได้เคลื่อนกลับไปสถานที่เดิม

ธชัคคปริตร
เอวัง เม สุตัง.

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วดังนี้


เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตะวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ตัตฺระ โข ภะคะวา ภิกขู อามันเตสิ ภิกขะโวติ.
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ภะทันเตติ เต ภิกขู ภะคะวะโต ปัจจัสโสสุง.
เหล่าภิกษุรับพระวาจาของพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า

ภะคะวา เอตะทะโวจะ.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความดังนี้ว่า

ภูตะปุพพัง ภิกขะเว เทวาสุระสังคาโม สะมุปัพฺยูฬโห อะโหสิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นานมาแล้วเกิดสงครามระหว่างเทวดากับอสูรขึ้น

อะถะ โข ภิกขะเว สักโก เทวานะมินโท เทเว ตาวะติงเส อามันเตสิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า

สะเจ มาริสา เทวานัง สังคามะคะตานัง อุปปัชเชยยะ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา.
ดูก่อนท่านผู้ปราศจากทุกข์ ถ้าท่านเข้าสงครามแล้ว มีความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพอง

มะเมวะ ตัสฺมิง สะมะเย ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ.
ขอให้ท่านแหงนดูยอดธงของเราในขณะนั้นเถิด

มะมัง หิ โว ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
เพราะเมื่อท่านเห็นยอดธงของเราแล้ว ท่านจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองเสียได้

โน เจ เม ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ.
ถ้าท่านไม่เห็นยอดธงของเรา

อะถะ ปะชาปะติสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ,
ก็ขอให้ท่านแหลนดูยอดธงของพระปชาบดีจอมเทพเถิด

ปะชาปะติสสะ หิ โว เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
เพราะเมื่อท่านเห็นยอดธงของพระปชาบดีจอมเทพแล้ว ท่านจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือขนลุกขนพองเสียได้

โน เจ ปะชาปะติสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ.
ถ้าท่านไม่เห็นยอดธงของพระปชาบดีจอมเทพ

วะรุณัสสะ หิ โว เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตังยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา. โส ปะหียิสสะติ.
เพราะเมื่อท่านเห็นยอดธงของพระวรุณจอมเทพแล้ว ท่านจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองเสียได้

โน เจ วะรุณัสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ.
ถ้าท่านไม่เห็นยอดธงของพระวรุณจอมเทพ

อะถะ อีสานัสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ.
ก็ขอให้ท่านแหงนดูยอดธงของพระอีสานจอมเทพเถิด

อีสานัสสะ หิ โว เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
เพราะเมื่อท่านเห็นยอดธงของพระอีสานจอมเทพแล้ว ท่านจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองเสียได้

ตัง โข ปะนะ ภิกขะเว สักกัสสะ วา เทวานะมินทัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวดาเห็นยอดธงของท้าวสักกะจอมเทพนั้นอยู่ก็ดี

ปะชาปะติสสะ วา เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง,
เห็นยอดธงของพระปชาบดีจอมเทพอยู่ก็ดี

วะรุณัสสะ วา เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง,
เห็นยอดธงของพระวรุณจอมเทพอยู่ก็ดี

อีสานัสสะ วา เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง,
เห็นยอดธงของพระอีสานจอมเทพอยู่ก็ดี

ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหีเยถาปิ โนปิ ปะหีเยถะ,
เทวดาเหล่านั้นย่อมละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองได้บ้างไม่ได้บ้าง

ตัง กิสสะ เหตุ.
ข้อนั้นเพราะอะไร

สักโก หิ ภิกขะเว เทวานะมินโท อะวีตะราโค อะวีตะโทโส อะวีตะโมโห ภีรุ ฉัมภี อุตฺราสี ปะลายีติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังไม่เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ยังเป็นผู้มีความกลัว ความหวาดหวั่น ความสะดุ้ง ยังคิดหลบหนี

อะหัญจะ โข ภิกขะเว เอวัง วะทามิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนตถาคตจะขอกล่าวอย่างนี้ว่า

สะเจ ตุมหากัง ภิกขะเว อะรัญญะคะตานัง วา รุกขะมูละคะตานัง วา สุญญาคาระคะตานัง วา อุปปัชเชยยะ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอเข้าไปอยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี แล้วมีความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพอง

มะเมวะ ตัสฺมิง สะมะเย อะนุสสะเรยยาถะ.
ขอให้เธอพร่ำระลึกถึงตถาคตในขณะนั้นเถิดว่า

อิติปิ โส ภะคะวา
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

อะระหัง,
เป็นผู้ไกลจากกิเลส

สัมมาสัมพุทโธ,
ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

วิชชาจะระณะสัมปันโน,
ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ

สุคะโต,
เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว

โลกะวิทู,
ทรงรู้แจ้งโลก

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ,
ทรงเป็นสารถีฝึกบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีใครยิ่งกว่า

สัตถา เทวะมะนุสสานัง,
ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พุทโธ,
ทรงเป็นผู้รู้แจ้ง

ภะคะวาติ
ทรงเป็นผู้อธิบายธรรม

มะมัง หิ โว ภิกขะเว อะนุสสะระตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อเธอพร่ำระลึกถึงตถาคตแล้ว เธอจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองเสียได้

โน เจ มัง อะนุสสะเรยยาถะ.
ถ้าเธอไม่พร่ำระลึกถึงตถาคต

อะถะ ธัมมัง อะนุสสะเรยยาถะ.
ก็พึงพร่ำระลึกถึงพระธรรมว่า

สฺวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม.
พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว

สันทิฏฐิโก,
เป็นธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง

อะกาลิโก,
ไม่ขึ้นกับกาล

เอหิปัสสิโก,
เป็นธรรมที่ควรมาดู

โอปะนะยิโก,
ควรน้อมมาปฏิบัติ

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ.
เป็นธรรมที่วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน

ธัมมัง หิ โว ภิขะเว อะนุสสะระตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อเธอพร่ำระลึกถึงพระธรรมแล้ว เธอจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกของพองเสียได้

โน เจ ธัมมัง อะนุสสะเรยยาถะ.
ถ้าเธอไม่พร่ำระลึกถึงพระธรรม

อะถะ สังฆัง อะนุสสะเรยยาถะ.
ก็พึงพร่ำระลึกถึงพระสงฆ์ว่า

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี

อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติตรง

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติที่ควรนับถือ

ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา,
ท่านเหล่านั้น คือบุรุษ ๔ คู่ กล่าวคือพระอริยบุคคล ๘ จำพวก

เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
นี้แหละพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค

อาหุเนยโย,
ผู้ควรรับสักการะ

ปาหุเนยโย,
ผู้ควรแก่ของต้อนรับ

ทักขิเณยโย,
ผู้ควรรับทักษิณาทาน

อัญชะลิกะระณีโย,
ผู้ควรอัญชลีกรรม

อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ.
เป็นนาบุญอันประเสริฐของโลก

สังฆัง หิ โว ภิกขะเว อะนุสสะระตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อเธอพร่ำระลึกถึงพระสงฆ์แล้ว เธอจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองเสียได้

ตัง กิสสะ เหตุ.
ข้อนั้นเพราะอะไร

ตะถาคะโต หิ ภิกขะเว อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วีตะราโค วีตะโทโส วีตะโมโห อะภีรุ อะฉัมภี อะนุตฺราสี อะปะลายีติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีความกลัว ความหวาดหวั่น ความสะดุ้ง ไม่คิดหลบหนี

อิทะมะโวจะ ภะคะวา. อิทัง วัตฺวานะ สุคะโต, อะถาปะรัง เอตะทะโวจะ สัตถา.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้แล้ว พระสุคตทรงกล่าวอย่างนี้แล้ว พระศาสดาได้ตรัสคาถานี้ต่อไปว่า


๑.อะรัญเญ รุกขะมูเล วา สุญญาคาเรวะ ภิกขะโว
อะนุสสะเรถะ สัมพุทธัง ภะยัง ตุมหากะ โน สิยา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอเข้าไปอยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี เธอพึงหมั่นระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้า แล้วเธอจะไม่มีความกลัว

๒.โน เจ พุทธัง สะเรยยาถะ โลกะเชฎฐัง นะราสะภัง
อะถะ ธัมมัง สะเรยยาถะ นิยยานิกัง สุเทสิตัง.

หากเธอไม่หมั่นระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของชาวโลก เป็นนรชนผู้ประเสริฐ เธอก็พึงหมั่นระลึกถึงพระธรรมที่เราแสดงดีแล้ว เป็นทางหลุดพ้นจากสังสารวัฎ

๓.โน เจ ธัมมัง สะเรยยาถะ นิยยานิกัง สุเทสิตัง
อะถะ สังฆัง สะเรยยาถะ ปุญญักเขตตัง อะนุตตะรัง.

หากเธอไม่หมั่นระลึกถึงพระธรรมที่เราแสดงดีแล้ว เป็นทางหลุดพ้นจากสังสารวัฏ เธอก็พึงหมั่นระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นนาบุญอันประเสริฐ

๔.เอวัง พุทธัง สะรันตานัง ธัมมัง สังฆัญจะ ภิกขะโว
ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โสมะหังโส นะ เหสสะติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอหมั่นระลึกพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อย่างนี้แล้ว ความกลัวก็ดี ความหวาดหวั่น ก็ดี หรือความขนลุกขนพองก็ดี จะไม่ปรากฏเลย


2984  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / Re: ก๋วยเตี๋ยวหลอดทรงเครื่อง สูตรเยาวราช สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 21 กันยายน 2559 16:25:53

ก๋วยเตี๋ยวหลอดโบราณ





วิธีทำก๋วยเตี๋ยวหลอดโบราณ ลวกถั่วงอก เส้นใหญ่ คลุกด้วยกระเทียมเจียวน้ำมันหมู
โรยหน้าด้วยต้นหอมซอย คึ่นไช่ซอย และตังฉ่าย
รับประทานกับซีอิ๊วดำหวาน และน้ำส้มพริกดอง

อาม่าอพยพมาจากเมืองจีน เล่าว่า ก๋วยเตี๋ยวหลอดโบราณ หรือ 'ก๋วยเตี๋ยวคนจน' ในเมืองจีน นั้น ปรุงอย่างง่ายๆ
เครื่องเคราไม่มีอะไรมาก แค่ลวกเส้นก๋วยเตี๋ยวและถั่วงอก คลุกน้ำมันหมูเจียวกับกระเทียม จัดใส่ชาม
โดยหน้าด้วยต้นหอม รับประทานกับซีอิ๊วดำหวาน และน้ำส้มเท่านั้นเอง
ลองทำรับประทานดูแล้ว...อร่อยมาก
._.·`·.¸¸.·´¯`·._.·´¯`·.¸><((((º> ~*




ก๋วยเตี๋ยว เป็นอาหารทำจากแป้ง มีที่มาจากอำเภอซาโห มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ชาวกวางตุ้งเรียกว่า ซาโหฟัน

สันนิษฐานว่าก๋วยเตี๋ยวเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยโดยชาวแต้จิ๋ว ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมากมาย และชาวจีนก็ได้นำเอาก๋วยเตี๋ยวเข้ามากินกันในเรือ เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยชาวจีนแต้จิ๋วได้เรียกอาหารชนิดนี้ว่า “ก๋วยเตี๋ยว” ตามที่เรียกขานกันมาจนปัจจุบัน

ก๋วยเตี๋ยวทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งมันละลายน้ำ แล้วนำมาเทใส่ถาดเกลี่ยให้เป็นแผ่นบางๆ จากนั้นนำไปนึ่งจนสุก ลอกแผ่นแป้งมาผึ่งลมให้หมาด ทาแผ่นแป้งด้วยน้ำมันพืช แล้วตัดเป็นเส้นขนาดต่างๆ ตามต้องการ เช่น เส้นใหญ่ เส้นเล็ก เศษของแป้งที่เหลือจากการตัดจะนำมาทำเป็นแผ่นก๋วยจั๊บ

ก๋วยเตี๋ยวจัดเป็นอาหารที่ทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว วิธีการปรุงมีหลายวิธี เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว ก๋วยเตี๋ยวผัดคั่ว ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ก๋วยเตี๋ยวผัดขี้เมา ใส่เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่นหมู ไก่ เป็ด เนื้อวัว ปลา กุ้ง ปลาหมึก ฯลฯ ใส่เครื่องปรุงอื่นประกอบ ได้แก่ ถั่วงอก ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี คะน้า น้ำมันเจียวกระเทียม ตังฉ่าย ต้นหอม ผักชี เป็นต้น

ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๒ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้น รัฐบาลจึงออกประกาศรัฐนิยมฉบับที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๒ ชักจูงให้ประชาชนหันมาใช้เครื่องอุปโภคบริโภคจากทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ เป็นการสนับสนุนให้คนไทยมีบทบาททางเศรษฐกิจแทนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ซึ่งมีกิจการค้าขายเป็นส่วนใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิด “ไทยทำ ไทยขาย ไทยใช้ ไทยกิน”  และหนึ่งในนโยบายดังกล่าวคือการชักชวนให้ประชาชนรับประทานอาหารที่ปรุงจากสิ่งที่มีหรือทำขึ้นในประเทศไทย และให้ยึดเป็นอาชีพคือ การกินและขายก๋วยเตี๋ยว เพราะเห็นว่ามีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน สะอาด และราคาถูก โดยให้หน่วยงานรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินงานนำร่อง เช่น ให้ครูใหญ่ทุกโรงเรียนทั่วราชอาณาจักรขายก๋วยเตี๋ยวในโรงเรียน และให้ข้าหลวงทุกคนทุกอำเภอขายก๋วยเตี๋ยว โดยพิมพ์คำแนะนำวิธีขายก๋วยเตี๋ยวแจกจ่ายประชาชนทั่วราชอาณาจักร

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดร้านอาหารของคนไทยในสถานที่ราชการ โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ จัดนักเรียนสตรีวิสามัญการเรือนมาช่วยจัดทำอาหารขายแก่ข้าราชการตามนโยบายของรัฐและตามคำขวัญของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่า “อาหารกลางวันของท่านคือก๋วยเตี๋ยว
2985  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อ: 21 กันยายน 2559 15:13:43



สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๑)
วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา


เมื่อพูดถึงวัดในพระพุทธศาสนา หลายท่านอาจนึกถึงวัดพระเชตวัน เพราะมีพูดถึงบ่อยในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่มิใช่วัดแรกดอกนะครับ วัดแรกสุดชื่อว่า วัดพระเวฬุวัน

เวฬุวัน แปลว่า ป่าไผ่ เป็นที่เสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์ มิใช่เฉพาะพระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ หากมีมาก่อนรัชกาลของพระองค์ด้วย นานเท่าใดไม่แจ้ง แต่มีประวัติน่าสน

ป่าไผ่นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “กลันทกนิวาปสถาน” สถานเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต หรือสถานเลี้ยงกระแต แสดงว่ามีกระแตมากมายในป่าไผ่นี้

แม่นแล้วครับ สมัยหนึ่ง พระราชาเมืองนี้พระองค์หนึ่ง กลับจากไปล่าเนื้อ มาบรรทมพักผ่อนอยู่ใต้กอไผ่ในป่านี้ ขณะม่อยหลับไป ก็พลันสะดุ้งตื่น เพราะเสียงกระแตร้องกันเจี๊ยวจ๊าวๆ

อสรพิษตัวหนึ่งเลื้อยผ่านมายังที่พระราชาบรรทมอยู่ พระองค์รอดจากถูกอสรพิษกัดเพราะฝูงกระแตช่วยปลุกให้ตื่นบรรทม ทรงสำนึกถึงบุญคุณของฝูงกระแต พระราชทานทรัพย์ตั้งเป็นกองทุนสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงกระแต

ตั้งแต่นั้นมาป่าไผ่นี้จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า “กลันทกนิวาปสถาน” ด้วยประการฉะนี้แล

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดชฎิลสามพี่น้องพร้อมทั้งบริวารจำนวนรวมทั้งสิ้น (รวมทั้งสามพี่น้องด้วย) ๑,๐๐๓ คน ให้เห็นความเหลวไหลของการบูชาไฟจนมีจิตเลื่อมใสทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์แล้วนั้น พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมข้าราชบริพารผู้นับถือชฎิลสามพี่น้อง ได้เสด็จมาเพื่อฟังธรรมจากอาจารย์ของพระองค์ ได้ทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ของพระองค์ปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์นั่งห้อมล้อมพระพุทธองค์อยู่

พระราชาและชาวเมืองต่างก็สงสัยว่าระหว่างสมณะหนุ่มท่าทางสง่างามนั่งอยู่ตรงกลาง กับอาจารย์ของพวกตน อันมีปูรณกัสสปะเป็นประมุขนั้นใครใหญ่กว่ากัน พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพระราชาและชาวเมือง จึงรับสั่งกับพระปูรณกัสสปะว่า เธอบำเพ็ญตบะทรมานตัวเองจนผ่ายผอมบูชาไฟตลอดกาลนาน บัดนี้เธอคิดอย่างไรจึงละทิ้งความเชื่อถือเดิมเสีย มาบวชเป็นสาวกของเราตถาคต พูดง่ายๆ ก็คือ ถือตบะเข้มงวดมานาน ทำไมตอนนี้เธอ “เปลี่ยนไป” ว่าอย่างนั้นเถิด

พระปูรณกัสสปะจึงห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบบังคมแทบพระยุคลบาทแล้วเหาะขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศระยะสูงเท่าลำตาล ประกาศว่าตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาของตน แล้วลงมากราบแทบพระยุคลบาทอีกครั้ง ทำให้ประชาชนอันมีพระพิมพิสารทรงเป็นประมุข หายสงสัยโดยสิ้นเชิง ต่างก็สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์

พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล ทรงประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระองค์จึงทรงมอบถวายป่าไผ่ดังกล่าวนี้ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

วัดพระเวฬุวัน จึงนับเป็นวัดแรกสุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาด้วยประการฉะนี้แล

มีเกร็ดเล่าขานกันมาว่า หลังจากถวายวัดแล้ว พระเจ้าพิมพิสารมิได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไป ตกกลางคืนมา พวกเปรตจึงมาปรากฏตัวขอส่วนบุญ พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นขึ้นมา รีบไปเฝ้าพระพุทธองค์แต่เช้าตรู่ กราบทูลเล่าเรื่องราวให้ทรงทราบ

พระพุทธองค์ตรัสว่า เปรตเหล่านั้นคือญาติของพระเจ้าพิมพิสารในชาติปางก่อน ทำบาปกรรมไว้ รอส่วนบุญที่ญาติจะอุทิศไปให้ แต่ไม่มีใครคิดถึง ครั้นทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารทรงทำบุญกุศล ถวายวัดแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์จึงพากันมาขอส่วนบุญ แต่พระองค์ก็มิได้อุทิศให้

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามว่าจะให้ทำอย่างไร พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้กรวดน้ำตั้งใจอุทิศ พระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวังแล้วทรงกรวดน้ำอุทิศให้พวกเปรตเหล่านั้น

คราวนี้พวกเขาพากันมาเป็นขบวนยาวเหยียด ขอบบุญขอบคุณเป็นการใหญ่ ว่าที่ทรงอุทิศส่วนบุญไปให้นั้น พวกเขาได้รับแล้ว “ขอบพระทัยฝ่าบาท” ตามสำนวนหนังกำลังภายใน ถ้าพูดเป็นฮินดูก็ว่า “พหุต ธันยวาท” (ขอบคุณมาก) ประมาณนั้น

พวกเปรตเหล่านี้ทำบาปกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน อยากทราบไหมครับ พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามพระพุทธองค์

พระองค์ตรัสเล่าให้ฟังว่า ในอดีตกาลยาวนานโน้น พระเจ้าพิมพิสารและเปรตพวกนี้เป็นชาวเมืองหนึ่งต่างก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พากันทำบุญเป็นการใหญ่ บางครั้งถึงกับแข่งขันกันถวายทานว่าใครถวายทานได้ประณีตกว่ากัน

วันหนึ่งขณะที่พวกเขาตระเตรียมภัตตาหารรอถวายพระอยู่ พระสงฆ์ยังมาไม่ถึง บางพวกก็เกิดหิวขึ้นมา หยิบฉวยเอาอาหารที่เตรียมจะถวายพระมากินก่อน ด้วยบาปกรรมนี้แหละพวกเขาจึงเกิดมาเป็นเปรตรับใช้กรรมตลอดเวลายาวนาน

ฟังเรื่องนี้แล้ว ขนลุกไหมครับท่าน คนโบราณนั้นเขากลัวบาปกรรมมากนะครับ ของที่จะใส่บาตรแม้ว่าจะใส่ไม่หมด หรือไม่ได้ใส่ เขาจะไม่เอามากิน จะพยายามตามไปถวายพระถึงวัด เพราะถือว่าตั้งใจจะถวายพระแล้ว เป็นของสงฆ์ไม่ควรเอามากิน

สมัยนี้หรือครับ อย่าว่าแต่แค่นี้เลย มากกว่านี้ก็ไม่กลัว ชนิดที่เรียกว่าแทบจะไม่มีหิริโอตตัปปะกันแล้วครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๑) วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๑ ประจำวันที่ ๒-๘ กันยายน ๒๕๕๙


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๒)
พระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรก

ถ้าถามว่าพระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาพระองค์แรกคือใคร

นักเรียนที่เรียนวิชาพระพุทธศาสนาคงตอบได้ว่าคือพระเจ้าพิมพิสาร  แต่ถ้าใครตอบไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน เพราะผู้ใหญ่ที่จบสูงกว่านักเรียนมัธยมก็มีมากมายที่ตอบไม่ได้

พระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีโอกาสพบพระพุทธเจ้าตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาผนวชใหม่ๆ เสด็จผ่านมายังเมืองราชคฤห์ ประทับอยู่ที่ปัณฑวบรรพต หลังจากได้ทรงสนทนากับพระพุทธองค์แล้ว ได้ชักชวนให้พระพุทธองค์สละเพศบรรพชิตมาครองราชย์ด้วยกัน โดยจะทรงแบ่งดินแดนให้กึ่งหนึ่ง

พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ตรัสว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสวงหาคือโมกษธรรม หาใช่ราชสมบัติไม่  

กษัตริย์หนุ่มกราบทูลว่า ถ้าทรงได้บรรลุสิ่งที่ทรงประสงค์แล้วขอให้เสด็จมาสอนเป็นคนแรก พระพุทธองค์ทรงรับ ด้วยเหตุนี้ เมื่อโปรดปัญจวัคคีย์ โปรดยสกุมารพร้อมสหายจนมีพระสาวก ๖๐ รูป ทรงส่งไปประกาศพระศาสนายังแคว้นต่างๆ แล้ว พระองค์จึงเสด็จพุทธดำเนินมุ่งตรงไปยังเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

จุดมุ่งหมายก็คือ ทรงต้องการจะเปลื้องปฏิญญาที่ประทานไว้แก่พระเจ้าพิมพิสารเมื่อครั้งนั้นนั่นเอง

เมื่อทรงพิจารณาว่า บุคคลที่พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองนับถืออยู่คือชฏิลสามพี่น้องพร้อมบริวาร พระองค์จึงเสด็จไปโปรดชฎิลสามพี่น้องก่อน เพราะว่า เมื่อชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารนับถือพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารพร้อมชาวเมืองก็จะนับถือตามโดยง่าย

หลังจากโปรดชฎิลสามพี่น้องแล้ว พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวัน (แปลกันว่าป่าตาลหนุ่ม ตาลหนุ่มก็คือตาลไม่แก่นั่นแล) นอกเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมประชาชนจำนวนมากได้ไปยังป่าตาลดังกล่าว ทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ของพระองค์สละเพศชฎิลหันมานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ นั่งแวดล้อม “สมณะหนุ่ม” รูปหนึ่งหน้าตาคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยรู้จักกันมาก่อน ก็ทรงสงสัยอยู่ครามครัน ว่าเกิดอะไรขึ้น อาจารย์ของพระองค์จึงได้เปลี่ยนไป

พระพุทธองค์ทรงทราบพระราชดำริของกษัตริย์หนุ่ม จึงหันไปตรัสถามพระปูรณกัสสปะหัวหน้าชฎิลทั้งหลายว่า “เธอเห็นอย่างไร จึงสละเพศชฎิลและการบูชาไฟที่ทำมาเป็นเวลานาน หันมานับถือพระพุทธศาสนา”

ปูรณกัสสปะกราบทูลว่า “ยัญทั้งหลายสรรเสริญรูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ล้วนแต่เป็นมลทิน ข้าพระองค์เห็นว่ามิใช่ทางแห่งความระงับกิเลส จึงละการเซ่นสรวงบูชา”

“ถ้าเช่นนั้น เธอยินดีอะไร เทวโลกหรือมนุษยโลก”
“ใจของข้าพระองค์ยินดีในการสิ้นกิเลสทั้งหลาย ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป”

พระเจ้าพิมพิสารและประชาชนได้ยินการโต้ตอบระหว่างพระพุทธเจ้าและปูรณกัสสปะ และเห็นอาจารย์ของพวกตนคุกเข่าประนมมือต่อพระพักตร์สมณะหนุ่มเช่นนั้น ก็หายสงสัย พลอยเลื่อมใสไปตามอาจารย์ของพวกตนด้วย

กษัตริย์หนุ่มก็พลอยรำลึกได้ว่า สมณะรูปนี้ก็คือผู้ที่ตนพบที่ปัณฑวบรรพตนั้นเอง บัดนี้ได้เป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แล้ว

หลังจากทรงสดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล นับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต อาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวังในวันรุ่งขึ้น

หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ถวายสวนไผ่เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาชื่อว่า “วัดเวฬุวัน” ดังที่ทราบกันดีแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารนี้มีพระมเหสีพระนามว่า โกศลเทวี หรือเวเทหิ ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้พระกนิษฐาของพระเจ้าพิมพิสารเป็นมเหสีเช่นกัน

แว่นแคว้นทั้งสองนี้จึงมีสัมพันธไมตรีกันอย่างแน่นแฟ้น

ทั้งนี้พระเจ้าปเสนทิโกศล และพระเจ้าพิมพิสารต่างก็ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันจนตลอดรัชกาล

มีเรื่องน่าสนใจก็คือ พระเจ้าพิมพิสารทรงนำแนวคิดวิธี “ดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ” จากแคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวี มาใช้ในเมืองราชคฤห์ของพระองค์

โดยทรงสถาปนาตำแหน่งนาง “นครโสเภณี” ขึ้น

นางนครโสเภณีคนแรกชื่อ สาลวดี  สาลวดีมีบุตรชายด้วยความประมาทจึงสั่งให้สาวใช้เอาไปทิ้งไว้ข้างประตูวัง บังเอิญเจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสารทรงเก็บไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม

เด็กน้อยคนนี้ต่อมาได้จบการศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้เป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนักเมืองราชคฤห์ และได้ถวายตนเป็นนายแพทย์ถวายการอุปัฏฐากพระพุทธองค์ในเวลาต่อมา

พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชโอรสชื่อ อชาตศัตรู ผู้ซึ่งได้ทำ “ปิตุฆาต” เพราะหลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัต แม้อชาตศัตรูเองก็ถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ พระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ถูกพระราชโอรสของตนปลงพระชนม์เช่นกัน ว่ากันว่า ฆ่าติดต่อกัน ๗ ชั่วโคตรทีเดียว

ประชาชนทนเห็นพระราชวงศ์ปิตุฆาตต่อไปไม่ไหว จึงรวมตัวกันปฏิวัติ ล้มราชวงศ์โมริยะ สถาปนาราชวงศ์ใหม่สืบต่อมา


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๒) พระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๒ ประจำวันที่ ๙-๑๕ กันยายน ๒๕๕๙




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๓)
อุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรก


เอ่ยชื่อ อนาถบิณฑิกเศรษฐี กับ วิสาขามหาอุบาสิกา ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาส่วนมากจะรู้จัก เพราะทั้งสองท่านนี้ถูกเอ่ยถึงบ่อยในตำราเรียนพระพุทธศาสนา

บ่อยจนกระทั่งมีความรู้สึกว่าทั้งสองท่านคือบรรพบุรุษของไทยเราทีเดียว

อนาถบิณฑิกเศรษฐี นามเดิมว่า สุทัตตะ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล วันหนึ่งเดินทางทำธุรกิจที่เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ พักอยู่ที่บ้านของน้องเขย เห็นคนที่นั่นตระเตรียมสถานที่กันเอิกเกริก ยังกับจะมีงานรวมพล ยังไงยังงั้น จึงเอ่ยปากถามว่า มีงานเลี้ยงอะไรหรือ  ได้รับคำตอบว่า มิได้จัดงานเลี้ยงรับรองอะไร หากแต่พรุ่งนี้เช้าได้อัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหาร พร้อมภิกษุสงฆ์

สุทัตตะได้ยันดังนั้นก็ขนลุกด้วยปีติ บอกว่าอยากพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้องเขยบอกให้รอพรุ่งนี้เช้าก็ได้พบแน่นอน  แต่สุทัตตะรอไม่ไหว ตกดึกคืนนั้นจึงออกจากคฤหาสน์น้องเขยมุ่งหน้าไปยังสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า  ได้พบ และสดับพระธรรมเทศนาจากพระองค์จนบรรลุโสดาปัตติผล หลังจากขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น สุทัตตะกราบทูลเชิญเสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะทั้งหลายยินดีในสถานที่สงบสงัด”  สุทัตตะเข้าใจเอาเองว่าพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา

เมื่อกลับเมืองสาวัตถี จึงได้ไปเจรจาซื้อสวนเจ้าเชตเพื่อสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ เจ้าเชตไม่อยากขาย จึงโก่งราคาว่า เอากหาปณะมาปูลาดเต็มพื้นที่นั้นแหละคือราคาของสวนนี้ สุทัตตะจึงสั่งให้ขนกหาปณะจากคลังมาปูพื้นที่ได้ครึ่งหนึ่ง หมดเงินไป ๑๘ โกฏิ เจ้าเชตเห็นความตั้งใจจริงของสุทัตตะจึงยินยอมเอาแค่ ๑๘ โกฏิ ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งตนออกสมทบ ทั้งสองร่วมกันสร้างวัดสำเร็จ ได้ขนานนามเป็นอนุสรณ์เจ้าของสวนเดิมว่า “วัดพระเชตวัน”

สุทัตตะ เป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี บริจาคทานแก่คนยากคนจนและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์เป็นประจำ จึงถูกขนานนามว่า “อนาถบิณฑิกะ” แปลว่าผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาเสมอ

ฝรั่งแปลว่า benefactor หรือ “เศรษฐีใจบุญ” นั่นเอง

คัมภีร์กล่าวว่า ท่านใจบุญสมชื่อ คราวหนึ่งการค้าขาดทุน ฐานะของท่านยากจนลง ท่านก็ยังถวายทานมากมายเหมือนเดิม ไม่ตัดทอนงบการทำบุญแต่อย่างใดจนเทวดาที่สิงอยู่ซุ้มประตูคฤหาสน์ทนไม่ได้มาปรากฏกายขอร้องให้ลดการถวายทานลงบ้าง เมื่อรู้ว่าเป็นเทวดาที่สิงอยู่ที่ซุ้มประตู เศรษฐีจึงตะเพิดไล่หนีไป ในที่สุดเทวดานั้นต้องมาขอขมา จะไม่ขัดใจท่านผู้มีอำนาจอีกแล้ว

อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีบุตรสาวสามคน ต่างก็ช่วยงานบุญงานกุศลของบิดาคนละไม้คนละมือยกเว้นบุตรชายคนโตที่เกเร เอาแต่เที่ยวเตร่หาความสุขสนุกตามประสาลูกคนมีเงิน ดีว่าไม่ไปหาเรื่องเหยียบตีนชาวบ้าน แต่เท่านั้นก็สร้างความหนักใจให้ผู้เป็นพ่อมากในช่วงแรกๆ

ต่อมาเศรษฐีคิดอุบาย “ดัด” สันดานลูกชายได้สำเร็จ คือจ้างลูกชายไปฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานลูกชายก็กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ดำเนินรอยบุญตามพ่อ

หมายเหตุ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเกเร ลองนำเทคนิควิธีของท่านอนาถบิณฑิกะมาใช้บ้าง บางทีอาจแก้ปัญหาได้บ้างกระมัง แต่ต้องจ้างไปฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรมะ ให้เรียนให้เก่งนะ อย่าคิดติดสินบนด้วยของเล่นหรือวัตถุแพงๆ

เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวัน นางวิสาขาก็คิดสร้างวัดบ้าง จึงได้สร้างวัด “บุพพาราม” ขึ้นทางทิศตะวันออกของเมือง เรื่องราวของนางวิสาขาน่าสนใจ ขอเล่าโดยสังเขปดังนี้

นางเป็นบุตรสาว ธนัญชัยเศรษฐี กับ นางสมุนา แห่งภัททิยนคร แคว้นอังคะ นางได้พบพระพุทธเจ้า ได้สดับพระธรรมเทศนาจนบรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่ยังเด็ก (ว่ากันว่า วัยแค่ ๗ ขวบเท่านั้นเอง) นางเป็นสาวงามแบบ “เบญจกัลยาณี” คืองามพร้อม ๕ ส่วน ได้แก่ ผมงาม, เนื้องาม, กระดูก (ฟัน) งาม, ผิวงาม และวัยงาม

นางได้แต่งงานกับบุตรชายเศรษฐีตระกูล “มิจฉาทิฐิ” (หมายถึงตระกูลที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา) แต่นางก็ปรนนิบัติสามีและบิดามารดาของสามีอย่างเคารพ ไม่ขาดตกบกพร่อง

แต่ถึงประพฤติตัวดีอย่างไรก็พลาดจนได้ วันหนึ่งขณะนางพัดวีบิดาสามีผู้รับประทานอาหารอยู่ พระภิกษุรูปหนึ่งอุ้มบาตรมายืนหน้าบ้าน ทำนองขอบิณฑบาต (สมัยพุทธกาลภิกษุมักจะไปยืนหน้าบ้านทายกทายิกาที่คาดว่ามีศรัทธาถวายอาหาร)

เศรษฐีเฒ่าเห็นพระแต่ทำเป็นไม่เห็น แถมหันข้างให้ รับประทานอาหารไป นางจึงเลี่ยงออกมา กระซิบกับภิกษุรูปนั้น ดังพอให้บิดาสามีได้ยินว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังกินของเก่า”

พูดขาดคำก็ได้ยินเสียงถ้วยชามดังเพล้ง แม่นแล้ว เศรษฐีลุกขึ้นเตะเอง ด้วยความโมโหที่ลูกสะใภ้บังอาจด่าตนหาว่า “กินอุจจาระ” ออกปากไล่นางออกจากตระกูลของตน

พราหมณ์ ๘ คนที่บิดานางมอบให้ดูแลนางวิสาขา ได้ทำการสอบสวนเรื่องราว นางวิสาขาอธิบายว่า นางมิได้กล่าวหาบิดาสามีว่ากินอุจจาระดังเข้าใจ หากนางหมายถึงว่า บิดาสามีนางทำบุญแต่ปางก่อนไว้มากจึงมาเกิดเป็นเศรษฐีในชาตินี้ แต่มิได้สร้างบุญใหม่เพิ่มเลย ที่ว่าบิดาสามีนาง “กินของเก่า” หมายถึงกินบุญเก่า

พราหมณ์ทั้ง ๘ ตัดสินว่านางไม่มีความผิด เศรษฐีก็เข้าใจและให้อภัย ไม่ส่งนางกลับตระกูล แถมยังหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามนางอีกด้วย เศรษฐีนับถือลูกสะใภ้คนนี้ว่ามีบุญคุณต่อตนเป็นเสมือน “บิดาในทางธรรม” ของตน  ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาจึงมีสมญานามว่า “วิสาขาวิคารมาตา" (วิสาขามารดาแห่งมิคารเศรษฐี)

นางได้ขายเครื่องประดับราคาแพงของนางชื่อ “ลดาปสาธน์” ได้เงิน ๘ โกฏิ ๑ แสนกหาปณะ (ว่ากันว่าไม่มีใครซื้อ จึงควักเงินตัวเองซื้อ) และเพิ่มเงินอีก ๙ โกฏิ สร้างวัดบุพพารามถวายไว้ในพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว

ทั้งอนาถบิณฑิกเศรษฐี และวิสาขามหาอุบาสิกา ต่างเป็นอุบาสกอุบาสิกาตัวอย่าง ว่ากันว่าทั้งสองท่านไม่เคยไปวัดมือเปล่าเลย ถ้าเป็นเวลาเช้าก็ถืออาหารไปถวายพระ ถ้าเป็นเวลาเย็นก็ถือดอกไม้ของหอมไปบูชาพระ จึงได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการถวายทาน

นี่คือเรื่องราวสังเขปของอุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรกในพระพุทธศาสนา


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๓) อุบาสกอุบาสิกาขวัญคู่แรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๓ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ กันยายน ๒๕๕๙
2986  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ก๋วยเตี๋ยวหลอดทรงเครื่อง สูตรเยาวราช สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 20 กันยายน 2559 17:50:21





ก๋วยเตี๋ยวหลอดทรงเครื่อง
สูตรเยาวราช

._.·`·.¸¸.·´¯`·._.·´¯`·.¸><((((º> ~*

เครื่องปรุง
-พะโล้หมู+เต้าหู
-เส้นใหญ่
-ถั่วงอก
-กุ้งแห้งอย่างดีทอดกรอบ
-น้ำมันกระเทียมเจียว
-ต้นหอมซอย
-พริกไทยป่น
-เครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยว ได้แก่ น้ำปลา น้ำส้มพริกดอง พริกคั่ว น้ำตาลทราย


วิธีทำ
1.ลวกถั่วงอก และเส้นก๋วยเตี๋ยวใส่ชาม คลุกเส้นด้วยน้ำมันกระเทียมเจียว
2.จัดวางหมูพะโล้ เต้าหู้ กุ้งแห้งทอดกรอบ ลงในชามเส้นก๋วยเตี๋ยว โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียวกรอบและต้นหอมซอย
3.ตักน้ำพะโล้ราดในชาม รับประทานกับเครื่องปรุงก๋วยเตี่๋ยว







พะโล้ก๋วยเตี๋ยวหลอด โดยทั่วไปไม่ใส่ไข่ เห็นมีแต่เนื้อหมูและเต้าหู้
แถวเยาวราช มีบางร้านใส่กุ้งฝอยสีแดงตัวเล็กๆ ผสมลงไปในเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วย
บางคนว่าเส้นที่ใส่กุ้งฝอยไม่ค่อยอร่อยเท่าไรนัก...เป็นเรื่องของนานาจิตตัง


เครื่องปรุงพะโล้
- หมูสามชั้นหรือขาหมู ½ กิโลกรัม
- เต้าหู้หั่นชิ้นสี่เหลี่ยม ทอดให้เหลืองทั่วชิ้น
- น้ำตาลปีบ  1/3  ถ้วยตวง
- น้ำตาลกรวด  1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ  
- ข่า 3 แว่น
- กระเทียม 1 หัว  (ไม่ต้องแกะกลีบ)
- รากผักชี 1 ราก (ใหญ่)
- อบเชย 1 ชิ้น (ยาว 2 น้ิว)
- โป๊ยกั๊ก 3 ดอก
- ผงพะโล้ 2 ช้อนชา
- ซีอิ๊วดำ
- ซีอิ๊วขาว
- เกลือ


วิธีทำ
1.คั่วอบเชย และโป๊ยกั๊กให้หอม
2.เคี่ยวน้ำตาลปีบจนละลายออกสีน้ำตาล (ไม่ต้องใส่น้ำ หรือน้ำมัน)
3.ใส่เนื้อหมู อบเชย โป๊ยกั๊ก ผงพะโล้ ผัดให้เข้ากัน ตักใส่หม้อ เติมน้ำสะอาดให้ท่วมหมู
4.ใส่เต้าหู้ทอด กระเทียม(ไม่ต้องแกะกลีบ-ถ้ามีก้านกระเทียมใส่ไปด้วยจะเพิ่มความหอม) ข่า รากผักชี  น้ำตาลกรวด ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว
5.ปิดฝาหม้อ เคี่ยวด้วยไฟอ่อน จนหมูเปื่อยนิ่ม



เคี่ยวน้ำตาลปีบจนละลายออกสีน้ำตาล (ไม่ต้องใส่น้ำ หรือน้ำมัน)


ใส่ขาหมู  ใส่อบเชย  โป๊ยกั๊ก  ผงพะโล้  ผัดให้เข้ากัน  


น้ำตาลกรวด ผักชีบุบ และกระเทียมไทย



2987  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / การผูกเสี่ยว ตามจารีตประเพณีของคนอีสาน เมื่อ: 20 กันยายน 2559 17:16:20



การผูกเสี่ยว
ตามจารีตประเพณีของคนอีสาน

คนทั่วๆ ไป ยังเข้าใจความหมายของคำว่า “เสี่ยว” ซึ่งเป็นคำที่แพร่หลายที่สุดของ “คนอิสาน” คลาดเคลื่อน, บิดเบือนไปจากความหมายของเขาแทบทั้งสิ้น...

