[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 06:15:48 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 160 161 [162] 163 164 ... 273
3221  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี เมื่อ: 23 กุมภาพันธ์ 2559 15:56:12




มวลชนหลั่งไหลเข้าไปใน "วังนารายณ์" หรือพระนารายณ์ราชนิเวศน์
เพื่อร่วมงาน "แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์" ของค่ำคืนวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
(งานสิ้นสุดวันที่ ๒๑ คนยังเนืองแน่นขนาดนี้ ไม่ทราบว่าวันแรกๆ คนจะมากกว่านี้สักแค่ไหน?)

"งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์"  
ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับชาวลพบุรีเป็นอย่างมาก เนื่องจากความเป็นเอกลักษณ์ของงาน คือ การแต่งกายชุดไทย อันเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทย ที่มีความอ่อนช้อยงดงาม

วัตถุประสงค์หลักของการจัดงาน คือเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตราธิราชผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงสร้างความเจริญให้กับเมืองลพบุรี

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ประทับที่จังหวัดลพบุรียาวนานกว่ากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์...พระองค์เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี เมื่อ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๒๓๑ ตลอดรัชสมัยทรงทำนุบำรุงบ้านเมือง การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การติดต่อค้าขายและสร้างความสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ถือเป็นยุคทองของกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ จังหวัดลพบุรี กำหนดให้มีการจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๓-๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี การจัดงานในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากเป็นเดือนพระราชสมภพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  

รูปแบบของงานมีจำลองเหตุการณ์ในครั้งประวัติศาสตร์  มีขบวนแห่ของชาติต่างๆ ที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีและเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีการจุดประทีปโคมไฟให้เหมือนราตรีแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในอดีต มีการแสดงนาฏศิลป์ การแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และคำประพันธ์ต่างๆ  มีร้านจำหน่ายและสาธิตสินค้า ตลอดจนขนมหวานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เช่น ขนมทองพลุ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เป็นต้น

ก่อนจะมาเป็นงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์นั้น ชาวลพบุรีเคยมีงานประเพณีอยู่อย่างหนึ่ง คือ "งานในวัง" ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑ เพื่อจัดหารายได้นำไปก่อสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีดำริให้สร้างอนุสาวรีย์ในราวปี พ.ศ.๒๕๐๐ ต่อมาได้มีการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์

งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกิดขึ้นจากแนวคิดของชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี กับนายเชาวน์วัศ สุดลาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีในขณะนั้น ที่จะพัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองท่องเที่ยว เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชผู้ทรงสร้างเมืองลพบุรีให้เจริญรุ่งเรือง การจัดงานครั้งแรก ตั้งชื่องานว่า "นารายณ์รำลึก" ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ "งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์" โดยจัดงานครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗-๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเดิมแล้วมีกำหนดจัดงานในวันที่ ๒๑-๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๑ แต่เกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดลพบุรี จึงต้องเลื่อนมาเป็นวันที่ ๑๗-๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๒ แทน



ชมภาพ งานประจำปีที่ยิ่งใหญ่
...ชาวลพบุรีพร้อมใจ แต่งไทยทั้งเมือง...



เจ้าคนขวามือ หลายท่านคงรู้สึกคุ้นๆ...
















.

จุดเที่ยวชมอีกแห่งหนึ่ง บริเวณเทวสถานปรางค์แขก PRANG KHEAK 
(ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์– ฮินดู)
อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ (พ.ศ.๑๔๒๕ - ๑๔๓๖)
ตั้งอยู่ระหว่างพระนารายณ์ราชนิเวศน์กับบ้านวิชาเยนทร์
ก่อนการบูรณะ ก่อสร้างด้วยอิฐ  ระหว่างอิฐแต่ละก้อนจะสอเชื่อมด้วยยางไม้
บริเวณนี้ จัดให้มีเวทีแสดงดนตรี โดยนักดนตรีแต่งกายพื้นเมืองล้านนา
ไม้ดอกไม้ประดับ เป็นประเภทไม้เมืองหนาว ทุ่มงบประมาณไปหลายล้านบาท
จัดได้สวยงามมาก สูสีกับไม้ดอกไม้ประดับของ จ.เชียงรายที่จัดเมื่อเดือนธันวาคม-มกราคมที่ผ่านมา













เจ้าเสื้อสีฟ้านี่น่าเห็นใจ...เกิดมาชาตินี้แสนจะเหน็ดเหนื่อย เที่ยวจนผ่ายผอม...
เฉพาะงานนี้...ปีนี้... ขับรถมาเที่ยวงานนี้ (ไป-กลับ) รวมแล้ว 3 วัน












3222  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / เทพเจ้าจีน เมื่อ: 22 กุมภาพันธ์ 2559 16:46:23


เทพเจ้าจีน


เทพเจ้าตามความเชื่อของคนจีน
ชาวจีนนับถือกราบไหว้เทพเจ้าหลายองค์ นอกจากเทพของศาสนาเต๋า และมีพระโพธิสัตว์ทางพุทธศาสนาแล้ว เทพพื้นถิ่นก็มีบทบาทไม่น้อย  เมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็นำความเชื่อเรื่องเทพเจ้าต่างๆ เข้ามาด้วย ดังจะพบเห็นศาลเจ้าจีนในกรุงเทพมหานครและในจังหวัดต่างๆ ที่มีคนจีนอยู่อาศัย แต่เนื่องจากปัจจุบันมีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี วิถีการดำรงชีวิตมีความพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเทพย่อมถูกดัดแปลงให้เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้คนสมัยใหม่ เพื่อให้ผู้คนเข้ามากราบไหว้เทพมากขึ้น หรือจะกล่าวอีกอย่างคือทำให้ศาลมีรายได้เพื่อความอยู่รอดของศาลนั้นๆ

เทพเจ้าตามความเชื่อของคนจีนที่พบเห็นกันบ่อยๆ มีดังนี้



ภาพจาก : wikipedia

๑.เทพเจ้ากวนอู (Guan Yu)

เทพเจ้ากวนอู หรือรู้จักกันโดยทั่วไปว่า “กวงกง”  มีชื่อรองว่า "หุนเตี๋ยง"  เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง ปรากฏในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก เป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มากและนับถือกันอย่างแพร่หลาย “กวงกง” เป็นแม่ทัพใหญ่ของจ๊กก๊ก ในยุคสมัยสามก๊ก ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๔ เดือนมิถุนายน จีนศักราชเอี่ยงฮี ปี พ.ศ.๗๐๔ ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั้นฮวนเต้  ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม จีนศักราชเคี่ยงเซ้ง ปี พ.ศ.๗๖๓ ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้  

ในวรรณกรรมเรื่อง สามก๊ก บรรยายลักษณะของกวนอูไว้ว่า ...เป็นผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ ๙ ฟุตจีนหรือประมาณ ๖ ศอก ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก นัยน์ตายาวรี คิ้วดั่งหนอนไหม หนวดเครางามถึงอก มีง้าวรูปจันทร์เสี้ยว ยาว ๑๑ ศอก หนัก ๘๒ ชั่ง อาวุธประจำกายเรียกว่า "ง้าวมังกรเขียว" หรือ "ง้าวมังกรจันทร์ฉงาย" ในจินตนาการของศิลปินมักวาดภาพหรือปั้นภาพให้กวนอูแต่งกายด้วยชุดสีเขียวและมีผ้าโพกศีรษะ

เทพกวนอูเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรม ปัญญา สัจจะ จงรักภักดี กตัญญูรู้คุณ และซื่อสัตย์เป็นเลิศ

ในหนังสือหุ้ยถูซานเจี้ยวเอวี๋ยนหลิวโซวเสินต้าเฉวียน ตอนอี้หย่งอู่อาน กล่าวไว้ว่า กวนอู เป็น อี้หย่งอู่อานหวาง แซ่กวน ชื่อ อวี่ มีอีกชื่อว่า อวินฉาง เป็นชาวเจี่ยเหลียงเหริน ของเมืองผู่โจว ในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นได้ร่วมมือกับเล่าปี่และเตียวหุยก่อการขึ้น โดยมีขงเบ้งเป็นที่ปรึกษา แล้วตั้งประเทศเรียกว่า “สู่” ต่อมาถูกลวี่เมิ่งปองร้าย หาอุบายทำให้กวนอูต้องจบชีวิตลง หลังจากเสียชีวิตแล้วจึงได้รับเลื่อนยศตำแหน่งเป็นขุนพลใหญ่ และฝังศพไว้ที่อวี้เฉวียนซาน ผู้คนในสมัยหลังรำลึกถึงบุญคุณ ความมีสัจจะของอวนอู จึงได้สร้างศาลขึ้นกราบไหว้

ในสมัยราชวงศ์ซ่ง กวนอูได้รับการเลื่อนฐานันดรศักดิ์เป็นหนิง จื้อเต้าเจินจวิน  ชาวไต้หวัน นิยมกราบไหว้กวนอูมาก มีศาลเจ้ากวนอูมากมาย ทั้งเกาะมีมากถึง ๑๙๒ แห่ง  

กวนอูมีชื่อเรียกขานต่างๆ กัน คือ กวนเซิ่งตี้ กวนตี้เอี๋ย อู่เซิ่ง เอินกงจวิน เป็นต้น  กวนอูในศาสนาเต๋าจะเป็นเทพ แต่ในพุทธศาสนากวนอูคือพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง  กวนอูคือผู้กล้าหาญ รักษาความสงบ ขจัดสิ่งชั่วร้าย สิ่งอัปมงคลและคนเลว เป็นเทพแห่งเงินตรา เป็นเทพแห่งผู้ชนะ ชาวบ้านเชื่อว่าท่านประทานความร่ำรวย เราจึงเห็นตามบริษัท ร้านรวงต่างๆ ที่ประกอบธุรกิจมักตั้งรูปกวนอูไว้สักการะบูชา

การบูชาเทพกวนอูมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง จนกลายเป็นประเพณีที่ฮ่องเต้หลายพระองค์ต้องกราบไหว้ ในฐานะผู้กล้าหาญและซื่อสัตย์  ปัจจุบันศาลเทพเจ้ากวนอูมีมากที่สุดในประเทศจีน เนื่องจากท่านได้รับแต่งตั้งจากฮ่องเต้หลายพระองค์ เช่น ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ฮ่องเต้ฮุยแต่งตั้งให้เป็นอู่อันหวัง หมายถึง อ๋องผู้กล้าหาญ รักษาความสงบ  ต่อมาสมัยราชวงศ์หยวน ฮ่องเต้หยวนเหวินจง เพิ่มยศให้เป็นอ๋องผู้กล้าหาญเปี่ยมด้วยอิทธิฤทธิ์

กล่าวสำหรับในประเทศไทย ศาลเทพเจ้ากวนอูที่ตลาดเก่า เยาวราช จะเห็นว่าภายในศาลมีรูปเทพเจ้ากวนอูขนาดใหญ่ นอกศาลมีม้าทรงของกวนอู เมื่อซื้อธูปกราบไหว้เทพก็ต้องซื้อผักบุ้งผักกาดไหว้ม้าของกวนอูด้วย  นอกจากนั้นยังมี เทพกวนอูในท่านั่งอ่านชุนชิวก็ถือกันว่าเป็นกวนอูแบบบุ๋น ให้คุณทางด้านการศึกษา จึงสรุปได้ว่า เทพกวนอูมี ๒ ลักษณะคือ มีทั้งแบบบุ๋นและแบบบู๊



.


ภาพจาก : : book.mindcyber.com

๒.เทพเทียนโหว (เทียนโหวเซ่งหมู) - เจ้าแม่ทับทิม

เทียนโหว หรือ เทียนโหวหยวนจวิน เป็นเจ้าแม่หรือเทพธิดาแห่งท้องทะเลที่คุ้มครองผู้เดินทางทางเรือ ที่มีคนจีนในไทยและสิงคโปร์นับถือมาก ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีก็คือ “เจ้าแม่ทับทิม” หรือ “เจ้าแม่มาจู่” ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า เทียงโหว่เซี้ยบ้อ แต่ชาวฮกเกี้ยนเรียกว่าหมาโจ้ว หรือหมาจู่ คนไหหลำเรียกว่า  “โผ่วโต้ว” หรือ “ตุ๊ยบ่วยเต๋งเหนี่ยง” หรืออีกหลายต่อหลายชื่อ เช่น "จุยบ่วยเนี่ยว" ที่วัดสุทธิวรารามเรียก “โอวโต่วเซี๊ยม่า” ที่เขาสามมุขเรียก “ไห่ตังม่า” ซึ่งชื่อเรียกเจ้าแม่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น

แต่เป็นที่รู้จักกันทั่วๆ ไปว่า เทียนเฟย หรือพระสนมเอกแห่งสวรรค์ ในหนังสือ หุ้ยถซานเจี้ยวหยวนหลิวโซวเสินต้าเฉวียน ได้บันทึกไว้ว่า “พระนางแซ่ลิ้ม เป็นชาวหนิงไห่เจิ้น ซิงหว้าลู่ ซึ่งก็คือบริเวณเลียบทะเลที่เรียกว่าเหมยโจวของอำเภอผู่เถียนในปัจจุบัน บิดาชื่อลิ้มเฮ้ง มารดาชื่อลิ้มยุ้ย  มารดาแซ่เฉิน ค่ำคืนหนึ่งฝันเห็นเจ้าแม่กวนอิมและได้กลิ่นดอกไม้ที่เจ้าแม่กวนอิมประทานให้ จึงตั้งครรภ์ ๑๔ เดือน จุติในวันที่ ๒๓ เดือน ๓ พ.ศ.๑๕๐๓ รัชศกหยวนเป่า ปีที่ ๑ แห่งราชวงศ์ถัง...” (ไม่ปรากฏผู้แต่ง หุ้ยถูซานเจี้ยวหยวนหลิวโซวเสินต้าเฉวียน, ไถ่เป่ย : เหลียนจิงชูป่าน,๑๙๘๐ หน้า ๑๘๖.)  วันที่พระนางกำเนิดปรากฏมีแสงสว่างจ้าทั้งบ้าน มีกลิ่นหอมตลบอบอวล และมิได้ร้องไห้เหมือนเด็กทั่วไป จึงได้ชื่อว่า ลิ้มมิก (คำว่า มิก จีนกลางออกเสียงว่า โม่ แปลว่า เงียบขรึม) เมื่อลิ้มมิกโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ฉลาดมาก สามารถอ่านหนังสือได้แตกฉาน ว่ายน้ำเก่ง ฝึกสมาธิและปฏิบัติธรรม ถือศิลกินเจอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้นางยังมีสัญชาตญาณในเรื่องของดินฟ้าอากาศดีมาก สามารถคาดคะเนการเปลี่ยนสภาพอากาศได้ค่อนข้างแม่น แล้วได้ใช้สัมผัสพิเศษนี้เตือนชาวเรือเรื่อยมา อีกทั้งยังมีความรู้เรื่องแพทย์อย่างน่าอัศจรรย์ ได้ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ชาวบ้านเสมอๆ
      
วันหนึ่งบิดาและพี่ชายสี่คนออกเรือไปทะเล ลิ้มมิกห้ามไว้เพราะนางรู้ว่ากำลังจะเกิดพายุใหญ่ แต่พวกเขาไม่เชื่อ จนต้องเผชิญกับพายุร้าย เรือล่มต้องลอยคอในทะเล ขณะนั้นนางกำลังทอผ้าอยู่และทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบิดาและพี่ชายจากสมาธิพลังจิตที่สูงส่ง ลิ้มมิกจึงใช้กระแสจิตส่งไปช่วยพี่ชายและบิดาให้พ้นภัย

พระนางเป็นคนในสมัยราชวงศ์ถัง ได้รับการกราบไหว้บูชามาโดยตลอดจนถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง ความศักดิ์สิทธิ์ของพระนางระบือไปไกลดังเช่นหนังสือชื่อเหลียงซาน ตอนซุ่นจี้ เซิ่งเฟยเพี่ยวจี้ ของถิงเป๋อกุ้ย คนในสมัยราชวงศ์ซ่งบันทึกไว้ว่า เทพธิดาองค์นี้แซ่ลิ้ม เป็นชาวเหมยโจวผู่หยาง เมื่อเด็กพูดน้อยแต่หยั่งรู้เรื่องโชคลาภหรือภัยพิบัติ เมื่อสิ้นชีพลงได้สร้างศาลไว้กราบไหว้บูชา บ้างเรียกกันว่า เทพธิดาผู้ปราดเปรื่อง บ้างเรียกว่าธิดาแห่งเจ้ามังกร

พระสนมเอกแห่งสวรรค์ หรือเทียนโหวองค์นี้ เป็นผู้พิทักษ์คนเดินทะเลให้ได้รับความปลอดภัย ดังนั้น จึงมีผู้กราบไหว้พระนางมากขึ้นเป็นลำดับ พระจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์ซ่งจึงทรงสถาปนาพระนางขึ้นเป็นตำแหน่งหุ้ยฮูหยิน ในปี ค.ศ.๑๑๕๖ และต่อมาก็เลื่อนฐานันดรศักด์เป็นพระนางเจาอิ่ง พระนางฉงฝู่เสียงหลี หมายถึงผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตาและให้คุณประโยชน์ นับว่าพระนางเป็นเทพที่มีคนนับถือมากที่สุดในมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้ง เจียงซี เจ้อเจียง

พระนางได้ดูแลประชาชนให้เดินทางทางทะเลอย่างปลอดภัย นับว่าได้ทำคุณประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประเทศ มาถึงสมัยราชวงศ์หยวน พระเจ้าหยวนซื่อจู่จึงทรงสถาปนาพระนางให้ดำรงพระยศเป็นพระสนมเอกแห่งสวรรค์ นับว่าเป็นฐานันดรศักดิ์ที่สูงสุดของเทพองค์นี้ แต่ก่อนอุปกรณ์การเดินเรือไม่เจริญ ชาวเรือมักประสบอุบัติเหตุได้โดยง่าย ดังนั้น ผู้เดินเรือต้องหาที่พึ่งทางใจ อย่างน้อยก็เป็นกำลังให้เดินทางถึงจุดหมายได้

ในสมัยราชวงศ์หมิง ราชทูตเชงโฮ (เจิ้งเหอ) เดินทางมาทะเลใต้ ก็ต้องทำพิธีเซ่นไหว้เทพมารดรองค์นี้ก่อนออกเดินเรือเช่นกัน

ชาวจีนในประเทศต่างๆ ทางทะเลใต้ จะตั้งศาลกราบไหว้เทพมารดรองค์นี้ ที่เห็นว่ามีจำนวนมากคือชาวฮกเกี้ยน รองลงมาคือชาวไหหลำ ทั้งนี้เนื่องจากทั้งสองมณฑลนี้อยู่ติดทะเล ทั้งมีอาชีพในการหาปลามาก รวมทั้งการเดินทางออกสู่ทะเลด้วย  และศาลเจ้ามักจะหันหน้าลงสู่แม่น้ำหรือทะเล ชาวจีนในเมืองไทยก็มีทั้งชาวฮกเกี้ยนและชาวไหหลำ จึงได้พบศาลดังกล่าวอยู่มาก ทั้งชาวจีนแต้จิ๋วในเมืองไทยก็นิยมกราบไหว้เทพมารดรเทียนโหวเช่นกัน

ศาลเจ้าเทียนโหวในกรุงเทพมหานครที่นับว่าเก่าแก่มากก็คือศาลเทียนโหวที่บางขุนเทียน สร้างประมาณปี ค.ศ.๑๘๓๔ คือรัชศกเต้ากวงปีที่ ๑๔ ศาลนี้หันหน้าลงคลองชักพระ ในสมัยโบราณเส้นทางนี้คงมีความสำคัญมาก และคงมีชาวจีนอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมากเช่นกัน จากข้อความบนแผ่นป้ายในศาลทำให้เรารู้ว่าศาลเจ้าแห่งนี้มีการซ่อมแซมมาหลายครั้ง และครั้งล่าสุดซ่อมแซมในปี ค.ศ.๑๘๗๔ ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นของชาวจีนฮกเกี้ยนร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์สร้างขึ้น

ปัจจุบัน เทพมารดรเทียนโหวมิได้มีความศักดิ์สิทธิ์แต่เฉพาะในด้านการคุ้มครองผู้เดินเรือทางทะเลเท่านั้น ตลาดสดที่ตั้งขึ้นใหม่จะนิยมสร้างศาลเทียนโหว ซึ่งบางแห่งก็จะใส่ชื่อภาษาไทยว่าเจ้าแม่ทับทิมบ้าง เจ้าแม่ไข่มุกบ้าง เจ้าแม่เทียนโหวบ้าง ทั้งนี้ เพราะเชื่อว่า เทพมารดาเทียนโหวจะสามารถบันดาลให้กิจการค้าในตลาดเจริญรุ่งเรือง

3223  สุขใจในธรรม / ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม / Re: ปฏิทินท่องเที่ยว-ประชาสัมพันธ์งานบุญ เมื่อ: 19 กุมภาพันธ์ 2559 15:47:54




ฤดูกาลท่องเที่ยว "ทะเลแหวก"
ฤดูกาลท่องเที่ยวคือเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี

ทะเลแหวกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากอิทธิพลของน้ำขึ้นและน้ำลง ทำให้สันทรายของเกาะทั้ง 3 คือ เกาะทับ เกาะหม้อ และเกาะไก่ จังหวัดกระบี่ ปรากฏขึ้นเมื่อน้ำลด จนสามารถเดินไป-มาระหว่างเกาะได้ โดยบริเวณนี้น้ำทะเลใสมองเห็นฝูงปลาสวยงาม จึงเป็นอีกจุดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเพื่อชมปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำลดลงต่ำสุดในแต่ละวัน เหมือนทะเลแหวกออกจนกลายเป็นหาดทรายขาวสะอาดเชื่อมเกาะ โดยเฉพาะในวันก่อนและหลังวันขึ้น 15 ค่ำ ราว 5 วัน

ทั้ง 3 เกาะดังกล่าวรวมอยู่ในหมู่เกาะปอดะ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน มีสัณฐานติดกัน เมื่อคลื่นพัดทรายมาพบกันที่จุดนี้จึงทำให้เกิดเป็นแนวสันทรายเชื่อมเกาะทั้งสามเกาะให้ถึงกัน สันทรายจะจมหายไปเมื่อน้ำขึ้นสูง แต่เมื่อน้ำลดแนวสันทรายก็จะค่อยๆ โผล่ขึ้นมาเหมือนกับว่าแบ่งทะเลให้แยกออกจากกันเป็นสามส่วน สันทรายจะโผล่ในช่วงที่น้ำทะเลลดต่ำสุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสันทรายจะไม่โผล่ก็เดินเล่นได้เพราะหาดทรายของทะเลแหวกขาวสะอาด การท่องเที่ยวทะเลแหวกนิยมท่องเที่ยวทั้งหมด คือ เกาะไก่ เกาะทับ เกาะหม้อ เกาะ ปอดะ และเที่ยวได้ใน 1 วัน ต่างจากในอดีตที่นักท่องเที่ยว มักเช่าเรือมาตกปลา กางเต็นท์นอนนับดาวในคืนเดือนแรม หรือชมแสงจันทร์ในคืนเดือนเพ็ญ โดยค้างคืนบนเกาะได้ แต่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ค้างแรมบนเกาะแล้ว

เกาะทับเป็นเกาะเล็กๆ มีหาดทรายเฉพาะด้านใต้ ยามน้ำลด หาดทรายทางด้านใต้จะเชื่อมต่อกับแนวสันทรายของเกาะปอดะนอก กลายเป็นสะพานธรรมชาติยาวประมาณ 200 เมตร แม้จะเป็นหาดทรายเล็กๆ แต่เม็ดทรายละเอียดและขาวมาก น้ำทะเลใส ขณะที่เกาะหม้อเป็นโขดหิน ไม่มีชายหาดให้ขึ้นไปบนเกาะ น้ำทะเลใสสะอาด อยู่ห่างจากเกาะทับเพียง 70 เมตร หากน้ำลดจะมีสันทรายเชื่อมต่อกัน เดินจากเกาะหนึ่งไปอีกเกาะหนึ่งได้

ส่วนเกาะปอดะนอก หรือเกาะไก่ หรือเกาะด้ามขวาน เกาะรูปร่างประหลาด ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อเกาะอันหลากหลาย เนื่องจากชะง่อนผาที่ยื่นออกมาทางด้านใต้ทำให้ผู้พบเห็น เกิดจินตนาการต่างๆ กันไป บ้างก็เห็นคล้ายกับส่วนหัวของไก่ บ้างก็เห็นเป็นด้ามขวานที่วางตั้งอยู่ ฝรั่งนักท่องเที่ยวมองเห็นเป็นป๊อปอาย ตัวการ์ตูนดัง หรือบางทีคนเห็นเป็นคนนอนคาบไปป์ ผู้ชมชอบการดำน้ำ ดำผิวน้ำชมปะการังน้ำตื้นหรือปะการังแข็งได้ที่เกาะไก่นี้ แต่ความสมบูรณ์ของปะการังไม่อาจเทียบเท่ากับท้องทะเลที่ห่างไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็มีหาดทรายขาวทอดยาว น้ำทะเลสวยใส กับปลาลายเสือฝูงใหญ่ให้ชม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้รายละเอียดถึงการเดินทางไปยังทะเลแหวกซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดกระบี่ประมาณ 20 กิโลเมตร ว่า ฤดูกาลท่องเที่ยวคือเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี เดินทางโดยจากจังหวัดกระบี่ใช้ทางหลวงหมายเลข 4034 แล้วเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 4202 ไปอ่าวพระนาง หรืออ่าวนาง เช่าเรือได้ที่นี่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 นาที หรือเที่ยวแบบซื้อ แพ็กเกจทัวร์โดยเรือหางยาว ตอนเช้ามีรถไปรับที่โรงแรม ตอนเย็นไปส่งกลับถึงโรงแรม หรือเดินทางมาโดยรถทัวร์ ลงรถแล้วรออยู่ที่ท่ารถ บขส. ระหว่าง 08.00-08.15 น. จะมีรถไปรับถึงที่ท่ารถเพื่อไปลงเรือ

ทั้งนี้ วิกิพีเดียอรรถาธิบายว่า สันดอนเชื่อมเกาะ (อังกฤษ : Tombolo) เป็นคำบัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ทะเลแหวก เป็นลักษณะทางธรณีสัณฐานวิทยาชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นสันทรายเชื่อมระหว่างชายฝั่งกับเกาะ โดยจะปรากฏขึ้นเมื่อระดับน้ำทะเลลดลง และจะชัดเจนมากในช่วงก่อนและหลังวันขึ้น 15 ค่ำประมาณ 5 วัน




3224  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ แกงไตปลาน้ำข้น (สูตรพริกสด) คลุกข้าวกินกับไข่ต้มยางมะตูม อร่อยนักแล... เมื่อ: 19 กุมภาพันธ์ 2559 15:29:07
.


แกงไตปลาน้ำข้น (สูตรพริกสด)

• เดรื่องปรุง
- ไตปลาช่อน ¼ ถ้วย
- ไตปลากระดี่ (ถ้ามี) 1 ช้อนโต๊ะ (ไตปลากระดี่ค่อนข้างหายาก ให้รสชาติขมเล็กน้อย)
- ปลาทูนึ่ง 2 ตัว
- ปลาซาบะย่าง 2 ตัว
- น้ำเปล่า 2+½ ถ้วย
- ใบมะกรูดฉีก 4-5 ใบ


เครื่องปรุงพริกแกงไตปลา
- กระเทียมไทย 1+½หัว
- หอมแดง 2 หัว
- พริกไทยดำ 1 ช้อนโต๊ะ
- ขมิ้นสด ยาวประมาณ 1+½ นิ้ว
- ตะไคร้ซอย 1 ช้อนโต๊ะ
- ข่าหั่นหยาบ 1 ช้อนชา
- ผิวมะกรูดหั่นหยาบ ¼ ช้อนชา
- พริกขี้หนูสด 40-50 เม็ด
- กะปิใต้ 1 ช้อนโต๊ะ
- เกลือป่น ¼ ช้อนชา


วิธีทำ
1.โขกเครื่องแกงทั้งหมดให้ละเอียด ใส่กะปิโขลกพอเข้ากัน
2.ต้มน้ำให้เดือด ใส่พริกแกง ไตปลา ปลาทูนึ่งและปลาซาบะย่าง ใบมะกรูดฉีก เคี่ยวสักครู่
3.ตักใส่ถ้วยเสิร์ฟ รับประทานกับผักสด ผักลวก และไข่ต้มยางมะตูม
* แกงไตปลา ยิ่งอุ่นหลายๆ วันยิ่งรสชาติอร่อย






ภาพประกอบ จาก"ขนมจีนน้ำยาป่า ปักษ์ใต้ (สูตรพริกสด)"
ส่วนผสมที่เพิ่มเติมของน้ำพริกแกงไตปลา ได้แก่ หอมแดง ผิวมะกรูด และข่า


ภาพประกอบ จาก"ขนมจีนน้ำยาป่า ปักษ์ใต้ (สูตรพริกสด)"
ส่วนผสมที่เพิ่มเติมของน้ำพริกแกงไตปลา ได้แก่ หอมแดง ผิวมะกรูด และข่า


ภาพประกอบ จาก"ขนมจีนน้ำยาป่า ปักษ์ใต้ (สูตรพริกสด)"
ส่วนผสมที่เพิ่มเติม ได้แก่ หอมแดง ผิวมะกรูด ข่า


ตั้งน้ำให้เดือด ใส่พริกแกง ไตปลา


แกะเอาแต่เนื้อปลาทูนึ่งและปลาซาบะย่าง ใส่ในน้ำแกง ใส่ใบมะกรูดฉีก เคี่ยวสักครู่
ตักใส่ชามเสิร์ฟ รับประทานกับผักสดชนิดต่างๆ เช่น ถั่วพลู ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ ฯลฯ
ไข่ต้มยางมะตูม และหน่อไม้ลวก


แกงหม้อเดียวกันกับภาพข้างบนค่ะ แต่ใส่ถั่วฝักยาวผสมลงไปเล็กน้อย


ถั่วฝักยาวกินหมดไปเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่น้ำแกงและเนื้อปลา
 

3225  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2559 14:38:02
.



• พ่อค้าฝรั่งโกงค่าตัวอิน-จัน
อิน-จัน ตระเวนโชว์ตัวอยู่ในอเมริกานานเกือบ ๓ เดือน แล้วข้ามมหาสมุทรไปลุยต่อในอังกฤษ สก็อตแลนด์ และเวลส์อีกราว ๑๔ เดือน แฝดสยามดังระเบิด มีสาวสวยไฮโซในลอนดอนนามว่า โซเฟีย ( Sophia ) ใจถึง ประกาศรวบหัวรวบหางขอแต่งงานกับแฝดสยามแบบเปิดเผย อิน-จัน รับรักโซเฟียแบบหมดใจเช่นกัน รักแรกที่แสนจะดื่มด่ำ ของ ๒ ชาย ๑ หญิง ประสบกับแรงต้าน แรงเสียดสีจากสังคมของผู้ดีอังกฤษในด้านจริยธรรม ศีลธรรมจนกลายเป็นความปวดร้าว

อิน-จัน และโซเฟีย ทุ่มเทกายใจให้แก่กัน แต่แล้วก็ไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ รักแรกของแฝดหนุ่มจากปากน้ำแม่กลองกับสาวสวยลอนดอนจบลงด้วยการพลัดพรากที่สุดแสนอาดูร

ในระหว่างใช้ชีวิตแบบคณะละครเร่ในอังกฤษ อิน-จัน หันมามองตัวเอง เห็นอนาคตขมุกขมัวที่จะต้องเผชิญกับชีวิตจริงที่จะต้องอยู่ให้รอดท่ามกลางความสำเร็จ ความผิดหวัง และความท้าทายทั้งปวงในอนาคต ทั้งสองคนจึงเริ่มเรียนภาษาอังกฤษแบบเป็นเรื่องเป็นราว โดยเฉพาะการอ่านและเขียนภาษาอังกฤษ แฝดทั้งสองได้ขะมักเขม้นการเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ได้รับคำชมจากนายฮันเตอร์ว่า การอ่าน-เขียนภาษาอังกฤษใช้ได้เลยทีเดียว

หลักฐานข้อมูลที่บันทึกไว้เป็นภาษาอังกฤษ ระบุว่า แฝดอิน-จัน เป็นผู้ที่มีระเบียบ รักความสะอาด อัธยาศัยดี มีน้ำใจต่อทุกๆ คนที่เข้ามาสัมผัส ภาษาอังกฤษที่ใช้สนทนา มีพัฒนาการเห็นได้ชัด ฝรั่งอังกฤษแอบจ้องจับผิด คอยสังเกต และชอบทดสอบว่า อิน-จัน มีไลฟ์สไตล์ มีอุปนิสัยอย่างไร บางทีก็ยื่นขนมให้ อินคนเดียว คอยแอบดูว่าจะแบ่งปัน เอาเปรียบ กันอย่างไร ผลปรากฏว่า ทุกอย่างที่ได้รับมา แฝดสยามจะแบ่งปันกันเสมอ ไม่เอาเปรียบกัน แม้กระทั่งการแต่งตัวที่ลำบากตอนจะสอดเสื้อผ้าเข้าไปตรงท่อนเอ็นที่เชื่อมต่อกันตรงหน้าอก จะต้องใช้เวลาสักหน่อย อินและจัน ก็จะคอยช่วยกันจัดเสื้อผ้า หน้า ผม ให้เข้าที่ซึ่งกันและกันเสมอ

ผู้คนทั้งหลายที่พบเห็น อดที่จะชื่นชมไม่ได้ และที่ทุกคนชื่นชอบคือ แฝดตัวติดกัน เวลาที่เดินไปไหนมาไหนด้วยกัน โดยเฉพาะการแสดงบนเวที ทั้งคู่จะมีท่าทางที่อ่อนช้อย กลมกลืน งดงามเหมือนคู่เต้นรำที่มีความสวยงามในความสับสน

ข้อมูลทางกายภาพที่คณะแพทย์จาก ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งลอนดอน มีคุณค่าสูงทางวิชาการแพทย์ถูกนำไปเผยแพร่ในวงการแพทย์อย่างกว้างขวาง ถูกนำไปเปรียบเทียบกับแฝดตัวติดกันคู่อื่นๆ แน่นอนที่สุด ยังมีผู้คนจำนวนมากป้วนเปี้ยน ใจจดใจจ่อ ตั้งคำถาม ตั้งประเด็น อยากรู้อยากเห็น จะขอเข้ามาผ่าตัดแยกร่างให้ไม่เลิกไม่รา

คณะแพทย์บันทึกข้อมูลสำคัญที่ผู้คนทั่วไปอยากรู้ คือ แฝดอิน-จัน จะปวดท้องและต้องไปถ่ายหนักในเวลาเดียวกันเสมอ

คณะแพทย์ของอังกฤษต้องคอยปกป้องอิน-จัน ด้วยหลักการของแพทย์อย่างเข้มแข็งเสมอว่า ถ้าผ่าตัดแยกร่าง หมายถึง ตายทั้งคู่ประการสำคัญ แฝดทั้งสองเค้าคุยกันแล้วว่าจะไม่ขอผ่าแยกร่าง ขออยู่กันแบบนี้ไม่ได้เดือดร้อนใครตรงไหนเลย อย่าสาระแนมาพูดเรื่องนี้อีก

ท่ามกลางชีวิตประจำวันที่อิน-จัน เผชิญอยู่บนเกาะอังกฤษ แฝดสยามเริ่มคุยกันเรื่องรายได้จากการแสดงที่ดูเหมือนว่ามาก แต่กลับน้อยความระแวงสงสัยเรื่องเงินเริ่มมีมาตั้งแต่ลงเรือจากนิวยอร์กมาลอนดอน อิน-จัน สัมผัสได้ถึงการเอาเปรียบจากกัปตันคอฟฟิน รวมทั้งภรรยากัปตันที่ชื่อ นางซูซาน ที่เริ่มไม่ตรงไปตรงมาซะแล้ว แฝดจากเมืองสมุทรสงครามคู่นี้ปรึกษาหารือใครไม่ได้แน่นอน ในสมัยนั้นตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ สยามยังมิได้แต่งเอกอัครราชทูตไทยมาประจำในลอนดอน ในยุคนั้นสยามเพิ่งเปิดประเทศแล่นเรือสำเภาค้าขายกับจีนเป็นหลัก เป็นยุคตั้งต้นมิชชันนารีและแพทย์จากอเมริกาทยอยเข้ามาในสยามเผยแพร่ศาสนา เผยแพร่การรักษาโรคแผนใหม่

ในสมัยในหลวง ร.๓ อังกฤษส่งร้อยเอก เฮนรี เบอร์นี (ชาวสยามเรียกว่า นาย บาระนี) ข้าหลวงอังกฤษที่ประจำอยู่ในอินเดียเข้ามาทำข้อตกลงการค้ากับสยามสำเร็จ และหลังจากนั้นสยามก็ทยอยลงนามสัญญาค้าขายกับหลายประเทศ ยังไม่มีการแต่งตั้งทูต

ในเวลานั้น อิน-จัน คือคู่คิด คู่เดียวในโลกที่พูดกันรู้เรื่อง ไม่มีเอกอัครราชทูต ไม่มีสถานทูตไทยในลอนดอนให้ปรึกษา

แฝดหนุ่มซ่อนความรู้สึกที่โดนกัปตันคอฟฟินเอาเปรียบไว้ อากาศที่เกาะอังกฤษช่วงหน้าหนาวมันแสนจะทรมานสำหรับแฝดหนุ่มจากสยาม ความอดทน เท่านั้นคือปัจจัยที่จะมีชีวิตอยู่ได้ จากบันทึกประวัติศาสตร์ แฝดสยามป่วยเป็นหวัดเล็กน้อยเนื่องจากหมอกและความชื้นในลอนดอนพร้อมๆ กัน และหายจากป่วยพร้อมกัน คณะแพทย์ในอังกฤษได้สอบถามประวัติการเจ็บป่วยตอนเด็กๆ ก่อนมาถึงอังกฤษ แฝดสยามเล่าให้หมอบันทึกประวัติว่า ตอนอยู่ที่ปากน้ำแม่กลองเคยออกหัดมาแล้ว และในช่วงอายุ ๘ ขวบ เคยเป็นฝีดาษ ที่ชาวสยามเรียกว่า ห่าลง ในเมืองครั้งใหญ่ พ่อบังเกิดเกล้าที่ชื่อ นายทีอาย และน้องของแฝดอิน-จัน เสียชีวิตรวม ๖ คนในคราวนั้น ส่วนแฝดมีบุญคู่นี้ รอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์

เกล็ดประวัติการเจ็บป่วยย้อนหลังตั้งแต่เป็นเด็กช่วงนี้ ได้รับการบันทึกไว้โดยคณะแพทย์ของราชวิทยาลัยแห่งลอนดอน อังกฤษในหนังสือชื่อ On The United Siamese Twins โดย นายแพทย์ George Buckley Bolton ตอนที่แฝดมาถึงลอนดอนแล้ว

การทดลองทางการแพทย์ที่น่าสนใจของ Sir James Y Simpson คือการทดสอบให้ อิน รับประทาน โปแตสเซียม ไอโอไดด์ คนเดียว แล้วไปตรวจปัสสาวะของจัน ปรากฏว่าไม่มีสารดังกล่าวเจือปนออกมา แสดงว่าระบบการปัสสาวะแยกออกจากกัน ถ้าจะว่าไป เรื่องแบบนี้พวกหมอเค้าสนใจอยากรู้มากครับ


มีเหตุการณ์ที่แพทย์อังกฤษ บันทึกเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างแฝดคู่นี้คือ คืนหนึ่งในขณะที่ทั้งคู่หลับสนิท ไม่ทราบว่าอินหรือจัน ตะโกนออกมาเสียงดังด้วยความตกใจ หมอจึงเข้าไปถามว่า เกิดอะไรขึ้นอิน ตอบว่าฝันว่าได้พบกับนางนากผู้เป็นแม่ ส่วน จันตอบว่า ฝันว่ามีคนกำลังจะเข้ามาตัดผมเปียที่แสนจะหวงแหน

เป็นเรื่องที่แฝดทั้งสอง จะประสบเหตุพบด้วยกัน คล้ายกันแม้กระทั่งเมื่อฝัน

แพทย์บันทึกไว้แบบนี้ เพราะเป็นข้อมูลทางการแพทย์ที่สำคัญสำหรับ ความเหมือน ความแตกต่างสำหรับคนที่เป็นฝาแฝด

ตามแผนงาน หลังจากตระเวนโชว์ตัวจนทั่วเกาะอังกฤษแล้ว นายฮันเตอร์ และกัปตันคอฟฟินได้เตรียมการที่จะให้ฝาแฝดเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษไปโชว์ตัวต่อในฝรั่งเศสอิน-จัน ไม่ลังเลแต่อย่างใด การเตรียมการทุกอย่างเป็นไปด้วยดี แต่ท้ายที่สุด ข้อมูลที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้รับ คือข้อมูลด้านลบในตัวตนที่พิกลพิการของแฝดสยาม เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสมีจินตนาการว่าแฝดสยามคู่นี้เป็นอสุรกายที่อาจจะทำให้เกิดความอุจาดต่อสายตาสุภาพสตรีฝรั่งเศส ลามไปถึงสตรีมีครรภ์ที่อาจจะทำให้ลูกในท้องต้องมีร่างกายวิปริตตามไปด้วย

ในที่สุดทางการปารีส ไม่อนุมัติให้แฝดสยามและคณะเดินทางเข้าไปเปิดการแสดงในฝรั่งเศส

ทีมงานแฝดคนดัง ต้องปรับแผนการทำงานใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะความโด่งดัง และเสน่ห์ของแฝดสยามยังตลบอบอวลในลอนดอน

ก่อนลาจากเกาะอังกฤษ ฮันเตอร์ จัดการแสดงของแฝดในมหานครลอนดอนอีกตามคำเรียกร้อง ทุกอย่างเป็นไปตามคาด คนในลอนดอนที่พลาดชมการแสดงครั้งก่อน ผู้คนมาตีตั๋วกันเนืองแน่น บรรยากาศที่ทำเงินทำทองแบบนี้ ได้ช่วยบรรเทาความภาวะรักขมระหว่างแฝดสยามกับสาวสวยโซเฟีย ให้จางลงได้บ้าง

สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ความไม่แน่นอนครับ

นายฮันเตอร์ พ่อชาวอังกฤษ เชื้อสายสก๊อต เจ้าของธุรกิจเรือเดินสมุทร ๔ ลำ ที่ไปเอาตัวแฝดอิน-จันมาจากปากน้ำแม่กลอง มาทำหน้าที่เป็นออแกไนเซอร์ พาแฝดอิน-จัน ตระเวนโชว์ตัวหากะตังค์ในเกาะอังกฤษราว ๑๕ เดือน เกิดเป็นกังวลกับธุรกิจเดินเรือสินค้าของตนซึ่งเป็นอาชีพหลัก ไม่สามารถมาฝังตัวอยู่กับการโชว์ตัวของอิน-จันได้อีกต่อไป แกมาตระเวนหาเงินกับเด็กแฝดนานเกินไปแล้ว อันที่จริงแกไปเปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่เกาะสิงคโปร์ ธุรกิจในอินเดีย มีธุรกิจการค้าหลายแห่งรวมทั้งกิจการห้างสรรพสินค้าแห่งแรก (ชื่อห้างหันแตร)ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเมืองบางกอกสยามประเทศ ที่ตั้งอยู่บริเวณวัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร จำต้องขอลาแยกตัวจากคณะแฝดไปล่องเรือหาซื้อสินค้าป้อนตลาดระหว่าง ยุโรป-เอเชีย

ฮันเตอร์ ที่ชาวสยามเรียกว่า นายหันแตร กำลังจะจากไปพร้อมกับรายได้ก้อนใหญ่ โดยฮันเตอร์ขายหุ้นครึ่งหนึ่งให้เป็นของ กัปตันคอฟฟิน ดังนั้นเถ้าแก่จัดการแสดงโชว์ตัวของแฝดสยามต่อจากนี้ไปจึงตกเป็นของกัปตันคอฟฟินแต่ผู้เดียว

ตามบันทึกของนาย เจมส์ เฮล แฝดสยามให้การยอมรับนับถือ นายฮันเตอร์ เหมือนบิดาเพราะย้อนหลังไปราว ๕ ปีที่แล้ว นายฮันเตอร์คนนี้แหละที่ไปพบแฝดสยามว่ายน้ำเล่นในแม่น้ำแม่กลอง สมุทรสาคร แล้วไปตีสนิทกับครอบครัวของแฝดสยาม เพื่อเช่าซื้อตัวแฝดสยามเอามาแสดงในอเมริกาและยุโรป เป็นตัวเป็นตนมาได้เพราะนายฮันเตอร์นี่แหละ

สิ่งที่นาย ฮันเตอร์ สร้างขวัญและกำลังใจให้กับ อิน-จัน ก่อนลาจาก คือ นายฮันเตอร์สัญญาที่จะเดินทางกลับไปสยาม และจะไปเยี่ยมนางนากที่ปากน้ำแม่กลองเพื่อส่งข่าวเรื่องชีวิตการทำมาหากินของแฝดอิน-จัน ที่ไปอยู่อเมริกาและยุโรปเกือบ ๒ ปีแล้ว

อิน-จัน ดีใจน้ำตานองหน้า ฝากข้าวของเยอะแยะมากับนายฮันเตอร์ ไปให้นางนาก แม่บังเกิดเกล้าที่ปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม นี่เป็นครั้งแรกที่จะได้ส่งข่าวไปหาแม่

ผู้เขียนอ่านไป ค้นข้อมูลไป วิเคราะห์จากความรู้สึกเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้วได้ว่า ชาวตะวันตกที่เรียกว่า ฝรั่งรักการค้าขายไม่แพ้ชนชาติใด รักการเดินทางติดต่อกับผู้คน แลกเปลี่ยนสินค้า แสวงหาดินแดน แสวงหาทรัพยากร มุ่งมั่นในความร่ำรวย ไม่หวั่นเกรงการผจญภัยข้ามทะเล สินค้าตัวเก่งที่พ่อค้าฝรั่งนำไปขายทั่วโลกคือ อาวุธปืนทุกชนิด ที่ถือว่ามนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์อยากได้ครอบครองเพื่อการสร้างอำนาจที่เหนือกว่า ข้ามมหาสมุทรที่ยุคสมัยนั้นแทบบอกไม่ได้เลยว่าไปแล้วจะได้กลับมาเห็นหน้ากันอีกมั๊ย แต่ที่เก่งกล้าไม่เป็นรองใครคือ อิน-จัน จากสยาม ที่ไปโลดแล่นอยู่ในยุโรปและอเมริกาแบบไม่เกรงกลัวสิ่งใดเช่นกัน

สยามเองก็เป็นลูกค้ารายสำคัญที่ซื้อปืนคาบศิลามัสเก็ตและกระสุนดินดำจากนายฮันเตอร์

อิน-จัน อ่านออกเขียนได้ เริ่มได้กลิ่นโชยว่ากระแสเงินรายได้ขาดตกบกพร่อง การโชว์ตัวทุกรอบแน่นขนัด ไม่ขาดทุนแน่นอน นับนิ้วหลายรอบแล้ว ทั้งคู่น่าจะต้องได้รับเงินมากกว่านี้

สิ่งที่แฝดสยามอยากทราบใจจะขาด คือ นางนากที่บ้านปากน้ำแม่กลองได้รับเงินค่าตัว ๑,๖๐๐ บาทครบหรือไม่ ฝูงเป็ด กิจการขายไข่และไข่เค็ม รวมทั้งบรรดานก หนู สัตว์ต่างๆ ที่เลี้ยงไว้ที่บ้าน เพื่อนฝูงที่เคยหยอกล้อวิ่งเล่น ว่ายน้ำแข่งกันแถวละแวกบ้าน ยังมีชีวิตอยู่ฤา?

