[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 11:36:00 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 154 155 [156] 157 158 ... 270
3101  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 31 มีนาคม 2559 15:22:34
.



• แฝดสยาม อิน-จัน ไม่มีสถานะทาสในอเมริกา

หลังจากแยกตัวออกมาจากนายจ้างฝรั่ง อิน-จันตระเวนรอนแรมด้วยรถม้าขึ้นไปรัฐทางเหนือของอเมริกาทะลุเข้าไปในแคนาดา แล้วลงใต้ไปถึงมิสซิสซิปปี อิน-จัน ได้พิสูจน์แล้วว่าความอดทน ความตั้งใจทำธุรกิจในอเมริกา คือปัจจัยที่ทำให้เงินทองไหลมาไม่หยุด ชื่อเสียงของแฝดหนุ่มจากเมืองแม่กลองโด่งดังในอเมริกาในนามของ Siamese Twins (แฝดสยาม)

ส่วนการเดินสายไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา นายแฮริส ที่ทำหน้าที่เลขาคณะละครเร่ พาอิน-จัน ข้ามทะเลออกจากอเมริกาไปแสดงตัวหาเงินถึงเกาะคิวบา

แฝดอิน-จัน จากสยาม จากเด็กประหลาดตัวติดกัน เลี้ยงเป็ดแถวเมืองแม่กลอง วันนี้กลายเป็นนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ท่องโลก

ในช่วงเวลาตรงนี้ ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่มีการแต่งตั้งทูตแลกเปลี่ยนกันระหว่างสยาม-สหปาลีรัฐอเมริกา แต่มีมิชชันนารีและแพทย์จากอเมริกาเดินทางเข้ามาตรวจรักษาชาวสยาม และช่วยวางรากฐานทางการแพทย์สมัยใหม่ให้กับสยาม กิจการด้านต่างประเทศของสยามกับประเทศทางตะวันตกเริ่มมีชีวิต พลิกฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากขับไล่เตะฝรั่งออกนอกสยามจนเกลี้ยงนานหลายปี  ชีวิตของแฝดสยามในอเมริกาเริ่มมั่นคงมีรากฐาน แฝดนักธุรกิจคู่นี้ที่ตระเวนไปทั่ว เห็นสรรพสิ่งทั้งหลายด้วยตัวเอง แผ่นดินในอเมริกาที่แสนกว้างใหญ่ ผู้คนจากทั่วโลกเรียกอเมริกาว่า New World (โลกใหม่) ชาวยุโรปโดยเฉพาะคนผิวขาว แห่กันเข้าไปจับจองที่ดินสร้างชีวิต สร้างครอบครัว มีบาดเจ็บล้มตาย แย่งชิงที่ดิน ตัดสินปัญหากันด้วยปืน บ้างก็เฮง บ้างก็ซวย ใครดีใครอยู่

หนังอเมริกันคาวบอยที่พระเอกคาดเข็มขัดเอียงๆ ขี่ม้ายิงปืน ปล้นธนาคาร ยิงกับอินเดียนแดง ควบม้าปล้นเงินสดจากรถไฟ ความยุติธรรมและความเป็นลูกผู้ชาย ตัดสินกันด้วยการดวลปืนนัดเดียวบนลานกว้าง โดยมีผู้คนทั้งหลายยืนดูในฐานะพยาน ใครชักปืนลูกโม่ขึ้นมาจากเอวเร็วที่สุด แล้วลั่นไกใส่ฝ่ายตรงข้ามแม่นที่สุด คนนั้นชนะ และอยู่รอด ภาพเหล่านี้คือวิถีชีวิตส่วนหนึ่งในแผ่นดินอเมริกา

ม้ากับปืน คือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนอเมริกัน แม้กระทั่งปัจจุบัน เรื่องซื้อปืน ซื้อกระสุน เป็นเรื่องง่ายพอๆ กับการเดินไปหาซื้อบัตรเติมเงินมือถือ ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๙ การพกปืนยังคงเป็นสิ่งที่คนอเมริกัน (ในบางรัฐ) ต้องการ เพราะมันคือสิทธิขั้นพื้นฐาน

เวลาเปลี่ยน แฝดสยามเปลี่ยน คนคู่ตัวติดกันทั้งสองมีบุคลิกภาพดีขึ้นมาก เสื้อผ้า หน้า และผมเปีย ฝาแฝดมีกำหนดตรวจรักษาฟัน ใช้หวี ใช้แปรงสีฟัน เสื้อผ้า รองเท้า แบบของดีมีคุณภาพ ปรับตัวเข้ากับสังคมอเมริกันได้อย่างดี น้ำหนักตัวทั้งสองเพิ่มมากขึ้น

บุคลิกด้านบวก ของแฝดทำให้คนอเมริกันที่จับตาดู เกิดการยอมรับในทีว่าแฝดตัวติดกันคู่นี้ มีเพียงร่างกายเท่านั้นที่ประหลาด ส่วนจิตใจใสประเสริฐ ไม่ใช่สัตว์ประหลาด ไม่ใช่อสุรกาย

ค่านิยมในโลกตะวันตกยุคนั้นทั้งในยุโรปและอเมริกา คือการเหยียดสีผิว ด้วยความเชื่อที่ว่า คนขาวมีสติปัญญา มีความคิด มีคุณธรรมเลอเลิศประเสริฐกว่าคนผิวสีอื่น คนดำไม่มีสิทธิเรียนหนังสือในโรงเรียนคนขาว ไม่มีสิทธิดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำของคนขาว คนขาวต้องได้รับสิทธิก่อนเสมอ ในยุคต่อมาแบ่งแยกถึงขนาดขึ้นรถรางคนขาวต้องนั่งตอนหน้าของรถ ส่วนคนดำต้องไปนั่งตอนหลัง

สิ่งที่ฝรั่งทั้งหลายชื่นชม คือ ความมีน้ำใจของแฝดหนุ่ม ที่มีนิสัยการแบ่งปัน ชอบหยิบยื่นเงินเล็กๆ น้อยๆ ให้กับผู้ที่ยากไร้ที่พบเห็นในอเมริกา สิ่งเหล่านี้คือการบ่งบอกว่าสถานะทางสังคมของแฝดสยามว่า ฉันไม่ใช่คนยากไร้ตามท้องถนน ไม่ใช่คนสิ้นหวังเร่ร่อนขอทาน ฉันประกอบอาชีพมีรายได้ ซึ่งการวางตัววางระดับ เช่นนี้ ทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะดูแคลนแฝดสยาม

เหตุผลที่ผู้เขียนยกประเด็นนี้ขึ้นมา เนื่องจากในเวลานั้น มีกิจการค้าทาสผิวดำที่คนขาวไปซื้อตัวชาย หญิงผิวดำ ตัวเป็นๆ จับล่ามโซ่ลงเรือมาจากแอฟริกา เพื่อนำมาเป็นแรงงานหลักด้านการเกษตรในภาคใต้ของอเมริกา สถานะของทาสผิวดำในเวลานั้นแทบไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงของคนขาว มีการแบ่งสีผิวอย่างชัดเจนแบบที่มนุษย์พึงแยกจากสัตว์ป่า

ชาวเอเชีย ผิวเหลืองแบบอิน-จัน ที่ไปจากสยามไม่อยู่ในสถานะที่โดนรังเกียจ โดนรังแก เช่นทาสคนดำ

ผู้เขียนต้องขอยกย่อง การวางตัวของบรรพบุรุษสยาม ๒ ท่านนี้ที่มีความรอบรู้ มีภูมิปัญญาที่จะเอาตัวรอด วางตัวให้อยู่เหนือระดับจากการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ของสังคมในอเมริกาในยุคนั้นได้อย่างสง่างาม

ต้องเน้นย้ำกับท่านผู้อ่านนะครับว่า สังคมในอเมริกายุคนั้น คนผิวขาวด้วยกันเอง เห็นต่างกันสุดลิ่มทิ่มประตูครับ พวกทางเหนือไม่กีดกันคนผิวดำ แต่รัฐทางใต้ที่ครอบครองทาสจำนวนมากใช้ทำการเกษตรไม่ยอมรับในสถานะความเป็นมนุษย์ ต้องการมีทาส (และต่อมาจึงเกิดสงครามกลางเมืองรบกันที่เองเรียกว่า Civil War ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้นาน ๔ ปี ตายไปราว ๖ แสนคน)

ผู้เขียนเองก็อยากทราบเช่นกันว่าไอ้เรื่องการเกลียด กีดกันคนผิวสีมีสาเหตุมาจากอะไร

คำตอบที่ค้นมาได้แบบบ้านๆ คือ คนผิวขาวแท้ๆ ที่อพยพมาจากยุโรปรวมถึงคนผิวขาวที่มาเกิดในอเมริกา กลัวการสูญเสียสถานะทางสังคมของตนเอง กลัวการโดนตีเสมอเทียบเท่า เพราะมีการปลูกฝังกันมาว่าธรรมชาติได้สร้างให้คนขาวเหนือกว่าคนดำในทุกเรื่อง

กระแสความชิงชังจึงพุ่งไปที่คนผิวดำ คนขาวต่อต้านการอพยพเข้ามาใหม่ กีดกันลัทธิทางศาสนาบางกลุ่ม ในบางพื้นที่บางชุมชนถึงขนาดที่ประกาศว่า คนดำอยู่ไม่ได้ ทำให้เกิดคำว่า Negrophobia ที่หมายถึง ความรู้สึกเกลียด-กลัวคนผิวดำ ซึ่งโชคดีที่อิน-จัน จากสยามไม่ใช่คนผิวดำ

ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบันก็นับว่าคลายตัวไปมาก

อยู่มาราว ๔ ปี อิน-จัน วางตัวได้สง่างาม แฝดหนุ่มเคยได้ขอร้องผู้คนทั้งหลาย อย่าเรียกพวกเขาว่า Siamese Boys เนื่องจากทั้งสองมีอายุ ๒๑ ปี และพ้นจากความเป็น boy แล้ว การเรียกว่า boy มีภาพราวกับว่าเขาทั้งสองยังเป็นเด็กที่วิ่งเล่น แล้วมีคนไปซื้อตัวมาสงเคราะห์เลี้ยงดู โดยขอให้เรียกว่า Gentlemen ที่แปลว่า ท่านสุภาพบุรุษ หรือคุณผู้ชายที่ดูโก้หรูทีเดียว  แม้กระทั่งเมื่อไปรับประทานอาหารในร้าน อิน-จัน จะมีความสุขมากเมื่อได้ยินพนักงานเสิร์ฟเรียกแฝดว่า Gentlemen

เรื่องราวตรงนี้โดยเฉพาะการเป็นคนมีจิตใจเมตตา ช่วยเหลือผู้อื่น มีน้ำใจต่อผู้คนที่ด้อยโอกาสเป็นอาจิณ หนังสือพิมพ์ในอเมริกา นำไปเป็นประเด็นบอกเล่า ซึ่งได้ผลออกมาเป็นบวกมีภาพพจน์ที่ดี เมื่อมีคนชอบ ก็ต้องมีคนชัง มีคนหมั่นไส้ เป็นธรรมดาครับ ความยากลำบากในการใช้ชีวิตประการหนึ่งในอเมริกา คือ ความเป็นส่วนตัว ที่หาได้ยากมาก ไม่ว่าจะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จะตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนไปซะหมด ไม่เห็นก็ต้องสาระแน สอดรู้สอดเห็นชีวิตของแฝดให้จงได้ โดยเฉพาะชีวิตส่วนตัวที่ไม่เปิดเผย เรื่องเร้นลับทั้งหลายที่คนทั่วไปทำ

ในยุคสมัยนั้น วิธีการสื่อสารของอเมริกันชน คือการเขียนจดหมายไปถึงหนังสือพิมพ์ บอกเล่าเรื่องราวสารพัด เรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องซุบซิบนินทา ปัญหาหัวใจ เรื่องที่โดดเด่นจะถูกตีพิมพ์ พร้อมด้วยคำตอบหรือคำแนะนำ เรื่องของแฝดอิน-จัน ก็เป็นข่าวที่ขายได้ในทุกโอกาสในอเมริกา มีทั้งด้านดีและด้านร้าย

ความบาดหมางกับกัปตันคอฟฟิน เป็นเหตุให้ต้องเลิกราทำธุรกิจร่วมกัน เนื่องจากกัปตันต้องไปเดินเรือตามตารางกำหนด คราวนี้คอฟฟินต้องออกเรือจากบอสตันไปไกลถึงอินเดีย และชวา

ท่ามกลางการใช้ชีวิตแบบนักสู้ชีวิตในอเมริกามาเกือบ ๔ ปี ความปลื้มปีติอย่างที่สุด คือ ข่าวจากนางนาก แม่บังเกิดเกล้าที่เมืองแม่กลอง ที่รอแล้วรอเล่า

และอยู่มาวันหนึ่ง นายเจมส์ เฮล (ที่เคยทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการให้แฝดในช่วงที่ไปแสดงในอังกฤษ) ได้เขียนจดหมายมาบอกอิน-จัน ว่า นางนากผู้เป็นมารดา อยู่ที่เมืองแม่กลองสบายดี นางนากได้นายเซ็นเป็นสามีคนใหม่ พี่ชาย-พี่สาวของอิน-จัน สบายดี ทุกคนที่บ้านเมืองสยามอยากให้อิน-จัน กลับมาให้แม่เห็นหน้ากันหน่อย

นายเฮลแยกตัวไปจากแฝดก่อนหน้านี้ เพื่อไปเดินเรือเช่นกัน ช่วงที่ห่างไปแฝดและนายเฮล ยังคงติดต่อกันทางจดหมาย รักษาความเป็นเพื่อนและมีน้ำใจต่อกันเสมอ

(บิดาของแฝดอิน-จัน ชื่อนายทีอาย เสียชีวิตเมื่อตอนแฝดอายุ ๘ ขวบ จากโรคห่าระบาดครั้งใหญ่ในเมืองสยาม มีคนตายจำนวนมาก)

จดหมายจากนายเฮล ยังบรรยายต่อว่า นายฮันเตอร์พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อต ประกอบความชอบในแผ่นดินสยาม เป็นที่โปรดปรานจนในหลวง ร.๓ พระราชทานบรรดาศักดิ์แต่งตั้งเป็นหลวงอาวุธวิเศษ มีหน้ามีตาโก้หรู มีแฟนตรึมในบางกอกไปแล้ว

ท่านผู้อ่านที่เคารพ คงเห็นความเชื่อมโยงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ที่แฝดอิน-จัน เข้าไปเป็นตัวละครที่สำคัญในตำนานแห่งประวัติศาสตร์ของสยามกับอเมริกาตรงนี้

ความดีความชอบของนายฮันเตอร์ คือเขาเป็นพ่อค้าที่นำอาวุธปืนคาบศิลาที่เรียกว่า ปืนมัสเก็ต พร้อมกระสุนดินดำ เข้ามาขายและมอบให้รัฐบาลสยามจำนวนหนึ่ง นายฮันเตอร์ มีความคุ้นเคยกับราชสำนักสยาม ขุนนางสยามและเพื่อนฝูงเรียกชื่อแบบสะดวกปากว่า นายหันแตร

สยามได้ใช้งานปืนมัสเก็ต (Musket) ที่ทันสมัย ทำศึกทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และทำศึกด้านตะวันออกอย่างได้ผล นอกจากนั้น นายหันแตรพ่อค้าคนเก่งยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งห้างสรรพสินค้าจากต่างประเทศแห่งแรกในสยามตรงบริเวณหน้าวัดประยูรวงศาวาส (เชิงสะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี) อีกต่างหาก ซึ่งต่อมาเกิดน้ำท่วมเมืองสยามครั้งใหญ่ ทำเอานายหันแตรขาดทุนแทบหมดตัว

อิน-จัน คิดหนัก เพราะแม่ร้องขอให้กลับไปเยี่ยมบ้านที่แม่กลอง เมืองสยามแต่ทั้งสองก็ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้

ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป หลังจากตระเวนแสดงตัวในอเมริกาแล้ว ๑๙ รัฐ ในขณะนั้นอเมริกามีเพียง ๒๔ รัฐ (ปัจจุบันมี ๕๐ รัฐ)

นายแฮริส จุดประกายความคิดขึ้นมาอีก คราวนี้คิดที่จะพาแฝดไปแสดงตัวที่ปารีสและตระเวนไปในอีกหลายประเทศในยุโรป ที่ผ่านมาทางการฝรั่งเศสเคยปฏิเสธไม่ให้อิน-จันเข้าประเทศมาแล้ว เพราะมีข้อมูลว่าแฝดคู่นี้เปรียบเหมือนอสุรกาย จะทำให้สตรีฝรั่งเศสที่กำลังมีครรภ์เกิดปัญหาต่อเด็กในท้อง

ในที่สุดการเดินทางเข้าปารีส ก็ได้รับการอนุมัติ นายแฮริส พาแฝดลงเรือชื่อ Resolution เดินทาง ๕ สัปดาห์จากนิวยอร์กไปขึ้นฝั่งที่เมืองโดเวอร์ (Dover) การโฆษณามนุษย์ประหลาดจากสยามกระหึ่มอีกครั้งในปารีส

เมื่อเข้าไปเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศสเมืองน้ำหอม ท่อนเนื้อทรงกระบอกยาว ๖ นิ้วที่เชื่อมตรงหน้าอกของหนุ่มสยาม ยังคงเป็นจุดรวมความสนใจของชาวปารีสเช่นเคย ชาวปารีสสนใจมาดูการแสดงพอสมควร แต่เมื่อแสดงตัวไปนานราว ๓ เดือน กลับพบว่าค่าใช้จ่ายทุกอย่างสูงลิ่ว ธุรกิจขาดทุน เพราะปารีสเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเมืองหนึ่งของโลก

แฝดคู่นี้ ต้องย้ายวิกหากินใหม่อีกและที่หมายต่อไปคือ เดินทางต่อเข้าไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แสดงตัวที่นั่นนาน ๓๐ วัน เดินทางต่อไปเมืองแอนทเวอร์ป (Antwerp) นาน ๒ สัปดาห์ ทุกอย่างราบรื่น คณะละครเร่เดินทางต่อไปอีก จัดการแสดงที่เมืองรอตเตอร์ดัม (Rotterdam) ยาวต่อไปถึงกรุงเฮก (Hague) นานอีก ๒ สัปดาห์ ลากต่อไปที่เมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ นาน ๑ เดือน

ที่เนเธอร์แลนด์ แฝดสยามได้รับเกียรติสูงสุด คือการได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ วิลเลียม ถึงในพระบรมมหาราชวัง

ตำนานที่ตระเวนยุโรปช่วงนี้ ค่อนข้างรางเลือน แต่ชัดเจนว่า แฝดทั้งสองจากสยามจากเมืองแม่กลอง ชอบกินหอยนางรมเป็นชีวิตจิตใจ แต่คงไม่มีใบกระถินให้เคี้ยวด้วยแน่นอน

เรือชื่อ ฟรานซิส นำคณะของแฝดกลับจากยุโรปไปถึงอเมริกา ใน ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๙

นี่คือตำนานการเดินทางท่องโลกอันเหลือเชื่อของเด็กแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) จากเมืองแม่กลอง ประเทศสยาม ที่เกิดมาใหม่ๆ มีคนชิงชัง แอบนินทาว่าเป็นกาลกิณีกับบ้านเมือง

ในที่สุด คนสู้ชีวิตตัวติดกันจากสยามคู่นี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ในชีวิตจริงทั้งคู่ได้ท่องเที่ยวไปในโลกใบนี้แบบมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่เกินคำบรรยาย

โชคชะตาฟ้าลิขิตให้แฝดอิน-จัน จำต้องพบรัก มีเมียอเมริกันซะแล้ว แล้วมันจะไปกันต่อยังไง? แล้วแบบสบายใจสุด มันอยู่ตรงไหน? มีคำถามร้อยแปด


โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
3102  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: วัฒนธรรมชาวจีน เรื่อง อาหาร เมื่อ: 30 มีนาคม 2559 16:38:18

วัฒธรรมจีน
เรื่อง 'อาหาร'



ป๋าซือ.....ชื่อขนมแปลกของจีน

เหนียวหนึบ แต่กรุบกรอบ ซ่อนความฉ่ำหวาน สามลักษณะนี้ ดูไม่น่าจะนำมาใช้บรรยายของสิ่งเดียวกันได้

แต่ที่จีน กลับมีขนมหวานประเภทหนึ่งที่สามารถรวมเอาทั้งสามความรู้สึกนี้เข้าไว้ด้วยกัน จนเป็นขนมที่มีคุณลักษณะเฉพาะตัว ภายใต้ชื่อที่เรียกขานกันว่า ป๋าซือ

ป๋าซือเป็นขนมที่พบเจอได้มากในบริเวณค่อนไปทางตอนเหนือของจีน มีถิ่นที่มา จากมณฑลชานตง จึงเป็นของหวานที่ผู้คนในแถบนั้นคุ้นเคย เรื่อยเลยไปจนถึงเมืองหลวงอย่างกรุงปักกิ่ง ก็ยังพบเจอได้ว่า ขนมหวานที่ต้องทานตอนร้อนๆ เช่นป๋าซือ ก็มีให้เลือกรับประทานในร้านอาหารตามสั่งทั่วไป

ป๋าซือจึงเป็นขนมท้องถิ่นที่จัดว่าแพร่หลายอยู่ไม่น้อย และได้รับการสืบทอดต่อกันมานาน นัยว่าน่าจะเริ่มมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิงแล้ว

และในบางช่วงบางตอน ยังแพร่ขยายขอบเขตความหวานไปทั่วทั้งประเทศอีกด้วย 

โดยปกติแล้ว ตามร้านอาหารจีนทางตอนเหนือนั้น จะไม่นิยมการจัดหาขนมหวานมาบริการหลังมื้ออาหารมากนัก  ส่วนใหญ่จะใช้วิธีเสิร์ฟผลไม้สดตามฤดูกาล ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสั่งหรือวิธีการแถมมากกว่า

การจะหาขนมหวานตบท้ายให้เป็นเรื่องเป็นราวจึงใช่ว่าจะหาเจอได้ในทุกร้าน  แต่ในจำนวนร้านที่มีขนมหวานปิดท้ายเมนูนี้ ก็มักจะมีป๋าซือเป็นหนึ่งในตัวเลือก หรือในหลายๆ ร้านก็มีให้เลือกแค่ขนมป๋าซือกับผลไม้สดเพียงเท่านั้น

เป็นการการันตีความนิยมของป๋าซือทางแถบนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนทุกมื้อจะต้องมีป๋าซืออย่างขาดไม่ได้

ป๋าซือเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก ต้องทานในเวลาที่ยังร้อนอยู่เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้สืบเนื่องมากจากเรื่องของอรรถรสเพียงประการเดียว แต่ยังรวมไปถึงคุณสมบัติทางกายภาพที่ไม่อาจรับประทานเมื่อเย็นลงแล้วได้ด้วย  เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะป๋าซือเป็นของทอดชนิดหนึ่ง ที่ไม่ได้ทอดแบบธรรมดา แต่เป็นการทอดแบบเคลือบน้ำตาลหนึบหนับ ต้องคีบในเวลาที่ยังร้อน จึงจะจับแยกจากกันเป็นชิ้นๆ ได้

สำหรับชื่อเรียกป๋าซือนี้ คำว่า ป๋า มาจากกิริยาการดึงสิ่งของ 

ส่วนคำว่า ซือ นั้น หมายถึง เส้น เส้นใย หรือเส้นที่มีความละเอียด 

เข้าใจว่า เหตุที่ป๋าซือมีชื่อเรียกรวมกันหมายถึงการดึงเส้น เช่นนี้ คงเป็นเพราะลักษณะของขนมชนิดนี้นั่นเอง  ป๋าซือส่วนใหญ่ทำมาจากผลไม้หรือผักที่ใช้ทานเป็นของหวานได้ เลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นได้หลายประเภท ที่พบเจอได้มากก็มีทั้งแอปเปิ้ล สับปะรด กล้วยหอม พุทรา เชอร์รี่ ส้ม แตงโม องุ่น แปะก๊วย มันหวาน และเผือก เป็นอาทิ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เกือบพอดีคำ

จากนั้น นำไปผ่านกรรมวิธีการคลุกเคล้ากับน้ำตาลที่ผัดหรือทอดกับน้ำมันจนเป็นคาราเมลข้นสีเหลืองทองออกแดง

การทำป๋าซือนี้ ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ ต้องใช้ฝีมืออยู่พอตัวเหมือนกัน เพราะมีวิธีการทำอยู่หลายแบบ แต่ว่าแต่ละแบบก็ต้องใช้ความพิถีพิถันและความคล่องแคล่วอยู่ไม่น้อย ทั้งการเลือกผลไม้ที่มีรสชาติเหมาะเจาะ บางชนิดต้องหวาน ในขณะที่บางชนิดต้องหวานอมเปรี้ยว เพื่อตัดรสกับน้ำตาลที่เคลือบไว้  นอกจากนี้ยังมีเทคนิคที่ต่างกันไป เช่นว่า ผลไม้บางชนิดต้องชุบแป้งหรือแป้งผสมกับไข่ก่อน จึงจะนำไปทำป๋าซือต่อได้ ในขณะที่ผักหรือผลไม้บางอย่าง ก็ไม่ควรผ่านขั้นตอนนี้ เพราะกลับจะทำให้เคลือบผิวได้ไม่ทั่ว

แม้แต่การเลือกน้ำตาล หากเลือกใช้ได้ลงตัว ก็จะยิ่งทวีความกลมกล่อมให้กับป๋าซือ และขั้นตอนที่สำคัญต่อมา คือการทอดน้ำตาลในน้ำมันในขณะที่มีอุณหภูมิกำลังพอเหมาะ ร้อนกำลังดี ไม่มากไปหรือน้อยไป ซึ่งการกะอุณหภูมิให้พอดีนั้น น่าจะถือเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความชำนาญพอควร และต้องทอดในระยะเวลาที่กำลังดีอีกเช่นกัน

บางสูตรยังต้องผสมน้ำลงไปในสัดส่วนที่ต้องกะให้ดี จึงจะได้เป็นคาราเมลที่เหนียวแต่ไม่ข้นจนเกินไป และต้องคอยจับตาดูการเปลี่ยนสีของน้ำตาลตลอดเวลา จึงจะรู้ว่าเมื่อไรที่ทอดได้พอดี พร้อมจะออกมาเป็นป๋าซือที่ประสบความสำเร็จได้แล้ว

เวลาที่ป๋าซือผ่านขั้นตอนจนครบถ้วนกระบวนความแล้ว จะออกมาเป็นชิ้นสีเหลืองอร่าม มันวาวล้อแสงไฟ จับกันไว้เป็นกลุ่มก้อน ส่วนมากจะเสิร์ฟกันเช่นนี้เลย  แต่ก็มีบางร้าน ที่โรยงาขาวงาดำเป็นลูกเล่นเพิ่มเสริมเติมเข้าไปอีกสักนิด

ส่วนการนำเสนอมาบนโต๊ะ ก็จะควงคู่มากับชามใบเล็กอีกใบที่ใส่น้ำเปล่าสะอาดไว้  น้ำเปล่าที่นำเสนอมาพร้อมกันนี้ ถือเป็นผู้ช่วยชั้นเอกในการรับประทานป๋าซือที่จะละเลยไปไม่ได้เลย เพราะด้วยความที่ป๋าซือมีความเหนียวหนึบของน้ำตาล เกาะกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เวลาดึงแต่ละชิ้นออกมา จะเกิดเป็นใยน้ำตาลเส้นบางบ้างหนาบ้าง แต่มีความเหนียวสูงตามติดออกมาด้วย เหตุนี้จึงเรียกขนมชนิดนี้ว่า การดึงเส้น ที่หมายถึงเส้นของน้ำตาลเหล่านี้นั่นเอง  พอดึงแต่ละชิ้นออกมาจากกันแล้ว วิธีที่จะหยุดเส้นเหล่านี้ไม่ให้โยงใยต่อไปได้ ก็คือการจุ่มลงไปในน้ำให้ทันท่วงที เพื่อให้เส้นใยน้ำตาลกลายเป็นเกล็ดแข็ง และแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

ตามติดด้วยขั้นตอนสำคัญที่สุด คือการลองลิ้มชิมรส กัดให้ถึงเนื้อในที่เป็นผลไม้ ผสมผสานกับความหวานแบบกรุบกรอบที่เคลือบอยู่ภายนอก เพื่อสัมผัสรสชาติความหวานแบบเฉพาะของป๋าซือ

และด้วยความที่น้ำตาลที่เคลือบไว้นี้ มีความเข้มข้นสูงมาก การทานป๋าซือจึงต้องทานตอนร้อนๆ ด้วยความเร็วสูง เพราะหากวางทิ้งไว้สักพัก พอน้ำตาลปะทะกับอากาศนานเข้า จะผูกสมัครรักใคร่เกาะเกี่ยวตัวเข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่น จนกลายเป็นก้อนน้ำตาลแข็งขนาดใหญ่ ที่แยกแต่ละชิ้นออกจากกันได้ยาก และเสียรสชาติที่ป๋าซือควรมีไปอย่างไม่สามารถเรียกให้หวนกลับคืนได้

แม้ว่าป๋าซือจะเป็นขนมหวานที่มีระดับความหวานจัดจ้านอย่างมาก แต่ในหลากหลายโอกาส ก็เป็นของหวานส่งท้ายมื้ออาหารที่ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ยังไม่นับรวมถึงเรื่องของความแปลกตา ที่ชวนให้ชาวต่างชาติสนอกสนใจลองชิมกันได้ไม่มากก็น้อย ล้อมวงร่วมกันดึงคนละชิ้นสองชิ้นให้หนุบหนับสนุกสนาน

ของหวานแบบป๋าซือ จึงเป็นหนึ่งในของหวานที่มีเอกลักษณ์น่าลิ้มลองบนโต๊ะอาหารของจีนในหลายต่อหลายที่มานานวันแล้วด้วยประการฉะนี้


ที่มา : คอลัมน์ "จากเมืองจีน" โดย จีระพร จีระนันทกิจ  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
3103  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: วัฒนธรรมชาวจีน เรื่อง อาหาร เมื่อ: 30 มีนาคม 2559 16:37:59

วัฒธรรมจีน
เรื่อง 'อาหาร'


เส้นหมี่   เส้นนี้มีดีที่ความขาวอร่อย

เรื่องของอาหารจานเส้น มีให้เห็นอยู่ในหลากหลายประเทศ ได้รับความนิยมมากบ้างน้อยบ้างว่ากันไป และส่วนใหญ่ก็จะมีสมาชิกในครอบครัวชาวเส้นมากหน้าหลายตา ให้ได้เลือกหาเลือกทานแม้ในประเทศเดียวกัน

อย่างที่ไทยเรา ก็มีทั้งก๋วยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยว เส้นเล็ก เส้นใหญ่ ไปจนถึงสารพัดหมี่ละลานตา และเมื่อเอ่ยถึงบรรดาสมาชิกชาวเส้นเช่นนี้ หลายครั้งหลายครา เราก็อาจจะงุนงงได้เล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้างว่าเส้นไหนมีชื่อเรียงเสียงเรียกว่าอย่างไรกันแน่

ทำให้ในบางครั้ง ถึงกับต้องมีการใส่รูปพรรณสัณฐานเติมเข้าไปให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นว่า บะหมี่เหลือง หรือเส้นหมี่ขาว เพื่อให้เป็นหลักประกันว่า เวลาสั่งอาหารแล้ว จะได้มาตามที่ต้องการ

ซึ่งพอพูดถึงเรื่องเส้นหมี่ ที่ส่วนใหญ่เราเรียกรวมๆ กันถึงเส้นยาวๆ ขนาดเส้นค่อนข้างละเอียด มีสีขาวขุ่น คุ้นหน้าคุ้นตานั้น อันที่จริงแล้วก็ถือเป็นสมาชิกชาวเส้นรายหนึ่งของตระกูลอาหารจานเส้นของจีนเช่นกัน

เส้นหมี่ชนิดนี้มีชื่อจริงในภาษาจีนกลางว่า หมีเฝิ่น แต่ด้วยความที่สมาชิกชาวเส้นของจีนเอง ก็มีมากหน้าหลายตา เลยชวนให้สลับสับสนกับเส้นอีกชนิดที่มีสีขาวเฉกเช่นเดียวกัน ที่เรียกว่า หมี่เซี่ยน ซึ่งชาวไทยส่วนใหญ่ที่ได้พบปะเจอะเจอกับเมนูที่ทำมาจากเส้นทั้งสองแบบนี้ ก็มักจะเรียกเป็นชื่อไทยๆ รวมกันไปว่าเส้นหมี่ทั้งคู่

คำว่า หมี ของหมีเฝิ่น กับคำว่า หมี่ ของหมี่เชี่ยน นั้น เป็นอักษรตัวเดียวกัน หมายถึง ข้าว เพียงแต่ด้วยหลักภาษา เมื่อประกบคู่กับคำหลัง จึงออกเสียงต่างกันไป ส่วนคำว่า เฝิ่น นั้นหมายถึงแป้ง ในขณะที่ เซี่ยน หมายถึง สิ่งที่เป็นเส้นยาวๆ ฟังจากชื่อแล้วจะว่าต่างก็ใช่ จะว่าคล้ายก็ไม่เชิง

เริ่มกันที่เส้นหมี่ขาว ที่ชาวเราเคยคุ้ยในไทยนั้นเป็นของที่ได้รับความนิยมทางตอนใต้ของจีนเป็นอย่างมาก เช่นที่กุ้ยหลินในกวางสี รวมไปถึงกวางตุ้งถิ่นที่มาของชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว พบเห็นเป็นได้ทั้งของว่างและอาหารอยู่ท้อง นำมาปรุงแต่งรสชาติได้หลายแบบ ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น

และด้วยความที่คะแนนนิยมสูงลิ่ว ทำให้เป็นมรดกด้านอาหารอีกหนึ่งอย่างที่ชาวจีนภาคนี้พกใส่กระเป๋าตระเวนไปในประเทศอื่น ยามโยกย้ายถิ่นฐานด้วย

นอกจากจะพบได้ในไทยแล้ว ในสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือเวียดนาม รวมไปถึงไชน่าทาวน์ในหลายประเทศ จึงมีให้ได้เห็นเป็นประจำเช่นกัน

ลักษณะเด่นของเส้นแบบนี้ อยู่ตรงที่แม้ว่าตัวเส้นจะบาง แต่มีความเหนียว หรือความยืดหยุ่นสูง ไม่ขาดง่าย และแม้แต่เส้นที่ผ่านการแปรรูปให้เป็นเส้นแบบแห้ง เพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาที่นานขึ้น ก็ยังคงคุณสมบัติดังกล่าวไว้ได้มากอยู่

ดังนั้น ไม่ว่าจะนำมาต้ม ผัด หรือ ทอด ก็ทำได้โดยไม่ขาดหรือเปื่อยง่าย คงรูปคงทรงได้ดี

หลายประเทศที่ได้รับถ่ายทอดวิธีการทำเส้นหมี่ไปด้วย ยังนำไปประยุกต์ดัดแปลง กลายเป็นของแต่งหรือของหลักในจาน จนหลายเมนูกลายเป็นเมนูท้องถิ่นไปเลยก็มี

นอกจากแบบละเอียดยิบแล้ว หมีเฝิ่นยังมีพี่น้องที่เป็นเส้นหนาขึ้นมาบ้างด้วย แต่ที่แพร่ออกนอกประเทศไปในแถบเอเชียส่วนมาก มักจะเป็นแบบเส้นถี่ละเอียด

สำหรับที่มาที่ไปของเส้นหมี่ขาวแบบนี้ แม้จะไม่มีประวัติที่ชัดเจนนัก แต่ก็เล่ากันว่า น่าจะมีมานานแสนนานแล้ว ตั้งแต่สองพันกว่าปีก่อน โดยเป็นผลผลิตการคิดค้นของชาวจีนทางเหนือ ที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ทางตอนใต้  เนื่องจากชาวจีนทางเหนือไม่คุ้นเคยกับการรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักแบบชาวจีนทางตอนใต้ แทนที่จะรับประทานข้าวตามธรรมดาเลยนำเอาข้าวมาผ่านกระบวนการ ทำให้กลายเป็นเส้นออกมาไว้ทานแทน นานวันเข้า แม้แต่ชาวจีนทางใต้เองก็ยังติดใจ

