[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 03:02:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 156 157 [158] 159 160 ... 273
3141  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / ที่มาของชื่อเดือนในปฏิทิน เมื่อ: 28 เมษายน 2559 15:57:32



ที่มาของชื่อเดือนในปฏิทิน

ชื่อเดือนในภาษาไทยทั้ง ๑๒ เดือน ในปฏิทินสุริยคติไทย ซึ่งก็คือปฏิทินอย่างเป็นทางการของประเทศไทยในปัจจุบัน ตั้งโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

ย้อนไป พ.ศ.๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศใช้ปฏิทินแบบใหม่ตามสุริยคติตามแบบสากล (จากเดิมที่ประเทศไทยใช้แบบจันทรคติ คือปฏิทินที่นับตามคติการโคจรของดวงจันทร์ โดยหมายดูจากปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา หรือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๔) ซึ่งทรงสนพระทัยในวิชาโหราศาสตร์ ทรงเป็นผู้คิดปฏิทินไทยใช้ตามสุริยคติ เรียกว่า "เทวะประติทิน" ทั้งกำหนดชื่อเดือนขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่ใช้เดือนอ้าย เดือนยี่ ถึงเดือนสิบสอง เป็นชื่อเดือนแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงใช้คำว่า "ปฏิทิน" แทนประติทิน)

โดยกำหนดแบ่งให้หนึ่งปีมี ๑๒ เดือน และในแต่ละเดือนจะมี ๒๘-๓๑ วันตามปฏิทินสากล การตั้งชื่อเดือนในครั้งนั้นกำหนดเดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน จนถึงเดือนสุดท้ายของปีคือเดือนมีนาคม ซึ่งยังคงใช้รัตนโกสินทรศกเป็นชื่อปีอย่างเป็นทางการ โดยใช้ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๐๘ แทนที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๒ จนกระทั่งเลิกใช้ปีรัตนโกสินทรศกที่ ๑๓๑ จึงได้เปลี่ยนมาใช้ปีพุทธศักราชอย่างเป็นทางการ โดยปีพุทธศักราชแรกที่ใช้คือปี พ.ศ.๒๔๕๖

ทั้งนี้ การตั้งชื่อเดือนทรงใช้ตำราจักรราศี ซึ่งแสดงการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ในหนึ่งปีตามวิชาโหราศาสตร์ โดยทรงนำคำสองคำมาสนธิกัน คำต้นเป็นชื่อราศีที่ปรากฏในช่วงเวลานั้น รวมกับคำว่า "อาคม" หรือ "อายน" ที่แปลว่า "การมาถึง" โดยได้ระบุวันอย่างชัดเจน คือ คำว่า คม สำหรับเดือนที่มี ๓๑ วัน และคำว่า ยน สำหรับเดือนที่มี ๓๐ วัน (ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่มี ๒๘ หรือ ๒๙ วัน ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน) ดังนี้




มกราคม อักษรย่อ ม.ค. อ่านว่า มะ-กะ-รา-คม รากศัพท์มาจาก มกร+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีมกร (มังกร)
กุมภาพันธ์ ย่อ ก.พ. อ่านว่า กุม-พา-พัน รากศัพท์มาจาก กุมภ+อาพันธ์ แปลว่า การมาถึงของราศีกุมภ์ (หม้อ)
มีนาคม ย่อ มี.ค. อ่านว่า มี-นา-คม รากศัพท์มาจาก มีน+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีมีน (ปลา)
เมษายน ย่อ เม.ย. อ่านว่า เม-สา-ยน รากศัพท์มาจาก เมษ+อายน การมาถึงของราศีเมษ (แกะ)
พฤษภาคม ย่อ พ.ค. อ่านว่า พรึด-สะ-พา-คม รากศัพท์มาจาก พฤษภ+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีพฤษภ (วัว, โค)
มิถุนายน ย่อ มิ.ย. อ่านว่า มิ-ถุ-นา-ยน รากศัพท์มาจาก มิถุน+อายน แปลว่า การมาถึงของราศีมิถุน (ชายหญิงคู่)
กรกฎาคม ย่อ ก.ค. อ่านว่า กะ-ระ-กะ-ดา-คม รากศัพท์มาจาก กรกฎ+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีกรกฎ (ปู)
สิงหาคม ย่อ ส.ค. อ่านว่า สิง-หา-คม รากศัพท์มาจาก สิงห+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีสิงห์ (สิงห์)
กันยายน ย่อ ก.ย. อ่านว่า กัน-ยา-ยน รากศัพท์มาจาก กันย+อายน แปลว่า การมาถึงของราศีกันย์ (สาวพรหมจารี)
ตุลาคม ย่อ ต.ค. อ่านว่า ตุ-ลา-คม รากศัพท์มาจาก ตุล+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีตุล (ตาชั่ง)
พฤศจิกายน ย่อ พ.ย. อ่านว่า พฺรึด-สะ-จิ-กา-ยน รากศัพท์มาจาก พฤศจิก+อายน แปลว่า การมาถึงของราศีพิจิก (แมงป่อง) และ
ธันวาคม ย่อ ธ.ค. อ่านว่า ทัน-วา-คม รากศัพท์มาจาก ธนู+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีธนู (ธนู)

สำหรับปีอธิกสุรทิน คือปีที่มีการเพิ่ม ๑ วันเข้าไปเพื่อให้ปีปฏิทินสอดคล้องกับปีดาราศาสตร์หรือปีฤดูกาล เพราะฤดูกาลและเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์มิได้เกิดซ้ำในจำนวนเต็มวัน ปฏิทินซึ่งมีจำนวนวันในแต่ละปีเท่าเดิมจึงต้องเลื่อนให้ตรงกับเหตุการณ์ที่ปฏิทินควรจะติดตามเมื่อเวลาผ่านไป โดยการแทรกวันหรือเดือนเพิ่มเข้าไปในปีนั้น

การเลื่อนจึงสามารถทำให้ถูกต้องได้ ปีที่มิใช่ปีอธิกสุรทิน เรียกว่า ปีปกติสุรทิน
.....ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ
3142  สุขใจในธรรม / ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน / Re: ประวัติพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 28 เมษายน 2559 15:09:02




เมื่อญาคูเสาร์จะสึก
ในสมัยที่ท่านบวชได้สิบกว่าพรรษา ณ วัดใต้นี้ เป็นช่วงเวลาที่ท่านมีความคิดอยากจะลาสิกขาเป็นกำลัง ท่านเตรียมสะสมเงินทอง อีกทั้งวัตถุข้าวของเป็นจำนวนมาก บนกุฏิของท่านเต็มไปด้วยสิ่งของเครื่องใช้ มีทั้งผ้าไหม แพรพรรณ ท่านเตรียมตัวที่จะเป็นพ่อค้าวาณิชไปทางน้ำ เพราะท่านมีความชำนาญในการดำรงชีวิตตามลำน้ำตั้งแต่วัยเยาว์ สมัยอยู่ที่บ้านข่าโคม อันเป็นบ้านเกิดนั้น ก็ใช้เส้นทางสัญจรทางลำน้ำเซบาย-ลำน้ำชี-ลำน้ำมูล เป็นสายใยเส้นทางชีวิต

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านข่าโคม ปรากฏว่ามีลุงของท่านทำการค้าประสบผลสำเร็จ มีกิจการเดินเรือใหญ่โต อันเป็นแนวทางแห่งจินตนาการของท่านที่วาดไว้ว่า เมื่อลาสิกขาแล้วจะใช้ชีวิตเป็นพ่อค้า ขายเสื้อผ้า ของกินของใช้เบ็ดเตล็ด บรรทุกเรือล่องไปค้าขายตามลำแม่น้ำชี ลัดเลาะออกลำแม่น้ำมูลเรื่อยไปจนจรดแม่น้ำโขง-จำปาศักดิ์-เมืองโขง-สีทันดร  ถึงบ้านไหนก็แวะบ้านนั้น ซื้อสินค้าบ้านนี้ไปขายบ้านนั้น เอาของบ้านนั้นไปขาย พอกะว่าค้าขายได้เงินพอสมควรแล้วจึงจะหวนกลับมาบ้านเกิด สร้างครอบครัว-แต่งงาน ตั้งหลักปักฐานทำไร่ทำนา-ค้าขายหาเลี้ยงครอบครัวไปตามวิถีชีวิตของชาวโลกต่อไป



ลักษณะเรือสมัยก่อน

ญาคูเสาร์ขุดต่อเรือ
ในเวลานั้นสิ่งที่ยังขาดก็คือเรือเท่านั้น และท่านได้ทราบข่าวว่ามีไม้ต้นใหญ่ที่งามมากต้นหนึ่ง เหมาะสำหรับขุดเป็นเรือ แต่ร่ำลือกันว่าหลายคนที่เข้าไปตัดฟัน มักมีอันเป็นไปต่างๆ นานา ต่างก็พากันเข็ดขยาดไม่มีใครกล้าไปแตะต้องเลย

ญาคูเสาร์ท่านได้ทราบข่าวลือ จึงตัดสินใจไปดูด้วยตนเอง พอไปเห็นต้นไม้ที่มีลักษณะที่งดงามมากเหมาะอย่างยิ่งที่จะขุดเป็นเรือ ท่านจึงตัดสินใจขุดต่อเรือทันที จนกระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้น เป็นเรือที่มีขนาดใหญ่และงดงาม เหมาะจะใช้บรรทุกสินค้า โดยที่ไม่อาเพศเหตุร้ายเกิดขึ้นเลย

ท่านได้นำเรือลอยลำมาผูกไว้ที่ท่าน้ำหน้าวัดใต้นั่นเอง เล่ากันว่ามักมีเหตุการณ์ประหลาดๆ เกิดขึ้นกับเรือลำนี้บ่อยครั้ง คือ เรือลอยลำออกไปกลางน้ำได้ ทั้งๆ ที่ผูกเชือกไว้แล้ว พอถึงวันพระช่วงกลางคืน เรือก็จะลอยออกไปเอง หรือ บางทีก็ลอยลำมาจอดที่ท่าได้เอง จนไม่มีใครกล้าที่จะขึ้นไปนั่งเล่นบนเรือลำนี้อีกเลย



โยมมารดาสิ้น
ในระยะนี้เองเป็นช่วงที่โยมมารดาของพระอาจารย์เสาร์เสียชีวิต ที่บ้านข่าโคม (บ้านเกิดของท่าน) ข่าวนี้ยังความเศร้าสะเทือนใจอย่างใหญ่หลวงมาสู่ท่าน ความคิดฟุ้งซ่าน แผนการทุกอย่าง จำเป็นต้องถูกระงับไว้ ท่านต้องรวบรวมกำลังใจอย่างเต็มที่ แล้วจึงเดินทางไปร่วมทำศพของโยมมารดาที่บ้านเกิด เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อมารดาผู้ให้กำเนิดเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากเสร็จงานฌาปนกิจศพโยมมารดาแล้ว ท่านก็เดินทางกลับมาพำนักที่วัดใต้เหมือนเดิม


ญาคูเสาร์ไม่สึก
หลังจากงานปลงศพโยมมารดาของท่าน ทำให้ท่านต้องรวบรวมจิตให้เป็นสมาธิ ปลงธรรมสังเวช แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลแด่โยมมารดาของท่าน จนกระทั่งในที่สุดความคิดที่จะลาสิกขาก็ค่อยๆ ผ่อนคลาย เลือนราง จางหาย มลายไปในที่สุด


สละสิ้น
เมื่อพระอาจารย์เสาร์ได้ตัดสินใจได้แน่นอน มั่นคง เด็ดขาด ว่าจะไม่สึกเช่นนั้นแล้ว จึงมุ่งตรงไปยังท่าน้ำหน้าวัดที่จอดเรือไว้ทันที  พอไปถึงท่านก็ไม่รอช้ารีบลงไปแก้เชือกที่ผูกเรือไว้อย่างรวดเร็ว แล้วผลักหัวเรือออกไปอย่างสุดแรงเกิด เรือก็พุ่งแหวกสายน้ำออกไปตามแรงผลัก แล้วลอยเคว้งคว้างไปตามกระแสน้ำจนไกลลิบ สุดสายตา เฉกเช่นดั่งที่ท่านละทิ้งความคิดที่จะลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตให้ล่องลอยไปตามกระแสโลกย์โดยเด็ดขาดฉะนี้แล

พอเรือลอยลับไปแล้ว ท่านจึงหันหลังกลับหวนคืนสู่กุฏิ ท่านมีความสุขสงบใจ และมั่นในในตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะท่านได้ปลดเปลื้อง ปล่อยวาง ซึ่งห่วงพันธนาการ ที่ผูกรัดมัดคาจิตใจท่านมาเป็นเวลาช้านาน  ดังนั้นพอรุ่งเช้าวันใหม่ท่านจึงประกาศให้หมู่คณะและญาติโยมทั้งหลายที่คอยฟังข่าวได้ทราบทั่วกันว่า ต่อไปนี้ท่านจะไม่สึกอย่างเด็ดขาด ใครต้องการอะไรขอให้มาเอาไปได้เลย พวกสิ่งของเครื่องใช้ สินค้า ของมีค่าต่างๆ ที่ท่านอุตส่าห์เก็บสะสมไว้นาน ท่านจะสละให้เป็นทานจนหมดสิ้น ญาติมิตรทั้งหลายเมื่อได้ทราบข่าวต่างก็อนุโมทนาสาธุการ แล้วทยอยกันมารับแจกสิ่งทานเหล่านั้นเป็นเวลาหลายวันจึงหมด โดยท่านไม่อาลัยอาวรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น กลับยินดีที่ได้แจกทานจนหมดในครั้งนี้

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ ที่ได้รวบรวมมาต่อไป ขอแทรกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ควรได้รับทราบก่อนเพื่ออรรถรสที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยได้รับความเมตตาเอื้อเฟื้อจากเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามมอบข้อมูลหนังสือประวัติวัดสุปัฏนารามวรวิหาร, อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีอุบลรัตนารามได้มอบหนังสือประวัติวัดศรีอุบลรัตนาราม ประวัติพระแก้วบุษราคัม, คำบอกเล่าของคุณตาบำเพ็ญ  ณ อุบล ผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองอุบลฯ และจากหนังสือประวัติเมืองอุบลราชธานี, ประวัติคณะธรรมยุติกนิกายเมืองอุบลราชธานี




รูปอดีต ท่าวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ลงแม่น้ำมูล

กำเนิดธรรมยุติกนิกาย
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีเหตุการณ์สำคัญด้านการพระศาสนาเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง คือได้มีกำเนิดคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ในประเทศไทยอีกคณะหนึ่ง เรียกว่า “ธรรมยุติกนิกาย” หรือ คณะธรรมยุต ถือว่าเป็นคณะสงฆ์ที่ยึดมั่นในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

ผู้ให้กำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุตนี้ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ และกำลังทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้ ๕ พรรษา อยู่ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสในปัจจุบัน)

พระองค์ได้ทรงอุปสมบทในคณะสงฆ์ไทยที่สืบมาแต่เดิม ซึ่งเรียกภายหลังว่า มหานิกาย เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๗ และต่อมาหลังจากทรงผนวชได้ ๕ พรรษา ก็ได้ทรงอุปสมบทอีกในวงศ์สีมากัลยาณี ซึ่งสืบวงศ์บรรพชา อุปสมบท มาแต่คณะสงฆ์มอญ  ผู้อุปสมบทในนิกายสีมากัลยาณี ในรามัญประเทศ ที่ได้รับสมณวงศ์ต่อมาจากพระภิกษุสงฆ์ลังกา คณะมหาวิหาร ซึ่งสืบสายมาจากพระมหินทเถระ อันพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งจากกรุงปาฏลีบุตร ชมพูทวีปหรือประเทศอินเดีย ให้มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป หรือประเทศศรีลังกาโน้นแล

พระองค์ทรงมีพระนามในพระศาสนาว่า “วชิรญาณ” เมื่อได้ทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติแล้ว จะทรงบังคับพระภิกษุสงฆ์ให้รวมเป็นนิกายเดียวกันก็หาไม่ เพราะทรงเล็งเห็นว่า แม้จะทรงใช้พระราชอำนาจ รวมพระสงฆ์ให้เป็นนิกายเดียวกันได้ แต่ก็เป็นวิธีที่บังคับขืนใจ จักไม่ได้ผลยั่งยืนนาน  ดังนั้น พระองค์กลับทรงใช้พระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แด่ทุกนิกายเสมอกัน ทรงชักนำนิกายที่หย่อนยาน

ให้แก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ตามระเบียบปฏิบัติที่ทรงรื้อฟื้นตั้งขึ้นและทรงตราระเบียบแบบแผนไว้ โดยพระบรมราโชบายอันสุขุมนุ่มนวล ไม่เป็นการกระทบกระเทือนฝ่ายใด วิธีการบริหารคณะสงฆ์เช่นนี้ ถือเป็นแบบอย่างในรัชกาลต่อๆ มา กิจการคณะสงฆ์ทั้งสองนิกายนี้จึงได้เจริญควบคู่สืบต่อกันมาอย่างแน่นแฟ้น ดังที่ปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้



คณะสงฆ์ธรรมยุตสู่อีสาน
มีพระมหาเถระเมืองอุบลฯ รูปหนึ่ง ซึ่งเป็นปูราณสหธรรมิกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งจักรีวงศ์  เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) พระมหาเถระรูปนั้นมีนามว่า พนฺธุโล (ดี) หรือ ญาท่านพันธุละ ท่านเป็นชาวบ้านหนองไหล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านไปอยู่วัดเหนือในเมืองอุบลราชธานี ต่อมาได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้ ณ เมืองหลวง กรุงเทพมหานคร ที่สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ แล้วเข้ารับทัฬหิกรรมตามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดราชาธิวาส นับว่าเป็นพระธรรมยุตรุ่นแรกของภาคอีสาน

ในกาลต่อมาท่านกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด แล้วได้นำพระหลานชายผู้สนิทชื่อ เทวธมฺมี (ม้าว) เข้าถวายตัวเป็นพระศิษย์หลวง สมัยนั้นพระศิษย์หลวงเดิมมีอยู่ ๔๘ รูป ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) นับว่าเป็นสัทธิวิหาริกแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสมเด็จพระสังฆราช (สา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์  ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๑ ในเมืองอุบลราชธานี ได้รับการบรรพชา อุปสมบทที่วัดเหนืออันเป็นวัดเดิมที่ท่านพนฺธุโล (ดี) เคยพำนักอยู่มาก่อน ซึ่งท่านพนฺธุโล (ดี) นี้ ได้ส่งศิษย์เข้าไปศึกษาเล่าเรียนตลอดจนอบรมสมถวิปัสนาธุระที่กรุงเทพมหานคร หลายรุ่นได้แก่
   ๑.ท่านเทวธมฺมีเถระ (ม้าว)
   ๒.ท่านธมฺรกฺขิตเถระ (อ่อน) ได้เป็นเจ้าคุณพระอริยกวี
   ๓.ท่านสิริจนฺทเถระ (จันทร์) ได้เป็นเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์
   ๔.ท่านติสสเถระ (อ้วน) ได้เป็นเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์

ซึ่งต่อมาต่างได้เป็นกำลังสำคัญของคณะธรรมยุตที่ได้แผ่ขยายไปในที่ต่างๆ ทั่วอีสาน  ทั้งนี้เนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคัดเลือกพระสงฆ์ผู้เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง ดังประทีปดวงแรกที่จุดประกายอันสุกสว่างแห่งพระธรรมยุตอีสาน ปฏิปทาของท่านพันธุละเถระนี้ เด็ดเดี่ยวมั่นคงน่าเคารพบูชายิ่งนัก ดั่งเกร็ดประวัติของท่านที่พอมีปรากฏในช่วงปัจฉิมวัยว่า ในการอธิษฐานพรรษา ท่านได้สมาทาน เนสัชชิกธุดงค์ ถือการไม่นอนตลอดพรรษา พอออกพรรษาแล้วไม่นานนัก ท่านก็มรณภาพที่วัดสระแก้ว เมืองพิบูลมังสาหาร รวมอายุได้ประมาณ ๗๐ ปี


วัดธรรมยุตวัดแรกของอีสาน
สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะตั้งรากฐานของคณะธรรมยุติกนิกายในภาคอีสาน ในปีแรกที่ทรงครองราชย์นั่นเอง ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระพรหมราชวงศา (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๘๘-๒๔๐๙) อาราธนา ญาท่านพนฺธุโล (ดี) ซึ่งเป็นชาวเมืองอุบลฯ และยังเป็นปูราณสหธรรมิกในพระองค์ พร้อมด้วยท่านเทวธมฺมี (ม้าว) ให้มาสร้างวัดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔-๒๓๙๕ ที่ริมฝั่งแม่น้ำมูลด้านเหนือ (ทิศตะวันตก) อยู่ระหว่างตัวเมืองกับบุ่งกาแซว โปรดพระราชทานทุนทรัพย์ เป็นเงิน ๑๐ ชั่ง (๘๐๐ บาท) พระราชทานเลกวัด (ผู้ปฏิบัติรับใช้วัด) ๖๐ คน และพระราชทานนิตยภัตแก่เจ้าอาวาส เดือนละ ๘ บาท  สร้างวัดเสร็จราว พ.ศ.๒๓๙๖ ตรงกับ ร.ศ.๗๒ พระราชทานนามว่า วัดสุปัตน์ อันแปลว่า อาศรมของพระฤๅษีชื่อดี ภายหลังเปลี่ยนชื่อว่าวัดสุปัฏนาราม แปลว่า ท่าน้ำดี เพราะอยู่ในทำเลท่าจอเรือที่ดี เป็น วัดธรรมยุตแห่งแรกของภาคอีสาน มีญาท่านพนฺธุโล (ดี) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ต่อมา พ.ศ.๒๔๗๘ โปรดยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงวรวิหาร ชั้นตรี มีนามว่า วัดสุปัฏนารามวรวิหาร มีพื้นที่ตามโฉนดประมาณ ๒๑ ไร่ ๓๘.๓ ตารางวา


ภาพประวัติศาสตร์ (ไม่มีให้เห็นแล้ว)
อุโบสถเก่าวัดศรีทอง ที่ญัตติกรรมของพระอาจารย์เสาร์
และยังเป็นที่อุปสมบทของหลวงปู่มั่น (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)

วัดศรีทอง-วัดธรรมยุตวัดที่ ๒
หลังจากนั้น ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) ได้รับอาราธนามาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) วัดนี้เป็นวัดธรรมยุต วัดที่ ๒ ของภาคอีสาน ซึ่งพระอุปฮาด (โท) ต้นตระกูล ณ อุบล ผู้เป็นบิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) เป็นกรมการเมืองอุบลราชธานี ได้มีจิตศรัทธายกที่สวนอันมีเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่เศษ สร้างเป็นวัดเมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ ตรงกับ ร.ศ.๗๔ เป็นปีที่ ๕ แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อของวัดศรีทองนี้ ตั้งตามนิมิตมงคลที่เห็นเป็นแสงสว่างกระจ่างไปทั่วบริเวณสวนแห่งนี้ในขณะที่ประกอบพิธีถวายที่ดินยกให้เป็นสถานที่ตั้งวัด  อีกราว ๒ ปีต่อมา ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) ได้สร้างพระอุโบสถและผูกพัทธสีมา ประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๐ และได้ให้ ญาท่านสีทา ชยเสโน เป็นช่างสร้างหอพระแก้วไว้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม ดั่งที่เห็นอยู่ในพระอุโบสถตลอดมาจนบัดนี้ พระแก้วบุษราคัมนี้ เป็นที่เคารพนับถือสักการบูชาของปวงประชาชนชาวอุบลราชธานี เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองมาแต่สมัยโบราณ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ก็พร้อมใจกันประกอบพิธีสมโภช เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ากราบนมัสการ ถวายน้ำสรง เป็นประจำทุกๆ ปีมา ต่อมาก็มีการขยายเพิ่มจำนวนวัดและพระภิกษุสามเณรมากขึ้นโดยลำดับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีวัดและพระภิกษุสามเณรในคณะธรรมยุตมากกว่าทุกภาคในประเทศไทย

กำเนิดยุคกัมมัฏฐาน
หลังจากที่ญาคูเสาร์ได้สละเครื่องเกี่ยวพันทุกสิ่งทุกอย่างจากตัวท่านแล้ว ท่านได้มีเวลาพิจารณาดูจิตของท่าน พร้อมกับได้เสาะแสวงหาท่านผู้รู้เพื่อที่จะคอยชี้แนะแนวทางดำเนินเพศบรรพชิตต่อไป

สมัยนั้นท่านได้ทราบว่า ญาท่านม้าว เทวธมฺมี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตรงต่อพระธรรมวินัย ตรงต่อมรรคผลพระนิพพาน “ญาคูเสาร์” จึงได้ละทิ้งทิฐิความเป็น “ญาคู” ของท่าน แล้วจึงมุ่งตรงไปยังวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ที่พำนักของญาท่านม้าวเทวธมฺมี ทันที ได้รับฟังเทศน์ที่ท่านอบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร ให้เลิกแนวทางการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตรงตามพระพุทธวินัยบัญญัติ เลิกเส้นทางดำเนินใดๆ ก็ตามอันที่จะทำให้ศีลด่างพร้อย ให้ห่างเครื่องสั่งสมกิเลสให้พอกพูน ติดหล่มโลกโลกีย์ต่างๆ เหล่านั้น มันไม่ใช่แนวทางของพระพุทธองค์ ให้ละเลิกเสียโดยเด็ดขาด  ให้หันมาประพฤติปฏิบัติในพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง ทรงศีลให้บริสุทธิ์ เจริญสมาธิให้แน่วแน่ เดินปัญญาให้เต็มรอบบริบูรณ์

นี่คือแนวทางขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ ให้ผู้เป็นสาวกทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตามนั้นแล

ญาคูเสาร์นั้นหลังจากได้รับฟังโอวาทจาก ญาท่านม้าว เทวธมฺมี แล้วน้อมโน้มนำมาพิจารณาประพฤติปฏิบัติจนเห็นจริง ตามกระแสธรรมที่ได้สดับรับฟังมา แล้วต่อมายังได้ชักชวนสหธรรมิกผู้รู้ใจ คือ ท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาล (หนู ฐิตปญโญ) ครั้งเมื่อยังอยู่วัดใต้ด้วยกัน พร้อมหมู่คณะ ติดตามไปรับฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัดศรีทองด้วยเป็นจำนวนมาก และได้พากันมุ่งหน้าปฏิบัติธรรม ปฏิบัติจริง ปฏิบัติชอบ ประกอบความเพียรอย่างเข้มแข็งต่อมา


ญัตติกรรม
ในระยะต่อมา ท่านคงมองเห็นว่าการปฏิบัติของท่านยังมีอุปสรรคอยู่ อย่างเช่นท่านไปฟังธรรมจาก ญาท่านม้าว เทวธมฺมี แล้วเกิดความเลื่อมใส จึงขอมอบตัวเป็นศิษย์ ท่านก็ยอมรับ แต่ว่าไม่ได้เข้าอุโบสถร่วมสังฆกรรมด้วยกับท่าน แม้ของใช้ของฉัน จะไปจับต้องของท่านไม่ได้ จะต้องถวาย (ประเคน) ท่านใหม่  ประกอบกับทางหมู่คณะนิกายเดิมของตนเอง ยังไม่เลื่อมใสในการถือปฏิบัติตามครรลองแบบอย่างธรรมยุต  จนในที่สุดท่านได้ตัดสินใจพร้อมด้วยพระเณรลูกวัดทั้งหมดในวัดใต้ ซึ่งเข้าใจว่าในครั้งนั้นจะมีพระอาจารย์หนู ฐิตปญโญ (ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ มีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ) ร่วมประกอบพิธี  “ทัฬหิกรรม” หรือ ญัตติกรรม ใหม่ในคณะธรรมยุตินิกายด้วยกัน เป็นการบวชครั้งที่ ๒ ณ อุโบสถวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม)  โดยมีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์  เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ส่วนสถานะของวัดใต้นั้น ก็กลายเป็นวัดธรรมยุตมาตราบจนกระทั่งบัดนี้




ท่านพนฺธุโล (ดี)

ชาติภูมิ
ท่านพนฺธุโล (ดี) เกิดที่บ้านหนองไหล ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันเดือนปีเกิดไม่ปรากฏชัด

บรรพชาอุปสมบท
เมื่อบรรพชาอุปสมบทที่วัดหนองไหลแล้ว ท่านไปอยู่ที่วัดเหนือในเมืองอุบลราชธานี ต่อมาเดินทางเข้าไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพมหานคร ที่สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ภายหลังมีผู้นำถวายตัวในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยเปลี่ยนจากมหานิกายเป็นธรรมยุติกนิกาย และอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมธรรมเนียมประเพณีที่วัดบวรนิเวศวิหาร

เกียรติประวัติ
ประมาณ พ.ศ.๒๓๙๔-๒๓๙๕ (หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลาผนวชขึ้นเสวยราชย์แล้วไม่นาน) พระพรหมวรราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ ๓ ได้อาราธนาท่านพนฺธุโล (ดี) ออกไปเมืองอุบลราชธานี สร้างวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกาย

ท่านพนฺธุโล (ดี) เดินทางไปอุบลราชธานีและร่วมกับพระพรหมวรราชวงศา (กุทอง) สร้างวัดขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล ข้างบ้านบุ่งกาแซว สร้างเสร็จประมาณ พ.ศ.๒๓๙๖ ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดสุปัฏนาราม” เป็นพระอารามหลวง  ท่านพนฺธุโล (ดี) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก    ในการสร้างวัดสุปัฏนาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์จำนวน ๑๐ ชั่ง พระราชทานผู้ปฏิบัติรับใช้วัด ที่เรียกว่า “เลกวัด” จำนวน ๑๐ คน พระราชทานนิตยภัตรแด่เจ้าอาวาสเดือนละ ๘ บาท

ภายหลังมีวัดที่สังกัดธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นในสมัยท่านพนฺธุโล (ดี) อีก ๕ วัด คือวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนารามใจปัจจุบัน) วัดสุทัศนาราม วัดไชยมงคล วัดสระแก้ว เมืองพิบูลมังสาหาร และวัดหอก่อง เมืองมหาชนะชัย

มรณภาพ
ในการอธิษฐานพรรษา ท่านได้สมาทานเนสัชชิกธุดงค์ถือการไม่นอนตลอดพรรษา เสมือนการไม่นอนตลอดพรรษาของพระจักขุบาลเถระ ปางอดีต  ครั้นพ้นพรรษาไม่นานนัก ท่านก็มรณภาพที่วัดสระแก้ว เมืองพิบูลมังสาหาร รวมอายุได้ประมาณ ๗๐ ปี




ท่านเทวธมฺมี (ม้าว)

ชาติภูมิ
ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๑ ในเมืองอุบลราชธานี

บรรพชาอุปสมบท
ท่านเทวธมฺมี บรรพชาอุปสมบทที่วัดเหนือ ในเมืองอุบลราชธานี ต่อมาท่านพนฺธุโล (ดี) ได้นำเข้ากรุงเทพมหานคร ถวายตัวในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชอยู่ ท่านเทวธมฺมี เป็นสัทธิวิหาริกแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   สมเด็จพระสังฆราช (สา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เกียรติประวัติ
ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากท่านพนฺธโล (ดี) มรณภาพแล้ว  ศิษย์ที่สำคัญของท่านเทวธมฺมี (ม้าว) เช่น พระอริยกวี (อ่อน) พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) เป็นต้น  

วัดในสังกัดธรรมยุตินิกายที่เพิ่มขึ้นในสมัยท่านเทวธมฺมี คือ
     เมืองอุบลราชธานี ได้แก่ วัดบ้านกลาง และวัดโนนผึ้ง
     เมืองจำปาศักดิ์  ได้แก่ วัดมหามาตยราม
     เมืองยโสธร ได้แก่ วัดสร่างโศก
     เมืองอุดรธานี ได้แก่ วัดมหาชัย

ปฏิปทาที่สำคัญของท่านเทวธมฺมี (ม้าว) คือ ท่านดำเนินอยู่ในความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ท่านเป็นผู้ประสานรอยร้าวซึ่งเป็นความขัดแย้งในหมู่สงฆ์และในหมู่ผู้ปกครองในขณะนั้น หากไม่มีท่านเป็นหลักในเวลานั้นแล้ว คณะสงฆ์ในจังหวัดอุบลราชธานีอาจจะแตกแยกกันอย่างรุนแรงระหว่างมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย ในกลุ่มผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานี ขณะนั้นก็อาจจะแตกแยกถึงขั้นวิวาทใหญ่โต รบราฆ่าฟันกันนองเลือดก็ได้ เดชะบุญที่ได้ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) ดำรงอยู่ในอุเบกขาธรรม ประสานรอยร้าวให้สมานกันได้ เรื่องร้ายแรงจึงเพลาลงและกลายเป็นดี

มรณภาพ
ท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อเดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ พ.ศ.๒๔๓๓ รวมอายุได้ ๗๒ ปี




พระอาจารย์สีทา  ชยเสโน

ชาติภูมิ
พระอาจารย์สี  ชยเสโน  เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ ที่บ้านหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

บรรพชาอุปสมบท
บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) พ.ศ.๒๔๐๙๘ และต่อมาอุปสมบทที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) เช่นเดียวกัน

วิทยฐานะ
เมื่ออุปสมบทแล้วได้เอาใจใส่ในวิปัสสนาธุระเป็นอย่างมาก ได้ออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ทั้งภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ ท่านได้ปฏิบัติทางวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด มีลูกศิษย์ที่ปฏิบัติเคร่งครัดเป็นจำนวนมาก พระอาจารย์สีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจารย์ของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

มรณภาพ
เมื่อเข้าสู่วัยชรา ท่านได้เข้าพำนักที่วัดบูรพาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้มรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๖๘ รวมอายุ ๗๘ ปี




พระปัญญาพิศาลเถระ (หนู ฐิตปญฺโญ)
ท่านเป็นสหธรรมิกที่รักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดียิ่ง
กับพระอาจารย์เสาร์ กับทั้งยังเป็นพระอุปัชฌาย์
ของพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)


ลำดับต่อไป
"บำเพ็ญเพียร"  โปรดติดตาม
3143  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อ: 28 เมษายน 2559 14:31:36
.



สามเณรอธิมุตตกะ

วันนี้ขอเล่าเรื่องของสามเณรอธิมุตตกะ ชื่อนี้แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พ้นโดยยิ่งแล้ว” หรือ “ผู้พ้นโดยสิ้นเชิง”

ถ้าท่านผู้อ่านติดตามเรื่อง สามเณร=เหล่ากอแห่งสมณะ มาตั้งแต่ต้น คงจำได้ว่าผมได้นำเรื่องของสามเณรสังกิจ มาเล่าให้ฟังแล้ว

สามเณรสังกิจ บวชเป็นพระจนมีอายุพรรษาเป็นพระเถระ ท่านนำหลานชายคนหนึ่งชื่อ อธิมุตตกะ มาบวชเป็นสามเณร

สามเณรอธิมุตตกะ ได้อยู่รับใช้หลวงลุง จนกระทั่งอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ สมควรบวชเป็นพระภิกษุแล้ว หลวงลุงจึงสั่งให้เดินทางกลับบ้านไปลาบิดามารดา เพราะผู้จะบวชเป็นพระจะต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน

สามเณรอธิมุตตกะ เพื่อความแน่ใจว่าอายุตนเองครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แน่หรือไม่ จึงแวะไปเยี่ยมน้องสาวซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ใกล้ดงแห่งหนึ่ง ถามอายุของตน  น้องสาวบอกว่าไม่ทราบ ต้องไปถามพ่อแม่

สามเณรจึงเดินทางข้ามดงไปเพื่อจะไปถามวันเดือนปีเกิดของตน และขออนุญาตพ่อแม่บวชเป็นพระภิกษุ

บังเอิญ ไม่ทราบเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้าย สามเณรถูกโจรห้าร้อยจับไว้ (โจรจำนวนห้าร้อย ไม่ใช่ “โจรห้าร้อย”) ในจำนวนโจรห้าร้อยนั้นก็มีบางคนที่หยาบช้า “ห้าร้อย” จริงๆ บอกว่าจะต้องฆ่าสามเณรบูชายัญ แต่อีกบางคนมีจิตใจอ่อนโยนเห็นแก่ผ้าเหลืองค้านว่า อย่าฆ่าสามเณรเลย เอาคนอื่นบูชายัญแทนเถอะ

สามเณรคิดว่า เราน่าจะสั่งสอนพวกโจรเหล่านี้ให้รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษได้บ้าง จึงพูดกับหัวหน้าโจรว่า ท่านหัวหน้า อาตมาจะเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง ในอดีตกาลมีเสือตัวหนึ่งอยู่ในดง มันฆ่า “จัมปกะ” (ไม่ได้แปลว่าเป็นอะไร สงสัยจะเป็นเนื้อตัวหนึ่ง)  เมื่อจัมปกะถูกเสือกัดกิน เรื่องรู้ไปถึงหมู่เนื้อตัวอื่นๆ จึงพากันหนีจากดงนั้น ไม่อยู่เป็นเหยื่อของเสือตัวนั้นอีกต่อไป

ฉันใดก็ฉันนั้นแหละท่านหัวหน้า ถ้าท่านฆ่าสามเณรชื่ออธิมุตตกะตาย ใครๆ ได้ทราบข่าวว่าสามเณรอธิมุตตกะเดินทางผ่านดงมา ถูกพวกโจรจับฆ่าเสีย   คนอื่นๆ ก็จะไม่เดินทางผ่านมาทางนี้เลย พวกท่านก็จะหมดโอกาสได้ทรัพย์สินจากคนเดินทาง คิดดูให้ดี การฆ่าสามเณรรูปหนึ่ง คุ้มกับสิ่งที่ท่านควรจะได้ในอนาคตไหม

สามเณรท่านเล่น “ไซโค” กับพวกโจร หัวหน้าโจรเอามือลูบเคราคิดหนักเอ่ยขึ้นว่า “ถ้าพวกผมปล่อยสามเณรไป สามเณรก็จะไปบอกคนอื่นว่าพวกโจรซุ่มอยู่ในดงนี้ พวกผมก็อดได้ปล้นทรัพย์คนเดินทางอยู่ดี”

“รับรอง อาตมาไม่บอกใคร สมณะเมื่อรับคำแล้วย่อมไม่คืนคำ” สามเณรกล่าวยืนยัน

หัวหน้าโจรจึงสั่งปล่อยสามเณร

สามเณรเดินข้ามดงไปพบบิดามารดาและญาติ  ถามวันเดือนปีเกิดของตน และขออนุญาตบวชเป็นพระภิกษุแล้วก็เดินทางกลับ จากนั้นพ่อแม่และญาติๆ ของสามเณรเดินผ่านดงไป ถูกพวกโจรจับได้ จึงพากันร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเสียใจ (เจ็บใจมากกว่า)

โดยเฉพาะโยมแม่ของสามเณรน้อยร้องเสียงดังกว่าเพื่อนว่า เณรน้อยลูกแม่ทำไมไม่บอกว่าที่ดงนี้มีพวกโจรอยู่ ปล่อยให้พ่อแม่และญาติๆ ถูกพวกมันจับฆ่าเสีย หรือว่าลูกเป็นพรรคพวกของพวกโจร

เมื่อพวกโจรถาม จึงบอกว่า สามเณรรูปที่เดินทางล่วงหน้าไปก่อนนั้นแหละคือลูกของตน ทำไมหนอลูกชายของตนจึงกลายเป็นพวกโจรไปได้ น่าเจ็บใจจริงๆ

หัวหน้าโจรรำพึงเบาๆ ว่า “สามเณรอธิมุตตกะรูปนี้ พูดจริงทำจริง เห็นพ่อแม่ญาติพี่น้องเดินทางมายังที่อยู่ของพวกโจรเช่นพวกเราก็มิได้บอกกล่าวแพร่งพรายให้ทราบถึงอันตราย น่านับถือจริงๆ”

เขาว่าสัจจะก็มีในหมู่โจร หัวหน้าโจรเห็นสามเณรยึดมั่นในสัจจะ ก็เลื่อมใสจึงสั่งปล่อยโยมพ่อแม่ รวมทั้งญาติๆ ของสามเณร  ตนเองพร้อมบริวารรีบเดินทางตามสามเณรไปจนทัน แล้วขอบวชเป็นศิษย์สามเณร  สามเณรอธิมุตตกะ จึงบวชให้โจรทั้งห้าร้อยเป็นสามเณรพาไปหาหลวงลุง  อธิมุตตกะสามเณรได้อุปสมบทเป็นภิกษุ และสามเณรอดีตโจรเหล่านั้นก็ได้อุปสมบทในเวลาถัดมา และได้เป็นศิษย์อยู่ในโอวาทของพระอธิมุตตกะ ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทุกรูป

นับว่าสามเณรน้อยรูปนี้ สามารถนำมหาโจรมาบวชในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันทีเดียว

ตำราบอกว่า สามเณรได้บรรลุพระอรหัตตั้งแต่บวชใหม่ๆ ตอนที่เดินทางผ่านดงถูกพวกโจรจับนั้นไม่ใช่สามเณรปุถุชนธรรมดา หากเป็นสามเณรอรหันต์ทรงอภิญญา จึงไม่หวาดกลัวต่อความตาย ตรงข้ามกับ “ขึ้นธรรมาสน์ เทศน์สอน” พวกโจรอย่างไม่สะทกสะท้าน

เรื่องราวของสามเณรอธิมุตตกะนี้ มีบันทึกไว้ในสารัตถปกาสินีอรรถกถาแห่งพระสุตตันตปิฎกสังยุตตนิกาย ท่านเล่าเป็นเรื่องประกอบความเห็นของเทวดาที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทำนองจะขอความเห็นว่า ภาษิตของใครจะลึกซึ้งกว่ากัน

หัวข้อที่ประกวดกันกล่าวก็คือ “คบสัตบุรุษดี” ดีเพราะอะไร ต่างคนต่างให้เหตุผล

เทวดาองค์หนึ่งกล่าวว่า “บุคคลควรนั่งใกล้สัตบุรุษ ควรสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะผู้ที่คบสัตบุรุษมีแต่ความประเสริฐ ไม่มีโทษเลย”

อีกองค์หนึ่งกล่าวว่า “บุคคลควรนั่งใกล้สัตบุรุษ ควรสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะผู้ที่คบสัตบุรุษย่อมไพโรจน์ท่ามกลางหมู่ญาติ”

เมื่อถึงบทว่า “คนคบสัตบุรุษย่อมไพโรจน์ท่ามกลางหมู่ญาติ” ก็ยกเรื่องสามเณรอธิมุตตกะประกอบ ว่าสามเณรอธิมุตตกะนี้เป็นสัตบุรุษและคบสัตบุรุษ (คือพระสังกิจจะ) จึงไพโรจน์ คือสง่างามท่ามกลางหมู่ญาติทั้งหลายดังกล่าวมาข้างต้น

มีข้อน่าสังเกตนิดว่า ภาษิตของเทวดาสองสามองค์นั้น พระพุทธองค์ทรงรับว่าเป็นสุภาษิต (คือคำกล่าวดี พอใช้ได้) แต่ที่ถูกจริงๆ พระองค์ตรัสว่า “ผู้ที่คบสัตบุรุษย่อมพ้นทุกข์ทั้งปวง)

