[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 16:53:53 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 166 167 [168] 169 170 ... 270
3341  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / ความรู้เรื่อง 'บายศรี' เมื่อ: 09 สิงหาคม 2558 15:38:53
.



บายศรี

จากเว็บไซต์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ว่า "บายศรี" เป็นศัพท์มาจากการรวมของคำ ๒ คำ คือ บาย ภาษาเขมร แปลว่าข้าว และ ศรี ภาษาสันสกฤต แปลว่าสิริมงคล มิ่งขวัญ บายศรีจึงมีความหมายว่า ข้าวขวัญ หรือข้าวที่มีสิริมงคลเป็นมิ่งขวัญ

เครื่องประกอบบายศรี ได้แก่ ข้าวสุกที่หุงตักเอาที่ปากหม้อ ไข่ต้ม และมีเครื่องบริวารคือสำรับคาวหวาน นับเป็นงานประดิษฐ์ที่ผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ แฝงคติความเชื่อเรื่องการทำขวัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนไทยซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ เช่น การเกิด การโกนจุก การบวช การแต่งงาน และการตาย ต้องทำขวัญ รับขวัญ เซ่นบวงสรวงบูชาเทวดาอารักษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

การประดิษฐ์บายศรีพบเห็นทั่วไปในชุมชนทั่วทั้ง ๔ ภาคของประเทศไทย แต่ละภูมิภาคมีรูปลักษณ์และวิธีการประดิษฐ์แตกต่างกัน บายศรีภาคเหนือ บางท้องที่เรียก ขันศรี ทำด้วยใบตอง กำหนดชั้นของบายศรีมีตั้งแต่ชั้นเดียวจนถึง ๙ ชั้น นิยมนับเลขคี่ แต่การกำหนดชั้นขึ้นอยู่กับฐานันดรศักดิ์ของผู้รับขวัญ, บายศรีภาคใต้ ส่วนใหญ่ใช้ต้นกล้วยมาทำเป็นหลักของบายศรี ตัวบายศรีใช้ใบตองพับประดับประดาดอกไม้ บางท้องที่ใช้ใบพลูพับทับซ้อนคล้ายกับกระจัง ติดรัดด้วยกาบกล้วย บนยอดบายศรีมีถ้วยหรือกระทงบรรจุข้าวและขนม ๑๒ อย่าง และปักเทียน นับจำนวนชั้นเป็นเลขคี่เสมอ บายศรีภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ภาษาถิ่นเรียก พาขวัญ หรือพานพาขวัญ ทำขวัญให้กับคน สัตว์ สิ่งของ เช่น ได้เรือนใหม่ (ขึ้นบ้านใหม่) ทำขวัญให้เกวียน ทำขวัญให้วัวควาย ทำขวัญให้คนป่วย ตลอดจนต้อนรับผู้มาเยือน

บายศรีภาคกลาง แบ่งได้ ๒ ลักษณะ คือ
๑.บายศรีของราษฎร์ ได้แก่ บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่ หรือบายศรีต้น บางท้องที่เรียก บายศรีตั้ง หรือบายศรีชั้น ส่วนใหญ่ใช้ในงานบวชนาค โกนผมไฟหรือโกนจุก รวมถึงบายศรีในพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ เช่น บายศรีตอ บายศรีเทพ บายศรีพรหม

๒.บายศรีของหลวงในราชสำนัก ได้แก่ บายศรีในพระราชพิธีต่างๆ จัดขึ้นตามโบราณราชประเพณีซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนระบุไว้อย่างชัดเจน ปัจจุบันมี ๓ ลักษณะ ได้แก่
     ๑) บายศรีต้น ต้องมีแป้นไม้เป็นโครงแบ่งเป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น
     ๒) บายศรีแก้ว เงิน ทอง ใช้ในพระราชพิธีสมโภชเวียนเทียนในพระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง พระราชพิธีสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีฉัตรมงคล
         พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต เป็นต้น และ
     ๓) บายศรีตองรองทองขาว ใช้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ตั้งคู่กับบายศรีแก้ว เงิน ทอง สำรับใหญ่

สำหรับช่างทำบายศรีของราษฎร ทุกวันนี้ยังคงพบเห็นทั่วไปในชุมชนต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในชุมชน ขณะที่การประดิษฐ์บายศรีถูกประยุกต์ดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยสังคมปัจจุบันมากขึ้น
...นสพ.ข่าวสด
3342  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต เมื่อ: 09 สิงหาคม 2558 14:59:09
.


พระประธาน วิหารวัดสุวรรณดาราราม ราชวรวิหาร
อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


ประเพณีทำบุญ

ในขั้นแรกที่จะทราบเรื่องทางทำบุญนั้น เราสมควรจะทราบลักษณะของธรรมชาติ ๒ ประการ คือ “บุญ” อย่างหนึ่ง กับสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ “บาป” อีกอย่างหนึ่งก่อน

บุญ” ได้มีคำแปลไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่า “เครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข”  โดยนัยนี้เราจะเห็นได้ว่า การทำบุญก็คือทำความดี การทำความดีทุกๆ อย่างย่อมไม่มีจำกัดเขตหรือจำกัดเวลาใดๆ ถ้าหากเป็นความดีแล้ว จะทำอย่างไรหรือทำเมื่อไรก็นับเป็นบุญทั้งสิ้น

ส่วนที่จะอธิบายคำว่า “บาป” นั้นเราไม่จำเป็นต้องถือคำแปลของพจนานุกรมฉบับไหน เรากลับคำอธิบายเรื่องบุญให้ตรงกันข้ามเสีย ก็ทราบได้ว่าบาปคืออะไร กล่าวอย่างง่ายๆ คือ “ความชั่ว” ซึ่งตรงกันข้ามกับ บุญ คือความดี

ปัญหาจึงมีต่อไปว่า “การเว้นจากบาปเท่านั้น จะนับเป็นบุญได้หรือไม่ ซึ่งทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความดีอะไรเลย?” ขอตอบตามหลักว่า “การเว้นจากบาปเท่านั้น ยังนับไม่ได้ว่าเป็นบุญ ถ้าจะให้เป็นบุญ ต้องทำบุญด้วย คนที่เกิดมานอนนั่งอยู่เฉยๆ ตลอดชีวิต ไม่ทำอะไรเลยจะเรียกว่าบุญไม่ได้ การที่ไม่ทำบาปและไม่ทำบุญทั้งสองอย่าง ย่อมไม่ได้ทั้งความดีและความชั่ว นับเป็นปานกลางเสมอตัว แต่ถ้ามนุษย์คนใดที่เกิดมาในโลกนี้นั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ ใช้ชาติทั้งชาติให้หมดเปลืองไปด้วยการไม่กอบกิจใดๆ ทั้งสิ้น มนุษย์คนนั้นจะมีค่าตัวเลวทรามกว่าท่อนไม้ เพราะเหตุนั้นเราจึงสมควรเข้าใจไว้ง่ายๆ ในที่สุดว่าการทำบาปเป็นของชั่วร้าย การเว้นจากบาปเป็นการเสมอตัว ไม่ดีไม่ชั่ว แต่ถ้าจะให้ดีต้องทำบุญเพิ่มเข้าอีกส่วนหนึ่ง”

การทำบาปก็ดี การเว้นจากบาปและไม่ทำบุญก็ดี ข้าพเจ้าจะไม่ต้องหยิบยกขึ้นมาอธิบาย จะอธิบายแต่การทำบุญอย่างเดียว

การทำบุญ เป็นการกระทำโดยหวังผลตามความมุ่งหมายของดวงจิต แต่การทำบุญเพื่อจะให้ได้รับผลตามที่ดวงจิตมุ่งหมายอย่างแท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่ยากเย็นอยู่สักหน่อย เพราะดวงจิตของมนุษย์มักจะโอนอ่อนน้อมเข้าไปเป็นทาสของความชั่วร้ายอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการสำคัญที่จะต้องพยายามกระทำดวงจิตให้ตกอยู่ในอำนาจได้เสมอไป จำเป็นจะต้องปลุกเจตนาที่บริสุทธิ์ ให้เกิดมาขึ้นในขณะเริ่มจะทำบุญ (ปุพฺพเจตนา) ขณะกำลังทำบุญ (มุญฺจนเจตนา) และในขณะที่พ้นมาแล้ว (อปราปรเจตนา) ดังจะอธิบายเป็นอย่างๆ ไป

ในชั้นแรก จะเริ่มทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ท่านผู้อุปการคุณก็ดี หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ยากจนก็ดี มีข้อบังคับมิให้หวังผลตอบแทนจากผู้รับเหมือนอย่างทำการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขาย  ต้องตั้งใจบูชาคุณ หรืออนุเคราะห์กันจริงๆ ห้ามไม่ให้ถือว่า เมื่อได้ทำลงไปแล้ว จะได้ผลตอบแทนอย่างที่ว่าทำบุญเฟื้องหนึ่งจะได้รับร้อยเฟื้อง ถ้าคิดดังนี้ ผลของการทำจะน้อยลงไป อนึ่งเล่า การทำบุญต้องทำด้วยความสุภาพ ห้ามไม่ให้ทำดุจทิ้งเสีย หรือโดยเสียไม่ได้ แม้แต่จะให้สตางค์แก่คนขอทานสักหนึ่งสตางค์ จะต้องให้โดยสุภาพ ห้ามไม่ให้ทำดุจทิ้งเสีย หรือโยนให้ หรือแสดงกิริยาหยาบคายอย่างหนึ่งอย่างใด อีกประการหนึ่ง สิ่งของที่จะทำบุญก็ต้องเป็นของที่บริสุทธิ์  (ตามหลักเรียกว่าทักษิณาวิสุทธิ) ตัวอย่างเงินทองของใช้ ต้องเป็นของที่ได้มาหรือมีอยู่โดยชอบ ไม่ใช่เป็นของที่ได้มาโดยทุจริต เพียงเท่านี้ยังไม่หมด คนผู้รับการทำบุญของเรา ก็ควรเลือกเฟ้นผู้ที่สุจริตและบริสุทธิ์ ทั้งการกระทำของเราก็ควรให้เป็นการกระทำที่มีประโยชน์จริงๆ อีกด้วย

มีเรื่องในคัมภีร์สัตตกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเถรอัครสาวกทูลถามพระพุทธเจ้าว่าคนที่ทำบุญเหมือนๆ กัน แต่ไม่ได้ผลเหมือนกันนั้น ก็มีอยู่มิใช่หรือ? พระพุทธเจ้าตอบว่า มี ที่เป็นดังนั้นเพราะว่าคนบางจำพวกในโลกนี้ เวลาทำบุญมุ่งผลของการกระทำหรือมีดวงจิตไม่บริสุทธิ์เกี่ยวเกาะเสียดายสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ผลบุญก็ย่อมได้น้อยไป ส่วนผู้ที่ทำบุญด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีดวงจิตเกี่ยวเกาะ ไม่มุ่งสั่งสม และไม่มีเจตนาอะไรอย่างอื่นๆ ที่ไม่ดี ตั้งใจอยู่อย่างเดียว การทำบุญเป็นความดี เป็นประโยชน์มีเจตนามุ่งเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นประมาณเท่านั้นแล้ว ย่อมนับว่าเป็นบุญอันดีที่สุด

พุทธโอวาทอันนี้ย่อมเป็นหลักสำคัญในการทำบุญเพื่อความสะดวกแก่การที่ผู้อ่านจะใช้ข้อความเรื่องประเพณีทำบุญนี้ให้เป็นประโยชน์ จะได้แยกแบ่งวิธีทำบุญออกไว้เป็นอย่างๆ ในชั้นแรกเราอาจแบ่งวิธีทำบุญออกได้ ๒ อย่างคือ ๑.ทำบุญโดยปกติ ๒.ทำบุญเกี่ยวกับจารีตประเพณี

ในที่นี้จะกล่าวถึงการทำบุญตามปรกติก่อน ส่วนการทำบุญเกี่ยวกับจารีตประเพณีนั้น จะกล่าวต่อไปภายหลัง



หนทางที่จะทำบุญมีอยู่ ๓ ทางคือ  ๑.ให้ทาน  ๒.รักษาศีล และ ๓.ภาวนา

๑.ทาน

ยังมีนักเรียนธรรมของเราเป็นอันมาก ยังไม่เข้าใจความมุ่งหมายของคำว่า “ทาน” จึงพาให้คิดเขวไปว่าทานกับบุญนั้นเป็นคนละอย่าง  ความเข้าใจอันนี้ทำให้เราพูดติดปากกันไปว่า “ทำบุญแล้วให้ทาน” ดูประหนึ่งว่าการทำบุญกับให้ทานเป็นคนละอัน ที่จริงบุญกับทานไม่ได้เป็นคำคู่กัน หรือเป็นคำแยกกัน บุญกับทานก็เป็นอันเดียวกัน คือทาน เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่งนั่นเอง

ดูเหมือนจะเข้าใจกันว่า ทานหมายถึงการให้อย่างต่ำๆ อย่างให้ของแก่คนขอทานยากจนเข็ญใจ และการหยิบยกเอาเงินทองสิ่งของให้แก่กัน ความเข้าใจอันนี้นับว่าผิดมาก และโดยความเข้าใจผิดอันนี้เอง ที่ทำให้เราแยกอาการทำบุญกับให้ทานออกไปอยู่ต่างหากจากกัน การถวายอาหารแก่พระสงฆ์ เราไม่เรียกกันว่าให้ทาน เพราะกลัวจะเป็นของต่ำ เราเรียกเสียว่าทำบุญ แต่ที่จริงทานหมายถึงการบริจาคทุกๆ อย่าง ไม่จำเป็นจะต้องเฉพาะแต่การบริจาคอย่างต่ำๆ เช่นนั้น หรือเฉพาะเป็นสิ่งของเงินทองที่หยิบยกให้กัน ทั้งไม่เฉพาะที่คนมั่งมีทำแก่คนจนอย่างที่เข้าใจกันอยู่โดยมาก ขึ้นชื่อว่าการให้แล้ว ไม่ว่าคนชนิดไหนให้แก่คนชนิดไหน แม้สิ่งที่ให้จะไม่เป็นของที่หยิบยกได้ ก็นับเป็นทานเหมือนกัน เช่น พระสงฆ์สั่งสอนให้คฤหัสถ์ ๆ ถวายของแก่พระสงฆ์ หรือพระสงฆ์ต่อพระสงฆ์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็นับว่าเป็นทานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ที่สุดแม้เพียงช่วยเหลือให้อาชีพทางทำมาหากินแก่กัน ก็นับว่าเป็นทานได้

คราวนี้ได้แบ่งลักษณะของทานออกเป็น ๒ ประเภท คือ ก.ให้แก่คนธรรมดา และ ข.ถวายสงฆ์

เรื่องให้แก่คนธรรมดา เป็นการให้ที่ไม่ต้องจำกัดจำเขี่ยในทุกๆ อย่าง เช่น เวลาหรือสิ่งของ เป็นการให้ที่ไม่ต้องมีพิธีอะไรทั้งสิ้น ตรงข้ามกับการถวายสงฆ์ซึ่งจะต้องพูดต่อไป ส่วนเรื่องถวายสงฆ์นั้นต้องแบ่งออกเป็น ๔ อย่าง คือ
   ก.ถวายอาหาร
   ข.ถวายเครื่องนุ่งห่ม
   ค.ถวายเสนาสนะ (ที่อยู่) และ
   ง.ถวายยา

การถวายทานแก่สงฆ์นั้น มีนักปราชญ์ได้แต่งคำถวายไว้ด้วย ถือว่าเป็นการถูกระเบียบและให้มีผลมาก เพราะฉะนั้น ในการถวายทานแก่สงฆ์แทบทุกอย่าง จึงมีคำถวายกำกับอยู่ด้วย โดยเหตุฉะนี้ ในการถวายทานที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะได้มีคำถวายกำกับไปด้วยทุกเรื่องไป แต่ถ้าเรื่องใดไม่มีกำกับไว้ พึงเข้าใจว่า เรื่องนั้นใช้คำกลางทั่วไป คือคำว่า ”สุทินฺนํ วต เม ทานํ อาสวกฺขยาวหํ โหตุ” (ข้าพเจ้าถวายทานที่ดีแล้ว ขอจงเป็นสิ่งที่นำความสูญสิ้นกิเลสมาให้ด้วย) แบบโบราณเรามักเติมคำว่า นิพฺพาน ปจฺจโย โหตุ=ขอจงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน เข้าไว้ในตอนท้ายด้วย คำถวายนี้ใช้ได้ทั่วไปไม่จำกัด เช่น ในเวลาใส่บาตร ทำทานแก่คนยากจน เป็นอาทิ หรือในเวลาทำบุญสิ่งใดๆ จะใช้คำนี้เสมอไปด้วยก็ได้

ก.ถวายอาหาร
การถวายอาหารแก่สงฆ์ มีอยู่หลายวิธี ซึ่งทำแปลกจากกันออกไป อาหารอย่างหนึ่งเกือบจะมีวิธีไปอย่างหนึ่ง ข้อความที่จะบรรยายต่อไปนี้ จะกล่าวถึงวิธีทำและมูลเหตุก่อน แล้วจึงมีคำถวายไว้ข้างท้าย

๑.ตักบาตร
ก.วิธีทำและมูลเหตุ วิธีตักบาตรนั้นเราทราบกันอยู่แล้วทุกคนว่า การนำเอาข้าวปลาอาหารมาใส่บาตรถวายพระสงฆ์สามเณร

มีมูลกล่าวไว้ในคัมภีร์มหาวรรคแห่งพระวินัย และคัมภีร์ปฐมสมโพธิว่า เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงบรรพชาแล้วใหม่ๆ เสด็จแรมอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน ตำบลหนึ่งในแคว้นมัลลชนบทชั่วเวลาราว ๗ วัน แล้วเสด็จจาริกภิกขาจาร (เที่ยวบิณฑบาต) เข้าเขตมคธชนบท เสด็จผ่านกรุงราชคฤห์ราชธานีของพระเจ้าพิมพิสาร พวกชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาต ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ รู้สึกประหลาดใจ จึงชวนกันเอาอาหารมาใส่บาตรถวายเป็นอันมาก ตั้งแต่นั้นมา การตักบาตรถวายพระสงฆ์จึงถือเป็นธรรมเนียมมาเป็นลำดับ  อีกเรื่องหนึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์ที่อ้างไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อตรัสรู้แล้วใหม่ๆ เสด็จประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ (ไม้เกต) มีพ่อค้าสองนายชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ นำข้าวสัตตุผงข้าวสัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับด้วยบาตรที่ท้าวจาตุมหาราชนำเข้าไปถวาย เรื่องนี้จึงเป็นมูลเหตุของการตักบาตรได้อีกอย่างหนึ่ง

ข.คำถวายในเวลาตักบาตร
“สุทินฺนํ วต เม ทานํ อาสวกขยาวหํ โหตุ ทุติยมฺปิ สุทินฺนํ (เหมือนกัน) ตติยมฺปิ สุทินฺนํ (เหมือนกัน) อาสวกฺขยาวหํ โหตุ” แปลว่า “ข้าพเจ้าถวายทานดีแล้ว ขอจงเป็นสิ่งที่นำความสูญสิ้นแห่งกิเลสมาให้ด้วย” (โบราณมักเติมคำว่า”นิพพานปจฺจโย โหตุ = ขอจงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน” ไว้ด้วยเสมอ เติมหรือไม่เติมคงใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง)


๒.ถวายข้าวสาร
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
เรื่องนี้แต่ก่อนมาพุทธศาสนิกชนมักทำกันในคราวเกิดข้าวยากหมากแพง หรือคราวพระสงฆ์มีบิณฑบาตไม่พอฉัน เดี๋ยวนี้การถวายข้าวสารถือเป็นธรรมเนียมประจำปี มักทำกันในเวลาจวนเข้าพรรษา โดยวิธีจัดอาหารติดมาด้วย และแบ่งออกเป็นส่วนเท่าๆ กัน ตามจำนวนพระสงฆ์สามเณรในวัดที่จะถวายตามควรที่พอจะทำได้

เสนาสนกฺขนฺธก แห่งพระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎกสยามรัฐ เล่มที่ ๖ ดูเรื่อง พระไตรปิฎกในดวงประทีป เล่มที่ ๒) แสดงว่าเมื่อครั้งพุทธกาล ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร คราวนั้น ในพระนครราชคฤห์เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ประชาชนไม่สามารถจะถวายอาหารแก่ภิกษุสงฆ์ให้ทั่วถึงกันได้ จึงใคร่จะถวายไว้เป็นครั้งเป็นคราว พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุอันนี้ จึงทรงอนุญาตให้ถวายได้ตามปรารถนา สืบมาจนถึงเวลานี้

ข.คำถวายข้าวสาร
“อิมานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต ตณฺฑุลานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ ตณฺฑุลานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (หลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย” แปลว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอมอบถวายข้าวสารพร้อมด้วยของบริวารเหล่านี้แก่ภิกษุสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับข้าวสารพร้อมด้วยของบริวารของข้าพเจ้าเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนาน”




๓.ถวายข้าวสงฆ์
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
เป็นธรรมเนียมอยู่ว่า ถ้าจะถวายเป็นข้าวสงฆ์ ต้องนิมนต์ภิกษุอย่างน้อยตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป จึงจะใช้ได้ (ภิกษุ ๔ รูปจึงเรียกว่าสงฆ์ ต่ำลงมาไม่ถือเป็นคณะและบุคคล) และต้องมีพระพุทธรูปตั้งไว้เป็นประธานด้วย ที่เป็นดังนี้เนื่องมาจากคำถวายที่จะได้เห็นในตอนต่อไปว่ามีคำ “พุทฺธปฺปมุขสฺส” แปลว่า “มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน” อยู่ด้วย ไม่มีจำกัดฤดูกาลที่จะถวาย จะถวายเวลาไหนก็ได้ ตามแต่จะเกิดมีศรัทธาขึ้นเมื่อไร เรื่องนี้ยังค้นมูลเหตุไม่ได้ถนัดว่าเนื่องมาแต่ครั้งไหน

ข. คำถวายข้าวสงฆ์
“อิมสฺมึ จาเนเยว อิมานิ ภตฺตานิ สสูปพยญฺชนานิ สปานกานิ สเภสชฺชานิ พุทฺธปฺปมุขสฺส ภิกฺขุสงฆสฺส เทมิ” (ถ้าหลายคนใช้ เทม) แปลว่า ข้าพเจ้าขอถวายภัตรเหล่านี้ พร้อมด้วยแกง, กับ, น้ำ และเภสัชแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน” (คำถวายอันนี้ใช้ในเวลาถวายอาหารแก่พระสงฆ์ ในเวลานิมนต์มาฉันที่บ้าน ในตอนที่ว่าด้วยการทำบุญที่เกี่ยวกับจารีตประเพณีในตอนหลังนี้ด้วย)


๔.ถวายสังฆทาน
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
คือทานที่ถวายแก่สงฆ์ หาได้เจาะจงถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ มีวิธีที่จะถวายดังนี้ เมื่อจะนิมนต์พระไปรับสังฆทานสักกี่รูปก็ตาม (ต้องให้ถึง ๔ รูปหรือกว่านั้น) พึงเข้าไปหาเจ้าอาวาส หรือผู้จัดอาหารถวายพระในวัด ขออาราธนาพระสงฆ์ไปรับสังฆทาน สุดแต่จะนิมนต์ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยไม่เลือก ห้ามมิให้นิมนต์เจาะจงเอาภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ถ้าเจาะจงแล้วไม่เป็นสังฆทาน

วิธีถวายสังฆทานนี้ ปรากฏในทักขิณาวิภังคสูตรว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้แก่พระอานนท์

ข.คำถวายสังฆทาน
“อิมานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต ภตฺตานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุเม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ ภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย แปลว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบถวายอาหารพร้อมด้วยของบริวารแก่พระสงฆ์เป็นอันดี ขอพระสงฆ์จงรับภัตรของข้าพเจ้า พร้อมด้วยของบริวารเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนาน”



๕.ถวายสลากภัต
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
สลากภัต คืออาหารที่ทายกร่วมฉันทะกันนำมาถวายสงฆ์ อาหารนั้นไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างหามา ตามปรกติมักทำกันในฤดูผลไม้ ที่เรียกว่าสลากภัต เพราะถวายโดยจับสลาก เขียนชื่อเจ้าของอาหารลงในแผ่นกระดาษเล็กๆ ม้วนแล้วเอาลงรวมเคล้ากันให้ทั่ว แล้วนิมนต์ภิกษุจับสลากตามลำดับพรรษา สุดแต่จะถูกชื่อของคนไหน  คนนั้นก็ต้องนำเอาอาหารที่จัดไปถวาย หรือไม่เช่นนั้น จะเขียนชื่อพระให้ทายกจับก็ได้ ใครถูกชื่อภิกษุรูปใดก็เอาอาหารไปถวายรูปนั้น ถ้าไม่ใช้ชื่อ ใช้ตัวเลขแทนบ้างก็ได้

ปรากฏในคัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถา (แผนกอรรถกถาพระสูตร ซึ่งเป็นพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕) ว่ามีสตรีคนหนึ่ง (ในตำนานว่านางยักษ์) เป็นผู้รู้เกณฑ์ฝนและเกณฑ์น้ำได้ดีมาก นางยักษ์บอกเรื่องนี้แก่หญิงผู้เป็นสหาย และชาวเมืองให้ทำนาได้ข้าวดีไม่เสียหาย ปีไหนฝนน้ำไม่ดี นางก็ห้ามไม่ให้ทำ พวกชาวเมืองรักใคร่นับถือมาก ฝ่ายผู้รู้อุปการคุณก็นำเครื่องสักการมาให้จนร่ำรวย นางได้เอาสิ่งเหล่านี้ถวายเป็นสลากภัตขึ้นก่อนใครๆ จึงกลายเป็นธรรมเนียมตั้งแต่นั้นมา