ส่วนหมี่เซี่ยน ซึ่งเป็นเส้นหมี่อีกแบบที่มีสีขาวเหมือนกัน แต่ต่างสายพันธุ์นั้น ก็เป็นหมี่ที่มีชื่อเสียงมาจากทางตอนใต้ด้วยเช่นเดียวกัน แต่เขยิบเข้าไปทางฝั่งตะวันตกอีกนิด ชิดมาทางฝั่งยูนนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชื่นชมเส้นหมี่แบบนี้มาก มีให้ทานได้แทบจะทั่วทุกมุม  แม้แต่อาหารขึ้นชื่อของมณฑล อย่างก๋วยเตี๋ยวที่ปรุงด้วยน้ำต้มกระดูกไก่ที่เดือดจัด จนเป็นเอกลักษณ์ที่ใครมาเยือนยูนนานจะต้องหาชิม ก็ยังใช้เส้นประเภทนี้ ซึ่งชาวไทยก็แปลชื่อกันออกมาได้ว่า เส้นหมี่ข้ามสะพาน จนนักท่องเที่ยวไทยรู้จักกันไปทั่ว

ลักษณะของเส้นหมี่เซี่ยนนี้ จะมีความหนาของตัวเส้นมากกว่าเส้นหมี่แบบแรกอยู่บ้าง เป็นเส้นกลมๆ สีขาวหรือขาวออกเหลืองนวลอ่อนๆ ตัวเส้นเหนียวนุ่มกำลังดี และก็มีพื้นเพที่ยาวนานเช่นเดียวกัน

ความต่างที่แบ่งแยกสายพันธุ์ของเส้นหมี่ทั้งสองประเภทได้ชัดเจนนั้น จะดูกันตรงที่ส่วนประกอบโดยหมี่เซี่ยนแบบหลังที่มีขนาดของเส้นใหญ่กว่านี้ จะมีส่วนผสมของปริมาณข้าวมากกว่า

ส่วนเส้นหมีเฝิ่น ที่เป็นเส้นถี่แบบแรก จะมีส่วนผสมของวัตถุดิบอื่นรวมอยู่ด้วยในปริมาณที่ไม่น้อย เช่น มันฝรั่ง

ด้วยความที่ส่วนประกอบต่างกัน รสสัมผัสของตัวเส้นจึงต่างกันไปด้วย โดยแม้ว่าต่างจะมีความเหนียวและนุ่ม แต่หมี่เซี่ยนจะให้ความรู้สึกได้ถึงตัวแป้งที่มีเนื้อมีหนัง ในขณะที่หมีเฝิ่นจะอ่อนนุ่มละมุนลิ้นมากกว่า

อย่างไรก็ดี ยังมีจุดที่น่าสังเกตอีกประการ ก็คือด้วยความที่เส้นหมี่ทั้งสองชนิดนี้คล้ายคลึงกันมาก ในหลายพื้นที่ของจีนเอง ที่เรียกปะปนกันไปก็มี

โดยนอกจากที่ยูนนานแล้ว บางที่ก็เรียกหมี่เซี่ยนว่าหมีเฝิ่นปนๆ กันไป  

หากจะว่าไปแล้ว แม้ว่าเส้นหมี่ของจีนจะแพร่หลายกระจายตัวออกสู่นอกประเทศอย่างค่อนข้างจะเงียบเชียบกว่าเมนูอื่นๆ แต่ก็บุกยึดพื้นที่ความอร่อยไว้ได้ไม่น้อย
อีกทั้งยังมีพัฒนาการที่ต่างกันไปในแต่ละที่

จึงกล่าวได้ว่า ถึงแม้จะเป็นแค่เส้นบางๆ แต่คุณค่าต่างๆ  รวมทั้งความอร่อยและความเป็นมานั้น ไม่ได้บางตามเส้นไปด้วยเลย


ที่มา : คอลัมน์ "จากเมืองจีน" โดย จีระพร จีระนันทกิจ  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
3104  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 29 มีนาคม 2559 12:45:12



ปางโปรดนางกีสาโคตมี (๑)

พระมหากรุณาแผ่ไปยังเวไนยสัตว์หาประมาณมิได้ ตลอดเวลา ๔๕ พรรษาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปสั่งสอนประชาชนให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามขีดความสามารถของแต่ละคน ผู้ที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลใดๆ ก็ได้รับประโยชน์ อย่างน้อยก็ละมิจฉาทิฐิที่เคยยึดมั่น หันมารับเอาไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต

พระพุทธรูปปางที่จะกล่าวถึงนี้ ถ้าเป็นหนังก็เป็นหนังชีวิตที่เศร้าสลด ดูไปน้ำตาไหลไป พอถึงตอนจบก็จะเช็ดน้ำตายิ้มด้วยความสุขกับตัวละครด้วย เพราะเป็นหนังแฮปปี้เอนดิ้งตามฟอร์มขอรับ เรื่องนั้นคือเรื่องนางกีสาโคตมี หรือ "กีสาเดอะสเลนเดอร์" ปานนั้นเชียว

นางเป็นกุลธิดาที่มีฐานะค่อนข้างยากจนแห่งเมืองสาวัตถี รูปร่างผอมบาง จึงได้นามว่า กีสาโคตมี (โคตมีผู้ผอมบาง) วันหนึ่งนางไปเดินเที่ยวในตลาด คล้ายตลาดนัดอะไรทำนองนั้น เห็นชายวัยกลางคนคนหนึ่งแต่งตัวภูมิฐานแต่ใบหน้าหม่นหมอง นั่งเฝ้ากองถ่านไฟกองใหญ่อยู่ในตลาดที่มีคนพลุกพล่าน

นางจึงเอ่ยถามว่า "คุณพ่อ คนอื่นเขาขายเสื้อผ้าบ้าง ผลไม้บ้าง ขนมบ้าง แต่คุณพ่อนั่งเฝ้ากองทองคำกองใหญ่ ทำท่ายังกับจะขายทองหรืออย่างไร"

ชายวัยกลางคนร้องขึ้นด้วยความดีใจว่า "หนูว่าอะไรนะ" เมื่อหญิงสาวทบทวนคำเดิม จึงร้องถามว่า "ทองอยู่ไหน หนู"

"อ้าว ก็ที่คุณพ่อนั่งเฝ้าอยู่นั่นไง" หญิงสาวร้องขึ้นบ้าง ด้วยความสงสัยเป็นกำลัง เกิดอะไรขึ้น อีตาคนนี้นั่งเฝ้าทองอยู่แท้ๆ ยังถามว่าทองอยู่ไหน นางจึงเข้าไปจับก้อนถ่านที่นางมองเห็นเป็นทองยกขึ้นให้ชายวัยกลางคนดู

ทันใดนั้น กองถ่านทั้งหมดได้กลับกลายเป็นทองดังเดิม ที่เรียกว่า "ดังเดิม" ก็เพราะแต่เดิมเป็นทองอยู่แล้ว ต่อมากลายเป็นถ่านดำมิดหมี

เรื่องราวมันมีอยู่ว่า เกิดเหตุการณ์ประหลาดกับเศรษฐีเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ทองคำทั้งหมดที่แกมีกลายเป็นถ่านหมด ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่เศรษฐีเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าเป็นกรรมเป็นเวรอะไรแต่ชาติปางก่อน เพื่อนๆ ได้ปลอบใจว่า อย่าได้เศร้าโศกเสียใจเลย นึกเสียว่าเป็นคราวเคราะห์ของเรา ขอให้ทำใจและอดทนไว้ บางทีเมื่อสิ้นเวรสิ้นกรรมแล้ว ทุกอย่างอาจกลับเหมือนเดิมก็ได้

เพื่อนคนหนึ่งเสนอว่า ลองเอาถ่านทั้งหมดนี้ไปกองไว้ที่ตลาด ทำท่าขายเหมือนขายของอื่น คอยดูซิว่าจะมีใครสักคนทักเป็นอย่างอื่นไหม ถ้าใครทักว่าเป็นทอง ก็ให้คนคนนั้นจับขึ้นมาดู เผื่อว่าถ่านเหล่านี้จะกลับกลายเป็นทองดังเดิม

เศรษฐีผู้ตกยากก็ทำตาม เพราะไม่มีทางเลือกอื่นดีกว่านี้แล้ว เขาขนถ่านไปกองไว้ที่ตลาด นั่งทำท่าเป็นพ่อค้าขายถ่านอยู่ดังได้กล่าวแล้ว เมื่อได้ยินหญิงสาวรูปร่างผอมบางเดินเข้ามาทักและเอามือหยิบถ่านขึ้นมา ถ่านนั้นได้กลับกลายเป็นทองเหมือนเดิมก็ดีใจปานได้แก้ว

เศรษฐีจึงถามไถ่ว่านางชื่อเสียงเรียงไร ลูกเต้าเหล่าใคร ครั้นแล้วก็ออกปากรับนางไปอยู่ด้วย ให้แต่งงานกับบุตรชายของตน ยกทรัพย์นั้นให้ทั้งหมด



ปางโปรดนางกีสาโคตมี (จบ)
เป็นอันว่านางกีสาโคตมี ได้กลายเป็นเถ้าแก่เนี้ยในที่สุด อยู่กับครอบครัวเศรษฐีอย่างผาสุก จนได้บุตรชายมาคนหนึ่ง น่าเกลียดน่าชัง ยังความปลาบปลื้มแก่นางและสามี แต่ความปลาบปลื้มก็อยู่ไม่ได้นาน บุตรชายผู้น่ารักของนางก็ป่วยและสิ้นชีวิตกะทันหัน

นางเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก มิไยเหล่าญาติมิตรจะปลอบโยนอย่างไรก็ไม่หาย ไม่กินไม่นอน นั่งซึมทั้งวัน ปากก็พร่ำว่า ลูกแม่เจ้าต้องไม่ตาย เจ้าหลับใช่ไหม เมื่อไหร่ลูกแม่จะตื่นไปแล้วครับ สติสตังไปแล้ว ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ยอมให้เขาเอาศพไปฝังหรือเผาตามประเพณี ยังคงอุ้มลูกน้อยเดินไปบ้านโน้นบ้านนี้ ถามว่าใครมียารักษาให้ลูกของนางฟื้นบ้างไหม

เมื่อคนเขาบอกว่าลูกของนางตายแล้วไม่มีทางฟื้นดอก นางจงเอาไปเผาหรือฝังตามประเพณีเถิด นางก็ตวาดเอา หาว่าสาปแช่งลูกของนาง ลูกของนางยังไม่ตาย เพียงสลบไปเท่านั้น ใครๆ ก็หาว่านางเป็นบ้าไปแล้ว จึงไม่ใส่ใจอีกต่อไป

วันหนึ่งอุบาสกคนหนึ่งเห็นนางอุ้มลูกพลางเอ่ยปากขอยารักษาพลาง ก็เกิดความสงสารกล่าวกับนางว่า "แม่หนู ไปที่พระ เชตวันสิจ๊ะ มีหมอยาที่เก่งอยู่ท่านหนึ่ง บางทีท่านอาจรักษาลูกแม่นางได้" แล้วก็บอกนามท่านไป

นางกีสาโคตมีดีใจ รีบอุ้มศพลูกชายตรงไปยังพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้ววางศพลูกชายแทบพระยุคลบาท กราบทูลว่า "ได้ข่าวว่า พระองค์ทรงรู้ยารักษาลูกชายของหม่อมฉัน ได้โปรดบอกด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราตถาคตรู้จัก เธอจงไปเอาเมล็ดพรรณผักกาดมาสักกำมือหนึ่ง เราตถาคตจะทำยาให้" นางดีใจ รีบอุ้มศพลูกจะไปหาเมล็ดพรรณผักกาด พระพุทธองค์ตรัสว่า "เมล็ดพันธุ์ผักกาดนี้ จะต้องเอาจากเรือนที่ไม่มีคนตายเท่านั้น จึงจะทำยาได้"

นางเข้าไปยังหมู่บ้าน ถามหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่เรือนแรก คนในเรือนก็หยิบมาให้ นางถามว่า "ที่บ้านนี้ เคยมีคนตายไหม ป้า"

คุณป้าทำหน้างง "ถามอะไรบ้าๆ ที่ไหนบ้าง ที่ไม่มีคนตาย สามีของป้าเพิ่งตายไปเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง" "ถ้าอย่างนั้นไม่เอา" นางกล่าวแล้วก็อุ้มลูกไปขอยังเรือนที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า...จนกระทั่งหมดทั้งหมู่บ้าน

ปรากฏว่านางไม่ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแม้แต่เมล็ดเดียว เพราะทุกหลังคาเรือนที่นางไปขอมีคนตายมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีหลังไหนที่ไม่เคยมีคนตายเลย นางจึง "ได้คิด" และ "คิดได้"

ได้คิดและคิดได้ว่า สรรพสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ล้วนต้องตาย อย่าว่าแต่ลูกชายของนางเลย นางเองก็ต้องตาย สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ต้องตาย ไม่มีใครอยูู่ค้ำฟ้า

ครับ หูตาสว่างขึ้นแล้ว เมื่อเกิดความรู้แจ้งด้วยตัวเองอย่างนี้ ทุกข์หนักอึ้งที่แบกอยู่ก็เบาอย่างน่าประหลาด นางฝังศพลูกชายแล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยใบหน้าของผู้ปลงตก

"ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดไหม" พระสุรเสียง ตรัสถามด้วยพระมหากรุณา

"ไม่ได้พระเจ้าข้า บัดนี้หม่อมฉันทราบแล้ว สรรพสัตว์ล้วนต้องตาย ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้"

พระพุทธเจ้าประทานสาธุุการ แล้วตรัสพระธรรมเทศนาย่อๆ ให้เธอสดับ จบพระธรรมเทศนา กีสาโคตมี ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วขอบวชเป็นภิกษุณีในสำนักภิกษุณีสงฆ์






ปางทรมานอุบาลีอุบาสก (๑)

บอกไว้ก่อน "ทรมาน" มาจาก ทมน=การข่ม, การฝึก "ทรมาน อุบาลีอุบาสก" ก็คือ ข่มให้อุบาลีรู้สำนึกและฝึกจิตใจอุบาลี หรือกลับใจอุบาลีนั้นเอง เห็นจะตรงกับคำ "ปะกิต" ว่า convert กระมัง อย่าได้เข้าใจไปว่า พระพุทธเจ้าทรงทรมานทรกรรมใครเป็นอันขาด

อุบาลี เป็นคหบดีผู้มั่งคั่ง เทียบสมัยนี้ก็เศรษฐีพันล้าน มีคฤหาสน์สามหลัง สามฤดูเชียวแหละครับ (อาจมากกว่านั้นก็ได้) อุบาลีเป็นสาวกคนสำคัญของศาสดามหาวีระ หรือที่ชาวพุทธเรียก "นิครนถ์ นาฏบุตร" ท่านมหาวีระ ถือเคร่งครัดไม่นุ่งห่มจีวร นุ่งลมห่มฟ้า ตามคติ "อัตตกิลมถานุโยค" (ประกอบเนืองๆ ซึ่งการทรมานกาย) เป็นศาสดาศาสนาเชน (หรือ ไชนะ)

แปลกแต่จริงก็คือ พวกเศรษฐีเงินหนามักจะ "ขึ้น" วัดพระเชน พระคุณเจ้าท่านไม่เอาเสื้อผ้าก็จริง แต่วัดท่านเอา ญาติโยมสร้างวัดให้อย่างหรูหราสวยงามมาก พวกเศรษฐีก็คงสบายใจที่ขึ้นวัดเชน เพราะไม่ต้องหาอะไรมาถวายพระ ลงทุนสร้างวัดงามๆ สักครั้งเดียวก็พอ (ไม่ต้องสะดุ้งว่าจะมีโทรศัพท์มาทวง "งวดบุญ" เมื่อใด ฮิฮิ)

แปลกแต่จริงอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าของเรากับพระมหาวีระไม่ค่อยมีข่าวว่าได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหรือโต้แย้งกันตรงๆ มีแต่ศิษย์ชั้นเอกของมหาวีระ หาญมาเชิญกับพระพุทธองค์ มากี่รายๆ ก็ถูกพระพุทธองค์ "ปราบ" เรียบ ดังกรณีอุบาลีนี้ก็เช่นกัน

อุบาลี หมายมั่นปั้นมือจะหักล้างพระพุทธองค์ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติจากมหาวีระ แต่มีสาวกผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งนามว่า ทีฆตปัสสี ห้ามไว้ เตือนว่า "พระสมณะโคดมนั้นมี "อาวัฏฏนีมนต์" (มนต์กลับใจ) ใครได้พูดคุยด้วย ถูกสมณะโคดมครอบหมด ท่านอย่าไปเลย เดี๋ยวก็ถูก "ดูด" เป็นสาวกเขา"

แต่อุบาลีก็ไม่ฟัง ทั้งมหาวีระก็สนับสนุน อุบาลีไปหาพระพุทธเจ้า โต้วาทะกันนานพอสมควร เรื่องโต้กันเกี่ยวกับ "หลักกรรม" (ซึ่งทางเชนใช้ศัพท์ว่า ทัณฑ์) อุบาลียืนยันว่า กายทัณฑ์ (กรรมทางกาย) สำคัญกว่า มโนทัณฑ์ (กรรมทางใจ) พระพุทธองค์ตรัสว่า มโนกรรมสำคัญกว่า

ในที่สุดอุบาลียอมจำนนด้วยเหตุผล จึงประกาศละทิ้งศาสนาเดิม ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระพุทธเจ้าตรัสปรามว่า "คหบดี คนที่มีชื่อเสียงอย่างท่าน จะทำอะไรขอให้คิดให้ดีก่อน"

"คิดดีแล้วพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ" อุบาลียืนยัน มิไยพระพุทธองค์จะตรัสถึงสามครั้ง ให้เขาคิดให้ดีก่อน เขาก็ยืนยันเจตนาเดิม

พระพุทธองค์จึงทรงรับเขาเป็นสาวก แล้วตรัสต่อไปว่า "อุบาลี บ้านเธอเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกนิครนถ์ ถึงเธอจะเป็นสาวกของเราแล้ว เธอก็จงสำคัญข้าวน้ำที่เคยถวายแก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิมเถิด"

ความหมายของประโยคหลังนี้ก็คือ เคยถวายข้าวน้ำแก่พวกเขาอย่างไร ก็จงถวายเหมือนเดิมเถิด แต่อุบาลีไม่ทำ รู้สึกจะเป็นธรรมดาของคนที่เปลี่ยนศาสนาใหม่นะครับ มักจะเคร่งครัดกว่าศาสนาเดิม อุบาลีนี้ก็เช่นกัน กลับถึงบ้าน สั่งคนเฝ้าคฤหาสน์เลยว่า "ห้ามพวกนิครนถ์ ไม่ว่าใครทั้งนั้น เข้ามาเป็นอันขาด"



ปางทรมานอุบาลีอุบาสก (จบ)
ทีฆตปัสสี ได้ข่าวว่าอุบาลีถูกพระพุทธเจ้าล้างสมองแล้ว ก็ตรงดิ่งไปหาศาสดามหาวีระต่อว่าต่อขาน "ข้าพเจ้าบอกแล้วว่า สมณโคดมมีมนต์กลับใจ ไม่ให้ส่งอุบาลีไปท่านก็ดื้อส่งไป ตอนนี้เป็นไง เขากลายเป็นสาวกของสมณโคดมไปแล้ว"

มหาวีระกล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้"
"เป็นไปไม่ได้ ก็ไปดูให้เห็นกะตาสิ" ทีฆตปัสสีกล่าว

มหาวีระจึงนุ่งสบงทรงจีวร เอ๊ย ประทานโทษ แก้ผ้าอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลานุ่งห่มผ้า รีบไปคฤหาสน์ของอุบาลี นายทวารไม่ยอมให้เข้า จึงร้องบอกว่า "นี่ข้ามหาวีระ อาจารย์ของอุบาลีเจ้านายเอ็ง ไปบอกว่าอาจารย์มาหา"

นายทวารหายไปพักหนึ่ง กลับมาเชิญมหาวีระเข้าไป พาไปนั่งที่ศาลากลางลานบ้าน ไม่พาขึ้นไปคฤหาสน์เหมือนทุกครั้ง มหาวีระรออยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ สักครู่อุบาลีก็เดินลงมาขึ้นไปบนศาลา ไม่ยกมือไหว้ดังเคย ขึ้นไปนั่งบนอาสนะสูงกว่า แล้วกล่าวขึ้นดุจคนไม่คุ้นเคยว่า "พระคุณเจ้า มีความประสงค์สิ่งใด"

"อุบาลี อย่าพูดอย่างนั้น นี่ศาสดาเจ้านะ"

"ท่านไม่ใช่ศาสดาของข้าพเจ้า ศาสดาของข้าพระเจ้าคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" อุบาลีพูดเสียงดังฟังชัด

ทำเอามหาวีระแทบกระอัก ร้องขึ้นเสียงดังว่า "เราน่าจะเชื่อ ทีฆตปัสสี ที่ไม่ให้ส่งเจ้าไปแต่แรก เจ้าถูกมนต์กลับใจของสมณโคดมจนได้"

"หามิได้ ท่านนิครนถ์ ข้าพเจ้ามิได้ถูกมนต์อะไรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งจริงด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงแนวทางดับทุกข์ได้จริง ต่างจากนักบวชอื่นๆ ที่มีแต่ราคาคุย"

"อุบาลี สมณโคดมมันมีดีอะไร เจ้าจึงไปหลงใหลปานนี้" อาจารย์ตัดพ้อ

"ฟังนะ ข้าพเจ้าจะกล่าวพระคุณของพระพุทธองค์ให้ท่านฟัง" อุบาลีกล่าว แล้วก็สวดสรรเสริญพระพุทธคุณ ๑๐๐ บท ทีละบท ทีละบท ด้วยเสียงก้องกังวาน

สวดไปได้ไม่ถึงครึ่ง มหาวีระก็ยกมือห้าม พอแล้วๆ แล้วก็กระอักโลหิตอุ่นๆ ออกจากปาก สานุศิษย์ต้องหามกลับวัด ว่ากันว่ามหาวีระได้ป่วยกระเสาะกระแสะตั้งแต่นั้น จนสิ้นชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน

อุบาลีอุบาสก เป็นคนมีความรู้ เมื่อมาเป็นพุทธศาสนิกแล้ว ก็ได้นำความรู้ของตนมารับใช้งานพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีตลอดอายุของท่าน

ข้อที่พึงสังเกตก็คือ พระพุทธเจ้ามิได้เป็น "ศาสดากระหายสาวก" คนมีชื่อเสียงขนาดอุบาลีมานับถือ ถ้าเป็นอาจารย์อื่นก็รีบรับแล้ว แต่พระองค์ตรัสเตือนให้คิดให้ดีก่อนจะทำอะไร นี้คือสปิริตที่น่าภูมิใจของพระพุทธศาสนา

ข้อสังเกตประการที่สอง พระพุทธคุณเท่าที่เราสวดกันมีอยู่ ๙ ประการ พระพุทธคุณ ๑๐๐ บท มีในที่นี้แห่งเดียว (เคยเขียนถึงในที่อื่นแล้ว ผู้สนใจพึงหาอ่านเอาเองเทอญ)  





ปางปราบจิญจมาณวิกา (๑)

เรื่องราวของพระพุทธรูปปางนี้ มีใน ชยมังคลอัฏฐกคาถา (คาถาว่าด้วยชัยมงคล ๘ ประการ ของพระพุทธเจ้า) ที่ท่านรวมไว้เป็นหนึ่งใน ๘ เหตุการณ์ คงเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก่อผลกระเทือนแก่วงการพระศาสนา มิใช่เฉพาะพระพุทธศาสนา หากรวมถึงศาสนาเดียรถีย์ที่เป็นตัวการวางแผนทำลายอันชั่วร้ายนี้ด้วย

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาแพร่หลายในชมพูทวีป ประชาชนจากทุกชั้นวรรณะได้หลั่งไหลเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์มากขึ้นตามลำดับ พระราชามหากษัตริย์ อาทิ พระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐ พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งโกศลรัฐ ต่างก็ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน

เหล่าเดียรถีย์ คือนักบวชนอกพระพุทธศาสนาซึ่งมีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาเชนก็ชักหวั่นไหว ศาสนาเชนที่ว่านี้คือพวกที่ถือเคร่งครัดถึงขนาดเปลือยกายเลยแหละ ขอรับ อ้างว่าเสื้อผ้าเป็นเครื่องหมายแห่งการยึดมั่นถือมั่น ผู้ไม่มีกิเลสต้องไม่นุ่งห่มผ้า (ถ้าถืออย่างนี้ พวกนู้ด พวกสายเดี่ยว ก็เฉียดๆ อรหันต์แล้วสิ ขอรับ) ศาสนาพิลึกๆ อย่างนี้ก็มีผู้เคารพนับถือนะครับ มีมากเสียด้วย

พวกเขาประชุมลับกันว่า จะทำอย่างไรดีศาสนาพระสมณะโคดมกำลังรุ่งเรืองได้รับอุปถัมภ์อย่างดีจากพระเจ้าปเสนทิโกศล ลาภ สักการะของพวกเรากำลังเสื่อมถอย รายได้เดือนละหลายหมื่นก็หดหายไปทุกที สาวกที่เข้าวัดเป็นแสนๆ ก็ลดน้อยลงทุกที ในที่สุดก็วางแผนลับกัน ให้สาวิกานามว่าจิญจมาณวิกา เป็นผู้ดำเนินการทำลายพระพุทธเจ้าของชาวพุทธ

จิญจมาณวิกา หรือเรียกสั้นๆ ว่า จิญจา เธอเป็นหญิงฉลาด รับแผนจากพระคุณเจ้าที่ตนเคารพมา ก็เริ่มสร้างความแคลงใจในหมู่สาวกของพระพุทธเจ้าทันที เวลาคนเขาออกนอกเมืองตอนเเช้า อีก็เดินเข้าเมือง เวลาคนเขาเข้าเมืองตอนเย็น อีก็เดินออกนอกเมือง

เมื่อคนเขาถามว่า เจ้าไปไหน ก็จะตอบว่า "เรื่องของข้า" เมื่อถูกถามบ่อยเข้า ก็ค่อยแย้มทีละนิดว่า "ข้าก็มาจากบ้านข้าน่ะสิ"
"บ้านเจ้าอยู่ที่ไหน ทำไมเดินออกนอกเมือง"
"ก็บ้านข้าอยู่นอกเมืองนี่จ๊ะ"
"นอกเมืองน่ะ อยู่ที่ไหน"
"พระศาสดาของท่านอยู่ที่ไหนล่ะ" นางจิญจาย้อนถาม
"อยู่พระเชตวัน นอกเมือง เกี่ยวอะไรกับเจ้าด้วย"

"ไม่เกี่ยวดอก เห็นพวกท่านถามว่าข้าอยู่ที่ไหน ก็เลยถามพวกท่านว่าพระศาสดาของพวกท่านอยู่ที่ไหน" จิญจาตอบกวนๆ พลาง หัวร่อกิ๊กๆ

"หรือว่า เจ้าอยู่ที่พระเชตวัน" ใครคนหนึ่งโพล่งขึ้น



ปางปราบจิญจมาณวิกา (จบ)

"แม่นแล้ว ข้าอยู่กับศาสดาของพวกเจ้า" จิญจารับสมอ้าง สร้างความมึนงงสงสัยแก่ประชาชน เป็นจำนวนมาก

กาลเวลาผ่านไปตามลำดับ นางใจบาปก็เอาท่อนไม้มาผูกท้องเอาผ้าพันทำทีว่าตั้งครรภ์ ท้องก็ค่อยโตขึ้นตามกาลเวลา ถึงตอนนี้เสียงลือในทางอกุศลก็แพร่ไปไกล พวกที่เป็นพาลโง่เขลาก็พากันเชื่อ ยกเว้นเหล่าบัณฑิตผู้ตั้งอยู่ในธรรมเท่านั้นที่ไม่เชื่อและไม่หวั่นไหวไปตามกระแส

วันหนึ่ง ขณะพระพุทธองค์ประทับแสดงพระธรรมเทศนาท่ามกลางพุทธบริษัทหมู่ใหญ่ที่พระเชตวันมหาวิหาร นางจิญจาอุ้มท้องเดินอุ้ยอ้ายเข้าไป กล่าวเสียงดังฟังชัดว่า "เสด็จพี่ มัวแต่แสดงธรรมอยู่นั่นแหละ ภริยาท้องแก่จวนคลอดแล้ว ไม่ฝากให้ลูกศิษย์ดูแลบ้าง จะฝากนางวิสาขาหรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็รีบๆ จัดการเสียเถอะค่ะ"

ประชาชนส่งเสียงฮือยังกับผึ้งแตกรัง พระพุทธองค์ประทับนิ่งเฉย หันไปตรัสกับนางได้ยินไปทั่วว่า

"น้องหญิง คำที่เจ้าพูด จริงหรือเท็จ เรากับเจ้าเท่านั้นที่รู้"
"ก็ใช่สิเจ้าคะ เรื่องในมุ้ง ใครเขาจะมารู้ด้วยเล่า" นางรับสมอ้างทันที

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาต่อ ไม่สนพระทัยนางอีกต่อไป ทำให้นางโกรธหนักขึ้น เต้นดุจเจ้าเข้า ส่งเสียงโหวกเหวกๆ ทำลายสมาธิของผู้ฟัง จะเต้นแรงไปหรือเปล่าไม่ทราบ ท่อนไม้ที่ผูกกับพุงหลุดลงมา (ในตำราว่า พระอินทร์ทนเห็นนางทำชั่วต่อไปไม่ไหว จึงแปลงเป็นหนูไต่ขึ้นไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้หลุดลงมา ว่าอย่างนั้น) แผนการเลยแตก ประชาชนจึงฮือไล่

นางวิ่งหนีตายออกจากพระเชตวัน พอออกมานอกประตูวัด แผ่นดินก็แยกเป็นช่องใหญ่สูบนางหายไปต่อหน้าต่อตาประชาชนเป็นที่สยดสยอง จิญจมาณวิกาผู้ใจบาปหยาบช้าก็จบชีวิตลงด้วยประการฉะนี้

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้สืบหาต้นตอผู้วางแผนทำลายอันชั่วร้ายนี้ ผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าตัวการก็คือนักบวชแห่งศาสนาแก้ผ้าจำนวนหนึ่ง จึงสั่งจับมาลงโทษตามกระบิลเมืองในที่สุด





ปางปราบเดียรถีย์ (๑)

เดียรถีย์สำนักเดิมครับ หลังจากเหตุการณ์นางจิญจมาณวิกาถูกส่งไปทำลายชื่อเสียงพระพุทธองค์แพ้ภัยตนเอง ถูกแผ่นดินสูบตายอย่างอนาถผ่านไปนานพอสมควรจนคนเกือบลืมกันหมดแล้ว เหล่าเดียรถีย์ก็ยังไม่เข็ด วางแผนทำลายอีก คราวนี้คิดว่าเป็นแผนเด็ด

พวกเขาได้ฆ่าสาวิกานางหนึ่งนามว่า สุนทรี แล้วลากศพไปทิ้งไว้ข้างพระเชตวันมหาวิหาร จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ผู้ร้ายมิได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย คดีทำท่าจะมืดมนจับฆาตกรไม่ได้

เหล่าเดียรถีย์ตัวการก็ตายใจ ยิ้มย่องผ่องใส เพราะมีเสียงลือว่าสมณะศากยบุตรลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งฆ่านางสุนทรี จึงพากันไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล ว่า สาวิกาของพวกตนถูกฆ่าหน้าพระเชตวันของสมณะศากยบุตรหลายวันแล้ว ขอได้โปรดรีบเร่งดำเนินการเอาตัวฆาตกรมาลงโทษให้ทีเถอะ

"ที่ล่าช้าอยู่ เพราะเกรงใจพระสมณโคดมหรืออย่างไร" เสียงเดียรถีย์ดังออกมาอย่างนี้

ประชาชนที่โง่เขลาขาดวิจารณญาณจำนวนมากเชื่อว่าการตายของนางสุนทรีเกี่ยวพันกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแน่นอน อาจมาจากความแค้นครั้งก่อนก็ได้ แค้นที่พระศาสดาของพวกตนถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ร้าย คราวนี้จึงเล่นงานสาวิกาของศาสดามหาวีระ (นริครน์ นาฏบุตร)

"พวกสมณะศากยบุตรนี่อาฆาตมาดร้ายเหลือเกิน คราวก่อนโน้น จิญจาเธอมีความแค้นส่วนตัวกับพระสมณะโคดม พวกเราไม่เกี่ยวเลย บ้านเมืองก็มิได้สอบสวนอย่างยุติธรรม จับพระเราไปฆ่าตั้งหลายองค์ เรายังไม่โกรธเลย แต่สมณะศากยบุตร ลูกศิษย์พระสมณะโคดมกลับไม่หายแค้น คราวนี้เล่นงานสีกาของพวกเราถึงตายเลย ช่างทารุณแท้" เหล่าเดียรถีย์ปล่อยข่าวเช่นนี้ล่องลอยไปไกล

พระสาวกทั้งหลายได้ยินข่าวลือนั้น จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลให้ทรงทราบพระองค์ตรัสพระคาถาว่า

"คนพูดเท็จเสมอ หนึ่ง คนที่ทำแล้วพูดว่า "ฉันไม่ได้ทำ" หนึ่ง
สองคนนี้ ตกนรกเหมือนกัน
สองคนนี้ ชั่วพอๆ กัน
มีคติเสมอกัน ในโลกหน้า"

สรุปก็คือ คนพูดเท็จประจำ คนที่ทำแล้วพูดหน้าตาเฉยว่าฉันเปล่า ชั่วพอกัน ตายไปแล้วตกนรกเหมือนกัน



ปางปราบเดียรถีย์ (จบ)

พระพุทธองค์ตรัสเป็นนัยว่า พวกเดียรถีย์นั้นสั่งฆ่าสาวิกาตนเองแล้ว พูดว่าตนมิได้ทำแต่ป้ายความผิดให้คนอื่นที่ไม่รู้เห็นด้วย แถมยังพูดเท็จ เที่ยวใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นอีก ตกนรกแน่นอน

เรื่องใหญ่ถึงปานนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้ปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด ทรงถือเอาเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะสร้าง ความกระจ่างโปร่งใสให้เกิดแก่พสกนิกรของพระองค์ มิปล่อยให้ลัทธิศาสนาใดในพระราชอาณาจักรของพระองค์ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม ไม่เฉพาะกับพระพุทธศาสนา กับศาสนาอื่นพระองค์ก็ทรงให้ความเป็นธรรมเหมือนกัน แม้ว่าพระองค์จะเป็นพุทธศาสนิกก็ตาม นี้คือแบบอย่างของผู้ปกครองที่ดีครับ

พระองค์รับสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปสืบหาความจริงให้ได้ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ก็จับนักเลงสุราจำนวนหนึ่งได้ นักเลงสุราเหล่านี้รับค่าจ้างหลังจากทำงานเสร็จก็ไปเลี้ยงฉลองกันอย่างสนุกสนาน สนุกเกินไปหรืออย่างไรไม่ทราบเกิดทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นลงมือตบต่อยทุบตีกันต้องห้ามกันพัลวัน

"เอ็งรู้ไหม อีนางสุนทรีถูกกูทุบทีเดียวม่อยกระรอกเลย" คนหนึ่งคุยโม้ ลิ้นไก่ เริ่มสั้น
"ใครว่า กูต่างหากที่ตีมันก่อน" อีกคนเถียง ลิ้นไก่พอๆ กัน
"ไอ้สองคนนี่ อย่างนี้ทุกที พองานเสร็จมักรับสมอ้างเป็นของตัว ข้าต่างหากเว้นที่ตีอีนังหนูนั่น ทีเดียวดับ"

เจ้าหน้าที่แอบฟังอยู่แล้ว ก็กรูกันออกมาจับนักเลงสุราสามสี่คนนั้นไปหาพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาทรงสอบปากคำด้วยพระองค์เอง พวกนั้นรับเป็นสัตย์ว่าพวกตนเป็นคนฆ่าสุนทรี (ใครลงมือก่อนหลัง ก็มีโทษพอกัน) แถมซัดผู้บงการอีกด้วย นักโทษเหล่านั้นถูกประหารชีวิตตามระเบียบ