เมื่อการแสดงชุดสุดท้ายในลอนดอนจบลง กัปตันคอฟฟิน เป็นเจ้าของกิจการแต่ผู้เดียว แต่คอฟฟินก็ประสบปัญหาเรื่องอาชีพหลักคือการเดินเรือที่ทิ้งไปนานเช่นกัน จึงต้องมอบให้ภรรยาคือนางซูซาน เข้ามาควบคุมธุรกิจการโชว์ตัวของแฝดสยามต่อไป

หลายอย่างเริ่มเปลี่ยนไป นางซูซาน มีปัญหากับแฝดสยามเรื่องกระจุกกระจิก ระหองระแหงบ้าง เพราะต่างคนต่างวิธีคิด แต่ก็ต้องร่วมงานกันต่อไป

ในที่สุด ทีมงานอิน-จัน ลงเรือชื่อ เคมบริส (Cambris) มีกัปตันเรือชื่อ มัวร์ (Moore) แล่นเรือออกจากลอนดอนไปขึ้นฝั่งที่นิวยอร์กในวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๓๗๔

ชีวิตของแฝดสยามที่จากบ้านปากน้ำแม่กลองมาเกือบ ๒ ปี กลับมาเปิดการแสดงที่อเมริกาเป็นรอบที่ ๒ ผ่านร้อนผ่านหนาว สัมผัสกับความรักและความผิดหวังจากรักแรกมาแล้ว

ชีวิตต้องดำเนินต่อไปในอเมริกา ตามหนังสือสัญญาเช่าตัวมาแสดง ๓ ปีที่ยังไม่หมดอายุสัญญา แฝดหนุ่มคิดถึงบ้านเรือนแพที่สมุทรสงครามใจจะขาด แฝดหนุ่มกำลังคิดอะไรอยู่



• แฝดสยาม ออกหมัดคู่ใส่ฝรั่งคนดู
วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๓๗๔ อิน-จันเดินทางด้วยเรือจากลอนดอนกลับมาถึงนิวยอร์กเป็นรอบที่ ๒ แฝดหนุ่มจากสมุทรสงคราม ถูกหล่อหลอมด้วยวิถีชีวิตแบบอเมริกันและอังกฤษ มีชีวิตครบทุกรส ทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ผสมผสานกับรักแรกที่แสนเศร้า เผชิญกับเรื่องราวสารพัด แสดงตัวต่อผู้คนนับแสนในอังกฤษและอเมริกา ชีวิตของแฝดอิน-จัน จากเด็กเลี้ยงเป็ดแถวปากน้ำแม่กลองเปลี่ยนไปแบบไม่มีวันหวนคืน

ชีวิตของแฝดหนุ่มนักผจญภัย แข็งแกร่งทั้งกายและใจ

นิวยอร์ก ไม่ใช่เมืองใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจต่อไปอีกแล้ว อิน-จันเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ได้ในระดับที่น่าพอใจ แต่จิตใจเริ่มแปรปรวน รอคอยเงียบๆ ว่า เมื่อไหร่หนอจึงจะหลุดพ้นจากสัญญาที่นายคอฟฟินไปเช่าเอาตัวจากนางนากมาแสดงละครเร่ ๓ ปี นี่ผ่านมาแล้วเกือบ ๒ ปี เหลือระยะเวลาอีก ๑ ปีเศษเท่านั้นก็จะเป็นอิสระ

เวลาและวารีไม่คอยใคร เถ้าแก่ที่เข้ามาคุมกิจการคนใหม่คือนางซูซาน ภรรยาของกัปตันคอฟฟิน เธอมอบหมายต่อให้นายเจมส์ เฮล (James Hale) เป็นผู้จัดการส่วนตัวควบคุมการโชว์ตัวในนิวยอร์กและเมืองต่างๆ ในอเมริกา การแสดงในอเมริกาต้องดำเนินต่อไปหลังจากเคยตระเวนแสดงมาแล้วก่อนย้ายวิกไปแสดงที่อังกฤษ

สาเหตุที่นายเฮลต้องเข้ามาดูกิจการตรงนี้ ก็เพราะนางซูซานเองเธอก็ต้องกลับไปดูแลครอบครัว มีลูกที่กระจองอแงอยู่ที่บ้านเช่นกัน

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากอะไรเลยสำหรับวิถีชีวิตของมนุษย์ทั่วไปที่มีครอบครัว การแสดงตัวของแฝดอิน-จันในอเมริกา ก็เปรียบเสมือนละครเร่ ที่ต้องพเนจรไปทั่ว ไม่มีหลักแหล่ง ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ซึ่งนางซูซานเองไม่สามารถมาใช้ชีวิตเยี่ยงนี้ได้

ผู้เขียนนึกถึงสุภาษิตไทยโบราณที่กล่าวว่า คนที่มีอาชีพ รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ เป็นอาชีพที่ต้องเดินทางตลอดเวลา ชีพจรลงเท้า อยู่ที่ไหนไม่นาน ไม่มีหลักแหล่ง ชาย ๔ อาชีพนี้มักจะโปรยเสน่ห์ ขายขนมจีบไปทั่ว ดังนั้นหญิงไทยทั้งหลายพึงหลีกเลี่ยงให้ไกล และจงละเว้นที่จะให้บุคคลเหล่านี้มาทำหน้าที่เป็นผัวเด็ดขาด

เป็นคำกล่าวคำสอนลูกผู้หญิงไทยสมัยโบราณนะครับ ผู้เขียนไม่ได้มโนขึ้นเอง

ผู้เขียนขอนำพาท่านผู้อ่านที่เคารพ ย้อนเวลาหาอดีตไปเกือบ ๒๐๐ ปี เพื่อลงไปเดินบนถนนในแผ่นดินอเมริกาทางฝั่งตะวันออกในขณะนั้น เพื่อให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ของอเมริกาว่าแฝดหนุ่มนักผจญภัยจากสยามเผชิญกับอะไรในอเมริกา ที่เปรียบได้กับดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่มนุษย์ค้นพบ

ในราว พ.ศ.๒๐๓๕ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวสเปน แล่นเรือออกจากสเปนไปทางตะวันตกนานนับเดือน ในที่สุดไปพบหมู่เกาะแห่งหนึ่ง โคลัมบัสเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทวีปเอเชีย (ต่อมาเรียกบริเวณนี้ว่าหมู่เกาะแคริบเบียน อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา) ยังไม่ได้ขึ้นแผ่นดินใหญ่ทวีปอเมริกา ประวัติศาสตร์โลกจารึกชื่อ โคลัมบัสว่าเป็นคนค้นพบทวีปอเมริกา

พ.ศ.๒๑๕๐ บริษัทยาสูบของอังกฤษได้ข้อมูลแผ่นดินโลกใหม่ จึงแล่นเรือออกมาจากอังกฤษ เพื่อมาหาพื้นที่ปลูกต้นใบยาสูบ เจอแผ่นดินในฝันตามคำบอกเล่า กุลีกุจอเข้าจับจองเป็นเจ้าของอาณาบริเวณทันที บริษัทยาสูบจากอังกฤษประกาศตั้งเมืองเจมส์ทาวน์ (Jamestown) เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจมส์ที่ ๑ ของอังกฤษ แล้วสถาปนาบริษัทชื่อ London Virginia Company บุกเบิกทำไร่ยาสูบที่เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ในช่วงแรกคนงานที่อพยพเข้ามาประสบสภาพอากาศที่แห้งแล้งและหนาวจัด ป่วยล้มตายจำนวนมาก ชาวพื้นเมืองที่อยู่มาก่อนแถวนั้นมีน้ำใจงามให้ความช่วยเหลือ คนงานอังกฤษจึงรอดตายมาได้ทั้งหมด

ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวคือรัฐเวอร์จิเนียของอเมริกา ส่วนคนไทยทั้งหลายที่เป็นนักสูบบุหรี่ คงคุ้นกับบุหรี่ที่โฆษณาว่าใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย ที่จำหน่ายไปทั่วโลก นี่คือประวัติความเป็นมาครับ

ในยุคนั้นทวีปอเมริกาถือว่าเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ รัฐบาลของประเทศยุโรปเองสนับสนุนให้ประชาชนที่ประสบความยากลำบากจากสภาพอากาศที่หนาวแบบทารุณ พวกไม่มีที่ทำกิน ไปจับจอง ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไปแสวงโชค ผู้คนที่ไม่มีอะไรจะเสียจึงขอไปตายเอาดาบหน้าในแผ่นดินอเมริกา

อันที่จริงจะบอกว่าแผ่นดินอเมริกาไม่มีเจ้าของ คงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะชนพื้นเมืองที่ใช้ชีวิตมาก่อนนับหมื่นปีพันปีคืออินเดียนแดง ที่ไม่ชอบใส่เสื้อ มีขนนกปักเป็นแผงอยู่บนศีรษะ ขี่ม้าเก่ง ยิงธนูแม่น เอาสีทาหน้าเป็นริ้วๆ ที่คนไทยเคยเห็นในหนังคาวบอยนั่นแหละครับ คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่มาก่อนนานแสนนาน

ในกาลสมัยนั้น แผ่นดินอเมริกาคือจุดหมายปลายทางของผู้แสวงโชคของผู้คนทุกหมู่เหล่า บรรดาผู้คนในโลกนี้เรียกแผ่นดินตรงนี้ว่า "โลกใหม่ (New World)" ยังไม่มีใครเรียกว่าอเมริกา

พ.ศ.๒๑๖๓ คนกลุ่มหนึ่งจากอังกฤษเรียกตัวเองว่าพิลกริม (Pilgrim) จำนวน ๑๐๒ คนที่ไม่สามารถทนการกดขี่ทางศาสนาในอังกฤษลงเรือชื่อเมย์ฟลาวเวอร์ (Mayflower) ใช้เวลา ๖๕ วันไปขึ้นบกที่ปลายแหลมค็อด (Cape Cod) ปัจจุบันเรียกบริเวณนั้นว่าเมืองพลีมัธ (Plymouth) อยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ต่อมาบุคคลกลุ่มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบรรพบุรุษของอเมริกา

พ.ศ.๒๑๘๑ ชาวสวีเดน ผู้เก่งกาจในการเดินเรือ ก็อพยพจากดินแดนตนเองที่ใกล้ขั้วโลกเหนือ หนาวสุดขั้วหัวใจแห่กันเข้าไปตั้งรกรากในแผ่นดินอเมริกา บริเวณที่ปัจจุบันคือรัฐเดลาแวร์ (Delaware) ส่วนกลุ่มชาวดัตช์หรือฮอลันดา ที่เป็นมหาอำนาจทางทะเลอพยพมาทีหลัง ตลาดเกือบจะวาย กลัวเสียเปรียบชาวสวีเดน จึงใช้กำลังเข้าปล้นยึดดินแดนของสวีเดนในอเมริกา แล้วตั้งชื่ออาณานิคมตรงนั้นว่านิวเนเธอร์แลนด์ ตั้งเมืองชื่อว่านิวอัมสเตอร์ดัม ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหานครนิวยอร์ก ก่อนที่แฝดอิน-จันจากสยามเข้าไปทำมาหากินนี่แหละครับ

นักเดินเรือชาวดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์ เป็นเจ้าแห่งนักเดินเรือนะครับ คนพวกนี้เดินเรือเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกือบ ๔๐๐ ปีที่แล้วเช่นกัน

บรรดาผู้คนทุกสารทิศ รวมทั้งมีการนำทาสผิวดำ (ที่เรียกกันว่านิโกร) เข้าไปในอเมริกาไม่หยุด ฝรั่งเศสไม่ยอมเป็นรองใคร ส่งพลเมืองเข้าไปยึดดินแดนบุกเบิกจับจองแดนทางใต้ลึกเข้าไปในแผ่นดินอเมริกาแถบแม่น้ำมิสซิสซิปปี และชายฝั่งเม็กซิโก ปัจจุบันคือรัฐลุยเซียนา ส่วนอังกฤษคู่กัดถาวรของฝรั่งเศสแย่งกันลงเรือข้ามมหาสมุทรไปยึดดินแดนที่ค่อนไปทางเหนือเกาะขอบชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาเป็นหลักตั้งชุมชนตั้งเมืองนิวเจอร์ซีย์ เพนซิลเวเนีย

มือใครยาว สาวได้สาวเอา แผ่นดินอเมริกาที่กว้างใหญ่ไพศาลสุดขอบฟ้า สุดสองมหาสมุทร ป่าไม้ ผืนน้ำ ทะเลทราย ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือเฟือคือเดิมพันและรางวัล

ผ่านไปหลายปี ชาวอังกฤษที่อพยพมาอยู่ในโลกใหม่ (อเมริกา) จาก ๑๓ อาณานิคมทางฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกายังถูกเรียกเก็บภาษีจากรัฐบาลประเทศอังกฤษ ทนไม่ไหวอีกต่อไป จึงรวมตัวกันประกาศไม่ขอเป็นอาณานิคมของอังกฤษอีกต่อไป ประกาศขอเป็นประเทศเอกราช อังกฤษส่งกำลังทหารไปปราบปราม เกิดการสู้รบอย่างหนัก ๖ ปี จอร์จ วอชิงตัน เป็นแม่ทัพของอเมริกา ฝรั่งเศสส่งกำลังทหารสนับสนุนอเมริการบกับอังกฤษ ในที่สุดอังกฤษแพ้สงคราม โทมัส เจฟเฟอร์สัน เขียนคำประกาศเอกราชที่เมืองฟิลาเดลเฟีย อเมริกาจึงเป็นเอกราช เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๑๙

ถ้าเทียบเคียงกับสยามในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ท่านผู้อ่านคงพอจำได้นะครับ กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ แสดงว่าอเมริกาประกาศอิสรภาพตรงกับช่วงรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่กำลังกอบกู้บ้านเมือง

อเมริกาตั้งเมือง มีรัฐธรรมนูญ จัดระบบการปกครอง มีกฎหมาย ผนวกดินแดนของอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เม็กซิโก ตั้งมหาวิทยาลัย ทำได้อย่างรวดเร็ว เร่งขยายดินแดนออกไปทางตะวันตก เพื่อให้ไปบรรจบมหาสมุทรแปซิฟิก มีการรวม แลกเปลี่ยน ซื้อขายดินแดนที่น่าสนใจ ดังนี้

ซื้อรัฐลุยเซียนาจากฝรั่งเศส ราคา ๑๕ ล้านเหรียญ

ซื้อรัฐอลาสกาจากรัสเซีย ราคา ๗.๒ ล้านเหรียญ

คนขาวรบพุ่งกับชนพื้นเมืองอินเดียนแดง ในที่สุดนำดินแดนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่าพหุสังคม พหุวัฒนธรรม มาปะติดปะต่อ บูรณาการกัน จัดรูปแบบการปกครอง เปลี่ยนชื่อจาก United Colonies เป็นสหรัฐ United States of America เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๓๑๙ สยามเรียกประเทศใหม่นี้ว่า สหปาลีรัฐอเมริกา

ส่วนชื่ออเมริกานั้นผู้เขียนค้นคว้าจากตำรา บทความของต่างประเทศแล้ว มีข้อมูลหลากหลายที่จะยกเครดิตการตั้งชื่ออเมริกาให้กับคนนั้นคนนี้ มีการแต่งเรื่องราวสารพัดประวัติศาสตร์ แต่ที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นการตั้งชื่อตามนักสำรวจและเดินเรือชาวอิตาเลียนที่ชื่ออเมริโก เวสปุชชี (Americo Vespucci) ที่เดินทางไปโลกใหม่ (ทวีปอเมริกา) หลังโคลัมบัส และตีพิมพ์เรื่องนี้ในหนังสือแจกจ่ายไปทั่วยุโรป

กลับมาที่เรื่องแฝดสยามครับ

อิน-จันนั่งเรือมาถึงนิวยอร์กครั้งนี้ยังไม่มีโอกาสได้เห็นเทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) ที่แสนสง่างามในอ่าวนิวยอร์ก ซึ่งฝรั่งเศสมอบอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพนี้ให้เป็นของขวัญแก่ประชาชนอเมริกัน เนื่องในโอกาสฉลองวันชาติอเมริกาครบ ๑๐๐ ปี ประชาชนฝรั่งเศสชื่นชมประชาชนอเมริกันที่กล้าหาญสู้รบกับกองทัพอังกฤษจนทำให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษและเป็นประเทศเอกราชโดยทำพิธีส่งมอบและเปิดอนุสาวรีย์เป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๙

อิน-จันเข้าไปในอเมริกา หลังจากอเมริกาเป็นเอกราชราว ๕๓ ปี ช่วงนั้นประธานาธิบดีสหรัฐชื่อแอนดรู แจ๊กสัน ในตอนนั้นเรื่องสำคัญคือ อเมริกากำลังจัดระเบียบกลุ่มชนพื้นเมืองคือพวกอินเดียนแดง โดยประธานาธิบดีมีคำสั่งให้นำอินเดียนแดง ๕ เผ่า ไปรวมกันอยู่ในรัฐโอคลาโฮมา

นิวยอร์กในยามที่แฝดสยามต้องไปแสดงละครเร่นั้น เป็นเมืองท่าเรือขนาดยักษ์ที่ผู้คนจากทุกมุมโลกทยอยอพยพ ย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกราก ตามข้อมูลของนายเฮลที่เป็นพี่เลี้ยงแฝดอิน-จันในช่วงนั้น นิวยอร์กมีประชากรแค่ราว ๒.๕ แสนคน เป็นเมืองที่คึกคัก มีพ่อค้า นายธนาคาร มีคนงานท่าเรือ บริษัทก่อสร้าง ช่างฝีมือ คนยากดีมีจน คนผิวสี ทาสผิวดำ แหล่งบันเทิง ซ่องโสเภณี ปะปนระคนกันไป ถ้าเรียกภาษาไทยคือผู้คนร้อยพ่อพันแม่ กลุ่มคนที่ดูเหมือนว่าจะโดนรังเกียจคือกลุ่มชาวไอริช จากทางตอนเหนือของเกาะอังกฤษที่อพยพเข้ามา

อเมริกาถือเป็นดินแดนแห่งโอกาส เสรีภาพ ไม่มีระบบเจ้าขุนมูลนาย ใครเก่ง ใครขยัน คนนั้นรวย ผู้คนใช้ชีวิตแบบใครดีใครอยู่ มีทุกอาชีพ คนดี คนร้าย เจ้าพ่อ เจ้าแม่อาชญากรรม มาเฟีย รีบเร่งทุกนาที ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง

มนุษย์บนโลกใบนี้ไม่เคยหยุดการย้ายถิ่นฐานครับ อิน-จัน จากปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม พ่อก็เป็นลูกจีนชื่อนายทีอาย ที่อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาสยามตั้งแต่เด็ก แม่ชื่อนางนาก ก็เป็นลูกผสมจีน-มาเลย์ ตอนเกิดมาตัวติดกัน คนแถวนั้นเรียกแฝดคู่นี้ว่าแฝดจีน และแฝดจีนก็ไปอเมริกา

การแสดงของแฝด มีสีสันขึ้นในลักษณะโดนลองดีจากคนดูการแสดง การแสดงครั้งหนึ่งที่แมสซาชูเซตส์ ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาจะขอเอาเข็มมาแทงเพื่อทดสอบปฏิกิริยาความรู้สึก ในที่สุดถึงขั้นโต้เถียงกัน อิน-จันปรี่เข้าไปจะชกชายคนนั้น จนมีคนเข้ามาห้ามปรามเรื่องจึงยุติ

การแสดงอีกรอบที่เดินทางลงไปทางใต้ที่รัฐอะลาบามา ระหว่างการแสดง หมอที่มาร่วมชมการแสดงเดินขึ้นไปบนเวที ประกาศขอดูท่อนเอ็นที่เชื่อมบริเวณหน้าอกเพื่อการพิสูจน์แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย อิน-จันปฏิเสธที่จะให้หมอคนนี้พิสูจน์ต่อหน้าผู้ชมทั้งหลาย

ไอ้หมอคนนี้หันกลับมาแหกปากตะโกนบอกคนดูว่า เรื่องแฝดตัวติดกันเป็นเรื่องโกหกลวงโลก

อิน-จันที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ไม่รอช้า กระโดดเข้าชกไอ้หมอปากหมาคนนี้ด้วยพลังหมัดคู่ จนล้มคว่ำบนเวที มีคนพยายามจะเข้ามาช่วยห้ามปราม บ้างก็จะช่วยอิน-จัน บ้างก็เป็นพวกไอ้หมอ ในห้องแสดงเลยชุลมุนยกพวกต่อยกันเละ เหมือนในหนังฝรั่งที่เราเคยดูนั่นแหละครับ แถมมีการยกเก้าอี้ฟาดกันอีกต่างหาก การแสดงเลยต้องยุติ

เหตุการณ์ครั้งนี้ไปจบลงที่ตำรวจแจ้งข้อหาว่า อิน-จันทำร้ายร่างกายผู้อื่น อิน-จันโดนปรับ ๓๕๐ เหรียญสหรัฐ ผู้เขียนไม่แน่ใจนะครับว่าค่าปรับก้อนนี้ใช้เงินของผู้จัดการส่วนตัว หรือเงินของแฝดนักชก

สำหรับเงินจำนวนนี้ ในสมัยนั้นถือว่ามหาศาลนะครับ เพราะตั๋วค่าเข้าชมคนละ ๕๐ เซนต์ ซึ่งก็ถือว่าแพงพอสมควร

แฝดอิน-จันได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนจากเดือนละ ๑๐ เหรียญสหรัฐ เป็น ๕๐ เหรียญ ทั้งนี้เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ก่อนเดินทางออกมาจากปากน้ำแม่กลอง

เหตุการณ์แบบขมๆ นี้ยังทยอยเข้ามาอีกหลายครั้ง ในลักษณะการลองของ ประลองกำลัง และกวนประสาท ทำเอาแฝดหนุ่มเสียสุขภาพจิต หดหู่ใจไม่น้อย แต่ก็ต้องอดทนทำงานต่อไปด้วยการประนีประนอม

ขอเรียนท่านผู้อ่านเป็นข้อมูลเพิ่มเติมว่า การแสดงของแปลก คนประหลาด สัตว์พิสดาร ในอเมริกายุคนั้น เป็นธุรกิจทำเงิน เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Freak show คณะการแสดงจะตระเวนไปตามเมืองเล็ก เมืองใหญ่ ได้เงินแน่นอน

ชาวอเมริกันคนหนึ่งเปิดบริษัททำธุรกิจหากิน ชื่อ Sideshows PT Barnum ที่จ้องเปิดเผยข้อมูลเชิงลึก พิสดาร โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว เรื่องในที่ลับของชาย-หญิงที่เป็นคนที่มีลักษณะประหลาดเอามาแสดงหากิน ความพิกลพิการ ผู้หญิงมีหนวด คนหน้าเหมือนลิง นางเงือก หมู เห็ด เป็ด ไก่ ที่ไม่ปกติ เรื่องของชาวบ้านที่เขาปกปิด เรื่องในที่ลับทั้งหลาย จะเป็นสินค้าที่ทำเงินได้

ในกรณีของแฝด อิน-จัน บริษัทของนายบาร์นัม ก็อยากได้มาเป็นสินค้าตัวโปรดเช่นกัน

แฝดอิน-จันเดินทางรอนแรมไปหลายเมือง ด้วยขบวนเกวียนของตัวเอง มีความสะดวกสบาย และเหตุผลที่ใช้รถม้าเทียมเกวียนก็เพราะนางซูซานไม่อยากให้ผู้คนทั้งหลายเห็นแฝดอิน-จันบนรถไฟ เรือเมล์ และที่สาธารณะทั่วไป ต้องไปเสียเงินดูเอง

บรรพบุรุษอิน-จันของชาวสยาม ช่างเป็นนักผจญภัยเดินทางที่ยิ่งใหญ่สุดขอบฟ้า เกินคำบรรยายครับ

เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของหนุ่มสยาม ๒ คนนี้ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

3226  สุขใจในธรรม / จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม / 'ฝึกจิต' พุทธพลิกโลก บทความพุทธศาสนา โดย พระเฉลิมชาติ ชาติวโร เมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2559 19:35:56
.


บทความทางพุทธศาสนา
'ฝึกจิต'
โดย พระเฉลิมชาติ  ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐  

 
อภัยทาน ทำลายเวรกรรม
ประเด็นหนึ่งที่ชาวพุทธมักจะถกเถียงกัน คือ เรื่องของ "อภัยทาน" ยังไม่ต้องว่ากันถึงเรื่องวิธีการปฏิบัติ เอาเพียงแค่อานิสงส์ที่ผู้คนพยายามจับไปเปรียบเทียบกับ "ธรรมทาน" แล้วถูกตั้งเป็นข้อสงสัยว่าอย่างไหนมีอานิสงส์มากกว่ากัน เพียงแค่นี้ก็หาข้อยุติได้ยากเย็น แต่เนื่องจากในคอลัมน์นี้จั่วหัวไว้ว่า "ฝึกจิต" ดังนั้นเรื่องประเด็นการแข่งกันใหญ่ระหว่าง อภัยทาน และ ธรรมทาน จึงขอยกไว้ก่อน เพียงจะกล่าวถึง อภัยทาน อันเป็นหนทางแห่งการยุติวงจรแห่งเวรกรรมที่จะผูกพันกันข้ามภพข้ามชาติเท่านั้น

โดยนัยแห่งคำว่า "อภัยทาน" สามารถตีความจำแนกเพื่อนับอานิสงส์ถึง ๓ จำพวก คือ

๑.อภัยทาน ในแง่ของความเป็น "ทาน" คือ เป็นการให้ความปลอดภัย หรือ ให้ความไม่มีภัยเป็นทาน โดยการจัดของอรรถกถาทานสูตร

๒.อภัยทาน ในแง่ของความเป็น "ศีล" ตามนัยของปุญญาภิสันทสูตร คือ ถ้ามีใจเป็นอภัยทานย่อมไม่เบียดเบียนแก่ชีวิต ทรัพย์สิน ฯลฯ จนสามารถรักษาศีลได้อย่างบริบูรณ์

๓.อภัยทาน ในแง่ของความเป็น "ภาวนา" เพราะการให้อภัย จะเกิดขึ้นได้ ย่อมต้องเจริญในพรหมวิหารธรรม จนจิตใจสงบเยือกเย็น

ดังนั้น อภัยทาน จึงมีอานิสงส์มาก ถ้าสามารถทำได้ย่อมมีอานิสงส์ถึง ๓ ประการ ทั้งในทาน ศีล และภาวนา ไปพร้อมกัน โดยการอภัยนี้ ไม่ได้หมายถึงการไม่โกรธ แต่หมายถึงการมีปัญญาจนสามารถเอาชนะกิเลสของตัวเองได้ และถือเป็นการแสดงออกถึงกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ของผู้ชนะ ในสงครามที่ชนะได้โดยยาก

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัส ไว้ว่า "ถึงใครจะชนะผู้อื่นในสงครามได้ถึงพันครั้ง ก็ยังไม่ถือว่ายอดเยี่ยม ส่วนผู้ที่เพียงชนะใจตัวเองได้สักครั้งเดียวนั่นแหละ จึงถือว่ายอดเยี่ยม" เพราะการให้อภัย คือการยอมถอยให้อัตตาของผู้อื่น เพื่อเดินทางสู่ความสิ้นสุดของอัตตาตน" เป็นการทำลายเผ่าพันธุ์ของปัญหา เพื่อตัดเกมการจองเวรข้ามภพข้ามชาติให้ขาดสะบั้นลง

แต่การให้อภัยที่เป็นบุญใหญ่นี้ ก็มิใช่เรื่องที่อยู่ๆ นึกอยากจะทำแล้วทำได้ในทันที แต่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาด้วยปัญญาก่อนว่า การให้อภัยหรือการยอม ไม่ใช่ความโง่เขลา ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่เป็นสิ่งฉลาดล้ำ สำหรับผู้มีปัญญา ที่รู้จักตัดไฟแต่ต้นลม เพราะการจองเวรไม่เลิก หรือการโต้ความร้ายด้วยความร้าย นั่นต่างหาก ที่จะทำให้เสียหายหนักยิ่งกว่าเดิม ทั้งเวลา ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ทั้งทรัพย์สิน และอาจถึงขั้นต้องเสียชีวิต

จึงควรมองให้เข้าใจกฎแห่งกรรมว่า มีแต่การโต้ตอบความชั่วด้วยความดีเท่านั้น ถึงจะสามารถนำธรรมะเข้าสู่ใจ เพื่อพัฒนากายใจนี้ให้สมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากการตกเป็นทาสของวงจรกรรมวิบาก แล้วปล่อยเขาไปตามหนทางที่สร้างไว้เองเพียงลำพัง เพื่อเสวยผลแห่งอกุศลกรรมนั้นด้วยตัวเอง

แต่ถ้าปล่อยไม่ได้วางไม่ลง ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของโทสะ ก็เท่ากับว่าเราได้ดันทุรังกระโดดเข้ากองไฟไปร่วมรับบาปอย่างใดอย่างหนึ่งบนเส้นทางของเขาด้วยแล้วในทันที

เมื่อเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้ง แล้วหัดปลดแอกตัวเองโดยการฝึกให้อภัยทานบ่อยๆ เบื้องต้นอาจฝืนใจบ้าง แต่เมื่อคุ้นชิน จิตใจจะพอกพูนขึ้นด้วยความเมตตากรุณา ความอ่อนโยน และความเข้าใจในกฎแห่งกรรม

ซึ่งก็คือพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ และเมื่อนั้นจิตของผู้มีอภัยทาน จะมีความสงบสุขเยือกเย็นถึงที่สุด มองสัตว์ทั้งหลายด้วยความรักและความปรารถนาดี เห็นชัดเจนในโลกว่าไม่มีใครที่สมควรต่อการถูกโกรธเกลียด

เพราะสัตว์ทั้งหลาย คนทั้งหมด ก็ล้วนแต่บ่ายหน้าไปสู่ความตายด้วยกันทั้งหมด

- ทุกคนที่เราเกลียดจะตายจากไป
- ทุกคนที่เรารักจะตายจากไป
- ทุกคนที่เรารู้จักจะตายจากไป
- ทุกคนที่เราไม่รู้จักจะตายจากไป
- แม้แต่ตัวเราก็จะตายจากไป

คงไว้แต่เพียงสัจธรรมว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนต้องจากไป แล้วเราจะมัวโกรธเกลียดทำร้ายกันอยู่ทำไม?.



ความสุขราคาถูกในอินเดีย
หนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของชาวอินเดีย คือ การแต่งกายด้วย "ส่าหรี" ของสุภาพสตรี แม้ในปัจจุบันจะมีวัยรุ่นส่วนหนึ่งที่หันไปแต่งกายตามแบบตะวันตก ด้วยเสื้อยืด กางเกงยีนส์บ้างแล้วก็ตาม แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมของตนไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยการใส่ส่าหรีในทุกกิจกรรมของชีวิต ทั้งการออกงานสังคม ทำงานตามบริษัทห้างร้าน เลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน จนไปถึงการทำไร่ไถนา ซึ่งเครื่องแต่งกายประจำชาติอินเดียนี้ มีประวัติความเป็นมาย้อนหลังไปยาวนานกว่า ๔,๐๐๐ ปี จากหลักฐานคือรูปประติมากรรมที่ขุดค้นพบ ซึ่งคนอินเดียสามารถสืบทอดและรักษาวิถีชีวิตของตนมาได้อย่างน่าทึ่งจนถึงปัจจุบัน

ส่าหรีในอินเดียนี้ มีสีสันฉูดฉาดบาดตาไปอย่างมากมายหลากหลาย และมีสนนราคาตั้งแต่หลักร้อยจนไปถึงหลักล้าน (สำหรับส่าหรีที่ถักทอด้วยส่วนประกอบของทองคำแท้) และนอกจากส่าหรีที่เป็นเครื่องแต่งกายหลักแล้ว ยังมีเครื่องประดับที่สาวชาวภารตะขาดไม่ได้อีกหลายอย่าง เช่น กำไลแขน หรือ ที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า ซูดี ซึ่งทำมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ทองคำ เงิน นาก ไม้ จนถึงพลาสติก ราคาก็ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ กำไลเป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้ในชีวิตของสตรีชาวอินเดีย เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก

เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับแต่ละอย่างของคนประเทศนี้ มีความสวยงามหลายหลาก จึงทำให้หญิงชาวอินเดียเกิดความรักสวยรักงามในแบบที่จะหาไม่ได้จากประเทศไหนๆ เพราะคนที่นี่เวลาจะออกจากบ้านแต่ละที ไม่ว่ายากดีมีจน ก็ต้องสวยสะโอดสะองทรงเครื่องให้พร้อมสรรพก่อนออกไป ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจจากวิถีแห่งความสวยงามนี้ คือ "ชาวอินเดียจะสวยอยู่ในขอบเขตฐานะของตน คนรวยก็จะทำสวยแบบคนรวย คนจนก็จะทำสวยแบบคนจน แต่ทุกคนก็จะมีความสวยเป็นความสุขที่เสมอกัน"

ถ้าใครเคยไปประเทศอินเดีย ภาพหนึ่งที่จะเห็นได้จากท้องตลาดอยู่เสมอ คือ ผู้หญิงชาวอินเดียนั่งล้อมวงเลือกเครื่องประดับจากร้านแบกะดิน ส่วนใหญ่ที่วางขายตามพื้นถนนก็มักจะเป็นเครื่องประดับที่ทำจากพลาสติกราคาไม่แพง ซึ่งแต่ละนางจะเลือกกันอย่างเอาจริงเอาจังโดยจ่ายเต็มที่ไม่เกิน ๑๐๐ รูปี แต่จะขอความสวยแบบเต็ม ๑๐๐ จนทำให้ผู้ไปเยือนอดมีสีหน้าเปื้อนยิ้มไม่ได้กับ "ความสันโดษ" ที่เลือกซื้อความสุขได้ในราคาที่เหมาะสมกับตน

ความสันโดษ มีความหมายว่า "พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้" หรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำไปประยุกต์ใช้เป็น "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเมื่อดูแล้วความสันโดษเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมของคนอินเดีย จึงทำให้คนอินเดียจำนวนมาก ที่แม้จะมีรายได้น้อย กลับสามารถตักตวงความสุขให้แก่ตนได้เป็นอันมาก โดยความสันโดษ ไม่ได้หมายความว่าต้องยากจน หรือต้องอดมื้อกินมื้อ เหมือนที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่ความสันโดษ คือความสมบูรณ์และความพึงพอใจในสิ่งที่ตนหาได้ตามกำลังและความเหมาะสมของตนเอง เช่น วอน์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีระดับโลก ก็มีความสันโดษ เพราะรู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ทั้งยังนำสิ่งที่เกินพอดีของตนบริจาคเข้ากองทุนช่วยเหลือประชาชนอยู่ตลอด

พระพุทธเจ้าสอนให้บุคคลผู้ปรารถนาความสุข มีความสันโดษ โดยมุ่งเน้นไปที่ความสันโดษในวัตถุบำเรอความสุข สันโดษ ในความฟุ้งเฟ้อที่เกินตัว แต่พระองค์ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่คุ้มค่า การปฏิบัติธรรมะเป็นสิ่งที่ลงทุนน้อย แต่กลับให้ผลมาก ให้ผลเกินราคา ต่างจากของอื่นในโลกที่ต้องลงทุนมาก มีประโยชน์น้อย มีคุณค่าน้อย เพียงความสุขแค่ชั่ววูบแล้วนำมาซึ่งทุกข์อย่างยาวนาน แต่ถึงอย่างนั้นคนในโลกก็ยังไม่ค่อยยอมที่จะลงทุนกับธรรม ไม่เอาจริง กลับไปสนใจเอาแต่สิ่งที่แพงกว่า มีประโยชน์และคุณค่าน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

ขึ้นชื่อว่า "สันโดษ" ถ้าใครมีก็ย่อม "พอใจ" ซึ่งความพอใจสามารถนำไปสู่ความสมบูรณ์แบบได้ในทุกเรื่อง ดังนั้นถ้าใครสามารถฝึกฝนจนจิตใจประกอบด้วยความสันโดษได้ ทั้งชีวิตที่เหลือยู่จะมีแต่คำว่า "เกิน" ไม่มี "ขาด" อีกต่อไป



โลกวิปริต เพราะธรรมวิบัติ
หลายครั้งที่โลกได้ส่งสัญญาณถึงความวิปริต ผ่านภัยร้ายแรงของธรรมชาติ ที่ถล่มทลายไปทั่วทุกส่วนของโลก หลายเดือนก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนคร่าชีวิตทำลายทรัพย์สินไปอย่างมหาศาลที่ประเทศเนปาล ไม่กี่วันนี้ก็เกิดอุทกภัยใหญ่กับประเทศพม่าบ้านใกล้เรือนเคียง จนผู้คนล้มตาย ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยอีกนับแสน และในเวลาเดียวกันที่ประเทศอินเดียซึ่งมีประชากรมากเป็นอับดับสองของโลก ก็โดนพายุไซโคลนโกเมนถล่มในรัฐเบงกอลตะวันตกและมณีปุระ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและมีผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า ๑.๒ ล้านคน ที่ต้องทิ้งบ้านเรือนออกมาอาศัยอยู่ตามค่ายพักพิงชั่วคราว

ที่โลกประสบความปั่นป่วนมากขึ้นอย่างชัดเจนนี้ ถ้าว่ากันตามหลักการของพระพุทธศาสนา สาเหตุเป็นเพราะในปัจจุบันจิตใจของผู้คนมีความวิปริตแปรปรวนมากขึ้น กระทำความชั่วโดยขาดการยับยั้งชั่งใจ เอารัดเอาเปรียบโดยไม่สนลูกเขาเมียใคร ทำลายศีล ๕ ของตนจนกลายเป็นเรื่องปกติ ยิ่งกิเลสตัณหาของผู้คนเร่าร้อนมากขึ้นเท่าไหร่ ดินฟ้าอากาศก็ยิ่งวิปริตแปรปรวนได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อ "อยาก" มาก ก็ตัดไม้ทำลายป่า ทำลายชีวิต ถ่ายเทของเสียลงสู่ธรรมชาติ ขุดเจาะทรัพย์ในดินสินในน้ำจนเกินพอดี ทำลายระบบนิเวศ เพื่อแสวงหากำไร มุ่งประโยชน์ตนเป็นใหญ่ โดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคม จนธรรมชาติต้องขาดสมดุล

และนอกจากเหตุที่มองเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ในพระอรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร ยังได้กล่าวอย่างชัดเจนลงไปอีกว่า เมื่อผู้คนในโลกขาดศีลธรรม เหล่าเทวดาอารักษ์ ตลอดจนทวยเทพผู้มีหน้าที่รักษาฤดูกาลก็ย่อมไม่ประกอบด้วยธรรม ทำให้สภาพของโลกเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ลมย่อมไม่พัดไปตามทางลม ฤดูหนาว ฤดูร้อนย่อมไม่เป็นไปตามฤดูกาล เมื่อฤดูผิดแผกไป ฟ้าฝนย่อมไม่ปกติ เมื่อฝนไม่ปกติ ก็ไม่เกื้อกูลต่อข้าวกล้า จนทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ข้าวกล้าจึงสุกไม่พร้อมกันและจะค่อยๆ ปราศจากกลิ่นและรส การบริโภคข้าวนั้นเข้าไปย่อมเกิดโทษ คือ มีโรคมากและมีอายุน้อยลง

จึงสรุปได้ว่า ความวิปริตแปรปรวนของคน คือ ต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ยิ่งมนุษย์ละเมิดศีล ทำความชั่วมากขึ้นเท่าไหร่ โลกก็จะยิ่งวิบัติมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการทำความดีมีศีลธรรม จึงไม่เพียงเป็นการทำเพื่อตัวเองเท่านั้น ยังเป็นการช่วยลดภาระให้กับโลก ช่วยคน ช่วยประเทศชาติ และช่วยในหลวงได้มากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะการทำความดีเป็นหมู่คณะ เช่น การไปร่วมสวดมนต์ที่วัดพระแก้ว การชวนกันรักษาศีลเป็นหมู่คณะ ตามโครงการหมู่บ้านรักษาศีล หรือการเจริญพระกรรมฐานตามสถานปฏิบัติธรรมต่างๆ เป็นต้น

หากไม่มีโอกาสได้ไปวัด ก็ให้ชวนคนในครอบครัวสร้างความดีด้วยกัน ร่วมกันสวดมนต์ก่อนนอน ชวนกันรักษาศีล ๕ ร่วมกันนั่งสมาธิภาวนา เพราะบุญเหล่านี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติโดยตรงในแง่ของความสุขความเจริญแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมกรรมสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีมากขึ้นอีกด้วย ทั้งยังมีโอกาสได้ช่วยเหลือเยียวยาโลก แม้คนที่ตั้งหน้าตั้งตาทำดีจะมีน้อย เมื่อเทียบกับอัตราส่วนของผู้คนกว่า ๖,๐๐๐ ล้านคนในโลก แต่กำลังของความดีนั้นสูงกว่ากำลังของความชั่วมาก จึงยังพอระงับยับยั้งหรือบรรเทาเหตุเภทภัยต่างๆ ได้ หรืออย่างน้อย เราและครอบครัวก็ยังสามารถเอาตัวรอดในเหตุวิบัติภัยต่างๆ ได้ตามสมควรด้วยอำนาจของบุญที่ได้กระทำ

ความดีความชั่วที่มนุษย์ทำลงไปนั้นไม่ได้สูญหายไปไหน หากแต่แปรเปลี่ยนเป็นรูปแบบของกระแสพลังงานที่รวมตัวกัน ถ้าใครทำดีก็จะโดนกระแสพลังของความดีนี้ดึงดูด ถ้าใครทำชั่วกระแสความชั่วก็ดึงดูด เป็นการหนุนเสริมทั้งด้านดีและด้านชั่ว แต่ถ้ายังปล่อยให้กระแสเป็นไปในทางชั่วเช่นนี้ต่อไป ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้ดินฟ้าอากาศวิปริตผิดเพี้ยน เกิดภัยธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจการเมือง หรือกระทั่งผู้คนที่โหดร้ายหรือมีอาการทางจิตมากขึ้นเรื่อยๆ

"ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะพินาศอย่างแน่นอน"



ความสงบเย็นของพุทธสถาน
"ดูก่อน อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้ เป็นสถานที่อันกุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปทัศนา สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา สถานที่ปรินิพพาน... ชนเหล่าใดเมื่อจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว ชนเหล่านั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์" นี่เป็นพระดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพุทธสถาน ที่มีความเกื้อกูลต่อประโยชน์และความสุขแก่ผู้คนทั้งหลายที่ได้ไปเยือน

ตั้งแต่อดีตมามีพระสงฆ์เป็นจำนวนมากปลีกวิเวกออกจากเรือนเพื่อแสวงหาโมกขธรรม โดยเที่ยวจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น โคนไม้ เรือนว่าง ถ้ำใหญ่ ป่าอันสงัด หรือตามพุทธสถานสำคัญ ดังเห็นได้จากประวัติของครูบาอาจารย์นักปฏิบัติหลายต่อหลายรูป เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หรือหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล เพราะท่านทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนทราบว่า การแสวงหาสถานที่อันวิเวก ย่อมเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม ยิ่งถ้าสถานที่แห่งใดเคยมีผู้เคยบรรลุคุณธรรมอันเลิศมาก่อนด้วยแล้ว ที่นั่นย่อมเป็นยอดปรารถนาของผู้แสวงหาวิเวกสถาน เพราะที่เหล่านั้นย่อมมีความเกื้อกูลต่อเข้าถึงธรรมเป็นพิเศษ

เห็นได้ชัดจากสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา หรือปรินิพพาน ภายหลังการล่วงไปของพระพุทธเจ้า สถานที่เหล่านี้ได้กลายเป็นวัดหรือพระอารามสำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะมีพระสงฆ์หรือผู้ปฏิบัติธรรมจำนวนมากเดินทางเข้าไปปฏิบัติในจุดเหล่านั้นสืบมาจนปัจจุบัน แม้ในยุคของพระนาคเสน ผู้โด่งดังจากมิลินทปัญหา เมื่อประมาณ พ.ศ.๕๐๐ เตียงที่ท่านนั่งบรรลุอรหันตผลนั้น ต่อมาได้เปิดเป็นห้องปฏิบัติธรรม และมีผู้เข้าไปปฏิบัติบนเตียงของท่าน จนมีผู้บรรลุธรรมตาม ณ จุดนั้นนับพันคน คงจะด้วยเหตุนี้เอง ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระญาณอันกว้างไกล ทรงเล็งเห็นประโยชน์อันจะพึงมีต่ออนุชนในภายหลัง จึงทรงตรัสแสดง "สังเวชนียสถาน" ไว้เป็นมรดกธรรม

เพราะในวัดวาอารามหรือสถานที่สำคัญของพระพุทธศาสนานั้น จะมีกระแสเย็นของสถานที่ที่เกิดขึ้นจากการสวดมนต์ เจริญภาวนาสะสมมาอย่างยาวนาน ซึ่งแตกต่างกับสถานที่ทั่วไปที่จะมากไปด้วย รัก โลภ โกรธ หลง เช่น ถ้าไปตามห้างสรรพสินค้า กระแสที่ดึงดูดอย่างชัดเจน คือ กระแสแห่งโลภะ เมื่อเห็นอะไรก็อยากได้ อยากซื้อ แม้เป็นของที่ไม่ต้องการ แต่พอเห็นว่าลดราคา๕๐% ก็รีบคว้าหมับในทันที กว่าจะรู้ตัวก็หมดเงินไปมากมาย หรือถ้าไปตามสนามกีฬา โดยเฉพาะเวทีมวย จะพบกระแสแห่งความเกรี้ยวกราด ดุดัน เมื่ออยู่ในบรรยากาศนั้นจะเกิดอารมณ์ร่วมอย่างเมามันส์จนยั้งไม่อยู่

ในขณะที่วัดหรือพุทธสถานต่างๆ ถึงแม้จะมีกระแสที่เป็นกิเลสอยู่บ้าง แต่ก็ไม่หนักหนาเท่าภายนอก ยิ่งวัดไหนมีการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง มีครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสุปฏิปันโน หรือมีพระพุทธรูปสำคัญที่ผู้คนกราบไหว้บูชามาอย่างช้านาน ในสถานที่เหล่านั้นก็ยิ่งมีความชุ่มฉ่ำเย็นมากขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เมื่อมีโอกาสพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่แบบนั้น ย่อมสามารถช่วยให้ใจร่มเย็นเป็นสุขและเกิดความสงบได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งเกิดความสบายใจ

พวกเราชาวไทยถือว่าเป็นผู้มีโชค เพราะบ้านเมืองเรามีวัดหรือพุทธสถานสำคัญอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นถ้ามีปัญหาในชีวิต เกิดความเครียดความไม่สบายใจ มองไม่เห็นทางออก อันดับแรกขอให้เดินหน้าเข้าวัด... แต่ถ้าอยู่ที่ไหนก็ยังหนีความวุ่นวายไม่พ้น ยังมีแต่เรื่อง มีแต่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน หรือที่วัด ก็พึงสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า "ต้องเหตุคือเราเองแน่" ดังนั้นไม่ว่าจะหนีไปไหน จะย้ายที่ทำงานสักกี่ครั้ง หรือกระทั่งอยู่ในวัดก็ยังประสบปัญหาเหมือนเดิมอีก การย้ายที่ย่อมไม่ช่วยอะไร ถ้าตราบใดไม่ใช้ "ธรรมะ" แก้ปัญหาที่ตัวเองให้จบ ปัญหาอื่นก็จะไม่มีวันจบอยู่ วันยังค่ำ...