ก.คำถวายสลากภัต
“เอตานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต ภตฺตานิ สปริวารานิ อสุกฏฐาเน ฐฺปิตานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ เอตานิ ภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย” แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบถวายอาหารพร้อมด้วยของบริวารเหล่านั้น ซึ่งข้าพเจ้าวางไว้ในที่โน้นแก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับอาหารพร้อมด้วยของที่เป็นบริวารเหล่านั้นเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาล”



๖.ถวายเครื่องดื่ม
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
ศัพท์ภาษาบาลีว่า “ปาน” (อ่านว่าปานะ) แปลว่า “เครื่องดื่ม” จัดไว้ในพระบาลีมี ๘ ชนิด (เรียกว่า น้ำอัฏฐบาน คือน้ำดื่ม ๘ อย่างนั่นเอง) คือน้ำมะม่วง, น้ำหว้า, น้ำกล้วยมีเมล็ด, น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด, น้ำมะซาง, น้ำผลจัน, น้ำรากบัว  และน้ำลิ้นจี่ นอกไปจากนี้ยังมีเติมไว้อีก ๘ ชนิด คือน้ำผลกระเบา, น้ำผลเล็บเหยี่ยว, น้ำพุทรา, น้ำนม, น้ำยาคู และน้ำที่มีรส (คงเป็นน้ำตาล) น้ำดื่มเหล่านี้ เรียกว่าน้ำอัฏฐบานทั้งสิ้น ไม่มีการถวายเป็นพิธีอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อประสงค์จะถวายภิกษุสามเณรรูปใด ก็เอาไปถวายรูปนั้น แต่สำคัญอยู่ที่ว่าจะต้องนำเอาผลไม้เหล่านี้มาคั้นเอาแต่น้ำ กรองให้ดีแล้วใส่น้ำตาลกรวด ห้ามไม่ให้ถวายเข้าไปทั้งผล มิฉะนั้นจะไม่เรียกว่าเครื่องดื่ม เรื่องนี้มีมูลมาอย่างไรยังค้นไม่พบ

ต่อไปจากที่ได้กล่าวมานี้ ในพระบาลีเภสัชชขันธกมหาวรรค แห่งพระวินัย ท่านแสดงถึงพระพุทธานุญาตให้ถวายเภสัชทั้ง ๕ คือเนยใส, เนยข้น, น้ำมัน, น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย แก่ภิกษุได้ไม่จำกัดว่าเวลาและฤดูไหน แต่มักถวายในฤดูร้อน

ตามที่ปรากฏในพระบาลีนั้นว่า พวกภิกษุเกิดอาพาธในฤดูร้อน พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตเภสัช ๕ อย่างไว้เพื่อระงับอาพาธ

ข. คำถวายเครื่องดื่ม
“สรโท นามายํ ภนฺเต กาล สมฺปตฺโต ยตฺถ ตถาคโต อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ สรทิกาพาเธน อาพาธิกานํ ภิกฺขูนํ ปญฺจเภสชฺชานิ อนุญฺญาสิ สปฺปิ นวนีตํ เตลํ มธุผาณิตํ อหนฺทานิ ตกฺกาลสทิสํ อิมํ สมฺปตฺโต (ถ้าหลายคนใช้ สมฺปตฺตา) ตสฺส ภควโต ปญฺญาตฺตานุคตํ ทานํ ทาตุกาโม (ถ้าหลายคนใช้ ทาตุกามา) เตสุ ปริยาปนฺนํ เตลํ จ มธํ จ ผาณิตํ จ สงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้โน) ภนฺเต สงฺโฆ เตลํ จ มธํ จ ผาณิตํ จ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย” แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถึงฤดูใบไม้ร่วงแล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุญาตเภสัช ๕ คือ เนยใส, เนยข้น, น้ำมัน, น้ำผึ้ง, น้ำอ้อย แก่พระภิกษุผู้อาพาธในฤดูใบไม้ร่วง บัดนี้ถึงกาลเช่นนั้นแล้ว ข้าพเจ้าใคร่จะถวายทานตามบัญญัติของพระผู้มีพระภาคย์พระองค์นั้น ข้าพเจ้าขอมอบถวายน้ำมัน, น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย พร้อมกับเนยสด เนยข้นเหล่านั้นด้วยดีแล้ว ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอสงฆ์จงรับน้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยของข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนานเทอญ”




ภาพเขียน "ครูเหม เวชกร"

ข.การถวายเครื่องนุ่งห่ม
ตามธรรมดาได้แก่การถวายไตรจีวร คือสังฆาฏิ (ผ้าพาด) จีวร (ผ้าห่ม) สบง (ผ้านุ่ง) จะถวายเมื่อไรก็ได้ คำถวายเหมือนกับถวายผ้าอื่นๆ เปลี่ยนแต่เรียกชื่อผ้าว่า ติจีวรานิ ถ้าถวายพร้อมทั้งอัฏฐบริขาร ก็เติมคำว่า “สปริวารานิ” เข้าอีกคำหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่ต้องมีพิธีพิเศษนั้น มีดังต่อไปนี้


๑.ถวายผ้าอาบน้ำฝน
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
ผ้าอาบน้ำฝน พูดง่ายๆ ได้แก่ผ้าที่ถวายในฤดูฝน มีประมาณตามวินัยบัญญัติว่าให้ยาว ๔ ศอก  ๓ กระเบียด และกว้าง ๑ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ๑ กระเบียด นิยมถวายตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ขึ้นไปจนถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ระหว่างนี้จะถวายวันใดวันหนึ่งก็ได้

จีวรขันธกมหาวรรค แห่งพระวินัยปิฎกแสดงไว้ว่า ครั้งหนึ่งนางวิสาขามหาอุบาสิกาให้คนมาที่วัดกำลังฝนตก คนที่มาเห็นภิกษุต่างเปลือยกายอาบน้ำฝน ก็ไปบอกนางวิสาขา นางวิสาขาจึงทูลขออนุญาตถวายผ้าสำหรับใช้ในฤดูฝน แก่ภิกษุสงฆ์จนตลอดชีวิต ธรรมเนียมนี้จึงกลายติดต่อกันเป็นลำดับมาจนถึงเวลานี้

ข. คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
“อิมานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต วสฺสิกสาฏิกจีวรานิ สงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต สงฺโฆ วสฺสิกสาฏิกจีวรานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย”
แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝนนั้น เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนาน”



๒.ถวายผ้าจำนำพรรษา
ก.วิธีทำและมูลเหตุ
ผ้าจำนำพรรษา ตามภาษาบาลีเรียกว่า “วัสสาวาสิกสาฏก” คือ ผ้าที่สำหรับถวายแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนตามวินัย ปรากฏว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล สุดแต่ใครจะนำเอาผ้าชนิดใดชนิดหนึ่งจะเป็นสบงหรือจีวรก็ได้ นิยมเวลาถวายตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงกลางเดือน ๑๒ มีอนุญาตพิเศษแก่ภิกษุรู้ได้กรานกฐิน ให้ขยายวันถวายสำหรับภิกษุนั้นออกไปได้อีก จนถึงวันกลางเดือน ๔ เพราะการถวายผ้าจำนำพรรษานี้มีบัญญัติอนุญาตให้ถวายเร็วกว่ากำหนดนี้ได้ สำหรับผู้ที่ถวายรีบร้อนอยากถวายก่อน โดยความจำเป็นจะต้องไปทางไกล แต่ผู้ที่ถวายก่อนกำหนดนี้ ไม่เรียกว่าผ้าจำนำพรรษา เรียกว่าอัจเจกจีวร

มูลเหตุในเรื่องนี้เกิดจากที่ว่า เมื่อภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว พอออกพรรษาแล้วก็จะต้องไปในที่ต่างๆ เพื่อสั่งสอนคน พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้รับผ้าสำหรับใช้ได้ต่อไป และที่เราเรียกว่าผ้าจำนำพรรษานั้น หมายความว่า เป็นผ้าที่ภิกษุจะรับได้ต่อเมื่อจำพรรษาแล้ว

ข.คำถวายผ้าจำนำพรรษา
“อิมานิ อหํ (ถ้าหลายคนใช้ มยํ) ภนฺเต วสฺสาวาสิกจีวรานิ (จีวรสำหรับภิกษุผู้อยู่จำพรรษา) สงฺฆสฺส โอโณชยามิ (ถ้าหลายหลายคนใช้ โอโณชยาม) สาธุ เม (ถ้าหลายคนใช้ โน) ภนฺเต สงฺโฆ อิมานิ วสฺสาวาสิกจีวรานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ มม (ถ้าหลายคนใช้ อมฺหากํ) ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย” คำแปลก็เหมือนเรื่องถวายผ้าอาบน้ำฝน เปลี่ยนแต่ชื่อผ้าเท่านั้น)

3343  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ เต้าทึง หอมหวานชื่นใจ อุดมด้วยธัญพืชเพื่อสุขภาพที่ดี เมื่อ: 08 สิงหาคม 2558 15:08:12
.




เต้าทึง
ของหวานสไตล์ชาวจีน กินแล้วสดชื่น
อุดมด้วยธัญพืชเพื่อสุขภาพ

ส่วนผสม
- แปะก๊วยต้มสุก
- ลูกเดือยต้มสุก
- ถั่วแดงต้มสุก
- รากบัวเชื่อม
- พุทราจีนเชื่อม
- ลูกชิดเชื่อม
- เฉาก๊วย
  ฯลฯ (ธัญพืชชนิดอื่นๆ ต้มสุกหรือเชื่อม)
- น้ำเชื่อม


วิธีทำน้ำเชื่อม
-  ลำใยแห้ง 15-20 ผล
- น้ำตาลทรายไม่ฟอกสี 2 ถ้วย
- น้ำตาลกรวด 1/4 ถ้วย
- น้ำสะอาด 5 ถ้วย
  ** ต้องการรสหวานมาก เพิ่มน้ำตาลค่ะ

วิธีทำ : ใส่ส่วนผสมทั้งหมดในน้ำสะอาด ยกขึ้นตั้งไฟเคี่ยวด้วยไฟอ่อนประมาณ 10 นาที
        เร่งไฟให้น้ำเดือดยกลงจากเรา ทิ้งไว้ให้เย็น นำไปใช้ได้        


การจัดเสิร์ฟ
ตักส่วนผสมอย่างละเล็กน้อยใส่ถ้วย ใส่น้ำเชื่อม บุบน้ำแข็งใส่่ หรือแช่เย็นไว้รับประทาน


น้ำเชื่อมลำไย


ส่วนผสม "เต้าทึง" ทำวันนี้ขาด "พุทราจีนเชื่อม" ค่ะ


ตักส่วนผสมอย่างละเล็กน้อยใส่ถ้วยเสิร์ฟ


ราดน้ำเชื่อมลำไย  


ใส่น้ำแข็งบุบ รับประทานเย็นๆ... ชื่นใจ คลายร้อน ดีนักแล.






ดูส่วนผสมและวิธีทำ "รากบัวเชื่อม"
โดยกดที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีเทาด้านล่างนี้ค่ะ
http://www.sookjai.com/index.php?topic=158198.0



ติดตามสูตรอาหารและเคล็ดลับการประกอบอาหารคาว-หวาน มากมายกว่า 200 สูตร
ได้ที่  "สุขใจในครัว" สุขใจดอทคอม
www.sookjai.com
3344  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องราว จากนอกโลก / Re: เรื่องนอกโลก "ปรากฏการณ์เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาล" เมื่อ: 08 สิงหาคม 2558 14:21:05


เทียบโลก (ซ้าย) กับเคปเลอร์-452บี 

โลก&ดาวคู่เหมือน
ตื่นตาวงการดาราศาสตร์

ภารกิจค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า ครั้งใหม่ชวนตื่นตาตื่นใจตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
ดาวดวงนี้ไม่เพียงมีลักษณะคล้ายโลกทั้งหน้าตา แต่ยังมีสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่างเหมือนกับบนโลกที่มนุษย์อยู่อาศัยในปัจจุบัน
 
เคปเลอร์-452บี (Kepler-452b) เป็นชื่อของดาวเคราะห์คล้ายโลกดังกล่าว ทีมนักวิทยาศาสตร์นาซ่าค้นพบดาวนี้จากการสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์บนยานเคปเลอร์ที่โคจรอยู่ในห้วงอวกาศ นับจากส่งออกไปตั้งแต่ปี 2552 และพบดาวอื่นๆ มาหลายพันดวงที่มีชื่อนำว่า "เคปเลอร์" เหมือนกัน
 
ดาวเคปเลอร์อื่นๆ ที่พบก่อนหน้านี้เข้าข่ายคล้ายโลก ได้แก่ เคปเลอร์-22 บี เคปเลอร์-69 ซี เคปเลอร์ -62 เอฟ และ เคปเลอร์-186 เอฟ
 
สำหรับเคปเลอร์-452 บี น้องใหม่ล่าสุดนี้ มีชื่อเล่นเป็นฉายาว่า เอิร์ธ 2.0 (Earth 2.0) เพื่อจะเทียบเคียงว่าเป็นโลกหมายเลขสอง
 
ดาวคู่เหมือนอยู่ห่างจากโลกถึง 1,400 ปีแสง อยู่ในกลุ่มดาวซิกนัส (Cygnus) หรือกลุ่มดาวหงส์ เคปเลอร์-452 บี มีขนาดใหญ่กว่าโลกราวร้อยละ 60 แต่ระยะเวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ หรือ 1 ปี บนเคปเลอร์-452 บี นั้นใกล้เคียงกับโลกมาก
 
ขณะที่โลกใช้เวลา 365 วันโคจรรอบดวงอาทิตย์ เคปเลอร์-452 บี ใช้ 385 วันโคจรรอบดาวฤกษ์  สำหรับสภาพทางธรณีวิทยา ทีมนาซ่าคาดว่ามีทั้งภูเขาไฟ มหาสมุทร และดาวฤกษ์ทอแสงอาบพื้นผิวดาวในปริมาณเหมือนกับดวงอาทิตย์และโลกของเรา  สาเหตุที่การค้นพบนี้ สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการดาราศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากสภาพแวด ล้อมของโลกถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดการมีอยู่ของสารไฮโดรเจนไดออกไซด์ หรือก็คือ "น้ำ" นั่นเอง
 
การมีน้ำหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตต่างดาวมากขึ้นไปด้วย
 
จอห์น กรุนสฟีลด์ ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์อำนวยการภารกิจวิทยาศาสตร์ของนาซ่า ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ เคปเลอร์-452 บี นั้นมีความสำคัญเนื่องจากนับเป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกมากที่สุดเท่าที่นาซ่าเคยค้นพบมา
 
เคปเลอร์ 452 บี จัดอยู่ในพื้นที่โกลดิล็อกส์ (Goldilocks Zone) มีความคล้ายกับโลกมากถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นโลกใบที่สอง  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือนาริต (NARIT) ของไทย อธิบายถึงพื้นที่โกลดิล็อกส์ว่า หมายถึง พื้นที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Habitable Zone หรือ Circumstellar Habitable Zone (CHZ) หรือเรียกว่า Goldilocks Zone ในภาษาพูด เป็นบริเวณพื้นที่โดยรอบดาวฤกษ์ ซึ่งหากมีวัตถุที่มีมวลระดับดาวเคราะห์ (Planet-Mass Object) ที่เป็นหินแข็งโคจรอยู่ภายในบริเวณพื้นที่นี้ และความดันบรรยากาศที่พื้นผิววัตถุดังกล่าวเพียงพอ หมายถึง "น้ำ" จะสามารถคงสถานะเป็นของเหลวบนพื้นผิวดาวได้ และนั่นหมายความว่า อาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่
 
อย่างไรก็ตาม นายจอน เจนกินส์ หัวหน้าหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลของนาซ่า จากศูนย์วิจัยเอมส์ เมือง มอฟเฟตต์ฟีลด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ถึงแม้การพบดาวเคราะห์เคปเลอร์ 452 บี จะเป็นความพิเศษสุด แต่การที่ดาวดวงนี้อยู่ห่างจากโลกไปถึง 1,400 ปีแสง ทำให้ความหวังที่มนุษยชาติจะเดินทางไปถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้เป็นไปได้ยากมาก
 

ภาพจำลองพื้นผิวบรรยากาศเคปเลอร์ 452 บี

จากการศึกษาเบื้องต้น ดาวเคปเลอร์ 452 บี ยังมีอายุเก่าแก่กว่าโลกถึง 1,500 ล้านปี มีมวลดาวเยอะกว่าร้อยละ 4 และพื้นผิวสว่างกว่าโลกร้อยละ 10 พร้อมคาดว่า สภาพพื้นผิวของ ดาวเคปเลอร์ 452 บี นั้นเต็มไปด้วยหินและพื้นดินแห้งแล้งแตกระแหง เนื่องมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจกรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้ ทำให้ความร้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากดาวฤกษ์ที่กำลังหมดอายุขัย
 
สภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้แม่น้ำและมหาสมุทรมีอัตราการระเหยที่รวด เร็ว คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 500 ล้านปี ก่อนน้ำทั้งหมดจะแห้งหายไป
 
ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนดาวเคป เลอร์ 452 บี ถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าโลกจะต้องเผชิญในช่วงเวลาอีกราว 1,000 ล้านปีข้างหน้า เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มหมดอายุขัย ทำให้มีแสงสว่างมากขึ้น และอุณหภูมิสูงขึ้น
 
ด้าน เจฟฟ์ คอฟลิน นักวิจัยประจำยานกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ จากสถาบันค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว หรือเซติ (SETI) กล่าวว่า การค้นพบดาวเคปเลอร์ 452 บี เป็นเพียงก้าวแรกของการค้นหาคำตอบว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเดียวในจักรวาลหรือไม่
 
"ผมและพวกคุณอาจไม่มีวันได้ไปเหยียบดาวดวงนี้แน่นอน แต่บรรดาเหลนโหลนของพวกเราอาจจะมีโอกาสได้เดินทางไปก็ได้" คอฟลินกล่าว
 
นอกจากนี้ นาซ่ายังเปิดเผยบันทึกรายชื่อดาวเคราะห์ที่อาจมีความคล้ายคลึงกับโลกอีกกว่า 500 ดวง ที่ค้นพบล่าสุดโดยยานกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ รวมทั้งหมด 4,696 ดวงแล้ว ตั้งแต่เริ่มภารกิจดังกล่าว ในจำนวนนี้ ผ่านการคัดกรองและยืนยันแล้วว่าคล้ายโลกจริง 1,030 ดวง
 
ด้านภารกิจของยานอวกาศติดตั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2 หมื่นล้านบาท และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา นาซ่า พบว่า เฟืองหมุนกล้อง 2 จาก 4 ตัว อยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ ทำให้ยานกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคป เลอร์ไม่สามารถซ่อมแซมได้อีกต่อไป ส่งผลให้นาซ่าเตรียมปล่อยดาวเทียมสำรวจขึ้นไปเพิ่มอีก 2 ดวง ได้แก่ เทสส์ (TESS) หรือดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (The Transit Exoplanet Survey Satellite) นำโดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซา ชูเซตส์ หรือเอ็มไอที และทุนสนับสนุนจากบริษัท กูเกิ้ล ผู้พัฒนาเสิร์ชเอ็นจิ้น และเทคโนโลยีชั้นนำของโลก
 
ส่วนอีกลำเป็นยานสำรวจองค์ประกอบภายในดาวนิวตรอน (Neutron Star Interior Composition Explorer) หรือไนเซอร์ (NICER) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในปริศนาลี้ลับของวงการดาราศาสตร์ เนื่องมาจาก "ดาวนิวตรอน" ถือเป็นดาวที่มีความหนาแน่นมากที่สุดในจักรวาล เกิดขึ้นจากแรงโน้มถ่วงมหาศาล โดยดวงหนึ่งอาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 12-13 กิโลเมตร แต่มีมวลหนาแน่นได้มหาศาล
 
บางดวงมีมวลเป็น 2 เท่าของดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ ซึ่งยานสำรวจทั้ง 2 ลำ มีกำหนดจะทะยานสู่ห้วงอวกาศในปี 2560
 
ไม่เพียงการสำรวจดาวดวงอื่นเท่านั้นที่น่าตื่นตาตื่นใจ นาซ่ายังเปิดเผยภาพถ่ายใหม่ล่าสุดของโลกที่ชวนให้ตื่นเต้นด้วย
 
ภาพล่าสุดที่ทำให้เราเห็นโลกในฐานะ "บ้าน" แบบอัพเดตนี้ถ่ายไว้เมื่อ 6 ก.ค.2558 ด้วยกล้อง Earth Polychromatic Imaging Camera หรือ EPIC (เอพิก) บนดาวเทียมสำรวจสภาพชั้นบรรยากาศจากห้วงอวกาศ หรือดิสคัฟเวอร์ (Deep Space Climate Observatory-DSCOVR)
 
ภาพเผยให้เห็นภาพดาวเคราะห์โลกที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา และทำให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นอาคาร แม่น้ำ และระบบเมฆ ขณะที่นักวิจัยของนาซ่านำภาพดังกล่าวไปตรวจสอบคราบสีน้ำเงินซึ่งเมื่อนำออกมาแล้วจะให้ภาพที่ชัดเจนกว่านี้ออกมาได้อีก คาดว่าไม่เกินเดือนกันยายนนี้
 
ดาวเทียมสำรวจชั้นบรรยากาศภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือโนอา (NOAA) ของสหรัฐ ข้างต้นนี้เพิ่งทะยานสู่อวกาศสดๆ ร้อนๆ จากแหลม เคป คานาเวรอล เมื่อ 11 ก.พ.2558
 
ภายในติดตั้งอุปกรณ์สำรวจด้านวิทยาศาสตร์ 3 ชนิด หนึ่งในนั้น คือ กล้องเอพิกมีความสามารถในการถ่ายภาพชุดละ 10 ภาพ ด้วยเทคนิคการกรองแสงที่คลื่นความถี่ของแสง (สี) ต่างๆ กัน ตั้งแต่ใต้แดง (อินฟราเรด) จนถึงเหนือม่วง (อัลตราไวโอเลต) มีความละเอียด 4 ล้านพิกเซล
 
ยานสำรวจดิสคัฟเวอร์ โคจรอยู่สูงจากพื้นโลกราว 1,500,000 กิโลเมตร เรียกว่า จุดดาวเทียม หรือจุดลากรองจ์ (แอล 1) ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2541 โดย อัล กอร์ ผู้มีบทบาทรณรงค์การลดโลกร้อนคนสำคัญในขณะเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐคู่หูของบิล คลินตัน
 
การส่งยานไปสู่อวกาศมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นดาวเทียมสำรวจความเปลี่ยนแปลงของลมสุริยะ เพื่อเป็นระบบเตือนภัยเบื้องต้นต่อการเกิดปรากฏการณ์ "พายุสุริยะ" ที่อาจสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอ นิกส์บนโลกได้
 
รวมทั้งยังใช้เพื่อสำรวจภาวะของชั้นบรรยากาศโอโซน สภาพแวดล้อม และปัญหาหมอกควันจากภูเขาไฟด้วย ใช้งบประมาณในการพัฒนาราว 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 11,000 ล้านบาท
 
ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันกล่าวถึงภาพโลกใหม่ล่าสุดนี้ว่า "เมื่อได้เห็นภาพนี้แล้ว เหมือนเป็นสิ่งย้ำเตือนถึงความสำคัญที่พวกเราทุกคนควรช่วยกันรักษาดาวดวงนี้ที่มีอยู่เพียงดวงเดียวของพวกเราให้คงอยู่เอาไว้"


ภาพวาดกล้องเคปเลอร์


ดาวที่เคปเลอร์ค้นพบและโลก

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 21  อังคารที่ 28 ก.ค.58
3345  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ดับคนดัง - วินาทีสังหารบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ: 07 สิงหาคม 2558 15:15:37
.