ส่วนเหล่าเดียรถีย์ผู้บงการจำนวนหนึ่งถูกจับ มีพระบรมราชโองการให้แห่ประจานทัณฑ์รอบพระนคร ให้ประกาศว่า "พวกข้าพเจ้าเป็นคนสั่งฆ่านางสุนทรีเอง แล้วเอาศพไปโยนข้างพระเชตวัน ใส่ร้ายพระสมณะศากยบุตร"

ในตำรามิได้บอกว่า เดียรถีย์พวกนี้ถูกประหารชีวิต แต่วิธีสั่งให้เดินประจานตัวเองว่า "พวกข้าเลวๆ" ก็เป็นการทำโทษที่หนักหนาสาหัสทีเดียว ไม่ถูกฆ่า แต่ก็ตายทั้งเป็น ชื่อเน่าเหม็นเป็นที่ "ขี้เดียด" ของประชาชนตลอดไป ปานนั้นเชียว



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3105  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดเนรมิตวิปัสสนา อ.ด่านซ้าย จ.เลย เมื่อ: 28 มีนาคม 2559 15:10:54




สถาปัตยกรรมที่มีความวิจิตรตระการตา ของวัดเนรมิตวิปัสสนา

วัดเนรมิตวิปัสสนา
บ้านนายูง ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย


วัดเนรมิตวิปัสสนา เดิมชื่อ วัดหัวนายูง  ตั้งอยู่ห่างจากเทศบาลตำบลศรีสองรัก ประมาณ 800 เมตร  บนเนินเขาในท้องที่บ้านนายูง ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
 
ในอดีตบริเวณบ้านหัวนายูงเป็นป่าไม้ทึบ และมีหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า “หนองใหญ่” มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดอยู่อาศัย เช่น เก้ง กวาง รวมถึง ‘นกยูง’ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก   ป่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับเป็นพื้นที่ราบ ทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามาทำนาและตั้งถิ่นฐานทำมาหากินจนถึงปัจจุบัน  

คำว่า หัวนายูง มาจากการผสมกันของคำว่า หัวนา หมายถึง ที่ตั้งต้นของทุ่งนา และยูง หมายถึง นกยูง ดังนั้น บ้านหัวนายูง หมายถึง หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณที่นกยูงลงมากินข้าวในนา

วัดเนรมิตวิปัสสนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 โดยพระครูภาวนาวิสุทธิญาน (หลวงพ่อมหาพันธ์ สีลวิสุมโธ)

ขณะหลวงพ่อมหาพันธ์ สิลวิสุทโธ พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดจำปา จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิด ท่านได้ปรารภในที่ประชุมสงฆ์ว่า ท่านจะออกธุดงค์เดินทางไปเรื่อยไม่พำนักเป็นหลักแหล่งถาวรแต่ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า หลวงพ่อมีอายุมากเกรงว่าจะได้รับความลำบาก อยากให้ท่านมีที่พำนักถาวร จะได้เป็นที่อาศัยเป็นเนื้อนาบุญแก่ญาติโยมทั้งหลายซึ่งหลวงพ่อเองก็เห็นชอบด้วย ในเดือนมกราคม พ.ศ.2522 หลวงพ่อเป็นประธานออกเดินธุดงค์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ตัดสินใจหาสถานที่เป็นหลักแหล่งมั่นคงถาวร โดยเลือกเอาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติซึ่งถูกชาวบ้านบุกรุกเพื่อทำไร่เผาถ่านจนมีลักษณะเป็นที่โล่งเตียนเหมือนภูเขาหัวโล้น ที่เรียกว่า ภูเปือย ซึ่งทางวัดได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยได้เมื่อตั้งวัดขึ้นจึงได้ปลูกป่าอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมมากที่สุด เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2522 หลวงพ่อและคณะได้ปักกลดอยู่ ณ ที่ตั้งวัด พร้อมกับเร่งดำเนินการปลูกสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวขึ้น จากนั้นจึงทำการปรับพื้นที่ปลูกสร้างถาวรวัตถุและในปีพ.ศ. 2529

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2540 หลวงพ่อท่านได้ มรณภาพภาพลง แต่ร่างของท่านไม่เน่าเปื่อย ปัจจุบันถูกเก็บอยู่ในมณฑปด้านหลังอุโบสถ หลังจากที่หลวงพ่อมรณภาพลง พระครูภาวนาวิสุทธาภรณ์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้รับเป็นประธานดำเนินการก่อสร้างต่อ พร้อมด้วยบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ พระภิกษุสามเณร ข้าราชการ ทหารตำรวจ พ่อค้าและประชาชนชาวอำเภอด่านซ้าย ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 197 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 14 ปี จึงแล้วเสร็จต่อมาในปีพ.ศ. 2549 วัดหัวนายูง เปลี่ยนชื่อเป็น วัดเนรมิตวิปัสสนา







พระครูภาวนาวิสุทธิญาณ (หลวงพ่อมหาพันธ์ สีลวิสุมโธ)

พระครูภาวนาวิสุทธิญาณ (หลวงพ่อมหาพันธ์ สีลวิสุมโธ) เดิมชื่อ "พันธ์" เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2464 ณ บ้านหนองเหล็ก อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ มีชาติกำเนิดในสกุล "สุขเป็ง" เป็นครอบครัวชาวนา

อุปสมบทเมื่อ ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2487 ที่วัดเหนือ บ้านรัตนบุรี ได้ฉายา "สีลวิสุทโธ" แล้วจึงมาจำพรรษาอยู่ที่วัดจำปา บ้านหนองเหล็ก ตำบลหนองบัวทอง อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือ ท่านยังสามารถใช้ภาษาลาว ส่วย เขมร ขอม ได้ดีอีกด้วย ครูคนแรกที่สอนท่านคือ พระอาจารย์อ่อนศรี เจ้าอาวาสวัดจำปานั่นเอง ท่านเป็นคนที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยว ทำอะไรทำจริง มิได้ย่อท้อต่อความยากลำบาก มีลักษณะเป็นผู้นำมาตั้งแต่อายุยังน้อย ชอบเอาชนะคำดูหมิ่น ท่านสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 4 ประโยค ตั้งแต่พรรษายังน้อย แต่สุดท้ายท่านตัดสินใจเบนเข็มมุ่งสู่การปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฎฐานเพื่อความหลุดพ้นแต่เพียงอย่างเดียว ท่านพยายามเสาะหาอาจารย์ที่มีความสามารถ จนสุดท้ายได้มาฝากตัวเป็นศิษย์ท่านพระครูสังวรสมาธิวัตร (ประเดิม โกมโล) เจ้าอาวาสวัดเพลิงวิปัสสนา กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2506 จนได้เป็นศิษย์เอกของท่านพระครู

หลวงพ่อธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ เป็นเวลาร่วม 20 ปี ท่านเคยธุดงค์ไปที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์ ฯลฯ  ท่านกลับมาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดเพลิงวิปัสสนาอยู่สองปีจนได้เป็นพระวิปัสสนาจารย์  ทางมหาเถระสมาคมแต่งตั้งให้ท่านเป็นกรรมการสายวิปัสสนากัมมัฎฐาน จนมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วประเทศ

เมื่อท่านจาริกธุดงค์มาที่จังหวัดเลย เมื่อ พ.ศ.2521 ท่านได้สร้างวัดเนรมิตวิปัสสนา อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นงดงาม มีศาลาการเปรียญและอุโบสถขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงถึง 200 ล้านบาทจนเป็นศาสนสถานที่สวยงามและมีชื่อเสียงของจังหวัด
 
ในด้านปฏิบัติท่านเป็นพระวิปัสสนาจารย์ ท่านสามารถบรรยายธรรมชั้นสูงให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ไม่ผิดจากหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์หลวงพ่อพระมหาพันธ์มรณะภาพด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2541 รวมอายุได้ 76 ปี






พระอุโบสถขนาดใหญ่ กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร
ผนังโดยรอบพระอุโบสถก่อสร้างจากศิลาแลง




ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง เป็นพระประธานประจำอุโบสถ


ภาพจิตรกรรมที่สวยงามภายในพระอุโบสถ 1


ภาพจิตรกรรมที่สวยงามภายในพระอุโบสถ 2


ภาพจิตรกรรมที่สวยงามภายในพระอุโบสถ 3


ภาพจิตรกรรมที่สวยงามภายในพระอุโบสถ 4


ภาพจิตรกรรมที่สวยงามภายในพระอุโบสถ 5




พื้นที่โดยรอบอารามแห่งนี้ มีการจัดแต่งสวนและปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่
ให้ความร่มรื่นสวยงามแก่ผู้มาเยือน

3106  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ มัลเบอร์รี่เค็ก...หอมนุ่มนวล เมื่อ: 27 มีนาคม 2559 17:53:06





มัลเบอร์รี่เค้ก

• ส่วนผสม
- แป้งเค้ก 200 กรัม
- ไข่ไก่ (เบอร์ 1)  6 ฟอง
- ผงฟู 2 ช้อนชา
- เกลือป่น ¼  ช้อนชา
- เนยสดละลาย 80 กรัม
- นมสด ¼ ถ้วย
- sp 1 ช้อนโต๊ะ
- กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา
- มัลเบอร์รี่ท๊อปปิ้ง (แยมมัลเบอร์รี่) 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทรายละเอียด 1 ถ้วยตวง (ตักออก 1 ช้อนโต๊ะ)  


• วิธีทำ
1. ร่อนแป้งเค้ก ผงฟู เกลือป่น เข้าด้วยกัน
2. นำแป้งเค้กร่อนแล้วใส่โถปั่น ใส่น้ำตาลทราย ไข่ไก่ นมสด sp และกลิ่นวานิลลา
    ตีด้วยความเร็วต่ำสุดเพื่อไม่ให้แป้งฟุ้งกระจาย แล้วค่อย ๆ เร่งความเร็วจนถึงระดับสูงสุดของเครื่อง
    ตีนาน 3 นาที ปิดเครื่อง แล้วปาดเค้กจากด้านล่างของโถปั่นขึ้นมาด้านบน  
3. ตีต่อด้วยความเร็วสูงสุด 2 นาที  ปิดเครื่อง
4. ใส่มัลเบอร์ท็อปปิ้ง (ใช้ช้อนยีให้ผลมัลเบอร์รี่แตกเป็นชิ้นเล็กๆ เสียก่อน) ตีด้วยความเร็วต่ำสุดพอเข้ากัน
5. ค่อยๆ ใส่เนยสดละลาย ตีด้วยความเร็วต่ำสุดพอเข้ากัน
6. ตักส่วนผสมแป้งใส่ถาดอบ รองด้วยกระดาษไข  
7. นำไปอบจนสุก แกะออกจากพิมพ์ พักไว้ให้เย็นสนิท จึงแต่งหน้าด้วยครีมนมสดและมัลเบอร์รี่ท๊อปปิ้ง
* สูตรส่วนผสมนี้ทำเค็กได้ 4 ปอนด์


• วิธีตีครีมนมสด
- ผสมครีมนมสดแช่เย็นจัด 400 กรัม กับน้ำตาลไอซิ่งร่อนแล้ว 1 ช้อนโต๊ะ ตีด้วยความเร็วปานกลางจนขึ้นฟูขาวเต็มที่
นำไปแต่งหน้าเค็ก





ส่วนผสมของ แป้งเค้กร่อนแล้ว น้ำตาลทราย ไข่ไก่ นมสด sp และกลิ่นวานิลลา


ตีด้วยความเร็วต่ำสุดเพื่อไม่ให้แป้งฟุ้งกระจาย แล้วค่อย ๆ เร่งความเร็วจนถึงระดับสูงสุดของเครื่อง
ตีนาน 3 นาที ปิดเครื่อง


ใช้พายยางปาดเนื้อเค้กจากด้านล่างของโถปั่นขึ้นมาด้านบน เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน  
แล้วตีต่อด้วยความเร็วสูงสุดของเครื่อง อีก 2 นาที


ตักแยมมัลเบอร์รี่ 2 ช้อนโต๊ะ ใช้ช้อนกดให้ผลมัลเบอร์รี่้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ


ตักแยมมัลเบอร์รี่ใส่ในโถปั่น


ตีด้วยความเร็วต่ำสุดพอเข้ากัน


ตามด้วยเนยสดละลาย ตีด้วยความเร็วต่ำสุดพอเข้ากัน


ตักใส่พิมพ์ (ที่รองกระดาษไข ทาเนยขาว ใส่แป้งเค็ก แล้วเคาะให้นวลแป้งติดทั่วถาด)
ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นเกลี่ยเนื้อเค็กวนไปมาให้เสมอกัน


นำเข้าเตาอบจนสุก


แกะออกจากพิมพ์ โดยคว่ำหน้าเค็กลงไปที่ตะแกรงโปร่ง
ลอกกระดาษไขรองเค็กทิ้ง


แล้วหงายชิ้นเค็กขึ้น...พักไว้ให้เย็นสนิท


สไลด์เค้กแบ่งเป็น 2 ชิ้น




ตักบลูเบอร์รี่ฟิลลิ่งใส่ลงไป แล้วเกลี่ยให้ทั่ว


นำเค้กอีกชิ้นมาประกอบให้สนิท






ด้านข้างและด้านบนตกแต่งด้วยครีมนมสด ปาดให้เรียบ


ราดทับด้านบนด้วยมัลเบอร์รี่ท๊อปปิ้ง...เป็นอันเสร็จเรียบร้อย





3107  นั่งเล่นหลังสวน / ลานกว้าง (มุมดูคลิป) / เปิดโปง!! ความลับของน้องลิง เมื่อ: 26 มีนาคม 2559 13:37:20

เปิดโปง!! ความลับของน้องลิง


เปิดโปง!! ความลับของน้องลิง
3108  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / พระปริตรธรรม ๑๒ ตำนาน เมื่อ: 25 มีนาคม 2559 16:08:26


พระปริตรธรรม ๑๒ ตำนาน
พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง
แปล

คำบาลีในบทสวดมนต์นี้แตกต่างจากหนังสือบทสวดมนต์ทั่วไปในบางแห่ง เนื่องจากผู้แปลได้นำพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ มาเทียบเคียงกัน มีฉบับไทย ฉบับสิงหล และฉบับฉัฏฐสังคีติ (ฉบับสังคายนาครั้งที่ ๖) ที่พระเถระนิกายเถรวาท ๕ ประเทศ คือ ไทย พม่า ลังกา ลาว และเขมร ได้ร่วมกันสังคายนาที่ประเทศสหภาพพม่าในพุทธศักราช ๒๕๐๐ แล้วเลือกใช้คำบาลีที่ผู้แปลเห็นว่าถูกต้องตามหลักภาษา

คัมภีร์แปลและคำอธิบายที่ผู้แปลใช้เทียบเคียงในการแปล คือ
๑.คัมภีร์อรรถกถา ในส่วนที่อธิบายพระปริตรนั้นๆ
๒.ปริตตฎีกา พระเตโชทีปะ แต่งในสมัยอังวะ พุทธศักราช ๒๑๕๓
๓.พระปริตรแปลภาษาพม่า ฉบับแปลใหม่ พระวาเสฏฐาภิวงศ์ แต่งในพุทธศักราช ๒๕๐๕
๔.ธรรมจักรเทศนา พระโสภณมหาเถระ (มหาสียสาดอ) แต่งในพุทธศักราช ๒๕๐๕
๕.สวดมนต์เจ็ดตำนาน ฉบับกองทัพอากาศ นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง แต่งในพุทธศักราช ๒๕๓๘
๖.อานุภาพพระปริตต์ อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ แต่งในพุทธศักราช ๒๕๑๗

นอกจากคำแปลพระปริตรแล้วผู้แปลยังได้เขียนประวัติความเป็นมาของพระปริตรนั้นๆ โดยนำข้อความมาจากคัมภีร์อรรถกถาตามสมควร และในบทสุดท้ายมีบทสวดธรรมจักร และคำแปลพร้อมทั้งประวัติความเป็นมาด้วย และขอขอบคุณอาจารย์สันติ เมตตาประเสริฐ ที่ช่วยขัดเกลาคำแปลให้สละสลวย


ประวัติพระปริตร
พระปริตร แปลว่าเครื่องคุ้มครอง คือป้องกันอันตรายภายนอก มีโจร ยักษ์ สัตว์เดรัจฉาน และป้องกันอันตรายภายใน มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นต้น อานิสงส์ที่ได้รับจากการสวดพระปริตรนี้ บังเกิดขึ้นจากอานุภาพของพระรัตนตรัยและเป็นผลของการเจริญเมตตาภาวนา เพราะพระปริตรกล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัยและการเจริญเมตตาเป็นหลัก  ดังนั้น ผู้หมั่นสาธยายพระปริตรจึงได้รับผลานิสงส์ต่างๆ เช่น ประสบความสวัสดี ความเจริญรุ่งเรือง ได้รับชัยชนะ แคล้วคลาดจากอุปสรรคอันตราย มีสุขภาพอนามัยดี และมีอายุยืน ดังพระพุทธดำรัสว่า

“เธอจงเจริญพุทธานุสสติภาวนาที่ยอดเยี่ยมในภาวนาธรรม เพราะผู้เจริญภาวนานี้จะสมหวังดังมโนรถ”

“อมนุษย์ที่ต้องการจะทำร้ายผู้เจริญเมตตา ย่อมประสบภัยพิบัติเอง เหมือนคนที่ใช้มือจับหอกคม ย่อมได้รับอันตรายจากการจับหอกนั้น”


ประโยชน์ในปัจจุบัน
ในคัมภีร์อรรถกถาพบเรื่องอานุภาพพระปริตรสามารถคุ้มครองผู้สวดได้ เช่นเรื่องพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทอง พระองค์ได้หมั่นสาธยายโมรปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้า ทำให้แคล้วคลาดจากบ่วงที่นายพรานดักไว้ และเรื่องในสมัยพุทธกาล มีภิกษุห้าร้อยรูปไปเจริญภาวนาในป่า ได้ถูกเทวดารบกวนจนกระทั่งปฏิบัติธรรมไม่ได้ ต้องเดินทางกลับเมืองสาวัตถี ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเมตตปริตร ที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา ครั้นภิกษุเหล่านั้นหมั่นเจริญเมตตาภาวนา เทวดาจึงมีไมตรีจิตตอบด้วยและช่วยพิทักษ์คุ้มครองให้ภิกษุเหล่านั้นปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก

นอกจากนี้แล้ว อานุภาพพระปริตรยังสามารถคุ้มครองผู้ฟังได้อีกด้วย ดังพบเรื่องในคัมภีร์อรรถกถาว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อเมืองเวสาลีประสบภัย ๓ อย่าง คือ ความอดอยากแร้นแค้น การเบียดเบียนจากอมนุษย์ และการแพร่ของโรคระบาด พระพุทธเจ้าได้รับนิมนต์เสด็จไปโปรด พระองค์รับสั่งให้พระอานนท์สวดรัตนปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย ภัยดังกล่าวในเมืองนั้นจึงสงบลง ในอรรถกถาอีกคัมภีร์หนึ่งมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล เด็กคนหนึ่งจะถูกยักษ์จับกินภายใน ๗ วัน พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ภิกษุสวดพระปริตรตลอดเจ็ดคืน และพระองค์ได้เสด็จไปสวดด้วยพระองค์เองในคืนที่แปด เด็กนั้นก็สามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติของอมนุษย์นั้นได้ มีอายุยืน ๑๒๐ ปี บิดามารดาจึงตั้งชื่อเด็กว่า อายุวัฑฒนกุมาร แปลว่า “เด็กผู้มีอายุยืน” เพราะรอดพ้นจากอันตรายดังกล่าว


ประโยชน์ในอนาคต
เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระเสด็จไปโปรดโกสิยชฎิล ณ ภูเขานิสภะ ขฎิลตนนั้นได้พบพระองค์แล้วเกิดโสมนัสปราโมทย์ นำดอกไม้มาประดับเป็นอาสนะที่ประทับ พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติในที่นั้นตลอดเจ็ดวัน โกสิยชฎิลได้ยืนประนมมือระลึกถึงพระพุทธคุณตลอดเจ็ดวันเช่นกัน  กุศลที่เกิดจากการระลึกถึงพระพุทธคุณนี้ ทำให้โกสิยชฎิลเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๓ หมื่นกัป เป็นท้าวสักกะจอมเทพ ๘๐ ชาติ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ เป็นพระราชานับชาติไม่ถ้วน ในระหว่างนี้เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นเศรษฐีมีทรัพย์ และไม่เคยไปเกิดในอบายภูมิเลย ในภาพสุดท้ายได้ออกบวชเป็นพระภิกษุ ท่านปรากฏพระนามว่าพระสุภูติเถระ ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นเลิศในการเจริญฌาน ประกอบด้วยเมตตาและเป็นทักขิไณยบุคคล

อานิสงส์พระปริตร
โบราณาจารย์ได้รวบรวมอานิสงส์ของพระปริตรไว้ดังนี้ คือ
    ๑.เมตตปริตร ทำให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทพพิทักษ์รักษา ไม่มีภยันตราย จิตเกิดสมาธิง่าย ใบหน้าผ่องใส มีสิริมงคล ไม่หลงสติในเวลาเสียชีวิต และเกิดเป็นพรหมเมื่อบรรลุเมตตาฌาน
    ๒.ขันธปริตร  ป้องกันภัยจากอสรพิษและสัตว์ร้ายอื่นๆ
    ๓.โมรปริตร  ป้องกันภัยจากผู้คิดร้าย
    ๔.อาฏานาฏิยปริตร  ป้องกันภัยจากอมนุษย์ ทำให้มีสุขภาพดี และมีความสุข
    ๕.โพชฌังคปริตร  ทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืน และพ้นจากอุปสรรคทั้งปวง
    ๖.ชัยปริตร  ทำให้ประสบชัยชนะและมีความสุขสวัสดี
    ๗.รัตนปริตร  ทำให้ได้รับความสวัสดี พ้นจากอุปสรรค และอันตราย
    ๘.วัฏฏกปริตร  ทำให้พ้นจากอัคคีภัย
    ๙.มังคลปริตร  ทำให้เกิดสิริมงคลและปราศจากอันตราย
  ๑๐.ธชัคคปริตร  ทำให้พ้นจากอุปสรรคอันตราย และการตกจากที่สูง
  ๑๑.อังคุลิมาลปริตร  ทำให้คลอดบุตรง่าย ป้องกันอุปสรรค และอันตราย
  ๑๒.อภยปริตร  ทำให้พ้นจากภัยพิบัติและไม่ฝันร้าย


ทรงแนะนำให้สวดพระปริตร
พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้พุทธบริษัทสวดพระปริตรเพื่อคุ้มครองตน เช่นในอาฏานาฏิยสูตร มีพระพุทธดำรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเรียนมนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร พวกเธอจงศึกษามนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร  พวกเธอจงทรงจำมนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมเป็นไปเพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อความอยู่เป็นสุขของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา”

อนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสูตรอื่นว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตการแผ่เมตตาแก่พญางูทั้งสี่ตระกูลเพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อกระทำการป้องกันตน”


องค์ของผู้สวดและผู้ฟัง
พระปริตรจะมีอานุภาพมาก เมื่อผู้สวดพระปริตรเพียบพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ มีเมตตาจิตมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง สวดถูกอักษร ไม่มีบทพยัญชนะที่ผิดพลาด และรู้ความหมายของบทสวด แม้ผู้ฟังพระปริตรก็ต้องมีองค์ ๓ คือ ไม่เคยทำอนันตริยกรรม ๕ (ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป และทำสังฆเภท) ไม่มีมิจฉาทิฏฐิที่เห็นผิดว่ากรรมและผลกรรมไม่มี และเชื่อมั่นอานุภาพพระปริตรว่ามีจริง สามารถคุ้มครองผู้ฟังได้

จำนวนพระปริตร
โบราณาจารย์ได้จำแนกพระปริตรออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.จุลราชปริตร (เจ็ดตำนาน) มี ๗ ปริตร คือ
     ๑.มังคลปริตร
     ๒.รัตนปริตร
     ๓.เมตตปริตร
     ๔.ขันธปริตร
     ๕.โมรปริตร
     ๖.ธชัคคปริตร
     ๗.อาฏานาฏิยปริตร
๒.มหาราชปริตร (สิบสองตำนาน) มี ๑๒ ปริตร คือ
     ๑.มังคลปริตร
     ๒.รัตนปริตร
     ๓.เมตตปริตร
     ๔.ขันธปริตร
     ๕.โมรปริตร
     ๖.วัฏฏกปริตร
     ๗.ธชัคคปริตร
     ๘.อาฏานาฏิยปริตร
     ๙.อังคุลิมาลปริตร
   ๑๐.โพชฌังคปริตร
   ๑๑.อภยปริตร
   ๑๒.ชัยปริตร


ลำดับพระปริตร
ลำดับพระปริตรในมิลินทปัญหาและคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ แตกต่างกัน  ส่วนลำดับพระปริตรในบทสวดมนต์ไทยและพม่าเหมือนกัน ในพระปริตรฉบับนี้ ผู้แปลได้เรียงลำดับพระปริตรใหม่ เริ่มจากเมตตปริตร ขันธปริตร โมรปริตร อาฏานาฏิยปริตร และโพชฌังคปริตร ฯลฯ  โดยเน้นพระปริตรที่กล่าวถึงเมตตาภาวนาและคุณของพระรัตนตรัยเป็นหลัก

พระปริตรที่ควรสวดเสมอ
ผู้ที่มีเวลาน้อยควรสวดพระปริตรที่สั้นและสำคัญ จึงควรสวดพระปริตร ๔ บทแรกคือ เมตตปริตร ขันธปริตร โมรปริตร และอาฏานาฏิยปริตร เมตตปริตรและขันธปริตร เน้นการเจริญเมตตาภาวนา โมรปริตรและอาฏานาฏิยปริตร เน้นการเจริญพระพุทธคุณ ผู้ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ควรสวดโพชฌังคปริตรอีกด้วย พระเถระชาวพม่าผู้ทรงพระไตรปิฎก คือท่านอาจารย์สิรินทาภิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดวิสุทธาราม จังหวัดย่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า ก็มีความเห็นว่าควรสวดพระปริตร ๔ บทนั้นเสมอ

ก่อนจะสวดพระปริตรทุกครั้ง ผู้สวดควรสวดบทมหานมัสการแล้วสมาทานศีลห้า หลังจากนั้น ให้สวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ แล้วจึงสวดพระปริตรหรือคาถาอื่นๆ ต่อไป บทมหานมัสการนั้นเป็นคำแสดงความนอบน้อมคุณทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้า คือ พระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ จึงเป็นบทที่ชาวพุทธนิยมสวดก่อนจะสวดมนต์ การสมาทานศีลทุกวันเป็นการรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เป็นนิตย์ การสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ก็เป็นการเจริญกรรมฐาน คือ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ และสังฆานุสสติ บุคคลผู้หมั่นระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยจะเพิ่มพูนศรัทธาในพระศาสนาเป็นอย่างดี

นอกจากนั้นชาวพุทธควรสวดบทธรรมจักรทุกวันพระ จะส่งผลให้ป้องกันภัยอันตรายและทำให้ผู้สวดประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เพราะธรรมจักรเป็นพระธรรมเทศนาแรกที่กล่าวถึงอริยสัจสี่ จึงเป็นบทที่เทวดาเคารพบูชายิ่งนัก คนไทยในสมัยก่อนเชื่อว่าบุคคลที่สวดธรรมจักรนี้ทุกวันพระ แล้วอธิษฐานให้ครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีความสวัสดี จะมีผลานิสงส์ทำให้ผู้สวดและผู้ที่ตนแผ่ไปถึงมีความสวัสดี แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ ทุกอย่างได้

อานุภาพของพระปริตรที่สวดด้วยจิตที่มีสมาธิแน่วแน่ จะแผ่ไปถึงแสนโกฏิจักรวาล ทำให้ผู้สวดได้รับผลานิสงส์มหาศาลหาประมาณมิได้ คนที่ไม่สวดพระปริตรจะไม่สามารถรับรู้อานิสงส์ได้เลย เหมือนคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารย่อมไม่อาจรับรู้รสอาหารและผลของการรับประทานได้ ดังนั้นขอให้พุทธบริษัทเชื่อมั่นอานุภาพพระปริตร หมั่นสวดพระปริตรอยู่เนืองนิตย์ และได้รับประโยชน์สุขทั่วกันทุกท่าน


พระปริตรธรรม
มหานมัสการ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง พระองค์นั้น
            [๓ ครั้ง]
โบราณาจารย์เรียกบทนี้ว่า มหานมัสการ คือ บทนอบน้อมที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นบทแรกที่ชาวพุทธนิยมสวดนอบน้อมพระพุทธเจ้า ความจริงแล้วบทนี้เป็นคำอุทานที่เปล่งออกด้วยความปีติยินดีที่ซาบซึ้งในพระพุทธคุณ ในสมัยพุทธกาลมีบุคคลหลายคนที่เปล่งอุทานคำนี้เพื่อนอบน้อมพระพุทธเจ้า เช่น ท้าวสักกะ พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์อารามทัณฑะ และนางธนัญชานี เป็นต้น ดังปรากฏในพระสูตรนั้นๆ


ไตรสรณคมน์
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.  ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.  ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.  ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ ธัมมัง  สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ สังฆัง  สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ  สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ. แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง


สมาทานศีล ๕
ปาณาติปาณา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
อะทินนาทานา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการลักทรัพย์
กาเมสุมิฉาจารา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทาน สิกขาบท ที่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
มุสาวาทา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการพูดเท็จ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการดื่มของเมา คือสุราเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท


พระพุทธคุณ
อิติปิโส ภะคะวา แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
อะระหัง,  เป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทโธ,  ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
วิชชาจะระณะสัมปันโน,  ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ
สุคะโต,  เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว
โลกะวิทู,  ทรงรู้แจ้งโลก
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ,  ทรงเป็นสารถีฝึกบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีใครยิ่งกว่า
สัตถา เทวะมะนุสสานัง,  ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พุทโธ,  ทรงเป็นผู้รู้แจ้ง
ภะคะวา,  ทรงเป็นผู้อธิบายธรรม

พระผู้มีพระภาค คือพระผู้มีภคธรรมหรือบุญญาภินิหาร ๖ อย่าง อันได้แก่ อิสสริยะ คือการควบคุมจิต, ธัมมะ คือโลกุตรธรรม ๙,  ยสะ คือเกียรติยศ,  สิริ คือสิริมงคลทางพระวรกาย,  กามะ คือความสำเร็จสมประสงค์ และปยัตตะ คือความอุตสาหะ


พระธรรมคุณ
สฺวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม. พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
สันทิฏฐิโก,  เป็นธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง
อะกาลิโก,  ไม่ขึ้นกับกาล
เอหิปัสสิโก,  เป็นธรรมที่ควรมาดู
โอปะนะยิโก,  ควรน้อมมาปฏิบัติ
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ.  เป็นธรรมที่วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน


พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และปริยัติธรรม ๑ เป็นธรรมที่ไพเราะโดยอรรถและพยัญชนะ  ในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พระธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง คือโลกุตรธรรม ๙ อันได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ พระธรรมที่ไม่ขึ้นกับกาล คือมรรค ๔ ที่ส่งผลทันที พระธรรมที่ควรมาดู ควรน้อมมาปฏิบัติ และวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน คือโลกุตรธรรม ๙

พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี
            [ตามพระพุทธพจน์]
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติตรง
            [ตามมัชฌิมาปฏิปทา]
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติที่ควรนับถือ
ยะทิทัง จิตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา,
ท่านเหล่านั้น คือบุรุษ ๔ คู่ กล่าวคือพระอริยบุคคล ๘ จำพวก
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.  นี้แหละพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
อาหุเนยโย,  ผู้ควรรับสักการะ
ปาหุเนยโย,  ผู้ควรแก่ของต้อนรับ
ทักขิเนยโย,  ผู้ควรรับทักษิณาทาน
อัญชะลิกะระณีโย,  ผู้ควรอัญชลีกรรม
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ.  เป็นนาบุญอันประเสริฐของโลก



 


ภาพประกอบตำนานเมตตปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานเมตตปริตร

เมตตปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา มีประวัติว่า สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุ ๕๐๐ รูปเรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์ แล้วเดินทางไปแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม พวกท่านได้ไปถึงไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ปรึกษากันว่าสถานที่นี้เหมาะสมแก่การเจริญสมณธรรม จึงตกลงใจอยู่จำพรรษาในที่นั้น ชาวบ้านก็มีจิตศรัทธา สร้างกุฏิถวายให้พำนักรูปละหนึ่งหลังและอุปัฏฐากด้วยปัจจัยสี่มิให้ขาดแคลน

เมื่อฝนตกพวกท่านจะเจริญกรรมฐานที่กุฏิ ครั้นฝนไม่ตกก็จะมาปฏิบัติที่โคนไม้ รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ไม่อาจอยู่ในวิมานได้ เพราะผู้ทรงศีลมาอยู่ใต้วิมานของตน จึงต้องพากันลงมาอยู่บนพื้น เบื้องแรกคิดว่า พวกภิกษุคงจะอยู่ชั่วคราว ก็ทนรอดูอยู่ชั่วคราว แต่เมื่อรู้ว่ามาจำพรรษาตลอดไตรมาส เกิดความไม่พอใจ คิดจะขับไล่ ให้กลับไปในระหว่างพรรษา ฉะนั้นจึงพยายามหลอกหลอนด้วยวิธีต่างๆ เช่น สำแดงรูปร่างที่น่ากลัว ร้องเสียงโหยหวน ทำให้ได้รับกลิ่นเหม็นต่างๆ

ฝ่ายภิกษุพากันหวาดหวั่นตกใจต่ออารมณ์ที่น่ากลัวเหล่านั้น ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก จึงปรึกษากันว่าพวกเราไม่ควรจะอยู่ในสถานที่นี้ แต่ควรจะกลับไปจำพรรษาหลังในสถานที่อื่น และได้เดินทางกลับโดยไม่บอกลาชาวบ้าน เมื่อมาถึงวัดพระเชตวันได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลเรื่องนี้ แต่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่าสถานที่เดิมเหมาะสมกับภิกษุเหล่านี้มากกว่าที่อื่น จึงทรงแนะนำให้พวกท่านกลับไปสถานที่นั้น พร้อมกับตรัสสอนเมตตปริตรเพื่อเจริญเมตตาแก่รุกขเทวดา

เมื่อพวกภิกษุได้เรียนเมตตปริตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเดินทางกลับไปยังสถานที่เดิม ก่อนจะเข้าสู่ราวป่า ก็ได้เจริญเมตตาภาวนาโดยสาธยายพระปริตรนี้ อานุภาพแห่งเมตตาทำให้รุกขเทวดามีจิตอ่อนโยน มีไมตรี จึงไม่เบียดเบียนเหมือนก่อน ทั้งยังช่วยปรนนิบัติและคุ้มครองภัยอื่นๆ อีกด้วย ภิกษุเหล่านั้นได้พากเพียรเจริญเมตตาภาวนาแล้วเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อมา โดยใช้เมตตาเป็นบาทแห่งวิปัสสนา ทุกรูปได้บรรลุอรหัตผลภายในพรรษานั้น

เมตตปริตร
๑.กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ
   ยันตะ สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ
   สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ
   สูวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี
.
ภิกษุผู้ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ประสงค์จะบรรลุแดนสงบ พึงอบรมสิกขาสาม ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นคนตรง แน่วแน่ ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่ถือตัว

๒.สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ
   อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ
   สันตินทฺริโย จะ นิปะโก จะ
   อัปปะคัพโภ กุเลสฺวะนะนุคิทโธ.

พึงเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจธุระน้อย ดำเนินชีวิตเรียบง่าย มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน มีการสำรวมกายวาจาใจ ไม่พัวพันกับสกุลทั้งหลาย

๓.นะ จะ ขุททะมาจะเร กิญจิ
   เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
   สุขิโน วะ เขมิโน โหนตุ
   สัพพะสัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
.
ไม่พึงประพฤติสิ่งเล็กน้อยอะไรๆ ที่จะเป็นเหตุให้ผู้รู้ตำหนิ [พึงแผ่เมตตาว่า] ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุขกาย สุขใจ ปลอดจากภัยทั้งปวงเถิด

๔.เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ
   ตะสา วา ถาวะรา วะนะวะเสสา
   ทีฆา วา เย วะ มะหันตา
   มัชฌิมา รัสสะกา อะณุกะถูลา
,
สัตว์ทั้งหลายที่มีความหวาดกลัวก็ดี ที่มั่นคงก็ดี ทั้งหมด ทั้งที่มีกายยาว ใหญ่ ปานกลาง สั้น ละเอียด หรือหยาบ

๕.ทิฏฐา วา เย วะ อะทิฏฐา
   เย วะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร
   ภูตา วะ สัมภะเวสี วะ
   สัพพะสัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา.

ทั้งที่เคยเห็นหรือไม่เคยเห็น อยู่ไกลหรือใกล้ ที่เกิดแล้วหรือที่กำลังแสวงหาที่เกิด สัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงมีความสุขกาย สุขใจเถิด

๖.นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ
   นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นะ กัญจิ
   พฺยาโรสะนา ปะฏิฆะสัญญะ
   นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ.

บุคคลไม่พึงหลอกลวงกัน ไม่พึงดูหมิ่นใครในที่ไหน ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกันด้วยการเบียดเบียนหรือด้วยใจมุ่งร้าย

๗.มาตา ยะถา นิยัง ปุตตะ
   มายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข
   เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ
   มานะสัง ภาวะเย อะปะริมาณัง.

มารดาถนอมบุตรคนเดียวของตนด้วยชีวิตฉันใด บุคคลพึงเจริญเมตตาจิต ไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวงฉันนั้น

๘.เมตตัญจะ สัพพะโลกัสฺมิ
   มานะสัง ภาวะเย อะปะริมาณัง
   อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ
   อะสัมพาธัง อะเวระมะสะปัตตัง.

บุคคลพึงเจริญเมตตาจิต อันไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ในสัตว์โลกทั้งหมด ทั้งในอรูปภูมิเบื้องบน รูปภูมิเบื้องกลาง และกามาวจรภูมิเบื้องต่ำ

๙.ติฏฐัง จะรัง นิสินโน วะ
   สะยาโน ยาวะตาสสะ วิตะมิทโธ
   เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ
   พฺรหฺมะเมตัง วิหาระมิธะ มาหุ.

เมื่อยืน เดิน นั่ง หรือนอน พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วง ตั้งสติอย่างนี้ไว้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสการปฏิบัติเช่นนี้ว่า เป็นความประพฤติอันประเสริฐในพระศาสนานี้

๑๐.ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ
   สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน
   กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง
   นะ หิ ชาตุคคัพภะเสยยะ ปุนะเรติ.

บุคคลผู้นั้นจะไม่กล้ำกรายความเห็นผิด เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยความเห็นชอบ เมื่อขจัดความยินดีในกามได้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงการเกิดในครรภ์อีกอย่างแน่แท้.


3109  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เมื่อ: 25 มีนาคม 2559 15:43:41


ภาพจาก: wikimedia.org

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระมหากษัตริย์พม่าในราชวงศ์ตองอู ครองราชย์ประมาณ พ.ศ.๒๐๗๔-๒๐๙๔ ทรงยกกองทัพเข้ามาทำสงครามกับไทยในศึกเชียงกราน อันถือเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า และเป็นมูลเหตุให้เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๑๑๒

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตามความหมายแปลว่าสุวรรณเอกฉัตร เป็นพระราชโอรสพระเจ้าเมงคยินโย หรือพระเจ้ามหาสิริไชยสุระ กษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์ตองอู

มีเรื่องกล่าวกันว่าพระองค์ประสูติก่อนรุ่งอรุณขณะบรรยากาศยังมืดอยู่ แต่พระแสงดาบและหอกในห้องสรรพาวุธกลับส่งประกายแวววาว ถือเป็นนิมิตว่าพระองค์จะทรงเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ พระบิดาจึงขนานพระนามว่าตะเบ็งชะเวตี้  พระองค์ทรงมีพระเกียรติคุณแผ่ไพศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความกล้าหาญ เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระมหาอุปราชทรงเลือกทำพิธีเจาะพระกรรณตามพระราชประเพณีที่วัดมหาธาตุมุเตาหรือวัดชเวมาวดอ ซึ่งอยู่ที่เมืองหงสาวดีหรือพะโค เมืองศูนย์กลางของมอญ ขณะนั้นยังเป็นอิสระอยู่ โดยทรงนำกำลังทหารพม่าไปด้วย ๕๐๐ คน ขณะกำลังทำพิธีอยู่ในวัด ทหารมอญเมื่อทราบข่าวก็เข้ามาล้อมจับ พระองค์ทรงนำกำลังทหารพม่าตีฝ่าวงล้อมของทหารมอญออกไปได้ กิตติศัพท์ความกล้าหาญของพระองค์ครั้งนี้ปรากฏไปทั่ว เป็นการสร้างเสริมพระบารมี

สภาพการเมืองในพม่านั้นประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ เข้ามาตั้งที่ทำกินอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เริ่มต้นเมื่อพวกพยูซึ่งเป็นเชื้อสายต้นตระกูลพม่าตั้งเมืองหลวงชื่อว่าศรีเกษตร อยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดีในพม่าตอนกลาง พวกมอญตั้งอาณาจักรอยู่ในพม่าตอนล่าง ต่อมาพม่าตั้งอาณาจักรพุกามในพม่าตอนบนริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี  อาณาจักรนี้รุ่งเรืองมาก ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สามารถขยายลงมายึดครองอาณาจักรมอญที่เมืองสะเทิม อาณาจักรรุ่งเรืองอยู่เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี ก็ถูกกองทัพมองโกลสมัยจักรพรรดิกุบไลข่านตีย่อยยับไปใน พ.ศ.๑๘๓๐ พุกามถูกยึดครองระยะหนึ่ง

ดินแดนพม่าจึงแตกแยกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ ทางเหนือมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองอังวะ ตอนกลางมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองตองอู ทางด้านตะวันตกของภาคกลางมีแคว้นยะไข่ ทางใต้มีเมืองหงสาวดีของมอญ  ระหว่างนี้อาณาจักรตองอูได้สะสมกำลังมีอำนาจขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ พวกพม่าที่อังวะก็เข้ามาร่วมด้วย  ในที่สุด พระเจ้าเมงคยินโยก็สามารถก่อตั้งราชวงศ์ตองอูขึ้นใน พ.ศ.๒๐๒๙

ราชวงศ์ตองอูพยายามขยายอาณาจักรลงทางใต้ โดยเฉพาะเมืองหงสาวดีในอาณาจักรมอญเพื่อใช้เป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับฝรั่งชาติตะวันตกซึ่งเดินทางมาหาสินค้าประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ไหม เพชร พลอย และของป่าจากเอเชียส่งไปขายที่ยุโรป ขณะเดียวกันฝรั่งก็ได้นำอาวุธปืนและสินค้าฟุ่มเฟือยจากยุโรปเข้ามาขายในดินแดนเอเชียด้วย  เนื่องจากหงสาวดีอยู่ในเส้นทางการเดินเรือจากอินเดียผ่านมาเพื่ออ้อมแหลมมลายูไปยังอินโดจีน จีน ญี่ปุ่น ต่อไป

เมื่อพระเจ้าเมงคยินโยสวรรคต พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ขึ้นครองราชย์สมบัติเมืองตองอูสืบต่อมา พระองค์ทรงมีนายทหารคนสนิทนายหนึ่งมีนามว่าชินเยทูต มีอายุมากกว่าพระองค์เล็กน้อย เป็นนายทหารที่มีความสามารถ กล้าหาญ เข้มแข็ง มีประสบการณ์ รับใช้ใกล้ชิดและเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ ปรากฏว่านายทหารผู้นี้ผูกสมัครรักใคร่กับพระเชษฐภคินีของพระองค์ ตามกฎมณเฑียรบาลของพม่าถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกบฏซึ่งมีโทษประหาร แต่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยให้พระเชษฐภคินีสมรสด้วย และทรงแต่งตั้งให้ชินเยทูตเป็นเจ้า มีตำแหน่งเป็นกยอดินนรธา การตัดสินพระทัยดังกล่าวทำให้พสกนิกรชื่นชมในพระเมตตามาก และทำให้กยอดินนรธาจงรักภักดีอย่างยิ่งยวด เป็นกำลังสำคัญทำการรบได้ชัยชนะหลายครั้ง ทำความดีความชอบให้มาก จึงทรงแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเป็นบุเรงนอง หรือ พระเชษฐาธิราช

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทรงขยายพระราชอาณาจักร โดยการปราบปรามเมืองต่างๆ พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะปราบปรามมอญโดยเร็วที่สุดเพื่อจะยึดเมืองท่ามอญเป็นเส้นทางการค้า เป็นแหล่งซื้อปืนคาบศิลา ปืนใหญ่จากโปรตุเกส ตลอดจนจ้างทหารชาวโปรตุเกสเพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการเข้ายึดเมืองหงสาวดี พระองค์ตีได้เมืองพะสิม จากนั้นทรงเข้าตีได้เมืองหงสาวดี แปร และอังวะ นับได้ว่าพระองค์ทรงรวบรวมมอญและพม่าให้เป็นชาติเดียวกันได้สำเร็จ จากนั้นได้ยกกองทัพไปตีเมืองเมาะตะมะ ซึ่งมีทหารจ้างชาวโปรตุเกสเช่นกัน ทำให้การสู้รบค่อนข้างยาก แต่ทรงได้ชัยชนะในที่สุด พวกมอญที่เมาะลำเลิงและบริเวณใกล้เคียงต่างเกรงกลัวพระบารมี จึงยอมอ่อนน้อมต่อพม่าทั้งสิ้น จากนั้นทรงปราบปรามไทยใหญ่แล้วเสด็จไปยังเมืองพุกามกระทำพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับกษัตริย์พุกามทุกประการ เมื่อย้อนกลับมาเมืองหงสาวดีก็ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบกษัตริย์มอญ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจที่ทรงมีครอบคลุมทั้งพม่าและมอญ

ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทรงไปโจมตียะไข่ ยังตีไม่สำเร็จก็มีข่าวทัพไทยยกมาบริเวณตะนาวศรี จึงรีบเสด็จกลับเมืองหงสาวดี

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงปราบปรามอาณาจักรต่างๆ ได้แล้ว ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี แทนที่จะย้อนกลับไปตั้งราชธานีที่พุกามหรืออังวะเหมือนในอดีต ความพยายามขยายอาณาเขตลงทางใต้ทำให้พรมแดนพม่าเข้ามาประชิดกับดินแดนของกรุงศรีอยุธยาจนเป็นสาเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น

ตามพระราชพงศาวดารกรุงสยามกล่าวว่า ใน พ.ศ.๒๐๘๑ เกิดสงครามขึ้นที่ชายแดนที่เมืองเชียงกราน นับเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า กล่าวกันว่าในกองทัพไทยมีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสช่วยรบอยู่ประมาณ ๑๒๐ คน  พม่าก็มีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสช่วยรบอยู่ด้วย สงครามเมืองเชียงกรานเป็นสงครามแรกที่มีการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย ปืนและปืนใหญ่เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นเครื่องช่วยเสริมอำนาจได้เป็นอย่างดี

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายในไทยรบพม่าว่า เมืองเชียงกรานเป็นหัวเมืองปลายแดนไทย มอญเรียกว่าเดิงกรายน์ อังกฤษเรียกว่าเมืองอัตรัน อยู่ต่อแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงทราบข่าวศึก จึงเสด็จยกทัพไปรบพม่า ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า “เถิงเดือน ๑๑ เสด็จไปเชียงไกร เชียงกราน” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายต่อไปว่า จดหมายเหตุของปินโตโปรตุเกสบันทึกว่าครั้งนั้นมีพวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๑๓๐ คน สมเด็จพระไชยราชาธิราช เกณฑ์โปรตุเกสเข้ากองทัพไปด้วย ๑๒๐ คน ได้รบพุ่งกันกับพม่าที่เมืองเชียงกรานเป็นสามารถ ไทยตีกองทัพพม่าพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานคืนมาเป็นของไทยดังแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จกลับมาถึงพระนครทรงยกย่องความชอบพวกโปรตุเกสที่ได้ช่วยรบพม่าคราวนั้น จึงพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนที่แถวบ้านดินเหนือคลองตะเคียนแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกโปรตุเกสสร้างวัดสอนศาสนาตามความพอใจ จึงเป็นเหตุให้มีวัดคริสตังและบาทหลวงมาตั้งในเมืองไทยแต่นั้นมา

เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตใน พ.ศ.๒๐๘๙ เกิดเหตุจลาจลเมื่อพระแก้วฟ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมาถูกขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงขจัดเหตุวุ่นวายทั้งปวงและขึ้นครองราชสมบัติ ใน พ.ศ.๒๐๙๑

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงทราบข่าวจลาจลในกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายพระราชอาณาเขตมาทางกรุงศรีอยุธยา จึงทรงสั่งให้เกณฑ์ทัพมาตั้งชุมนุมที่เมืองเมาะตะมะ แล้วเสด็จยกทัพเข้ามาทางกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้กองทัพไปตั้งรับทัพอยู่ที่สุพรรณบุรี และเตรียมกรุงศรีอยุธยาเป็นที่รับศึก พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยกทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรีไม่มีผู้ใดต่อต้าน ก็ยกต่อมาถึงสุพรรณบุรี กองทัพไทยทานกำลังไม่ได้ถอยกลับมากรุงศรีอยุธยา พม่ายกทัพตามมาจนถึงชานพระนครทางทุ่งลุมพลีข้างด้านเหนือ

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราชประสงค์จะดูกำลังข้าศึก พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสีซึ่งทรงแต่งพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราชา พระราเมศวร และพระมหินทรพระราชโอรสทรงพระคชาธารตามเสด็จ กองทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกไปปะทะกองทัพพระเจ้าแปรซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที พระเจ้าแปรขับช้างไล่มา สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระสวามีจะเป็นอันตรายจึงขับช้างเข้าขวางช้างข้าศึกไว้ พระเจ้าแปรได้ทีฟันสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยสำคัญว่าเป็นชายสิ้นพระชนม์ซบลงกับคอช้าง พระราเมศวร และพระมหินทร ทรงขับช้างเข้าต่อสู้ พระเจ้าแปรถอยไป จึงกันพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยกลับพระนคร เมื่อเสร็จสงครามแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงศพที่สวนหลวงตรงต่อเขตวัดสบสวรรค์แล้วสร้างพระอารามขึ้นตรงพระเมรุ มีพระเจดีย์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ภายในวัด เรียกว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์

ส่วนกองทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่สามารถตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ ตั้งล้อมอยู่จนเสบียงอาหารหมด จึงยกทัพกลับขึ้นไปทางเหนือออกไปทางด่านแม่ละเมา

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กลับจากกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นาน ก็ถูกเจ้าเมืองสะโตงลอบปลงพระชนม์ ใน พ.ศ.๒๐๙๔ ประกาศให้หงสาวดีเป็นเอกราช เจ้าเมืองสะโตงตั้งตนเป็นกษัตริย์ แต่ชาวมอญไม่ยอมรับ ก่อกบฏขึ้น เมืองแปรและเมืองตองอูก็ตั้งตนเป็นอิสระ บุเรงนองต้องกลับมาปราบปราม และตั้งตนเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทำพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ.๒๐๙๖
ส.ข.




พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา  
3110  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดอโศการาม (ท่านพ่อลี ธมมฺธโร) จ.สมุทรปราการ เมื่อ: 24 มีนาคม 2559 13:46:35


ธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม เป็นเจดีย์หมู่ ๑๓ องค์



วัดอโศการาม
ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ


วัดอโศการาม ตั้งอยู่บนพื้นที่ "นาแม่ขาว" เจ้าของที่ดิน ชื่อ นางกิงหงษ์ และนายสุเมธ ไกรกาญจน์ ได้ถวายที่ดินสร้างวัดประมาณ ๕๓ ไร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๘ จึงได้เริ่มตั้งสำนักขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้พระลูกศิษย์ คือพระครูใบฎีกาทัศน์ มาเฝ้าสำนักแทน พร้อมกับลูกศิษย์อีก ๕ รูป รวมมีพระที่สำนักนี้ในครั้งเริ่มตั้ง จำนวน ๖ รูป"

ท่านพ่อลีได้เริ่มก่อตั้งสำนักสงฆ์เน้นวัตรปฏิบัติในทางธุดงควัตรอันสืบเนื่องจากท่านได้มีนิมิตว่าเป็นบริเวณที่บรรจุพระบรมธาตุ 

การที่วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดอโศการาม เพราะท่านพ่อลีประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงคุณพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ของอินเดียที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนามายังแถบเอเชียโดยเฉพาะประเทศไทยท่านพ่อลีได้คิดตั้งชื่อวัดนี้ไว้ตั้งแต่ครั้งที่ท่านจำพรรษาอยู่ในตำบลสารนาถ เมืองพาราณสี เมื่อออกพรรษาและได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ เรียบร้อยแล้ว เป็นปี พ.ศ.๒๔๙๘ ท่านพ่อลี จึงได้ออกไปจำพรรษาที่วัดอโศการาม ในระหว่างนี้ได้เริ่มคิดดำริจัดงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ การดำริในเรื่องนี้ ท่านได้ดำริมานานปีแล้ว คือเริ่มดำริตั้งแต่ปีที่ได้เดินทาง ออกมาจากดงบ้านผาแด่นแสนกันดาร( เชียงใหม่) วัดอโศการาม ได้รับการพัฒนาสืบเนืองมาโดยลำดับ แม้หลังท่านพ่อลีได้มรณภาพไปแล้ว (ปี พ.ศ.๒๕๐๔) ได้มีการขยายพื้นที่ออกไปทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของวิหารสุทธิธรรมรังสีในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็ได้ทำการสร้างพระธุตังคเจดีย์ ที่ท่านพ่อได้วางแบบเอาไว้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นปูชนียสถานประดิษฐานพระบรมสารีริธาตุ ไว้เป็นที่สักการะของเหล่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายชื่อว่า "ธุตังคเจดีย์" เป็นเจดีย์หมู่ ๑๓ องค์ วัดอโศการามเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานภาวนาที่ท่านพ่อลี ได้วางรากฐานไว้ เหล่าศิษยานุศิษย์ได้ปฏิบัติสืบๆ กันมาตราบเท่าทุกวันนี้ โดยเฉพาะหลักอานาปานสติกัมมัฏฐานะ เป็นหลักฐานให้แก่ผู้สนใจได้ศึกษาทดลองปฏิบัติ จนเป็นที่น่าพอใจสมควรแก่การปฏิบัติของแต่ท่าน จวบจนปัจจุบัน

ชื่่ออโศการาม
จากหมายเหตุที่ท่านพ่อได้ปรารภไว้ใน หนังสือชีวประวัติของท่าน ความว่า การตั้งชื่อวัดอโศการามนี้ มิใช่ได้คิดขึ้น ในคราวที่ตั้งได้คิดชื่อนี้ขึ้น ตั้งแต่ปีจำพรรษาอยู่ที่ตำบลสารนารถ เมืองพาราณสี ได้เอานามของท่านผู้มีคุณวุฒิ เป็นฉายาลักษณ์ของผู้ทรงคุณ ฉะนั้นจึงได้สร้างพระรูปนี้ขึ้นประกอบในนามของวัด เพื่อเป็นสวัสดิมงคลสืบต่อไป แต่ที่จริงชื่อวัดอันนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์เคยรับสั่งเล่าให้ฟัง อันเป็นสิ่งที่น่ากลัวจะไม่สำเร็จในงานอันนั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้ทำรายงานยืนไปตามระเบียบการคณะสงฆ์ ก็ไม่มีท่านสังฆมนตรีองค์ใดองค์หนึ่งคัดค้าน ว่าไม่เหมาะสม เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็พอใจ
   ที่มาข้อมูล : เว็บไซต์ วัดอโศการามดอทคอม
























ไม่อยากให้พลาด...มีโอกาสเชิญแวะมาชมให้เป็นบุญตา
กุฏิพระ สร้างอย่างหรูหรา มีรั้วรอบขอบชิด นับสิบหลัง 
(บ้านจัดสรรราคาแพงอย่างไรอย่างนั้น)





กดอ่านประวัติท่านพ่อลี ธมมฺธโรที่ตัวอักษรสีเทาด้านล่างนี้ค่ะ
http://www.sookjai.com/index.php?topic=171220.msg201393;topicseen#msg201393
3111  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ: 24 มีนาคม 2559 13:44:15





พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒๔ แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พุทธศักราช ๒๑๗๒-๒๑๙๙) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังบางปะอินในบริเวณที่ร่มรื่นบนเกาะบางปะอิน กลางแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นพระราชเคหสถานเดิมของพระองค์

พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ในสมัยอยุธยาได้ประพาสพระราชวังบางปะอินเสมอมา จวบจนสิ้นกรุงศรีอยุธยาพระราชวังแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างไป

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังพระราชวังบางปะอิน ทรงมีพระราชดำริให้รื้อฟื้นความงดงามของพระราชวังบางปะอินให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังเดิมและวัดชุมพลนิกายาราม และให้สร้างพระที่นั่งขึ้นกลางสระน้ำ พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์”

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยในพระราชวังบางปะอินเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความร่มรื่นด้วยสวนมะม่วง เงียบสงบ และอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ แล้วสร้างพระตำหนักและพระที่นั่งเพิ่มขึ้นอีกหลายองค์ โดยเสด็จพระราชดำเนินมาประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถส่วนพระองค์และรับรองพระราชอาคันตุกะอยู่เสมอตลอดรัชกาล

พระราชวังบางปะอินมีศิลปะสถาปัตยกรรมที่งดงามแปลกตาน่าชม เนื่องจากแสดงถึงลักษณะของศิลปะสถาปัตยกรรมนานาชาติ ตั้งแต่ไทย ยุโรป จีน และเขมรโบราณ  ภายในพระราชวังยังประกอบด้วยพระนั่งและอาคารสำคัญซึ่งมีนามคล้องจองกัน ๕ องค์ ได้แก่ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพอาสน์ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ หอวิฑูรทัศนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชวังบางปะอินหลายครั้ง ทรงใช้เป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะระดับประมุขของประเทศหลายพระองค์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระนั่งและอาคารต่างๆ ในพระราชวังบางปะอินให้มีสภาพสวยงามมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะในพุทธศักราช ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นใหม่โดยใช้วัสดุคอนกรีตตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกของพระที่นั่งองค์เดิมซึ่งทำด้วยไม้แต่ถูกเพลิงไหม้เสียหายไปแล้ว เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑
...ที่มา - นิตยสารศิลปากร









 เหมมณเฑียรเทวราช
เป็นศาลประดิษฐานเทวรูป รัชกาลที่ ๕โปรดให้สร้างขึ้นตรงศาลเดิม
ที่ชาวบ้านสร้าง อุทิศถวายสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

--------------------




พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า




พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี




พระตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์


เรือนเจ้าจอม เอี่ยม เอิบ อาบ เอื้อน
เจ้าจอมมารดาอ่อน


เรือนเจ้าจอมมารดาแส

หมู่พระตำหนักและเรือนพัก
ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในของพระราชวังบางปะอิน
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
สำหรับเป็นที่ประทับและพำนักของเจ้านายฝ่ายในเมื่อเสด็จแปรพระราชฐาน
ณ พระราชวังแห่งนี้

3112  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / ประวัติท่านพ่อลี ธมมฺธโร วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ เมื่อ: 24 มีนาคม 2559 13:40:25



ประวัติท่านพ่อลี ธมมฺธโร
วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ


ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
พระอาจารย์ ลี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เวลา ๒๑.๐๐ น. เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๔๙ บ้านเกิดคือบ้านหนองสองห้อง ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านนี้มีบ้านประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน แบ่งออกเป็น ๓ คุ้ม คือหมู่บ้านน้อยหนึ่ง หมู่บ้านในหนึ่ง และหมู่บ้านนอกหนึ่ง ที่หมู่บ้านนอกนี้มีวัดตั้งอยู่   พระอาจารย์ลีได้เกิดในหมู่บ้านที่มีวัดตั้งอยู่ บ้านทั้ง ๓ คุ้มนี้มีหนองน้ำอยู่ตรงกลาง ๓ หนองบริเวณรอบๆ หมู่บ้านมีต้นยางใหญ่ขึ้นอยู่ล้อมรอบนับเป็นสิบๆ ต้น ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีเนินบ้านเก่า 

นามเดิมของพระอาจารย์ลี คือ นายชาลี เป็นบุตรของนายปาว นางพ่วย นารีวงศ์ ปู่ชื่อจันทารี ย่าชื่อนางสีดา ตาชื่อนันทะเสย ยายชื่อนางดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๙ คน เป็นชาย ๕ คน เป็นหญิง ๔ คน เมื่อเกิดมาได้ ๙ วัน มีอาการรบกวนพ่อแม่เป็นการใหญ่ เช่น ร้องไห้เสมอๆ ถึงกับโยมทั้งสองได้แตกจากกันไปหลายวัน เมื่อโยมผู้หญิงออกไฟได้ ๓ วัน ตัวเองเกิดโรคป่วยไม่กินไม่นอนเป็นเวลาหลายวัน เลี้ยงยากที่สุด พ่อกับแม่ไม่มีใครสามารถจะเลี้ยงให้ถูกใจได้

ต่อมาอายุได้ ๑๑ ปี มารดาถึงแก่กรรม ยังมีน้องเล็กๆ คนหนึ่งเป็นผู้หญิงได้เลี้ยงดูกันมาส่วนคนอื่นๆ เขาโตแล้วต่างพากันไปทำมาหากิน ยังเหลืออีก ๒-๓ คน พ่อลูกพากันทำนาเป็นอาชีพ พออายุได้ราว ๑๒ ปี ได้เรียนหนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้ สอบชั้นประถมก็ตกเสียอีก ช่างมันแต่จะเรียนไปจนหมดเวลา พอดีอายุ ๑๗ ปี จึงได้ออกจากโรงเรียน ต่อจากนั้นมาก็คิดหาแต่เงินกันเท่านั้นในระหว่างนี้เกิดมีการขัดอกขัดใจกับโยมผู้ชายบ่อยๆ คือโยมต้องการให้ทำการค้าขายของที่ไม่ชอบ เช่น ไปหาซื้อหมูมาขาย ซื้อวัวมาขาย เป็นต้น ถึงเวลาอยากจะไปทำบุญก็คอยขัด การงานก็คอยขัดคอเสมอ บางทีต้องการไปทำบุญกับเขา ก็หายอมให้ไปไม่ กลับบอกให้ไปทำไร่ทำนาเสีย บางวันน้อยใจนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวกลางทุ่งนา นึกแต่ในใจว่าเราจักไม่อยู่ในหมู่บ้านนี้ แต่ก็ต้องอดทนอยู่ไปก่อน ต่อมาบิดาได้ภรรยาใหม่คนหนึ่งชื่อ แม่ทิพย์ ตอนนี้ค่อยสบายใจขึ้นหน่อย



ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
พอดีอายุครบ ๒๐ ปี ตรงกับ พ.ศ.๒๔๖๘ โยมมารดาเลี้ยงถึงแก่ความตาย ขณะนั้นได้ไปอยู่กับญาติที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม พอปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้กลับขึ้นไปบ้าน โยมบิดาก็แนะนำให้บวช วันนั้นมีเงินติดตัวอยู่ประมาณ ๑๖๐ บาท เมื่อไปถึงบ้านใหม่ๆ พี่ชาย พี่เขย พี่สาว ฯลฯ ก็พากันมากลุ้มรุมเยี่ยมเยือนถามข่าวคราวต่างๆ แล้วขอกู้เงินยืมเงินไปซื้อควายบ้าง ซื้อนาบ้าง ค้าขายบ้าง ก็ยินยอมให้เงินเขาไปตามที่ต้องการ เพราะตัวเองคิดจะบวช ตกลงเงิน ๑๖๐ บาท ที่มีอยู่คงเหลือเพียง ๔๐ บาท ถึงเวลาเทศกาลบวชนาค โยมบิดาก็จัดแจงให้บวชจนสำเร็จ ได้ทำการบวชเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ มีเพื่อนบวชด้วยกันในวันนั้นรวม ๙ รูป พอล่วงถึงพรรษาที่ ๒ จึงตั้งใจอธิษฐานว่า "เวลานี้ข้าพเจ้ายังมุ่งดีหวังดีต่อพระศาสนาอยู่ในกาลต่อไปนี้ ขอจงให้พบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบภายใน ๓ เดือน" 

ต่อมาเดือนพฤศจิกายนข้างแรม ได้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดบ้านโนนรังใหญ่ ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ พอดีไปพบพระกรรมฐานรูปหนึ่งกำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์รู้สึกเกิดแปลกประหลาดในจิตขึ้นโดยโวหารของธรรมะน่าเลื่อมใส จึงได้ไต่ถามญาติโยมว่าท่านองค์นั้นคือใคร มาจากไหน ได้รับตอบว่า "เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ชื่ออาจารย์บท" ท่านได้พักอยู่ในป่ายางใหญ่ใกล้บ้านราว ๒๐ เส้น พองานมาหาชาติเสร็จก็ได้ติดตามไปดู ได้เห็นปฏิปทาความประพฤติของท่านเป็นที่พอใจ จึงถามท่านว่าใครเป็นอาจารย์ของท่าน ท่านตอบว่า "พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ เวลานี้พระอาจารย์มั่นได้ออกเดินทางจากจังหวัดสกลนครไปพักอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี" พอได้ความเช่นนั้นก็รีบเดินทางกลับบ้าน นึกแต่ในใจว่า "เราคงสมหวังแน่"  อยู่มาไม่กี่วันจึงได้ลาโยมผู้ชาย ลาพระอุปัชฌาย์ ท่านทั้งสองนี้ก็พูดจาขัดขวางทุกด้านทุกมุม แต่ได้ตัดสินใจเด็ดขาดว่า "เราต้องไปจากบ้านนี้โดยเด็ดขาด จะให้สึกก็ต้องไป จะให้อยู่เป็นพระก็ต้องไป พระอุปัชฌาย์ และโยมผู้ชายไม่มีสิทธิ์ใดๆ ทั้งหมด ถ้าขืนก้าวก่ายสิทธิ์ในตัวเรานาทีใด ต้องลุกหนีไปนาทีนั้น" ได้พูดกับโยมผู้ชายอย่างนี้ ในที่สุดโยมผู้ชายและพระอุปัชฌาย์ก็ยอม

เดือนอ้ายข้างแรม เวลาเพลแล้ว ประมาณ ๑๓.๐๐ น. ได้ออกเดินทางพร้อมด้วยบริขารโดยลำพังรูปเดียว โยมผู้ชายได้ติดตามออกไปส่งถึงกลางทุ่งนา เมื่อได้ร่ำลากันแล้วต่างคนก็ต่างไป วันนั้นเดินทางผ่านอำเภอม่วงสามสิบมุ่งไปสู่จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ ๑๐ กิโลเมตรเศษ  พอดีพระบริคุตฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอม่วงสามสิบถูกปลดออกจากราชการขี่รถยนต์ผ่านมาพบเรากำลังเดินทางอยู่คนเดียว ท่านผู้นี้ได้นิมนต์ขึ้นรถขนย้ายครอบครัวของท่าน ไปส่งถึงสนามบินจังหวัดอุบลฯ ทางไปบ้านกุดลาด บัดนี้ก็ยังระลึกถึงบุญคุณของท่านผู้นี้อยู่ ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันเลยประมาณ ๕ โมงเย็นเดินทางถึงสำนักวัดป่าบ้านกุดลาด แต่ได้ทราบว่าพระอาจารย์มั่นกลับมาพักอยู่วัดบูรพา รุ่งเช้าเมื่อฉันอาหารแล้วได้เดินเท้ากลับมาจังหวัดอุบลฯ ได้ไปนมัสการกราบเรียนความประสงค์ของตนต่อพระอาจารย์มั่น ท่านก็ได้ช่วยแนะนำสงเคราะห์เป็นที่พอใจสอนคำภาวนาให้ว่า "พุทโธ" เพียงคำเดียวเท่านี้  พอดีท่านกำลังอาพาธ ท่านได้แนะนำให้ไปพักอยู่บ้านท่าวังหิน ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงัดวิเวกดี ที่นั่นมีพระอาจารย์สิงห์ พระมหาปิ่น มีพระภิกษุสามเณรราว ๔๐ กว่ารูปพักอยู่ ได้เข้าไปฟังธรรมเทศนาของท่านทุกคืนรู้สึกว่ามีผลเกิดขึ้นในใจ ๒ อย่างคือ เมื่อนึกถึงเรื่องเก่าๆ ของตนที่เป็นมาก็ร้อนใจ เมื่อนึกถึงเรื่องใหม่ๆ ที่กำลังประสบอยู่ก็เย็นใจ ทั้ง ๒ อารมณ์นี้ติดตนอยู่เสมอ พอดีได้พบเพื่อนที่หวังดี ๒ รูป ได้ร่วมอยู่ ร่วมฉัน ร่วมศึกษาสนทนากันตลอดมา เพื่อน ๒ รูปนั้นคือพระอาจารย์กงมาและพระอาจารย์สาม ได้พากเพียรพยายามภาวนาอยู่เสมอทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ได้ชวนพระอาจารย์กงมาออกเดินทางไปเรื่อยๆ ไปพักตามศาลเจ้าผีปู่ตาของหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ แล้วได้เดินทางกลับไปถึงบ้านเดิม เพื่อบอกข่าวกุศลให้โยมผู้ชายทราบว่าได้พบพระอาจารย์มั่นเป็นที่พอใจในชีวิตแล้ว อาตมาจักไม่กลับมาตายบ้านนี้ต่อไป คือได้นึกเป็นคติในใจอยู่ว่า "เราเกิดมาเป็นคน ต้องพยายามไต่ขึ้นอยู่บนหัวคน เราบวชเป็นพระ ต้องพยายามให้อยู่บนหัวพระที่เราเคยพบผ่านมา ตอนนี้รู้สึกว่าเกิดสมหวังในความคิด ฉะนั้น จึงกลับบอกเล่าให้โยมฟังว่า "ฉันลาไม่กลับ เงินทองข้าวของใช้ส่วนตัวมอบเสร็จ ทรัพย์สินเงินทองของโยม จักไม่เกี่ยวข้องตลอดชีวิต" โยมป้าได้ทราบเรื่องก็มาพูดต่อว่า ว่า "ท่านจะเกินไปละกระมัง"  จึงได้ตอบไปว่า "ถ้าฉันสึกมา ถ้าฉันมาขอข้าวป้ากินขอให้ป้าเรียกฉันว่าสุนัขก็แล้วกัน"

เมื่อได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วเช่นนี้ก็ได้สั่งกับโยมผู้ชายว่า "โยมอย่าเป็นห่วงอาตมาจะบวชอยู่ได้ก็ตาม จะสึกออกมาก็ช่าง อาตมาพอใจแล้วที่ได้สมบัติจากโยม ได้ทรัพย์วิเศษจากโยม คือ ตา ๒ ข้าง หู ๒ ข้าง จมูก ปาก ครบอาการ ๓๒ จัดเป็นก้อนทรัพย์อย่างสำคัญแม้โยมจะให้ทรัพย์อย่างอื่น อาตมาก็ไม่อิ่มใจ" เมื่อได้สั่งโยมผู้ชายเสร็จแล้ว ก็ลาโยมผู้ชายเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางไปถึงหมู่บ้านวังถ้ำ ก็ได้พบพระอาจารย์มั่นพักอยู่ในป่าจึงได้เข้าไปพักอาศัยอบรมอยู่กับท่านเป็นเวลาหลายวัน