สัตบุรุษแท้จริงย่อมทำตนให้พ้นทุกข์ได้ และสามารถสอนคนอื่นให้พ้นทุกข์ได้ด้วยดังพระพุทธองค์ ทรงเป็นยอดสัตบุรุษ เพราะพระองค์
     ทรงรู้ยิ่งแล้ว       สอนเพื่อให้ผู้อื่นรู้ยิ่ง
     ทรงดับเย็นแล้ว   สอนให้ผู้อื่นดับเย็น
     ทรงหลุดพ้นแล้ว  สอนให้ผู้อื่นหลุดพ้น

เรื่องสามเณรอธิมุตตกะก็อวสานลงเพียงเท่านี้


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรอธิมุตตกะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๒ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ เมษายน ๒๕๕๙




สามเณรวาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ

วันนี้ขอเล่าเรื่องสามเณรสองรูปชื่อ วาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ เรื่องราวของสามเณรน้อยทั้งสองรูปมีบันทึกไว้ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย (อัคคัญญสูตร) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑

สามเณรทั้งสองเป็นบุตรพราหมณ์ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งได้ชวนกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดบุพพาราม เมืองสาวัตถี  พระพุทธเจ้าตรัสถามว่าเธอทั้งสองเป็นพราหมณ์มาบวชในธรรมวินัยของตถาคต ไม่ถูกพวกพราหมณ์ด้วยกันด่าว่าเอาหรือ สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า ถูกด่ามากทีเดียว พระเจ้าข้า

“เขาด่าอย่างไรบ้าง” ตรัสซัก
“เขาด่าว่า พวกข้าพระองค์เกิดในวรรณะประเสริฐ เป็นวรรณะบริสุทธิ์ เป็นบุตรพรหม เกิดจากปากของพรหม ยังไม่รักดี มาบวชอยู่กับพวกสมณะโล้นซึ่งเป็นพวกไพร่ วรรณะเลว เกิดจากเท้าของพรหม”

พระพุทธเจ้าทรงสดับรายงานดังนั้น จึงตรัสว่า “พวกพราหมณ์พวกนั้นลืมตนเกิดจากโยนีของพราหมณีแท้ๆ ยังกล่าวว่าเกิดจากปากพระพรหม เป็นการพูดเท็จแท้ๆ”

พระองค์ตรัสต่อไปว่า ต่อไปถ้าใครถามว่าเป็นใคร พวกเธอจงกล่าวตอบว่า พวกเราเป็นสมณะ ศากยบุตร เป็นโอรสของตถาคตเกิดจากธรรมอันธรรมะสร้าง เป็นธรรมทายาท เพราะคำว่า ธรรมกาย พรหมกาย ธรรมทูต เป็นชื่อของตถาคต

จากนั้นพระองค์ตรัสเล่าว่า เมื่อโลกพินาศลง สัตว์ส่วนมากไปเกิดเป็นอาภัสรพรหม มีปีติเป็นภักษา ไม่มีเพศ มีความเรืองแสง อยู่ในวิมานอันสวยงาม เมื่อโลกเกิดขึ้นใหม่หลังพินาศ สัตว์เหล่านั้นจุติลงมาสู่โลกนี้ยังมีความเรืองแสงอยู่ และเหาะเหินเดินหาวได้

เบื้องแรกยังมีแต่น้ำ มืดมนไม่มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ไม่มีกลางคืนกลางวัน

ต่อมาเกิดง้วนดินลอยบนผิวน้ำ มีกลิ่นสีและรสอร่อย สัตว์โลกตนหนึ่งลองเอานิ้วจิ้มชิมดู ปรากฏว่ามีรสอร่อย สัตว์อื่นก็ทำตาม ต่างก็ติดในรสอร่อย  ความเรืองแสงของร่างกายจึงหายไป เหาะไม่ได้อีกต่อไป

จากนั้นพระจันทร์พระอาทิตย์ก็ปรากฏ มีกลางวัน กลางคืน มีวัน เดือน ปี มีฤดูกาล  จากนั้นก็เกิดสะเก็ดดิน มีสีกลิ่นและรสดีกินเป็นอาหารได้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายกินสะเก็ดดิน ผิวพรรณก็ค่อยหยาบขึ้นๆ ความแตกต่างแห่งผิวพรรณดีก็ดูหมิ่นเหยียดหยามพวกที่ผิวพรรณหยาบ เมื่อเกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามกันเพราะผิวพรรณ สะเก็ดดินก็หายไป มีเถาดินหรือเครือดินเกิดขึ้นแทน และเครือดินก็หายไปในที่สุด  

เกิดข้าวสาลี ไม่มีเปลือก มีแต่ข้าวสาร มีรสชาติอร่อย เมื่อเก็บเอาตอนเช้า ตอนเย็นก็งอกขึ้นแทน เมื่อเก็บเอาตอนเย็น ตอนเช้าก็งอกขึ้นแทน เหล่าสัตว์ที่กินข้าวสาลี ต่างก็มีผิวพรรณหยาบขึ้นๆ พวกที่ผิวพรรณยังดีดูกว่าพวกอื่น ก็เหยียดหยามพวกที่ผิวพรรณเลวกว่าตน

จากนั้นก็เกิดเพศหญิงเพศชายขึ้น มีการเพ่งมองกันเกินขอบเขตเมื่อเพ่งมองมากเข้าราคะกำหนัดก็เกิด มีการเสพเมถุนธรรมกัน ถูกพวกสัตว์ที่ไม่เสพเมถุนธรรมรังเกียจ เอาก้อนดิน ท่อนไม้ขว้างปา ด่าว่าเสียๆ หายๆ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างกระท่อมหรือบ้านเรือนเพื่อกำบัง

ต่อมามีบางคนเกิดความโลภ นำข้าวสาลีมาตุนไว้เพื่อกินหลายวัน สัตว์อื่นๆ ก็ทำตาม การสะสมอาหารก็เกิดขึ้นทั่วไป ข้าวสาลีจึงมีเปลือก ที่ถูกถอนขึ้นแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทนเหมือนแต่ก่อน เหล่าสัตว์โลกจึงประชุมแบ่งเขตข้าวสาลีกัน

ต่อมามีคนสันดานโกง ขโมยส่วนของคนอื่น  เมื่อถูกจับได้ ก็ด่าว่าถกเถียงกัน จึงเห็นความจำเป็นจะต้องมีใครสักคนที่เป็นที่เชื่อถือของชุมชนคอยดูแลผลประโยชน์ของชุมชน ทั้งหมดจึงแต่ตั้งบางคนเป็นหัวหน้าคอยทำหน้าที่ตำหนิคนควรตำหนิ ขับไล่คนควรขับไล่ โดยพวกเขาแบ่งส่วนข้าวสาลีให้

คนที่ประชาชนเลือกขึ้นมาจึงมีชื่อเรียกกันว่า “มหาชนสมมติ” (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง) เขาทำหน้าที่เป็นที่พอใจของปวงชน จึงมีชื่อว่า “ราชา” (ผู้เป็นที่พอใจของปวงชน) เขาเป็นหัวหน้าดูแลที่นาให้ปวงชนจึงชื่อว่า “กษัตริย์” (ผู้เป็นใหญ่แห่งที่นา) วรรณะกษัตริย์ เกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ (จะสังเกตว่าวรรณะกษัตริย์เกิดก่อน)

จากนั้นก็มีบางพวกปลีกตัวออกจากชุมชนเข้าป่าแสวงวิเวกสวดมนต์ภาวนา หรือเพ่งพินิจ พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะพราหมณ์

บางพวกยังยินดีในการครองเรือน ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพชั้นสูงต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะแพศย์

บางพวกประกอบอาชีพชั้นต่ำอื่นๆ เช่น การล่าเนื้อ ใช้แรงงานทั่วไป พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะศูทร

เมื่อทรงเล่าให้สามเณรทั้งสองฟังอย่างนี้แล้ว พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ทั้งพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ถ้าดูให้ดี ล้วนเกิดมาจากสัตว์พวกนั้น ไม่ได้เกิดจากพวกอื่น เกิดจากพวกที่เสมอกันมิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม

ตรงนี้เท่ากับทรงแย้งความเห็นของพราหมณ์ที่อ้างว่าคนเรามีกำเนิดสูงต่ำไม่เหมือนกัน พวกที่เกิดจากปากพรหมเป็นวรรณะพราหมณ์ พวกที่เกิดจากพาหาพรหมเป็นวรรณะกษัตริย์ พวกที่เกิดจากโสเภณี (ตะโพก) ของพรหมเป็นวรรณะแพศย์ พวกที่เกิดจากเท้าของพรหม เป็นวรรณะศูทร

พูดอีกนัยหนึ่ง วรรณะมิใช่เป็นเครื่องแบ่งความสูงต่ำ วรรณะแบ่งตามอาชีพที่แต่ละคนทำมากกว่า  

โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์เกิดมาทัดเทียมกัน

จากนั้นทรงสรุปว่า ไม่ว่าคนเราจะมีกำเนิดมาอย่างไรก็ตาม นั้นมิใช่ประเด็นสำคัญ ที่สำคัญก็คือการกระทำของแต่ละคน ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ถ้าประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นคนชั่วคนเลวเสมอเหมือนกัน เมื่อตายไปก็ไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรก เหมือนกัน

ถ้าประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นคนดีเสมอกัน เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน

ชาติชั้นวรรณะหาใช่เครื่องแบ่งแยกความแตกต่างกันไม่

ถ้าวรรณะทั้งสี่ สำรวมกาย วาจา ใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (คือ สติปัฏฐาน=การตั้งสติ ๔,  สมมัปปธาน=ความเพียรชอบ ,  อิทธิบาท=ธรรมเครื่องให้บรรลุความสำเร็จ ๔,  อินทรีย์=ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๕,  พละ=ธรรมที่เป็นกำลัง ๕,  โพชฌงค์=ธรรมอันเป็นองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ ๗,  อริยมรรค=ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๘) ก็สามารถปรินิพพาน (ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล) ได้ในปัจจุบันเหมือนกัน

ในบรรดาวรรณะทั้งสี่นั้น ผู้ใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ (หมดสิ้นอาสวะ) หมดภารกิจ ปลงภาระ หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ นับว่าเป็นพระอรหันต์นั้นแหละเป็นวรรณะสูงที่สุด

ท้ายสุดทรงย้ำสุภาษิตของสนังกุมารพรหม ซึ่งตรงกับพระมติของพระองค์ว่า “ในหมู่ผู้ถือโคตร กษัตริย์นับว่าประเสริฐสุด แต่ผู้มีวิชชา (ความรู้ดี) และจรณะ (ความประพฤติดี) เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

พระสูตรนี้ มีผู้ตีความไปต่างๆ นานา เช่น บางคนว่า พระสูตรนี้เป็นตัวแทนพระพุทธศาสนาในเรื่องเกี่ยวกับกำเนิดและวิวัฒนาการของโลก และของมนุษย์  โดยเล่าว่าโลกเกิดขึ้นมาอย่างไร มนุษย์เกิดและพัฒนามาอย่างไร วรรณะต่างๆ (ในทรรศนะพระพุทธศาสนา) เป็นมาอย่างไร ตลอดจนสังคมความความคิดทางการเมือง และสถาบันทางการเมืองว่าเกิดขึ้นและวิวัฒนาการเป็นขั้นๆ อย่างไร

บางท่านก็ว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธองค์ทรงเล่าตามความเชื่อของคนสมัยนั้นมากกว่า ทรงเล่าผ่านๆ เพื่อต้องการวกเข้าหาประเด็นสำคัญที่ทรงต้องการสอนมากกว่า  นั่นก็คือ ไม่ว่าโลกจะเป็นมาอย่างไร ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมาอย่างไร (ไม่ว่าจะเป็นอย่างที่เล่ามา หรืออย่างอื่นก็ตาม) ไม่ใช่เรื่องสำคัญ  ที่สำคัญที่สุด ธรรมะ เท่านั้นเป็นเครื่องแบ่งแยกว่าคนจะเป็นคนดี หรือคนชั่วมิใช่ชาติชั้นวรรณะ

ธรรมะที่ทำให้คนเป็นคนดีที่สุดและประเสริฐที่สุด  วิชชา=ความรู้ (ดี) และ จรณะ=ความประพฤติ (ดี)

สามเณรทั้งสองสดับพระธรรมเทศนาจบลงก็ชื่นชมในภาษิตของพระพุทธองค์มาก ตำราในที่อื่นบอกว่าจากนั้นไม่นาน สามเณรทั้งสองก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุและได้บรรลุพระอรหัต  ดร.มาลาลาเสเกร่า ผู้รวบรวมเรียบเรียง Dictionary of Pali Proper Names กล่าวว่า สามเณรสองรูปนี้คือ วาเสฏฐะ และ ภารทวาชะ เป็นศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าครั้งแรกแล้วปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต ภายหลังมาบวชเป็นสามเณร และได้ฟังพระธรรมเทศนา เตวิชชสูตรและอัคคัญญสูตร ดังข้างต้น ว่าอย่างนั้น

เรื่องอย่างนี้ต้องเชื่อนักปราชญ์ผู้เป็น “เซียน” ทางด้านนี้เขา เหมือนคนเล่นพระเครื่อง ก็ต้องเชื่อ “เซียนพระเครื่อง” ฉะนี้แล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรวาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๓ ประจำวันที่ ๒๙ เมษายน - ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙




สามเณรสา

เล่าเรื่องสามเณรทั้งในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาลมาหลายรูปแล้ว บัดนี้ขอพูดถึงสามเณรในประเทศไทยสักสามรูป

ในประวัติศาสตร์การศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศสยาม มีสามเณรผู้สอบผ่านจนจบชั้นสูงสุดแต่อายุยังน้อยเป็นรูปแรกในสมัยรัชกาลที่สาม  

สามเณรรูปนั้นเป็นชาวเมืองนนท์ นามว่า สามเณรสา บวชสามเณรที่วัดใหม่บางขุนเทียน จ.นนทบุรี

ก่อนจะไปไกล ขอเรียนเพิ่มเติมตรงนี้หน่อย สมัยก่อนโน้นพระท่านเรียนพระไตรปิฎกกัน แบ่งชั้นเรียนเป็นสามชั้น คือ บาเรียนตรีเรียนพระสุตตันตปิฎก บาเรียนโทเรียนพระวินัยปิฎก และบาเรียนเอกเรียนพระอภิธรรมปิฎก

ต่อมาในรัชกาลที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ขยายออกเป็นเก้าชั้นเรียกว่า “ประโยค” หลักสูตรเปลี่ยนจากใช้พระไตรปิฎกโดยตรงมาเป็นอรรถกถา (หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก)

ประมาณสองหรือสามปี จะจัดสอบไล่ครั้งหนึ่ง ผู้สมัครสอบจะต้องเข้าแปลข้อความที่คณะกรรมการกำหนดให้ อันเรียกว่า “ประโยค” ใครสอบผ่านได้กี่ตอน ก็เรียกว่าสอบได้เท่านั้นเท่านี้ประโยค จนกระทั่งจบเก้าประโยคอันเป็นชั้นสูงสุด

ผู้สอบผ่านตั้งแต่สามประโยคขึ้นไปเรียกว่า มหาบาเรียน (ต่อมาเรียกมหาเปรียญ)

การสอบสมัยนั้นสอบ “แปลปาก” คือ แปลปากเปล่าให้คณะกรรมการฟัง ผู้ที่สอบได้เพียงหนึ่งหรือสองประโยค สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงถวายอุปถัมภ์เป็นการให้กำลังใจว่าให้พยายามต่อไป จะได้เป็นเปรียญแน่นอน

ท่านที่สอบได้สองหรือสามประโยคเหล่านี้จึงเรียกว่า “เปรียญวังหน้า”

ต่อมาในรัชกาลที่หก ได้เปลี่ยนระบบการสอบปากเปล่าเป็นสอบข้อเขียน และกำหนดให้สอบได้ปีละครั้ง จึงไม่มีสามเณรสอบได้เปรียญเก้าประโยคมาเป็นเวลานาน เพราะอายุมักเกินยี่สิบปีบริบูรณ์ก่อน

นี่คือความเป็นมาย่อๆ ของประวัติการสอบพระปริยัติธรรม กลับมาพูดถึงสามเณรสา เข้าแปลบาลีครั้งแรกสอบได้สองประโยค ได้เป็น “เปรียญวังหน้า”

ต่อมาสามเณรสาได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระวชิรญาณภิกขุ (พระเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทววงศ์) เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) จนอายุ ๑๘ ปี จึงเข้าแปลบาลีอีกครั้งหนึ่ง  

คราวนี้สามเณรสาแปลคราวเดียวผ่านถึงเก้าประโยค อายุยังไม่ครบบวชเสียด้วยซ้ำ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒ สามเณรสาอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ได้รับการอุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ เป็นนาคหลวงในรัชกาลที่สาม บวชได้ ๖ พรรษา ก็ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี  

ครั้นสิ้นรัชกาลที่สาม พระเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงสละเพศบรรพชิตขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอมรโมลีหรือพระมหาสา ปุริโส ขอลาสิกขาไปรับราชการด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ทรงโปรดให้สึก เพราะทรงเห็นว่าจะเป็นกำลังของพระศาสนาอย่างดี

แต่อย่างว่าแหละครับ “ฝนจะตก ลูกจะออก ขี้จะแตก พระจะสึก ใครจะห้ามได้” คำพังเพยเขาว่าอย่างนั้น มหาสาก็ดื้อสึกจนได้

ประวัติศาสตร์กระซิบเล่าว่า ในหลวงรับสั่งให้เอามหาสาขัง ให้เอาผ้าไตรไปวางไว้ข้างๆ รับสั่งว่าเลือกเอา จะเอาคุกหรือผ้าไตร ใครมันจะอยากติดคุกเล่าครับ (ประวัติศาสตร์กระซิบบางฉบับว่า ถูกโบยด้วย) มหาสาก็เลยตัดสินใจเลือกเอาผ้าไตร ในหลวงก็โปรดเกล้าฯ ให้กลับไปอุปสมบทใหม่ คราวนี้ได้ฉายาว่า ปุสฺสเทโว

ขอเรียนว่า “ประวัติศาสตร์กระซิบ” ที่ผมพูดถึง (ออกบ่อย) นี้ ไม่มีบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เล่าขานสืบต่อกันมา จึงควรใช้วิจารณญาณในการฟัง อย่าเพิ่งเชื่อและอย่าเพิ่งปฏิเสธ ฟังๆ ไว้แหละดี มันดีด้วย

ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาจารย์ (เกษม อํสุการี) วัดมหาธาตุ สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ไปเป็นพระธรรมทูตที่วัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ ท่านพูดกับผมว่า “เธอรู้ไหม ฉันนี่แหละเป็นเชื้อสายของมหาสา สังฆราชหลังลาย ฉันเป็นชาวเมืองนนท์) ว่าแล้วท่านก็เล่าประวัติสมเด็จพระสังฆราชสาอย่างละเอียด ชนิดที่ผมไม่เคยได้อ่านพบที่ไหนเลย ผมเรียนถามท่านว่า ทำไมหลวงพ่อเรียกพระองค์ว่า “สังฆราชหลังลาย

“อ้าว ตอนถูกจับขังคุกนั้น ไม่ได้ขังเฉยๆ ถูกโบยหลังด้วย ไม่งั้น มหาสาคงไม่ตัดสินใจไปบวชอีก” ท่านว่าอย่างนั้น

พระมหาสาอยากทดสอบความรู้ภาษาบาลีของตนอีก จึงเข้าแปลอีกครั้ง ปรากฏว่าแปลครั้งเดียวก็ผ่านฉลุยถึงเก้าประโยค จึงเป็นที่ฮือฮา เรียกขานว่า “พระมหาสิบแปดประโยค” เป็นรูปแรกและรูปเดียวในประวัติศาสตร์การศึกษาพระพุทธศาสนา

เมื่ออุปสมบทได้ ๗ พรรษา ก็ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ “พระสาสนโสภณ” (แปลว่าผู้งดงามในพระศาสนา)  พระราชทินนามนี้แปลก มีคำว่า “สา” อันเป็นนามเดิมของท่านด้วย นับว่าเป็นนามที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้แม้ว่าท่านจะได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นเพียงใดก็ตามยังคงเป็นตำแหน่งในพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จฯ ที่ “พระธรรมวโรดม” ก็ยังคงนาม “พระสาสนโสภณ” อยู่ คือเป็น “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม”

ตั้งแต่อุปสมบทครั้งหลัง ท่านอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ตลอดจนเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พ.ศ.๒๔๓๖ ก็ได้รับสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงดำรงตำแหน่งสังฆบิดรอยู่เป็นเวลา ๖ ปี ก็สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ สิริรวมพระชนมายุ ๘๗ พรรษา

ตรงนี้ถ้า “สิริ” รวมตัวเลขผิดก็ขออภัยด้วยนะครับ เพราะ “สิริ” เธอไม่มีเครื่องคิดเลข ด้วยเคยมีเรื่องขัน ท่านผู้หนึ่งอ่านประวัติคนตาย บอกวันเดือนปีเกิดและวันตายเสร็จ แล้วรวมอายุผิด โดยเขียนว่า “สิริรวมอายุ ๗๒ ปี” ท่านผู้นั้นเห็นว่ารวมผิด ควรเป็น ๗๓ ด้วยความปรารถนาดีจึงเขียนไปบอกเจ้าภาพว่า

ช่วยกรุณาบอก “คุณสิริ” ด้วย ว่ารวมอายุคนตายผิด


สมเด็จพระสังฆราช อดีตสามเณรสารูปนี้มีสติปัญญาเฉียบแหลมอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นถ้าอยู่ในเพศบรรพชิตจะเป็นกำลังสำคัญในการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงไม่ทรงโปรดฯ ให้สึกไปรับราชการ จึงหาทางผลักดันให้กลับมาบวชใหม่จนได้ ท่านได้แต่งหนังสือพุทธประวัติและปฐมสมโพธิ สำนวนใหม่ สำนวนภาษากระชับอ่านเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป

ยุคที่อดีตสามเณรสาบวชเรียนอยู่นั้น เป็นยุคทองแห่งภาษาบาลีก็ว่าได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอาจารย์ของสามเณรสา ทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีมาก ทรงได้พระราชนิพนธ์บทสวดมนต์ตำรา เช่น ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์สังเขป ความเรียงภาษาบาลีพุทธศาสนสุภาษิต เป็นภาษาบาลีเสมอ ดังคาถาพระราชนิพนธ์พระนามและพระราชทานพรแก่พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอทั้งหลายก็เป็นฉันท์ภาษาบาลี ทรงประดิษฐ์คิดคำใหม่ๆ ชนิดที่ไม่มีในอดีตอีกด้วย

รวมถึงคาถาขอขมาเป็นภาษาบาลีที่ชาวบ้านเรียกว่า “คำลาตาย” ก็ทรงเป็นภาษาบาลีได้ลึกซึ้งและไพเราะยิ่ง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ “ปัญญา อัคคภิกขุ” สัทธิวิหาริกในพระเจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระอุปัชฌาย์ของอดีตสามเณรสาก็ทรงดำเนินตามรอยยุคลบาท โดยทรงนิพนธ์เรื่อง “สุคตวิทัตถิวิธาน” (วินิจฉัยเรื่องคืบพระสุคต) เป็นภาษาบาลี นับเป็นวรรณคดีบาลีที่ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ เสียดายว่าไม่มีใครรู้จัก

พุทธศาสนสุภาษิตหลายบท ที่คนส่วนมากนึกว่าเป็นพุทธวจนะ เพราะเนื้อหาเป็นธรรมะถูกต้องดีงาม แต่ที่จริงเป็นผลงานของ “อาจารย์และศิษย์” สำคัญสามท่านคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชสา เช่น โลโก ปตฺถมฺภิกา เมตฺตา=เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก เป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ

รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธุ ลวณํโสณตํ ยถา=พึงรักษาความดีของตน ดุจเกลือรักษาความเค็ม  สุภาษิตบทนี้อดีตสามเณรสาเป็นผู้แต่งครับ

ตราบใดที่เกลือยังเค็มอยู่ ขอให้เรารักษาความดีให้ดีตราบนั้น มิได้หมายความว่าให้ “เค็ม” เหมือนเกลือนะขอรับ  


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๔ ประจำวันที่ ๖-๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙

3144  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / ปกิณกะทางพุทธศาสนา เมื่อ: 27 เมษายน 2559 13:38:30


ภาพ : วัดอุโมงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ปกิณกะ ทางพุทธศาสนา

• ปัญจอันตรธาน : ความเสื่อม ๕ ข้อ

วันวิสาขบูชา เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดงานฉลองครบรอบ ๒๕ ศตวรรษ แต่ชาวบ้านเรียกฉลองกึ่งพุทธกาล...ครับ

ฉลองกันไปแล้ว ทั้งรัฐบาลทั้งชาวบ้าน ก็ไม่รู้สักเท่าไหร่ว่า ความเชื่อเรื่องกึ่งพุทธกาล หรือครั้งหนึ่งของอายุพุทธศาสนา ๕๐๐๐ ปี นั้น เป็นความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายาน

ไม่ใช่ความเชื่อของพุทธศาสนา ฝ่ายหีนยาน ของพวกเรา ที่เราเรียกว่าเถรวาท เลย

ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล นิพนธ์ไว้ในหนังสือ สารคดีที่น่ารู้ (สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ.๒๕๑๘) เมื่อพระองค์อายุราว ๘-๙ ขวบ ไปฟังเทศน์กับคุณย่า ได้ยินพระเทศน์บอกศักราชว่า วันนั้น เดือนนั้น พ.ศ.เท่านั้น ยังเหลืออีกเท่านั้น...ปี

ครั้นโตขึ้น อายุ ๑๙ ปี เสด็จพ่อ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) สอนวิชาพุทธศาสนาว่า เมืองไทยได้รับพุทธศาสนามาทั้งนิกายมหายานและหีนยาน คำสอนต่างๆ จึงปะปนกันอยู่เป็นอันมาก

จนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดระบอบสังฆมณฑลตามวิธีใหม่ ทรงเปลี่ยนวิธีบอกศักราช ให้เลิกเรื่องพุทธกาล ๕๐๐๐ ปีเสีย ทรงเห็นว่าไม่มีแก่นสารอะไร

พระพุทธศาสนา จะเสื่อมหรือเจริญ ก็เพราะ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตามพระพุทธดำรัสต่างหาก

เรื่องกึ่งพุทธกาล จึงสูญไป


เมื่อรัฐบาล...รื้อฟื้นเรื่องพุทธกาลมาทำกันเป็นงานใหญ่ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ทรงไม่สิ้นสงสัย เรียนถามไปที่ เจ้าพระคุณนิรันตรญาณมุนี วัดเทพศิรินทร์ ท่านได้ส่งหนังสือสารัตถสังคหะ มาให้อ่าน

ได้ความรู้ เรื่องปัญจอันตรธาน คือ ความเสื่อม ๕ ข้อ ต่อไปนี้
๑.ปริยัติอันตรธาน คือ ความรู้เสื่อม
๒.ปฏิบัติอันตรธาน คือ ความประพฤติเสื่อม
๓.ปฏิเวธอันตรธาน คือ ความหลุดพ้นเสื่อม
๔.ลิงคอันตรธาน คือ ความเป็นระเบียบเสื่อม และ
๕.ธาตุอันตรธาน คือ วัตถุธาตุต่างๆ เสื่อม

ข้อ ๑ ปริยัติเสื่อม อธิบายว่า ถ้าพระสงฆ์ไม่เอาใจใส่เล่าเรียนพระไตรปิฎกแล้ว ความรู้จะเสื่อมตั้งแต่ปลายมาต้น คือ พระอภิธรรมเสื่อมก่อน พระวินัยจะเสื่อมตาม แล้วในที่สุดพระสูตรก็เสื่อมสูญ
ข้อ ๒ ความประพฤติเสื่อม ต่อไปพระสงฆ์ไม่ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ จนเกิดมรรคผล ก็จะรักษาได้แต่ศีลอย่างเดียว แล้วก็จะค่อยเสื่อมลงทุกที
ข้อ ๓ ปฏิเวธเสื่อม ไม่มีพระอรหันต์แม้เพียงขั้นพระโสดาบันแล้ว
ข้อ ๔ ลิงคอันตรธาน พระสงฆ์ไม่สำรวม ให้สมกับความนับถือของคน กิริยาหลุกหลิกไม่เรียบร้อย นุ่งห่มสีต่างๆ ตามใจชอบ นี่คือข้อที่ผู้ใหญ่เล่าว่า ต่อไปพระสงฆ์จะมีแต่ผ้าเหลืองชิ้นน้อยห้อยติดหู
ข้อ ๕ ธาตุอันตรธาน เมื่อสิ่งทั้งปวงเสื่อมสูญไปแล้ว สถานที่สักการบูชาก็จะไม่มี

หนังสือสารัตถสังคหะ เล่มนี้ บอกไว้ว่า พระนันทาจาริยาเจ้า แห่งลังกาทวีปอธิบาย ไทยเราคงได้คติปัญจอันตรธานนี้มาจากลังกา ถ้าอ่านด้วยพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า เป็นการทำนายด้วยเหตุผล ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเกิดผลเช่นนั้นๆ

ม.จ.หญิงพูนพิสมัย ทรงพระนิพนธ์ เรื่องกึ่งพุทธกาล ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ครับ
       ฯลฯ
   

ที่มา : “ผ้าเหลืองชิ้นน้อย” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙






• อุกเขปนียกรรม

อุกเขปนียกรรม หมายถึง กรรมที่สงฆ์ทำกับพระที่ควรจะยกเว้น หมายถึง ไม่เห็นว่าเป็นพระ หรือตัดสิทธิ์ความเป็นพระชั่วคราว ไม่ร่วมฉันร่วมอยู่ ร่วมทำสังฆกรรมด้วย เพราะการยกเว้น คือไม่ให้การยอมรับ

อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือตัดสิทธิความเป็นพระภิกษุชั่วคราว

อุกเขปนียกรรม เป็นหนึ่งในกระบวนการนิคหกรรม คือลงโทษตามพระธรรมวินัย คือการข่มให้หลาบจำ เมื่อพระภิกษุกระทำผิด ก็ต้องถูกลงโทษ

นิคหกรรมตามที่วินัยบัญญัติไว้ มีอยู่ ๖ วิธี ได้แก่
๑.ตัชชนียกรรม ตำหนิในที่ประชุมสงฆ์
๒.นิยสกรรม ถอดจากอำนาจหน้าที่
๓.ปัพพาชนียกรรม ไล่ออกจากหมู่คณะ บังคับให้สึก
๔.ปฏิสาราณียกรรม ให้ขอขมาต่อชาวบ้าน
๕.อุปเขปนียกรรม ตัดสิทธิสถานภาพความเป็นพระชั่วคราว และ
๖.ตัสสปาปิยสิกากรรม ลงโทษให้หนักกว่าความผิดเดิม ฐานถูกไต่สวนแล้ว ให้การวกไปวนมา

อุกเขปนียกรรม จึงเป็นวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติ หรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้ายหรือทิฏฐิบาป โดยยกภิกษุนั้นเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย

นิคหกรรม คือ วิธีการลงโทษพระภิกษุที่ก่อการทะเลาวิวาทบาดหมาง ทำความอื้อฉาว มีศีลวิบัติ ติเตียนพระรัตนตรัย ทำความคะนอง ประพฤติอนาจาร ลบล้างพระบัญญัติ และประกอบมิจฉาชีพ

เป็นกิจที่พึงทำอย่างหนึ่งของผู้ปกครองหมู่คณะ เป็นคำคู่กับปัคหะคือการยกย่องเมื่อมีผู้ประพฤติมิชอบ สมควรแก่นิคหกรรม พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำนิคหกรรมแก่ผู้นั้น

ที่ผ่านมา คณะสงฆ์ไทยเคยลงนิคหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การประกาศปัพพาชนียกรรมกับโพธิรักษ์ พร้อมกับคณะสงฆ์กลุ่มสันติอโศก  รวมถึงการดำเนินการตามกฎนิคหกรรมกับพระยันตระ อมโร.


ที่มา : “อุกเขปนียกรรม” บทบรรณาธิการ นสพ.ข่าวสด น.๒ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙





• ณ กุสินารา

ความย่อแห่งพระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน ภาค ๔ เล่ม ๑๐ ระหว่างเสด็จปรินิพพาน...ตอนหนึ่ง

ครั้นแล้ว เสด็จเลียบฝั่งนอกของแม่น้ำหิรัญญวดี สู่ป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ใกล้กรุงกุสินารา ให้ตั้งเตียงผินพระเศียรไปทางทิศอุดร ทรงบรรทมมีสติสัมปชัญญะ ตรัสปรารภการบูชาด้วยการประพฤติธรรม ว่ายอดเยี่ยม

พระอานนท์กราบทูลว่า อย่าปรินิพพานในกรุงกุสินารานี้ ซึ่งเป็นเมืองเล็ก เมืองดอย เป็นกิ่งเมือง ขอให้เสด็จไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ๆ เช่น จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี โกสัมพี พาราณสี  แต่ตรัสตอบว่า กรุงกุสินารา เคยเป็นราชธานี นามว่า กุสาวดี ซึ่งพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ ทรงปกครอง เคยเจริญรุ่งเรืองยิ่งมาแล้ว ในมหาสุทัสสนสูตร...(สูตรที่ขยายความจากมหาปรินิพพานสูตร) พระผู้มีพระภาคทรงพรรณนาความมั่งคั่งสมบูรณ์ของกรุงกุสาวดี และทรงพรรณนาถึงรัตนะ ๗ ประการ ที่เกิดขึ้นแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ คือ
     ๑.จักรแก้ว ซึ่งหมุนไปในทิศต่างๆ ได้ นำชัยชนะมาสู่
     ๒.ช้างแก้ว เป็นช้างเผือก ชื่ออุโบสถ
     ๓.ม้าแก้วสีขาวล้วน ชื่อวลาหก
     ๔.แก้วมณี เป็นแก้วไพฑูรย์
     ๕.นางแก้ว รูปร่างงดงามมีสัมผัสนิ่มนวล
     ๖.ขุนคลังแก้ว ช่วยจัดการทรัพย์สินอย่างดีเลิศ
     ๗.ขุนพลแก้ว บัณฑิตผู้สั่งสอนแนะนำ

อนึ่ง พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ ทรงมีความสำเร็จ ๔ ประการ
     ๑.รูปงาม
     ๒.อายุยืน
     ๓.มีโรคน้อย
     ๔.เป็นที่รักของพราหมณ์คหบดีและประชาชน

ผลดีต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะผลแห่งกรรมดี คือทาน (การให้) ทมะ (การฝึกจิต) และสัญญมะ (การสำรวมจิต) จึงทรงบำเพ็ญฌานสงบความตรึกทางกาม ความตรึกทางพยาบาท และความตรึกทางเบียดเบียน ได้บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ ทรงแผ่พระมนัสอันประกอบด้วยเมตตา (คิดให้เป็นสุข) กรุณา (คิดให้พ้นทุกข์) มุทิตา (พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) และอุเบกขา (วางใจเป็นกลาง) ไปทั้งสี่ทิศ ทรงสั่งลดการเข้าเฝ้า เพื่อทรงมีเวลาอบรมทางจิตใจได้มากขึ้น

พระราชเทวี พระนามว่าสุภัททา สั่งจัดจตุลังคินีเสนา (ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ และทัพเดินเท้า) ซึ่งขุนพลแก้วก็จัดให้ พระนางเดินทางไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ขอให้ทรงเห็นแก่สมบัติ เห็นแก่ชีวิต แต่กลับตรัสตอบ ขอให้พระราชเทวีทรงขอร้องใหม่ ในทางตรงกันข้าม คือ อย่าเห็นแก่สมบัติ อย่าเห็นแก่ชีวิต

เพราะการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เป็นของธรรมดา การตายของผู้มีความกังวล ห่วงใย เป็นทุกข์และถูกติเตียน

พระราชเทวีทรงพระกันแสง ฝืนพระหฤทัยเช็ดน้ำพระเนตร ขอร้องใหม่ตามที่พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงแนะนำ ต่อมาไม่ช้า พระเจ้ามหาสุทัสสนะก็สวรรคต

ด้วยอานิสงส์ที่ทรงเจริญพรหมวิหาร พระองค์จึงเข้าถึงพรหมโลก พระผู้มีพระภาคตรัสสรุป...พระองค์เองเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะนั้น พรั่งพร้อมสมบูรณ์ด้วยสมบัตินานาประการ แม้จะมีนครอยู่ในปกครองมากมาย ก็อยู่ครอบครองได้เพียงนครเดียวคือนครกุสาวดี แม้จะมีรถมากหลาย แต่ก็ขึ้นสู่ได้คราวละคันเดียว คือรถเวชยันต์ แม้จะมีสตรีมากหลาย แต่ก็มีสตรีที่ปฏิบัติรับใช้ได้เพียงคราวละคนเดียว แม้จะมีถาดอาหารมากหลาย แต่ก็บริโภคได้อย่างมากเพียงจุทะนานเดียว

นี่คือพระสูตรบทหนึ่งในหลายๆ บท ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ในวันนั้น วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีที่แล้ว เมื่อถึงวาระสำคัญ ทรงเปิดโอกาสให้พระอริยะ ๕๐๐ รูป ที่แวดล้อมทูลถามข้อสงสัย...แต่ไม่มีพระรูปใดถาม ครั้นแล้ว ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่าน สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม...เถิด”

นี้คือ ปัจฉิมวาจาของพระตถาคต.