บุญคุณของผู้ให้กำเนิด

ในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยการแสดงความคิดต่าง เรื่องหน้าที่และบุญคุณของพ่อแม่ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกัน เพราะบางคนมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดกับเรื่องครอบครัว บางคนไม่เคยเจอหน้าพ่อแม่ตั้งแต่จำความได้ บางคนเกิดมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความกดดันและความรุนแรง จึงทำให้พลอยคิดไปว่า พ่อแม่ที่เพียงแค่ให้กำเนิดแล้วทิ้งไปไม่ไยดี หรือพ่อแม่ที่ไม่เอาใจใส่ดูแลลูก หรือกระทั่งพ่อแม่ที่ใช้ลูกเป็นเครื่องระบายอารมณ์ ถือว่ามีบุญคุณกับลูกจริงหรือ

นับตั้งแต่โบราณกาลมา เหล่าบรรดาพราหมณาจารย์ และฤๅษีชีไพรต่างๆ ในแดนชมพูทวีป ได้ศึกษาเรื่องของโลก ชีวิต และธรรมชาติ จนได้บทสรุปว่าแท้จริงแล้ว พลังแห่งการสร้างโลก คือ พลังในการให้กำเนิด ซึ่งบุคคลที่จะให้กำเนิดได้ คือ พ่อและแม่ จึงมีการสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาเป็นศิวลึงค์แทนความเป็นพ่อ และอุมาโยนีแทนความเป็นแม่ ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ยังคงเป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นพ่อแม่มาจนปัจจุบัน

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้กล่าวยกคุณของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดไว้อย่างสูงเลิศเลอ คือ หากแม้ว่าลูกได้นำพ่อกับแม่ขึ้นนั่งบนบ่าข้างละคน ตลอดระยะเวลาหนึ่งร้อยปี คอยปรนนิบัติดูแลด้วยปัจจัยสี่ ด้วยการอบกลิ่น ด้วยการนวดเฟ้น ด้วยการอาบน้ำ ด้วยการดัดกาย และให้พ่อแม่ได้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงบนบ่าของลูกอยู่ตลอดเวลายาวนานเพียงนั้น แม้ทำถึงขนาดนั้นก็ยังไม่นับว่าตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ให้สิ้นสุดได้

เพราะพระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมว่า "สัตว์ ทั้งหลาย ล้วนมีกรรมเป็นของตน ล้วนเป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย และกรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต" ดังนั้นบุคคลที่จะลงมาสู่ตระกูลเดียวกัน คือ เป็นพ่อแม่กับลูกกันได้ จึงต้องมีสายสัมพันธ์ของกรรมที่เกี่ยวเนื่องผูกพันกันมาอย่างพอดีไม่มีผิดเพี้ยน "ลูกมีบุญบารมีอยู่ในระดับใด ก็จะลงมาสู่ครรภ์ของแม่ในตระกูลที่มีบุญบารมีในระดับเดียวกันนั้น ชนิดไม่ขาดไม่เกิน" จึงส่งผลให้ทั้งรูปลักษณะภายนอกและอุปนิสัยภายในของลูกมีความคล้ายคลึงกับพ่อแม่ ถ้าในทางวิทยาศาสตร์ จะใช้คำว่า "พันธุกรรม" ส่วนพระพุทธศาสนาใช้คำว่า "ผลแห่งกรรม" ซึ่งก็มิได้มีความหมายแตกต่างกัน เพียงแต่ความรู้ของพระพุทธศาสนานั้น สามารถอธิบายได้ก้าวล้ำล่วงลึกเกินไปกว่าสิ่งที่มองเห็นได้จากเนื้อหนังจนทะลุไปถึงต้นเหตุที่นำมาสู่ผลได้อย่างแท้จริง

จึงไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าชีวิตสักชีวิตจะมาเกิดเป็นคนในท้องของแม่ เพราะกว่าจะหาเจอพ่อแม่ที่มีบุญกรรมเสมอกับตัวเองได้นั้น ถือเป็นเรื่องหนึ่งในร้อยล้านพันล้านหรือยิ่งกว่านั้น ลองนึกภาพดูว่าการจะหาบุคคลในโลกที่หน้าตาและอุปนิสัยคล้ายคลึงกันจนแทบมิผิดเพี้ยนเจอนั้น มีโอกาสสักกี่มากน้อย ดังนั้นพ่อแม่แม้เพียงแค่ให้ที่เกิดอย่างเดียว ก็ถือว่าเป็นบุญคุณมากล้นเกินกว่าจะประมาณแล้ว เพราะถ้าไม่มีพ่อแม่คู่นี้ก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องรออีกกี่หมื่นกี่ล้านปี กว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ส่วนว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดนั้น จะเป็นเพราะสิ่งใด จะเจตนาหรือไม่เจตนา นั่นก็มิอาจกลบลบความจริงของการให้ที่เกิดนี้ได้ ยิ่งถ้าพ่อแม่ยังให้ความรัก ให้การเลี้ยงดูอุปถัมภ์อย่างดี นั่นก็ยิ่งสุดจะพรรณนาถึงคุณอันยิ่งใหญ่นั้นได้จนหมดสิ้น

ส่วนที่เด็กสมัยนี้มักกล่าวหาว่าพ่อแม่ไม่ดี ไม่เข้าใจ ไม่เอาใจใส่ดูแล คอยกดดัน หรือกระทั่งใช้ความรุนแรง นั่นเป็นเพราะความไม่เข้าใจกฎแห่งกรรมอย่างแจ่มแจ้ง เพราะที่ไม่ดีจริง มิใช่พ่อแม่ แต่เป็นเหตุที่ตัวเด็กสร้างไว้ในอดีตไม่ดีเองต่างหาก ทุกอย่างไม่มีคำว่าบังเอิญ มีแต่เหตุที่คู่ควรกับผล เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ สิ่งที่ได้รับในปัจจุบันก็เหมาะสมแล้วกับการกระทำในอดีต ส่วนสิ่งใดที่จะได้รับสืบต่อไปในเบื้องหน้า ก็คู่ควรแล้วกับการกระทำในปัจจุบัน

พระคุณของแม่นั้น ยิ่งใหญ่สุดฟ้าสุดดิน จะหาสิ่งใดมาเทียบเทียมอุปมานั้นหรือก็หามิได้ แค่เพียงพระคุณที่อุ้มท้อง ยอมทุกข์ทนลำบากอยู่ ๙ เดือน และผ่านความเจ็บปวดทรมานจากการคลอด ก็มิอาจกำหนดนับจดจารลงในสิ่งใดๆ ได้หมดสิ้น ถึงแม้บางคนอาจไม่ได้รับความสุขจากพ่อแม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ขอให้เชื่อพระพุทธเจ้าเถิดว่า "อสาธุง สาธุนา ชิเน พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี" คือ ไม่ว่าท่านจะดีกับเราหรือไม่ ก็ควรตอบแทนการให้ที่เกิดด้วยการทำดีกับท่านให้ถึงที่สุด แล้วที่สุดความดีที่ทำให้แก่ผู้มีคุณนั้นจะกลับสนองคืนสู่เราเป็นร้อยเท่าพันทวี ด้วยอานุภาพของกฎแห่งกรรม!
3227  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2559 19:02:29


ปางทรงเครื่อง (๑)

พระพุทธรูปทรงเครื่องนี้ส่วนมากได้อิทธิพลมาจากฝ่ายมหายาน ผมไปประเทศที่นับถือมหายานมาหลายประเทศ อาทิ ทิเบต ภูฏาน มองโกเลีย จีน ได้เห็นพระพุทธรูปทรงเครื่องมามากมาย ในสายเถรวาทเราไม่ค่อยนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง เห็นมีแต่ "ปางทรงเครื่อง" ปางนี้ปางเดียวที่เป็นที่รับรู้กันในหมู่ชาวพุทธรุ่นก่อนๆ

เรียกกันว่า พระพุทธรูปปางโปรดพระยาชมพูบดี ต้นเหตุเกิดพระพุทธรูปปางนี้ ก็เล่าเป็นตำนานที่หาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ เรื่องราวก็พิลึกพิลั่นน่าดู ลองฟังดูสิครับ

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์นั้น ไกลออกไปจากเมืองราชคฤห์ ๖๐ โยชน์ มีเมืองหนึ่งมีนามปัญจานคร อันมีพระเจ้าชมพูบดีครอบครอง พระราชาพระองค์นี้เป็นกษัตริย์ที่มีศักดานุภาพมาก ทรงมีของวิเศษ ๓ ประการ คือ ศรวิเศษ นามว่า "วิษสร" ๑ ฉลองพระบาทแก้ว ๑ จักรแก้ว ๑ ทั้งสามอย่างนี้เป็นของวิเศษ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ทำตามคำสั่งของเจ้าของได้ทุกประการ

วันหนึ่งพระเจ้าชมพูบดี (ตำนานไทยเรียกว่า "พระยาชมพูบดี" เพราะฉะนั้นต่อไปขอเรียกตามนี้) ทรงฉลองพระบาทแก้วเหาะผ่านมายังเมืองราชคฤห์ ทอดพระเนตรเห็นปราสาทราชมณเทียร ของพระเจ้าพิมพิสารสวยสดงดงามมาก จึงทรงอิจฉาในบุญญาธิการของพระเจ้าพิมพิสาร

"ปราสาทราชวังกษัตริย์องค์ใดหนอ ช่างสวยงามปานนี้ มันสวยกว่าของข้า อย่าเอาไว้เลย แสลงตาเปล่าๆ ว่าแล้วก็เหาะต่ำลงมา เหยียบยอดปราสาท กระทืบเต็มแรง ด้วยพุทธานุภาพที่รักษาพระราชวังในฐานะที่เจ้าของปราสาทคือพระเจ้าพิมพิสารเป็นอริยสาวกของพระพุทธองค์ ปราสาทจึงไม่กระเทือนแต่อย่างใด ตรงข้ามพระบาทของพระยาชมพูบดีกลับมีพระโลหิตไหลโซม

พระยาชมพูบดีเจ็บพระบาทยิ่ง ทรงพิโรธ ชักพระแสงขรรค์ออกฟันยอดปราสาทเต็มพระกำลัง ก็หาทำให้ยอดปราสาทหักทำลายไม่ พระแสงขรรค์กลับบิดงอใช้การไม่ได้ พระยาชมพูบดีจึงรีบเสด็จกลับ แผลงวิษสรออกไปเพื่อให้วิษสรไปร้อยพระกรรณเจ้าของปราสาทมาหมอบแทบพระบาทให้ได้

วิษสรแล่นออกไปอย่างรวดเร็ว ค้นหาเจ้าของปราสาท พร้อมส่งเสียงก้องกัมปนาทน่าสะพรึงกลัว พระเจ้าพิมพิสารได้ยินเสียงก้องกัมปนาท ก็ตกพระทัยรีบเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ายังพระเวฬุวันเพื่อขอประทานความคุ้มครอง

วิษสรติดตามพระเจ้าพิมพิสารไปยังพระเวฬุวัน พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพุทธจักรแล้วส่งออกไปขับไล่ พุทธจักรมีอานุภาพยิ่งกว่า แล่นออกไปไล่ทุบวิษสรจนสิ้นฤทธิ์ วิษสรสู้ไม่ได้ก็กลับไปยังเมืองปัญจาละ พระยาชมพูบดีทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงพิโรธเป็นสองเท่า จึงถอดฉลองพระบาททั้งคู่ขว้างออกไป สั่งให้ไปจับเจ้าของปราสาทมัดนำมาหาพระองค์ให้ได้

ฉลองพระบาทแก้วทั้งคู่กลายเป็นพญาวาสุกรีนาคราช แล่นเลื้อยไปในนภากาศ ค้นหาพระเจ้าพิมพิสารไปจนถึงวัดพระ เวฬุวันก็จะจู่โจมเข้าจับ พระพุทธองค์ทรงเนรมิตเป็นพญาครุฑให้บินโฉบไปจิกตีพญานาคราชจนพ่ายแพ้ นาคราชกลับคืนสู่พระนครปัญจาละ ตกลงต่อพักตร์พระยาชมพูบดีกลายเป็นฉลองพระบาทตามเดิม



ปางทรงเครื่อง (จบ)
พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยของพระยาชมพูบดีว่าจะบรรลุมรรคผลได้ จึงมีพุทธบัญชาให้ท้าวสักกะเทวราชไปเชิญเสด็จพระยาชมพูบดีมาเฝ้าพระพุทธองค์ ท้าวเธอก็จำแลงกายเป็นราชทูตผู้งามสง่า เสด็จไปยังเมืองปัญจาละในทันใด เข้าไปร้องสั่งให้พระยาชมพูบดีติดตามตนมาเสียแต่โดยดี เพราะ "เจ้านาย" ของตนต้องการให้พระยาชมพูบดีไปเฝ้า

พระยาชมพูบดีทรงพิโรธ เห็นว่าราชทูตเจรจาไม่เคารพนบนอบตน จึงทรงขว้างจักรแก้วไปสังหารทันที ท้าวสักกะเทวราชในร่างราชทูตก็ขว้างจักรของพระองค์ออกไปกำจัด กระชากพระยาชมพูบดีลงจากบัลลังก์ บันดาลให้เปลวไฟลุกไหม้ปราสาททันที สร้างความแตกตื่นแก่พระยาชมพูบดีและข้าราชบริพารทั้งปวง

เมื่อพระยาชมพูบดีรับปากว่าจะไป ไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่ก็สงบลง โดยไม่ทำอันตรายแก่ตึกรามต่างๆ แต่อย่างใด พระยาชมพูบดียังมากด้วยทิฐิมานะ ขอผัดผ่อนสักสามเดือนค่อยไปแต่ราชทูตบอกว่า ผัดผ่อนได้อย่างมากเพียงสามวัน หากถึงกำหนดแล้วไม่ไป ก็จักทำลายบ้านเมืองทั้งเมืองให้เป็นจุณวิจุณ

พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระเวฬุวัน เป็นพระราชวังอันโอ่อ่าตระการตามาก มีปราสาทสวยงาม ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วเจ็ดชั้น มีตลาดน้ำ ตลาดบก โดยพญากาฬนาคราชและนางวิมาลามเหสีมาช่วยจัดตลาดน้ำ ท้าวสักกะเทวราชพร้อมนางสุธัมมา นางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุชาดา มเหสีมาช่วยกันจัดตลาดบก พญาครุฑมาจัดตลาดเพชรนิลจินดา ตลาดทอง ตลาดเงิน ตลาดเสื้อผ้าอาภรณ์ ตลอดจนตลาดผักผลไม้ ดอกไม้นานาพรรณ เป็นที่เจริญหูเจริญตามาก

พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระองค์เป็น พระมหาจักรพรรดิราชาธิราช ทรงเครื่องครบครัน เสด็จประทับ ณ รัตนบัลลังก์

พระอัครสาวกทั้งจำแลงกายเป็นเสนาบดี ผู้ใหญ่ พระสงฆ์สาวก และภิกษุหนุ่ม สามเณรน้อย ตลอดจนภิกษุณี สามเณรี ทั้งปวง ได้กลายสภาพเป็นข้าราชบริพารระดับต่างๆ อยู่กันพร้อมหน้า

เมื่อครบเวลานัดหมาย พระยาชมพูบดี ก็เสด็จมาถึง ทรงตะลึงแลความสง่าและโอฬารของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ และพระราชวังเป็นอย่างยิ่ง ก็ครั่นคร้ามใน พระราชหฤทัย แต่ด้วยทิฐิมานะจะให้ยอมง่ายๆ กระไรได้ จึงต่อสู้เป็นครั้งสุดท้าย "เป็นไงเป็นกันวะ" อะไรทำนองนั้น

ทรงขว้างจักรแก้วออกไป หมายสังหารพระมหาจักรพรรดิที่ประทับ ณ รัตน บัลลังก์ข้างหน้า เมื่อไม่ได้ผล ก็แผลงวิษสร ออกไป ไม่ได้ผลอีก จึงขว้างฉลองพระบาทออกไป ฉลองพระบาทก็ไม่สามารถทำอะไรพระพุทธองค์ได้ พระยาชมพูบดีจึงจำต้องยอมแพ้โดยดี

พระพุทธองค์ทรงคลายอิทธาภิสังขารคืนร่างเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปราสาทราชวังกลายเป็นพระเวฬุวันวิหาร เสนาบดี และข้าราชบริพารน้อยใหญ่ ก็คืนร่างเป็นพระเถระ พระเถรี สามเณร สามเณรี กันหมด ต่างก็นั่งเฝ้าพระพุทธองค์อยู่พร้อมหน้า

เหล่าเทพทั้งหลายตลอดจนครุฑนาคา ก็กลับไปยังทิพยสถานวิมานของตน พระพุทธองค์ตรัสเทศนาสั่งสอนพระยาชมพูบดี จนเกิดความเลื่อมใสและขอบวชเป็นสาวกของพระองค์ในที่สุด

ตำนานพระพุทธรูปปางทรงเครื่องก็จบลงเพียงเท่านี้ สงสัยจะเป็น "ตำนาน" จริงๆ ใส่ไข่ (หลายใบ) ด้วย ไม่ปรากฏวี่แววว่ามีบันทึกไว้ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา





ปางโปรดอาฬวกยักษ์ (๑)

เล่าเหมือนมีตัวตนจริง ว่ายักษ์รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ส่วนมากก็มักจะจับคนกิน จะเป็นยักษ์จริงๆ หรือคนเผ่ายักษ์ที่กินคนก็แล้วแต่จะพิจารณาเอาเถอะครับ ขอเล่าพระพุทธรูปปางโปรดยักษ์นามว่า อาฬวกะ ก่อนก็แล้วกัน

ที่ป่าทึบแห่งหนึ่ง ใกล้เมืองอาฬวี มียักษ์กินคนอาศัยอยู่ วันหนึ่งพระเจ้ากรุงอาฬวี ไปล่าสัตว์ พลัดหลงกับข้าราชบริพาร เข้าป่าทึบไปพระองค์เดียว ถูกยักษ์นามว่าอาฬวกะจับไว้ นัยว่ายักษ์ตัวนี้ได้พรจากพระอิศวรเจ้า ให้จับใครก็ได้ที่พลัดหลงเข้ามานั่งใต้ต้นไทรใหญ่อันเป็นเขตหวงห้าม

พระเจ้ากรุงอาฬวีถูกยักษ์จับ กำลังจะเป็นอาหารมื้ออร่อยของยักษ์อยู่พอดี พระเจ้ากรุงอาฬวีจึงขอร้องใหยักษ์ปล่อยไปเถอะ ถ้าปล่อยไปจะหาคนมาให้ยักษ์กินวันละคน ยักษ์ขอคำมั่นจากพระเจ้ากรุงอาฬวี เห็นรับปากแข็งขันจึงปล่อยตัวไป


พระเจ้ากรุงอาฬวีก็รักษาสัญญา ส่งนักโทษเด็ดขาดไปวันละคนจนกระทั่งหมดคุก เมื่อหมดนักโทษก็สั่งให้อำมาตย์ดักจับลูกเล็กเด็กแดงใครก็ได้ส่งไปให้ยักษ์ ประชาชนทั้งหลายเกรงว่าบุตรหลานของตนรวมทั้งตัวเองด้วยจะถูกจับส่งไปให้ยักษ์ ก็พากันอพยพหนีจ้าละหวั่น

เคราะห์ยามร้าย เจ้าชายแห่งเมืองอาฬวี พระราชโอรสของพระเจ้ากรุงอาฬวีก็ถูกจับเพื่อส่งไปให้ยักษ์ (คงไม่รู้ว่าเป็นพระราชโอรสหรืออย่างไร) ณ ราตรีวันนั้นเอง พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยพระญาณ จึงเสด็จไปยังที่อยู่ ของอาฬวกยักษ์ ยักษ์ไม่อยู่ พระองค์จึงขึ้นไปประทับบนอาสนะของอาฬวกยักษ์

อาฬวกยักษ์กลับมาเห็นพระพุทธองค์ประทับสงบเหนือที่นั่งของตนก็โกรธ จึงซัดอาวุธสารพัดที่มีใส่พระองค์ ด้วยพุทธานุภาพอาวุธเหล่านั้นมิได้ระคายเคืองพระองค์แม้แต่น้อย ยักษ์โมโหจัดตวาดว่า อุเหม่ๆ สมณะท่านถืออย่างไรจึงมานั่งบนอาสนะของข้า (แหม ยักกะพากย์โขนแน่ะ)

"ลุกขึ้นเดี๋ยวนี้" ยักษ์ตะโกน

พระพุทธองค์เสด็จลุกขึ้นทันใด ยังความประหลาดใจแก่อาฬวกยักษ์เป็นกำลัง ทำไมว่าง่ายปานนั้น ว่าแล้วก็สั่งอีกว่า
"สมณะ ออกไปข้างนอก"

พระพุทธองค์เสด็จออกไปข้างนอกอย่างว่าง่าย
"กลับเข้ามา" ยักษ์อีก

พระองค์ก็เสด็จเข้ามา


ปางโปรดอาฬวกยักษ์ (จบ)
คราวนี้อาฬวกยักษ์ นึกสนุก จึงสั่งให้พระพุทธองค์เสด็จลุกขึ้นบ้าง เสด็จดำเนินบ้าง เสด็จเข้าบ้าง เสด็จออกบ้าง ตามแต่ยักษ์ชอบใจ พระพุทธองค์ก็ทรงสนองอย่างว่าง่าย อาฬวกยักษ์หัวร่อก๊ากๆ ด้วยความพอใจ

"พระสมณโคดม เป็นศาสดาของมวลมนุษย์ ไหนว่าเก่งกาจนักไง ไม่เห็นมีน้ำยาเลย เราสั่งทำอะไรก็ทำ ใครมันจะใหญ่กว่าข้า ฮ่าๆๆ"

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ยักษ์มีจิตใจอ่อนโยนลงแล้ว พอจะรับฟังเหตุผลได้ จึงทรงค่อยๆ สอนทีละนิดๆ ให้ยักษ์สะกิดใจคิด ยักษ์พิจารณาตามพระพุทธดำรัส เห็นจริงตามนั้นด้วย จึงยอมขอขมาพระพุทธองค์ที่ได้ล่วงเกิน แล้วเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พอรุ่งสางพวกราชบุรุษได้นำเจ้าชายเมืองอาฬวีมาเพื่อมอบเป็นอาหารแก่ยักษ์ ยังษ์ซึ่งบัดนี้ได้ถือศีล (เจไม่ได้กิน) แล้ว จึงมอบคืนแด่พระพุทธองค์ กราบทูลว่า บัดนี้ข้าพระองค์ไม่ทำปาณาติบาต งดเว้นจากการกระทำที่ก่อเวรแล้ว

พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาแก่อาฬวกยักษ์ พร้อมประทานพระราชกุมารคืนแก่เหล่าราชบุรุษ กิตติศัพท์ก็ฟุ้งขจรขจายไปทั่วว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาระงับภัยพิบัติอันเกิดแก่ชาวเมืองอาฬวี ทรงบันดาลให้ชาวเมืองกลับสู่ความร่มเย็นเป็นสุขเหมือนเดิมแล้ว เพราะพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นจะพรรณนา

ก่อนเสด็จกลับ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้ากรุงอาฬวีและประชาชนให้เห็นโทษของการล่วงละเมิดศีลห้าอันเป็นเหตุก่อภัยเวรแก่ตน ให้ดำรงอยู่ในกัลยาณธรรมตามสมควรแก่วิสัยของแต่ละคน แล้วก็เสด็จนิวัติยังพระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ด้วยประการฉะนี้แล

ดังที่กล่าวข้างต้น "ยักษ์" ในเรื่องนี้ ใครจะตีความอย่างไรก็ได้ แต่ใจผมผู้เขียนนึกเห็นภาพมนุษย์เผ่าหนึ่งคือ มนุษย์กินคน อันมีอยู่ทั่วไปในชมพูทวีปสมัยโน้น มนุษย์กินคนที่ชื่อว่าอาฬวกะ (เพราะมีนิเวศสถานอยู่เมืองอาฬวี) คงสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนชาวเมืองมาก พระพุทธองค์มีพระมหากรุณาจึงเสด็จไปโปรด โปรดทั้งยักษ์โปรดทั้งประชาชนชาวเมือง

พระพุทธรูปปางนี้ คงไม่แพร่หลายนัก แต่เรื่องค่อนข้างแพร่หลาย เพราะเป็นตอนหนึ่งของพุทธชัยมงคล ๘ ประการของพระพุทธเจ้า (โปรดอ่าน คาถาพาหุง ของ เสฐียรพงษ์ วรรณปก แน่ะได้ที โฆษณาหนังสือให้พี่ชายเสียเลย) พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางที่พระชานุ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นท่าแสดงธรรม





ปางป่าเลไลยก์ (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ คุ้นหูคุ้นตาชาวพุทธดีพอสมควร เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับ (แปลว่านั่ง) ห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาหงายวางบนพระชานุ ในท่าทรงรับ ทรงรับอะไร ทรงรับรังผึ้ง ที่ลิงยื่นถวาย ข้างๆ มีช้างเชือกหนึ่งหมอบชูงวง เฝ้าอยู่ด้วย

ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่า "ปางป่าเลไลย" หรือ "ป่าเลไลยก์" มาจากคำเดิมว่าปาลิเลยยกะ

อันเป็นชื่อของพญาช้าง

ในพระไตรปิฎกไม่มีลิงอยู่ด้วย มีแต่พญาช้าง แต่ในอรรถกถาได้เพิ่มลิงเข้ามาอีกตัวหนึ่ง ไม่ทราบด้วยเหตุผลใด เรื่องมีอยู่ว่า ในวัดแห่งหนึ่งในเมืองโกสัมพี มีพระเถระ ๒ รูป คือพระวินัยธร ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัยบัญญัติ และพระธรรมกถึก ผู้เชี่ยวชาญในการแสดงธรรม ทั้งสองรูปมีศิษย์รูปละจำนวนมาก อยู่ด้วยกันด้วยความสมัครสมานสามัคคีมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งวันหนึ่งก็เกิดเรื่องขึ้น

พระวินัยธรเข้าไปในวัจกุฎี (ห้องส้วม) ในเช้าวันหนึ่ง ออกมาถามว่าใครเข้าห้องน้ำก่อนผม

"ผมเอง มีอะไรหรือ" พระธรรมกถึกถาม
"ท่านเหลือน้ำไว้ในขันครึ่งหนึ่ง ทราบไหมว่าผิดพระวินัย"
"ผมไม่ทราบเลยครับ ถ้าผิดวินัย ผมขอแสดงอาบัติ" พระธรรมกถึกไม่ทราบจริงๆ เมื่อรู้ว่าต้องอาบัติก็ยินดีแสดงอาบัติ

พระวินัยธรกล่าวว่า "ถ้าท่านไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นไร ไม่ผิด" เรื่องก็น่าจะแล้วกันไป แต่ไม่อย่างนั้น หลังจากนั้นพระวินัยธรไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า พระธรรมกถึกดีแต่เทศน์สอนคนอื่นตัวเองต้องอาบัติยังไม่รู้เลย

ศิษย์พระวินัยจึงไปพูดกับศิษย์ของพระธรรมกถึก เมื่อรู้ไปถึงหูพระธรรมกถึก ท่านถึงกับ "หูร้อน" กล่าวด้วยความโกรธว่า "พระวินัยธรสับปลับ ทีแรกว่าไม่ต้องอาบัติ คราวนี้บอกว่าต้องอาบัติ พระวินัยธรก็พูดเท็จสิ ถ้าอย่างนั้นพระวินัยธรก็ต้องอาบัติฐานพูดเท็จ"

ไม่ต้องบอกก็ได้ครับ ความวิวาทบาดถลุงกันก็ลุกลามเหมือนไฟไหม้ฟาง พระสงฆ์ในวัดก็แตกออกเป็นสองฝ่าย มิใช่เฉพาะในหมู่พระสงฆ์เท่านั้น ญาติโยมก็แตกออกเป็นสองฝ่ายเช่นเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างก็ว่าตัวเองถูกอีกฝ่ายผิด

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องจึงเสด็จไปห้ามปราม มาถึงตอนนี้ พวกท่านเหล่านั้นไม่ใส่ใจในคำห้ามปรามของพระพุทธองค์เสียแล้ว ไม่ให้ความสำคัญแก่พระโอวาทที่ทรงตรัสเตือนด้วยพระมหากรุณา ตั้งหน้าตั้งตาทะเลาะกันไป ยังกับจะให้พินาศฉิบหายกันไปข้าง


ปางป่าเลไลยก์ (จบ)
พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จหลีกไปอยู่โดยลำพังพระองค์ ในป่าแห่งหนึ่งนามว่า ป่ารักขิตวัน พญาช้างเชือกหนึ่ง ละโขลงมาอยู่โดยลำพัง เห็นพระบรมศาสดาเสด็จมาประทับอยู่พระองค์เดียว จึงเข้าไปถวายบังคม ถวายการอุปัฏฐากดูแลพระองค์อย่างดี

พระคัมภีร์เล่าว่า พญาช้างหักกิ่งไม้มาทำเป็นไม้กวาด กวาดบริเวณที่ประทับให้สะอาด ทึ้งถอนต้นหญ้าไม้เล็กไม้น้อยให้เตียน ไปตักน้ำฉันน้ำใช้ถวายพระพุทธองค์ ถึงตอนเย็นก็ต้มน้ำถวายให้ทรงสรงสนาน ถามว่าช้างต้มน้ำอย่างไร ตอบว่าก็ต้มตามธรรมชาติของช้างนั่นแหละครับ คือตอนกลางวันแดดร้อนจัด เมื่อตกเย็นพญาช้างก็จะไปกลิ้งก้อนหินขนาดย่อมๆ ที่อมความร้อนไว้ ลงไปยังแอ่งน้ำเล็กๆ เมื่อก้อนหินลงไปแช่ในแอ่งน้ำ น้ำก็จะอุ่นขึ้น พอเหมาะที่พระพุทธองค์จะทรงสรงสนานได้ พญาช้างก็ไปหมอบแทบพระบาท ทำกิริยาอาการเชิญเสด็จไปสรงสนาน พระพุทธองค์ก็เสด็จไปสรงสนาน ตามคำอาราธนาของพญาช้าง

พญาช้างได้ถวายการปรนนิบัติดูแลพระพุทธองค์อย่างดีด้วยประการฉะนี้

ลิงตัวหนึ่ง เห็นช้างอุปัฏฐากพระพุทธองค์ ตนเองก็อยากจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์บ้าง ขณะคิดอยู่ว่าตนจะทำอะไรดีหนอ ก็เหลือบไปเห็นรังผึ้งเข้า จึงไปเอารังผึ้งนั้นไปถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงรับไว้แล้วก็ทรงวางไว้ข้างๆ

ลิงสงสัยว่าทำไมหนอ พระพุทธองค์จึงไม่เสวย จึงจับรังผึ้งนั้นมาพินิจดู เห็นตัวอ่อนมากมาย จึงหยิบเอาตัวอ่อนออกหมด แล้วถวายใหม่ คราวนี้พระพุทธองค์เสวย เจ้าจ๋อดีใจมากกระโดดโลดเต้นด้วยปีติปราโมทย์ ปล่อยกิ่งนี้ จับกิ่งนั้น ปล่อยกิ่งนั้น จับกิ่งโน้น ถึงคราวเคราะห์หามยามร้าย มันเกาะกิ่งไม้ผุ เลยหล่นตุ๊บลง บังเอิญอีกนั่นแหละมันหล่นลงไปยังตอไม้แห่งหนึ่งถูกตอไม้เสียบก้นตาย ตำราเล่าว่ามันตายไปเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า มักฎเทพบุตร ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายรังผึ้งแก่พระพุทธเจ้า ว่ากันอย่างนั้น

กล่าวถึงชาวเมืองโกสัมพี เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จหลีกไปแล้ว ประชาชนไม่พบพระพุทธเจ้า จึงกล่าวว่า เพราะพระสงฆ์เหล่านี้เป็นต้นเหตุ พวกเราจึงไม่มีโอกาสพบและฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ แล้วทั้งหมดจึงตกลงกันไปถวายภัตตาหารให้พระสงฆ์เหล่านั้น

เมื่อพระทั้งหลายไม่ได้อาหารบิณฑบาตจึงพากันไปขอขมาชาวบ้าน พวกเขากล่าวว่า พระคุณเจ้าต้องไปขอขมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้รับอภัยโทษจากพระพุทธองค์แล้วนั่นแหละ พวกข้าพเจ้าจึงจะถวายอาหารบิณฑบาตให้ฉันตามเดิม

ภิกษุสงฆ์เหล่านั้นจึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ในป่ารักขิตวัน โดยขอร้องให้พระอานนท์นำเข้าเฝ้าพระอานนท์ให้ท่านเหล่านั้นรออยู่ข้างนอก ตนเองเดินเข้าป่าไปเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ พญาช้างปาลิไลยก์เห็นพระภิกษุเดินมาแต่ไกล จึงเตรียมเพื่อจะไล่ให้หนีไป พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า "ปาลิเลยยกะ ปล่อยเธอเข้ามาเถิด นั่นคือภิกษุอุปัฏฐากของเรา"

พระอานนท์เข้าไปถวายบังคมแทบพระยุคลบาท เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พร้อมขอประทานโอกาสนำพระภิกษุสงฆ์ชาวเมืองโกสัมพีเข้าเฝ้าเพื่อขอขมา เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นจึงเข้าไปกราบถวายบังคม แล้วกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ยกโทษให้พวกตน

พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้ ทรงแสดงถึงโทษของความแตกสามัคคีและอานิสงส์ของความสมัครสมานสามัคคี โดยตรัสทีฆาวุชาดก ให้พวกเธอฟัง แล้วส่งพวกเธอกลับไปยังเมืองโกสัมพี

จากนั้นมาญาติโยมทั้งหลาย เมื่อรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงยกโทษให้พระสงฆ์เหล่านั้นแล้ว ก็พากันถวายอาหารบิณฑบาตแก่พวกเธอตามเดิม บรรยากาศแห่งความสมัครสมานสามัคคีก็กลับคืนมาตามเดิม ด้วยประการฉะนี้





ปางสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ จะมีคนตั้งชื่อและเขียนภาพออกมาแล้วหรือยังไม่ทราบ ถ้ายังไม่มีผมขอตั้งเองตั้งแต่วันนี้ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

สืบเนื่องมาแต่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยุรญาติแห่งศากยวงศ์ นครกบิลพัสดุ์ เหล่าศากยกุมาร อาทิ เจ้าชายอนุรุทธ เจ้าชายอานนท์ และเจ้าชายเทวทัต แห่งโกลิยวงศ์ ได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระแม่น้าของพระพุทธองค์ มีพระประสงค์อยากบวชด้วยตั้งแต่บัดนั้น แต่ยังทรงห่วงพระราชสวามี คือพระเจ้าสุทโธทนะที่ทรงพระชราภาพแล้ว จึงยังรีรออยู่

ต่อมาเมื่อพระพุทธบิดาทรงประชวรหนัก พระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระพุทธบิดา และเมื่อพระพุทธบิดาสวรรคตพระพุทธองค์ได้ถวายพระเพลิงพระพุทธบิดาเสร็จแล้วจะเสด็จกลับ พระนางมหาปชาบดีโคตมีจึงเข้าไปทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต เสด็จไปประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี

พระนางไม่ละความพยายาม จึงพร้อมด้วยขัตติยานีแห่งศากยวงศ์จำนวนหนึ่งปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ตามไปทูลอ้อนวอนขอบวชอีก

พระพุทธองค์ไม่ทรงประทานอนุญาตเช่นเดิม พระนางรู้สึกเสียใจถึงกับร้องไห้ออกมา พระอานนท์ทราบเรื่องเข้าจึงรับอาสากราบทูลพระพุทธองค์ให้ ท่านได้เข้าไปกราบทูลขอพุทธานุญาตอีกครั้ง และก็ได้รับการปฏิเสธเช่นเดียวกัน

พระอานนท์กราบทูลถามว่า "สตรีไม่มีความสามารถจะบรรลุมรรคผลหรืออย่างไร"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เพศภาวะมิใช่ข้อกีดกั้น ไม่ว่าบุรุษหรือสตรีย่อมมีศักยภาพที่จะบรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน"

"ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีอุปสมบทเล่า ในเมื่อพระนางก็มีศักยภาพที่จะตรัสรู้ธรรมเช่นเดียวกัน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าขอพระองค์โปรดให้นางอุปสมบทด้วยเถิด"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "อานนท์ ถ้านางมหาปชาบดีโคตมี จะรับครุธรรม ๘ ประการ ไปปฏิบัติได้บริบูรณ์ ตถาคตก็อนุญาต"

ครุธรรม ๘ ประการ คือ
๑.ภิกษุณีแม้จะมีพรรษาตั้งร้อย ก็พึงทำอัญชลีนมัสการภิกษุ แม้จะบวชในวันนั้น
๒.ภิกษุณี ต้องไม่อยู่ในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
๓.ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับโอวาทจากสำนักภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔.ภิกษุณีจำพรรษาแล้ว พึงปวารณาใน "สงฆ์สองฝ่าย" (คือปวารณาในหมู่ภิกษุณีแล้วมาปวารณาในหมู่ภิกษุสงฆ์อีก)
๕.ภิกษุณีต้องอยู่ปริวาสกรรม (อยู่กรรม) ในสำนักสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
๖.ภิกษุณีต้องอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย
๗.ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษ ภิกษุสงฆ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
๘.ภิกษุณี นับแต่วันอุปสมบทไป พึงสดับโอวาทจากภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ห้ามให้โอวาทภิกษุ


ปางสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ (จบ)
พระอานนท์นำครุธรรม ๘ ประการออกมาแจ้งแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางยินดีปฏิบัติทุกประการโดยไม่มีเงื่อนไข พระอานนท์กลับไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ประทานอุปสมบทแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีและสตรีบริวารด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่าภิกษุณีสงฆ์ได้เกิดขึ้น

ถามว่าทำไมในเบื้องต้น พระพุทธองค์ไม่ทรงเต็มพระทัยให้สตรีบวช ถึงกับตรัสว่าถ้าสตรีบวช พรหมจรรย์ (พระศาสนา) จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน แต่เมื่อพระอานนท์ทูลขอ ก็ทรงอนุญาตให้บวชในที่สุด

คำตอบคงไม่ออกมาในแง่ลบ ดังที่นักสิทธิสตรีทั้งหลายคิดกันกระมังครับ ที่พระองค์ตรัสว่าถ้าให้สตรีบวชพรหมจรรย์จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน พรหมจรรย์อาจหมายถึงวิถีชีวิตการงดเว้นจากกามารมณ์หรือพระศาสนาโดยรวมก็ได้ ไม่ว่าจะตีความอย่างไรก็ได้ความเท่ากัน ลองอธิบายในแง่มุม "ตื้นๆ"ก็จะเห็นได้ชัดคือ

พระผู้ชายที่บวชมานั้นต้องสำรวม ต้องงดเว้นจากกาม เพื่อก้าวไปสู่ภาวะหมดราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดให้ได้ ระบบการฝึกฝนอบรมจึงต้องเข้มงวด กันให้ห่างออกไปจากการเกี่ยวข้องกับสตรี เพราะคนที่ยัง "ไม่พร้อม" และไม่แข็งแรงพอในด้านจิตใจก็จะวอกแวกได้ เมื่อควบคุมไม่อยู่พรหมจรรย์ก็อาจล่มสลายไปได้

ก็เอาคนมาทำพระนี่ครับ ไม่ใช่พระอิฐพระปูนนี่ครับ ขืนให้คลุกคลีตีโมงกันบ่อยๆ ไฟฟ้าก็ย่อมชอร์ตได้ พระพุทธองค์ทรงทราบความเป็นจริงข้อนี้ดี จึงปรามไว้ตั้งแต่แรก โดยไม่อนุญาตให้สตรีมาเกี่ยวข้องกับเหล่าภิกษุ

แต่คิดให้ลึกจะเห็นว่าพระองค์คงต้องทรงอนุญาตในที่สุด เพราะพระอานนท์คงต้องทูลอ้อนวอนแน่ เมื่อนำเอาประเด็น "มนุษย์ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายย่อมสามารถบรรลุมรรคผลได้" มาพูด ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามไม่ให้สตรีบวช เพราะถ้าห้ามจริงๆ ก็เท่ากับอคติ ลำเอียง หรือปิดกั้นโอกาสของสตรีทั้งโลก

แต่เพราะทรงเล็งเห็นว่าเมื่อบุรุษกับสตรีอยู่ใกล้ชิดกัน พรหมจรรย์ย่อมเป็นอันตรายแน่นอน เพื่อต้องการความเข้มงวดอันเกิดจากความต้องการของสตรีเอง พระองค์จึงวางเงื่อนไขให้เข้มงวดเข้าไว้ ทรงขอคำมั่นว่า ถ้าอยากบวชจริงๆ ก็ได้แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง ๘ ประการนี้ให้ได้ ถ้าได้ก็ตกลง

เงื่อนไข ๘ ประการนี้แล คือมาตรการควบคุมภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ให้ระมัดระวังในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน ให้เป็นไปด้วยความพอเหมาะพอดี เมื่อทำได้ตามนี้อย่างเคร่งครัด พรหมจรรย์มั่นคง ยืนยาว ไม่ว่าพรหมจรรย์ในความหมายว่าการงดเว้นจากกามหรือพรหมจรรย์ในความหมายว่าพระศาสนาก็ตาม

ผมมองแบบผมว่า นี้คือพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะบวชสตรีให้เป็นภิกษุณีบริษัทตั้งแต่ตรัสรู้ใหม่ๆ อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นไม่ทรงตอบพระยามารดอกว่า "บริษัททั้งสี่ของตถาคต ยังไม่มีคุณภาพเมื่อใด ตถาคตจะไม่ปรินิพพาน" ถ้าไม่บวชให้สตรี ะมีบริษัทครบสี่หรือ ใช่ไหมครับ แต่ถ้าให้บวชง่ายๆ อาจเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ จึงวางเงื่อนไขให้เคร่งครัดขึ้นเพื่อป้องกันความเสื่อมไว้ล่วงหน้า

ผมมอง (อีกแล้ว) ไปไกลกว่านั้นอีก การที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สตรีบวช เป็นการให้โอกาสแก่สตรีชนิดที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์โลกมาก่อน สตรีเคยถูกกดขี่ ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพมาตลอดในชมพูทวีปตลอดกาลยาวนาน พระพุทธองค์ได้เปิดโอกาสให้ และให้เสรีภาพอันยิ่งใหญ่แก่สตรีแล้ว โอกาสและเสรีภาพอะไร โอกาสทางการศึกษา และเสรีภาพในการบรรลุมรรคผลนิพพานนั่นยังไงครับ การอนุญาตให้สตรีมาบวช ทำให้สตรีได้รับการศึกษาได้พัฒนาตนให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติ) มีศักดิ์มีศรีในสังคม เป็นผู้นำสังคมได้ในทางความรู้และความประพฤติ มีความทัดเทียมกับบุรุษโดยอัตโนมัติ มีเสรีภาพโดยอัตโนมัติ โดยมิพักต้องร้องขอแต่อย่างใดท่านผู้อ่านว่าไหมครับ


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3228  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2559 19:00:35


ปางประทานอภัย (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในท่ายืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ ยื่นออกไปข้างหน้า แบฝ่าพระหัตถ์ ดุจดังท่าห้ามสมุทร อีกท่าหนึ่งประทับ ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ หันฝ่าพระบาทเข้าหากัน ไม่เป็นที่รู้จักกันนัก (เพราะส่วนมากปางประทานอภัย คนมักจะเข้าใจว่าเป็นท่าเดียวกับปางแสดงธรรมธรรมจักร)

ถามว่าประทานอภัยให้ใคร ตอบว่าประทานให้พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ทรงทำผิดมหันต์คือทรงทำปิตุฆาต ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดา

มีเรื่องเล่าว่า พระเทวทัตออกบวชพร้อมกับพระราชกุมารแห่งศากยวงศ์ อันมี เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เป็นต้น ทั้งหมด ๗ องค์ รวมทั้งนายภูษามาลานามว่า อุบาลี หลังบวชแล้วก็ตั้งตาปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุฌานโลกีย์ มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เรื่องก็น่าจะเป็นไปด้วยดี แต่ก็สะดุดจนได้

เมื่อชาวบ้านเข้ามาวัด ต่างก็ถามว่าพระอานนท์อยู่ที่ไหน พระอนุรุทธะอยู่ที่ไหน พระอัครสาวกอยู่ที่ไหน...ไม่มีใครค่อยถามถึงพระเทวทัตบ้างเลย ท่านก็เกิดความน้อยใจว่า พระเหล่านี้บ้างก็บวชจากตระกูลชาวไร่ชาวนา บ้างก็บวชจากราชตระกูล มีดีอะไรหนักหนา จึงมีญาติโยม "ขึ้น" กันมาก เราเองก็เป็นถึงราชกุมาร มีอะไรด้อยไปกว่าพวกนี้หรือ ญาติโยมจึงไม่ให้ความสนใจเลย

คนเราลงได้คิดอย่างนี้แล้ว ไม่ว่าพระหรือโยมละครับ ยากที่จะเดินไปตามร่องรอยที่ควรเดิน มันย่อม "ซิกแซ็ก" จนได้ในที่สุด เทวทัตเองก็ไม่พ้นกฎนี้ ท่านมานั่งนึกวางแผนว่าทำอย่างไร จึงจะมีคนเคารพนับถือ มีลาภสักการะมาก

เสียดายท่านเทวทัตไม่เกิดสมัยนี้ ถ้าเกิดสมัยนี้ คงได้ที่ปรึกษาวางแผนดูดเงินจากทายกทายิกาจนหมดตูดดังเจ้ากูบางสำนักแน่นอน ท่านเทวทัตเห็นว่า เจ้าชายอชาตศัตรูยังเยาว์วัย และมีอนาคตอันสดใสจะได้เป็นพระราชามหากษัตริย์ครองเมืองราชคฤห์ ในเวลาไม่นานเราควรจะ "จับ" อชาตศัตรูกุมารให้อยู่หมัด

ว่าแล้วก็ดำเนินแผนการล้างสมอง อชาตศัตรู โดยแสดงอิทธิฤทธิ์ที่ตนมีให้เจ้าชายทึ่ง (ดีกว่าเจ้ากูบางคน แสดงเองไม่ได้ ต้องอาศัยเทคนิคทันสมัยเข้าช่วย ฉายแสงเลเซอร์ให้เห็นตะวันแก้วอะไรนั่น เละเทะไปเลยจ้ะ)

เมื่อได้อชาตศัตรูเป็นศิษย์ ก็ค่อยๆ เป่าหูให้เจ้าชายเชื่อถือจนกระทั่งให้สั่งจับพระราชบิดาขังคุก ให้อดพระกระยาหาร และทรมานจนสิ้นพระชนม์ ยึดราชบัลลังก์เมืองราชคฤห์ (ซึ่งไม่ยึดก็จะได้อยู่แล้ว) สำเร็จ เป็นเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่สืบแทนพระราชบิดา

ฝ่ายเทวทัตเอง ยืดอกได้อย่างผึ่งผายตั้งแต่ได้เป็นพระอาจารย์ของมกุฎราชกุมารแล้ว ยิ่งตอนนี้ได้เป็นพระอาจารย์ของพระราชายิ่งกร่างได้มากขึ้น ความอยากที่ค่อยๆ ฟักตัวมาตามลำดับ ใหญ่เติบกล้าขึ้น ขนาดอยากปกครองสังฆมณฑลแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



ปางประทานอภัย (๒)
จึงวางแผนกำจัดพระพุทธองค์ โดยส่งนายขมังธนูไปดักยิงพระองค์ ขณะประทับเข้าสมาบัติอยู่ที่ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏ แต่ก็ล้มเหลว นายขมังธนูถูกพระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังจึงเปลี่ยนใจไม่ทำตามแผนของเทวทัต