เสี่ยว” ในความรู้สึกของ ‘คนกรุงเทพฯ’ สมัยหนึ่งนั้น คือการดูถูกเหยียดหยามกันอย่างชัดๆ ที่เบาลงมาหน่อยก็เป็นไปในทำนอง ‘เชย’, ‘เปิ่น’, บ้านนอก ฯลฯ ถ้าเอ่ยคำว่า ‘เสี่ยว’ คนกรุงเทพฯ หมายถึงชาวอิสานโดยเฉพาะ รวมไปถึงคำพ่วงอีกคำหนึ่งนำหน้าหรือตามหลังเช่น ‘บักหนาน’ – ‘บักเสี่ยว’ ซึ่งอยู่ในนัยเดียวกัน

คนอิสานเกลียด, โกรธ, ขมขื่นใจ, ที่คนต่างถิ่น ขนานนามเขาว่า ‘เสี่ยว’ โดยไม่เลือกกาลเทศะ ในขณะที่ไม่มีเหตุผลหรือเหตุการณ์อะไรที่ใกล้เคียงเกี่ยวข้องกับ คำว่า ‘เสี่ยว’ แต่คำนี้กลับถูกเรียกออกมาลอยๆ โดดๆ ความรู้สึกของเขาจึงดูประหนึ่งถูกหมิ่นถูกหยามอย่างชนิดเลือดฉ่าไปทั้งตัวทีเดียว แต่ก็อย่างว่าเขาเหล่านั้นมาจากดินแดนที่มีแต่ความทรหดอดทน การข่มขันติ และการรักสันติ เป็นสัญลักษณ์ของพวกเขา จนพวกเขาได้รับสมญานามว่า “ถิ่นไทยดี” ดังนั้นเขาจึงทนได้ กลั้นได้, แม้ว่าเลือดเขาจะพล่านสักปานใดก็ตาม การข่ม, การเงียบ, การยอมจำนน, คนกรุงเทพฯ ยุคนั้นเลยนึกว่าหมู ว่าได้ว่าเอา ว่าให้แสบใจเล่นๆ งั้นแหละ ทั้งๆ ที่นักมวยมือดีๆ, นักการเมือง, นักการทหาร, รวมไปถึงผู้มีอำนาจในแผ่นดินยุคหนึ่งคือ ‘เสี่ยว’ ของคนกรุงเทพฯ นั่นเอง

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นเถลิงอำนาจ สามล้อเกือบหมื่นคันพากันไปชุมนุมที่สนามหลวง พากันแห่ขบวนไปรอบๆ ตะโกนกึกก้องไปสู่ท้องฟ้า... “ข้าวเหนียวขึ้นโต๊ะ...ข้าวเหนียวขึ้นโต๊ะ...แล้วเว๊ย...” จากนั้นเป็นต้นมาคำว่า “เสี่ยว” ก็ค่อยๆ จางหายไป คนกรุงเทพฯ เริ่มรู้จักคนอิสานและรักใคร่คบหาสนิทใจขึ้นกว่าเดิม

ที่สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คนหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศแวะผ่านไปมาร่วมสังสรรค์ เมื่อใครพบกลุ่มใครซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเดียวกัน ก็ล่อภาษาพื้นเมืองกันอย่างครื้นเครงและเต็มไปด้วยความภาคภูมิ คนใต้ออกจะเลือดร้อนกว่าเพื่อน คนที่คิดว่าตนเองคือ “คนกรุงเทพฯ” เรียกคนใต้ว่า “ไอ้พวกต้ำปรื้อ” เพียงคำเดียว ปากก็กินน้ำพริกไม่ได้ไปหลายวัน ต่างกับคนอิสานเรียก ‘เสี่ยว’ เรียก ‘หนาน’ เรียกได้เรียกไปข้อยบ่ถือ เพราะแกไม่ได้ศึกษาถึงที่มาของคำนี้ หากแกรู้และซึ้งถึงความหมายของคำนี้แล้ว...วันนั้นแกจะละอายใจต่อความพล่อยของลิ้นลมปากตนเอง...

คนอิสานยกย่องเทิดทูนเคารพคำว่า ‘เสี่ยว’ นี้อย่างซาบซึ้ง มันเป็นคำที่ละเอียดอ่อน ยากนักที่จะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามคำขาน, คำเรียกของคำๆ นี้ได้ง่ายๆ

‘เสี่ยว’ มิได้หมายความถึง เพื่อนรัก-เพื่อนใคร่ หรือเพื่อนเกลอ ดั่งที่ความเข้าใจสามัญๆ เข้าใจเช่นนั้น ความหมายของมันสูงส่งยิ่งกว่านั้นมากนัก

เสี่ยว คำนี้มีความหมายยิ่งยง เหมือนพงศาวดารสามก๊ก ตอน เล่าปี่, กวนอู เตียวหุย, กรีดเลือดดื่มน้ำสาบาน ร่วมเป็นพี่เป็นน้อง ร่วมเป็นร่วมตาย อย่างไรก็อย่างนั้น แต่ ‘เสี่ยว’ ของคนอิสาน ไม่ถึงขั้นที่ต้องกรีดเลือดกรีดเนื้ออย่างสามก๊ก เขามีพิธีการที่ละมุนละมัยอ่อนโยน ผูกพันจิตใจ กระหวัดรัดรึงกันยิ่งกว่านั้น

เสี่ยว เท่าที่เห็นๆ มีอยู่ ๒ ประเภท ประเภทแรกได้แก่การ “ผูกเสี่ยว” แบบธรรมดาพื้นๆ ประเภทหลัง ได้แก่การ “ผูกเสี่ยวเหยเพยแพง

เสี่ยวเหยเพยแพง จะเกิดขึ้นแต่ละครั้งจะต้องมีพิธีรีตองกันอึงคะนึง ราวกับจะจัดงานบุญ หรือประกอบนักขัตฤกษ์อะไรๆ ทำนองนั้น มีการตีฆ้องร้องป่าว มีสักขีพยานที่จะต้องรับรู้ในพิธีกรรมอันนี้ คู่ที่จะเป็น เสี่ยวเหยเพยแพง จักต้องดื่มน้ำพุทธมนต์แทนน้ำสาบานร่วมบาตรหรือขันเดียวกัน ต่อหน้าสักขีพยาน ท่ามกลางการอ่านโองการของปูมปุโรหิต สาปแช่งและให้พรชัยไปพร้อมกัน คนคู่นั้นถึงจะเป็น เสี่ยวเหยเพยแพง กันได้โดยสมบูรณ์แบบ

‘เสี่ยว’ แบบธรรมดาๆ หรือพื้นๆ มีพิธีรีตองเช่นกัน แต่ย่นย่อลงหลายอย่างจนเกือบจะไม่เป็นพิธี แต่ก็นับเนื่องเข้าเป็น เสี่ยว ได้โดยนัย และส่วนใหญ่ของคนอิสานก็มีเสี่ยวระดับนี้เป็นสโลแกนของสังคมอยู่ทั่วไป ประเภทแรกจึงสูงกว่า หนักแน่นกว่า และเป็นหลักยึดเหนี่ยวให้ประเภท ๒ ดำเนินรอยตามไปสู่จุดหมายปลายทางอันเดียวกัน

การผูกเสี่ยวของคนอิสาน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นชายกับชาย หญิงกับหญิง แม้แต่ชายกับหญิง หรือหญิงกับชาย ก็เป็นเสี่ยวเหยเพยแพงกันได้ ไม่เลือกเพศเลือกวัย เลือกวรรณะ ฐานะ หากมีจิตใจมีแก่นแท้ของการผูกพันรักใคร่ซึ่งกันและกันเป็นสรณะแล้ว การประกอบพิธีการผูกเสี่ยวก็เกิดขึ้นได้

พิธีกรรมของการผูกเสี่ยวเหยเพยแพงจะเริ่มขึ้นด้วยการนัดวันหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมกับสมพงษ์ของคนทั้งสอง เมื่อได้โฉลกฤกษ์ยามวันดี การล้มวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ก็ลงมือทันที  การล้มหมู วัว ควาย นี้อยู่ที่ฐานะของบุคคลทั้งสองจะกำหนดเอาเอง ฐานะดีก็เล่นวัวควายให้เอิกเกริก ถ้าหย่อนลงมาก็แค่หมูหรือเป็ดไก่ก็ใช้ได้เช่นกัน

ทั้งสองคนที่จะเป็น “เสี่ยวเหยเพยแพง” ไม่จำเป็นที่จะต้องมีฐานะทัดเทียมกัน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีฐานะเหนือกว่าอีกฝ่ายก็เป็นผู้ออกเงินไป ถ้าฐานะทัดเทียมกันก็ช่วยกันออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง พิธีการก็เริ่มขึ้นโดยทางศาสนาและพิธีของพราหมณ์ผสมกัน

ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของคนทั้งสองฝ่าย จะถูกป่าวร้องชวนเชิญให้มาในงาน “เอาเสี่ยว” หรือ “ผูกเสี่ยว” ล่วงหน้า ๑ วัน ไม่ว่าจะเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันหรือคนละถิ่นละแห่ง ก็จักต้องป่าวร้องให้มาเป็นสักขีพยานในการ ‘ผูกเสี่ยว’ ในครั้งนี้โดยทั่วถึง รวมความแล้วทั้งสองฝ่ายมีพ่อแม่ญาติโกโหติกาเท่าไหร่ก็ขนกันมา เพื่อที่จะเป็นวงศาคณาญาติสืบเนื่องกันไปเบื้องหน้า โดยคนทั้งสองเป็นหลักประกันในการผูกสัมพันธ์ของวงศาคณาญาติ

พิธีทางศาสนาเริ่มด้วยการนิมนต์พระมาฉันอาหารเพล เพื่อจะขอน้ำมนต์แทนน้ำสาบาน ต่อจากพิธีทางศาสนาจึงเป็นพิธีของพื้นบ้านซึ่งมีลัทธิของของพราหมณ์เข้ามาผสม มีการตั้งขันโตกบายศรี เรียกว่า ‘ขันแปด’ เมื่อพระเสร็จพิธีของสงฆ์และท่านลงเรือนไปแล้ว พิธีสูตรขวัญก็เริ่มขึ้นด้วยการโอมอ่านโองการเชิญเทวดามาชุมนุมจนสิ้นขบวนความ จึงประกาศการเป็นเสี่ยวเหยเพยแพง ของบุคคลทั้งสอง ต่อญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั้น ให้รับรู้เป็นสักขีพยาน แล้วจึงโอมอ่านคำอวยชัยให้พรและสาปแช่งการตระบัดสัตย์ซึ่งกันและกันควบคู่ไปในเนื้อหาเป็นครั้งสุดท้าย แล้วจึงให้ญาติพี่น้องมิตรสหายของคนทั้งสองเข้ามาผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์ รับเอาความผูกพันเหล่านั้นกระชับเกลียวเข้าไปด้วยก็เป็นอันเสร็จพิธี ต่อจากนั้นก็เปิดรายการกินกันสำราญบานใจ ไปจนกระทั่งตกค่ำย่ำเย็น หรือจนกว่าจะตะบันเข้าไปไม่ไหวโน่นแหละจึงจะเลิกรากัน

บัญญัติของ ‘เสี่ยว’ ที่ได้ตราไว้เป็นกฎเกณฑ์นั้น ตามโอมอ่านของพราหมณ์ปุโรหิตสรุปรวมความแล้วได้ความว่า “สูเจ้าทั้งสอง ได้ประกาศต่อหน้าเทวดาฟ้าดินและสักขีพยานรอบๆ นี้แล้วว่า จะรักซื่อตรงต่อกัน แม้ชีวิตก็จักพลีให้แก่กัน จะไม่ยอมทอดทิ้งกันและกันไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใด เจ้าทั้งสองได้ประกาศแล้วว่าชีวิตของเจ้าทั้งสองจะเหมือนเป็นชีวิตเดียวกัน พ่อแม่ญาติพี่น้องของเจ้าทั้งสองจะเป็นเสมือนคนครัวเรือนเดียวกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามตกทุกข์ได้ยากหรือยามมั่งมีศรีสุข เจ้าทั้งสองจักต้องดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกัน จนกว่าชีวิตของเจ้าทั้งสองจะดับสูญ ฯลฯ”

นี่แหละครับการเป็น เสี่ยวเหยเพยแพง ต้องอยู่ในสูตรเหล่านี้และจะต้องอยู่อย่างเคร่งครัดจริงๆ

คนเหมืองหลวงหรือทั่วๆ ไปก็มีคำนี้เช่นกัน เช่น เพื่อนน้ำมิตร เพื่อนตาย เพื่อนยาก เพื่อนเกลอ ฯลฯ แต่ผู้เขียนรู้สึกว่าไม่หนักแน่นจริงจังเหมือนคำว่า เสี่ยว ของคนอิสานเองเลย

ความหมายอันยิ่งใหญ่ของคำว่า เสี่ยว นี้ มีเรื่องเล่าเป็นคติไว้โลนๆ หลายเรื่อง เป็นการลองใจหรือล้อกันเล่นระหว่าง ‘เสี่ยว’ คือมี ‘เสี่ยว’ คู่หนึ่งภายหลังจากการผูกเสี่ยวกันแล้วก็แยกย้ายกันไปมีเมีย ความห่างเหินในการไปมาหาสู่ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ จนกระทั่งวันดีคืนดี ‘เสี่ยว’ ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ลงทุนไปเยี่ยมอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งคู่โผเข้ากอดรัดตบหัวหูซึ่งกันและกันแสดงออกถึงน้ำใจยังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอยู่เช่นเดิม แล้วฝ่ายที่ถูกเยี่ยมก็เรียกเมียสาวออกมารู้จักกัน พอเห็นหน้าเมียของเสี่ยว ผู้ไปเยี่ยมก็ออกปากเอาตรงๆ เลยว่า “เฮ้ย เสี่ยว เมียมึงสวยจริงๆ ขอกูได้ไหมวะ!...”  เสี่ยวที่ถูกเยี่ยมสะอึก  ยังไงๆ โอมอ่านบัญญัติของพราหมณ์ปุโรหิตในวันผูกเสี่ยวก็ยังกึกก้องอยู่เสมอ หมอก็ตอบเสียงดังฟังชัดไปทันทีว่า “ตกลงๆ ๆ” เสี่ยวฝ่ายที่ลองใจก็ถอนหายใจเฮือกกอดเพื่อนแน่นกว่าเก่า ซึ้งในน้ำใจที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

และทำนองเดียวกัน ฝ่ายถูกเยี่ยมไปเยี่ยมตอบแทนบ้าง พอเจอหน้า ‘แม่เสี่ยว’ (เมียของเสี่ยว) ก็ออกปากเอาดื้อๆ เหมือนกัน ฝ่ายนั้นก็หัวเราะก๊ากๆ ‘เอาเลย เอาเลยเพื่อน’

เป็นแต่เพียงการเปรียบเปรยให้เห็นความล้ำลึกของจิตใจของคำว่า “เสี่ยว” ว่าล้ำลึกเพียงใด โดยนัยแล้วเขาผนึกชีวิตเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สำมะหาอะไรกับทรัพย์หรือสิ่งประกอบอื่นใดที่เป็นของภายนอก เขาจะปรารมภ์แม้แต่เมีย

คนกรุงเทพฯ เพื่อนรุ่นพี่ของผู้เขียนคนหนึ่ง ชอบล้อเลียนผู้เขียนอยู่ทุกบ่อยๆ จนดูๆ คล้ายกับเป็นการเหยียดหยามกันไปในเชิง โดยพบหน้าผู้เขียนคราวใดจะต้องทักทายออกมาลอยๆ ด้วยเสียงอันดังอยู่เสมอว่า ‘เฮ้ยเสี่ยว’ ‘ว่ายังไงบักเสี่ยว’ ฯลฯ บ้าง  วันหนึ่งผู้เขียนทนไม่ไหวก็เลยตอบโต้ไปด้วยเสียงอันดังพอๆ กันว่า “พี่รู้บ้างไหมที่เรียกผมว่าเสี่ยว, บักเสี่ยวหน่ะ เสี่ยวนี้มันหมายถึงเพื่อนเป็นเพื่อนตาย แม้แต่เมียก็ยังเปลี่ยนกันนอนได้ พี่พร้อมแล้วหรือที่จะเป็นเสี่ยวกับผม...”

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เพื่อนรุ่นพี่คนนั้นก็เลิกคำว่า เสี่ยว กับผู้เขียนชนิดเงียบกริบไปเลย เพราะผู้เขียนว่าไปยังงั้นแล้วก็อธิบายให้แกรู้ที่มาของคำว่าเสี่ยวและจารีตประเพณีเกี่ยวกับการเป็นเสี่ยวอย่างยืดยาว รู้สึกว่าแกนิ่งฟังด้วยความสนใจและเข้าใจ ผู้เขียนจึงทราบว่าที่แท้นั้นแกรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่าที่จะจงใจล้อเลียน เราก็ยังรักใคร่นับถือกันเรื่อยมาจนบัดนี้

คนอิสานวางกฎเกณฑ์ของการเป็น เสี่ยว ไว้ละเอียดและรัดกุมมาก หากเสี่ยวทั้งสองฝ่ายมีลูกเต้าเป็นหญิงชายคนละคน หากเด็กมันเกิดรักกันขึ้น “พ่อเสี่ยว-แม่เสี่ยว” จักต้องโอเค จัดการให้เกิดการผนึก “เสี่ยวกำลังสอง” กำลังสามเพิ่มขึ้นไปให้เป็นปึกแผ่นแผ่ขยายออกไปไม่มีขัดข้อง

แต่หากในกรณี เสี่ยวผู้ชายฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดเป็นพ่อหม้ายหรือพ่อร้าง ดันเสือกไปชอบพอลูกหลานหรือน้องสาวของเสี่ยวอีกฝ่ายหนึ่งเข้าให้ อันนี้จารีตไม่อนุมัติอย่างเด็ดขาด ถือว่าเป็นเสนียดและทรยศต่อน้ำสาบาน และเสี่ยวผู้นั้นจะถูกคนถุยสาปแช่งทั่วไป  หรือว่า ผู้หญิงกับผู้ชาย หรือผู้ชายกับผู้หญิงคู่หนึ่งคูใด ได้เข้าพิธี “ผูกเสี่ยว” ตามคำโอมอ่านโองการของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ต่อมาเสี่ยวหญิงชายทั้งคู่นี้เกิดรักกันฉันท์หนุ่มสาวขึ้น...เสียใจจริงๆ ที่คนคู่นี้จะแต่งงานกันไม่ได้ เพราะบัญญัติของเสี่ยวได้เป็นกำแพงกั้นไว้ เขาจะหาทางออกกันยังไง ผู้เขียนเองก็งุนงงอยู่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เท่าที่ได้ฟังและได้เห็นมา เห็นเสี่ยวทั้งคู่นี้ทำพิธีลบล้างหรือถอนคำว่า ‘เสี่ยว’ ออกโดยกรรมวิธีของพราหมณ์เสียก่อน แล้วเขาจึงจัดทำพิธีแต่งงานกัน...ยังงี้ก็มีด้วย...

ความจริงหญิงกับชายหรือชายกับหญิงคู่ใดจะผูกเสี่ยวกันขึ้นนั้น ชายที่เป็นเสี่ยวกันอย่างตรงไปตรงมาตามแบบฉบับ ส่วนมากมักจะหนีธรรมชาติไปไม่พ้น การผูกเสี่ยวจึงเห็นการอำพรางทดสอบจิตใจกันในระยะต้น ต่อเมื่อความรักและธรรมชาติเรียกร้องจนสุกหง่อมแล้ว เขาก็ทำพิธีถอนเสี่ยวออกแล้วแต่งงาน ดูๆ ไปก็ไม่น่าจะแปลกอะไรที่เสี่ยวแต่งงานกับเสี่ยว แต่ถ้าจารีตหรือบทบัญญัติไม่วางไว้เช่นนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของคำว่า เสี่ยว ในภาคอิสานก็ไม่มีเป็นสัญลักษณ์มาจนถึงปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน

หากว่าท่านหนึ่งท่านใดได้ถูกคนอิสานขอ “ผูกเสี่ยว” ด้วย มันหมายถึงเขาให้เกียรติท่านอย่างสูงส่งที่สุดแล้ว และท่านจงเชื่อเถิดว่า ท่านกำลังมีมหามิตรเพื่อนร่วมตายที่แสนซื่อและเซ่อจนน่าสงสาร จนท่านไม่ควรจะลืมความสูงส่งของคำว่า “เสี่ยว” ที่เขามอบให้เป็นอันขาด
2988  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: “สลักดุน” ภูมิปัญญาเชิงช่างสู่ปัจจุบัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เมื่อ: 19 กันยายน 2559 16:41:20

งานสลักดุน ราชอาณาจักรไทย

ภาคเหนือ
Northern Thailand

งานช่างสลักดุนภาคเหนือ ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในจังหวัดแถบภาคเหนือของไทย จะเป็นที่รู้จักในนามของ “ช่างเชียงใหม่” เนื่องจากเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายเชื้อชาติ อาทิ ยวน ลื้อ ลาว เขิน และชาวเขาอาศัยอยู่ รูปแบบของงานสลักดุน จะสะท้อนออกมาในศิลปะของเชิงช่างตามสายสกุล สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ งานสลักดุนของสกุลช่างเชียงใหม่ จะมีลักษณะโดดเด่นกว่างานสลักดุนของกลุ่มสกุลช่างอื่น ทั้งในส่วนของรูปทรงและลวดลาย โดยการแกะลายของช่างจะใช้กรรมวิธีการแกะลายสองด้านและจะตอกลายจากด้านในหรือด้านหลังของชิ้นงานให้เป็นรอยนูนสูงตามโครงร่างภายนอกของลายก่อน ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า การโกลนลาย หรือการขึ้นลาย จากนั้นจึงตีกลับจากด้านนอกเพียงด้านเดียว เพื่อเป็นการทำรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งในกรณีของสกุลช่างอื่นๆ มักนิยมการแกะลายหรือตอกลายจากด้านนอกเป็นหลัก งานสลักดุนของสกุลช่างเชียงใหม่ จึงแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลผสมผสานของงานสลักดุนจากกลุ่มวัฒนธรรมที่อยู่ใกล้เคียงรายรอบ เช่น อิทธิพลงานสลักดุนของกลุ่มวัฒนธรรมพม่า จีน ลาว เนื่องจากเชียงใหม่มีอาณาเขตติดต่อกับพม่า จีน และลาว

ลักษณะงานสลักดุนภาคเหนือ มีแบบเฉพาะของตนเอง ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกตามสายสกุลช่างต่างๆ เช่น สกุลช่างวัวลาย สกุลช่างสันป่าตอง สกุลช่างลำปางหลวง สกุลช่างแพร่ สกุลช่างน่าน และงานสลักดุนชาวเขา ซึ่งงานชาวเขาที่ขึ้นชื่อมากที่สุดคือ งานสลักดุนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ที่พบที่จังหวัดน่าน พะเยา และเชียงราย แต่เชียงใหม่ก็ยังเป็นแหล่งผลิตงานสลักดุนที่หลากหลาย ที่มีการผลิตงานสลักดุนขึ้นใช้กันจนแทบจะเป็นวิถีชีวิตของคนล้านนาไปแล้ว สิ่งที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ขันหรือสลุง ตลับหมากหรือเชี่ยนหมาก พานทรงแบนขาสูง หรือขันดอก พานทรงสูงขาต่ำ และเครื่องรูปพรรณต่างๆ เช่น ปิ่น หวีสับ ลานหูหรือต่างหู กรองคอ หัวเข็มขัด เป็นต้น

เอกลักษณ์ ลวดลายที่ปรากฏบนงานสลักดุนภาคเหนือ จะนิยมลวดลาย เช่น ลายสับสองนักษัตร ลายชาดก ลายดอกกระถิน ลายดอกทานตะวัน ลายสับปะรด ลายนกยูง ลายดอกหมาก เป็นต้น


งานสลักดุนราขอาณาจักรไทย (ภาคเหนือ)







ภาคใต้
Southern Thailand

งานช่างสลักดุนของสกุลช่างภาคใต้ มีปรากฏพบส่วนใหญ่ที่นครศรีธรรมราช บางครั้งจึงมีผู้นิยมเรียกงานช่างสลักดุนนี้ว่า งานช่างสลักดุนสกุลช่างนครศรีธรรมราช สืบเนื่องจากทำเลที่ตั้งของเมืองนครศรีธรรมราชนั้นอยู่ในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า Southern Peninsula หรือ Malay Peninsula เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางผ่านของการเดินเรือ หรือการค้าทางทะเลมานับพันๆ ปี ดังนั้นศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ จากหลากหลายประเทศทั้งในซีกโลกตะวันตก เช่น ประเทศสเปน ประเทศโปรตุเกส เอเชียกลาง เช่น ประเทศอิหร่าน เอเชียตะวันตก เช่น ประเทศอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย และเอเชียตะวันออก เช่น ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี ทำให้รูปแบบของงานสลักดุนที่ค้นพบในสกุลช่างภาคใต้นี้มีรูปทรงและลวดลายที่มีลักษณะผิดแปลกไปอย่างมาก ชิ้นงานสลักดุนในสกุลช่างภาคใต้ที่ค้นพบส่วนใหญ่จะมีอายุเก่าแก่ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ปรากฏว่ามีหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนน้อยชิ้นมาก ที่ยังปรากฏพบเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่มีอายุร่วมสมัยกับกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีรูปทรง และลวดลายที่แสดงจากสกุลช่างมาเลค่อนข้างชัดเจน และที่สำคัญที่สุดคือ งานช่างสลักดุนสกุลช่างภาคใต้ หรือสกุลช่างนครศรีธรรมราชในปัจจุบันมีปรากฏพบเป็นจำนวนน้อยและมีชื่อเสียงไม่เทียบเท่ากับเครื่องถมตามที่ทำกันในปัจจุบัน


งานสลักดุนราขอาณาจักรไทย (ภาคใต้)



หัวเข็มขัด และสายเข็มขัด
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน-สกุลช่างภาคใต้
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๔๐-๒๕๐๐
ประโยชน์ : ใช้คาดทับผ้านุ่งหรือผ้าโจงกระเบนให้กระชับแน่นติดกับลำตัว
หัวเข็มขัดนี้มีลักษณะคล้ายช่องลูกฟักตามแบบศิลปะอิสลาม และมีขนาดใหญ่มาก
ลวดลายที่นิยมประดับบนหัวเข็มขัด จะเป็นลายพันธุ์พฤกษา ลายใบไม้ก้านขด
ลายลูกประคำเสมอๆ เนื่องจากศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้ใช้ลวดลายรูปคนหรือสัตว์
ส่วนสายเข็มขัดนั้น ก็เป็นการนำเอาเส้นเงินมาถักเส้น



กลัก
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน-สกุลช่างภาคใต้
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๐๐-๒๕๐๐
ประโยชน์ : ใช้สำหรับใส่ยาเส้น หรือใส่ของกระจุกกระจิกที่มีขนาดเล็กมาก
กลักที่พบในภาคใต้ นิยมทำเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีลิ้นปิดเปิดตรงกลาง
ซึ่งจะขอดเว้าเป็นเอวเข้ามาทั้งสองด้าน ลักษณะคล้ายหมอน และมักจะมี
สายทิ้ง หรือสร้อยถักเส้นเล็กๆ เกี่ยวโยงที่ปลายทั้งสองด้าน ลวดลายสลักดุน
บนกลักเหล่านี้ เป็นลายตาข่ายดอกไม้สี่กลีบ หรือลายดอกไม้สี่กลีบ แบบลายแก้วชิงดวง



จับปิ้ง
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน-สกุลช่างภาคใต้
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๒๐-๒๕๐๐
ประโยชน์ : ใช้เป็นเครื่องผูกบั้นเอวเพื่อปิดของลับของเด็กหญิงและชาย
จับปิ้งที่พบในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นจับปิ้งที่สร้างขึ้น
โดยฝีมือสลักดุนที่เป็นชาวมุสลิมทั้งสิ้น ดังนั้น ลวดลายที่พบจึงเป็น
ลายก้านขด ลายพันธุ์พฤกษา ลายเถาดอกไม้ใบไม้ ลายเกลียวเชือก
ลายลูกประคำ เป็นต้น


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
Northeastern Thailand
ในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานของประเทศไทย จะพบชุมชนช่างเงินอยู่ตามท้องถิ่นที่เป็นเมืองเก่าหรือจังหวัดที่มีพื้นที่ดินแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว และรู้จักกันในนาม “ช่างเงิน-ช่างคำ” เช่น จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม เป็นต้น

ช่างสลักดุนส่วนใหญ่ มีเชื้อสายลาวเวียงจันทน์ มีฝีไม้ลายมือในการสร้างสรรค์รูปแบบงานสลักดุน ในสกุลช่างไทย-ลาว ส่วนใหญ่จะมีผลิตงานสลักดุนขึ้นใช้ในชุมชน และจำหน่ายในพื้นที่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเภทงานสลักดุนที่พบได้แก่ เครื่องประดับชนิดต่างๆ เช่น สร้อยคอ กำไล เข็มขัด เครื่องภาชนะ เช่น พาน ชัน และเชี่ยนหมาก เป็นต้น

อีกสกุลช่างหนึ่งของภาคอีสาน คือ สกุลช่างอีสานใต้ ที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา รูปแบบของช่างในชุมชนที่สืบทอดเชื้อสายมาจากช่างเขมร ลวดลายที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมนี้ จะพบที่ชุมชนบ้านเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ชุมชนส่วย อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดศรีสะเกษ ส่วนใหญ่จะสร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปเครื่องประดับ เช่น ลูกปะเกือม ตะเภา (ต่างหู) เป็นต้น



งานสลักดุนราขอาณาจักรไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)  
Northeastern Thailand



แผ่นทองคำสลักดุนรูปพระพุทธรูป
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๑๓๐๐-๑๕๐๐
ประโยชน์ : สร้างขึ้นเพื่อสืบพระพุทธศาสนา หรือเพื่อเป็นพุทธบูชา
แผ่นทองคำสลักดุนรูปพระพุทธรูปนี้ เป็นชิ้นงานพุทธศิลป์ของวัฒนธรรมมอญ
หรือทวาราวดีในภาคอีสานของประเทศไทย ที่นิยมสลักดุนเป็นรูปพระพุทธรูป
หรือพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา หรือเทพเจ้าสำคัญสูงสุดของศาสนาฮินดู
ลงบนแผ่นโลหะมีค่า เช่น ทองคำ



ซองพลู
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างนครพนม
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๖๐-๒๕๐๐
ประโยชน์ : ใช้สำหรับใส่ใบพลูที่จีบเป็นคำแล้ว
รูปทรงของซองพลูดังกล่าวจะเป็นรูปเหลี่ยมมีรอยพับเป็นสันด้านหน้าและด้านข้าง ทำให้เกิดเป็นเหลี่ยม
ตามแบบล้านนา ส่วนขอบของซองพลูจะนำเส้นเงินมาเลี่ยมทับ และที่ขอบด้านหน้ามีลักษณะเป็นขอบหยัก
รูปทรงปีกกา ตามแบบอิทธิพลจีนและเวียดนาม ลวดลายที่นิยมสลักดุนมักเป็นลายแถบแคบๆ รอบตัวซองพลู
ภายในบรรจุลายกลีบบัวหรือลายซิกแซกฟันปลา



สร้อยปะเกือม หรือสร้อยประคำ
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างหมู่บ้านโชค อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๕๐๐-ปัจจุบัน
ประโยชน์ : ใช้เป็นเครื่องประดับ
ประคำ หรือ ปะเกือม ทำจากโลหะเงินหรือทองคำบริสุทธิ์แผ่เป็นแผ่นบางๆ หุ้มทับไว้บนชัน
หรือครั่งที่อัดไว้ด้านใน เพื่อให้แผ่นเงินหรือทองคำนั้นทรงตัวตามต้องการได้ จากนั้นจึงสลักดุนเพื่อให้เกิดลวดลายซี่
ที่นิยมส่วนใหญ่จะทำมาจากที่พบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ลายเส้นตรงคู่ ลายตาตาราง ลายกลีบบัว
ลายดอกพิกุล ลายดอกจัน ลายพระอาทิตย์ ลายดอกไม้บาน

งานสลักดุนราขอาณาจักรไทย  
ภาคกลาง
Central Thailand


ชื่อชิ้นงาน : ขันพานรอง



ชื่อชิ้นงาน : ถ้วยรางวัล
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างภาคกลาง กรุงเทพมหานคร
แหล่งที่มา : สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือช่างของร้านไทยนคร เชิงสะพานวันชาติ กรุงเทพมหานคร
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๖๐-๒๕๐๐
วัสดุ : โลหะเงิน
ประโยชน์ :  ใช้เป็นถ้วยรางวัลในการประกวดหรือการแข่งขันต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในช่วงระยะเวลานั้น ผู้ที่ได้รับ
มักนำมาจัดแสดงในบ้านของตนเพื่อเป็นเกียรติยศ หรือ นำมาเป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวสวยเพื่อตักบาตร และต่อมา
ในช่วงพุทธศักราช ๒๕๐๐ นิยมนำมาใช้เป็นภาชนะสำหรับจัดดอกไม้ ถ้วยรางวัลนี้ เป็นศิลปะประยุกต์ในช่วงพุทธศักราช
๒๔๖๐-๒๕๐๐ โดยช่างจากร้านไทยนคร เชิงสะพานวันชาติ กรุงเทพมหานคร โดยการรวมเอารูปแบบของขันและพาน
ซึ่งในอดีตจะสร้างเป็นชิ้นงานสลักดุนแยกขาดจากกัน นำมารวมเป็นชิ้นเดียวกัน มีหูจับสองข้างทำเป็นรูปศีรษะช้าง
มีงา ห้อยงวงลง ด้านข้างของตัวขันหรือถ้วยรางวัลใบนี้ ทำเป็นตราอามรูปวงกลมเกลี้ยง สำหรับสลักข้อความ
ถัดออกไปด้านซ้ายขวาเป็นลายครุฑ สลับกับลายเทพนม



ชื่อชิ้นงาน : ซองพลู
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างจีนฮกเกี้ยน ภาคกลาง ประเทศไทย
แหล่งที่มา : ภาคกลาง ประเทศไทย
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๐๐-๒๔๗๕
วัสดุ : โลหะเงิน
ประโยชน์ :  ใช้สำหรับใส่พลูที่จีบเป็นคำแล้ว ในชุดเชี่ยนหมาก หรือสำรับหมาก
ซองพลู มีลักษณะรูปทรงกรวยสามเหลี่ยมแบน ปาดมุม เป็นที่นิยมในช่วงระยะเวลานี้ เนื่องจากช่างสลักดุน
ชาวฮกเกี้ยนจำนวนมาก ที่เดินทางมาจากมณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน เพื่อหลบหลีกความ
อดอยากยากแค้นซึ่งเกิดจากทุพภิกขภัย อุทกภัย และวาตภัย ช่างเหล่านี้มีความสามารถในการสลักดุนโลหะเงิน
ให้มีความนูนสูง และลวดลายคมชัดเจน ลวดลายที่นิยมสลักดุนมักเป็นลายดอกท้อ ลายสี่ฤดู ลายกอบัว ลายสัตว์น้ำ
สัตว์บก และสัตว์ปีก รวมทั้งมีความสามารถในการฉลุเครื่องโลหะที่ตนเองทำการสลักดุนด้วย เพื่อให้เกิดมิติบนลวดลาย
รวมทั้งเกิดความคมชัดและยังเป็นการประหยัดน้ำหนักของโลหะมีค่าที่นำมาทำเครื่องสลักดุนด้วย