ที่มา : “ณ กุสินารา” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙




• ชายผ้าเหลือง
งานสวดศพสมัยเมื่อสัก ๖๐ ปีที่แล้ว พระสวดอภิธรรมจบถือตาลปัตรล่ำลาญาติโยม ก็ยังมีการ “สวดคฤหัสถ์” ผู้ชาย ๔ คนสวด...เป็นเพื่อนศพ เป็นเพื่อนญาติต่อไป จนใกล้สว่าง  

ผมเป็นเด็กเกินไป จำไม่ได้ว่าเนื้อหาที่สวดเป็นเรื่องอะไร เดาว่าเป็นสวดพระมาลัย เพราะกระบวนการสวดค่อนไปทางสนุกโลดโผน โยกตาลปัตรเอียงไปมา ทำท่าเหมือนไอ้หนุ่มหมัดเมา เคาะด้ามตาลปัตรให้จังหวะบางครั้ง

กาญจนาคพันธุ์ อธิบายสำนวน “ชายผ้าเหลือง” ว่า...หมายถึงผ้าเหลืองที่พระสงฆ์ใช้นุ่งห่ม ที่มาจากหนังสือสุบินกลอนสวดของโบราณ ซึ่งผมเข้าใจเอาว่าคงเป็นอีกเรื่องที่ใช้ในการสวดคฤหัสถ์ เนื้อหาสุบินกลอนสวดมีว่า นางสุภาวดีเป็นเมียนายพราน ตลอดชีวิตช่วยสามีฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไว้มาก นางสุภาวดีมีลูกชายคนเดียวชื่อสุบินเอาลูกชายไปบวชเป็นสามเณรได้ไม่นาน นางสุภาวดีกับผัวก็ตาย

เพราะทำบาปกรรมไว้ พระยมเจ้าแห่งนรก จึงเอาตัวไปลงหม้อไฟกัลป์ กลอนตอนนี้พรรณนาว่า นางเจ็บร้องไห้ร่ำไร แลเห็นชุติ์ไฟ ตกใจเพียงจักม้วยมรณ์ นางว่าแสงเพลิงเหลืองอ่อนเหมือนชายจีวร ลูกผู้บวชเป็นเณรปฏิบัติรักษาพระเถร เรียนธรรมะจะเจน ขอบุญมาช่วยมารดา พอยมบาลจับนางสุภาวดีทิ้งลงในกองไฟ ทันทีนั้นดอกบัวทองก็ผุดขึ้นมารองรับ

ยมบาลซักไซ้จนแน่ใจ เป็นผลบุญที่เกิดจากการบวชลูกชายก็ยอมปล่อยให้นางกลับขึ้นมาเป็นมนุษย์ เนื้อเรื่องพระสุบินตอนนี้คงเป็นที่นิยมกันมาก ในบทละครเรื่องสังข์ทอง มีกลอนบทหนึ่ง “เจ้าเงาะถอนหนวดสวดสุบิน” ยืนยันว่าบทสวดสุบิน นิยมแพร่หลายกันมาแต่สมัยอยุธยา

สวดสุบินเป็นที่มาของค่านิยมเกาะชายผ้าเหลือง อานิสงส์การบวชเณรของสุบิน ไม่เพียงช่วยแม่ ยังแผ่ไปช่วยพ่อที่ตายไปเป็นเปรต อยู่ในนรกอีกขุม เปรตพ่อสุบินทุกขเวทนาเพราะความหิวโหยอยู่ในนรกได้ไม่นาน พอลูกชายได้บวชก็เกาะชายผ้าเหลืองลูกชาย พ้นจากนรกขึ้นสวรรค์

แค่บวชลูกชายเป็นเณร อานิสงส์ยังมากขนาดนี้ หากบวชลูกชายเป็นพระอานิสงส์จะมากขึ้นไปอีก จนเป็นที่เชื่อถือว่า บวชเณรให้แม่ บวชพระให้พ่อ

ในหนังสือเก่าชื่อ “ปัญหาพยากรณ์” มีความตอนหนึ่ง “ข้าพเจ้าได้ยินอยู่เนืองๆ ตามชาวบ้าน บางคนมีแต่บุตรหญิง ไม่มีบุตรชาย เห็นบุตรคนอื่นบวชเป็นสามเณรก็พากันบ่นว่าบุญของเขา เขาได้เห็นผ้าเหลืองลูกชาย น่าปลื้มอกปลื้มใจ ถ้าปะเป็นลูกของเราเป็นชาย ได้บวชเช่นนี้บ้าง เราชื่นใจหาน้อยไม่” เป็นอันว่า สำนวนเกาะชายผ้าเหลือง เราได้มาจากสุบินกลอนสวด ของคนสมัยเก่า สมัยนี้ไม่มีสวดกันแล้ว
          ฯลฯ


ที่มา : “ชายผ้าเหลือง” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙




• กำเนิด “นิกายสุขาวดี” ในพุทธศาสนา
      ฯลฯ
ย้อนไปสมัย วู่ตี่ ฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่น พ.ศ.๔๐๐ กว่าๆ ระหว่างการส่งทัพไปเปิดเส้นทางสายไหม ค้าขายกับชาติอื่นๆ ก็ได้ข่าวพระพุทธศาสนา ฮ่องเต้จึงแต่งคณะทูตไปนำพระพุทธศาสนาจากอินเดียมาจีน จีนสมัยนั้นและสมัยต่อๆมา ก็มีหลายศาสนาปนๆ กัน เฉพาะพุทธก็มีทั้งหีนยาน และมหายาน

มหายานแตกหน่อพระพุทธเจ้าออกไปอีกหลายๆ องค์ องค์หนึ่งอยู่บนสวรรค์ทิศตะวันตก ชื่อสุขาวดี พระพุทธเจ้า ทรงนาม อมิตาภะ ประทับบนดอกบัวหลวงใหญ่ มีดอกบัวย่อมๆ เป็นบริวารล้อมรอบ

ผู้ใดภาวนา อมิตาภะ ตายไปจะเกิดบนดอกบัวแวดล้อมพระพุทธเจ้าองค์นั้น

“กาญจนาคพันธุ์” เล่าไว้ในคอคิดขอเขียน ผู้ที่ทำให้ สวรรค์สุขาวดี เป็นสระบัวจริง เป็นคนจีนเกิดในสมัยสามก๊ก เมื่อราว ๑๖๐๐ ปีที่แล้ว ชื่อฮุยเอี๋ยง

เดิมที “ฮุยเอี๋ยง” บวชเป็น “เต้าหยิน” ลัทธิเต๋า อยู่ที่ภูเขาโล่งซัว ในเมืองเซียมไซ ตะวันตกของจีน “เต๋า” ยุคแรกๆ ยึดคำสอนเล่าจื๊อ เห็นโลกสกปรกโสมม เบื่อมนุษย์ ชอบปลีกวิเวกไปอยู่ตามป่า ภาพเขียนของจีนยุคนี้ จึงมีแต่คนจูงควาย ขี่ควายเป่าขลุ่ย

เรื่องเล่า...คนจูงควายไปกินน้ำในลำธาร เห็นชายคนหนึ่งยืนล้างหูอยู่เหนือน้ำ ก็ได้ความว่า แผ่นดินไม่มีฮ่องเต้ ถูกชวนไปเป็นฮ่องเต้ ถือเป็นเรื่องอัปรีย์จัญไรจัญไร จึงมาล้างหูแก้ซวย คนจูงควายฟังแล้ว ร้องห้าม ควายข้าจะกินน้ำ เดี๋ยวจะพลอยซวยตามไปด้วย ว่าแล้วก็จูงควายหนี   เรื่องเล่าทำนองนี้ เกิดในยุคเต๋าเฟื่อง ฮุยเอี๋ยง ศึกษาคำสอนมหายาน เห็นว่าดอกบัวเกิดจากเปือกตม แหวกโผล่จากน้ำ ทิ้งสิ่งโสโครก หาความบริสุทธิ์ผุดผ่องเหนือน้ำ...ก็ศรัทธา ขุดสระใหญ่ ปลูกบัวหลวงสีขาวไว้เต็ม แล้วก็นั่งภาวนา “อมิตาภะๆ”  ภาวนาทั้งวันทั้งคืน มีคนมาเห็นก็นับถือ มานั่งภาวนา “อมิตาภะ” ตาม ๑๒๓ คน

ฮุยเอี๋ยง สร้างรูปพระอมิตาภะ หัตถ์ข้างหนึ่งถือดอกบัว ให้สาวกบูชา แล้วก็สร้างพระอวโลกิต (พระกวนอิม) พระสถามะ (พระไต้ซีจู๊) รวมเป็นสามองค์ เรียกว่า พระยูไลทั้งสามแห่งแดนตะวันตก แล้วสร้างสถาบันศึกษา ชื่อ โปเลียนซู ซึ่งแปลว่า “ดอกบัวขาว” เผยแผ่คำสอน   นับแต่นั้น ลัทธิพุทธศาสนา ที่นับถือพระพุทธเจ้าในสวรรค์สุขาวดี ก็เป็นที่นับถือแพร่หลายไปทั่วเมืองจีน แล้วแผ่เรื่อยไปทางญี่ปุ่น ญวน

พระอมิตาภะ ตามเสียงจีน เป็น โอนิท่อฮุด เสียงญี่ปุ่น อมิดะ เสียง ญวน อายดาเผิก ที่ญี่ปุ่น  นิกายที่นับถือพระอมิตาภะ แพร่หลาย

พระนิกายนี้มีเมียได้  ปัจจุบันเป็นสกุลสำคัญ มีคนเก่งคนดีมากมาย จอมพล ป. นิมนต์มาร่วมพิธี งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ มีปัญหา พระท่านเอาเมียมาด้วย เกิดปัญหาเรื่องที่นั่ง
       ฯลฯ


ที่มา : “สุขาวดี” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙




• ตักบาตรถามพระ
โดยปกติของญาติโยม เวลาจะใส่บาตรพระ ก็ต้องเลือกแต่ของดีๆ ของดีเท่าไหร่กุศลผลบุญจะมากขึ้นเท่านั้น เช่นข้าวสวยก็ต้องกะเวลาเตรียมหุงหา เอาข้าวสวยร้อนๆ ควันฉุยใส่บาตรพระ โยมบ้านแรก ข้าวสวยร้อน โยมบ้านต่อมา และต่อมา ก็ข้าวสวยร้อน บาตรพระเป็นเหล็กสื่อความร้อน ถ้าเป็นพระธรรมยุต ท่านก็ต้องทนอุ้มไป

แต่ถ้าเป็นพระมหานิกาย สะพายบาตรมีผ้าหนาหุ้ม ก็รอดไป ไม่หนักมือไม่ร้อนมือ

โดยธรรมเนียมพระจะไม่พูดชี้ช่อง ต้องการอะไร ถวายของชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องรับ ธรรมเนียมของญาติโยม ก็ห้ามตักบาตรถามพระ (เรื่องข้างสำรับ ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์พิมพ์คำ พ.ศ.๒๕๕๙)

แต่ข้อห้ามถามพระนั้น บางครั้งก็ทำให้พระผิดวินัย มีเนื้อ ๑๐ ชนิด ที่พระพุทธองค์ทรงห้าม เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อสิงโต เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือดาว และเนื้อหมี

เหตุหนึ่งที่ทรงห้ามฉันเนื้อพวกเสือ...ก็เพราะเป็นเนื้อที่พวกพรานล่าสัตว์เอามาปรุงใส่บาตรถวาย เนื้อสัตว์เหล่านี้พระฉันแล้วจะมีกลิ่นตัวแรง เวลาไปในป่ากลิ่นตัวจะเรียกให้เสือเข้ามาทำร้าย ด้วยข้อห้ามนี้ หากหลวงพี่อยากฉันผัดเผ็ดงู หรืออุ้งตีนหมี แล้วญาติโยมทำถวายแทนที่จะได้บุญก็จะกลายเป็นได้บาปไปโดยไม่รู้ตัว

เรื่องเนื้อสัตว์พระพุทธเจ้าไม่ทรงห้ามไปหมด หากทรงเห็นความจำเป็นก็ทรงอนุญาต ครั้งหนึ่งพระรูปหนึ่งเป็นโรคในหู รักษาไม่หาย ก็ทรงแนะให้ไปบิณฑบาตที่ท้องนาชาวมคธ พระไปถึงโรงนา ชาวนากำลังหุงข้าวแกงปู ชาวนาก็ตักใส่บาตรถวาย พระท่านก็นั่งฉัน ฉันอิ่มได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ โรคหูก็หายไป

ความจริงพระพุทธองค์ทรงรู้ เนื้อปูรักษาโรคในหูได้ ชาวนาเมืองมคธแกงปูกินเป็นนิจ เพราะปูในนามีมาก ปล่อยไว้ก็กัดกินต้นข้าว ชาวนาจึงได้ประโยชน์สามทาง ไม่ต้องซื้อกับข้าว ได้กำจัดศัตรูข้าว ผลพลอยได้ช่วยรักษาโรคในหูให้พระด้วย

พระที่เคร่งวินัย ออกบิณฑบาตวันแรกได้ไข่ทอด ท่านก็ฉัน เพราะคิดว่าคนใส่บาตรทอดไข่ถวายโดยไม่ตั้งใจ แต่เมื่อวันต่อไปๆ ก็มีไข่ทอดใส่บาตรอีก ท่านก็รู้ว่าโยมเจตนาทอดไข่ถวาย ท่านก็ไม่ฉัน แต่เอาไปถวายพระรูปอื่น พระรูปนั้นฉันได้ เพราะคนทอดไข่ไม่ตั้งใจถวายท่าน

“สมัยเป็นเด็ก เคยไปยกตะลุ่มเมื่อทำบุญวันพระ ของกินที่ได้มากมายคือ ไข่เค็ม” ส.พลายน้อย เล่า “ตอนนั้นสงสัย ทำไมคนจึงชอบทำบุญด้วยไข่เค็ม มารู้ภายหลัง ไข่เค็มนั้น ไม่มีเชื้อ ไม่มีชีวิตแล้ว พระฉันได้ ได้บุญทั้งพระทั้งโยม”

ธรรมเนียม ตักบาตรอย่าถามพระ เป็นชนวนการเมืองใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๓

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชและได้ทรงตั้งคณะธรรมยุติกนิกาย  กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งมีพระอาจารย์หลายรูปเป็นพระมหานิกาย ไม่พอพระทัยมาก

เมื่อพระธรรมยุตเข้าไปรับบาตรในวัง ก็โปรดให้เอาข้าวต้มร้อนๆ ใส่บาตรพระ พระท่านตั้งตัวไม่ทัน ทนร้อนไม่ไหวก็โยนบาตรทิ้ง

พระเจอข้อหาทำให้วังเป็นอัปมงคล ถูกสั่งลงโทษให้ยืนเท้าเดียวสวดภาณยักษ์แก้อัปมงคล

กรรมที่กลั่นแกล้งพระตามทัน ปลายรัชกาลที่ ๓ กิตติศัพท์ทางมักใหญ่ใฝ่สูงของกรมหลวงรักษ์รณเรศ เข้าพระกรรณพระเจ้าอยู่หัว ทรงบริภาษใช้คำหนึ่งว่า “เดรัจฉาน”

มีพระบรมราชโองการให้เอาตัวไปประหารชีวิต

 เรื่องตักบาตรห้ามถามพระ อธิบายความผูกพันระหว่างพระกับชาวบ้าน เคารพกันและกัน พระไม่ล้ำเส้นชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่ล้ำเส้นพระ
          ฯลฯ


ที่มา : “ตักบาตรถามพระ” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙





• พระ...สุปฏิปัณโณ

       ฯลฯ
...องค์ไหนเป็นพระ องค์ไหนไม่ใช่พระ

ผมอยู่ใกล้พระที่นับถือกันองค์หนึ่ง ลองตั้งคำถาม ท่านก็อมยิ้ม แล้วว่า องค์ประกอบหรือเกณฑ์ของคนที่ถูกเรียกว่า “พระ” ทั้งพระและชาวบ้านก็สวดกันอยู่ทุกวัน ในบทที่ขึ้นต้น สุปฏิปัณโณ ภควโต สาวกสังโฆนั่นปะไร

คุณลักษณะในตัวของพระสงฆ์...สงฆ์แท้...ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านว่า มีอยู่ ๔ ข้อ (คู่มือดับทุกข์ ฉบับสมบูรณ์ พุทธทาสภิกขุ คำบรรยายอบรมผู้พิพากษาที่ห้องเนติบัณฑิตสภา ๑๗ ก.พ. ๒๕๐๓)

สุปฏิปัณโณ ปฏิบัติดี อุชุปฏิปัณโณ ปฏิบัติตรง ญายปฏิปัณโณ ปฏิบัติเพื่อเจาะกิเลส สามีจิปปฏิปัณโณ ปฏิบัติสมควร ทวนบทสวด สุปฏิปัณโณ...ต่อไป...อาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชลิกรณีโย เรื่อยๆ ไป จนถึง ปุญญเขตตัง โลกัสสะ

นี่คือคุณของสงฆ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยผู้อื่น

อาหุเนยโย ควรแก่ของที่เขาจัดไว้ต้อนรับ  ปาหุเนยโย ควรแก่ของที่จะเข้าไปรับ  ทักขิเนยโย ควรแก่ทักษิณาทาน คือของที่เขาจัดไว้เพื่ออุทิศกุศลแก่บุคคลผู้ตาย  อัญชลิกรณีโย ควรแก่การไหว้ ปุญญเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญสำหรับเกิดบุญ

เนื้อนาธรรมดาให้เกิดข้าวเปลือก  แต่เนื้อคือการปฏิบัติของพระสงฆ์นั้น ให้เกิดบุญจึงเรียกว่าปุญญเขต

คราวนี้มาถึงหน้าที่ของพระสงฆ์ อาจารย์พุทธทาสขอให้รำลึกถึงคำที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เป็นผู้หงายของที่คว่ำ ผู้เปิดของที่ปิด ผู้ส่องแสงผู้เปิดกรง ถ้าพระสงฆ์ยังมีหน้าที่ที่ถูกต้องเช่นนี้ แสดงว่า โรงพยาบาลของโลก ยังมีอยู่

โรงพยาบาลที่จะเยียวยาในทางกาย หรือแม้ในทางจิตใจมีอยู่ทั่วไป แต่ทางวิญญาณแท้ที่สูงขึ้นไปอีกนี้ ต้องอาศัยโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า

โรงพยาบาลพระพุทธเจ้า มีพระสงฆ์เป็นแพทย์ มีธรรมะเป็นยา มีปูชนียสถานต่างๆ เป็นตัวโรงพยาบาล

“ฉะนั้น ขอให้ถือเอาคณะสงฆ์นี้เหมือนกับโรงพยาบาลโรคที่จะเยียวยาโรคในทางวิญญาณของโลก”

ท่านอาจารย์พุทธทาส ขอให้มองคณะสงฆ์ ในฐานะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของโลก เพราะว่าท่านมีหน้าที่มุงบังป้องกันโลกนี้ไว้ ให้สงบเย็น พระสงฆ์เป็นผู้เปิดเผยทาง สืบต่อจากพระพุทธเจ้า ให้มนุษย์เอาชนะกิเลส ซึ่งเป็นความเร่าร้อนได้

ในบรรดาสิ่งที่เบียดเบียนมนุษย์ไม่มีอะไรมากและน่าอันตรายเท่ากิเลส ฉะนั้น จึงต้องแสวงหาเครื่องป้องกัน ที่ตรงตามความหมายที่พึ่งที่ต้านทาน ที่แท้จริง  ธรรมะ คือที่มุงบังที่แท้จริง

เราถือว่าพระสงฆ์เป็นผู้สืบเนื่อง จึงต้องช่วยกันต่ออายุต้นโพธิ์ต้นไทร ช่วยกันรดน้ำพรวนดินเอาไว้ อย่าให้ตายเสีย

คำว่าสืบอายุพระศาสนา ก็คือสืบอายุต้นโพธิ์ต้นไทร ไว้ด้วยการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง

สอนสืบๆ กันไปจริงๆ

ท่านอาจารย์พุทธทาสทิ้งท้ายด้วยการอุปมาพระสงฆ์ เป็นดวงประทีปของโลก ถ้าคณะสงฆ์ยังคุณลักษณะ และทำหน้าที่ถูกต้อง ก็ถือว่าดวงประทีปนี้ยังไม่ดับ โลกนี้จะยังไม่มือ

แต่ถ้าคณะสงฆ์นี้ดับ ก็หมายความว่า ดวงประทีปของโลกดับและมืด

หัวข้อบรรยายนี้ ชื่อว่า พระสงฆ์ ผู้ชี้ทาง หนทาง และผู้เดินทาง เพื่อดับทุกข์...
       ฯลฯ


ที่มา : “พระ...สุปฏิปัณโณ” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันศุกรที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙
3145  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 27 เมษายน 2559 13:24:56
.



• แม่แฝดเสียชีวิต-สงครามกลางเมืองในอเมริกา

ความเดิมจากตอนที่แล้ว แฝดอิน-จัน ชาวเอเชียจากเมืองแม่กลอง ที่ไปโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน เป็นเกษตรกรเต็มตัว มีที่ดินขนาดมหึมา โดนเขม่นจากสังคมคนผิวขาวว่า เหตุไฉนแฝดคู่นี้จึงเป็นเจ้าของทาสนิโกรผิวดำได้ถึง ๒๘ คน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องล้ำเส้น เกินหน้าเกินตาคนผิวขาวเจ้าของประเทศ

ขอเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพเป็นเกร็ดความรู้ว่า ในอเมริกายุคสมัยนั้น คนขาวเหยียดสีผิว กีดกันเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ มีความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการมีทาส การเลิกทาส โดยมีการแบ่งฝ่ายชัดเจนระหว่างรัฐทางฝ่ายเหนือที่ไม่สนับสนุนการมีทาส ส่วนรัฐทางใต้สนับสนุนการมีทาสไว้ทำงาน

อิน-จันมีโอกาสแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวของทาสในสยามให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งในยุคสมัยนั้นสยามมีระบบทาสเช่นกัน

แฝดอิน-จันที่ปักหลักมีครอบครัวในช่วงนั้น นอกจากมีทาสในครอบครองแล้วยังโดนเขม่นเรื่องการมีเชื้อสายจีนอีกต่างหาก เพราะอเมริกันผิวขาวกำลังรณรงค์ต่อต้านการอพยพของชาวจีนที่ทะลักเข้าไปในรัฐแคลิฟอร์เนียแบบมืดฟ้ามัวดิน คนจีนที่อพยพมาทางเรือขึ้นฝั่งทางตะวันตกจำนวนมหาศาล กลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนียในเวลาไม่กี่ปี

ประเด็นร้อนในสังคมอเมริกาตะวันตกยุคนั้นคือความพยายามที่จะสกัดกั้นชาวจีนที่กำลังเข้ามาในอเมริกาไม่หยุด และในเวลาเดียวกันก็หาทางออกกฎหมายจำกัดสิทธิคนจีนที่เข้ามาอยู่ในแคลิฟอร์เนียแล้ว

สังคมคนผิวขาวค่อนข้างมีอคติกับชาวจีน ด้วยเป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวจีนทั้งหลายมีคุณสมบัติเป็นเลิศในการทำงานหนัก มีความรักพวกพ้อง ชอบอยู่รวมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในอนาคตความขยัน อดทน หนักเอาเบาสู้ อาจจะทำให้ชาวจีนกลายเป็นผู้กุมชะตาธุรกิจค้าขายในอเมริกา หรือมีศักยภาพเหนือคนผิวขาวเจ้าของแผ่นดิน

ข้อมูลจากหนังสือ The Lives of Chang and Eng โดย Joseph A. Orser อธิบายว่า ยุคนั้นอเมริกาเป็นประเทศเกิดใหม่ กำลังต้องการแรงงานราคาถูก และชาวจีนคือตัวเลือกที่เด่นที่สุดเมื่อเทียบกับคนชาติอื่นๆ ที่แห่กันเข้าไปหางานตั้งรกรากในอเมริกา

ตรงกับสุภาษิตไทยที่เรียกว่าเกลียดตัวแต่กินไข่

ในสมัยแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทรงกอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมา ขับไล่พม่าออกไปจากอยุธยา ชาวจีนทางตอนใต้นับหมื่นก็อพยพทางเรือหนีความอดอยาก ฝ่าพายุในทะเล รอนแรมแบบเสื่อผืนหมอนใบมาตั้งรกรากในแผ่นดินสยามจำนวนมหาศาลเช่นกัน และชาวจีนเหล่านี้กลายมาเป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้ร่ำรวยมั่งคั่งในแผ่นดินไทยแทบทั้งนั้น รวมทั้งปู่และพ่อของแฝดสยามที่ชื่อนาย ตีอาย ก็เป็นลูกจีนแท้ๆ ที่ลงเรือมาสยามกับเค้าด้วย

ข้อมูลในอดีตของสหรัฐ ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๑-พ.ศ.๒๓๙๘ มีชาวจีนอพยพทางเรือมาขึ้นฝั่งที่ซานฟรานซิสโกราว ๕๐,๐๐๐ คน กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในแคลิฟอร์เนียได้เพราะคนจีนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน

ในเวลาเดียวกัน ชาวไอริชราว ๑๐๐,๐๐๐ คน และชาวเยอรมันราว ๗๐๐,๐๐๐ คนก็ทยอยเข้าสู่อเมริกาทางตะวันออกของอเมริกาเช่นกัน

ข้อมูลเหล่านี้เป็นความรู้สึกกังวลของคนผิวขาวที่อยู่ในแผ่นดินมาก่อนว่าคนต่างเชื้อชาติที่มาทีหลังคือผู้มาแย่ง มาเบียดเบียนตน หรืออาจจะมีชัยเหนือตน

นสพ. The National Era ซึ่งเป็นสื่อรัฐทางเหนือที่ต่อต้านการมีทาส ออกมาเปิดประเด็น ตั้งคำถามถึงชาวจีนที่อพยพเข้ามาใหม่สามารถครอบครองทาสได้หรือไม่? แฝดสยามที่ถูกมองว่ามีสถานะเหมือนชาวจีนอพยพเลยโดนหางเลข โดนเขม่นกะเค้าด้วย

ในแต่ละวันหนังสือพิมพ์ของรัฐทางเหนือจะออกข่าวโจมตีรัฐทางใต้เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ การทรมานทารุณกรรมต่อทาสนิโกรอย่างดุเดือด ส่วนหนังสือพิมพ์ของรัฐทางใต้ก็จะตอบโต้อย่างเผ็ดร้อน สังคมแตกแยก เป็นปรปักษ์กันแบบเปิดเผย

นอกจากนั้นยังมีข่าวในหนังสือพิมพ์อีกว่า แฝดสยามคู่นี้เฆี่ยนตีทรมานทาสนิโกรแสนสาหัสปรากฏขึ้นมาในลักษณะหาเรื่องใส่ความ ในที่สุด อิน-จัน บังเกอร์ ซึ่งเป็นประชาชนอเมริกันแล้วต้องเขียนชี้แจงตอบโต้ข่าว โดยมีบรรดาทาสทั้งหลายลงชื่อรับรองในจดหมายส่งไปยังสื่อต่างๆ จึงยุติประเด็นดังกล่าวได้

กลับมาที่แฝดอิน-จัน และครอบครัวครับ

กฎ ๓ วันแบ่งกันอยู่ใช้ได้ผล เป็นกฎเหล็ก ไม่อ่อนตัว แฝดอิน-จันเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่ก้าวล่วงกัน ครอบครัวของอินและจันไม่มีการกระทบกระทั่ง ซาร่าห์และอาดีเลดรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

ลูกที่เกิดมาทั้ง ๒ ครอบครัวอุ่นหนาฝาคั่ง ต้องกินต้องใช้เงิน เพื่อนของแฝดที่ชื่อนายแพทย์เอ็ดมันด์ โดตี้ (Edmund Doty) มาชวนให้แฝดสยามออกโชว์ตัวเก็บเงินเหมือนที่เคยทำมาก่อน แต่คราวนี้ปรับแผนการแสดง โดยให้เอาลูกของแฝดทั้งสองขึ้นเวทีการแสดงด้วย จะแสดงตัว ๖วันต่อสัปดาห์ เมื่อดีดลูกคิดแล้ว อิน-จัน บังเกอร์ จะมีรายได้ปีละ ๘,๐๐๐ เหรียญต่อปี

อิน-จัน ที่ร้างเวทีไป ๑๐ ปีตอบตกลงตามข้อเสนอ

การแสดงตัวเก็บเงินครั้งนี้ แฝดสยามนำลูกสาวชื่อ โจเซฟฟินและแคธเธอรีน อายุ ๕ ขวบไปด้วย โดยไปตั้งต้นการแสดงที่นิวยอร์ก บ้านเก่าที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต

การแสดงของแฝดคราวนี้กลับมีบรรยากาศความเงียบเหงาวังเวงเหมือนผีหลอก ไม่คึกคักตามแผนการตลาด ความตื่นเต้นเร้าใจของผู้คนนิวยอร์กที่จะเสียเงินเข้ามาดูตัวแฝดและลูกสาวค่อนข้างแผ่วเบา แฝดสยามถูกมองว่าไม่ร้อนแรง เก่าเก็บ

เพียง ๖ เดือน คณะการแสดงของแฝดสยามพร้อมลูกสาว ๒ คนที่มีหมอโดตี้เป็นผู้จัดการแสดงต้องม้วนเสื่อ เก็บของจากนิวยอร์กกลับบ้าน เพราะแฝดอิน-จันขายไม่ออก ไม่มีคนสนใจชมการแสดง

เบื้องหลังความเย็นชาของชาวนิวยอร์กที่ไม่สนใจจะมาดูตัวแฝดสยาม เนื่องจากเจ้าพ่อนักธุรกิจอเมริกันชื่อ พี ที บาร์นัม (P. T. Barnum) กำลังจัดการแสดงตัว “นายพล ทอม ทัมบ์” (General Tom Thumb) คือคนตัวจิ๋วมีชีวิต ที่มีความสูงเพียง ๒๘ นิ้ว หนัก ๑๕ ปอนด์ เท้ายาวเพียง ๓ นิ้ว มนุษย์คนนี้แหละคือของแปลกกว่า ที่มีความตื่นเต้น ท้าทายมากกว่าการแสดงของแฝดในนิวยอร์ก

ที่จริงนายบาร์นัมไปเจอมนุษย์ตัวจิ๋วคนนี้และซื้อมาจากพ่อแม่ในรัฐคอนเนกทิคัต เพื่อให้ตื่นเต้นเรียกแขก แกจึงจับแต่งตัวมนุษย์จิ๋วคนนี้ใส่เครื่องแบบทหาร โฆษณาแหกตา

ว่าไปขอซื้อตัวมาจากอังกฤษ และเพื่อให้พิสดารหลุดโลก เขาจึงตั้งยศให้เป็นนายพลของกองทัพสหรัฐ (ดูภาพ)

วันหนึ่งในระหว่างการเดินทาง ข่าวที่สร้างความสะเทือนใจกับแฝดมาถึงมือ โดยแจ้งว่า นายโรเบิรต์ ฮันเตอร์ (Robert Hunter) ที่ชาวสยามเรียกแบบสะดวกปากว่านายหันแตร พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อต ที่ไปนำตัวแฝดอิน-จัน จากแม่กลองมาอเมริกาเมื่อ ๑๕ ปีก่อน เสียชีวิตลงในสกอตแลนด์บ้านเกิด

ท่านผู้อ่านยังคงจำได้นะครับ พ่อค้าคนนี้เป็นเจ้าของเรือสินค้าเดินทะเล เข้ามาค้าขายในแผ่นดินสยาม ติดต่อ สนิทสนมกับผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ สมัยในหลวง ร.๓ นำปืนคาบศิลา กระสุนดินดำมาขายให้ทางการไทย รวมทั้งอาวุธอีกหลายรายการ จนกระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “หลวงอาวุธวิเศษ”

นอกจากนี้ นายหันแตรคนนี้แหละที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้าเป็นเจ้าแรกในสยาม (ปัจจุบันอยู่แถวบริเวณวัดประยุรวงศาวาส) หัดพูดภาษาไทยได้คล่อง ค้าขายร่ำรวย เดินเรือไปมาระหว่างยุโรปกับเอเชีย แต่ต่อมาทางการไทยจับได้ว่านายหันแตรลักลอบนำฝิ่นเข้ามาทางเรือเพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวสยาม และชาวจีนในสยาม ในช่วงหลัง นายหันแตรเริ่มข่มขู่ขุนนางสยามเรื่องการค้าขาย ในที่สุดนายหันแตร หรือนายโรเบิรต์ ฮันเตอร์ ผู้นี้จึงถูกทางการสยามเนรเทศออกนอกราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๗

หลังถูกขับออกจากสยาม นายฮันเตอร์กลับไปที่อังกฤษ และเสียชีวิตในปี พ.ศ.๒๓๙๑

นายฮันเตอร์ ผู้ทำให้เกิดตำนานของแฝดสยามที่ดังไปทั่วโลก กัลยาณมิตรของอิน-จัน ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ที่ผ่านมานายฮันเตอร์คนนี้แหละคือเพื่อนคนเดียวที่ทำหน้าที่ส่งข่าวคราวระหว่างนางนากแม่ของแฝดที่เมืองแม่กลองกับอิน-จันในอเมริกา

ต่อไปนี้คงมืดมน ไม่ทราบข่าวคราวของแม่ในสยามเป็นแน่แท้ ความห่างเหินของแฝดสยามกับแผ่นดินสยามเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ


ขอนำท่านผู้อ่านย้อนอดีตกลับมามองสยามประเทศในช่วงนั้น ซึ่งบรรดาพ่อค้าชาวต่างชาติทยอยกันเข้ามาติดต่อทำมาค้าขายที่กรุงเทพฯ แม่น้ำเจ้าพระยาคึกคักด้วยเรือสินค้าและชาวต่างชาติ ในหลวง ร.๓ ท่านมีพระประสงค์ส่งเสริมการค้ากับทุกชาติ สยามร่ำรวยเงินทอง

มิชชันนารีอเมริกันเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และรักษาพยาบาลชาวสยามที่เจ็บป่วยอย่างได้ผลชะงัก โดยเฉพาะการปลูกฝีป้องกันฝีดาษที่ชาวสยามเคยตายนับหมื่นคน

สาธุคุณแซมมวล เฮาส์ (Samual House) เข้ามาทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง สนิทสนมกับข้าราชการน้อยใหญ่ เดินทางไปหลายเมืองในสยาม ชาวสยามให้ความเคารพสาธุคุณเฮาส์ยิ่งนัก เลยเรียกท่านสะดวกปากว่าหมอเหา

วันที่ไม่อยากให้มาถึง ก็มาถึงจนได้…หนังสือ The Two ของ Irving Wallace and Amy Wallace อธิบายไว้ว่า : แฝดอิน-จัน ได้รับจดหมายจากหมอเหาที่ทำงานในสยาม ๒ ฉบับ โดยที่ผ่านมาหมอเหาได้เดินทางไปรักษาคนป่วยที่เมืองเพชรบุรี และหมอเหายังได้แวะเข้าไปที่บ้านของอิน-จัน ที่แม่กลองด้วย

ฉบับแรก ลงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๓๙๒ แจ้งมายังแฝดอิน-จัน ว่า นางนาก แม่ของแฝดได้เสียชีวิตแล้ว และยังบรรยายถึงสภาพบ้านเรือน แพริมแม่น้ำแม่กลองที่แฝดอิน-จันเคยอาศัย ได้พบกับนายน้อยที่อยู่บ้านคนเดียว บ้านมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก

จดหมายฉบับที่ ๒ เป็นจดหมายที่นายน้อย พี่ชายของอิน-จัน พูดเป็นภาษาไทยแล้วให้หมอเหาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ แจ้งว่าพ่อเซ้งตายเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๓๘๖ และต่อมา นางนากผู้เป็นแม่ตายเมื่อ ๒๘ ธันวาคม ๒๓๙๐…ก่อนแม่เสียชีวิต แม่บ่นคิดถึงอิน-จันเสมอ อยากจะให้อิน-จันกลับมาทำบุญ มาเยี่ยม แล้วค่อยกลับไปอเมริกาก็ได้ อิน-จันจากแม่ไปนาน แม่ไม่เคยได้ข่าวคราวเลย อยากรู้ว่าลูกทั้งสองสบายดีหรือไม่อย่างไร พี่น้อยแก่มากแล้ว มีความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ไม่มีใครช่วยเหลือดูแลเลย……

หัวใจสลายแหลกละเอียด ไม่มีการสูญเสียอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว อิน-จันลูกนางนากเคยได้ข่าวจากแม่ครั้งสุดท้ายเมื่อราว ๕ ปีที่แล้ว พวกมิชชันนารีที่ไปทำงานในสยามเป็นผู้ส่งข่าว ที่ผ่านมาอิน-จันเคยได้รับข่าวว่าแม่อยากให้กลับมาเยี่ยมบ้าง แต่แฝดตัวติดกันคู่นี้ก็ไม่ได้ไปกราบแม่เลย มาคราวนี้ไม่มีแม่ให้กราบอีกแล้ว เลือดเนื้อเชื้อไข พี่น้องร่วมสายโลหิตคงมีแต่ “พี่น้อย” ที่เดียวดายในกระต๊อบที่เมืองแม่กลอง พี่น้องที่เหลือ ที่สุดขอบฟ้าเป็นตายร้ายดีอย่างไร หมดหนทางที่จะรับรู้

แฝดอิน-จัน บังเกอร์ บัดนี้คือประชาชนอเมริกัน มีครอบครัวใหญ่ มีลูกเต็มบ้าน มีที่ดินแปลงใหญ่ มีฐานะมั่นคงในนอร์ทแคโรไลนา มาถึงนาทีนี้ ถือว่าการกลับไปกราบแม่ กลับไปใช้ชีวิตที่เหลือในสยามเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แน่นอน

ที่บ้านหลังใหม่ ณ เมาท์แอรี่ ครอบครัวของอิน-จัน ได้รับการยกย่องจากคนอเมริกันที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อราลีห์รีจิสเตอร์ (Raleight Register) บันทึกชมเชยไว้ คือการที่อิน-จันลงทุนสร้างอาคารแล้วให้ลูกหลานเรียนหนังสือ จ้างครูมาสอนหนังสือแบบมีมาตรฐาน แถมยังชักชวนให้เพื่อนบ้านในละแวกนั้นส่งลูกมาเรียนหนังสือด้วยกัน สิ่งเหล่านี้คือความเป็นผู้นำทางความคิด มีวิสัยทัศน์ เพราะชีวิตของแฝดและภรรยาก็ไม่เคยได้รับการศึกษามาก่อน

ปู่ทวดอิน-จัน บรรพบุรุษชาวสยามน่ายกย่องจริงๆ ครับ ข้อมูลสำคัญที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอิน-จัน และซาร่าห์ อาดีเลด บังเกอร์ คือในลูก ๒ ท้องรวม ๒๑ คนนั้นคลอดมา เป็นชาย ๙ คน เป็นหญิง ๑๒ คน ในจำนวนนี้มีลูก ๒ คนหูหนวก และเสียชีวิต ๒ คนตอนอายุราว ๓ ขวบ

ข้อมูลตรงนี้แหละ เป็นอีกเรื่องที่สังคมคนผิวขาวในอเมริกาสนใจเป็นพิเศษ การแต่งงานระหว่างชายชาวเอเชียที่เป็นแฝดตัวติดกันกับหญิงผิวขาว แล้วลูกที่เกิดมาจะมีส่วนผสม มีหน้าตาเป็นอย่างไร? สีผม นัยน์ตาจะเป็นสีอะไร จะเหมือนพ่อหรือเหมือนแม่? จะคลอดลูกแฝดอีกมั้ย ลูกจะสมประกอบหรือไม่?

เป็นเรื่องจริงนะครับ ในสังคมที่มีมนุษย์หลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์อยู่รวมกันในอเมริกา คำถามที่รุมเร้า โดยเฉพาะแพทย์ มีความอยากรู้อยากเห็นมากที่สุดคือ ถ้าคนเผ่าพันธุ์นี้ไปสมรสกับไอ้คนสายพันธุ์นี้ แล้วลูกที่เกิดมาจะมีความฉลาดมากน้อยแค่ไหน อายุจะยืนมั้ย แข็งแรงบึกบึนแค่ไหน?

ตุลาคม พ.ศ.๒๔๐๓ อิน-จันไปเซ็นสัญญาแสดงตัวเป็นเวลา ๖ สัปดาห์ กับพี ที บาร์นัม ที่นิวยอร์ก ในจังหวะนั้นเจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ของอังกฤษที่มาเยือนอเมริกาในขณะนั้น ยังได้เข้ามาชมการแสดงของอิน-จัน ซึ่งต่อมาท่านได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ของอังกฤษ

เสร็จจากนิวยอร์ก นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่เดินทางด้วยเรือชื่อ Northern Light จากท่าเรือนิวยอร์กมุ่งหน้าออกทะเลเพื่อจะไปซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย การเดินทางครั้งนี้แฝดพาลูกชายชื่อมอนต์โกเมอรี่และแพทริกไปด้วย การเดินทางในยุคนั้นของอเมริกาจากตะวันออกไปตะวันตกต้องใช้เรือวิ่งลงทางทิศใต้ (ตามเข็มนาฬิกา) ไปที่ช่องแคบปานามา (ยังไม่มีคลองปานามา) ขึ้นรถไฟข้ามแผ่นดินตรงช่องแคบ ลงเรือเดินสมุทรต่อ แล้ววกขึ้นเหนือไปขึ้นฝั่งที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย (กรุณาดูแผนที่)

แคลิฟอร์เนียคือดินแดนทางตะวันตกของอเมริกา ที่ผู้คนกำลังแห่กันเข้าไปขุดทองคำ แฝดไม่ได้ไปขุดทอง แต่จะไปเอาเงินจากกระเป๋านักขุดทอง

การหวนกลับมาแสดงตัวทางภาคตะวันตกของอเมริกาเป็นไปด้วยความราบรื่น อิน-จันโดนสื่อโจมตีเล็กน้อยว่าการนำพาลูกขึ้นเวทีไปทำมาหาเงินด้วยเป็นการอาศัยลูกหากิน เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควร

ในช่วงที่แฝดและลูกๆ เดินทางด้วยเรือ เป็นเวลาเดียวกับการประกาศผลเลือกตั้งประธานาธิบดี ผลปรากฏว่า อับราฮัม ลินคอล์น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐ

นโยบายหลักของลินคอล์นที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงคือ การเลิกทาสในอเมริกา

การโชว์ตัวของแฝดสยามวัยกลางคนพร้อมลูกหาเงินที่ซานฟรานซิสโก เป็นพื้นที่ที่ชาวจีนกำลังอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ได้รับการต้อนรับอย่างคึกคัก ทำรายได้พอสมควร โดยมีลูกชายคอยเขียนจดหมายกลับไปรายงานครอบครัวที่นอร์ทแคโรไลนาเป็นระยะๆ

ในระหว่างโชว์ตัวที่ซานฟรานซิสโก แฝดอิน-จันซึ่งมีทาสนิโกรผิวดำทำงานอยู่ในไร่ราว ๓๐ คน เริ่มมีความกังวลไม่น้อยกับนโยบายการเลิกทาสของประธานาธิบดีลินคอล์นที่กำลังร้อนแรง เป็นประกายไฟของความขัดแย้งของรัฐต่างๆ ที่แบ่งกันเป็นรัฐฝ่ายเหนือที่สนับสนุนการเลิกทาส และรัฐฝ่ายใต้ที่สนับสนุนการมีทาส

อิน-จันเป็นเจ้าของทาส มีทาสเป็นกำลังหลักในการทำไร่

ทีมงานการแสดงของแฝดและลูกๆ ได้เงินกลับบ้านก้อนใหญ่ รีบลงเรือเดินทางกลับบ้านที่เมาท์แอรี่ ด้วยการย้อนเส้นทางเดิมที่ใช้เวลาขึ้นรถลงเรือแล้วขึ้นรถราว ๒๐ วัน ในที่สุดครอบครัวบังเกอร์ก็กลับมาอยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ลูกอีกครั้ง

สงครามกลางเมือง (Civil War) ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ของอเมริกากำลังก่อตัว ใครจะรบกับใคร แต่ที่แน่ๆ แฝดสยามจากเมืองแม่กลองและครอบครัวได้เข้าไปนัวเนียเกี่ยวพันกับตำนานระดับโลกกะเค้าอีกจนได้


.