ครั้งที่สองเทวทัตลงมือเอง ปีนเขากลิ้งก้อนหินลงมา หมายให้ทับพระพุทธองค์ ด้วยพุทธานุภาพ ก้อนหินกระเด็นไปกระทบชะง่อนผา กลิ้งไปทางอื่น แต่สะเก็ดหินกระเด็นไปต้องพระบาท ทำให้พระโลหิตห้อ

ครั้งที่สาม สั่งปล่อยช้างนาฬาคิรี ช้างทรงที่กำลังตกมัน หมายจะให้ไปสังหารพระพุทธองค์ ขณะเสด็จออกบิณฑบาต ในเมืองราชคฤห์ เช้าวันหนึ่ง ด้วยพุทธานุภาพอีกเช่นกัน ช้างตกมันเมื่อไปใกล้พระพุทธองค์ ต้องกระแสจิตอันประกอบด้วยพระเมตตา ถึงกับหยุดชะงัก หมอบลงถวายบังคมแทบยุคลบาท พระพุทธองค์ทรงลูบกระพองมันเบาๆ พลางมีพระพุทธกระแสรับสั่งสองสามประโยค พญาคชสารลุกขึ้น เดินกลับไปยังโรงช้างอย่างสงบ

เหตุการณ์ทั้งสามครั้งนี้ ไม่ระบุว่าพระเจ้าอชาตศัตรูรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ เข้าใจว่าคงไม่ เพราะบังอาจคิดร้ายต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเสียงบอกต่อๆ กันว่า ใครจะเสียอีก ก็พระเทวทัตนั่นแหละเป็นตัวการ

นายขมังธนู ก็พระเทวทัตส่งไป ผู้ที่กลิ้งหินหมายทับพระพุทธองค์ ก็พระเทวทัต คราวนี้ชั่วร้ายถึงกับสั่งปล่อยช้างตกมันไปสังหารพระพุทธองค์ คน เอ๊ย พระอะไรช่างใจโหดใจเหี้ยมปานนี้

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงตกพระทัยมากที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ทรงรู้สึกพระองค์ทันทีว่า เพราะคบพระเทวทัตแท้ๆ ที่ทำให้พระองค์ถลำลึกสู่ห้วงบาป ยากจะถอนได้ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่า "พ่อบังเกิดเกล้า" ของพระองค์เอง ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์มา ไม่เคยมีความสงบ โปร่ง โล่งพระราชหฤทัยเลย บรรทมไม่หลับสนิท มีอันต้องผวากลางคืนทุกที คราวนี้เกิดเรื่องใหญ่ถึงขั้นปองร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเกิดสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์จริง บาปอันใหญ่หลวงนั้น ก็ต้องตกมาถึงพระองค์แน่นอน แม้ว่าจะไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย แต่พระองค์ก็เป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องนี้ เพราะช้างทรงเป็นของพระองค์ ยากจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ ดีว่าพระพุทธองค์ไม่ทรงเป็นอะไร

ทรงนึกมาถึงตรงนี้แล้วก็เสียววูบในพระราชหฤทัย จึงทรงคิดตัดไฟแต่ต้นลม คือเลิกคบพระเทวทัต ประกาศถอนความอุปถัมภ์ทุกอย่างที่เคยพระราชทานให้พระเทวทัตและบริษัทบริวาร

พระเทวทัตถูกตัดขาดจากพระเจ้าอชาตศัตรู เสมือนนักมวยถูกต้อนเข้ามุม หนีไม่ได้แล้ว มีทางเดียวหลับหูหลับตาปล่อยหมัดออกไป ถูกคู่ต่อสู้หรือไม่ก็ต้องเสี่ยง ฉันใดฉันนั้น จะให้ถอยหรือ คงยากเสียแล้วเพราะมาไกลสุดกู่แล้ว จึงวางแผนการสุดท้าย เข้าไปยื่น "เงื่อนไข" ๕ ประการแด่พระพุทธองค์ เช่น ขอให้ห้ามพระฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ให้อยู่โคนไม้ อยู่ป่า ถือผ้าบังสุกุลเป็นนิตย์ เป็นต้นถูกพระพุทธองค์ปฏิเสธ

พระองค์ตรัสว่า อย่าออกเป็นกฎเกณฑ์เลย ใครอยากอยู่โคนไม้ อยู่ป่า เป็นต้นก็ขอให้เป็นความต้องการส่วนตัวเถอะ ชีวิตพระสงฆ์เนื่องด้วยชาวบ้าน จะไปกำหนดฉันสิ่งนั้น ไม่ฉันสิ่งนี้ จะสร้างความลำบากให้ชาวบ้าน กลายเป็นคนมากเงื่อนไข เลี้ยงยากไป

พระเทวทัตประกาศก้องว่า ท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่าทรงสรรเสริญการปฏิบัติขัดเกลา ครั้นเราเสมอแนวทางขัดเกลายิ่งขึ้นกลับปฏิเสธ แสดงว่าพูดแต่ปาก ใครเห็นด้วยกับเรา ตามเรามา ว่าแล้วก็เดินออกจากที่ประชุม มิไยพระพุทธองค์จะทรงตักเตือนว่าอย่าทำกรรมหนักก็ไม่ยอม พระบวชใหม่จำนวนห้าร้อยรูป ยังไม่รู้พระธรรมวินัยดี เห็นว่าเทวทัตพูดเข้าทีจึงเดินตามออกไป

เทวทัตได้ประกาศแยกตัวออกจากสังฆมณฑล แยกทำอุโบสถสังฆกรรม ได้ทำ "สังฆเภท" (ทำสงฆ์ให้แตกกัน) ตั้งแต่บัดนั้นแล



ปางประทานอภัย (๓)
เมื่อมีพระบวชใหม่จำนวนห้าร้อยรูปตามไปอยู่ด้วย ทำให้เทวทัตเหิมเกริม กระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนมีบารมี มีสมัครพรรคพวกไม่น้อย อย่างนี้จะวางโปรเจ็กต์อะไรก็คงสำเร็จ อย่าว่าแต่สร้างเจดีย์มหึมามีพระพุทธรูปล้อมรอยเป็นหมื่นๆ องค์เลย อะไรทำนองนั้น

แต่เทวทัตก็ดีใจได้ไม่นาน พระทั้งห้าร้อยรูปนั้นถูกพระสารีบุตรอัครสาวกมาชี้แจงว่าอะไรถูก อะไรผิด เกิดความเข้าใจภายหลังว่าพวกตนหลงผิดไปแล้ว จึงกลับไปสู่ "อ้อมอก" พระบรมศาสดาตามเดิม

เหลืออยู่กับเทวทัตก็แต่ โกกาลิกะ กับอีกสองสามรูป โกกาลิกะนั้นว่ากันว่าเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาไปในตัว เห็นอาจารย์ของตนประมาท ปล่อยให้ลูกน้องกลับไปหาพระพุทธเจ้าอีก ก็โกรธ เกิดการต่อว่าต่อขานกันขึ้น โกกาลิกะบันดาลโทสะ เอาเข่ากระทุ้งยอดอกอาจารย์ จนกระอักโลหิต ตำราเขียนถึงขนาดนั้นนะครับ

ว่ากันว่าที่เทวทัตป่วยในเวลาต่อมาก็เพราะสาเหตุนี้ด้วย คงตรอมใจด้วย ท้ายสุดเมื่อสำนึกผิด ให้ศิษย์หามไปยังพระเชตวัน เพื่อขอขมาพระพุทธองค์ แต่ไม่ทันถึง ก็ถูกแผ่นดินสูบที่หน้าพระเชตวัน ดังที่ทราบกันดีแล้ว

กล่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรู ตั้งแต่ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว บรรทมไม่หลับสนิทตลอดมา มีอันต้องผวาตื่นกลางดึกทุกครั้ง บาปมหันต์เป็นดุจตะปูตรึงใจ คิดขึ้นมาทีไรก็เสียวแปลบทุกครั้ง ณ ราตรีหนึ่ง พระจันทร์เพ็ญเต็มดวง ส่องแสงนวลใย น่ารื่นรมย์ยิ่ง พระเจ้าอชาตศัตรู ประทับท่ามกลางเหล่าเสนามาตย์ ทรงเปรยขึ้นว่า ราตรีอันมีพระจันทร์เพ็ญส่องแสงสว่างนวลใยเช่นนี้ เราควรจะไปสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์ท่านใด ให้จิตใจสงบดีหนอ"

มหาอำมาตย์คนที่หนึ่งกราบทูลว่า "ขอเดชะ ปูรณะ กัสสปะ เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิที่รู้แจ้ง เห็นจริง ข้าพระพุทธเจ้า คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ควรไปสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ปูรณะ กัสสปะ พ่ะย่ะค่ะ"

มหาอำมาตย์คนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่ คนที่ห้า คนที่หก ต่างก็กราบทูลเอ่ยนาม คณาจารย์อื่นอีก ห้าท่าน คือ มักขลิ โคสาละ, อชิตะ เกสกัมพล, ปกุธ กัจจายนะ, นิครนถ์ นาฏบุตร และสัญชัย เวลัฏฐบุตร ตามลำดับ ว่าแต่ละท่านล้วนเป็นสัพพัญญู รู้แจ้งเห็นจริงจะสามารถดับความร้อนพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวได้


แต่พระเจ้าอชาตศัตรูประทับนิ่ง ไม่มีพระราชกระแสรับสั่งต่อแต่ประการใด ทรงหันมายังหมอชีวกโกมารภัจจ์ ผู้นั่งสงบอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ ตรัสถามว่า "ชีวก เธอไม่เสนออะไรหรือ"

หมอชีวกโกมารภัจจ์ กราบทูลว่า "ขอเดชะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ขณะนี้ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของข้าพระพุทธเจ้า พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนห้าร้อยรูป พระเจ้าข้า"  



ปางประทานอภัย (จบ)
พอได้ยินพระนามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงนึกขึ้นมาได้ว่า พระองค์อยากเข้าเฝ้านานแล้ว แต่พระเทวทัต อาจารย์ของพระองค์ทรงกีดกันไม่ให้เฝ้า จนกระทั่งพระองค์ถลำสู่ห้วงบาปลึกปานฉะนี้ บัดนี้ถึงเวลาที่จะไปเฝ้าฟังธรรมจากพระองค์

จึงทรงมีพระราชบัญชาให้หมอชีวกโกมารภัจจ์นำเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ราตรีนั้นทีเดียว หมอชีวกนำเสด็จเข้าไปยังสวนมะม่วงของตน ผ่านต้นมะม่วงซึ่งเรียงรายกันเต็มสวน มีเพียงแสงสลัวๆ ของดวงจันทร์ ลอดผ่านระหว่างต้นมะม่วงแต่ละต้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงระแวงว่าหมอชีวกจะหลอกมาปลงพระชนม์ จึงกระโดดจับแขนหมอชีวก ตวาดเสียงดังว่า "ชีวก แกลวงเรามาฆ่าหรือ"

หมอชีวกโกมารภัจจ์ ปรามเบาๆ ว่า "อย่าเอ็ดไป พระเจ้าข้า จะรบกวนพระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข ขอให้พระองค์ทอดพระเนตรไปข้างหน้าให้ดีๆ เถิด พระเจ้าข้า"

เมื่อสายพระเนตรพระเจ้าอชาตศัตรูชินกับความมืดแล้ว ทอดพระเนตรไปยังข้างหน้า ภาพแห่งพระสงฆ์จำนวนร้อยๆ นั่งห้อมล้อมพระพุทธองค์ ปรากฏให้เห็นเป็นที่มหัศจรรย์ มหัศจรรย์ที่ที่คนเป็นร้อย ไม่มีแม้แต่เสียงเคลื่อนไหว ไม่มีเสียงกระแอมกะไอเลย

พระเจ้าอชาตศัตรู สาวพระบาทไปใกล้ๆ เมื่อจวนถึงที่ประทับก็ทรงคลานเข้าไป กราบถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ทรงเปล่งอุทานด้วยความตื้นตันในพระราชหฤทัยว่า

"ขอให้อุภัยภัททะ ของหม่อมฉันมีความสงบอย่างนี้เถิด"

อุภัยภัททะ เป็นพระนามของพระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูครับ

ตรงนี้มีข้อน่าสังเกตคือ คนเราเวลาได้ประสบพบเห็นอะไรดีๆ ก็มักจะนึกถึงคนที่ตัวรักที่สุด คือบุตร และภรรยา ไม่ต้องสงสัยว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรักพระราชโอรสมาก เมื่อได้สัมผัสกับความสงบที่ไม่เคยได้รับมาก่อนในชีวิต จึงอยากให้ "ลูกรัก" ของพระองค์เอง ได้เป็นอย่างนี้บ้าง

แต่อุภัยภัททะ ก็หามีความสงบไม่ ได้ทำปิตุฆาต ยึดราชบัลลังก์ของเสด็จพ่อ ดำเนินตามรอยเสด็จพ่อไม่ผิดเพี้ยน ว่ากันว่าราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์อัปมงคล ลูกฆ่าพ่อติดต่อกันถึง ๗ รัชกาล จนประชาชนทนต่อไปไม่ไหว ลุกฮือขึ้นล้มราชวงศ์ สถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นแทน ว่ากันอย่างนั้น

พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบขอขมาพระพุทธเจ้า ในความผิดมหันต์ที่พระองค์ได้ทรงกระทำว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันได้กระทำอันหนัก ด้วยการปลงพระชนม์พระราชบิดา เพราะได้บาปมิตร มิตรชั่วเช่นพระเทวทัต ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นขึ้น หม่อมฉันนอนหลับไม่สนิทตลอดมา มีความทุกข์โทมนัสเป็นอย่างยิ่ง หม่อมฉันได้ผิดต่อพระผู้บังเกิดเกล้า ผิดต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ไม่ได้มีโอกาสสดับตรับฟังพระพุทธโอวาท จนก้าวถลำพลาดในชีวิตอย่างใหญ่หลวง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันใคร่ขอกราบประทานอภัยในความผิดที่หม่อมฉันได้กระทำครั้งนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ตรัสว่า มหาบพิตร ตถาคตอภัยให้ในความผิดพลาดที่แล้วมา ต่อไปในกาลข้างหน้า มหาบพิตรพึงสำรวมระวังอย่าได้กระทำความผิดเช่นนั้นอีก

เมื่อพระพุทธเจ้าประทานอภัยให้แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูก็แช่มชื่นพระราชหฤทัย ทรงสดับพระธรรมเทศนาอันบันทึกในภายหลังว่า "สามัญญผลสูตร" (พระสูตรว่าด้วยผลของการบวชประพฤติพรหมจรรย์) จบแล้วได้ปฏิญาณถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกตลอดพระชนม์ชีพ

พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงทำประทักษิณ พระพุทธองค์เสด็จดำเนินถอยหลังออกไป จนล่วงทัศนวิสัยแล้วจึงผินพระปฤษฎางค์ให้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ เป็นการแสดงความเคารพสูงสุดต่อพระรัตนตรัย ด้วยประการฉะนี้





ปางชี้อสุภะ (๑)

เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงมา พระหัตถ์ขวาทรงชี้พระดรรชนีไปข้างหน้า ว่ากันว่าทรงชี้ไปที่ศพอดีตสาวงามนางหนึ่ง นางนั้นชื่อเรียงเสียงใด ติดตามผมมา ณ บัดนี้

เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์นั้น ในพระนครราชคฤห์มีนางนครโสเภณีนางหนึ่ง ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งสูงส่ง เพื่อเป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่เมือง นามว่า สาลวดี

ช้าก่อนครับ บางท่านอาจจะแย้งขึ้นมาว่า ตำแหน่งนครโสเภณี ไฉนไยจึงเป็นตำแหน่งมีเกียรติเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมือง สงสัยเช่นนั้นใช่ไหมครับ เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ สมัยนั้นเมืองไพศาลี แห่งแคว้นวัชชี ของพวกกษัตริย์ลิจฉวี เป็นแห่งแรกที่สถาปนาตำแหน่งนครโสเภณีขึ้นมา

ปรากฏว่ากษัตริย์ผู้ครองนครน้อยใหญ่ ตลอดจนพ่อค้าวาณิชผู้มั่งคั่ง ต่างก็เดินทางไปแสวงหาความสุขสำราญ จากสำนักโสเภณีเมืองไพศาลีไม่ขาดสาย เงินตราสะพัด ทำให้เมืองไพศาลีมั่งคั่งทันตาเห็น นางนครโสเภณีกลายเป็นตำแหน่งที่ดึงดูดเงินตราเข้าประเทศอย่างคาดไม่ถึง ไพศาลีกลายเป็น amazing Vaisali ด้วยประการฉะนี้

พระเจ้าพิมพิสารก็คงเป็นหนึ่งในจำนวนผู้นำเงินเข้าประเทศนี้ ด้วยปรากฏว่ามีบุตรอันเกิดจากนางนครโสเภณีเมืองนี้หนึ่งคน ผู้เป็นแม่ส่งไปยังราชสำนักเมืองราชคฤห์ พร้อมมอบธำมรงค์ที่ได้ประทานจากพระเจ้าพิมพิสารเป็นประจักษ์พยาน พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงรับเด็กน้อยนั้นไว้ในราชสำนัก เมื่อเติบโตแล้วเด็กน้อยคนนั้นได้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

พระเจ้าพิมพิสารทรงคิดเอาอย่างเมืองไพศาลี จึงทรงคัดเลือกสาวงามผู้มีความรู้และความสามารถนางหนึ่ง นามว่าสาลวดี สถาปนาในตำแหน่งนครโสเภณี (ตามศัพท์แปลว่า ผู้ยังเมืองให้งาม หรือนางงามเมือง) เป็นศักดิ์เป็นศรีและเป็นเครื่องดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ

พระเจ้าพิมพิสารเองก็คงเป็น "ขาประจำ" ของนางนครโสเภณีคนนี้เหมือนกัน ตำราอรรถกถา "กระซิบ" ว่า นางมีบุตรชายที่เกิดด้วยความเผอเรอคนหนึ่ง แล้วนำไปทิ้งไว้ใกล้ประตูพระราชวัง เจ้าชายอภัยเสด็จมาพบเข้า นำไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม เด็กน้อยคนนี้ต่อมาเป็นนายแพทย์ที่มีชื่อเสียง นามว่า ชีวกโกมารภัจจ์ ว่ากันว่าเป็นโอรสลับๆ ของพระเจ้าพิมพิสาร

หมอชีวกมีน้องสาวคนหนึ่งชื่อ สิริมา ไม่บอกว่าเกิดจากใคร เพราะเมื่อเกิดมาแล้วแม่ไม่นำไปทิ้ง เลี้ยงดูอย่างดี หวังจะให้สืบทอดตำแหน่งนครโสเภณีแทนตน และต่อมานางสิริมาก็ได้ตำแหน่งนี้จริงๆ

ตอนหลังนางสิริมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ บรรลุโสดาปัตติผล ถวายตนเป็นพุทธสาวิกา ผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย นางทำบุญตักบาตรทุกวัน วันละหลายรูป พระภิกษุหนุ่มเณรน้อยไปรับบิณฑบาตที่บ้านนางเป็นประจำ ต่างก็กล่าวสรรเสริญในความงาม และความใจบุญสุนทานของนาง

ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งได้ยินกิตติศัพท์ของนาง อยากยลโฉมขึ้นมาทันที เพื่อนพระด้วยกันต่างก็ชมว่านางสิริมาสวย อยากเห็นจังเลยว่างามขนาดไหน

ขอพักฉากนี้ไว้ก่อน ขอย้อนเล่าถึงเจ๊หวี เอ๊ย ภริยาของเศรษฐีนางหนึ่งนามว่า อุตตรา นางเป็นอุบาสิกาผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย แต่สามีของนางไม่นับถือพระพุทธศาสนา ศัพท์ทางพระเรียกว่าเป็น "มิจฉาทิฐิกบุคคล" (แปลว่าบุคคลผู้มีมิจฉาทิฐิ) ตั้งแต่แต่งงานมาอยู่กับตระกูลสามีไม่มีโอกาสได้ทำบุญตักบาตรเลย จึงส่งข่าวไปบอกปุณณกะเศรษฐี ผู้เป็นบิดา พร้อมขอเงินจำนวนหนึ่งเพื่อมาดำเนินการตามแผนของตน

แผนของนางก็คือ จะจ้างนางนครโสเภณีมาบำรุงบำเรอสามีแทนตน ตนเองจะได้มีโอกาสเข้าวัดฟังธรรม เมื่อได้เงินจากบิดามาแล้วก็ไปว่าจ้างนางสิริมาให้มาอยู่คอยปรนนิบัติสามี โดยความเห็นชอบของสามี นางขอเวลาเข้าวัดฟังธรรมกึ่งเดือน

สามีก็ดีใจสิครับ ที่มีสตรีสาวสวยรวยเสน่ห์มาคอยปรนนิบัติเอาใจ ข้างฝ่ายนางสิริมาแรกๆ ก็ทำตัวในฐานะ "ภรรยาชั่วคราว" ตามสัญญาว่าจ้าง แต่พออยู่ไปๆ ชักชอบ อยากอยู่บ้านนี้นานๆ เสียแล้ว

พอดีวันนั้น (ก็วันที่เกิดเหตุนั่นแหละครับ) เป็นวันที่ ๑๕ วันสุดท้ายแห่งสัญญาว่าจ้าง นางอุตตราเข้าครัวตระเตรียมอาหารเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น เนื้อตัวขะมุกขะมอมด้วยเหงื่อและเถ้าถ่าน สามีของนางมองลงมาจากคฤหาสน์เห็นนางอุตตราตัวมอมแมมเช่นนั้น ก็นึกสมเพชในใจว่า "อุตตราเธอช่างโง่จริงๆ อยู่เป็นคุณนายของอาเสี่ยอย่างเราดีๆ ไม่ชอบ ชอบทำตนเป็นแม่ครัวตัวขะมุกขะมอมเชียว"

นึกแล้วก็ยิ้ม นางอุตตราหันไปเห็นสามียิ้มก็ยิ้มด้วย แล้วก็หันมาสาละวนอยู่กับการหุงต้ม ตระเตรียมอาหารเพื่อถวายพระพรุ่งนี้



ปางชี้อสุภะ (๒)
นางสิริมาหันมาเห็นสามีชั่วคราวของตน ยิ้มให้นางอุตตราก็โกรธ ตอนนี้เธอลืมตัวนึกว่าเป็นภรรยาจริงๆ ของเศรษฐีหนุ่ม ด้วยอารมณ์โกรธ อารมณ์หึง จึงแล่นเข้าไปในครัว เอาทัพพีตักน้ำมันที่กำลังเดือด ปรี่เข้ามาจะเทราดนางอุตตรา

นางอุตตรา ตั้งสติทัน แผ่เมตตาจิตไปยังนางสิริมาว่า นางมีบุญคุณใหญ่หลวงต่อเรา ที่มาช่วยรับภาระดูแลสามีแทนเราชั่วคราว หาไม่เราคงไม่มีโอกาสทำบุญทำทานอย่างนี้ เราไม่โกรธนาง ขอให้นางจงเป็นสุขๆ เถิด อย่ามีเวรมีภัยแก่กันและกันเลย

นางสิริมาเทน้ำมันที่เดือดพล่านนั้นรดนางตั้งแต่ศีรษะลงไปจนทั่วตัว น่าประหลาดน้ำมันที่ร้อนแสนร้อนนั้น กลับกลายเป็นดังหนึ่งน้ำหอมที่ชโลมร่างกายนาง บรรดาคนครัวทั้งหญิงและชายเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ต่างก็ฮือกันเข้ามาจะทำร้ายนางสิริมา นางอุตตราได้ห้ามปรามไว้ "อย่าทำร้ายเพื่อนรักของเราเลย ปล่อยนางเถอะ"

นางสิริมาได้สำนึกรู้สึกชื่นชมน้ำใจนางอุตตรา ทั้งๆ ที่ตนร้ายต่อนางปานนี้ นางยังบอกว่าเราเป็นสหายรัก แถมยังห้ามปรามมิให้คนของตนทำร้ายเราอีกด้วย จึงหมอบลงแทบเท้าขออภัยโทษ

นางอุตตราบอกว่า ถ้านางรู้สึกผิดจริงๆ อย่าขอโทษฉันเลย ให้ไปขอโทษเสด็จพ่อของฉัน คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด

เมื่อนางสิริมาบอกว่าไม่รู้จักพระพุทธองค์ ไม่กล้าไปเฝ้า นางอุตตราจึงว่า "พรุ่งนี้พระพุทธองค์ก็จะเสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้านฉันอยู่แล้ว พรุ่งนี้นางได้มีโอกาสเข้าเฝ้าแน่นอน"

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาเสวยภัตตาหารพร้อมภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น นางอุตตราจึงนำนางสิริมาเข้าเฝ้า พร้อมกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทรงพระกรุณาประทานอภัยโทษให้นางสิริมา พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้ แล้วแสดงธรรมเรื่องโทษของความโกรธให้นางฟังย่อๆ ความว่า

"บุคคลพึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
พึงเอาชนะความไม่ดี ด้วยความดี
พึงเอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้
พึงเอาชนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยการพูดความจริง"

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา นางสิริมาได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล สำนวนนี้แปลว่า ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน มั่นคงในพระรัตนตรัยอย่างไม่คลอนแคลนอีกต่อไป

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้น นางสิริมาได้เปลี่ยนเป็นคนละคนกับแต่ก่อน เปลี่ยนจากคนฉุนเฉียว ก้าวร้าว เย่อหยิ่งในความสวยความงามของตน กลายเป็นผู้สงบเสงี่ยม มั่นคงในพระรัตนตรัย ใจบุญสุนทาน ทำบุญใส่บาตรทุกวัน วันละหลายรูป ดังกล่าวมาข้างต้น

จนกระทั่งเกิดเหตุ มีภิกษุหนุ่มหลงรักเธอหัวปักหัวปำ เรื่องราวโดยพิสดารควรจะเป็นตอนสองนะ ขอรับ

เมื่อภิกษุหนุ่มทราบว่านางสิริมาสวยงามมาก จึงอยากเห็นด้วยตาตนว่างามจริงดังคำเล่าลือหรือไม่ รุ่งเช้าวันหนึ่ง จึงห่มจีวร อุ้มบาตร มุ่งตรงไปยังนิเวศสถานของนางสิริมา เพื่อรับบาตร (ความรับข้าวนั้นเป็นจุดหมายรอง จุดหมายหลักคือ อยากจะเห็นจะจะกับตาว่าจะเลิศสะแมนแตนแค่ไหน)

บังเอิญวันก่อนนั้น หลังจากนางใส่บาตรพระรูปสุดท้ายเสร็จ ก็รู้สึกไม่สบาย จึงนอนพักตลอดทั้งวัน รุ่งเช้าวันใหม่ก็ยังไม่หาย แต่ก็ยังให้คนใช้พยุงมาใส่บาตรจนเสร็จ

พระหนุ่มมองเห็นนางสิริมา อยู่ในสภาพอิดโรย มิได้ผัดหน้าทาแป้งอะไร เพราะกำลังป่วย แค่นี้ก็ตะลึงแลแล้ว "โอ แม้ป่วยไข้นางยังสวยงามปานนี้ ในยามไม่ป่วยไข้จะงามปานใด"

พูดแบบภาษาวรรณคดีก็ว่า พระภิกษุหนุ่มถูกศรรักแห่งกามเทพปักฉึกเข้าที่กลางดวงใจเสียแล้วละครับ เธอรับอาหารบิณฑบาตแล้ว เดินซึมกลับวัดไปถึงกุฏิก็วางบาตรไว้ข้างตัว นอนคลุมโปง ครางฮือๆ อยู่คนเดียว

เพื่อนภิกษุด้วยกันเห็นอาการแปลกประหลาดเช่นนั้น ก็พากันมาถามไถ่ เธอมิได้ปริปากพูดอะไร นอกจากส่งเสียงครางลอดจีวรออกมา

เพื่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สันนิษฐานเอาว่า พระหนุ่มคงหลงรักนางสิริมาเข้าเต็มเปาแล้ว จึงช่วยกันปลอบโยน ปลอบอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงต่างก็ผละไป



ปางชี้อสุภะ (จบ)
ว่ากันว่าพระหนุ่มเป็นอยู่อย่างนี้หนึ่งวันหนึ่งคืน ไม่พูดไม่จากับใคร ไม่ฉันอาหาร พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระคันธกุฎี ทรงทราบด้วยพระญาณว่าเกิดอะไรขึ้นกับภิกษุหนุ่ม แต่ก็ไม่ตรัสอะไร

ทรงทราบว่านางสิริมาสิ้นชีวิตในคืนวันที่เธอออกมาใส่บาตรนั้นแล พระพุทธองค์จึงมีพุทธบัญชาไปยังพระเจ้าพิมพิสารว่า อย่าเพิ่งเผาศพนางสิริมา ให้นำศพไปไว้ที่ "อามกสุสาน"

อามกสุสาน อ่านว่า "อา-มะ-กะ-สุ-สาน" แปลว่าป่าช้าผีดิบ อธิบายว่า ป่าช้าที่เขาเอาศพมาทิ้งไว้ ไม่เผา ปล่อยให้เป็นอาหารของแร้งกา บางท่านกล่าวว่า เป็นการให้ทานแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยแน่ะ

พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงให้จัดการตามพุทธบัญชา พระพุทธองค์ให้ประกาศป่าวร้องไปทั่วว่าวันนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จไปชมนางสิริมา ใครอยากไปขอให้เตรียมตัวโดยเสด็จ

เพื่อนภิกษุรูปหนึ่งไปบอกภิกษุหนุ่มที่นอนซมเพราะไข้รักรูปนั้น พอได้ยินคำว่า "สิริมา" เท่านั้น ก็โดดผึงออกจากที่นอน เทข้าวบูดในบาตรทิ้ง ล้างบาตรและเช็ดจนแห้งแล้ว ก็นุ่งสบงทรงจีวร ผลุนผลันลงจากกุฏิไป เดินตามขบวนเสด็จไปห่างๆ

พระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินไปยังป่าช้าผีดิบ ทรงยืนใกล้ๆ ศพนางสิริมา แล้วมีพุทธบัญชาให้ประกาศว่า "ใครอยากได้ร่างนางสิริมาไปเชยชม ให้จ่ายหนึ่งพันกหาปณะ"

ทั้งหมดเงียบ ไม่มีใครรับ ทรงให้ประกาศอีกว่า "ใครให้ห้าร้อยกหาปณะ เอาร่างนาง สิริมาไปครองได้เลย"

เงียบอีก
     "สองร้อยห้าสิบกหาปณะ"
     "สองร้อยกหาปณะ"
     "หนึ่งร้อยกหาปณะ"
     "ห้าสิบกหาปณะ"
     "ยี่สิบกหาปณะ"
     "สิบกหาปณะ"
     "ห้ากหาปณะ"
     "หนึ่งกหาปณะ"

ไม่มีเสียงตอบแม้แต่ครั้งเดียว จนกระทั่งลดราคาลงตามลำดับ จากกหาปณะเป็นบาท มาสก กากณิกเทียบกับเงินไทยก็ว่า จากบาทลงเป็นสลึง จากสลึงลงเป็นเฟื้อง เป็นไพ อะไรทำนองนั้น ก็ยังไม่มีใครแสดงความจำนงจะรับนางสิริมาไปเลย

ในที่สุดให้ประกาศว่า "ใครอยากได้เปล่าๆ เอาไปเลย"

เงียบเหมือนเดิม เรียกว่าเงียบฉี่ หรือเงียบเป็นเป่าสาก ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธองค์ทรงผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรภิกษุหนุ่มชั่วขณะ แล้วทรงชี้ไปที่ศพนางสิริมาแล้วตรัสเปรยๆ ขึ้นในที่ประชุมนั้นว่า "ดูเอาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงดูมาตุคามที่เป็นที่รักที่ปรารถนาของปวงชนนามว่าสิริมานี้ แต่ก่อนเมื่อสมัยเธอยังมีชีวิตอยู่ ชาวพระนครนี้ให้ทรัพย์พันกหาปณะ เพียงเพื่ออภิรมย์กับเธอเพียงคืนเดียว บัดนี้แม้ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีใครปรารถนา รูปร่างที่งามเห็นปานนี้ถึงความสิ้นและความเสื่อมไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงดูร่างกายนี้ อันเป็นของปฏิกูลเน่าเหม็น ดูให้เห็นสัจจะความจริงแห่งสังขาร"

พระองค์ได้ตรัสคาถา (โศลก) บรรยายธรรมสั้นๆ ว่า
     "จงดูอัตภาพร่างกายที่ว่าสวยงามนี้เถิด
     เต็มไปด้วยแผล สร้างด้วยกระดูก
     มากด้วยโรค มากด้วยความครุ่นคิดปรารถนา
     หาความยั่งยืนถาวรมิได้แม้แต่น้อยนิด"

กิริยาอาการที่ทรงชี้พระดรรชนีไปยังศพของนางสิริมา เพื่อตรัสสอนภิกษุหนุ่มนี้แลเรียกว่าทรงชี้อสุภะ คือชี้ให้เห็นความไม่งามของร่างกาย ชาวพุทธจึงได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งเหตุการณ์นี้ เรียกว่า ปางชี้อสุภะ

ภิกษุหนุ่มได้ตื่นจากภวังค์ พิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

3229  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / ‘เรื่องดีๆ’ ที่ผืนป่าห้วยขาแข้ง เมื่อ: 12 กุมภาพันธ์ 2559 16:33:18
.



‘เรื่องดีๆ’ ที่ผืนป่าห้วยขาแข้ง

“ชุดวางกล้องดักถ่ายเพื่อสำรวจเสือของเขานางรำจะรออยู่ที่ห้วยมดแดงครับ”

สันติภาพ ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บอกเมื่อเราหยุดรถบริเวณที่เรียกว่า จุดชมวิว เส้นทางลัดเลาะขึ้นบนสันเขา เบื้องล่างจึงเห็นลำห้วยไหลคดโค้ง

เราเดินทางมาแล้วกว่าครึ่งชั่วโมง อีกราวๆ หนึ่งชั่วโมงจะถึงจุดมายคือหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยมดแดง ที่สันติภาพชายหนุ่มวัย ๓๐ ที่ถูกจุดประกายให้เลือกเรียนวนศาสตร์ และเข้ามาทำงานในป่า จากการอ่านเรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร

“พวกเขารู้จากทางวิทยุว่าพี่จะเข้ามา เลยรออยู่ที่นั่น” สันติภาพพูดต่อ

ผมเคยใช้เวลาร่วมกับพวกเขาหลายปี ในงานสำรวจประชากรเสือโคร่ง โดยวางกล้องดักถ่าย ทั้งในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าห้วยขาแข้ง

“มีชุดเสือเข้ามาล่วงหน้า เราสบายครับ ไม่ต้องฟันไม้ไผ่” สันติภาพพูดยิ้มๆ

เราใช้เส้นทางที่มีประชากรช้างอาศัยอยู่เยอะ และมักดึงกอไผ่ล้มขวางทางบ่อยๆ

ทีมวางกล้องต้องใช้เส้นทางเข้า-ออกประจำ พวกเขาเคลียร์เส้นทางไว้อย่างดี

“ทางที่นี่ไม่ยากเหมือนทุ่งใหญ่หรอกครับ แต่หนามไผ่นี่ก็สร้างปัญหาเหมือนกัน บางทียางอะไหล่เส้นเดียวไม่พอ” สันติภาพ ว่า

ผมมองชายหนุ่มในชุดลายพราง ตัดผมสั้นเกรียน เพราะเพิ่งกลับมาจากฝึกอบรมการลาดตระเวน

หลังเรียนจบ เขาช่วย โดม ประทุมทอง เก็บข้อมูลเรื่องที่ป่าถูกตัดขาดออกเป็นหย่อมๆ

หลังจากนั้นไปเป็นผู้ช่วย อยู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว  เมื่อสอบบรรจุเป็นข้าราชการได้ เขาสมัครมาอยู่ป่าห้วยขาแข็ง
“อยากทำเรื่องสัตว์ป่าครับ” เหตุผลง่ายๆ ของชายหนุ่มผู้มีถิ่นกำเนิดจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

เกือบบ่าย ๓ โมง เราเดินทางถึงหน่วยห้วยมดแดง มีคนเดินขวักไขว่ เราทักทายกันอย่างดีใจ เพราะผมไม่ได้พบพวกเขามาเกือบ ๒ ปี  ชายผิวขาวร่างล่ำสันที่เพิ่งเดินมาหา คือ จอเจ ชายหนุ่มจากบ้านกุ้ยต๊ะ หมู่บ้านเล็กๆ ของพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

กุ้ยต๊ะ อยู่ไม่ไกลจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก  

พบ จอเจ ทำให้ผมนึกถึง “ทีออพอ” ชายหนุ่มอีกคนที่อยู่บ้านเดียวกับจอเจ

จอเจ และทีออพอ เข้ามาเป็นคนงานในทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ซึ่งได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า “เราจ้างคนในพื้นที่มาช่วยครับ เพราะเชี่ยวชาญป่า เดินป่าอึดมาก แบกของหนักๆ ได้ไม่บ่น เวลากินก็ง่ายมีแค่ข้าว ผักน้ำพริก เท่านี้อยู่ในป่าได้เป็นเดือน” สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำบอก

หลังจากนั้น จอเจและทีออพอ ก็ตามไปทำงานทุกที่ เสร็จจากงานในป่าทุ่งใหญ่ตะวันออก เขาร่วมกับชุดของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่นำโดยคนระมานและจักรสิน กลับมาสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำเพื่อรายงานข้อมูล และตรวจสอบแผนที่

ทีมของเขาจะเดินสำรวจประชากรเหยื่อ ของเสือโคร่งทั้งผืนป่าด้านตะวันตก

ทีออพอ เงียบขรึมไม่ช่างพูด ผิดกับจอเจ เพื่อนคู่หูที่มีวัยอ่อนกว่า แม้แต่เวลาร่วมวงเหล้าขาวตอนเย็นๆ นิสัยก็ไม่เปลี่ยน “เดินป่ากับทีออพอ แถวๆ ทุ่งใหญ่ฯ ตะวันออกไม่ต้องใช้จีพีเอสหรอกครับ เขารู้ด่านหมดล่ะ” คนระมานชื่นชมลูกทีม

ผมมองทีออพอซึ่งอยู่ในชุดกางเกงลายพรางป่าไม้ เสื้อยืดคอกลมสีเลือดหมู ที่หน้าอกมีคำว่า “TIGER FOREVER” ใบหน้าซีดเซียว

“เขาไม่ค่อยสบายครับ บ่นปวดเมื่อยตามกระดูกมาสองวันแล้ว” คนระมานบอก

ผมจำได้ว่า ทีออพอมาอยู่ที่เขานางรำราวๆ ๓-๔ วัน ก็รีบกลับบ้าน

หลังจากเขากลับไป ผมรู้สาเหตุที่เขารีบกลับ  เรื่องราวบางอย่างที่เกิดในป่า แม้จะคล้ายเป็นเรื่องน่ากลัว พิสูจน์ไม่ได้ แต่เรื่องราวหรือสิ่งที่ปรากฏให้ “เห็น” ก็ไม่ใช่สิ่งอันตรายแต่อย่างใด

กลางเดือนมกราคม ๒๕๕๙ ผมยืนดูลำน้ำขาแข้ง ในช่วงที่อยู่ปลายๆ สายน้ำแล้ว ระดับน้ำแห้ง หาดทรายริมลำห้วยรกทึบ  คล้ายจะเป็นปีที่ความแห้งแล้งจะหนักหนา

ในป่าห้วยขาแข็งนั้น ราวๆ เดือนมีนาคมควรเป็นช่วงที่เรียกได้ว่าเป็นฤดูแล้งอย่างจริงจัง สายน้ำในลำห้วยเล็กๆ แห้งขอด เหลือเพียงก้อนหินระเกะระกะ  สภาพป่าดูโปร่งโล่ง ต้นไม้เหลือเพียงกิ่งก้านโกร๋นๆ กลางวันอากาศร้อนจัด อบอ้าว ลมพัดใบไม้แห้งปลิว  กลางคืนถึงเช้ามืดอุณหภูมิกลับลดลง เหลือเพียง ๑๐ กว่าองศา

ขณะติดตามเสือโคร่งร่วมกับทีมศึกษานิเวศวิทยาเสือโคร่ง ซากที่เราพบบ่อยๆ ในฤดูนี้จากการฆ่าของเสือคือ กวางตัวผู้โตเต็มวัย  นี่เป็นฤดูกาลแห่งความรักของพวกมัน เป็นไปได้ว่าการระมัดระวังตัวน้อยลง ทั้งวันกลางตัวผู้เอาแต่เดินตามตัวเมีย

งานของเสือง่ายดายขึ้น ท่ามกลางอากาศอบอ้าว เสือลากซากไปไว้ที่แหล่งน้ำหลงเหลือ หลังจากกินเหยื่อ เสือต้องกินน้ำ  

สัตว์ป่าตัวผู้ตกเป็นเหยื่อมากขึ้นในฤดูกาลนี้ หากความรักทำให้เกิดเรื่องราวทุกข์ยาก หรืออย่างที่เรามักพูดกันว่า ความรักทำให้ตาบอด ดูเหมือนว่า นักล่าอย่างเสือจะไม่คิดเช่นนี้

มีคนถามผมบ่อยๆ ในฐานะของคนผู้ซึ่งทำงานอยู่ในป่า “เคยเจอเรื่องอะไรที่แปลกๆ ประเภทลี้ลับบ้างไหม” นี่คือคำถาม

ผมจะเล่าเรื่องของ ทีออพอ ให้ฟัง
ทีออพอ ไม่สบายมากขึ้น คนระมาน พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลในอำเภอ เขาอยู่โรงพยาบาล ๓ วัน หมอให้กลับ หลังจากตรวจไม่พบว่ามีเชื้อไข้เมืองร้อนชนิดใด

กลับมาอยู่ที่สถานี อาการไม่ดีขึ้นทั้งปวดกระดูกและเริ่มอาเจียน  ผ่านไป ๒ คืน เช้าวันที่ ๓ ทีออพอหายไปตั้งแต่เช้ามืด คนระมานขับรถไปตาม

จนกระทั่งดึก คนระมานกลับมา “ทีออพอหนีกลับบ้านครับ มันบอกว่าอยู่บ้านนี้ไม่ได้แล้ว ต้องกลับไปทำพิธีที่บ้าน”

คนระมานขับรถไปตามพบทีออพอเดินอยู่ เขาพาไปส่งขึ้นรถ “เขาบอกว่า นอนฝันเห็นผู้หญิง ๒ คน มาชวนไปอยู่ด้วย” คนระมานเล่า

“ทีออพอบอกไปไม่ได้เพราะมีเมียมีลูกแล้ว”
“เลยหนีกลับไปเลยเหรอ” ผมซัก
“ไม่แค่นั้นหรอก” คนระมานเล่าต่อ “อีกวันหนึ่งฝันเห็นผู้หญิง ๒ คนนั่นอีก คราวนี้มีผู้ชายมาด้วย และบอกว่าให้เวลา ๓ วัน ถ้าไม่ไปจะให้พี่ชายมาเอาตัวไป”

ทีออพอรีบกลับบ้านเพื่อทำพิธี
เขานั่งรถถึงแม่สอด มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงคนช่วยพาส่งโรงพยาบาล หมอพบว่า ไส้ติ่งอักเสบ ต้องผ่าตัดด่วน

เขาปลอดภัย ในฝันผู้หญิงให้เวลาเขา ๓ วัน  เป็น ๓ วันที่หากเขาอยู่ในป่าอาจเสียชีวิตเพราะไส้ติ่งแตก

เป็นการมา “ตักเตือน” จาก “ผู้หวังดี”

ขึ้น ๑๔ ค่ำ ดวงจันทร์กลมโตทอแสงนวล ลำน้ำขาแข้งมองเห็นอยู่ใต้แสงจันทร์

ผมปฏิเสธจอกเหล้าขาวที่ จอเจ กำลังรินแจก
ฤดูแล้งเข้าครอบคลุมผืนป่าอย่างจริงจัง ในช่วงเวลาที่สัตว์ป่าตัวผู้ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

เรื่องราวของ ทีออพอ คล้ายจะเป็นเรื่องลี้ลับ น่ากลัว สำหรับผมนี่คือ “เรื่องดีๆ” ต่างกับ “เรื่องดีๆ” อย่างที่เหล่าสัตว์ป่ากำลังอยู่ในฤดูกาลแห่งความรัก ซึ่งจุดจบดูคล้ายจะโหดร้ายกว่าเรื่องลี้ลับน่ากลัวของ ทีออพอ มากนัก


มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๒-๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
3230  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / พระนางยโสธราพิมพา รักต้นแบบของยอดนารี เมื่อ: 12 กุมภาพันธ์ 2559 16:26:26
.