ชื่อชิ้นงาน : กลัก หรือกล่อง รูปสิงโต
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างจีนเซี่ยงไฮ้ ภาคกลาง ประเทศไทย
แหล่งที่มา : ภาคกลาง ประเทศไทย
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๐๐-๒๔๗๕
วัสดุ : โลหะเงิน
ประโยชน์ :  ใช้ใส่ยาเส้น หรือใส่หมากที่เจียนแล้ว หรือใส่ของกระจุกกระจิก
กลัก หรือกล่องเงินใบนี้ มีการสลักดุนเป็นรูปสิงโตหมอบอยู่บนหลังตลับ โดยเอี้ยวศีรษะมาทางด้านข้าง
และใช้เท้าขวาประคองอยู่บนลูกแก้วกลมที่หมุนได้ ความพิเศษของสิงโตนี้อยู่ที่ลูกตาและเขี้ยวที่สามารถ
กรอกไปมาขยับได้ และส่วนหางของสิงโตที่เป็นเส้นยาวและส่วนปลายม้วนเป็นก้นหอย ส่วนตัวตลับรูปทรง
สี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ปาดมุมให้กลายเป็นแปดเหลี่ยม สลักดุนลายเป็นเรื่องราวจากวรรณคดีของจีนโดยรอบตัวตลับ
กลักหรือกล่องเงินใบนี้ ถือเป็นงานประณีตศิลป์ สลักดุนชั้นสูงของช่างฝีมือชาวจีน ที่อพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐาน
รับจ้างทำงานสลักดุนโลหะในประเทศไทย คนไทยก็จะนิยมเรียกช่างจีนเหล่านี้ว่า “ช่างจีนเซี่ยงไฮ้”
เนื่องจากในช่วงระยะเวลานั้น เมืองเซี่ยงไฮ้ในประเทศจีน มีชื่อเสียงโด่งดังมากกว่าเมืองปักกิ่ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีน
และเมืองเซี่ยงไฮ้ก็เป็นเมืองท่าที่สำคัญของจีนในขณะนั้น รวมทั้งเป็นเมืองที่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศต่างๆ
ในชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกามากมายหลายประเทศ





ชื่อชิ้นงาน : ถาดล้างหน้า
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างจีน ภาคกลาง ประเทศไทย
แหล่งที่มา : กรุงเทพมหานคร
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๐๐-๒๔๖๕
วัสดุ : โลหะเงิน
ประโยชน์ :  ใช้เป็นภาชนะรองรับน้ำล้างหน้าในสมัยโบราณ โดยน้ำล้างหน้าจะบรรจุอยู่ในคณโฑ หรือขันน้ำพานรองที่มีฝาปิด
ถาดล้างหน้า มีลักษณะเป็นภาชนะทรงชามอ่าง ขนาดย่อม มีขา ทรงขาสิงห์สี่ขาและมีฐานแบนรองรับ ส
ลักลายราชสีห์ และลายใบเทศ มีลิ้นเป็นแผ่นโลหะเงินรูปกลมแบน มีรูปกลมตรงกลางเพื่อให้สอดนิ้วเกี่ยวขึ้นมาได้


2989  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: “สลักดุน” ภูมิปัญญาเชิงช่างจากอดีตสู่ปัจจุบัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เมื่อ: 19 กันยายน 2559 13:37:00


งานสลักดุน สาธารณรัฐประชาชนจีน



งานสลักดุน สาธารณรัฐประชาชนจีน
ชื่อชิ้นงาน : ชิ้นส่วนเครื่องประดับ
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างจีนสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีน
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๐๐-๒๕๐๐
ประโยชน์ : ใช้ปักประดับลงไปบนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือเป็นเครื่องประดับ

ช่างสลักดุนชาวสิบสองปันนา นิยมสลักดุนแผ่นเงินให้เป็นลวดลายเพื่อใช้ปักประดับ
ลงไปบนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และลวดลายสลักดุน ตรงกลางจะทำเป็นรูปลาย
สัตว์มงคลและโดยรอบของลายวงกลมก็มักจะเป็นลายดอกไม้สี่ฤดู หรือลายวัตถุมงคล
แปดประการของจีน ส่วนเครื่องประดับประเภทเครื่องห้อยหรือเครื่องแขวน ตามรูปแบบ
ของพัดด้ามจิ๋วที่คว่ำลง มีห่วงห้วย ลวดลายส่วนใหญ่เป็นลายมงคล เช่น ลายนก ผีเสื้อ
ดอกไม้ ค้างคาว ลายนกกระสา และลายส้มมือ เป็นต้น  นอกจากการสลักดุนแล้ว
ยังมีการฉลุลายโปร่งอีกด้วย


งานสลักดุน สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล



งานสลักดุน สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
ชื่อชิ้นงาน : สิงห์
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างเนปาล
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๖๐-๒๕๐๐
วัสดุ : โลหะทองเหลือง แก้ว และหินมีค่า
ประโยชน์ : ใช้สำหรับประดับตกแต่งบ้าน

ช่างสลักดุนสกุลช่างเนปาล มีความสามารถในการสร้างชิ้นงานสลักดุนให้มีรูปทรงแปลกๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการทำรูปสัตว์ต่างๆ หนึ่งในสัตว์ยอดนิยมของชาวเนปาล คือ รูปลิง
เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของการปกปักรักษาและอำนาจ ช่างสลักดุนชาวเนปาล นิยมแสดง
ฝีมือในการขึ้นรูปภาชนะและสิ่งของ แต่ไม่นิยมในการสลักดุนลวดลายต่างๆ บนผิวภาชนะ
หากแต่จะใช้เม็ดแก้วหรือหินมีค่า ติดลงไปบนพื้นผิวของภาชนะเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว
จะนิยมเม็ดแก้วสีแดง สลับกับหินเทอร์ควอยซ์สีฟ้า



งานสลักดุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม



งานสลักดุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ชื่อชิ้นงาน : ตลับ
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างเวียดนาม
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๕๐-๒๕๐๐
ประโยชน์ : ใช้ใส่ยาเส้น หรือใส่ของกระจุกระจิก หรือบางครั้งอาจเป็นลูกเชี่ยน
คือเป็นส่วนหนึ่งของชุดเชี่ยนหมากหรือสำรับหมาก

ตลับใบนี้สร้างขึ้นเป็นทรงลูกท้อ อันเป็นผลไม้ของชาวจีนและชาวเวียดนาม
ฝาสลักเป็นเทพเจ้าจีน ซึ่งน่าจะหมายถึงเทพเจ้าชิ่ว ที่มีความหมายถึงอายุมั่น ขวัญยืน
มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เนื่องจากสลักดุนเป็นรูปชายชรา มีหนวดเครายาว
มือขวาถือไม้เท้า มือซ้ายถือลูกท้อ อันเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายถึงอายุยืนยาว
ลวดลายที่ขอบโดยรอบก็เป็นการสลักดุนแบบเถา ลายตื้น ไม่ลึกมาก แต่ต่างจาก
ของจีนที่มักเก็บรายละเอียดทั้งส่วนฝาและส่วนด้านข้าง



งานสลักดุน ทวีปยุโรป



งานสลักดุน ทวีปยุโรป
ชื่อชิ้นงาน : ชุดน้ำชา
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างยุโรป
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๒๐-๒๔๘๐
ประโยชน์ : ใช้เป็นชุดน้ำชาตามแบบวัฒนธรรมตะวันตก

งานสลักของยุโรปที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่ มีทั้งการขึ้นรูปด้วยมือ และการขึ้นรูป
ด้วยเครื่องจักรกล จากนั้นจึงมีการสลักลายเบาหรือเพลาลายเบาให้เป็นลวดลายเส้น
ตกแต่งประดับชิ้นงาน โดยลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นลายเครือเถาแบบยุโรป โดยภาชนะ
สลักดุนส่วนใหญ่ของยุโรป จะไม่นิยมสลักดุนเต็มพื้นที่ และมุ่งเน้นให้เห็นความงดงาม
ของรูปทรงมากกว่าลวดลาย



งานสลักดุน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
















"ทั่วแคว้นแดนไทย จะหาไหนมาเปรียบปาน"
ลวดลายสลักดุนนูนสูง อันวิจิตรงดงาม เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเครื่องเงินพม่า
ซึ่งในอดีตมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ศิลปหัตถกรรมเครื่องเงินให้แก่ชาวล้านนา

งานศิลปะงานช่างสลักดุน หรือเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “ช่างบุ” ตามรูปแบบของสกุลช่างพม่า (เมียนมา) ส่วนใหญ่ล้วนมีหลักฐานมาตั้งแต่ ๒,๔๐๐ ปีล่วงมาแล้ว  ส่วนใหญ่จะพบในรูปแบบศิลปะงานช่าง ในสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเภทเครื่องทรงของกษัตริย์ หรือศาสตราวุธ ตลอดจนเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของชนชั้นปกครอง ส่วนใหญ่จะทำด้วยโลหะมีค่าประเภททองคำ เงินฝังพลอยหรือรัตนชาติอันมีค่าต่างๆ ปัจจุบันจะเห็นตัวอย่างได้จากเครื่องยศของอดีตกษัตริย์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และนับตั้งแต่พม่าในขณะที่อยู่ในการปกครองของอังกฤษ ได้ทำให้งานวิจิตรศิลป์ประเภทสลักดุนเหล่านี้ได้สูญหายไปอย่างมากมาย คงหลงเหลืออยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น

รูปแบบงานบุ (สลักดุน) โลหะ ที่พบในเมียนมา อีกอย่างก็คือการแผ่แผ่นโลหะประเภททองคำ หรือทองจังโกหุ้มเจดีย์ หรือพุทธสถานในศาสนาพุทธ งานเหล่านี้มีความเก่าแก่ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ราวสมัยเมืองพุกามรุ่งโรจน์ สืบเนื่องลงมาจนถึงสมัยพระเจ้ามินดง กษัตริย์องค์สุดท้ายของเมียนมา นอกจากนี้ ยังพบข้าวของเครื่องใช้ของชนชั้นสูงหรือคหบดีประเภทอูบ หรือแอบ หรือสลุง ที่ทำด้วยเงินสลักดุนลาย แต่ละรัฐแต่ละเมืองก็มีความแตกต่างในรูปแบบ ลวดลาย ต่างสมัยที่ต่างกัน หากแต่ก็ยังคงเอกลักษณ์งานสลักดุนตามแบบลวดลายศิลปะงานช่างแบบดั้งเดิมของพม่าไว้ เช่น ลายพันธุ์พฤกษา และลายภาพเล่าเรื่องตัวละครในวรรณคดีเป็นเรื่องราว อาทิ มหาชาติ ทศชาติชาดก หรือรามเกียรติ์ สิบสองนักษัตร หรือวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองสังคมยุคนั้น เป็นต้น  ผลงานที่มีชื่อเสียงมากเป็นที่ยอมรับนับถือกันในฝีมือเชิงช่างก็ก็ สกุลช่างแห่งรัฐชาน เพราะผลงานการสลักดุนเป็นเรื่องราวภาพเล่าเรื่องนูนเด่น ละเอียดลออ ราวกับมีชีวิต บางคนจะเรียกว่า “ภาพสลักดุนสามมิติ” นั่นเอง




งานสลักดุน ราชอาณาจักรกัมพูชา


งานสลักดุน ราชอาณาจักรกัมพูชา
ชื่อชิ้นงาน : พานกลีบบัว
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างพนมเปญ
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๘๐-๒๕๒๐
ประโยชน์ : ใช้เป็นภาชนะใส่สิ่งของที่มีความสำคัญ เช่น ข้าวตอก ดอกไม้
ธูปเทียนแพ กระทงดอกไม้ เพื่อสักการะในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

พานกลีบบัว สลักดุนลายกลีบบัว โดยมีไส้ลายในกลีบบัวเป็นลวดลาย
พันธุ์พฤกษา หรือในภาษาของช่างชาวกัมพูชาเรียกว่า ลาย “ผกากระวาน”
แปลว่า “ดอกนมแมว” ซึ่งลวดลายในลักษณะเช่นนี้บ่งบอกถึงสกุลช่างสลักดุน
ของเมืองพนมเปญ ที่นิยมทำกันในหมู่ช่างเงิน ช่างทอง ที่อาศัยอยู่บริเวณ
ด้านข้างของพระราชวังกรุงพนมเปญ



ชื่อชิ้นงาน : ชุดอุปกรณ์สำหรับเสิร์ฟอาหารแบบวัฒนธรรมตะวันตก
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างพนมเปญ
แหล่งที่มา : เมืองพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๘๐-๒๕๒๐
ประโยชน์ : ใช้สำหรับรับประทานอาหารแบบวัฒนธรรมตะวันตก

ด้ามจับของอุปกรณ์สำหรับเสิร์ฟอาหารเหล่านี้ มีการสลักดุนลายเบา
เป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา โดยฝีมือช่างสลักดุนชาวกัมพูชา แสดงให้เห็น
อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบตะวันตกที่เข้ามาสู่ราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างชัดเจน
ในช่วงระยะเวลานี้ จึงทำให้ช่างสลักดุนผลิตชิ้นงานสลักดุนโลหะประเภทชุดอุปกณ์
สำหรับการเสิร์ฟอาหารแบบตะวันตกขึ้น เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดเสียมเรียบ ที่เข้าชมเพื่อปราสาทนครวัด



ชื่อชิ้นงาน : กล่องใส่บุหรี่
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างพนมเปญ
แหล่งที่มา : เมืองพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๑๐-๒๔๖๐
ประโยชน์ : ใช้สำหรับใส่บุหรี่ หรือใส่ของกระจุกกระจิก
กล่องเงิน รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบนขนาดย่อมประมาณฝ่ามือ
เป็นที่นิยมกันในช่วงระยะเวลาที่ฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจและ
นำความนิยมในการสูบบุหรี่แบบชาติตะวันตกเข้ามาเผยแพร่
และเนื่องจากรูปทรงของบุหรี่ในราชอาณาจักรกัมพูชา นิยมมวน
ด้วยยอดตองอ่อน กลีบบัวหลวงอ่อน หรือใบยาสูบ ที่มีขนาดยาว
และอ้วนกว่าซองบุหรี่ของตะวันตกมาก จึงผลิตภาชนะบรรจุบุหรี่
สำหรับพกพาติดตัวไปได้โดยสะดวก ลวดลายที่นิยมสลักดุนตาม
รสนิยมของชาวกัมพูชา คือลายใบฝ้ายหรือลายใบเทศ



ชื่อชิ้นงาน : กาน้ำ
ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน สกุลช่างอุดมมีชัย
แหล่งที่มา : เมืองอุดมมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๙๐-๒๕๑๐
ประโยชน์ : ใช้ใส่น้ำร้อนหรือน้ำชา
กาน้ำทองแดงขึ้นรูป และสลักดุนลายเป็นลวดลายดอกไม้
และลายพันธุ์พฤกษา ฝีมือช่างสลักดุนจากเมืองอุดมมีชัย
ราชอาณาจักรกัมพูชา สืบเนื่องจากในช่วงระยะเวลานั้นโลหะเงินมีราคา
สูงมาก และผู้บริโภคก็ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีราคาไม่แพงมาก  ดังนั้น
ช่างสลักดุนชาวกัมพูชาจึงปรับเปลี่ยนมาใช้โลหะที่มีราคาย่อมเยากว่า
เช่น ทองแดง หรือทองเหลือง เพื่อเป็นวัตถุดิบในการสร้างชิ้นงานสลักดุน

งานช่างบุ หรืองานสลักดุนโลหะ ของมหาอาณาจักรอันเกรียงไกรในอดีต ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ในพื้นที่เหนือทะเลสาบเขมร เป็นที่รู้จักกันในนามประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน มีประวัติศิลปะงานช่างอันยาวนานตั้งแต่พบหลักฐานสมัยก่อนเมืองพระนคร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๑๑-๑๒ ส่วนใหญ่จะเป็นงานสลักดุนโลหะวัตถุมีค่าประเภททองคำเป็นเครื่องทรงเทวรูป ที่เคารพนับถือในศาสนสถาน หรือในเทวาลัย  ประวัติศิลปะงานช่างอันยาวนานที่แสดงถึงอายุสมัยของศิลปะกัมพูชา สามารถแบ่งแยกสมัยต่างๆ ตามรูปแบบโบราณคดีถึง ๑๕ สมัย ได้แก่ ศิลปะสมัยพนมดา  ศิลปะสมัยถาลาบริวัติ ศิลปะสมัยสมโบไพรกุก ศิลปะสมัยไพรกเมง ศิลปะสมัยกุเลน ศิลปะสมัยพะโค ศิลปะสมัยบาเค็ง ศิลปะสมัยเกาะแกร์ ศิลปะสมัยแปรรูป ศิลปะสมัยบันทายศรี ศิลปะสมัยคลัง (เกรียง) ศิลปะสมัยบาปวน ศิลปะสมัยนครวัด และศิลปะสมัยบายน

หลังจากสมัยบายน อันเป็นช่วงสุดท้ายของศิลปกรรมแบบกัมพูชาแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมของอาณาจักนี้ จนถึงในช่วงที่กัมพูชาที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ต้องตกเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศในเวลาต่อมา และอยุธยาก็ปกครองกัมพูชาอย่างต่อเนื่องมาและเป็นเวลาเกือบ ๔๐๐ ปี ตลอดช่วงระยะเวลานี้ ช่างฝีมือการสลักดุนและบุโลหะของทั้งไทยและกัมพูชาได้มีโอกาสศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้และรูปแบบศิลปะซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก ชิ้นงานสลักดุนหลายต่อหลายชิ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นจึงล้วนแล้วแต่แสดงอิทธิพลของศิลปะกัมพูชาได้อย่างชัดเจน

กระทั่งเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากการปกครองของฝรั่งเศส และเป็นช่วงที่มีชาวต่างประเทศรู้จักกัมพูชาและพากันเดินทางมาชมปราสาทนครวัดในกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น ทำให้งานช่างฝีมือสลักดุนและบุโลหะของช่างกัมพูชา เริ่มฟื้นขึ้นอีกครั้งด้วยการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ขึ้นในลักษณะของที่ระลึก ก่อให้เกิดความหลากหลายของรูปแบบ เพื่อตอบสนองประโยชน์การใช้งานของชาวยุโรปและอเมริกาที่มาเยือน เช่น กล่องใส่ซองบุหรี่ เครื่องเขียนบนโต๊ะทำงาน ช้อนส้อมขนาดใหญ่ สำหรับใช้เสิร์ฟอาหาร เป็นต้น

ในปัจจุบัน จะพบสกุลช่างสลักดุนหรือบุโลหะได้ในเมืองพนมเปญเป็นส่วนใหญ่ ชิ้นงานสลักดุนพบเห็นอยู่ตามร้านขายเครื่องเงินโดยทั่วไปในกรุงพนมเปญ แม้ฝีมือจะเทียบไม่ได้เลยกับฝีมือของบรรพบุรุษในอดีต แต่ผู้คนและนักท่องเที่ยวก็ให้ความสนใจกันอย่างมาก รูปแบบของผลิตภัณฑ์ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ขัน เชี่ยนหมาก กลัก ตลับ หรือกล่องรูปสัตว์ต่างๆ ก็มีการปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าประเภทเครื่องประดับ ของแต่งบ้านมากขึ้น และใช้เนื้อเงินค่อนข้างต่ำ และนิยมผสมโลหะอื่นๆ มากขึ้น เช่น ทองเหลือง อัลลอย (alloy)  เป็นต้น


2990  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 16 กันยายน 2559 17:12:05
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๔๘) (ต่อ)

อนาบัติ
      ภิกษุอยู่ปราศ ๖ คืน ๑  อยู่ปราศไม่ถึง ๖ คืน ๑  ภิกษุอยู่ปราศ ๖ คืน แล้วกลับมายังคามสีมา อยู่แล้วหลีกไป ๑  ภิกษุถอนเสียภายใน ๖ คืน ๑  สละให้ไป ๑  จีวรหาย ๑  ฉิบหาย ๑  ถูกไฟไหม้ ๑  ถูกชิงเอาไป ๑  ภิกษุถือวิสาสะ ๑  ภิกษุได้สมมติ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๑๑๑๗-๑๑๒๑
       ๑.ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น แม้ในกาลก่อนก็อยู่ในป่าเหมือนกัน แต่ภิกษุเหล่านั้นอยู่จำพรรษาในเสนาสนะใกล้แดนบ้าน ด้วยสามารถแห่งปัจจัย(หาปัจจัย ๔ ได้สะดวก) เพราะเป็นผู้มีจีวรคร่ำคร่า เป็นผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว ปรึกษากันว่า บัดนี้พวกเราหมดกังวลแล้ว จักกระทำสมณธรรม จึงพากันอยู่ในเสนาสนะป่า
       ๒.ทรงอนุญาตให้เก็บไว้ในละแวกบ้านเพื่อสงวนจีวรไว้ เพราะธรรมดาว่า ปัจจัยทั้งหลายโดยชอบธรรมเป็นของหาได้ยาก, จริงอยู่ ภิกษุผู้มีความขัดเกลา ไม่อาจเพื่อจะขอจีวร แม้กะมารดา, แต่พระองค์ไม่ทรงห้ามการอยู่ป่า เพราะเป็นการสมควรแก่ภิกษุทั้งหลาย
       ๓.ลักษณะแห่งป่ากล่าวแล้วในปาราชิกอทินนาทาน, ส่วนที่แปลกกันมีดังนี้ ถ้าว่าวัดมีเครื่องล้อม พึงวัดระยะตั้งแต่เสาเรือนแห่งบ้านซึ่งมีเครื่องล้อม และจากสถานที่ควรล้อมแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อมไปจนถึงเครื่องล้อมวัด ถ้าเป็นวัดที่ไม่ได้ล้อม สถานที่ใดเป็นแห่งแรกของทั้งหมด จะเป็นเสนาสนะก็ดี โรงอาหารก็ดี สถานที่ประชุมประจำก็ดี ต้นโพธิ์ก็ดี เจดีย์ก็ดี ถ้าแม้มีอยู่ห่างไกลจากเสนาสนะ พึงวัดเอาที่นั้นให้เป็นเขตกำหนด
          ถ้าแม้นว่า มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ พวกภิกษุอยู่ที่วัดย่อมได้ยินเสียงของพวกชาวบ้าน แต่ไม่อาจจะไปทางตรงได้ เพราะมีภูเขาและแม่น้ำเป็นต้น กั้นอยู่ และทางใดเป็นทางตามปกติของบ้านนั้น ถ้าแม้นจะต้องโดยสารไปทางเรือ ก็พึงกำหนดเอาที่ห้าร้อยชั่วธนูจากบ้านโดยทางนั้น แต่ภิกษุใดปิดกั้นหนทางในที่นั้น เพื่อทำให้ใกล้บ้าน ภิกษุนี้พึงทราบว่าเป็นผู้ขโมยธุดงค์
       ๔.ในเสนาสนะป่า มีองค์สมบัติดังต่อไปนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษาในวันเข้าพรรษาแรก ปวารณาในวันมหาปวารณา นี้เป็นองค์หนึ่ง, ถ้าภิกษุเข้าพรรษาในวันเข้าพรรษาหลังก็ดี มีพรรษาขาดก็ดี ย่อมไม่ได้เพื่อจะเก็บไว้, เป็นเดือน ๑๒ เท่านั้น นี้เป็นองค์ที่ ๒,  นอกจากเดือน ๑๒ ไป ย่อมไม่ได้เพื่อจะเก็บ เป็นเสนาสนะที่ประกอบด้วยประมาณอย่างต่ำ ๕๐๐ ชั่วธนูเท่านั้น นี้เป็นองค์ที่ ๓,  ในเสนาสนะที่มีขนาดหย่อนหรือมีขนาดเกินคาวุตไป ย่อมไม่ได้เพื่อจะเก็บไว้,  จริงอยู่ ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตแล้วอาจเพื่อกลับมาสู่วัดทันเวลาฉันในเสนาสนะใด เสนาสนะนั้นทรงประสงค์เอาในสิกขาบทนี้
       แต่ภิกษุผู้รับนิมนต์ไว้ไปสิ้นทางกึ่งโยชน์บ้าง โยชน์หนึ่งบ้าง แล้วกลับมาเพื่อจะอยู่ ที่นี้ไม่ใช่ประมาณ, เป็นเสนาสนะมีความรังเกียจ และมีภัยเฉพาะหน้าเท่านั้น นี้เป็นองค์ที่ ๔, จริงอยู่ ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะไม่มีความรังเกียจ ไม่มีภัยเฉพาะหน้า แม้จะประกอบด้วยองค์ก็ไม่ได้เพื่อจะเก็บไว้
       -เว้นไว้แต่โกสัมพิกสมบัติที่ทรงอนุญาตไว้ในอุทโทสติสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๒ แห่งจีวรวรรค) ก็ถ้าว่ามีภิกษุได้สมมตินั้นไซร้ จะอยู่ปราศจากเกิน ๖ ราตรีไปก็ได้
       -ถ้ามีเสนาสนะอยู่ทางทิศตะวันออกจากโคจรคาม และภิกษุนี้จะไปยังทิศตะวันตก เธอไม่อาจจะมายังเสนาสนะให้ทันอรุณที่ ๗ ขึ้น จึงแวะลงสู่ตามสีมา พักอยู่ในสภา หรือในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง (ที่ไม่ใช่ป่า) ทราบข่าวคราวแห่งจีวรแล้วจึงหลีกไป ควรอยู่
       -ภิกษุผู้ไม่อาจกลับไปทัน พึงยืนอยู่ในที่ที่ตนไปแล้วนั้นนั่น แล้วปัจจุทธรณ์ (ถอน) เสีย  จีวรจักตั้งอยู่ในฐานแห่งอดิเรกจีวร ฉะนี้แล
       ๕.สิกขาบทนี้มีกฐินเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นอกิริยา อจิตตกะ ปัณณัติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
       ๖.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
          จำพรรษา – อยู่ประจำสามเดือนในฤดูฝน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (อย่างนี้เรียกปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาต้น)  หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (อย่างนี้เรียกว่า ปัจฉิมพรรษา แปลว่า พรรษาหลัง), วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา, วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา,  อานิสงส์การจำพรรษา มี ๕ อย่าง คือ ๑.เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา  ๒.จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ  ๓.ฉันฉคโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้  ๔.เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปวารณา  ๕.จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ,  อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้ ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒    




อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ   กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
ปุญฺญํ เม กตนฺติ นนิทติ   ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต ฯ ๑๘ ฯ

คนทำดีย่อมสุขใจในโลกนี้ คนทำดีย่อมสุขใจในโลกหน้า
คนทำดีย่อมสุขใจในโลกทั้งสอง เมื่อคิดว่าตนได้ทำแต่บุญกุศล ย่อมสุขใจ
ตายไปเกิดในสุคติ ยิ่งสุขใจยิ่งขึ้น

Here he is happy, hereafter he is happy,
In both worlds the well-doer is happy;
Thinking; 'Good have I done', thus he is happy,
When gone to the state of bliss.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

2991  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 16 กันยายน 2559 17:09:23

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๔๔)
ภิกษุให้จีวรแก่ภิกษุอื่น โกรธแล้วชิงเอาคืนมาก็ดี
ใช้ให้ผู้อื่นชิงคืนมาก็ดี ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      พระอุปนันทศากยบุตร กล่าวชวนภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของภิกษุผู้เป็นพี่น้องกันว่า จงมา เราจะพากันเที่ยวไปตามชนบท ภิกษุนั้นตอบว่า ผมไม่ไปขอรับ เพราะมีจีวรเก่า  ท่านอุปนันทะกล่าวว่า ไปเถิด ผมจักให้จีวรแก่ท่าน แล้วได้ให้จีวรแก่ภิกษุรูปนั้น
       ภิกษุรูปนั้นได้ทราบข่าวการเสด็จของพระศาสดา คิดว่าเราจักไม่ไปกับท่านอุปนันทะ จักตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปตามชนบท
       ครั้นถึงกำหนดเดินทาง เธอแจ้งแก่ท่านอุปนันทะๆ โกรธ น้อยใจ ได้ชิงจีวรที่ให้นั้นคืนมา ภิกษุนั้นแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ เพ่งโทษติเตียน... แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดให้จีวรแก่ภิกษุเองแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       -โกรธ น้อยใจ คือ ไม่ชอบ มีใจฉุนเฉียว เกิดมีใจกระด้าง
       -ชิงเอามา คือ ยื้อแย่งเอามาเอง จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์
       -ให้ชิงเอามา คือ ใช้คนอื่น ต้องอาบัติทุกกฎ
       -ภิกษุรับคำสั่งครั้งคราวเดียว ชิงเอามาแม้หลายคราว ก็เป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
       -วิธีเสียสละแก่สงฆ์และแก่คณะ พึงทราบโดยทำนองก่อน

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุเอง แล้วชิงเอามา เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยดีว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.อุปสัมบัน (ภิกษุ, ภิกษุณี) ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ให้จีวรเองแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.ภิกษุให้บริขารอย่างอื่นแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี ต้องทุกกฎ
       ๕.ภิกษุให้จีวรก็ดี บริขารอย่างอื่นก็ดี แก่อนุปสัมบันแล้ว โกรธ น้อยใจ... ต้องทุกกฎ
       ๖.อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน... ต้องทุกกฎ
       ๗.อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
       ๘.อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
       ภิกษุผู้ได้รับไปนั้นให้คืนเองก็ดี ภิกษุเจ้าของเดิมถือวิสาสะแก่ผู้ได้รับไปนั้นก็ดี ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๑๐๗๔-๑๐๗๗
       ๑.ท่านอุปนันท์ชิงคืน เพราะสำคัญว่าของตน จึงไม่เป็นปาราชิก
       ๒.สำหรับผู้ชิงเอาจีวรผืนเดียวหรือมากผืน ซึ่งเนื่องเป็นอันเดียวกัน เป็นอาบัติตัวเดียว, เมื่อชิงเอาจีวรมากผืน ซึ่งไม่เนื่องเป็นอันเดียวกัน และตั้งอยู่แยกกัน และเมื่อใช้ให้ผู้อื่นนำมาให้โดยสั่งว่า เธอจงนำสังฆาฏิมา จงนำผ้าอุตราสงค์มา เป็นอาบัติมากตัวตามจำนวนวัตถุ, แม้เมื่อกล่าวว่า เธอจงนำจีวรทั้งหมดที่เราให้แล้วคืนมา ก็เป็นอาบัติจำนวนมากเพราะคำพูดคำเดียวนั้นแล
       ๓.ภิกษุหนุ่มถูกพระเถระกล่าวด้วยคำมีอาทิอย่างนี้ว่า คุณ! เราให้จีวรแก่เธอด้วยหวังว่า คุณจะทำวัตรและปฏิวัตร จักถืออุปัชฌาย์ จักเรียนซึ่งธรรมในสำนักของเรา  มาบัดนี้ เธอนั้นไม่กระทำวัตร ไม่ถืออุปัชฌาย์ ไม่เรียนธรรม ดังนี้ จึงให้คืนว่า ท่านขอรับ ดูเหมือนท่านพูดเพื่อต้องการจีวรๆ นี้ จึงเป็นของท่าน  ภิกษุผู้รับไปนั้นให้คืนด้วยอาการอย่างนี้ก็ดี, ก็หากว่าพระเถระกล่าวถึงภิกษุหนุ่มผู้หลีกไปสู่ทิศอื่นว่า พวกท่านจงให้เธอกลับ, เธอไม่กลับ, พระเถระสั่งว่า พวกท่านจงยึดจีวรกันไว้, ถ้าอย่างนี้ เธอกลับเป็นการดี ถ้าเธอกล่าวว่า พวกท่านดูเหมือนพูดเพื่อต้องการบาตรและจีวร พวกท่านจงรับเอามันไปเถิด แล้วให้คืน, แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าภิกษุผู้รับไปนั้นให้คืนเองก็ดี
       อนึ่ง พระเถระเห็นเธอสึกแล้วกล่าวว่า เราได้ให้บาตรและจีวรแก่เธอ ด้วยหวังว่าจะกระทำวัตร บัดนี้เธอก็สึกไปแล้ว, ฝ่ายภิกษุหนุ่มที่สึกไปพูดว่า ขอท่านโปรดรับเอาบาตรและจีวรของท่านไปเถิด แล้วให้คืน, แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่า ภิกษุผู้รับไปให้คืนเอง, แต่จะให้ด้วยกล่าวอย่างนี้ว่า เราให้แก่เธอผู้ถืออุปัชฌาย์ในสำนักของเราเท่านั้น เราไม่ให้แก่ผู้ถืออุปัชฌาย์ในที่อื่น เราให้เฉพาะแก่ผู้กระทำวัตร ไม่ให้แก่ผู้ไม่กระทำวัตร เราให้แก่ผู้เรียนธรรมเท่านั้น ไม่ให้แก่ผู้ไม่เรียน เราให้แก่ผู้ไม่สึกเท่านั้น ไม่ให้แก่ผู้สึก   ดังนี้ ไม่ควร เป็นทุกกฎแก่ผู้ให้ แต่จะใช้ให้นำมาคืน ควรอยู่,  ภิกษุผู้ชิงเอาจีวรที่ตนสละให้แล้วคืนมา พระวินัยธรพึงปรับตามราคาสิ่งของ
       ๔.สิกขาบทมี ๓ สมุฏฐาน คือ เกิดทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม, วจีกรรม, อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๔๕)
ภิกษุขอด้ายต่อคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา
เอามาให้ช่างหูกทอเป็นจีวร ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      ครั้งนั้นเป็นคราวทำจีวร พระฉัพพัคคีย์ขอด้ายเขามาเป็นอันมาก แม้ทำจีวรเสร็จแล้ว ด้ายก็ยังเหลืออยู่เป็นอันมาก พระฉัพพัคคีย์ปรึกษากันว่า พวกเราควรไปหาด้ายอื่นๆ มาให้ช่างหูกทอจีวรเถิด ครั้นไปขอด้ายมาแล้ว ให้ช่างหูกทอ ด้ายก็ยังเหลืออีกมากมาย จึงไปขอมาให้ช่างหูกทอ แม้ครั้งที่สอง... แม้ครั้งที่สาม...
       ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนพระสมณะเหล่านี้จึงได้ขอด้ายเขามาเองแล้ว ยังช่างหูกให้ทอจีวรเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยิน... จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดขอด้ายมาเองแล้ว ยังช่างหูกให้ทอจีวร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       -บทว่า เอง คือ ขอเขามาเอง
       -ด้าย มี ๖ อย่าง คือ ทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ทำด้วยฝ้าย ๑ ทำด้วยไหม ๑ ทำด้วยขนสัตว์ ๑ ทำด้วยป่าน ๑ ทำด้วยสัมภาระเจือกันใน ๕ อย่างนั้น ๑
       -ยังช่างหูก คือ ให้ช่างหูกทอ เป็นทุกกฎในขณะที่ช่างหูกทอจัดทำอยู่ เป็นนิสสัคคีย์เมื่อได้จีวรมา จำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
       -วิธีเสียสละแก่สงฆ์และคณะ พึงทราบตามทำนองก่อน

วิธีเสียสละแก่บุคคล
      ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง...กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน จีวรผืนนี้เป็นของข้าพเจ้า ขอด้ายมาเองแล้วยังให้ช่างหูกให้ทอ เป็นของจำจะสละ... ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.ให้เขาทอ ภิกษุรู้ว่าให้เขาทอ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.ให้เขาทอ ภิกษุสงสัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.ให้เขาทอ ภิกษุคิดว่าไม่ได้ให้เขาทอ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.ไม่ได้ให้เขาทอ ภิกษุคิดว่าให้เขาทอ ต้องทุกกฎ
       ๕.ไม่ได้ให้เขาทอ ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
       ๖.ไม่ได้ให้เขาทอ ภิกษุรู้ว่าไม่ได้ให้เขาทอ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุขอด้ายมาเพื่อเย็บจีวร ๑  ขอด้ายมาทำผ้ารัดเข่า ๑  ขอด้ายมาทำประคดเอว ๑  ทำผ้าอังสะ ๑  ทำถุงบาตร ๑  ทำผ้ากรองน้ำ ๑  ขอต่อญาติ ๑  ขอต่อปวารณา ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๑๐๘๓-๑๐๘๘
      ๑.ด้ายที่ภิกษุขอเองเป็นอกัปปิยะ ด้ายที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งญาติเป็นต้น เป็นกัปปิยะ แม้ช่างหูกก็ไม่ใช่ญาติและไม่ใช่คนปวารณา ภิกษุได้มาด้วยการขอ เป็นอกัปปิยะ, ช่างหูกที่เป็นญาติและคนปวารณาเป็นกัปปิยะ, บรรดาด้ายและช่างหูกเหล่านั้น ด้ายที่เป็นอกัปปิยะเป็นนิสสัคคีย์แก่ภิกษุผู้ให้ช่างหูกผู้เป็นอกัปปิยะทอ
           อนึ่ง เมื่อภิกษุให้ช่างหูกที่เป็นอกัปปิยะนั้นแล ทอด้วยด้ายที่เป็นกัปปิยะ เป็นทุกกฎเหมือนนิสสัคคีย์ในเบื้องต้นนั้นแล เมื่อภิกษุให้ช่างหูกอกัปปิยะนั้นแล ทอด้วยกัปปิยะและอกัปปิยะ ถ้าจีวรเป็นดุจกระทงเนื่องกันเท่าประมาณแห่งจีวรขนาดเล็ก อย่างนี้คือ ตอนหนึ่งสำเร็จด้วยด้ายที่เป็นกัปปิยะล้วนๆ ตอนหนึ่งสำเร็จด้วยด้ายอกัปปิยะ เป็นปาจิตตีย์ในทุกๆ ตอนที่สำเร็จด้วยด้ายอกัปปิยะ, เป็นทุกกฏในตอนที่สำเร็จด้วยด้ายเป็นกัปปิยะนอกนี้อย่างนั้นเหมือนกัน ถ้ามีหลายตอนหย่อนกว่าขนาดจีวรที่ควรวิกัปอย่างนั้น ในที่สุดแม้ขนาดเท่าดวงไฟก็เป็นทุกกฏตามจำนวนตอนในทุกๆ ตอน ถ้าจีวรทอด้วยด้ายที่คั่นลำดับกันทีละเส้นก็ดี ทอให้ด้ายกัปปิยะอยู่ทางด้านยาว (ด้านยืน) ให้ด้ายอกัปปิยะอยู่ทางด้านขวาง (ด้านพุ่ง) ก็ดี เป็นทุกกฎทุกๆ ผัง
       ๒.สิกขาบทนี้เป็นสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓  