• อิน-จัน ได้รับเชิญไปพบประธานาธิบดีลินคอล์น

อับราฮัม ลินคอล์น ทนายความผู้ซื่อสัตย์ ของรัฐอิลลินอยส์จากแดนไกลโพ้น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งใน ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๐๔ ซึ่งแฝดอิน-จันเป็นพลเมืองสหรัฐ มีครอบครัวใหญ่ มีลูกรวมกัน ๒ ท้อง ๒๑ คน ปักหลักอยู่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา บรรพบุรุษสยามคู่นี้และลูกชาย ๒ คนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองตรงนี้เต็มตัวครับ

ผู้เขียนขออนุญาตแทรกประวัติศาสตร์อันโศกสลดของอเมริกาที่เรียกว่า “สงครามพี่น้องฆ่ากันเอง” เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ครับ

หลังจากสหรัฐอเมริกาชนะสงครามกับอังกฤษ ประกาศตนเป็นประเทศเอกราชในปี พ.ศ.๒๓๒๔ บรรดารัฐต่างๆ แบ่งเป็น ๒ กลุ่มคือ
     - กลุ่มรัฐที่ไม่ส่งเสริมการมีทาสซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ มีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรม
     - กลุ่มรัฐที่ส่งเสริมการใช้ทาสซึ่งอยู่ทางตอนใต้ มีรายได้หลักจากการเกษตร ที่ต้องใช้ทาสเป็นหลัก

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มรัฐทางภาคเหนือและกลุ่มรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกามีมาต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ กรณีทาสเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งในความขัดแย้งเชิงนโยบาย ระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต

ทันทีที่ทราบผลการนับคะแนนว่าลินคอล์นได้รับเลือกไปนั่งเป็นเบอร์หนึ่งของทำเนียบขาว กระแสต่อต้านประธานาธิบดีที่ไม่สนับสนุนการมีทาสคนนี้ปะทุขึ้นเฉียบพลันทันใจ

๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๐๓ สภาแห่งรัฐเซาท์แคโรไลนาลงมติเป็นเอกฉันท์ เป็นรัฐหัวหมู่ทะลวงฟัน ประกาศขอแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐแรก รีบจัดตั้งกองทหารของรัฐ ต่อมารัฐจอร์เจีย รัฐมิสซิสซิปปี รัฐเท็กซัส รัฐฟลอริดา รัฐอลาบามา และรัฐลุยเซียนา ที่อยู่ทางใต้อีก ๖ รัฐ รวมเป็น ๗ รัฐที่มีนโยบายต้องการมีทาส รวมตัวกันประกาศแยกตัวจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America หรือ Confederacy) เมื่อ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๔ พูดง่ายๆ คือ ๗ รัฐนี้จับมือกันตั้งเป็นประเทศใหม่ มีเจฟเฟอร์สัน เดวิส (Jefferson Davis) เป็นประธานาธิบดี ส่วนรัฐทางเหนือที่มีลินคอล์นเป็นประธานาธิบดี เรียกว่าสหภาพ (Union)

๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๔ กองทหารของรัฐเซาท์แคโรไลนาที่เพิ่งตั้งมา ๒ สัปดาห์ก็เข้าตีค่ายทหารฝ่ายเหนือที่ฟอร์ตซัมเตอร์ (Fort Sumter)ในรัฐเซาท์แคโรไลนา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสงครามกลางเมือง

ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศระดมพลฝ่ายเหนือสร้างกองทัพให้ได้ ๑๕๐,๐๐๐ นาย และประกาศว่ารัฐทางใต้เป็นกบฏ  รัฐทางใต้อีก ๔ รัฐที่ยังเก้ๆ กังๆ ยังไม่ได้เลือกข้างคือ รัฐเวอร์จิเนีย รัฐนอร์ธแคโรไลนา รัฐเทนเนสซี และรัฐอาร์คันซอ ตัดสินใจเลือกข้างกระโดดเข้าร่วมกับสมาพันธรัฐ หรือ Confederacy สรุปแล้วรัฐทางใต้ ๑๑ รัฐทำสงครามกับรัฐทางเหนือ ๒๓ รัฐ

รัฐฝ่ายใต้ ๑๑ รัฐประกาศชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนรับรู้ว่าสงครามครั้งนี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมของรัฐทางใต้ที่จะขอแยกตัวออก เพราะความเป็นรัฐมีความเก่าแก่กว่าความเป็นสหรัฐ (Union) และการเลิกทาสมิใช่สาเหตุของสงคราม

ปู่ทวดอิน-จันของสยามที่ไปเป็นพลเมืองสหรัฐอยู่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา มีทาสนิโกรใช้งานในไร่ยาสูบราว ๓๐ ชีวิต และสนับสนุนการมีทาส เป็นพลเมืองสังกัดรัฐนอร์ธแคโรไลนาเลยต้องเข้าไปมีเอี่ยว มีส่วนได้ส่วนเสียกะเค้าด้วย  เกิดความสับสนอลหม่าน เพราะคนทางใต้ไปเป็นทหารฝ่ายเหนือ คนทางเหนือลงมาเป็นทหารในกองทัพฝ่ายใต้  ทหารฝ่ายเหนือมีใจให้กับฝ่ายใต้ ส่วนทหารฝ่ายใต้ปันใจให้ทหารฝ่ายเหนือ รู้หน้าไม่รู้ใจ

ช่วง ๒ ปีแรกของสงครามกลางเมืองในอเมริกา ครอบครัวบังเกอร์ไม่ได้รับผลกระทบอะไร สนามรบอยู่ห่างออกไปไกลโข ประชาชนทั้งหลายมีหน้าที่อย่างเดียวคือให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่กองทัพฝ่ายใต้ ต้องซื้อพันธบัตร เสียภาษีเพิ่มแบบโหดระห่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงลิบลิ่ว ผู้คนทางใต้ต้องอยู่แบบฝืดเคือง อดอยาก ขาดแคลนแบบไม่เคยประสบมาก่อน

นี่เป็นสงครามที่คนอเมริกันรบกันเองนะครับ ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ที่เป็นตำนานก้องโลกพี่น้องฆ่ากันเอง

๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๖ การระดมพลเด็กหนุ่มของกองทัพฝ่ายใต้มีชื่อคริสโตเฟอร์ เร็น บังเกอร์ (Christopher Wren Bunker) ลูกชายคนโตอายุ ๑๘ ปีของแฝดจันมีชื่อเข้าไปอยู่ในบัญชีเรียกพลด้วย โดยเขาได้รับการบรรจุในกองร้อยทหารม้าที่ ๑ กองพันทหารม้าที่ ๓๗ ในรัฐเวอร์จิเนีย ทหารม้าขี่ม้าลูกครึ่งสยาม-อเมริกันคนแรก เข้าทำการรบในหลายสมรภูมิ

๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๐๗ คริสโตเฟอร์กลับมาพักที่บ้านเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ที่เมาท์แอรี่ ออกจากบ้านอีกครั้งกลับไปที่หน่วยในแนวหน้า ขาดการติดต่อไม่มีใครทราบว่าไปอยู่ที่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร

๔ สิงหาคมปีเดียวกัน เพื่อนคริสโตเฟอร์นำม้าของคริสโตเฟอร์กลับมาที่บ้านโดยไม่มีเจ้าของขี่มาด้วย นักรบหนุ่มทหารม้าลูกครึ่งสยาม-อเมริกัน หายไปไร้ร่องรอย ไม่ทราบชะตากรรม

ทุกคนที่บ้านหัวใจแตกสลายฟูมฟายโดยไม่ต้องอธิบาย ความโศกเศร้าเข้าครอบคลุมครอบครัวบังเกอร์  ในขณะที่ยังเสียใจกับคริสโตเฟอร์ที่สาบสูญ อีก ๓ เดือนต่อมา สตีเฟ่น เดคาเตอร์ บังเกอร์ (Stephen Decartur Bunker) ลูกชายของแฝดอินมีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์พอดี จึงถูกเรียกเข้าประจำหน่วยทหารม้าอีกคน ตามหลังคริสโตเฟอร์พี่ชายที่หายไปในสนามรบ

ตระกูลบังเกอร์ส่งลูกชาย ๒ คนเป็นทหารม้า ควบม้ายิงปืน ใช้ดาบเข้าร่วมรบกับกองทัพฝ่ายใต้

ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ เข้าสู่สนามรบ แต่งเครื่องแบบสวยสด ตีกลองเป็นจังหวะ มีนายทหารสัญญาบัตรถือกระบี่นำแถวนักรบแบบองอาจ ทหารเดินแถวหน้ากระดานเข้าหากันทั้งสองฝ่าย เล็งปืนเข้าใส่กันยิงกันคนละนัด แล้วต้องรีบบรรจุกระสุนใหม่ทันทีเพื่อจะยิงนัดต่อไป ใครตายก็ทิ้งอยู่ตรงนั้น ที่เหลือเดินหน้าต่อไป ยิงกันแบบไม่ต้องหมอบ ไม่ต้องหลบ ทหารทั้งสองฝ่ายตายในสนามรบเหมือนมดเหมือนปลวกชีวิตช่างไร้คุณค่า คิดอย่างเดียวคือฆ่ามันให้หมด เพื่อชาติอันเป็นที่รัก

ส่วนทหารม้า ชายชาติทหารทั้งสองฝ่ายนั่งบนหลังม้า ควบม้าศึกเข้าหากัน ยิงปืนใส่กันแบบห่าฝน ใครดีใครอยู่ แล้วรีบชักดาบออกมาแทนปืน พุ่งเข้าใส่กันดุเดือดเลือดพล่าน ไม่มีการถอยหนี ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร

ท่านผู้อ่านลองหาภาพยนตร์ดูนะครับ คนรุ่นหลังสร้างหนังเหตุการณ์ตรงนี้ไว้หลายเรื่อง เพื่อเรียนรู้ความพินาศ ความสูญเสีย เป็นบาดแผลในชีวิตของชนชาติอเมริกัน เหวอะหวะเกินคำบรรยาย

ท่ามกลางความทุกข์ ห่วงหาลูกชาย ๒ นักรบที่เข้าสู่สงคราม อยู่มาวันหนึ่งโดยไม่คาดฝัน ครอบครัวบังเกอร์ได้รับจดหมายจากคริสโตเฟอร์เล่าว่า ตอนนี้เขาโดนทหารฝ่ายเหนือจับเป็นเชลยอยู่ที่ค่ายเชส (Chase Camp) ห่าง ๔ ไมล์ทางตะวันตกของเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ (Ohio) ขอให้ที่บ้านส่งเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า อาหาร และยารักษาโรคให้ด้วย มีนักโทษเสียชีวิตจำนวนมากจากโรคฝีดาษ อหิวาต์ และคมกระสุน

๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๘ ในช่วงปลายสงคราม มีการประกาศแลกเปลี่ยนตัวเชลยนับพันคนระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ หนึ่งในนั้นคือคริสโตเฟอร์ ที่ได้รับการปล่อยตัว และต่อมาก่อนสงครามเลิก คริสโตเฟอร์ได้กลับบ้านที่เมาท์แอรี่ คริสโตเฟอร์ไม่ตาย

๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๘ สงครามกลางเมืองในอเมริกาที่ดำเนินมา ๔ ปีสงบลงเมื่อนายพล โรเบิร์ต อี. ลี แม่ทัพของฝ่ายใต้ยอมแพ้ต่อนายพลยูลิซิส เอส.แกรนท์ ณ Appomattox Court House ในรัฐเวอร์จิเนีย

ข่าวดีต่อมา สตีเฟ่น ลูกชายคนโตของแฝดอินเป็นอีกคนที่เข้าไปเป็นทหารของฝ่ายใต้ และขาดการติดต่อกับทางบ้านก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาเช่นกัน ในระหว่างทำสงคราม สตีเฟ่น ได้รับบาดเจ็บ ๒ ครั้ง มีบันทึกว่าเขาบาดเจ็บจากคมกระสุนขนาด .๔๔ ที่หัวไหล่

ครอบครัวบังเกอร์กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูกกันอีกครั้ง สภาพเศรษฐกิจ การทำมาหากินแสนจะฝืดเคือง บ้านเมืองป่นปี้

ในระหว่างสงคราม ครอบครัวบังเกอร์ต้องช่วยสนับสนุนในการตัดเย็บ ซ่อมแซมเสื้อผ้าให้กับทหารฝ่ายใต้ ข่าวร้ายคือ ลูกสาวคนที่ ๒ ของแฝดอินชื่อจูเลียเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย

หนังสือ The two: A Biography by Irving Wallace and Amy Wallace บันทึกชัดเจนเลยว่า หลังสงครามจบลง ประชาชนทั้งผองเกลียดขี้หน้ากัน อาฆาตมาดร้าย เป็นปรปักษ์ต่อกันทุกหมู่เหล่า รัฐบาลต้องเร่งหาทางเยียวยาฟื้นฟูจิตใจ

แฝดอิน-จัน คนตัวติดกัน ที่กำเนิดจากเมืองแม่กลองสยามประเทศได้รับเชิญให้เดินทางไปกรุงวอชิงตัน เพื่อเข้าพบประธานาธิบดี ลินคอล์นเพื่อสร้างสัญลักษณ์ของความ ปรองดอง เอื้อเฟื้อ และการให้อภัยในสังคมอเมริกา

ประธานาธิบดีลินคอล์นเล่าให้อิน-จัน ฟังเรื่องการทำเกษตรกรรมที่บ้านเกิดของตนในรัฐอิลลินอยส์

นักการเมืองในอเมริกาใช้คำว่า Siamese Twins เป็นวาทกรรม เป็นภาพเชิงสัญลักษณ์เชิงบวกของการอยู่ร่วมกัน

๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๘ สังคมอเมริกันต้องตกตะลึงสุดขีดเมื่อประธานาธิบดีลินคอล์นถูกลอบยิงเสียชีวิตในโรงละคร Ford Theater โดยมือปืนชื่อ John Wilkes Booth เป็นผู้ลั่นกระสุนสังหารในโรงละคร และแอนดรูว์ จอห์นสัน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนถัดมา

๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๐๘ รัฐบาลสหรัฐประกาศนิรโทษกรรมการกระทำของรัฐทางใต้ทั้งปวงที่เป็นกบฏ

สงครามกลางเมืองระหว่างพี่น้องฆ่ากันเอง ตายไปราว ๖๒๐,๐๐๐ คน บาดเจ็บอีกนับล้านคน บ้านเมืองรัฐทางใต้กลายเศษเป็นซาก เป็นบาดแผลที่ยังค้างอยู่ในใจของคนอเมริกันจวบจนทุกวันนี้

ครอบครัวบังเกอร์ได้รับผลกระทบทางการเงินไม่น้อย เนื่องจากเพื่อนบ้านหลายรายมาขอหยิบยืมเงินระหว่างสงครามพากันหายหน้ากันไป ธนบัตรที่ฝ่ายใต้พิมพ์ใช้ระหว่างสงครามกลายเป็นเศษกระดาษไปในพริบตา ฝรั่งถ้ายืมเงินก็มีฤทธิ์หายตัวได้เช่นกัน

สงครามเลิก ฝ่ายเหนือชนะ อิน-จันต้องปลดปล่อยทาส

สงครามกลางเมืองในอเมริกา ที่แฝดอิน-จันอยู่ในอเมริกาและลูกชายทั้ง ๒ คนเข้าร่วมรบด้วยนั้น ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๔ ของสยาม ซึ่งชาวสยามบางส่วนที่อ่านหนังสือออก โดยมีหนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรกชื่อ Bangkok Recorder ที่หมอบรัดเลย์ชาวอเมริกันลงทุนผลิตเป็นรายแรกในสยาม

ผู้เขียนขอแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ให้คนไทยรุ่นหลังได้รับทราบอีกเรื่องนะครับว่า ในสมัยนั้นสยามไม่ได้โดดเดี่ยว สยามเป็นประเทศที่มีวิสัยทัศน์ มีไมตรีต่อเพื่อนร่วมโลกเสมอ

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่อยู่ห่างออกไปสุดขอบฟ้ากำลังทำสงครามกลางเมือง ในหลวง ร.๔ ทรงทราบข่าวการสู้รบจากชาวต่างชาติที่ทำงานในสยาม โดยเฉพาะแพทย์และบาทหลวงชาวอเมริกัน จึงทรงปรารถนาดี มีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีเจมส์ บูคานัน เสนอที่จะส่งช้างสยามไปอเมริกา โดยทรงอธิบายเป็นจดหมายภาษาอังกฤษด้วย

พระองค์เองถึงพระราชประสงค์ที่จะมอบช้างสยามให้อเมริกานำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่ง ใช้งานทั่วไป โดยเฉพาะใช้ช้างเป็นเครื่องทุ่นแรง ช่วยงานด้านการส่งกำลังบำรุง (Logistics) แบบที่สยามใช้


3146  สุขใจในธรรม / ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม / Re: ปฏิทินท่องเที่ยว-ประชาสัมพันธ์งานบุญ เมื่อ: 26 เมษายน 2559 16:46:18






ชวนสักการะธาตุก่องข้าวน้อย

พระธาตุก่องข้าวน้อย ต.ตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร ตั้งอยู่ในทุ่งนา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) กิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร

พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขต ต.ตาดทอง พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้ง สี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5 x 5 เมตร นอกจากนี้ บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง
3147  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: รวมภาพโบสถ์-วิหาร-ศาลา เก่าๆ เมื่อ: 26 เมษายน 2559 16:22:26
.

แห่งที่ ๑๔ วิหาร-ศาลา
"พระอุโบสถ - อายุมากกว่า ๓๐๐ ปี" วัดหมื่นไวย
วัดหมื่นไวย ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ภาพถ่าย : กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖



อุโบสถเก่า วัดหมื่นไวย


ฐานอุโบสถก่อเป็นแนวโค้ง เรียกว่า"หย่อนท้องช้าง"


ภายในพระอุโบสถ



แห่งที่ ๑๕ วิหาร-ศาลา
"ศาลา" วัดนางพญา
วัดนางพญา อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก  

ภาพถ่าย : พ.ศ. ๒๕๕๘



ศาลา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก


แห่งที่ ๑๖ วิหาร-ศาลา
"วิหาร" วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง  จังหวัดลพบุรี

ภาพถ่าย : พ.ศ.๒๕๕๘



วิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี
สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีการปรับปรุงซ่อมแซมหลายครั้ง
ทั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ


แห่งที่ ๑๗ วิหาร-ศาลา
"พระอุโบสถ" วัดแม่นางปลื้ม
วัดแม่นางปลื้ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ภาพถ่าย : พ.ศ. ๒๕๕๘









"หน้าบัน" พระอุโบสถวัดแม่นางปลื้ม
รูปพระอุโบสถวัดแม่นางปลื้ม ถ่ายขณะกำลังทำการบูรณะ
ในเวลาปัจจุบัน สภาพคงเปลี่ยนแปลงไปมาก


แห่งที่ ๑๘ วิหาร-ศาลา
"ตำหนัก" วัดพุทไธสวรรย์
วัดพุทไธสวรรย์ ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ภาพถ่าย : พ.ศ. ๒๕๕๘



ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ - ฝาผนังชั้นบนมีรูปเขียนสมัยโบราณ
ที่มีค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง


ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์


วิหารเขียน วัดพุทไธสวรรย์


วิหารเปลื้องเครื่อง วัดพุทไธสวรรย์


หน้าบันวิหารเปลื้องเครื่อง วัดพุทไธสวรรย์





แห่งที่ ๑๙ วิหาร-ศาลา
"พระอุโบสถ" วัดนครหลวง
วัดนครหลวง (ปราสาทนครหลวง) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ภาพถ่าย : พ.ศ. ๒๕๕๘



พระอุโบสถ วัดนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา




* หมายเหตุ รูปที่โพสต์ ระบุวันถ่ายภาพไว้แล้ว
   ณ กาลปัจจุบัน ศาสนสถานดังกล่าวอาจมีการปรับปรุงซ่อมแซม
   รูปลักษณ์อาจเปลี่ยนไป


มีต่อ
3148  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดนิเวศธรรมประวัติ 'ประวัติวัด' พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ: 26 เมษายน 2559 15:09:14



พระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ

วัดนิเวศธรรมประวัติ
ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดนิเวศธรรมประวัติ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณท้ายเกาะลอย หน้าพระราชวังบางปะอิน  มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๓๘ ไร่ ๒ งาน ๔๙ ตารางวา  ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดใหม่”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๒๑ ใช้เวลาก่อสร้าง ๒ ปี ให้มีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก (กอทิกเลียนแบบโบสถ์คริสต์) ทั้งพระอาราม


วัดนิเวศนธรรมประวัติ สร้างอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าพระราชวังบางปะอิน ซึ่งในอดีตเมื่อ ๑๓๐ ปีเศษที่ผ่านมา บริเวณแห่งนี้เป็นท้องถิ่นทุรกันดาร ไม่มีบ้านผู้คนอยู่อาศัย การคมนาคมติดต่อกับภายนอกลำบากมาก อาศัยแต่เรือเป็นพาหนะเท่านั้น ซึ่งนานๆ จะแล่นผ่านสักลำ ๑  แต่เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดในบริเวณเกาะกลางน้ำแห่งนี้  ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้ๆ กับพระราชวังบางปะอิน เพื่อสะดวกในการบำเพ็ญพระราชกุศลใกล้พระราชฐาน เมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เริ่มก่อสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ ได้ตรัสปรารภแก่สมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) มีพระราชประสงค์ขอพระสงฆ์ที่มีพรรษาอายุและคุณธรรมของวัดบวรนิเวศวิหาร อันเป็นสำนักพระราชอุปัธยาจารย์ไปครอง โดยจะทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ  สมเด็จพระสังฆราชทรงคัดเลือกคณะสงฆ์ ให้ 'พระครูปลัดฯ' ที่เห็นว่ามีความรู้สมควรพอที่จะเป็นเจ้าอาวาสไปครองวัดนิเวศธรรมประวัติได้ จึงนำความถวายพระพรทูลให้ทรงทราบ  แต่ยังมิทันได้ทรงแต่งตั้งพระครูปลัด ให้เป็นพระราชาคณะไปครองวัดนิเวศธรรมประวัติ พระครูปลัดรูปนั้นเกิดขัดข้อง กลับใจไปทูลขอตัวต่อสมเด็จพระสังฆราช ไม่ยอมออกไปอยู่หัวเมือง เพราะเกรงจะทนความลำบากไม่ไหว ถ้าขืนให้ไปจะสึก

ความเงียบสงัด ความเดือดร้อนลำบาก ในการที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ในท่ามกลางเกาะกลางแม่น้ำที่ห่างไกลละแวกบ้านผู้คนในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ผู้โพสต์ได้คัดความตั้งแต่มูลเหตุของการก่อสร้างวัดนิเวศธรรมประวัติ ความลำบาก ความอดอยาก ความเงียบเหงา เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาต้องขาดแคลนทั้งยาและหมอรักษาไข้ ของพระสงฆ์ที่ขึ้นไปจำพรรษาอยู่บางปะอินในสมัยนั้น ซึ่งเป็นบทพระนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาเผยแพร่ เพราะเห็นเป็นความรู้อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุการณ์ได้อย่างถ่องแท้ ให้ปรากฏอยู่ ไม่สูญหาย    

อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่บวชแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ เรื่องที่พระองค์ทรงนิพนธ์ หรือ 'เล่า' ให้ฟัง จึงเป็นเรื่องราวที่ทรงรู้เห็นเอง ไม่ได้เอาความในหนังสือหรือได้ยินผู้อื่นบอกเล่ามากล่าว





สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

มูลเหตุอันมาเป็น “วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ”
บทพระนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
หมายเหตุ: ต้นฉบับเขียน "วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ" มี น.การันต์


เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน ตรัสปรารภแก่สมเด็จพระสังฆราช ว่า ครั้งทรงสร้างวัดเทพศิรินทราวาส ได้ขอพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร สำนักของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ไปครอง วัดที่ทรงสร้างใหม่นี้มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ อันเป็นสำนักของสมเด็จพระกรรมวาจาจารย์ไปครอง แต่ไม่ใช่วัดใหญ่โต จะทรงตั้งสมณศักดิ์เจ้าอาวาสเป็นแต่พระครู สมเด็จพระสังฆราชถวายพระพร รับจะจัดคณะสงฆ์ถวายตามพระราชประสงค์

ก็วัดราชประดิษฐ์ฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง ด้วยเจตนาจะให้เป็นวัดขนาดย่อมสำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติกาอยู่ใกล้ๆ พระราชฐานให้สะดวกในการบำเพ็ญพระราชกุศล  ทำนองเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอินนั้นเอง

จำนวนพระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ จึงมีน้อย เวลาหาพระสงฆ์สำหรับวัดนิเวศน์ธรรมประวัตินั้น ที่ในวัดราชประดิษฐ์ฯ มีพระที่พรรษาอายุและเป็นเปรียญทรงคุณธรรมสมควรจะเป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ ชื่อเปีย เป็นเปรียญ ๕ ประโยคองค์ ๑ พระครูสัทวิมล ฐานานุกรมตำแหน่งคู่สวด ชื่อพุฒ พึ่งได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค องค์ ๑  สมเด็จพระสังฆราชชวนพระครูสัทวิมลกับพระสงฆ์อันดับ ที่รับจะไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้แล้วให้นำความกราบบังคมทูล  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงยินดีพระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระครูสัทวิมล (พุฒ) เป็นที่พระครูสถิตธรรมสโมธาน ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ แต่ในระหว่างเวลา ๒ ปีที่กำลังสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติอยู่นั้น เผอิญพระครูสถิตธรรมสโมธาน (พุฒ) อาพาธถึงมรณภาพ ยังเหลือแต่พระครูปลัด (เปีย) องค์เดียวที่พอจะไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้ สมเด็จพระสังฆราชตรัสชวน แต่แรกเธอก็รับจะไป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบ มีพระราชดำรัสว่า พระครูปลัดเป็นตำแหน่งสูงอยู่แล้วจะทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ แต่ยังไม่ทันทรงตั้ง พระครูปลัด (เปีย) กลับใจไม่ยอมออกไปอยู่หัวเมือง จะเป็นเพราะเหตุใด ในใจจริงข้าพเจ้าไม่ทราบ ได้ยินแต่ว่าไปทูลขอตัวต่อสมเด็จพระสังฆราช โดยอ้างว่าไม่มีญาติโยม เกรงจะไปทนความลำบากที่บางปะอินไม่ไหว สมเด็จพระสังฆราชก็จนพระหฤทัย ได้แต่ถวายพระพรให้ทรงทราบเหตุที่เกิดขัดข้อง และทูลว่าในวัดราชประดิษฐ์ฯ ยังมีเปรียญแต่พระมหาอ่อน (ภายหลังต่อมาได้เป็นพระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ –อ่อน โกมลวรรธนะ) องค์เดียว แต่บวชยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา ซึ่งเป็นเขตสมควรจะเป็นเจ้าอาวาส  

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงขัดเคืองในเรื่องที่พระครูปลัด (เปีย) กลับใจ ดำรัสสั่งให้ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า ถ้าพระมหาอ่อนทรงคุณธรรม อย่างอื่นสมบูรณ์อยู่แล้ว ถึงพรรษาอายุยังไม่ถึงขนาด ก็ไม่ทรงรังเกียจ  สมเด็จพระสังฆราชตรัสถามพระมหาอ่อนว่า ถ้าโปรดฯ ให้เป็นพระครูเจ้าอาวาสจะไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน จะยอมไปหรือไม่ พระมหาอ่อนได้ทราบเรื่องมาแต่ต้น เห็นสมเด็จพระสังฆราชได้รับความเดือดร้อนรำคาญมากจึงทูลรับว่าถ้าโปรดฯ ให้ไป ถึงลำบากก็จะไปสนองพระเดชพระคุณให้สมพระราชประสงค์ สมเด็จพระสังฆราชก็สิ้นวิตก ให้นำความถวายพระพรทูลว่าพระมหาอ่อนเป็นผู้มีอัธยาศัยและความรู้สมควรเป็นเจ้าอาวาสได้ มีบกพร่องแต่ที่พรรษาอายุยังน้อยเท่านั้น และตัวก็เต็มใจรับจะไปโดยไม่รังเกียจ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงยินดี ดำรัสว่าได้ทรงเจตนาจะตั้งพระครูปลัด (เปีย) เป็นพระราชาคณะ ถึงพระมหาอ่อนพรรษาอายุยังน้อยก็เป็นเปรียญและมีความกตัญญูเป็นความชอบพิเศษ สมควรจะเป็นพระราชาคณะได้ จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่พระอมราภิรักขิต (ตามนามฉายาของท่านว่า อมโร) และทรงพระราชปรารภจะมิให้มีความเดือดร้อน เมื่อขึ้นไปอยู่บางปะอิน โปรดฯ ให้ไต่ถามถึงญาติโยม ได้ความว่าโยมผู้ชายยังมีตัวอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม และหลวงญาณวิจิตร (จุ้ย ต้นสกุล ผลพันธิน) เปรียญในกรมราชบัณฑิต กับนางเพิ้งภรรยาเป็นโยมอุปัฏฐากอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้ง ๓ คนนั้นก็สมัครจะขึ้นไปอยู่ที่บางปะอินกับพระอมราภิรักขิต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบ้านเรือนพระราชทานที่ริมเขตวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ แล้วทรงตั้งหลวงญาณวิจิตรเป็นหลวงธรรมวงศประวัติตำแหน่งเจ้ากรมวัด  และให้เป็นอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณรด้วย และทรงตั้งนายดี บิดาพระอมราภิรักขิต เป็นที่ขุนปฏิบัติชินบุตร ตำแหน่งปลัดกรมวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ  

อนึ่ง เมื่อกำลังสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติอยู่นั้น ทรงพระราชปรารภว่าควรจะมีตำหนักสักหลัง ๑ สำหรับเวลาสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ หรือสมเด็จพระสังฆราชเสด็จขึ้นไปจะได้พัก เหมือนอย่างตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างไว้ที่วัดเสนาสนาราม ณ พระนครศรีอยุธยา ทรงพระราชดำริว่ากุฏิที่สร้างสำหรับพระครูเจ้าอาวาสแต่เดิมอยู่ข้างเล็กไป จึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนใช้เป็นตำหนักและให้สร้างกุฏิเจ้าอาวาสขึ้นใหม่อีกหลัง ๑ ให้ใหญ่โตสมศักดิ์พระราชาคณะ การอันนี้ก็เนื่องมาแต่ที่ทรงตั้งพระอมราภิรักขิตครั้งนั้น

การสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติทำอยู่ ๒ ปีสำเร็จบริบูรณ์ ใน พ.ศ.๒๔๒๑ มีการฉลองที่บางปะอินเป็นการใหญ่โต รายการจารึกไว้ในแผ่นศิลาที่พระอุโบสถ ดังนี้
“ครั้น ณ วันเสาร์เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก (พ.ศ.๒๔๒๑) ได้เชิญพระพุทธปฏิมากรพระพุทธนฤมลธรรโมภาสและพระคัมภีร์ไตรปิฎกและรูปพระมหาสาวก และพระราชาคณะฐานานุกรมอันดับ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ๘ รูป ลงเรือกลไฟแต่กรุงเทพฯ มาพักไว้ที่วัดเชิงเลนตรงบางไทรข้าม  ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิ์ศกได้ตั้งกระบวนแห่แต่วัดเชิงเลน เชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสตั้งบนบุษบก เรือพระที่นั่งชัยสุวรรณหงส์ พระธรรมพระคัมภีร์พระไตรปิฎกลงเรือเอกชัย หลังคาสี รูปพระมหาสาวกลงเรือเอกชัยหลังคาสีอีกลำหนึ่ง พระราชาคณะฐานานุกรมลงเรือกราบม่านทองแย่ง พระสงฆ์อันดับลงเรือกราบม่านมัสรู่แห่ขึ้นไปตามลำน้ำในระหว่างเกาะบางปะอินนี้ เลี้ยวศีรษะเกาะข้างเหนือ ล่องลงมาจอดที่สะพานฉนวน ฝั่งเกาะข้างตะวันตกริมลำน้ำใหญ่ แล้วตั้งกระบวนแห่บกเชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสขึ้นพระยานมาศ พระธรรมพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกขึ้นเสลี่ยงแปลง รูปพระมหาสาวกขึ้นเสลี่ยงโถง พร้อมด้วยเครื่องสูง กลองชนะคู่แห่ แห่แต่ฉนวนน้ำไปโดยทางหน้าพระอุโบสถ เชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสขึ้นประดิษฐานเป็นประธานในพระอุโบสถ รูปพระมหาสาวก ๖ องค์ตั้งรายไว้...ฯ”

“ในเวลาบ่ายวันนั้น ได้ทรงถวายไตรจีวรบริขารแก่พระอมราภิรักขิต ราชาคณะกับฐานานุกรมและพระสงฆ์อันดับ ซึ่งมาอยู่ในพระอารามนี้ ๘ รูป นิมนต์ให้ขึ้นอยู่กุฏิที่ได้ทรงสร้างขึ้นไว้นั้น แล้วประชุมพระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญคณะธรรมยุตินิกาย ๕๘ รูป มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน ทั้งพระสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามนี้ ทรงถวายวิสุงคามสีมา กำหนดโดยยาวเส้น ๔ วา โดยกว้าง ๑๖ วา ๖ นิ้ว มีเสาศิลาแนวกำแพงแก้วในทิศทั้ง ๖ เป็นที่สังเกต และที่เขตขอบบริเวณพระอาราม ซึ่งเป็นที่พระสงฆ์ได้อาศัยนั้น กำหนดตั้งแต่กำแพงรั้วเหล็ก หน้าพระอารามด้านเหนือ ตลอดทั้งที่วิสุงคามสีมาจนถึงกำแพงสกัดท้ายโรงเรือ ยาว ๔ เส้น ๑๑ วา ๖ นิ้ว กว้างตกลำน้ำตามฝั่งเกาะทั้งสองด้านเป็นเขตพระอาราม แล้วทรงถวายผ้าไตรแด่พระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ คณะธรรมยุตินิกาย ๕๐ รูป สวดพระพุทธมนต์เวลาเย็น ตั้งแต่ ณ วันจันทร์เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก ๓ เวลา จนถึงวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ๕๘ รูป ได้ทำสังฆกรรมผูกพัทธสีมาเสร็จแล้ว เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนินทรงเลี้ยงพระสงฆ์ทั้ง ๓ เวลา และทรงถวายเครื่องไทยธรรมต่างๆ แก่พระสงฆ์ ๕๘ รูป   ครั้น ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาบ่าย ทรงถวายผ้าไตรแก่พระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ คณะมหานิกาย ๕๘ รูป เวลาเย็นสวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ   รุ่งขึ้น ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงเลี้ยงพระสงฆ์แล้วถวายเครื่องบริขารไทยธรรมต่างๆ และในวันศุกร์เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศกนั้น เวลาเช้าพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายรับพระราชทานฉัน ๓๐ รูป เวลาค่ำมีพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง เป็นพระราชกุศลส่วนมาฆบูชา ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ เวลาบ่าย มีพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถวันละกัณฑ์ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีเทศนาเป็นธรรมทานวันละ ๓ กัณฑ์ เจ้าพนักงานตั้งบายศรี ราษฎรพร้อมกันเวียนเทียนรอบพระอาราม ๓ วัน และมีการมหรสพสมโภช การเล่น (มีโขนชักรอกโรงใหญ่) เต้นรำครบทุกสิ่ง และตั้งต้นกัลปพฤกษ์ทิ้งทานและทรงโปรยผลกัลปพฤกษ์และฉลากต่างๆ เป็นมโหฬารบูชา ตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๔ ค่ำ จนถึงวันอาทิตย์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ รวมสี่วันสี่ราตรี เป็นเสร็จการพระราชกุศลมหกรรมพุทธาทิรัตนบูชา...ฯ”

พระอมราภิรักขิต ขึ้นไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เมื่ออายุ ๒๗ ปี บวชได้ ๖ พรรษา เวลานั้นมีพระสงฆ์เถรานุเถระกับทั้งเจ้านายขุนนาง ขึ้นไปช่วยงานฉลองวัดอยู่ที่บางปะอินเป็นอันมาก มิใคร่มีใครรู้จักพระอมราภิรักขิตมาแต่ก่อน  ทราบกันแต่ว่าได้เป็นพระราชาคณะไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เพราะมีความกตัญญู ยอมทนความลำบาก เพื่อจะเปลื้องความเดือดร้อนของสมเด็จพระสังฆราช ต่างก็พากันอยากเห็น ที่เป็นพระสงฆ์เถรานุเถระได้พบก็อวยชัยให้พร ที่เป็นคฤหัสถ์ก็พากันแสดงไมตรีจิตถึงถวายปวารณารับเป็นอุปัฏฐากก็มี







ซุ้มประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ หรือ พระขอฝน
พุทธลักษณะ ประทับยืน พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงอาการกวักขอฝน

พระอมราภิรักขิตจึงมีฐานะพิเศษผิดกับพระราชาคณะองค์อื่นๆ ในชั้นเดียวกันมาแต่แรก ความลำบากที่ไปอยู่บางปะอินมีอย่างไรบ้าง บุคคลในสมัยนี้ยากที่จะเข้าใจได้ ที่พระครูปลัด (เปีย) กลัวนั้นที่จริงมีมูลอยู่บ้าง (จะพรรณนาถึงความลำบากในที่อื่นต่อไปข้างหน้า) แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระวิตก เกรงว่าพระสงฆ์ที่ขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ จะได้ความเดือดร้อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งระเบียบการ ถึงเดือนหนึ่งให้เรือไฟหลวงบรรทุกเสบียงอาหารพระราชทานสำหรับทำครัวเลี้ยงพระขึ้นไปส่งครั้งหนึ่ง และในการกฐิน พระราชทานผ้าไตรพระสงฆ์ทั้งวัดอีกส่วนหนึ่งนอกจากผ้าไตรปี เป็นนิจผิดกับวัดอื่นๆ แต่ส่วนตัวพระอมราภิรักขิตเองนั้น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงคุ้นเคยมากขึ้น ก็ยิ่งทรงพระเมตตา ตรัสชมมารยาทและอัธยาศัยว่าสุภาพเรียบร้อย ถวายเทศนาก็โปรดปฏิภาณ ถึงคนทั้งหลายอื่น เมื่อท่านขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ ไม่ช้านานเท่าใด ก็พากันเลื่อมใสในคุณธรรมของท่านทั่วไป ในท้องถิ่นอำเภอบางปะอิน มีคนไปทำบุญถือศีลฟังธรรม และให้ลูกหลานไปบวชเรียนอยู่ที่วัดนิเวศน์ฯ มากขึ้น จนกุฏิไม่พอพระอยู่  จึงโปรดฯ ให้แก้ตึกแถวที่สร้างสำหรับเป็นที่อยู่ของลูกศิษย์วัด กั้นห้องเรียงกัน แปลงเป็นกุฏิสำหรับพระที่บวชใหม่  ต่อมาจำนวนพระสงฆ์ยังเพิ่มขึ้นอีก ต้องโปรดฯ ให้สร้างกุฏิคณะนอกเพิ่มขึ้นอีก ๒ แถว จึงพอพระสงฆ์อยู่ได้ไม่ยัดเยียด

.....ถึง พ.ศ.๒๔๒๒ ข้าพเจ้า (หมายถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ...ผู้โพสต์) ก็ได้เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีหน้าที่ตามเสด็จไปไหนๆ ด้วยเสมอ    มักเสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปะอินเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ตั้งแต่สร้างวัดแล้ว เสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังบางปะอินครั้งใด ก็เสด็จไปที่วัดด้วยทุกครั้ง

ครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ.๒๔๒๕ เสด็จไปวัดนิเวศน์ฯ ทรงบูชาพระในพระอุโบสถแล้ว ทรงพระราชดำเนินเที่ยวทอดพระเนตรการบำรุงรักษาในบริเวณวัด เมื่อเสด็จไปถึงตรงตำหนัก เห็นจะทรงรำลึกขึ้นว่าปีนั้นอายุข้าพเจ้าถึงกำหนดอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  มีพระราชดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่า “วัดนิเวศน์ฯ นี้ ถ้าเจ้านายพวกเราบวชจะมาอยู่ก็ได้ ตำหนักรักษาก็มี ดูเหมือนจะสบายดี”  ข้าพเจ้าก็ทูลสนองในทันทีว่า เมื่อข้าพเจ้าบวช ถ้าโปรดให้อยู่วัดนิเวศน์ ก็จะยินดี  ตรัสถามซ้ำว่า “จริงๆ หรือ” ข้าพเจ้าทูลสนองซ้ำว่า จริงอย่างนั้น ก็ทรงยินดี ไปตรัสบอกสมเด็จพระสังฆราช แต่ท่านถวายพระพรว่าความขัดข้องมีอยู่ ด้วยในปีนั้น พระอมราภิรักขิตจะเป็นอาจารย์ให้นิสัยยังไม่ได้ เพราะบวชยังไม่ครบ ๑๐ พรรษาบริบูรณ์ หย่อนอัตราตามพระวินัยอยู่พรรษาหนึ่ง  ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นจะรอไปบวชต่อปีหน้า ก็เป็นการตกลง ข้าพเจ้าจึงเลื่อนเวลามาบวชต่อใน พ.ศ.๒๔๒๖ เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี  บวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามประเพณีเจ้านายทรงผนวช  สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช ปุสสเทว (สา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระอมราภิรักขิตที่จะเป็นนิสยาจารย์ก็ลงมานั่งในคณะปรกด้วย  เมื่อบวชแล้วไปพักอยู่วัดราชประดิษฐ์  

วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงฟื้นประเพณีครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ดำรัสสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข กับทั้งพระอมราภิรักขิตและตัวข้าพเจ้า เข้าไปรับบิณฑบาตที่ชาลาต้นมิดตะวัน ในบริเวณพระอภิเนาวนิเวศน์ (อันอยู่ในสวนศิวาลัยบัดนี้)  เสด็จลงทรงบาตรพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน มีพระราชดำรัสแก่สมเด็จพระสังฆราชว่า ข้าพเจ้าจะไปจำพรรษาอยู่ไกล ญาติที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสทำบุญด้วย จึงให้ไปรับบาตรเสียก่อน  วันต่อนั้นมาจะขึ้นไปทูลลาเสด็จพระอุปัชฌาย์ไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ  สมเด็จพระสังฆราชท่านทราบพระอัธยาศัยว่า สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ไม่พอพระหฤทัย ที่พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่วัดอื่น นอกจากวัดบวรนิเวศน์ จึงเรียกพระอมราภิรักขิตกับข้าพเจ้าขึ้นไปสั่งแต่กลางคืนว่าให้ขึ้นไปเฝ้าด้วยกัน เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์ฯ ให้พระอมราภิรักขิตเอาดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะส่วนของท่านขึ้นไปถวายก่อน  ให้ข้าพเจ้าคอยอยู่ข้างล่างสัก ๑๐ นาที แล้วจึงขึ้นไปเฝ้าถวายเครื่องสักการะทูลลา เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเฝ้า ก็เห็นเสด็จพระอุปัชฌาย์ทรงเบิกบานดี ตรัสฝากข้าพเจ้าแก่พระอมราภิรักขิต แล้วประทานพระโอวาทกำชับข้าพเจ้า ให้เคารพนับถืออยู่ในถ้อยคำของท่านผู้เป็นอาจารย์ การทูลลาก็เป็นอันเรียบร้อยทุกสถาน สมเด็จพระสังฆราชท่านให้เจ้าคุณอมราฯ กลับขึ้นไปก่อนวันหนึ่ง   รุ่งขึ้นนับเป็นวันที่ ๔ ตั้งแต่ข้าพเจ้าบวช จึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจากวัดราชประดิษฐ์ฯ ท่านอุตส่าห์ตามลงไปอำนวยพรถึงท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อขึ้นไปถึงวัดนิเวศน์ฯ ไปบูชาพระพุทธเจ้าที่ในพระอุโบสถก่อน แล้วไปยังกุฏิเจ้าคุณอมราภิรักขิต ถวายเครื่องสักการะ ขอนิสัยท่านตามระเบียบพระวินัย

พิธีขอนิสัยนั้นก็คือ ไปถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักของท่าน ขอให้ท่านเอาเป็นภาระปกครองเรา ฝ่ายเราก็รับจะเอาเป็นภาระปฏิบัติท่านตามสมควร เพราะฉะนั้น เมื่อท่านให้นิสัยรับเป็นอาจารย์แล้ว เราจึงมีหน้าที่จะต้องกระทำการปฏิบัติ การนั้นถ้าอยู่ในสำนักพระอุปัชฌาย์เรียกว่า “อุปัชฌายวัตร” ถ้าอยู่ในสำนักพระอาจารย์เช่นตัวข้าพเจ้าเรียกว่า “อาจาริยวัตร” แต่เป็นการอย่างเดียวกัน คือเวลาเช้าเมื่อท่านตื่นนอน ต้องเอาน้ำบ้วนปากล้างหน้ากับไม้สีฟันไปถวาย พอค่ำถึงเวลาที่ท่านกำหนด ต้องขึ้นไปฟังท่านสั่งสอน แต่ท่านให้ทำพอเป็นวินัยกรรม ไม่กี่วันก็อนุญาตให้หยุด เป็นเช่นนั้นเหมือนกันทุกวัน เมื่อทำพิธีขอนิสัยแล้ว ข้าพเจ้าไปอยู่ที่ตำหนักเจ้าคุณอมราฯ ท่านให้พระปลัดชื่อนากเป็นผู้อุปการะอย่างเป็นพี่เลี้ยงของข้าพเจ้าด้วย



3149  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา - ทริปดำน้ำทะเลอันดามัน เมื่อ: 24 เมษายน 2559 17:15:58



ไปด้วยกัน...ทริปดำน้ำทะเลอันดามัน
หมู่เกาะสิมิลัน  จ.พังงา
๑๕ เมษายน ๒๕๕๙

"หมู่เกาะสิมิลัน" คือสรวงสวรรค์ใต้สมุทรที่อุดมไปด้วยชีวิตน้อยใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปะการังและหมู่ฝูงปลา มีน้ำใสราวแผ่นกระจกและมีหาดทรายที่ขาวสะอาดงดงาม สิมิลันมีชื่อเสียงทางด้านมีแหล่งน้ำลึกที่สวยงาม ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลก และภาพหินเรือใบเป็นภาพสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซิ่งตั้งอยู่ที่เกาะ ๘ (สิมิลัน) ที่มีความงดงามมาก และถือเป็นจุดเด่นของสิมิลัน

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ประกอบด้วยพื้นดินที่เป็นเกาะต่างๆ เขาหินแกรนิตสูงชัน หาดทราย โขดหิน ลักษณะรูปร่างต่างๆ ชายฝั่งของเกาะต่างๆ มีลักษณะเว้าแหว่งไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากตั้งอยู่ในส่วนทะเลนอก ได้รับอิทธิพลจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลโดยตรง เรียงตัวตามแนวทิศเหนือใต้ พื้นน้ำเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียตะวันออก บริเวณไหล่ทวีปติดชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและประเทศพม่า คู่ขนานกับแนวเกาะนิโคบาร์ ที่เป็นไหล่ทวีปของประเทศอินเดีย ตามชายหาดหรือสันทรายจะไม่มีดินเลนให้เห็นจึงเป็นชายหาดที่ขาวสะอาด สวยงาม อนุภาคทรายมีขนาดเล็กละเอียด ส่วนที่เป็นยอดเขาจะเป็นเขาโดดสูงชัน ยอดเขาสูงสุดมีความสูง ๒๔๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล บางเกาะมีลักษณะแบนราบล้อมรอบด้วยเนินทรายและแนวปะการัง

สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี ๒๗ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูงเฉลี่ยตลอดปีประมาณ ๘๓% ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีเฉลี่ย ๓,๕๖๐ มิลลิเมตร ปริมาณการระเหยของน้ำแต่ละปีเฉลี่ย ๑,๗๐๘ มิลลิเมตร ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้

ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม - ๓๑ ตุลาคม ของทุกปี

เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน - ๑๕ พฤษภาคม ของทุกปี



รอขึ้นเรือสปีดโบ๊ท สู่จุดหมายปลายทางที่หมู่เกาะสิมิลัน
สวรรค์ใต้สมุทร ฮอทฮิตติดอันดับโลก ที่ใช้เวลาเดินทางชั่วโมงเศษ...ไกลฝั่งมาก.ก.ก