รามอน แม็กไซไซ ประธานาธิบดีคนที่ ๗ ของประเทศฟิลิปปินส์

ดับคนดัง - วันสังหาร
รามอน แม็กไซไซ แห่งฟิลิปปินส์  

รามอน แม็กไซไซ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เมื่อปี ๑๙๕๓ เขามาจากครอบครัวยากจนที่มีพ่อเป็นช่างเหล็ก และมีแม่เป็นครู

แต่ชื่อของ รามอน แม็กไซไซ ยังอยู่ยั้งยืนยง แม้เขาจะจากไปนานแล้วก็ตาม

แม็กไซไซ เป็นชื่อรางวัลเกียรติยศมอบให้แก่ชาวเอเชียที่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม คือรางวัลแม็กไซไซ รางวัลนี้ตั้งเป็นที่ระลึกแก่ประธานาธิบดีรามอน แม็กไซไซ ซึ่งเป็นแบบอย่างของผู้ที่อุทิศตนทำงานเพื่อประชาธิปไตย

รามอน แม็กไซไซ ก็เป็นผู้นำที่หนีไม่พ้นการถูกลอบสังหารกับเขาเหมือนกัน หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหรัฐอเมริกาคืนเอกราชให้ฟิลิปปินส์และแต่งตั้งให้แม็กไซไซเป็นผู้ว่าราชการแห่งเมืองแซมบาเลส ต่อมาเขาได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  นักการเมืองหนุ่มผู้นี้โดดเด่นจนประธานาธิบดีคิริโนแต่งตั้งให้เขาเป็นเลขานุการของฝ่ายป้องกันอาณาจักร และสามารถปราบปรามกองโจรก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ

เรื่องราวการลอบสังหารแม็กไซไซนี้เกิดขึ้นถึงสองครั้งสองครา แต่ก็มีเรื่องไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น

ครั้งหนึ่ง อิสลาม ฮุคบาราฮับ ส่งมือสังหารเข้าไปประชิดตัวโดยใช้มีด แต่มือสังหารฆ่าเขาไม่ลง  

ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้สังหารเขาคือ มะนิลา บอย  ซึ่งเตรียมพรรคพวกพร้อมสรรพที่จะรุดเข้าไปสังหารแม็กไซไซ  เขาเดินทางไปหลายวัน จึงจะถึงนครมะนิลาได้เรียบร้อย  ตาร์คได้มอบอาวุธให้เขาไปครบมือ เขาแต่งตัวเป็นชาวนาสวมเสื้อหลวม และตัวใหญ่โต  ภายในเสื้อนั้นเขาได้ซ่อนระเบิดมือกับปืนพกและกระสุนพร้อม

เมื่อไปถึงเขาก็สอบถามที่ตั้งของรัฐบาล และกระทรวงกลาโหมอย่างไม่ให้ใครสงสัย และเมื่อเดินทางไปเกือบถึงกระทรวงกลาโหมอยู่แล้ว เขาก็เดินฝ่าเข้าไปในกลุ่มชาวนาหมู่หนึ่ง ซึ่งกำลังวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอยู่พอดี  มะนิลา บอย หยุดยืนฟังการสนทนาอยู่ด้วย  บังเอิญกลุ่มชาวนาดังกล่าวนั้นกำลังยืนพูดยกย่องชมเชยแม็กไซไซว่าเป็นเสมือนมิตรแท้ของประชาชน และยังได้พูดว่า “ฉันนี่แหละจะยิงทหารทุกคนที่ทำร้ายชาวนา”  แต่มะนิลา บอย เคยเห็นตำรวจทำทารุณต่อชาวนา และเคยเห็นชาวนาถูกขับไล่ออกจากที่ทำกินมาแล้ว เขาทนฟังไม่ได้จึงพูดขัดคอชาวนากลุ่มนั้น และเล่าเรื่องราวที่ได้ประสบมาด้วยตาตนเองให้พวกเขาฟังบ้าง และปฏิเสธคำพูดที่ชาวนากลุ่มนั้นพูดโดยสิ้นเชิง เพราะเขาได้ประสบมาด้วยตัวเอง  ระหว่างที่เกิดเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็มีชาวนาคนหนึ่งจำเขาได้ โดยที่ทั้งสองคนเคยร่วมพักแรมด้วยกันมา และเคยร่วมในท้องนาแห่งเดียวกัน ชายคนดังกล่าวดึงตัว มะนิลา บอย ออกมาจากกลุ่ม แล้วกล่าวว่า

“ทำไมไม่ไปพูดกับท่านแม็กไซไซเองล่ะ จะพาไปพบกันท่าน เอาไหม! บางทีแกอาจจะได้รู้อะไรดีๆ”

มะนิลา บอย รีบตกลงทันที เพราะเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันมาก่อน เขาปรารถนาอยากพบแม็กไซไซยิ่งนัก เพื่อจะทำงานให้พรรคได้สำเร็จลุล่วงได้ ดูเหมือนมันจะง่ายกว่าแผนที่เขากำหนดไว้มากมายนัก

เช้าวันรุ่งขึ้น ชาวฮัคส์ กับ มะนิลา บอย ก็ได้ร่วมกันไปหาแม็กไซไซ เมื่อตอนที่ผ่านเข้าไปในที่ทำการของรัฐบาลนั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจค้นทั้งสองคนเลย และพอเดินผ่านเข้าไปถึงห้องทำงานของแม็กไซไซนั้น  มะนิลา บอย เอามือคลำปืนในกระเป๋าที่ซ่อนไว้ตลอดเลา นอกจากปืนยังมีลูกระเบิดมืออีกสองลูกซ่อนอยู่

เขายืนประจันหน้ากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในระยะห่างกันแค่คืบเดียว ซึ่งเป็นจังหวะที่จะระเบิดรัฐมนตรีกลาโหมให้แหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่นั่นก็หมายความว่า เขาจะต้องตายด้วย หรือไม่ก็ถูกจับตัวเอาไว้ แต่อะไรมันจะเกิดมันก็ต้องเกิด โลกแห่งการปฏิวัติต้องไม่ลืมเขาไปอีกนานแสนนาน

แม็กไซไซ กับ มะนิลา บอย พูดอยู่นานเป็นชั่วโมงเต็มๆ ต่างฝ่ายต่างโต้ตอบซึ่งกันและกัน  แม็กไซไซพูดถึงความบอบช้ำของชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับต่างๆ นานา อันเป็นความเดือดร้อนที่ มะนิลา บอย ได้รู้มาก่อนแล้วทั้งสิ้น


http://asean-focus.com/asean/wp-content/uploads/2015/06/376922_513748178642036_324795001_n.jpg


แต่ทำไมชาวฟิลิปปินส์จึงเดือดร้อน ไม่ใช่เพราะญี่ปุ่นมาก่อปัญหาไว้หรือ อเมริกันให้ชาวฟิลิปปินส์มีเอกราชช่วยกำจัดญี่ปุ่น แล้วอเมริกาก็จากไป ก็พวกคอมมิวนิสต์เล่า พวกนี้เป็นใคร ถ้าคนฟิลิปปินส์ปกครองคนฟิลิปปินส์ด้วยกันเอง เพื่อชาวฟิลิปปินส์ด้วยกันเอง อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าพวกเรารวมพลังกันเข้ามาช่วยคนยากคนจนได้ เราจะปฏิบัติการศึกษาและเพิ่มพูนผลผลิตได้มากขึ้น

“เราไม่กังวลว่าใครจะมาครองฟิลิปปินส์” แม็กไซไซกล่าว “แต่คนที่จะมาปกครองนั้นจะต้องเป็นประชาชนที่เกิดบนแผ่นดินนี้ ไม่ใช่บุคคลที่รัสเซียแต่งตั้งขึ้นมาจากมอสโค”
“พวกนั้นมันไม่ใช่พี่น้องของเรา หรือของใครๆ” แม็กไซไซย้ำ
“ส่วนพวกเราล้วนแต่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขฟิลิปปินส์กันทั้งนั้น”

วินาทีนี้ มะนิลา บอย เผชิญกับการตัดสินใจอย่างใหญ่หลวง เขาควรจะสารภาพว่า เขากำลังเข้าใจผิดและทำผิด หรือควรดำเนินงานตามแผนที่ได้รับมอบหมายให้มันเสร็จสิ้นไปเสีย คือเข้าต้องสังหารแม็กไซไซให้จงได้ ตอนนี้วินาทีนี้มันเป็นเวลาที่น่าตื่นตระหนกอย่างที่สุด

มะนิลา บอย เติบใหญ่มาในฐานะคาทอลิกผู้หนึ่ง สิ่งแรกที่เขาคิดก็คือ...แม่ คิดถึงความอดอยากในวัยเยาว์ คิดถึงคำสวดมนต์ที่ยังไม่ได้รับบุญตอบสนอง

เขาพร้อมที่จะชักปืนออกมายิงศัตรูของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แล้ว แต่แล้วชั่วแมลงวันกระพือปีก มันเหมือนภูตผีร้ายที่กลายร่างเป็นเทพเจ้า เขาควักปืนพกพร้อมทั้งระเบิดมือมาวางไว้บนโต๊ะ พร้อมกับเอ่ยว่า  “ผมมาที่นี่เพื่อจะฆ่าท่านครับ...แต่หากท่านต้องการที่จะรวมฟิลิปปินส์ให้เป็นปึกแผ่น และจะกำจัดหน่วยใต้ดินโซเวียตให้หมดไปจากผืนแผ่นดินฟิลิปปินส์ ผมก็ขอร่วมมือกับท่านด้วย

แม็กไซไซตกตะลึงพรึงเพลิด ไม่ได้แสดงอาการอะไรในขณะที่มะนิลา บอย ล้วงเอาปืนและระเบิดมือวางบนโต๊ะ

ในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ การที่จะเข้าไปในสถานที่รัฐบาลเพื่อสังหารรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งแล้วเดินลอยนวลกลับออกไปหาได้ไม่ แม้จะเปลี่ยนใจกลับใจไม่กระทำการนั้นแล้วก็ตาม เขาจะเป็นอิสระไม่ได้

แม็กไซไซไปเยี่ยม มะนิลา บอย ถึงในเรือนจำด้วยตนเอง ได้สัญญาที่จะช่วยมะนิลา บอย อย่างเต็มที่ ในที่สุดศาลก็ได้พิจารณาคดี มันเป็นการพิจารณาที่ตื่นเต้นเมื่อ มะนิลา บอย ได้เล่าให้ศาลฟังเกี่ยวกับขบวนการใต้ดินที่มีโซเวียตเป็นผู้ให้ทุนหนุนหลัง ให้อาวุธกับชาวฮัคส์ ด้วยการรับความช่วยเหลือจากสหภาพชาวเรือของคอมมิวนิสต์ ปกปิดซ่อนอาวุธมาในหีบพัสดุที่แจ้งว่าเป็นอาหาร ได้มีการจัดตั้งโรงเรียน มีการหัดและฝีกการทหารในหมู่คอมมิวนิสต์ที่จัดขึ้น ทั้งยังระบุชื่อสายลับชาวรัสเซีย ซึ่งเข้ามาเป็นครูฝึกชาวฮัคส์ กับชาวจีนคอมมิวนิสต์คนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ปรึกษาของกองบัญชาการสูงสุดของชาวฮัคส์

คำให้การของมะนิลา บอย เป็นที่แตกตื่น แต่ในที่สุด มะนิลา บอย ก็ถูกคำสั่งให้จำคุก แต่รอการลงอาญาเอาไว้

และแล้ว มะนิลา บอย ก็กลับมาทำงานตามคำสั่งของแม็กไซไซบ้าง ในการที่จะเปลี่ยนใจสมาชิกชาวฮัคส์คนอื่นๆ ต่อไปอีก และพยายามอย่างหนักและเสี่ยงอันตราย เขาเปลี่ยนใจบุคคลชั้นหัวกะทิในหมู่ชาวฮัคส์ได้อีก ๑๐ กว่าคน เขาเหล่านี้บางคนก็หันมาใช้ชีวิตตามประสาพลเมืองทั่วๆไป บางคนก็เป็นสายลับคอยสืบข่าวให้กับกองทัพบกฟิลิปปินส์ วิธีการของแม็กไซไซนั้นก็คือ การช่วยชาวนา นำเอาชาวฮัคส์มาเป็นทหารภายใต้ประชาธิปไตย ปีละ ๕,๐๐๐ คน  มะนิลา บอย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงภายใต้คำสั่งของแม็กไซไซอย่างแข็งขัน

ค.ศ.๑๙๕๐ กองกำลังชาวฮัคส์ อาวุธครบมือจำนวน ๒๐,๐๐๐ คน กับยังมีกำลังสำรองชาวฟิลิปปินส์อีกสองล้านคน ในบางเขต  เช่นที่ลูซอน พวกฮัคส์ยึดได้ ๒-๓ เมือง และที่ทำการรัฐบาลเอาไว้ทำการเก็บภาษีเอาไปช่วยกองทัพแดงทั้งสิ้น  ชาวฮัคส์ก็ใช้วิธีแบบเดียวกับจีนคอมมิวนิสต์ ในระหว่างสงครามกลางเมือง ผู้คนอยู่ในความตื่นตระหนก และเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย

ทุกหมู่บ้านที่ฮัคส์ไปยึดครองอย่างน้อยจะมีการสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐคนหนึ่งเสมอๆ โดยจับเอาไปแขวนคอบนต้นไม้ หรือไม่ก็มัดกับหลักประจานแขวนป้ายไว้ว่า “เขาขัดขืนพวกฮัคส์แนวแดงจึงต้องตายแบบนี้”

มะนิลา บอย รู้เรื่องต่างๆ ดี อีกทั้งยังรู้ว่า แผนการลับของคอมมิวนิสต์ที่กำลังหนุนให้ชาวฟิลิปปินส์ลุกฮือในฤดูใบไม้ผลิ ปี ๑๙๕๒ นั้นด้วย อาวุธนั้นทางรัสเซียกำหนดว่าจะถึงฟิลิปปินส์โดยผ่านพม่าและจีน โดยมากับเรือของโปแลนด์ พวกฮัคส์ก็รู้เรื่องดีว่า มะนิลา บอย เล่นไม่ซื่อกับฮัคส์เสียแล้ว โดยนำเอาแผนไปแฉเสียหมด  ดังนั้น จึงมีมติออกมาให้สังหาร ทั้งแม็กไซไซ และ มะนิลา บอย ทั้งสองคน

โดยมอบหน้าที่ให้ “โยส  ไรแซล”  ซึ่งปู่เขาเป็นวีระชนที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์คนหนึ่ง

เขาวางแผนนัดแม็กไซไซ และ มะนิลา บอย เพื่อเจรจาในวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ.๑๙๕๑ โดยวางแผนว่าระหว่างที่ “โยส” กำลังเจรจากับ มะนิลา บอย และแม็กไซไซอยู่นั้น ชาวฮัคส์สองคนจะเป็นเพชฌฆาต จะขึ้นรถจิ๊ปบึ่งมาพร้อมกับปืนกลเล็กสังหารเหยื่อเสียทั้งสอง

ครั้นถึงเวลานัดหมาย โยส ไรแซล กลับไปหาแม็กไซไซที่บ้านพักไม่ได้ไปที่ทำงาน  จริงอยู่ โยส ไรแซล เป็นคอมมิวนิสต์คนหนึ่งก็จริง แต่เขาก็เชื่อและรับฟังความคิดเห็นของบุคคลทั้งสองที่กำลังรณรงค์เพื่ออิสรภาพของฟิลิปปินส์

ดังนั้น โยสจึงเป็นอีกคนหนึ่งที่เปลี่ยนใจและรับสารภาพแต่โดยดี ในที่สุดเขาก็เหมือน มะนิลา บอย คือเปลี่ยนใจไปร่วมกับแม็กไซไซ

ทั้งสองได้ให้ความรู้ของพวกฮัคส์ถึงวิธีการสู้กับพวกสมุนโซเวียตที่ดีที่สุด อีกทั้งแนะวิธีชนะใจคนยากคนจน รวมทั้งการออกกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะต้องทำด่วนที่สุดเพื่อช่วยชาวนา

“ทำไมพวกเราไม่ทำให้เกาะฟิลิปปินส์ทั้งหมดปลอดจากอิทธิพลของชาวต่างด้าว” ชาวฟิลิปปินส์ถูกเร่งเร้าให้ทำตามคำขวัญนี้ทันที

มะนิลา บอย และไรแซล ได้แนะนำให้รัฐบาลล้มระบบนายทุน หรือเจ้าของที่ดินเสียให้สิ้น และให้จัดตั้งรัฐบาลประชาชนที่แท้จริงเสียให้หมด โดยมีรากฐานประชาธิปไตย กำจัดเผด็จการคอมมิวนิสต์ให้สิ้น พร้อมๆ กับยกเลิกระบบเจ้าขุนมูลนายให้สิ้นสุดกันเสียที

สิ่งที่จะต้องทำประการแรกก็คือ รีบทำลายกองบัญชาการสูงสุดของพวกฮัคส์กับบรรดาหัวหน้าคอมมิวนิสต์ที่กำลังปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้ไปให้สิ้นซาก ซึ่ง มะนิลา บอย กับไรแซล ต้องรับภาระงานหนัก  มะนิลา บอย รู้ดีว่าผู้หญิงสูงอายุคนหนึ่งซึ่งเขารู้จักดี เป็นผู้นำเอาเสบียงอาหารไปส่งเลี้ยงบรรดาคอมมิวนิสต์ระดับสูงเป็นประจำ  โดยนำเอาอาหารใส่ท่อแล้วรวมใส่กระจาด ตะกร้า  หญิงชราผู้นี้เป็นผู้ซื้อเนื้อ ขนมปัง ไขมัน เอาไปให้พวกคอมมิวนิสต์  มะนิลา บอย กับไรแซลได้ให้สายสืบออกติดตาม เพื่อจะสืบรู้ถึงถิ่นที่อยู่และชื่อของคอมมิวนิสต์ระดับใหญ่ๆ ทุกคน

ใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียว บรรดาหัวหน้าใหญ่ๆ ในฟิลิปปินส์ก็ถูกจับหมดสิ้น สิ่งที่แม็กไซไซตกใจมากก็คือเมื่อได้ทราบว่า หัวหน้าใหญ่ที่จับมาได้นั้น ผู้นั้นคือ ศาสตราจารย์โยส ลาวา จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ผู้มีใจเมตตากรุณา มารยาทนิ่มนวล น่านับถือ และเป็นบุคคลผู้เดียวที่แม็กไซไซมักจะไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยสัปดาห์ละครั้ง

ปรากฏว่าท่านศาสตราจารย์ผู้นี้ ได้ร่วมงานอยู่กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่พยายามจะเอาชีวิตแม็กไซไซถึงสองหน

การกวาดล้างได้กระทำการเป็นผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ หน่วยราชการลับของทหารไม่เพียงแต่พบบุคคลที่อยู่ในกลุ่มคอมมิวนิสต์เท่านั้น แต่ยังได้ค้นพบอาวุธ เอกสาร และรหัสลับที่ติดต่อโยงใยไปทั่วแปซิฟัก ไม่ช้าบุคคลเหล่านี้ที่ถูกจับก็ถูกนำขึ้นศาลทุกคน แต่ละคนไม่ถูกประหารชีวิต ก็จำคุกตลอดชีวิต

จากการปราบคอมมิวนิสต์ในฟิลิปปินส์ทำให้เด็กจำนวนพันขาดพ่อและแม่ พวกผู้หญิงหลบหนตามกองทัพฮัคส์ ทิ้งลูกเล็กไว้เบื้องหลัง

มะนิลา บอย จับงานสวัสดิการทันที โดยหาทางให้ครอบครัวได้พบกันพ่อแม่ลูก โดยหวังว่าพ่อแม่จะกลับมาพบลูกด้วยวิธีการนี้ ทำให้รู้แหล่งพรรคคอมมิวนิสต์ และได้รู้ว่าจะมีการนัดประชุมใหญ่วางแผนเข้าปล้นคุกชิงตัวหัวหน้าคอมมิวนิสต์ที่ถูกจำขังอยู่ เขาแจ้งให้แม็กไซไซทราบ

ระหว่างที่หัวหน้าคอมมิวนิสต์ร่วมประชุมในป่า ทหารก็บุกเข้าไป บรรดาหัวหน้าขบวนได้ทำการต่อสู้ เสียชีวิตทั้งหมด ๒๖ คน เป็นการกวาดล้างพวกฮัคส์ระดับหัวหน้าที่ยังเหลือเกือบทั้งสิ้น

ทั้ง มะนิลา บอย และไรแซล ได้ช่วยกันปรับปรุงนโยบาย ทั้งสองยังคนเดินเท้าเปล่าไม่สวมรองเท้าวิ่งไปวิ่งมาเช่นเด็กชาวนาคนหนึ่ง พวกเขาช่วยกันปรับปรุงนโยบายของแม็กไซไซ และนายพลดูเก้ได้ออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินประกาศใช้จนได้

พร้อมกันนั้นได้มีกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งชาวฮัคส์ มะนิลา บอย และไรแซล ร่วมกับรัฐบาลว่า หากทหารคนใดที่เข้าไปมีผลประโยชน์จากเจ้าของที่ดินให้ส่งตัวขึ้นศาลทหารทันที และหากทหารผู้ใดเผาบ้านเรือนหรือข่มขืนหรือลักขโมยก็เช่นเดียวกัน กองทัพฟิลิปปินส์แปรสภาพเป็นกองทัพใหม่ทันที ทหารกลับตัวเป็นมิตรกับชาวนาผู้ยากจน มีการจัดแบ่งที่ดินที่นาให้กับชาวนาเป็นเจ้าของ

อัตราค่าเช่าบ้านเรือนก็ถูกจำกัดโดยกฎหมาย ชาวนาผู้ไม่รู้หนังสือทุกคนใครจะเก็บภาษีค่าผลิตผลที่ได้รับมากกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่านา หรืออะไรก็ตาม หากใครเก็บเกินกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว รัฐบาลก็จะเป็นอัยการจัดฟ้องร้องต่อศาล ชาวฮัคส์ที่เคยเป็นศัตรูก็เลยบูชาเขา พวกที่ถูกจับพ้นโทษออกมาเขาก็จะได้ทำงานทันที

นี่หาก มะนิลา บอย และโยส  สังหารแม็กไซไซเสีย ประธานาธิบดีคนต่อไป เรื่องเช่นนี้คงไม่มี  บัดนี้ ทั้งสามได้มาร่วมงานกัน และก็ภาคภูมิใจในผลงานที่ได้ทำ คำขวัญของเขามีว่า “ชาวฟิลิปปินส์จะเป็นชาวรัสเซียไม่ได้

ประชาชนฟิลิปปินส์เลือก รามอน แม็กไซไซ เป็นประธานาธิบดี เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๓ ของฟิลิปปินส์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๕๓

ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ.๑๙๕๘ ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของฟิลิปปินส์ท่านนี้ไม่ได้เสียชีวิตด้วยการลอบสังหาร  รามอน แม็กไซไซ ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินชนภูเขามานันกัล  เกาะเซบู เสียชีวิตด้วยอายุเพียง ๕๐ ปี



สภาพเครื่องบินตกหลังจากแม็กไซไซประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต

ที่มา : คอลัมน์ บันทึกวันวาร โดย สังคีต จันทนะโพธิ นิตยสารสกุลไทย
3346  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: วัฒนธรรมร่วมอาเซียน เมื่อ: 07 สิงหาคม 2558 14:37:58
.