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๔๖)
ภิกษุไปกำหนดให้ช่างหูกทำให้ดีขึ้น ซึ่งจีวรที่คฤหัสถ์ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา
สั่งให้ช่างหูกทอถวายแก่ภิกษุ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      บุรุษผู้หนึ่งเมื่อจะไปค้างแรมต่างถิ่น ได้กล่าวกับภรรยาว่า จงกะด้ายให้ช่างหูกคนโน้น ให้ทอจีวรเพิ่มเก็บไว้ เมื่อฉันกลับมาแล้วจักนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันท์ให้ครองจีวร
       ภิกษุผู้ซึ่งเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรได้ยิน ได้ไปบอกแก่ท่านอุปนันท์ๆ ได้เข้าไปหาช่างหูก กล่าวว่า จีวรผืนนี้ เขาให้ท่านทอเฉพาะเรา ท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของขึงดี ทอดี ให้เป็นของที่สางดี และให้เป็นของที่กรีดดี
       ช่างหูกแจ้งว่า เขากะด้ายส่งมาเท่านี้ ด้ายมีไม่มีที่จะทำอย่างที่ท่านต้องการให้ทำได้ พระอุปนันท์กล่าวว่า เอาเถิดความขัดข้องด้วยด้ายจักไม่มี ช่างหูกได้ด้ายมาใส่ในหูกแล้วไม่พอ จึงไปหาภรรยาบุรุษนั้น สตรีนั้นแย้งว่า สั่งแล้วมิใช่หรือว่าจงทอด้วยด้ายเท่านี้ ช่างหูกได้แจ้งการมาของท่านอุปนันท์ ให้นางทราบแล้ว นางได้เพิ่มด้ายให้จนพอ
       บุรุษนั้นกลับมา นิมนต์ท่านอุปนันท์มาแล้ว ให้ภรรยาหยิบจีวรมา นางหยิบมาแล้ว เล่าเรื่องนั้นให้สามีทราบ บุรุษนั้นถวายจีวรแล้วเพ่งโทษติเตียนว่า พระสมณะนี้มักมาก จะให้ครองจีวรก็ทำไม่ได้ง่าย ไฉนเราไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน จึงเข้าไปหาช่างหูกแล้วถึงการกำหนดในจีวรเล่า
       ภิกษุทั้งหลายได้ยิน... กราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง พ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ สั่งช่างทอหูกให้ทอจีวรเฉพาะภิกษุ ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาช่างหูกแล้ว ถึงความกำหนดในจีวรในสำนักของเขานั้นว่าจีวรผืนนี้ทอเฉพาะรูป ขอท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของที่ขึงดี ให้เป็นของที่ทอดี ให้เป็นของที่สางดี ให้เป็นของที่กรีดดี แม้ไฉนรูปจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลโดยที่สุดแม้สักว่าบิณฑบาต เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

       -บทว่า อนึ่ง...เฉพาะภิกษุ ความว่า เพื่อประโยชน์ของภิกษุ ทำภิกษุให้เป็นอารมณ์แล้วใคร่จะให้ครองจีวร
       -ช่างหูก ได้แก่ คนทำการทอ
       -เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ เป็นผู้อันเขาไม่ได้บอกไว้ก่อนว่า ท่านเจ้าข้า ท่านจะต้องการจีวรเช่นไร ผมจักทอจีวรเช่นไรถวาย
       -คำว่า ถึงความกำหนดในจีวรนั้น คือ กำหนดว่า ขอท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของที่ขึงดี ให้เป็นของที่ทอดี ให้เป็นของที่สางดี ให้เป็นของที่กรีดดี แม้ไฉนรูปจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน
       -คำว่า ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัล โดยที่สุดแม้สักว่าบิณฑบาต อธิบายว่า ยาคูก็ดี ข้าวสารก็ดี ของเคี้ยว ก้อนจุรณ ไม้ชำระฟัน หรือด้ายเชิงชายก็ดี โดยที่สุดแม้กล่าวธรรม ก็ชื่อว่าบิณฑบาต
       -เขาทำให้ยาวก็ดี กว้างก็ดี แน่นก็ดี ตามคำของเธอ เป็นทุกกฎในขณะที่เขาทำ เป็นนิสสัคคีย์เมื่อได้จีวรมา ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
       -วิธีเสียสละแก่สงฆ์และแก่คณะ พึงทราบโดยทำนองก่อนๆ

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าไปหาช่างหูกของเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงความกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณา เข้าไปหาช่างหูกของเจ้าเรือน แล้วถึงความกำหนดในจีวร เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุคิดว่าเป็นญาติ... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุคิดว่ามิใช่ญาติ... ต้องทุกกฎ
       ๕.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
       ๖.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุรู้ว่าเป็นญาติ... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุขอต่อญาติ ๑  ขอต่อคนปวารณา ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่นๆ ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  เจ้าเรือนใคร่จะให้ทอจีวรมีราคามาก ภิกษุให้ทอจีวรมีราคาน้อย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๑๐๙๗-๑๐๙๘
       สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓  



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๔๗)
ภิกษุเก็บผ้าจำนำพรรษาไว้เกินกาลจีวร ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      มหาอำมาตย์ผู้หนึ่งเมื่อจะไปค้างแรมต่างถิ่น ได้ส่งคนไปนิมนต์ภิกษุทั้งหลายว่า จักถวายผ้าจำนำพรรษา ภิกษุทั้งหลายไม่ไป เพราะรังเกียจว่าทรงอนุญาตผ้าจำนำพรรษาแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ออกพรรษาแล้วเท่านั้น
       มหาอำมาตย์ผู้นั้นได้เพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนจึงไม่มา เราจะไปกองทัพ จะเป็นหรือจะตายก็ยากที่จะรู้ได้ ภิกษุทั้งหลายได้ยิน จึงกราบทูล...ทรงอนุญาตอัจเจกจีวร
       รับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อรับอัจเจกจีวร แล้วเก็บไว้ได้”
      ภิกษุทั้งหลายทราบพระพุทธานุญาตนั้นแล้ว รับอัจเจกจีวรเก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล จีวรเหล่านั้นภิกษุห่อแขวนไว้ที่สายระเดียง พระอานนท์จาริกไปตามเสนาสนะพบเข้า ถามภิกษุว่าเก็บไว้นานเท่าไรแล้ว ภิกษุเหล่านั้นแจ้งความที่ตนเก็บไว้ พระอานนท์เพ่งโทษ ติเตียนว่า ไฉนจึงรับอัจเจกจีวรแล้วเก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาลเล่า แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “วันปรุณมีที่ครบ ๓ เดือนแห่งเดือนกัตติกา ยังไม่มาอีก ๑๐ วัน อัจเจกจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุรู้ว่าเป็นอัจเจกจีวร พึงรับไว้ได้ ครั้นรับแล้วพึงเก็บไว้ได้ตลอดสมัยที่เป็นจีวรกาล ถ้าเธอเก็บไว้ยิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

       -บทว่า ยังไม่มาอีก ๑๐ วัน คือ ก่อนวันปวารณา ๑๐ วัน
       -บทว่า วันปุรณมีที่ครบ ๓ เดือนแห่งเดือนกัตติกา นั่นคือ วันปวารณา ท่านกล่าวว่าวันเพ็ญเดือนกัตติตกา
       -ที่ชื่อว่า อัจเจกจีวร อธิบายว่า บุคคลประสงค์จะไปในกองทัพก็ดี ประสงค์ไปแรมคืนต่างถิ่นก็ดี บุคคลเจ็บไข้ก็ดี สตรีมีครรภ์ก็ดี บุคคลยังไม่ศรัทธา มามีศรัทธาเกิดขึ้นก็ดี บุคคลที่ยังไม่เลื่อมใส มามีความเลื่อมใสเกิดขึ้นก็ดี ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า นิมนต์ท่านผู้เจริญมา ข้าพเจ้าจักถวายผ้าจำนำพรรษา ผ้าเช่นนี้ชื่อว่า อัจเจกจีวร
       -คำว่า ภิกษุรู้ว่าเป็นอัจเจกจีวร พึงรับไว้ได้... คือ พึงทำเครื่องหมายว่า นี้อัจเจกจีวร แล้วเก็บไว้
       -ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นจีวรกาล คือ เมื่อไม่ได้กรานกฐิน ได้ท้ายฤดูฝน ๑ เดือน เมื่อกรานกฐินแล้วได้ขยายออกไปเป็น ๕ เดือน
       -คำว่า ถ้าเธอเก็บไว้ยิ่งกว่านั้น คือ เมื่อไม่ได้กรานกฐิน เก็บไว้ล่วงเลยวันสุดท้ายแห่งฤดูฝนเป็นนิสสัคคิยะ เมื่อได้กรานกฐินแล้ว เก็บไว้ล่วงเลยวันกฐินเดาะ เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า ”ท่านเจ้าข้า ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เก็บไว้ล่วงเลยสมัยจีวรกาล เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่สงฆ์”
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า อัจเจกจีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
       (พึงทราบทำนองเดียวกับการเสียสละแก่สงฆ์ เพียงเปลี่ยนจากสงฆ์เป็นท่านทั้งหลาย)

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นrพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งเท้าประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เก็บไว้ล่วงเลยสมัยจีวรกาล เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.อัจเจกจีวร ภิกษุรู้ว่าเป็นอัจเจกจีวร เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.อัจเจกจีวร ภิกษุสงสัย...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.อัจเจกจีวร ภิกษุคิดว่ามิใช่อัจเจกจีวร...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.จีวรยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป ยังไม่ได้สละ ภิกษุคิดว่า อธิษฐานแล้ว วิกัปแล้ว สละแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๕.จีวรยังไม่หาย ยังไม่ฉิบหาย ยังไม่ถูกไฟไหม้ ยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุเข้าใจว่าหายแล้ว ฉิบหายแล้ว ถูกไฟไหม้แล้ว ถูกชิงไปแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๖.จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่สละ บริโภค ต้องทุกกฎ
       ๗.ไม่ใช่อัจเจกจีวร ภิกษุคิดว่าเป็นอัจเจกจีวร เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล ต้องทุกกฎ
       ๘.ไม่ใช่อัจเจกจีวร ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
       ๙.ไม่ใช่อัจเจกจีวร ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่อัจเจกจีวร ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอธิษฐาน ๑  ภิกษุวิกัป ๑  ภิกษุสละให้ไป ๑  จีวรหาย ๑  จีวรฉิบหาย ๑  ถูกไฟไหม้ ๑  ถูกชิงเอาไป ๑  ภิกษุถือวิสาสะ ๑  ในภายในสมัย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๑๑๐๖-๑๑๐๙
       ๑.บทว่า ทสาหานาคตํ มีความว่า วันทั้งหลาย ๑๐ ชื่อว่า ทสาหะ (วันปุรณมีที่ครบ ๓ เดือนแห่งเดือนกัตติกา), ยังไม่มาโดยวัน ๑๐ นั้นชื่อว่า ทสาหานาคตะ, วันมหาปวารณาแรกตรัสรู้ เรียกว่า ทสาหานาคตา ตั้งแต่กาลใดไป ถ้าแม้นว่าอัจเจกจีวรพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุแน่นอนตลอดวันเหล่านั้นทีเดียว (ใน ๑๐ วันนั้น) ภิกษุรู้ว่านี้เป็นอัจเจกจีวร (จีวรรีบด่วน) พึงรับไว้ได้แม้ทั้งหมด, จีวรรีบด่วน ตรัสเรียกว่า อัจเจกจีวร ก็เพื่อแสดงจีวรนั้นเป็นผ้ารีบด่วน
       -คำว่า พึงทำเครื่องหมายแล้วเก็บไว้ ตรัสเพราะว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายแจกอัจเจกจีวรนั้นก่อนวันปวารณา ภิกษุที่ได้ผ้าอัจเจกจีวรนั้นไป ต้องไม่เป็นผู้ขาดพรรษา แต่ถ้าเป็นผู้ขาดพรรษา จีวรจะกลายเป็นของสงฆ์ไปเสีย เพราะฉะนั้นจักต้องกำหนดแจกให้ดี เหตุนั้นจึงได้ตรัสคำนี้ไว้
       ๒.พึงทราบว่า จีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนที่ยังไม่ได้ทำ เมื่อไม่ได้กรานกฐิน ได้บริหาร ๕ เดือน เมื่อเพิ่มฤดูฝน (เพิ่มอธิกมาส) ได้บริหาร ๖ เดือน เมื่อได้กรานกฐินได้บริหารอีก ๔ เดือน, ได้บริหารอีก ๑ เดือน ด้วยอำนาจการอธิษฐานให้เป็นจีวรเดิม เมื่อมีความหวังจะได้ผ้าในวันสุดท้ายแห่งฤดูหนาว รวมเป็นได้บริหาร ๑๑ เดือน อย่างนี้, อัจเจกจีวรเมื่อไม่ได้กรานกฐิน ได้บริหาร ๑ เดือน กับ ๑๑ วัน  เมื่อได้กรานกฐินได้บริหาร ๕ เดือน กับ ๑๑ วัน ต่อจากนั้นไปไม่ได้บริหารแม้วันเดียว
       ๓.สิกขาบทนี้มีกฐินเป็นสมุฏฐาน เป็นอกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
       ๔.การถวายอัจเจกจีวร (ผ้ารีบด่วน) เขตในกาลถวายอัจเจกจีวรเริ่มตั้งแต่ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ รวม ๑๐ วัน ด้วยกัน (คือ ถวายก่อนเขตกฐินได้ ๑๐ วัน)

ผู้ถวายอัจเจกจีวร มี ๔ จำพวก คือ
       (๑)บุคคลประสงค์จะไปในกองทัพ (ไปรบ)
       (๒)บุคคลเจ็บไข้
       (๓)สตรีมีครรภ์
       (๔)บุคคลยังไม่มีศรัทธา แต่มามีศรัทธาเกิดขึ้นในภายหลัง

คำถวายอัจเจกจีวร
       วสฺสาวาสิกํ ทมฺมิ  ข้าพเจ้า ขอถวายผ้าสำหรับภิกษุผู้อยู่จำพรรษา
 
       การถวายอัจเจกจีวรนี้ มีอานิสงส์ดุจเดียวกับการถวายกฐิน เพราะถวายพระสงฆ์เหมือนกัน แต่มีผู้รู้เรื่องการถวายอัจเจกจีวรนี้น้อยมาก และก็ยังมีข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับการถวาย คือ กฐินนั้นไม่จำกัดบุคคลผู้ถวาย จะเป็นพระภิกษุ สามเณร หรือเทวดา เป็นต้น ก็ถวายได้ ส่วนอัจเจกจีวรมีบุคคล ๔ จำพวก ตามที่กล่าวแล้วเท่านั้นที่ถวายได้

อัจเจกจีวรถวายสงฆ์
       มยํ ภนฺเต อิมสฺมึ อาราเม อสฺสาวาสิกานิ อจฺเจกจีวรานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส เทม.  อิทํ โน ปุญฺญํ สพฺพมงฺคลตฺถาย จ สพฺพทุกฺขนิโรธาย จ โหตุ. อิมํ ปุญฺญปตฺตึ สภฺเพสํ สตฺตานํ เทม.  สพฺเพ สตฺตา สุขิตา โหนตุ.
       ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายผ้าจำนำพรรษาแก่ภิกษุสงฆ์ในอารามนี้ ขอให้บุญกุศลจากการถวายทานนี้ จงเป็นปัจจัยเพื่อก่อให้เกิดสิริมงคลทั้งปวง และเพื่อความดับทุกข์ในสังสารวัฏ ข้าพเจ้าทั้งหลายขออุทิศส่วนบุญนี้ให้แก่สรรพสัตว์ มีบิดามารดาเป็นต้น ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุขกายสุขใจด้วยเถิด.

อัจเจกจีวรถวายบุคคล
       อหํ ภนฺเต อิมสฺมึ อาราเม วสฺสาวาสิกํ อจฺเจกจีวรํ อายสฺมโต ทมุมิ.  อิทํ โน ปุญฺญํ สพฺพมงฺคลตฺถาย จ โหตุ.  อิมํ ปุญฺญปตฺตึ สพฺเพสํ สตฺตานํ ทมฺมิ.  สพฺเพ สตฺตา สุขิตา โหนฺตุ.
       ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถวายผ้าจำนำพรรษาแต่ท่านที่พำนักอยู่ในอารามนี้ ขอให้บุญกุศลจากการถวายทานนี้ จงเป็นปัจจัยเพื่อก่อให้เกิดสิริมงคลทั้งปวง และเพื่อความดับทุกข์ในสังสารวัฏ ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญนี้ให้แก่สรรพสัตว์ มีบิดามารดาเป็นต้น ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุขกาย สุขใจด้วยเถิด (นานาวินิจฉัย/๑๘๒-๔)    



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๔๘)
ภิกษุจำพรรษาในเสนาสนะป่า ออกพรรษาแล้วเก็บจีวรได้เพียง ๖ คืน
ถ้าเก็บไว้เกินกว่านั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้สมมติ

      ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วยับยั้งอยู่ในเสนาสนะป่า พวกโจรเดือน ๑๒ เข้าใจว่า ภิกษุทั้งหลายได้ลาภแล้ว จึงพากันเที่ยวปล้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูล...
       รับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะป่า เก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้”
       ภิกษุทั้งหลายทราบว่า ทรงอนุญาตให้เก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้ จึงเก็บไว้แล้วอยู่ปราศจาก ๖ คืนบ้าง จีวรเหล่านั้นหายบ้าง ฉิบหายบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง หนูกัดบ้าง ภิกษุทั้งหลายมีแต่ผ้าไม่ดี มีแต่จีวรปอน
       “หนึ่ง ภิกษุจำพรรษาแล้ว จะอยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่าเป็นที่รังเกียจ มีภัยจำเพาะหน้า ตลอดวันเพ็ญเดือน ๑๒ เมื่อปรารถนาอยู่ พึงเก็บจีวร ๓ ผืนๆ ใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้ และปัจจัยอะไรๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้น จะพึงมีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ ๖ คืนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเธออยู่ปราศจากยิ่งกว่านั้น เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

       -บทว่า อนึ่ง จำพรรษาแล้ว คือ ภิกษุออกพรรษาแล้ว วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ตรงกับวันปุรณมีดิถี เป็นที่เต็ม ๔ เดือน ในกัตติกมาส (เดือน ๑๒, ได้อานิสงส์จำพรรษา)
       -คำว่า เสนาสนะป่า เป็นต้น คือ เสนาสนะที่ชื่อว่าป่านั้นมีระยะไกล ๕๐๐ ชั่วธนู เป็นอย่างน้อย
       -ที่ชื่อว่า เป็นที่รังเกียจ คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม มีสถานที่อยู่ ที่กิน ที่ยืน ที่นั่ง นอน ของพวกโจรปรากฏอยู่
       -ที่ชื่อว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม มีมนุษย์ถูกพวกโจรฆ่า ปล้น ทุบตี ปรากฏอยู่
       -บทว่า ปรารถนา คือ ภิกษุจะยับยั้งอยู่ หรือพอใจอยู่ในเสนาสนะเช่นนั้น
       -คำว่า และปัจจัยอะไรๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้น จะพึงมีแก่ภิกษุนั้น คือ มีเหตุมีกิจจำเป็น ก็พึงอยู่ปราศจากได้เพียง ๖ คืน เป็นอย่างมาก
       -บทว่า เว้นไว้แต่ได้สมมติ คือ ยกเว้นภิกษุผู้ได้รับสมมติ ถ้าเธออยู่ปราศยิ่งกว่านั้น เมื่ออรุณที่ ๗ ขึ้นมา จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ จำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าอยู่ปราศแล้วเกิน ๖ คืน เป็นของจำจะสละ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ ข้าพเจ้าสละจีวรนี้แก่สงฆ์”
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
       (พึงทราบทำนองเดียวกับการเสียสละแก่สงฆ์ เปลี่ยนเพียงสงฆ์เป็นท่านทั้งหลาย)

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าหาภิกษุรูปหนึ่ง... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน จีวรผืนนี้... ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุรู้ว่าเกิน อยู่ปราศ เว้นไว้แก่ภิกษุได้สมมติ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุคิดว่ายังไม่เกิน... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.จีวรยังไม่ได้ถอน ยังไม่ได้สละ ภิกษุคิดว่าถอนแล้ว สละแล้ว...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๕.จีวรยังไม่หาย ยังไม่ฉิบหาย ยังไม่ถูกไฟไหม้ ยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุคิดว่า หายแล้ว ฉิบหายแล้ว ไฟไหม้แล้ว ถูกชิงไปแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๖.จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุไม่ได้สละ บริโภค ต้องทุกกฎ
       ๗.จีวรยังไม่ถึง ๖ คืน ภิกษุคิดว่าเกิน... ต้องทุกกฎ
       ๘.จีวรยังไม่ถึง ๖ คืน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
       ๙.จีวรยังไม่ถึง ๖ คืน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ถึง ๖ ราตรี บริโภค ไม่ต้องอาบัติ

2992  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: จากคอลัมน์ ฝึกภาษาอังกฤษ เมื่อ: 14 กันยายน 2559 12:43:45



แฮ็กข้อมูล

หลายสัปดาห์ก่อนมีข่าวตู้เอทีเอ็มของธนาคารออมสินถูกมิจฉาชีพแฮ็กได้เงินไปกว่า ๑๒ ล้านบาท

เรียกได้ว่าเป็นการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย

เราพูดกันในภาษาไทยว่าตู้เอทีเอ็ม ถูกแฮ็ก ในภาษาอังกฤษใช้คำเดียวกันคือ Hack หมายถึงการแอบเจาะเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์

อีกหนึ่งคำศัพท์เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ Phishing แม้จะเป็นการกระทำเพื่อแอบลักลอบเข้าถึงข้อมูลเหมือนกัน แต่ความหมายจริงๆ แล้วต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ในการ Hack นั้น แฮ็กเกอร์จะใช้เทคนิควิธีการใดๆ ก็ตามที่ทำให้สามารถเข้าไปในระบบ ดูหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ แปลว่าพวกเขาจะต้องแอบลักลอบเจาะเข้าไปควบคุมระบบเองให้ได้เสียก่อน ซึ่งเจ้าของข้อมูลนั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรไม่ได้สมัครใจให้แฮ็กเกอร์ได้ข้อมูลไป

แต่ Phishing นั้นเหนือชั้นกว่า เพราะจะปลอมตัวมาในรูปลักษณ์ที่หลอกให้เราตายใจแล้วหลงเชื่อยอมให้ข้อมูลไปเองโดยสมัครใจ เช่น ทำเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาแล้วหลอกให้ผู้ใช้กรอก username, password หรือรหัสบัตรเครดิตต่างๆ โดยผู้ใช้ก็ยอมให้ไปเพราะคิดว่าปลอดภัย

อีกรูปแบบคืออีเมล์ปลอม เช่น อีเมล์หลอกลวงว่าเราได้รับรางวัลแต่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ กลับไป เป็นต้น

ทั้งสองอย่างนี้เป็นวิธีการเข้าถึงข้อมูลออนไลน์แบบไม่ถูกต้องเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ Phishing นั้น เจ้าของข้อมูลสมัครใจกรอกให้ไป หลายครั้งแฮ็กเกอร์บางคน จึงใช้วิธี Phishing ร่วมด้วย เพื่อหลอกให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นบางอย่างมา แล้วนำมา Hack ต่ออีกทีหนึ่ง



ไฟใต้

ประเด็นความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ กลับมาเป็นที่พูดถึงกันแพร่หลายอีกครั้งหลังมีหลักฐานที่เชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม BRN เข้ากับเหตุระเบิดเมื่อวันที่ ๑๑-๑๒ ส.ค.

ความขัดแย้งดังกล่าวมักเรียกกันสั้นๆ ตามหน้าสื่อว่า "ไฟใต้" ในขณะที่สื่อภาษาอังกฤษมักจะเรียกว่า "Thailand"s southern insurgency" หรือแปลว่าการต่อต้านรัฐในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศไทย

คำสั้นๆ ก็คือ Deep South หรือ Far South หมายถึง ภาคใต้ตอนลึก หรือภาคใต้ตอนไกล อันหมายถึงสามจังหวัดชายแดนใต้นั่นเอง

คำว่า insurgency แปลว่า การต่อต้านรัฐหรือผู้มีอำนาจ ส่วนผู้ก่อการเรียกว่า insurgents

หรือบางครั้งก็เรียกว่า militants ซึ่งแปลว่า กลุ่มผู้ติดอาวุธ

แต่ถ้าจะพูดอย่างเจาะจง กลุ่มคนเหล่านี้มีเป้าหมายปลดแอกรัฐปาตานี ดังนั้น คำที่ใช้เรียกได้อีกก็คือ secessionist แปลว่า ผู้ต้องการแยกประเทศ

โดยคำดังกล่าวมาจากคำว่า secede แปลว่า แยกดินแดนหรือแยกประเทศ

คำที่ใกล้เคียงกันคือ separatists แปลว่า ผู้แบ่งแยกดินแดน มาจากคำว่า separate ที่แปลว่า การแบ่งแยก

สื่อต่างประเทศจึงมักเรียกเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ว่าเป็น secessionist violence หรือ separatist violence (ความรุนแรงที่มาจากความพยายามแบ่งแยกประเทศ)

กล่าวได้ว่า ความรุนแรงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา (ethnic and religious conflict) ที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ และทางภาครัฐก็พยายามแก้ไขกันอยู่

วิธีหนึ่งที่มีการเสนอกันคือ การให้สิทธิปกครองตนเอง (autonomy) มากขึ้นสำหรับสามจังหวัดชายแดนใต้

อีกหนึ่งแนวทางคือการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง

วิธีนี้มักจะเริ่มจาก การพูดคุยเพื่อสันติภาพ (peace talk) อันเป็นการคุยกันอย่างไม่เป็นทางการและไม่มีข้อผูกมัดกันก่อนที่จะดำเนินไปสู่การเจรจา (negotiation) ที่มีการยอมรับอย่างชัดเจนจากทั้งสองฝ่าย

และถ้าหากสำเร็จก็จะนำไปสู่การ หยุดยิง (ceasefire) และการยุติความขัดแย้งซึ่งกันและกัน (cessation of hostility) ในที่สุด

แน่นอนว่าการเจรจากับผู้ก่อเหตุรุนแรงย่อมถูกวิจารณ์ว่าเหมือนเจรจากับโจร หรือเหมือนว่าอ่อนข้อให้โจร แต่ผู้เขียนก็ขอยกคำพูดของประธานาธิบดีสหรัฐ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ มากล่าวอีกทีตรงนี้ว่า "Let us never negotiate out of fear. But let us never fear to negotiate."

แปลว่า จงอย่าเจรจากับใครเพราะความกลัว แต่ขณะเดียวกันก็อย่ากลัวที่จะเจรจาเช่นกัน




ไฮโซ

ช่วงนี้มี "ไฮโซ" หลายคนตกเป็นข่าว ทั้งไฮโซไม่จริงและจริง ตั้งแต่ "หญิงไก่" ไปจนถึง "หม่อมหลวง อ" หรือ "หม่อมตกอับ"

สัปดาห์นี้จึงขอเสนอคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับวงการสังคมชั้นสูง หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ไฮโซ

คำนี้ถึงแม้จะฟังดูเป็นภาษาอังกฤษที่ย่อมาจาก high society (สังคมชั้นสูง) แต่จริงๆ แล้ว ฝรั่งไม่ใช้กัน

ในภาษาอังกฤษ เขาไม่ใช้คำว่าไฮโซ แต่ใช้คำว่า ไฮคลาส - high class

หรืออีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกกันมาก คือคำว่า posh (พอช)

คำนี้นอกจากจะใช้เรียกบุคคลในแวดวงไฮโซ ยังใช้เรียกสิ่งของต่างๆ ที่ดูไฮโซด้วย

ส่วนบรรดาคนดังอย่างดารานักร้อง หรือที่คนไทยเรียกกันว่า เซเลบ มาจากคำว่า เซเลบริตี้ (celebrity)

อย่างไรก็ตาม ในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ประชาชนส่วนใหญ่มักมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชนชั้นสูง เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มคนอภิสิทธิ์ชน โดยคำที่ฝรั่งมักใช้เรียกไฮโซอย่างเหยียดหยามคือ elite (อีลิต) แปลว่า พวกชนชั้นสูง

หรือพูดอีกอย่างก็คือประเทศตะวันตกมีลักษณะเป็นสังคมเท่าเทียมกัน (egalitarian) ไม่ค่อยมีระบบชนชั้น (hierarchy)

ขณะที่บุคคลซึ่งสืบเชื้อสายราชสกุลหรือราชนิกุล เรียกว่า royal bloodline

ส่วนขุนนางเรียกกว้างๆ ว่า aristocrats

ถึงแม้ฝรั่งจะไม่มีตำแหน่ง "คุณหญิง" แบบไทย แต่ก็มีอะไรที่คล้ายๆ กัน นั่นคือตำแหน่ง "lady" (เลดี้) ในสหราชอาณาจักร ยกตัวอย่าง เลดี้ไดอาน่า

สำหรับกรณี หญิงไก่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นคุณหญิงนั้น ในภาษาอังกฤษเรียกว่า impostor (อิมพอสเตอร์) แปลว่าผู้แอบอ้างตำแหน่งหรือยศ


ที่มา : คอลัมน์ "ฝึกภาษาอังกฤษ KHAOSOD ENGLISH" , หนังสือพิมพ์ข่าวสด
2993  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: 'อาเซียน' เรื่องน่ารู้..ที่คนไทยควรรู้ เมื่อ: 14 กันยายน 2559 11:18:32

   น้ำปลาอาเซียน

นอกจากข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักจนเป็นที่มาของสัญลักษณ์รวงทอง ๑๐ ช่อแล้ว ชาติอาเซียนยังชื่นชอบอาหารที่มีรสชาติเข้มข้นเหมือนกัน จึงไม่แปลกที่เครื่องปรุงรสในอาเซียนจะเป็นหนึ่งในตัวชูโรงอาหารแสนอร่อย แถมยังสร้างชื่อระดับโลก

ประเดิมกันที่น้ำปลา ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลว มีรสเค็ม ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสของอาหาร ทำจากการหมักปลากับเกลือ คนไทยเรียกว่า "น้ำปลา" ตรงตามตัวคือน้ำที่มาจากปลา เช่นเดียวกับ "น้ำปา" ของลาว สำหรับเวียดนาม คือ "เนื้อก มั้ม" เนื้อกหมายถึงน้ำ ส่วนมั้มคือปลาหมักเกลือ หรือปลาร้าแบบญวนนั่นเอง

กัมพูชาใช้คำว่า "ตึกตรัย" ส่วนชาวพม่าเรียกน้ำปลาว่า "ง่าน เปี่ย เหย่" ขณะที่น้ำปลาเวอร์ชั่นอินโดนีเซีย คือ "เทราซี" หรือ "แทรสซี" และฟิลิปปินส์ คือ "ปาตีส"

ส่วนมาเลเซียมี "บูดู" ทำคล้ายน้ำปลาแต่จะผสมกากที่หมักลงไปด้วย แน่นอนว่าคนไทยเองก็คุ้นเคยกับบูดูหรือน้ำบูดูที่ใส่ในข้าวยำ และด้วยอิทธิพลของมลายูในสิงคโปร์และบรูไน เครื่องปรุงเสริมรสชาติที่ทั้งสองประเทศใช้จึงเป็นบูดูด้วยนั่นเอง



  ซอสพม่า-ลาว

พม่านั้นมีข้อมูลบันทึกถึงการทำซอสถั่วเหลืองย้อนกลับไปในสมัยอาณาจักรพุกาม อาณาจักรโบราณช่วงศตวรรษที่ ๙ และ ๑๐ เริ่มจากซอสถั่วเหลืองผสมกับน้ำที่ได้จากการหมักปลา เรียกว่า "เป ง่าน ยาร์ เย"

ต่อมาในสมัยราชวงศ์คองบอง หรือ อลองพญา ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ซอสที่เดิมผสมกับน้ำหมักปลาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนแยกเป็นซอสถั่วเหลือง และได้รับความนิยมทำใช้ในครัวเรือนอย่างแพร่หลาย โดยซอสถั่วเหลืองซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจใช้ปรุงอาหารพม่าสารพัดชนิด คือ "จา โหย่" หรือซอสถั่วเหลืองแบบข้น มีรากศัพท์และลักษณะคล้ายกับ "เจี้ยงโหยว" หรือซีอิ๊วของจีนนั่นเอง

ขณะที่ชาวลาวได้รับอิทธิพลใช้ซอสถั่วเหลืองในการทำอาหารมาจากจีน คล้ายกับอีกหลายประเทศอาเซียน ชาวลาวเรียก "น้ำสะอิ๊ว" เป็นซีอิ๊วแบบเดียวกับของไทย วัตถุดิบหลักคือถั่วเหลือง นำไปหมักกับข้าวหรือข้าวสาลี ซึ่งข้าวจะเป็นอาหารของเชื้อรา จากนั้นนำเกลือและเชื้อรามาหมักในที่ที่ควบคุมอุณหภูมิ ระหว่างหมักนาน ๒-๓ เดือน ต้องคนเป็นระยะเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งจะทำให้ซีอิ๊วมีกลิ่นหอมและรสกลมกล่อม

จากนั้นกรองแยกกากและน้ำออกจากกันจนได้เป็นซีอิ๊วในที่สุด ซีอิ๊วขาวจะมีสีน้ำตาลใส กลิ่นหอม รสเค็มเล็กน้อย ส่วนซีอิ๊วดำเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้มมีกลิ่นหอมไหม้ รสเค็มกว่าซีอิ๊วขาว



   ซอสเวียดนาม

ชาวเวียดนามเรียกซอสถั่วเหลืองว่า "เนื้อกต่วง" แม้จะไม่นิยมเท่ากับ "เนื้อกมั่ม" หรือน้ำปลาซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการปรุงอาหารมากถึงร้อยละ ๘๐ แต่เนื้อกต่วงก็มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน

เนื้อกต่วงมีกรรมวิธีการผลิตคล้ายซอสถั่วเหลืองของไทยซึ่งรับมาจากจีนอีกทอดหนึ่ง แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด ชนิดแรกมีลักษณะเป็นน้ำซอสใสสีน้ำตาลอ่อนและรสเค็ม ขณะที่ "เซิมแด็ก" หรือ "ฮวาวี" เป็นซอสแบบข้นเหนียวสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำ ส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาปรุงอาหารโดยตรง แต่นำไปผสมกับเครื่องปรุงอื่นๆ อย่างน้ำต้มสุก หรือไม่ก็น้ำส้มสายชู เพื่อใช้เป็นน้ำจิ้มเสริมรสชาติอาหาร ชนิดสุดท้ายเป็นเนื้อกต่วงที่ผสมเครื่องปรุงอื่นๆ คล้ายซอสสำเร็จรูปสำหรับอาหารประเภทต้ม ผัด หรือทอด

นอกจากนี้ยังแบ่งเนื้อกต่วงตามวิธีการผลิตได้เป็น ๓ แบบใหญ่ๆ ได้แก่ ซอสถั่วเหลืองที่หมักโดยวิธีธรรมชาติ หมายถึงซอสที่ได้จากการหมักถั่วเหลืองหรือส่วนผสมของถั่วเหลือง โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ แบบที่สองคือซอสจากการย่อยโปรตีนในกรดเข้มข้น นิยมเพิ่มน้ำมันถั่วลิสงลงไปเพื่อให้ได้กลิ่นรสหอมมันเฉพาะตัว ส่วนซอสอีกตัวเป็นซอสผสมระหว่างเนื้อกต่วงที่ได้จากการหมักและเนื้อกต่วงแบบใช้กรดเข้มข้น



   ซอสแดนอิเหนา

เครื่องปรุงชนิดที่สำคัญสำหรับชาวอาเซียนคงหนีไม่พ้น "ซอสถั่วเหลือง" มีถิ่นกำเนิดในจีนราวศตวรรษที่ ๓-๕ เดิมทีใช้น้ำที่หมักจากปลาผสมกับถั่วเหลือง และเรียกซอสดังกล่าวว่า "เจียง" ต่อมาน้ำหมักปลากับน้ำหมักถั่วเหลืองแยกออกเป็นเครื่องปรุง๒ ชนิด

ซอสถั่วเหลืองเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการค้าขายกับจีน ก่อนที่แต่ละประเทศจะปรับสูตรและส่วนผสมให้เป็นไปตามวัฒนธรรมการกินของตน

อินโดนีเซียเรียกซอสถั่วเหลืองว่า"เคแค็ป" หรือ "เคเซียบ" มีรากศัพท์คล้ายคลึงกับคำว่า "เคทชัป" หรือซอสมะเขือเทศของชาติตะวันตก โดยซอสที่ชาวอิเหนานิยมใช้ปรุงอาหารมากที่สุดมี ๓ ชนิด อันดับแรก คือ "เคแค็ป มานิส" ซอสถั่วเหลืองหวาน เนื้อสัมผัสค่อนข้างเหนียวข้น มีรสหวานของน้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล เมนูประจำชาติกว่าร้อยละ ๙๐ ของอินโดนีเซียใช้เคแค็ป มานิส ไม่ว่า จะเป็น "นาซิ โกเร็ง" ข้าวผัดอินโดฯ และหมี่ผัด "มีโกเร็ง" รวมถึงอาหารจีนสไตล์ผสมผสานตามแบบฉบับอินโดนีเซีย

ซอสชนิดที่สองเรียกว่า "เคแค็ป อะซิน" เป็นแบบเค็มใกล้เคียงกับซอสถั่วเหลืองที่ใช้ทั่วไปในประเทศอื่น แต่ข้นหนืดและมีกลิ่นรสเข้มข้น นิยมใส่ในอาหารจีน โดยเฉพาะเมนูของชาวฮกเกี้ยนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ประเดิมนำเข้าซอสถั่วเหลืองเค็มมายังอินโดนีเซีย

สุดท้ายคือ "เคแค็ป มานิส เซดัง" ซอสถั่วเหลืองรสชาติกลางๆ ผสมผสานระหว่างเคแค็ป มานิส และเคแค็ป อะซิน จึงมีรสเค็มนำและหวานอ่อนๆ เนื้อสัมผัสนั้นข้นน้อยกว่าซอสอีกสองชนิด



   ซอสมาเลย์-บรูไน

ซอสถั่วเหลืองของมาเลเซียมีชื่อเรียกคล้ายซอสถั่วเหลืองของอินโดนีเซีย คือ "คีแค็ป" อันที่จริงต้องบอกว่าอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซียซึ่งเป็นต้นทางของภาษา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมในอินโดนีเซียและบรูไน

มาเลเซียมีซอสที่นิยม ๒ ประเภท อย่างแรกคือ "คีแค็ป เลอมัก" เป็นซอสถั่วเหลืองเข้มข้นเหมือนเคแค็ป มานิส ซอสถั่วเหลืองชนิดหวานของอินโดนีเซีย แต่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบน้อยกว่ามาก จึงมีรสเค็มเป็นหลักและหวานแค่ปะแล่มๆ ขณะที่ "คีแค็ป แคร์" ใกล้เคียงกับเคแค็ป อะซิน ซอสถั่วเหลืองแบบเค็มของเพื่อนบ้านแดนอิเหนา ซึ่งก็เหมือนๆ กับซอสถั่วเหลืองที่ใช้ทั่วไปในประเทศอื่นๆ แต่ข้นหนืดและมีกลิ่นรสเข้มข้นกว่า

ขณะที่ "เคแค็ป มานิส" ของบรูไน แม้จะชื่อเหมือนกันแต่ไม่ได้เป็นซอสรสหวานบรรจุขวดอย่างอินโดนีเซีย เพราะชาวบรูไนจะนำซีอิ๊วดำแบบจีนมาผสมด้วยน้ำตาล กระเทียม โป๊ยกั๊ก หรือจันทน์แปดกลีบ ใบกระวาน และข่า จนได้เป็นซัมบัล เคแค็ป มานิส สำหรับจิ้มอาหารสไตล์บรูไนนั่นเอง