หินเรือใบ สัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน




มันลำบากนะ กว่าจะตะกายไปถึงจุดชมวิว






หาดทรายสีขาวละเอียดงดงาม ตามแนวชายฝั่งเลียบหมู่เกาะ














ลมแรง...ลมทะเลพัดเอาระลอกคลื่นและเม็ดทรายม้วนตัวเข้าหาฝั่ง




แพคเกจทัวร์ อาหารกลางวัน ที่บวกราคาไว้เรียบร้อยแล้ว
(ประมาณ 2,500 บาท/ศีรษะ)


หมดสภาพ! หลังดำน้ำชมกุ้งหอยปูปลา

ไม่มีภาพดำน้ำมาให้ชม พากันโดดลงทะเล ไม่มีคนถ่ายรูปจ้ะ
3150  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: กระบี่ ที่อ่าวพระนาง ภูผาในฝันของนักปีนเขา และสัมผัสปรากฏการณ์ "ทะเลแหวก" เมื่อ: 24 เมษายน 2559 16:04:02

ทะเลแหวก จ.กระบี่
๑๕ เมษายน ๒๕๕๙





ทะเลแหวกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากอิทธิพลของน้ำขึ้นและน้ำลง ทำให้สันทรายของเกาะทั้ง ๓ คือ เกาะทับ เกาะหม้อ และเกาะไก่ จังหวัดกระบี่ ปรากฏขึ้นเมื่อน้ำลด จนสามารถเดินไป-มาระหว่างเกาะได้ โดยบริเวณนี้น้ำทะเลใสมองเห็นฝูงปลาสวยงาม จึงเป็นอีกจุดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเพื่อชมปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำลดลงต่ำสุดในแต่ละวัน เหมือนทะเลแหวกออกจนกลายเป็นหาดทรายขาวสะอาดเชื่อมเกาะ โดยเฉพาะในวันก่อนและหลังวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ราว ๕ วัน

ทั้ง ๓ เกาะดังกล่าวรวมอยู่ในหมู่เกาะปอดะ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน มีสัณฐานติดกัน เมื่อคลื่นพัดทรายมาพบกันที่จุดนี้จึงทำให้เกิดเป็นแนวสันทรายเชื่อมเกาะทั้งสามเกาะให้ถึงกัน สันทรายจะจมหายไปเมื่อน้ำขึ้นสูง แต่เมื่อน้ำลดแนวสันทรายก็จะค่อยๆ โผล่ขึ้นมาเหมือนกับว่าแบ่งทะเลให้แยกออกจากกันเป็นสามส่วน สันทรายจะโผล่ในช่วงที่น้ำทะเลลดต่ำสุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสันทรายจะไม่โผล่ก็เดินเล่นได้เพราะหาดทรายของทะเลแหวกขาวสะอาด การท่องเที่ยวทะเลแหวกนิยมท่องเที่ยวทั้งหมด คือ เกาะไก่ เกาะทับ เกาะหม้อ เกาะ ปอดะ และเที่ยวได้ใน ๑ วัน ต่างจากในอดีตที่นักท่องเที่ยว มักเช่าเรือมาตกปลา กางเต็นท์นอนนับดาวในคืนเดือนแรม หรือชมแสงจันทร์ในคืนเดือนเพ็ญ โดยค้างคืนบนเกาะได้ แต่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ค้างแรมบนเกาะแล้ว

เกาะทับเป็นเกาะเล็กๆ มีหาดทรายเฉพาะด้านใต้ ยามน้ำลด หาดทรายทางด้านใต้จะเชื่อมต่อกับแนวสันทรายของเกาะปอดะนอก กลายเป็นสะพานธรรมชาติยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร แม้จะเป็นหาดทรายเล็กๆ แต่เม็ดทรายละเอียดและขาวมาก น้ำทะเลใส ขณะที่เกาะหม้อเป็นโขดหิน ไม่มีชายหาดให้ขึ้นไปบนเกาะ น้ำทะเลใสสะอาด อยู่ห่างจากเกาะทับเพียง ๗๐ เมตร หากน้ำลดจะมีสันทรายเชื่อมต่อกัน เดินจากเกาะหนึ่งไปอีกเกาะหนึ่งได้

ส่วนเกาะปอดะนอก หรือเกาะไก่ หรือเกาะด้ามขวาน เกาะรูปร่างประหลาด ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อเกาะอันหลากหลาย เนื่องจากชะง่อนผาที่ยื่นออกมาทางด้านใต้ทำให้ผู้พบเห็น เกิดจินตนาการต่างๆ กันไป บ้างก็เห็นคล้ายกับส่วนหัวของไก่ บ้างก็เห็นเป็นด้ามขวานที่วางตั้งอยู่ ฝรั่งนักท่องเที่ยวมองเห็นเป็นป๊อปอาย ตัวการ์ตูนดัง หรือบางทีคนเห็นเป็นคนนอนคาบไปป์ ผู้ชมชอบการดำน้ำ ดำผิวน้ำชมปะการังน้ำตื้นหรือปะการังแข็งได้ที่เกาะไก่นี้ แต่ความสมบูรณ์ของปะการังไม่อาจเทียบเท่ากับท้องทะเลที่ห่างไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็มีหาดทรายขาวทอดยาว น้ำทะเลสวยใส กับปลาลายเสือฝูงใหญ่ให้ชม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้รายละเอียดถึงการเดินทางไปยังทะเลแหวกซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดกระบี่ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ว่า ฤดูกาลท่องเที่ยวคือเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี เดินทางโดยจากจังหวัดกระบี่ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๓๔ แล้วเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข ๔๒๐๒ ไปอ่าวพระนาง หรืออ่าวนาง เช่าเรือได้ที่นี่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒๕ นาที

ทั้งนี้ วิกิพีเดียอรรถาธิบายว่า สันดอนเชื่อมเกาะ (อังกฤษ : Tombolo) เป็นคำบัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ทะเลแหวก เป็นลักษณะทางธรณีสัณฐานวิทยาชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นสันทรายเชื่อมระหว่างชายฝั่งกับเกาะ โดยจะปรากฏขึ้นเมื่อระดับน้ำทะเลลดลง และจะชัดเจนมากในช่วงก่อนและหลังวันขึ้น ๑๕ ค่ำประมาณ ๕ วัน
...ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ภาพถ่ายทางอากาศ ทะเลแหวก
ภาพจาก: หนังสือพิมพ์ข่าวสด




ป้ายคำเตือน อันตราย! น้ำขึ้น ห้ามเดินข้าม
เมื่อสองปีที่ผ่านมา ผู้โพสท์ได้มีโอกาสลุยข้ามน้ำระหว่างเกาะ ๓ เกาะได้
แต่บ่ายของวันนี้ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๙ เดินข้ามได้เพียง ๒ เกาะเท่านั้น



















3151  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: สัมผัสความงามสงบที่เขื่อนรัชชประภา-เขื่อนเชี่ยวหลาน (กุ้ยหลินเมืองไทย) เมื่อ: 24 เมษายน 2559 15:13:58





๑๓ เมษา' ๒๕๕๙
การกลับมาเยือนเพื่อชมบรรยากาศ ความงดงามที่ยังไม่ลืมเลือน
...ณ เขื่อนเชี่ยวหลาน....

เขื่อนรัชประภา สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง ๙๔ เมตร ความยาวสันเขื่อน ๗๖๑ เมตร และมีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาขาดอีก ๕ แห่ง มีความจุ ๕,๖๓๘.๘ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ ๑๘๕ ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ ๒,๕๙๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องละ ๘๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ จำนวน ๓ เครื่อง

เขื่อนรัชประภา เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชื่อเดิมเรียกว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๓๐ เมื่อสร้างแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชประภา” มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนรัชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๐

ประโยชน์
ด้านพลังงานไฟฟ้า มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม ๒๔๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ ๕๕๔ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ส่งพลังไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า ด้วยสายส่งไฟฟ้าขนาด ๒๓๐ กิโลโวลต์ วงจรคู่ไปยังสถานี ไฟฟ้าแรงสูงสุราษฎร์ธานี ระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร และขนาด ๑๑๕ กิโลโวลต์ วงจรคู่ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงพังงา ระยะทาง ๘๒ กิโลเมตร

การชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนให้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืชบริเวณสองฝั่งแม่น้ำในตอนล่าง เป็นผลให้พื้นที่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ ในเขตท้องที่ตำบลตาขุน อำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอพุนพิน สามารถปลูกพืชในฤดูแล้งได้ผลดีบรรเทาอุทกภัย การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน จะช่วยลดความรุนแรงของสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี

การประมง อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชประภาเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง

การผลิตไฟฟ้า พลังน้ำจากเขื่อนสามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึงปีละ ๕๕๔ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าในภาคใต้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น แก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม ในฤดูแล้งลำน้ำตาปี-พุมดวงมีปริมาณน้ำลดลง ทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียได้ง่าย ขณะเดียวกันบริเวณปากแม่น้ำจะมีน้ำเค็มหนุนขึ้นมา น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชประภาจะช่วยเจือจางน้ำเสียในลำน้ำและผลักดันน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การท่องเที่ยว
รูปแบบการท่องเที่ยว ตัวเขื่อนเป็นการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การท่องเที่ยวบริเวณเขื่อนอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติเขาสก ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนรัชชประภาจะมีแพที่พักไว้บริการ เป็นแพของทางอุทยาน ๓ แพ แต่ละแพอยู่ในตำแหน่งที่มีทัศนียภาพสวยงาม และยังมีแพของเอกชนอีก ๓ แพ การเที่ยวเขื่อนรัชชประภาสำหรับคณะที่มีเวลาน้อยจะขับรถมาจอดที่จุดชมวิวบนสันเขื่อน ชมแบบแว๊บๆ แล้วก็กลับ บางคณะพอมีเวลาหน่อยก็จะเช่าเรือหางยาวนั่งชมทัศนียภาพในอ่างเก็บน้ำ เรือจะพาไปถึงแพของอุทยาน ขึ้นแพพักผ่อนอริยาบท ชมทัศนียภาพ ถ่ายรูปแล้วก็เดินทางกลับ แต่สำหรับคณะที่ต้องการพักผ่อนบนแพท่ามกลางธรรมชาติก็จะพักค้างคืนบนแพ กิจกรรมที่น่าสนใจระหว่างที่พักอยู่ที่แพคือ ชมวิว เล่นน้ำ พายเรือแคนู ตกปลา และอีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือการไปเที่ยวถ้ำซึ่งจะต้องเดินป่าเข้าไป ระหว่างทางจะได้สัมผัสความสมบูรณ์ของป่าดิบของภาคใต้ เดินไม่ไกลพอได้บรรยากาศการเดินเที่ยวป่าสัมผัสธรรมชาติ และอีกกิจกรรมหนึ่งคือการนั่งเรือชมวิว

วิวในอ่างเก็บน้ำสวยเกินคำบรรยาย ไม่ใครสักคนที่จะบอกว่าไม่สวย ทัศนียภาพในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสวยงามมากจนได้ชื่อว่ากุ้ยหลินเมืองไทย บริเวณเกาะแก่งในเขื่อนยังมีแพพักของอุทยานฯ ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ไปท่องเที่ยวพักผ่อน ในแต่ละปีสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า ๗๐,๐๐๐ คน สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ทั้งคนขับเรือนำเที่ยว และการค้าขายบริเวณสันเขื่อน

การเดินทาง
เขื่อนรัชประภาตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ห่างจากกรุงเทพฯ ๖๙๘ กิโลเมตร การเดินทางโดยรถยนต์ใช้เส้นทางสายเพชรเกษมซึ่งมีอยู่สายเดียวมุ่งตรงสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อถึงสี่แยกที่จะเข้าตัวเมืองสุราษฎร์ให้เลี้ยวขวามาตามเส้นทางหมายเลข ๔๐๑ มุ่งสู่อำเภอบ้านตาขุน ขับตรงไปอีกประมาณ ๖๗ กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าเขื่อนรัชประภา มีป้ายเขื่อนรัชประภาบอกชัดเจน เลี้ยวขวาไปตามป้ายอีก ๑๒ กิโลเมตร ขับตามที่ป้ายบอก จนกระทั่งถึงสันเขื่อน ก็จะถึงจุดชมวิว







นั่งหัวฟูเหมือน 'นกปรอดหัวโขน' ทางท้ายเรือ ไม่ใช่ใครอื่นไกล นาย Mckaforce เจ้าของเว็บไซต์
















แพแคปซูล สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนในท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขาและห้วงน้ำ
ราคาย่อมยาว.ว.ว. "2,800 บาท/ศีรษะ"










ตี๋เล็ก น้องชายนาย Mckaforce ชาตินี้มีกันอยู่ 2 คนพี่น้อง




ลาก่อย..ย.ย!...เราจะมากลับเยือนอีก
3152  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องราว จากนอกโลก / Re: เรื่องนอกโลก "ปรากฏการณ์เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาล" เมื่อ: 23 เมษายน 2559 18:05:40
.


(ภาพ : AFP)
ดาวเกิดใหม่
หอดูดาวแห่งยุโรปใต้ได้เปิดเผยภาพถ่ายของดาวฤกษ์ดวงใหม่ ที่ส่องแสงสุกสกาว
จนทำให้หมู่เมฆล้อมรอบสว่างไสวไปด้วย แม้ว่าอานุภาพฝุ่นละอองในกลุ่มเมฆใหญ่โต
ที่ล้อมอยู่จะทำให้แสงสลัวบ้าง แต่ก็ยังมองเห็นเหมือนกับแสงไฟหน้ารถที่ทะลุออกมา
เป็นที่น่าเสียดายว่า แม้การเกิดใหม่ของดาวจะน่าตื่นเต้น เป็นเพราะเมฆหมอก
อันหนาแน่นที่ล้อมรอบอยู่ ทำให้น่าดูน้อยลงไป.



(ภาพ : AFP)
ดาวควอซาร์
ช่างเขียนวาดภาพให้เห็นดาวควอซาร์ ซึ่งมีหน้าที่คอยป้อนอาหารให้กับหลุมดำ
ซึ่งเป็นตัวปล่อยคลื่นของแรงดึงดูดออกมาเป็นระยะทางไกลข้ามจักรวาล ดาวพวกนี้
อยู่ห่างไกลจากโลกเหลือคณานับ และเป็นแหล่งคลื่นวิทยุ.



(ภาพ : AFP)
ใกล้เข้ามาอีกนิด
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ถ่ายภาพดาวอังคาร ขณะเข้ามาอยู่ใกล้โลกที่สุด
ในรอบระยะเวลาเกือบ 60,000 ปี



โลกมองจากอวกาศนอกโลก
ดาวเทียมหิมาวาริ 8 ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ของญี่ปุ่น รุ่นที่ 3 ถ่ายภาพบริเวณภูมิภาค
เอเชียแปซิฟิกบนโลก ด้วยกล้องถ่ายรังสีอินฟราเรด ช่วยให้มองเห็นพื้นเพของโลกแปลกไปอีกแบบหนึ่ง.



จอดบนดาวหาง
ภาพเมื่อครั้งยานอวกาศ โรเซตตาของสำนักอวกาศยุโรป ปล่อยยานลูกฟิเล บนดาวหาง
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 หลังจากนั้นไม่นาน การติดต่อได้ขาดหายไปเหมือนกับว่ามันจำศีลไป
และเพิ่งจะส่อท่าว่าจะกลับมาทำงานได้อีกเมื่อต้นๆ ปีนี้ (พ.ศ.2559) หลังจากเงียบหายไปนานถึง 15 เดือน
แต่ก็ปรากฏว่าคราวนี้เงียบหายไปจริงๆ จนเชื่อว่าคราวนี้มันคงจะเงียบไปตลอดกาลแล้ว.



(ภาพ : AFP)
กำเนิดดาว
หอดูดาวภาคใต้ยุโรป ได้แสดงภาพดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดในแถบแหล่งกำเนิดของดาว อยู่ไกลจากโลก
ประมาณ 400 ปีแสง ห้อมล้อมไปด้วยวงแหวนของก๊าซและฝุ่นละออง จานวงแหวนนี้เป็นปรากฏการณ์ขั้นต้น
ของระบบการก่อกำเนิดดวงดาว ด้วยลักษณะเหมือนกับจานแบนๆ ทำให้มีฉายาอีกชื่อหนึ่งว่า “จานบิน”



พายุ 300 กม./ชม.
ดาวเทียมสหรัฐฯจับภาพพายุหมุนไซโคลน โหมกระหน่ำหมู่เกาะฟิจิ ด้วยความเร็วลม
ชั่วโมงละ 300 กม. จนบ้านเรือนบางแถบทลายราบเป็นหน้ากลอง.



องค์การโทรทรรศน์
สำนักดาราศาสตร์แห่งยุโรปใต้ ได้เปิดเผยภาพวาด แสดงให้เห็นดาวเคราะห์ ขนาดซุปเปอร์โลก
ชื่อแคนคริ อ. โคจรอยู่หน้าดาวฤกษ์ นักดาราศาสตร์ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยให้วิเคราะห์
องค์ประกอบของบรรยากาศ ตามดาวต่างๆ ได้ และได้ใช้วิเคราะห์ บรรยากาศของซุปเปอร์โลกดวงนี้
เป็นครั้งแรก ทั้งที่อยู่ไกลจากโลกมากถึง 40 ปีแสง พบว่าดาวฤกษ์มีขนาดเล็กกว่า อุณหภูมิน้อยกว่า
และความสว่างสู้ดวงอาทิตย์ของเราไม่ได้ ทั้งดาวเคราะห์บริวารโคจรอยู่ใกล้ชิดเกินไป
จนดาวเคราะห์มีเวลา 1 ปี เท่ากับ 18 ชั่วโมงของโลกเท่านั้น.



ดวงจันทร์ชารอน
องค์การอวกาศสหรัฐฯ อวดโฉมหน้าดวงจันทร์ชารอน ของดาวพลูโต ที่มีสีสวยงามด้วยสีต่างๆ
ยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ ได้ถ่ายภาพนี้ และยังพบข้อมูลว่า ครั้งหนึ่งเคยมีน้ำไหลอยู่ใต้ดิน
ทำให้พื้นผิวยืดขยายและแตกระแหง.



ยานสำรวจดาวอังคาร
องค์การอวกาศสหรัฐฯได้เปิดเผยรูปวาดของยานอินไซท์ แลนเดอร์ ที่จะส่งลงบนดาวอังคาร
ทันทีที่ลงถึงพื้นมันจะใช้แขนกลตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดิน และเครื่องวัดอุณหภูมิใต้พื้นผิว
องค์การต้องเลื่อนกำหนดการส่งยาน เนื่องจากอุปกรณ์บางอย่างเกิดขัดข้อง มันถูกออกแบบเพื่อหาความรู้
ว่าดาวเคราะห์ที่เป็นหินในสุริยจักรวาลรวมทั้งโลกเรานั้น ก่อตัวและวิวัฒนาการขึ้นมาอย่างไร.



ภาพอวกาศอันชัดเจน
องค์การอวกาศยุโรปได้เปิดเผยภาพวงแหวนฝุ่นละออง ที่อยู่รอบๆคู่ของดาวฤกษ์ชราคู่หนึ่ง
ซึ่งถ่ายได้อย่างชัดเจนที่สุด ด้วยกล้องโทรทรรศน์ยักษ์ของหอดูดาว ที่ประเทศชิลี.



ดาวแคระ“ซีเรส”
หอดูดาวยุโรปใต้ได้เผยแพร่ภาพวาดของดาวแคระ “ซีเรส” ที่ยานอวกาศ “ดอว์น”
ขององค์การอวกาศสหรัฐอเมริกา สังเกตพบอยู่ในหมู่ดาวที่อยู่ไกลโพ้นออกไปในอวกาศ



ยานสำรวจดาวอังคาร
องค์การอวกาศยุโรปเปิดเผยรูปวาดของยานสำรวจดาวอังคารที่ชื่อว่า
เอ็กโซมาร์ส 2016 ซึ่งมีกำหนดจะส่งออกเดินทางภายในเดือนนี้.



ภูมิประเทศดาวพลูโต
องค์การอวกาศสหรัฐฯได้แสดงภาพภูมิประเทศของดาวพลูโต เห็นภาพยอดเขา
ที่มีหิมะปกคลุม (ภาพซ้าย) ตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงใต้ของเทือกเขาคธูลู รีจิโอ
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าหิมะที่เห็นคงจะเป็นแก๊สมีเทน ที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็งตกทับอยู่บนยอดเขา
ทิวเขาทิวนี้ทอดตัวเหยียดยาวเกือบครึ่งของเส้นศูนย์สูตร เป็นระยะทางยาวถึง 3,000 กิโลเมตร
และกว้าง 750 กิโลเมตร เป็นเนื้อที่ใหญ่โตกว่ารัฐอลาสกาของสหรัฐอเมริกาเสียอีก.



(ภาพ : AFP)
ดวงจันทร์เอียง
กลุ่มเผยแพร่เรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติเปิดเผยภาพวาดแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลา
4.5 พันล้านปีที่ผ่านมา ดวงจันทร์ได้เปลี่ยนท่าทางที่หันมาทางโลก ทำให้เห็นดวงจันทร์เ
ปลี่ยนไปหลายหน้า เหตุที่แกนของดวงจันทร์เอียงไปนี้ เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ
ขนาดใหญ่อีกทางด้านหนึ่งของดวงจันทร์ (ภาพขวา) อีกภาพหนึ่งเป็นภาพละเอียด
แผนที่ของขั้วโลก ที่เต็มไปด้วยไฮโดรเจนของดวงจันทร์ ที่อยู่ในโลกของน้ำแข็ง
ชั้นเมฆหมอกของไฮโดรเจนได้บดบังพื้นที่บางส่วนของดวงจันทร์จากขั้วเหนือมายังขั้วใต้ไว้.



(ภาพ : AFP)
เมฆหมอกของดาวพลูโต
องค์การอวกาศสหรัฐฯได้แสดงภาพถ่ายจากยานอวกาศ “นิวฮอไรซันส์” ถ่ายภาพชั้นบรรยากาศ
ของดาวพลูโต ซึ่งซ้อนกันอยู่หนาถึง 20 ชั้น ทอดยาวเหยียดเป็นระยะทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร
โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องลอยขนานกับพื้นผิวอย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์ได้พบชั้นหมอก
ที่ปกคลุมอยู่ มีความหนาถึง 5 กิโลเมตร.



ถึงที่หมายในอวกาศ


องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพยานอวกาศลำเลียง “ออบิตัล เอทีเคเอส. ซิกนัส (เห็นลำเล็กด้านบน)
ถูกส่งขึ้นจากสนามจรวดแหลมคานาเวอรัล เมื่อวันอังคารที่แล้ว เพื่อขึ้นไปยังสถานีอวกาศสากล
ที่อยู่ในวงโคจรรอบโลก ยานได้เดินทางไปถึงและเข้าเทียบกับมือกลของสถานี เพื่อขนเสบียง
เครื่องมือวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สําหรับสร้างเครื่องมืออื่นๆ สำหรับมนุษย์อวกาศขึ้น.



ดาวเทียมเทอร์รา ขององค์การอวกาศสหรัฐฯ
ภาพถ่ายที่ราบสูงอินโดคงคา มองเห็นภาคเหนือของอินเดีย (ซ้าย) โอบล้อมทิวเขาหิมาลัย
ซึ่งทอดยาวไปจนถึงอ่าวเบงกอล (ขวา) ทุกปีอากาศทางตอนเหนือของอินเดีย เมื่อย่างเข้าหน้าหนาว
จะเลวร้ายลง ปกคลุมไปด้วยกระแสอากาศเย็นและหมอกมลพิษ เนื่องจากการจุดไฟเผาป่า
นักวิเคราะห์ขององค์การได้กล่าวว่า ดูจากภาพถ่ายแล้วอาจจะเป็นกลุ่มเมฆหมอกที่ประกอบด้วยมลพิษ
รวมทั้งจากการหุงต้มและเผาพืชพันธุ์ทางเกษตรประกอบกัน.



ดาวเทียมญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นส่งดาวเทียมดวงใหม่ของตน เป็นดาวเทียมถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ ขึ้นจากฐานยิงจรวดทาเนกาชิมา
ในเมืองคาโกชิมา ทางใต้ สำนักอวกาศญี่ปุ่นแจ้งว่าดาวเทียมถ่ายเอกซเรย์ดวงใหม่จะใช้เพื่อศึกษา
หลุมดำและพลิกเผยความลับต่างๆ ในอวกาศ.



กำเนิดดวงดาว
หอดูดาวยุโรปใต้ได้เผยภาพ ดวงแว่นกลมของดาวฤกษ์ คล้ายกับดวงอาทิตย์ที่เพิ่งกำเนิด
อย่างที่ (ภาพเล็กมุมบนขวา) ที่ได้ขยายขึ้นให้เห็นดาวที่ใกล้ที่สุด อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์
ขนาดเดียวกับโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งส่อให้รู้ว่าดวงอาทิตย์เมื่อตอนอายุยังน้อย ก็เกิดจาก
กลุ่มฝุ่นละอองและก๊าซเช่นเดียวกัน ส่วนที่เห็นเป็นวงแสงและวงมืดก็เป็นดาวเคราะห์ที่เพิ่งกำเนิดขึ้นเช่นกัน.



ทางช้างเผือก
ยานอวกาศกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลของสหรัฐอเมริกา ได้ถ่ายภาพของกลุ่มทางช้างเผือก
ซึ่งอยุู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 27,000 ปีแสง ภาพซึ่งถ่ายด้วยรังสีอินฟราเรดทำให้มองทะลุ
กลุ่มฝุ่นละออง ซึ่งมักจะปกคลุมแถวที่น่าสนใจบริเวณต่างๆ และที่เห็นบริเวณตรงใจกลางของภาพ
เป็นหลุมดำยักษ์อยู่กลางทางช้างเผือก



ดวงจันทร์นอกโลก
มนุษย์อวกาศทีมพีกชาวอังกฤษ ทีมมนุษย์อวกาศซึ่งประจำหน้าที่บนสถานีอวกาศสากลปัจจุบันนี้
ถ่ายภาพดวงจันทร์จากมุมที่เลือกคัดแล้ว




ดาวเทียมฝรั่งเศส
ศูนย์ศึกษาอวกาศแห่งชาติของฝรั่งเศส ได้แสดงภาพวาดของดาวเทียม กล้องจุลทรรศน์
ในอวกาศฝรั่งเศส ที่กำหนดจะส่งขึ้นวงโคจรปลายเดือนนี้ ดาวเทียมดวงนี้แม้จะมีขนาด
ไม่ใหญ่โตอะไรมาก แต่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เพื่อจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในทฤษฎีสัมพัทธภาพ
ที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้คิดขึ้นเมื่อ 100 ปีมาแล้ว.

ข้อมูล-ภาพ: ไทยรัฐออนไลน์
n-ap.23
3153  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ เต้าหู้ซอสมะขาม : เพิ่มพลังงานให้กับร่างกายด้วยโปรตีนจากถั่วเหลือง เมื่อ: 23 เมษายน 2559 16:22:10
.





เต้าหู้ซอสมะขาม

• เครื่องปรุง
- เต้าหู้ 400 กรัม
- กุ้งขาว 5-7 ตัว
- แป้งข้าวโพด
- หอมแดง 2-3 หัว
- น้ำตาลปีบ ¼ ถ้วย
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะขามเปียก
- เกลือ
- ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ


วิธีทำ
1.หั่นเต้าหู้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยม  คลุกกับแป้งข้าวโพดบางๆ ให้ทั่ว
    แล้วนำไปทอดด้วยไฟกลางจนสุกเหลืองทั่วชิ้น ตักใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำมัน
2.หั่นหอมแดงตามขวาง คลุกแป้งข้าวโพดให้ทั่ว นำไปทอดจนกรอบ ตักใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำมัน
3.คั่วกุ้งกับน้ำมันพืชเล็กน้อย พอสุกตักใส่จานพักไว้
4.ตั้งกระทะใส่น้ำมันที่ใช้เจียวหอม 1 ช้อนโต๊ะ ใส่น้ำตาลปีบ น้ำตาลทราย
   พอละลายดีแล้ว ใส่น้ำมะขามเปียก เกลือป่น และซอสหอยนางรม ชิมให้ได้สามรส
   (เปรี้ยว หวาน เค็ม) เคี่ยวให้ข้น เหนียว ใส
5.จัดเต้าหู้และกุ้งใส่จานเสิร์ฟ ราดด้วยซอสมะขามให้ทั่ว แล้วโรยหน้าด้วยหอมแดงทอดกรอบ.  




เต้าหู้ชิ้นนี้ น้ำหนัก 400 กรัม ผ่ากลางตามขวาง แล้วผ่าสี่ (ได้ 8 ชิ้น)


นำเต้าหู้คลุกกับแป้งข้าวโพดบางๆ (ไม่ต้องผสมน้ำ)


ทอดด้วยไฟกลางจนสุกเหลืองทั้งชิ้น ตักใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำมัน


หอมแดงคลุกแป้งข้าวโพด ทอดให้กรอบเหลือง ตักพักให้สะเด็ดน้ำมัน
(การนำหอมซอยคลุกแป้งข้าวโพด ช่วยให้หอมแดงกรอบได้นาน)


ทอดกุ้งกับน้ำมันเล็กน้อยพอสุก ตักพักไว้


ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันที่ใช้เจียวหอมแดง 1 ช้อนโต๊ะ  ใส่น้ำตาลปีบและน้ำตาลทราย
พอน้ำตาลละลายใส่น้ำมะขามเปียก เกลือป่น และซอสหอยนางรม ชิมให้ได้ 3 รส


เคี่ยวจนเหนียว ใส พักไว้


จัดเต้าหู้และกุ้งในจานเสิร์ฟ


ราดด้วยซอสมะขาม โรยหน้าด้วยหอมแดงเจียวกรอบ
รับประทานเป็นอาหารว่าง เพิ่มพลังงานให้กับร่างกายด้วยคุณค่าจากโปรตีนถั่วเหลือง
3154  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: เทพเจ้าจีน เมื่อ: 23 เมษายน 2559 15:40:27
.


ภาพจาก : : review.xn--l3cjf8d8bveb.com-
เทพเจ้า: ปุนเถ้ากง
เทพเจ้าองค์ประธาน: ตั่วเหล่าเอี้ย
ศรัทธาความเชื่อ: ความร่มเย็นเป็นสุข ป้องกันภัยต่างๆ การค้าเจริญรุ่งเรือง


๓.เทพปุนเถ่ากง

ปุนเถ่ากง เป็นชื่อเรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋ว จีนกลางเรียกว่า เปิ่นโถวกง เป็นเทพเจ้าที่พบในเมืองไทย ฟิลิปปินส์ และที่ปีนัง เท่านั้น

ชื่อเทพองค์นี้ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกสุดในหนังสือ J.D.Vaughan (๑๘๗๙) เขากล่าวว่า ชาวจีนแถบเอเชียใต้เคารพกราบไหว้ ต้าเป๋อกง (ตั่วแปะกง) และ เปิ่นโถวกง (ปุนเถ่ากง)

นักวิชาการชาวต่างชาติมีความเห็นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเทพสององค์นี้แตกต่างกันออกไป

หานหวยจุ่น กล่าวสรุปไว้ว่า เปิ่นโถวกง และต้าเป๋อกง เป็นเทพองค์เดียวกัน และเป็นเทพที่นักเดินเรือในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) กราบไหว้กัน โดยมีชื่อเดิมว่า โตงกง แต่ที่ปีนังชาวพื้นเมืองเรียกเทพองค์นี้ว่า เปิ่นโถวกง  ฟิลิปปินส์เรียกเทพองค์นี้ว่า เปิ่นโถวกัง

ซวื่อวิ๋นเฉียว มีความเห็นว่าเทพเปิ่นโถวกงเป็นองค์เดียวกันกับต้าเป๋อกง และชื่อดังกล่าวเป็นเพียงตำแหน่งเทพผู้ดำรงตำแหน่งนี้จะแตกต่างกันไปตามบุคคล เวลา และสถานที่ เทพองค์นี้เป็นเทพที่มีความสัมพันธ์กับเจ้าที่มากที่สุด เขากล่าวว่า เปิ่นโถวกง นั้น เป็นชื่อเรียกที่กลายเสียงมาจาก ถู่ตี้กง หรือ เจ้าที่ และมีฐานะทางเทพเท่ากับต้าเป๋อกง ผู้ดำรงตำแหน่งนี้จะเป็นใครไม่อาจจะทราบได้ หรืออาจจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของบรรพบุรุษของชาวจีนโพ้นทะเลเท่านั้นก็ได้

เทียนกวนซื่อ ก็มีความเห็นว่าเทพเปิ่นโถวกง และ ต้าเป๋อกง มีความสัมพันธ์กัน เขากล่าวว่า ต้าเป๋อกง ได้กลายมาจากเปิ่นโถวกง ชาวแต้จิ๋วเรียกเทพองค์นี้ว่า เปิ่นโถว ซึ่งหมายถึง เปิ่นตี้ หรือที่ดั้งเดิม หรือโถวมู่ ซึ่งแปลว่าหัวหน้าในสถานที่นั้นๆ จึงทำให้บางคนเรียกย่อๆ ว่า ตี้โถว และเมื่อผู้เป็นใหญ่ในเขตนั้นๆ หรือผู้นำในเขตนั้นๆ ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่เขตปกครองมากมาย เมื่อตายไปแล้วก็ถูกยกย่องให้เป็นเทพ จึงเรียกว่า เปิ่นโถวกง ซึ่งหมายความว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งเขต นั่นเอง

ชาวจีนในกรุงเทพฯ นับถือเปิ่นโถวกงมาก ศาลต่างๆ ที่เราพบอยู่ในตลาดหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวจีนนั้น หากไม่ตั้งเปิ่นโถวกงไว้เป็นเทพประธานในศาล ก็ต้องตั้งเป็นเทพชั้นรอง ในตลาดสดทั้งหลายส่วนมากจะตั้งเทพเปิ่นโถวกงไว้เป็นเทพประธาน เพื่อจะได้ช่วยปกป้องความร่มเย็นและการค้าเจริญรุ่งเรือง ศาลเจ้าของเทพองค์นี้จะมีอาคารใหญ่แบบซื้อเหอเอี้ยน เช่น ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้าก๋งที่ถนนทรงวาด หรืออาคารที่เล็กขนาดกว้างเพียงห้องเดียว เช่น ศาลเจ้าปุนเถ่ากง ที่ซอยเสนานิคม ๑ เป็นต้น

รูปเคารพของเปิ่นโถวกงอาจจะเป็นไม้สลัก หรือเป็นแผ่นไม้ที่เขียนตัวอักษรจีนบอกความหมายว่าเป็นสถานที่สถิตของเทพปุนเถ่ากงก็ได้

สำหรับความเป็นมาของเทพปุนเถ่ากงนี้ ชาวจีนผู้สูงอายุทั้งหลายต่างมีความเห็นแตกต่างกันออกไป บ้างก็กล่าวว่าในมณฑลกวางตุ้งและฮกเกี้ยนนั้นต่างก็มีเทพประจำท้องที่อยู่ทุกแห่งเรียกว่า ตี้โถว หรือที่เรียกว่า ตี้โถวกง ชาวแต้จิ๋วเรียกกันโดยทั่วๆ ไปว่า ตี่เถ่าเล่าเอี้ย หรือเทพผู้เป็นใหญ่ในที่นั้นๆ หน้าที่ของเทพองค์นี้คือ ดูแลความทุกข์สุขของประชาชนในแต่ละเขต ชาวจีนแม้จะอพยพมาอยู่ยังที่อื่นก็ยังยึดมั่นในความเชื่อดั้งเดิมนี้อยู่ จึงได้ใช้ไม้สลักเป็นรูปเคารพมากราบไหว้บูชา ในความหมายว่าเป็นรูปเคารพของเทพผู้เป็นใหญ่แห่งเขตนั้นๆ แล้ว ต่อมาชื่อนี้ได้เรียกอย่างง่ายๆ ว่า เปิ่นโถวกง เทพองค์นี้มีผู้กราบไหว้กันทั่วไปในเมืองแต้จิ๋วและเรียกกันว่า ตี้โถวกง

จากคำกล่าวนี้ก็อาจทำให้เราสรุปได้ว่า เทพปุนเถ่ากงนั้นที่แท้เป็นเทพประจำท้องถิ่นนั่นเอง

ศาลเจ้าปุนเถ่ากงในกรุงเทพฯ ที่นับว่าเป็นศาลเจ้าที่รู้จักกันกว้างขวางและมีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ของชาวจีนแต้จิ๋ว ได้แก่ ศาลเจ้าเก่าหรือศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากง ที่ถนนทรงวาด รูปเคารพปุนเถ่ากงส่งตรงมาจากเมืองแต้จิ๋ว ซึ่งสิ่งนี้ย่อมเป็นหลักฐานแสดงให้รู้ว่าที่เมืองแต้จิ๋วมีการนับถือเทพองค์นี้ด้วย

เทพปุนเถ่ากงที่ชาวจีนกราบไหว้กันในกรุงเทพฯ มีทั้งที่ประดิษฐานไว้เป็นเทพประธานในศาลและเทพชั้นรอง ศาลเจ้าที่ประดิษฐานเทพปุนเถ่ากงเป็นเทพประธานในศาลนั้น ดูจะมีเพียงศาลของชาวจีนแต้จิ๋วและชาวจีนฮกเกี้ยน ดังนี้
     ๑.ศาลเจ้าจี้หนันเมี้ยว (ศาลเจ้าตึกดิน) (ค.ศ.๑๗๘๖) ประดิษฐานเทพปุนเถ่ากงอยู่บนแท่นบูชาเดียวกับเจ้าแม่กวนอิม เทพฟ้าดิน พระเจ้าตากสิน และเทพกวนอู (ฮกเกี้ยน)
     ๒.ศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากง ที่ซอยตากสิน ๑ (ค.ศ.๑๘๕๔) (ฮกเกี้ยน)
     ๓.ศาลเจ้าบ้านหม้อ (ค.ศ.๑๘๑๖) (แต้จิ๋ว)
     ๔.ศาลเจ้าสูง (ค.ศ.๑๘๕๑) (แต้จิ๋ว)
     ๕.ศาลเจ้าเก่าถนนทรงวาด (ค.ศ.๑๘๑๘) (แต้จิ๋ว)
     ๖.ศาลเจ้าบางกอกน้อย (ค.ศ.๑๙๑๗) (แต้จิ๋ว) (ศาลนี้มีประวัติมาว่าสร้างมากกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในศาล ซ่อมต้นปี ค.ศ.๑๙๘๙ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากง)
     ๗.ศาลเจ้าบ้านหม้อ (ค.ศ.๑๙๗๗ สร้างใหม่) (แต้จิ๋ว)

แต่ในศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำและจีนแคะนั้น ยังไม่ปรากฏว่าได้มีการประดิษฐานเทพองค์นี้เป็นเทพประธานในศาลแต่อย่างใด  ดังนั้น จึงทำให้เราทราบว่าชาวแต้จิ๋วและชาวฮกเกี้ยนคงมีความเชื่อในเทพปุนเถ่ากงมากกว่าชาวจีนภาษาอื่นๆ เทพองค์นี้มีลักษณะของรูปเคารพที่ไม่เหมือนกันในทุกศาลเจ้า เช่น มีทั้งที่แต่งกายแบบขุนนางฝ่ายบุ๋น บ้างก็แต่งกายแบบขุนนางฝ่ายบู๊ มีหนวด มือขวาถือหยูอี้ ที่ศาลเจ้าสมัยเก่า เช่น ศาลเจ้าตึกดิน ศาลเจ้าสูง ศาลเจ้าบ้านหม้อ เป็นต้น

รูปเทพปุนเถ่ากงจะส่งตรงมาจากประเทศจีน และจะมีลักษณะดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ปัจจุบันที่พบในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นรูปเคารพที่ทำขึ้นใหม่นั้นก็มักจะเลียนแบบรูปเคารพเดิม แต่ลักษณะของเทพอาจจะเปลี่ยนไปจากท่ายืนเป็นท่านั่ง ในศาลเจ้าชาวจีนไหหลำมักจะไม่นิยมทำรูปเคารพปุนเถ่ากง แต่จะใช้แผ่นไม้มาเขียนเป็นชื่อเทพไว้เท่านั้น และปุนเถ่ากงที่ชาวไหหลำนับถือนั้นมีรวมทั้งสิ้น ๓ องค์

เทพองค์นี้มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนสมัยโบราณมาก เนื่องจากช่วยดูแลความทุกข์สุขของประชาชนในเขตหนึ่งๆ ดังนั้น ไม่ว่าครอบครัวใดจะมีใครคลอดบุตร หรือมีผู้ถึงแก่กรรม สมาชิกในบ้านนั้นๆ ก็ต้องมาจุดธูปบอกกล่าวเทพปูนเถ้าก๋งเสียก่อน

สำหรับชาวจีนในเมืองไทยที่อพยพเข้ามาในรุ่นแรกๆ นั้น มีความรักในประเทศจีนมาก แม้ว่าในช่วงที่พวกเขามีชีวิตอยู่ไม่มีโอกาสได้กลับไปประเทศจีน เมื่อตายแล้วก็หวังที่จะให้บุตรหลานนำศพกลับไปฝังยังเมืองจีน และก่อนที่จะเคลื่อนศพออกไปก็ต้องไปจุดธูปบอกกล่าวเทพปุนเถ่ากงเสียก่อน แล้วจึงจะไปบอกกล่าวเทพเฉิงหวง (เซียอึ้ง)

ในปัจจุบันนี้ แม้เทพปุนเถ่ากงจะมิได้มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนเหมือนสมัยก่อน แต่ความเคารพต่อเทพองค์นี้ของชาวจีนมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสมัยแต่ก่อนเลย เทพปุนเถ่ากงได้วิวัฒนาการจากเทพประจำกลุ่มภาษาหนึ่งมาเป็นเทพที่ชาวจีนทุกกลุ่มภาษานิยมนับถือกราบไหว้ และเมื่อใดที่มีการสร้างศาลใหม่ในชุมชนของชาวจีนแต่ละเขต ก็มักจะตั้งปุนเถ่ากงไว้เป็นเทพประธานของศาลเสมอ ศาลเทพปุนเถ่ากงนี้พบในหลายจังหวัดในภาคกลาง


ข้อมูล: เทพปุนเถ่ากง หนังสือสารานุกรมไทย ภาคกลาง เล่ม ๖, มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์
3155  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 21 เมษายน 2559 14:56:17

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๓๘)
ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ คือของที่เขาใช้เป็นทองและเงิน
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์ถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียน  
     ภิกษุทั้งหลายได้ยิน...จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -ที่ชื่อว่า มีประการต่างๆ คือ เป็นรูปพรรณบ้าง ไม่เป็นรูปพรรณบ้าง เป็นทั้งรูปพรรณ และมิใช่รูปพรรณบ้าง
     -ที่ชื่อว่า เป็นทั้งรูปพรรณ ได้แก่ เครื่องประดับต่างๆ ที่ชื่อว่า ไม่เป็นรูปพรรณ คือ ที่เรียกกันว่าเป็นแท่ง, ที่ชื่อว่า เป็นทั้งรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณ ได้แก่ของ ๒ อย่างนั้น
     -ที่ชื่อว่า รูปิยะ ได้แก่ ทองคำ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยสิ่งต่างๆ ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้
     -ถึงความซื้อขาย คือ เอาของที่เป็นรูปพรรณซื้อของที่เป็นรูปพรรณ, เอาของที่ยังไม่เป็นรูปพรรณ ซื้อของที่เป็นรูปพรรณ เป็นต้น  การซื้อขายดังกล่าวมาล้วนเป็นนิสสัคคีย์ทั้งสิ้น ของที่ซื้อขายด้วยรูปิยะซึ่งเป็นนิสสัคคีย์นั้น ต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุพึงเสียสละของนั้นอย่างนี้