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ศาสนาพราหมณ์, พุทธ

ศาสนาพราหมณ์, พุทธ          
วัฒนธรรมร่วมอาเซียนยุคก่อนอินเดีย จบไปแล้ว แต่อาจไม่ครบถ้วนก็ได้ ถ้าพบว่ายังขาดอะไรกรุณาบอกด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง
 
นับแต่นี้ไปเป็นเรื่องยุคหลังอินเดีย
 
อซียน หรืออุษาคเนย์ มีวัฒนธรรมร่วมหลายอย่างมานานหลายพันปีแล้ว เพราะอยู่เขตมรสุมเดียวกันทั้งส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ จึงมีประวัติศาสตร์ร่วมกันอย่างแยกไม่ได้
 
แล้วมีวัฒนธรรมร่วมกันแบ่งกว้างๆ เป็น ๒ระยะ คือ ก่อนอินเดีย และหลังอินเดีย
 
ก่อนอินเดีย หมายถึง ก่อนรับอารยธรรมจากอินเดีย ตั้งแต่หลายแสนหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว จนถึงราว พ.ศ. ๑๐๐๐
 
คนพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ในอาเซียน มีวัฒนธรรมร่วมอยู่แล้ว ก่อนรับอารยธรรมจากอินเดีย
 
หลังอินเดีย หมายถึง หลังรับอารยธรรมจากอินเดีย ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. ๑๐๐๐

คนพื้นเมืองรับวัฒนธรรมจากอินเดียมาประสมประสานวัฒนธรรมดั้งเดิม แล้วเกิดวัฒนธรรมใหม่ ที่มีทั้งคล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน มี ๓ ระยะ คือ
(๑) รับศาสนาพราหมณ์-พุทธ กับ
(๒) รับศาสนาอิสลาม และอื่นๆ
(๓) รับอาณานิคม

ศาสนาพราหมณ์, พุทธ
ราวหลัง พ.ศ. ๑๐๐๐ ภูมิภาคอุษาคเนย์รับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธจากอินเดียและลังกา
 
บางท้องถิ่นมีตำนานคำบอกเล่าว่าเริ่มรับก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ไม่เคยพบหลักฐานสนับสนุนทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
 
ศาสนาท้องถิ่น
ศาสนาผีเป็นรากฐานแข็งแรงอยู่ก่อนแล้วหลายพันปีในอุษาคเนย์ เมื่อหัวหน้าเผ่ารับศาสนาพราหมณ์, พุทธ จากอินเดียและลังกาเข้ามาใหม่ ต้องปะทะกันอย่างรุนแรง
 
ท้ายสุดเกิดการประนีประนอมประสมประสานกันระหว่างศาสนาผีกับศาสนาพราหมณ์, พุทธ แล้วมีศาสนาท้องถิ่นขึ้นใหม่สืบจนทุกวันนี้ ซึ่งมีลักษณะต่างกันไป
 
มีตัวอย่างในไทย ศาสนาท้องถิ่นเรียกศาสนาไทย
 
ศาสนาไทย มีศาสนาผีเป็นฐานรากอันแข็งแกร่ง แล้วรับเอาสิ่งละอันพันละน้อยของศาสนาพราหมณ์ กับศาสนาพุทธ โดยเลือกเอาส่วนที่ไม่ขัดกับหลักผี เข้ามาประดับศาสนาผี เพื่อให้ดูดี ทันสมัย มีสง่าราศี น่าเลื่อมใสศรัทธาขึ้นเท่านั้น
 
ศาสนาผีรักษากฎเกณฑ์ทางสังคม แต่พราหมณ์, พุทธ รักษากฎเกณฑ์ทางจิตวิญญาณของบุคคล [ศาสนาผี โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๒๑-๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ หน้า ๒๘-๒๙]
 
ปราบผีพื้นเมือง
คนพื้นเมืองบนเกาะชวา (ก่อนอารยธรรมอินเดียแผ่เข้าไป) ล้วนนับถือศาสนาผี มีหลากหลายเหมือนคนกลุ่มอื่นๆในอาเซียนโบราณ
 
เมื่อพ่อค้าหรือนักเสี่ยงโชคผจญภัยจากอินเดียยกกองเรือถึงเกาะชวา ราวหลัง พ.ศ.๑๐๐๐ โดยเชิญพระพิฆเนศเป็นเทวรูปสำคัญประจำเรือเพื่อขจัดอุปสรรคระหว่างเดินทาง
 
จากนั้นก็ปราบปรามคนพื้นเมืองให้อยู่ในอำนาจจนสำเร็จ ซึ่งต้องฆ่าคนพื้นเมืองจำนวนไม่น้อย
 
พระพิฆเนศนั่งทับหัวกะโหลก หมายถึงเทวดาชมพูทวีปมีอำนาจเหนือคนพื้นเมือง แล้วมีอำนาจเหนือผีทั้งปวงบนเกาะชวา
 
[พระพิฆเนศเป็นบรมครูของศิลปินร้องรำทำเพลงและวาดปั้น เป็นสิ่งที่ไทยประดิษฐ์ใหม่สมัย ร.๖ แต่ไม่มีความเชื่ออย่างนี้ในอินเดียและชวา]



พระพิฆเนศนั่งทับหัวกะโหลกคนพื้นเมือง เมื่อปราบคนพื้นเมืองสำเร็จแล้ว
รูปสลักจากหินภูเขาไฟ ฝีมือช่างชวาตะวันออก ผู้สำเร็จราชการฮอลันดาที่ปกครองชวา (อินโดนีเซีย)
ถวาย ร.๕ เมื่อครั้งเสด็จประพาสหมู่เกาะชวา พ.ศ. ๒๔๓๙ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)



หลังศาสนาพุทธกับพราหมณ์สถาปนามั่นคงแล้ว คนพื้นเมืองถูกปราบปราม
แม้ศาสนาผี มีความสำคัญ แต่ต้องยกพุทธพราหมณ์มาคลุมเคลือบไว้ แล้วเหยียดสัญลักษณ์เดิม
เป็นฝ่ายเลว (ผู้ร้าย) เช่น นาค เป็นต้นตอของโรคภัยไข้เจ็บ  ภาพสลักรูปกษัตริย์เขมร
หรือพระเจ้าขี้เรื้อน (คงหมายถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) ต่อสู้กับนาคร้าย สัญลักษณ์ของโรคภัยไข้เจ็บ
ที่พ่นพิษใส่กษัตริย์ ทำให้เป็นโรคเรื้อน อายุราว พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๐๐ ภาพสลักที่ปราสาทบายนในนครธม กัมพูชา


ทำขวัญนาคในพิธีบวช
ทำขวัญนาคในพิธีบวช กล่าวถึงพระคุณของแม่ที่มีต่อนาคผู้จะเข้าพิธีบวชเป็นพระสงฆ์
 
ประเพณีนี้ไม่มีในพุทธบัญญัติ และไม่เคยมีในอินเดีย, ลังกา
 
นาค เป็นสัญลักษณ์ของหญิงพื้นเมืองเจ้าของศาสนาผี ตามความเชื่อดั้งเดิมของอุษาคเนย์



ทำขวัญนาค พรรณนาพระคุณแม่ ตามความเชื่อศาสนาผีพื้นเมือง
ของกลุ่มชนดั้งเดิมในภูมิภาคอุษาคเนย์โบราณ แต่ไม่มีในพุทธอินเดีย, ลังกา

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๒๘) ศาสนาพราหมณ์, พุทธ" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน บวชนาค

บวชนาค
บวชนาค หมายถึง บวชคนพื้นเมืองให้เป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา
 
มีเหมือนกันทุกประเทศในอุษาคเนย์ที่รับนับถือพุทธศาสนา แต่บางประเทศเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นแล้ว จึงไม่เหลือหลักฐาน

นาค
นาค หมายถึงคนพื้นเมืองเปลือยเปล่า สัญลักษณ์ของบรรพชนคนสุวรรณภูมิ เป็นคำดูถูกของชาวชมพูทวีป (อินเดีย) เรียกคนพื้นเมืองอุษาคเนย์
 
คำว่า นาค ไม่ใช่ตระกูลภาษาไทย-ลาว แต่มีรากมาจากภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน แปลว่า เปลือย, แก้ผ้า คำนี้มีแพร่หลายในหมู่ชนชาวชมพูทวีปตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์
 
ชาวสุวรรณภูมิ ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว นุ่งห่มใบไม้ เช่น ใบมะพร้าว ฯลฯ ถ้าจะมีผ้านุ่งบ้างก็เป็นผืนเล็กๆ แคบๆ เช่น เตี่ยว ใช้ปิดหุ้มรัดอวัยวะเพศเท่านั้น

เมื่อชาวชมพูทวีปเดินทางมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับกลุ่มชนชาวสุวรรณภูมิที่ยังล้าหลังทางเทคโนโลยีทอผ้า จึงพบว่าไม่มีผ้าผืนใหญ่ใช้นุ่งและห่มเหมือนชาวชมพูทวีป ก็เรียกชาวสุวรรณภูมิอย่างเหยียดหยามดูถูกด้วยถ้อยคำของตนว่า นาค หมายความว่า คนเปลือย, คนแก้ผ้า
 
ต่อมาชักชวนคนฝูงนั้นให้เลื่อมใสพุทธศาสนา เมื่อจะบรรพชาเป็นภิกษุจึงเรียกบวชนาค หมายถึงบวชคนพื้นเมืองเปลือยเปล่าป่าเถื่อนไม่นุ่งผ้า, ไม่ห่มผ้า
 
พิธีบวชนาคไม่มีในพระไตรปิฎก จึงไม่มีในอินเดีย, ลังกา มีแต่ที่สุวรรณภูมิ



ภิกษุสาวก ๓ รูป ครองจีวร ถือบาตร แสดงท่าบิณฑบาต
เป็นหลักฐานเก่าสุดที่แสดงว่ามีพระสงฆ์ในดินแดนสุวรรณภูมิ
ประติมากรรมดินเผาแบบทวารวดี ราวหลัง พ.ศ. ๑๐๐๐ พบที่เมืองอู่ทอง
อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (ภาพจากหนังสือ สุวัณณภูมิ โดย ธนิต อยู่โพธิ์
กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐)



บวชนาคพม่า
บวชนาค มีในทุกบ้านเมืองที่เคยนับถือพุทธศาสนา บางประเทศยังนับถือสืบเนื่องมา เช่น ลาว, กัมพูชา, ไทย, และพม่า
 
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเรื่องบวชนาคพม่าไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า (ฉบับมติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๕ หน้า ๒๓๐) จะคัดมา ดังนี้
 
“พม่ายังแห่นาคเหมือนไทยเราแห่กันแต่ก่อน
 
ลักษณะการแห่บวชนาคนั้น ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ว่าเจตนาจะให้เป็นทำนองเดียวกับแสดงตำนาน Pageant เรื่อง ‘มหาภิเนษกรมณ์’ จึงให้เจ้านาคขี่ม้าเหมือนอย่างพระพุทธองค์เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์เสด็จออกจากเมืองกบิลพัสดุ์ไปทรงผนวช
 
สมมติพวกญาติโยมที่ห้อมแห่ไปเป็นเทวดาที่ห้อมล้อมพระโพธิสัตว์ และหาพวกจำอวดนำกระบวนสมมติว่าเป็นพระยามารที่คอยขัดขวาง
 
แต่ประหลาดอยู่ในเมืองเราแห่เช่นนั้นแต่บวชนาคราษฎร ถ้าเป็นนาคหลวงเช่นเจ้านายทรงผนวช ไม่แห่ หรือแห่ก็แห่เป็นกระบวนพยุหยาตรา
 
นาคเจ้านายทรงยานมาศและเสลี่ยง เคยได้ยินว่าบางทีทรงคอช้างก็มี แต่ที่จะทรงม้าเหมือนอย่างนาคราษฎรหามีไม่ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งนาคหลวงแห่แต่เพื่อให้คนอนุโมทนา ไม่ทำเป็นแสดงตำนาน
 
พิเคราะห์ชวนให้สงสัยว่าแห่นาคราษฎรไทยจะได้แบบมาจากพม่าดอกกระมัง เค้าเงื่อนมีอยู่ที่แห่บวชนาคของราษฎรดูจะต้องมีพวกตีกลองยาวอย่างพม่าที่เราเรียกกันว่า ‘เถิดเทิง’ นำกระบวนเป็นนิจ
 
และเมื่อแห่ไปถึงวัด พวกกลองยาวเล่นจำอวดกั้นกางอย่างเป็นพระยามารห้ามเอารางวัลเสียก่อน แล้วจึงให้เจ้านาคเข้าโบสถ์ เป็นประเพณีมาอย่างนี้”
 
กลองยาว วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์
แห่นาคในไทย ไม่จำเป็นต้องรับจากพม่า เพราะประเพณีแห่ต่างๆ มีมาแต่ดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว มีหลักฐานในภาพเขียนสีบนเพิงผาและผนังถ้ำ
 
กลองยาว คือกลองมีเอว [ล้านนาเรียก กลองแอว หรือ กลองมีแอว] เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว ไม่ใช่สมบัติของพม่ากลุ่มเดียว
 
แต่คนทั่วไปถูกครอบงำว่ากลองยาวเป็นของพม่า เพราะเชื่อตามคำร้องเพลงสิบสองภาษา สำเนียงพม่า ซึ่งเพิ่งแต่งใหม่ ยุคหลัง ร.๔ ว่ามีพม่ากลุ่มหนึ่งเข้ามาทำมาหากินในไทย โดยรวมกันเล่นกลองยาวรับจ้างแห่ต่างๆ ดังนี้
ทุงเล ทุงเล                ทีนี้จะเห่พม่าใหม่
ตกมาอยู่เมืองไทย       เป็นผู้ใหญ่ตีกลองยาว
     ฯลฯ
 
แห่นาคในไทยจึงไม่จำเป็นต้องรับจากพม่า แต่มีเป็นวัฒนธรรมร่วมทั้งพม่าและไทย รวมถึงเขมร, ลาว



ม้าในขบวนแห่นาคไปวัด
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๒๙) บวชนาค" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ชายเป็นใหญ่

ชายเป็นใหญ่
ชายเป็นใหญ่ในอารยธรรมอินเดีย ดังนั้นหลังรับอารยธรรมอินเดีย คนอุษาคเนย์ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปยกย่องชายเป็นใหญ่เหนือหญิง
 
เห็นได้จากเทวดามหาเทพในศาสนาพราหมณ์ ล้วนเป็นเพศชาย
 
ส่วนศาสนาพุทธอนุญาตให้ชายบวชเป็นเป็นภิกษุ แต่ไม่อนุญาตให้หญิงบวชเป็นภิกษุณี และหญิงสัมผัสร่างกายภิกษุ หญิงต้องบาป ภิกษุไม่บาป






ผู้หญิงเป็นใหญ่
หลังรับอารยธรรมอินเดีย ผู้ชายขึ้นเป็นใหญ่แทนหญิง
 
คนอุษาคเนย์ดั้งเดิมก่อนรับอินเดีย ต่างนับถือศาสนาผีเหมือนๆ กัน โดยมีผู้หญิงเป็นใหญ่ หรือเป็นเจ้าของศาสนาผี [ตรงข้ามกับผู้ชายเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์, พุทธ]

ผู้หญิงสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ยุคดึกดำบรรพ์ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีสถานะและบทบาททางสังคมสูงกว่าผู้ชาย เช่น
 
เป็นใหญ่ในพิธีกรรม, เป็นหมอผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์, และเป็นเจ้าของเครื่องมืองานช่างทุกอย่าง รวมทั้งช่างฟ้อน (รำ), ช่างขับ (ร้อง), ช่างปี่ (แคน), ฯลฯ ผู้ชายไม่มีสิทธิ์ทำสิ่งสำคัญอย่างนี้
 
แม่ ผู้เป็นใหญ่
หลังรับอารยธรรมอินเดีย พ่อคือผู้เป็นใหญ่ในสังคมนอกบ้าน แต่ภายในครอบครัว แม่ยังใหญ่เหมือนเดิม
 
เหตุที่แม่หญิงเป็นใหญ่ เพราะโครงสร้างทางสังคมดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ จัดระเบียบครอบครัวโดยให้ความสำคัญกับความเป็นแม่ หรือเน้นแม่เป็นศูนย์กลางของเครือญาติ
 
แม่เป็นผู้ได้รับมรดกตกทอดจากครอบครัวให้ควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เช่น บ้านเรือน, ที่ดิน, เรือกสวนไร่นา, ฯลฯ จึงมีอำนาจเหนือพ่อและเครือญาติอื่นๆ
 
ลูกอยู่ใกล้ชิดแม่ เพราะแม่ควบคุมทรัพยากรเศรษฐกิจอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่พ่อออกไปทำมาหากินนอกบ้าน จึงไม่ใกล้ชิดลูก ส่งผลให้แม่มีผู้แวดล้อมเป็นกำลังแรงงาน แต่พ่อมีน้อยกว่าแม่ หรือไม่มี
 
สังคมดั้งเดิมจึงเน้นความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง มากกว่าผัวกับเมีย การสืบตระกูลจึงเน้นทางฝ่ายแม่ เช่น พี่น้องท้องเดียวกัน หมายถึงมีแม่คนเดียวกัน (แต่อาจคนละพ่อก็ได้)
 
แม่ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า (เมีย ก็น่าจะเลื่อนเสียงจากคำว่า แม่)
 
เป็นคำร่วมมีในเกือบทุกภาษาของคนเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ แล้วมีความหมายอย่างเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน
 
เมื่อจะเรียกสิ่งที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นสำคัญ จึงมีคำว่าแม่นำหน้า เช่น แม่น้ำ, แม่ทัพ, แม่เหล็ก, ฯลฯ
 
นาง แปลว่าหัวหน้า, ผู้เป็นใหญ่ ใช้กับเพศหญิง (มีความหมายอย่างเดียวกับนายที่ใช้กับเพศชาย)
 
หัวหน้าเผ่า
หลังรับอารยธรรมอินเดีย ผู้ชายริบอำนาจหัวหน้าเผ่าจากผู้หญิง แล้วเรียกชื่อตามอินเดีย เช่น ราชา ฯลฯ
 
ชุมชนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าพิธีกรรม ทำหน้าที่ปกครองดูแลควบคุม (ต่อมาอีกนานได้ชื่อเรียกว่าเจ้าเมือง) นับเป็นหน่วยทางการเมืองยุคแรกเริ่มที่ผู้คนรวมตัวกันขึ้นมา
 
หมอผีเป็นหญิง
แม้ผู้ชายริบอำนาจจากหญิงแล้ว แต่ผีบรรพชนยังเข้าร่างทรงผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย แสดงว่าอารยธรรมอินเดียปราบไม่ลงต่อความเชื่อพื้นเมือง
 
ผีบรรพชนจะเข้าสิงในร่างทรงของผู้หญิงเท่านั้น เรียกหมอผี
 
ผู้หญิงที่มีผีบรรพชนสิง ต้องทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาทั้งปวงของเผ่าพันธุ์ตนให้คนอื่นๆ รู้
 
มีตัวอย่างพิธีเลี้ยงผีของชุมชนหมู่บ้านทั่วไปในภูมิภาคอุษาคเนย์ เช่น ผีฟ้าของลาว ผีมดของเขมร ผีเม็งของมอญ ล้วนมีผู้หญิงเป็นร่างทรง ผีเหล่านี้ไม่เข้าร่างทรงที่เป็นผู้ชาย


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๓๐) ชายเป็นใหญ่" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
3347  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: 'มออีแดง' อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ: 06 สิงหาคม 2558 16:07:54









เป็นธรรมชาติของแอดมิน Mckaforce สอนมาแต่เล็กแต่น้อยไม่จำ
นายนี่ชอบทำอะไรเสี่ยงตาย พลาดพลั้งตกพลาญหินร่วงจากผา ต้องเป็นผีเฝ้าชายแดนเขมร





3348  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / 'มออีแดง' อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ: 06 สิงหาคม 2558 14:29:27
.


พระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก ประดิษฐานในวิหารเล็ก ผามออีแดง

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าพันปี
เชื่อว่าที่ตั้งของจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน เคยเป็นชุมชนและแหล่งอารยธรรม
อันรุ่งเรืองสมัยขอมเรืองอำนาจ ดังปรากฏหลักฐานจากโบราณสถาน โบราณวัตถุ

เทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ล้วนก่อกำเนิดจากประติมากรรมหรือสถาปัตยกรรมขอม
ที่ยังเหลือ ซาก อยู่อย่างมากมาย
เพียงพอให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเข้าถึงความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาล.


ชม ภาพสลักอายุกว่า ๑,๕๐๐ ปี
ที่ผา "มออีแดง"

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ

มออีแดง เป็นชื่อเรียกหน้าผาหินทราย ชะง่อนเขาของเทือกเขาพนมดงรัก พรมแดนกั้นอาณาเขตระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา  

ผามออีแดง อยู่ในเขตบ้านภูมิซรอล ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ   โดยอยู่ห่างจากอำเภอกันทรลักษณ์ไปทางใต้ ๓๔ กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๙๘ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นลานหินธรรมชาติริมหน้าผา ความสูง ๕๖๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  ติดกับพรมแดนประเทศกัมพูชาซึ่งมองเห็นลิบลิ่วอยู่เบื้องล่าง และเป็นจุดใกล้ที่สุดสำหรับการชมปราสาทเขาพระวิหารซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาแห่งนี้ ในระยะห่างเพียง ๑ กิโลเมตร โดยใช้กล้องส่องทางไกล

ความเป็นมาของชื่อ “มออีแดง”  
ก่อนที่จะขึ้นไปผามออีแดง เราท่านจะต้องเดินทางผ่านหมู่บ้าน “ภูมิซรอล” (ภูมิ แปลว่า บ้าน  ซรอล แปลว่า ต้นสน) หมู่บ้านสุดท้ายที่ตั้งอยู่ติดชายแดนกัมพูชา

จากหมู่บ้านภูมิซรอลถึงผามออีแดง มีระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร  ผามออีแดงเป็นหน้าผาสูงลาดชัน ๔๕ องศา  เดิมเรียกว่า เนิน ๔๕  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้มีคณะครูจำนวน ๓๐ คน เดินทางมาเที่ยวปราสาทเขาพระวิหาร รถของคณะครูประสบอุบัติเหตุบริเวณเนิน ๔๕ ทำให้ครูท่านหนึ่งชื่อ “ครูแดง” เสียชีวิต  และวิญญาณครูแดงได้มาปรากฏกายให้เจ้าหน้าที่พบเห็นบ่อยครั้ง เป็นที่เล่าขานและเปลี่ยนจากการเรียก ‘เนิน ๔๕' เป็น 'มออีแดง’ สืบต่อมาจนปัจจุบัน (มอ คือ เนิน  อี คือ นามเรียกเสมือนญาติผู้ใกล้ชิด  แดง คือ ชื่อของครูผู้เสียชีวิต)
 


ผนังหน้าผาหินทรายมออีแดง ทางฝั่งประเทศกัมพูชา มีภาพสลักนูนต่ำ (BAS RELIEF) และภาพลงเส้นหรือสลักแบบสกัด (ENGRAVE) ฝีมืองดงาม ศิลปะเขมร อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ (ระหว่าง พ.ศ. ๑๔๖๕-๑๔๙๐) สันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  เป็นภาพสลักนูนรูปบุคคลสามคน ในท่านั่งตัวตรง ขาขวายกขึ้นชันเข่า มือขวาถือสิ่งของคล้ายแส้ยกพาดบนขาที่ชันขึ้น  แขนซ้ายเหยียดยันติดพื้น บนศีรษะสวมเครื่องประดับมีกระบังหน้า สวมตุ้มหู  มีผู้สันนิษฐานว่าเป็น ‘ท้าวกุเวร’ หนึ่งในสี่จาตุมหาราช ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์  บ้างก็ว่าเป็นบุคคลสูงศักดิ์ หรือเจ้านายตระกูลสูง และบริเวณใกล้เคียงกันยังมีภาพลงเส้นรูปเทพเจ้าขอมสมัยพระนคร ประทับนั่งมีพญานาคอยู่เบื้องบน  และรูปสัตว์ที่สลักยังไม่แล้วเสร็จ  

ภาพสลัก ณ ผามออีแดง  ค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ ๒๓ กองกำลังสุรนารี  ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในบริเวณนี้






ทางเดินและบันไดเหล็กแข็งแรง สร้างยึดตรึงกับแผ่นผาสูงชัน ให้ลงไปชมภาพสลักได้อย่างสะดวก
(กลัวความสูง จึงก้มหน้าก้มตาเดินดูขั้นบันไดอย่างเดียว ไม่วอกแวกมองแผ่นดินกัมพูชา
ที่แลเห็นทิวยอดไม้ลิบลิ่วอยู่เบื้องล่าง ขาจะอ่อนแรงร่วงตกไปตายฟรีซะเปล่าๆ!)




ภาพสลักนูนต่ำ บริเวณชะง่อนหิน ผนังผาหินทรายมออีแดง เป็นรูปบุคคล
ในท่านั่ง ๓ คน  ในเครื่องแต่งกายแบบเขมร มีความกว้างประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร
และสูงประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕
เชื่อกันว่าเป็นการสลักซ้อมมือของช่าง ชนพื้นเมืองแถบนี้ ซึ่งขณะน้้นนับถือศาสนาฮินดู
ก่อนจะขึ้นไปแกะสลักจริงบนปราสาทเขาพระวิหาร (บริเวณใกล้เคียงกันยังพบภาพแกะสลักสายเส้นอีกด้วย)







ปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ห่างจากจุดชมทัศนียภาพหนึ่งกิโลเมตร


ปราสาทเขาพระวิหารสร้างด้วยหินทรายสีเหลืองและสีเทา ซึ่งหาได้ง่ายในท้องถิ่น
หลายส่วนสกัดจากหินเพียงชิ้นเดียว ที่มีน้ำหนักมากกว่า ๕ ตัน(มากกว่า ๕,๐๐๐ กิโลกรัม/ชิ้น)  
ไม่มีการใช้ศิลาแลง แต่มีการใช้อิฐในการทำคานหลังคาและประตูบางส่วน




ลวดลาย สีสันสวยงาม ของหินบนเทือกเขาพนมดงรัก (ผามออีแดง) ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาทเขาพระวิหาร


เราสามารถมองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนจากกล้องส่องทางไกลของทหารพราน (บริการฟรี)


อาคารหลังคาสีแดง คือ สถานที่ติตตั้งกล้องชมปราสาทเขาพระวิหาร


สถูปคู่ เป็นสถูปศิลปะปาปวน (ศตวรรษที่ ๑๑)
ลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างด้วยหินทรายแดง ยอดแหลมรูปดอกบัวตูม  ความกว้าง ๑.๙๓ เมตร สูง ๔.๒๐ เมตร
เชื่อกันว่า น่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ (ถ่ายซูมจากจุดชมปราสาทเขาพระวิหาร)


ฐานที่ตั้งกองกำลังทหารพราน จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ไม่ไกลจากปราสาทเขาพระวิหาร
(ถ่ายซูมจากจุดชมปราสาทเขาพระวิหาร)


กึ่งกลางภาพ จุดสีขาวๆ นั่นคือหลังคาบ้านมุงด้วยสังกะสีของชาวกัมพูชา
ที่แห่งนี้คือดินแดนของราชอาณาจักรไทย ถูกเขมรรุกล้ำเข้ามาตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนบนเขาสูง
ทราบจากทหารและชาวบ้านว่า พวกนี้ขึ้นโดยกระเช้า ที่สร้างไว้ตามแนวชายแดนกัมพูชา
เรื่องละเอียดอ่อน กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ต้องหาทางยุติต่อไป
3349  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: การปลงศพ ในประเทศสยาม เมื่อ: 06 สิงหาคม 2558 11:37:10
.