ภาพวาด ครูเหม เวชกร

พระนางยโสธราพิมพา
รักต้นแบบของยอดนารี


ในอดีต มี ‘สตรี’ อยู่ผู้หนึ่ง ปรารถนาจะคอยช่วยเหลือ ดูแล และสนับสนุน ‘มหาบุรุษ’  ผู้สร้างบารมีมาอย่างช้านาน ด้วยตั้งมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ และตลอดเวลาอันยาวนานจากการเวียนว่ายตายเกิดนับชาติได้ไม่ถ้วน ได้พิสูจน์แล้วว่า สตรีนางนี้ได้เกื้อกูล เสียสละทุกอย่าง เคียงคู่ไม่เคยห่าง ไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจน จะสุขหรือทุกข์ขนาดไหนก็ไม่เคยทอดทิ้ง แม้มหาบุรุษจะบริจาคทรัพย์สินสมบัติจนหมดสิ้นไม่มีเหลือ  สตรีนางนี้ก็ไม่ปริปากว่าบ่น กลับมีน้ำใจยินดีในทานนั้น แม้บุตรและธิดารวมถึงตัวนางเองก็ถูกบริจาคเป็นทาน นางก็ไม่เคยโกรธ น้ำใจรักภักดีและเสียสละของสตรีนางนี้ช่างยิ่งใหญ่เหลือประมาณจนสะเทือนแผ่นดิน

นับตั้งแต่เมื่อสี่อสงไขยกับอีกแสนมหากัปที่ผ่านมา ต่อเบื้องพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า “ทีปังกรสัมมาสัมพุทธะ” ซึ่งพระองค์เพิ่งจะพยากรณ์ “สุเมธดาบส” ว่าจะได้ตรัสรู้สืบต่อไปในเบื้องหน้า จนเป็นที่ศรัทธาสาธุการของเหล่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลาย สาวน้อยผู้หนึ่งที่มีกำลังใจยิ่งใหญ่เหลือประมาณ ได้ก้มกราบกรานถวายดอกบัวอันงดงามในกำมือ แล้วเปล่งวาจาอธิษฐาน ณ เบื้องหน้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่า

“ข้าแต่พระพระองค์ผู้เจริญ ข้าพระบาทได้แลเห็นท่านดาบสเหาะลงมาจากนภากาศ ข้าพระบาทนี้มีความศรัทธาในท่านดาบส เห็นท่านดาบสสร้างทางและทอดกายเป็นสะพาน ข้าพระบาทมีปีติและศรัทธายิ่งขึ้น และเมื่อพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ท่านดาบสว่า จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ข้าพระบาทศรัทธาปีติยินดียิ่งนัก มีใจรัก และปรารถนาจะเป็นคู่สุข คู่ทุกข์ คู่ยาก ช่วยท่านดาบสนี้สร้างสมบารมีให้สมบูรณ์”

นับแต่บัดนั้นเป็นเวลายาวนานถึงสี่อสงไขกำไรแสนมหากัป หรือ การเกิดตายจนนับชาติได้ไม่ถ้วน กลับไม่ได้ทำให้น้ำใจรักและศรัทธาของนางนั้นพร่องลง ยังยิ่งเพิ่มพูนคูณทวี เกิดร่วมชีวิตกับพระโพธิสัตว์ไม่ได้ห่าง คอยดูแลพระองค์อยู่เสมอ เสียสละให้พระองค์ได้ทุกอย่าง บางชาติสละทรัพย์ บางชาติสละเลือด บางชาติสละชีวิต เพื่อให้พระโพธิสัตว์ได้สำเร็จซึ่งความปรารถนาในสัมมาสัมโพธิญาณ

จนชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ผู้จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และก็เป็นชาติสุดท้ายของนางเฉกเช่นกัน แม้ชาตินั้นนางก็ยังคงมีความเสียสละให้กับพระสวามี ทันทีที่รู้ว่าพระสวามีออกมหาภิเนษกรม ก็ยังคงเฝ้ารักเฝ้าห่วงหาอาลัยไม่ได้ขาด คราวใดเมื่อทราบว่าเจ้าชายสิทธัตถะนุ่งห่มผ้าย้อมฝาดเนื้อหยาบกร้าน นางก็เปลี่ยนชุดทรงมานุ่งห่มด้วย เมื่อทราบว่าพระองค์บรรทมบนพื้นไม้นางก็บรรทมบนพื้นไม้ด้วย เมื่อนางได้ยินว่าพระสวามีของตนอดพระกระยาหาร นางก็ทรงอดด้วยจนผ่ายผอมแทบสิ้นแรง

หลังการตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงกลับมาโปรดพระประยูรญาติและนาง ซึ่งทันทีที่นางได้พบประสบพักตร์ ก็ไม่อาจอดกลั้นน้ำใจรักความอาลัยที่มากล้น จึงรีบปรี่เข้ามาซบพระบาทแห่งพระพุทธองค์ด้วยน้ำตาที่นองหน้า ซึ่งพระองค์ก็ทรงทราบว่า ถ้าห้ามนางในขณะนั้น นางจะเสียพระทัยจนอกแตกตาย จึงได้ตรัสบอกแก่พระอัครสาวกไว้ก่อนแล้วว่า อย่าได้ห้ามปรามนาง พระพ่อเจ้า คือ พระสุทโธทนะ ก็ได้พรรณาความรัก ความอาลัย ความซื่อสัตย์ที่ไม่หวั่นไหว ไม่ปรวนแปร ของนางให้กับพระพุทธองค์ฟัง ซึ่งพระองค์ก็ทรงทราบในพระทัย จึงตรัสบอกไปว่า “มิใช่เพียงแค่บัดนี้ หากแต่พระนางนี้ มีความรัก มีความซื่อสัตย์ ในเราตถาคตมาอย่างยาวนาน” แล้วในครั้งนั้นพระองค์ก็ประทานอริยทรัพย์อันหาใดเสมอเหมือนด้วยมิได้ให้กับนาง จนถึงซึ่งความเป็นอริยบุคคลผู้ประเสริฐ

นางอันเป็นยอดนารีผู้ซื่อสัตย์ ภักดีมั่นคง และเสียสละนางนี้ หาใช่ใครอื่น ก็คือ พระนางยโสธราพิมพา คู่บารมีแห่งพระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์นี้ อันเป็นต้นแบบแห่งความดี ในความซื่อสัตย์ต่อชีวิตของตน มีความมั่นคงไม่หวั่นไหว จนตำนานรักใดก็มิอาจเทียบเทียม

ได้นำเรื่องราว “รักต้นแบบ ของยอดนารี” อย่างพระนางพิมพา นางแก้วคู่บารมีพระโพธิสัตว์มาเล่าสู่กันในแง่มุมแห่งรักที่บริสุทธิ์หมดจดและงดงาม ที่ทั้งคู่มีความซื่อสัตย์ อยู่เคียงข้างดูแลกัน และพร้อมจะเสียสละให้แก่กันได้ทุกอย่าง อันจะเป็นแบบอย่างให้ทุกคนที่ปรารถนาความสุขในชีวิตคู่ ได้รักษาความดีในคู่ครองของตนไปจนตราบเท่าลมหายใจสุดท้ายของชีวิต  เพราะมีแต่ความรักที่ประกอบด้วยธรรมเท่านั้น จึงนับว่าล้ำค่าและจะสามารถผูกพันกันอย่างยั่งยืนที่สุด ซาบซึ้งที่สุด เหนียวแน่นที่สุด ไปจนถึงจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การพ้นทุกข์ไปด้วยกัน


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
3231  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / สะเดา : หวานเป็นลม ขมเป็นยา เมื่อ: 12 กุมภาพันธ์ 2559 16:20:16
.



สะเดา

สะเดาเป็นไม้ป่ายืนต้นขนาดกลาง ที่ขึ้นได้ดีในประเทศไทย สูงตั้งแต่ ๔-๑๐ เมตร เปลือกสีน้ำตาลเป็นร่องตกสะเก็ดขรุขระ กิ่งก้านแตกแขนงมาก ทรงต้นเป็นพุ่มกลม  ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยออกสับหว่างกัน รูปใบหอกเล็กๆ ขอบใบจัก ใบแก่สีเขียวเข้ม ใบอ่อนสีเขียวอ่อนอมแดง  ออกดอกเป็นช่อสีขาวนวล มีผลเป็นพวง เนื้อผลใส

โดยทั่วไป สะเดาจัดเป็นอาหารประเภทผักที่มีรสขม นิยมกินเป็นยาและเป็นอาหารประจำฤดูกาล

ยอดสะเดาออกเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง ใบอ่อนนุ่มสีใส ถ้าใบอ่อนสีเขียวอ่อน จะมีรสขมมัน ถ้าสีแดงจะมีรสขมจัด แต่ก็กินได้

ดอกสะเดาออกเป็นช่อกระจาย แต่ละช่อมีตะแง้เล็กๆ ที่เต็มไปด้วยดอก ดอกตูมรูปกลมรีสีนวล เมื่อบานจะเป็นสีขาว มีกลีบ ๕ กลีบ กลีบบางยาวปลายกลีบมน มีท่อเกสรติดเกสรรสีเหลืองละเอียดเป็นประกายอยู่กลางดอก ซึ่งมีขนาด ๑ เซนติเมตร เป็นดอกไม้เล็กๆ ที่สวยยามพิศ

เวลาบานทั้งต้นจะเห็นสีขาวโพลนสว่างไสว เพราะใบร่วงหมด เมื่อดอกโรยจะติดผลเป็นพวง ยังอ่อนสีเขียว แก่แล้วสีเหลือง เนื้อผลใส ฉ่ำ คล้ายองุ่น

๑ ผล มี ๑ เมล็ด สำหรับขยายพันธุ์

ดอกสะเดาและใบอ่อน นิยมนำมากินเป็นอาหารประเภทผัก โดยเฉพาะช่อดอกที่ยังไม่บาน ถ้าดอกบานไม่นิยม เพราะจะมีรสเปรี้ยว ยอดสะเดากินดิบสดๆ หรือลวกให้สุกก็ได้ ทั้งใบอ่อนและช่อดอกตูม เป็นยอดไม้และดอกไม้ที่สวยงาม น่ากิน และกินได้อร่อยแม้จะขมไปนิด

วิธีกิน นำยอดอ่อนและช่อสะเดาไปลวกน้ำร้อน หรือห่อใบตองย่างไฟ กินกับน้ำปลาหวาน กุ้งเผา หรือปลาดุกย่าง ถือว่าเป็นอาหารรสเลิศ และที่ชาวบ้านแนะนำให้กิน คือยอดสะเดาดิบ กินกับปลาร้าสับ พร้อมข้าวสวยร้อนๆ ลองกินดู อร่อยจริงๆ

คนไทยนิยมกินสะเดาน้ำปลาหวาน ถือเป็นอาหารประจำฤดูกาล เพราะสะเดาจะออกดอกหน้าหนาว กินให้ร่างกายอบอุ่นและสร้างภูมิคุ้มกัน

วิธีเก็บสะเดา ให้เอามือหักยอด หรือใช้ไม้สอย ไม่ควรขึ้นต้นเก็บ เพราะสะเดากิ่งกรอบ เคยมีคนตกต้นสะเดาแขกหักมาแล้ว

ประโยชน์ของสะเดา จัดเป็นอาหารประเภทผัก และเป็นยาแก้ไข้ บำรุงธาตุ บำรุงสายตา ลดความเครียด แก้เลือดกำเดาออก แก้โรคผิวหนัง และบางส่วนของสะเดาสามารถรักษาโรคไข้จับสั่น

นอกจากนี้ ยังใช้ใบ ผล เปลือก มาหมัก ทำน้ำยาปราบแมลงศัตรูพืช ได้ผลดี

สะเดามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica Juss. Var. Siamensis Val. ชื่อสามัญ Siames.Neem Tree. ชื่อท้องถิ่นเรียกต่างกัน เช่น ภาคเหนือเรียก สะเลียม ภาคใต้เรียก กะเดา อีสานเรียก ผักกะเดา อยู่ในวงศ์ MELIACEAE

สะเดาน้ำปลาหวานอร่อยจริงๆ เจริญอาหารด้วย เป็นอาหารยอดนิยมของพื้นบ้านไทย และปัจจุบันได้เลื่อนฐานะเป็นอาหารมีระดับ

เคยไปกินอาหารที่ภัตตาคารริมแม่น้ำป่าสัก สระบุรี มีเมนูสะเดาฟาดไฟ อร่อยแปลก ชวนลิ้มลอง

วิธีทำน้ำปลาหวานสะเดา ทำได้ไม่ยาก โดยคั้นน้ำมะขามเปียก ผสมน้ำปลา น้ำตาลปีบ ตั้งไฟให้เข้ากันดี ชิมดูมีรสหวานเค็ม เปรี้ยว กลมกล่อม แล้วนำหอมซอยทอดกรอบ กุ้งแห้งตัวเล็กทอดกรอบ พริกแห้งทอดกรอบ หรือจะใส่ถั่วลิสงคั่วบดหยาบก็ได้

เวลากิน ค่อยผสมเครื่องทอดกรอบลงในน้ำปลาหวานที่ทำไว้ กินกับสะเดาลวก ให้มีความหอม กรอบ หวาน มัน และขมนิดอยู่ในปาก แนมด้วยกุ้งเผา หรือปลาดุกย่าง พร้อมข้าวสวยร้อนๆ เท่านี้ก็เป็นอาหารที่อร่อยอย่างวิเศษแล้ว

อย่ากลัวสะเดาขม เพราะสะเดากินแล้วหายไข้ ลองทำกินดูเถิด
...มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๒-๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

3232  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ: 12 กุมภาพันธ์ 2559 16:09:06
.


พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นพระที่นั่งปราสาทโถงกลางน้ำ
สร้างในแบบจตุรมุข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบมาจาก
พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
เดิมสร้างด้วยไม้ทั้งองค์ต่อมา รัชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้เปลี่ยนเสาและพื้น
เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด

พระราชวังบางปะอิน
ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มาตั้งแต่วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๑๘๙๓ เป็นเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี จนถึงวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ จึงสูญเสียเอกราชให้แก่พม่า

มีหลักฐานว่า อดีตราชธานีของสยามแห่งนี้เป็นเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ โดยมีร่องรอยของที่ตั้งเมือง โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเรื่องราวเหตุการณ์ในลักษณะตำนานพงศาวดาร ไปจนถึงหลักศิลาจารึก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่ใกล้เคียงเหตุการณ์มากที่สุด

เมืองอโยธยา หรืออโยธยาศรีรามเทพนคร หรือเมืองพระราม มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร บ้านเมืองมีความเจริญทางการเมือง การปกครอง มีวัฒนธรรมที่รุ่งเรือง มีวีรกรรมการกอบกู้เอกราช มีการบังคับใช้กฎหมายในการปกครองบ้านเมือง ๓ ฉบับ คือพระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ พระอัยการลักษณะทาส และพระอัยการลักษณะกู้หนี้ โดยมีพระมหากษัตริย์ปกครองอาณาจักรสืบต่อกันมา ๓๓ พระองค์  มีราชวงศ์ผลัดเปลี่ยนกันครองอาณาจักร รวม ๕ ราชวงศ์ ได้แก่ ๑.ราชวงศ์อู่ทอง ๓ พระองค์  ๒.ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ๑๓ พระองค์  ๓.ราชวงศ์สุโขทัย ๗ พระองค์  ๔.ราชวงศ์ปราสาททอง ๔ พระองค์  ๕.ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ๖ พระองค์

จะเห็นได้ว่าพระนครศรีอยุธยาปัจจุบันนี้ ยังคงปรากฏหลักฐานและร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและน่าสนใจมากมาย เช่น เจดีย์ วัดวาอาราม ปราสาทราชวัง คูเมือง กำแพงเมือง ป้อมปราการ ฯลฯ  ที่แสดงถึงอัจฉริยภาพและความสามารถของบรรพบุรุษ จนได้รับการพิจารณาจากยูเนสโก ขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองมรดกโลก เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๔ ในนาม นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ ๑๕ ปี พ.ศ.๒๕๓๔ ณ เมืองคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย

ไม่เฉพาะพื้นที่มรดกโลกที่เต็มไปด้วยวัดวาอารามเก่าแก่และโบราณสถานที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยในอดีตเท่านั้น  แต่พระนครศรีอยุธยายังมีของดีที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “พระราชวังบางปะอิน”  พระราชวังที่ใหญ่โตและสวยงามมากแห่งหนึ่งในเขตอำเภอบางปะอิน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลบ้านเลน (เป็นชื่อเดิมของบางปะอิน) ภายในเขตพระราชวังเต็มไปด้วยสิ่งสวยงามน่าชมมากมาย ที่สำคัญคือ หอเหมมณเฑียรเทวราช มีลักษณะแบบปรางค์ขอม พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน ประตูเทวราชครรไล ศาลาพลับพลาประพาส พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระที่นั่งวิทูรทัศนา พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

บ้านเลน แต่ก่อนมีสภาพเป็นเกาะ เป็นชื่อเดิมของอำเภอบางปะอิน  เรียก “เกาะบ้านเลน” และต่อมาเรียก “เกาะบางปะอิน”   เล่ากันว่า “เกาะบ้านเลน” เคยเป็นสถานที่เกิดตำนานรักระหว่างเจ้านายสูงศักดิ์กับหญิงสาวชาวบ้าน สมัยที่สมเด็จพระเอกาทศรถยังดำรงตำแน่งวังหน้า ครั้งหนึ่งระหว่างเสด็จตามลำน้ำเกิดพายุเรือพระที่นั่งล่มบริเวณเกาะบ้านเลน ทรงว่ายน้ำขึ้นฝั่งและพักแรมบนเกาะ ได้พบรักกับหญิงสาวชาวบ้านชื่ออออิน กำเนิดบุตรเป็นชายเรียกชื่อว่า”พระองค์ไล” ทรงรับมาเลี้ยงไว้ในพระราชวังหลวง ได้เป็นออกญากลาโหม และต่อมาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระนามว่า “พระเจ้าปราสาททอง







พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร  อยู่ทางทิศตะวันออกตรงข้ามกับสระน้ำ เป็นพระที่นั่งเรือนไม้หมู่ทั้งชั้นบนและชั้นล่างมีเฉลียงตามแบบชาเลตของสวิส ทาสีเขียวอ่อนแก่สลับกันด้วยงานช่างที่ประณีต สิ่งประดับตกแต่งภายใน ประกอบด้วย เครื่องไม้มะฮอกกานี จัดสลับลายทองทับที่สั่งจากยุโรปทั้งสิ้น นอกนั้นเป็นสิ่งของหายากในประเทศ อันเป็นเครื่องราชบรรณาการจากหัวเมืองต่างๆ ทั่วราชอาณาเขตรอบๆ มีสวนดอกไม้สวยงาม เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรได้เกิดเพลิงไหม้ขณะที่มีการซ่อมรักษาเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ทำให้พระที่นั่งถูกทำลายไปกับกองเพลิงหมดสิ้นทั้งองค์ คงเหลือแต่หอน้ำ ปัจจุบันได้สร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิมทุกประการ แต่เปลี่ยนวัสดุจากไม้เป็นอาคารคอนกรีตแทน





หอวิฑูรทัศนา เป็นพระที่นั่งหอสูงยอดมน ตั้งอยู่กลางเกาะน้อย
ในสวนเขตพระราชวังชั้นในระหว่างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร กับพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ
เป็นพระที่นั่ง ๓ ชั้น มีบันไดเวียน เป็นหอส่องกล้องชมภูมิประเทศบ้านเมืองโดยรอบ
สร้างในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔







พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ
ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพระราชวังถัดจากหอวิฑูรทัศนาขึ้นไป พระที่นั่งองค์นี้มีนามเป็นภาษาจีนว่า "เทียน เม่ง เต้ย"
(เทียน=เวหา, เม่ง=จำรูญ, เต้ย=พระที่นั่ง) ประชาชนทั่วไปเรียกว่า "เก๋งจีน" เพื่อเป็นพระที่นั่ง
สำหรับประทับในฤดูหนาว โดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในไทยสร้างถวาย รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ.๒๔๓๒
ลักษณะเป็นพระที่นั่งศิลปะแบบจีน ที่มีลายแกะสลักได้อย่างงดงามวิจิตรยิ่ง โถงด้านหน้าปูด้วยกระเบื้องแบบกังไส
เขียนภาพด้วยมือทุกชิ้น แม้ว่าภาพจะเหมือนกันแต่เนื่องจากเป็นงานฝีมือ จึงมีความแตกต่างกันในรายละเอียด
ที่ทำให้ดูสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง ปัจจุบันเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้





พระที่นั่งวโรภาษพิมาน
เป็นท้องพระโรงอยู่ทางตอนเหนือของ "สะพานเสด็จ" ซึ่งเป็นท่าน้ำสำหรับเสด็จพระราชดำเนินขึ้นลง
เดิมเป็นเรือนไม้สองชั้น เป็นที่ตั้งประทับและท้องพระโรงร่วมกัน ต่อมารัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้รื้อสร้างใหม่
เป็นอาคารทรงวิหารกรีกแบบคอรินเธียรออร์เดอร์ ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนาง
ในงานพระราชพิธี สร้างเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๑๙ เคยเป็นที่รับรองแขกเมืองหลายครั้ง เช่นปี พ.ศ.๒๔๖๓
รับรองพระเจ้าชาร์ลคลัสแห่งประเทศรัสเซีย ปี พ.ศ.๒๔๓๖ รับรองมองซิเออราวีร์ ฑูตฝรั่งเศส
และปี พ.ศ.๒๔๕๒ รับรองดุ๊กและดัชเชสโยฮันเบรต แห่งเมืองบรันทวีท แห่งประเทศเยอรมัน
ถึงในปัจจุบัน ก็ยังใช้เป็นที่รับรองแขกเมืองสำคัญอยู่เสมอ สิ่งสำคัญในพระที่นั่ง
เป็นภาพชุดพระราชพงศาวดาร กับภาพเรื่องอิเหนา พระอภัยมณี และรามเกียรติ์




อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
(อนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม)

ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง ก่อสร้างด้วยหินอ่อนก่อเป็นแท่ง ๖ เหลี่ยม สูง ๓ เมตร
บรรจุพระสริรังคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว








อนุสาวรีย์พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์และเจ้าฟ้าสามพระองค์
หรืออนุสาวรีย์ราชานุสรณ์  ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าโศก
เสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ด้วยทรงสูญเสียพระอัครชายาเธอฯ พระราชโอรสและพระราชธิดา
ถึง ๓ พระองค์ ในปีเดียวกัน คือ สมเด็จเจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์ เมื่อ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๐
พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ เมื่อ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๐ สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัตมณีชัย
เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ๒๔๓๐ และสมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตมดำรง เมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๐
ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๓๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ที่ระลึกทำด้วยหินอ่อน
แกะสลักพระรูปเหมือนไว้ใกล้กับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

















 
3233  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 11 กุมภาพันธ์ 2559 13:28:31


ปางปฐมบัญญัติ (๑)

หลังจากตรัสรู้ได้ประมาณ ๑๕ ปี พระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงสถาปนาขึ้น ก็เจริญรุ่งเรือง มีประชาชนจากทุกชั้นวรรณะเลื่อมใสมาบวชในพระพุทธศาสนา พระราชามหากษัตริย์ผู้ครองนครสำคัญ อาทิ พระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐ กระทั่งกลุ่มขัตติยราชผู้ปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม อย่างเช่นพวกกษัตริย์ลิจฉวี แห่งมหานครไพศาลี ก็มีความเลื่อมใสถวายความอุปถัมภ์แด่พระพุทธองค์และพระพุทธศาสนาอย่างดี

ขณะที่ทรงประกาศพระพุทธศาสนาใหม่ ได้มีหนุ่มสองสหายอดีตศิษย์สำนักครู สัญชัยเวลัฏฐบุตร แห่งเมืองราชคฤห์คือ อุปติสสะ กับ โกลิตะ มาบวชเป็นศิษย์พระพุทธองค์ และได้นามเรียกขานในหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ว่า สารีบุตร กับ โมคคัลลานะ ตามลำดับ ทั้งสองรูปนี้ต่อมาได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งพระอัครสาวก เป็น "มือขวา" และ "มือซ้าย" ของพระพุทธองค์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

วันหนึ่งพระสารีบุตรอัครสาวก ออกจากสมาธิแล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่าขณะที่ท่านอยู่สงบคนเดียว นึกสงสัยว่าอะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พรหมจรรย์ (พระพุทธศาสนา) สถิตสถาพรตลอดไป จึงขอกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "สารีบุตร การบัญญัติสิกขาบท เป็นเหตุปัจจัยให้พรหมจรรย์ดำรงมั่น"

"ถ้าเช่นนั้น ข้าพระองค์ใคร่ขอกราบทูลพระมหากรุณาได้ทรงบัญญัติสิกขาบท เพื่อความดำรงมั่นแห่งพรหมจรรย์เถิด พระเจ้าข้า" พระสารีบุตรรีบเสนอ

"สารีบุตรยังไม่ถึงเวลา และยังไม่มีเงื่อนไขให้ทำเช่นนั้น"
"อะไรคือเงื่อนไขให้บัญญัติสิกขาบท พระเจ้าข้า"
"สารีบุตร เมื่อใดสงฆ์เติบโตใหญ่ขึ้น มีภิกษุจำนวนมากขึ้น ลาภสักการะเป็นอันมากก็เกิดขึ้น ลาภสักการะเกิดขึ้น อาสวัฏฐานียธรรม (ความเสื่อมเสีย มัวหมอง) ก็จะเกิดตามมา เมื่อนั้นแหละจะถึงเวลาบัญญัติสิกขาบท"

เป็นดังกระแสพุทธดำรัส ตอนแรกๆ ภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย และผู้มาบวชก็ล้วนแต่เป็นผู้ "เบื่อโลกแล้ว" ไม่ค่อยสนใจไยดีในลาภสักการะ หรือความมั่งมีศรีสุขแล้ว สิ่งเหล่านี้เขามีกันมาก่อน บางคนมีมากจนเอียน รู้สึกเบื่อหน่าย จึงหนีมาบวชเพื่อมรรคผลนิพพาน

เมื่อบวชมาแล้ว ก็เต็มใจประพฤติพรหมจรรย์ จนได้บรรลุมรรคผลกันสูงต่ำตามความสามารถของแต่ละท่าน การเคลื่อนไหวทุกอย่างถูกต้องโดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องบอกว่าอย่าทำอย่างนั้นให้ทำอย่างนี้ เพราะท่านจะรู้เองว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า สิกขาบทวินัยไม่จำเป็นต้องมี ศีลไม่ต้องบัญญัติ เพราะท่าน "มีศีลเอง" โดยอัตโนมัติแล้ว

ต่อเมื่อจำนวนผู้มาบวชมีมากขึ้น คนที่มาบวชมาด้วยเจตนาและเหตุผลแตกต่างกัน บางคนไม่พร้อมแต่มาบวชก็มี เมื่อบวชมาแล้ว ได้ลาภสักการะที่ประชาชนผู้เลื่อมใสถวายให้ ก็อาจถูกลาภสักการะครอบงำ ทำให้หลงใหล เคลิบเคลิ้มตกอยู่ในอิทธิพลของรูปรสกลิ่นเสียง อันนี้แหละเรียกว่า อาสวัฏฐานียธรรม อันจักนำไปสู่การกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณะต่อไป

บางท่านบวชด้วยกุศลเจตนา แต่ไม่ทราบชัดว่าบวชมาแล้วต้องทำอย่างไร อาจหลงทำการที่ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูปจนเป็นเหตุให้ถูกตำหนิจากพระพุทธองค์ก็มี ดังเรื่องที่เป็นสาเหตุแห่งปฐมบัญญัตินี้

เกริ่นมายาวนาน ขอเข้าเรื่องเสียที ในเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดความประทับใจ อยากบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อเขากลับมาบ้าน แจ้งความประสงค์ของตนให้บิดามารดาทราบ ก็มีอันขัดข้องทางเทคนิคทันที

พ่อแม่ไม่เห็นด้วย เพราะชายหนุ่มซึ่งมีนาม (ลืมบอก) ว่า สุทิน นั้นเป็นบุตรชายโทนของตระกูลที่มั่งคั่ง พ่อแม่ก็ต้องหวังสิครับ หวังให้สืบวงศ์สกุล มีลูกมีหลานสืบทอดกันต่อไป เรื่องอะไรจะให้บวช เท่ากับเป็นการ "ตัด" วงศ์ตระกูล ใครเขาจะยอม

เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ สุทินก็ประท้วง มิได้รวบรวมพรรคพวกมาก่อม็อบประท้วงดอกครับ เธอเล่นประท้วงเงียบ คือเข้าห้องปิดประตูเงียบ ไม่ยอมกินข้าวปลา อดอาหารอยู่ถึงสามวัน มิไยพ่อแม่จะวิงวอนอย่างไรก็ไม่ยอมกิน จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้บวชว่าอย่างนั้นเถอะ

พ่อแม่สุทินจึงไปตามเพื่อนซี้ของเธอมา ขอให้ช่วยเกลี้ยกล่อมให้สุทินลูกรักเลิกคิดบวชเสียเถอะ เพื่อนๆ ก็อาสาช่วยพูดกับสุทินให้เลิกล้มความตั้งใจ แต่ก็ล้มเหลว ไม่สามารถให้สุทินเปลี่ยนใจได้



ปางปฐมบัญญัติ (๒)
เพื่อนซี้คนหนึ่งจึงพูดกับพ่อแม่ของสุทินว่า "ผมว่าให้ ไอ้ทิน (เพื่อนรักกันย่อมใช้สรรพนามอย่างนี้แน่นอน) มันบวชไปเถอะ คุณพ่อคุณแม่"

"บวชไม่ได้นะลูก แล้วใครจะสืบวงศ์ตระกูล พ่อแม่มีลูกชายคนเดียวเท่านั้น" สองตายายบอก

"ให้มันบวชเถอะ คุณพ่อคุณแม่ สุทินมันเป็นคนรักสนุก และเปราะบางออกอย่างนี้ รับรองว่าบวชไม่ถึงสัปดาห์ดอก ต้องสึกแน่ เพราะชีวิตสมถะนั้นต้องนอนกลางดินกินกลางทรายอยู่ได้ด้วยภิกษาจาร สุทินมันทนความลำบากไม่ไหวแน่ๆ"

พ่อแม่ของสุทินเห็นด้วย จึงออกปากอนุญาตให้ลูกชายบวชตามปรารถนา พอได้ยินคำว่า "ลูกอยากบวชก็บวชเถอะลูก พ่อแม่ไม่ห้าม" เท่านั้นแหละครับ สุทินเธอก็ลุกขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใส

เมื่อไปบวชแล้ว พระสุทินก็เรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์ เดินทางไปยังที่อื่น เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ไม่กลับบ้านเดิมเลย เป็นเวลาหลายปี ปล่อยให้พ่อแม่รอแล้วรออีกว่าเมื่อไรพระลูกชายจะสึกมาอยู่บ้านตามเดิม

"ไหน เพื่อนลูกชายว่า ลูกของเราเปราะออกอย่างนี้ บวชไม่นานดอก ทำไมจนป่านนี้แล้วยังไม่สึกเลย" พ่อแม่พระใหม่รำพึง นั่งรอวันแล้ววันเล่า จนเกือบจะหมดหวังอยู่แล้ว ก็พอดีได้ยินเสียงสาวใช้ร้องขึ้นวันหนึ่ง
"นายๆ คุณผู้ชายกลับมาแล้วๆ"
"ไหน อยู่ไหน" พ่อแม่พระสุทินร้องถามด้วยความลิงโลดใจ
"ดิฉันเห็นท่านเดินผ่านหน้าบ้านเราไปโน่นแล้ว" สาวใช้เล่ารายละเอียดว่า นางเปิดประตูบ้าน กำลังจะเอาขนมที่เริ่มบูดไปเททิ้ง ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งพูดว่า ถ้าจะทิ้งให้เอาใส่บาตรอาตมาเถอะ นางจึงเอาไปใส่บาตรท่าน เห็นหน้าท่านแล้วจำได้ว่าต้องเป็นคุณผู้ชายแน่

เศรษฐีให้คนตามไปนิมนต์ภิกษุหนุ่มมาที่คฤหาสน์ ปรากฏว่าใช่สุทิน บุตรชายโทนของตนจริงๆ

เรื่องราวเป็นอย่างไร เห็นจะต้องอ่านตอนต่อไปแล้วละครับ

เมื่อพระลูกชายมาบ้าน สองตายายก็ร้องไห้รำพัน ผู้เป็นพ่ออาการหนักกว่าเพื่อน หาว่าลูกชายทำให้เสียเกียรติ ลูกหนอลูก เป็นถึงลูกชายเศรษฐีผู้มั่งคั่ง มีหน้ามีตาของบ้านนี้เมืองนี้ทำไมมาทำให้พ่อแม่เสียหน้า

พระลูกชายถามว่า "เสียหน้าอย่างไร โยม"

"ก็ลูกเที่ยวขอทานเขากินนะสิ พ่อแม่จะเอาหน้าไปไว้ไหน ใครเขาไม่รู้ความจริงเขาจะหาว่าเราหมดเนื้อหมดตัวแล้ว ลูกจึงต้องขอทาน"

"โยม อาตมามิได้ขอทาน อาตมาเที่ยวภิกขาจาร อันเป็นจารีตที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งปวงพึงทำ" พระลูกชายอธิบาย ผู้เป็นพ่อจึงกล่าวต่อไปว่า

"ช่างเถอะๆ ว่าแต่ว่าลูกจะลาสิกขามาครองเรือนตามเดิมไหม"

"อาตมามีศรัทธามั่นคงในพระศาสนา ไม่ยินดีหวนกลับมาอีกแล้ว ดุจคนที่หนีจากเรือนที่ถูกไฟไหม้ ไฉนจะหวนกลับมาอีก ดุจคนที่ตกหลุมคูถสกปรก อาบน้ำชำระกายให้สะอาด ทาด้วยแป้งกระแจะจันทน์หอม ไม่ยินดีลงไปสู่หลุมคูถเน่าเหม็นนั้นอีก ฉะนั้น"

"เมื่อลูกไม่สึก แล้วใครจะดูแลทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ลูกเป็นลูกชายคนเดียวของตระกูลนะหาไม่จะไม่มีใครสืบสกุล นะลูก" พ่ออ้อนวอน เพื่อโน้มน้าวจิตใจพระลูกชายให้กลับมา จึงสั่งให้เขาขนเงินทั้งหมดมากองไว้ต่อหน้า กองกหาปณะสูงท่วมหัวเลย แล้วกล่าวต่อไปว่า

"ลูกดูสิ ทรัพย์มากมายอย่างนี้ ใครจะดูแล ถ้าขาดคนดูแล พ่อแม่คงนอนตายตาไม่หลับแน่"
"ถ้าโยมมีความวิตกกังวลถึงทรัพย์มากมายขนาดนั้น อาตมาขอแนะวิธีให้หายกังวล" พระลูกชายกล่าวอย่างสงบ
"อะไรหรือลูก" แววตา พ่อแม่เป็นประกายด้วยความหวัง
"ก็ให้เขาขนไปทิ้งทะเลเสียให้หมด จะได้ไม่ต้องทุกข์เพราะมีทรัพย์" เสียงของพระลูกชายยังคงเย็น สงบ เหมือนเดิม

ถ้าเราอยู่ในบรรยากาศนั้น คงได้ยินเสียงจ๊ากแน่นอน โดยเฉพาะผู้เป็นมารดาก็คงจะกรี๊ดๆ ด้วยความเสียใจ นึกไม่ถึงว่าพระลูกชายจะพูดคำนี้ออกมา

เมื่ออ้อนวอนอย่างไร ไม่มีท่าทีว่าพระลูกชายจะหวนกลับมาสู่โลกียวิสัยอีกต่อไปแล้ว เพราะมีศรัทธามั่นคงต่อพระศาสนาเหลือเกิน ผู้เป็นแม่จึงคิดอุบายได้ แล้วกล่าวเบาๆ ว่า

"ถ้าลูกไม่สึกก็ไม่เป็นไร แม่ขอหน่อ ไว้สักหน่อได้ไหม" โยมมารดาท่านใช้ศัพท์ว่า พีช แปลว่าพืช หรือหน่อ
"ได้" พระลูกชายตอบ หลังจากหยุดพิจารณาชั่วครู่



ปางปฐมบัญญัติ (๓)
สองตายายจึงให้เรียกลูกสะใภ้ (อดีตภรรยาของพระสุทิน) มา แล้วบอกว่า พ่อแม่ขอหน่อจากพระลูกชายไว้แล้ว จะได้มีผู้สืบสกุล พระสุทินหันมาพูดกับอดีตภรรยาของตนว่า "น้องหญิงพร้อมเมื่อไร บอกอาตมาก็แล้วกัน" ว่าแล้วก็ลุกขึ้น กลับไปยังที่พำนักของตน

คำว่า "พร้อม" ในความหมายของพระก็คือ ภรรยาถึงกำหนดไข่สุกพร้อมที่จะผสมพันธุ์ให้กำเนิดแก่บุตร เมื่อถึงเวลาเหมาะสมแล้ว นางก็กระซิบบอกพระสุทิน

ตำนานเล่าตอนนี้ว่า พระสุทินก็จูงมืออดีตภรรยาเข้าละเมาะแห่งหนึ่ง (ทำไมไม่ทำที่คฤหาสน์ของพ่อแม่ของตนก็ไม่ทราบสิครับ) แล้วก็เสพเมถุนธรรมกับนาง

อารมณ์ขันของผู้รวบรวมคัมภีร์ก็โผล่ออกมาให้เห็นว่า พระสุทิน เพื่อให้แน่ใจว่า ติดแน่ จึงทำซ้ำถึงสามหน ในเวลาไล่เลี่ยกัน

แล้วทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี หลังจากนั้นอดีตภรรยาของพระสุทินก็ตั้งครรภ์ เมื่อถ้วนทศมาสแล้วก็คลอดบุตรชาย น่าเกลียดน่าชังมาคนหนึ่ง ปู่ย่าตั้งชื่อให้ว่า พีชะ (แปลว่าเด็กชายพืชหรือหน่อ)

เด็กชายพืชเจริญเติบโตมา ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างอันไม่เป็นมงคลกระหึ่มเชียว "สะใภ้ม่ายบ้านโน้น อยู่ๆ ก็ท้องขึ้นมาได้ลูกชายมาคนหนึ่ง"

"ท้องกับใคร เขาว่าสามีหนีไปบวชแล้วมิใช่หรือ"
"ก็ท้องกับสามีนั่นแหละ บวชแล้ว แต่เล่นทั้งผ้าเหลืองเลย"
"อะไรกัน สมณะศากยบุตร ไหนว่าเคร่งครัดในพรหมจรรย์ไง ทำไมยังมาเสพเมถุนธรรมดุจดังชาวบ้านทั่วไป" ฯลฯ

เสียงลือ เสียงตำหนิติเตียนคงแพร่ไปกว้างขวางมาก จนพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงรับสั่งให้เรียกพระสุทินมาสอบสวนท่ามกลางสงฆ์ ตรัสถามว่า

"ภิกษุ เขาว่าเธอเสพเมถุนกับอดีตภรรยาเป็นความจริงหรือ"
"เป็นความจริง พระเจ้าข้า" พระสุทินยอมรับ
"โมฆบุรุษ เธอมาบวชในธรรมวินัยของตถาคต ผู้สรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์ ไฉนเธอยังเสพเมถุนกับมาตุคาม อันขัดต่อชีวิตพรหมจรรย์เล่า"

พระสุทินแย้งว่า ท่านทำด้วยจิตเป็นกุศล เพื่อตัดปัญหาถูกรบเร้าให้สึก คิดว่าเมื่อให้บุตรสืบสกุลไว้แล้ว โยมพ่อและโยมแม่ก็จะไม่มาขอให้ลาสิกขา ตนก็จะได้มีเวลาประพฤติธรรม ไม่น่าจะผิด

พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ว่าจะเสพเมถุนธรรมด้วยจุดประสงค์ใด ถือว่าผิดทั้งนั้น และเป็นความผิดอันฉกรรจ์ด้วย เพราะขัดต่อชีวิตผู้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ใครขืนทำลงไป ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพานในชีวิตพรหมจรรย์ ยกเว้นจะลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ รักษาศีลอย่างเคร่งครัด ย่อมมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า (คือมีทางขึ้นสวรรค์ได้)

พระองค์ทรงตำหนิพระสุทินต่างๆ นานา ทรงอธิบายว่าถ้าบัญญัติสิกขาบทแล้ว จะเกิดประโยชน์อย่างไรต่อภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวมบ้าง (มีทั้งหมด ๑๐ ข้อด้วยกัน) แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

"ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมกับมาตุคาม ภิกษุนั้นต้องปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที"

นี้เป็นปฐมบัญญัติ นัยว่าเป็นสิกขาแรกที่ทรงบัญญัติ โดยพระสุทินเป็นผู้ก่อเรื่อง ไม่ทรงเอาผิดพระสุทิน ทรงยกไว้ในฐานะ "ต้นบัญญัติ" (อาทิกัมมิกะ) แต่ถ้าใครทำต่อไปจะต้องถูกปรับอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที



ปางปฐมบัญญัติ (จบ)
พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ ไม่แพร่หลาย จึงไม่ค่อยมีใครเห็น เป็นท่าสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองตะแคงยื่นตรงออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาบัญญัติพระวินัย เพื่อรักษาพระศาสนาไว้ให้มั่นคง

การจะทรงบัญญัติพระวินัยนั้น พระพุทธองค์ทรงเห็นประโยชน์ หรืออานิสงส์ของการบัญญัติ ๑๐ ประการ พูดด้วยภาษาสามัญก็ว่า ที่ทรงบัญญัติ ด้วยเหตุผล ๑๐ ประการ คือ
๑.เพื่อความดีงามแห่งสงฆ์ (บัญญัติขึ้นมาแล้วจะช่วยรักษาสงฆ์ให้มีความดีงาม น่าเลื่อมใสศรัทธา)
๒.เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ (พระสงฆ์มีศีลมีวินัยด้วยกันหมด ย่อมอยู่ผาสุก ไม่มีแกะดำแทรกทำให้วุ่นวาย)
๓.เพื่อกำราบทุมมังกุ (คนหน้าด้าน)
๔.เพื่อความผาสุกของภิกษุผู้ทรงศีล
๕.เพื่อกำจัดอาสวะในปัจจุบัน (ขจัดความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน)
๖.เพื่อป้องกันอาสวะที่จะเกิดในอนาคต (ป้องกันมิให้มีความเสื่อมเสียเกิดขึ้นในภายหน้า)
๗.เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
๘.เพื่อให้ผู้เลื่อมใสแล้ว เลื่อมใสยิ่งขึ้น
๙.เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม (เพื่อให้พระศาสนาดำรงมั่น)
๑๐.เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย (เพื่อสนับสนุนหลักการ คือความเป็นระบบระเบียบ)

พระวินัยที่ทรงบัญญัติแล้ว พระสงฆ์ต้องรักษาอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดเป็นอันขาด ความผิดมีตั้งแต่ขั้นอุกฤษฏ์ จนถึงขั้นเบา ขั้นหนักที่สุดก็ขาดจากภิกษุภาวะทันที ไม่ว่าใครจะโจทก์หรือไม่ก็ตาม ถ้ารู้ตัวแล้วก็ต้องสึกออกมา ถ้าขืนอยู่ในเพศสมณะต่อไป ท่านว่าเป็น "มหาโจร" เพราะหลอกลวงให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นพระภิกษุ บาปสองเท่าอีกครับ

ดูตามนี้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว ทุกอย่างก็น่าจะราบรื่นดี ไม่น่าจะมีอะไร แต่อย่างว่าแหละครับ ช่วงหลังๆ นี้คนที่ยังไม่พร้อม คนที่ยังไม่เบื่อหน่ายโลกียวิสัยมาบวชกันมากขึ้น บ้างก็มาด้วยจิตเป็นกุศล บ้างก็อาจจะแฝงมาด้วยเจตนาอย่างอื่น จึงมีความจำเป็นต้องบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติม อันเรียกด้วยภาษาเทคนิคว่า "อนุบัญญัติข้อบัญญัติภายหลัง ข้อบัญญัติเพิ่มเติม"

ในเรื่องปฐมปาราชิกนี้ก็เป็นอย่างนั้น หลังจากพระพุทธองค์ทรงบัญญัติปฐมปาราชิกแล้วก็มีภิกษุรูปหนึ่ง อยู่ที่กุฏิในวัดป่าแห่งหนึ่ง ภิกษุรูปนี้เลี้ยงลิงไว้จำนวนมาก แค่เลี้ยงลิงนี่ก็ไม่ผิดอะไร แต่ท่านรูปนี้ไปมีอะไรกับนางลิงด้วย

และก็คงจะปฏิบัติเป็นประจำ จึงเกิดเรื่องขึ้น คือมีพระจากต่างถิ่นมายังอารามนั้น ขณะนั้นพระเจ้าของกุฏิไม่อยู่ ฝูงลิงทั้งหลายก็ร้องเจี๊ยวจ๊าวๆ นางลิงตัวหนึ่งวิ่งมากอดขาภิกษุรูปหนึ่ง แล้วก็ทำท่าดุจกำลังต้องการเมถุนธรรม มันก็คงนึกว่าเป็น "คู่ขา" ของมันกระมัง

ภิกษุอาคันตุกะสงสัย จึงบอกกันต่อๆ ไป แล้วคอยแอบดู เมื่อพระเจ้าของกุฏิกลับมา นางลิงคู่ขาก็วิ่งมาหา ทั้งพระทั้งลิงก็พากันเข้าไปในกุฏิ ปิดประตูเงียบ

บรรดานักสืบเป็น ก็ค่อยๆ ย่องๆ ไปแอบดู ผ่านช่องฝา เห็นการกระทำอัน "ไม่เหมาะแก่สมณะ" เข้า ก็กรูกันเข้าไปจับได้คาหนังคาเขา แล้วนำไปหาพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงสอบสวนภิกษุรูปนั้น ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ว่า "ได้ยินว่าเธอเสพเมถุนกับนางลิงหรือ"

"จริง พระเจ้าข้า" เธอรับ
"โมฆบุรุษ เธอไม่รู้หรือว่า เราตถาคตได้บัญญัติสิกขาบทห้ามพระเสพเมถุน" พระพุทธองค์ทรงซัก

"ห้ามกับมนุษย์เท่านั้น ไม่ครอบคลุมสัตว์เดรัจฉานด้วย มิใช่หรือ พระเจ้าข้า" เธอเถียง (เธออาจเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ หรือ "หัวหมอ" ก็ได้)

พระพุทธองค์จึงทรงเห็นว่าสิกขาบทวินัยยังไม่รัดกุมพอ จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติม (อนุบัญญัติ) ว่า "ห้ามภิกษุเสพเมถุนธรรมกับมาตุคาม ในที่สุดแม้กระทั่งกับสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้"

นี้คือความเป็นมาของพระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ นำเอา อนุบัญญัติมาเล่าพ่วงท้ายเพื่อให้เห็นว่า สิกขาบทวินัยของพระพุทธองค์ทรงปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อความเรียบร้อยแห่งภิกษุสงฆ์ และเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

3234  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: อักษร ฃ และ ฅ ยังมีอยู่ในแบบอักษรไทย เมื่อ: 11 กุมภาพันธ์ 2559 13:12:27
./size]

นานาทัศนะ ของผู้ทรงความรู้
ที่ได้ค้นคว้าศึกษา และแสดงความคิดเห็นผ่านบทความ
เรื่อง ฃ และ ฅ ยังมีอยู่ในแบบอักษรไทยหรือไม่?
จึงนำเสนอข้อมูลมาเพื่อพิจารณาค่ะ...
และโปรดอย่าลืมว่าพยัญชนะไทยในปัจจุบันมี ๔๔ ตัว (ซึ่งรวมถึง ฃ และ ฅ อยู่ด้วย)
kimleng


พยัญชนะ ปรากฏในภาพนรกภูมิ
จิตรกรรมหน้าบันพระวิหารวัดม่วง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

ค.คน (ฅ) ที่หาย

              ฯลฯ
หนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม เล่ม ๙ (สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๓) คำถามที่ ๘๘๙ ข.ขวด (ฃ) กับ ค.คน (ฅ) หายไปตั้งแต่เมื่อไร?  รศ.ดร.คุณหญิง สุริยา รัตนกุล ผู้เขียนหนังสือ ข.ขวด ค.คน หายไปไหน? ศึกษาความเป็นมาของพยัญชนะทั้งสอง และชี้ให้เห็นว่า หากเริ่มนับตั้งแต่ที่พบครั้งแรก ฃ ฅ ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย จนถึงการประกาศเลิกใช้ ในปทานุกรม พ.ศ.๒๔๗๐ และพจนานุกรม พ.ศ.๒๔๙๓  ฃ ฅ ใช้ในภาษาไทยนานถึง ๗๐๐ ปี

หากแต่อัตราการใช้ และความแม่นยำที่ใช้ แตกต่างกันไปตามยุคสมัย

เดิม ฃ ฅ เป็นพยัญชนะแทนเสียงซึ่งเคยใช้กันมาแต่เดิม (แตกต่างจากเสียง ข.ไข่ และ ค.ควาย) แต่เสียงนี้หายไปในระยะหลัง เป็นเหตุให้พยัญชนะทั้งสอง หมดความสำคัญในภาษาไทยปัจจุบัน

รศ.ดร.คุณหญิง สุริยา บอกว่า เมื่อครั้งที่มีการประดิษฐ์พิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ผู้ประดิษฐ์ได้ตัด ฃ ฅ ทิ้ง ด้วยเหตุว่าพื้นที่บนแป้นพิมพ์ดีดไม่เพียงพอ และยังให้เหตุเพิ่มเติมว่า เป็นพยัญชนะที่ไม่ค่อยได้ใช้และสามารถแทนด้วยคำพยัญชนะอื่น

นี่อาจเป็นครั้งแรก ที่ ฃ ฅ ถูกตัดทิ้งอย่างเป็นทางการ

ครั้งต่อมา ก็คือการประกาศงดใช้ ค.คน (ฅ) ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งปรับปรุงภาษาไทยให้เจริญก้าวหน้าในยุครัฐนิยม รวมถึงการประกาศเลิกใช้ในปทานุกรมและพจนานุกรม ดังได้กล่าวแล้ว

อาจารย์คุณหญิง สุริยา ตั้งข้อสังเกตว่า แต่ก่อน พยัญชนะ ค.คน (ฅ) ไม่ได้ใช้ในคำว่า คนเลย  ค.คนใช้ในคำ ค.คอเสื้อ

ความสับสนเรื่องนี้ คงเกิดมาจาก ก.ไก่ คำกลอน ผลงานของครูย้วน ทันนิเทศ ในหนังสือแบบเรียนไว เล่ม ๑ ตอนต้น พ.ศ.๒๔๗๓ ที่แต่งว่า ค.คนโสภา แล้วต่อมา หนังสือ ก.ไก่ ฉบับประชาช่าง ก็แต่งว่า ค.คนขึงขัง

ก.ไก่ฉบับนี้ เป็นฉบับที่คนรุ่นปัจจุบันคุ้นเคยที่สุด แล้วก็เลยพลอยเข้าใจว่า ค.คน (ฅ)  ใช้ในคำว่า คน

พอได้ข้อสรุปว่า ตอนนี้พยัญชนะไทย เหลือใช้กันแค่ ๔๒ ตัว คนไทยก็ไม่เดือดร้อนอะไร หากอยากใช้ ข.ขวด (ฃ) ก็ใช้ ข.ไข่ อยากใช้ ค.คน (ฅ) ก็เลือกใช้ ค.ควาย แทนได้สบายๆ
               ฯลฯ



ข้อมูล : คอลัมน์ชักธงรบ "ค.คน (ฅ) ที่หาย" น.๓ นสพไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
3235  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / พิธี การเสียผี หรือผิดผี ของชาวล้านนา เมื่อ: 11 กุมภาพันธ์ 2559 13:00:08
.