เที่ยวจาริกสัญจรไปในระหว่างเวลาออกพรรษาทุกปี การทำเช่นนี้ก็เพราะได้คิดเห็นว่าการที่จะอยู่ประจำวัดเฉยๆ ก็เปรียบเหมือนรถไฟที่จอดนิ่งอยู่ที่สถานีหัวลำโพงประโยชน์ของรถไฟที่จอดอยู่กับที่มีอะไรบ้าง ทุกคนคงตอบได้ ฉะนั้น ตัวเราเองจะมานั่งอยู่ที่เดียวนั้น เป็นไปไม่ได้จำเป็นจะต้องออกสัญจรอยู่อย่างนี้ตลอดชาติในภาวะที่ยังบวชอยู่

ต่อจากนั้นก็ได้ดำริว่า "เราต้องสวดญัตติใหม่ ล้างบาปเก่าเสียที" เมื่อได้หารือพระอาจารย์มั่นแล้วท่านเห็นดีเห็นชอบด้วย จึงได้ทำการหัดขานนาค เมื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ติดตามท่านไปเที่ยวในตำบลต่างๆ ได้รู้สึกมีความเลื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้รับความอัศจรรย์จากท่านหลายอย่าง อาทิเช่น บางเรื่องคิดอยู่ในใจของเราไม่เคยแสดงให้ท่านทราบเลย ท่านกลับทักทายถูกต้อง ก็ยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสยิ่งขึ้นทุกที การทำสมาธิก็หนักแน่นหมดความห่วงในอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่างได้อบรมอยู่กับท่านเป็นเวลา ๔ เดือน ท่านก็ได้นัดหมายให้ไปสวดญัตติใหม่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ มีพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) วัดสระปทุม จังหวัดพระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เพ็ง วัดใต้ จังหวัดอุบลฯ เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่นเป็นผู้บรรพชาให้เป็นสามเณร ได้อุปสมบทใหม่ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๐ อุปสมบทเสร็จแล้ว ๑ วัน ก็ได้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดคือฉันมื้อเดียว ได้พักอยู่วัดบูรพาคืนเดียวก็ได้ออกไปอยู่ป่าบ้านท่าวังหินตามเคย

การประพฤติเช่นนี้ บางครั้งหมู่คณะก็ตำหนิโทษ บางคราวก็ได้รับคำชมเชย แต่ตนเองเห็นว่าได้ผลทั้งนั้น เพราะได้รู้จักภูมิประเทศเหตุการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของพระศาสนาในที่ต่างๆ บางอย่างเราอาจโง่กว่าเขา บางอย่าง บางหมู่คณะ บางสถานที่เขาอาจดีกว่าเรา ฉะนั้น การสัญจรไปจึงไม่ขาดทุน นั่งอยู่นิ่งๆ ในป่าก็ได้ประโยชน์ ถ้าถิ่นไหนเขาโง่กว่าเรา เราก็เป็นอาจารย์ให้เขา หมู่ไหนฉลาดกว่าเรา เราก็ยอมตนเป็นศิษย์เขา ฉะนั้น การสัญจรไปมาจึงไม่เสียประโยชน์ อีกประการหนึ่งที่เราชอบไปอยู่ตามป่าดงนั้น ได้เกิดความคิดหลายอย่าง คือ
     ๑. ให้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร แสดงตนเป็นผู้ขอ แต่พระองค์ไม่ให้แสดงตนเป็นคนยากจน เช่น เขาให้เท่าไร ก็ยินดีเท่านั้น
     ๒. พระองค์ทรงสอนให้ไปอยู่ในที่สงัด ที่เรียกว่า "รุกขมูลเสนาสนะ"  มีบ้านร้าง สัญญาคาร หิมมิยัง เงื้อมผา คูหาถ้ำ สถานที่ต่างๆ เหล่านี้ มีปัญหาว่าพระองค์ทรงเห็นประโยชน์อะไรหรือ จึงได้สอนเช่นนั้น แต่ตัวเองก็นึกเชื่ออยู่ในใจว่า ถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ พระองค์คงไม่สอน ถึงกระนั้นก็ยังมีความรู้สึกลังเลใจอยู่ จนเป็นเหตุให้สนใจในเรื่องนี้
     ๓. พระองค์สอนให้ถือผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องใช้สอย ตลอดจนให้ถือเอาผ้าพันผีตายมาใช้นุ่งห่ม ก็เป็นเหตุให้ตัวเองนึกถึงเรื่องตายว่าการนุ่งห่มผ้าพันผีตายมีประโยชน์อะไรบ้าง ข้อนี้พอได้ความง่ายๆ คิดดูโดยหลักธรรมดาก็จะเห็นได้ว่า ของตายนั้นไม่มีใครต้องการอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือของตายเป็นของไม่มีพิษไม่มีโทษในข้อนี้พอจะน้อมนึกตรึกตรองได้อยู่บ้าง ว่าพระองค์ได้สอนไม่ให้เป็นผู้ทะนงตัวในปัจจัยลาภ
     ๔. พระองค์สอนให้บริโภคยารักษาโรคที่หาได้อย่างง่ายๆ เช่น ให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คำสอนต่างๆ ของพระองค์ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ เมื่อเราได้รับฟังเข้าแล้วเป็นเหตุให้เกิดความสนใจ แต่เมื่อสรุปแล้วจะได้รับผลหรือไม่ได้รับผลก็ตาม แต่เรามีความเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่าพระองค์ไม่ใช่บุคคลที่งมงาย เรื่องใดที่ไม่มีเหตุผลพระองค์คงไม่ทรงสั่งสอนเป็นอันขาด

ฉะนั้น จึงได้มาระลึกนึกคิดว่า ถ้าเราไม่เชื่อในคำสอนของพระองค์ เราก็ควรยอมรับถือตามโอวาท หรือถ้าเราไม่เชื่อความสามารถของผู้สอนเรา เราก็ควรทำตามไปก่อนโดยฐานะที่ทดลองดูเพื่อเป็นการรักษาสังฆประเพณี ระเบียบแบบแผนของผู้ที่เราเคารพนับถือกราบไหว้เอาไว้ก่อนอีกประการหนึ่ง ได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นผู้ถือเคร่งครัดในธุดงค์ เช่น ถือการอยู่ป่า ฉันอาหารแต่มื้อเดียว ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ท่านได้ขอปฏิบัติตัวของท่านอย่างนี้ตลอดชีพ ในเรื่องนี้พระองค์ได้ทรงซักถามพระมหากัสสปะว่า "ท่านเป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว ท่านขวนขวายเพื่อเหตุอะไร"  พระมหากัสสปะตอบว่า "ข้าพระองค์มุ่งประโยชน์ของกุลบุตรผู้จะเกิดตามสุดท้ายภายหลังไม่ได้มุ่งประโยชน์ส่วนตัว เมื่อข้าพระองค์ไม่ทำ จะเอาใครเป็นตัวอย่าง เพราะการสอนคนนั้นถ้ามีตัวอย่างสอนได้ง่าย เปรียบเสมือนการสอนภาษาหนังสือเขาทำแบบหรือรูปภาพประกอบการสอน เป็นเหตุให้ผู้เรียนเรียนได้สะดวกขึ้นอีกมาก ข้าพระองค์ประพฤติเช่นนี้ฉันใดก็ฉันนั้น"

เมื่อได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งได้ทูลตอบพระบรมศาสดาเช่นนี้ ก็สงสารพระมหากัสสปะ ท่านอุตส่าห์ตรากตรำทรมาน ถ้าเปรียบในทางโลกท่านก็เป็นถึงมหาเศรษฐีควรได้นอนที่นอนที่ดีๆ กินอาหารที่ประณีต ตรงกันข้าม ท่านกลับสู้อุตส่าห์มาทนลำบากนอนกลางดินกินกลางหญ้า ฉันอาหารก็ไม่ประณีต เปรียบเทียบตัวเราเสมอเพียงแค่นี้ จะมาหาแต่ความสุขใส่ตัวแค่อามิส ก็บังเกิดความละอายใจ สำหรับพระมหากัสสปะ เวลานั้นท่านจะบริโภคอาหาร นั่ง นอน ในที่สวยงามเท่าไรก็ตาม ย่อมไม่มีปัญหาใดๆ ที่จะเป็นไปเพื่ออาสวะกิเลสเสียแล้ว แต่ว่าเป็นของไม่แปลก ท่านกลับเห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่บรรดาสานุศิษย์

ฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นข้อสะกิดใจเรามานับตั้งแต่เริ่มบวชในครั้งแรก



วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ


พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าอโศกมหาราช วัดอโศการาม 

เมื่อพูดถึงเรื่องการอยู่ป่า ก็เป็นของแปลกประหลาดเตือนใจเราอยู่มาก เช่น บางคราวได้มองเห็นความตายอย่างใกล้ชิด และได้รับคำเตือนใจหลายอย่าง บางคราวก็เกิดจากคนในป่า บางคราวก็เห็นพฤติการณ์ของสัตว์ในป่า สมัยหนึ่ง มีตาแก่ยายแก่สองคนผัวเมียพากันไปตักน้ำมันยางในกลางดงใหญ่ เผอิญไปพบหมีใหญ่ตัวหนึ่ง ได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น เมียหนีขึ้นต้นไม่ทัน แล้วร้องตะโกนบอกผัวว่า "ถ้าสู้มันไม่ไหว ให้ลงนอนหงายนิ่งๆ ทำเหมือนคนตายอย่ากระดุกกระดิกฝ่ายผัวพอ ได้ยินเมียร้องบอกดังนั้นก็ได้สติ แกจึงแกล้งล้มนอนแผ่ลงกลางพื้นดิน และนอนนิ่งๆ ไม่ไหวตัว เมื่อหมีเห็นดังนั้นก็ขึ้นคร่อมตัวตาแก่ไว้ ปล่อยมือปล่อยตีน ไม่ตะปบตาแก่อีกเป็นแต่มองดูตาแก่ที่กำลังนอนหงายอยู่นั้น ตาแก่ก็ได้แต่นอนบริกรรมภาวนาได้คำเดียวว่า "พุทโธ พุทโธ" พร้อมทั้งนึกในใจว่า "เราไม่ตาย" หมีก็ดึงขา ดึงศีรษะแก แล้วใช้ปากดันตัวแกทางซ้ายทางขวา แกก็ทำเป็นนอนตัวอ่อนไปอ่อนมาไม่ยอมฟื้น หมีเห็นดังนั้นก็คิดว่าตาแก่คงตายแล้ว มันจึงหนีไป ต่อจากนั้นสักครู่หนึ่งแกก็ลุกขึ้น เดินกลับบ้านกับเมีย บาดแผลที่แกได้รับคือหัวถลอกปอกเปิกแต่ไม่ตาย แกก็สรุปให้ฟังว่า "สัตว์ป่าต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเราเห็นว่าจะสู้ไม่ไหว ต้องทำตัวเหมือนคนตาย"

เมื่อเราได้ฟังแกเล่าแล้ว ก็ได้ความรู้ขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า คนตายไม่มีใครต้องการเราอยู่ในป่าเราก็ควรทำตนเหมือนคนตาย ฉะนั้นใครจะว่าดีหรือชั่วประการใด เราต้องนิ่ง สงบกาย วาจา ใจ จึงจะรอดตาย เป็นอุทาหรณ์เตือนใจได้อีกอย่างหนึ่งในทางธรรมะว่า "คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย" ก็เป็นมรณัสสติเตือนใจได้เป็นอย่างดี

อีกครั้งหนึ่ง ได้ไปพักอยู่ในดงใหญ่แห่งหนึ่ง วันหนึ่งเวลาเช้าสายๆ ได้พาลูกศิษย์ออกบิณฑบาต พอเดินผ่านดงไป ได้ยินเสียงแม่ไก่ร้อง "กะต๊ากๆ" ฟังเสียงดูเป็นเสียงไก่แม่ลูกอ่อน เพราะเมื่อส่งเสียงร้องแล้ว ไม่ยอมบิน จึงให้ลูกศิษย์วิ่งไปดูแม่ไก่ตกใจก็บินข้ามต้นไม้สูงหนีไป เห็นลูกไก่วิ่งอยู่หลายตัว มันพากันวิ่งหนีเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในกองใบไม้ร่วง แล้วทุกตัวก็นิ่งเงียบ ไม่ยอมไหวตัวไม่ยอมกระดุกกระดิก แม้จะเอาไม้คุ้ยเขี่ยดู ก็ไม่ยอมกระดุกกระดิก เด็กลูกศิษย์ไปหาอยู่พักหนึ่ง ไม่ได้พบลูกไก่เลยแม้แต่ตัวเดียว แต่เรานึกในใจว่ามันไม่ได้หนีไปไหนแต่มันทำตัวเหมือนใบไม้ร่วง ในที่สุดลูกไก่ตัวนิดๆ จับไม่ได้สักตัวเดียว เรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้นึกถึงสัญชาติญาณการป้องกันภัยของสัตว์ ว่ามันก็มีวิธีการที่ฉลาด มันทำตัวของมันให้สงบ ไม่มีเสียงในกองใบไม้ร่วง จึงได้เกิดการนึกเปรียบเทียบขึ้นในใจตนเองว่า "ถ้าเราอยู่ในป่า ทำจิตให้สงบไม่ไหวตัวเช่นเดียวกับลูกไก่ เราก็ต้องได้รับความปลอดภัย พ้นความตายแน่นอน" ก็เป็นคติเตือนใจได้อีกเรื่องหนึ่ง

นอกจากนี้ เมื่อนึกถึงธรรมชาติอื่นๆ เช่น ต้นไม้ เถาวัลย์ สัตว์ป่า แต่ละอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องปลุกใจได้เป็นอย่างดี เช่น เถาวัลย์บางชนิดพันต้นไม้ไม่มีเลี้ยวไปทางทิศทางอื่น ต้องพันเลี้ยวไปทางทักษิณาวัตรเสมอ สังเกตเห็นเช่นนี้ก็มาระลึกถึงตัว หากเราจะทำจิตให้ก้าวไปสู่ความดีอันยิ่งยวด เราต้องเอาอย่างเถาวัลย์คือเดินทางทักษิณาวัตร เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า "กายกมฺม วจีกมฺมํ มโนกมฺมํ ปทกฺขิณ" ฉะนั้น เราต้องทักษิณาวัตร คือเวียนไปทางทักษิณเสมอ นั่นคือเราต้องทำตนให้เหนือกิเลสที่จะลุกลามใจ มิฉะนั้นเราก็สู้เถาวัลย์ไม่ได้ ต้นไม้บางชนิดแสดงความสงบให้เราเห็นด้วยตา ที่เราเรียกกันว่า "ต้นไม้นอน" ถึงเวลากลางคืนมันหุบใบ หุบก้าน เมื่อเราไปนอนอยู่ใต้ร่มไม้ต้นนั้น จะมองเห็นดาวเดือนอย่างถนัดในเวลากลางคืน แต่พอถึงเวลากลางวันแผ่ก้านแผ่ใบมืดทึบอย่างนี้ก็มี เรื่องเหล่านี้ก็ล้วนเป็นคติเตือนใจว่า ขณะเรานั่งสมาธิหลับตาภาวนานั่นก็ให้หลับตา ส่วนใจเราต้องให้สว่างไสว เหมือนต้นไม้นอนในเวลากลางคืน ซึ่งใบไม้ปิดตาเรา เมื่อระลึกนึกคิดได้อย่างนี้ ก็ได้แลเห็นประโยชน์ของการอยู่ป่า จิตใจก็เกิดความห้าวหาญธรรมะธรรมโมที่ได้เรียนมาหรือที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ก็ได้ผุดมีขึ้น เพราะธรรมชาติเป็นผู้สอน จึงได้มานึกถึงหลักวิทยาศาสตร์ของโลกที่ทุกประเทศพากันทำฤทธิ์ทำเดชต่างๆ นานา และทำได้อย่างสูงๆ น่ามหัศจรรย์ ล้วนแต่ไม่ปรากฏว่ามีตำราในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมาแต่ก่อน นักวิทยาศาสตร์พากันคิดได้จากหลักธรรมชาติ ซึ่งปรากฏมีอยู่ในโลกนี้ทั้งสิ้น เรามาหวนคิดถึงธรรมะก็มีอยู่ตามธรรมชาติเหมือนวิทยาศาสตร์นั่นเอง เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็หมดห่วงในเรื่องการเรียนแล้วมาระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ล้วนแต่ได้เรียนสำเร็จจากหลักธรรมชาติทั้งนั้นไม่ปรากฏว่าเคยมีตำรับตำรามาแต่ก่อน

ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ตัวเราจึงยอมโง่ทางแบบและตำราต้นไม้บางชนิดมันนอนกลางคืนแต่ตื่นกลางวัน บางชนิดก็นอนกลางวันแต่ตื่นกลางคืน สัตว์ป่าก็เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้ความรู้จากพฤกษชาติ ซึ่งมันคลายรสในตัวของมันออก บางชนิดก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย บางชนิดก็เป็นโทษแก่ร่างกาย อาทิเช่น บางคราวเราเป็นไข้เมื่อเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิดอาการไข้ก็หายไป บางคราวเราสบายดี แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด ธาตุก็เกิดแปรปรวน บางคราวเราหิวข้าวหิวน้ำ แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด อาการหิวเหล่านั้นก็หายไป การได้ความรู้ต่างๆ จากพฤกษชาติเช่นนี้ เป็นเหตุให้นึกถึงแพทย์แผนโบราณ ซึ่งนิยมสร้างรูปฤๅษีไว้เป็นที่เคารพบูชา ฤๅษีนั้นไม่เคยได้เรียนตำรายามาแต่ก่อน แต่มีความสามารถสอนแพทย์แผนโบราณให้รู้จักยารักษาโรคได้ โดยวิธีการเรียนธรรมชาติโดยทางจิตเหมือนอย่างตัวเรานี้เอง น้ำ พื้นแผ่นดินหรืออากาศธาตุก็เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น เมื่อทราบเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ เราก็ไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องยารักษาโรค คือเห็นว่ามันมีอยู่ทั่วไป ส่วนที่ว่าเรารู้หรือไม่รู้ อันนี้เป็นเรื่องของตัวเราเอง นอกจากนั้นยังมีคุณความดีอย่างอื่นที่จะต้องบริหารตัวเอง นั่นคืออำนาจแห่งดวงจิตที่สามารถทำให้สงบระงับลงได้เท่าไร ก็ยิ่งมีคุณภาพสูงขึ้นไปยิ่งกว่านี้อีกหลายสิบเท่า ซึ่งเรียกว่า "ธรรมโอสถ"

สรุปแล้ว คุณประโยชน์ที่ได้รับในเรื่องการอยู่ป่าที่สงัดเพื่อปฏิบัติทางจิตนี้ เห็นจริงตัดข้อสงสัยในคำสอนของพระตถาคตได้เป็นข้อๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงยอมปฏิบัติตนเพื่อ "วิปัสสนาธุระ" ตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเนื่องในการได้ปฏิบัติทางจิตนี้ ถ้าจะนำมาพรรณนาก็มีอยู่มากมายแต่จะขอกล่าวแต่เพียงสั้นๆ เสมอเพียงเท่านี้


ธรรมโอวาท
     คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย
     คนกลัวตายจะต้องตายอีก
     ผู้ที่จะพ้นจากภพก็ต้องเข้าไปอยู่ในภพ ผู้ที่จะพ้นจากชาติต้องรู้เรื่องของตัว จึงจะเป็นไปได้
     ถ้าทุกคนมีความคิดเห็นถูกต้อง การปฏิบัตินั้นเป็นเหตุไม่เหลือวิสัย
     ถ้าทุกคนมีความคิดเห็นถูกต้อง การปฏิบัตินั้นเป็นเหตุไม่เหลือวิสัย

ผู้จะต้องถึงมรรคผลนิพพานได้นั้น จะต้องทำทางใจ ถ้าไม่ทำทางนี้แล้ว จะทำการกุศลสักเท่าไร ก็ถึงมรรคผลนิพพานไม่ได้ นิพพานนี้จะต้องถึงด้วยข้อปฏิบัติทางใจเท่านั้น ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเหตุแห่งสมาธิ สมาธิเป็นเหตุแห่งปัญญา ปัญญาเป็นเหตุแห่งวิมุตติ สมาธิเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาและญาณ อันเป็นองค์สำคัญของมรรค แต่จะขาดสมาธิไม่ได้ถ้าขาดแล้วก็ได้แต่จะคิดๆ นึกๆ เอา ฟุ้งซ่านไปต่างๆ ปราศจากหลักฐานสำคัญ

ผู้จะต้องถึงมรรคผลนิพพานได้นั้น จะต้องทำทางใจ ถ้าไม่ทำทางนี้แล้ว จะทำการกุศลสักเท่าไร ก็ถึงมรรคผลนิพพานไม่ได้ นิพพานนี้จะต้องถึงด้วยข้อปฏิบัติทางใจเท่านั้น ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเหตุแห่งสมาธิ สมาธิเป็นเหตุแห่งปัญญา ปัญญาเป็นเหตุแห่งวิมุตติ สมาธิเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาและญาณ อันเป็นองค์สำคัญของมรรค แต่จะขาดสมาธิไม่ได้ถ้าขาดแล้วก็ได้แต่จะคิดๆ นึกๆ เอา ฟุ้งซ่านไปต่างๆ ปราศจากหลักฐานสำคัญ


ปัจฉิมบท
ฉะนั้น ชีวิตความเป็นมาของตน ก็ได้คิดมุ่งอยู่อย่างนี้เรื่อยมา นับตั้งแต่ได้ออกปฏิบัติในทางวิปัสสนากรรมฐานมาแต่ พ.ศ.๒๔๖๙ จนถึง พ.ศ.๒๕๐๒ นี้ได้อบรมสั่งสอนหมู่คณะสานุศิษย์ในจังหวัดต่างๆ ได้สร้างสำนักให้ความสะดวกแก่พุทธบริษัท เช่น จังหวัดจันทบุรี ๑๑ สำนัก การสร้างสำนักนี้มีอยู่ ๒ ทาง คือ

๑.เมื่อลูกศิษย์ได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้น ยังไม่สมบูรณ์ก็ช่วยเป็นกำลังสนับสนุน
๒.เมื่อเพื่อนฝูงได้ดำริสร้างขึ้นยังไม่สำเร็จ บางแห่งก็ขาดพระ ก็ได้ส่งพระที่เป็นศิษย์ไปอยู่ประจำต่อไป มีบางสำนักครูบาอาจารย์ได้ไปผ่านและสร้างขึ้นไว้แต่กาลก่อน ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมและอบรมหมู่คณะเรื่อยมา จนบัดนี้ จังหวัดจันทบุรีมี ๑๑ แห่ง นครราชสีมามีสำนักปฏิบัติ ๒-๓ แห่ง ศรีสะเกษ ๑ แห่ง สุรินทร์ก็มีเพื่อนกรรมฐานทั้งนั้น อุบลราชธานีมีหลายแห่ง นครพนม สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี ระยอง ตราด ลพบุรี ชัยนาท ตาก นครสวรรค์ พิษณุโลก เป็นวัดที่ผ่านไปอบรมชั่วคราว ไม่มีสำนัก สระบุรีมี ๑ แห่ง อุตรดิตถ์ก็เป็นจุดผ่านไปอบรม ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ นครนายก นครปฐม ได้ผ่านไปอบรมชั่วคราวยังไม่มีสำนัก ราชบุรีได้ผ่านไปอบรมยังไม่มีสำนัก เพชรบุรี มีพระเณรเพื่อนฝูงตั้งสำนักไว้บ้าง ที่ประจวบคีรีขันธ์ได้เริ่มสร้างสำนักที่อำเภอหัวหิน ชุมพรมีสำนักอยู่ ๒-๓ แห่ง สุราษฎร์ธานี ผ่านไปอบรมชั่วคราวไม่มีสำนัก นครศรีธรรมราช ก็ผ่านไปอบรมมีสำนักขึ้นก็รกร้างไป พัทลุง มีศิษย์ผ่านไปอบรมยังไม่มีสำนัก สงขลามีสำนักที่วิเวกหลายแห่ง ยะลา มีศิษย์ไปเริ่มอบรมไว้เป็นพื้น และได้เคยไปอบรม ๒ ครั้ง

ระหว่างออกพรรษาได้สัญจรไปเยี่ยมศิษย์เก่าๆ ของครูบาอาจารย์ที่เคยไปพักผ่อนมาแล้วก็ได้ไปอยู่เสมอมิได้ขาด บางคราวก็ได้หลบหลีกไปบำเพ็ญประโยชน์ส่วนตัวบ้าง นับตั้งแต่ได้อุปสมบทมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๘ แต่มาสวดญัตติใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ จำเดิมแต่นั้นมาปีแรกที่ได้สวดญัตติแล้วได้อยู่จำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ๖ พรรษา มาจำพรรษาวัดสระปทุมพระนคร ๓ พรรษา ไปจำพรรษาอยู่ที่เชียงใหม่ ๒ พรรษา จำพรรษาที่จังหวัดนครราชสีมา ๒ พรรษา จังหวัดปราจีนบุรี ๑ พรรษา มาสร้างสำนักที่จันทบุรี จำพรรษาอยู่ ๑๔ พรรษา ต่อจากประเทศอินเดียผ่านประเทศพม่า ไปจำพรรษาที่วัดควนมีด จังหวัดสงขลา ๑ พรรษา จากนั้นได้จำพรรษาที่วัดบรมนิวาส ๓ พรรษา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) มรณภาพแล้วได้ออกไปจำพรรษาอยู่วัดอโศการาม ๔ พรรษา พรรษาที่ ๔ นี้ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๒ หลวงพ่อเริ่มอาพาธหนัก ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๒ กระทั่ง พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านจึงถึงแก่มรณภาพในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๔ รวมอายุ ๕๔ ปี ๓ เดือน
  ที่มาข้อมูล : เว็บไซต์ วัดอโศการามดอทคอม


3113  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / กบฎญวนไกเซิน เมื่อ: 23 มีนาคม 2559 14:56:57


ภาพจาก : iseehistory.socita.com

กบฏญวนไกเซิน

ญวนไกเซิน หรือ ญวนไตเซิน (Try Son) ชื่อกบฏในเมืองญวน  เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ถูกปราบปรามราบคาบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑)

หัวหน้ากบฏญวนไกเซิน คือ พี่น้องสามคน ชื่ออ้ายหยาก อ้ายบาย และอ้ายดาม ตามลำดับ เดิมเป็นโจรป่าอาศัยอยู่เมืองกุยเยิน ซึ่งราชวงศ์เลปกครอง  ขณะนั้น เมืองเว้เกิดจลาจลเนื่องจากราษฎรไม่พอใจการปกครองของเจ้าเมืองและผู้สำเร็จราชการ สามคนพี่น้องได้เกลี้ยกล่อมผู้คน รวบรวมสมัครพรรคพวกได้จำนวนมาก โดยปรึกษากันว่าจะตีเมืองเว้ แต่ก่อนเข้าตีเมือง ทั้งสามพากันไปสามิภักดิ์เจ้าเมืองกวางหนำ และทำราชการอยู่กับเจ้าเมืองกวางหนำเป็นเวลานาน  เจ้าเมืองกวางหนำเห็นว่าอ้ายบาย น้องคนที่สองมีสติปัญญาอุตสาหะ จึงแต่ตั้งเป็นขุนนางมีสิทธิว่าราชการแทนตน ตั้งแต่นั้นมาทั้งสามคนก็ได้รับการเรียกขานว่า องหยาก องบาย และองดาม  

องบายเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก ส่วนพี่น้องทั้งสองคุมไพร่พลอยู่ในป่า องบายร่วมมือกับเจ้าเมืองตังเกี๋ย ตีเมืองเว้ไว้ในอำนาจ เจ้าเมืองเว้พาองเชียงชุนน้องชายและหลานๆ มีองเชียงสือ เป็นต้น หนีไปอยู่เมืองไซ่ง่อน ต่อมาพี่น้องทั้งสามยกทัพตีเมืองไซ่ง่อนได้เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ องเชียงชุนหนีไปอยู่เมืองบันทายมาศ บางแห่งเรียกว่าพุทไธมาส หรือเมืองฮาเตียน ในพงศาวดารญวนกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกกองทัพไปตีเมืองบันทายมาศ แล้วโปรดให้รับองเชียงชุนกับครอบครัวเข้ามาอุปการะที่กรุงธนบุรี แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า องเชียงชุนพาบุตรภรรยาและสมัครพรรคพวกลงเรือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานบ้านเรือนให้อาศัยอยู่ที่พระนครฝั่งตะวันออก

องหยาก องบาย และองดาม เมื่อปราบเมืองไซ่ง่อนเรียบร้อยแล้วก็ตั้งตนเป็นเจ้า องหยากพี่ชายใหญ่เป็นพระเจ้าแผ่นดินชื่อว่า “ไกเซิน” ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองกุยเยิน องบายชื่อ “บากบินเยือง” บางแห่งเรียกว่า “องติงเวือง” ครองเมืองไซ่ง่อน และองดามน้องสุดท้องชื่อ “องลองเยือง” ครองเมืองเว้ หลังจากตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เมืองตังเกี๋ยไม่ยอมอ่อนน้อม องลองเยืองจึงยกทัพไปปราบริบทรัพย์สมบัติพร้อมอาวุธมาไว้ที่เมืองเว้ หลานเจ้าเมืองตังเกี๋ย ชื่อ องเจียวทง คุมแค้นไปขอกำลังจากจีนมาช่วยแต่สู้ไม่ได้ จากนั้นองลองเยืองจึงแต่งตั้งองกะวีบุตรชายให้ครองเมืองตังเกี๋ย เมืององลองเยืองเสียชีวิต เหล่าขุนนางจึงยกองกลัก บุตรคนที่สองขององลองเยืองขึ้นเป็นเจ้าเมืองเว้ต่อไป

ต่อมาองเชียงสือตีเมืองไซ่ง่อนคืนจากพวกไกเซิน และได้เป็นเจ้าเมือง ภายหลังพวกไกเซินตีคืน องเชียงสือจึงต้องลงเรือหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ระหว่างที่พำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้ยกกองทัพออกไปช่วยปราบปรามพวกไกเซินถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกโปรดให้พระยานครสวรรค์เกณฑ์กองทัพเขมรเข้าร่วมด้วย แล้วยกทัพเรือไปที่เมืองญวน บากบินเยือง หรือองติงเวือง เจ้าเมืองไซ่ง่อนจัดทัพเรือออกรบกองทัพไทยฝีมือเข้มแข็ง สามารถตีกองทัพญวนแตกพ่ายหลายครั้ง ต่อมาพระยานครสวรรค์เป็นกบฏจึงโปรดให้ยกทัพกลับแล้วประหารชีวิตเสีย

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพเรือไปตีเมืองไซ่ง่อน ครั้งนี้องเชียงสือไปในกองทัพด้วย ให้พระยาวิชิตณรงค์ ยกทัพบกไปทางเขมร เกณฑ์กองทัพเขมรเข้าร่วม เมืองไซ่ง่อนจัดกองทัพออกสู้รบจนถึงเทศกาลเดือนสิบสอง มีน้ำหลาก ประกอบกับไทยกำลังมีศึกติดพันกับพม่าจึงมิได้จัดกองทัพใหญ่ไปช่วย กองทัพญวนไกเซินจึงได้รับชัยชนะ

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะได้โปรดให้ยกทัพไทยไปช่วยรบกับญวนไกเซินถึง ๒ ครั้ง ก็ยังไม่สำเร็จ องเชียงสือจึงคิดว่าจำต้องหนีออกไปหากำลังที่อื่น โดยขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ แห่งฝรั่งเศสส่งกองทหารมาช่วยกู้บ้านเมือง ผ่านสังฆราชแห่งเมืองอาดรัง ฝรั่งเศสรับว่าจะช่วยเหลือ แต่ยังไม่ทันได้ส่งกองทหารมา พอดีมีข่าวว่าไกเซินซึ่งปกครองแผ่นดินญวนเกือบ ๓๐ ปี บาดหมางกัน ราษฎรได้รับความลำบากยากแค้น ส่วนฝรั่งเศสก็เกิดการจลาจล พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และพระราชวงศ์ถูกปลงพระชนม์ องเชียงสือจึงถือเป็นโอกาสลอบหนีออกไปจากกรุงเทพมหานคร โดยมิได้กราบทูล หวังจะตีเมืองไซ่ง่อนคืนจากพวกไกเซิน และมีหนังสือมากราบทูลขอความช่วยเหลืออีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระราชทานเรือและปืนพร้อมกระสุนดินดำส่งไปให้หลายครั้ง ขณะนั้นพวกไกเซินมีความบาดหมางกันมากขึ้น ต่างลอบหนีมาเป็นพวกองเชียงสือ ซึ่งเกลี้ยกล่อมญวนและเขมรได้มากพอ จึงยกทัพเรือไปรบไกเซิน องดกเซม เจ้าเมืองสู้ไม่ได้ องเชียงสือจึงตีเมืองบันทายมาศ และไซ่ง่อนได้ในที่สุด

พ.ศ.๒๓๓๓ องเชียงสือตั้งตนเป็นเจ้าอนัมก๊ก และถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พร้อมทั้งขอพระราชทานพาหนะและสิ่งของต่างๆ อยู่เนืองๆ เชื้อสายไกเซินที่เมืองตังเกี๋ย ชื่อ องกันถิน บุตรชายยองลองเยืองได้ส่งทูต ๖ คน ถือราชสาสน์พร้อมบรรทุกขนจามรีแดง ๕๐๐ พู่ เข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับไทย ในราชสาส์นระบุว่าถ้าองเชียงสือหนีเข้ามายังกรุงเทพมหานครอีก ขอให้ฝ่ายไทยจับตัวส่งให้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้จัดกองทัพเขมรไปช่วยเจ้าอนัมก๊กปราบไกเซินที่เมืองกุยเยิน เมืองเว้ และเมืองตังเกี๋ย แล้วเจ้าอนัมก๊กก็สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระนามว่า “พระเจ้าเกียลอง” หรือ “พระเจ้ากรุงเวียดนามยาลอง” ในที่สุดพวกไกเซินก็ถูกปราบปรามได้สำเร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


ที่มา : หนังสืออักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย - กรมศิลปากรจัดพิมพ์
3114  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต เมื่อ: 23 มีนาคม 2559 14:29:12


ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ.นครปฐม

ประเพณีเลี้ยงลูก
พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) เรียบเรียง
กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่

ธรรมดาบิดามารดากับบุตร ก็เป็นธรรมเสียมของปุถุชนทั่วโลก ย่อมมีความกรุณาอุปถัมภ์และสั่งสอนจะให้เป็นคุณประโยชน์แก่บุตรของตนนั้น สืบมาทุกรูปทุกนาม จะพรรณนาให้กว้างขวางโดยละเอียดก็จะยืดยาวไป ทราบแก่ใจของปุถุชนทั้งปวงอยู่แล้ว

จะขอกล่าวความโดยโวหาร และไต่ถามท่านผู้รู้พระบรมพุทโธวาทมาเรียบเรียงลงไว้พอเป็นสังเขป

ตามบาลีอังคุตตรนิกายติกนิบาตรว่า ตโยเม ภิกฺขเว ปุตฺตา สํวิชฺชมานา โลกสฺมึ กตเม ตโย อภิชาโต อนุชาโต อวชาโต จาติ  ความว่าบุตรมี ๓ จำพวก คือ อภิชาตบุตาจำพวก ๑  อนุชาตบุตรจำพวก ๑  อวชาตบุตรจำพวก ๑  เป็น ๓ จำพวกดังนี้  

อภิชาตบุตรนั้น คือ บุตรชายบุตรหญิงก็ดี มีน้ำใจตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอน และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จะร่ำเรียนวิชาการต่างๆ หรือคิดทำการสิ่งใดก็ว่องไวเฉียบแหลมยิ่งเกินบิดามารดา จะมียศศักดานุภาพทรัพย์สมบัติก็ยิ่งกว่าบิดามารดา บุตรจำพวกนี้ได้ชื่อว่า อภิชาตบุตร

อนุชาตบุตรนั้น มีน้ำใจตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอนบ้าง ประพฤติการที่ชอบประกอบคำบิดามารดาสั่งสอนบ้าง มีสติปัญญาเล่าเรียนวิชาทำการสิ่งต่างๆ หรือประกอบไปด้วยยศและสมบัติ ก็ไม่ยิ่งไม่ต่ำกว่าบิดามารดานัก พอเสมอตามตระกูลบิดามารดา บุตรดังนี้ได้ชื่อว่าอนุชาตบุตร