ภาพจาก เว็บไซท์ oknation.net-
การปลงศพในประเทศสยาม

ชาวสยามปลงศพ (ต่อ)

เมื่อพิธีกรรมของชาวชมพูทวีปได้แพร่เข้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิในยุคทวารวดีพร้อมกับศาสนาพราหมณ์ ก่อนพระพุทธศาสนานั้นราวหนึ่งพันปีมาแล้ว การปลงศพจะมี ๔ ประการ ต่างกันตามฐานะของคนตาย ได้แก่ ปลงศพด้วยดิน คือ ฝัง ปลงด้วยน้ำ คือ โยนทิ้งในแม่น้ำลำคลอง ปลงด้วยนก คือ ให้แร้งกากิน และปลงด้วยไฟ คือ เผา

แต่สมัยรัตนโกสินทร์ คนไทยก็จัดการปลงศพอย่างเป็นอารยะแล้ว เมื่อ มาร์ควิส เฮสติงค์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอินเดีย ได้ส่ง จอห์น ครอว์ฟอร์ด ที่คนไทยเรียกว่า นายยอนการะฝัด เป็นทูตนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลที่ ๒ เมื่อมาถึงเมืองปากน้ำ การะฝัดได้รับเชิญไปในงานเลี้ยงรับรองในเรือนใหญ่แห่งหนึ่ง เขาเขียนเล่าไว้ว่า

ม่านซึ่งแขวนอยู่ทางสุดห้องกระตุ้นให้เราเกิดความอยากรู้อยากเห็น และเรารู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่า หลังม่านนั้นเองเป็นที่ตั้งศพของท่านข้าหลวงปากน้ำคนก่อนเพื่อให้คนมาคารวะ ท่านเป็นพี่ชายของข้าหลวงคนปัจจุบัน และเป็นบิดาของชายหนุ่มผู้เชิญเรามา ความจริงชายผู้นั้นได้เล่าให้เราฟังแล้วว่า บิดาของเขาถึงแก่กรรมเมื่อห้าเดือนก่อน ศพของท่านยังคงเก็บรักษาอยู่ในเมืองปากน้ำ และจะมีพิธีฌาปนกิจในสองสามวันนี้ อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้คาดว่าผู้ตายจะให้เกียรติด้วยการที่ร่างของเขาก็อยู่ในงานรื่นเริงซึ่งเราได้รับเชิญมานั้นด้วย

ฟินเลย์สันและรูเทอร์ฟอร์ด ผู้เดินทางมาถึงที่นั่นในวันต่อมา เกิดมีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องศพอย่างแรงกล้า ถึงขนาดถือวิสาสะถามบุตรของผู้ตายหลายประการ ซึ่งชายหนุ่มก็มิได้แสดงอาการไม่พอใจแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับรีบนำชายทั้งสองไปคารวะศพโดยมิได้รอช้า

หีบศพนั้นถูกคลุมไว้ด้วยผ้าขาวโรยผงทอง เมื่อเปิดผ้าคุลมออกก็มองเห็นร่างห่อหุ้มไว้ด้วยผ้าขาวหลายชั้นคล้ายมัมมี่ของอียิปต์ เห็นได้ชัดว่าแห้งสนิทแล้ว และโปรยด้วยเครื่องเทศไว้หนามากจนกระทั่งไม่มีร่องรอยของกลิ่นเหม็นใดๆ ทั้งนั้น

ทว่า ในกรุงเทพฯ สมัยนั้นเอง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวในทางน่ากลัวจนหัวหด ที่ฝรั่งขอบไปเยือนแห่งหนึ่งคือ วัดสระเกศ  สมัยที่ทางราชการห้ามเผาศพภายในกำแพงพระนครนั้น ใครตายก็ต้องเอาออกทางประตูฝีที่มีอยู่ประตูเดียว  วัดสระเกศอยู่ใกล้กับประตูที่ว่านั่นพอดี เรียกว่าเป็นทำเลทองสำหรับดักรับศพ ใครแบกผ่านประตูผีข้ามสะพานคลองโอ่งอ่างออกมาก็เจอป่าข้าใหญ่โตมโหฬารเลย เอาศพทิ้งเสียที่นี่เป็นสะดวกที่สุด ไม่ต้องเสียแรงเสียสตางค์เอาไปที่ไหนไกลๆ

เมืองไทยในฤดูแล้ง สมัยก่อนอหิวาตกโรคหรือโรคห่าก็ระบาดกันเป็นประจำ ช่วงที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สถิติคนตายตอนนั้นยังไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ทำลายได้เลย แค่ ๑๕ วัน ตายไปสามหมื่นคน แม่น้ำ ลำคลองเต็มไปด้วยซากศพ จนใช้อาบ ใช้กินไม่ได้ทั้งสิ้น บนบกศพก็กองเละเทะไปทุกหนทุกแห่ง อย่าว่าแต่จะจัดพิธีปลงศพเลย จะเผาจะฝังให้ดีหน่อยก็ยังไม่ทันแล้ว ต้องใช้วิธีขุดหลุมใหญ่ๆ ที่วัดสระเกศ แล้วเอาศพมากองสุมลงไป รอให้เต็มก่อนจะกลบ ฝูงแร้งจากสารพัดทิศจึงบินมารวมกันอยู่ที่นั่น เยอะขึ้นๆ จนเป็นพันๆ ตัว อิ่มหนำสำราญแล้วขยายพันธุ์ออกลูกออกหลานกันต่อ ด้วยว่าอาหารการกินบริบูรณ์เหลือหลาย ป่าช้าที่ลึกเข้าไปถึงแม้นศรีก็อาณาเขตกว้างใหญ่รกชัฏ เป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของพวกมัน

ตั้งแต่นั้นมาบรรดาแร้งก็ตั้งหลักแหล่งอย่างถาวร วัดสระเกศเลยกลายเป็นที่ทิ้งศพ นอกจากศพคนตายด้วยโรคห่าที่นานปีมีครั้งแล้ว ก็ยังมีศพที่ตายตามปกติมาทิ้งให้กินกันเป็นประจำทุกวัน แม้สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว ทางคุกยังเอาศพนักโทษที่ตายมาทิ้งรวมไว้กับศพคนจน หรือศพไร้ญาติที่นี่ และนอกจากแร้ง ก็ยังมีหมาวัด และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเหี้ย ที่มีหน้าที่กำจัดซากศพที่เหลือแล้วนั่นแหละ สัปเหร่อจึงจะเก็บรวบรวมไปฝังไปเผา

เดอห์ริงอ้างถึงบทความในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๐๙ อันอยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔ มีความบรรยายถึงการปลงศพของสามัญชนคนยากในยุคนั้นว่า   แรกทีเดียวก่อนที่ศพจะเป็นเหยื่อแก่แร้งนับจำนวนร้อย สัปเหร่อจะเปิดฝาโลงออก ฝูงสัตว์ที่น่ากลัวเหล่านี้จะพากันมารุมล้อมเต็มไปหมดเพื่อคอยกินซากศพ บางพวกที่เกาะอยู่บนหลังคาวัด หรือตามสุมทุมพุ่มไม้ใกล้ๆ หีบศพนั้น มันจะจ้องกินอย่างตะกละ จนกระทั่งสัปเหร่อและลูกน้องต้องช่วยกันไล่ไปให้พ้น จึงจะเปิดฝาโลงออกได้ ดูเหมือนพวกมันจะรู้ดีว่าจะได้กินก็แค่เพียงเศษเนื้อชิ้นเล็กๆ เท่านั้น เพราะศพดังกล่าวจะต้องถูกแบ่งให้แก่ฝูงสุนัขที่จ้องรอคอยอย่างตะกลามอยู่ข้างๆ โลงอีกด้วย  เมื่อศพถูกนำออกมาวางลงบนขอนไม้ พอคนถอยออกไป นกทั้งหลายก็จะพากันถลาลงมารุมซากศพ  

ชั่วเวลาเพียงครู่เดียวที่มันรุมจนมองไม่เห็นศพ มันจะใช้จะงอยปากและอุ้งเล็บฉีกทึ้งเนื้อออกแล้วบินไปขยอกกินตามลำพังบนกิ่งไม้ ยิ่งกว่านั้นสัปเหร่อยังคิดบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์โดยการตัดเฉือนชิ้นเนื้อโยนให้สุนัขที่หิวโซได้กินกันอีกด้วย ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพินัยกรรมฉบับล่าสุดของผู้ตาย ที่ระบุอุทิศร่างให้เป็นทานแก่สัตว์ทั้งหลาย ฝ่ายแร้งมักไม่พอใจในส่วนที่ได้รับ มันจะพากันบินโฉบลงมาข้างล่างอีกและพยายามแย่งชิ้นเนื้อจากปากสุนัข ฝูงแร้งที่กินไม่อิ่มต่างพากันจับจ้องมองอยู่จนกระทั่งเห็นว่าไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว มันจะสั่นหัวอันน่าเกลียด กระโดดก้าวยาวๆ เพื่อเร่งความเร็ว แล้วก็กระพือปีกมหึมาของมันบินจากไป

ขณะเดียวกับพวกเจ้าภาพจะยืนถือธูปเทียนคอยอยู่ จนกระทั่งสัตว์เหล่านั้นจากไปเหลือทิ้งไว้แต่กระดูก ครั้นแล้วสัปเหร่อจึงรวบรวมกระดูกใส่โลง ให้คน ๔ คน หามเวียนเชิงตะกอน ๓ รอบ ต่อจากนั้นวางโลงบนกองเพลิง ใส่ฟืนเข้าไปอีกสองสามดุ้น เพื่อเร่งไฟให้แรงขึ้นแล้วญาติพี่น้องแต่ละคนจึงเอาเทียนที่จุดไว้เข้าไปเผาศพ

คนยากจนที่ไม่มีเงินพอทำศพ ได้แค่ฝังเอาไว้แล้วปล่อยให้เป็นเหยื่อแก่ฝูงแร้งและสุนัข ในสมัยก่อนซากศพเหล่านี้จะถูกโยนทิ้งน้ำ ต่อมารัฐบาลได้ออกคำสั่งห้ามการกำจัดศพด้วยวิธีนี้

กัปตันเวอร์เนอร์ ซึ่งร่วมมากับคณะสำรวจชาวปรัสเซีย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๔ ได้แวะมาเยือนกรุงเทพฯ และไปที่วัดสระเกศ ได้เล่าให้ฟังว่า ‘เมื่อเดินผ่านประตูกำแพงที่ล้อมรอบเข้าไป จะไปสู่สถานที่แห่งที่สองซึ่งมีขนาดเล็กกว่าแห่งแรก ปรากฏว่า เป็นสวนป่าธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ ต้นไม้แถบเมืองร้อนขึ้นงอกงาม พื้นดินปกคลุมได้ด้วยหญ้าเขียวขจี ความสงัดทำให้ผู้ไปเยือนมีจิตใจหดหู่ ไม่มีมนุษย์อยู่แถวนั้นเลย ไม่มีนกร้องเพลงมาทำรังอยู่บนต้นไม้ จะมีก็แต่เสียงกระพือปีกพึ่บพั่บของแร้งตัวดำมหึมา ซึ่งบินจากต้นไม้ขึ้นไปคอยอยู่กลางอากาศ แล้วก็ถลากลับมาจับบนต้นไม้อีกพร้อมทั้งนั่งมองไปรอบๆ อย่างไม่น่าไว้ใจ

ใกล้กับประตู มียกพื้นหกแห่งสร้างเหนือระดับพื้นดินเล็กน้อย บนแต่ละแห่งมีสุนัขนอนผึ่งแดดอยู่สองสามตัว มันอ้วนและเชื่องช้าเสียจนกระทั่งเมื่อเอาก้อนหินขว้างปาก็แทบจะไม่วิ่งหนี สวนอันสงบเงียบและน่ารื่นรมย์นี้เป็นที่ฝังศพของพวกคนจน ซึ่งญาติพี่น้องไม่มีเงินจะจัดการเผา สุนัขและแร้งทั้งหลายจึงจัดการให้แทน ซากศพเปลือยถูกตัดออกเป็นท่อนๆ แล้ววางทิ้งไว้ขนยกพื้นนั้น ทันทีที่พวกแบกศพเดินพ้นจากประตู ฝูงแร้งจะกระพือปีกบินร่อนลงมา รวมทั้งฝูงสุนัขซึ่งวิ่งกรูกันเข้าไป ชั่วเวลาไม่เกินสิบนาทีจะมีเหลืออยู่ก็แต่เพียงกระดูกเท่านั้นให้ญาติพี่น้องมาเก็บเอาไปเผา’


โปรดติดตามตอนต่อไป


ที่มา : คอลัมน์ ประวัติศาสตร์มีชีวิต "ชาวสยามปลงศพ (๒)" โดย หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน  นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์  
3350  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: 'ผู้สละโลก' นวนิยายอิงประวัติพุทธสาวก โดย วศิน อินทสระ เมื่อ: 03 สิงหาคม 2558 15:18:21



       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๔. ปลดแอก

ฝ่ายพระสารีบุตร เมื่อบวชแล้วได้กึ่งเดือน พักอยู่กับพระศาสดา ณ ถ้ำสุกรขาตา บนภูเขาคิชฌกูฏ เขตเมืองราชคฤห์นั่นเอง ปริพาชกผู้หนึ่งชื่อทีฆนขะอัคคิเวสสนโคตร ผู้เป็นหลานของพระสารีบบุตร เที่ยวเดินตามหาลุงของตน มาพบพระสารีบุตรกำลังอยู่ถวายงานพัดพระศาสดาอยู่ เกิดความไม่พอใจ จึงกล่าวขึ้นว่า
“พระโคดม! ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่พอใจหมด”

ภราดา! คำกล่าวทำนองนี้ เป็นการกล่าวกระทบเป็นเชิงว่าเขาไม่พอใจพระศาสดาผู้ให้พระสารีบุตรลุงของเขาบวช เพราะพระศาสนาก็รวมอยู่ในคำว่า ‘สิ่งทั้งปวง’

พระผู้มีพระภาคผู้ทรงอนาวรณญาณ ทรงแตกฉานในถ้อยคำภาษา และความหมาย ตรัสตอบว่า “อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้นก็ไม่ควรแก่ท่าน ท่านควรจะไม่ชอบความเห็นอย่างนั้นเสียด้วย”

พระดำรัสตอบของพระศาสดานั้นเรียกว่า ‘ถึงใจ’ เป็นอย่างยิ่ง ทีฆนขะไม่รู้จะตอบโต้ประการใด จึงก้มหน้านิ่งอยู่

พระตถาคตเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า “อัคคิเวสสนะ! สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฐิว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจหมด พวกหนึ่งมีทิฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา เราชอบใจหมด พวกหนึ่งมีทิฐิว่า บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ

"อัคคิเวสสนะ! ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกแรก เอียงไปทางความเกลียดชังสิ่งทั้งปวง ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกที่สองเอียงไปทางความกำหนัดรักใคร่สิ่งทั้งปวง ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกที่สามเอียงไปในทางกำหนัดยินดีบางสิ่ง และเกลียดชังบางสิ่ง ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า ถ้าเราถือมั่นทิฐินั้นอย่างหนึ่งอย่างใด กล่าวว่าสิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นหาจริงไม่ก็ต้องถือผิดจากคนสองพวกที่มีทิฐิไม่เหมือนตน ครั้นถือผิดกันขึ้น การวิวาทเถียงกันก็มีขึ้น ครั้นวิวาทกันมีขึ้น การพิฆาตมาดหมายก็มีขึ้น เมื่อความพิฆาตมีขึ้น การเบียดเบียนกันก็มีขึ้น ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้วย่อมละทิฐินั้นเสียด้วย ไม่ทำทิฐิอื่นให้เกิดขึ้นด้วย”

ครั้นแล้วทรงแสดงอุบายแห่งการละความยึดมั่นถือมั่นว่า

“อัคคิเวสสนะ กายนี้เป็นของประชุมลงแห่งดิน น้ำ ลม ไฟ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นเพราะข้าวสุกและขนมนมเนย ต้องอบต้องอาบเพื่อกันกลิ่นเหม็น ต้องขัดสีมลทินอยู่เป็นนิตย์ มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ผู้มีจักษุควรพิจารณาเห็นกายนี้ว่าเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ทนได้ยาก เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เพราะความยากลำบาก ชำรุดทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวตน เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ย่อมละความพอใจรักใคร่ความกระวนกระวายในกายเสียได้”

“ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ! ตลอดชีวิตของมนุษย์มีอะไรเล่าจะเป็นภาระหนักยิ่งไปกว่าการต้องประคับประคองกายให้อยู่รอดให้เป็นไปได้ มนุษย์ต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องทนทุกข์ทรมานเหลือเกินเพื่อกายนี้ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของกายนี้ มันเหมือนแผลใหม่ที่ต้องประคบประหงมต้องใส่ยาทาพอกกันอยู่เนืองนิตย์-----พระศาสดาจึงตรัสว่า “ไม่มีความทุกข์ใดเสมอด้วยการบริหารขันธ์”  ทั้งๆ ที่เป็นดังนี้ มนุษย์ทั้งหลายก็ยังพอใจในกายนี้ เห็นกายนี้เป็นของสวยของงามน่าอภิรมย์ชมชื่น ยื้อแย่งฆ่าฟันกันเพราะเหตุแห่งกายนี้ ต้องร้องไห้คร่ำครวญถึงกายอันเป็นดังหัวฝีเป็นดังแผลใหม่นี้ เพราะติดใจในความสวยงาม เข้าใจว่าจะให้ความสุขแก่ตนได้ อันที่จริงกายนี้มีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ทั่วไป มีกระดูกเป็นโครง มีเส้นเอ็นเป็นเครื่องรึดรัด มีเนื้อเป็นเครื่องพอกและมีหนังบางๆ ปกปิดห่อหุ้มสิ่งปฏิกูลทั้งหลายพรางตาไว้ จึงปรากฏแก่คนทั้งหลายผู้มองอย่างผิวเผินว่าเป็นของสวยงาม น่าลูบคลำสัมผัส แต่อันที่แท้แล้ว ความสวยงามสิ้นสุดแค่ผิวหนังเท่านั้นเอง ถ้าลอกเอาผิวหนังออกแล้ว คนที่รักกันเหมือนจะกลืนกินคงวิ่งหนีเป็นแน่  อนึ่ง ผิวหนังที่ว่าสวยนั่นเองก็เปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นและเหงื่อไคล ต้องคอยชำระขัดสีอยู่เนืองนิตย์ เว้นการชำระล้างและขัดสีแม้เพียงวันเดียวก็มีกลิ่นสาบเหม็น เป็นที่รังเกียจแหนงหน่ายแม้แห่งเจ้าของกายนั่นเอง  ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสอนให้พวกเราพิจารณาเนืองๆ ซึ่งกายคตาสติภาวนา คือการคำนึงถึงกายนี้ว่า ไม่งาม โสโครก เป็นที่ตั้งลงและไหลออกแห่งสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย

“ดูก่อนอัคคิเวสสนะ” พระศาสดาตรัสต่อไป “อนึ่ง เวทนา ๓ อย่างคือ สุข ทุกข์ อุเบกขา เมื่อใดบุคคลเสวยสุข เมื่อนั้น เขาไม่ได้เสวยทุกข์และอุเบกขา เมื่อใดเสวยทุกข์ เมื่อนั้นไม่ได้เสวยสุขและอุเบกขา สุขทุกข์ อุเบกขาทั้ง ๓ อย่างไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดา สาวกของพระอริยะฟังดังนี้แล้ว เมื่อเห็นตามอย่างนี้ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสุขทุกข์อุเบกขา เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนด เมื่อคลายกำหนดจิตย่อมหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อพ้นแล้วก็เกิดญาณรู้ว่าพ้นแล้ว  อริยสาวกนั้น รู้ชัดว่าความเกิดสิ้นแล้ว---ผู้พ้นแล้วอย่างนี้ย่อมไม่วิวาททุ่มเถียงกับผู้ใดด้วยทิฐิของตน โวหารใดเขาพูดกันอยู่ในโลกก็พูดตามโวหารนั้น แต่ไม่ถือมั่นด้วยทิฐิ”

ท่านผู้แสวงสัจจะ! คนส่วนมาก เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นหรือได้ประสบทุกข์ก็สำคัญมั่นหมายว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้เป็นของเที่ยงยั่งยืน จึงมีความทุกข์มากขึ้น เพราะกลัวว่าความทุกข์อย่างนั้นๆ จะสถิตอยู่ในใจของตนตลอดไป จึงตีโพยตีพาย พร่ำเพ้อรำพัน ส่วนคนที่สบสุขเล่าก็เพลินในความสุขด้วยสำคัญมั่นหมายว่า สุขที่เกิดแก่เรานี้เป็นของเที่ยง ยั่งยืน จึงติดสุข พอสุขแปรปรวนก็เกิดทุกข์ขึ้น เหมือนคนเห็นเงาดวงจันทร์ในขันน้ำ จึงคว้าเอา ก็คว้าถูกขันน้ำนั่นเอง หาถูกดวงจันทร์ไม่

ภราดาเอย! อันที่จริงแล้ว ทั้งสุขและทุกข์เป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย และแปรปรวนไปเพราะการแปรแห่งเหตุ ดับไปเพราะการดับแห่งเหตุ

ขณะนั้น พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์แห่งพระศาสดา ได้ฟังพระพุทธดำรัสที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชก พลางดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้ละความยึดมั่นถือมั่น ธรรมทั้งหลายมีทิฐิและเวทนาเป็นต้น เมื่อท่านพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนาด้วยโยนิโสมนสิการ จิตก็พ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

ส่วนทีฆนขปริพาชิกนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาของพระศาสดาว่าเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดให้ผู้มีจักษุได้เห็นรูป แลแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต

บัดนี้ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้สำเร็จอรหัตตผลเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ย่ำยีความเมาทั้งปวงแล้ว ได้นำความกระหายทั้งปวงออกแล้ว ถอนอาลัยทั้งปวงออกได้แล้ว ตัดวัฏฏะได้แล้ว สิ้นตัณหาแล้ว สำรอกราคะได้แล้ว ดับกิเลสทั้งปวงได้สนิทแล้ว

อันว่า ภาวะแห่งอรหัตตผลนั้น ทำให้จิตลบเสียได้ซึ่งสมมติบัญญัติทั้งปวงที่เคยติดใจมานาน เพราะจิตได้หลุดพ้นจากความยึดมั่นในสมมติบัญญัติใดๆ แล้ว คงเรียกสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามสมมติโวหารของโลก แต่ไม่ติดไม่มีอาลัยในสิ่งนั้นๆ

ผู้บรรลุแล้วซึ่งนิพพานนั้น เนื่องจากดับเหตุแห่งทุกข์ได้แล้วโดยสิ้นเชิง ความทุกข์จึงไม่เกิดขึ้น มีแต่ความสุขล้วนๆ เป็นสุขที่ไม่เจือด้วยอามิสคือเหยื่อของโลก แต่เป็นสุขและปราโมชซึ่งเกิดจากธรรมมีความเย็นฉ่ำในดวงจิตเพราะไม่ถูกกิเลสเผาลนให้เร่าร้อน กระแสดวงจิตของท่านไม่มีความเศร้าหมองหรือความชั่วหลงเหลือเจือปนอยู่เลย ความกระเสือกกระสนกระวนกระวายแห่งดวงจิตได้ดับลงสิ้นสุดลงตรงนิพพานนี้ และตรงนี้เองที่ความไข้ทางจิตได้ถูกเยียวยาให้หายขาด ไม่กำเริบขึ้นอีก ความระหกระเหินแห่งชีวิตในสังสารวัฏก็สิ้นสุดลงตรงนี้ และตรงนี้เองที่ให้ความมั่นใจ ความสงบราบเรียบ ความชื่นสุขอันละเอียดอ่อนละมุนละไม ความบริสุทธิ์และความสดชื่นที่แท้จริงแก่ชีวิต

โลกียสุข เหมือนสุขของคนไข้ที่ได้กินของแสลงมันให้สุขนิดหน่อยขณะกินเพื่อจะได้ทุกข์มากขึ้นและยืดเยื้อออกไป เมื่อมองดูด้วยปัญญาจักษุแล้ว โลกียสุขจึงเป็นของน่ากลัว น่าหวาดหวั่นระแวงไม่น่าไว้ใจ เต็มไปด้วยภัย เจือไปด้วยโทษทุกข์นานาประการ แต่ที่คนทั้งหลายชอบก็เพราะเป็นความสุขที่หาได้ง่ายและเพราะความไข้หรือความกระหายทางจิตผลักดันให้แสวงหา

ดูก่อนผู้แสวงสัจจะ! ท่านเห็นเรื่องต่อไปนี้เป็นอย่างไร-ควรชื่นชม หรือควรเศร้าสลด?

คนผู้หนึ่งถูกผลักดันให้ดั้นด้นเข้าไปในป่ารก มันระดะไปด้วยเรียวหนามและทางอันขรุขระ ขณะที่กำลังเหนื่อยจวนจะหมดกำลังอยู่นั้น เขาเผชิญหน้ากับช้างป่าที่ดุร้าย เขาออกวิ่งหนีด้วยความตกใจกลัวมาเจอสระใหญ่ซึ่งมีลักษณะคล้ายทะเลสาบน้อยๆ ในป่าลึก เขากระโดดลงไปในทะเลสาบน้อยๆ นั้น เขาคิดว่าคงพ้นอันตราย แต่ทันใดนั้นจระเข้ก็ปรากฏขึ้น เขากระโดดขึ้นจากน้ำรีบหนีขึ้นต้นไม้ใหญ่ได้พบรวงผึ้งซึ่งมีน้ำผึ้งหยดลงมาเป็นครั้งคราว เขากำลังจะอ้าปากรองรับหยดน้ำผึ้งก็บังเอิญเหลียวไปเห็นงูใหญ่สองตัวชูคอแผ่พังพานมองมายังเขาอย่างปองร้าย เขาตกใจจะวิ่งหนี แต่ด้วยความกระหายอยากในรสน้ำผึ้งจึงยอมเสี่ยงชีวิตอ้าปากรองรับหยดน้ำผึ้งท่ามกลางอสรพิษทั้งสอง เขาดื่มน้ำผึ้งด้วยกายและใจที่ประหวั่นพรั่นพรึง

ดูก่อนผู้แสวงสัจจะ! น้ำผึ้งท่ามกลางปากอสรพิษทั้งสองฉันใด โลกียสุขก็ฉันนั้น มันอยู่ระหว่างอันตรายนานาประการ ความตายเหมือนช้างใหญ่ที่ดักหน้าคนทุกคนอยู่ ทะเลสาบหรือป่าใหญ่อันชุกชุมด้วยสัตว์ร้ายคือสังสารวัฏ ภพอันเป็นที่เวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสยังไม่สิ้น อสรพิษคืออันตรายรอบด้านแห่งผู้ซึ่งติดพันอยู่ในโลกียสุข น้ำผึ้งระหว่างปากงูคือโลกียสุขนั่นเอง โลกียสุข! น้ำผึ้งระหว่างปากงู!