พิธีเสียผี หรือผิดผี ของชาวล้านนา

เสียผี หรือผิดผี หรือใส่ผี คือพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวล้านนา จัดทำขึ้นเมื่อเกิดการผิดผีขึ้นในครัวเรือน เพราะในเรือนนั้นจะมีผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษคอยดูแลลูกหลานอยู่  

การ “เสียผี หรือผิดผี” ในกรณีนี้หมายถึงการที่สาวถูกชายหนุ่มที่ยังไม่คิดจะอยู่กินกันด้วยกันจับมือถือแขน ถูกเนื้อต้องตัวทั้งในที่ลับและที่แจ้งโดยเจตนา หรือเมื่อฝ่ายชายขยับเข้าใกล้หญิงสาว สาวจะขยับตัวหนีจนถึงธรณีประตูเรือนนอน ที่สุดจะข้ามไปอยู่ด้านใน ชายจะไม่กล้าล่วงล้ำเข้าไป ถ้าชายใดข้ามล่วงธรณีประตูเข้าไป ถือว่าผิดผี สาวจะต้องบอกแก่พ่อแม่ของตนภายใน ๓ วัน ถ้าปิดบัง ผีจะโกรธและดลบันดาลให้สัตว์เลี้ยงและพืชพันธุ์ที่มีอยู่ในครอบครัวมีอันเป็นไป หากคนในครอบครัวมีการเจ็บป่วย หญิงสาวจะถูกสมาชิกในครัวเรือนตำหนิติเตียนว่าไม่เคร่งครัดต่อประเพณี  

เมื่อพ่อแม่หญิงสาวรู้ว่ามีการผิดผีเกิดขึ้น จะต้องเจรจากับชายผู้นั้น ทั้งโดยความยินยอมและไม่ยินยอมของหญิงก็ตาม เนื่องจากถือว่ามีการผิดผีขึ้นแล้ว พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะแจ้งให้พ่อแม่ของฝ่ายชายรับรู้ และฝ่ายชายจะต้องไปเสียผี หรือเลี้ยงผีบรรพบุรุษตามประเพณีทุกกรณี เมื่อเลี้ยงผีแล้ว ถ้าหญิงไม่ชอบชาย ฝ่ายพ่อแม่หญิงสาวจะไม่จัดพิธีแต่งงาน และไม่ยอมพูดคุยกับชายคนนั้นอีกเลย

ในกรณีที่ชายไปทำให้ผิดผีขึ้น และฝ่ายหญิงก็ตกลงปลงใจที่จะได้ชายนั้นมาเป็นคู่ครอง ฝ่ายหญิงก็จะบอกให้พ่อแม่ของตนไปสัญญา คือบอกกล่าวแก่ผู้ใหญ่ฝ่ายชายว่า ชายไปผิดผีสาวแล้ว ให้ไปเสียผีตามประเพณีและจะได้จัดการแต่งงานกันต่อไป การเสียผีในกรณีนี้เรียกว่า ใส่เอา

ส่วนการเสียผีอีกอย่างหนึ่งเรียกว่าใส่บ่เอา คือการผิดผีแล้วไม่เลือกอยู่กินด้วยกัน อาจเพราะฝ่ายหญิงสืบรู้ว่าชายมีความประพฤติไม่ดี เช่น เป็นคนดื่มเหล้า เล่นการพนัน  พ่อแม่ฝ่ายสาวจะไม่อนุญาตให้ลูกสาวแต่งงานด้วย ฝ่ายชายจะต้องเสียผี การเสียผีแบบนี้ต้องเสียเงินมากกว่าการใส่เอา และฝ่ายหญิงจะคืนเงินค่าผีให้ฝ่ายชายไป เรียกการคืนเงินค่าผีว่า ผีขืน แล้วฝ่ายหญิงจะจัดการเลี้ยงผีเรือนเอง เมื่อมีกรณีนี้เกิดขึ้นข่าวจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วหมู่บ้าน และขยายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง นับเป็นเรื่องที่น่าอับอายอย่างยิ่ง หญิงสาวที่ถูกชายผิดผีแล้วไม่เอาเป็นเมียนั้นจะถูกนินทาว่าใจง่าย  และจะไม่มีชายมาเยี่ยมเยือน บางคนถูกหนุ่มหลอกผิดผีหลายครั้งจนอายถึงกับต้องย้ายไปอยู่ถิ่นอื่นก็มี  ฝ่ายชายจะไปแอ่วสาวเรือนไหนก็ไม่มีใครต้อนรับและต้องการพูดคุยด้วย

การเสียผีหรือใส่ผีนี้ จะต้องจัดขันดอกไม้ธูปเทียน หัวหมูต้ม สุรา ขนม ข้าวต้ม (มัด) และอาจมีไก่ต้ม ๔ ตัว อีกตามที่ฝ่ายหญิงจะบอก มีขันหมากใส่หมาก ๑ หัว พลู ๑ มัด (หมาก ๑ หัว มี ๑๐ ไหม แต่ละไหมมี ๓๖ คำ พลู ๑ มัด มี ๕ แหลบ แต่ละแหลบมีจำนวน ๒๐ ใบ รวมเป็น ๑๐๐ ใบ) และจะมีเงินค่าผีอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มีกำหนดตายตัว แต่จะขึ้นอยู่กับฐานะของผีในตระกูลนั้นๆ อาจเป็น ๖, ๑๒, ๒๔ หรือ ๑๐๐ หรือพันบาทก็ได้ ไปขอขมาและสังเวยเลี้ยงผีที่หอผีหรือหิ้งผีที่ติดไว้กับเสาเบื้องหัวนอนของเรือนฝ่ายหญิง เมื่อบอกกล่าวและวางเครื่องสังเวยแก่ผีไว้เป็นเวลาสมควรแล้วก็นำเอาสุราและอาหารนั้นไปปูเสื่อเลี้ยงดูกันได้

ในกรณีที่ใส่เอาคือเสียผีแล้ว มีเจตนาจะอยู่ร่วมครองเรือนกันอย่างจริงจังนั้น เมื่อเสียผีเสร็จแล้ว ชายก็มีสิทธิเช่นเดียวกับสมาชิกในครัวเรือนของหญิงนั้น และเมื่อเสียผีเสร็จแล้วก็จะมีพิธีการไตว่ผีเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย คือ ฝ่ายหญิงจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบอกกล่าวให้ผีทางฝ่ายชายทราบว่า บัดนี้ ทางฝ่ายหญิงได้มาร่วมเป็นสมาชิกในวงศ์เดียวกับชายแล้ว


เรียบเรียงจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ  และ ข้อมูลประเพณีล้านนา โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3236  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ชาดก เรื่อง "แสงเมืองหลงถ้ำ" เมื่อ: 10 กุมภาพันธ์ 2559 13:06:39
.


จิตรกรรมสีฝุ่น : ชาดก เรื่องแสงเมืองหลงถ้ำ  
วัดเวียงต้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

แสงเมืองหลงถ้ำชาดก

ในชาดกแสงเมืองหลงถ้ำ สรุปความตามคัมภีร์ของวัดป่าสักน้อย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจารเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นฉบับหลัก และใช้คัมภีร์ของวัดกู่ฅำ และของวัดควรคู่ม้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นฉบับตรวจสอบ และทุกฉบับไม่ปรากฏนามผู้แต่งคัมภีร์นี้  

ในปรารภชาดกของแสงเมืองหลงถ้ำนี้ กล่าวว่า ในครั้งพระพุทธองค์ประทับที่เชตวันวนาราม เหล่าภิกษุปรารภกันว่านางยโสธราพิมพาคร่ำครวญถึงพระพุทธเจ้า และมีความภักดีในพระพุทธองค์อย่างยิ่ง เมื่อทรงทราบด้วยทิพโสตแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จมาในที่ชุมนุมนั้นแล้วตรัสว่า นางยโสธราพิมพาเคยประพฤติเช่นนั้นมามากครั้งแล้วในอดีตชาติ แล้วทรงเล่าเรื่องแสงเมืองหลงถ้ำตามการทูลอาราธนาของหมู่สงฆ์ดังนี้

กาลครั้งหนึ่ง ท้าวมันธราชและนางสุมิราครองเมืองเชียงทองแต่ไม่มีโอรส ท้าวมันธราชจึงโปรดฯ ให้นางสุมิรารับประทานอาหารวันละมื้อและรักษาศีล ๗ วัน เพื่อขอบุตร ผลการบำเพ็ญดังกล่าวทำให้พระอินทร์ร้อนใจ จึงไปเชิญพระโพธิสัตว์มาปฏิสนธิในครรภ์ของนางสุมิรา และให้เทวดาอีก ๑,๐๐๐ องค์มาเกิดในเมืองนั้น ในขณะประสูตินั้นเกิดอัศจรรย์ ๓ ประการ คือต้นไม้เหลืองไปหมด แม่น้ำแดงไปทั้งหมด และโดยเฉพาะหินทรายทั้งมวลกลายเป็นสีเขียวถึง ๕ วัน เหตุนั้น จึงให้ชื่อพระโอรสว่า “เจ้าซายเขียว” (เจ้าชายเขียว) และเนื่องจากพระอินทร์แปลงนำเอาแสง (แก้วมณี) มาถวายในคราวประสูติกาลด้วย จึงได้ตั้งชื่อพระโอรสดังกล่าวว่าเจ้าแสงเมือง ซึ่งแปลว่า “ดวงมณีแห่งเมือง” อีกนามหนึ่ง

เมื่อจำเริญวัยมาถึงอายุ ๑๖ ปี ก็เป็นที่เลื่องลือกันว่าเจ้าแสงเมืองมีรูปงามยิ่งนัก ในช่วงนั้นมีพรานป่าผู้หนึ่งได้ลูกหงส์คู่หนึ่งจากป่าหิมพานต์ จึงนำไปถวายเพื่อเป็นเพื่อนของเจ้าแสงเมือง หงส์ทั้งคู่ฉลาดและพูดภาษาคนได้ เมื่อเจ้าแสงเมืองอายุครบ ๑๖ ปีนั้น พระบิดาโปรดฯ ให้สตรีสาวในเมืองเชียงทองทั้งสิ้นเข้าเฝ้าเจ้าแสงเมือง เพื่อให้ทรงเลือกเป็นชายา แต่บังเอิญคืนก่อนพิธีนั้นเจ้าแสงเมืองฝันว่าหงส์ทั้งคู่ไปนำเอานางรูปงามผู้หนึ่งมาถวาย จึงทำให้เจ้าแสงเมืองตั้งใจว่า หากไม่พบคนที่งามเหมือนในความฝันแล้วจะไม่รับผู้ใดเป็นชายา เมื่อเห็นว่าบรรดาสตรีที่มาให้ทรงเลือกนั้นไม่งามเหมือนนางในฝัน เจ้าแสงเมืองจึงไม่เลือกนางใดทั้งสิ้น จากนั้นเจ้าแสงเมืองโปรดฯ ให้คนมาวาดภาพนางตามที่ตนฝัน แล้วให้หงส์นำรูปนั้นไปเปรียบเทียบกับสาวงามทั้งหลายเพื่อค้นหานางที่มีโฉมเหมือนรูป พร้อมกับมอบศุภสารไปถึงนางนั้นด้วย หงส์ทองก็เดินทางไปเที่ยวแสวงหานางในฝันในเมืองต่างๆ เช่น เมืองพันธุมตินคร เมืองติสสรัฏฐ์ เมืองหริภุญชัย เมืองนันทปุรี เมืองโกไสย ฯลฯ จนกระทั่งไปพบนางเกียงฅำแห่งเขมรัฐ

ท้าวสิริวังโสและนางทาริกาครองเมืองขอมหรือเขมรัฐราชธานีนี้ มีธิดาผู้หนึ่งซึ่งเมื่อคลอดนั้น ช่างดอกไม้ได้นำดอกไม้มาถวาย และดอกเกียง (ลำเจียก) ดอกหนึ่งกลายเป็นทอง จึงโปรดให้ตั้งชื่อราชธิดาตามเหตุนั้นว่านางเกียงฅำ(อ่าน “เกี๋ยงคำ”) เมื่อนางเกียงฅำจำเริญวัยมาถึง ๑๕ ปี ก็ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก และกลิ่นจากปากของนางก็หอมเหมือนกลิ่นดอกลำเจียก ท้าวสิริวังโส โปรดฯ ให้สร้างปราสาทให้นางอยู่ต่างหากและให้มีบริวารคอยรับใช้อยู่ด้วยอีกสองนาง

เมื่อหงส์ทองทั้งคู่รู้ข่าวนางเกียงฅำจากนกแขกเต้าซึ่งเป็นนกเลี้ยงแล้วก็มีความพอใจ จึงมอบแหวนวิเศษที่มีรูปของนางปรากฏอยู่ในหัวแหวนนั้นฝากให้ไปถวายเจ้าแสงเมือง การติดต่อดังกล่าวนั้นนางมิได้แพร่งพรายเรื่องให้ผู้ใดได้รู้

เมื่อเจ้าแสงเมืองประจักษ์ความจากนางเกียงฅำแล้ว จึงนำความและแหวนไปเล่าถวายแก่พระบิดาและมารดา จากนั้นทูตจากเมืองเชียงทองจึงเดินทางไปเมืองขอมพร้อมกับราชบรรณาการเพื่อสู่ของนางเกียงฅำนั้น ครั้นท้าวสิริวังโสทราบเรื่องและรายละเอียดตามที่เจ้าแสงเมืองติดต่อมาก็ทรงยอมรับเครื่องราชบรรณาการและตอบแทนไปด้วยข้าวของเช่นกัน เมื่อการติดต่อสำเร็จด้วยดีแล้ว ทั้งสองเมืองก็เตรียมจัดงานอภิเษกเป็นงานใหญ่

ในเมืองเชียงทองนั้น มีพิธีสังเวยเทพารักษ์ประจำเมืองในทุกวันแรม ๑ ค่ำ ที่ดอยหลวง และเนื่องจากเจ้าแสงเมืองจะรีบไปในการอภิเษก เจ้าแสงเมืองจึงไปสังเวยเทพารักษ์ก่อนกำหนด เมื่อเสร็จพิธีสังเวยแล้ว เจ้าแสงเมืองประสงค์จะไปเที่ยวในถ้ำ จึงพาบริวารอีก ๑,๐๐๐ คนเข้าไปในถ้ำนั้น ขณะที่เที่ยวชมในถ้ำ คบไฟได้มอดดับไปและทุกคนไม่สามารถหาทางออกได้ เมื่อคนจากในเมืองพยายามไปค้นหาก็ไม่พบ ความทุกข์และความหม่นหมองก็เข้าครอบครองเมืองเชียงทอง แล้วกระจายไปสู่เมืองขอมตามลำดับ โดยเฉพาะนางเกียงฅำถึงกับไม่ยอมแต่งเนื้อแต่งตัวไประยะหนึ่ง เมื่อได้สติแล้วนางจึงให้สร้างศาลาหลังหนึ่งไว้ในเมืองเพื่อให้คนมาพัก และนางก็จัดคนไปคอยฟังข่าวจากคนที่มาพักนั้น โดยประสงค์ที่จะทราบเรื่องของเจ้าแสงเมือง

ในเมืองขอมนั้น มีเศรษฐีผู้หนึ่งได้เอาสมบัติไปถวายพระเจ้าสิริวังโสและขอนางเกียงฅำแก่ลูกของตน เมื่อนางเกียงฅำไม่ยอม ก็ไปขอพระเจ้าหลานเธอ ซึ่งนางก็ไม่ยอมเช่นกัน ลูกเศรษฐีแค้นใจจึงยุยงทูตจากเมืองจัมปา ให้พญาจัมปายกมาตีเมืองเพื่อชิงนางเกียงฅำไป

ฝ่ายเจ้าแสงเมืองซึ่งหลงอยู่ในถ้ำ ด้วยอานุภาพของเวรกรรมแต่ปางหลังเป็นเวลาถึง ๑๑ เดือน บริวารตายแล้ว ๙๙๓ คน เหลืออยู่ ๖ คน และเจ้าแสงเมืองอีกผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ตาย ทั้งนี้ด้วยอานุภาพของแก้วมณีที่คาดไว้กับเอวนั้น เพียงแต่ทุกคนผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกและมีลมหายใจรวยรินเท่านั้น เมื่อเข้าตาจนดังกล่าว เจ้าแสงเมืองจึงได้อธิษฐานว่าหากตนจะได้เป็นพระพุทธเจ้าจริง ก็ขอให้พระอินทร์มาช่วยให้พ้นจากความลำบาก จากนั้นก็พาบริวารที่เหลือคลำทางในถ้ำไปพบช่องแสงของถ้ำและได้พบพระอินทร์ที่แปลงเป็นพรานป่ามีอาวุธและเสบียงมาช่วย เจ้าแสงเมืองรู้ว่าพรานนั้นเป็นพระอินทร์แปลงจึงขอให้สอนมนต์ชุบชีวิตคน พระอินทร์ก็สอนมนต์ให้และมอบดาบสรีกัญไชยพร้อมทั้งสอนวิธีใช้แก้วมณีประจำตัวนั้นด้วย จากนั้นเจ้าแสงเมืองจึงชุบชีวิตบริวารขึ้นมาได้ แล้วก็พากันเดินไปจนถึงอาศรมสุทธฤๅษีตามคำบอกเล่าของพระอินทร์ ซึ่งฤๅษีได้สอนวิชาการให้แก่เจ้าแสงเมือง เมื่อเจ้าแสงเมืองและบริวารได้พักผ่อนและฟื้นฟูสุขภาพขึ้นบ้างแล้วก็ออกเดินทางต่อไปสู่เมืองขอม ได้พบนายบ้านปัจฉิมคามชื่อโกสิยาและโกธิกาแล้วพักอยู่กับนายบ้านนั้น นายบ้านทั้งสองเห็นลักษณะของเจ้าแสงเมืองแล้วก็ไต่ถามและยกลูกสาวของคนทั้งสอง คือยกนางสุรินทะแก่เจ้าแสงเมืองและยกนางสุวิราแก่เจ้าสุริราซึ่งเป็นคนสนิทของเจ้าแสงเมือง เช้าวันรุ่งขึ้นเจ้าแสงเมืองก็ได้นำบริวารทั้ง ๖ คนเหาะไปสู่เมืองขอม

เมื่อไปถึงเมืองแล้ว เจ้าแสงเมืองและคณะก็เข้าพักในศาลาที่นางเกียงฅำสร้างไว้ เมื่อคนของนางซึ่งมาคอยฟังข่าววันละสองครั้งนั้น เห็นบุคคลมีบุคลิกน่าสนใจมาพัก และสนทนากับหญิงสาวกลุ่มหนึ่ง ก็เข้าไปซักถาม แต่ก็ไม่ได้ความอะไรนัก นางจึงเข้าไปทูลนางเกียงฅำตามที่ตนสงสัยนั้นว่า อาจเป็นเจ้าแสงเมืองก็ได้

ในคืนนั้นเจ้าแสงเมืองเหาะไปหานางเกียงฅำ นางเกียงฅำไม่ทราบว่าเจ้าแสงเมืองเหาะได้ ก็คาดว่าผู้ที่มาหาตนนั้นคงเป็นเทวดานาคครุฑ จึงไม่ยอมให้เจ้าแสงเมืองเข้าในปราสาท แต่ก็สนทนากันด้วยไมตรี  ในวันรุ่งขึ้น นางก็ให้นางรัมพรังสี ญาติคนสนิทของตนไปสืบข่าว เจ้าแสงเมืองแสร้งหลบเข้าไปนอนในวงม่าน คงจะให้เจ้าสุริราออกรับหน้า ซึ่งทั้งสองก็สนทนากันด้วยความพอใจซึ่งกันและกัน ก่อนจะกลับวัง นางรัมพรังสีได้เข้าไปตลบม่านดูอาการของเจ้าแสงเมือง เจ้าแสงเมืองจึงตัดพ้อนางว่า นางเกียงฅำไม่ยอมรับรู้ว่าตนคือเจ้าแสงเมืองและไม่ยอมให้ตนเข้าไปหาในปราสาท และในคืนนั้นเจ้าแสงเมืองเหาะไปหานางเกียงฅำและนางรัมพรังสีในปราสาท ทั้งสองเข้าใจกันดียิ่ง นางเกียงฅำชวนเจ้าแสงเมืองให้อยู่ในปราสาทของตนและตนจะนำความไปทูลพระบิดาภายหลัง เจ้าแสงเมืองก็กล่าวว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นการลบหลู่ท้าวสิริวังโส จึงปฏิเสธความหวังดีและได้กลับไปสู่ที่พักดังเดิม



พิธีอภิเษกเจ้าแสงเมืองกับนางเกียงฅำ
จิตรกรรมสีฝุ่น : ชาดก เรื่องแสงเมืองหลงถ้ำ
วัดเวียงต้า อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

รุ่งขึ้น นางเกียงฅำจึงไปทูลเรื่องเจ้าแสงเมืองแก่พระราชบิดา ท้าวสิริวังโสดีพระทัยนัก จึงให้จัดขบวนไปรับเสด็จเข้าเมือง แล้วต่อมาได้จัดพิธีอภิเษกนางเกียงฅำกับเจ้าแสงเมือง นางรัมพรังสีกับเจ้าสุริรา และให้ลูกสาวอำมาตย์ ๔ นางแต่งงานกับบริวารของเจ้าแสงเมือง ในคราวนั้นนายบ้านทั้งสองได้นำธิดาของตนมาร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย ต่อมาท้าวสิริวังโสก็มอบราชสมบัติให้เจ้าแสงเมืองครอบครอง

เมื่ออยู่ในเมืองขอมปีหนึ่งแล้ว เจ้าแสงเมืองจึงพาคณะเดินทางไปเยี่ยมเมืองเชียงทอง ครั้นเดินทางไปได้เพียงสามวัน พญาจัมปาได้ยกพลมาจะเข้าตีเมืองขอมเพื่อชิงตัวนางเกียงฅำ ท้าวสิริวังโสจึงให้คนไปตามเจ้าแสงเมือง เจ้าแสงเมืองเหาะกลับเข้าไปในเมืองก่อนและให้บริวารยกตามไป จากนั้นเจ้าแสงเมืองก็ได้เริ่มรบกับฝ่ายจัมปานครด้วยอาคม ซึ่งการรบก็ทวีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ในที่สุดพญาจัมปาก็ยอมอ่อนน้อมต่อเจ้าแสงเมือง

เมื่อเสร็จศึกแล้ว เจ้าแสงเมืองจึงได้เดินทางไปเยี่ยมเชียงทองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงก็มีการฉลองกันอย่างใหญ่โตและอภิเษกเจ้าแสงเมืองขึ้นครองราชย์อีกด้วย จากนั้นเจ้าแสงเมืองจึงพาบริวารไปยังถ้ำที่ตนเคยหลงอยู่นั้น แล้วขนเอาทรัพย์สมบัติในถ้ำใส่เกวียนกลับเมือง ซึ่งต้องใช้เวลาขนถึง ๗ วันกว่าสมบัติจะหมดสิ้น ส่วนหงส์ทองทั้งคู่ของเจ้าแสงเมืองนั้นเมื่อเห็นว่านายของตนหายไปก็มีแต่ความทุกข์ จึงพยายามไปค้นหานายตามเมืองต่างๆ ในที่สุดก็กลับไปอยู่ที่สระเดิมของตนในในป่าหิมพานต์ และถูกเหยี่ยวลวงให้เสือมาจับกินในที่สุด ครั้นนายพรานที่เคยนำหงส์ไปถวายนั้นพบเศษขนหงส์ก็จำได้ จึงนำขนของหงส์ทองไปถวายเจ้าแสงเมือง เจ้าแสงเมืองจึงโปรดฯ ให้เอาขนหงส์นั้นไปทำพัด หลังจากนั้นทุกฝ่ายก็ดำเนินชีวิตอย่างสงบจนครบวาระอายุขัยแห่งตน

ในตอนท้ายเรื่องมีสโมธานหรือประชุมชาดกว่า พญามันธราชพ่อของเจ้าแสงเมือง คือพระเจ้าสุทโธทนะ นางสุมิรา พระมารดาของเจ้าแสงเมืองคือพระนางสิริมหามายา พญาขอมพระบิดาของนางเกียงฅำคือนางปชาบดีโคตมี ลูกเสฏฐีซึ่งไปยุงยงพญาจัมปาคือเทวทัตตเถร พญาจัมปานครคือพระญาอชาตศัตรู นางสรีปทุมมาคือนางเขมาภิกษุนี พระญาโพธิกาคือกาฬุทายีเถร โกสิยาเสนาคือสิมพลีเถร นางสุรินทะคือนางปฏาจารา ธรินทะคือพระโมคคัลลาน อุปราชาผู้บิดาของเจ้าสุริยาคือพระอานนท์ สุริราวังโสคือพระสารีบุตร นางรัมพรังสีคือนางวิสาขา พรานที่จับหงส์ทองได้คือพระฉันนเถร หงส์ทองตัวผู้คือพระราหุลเถร หงส์ทองตัวเมียคือนางอุบลวัณณาเถรี เหยี่ยวที่ทำร้ายหงส์ทองคือนางจิญจมาณวิกา เสือโคร่งที่กินหงส์คือพญาสุปปพุทธะ สุทธฤๅษีคือมหากัจจายนเถร พระอินทร์คือพระอนุรุทธเถร นางมะลิสังกาคือนางอุบลวัณณาเถรี นางสุวัณณะเกียงฅำคือนางยโสธราพิมพา เจ้าแสงเมืองคือพระพุทธเจ้า และเสนาอำมาตย์และผู้อื่นทั้งหลายคือบริษัททั้งสี่ของพระพุทธองค์


คัดจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑๔ หน้า ๗๒๓๘-๗๒๔๒



พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์ นำของวิเศษมามอบให้เจ้าแสงเมือง
จิตรกรรมชาดก เรื่องแสงเมืองหลงถ้ำ  
วัดเวียงต้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย


พิธีศพพญามันธราช พระบิดาของเจ้าแสงเมือง
จิตรกรรมชาดก เรื่องแสงเมืองหลงถ้ำ  
วัดเวียงต้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย


พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์บอกทางแก่เจ้าแสงเมือง
จิตรกรรมชาดก เรื่องแสงเมืองหลงถ้ำ
เวียงต้าม่อน อ.ลอง จ.แพร่


นางเกียงฅำและบริวารในอุทยาน
จิตรกรรมชาดก เรื่องแสงเมืองหลงถ้ำ
วัดต้าม่อน อ.ลอง จ.แพร่


นางเกียงฅำพบนกแขกเต้า
จิตรกรรมชาดก เรื่องแสงเมืองหลงถ้ำ
วัดต้าม่อน อ.ลอง จ.แพร่

3237  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: บันทึกไว้ในแผ่นดิน เมื่อ: 09 กุมภาพันธ์ 2559 15:38:36

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา

หลังศึกเจ้าพระฝาง

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม...ธีรวัฒน์ แสนคำ เขียนเรื่อง ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ.๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับการปราบ “พวกสงฆ์อลัชชี” ที่เมืองสวางคบุรี
 
หลังสองกองทัพหน้า ยึดเมืองฝางได้แล้ว พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า
 
เสด็จยกพลพยุหโยธาทัพหลวง โดยทางชลมารคไปตำบลน้ำมืด จึงดำรัสให้ตั้งด่านทางชั้นในชั้นนอก ตั้งเกลี้ยกล่อมลาดตระเวนสืบสาวเอาตัว อ้ายเรือนฝางให้จงได้
 
“ครั้น ณ วันจันทร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นหกค่ำ ทรงพระกรุณาให้สืบเสาะจับพระสงฆ์พวกเหล่าร้าย ได้ตัวพระครูคิริมานนท์หนึ่ง อาจารย์ทองหนึ่ง อาจารย์จันทร์หนึ่ง อาจารย์เกิดหนึ่ง ล้วนเป็นแม่ทัพอ้ายเรือนพระฝางทั้งสี่รูป
 
แต่พระครูเพชรรัตนกับอ้ายเรือนพระฝางนั้น หาได้ตัวไม่
 
จึงดำรัสให้ผลัดผ้าคฤหัสถ์ทั้งสี่คน แล้วจำคงส่งลงมาใส่คุก ณ เมืองกรุง
 
และต่อมา “จึงดำรัสให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดทอง คลองบางกอกน้อยทั้งสิ้น”
 
จัดการพระสงฆ์ระดับแม่ทัพแล้ว พระเจ้าตากทรงเห็นว่าเรื่องของพระสงฆ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ได้ตัดสินพระทัยพระองค์เดียว...พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน กล่าวว่า จึงดำรัสปรึกษาว่า พระสงฆ์บรรดาอยู่ฝ่ายเหนือนี้ เป็นพรรคพวกเพื่อนอ้ายเรือนฝาง ย่อมคิดถือปืนรบศึก ฆ่าคนปล้นเอาทรัพย์สิ่งของแลกินสุราซ่องเสพด้วยสีกา ให้ขาดจากสิกขาบทจัตุปาราชิกเป็นลามกอยู่ในพระศาสนาฉะนี้ จะไว้ใจมิได้
 
อนึ่ง พระสงฆ์ฝ่ายใต้ฝ่ายเหนือ ก็จะแปลกปลอมกันอยู่ มิรู้ว่าองค์ใดดีชั่ว จะได้กระทำสักการบูชา ให้เป็นผลานิสงส์แก่ตนแก่ท่าน เมื่อนิมนต์พระสงฆ์มารวมกันแล้ว ก็พระราชทานโอกาส “ให้พระสงฆ์ให้การไปแต่ตามสัตย์ตามจริง ถ้าได้ผิดในจาตุปาราชิก แต่ประการใดประการหนึ่ง จะพระราชทานผ้าคฤหัสถ์ให้ผลัดสึกออกไปทำราชการ
 
ที่ไม่รับนั้น จะให้ดำนั้นพิสูจน์สู้นาฬิกาสามกลั้น
 
แม้นชนะแก่นาฬิกา จะให้เป็นอธิการและพระครูราชาคณะฝ่ายเหนือโดยสมควรแก่คุณธรรมที่รู้ แม้นแพ้แก่นาฬิกา จะให้ลงพระราชอาชญา เฆี่ยน แล้วสักข้อมือมิให้บวชได้อีก แม้เสมอนาฬิกาจะให้บวชใหม่
 
ถ้าแต่เดิมไม่รับ ครั้นจะให้ลงดำน้ำพิสูจน์ กลับคืนคำว่าได้ทำผิด จะให้ลงพระราชอาชญาประหารชีวิตเสีย
 
อนึ่ง เมื่อพระสงฆ์จะลงดำน้ำนั้น ให้ตั้งศาลกั้นม่านดาดเพดานผ้าขาว แต่งเครื่องพลีกรรมเทพยดาพร้อมแล้ว จึงทรงพระสัตยาธิษฐาน ให้พระบารมีนั้นช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระสงฆ์ทั้งปวง...
 
แล้วเสด็จทรงพระเก้าอี้อยู่ที่หาดทราย ให้พระสงฆ์ลงดำน้ำพิสูจน์ตัวต่อหน้าพระที่นั่ง ก็ปรากฏว่า “ครั้งนั้นพระสงฆ์ที่มีศีลบริสุทธิ์ ก็ชำนะแก่นาฬิกาบ้าง เสมอบ้าง ที่ภิกษุทุศีลก็แพ้แก่นาฬิกาเป็นอันมาก เสนาบดีก็กระทำตามรับสั่ง โดยสมควรแก่คุณและโทษ”
 
พระราชภารกิจ ด้านพระศาสนาของพระเจ้าตาก ยังมีต่อไป
 
“แล้วทรงพระกรุณาให้เย็บผ้าจีวรให้ได้พันไตร บวชพระสงฆ์ไว้ฝ่ายเหนือ และให้ลงมาอาราธนารับพระสงฆ์ราชาคณะและอันดับ ๕๐ รูป ณ กรุงธนบุรี ขึ้นไปบวชพระสงฆ์ไว้ทุกหัวเมือง
 
แล้วพระราชทานราชาคณะไว้อยู่สั่งสอนพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ พระพิมลธรรมอยู่เมืองฝาง พระธรรมเจดีย์อยู่เมืองทุ่งยั้ง พระธรรมราชา พระเทพกระวี อยู่เมืองสวรรคโลกย์ พระธรรมอุดมอยู่เมืองพิไชย พระโพธิวงษ อยู่เมืองพิศณุโลกย์
          ฯลฯ  


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "หลังศึกเจ้าพระฝาง" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพุธที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙


http://www.sookjai.com/external/sookjai-lavender/IMG_0733.jpg

วาลองโซล(Valansole) แหล่งปลูกลาเวนเดอร์ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส

http://www.sookjai.com/external/sookjai-lavender/IMG_0767.jpg

การผลิตน้ำหอมของโรงงาน Fragonard Perfumery
ที่เมืองกราซ Grasse  ประเทศฝรั่งเศส

ของหอม

เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ นับพันปี ผู้หญิงรู้จักใช้เครื่องหอมมากกว่าผู้ชาย แต่เรื่องจริงที่จริงยิ่งกว่า ก็คือ ผู้ชายโดยเฉพาะในเมืองฝรั่ง รู้จักทำเครื่องหอมได้เก่งกว่าผู้หญิง

น้ำหอม ที่มีชื่อเสียงที่สุด อยู่ที่เมืองกราสส์ ทางฝรั่งเศสตอนใต้ ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  เมืองนี้ มีคนพวกหนึ่ง เรียกว่า “จมูก” เป็นผู้ชายล้วน ชำนาญในเรื่องกลิ่นหอม สามารถแยกแยะกลิ่นหอมได้ต่างกันถึง ๗,๐๐๐ กลิ่น

“จมูก” ที่รู้จัก ๗,๐๐๐ กลิ่นนี้ ไม่ได้มาจากพรสวรรค์ แต่ได้มาจากการฝึกหัด อย่างน้อย ๑๕ ปี

วิชา “จมูก” เป็นวิชาลับสุดยอดเป็นมรดกตกทอด สืบตระกูล จากพ่อเฉพาะลูกชาย ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงปีนั้น (พ.ศ.๒๕๐๕) ในโลกนี้ มีผู้ชายที่มีวิชาจมูกอยู่แค่ ๑๒ คน

เมืองกราสส์ ที่พวกจมูกชุมนุมอยู่ อุดมไปด้วยดอกมะลิ ดอกมะลิกับดอกกุหลาบ คนวงการเครื่องหอม ถือว่าเป็น “แม่กลิ่น” สำหรับเอามาผสมให้ได้กลิ่นต่างๆ  อาจเอามะลิหรือกุหลาบอย่างหนึ่งอย่างใดมาผสมให้เป็นกลิ่นดอกลำดวน ดอกแก้ว ดอกจำปี ดอกจำปา มหาหงส์...หรือกลิ่นอะไรก็ได้ แต่กับมะลิหรือกุหลาบ จะเอาอะไรมาผสมให้เหมือนไม่ได้

คนทำน้ำหอม ไม่เพียงชำนาญการดมกลิ่น ยังต้องรู้จักรักษากลิ่น รู้จักวิธีที่จะเก็บดอกไม้...ดอกมะลิต้องเก็บก่อนย่ำรุ่ง ไม่ได้ถูกแดด เพราะแดดจะทำให้น้ำมันระเหย

ที่เมืองกราสส์มีดินฟ้าอากาศช่วยอำนวย เวลาสองยาม หมอกทะเลจะกระจายลงคลุมหุบเขา ไอหมอกจะเป็นเหมือนเครื่องอบดอกมะลิให้บานสะพรั่ง

ดอกไม้บางชนิด เช่นคาร์เนชั่น ต้องการแดด ปล่อยให้ตากแดดสามชั่วโมง จึงจะเหมาะต่อการเก็บ

ทำนองเดียวกับดอกกระดังงาของไทย “ไม่ลนไฟเสียก่อนจะหย่อนหอม” ผู้หญิงแต่ก่อน เวลาจะทำน้ำปรุงอบควันเทียนลอยดอกกระดังงา ต้องเอาดอกกระดังงาลนไฟ กลิ่นจะหอมดีกว่า ถ้าใช้ไฟเทียน

นอกจากทำน้ำหอมจากดอกไม้ พวกจมูกยังรู้จักสืบเสาะของหอมหายากมาผสม เช่น อำพันชะมด อำพันเป็นของทะเล ลอยเป็นแพอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ไทยเคยใช้เรียกว่าขี้ปลาวาฬ

กาญจนาคพันธุ์ บอกว่า ชะมดมาจากคำอาหรับว่า “ชะบาด” สมัยโบราณชะมดเมืองอัดเจ (อาเจะห์) มีชื่อเสียงมาก

ของหอมอีกอย่าง เรียกภาษาฝรั่งว่า “มัสก์” มาจากคำสันสกฤตว่า “มุษกะ” ได้มาจากสัตว์จำพวกเนื้อ อยู่ในภูเขาหิมาลัย ตลอดขึ้นไปถึงเสฉวน มองโกเลีย ไซบีเรีย ชาวอินเดียแถบป่าหิมพานต์ เรียกกาสตุริ

ส่วนวิเศษที่เป็นของหอม...ในตัวเนื้อตัวผู้ อยู่ที่ท้อง วิธีฆ่าเนื้อเอาของหอม เขียนไว้หลายตำรา ตำราหนึ่งว่า เวลาจับตัวได้มา ต้องทุบให้ตายไม่ให้เลือดตก แล้วตัดออกเป็นส่วนๆ ชำแหละกระดูกออกเอาเนื้อตากแห้ง และป่นให้เป็นผงหยาบๆ

ตำราอีกเล่มว่า เมื่อได้ตัวมาต้องทำให้เลือดไปรวมกันที่สะดือ ตัดเอาเนื้อตรงนั้นมาตากแห้ง ป่นให้เป็นผง เอาหนังที่แล่จากตัวเนื้อทำเป็นถุงใส่ ผงหยาบๆ หอมๆ ในถุงนี้แหละ เรียกว่า “มัสก์”

ตำราเล่มสามบอกว่า ส่วนหอมในตัวเนื้อ อยู่ใต้หนังหน้าท้อง เป็นก้อนกลมเท่าไข่ เรียกว่า “ไข่ดัน” เมื่อตากแห้งทำเป็นผงแล้ว หอมฉุนมาก เอาไปผสมปรุงเป็นเครื่องหอมชนิดต่างๆ วิเศษที่สุด


ของไทยเราก็มีเรียกชะมดเช็ด ลักษณะเป็นไขข้นๆ เหมือนจาระบี...ได้จากตัวชะมดเช็ดติดไว้ตามซี่กรงที่ขังมัน แต่ก็มีของหอมคล้ายกัน ได้มาจากเสฉวน ของจีน จากสัตว์ที่เรียกว่า “มัสก์” มาถึงไทย เรียกให้แตกต่างชะมดเช็ด...ว่า ชะมดเชียง

ของหอมเป็นสัญลักษณ์ของวาสนา  ผู้หญิงทั้งหลายในโลกนี้ เป็นหนี้บุญคุณพวกจมูก...ชีวิตคู่ที่ได้ปฏิเสธไม่ได้มี “ของหอม” เป็นตัวช่วย

          ฯลฯ  


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "ของหอม" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันอังคารที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๙






การแสดงโขนกลางแปลง ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี
ภาพโดย : Mckaforce

โขนกลางแปลง

ก.ศ.ร.กุหลาบเขียนไว้ใน “สยามประเทศ” โขนกลางแปลง เคยมีครั้งกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) สองครั้ง และในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้ง (วิสาสะ เล่ม ๑ สถิต เสมานิล บริษัทต้นอ้อ แกรมมี่ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๙)

โขนกลางแปลงเป็นโขนสองโรง ปลูกโรงเผชิญหน้ากัน ฝ่ายมนุษย์ รามลักษมณ์ อยู่สุดสนามหญ้าด้านหนึ่ง ฝ่ายยักษ์ทศกัณฐ์ สุดสนามหญ้าอีกด้านหนึ่ง โดยประเพณีนิยมวังหลวงวังหน้า ทรงมีพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งนาฏกรรมและคีตกรรมอยู่แล้ว

ส่วนใหญ่ของเรื่องรามเกียรติ์ ก็คือการรบกันระหว่างทัพมนุษย์กับทัพยักษ์ สมัยที่มีเจ้าแผ่นดินวังหลวง วังหน้า ฝ่ายวังหลวงเป็นทัพมนุษย์ ฝ่ายวังหน้าเป็นทัพยักษ์

โขนกลางแปลงเล่นครั้งแรกในรัชกาลแรก แห่งกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ ๑ ปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ ๑๕ ปี ทรงมีพระราชดำริ ฉลองพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมชนก  โปรดให้ประกอบพิธีเหมือนกับถวายพระเพลิงพระศพ อดีตกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา

ปลูกโรงในที่สนามชัย (ข้างสวนสราญรมย์) หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรจ์ ใช้ช้างจริง ม้าจริงเป็นพาหนะให้มนุษย์กับยักษ์ รวมๆ กัน ราว ๕๐๐-๖๐๐ คน รบกันตามถนนหลวงหน้าพระเมรุ

โขนกลางแปลง เริ่มเล่นตั้งแต่เวลาเย็น ไปเลิกเอาเมื่อยามหนึ่ง (๒๑.๐๐ น.) เมื่อเจ้าพนักงานจุดดอกไม้ไฟเมื่อใด โขนหรือการเล่นต่างก็เลิกเมื่อนั้น

วันหนึ่ง ทัพทศกัณฐ์ ฝ่ายวังหน้าใช้ดอกไม้ไฟไม่สะใจ ใช้ปืนจริง (จดหมายเหตุ เรียก ปืนบาเรียมราง) ทัพพระรามฯ ฝ่ายวังหลวง ก็ใช้ปืนจริงบ้าง เสียงปืนจริงยิงประชัน ดังสนั่นหวั่นไหว

ทำเอาราษฎรขวัญอ่อนตระหนกอกสั่น คิดว่าทัพพม่ายกเข้าประชิดติดกรุง

ระหว่างงานฉลองพระบรมอัฐิ คณะทูตเขมร คณะทูตญวน คุมเครื่องราชบรรณาการเข้าถวายช่วยงาน...ต่างก็พากันชอบและชมว่าโขนกลางแปลงสนุกอย่างเป็นยอด ไม่มีมหรสพใดจะสนุกเทียมเท่า

โขนกลางแปลงครั้งแรกสมัยกรุงศรีอยุธยา เล่นในพระราชพิธีสะเดาะพระเคราะห์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๙ สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๙ ฉลองพระชันษา ครบ ๒๕ ปี เล่นตอน หิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน

ครั้งที่สอง โขนกลางแปลง เรียกในจดหมายเหตุว่า โขนอุโมงค์โรงใหญ่ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

จดหมายเหตุบันทึกว่า เป็นการทำขวัญ สมุหนายก เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน ฝรั่งชาติกรีก)

เรื่องสืบมาจาก ขณะเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กำลังเดินเข้าศาลาลูกขุนในพระราชนิเวศน์เมืองลพบุรี หลวงสุรศักดิ์ ซึ่งรู้กันว่าเป็นพระราชโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์ ได้ปรี่เข้าไปใช้วิชาหมัดมวย ชกปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ฟันหักสองซี่

เรื่องถึงสมเด็จพระนารายณ์ ตรัสสั่งให้หาตัวหลวงสุรศักดิ์ ก็หาไม่พบ เพราะหลวงสุรศักดิ์หนีไปอาศัยอยู่ในบริเวณนิวาสสถานของเจ้าแม่วัดดุสิต

เจ้าแม่พระองค์นี้เป็นที่นับถือยำเกรงของทุกๆ ฝ่าย กระทั่งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กราบกรานในฐานะย่าบุญธรรม

สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดเจ้าพระยาวิชาเยนทร์มาก ตั้งให้เป็นสมุหนายก ใช้ติดต่อทำมาค้าขายกับต่างประเทศ เมื่อหาตัวหลวงสุรศักดิ์ไม่ได้ จึงหันไปให้มีโขนกลางแปลง เป็นการปลอบขวัญ

การที่หลวงสุรศักดิ์แค้นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์หนักหนาก็มีเหตุผลฟังได้  ว่ากันว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ไม่แค่ไม่ยอมรับนับถือพุทธศาสนายังเป็นตัวกลางให้พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสชวนสมเด็จพระนารายณ์เข้ารีต  ระหว่างนั้นก็ใช้อำนาจบังคับให้สึกพระสงฆ์ออกมารับราชการ

เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ตั้งใจใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์ แต่หลวงสุรศักดิ์ เห็นฝรั่งเป็นมิจฉาทิฐิ ไม่ละลายแก่บาปกรรม กราบทูลฟ้องพระนารายณ์ แล้วทรงไม่ทำอะไร หลวงสุรศักดิ์จึงเดินเข้าไปชกปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เป็นการระบายโทสะ

ตอนที่หลวงสุรศักดิ์ ปฏิวัติยึดอำนาจให้พระเพทราชา พงศาวดารเขียนว่า เมื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ถูกเรียกเข้ามาเฝ้าถึงตึกพระเจ้าเหา ก็ถูกจับฆ่า  ฯลฯ  


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "โขนกลางแปลง" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙



การแต่งกายของสตรีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ภาพจาก 2.bp.blogspot.com

วันตาย อำแดงเขียว

      ฯลฯ
เปิดหนังสือ “หญิงชาวสยาม” สำนักพิมพ์แสงดาว พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๗ อเนก นาวิกมูล เขียน ก็เจอเรื่อง อำแดงเขียว ถูกกำหนดวันตาย

เรื่องนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามออฟเซอร์เวอร์ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๕ ติดต่อกันสามวัน

๑๘ พ.ศ.๒๕๕๔* อำแดงเขียว อายุ ๒๐ ปี บุตรจีนบุญ กับนางจีน คนบ้านสระกระเทียม จังหวัดนครปฐม ออกไปนาบข้าวในนาแต่เพียงคนเดียว ชายแปลกหน้าร่างสันทัด นุ่งผ้าสีเขียว ใส่เสื้อสองชั้น มือหนึ่งหิ้วกระเป๋าหนัง อีกมือหนึ่งถือร่มปีกค้างคาว จู่ๆ ก็มายืนตรงหน้า เพ่งดูตั้งแต่หัวถึงเท้า ดูรอยเท้า แล้วบอกว่า

สิ้นแสงตะวัน วันกลางเดือนอ้าย (๕ ธ.๕.๒๕๕๔*) เจ้าจะต้องตาย

ตอนแรก อำแดงเขียวไม่บอกพ่อแม่ เอาแต่เศร้าสร้อยไม่เป็นอันกินอันนอน จนผ่ายผอมผิวพรรณซูบซีด จนพ่อแม่ซักถามจึงยอมเล่า ข่าวก็แพร่ไปทั่วหมู่บ้าน

สี่วันต่อมา ชายแปลกหน้าก็มาอีก บอกย้ำ ถึงวันนั้น เจ้าจะต้องตายแน่ แม้ไปสะเดาะเคราะห์ก็ช่วยไม่ได้

ตอนที่ชายแปลกหน้ามาครั้งที่สอง มีคนในนาใกล้ๆ มองเห็น อำแดงเขียวก็ถาม ท่านมาจากไหน ได้คำตอบ “ข้าอยู่ในทุ่งนี้แหละ”

พระวินัยธรรม วัดสัตตนาถปริวัตร ราชบุรี มาดูงานก่อกำแพงแก้วโบสถ์วัดสระกระเทียม สั่งให้ไปหา ท่านว่าอำแดงเขียวบ้าขอให้ไปอยู่ในกุฏิแม่ชี  คืน ๒๕ พ.ย. ชายคนนั้นก็มาอีก บอกอำแดงเขียวอย่าหนีเลย หนียังไงก็ไม่พ้น

พระวินัยธรรมแก้เกม ให้อำแดงเขียวเข้าพิธีบวชในโบสถ์ต่อหน้าสงฆ์ แล้วประกาศ อำแดงเขียวตายแล้ว เกิดใหม่ เป็นสีกาอ่อนแล้ว

จนถึงวันนั้น ๕ ธ.ค. กำหนดวันตาย ๓ โมงเช้า สีกาอ่อนฟังเทศนาในโบสถ์ จบแล้วก็ก้มกราบพ่อเฒ่าแม่เฒ่า พระวินัยธรรมให้สีกาอ่อนฟังพระเทศน์ทั้งวัน ตกค่ำ เวลาตาย...สีกาอ่อนทุรุนทุราย วิ่งหนีออกจากวัด

พ่อแม่ไปตามก็กลับ ๑ ทุ่ม ขึ้นกุฏิแม่ชีล้มตัวนอน ก็นอนไม่ได้ ห่มผ้าก็ไม่ได้

เหตุการณ์วันนี้ ทั้งพระเณร ชาวบ้านตามมาดูแน่นวัด เห็นอำแดงเขียวนั่งหันหลังพิงฝา ตาจ้องเขม็งตรงหน้า บอกว่ามีคนสองคนกับช้าง ๑ เชือกมารับ

พระวินัยธรรม ใช้ไม้สุดท้าย...สวดมนต์ ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย...อาการอำแดงเขียวก็ผ่อนคลาย ๔ ทุ่ม พระสงฆ์สวดสัพพี แล้วพระท่านก็ลาไป ปล่อยให้ชาวบ้านดูแลต่อ

เช้าวันที่ ๖ ธ.ค.เลยวันตายหนึ่งวัน อำแดงเขียวผมร่วงทั้งหัว เนื้อตัวบวม แต่จิตใจก็สบาย แน่ใจว่าไม่ตายแล้ว

เรื่องนี้จบลงตรงชาวบ้านเล่าลือกัน และเชื่อกันว่า เพราะคุณพระ (รัตนตรัย) ช่วย

ตอนที่พระวินัยธรรมสวดมนต์นั้น คนเขียนข่าวไม่ได้ลงลึกว่าสวดบทโพชฌงค์หรือไม่ บทสวดบทนี้ พระท่านสวดให้คนใกล้ตาย อานิสงค์หนึ่ง ถ้ายังไม่หมดบุญ ก็จะฟื้นคืน  แต่ถ้าถึงเวลาจริงๆ อานิสงส์โพชฌงค์นั้น ว่ากันว่าจะช่วยให้ไม่ทุรนทุราย ตายอย่างสงบ

เรื่องนี้ผมเพิ่งฟังจากปากหมอ บัญชา พงษ์พานิช รู้วาระสุดท้ายคุณแม่ นิมนต์พระมาสวดโพชฌงค์ พระสวดไปๆ กราฟการเต้นหัวใจคุณแม่รัตนา (อายุ ๙๓ ปี) ก็ลดลงๆ

พระสวดจบ หัวใจคุณแม่ก็หยุดเต้น ลูกๆ...ปัญญาชนทุกคน เห็นเป็นอัศจรรย์  

คนไทยไม่น้อยเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์ และไม่น้อยกว่าเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย  ฯลฯ


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "วันตาย อำแดงเขียว" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙

* ปีพ.ศ.๒๕๕๔ เข้าใจว่าน่าจะพิมพ์ผิดไปจากข้อเท็จจริง สันนิษฐานว่าอาจเป็น พ.ศ.๒๔๕๔ หรือ ฯลฯ...Kimleng




ผ้าแดง ผ้าต้องห้าม?