วิธีเสียสละของที่ซื้อขายด้วยรูปิยะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ ถ้าคนทำการวัดหรืออุบาสกเดินมาในสถานที่เสียสละนั้น พึงบอกเขาว่า ท่านจงรู้ของสิ่งนี้ ถ้าเขาถามว่าจะให้นำของสิ่งนี้ไปหาอะไรมา อย่าบอกว่า จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา ควรบอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ถ้าเขานำเอาสิ่งนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะมาถวาย เว้นภิกษุผู้ซื้อขายด้วยรูปิยะ ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้พึงบอกเขาว่า โปรดช่วยทิ้งของสิ่งนี้ ถ้าเขาทิ้งให้ นั้นเป็นการดี ถ้าไม่ทิ้งให้ พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ
     -องค์ ๕ ของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ วิธีสมมติภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ และคำสมมติ พึงทราบตามสิกขาบทที่ ๘

อาบัติ
     ๑.รูปิยะ ภิกษุรู้ว่าเป็นรูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๒.รูปิยะ ภิกษุสงสัย ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.รูปยะ ภิกษุคิดว่า มิใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.มิใช่รูปิยะ ภิกษุคิดว่าเป็นรูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๕.มิใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๖.มิใช่รูปิยะ ภิกษุรู้ว่ามิใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๗.มิใช่รูปิยะ ภิกษุคิดว่าเป็นรูปิยะ ต้องทุกกฎ
     ๘.มิใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๙.มิใช่รูปิยะ ภิกษุรู้ว่ามิใช่รูปิยะ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุวิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๖๕-๙๗๐
     ๑.พวกภิกษุฉัพพัคคีย์มองไม่เห็นโทษในการแลกเปลี่ยนด้วยทองและเงินที่ตนรับไว้แล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามการรับอย่างเดียว จึงกระทำ (การแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ)
     ๒.บรรดาวัตถุที่กล่าวแล้วในสิกขาบทก่อน เมื่อภิกษุซื้อขายนิสสัคคิยวัตถุ (ของที่ใช้รูปิยะซื้อเป็นของที่พึงสละทิ้ง) ด้วยนิสสัคคิยวัตถุ (รูปิยะ) เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ด้วยสิกขาบทก่อน (สิกขาบทที่ ๘) ในเพราะการรับมูลค่า (รับรูปิยะ), ในเพราะการซื้อขายของอื่นๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้แล, แม้เมื่อซื้อขายทุกกฎวัตถุ หรือกัปปิยวัตถุ ด้วยนิสสัคคิยวัตถุ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
         -ก็เมื่อภิกษุซื้อขายวัตถุแห่งนิสสัคคีย์ด้วยวัตถุแห่งทุกกฎ เป็นทุกกฎด้วยสิกขาบทก่อน ในเพราะการรับมูลค่านิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้ ในเพราะแลกเปลี่ยนในภายหลัง เพราะซื้อขายของหนัก เมื่อซื้อขายทุกกฎวัตถุนั้นแหละ (มิใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ เป็นทุกกฎเป็นต้น) หรือกัปปิยวัตถุด้วยวัตถุแห่งทุกกฎ เป็นทุกกฎด้วยสิกขาบทก่อนในเพราะการรับมูลค่า เป็นทุกกฎเช่นกันด้วยสิกขาบทนี้ แม้ในเพราะการแลกเปลี่ยนภายหลัง เพราะซื้อขายด้วยอกัปปิยวัตถุ
         -สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาการซื้อขายรูปิยะและสิ่งมิใช่รูปิยะ และสิ่งมิใช่รูปิยะด้วยรูปิยะ และการซื้อขายรูปิยะด้วยสิ่งมิใช่รูปิยะ ส่วนการซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎด้วยวัตถุแห่งทุกกฎ มิได้ตรัสไว้ในบาลีในสิกขาบทนี้ และมิได้ตรัสไว้ในกยวิกกยสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑๐ แห่งโกสิยวรรค) นั้นเลย ก็ในการซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎด้วยวัตถุแห่งทุกกฎนี้ ไม่ควรจะเป็นอนาบัติ, เพราะฉะนั้นพวกอาจารย์ผู้รู้พระประสงค์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กล่าวคำว่า ในเพราะรับวัตถุแห่งทุกกฎเป็นทุกกฎ ฉันใด  แม้ในเพราะซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎนั้นด้วยวัตถุแห่งทุกกฎนั้นนั่นแลเป็นทุกกฎ ก็ชอบแล้วฉันนั้นเหมือนกัน
         อนึ่ง เมื่อภิกษุซื้อขายวัตถุด้วยนิสสัคคีย์ ด้วยกัปปิยวัตถุ เป็นอาบัติด้วยสิกขาบทก่อน ในเพราะการรับมูลค่า, เป็นนิสสัคคีย์ด้วยสิกขาบทนี้ ในเพราะแลกเปลี่ยนภายหลัง สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุมีความสำคัญในสิ่งมิใช่รูปิยะ ว่าไม่ใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์, เมื่อภิกษุซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎด้วยกัปปิยวัตถุนั่นแหละ ไม่เป็นอาบัติ เหมือนอย่างนั้นในเพราะการรับมูลค่า, เป็นทุกกฎด้วยสิกขาบทนี้ ในเพราะการแลกเปลี่ยนภายหลัง (จากรับรูปิยะแล้ว) เพราะเหตุไร? เพราะซื้อขายสิ่งเป็นอกัปปิยะ
         เมื่อภิกษุแลกเปลี่ยนกัปปิยวัตถุ นอกจากพวกสหธรรมิก ไม่เป็นอาบัติด้วยสิกขาบทก่อน ในเพราะการรับมูลค่า เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยกยวิกกยสิกขาบทที่จะปรากฏข้างหน้า เพราะการแลกเปลี่ยนภายหลัง, เมื่อภิกษุถือเอาการซื้อขายไป ไม่เป็นอาบัติ แม้โดยสิกขาบทข้างหน้า แต่เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้ประการหาผลกำไร
     ๓.ภิกษุใด รับเอารูปิยะ แล้วจ้างให้เร่งขุดแร่เหล็กขึ้นด้วยรูปิยะนั้น ให้ช่างเหล็กถลุงแร่เหล็กนั้นแล้ว ให้ทำบาตรด้วยโลหะนั้น, บาตรนี้ชื่อว่า เป็นมหาอกัปปิยะ ภิกษุนั้นไม่อาจทำให้เป็นกัปปิยะได้ด้วยอุบายใดๆ ก็ถ้าว่าทำลายบาตรนั้นแล้ว ให้ช่างทำเป็นกระถาง แม้กระถางนั้นก็เป็นอกัปปิยะ ให้กระทำมีด แม้ไม้สีฟันที่ตัดด้วยมีดนั้น ก็เป็นอกัปปิยะ ให้กระทำเบ็ด แม้ปลาที่เขาทำให้ตายด้วยเบ็ดนั้นก็เป็นอกัปปิยะ, ภิกษุให้ช่างเผาตัวมีดให้ร้อน แช่น้ำหรือนมสดให้ร้อน แม้น้ำและนมสดนั้นก็เป็นอกัปปิยะเช่นกัน
         ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ก็ภิกษุใด รับรูปิยะแล้วซื้อบาตรด้วยรูปิยะนั้น แม้บาตรนี้ของภิกษุนั้นก็เป็นอกัปปิยะ ไม่สมควรแม้แก่สหธรรมมิกทั้ง ๕ แต่ภิกษุนั้นอาจทำบาตรนั้นให้เป็นกัปปิยะได้ ต่อเมื่อให้มูลค่าแก่เจ้าของมูลค่า และเมื่อให้บาตรแก่เจ้าของบาตร ภิกษุจะให้กัปปิยภัณฑ์แล้วรับเอาไปใช้สอย สมควรอยู่
     ๔.ฝ่ายภิกษุใด ให้รับเอารูปิยะไว้แล้ว ไปยังตระกูลช่างเหล็กกับด้วยกัปปิยการก เห็นบาตรแล้วพูดว่า บาตรนี้เราชอบใจ และกัปปิยการกให้รูปิยะนั้นแล้ว ให้ช่างเหล็กตกลง แม้บาตรใบนี้ อันภิกษุนั้นถือเอาโดยกัปปิยโวหาร เป็นเช่นกับบาตรใบที่ ๒ นั่นเอง จัดเป็นอกัปปิยะเหมือนกัน เพราะภิกษุรับมูลค่า
         ถามว่า เพราะเหตุไรจึงไม่สมควรแก่สหธรรมิกที่เหลือ? แก้ว่า เพราะไม่เสียสละมูลค่า
         อนึ่ง ภิกษุใดไม่รับรูปิยะ ไปยังตระกูลช่างเหล็กพร้อมกับกัปปิยการกที่ทายกส่งมาว่า ท่านจงซื้อบาตรถวาย พระเถระเมื่อเห็นบาตรนั้นแล้ว ให้กัปปิยการกจ่ายกหาปณะว่า เธอจงรับเอากหาปณะเหล่านี้แล้วให้บาตรนี้แล้วได้ถือเอาไป บาตรนี้ไม่ควรแก่ภิกษุรูปนี้เท่านั้น เพราะจัดการไม่ชอบ, แต่ควรแก่ภิกษุเหล่าอื่น เพราะไม่ได้รับมูลค่า
         ได้ทราบว่า อุปัชฌาย์ของพระมหาสุมเถระ มีชื่อ อนุรุทธเถระ ท่านบรรจุบาตรเห็นปานนี้ของตนให้เต็มด้วยเนยใสแล้วสละแก่สงฆ์ พวกสัทธิวิหาริกของพระจุลนาคเถระผู้ทรงไตรปิฎกก็ได้มีบาตรเช่นนั้นเหมือนกัน พระเถระสั่งให้บรรจุบาตรนั้นให้เต็มด้วยเนยใสแล้วให้เสียสละแก่สงฆ์ ดังนี้แล
         ก็ถ้าว่า ภิกษุไม่รับรูปิยะ ไปสู่ตระกูลช่างเหล็กพร้อมด้วยกัปปิยการกที่ทายกสั่งมาว่า เธอจงซื้อบาตรถวายพระเถระๆ เห็นบาตรแล้วกล่าวว่า บาตรนี้เราชอบใจ หรือว่าเราจักเอาบาตรนี้ และกัปปิยการกจ่ายรูปิยะนั้นไปแล้ว ให้ช่างเหล็กยินยอมตกลง บาตรนี้สมควรทุกอย่าง ควรแก่การบริโภคแห่งพระพุทธะทั้งหลาย
     ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
         ๖.วิธีปฏิบัติในเรื่องเงินและทองที่มีผู้ถวาย
         ถ้าใครๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์ ท่านทั้งหลายจงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์ หรือหอฉัน เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ภิกษุจะรับทองและเงินแม้นี้ ไม่ควร,  ในมหาปัจจรีกล่าวว่าเป็นทุกกฏแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฏิเสธว่า ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมการ ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดีและไม่ดีอย่างเดียว แล้วมอบไว้ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกรเหล่านั้น แล้วหลีกไป จะรับก็ควร, ถ้าแม้นเขากล่าวว่าทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง หรือจักอยู่ในมือของผมเอง ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินเขาอย่างเดียว แม้อย่างนี้ก็ควร ก็ถ้าว่าพวกเขาไม่ระบุสงฆ์ คณะ หรือบุคคล กล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายเงินและทองนี้แก่เจดีย์ ถวายแก่วิหาร ถวายเพื่อก่อสร้าง ดังนี้ จะปฏิเสธไม่สมควร พึงบอกแก่พวกกัปปิยการกว่า ชนพวกนี้กล่าวคำนี้ แต่เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่เจดีย์เป็นต้นเถิด พึงปฏิเสธว่า การที่พวกเรารับไว้ ไม่สมควร
         แต่บางคนนำเอาเงินและทองมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายเงินและทองนี้แกสงฆ์ ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด ถ้าสงฆ์รับเงินและทองนั้น เป็นอาบัติ ทั้งเพราะรับ ทั้งเพราะบริโภค, ถ้าบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งปฏิเสธว่า สิ่งนี้ไม่ควร อุบาสกกล่าวว่า ถ้าไม่ควรจักเป็นของผมเสียเอง ดังนี้แล้วไป, ภิกษุนั้น อันภิกษุบางรูปไม่พึงกล่าวคำอะไรๆ ว่า เธอทำอันตรายลาภของสงฆ์ เพราะภิกษุใดโจทเธอ ภิกษุนั้นเองเป็นผู้มีอาบัติติดตัว เพราะเธอรูปเดียวกระทำภิกษุเป็นอันมากไม่ให้เป็นอาบัติ, ก็ถ้าว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายปฏิเสธว่า ไม่ควร เขากล่าวว่า จักอยู่ในมือของพวกกัปปิยการก หรือจักอยู่ในมือของพวกคนของผม หรือในมือของผม ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ดังนี้สมควรอยู่
         เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จตุปัจจัย พึงน้อมไปเพื่อปัจจัย ๔ ที่ต้องการ เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จีวร พึงน้อมไปในจีวรเท่านั้น ถ้าว่าไม่มีความต้องการจีวรนั้น หากสงฆ์ลำบากด้วยปัจจัย มีบิณฑบาตเป็นต้น พึงอปโลกน์เพื่อความเห็นดีแห่งสงฆ์แล้วน้อมไปเพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตเป็นต้น แม้ในอกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตและคิลานปัจจัย ก็มีนัยนี้
         อนึ่ง อกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ พึงน้อมไปในเสนาสนะเท่านั้น เพราะเสนาสนะเป็นครุภัณฑ์ ก็ถ้าว่า เมื่อพวกภิกษุทิ้งเสนาสนะไป เสนาสนะจะเสียหาย ในกาลเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย แม้จำหน่ายเสนาสนะแล้ว บริโภคปัจจัยได้
         เพราะฉะนั้น เพื่อรักษาเสนาสนะไว้ ภิกษุอย่ากระทำให้ขาดมูลค่า (ไม่มีราคา) พึงบริโภคพอยังอัตภาพให้เป็นไป และมิใช่แต่เงินทองอย่างเดียวเท่านั้น แม้อกัปปิยวัตถุอื่น มีนาและสวนเป็นต้น ภิกษุก็ไม่ควรรับ
     ๗.วิธีปฏิบัติในบึงและสระน้ำที่มีผู้ถวาย
         ถ้าใครๆ กล่าวว่า บึงใหญ่ให้สำเร็จข้าวกล้า ๓ ครั้ง ของข้าพเจ้ามีอยู่, ข้าพเจ้าขอถวายบึงใหญ่นั้นแก่สงฆ์, ถ้าสงฆ์รับบึงใหญ่นั้น เป็นอาบัติทั้งในการรับ ทั้งในการบริโภคเหมือนกัน, แต่ภิกษุใดปฏิเสธบึงใหญ่นั้น ภิกษุนั้นอันภิกษุบางรูปไม่ควรว่ากล่าวอะไรๆ โดยนัยก่อนเหมือนกัน เพราะว่าภิกษุใดโจทเธอ ภิกษุนั้นเองมีอาบัติติดตัว เพราะเธอรูปเดียวได้ทำให้ภิกษุมากรูปไม่ต้องอาบัติ
         ผู้ใดแม้กล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายบึงใหญ่เช่นนั้นเหมือนกัน ถูกพวกภิกษุปฏิเสธว่า ไม่ควร ถ้าเขายังกล่าวว่า บึงโน้นและบึงโน้นของสงฆ์ทำไมมีอยู่ล่ะ บึงนั้นสงฆ์มีได้อย่างไร? พึงบอกเขาว่า เขาจักทำให้เป็นกัปปิยะแล้วถวายกระมัง?  เขาถามว่า อย่างไรจึงจะเป็นกัปปิยะ? พึงกล่าวว่า เขากล่าวถวายว่า ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด  ดังนี้ ถ้าเขากล่าวว่า ดีละ ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด ดังนี้ควรอยู่
         ถ้าแม้นเขากล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงรับบึงเถิด ถูกพวกภิกษุทั้งหลายห้ามว่า ไม่ควร แล้วถามว่า กัปปิยการกมีอยู่หรือ? เมื่อภิกษุตอบว่าไม่มี จึงกล่าวว่า คนชื่อโน้นจักจัดการบึงนี้ หรือว่าจักอยู่ในความดูแลของคนโน้น หรือในความดูแลของข้าพเจ้า ขอสงฆ์จงบริโภคกัปปิยภัณฑ์เถิด ดังนี้จะรับควรอยู่, ถ้าแม้นว่าทายกนั้นถูกปฏิเสธว่า ไม่ควร แล้วกล่าวว่า คนทั้งหลายจักบริโภคน้ำ จักซักล้างสิ่งของพวกเนื้อและนกจักดื่มกิน, การกล่าวอย่างนี้ก็สมควร
         ถ้าทายกถูกพวกภิกษุปฏิเสธว่า ไม่ควร แล้วยังกล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงรับโดยมุ่งถึงของสมควรเป็นใหญ่เถิด ภิกษุจะกล่าวว่า ดีละ อุบาสก สงฆ์จักดื่มน้ำ จักซักล้างสิ่งของ พวกเนื้อและนก จักดื่มกิน ดังนี้แล้วบริโภคอยู่ แม้หากว่าเมื่อทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายบึง หรือสระโบกขรณีแก่สงฆ์ ภิกษุจะกล่าวคำเป็นต้นว่า ดีละ อุบาสก สงฆ์จักดื่มน้ำ แล้วบริโภคใช้สอย สมควรเหมือนกัน
         ก็ถ้าพวกภิกษุขอหัตถกรรมและขุดกัปปิยปฐพีด้วยมือของตนเอง ให้สร้างสระน้ำเพื่อต้องการใช้น้ำ, ถ้าพวกชาวบ้านอาศัยสระน้ำนั้นทำข้าวกล้าให้สำเร็จแล้วถวายกัปปิยภัณฑ์ในวิหาร ควรอยู่, ถ้าแม้นว่าพวกชาวบ้านนั่นแหละ ขุดพื้นที่ของสงฆ์เพื่อต้องการอุปการะแก่สงฆ์ แล้วถวายกัปปิยภัณฑ์จากข้าวกล้าที่อาศัยสระน้ำนั้นสำเร็จแล้ว แม้นี้ก็สมควร, ก็เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงตั้งกัปปิยการกให้พวกผมคนหนึ่ง แม้ภิกษุจะตั้งก็ได้
         อนึ่ง ถ้าพวกชาวบ้านนั้นถูกราชพลีรบกวนพากันหนีไป, ชาวบ้านพวกอื่นจักทำนาเป็นต้น แต่ไม่ถวายอะไรๆ แก่ภิกษุทั้งหลายเลย, พวกภิกษุจะหวงห้ามน้ำก็ได้ ก็แลการหวงน้ำนั้น ย่อมได้ในฤดูทำนาเท่านั้น ไม่ใช่ในฤดูข้าวกล้า (กำลังงอกงามแล้ว) ถ้าพวกชาวบ้านกล่าวว่า ท่านขอรับ แม้เมื่อก่อนพวกชาวบ้านได้อาศัยน้ำนี้ทำข้าวกล้ามิใช่หรือ? เมื่อนั้นพึงบอกพวกเขาว่า พวกนั้นเขาได้กระทำอุปการะอย่างนี้แก่สงฆ์ และได้ถวายแม้กัปปิยะภัณฑ์อย่างนี้, ถ้าพวกเขากล่าวว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็จักถวาย อย่างนี้ก็ควร
         ก็ถ้าว่า ภิกษุบางรูปไม่เข้าใจ รับสระน้ำหรือให้สร้างสระโดยอกัปปิยโวหาร (คำพูดที่ผิดพระวินัย), สระนั้นพวกภิกษุไม่ควรบริโภคใช้สอย, แม้กัปปิยภัณฑ์ที่อาศัยสระน้ำได้มา ก็เป็นอกัปปิยะเหมือนกัน ถ้าเจ้าของมีบุตรและธิดา หรือใครๆอื่นผู้เกิดในสกุลวงศ์ของเขา ทราบว่าภิกษุทั้งหลายสละแล้ว จึงถวายด้วยกัปปิยโวหารใหม่  สระนั้น ควร,  เมื่อสกุลวงศ์ของเขาขาดสูญ ผู้ใดเป็นเจ้าของชนบทนั้น ผู้นั้นริบเอาแล้วถวายคืน เหมือนพระราชมเหสีนามว่าอนุฬา ทรงริบเอาฝายน้ำที่ภิกษุในจิตตลดาบรรพตซักมาแล้วถวายคืนฉะนั้น แม้อย่างนี้ก็ควร
         จะทำการโกยดินขึ้น และกั้นคันสระใหม่ ในสระที่รับไว้ด้วยอำนาจแห่งน้ำ แม้เป็นกัปปิยโวหาร ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีจิตบริสุทธิ์ แต่การที่ภิกษุเห็นพวกชาวบ้านอาศัยสระน้ำกระทำข้าวกล้าอยู่ จะตั้งกัปปิยการก ไม่ควร,  ถ้าพวกเขาถวายกัปปิยภัณฑ์เสียเอง ควรรับ,  ถ้าพวกเขาไม่ถวาย ไม่ควรทวง ไม่ควรเตือน  การที่จะตั้งกัปปิยการกในสระที่รับไว้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ควรอยู่, แต่จะทำการโกยดินขึ้นและกั้นคันสระเป็นต้น ไม่ควร, ถ้าพวกกัปปิยการกกระทำเองเท่านั้น จึงควร,  เมื่อลัชชีภิกษุผู้ฉลาดใช้พวกกัปปิยการกทำการโกยดินขึ้นเป็นต้น สระน้ำจะเป็นกัปปิยะในเพราะการรับ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็เป็นการบริโภคไม่ดี ดุจบิณฑบาตที่เจือยาพิษ และดุจโภชนะที่เจืออกัปปิยะมังสะฉะนั้น เพราะกัปปิยภัณฑ์ที่เจือด้วยสิ่งของอันเกิดจากประโยชน์ของภิกษุเป็นปัจจัย เป็นอกัปปิยะแก่พวกภิกษุทั่วไปเหมือนกัน
         แต่ยังมีโอกาสเพื่อน้ำ ภิกษุจะจัดการเฉพาะน้ำเท่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านจงทำโดยประการที่คันของสระจะมั่นคง จุน้ำได้มาก คือ จงทำให้น้ำเอ่อขึ้นปริ่มฝั่ง ดังนี้ควรอยู่
     ๘.วิธีปฏิบัติในทาส คนวัด และปศุสัตว์ที่มีผู้ถวาย
         หากทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทาส การถวายนั้นไม่ควร, เมื่อเขากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายคนวัด ถวายไวยาวัจกร ถวายกัปปิยการก ดังนี้จึงควร, ถ้าอารามิกชนนั้นทำการงานของสงฆ์เท่านั้น ทั้งก่อนภัตและหลังภัต ภิกษุพึงกระทำแม้การพยาบาลด้วยยาทุกอย่างแก่เขาเหมือนกับสามเณร, หากเขาทำการงานของสงฆ์ก่อนภัตเวลาเดียว ภายหลังภัตไปกระทำการงานของตน ไม่พึงให้อาหารในเวลาเย็น, แม้ชนจำพวกใดกระทำงานของสงฆ์ตามวาระ ๕ วัน หรือตามวาระปักษ์ เวลาที่เหลือทำงานของตน พึงให้ภัตและอาหารแม้แก่บุคคลพวกนั้นในเวลากระทำเท่านั้น, ถ้าการงานของสงฆ์ไม่มี พวกเขากระทำงานของตนเองเลี้ยงชีพ, ถ้าพวกเขาเอามูลค่าหัตถกรรมมาถวายพึงรับ, ถ้าพวกเขาไม่ถวายก็อย่าพึงพูดอะไรเลย การรับทาสย้อมผ้าก็ดี ทาสช่างหูกก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยชื่อว่าอารามิกชน ควรอยู่
         หากพวกทายกกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายโคทั้งหลาย ดังนี้ ภิกษุพึงห้ามพวกเขาว่า ไม่สมควร, เมื่อมีพวกชาวบ้านถามว่า โคเหล่านี้ท่านได้มาจากไหน? พึงบอกเขาว่า พวกบัณฑิตถวายเพื่อประโยชน์แก่การบริโภคปัญจโครส เมื่อพวกเขากล่าวว่า แม้พวกผมก็ถวายเพื่อประโยชน์บริโภคปัญจโครส ดังนี้ควรอยู่, แม้ในปศุสัตว์มีแม่แพะเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ
         พวกชาวบ้านกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายช้าง ถวายม้า กระบือ ไก่ สุกร ดังนี้จะรับ ไม่ควร ถ้าพวกชาวบ้านบางหมู่กล่าวว่า ท่านขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด พวกผมจะรับสัตว์เหล่านี้แล้วถวายกัปปิยภัณฑ์แก่ท่านทั้งหลาย แล้วรับไป ย่อมควร, จะปล่อยเสียในป่าด้วยกล่าวว่า ไก่และสุกรเหล่านี้ จงอยู่ตามสบายเถิด ดังนี้ก็ควร, เมื่อเขากล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายสระนี้ นานี้ ไร่นี้ แก่วิหาร ภิกษุจะปฏิเสธไม่ได้ ฉะนี้แล



ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ   วุฎฺฐิ สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิคํ จิตฺตํ   ราโค สมติวิชฺฌติ ฯ ๑๓ ฯ

เรือนที่มุงไม่เรียบร้อย  ฝนย่อมไหลย้อยเข้าได้
ใจที่ไม่อบรมฝึกหัด  ราคะกำหนัดย่อมครอบงำ

Even as rain into an ill-thatched house,
Even so lust penetrates an undeveloped mind..
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)
[/center]
3156  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 21 เมษายน 2559 14:03:36
.


• แฝดสยามไปสร้างทายาทราว ๑,๕๐๐ คน ในอเมริกา

ความเดิมจากตอนที่แล้ว พี่น้องสองสาว ซาร่าห์และแอดิเลดประกาศรักจริง-หวังแต่งกับแฝดตัวติดกันจากสยามแบบไม่แยแสต่อคำครหานินทาจากสังคมรอบด้าน วางแผนจะทำวิวาห์เหาะพากันหนีไปครองรักครองเรือนให้รู้แล้วรู้รอด หากพ่อแม่ไม่เห็นชอบ

โอกาสสุดท้ายริบหรี่ที่จะได้ไฟเขียวจากนายเดวิดและนางแนนซี่ เยทส์ ในที่สุดพี่น้องสองสาวได้ขอร้องให้บาทหลวงชื่อ คอลบี้ สปาร์ค (Colby Spark) ที่พึ่งสุดท้ายเป็นผู้ไปอ้อนวอนพ่อ-แม่เป็นครั้งสุดท้าย

บาทหลวงทำหน้าที่ได้ทะลุเป้า หลังเกลี้ยกล่อมพ่อและแม่อยู่พักใหญ่ให้เห็นใจในความรักที่อยู่เหนือเหตุผลทั้งปวง เดวิดและแนนซี่ยอมรับในความรักและการแต่งงานแบบพิสดารของหนุ่มสาวทั้ง ๔ คน

ในที่สุดชัยชนะเป็นของคนรักทั้ง ๔ เรื่องรักอมตะแบบนี้ก็ต้องใช้พระนำเฉกเช่นชาวสยาม

๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๓๘๖ คือวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ ๒ หนุ่มจากเมืองแม่กลอง แฝดหนุ่มได้เข้าพิธีแต่งงานกับ ๒ สาวพี่น้องอเมริกันที่บ้านของเจ้าสาว คู่รักทั้ง ๔ คนได้ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรค ขวากหนาม สร้างความรัก ความเข้าใจมานาน ๔ ปี เพื่อที่จะเป็นของกันและสมปรารถนาในที่สุด

ผู้เขียนไม่ทราบว่าใน พ.ศ.๒๓๘๖ มีประเพณีสงกรานต์ในสยามหรือไม่ แต่วันที่แฝดสยามแต่งงานตรงกับวันสงกรานต์

พิธีแต่งงานโดยบาทหลวงพ่อสื่อรักที่ชื่อ คอลบี้ สปาร์ค เป็นไปอย่างรวบรัด เป็นพิธีทางศาสนาแบบเรียบง่าย และเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ ความรักชนะทุกสิ่ง ในที่สุดโลกต้องจารึกว่าเป็นการแต่งงานระหว่าง นายเอ็ง บังเกอร์ กับ นางสาวซาร่าห์ แอน เยทส์ นายจัน บังเกอร์ กับ นางสาวแอดิเลด เยทส์

ในหนังสือของต่างประเทศ ที่บันทึกเรื่องราวของแฝดสยามจะเรียกว่า Eng (อิน) Chang (จัน) นะครับ

และคำว่าบังเกอร์ (Bunker) เป็นนามสกุลของแฝดที่ขอใช้นามสกุลเพื่อนรักชาวอเมริกันตอนที่ขอโอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันก่อนหน้านี้

มีแขกเหรื่อ เพื่อนที่เข้าใจ เห็นใจเพื่อนมาร่วมในพิธีแต่งงานพอสมควร ถือได้ว่าเวลาในอนาคตของคนรักทั้ง ๔ จะเป็นเครื่องพิสูจน์คำสบประมาท คำครหาทั้งหลาย

คำพูดใดๆ ก็ไม่มีความหมายเมื่อมีความรัก แฝดหนุ่มอิน-จัน ตัวติดกันจากสยามใช้ชีวิตในอเมริกามานาน ๑๔ ปี (มาถึงอเมริกา เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒) เป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ทำไร่ยาสูบ โอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน มีบ้านหรู มีเงินจากการทำมาหาเลี้ยงชีพ วันนี้มีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นตัวเป็นตน เฉกเช่นคนอื่นๆ ได้เหมือนกัน ใครจะทำไม?

แฝดสยาม (Siamese Twins) ตัวติดกันผู้สร้างตำนานรักกึกก้องโลกแต่งงานเมื่ออายุ ๓๒ ปี

หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น รวมทั้งจากรัฐใกล้เคียง เมื่อทราบข่าวการแต่งงานที่เกิดขึ้นจริงท่ามกลางเสียงติเตียน ต่างก็พากันบรรเลงสีสันบรรยายข่าว เล่าข่าวกันแบบหลุดโลก สังคมอเมริกันติดตามข่าวการแต่งงานแฝดสยามอย่างหิวกระหาย

บ้านของแฝดอิน-จัน ที่สร้างขึ้นมาก่อนนั้น เป็นเรือนหอที่สร้างรอรักมานาน สื่อมวลชนทั้งหลายแย่งกันเล่นข่าวแบบเมามัน ถ้อยคำวาบหวามร้อนแรงเหมือนไปเห็นมากับตา ถึงขนาดบรรยายว่า

เตียงสำหรับ ๒ คู่ชู้ชื่น ที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน ๔ คนเสมอนั้น เป็นเตียงขนาดพิเศษที่เสริมความมั่นคงแล้ว (super-sized reinforced bed)

ท่านผู้อ่านที่เคารพคงไม่ปฏิเสธนะครับ ว่าเค้าต้องนอนรวมกัน ๔ คน เตียงมันก็ต้องแข็งแรง และใหญ่เป็นพิเศษหน่อย แล้วเค้าทั้ง ๔ คนเป็นสามีภรรยากัน ไม่ใช่ที่นอนทารกจะมานอนกินนม

ในที่สุดเมื่อบุคคลทั้ง ๔ ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว และทำตามกฎหมายทุกประการ เพื่อนบ้านชาวเมืองก็ทำได้แต่เพียงติฉินนินทา ซึ่งต้องขอใช้ศัพท์ว่ายังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาแบบด่าไม่เลิก แต่การวิพากษ์วิจารณ์จะออกไปในแนวของการล้อเลียน ติดตลก ขำขัน

คําว่า Siamese Twins เพิ่มน้ำหนักการรับรู้ให้กับสังคมในอเมริกาเป็นทวีคูณ หนังสือพิมพ์จากรัฐต่างๆ ในอเมริกา เดินทางมาสัมภาษณ์ มาทำสกู๊ปข่าวกันอย่างต่อเนื่องด้วยความรู้สึกว่า แฝดตัวติดกันคู่นี้มีหัวนอนปลายตีนเช่นไร และเหตุไฉนสองสาวน้อยแห่งแทรปฮิลจึงยินยอมที่จะใช้ชีวิตสมรสแบบพิสดารเยี่ยงนี้

ในมุมมองด้านลบต่อการสมรสของหนุ่มสาวทั้ง ๔ ก็ยังคงรบกวนจิตใจจิกกัดไม่เลิก หนังสือ The Two ของ Wallace เขียนไว้ชัดเจนว่า ความรู้สึกของเจ้าถิ่น คนขาวชาวอเมริกันตอนนั้นเห็นว่าการแต่งงานของบุคคลทั้ง ๔ คือการทำผิดจารีตประเพณีของสังคมอย่างร้ายแรง

จารีตที่กำหนดขึ้นมาในอเมริกายุคนั้น เพื่อกีดกันการสมรสระหว่างนิโกร ผิวดำ กับผู้หญิงผิวขาว และยังขัดขวางการสมรสระหว่างผู้ชายอินเดียนแดงกับผู้หญิงผิวขาวโดยเฉพาะ

ผู้เขียนค้นเอกสารหลายสำนักในอดีต โดยเฉพาะเอกสารเก่าของอเมริกาทั้งหลายที่บันทึกไว้แบบมีเหตุมีผล

สรุปได้ว่า การสมรสดังกล่าวเป็นสิ่งที่แหกกฎเกณฑ์เรื่องสีผิว เป็นการสมรสข้ามเผ่าพันธุ์ เป็นการสมรสกับบุคคลที่มีความผิดปกติของร่างกาย

สำหรับชาวเอเชียทั้งหลายไม่มีใครที่จะเดินทางเข้าไปตั้งหลักแหล่งตอนในของทวีปอเมริกาแบบอิน-จัน ชาวเอเชียโดยเฉพาะชาวจีนโดยมากจะปักหลักตามเมืองท่า เป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นกรรมกร เป็นพลเมืองชั้นสอง แต่แฝดสยามจากแม่กลองคู่นี้ฉีกกฎเหล็กทุกข้อขึ้นมาเทียบชั้นกับเจ้าถิ่นคนขาวเจ้าของประเทศ

แฝดสยามคือคนต่างเผ่าพันธุ์ คือคนต่างถิ่น คือคนที่มีกายภาพไม่ปกติ มันก็ต้องรังเกียจเดียดฉันท์กันหน่อย

ถ้าจะต้องวาดภาพความเป็นอยู่ของแฝดอิน-จัน ต้องดูกันที่บ้านช่องห้องหอ บ้านที่แฝดช่วยกันสร้างขึ้นมาเป็นบ้านขนาดใหญ่ มีฉากหลังเป็นภูเขาสวยงามตามตำรา มีปล่องไฟ ๒ ปล่อง มีหน้าต่างกระจกรับแสงแดดขนาดใหญ่ รูปทรงบ้านไม่เป็นสองรองใครในชุมชน

ข้าวของเครื่องใช้ในครัว ของใช้ทั้งหลายเป็นของที่ไปซื้อมาจากนิวยอร์ก ช้อนส้อมเป็นเงิน แก้วน้ำ ถ้วยโถโอชามเป็นของดีมีราคา แฝดคู่นี้ชอบเลี้ยงเพื่อนฝูงผู้มาเยือนไม่ขาดสาย

แปลเป็นภาษาไทยว่า แฝดคู่นี้มีความเป็นอยู่แบบคนมีอันจะกิน เหนือชั้นกว่าเพื่อนบ้านทั้งหลายเลยทีเดียว

ก็นับว่าพี่น้องสองสาวได้สองคหบดีต่างสีผิว ต่างเผ่าพันธุ์ มาเป็นสามี ใช้ชีวิตมีระดับแนวหน้าในท้องถิ่น แฝดสยามมิได้รักกันหนาพากันหนีไปกัดก้อนกินเกลือให้ลำบากเหมือนความรักในหนังมนต์รักลูกทุ่งแต่อย่างใด

อันที่จริง ตอนต้นๆ ของบทความนี้ผู้เขียนเคยนำเสนอไปแล้วเรื่องที่แฝดไปแสดงตัวในอังกฤษ แล้วแฝดจันไปพบรักกับสาวอังกฤษที่ขอรวบหัวรวบหางกินกลางตลอดตัว แต่งงานด้วยแบบ ๑ รุม ๒ เป็นที่ฮือฮามาแล้วในลอนดอน แต่ครั้งกระนั้น อิน-จัน ยังไม่มีหลักแหล่ง ไม่มีเงิน ยังไม่หล่อ ยังไม่มีสถานะที่จะไปใช้ชีวิตร่วมกับใครได้เลย เป็นความรักแบบรักหมารักแมว

ย้อนเวลาไป ๑๗๓ ปีนะครับ ว่าคุณทวดอิน-จันของชาวสยามไปเลือกมีเมียฝรั่งหน้าตาแบบไหน หนังสือของ โจเซฟ เอ. ออเซอร์ บรรยายไว้ดังนี้

ซาร่าห์ เป็นคนเรียบง่าย ประหยัด อดออม ทำอาหารเก่ง ทำอาหารอร่อยมาก ผมสีน้ำตาล ฟันขาวเป็นระเบียบสวยงาม นัยน์ตาสีน้ำตาลอมแดง เธอไม่ได้รับการศึกษา รูปร่างเจ้าเนื้อ ค่อนข้างท้วม เมื่อแต่งงานแล้วเป็นคุณนายเอ็ง (Mrs. Eng)

แอดิเลด รูปร่างสูงกว่าพี่สาวเล็กน้อย ผอมเพรียว ฉลาดเฉลียว แต่งตัวดูประณีตสวยงาม งามสง่าและสวยกว่าพี่สาว ก่อนแต่งงานมีหนุ่มๆ คาวบอยมาขายขนมจีบมากหน้าหลายตา เมื่อแต่งงานแล้วเป็นคุณนายจัน (Mrs. Chang)

ท่านผู้อ่านกรุณาดูในภาพนะครับ

ในประเด็นของชีวิตส่วนตัว มีแต่การคาดเดาจากเพื่อนมนุษย์ในสังคมมะริกันว่าคงทำอย่างนั้น คงเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องเพศรส ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าตัวแฝดติดกันมีท่อนเนื้อยาวประมาณ ๖นิ้ว เหมือนกระบอกข้าวหลามเชื่อมต่อ การขยับตัวของแต่ละคนคงทำได้ในลักษณะจำกัด ไม่มีความเป็นอิสระจากกันแน่นอน การแสดงความรัก การมีเพศสัมพันธ์ในแบบของมนุษย์ปกติทั่วไป คงทำไม่ถนัดถ้าขาดความร่วมมือ ร่วมแรง

นั่นย่อมหมายความว่า พี่น้องสองสาว ซาร่าห์และแอดิเลด อาจจะต้องยินยอมพร้อมใจด้วยเช่นกัน หมายความว่า น่าจะต้องเกิด ๔ ประสานเท่านั้น นี่แหละคือสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายกระหาย กระเหี้ยนกระหือรืออยากรู้ ใจจะขาด

๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๘๗ (ราว ๙ เดือนเศษถัดมา) สมาชิกใหม่ของครอบครัว ลูกครึ่งไทย-อเมริกันของแท้รุ่น ๑ ได้ออกมาลืมตาดูโลก เป็นลูกสาวของอิน-ซาร่าห์ ตั้งชื่อว่า แคเธอรีน มาร์เซลลัส (Catherine Marcellus) เธอได้รับการจารึกว่าเป็นลูกครึ่งสยาม-อเมริกัน คนแรกในประวัติศาสตร์

๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๘๗ สมาชิกใหม่คนที่ ๒ คลานตามออกมาลืมตาดูโลก เป็นลูกสาวของจัน-แอดิเลด ตั้งชื่อว่า โจเซฟฟิน เวอร์จิเนีย (Josephine Virginia)

วันที่คลอดออกมาห่างกัน ๖ วัน เป็นการบ่งบอกถึง การปฏิสนธิของชีวิตเด็กน้อยในครรภ์ของ ซาร่าห์ และแอดิเลดว่า เริ่มต้นใกล้เคียงกันมาก หรืออาจจะเริ่มพร้อมๆ กัน

คุณปู่ทวด อิน-จัน บรรพบุรุษ สุภาพบุรุษของชาวสยามท่านคำนวณแม่นมีโรดแมปชัดเจนจริงๆ

ความเหนื่อยยากผสมผสานกับความปลื้มปีติของครอบครัวบังเกอร์อีกประการหนึ่ง คือ การมีคนมาเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะนักเขียน นักข่าว ที่ขอมาเป็นแขกทานอาหาร พูดคุย มาขอพักอยู่กับครอบครัวเพื่อเขียนเรื่องราวของครอบครัวนี้

และผ่านไป ๔ ปี อิน-จันและภรรยา ๒ พี่น้อง ให้กำเนิดลูกอีกฝ่ายละ ๔ คน สมาชิกในบ้านหลังนี้อุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งบ้านเต็มไปด้วยเด็กเล็กไล่เลี่ยกันแบบหัวปีท้ายปี

อิน-จันและภรรยา ๒ พี่น้องได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า นี่คือรักแท้ของคนธรรมดา ลูกที่เกิดมาทุกคนมีอวัยวะครบถ้วน ไม่มีใครพิกลพิการ หรือเป็นภูตผีปีศาจแต่อย่างใด

ผู้เขียนพยายามเสาะหา เรื่องส่วนตัวที่ทุกท่านต้องการความกระจ่างว่า ทั้ง ๔ คนมีรูปแบบความสัมพันธ์ทางเพศอย่างไร

ต้องย้อนกลับไปอ้างอิงข้อมูลของแพทย์ที่เคยตรวจและทดสอบความรู้สึกทางเพศของแฝดทั้งสองตอนที่มาถึงอเมริกาใหม่ๆ ว่า ความรู้สึกทางเพศของแฝดแยกออกจากกัน แฝดคนหนึ่งจุมพิตสาว แฝดอีกคนจะไม่ได้เสียวซ่านแต่อย่างใด

ผู้เขียนค้นหาจากหนังสือ เอกสารทุกชิ้นในอดีตในภาษาอังกฤษ และภาษาไทยบางส่วน เพื่อตอบโจทย์ที่แฟนคลับเรียกร้องให้นำมาบอกเล่าให้หนำใจ ให้บรรยายภาพ กลิ่น รส และเสียง เหมือนกับได้ไปแอบอยู่ใต้เตียงนอนของแฝด ผู้เขียนก็จนใจจริงๆ ครับ ฝรั่งผู้เขียนหนังสือในอดีตก็มีเพียงข้อมูลจากการคาดเดา มีจินตนาการในลีลาหลากหลาย

มีข้อมูลบางเบาชิ้นหนึ่งระบุเพียงว่า ตอนอยู่บนเตียงแฝดทั้งสองน่าจะใช้ผ้ากั้นสายตาป้องกันการขวยเขิน

บ้างก็มโนไปทั้ง ๔ ไม่ได้ปิด ไม่ได้บังอะไรกันเลย เพราะทุกคนรับสภาพและทุกคนสนิทสนมกันเป็นอย่างดี ซึ่งก็อาจจะเป็นบรรยากาศของความรักสามัคคี ที่จับต้องได้