อวชาตบุตรนั้น มิได้ตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอน ประพฤติการสิ่งซึ่งมิชอบ คบเพื่อนเสพสุราประกอบการทุจริตต่างๆ มีความประพฤติต่ำเลวทรามกว่าบิดามารดา  จะคิดทำการสิ่งใดก็ไม่เป็นคุณประโยชน์ ไม่เป็นที่ชอบใจแห่งบิดามารดาและวงศาคณาญาติ ชักให้ตระกูลบิดามารดาต่ำถอยลงด้วย บุตรอย่างนี้ได้ชื่อว่าอวชาตบุตร

ก็แลบุตรทั้ง ๓ จำพวกดังกล่าวมานี้ จะมาบังเกิดในสำนักบิดามารดาตระกูลใด บิดามารดาก็ย่อมมีความสิเนหาอุปถัมภ์สั่งสอนบุตรทั้ง ๓ จำพวก ให้ประพฤติการตามตระกูลเสมอกัน หากอุปนิสัยของบุตรผิดกัน จึงแตกต่างไปเป็น ๓ จำพวกดังกล่าวมา

เมื่อบิดามารดาทราบว่าบุตรมาปฏิสนธิในครรภ์มารดาแล้วก็มีความยินดี ตั้งใจทำนุบำรุงรักษาบุตรในครรภ์ตามสมควรแก่ความสามารถของบิดามารดา มารดานั้นแม้อยากจะบริโภคอาหารที่เผ็ดร้อนเป็นของที่ชอบใจก็สู้อดงดเว้นไม่บริโภค เมื่อจะนั่งนอนเดินไปมาก็ระวังรักษากาย เพื่อจะมิให้บุตรในครรภ์ป่วยเจ็บเป็นอันตรายด้วยเหตุต่างๆ ฝ่ายบิดาก็หาหมอยามาประกอบยาให้มารดาบุตรนั้นรับประทานเพื่อจะได้รักษาบุตรในครรภ์ให้มีความสุขสบายเจริญวัยวัฒนาขึ้น จนครรภ์มารดาถ้วนกำหนดจวนจะคลอดบุตรแล้ว จึงหาหมอพยุงครรภ์ หมอยาหมอนวดมาประจำรักษาครรภ์มารดาอยู่ เผื่อจะเจ็บครรภ์หรือจะขัดขวางประการใด จะได้แก้ไขให้ทันท่วงที มารดาต้องทนทุกขเวทนา รักษาครรภ์บุตรนั้นมาได้ความลำบากถึง ๙ เดือน ๑๐ เดือน

ครั้นถึงฤกษ์งามยามดี บุตรคลอดพ้นจากครรภ์มารดา บางทีขัดขวางทนทุกขเวทนาต่างๆ กัน บางทีจนถึงมารดานั้นตายก็มี ถ้าบุตรคลอดจากครรภ์มารดาโดยสะดวกแล้วบิดามารดาก็มีความโสมนัส จัดการเลี้ยงดูโดยประเพณีที่นับถือเป็นคติสืบกันมา ตั้งต้นแต่หาสมุดดินสอมาจดหมายฤกษ์ยามวันคืนเดือนปีบุตรไว้ เพื่อจะได้ให้โหรดูชะตาราศีบุตรให้ถูกต้องตามตำรา ส่วนหมอพยุงครรภ์ก็รับเอาบุตรมาเอานิ้วมือควักโลหิตในปากบุตรนั้นออก แล้วเอาน้ำผึ้งทองคำเปลวกวาดที่ต้นลิ้น เพื่อจะมิให้ทารกนั้นมีโรคป่วยเจ็บตานซางต่างๆ ถ้าหมอพยุงครรภ์ควักโลหิตในปากทารกนั้นออกไม่หมด หรือไม่ได้ควักออกแล้ว ก็ถือว่าทารกนั้นมักจะมีโรคป่วยเจ็บตานซางต่างๆ และน้ำผึ้งทองคำเปลวนั้น บิดามารดาหาเตรียมไว้ก็ได้กวาด ถ้าไม่มีก็หาได้กวาดไม่ หมอก็เอาบุตรนั้นมาตัดสายอุทรที่ติดอยู่กับรก วิธีที่ตัดสายอุทรนั้นต้องไว้สายยาวเสมอกับเข่าทารกนั้น แล้วเอาด้ายดิบที่ย้อมครามผูกคาดสายอุทรที่จะตัดให้แน่น ปรารถนาจะไม่ให้เลือดลมเดินได้เมื่อจะตัดสายอุทรนั้น เอาก้อนดินที่แข็งรองสายอุทรไว้จำเพาะให้เอาผิวไม้รวกตัดสายอุทรนอกกายที่ผูกคาดไว้ และรกที่ตัดขาดออกแล้วต้องล้างน้ำให้หมดจด ใส่หม้อตาลเอาเกลือใส่ทับรกไว้บนปากหม้อ ซึ่งเอารกล้างน้ำให้หมดจดนั้น เพราะปรารถนาจะกันไม่ให้บุตรป่วยเจ็บเป็นพุพองเปื่อยพังได้ แล้วหมอพยุงครรภ์จึงได้รับเอาบุตรไปอาบน้ำชะระกายให้หมดมลทิน ปูเบาะและผ้าในกระด้ง ยกบุตรลงวาง ถ้าบุตรเป็นชายบิดาและญาติก็เอาสมุดดินสอวางไว้ในกระด้งข้างเบาะ  ถ้าบุตรเป็นหญิงก็เอาเข็มด้ายใส่ลงไว้ ความประสงค์ของบิดามารดาเพื่อจะให้บุตรชายบุตรหญิงรู้วิชาในการหนังสือและการเย็บปักถักร้อย แล้วหมอพยุงครรภ์มีลัทธิยกกระด้งที่รองบุตรนั้นขึ้นร่อน ออกวาจาว่า ๓ วันลูกผี ๔ วันลูกคน ลูกของใครๆ มารับเอาเน้อ แล้วทิ้งกระด้งลงกับพื้นเรือนเบาๆ พอให้บุตรที่นอนในกระด้งตกใจสะดุ้งร้องดังขึ้น แต่หมอยกกระด้งรองบุตรขึ้นร่อนแล้วทิ้งลง ออกวาจาดังกล่าวมาแล้วนั้นถึง ๓ ครั้ง บางทีบิดาบ้าง ญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีอายุบ้าง ออกวาจาว่า “ลูกของข้าเอง” หมอจึงได้ส่งกระด้งรองทารกนั้นให้ ท่านผู้รับก็วางลงไว้ในที่สมควรใกล้มารดา ฝ่ายข้างมารดานั้น บุตรคลอดออกจากครรภ์แล้วก็รับประทานน้ำส้มมะขามเปียกกับเกลือก่อน นอนไฟอยู่ด้วยเตาเชิงกรานมีฟืน ๓ ดุ้น อยู่ ๓ วัน แล้วบิดาและญาติจึงหาวันดีทอดเตาไฟใหญ่ เมื่อจะทอดเตาไฟนั้น มีหมอทำน้ำมนต์ธรณีสารประพรมเตาไฟ เสกข้าวสารกับเกลือเคี้ยวพ่นหลังพ่นท้องผู้ที่จะอยู่ไฟ และพ่นเตาไฟด้วยเรียกว่าดับพิษไฟ มีธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้หมากพลูกระทงเล็กๆ ใส่กุ้งพล่าปลายำวาง ๔ มุมเตาไฟ แล้วมารดาต้องกราบไหว้เตาไฟ ระลึกถึงคุณพระเพลิง พระพาย พระธรณี พระคงคา เป็นที่พึ่ง หมอเสกขมิ้นกะปูนทาหลังทาท้องแล้วจึงขึ้นอยู่บนกระดาน รับประทานยาแก้โลหิตเช้าเย็นกว่าจะออกไฟ แต่การที่นอนไฟนั้น ลางที่นอนอยู่ครบเดือนบ้าง ไม่ครบเดือนบ้าง สุดแต่จะอยู่ได้ไม่ได้ หม้อตาลที่ใส่รกนั้นต้องวางไว้ริมเตาไฟด้วย เพราะจะให้สายอุทรบุตรแห้งเร็ว ครั้นสายอุทรบุตรนั้นหลุดแล้ว หมอจึงเอาใบพลูสดลนควันไฟใต้เสม็ดให้ร้อนพอประมาณ มาทาบกับสะดือบุตร โรยผงดินสอพองบ้าง พิมเสนบ้าง แล้วเอาผลมะกรูดลนควันไฟใต้เสม็ดมาคลึงท้อง ปรารถนาจะให้สะดือแห้งเร็ว และให้เนื้อที่ท้องทารกนั้นหนา จะได้ไม่ปวดท้อง

เมื่อบุตรนอนอยู่ในกระด้งครบ ๓ วันนั้น บิดามารดาให้ญาติและคนใช้ทำบายศรีปากชาม ทำขวัญแล้วยกบุตรขึ้นจากกระด้งขึ้นนอนเปลตามธรรมเนียมมา ที่บิดามารดาบริบูรณ์ก็จัดหาพี่เลี้ยงแม่นมเลี้ยงดูรักษาบุตรตามสมควร ที่บิดามารดาขัดสนยากจนก็อุปถัมภ์เลี้ยงดูบุตรไปตามลำพัง ครั้นบุตรมีอายุครบเดือนกำหนดจะโกนผมไฟแล้ว บิดามารดาจึงได้บอกกล่าวญาติพี่น้องมาช่วยในการมงคลโกนผมไฟ มีบายศรี ทำขวัญ เลี้ยงดูกันตามประเพณี ผู้ที่มาช่วยมีเงินและสิ่งของมาทำขวัญให้บุตรนั้นตามวงศ์ตระกูลมากและน้อย ที่เป็นคนขัดสนอนาถา ก็เอาแต่ด้ายดิบมาผูกข้อมือบุตรเรียกมิ่งขวัญโกนผมไฟบุตรไปตามจน เมื่อมารดาออกจากนอนไฟแล้ว ก็หาผู้รู้ตำราวิธีที่จะฝังรกบุตรนั้นที่ต้นไม้ใหญ่ที่ทิศใดทิศหนึ่ง มีกำหนดหลุมลึกและตื้นเป็นสำคัญ เพื่อจะให้บุตรนั้นมีความเจริญสืบไป บางคนก็หาได้ทำตามตำราไม่ ทิ้งหม้อรกผุพังไปก็มีโดยมาก



ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ.นครปฐม

เมื่อบุตรมีอายุเจริญขึ้นสมควรที่จะไว้ผมจุกผมเปียอย่างไร บิดามารดาก็หาวันดีไว้ผมจุกผมเปียให้บุตรตามประเพณี หรือมิได้ไว้ผมจุกผมเปียให้แก่บุตร ให้โกนผมเสียทีเดียว ประสงค์จะให้สะอาดก็มีบ้าง ถ้าบุตรเจ็บป่วยลงประการใด บิดามารดามีความร้อนใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่เป็นอันที่จะนอนที่จะบริโภคอาหาร หาหมอมารักษาพยาบาลกว่าบุตรจะหายป่วย ต้องเสียเงินขวัญข้าวค่ายาอยู่เนืองๆ ครั้นบุตรมีอายุเจริญขึ้นไปโดยสมควรที่จะหาเครื่องตกแต่งต่างๆ ให้แก่บุตรแล้วบิดามารดาก็หาทองคำทำรูปพรรณประดับเพชรพลอยต่างๆ เป็นเครื่องแต่งตัวให้แก่บุตรตามสมควร ถ้าบุตรชายมีอายุสมควรที่จะสั่งสอนให้ประพฤติที่ชอบด้วยประเทศบ้านเมืองประการใด บิดามารดาก็ควรจะตั้งใจสั่งสอนบุตรนั้นให้อยู่ในอำนาจของบิดามารดา เป็นต้นว่าให้บุตรเล่าเรียนรู้ธรรมวินัยพุทโธวาท บวชเป็นสามเณรภิกขุปฏิบัติตามวินัยสิกขาบท ฝ่ายคันถธุระวิปัสสนาธุระดังนี้เป็นที่ประเสริฐอย่างยิ่ง ถ้าจะประกอบการตามโลกีย์แล้ว ก็ให้เล่าเรียนรู้หนังสือเลขลูกคิดประกอบกัน ศึกษาในทางเสมียนแบบอย่างทางราชการฝ่ายทหารพลเรือน หรือเป็นเสมียนตระลาการ ดูพระราชกำหนดกฏหมายทางพิจารณาตัดสินคดีความ ฝึกหัดการช่างต่างๆ ให้ชำนาญรู้ได้จริงๆ ถ้าเป็นบุตรหญิง บิดามารดาก็ตั้งใจสั่งสอนบุตรให้รู้หนังสือ แล้วประกอบการให้ดูแลรวบรวมทรัพย์สมบัติในบ้านเรือนโดยละเอียดทั่วไป ฝึกหัดเป็นช่างปัก ช่างเย็บ ช่างร้อย ช่างทำเครื่องคาวหวาน หรือให้บุตรชายบุตรหญิงประพฤติการทำมาหาเลี้ยงชีพตามเพศตระกูลบิดามารดาในประเทศนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยประสงค์จะให้เป็นคุณประโยชน์แก่บุตรและธิดา

ปุถุชนที่มักประพฤติการเป็นพาลทุจริต เช่นคบเพื่อนเป็นพาลกินสุราสูบยาฝิ่นเล่นเบี้ยโปการพนันต่างๆ และฉกลักตีชิงวิ่งราวปล้นสะดมทรัพย์สมบัติของท่านผู้อื่นนั้น เพราะไม่ประพฤติการตามความประสงค์ของบิดามารดาที่เลี้ยงดูมา ที่จะเป็นเพราะบิดามารดาไม่ปรารถนาจะให้ลูกดีนั้นหาไม่ แต่บางทีก็เป็นเพราะบิดามารดาเลินเล่อ ไม่ระวังดูแลตามสมควร บุตรจึงได้พากันเป็นพาลทุจริตไปต่างๆ ถ้าบิดามารดามีความอุตสาหะกดขี่สั่งสอนบุตรให้อยู่ในอำนาจบิดามารดา ให้บุตรชายหญิงเล่าเรียนรู้วิชาประพฤติการทำมาหากินที่ชอบตามประเทศบ้านเมืองดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว บุตรนั้นก็คงจะไม่ใคร่ประพฤติการเป็นพาลทุจริตได้ ถ้าจะเป็นไปบ้างก็คงจะเบาบางน้อยลง การที่จะป้องกันมิให้บุตรชายบุตรหญิงประพฤติการเป็นพาลทุจริตไปโดยมาก จะเอาสิ่งอันใดมาแก้ไขกดขี่ให้บุตรประพฤติการแต่ที่ชอบได้ก็ต้องอาศัยอำนาจแห่งบิดามารดา หรืออาจารย์ที่สั่งสอนนั้นข่มขืนน้ำใจบุตรไว้ตั้งแต่เมื่อเจริญวัยขึ้นมาได้ ๕ ปี ๖ ปี ๗ ปี ตลอดไปอย่าให้บุตรประพฤติในทางพาลทุจริตได้ ถ้าบิดามารดาละเลยตามใจให้บุตรนั้นประพฤติการทุจริตซึ่งไม่เป็นประโยชน์แล้ว ภายหลังบุตรนั้นมีความเจริญเกินที่บิดามารดาจะสั่งสอนแล้ว บิดามารดาจะกลับมากดขี่สั่งสอนให้บุตรกลับมาประพฤติการสิ่งที่ชอบนั้นได้โดยยาก จะต้องถึงอำนาจบ้านเมืองบังคับกดขี่ไปตามกฎหมาย บิดามารดาก็คงจะได้ความเดือดร้อน แม้อย่างต่ำก็ได้ความโทมนัสแก่บิดามารดาญาตินั้นโดยมาก

เมื่ออายุบุตรเจริญได้ ๑๑ ปี ๑๓ ปีบ้าง บิดามารดาจึงทำการตัดจุกบุตรเป็นการมงคลใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่บุตรหญิงนั้นมักทำการมงคลตัดจุกเสียแต่ในอายุ ๑๑ ปี โดยมากหาเหมือนบุตรชายไม่ เพราะหญิงมีลักษณะร่างกายเจริญวัฒนาเร็วกว่าบุตรชาย ถ้าบุตรชายเมื่ออายุได้ ๗-๘ ปี ๙-๑๐ ปีขึ้นไป สมควรที่จะศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์วิชาการใด บิดามารดาก็ส่งบุตรไปอยู่วัดบวชเป็นสามเณรบ้างเป็นลูกศิษย์วัดบ้าง หรือส่งโรงเรียนที่มีอาจารย์สั่งสอน ให้บุตรนั้นเล่าเรียนหนังสือ หัดวิชาตามสติปัญญาจนอายุนับปีเดือนบริบูรณ์เต็ม ๒๐ ปีแล้ว บิดามารดาก็จัดหาผ้าไตรเครื่องอัฐบริขารและสิ่งของไทยทาน ซึ่งจะถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด อันดับ กำหนดวันคืน มีธูปเทียนไปลาท่านผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติพี่น้อง มาประชุม ณ บ้านเรือนทำขวัญเวียนเทียนให้บุตรซึ่งจะบวช เรียกว่าเจ้านาค ครั้นเวลาเช้าบิดามารดาวงศาคณาญาติพร้อมกันแห่นาคไปวัด แต่บิดามารดานั้นต้องจูงมือบุตรเข้าไปในพระอุโบสถเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณ เพราะเป็นการศรัทธาเชื่อถือคุณพระรัตนตรัย ให้บุตรอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนาเป็นการกุศลอย่างอุกฤษฏ์

ครั้นบุตรอุปสมบทเป็นภิกษุอยู่วัดตลอดไป บิดามารดาก็เป็นธุระจัดสำรับคาวหวานติดตามไปส่งเช้าส่งเพล ไม่ให้บุตรอดอยากได้ ครั้นบุตรนั้นละเพศบรรพชิตเป็นฆราวาสแล้ว สมควรจะตกแต่งให้มีภรรยา หรือบุตรหญิงอายุได้ ๑๕ ปี ๑๖ ปี ๑๗ ปี ขึ้นไป มีผู้มากล่าวสู่ขอไปเป็นภริยาก็ดี บิดามารดาเห็นดีสมควรที่จะให้บุตรมีสามีภริยาได้ ก็ประชุมปรึกษาญาติทำการมงคลใหญ่ ให้บุตรชายบุตรหญิงมีสามีภริยา แบ่งปันเงินทองทรัพย์สิ่งของต่างๆ แก่บุตรตามมากและน้อย มีแจ้งอยู่ในเรื่องทำการวิวาหมงคลซึ่งจะมีต่อไปภายหลังนั้นแล้ว ถ้าบุตรชายหญิงซึ่งบิดามารดาตกแต่งให้มีสามีภริยา ออกจากบิดามารดาไปทำมาหาบริโภคตามกำลังตนเองแล้ว ถ้ามีความเจริญประกอบด้วยยศศักดิ์ทรัพย์สินบริบูรณ์ บิดามารดาก็มีความความยินดีชื่นชมโสมนัสในบุตรนั้นเป็นอันมาก ถ้าบุตรมีความทุกข์ร้อน คับแค้นอนาถาลงด้วยเหตุต่างๆ บิดามารดาก็มีความโทมนัสเสียใจด้วย ถึงโดยบุตรจะชั่วช้าประพฤติแต่การทุจริต ไม่อยู่ในถ้อยคำสั่งสอนเป็นที่โกรธเคืองของบิดามารดาก็ดี บิดามารดาก็เสียไม่ได้ ต้องเกื้อหนุนสั่งสอนสงเคราะห์แก่บุตรต่อไปตามกำลัง ซึ่งบิดามารดามีความเตตากรุณาอุปถัมภ์สั่งสอนบุตรชายบุตรหญิงนั้น เป็นการไม่รู้สิ้นสุดลงได้ ต่อเมื่อใดบิดามารดาหรือบุตรดับขันธ์ไปสู่ปรโลกฝ่ายหนึ่งแล้ว การอุปถัมภ์และการสงเคราะห์สั่งสอนบุตรนั้นจึงจะขาดไม่มีต่อไปได้ ถึงดังนั้นก็ยังมีความกรุณาเมตตาระลึกถึงบุตรด้วยความอาลัยอยู่เนืองๆ ถ้าบุตรนั้นได้ชื่อว่าอภิชาตบุตร อนุชาตบุตรแล้ว บิดามารดาก็มีความเสน่หารักใคร่มาก จะมีทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวารมากน้อยเท่าใดก็เต็มใจที่จะยกให้แก่บุตรไม่มีความรังเกียจทุกประการ

เรียบเรียงความเรื่องบิดามารดากับบุตรมีความอุปถัมภ์บำรุงรักษาสั่งสอนกันมาพอเป็นสังเขปเพียงนี้ ฯ.
3115  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ ปลากระพงทอดน้ำปลา เมื่อ: 18 มีนาคม 2559 16:09:09
.


 
ปลากระพงทอดน้ำปลา

• เดรื่องปรุง
- ปลากระพง 1 ตัว
- แป้งทอดกรอบ 1-2 ช้อนโต๊ะ (แล้วแต่ขนาดปลา)
- น้ำเชื่อม
- น้ำปลาดี
- น้ำสุก (ทิ้งไว้ให้เย็น)



วิธีทำ
1.ขอดเกล็ด ควักไส้และเหงือกปลาทิ้ง ล้างให้สะอาด
2.ทาหนังปลาด้วยแป้งทอดกรอบ (ไม่ต้องผสมน้ำ) ให้ทั่วส่วนที่เป็นหนังปลา
3.นำไปทอดด้วยไฟปานกลาง จนปลาสุกเหลืองทั้งสองด้าน จัดใส่จาน
  แล้วราดด้วยน้ำปลาปรุงรสขณะปลายังร้อนๆ เสิร์ฟทันที
4.วิธีทำน้ำปลาปรุงรส ผสมน้ำเชื่อม น้ำปลา และน้ำสุก กะปริมาณให้ราดปลาได้ทั่วทั้งตัว
   คนให้เข้ากัน ชิมให้ได้รสเค็มและหวานเท่าๆ กัน    




ปลากระพงขาว น้ำหนักประมาณ 800 กรัม




ขอดเกล็ดปลาให้เรียบร้อย ตัดเหงือกทิ้ง
ใช้มีดกรีดส่วนหลัง แล่เนื้อไล่เลาะไปจนถึงส่วนท้อง แล้วแล่ก้างกลางออกไป


ล้างให้สะอาด...ใช้แป้งทอดกรอบ (ไม่ต้องผสมน้ำ) ทาส่วนของหนังปลาให้ทั่ว
(จะทำให้หนังปลากรอบ อร่อย)


ทอดค่อนข้างยาก...บ้านเราอยู่กัน 2-3 คน จึงใช้กระทะขนาดย่อมๆ
พอมาเจอปลาน้ำหนัก 8 ขีด กระทะจึงดูเล็กถนัดตา


ปลาสุกเหลืองทั้งตัวแล้ว ตักใส่จานเสิร์ฟ
แล้วราดด้วยน้ำปลาปรุงรสให้ทั่วทั้งตัวในขณะปลายังร้อนๆ
(จานนี้ )
3116  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อ: 18 มีนาคม 2559 15:17:12
.



สามเณรติสสะ

ชักจะหาสามเณรมาเล่ายากทุกทีแล้ว

น่าแปลกมากครับในคัมภีร์พระพุทธศาสนา มีพูดถึงสามเณรน้อยมาก แสดงถึงการไม่เห็นความสำคัญของเหล่ากอสมณะมาตั้งแต่ต้น

วันนี้ขอนำเอาประวัติ สามเณรติสสะ มาเล่าให้ฟัง

สามเณรน้อยรูปนี้ตอนเป็นสามเณรไม่โด่งดังเท่าไหร่ พอบวชเป็นพระแล้วก็มาดังเอาตอนแก่ เพราะมีบทบาทสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนา

ประวัติความเป็นมาของท่านติสสะคล้ายกับประวัติของ พระนาคเสน และพระพุทธโฆสาจารย์ คือท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ และถูกพระเถระรูปหนึ่งชักจูงให้มาบวช และพระเถระรูปที่ว่านี้ก็รับคำสั่งจากคณะสงฆ์ที่ลง “ทัณฑกรรม” ท่าน (พูดง่ายๆ ว่าลงโทษ) ฐานไม่ไปประชุมปรึกษาหารือเรื่องสำคัญเกี่ยวกับพระศาสนา

ท่านจึงต้องพยายามชักจูงเด็กน้อยให้มาบวชให้ได้ เพื่อจะได้พ้นจากทัณฑกรรม

หรือพูดให้ถูก ประวัติพระนาคเสนและพระพุทธโฆสาจารย์ คล้ายกับประวัติสามเณรติสสะ เพราะติสสะท่านเกิดก่อนสองรูปนั้น

เรื่องมีอยู่ว่า หลังเสร็จสังคายนาครั้งที่สอง (พ.ศ.๑๐๐) แล้ว พระเถระทั้งหลายก็ปรึกษากันว่า อีกประมาณร้อยปีข้างหน้า พระศาสนาจักเกิดความมัวหมองเพราะน้ำมืออลัชชี จะมีใครสามารถทำหน้าที่ชำระสะสางพระศาสนาให้บริสุทธิ์ได้บ้าง

พระเถระผู้ทรงอภิญญาก็หยั่งเห็นด้วยทิพยจักษุว่า ติสสมหาพรหม จักมาเกิดเป็นมนุษย์และถ้านำเธอออกบวชให้การศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างดีแล้ว ก็จักเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา แต่เมื่อพิจารณาแล้วแต่ละท่านก็ชราภาพแล้ว คงอยู่ไม่ถึงวันนั้น

บังเอิญว่ามีพระหนุ่มสองรูปไม่ได้มาประชุมปรึกษาหารือด้วย คือ พระสิคควะ กับ พระจัณฑวัชชี

พระเถระทั้งหลายจึงลง “ทัณฑกรรม” ภิกษุหนุ่มทั้งสองว่า ท่านทั้งสอง รูปหนึ่งจงนำเด็กมาบวชให้ได้

อีกรูปหนึ่งรับภาระให้ศึกษาพระพุทธวจนะ หาไม่แล้วจักไม่พ้นโทษ

ท่านสิคควะรับหน้าที่ชักจูงเด็กน้อยมาบวชก็คอยดูว่าจะมีเด็กน้อยบุตรพราหมณ์คนไหนอยู่ในข่ายบ้าง ก็เล็งเห็นว่า บุตรชายโมคคลีพราหมณ์น่าจะใช่บุคคลที่พระเถระผู้เฒ่าทั้งหลายพูดถึง จึงพยายามไปบิณฑบาตที่บ้านพราหมณ์ทุกวัน

บังเอิญว่าพราหมณ์แกเป็น “มิจฉาทิฐิ” (ไม่นับถือพระพุทธศาสนา) จึงไม่สนใจไยดีจะใส่บาตร หรือทำบุญทำกุศลแต่อย่างใด เห็นพระเถระมายืนหน้าบ้านก็ตะเพิดด้วยความไม่พอใจ

พระเถระก็ยังไม่ย่อท้อ ยังคงบิณฑบาตที่หน้าบ้านพราหมณ์อย่างต่อเนื่อง ว่ากันว่าเป็นเวลา ๗ ปีทีเดียว ไม่ได้แม้กระทั่งข้าวทัพพีเดียว

วันหนึ่งพราหมณ์ออกไปธุระนอกบ้าน ขากลับเดินสวนทางกับพระเถระ จึงเอ่ยปากถามว่า สมณะ วันนี้ได้อะไรบ้างไหม ถามไปอย่างนั้นเอง รู้อยู่แล้วว่าคงไม่มีใครในเรือนที่ให้ข้าวแก่สมณะ

แต่ผิดคาด พระเถระกล่าวว่า “วันนี้ อาตมาได้ โยม” ได้ยินดังนั้นแกก็หูร้อนขึ้นมาทันที หน็อยแน่ กูไม่อยู่วันเดียว เมียกูบังอาจให้ข้าวสมณะเชียวเรอะ กลับมาต่อว่าเมีย เมียบอกว่าไม่ได้ให้อะไรแก่สมณะเลย

พราหมณ์เข้าใจว่าสมณะพูดเท็จ ต้องการจะจับเท็จท่าน วันรุ่งขึ้นจึงดักพบท่านแต่เช้า ต่อว่าท่านว่าพูดเท็จ เมื่อวานนี้ไม่มีใครให้อาหารท่านเลย ท่านกลับบอกว่าได้

พระเถระตอบว่า “อาตมามาบิณฑบาตที่บ้านโยมเป็นเวลา ๗ ปีแล้วไม่เคยได้อะไรเลย มาเมื่อวานนี้อาตมาได้คำพูดอันไพเราะว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด อาตมาหมายเอาคำพูดนี้ เมื่อโยมถามว่าได้อะไรไหม อาตมาจึงตอบว่าได้”

ได้ยินดังนั้น พราหมณ์ก็เลื่อมใสขึ้นมาทันที “โอ สมณะศากยบุตรนี้จิตใจละเอียดอ่อนเหลือเกิน เพียงแค่ได้คำพูดไพเราะประโยคเดียวก็ ‘อภิเชต’ (appreciate) จึงนิมนต์ให้ท่านไปฉันบนบ้าน และปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐากตั้งแต่วันนั้น

ฝ่ายบุตรชายนามว่าติสสะ ตอนนี้เป็นหนุ่มน้อยวัย ๑๖ ปีแล้ว เรียนไตรเพทจนแตกฉาน ถือตนเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องคนหนึ่ง เห็นพระผู้เฒ่ามาฉันที่บ้านประจำ แต่ก็ไม่เคยสนใจจะสนทนาปราศรัยด้วย

วันหนึ่งพระเถระเห็นว่า ถึงเวลาอันควรแล้วจึง “หาเหตุ” สนทนากับเด็กหนุ่มจนได้

คือเมื่อท่านเดินขึ้นเรือนมา พราหมณ์หาอาสนะไม่ได้ จึงไปเอาอาสนะของบุตรชายมาปูให้ท่านนั่ง (นัยว่า พระเถระบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้อาสนะอื่นอันตรธาน) เด็กหนุ่มกลับมาเห็นพระเถระนั่งอาสนะของตน ก็ไม่พอใจ จึงพูดเปรยๆ ว่า คนที่สมควรนั่งอาสนะของข้าพเจ้าจะต้องมีความรู้เรื่องไตรเพทเท่านั้น สมณะท่านรู้อะไรไหม

พูดทำนองดูถูกว่า น้ำหน้าอย่างท่านคงไม่มี “กึ๋น” อะไรดอก แล้วยังสะเออะมานั่งอาสนะของปราชญ์ใหญ่เช่นเรา ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระเถระตอบเย็นๆ ว่า ก็พอรู้บ้าง พ่อหนุ่ม ถามสิ บางทีอาตมาอาจจะตอบได้

เด็กหนุ่มก็ถามเรื่องที่ยากๆ ในไตรเพท ที่ตนเรียนมา พระเถระตอบได้หมด สร้างความประหลาดใจแก่เด็กหนุ่มเป็นอย่างมาก

ในที่สุดพระเถระกล่าวว่า เธอถามอาตมามากแล้ว ขออาตมาถามบ้าง

ว่าแล้วท่านก็ถามปัญหาพระอภิธรรม เด็กหนุ่มมืดแปดด้าน จึงเรียนถามท่านว่า อันนี้เรียกว่าอะไร พระเถระตอบว่า นี้เรียกว่าพุทธมนต์

เมื่อเด็กหนุ่มขอเรียนบ้าง พระเถระตอบว่า จะถ่ายทอดให้เฉพาะคนที่ถือเพศเช่นเดียวกับท่านเท่านั้น

ด้วยความอยากเรียนพุทธมนต์ จึงขออนุญาตบิดาบวช เมื่อบวชแล้วพระเถระก็บอกกรรมฐานให้ปฏิบัติ ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระเถระเห็นว่าถ้าให้สามเณรปฏิบัติกรรมฐานต่อไป ก็จะบรรลุพระอรหัต บางทีอาจ “ขวนขวายน้อย” คือไม่ใส่ใจศึกษาพุทธวจนะก็เป็นได้

จึงส่งสามเณรไปเรียนพุทธวจนะจากพระจัณฑวัชชีเถระ

สามเณรไปกราบท่านพระจัณฑวัชชี ตามคำสั่งของพระอุปัชฌาย์ ถามว่า สามเณรมาจากไหน

“พระอุปัชฌาย์ของกระผมส่งกระผมมาขอรับ”

อุปัชฌาย์ของเธอชื่ออะไร
“ชื่อ สิคควะ ขอรับ”
“ฉันชื่ออะไร” ท่านชี้ที่ตัวท่าน
“พระอุปัชฌายะของกระผม รู้จักชื่อใต้เท้าดีขอรับ” สามเณรตอบ (ตอบแบบนี้ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ว่า “ยวน” แต่คิดอีกทีเป็นการสอบปฏิภาณก็ได้นะครับ)

พระจัณฑวัชชีรับสามเณรเป็นศิษย์ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉานในเวลาอันสั้น ต่อมาก็เจริญกรรมฐานต่อ จนได้บรรลุพระอรหัต

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีพวก อัญเดียรถีย์ (คนนอกพุทธศาสนา) ปลอมตัวมาบวชเป็นจำนวนมาก แสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย สร้างความปั่นป่วนขึ้นในสังฆมณฑล พระผู้ทรงศีลไม่ลงโบสถ์ร่วมกับพวกอลัชชี พระเจ้าอโศกทรงทราบ ทรงส่งอำมาตย์ไปจัดการให้สงฆ์สามัคคีกัน

อำมาตย์เข้าใจผิดนึกว่าพระราชามอบอำนาจเด็ดขาดให้ตนเอง ได้ตัดคอพระที่ไม่ยอมลงโบสถ์ไปหลายรูป จนกระทั่ง พระติสสะ อนุชาของพระเจ้าอโศกมาขวางไว้ เรื่องทราบถึงพระเจ้าอโศก พระองค์ทรงร้อนพระทัยที่เป็นสาเหตุให้พระถึงแก่มรณภาพไปหลายรูปจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี

มีผู้กราบทูลให้ไปปรึกษากับพระติสสะ (อดีตสามเณรหนุ่ม) พระเจ้าอโศกจึงนิมนต์ท่านเข้ามายังเมืองปาตลีบุตร ถามข้อข้องใจจนสิ้นกังขาทุกกระทงแล้ว ตกลงพระทัยช่วยพระเถระทำสังคายนาชำระสังฆมณฑลเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว นับเป็นการสังคายนาครั้งที่สาม

ว่ากันว่า หลังสังคายนาครั้งนี้เสร็จสิ้น พระองค์ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ ถึง ๙ สายด้วยกัน

หนึ่งในเก้าสายนั้น มายังดินแดนอันเรียกขานสมัยนั้นว่า “สุวรรณภูมิ” พระโสณเถระ กับ พระอุตตรเถระ เป็นผู้เดินทางมาเผยแผ่ ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในภูมิภาคแถบนี้

สุวรรณภูมิก็คือดินแดน “ลุ่มเจ้าพระยาเห็นสายธาราละล่อง” นี้เอง มีเมืองนครปฐมในปัจจุบันนี้เป็นศูนย์กลาง ว่ากันอย่างนั้นนะครับ

อดีตสามเณรหนุ่มนามติสสะ เป็นผู้มีบทบาทในการทำสังคายนาครั้งนี้โดยเป็นประธานและเป็นกรรมการจัดสอบความรู้พระสงฆ์ด้วย พระภิกษุที่สอบไม่ผ่านถูกจับสึกเป็นจำนวนมาก เหลือแต่พระที่บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง

ท่านได้แต่งหนังสือชื่อ “กถาวัตถุ” แสดงทรรศนะอย่างไรถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ทรรศนะอย่างไรเป็นมิจฉาทิฐิ บิดเบี้ยวไปจากคำสอนของพระพุทธองค์

หนังสือเล่มนี้ ได้ถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ในเวลาต่อมา


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรติสสะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๖ ประจำวันที่ ๑๑-๑๗ มีนาคม ๒๕๕๙