  ซอสเขมร-สิงคโปร์
 
เพราะชาวกัมพูชาชื่นชอบรสชาติเปรี้ยวปรี๊ด...ดด อย่างมะนาวและมะขาม จึงไม่แปลกที่จะใช้เครื่องปรุงซึ่งมีรสเค็มแบบน้ำปลา หรือที่เรียกว่า "ตึกตรัย" แทนที่จะใช้ซอสถั่วเหลืองแบบเพื่อนบ้านอาเซียนประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตามหากทำอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนชาวกัมพูชาก็จะใช้ซอสถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ อาทิ "กุยเตียว" หรือก๋วยเตี๋ยวที่ได้รับการเผยแพร่มาจากจีนและเวียดนามอีกทอดหนึ่ง แต่ก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น "หมี่กาตัง" คล้ายราดหน้า โดยน้ำเกรวีปรุงรสด้วยซอสถั่วเหลืองและกระเทียม กินกับผักดอง ไข่

นอกจากนี้ยังมี "หมี่ชา" หรือหมี่ ผัดที่ใส่ซอสถั่วเหลือง และเช่นเดียวกับ "บายชา" ข้าวผัดใส่กุนเชียง กระเทียม ผัก และซอสถั่วเหลือง

สำหรับสิงคโปร์ซึ่งมีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างจีนและมาเลย์ ซอสถั่วเหลืองจึงถือเป็นเครื่องปรุงสำคัญของเมนูท้องถิ่น ชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนที่ใช้ภาษาจีนกลางหรือแมนดารินเรียกซอสถั่วเหลืองว่า "โต๋โหยว" ส่วนชาวจีนฮกเกี้ยนที่ ใช้ภาษาถิ่นแต้จิ๋ว เรียกว่า "เจียงฉิง"



   ซอสโตโย-ฟิลิปปินส์

สําหรับฟิลิปปินส์นั้น ซอสถั่วเหลืองเรียกว่า "โตโย" มีลักษณะคล้ายกับเจี้ยงโหยวของจีนและโชยุของญี่ปุ่น เป็นซอสที่ผสมผสานระหว่างถั่วเหลือง ข้าวสาลี และเกลือ เมื่อหมักตามกรรมวิธีจนได้ที่จะได้ซอสกลิ่นหอมสีน้ำตาลอ่อนๆ เนื้อสัมผัสของซอสโตโยจะเบาบางและใส แต่รสชาติเค็มกว่าซอสถั่วเหลืองของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชาวฟิลิปปินส์นิยมใช้ซอสโตโยหมักเนื้อ ปรุงรส และเป็นซอสจิ้มบนโต๊ะอาหารวางคู่กับน้ำปลาและน้ำส้มสายชูหมักจากอ้อย

ซอสโตโยยังเป็นเครื่องปรุงรสสำคัญของเมนูประจำชาติชื่อดัง อย่าง "อาโดโบ" เมนูไก่หรือหมูต้มในกระเทียม น้ำส้มสายชู น้ำมัน และซอสโตโยที่นำไปเคี่ยวจนแห้ง นอกจากนี้ถ้านำไปผสมกับน้ำ "ส้มคาลามันซี" จะได้ซอสจิ้มสามรสในชื่อ "โตโยมันซี" ซึ่งละม้ายคล้ายกับ "ปอนซี" ซอสหรือน้ำจิ้มของญี่ปุ่นที่มีรสออกเปรี้ยว หวาน เค็มนิดๆ ได้มาจากการผสมโชยุกับส้มยุซุนั่นเอง
   


   ซอสถั่วเหลืองไทย

ซอสด้วยเครื่องปรุงของบ้านเรา ในไทยมีซอสที่ได้จากการย่อยของโปรตีนถั่วเหลือง แบ่งเป็น "ซอสปรุงรส" และ "ซีอิ๊ว" ต่างกันที่กรรมวิธีการผลิต ซอสปรุงรสนั้นส่วนมากใช้กากถั่วเหลือง หรือถั่วเหลืองที่สกัดน้ำมันถั่วเหลืองออกมาแล้วปรับสภาพด้วยด่าง ขณะที่ซีอิ๊วใช้การหมักย่อยโปรตีนถั่วเหลืองด้วยการนำถั่วเหลืองมานึ่งหรือต้มสุก จากนั้นผสมกับแป้งและหัวเชื้อรา ผึ่งจนเชื้อราเติบโตแล้วนำไปหมักหรือบ่ม เชื้อราจะทำหน้าที่ย่อยโปรตีนในถั่วเหลืองและแป้งจนเกิดเป็นกรดอะมิโนและน้ำตาล

ระดับโปรตีนในซอสปรุงรสมีหลายระดับ เช่น ร้อยละ ๑๐ ร้อยละ ๑๕ และร้อยละ ๒๐ ต่างเป็นตัวกำหนดมาตรฐานและราคาของซอสนั้นๆ

สำหรับคนไทยแล้ว ซอสถั่วเหลืองถือเป็นเครื่องปรุงสำคัญไม่แพ้น้ำปลา โดยซอสปรุงรสมีกลิ่นและสีที่เข้มข้นกว่าซีอิ๊ว จึงเหมาะกับเมนูที่ต้องการเน้นกลิ่นและสีของซอส เช่น อบ ผัด และจิ้ม ส่วนซีอิ๊วเหมาะกับอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน และประเภทต้ม


ที่มา :  หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
2994  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: เรื่องแมวๆ & ตำราดูลักษณะแมว เมื่อ: 13 กันยายน 2559 20:14:14


ตำราดูลักษณะแมวไทย
จากสมุดข่อยโบราณ
Kimleng

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงซุกซน น่ารัก เลี้ยงง่าย เล่าสืบต่อกันมาว่า แมวอยู่กับคนมานานนับเป็นเวลาพันๆ ปี จึงเรียกได้ว่าเป็นสัตว์ป่าชนิดเดียวที่ไม่กลัวคนและอยู่ใกล้ชิดคนมากที่สุด แมวมาอาศัยอยู่บ้านคนนั้้นเพราะเหตุเดียวคือในบ้านคนมีอาหารมากที่สุด ได้แก่หนู ซึ่งแมวจะจับกินเอง

แมวเป็นสัตว์รักอิสระเสรีภาพ เวลาคนส่งเสียงเรียกให้มาหา แมวชอบใจก็จะมา ไม่ชอบใจก็ไม่มา นึกสนุกขึ้นมาก็ไปเที่ยวที่อื่นเสียหลายวัน และนึกจะกลับบ้านเมื่อไรก็กลับ สรุปแล้วแมวก็มีลักษณะดึงดูดให้คนได้หามาเลี้ยงดูสืบต่อเรื่อยมาจนปัจจุบัน  อย่างน้อยๆ ก็ไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา ดังบทดอกสร้อยว่า "...ร้องเรียกเหมียวๆ เดี๋ยวก็มา เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู" และที่เคล้าแข้งเคล้าขานั้นก็ไม่รู้ว่าแมวว่าง่าย หรือแมวรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้ทำกิริยาเช่นนั้น ถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่าไม่มีขาคน แมวก็จะเคล้าขาโต๊ะหรือขาเก้าอี้

ในหนังสือโบราณของหอสมุดแห่งชาติ มีสมุดข่อยโบราณ เรียกว่า ตำราดูลักษณะแมว แสดงประเภทแมวดี ๑๗ ชนิด และแมวร้าย ๖ ชนิด เป็นข้อพิจารณาในเบื้องต้นแก่ผู้รักแมวและกำลังมองหาแมวมาอุปการะเลี้ยงดู เพื่อจักได้บังเกิดผลประโยชน์ต่อกัน เพราะคนไทยมีความเชื่อว่า การเลี้ยงแมวลักษณะดีย่อมเป็นมงคล จะนำสิ่งดี มีโชคลาภ นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตนและครอบครัว ในทางตรงกันข้ามเชื่อว่า หากได้แมวลักษณะไม่ดี หรือแมวร้ายมาเลี้ยงไว้ เปรียบดังเงาร้าย ครอบครัวจะหาความสุขไม่ได้  มีทุกข์ภัยที่ประดังเข้ามาอย่างไม่คาดฝัน เป็นต้น


ตำราดูลักษณะแมว จากสมุดข่อยโบราณ
แมวดี ๑๗ ชนิด ได้แก่




๑.แมว “วิลาศ” "แม้ใครใคร่เลี้ยงโดยหมาย จักได้เป็นนายผู้ใหญ่เลื่อนที่ถานา ศฤงคารโภคา ทรัพย์สินจักมาเนืองๆ บริบูรณ์พูลมี"  
       ราวคอทับถงาดท้อง      สองหู
       ขาวตลอดหางดู          ดอกฝ้าย
        มีเสวตรสี่บาทตรู        สองเนตร์ เขียวแฮ
       งามวิลาศงามคล้าย       โภคพื้น กายดำ
แมววิลาศ ลักษณะตั้งแต่คอถึงท้องและสองหู ตลอดถึงหางและขาทั้ง ๔ มีสีขาวตลอดเหมือนดอกฝ้าย ลูกตาสองตามีสีเขียว ลำตัวส่วนอื่นๆ เป็นสีดำ ลักษณะสวยงาม
 



๒.แมว “นิลรัตน์"  ถ้าเลี้ยงไว้ย่อมมีคุณเอนกา ศฤงคารโภคา จะเนื่องเป็นนิจบริบูรณ์
       สมยานามชาติเชื้อ       นิลรัตน์
       กายดำสิทธิสามรรถ      เลิศพร้อม
       ฟันเนตรเล็บลิ้นทัต       นิลคู่ กายนา
       หางสุดเรียวยาวน้อม      นอบโน้มเสมอเศียร
“นิลรัตน์” แปลว่า มณีสีดำ ลักษณะขนสีดำสนิท ฟัน นัยน์ตา เล็บและลิ้นก็เป็นสีดำ หางยาวเรียวยกตวัดได้ถึงหัว




๓.แมว “นิลจักร”   กายดำคอขาวรอบขน ใครเลี้ยงเกิดผลทรัพย์สินสมบัติมากมี
       นิลจักรบอกชื่อช้อย     ลักษณา
       กายดุจกลปีกกา         เทียบแท้
       เสวตรอบรัดกรรฐา      โดยที่
       เนาประเทศได้แม้         ดั่งนี้ควรถนอม
แมวนิลจักร ลักษณะสีกายดำเหมือนสีปีกของกา รอบลำคอมีสีขาว ดูเหมือนกับสวมปลอกคอสีขาว เป็นแมวดีที่ควรเลี้ยงรักและถนอมรักษา




๔.แมว “เก้าแต้ม” ใครได้แมวเก้าแต้มไว้เลี้ยงดูก็จะทำให้การค้าขายรุ่งเรือง ร่ำรวย
       สลับดวงคอโสตรัตต้น       ขาหลัง
       สองไหล่กำหนดทั้ง           บาทหน้า
       มีโลมดำบดบัง               ปลายบาท สองแฮ
       เก้าแห่งดำดุจม้า             ผ่าพื้นขาวเสมอ
แมวเก้าแต้ม ลักษณะลำตัวเป็นสีขาว มีดวงตาสีดำ แต้มตามลำตัวที่คอ หู สองไหล่ ปลายเท้าหน้าทั้งสองข้าง รวม ๙ แห่ง ลักษณะแต้มสีดำนี้จะเป็นวงกลมหรือปื้นเหลี่ยมก็ได้ ปลายหางเรียวยาว สีขาว




๕.แมว “มาเลศ” หรือ “ดอกเลา”  ใครพบเร่งให้อุปถัมภ์ แมวนั้นจักนำสุขสวัสดิ์มงคล
       วิลามาเลศพื้น            พรรณกาย
       ขนดังดอกเลาราย        เรียบร้อย
       โคนขนเมฆมอปลาย      ปลอมเสวตร
       ตาดั่งน้ำค้างย้อย          หยาดต้องสัตบง
แมวมาเลศ หรือแมวดอกเลา ลักษณะลำตัวมีสีดอกเลา คือขนสีเทามอๆ เหมือนเมฆสีเทายามฟ้าพยับฝน มีนัยน์ตาขาวใสหยาดเยิ้มเหมือนสีหยดน้ำค้างบบกลีบดอกบัว




๖.แมว “แซมเสวตร
       ขนดำแซมเสวตรสิ้น     สรรพภางค์
       ขนคู่โลมกายบาง        แบบน้อย
       ทรงระเบียบสำอาง        เรียวรุ่นห์ งามนา
       ตาดั่งแสงหิ่งห้อย         เปรียบน้ำทองทา
แมวแซมเสวตร ลักษณะตลอดลำตัวมีขนสีดำแซมด้วยสีขาว ขนเส้นเล็กบาง ละเอียด และค่อนข้างสั้น รูปร่างบางรูปทรงสวยเพรียว ดวงตาสีเขียวเป็นประกายสดใสเหมือนแสงหิ่งห้อย หรือเปรียบเสมือนทาด้วยน้ำทอง




๗.แมว “รัตนกำพล” "ใครเลี้ยงจักมียศถา มีเดชานุภาพแก่คนเกรงกลัว"
       สมยากาเยศย้อม      สีสังข์
       ชื่อรัตนกำพลหวัง     ว่าไว้
       ดำรัดรอบกายจัง       หวัดอก หลังนา
       ตาดั่งเนื้อทองได้        หกน้ำเนียรแสง
แมวรัตนกำพล ลักษณะ ขนสีขาวนวลเหมือนสีหอยสังข์  ช่วงอกถึงหลังมีสีดำรอบลำตัว สีนัยน์ตาเหมือนสีทองน้ำหกเป็นประกายดูเนียนตา  




๘.แมว “วิเชียรมาศ” "มีคุณยิ่งล้ำนัก จักนำโภคาพิพัฒน์สมบัติเพิ่มพูล"  
       ปากบนหางสี่เท้า        โสตสอง
       แปดแห่งดำดุจปอง       กล่าวไว้
       ศรีเนตรดั่งเรือนรอง      นาคสวาดิ ไว้เอย
       นามวิเชียรมาศไซร้       สอดพื้นขนขาว
แมววิเชียรมาศ ลักษณะขนสีขาว แต่ที่ปากส่วนบน หาง เท้าทั้งสี่ และหูทั้งสองข้าง รวม ๘ มีสีดำ(สีเข้ม) มีนัยน์ตาประกาย สดใส




๙.แมว “ศุภลักษณ์” หรือ “ทองแดง”  ใครเลี้ยงจักได้ยศถา ยิ่งพ้นพรรณนาเป็นที่อำมาตย์มนตรี
       วิลาศุภลักษณ์ล้ำ           วิลาวรรณ
       ศรีดังทองแดงฉัน            เพริศแพร้ว
       แสงเนตรเฉกแสงพรรณ     โณภาษ
       กรรษสรรพโทษแล้ว         สิ่งร้ายคืนเกษม
แมวศุภลักษณ์ หรือ ทองแดง ลักษณะร่างกายสวยงามมาก สีขนเหมือนสีทองแดงตลอดทั้งตัว นัยน์ตาเป็นประกายแวววาว แมวชนิดนี้ให้คุณ ช่วยให้สิ่งที่เป็นโทษหรือสิ่งร้ายกลับกลายเป็นสิ่งที่ดีได้




๑๐.แมว “มุลิลา” แมวชนิดนี้ ตำราว่าให้เลี้ยงได้เฉพาะพระสงฆ์ ไม่ควรเลี้ยงตามบ้าน
       มุลิลาปรากฏแจ้ง         นามสมาน
       ใบโสตสองเสวตรปาน     ปักล้วน
       ศรีตาผกาบาน            เบญจมาศ เหลืองนา
       หางสุดโลมดำถ้วน         บาทพื้นกายเศียร
แมวมุลิลา ลักษณะ ขนเรียบ เป็นมัน สีพื้นลำตัวตลอดถึงหางเป็นสีดำ บริเวณสองหูเป็นสีขาว นัยน์ตาสีเหลืองเหมือนสีดอกดอกเบญจมาศเหลืองบาน




๑๑.แมว “กรอบแว่น” หรือ “อานม้า”  ตีค่าแสนตำลึงทอง ใครเลี้ยงจักนำเกียรติยศมาให้เจ้าของ
       นามกรอบแว่นพื้น     เสวตรผา
       ขนดำเวียนวงตา       เฉกย้อม
       เหนือหลังดั่งอานอา    ชาชาติ
       งามดั่งวงหมึกพร้อม     อยู่ด้าวใดแสวง
แมวกรอบแว่นหรือแมวอานม้า ลักษณะพื้นกายสีขาว มีขนสีดำรอบดวงตาทั้งสองข้างเหมือนกรอบแว่นตา และมีสีดำที่หลังของลำตัว  เหมือนอานหรือที่นั่งบนหลังม้า เป็นแมววดีมีลักษณะดีมีมงคล ซึ่งผู้คนจะเสาะแสวงหามาเลี้ยงกันมาก




๑๒.แมว “ปัศเวต” หรือ “ปัดตลอด” (อ่านว่า แมว "ปัด-ศะ-เวด") หนึ่งดั่งปัดตลอดสอดสี ตำราว่าแมวดี ใครเลี้ยงจักยิ่งตระกูล
       ปัศเวตลักษณนั้น      ปลายนา ษาฤๅ
       ขาวตลอดหางหา      ยากพร้อม
       รลุมเฉกสลับตา        กายเฟพ เดียวแฮ
       ตาดั่งคำชายล้อม       บุศน้ำพลอยเหลือง
แมวปัศเวต หรือ ปัดตลอด ลักษณะขนสีดำ ขนที่ปลายจมูก ผ่านศีรษะ หลัง ตลอดจนจรดปลายหาง (ด้านบน) เป็นริ้วทางยาวสีขาวตลอด นัยน์ตาเป็นประกายสีเหลืองเหมือนสีบุษย์น้ำพลอย และมีขนสีเหลืองเหมือนทรายทองล้อมรอบดวงตา สวยงามมาก แมวปัศเวต เป็นแมวที่หายากมาก




๑๓.แมว “การเวก”  ถ้าได้เลี้ยงจะนำโชคลาภมาให้เจ้าของเปลี่ยนฐานะขึ้นไปเรื่อยๆ
       มีนามการเวกพื้น        กายดำ
       ศรีศรลักษณนำ         แนะไว้
       สองเนตรเลื่อมแสงคำ    คือมาศ
       ด่างที่ณาษาไซร้         เสวตรล้วนรอบเสมอ
แมวการเวก ลักษณะพื้นกายสีดำ แต่ไม่ดำหมดทั้งตัว ที่ปลายจมูกมีแต้มสีขาวเล็กน้อย ดวงตาเป็นประกายเลื่อมแสงสีเหลืองอำพันทองสดใส




๑๔.แมว “จตุบท”  หนึ่งสี่เท้าด่างขบขัน ท่านว่าควรกัน ให้เลี้ยงแต่ราชินิกูล แมวนั้นย่อมจะให้คุณ
       จตุบทหมดเฟศน้อม        นามแสดง ไว้นา
       โลมสกลกายแสง           หมึกล้าย
       สี่บาทพิศเล่ห์แลง           ลายเสวตร
       ตาเลื่อมศรีเหลืองคล้าย     ดอกแย้มนางโสรน
แมวจตุบท ลักษณะขนสีหมึก คล้ายเอาหมึกมาไล้ไว้ทั่วร่าง ยกเว้นแต่บริเวณเท้าทั้งสี่และส่วนท้องของลำตัวมีขนเป็นสีขาว นัยน์ตาเป็นสีเหลืองเหมือนดอกโสน



 
๑๕.แมว “โสงหเสพย” (อ่านว่า โสง-หะ-เสพ-ยะ) กายดำคอขาวรอบขน ใครเลี้ยงไว้เกิดผล ทรัพย์สินสมบัติมากมี"
       เสนาะโสงหเสพยชื่อเชื้อ    ดำกาย
       ขาวที่ริมปากราย           รอบล้อม
       เวียนเถลิงสอสังข์ปลาย      ณาษิก อยู่แฮ
       ตาดั่งศรีรงย้อม              หยาดน้ำจางแสง
แมวโสงหเสพย หรือบางตำราเขียนเป็น "สิงหเสพย์"  ลักษณะขนกายป็นแมวขนสีดำ แต่จะมีสีขาวบริเวณริมฝีปาก เวียนไปรอบคอจนถึงปลายจมูก นัยน์ตาเป็นประกายสีเหลืองเหมือนย้อมด้วยน้ำรงสีจาง  




๑๖.แมว “กระจอก”  แมวนี้ถ้าเลี้ยงไว้... "จะได้ที่แดนไร่นา ทรัพย์สินโภคา ถ้าเป็นไพร่ก็จักได้เป็นนาย"
       มีนามกระจอกนั้น        ตัวกลม งามนา
       กายดำศรีสรรพสม       สอดพื้น
       ขนขาวเฉกเมฆลม       ลอยรอบ ปากแฮ
       ตาประสมศรีชื้น          เปรียบน้ำรงผสาน
แมวกระจอก ลักษณะตัวกลมสวยงาม ขนสีดำตลอดทั้งตัว รอบปากเป็นขนสีขาวเหมือนสีเมฆ นัยน์ตาสีเหลืองเหมือนน้ำรง




๑๗.แมว “โกนจา”   แมวนี้เลี้ยงดีมีคุณหนักหนา จงเร่งหามาเลี้ยงเทอญอย่าแคลงสงสัย
       กายดำคอสุดท้อง         ขาขนเลเอียดเฮย
       ตาดั่งศรีบวบกล           ดอกแย้ม
       โกนจาพจนิพนธ์          นามกล่าว  ไว้นา
       ปากแลหางเรียวแฉล้ม     ทอดเท้าคือสิงห์
แมวโกนจานี้ มีขนสีดำละเอียด ตั้งแต่คอไปจนถึงท้องและขา ปากและหางมีรูปลักษณะเรียวงาม นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม เท้าเหมือนเท้าสิงห์ ท่าทางเดินสง่าเหมือนสิงห์โต





ตำราดูลักษณะแมวไทย
จากสมุดข่อยโบราณ (ต่อ)


แมวร้าย ๖ ชนิด ได้แก่



๑.แมวร้ายชื่อ “ทุพลเพศ”  ใครเลี้ยงไว้จะให้โทษไม่เป็นสุข เกิดความเดือดร้อนแรงผลาญ
       ตัวขาวตาเล่ห์ย้อม       ชานสลา
       หนึ่งดั่งโลหิตทา          เนตรไว้
       ปลอมลักคาบมัศยา      ทุกค่ำ คืนแฮ
       ชื่อทุพลเพศให้           โทษร้อนแรงผลาญ
แมวทุพลเพศ ลักษณะลำตัวสีขาว มีดวงตาสีแดงเหมือนย้อมด้วยชานหมากหรือมีดวงตาเหมือนถูกทาด้วยเลือด มักออกไปหากินยามค่ำคืน และชอบขโมยปลามากิน  แมว “ทุพลเพศ” ชื่อ ทุพล หมายถึง ไม่ดี  ลักษณะโดยรวมไม่สวยงาม เลี้ยงไว้จะให้โทษร้ายแรง จึงไม่ควรนำมาเลี้ยง
 



๒.แมวร้ายชื่อ “พรรณพยัฆ หรือ ลายเสือ”    
       มีพรรณพยัฆเพศพื้น      ลายเสือ
       ขนดั่งชุบครำเกลือ          แกลบกล้อง
       สีตาโสตรแสงเจือ           เจิมเปือก ตาแฮ
       เสียงดั่งผีโป่งร้อง            เรียกแคว้นพงไสล
แมวพรรณพยัฆเพศ หรือแมวลายเสือ เป็นแมวร้ายที่มีขนกายเป็นลายเสือ ลักษณะขนหยาบเหมือนชุบด้วยเกลือหรือหยาบเหมือนแกลบ มีนัยน์ตาเป็นประกายเหมือนสีของแสงสว่างจนถึงเปลือกตา เวลาร้องเสียงเหมือนเสียงผีโป่งที่ร้องอยู่ตามป่าเขา เป็นแมวร้าย ถือเป็นแมวให้โทษอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรเลี้ยง
 



๓.แมวร้ายชื่อ “ปีศาจ”      
       ปิศาจจำพวกนี้       อาจินต โทษนา
       เกิดลูกออกกิน       ไป่เว้น
       หางขดดั่งงูดิน        ยอบขนด
       ขนสยากรายเส้น     ซูบเนื้อยานหนัง
แมวปีศาจ เป็นแมวร้ายอีกชนิดหนึ่ง ลักษณะขนสาก หยาบ ตัวผอม หนังยาน ชอบกินลูกของตัวเอง ออกลูกมากี่ตัวก็กินลูกหมด โบราณจัดเป็นแมวร้าย ห้ามได้นำมาเลี้ยง
 



๔.แมวร้ายชื่อ “หิณโทษ
       หิณโทษโหจชาติเชื้อ      ลักษณา
       เกิดลูกตายออกมา        แต่ท้อง
       สันดานเพศกายปรา      กฎโทษ อยู่แฮ
       ไภยพิบัติพาลต้อง         สิ่งร้ายมาสถาน
แมวหิณโทษ เป็นแมวนำมาอันตรายและสิ่งชั่วร้าย  นำภัยพิบัติมาสู่บ้าน ใครเลี้ยงไว้จะไม่เป็นมงคล ออกลูกมามักจะมีลูกตายตั้งแต่อยู่ในท้อง  
 



๕.แมวร้ายชื่อ “เหน็บเสนียด  ”  
       เหน็บเสนียดโทษร้าย     เริงเข็ญ
       ด่างที่ทุยหางเห็น         โหดร้าย
       ทรงรูปพิกลเบญ          จาเพศ
       แมวดั่งนี้อย่าไว้          ถิ่นบ้านเสียศรี
แมวเหน็บเสนียด ลักษณะคล้ายค่าง ชอบเอาหางขดซ่อนไว้ใต้ก้น มีรูปร่างผิดปกติพิกลพิการ ใครลี้ยงไว้ในบ้านจะทำให้เสียชื่อเสียงเกียรติยศ
 



๖.แมวร้ายชื่อ “กอบเพลิง”      
       มักนอนยุ้งอยู่ซุ้ม           ขนกาย อยู่นา
       เห็นแต่คนเดินชาย         วิ่งคล้าย
       กอบเพลิงกำหนดหมาย     นามบอก ไว้เอย
       ทรลักษณชาติค่างร้าย      โทษแท้พลันถึง
แมวกอบเพลิง เป็นแมวที่ลึกลับชอบซ่อนตัว กลัวคน พอเห็นคนมักวิ่งหลบหนี ใครเลี้ยงไว้ไม่ดี จะมีโทษถึงตัว
 
 
2995  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย เมื่อ: 12 กันยายน 2559 17:36:10
.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย



เจดีย์ ปราสาท มณฑป

คงเป็นที่เข้าใจกันชัดเจนว่า เจดีย์คือ สถูป หรือสิ่งก่อสร้างที่มุ่งหมายหรือสัญลักษณ์ที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีแยกประเภทของเจดีย์เป็น ๔ ประเภท คือ
     ธาตุเจดีย์ สิ่งก่อสร้างบรรจุพระบรมธาตุพระ พุทธเจ้า
     บริโภคเจดีย์ สังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
     ธรรมเจดีย์ สิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมในพระพุทธศาสนาหรือคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก
     อุเทสิกเจดีย์ ของที่สร้างขึ้นโดยหมายแทนพระพุทธเจ้า เช่น ธรรม จักร พระพุทธรูป เป็นต้น

ในทางสถาปัตยกรรมการสร้างเจดีย์บางแห่ง มุ่งหมายที่แสดงถึงสัญลักษณ์ที่สื่อรูปแบบบางประการ หมายถึงเจดีย์ ทั้ง ๔ ประเภทข้างต้น

สิ่งสำคัญที่พบในสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบคล้ายเจดีย์ก็คือ สถาปัตยกรรมที่เรียกกันว่าปราสาท นั้น บางแห่งเป็นทั้งรูปทรงที่เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท คือ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีเรือนยอดเป็นชั้นๆ แต่บางปราสาทในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู มีฐานะเท่ากับ กู่ ทั้งใช้เป็นที่เก็บหรือฝังพระมหากษัตริย์ที่สวรรคต เช่น ปราสาทนครวัดในประเทศกัมพูชา หรือเป็นเทวสถานหรือศาสนสถาน เช่น ปราสาทนครธมที่เป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มิได้ประดิษฐานพระธาตุของพระพุทธเจ้าจึงไม่นับว่าเป็นเจดีย์

ในประเทศไทยมีปราสาทอยู่หลายหลังที่เป็นโบราณสถาน เช่น ปราสาทศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ที่เป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

ปราสาทสำคัญในยุครัตนโกสินทร์ คือ โลหะปราสาท ที่เริ่มต้นก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สร้างปราสาทหลังนี้ในแนวความคิดที่เรียกว่า ธรรมเจดีย์ คือ เป็นปราสาท ๓ ชั้น มียอดเจดีย์รายล้อม ๓๗ องค์ อันมีความหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (พจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับประมวลศัพท์ของท่านประยุทธ ปยุตโต ให้หมายถึงธรรมอันเป็นฝักฝ่ายเท่าการตรัสรู้ ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘)

มีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง จนถึงปี ๒๕๐๖ จึงได้มีการบูรณะโลหะปราสาทจนแล้วเสร็จ และได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ จึงเป็นเจดีย์ปราสาทโลหะที่สมบูรณ์

เหตุที่เรียกโลหะปราสาทก็เนื่องจากวัสดุและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดง สำริดดำ





มณฑป

มณฑป เป็นสถาปัตยกรรมไทยรูปแบบหนึ่งที่ก่อสร้างเป็นศาสนสถานที่ บางครั้งก็เป็นธาตุเจดีย์ บางครั้งก็เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า เช่น มณฑปพระพุทธบาทสระบุรี ลักษณะสำคัญของมณฑปก็คือ รูปทรงหรือรูปแบบอาคารที่มีผังห้องเป็น ๔ เหลี่ยม หมายถึง โลก ตามความคิดในความเชื่อตามทางจักรวาลทัศน์ ๔ โดยมีปลายยอดเป็นลูกแก้ว หมายถึง นิพพาน

ในภาพนี้เป็นพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เพื่อเก็บพระไตรปิฎกฉบับทองที่โปรดให้สังคายนาขึ้น

หลังคาของมณฑปนี้เป็นทรงกรวย เช่นเดียวกับยอดของพระมหาปราสาท เป็นชุดชั้นลาดลดหลั่นจากยอดแหลมตั้งบนแบบแปลน ผังห้องเป็น ๔ เหลี่ยม หลังคาแต่ละชั้นที่ซ้อนกันเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละชั้นเรือนที่ไม่แสดงตัวเรือน จำนวนชั้นเรือนแสดงฐานานุรูป ฐานานุศักดิ์ของผู้สร้าง

พระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามตั้งอยู่บนฐานไพที (ฐานสูงด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ) เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก จึงมีฐานะเป็นธรรมเจดีย์ ฐานานุรูป ฐานานุศักดิ์ เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ผู้สร้างมณฑปในฐานะของหน่อพุทธางกูร คือ พระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต





คติทางตัวเลข

ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่มีการใช้ตัวเลขเป็นตัวกำกับหัวข้อธรรมต่างๆ ภายหลังในการสรุปรวบรวมธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงลงเป็นพระไตรปิฎก ตัวเลขการจัดลำดับหมวดหมู่ของธรรม ในหัวข้อต่างๆ จึงเกิดขึ้น

ต่อเมื่อมีการสร้างอนุสรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา สถาปนิกได้ใช้คติทางตัวเลขเป็นแนวทางการออกแบบที่เป็นรูปทรงเพื่อใช้บอกหรือแสดงหัวข้อธรรมหรือสัญลักษณ์บางประการ ตัวเลขที่แสดงถึงหัวข้อธรรมหรือสัญลักษณทางรูปธรรมต่างๆ จึงมีความหมายที่จะแสดงให้ผู้คนได้ศึกษาว่ารูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมนั้น กำลังแสดงธรรมในเรื่องใดบ้าง ตัวเลขส่วนใหญ่ทางพุทธศาสนาซึ่งสถาปนิกผู้รังสรรงานสถาปัตยกรรม เช่น เลข ๓ หมายถึงอะไรบ้าง

ในทางธรรม เลข ๓ อาจจะหมายถึง ไตรสรณาคม หรือรัตนตรัย ได้แก่ ที่พึ่งแห่งจิตใจ ๓ ประการ คือ
     พระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง
     พระธรรม เป็นที่พึ่ง
     พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

หรือความหมายของภูมิหรือภพของสัตว์โลก ได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

ในกรณีของสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงองค์ประกอบโลก เช่น สถูป หรือเจดีย์จะนำความหมายของภูมิหรือภพของสัตว์โลก มาแสดงเป็นสัดส่วน ๓ ชั้น ได้แก่

ชั้นฐาน ก็คือ กามภพ ที่จะมีการขยาย รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นลำดับชั้น ของความเป็นสัตว์โลกในระดับต่างๆ ที่เรียกว่า กามภพ หรือภพของผู้ที่ยังข้องติดอยู่ ในกาม อันได้แก่ ความยินดี ยินร้าย ตามยึดมั่น ถือมั่น ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมย์อีก เป็นต้น

ชั้นที่ ๒ คือ รูปภพ ได้แก่ ภาวะจิตของสัตว์โลกในลำดับชั้นสูงขึ้นไปจากกามภพ เป็นภาวะของผู้มีจิตหรือความคิดที่เป็นสมาธิบรรลุถึงญาณ ที่สงบนิ่งแนบแน่นโดยใช้รูป เป็นที่ตั้งและอยู่ในสติในการพิจารณา

ส่วนชั้นที่ ๓ คือ อรูปภพ ได้แก่ ภาวะจิตของสัตว์โลกที่มิได้ใช้รูป เป็นที่กำหนดความคิดพิจารณา แต่ใช้การตั้งจิตที่อยู่โดยปราศจากรูป เช่น เพ่งพิจารณา แสงสว่าง ที่ว่าง วิญญาณ เป็นหลัก

ในตอนต่อไปจะยกรูปแบบทางสถาปัตยกรรมทั้งสัมพันธ์กับตัวเลขในความหมายมาแสดง





เลข ๔ ในพุทธศานา

ในพระไตรปิฎก หัวข้อธรรมะเป็นจำนวนหลายบทที่จำแนกหมวดธรรมะที่แบ่งรายละเอียดเป็น ๔ หัวข้อ เช่น อริยสัจ๔ พรหมวิหาร ๔ อิทธิบาท ๔ สังคหวัตถุ ๔ อวิชชา ๔ อุปาทาน ๔ ฯลฯ เป็นจำนวนมาก

แต่เลข ๔ ที่นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในทางสถาปัตยกรรมก็คือ พรหมวิหาร ๔ ที่มีรูปลักษณ์เป็นเทวดา ๔ หน้า เรียกพระพรหม ซึ่งซ้อนทับอยู่กับพระพรหมในศาสนาพราหมณ์

พระพรหมในศาสนาพุทธมีความหมายเป็น ๒ นัย ความหมายหนึ่งแปลว่า ผู้อยู่เดียวดาย (คือการไม่ข้องและเกี่ยวข้องกับกามคุณ คือ ความพอใจ ยินดี ทั้งหลาย) และหมายถึงจิตใจของผู้ที่มีความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

เมตตา หมายถึง ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข ซึ่งหากความหมายลึกไปกว่าคำพูดธรรมดาก็คือ ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ อันได้แก่การพ้นไปจากสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด

กรุณา หมายถึง ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์หรือความหมายที่หมายไปถึงการช่วยเหลือ การแสดงความจริงของชีวิต อันได้แก่ ความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และความดับทุกข์

มุทิตา หมายถึง ความมีจิตยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น หรือความยินดีในความสุขที่แท้จริงของผู้อื่น อันได้แก่ ความสุขในคำที่ว่า นิพพานํ ปรมิสุขํ

อุเบกขา หมายถึง ความวางเฉยอยู่ ความเที่ยงธรรม ความวางตัวเป็นกลางหรือหมายถึงการพ้นจากข้อสงสัยในสรรพสิ่งทั้งปวง ซึ่งเมื่อไม่มีสิ่งใดที่น่าสงสัยแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะไปข้องติดอยู่กับความสงสัยนั้น มีแต่ความเบิกบานอยู่

ส่วนพรหมทางศาสนาพุทธในอีกความหมาย หมายถึงผู้ที่สถิตอยู่ในสถานที่ที่สูงกว่าสวรรค์และยังอยู่ในกามภพ เรียกว่า กามาวจรภพ มีการเวียนว่ายตายเกิดตามสภาวะของการจุติและการปฏิสนธิจิต แบ่งเป็น ๒ แบบ คือรูปพรหมมี ๑๖ ลำดับ และพรหมไม่มีรูป เรียกอรูปพรหม ๔ อันดับ อย่างไรก็ตามพระพรหมในที่นี้ก็ยังหมายถึงผู้อยู่เดียวดาย คือการไม่ข้องและอยู่กับกามคุณ

ส่วนพรหมในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู แบ่งความหมายได้มากมาย เช่น เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์ เทพเจ้าแห่งความเมตตา เป็นผู้สร้างโลกและให้กำเนิดสิ่งต่างๆ ในจักรวาล เป็นสภาวะอันสูงสุด ไม่มีเบื้องต้นไม่เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่มีอยู่ ไม่มีความยึดมั่นในสรรพสิ่งทั้งหลาย อยู่เหนือความดีและความชั่ว

ในคติของการสร้างเทวรูป ทั้งใน พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์เพื่อเป็นตัวแทนของพระพรหม จึงสร้างเป็นเทวดาที่มี ๔ หน้า

ในทางพุทธศาสนาหน้าทั้ง ๔ จึงมีความหมายเป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ส่วนในทางศาสนาพราหมณ์ พระพรหมจะมีฐานะเป็นเทพเจ้าของความเมตตา เทพเจ้าของการสร้างสรรค์ สร้างโลกและกำเนิดคัมภีร์พระเวท





ซุ้มคูหา ๔ ทิศ

ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งกล่าวถึงสัญลักษณ์ ของเลข ๔ ในรูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นรูปของพระพรหม อันหมายถึงพรหมวิหาร ๔ นั้น เลข ๔ ที่ใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบทางสถาปัตยกรรมทางศาสนาอีกรูปแบบก็คือ ซุ้มคูหาที่หมายถึงซุ้ม ๔ ทิศที่รอบพระปรางค์หรือพระเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเทวดาผู้รักษาทิศอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในภาพเป็นซุ้มคูหาของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี เป็นซุ้มคูหา ๔ ทิศ สำหรับประดิษฐานเทวดารักษาทิศหรือรักษาโลก ๔ ทิศ หรือท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ได้แก่ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก รูปปั้นในซุ้มคูหาของพระปรางค์ทำเป็นรูปเดียวกัน โดยใช้รูปของพระอินทร์ที่เป็นหัวหน้าของเทวดาในชั้นจาตุรชิกมหาราชหรือท้าวสักกะที่เป็นเทวดารักษาทิศตะวันออกแทนรูปจตุโลกบาลทั้งหมด