       ฯลฯ
เรื่องการนุ่งห่มผ้าสีแดง โบราณเคยห้าม แต่ต่อมาไม่ห้าม ตกลง ห้ามหรือไม่ห้าม ความจริงยังไงกันแน่ คำถามนี้ อาจารย์ ส.พลายน้อย ท่านตอบไว้ในร้อยแปดเรื่องไทย เรื่องชวนสงสัยที่ไม่มีใครเคยตอบ (สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๔๕)

ในสมัยโบราณมีกฎหมายห้ามราษฎร จะนุ่งผ้าแดงเข้าไปในพระราชวังไม่ได้

หมอสมิทเคยเล่า ครั้งเมื่อสรงน้ำพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมศพใช้ผ้าทรงสีแดง

แต่ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ข้อห้ามนี้เปลี่ยนไป สุนทรภู่ ซึ่งเป็นไพร่วังหลัง เขียนไว้ในสวัสดิรักษา “วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี ใช้เครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล”

สมัยรัชกาลที่ ๖ จมื่นมานิตย์นเรศ เล่าว่า โปรดให้มหาดเล็กนุ่งผ้าม่วงสีตามวัน วันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว วันพฤหัสสีแสด วันศุกร์สีฟ้า หรือสีนกพิราบ สำหรับผู้สูงอายุ วันเสาร์สีกรมท่า ทหารเรือเรียกสีขาบ หรือม่วงแก่ วันอาทิตย์สีแดง

แต่วันที่ต้องนุ่งสีแดง มีเรื่องให้ต้องระวัง

ทราบทั่วกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่นานก่อนเสวยราชย์ ครั้นเสวยราชย์แล้ว พอถึงวันพระจะทรงภูษาสีแดง เพื่อให้ใกล้เคียงกับสีจีวร จึงถือเป็นประเพณีสืบมา

แต่ถ้าวันอาทิตย์ไปตรงกับวันพระ ไม่ว่าวัน ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันธรรมสวนะ ข้าราชบริพารต้องไม่นุ่งผ้าสีแดง เพราะจะไปพ้องกับโบราณราชประเพณี ที่วันพระเจ้านายทรงสีแดง

ดังนั้น พวกมหาดเล็กพวกขุนนาง ก็ต้องเลี่ยงไปใช้สีชมพูบ้าง สีน้ำเงินบ้าง

สีแดงสำหรับภูษาเจ้านาย ก็ไม่เหมือนสีแดงธรรมดา ต้องเป็นสีแดงเลือดนก คือแดงแจ๊ด

แต่ก็มีพวกขุนนางที่ไม่ได้จดจำขึ้นแรม เมื่อล้นเกล้า ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงทอดพระเนตรเห็น ท่านก็จะเสด็จปรี่เข้าไปถึงตัวผู้นุ่งผ้าแดงวันพระ แล้วทรงโค้ง คือคำนับอย่างงาม

แล้วทรงมีพระราชปฏิสันดารแดกดันให้ว่า “ทรงพระสำราญดีหรือ พิจ๊ะค่ะ ฝ่าพระบาท”

ถ้ามีเจ้านายอยู่ใกล้ๆ ก็จะแสร้งทรงแนะนำ “นี่คือพยาธิ์ร่วมพระโลก” คือไม่ใช่พระญาติวงศ์ แต่เป็นพยาธิ์จำพวกตัวตืดหรือพยาธิ์ปากขอ เป็นเชิงล้อๆ

ต่อจากนั้น ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานเทศน์เป็นกัณฑ์ใหญ่ว่า “เรานุ่งผ้าแดงผิด”

วิธีนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ทรงใช้กับคนกันเอง ข้ากับเจ้า บ่าวกับนาย แต่ถ้าเป็นข้าราชการนอกๆ ไม่ได้สังกัดในพระราชสำนัก ไม่ทรงว่ากระไร เป็นแต่มองๆ แล้วก็ค้อนให้เป็นพอ

เป็นอันว่า พอได้คำตอบเรื่องธรรมเนียมนุ่งผ้าแดงแล้ว โบราณว่า รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ไม่หนักไม่เหนื่อยแรง ฯลฯ


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "ผ้าแดง ผ้าต้องห้าม?" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐

3238  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ ยำปลาดุกฟู - กรอบ! อร่อย! เนื้อปลาล้วนๆ ไม่มีส่วนผสมของเกล็ดขนมปังกรอบ เมื่อ: 08 กุมภาพันธ์ 2559 19:18:40
.






ยำปลาดุกฟู

• เดรื่องปรุง
- ปลาดุกย่างขนาดใหญ่ 2 ตัว (น้ำหนักตัวประมาณ 350 กรัม)
- แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ
- ถั่วลิสงทอด
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอด


เครื่องปรุงน้ำยำ
- น้ำเชื่อมเข้มข้น 3/4 ถ้วย
- หอมแดง 2 หัว
- พริกขี้หนูสดบุบพอแตก 15-20 เม็ด
- มะม่วงเปรี้ยวซอยหรือสับ
- น้ำมะนาว
- น้ำปลาดี


วิธีทำ
1.ลอกหนังปลาออก พักไว้ก่อน
2.แกะก้างปลาทิ้ง นำเนื้อปลาไปโขลกให้ละเอียด ตักใส่ชามผสม
3.เติมน้ำสะอาดลงในชามปลาครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ใช้ช้อนส้อมยีให้เนื้อปลากระจายไม่ติดกันเป็นก้อน
  จนได้ส่วนผสมที่ไม่เหลวหรือข้นเกินไป จึงใส่แป้งข้าวโพดในเนื้อปลา 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน
4.นำไปทอดในน้ำมันปานกลาง โดยใช้ไม้ยาวเขี่ยให้ปลากระจาย
   แล้วใช้ปลายตะหลิวและไม้ยาวๆ ตะล่อมเนื้อปลาให้รวมติดกันเป็นแพ
   ตักน้ำมันราดบนแพปลา จนสุกเหลืองกรอบ พักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน
5.ทอดหนังปลาดุกให้กรอบ พักให้สะเด็ดน้ำมัน (นำลงทอดครั้งละชิ้น ถ้าใส่รวมกัน หนังจะติดกันแยกออกยาก)
6.จัดปลาและหนังปลาใส่จานเสิร์ฟ โรยด้วยถั่วลิสงทอดและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอดกรอบ
   รับประทานคู่กับน้ำยำ หรือราดน้ำยำบนชามปลา

วิธีทำน้ำยำ
7.ซอยหอมแดงและมะม่วงดิบชนิดเปรี้ยวใส่ชามผสม
8.ใส่พริกขี้หนูบุบหรือโขลกหยาบ
9.ใส่น้ำเชื่อม น้ำปลาดี และน้ำมะนาว คนให้เข้ากัน
10.ชิมให้ได้ 3 รส คือเปรี้ยวนำ ตามด้วยหวาน และเค็ม

* วิธีทอดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ : ใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบในน้ำมันพืช
ทอดด้วยไฟอ่อนสุด สักครู่จะได้เม็ดมะม่วงกรอบอร่อย






หนังปลาที่ลอกออกมาแล้ว...อย่าทิ้ง นำไปทอดให้กรอบ จัดใส่จานปลาดุกฟูรับประทานอร่อยมาก


บางสูตรให้นำเนื้อปลาไปสับ แต่ผู้โพสท์ใช้วิธีการโขลก จะได้เนื้อปลาฟูมากกว่าการสับ


ตักใส่ชามผสม


ค่อยๆ ใส่น้ำสะอาดทีละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ใส่แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ
ใช้ส้อมยีให้เนื้อปลากระจาย และดูว่าส่วนผสมไม่เหลวหรือข้นเกินไป
(แป้งข้าวโพดใส่ผสมลงไปด้วย เพื่อให้เส้นใยของเนื้อปลาเกาะติดกันเป็นแพ)


ทอดในน้ำมันปานกลาง ครั้งละประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ  


ใช้ปลายตะหลิวและไม้ยาวๆ ตะล่อมให้เนื้อปลารวมกันเป็นแพ
แล้วตักน้ำมันราดจนเนื้อปลาสุกเหลืองกรอบ ตักพักให้สะเด็ดน้ำมัน
(ขั้นตอนนี้ต้องรวดเร็ว ละมือลำบาก  จึงขาดภาพประกอบ เพราะผู้โพสท์ทำอยู่คนเดียวหาคนช่วยถ่ายภาพไม่ได้)


ของเราใช้เนื้อปลาล้วนๆ ไม่มีส่วนผสมของเกล็ดขนมปัง


ส่วนผสมของน้ำยำรสแซ่บ











 
3239  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: นครสรลวงสองแฅว เมืองพระพิศณุโลกย์ เมื่อ: 08 กุมภาพันธ์ 2559 16:24:42
.




ราชวงศ์กษัตริย์ของอาณาจักรสยาม
การตั้งอาณาจักรของชาวไทยหรือชนชาติสยามนั้น มีความปรากฏในโยนก ว่า พระเจ้าพรหมได้รับเอาแผ่นดินในดินแดน (ปัจจุบันคือภาคเหนือ) เมื่อราว พ.ศ.๑๔๐๐ และส่วนเมืองฝางขึ้นเป็นเมืองของชนชาติไทยตั้งแต่นั้นมา จนถึง พ.ศ.๑๖๐๐ ชาวสยามหรือคนไทยได้ตั้งต้นอพยพมาอยู่ตามเมืองต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนใต้ ซึ่งขอมยังคงมีอำนาจอยู่ จนมีชาวไทยพากันมาอยู่ในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยามากขึ้น เมื่อพระเจ้าอนุรุธสามารถตีได้ดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจากขอมและทำให้หมดอำนาจลง พม่า เมืองพุกาม จึงมีอำนาจปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาต่อมา

เมื่อชาวไทยอพยพลงมามีจำนวนมากขึ้น สมทบกับผู้ที่อพยพมาก่อนแล้ว ก็สามารถรวมกันปราบปรามทั้งพวกขอมและพม่าชาวพุกามจนสามารถครองแผ่นดินแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ในที่สุด ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ.๑๖๕๐ เศษ จนถึง พ.ศ.๑๘๕๐ จึงมีความกล่าวว่าชาวไทยที่อยู่เมืองเดิมในฮูนหนำ ได้เสียบ้านเมืองแก่กุบไลข่าน ทำให้พวกมองโกลได้ครองดินแดนจีน  และพม่าเสียพุกาม เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๗ ทำให้พวกไทยน้อยพากันอพยพลงมาจนสามารถเป็นอิสรภาพในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปตลอดถึงแหลมมลายู และยังได้ขยายอาณาเขตไปยังดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

ต่อมาภายหลังได้มีการวิเคราะห์ว่า หลังจากจักรพรรดิกุบไลข่าน พิชิตอาณาจักรต้าหลีได้แล้วเมื่อ พ.ศ.๑๗๙๖ ก็ไม่ได้มีเหตุอื่นใดที่บีบบังคับกดดันให้ชนชาติไทยต้องอพยพลงมาทางใต้อย่างขนานใหญ่ในสมัยหยวน (สมัยหงวน) ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบว่าชนชาติไทยนั้นอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์

สรุปแล้ว ชนชาติไทยในดินแดนพายัพต่างพากันแยกย้ายลงมาทางตอนใต้ เช่น สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร อู่ทอง นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ไชยา และนครศรีธรรมราช เป็นต้น  คนไทยที่เข้ามายังพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา แม่น้ำโขง และเลยไปทางลุ่มแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอิระวดี ล้วนแต่นับถือพุทธศาสนาด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงนับถือพราหมณ์เป็นครูอาจารย์ จึงพากันนับถือศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์นั้นด้วย

ด้านลาวนั้น ก็ได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองเชียงแสนมาตั้งแต่ พ.ศ.๑๖๐๐ ในตำนานกล่าวถึงผู้เป็นต้นวงศ์ของลาว ว่า ลาวจก หรือลวจักกราช เป็นเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ลวจักกราช ราชวงศ์เชียงแสน มีเจ้าแผ่นดินจากราชวงศ์นี้ขึ้นครองเมือง ปกครองมณฑลพายัพสืบต่อมาหลายองค์ ต่อมาพวกไทยต่างก็พากันอพยพลงมาครอบครองบ้านเมืองในพายัพและตั้งอาณาจักรล้านนาไทยขึ้น

อาณาจักรล้านนาไทยนั้น เดิมมีเมืองขนาดเล็กที่มีอิสระต่อกัน ๓ เมือง ได้แก่ เมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) เป็นลูกหลวงของขอมละโว้ มีฐานะเป็นราชธานีปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ อยู่ในอำนาจขอม มีพระนางจามเทวีเป็นปฐมราชวงศ์ครองเมืองหริภุญชัยร่วมกับเมืองนครเขลางค์ (เมืองลำปาง)   เมืองเงินยาง (เมืองเชียงแสน) มีเจ้าแผ่นดินราชวงศ์เชียงแสนครองเมืองเช่นกัน ภายหลังเมืองพะเยาได้รวมเข้าอยู่ในอาณาจักรล้านนาไทย

เจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งชื่อขุนเจืองเป็นผู้มีอานุภาพเข้มแข็งสามารถตีได้เมืองหลวงพระบางถึงเมืองญวน แล้วสิ้นพระชนม์ในสงคราม  ราชวงศ์ของขุนเจืองมีเชื้อสายสืบรวมถึงขุนเม็งรายผู้สร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ และขุนงำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ต่างเป็นอิสระร่วมสมัยเดียวกันกับพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย

ส่วนการที่เมืองแพร่ เมืองน่าน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาณาจักรล้านนาไทยนั้น เนื่องจากเมืองทั้งสองเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกับกรุงสุโขทัย

เรื่องราวของราชวงศ์แผ่นดินพายัพนั้น ยังเล่าว่า เดิมมีราชวงศ์สิงหลวัติ กษัตริย์เชียงแสน ราชวงศ์เดียวที่ปกครองและมีเชื้อสายเป็นกษัตริย์ถึง ๓๘ พระองค์ สมัยพระเจ้าพังคราช กษัตริย์เชียงแสนพระองค์นี้ได้ครองเมืองหลวง คือ เวียงชัยบุรี  ครองโดยพระเจ้าพังคราชและพระเจ้าทุกขิตต พระโอรสองค์ใหญ่ เวียงชัยปราการ ครองโดยพระเจ้าพรหมมหาราช มีพระโอรสชื่อ พระเจ้าชัยศิริ ครองโดยพระเจ้าเรือนแก้ว ผู้เป็นพระอนุชา และเวียงพังคำ (หรือเวียงสีทอง) มีพระญาติซึ่งเป็นสตรีมาครอง

ภายหลังเชื้อสายของกษัตริย์จากสี่เวียงหรือราชวงศ์นี้ ได้พากันยกไพร่พลมาครองเมืองต่างๆ มีอำนาจอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิและดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เมืองศรีสัชนาลัย เป็นเมืองของพระนางประทุมเทวี พระมเหสีของพระเจ้าเมืองสุโขทัย ภายหลังขุนบางกลางหาวกับขุนผาเมือง จากราชวงศ์ชัยบุรีได้ร่วมกันต่อสู้อำนาจขอมทำการตั้งอาณาจักรสุโขทัย ได้เมืองไตรตรึงษ์ (เมืองแพรกศรีราชา อยู่ใน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท) เมืองเพชรบุรี ครองโดยพระพนมทะเลศรีวรเชษฐา ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าศิริชัย เมืองนครศรีธรรมราชครองโดยพระพนมวัง โอรสของพระพนมทะเลศรีบวรฯ ซึ่งแต่งงานกับพระนางสะเดียง ธิดาจากเวียงพังคำ และเมืองสองพันบุรี

โดยเฉพาะเมืองสองพันบุรีหรือเมืองสุพรรณภูมินั้น เมื่อกษัตริย์สวรรคตลงก็ขาดรัชทายาทสืบต่อ พระยาสร้อยหล้าแห่งเวียงชัยนารายณ์ทราบเรื่องจึงจัดขบวนไพร่พลเมืองศรีสัชนาลัยมาเมืองดังกล่าว บรรดาขุนนางเมืองสองพันบุรีเห็นท่าทีมีบุญจึงเชิญเป็นกษัตริย์ครองเมืองสองพันบุรี และเสด็จประทับที่เมืองอู่ทอง จึงเรียกนามว่าพระเจ้าอู่ทอง (สร้อยหล้า) ถือเป็นต้นราชวงศ์ชัยนารายณ์ และสถาปนาราชวงศ์กษัตริย์ขึ้นเป็นราชวงศ์สุวรรณภูมิ

แต่อีกความกล่าวว่า พ.ศ.๑๗๓๑ พระเจ้าผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าพรหมได้ครองเมืองและแผ่อาณาจักรได้พายัพมาจนถึงเชลียง ต่อมารามัญได้ยกทัพมาตีเมืองฝาง พระเจ้าชัยศิริสู้ไม่ได้จึงอพยพหนีลงมาทางใต้ พบเมืองร้างชื่อเมืองแปบจึงขึ้นครองเมือง ต่อมาทิวงคต และมีเชื้อสายมาครองเมืองต่อมาอีก ๔ องค์ จนล่วงมาได้ประมาณ ๑๖๐ ปี จึงปรากฏมีพระเจ้าอู่ทองขึ้น

เรื่องของพระเจ้าชัยศิรินี้ ในหนังสือพงศาวดารสังเขปเล่าว่า ราชธิดาของเจ้าเมืองแปบ (เมืองไตรตรึงษ์) ประสูติกุมารองค์หนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นบิดา จึงมีการสืบสวนเสี่ยงทายกันว่ากุมารจะรับของผู้ใด ปรากฏว่ากุมารนั้นรับข้าวก้อนจากชายผู้หนึ่ง ซึ่งได้ความว่าบิดานั้นเป็นคนทุคตะ ชื่อนายแสนปม ไม่ได้เป็นราชตระกูล เจ้าเมืองแปบเกิดละอายพระทัย จึงขับพระธิดากับกุมารนั้นไปกับนายแสนปมผู้เป็นบิดา นายแสนปมไปสร้างเมืองเทพนคร (เมืองอโยธยา) เมื่อ พ.ศ.๑๘๖๒ และขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยศิริเชียงแสน และได้นำทองคำมาทำอู่ให้กุมารนั้นนอน จึงให้นามว่าพระเจ้าอู่ทอง  พระเจ้าชัยศิริเชียงแสนครองราชย์สมบัติเมืองเทพนครอยู่ ๒๕ ปีก็เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ.๑๘๘๗ พระเจ้าอู่ทองจึงได้ครองราชย์สมบัติต่อมา

แต่มีความเรื่องพระเจ้าอู่ทองในพงศาวดารเหนือ กล่าวว่า เมื่อพระยาแกรกสวรรคตแล้วได้มีเชื้อพระวงศ์ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบมา ๓ ชั่วอายุคน ก็เกิดมีแต่ราชธิดาที่จะสืบราชวงศ์ ทำให้โชฎึกเศรษฐี อภิเษกกับราชธิดานั้นครองเมือง ไม่ปรากฏชื่อเมือง อยู่ได้ ๖ ปี ก็เกิดห่าลงเมืองจนพระเจ้าอู่ทองต้องมาสร้างกรุงศรีอยุธยาที่หนองโสน

สรุปกันว่า พระเจ้าอู่ทองนี้เป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหสี ครองราชย์สมบัติยู่ ๖ ปี เกิดโรคห่าขึ้นในพระนคร จึงย้ายมาตั้งราชธานีที่เมืองอยุธยา (จากพระราชนิพนธ์ของ ร.๔ ที่ลงโนไจนีสเรโปสิตอรี พ.ศ.๒๓๙๔)

แม้ว่าตำนานการสร้างเมืองที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเล่าขานตำนานโบราณหลายแห่ง เช่น พระยากงพระยาพาน ตำนานเมืองนครปฐม พระพันวสา ตำนานสุพรรณบุรีและเมืองกาญจนบุรี ท้าวแสนปม เมืองไตรตรึงษ์ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง และพระร่วงส่วยน้ำเมืองสุโขทัย เป็นต้น ถือว่าเป็นข้อมูลจากนิทานมากกว่าใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

อาณาจักรสยาม (กรุงสุโขทัย) ตอนบนนั้นจีนเรียกว่า “เสียมก๊ก” หรือ “เสียม” อาณาจักรสยามตอนล่าง (กรุงศรีอยุธยา) จีนเรียกว่า “หลอฮกก๊ก” ดังนั้นเมื่อมีการครองอาณาจักรสยามตอนบนและตอนล่างเป็นหนึ่งเดียวกัน จีนจึงเรียกอาณาจักรนี้ว่า “เสียม”

ด้วยเหตุนี้การจัดตั้งสยามเป็นอาณาจักรเดียวกัน จึงได้มีพวกไทยใหญ่ได้มีอำนาจครองเมืองพุกามและเป็นใหญ่ในดินแดนพม่า ทางดินแดนตอนใต้มีมะกะโท รามัญผู้ครองเมืองสุโขทัยแล้วไปตั้งตนเป็นใหญ่ครองอาณาจักรรามัญหรือดินแดนมอญมารวมราชวงศ์ของพระเจ้าราชาธิราช  สำหรับอาณาจักรสยามที่อยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีเรื่องของพระเจ้าอู่ทอง เป็นต้นราชวงศ์กษัตริย์อยู่ที่นี่ โดยเชื่อว่าพระเจ้าอู่ทองอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ด้วยมีเมืองอู่ทองอยู่ริมแม่น้ำจระเข้สามพัน ผู้ครองเมืองนี้เรียกพระเจ้าอู่ทองทุกพระองค์

กษัตริย์ราชวงศ์นี้ได้ครองเมืองอู่ทองสืบต่อมาจนถึงพระเจ้าอู่ทอง พระองค์ที่ ๓ พระองค์มีพระโอรสชื่อ ขุนหลวงพะงั่ว (ต่อมาได้เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา) และพระธิดาไม่ปรากฏพระนาม ต่อมา พ.ศ.๑๘๗๖ พระธิดาผู้นี้ได้อภิเษกกับเจ้าราม รัชทายาทจากเมืองเทพนครชัยศิริ เมื่อพระเจ้าอู่ทอง (ผู้เป็นพ่อตา) สวรรคตประมาณ พ.ศ.๑๘๗๘ เจ้ารามผู้นี้ได้ครองเมืองนามว่า พระเจ้ารามราชา ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าพระเจ้าอู่ทอง (เจ้าราม) ครองเมืองอยู่ เอกาทศรถ (พระบิดาของเจ้าราม) นั้น หลังจากครองเมืองเทพนครศิริชัยได้ ๒๕ ปี สวรรคตในปี พ.ศ.๑๘๘๖ พระเจ้าอู่ทอง (เจ้าราม) จึงได้ครองราชย์ที่เมืองเทพนครชัยศิริ ขุนหลวงพะงั่วซึ่งเป็นพี่พระมเหสีเดิมครองเมืองสองพันบุรีอยู่นั้นขึ้นไปครองเมืองอู่ทอง

ต่อมา พ.ศ.๑๘๙๐ เส้นทางน้ำในเมืองอู่ทองเปลี่ยนเส้นทางเดินทำให้เกิดโรคระบาดในเมือง จึงย้ายมาครองเมืองสองพันบุรีตามเดิม ส่วนพระเจ้าอู่ทอง (เจ้าราม) เห็นว่าเสนาราชนคร (น่าจะเป็นอโยธยา) ซึ่งเป็นเมืองท่าของเมืองละโว้ เหมาะที่จะเป็นราชธานี จึงได้ตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ที่ตำบลหนองโสน เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ โดยพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์แรก ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ครองราชย์สืบเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์สืบต่อมา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงมีพระโอรสพระองค์หนึ่ง ประสูติก่อนพระองค์จะขึ้นครองราชย์ (หากกรณีพระเจ้าอู่ทองเป็นพระโอรสของพระเจ้าศิริเชียงแสน ราชวงศ์เชียงแสน พระมเหสีผู้นี้น่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์ทางเหนือด้วย) เมืองกรุงศรีอยุธยา มีอำนาจหัวเมืองทางเหนือ จึงได้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ต่อมาพระโอรสองค์นี้ก็ได้อภิเษกกับสตรีเชื้อสายของราชวงศ์กษัตริย์ทางเหนือ และมีโอรสด้วยกัน คือ พระชัยราชา    

พระชัยราชานี้ จึงเป็นกษัตริย์ที่มีเชื้อสายทางเหนือด้วย และมีฐานะเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (เจ้าอาทิตย์วงศ์)  ต่อมาได้ครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช

คำว่า ราชวงศ์กษัตริย์ทางเหนือเดิมนั้น ปรากฏว่าคือ ราชวงศ์เชียงแสน (เมืองเงินยาง-และเจ้าชัยศิริ) น่าจะเป็นวงศ์เดียวกับราชวงศ์เชียงราย (จากพระยาเม็งราย) และเมื่อราชวงศ์นี้ได้ครองสุโขทัย จึงเป็นราชวงศ์สุโขทัย (เชื้อสายของพระร่วง)

พระเจ้าชัยศิริเชียงแสน ที่ปรากฏในตำนานว่าเป็นบิดาของพระเจ้าอู่ทองนั้น หากเชื่อว่าเป็นพระเจ้าครองเมืองชัยศิริหรือศิริชัยอย่างพระนามพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าอู่ทองแล้ว หมายความได้ว่า พระเจ้าชัยศิรินี้น่าจะตั้งอยู่ที่เมืองชัยศิริ หรือศิริชัย คือเมืองนครปฐม หรือเมืองนครปฐมนั้นร้างมาเกือบ ๑๐๐ ปี ตั้งแต่พระเจ้าอนุรุธตีเอาเมืองและกวาดต้อนขึ้นไป (จากพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตเลขา)  ดังนั้น พระเจ้าอู่ทองได้ครองเมืองและเมืองนครปฐม ก็ดูจะเหมาะสมเด้วยอยู่ใกล้กันมากกว่าเมืองเทพนคร (อยู่ใต้เมืองกำแพงเพชรลงมา)

ดังนั้น เมื่อ พ.ศ.๑๗๓๑ ราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองที่อพยพลงมาครองเมืองอู่ทอง (หรือเมืองนครปฐม) สืบพระวงศ์ต่อกันมาถึง ๑๖๐ ปี คือ พ.ศ.๑๘๙๓ จึงเกิดพระเจ้าอู่ทอง ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้น ในระหว่างนี้ (ช่วง ๑๖๐ ปี) อาณาจักรสุโขทัยก็มีพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์พระร่วงครองราชย์แล้ว ๔ พระองค์ โดยได้สร้างเมืองนครชุม (เมืองกำแพงเพชร) ขึ้นเป็นราชธานีฝ่ายตะวันตกริมแม่น้ำพิง (หรือไตรตรึงษ์ เมืองที่สร้างใต้กำแพงเพชร)

สรุปแล้ว ดินแดนสยามประเทศนั้น มีการรวมตัวเป็นใหญ่ตั้งตนเป็นอิสระอยู่ ๒ อาณาจักร คือ อาณาจักรสยามที่มีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และอาณาจักรล้านนาไทยหรือหริภุญชัย มีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี จนถึง พ.ศ.๑๘๙๓ จึงเกิดอาณาจักรสยามที่มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีโดยพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์กษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา  ดังนั้น พระเจ้าอู่ทองจึงทรงเป็นเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์ทางเหนือ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าชัยศิริเชียงแสน นั่นคือสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เชียงแสนนั่นเอง แต่ได้ครองเมืองอู่ทองจึงเป็นราชวงศ์อู่ทอง หรือราชวงศ์สุพรรณภูมิในฐานะราชบุตรเขยได้อีกทางหนึ่ง

บุคคลในราชวงศ์ที่สืบต่อจากพระเจ้าอู่ทองนี้ได้เป็นกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ต่อมาอีกหลายพระองค์ และได้มีการแย่งชิงอำนาจและสับเปลี่ยนราชวงศ์กษัตริย์กันต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๓๑๐ จึงมีเหตุการณ์สงครามและเสียกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีการกู้ชาติตั้งราชธานีแห่งใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรีศรีสมุทรและกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ




ภาพจาก : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย

๑.พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ขุนบางกลางหาว)
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เดิมคือ ขุนบางกลางหาว (ชื่อ “ร่วง” ในสิหิงคนิทานว่า รณรงโค แปลว่า พระร่วงนักรบ) เจ้าเมืองบางยาง (เมืองนครไทย) ได้ร่วมกับขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ทำการยึดอำนาจขอม และครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๗๖๒ (คนอำเภอนครไทย เรียก พ่อขุนบางกลางท่าว)

เรื่องศักราชการยึดอำนาจจากขอมและการขึ้นครองราชย์นั้นสรุปไม่ได้ มีบางแห่ง (ศจ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร) สรุปว่าครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๗๖๒-๑๗๘๑ (๑๙ ปี) บางแห่งว่าครองราชย์ราว พ.ศ.๑๗๙๒ บางแห่งว่าพระองค์ทรงตั้งอาจักรสยามที่เมืองสุโขทัย ทำการขับไล่ขอมเมื่อ พ.ศ.๑๗๖๒ บางแห่งระบุว่าปีครองราชย์ประมาณ พ.ศ.๑๘๐๐ ทำให้เกิดปัญหาเวลาการครองราชย์ของขุนบางเมืองต่อไป

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีมเหสีพระนามว่า “นางเสือง” (เป็นพระธิดาของพ่อขุนศรีนาวนำถุม) ทรงมีพระโอรสธิดารวม ๕ องค์ เป็นโอรส ๓ องค์ ธิดา ๒ องค์  โอรสองค์ใหญ่ไม่ปรากฏพระนาม ด้วยสิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังเยาว์วัย องค์ที่สองคือ บานเมืองหรือปาลราช องค์ที่สามเดิมไม่มีพระนาม แต่พอไปชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด (เมืองตาก) มีความชอบจึงประทานชื่อ (หรือชื่อตามยศศักดิ์) ว่า พระรามคำแหง ในหนังสืออื่น เรียก รามราช ส่วนธิดาอีก ๒ คนไม่ปรากฏพระนาม

การขึ้นครองเมืองสุโขทัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ขุนบางกลางหาว) นั้น แม้สามารถขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกไปจากเขตเมืองได้ ก็ยังทำให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์รู้สึกกังวลต่อฐานอำนาจเดิมที่พ่อขุนศรีนาวนำถุมมีอยู่แต่เดิม (ไม่ค่อยจะมั่นคง) แม้ขุนผาเมืองจะไม่ครองเมืองสุโขทัยแทนพระบิดา หรือเห็นว่านางเสือง เป็นมเหสีของขุนบางกลางหาวอยู่แล้วก็ตาม ขุนผาเมืองก็ยังระแวงว่ากำลังจากอาณาจักรขอมนั้นจะยกเข้ามาทำสงครามชิงเมืองคืน ขุนผาเมืองจึงกลับไปครองเมืองราดเพื่อให้มเหสีคือนางสิขรมหาเทวี ซึ่งเป็นพระธิดากษัตริย์ขอมเป็นผู้เชื่อมไมตรีกับพระบิดาคือพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๗  ดังนั้น ขุนผาเมืองจึงให้ขุนบางกลางหาว รับเอาพระนาม “ศรีบดินทรอินทราทิตย์” (กมรเตงอัญศรีอินทราบดินทราทิตย์) และพระขรรค์ชัยศรีจากขุนผาเมืองมาใช้เป็นการป้องกันเมือง และสร้างความเป็นไมตรีต่ออาณาจักรขอมไว้ก่อน

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นครองราชย์ที่เมืองสุโขทัยได้ไม่นาน ประมาณ พ.ศ.๑๘๐๐-๑๘๐๒ ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดก็แสดงท่าทีจะชิงเมือง โดยยกทัพเข้าจะตีเอาเมืองตาก กำลังของขุนสามชน เมืองฉอดที่ยกทัพมาครั้งนี้ เข้าใจว่าน่าจะมีกำลังของขอมสบาดโขลญลำพงที่พ่ายหนีไปส่วนหนึ่งนั้นสมทบเข้ามาด้วย

ครั้งนั้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เห็นว่าหากปล่อยให้ขุนสามชนตีได้เมืองตากแล้ว ก็จะเป็นอันตรายกับเมืองสุโขทัย ดังนั้น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงยกทัพออกจากเมืองสุโขทัยพร้อมกับโอรสคนเล็ก (นามว่า พระรามราช) ซึ่งมีอายุ ๑๙ พรรษา และได้ติดตามบิดาออกสงครามด้วย

การสู้รบ ได้มีการทำยุทธหัตถีกันระหว่างขุนศรีอินทราทิตย์กับขุนสามชน และ (พระรามราช?) โอรสองค์นี้ได้เข้าชนช้างช่วยพระบิดา จนมีชัยชนะขุนสามชน ด้วยความกล้าหาญของโอรสองค์นี้ จึงได้รับการเฉลิมพระนามว่า รามกำแหง หรือ รามคำแหง

ระยะแรก เมืองสุโขทัยได้ทำการขยายอาณาเขตด้วยการทำสงครามกับเมืองต่างๆ ที่ไม่ยอมเป็นไมตรี เนื่องจากเมืองสุโขทัยเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ไม่ใช่เชื้อสายราชวงศ์ของขุนศรีนาวนำถุม ผู้ครองเมืองเดิม ขณะนั้นบรรดาเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่นิยมที่จะนับถือราชวงศ์ศรีนาวนำถุมอยู่ จึงทำให้เมืองเหล่านั้นไม่ยอมอ่อนน้อมยอมขึ้นด้วย จนพ่อขุนต้องออกทำการปราบปรามเมืองต่างๆ ในที่สุด เมืองเหล่านั้นก็ยอมอ่อนน้อม

ในที่สุดเมืองสุโขทัยก็สามารถขยายเขตของอาณาจักรได้กว้างขวาง ทำให้เมืองสุโขทัยสามารถวางรากฐานอาณาจักรมั่นคงและสามารถรวบรวมชนชาติไทยเป็นหนึ่งเดียวกันได้ โดยเฉพาะเชื้อพระวงศ์ของขุนศรีนาวนำถุม ได้อยู่รับราชการกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ด้วยคือพระยาคำและพระราม เป็นพระอนุชาของขุนผาเมือง ซึ่งมีพระโอรสคือ ขุนศรีสัทธา ภายหลังได้บวชในพุทธศาสนาลังกาวงศ์ และได้เป็นสังฆราชเมืองสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคตปีใดนั้นไม่มีหลักฐาน บางแห่งว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคตราว พ.ศ.๑๘๒๒ ขุนบางเมืองหรือพญาปาลราช โอรสองค์ที่สองได้ครองเมืองสุโขทัยต่อมา



กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง (ภาพฝีพระหัตถ์ รัชกาลที่ ๖)


นางเสือง

๒.พ่อขุนบานเมือง (ขุนปาลราช)
พ่อขุนบานเมืองหรือขุนปาลราช โอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ขุนบางกลางหาว) บางแห่งระบุชื่อว่า ขุนบางกลางเมือง ขึ้นครองราชย์ปีใดไม่ปรากฏ สันนิษฐานว่าขุนบานเมือง ครองเมืองสุโขทัยสืบต่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ที่สวรรคตประมาณ พ.ศ.๑๘๒๒ แล้วครองเพียง ๑ ปีจึงสวรรคต หากสันนิษฐานว่าขุนบางเมืองครองราชย์ประมาณ พ.ศ.๑๗๘๑ ต่อจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ครองราชย์คือ พ.ศ.๑๗๖๒-๑๗๘๑ (๑๙ ปี) ก็หมายความว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์นั้นสวรรคตประมาณ พ.ศ.๑๗๘๑ ด้วย ทำให้ช่วงเวลาของรัชกาลนี้มีระยะเวลานานถึง ๔๑ ปี เป็นเวลานานพอที่จะมีการสร้างวัดหรือโบราณสถานหรือมีเหตุการณ์สำคัญบ้าง แต่รัชกาลนี้ไม่มีเหตุการณ์อะไรมากนัก จึงเชื่อว่าขุนผู้นี้น่าจะครองเมืองสุโขทัยในระยะเวลาสั้น

ด้วยเหตุนี้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จึงน่าจะครองเมืองสุโขทัยเป็นเวลานานประมาณ ๑๙-๒๒ ปี คือ พ.ศ.๑๗๖๒-๑๗๘๑ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เมืองสุโขทัยวางรากฐานอาณาจักรและขยายอาณาเขตให้กว้างไกลเป็นระยะเวลาที่ยังมีการปราบปรามหัวเมืองต่างๆ บางแห่งอยู่บ้าง

ดังนั้น หลังจาก พ.ศ.๑๗๘๑ จนถึงปีครองราชย์ของพ่อขุนบานเมือง คือ พ.ศ.๑๘๒๒ รวม ๔๑ ปี อาณาจักรของเมืองสุโขทัยไม่ปรากฏว่า เป็นช่วงเวลาว่างกษัตริย์ หรือเป็นช่วงเวลาที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครองราชย์ ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๐๐-๑๘๒๒ (๒๒ ปี) มากกว่า เพราะดูจะสมกับระยะเวลาครองราชย์ และขุนบานเมืองนั้นครองราชย์ได้ ๑ ปี ใน พ.ศ.๑๘๒๒


๓.พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหง โอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นพระอนุชาของขุนบานเมือง ได้ครองเมืองสุโขทัยสืบต่อจากพ่อขุนบานเมือง ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา ประมาณก่อน พ..๑๘๒๐ บางแห่งว่าครองราชย์ พ.ศ.๑๘๒๒-๑๘๔๒

พ่อขุนผู้นี้ทรงทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎร และปกครองไพร่ฟ้าประชาชนแบบพ่อปกครองลูกและโปรดให้แขวนกระดิ่งอันหนึ่งไว้ที่ประตูพระราชวัง เมื่อประชาชนเดือดร้อนก็สามารถสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ต่อพ่อขุนรามคำแหงให้ออกมาตัดสินปัญหาได้

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงให้สร้างพระแท่นมนังคสิลาบาตรด้วยขดารหินชนวนที่นำมาจากภูเขาใกล้เมืองสุโขทัยโดยตั้งไว้กลางดงตาล เพื่อให้พระสงฆ์นั่งเทศนาสั่งสอนธรรมแก่ไพร่พร้าประชาชนในวันพระ ปัจจุบันพระแทนมนังคศิลาบาตรนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ

พ.ศ.๑๘๒๕ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ขยายอาณาเขตของอาณาจักรไปยังดินแดนใกล้เคียง โดยมีความสัมพันธ์กับเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองกาว เมืองลาว ชุมชนคนไทบริเวณแม่น้ำอูและแม่น้ำโขง

ในประวัติศาสตร์กัมพูชาบันทึกว่า กองทัพสยามนั้นเข้ารุกรานกัมพูชา และจดหมายเหตุญวนก็บันทึกว่า กองทัพสยามไปรุกรานจามปา สรุปแล้วในรัชกาลนี้อาณาจักรของชาวสยามมีอาณาเขตกว้างขวางไปยังดินแดนกัมพูชาและอาณาจักรจามปาด้วย

แต่พ่อขุนรามคำแหงนั้น ไม่ขยายอาณาเขตไปทางดินแดนเหนือ เนื่องจากขุนผู้นี้ทรงมีพระสหายสนิทเป็นผู้นำของชาวสยามเช่นกัน กล่าวคือ พ่อขุนเม็งราย (พระยาเม็งราย) ผู้ครองเมืองเชียงราย และพ่อขุนงำเมือง (พระยางำเมือง) ผู้ครองเมืองพะเยา (เมืองภูกามยาว) ขุนผู้นี้เป็นโอรสของขุนมิ่งเมือง ประสูติ พ.ศ.๑๗๘๑ สืบเชื้อสายจากเจ้าขอมผาเรียง เมื่ออายุได้ ๑๔ พรรษา ได้ศึกษาอยู่กับสำนักสุกทันตฤษีที่เมืองละโว้ รวมอาจารย์กับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กลับครองเมืองจนถึง พ.ศ.๑๘๐๑ ซึ่งทั้งสามพ่อขุนนี้ได้มีสัมพันธไมตรีต่อกันเป็นอย่างดี อาณาจักรของเมืองสุโขทัยนั้นยังมีความสัมพันธ์กับเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ด้วยคืออาณาจักรสุวรรณภูมิ (เมืองสุพรรณบุรี) อาณาจักรตามพรลิงค์ (เมืองนครศรีธรรมราช) ส่วนด้านตะวันตกนั้นมีความสัมพันธ์กับเมืองฉอดและเมืองหงสาวดี

พ.ศ.๑๘๒๕ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้มีสัมพันธไมตรีกับชาติจีน ในจดหมายเหตุจีนบันทึกไว้ว่า กุบไลข่านหรือพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ ได้ส่งคณะทูตเดินทางมาแคว้นสุโขทัย แต่คณะทูตจีนเดินทางมาไม่ถึง เพราะในระหว่างการเดินทางนั้นคณะทูตจีนได้ถูกพวกจามจับกุมประหารชีวิตเสียก่อน

การประดิษฐ์ลายสือไท
ในพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ อักษณพราห์มี สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นตัวอักษรที่ถูกนำมาใช้เผยแพร่และเป็นต้นกำเนิดของอักษรสันสกฤต (อักษรคฤนถ์) ในสมัยราชวังศ์ปัลลวะที่ใช้กันเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๓ จนมีการนำอักษรสันสกฤตสมัยราชวงศ์ปัลลวะ มาใช้ในดินแดนสุวรรณภูมิ ต่อมาอักษรสันสกฤตนี้ได้เป็นต้นกำเนิดของอักษรขอม อักษรขอมไทย ที่คนไทยใช้คัดลอกคัมภีร์พุทธศาสนาและตำราวิทยาการที่มาจากอินเดียโบราณ



กระดิ่งหน้าวัง (จำลอง)
เมื่อประชาชนเดือดร้อนก็สามารถสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ต่อพ่อขุน
ภาพจาก : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ต่อมา พ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงคิดค้นประดิษฐ์ลายสือไทหรืออักษรไทยขึ้นจากอักษรโบราณดังกล่าว แล้วโปรดให้ทำการจารึกไว้ในแท่งศิลาหินชนวนสี่เหลี่ยมสูง ๑๑๑ เซนติเมตร ในปี พ.ศ.๑๘๓๕ มีข้อความปรากฏในตอนหนึ่งว่า “ใส่ลายสือไทนี้ ลายสือไทนี้จึงมีพ่อขุนผู้นั้นใส่ไว้” แปลเป็นความได้ว่า “แต่ก่อนนี้อักษรภาษาไทยยังไม่มี เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้มีความสนใจประดิษฐ์อักษรภาษาไทย อักษรภาษาไทยจึงเกิดขึ้น แล้วพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงให้จัดทำอักษรไทยใส่ไว้ในศิลาจารึกนี้” (ปัจจุบันศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ นี้ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ)

นอกจากนี้ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังมีข้อความที่กล่าวถึง คนไทกลุ่มอื่นที่มีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัย คือ “ชาวอู ชาวของ” ซึ่งหมายถึงชนชาติที่อยู่ลุ่มแม่น้ำอู แม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังกล่าวถึง บ่อน้ำในตระพังโพยกลางกรุงสุโขทัย ว่า “สีใสกินดีเหมือนน้ำโขงเมื่อแล้ง” แสดงว่าชาวสุโขทัยสมัยนั้นได้มีความสัมพันธ์กับชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำอูและแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด

ในสมัยขุนผู้นี้มีมอญชื่อว่า “มะกะโท” ได้เดินทางเข้ามาทำราชการอยู่ในเมืองสุโขทัย โดยเป็นตะพุ่นหญ้าให้ช้าง ต่อมาได้พาพระธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชออกไปตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมืองรามัญ ด้วยการสนับสนุนของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยพระราชทานนามว่าพระเจ้าฟ้ารั่ว และมีความว่า ใน พ.ศ.๑๘๒๔ มะกะโทสามารถเอาชนะอลิมาง ตีได้เมืองเมาะตะมะซึ่งอยู่ในอำนาจของเมืองสุโขทัย ทำให้เชื่อว่าพ่อขุนรามคำแหงนั้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองสุโขทัยมาก่อน พ.ศ.๑๘๒๔ แล้ว คือ ประมาณ พ.ศ.๑๘๒๒ ในศิลาจารึกยังกล่าวอีกว่า เมืองหงสาวดีเป็นเมืองขึ้นสุโขทัยมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนรามคำแหง

สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น ได้ทำการขยายอาณาจักรสุโขทัยอย่างกว้างขวาง ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า
ทิศเหนือ ได้เมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดจนเมืองชวา (เมืองหลวงพระบาง) ไว้ในพระราชอาณาจักร
ทิศตะวันออก ได้เมืองสระหลวง (โอฆบุรี-เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตก) เมืองแคว (เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออก) เมืองลม (เมืองหล่มเก่า) เมืองบาจาย (ในลุ่มน้ำป่าสัก) เมืองสระคา (น่าจะเป็นเมืองบาจาย ในลุ่มน้ำป่าสัก) เมืองสระคา (น่าจะเป็นเมืองหนองหาน-สกลนคร) รวมไปถึงฝั่งแม่น้ำโขงถึงเมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงคำ (อยู่ในเมืองเวียงจันทน์ ยังไม่รู้ว่าที่ใด)
ทิศใต้ ได้เมืองคณที (เข้าใจว่าเมืองพิจิตร) เมืองพระบาง (เมืองนครสวรรค์) เมืองแพรก (เมืองสรรคบุรี) เมืองสุพรรณภูมิ (เมืองอู่ทอง) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราชจนถึงทะเลหน้านอกเป็นอาณาเขต
ทิศตะวันตก ได้เมืองฉอด และเมือง...(ศิลาจารึกลบ แต่คาดว่าเป็นเมืองตะนาวศรี เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองตองอู) เมืองหงสาวดี จนถึงเมืองสมุทรห้า คือ อ่าวเบงกอล เป็นอาณาเขต

เมืองขึ้นของเมืองสุโขทัย มีประเทศราชอยู่หลายเมือง ที่รู้แน่ชัดมีอยู่ ๗ เมือง คือ เมืองชวา (หลวงพระบาง) เมืองน่าน เมืองอู่ทอง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองเมาะตะมะ เมืองหงสาวดี เมืองตองอู เมืองเหล่านี้ล้วนมีเจ้าครองเมืองและเกี่ยวดองกับราชวงศ์สุโขทัย นับว่าสมัยของขุนรามคำแหงมหาราช เป็นสมัยที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมาก

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงขยายอาณาเขตเข้าไปครอบครองเมืองต่างๆ โดยรอบและสร้างความสัมพันธ์กับเมืองขนาดใหญ่ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองเชียงใหม่ เป็นต้น และพระองค์ยังได้รวบรวมกำลังผู้คนและจัดตั้งเมืองบริวารให้อยู่ดูแลรอบอาณาเขต ดังจารึกว่า
ขุนรามคำแหงไปตีหนังวังช้าง และไปที่บ้านที่เมือง ได้ช้าง ได้ลวง ได้ปั่ว ได้นาง ได้เงือน ได้ทอง ก็ทรงนำมาถวายแด่พระบิดา ทำให้มีชนชาติไทย-ลาว เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองสุโขทัยเป็นอันมาก

3240  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 05 กุมภาพันธ์ 2559 15:44:23
.