สามเณรสุมนะ

คราวนี้มาว่าถึงสามเณรน้อยนามสุมนะ สามเณรอรหันต์ทรงอภิญญา ๖ ประการ หลานพระเจ้าอโศกมหาราช

ชื่อ สุมนะ ค่อนข้างจะดาษดื่นในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา สามเณรอรหันต์ในสมัยพุทธกาลรูปหนึ่งก็คือ สุมนะ  สุมนะเป็นพระนามของอดีตพุทธะก็มี เป็นนามของพระปัจเจกพุทธะก็มี ชื่อของเศรษฐีก็มาก ชื่อคนยากก็เยอะ

ช่างเถอะครับ วันนี้ขอพูดถึงสุมนะ สามเณรน้อยหลานกษัตริย์แห่งเมืองปาตลีบุตรรูปเดียวเท่านั้น

ประวัติท่านมีไม่มาก บอกเพียงแต่ว่าเป็นบุตรของ นางสังฆมิตตา และอัคคิพราหมณ์

ท่านบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมอภิญญา ๖ ประการในขณะเป็นสามเณร

เมื่อพระเจ้าอโศก เสด็จตา (ราชาศัพท์แบบลิเกนะครับ) ทรงอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ ๓ และส่งพระธรรมทูต ๙ คณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างประเทศ ธรรมทูตสายหนึ่งไปยังเกาะลังกา หรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบันนี้

ธรรมทูตที่ส่งไปย่อมไปเป็นคณะ เรียกว่า คณะธรรมทูต คงมิใช่ส่งพระไปเพียงรูปสองรูปเป็นแม่นมั่น

ความข้างต้นนี้เป็นความคิดของผมนานแล้ว เนื่องจากได้อ่านหนังสือที่ใครๆ แต่ง ก็มักจะไม่พูดถึงคณะธรรมทูตพูดถึงพระเถระรูปสองรูปเท่านั้น เช่น พระโสณะและพระอุตตระมายังสุวรรณภูมิ (มาแค่สองรูปเท่านั้น) พระมหินทเถระไปยังเกาะลังกา (รายนี้ฉายเดี่ยว)

แต่เมื่อเปิดดูต้นฉบับดั้งเดิมจริงๆ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านไปเป็นคณะ มีพระสงฆ์ มีอุบาสกทำหน้าที่เป็นไวยาวัจกร คอยอำนวยความสะดวกให้แก่พระสงฆ์ ธรรมทูตสายที่ไปยังลังกาทวีป ประกอบด้วย

พระมหินทเถระ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นหัวหน้าคณะ

พระอัฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระภัทรสาลเถระ พระสัมพลเถระ

และสามเณรชื่อ สุมนะ ผู้ทรงอภิญญา ๖ ประการ มีฤทธิ์มากติดตามมาด้วย

และยังมีอุบาสกนามว่า ภัณฑกะ เป็นไวยาวัจกร ทั้งคณะมีจำนวน ๗ ท่านด้วยกัน

สมัยนั้นเกาะศรีลังกายังคงนับถือผีสางตามเรื่อง ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าเทวานัมปิยะติสสะ ครองราชย์ต่อจากพระเจ้ามุฏสีวะพระราชบิดา อันพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะพระองค์นี้เป็น “อทิฏฐสหาย” กับ พระเจ้าอโศก คือ เป็นพระสหายที่เจริญสัมพันธไมตรีกัน ยังไม่เคยพบปะกันมาก่อน

ว่ากันว่า พระมหินทเถระพร้อมคณะไปยังเกาะลังกา ไปพำนักอยู่ที่มิสสกบรรพตก่อน ยังไม่ไปหาพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทันที พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เสด็จออกล่าเนื้อ มุ่งตรงไปยังสถานที่ที่พระคุณเจ้าและคณะอาศัยอยู่ พระมหินทเถระเห็นอุบายที่จะให้พระเจ้าแผ่นดินลังกาเลื่อมใส จึงจำแลงร่างเป็นละมั่งน้อยตัวหนึ่ง วิ่งผ่านกษัตริย์ลังกาไป

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเสด็จตามละมั่งไป พลัดหลงกับข้าราชบริพารเสด็จถึงสถานที่ที่พระเถระทั้งหลายอาศัยอยู่ พระมหินทเถระบันดาลให้ละมั่งน้อยหายไป อธิษฐานจิตให้พระราชาทอดพระเนตรเห็นท่านเพียงผู้เดียว เรียกเสียงดังว่า “ติสสะ ติสสะ มาทางนี้”

พระราชาทรงฉงนพระทัยว่า ใครวะ บังอาจเรียกชื่อจริงเรา สาวพระบาทเข้ามาใกล้ ทอดพระเนตรเห็นสมณะรูปหนึ่ง ท่าทางสำรวม สง่า ยืนอยู่ข้างหน้า กำลังจะตรัสถามอยู่พอดีว่า สมณะนี้เป็นใคร พระเถระชิงถวายพระพรเสียก่อน

“ขอถวายพระพร อาตมภาพคือ มหินทเถระ โอรสแห่งพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป มาที่นี่เพื่ออนุเคราะห์มหาบพิตรและประชาชนชาวเกาะลังกา” พอได้สดับว่า สมณะรูปนี้เป็นโอรสพระอทิฏฐสหายของพระองค์ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงเสด็จเข้าไปถวายบังคม

ขณะพระเถระสนทนาอยู่กับพระราชาอยู่ พระเถระที่เหลือพร้อมสามเณรสุมนะและภัณฑกอุบาสกก็ปรากฏกาย พระราชาทรงสงสัยว่า ท่านเหล่านี้มาได้อย่างไร พระเถระถวายพระพรว่า ความจริงท่านเหล่านี้ก็อยู่ ณ ที่นี้เอง แต่เพิ่งจะปรากฏต่อคลองจักษุของพระองค์ ณ บัดนี้ พระราชาจึงทรงทราบว่า สมณะเหล่านี้มีอิทธิฤทธิ์ จึงตรัสถามว่า พระคุณเจ้ามายังเกาะลังกาโดยทางไหน
“ขอถวายพระพร มิใช่ทางบก มิใช่ทางน้ำ”
“ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้ามาทางอากาศสินะ”
พระเถระทั้งหลายรับโดยดุษณีภาพ

เพื่อทดสอบพระปฏิภาณของพระราชาว่าสมควรที่จะถวายความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาหรือไม่ พระเถระชี้ไปที่ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ถามว่า
“มหาบพิตร ต้นไม้ชื่ออะไร”
“ต้นมะม่วง ขอรับ” พระราชาตรัสตอบ
“มะม่วงต้นอื่นนอกจากมะม่วงต้นนี้มีหรือไม่”
“มีอยู่จำนวนมาก ขอรับ”
“นอกจากมะม่วงต้นนี้และมะม่วงต้นอื่น มีต้นไม้อื่นไหม”
“มี แต่ไม้เหล่านั้นมิใช่ต้นมะม่วง”
“นอกจากมะม่วงอื่น และที่มิใช่มะม่วง ยังมีต้นไม้อื่นไหม”
“ก็ต้นมะม่วงต้นนี้ไงเล่า พระคุณเจ้า” พระราชาตอบ

เพื่อทดสอบอีก พระเถระถามปัญหาต่อไปว่า
“มหาบพิตร พระญาติของมหาบพิตรมีอยู่หรือ”
“มีหลายคน พระคุณเจ้า” พระราชาตรัสตอบ
“นอกจากพระญาติเหล่านี้ ผู้ที่มิใช่พระญาติยังมีอยู่หรือ”
“มีมาก พระคุณเจ้า”
“นอกจากพระญาติของมหาบพิตร และผู้ที่มิใช่พระญาติ ยังมีใครอื่นอีกไหม”
“ก็โยมนี่ไง พระคุณเจ้า”

พระเถระกล่าวสาธุการว่า สาธุๆ มหาบพิตรทรงมีพระปรีชาสามารถเฉียบแหลมยิ่ง จากนั้นพระเถระได้แสดงจุฬหัตถิปโทปมสูตร แด่พระราชา (และข้าราชบริพารที่ตามมาภายหลัง) จบพระธรรมเทศนา พระราชาทรงตั้งอยู่ในสมณะสามประกาศพระองค์เป็นอุบาสกนับถือพระพุทธศาสนา

หลังจากพระราชาเสด็จนิวัติพระนครแล้ว พระมหินทเถระสั่งให้สุมนสามเณรประกาศกาลฟังธรรม สุมนสามเณรเข้าญานมีอภิญญาเป็นบาท ออกจากญานแล้วอธิษฐานจิตว่า ขอให้เสียงประกาศกาลฟังธรรมนี้ได้ยินไปทั่วตัมพปัณณิทวีป (คือ เกาะลังกา) เสียงประกาศกาลฟังธรรมนี้ได้ยินไปทั่วพระนคร

พระราชาตกพระทัยนึกว่าเกิดอันตรายแก่พระคุณเจ้าทั้งหลาย จึงเสด็จมาตรัสถาม พระเถระถวายพระพรว่า หามีอันตรายใดๆ แก่พวกอาตมภาพไม่ เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงประกาศกาลฟังธรรม

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลของการบันดาลแห่งอิทธิฤทธิ์เฉพาะผู้มีฤทธิ์เท่านั้นย่อมทำได้ ปุถุชนคนธรรมดาทำอะไรไม่ได้ ก็อย่าได้ดูถูกว่าเหลวไหล

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะได้ถวายอุทยานเมฆวันให้เป็นวัดที่อยู่อาศัยของพระมหินทเถระและคณะ พระเถระได้ทำการอุปสมบทแก่อริฏฐอำมาตย์ และพี่ชายน้องชายจำนวน ๕๕ คน จำพรรษาที่เมฆวัน ออกพรรษาปวารณาแล้วถวายพระพรพระราชาให้ทรงปรึกษากับสุมนสามเณรว่าจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานยังลังกาทวีปอย่างไร

พระราชาตรัสถามสามเณรน้อยว่า จะได้พระบรมสารีริกธาตุแต่ที่ไหน

สามเณรถวายพระพรว่า เบาพระทัยเถิด มหาบพิตร ไว้เป็นภาระของอาตมภาพ

ว่าแล้วสามเณรน้อยก็เข้าฌานหายวับไปกับตา ปรากฏตัวอีกทีที่ชมพูทวีป ณ พระราชวังของพระอัยกา ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระเจ้าอโศก ได้พระบรมสารีริกธาตุแล้วไปยังสำนักท้าวสักกเทวราช ขอพระธาตุรากขวัญเบื้องขวา จากพระองค์แล้วไปปรากฏตัวที่ตัมพปัณณิทวีป

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ เจติยคิรี แล้วจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร

ตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในลังกา สามเณรสุมนะ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพระมหินทเถระประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ เกาะแห่งนี้

หลังจากสามเณรน้อยผู้บุตรมาไม่นาน มารดาสามเณรน้อยซึ่งบัดนี้เป็นพระเถรีนามว่า สังฆมิตตาเถรี ลงเรือมาปลูกยังเกาะลังกา และได้เป็น “ปวัตตินี” (อุปัชฌาย์) บวชให้แก่กุลสตรีชาวเมืองอนุราธบุรีจำนวนมาก สืบสถาบันภิกษุณีสงฆ์ในเกาะลังกามาแต่บัดนั้น

ไปไหว้พระรากขวัญเบื้องขวา และต้นพระศรีมหาโพธิทีไร ชาวพุทธที่รู้ความเป็นมา ก็อดรำลึกถึงคุณูปการของสองแม่ลูกนี้เสียมิได้



ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสุมนะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๗ ประจำวันที่ ๑๘-๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙
3117  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เมื่อ: 15 มีนาคม 2559 14:11:33


จิตรกรรมฝาผนัง วัดหนองแวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ฮีตสิบสอง คองสิบสี่

ชาวอีสานมีวัฒนธรรมประจำชาติและประจำท้องถิ่นมาแต่โบราณกาลนับหลายศตวรรษ จนถือเป็น "ฮีต" เป็น "คอง" ต้องปฏิบัติสืบกันมาจนเป็นประเพณีที่รู้จักกันดี และพูดติดปากว่า "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" เป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป

ฮีตสิบสอง มาจากคำ ๒ คำ ได้แก่ ฮีต คือคำว่า จารีต หมายถึงสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ดีงาม ชาวอีสานเรียกว่า จาฮีต หรือฮีต และสิบสอง หมายถึง ๑๒ เดือนใน ๑ ปี รวมเป็น ฮีตสิบสอง หมายถึงประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้ง ๑๒ เดือนของแต่ละปี ส่วนใหญ่เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผี พิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งประเพณีทั้ง ๑๒ เดือนที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมา ล้วนส่งเสริมให้คนในชุมชนร่วมชุมนุมกันทำบุญเป็นประจำทุกๆ เดือนของรอบปี ได้ออกมาร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์กันเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง ได้รู้จักมักคุ้น เกิดความสมานสามัคคี มีความรักใคร่กัน เป็นการสืบทอดสิ่งที่ดีงามมาจวบจนปัจจุบัน ทั้งยังมีผลทางอ้อมคือ เมื่อว่างจากการงานอาชีพแล้วก็มีจารีตบังคับให้ทุกคนเสียสละทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนก็ถูกสังคมลงโทษตั้งข้อรังเกียจอย่างจริงจัง

ฮีตสิบสองของชาวอีสานส่วนที่กำเนิดจากคำสอนและความเชื่อของพระพุทธศาสนาจะคล้ายกับประเพณีของชาวพุทธในสังคมอื่น ส่วนฮีตที่เกิดจากความเชื่อในเรื่องผี อำนาจลึกลับและปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวันของชาวอีสานก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ปราชญ์โบราณท่านวางฮีตสิบสองไว้ดังนี้ เดือนอ้าย หรือเดือน เจียง (บุญเข้ากรรม) เดือนยี่ (บุญคูณลาน) เดือนสาม (บุญข้าวจี่) เดือนสี่ (บุญผะ เหวด หรือบุญพระเวส) เดือนห้า (บุญสงกรานต์) เดือนหก (บุญบั้งไฟ) เดือนเจ็ด (บุญซำฮะ หรือบุญชำระ) เดือนแปด (บุญเข้าพรรษา) เดือนเก้า (บุญข้าวประดับดิน) เดือนสิบ (บุญข้าวสาก) เดือนสิบเอ็ด (บุญออกพรรษา) เดือนสิบสอง (บุญกฐิน)

ทั้งนี้ แบ่งจุดมุ่งหมายของแต่ละฮีตได้ชัดเจน คือบุญเกี่ยวกับพระสงฆ์โดยตรง บุญลักษณะนี้มี ๖ บุญ ได้แก่ บุญเข้ากรรม บุญข้าวจี่ บุญผะเหวด บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษาและบุญกฐิน, บุญเกี่ยวกับการทำมาหากิน เกี่ยวกับการขอพรหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฟ้าฝน ข้าวปลาอาหาร มีบุญคูณลานและบุญบั้งไฟ, บุญเกี่ยวกับขวัญกำลังใจการดำรงอาชีพ เกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่าสิ่งสักดิ์สิทธิ์จะอำนวยความสุข สวัสดิภาพ มี บุญสงกรานต์ บุญซำฮะ และบุญเกี่ยวกับความกตัญญู เน้นการทำบุญอุทิศกุศลเป็นสำคัญ คือ บุญข้าวประดับดิน และบุญข้าวสาก

คองสิบสี่ เป็นคำและข้อปฏิบัติคู่กับฮีตสิบสอง คอง แปลว่าแนวทาง หรือครรลอง หมายถึงธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง และสิบสี่ หมายถึงข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติ ๑๔ ข้อ รวมเป็น คองสิบสี่ หมายถึงข้อวัตรหรือแนวทางที่ทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติ ๑๔ ข้อ เพื่อความสงบสุขร่มเย็นของบ้านเมือง

คองสิบสี่มีหลายประเภท ดังนี้
๑.เป็นหลักปฏิบัติกล่าวถึงครอบครัวในสังคม ตลอดจนผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง
๒.เป็นหลักปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ และหลักปฏิบัติของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์ และจารีตประเพณีที่พึงปฏิบัติให้บ้านเมืองสงบสุข
๓.เป็นหลักปฏิบัติที่พระราชาพึงยึดถือปฏิบัติ เน้นให้ประชาชนปฏิบัติตามจารีตประเพณี และข้อที่คนในครอบครัวที่ปฏิบัติต่อกัน และ
๓.เป็นหลักปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุขตามจารีตประเพณี

แต่ละข้อมีคำว่าฮีตนำหน้าด้วย (ทำให้เกิดความสับสนกับฮีตสิบสอง) แต่ละคองมี ๑๔ ฮีต ยกเว้น ฮีตปีคองเดือน จะมีเพียงสิบสองฮีต ซึ่งนั่นก็คือฮีตสิบสองที่กล่าวไว้แล้ว ทั้งนี้ ๑๔ คอง ประกอบด้วย
๑.ฮีตเจ้าคองขุน ป็นหลักสำหรับผู้ปกครองในสมัยโบราณ ขุนก็คือเจ้าเมือง เช่น ขุนเบฮม ขุนลอ ขุนทึง เป็นต้น
๒.ฮีตท้าวคองเพีย (เจ้าปกครองขุน)
๓.ฮีตไพร่คองนาย (ไพร่ปฏิบัติต่อนาย)
๔.ฮีตบ้านคองเมือง (ประเพณีของบ้านเมือง)
๕.ฮีตปู่คองย่า
๖.ฮีตตาคองยาย
๗.ฮีตพ่อคองแม่ (พรหมวิหารธรรม)
๘.ฮีตใภ้คองเขย (หลักปฏิบัติของลูกสะใภ้ลูกเขย)
๙.ฮีตป้าคองลุง
๑๐.ฮีตลูกคองหลาน
๑๑.ฮีตเถ้าคองแก่ (ธรรมของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก)
๑๒.ฮีตปีคองเดือน (ฮีตสิบสอง)
๑๓.ฮีตไฮ่คองนา
๑๔.ฮีตวัดคองสงฆ์


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3118  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เมื่อ: 15 มีนาคม 2559 13:56:16
.



เทียนตาตั๊กแตน
ปวดประจำเดือนครั้งใด สมุนไพรเทียนตาตั๊กแตน เอาอยู่

การมีประจำเดือนเป็นภาวะธรรมชาติของสตรีทุกคนในวัยเจริญพันธุ์ (ระหว่างอายุ ๑๕-๒๕ ปี) ซึ่งเกิดจากการลอกหลุดของชั้นผิวด้านในของมดลูกเมื่อไม่มีตัวอ่อนมาฝังตัว จึงย่อยสลายตัวเองเกิดเป็นเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดทุกรอบเดือน

ส่วนใหญ่รอบประจำเดือนจะมาตามนัด ๒๘ วัน บางคนอาจมา ๓๐ วันหรือ ๔๕ วันก็ได้

แต่ถ้าไม่มาตามนัดถือว่าเป็นภาวะไม่ปกติ และสิ่งที่ผู้หญิงกลัวมากที่สุดไม่ใช่หลับแล้วเลอะ แต่คืออาการปวดประจำเดือน ซึ่งอันที่จริงก็ถือว่าเป็นอาการปกติไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกแต่อย่างใด เพราะประมาณว่าผู้หญิงร้อยละ ๗๐ จากผู้หญิงทุกคน ล้วนเคยทุกข์ทรมานกับอาการปวดประจำเดือนกันมาทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้าง บางคนปวดพอทนใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ แต่บางคนเวลาปวดแต่ละทีก็แทบจะทำงานทำการอะไรไม่ได้เลย

การปวดประจำเดือนมี ๒ ชนิดคือ
๑.ปวดประจำเดือนชนิดไม่รุนแรง (Primary Dysmenorrhea) พบว่าราวร้อยละ ๗๐-๘๐ ของผู้ปวดประจำเดือนจะมีอาการปวดแบบนี้ ซึ่งเมื่อได้พักผ่อนหรือดูแลตัวเองอย่างพอเพียง หรือรับประทานยารักษาตามอาการก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ การปวดชนิดนี้มักมีอาการตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยสาว และอาจปวดประจำเดือนแทบทุกครั้งไปจนอายุ ๒๕ ปี แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นอาการจะเบาลงเรื่อยๆ บางคนมักจะหายไปเมื่อแต่งงานหรือมีบุตร
๒.ปวดประจำเดือนชนิดรุนแรง (Secondary Dysmenorrhea) การปวดชนิดนี้รุนแรงถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ จะใช้ยาอะไรก็ไม่ค่อยได้ผลมักเริ่มมีอาการปวดชนิดนี้ตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี มีสาเหตุมาจากอวัยวะภายในมดลูกผิดปกติ เช่น ผนังมดลูกผิดปกติ เกิดเนื้องอกที่มดลูก หรือความผิดปกติของรังไข่ เป็นต้น

การปวดชนิดนี้พบได้ประมาณร้อย ๒๐-๓๐ ของผู้หญิงทั้งหมดที่มีอาการปวดประจำเดือน

ในกรณีที่รุนแรงต้องปรึกษาสูติ-นารีแพทย์ เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ

ดังนั้น ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ การรักษาอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิโดยใช้สมุนไพรตัวเดี่ยว เพื่อให้ง่ายต่อการใช้ยาโดยมีงานศึกษาวิจัยทางคลินิกรับรองประสิทธิผลและความปลอดภัย สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดอาการปวดประจำเดือนไม่แพ้ยาเคมีในที่นี้คือ “เทียนตาตั๊กแตน” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anethum graveolens Linn. และมีชื่อฝรั่งสามัญว่า “Dill

“เทียนตาตั๊กแตน” ที่ใช้เป็นเครื่องยานี้ได้มาจากผลแก่แห้งของผักชีลาว ซึ่งเป็นพืชล้มลุกในวงศ์เดียวกับพืชจำพวกผักชีทั้งหลายและผักขึ้นฉ่ายรวมทั้งผักชีฝรั่ง (Parsley) ในเทียนตาตั๊กแตนมีน้ำมันระเหยง่าย (Dill Seed Oil) ร้อยละ ๑.๒-๗.๗ ซึ่งมีสารสำคัญหลักคือคาร์โวน (carvone) จึงทำให้เทียนตาตั๊กแตนมีกลิ่นเฉพาะ มีรสขม เผ็ดเล็กน้อย

แพทย์แผนไทยใช้เทียนตาตั๊กแตนบดผง ๑ ช้อนชา ละลายน้ำสุกรับประทานบำรุงธาตุ ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร แก้เสมหะพิการ แก้โรคกำเดา และแก้เส้นท้องพิการ สำหรับการศึกษาทางคลินิกเป็นการยืนยันสรรพคุณแก้อาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อที่ท้องน้อยอันเกิดจากอาการปวดประจำเดือน ในอาสาสมัครเพศหญิงอายุระหว่าง ๑๘-๒๘ ปี จำนวน ๗๕ คน มีการแบ่งอาสาสมัครออกเป็น ๓ กลุ่ม เพื่อเปรียบเทียบฤทธิ์ของเทียนตาตั๊กแตนกับยาเคมีเภสัชแผนปัจจุบันและยาหลอก

กลุ่มที่ ๑ ให้อาสาสมัครกินยาแคปซูลผงจากผลเทียนตาตั๊กแตนขนาด ๑๐๐๐ มิลลิกรัม (แคปซูลละ ๕๐๐ ม.ก. กินครั้งละ ๒ แคปซูล) กินวันละ ๒ ครั้ง ห่างกัน ๑๒ ชั่วโมง โดยต้องกิน ๒ วันติดต่อกันก่อนมีประจำเดือน จากนั้นกินติดต่อกันรวม ๕ วัน ทำเช่นนี้ ๒ รอบประจำเดือน
ส่วนกลุ่มที่ ๒ และ ๓ ให้รับประทานยาแก้ปวดเมเฟนามิกแอซิด (mefenamicacid) ขนาด ๒๕๐ ม.ก.และยาหลอกขนาด ๕๐๐ ม.ก.ตามลำดับ

โดยมีกระบวนการให้ยาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ ๑ ทำการวัดระดับความปวดประจำเดือนด้วยวิธีให้คะแนนความรู้สึกปวดเป็น ๓ ระดับ คือปวดน้อย : ๑-๓ ปวดปานกลาง : ๔-๗ ปวดมาก : ๘-๑๐

ผลการศึกษาพบว่า อาการปวดประจำเดือนของกลุ่มที่ ๑ (รับประทานยาแคปซูลเทียนตาตั๊กแตน) และกลุ่มที่ ๒ (รับประทานยาเคมีแผนปัจจุบัน) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเดือนที่ ๑ และเดือนที่ ๒ ของการทดลอง ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอาการปวดประจำเดือนลดลงในเดือนที่ ๒ เท่านั้น

ที่สำคัญคือ ไม่พบความแตกต่างระหว่างการรับประทานยาแคปซูลผงจากผลเทียนตาตั๊กแตนกับยาเมเฟนามิกแอซิด

การศึกษานี้แสดงว่ายาแคปซูลเทียนตาตั๊กแตนสามารถช่วยระงับอาการปวดประจำเดือนของสาวๆ ได้อย่างมีประสิทธิผลทัดเทียมกับยาแผนปัจจุบัน

ในเมื่อมีงานวิจัยฤทธิ์ระงับปวดประจำเดือนของเทียนตาตั๊กแตนชัดเจนขนาดนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขน่าจะนำเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้เอกชนสามารถอ้างอิงนำไปผลิตสู่ท้องตลาด อันเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงยาสมุนไพรตัวนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น

แต่ในระหว่างที่ยังหาซื้อยาสำเร็จรูปในร้านขายยาไม่ได้ ใช้ยาเทียนตาตั๊กแตนบดผงละลายน้ำสุกรับประทานไปพลางก่อนก็ได้

นับเป็นการพึ่งตัวเองที่ไม่ยุ่งยากอะไร

ดังนั้น สุภาพสตรีท่านใดหากปวดประจำเดือนครั้งต่อไป ใช้สมุนไพรเทียนตาตั๊กแตน ตัวเดียว รับรองเอาอยู่




จามจุรี
Rain tree,East Indian walnut
Albizia saman (Jacq.) Merr.
FABACEAE


ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๑๕-๒๐ เมตร กิ่งก้านแผ่โค้งคล้ายร่ม
ใบ ประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ใบย่อยรูปรี หรือรูปไข่ กว้าง ๐.๖-๔ เซนติเมตร ยาว ๑.๕-๖ เซนติเมตร รูปรี รูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเบี้ยว โคนใบกลมหรือตัดเฉียง ผิวมัน
ดอก ออกแบบช่อกระจุกแน่น ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีชมพู เกสรเพศผู้จำนวนมาก
ฝัก รูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย เมื่อแก่มีสีน้ำตาลดำ คอดเล็กน้อยตามรอยของเมล็ด มีเนื้อแฉะๆ หุ้มเมล็ด
เมล็ด แบนรูปรี สีน้ำตาล ลำต้นใช้เพาะพันธุ์ครั่ง ยางเหนียว ใช้เป็นกาว
เปลือกต้น มีรสฝาด แก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อย เหงือกบวมและปวดฟัน แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้ท้องร่วง ใบเป็นยาเย็น ใช้สำหรับดับพิษ
เมล็ด แก้กลากเกลื้อน และโรคเรื้อน




หญ้าคา
Imperata cylindrica (L.) Beauv.
GRAMINEAE


ไม้ล้มลุก สูงถึง ๙๐ เซนติเมตร มีเหง้าใต้ดิน รูปร่างยาวเป็นเส้นแข็ง

ใบเดี่ยว เรียงสลับ แทงออกจากเหง้า แผ่นใบรูปแถบเหมือนริบบิ้น กว้าง ๑-๒ เซนติเมตร ยาวได้ถึง ๑ เมตร ขอบใบคม

ดอก ออกเป็นช่อ แทงออกจากเหง้าเช่นเดียวกัน ดอกย่อยอยู่รวมกันแน่น สีเงินอมเทาจาง
ผล แห้งไม่แตก
ราก เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษอักเสบในกระเพาะปัสสาวะ บำรุงไต แก้น้ำดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

ปัจจุบัน มีเทคนิคการทำให้หญ้าคาเป็นพืชที่ให้น้ำตาล โดยในฤดูหนาวขุดพื้นดินใต้กอหญ้าคาให้เป็นโพรงซอยลึกๆ ตัดรากออกบางส่วน แล้วเอาแกลบใส่ในโพรง รดน้ำที่โคนต้นทุกวัน เมื่อรากงอกยาว ให้เอาแกลบออก จับมัดรากรวมกัน เอามีดคมปาดราก คล้ายปาดจั่นตาลโตนด ทิ้งไว้ ๓ วัน

วันที่ ๓ ตอนเย็นให้นำภาชนะรองที่ปลายรากที่ตัดไว้ เก็บน้ำตาลในวันรุ่งขึ้น แล้วปาดรากให้ลึกขึ้นอีกและรองรับน้ำตาลได้ทุกวันจนกว่าจะหมด

เป็นที่น่าสนใจศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำตาลในหญ้าคา





มะเขือเปราะ

มะเขือเปราะ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Solonum Virginianum L. อยู่ในวงศ์ SOLONACECE ชื่อสามัญเรียก Eggplant ชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างกัน เช่น มะเขือคางกบ มะเขือชัยคำ มะเขือจาน มะเขือแจ้ดิน มะเขือสวย ฯลฯ

มะเขือปลูกง่าย โดยนำเมล็ดที่แก่จัดเป็นสีน้ำตาลเข้ม โรยลงในแปลงเพาะ แล้วนำดินเถ้าแกลบกลบ ไม่ช้าก็งอก พอสูงสัก ๑ คืบ ก็นำลงปลูกในไร่ที่เตรียมดินไว้ คอยให้น้ำบ้าง ๔๕ วันเห็นผล เก็บขายได้

ประโยชน์ของมะเขือ นอกใช้เป็นผักแล้ว ยังเป็นยาสามัญประจำบ้านได้ด้วย เช่น แก้โรคเบาหวาน ลดไข้ ขับพยาธิ แก้ไอ หอบหืด หลอดลมอักเสบ ฯลฯ ใบตำพอกแก้พิษตามผิวหนัง




ดาวเรืองกาญจน์
Gynura calciphila Kerr var. dissecta F.G. Davies ASTERACEAE

ไม้ล้มลุก สูง ๖๐-๑๒๐ เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำ ตั้งตรง มีหัวขนาดเล็ก ขนาด ๑-๒ เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มประปราย
ใบ เดี่ยว เรียบสลับ รูปไข่ มีขนสั้นนุ่มประปราย โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบหยักซี่ฟัน
ดอก ช่อกระจุกแน่น ออกที่ปลายยอด ช่อย่อยแบบช่อเชิงหลั่น ดอกสีเหลือง มีขนสั้นนุ่มประปราย
ผล แห้งแตก สีน้ำตาล เกลี้ยง ปลายยอดรูปทรงกระบอก สีแกมเหลืองแพปพัส สีขาว
ประโยชน์: หัว ยาฝนทาแก้ริดสีดวงทวาร




กินอะราง (นนทรีป่า)
คลายร้อน

ในหลักการใช้ชีวิตตามภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาดั้งเดิมนั้น ให้ใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ เพราะถ้ารู้จักเลือกกินจะส่งเสริมสุขภาพ แต่ถ้ากินอาหารไม่เหมาะก็จะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้

ในวิถีภูมิปัญญาอีสาน ผู้เฒ่าผู้แก่มักแนะนำไว้ว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดๆ ควรกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวผสมรสฝาด

รสอาหารที่มากับรสของพืชสมุนไพรในอาหารนั้นเป็นโอสถในตัวเอง เพราะรสเปรี้ยวจะทำให้ร่างกายสดชื่น ช่วยผ่อนคลายความร้อนได้บ้าง ส่วนรสฝาดเป็นตัวช่วยให้ไม่เกิดอาการท้องเสียที่มักมากับหน้าร้อน และการกินแต่รสเปรี้ยวโดดๆ จะทำให้ระบายท้องมากเกินไป

รสฝาดผสมเปรี้ยวจึงจะช่วยคุมการขับถ่ายนั่นเอง

อาหารตามภูมิปัญญาที่ราบสูงของไทยอย่างหนึ่ง ที่อยากแนะนำให้บริโภคในช่วงที่อากาศร้อนจัดๆ ได้แก่ ตำส้มเปลือกอะราง (เรียกตามภาษาถิ่นอีสาน) โดยนำเปลือกอะรางมาขูดเอาผิวด้านใน แล้วนำมาปรุงเหมือนตำส้มตำ ถ้าว่าตามตำรับดั้งเดิมจะนิยมใส่มดแดงหรือสับปะรดเพื่อให้รสเปรี้ยว ส่วนเปลือกอะรางมีรสฝาดทำให้ได้อาหารที่มีรสเปรี้ยวและฝาดผสมกัน

ในบางพื้นที่ของจังหวัดอำนาจเจริญ จะเรียกต้นอะรางว่า ต้น “ตำแตง” เพราะเปลือกด้านในที่ขูดออกมาได้มีลักษณะคล้ายแตงสับ การเรียกชื่อเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าเอารูปแบบการใช้ประโยชน์มาเป็นการตั้งชื่อด้วย

อะรางจัดว่าเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง ๓๐ เมตร มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Copper pod มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Peltophorum dasyrrhachis (Mig.) Kurz มีชื่อตามท้องถิ่นต่างๆ หลายชื่อ เช่น ช้าขม จ๊าขม (เลย) ร้าง อะล้าง (นครราชสีมา อุดรธานี) อินทรี (จันทบุรี) คางรุ้ง คางฮุ่ง (พิษณุโลก) กว่าแซกหรือกร่าเซก (เขมร-กาญจนบุรี) ตาแซก (เขมร-บุรีรัมย์) ราง (ส่วย-สุรินทร์) นนทรี (ภาคกลาง) นนทรีป่า (ฉะเชิงเทรา)

สรรพคุณทางยา พบว่าส่วนของเปลือกต้นมีรสฝาดใช้รับประทานรักษาโรคเกี่ยวกับโลหิต เป็นยากล่อมเสมหะ รักษาโรคเกี่ยวกับเสมหะ ช่วยขับลม แก้อาการท้องร่วง ต้มดื่มแก้อาการท้องเสีย นอกจากนี้ ยังใช้เป็นสีย้อมที่ให้สีน้ำตาลแดง

คนทั่วไปมักจะสับสนระหว่างต้นอะราง หรือนนทรีป่ากับต้นนนทรี เพราะแม้แต่ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษก็ยังเรียกคล้ายกันกับต้นอะราง (นนทรีป่า) คือ Copper pod, Yellow flame หรือ Yellow Poinciana แต่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ต่างกัน คือ สารเงิน (แม่ฮ่องสอน), กระถินป่า กระถินแดง (ตราด), นนทรีบ้าน และแน่นอนมีชื่อวิทยาศาสตร์ต่างกันเรียกว่า Peltophorum pterocarpum (DC.) K.Huyne

เหตุที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นพืชชนิดเดียวกัน เพราะอะรางและนนทรีเป็นไม้ที่อยู่ในสกุลเดียวกัน ผู้ที่ไม่คุ้นเคยเมื่อเห็นเฉพาะใบจะคิดว่าเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน แต่เมื่อออกดอก ออกผล จะเห็นชัดเจนว่าไม้ทั้ง ๒ ชนิดแตกต่างกัน

ลักษณะของอะราง ช่อกห้อย ส่วนนทรีมีช่อดอกตั้ง ดอกของนนทรีมีสีเข้มกว่าดอกของอะราง แต่ทั้งอะรางและนนทรีมีถิ่นกำเนิดเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงออสเตรเลีย จากการเดินป่าสำรวจพบประชากรของอะรางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในภาคอีสานไม่พบนนทรีในธรรมชาติเลย ยกเว้นที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ราชการ

เนื่องจากนนทรีเป็นพืชในสกุลเดียวกับ อะราง  สรรพคุณทางยาจึงมีความคล้ายคลึงกัน คือเปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ใช้เป็นยากล่อมเสมหะและโลหิต ช่วยปิดธาตุ ใช้เป็นยาขับผายลม ส่วนเปลือกต้นมีสารเทนนินสูง จึงช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเสียได้ ช่วยแก้บิด ใช้เป็นยาขับโลหิต ขับประจำเดือนของสตรี ใช้เป็นยาสมานแผลสด นอกจากนี้ เปลือกต้นยังนำไปเคี่ยวเข้าน้ำมันเป็นยานวดแก้ตะคริว แก้กล้ามเนื้ออักเสบ