ลูกที่ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันข้างละ ๔ คน เป็นคำตอบทางวิทยาศาสตร์ว่า ก็ถ้าเริ่มมีเพศสัมพันธ์พร้อมๆ กันก็น่าจะคลอดออกมาไล่เลี่ยกัน

ไม่ใช่มีลูกแค่นี้นะครับ ในช่วงท้ายก่อนปิดโรงงานผลิตเด็ก คู่รักบันลือโลกคู่นี้มีลูกรวม ๒๑ คน ถ้าใช้ศัพท์การตลาด ต้องเรียกว่า แฝดสยามลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ จริงใจ แจกไม่อั้น ใจดีสุดสุด

ลูกดกถี่ยิบขนาดนี้ คงไม่ได้ใช้ผ้าบังกั้นฉากแน่นอน

เมื่อไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นเรื่องแบบนี้ และคุณปู่ทวดอิน-จัน ของชาวสยามก็ไม่เคยมาเปิดใจ เราคงต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของท่านทั้งหลาย ที่จะไม่ก้าวล่วงบรรพบุรุษสยาม

มาถึง พ.ศ.๒๕๕๙ นี้ จากแฝดสยามจากแม่กลองคู่นี้ แต่งงานกับพี่น้องสองสาวอเมริกันในปี พ.ศ.๒๓๘๖ มาจนถึงปัจจุบันได้ขยายวงศ์ตระกูล แตกหน่อเป็นลูก หลาน เหลน โหลน นับได้ราว ๑,๕๐๐ คนอยู่ในอเมริกาครับ มีการเลี้ยงรวมญาติประกาศตัวกันชัดเจน

ผู้เขียนวิงวอนขอให้พี่น้องชาวเมืองสมุทรสงคราม ตามหาญาติพี่น้อง ของแฝดอิน-จัน ที่ต้องมีการสืบวงศ์ตระกูลต่อมาถึงปัจจุบันแน่นอน ถ้าเริ่มการสืบหาได้เค้าลาง เมืองสมุทรสงครามจะมีนักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศ และในประเทศอีกมหาศาล

กลับมาที่เรื่องของบรรพบุรุษสยามที่ดังสนั่นอเมริกาเมื่อราว ๑๗๓ ปีที่แล้วครับ

ในช่วงเวลาต่อมา ข่าวหนังสือพิมพ์ที่ถูกนำเสนอออกไปสู่สาธารณชน พลิกกลับเป็นกระแสยกย่องสรรเสริญความเป็นสุภาพบุรุษ ความมีน้ำใจ ความเป็นชาวเอเชียที่ขยันขันแข็ง ที่สำคัญที่สุดคือ แฝดสยามคู่นี้เป็นพลเมืองน้ำดีของสหรัฐอเมริกา

วันเวลาและพฤติกรรมดีที่ผ่านไปได้พิสูจน์ว่าแฝดอิน-จัน คือพลเมืองดีของชุมชน เป็นพลเมืองดีของสหรัฐ แฝดทั้งสองตามภรรยาไปเข้าโบสถ์สวดมนต์แบบคริสต์ มีน้ำใจ ช่วยเหลือสังคม ต้อนรับขับสู้ผู้คนทั้งหลายจนกระทั่งชนะใจชาวเมือง

ซาร่าห์และแอดิเลด สองศรีพี่น้องมีลูกคนละ ต้องทำงานหนัก เลี้ยงดูลูกทั้งสองฝ่าย ทำอาหาร ดูแลสามี แฝดสยามเคยได้รับของขวัญวันแต่งงานเป็นหญิงผิวดำชื่อ เกรซ เกทส์ (Grace Gates) มาเป็นทาสในบ้านเพื่อดูแลงานและช่วยเลี้ยงลูก นอกจากนั้นครอบครัวบังเกอร์ยังมีทาสผิวดำอีกจำนวนหนึ่งทำงานในไร่ดูแลพืชผลการเกษตร

บรรยากาศในบ้านดูเหมือนจะไม่ราบรื่น บ้านหลังใหญ่ที่อยู่ในปัจจุบันเริ่มกลายเป็นบ้านหลังเล็ก เพราะมีเด็กจาก ๒ ท้องเกิดเพิ่มมาไล่เลี่ยกันถึง ๘ คน แต่หลังจากคลอดลูกไล่เลี่ยกัน ๔ คู่ ครอบครัวบังเกอร์มีการจัดระเบียบ คุมกำเนิดให้ตั้งท้องสลับกัน เพื่อแบ่งเบาภาระการงานทั้งปวง ซึ่งการคลอดลูกคนต่อๆ มาก็เป็นไปตามแผนทุกประการ

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป แต่ถ้าขืนอยู่กันแน่นในบ้านแบบปรากระป๋องเช่นนี้ เห็นจะต้องเกิดเรื่องทะเลาะกันเป็นแน่แท้ เพราะลูกๆ กำลังเข้าคิวกันมาเกิดอีกจำนวนมาก


ชีวิตครอบครัวบังเกอร์จะดำเนินไปอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ




• รวมกันตายหมู่-แยกกันอยู่บ้านละ ๓ วัน

แฝดสยามอิน-จันจากเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม แต่งงานกับพี่น้องสองสาวอเมริกัน ซาร่าห์และอาดีเลด ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรในชนบท ณ เขตปกครองแทรปฮิลล์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา อย่างสมบูรณ์พูนสุข วันเวลาผ่านไป เพื่อนใกล้ไกลในชุมชนส่งเสียงสรรเสริญความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นคนขยันทำมาหากิน เป็นพลเมืองต่างเผ่าพันธุ์ เป็นประชากรน้ำดีของสหรัฐอเมริกา เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นพ่อที่ดีของลูกๆ ที่สร้างครอบครัว มีลูก ๒ ท้อง ๘ คน วิ่งเล่นในบ้าน

เหตุผลหลักที่อิน-จันโอนสัญชาติเป็นพลเมืองสหรัฐ ซื้อที่ดิน ปักหลักสร้างครอบครัวในชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐนอร์ธแคโรไลนาตรงนี้ เพราะต้องการปลีกตัวจากสังคมเมืองที่ทุกสายตาจ้องมองมาที่ร่างกายของแฝดที่ไม่เป็นปกติ ไปไหนก็มีแต่คนจ้อง (ตัวติดกัน) นอกจากนั้นแฝดสยามคู่นี้คงมีวิสัยทัศน์มองเห็นอนาคตตัวเองที่จะต้องมีครอบครัว มีลูก คงนึกเบื่อ สะอิดสะเอียนกับสายตาที่เยาะเย้ยแบบหมาหยอกไก่ เบื่อการตอบสารพัดคำถามจากผู้คนทั้งหลาย และคงนึกสงสารลูกมีพ่อที่ร่างกายแปลกไปจากมนุษย์ธรรมดา

ในหนังสือบันทึกตำนาน The Lives of Chang and Eng (ชีวิตอิน-จัน) ระบุว่าแฝดคู่นี้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬากลางแจ้ง ไม่ปรากฏว่าแฝดสยามคู่นี้เคยเจ็บป่วยแต่ประการใดในการใช้ชีวิตในอเมริกา อิน-จันเป็นเกษตรกรเต็มตัว ทุ่มเทการทำงานสร้างรายได้จากไร่ยาสูบ ข้าวสาลี ข้าวโพด เลี้ยงวัวเนื้อ วัวนม เลี้ยงแกะและหมู

ความเป็นเด็กสู้ชีวิตจากชนบทจากเมืองแม่กลอง ส่งผลให้แฝดทำงานในไร่ได้สารพัด เป็นที่ประหลาดใจของเพื่อนอเมริกันที่แวะมาเยี่ยมเยือน เพราะมีมโนภาพว่าอิน-จันคือคนพิการ ไร้ค่า

กิจกรรมที่ประทับใจมิตรสหายมะริกันคือ อิน-จันจะแบกขวานเข้าป่าแล้วใช้ขวานฟันต้นไม้ แบบสลับฟัน หรือฟันคู่ ทั้งสองคนจะใช้ขวานทั้งสองด้ามฟันลงไปยังต้นไม้ทั้งสองข้างซ้าย-ขวา ต้นไม้จะโค่นลงอย่างรวดเร็วเป็นสองเท่า แฝดจะกระหน่ำขวานแบบมีศิลปะ มีลีลาไม่ซ้ำแบบใครทั้งนั้น ผู้คนนำไปเล่าสู่กันฟังและต่างก็อยากมาดูด้วยตา นอกจากนั้น อิน-จันยังเป็นนักล่าสัตว์ ที่มีฝีมือไม่เป็นสองรองใคร

บ้านที่ปลูกขึ้นมาหลังแรกลุล่วงจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนคู่สู้ชีวิต แม้กระทั่งตอนขึ้นไปมุงหลังคาบ้าน คนตัวติดกัน ๒ คนปีนขึ้นที่สูงช่วยกันทำงานแบบสอดประสาน ผู้คนที่ผ่านไปมาชอบอกชอบใจ หัวเราะกันเป็นภาษาอังกฤษเอิ๊กอ๊ากที่เห็นการแสดงสดตัวเป็นๆ ของแฝดบนหลังคา

แฝดอิน-จัน และครอบครัวและลูกๆ ได้สร้างความรู้สึกด้านบวก เป็นมิตรกับเพื่อนอเมริกันในชุมชน

ในฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ.๒๓๘๙ ความอุ่นหนาฝาคั่งของสมาชิกตัวน้อยๆ ในครอบครัวจำนวน ๑๒ คน เริ่มกลายเป็นความแออัดในบ้าน แฝดอิน-จันปรึกษาภรรยา ตกลงใจไปซื้อที่ดินอีกแปลงเพื่อปลูกบ้านที่ห่างออกไปราว ๔๐ ไมล์

ครอบครัวบังเกอร์สู้ชีวิตปลูกบ้านใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม เพราะยังต้องการมีลูกเพิ่มอีก (หลังจากมีลูกแล้วท้องละ ๔ คน) ที่ดินผืนใหม่อยู่ในย่านเซอร์รี่เคาน์ตี้ (Surry County) ใกล้เมืองเมาท์แอรี่ (Mt. Airy) ส่วนบ้านหลังเก่าที่แทรปฮิลล์ยังคงเก็บไว้ ครอบครัวบังเกอร์ปลื้มใจที่สุดคือ ลูกๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเหล่านี้จะได้ไปโรงเรียน อ่านออกเขียนได้

อิน-จัน คนคู่ แสดงฝีมือสร้างบ้านอีกครั้งด้วยแรงงานของตนเอง มีนักข่าวที่เกาะติดกับชีวิตครอบครัวบังเกอร์ตามมาเมียงมองการใช้ชีวิตทุกแง่มุม มีบ้างที่ขอสาระแนสอดรู้สอดเห็นเรื่องส่วนตัว แต่สิ่งที่ได้พบเห็นคือ อิน-จัน เป็นชาวเอเชียที่มีทักษะความเป็นช่าง โดยเฉพาะช่างไม้ งานก่อสร้างทั้งปวง

ในเรื่องการเกษตร ดูเหมือนจะไม่มีอุปสรรคใดๆ เลยสำหรับแฝดคู่นี้ในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรในการทำงาน การติดต่อทางธุรกิจซื้อขายพืชผล แฝดทำได้กลมกลืนและมีรายได้พอเพียงเลี้ยงครอบครัว

แฝดสยามที่เป็นบรรพบุรุษของเราคู่นี้ ตั้งแต่เกิดจากท้องนางนากและพ่อตีอายที่เมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม ไม่เคยได้ไปโรงเรียนนะครับ แต่ตอนนี้อยู่อเมริกา ทำการเกษตรทำธุรกิจ มีเงินฝากธนาคารในนิวยอร์ก รวมทั้งภรรยาอเมริกันสองพี่น้องซาร่าห์และอาดีเลดก็แทบจะไม่ได้เรียนหนังสือ

แฝดเอาจริงเอาจังกับงานเพาะปลูก มีหลักฐานระบุว่าแฝดคู่นี้เป็นผู้ร่วมบุกเบิกปลูกใบยาสูบพันธุ์เขียวตองอ่อน (Bright Leaf) ที่นำใบยามามวนเป็นบุหรี่ได้เลย แถมยังต่อยอดซื้อเครื่องรีดใบยามาใช้ในไร่อีกต่างหาก

อิน-จัน บังเกอร์ ใช้ชีวิตแบบลงตัว ตามวิถีชีวิตชาวชนบทในรัฐนอร์ธแคโรไลนา อิน-จัน จะติดตามภรรยาไปโบสถ์เป็นบางครั้งในเช้าวันอาทิตย์ ชาวชนบทในอเมริกาในยุคนั้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ แทบไม่ใคร่จะรู้จักคนเอเชีย หรือหน้าตาของพุทธศาสนาเท่าใดนัก ถ้าจะพูดกันแฟร์ๆ ต่างคนต่างก็ไม่รู้จักกัน

มีเกร็ดตำนานที่นักข่าวของหนังสือพิมพ์ The Southerner ไปคุยกับอิน-จัน ที่ตามภรรยาซาร่าห์และอาดีเลดไปโบสถ์ในเช้าวันหนึ่งแล้วตีพิมพ์ความว่า

“คุณมีความเข้าใจในศาสนาคริสต์แค่ไหน? คุณคิดว่าคุณเชื่อศาสนาของเรามั้ย?” นักข่าวยิงคำถาม

“ศาสนาเราไม่เหมือนของคุณ ของคุณทะเลาะกัน เรื่องใครถูก ใครผิด เราไม่เคยทะเลาะกันเรื่องศาสนา” อินตอบนักข่าว

นักข่าวถามต่อ “คุณคิดว่าตายแล้วจะไปไหน?”

“เราไปเกิดเป็นหมู เพราะเราทำบาปเอาไว้ในโลก ต่อไปอาจจะเกิดเป็นม้า หรือเป็นกวาง จนกว่าเราจะสำนึกได้ ก็จะเกิดเป็นสัตว์ที่ดีขึ้น” อินตอบนักข่าว

“ถ้าคุณทำบาป แล้วไปเกิดเป็นม้า แล้วคุณจะต้องไปลากเกวียน ไปไถไร่ข้าวโพด ทำงานหนักด้วยมั้ย?” นักข่าวยิงคำถามต่อ

“เราเชื่อว่าเป็นความจริง ศาสนาสอนเราเช่นนั้น รวมทั้งคนสยามก็เชื่อเช่นนั้น” อินตอบนักข่าวแบบมั่นใจ

“ตอนที่คุณไปโบสถ์ คุณเชื่อสิ่งที่บาทหลวงพูดมั้ย?” นี่เป็นคำถามตรงจากนักข่าวแบบไม่อ้อมค้อม

“บางครั้งบาทหลวงก็พูดไม่จริง” อินไม่ลังเลที่จะตอบนักข่าว

นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Southerner ที่ไปคุยกับแฝดตีพิมพ์เรื่องราวตรงนี้เป็นเรื่องเป็นราว โดยอาศัยมุมมองจากแฝดอิน-จัน ซึ่งถือเป็นคนนอกศาสนาคริสต์ ซึ่งในขณะนั้นมีความแตกแยก บาดหมางในหลักคิดของศาสนา ระหว่างนิกายแบพติสต์ และนิกายเมโธดิสต์ ในสังคมอเมริกายุคนั้น

ส่วนคำตอบของอิน-จันต่อนักข่าว ซึ่งเป็นความเชื่อคนสยามในยุคนั้น สะท้อนให้เห็นชุดความคิดในเรื่องเวรกรรม เรื่องการไม่ทำบาป เป็นเรื่องที่สอนลูกหลานชาวสยามแบบเปิดเผย ผู้ใหญ่สอนเด็ก ครูสอนนักเรียน พระสอนฆราวาสให้ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็เคยได้รับการบอกกล่าวเช่นนั้น

ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป มีการพิสูจน์ตรวจสอบกันมากขึ้น ความเชื่อแนวนี้คงจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เพราะผู้เขียนไม่เคยนำไปสั่งสอนผู้ใด และไม่เคยได้ยินใครมาสั่งสอนเช่นกัน

มีหลักฐานบันทึกว่า อิน-จัน ที่จากบ้านจากเมืองสยามไปอเมริกาเมื่ออายุราว ๑๘ ปีนั้น ได้นำหนังสือชื่อ เรื่องราวเอลียา ซึ่งเป็นผู้ทำนายแห่งพระเจ้า (History of Elijah พิมพ์ในปี พ.ศ.๒๓๙๑) ซึ่งเป็นหนังสือแนวทางคำสอนของศาสนาคริสต์ที่นำมาเผยแพร่ในสยามติดตัวไปด้วยเพียงเล่มเดียว

ในสมัยนั้นสยามเพิ่งเริ่มการพิมพ์หนังสือ และหนังสือที่แจกจ่ายฟรีแก่คนทั่วไปคือคำสอนของศาสนาคริสต์ที่มิชชันนารีลงทุนจัดทำและเผยแพร่ทั่วไป

ในชีวิตประจำวัน อินชอบอ่านบทกลอน บทกวีของอเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope) กวีชาวอังกฤษให้ลูกๆ ฟังอย่างมีความสุขเสมอ ไม่ดื่มเหล้าและชอบอ่านข่าวการเมืองในสหรัฐอเมริกา ส่วนจันเริ่มดื่มสุรามากขึ้น และมากขึ้น กินอาหารรสจัด ชอบเล่นไพ่โป๊กเกอร์แบบดึกดื่นข้ามคืน ในขณะที่อินต้องหลับคาวงไพ่

ครอบครัวบังเกอร์ใช้ชีวิตแบบราบรื่นมาได้ยืนยาวราว ๑๐ ปี สภาพของคนตัวติดกันของพ่อ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่รื่นรมย์นัก ความหงุดหงิด การกระทบกระทั่ง การมีความเห็นต่าง การใช้ชีวิตที่แตกต่างเริ่มปรากฏ ซาร่าห์และอาดีเลดมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก ซาร่าห์ภรรยาของแฝดอินมีน้ำหนักตัวประมาณ ๑๑๕-๑๒๐ กิโลกรัม ส่วนอาดีเลดภรรยาของแฝดจันก็อวบท้วมขึ้นไล่เลี่ยกัน

ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนรักที่ชื่อชาร์ลส์ แฮริส ที่เป็นคนชักนำร่วมคณะการแสดงตัว นำพาแฝดมาถึงจุดนี้ได้เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร กัลยาณมิตรเพียงคนเดียวที่สนิทสนมมานาน ทิ้งให้แฝดและครอบครัวบังเกอร์รู้สึกใจหาย

ความคิดเรื่องการแยกกันอยู่เป็น ๒ บ้านเพื่อลดความแออัดของ ๒ ครอบครัว เป็นประเด็นที่เริ่มพูดคุยกันมากขึ้น

ในที่สุด เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายถ้วนหน้า แฝดอิน-จันและภรรยาแม่ลูกดกทั้งสองจึงตกลงจะแยกบ้าน แบ่งข้าวของเครื่องใช้ แบ่งทรัพย์สินกันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งแต่อย่างใด บ้านที่สร้างใหม่ขึ้นมา ห่างจากบ้านปัจจุบันราว ๑ ไมล์ (๑.๖ กิโลเมตร) ตั้งแต่แฝดเกิดมา นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีการแบ่งสมบัติ

ติดอยู่อย่างเดียว คือตัวพ่อที่ตัวติดกัน แยกไม่ได้ และกฎ ๓ วัน คือคำตอบที่ลงตัวที่สุด

บ้าน ๒ หลัง ๒ ครอบครัว ที่อยู่ห่างกันต้องการพ่อฝาแฝดตัวติดกันที่ไม่สามารถแยกร่างได้ อินและจันจึงตกลงกันว่า

วันจันทร์-อังคาร-พุธ ๓ วันเป็นตารางของแฝดอินที่ได้อยู่กับซาร่าห์และครอบครัวที่บ้านของอิน แฝดจันที่ตัวติดกันก็ต้องหุบปาก ไม่มีปากมีเสียง ไม่มีความเห็นใดๆ ทำตัวเหมือนไม่มีตัวตนในโลกนี้ กระเตงตัวเองให้ความร่วมมือกับอินทุกอย่างโดยไม่มีเงื่อนไข

พฤหัสฯ-ศุกร์-เสาร์ ๓ วันเป็นตารางของจันที่จะได้อยู่กับอาดีเลดและลูกๆ ที่บ้าน แฝดอินต้องทำเหมือนไม่มีตัวตนในโลกนี้ และให้ความร่วมมืออย่างไม่มีข้อแม้ทั้งสิ้นเช่นกัน

นี่คือข้อมูลที่เปิดเผยโดยนายแพทย์วิลเลียม เอช. แพนโคสต์ แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

เพื่อนสนิทของตระกูลบังเกอร์ โดยยอมรับว่าแฝดทั้งสองเคารพกฎ ๓ วันนี้อย่างเคร่งครัดตลอดมาแบบราบรื่นไร้กังวล

แม้กระทั่งเรื่องบนเตียง ยามมีเพศสัมพันธ์

น่าทึ่งมากนะครับ สำหรับตำนานชีวิตครอบครัวสุดแสนโรแมนติกแนวปรองดอง ที่ปู่ทวดอิน-จันของชาวสยามได้สร้างไว้ และทั้งหมดคือความจริงที่ประคับประคองชีวิตคู่ให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

การแยกบ้านและกฎ ๓ วันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับลูกๆ ของครอบครัวแฝด เริ่มมีการทำบัญชีแบ่งเงินรายได้ แบ่งที่ดิน และทรัพย์สินอื่นๆ แฝดทั้งสองค้าขายกันเอง เช่นครั้งหนึ่ง แฝดจันเคยขายทาสสาวนิโกรให้อินในราคา ๘๐๐ เหรียญ

ถึงขนาดแยกกันอยู่ ๒ บ้าน แบบผลัดกันคนละ ๓ วัน ในที่สุดความรักที่ยิ่งใหญ่ได้สร้างทายาท

อินและซาร่าห์มีลูกด้วยกันทั้งสิ้น ๑๑ คน
จันและอาดีเลดมีลูกด้วยกันทั้งสิ้น ๑๐ คน

รวม ๒ ท้องพี่น้องไทย-อเมริกัน รุ่น ๑ ของแท้โดยแฝดเมืองแม่กลอง เมดอิน USA รวม ๒๑ คน

ลูกของจันกับอาดีเลด เสียชีวิต ๑ คน

ครอบครัวขนาดมหึมา บ้านช่อง ทรัพย์สินที่ดินทั้งหลายที่เป็นรูปธรรมหามาได้ในอเมริกา เป็นการตัดสินได้เลยว่า แฝดอิน-จันจากเมืองแม่กลองไม่มีโอกาสกลับไปหาแม่ที่เมืองแม่กลองแน่นอน

ความมีอันจะกินบวกกับความมีน้ำใจของแฝดสยามที่คนอเมริกันเองยังยกย่องชมเชยคือ แฝดอิน-จัน บังเกอร์ได้บริจาคที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อก่อสร้างโบสถ์ ชื่อ White Plains Baptist Church แถมยังเป็นช่างก่อสร้างให้ด้วย โบสถ์แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมจิตใจของชุมชน ทั้งๆ ที่แฝดจากสยามคู่นี้ไม่เคยประกาศตนเป็นคริสต์ ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๙) โบสถ์แห่งนี้ยังคงความสวยงาม ยืนตระหง่านปรากฏต่อสายตาของลูก หลาน เหลน โหลน ตระกูลบังเกอร์และประชาชนทั่วไป

การเป็นเกษตรกรของแฝดที่ผ่านมา รวมถึงการเลี้ยงลูกทั้งสองครอบครัว แฝดชาวเอเชียคู่นี้มีทาสนิโกรผิวดำเป็นผู้ช่วยในไร่เสมอมา ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดแฝดอิน-จันเป็นเจ้าของทาสนิโกร ๒๘ คน โดยปลูกกระท่อมให้พักอาศัย ๔ หลังในพื้นที่ใกล้เคียง

แน่นอนที่สุด ในความขัดแย้งของสังคมในอเมริการะหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้เรื่องทาสนั้น อิน-จัน บังเกอร์สนับสนุนการมีและการใช้ทาสนิโกรผิวดำสนิท ผมหยิกหยอยทั้งชายหญิง

การครอบครองทาสในรัฐทางใต้ของอเมริกาในยุคนั้น เป็นเรื่องของคนผิวขาวอเมริกันเท่านั้น

อิน คือ คนที่มีน้ำใจ เมตตาปรานีต่อทาส แต่จันเข้มงวดและโหดในการปฏิบัติต่อทาสทั้งปวงในเวลาทำงาน จนกลายเป็นประเด็นร้อนในอเมริกา…

3157  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / Re: พระปริตรธรรม ๑๒ ตำนาน เมื่อ: 19 เมษายน 2559 15:09:48


ภาพประกอบตำนานขันธปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานขันธปริตร

ขันธปริตร คือพระปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล และเจริญเมตตาแก่สรรพสัตว์ มีประวัติว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด เหล่าภิกษุได้กราบทูลความนี้แด่พระพุทธองค์ พระองค์ตรัสว่า ภิกษุนั้นถูกงูกัดเพราะไม่ได้แผ่เมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล ผู้แผ่เมตตาแก่พญางูเหล่านั้นจะไม่ถูกงูกัด แล้วตรัสสอนให้แผ่เมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล คือ งูตระกูลวิรูปักษ์ งูตระกูลเอราบถ งูตระกูลฉัพยาบุตร และงูตระกูลกัณหาโคดม

ในอรรถกถาชาดกมีประวัติดังนี้ เมื่อภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราเคยสอนขันธปริตรในขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ คือเมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นฤๅษีที่ป่าหิมพานต์ ได้พำนักอยู่ร่วมกับฤๅษีเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้นมีฤๅษีตนหนึ่งถูกงูกัดเสียชีวิต จึงสอนขันธปริตรแก่พวกฤๅษีเพื่อป้องกันภัยจากอสรพิษ

ขันธปริตร
๑.วิรูปักเขหิ เม เมตตัง   เมตตัง เอราปะเถหิ เม
   ฉัพฺยาปุตเตหิ เม เมตตัง   เมตตัง กัณหาโคตะมะเกหิ จะ.

ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลวิรูปักษ์  ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลเอราบถ ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลฉัพยาบุตร ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลกัณหาโคดม

๒.อะปาทะเกหิ เม เมตตัง   เมตตัง ทฺวิปาทะเกหิ เม
   จะตุปปะเทหิ เม เมตตัง   เมตตัง พะหุปปะเทหิ เม.

ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในสัตว์ไม่มีเท้า ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในสัตว์สองเท้า  ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตใจสัตว์สี่เท้า ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในสัตว์ที่มีเท้ามาก

๓.มา มัง อะปาทะโก หิงสิ   มา มัง หิงสิ ทฺวิปาทะโก
   มา มัง จะตุปปะโท หิงสิ   มา มัง หิงสิ พะหุปปะโท.

สัตว์ที่ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า สัตว์ที่มีสองเท้าอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า  สัตว์ที่มีสี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า และสัตว์ที่มีเท้ามากอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า

๔.สัพเพ สัตตา สัพเพ ปาณา   สัพเพ ภูตา จะ เกวะลา
   สัพเพ ภัทฺรานิ ปัสสันตุ   มา กัญจิ ปาปะมาคะมา.

ขอสัตว์ทั้งปวง ปราณชาติทั้งปวง สัตว์ที่เกิดแล้วทั้งปวงทั้งหมด จงประสบความเจริญทุกผู้ ขอความทุกข์อย่าได้เข้าถึงใครๆ เลย

๕.อัปปะมาโณ พุทโธ,   อัปปะมาโณ ธัมโม,
   อัปปะมาโณ สังโฆ,   ปะมาณะวันตานิ สะรีสะปานิ,
   อะหิ วิจฉิกา สะตะปะที   อุณณะนาภิ สะระพู มูสิกา.

พระพุทธเจ้าทรงพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมทรงพระคุณหาประมาณมิได้ พระสงฆ์ทรงพระคุณหาประมาณมิได้ แต่สัตว์เลื้อยคลาน คือ งู แมงป่อง ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก และหนู เป็นสัตว์ที่ประมาณได้

๖.กะตา เม รักขา. กะตัง เม ปะริตตัง. ปะฏิกกะมันตุ ภูตานิ. โสหัง นะโม ภะคะวะโต, นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานัง.
ข้าพเจ้าได้คุ้มครองตนแล้ว ข้าพเจ้าได้ป้องกันตนแล้ว เหล่าสัตว์จงหลีกไป ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์.




ภาพประกอบตำนานโมรปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานโมรปริตร

โมรปริตร คือปริตรของนกยูง เป็นพระปริตรบทหนึ่งที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมพระพุทธคุณมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี มีประวัติว่า สมัยหนึ่ง ครั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทองอาศัยอยู่บนเขาทัณฑกหิรัญบรรพต ในป่าหิมพานต์ พระโพธิสัตว์ได้เพ่งดูพระอาทิตย์ในเวลาพระอาทิตย์อุทัย แล้วร่ายมนต์สาธยายสองคาถาแรกว่า อุเทตะยัง เป็นต้น แล้วจึงออกแสวงหาอาหาร ครั้นกลับจากการแสวงหาอาหารในเวลาพระอาทิตย์อัสดง ก็เพ่งดูพระอาทิตย์พร้อมกับร่ายมนต์สาธยายสองคาถาหลังว่า อะเปตะยัง เป็นต้น นกยูงทองจึงแคล้วคลาดจากอันตรายทุกอย่างด้วยมนต์บทนี้

วันหนึ่งพรานป่าจากหมู่บ้านใกล้เมืองพาราณสีได้พบนกยูงทองโดยบังเอิญ จึงบอกความนั้นแก่บุตรของตน ขณะนั้นพระนางเขมาเทวีมเหสีพระเจ้าพาราณสี ทรงพระสุบินว่า พระนางเห็นนกยูงทองแสดงธรรมอยู่ จึงกราบทูลพระสวามีว่าทรงประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงทอง ท้าวเธอจึงรับสั่งให้พรานป่าสืบหา พรานป่าที่เคยได้ยินคำบอกเล่าของบิดาได้มากราบทูลว่า นกยูงทองมีอยู่จริงที่เขาทัณฑกหิรัญบรรพต ท้าวเธอจึงทรงมอบหมายให้เขาจับนกยูงทองมาถวาย

พรานป่าคนนั้นได้เดินทางไปป่าหิมพานต์ แล้ววางบ่วงดักนกยูงทองไว้ทุกแห่งในที่นกยูงหาอาหาร แม้เวลาผ่านไปถึง ๗ ปีเขาก็ยังจับไม่ได้ เพราะนกยูงทองแคล้วคลาดบ้าง บ่วงไม่แล่นบ้าง จนในที่สุดพรานป่าได้เสียชีวิตอยู่ในป่านั้น ฝ่ายพระนางเขมาเทวีก็ประชวรสิ้นพระชนม์ เพราะเสียพระทัยที่ไม่สมพระประสงค์ พระเจ้าพาราณสีจึงทรงพิโรธแล้วได้รับสั่งให้จารึกอักษรลงในแผ่นทองว่า ผู้กินเนื้อนกยูงทองที่เขาทัณฑกหิรัญบรรพต จะไม่แก่ไม่ตาย ต่อมาภายหลังไม่นานพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ พระราชาองค์อื่นที่ทรงครองราชย์สืบต่อมาทรงพบข้อความนั้น จึงทรงส่งพรานป่าไปจับนกยูงทอง แต่ไม่มีใครสามารถจับได้ กาลเวลาได้ล่วงเลยไปจนเปลี่ยนพระราชาถึง ๖ พระองค์

ครั้นถึงสมัยพระราชาองค์ที่ ๗ พระองค์ก็รับสั่งให้พรานป่าไปจับนกยูงทองนั้นอีก พรานคนนี้ฉลาดหลักแหลม สังเกตการณ์อยู่หลายวันก็รู้ว่า นกยูงทองไม่ติดบ่วงเพราะมีมนต์ขลัง ก่อนออกหาอาหารจะทำพิธีร่ายมนต์ จึงไม่มีใครสามารถจับได้ เขาคิดว่าจะต้องจับนกยูงทองก่อนที่จะร่ายมนต์ จึงได้นำนางยูงตัวหนึ่งมาเลี้ยงให้เชื่อง แล้วส่งเสียงร้อง นกยูงทองเมื่อได้ยินเสียงนางนกยูง ก็ลืมสาธยายมนต์คุ้มครองตน เผลอตัวบินไปหานางนกยูงโดยเร็ว จึงติดบ่วงที่ดักไว้ ครั้นแล้วพรานป่าได้นำนกยูงทองพระโพธิสัตว์ไปถวายพระเจ้าพาราณสี

เมื่อพระโพธิสัตว์เข้าเฝ้าพระเจ้าพาราณสีแล้ว ได้ทูลถามว่า “เพราะเหตุไรพระองค์จึงจับหม่อมฉันมา”
ท้าวเธอตรัสว่า “เพราะมีจารึกว่าผู้กินเนื้อนกยูงทอง จะไม่แก่ ไม่ตาย”
พระโพธิสัตว์ทูลว่า “ผู้กินเนื้อหม่อมฉันจะไม่ตาย แต่หม่อมฉันจะต้องตายมิใช่หรือ”
ท้าวเธอตรัสว่า “ถูกแล้ว เจ้าจะต้องตาย”
พระโพธิสัตว์ทูลว่า “เมื่อหม่อมฉันจะต้องตาย แล้วผู้กินเนื้อหม่อมฉัน จะไม่ตายได้อย่างไร”
ท้าวเธอตรัสว่า “เพราะเจ้ามีขนสีทอง จึงทำให้ผู้กินเนื้อเจ้าไม่ตาย”
พระโพธิสัตว์ทูลว่า “หม่อมฉันมีขนสีทองก็เพราะภพก่อนเคยเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในพระนครพาราณสีนี้ ได้รักษาเบญจศีลเป็นนิตย์และชักชวนให้ราษฎรรักษา”

หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์ได้ทูลเรื่องที่พระองค์เคยฝังราชรถที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่สระมงคลโบกขรณี พระเจ้าพาราณสีได้รับสั่งให้ไขน้ำออกจากสระแล้วกู้ราชรถขึ้นมา จึงทรงเชื่อคำพระโพธิสัตว์ หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์ได้ถวายโอวาทพระราชาให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แล้วเสด็จกลับไปยังป่าหิมพานต์ตามเดิม

โมรปริตร
๑.อุเทตะยัง จักขุมา เอกะราชา
   หะริสสะวัณโณ ปะถะวิปปะภาโส
   ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะถะวิปปะภาสัง
   ตะยาชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง.

พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลก ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้เสด็จอุทัยขึ้น ทรงพระรัศมีสีทองสาดส่องปฐพี ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอาทิตย์ผู้ทรงรัศมีสีทองสาดส่องปฐพีพระองค์นั้น พระองค์ได้คุ้มครองข้าพระองค์ในวันนี้แล้ว ขอให้ข้าพระองค์มีชีวิตยั่งยืนอยู่ตลอดวัน

๒.เย พฺราหฺมะณา เวทะคู สัพพะธัมเม
   เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
   นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
   นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
   อิมัง โส ปะริตตัง กัตฺวา โมโร จะระติ เอสะนา.

พระพุทธเจ้าเหล่าใด ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้า ขอนับน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้ว จึงออกแสวงหาอาหาร

๓.อะเปตะยัง จักขุมา เอกะราชา
   หะริสสะวัณโณ ปะถะวิปปะภาโส
   ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะถะวิปปะภาสัง
   ตะยาชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง.

พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลกผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้เสด็จอัสดงคต ทรงพระรัศมีสีทองสาดส่องปฐพี ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอาทิตย์ ผู้ทรงรัศมีสีทองสาดส่องปฐพีพระองค์นั้น พระองค์ได้คุ้มครองข้าพระองค์ในวันนี้แล้ว ขอให้ข้าพระองค์มีชีวิตยั่งยืนอยู่ตลอดราตรี

๔.เย พฺราหฺมะณา เวทะคู สัพพะธัมเม
   เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
   นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
   นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
   อิมัง โส ปะริตตัง กัตฺวา โมโร วาสะมะกัปปะยิ.

พระพุทธเจ้าเหล่าใดทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้นจงทรงคุ้มครองข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้วจึงนอน.





ภาพประกอบตำนานโมรปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานอาฏานาฏิยปริตร

อาฏานาฏิยปริตร คือปริตรของท้าวกุเวรผู้ครองนครอาฏานาฏา เพราะเป็นพระปริตรที่ท้าวกุเวรได้นำมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระปริตรนี้กล่าวถึงพระนามพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ และทรงคุณพระพุทธเจ้าเหล่านั้น รวมทั้งอ้างอานุภาพพระพุทธเจ้าและเทวานุภาพมาพิทักษ์ให้มีความสวัสดี

มีประวัติว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววุรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าในมัชฌิมยามแห่งราตรี ขณะนั้นท้าวกุเวรได้กราบทูลว่า อมนุษย์บางพวกเลื่อมใสพระองค์ บางพวกไม่เลื่อมใส แต่ส่วนใหญ่มักไม่เลื่อมใส เพราะพระองค์ตรัสสอนให้ละเว้นจากอกุศลกรรม มีปาณาติปาตเป็นต้น  แต่พวกเขาไม่สามารถละเว้นได้ จึงไม่พอใจคำสอนที่ขัดแย้งกับความประพฤติของตน  เมื่อภิกษุไปปฏิบัติธรรมในป่าเปลี่ยว อมนุษย์เหล่านั้นอาจจะรบกวนได้ จึงขอให้พระองค์ทรงรับเอาเครื่องคุ้มครอง คืออาฏานาฏิยปริตรไว้ แล้วประทานแก่พุทธบริษัทเพื่อสาธยายคุ้มครองตน และเพื่อให้อมนุษย์เกิดความเลื่อมใสพระศาสนา  หลังจากนั้นท้าวกุเวรได้กราบทูลคาถา เป็นต้นว่า วิปัสสิสสะ จะ นะมัตถุ เมื่อท้าวมหาราชเหล่านั้นเสด็จกลับแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงนำมาตรัสแก่พุทธบริษัทในภายหลัง

อาฏานาฏิยปริตร
๑.วิปัสสิสสะ จะ นะมัตถุ      จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต
   สิขิสสะปิ จะ นะมัตถุ     สัพพะภูตานุกัมปิโน.

ขอนอบน้อมพระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้ทรงพระจักษุ ทรงพระสิริ ขอนอบน้อมแด่พระสิขี พุทธเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง

๒.เวสสะภุสสะ จะ นะมัตถุ     นฺหาตะกัสสะ ตะปัสสิโน
   นะมัตถุ กะกุสันธัสสะ    มาระเสนาปะมัททิโน.
ขอนอบน้อมพระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้ชำระกิเลสได้แล้ว มีตบะ ขอนอบน้อมพระกกุสันธ พุทธเจ้า ผู้ทรงเอาชนะมารและกองทัพได้

๓.โกณาคะมะนัสสะ นะมัตถุ     พฺราหฺมะณัสสะ วุสีมะโต
   กัสสะปัสสะ จะ นะมัตถุ      วิปปะมุตตัสสะ สัพพะธิ.
ขอนอบน้อมพระโกณาคมพุทธเจ้า ผู้ลอยบาปแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ขอนอบน้อมพระกัสสปพุทธเจ้า ผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง

๔.อังคีระสัสสะ นะมัตถุ     สักฺยะปุตตัสสะ สิรีมะโต
โย อิมัง ธัมมัง เทเสสิ     สัพพะทุกขะปะนูทะนัง.

ขอนอบน้อมพระศากยบุตรพุทธเจ้า ผู้ทรงพระฉัพพรรณรังสี ผู้ทรงสิริ ผู้ทรงแสดงธรรมขจัดทุกข์ทั้งปวง

๕.เย จาปิ นิพพุตา โลเก      ยะถาภูตัง วิปัสสิสุง
   เต ชะนา อะปิสุณาถะ      มะหันตา วีตะสาระทา.

อนึ่ง พระอรหันต์เหล่าใดในโลกดับกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งตามความเป็นจริง พระอรหันต์เหล่านั้นปราศจากวาจามุ่งร้าย เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่สะทกสะท้าน

๖.หิตัง เทวะมะนุสสานัง     ยัง นะมัสสันติ โคตะมัง
   วิชชาจะระณะสัมปันนัง     มะหันตัง วีตะสาระทัง
.
ท่านเหล่านั้นย่อมนมัสการพระโคตมะ ผู้ทรงเกื้อกูลเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไม่สะทกสะท้าน

๗.เอเต จัญเญ จะ สัมพุทธา     อะเนกะสะตะโกฏิโย
   สัพเพ พุทธาสะมะสะมา     สัพเพ พุทธา มะหิทธิกา.
พระสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์เหล่านั้น และพระสัมพุทธเจ้าหลายร้อยโกฏิเหล่าอื่น ทุกพระองค์เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเปรียบ ทุกพระองค์ล้วนทรงฤทธิ์ยิ่งใหญ่

๘.สัพเพ ทะสะพะลูเปตา     เวสารัชเชหุปาคะตา
   สัพเพ เต ปะฏิชานันติ     อาสะภัง ฐานะมุตตะมัง.

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงพระทศพลญาณและพระเวสารัชชญาณ ทรงยืนยันความตรัสรู้อันประเสริฐแกล้วกล้าของพระองค์

๙.สีหะนาทัง นะทันเตเต     ปะริสาสุ วิสาระทา
   พฺรหฺมะจักกัง ปะวัตเตนติ     โลเก อัปปะฏิวัตติยัง.
พระพุทธเจ้าเหล่านี้ ทรงปราศจากความครั่นคร้าม บันลือสีหนาทในท่ามกลางพุทธบริษัท ประกาศธรรมจักรอันประเสริฐในโลก ไม่มีผู้ใดจะคัดค้านได้

๑๐.อุเปตา พุทธะธัมเมหิ    อัฐฐาระสะหิ นายะกา
     พาตติงสะลักขะณูเปตา     สีตานุพฺยัญชะนาธะรา.

พระองค์ทรงเป็นผู้นำ ทรงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ๑๘ ประการ ทรงประกอบด้วยพระพุทธลักษณะ ๓๒ และพระอนุลักษณะ ๘๐

๑๑.พฺยามัปปะภายะ สัปปะภา     สัพเพ เต มุนิกุญชะรา
      พุทธา สัพพัญญุโน เอเต     สัพเพ ขีณาสะวา ชินา.
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงพระฉัพพรรณรังสีโดยรอบหนึ่งวา ทรงเป็นมุนี ผู้ประเสริฐ รู้แจ้งธรรมทั้งปวง สิ้นอาสวะ และเป็นผู้ชนะ

๑๒.มะหัปปะภา มะหาเตชา     มะหาปัญญา มะหัพพะลา
     มะหาการุณิกา ธีรา     สัพเพสานัง สุขาวะหา
.
พระองค์ทรงมีพระรัศมีสว่างไสว มีเดชมาก มีปัญญามาก มีกำลังมาก มีความกรุณาใหญ่หลวงมั่นคง ประทานความสุขแก่ชนทั้งปวง

๑๓.ทีปา นาถา ปะติฏฐา จะ    ตาณา เลณา จะ ปาณินัง
     คะตี พันธู มะหัสสาสา     สะระณา จะ หิเตสิโน.