บางคราวพระศาสดาตรัสเปรียบโลกียสุขเหมือนน้ำผึ้งซึ่งฉาบไล้อยู่ปลายศัตราอันแหลมคม ผู้ลิ้มเลียโดยไม่ระวังย่อมถูกคมศัสตราบาดปากบาดลิ้นอย่างแน่นอน มันเป็นภาวะที่น่าหวาดเสียว น่าสะพรึงกลัวมิใช่หรือ?

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้าเสียใจพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความต้องพลัดพรากจากสิ่งของและบุคคลอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งและบุคคลอันไม่เป็นที่รัก ความไม่ได้อย่างใจหวัง เหล่านี้มีประจำอยู่ในมวลมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย มันมิใช่โทษแห่งความติดพันในโลกียสุขดอกหรือ? มันมิใช่ภัยในสังสารวัฏดอกหรือ?

แต่ในนิพพานไม่มีโทษเหล่านี้ ไม่มีภัยเหล่านี้ นิพพานเป็นโลกุตรสุข=สุขที่อยู่เหนือโลก ไม่เกี่ยวกับโลก เป็นความสุขที่เกษมปลอดภัย สงบเยือกเย็น ชื่นฉ่ำเกินเปรียบ

บัดนี้ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้ถึงแล้วซึ่งสุขนี้ ท่านรู้สึกเสมือนได้ถอนตนขึ้นจากหล่มเลน เหมือนได้ก้าวขึ้นจากกองถ่านเพลิงเหมือนเคยหลงป่าอันเต็มไปด้วยอันตรายแล้วออกจากป่าได้ดำรงอยู่ในแดนที่ปลอดภัย เชื่อแล้วที่พระบรมศาสดาตรัสว่า “พระนิพพานคือการกำจัดกิเลสเสียได้นั้นเป็นบรมสุข

แอกคู่อันทารุณของวัฏฏะซึ่งครอบใจของส่ำสัตว์และครูดสีให้ชอกช้ำระบมเสมือนแอกคู่บนคอโค ตัวที่เดินเวียนอยู่ในทุ่งกว้าง บัดนี้ได้ถูกปลดออกแล้ว

อะไรเล่าคือแอกคู่นั้น? มันคือความเป็นคู่แห่งโลกียธรรมซึ่งครอบงำจิตใจของโลกิยชนอยู่ เช่น ลาภ เสื่อมลาภ,  ยศ เสื่อมยศ,  นินทา สรรเสริญ,  สุขและทุกข์ ความสมหวัง ผิดหวัง เป็นต้น   ตราบใดที่บุคคลยังตกอยู่ภายใต้การครอบงำของความเป็นคู่แห่งโลกียธรรมนี้ ตราบนั้น ดวงจิตของเขาจะพบกับความสงบสุขที่แท้จริงไม่ได้ ดวงจิตของเขาจะไม่ได้รับอิสรเสรี เขาจะต้องมีดวงใจที่ชอกช้ำระบมเดินวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏภายใต้การครูดสีของโลกียธรรม เฉกเช่นโคคู่เดินวนเวียนอยู่ในทุ่งกว้างพร้อมกับการครูดสีของแอกบนคอ  โคที่ได้รับการปลดแอกแล้วย่อมมีเสรีภาพ, เบาสบาย ท่องเที่ยวไปในที่โคจรได้ตามใจปรารถนา   ทันใด บุคคลผู้ปลดแอกคือโลกียธรรมนี้ออกจากใจของตนได้ก็แล้วฉันนั้น ย่อมได้พบกับเสรีภาพทางจิตอันหาขอบเขตมิได้ มีความสุขสงบอย่างลึกล้ำ แจ่มใสเบิกบานสุดประมาณ แม้ร่างกายจะยังอยู่ในโลกแต่ใจของเขาอยู่เหนือโลกเป็น โลกุตตรจิต  คือจิตที่ถอนออกจากอารมณ์ของโลกได้แล้ว สงบนิ่ง ไม่ขึ้นลง อันโลกียารมณ์จะทำให้หวั่นไหวมิได้ เสมือนสิงโต ราชาแห่งสัตว์มิได้สะดุ้งหวั่นไหวด้วยเสียงแห่งสัตว์ไพร ท่านไม่ติดในลาภ ยศ นินทาและสรรเสริญ เสมือนลมไม่ติดตาข่าย ใบและดอกของปทุมชาติไม่ติดน้ำ ดำรงตนอยู่ในโลกอย่างอิสรเสรีอย่างแท้จริง อันอะไรๆ ครอบงำมิได้ ช่างน่าปรารถนาอะไรเช่นนั้น!  อา! อรหัตผล ยอดแห่งคุณธรรมของเทวดาและมนุษย์

บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๔

๑.สุกรขาตา ถ้ำซึ่งมีลักษณะเหมือนสุกรขุด อยู่ทางด้านพระคันธกุฎีที่พระพุทธองค์ประทับ
๒.ภูเขาลูกหนึ่งในห้าลูกที่แวดล้อมนครราชคฤห์อยู่ ราชคฤห์จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า เบญจคีรีนคร คำ ‘คิชฌกูฏ’ แปลว่ามียอดคล้ายนกแร้ง คิชฌกูฏห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองเก่าประมาณ ๓ ไมล์ บางแห่งเรียก คิชฌกูฏ ว่า คิชฌปัพพตะหรือคิชฌบรรพต ปัจจุบันเรียกไศลคีรี
๓.อนาวรณญาณ แปลว่ามีพระญาณไม่ติดขัด, ไม่มีอะไรขวางกั้น, ทะลุปรุโปร่ง
๔.นิรุตติปฏิสัมภิทา เป็น ๑ ในปฏิสัมภิทา ๔
๕.ทิฐิ หรือทฤษฎีของสมณพราหมณ์พวกแรก เทียบลัทธิปรัชญาปัจจุบันคือ ทุนนิยม (Pessimism) พวกที่สองเทียบลัทธิจารวาก (Carvaka) ในอินเดีย หรือกลุ่มลัทธิวัตถุนิยม (Materialism) ทั่วไป ส่วนพวกที่สามเทียบลัทธิปรัชญาไซเรเนอิก (Cyrenaics) ของกรีกสมัยหลังโสกระตีสเล็กน้อย พวกนี้เชื่อว่าไม่มีสิ่งใดดี ไม่มีสิ่งใดเลว, ทุกอย่างมีไว้เพื่อสนองความพึงพอใจของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน
๖.นตฺถิ ขนฺธสมา ทุกฺขา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๔๒ ข้อ ๒๕
๗.โยนิโสมนสิการ = ตรึกตรองด้วยปัญญาอันสุขุมลุ่มลึก
๘.นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๔๒ ข้อ ๒๕
๙.มุนิสูตร สุตตนิบาต  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๒๖๔ ข้อ ๓๑๓
3351  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: วัฒนธรรมร่วมอาเซียน เมื่อ: 02 สิงหาคม 2558 19:51:48
.

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน นอบน้อม ถ่อมตน

นอบน้อม ถ่อมตน
คนอุษาคเนย์นอบน้อมถ่อมตน เหตุจากมีสำนึกบ่าวไพร่ข้าช่วงใช้ยอมจำนนต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) และผู้เป็นนาย

ความนอบน้อมถ่อมตนนี่เอง ทำให้พร้อมยอมตนเป็นผู้น้อยคอยรับใช้ผู้อื่น ปัจจุบันเรียกมีสำนึกบริการ เป็นคุณต่อเศรษฐกิจภาคบริการ

นอบน้อมยอมจำนน
ลักษณะยอมจำนนต่ออำนาจเหนือกว่าของชาวสยาม มีหลักฐานในจดหมายเหตุลาลูแบร์ (ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางไปอยุธยาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ดังนี้
“ความสุภาพเรียบร้อยเป็นสิ่งจำเป็นแก่ชาวสยาม…

เขาหลีกเลี่ยงต่อการที่จะพูดจาปราศรัยกับชาวต่างประเทศ เพราะพวกเขารู้ว่าถ้าเกิดเรื่องอะไรที่ไม่งามขึ้น พวกเขาจะต้องได้รับการพิจารณาว่าเป็นฝ่ายผิดทั้งนั้น และถ้าเกิดวิวาทกันขึ้นกับชาวต่างประเทศ พวกเขาก็จะเป็นฝ่ายถูกลงโทษเสมอไป

 ฉะนั้นชาวสยามจึงฝึกบุตรของตนให้มีความเสงี่ยมเจียมตัวอย่างที่สุด ด้วยเป็นสิ่งจำเป็นในด้านดำเนินการค้าขาย และจำเป็นจะต้องสงบเสงี่ยมเป็นอย่างยิ่งในยามที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานหลวงปีละ ๖ เดือน หรือต่อขุนนางคนใดคนหนึ่งที่ปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ.”

นั่ง
ลาลูแบร์บันทึกถึงกิริยาของชาวบ้านกรุงศรีอยุธยาว่าโดยทั่วไปจะนั่งขัดสมาธิ แม้จะมีผู้ยกเก้าอี้มาให้นั่ง เขาก็จะนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ เพราะไม่กล้านั่งห้อยขาอย่างฝรั่ง ด้วยเห็นว่านั่งไม่เรียบร้อย

กิริยาอาการทั่วไปของชาวบ้านกรุงศรีอยุธยาที่ยอมจำนนอย่างสุภาพที่สุดนั้น ลาลูแบร์สังเกตว่า

“เมื่อตีวงกันอยู่ ชาวสยามจะไม่ลุกขึ้นยืนเป็นอันขาด แต่เขาจะไม่นั่งท่าขัดสมาธิ หากจะยอบกายหมอบลงเพื่อให้ความเคารพซึ่งกันและกัน พวกทาสและพวกบ่าวที่อยู่เบื้องหน้าเจ้าขุนมูลนายของตน และราษฎรสามัญที่อยู่เบื้องหน้าเจ้านาย จะจรดเข่าลงกับพื้นและนั่งทับส้น ศีรษะโน้มมาข้างหน้าเล็กน้อย และพนมมือยกขึ้นเสมอหน้าผาก ชาวสยามที่เดินผ่านบุคคลที่เขาปรารถนาจะให้ความเคารพนบนอบไป เขาจะเดินก้มตัว พนมมือสูงต่ำตามควร”

ยิ้มสยาม
 ยิ้มสยาม เป็นความนอบน้อมอย่างหนึ่ง มีความหมายหลายหลากมากมายไม่จำกัด มีทั้งความหมายดีและไม่ดีที่คนอื่นมักเข้าใจไม่ครบถ้วน ซึ่งต่างจากยิ้มของคนจำนวนมากในโลกที่มีความหมายจำกัด เช่น แสดงความพึงใจเท่านั้น ไม่มีความหมายเป็นอย่างอื่นอีก

เหตุที่ยิ้มสยามมีความหมายมากอย่างนั้น มาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ในเขตมรสุม ต้องยอมจำนนต่อธรรมชาติเพราะพึ่งพาน้ำฝนทำกสิกรรม ต้องมีพิธีกรรมแสดงความสุภาพอ่อนน้อมวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ให้บันดาลความมั่นคงและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ทางอาหารการกินให้แก่ตนเองและเผ่าพันธุ์ในชุมชน ซึ่งมียิ้มเป็นการแสดงความอ่อนน้อมอย่างหนึ่งที่สุภาพกว่าหัวเราะ

ยิ้มสุวรรณภูมิ
ยิ้ม เป็นกิริยาของคนทุกเพศทุกวัย แสดงออกทางริมฝีปากและดวงตา บอกความรู้สึกแรกสุดและเก่าแก่สุด คือ อ่อนน้อมถ่อมตัว  ต่อมาก็แสดงออกให้มีความรู้สึกต่างๆ เช่น รัก, ชอบ, เกลียด, เสียดสี, เยาะเย้ย ฯลฯ และมีความหมายต่างๆ กัน

ยิ้มสยาม หมายถึงกิริยาอาการยิ้มของชาวสยาม ที่ประกอบด้วยคนสุวรรณภูมิหลายชาติพันธุ์ที่ล้วนมีลักษณะสังคมวัฒนธรรมร่วมกัน  อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน จนแยกออกจากกันไม่ได้ ฉะนั้น ยิ้มสยามย่อมมีที่มาและมีความหมายอย่างเดียวกับยิ้มสุวรรณภูมิ โดยจะแยกเป็นยิ้มสยามโดดๆ ไม่ได้  เพราะยังมียิ้มอื่นๆ ด้วย เช่น ยิ้มลาว, ยิ้มเขมร, ยิ้มพม่า, ยิ้มมอญ, ยิ้มข่า, ยิ้มละว้า, ยิ้มมลายู, ยิ้มจาม, ยิ้มเรอแดว, ฯลฯ

ล้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับยิ้มสยามที่มีพื้นฐานจากยอมจำนน มีเรื่องราวปัญหาอะไรก็ยิ้มไว้ก่อน เชื่อว่าปลอดภัย มั่นคง




ข้า, ข้อย
คำใช้เรียกแทนตัวเองที่แสดงความนอบน้อมอย่างยิ่งในประเพณีไทย-ลาว คือ ข้า, ข้อย

ข้า แปลว่า บ่าว, คนรับใช้ บางทีเรียกอย่างเหยียดหยามว่า ขี้ข้า หมายถึงต่ำต้อยยิ่งกว่าข้า

ข้อย แปลว่า ผู้น้อย, บ่าว, คนรับใช้ กร่อนจากคำว่า ข้าน้อย หมายถึงตัวผู้พูดเป็นข้า หรือขี้ข้า ซึ่งไม่มีศักดิ์ศรีอย่างยิ่ง ซ้ำยังเป็นขี้ข้าตัวน้อยๆ แทบไม่มีตัวตน



ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๒๗) นอบน้อม ถ่อมตน" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน สงกรานต์

สงกรานต์เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ เกี่ยวกับการย้ายราศีของดวงอาทิตย์ จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ราวกลางเดือนเมษายนของทุกปี
ราชสำนักโบราณในอาเซียน รับประเพณีสงกรานต์จากพราหมณ์อินเดียเหมือนกันทุกแห่ง ทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสริมอำนาจการปกครอง
สมัยแรกๆ มีอยู่ในราชสำนักเท่านั้น ราษฎรทั่วไปไม่รู้จักสงกรานต์ ครั้นนานเข้าถึงสมัยหลังๆ จึงแพร่หลายสู่ราษฎร แล้วผสมผสานกับประเพณีพื้นเมืองสืบจนปัจจุบัน เช่น รดน้ำ แล้วกลายเป็นสาดน้ำ

สงกรานต์เมษายน
สังกรานติในราศีเมษ คือ เมษสังกรานติ มีความสำคัญในความเชื่ออินเดีย โดยเฉพาะในทางโหราศาสตร์

เนื่องจากพระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ อันอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของจอมฟ้าเหนือศีรษะ พระอาทิตย์จะมีกำลังและความร้อนแรงสูงสุด   นอกจากนี้ราศีเมษยังเป็นราศีสถิตลัคนาของโลกและลัคนาของเมืองตามหลักโหราศาสตร์อินเดีย แต่ในปัจจุบันชาวฮินดูในอินเดียภาคเหนือเน้นความสำคัญของมกรสังกรานติมากกว่า

ส่วนการเปลี่ยนปีนั้น สำหรับปีวิกรามีสัมวัตซึ่งนิยมใช้มากในทางอินเดียภาคเหนือ จะมีการเปลี่ยนปีในช่วงเทศกาลนวราตรีหรือเทศกาลบูชาพระแม่ทุรคาในฤดูวสันต์ อยู่ในช่วงเดือนไจตระ ตกราวปลายมีนาคม-ต้นเมษายน แม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนศักราชของปีสัมวัตอย่างเป็นทางการ แต่พิธีกรรมถูกรวบไปอยู่ในส่วนการบูชาพระแม่ทุรคา ไม่ได้มีพิธีกรรมพิเศษแยกออกมา

สรุปจาก สงกรานต์ ปีใหม่ฮินดู สู่อุษาคเนย์ และไทย ต้นแบบจากชมพูทวีป ในอินเดีย โดย คมกฤช อุ่ยเต็งเค่ง (เชฟหมี) [อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ทับแก้ว) ลงใน มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๖เมษายน ๒๕๕๘ หน้า ๑๗]

สงกรานต์มีทุกเดือน
ชาวฮินดูมีสงกรานต์ทุกเดือน
     สงกรานต์ มาจากคำว่า สํกฺรานฺติ (สังกรานติ) ในภาษาสันสกฤตแปลว่า เคลื่อน หรือย้าย ซึ่งความหมายถึง การที่พระอาทิตย์ย้ายราศี
     ราศี คือการแบ่งท้องฟ้าออกเป็นสิบสิบสองส่วนเท่าๆ กัน จะได้ส่วนละ ๓๐ องศา แบ่งชื่อตามดาวจักรราศี
     พระอาทิตย์ เป็นดาวใหญ่ ศูนย์กลางของสุริยจักรวาล เมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนย้าย จึงมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ ในโลก พระอาทิตย์จะอยู่ในราศีละสามสิบวันโดยประมาณ  ดังนั้น สงกรานต์จึงมีทั้งปี เดือนละหนึ่งครั้ง เรียกตามการย้ายเข้าไปในราศีนั้น ซึ่งจะย้ายประมาณวันที่ ๑๔ หรือ ๑๕ ของเดือน เช่น ย้ายเข้าราศีมังกร เรียก มกรสังกรานติ, เข้าราศีมีน ก็มีนสังกรานติ, เมษ ก็เมษสังกรานติ

สงกรานต์ในไทย ไม่มาจากโหลี
สงกรานต์ไม่ได้มาจากโหลี (Holi) หรือเทศกาลสาดสีในอินเดีย

อ.คมกฤช อุ่ยเต็งเค่ง (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) อธิบายว่า
   ๑.โหลี กำหนดวันตามจันทรคติ (ดวงจันทร์) ส่วนสงกรานต์ตามสุริยคติ (ดวงอาทิตย์)
   ๒.โหหลี ไม่เกี่ยวกับพิธีเปลี่ยนศักราช ส่วนสงกรานต์เกี่ยวโดยตรงกับเปลี่ยนศักราช
   ๓.โหลี มีสาดสี เป็นสัญลักษณ์ของพิธีเจริญพืชพันธุ์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ส่วนสงกรานต์อินเดียไม่มีสาดน้ำ เมื่ออุษาคเนย์รับมาสมัยแรก ก็ไม่มีสาดน้ำ
สาดน้ำเป็นของใหม่เพิ่งมีสมัยอาณานิคม ดั้งเดิมรดน้ำ (ดำหัว) ไม่สาดน้ำ



ชาวบ้านพากันไปยังริมน้ำเพื่อรับปีใหม่ โดยสักการะพระสุริยเทพ (เทพสำคัญที่สุดในช่วงปีใหม่ฮินดู)
บรรดาสตรีกำลังบันลือสังข์ เพื่อต้อนรับพระสุริยเทพและขับไล่สิ่งอัปมงคล ถือหม้อกลัศ
อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และที่สถิตเทพแห่งน้ำหรือพระวรุณ
ภาพนี้จากริมแม่น้ำกษิประ เมืองอุชเชน รัฐมัธยประเทศ


พิธีฉลองปีใหม่ของชาวเตลุคุ (เมืองเชนไน) มีการตกแต่งพื้นด้วยผงสีต่างๆ เรียกว่า รังโคลี
เขียนว่า “นันทะนะ อุคาทิ” หมายความว่า สุขสันต์เทศกาลปีใหม่  ส่วนถาดในมือของหญิงสาว
บรรจุอาหารพิเศษสำหรับเทศกาลอุคาทิโดยเฉพาะ เรียกในภาษากรรนาฏ ว่า เพวุเพลลา (Bevu-Bella)
ประกอบด้วยอาหาร ๖ รส (ขม หวาน เผ็ด เค็ม เปรี้ยว และรสฉุนจัด) ได้แก่ หน่อสะเดา
น้ำตาลอ้อย พริก เกลือ น้ำมะขาม มะม่วงดิบ เพื่อสะท้อนรสชาติของชีวิต ๖ อย่าง
คือ ความเศร้า ความสุข ความโกรธ ความกลัว ความเกลียด และความประหลาดใจ ที่ต้องพบเจอ
ในชีวิตและวางใจให้เสมอในรสเหล่านี้


สตรีอยู่ในขบวนแห่ เรียกว่า “โศภณยาตรา” คือการแห่แหนตามประเพณีในงานมงคล
โดยทูนหม้อ “กลัศ” หรือหม้อแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในภาพหม้อเหล่านี้เขียนคำมงคลต่างๆ
เช่น อาโรคยะ-ความไม่มีโรค,  เสวา-การปรนนิบัติรับใช้ เป็นต้น

[ภาพจากหนังสือพิมพ์ The New Indian Express www.newindianexpress.com  คำอธิบายโดย เชฟหมี]

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๓๒) สงกรานต์" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ น.๘๓ ฉบับที่ ๑๘๒๗ ประจำวันที่ ๒๑-๒๗ ส.ค.๕๘
3352  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: ชีวิต-ผลงาน ครู 'เหม เวชกร' เมื่อ: 02 สิงหาคม 2558 19:33:17
.

ภาพพุทธประวัติ
โดย ครูเหม  เวชกร


ภาพที่ ๑
 เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าชุมนุมกันอัญเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ให้จุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า


ภาพที่ ๒
ทรงรับคำเชิญ แล้วจุติมากำเนิดในตระกูลกษัตริย์ศากยะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์


ภาพที่ ๓
พอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว


ภาพที่ ๔
อสิตดาบสมาเยี่ยม เห็นกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะก็ถวายบังคม


ภาพที่ ๕
พราหมณาจารย์รับพระลักษณะสมโภชพระกุมาร ถวายพระนามว่า พระสิทธัตถะ


ภาพที่ ๖
ทรงบรรลุปฐมฌานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขณะประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญ


ภาพที่ ๗
ทรงประลองศิลปศาสตร์ยกศรอันหนัก ดีดสายศรเสียงสนั่นกระหึ่มเมือง


ภาพที่ ๘
พระบิดาทรงอภิเษกสมรสพระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา


ภาพที่ ๙
เสด็จประพาสสวน ทรงเห็นเทวฑูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต


ภาพที่ ๑๐
ทรงสรงสนานน้ำในสระ ราชบุรุษไปทูลว่า พระนางพิมพาประสูติพระโอรสแล้ว


ภาพที่ ๑๑
ทรงเปลื้องสังวาลประทานนางกีสาโคตมีซึ่งสดุดีพระคุณ ขณะเสด็จขึ้นสู่ประสาท


ภาพที่ ๑๒
ตื่นบรรทมกลางดึกเห็นสาวสนมกรมในนอนระเกะระกะ ระอาพระทัยใคร่ผนวช


ภาพที่ ๑๓
เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา ซึ่งกำลังบรรทมหลับสนิทเป็นนิมิตอำลาผนวช


ภาพที่ ๑๔
ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา


ภาพที่ ๑๕
พระยามารห้ามบรรพชาว่า อีก ๗ วันจะได้เสวยสมบัติบรมจักรแต่ไม่ทรงฟัง


ภาพที่ ๑๖
ทรงตัดโมลีถือเพศบรรพชา ณ ฝั่งน้ำอโนมา ฆฏิการพรหมถวายอัฐบริขาร


ภาพที่ ๑๗
เสด็จจาริกผ่านกรุงราชคฤห์ มหาชนเห็นแล้วโจษจันกันทั่วเมือง


ภาพที่ ๑๘
พระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปเฝ้า ทูลของปฏิญาณว่าถ้าตรัสรู้แล้วขอให้มาโปรดก่อน


ภาพที่ ๑๙
เสด็จไปศึกษาลัทธิฤาษีชีป่ากับอาฬารดาบส เห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้


ภาพที่ ๒๐
เสด็จถึงอุรุเวลาเสนานิคมอันสงัดเงียบ ทรงพอพระทัยประทับบำเพ็ญเพียรที่นั่น


ภาพที่ ๒๑
ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ปัญจวัคคีย์เฝ้าปฎิบัติ พระอินทร์ดีดพิณถวายข้ออุปมา


ภาพที่ ๒๒
เช้าวันตรัสรู้ นางสุชาดากับทาสีมาถวายข้าวมธุปายาส โดยสำคัญว่าเทวดา


ภาพที่ ๒๓
ทรงลอยถาด ถาดจมลงไปกระทบกับถาดเดิม ๓ ใบ พญานาคก็รู้ว่าพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้
 

ภาพที่ ๒๔
เสด็จกลับจากลอยถาด ทรงรับหญ้าคาซึ่งพราหมณ์โสตถิยะถวายในระหว่างทาง


ภาพที่ ๒๕
ทรงลาดหญ้าคาประทับเป็นโพธิบัลลังก์ ตกเย็นพญามารก็กรีฑาพลมาขับไล่


ภาพที่ ๒๖
แม่พระธรณีบิดพระเกศา เกิดเป็นสมุทรธารา พระยามารก็พ่ายแพ้แก่พระบารมี


ภาพที่ ๒๗
พอรุ่งอรุณก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เทวดาฝ่ายฟ้อนร่อนรำถวายเป็นพุทธบูชา


ภาพที่ ๒๘
เสด็จไปประทับโคนต้นไทร สามธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงใยดี


ภาพที่ ๒๙
ย้ายไปประทับโคนไม้จิก ฝนตกพรำ พญานาคมาขดขนดปกพระกาย กำบังฝน


ภาพที่ ๓๐
ขณะประทับโคนไม้เกด ท้าวโลกบาลถวายบาตร เทวดาบอกสองพาณิชให้ไปเฝ้า


ภาพที่ ๓๑
สองพาณิชถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง แล้วทูลปฎิญาณตนเป็นอุบาสกคู่แรกในโลก


ภาพที่ ๓๒
กลับมาประทับโคนต้นไทร ท้อพระทัยในอันโปรดสัตว์ สหัสบดีพรหมต้องทูลวิงวอน


ภาพที่ ๓๓
ทรงคำนึงเห็นอุปนิสัยเวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่าจึงรับอาราธนา


ภาพที่ ๓๔
เสด็จพระพุทธดำเนินไปโปรดเบญจวัคคีย์ พบอุปกาชีวกในระหว่างทาง


ภาพที่ ๓๕
ถึงป่าอิสิปตนะ เบญจวัคคีย์เห็นแต่ไกล นัดกันว่าจะไม่ต้อนรับ แต่แล้วก็กลับใจ


ภาพที่ ๓๖
สำแดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดเบญจวัคคีย์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม


ภาพที่ ๓๗
ยสกุลบุตรหน่ายสมบัติ เดินไปสู่ป่าอิสิปตนะ พบพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด


ภาพที่ ๓๘
เสด็จไปหาชฎิลอุรุเวลากัสสป ขอพักในโรงไฟ ชฎิลบอกว่ามีนาคร้ายก็ไม่ทรงฟัง


ภาพที่ ๓๙
ทรงทรมานนาคราชร้าย ขดกายพญานาคใส่บาตรให้ชฎิลดู ชฎิลก็ยังไม่เลื่อมใส


ภาพที่ ๔๐
วันหนึ่ง ฝนตักหนัก น้ำท่วม แต่ไม่ท่วมที่ประทับ ชฎิลเห็นอัศจรรย์จึงทูลขอบรรพชา


ภาพที่ ๔๑
พระอุรุเวลกัสสปประกาศตนเป็นพุทธสาวกต่อหน้าพระเจ้าพิมพิสาร ณ สวนตาลหนุ่ม


ภาพที่ ๔๒
พระเจ้าพิมพิสารเลื่อมใส ทรงหลั่งน้ำถวายวัดเวฬุวันเป็นปฐมสังฆาราม


ภาพที่ ๔๓
ท้าวเธอทรงบำเพ็ญกุศลให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต เปรตทั้งหลายต่างโมทนารับส่วนบุญ


ภาพที่ ๔๔
พระโมคคัลลาน์ สารีบุตร อัครสาวกซ้าย-ขวามาทูลขอบรรพชาเป็นเอหิภิกขุ


ภาพที่ ๔๕
พระพุทธองค์ทรงประทาน โอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์สงฆ์ในวันเพ็ญมาฆบูชา


ภาพที่ ๔๖
เสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระญาติผู้ใหญ่ถือว่าสูงอายุไม่ถวายบังคม


ภาพที่ ๔๗
ทรงแสดงปาฏิหารย์เหาะให้เห็น หมู่พระญาติก็สิ้นทิฐิมานะถวายบังคมพร้อมกัน


ภาพที่ ๔๘
เสด็จทรงบาตรในเมือง พระนางพิมพายโสธราเห็น จึงชี้ให้พระราหุลดู ตรัสว่า "นั่นคือบิดาของเจ้า"


ภาพที่ ๔๙
พระพุทธบิดาทราบข่าวก็เสด็จมาตัดพ้อ ทูลขอให้เสด็จไปประทับเสวยในวัง


ภาพที่ ๕๐
พระพิมพาพิลาปรำพันถึงพระพุทธองค์ เสด็จพุทธดำเนินไปโปรดถึงในปราสาท


ภาพที่ ๕๑
พระนันทะรับบาตรส่งเสด็จ นางคู่วิวาห์ร้องสั่งให้รีบกลับ พอถึงวัดกลับชวนให้ผนวช


ภาพที่ ๕๒
พระราหุลแสดงความรักซาบซึ้งในพระพุทธองค์ผู้เป็นบิดา จนลืมทูลขอราชสมบัติ


ภาพที่ ๕๓
ทรงมอบสมบัติพระนิพพานแก่พระราหุล โดยให้บรรพชาเป็นสามเณรองค์แรก


ภาพที่ ๕๔
ทรงพานันทะไปชมนางฟ้า พระนันทะใคร่จะได้เป็นชายา ทรงรับรองจะให้สมหวัง


ภาพที่ ๕๕
พระเทวทัตสำแดงฤทธิ์ให้อชาตศัตรูราชกุมารเลื่อมใส เพื่อให้รับเป็นโยมอุปัฏฐาก


ภาพที่ ๕๖
นายขมังธนูซึ่งพระเทวทัตส่งไปฆ่าพระพุทธองค์ ปลงอาวุธ ฟังธรรมสำเร็จมรรคผล


ภาพที่ ๕๗
พระเทวทัตได้สำนึกในความผิดของตน ใคร่ทูลขอขมา แต่ถูกธรณีสูบเสียก่อนเข้าเฝ้า


ภาพที่ ๕๘
พระแม่น้าทูลถวายเฝ้า โปรดให้ถวายอชิตภิกษุ ซึ่งต่อไปจะตรัสรู้


ภาพที่ ๕๙
ทรงห้ามพระญาติฝ่ายพระบิดากับฝ่ายพระมารดาซึ่งแย่งกันทดน้ำเข้านามิให้วิวาทกัน


ภาพที่ ๖๐
พระพุทธบิดาประชวร เสด็จไปโปรดกระทั่งสำเร็จพระอรหันต์แล้วนิพพาน


ภาพที่ ๖๑
พระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี นำนางกษัตริย์บริวารไปทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุณี


ภาพที่ ๖๒
ทรงสำแดงยมกปาฏิหาริย์ข่มพวกเดียรถีย์ที่ต้นมะม่วงคัณฑามพฤกษ์


ภาพที่ ๖๓
แล้วเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระพุทธมารดา


ภาพที่ ๖๔
ถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากดาวดึงส์โดยบันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน


ภาพที่ ๖๕
ครั้นแล้วก็ทรงเปิดโลก บันดาลให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรกแลเห็นซึ่งกันและกัน


ภาพที่ ๖๖
ครั้งหนึ่งเสด็จไปจำพรรษา ณ ป่าปาเลไล โดยมีช้างกับลิง เป็นพุทธอุปัฏฐาก


ภาพที่ ๖๗
ถึงเพ็ญเดือน ๓ พรรษาที่ ๔๕ พญามารเข้าเฝ้าทูลให้เสด็จปรินิพพานทรงรับอาราธนา


ภาพที่ ๖๘
มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ว่า ทรงปลงอายุสังขารแล้ว อีกสามเดือนจะนิพพาน


ภาพที่ ๖๙
รุ่งเช้าเสด็จกลับจากทรงบาตร เยื้องพระกายดูกรุงไพศาลี เป็นครั้งสุดท้าย


ภาพที่ ๗๐
เช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเสวยมังสะสุกรอ่อนที่บ้านนายจุนทะ นับเป็นปัจฉิมบิณฑบาต


ภาพที่ ๗๑
เสด็จไปกรุงกุสินารา ทรงกระหายน้ำ โปรดให้พระอานนท์ ไปตักน้ำมาถวาย


ภาพที่ ๗๒
ปุกกุสะบุตรแห่งมัลลกษัตริย์แวะเข้าเฝ้าถวายผ้าเนื้อเกลี้ยงสีทอง


ภาพที่ ๗๓
เสด็จถึงสาลวันกรุงกุสินารา โปรดให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างไม้รังทั้งคู่


ภาพที่ ๗๔
พระอานนท์ไปยืนเหนี่ยวสลักเพชรพระวิหาร ร้องไห้รำพันถึงพระพุทธองค์


ภาพที่ ๗๕
ทรงแสดงธรรมโปรดสุภัททะปริพาชกให้สำเร็จมรรคผล นับเป็นปัจฉิมเวไนย


ภาพที่ ๗๖
ทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน


ภาพที่ ๗๗
พระสงฆ์ปุถุชนได้ฟังข่าวปรินิพพานซึ่งอาชีวกบอกแก่พระมหากัสสปก็ร้องไห้


ภาพที่ ๗๘
พอพระมหากัสสปถวายบังคมบาทพระพุทธศพ เพลิงสวรรค์ก็บันดาล ลุกโชติช่วง


ภาพที่ ๗๙
โทณพราหมณ์แบ่งสรรพระบรมธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ ๗ พระนคร


ภาพที่ ๘๐
พระมหากัสสปกับพระอริยสงฆ์ยกปฐมสังคายนา สืบอายุพระศาสนามาถึงบัดนี้.
3353  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: ชีวิต-ผลงาน ครู 'เหม เวชกร' เมื่อ: 01 สิงหาคม 2558 18:16:00
.

รวมรูปวาด
ผลงานครูเหม เวชกร















3354  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / การปลงศพ ในประเทศสยาม เมื่อ: 01 สิงหาคม 2558 16:26:39
.

การปลงศพในประเทศสยาม

ชาวสยามปลงศพ (๑)

ผมมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ศาสตราจารย์สมภพ ภิรมย์เมตตา ยื่นให้ด้วยมือของท่านเอง เป็นหนังสือเรื่องพระเมรุมาศ ที่ท่านเรียบเรียงขึ้นครั้งแรกสมัยที่ท่านเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ท้ายเล่มนั้นมีบทความเขียนโดยศาสตราจารย์คาร์ล ซิกเฟรีด เดอร์ริง (Karl Siegfried Döhring) ใน ค.ศ.๑๙๒๔ หรือราว พ.ศ. ๒๔๖๗ อันเป็นปลายรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจ.พี.เอ็ม.บลูมฮาร์ด และ รองศาสตราจารย์ศรีนวล บุณยวัฒน เคยแปลเป็นไทยไว้ ผมจะขอนำบางตอนในภาคไทยและอังกฤษมาใช้เป็นส่วนประกอบของเรื่องที่ผมเขียนขึ้นใหม่นี้ เพื่อเป็นภาคผนวกของเรื่อง “ศพในโกศ”

ศาสตราจารย์เดอห์ริง มาสมัครเข้ารับราชการในประเทศสยาม เป็นสถาปนิกในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ขณะมีผลงานเยอะอยู่ก็เกิดล้มป่วยลงอย่างหนัก ต้องกลับไปทำการรักษาตัวที่ยุโรป เมื่อหายดีแล้วก็ยังติดใจที่จะกลับมาสยามอีก เพื่อศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนการขุดค้นทางโบราณคดี แล้วเขียนหนังสือและบทความไว้ เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการด้านนี้เป็นอย่างสูงในต่างประเทศ ส่วนไทยเราก็ลองอ่านดูก่อนแล้วกันนะครับ

การที่ชอบเที่ยวซอกแซกไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นนั้นเอง ทำให้เขามีประสบการณ์ที่ฝรั่งทั่วไปในเมืองไทยคงไม่คิดจะมี แล้วนำไปเขียนบทความเรื่อง “การเผาศพในประเทศสยาม” ซึ่งคนไทยเองยังไม่เคยบันทึกไว้ละเอียดขนาดนี้

คนไทยนั้นรับวัฒนธรรมประเพณีมาจากอินเดีย รวมถึงการเผาศพตามคติพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธสรีระก็ยังถวายพระเพลิงบนพระจิตกาธาน จึงเผาศพแล้วลอยเถ้ากระดูกอังคารลงแม่น้ำสำคัญ เช่น พวกพราหมณ์ หรือ ฮินดู แต่บางครั้งก็เอาศพทิ้งน้ำโดยไม่ได้เผา

แม้ว่าการเผาศพจะเป็นที่นิยมที่สุด แต่สมัยก่อนนั้นก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี กล่าวคือผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อ เช่น ไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค หรือกาฬโรค จะต้องนำศพไปฝังไว้ก่อน หลังจากนั้นไม่เกินสามปีจึงขุดขึ้นมาแล้วเผา ทารกที่ตายในท้องแม่หรือตายก่อนฟันขึ้น รวมทั้งหญิงตายทั้งกลม ก็จะปฏิบัติเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว แต่จะถูกฝังไว้ชั่วระยะเวลาที่สั้นกว่า ก่อนนำมาเผาเท่านั้น

แต่เดิม ศพพวกอาชญากรและพวกนักโทษประหาร ไม่มีการฝัง แต่จะถูกโยนลงแม่น้ำ อีกวิธีหนึ่งคือ ปล่อยศพทิ้งไว้กลางทุ่งเพื่อเป็นเหยื่อแก่ฝูงแร้ง สัตว์เลื้อยคลาน และสุนัขจรจัด แต่จากรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็อนุโลมให้มีการเผาศพบุคคลประเภทดังกล่าวด้วย แม้ว่าที่จริงแล้วไม่มีใครเต็มใจจะให้เกียรติจัดการเผาศพคนพวกนั้นเลย สำหรับพวกตายโหง เช่น ตายเนื่องจากโดนคมอาวุธ ตายเพราะจมน้ำ ฟ้าผ่า หรือจากภัยธรรมชาติอื่นๆ จะถูกฝังหมด เพราะในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่า คนที่ตายโหงนั่นเป็นเพราะผลอันเกิดจากการประพฤติชั่ว ทำบาปไว้ในชาตินี้หรือชาติก่อน แล้วผลของกรรมก็ติดตามมาจนหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เมื่อบุคคลในครอบครัวป่วยหนักใกล้ตาย จะมีผู้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดและแสดงธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก พอผู้ป่วยใกล้สิ้นใจ พระจะกระซิบบอกคำว่า “อรหัง อรหัง” ที่ข้างหู ถ้าผู้ที่กำลังจะหมดลมสามารถมีสติเข้าใจได้ก็ถือว่าเป็นการดี เมื่อตายแล้วจะไปสู่สุคติ

ถ้าจิตเกิดหมกมุ่นกับกิเลส เป็นห่วงเป็นใยโน่นนั่นนี่ หรือโกรธแค้นคนโน้นคนนี้ จิตที่ดับระหว่างนั้นก็ไปสู่อบายแน่นอน  ดังนั้น ใครอย่าได้ไปร้องไห้พิร่ำพิไรให้คนที่กำลังจะตายได้ยินเป็นอันขาด เงียบๆ ไว้ ให้โอกาสท่านได้เจริญสติเป็นครั้งสุดท้าย อันนี้ผมว่าเองนะครับ เดอห์ริงไม่ได้ว่า แต่ถ้าหมดลมแล้วจะร้องไห้เป็นการใหญ่อย่างไรก็เชิญ เพราะคงไม่มีผลกับผู้ตายแล้ว

หลังมีการตายเกิดขึ้น คนโบราณจะจุดเทียนขี้ผึ้งปักไว้ที่เตียงเล่มนึง แต่ก่อนเมื่อยังไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าตายจริงหรือตายชั่วคราว อยู่ๆ อาจจะกลับหายใจขึ้นมาอีกก็ได้  ดังนั้น คนโบราณจะใช้การจุดเทียนขี้ผึ้งแล้วเฝ้ารอ ถ้าเทียนดับก็สามารถกระหน่ำเสียงร้องไห้อีกยกนึงได้ เพราะตายแน่ ยังไงๆ ก็ไม่ฟื้นแล้ว



Karl Siegfried Döring

เดอห์ริงเขียนว่า เมื่อเสียงแห่งการเศร้าโศกเสียใจสงบลงแล้ว จึงจะมีพิธีอาบน้ำศพด้วยน้ำเย็น สำหรับศพบุคคลสำคัญนั้น บรรดาญาติพี่น้องทุกคนจะยืนเรียงลำดับตามตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์และความสำคัญในวงสังคม ทยอยกันเข้าอาบน้ำศพจากขันเงิน ครั้นเสร็จแล้วศพจะถูกขัดถู ลงขมิ้น เครื่องหอม ยางไม้หอม น้ำผึ้ง และขี้ผึ้ง จากนั้นก็กรอกปรอทจำนวนมากลงในปากของผู้ตาย เสร็จแล้วจึงห่อศพให้แน่นแล้วจึงบรรจุลงหีบ

แต่คำว่าอาบน้ำศพของคนโบราณ คือการอาบน้ำชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกายทุกส่วนของศพ โดยจะต้มน้ำแล้วใส่สมุนไพรนานาชนิดที่ให้กลิ่นหอมลงไป หลังจากรอให้น้ำนั้นเย็นลงแล้วจึงเอามาอาบน้ำให้ศพ โดยลูกๆ หลานๆ จะช่วยกันทำ แล้วจึงจัดผ้าจัดผ่อนให้เรียบร้อย ก่อนเชิญญาติสนิทมิตรรักมาร่วมอาบน้ำเย็นธรรมดาอีกครั้ง ก่อนจะนำปรอทมากรอกลงทางปาก ป้องกันไม่ให้ศพเน่าเหม็น แล้วทาขมิ้นชันทั้งตัวให้เหลืองอร่ามเป็นอันเสร็จพิธี  ส่วนการเอาน้ำอบไทยมารดที่มือของศพเรียกว่ารดน้ำศพ นั่นสำหรับแขกทั่วๆ ไปที่มาร่วมแสดงความอาลัยก่อนจะนำเข้าโลง

เมื่อแขกหมดแล้ว พิธีกรจะให้ทายาทหวีผมศพตรงขมับ ขึ้นลง ๓ ครั้ง พร้อมกล่าวว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วหักหวีทิ้งเป็นสองส่วน กันไม่ให้ใครนำไปใช้ต่อ แล้วเอาใส่กระเป๋าเสื้อของศพ เดี๋ยวนี้ก็ยังกระทำกันอยู่ หลังจากนั้นก็นำผ้าขาวมาห่อ เสร็จแล้วมัดตราสังด้วยด้ายดิบเป็น ๕ เปลาะ ตั้งแต่คอเรื่อยลงไปถึงข้อเท้า เป็นปริศนาธรรมทางพระพุทธนา ให้เห็นขันธ์ทั้งห้าที่เป็นบ่วงมัดทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เหตุผลที่เป็นรูปธรรม คือต้องมัดศพให้แน่น จะได้ไม่ขึ้นอืดจนดันโลงแตก แล้วจึงอุ้มลงโลง
โลงศพส่วนใหญ่ทำจากไม้ทาด้วยน้ำมันชักเงาด้านนอก ส่วนของผู้ที่ร่ำรวยก็ปิดทอง และที่ทำด้วยตะกั่วก็มี เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ตาย หีบศพจะต้องตั้งไว้บนยกพื้นสูง เมื่อตั้งหีบศพ ประดับประดาด้วยดอกไม้สดและแห้งแล้ว คนมั่งมีก็จะจ้างนางร้องไห้มาพร่ำรำพันสรรเสริญคุณความดีของผู้ตาย ร่ำไห้สะอึกสะอื้นโอดครวญแสดงความเสียใจอย่างใหญ่หลวงที่ผู้นั้นต้องตายจากไป อันนี้เป็นธรรมเนียมที่รับมาจากวัฒนธรรมมอญ เรียกว่า มอญร้องไห้ จะร้องสลับกับวงปี่พาทย์มอญระหว่างที่พระหยุดพักการสวดศพ ทั้งนี้จนกว่าจะมีพิธีการปลงศพ

ทุกๆ วัน พระจากวัดในละแวกใกล้เคียงจะได้รับการนิมนต์มาสวดศพในตอนค่ำ โดยท่านจะนั่งหันหลังชิดฝาถัดจากหีบศพ แล้วก็สวดพระบทคัมภีร์เรื่อง “พระมาลัย” ตอนเดินทางไปสวรรค์และนรก เมื่อจบแล้วพระจะรับประเคนผ้าบังสุกุล ธูป เทียน พร้อมทั้งจตุปัจจัย อุทิศบุญกุศลให้ผู้ตาย

หลังจากนั้นวันสองวัน ศพจึงถูกนำออกมาทางช่องที่เจาะเป็นรูไว้ตรงข้างฝาบ้าน ต่อไปลูกหลานผู้ชายก็ช่วยกันแบกหีบศพ แล้วเดินด้วยก้าวยาวๆ เวียนซ้ายรอบบ้าน ๓ รอบ แล้วจึงรีบนำไปสู่ฌาปนสถาน โดยมากมักจะไปทางเรือ ในประเทศสยามเชื่อกันว่าผู้ตายที่ไปอบายจะเป็นผีกลับมารบกวนญาติพี่น้อง ถ้าไปทางบกผีจะจำทางกลับบ้านได้

เดอห์ริงเขียนต่อไปว่า ช่องที่เจาะไว้ตรงข้างฝาบ้านก็ต้องปิดเสียเพื่อว่าผีจะได้หาไม่พบ เพราะตามที่คนไทยเชื่อกันนั้น ภูตผี และวิญญาณของผู้ตายจะพยายามกลับเข้าบ้านทางช่องที่นำศพออกนั่นแหละ แต่ตามบ้านนอกคอกนาเท่านั้นที่ยังปฏิบัติเช่นนี้อยู่ ในเมืองซึ่งมีกำแพงเมืองใหญ่โตไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นอีก เพราะผีจะใช้อิทธิฤทธิ์เดินทะลุไปไม่ได้ด้วยว่ามันหนา

เดอห์ริงกล่าวว่าเขาเอาเรื่องจริงมาเล่านะ เพราะมีหลักฐานคำไทยๆ ที่เกี่ยวกับประเพณีนี้อยู่ คือ “ฟันหักประตูผี” (Fan Hak Patupi)  ประตูผี คือช่องที่ถูกเจาะเพื่อนำศพออก ที่เดอห์ริงฟังเขาพูดแล้วนำมาอ้างเช่นนี้ออกจะสร้างความสับสนอยู่ เพราะประตูผีที่เป็นช่องเล็กๆ สำหรับแบกศพออกนอกกำแพงเมืองก็อย่างหนึ่ง แต่สำหรับบ้านก็เป็นอีกอย่าง สมัยก่อนบ้านคนไทยใช้ฝาปะกน ทำด้วยไม้เป็นแผ่นๆ สำเร็จรูปมาประกอบกัน จึงไม่เป็นต้องเจาะ เพียงแต่ถอดชิ้นส่วนบางชิ้นออกก็สามารถเปิดเป็นช่องให้นำศพออกได้ แต่ถ้าเป็นศพผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว ก็สามารถถอดฝาเรือนด้านสกัด คือด้านแคบออกได้ทั้งฝาได้โดยไม่ยาก จะนำศพออกจากเรือนทั้งทีต้องให้สมเกียรติเจ้าของเรือนหน่อย ไม่ใช่เจาะช่องเล็กๆ เรียกว่า ประตูผี

ส่วนคำว่าฟันหักประตูผีนั้น คือเสนียดอย่างหนึ่ง หมายความถึงฟันซี่หน้าที่หักไปซี่นึง ยิ้มแล้วเหมือนมีประตูผีอยู่ประดับปาก เกิดขึ้นกับใครละก็ท่านว่าอัปรีย์จัญไรยิ่งนัก ควรจะให้เพื่อนเอาคมแฝกฟาดปากสักผัวะหนึ่ง ให้ฟันหมดไปทั้งแถบจะยังดีเสียกว่า สมัยก่อนคำนี้จะฮิตอย่างไรไม่ทราบ แต่สมัยมีฟันปลอมแล้ว คำว่าฟันหักประตูผีก็สาบสูญไป ผมต้องค้นคว้าซะนานกว่าจะเจอความหมาย

อันที่จริงช่องที่รื้อชั่วคราวเพื่อเอาศพออกจากบ้านโดยเฉพาะ เรียกว่าประตูป่า คนโบราณพอรื้อฝาบ้านออกแล้วยังเอากิ่งไม้ใบดกมาปักรวบเป็นซุ้มไว้ เสร็จสรรพจึงนำศพออกจากบ้านโดยเอาด้านปลายเท้าออกก่อน เพื่อไม่ให้ศพเห็นบ้านได้ ส่วนบันไดที่จะแบกศพลงก็เป็นบันไดชั่วคราวเรียกว่าบันไดผี พอเอาศพลงเสร็จปุ๊บ ก็จะรื้อประตูป่ากับบันไดผีทิ้งปั๊บ แล้วนำฝาบ้านมาประกอบปิดกลับทันที เชื่อว่าวิญญาณคนตายเมื่อเจอกลยุทธ์นี้เข้า ก็จะหาทางกลับเข้าบ้านไม่ได้ ต้องยอมไปอยู่ในโลกของวิญญาณโดยดี นี่แสดงถึงความกลัวผีอย่างขึ้นสมองของคนไทยสมัยโน้น ขนาดผีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ของตัวเองแท้ๆ ยังโหดกับท่านถึงเพียงนี้

นอกจากนั้น พอเอาศพออกจากบ้านแล้ว ยังมีแถมด้วยการซัดข้าวสารที่ขอให้เกจิอาจารย์เสกให้ พร้อมว่าคาถาอาคมกำกับเพื่อปัดความอัปมงคลให้จากไปพร้อมๆ กับศพ