ทางภาคใต้มีการใช้ประโยชน์จากต้นนทรีมากกว่าภาคอื่นๆ เช่น นำยอดมาใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ยอดและฝักอ่อน ใช้เป็นอาหารประเภทผักเหนาะ ให้รสชาติฝาดมัน เปลือกต้นเมื่อนำไปต้มจะให้สีน้ำตาลอมเหลือง ซึ่งนำมาใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายบาติกหรือใช้พิมพ์ผ้าบาเต๊ะ และยังใช้ย้อมแหและอวนด้วย

เนื้อไม้นนทรีมีสีน้ำตาลแต่ออกไปทางสีชมพูสวยงามดี และมีลักษณะมันเลื่อม เนื้อไม้มีความหยาบแต่ไม่มาก หากนำมาเลื่อยหรือผ่า ทำการไสกบตบแต่งได้ไม่ยาก ที่สำคัญมอดปลวกไม่มารบกวน จึงมีการนำมาใช้ก่อสร้างบ้านเรือน อาจนำมาทำพื้น เพดาน ฝา ฯลฯ และยังนำมาทำเครื่องเรือนเครื่องใช้ด้วย หรือใช้เผาทำถ่าน

นนทรียังถือเป็นไม้มงคล ปลูกง่ายโตเร็ว ลักษณะของต้นสวยงาม และยังมีดอกสวยกลิ่นหอมด้วย จึงไม่แปลกที่ในอดีตมีการปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ สวนสาธารณะ ริมทะเล ริมถนน ทางเดิน หรือที่จอดรถกันมาก (แต่ในปัจจุบันคนไทยหันไปปลูกไม้นำเข้าเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นหูกระจง) ทั้งๆ ที่นนทรีปลูกให้ร่มเงาและป้องกันลมได้ดี และยังปลูกให้ร่มเงากับพืชเศรษฐกิจบางชนิดที่ไม่ต้องการแดดจัดได้ดี ยิ่งกว่านั้น นนทรีเป็นพืชตระกูลถั่วจึงช่วยบำรุงดินให้พืชอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีบันทึกใดที่กล่าวถึงการนำเอาเปลือกด้านในของนนทรีมาประกอบอาหารประเภทส้มตำเหมือนกับต้นอะราง (นนทรีป่า) และอาจเป็นเพราะไม่พบนนทรีในป่าธรรมชาติของอีสานก็เป็นได้




จำปา


คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักดอกจำปา เพราะเข้าใจว่าเป็นดอกจำปี เนื่องจากนิยมเรียกต่อกันว่า จำปีจำปา และอาจเพราะจำปาเป็นชื่อเรียกที่รู้สึกไม่เป็นมงคล จึงไม่นิยมนำเอาจำปามาปลูกในบ้าน จำนวนประชากรของจำปาในเมืองจึงมีน้อยกว่าจำปี

จำปาและจำปีต่างกันที่สีของดอก  จำปีมีมีดอกสีขาว ส่วนจำปามีดอกสีเหลืองอมส้ม  แต่ในปัจจุบันมีการนำเอาจำปีและจำปามาผสมข้ามพันธุ์เรียกว่า จำปีสีนวล มีดอกสีเหลืองอ่อน

ตามหลักวิชาการ จำปา มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Champak มาจากภาษาฮินดู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia champaca (L.) Bail.ex Pierre ชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่นๆ ของประเทศไทย เช่น จำปากอ (มลายู-ใต้) จำปาเขา จำปาทอง (นครศรีธรรมราช) จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี)

จำปามีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรงมีความสูงประมาณ ๑๕-๓๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวยคว่ำ สำหรับต้นที่ปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดอกไม้ประดับกันอยู่ทั่วไปนั้น เป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติจากต้นที่มีขนาดเล็ก แต่มีดอกดก

ดอกมีขนาดใหญ่และออกดอกได้ตลอดปี ดอกสีเหลืองส้ม ออกตามซอกใบ  ผลเป็นแบบผลกลุ่ม มีช่อยาว เปลือกหนาแข็ง มีช่องอากาศเป็นจุดเล็กสีขาวอยู่ทั่วไป  ผลอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อนประจุดสีขาว  ผลแก่แห้งแตกแนวเดียว  เมล็ด มีเนื้อหุ้ม รูปเสี้ยววงกลม  เมล็ดอ่อนมีเนื้อหุ้มสีขาว  เมล็ดแก่เนื้อหุ้มสีแดง  ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด  การทาบกิ่ง และการตอนกิ่ง

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ คือ ใบ ดอก เปลือกต้น เปลือกราก กระพี้ เนื้อไม้ เมล็ด ราก น้ำมันกลั่นจากดอก พูดได้ว่าใช้ประโยชน์ทุกส่วน ซึ่งสรรพคุณของจำปาในส่วนต่างๆ  มีดังนี้
   ใบ แก้โรคเส้นประสาทพิการ แก้ป่วงของทารก ช่วยระงับอาการไอขับเสมหะ ตำคั้นเอาแต่น้ำ ใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบได้
   ดอก แก้วิงเวียนอ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย บำรุงน้ำดี บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท กระจายโลหิต ทำให้เลือดเย็น น้ำกลั่นจากดอกแก้อาการปวดศีรษะ
   แก้โรคไต ระงับอาการเกร็ง และสามารถนำดอกมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหารด้วย
   เปลือกต้น ใช้เป็นยาฝาดสมาน ช่วยในการสมานแผล แก้ไข แก้อาการคอแห้ง บำรุงหัวใจ
   เปลือกราก ใช้เป็นยาถ่าย ทำให้ประจำเดือนมาปกติ รักษาโรคปวดตามข้อ
   ราก ใช้ขับโลหิตสตรี ใช้เป็นยาระบาย
   กระพี้ ใช้ถอนพิษผิดสำแดง
   เนื้อไม้ ใช้บำรุงโลหิต บำรุงโลหิตระดู
   เมล็ด ช่วยแก้อาการเท้าแตก แผลที่เท้า
   น้ำมันของเมล็ด ใช้ทาหน้าท้อง ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
   น้ำมันกลั่นจากดอก ใช้ทาแก้ปวดศีรษะ แก้บวม แก้ปวดข้อ และแก้ตาบวม ยังนำมาใช้แต่งกลิ่นต่างๆ และแต่งเครื่องสำอางได้

จำปายังมีประโยชน์อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น นิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ให้ความหอมและความสวยงาม เป็นต้นไม้ให้ร่มเงาในสนามได้ดีมากชนิดหนึ่งด้วย (เป็นไม้โตง่าย) เนื้อไม้จากต้นจำปามีสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้ละเอียดมีความเหนียว เป็นมัน เป็นลวดลายสวยงาม และทนปลวกได้ดี เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ทำเครื่องมือ เครื่องกลึง หีบใส่ของ เครื่องแกะสลักต่างๆ รวมไปถึงของเล่นเด็ก ฯลฯ ยังมีการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้

ในแถบเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย นิยมนำเอาดอกจำปามาใช้เพื่อการบวงสรวงในพิธีกรรมต่างๆ ผู้หญิงนิยมนำมามัดกับเส้นผมเป็นเครื่องประดับที่มีความหมายว่า “สวยและหอมอย่าธรรมชาติ”

ดอกนำมาลอยน้ำวางไว้ตามห้องต่างๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องหอมโรยบนเตียง ให้คู่บ่าวสาวและใช้ร้อยเป็นพวงมาลัย และพบว่าในหลายประเทศมีการสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยจากดอกจำปามาใช้ในการนวด ที่น่าแปลกแต่จริงในธรรมชาติ คือ พบตัวอีเห็นชนิดหนึ่ง (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paradoxurus montanus) ในประเทศศรีลังกา อีเห็นจะปล่อยไขที่มีกลิ่นเหมือนกลิ่นของดอกจำปาด้วย ใครอยากได้กลิ่นหอมจากดอกจำปาใช้วิธีปลูก ง่ายกว่าเลี้ยงตัวอีเห็นแน่

แต่ทุกวันนี้จำนวนต้นจำปาลดลงอย่างมาก ในบางจังหวัดของประเทศอินเดียทำการรณรงค์แข็งขัน จึงเกิดการอนุรักษ์โดยเชื่อมโยงมิติทางพุทธศาสนาและทางฮินดูด้วย 

ในต่างประเทศให้ความหมายของคำว่า จำปา คือเรื่องดี ถือเป็นไม้ที่ใช้ในพิธีมงคลต่างๆ น่าเสียดายที่เมืองไทยกังวลเรื่องชื่อที่ฟังแล้วไม่ค่อยเป็นมงคลนาม คล้าย “ปา” สิ่งดีออกไป ประกอบกับมีการนำเอาเนื้อไม้มาทำโลงศพ แต่หากพินิจด้วยปัญญา ภูมิปัญญาของจำปามีมากมายที่เราควรนำมาส่งเสริมปลูกใช้กันให้กว้างขวาง



ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์

3119  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / ตำรับท้าวทองกีบม้า เมื่อ: 14 มีนาคม 2559 16:24:41
.



ตำรับท้าวทองกีบม้า

มีข้อมูลจากงาน "นิทรรศการขนมนานา ชาติ" จัดโดยภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2541 รวบรวมโดย อ.พิทยะ ศรีวัฒนสาร ผู้วิจัยในวิทยานิพนธ์ชุมชนโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2059-2310 ว่ากลุ่มขนมหวานของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมโปรตุเกสคือ ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอด บ้าบิ่น ลูกชุบ ขนมผิง ทองม้วน หม้อแกง ขนมไข่ กะหรี่ปั๊บ

มีคำอธิบายถึงแหล่งกำเนิดของขนมบางอย่าง เช่น ในประเทศโปรตุเกส ขนม ตรูซูช ดาช กัลดัช (Trouxas das caldas) เป็นต้นตำรับของ ขนมทองหยิบ ส่วน ขนมเกวชาดาช ดึ กูอิงบรา (Queljadas de coimbra) เป็นต้นตำรับของ ขนมบ้าบิ่น ซึ่งในโปรตุเกสจะมีเนยแข็งเป็นส่วนผสม แต่ในไทยใช้มะพร้าวแทน ส่วนลูกชุบเป็นขนมประจำท้องถิ่นของแคว้นอัลการ์ฟ มีเม็ดอัลมอนด์เป็นส่วนผสมสำคัญ แต่ไทยใช้ถั่วเขียวแทน

ผู้รู้กล่าวว่า ในอดีตบาทหลวงและแม่ชีในโปรตุเกสได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าตำรับของการประดิษฐ์คิดค้น และทำขนมหวานชนิดใหม่ๆ ออกมาเผยแพร่เสมอ การชี้ให้เห็นถิ่นกำเนิดของขนมโปรตุเกสที่เข้ามาเผยแพร่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา ทำให้ทราบว่าสมาชิกของชุมชนโปรตุเกสส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษที่เดินทางมาจากอัลการ์ฟ และกูอิงบรา เป็นต้น

ทั้งนี้ จากหลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึงตลาดขายขนมชนิดต่างๆ ในสมัยอยุธยา อาทิ ถนนย่านป่าขนม ถนนย่านขนมจีน ย่านตำบลหัวสาระพา และถนนหน้าวัดมหาธาตุ ถนนย่านขนมนั้น "ชาวบ้านย่านนั้นทำขนมขาย แลนั่งร้านขายขนม ชะมดกงเกวียน สามเกลอ หินฝนทอง ขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปัน แลขนมแห้งต่างๆ ชื่อตลาดป่าขนม"

ส่วนถนนย่านขนมจีน มีกล่าวว่า "มีร้านโรงจีน ทำขนมเปีย ขนมโก๋ เครื่องจันอับ ขนมจีนแห้ง ขายเป็นร้านชำชื่อตลาดขนมจีน" นอกจากนี้ ยังมีขนมลอดช่องขายให้ชาวเมืองย่านที่อยู่อาศัยของแขกตานี หรือแขกมุสลิมจากเมืองปัตตานี จนถึงกับทำให้ย่านนี้ได้ชื่อว่าบ้านกวนลอดช่อง หรือบ้านลอดช่อง

ขนมซึ่งชาวบ้านในย่านป่าขนม "ทำขายแลนั่งร้านขาย" นั้น หากมองอย่างผิวเผิน อาจจะเห็นว่าล้วนเป็นขนมไทย แต่เมื่อกล่าวถึงขนมไทยแท้ๆ

จากการศึกษาพบว่า ส่วนประกอบหลักของขนมไทยมักหนีไม่พ้นของ 3 สิ่งคือ แป้ง น้ำตาล และมะพร้าว นำมาคลุกเคล้าผสมผสานดัดแปลงตามสัดส่วนที่เหมาะสม ด้วยวิธี ต้ม นึ่ง ทอด จี่ ผิง ฯลฯ ก็จะได้ขนมมากมายหลายชนิด ส่วนขนม เช่น ขนมชั้น ขนมจ่ามงกุฎ ขนมกง ขนมสามเกลอ ขนมชะมด ขนมบ้าบิ่น ขนมหม้อแกง ขนมปุยฝ้าย ขนมถ้วยฟู ขนมเทียนแก้ว ขนมทองหยิบ ขนมทองหยอด ขนมทองพลุ ขนมทองเอก ขนมทองโปร่ง ขนมทองม้วน ขนมฝอยทอง เป็นต้น

บางชนิดไม่เพียงแต่จะประกอบด้วยแป้งและน้ำตาลเท่านั้น ยังมีส่วนผสมสำคัญที่เชื่อว่า มารี ปินา ดึ กีมาร์ (Marie Pena de Guimar หรือ Guiomar) ภรรยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "ท้าวทองกีบม้า" ตำแหน่งวิเสทกลาง เป็นผู้กำกับการพนักงานของหวาน เป็นผู้นำมาเผยแพร่

ดังนั้น แม้หลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมจะมิได้บอกว่า บรรดาขนมทั้งหลายซึ่ง "ทำขายแลนั่งร้านขาย" ในตลาดย่านป่าขนม เป็นขนมชื่อไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากขนมโปรตุเกส แต่ส่วนผสมหลักของขนมเหล่านี้ อันได้แก่ แป้งถั่วเหลือง แป้งมัน และไข่แดง เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นที่มาดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี

เช่น ขนมกงขนมเกวียน ทำจากแป้ง ถั่ว คลุกน้ำตาล ปั้นเป็นรูปกงเกวียน มีฝอยทองคลุม ฝอยทองทำจากแป้ง ถั่ว ผสมไข่แดง ทอดน้ำมันโรยเป็นฝอย ขนมกงขนมเกวียนจึงจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับขนมฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด และทองม้วนของชาวโปรตุเกส เป็นต้น



   ยังมีข้อมูลจากหอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ว่า มารี ปินา ดึ กีมาร์ (Marie Pena de Guimar หรือ Guiomar) ผู้ที่นำตำรับขนมเหล่านี้เข้ามามอบเป็นมรดกล้ำค่าให้คนไทย คือ สตรีลูกผสมหลายเชื้อชาติ (ว่ากันว่าบิดาเป็นญี่ปุ่นผสมแขก มารดาเป็นญี่ปุ่นผสมโปรตุเกส)

เกิดที่กรุงศรีอยุธยา และได้แต่งงานกับคอนสแตนติน ฟอลคอน อดีตกะลาสีเรือเร่ร่อนชาวกรีก ขณะที่ฟอลคอนมีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระฤทธิ์กำแหง ก่อนเป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

ในขณะที่ฟอลคอนมีอำนาจวาสนาอยู่ในราชสำนัก คฤหาสน์ของเขาต้องต้อนรับแขกเหรื่อทั้งไทยและเทศเป็นประจำ รวมทั้งคณะราชทูตจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาถึง 2 คณะ และอยู่กันเป็นเดือนๆ คุณหญิงฟอลคอนจึงต้องรับภาระจัดสำรับคาวหวานต้อนรับ ฝีมือปรุงอาหารของเธอเป็นที่ เลื่องลือจนสมเด็จพระนารายณ์มีรับสั่งให้ทำไปถวายหลายครั้ง

ในรายการเหล่านี้ ขนมซึ่งใช้ไข่แดงกับน้ำตาลเป็นหลัก อันเป็นตำรับดั้งเดิมของโปรตุเกส ที่เธอถ่ายทอดมาทางยายและแม่ เป็นของแปลกใหม่ในกรุงสยาม ทั้งมีสีเหลืองอร่ามเหมือนทอง นับเป็นขนมมงคล รสชาติอร่อย เป็นที่นิยมมากในราชสำนัก

ขุนนางหลายคนขอให้มารีไปช่วยสอนฝ่ายครัวที่จวน ส่วนบรรดาลูกมือของเธอก็นำกลับไปทำให้คนทางบ้านได้ชื่นชมจนแพร่กระจายไปตามหมู่บ้าน

ปัจจุบันขนมประเภทนี้ก็ยังมีแพร่หลายในโปรตุเกส และถือเป็นขนมชั้นสูงไม่ได้วางขายตามข้างถนนเหมือนในเมืองไทย แต่ก่อนสูตรการทำขนมเหล่านี้เป็นสูตรลับเฉพาะคอนแวนต์เท่านั้น ใช้ต้อนรับขุนนางและกษัตริย์ ไม่ได้แพร่หลายออกมาถึงชาวบ้าน

ต่อมาคอนแวนต์ที่เคยร่ำรวยเกิดยากจนลง บรรดาแม่ชีจึงทำขนมขายหาเงินเข้าวัด หรือแม่ชีคนสุดท้ายของคอนแวนต์ไม่มีใครมารับหน้าที่ต่อ ก็ยกสูตรขนมหวานให้ลูกหลานทางบ้านก่อนที่ตัวเองจะเสียชีวิต

ปัจจุบันตำราทำขนมประเภทนี้ที่วางขายอยู่ในโปรตุเกส มักจะใช้จุดขายอ้างว่าเป็นตำรับของ "แม่ชีคนสุดท้ายของคอนแวนต์" ซึ่งคอนแวนต์ถูกยุบไปแล้ว ทำนองเดียวกับที่ตำราอาหารของไทยมักอ้างเป็นตำรับแม่ครัวชาววัง

ที่นิยมกันมากเห็นจะเป็นฝอยทอง ซึ่งในภาษาโปรตุเกสเรียกว่า Fios de Ovos คำว่า Fios แปลว่าฝอย ส่วนคำว่า Ovos แปลว่าไข่ รวมเป็น ฝอยไข่ และนิยมดัดแปลงออกมาอีกหลายรูปแบบ อย่างเช่นใช้ฝอยทองปูในถาดเป็นพื้น โรยหน้าด้วยอัลมอนด์บด กวนกับน้ำตาล แต่งเป็นรูปต่างๆ บางแบบทำหน้าตาเหมือนเค้ก แต่เนื้อทั้งก้อนเป็นฝอยทอง บ้างก็ใช้ฝอยทองเป็นไส้ขนม หรือเอาไปอบแบบที่เราทำฝอยทองกรอบ

ส่วน ทองหยิบ โปรตุเกสไม่หยิบใส่ถ้วยตะไลให้ดูเหมือนดอกไม้แบบไทย แต่ทอดในน้ำเชื่อมเป็นแผ่น แล้วม้วนเป็นหลอด ตัดหัวท้ายให้เรียบ เอาส่วนที่ตัดยัดเป็นไส้ เรียกว่า Trouxa Ovos แปลว่า หลอดไข่

สำหรับขนมหม้อแกง เรียกว่า Tigelada ซึ่ง Tigela แปลว่าถ้วย จึงเป็นขนมถ้วย และอีกชื่อว่า ขนม 365 วัน เพราะทำกินกันทุกวัน แต่ไม่ได้ใช้ถั่วหรือเผือกเป็นส่วนผสมแบบไทย หากใช้อัลมอนด์บด เช่นเดียว ลูกชุบ ที่โปรตุเกสก็ใช้อัลมอนด์บดปั้น

ทองม้วน ดูน่าจะเป็นไทย แต่อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากโปรตุเกส รูปร่างหน้าตาก็เหมือนกัน แต่ที่นั่นบางทีก็ยัดไส้ฝอยทองด้วย

กะหรี่ปั๊บก็เป็นของโปรตุเกส เรียกว่า Pastel หรือขนมปะแตน มีไส้หมูกับหอมหัวใหญ่สับเป็นแบบเค็ม อย่างหวานก็มีไส้แบบใช้ถั่ว แต่นิยมเส้นฟักทองกวนมากกว่า

ส่วน ขนมฝรั่ง ที่ชาวกุฎีจีนชุมชนเก่าแก่ของชาวโปรตุเกสเป็นตำรับข้ามน้ำข้ามทะเลที่ยังรักษาชื่อเสียงไว้อย่างเหนียวแน่น

โปรตุเกสมักจะเรียกชื่อขนมตรงๆ ตามลักษณะ เช่น ฝอยไข่ ขนมถ้วย หลอดไข่ ขนมลำกล้อง


เรื่อง : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3120  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / เหตุใด? ประติมากรรมปูนปั้นรูปกินนร-กินนรี ที่สุโขทัยจึงมีเท้าเป็นกีบม้า เมื่อ: 14 มีนาคม 2559 16:04:39


กรอบซุ้มปูนปั้น พบที่วัดพระพายหลวง จ.สุโขทัย

เพราะเหตุใด
ประติมากรรมปูนปั้นรูปกินนร-กินนรี
ที่สุโขทัยจึงมีเท้าเป็นกีบม้า?

คำถามข้างต้นมาจากผู้ชมหลายต่อหลายท่านที่ได้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เมื่อได้สังเกตเห็นประติมากรรมปูนปั้นขนาดใหญ่ ซึ่งจัดแสดงโดดเด่น ณ ชั้นบนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ แห่งนี้ มีรูปกินนร-กินนรี ๒ คู่ ซึ่งขาและเท้าไม่ใช่ขาและเท้าแบบนก แต่มีขาและกีบเหมือนกีบม้า

ข้อสังเกตจากผู้ชมข้างต้นนำมาสู่คำถามที่ทำให้ผู้เขียนต้องตอบอธิบายเฉพาะบุคคลบ้าง และอธิบายขยายความในการบรรยายทางวิชาการในที่ต่างๆ บ้าง แต่ก็ยังไม่ทราบในวงกว้างมากนัก จึงมีหลายท่านยังถามมาอีกเนืองๆ เมื่อได้เห็นโบราณวัตถุชิ้นนี้ จึงขอนำรายละเอียดมาตอบในนิตยสารศิลปากรฉบับนี้ ดังต่อไปนี้

ประติมากรรมปูนปั้นข้างต้นพบจากการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๘ ณ โบราณสถานวัดพระพายหลวง นอกเมืองโบราณสุโขทัยทางด้านทิศเหนือ โดยพบที่ซากพระเจดีย์อิฐฐานเหลี่ยมลดชั้นกันขึ้นไปคล้ายรูปพีระมิด จึงนิยมเรียกว่า เจดีย์ทรงพีระมิด ซึ่งสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สันนิษฐานว่าเป็นส่วนกรอบซุ้ม (สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป) ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เนื่องจากขุดพบกรอบซุ้ม (หักพังตกอยู่) ทางด้านนี้ของพระเจดีย์ ประติมากรรมปูนปั้นที่พบนี้เป็นรูปซุ้มโค้ง ส่วนยอดสุดเป็นรูปเทพนมอยู่เหนือหน้ากาล ส่วนปลายล่างแต่ละข้างของซุ้มเป็นรูปกินนร-กินนรีพนมมือ ดังนั้นจึงมีกินนร-กินนรี ๒ คู่ ซึ่งมีลักษณะพิเศษจากกินนร-กินนรีที่ปรากฏในที่อื่นคือ ขาและเท้าเป็นกีบแบบเท้าม้าและกีบม้า ไม่ใช่แบบของนกดังที่พบเห็นกันทั่วไปและคนไทยเข้าใจกันทั่วไปว่า ส่วนลำตัวตอนล่างของกินนร-กินนรี ย่อมเป็นนก ต้องมีปีกขาและเท้าแบบนก แต่นี่มิได้เป็นเช่นนั้น



ภาพถ่ายใกล้ รูปกินนร-กินนรีที่ปลายด้านขวาของกรอบซุ้มปูนปั้น
พบจากการขุดแต่งเจดีย์เหลี่ยม วัดพระพายหลวง


อันที่จริง กินนร-กินนรีกำเนิดในตำนานปรัมปราของประเทศอินเดีย คำว่า “กินนร” (อ่าน กิน-นะ-ระ) มาจากภาษาสันสกฤต คือ “กิม-นร” (อ่านว่า กิม-นะ-ระ) แปลว่า “คนอะไร” (กิม=อะไร, นร=คน) เสมือนเป็นคำถามว่า “นี่จะเรียกว่าคนได้ไหม?” หรือ “นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของคนใช่ไหม?” หรือ “จะเรียกสิ่งมีชีวิตรูปแบบนี้ว่าคนอะไรดีหนอจึงจะเหมาะสม?” เป็นต้น กินนร เป็นคำเรียกสำหรับสิ่งมีชีวิตลักษณะนี้ที่เป็นเพศผู้ ส่วนกินนรีใช้กับเพศเมีย เรื่องราวของกินนร-กินนรี ปรากฏอยู่ไม่น้อยในคัมภีร์และวรรณกรรมในพระพุทธศาสนาและวรรณกรรมปรัมปราในศาสนาฮินดู เช่น มหาภารตะ รามายณะ และปุราณะ  คัมภีร์และวรรณกรรมของศาสนาฮินดูเหล่านี้อธิบายว่า กินนร-กินนรีเป็นเทวดาระดับล่างหรือสิ่งมีชีวิตกึ่งเทวดา มีตัวเป็นม้า ศีรษะเป็นคน หรือบางครั้งก็มีตัวเป็นคน ศีรษะเป็นม้า ใช้ชีวิตเดินเหินเที่ยวเล่นเป็นบริวารของเทพกุเวรบนสวรรค์ด้านเหนือของเขาไกรลาส  กินนร-กินนรีเป็นผู้ขับขานลำนำเพลงสรรเสริญบรรดาเทพเจ้าและเทวดา ในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาแม้จะกล่าวว่า กินนร-กินนรีมีความโดดเด่นในการขับขานลำนำเพลงและดนตรีและเป็นแบบอย่างของคู่รักทรหดหรือคู่ผัวตัวเมียที่รักและอยู่เคียงคู่กันเสมอ เช่นเดียวกับในปรัมปราฮินดู แต่ยังอธิบายรูปลักษณ์ของกินนร-กินนรี แตกต่างออกไป กล่าวคือ กินนร-กินนรี มีรูปลักษณ์ที่ศีรษะเป็นคนแต่ลำตัวเป็นนก มีปีกเหมือนนกด้วย ดังนั้นในมโนภาพของพุทธศาสนิกชนจึงเห็นว่า กินนร-กินนรีเป็นรูปคนครึ่งนก กินนร-กินนรีปรากฏอยู่ในชาดก (ภาษาบาลี เรียก “ชาตกะ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ในรูปสิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ เรียบเรียงขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑) มักพรรณนาว่ากินนร-กินนรีเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใสซื่อ จิตใจอ่อนโยน และใจดีที่สุด ในจันทกินนรชาดกบอกเล่าเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ (ซึ่งในชาติต่อๆ ไปเบื้องหน้าจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า) เสวยพระชาติเป็นกินนร และมีนางกินนรีเป็นคู่ครอง (คือผู้ที่จะไปเกิดเป็นพระนางยโสธรา พระชายาเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งต่อมาทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า)  กินนร-กินนรีคู่นี้ครองคู่อย่างมีความสุข กระทั่งวันหนึ่งพระราชาองค์หนึ่งประสงค์ในตัวนางกินนรี จึงสังหารกินนร (พระโพธิสัตว์) แต่ด้วยความรักอันมั่นคงของนางกินนรีและแรงอธิษฐานอันโหยไห้ของนาง ทำให้พระอินทร์ต้องลงมาชุบชีวิตให้กินนรฟื้นคืนและอยู่ครองคู่เคียงกันต่อไปจวบวาระสุดท้าย นางกินนรีจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของหญิงที่มั่นคงในรักและอุทิศตนเพื่อคนรักอย่างไม่เสื่อมคลาย

จินตกวีอินเดียผู้โด่งดังคือ กาลิทาส ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ในกวีนิพนธ์เรื่อง “กุมารสัมภวะ” (กุมารสมภพ=กำเนิดกุมาร) กล่าวถึงกินนร-กินนรีว่า ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนหิมาลัย หรือ ณ ภูเขาหิมวัต วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยนำมาปรับแต่งสร้างวรรณกรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาและกลายมาเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่โด่งดังเรื่องพระสุธน-นางมโนห์รา รวมไปถึงนาฏกรรมพื้นถิ่นปักษ์ใต้คือการแสดง “โนรา” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในทางศิลปกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรมฝาผนัง ลวดลายบนตู้พระธรรม ภาพในสมุดไทยและภาพพิมพ์บนผืนผ้า ฯลฯ แสดงรูปกินนร-กินนรีอยู่มาก ในตำราภาพสมุดไทยที่เรียกว่าภาพ “สัตว์หิมพานต์” ปรากฏรูปกินนร-กินนรี รวมอยู่ด้วย ด้วยเหตุที่ว่าความคิดเรื่องภูเขาหิมวัตอันเป็นจุดเชื่อมต่อแดนมนุษย์และแดนสวรรค์ของศาสนาฮินดู ซึ่งพระพุทธศาสนารับมานั้น ทำให้พุทธศาสนิกชนไทยซึมซับความคิดเรื่อง “ป่าหิมพานต์” (ซึ่งมาจากหิมวัต-หิมวันตะ-หิมวันต์-หิมพานต์) ว่าอยู่เชิงเขาหิมาลัยหรือเชิงภูเขาหิมวัต อันเป็นที่ชุมนุมของสิงสาราสัตว์ที่มีลักษณะรูปร่างต่างๆ รวมทั้งพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งที่พบเห็นรู้จักได้เช่นทุกวันนี้หรือมีลักษณะและคุณสมบัติแปลกประหลาดออกไป ไม่เว้นแม้แต่กินนร-กินนรี ก็ปรากฏอยู่ในป่าและภูเขาอันมหัศจรรย์กึ่งจริง-กึ่งนิยายนี้



ประติมากรรมหินรูปกินนร ศิลปะคุปตะ พุทธศตวรรษที่ ๑๐
จากตูเมน รัฐมัธยมประเทศ ประเทศอันเดีย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดลลี กรุงนิวเดลลี



กินนร-กินนรี คู่รักเคียงคู่กันเสมอ ณ ภูเขาไวบูลย์บรรพต
สมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔



ประติมากรรมหินเคลือบสี รูปฮาร์ปี ศิลปะอิหร่าน
พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ พิพิธภัณฑสถานศิลปะแห่งมหานครนิวยอร์ก
(The Metropolitan Museum of Art) สหรัฐอเมริกา

ประติมากรรมปูนปั้นกรอบซุ้มจากเจดีย์พีระมิด วัดพระพายหลวงที่ปรากฏกินนร-กินนรีรูปลักษณ์แปลกออกไปจากที่ชาวไทยพบเห็นทั่วไป คือส่วนขาและเท้าไม่ใช่แบบของนก แต่เป็นท่อนขาและกีบแบบม้า จึงน่าจะมาจากความรับรู้ตามปรัมปราของคติฮินดูที่ว่า กินนร-กินนรี มีศีรษะเป็นคนแต่ส่วนตัวเป็นม้า จึงต้องมีขาและกีบเท้าแบบม้า อย่างไรก็ดีแนวคิดเรื่องรูปลักษณ์ของกินนร-กินนรียังยึดถือตามคติในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ จึงคงลักษณะศีรษะเป็นคน ลำตัวเป็นนก มีปีกอย่างนก แต่เปลี่ยนจากขาและเท้านกเป็นขาและเท้ากีบม้าเพื่อให้มีลักษณะดั้งเดิมตามคติฮินดูเอาไว้ด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า ช่างศิลป์สุโขทัยผู้สร้างงานประติมากรรมปูนปั้นชิ้นนี้ประสงค์ให้มีลักษณะผสมผสานตามคตินิยมปรัมปราของทั้งสองศาสนานี้ไว้ด้วยกัน จึงทำให้ปรากฏรูปกินนร-กินนรีลักษณะพิเศษเป็นที่ประจักษ์ดังกล่าว ถึงกระนั้นการคงคตินิยมตามฝ่ายพระพุทธศาสนาที่มีมากกว่า ย่อมสะท้อนถึงแนวคิดที่ว่า ชาวสุโขทัยยอมรับความมีอยู่ของปรัมปราในคตินิยมฮินดูในแง่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น และต้องการเก็บรักษาไว้ในงานพุทธศิลป์ จึงสอดแทรกลงไว้ในงานประติมากรรมปูนปั้นชิ้นนี้

ยังมีเรื่องน่าสนใจที่พึงเล่าเพิ่มเติมในที่นี้ ซึ่งน่าจะให้ความรู้เชื่อมโยงกับกินนร-กินนรีของโลกตะวันออกดังที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวคือ กินนร (เพศผู้) ตามปรัมปราฮินดูเทียบเคียงรูปลักษณ์ได้กับ “เซนทอร์(Centaur) ในปกรณัมปรัมปราของกรีก ซึ่งเซนทอร์มีศีรษะเป็นคน ตัวเป็นม้า มีขากและกีบเท้าแบบม้า  เซนทอร์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดุร้ายและเหี้ยมเกรียม ป่าเถื่อน ขี้เมาและชอบฉุดคร่าผู้หญิงไปทำอนาจาร ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวต่างออกไปจากกินนรของปรัมปราฮินดู ส่วนกินนรี (เพศเมีย) ตามปรัมปราฝ่ายพระพุทธศาสนาคล้ายกับ “ฮาร์ปี” (Harpy) ในปกรณัมปรัมปราของกรีกเช่นเดียวกัน ฮาร์ปีมีศีรษะเป็นคน (เพศเมีย) ใบหน้าจึงเป็นใบหน้าของหญิงสาว ท่อนล่างเป็นนก เน้นรูปลักษณ์ที่มีเต้านมแบบผู้หญิง และปีก-ตีนแบบนก ตามวรรณกรรมปรัมปราของโอเมอร์ (Homer) ชื่อ อีเลียด (the Iliad) ประมาณ ๒๐๐ ปีก่อนพุทธกาล กล่าวว่า ฮาร์ปี แม้ดุร้าย กลิ่นตัวเหม็น น่าขยะแขยง แต่มีภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากเทพเจ้าทั้งหลาย กล่าวคือ ให้ใช้กรงเล็บคมกริบปราบพวกอาชญากร และยังมีภารกิจในการค้นหาสิ่งสูญหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ ฮาร์ปีเป็นแม่ของม้าศักดิสิทธิ์ ๒ ตัว ซึ่งต่อมาได้เป็นม้าประจำของ อคิลสีส (Achilles) วีรบุรุษสำคัญในสงครามกรุงทรอย (the Trojan War) และอคิลสีสได้รับการเลี้ยงดูจากไครอน (Chiron) ซึ่งเป็นเซนเทอร์ที่อุปนิสัยดีอีกด้วย เรื่องราวของฮาร์ปีที่มีรูปลักษณ์แบบกินนรี และนางยังมีลูกเป็นม้า ดูจะสอดคล้องกันอย่างไม่น่าเชื่อกับการสร้างรูปกินนร-กินนรีที่มีกีบเท้าเป็นม้าในประติมากรรมปูนปั้นชิ้นนี้ของสุโขทัย

[ผู้เขียนขอขอบคุณผู้อนุเคราะห์ข้อมูลภาพ: คุณชัยวัฒน์ ทองศักดิ์  คุณศิรวีย์ เอี่ยมสุดใจ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง สุโขทัย และคุณธราพงศ์ ศรีสุชาติ]



เรื่อง-ภาพ : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารกลาง กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ - จัดพิมพ์/เผยแพร่
หน้า:  1 ... 154 155 [156] 157 158 ... 270
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.829 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 09 มีนาคม 2567 23:57:30