ในกรณีที่เป็นซุ้มคูหาของพระเจดีย์ที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น พระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์เป็นสัญลักษณ์ของตัวแทนพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ซึ่งได้อุบัติแล้วในภัทรกัปนี้ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระสมณโคตมพุทธเจ้า หรือพระโคดมพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าในปัจจุบัน




วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

ความหมายของเลข ๖

มีธรรมะที่แยกหัวข้อเป็น ๖ หัวข้อจำนวนหนึ่ง เช่น คารวตา ๖ หรือการปฏิบัติตามความเชื่อ คือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจ เพื่อความหนักแน่นและจริงใจ ได้แก่ การเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือสัญเจตนา ๖ ได้แก่ ความจำนงในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

ตัณหา ๖ ความทะยานอยาก ได้แก่ อยากได้รูป อยากได้เสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้โผฏฐัพพะ และอยากได้ในธรรมารมณ์

หรือทิศ ๖ ได้แก่ บุคคลประเภทต่างๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ฯลฯ เป็นต้น

แต่ความหมายของเลข ๖ ในส่วนของศาสนสถาน หรือทางสถาปัตยกรรมมิได้หมายความถึงหัวข้อธรรม หากแต่หมายถึงสัญลักษณ์ของสถานที่ เรียกว่า จักรวาลทัศน์

ในส่วนหนึ่งหมายถึง สวรรค์ ๖ ชั้น ที่เรียกว่า ฉกามาพจรสุข ได้แก่ ลำดับชั้นของสวรรค์ดังนี้ ๑.จตุมหาราชิกา ๒.ดาวดึงส์ ๓.ยามา ๔.ดุสิตา ๕.นิมมานรดี ๖.ปรนิมมิตวสวัตดี

ในทางสถาปัตยกรรม สัญลักษณ์ของสวรรค์ทั้ง ๖ กำหนดลงในสถูปหรือเจดีย์ โดยอยู่บนส่วนบนของสถูปหรือเจดีย์ ตั้งซ้อนอยู่บนเรือนธาตุที่เป็นสัญลักษณ์ของโลก หรือเขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นต้น ตามรูปเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน จะเห็นส่วนบนของเจดีย์มี ๖ ชั้น อันหมายถึง สวรรค์ชั้นฉกามาพจรสุข

คติในส่วนนี้ก็คือ ความหมายของสวรรค์ทั้ง ๖ คือที่อยู่ของเทวดาในระดับชั้นความดีทางจริยธรรมที่ได้เสวยสุขเมื่อจุติจากโลก แต่ติดอยู่ในความสุขจนไม่อาจบรรลุนิพพานได้ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น นั้นต้องจุติมาปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในโลกที่จะประสบความสุขและความทุกข์ จึงจะเห็นความจริงของสรรพสิ่งทั้งปวง





ความหมายของเลข ๗

เลข ๗ ที่แสดงในรูปแบบสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่มิใช่การแสดงหลักธรรมที่รายละเอียดของธรรมะแยกเป็น ๗ หัวข้อ เช่น ธรรมที่ว่าด้วย กัลยาณมิตรธรรม ๗ แปลว่าคุณสมบัติของมิตรแท้ที่คบหาแล้วทำให้เกิดความดีงามความเจริญ ได้แก่ มิตร ที่มีลักษณะ ๗ ประการ คือ ปิโย (น่ารัก) ครุ (น่าเคารพ) ภาวนีโย (น่าเจริญใจ น่ายกย่อง เป็นผู้มีความรู้และปัญญา) วิตตา (รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ) วะจะนักขโม (พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา) คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา (อธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจ) และข้อสุดท้ายก็คือ โน จัฏฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำหรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย)

โพชฌงค์ ๗ หมายถึงธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ได้แก่ สติ (ความระลึกได้) ธัมมวิจยะ (ความเห็นธรรม สืบค้น) วิริยะ (ความเพียรพยายาม) ปีติ (ความอิ่มใจ) ปัสสัทธิ (ความสงบกายสงบใจ) สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ในอารมณ์) และอุเบกขา (ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามความเป็นจริง)

รวมถึงหัวข้อธรรมอื่นๆ ได้แก่ วิสุทธิ ๗ ความหมดจด ความบริสุทธิ์ ที่สูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ สัปปุริสธรรม ๗ ธรรมของสัตบุรุษ อปริหานิยธรรม ๗ ธรรมอันไม่ตั้งแห่งความเสื่อม ฯลฯ

การใช้สัญลักษณ์ของเลข ๗ ในทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏขึ้นในศาสนสถานของไทย มี ๒ รูปแบบ

รูปแบบที่ ๑ แสดงถึงความเชื่อในจักรวาลทัศน์ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง โดยมีทะเลและภูเขาล้อมอยู่ ๗ ชั้น นำไปแสดงเป็นรูปแบบของฐานสถูปหรือเจดีย์ที่มีฐานสูง ๗ ชั้น ที่มีชื่อของแนวเขาทั้ง ๗ ได้แก่ เขายุคนธร เขาอิสินธร เขากรวิก เขาสุทัศนะ เขาเนมินธร เขาวินตกะ เขาอัสกัณ โดยมีทะเลสีทันดรกั้นระหว่างเขาทั้ง ๗ มีความสูงต่ำไล่ลำดับขึ้นไปเป็นชั้นๆ

ในอีกรูปแบบก็คือ การสร้างบริโภคเจดีย์ ๗ องค์ เพื่อระลึกถึงสถานที่และเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วได้ประทับอยู่ในพื้นที่นั้นหรือบริเวณนั้น บริเวณละ ๗ วัน เพื่อเสวยวิมุติสุขและทบทวนธรรมที่พระองค์ได้ค้นพบ

ตัวอย่างของบริโภคเจดีย์ทั้ง ๗ นี้ ปรากฏชัดเจนที่บริเวณนอกวิหารคดของพระวิหารศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม ริมกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก และสิ่งก่อสร้าง ๗ สิ่งที่อยู่รายรอบเจดีย์วัดเจ็ดยอด เมืองเชียงใหม่ โดยก่อสร้างเป็นสถูปที่มีรูปทรงแตกต่างกัน เพื่อแสดงเหตุการณ์และ พระอิริยาบถของพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ ณ ที่นี้





ความหมายของเลข ๘

ในทางพุทธศาสนาที่นำตัวเลข ๘ มาใช้อธิบายความหมายของธรรมะหลายประการ สัญลักษณ์สำคัญที่แสดงด้วยความหมายเลข ๘ รูปแบบหนึ่งก็คือ รูปธรรมจักร ที่มีลักษณะเป็นรูปวงกลมที่มีกงล้ออยู่ ๘ ซี่

ในความหมายของธรรมจักรจะแสดงออกเป็นนัยยะสำคัญ ๒ รูปแบบ คือ เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าในอดีตกาลที่ยังไม่มีการสร้างรูปเคารพที่เหมือนมนุษย์หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าพระพุทธรูป สัญลักษณ์ที่เป็นองค์พระพุทธรูปที่เป็นธรรมจักรนี้จะมีรูปกวางหมอบอยู่ด้านข้าง ข้างละ ๑ ตัว ที่หมายถึงสัตว์โลกผู้ปรารถนาในนิพพาน

ในอีกสัญลักษณ์หนึ่งก็คือ ตัวธรรมจักรที่หมายถึง มรรค อันมีองค์ ๘ โดยใช้ซี่กงล้อ ๘ ซี่ เป็นสัญลักษณ์ของมรรคทั้ง ๘

มรรคมีองค์ ๘ หรือ อัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า ทางมีองค์แปดประการ อันประเสริฐ) องค์ ๘ ของมรรค (มัคคังคะ) มีดังนี้

๑.สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจ ๔ หรือเห็นไตรลักษณ์ หรือรู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท)

๒.สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์)

๓.สัมมาวาจา (เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔)

๔.สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓)

๕.สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ)

๖.สัมมาวายามะ (พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัปมัปปธาน ๔)

๗.สัมมาสติ (ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔)

๘.สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔)

หรือรวมความของรูปแบบในสัญลักษณ์นั้นคือการประกาศพระศาสนาของพระพุทธเจ้าที่เรียกกันเป็นภาษาพระว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร





ความหมายของเลข ๑๐

ความหมายของเลข ๑๐ ในพุทธศาสนามหายานนิกายตันตระยาน ที่นับถือกันอยู่ในทิเบต ภูฏาน กิเลสเป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งชีวิต ที่เพิ่มเติมจากกิเลส ๓ ประการที่พุทธศาสนิกชนที่นับถือฝ่ายเถรวาทรู้จักกันดี

กิเลสทั้ง ๓ ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ

ในฝ่ายมหายานได้อธิบายกิเลสเพิ่มเติมโดยนับเอาความหมายของนิวรณ์ ๕ ที่หมายถึงความเสื่อม รวมเข้ากัน เป็นกิเลส ๑๐ ประการ ได้แก่
     ๑.ทิฏฐิกิเลส คือ ความเห็นผิดที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต (เปรียบได้ดั่งโมหะ)
     ๒.วิจิกิจฉากิเลส ความลังเลสงสัยที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งกิเลส (เปรียบได้คือโมหะ)
     ๓.โทสกิเลส ความขุ่นข้อง ความ ขุ่นมัว ความโกรธ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต (เปรียบก็คือโทสะ)
     ๔.โลภกิเลส ความติดข้อง ต้องการ ที่ทำให้จิตหรือใจเศร้าหมอง (เปรียบได้คือโลภะ)
     ๕.โมหกิเลส ความหลงลืม ความไม่รู้ความเป็นจริง เป็นเครื่องเศร้าหมอง ของจิต
     ๖.ถีนกิเลส ความหดหู่ ท้อถอย ซึมเซา เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
     ๗.อุทธัจจกิเลส ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
     ๘.อหิธกกิเลส ความไม่ละอายต่อบาป เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
     ๙.มานกิเลส ความสำคัญตน การเปรียบเทียบ ทำให้ใจเศร้าหมอง
    ๑๐.อโนตัปปกิเลส ความไม่เกรงกลัวต่อบาปทำให้ใจเศร้าหมอง

ที่น่าสนใจคือ บรรดารูปปั้นของพระอมิตยุส พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ คุรุริมโปเช ทั้งภาคสวยงามและภาคดุร้าย ในวิหารอมิตยุส วัดเขาทักซัง ประเทศภูฏาน รูปปั้นเป็นเทพเหยียบมาร โดยมีพระโพธิสัตว์ภาคปางดุร้าย สวมสังวาลรอบเอวที่มีศีรษะเป็นมนุษย์ ๑๐ หัว

บรรดาใบหน้าของมารที่อยู่ที่ฐานของพระโพธิสัตว์และสังวาลรอบเอวของเทพหรือธรรมบาลที่เป็นศีรษะมนุษย์ ๑๐ หัว ที่หมายถึงพระโพธิสัตว์ทั้งภาคสวยงามหรือภาคดุร้ายได้ตัดกิเลสทั้ง ๑๐ ได้หมดแล้วนั้นเป็นใบหน้าเหลี่ยมคล้ายอดีตผู้นำไทย





ความหมายของเลข ๑๒

ธรรมจักร ๑๒ ซี่ เป็นรูปธรรมจักรที่มี "กงกำ" หรือ "ซี่ล้อ ๑๒ ซี่" มีความหมายที่แตกต่างจากธรรมจักรที่มีซี่ล้อ ๘ ซี่

ธรรมจักรที่มีซี่ล้อ ๘ ซี่ หมายถึงอริยมรรค ๘ แต่ ๑๒ ซี่ มีความหมายถึงธรรมในหัวข้อธัมมจักกัปปวัตนสูตร ดังนี้

เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้ (จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต)

ในความเห็นอีกประการของท่านพุทธทาส ก็คือ ธรรมจักรที่มี ๑๒ กงกำ หรือซี่ล้อ หมายถึง การปริวัต ๓ ของอริยสัจ ๔ รวมเป็น ๑๒ อันหมายถึงการหยั่งรู้อริยสัจ ๔ ในหลักการ ๓ ประการคือ
     ๑.สัจญาณ หยั่งรู้สัจจะ คือ หยั่งรู้ความจริงว่า ทุกข์เป็นอย่างนี้ สมุทัยเป็นอย่างนี้ นิโรธเป็นอย่างนี้ มรรคเป็นอย่างนี้ ซึ่งเห็นตรงสภาพความจริง
     ๒.กิจญาณ หยั่งรู้กิจ คือ หยั่งรู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าควรทำอย่างไร เห็นว่าควรปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการกำหนดรู้ สมุทัยด้วยการละ นิโรธด้วยการทำให้แจ้ง มรรคด้วยการเจริญ
     ๓.กตญาณ หยั่งรู้การทำสำเร็จ คือหยั่งรู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าได้ทำสำเร็จแล้ว เห็นว่าได้ปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการกำหนดรู้ สมุทัยด้วยการละ นิโรธด้วยการทำให้แจ้ง มรรคด้วยการเจริญ

(จากพระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ พระไตรปิฎกร่วมสมัย ๓)





ความหมายของเลข ๑๖

ความหมายของเลข ๑๖ ที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบทางสถาปัตยกรรม มี ๒ รูปแบบ

รูปแบบที่ ๑ คือ ธรรมจักรที่มีกง ๑๖ ซี่ มีผู้ให้ความหมายว่าหมายถึง ญาณ ๑๖ หรือโสพัสญาณ

รูปแบบที่ ๒ หมายถึง พรหมโลกหรือ ที่สถิตของพรหมทางพุทธศาสนา มี ๑๖ ชั้น หรือ ๑๖ ลำดับ

ในรูปแบบที่ ๑ ธรรมจักรที่มีกง ๑๖ ซี่ ที่หมายถึง ญาณ ๑๖ ในคำอธิบายจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ของ ท่านประยุทธ์ ปยุตโต ได้อธิบายความหมายไว้ดังนี้

๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลาย มีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนด แยกได้ว่าอะไรเป็นรูปธรรมอะไรเป็นนามธรรม

๒.ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฎแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ ๓ ก็ดี เป็นต้น

๓.สัมมสนญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน

๔.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็น ความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด

๕.ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด

๖.ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใดก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น

๗.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไปเป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่องจะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์

๘.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้วย่อมเกิดความหน่ายไม่เพลิดเพลินติดใจ

๙.มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้วย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น

๑๐.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสียจึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป

๑๑.สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริงว่ามีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพานเลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้

๑๒.สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลายไม่พะวงและญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปเป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลางแล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป
๑๓.โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล

๑๔.มรรคญาณ (มัคคญาณ) ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น

๑๕.ผลญาณ ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลขั้นนั้นๆ

๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรคผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่



 
ความหมายของเลข ๒๔

ความหมายของเลข ๒๔ ที่ปรากฏในรูปกง ๒๔ ซี่ ในธรรมจักร มีความหมายเป็น ๒ นัยๆ

ในความหมายแบบที่ ๑ หมายถึง ธรรมะในหัวข้อของปัจจยาการหรือปฏิสมุจปบาท ๑๒ ในทั้งสองด้านคือ ทั้งทางด้านเกิดและ ด้านดับ ดังรายละเอียดในทางเกิดหรือเรียกอีกแบบหนึ่งว่า การแสดงจากต้นไปหาปลาย เรียกอนุโลมเทศนา ซึ่งมีลักษณะดังนี้

เพราะอวิชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัยสฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัยเวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัยตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัยอุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัยชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัยชรามรณะจึงมี

ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้

ในความหมายของด้านดับ เรียกว่า ด้านปฏิโลมเทศนา ก็คือการเริ่มต้นว่า ชรา มรณะ มีเพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชาติมีอยู่เพราะมีภพเป็นปัจจัย ภพมีอยู่เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย อุปาทานมีอยู่เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ตัณหามีอยู่เพราะเวทนาเป็นปัจจัย เวทนามีอยู่เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ผัสสะมีอยู่เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย สฬายตนะมีอยู่เพราะนามรูปเป็นปัจจัย นามรูปมีอยู่เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย วิญญาณมีอยู่เพราะสังขารเป็นปัจจัย และสังขารมีอยู่เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย

ในความหมายที่สอง หมายถึง องค์ธรรมที่เรียกว่ามหาปัฎฐาน ๒๔ เป็นการอธิบายปัจจัย ๒๔ อย่างละเอียดที่แสดงถึงความสัมพันธ์อิงอาศัยกันเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในด้านต่างๆ

ปฏิฐาน ๒๔ นี้มักจะใช้ในงานสวดอภิธรรมตามวัดต่างๆ อยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นพระธรรมที่กล่าวว่ามีความละเอียดลึกซึ้งและเข้าใจยากที่สุด


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

2996  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: 'อาเซียน' เรื่องน่ารู้..ที่คนไทยควรรู้ เมื่อ: 12 กันยายน 2559 14:05:30
    ปีนักษัตร บรูไน-ไทย

แม้บรูไนจะเป็นอีกประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ก็มีชุมชนชาวจีนและชาวบรูไนที่ผสมผสานเชื้อสายจีน ซึ่งในกลุ่มนี้จะยึดถือธรรมเนียมการนับปีนักษัตรแบบจีน คำเรียกจะถอดแบบภาษาจีนต้นฉบับ ยกเว้นบางพื้นที่ที่ใช้ภาษาจีนฮากกาของชาวจีนแคะ

ปีชวดเรียกว่า "ฉู่" ปีฉลูคือ "แหง่ว" ปีขาลเป็น "ฝู่" ปีเถาะตรงกับ "ถู่" ปีมะโรง-งูใหญ่ คือ "หลุง" ปีมะเส็งใช้คำว่า "สา" ปีมะเมีย-ม้า เรียกว่า "มา" ปีมะแม-แพะแบ๊ะๆ คือ "หยอง" ปีวอกใช้คำว่า "แห็ว" ปีระกา-ไก่ เป็น "แก" หรือ "ไก" ส่วนปีจอคือ "แกว" และปีกุนเรียกว่า "จู"

ปิดท้ายปีนักษัตรอาเซียนที่ไทยเราซึ่งได้รับอิทธิพลการนับปีนักษัตรหรือนักขัต ผสมผสานระหว่างจี และอารยธรรมขอม ปีชวดหมายถึงปีหนู ฉลูคือวัว ขาล-กระต่าย มะโรง-งูใหญ่ แต่บางครั้งก็ใช้พญานาคตามความศรัทธาของอาเซียนตอนบน หรือมังกรแบบจีน มะเส็ง-งูเล็ก มะเมีย-ม้ามะแม-แพะ วอก-ลิง ระกา-ไก่ จอ-สุนัข กุน-หมู แต่บางพื้นที่เช่นภาคเหนือของไทยใช้ช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองเป็นสัญลักษณ์แทน

ธรรมะอาสา-มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน วัดบางไส้ไก่ กทม. จัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ ๔๓ ตามโครงการ "ความรู้สู่เด็กชนบท" เพื่อเผยแผ่ธรรมะและช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในชนบท โดยมีพระวิทยากรเผยแผ่ธรรมะและครูอาสาร่วมกิจกรรม



    ปีนักษัตรเวียดนาม

ชาวเวียตมีวันขึ้นปีใหม่หรือที่เรียกว่า "เต๊ตเงวียนด๊าน" หรือ "วันเต๊ต" ตรงกับวันที่ ๑ เดือนที่ ๑ ตามปฏิทินจันทรคติแบบเดียวกับจีน อีกอย่างที่เวียดนามมีเหมือนจีนคือปีนักษัตร ต่างแค่การเรียกชื่อและสัตว์บางชนิดเท่านั้น

เริ่มที่ปีแรก "ตี๊" ตรงกับปีชวดของไทย มี "จวด" หรือหนูในภาษาเวียดนามเป็นสัญลักษณ์, "สิ่ว" ตรงกับปีฉลู มี "เจิ่ว" ซึ่งหมายถึงควายเป็นสัตว์ประจำปี, "เหยิ่น" ปีขาล มาพร้อม "โห่" หรือเสือ, "หม่าว" ตรงกับปีเถาะ-กระต่าย แต่เวียดนามนับถือ "แหม่ว" หรือแมวเป็นสัตว์ประจำปี, "ถิ่น" ปีมะโรง มี "หร่ง" หรือมังกรเป็นสัตว์สัญลักษณ์

"ติ" คือปีมะเส็ง มี "หรั้น" หรืองูเป็นสัตว์ประจำปี, "หง่อ" ปีมะเมีย มี "เหงื่อะ" ซึ่งหมายถึงม้า, "หมุ่ย" ปีมะแม ใช้ "เซ" หรือแพะเป็นสัญลักษณ์, "เทิน" คือปีวอก สัตว์มงคล คือ "ขี่" หรือลิงนั่นเอง, "เหย่า" ปีระกา มี "ก่า" ซึ่งก็คือไก่เป็นสัญลักษณ์, "ต๊วด" คือปีจอที่มี "จ๋อ" หรือสุนัขเป็นสัตว์มงคล และสุดท้าย "เห่ย" หรือปีกุน กับ "เลิน" ที่หมายถึงหมูเป็นสัตว์ประจำปี



    ปีนักษัตรพม่า

ปีนักษัตรพม่าหรือเมียนมาต่างจากปีนักษัตรทั้ง 12 ที่เพื่อนบ้านอาเซียนตอนบนอย่างกัมพูชา เวียดนาม ลาว และไทย ได้รับอิทธิพลจากจีน ปีนักษัตรพม่าจึงมีเพียง ๘ ปี อิงกับทิศทั้ง ๘ ทิศ และ ๘ วัน ในรอบสัปดาห์ (นับแบ่งวันพุธกลางวันและ พุธกลางคืน)

เริ่มจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือตรงกับวันอาทิตย์ หรือ ตะเนงกะหนุ่ยในภาษาพม่า มีดวงอาทิตย์ และ "ครุฑ" หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า "กะโหล่ง" เป็นสัญลักษณ์, ทิศตะวันออกตรงกับวันจันทร์ ภาษาพม่าคือ ตะเหนหล่า มีดวงจันทร์ และ "จา" หรือ "เสือ" เป็นสัตว์ประจำทิศ, ทิศตะวันออกเฉียงใต้ตรงกับวันอังคาร หรือ เองกา มีดาวอังคาร-มาร์ และ "สิงโต" หรือ "ชีงเต๊ะ" เป็นสัญลักษณ์, ทิศใต้ตรงกับวันพุธกลางวัน หรือโบ๊ะดะฮู มีดาวพุธ-เมอร์คิวรี และ "ฉิ่น" ที่หมายถึง "ช้างมีงา" เป็นสัตว์ประจำทิศ ขณะที่ "ช้างไร้งา" หรือ "ฮาย" เป็นสัตว์ประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งตรงกับวันพุธกลางคืน หรือยาฮู

ส่วนทิศตะวันตกซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี หรือจ่าต่าบ่าเต่ มีสัญลักษณ์คือดาวพฤหัสบดี- จูปิเตอร์ และ "จแวะ" ที่หมายถึงหนูในภาษาพม่า, ทิศเหนือตรงกับเต๊าจ่า หรือวันศุกร์ มีสัญลักษณ์เป็นดาวศุกร์-วีนัส และ "หนูตะเภา" หรือ "ปู" สุดท้ายคือทิศตะวันตกเฉียงใต้ตรงกับวันเสาร์ หรือสะเหน่ มีดาวเสาร์-แซทเทิร์น และ "นาค" ซึ่งชาวพม่าเรียกว่า "นะกา" เป็นสัตว์ประจำทิศ



    ปีนักษัตรเขมร

ปัจจุบันปีนักษัตรนำไปใช้กันแพร่หลายทั้งฝั่งเอเชียและตะวันตก เป็นวิธีนับหรือการกำหนดรอบปีโดยมีสัตว์เป็นเครื่องหมาย ปีนักษัตรซึ่งรู้จักกันดีเป็นอิทธิพลที่มาจากการนับรอบปีของจีน ส่วนในภูมิภาคอาเซียนผ่านการผสมผสานกับอารยธรรมขอมและกลายเป็นปีนักษัตรที่กลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนใช้กัน

ขอประเดิมการนับรอบปีนักษัตรของกัมพูชาเป็นประเทศแรก ปีนักษัตรลำดับที่ ๑ ของกัมพูชา คือ "จูด" ตรงกับปีชวดของไทย และมีสัญลักษณ์เป็น "กอนดล" ซึ่งหมายถึงหนู ปีต่อไปคือ "ชโลว" ตรงกับปีฉลู สัตว์ประจำปีคือ "โก" หรือวัว, "คาล" ตรงกับปีขาล สัญลักษณ์เป็น "คลา" นั่นคือเสือ, "เทาะฮ์" ตรงกับปีเถาะ มี "ต็วน ซาย" หรือกระต่ายเป็นสัตว์ประจำปี, "โรง" คือปีมะโรง งูใหญ่ หรือ "ปัวะฮ์โทม" ในภาษาเขมร, "มซัญ" ตรงกับปีมะเส็ง สัตว์ประจำปีคือ "ปัวะฮ์โตจ" หมายถึงงูเล็ก,

"โมมี" คือปีมะเมีย ม้า หรือ "แซะฮ์", "โมเม" ตรงกับปีมะแม สัตว์ประจำปีคือ "โปเป", "โวก์" คือปีวอก ลิง หรือที่เรียกว่า "ซวา", "โรกา" ตรงกับปีระกา สัญลักษณ์เป็น "เมือน" นั่นก็คือ ไก่, "จอ" แน่นอนว่าตรงกับปีจอ สัตว์ประจำปีเป็น "ชแก" ซึ่งหมายถึงสุนัข และ "กุร" ตรงกับปีกุน มี "จรูก" หรือหมูเป็นสัญลักษณ์



    ปีนักษัตรลาว

ปีนักษัตรที่ใช้ในสาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยนั้น จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สถานกงสุลลาว จังหวัดขอนแก่น ทำให้ทราบว่า ทั้งไทยและลาวเรียกปีนักษัตรเหมือนกัน จะต่าง ก็แค่สำเนียงการออกเสียง

สัตว์สัญลักษณ์ปีนักษัตร ปีชวด คือ "หนู" ปีฉลูเป็น "งัว" หมายถึงวัวในภาษาไทย คำว่า "เสือ" ใช้เหมือนกันในปีขาล เช่นเดียวกับ "กระต่าย" ปีเถาะ "งูใหญ่" หรือ "นาค" เป็นสัตว์ประจำปีมะโรง "งู" ปีมะเส็ง ปีมะเมียใช้ "ม่า" หรือม้า ปีมะแมเป็น "แบะ" ซึ่งก็คือแพะ ปีวอกใช้ "ลิ่ง" หรือลิง ปีระกา คือ "ไก" หมายถึงไก่ ปีจอใช้ "หมา" เหมือนกัน และปีกุนคือ "หมู"

ขณะที่ชาวไทลื้อซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวงน้ำทา หลวงพูคา บ่อแก้ว ไซยะ บูลี และหลวงพะบางของลาว บางส่วนเรียกปีนักษัตรต่างออกไป โดยปีชวดเรียกว่า "ไจ้" ปีฉลู คือ "เป้า"ปีขาล "ยี่" ส่วนปีเถาะเป็น "เม้า" ปีมะโรงเรียก "สี" ปีมะเส็งคือ "ไส้" ปีมะเมียเรียกว่า "สะง้า" ปีมะแม คือ "เม็ด" ปีวอก คือ "สัน" ปีระกาเป็น "เล้า" ปีจอ คือ "เส็ด" และปีกุนเรียกว่า "ไก้"


    ปีนักษัตรฟิลิปปินส์

แม้ฟิลิปปินส์จะอยู่ห่างออกไปจากเพื่อนสมาชิกชาติอาเซียน และยังได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกมากกว่า แต่ฟิลิปปินส์ก็รับเอาความเชื่อเรื่องปีนักษัตรแบบจีนมาผสมผสานกับวิถีชีวิตหลากวัฒนธรรมของตน

ส่วนใหญ่นิยมเรียกปีนักษัตรด้วยภาษาอังกฤษตามสากล แน่นอนว่าชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนก็จะเรียกเป็นภาษาจีนตามสายใยเชื้อชาติที่ถ่ายทอดสืบกันมา

สำหรับภาษาฟิลิปปินส์ และตากาล็อก อีกภาษาราชการ เรียกปีนักษัตรจีนว่า "อินต์ ซิก โซดีแอก" โดยปีชวดมีหนู หรือ "ดากา" เป็นสัตว์สัญลักษณ์ ปีฉลู-วัว คือ "บากา" หรือ "อุนกา" ปีขาลที่หมายถึงเสือ ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า "ติเกร" ปีเถาะ-กระต่าย คือ "คูเนโฮ" หรือ "โคเนโฮ"

ปีมะโรงมีมังกรเป็นสัตว์มงคล ที่ฟิลิปปินส์เรียกเหมือนฝรั่ง คือ "ดรากอน" ถ้าเป็นภาษาตากาล็อกจะใช้ "นากา" ที่แปลว่านาค แบบพญานาคบ้านเรา ปีมะเส็ง-งูเล็ก หรืองูธรรมดา เป็น "อาฮาส"

ปีมะเมีย-ม้า ใช้ "คาบาโย" ปีมะแมที่มีแพะแบ๊ะๆ คือ "คัมบิง" ปีวอก-ลิง เรียกว่า "ซองโก" ปีไก่ระกา คือ "ตันดัง" ปีจอ-สุนัข คือ "อะโซ" และปีกุน-หมู ใช้คำว่า "บาบอย"

นอกจากนี้ ภาษาสเปนเป็นอีกหนึ่งภาษาที่ใช้กันแพร่หลายในฟิลิปปินส์มีคำเรียกสัตว์ที่เป็น ๑๒ สัญลักษณ์นักษัตร แตกต่างออกไป มีเพียงไม่กี่คำที่คล้ายหรือเหมือนกัน หนู คือ "ราโตน" วัว เรียกว่า "วากา" เสือ คือ "ติเกร" คำนี้เหมือนภาษาถิ่น กระต่ายเรียกว่า "โกเนโฆ" งู คือ "เซอร์เปียนเต" ม้า คือ "กาบาโญ" แพะ คือ "กาบรา" ลิงเรียกว่า "โมโน" ไก่ คือ "กัลโญ" สุนัขเป็น "เปรโร" และหมู คือ "แซรโด"



   ปีนักษัตรอินโดนีเซีย

ว่ากันด้วยเรื่องปีนักษัตรในภูมิภาคอาเซียนกันต่อ พาล่องใต้ไป "อินโดนีเซีย" แดนอิเหนา เหตุที่กระโดดข้ามสิงคโปร์ไปนั่นเป็นเพราะสิงคโปร์ได้รับอิทธิพลผสมผสานจากมาเลเซีย ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภาษา ปีนักษัตรในสิงคโปร์จึงเรียกด้วยภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษแบบสากล

ขณะที่อินโดนีเซียนั้นแม้จะมีภาษา บาฮาซา อินโดนีเซีย ซึ่งละม้ายคล้ายมลายูของมาเลเซีย แต่ก็มีบางคำที่แตกต่างออกไป โดยปีนักษัตรของชาวอิเหนาเรียกว่า "ชีโอ"

"ชีโอตีกุซ" ตรงกับปีชวดซึ่งมีหนู หรือ "ตีกุซ" ในภาษา บาฮาซา เป็นสัตว์สัญลักษณ์, ปีฉลู คือ "ชีโอเกอร์เบา" มี "เกอร์เบา" ที่แปลว่ากระบือ หรือควายเป็นสัตว์ประจำปี

ปีขาล-เสือ เป็น "ชีโอมาจัน" คำว่า "มาจัน" หมายถึงเสือ, "ชีโอเกอลินจี" ตรงกับปีเถาะ มีกระต่าย หรือ "เกอลินจี" เป็นสัญลักษณ์, ปีมะโรงคือ "ชีโอนากา" มี "นากา" ซึ่งหมายถึงมังกรเป็นนักษัตร, "ชีโอ อูลาร์" ตรงกับปีมะเส็ง- งูเล็ก หรือ "อูลาร์" ในภาษาบาฮาซา

ปีมะเมีย เป็น "ชีโอกูดา" มาพร้อมกับ "กูดา" ที่แปลว่าม้า, "ชีโอกัมบิง" ตรงกับปีมะแม มีสัญลักษณ์คือแพะ หรือ "กัมบิง", ปีวอก เรียกว่า "ชีโอโมแยต" มีลิง หรือ "โมแยต" เป็นสัตว์มงคล, ปีระกา-ไก่ คือ "ชีโออายัม", ปีจอตรงกับ "ชีโออันยิง" คำว่า "อันยิง" หมายถึงสุนัข และสุดท้าย "ชีโอบาบี" คือ ปีกุน มี "บาบิ" หรือหมูเป็นสัตว์ประจำปีนั่นเอง



   ปีนักษัตรมาเลย์ (แบบจีน)

มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่รับเอาวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภาษามาจากจีน ขณะที่ประชากรชาวมาเลย์เชื้อสายจีนมีจำนวนมากกว่าร้อยละ ๓๓

ปีนักษัตรของมาเลเซียจึงได้รับถ่ายทอดตามต้นฉบับ ๑๒ นักษัตรจีนที่เรียกว่า "สู่เซี่ยง"

ปีแรกคือ "สู่เหนียน" ตรงกับปีชวดของไทย มีหนู หรือ "เหลาสู่" ในภาษาจีน เป็นสัตว์สัญลักษณ์, ปีฉลูเรียกว่า "หนิว เหนียน" มี "หนิว" ซึ่งหมายถึงวัว เป็นสัตว์ประจำปี, ปีขาล ตรงกับ "หู่เหนียน" มีสัญลักษณ์ "หู่" ซึ่งแปลว่าเสือในภาษาจีน, "ทู่เหนียน" คือปีเถาะ มาพร้อมกระต่าย หรือ "ทู่จื่อ"

ปีมะโรงตรงกับ "หลงเหนียน" เป็นปี งูใหญ่ หรือมังกรตามอย่างจีน ซึ่งเรียกว่า "หลง", ปีมะเส็ง-งูเล็ก คือ "เสอ เหนียน" มี "เสอ" ที่แปลว่างูเป็นสัตว์ประจำปี

"หม่าเหนียน" ตรงกับปีมะเมีย มีสัญลักษณ์เป็นม้า หรือ "หม่า", ปีมะแมคือ "หยางเหนียน" นักษัตรคือ แพะ ในภาษาจีนเรียกว่า "หยาง", ปีวอก-ลิง เรียกว่า "โหวเหนียน" และใช้ "โหวจื่อ" หรือลิง เป็นสัญลักษณ์, "จีเหนียน" ตรงกับปีระกา และมีไก่ หรือ "จี" เป็นนักษัตร, ปีจอ คือ "โก่วเหนียน" แน่นอนว่าสัญลักษณ์เป็น "โก่ว" หรือสุนัข และปีกุน-หมู เรียกว่า "จูเหนียน" และมี "จู" ซึ่งหมายถึงหมูอู๊ดๆ เป็นสัตว์สัญลักษณ์

ส่วนปีนักษัตรในสไตล์มลายูเป็นอย่างไรนั้น ติดตามต่อ ตอนหน้า

    ปีนักษัตรมาเลย์ (มลายู)

นอกจากมาเลเซียจะใช้ปีนักษัตรแบบจีนแล้ว ชาวมลายูซึ่งเป็นประชากรหลักในมาเลเซียยังมีชื่อเรียกปีเหล่านี้ต่างออกไปด้วย

เริ่มจากปีชวด "ตาฮนตีกุส" มีหนู หรือ "ตีกุส" เป็นสัญลักษณ์, ปีฉลู คือ "ตาฮนลูมู" มาพร้อมนักษัตรเคี้ยวเอื้องอย่างวัว ซึ่งภาษามลายูเรียกว่า "เลิมบู" หรือ "ลือมู"

"ตาฮนรีเมา" ตรงกับปีขาล มี "ฮารีเมา" ที่แปลว่าเสือเป็นสัตว์ประจำปี ปีเถาะ คือ "ตาฮนอัรนะ" ใช้ "อัรนับ" หรือกระต่ายเป็นสัญลักษณ์

ปีมะโรง-งูใหญ่ ชาวมาเลย์เรียกว่า "ตาฮนอูลาบือซา" สัตว์ประจำปี คือ "มาฆอ" หรือมังกร ส่วนปีมะเส็ง-งูเล็ก ที่มี "อูลา" หรืองูเป็นสัญลักษณ์ เรียกว่า "ตาฮนอูลากจิ"

"ตาฮนกูดอ" ตรงกับปีมะเมีย-ม้า หรือ "กูดา" ปีมะแมเรียกว่า "ตาฮนกาเม็ง" กับสัตว์ประจำปีเป็นแพะ "กัมปิง" หรือ "กาเม็ง" ปีวอก คือ "ตาฮนกือรอ" ใช้ลิง หรือ "กือรอ" เป็นสัญลักษณ์

"ตาฮนอาแย" ตรงกับปีระกา-ไก่ ในภาษามลายูเรียกว่า "อาแย" หรือ "อายัม" ปีจอ คือ "ตาฮนอายิง" มีสุนัข "อันยิง" หรือ "ฮาญิง" เป็นนักษัตร และปีกุนเรียกว่า "ตาฮนบาบี" มี "บาบี" ที่แปลว่าหมูเป็นสัญลักษณ์



ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
2997  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: เรือนไทย ๔ ภาค และคติความเชื่อเรื่องการปลูกสร้างบ้าน เมื่อ: 12 กันยายน 2559 13:51:46


บ้านกระเหรี่ยง

บ้านดั้งเดิมในรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ลักษณะเด่นของบ้านชาวกะเหรี่ยงคือสร้างจากไม้ไผ่และไม้ท่อนเป็นหลัก ส่วนใหญ่มีใต้ถุนสูง หลังคาลาดเอียงแต่ไม่สูงแหลมแบบบ้านท้องถิ่นของอินโดนีเซีย

บ้านชาวกะเหรี่ยงช่วงแรกเริ่มสร้างตั้งแต่ ๑,๑๒๕ ปีก่อนคริสตกาล ยาวมาจนถึงปี ค.ศ.๑๙๑๑ ระยะแรกนี้เรียกได้ว่าเป็นบ้านโบราณชาวกะเหรี่ยงของจริง

ส่วนยุคใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๑๑ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นบ้านที่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพ

โครงสร้างบ้านของ "กะเหรี่ยงสะกอ" นิยมทำเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหนึ่งมีเฉลียง ระเบียง หรือนอกชานขนาดกว้างสำหรับทำอาหาร บันไดขึ้นเรือนต้องวางไว้เฉพาะทิศตะวันออกหรือตก