• อิน-จัน ฮาเฮในอเมริกา
ฝาแฝดตัวติดกันจากปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม ที่โดนนินทาค่อนแคะโดยพ่อมดหมอผีทั้งหลาย ถูกกระแนะกระแหนว่าจะเป็นกาลกิณีนำโชคร้ายมาสู่บ้านเมือง ได้เดินทางโดยเรือบรรทุกสินค้าอเมริกาชื่อ ซาเคม ของกัปตันคอฟฟิน จากกรุงเทพฯ ผ่านมหาสมุทรครึ่งโลก รอนแรม ๑๓๘ วัน มาขึ้นฝั่งที่เมืองบอสตัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาโดยสวัสดิภาพ

อิน-จัน ฝึกการพูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษบนเรือ คุ้นเคยกับชาวต่างชาติมากหน้าหลายตา เรียนรู้ที่จะต้องอยู่รอด เรือแวะตามเมืองท่าใหญ่ๆ ที่ชาวสยามน้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสเช่นนี้

การโชว์ตัวของแฝดที่ตัวเชื่อมติดกัน (Cojoined Twins) ได้รับการรับรองจากแพทย์ทุกคนในอเมริกาว่าเป็นของจริง ไม่ใช่นักมายากลมาหลอกเอาเงิน การแสดงของอิน-จัน เพื่อให้คนดูได้รับความบันเทิงเป็นไปด้วยความราบรื่น มีมุขตลก ลูกเล่นลูกฮา ตระเวนไปแสดงตามสถานที่ต่างๆ ในบอสตันเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ

แพทย์ทุกคนที่มาตรวจ มาขอจับไอ้โน่น ตรวจไอ้นี่ ในร่างกายของแฝดหนุ่ม ก็จำต้องอดทนทำตามสัญญาที่ลงนามไว้ที่บางกอกกับกัปตัน คอฟฟินและนายฮันเตอร์ ทั้งสองคนเบื่อๆ อยากๆ แต่ก็สนุกกับการพบปะผู้คนในอเมริกา

พูดถึงเรื่องหนังสือสัญญาภาษาอังกฤษที่กัปตันคอฟฟินและนายฮันเตอร์เขียนให้นางนากแม่ของอิน-จัน ลงนาม เมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว มีอิน-จันลงชื่อและมีนายเทียนเซ้งเป็นพยานนั้น คุณอริยา จินตพานิชการ ผู้เขียนหนังสือคู่กันนิรันดร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ ระบุว่า เอกสารสัญญาตัวจริงฉบับประวัติศาสตร์นี้ยังคงเก็บรักษาไว้ที่ตู้นิรภัยธนาคารเฟิร์สท์ซิติเซ่น สาขาซูรี่เคาน์ตี้ เจ้าของเอกสารนี้คือสมาคมประวัติศาสตร์แห่งซูรี่เคาน์ตี้ ที่ไปประมูลเอาสัญญาฉบับนี้มาเพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลัง ลูกหลานเหลนของแฝดอิน-จัน ได้รู้หัวนอนปลายตีนของตน

เหลือเชื่อครับ แต่ก็เป็นความจริง เรื่องราวที่เป็นเศษเสี้ยวชีวิตอิน-จัน ที่เป็นคนแสนจะธรรมดาจากสยามประเทศ แฝดจากปากน้ำแม่กลองเป็นแค่เศษผงธุลีของกาลเวลา กลายไปเป็นคนสำคัญในอเมริกา คนอเมริกันเก็บรักษาหนังสือสัญญาที่เหมือนเศษกระดาษชิ้นนี้ไว้ และจากการตรวจสอบของผู้เขียน ยังมีของใช้ รูปภาพ เตียงนอน เก้าอี้นั่ง ผลการตรวจร่างกายของแพทย์สมัยนั้น และเอกสารอีกหลายรายการที่เป็นของอิน-จัน ถูกเก็บรักษาไว้ให้ดูที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในรัฐนอร์ธแคโรไลนา

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นข้าราชการระดับสูงสุดผู้ดำเนินการเรื่องอิน-จัน เดินทางออกนอกประเทศสยาม บันทึกไว้ในจดหมายเหตุเรื่องคนแฝดไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒ ว่า

"กัปตันคอฟฟินไปว่ากล่าวกับบิดามารดาของเด็กแฝด ตกลงทำสัญญากันว่าบิดามารดายอมให้กัปตันคอฟฟินพาเด็กแฝดไปอะเมริกามีกำหนด๓ ปี กัปตันรับให้เงินแก่บิดามารดา ๑,๖๐๐ บาท แลสัญญาว่าจะพาเด็กมาส่งแก่บิดามารดาเมื่อครบ ๓ ปี รัฐบาลจึงอนุญาตตามประสงค์"

หลังจากอิน-จัน โชว์ตัวที่บอสตันผ่านไประยะหนึ่ง คณะของแฝดสยามได้เดินทางลงใต้ไปอีกหน่อย ไปแสดงที่เมืองโพรวิเดนซ์โรดไอแลนด์ (Providence, Rhode Island) เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาที่มีอากาศหนาวเย็นสุดสุด

แฝดหนุ่มจากสยามปรับตัวได้ดี เริ่มเจนเวที ผ่านการโชว์ตัวมาหลายรอบ จึงมีการพัฒนารูปแบบการแสดงให้น่าดู เร้าใจขึ้นไปอีก แฝดหนุ่มตีลังกาหน้า-หลังพร้อมกัน เล่นกายกรรม เล่นแบดมินตันบนเวที เล่นกับคนดูมากขึ้น การแสดงมีชีวิตชีวา มีสีสันแพรวพราว ไม่ได้ยืนนิ่งเป็นหุ่น เป็นที่ถูกใจฝรั่งยิ่งนัก แฝดหนุ่มทั้งสองภูมิใจได้สัมผัสเงิน มีรายได้จากหยาดเหงื่อแรงงานของตนในอเมริกา

ชีวิตใหม่ในอเมริกาแสนสดใส ทั้งสองเปรียบประดุจดาวฤกษ์ที่มีประกายแสงในตัวเองภายใต้ความหรรษาทั้งปวง แฝดทั้งสองแอบบ่นคิดถึงกิจการเลี้ยงเป็ด ขายไข่เป็ด ทำไข่เค็ม ที่บ้านปากน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม ที่ต้องทิ้งให้แม่และพี่น้องดูแลกิจการก่อนมาอเมริกา

ขอกราบเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพนะครับว่า บรรดาข้อมูลทั้งหลายที่บันทึกไว้เกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว เป็นการบันทึกของนักเขียนในอเมริกาเป็นหลัก เพราะแฝดอิน-จันเริ่มปรากฏกายเป็นทางการในอเมริกาเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๐ ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ มีชาวอเมริกันเขียนหนังสือเรื่องแฝดสยามขายทำเงินได้ในอเมริกา ส่วนการบันทึกในสยามแทบหาไม่ได้เลย เพราะชาวสยามในสมัยนั้นยังแทบจะไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ยังไม่มีโรงเรียน โรงเรียนที่เปิดให้ชาวสยามเรียนหนังสือ ให้อ่านออกเขียนได้อย่างเป็นทางการเริ่มมีในสมัยในหลวง ร.๕ ครับ

ก่อนตัดสินใจเดินทางไปอเมริกา แฝดทั้งสองก็เป็นแค่คนประหลาดที่แสนธรรมดาในท้องทุ่งริมแม่น้ำที่แม่กลอง แต่เมื่อไปถึงอเมริกา กลับกลายเป็นบุคคลที่มีต้นทุนรายวันที่กัปตันคอฟฟิน และทีมงานต้องถอนทุนที่ให้เงินกับนางนากแม่ของฝาแฝดและบวกด้วยกำไร

ข้อความที่ระบุไว้ในสัญญา แฝดทั้งสองจะต้องแสดงตัววันละไม่เกิน ๔ ชั่วโมง

เมืองบอสตันเป็นเมืองหลักของอเมริกา ก่อร่างสร้างเมืองจากตอนที่คนอังกฤษแห่กันออกมามาจากเกาะอังกฤษเพื่อตั้งรกราก เพื่ออิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพที่รัฐบาลอังกฤษไม่มีให้ บ้านเมืองสวยงาม เก่าแก่ ดูขรึม ในยุคหลังที่ผ่านมา ครอบครัวคนไทยที่มีเงินจะนิยมส่งลูกหลานไปเรียนที่เมืองบอสตันกันเยอะ

อิน-จัน ใช้ภาษาอังกฤษได้แบบเฮฮาปลาๆ งูๆ ในการแสดงทุกครั้ง ตระเวนไปโชว์ตัวในหลายเมืองทางฝั่งตะวันออกของอเมริกา การโชว์ตัวในที่ต่างๆ เนื่องจากคนอเมริกันเองก็ยังไม่รู้จักโลกมากนัก ผู้คนในโลกนี้ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าโลกแบน แล่นเรือไปในมหาสมุทรสุดทางถ้าไม่ระวังจะตกไปนอกโลก ไม่รู้ว่าประเทศไหนอยู่ตรงไหน ในการโชว์ตัวโฆษกฝรั่งมักจะบอกคนดูในอเมริกาว่า ประเทศสยามตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรจีนกับพม่า

เรื่องราวที่โฆษกฝรั่งจะกระตุกความสนใจจากคนดูให้เข้ามาดูโชว์ตัวฝาแฝด ก็จะแหกปากตะโกนร้องว่า สยามคือดินแดนที่มีมนต์ขลัง ดินแดนที่มีช้างสีขาว (ช้างเผือก) สยามมีงูขนาดยักษ์ มีงูพิษ มีปีศาจ คนสยามมีเวทมนตร์ มีคาถาอาคม อาณาจักรสยามมีวิญญาณของนักรบโบราณสิงอยู่คอยปกป้องคุ้มครอง

เป็นธรรมดานะครับ ถ้าจะหลอกล่อผู้คนให้จ่ายเงินเข้ามาดูคนประหลาดตัวติดกัน ก็ต้องละเลงสีสัน บรรยายให้เร้าใจว่า แฝดคู่นี้ที่ตัวติดกันก็เพราะมาจากดินแดนที่ลี้ลับมหัศจรรย์พิสดารแบบสยาม

อิน-จัน ก็เก่งนะครับ เอาไงเอากัน ให้โชว์ตัวได้เงินก็สนุกกับชีวิต ทั้งสองยังคงไว้ผมเปียหางยาวถึงกลางหลัง แต่งตัวแบบชาวจีน สะดุดประหลาดตาน่ามองยิ่งนัก

โฆษกฝรั่งหน้างานยังโม้ต่อไปอีกว่า ดินแดนสยามเต็มไปด้วยเพชร กลาดเกลื่อนไปด้วยอัญมณีล้ำค่า ในสยามมีทองคำ ชาวสยามร่ำรวยหรูหราใช้ผ้าไหมคลุมเตียงนอน ชาวสยามมีความเก่งกาจในการพยากรณ์ ทำนายโชคชะตาในอนาคต

การโหมโรงโฆษณาแบบนี้เป็นพิธีกรรม ฝรั่งแหกตาฝรั่งกันเองในแนวภาพยนตร์เรื่อง ขุมทองแมคเค็นน่า หรือเรื่องประเภทขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า หรือแนวอินเดียน่า โจนส์ ที่เป็นหนังทำเงินมหาศาล เพื่อให้แฝดอิน-จันเกือบจะเป็นสัตว์ประหลาดที่ไม่ดูไม่ได้

เทคนิคการโฆษณาหาเงินแทบจะเหมือนกันหมดทั้งโลก หลอกล่อยั่วยุให้เสียเงิน ถ่มถุยกันไปมา ขำๆ ครับ อย่าไปถือโทษโกรธเคืองกัน

เกร็ดเรื่องราวที่ฝรั่งแอบสังเกตเห็นไลฟ์สไตล์ของชาวสยามและนำไปเขียนหนังสือเรื่องหนึ่ง คือเรื่องความเชื่อ ค่านิยมของแฝดอิน-จัน ที่เมื่อตระเวนไปโชว์ตัวตามที่ต่างๆ และต้องหาที่พักค้างแรม สิ่งที่ทำความลำบากใจให้กับทีมงานคือ อิน-จัน จะไม่ยอมพักในห้องชั้นล่างที่มีคนอยู่ชั้นบนของอาคาร นี่เป็นความเชื่อของผู้คนในเมืองสยามที่จะไม่ยอมให้ใครมาอยู่เหนือศีรษะตน ห้ามจับศีรษะ เพราะไม่เป็นมงคล ศีรษะชาวสยามเป็นของสูง แม้กระทั่งเรือในแม่น้ำที่ต้องแล่นลอดสะพานจะไม่ยอมลอดผ่านสะพานที่มีคนเดินข้างบน

ซึ่งก็เป็นความจริงครับ ผู้เขียนเองตอนเด็กๆ ก็เคยได้รับการบอกกล่าวในแนวนี้เช่นกันว่า ถ้าเป็นผู้ชายอย่าไปมุด อย่าไปลอดราวตากผ้าของผู้หญิงเด็ดขาดเพราะเทพเทวดาที่อยู่รักษาและสิงสถิตในตัวเราจะหนีจากทันที เวทมนตร์ในตัวเราจะเสื่อม ชีวิตเราจะไม่ปลอดภัย เราก็ต้องเชื่อไว้ก่อน เพราะกลัวเทวดาจะหนีจากเราไป

ฝรั่งพรรณนาต่อไปว่า ทุกพื้นที่ในสยามศักดิ์สิทธิ์ไปหมด ในป่า ภูเขา แม่น้ำลำธาร มีเทวดา มีพระภูมิเจ้าที่ มีวิญญาณของคนตาย วนเวียนคอยปกปักรักษาและเป็นเจ้าของสถานที่ตรงนั้น ต้นไม้ใหญ่ทุกต้นในป่ามีเทพารักษ์ที่เปรียบได้กับเทวดาสิงอยู่ทุกต้น ต้นไม้บางต้นถ้าเอาขวานไปฟันไปโค่นเทพารักษ์จะเจ็บปวดร้องไห้ออกมาให้เห็นเป็นหยดน้ำตาตรงรอยขวาน งูใหญ่ตัวสีขาวจะได้รับการกราบไหว้ว่าเป็นงูเจ้า ยิ่งถ้างูใหญ่สีขาวไปพันตัวล้อมต้นกล้วยที่มีหัวปลีออกกลางต้น จะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ชาวสยามแทบจะหยุดทำมาหากินไป ๒-๓ วัน เพื่อตีความพยากรณ์ล่วงหน้า ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นเรื่องของนางฟ้าเทวดา ที่เป็นผู้บันดาล

ทุกเรื่องที่แปลกประหลาด เรื่องที่ไม่มีคำตอบ ไม่มีที่มาที่ไปจะถูกจัดให้เป็นเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเคารพกราบไหว้ เป็นเรื่องของนานาจิตตังครับ

สนุกสนาน ครึกครื้นกันไปครับ จะสูงต่ำดำเตี้ย ผิวขาว ผิวเหลือง ผิวดำ ก็มีเรื่องผู้ใหญ่หลอกเด็ก แหกตากันไปมาทั้งโลก มากบ้างน้อยบ้าง ไม่ว่ากัน

ความเชื่อและพิธีกรรมในชีวิตประจำวันของชาวสยาม ชาวตะวันตกสังเกตเห็น มองว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาพุทธ พราหมณ์ ฮินดู ที่ชาวสยามส่วนหนึ่งยึดถือในการดำรงชีวิตประจำวัน

ในสมัยนั้นประเทศสยามแทบไม่มีการสร้างอาคาร ๒ ชั้นเพราะไม่จำเป็น และจะไม่มีใครยอมอยู่ชั้นล่าง ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของแฝดสยามทำเอาฝรั่งเพื่อนร่วมงานที่พาอิน-จัน ตระเวนโชว์ตัวปวดหัวจัด เพราะนี่มันอเมริกา โรงแรมมันก็หลายชั้น อิน-จันจะต้องนอนชั้นบนสุดของอาคารทุกครั้ง

ผ่านไปนานพอควร แฝดหนุ่มจากปากน้ำแม่กลองจึงยอมรับสภาพของที่พักในอเมริกาที่ต้องนอนชั้นล่างที่มีคนอยู่ชั้นบนได้ ยอมให้มีคนอยู่ชั้นบนเหนือศีรษะ และก็ไม่เห็นมีความซวย ความพินาศอุบาทว์บังเกิดขึ้นแต่อย่างใด ฝรั่งแอบไปซุบซิบนินทาต่อไปอีกว่า ชาวสยามเป็นคนถือโชคถือลาง มีฤกษ์พานาทีในการดำรงชีวิต มีเวทมนตร์ การตัดสินใจของชาวสยามในบางเรื่องมักใช้ข้ออ้างว่าแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้า แล้วแต่โชควาสนา แล้วแต่บุญแต่กรรม

ความเชื่อ ไม่เชื่อ นับถือ ไม่นับถือ ภูต ผี ปีศาจ ผีฝรั่งก็แลบลิ้นปลิ้นตา ผีไทยก็แบบแม่นาคพระโขนง ที่ยื่นมือลงไปเก็บลูกมะนาวใต้ถุนบ้านนั่นแหละ ก็เป็นสิ่งที่ปะปนแฝงอยู่ในสังคมมนุษย์ทุกหมู่เหล่าทั้งโลกล่ะครับ

อิน-จัน แสดงตัวอยู่ในเมืองทางฝั่งตะวันออกของอเมริการาว ๒ เดือนเศษ พบปะผู้คนที่มีทั้งหวาน ทั้งขม แต่แฝดอิน-จันก็ยังคงกอดคอกันสู้งานการโชว์ตัวแบบกระฉับกระเฉง

แฝดหนุ่มไม่ได้ข่าวจากนางนากเลย ในเวลาเดียวกัน นางนากก็มิรู้จะทำเยี่ยงไรที่จะทราบความเป็นอยู่ของลูกแฝด

เป็นที่น่าภูมิใจนะครับ คำว่า Siamese Twins หรือแฝดสยาม เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้น เกิดการใช้แพร่หลายในวงการแพทย์ในวงสังคม บางครั้งเป็นการอุปมาอุปมัย คำๆ นี้บังเกิดขึ้นในโลกเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันครับ

เสร็จจากโปรแกรมโชว์ตัวที่โรดไอแลนด์ ทีมงานแฝดสยามคิดการใหญ่ ทำเงินก้อนโต วางแผนไปตระเวนปรากฏตัวในมหานครนิวยอร์ก (New York) เมืองอลังการระดับต้นๆ ของโลกที่ใครก็ฝันถึง

ผู้เขียนขอย้อนยุคบรรยากาศในมิติด้านสังคมความเป็นอยู่ของสังคมในอเมริกาบางส่วนมานำเสนอ เพื่อประดับอารมณ์ของท่านผู้อ่านที่เคารพพอสังเขปครับ

อิน-จัน เข้าไปถึงอเมริกาโดยเรือสินค้าในห้วงเวลาใกล้เคียงกับทาสผิวดำถูกลำเลียงมาขายในอเมริกาจำนวนมาก การแบ่งสีผิว ขาวและดำ เห็นได้ด้วยตาเปล่า คนผิวดำที่พ่อค้าซื้อมาจากแอฟริกามาทางเรือเหมือนหมูหมาสัตว์ป่า ถูกนำมาประมูลขายตามท้องถนนในอเมริกาให้คนผิวขาวซื้อเอาไปใช้งาน โดยเฉพาะรัฐทางตอนใต้ของอเมริกา ต้องการใช้ทาสจำนวนมากเพื่อทำการเกษตร

ตำนานเรื่องทาส เกิดมาราวสมัยอาณาจักรโรมันรุ่งเรือง กองทัพโรมันอันเกรียงไกรบุกตะลุยรบชนะ ปราบกองทัพเมืองต่างๆ ได้เกือบหมดทวีปยุโรป นับได้ว่าเป็นมหาอำนาจของโลก เก็บกวาดยึดเอาของมีค่าจากทุกเมืองไปเป็นสมบัติของจักรพรรดิโรมัน รวมทั้งกวาดต้อนเอาผู้คนทั้งหลายที่แพ้สงครามไปเป็นแรงงานที่ต้องทำงานหนักให้กับอาณาจักรโรมันที่แสนจะรุ่งเรืองสวยงามตระการตาเชลยศึกเหล่านี้คือทาสไม่ถือว่าเป็นคน

ทาสรุ่นแรกๆ ถูกขายออกจากยุโรปไปอเมริกาครับ เมื่อคนดำที่เป็นทาสคือสินค้าทำเงิน ต่อมาจึงเอาเรือไปขนมาจากแหล่งกำเนิดในทวีปแอฟริกา ทาสรุ่น ๑ เนื้อแท้ดำสนิทที่ไปซื้อมาเป็นทางการ ขึ้นบกที่รัฐเวอร์จิเนีย ในปี พ.ศ.๒๑๖๒ ตรงกับช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งอยุธยาโน่น สังคมอเมริกันตอนนั้นมีทั้งพวกสนับสนุนการนำแรงงานทาสเข้ามาใช้แรงงานในอเมริกา และอีกพวกหนึ่งต่อต้านการมีทาส การซื้อทาสจากแอฟริกามาขายในอเมริกาโดยเฉพาะผู้ชายเป็นธุรกิจกำไรงาม การประมูลซื้อขายทาสในตลาดตามประวัติศาสตร์นั้น จะต้องจับทาสแก้ผ้าเปลือยกายล่อนจ้อน เพื่อดูมัดกล้าม ดูโครงสร้างทุกส่วนของร่างกายว่าจะทำงานทำเงินให้เจ้าของได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนคนไทยไปเลือกซื้อวัวควายมาใช้งาน

ผู้หญิงผิวดำจากแอฟริกาที่ถูกนำมาประมูลขายก็ไม่เว้นที่ต้องเปลือยเหมือนสัตว์ป่า ให้ผู้คนผิวขาวที่มุงดูอยู่ดูรูปโฉมโนมพรรณ ดูไฝฝ้าหน้าผมตามร่างกาย ประมูลเลือกซื้อตามความพอใจ คนขาวนำไปเป็นคนงานในบ้าน ซักผ้ารีดผ้า นำไปเป็นโสเภณี ทำงานในสวน ในไร่ สารพัดงานที่จะทำเงินตอบแทนให้ได้ เรื่องราวพรรค์นี้ ประวัติศาสตร์อเมริกันเปิดเผย หาอ่านได้ นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ให้ได้ดูกันจะ ทั้งคนขาวและคนดำ

กิจการค้าทาส (ปัจจุบันเรียกแบบดัดจริตว่า การค้ามนุษย์ : Human Trafficking) ดำเนินต่อไปจนกระทั่ง พ.ศ.๒๓๕๑ สภาคองเกรสของสหรัฐจึงออกกฎหมายยกเลิกการนำเข้าทาส

ใน พ.ศ.๒๔๐๔ความบาดหมางของสังคมอเมริกันมาถึงจุดเดือดในประเด็นเรื่องทาส และผสมกับเรื่องอื่นๆ จึงทำให้เกิดสงครามกลางเมือง รบกันอยู่ราว ๔ ปี ตายไปราว๖ แสนคน

ในปี พ.ศ.๒๔๐๘ สงครามกลางเมืองยุติ ทาสในอเมริกาถูกปลดปล่อยเป็นเสรีชน

สถิติที่น่าสนใจว่าในช่วงการค้าทาส พ.ศ.๒๐๖๙-๒๔๑๐ นั้น มีการซื้อคนจากแอฟริกามาเป็นทาสราว ๑๒.๕ ล้านคน และจำนวน ๑๐.๗ ล้านคนไปเป็นทาสในอเมริกาครับ

ชีวิตของแฝดอิน-จัน ช่วงหนึ่งเกี่ยวข้องกับทาสในอเมริกา

ในอเมริกา แฝดอิน-จัน ไม่ใช่ทาส ตระเวนโชว์ตัวในอเมริกา ๒ เดือนเศษ ข่าวเรื่องแฝดสยามดังข้ามหาสมุทรไปถึงลอนดอน จึงต้องเดินทางข้ามมหาสมุทรไปเกาะอังกฤษซะหน่อย... ไปทำอะไร? มีหวาน มีขมครับ


.



• พบรักแรกกับสาวลอนดอน
หลังจากแฝดตัวติดกัน (Cojoined Twins) จากปากน้ำแม่กลองลงเรือไปถึงอเมริกา ตระเวนโชว์ตัวทำเงินในบอสตันและอีกหลายเมืองของอเมริการวมทั้งนิวยอร์กได้ราว ๒ เดือนเศษ มีผู้จัดการแสดง (ขอดัดจริตเรียกว่าออร์แกไนเซอร์) ชาวอเมริกันชื่อกัปตันคอฟฟิน และพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อนายฮันเตอร์ ดูแลกำหนดการแสดง แฝดอิน-จันได้รับเงินเดือนตามสัญญา แฝดหนุ่มเริ่มคิดถึงแม่บังเกิดเกล้าที่สมุทรสงคราม ยังไม่ทราบข่าวว่าฝรั่งสองคนนี้ได้ให้เงินค่าเช่าตัวกับนางนาก แม่ของฝาแฝดที่ปากน้ำแม่กลองจำนวน ๑,๖๐๐ บาทครบแล้วหรือยัง

น้ำขึ้นให้รีบตัก เสียงเล่าลือเรื่องมนุษย์ประหลาดตัวติดกันจากสยาม ดังก้องกังวานจากอเมริกาไปถึงลอนดอน ซึ่งระหว่างโชว์ตัวในอเมริการาว ๒ เดือนเศษนั้น ทีมงานได้ทำการตลาดโฆษณาไปถึงลอนดอนล่วงหน้าแล้วว่า แฝดสยามจะไปโชว์ตัวในอังกฤษและต่อไปอีกหลายประเทศในยุโรป

พ่อค้าอเมริกันและอังกฤษ จ่ายเงินไปก้อนใหญ่โขเพื่อเช่าเอาตัวอิน-จันมาแสดง เลยต้องรีบถอนทุน ก็ตรงไปตรงมานะครับ สัญญาว่าจะเอาเงินให้นางนาก ๑,๖๐๐ บาท แล้วขอเอาตัวอิน-จันไปโชว์ตัวในอเมริกาและยุโรปนาน ๓ ปี ในระหว่างโชว์ตัวจะมีเงินเดือนให้อีก มันคือธุรกิจการค้า แต่จะตรงไปตรงมาหรือโกงไปโกงมา จะลำเลียงเรื่องมาเล่าต่อไปครับ

ราวกลางเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๒ เรือเดินสมุทรชื่อ Robert Edwards มีกัปตันเรือชื่อ Sherburne เป็นพาหนะนำทีมงานแฝดสยามจากท่าเรือในนิวยอร์ก ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก มุ่งหน้าไปเกาะอังกฤษ

ชีวิตมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบซะแล้ว การเดินทางครั้งนี้ อิน-จันพบว่าห้องพักของตนนั้นมันคือห้องใต้ท้องเรือที่มีค่าห้องถูกที่สุด ต้องนอนปะปนกันรวมกับคนรับใช้ของเจ้านายที่นอนอยู่ห้องชั้นบน ในขณะที่กัปตันคอฟฟินและภรรยาพักอยู่บนห้องหรู

สภาพห้องที่โกโรโกโสแบบนี้ทำให้แฝดทั้งสองไปต่อว่ากัปตันคอฟฟินแต่กัปตันก็แก้ตัวว่าเป็นความเข้าใจผิดในการจองห้อง เรื่องราวบานปลายเมื่ออิน-จันไปสอบถามความจริงกับกัปตันเรือเองซึ่งกัปตันยืนยันว่ากัปตันคอฟฟินจองมาให้แฝดสยามนอนใต้ท้องเรือแบบนี้แน่นอน ผลการประท้วงเลยได้ขยับไปนอนในห้องใหม่ที่ระดับเหนือกว่าคนรับใช้

การเดินทางที่ทำให้ทีมงานขุ่นเคืองใจกันในครั้งนี้ใช้เวลาถึง ๒๘ วัน

๑๙ พฤศจิกายน ๒๓๗๒ คณะของแฝดสยามไปขึ้นบกที่เมืองดาร์ตมัธ (Dartmouth) ทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ เพื่อเดินทางด้วยเรือเล็กต่อเข้ามหานครลอนดอน การเดินทางช่วงนี้แสนจะลำเค็ญแทบจะเอาชีวิตไม่รอด เนื่องจากเรือเจอเข้ากับพายุรุนแรงในระหว่างแล่นผ่านช่องแคบอังกฤษ ถึงขนาดที่เสากระโดงเรือหัก สมอเรือขาด แต่เรือก็นำผู้โดยสารทั้งหมดไปขึ้นบกที่ลอนดอนอย่างปลอดภัยในที่สุด

หลังจากปรับตัวอีกครั้ง ตั้งหลักได้ในลอนดอน ชีวิตของแฝดสยามก็หนีไม่พ้นเรื่องเดิมๆ ที่ประสบมาในอเมริกา ๒ เดือนเศษ

๒๔ พฤศจิกายน ๒๓๗๒ คณะแพทย์ของอังกฤษจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งลอนดอน นำคณะแห่กันมาที่อียิปเตียน ฮอลล์ (Egyptian Hall) ย่านพิคคาดิลี่ (Piccadilly) อันโก้หรูกลางกรุงลอนดอน เพื่อขอตรวจสภาพร่างกายของแฝดหนุ่มอีก คราวที่แล้วไปขึ้นบกที่อเมริกาให้แพทย์ของอเมริกาตรวจ คราวนี้มาที่อังกฤษ แพทย์อังกฤษก็ต้องตรวจเช่นกัน แพทย์อังกฤษที่ถือว่าไม่เป็นสองรองใครในโลกนี้ ต้องการทำงานวิจัยทางการแพทย์เรื่องคนแฝดตัวติดกันแข่งกับข้อมูลแพทย์ของอเมริกา

คงต้องทำใจครับ สภาพร่างกาย โครงสร้างทุกส่วนภายนอกและภายในร่างกายของแฝด อิน-จัน เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาและวิชาทางการแพทย์ที่มีคุณค่าเกินบรรยาย ในยุโรปก็มีแฝดตัวติดกันนะครับ แต่อายุสั้น อยู่แป๊บเดียวก็ตายกันหมด แต่แฝดสยามตัวติดกันคู่นี้อายุ ๑๘ ปีแล้ว เดินทางมาค่อนโลก มันมีอะไรดีถึงยังไม่ตาย แถมจะมาโชว์ตัวเอาเงินคนอังกฤษอีกด้วย

ผลการตรวจออกมาเหมือนเดิม คณะแพทย์ของอังกฤษที่มีชื่อเสียงอันดับ ๑ ของโลก ออกเอกสารลงชื่อคณะแพทย์ทั้งหมด ยืนยันว่าอิน-จันเป็นแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) จริงแท้แน่นอน ไม่ได้เอากาวทาตัว มาแหกตาผู้ดีทั้งหลายในอังกฤษ

เมื่อผ่านการตรวจร่างกายทุกซอกทุกมุม ทุกรูขุมขนจากคณะแพทย์ราชวิทยาลัย ศัลยแพทย์รับรองว่าเป็นแฝดตัวติดกันจริงที่มหัศจรรย์ยิ่ง เลยเป็นข่าวดังกระจายสำหรับการโชว์ตัวในมหานครลอนดอน

คนอังกฤษในยุคราวเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้วก็ใช่ว่าจะรู้จักดินแดนต่างๆ ในโลกนี้ อังกฤษตอนนั้นเป็นมหาอำนาจทางทะเล มีเรือปืน เรือสินค้า ไปค้าขายทั่วโลก รวมทั้งไปล่าอาณานิคมแข่งกันกับฝรั่งเศส เยอรมัน ฮอลแลนด์ โปรตุเกส สเปน

ถ้าถามว่าสยามอยู่ที่ไหน คนอังกฤษบางส่วนจะตอบว่าสยามอยู่ตรงกลางระหว่างจีนกับพม่า เพราะอังกฤษกำลังรุกเข้าพม่าเอาเป็นเมืองขึ้น และกำลังชำแหละดินแดนของจีนมาแบ่งกันเป็นอาณานิคม ในยุคสมัยนั้นชาติตะวันตกทั้งหลายกำลังแข่งกันอวดมั่งอวดมีเรื่องการล่าเมืองขึ้น

อิน-จันตื่นตาตื่นใจกับมหานครลอนดอนที่ช่างโอ่อ่าตึกรามบ้านช่องช่างสวยงามเหมือนที่นายฮันเตอร์หรือนายหันแตรไปโฆษณาไว้  สยามแฝดหนุ่มเริ่มปรับโฉมการแต่งกาย ปรับมาแต่งชุดสูทสากล แต่ยังไว้ผมเปียยาวถึงกลางหลังเหมือนเดิม

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ เอกสารการตรวจร่างกายแฝดสยามที่คณะแพทย์อังกฤษร่วมกันลงนามราว ๓๐ คน และมีนายแพทย์ โจชัว บรูคส์ (Joshua Brooks) ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งลอนดอน ร่วมลงนามด้วยเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้ว ถ้อยคำที่แพทย์ใช้ในการบรรยายแฝดสยามส่วนหนึ่งคือคำว่า "Lusus Nature" แปลเป็นภาษาไทยว่า มนุษย์ที่มีลักษณะประหลาด และบันทึกต่อว่าเป็น ๒ คนที่มีชีวิต น่าสนใจ น่ามอง สมควรได้รับการเอาใจใส่จากสาธารณชน

ความเห็นแพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ปราศจากอคติทางด้านการทรงเจ้าเข้าผี ปราศจากเวทมนตร์คาถา มายาคติทั้งปวง แปลว่าแฝดคู่นี้มิได้เป็นภูตผีปีศาจที่จะมาหลอกหลอน หรือเป็นกาลกิณีแต่อย่างใด

มนต์เสน่ห์ของแฝดสยามฟุ้งกระจาย ทุกคนที่มาขอพบจะต้องลงทะเบียนในสมุดเยี่ยม

นายฮันเตอร์ พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อตที่ชาวสยามเรียกว่านายหันแตร ร่วมกับกัปตันคอฟฟินพาแฝดหนุ่มจากปากน้ำแม่กลองตระเวนโชว์ตัวใช้ชีวิตในเกาะอังกฤษเหนือจรดใต้ราว ๗ เดือนเศษ ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะแฝดตัวติดกันเป็นของจริง โดนใจผู้ดีอังกฤษสุดสุด ตระเวนไปเมืองต่างๆ บนเกาะอังกฤษ เช่นที่เมือง Reading, Oxford, Cheltenham, Bath, Bristol, Worcester, Birmingham, Liverpool

ทีมงานเดินทางต่อขึ้นไปตอนเหนือของเกาะอังกฤษ ที่เมือง Glasgow แวะเยี่ยมบ้านเกิดของนายฮันเตอร์ด้วย

บันทึกข้อมูลของนาย Jas W.Hale ระบุว่าอิน-จันไปแวะพักที่ Dublin นาน ๒ สัปดาห์ แล้วกลับไป Liverpool, Chester, Leeds, York, Sheffield, Birmingham แล้วมาจบการโชว์ตัวที่ London ชื่อเมืองต่างๆ เหล่านี้ท่านที่เป็นแฟนฟุตบอลอังกฤษจะคุ้นเคยดีแน่นอน

ท่านผู้อ่านลองนำแผนที่เกาะอังกฤษมากางดูนะครับ ๗ เดือนเศษแฝดหนุ่มจากสยามคู่นี้ไปมาเกือบทุกเมืองหลักแบบที่คนอังกฤษบางคนก็ยังไม่เคยเดินทางแบบนี้ อิน-จันคือชาวสยามคู่แรกที่ไปทำหน้าที่เสมือนทูตของสยาม การแสดงบนเวทียังคงสร้างความประทับใจให้กับคนดูโดยเฉพาะการตีลังกากลับหน้ากลับหลังพร้อมกัน ตีแบดมินตันกันเอง เล่นกับคนดูได้เฮฮาทุกที่

ปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนภูมิใจที่ได้พบข้อมูลเพิ่มเติมจากต่างประเทศคือการที่พระราชินีอเดลเลด(Queen Adelaide)แห่งพระเจ้าวิลเลียมที่ ๖ รวมทั้งพระราชวงศ์ของอังกฤษหลายท่านได้ไปชมการแสดงของแฝดมหัศจรรย์ที่ชื่ออิน-จัน บรรดาเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ที่ประจำการในลอนดอนต่างบอกกันปากต่อปากแห่กันมา นักวิทยาศาสตร์ บุคคลผู้มีชื่อเสียงนับไม่ถ้วน มากหน้าหลายตา ต่างมาขอสัมผัสแฝดหนุ่มแบบหัวกระไดไม่แห้ง

นาย Hale เขียนบันทึกเป็นสถิติที่คุยฟุ้งเลยว่านายฮันเตอร์ตระเวนพาแฝดอิน-จัน เดินทางบนเกาะอังกฤษรวมเป็นระยะทางราว ๔,๐๐๐ กิโลเมตร พบผู้คนจากการโชว์ตัวราว ๓๐๐,๐๐๐ คน




แฝดหนุ่มเป็นจุดสนใจของคนอังกฤษทุกชนชั้น ทั้งชายหญิง บรรยากาศที่สนุกสนานแปลกใหม่ ถ้าอิน-จันจะไม่มองสาวอังกฤษเอาเสียเลยคงเป็นเรื่องแปลก แฝดหนุ่มที่พร้อมจะมีความรัก หัวใจเริ่มเรียกหาชายตามองสาวอังกฤษ แต่อุปสรรคทางกายภาพคือกำแพงสูงที่มาขวางกั้น

และแล้วสาวสวยเลอโฉมเลือดอังกฤษนามว่าโซเฟีย (Sophia) คือเทพธิดาที่มาปรากฏตัวแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมกับแฝดหนุ่ม เธอทุ่มเทเวลาและหัวใจให้อิน-จันแบบหมดหน้าตัก

ช่วงนั้นอิน-จันใช้ภาษาอังกฤษได้แบบงูๆ ปลาๆ แต่อาศัยใจกล้าบวกกับความเหงา จึงได้สาวน้อยโซเฟียมาเป็นผู้ปลอบประโลมแบบเปิดเผยและยอมรับว่าหลงรักโซเฟียเข้าแล้ว

เมื่อดวงจิต ๓ ดวงผูกพันเข้าด้วยกัน โซเฟียจึงประกาศความรักแฝดหนุ่มสยามต่อสาธารณชนในลอนดอนแบบไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม เป็นการจุดพลุส่องสว่างบนท้องฟ้ามหานครลอนดอนให้เจิดจ้า ผู้ดีอังกฤษมีเรื่องซุบซิบ อิจฉา นินทากันแบบไม่เหงาปาก

หนังสือพิมพ์ในอังกฤษเล่นข่าวเรื่องความรักของคนแฝดจากสยามเป็นข่าวหลัก สาวสวยอังกฤษยืนยันพร้อมวิวาห์กับแฝดหนุ่มตัวติดกันจากสยามผู้มาเยือน

สังคมในลอนดอนฮือฮาตาร้อน คำถามมากมายที่เป็นประเด็นซุบซิบ เป็นเรื่องทางกายภาพว่าจะแต่งกับอิน หรือจะแต่งกับจัน มันจะแยกกันยังไงวะ หรือจะอยู่กันแบบ ๒ ชาย ๑ หญิง เค้าจะไปแยกร่างกันตอนไหน ฝรั่งอังกฤษฟุตฟิตกันสนุกปาก

แต่ที่แน่ๆ คือประเด็นทางข้อกฎหมายว่าจะเป็นการสมรสซ้อนไหม ถ้ามีลูกออกมาแล้วสถานะทางกฎหมายจะเป็นเช่นไร ผิดศีลธรรมหรือไม่ ลูกจะเป็นของใคร ผู้คนในเกาะอังกฤษมีชีวิตชีวา วี้ดว้าย วาดวิมานในอากาศ นึกภาพคู่ผัวตัวติดกัน ดันมีเมียคนเดียว

แม่สาวน้อยโซเฟียไม่หวาดหวั่นที่จะเผชิญกับการติฉินของสังคมอังกฤษ โซเฟียยอมรับว่าเป็นความแปลกใหม่ที่เข้ามาในชีวิต เธอยอมรับว่าเธอไม่สามารถทนความเย้ายวนจากเสน่ห์ของฝาแฝดคู่นี้ได้ เธอพร้อมที่จะต่อสู้ข้อกฎหมายทั้งปวงของอังกฤษเพื่อให้ได้เป็นคู่สมรสของแฝดอิน-จัน ที่สำคัญที่สุดแฝดจากสยามก็มีใจหลงรักโซเฟียไม่น้อยไปกว่ากันเลย

เรื่องนี้ติเตียนกันไม่ได้แน่นอน หนุ่มฉกรรจ์จากสยามตอนนี้อายุ ๑๙ ปีแล้ว เดิมมีอาชีพเลี้ยงเป็ด เนื้อตัวมอมแมมอยู่ที่ปากน้ำแม่กลอง เป็นคนประหลาดไม่เคยรู้อนาคต อยู่มาวันหนึ่งโชคชะตาฟ้าบันดาลให้มาเจอสาวสวยอังกฤษบอกรักเป็นครั้งแรก ตื่นเต้นเร้าใจสุดสุด

ผู้เขียนเองเชื่อว่าตอนเลี้ยงเป็ดขายไข่อยู่ที่เรือนแพที่แม่กลองแฝดหนุ่มคงยังไม่ได้ไปบอกรักสาวที่ไหนและก็คงไม่มีสาวๆ แถวบ้านกล้ามาบอกรักคนประหลาดนี้เช่นกันและถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยใน พ.ศ.๒๕๕๘ นี้ เชื่อว่าแฝดอิน-จันและสาวน้อยโซเฟียคงต้องเรียกสื่อมวลชนมาเปิดแถลงข่าวทางโทรทัศน์ ที่คนไทยทั้งประเทศต้องหยุดทำงานเพื่อดูทีวี ขอทราบความในใจว่าจะอยู่กินกัน ๓ คนผัวเมียเยี่ยงไร

ผู้เขียนเดาใจท่านผู้อ่านที่คงมีคำถามว่าแล้วสาวน้อยไฮโซในลอนดอนที่ชื่อโซเฟียน่ะตกลงเธอรักใครกันแน่ระหว่างอินและจัน?

คำกลอนที่สุดสวยโซเฟียบรรจงแต่งเพื่อบอกรัก

How happy could I be with the either, were the other dear charmer away.

ฉันจะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าได้อยู่กับสุดที่รักคนหนึ่ง,

โดยสุดที่รักอีกคนหนึ่งไม่อยู่ด้วย

คำตอบและความหมายคือโซเฟียรักทั้งอินและจันครับ..ผู้เขียนคิดเอาเองสนุกๆ ครับว่าเธอตั้งใจเหมาจ่ายแบบไม่แบ่งใครเลย

เธอไม่ได้กระซิบข้างหูของอิน-จัน และไม่ใช่คลิปหลุดที่ไหน โซเฟียแสนสวยเธอส่งกลอนบทนี้ไปประกาศลงหนังสือพิมพ์ในลอนดอน

ช่างน่าภูมิใจในความสำเร็จ เงินทองไหลมาเทมา เรียกว่าครบเครื่องรวมทั้งความรัก อิน-จันทำให้คนบนเกาะอังกฤษไม่น้อยรู้จักกับคำว่า Siamese Twins (แฝดสยาม) ชีวิตพลิกผันจากคนเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งมาใส่สูทหล่อเฟี้ยวอยู่ในอังกฤษและกำลังมีแฟนเป็นไฮโซสาวอังกฤษอีกต่างหาก

ความรักอันบริสุทธิ์ของแฝดอิน-จันกับสาวสวยโซเฟียจะเป็นไฉน ประการใด

(โปรดติดตามตอนต่อไปครับ)


หน้า:  1 ... 160 161 [162] 163 164 ... 273
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.846 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 30 มีนาคม 2567 02:21:12