พระองค์ทรงเป็นที่พัก ที่พึ่ง ที่พำนัก คุ้มครอง ที่หลบภัยองเหล่าสัตว์ ทรงเป็นที่ไป เป็นญาติ เป็นผู้อุปถัมภ์ เป็นผู้ขจัดทุกข์ และกระทำประโยชน์

๑๔.สะเทวะกัสสะ โลกัสสะ      สัพเพ เอเต ปะรายะณา
     เตสาหัง สิระสา ปาเท     วันทามิ ปุริสุตตะเม.
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงเป็นที่พึ่งของชาวโลกและเทวดา ข้าพระองค์ขอน้อมไหว้พระบาทยุคลของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยเศียรเกล้า ขอน้อมไหว้พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษประเสริฐ

๑๕.วะจะสา มะนะสา เจวะ     วันทาเมเต ตะถาคะเต
     สะยะเน อาสะเน ฐาเน     คะมะเน จาปิ สัพพะทา.

ข้าพระองค์ขอน้อมไหว้พระตถาคตเจ้าเหล่านั้นในเวลายืน เดิน นั่ง นอน ด้วยวาจา ด้วยใจเสมอ

๑๖.สะทา สุเขนะ รักขันตุ     พุทธา สันติกะรา ตุวัง
     เตหิ ตฺวัง รักขิโต สันโต     มุตโต สัพพะภะเยหิ จะ.

ขอพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประทานพระนิพพาน จงคุ้มครองท่าน ให้มีความสุขเสมอ เมื่อพระองค์คุ้มครองท่านแล้ว ขอให้ท่านปลอดจากภัยทั้งปวงเถิด

๑๗.สัพพะโรคา วินิมุตโต     สัพพะสันตาปะวิชชิโต
     สัพพะเวระมะติกกันโต     นิพพุโต จะ ตุวัง ภะวะ.
ขอท่านจงปลอดจากโรคทั้งปลวง ปราศจากความเดือดร้อนทุกอย่าง ไม่มีใครๆ ปองร้าย เป็นผู้สงบ

๑๘.เตสัง สัจเจนะ สีเลนะ      ขันติเมตตาพะเลนะ จะ
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ปราศจากโรค มีความสุข ด้วยพลานุภาพแห่งความสัตย์ ศีล ขันติ และเมตตาธรรม

๑๙.ปุรัตถิมัสฺมิง ทิสาภาเค     สันติ ภูตา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่าคนธรรพ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศบูรพา จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๐.ทักขิณัสฺมิง ทิสาภาเค    สันติ เทวา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่ากุมภัณฑ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศทักษิณ จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๑.ปัจฉิมัสฺมิง ทิสาภาเค     สันติ นาคา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่านาคผู้มีฤทธิ์มากในทิศประจิม จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข


๒๒.อุตตะรัสฺมิง ทิสาภาเค     สันติ ยักขา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่ายักษ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศอุดร จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๓.ปุรัตถิเมนะ ธะตะรัฏโฐ     ทักขิเณนะ วิรูฬหะโก
     ปัจฉิเมนะ วิรูปักโข     กุเวโร อุตตะรัง ทิสัง.

ท้าวธตรฐเป็นผู้รักษาโลกทิศบูรพา ท้าววิรุฬหกรักษาโลกทิศทักษิณ ท้าววิรูปักษ์รักษาโลกทิศประจิม ท้าวกุเวรรักษาโลกทิศอุดร

๒๔.จัตตาโต เต มะหาราชา    โลกะปาลา ยะสัสสิโน
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

     ขอมหาราชผู้รักษาโลกทั้งสี่พระองค์ ผู้มีบริวารมากดังกล่าว จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๕.อากาสัฏฐา จะ ภูมัฏฐา     เทวา นาคา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ      อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

ขอเหล่าเทวดาและนาคผู้มีฤทธิ์มาก สถิตอยู่ในอากาศและบนพื้นดิน จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๖.อิทธิมันโต จะ เย เทวา     วะสันตา อิธะ สาสะเน
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

ขอเทวดาผู้มีฤทธิ์มากอาศัยอยู่ในพระศาสนานี้ จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๗.สัพพีติโย วิวัชชันตุ      สัพพะโรโค วินัสสะตุ
     มา เต ภะวัตฺวันตะราโย      สุขี ทีฆายุโก ภะวะ.

ขอสิ่งร้ายทั้งปวงจงบำราศไป ขอโรคทั้งปวงจงพินาศไป ขอท่านอย่ามีอันตราย เป็นผู้มีความสุข มีอายุยืนยาว

๒๘.อะภิวาทะนะสีลิสสะ      นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
     จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ      อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง.

ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้นบไหว้และอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์ .





ภาพประกอบตำนานโพชฌังคปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานโพชฌังคปริตร
โพชฌังคปริตร คือปริตรกล่าวถึงโพชฌงค์ซึ่งเป็นองค์แห่งการรู้แจ้ง แล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองผู้สวดให้มีความสวัสดี   มีประวัติว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปเถระได้อาพาธหนักที่ถ้ำปิปผลิคุหา พระพุทธเจ้าได้เสด็จเยี่ยมและแสดงโพชฌงค์เจ็ด เมื่อพระเถระสดับโพชฌงค์เหล่านี้ได้เกิดความปีติว่า โพชฌงค์เจ็ดเคยปรากฏแก่เราในขณะรู้แจ้งสัจธรรมหลังออกบวชแล้วเจ็ดวัน คำสอนของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นทางพ้นทุกข์โดยแท้ ครั้นดำริเช่นนี้พระเถระได้เกิดปีติอิ่มเอิบใจ ทำให้เลือดในกายและรูปธรรมอื่นผ่องใส โรคของพระเถระจึงอันตรธานไปเหมือนหยาดน้ำกลิ้งลงจากใบบัว นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังตรัสโพชฌงค์เจ็ดแก่พระมหาโมคคัลลานเถระผู้อาพาธที่ภูเขาคิชฌกูฏอีกด้วย ครั้นพระเถระสดับโพชฌงค์นี้แล้วก็หายจากอาพาธนั้นทันที  อนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันนั้นได้ประชวรหนัก จึงรับสั่งให้พระจุนทเถระสาธยายโพชฌงค์เจ็ด ครั้นสดับแล้วพระองค์ทรงหายจากพระประชวรนั้น

โพชฌงค์เจ็ดมีดังต่อไปนี้ คือ
๑.สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือสติ
๒.ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือการรู้เห็นธรรม
๓.วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความเพียร
๔.ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความอิ่มใจ
๕.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความสงบ
๖.สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความตั้งมั่น
๗.อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรูแจ้ง คือความวางเฉย

โพชฌงคปริตร
๑.โพชฌังโค สะติสังขาโต    ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
   วีริยัง ปีติ ปัสสัทธิ      โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร.
๒.สะมาธุเปกขา โพชฌังคา      สัตเตเต สัพพะทัสสินา
   มุนินา สัมมะทักขาตา      ภาวิตา พะหุลีกะตา
๓.สังวัตตันติ อะภิญญายะ      นิพพานายะ จะ โพธิยา
   เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ      โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.

โพชฌงค์เจ็ด  คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์  วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์

พระมุนีผู้รู้แจ้งสภาวธรรมทั้งปวงตรัสว่า ผู้บำเพ็ญและกระทำโพชฌงค์ให้มาก ย่อมรู้แจ้ง บรรลุถึงพระนิพพานและความตรัสรู้  ด้วยสัจวาจานี้ ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

๔.เอกัสฺมิง สะมะเย นาโถ      โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
    คิลาเน ทุกขิเต ทิสฺวา      โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ.

สมัยหนึ่ง พระโลกนาถทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะอาพาธได้รับความทุกข์ จึงทรงแสดงโพชฌงค์เจ็ด

๕.เต จะ ตัง อะภินันทิตฺวา     โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
    เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ      โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.

พระเถระทั้งสองยินดีรับโพชฌงค์นั้น หายจากโรคทันที ด้วยสัจวาจานี้ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

๖.เอกะทา ธัมมะราชาปิ      เคลัญเญนาภิปีฬิโต
    จุนทัตเถเรนะ ตังเยวะ      ภะณาเปตฺวานะ สาทะรัง.

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระธรรมราชาทรงพระประชวรหนัก รับสั่งให้พระจุนทเถระสาธยายโพชฌงค์ถวายโดยเคารพ

๗.สัมโมทิตฺวา นะ อาพาธา      ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
   เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ     โสตถิ เม โหตุ สัพพะทาฯ

พระองค์ทรงแช่มชื่นพระทัย หายจากพระประชวรโดยพลัน ด้วยสัจวาจานี้ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

๘.ปะหีนา เต จะ อาพาธา      ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคะหะตา กิเลสาวะ      ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ     โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.

พระพุทธเจ้าและพระเถระผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งสาม ได้หายจากอาพาธแล้ว ดุจกิเลสที่ถูกอริยมรรคประหาร ไม่กำเริบอีก ด้วยสัจวาจานี้ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ.


3158  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ แกงคั่วขาหมู (ปักษ์ใต้) เมื่อ: 18 เมษายน 2559 17:48:32
.





แกงคั่วขาหมู (ปักษ์ใต้)

• เครื่องปรุง
- ขาหมู 250 กรัม
- ใบมะกรูดหั่นฝอย 3 ใบ
- เกลือ


เครื่องปรุงน้ำพริก
- พริกขี้หนูสด 20-25 เม็ด
- กระเทียมไทยแกะกลีบ ½ - 1 หัว
- พริกไทยดำ ¼ ช้อนชา
- ขมิ้นสด ยาวประมาณ ½-1 นิ้ว
- ตะไคร้ซอย 1 ช้อนโต๊ะ
- ผิวมะกรูดหั่นหยาบ ¼ ช้อนชา
- กะปิใต้ 2 ช้อนชา
- เกลือป่น ¼ ช้อนชา


วิธีทำ
1.โขกเครื่องแกงทั้งหมดให้ละเอียด ใส่กะปิโขลกพอเข้ากัน
2.ล้างขาหมูให้สะอาด หั่นพอดีคำ
3.ใส่ขาหมูในกระทะ ใส่พริกแกง รวนหรือผัดให้เข้ากัน
4.เติมน้ำสะอาดให้ท่วมหมู ปิดฝากระทะ เคี่ยวด้วยไฟกลางค่อนข้างอ่อน
   จนน้ำงวดขลุกขลิก ใส่ใบมะกรูดหั่นฝอย ปรุงรสด้วยเกลือ ชิมรสตามชอบ
5.ตักใส่จานเสิร์ฟ รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ  





ส่วนผสมน้ำพริกแกงคั่ว (ไม่ใส่ข่า)


ใส่หมูและพริกแกงในกระทะ (ไม่ต้องใส่น้ำ หรือน้ำมันพืช)


รวนหรือผัดให้เข้ากันด้วยไฟอ่อนๆ


เติมน้ำสะอาดให้ท่วมหมู (หาฝาหม้อปิดกระทะ) เคี่ยวด้วยไฟกลางค่อนข้างอ่อน


พอน้ำแกงงวด หมูสุกนิ่ม ใส่ใบมะกรูดหั่นฝอย ปรุงรสด้วยเกลือป่น
(ไม่ควรปรุงรสด้วยน้ำปลา จะมีกลิ่นคาว ความอร่อยจะลดลงไปมาก)


ตักใส่จาน รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ
3159  สุขใจในธรรม / ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน / ประวัติพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 18 เมษายน 2559 17:17:53

ขอขอบคุณ คุณพิศิษฐ์ ไสยสมบัติ - ผู้ค้นคว้าเรียบเรียง ที่ได้กรุณาอนุญาตให้นำประวัติของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
ผลงานอันเกิดจากกุศลเจตนาของท่านที่ได้ศึกษา สืบเสาะ ค้นหา ติดตาม สอบถามข้อมูล ตลอดจนสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติ
ของท่านพระอาจารย์เสาร์ จากผู้ทราบเรื่องราว โดยใช้เวลากว่า ๒ ปี มาเรียบเรียงเป็นหนังสือ เพื่อรักษาและเผยแพร่เกียรติคุณ
ของท่านพระอาจารย์ พระสุปฏิปันโนผู้เป็นพระบูรพาจารย์ที่ก่อกำเนิดพระธุดงค์กรรมฐานของภาคอีสาน ที่หาได้ยากยิ่งรูปหนึ่ง 
มาเผยแพร่ในเว็บไซต์ sookjai.com แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นธรรมทาน ได้ตามความประสงค์  kimleng.
-----------------------------------------





พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
วัดดอนธาตุ  อำเภอพิบูลมังสาหาร  จังหวัดอุบลราชธานี
ชมรมพุทธศาสน์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย : พิมพ์เผยแพร่

เปิดปก
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ  ชาติภูมิของท่านเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี  ชาตะเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ท่านเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ และเป็นพระวิปัสสนาธุระผู้เคร่งครัดในธรรมวินัยอย่างยอดเยี่ยม บุคลิกลักษณะสมบูรณ์ สง่าผ่าเผย เกรงขาม พูดน้อย แต่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรมักจะเป็นอย่างนั้น ดังสมัยหนึ่งท่านเดินธุดงค์ไปในท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นปฐมฤกษ์ที่พระกัมมัฏฐานรุ่นแรกเหยียบย่างเข้าไปสู่ถิ่นนั้น มีประชาชนแตกตื่นเลื่อมใสไปให้ทานทำบุญเป็นจำนวนมาก หลังจากให้ทานแล้วก็ใคร่อยากจะฟังธรรมเทศนาของท่าน ท่านจึงกล่าวธรรมเป็นคติแต่โดยย่อว่า “การให้ทานใครๆ ก็ให้ทานมามากแล้ว มีผลาอานิสงส์มากเหมือนกัน แค่สู้บวชเป็นขาวเป็นชีรักษาศีลอุโบสถไม่ได้ มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานนั่นเสียอีก ถ้าใครอยากได้บุญมากขึ้นสวรรค์ไปนิพพานพ้นทุกข์ ก็ควรบวชเป็นขาวเป็นชีรักษาศีลอุโบสถเสียในวันนี้”  ปรากฏว่าในค่ำวันนั้นเอง มีญาติโยมชายหญิงบวชชีกันร่วมร้อย อย่างน่าอัศจรรย์

ประการหนึ่ง สถานที่แห่งใด ที่ท่านเที่ยวธุดงค์ไปพักชั่วคราว สถานที่แห่งนั้นมักจะกลายเป็นวัดถาวรและเจริญรุ่งเรืองตามมาภายหลัง เช่น พระธาตุนครพนม ซึ่งแต่ก่อนรกร้างเป็นดง เมื่อท่านเดินรุกขมูลเข้าไปพักอาศัยที่นั้นชั่วคราว ให้คนถากถางทำความสะอาดปัดกวาดอย่างดี ครั้นต่อมาภายหลัง ที่นั่นจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเจริญรุ่งเรืองเป็นที่เลื่อมใสของชาวพุทธทั่วประเทศ มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

และในทำนองเดียวกัน ก็ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่ท่านธุดงค์ผ่านไปพักชั่วคราว แล้วกลายมาเป็นวัดได้รับความเจริญรุ่งเรืองเหลือเป็นอนุสรณ์สำหรับอนุชนจนกระทั่งทุกวันนี้
.....โดย พระครูสถิตบุญญารักษ์


ชาติภูมิ
ท่านเกิดที่บ้านข่าโคม
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล  ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ เดือนสิบสอง ปีระกา เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ (ตามบันทึกของท่านพระครูพิบูลธรรมภาณ วัดภูเขาแก้ว) หรือ วันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๐๔ (ตามหนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพพระอาจารย์เสาร์ฯ โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สังฆนายก) ที่บ้านข่าโคม (ชื่อเดิม “บ้านท่าโคมคำ”) ต.หนองขอน อ.เมืองอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ ต.ปะอาว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี)

นามเดิมของท่าน ชื่อเสาร์ นามสกุล สมัยนั้นยังไม่มี  ภายหลังมีญาติสืบสายกันมาในตระกูล อุปวัน* และพันธ์โสรี**

เป็นบุตรของ พ่อทา และแม่โม่ (ส่วนพ่อใหญ่คำดี ชารีนะ ชาวบ้านข่าโคม กล่าวไว้ว่า ชื่อบิดาของพระอาจารย์เสาร์นั้นไม่ทราบชื่อ มารดาชื่อแม่บัวศรี)

ท่านมีพี่น้องรวมกัน ๕ คน ตามลำดับดังนี้:-
๑.ท่านพระอาจารย์เสาร์
๒.นางสาวแบ (อยู่เป็นโสดตลอดชีวิต)
๓.แม่ดี
๔.แม่บุญ
๕.พ่อพา อุปวัน


*นามสกุล อุปวัน นี้ คุณตาบุญเพ็ง คำพิพาก หลานชายผู้เดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ (เป็นญาติทางฝ่ายบิดาของพระอาจารย์เสาร์) ให้ข้อมูลข้าพเจ้าไปสืบเสาะจากเครือญาติสายน้องชายพระอาจารย์เสาร์
**นามสกุล พันโสรี นี้ พบว่ามีใช้กันในบ้านข่าโคม พระครูพิบูลธรรมภาณ (โชติ อาภัคโค) เจ้าอาวาสวัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร เป็นผู้ให้ข้อมูล




รูปนี้ถ่ายเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๘๐ ที่วัดป่าแสนสำราญ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ตอนองค์พระอาจารย์เสาร์ เดินทางจากบ้านข่าโคม มาพักที่ศาลาหลังเล็กของวัดป่านี้
ก่อนที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ ทางรถไฟ (สถานีรถไฟอยู่ใกล้กับวัดนี้) ภาพนี้คณะลูกศิษย์
ได้อัดถวายให้พระอาจารย์เสาร์ แจกในคราวงานพิธีทอดผ้าป่าที่วัดป่าหนองอ้อ บ้านข่าโคม
โดยคณะตัวแทนเจ้าจอมมารดาทับทิม เป็นเจ้าศรัทธา เมื่อกลางปี พ.ศ.๒๔๘๐

ชีวิตเมื่อวัยเยาว์
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล มีรูปร่างสูงใหญ่ หน้าตา ผิวพรรณดีมาก สมัยเมื่อยังเป็นเด็ก ท่านมีความพึงพอใจ ศรัทธา เลื่อมใส ในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างสูงยิ่ง กอปรกับนิสัยสนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้ของท่าน  ดังนั้น เมื่อท่านอายุได้ ๑๒ ปี จึงได้ตัดสินใจเข้าวัด โดยได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์วัด เพื่อเตรียมตัวบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดใต้ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี


เมืองนักปราชญ์
สำนักศึกษาในสมัยก่อนคือวัด ถือว่าวัดเป็นแหล่งรวมความรู้ เป็นที่ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการด้านต่างๆ และเป็นแหล่งเนื้อนาบุญ เป็นที่อยู่ของคนดี คนมีบุญ พ่อแม่ผู้ปกครองในสมัยนั้นจึงนิยมส่งบุตรหลานอันเป็นที่รักของตนให้ “เข้าวัด” และ “บวชเรียน” เพื่อที่ว่าจะได้เป็น “คนสุก” ลบเสียซึ่งคราบของ “คนดิบ” แลยังเป็น “ญาคู” ผู้รู้ เป็น “มหาเปรียญ” ผู้ปราดเปรื่อง หรือสึกออกมาเป็น “ทิด” เป็น “นักปราชญ์” มีความรู้รับราชการ “ได้เป็นเจ้าเป็นนาย” ต่อไป

อุบลราชธานีในอดีตจึงเป็นแดน “ตักกศิลา” เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาของภาคอีสาน มีวัดวาอารามสวยงามตระการตา แพรวพราว หลากหลายเต็มไปหมดทุกแห่งแหล่งถนนในตัวเมืองอุบล ก่อให้เกิดพระเถรานุเถระ พระอุปัชฌายาจารย์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต อย่างมากมาย อันเป็นค่านิยมของสังคมสมัยนั้น จนมีคำกล่าวว่า
     • อุบล เมืองนักปราชญ์
     • โคราช เมืองนักมวย
     • เชียงใหม่ เมืองคนบุญ
     • ลำพูน เมืองคนสวย


วัดใต้
วัดใต้ท่า และวัดใต้เทิง
“วัดใต้” หรือ “วัดใต้เทิง” เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนที่สูงริมฝั่งแม่น้ำมูลตอนใต้ ทางทิศตะวันออกของเมืองอุบลราชธานี เป็นบริเวณแถบที่อยู่ทางท้ายเมือง ด้วยแม่น้ำมูลไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านอำเภอเมืองไปอำเภอพิบูลมังสาหาร แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่ตะวันออกสุดของประเทศไทย ที่อำเภอโขงเจียม

ตามประวัติวัดในเมืองอุบลราชธานี มีอยู่ว่าวัดใต้เทิงนี้ ญาท่านบุญศรี เป็นผู้สร้างเมื่อ จ.ศ.๑๑๗๖ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๗๗ โดยครั้งนั้นเป็นวัดในคณะมหานิกาย

เดิมทีนั้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่ลาดลงไปจนจรดแม่น้ำมูลนั้นเป็นที่ตั้งของวัดใต้เช่นกัน มีชื่อเรียกขานกันว่า วัดใต้ท่า เดิมพระมหาราชครูเจ้าท่านหอแก้ว ผู้เป็น “หลักคำเมืองอุบล” (หลักคำ คือตำแหน่งประมุขสงฆ์เดิมของทางอีสาน) หลบไปนั่งกรรมฐานที่ป่าบริเวณนี้ ครั้นมีพระสงฆ์ตามไปอยู่ปฏิบัติมากขึ้น จึงได้สร้างเพิ่มขึ้นเป็นวัด ชื่อว่าวัดใต้ท่า ต่อมาถูกยุบร้างไป เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙

ส่วนประวัติวัดใต้ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๒๙ กล่าวไว้ว่า “การริเริ่มก่อสร้างนั้น จะเป็นเมื่อไรไม่มีใครทราบ วัดใต้ได้จดทะเบียนเป็นทางการเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๒๒ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๑๗ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๑ โดยมีท้าวสิทธิสารกับเพียเมืองแสนพร้อมราษฎรได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอเป็นที่วิสุงคามสีมา ตามหนังสือที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่ ๑๐๓/๓๗๘ อันเป็นวันที่ ๑๐๙๗๖” ในรัชกาลที่ ๕

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ก็ยังกล่าวถึงประวัติวัดใต้ไว้อีกว่า “เดิมทีนั้นวัดใต้มีอยู่ ๒ วัด คือวัดใต้ท่า กับวัดใต้เทิง เพราะเหตุที่วัดทั้งสองนั้นอยู่ติดกัน ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งเป็นผู้ปกครองสังฆมณฑลในสมัยนั้น จึงได้ยุบวัดใต้ท่าที่ร้างไปให้รวมกับวัดใต้เทิง กลายเป็นวัดใต้วัดเดียวในปัจจุบัน แล้วโอนมอบที่ดินวัดใต้ท่าให้เป็นศาสนสมบัติกลางในกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาที่ดินบริเวณนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นสำนักงานไฟฟ้าบริษัทส่วนบุคคล ทำการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง (เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ) โดยมีนายวิเชียร ศรีสมบูรณ์ เป็นเจ้าของผู้จัดการนับแต่นั้นเป็นต้นมา”

เรื่อง วัดใต้ นี้มีท่านผู้รู้อีกท่านหนึ่งของเมืองอุบลฯ คือ คุณตาบำเพ็ญ ณ อุบล กล่าวยืนยันว่า “วัดใต้นี้มี ๒ วัด คือ วัดใต้ท่า และ วัดใต้เทิง (เทิง แปลว่า ที่สูง, ข้างบน) ทั้งสองวัดนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน ต่อมาไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใดที่ทำให้วัดใต้ท่ากลายเป็นวัดร้างไป ซึ่งต่อมาที่ตรงนั้นได้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าของเมืองอุบลฯ ใช้เครื่องจักรฉุดเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า จนต่อมาใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นน้ำจึงได้เลิกใช้เครื่องจักรปั่นไฟ เหลือเป็นที่ตั้งสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.อุบลราชธานี ส่วนวัดใต้เทิงนั้นยังคงอยู่และเจริญรุ่งเรืองมาจนกระทั่งบัดนี้เรียกขานกันว่า “วัดใต้”

ก่อนดำเนินเรื่องต่อไป ข้าพเจ้าขอแทรกเรื่องประเทืองความรู้จาก “ทำเนียบสมณศักดิ์ของชาวเมืองเวียงจันทน์โบราณ” โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ดังนี้
ธรรมเนียมการจัดสมณศักดิ์ของวัฒนธรรมล้านช้าง แบ่งออกเป็น ๘ ขั้น คือ สำเร็จ ซา คู ฝ่าย ด้าน หลักคำ ลูกแก้ว ยอดแก้ว

ธรรมเนียมการจัดสมณศักดิ์ของหัวเมืองอีสานโบราณ แบ่งออกเป็น ๖ ขั้น คือ สำเร็จ ซา คู ฝ่าย ด้าน หลักคำ สมณศักดิ์ชั้นลูกแก้ว ยอดแก้ว นั้นไม่มีในหัวเมืองอีสาน เพราะเป็นสมณศักดิ์เทียบเท่าชั้น สังฆราชา และ รองสังฆราชา



สมณศักดิ์ฝ่ายปริยัติ
สำเร็จ  เป็นครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการ
ซา
คู

สมณศักดิ์ฝ่ายปกครอง
ฝ่าย  - ปกครองในหมวด
ด้าน  - ปกครองในแขวง
หลักคำ  - ประมุขสงฆ์



บวชเณร
ท่านเป็นสามเณรที่ครูบาอาจารย์รักและไว้วางใจ
พระอาจารย์เสาร์ได้เข้าไปพำนักรับใช้เป็นศิษย์วัดใต้ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี จวบจนกระทั่งอายุ ๑๕ ปี ใน พ.ศ.๒๔๑๗ ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรโดยสมบูรณ์ในคณะมหานิกาย

ด้วยความยึดมั่นแน่วแน่ในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชเณรแล้ว ท่านมีความอุตสาหะขยันขันแข็ง พากเพียรเรียนศึกษา หมั่นท่องมนต์บทสวด เรียนมูลกัจจายนะ ศึกษาพระวินัยทั้งห้าคัมภีร์พระธรรมบท ทศชาติ มงคลทีปนี วิสุทธิมรรค อภิธัมมัตถสังคห อีกทั้งอักษรไทยน้อย ไทยใหญ่ “ตัวธรรม” อักษรขอม ก็ล้วนชำนาญการ แตกฉานไปทุกอย่าง

พระอาจารย์เสาร์เคยเล่าชีวประวัติเมื่อครั้งเป็นสามเณรให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังอยู่เสมอ ถึงการปฏิบัติครูบาอาจารย์ของท่านว่า...
“สมัยนั้นท่านเป็นสามเณรใหญ่ ถ้ามีกิจนิมนต์พระไปฉันภัตตาหารนอกวัดแล้ว ท่านจะต้องได้ไปช่วยรับใช้เสมอ เพราะเป็นสามเณรใหญ่ที่ครูบาอาจารย์รัก และไว้เนื้อเชื่อใจมาก ไปไหนจะต้องเอาท่านไปด้วยเสมอ เพื่อคอยปฏิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์ กิจการทุกอย่างของครูบาอาจารย์นั้น ท่านรับหน้าที่ทำหมด โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าลำบากยากเข็ญใดๆ ทั้งสิ้น เป็นต้นว่า ตอนรับบาตร ท่านจะรับภาระองค์เดียวหมด หิ้วบาตรและสะพายบาตรรอบกายเลยทีเดียว”

ท่านเล่า “ในสมัยนั้นท่านฉันภัตตาหารได้มากนัก พอถึงเวลาไปติดตามฉันอยู่ในบ้านเหล่าญาติโยม เจ้าภาพจะต้องคอยดูแลภัตตาหารตักเติมให้ท่านเสมอ ท่านก็ยิ่งฉันฉลองศรัทธาเขาได้มากเท่านั้น บางคนสงสัยว่าท่านฉันได้จุมากกว่าพระอย่างนี้ ท่านเอาท้องที่ไหนมาใส่ไหว” และนี่ก็คือประวัติตอนที่ได้รับการถ่ายทอดจาก พระครูพิบูลธรรมภาณ (โชติ อาภัคโค) วัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี



บวชพระ
ญาคูเสาร์
หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๕ ปี จวบจนอายุของท่านได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ครบเกณฑ์ที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ตามพระวินัยบัญญัติ ในปี พ.ศ.๒๔๒๒ ท่านก็ได้ตัดสินใจอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์ในคณะมหานิกาย

ท่านพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดใต้ ในเพศบรรพชิต ปฏิบัติกิจพระพุทธศาสนามาถึง ๑๐ พรรษาได้เป็น “ญาครู” เป็นครูผู้อรบรมหมู่คณะสืบต่อซึ่งชาวบ้านเรียกท่านว่า “ญาคูเสาร์”


เมื่อญาคูเสาร์จะสึก
ในสมัยที่ท่านบวชได้สิบกว่าพรรษา ณ วัดใต้นี้ เป็นช่วงเวลาที่ท่านมีความคิดอยากจะลาสิกขาเป็นกำลัง ท่านเตรียมสะสมเงินทอง อีกทั้งวัตถุข้าวของเป็นจำนวนมาก บนกุฏิของท่านเต็มไปด้วยสิ่งของเครื่องใช้ มีทั้งผ้าไหม แพรพรรณ ท่านเตรียมตัวที่จะเป็นพ่อค้าวานิชไปทางน้ำ เพราะท่านมีความชำนาญในการดำรงชีวิตตามลำน้ำตั้งแต่วัยเยาว์ สมัยอยู่ที่บ้านข่าโคม อันเป็นบ้านเกิดนั้นก็ใช้เส้นทางสัญจรทางลำน้ำเซบาย-ลำน้ำชี-ลำน้ำมูล เป็นสายใยเส้นทางชีวิต

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านข่าโคม ปรากฏว่ามีลุงของท่านทำการค้าประสบผลสำเร็จ มีกิจการเดินเรือใหญ่โต อันเป็นแนวทางแห่งจินตนาการของท่านที่วาดไว้ว่า เมื่อลาสิกขาแล้วจะใช้ชีวิตเป็นพ่อค้าขายเสื้อผ้า ของกินของใช้เบ็ดเตล็ด บรรทุกเรือล่องไปขายตามลำแม่น้ำชี ลัดเลาะออกลำน้ำแม่มูลเรื่อยไปจนจรดแม่น้ำโขง – จำปาศักดิ์ – เมืองโขง – สีทันดร ถึงบ้านไหนก็แวะบ้านนั้น ซื้อสินค้าบ้านนี้ไปขายบ้านนั้น เอาของบ้านนั้นไปขาย พอกะว่าค้าขายได้เงินพอสมควรแล้วจึงจะหวนกลับมาบ้านเกิด สร้างครอบครัว – แต่งงาน ตั้งหลักปักฐานทำไร่ทำนา ค้าขายหาเลี้ยงครอบครัวไปตามวิถีของชาวโลกต่อไป




รูปนี้ได้รับจากหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งองค์ท่านเล่าว่า
มีญาติโยมทางแถบ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม นำมาถวายให้ท่านเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑

 

 
3160  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อ: 18 เมษายน 2559 16:06:36
.



สามเณรกัณฏกะ

มีผู้ถามว่าคนจะบวชพระอายุต้องครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าจะบวชสามเณรจะต้องอายุเท่าไร มีกำหนดไว้แน่นอนหรือเปล่า

เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ตอบว่า ต้องอายุ ๗ ขวบขึ้นไป เมื่อซักว่าทำไมต้อง ๗ ขวบ ท่านก็บอกว่าไม่รู้สิ แต่เมื่อคราวราหุลกุมารบรรพชา ก็มีพระชนมายุ ๗ พรรษา ข้อนี้น่าจะเป็นเกณฑ์ปฏิบัติทั่วไป ท่านว่าอย่างนั้น

ถามอีกว่า ถ้าอายุเลย ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว สามเณรรูปนั้นไม่บวชพระเลยยังคงเป็นสามเณรอยู่อย่างนั้น จะได้ไหม ผิดกฎข้อไหนไหม ท่านผู้เฒ่า เอ๊ย ผู้ใหญ่ท่านเดิมตอบว่า ไม่ผิดกฎข้อใด เพราะไม่มีกฎไว้

แต่ไม่เหมาะสม

ลองเปิดพระวินัยปิฎกทบทวนดู ก็ปรากฏว่าข้อความน่าสนใจ คือเดิมที เหล่าภิกษุอุปสมบทให้แก่เด็กๆ จำนวน ๑๗ คน เรียกว่า “สัตตรสวัคคีย์” (พวก ๑๗ คน) เด็กเหล่านี้มีอุบาลีเป็นหัวหน้า เป็น “พระเด็ก” รุ่นแรกก็ว่าได้

พอบวชมาได้ไม่กี่วัน ก็ร้องไห้กระจองอแง หิวข้าวขึ้นมาก็ร้องจะกินข้าว กินขนม อุปัชฌาย์กับอาจารย์ก็ปลอบว่า ยังไม่ถึงเวลาฉัน รอให้รุ่งเช้าก่อนจึงจะฉันได้ ก็ไม่ยอม ร้องทั้งคืน บ้างก็อึรด ฉี่รดที่นอนเหม็นหึ่งไปหมด

พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงร้องของ “พระเด็ก” เหล่านี้ จึงตรัสถามทรงทราบความแล้วจึงตรัสห้ามว่าต่อไปห้ามทำการอุปสมบทแก่เด็กชายอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นเวลา “นาค” จะเข้ามาบวช พระกรรมวาจาจารย์จึงถามว่า “ปริปุณฺณวีสติวสฺโสสิ” ท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์หรือเปล่า นาคต้องตอบยืนยันว่า “อาม ภนฺเต” ครบขอรับ (อ่าน “อามะ พันเต”) ท่านจึงจะอนุญาตให้บวช

ไม่ทราบว่า สัตตรสวัคคีย์ เหล่านี้มีอายุเท่าไรกันแน่

มีอีกคราวหนึ่ง ตระกูลหนึ่งป่วยด้วยอหิวาตกโรคตายกันหมด เหลือแต่พ่อกับลูกชายตัวเล็กๆ พ่อกับลูกชายจึงบวช เมื่อไปบิณฑบาตด้วยกัน เวลาพ่อได้อาหาร ลูกชายก็ร้องขอจากพ่อว่า พ่อให้ผมกินเถอะ อะไรทำนองนี้ ชาวบ้านเห็นแล้วก็ติเตียนว่า พระรูปนี้พาเด็กมาบิณฑบาต สงสัยเด็กคนนี้คงเป็นลูกนางภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งเป็นแน่ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจึงทรงบัญญัติห้ามว่า ต่อไปอย่าให้เด็กบวชพระ

เมื่อเด็กอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ถูกห้ามมิให้บวชเป็นพระภิกษุ พระสารีบุตรจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้า (เมื่อคราวที่ตรัสสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร) ว่า “จะให้บวชด้วยวิธีไหน พระเจ้าข้า” พระองค์จึงตรัสว่า “บวชด้วยการถึงสรณคมน์ก็แล้วกัน” ราหุลกุมารผู้มีพระชนมายุ ๗ พรรษาจึงได้บวชเป็นสามเณรรูปแรก

เมื่อสามเณรรูปแรกอายุ ๗ ขวบ ก็เลยถือเป็นประเพณีว่า ผู้จะบวชเณรควรอายุตั้งแต่ ๗ ขวบขึ้นไป

ในพระวินัยปิฎกอีกนั่นแหละ เล่าต่อว่าคนในตระกูลอุปัฏฐากพระอานนท์ ตายหมดเหลือแต่เด็กชายเล็กๆ ๒ คน พระอานนท์มีความสงสารก็คิดจะให้เด็กทั้งสองบวชสามเณร เข้าใจว่าอายุคงไม่ครบ ๗ ขวบ เหมือนสามเณรราหุล พระอานนท์จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความประสงค์ของตน พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เด็กทั้งสองนั้นโตพอไล่กาได้ไหมอานนท์

“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนั้น เธอให้บรรพชาเป็นสามเณรได้”

อรรถกถาอธิบายว่า เด็กอายุเท่าไรไม่สำคัญ “เด็กใดถือก้อนดินด้วยมือซ้าย นั่งแล้ว อาจเพื่อจะไล่กาทั้งหลาย ซึ่งพากันมาให้บินหนีไปแล้วบริโภคอาหารซึ่งวางไว้ข้างหน้าได้ เด็กนี้จัดว่าผู้ไล่กาไป จะให้เด็กนั้นบวชก็ควร”

สรุปก็คือ เด็กพอรู้เดียงสา สามารถไล่กา (ไล่หมาด้วย) ที่จะมาแย่งอาหารจากจานข้าวได้ ก็บวชเป็นเณรได้

ที่จับบวชหน้าไฟ ส่วนมากก็อายุยังน้อยทั้งนั้น บวชให้แล้วดูแลดีๆ ก็คงไม่เป็นไร บางครั้งผมเห็นญาติโยม (ตัวดี) พาเณรน้อยไปเที่ยวที่ห้างสรรพสินค้าก็มี

สามเณรที่อายุน้อยๆ ถ้าซนก็คงซนตามประสาเด็กไม่ค่อยเดียงสา แต่ถ้าสามเณรโค่ง คือสามเณรวัยรุ่น ความซนอาจออกไปทางอนาจาร เสี่ยงต่อการละเมิดทางเพศ ดังในคัมภีร์บันทึกพฤติกรรมของสามเณรกัณฏกะ (สามเณรหนาม) ไว้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์

สามเณรหนาม มีประวัติเป็นมาอย่างไร ไม่แจ้งชัด รู้แต่ว่าเป็นศิษย์พระอุปนนท์ แห่งศากยวงศ์ ท่านอุปนนท์รูปนี้เป็นพระ “ดัง” (ในทางไม่ค่อยดี) รูปหนึ่ง ท่านเป็นพระนักเทศน์ รูปงาม เสียงจะดีด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ ชอบสอนให้ลูกศิษย์ออกไปนั่งกรรมฐานบ้าง เดินจงกรมบ้าง ตามลานวัด ตนเองก็เข้ากุฏิปิดประตูนอน

พอเหล่าศิษย์บำเพ็ญเพียรจนเหนื่อยแล้ว คิดจะกลับมาเอนหลังสักหน่อย ท่านอุปนนท์ก็ตื่นขึ้นมาพอดี ออกมาไล่ให้ไปจงกรม หรือนั่งสมาธิต่อจนกระทั่งพระลูกศิษย์ออกปากว่าอาจารย์เข้มงวดเหลือเกิน

บังเอิญศิษย์รูปหนึ่งแอบรู้พฤติกรรมของอาจารย์เข้า จึงกระซิบบอกต่อๆ กันไป จึงได้รู้ทั่วกันว่า อาจารย์ของพวกตนเป็นประเภท “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เรื่องรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสสอนว่า  ควรปฏิบัติตนให้ดีก่อน แล้วค่อยสอนคนอื่น  ถ้าทำได้อย่างนี้ บัณฑิตจึงจะไม่มัวหมอง

แต่บัณฑิตอย่างอุปนนท์ ไม่สนใจ วันหนึ่งก็แสดงพฤติกรรมน่าเกลียดอีกจนได้ คราวนี้ท่านเดินทางไปยังวัดต่างๆ สามสี่แห่งก่อนวันเข้าพรรษา วางรองเท้าไว้ที่วัด ก. ร่มไว้ที่วัด ข. น้ำเต้าไว้ที่วัด ค. ตนเองไปจำพรรษาอยู่ที่วัด ง. พอออกพรรษาแล้วก็ไปทวง “ส่วนแบ่ง” ที่ผู้อยู่จำพรรษาพึงได้รับ ครั้นเขาแย้งว่า หลวงพ่อไม่ได้จำพรรษาวัดนี้นี่ครับ

“ใครว่า คุณ ผมเอารองเท้าจำพรรษาแทน แล้วไง คุณก็ต้องแบ่งให้ผมด้วย” เล่นกะหลวงพ่ออุปนนท์สิ

เมื่ออาจารย์เป็นอย่างไร ลูกศิษย์ก็คงไม่แตกต่างกัน กัณฏกะสามเณรอยู่ใกล้ชิดพระอุปนนท์ก็คงถอดแบบจากอาจารย์ สามเณรกัณฏกะจึงไม่ค่อยจะสำรวมสมเป็นเหล่ากอแห่งสมณะที่ดี ปากคอเราะร้าย พอเจอนางภิกษุณีก็มักจะ “ขายขนมจีบ” ไม่เลือกหน้า วันดีคืนดีก็ทำอนาจารกับภิกษุณีนามว่า กัณฏกี จนมีเรื่องฉาวโฉ่

พระบาลีใช้คำว่า ภิกฺขุนึ ทูเสสิ = ประทุษร้ายภิกษุณี  เครียด = ประพฤติอนาจาร ไม่ทราบว่าถึงขั้นไหน เพราะภาษากำกวม แม้ในภาษาปัจจุบันนี้ก็ใช้คำว่า กระทำอนาจารทางเพศเช่นกัน คือ กำกวมเช่นกัน

ความซุกซนของสามเณรกัณฏกะ ศิษย์หลวงพ่ออุปนนท์ เป็นที่รับรู้กันทั่วไป จนพระพุทธเจ้าทรงวางบทบัญญัติไว้เพื่อกวดขันสามเณรต่อไปคือ
๑.ให้ทำทัณฑกรรม (คาดโทษ) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๕ ประการคือ
   ๑) ความพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
   ๒) พยายามเพื่อความพินาศแห่งภิกษุทั้งหลาย
   ๓) พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
   ๔) ด่า บริภาษ ภิกษุทั้งหลาย
   ๕) ยุยงให้ภิกษุต่อภิกษุแตกกัน
๒.ให้นาสนะ (ให้ฉิบหาย, คือไล่ศึก) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๑๐ ประการ คือ
   ๑)ทำลายสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป (ฆ่าสัตว์)
   ๒) ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ (ลักทรัพย์)
   ๓) กระทำการอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ (เสพกาม)
   ๔) กล่าวเท็จ
   ๕) ดื่มสุราเมรัย
   ๖) กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
   ๗) กล่าวติเตียนพระธรรม
   ๘) กล่าวติเตียนพระสงฆ์
   ๙) มีความเห็นผิด
  ๑๐) ประทุษร้ายนางภิกษุณี

รวมถึงประทุษร้ายสามเณรด้วยแหละครับ แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายต่าง “ประทุษร้ายกันและกัน” ก็ต้องเฉดหัวออกไปทั้งสองแหละครับ ขืนปล่อยไว้เดี๋ยวจะ “ประทุษร้ายพระศาสนา”

ความซุกซนของสามเณรกัณฏกะ มองในแง่บวกก็เป็นผลดีแก่พระศาสนา คือ เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ทรงวางกฎเข้มงวดไม่ให้สามเณรทั้งหลายเอาเยี่ยงอย่างต่อไป

พระพุทธบัญญัติเรื่องนี้เรียกว่า “สามเณรสิกขา” = สิ่งที่สามเณรทั้งหลายพึงสำเหนียกปฏิบัติ ซึ่งสามเณรทั้งหลายในสยามประเทศสวดเตือนสติตัวเองทุกวัน หลังทำวัตรช้า ทำวัตรเย็น จนกระทั่งปัจจุบัน 


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรกัณฏกะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๑ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ เมษายน ๒๕๕๙
หน้า:  1 ... 156 157 [158] 159 160 ... 273
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.917 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 08 เมษายน 2567 20:27:31