ขณะที่บ้าน "กะเหรี่ยงโปว์" มีรูปทรงไม่สมมาตร นิยมสร้างลานโล่งแจ้งไว้ในบ้าน ส่วนบ้าน "กะเหรี่ยงแบ" จะตั้งบันไดขึ้นเรือนไว้กลางบ้าน ต่างจากกะเหรี่ยงสะกอที่วางไว้ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

ความคล้ายคลึงของบ้านชาวกะเหรี่ยงทั้ง ๓ ชนเผ่าหลัก คือมีหน้าต่างน้อยมาก เพียง ๒-๓ บานหรือแค่บานเดียว สันนิษฐานว่าเพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สินรวมถึงป้องกันภัยจากสภาพอากาศที่มีฝนตกชุก
  ข้อมูล-ภาพ : ข่าวสดออนไลน์
2998  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย เมื่อ: 11 กันยายน 2559 18:01:47
.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย

http://i1081.photobucket.com/albums/j359/pipat55/DSC_000421232.jpg


สำนักสงฆ์

นายอุดมศักดิ์ ชูโตชนะ นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ สถาบันสังฆาธิการ อธิบายคำว่า สำนักสงฆ์ไว้ดังนี้

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๔ แก้ไข ๒๕๓๕ มาตรา ๓๑ กำหนดให้วัดมี ๒ อย่าง คือ วัดที่มีวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ แต่มิได้บัญญัติคำว่าสำนักสงฆ์หมายถึงสิ่งใด

แต่ในพระราชบัญญัติลักษณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๒ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ว่า วัดมี ๓ อย่าง

พระอารามหลวง อารามสงฆ์ (หรือที่เราเรียกกันว่าวัดราษฎร์) และสำนักสงฆ์

สำนักสงฆ์หมายถึงวัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (หรือหมายถึงว่า ที่พำนักสงฆ์ หมายถึงสถานที่พำนักพักพิงชั่วคราวของภิกษุสามเณร ซึ่งยังมิได้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่พักสงฆ์ มิได้หมายถึงสำนักสงฆ์)

ดังนั้นจึงดูสับสนระหว่างคำว่า สำนักสงฆ์กับที่พักสงฆ์ อยู่ตรงที่ว่าสำนักสงฆ์คือที่อยู่ของสงฆ์ซึ่งกำลังดำเนินการจัดตั้งเป็นวัดจากกระทรวงศึกษาฯ และเมื่อได้รับวิสุงคามสีมาก็เรียกว่าวัด

ส่วนที่พักสงฆ์เป็นที่พักชั่วคราว เช่น พำนักอยู่ตามถ้ำ ตามเรือนว่าง

ปัจจุบันมีสำนักสงฆ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งถูกต้องไม่ถูกต้อง ตั้งอยู่ในป่าเขา ท้องทุ่ง ที่สาธารณะ หรือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติก็มี และเมื่อมิได้ขอตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นเพียงที่พักพิงของสงฆ์ สถาปัตยกรรมหรือรูปแบบก็แตกต่างไปตามมโนคติ ความเชื่อปนเปกันไป พุทธบ้างผีบ้าง อาจริยวาท บ้าง

ไม่มีคติสัญลักษณ์ทางศาสนาเป็นที่สังเกตชัด





พระธาตุ กู่

คําว่าธาตุ ในความ หมายของผู้คนในประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน หมายถึง พระอัฐิพระพุทธเจ้า ในพจนานุกรมฉบับมติชนให้ความหมายว่า ธาตุ หมายถึง กระดูกพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ เรียกโดยรวมว่า พระธาตุ พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ

เพราะฉะนั้น พระธาตุในทางสถาปัตยกรรมก็คือเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิของพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ และพระบรมธาตุหรือพระมหาธาตุบ่งชัดว่าหมายถึงที่บรรจุพระอัฐิพระพุทธเจ้า โดยส่วนที่บรรจุพระอัฐินั้น เรียกว่า ธาตุตรรถา ซึ่งมักจะอยู่ภายในโครงสร้างส่วนที่อยู่เหนือฐานหรือส่วนกลางที่บัลลังก์หรือแท่น หรือความหมายคือส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างโลกและสังสารวัฏ

ส่วนคำว่า กู่ หมายถึงสถูปที่บรรจุอัฐิของพระมหากษัตริย์ หรือพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี หรือบุคคลสำคัญ

นอกจากพระธาตุที่เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือ อัฐิธาตุของพระอรหันต์และรวมทั้งบางครั้งเป็นสถูปที่เก็บอัฐิของพระในพระพุทธศาสนาแล้ว ในคติและความหมายในทางสถาปัตยกรรมแล้ว พระธาตุยังหมายถึงศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์หรือโครงสร้างของจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุ (คือตัวองค์สถูปหรือเจดีย์เป็นศูนย์กลาง) ส่วนกุฏิน่าจะหมายถึงอนุทวีปที่ล้อมรอบศูนย์กลางของจักรวาล

การสร้างพระธาตุหรือกู่ก็มุ่งหมายถึงทัศนคติว่า อัฐิของพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ทั้งหลายนั้นได้เก็บบรรจุไว้ในศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ หรือในความเชื่อทางฝ่ายมหายานก็คืออยู่ในศูนย์กลางของพุทธเกษตรหรือมันดาละ

ส่วนคำว่า ธาตุ ที่ชาวบ้านในภาคอีสานเรียกขาน ธาตุคือ สถูปที่ใช้เก็บอัฐิของบุคคลธรรมดา อาจสร้างให้มีรูปทรงคล้ายเจดีย์ มีโครงสร้างเป็นก่ออิฐถือปูนหรือทำด้วยไม้เป็นทรงสี่เหลี่ยม แกะสลักให้มียอด ส่วนกลางแกะเป็นช่องสำหรับเก็บโถหรือโกศไว้ภายในสำหรับชาวบ้านทั่วไป





วัดร้าง

จากแนวคติตรีกายของพระพุทธเจ้า ในฝ่ายมหายานที่ศิลปินหรือผู้สร้างพระพุทธรูปได้สร้างพระพุทธรูปเป็น ๓ องค์ ที่มีความหมายของความเป็นพระพุทธเจ้าที่ประกอบด้วยธรรมกายหรือสภาวะธรรม สมโภคกายหรือกายที่เป็นทิพยภาวสำหรับการแสดงธรรมแก่พระโพธิสัตว์ และกายที่เป็นสังขารของมนุษย์ ๓ องค์ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารของฝ่ายมหายานที่บางครั้งมีผู้แปลความว่า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หรือบางครั้งก็จะแปลความหมายของพระพุทธรูป ทั้ง ๓ องค์ ประกอบด้วย พระอมิตาภพุทธ พระสมณโคดม และพระไภสัชยคุรุ หรือพระศรีอารยเมตไตรย

ในฝ่ายเถรวาท ปรากฏว่าพระอุโบสถบางแห่งก็ปรากฏพระประธาน ๓ องค์ เช่น พระอุโบสถวัดพนัญเชิง วัดกษัตราธิราช จ.พระนครศรีอยุธยา

พระประธานในพระอุโบสถ วัดพนัญเชิงนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญ ๓ องค์ คือ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปูน และพระพุทธรูปนาก พระพุทธรูปทองเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ทำจากทองสัมฤทธิ์ มีสีทองอร่ามใส องค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา ส่วนพระพุทธรูปนากเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยจะมีสีออกแดงๆ

ประเด็นความเห็นในพระประธาน ๓ องค์ ของฝ่ายเถรวาท ที่ปรากฏอาจจะสืบทอดมาจากแนวคิดฝ่ายมหายาน เพราะมหายานนั้นเข้ามาในสุวรรณภูมิก่อนเถรวาท แต่ภายหลังเมื่อฝ่ายเถรวาทตั้งมั่นในสุวรรณภูมิแล้วคติตรีกายดังกล่าวน่าจะเปลี่ยนไปเพราะคำว่า ตรีกายไม่มีอยู่ในเถรวาท

ดังนั้นพระประธานทั้ง ๓ องค์ ในพระอุโบสถ น่าจะเป็นคติ ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า ๓ จำพวก ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ บุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเองและสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม

พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ บุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเองแต่มิได้สอนผู้อื่น พระอนุพุทธเจ้า คือ บุคคลที่ตรัสรู้เนื่องด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม





ราชวรวิหาร

พระอารามหลวงชั้นเอก ลำดับที่ ๑ ได้แก่วัดที่มีนามต่อท้ายชื่อวัดว่า ราชวรมหาวิหาร ซึ่งบรรยายไว้ในสัปดาห์ก่อน

ในสัปดาห์นี้จึงบรรยายวัดพระอารามหลวงชั้นเอกลำดับที่ ๒ คือ พระอารามหลวงที่มีนามต่อท้ายชื่อวัดว่า ราชวรวิหาร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๕ วัด ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และวัดราชโอรสาราม

พระอารามหลวงลำดับราชวรวิหารก็มีความหมายเช่นเดียวกับพระอารามหลวงลำดับราชวรมหาวิหาร คือ เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ หรือมี ผู้สร้างถวายเป็นวัดหลวงหรือเป็นวัดที่ผู้สร้างขอพระราชทานให้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง

ต่างกับพระอารามหลวงลำดับที่ ๑ ราชวรมหาวิหาร คือ พระอารามหลวงชั้นราชวรวิหารมีสิ่งปลูกสร้างเล็กกว่าพระอารามหลวงชั้นเอกลำดับที่ ๑ ส่วนใหญ่เป็นวัดที่สร้างขึ้นหรือปฏิสังขรณ์วัดเก่าขึ้นเป็นวัดใหม่ ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา

ฐานานุรูปฐานานุศักด์ของวัด ดูจากหลังคา อาจมีหลังคาซ้อนกัน ๔ ชั้น หรือ ๔ ตับ หรือ ๓ ชั้น ๓ตับ ก็ได้

ข้อสังเกตสำคัญก็คือ แผนผังของวัดจะสะท้อนความคิดของจักรวาลทัศน์ในส่วนของพุทธาวาส อันมีเขาพระสุเมรุ คือพระเจดีย์เป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยอนุทวีปทั้ง ๔ และพระอุโบสถมักจะอยู่ทิศใต้ อันหมายถึงชมพูทวีป อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น





ลำดับชั้นวัด

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในไทย แบ่งลำดับชั้นของวัดไว้หลายลำดับ ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดระเบียบพระอารามหลวง

จากข้อมูลในวิกิ พีเดีย บันทึกไว้ดังนี้ พระอารามหลวงชั้นเอก แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ
๑.ราชวรมหาวิหาร
๒.ราชวรวิหาร
๓.วรมหาวิหาร

พระอารามหลวงชั้นโท แบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ ๑.ราชวรมหาวิหาร ๒.ราชวรวิหาร ๓.วรมหาวิหาร ๔.วรวิหาร

พระอารามหลวงชั้นตรี แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ๑.ราชวรวิหาร ๒.วรวิหาร ๓.สามัญ ไม่มีสร้อยต่อท้ายชื่อ

การลำดับชั้นของวัดนอกจากเป็นลำดับตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลำดับไว้ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอารามหลวงชั้นเอก ซึ่งหมายถึงพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ สิ่งปลูกสร้างมีขนาดใหญ่โตสมพระเกียรติ และหมายถึงวัดที่มีเจติยสถานสำคัญ เป็นวัดที่บรรจุพระบรมอัฐิหรืออัฐิที่มีเกียรติอย่างสูง และมีเจ้าอาวาสเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่

๔ วัด ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่อยู่ในเขตฝั่งกรุงเทพมหานคร และสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนวัดอรุณราชวราราม เป็นวัดที่มีมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่เขตฝั่งธนบุรี มีพระปรางค์วัดอรุณเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า วรมหาวิหาร

วัดลำดับราชวรมหาวิหารอีก ๒ วัด ได้แก่ วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่ออยุธยาเป็นราชธานี ส่วนวัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เป็นวัดเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องมาเป็นลำดับ มีพระปฐมเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของคำว่า มหาวรวิหาร เช่นเดียวกับวัดอรุณราชวราราม

ลักษณะสำคัญทางสถาปัตยกรรมที่บ่งชี้ชัดลักษณะของพระอารามหลวงชั้นวรมหาวิหาร นอกจากมีขนาดใหญ่โตแล้ว ก็คือการสร้างหลังคาซ้อนกัน ๔ ตับ หรือ ๔ ชั้น และ ๔ ระดับ เป็นลักษณะสำคัญตามรูปที่นำมาประกอบ คือ พระอุโบสถวัดสุทัศน์ มีหลังคาซ้อนกันตามลำดับดังกล่าว



ลำดับชั้นของวัด

เรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาอันเป็นที่สนใจของพุทธศาสนิกชนในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเรื่องของการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การจะแต่งตั้งพระสังฆราชมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่าเป็นอย่างไร จะนับสมณศักดิ์ก่อนหรือจะนับพรรษาก็ว่ากันไป การประชุมมหาเถรสมาคมก็ได้ข้อสรุปกันไปแล้วว่าเป็นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (พระอารามหลวง)

มีคำถามว่า พระอารามหลวงหมายความว่าอย่างไร วัดในพระพุทธศาสนามีลำดับชั้นกันอย่างไร

ลำดับชั้นของวัดในพระพุทธศาสนาในประเทศไทยกำหนดลำดับไว้หลายระดับ โดยที่แต่เดิมยังไม่มีการแบ่งพระอารามหลวงอย่างเป็นทางการ

ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ (๑๐๐ ปีผ่านมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบพระอารามหลวงอย่างเป็นระบบ)

ในวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี มีเรื่องราวของการจัดลำดับชั้นของวัดไว้ว่า "ในครั้งนั้น วัดที่จัดว่าเป็นพระอารามหลวงนั้น คือวัดอันสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้าง ทรงปฏิสังขรณ์ เป็นส่วนพระองค์หรือในนามท่านผู้อื่น และอารามอันพระบรมวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ สร้างปฏิสังขรณ์ทรงรับไว้ในความบำรุงของแผ่นดิน ภายหลังจึงหมายรวมถึงวัดราษฎร์ที่ประชาชนสร้าง หรือปฏิสังขรณ์แล้วทรงพิจารณาเห็นสมควรยกย่องเป็นพิเศษก็ทรงรับไว้เป็น พระอารามหลวง"

ในทางสถาปัตยกรรมนั้น วัดหรือพระอารามหลวงนั้นจะมีรูปแบบที่เรียกว่าฐานานุรูปฐานานุศักดิ์ ทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป

ตอนต่อไปจะอธิบายประกอบรูปวัด โบสถ์ วิหารที่แสดงฐานานุรูป ฐานานุศักดิ์ ทางสถาปัตยกรรม ของลำดับชั้นของวัด





ลำดับชั้น วัดพระอารามหลวง

พระอารามหลวงชั้นเอก ลำดับ ๓ ชนิดวรมหาวิหาร ความหมายของคำว่า วรมหาวิหาร

   วร - พจนานุ กรมไทย แปลว่า ยอดเยี่ยม ประเสริฐ เลิศ
   มหา - ยิ่งใหญ่
   วิหาร - วัด หรือที่อยู่ของพระสงฆ์ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

เพราะฉะนั้น วรมหาวิหาร จึงมีความหมายรวมว่า วัดหรือที่อยู่ของพระสงฆ์หรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ยอดเยี่ยมอันประเสริฐยิ่ง

พระอารามหลวงชั้นเอก ลำดับ ๓ ชนิดวรมหาวิหาร มีรายชื่อในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อยู่ ๗ วัด คือ
๑.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
๒.วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
๓.วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
๔.วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
๕.วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
๖.วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
๗.วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

คติสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมก็คือ การแปลความหมายของคำว่า มหาธาตุ หรือบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ หมายถึง อัฐิของพระพุทธเจ้า ที่ประดิษฐานในที่นั้น ซึ่งมักจะสร้างเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่แล้วจึงกำหนดลำดับของวัดให้วัดที่มีเจดีย์ขนาดใหญ่และงดงามว่า วรมหาวิหาร

ตัวอย่างในภาพข้างบนนี้ คือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ที่มีพระธาตุเป็นพระปรางค์เจดีย์สีทองที่อยู่กลางวิหารและประดิษฐานพระพุทธรูปและวิหารคด ในคติพระมหาธาตุเป็นดั่งเขาพระสุเมรุล้อมเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์





วัดพระอารามหลวง ชั้นโท

พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับราชวรวิหาร คือ พระอารามหลวง เป็นวัดที่มีเจดียสถาน (ที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า) หรือมีพระพุทธรูปสำคัญ

ปัจจุบันมี ๑๘ วัด ได้แก่ ๑.วัดมกุฏกษัตริยาราม ๒.วัดราชบูรณะ ๓.วัดราชาธิวาสวิหาร ๔.วัดเทพศิรินทราวาส ๕.วัดโสมนัสวิหาร ๖.วัดปทุมคงคา ๗.วัดบรมนิวาส ๘.วัดโมลีโลกยาราม ๙.วัดหงส์รัตนาราม ๑๐.วัดราชสิทธาราม ๑๑.วัดสุวรรณาราม ๑๒.วัดชัยพฤกษมาลา ๑๓.วัดพระธาตุดอยสุเทพ ๑๔.วัดเขมาภิรตาราม ๑๕.วัดชุมพลนิกายาราม ๑๖.วัดคงคาราม ๑๗.วัดมหาสมณาราม ๑๘.วัดไพชยนต์พลเสพย์

ทั้งหมดนี้เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ๕ วัด อยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑ วัด ที่เหลือเป็นวัดเก่าที่มีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ ๑๒ วัด อยู่ฝั่งธนบุรี ๕ วัด เช่น วัดโมลีโลกยาราม ฝั่งธนบุรี และวัดหงส์รัตนารามที่มีมาสมัยอยุธยา และเป็นพระอารามหลวงประจำพระบรมราชวัง พระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน

คติและสัญลักษณ์ของพระอารามหลวงชั้นโท นอกจากจะเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่แล้ว ยังแบ่งส่วนของพุทธาวาสกับสังฆาวาสอย่างชัดเจน ตัวพระอุโบสถหรือวิหารก็ยังคงมีหลังคา ๓ ตับ ๓ ระดับ เช่นพระอารามหลวงชั้นโททั่วไป

ข้อสังเกตสำคัญก็คือ วัดพระอารามหลวงชั้นโทยังคงมีรูปแบบของจักรวาลทัศน์ที่ชัดเจนคือ มีเจดีย์เป็นศูนย์กลางอยู่ด้านหลังพระวิหารและมีพระอุโบสถอยู่ด้านหลังของพระเจดีย์ เช่น วัดมกุฏกษัตริย์ และวัดโสมนัสวิหาร





พระอารามหลวงชั้นโท

พระอารามหลวงชั้นโท แบ่งเป็น ๔ ระดับ ได้แก่ ระดับ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรมหาวิหาร วรวิหาร

วัดพระอารามหลวงชั้นโท ระดับราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าจำนวนในบัญชีพระอารามหลวง มีรายชื่อเพียง ๒ วัด คือ วัด สระเกศราชวรมหาวิหาร และ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

ทั้งสองวัดเป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยา และได้บูรณะเพิ่มเติมตั้งแต่ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่สำคัญก็คือ มีเจดีย์สถานที่สำคัญ เช่น วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มีเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดพบจากประเทศอินเดีย และรัฐบาลอังกฤษได้ถวายให้สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การบูรณะวัดสระเกศเริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อจากชื่อเดิมชื่อ วัดสระแก เป็นวัดสระเกศ เพราะได้จัดพิธีมุทธาภิเษกที่วัดนี้ก่อนปราบดาภิเษกเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างภูเขาทองหรือสุวรรณบรรพตขึ้น กำหนดให้มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ย่อมุมสิบสอง แต่มีปัญหาเรื่องการก่อสร้างฐานราก จึงเริ่มต้นปรับรูปแบบและปรับโครงสร้างใหม่เป็นการสร้างเป็นภูเขาและมีเจดีย์เป็นส่วนยอด ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีการซ่อมบำรุงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กหุ้มฐานของภูเขาทองขึ้นใหม่

ส่วนวัดชนะสงคราม เดิมชื่อวัด กลางนา อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นชุมชนชาวมอญ เรียกอีกชื่อว่าวัดตองปุ กรมพระราชวังสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่และถวายวัดนี้ให้แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สมญานามว่าวัดชนะสงคราม เพราะทุกครั้งก่อนออกรบ กรมพระราชวังสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้เสด็จมาสักการะพระประธานในพระอุโบสถวัดนี้ และได้รับชัยชนะทุกครั้ง

คติและสัญลักษณ์วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ยังคงมีลักษณะเช่นวัดหลวงทั่วไป ต่างกันกับวัดหลวงอื่นที่องค์ภูเขาทองที่หมายถึงศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ หรือสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ด้านนอกกำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถ และพระวิหารขนาดใหญ่จึงมีรูปแบบของหลังคาที่ยังคงมี ๔ ตับเช่นเดียวกับวัดหลวงทั่วไป

ส่วนคติและสัญลักษณ์วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหารก็คือ ความใหญ่โตของพระอุโบสถที่ยังคงมีหลังคาพระอุโบสถอยู่ ๔ ตับเช่นเดียวกัน





พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรวิหาร

คําว่า วรวิหาร มีความหมายดังนี้

วร ประเสริฐวิหาร อาคารหรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันสำคัญหรืออาคารที่ใช้เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า หรือพระสงฆ์

วรวิหาร ก็คือ ที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญ เช่น วิหารวัดสุทัศน์ เป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี หรือเป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ทั่วไป เช่น วัดเชตวันวรวิหาร เป็นต้น

พระอารามลำดับวรวิหารนี้หมายถึง พระอารามหรือวัดที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์แล้วพระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้อื่น หรือหมายถึงวัดที่มีเกียรติ หรือวัดสามัญที่เจ้าอาวาสที่มีสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไป

ปรากฏนามชื่อพระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรวิหารมีดังนี้ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดบรมธาตุวรวิหาร (จังหวัดชัยนาท) วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร (จังหวัดราชบุรี) วัดทรงธรรมวรวิหาร (จังหวัดสมุทรปราการ) วัดกลางวรวิหาร (จังหวัดสมุทรปราการ) วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร (จังหวัดสมุทรสงคราม)

 คติและสัญลักษณ์ของลักษณะวัดพระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรวิหาร เนื่องจากวัดในลำดับนี้มีพื้นที่และพระอารามมีขนาดเล็กกว่าพระอารามหลวงชั้นโทที่สูงกว่า ลำดับของตับหลังคาจึงลดลงเป็นหลังคาที่มีตับหลังคาไม่เกิน ๓ ตับ

ตามตัวอย่างพระอารามหลวงชั้นโทลำดับวรวิหาร ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นต้น




พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรมหาวิหาร

พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรมหาวิหาร เป็นวัดหลวงที่มีรูปแบบคล้ายกับพระอารามหลวงชั้นโทลำดับราชวรวิหาร ปัจจุบันมีพระอารามหลวงลำดับนี้อยู่ ๓ วัด คือ

๑.วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดนางปลื้มมีมาแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเรียกว่าวัดสามปลื้ม เจ้าพระยาบดินทรเดชา สิงห์ สิงหเสนี ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัดในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒.วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ มีมาแต่สมัยอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง และจัดให้มีสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนี้ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีการขุดพบระฆังโบราณในวัด จึงเรียกกันว่าวัดระฆัง

ในวัดนี้มีสิ่งสำคัญคือ พระอุโบสถและหอไตรที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้าง และตำหนักทองที่เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินและสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)  หอไตรเป็นเรือนไม้แฝด ๓ หลัง ที่รื้อพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ ๑ มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ สิ่งสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชนก็คือ เป็นวัดที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี จำพรรษา ณ วัดนี้ และได้สร้างพระสมเด็จอันเป็นพระเครื่องที่เป็นที่พุทธศาสนิกชนอยากมีเก็บไว้บูชามากที่สุด

๓.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต แซ่อึ่ง หรือโต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้าน ที่ดินและ ซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงอุทิศถวายเป็นวัดให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่ได้ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่ มีลักษณะพิเศษคือมีหลังคา ๔ ตับ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ พร้อมสร้างพระประธานพระราชทาน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ชื่อ พระพุทธรูปไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต เช่นเดียวกับวัดพนัญเชิง อยุธยา

ตัวพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคา ๓ ตับ หน้าบันประดับปูนปั้นลายดอกไม้ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อปางปาลิไลยก์ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวในประเทศ

บริเวณรอบวัดปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตริมน้ำที่สำคัญ



 

พระอารามหลวง ชั้นตรี

พระอารามหลวงชั้นตรี ขึ้นเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานให้เป็นพระอารามหลวง หมายถึงวัดที่มีเกียรติ หรือวัดสามัญที่เจ้าอาวาสมีฐานะเป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไปในลำดับพระครูสัญญาบัตร ซึ่งมี ๔ ระดับคือ พระครูชั้นพิเศษ ถึงลำดับพระครูสัญญาบัตร (ชั้นผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราษฎร์) มีอยู่ ๓๕ ลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากจะยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นวัดหลวงจำเป็นต้องดำเนินการโดยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่จะดำเนินการขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักรเป็นเจ้าการ ปฏิบัติการตามระเบียบปฏิบัติกรรมการวัดราษฎร์เป็นวัดหลวง เพื่อขอให้กระทรวงศึกษาธิการขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวงต่อไป

พระอารามหลวงชั้นตรี ยังคงมีลำดับชั้น ราชวรวิหาร วรวิหาร และชั้นสามัญ

ในปัจจุบันพระอารามหลวงชั้นตรี ลำดับราชวรวิหารจะเป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินหรือพระมเหสี หรือรัชทายาททรงสร้างหรือพระราชทานให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งมี ๔ วัด ได้แก่ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร วัดบวรมงคลราชวรวิหาร วัดหนังราชววิหาร วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร

คติและสัญลักษณ์ที่นับเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ลำดับราชวรวิหารก็คือ เช่น มีตับหลังคาพระอุโบสถหรือวิหารได้ตั้งแต่ ๓ ตับ ถึง ๔ ตับ เช่น มีกำแพงแก้วหรือวิหารคดล้อมรอบเขตพุทธาวาสชัดเจน เช่น วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร





พระอารามหลวงชั้นตรี

เพิ่มเติมพระอารามหลวงชั้นตรีระดับราชวรวิหาร จากวันอาทิตย์ที่แล้ว นอกจากวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร วัดบวรมงคลราชวรวิหาร วัดหนังราชวรวิหาร วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร ยังมีอีก ๑ วัด คือ วัดกวิศรารามราชวรวิหาร จ.ลพบุรี

สำหรับวันนี้เป็นเรื่องของพระอารามหลวงชั้นตรีลำดับวรวิหาร หมายถึงพระอารามที่พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีหรือสมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้อื่นและมีเจ้าอาวาสเป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไป สมณศักดิ์ระดับพระครูมีสัญญาบัตรเป็นเครื่องกำหนดราชทินนาม

พระครูสัญญาบัตรมี ๔ ชั้น คือ ๑.ชั้นพิเศษ ๒.ชั้นเอก ๓.ชั้นโท ๔.ชั้นตรี ซึ่งทุกระดับชั้นมีฐานะที่เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงได้ทั้งสิ้น

พระอารามหลวงชั้นตรีระดับวรวิหาร ปัจจุบันมีอยู่ ๓๙ วัด ตัวอย่างพระอารามหลวงระดับนี้ เช่น วัดราชนัดดาวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างและพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

คติสัญลักษณ์ก็คือ พระอารามหลวงชั้นตรีระดับวรวิหาร ถ้าเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์จะมีพระอุโบสถหรือพระวิหารขนาดใหญ่ หลังคา ๓ ตับ หรือ ๔ ตับ แต่จะไม่เคร่งครัดในแนวความคิดเรื่องจักรวาลทัศน์ในการวางผังนัก

แต่ถ้าเป็นวัดราษฎรซึ่งขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง จะมีพระอุโบสถหรือวิหารไม่ใหญ่และมักจะไม่ถือแนวความคิดเรื่องจักรวาลทัศน์เป็นสำคัญ เช่น วัดมณีบรรพตวรวิหาร จ.ตาก



 

พระอารามหลวงชั้นตรี ระดับสามัญ

พระอารามหลวงลำดับสุดท้าย ที่เรียกว่าพระอารามหลวงชั้นตรี ระดับสามัญ ได้แก่ วัดที่มีเกียรติ วัดที่มีเจดีย์สถานสำคัญ หรือวัดที่มีพระพุทธรูปสำคัญ หรือวัดประจำหัวเมืองที่มิใช่เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระราชินี หรือพระยุพราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์หรือวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์และพระมหากษัตริย์ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง ยกเป็นเกียรติและมีลักษณะที่มิใช่วัดที่มีพระอารามใหญ่โตหรือก่อสร้างใหญ่โต

พระอารามหลวงชั้นตรีระดับสามัญมีกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศตามจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันมีประมาณ ๖๙ วัด ชื่อวัดหลวงระดับนี้จะไม่มีสร้อยต่อท้าย เช่น วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่เสนาบดี ๓ ท่าน สมัยรัชกาลที่ ๓ ปฏิสังขรณ์ วัดเดิมชื่อวัดสัก แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือวัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านครูบาศรีวิชัยเป็นผู้นำสร้างขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ และได้รับพระราชทานรับไว้เป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑

คติสัญลักษณ์พระอารามหลวงชั้นตรีระดับสามัญ ส่วนใหญ่จะมีอุโบสถหรือวิหารขนาดเล็กย่อม หลังคา ๒ ตับหรือ ๓ ตับ แต่จะแบ่งแยกบริเวณพุทธาวาสกับสังฆาวาสออกจากกันเด่นชัด

ลำดับการตั้งพระอุโบสถกับเจดีย์จะไม่นับเอาคติจักรวาลทัศน์ (ที่พระเจดีย์เป็นศูนย์กลาง) อยู่ด้านหลังพระอุโบสถหรือพระวิหารเป็นเรื่องสำคัญ


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด


2999  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 11 กันยายน 2559 11:51:14



แก้ปัญหาด้วยปัญญา

สมัยเป็นเณรน้อยเรียนนักธรรมบาลี อ่านคัมภีร์ชาดกเรื่อง "มโหสถชาดก" รู้สึกประทับใจในความเฉลียวฉลาดของเด็กน้อยโพธิสัตว์ นามว่า "มโหสถ" จนบัดนี้ก็ยังจำได้ไม่ลืม

มาถึงยุคลูกชายยังเล็กอยู่ มีการ์ตูนเณรน้อย "อิกคิวซัง" ของญี่ปุ่นออกมา เด็กๆ ติดเป็นแถว ต่างยกนิ้วให้ว่าเณรน้อยอิกคิวซังฉลาดเหลือเกิน

แต่ความฉลาดของมโหสถ เป็นการให้เหตุผลพิจารณาเรื่องราวตามเป็นจริง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตามควรแก่เหตุการณ์นั้นๆ วิธีการแก้ปัญหามีหลากหลายไม่ซ้ำกัน แล้วแต่ลักษณะของปัญหา ทำให้เราได้ความรู้มากขึ้น

เรื่องมโหสถนั้น ชี้ไปที่การรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน เกิดอะไรขึ้นให้มองตามเป็นจริง สืบสาวหาต้นตอและพยายามหาทางแก้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นการฝึกปัญญาอย่างดียิ่ง

ยกตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่งมีหญิงชาวบ้านอุ้มลูกเล็กเดินไปพบนางยักษิณีปลอมมาในร่างมนุษย์ ขออุ้มเด็กบ้าง พอได้เด็กจากมือแม่แล้วก็วิ่งหนี

แม่เด็กร้องโวยวาย ชาวบ้านช่วยกันรุมล้อมนางยักษิณีนั้นไว้ ทั้งสองคนต่างเถียงกันว่าเด็กน้อยเป็นลูกของตน

ชาวบ้านไม่มีใครตัดสินได้ มโหสถน้อยผ่านมาพบเข้า จึงอาสาช่วยตัดสิน มโหสถถามว่า ท่านทั้งสองต่างก็อ้างว่าเป็นแม่เด็ก ท่านทั้งสองจะพิสูจน์ความจริงไหม หญิงทั้งสองตกลงให้มโหสถตัดสิน

มโหสถบอกให้หญิงทั้งสองแย่งเด็กเอาเอง คนหนึ่งจับหัว อีกคนหนึ่งจับแขนแล้วให้ดึง ถ้าใครดึงชนะก็แสดงว่าคนนั้นเป็นแม่เด็ก

ทั้งสองดึงเด็กน้อยไปมาคนละทางอยู่พักหนึ่ง เด็กน้อยร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวด หญิงชาวบ้านผู้เป็นแม่เด็กปล่อยมือ ยืนร้องไห้สะอึกสะอื้นอย่างน่าสงสาร

นางยักษิณีในร่างมนุษย์แย่งได้เด็ก ยิ้มกริ่มด้วยความดีใจ ร้องบอกฝูงชนว่า เห็นไหมๆ ข้าบอกว่าเด็กน้อยคนนี้เป็นลูกของข้าก็ไม่มีใครเชื่อ

มโหสถน้อยกล่าวว่า "ข้านี่แหละ ไม่เชื่อเจ้า"

"อ้าว ท่านบอกแต่แรกแล้วมิใช่หรือว่า ใครแย่งเด็กได้คนนั้นคือแม่เด็ก ก็ข้าแย่งได้แล้วนี่ พิสูจน์เห็นแล้ว" นางยักษิณีกล่าว

มโหสถกล่าวว่า "นั่นเป็นกุศโลบายของข้า เพื่อลวงให้ "ธาตุแท้" ของแต่ละคนปรากฏออกมา บัดนี้ความจริงก็ได้ปรากฏแล้ว ผู้หญิงคนที่ปล่อยมือแล้วยืนร้องไห้อย่างน่าสงสารนั้น คือแม่ที่แท้จริงของเด็ก

มโหสถอธิบายว่า แม่ย่อมรักและสงสารลูก เมื่อเห็นลูกร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวดทรมาน เพราะถูกแย่งดึงไปมา แม่อดสงสารลูกไม่ได้จึงปล่อยมือ ร้องไห้

ส่วนคนที่มิใช่แม่ไม่มีความผูกพันลึกซึ้งเช่นนั้น จึงมิได้มีแม้ความสงสาร อาจเป็นยักษ์มารที่ไหนปลอมมาก็ได้

ได้ยินดังนั้น นางยักษ์จำแลงก็สำแดงร่างจริงให้ปรากฏ จริงดังมโหสถทำนายไม่ผิดเพี้ยน

ยกเรื่องมโหสถขึ้นมากล่าวนี้เพื่อจะบอกว่า การดำเนินชีวิตนั้นต้องใช้ปัญญามิใช่น้อยจึงประสบความสำเร็จ เพียงความขยันหมั่นเพียรทำมาหากิน สร้างเนื้่อสร้างตัวอย่างเดียวหาเพียงพอไม่

ขาดปัญญาเสียแล้ว ถึงจะขยันอย่างไรก็ยากที่จะสำเร็จ หรือสำเร็จก็สำเร็จไม่เต็มที่

มีคนเห็นพระหนุ่มรูปหนึ่ง ขึ้นไปนั่งกรรมฐานบนต้นไม้ทุกวัน ด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่ง หวังจะได้บรรลุธรรม อาจารย์กรรม ฐานชื่อดังรูปหนึ่งผ่านมาพบเข้า

ร้องบอกว่า "ถึงคุณจะขยันนั่งบนต้นไม้จนกลายเป็นลิง ก็ไม่มีทางบรรลุดอก" พระหนุ่มก็ได้สติในความโง่เขลาของตน

ครับ ขยันอย่างเดียวไม่พอ ต้องฉลาดด้วย





สู้ด้วยความพากเพียร

มีคนนิยามความหมายของชีวิตว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ผมขอแถมอีกนิดว่า สู้แล้วต้องให้ชนะด้วย

จริงอยู่ในสังเวียนแห่งการต่อสู้ ย่อมมีทั้งแพ้และชนะแต่นักสู้ต้องมุ่งเป้าไปที่ชัยชนะ แพ้น่ะได้ แพ้บ่อยๆ ก็ได้อีกเหมือนกัน แต่ในที่สุดเราต้องเอาชัยชนะให้ได้!

ทุกคนมีสิทธิ์สะดุดล้ม แต่ล้มแล้วนอนเป็นเรื่องน่าตำหนิ ล้มแล้วรีบลุกขึ้นเดินต่อไปสิ คนเขายกย่องสรรเสริญ

ในประเทศญี่ปุ่น เขามีธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่ง คือเขาจะนำ "ตุ๊กตาล้มลุก" ไปมอบให้แก่กัน ในโอกาสสำคัญๆ เช่นวันเกิด หรือปีใหม่อะไรนี่ผมก็จำไม่ถนัด แต่จำได้ว่า เขามอบตุ๊กตาล้มลุกให้กัน

ตุ๊กตานั้นเดินไปได้หน่อยแล้วก็ล้ม แล้วก็ลุกเดินต่อไป ล้มลุก ล้มลุก อยู่อย่างนี้ ดูกันเล่นสนุกๆ ก็ได้ ดูให้ดีให้เกิดปรัชญาชีวิตก็ได้

คือเป็นเครื่องเตือนใจว่า อย่ายอมหยุดหรือเลิกรา ล้มแล้วให้ลุกเดินต่อไป อย่านอนแผ่หลาอย่างคนหมดท่าในชีวิต เพราะญี่ปุ่นเขามี "ปรัชญาชีวิต" อย่างนี้ เขาจึงพัฒนาก้าวไกลไปสุดกู่ เมื่อคราวแพ้สงคราม ญี่ปุ่นย่อยยับไม่มีดี แต่ไม่กี่ปีให้หลังก็ฟื้นตัวและพัฒนาล้ำหน้าประเทศอื่นๆ เดี๋ยวนี้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่น่ากลัวที่สุดในโลกไปแล้ว

เพราะพี่ยุ่นแกถือปรัชญา ล้มแล้วลุก ดังเช่นตุ๊กตาล้มลุกนั่นแหละครับ

การล้มแล้วลุกแล้วๆ เล่าๆ ถ้าถอดเป็นธรรมะก็ได้แก่ความพากเพียรนั่นเอง พระท่านเรียกว่า "วิริยะ" บ้าง "วิริยา-รัมภะ" บ้าง

ความพากเพียร ไม่ได้หมายถึงทำอะไรหามรุ่งหามค่ำ ไม่รู้จักพักผ่อน อย่างคนเรียนหนังสือ นั่งอ่านนั่งท่องอยู่นั่นแล้วตั้งแต่เช้ายันดึก ไม่กิน ไม่นอน อย่างนี้เขาเรียกว่า "หัก-โหม" มิใช่ความพากเพียร ขืนทำอย่างนี้ ไม่เกินสี่ห้าวันโรคประสาทกินตาย

ความพากเพียรไม่ต้องทำมาก ไม่ต้องหักโหม ทำทีละน้อยๆ แต่ทำบ่อยๆ อย่าง ต่อเนื่อง

ท่านเคยเห็นแมงมุมไหม แน่นอนทุกคนคงรู้จักมันดี แต่น้อยคนที่จะสังเกตดูมันอย่างถี่ถ้วน ลองสังเกตดูมันสิครับเวลามันถักใย มันจะไต่จากมุมนี้ไปยังมุมนั้น มันมักจะตกสู่พื้นอยู่บ่อยๆ ไต่แล้วตก ไต่แล้วตก แต่มันก็ไม่ย่อท้อ ยังคงก้มหน้าก้มตาถักใยต่อไป ผลที่สุดมันก็ได้ใยแมงมุมที่สวยงามไว้ดักเหยื่อกินตามประสงค์

คนที่พากเพียรไม่ต่างจากแมงมุมถักใย ไม่ว่าจะทำกิจการอะไร จะพากเพียรทำด้วยจิตใจแน่วแน่มั่นคง ไม่เลิกล้ม ไม่ย่อท้อจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ

"คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร" พระท่านพูดไว้ไม่ผิดดอกครับ ทำอะไรล้มเหลวเพียงครั้งสองครั้ง อย่าได้ท้อแท้ ผิดหวังเลย ทำต่อไป สู้ต่อไป ถ้าหากการกระทำการต่อสู้นั้นเป็นเรื่องถูกต้อง สุจริต ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม

ส่วนเรื่องผิดเรื่องชั่ว ไม่ต้องพากเพียรทำมัน เพียงหลงทำครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว





โง่อย่าขยัน

ตอนที่แล้วผมได้พูดว่า ถ้าเรามีความพากเพียรเสียอย่าง ต่อให้เทวดาก็หยุดเราไม่ได้ ขอให้พากเพียรจริงๆ เถอะ งานหนักงานใหญ่แค่ไหนก็สำเร็จ ทุกข์ยากลำบากแค่ไหนก็เอาชนะได้

เป็นความจริงครับ แต่บางครั้งเพียรอย่างเดียวยังไม่พอจะต้องมีปัญญาประกอบด้วย เรียกว่า ต้องขยันอย่างฉลาดด้วย ความเพียรนั้นจึงจะไม่สูญเปล่า

ความขยันที่ไม่ใช้ปัญญากำกับอาจขยันผิดทาง ยิ่งขยันก็ยิ่งสร้างเรื่องยุ่ง แทนที่จะแก้ปัญหา กลับกลายเป็นสร้างปัญหาก็ได้

ดูตัวอย่างต่อไปนี้ก็จะเห็นชัด นานมาแล้ว (นานแค่ไหนช่างเถอะ) มีชายคนหนึ่ง (ชื่ออะไรก็ช่างเถอะ ไม่ชื่อชวนก็แล้วกัน) มีอาชีพปลูกสมุนไพรขายอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กระทาชายที่ไม่ได้ชื่อชวนคนนี้ แกเลี้ยงลิงไว้หลายตัว ตามประสาคนรักสัตว์ แกพยายามฝึกลิงจนสามารถสื่อสารกับมันรู้เรื่อง จะพูดว่าสามารถพูดภาษาลิงได้ก็จะ "เว่อร์" ไป เอาแค่สื่อสารด้วยภาษาใจรู้เรื่องก็แล้วกัน

วันหนึ่ง แกมีธุระจะต้องไปทำในเมืองสักสี่ห้าวัน จึงฝากให้หัวหน้าลิงช่วยรดน้ำต้นไม้ที่เพิ่ง "ลง" ใหม่ๆ ให้ด้วย เจ้าจ๋อ ทหารเอกพระรามก็ร้องเจี๊ยกๆ รับปากรับคำอย่างดี

เมื่อเจ้านายไปแล้ว เจ้าจ๋อก็พาลูกน้องรดน้ำต้นไม้อย่างขยันขันแข็ง พวกมันเอากระป๋องไปตักน้ำมารดกันพรึ่บพรั่บๆ

เจ้าจ๋อผู้เป็นหัวหน้าตะโกนว่า "เฮ้ยๆ พวกเอ็งดูหรือเปล่าว่ารากไม้มันชุ่มน้ำ หรือยัง"

"จะรู้ได้ยังไงว่ารากมันชุ่มน้ำหรือไม่ชุ่ม" บริวารลิงตัวหนึ่งย้อนถาม

"ไอ้โง่ เอ็งก็ถอนขึ้นมาดูรากมันซิวะ ถ้ามันยังไม่เปียกน้ำก็ราดลงไปเยอะๆ ถอนขึ้นมาดู เมื่อเปียกน้ำแล้วก็ยัดลงดินใหม่" เจ้าหัวหน้าอธิบายยกตีนเกาขี้กลากไปพลาง

และแล้วสมุนพระรามทั้งหลายก็พากันถอนต้นไม้ขึ้นมาดู รู้ว่าชุ่มน้ำแล้วก็ยัดลงดินใหม่ ถอน-ยัด-ถอน-ยัด อย่างนี้ทุกวันอย่างพร้อมเพรียง โดยการควบคุมอย่างเข้มงวดของหัวหน้าจ๋อ

สี่ห้าวันให้หลังเจ้าของสวนกลับมาแทบลมจับ เมื่อเห็นสมุนไพรทั้งสวนเฉาตายหมดเกลี้ยง

นี่เพราะโง่ขยัน หรือขยันอย่างโง่ๆ ของพวกลิงแท้ๆ

รถดีมีประสิทธิภาพนั้นต้องวิ่งเร็ว แต่วิ่งเร็วอย่างเดียวไม่พอดอกครับ ห้ามล้อหรือเบรกต้องดีด้วย ไม่เช่นนั้นไม่ปลอดภัยดีไม่ดีพาวิ่งลงเหว ในชีวิตเราก็เช่นเดียวกัน มีความเพียรอันเป็นพลังสร้างสรรค์ แล้วจะต้องใช้ปัญญากำกับ พูดง่ายๆ ขยันแล้วต้องฉลาดด้วย จึงจะประสบชัยชนะในการต่อสู้ชีวิต




ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน

ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟังหนึ่งเรื่อง เกี่ยวกับคนทำมาหากิน อ่านแล้วลองนำไปพินิจพิจารณาดูเอาเองครับ

สมชาย (ชื่อสมมติ) กับ สมเกียรติ (ชื่อสมมติ) เป็นเด็กต่างจังหวัด เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ด้วยกัน เรียนวิชาเดียวกันด้วย คือวิชาเครื่องยนต์ ที่โรงเรียนสารพัดช่างแห่งหนึ่ง พอจบออกไปทั้งสองก็ไปสมัครเป็นลูกจ้างอู่ซ่อมรถเหมือนกัน แต่คนละอู่

สมชายอยู่ทำงานที่อู่ดังกล่าว จนมีประสบการณ์พอสมควรแล้วก็ออกไป ตั้งอู่ของตนเอง ร่วมกับเพื่อนที่มีนิสัยเหมือนกันสองสามคน ทั้งสามทำงานไม่ถึงสามปีก็ร่ำรวยผิดหูผิดตา ขยายกิจการใหญ่โต

ฝ่ายสมเกียรตินึกสงสัยว่า ทำไมสมชายเพื่อนเก่าของตนจึงรวยเร็วขนาดนั้น กิจการอู่ซ่อมรถก็ทำรายได้ไม่กี่มากน้อยรู้ๆ กันอยู่ สมชายไปได้เงินได้ทองมาจากไหน

ในที่สุดก็ทราบว่า สมชายและพวกตั้งอู่หลอกต้มประชาชน ที่ทราบก็เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งสามก็ถูกตำรวจจับฐานตั้งแก๊งขโมยรถยนต์ ถูกจำคุกคนละหลายปี

ทั้งสามต้มตุ๋นลูกค้าที่เอารถมาซ่อม โดยบอกว่าชิ้นส่วนชิ้นนั้นชิ้นนี้เสีย ต้องเปลี่ยนใหม่ ทั้งๆ ที่มันดีอยู่ แต่เจ้าของไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ก็เชื่อ ยอมให้เปลี่ยน สามสหายจะถอดเอาเครื่องเครารถที่ดีๆ แล้วเอาของเก่าที่เสื่อมคุณภาพใส่แทน โดยวิธีนี้ทั้งสามมีรายได้เดือนละจำนวนมากๆ

แค่นั้นยังไม่พอ คบคิดกันขโมยรถยนต์ที่จอดอยู่ตามศูนย์การค้าบ้าง ตามที่จอดรถต่างๆ บ้าง เอามาถอดชิ้นส่วนแปลงโฉมแล้วก็ขายต่อ ทำอย่างนี้ไม่นานเงินทองก็ไหลมา แต่ในที่สุดทั้งสามคนก็ถูกจับได้

ส่วนสมเกียรติ ทำงานเป็นลูกจ้างเขาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตกินแค่ค่าจ้างประจำเดือน อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ ได้เงินจำนวนหนึ่ง แล้วออกมาทำอู่เป็นของตนเองกับเพื่อนคนหนึ่ง สมเกียรติเป็นคนซื่อสัตย์ต่อลูกค้ามาก เมื่อลูกค้าขับรถเป็นอย่างเดียวไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์เอารถมาซ่อม แกจะบอกว่าเครื่องเคราอย่างไหนควรเปลี่ยน อย่างไหนยังดีอยู่ไม่ควรเปลี่ยน ค่าแรงก็คิดไม่แพง ทำให้ลูกค้าไว้ใจ

ปัจจุบันนี้ สมเกียรติยังคงบริการซ่อมรถให้ลูกค้าอยู่อย่างมีความสุขกับอาชีพของตน ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ที่เคยเอารถมาซ่อมแล้วประทับใจในผลงาน และอัธยาศัยไมตรีของสมเกียรติแนะนำกันมา ฐานะของเขาถึงจะไม่ร่ำรวยนัก ก็คงไม่มีวันตกต่ำแน่นอน

คำพังเพยโบราณว่า ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน นั้นยังใช้ได้ คนทำมาค้าขายมักจะคิดกันว่า ถ้าไม่โกหกแล้วจะค้าขายไม่เจริญ ไม่จริงดอกครับ คุณอาจขายของได้ กำไรมากๆ ในตอนแรกเพราะโกหกให้เขาเชื่อ แต่ในระยะยาวจะไม่มีใครเข้าร้านคุณเมื่อเขารู้ความจริงว่าเขาถูกคุณหลอก แต่ถ้าคุณซื่อตรงไม่เอาเปรียบลูกค้า ตรงไปตรงมา มีความจริงใจ ไม่ต้องหา "นางกวัก" มาตั้งหน้าร้านดอกครับ ความดีของคุณจะ "กวัก" เงินกวักทองไหลมาเทมาเอง

ใครคิดจะทำมาค้าขาย ขอให้จำคติบทนี้ไว้เตือนใจว่า "คุณหลอกลูกค้าเพียงคนเดียว เท่ากับคุณหลอกคนทั้งโลก"


ความเป็นมาของพระอภิธรรมปิฎก [/center]

มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง ขอให้เล่าความเป็นมาของพระอภิธรรมปิฎกในเชิงวิชาการ (หน่อยๆ) "โดยไม่ต้องเอ่ยถึงสำนักนั้นสำนักนี้" อยากทราบว่าที่มีผู้พูดกันว่า พระอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธวจนะ จริงหรือไม่

สิ่งที่ท่านอยากทราบนี้แหละครับ ทำให้หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นขัดแย้งทางความคิดเห็นไม่ได้ จำเป็นอยู่เองต้องเอ่ยถึง "สำนัก" หรือ "ฝ่าย" ทั้งสองที่เห็นไม่ตรงกัน ไม่อย่างนั้นก็จะได้ความรู้แง่เดียว

ก่อนอื่นขอเท้าความถึงความเชื่อดั้งเดิมของชาวพุทธว่า พระไตรปิฎกนั้นเป็นคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า (และของสาวกสำคัญบางท่าน รวมถึงคำสุภาษิตที่กล่าวโดยเทวดาเป็นต้น) สมัยพระพุทธเจ้าไม่มี "พระไตรปิฎก" พระพุทธเจ้าทรงสอนสิ่งที่เรียกว่า "ธรรม และวินัย" เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว (นานเท่าใดยังถกเถียงกันอยู่ มติส่วนมากกำหนดเอาราวพุทธศตวรรษที่ ๓) "ธรรมและวินัย" นั้น ได้แบ่งออกเป็น ๓ หมวด เรียกว่า "ปิฎก" คำว่า "พระไตรปิฎก" จึงเกิดขึ้นมาแต่บัดนั้น

พระไตรปิฎกประกอบด้วย พระวินัยปิฎก ว่าด้วยศีลของภิกษุและภิกษุณีรวมถึงสังฆกรรม พิธีกรรม ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ ตลอดถึงวัตรปฏิบัติ มารยาท เพื่อความงามของพระสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในที่ต่างๆ รวมถึงคำสอนของสาวก และเทวตาภาษิตบางส่วน พระอภิธรรมไตรปิฎก ว่าด้วยการอธิบายหลักธรรมต่างๆ ในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคลและเหตุการณ์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายนี้ ก็เอามาจากพระสุตตันตปิฎก นั้นเอง

พูดอีกทีเพื่อเข้าใจชัด ธรรมวินัยนั้นแหละต่อมากลายเป็น พระไตรปิฎก โดย "วินัย" กลายมาเป็นพระวินัยปิฎก "ธรรม" กลายมาเป็นพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

เฉพาะส่วนที่เป็นอภิธรรมปิฎก มี ๗ คัมภีร์ คัมภีร์ที่ ๕ เรียกว่า "กถาวัตถุ" มีหลักฐานชี้ชัดว่า แต่งขึ้นสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ พุทธศตวรรษที่ ๓ พระโมคคัลลี บุตรติสสเถระ เป็นผู้แต่ง นอกนั้นเป็น ของเก่า

นักปราชญ์ส่วนมากเชื่อตรงกันว่า เฉพาะส่วนที่เป็น "มาติกา" หรือแม่บทสั้นๆ (ที่พระนำมาสวดในงานศพนั้นแหละ) มีมาแต่เดิม ส่วนรายละเอียดมากมายที่มีปรากฏดังในปัจจุบันนี้ แต่งเติมเอาภายหลัง ว่ากันอย่างนั้น

ปัญหาที่ว่าพระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นพุทธวจนะหรือไม่ เถียงกันมานานแล้วครับ สมัยที่โต้แย้งรุนแรงที่สุดถึงขนาดแช่งชักหักกระดูกให้อีกฝ่ายที่ไม่เชื่อ ตกนรกหมกไหม้ ก็ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ผมขอยกเหตุผลทั้งสองฝ่ายมาให้ดูพอเป็น "แซมเปิล" (ใครอยากรู้ละเอียดให้ไปอ่านหนังสือ "เพลงรักจากพระไตรปิฎก" ของ เสถียรพงษ์ วรรณปก พี่ชายผม-โฆษณาให้แล้วนะพี่)

ฝ่ายที่ยืนยันว่า พระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นพุทธวจนะแน่นอน อ้างเหตุผลน่าฟังดังนี้

๑.มีหลักฐานแสดงว่า พระพุทธองค์ขึ้นไปแสดงอภิธรรมโปรด (อดีต) พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

๒.ในพระวินัยและพระสูตรหลายแห่งพูดถึง "อภิธรรม" เช่น เล่าถึงพระกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งประชุมกล่าวอภิธรรมกันที่โรงธรรม เล่าถึงภิกษุณีขอโอกาสพระถามพระวินัยพระสูตร แต่กลับถามอภิธรรมขอโอกาสถามอภิธรรมแต่กลับถามพระวินัย พระสูตร ในกรณีเช่นนี้ปรับอาบัติปาจิตตีย์ (คือมีความผิดทางวินัยระดับหนึ่ง)

ฝ่ายที่ปฏิเสธอภิธรรมก็ให้เหตุผล (น่าฟังอีกเหมือนกัน) ดังนี้

๑.หลักฐานที่อ้างพระพุทธองค์ทรงแสดงอภิธรรมบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โปรด (อดีต) พุทธมารดานั้น เขียนขึ้นภายหลังไม่มีในพระไตรปิฎก คนเขียนคือ พระพุทธโฆสาจารย์ อาจารย์สำนักอภิธรรม

๒.คำว่า "อภิธรรม" ที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรและพระวินัยนั้น มิได้หมายถึงพระอภิธรรมไตรปิฎก แต่หมายถึง "โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ"

๓.ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสฝากไว้ว่า ธรรมและวินัยจะเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ หลังจากพระองค์ล่วงลับไปแล้ว มิได้ทรงเอ่ยถึง "พระอภิธรรม" เลย

๔.พิจารณาสำนวนภาษา ภาษาในพระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นภาษา "เขียน" หรือ "ภาษาหนังสือ" ที่ผจงแต่งอธิบายหลักธรรมในแง่วิชาการ ต่างจากภาษาในพระสุตตันตปิฎก และพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นภาษาพูด

สำหรับตัวผมเองนั้น ค่อนข้างจะเชื่อว่าพระอภิธรรมไตรปิฎกที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเพิ่มเติมภายหลัง ส่วนที่เก่าแก่จริงๆ มีมาแต่สมัยพุทธกาลคือ บทมาติกา ภาษาพระอภิธรรมไตรปิฎกฟ้องอยู่แล้ว (ในฐานะนักภาษาบาลียืนยันจุดนี้ได้)

และโปรดเข้าใจด้วยว่า ที่ใครก็ตามพูดว่า พระอภิธรรมไตรปิฎกมิใช่พุทธวจนะทั้งหมดก็ดี "ไม่อยู่ในรูปเป็นพุทธวจนะ" ก็ดี มิได้ปฏิเสธว่าพระอภิธรรมมิใช่คำสอนของพระพุทธเจ้านะครับ เพียงแต่ต้องการบอกว่า พระอภิธรรมไตรปิฎก "แต่งเพิ่มเติมภายหลัง" เท่านั้น




ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด





3000  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 11 กันยายน 2559 11:05:31

ปางทรงพิจารณาชราธรรม (๑)

พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ที่ไม่ธรรมดาเหมือนมนุษย์ทั่วไปก็คือ ทรงบำเพ็ญบารมีมาจนเต็มเปี่ยมพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อสมัยยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) แล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ( ปี ก็ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ เป็น "พระสัมมาสัมพุทธ" = ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

พอมาถึงตรงนี้ พระพุทธองค์มิใช่เพียงมนุษย์ธรรมดาแล้วครับ หากเป็นมนุษย์พิเศษ ความเป็นมนุษย์พิเศษย่อมมีสัมฤทธิผลที่คนทั่วไปไม่มี ทางพระท่านเรียกว่า มี "ธรรมดา" แตกต่างจากคนทั่วไป เอาแค่ตอนเป็นพระราชกุมารก็จะเห็นชัด เวลาประสูติออกมาแล้ว เสด็จดำเนินได้ ๗ ก้าว ทรงเปล่ง อาสภิวาจาว่า "เราเป็นผู้เลิศของโลก ประเสริฐสุดของโลก เป็นใหญ่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไปแล้ว"

ถามว่าเป็นไปได้อย่างไร ตอบว่าเป็นไปได้ มิใช่เรื่องมหัศจรรย์ หากเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ที่มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว คำว่า "ธรรมดา" นี่แหละช่วยไขข้อข้องใจของคนขี้สงสัยได้

ธรรมดาของนกย่อมบินได้ ธรรมดาของปลาย่อมอยู่ใต้น้ำนานๆ ไม่ขาดใจตาย ถามว่าเราอัศจรรย์ไหมที่เห็นนกบินได้ เห็นปลาดำน้ำอึดเหลือหลาย ตอบแทนก็ได้ ไม่อัศจรรย์ มันเป็นธรรมดาของนก ของปลามัน ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์พูดได้ เดินได้ หลังจากเกิดใหม่ๆ เราจะไปอัศจรรย์อะไรเล่า มันเป็น "ธรรมดา" ของพระโพธิสัตว์ท่าน

เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงมีธรรมดาอีกหลายประการที่คนทั่วไปไม่มี (พระอรหันต์มีเหมือนกัน แต่ไม่เท่าพระพุทธเจ้า) เช่น พระพุทธเจ้าไม่มีใครสามารถฆ่าให้ตายได้ นอกจากจะทรงดับสนิทไปเองตามกฎธรรมชาติ เป็นต้น (ยกมาเพียงข้อเดียว ข้ออื่นยังนึกไม่ออก)

แต่เมื่อทรงเป็นมนุษย์ ถึงจะมีธรรมดาไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป พระพุทธเจ้าก็ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ เช่น มีอายุขัยตามกำหนดของมนุษย์ในยุคนั้นๆ มีเจ็บป่วยทางร่างกาย มีชราไปตามกาลเวลา อิทธิฤทธิ์ถึงจะทรงทำได้มากมาย ก็มิได้ใช้พร่ำเพรื่อ มิได้ใช้เพื่อฝืนกฎธรรมชาติ

ประโยคหลังนี้ เพื่อดักคอคนที่ชอบถามว่า ในเมื่อพระพุทธเจ้าของผมทรงมีสัมฤทธิผลมากมายเหนือคนอื่นๆ ทำไมไม่ใช้อิทธิฤทธิ์ต่อพระชนมายุให้อยู่เป็นอมตะ ไม่ตายเลยเล่า ก็บอกแล้วอย่างไรว่า ไม่ฝืนกฎธรรมชาติ


ปางทรงพิจารณาชราธรรม (จบ)
ในช่วงท้ายพระชนมายุ พระพุทธองค์ทรงมีพระกำลังถดถอย แถมทรงประชวรด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายเป็นเลือด) ซึ่งเป็นโรคประจำพระวรกาย ผมเข้าใจเอาว่าเป็นผลจากการทรงบำเพ็ญตบะเคร่งครัดต่างๆ ตลอดถึงการทรงอดพระกระยาหาร (ทุกรกิริยา) ทำให้ระบบลำไส้รวนเร ไม่คงคืนปกติเหมือนเดิม (เดานะครับ เมื่อเดาก็ไม่จำเป็นต้องถูก)

พระอานนท์เห็นพระวรกายของพระพุทธองค์อ่อนแอก็ใจหาย แต่ก็ชื้นใจอยู่นิดว่าพระผู้มีพระภาคคงจักไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานจนกว่าจะได้ตรัสสั่งความสำคัญอะไรบางอย่างแก่พระสงฆ์ก่อน จึงเข้าไปกราบทูลพระพุุทธองค์ตามนั้น

พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์ พระสงฆ์จะมาหวังอะไรจากเราตถาคต ตถาคตก็ได้สอนธรรมทุกอย่างอย่างไม่ปิดบัง ไม่มี "กำมือ" ของอาจารย์ (ไม่มีความลับ ไม่มีไม้ตาย) เราตถาคตเองก็ไม่เคยคิดจะปกครองสงฆ์ ร่างกายตถาคตก็แก่หง่อม ล่วงกาลมายาวนานอายุตถาคตก็ ๘๐ ปีแล้ว จะอยู่ต่อไปอีกไม่นาน

"อานนท์ เกวียนเก่า ที่เขาซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ จะไปได้ไม่นาน ฉันใด ร่างกายของตถาคตก็ฉันนั้น ยังพอเป็นได้ คล้ายกับเกวียนเก่า ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่..."

ทรงเตือนให้ภิกษุสงฆ์พึ่งตนเอง โดยยึดธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง แล้วเสด็จมุ่งตรงไปยังกุสินาราเพื่อปรินิพพาน ผ่านหมู่บ้านตำบลต่างๆ ในเขตแคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ แล้วเสด็จไปยังกูฏาคารป่ามหาวัน รับสั่งให้เรียกภิกษุทุกรูปที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ มาเฝ้า ทรงแสดง อภิญญาเทสิตธรรม - ธรรมที่ทรงแสดงเพื่อความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ เพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติของภิกษุสงฆ์





ปางปลงอายุสังขาร (๑)

ตามความในพระไตรปิฎกและอรรถกถา พระพุทธทรงเข้าจำพรรษาสุดท้ายแล้วก็เสด็จนิวัติไปยังพระนครสาวัตถีอีกครั้ง เพื่อรอรับพระสารีบุตรอัครสาวกไปทูลลา นิพพาน จากนั้นก็เสด็จไปยังพระนครราชคฤห์อีก พระเกิดเหตุการณ์พระโมคคัลลานะนิพพานพอดี จากนั้นจึงเสด็จกลับมายังเมืองไพศาลีอีกครั้ง

เช้าวันนั้น ทรงถือบาตรเสด็จโคจรบิณฑบาตในเมืองไพศาลี ตามเสด็จโดยพระอานนท์พุทธอนุชา เสด็จกลับจากเมืองไพศาลีแล้วไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถในเวลากลางวัน มีพระอานนท์เฝ้าอยู่ใกล้ๆ

พระองค์ทรงมีพุทธประสงค์จะให้พระอานนท์รู้ความนัยและทูลอัญเชิญให้เสด็จอยู่ชั่วอายุกัปหนึ่งหรือเกินกว่า ทรงแสดงนิมิตโอภาสให้ปรากฏโดยตรัสว่า "ผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่สมบูรณ์ ผู้นั้นผิประสงค์จะยืดอายุออกไปถึงกัปหนึ่งหรือเกินกว่าย่อมสามารถทำได้" แต่พระอานนท์ไม่ทราบความหมายจึงมิได้กราบทูลอัญเชิญ

จากนั้นมารได้โอกาส จึงเข้าเฝ้าทวง "สัญญา" ว่าบัดนี้ถึงเวลาปรินิพพานแล้ว เพราะบริษัทสี่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ทรงประสงค์แล้ว พระพุทธองค์จึงรับคำอาราธนาของมาร ทรง "ปลงอายุสังขาร" ทันที วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะพอดี

การ "ปลงอายุสังขาร" ก็คือตัดสินพระทัยว่าจะปรินิพพานในอีก ๓ เดือนข้างหน้า ขณะนั้นเกิดแผ่นดินสะเทือนสะท้านหวั่นไหว พระอานนท์อยู่ในที่ไม่ไกล เห็นปรากฏการณ์นั้นแล้วตกใจเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทำนองทูลถามว่าเกิดอะไรขึ้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า เกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินจะไหวด้วยเหตุ ๘ ประการคือ ไหวด้วยลม ไหวด้วยผู้มีฤทธิบันดาล ไหวเพราะพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์มารดา ประสูติ ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก พระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร และพระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ


ปางปลงอายุสังขาร (จบ)
พระอานนท์ทูลอาราธนาว่า ขอพระผู้มีพระภาคทรงยืดพระชนมายุไปอีกเถิด พระพุทธองค์ตรัสว่า สายเสียแล้วอานนท์ เราได้กระทำ "นิมิตโอภาส" ทำนองบอกใบ้ให้เธอตั้ง ๑๖ ครั้ง คือที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ ครั้ง ที่เมืองไพศาลี ๖ ครั้ง ครั้งที่ ๑๖ ก็เพิ่งทำเมื่อตะกี๊นี้เอง เธอก็มิได้รับรู้และเชิญ เราอยู่ต่อ บัดนี้เราตถาคตรับคำเชิญของมารแล้ว

มารที่ว่านี้คือ วสวัตตีมาร เคยทูลขอให้พระองค์ปรินิพพานตอนตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ตรัสว่า จะยังไม่ปรินิพพานจนกว่าบริษัททุกหมู่เหล่าของพระองค์จะมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง ๓ ด้าน คือ
   ๑.รู้พระธรรมจนเชี่ยวชาญและปฏิบัติตามจนได้สัมผัสผล
   ๒.มีความสามารถในการถ่ายทอด
   ๓.และปกป้องพระพุทธศาสนาเมื่อถูกย่ำยี

บัดนี้บริษัททั้งสี่มีคุณสมบัตินั้นครบถ้วน มารได้มาเชิญเราปรินิพพาน เราได้รับคำเชิญของมารแล้ว ต่อจากนี้ไปอีก ๓ เดือนข้างหน้า เราตถาคตจะปรินิพพาน

พระพุทธวจนะที่ตรัสบอกพระอานนท์ว่า "อานนท์ ผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่จนสมบูรณ์แล้ว ผิว่าผู้นั้นพึงประสงค์จะยืดอายุออกไป ดำรงชีวิตอยู่ชั่วกัปหนึ่งหรือเกินกว่านั้นย่อมสามารถทำได้" นั่น มิได้หมายถึงพระพุทธองค์ หากหมายรวมถึงคนอื่นที่เจริญอิทธิบาทจนสมบูรณ์ด้วย

ที่ว่ายืดอายุไปได้กัปหนึ่งนั้น หมายเอา "อายุกัป" หรืออายุขัยของมนุษย์ (อายุขัยของมนุษย์ในยุคนี้ ๑๐๐ ปี หรือเกินกว่านั้นหน่อยหนึ่งก็ประมาณ ๑๒๐ ปีเป็นอย่างมาก

ในกรณีพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ถ้าจะยืดออกไปอีกเป็น ๑๐๐ ปี หรือ ๑๒๐ ปี ก็ย่อมจะทำได้ ถ้าพระอานนท์เฉลียวใจและกราบทูลอาราธนา แต่บังเอิญว่าทรงรับคำอาราธนาของมารก่อนแล้วดังกล่าวข้างต้น




ปางเสวยสูกรมัททวะ ของนายจุนทะ (๑)

หลังจากทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์แล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปตามลำดับจุดหมายปลายทางคือเมืองกุสินารา ทรงรับภัตตาหารที่นางอัมพปาลีถวาย แล้วเสด็จต่อไปตามลำดับ เข้าเขตเมืองปาวา ทรงรับนิมนต์เพื่อเสวยพระกระยาหารที่บ้านนายจุนทะ กัมมารบุตร ในวันรุ่งขึ้น

เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับนิมนต์แล้ว นายจุนทะจึงไปตระเตรียม ขาทนียะอย่างพอเพียง โภชนียะอย่างพอเพียง และ "สูกรมัททวะ" อย่างพอเพียง โดยได้ใช้เวลาทั้งคืนในการเตรียมการดังกล่าว

เมื่อรุ่งเช้าขึ้นมา พระพุทธองค์เสด็จไปยังบ้านของนายจุนทะ พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก นายจุนทะน้อมถวายขาทนียะ และโภชนียะแก่ภิกษุสงฆ์ ส่วน "สูกรมัททวะ" นาย จุนทะได้น้อมถวายแด่พระพุทธองค์เท่านั้น

เมื่อเสวยเสร็จ พระพุทธองค์ตรัสว่า ไฟธาตุของพระองค์เท่านั้นที่จะย่อยสูกรมัททวะนี้ได้ แล้วรับสั่งให้นำส่วนที่เหลือไปฝังดินเสีย

หลังจากเสวย "สูกรมัททวะ" แล้วไม่นาน พระอาการประชวรด้วยโรคปักขันทิกาพาธก็กำเริบ แต่พระองค์ก็ทรงระงับทุกขเวทนาไว้ด้วยพลังสมาธิ ทรงเป็นห่วงว่านายจุนทะเองจะเดือดร้อนใจ หรือประชาชนอาจเข้าใจนายจุนทะผิด ว่าถวายอาหารอันเป็นพิษแด่พระพุทธองค์ จนเป็นเหตุให้ปรินิพพานในเวลาต่อมา พระพุทธองค์จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า

"อานนท์ อาจเป็นไปได้ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะพึงทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทะกัมมารบุตร ว่า นี่แน่ะ จุนทะ ไม่เป็นลาภผลของท่านเสียแล้ว พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านแล้ว เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน อานนท์ พวกเธอพึงดับความร้อนใจของนายจุนทะเสีย โดยชี้แจงว่า นี่แน่ะ จุนทะ เป็นลาภผลของท่านนักหนา พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ดับขันธ์ปรินิพพาน บิณฑบาตสองครั้งมีวิบากเสมอกัน มีอานิสงค์มากกว่าอย่างอื่น คือตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้งหนึ่ง เสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุครั้งหนึ่ง กรรมที่ให้อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ และความเป็นใหญ่ ชื่อว่านายจุนทะได้สร้างสมไว้แล้ว"


ปางเสวยสูกรมัททวะ ของนายจุนทะ (จบ)
เป็นการตรัสป้องกันความเข้าใจผิด และตรัสความจริงว่า พระพุทธองค์มิได้ปรินิพพานด้วยการเสวย สูกรมัททวะที่นายจุนทะถวาย มิได้ปรินิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธที่ทรงประชวร หากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ตามวันเวลาที่ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

พึงสังเกตพุทธวจนะที่ตรัสสรรเสริญบิณฑบาตสองครั้ง มีผลมากเท่ากันคือ บิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายก่อนตรัสรู้ กับบิณฑบาตที่นายจุนทะถวายก่อนปรินิพพาน

บิณฑบาตทั้งสองนี้ เสวยแล้วก็ "ปรินิพพาน" ทั้งสองครั้ง คือ
ครั้งแรก (ที่นางสุชาดาถวาย) พระองค์เสวยแล้ว ปรินิพพานแล้ว ด้วยสอุปาทิเสสนิพพาน หรือ "กิเลสนิพพาน" พูดให้เข้าใจง่าย เสวยแล้วดับกิเลส

ครั้งสุดท้าย (ที่นายจุนทะถวาย) พระองค์เสวยแล้ว ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน หรือ "ขันธนิพพาน" พูดง่ายๆ ว่า เสวยแล้วดับขันธ์

สูกรมัททวะ คืออะไร อธิบายกันไว้ ๓ นับคือ
   ๑.ข้าวหุงด้วยนมโคอย่างดี
   ๒.เนื้อสุกรอ่อน   
   ๓.สมุนไพรชนิดหนึ่ง (บางมติว่าได้แก่เห็ด)

พุทธศาสนิกฝ่ายเถรวาท นิยมแปลกันว่าเนื้อสุกรอ่อน แต่ฝ่ายมหายานค่อนข้างจะเชื่อว่า ได้แก่สมุนไพร ชาวพุทธจีนเชื่อว่าเป็นเห็ดที่เกิดจากไม้จันทน์ เรียกว่า "จันทัน ฉิ่วยื้อ"

แต่จะเป็นอะไรก็ตาม มิใช่สาเหตุแห่งการปรินิพพานดังที่ตรัสไว้ข้างต้นแล้ว และนายจุนทะผู้ถวายก็ได้บุญกุศลมากด้วย





ปางปรินิพพาน (๑)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรทมเหนือปรินิพพานปัญจถรณ์ (พระแท่นเป็นที่ปรินิพพาน) ใต้ต้นสาละทั้งคู่ ท่ามกลางภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท (แม้พระบาลีจะพูดถึงเฉพาะบริษัทแรก แต่ข้อเท็จจริงต้องมีบริษัททุกหมู่เหล่าแน่นอน)

ตรัสถามว่าใครๆ มีข้อสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือหลักปฏิบัติใดๆ ให้ถามเสีย จะได้ไม่ร้อนใจภายหลังว่าเมื่อเราตถาคตยังอยู่ไม่ได้ถาม พุทธบริษัททั้งปวงนั่งเงียบ ไม่มีใครทูลถามอะไร จึงตรัสว่า พระองค์ก็ทรงคาดอย่างนั้นไว้ก่อนแล้ว เพราะบริษัทของพระองค์เป็นผู้รู้แจ้งธรรมหมดอย่างต่ำที่สุดก็เป็นพระโสดาบัน

จากนั้นก็ตรัสปัจฉิมโอวาทว่า "หันทะทานิ ภิกขะเว อามัน ตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ = ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ความหมายก็คือ พวกเธอจงอย่าประมาท ให้รีบเร่งทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์ และประโยชน์สังคมให้สมบูรณ์ อย่าทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าดำเนินชีวิตแบบชาวโลก ก็ขยันทำมาหาเลี้ยงชีพในทางสุจริตชอบธรรม ได้ทรัพย์สินเงินทองมาแล้วก็เลี้ยงตนเอง ครอบครัว และคนพึงเลี้ยง ที่เหลือก็จุนเจือสังคม ทำบุญทำกุศลตามสมควร ถ้าดำเนินชีวิตเป็นนักบวช ก็ศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลที่ตนปรารถนา เมื่อทำตนให้พร้อมแล้ว ก็มีกรุณาช่วยเหลือคนอื่นด้วยการชี้แจงแสดงธรรม แนะนำแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีแก่ชาวบ้าน

หลังจากนั้น ก็ไม่ตรัสอะไรอีก ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้านิโรธสมาบัติ

จากนั้นทรงออกจากนิโรธสมาบัติ เข้าฌานถอยหลังลงมายังเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน



ปางปรินิพพาน (จบ)

จากนั้นทรงถอยกลับเข้าไปใหม่คือ ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงดับสนิทในระหว่างนั้นเอง

เป็นการดับสนิทระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน

ทั้งหมดนี้ไม่มีใครรู้เรื่อง ถ้าไม่มีพระอนุรุทธะ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในมหาสันนิบาตนั้น เข้าฌานตามพระพุทธองค์ไป จึงรู้ว่าพระองค์ทรงดับสนิท ณ จุดใด

พระธัมมสังคาหกาจารย์ (พระอาจารย์ผู้ร้อยกรองพระธรรมวินัย) ได้บันทึกวาทะแสดงธรรมสังเวช ในการปรินิพพานของพระพุทธองค์ได้ดังนี้

ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวโศลกว่า "สัตว์ทั้งปวง ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แม้แต่พระตถาคตศาสดาผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนเปรียบปาน ทรงสมบูรณ์ด้วยทศพลญาณ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ยังดับสนิทแล้ว"

ท้าวสักกเทวราชกล่าวว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา การดับสังขารทั้งหลายได้ เป็นความสุข"

พระอนุรุทธเถระกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระทัยมั่นคง คงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงหมดลมหายใจแล้ว พระมุนีเจ้าทรงทำกาละอย่างสงบแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงระงับทุกขเวทนาได้ ทรงดับสนิทดุจเปลวประทีป"

พระอานนท์พุทธอนุชากล่าวว่า "เมื่อพระพุทธเจ้า ผู้ทรงสมบูรณ์พร้อมทุกประการ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้เกิดความสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าแล้ว"

พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่นำมาเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบนี้ ส่วนมากดำเนินตามแนวที่โบราณาจารย์ได้กำหนดไว้ มีเพียงบางปางเท่านั้น ที่ผู้เขียนได้เพิ่มเติมเข้ามา โดยกำหนดเอง ตั้งชื่อเอง ด้วยพิจารณาเห็นว่า พระจริยาวัตรตอนนั้นๆ น่าจะยกมาเพื่อเป็นแบบอย่าง และเพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระพุทธองค์


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
หน้า:  1 ... 148 149 [150] 151 152 ... 273
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.098 วินาที กับ 28 คำสั่ง

Google visited last this page 46 นาทีที่แล้ว