(ซ้าย) ประตูผี เมืองระนอง  (ขวา) เรือนไทยฝาประกน

ในประเทศสยามสีขาวเป็นสีไว้ทุกข์ บางทีก็สีดำด้วย อย่างไรก็ตามการใช้สีขาวเป็นส่วนใหญ่นั้นเช่นเดียวกับชาวจีนนั่นเอง ผู้ไว้ทุกข์รวมทั้งญาติผู้หญิงและผู้ที่อ่อนกว่าผู้ตายจะแต่งกายสีขาว ส่วนผู้ที่แก่กว่าจะสวม “ผ้านุ่ง” สีดำกับเสื้อสีขาว สมัยก่อนผู้หญิงจะโพกผ้าขาวรอบศีรษะด้วย เมื่อหัวหน้าครอบครัวถึงแก่กรรม สมาชิกในครอบครัวมีอายุน้อยกว่าจะโกนศีรษะทุกคน ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต คนทั้งประเทศจะแต่งขาว และพวกผู้ชายโกนศีรษะ อย่างไรก็ดี ประเพณีนี้ค่อยๆ หมดไปทุกที

เมื่อนำศพไปถึงเชิงตะกอนแล้ว เจ้าภาพจะมอบให้อยู่ในความดูและของวัด ถ้ามีหีบนอกก็เปลื้องออกก่อน ประเพณีดั้งเดิมต้องเอาเหรียญบาทที่เป็นเงินใส่ไว้ในปากผู้ตายด้วย ในปี ๑๙๒๓ นั้น ๑๐.๘๐ บาท มีค่าเท่ากับ ๑ ปอนด์ สำหรับจ่ายเป็นค่าเผาศพของวัด

เหรียญที่เดอห์ริงกล่าวถึงนี้เรียกว่าเงินปากผี คนไทยจะนำเงินใส่ไว้ในปากศพ ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นปริศนาธรรมต่อคนเป็นว่า คนตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้เลยแม้แต่เงินทองที่อยู่ในปาก หากจิตเกิดสลดแล้ว จะได้ละความโลภโมโทสันลงเสียให้เหลือน้อยๆ หน่อย บ้างก็บอกว่า ใส่ไว้เป็นค่าผ่านประตูไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือใช้ทิปยมทูตผู้นำดวงวิญญาณไปสู่ปรโลก ใช่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เป็นทิปให้กับสัปเหร่อนั่นแหละ แล้วเงินปากผีนี้ก็มีค่ามากกว่าที่ตัวเลขระบุไว้ เพราะพวกนักเลงจะพากันไปลงอาถรรพ์ทำวัตถุคุณไสยประเภทที่เป็นผลผลิตจากดิรัจฉานวิชาทั้งหลาย

นอกจากเงินปากผี คนโบราณยังมีหมากปากผีอีก โดยจะตำหมากใส่ปากศพเพื่อเป็นปริศนาธรรมว่า นอกจากเอาทรัพย์ไปไม่ได้แล้ว หมากที่คนสมัยก่อนต้องเคี้ยวตลอดทั้งวัน ขาดปากเมื่อไหร่เป็นหงุดหงิดทันทีนั้น พอตายแล้วหมากที่ป้อนเข้าปาก ก็ยังไม่สามารถจะเคี้ยวได้เช่นกัน

ถ้าผู้ตายเป็นผู้สร้างวัดนั้นในขณะยังมีชีวิตอยู่ หรือมีส่วนร่วมในการสร้างก็ดี ศพของผู้นั้นจะมีสิทธิ์ให้ทำการเผาได้บริเวณลานวัดนั้น แต่เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเงินพอที่จะทำได้ การเผาศพก็ต้องกระทำกันตามวัดที่เคยไปทำบุญเป็นประจำ ในสถานที่ที่คนเอาพระพุทธรูปไปบริจาคไว้ ตรงนี้เดอห์ริงคงหมายถึงป่าช้า

เชิงตะกอนจะถูกทำขึ้นมาพร้อมทั้งมีหลังคาปิดข้างบน คาดไว้ด้วยผ้าดำและขาว แล้วประดับตกแต่งด้วยสีทองและเงิน ซึ่งแน่นอน หลังคาเชิงตะกอนมักเป็นยอดแหลมที่จะต้องสูงมาก จนกระทั่งเปลวไฟพลุ่งขึ้นไปไม่ถึง

ที่เรียกว่าเชิงตะกอนในย่อหน้าบน น่าจะหมายถึงเมรุลอย ที่มีผู้สร้างไว้ให้เช่า โดยทำเป็นชิ้นๆ นำมาประกอบ เสร็จงานก็รื้อไปเก็บไว้รองานหน้า คนธรรมดาคงไม่มีปัญญาจะสร้างเมรุเพื่อใช้เผาศพเพียงครั้งเดียว

เมื่อถึงเวลาเริ่มพิธี พระสงฆ์ก็สวดมนต์ และทันทีที่สวดจบจะมีผู้ต่อยเอาน้ำมะพร้าวอ่อนรดลงบนหน้าศพ แล้วเอากะลาไปวางไว้บนเชิงตะกอน

เดอห์ริงไม่ได้ให้เหตุผลตรงนี้ไว้ แต่ผมใช้อินทรเนตรหา พบว่ามีสองสำนวนสองเหตุผลด้วยกัน สำนวนหนึ่งว่า สมัยก่อนที่ผียังดุอยู่ไม่เหมือนสมัยนี้ สัปเหร่อจะทำพิธีสะกดวิญญาณไม่ให้ผีกลับเข้าร่าง โดยใช้ค้อนทุบลงไปบนกะโหลกคนตาย เพื่อให้ผีจำหน้าของตนเองไม่ได้หรือเห็นแล้วเกิดปลงตก วิญญาณจะได้ไปสู่ที่ชอบๆ ต่อมาญาติพี่น้องลูกหลานคงประท้วงไม่ยอมให้กระทำนี้ จึงเปลี่ยนไปใช้ลูกมะพร้าวเป็นเคล็ด สมมติว่าเป็นศีรษะของคนตาย ทุบลูกมะพร้าวให้แตกดังโพละ แทนพิธีสะกดวิญญาณเดิม ต่อมาคนทั้งปวงเห็นว่าเมื่อทุบแล้วน้ำมะพร้าวไหลลงบนใบหน้าศพ ก็นึกว่ามีจุดประสงค์ที่จะล้างหน้าให้ศพเป็นครั้งสุดท้ายด้วยน้ำอันบริสุทธิ์ แต่ที่ไหนได้พิธีกรรมนี้มีนัยะแอบแฝงที่พิลึกพิลั่นมาก

ส่วนอีกสำนวนหนึ่งผู้เขียนอ้าง หลวงพ่อพุธ ฐานิโย อริยสงฆ์แห่งโคราช เคยเล่าให้ฟังว่า ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งมีเหตุให้พระพุทธองค์ต้องเสด็จผ่านไปยังสถานที่ที่เขากำลังจะเผาศพ แล้วทรงทราบด้วยพระญาณวิถีว่า ศพที่กำลังจะถูกเผานั้นยังไม่ตาย จึงทรงให้ชายผู้หนึ่งเอามะพร้าวอ่อนที่หาได้ ณ ตรงนั้น ทุบเอาน้ำราดลงบนหน้า ร่างที่แน่นิ่งอยู่ก็สำลักน้ำมะพร้าวฟื้นขึ้นมาหายใจได้อีกครั้ง จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธในเมืองไทย ที่ต้องทำเช่นนั้นก่อนการเผาศพมาจนทุกวันนี้



การเผาศพคนยากไร้ กับคนมีสตางค์ในวัดสระเกศ

เพราะโลงศพมีราคาแพง จึงต้องนำศพออกมาจากโลงก่อนแล้วจึงเผา แต่ถือกันว่าจะเป็นมงคลแก่ผู้ที่มาร่วมพิธีเผาหากจะเผาศพไปทั้งโลง แต่โลงที่ใช้เผานั้นไม่มีพื้นข้างใต้ มีเพียงตะแกรงบนเชิงตะกอนที่วางไว้สำหรับรองรับศพ จากนั้นญาติมิตรของผู้ตายจะพากันนำดอกไม้จันทน์ไปวางสุมไว้บนเชิงตะกอน เมื่อหัวหน้าครอบครัวจุดไฟแล้ว บรรดาญาติมิตรสหายจึงเดินกันเป็นแถว แต่ละคนจุดเทียนเข้าไปเผาศพ ซึ่งด้านข้างของโลงศพจะมีคนคอยฉีดน้ำให้เปียก เพื่อป้องกันมิให้ลุกไหม้มากเกินไปในตอนนั้น

ระหว่างการเผาศพกำลังดำเนินการอยู่ จะมีผู้หยอดน้ำมันหอมลงบนกองเพลิง อันที่จริงการเผากินเวลาค่อนข้างสั้นประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น เมื่อเผาเสร็จก็ถึงการเก็บอัฐิอังคาร ถือเป็นเกียรติอย่างสูงแก่ผู้ตาย ถ้าพิธีเผาศพนั้นได้กระทำโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นอยู่บ้างสองสามประการ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เนื่องจากจะต้องมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุพิเศษ เช่น พระเขี้ยวแก้ว หรือพระนลาฏ อันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดจะต้องคงอยู่ในสภาพเรียบร้อย การป้องกันรักษาอัฐิบางชิ้นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นนี้ กระทำกันสำหรับบุคคลที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะเจ้านายชั้นสูงในราชตระกูลเท่านั้น

หลังการเผา อัฐิของผู้ตายจะถูกรวบรวมเก็บไว้ในโกศขนาดเล็ก แล้วนำไปตั้งไว้หน้าพระพุทธรูปในวัด หรือบนที่บูชาส่วนตัว อันนี้เดอห์ริงเข้าใจผิดไปมาก คงไม่มีพระบรมอัฐิหรือพระอัฐิใดๆ ไปตั้งไว้หน้าพระพุทธรูปในวัด นอกจากในเวลาที่อัญเชิญออกมาบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวังเท่านั้น

สำหรับบุคคลทั่วไป หากผู้ใดมีฐานะการเงินดีพอ ก็มักจะสร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่ตำแหน่งที่เผาศพ แล้วนำอัฐิบรรจุไว้ภายใน พระเจดีย์จึงเป็นเสมือนสุสานประจำตระกูลด้วยเวลาเดียวกัน เรามักจะเห็นป้ายหินอ่อนเป็นจำนวนมากบนถาวรวัตถุแบบนี้

ที่กรุงเทพฯ มีหลายวัดซึ่งมีเมรุใหญ่ถาวรสำหรับใช้ในการฌาปนกิจศพ โดยเฉพาะวัดสระเกศและวัดแจ้ง ภายในเมรุเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสใหญ่ทำด้วยซีเมนต์ หลังคาเป็นยอดแหลมสูง มีทางเข้าออกกว้างขวางทั้งสี่ด้าน ตรงกลางเป็นยกพื้นก่อด้วยอิฐใช้เป็นที่วางกองฟืน ยิ่งกองฟืนสูงมากเท่าใดก็ยิ่งถือกันว่าเป็นเกียรติแก่ผู้ตายมากเท่านั้น

ด้านหลังเมรุปูนวัดสระเกศ จะมีประตูเข้าไปสู่บริเวณที่มีเชิงตะกอนมากมาย ซึ่งใช้เผาศพกันเป็นประจำ บุคคลผู้ไม่สู้ร่ำรวยมักนิยมนำศพไปวัดสระเกศ และเสียเงินค่าทำศพราวสองสามบาท


มีต่อ
ที่มา : คอลัมน์ ประวัติศาสตร์มีชีวิต "ชาวสยามปลงศพ (๑)" โดย หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน  นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์  
3355  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ดับคนดัง - วินาทีสังหารบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ: 28 กรกฎาคม 2558 17:56:00
.

ดับคนดัง - วันสังหาร
อินทิรา  คานธี แห่งอินดีย (จบ)

อินทิรา คานธี แต่งงานกับ เฟโรย์ คานธี นักกฎหมายหนุ่มเผ่าปารี ซึ่งได้รับการคัดค้านจากบิดาเนห์รู และชาวอินเดียนับล้านคน เพราะเป็นธรรมเนียมของชาวฮินดู ที่ไม่สนับสนุนให้ชนเผ่าฮินดูไปแต่งงานกับชนเผ่าอื่น แต่อินทิราเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเอง จึงได้แต่งงาน และเมื่อเธอกลับจากฮันนิมูนกับสามีหนุ่ม เธอก็ถูกอังกฤษจับเข้าคุก ๑๓ เดือน ในข้อหาก่อกวน บ่อนทำลาย

ต่อมาในปี ๒๕๐๓ สามีของเธอถึงแก่กรรม หลังจากที่มีบุตรแล้ว ๒ คน คือ ราจีป และสัญชัย ซึ่งขณะนั้น ทั้งสองมีอายุ ๒๒ และ ๒๐ ปีตามลำดับ และกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เมื่อศาสตรี นายกรัฐมนตรีอินเดียถึงแก่อาสัญกรรม อินทิรา คานธี บุตรคนเดียวของเนห์รู ก็ได้รับเสียงจากพรรคอินเดียคอมเกรสให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ด้วยคะแนนเสียง ๓๕๕ ต่อ ๑๖๙ การดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคย่อมหมายถึงความรับผิดชอบในการจัดตั้งรัฐบาลอินเดียชุดใหม่ด้วย  ดังนั้น อินทิรา คานธี ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดียในคราวเดียวกัน

การที่ อินทิรา คานธี ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น มิใช่ว่านางเป็นบุตรีของ เนห์รู หากแต่คุณสมบัติส่วนตัว ซึ่งเพราะเธอเป็นนักบริหารที่เปรื่องปราด เป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาด เป็นผู้ที่มีศัตรูทางการเมืองน้อยที่สุด มีชื่อเสียงโด่งดัง อยู่ในความนิยมของสมาชิกพรรคคองเกรสโดยทั่วไป

สถานการณ์ที่อินเดียเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระหนักยิ่งกว่าสมัยบิดาของเธอ และทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เกิดปัญหาความอดอยากของประชากรอินเดียไม่น้อยกว่า ๑๒ ล้านคน พร้อมๆ กับความแห้งแล้งทั่วประเทศ มิหนำซ้ำยังมีเรื่องวิวาทบาดหมางระหว่างกลุ่มศาสนามากมาย โดยเฉพาะอิสลามกับฮินดู และฮินดูกับซิกข์ ซึ่งขยายออกไปทุกขณะ

อีกทั้งภายนอกประเทศ อินเดียตกอยู่ในวงล้อมของศัตรู จีนคุกคามทางเหนือ ปากีสถานอยู่ทางตะวันตก  อย่างไรก็ดี อินทิรา คานธี ก็สามารถแก้ไขได้อย่างงดงาม และด้วยความสามารถเฉพาะตัว บางครั้งนุ่มนวล บางครั้งแข็งกร้าว จนกระทั่งปี ๑๙๘๔ หลังจากเกิดศึกวิหารทองคำ กับปฏิบัติการบลูสตาร์ ปราบจนราบคาบแล้ว กลับกลายเป็นรอยแค้นของชาวซิกข์ ที่ไม่ยอมให้ใครแตะต้องวิหารทองคำอันศักดิ์สิทธิ์ของเขา

ผลงานของอินทิรา คานธี จึงกลายเป็นเรื่องเศร้า และก่อให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงสะเทือนโลกไปในที่สุด เธอถูกมือปืนชาวซิกข์ ซึ่งเป็นหน่วยอารักขาคุ้มครองของเธอเองสังหาร

อินทิราจบชีวิตในบ้านพักของตัวเอง ปิดฉากชีวิตของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย เป็นโศกนาฏกรรมที่โลกไม่เคยลืมเลือน





เยาหราล เนห์รู บิดาอินทิรา คานธี กับ มหาตมะ คานธี


อินทิรา คานธี  กับบุตรชายทั้งสอง คือ ราจีป และ สัญชัย คานธี


อินทิรา คานธี  เข้าพิธีแต่งงานกับ เฟโรย์ คานธี

ที่มา : คอลัมน์ บันทึกวันวาร โดย สังคีต จันทนะโพธิ นิตยสารสกุลไทย
3356  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ดับคนดัง - วินาทีสังหารบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ: 28 กรกฎาคม 2558 17:49:53
.


อินทิรา  คานธี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย

ดับคนดัง - วันสังหาร
อินทิรา  คานธี แห่งอินดีย

๓๑ ตุลาคม ๑๙๘๔
ขณะนั้น เพิ่งจะ ๐๙.๑๖ น. ที่บ้านพักของท่านนายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่ถนนซิบดาจัง  อินทิรา คานธี ในชุดส่าหรีสีส้ม เดินออกจากบ้านพักพร้อมฝ่ายอารักขา และกลุ่มนักข่าวที่มารอทำข่าวสัมภาษณ์


นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียเดินนำหน้า มีนาเรนทร์ ซิงห์ ถือร่มกันแดดตามมาติดๆ อินทิรา คานธี เดนนำกลุ่มอย่างช้าๆ ผ่านโรงเก็บรถ ซึ่งอยู่ด้านขวามือเพื่อตรงไปยังสำนักงานด้านถนนอัคบา โดยที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีเหตุร้ายสะเทือนโลกบังเกิดขึ้น แม้คนอื่นๆ ที่ตามมาด้วยก็มิได้คาดฝัน เพราะทุกคนอยู่ภายในบ้านท่านนายกรัฐมนตรีอินเดีย

ที่มุมขวา สี่แยกโรงเก็บรถที่นายกและคณะผ่านมานั้น มีทหารรักษาการณ์ซึ่งเป็นชาวอินโด-ทิเบตอยู่กลุ่มหนึ่งคอยให้การอารักขาอยู่อย่างเคร่งครัด

เมื่อมาถึงประตูที่เปิดออกไปสู่สำนักงานด้านถนนอัคบานั้นเอง บุรุษหนุ่มก็ก้าวออกมาเปิดประตู และทักทายตามปกติ  ณ เวลานั้น ด้านขวามือของกลุ่มท่านนายกรัฐมนตรี มีบุรุษหนึ่งยืนถือปืนสเตนอยู่ เพื่อรักษาความปลอดภัย

เสี้ยวหนึ่งของวินาที บุรุษคนแรกผู้เปิดประตูให้ ควักปืนสั้นขนาด.๓๘ สเปเชียล ออกมากระหน่ำยิงผู้นำอินเดียอย่างเผาขน ทุกคนตกตะลึงด้วยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

สามนัดซ้อนๆ ร่างในเสื้อคลุมส่าหรีของ อินทิรา คานธี ซวนเซไปทางซ้ายด้วยแรงปืน ขณะเดียวกันอีกบุรุษหนึ่ง ผู้ถือปืนสเตนอยู่ด้านขวา ก็กราดกระสุนซ้ำอีกถี่ยิบ เสียงปืนดังดุจเสียงข้าวตอกแตก

อินทิราเซถลาราวกับนกปีกหัก ล้มคว่ำลงกับพื้น เลือดสดทะลักสาดกระจายเต็มพื้นแดงฉาน

ราเมส วาตัส จากหน่วยคุ้มกัน ดูเหมือนจะได้สติก่อนใคร เขากระโดดเข้ามาขวางกั้นร่างของนายกรัฐมนตรีเอาไว้ กระสุนเจาะต้นขาเขา ๓ นัด ล้มคว่ำตามร่าง อินทิรา คานธี ไป  หน่วยคุ้มกันที่เหลือ พอได้สติต่างก็เข้ามาบังร่างของอินทิราไว้ แต่ท่านนายกรัฐมนตรีถูกกระสุนเจาะเข้าที่ร่างหลายสิบนัด และร่างที่ฟุบลงไปก็จมกองเลือด หายใจระรวยอยู่ อ่อนแรงเต็มที เกือบจะดับสิ้นอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน บุรุษเพชฌฆาตผู้ชักปืนมาจ่อยิงอินทิราอย่างเผาขนคนแรก ก็ทิ้งปืนลงกับพื้น พร้อมกับร้องขึ้นว่า
“เราได้ทำในสิ่งที่เราต้องการแล้ว ตอนนี้ท่านต้องทำในสิ่งที่ควรทำ”

แล้วหันมาดึงแขนมือสังหารอีกคน วิ่งหลบเข้าไปอยู่ในตู้ยามอย่างรวดเร็วพร้อมกับทิ้งปืน
“ตามจับมันให้ได้”  ดิเนส บัส หัวหน้าหน่วยคุ้มกันตะโกน
“มันยิงท่านนายก” สิ้นเสียงตะโกนสั่ง เหล่าทหารอินโด-ทิเบต ก็กระจายกำลังล้อมตู้ยาม แล้วกระหน่ำยิงจอมฆาตกรในนั้นล้มคว่ำลงไปทั้ง ๒ คน

ช่วงแห่งความเป็นความตายนั้น ดิเนส บัส รีบนำร่างของ อินทิรา คานธี ส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดที่ถนนซิปตาจัง โดยมีโซเนีย ลูกสะใภ้ตามมาด้วย  นายแพทย์โอเทปพยายามช่วยเหลือโดยปั๊มลมหายใจให้แก่ อินทิรา คานธี อย่างสุดความสามารถ แต่ร่างกายท่านนายกไม่มีอาการตอบสนองเอาเลย กระสุนปืนเปิดแผลเป็นรูกว้าง ทำให้เลือดไหลออกมามาก เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุด ด้วยโรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่มีเลือดกรุ๊ปนี้อยู่เลยแม้แต่หยดเดียว

เพื่อต่อชีวิตให้ท่านนายกรัฐมนตรีอยู่รอดต่อไปได้ รถพยาบาลจากโรงพยาบาลรามาโนฮา ไลเชีย ถูกเรียกมารับคนไข้ไปที่สถาบันเอไอไอ เอ็มเอส ซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง ๔ กิโลเมตร

และเมื่อไปถึง คนไข้ถูกนำเข้าห้องไอ.ซี.ยู อย่างรวดเร็ว แพทย์ผ่าตัดมือดี ดร.เจเอส กูเลอเรีย ซึ่งเชี่ยวชาญทางผ่าตัด หลังจากตรวจสอบหัวใจ กราฟบอกว่ายังพอมีทาง แพทย์จึงนำคนไข้ขึ้นไปชั้น ๘ ของตึกเป็นการด่วน

แต่คณะแพทย์ได้พยายามอย่างที่สุดโดยใช้เวลาหลายชั่วโมง ตั้งแต่เก้าโมงครึ่งตอนเช้าถึงบ่ายสองโมงครึ่ง ทั้งคลื่นหัวใจและสมองก็มิได้ดีขึ้น มีแต่ลดลงตามลำดับ ในที่สุดก็หยุดนิ่ง

อินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เสียชีวิตด้วยฝีมือฆาตกรโหด ๒ คนในวันนั้น ทั้งๆ ที่เดินอยู่ในบ้านตัวเอง

ข่าวการเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมของ อินทิรา คานธี กระจายไปทั่วกรุงเดลี ชาวอินเดียต่างร่ำไห้คร่ำครวญ บางคนทึ้งผมแสดงอาการเสียใจอย่างสุดซึ้ง
นายกของเราตายแล้ว

ห้างร้านต่างๆ พากันหยุดกิจการเพื่อไว้อาลัยแด่ อินทิรา คานธี กันหมดจนกรุงเดลีเงียบเหงาเหมือนเมืองร้าง  ธงชาติถูกลดลงครึ่งเสา สถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายข่าวอย่างเศร้าสร้อย



มีชาวอินเดียหลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตายตามด้วยการกระโดดเข้ากองไฟและผูกคอตาย บางคนช็อกสิ้นใจทันทีที่ทราบข่าวการตายของ อินทิรา คานธี  หลายคนพยายามฆ่าตัวตาย แต่ตำรวจช่วยเอาไว้ทัน พระผู้ใหญ่จากเมืองอมฤตสารตกตะลึงและเสียใจอย่างสุดซึ้ง

ขณะเดียวกันชาวซิกข์ในแคว้นปัญจาบและต่างประเทศต่างกระโดดโลดเต้นดีใจในการตายของ อินทิรา คานธี พวกเขาจัดงานเลี้ยงฉลองกันเป็นการใหญ่ ทำให้ชาวฮินดูที่กำลังเศร้าโศกโกรธแค้น รวมตัวกันออกลุยชาวซิกข์เป็นการใหญ่

กว่า ๓๐ เมืองที่มีการเข่นฆ่ากันระหว่างฮินดูและซิกข์ ชาวซิกข์ถูกสังหารเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนถูกเผา ข้าวของถูกทำลาย ชาวซิกข์หลายคนถูกลากตัวออกมาตัดผม โกนหนวด โกนเคราจนเกลี้ยง แล้วจับเผาประจานทั้งเป็น เหตุร้ายครั้งนี้มีชาวซิกข์ถูกฆ่ากว่าสองพันคน ชาวฮินดูตามเมืองใหญ่ได้รวมตัวกันแล้วบุกเข้าสถานีรถไฟ หยุดรถทุกขบวน แล้วขึ้นไปลากผู้โดยสารที่เป็นซิกข์ลงมาเชือดคอและเผาทั้งเป็น

ชาวซิกข์ที่เหลืออยู่ต่างเข้าไปหลบซ่อนในค่ายลี้ภัยซึ่งมีเจ้าหน้าที่คุ้มกันอย่างแข็งขันในเมือง ถนนทุกสาย ไม่มีชาวซิกข์เดินให้เห็นเลยแม้แต่คนเดียว

ท่ามกลางความเศร้าโศกครั้งใหญ่ ราจีป คานธี บุตรชายของ อินทิรา คานธี ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบแทน เขาได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ห้ามผู้คนออกนอกบ้าน (ประกาศเคอร์ฟิวส์) เพื่อป้องกันเหตุร้ายรุกลาม

ประกาศถูกยกเลิกวันเสาร์ที่ ๓ พฤศจิกายน เวลาเช้า ๖ นาฬิกาตรง เป็นการชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนได้ไปเคารพศพ อินทิรา คานธี ในวาระสุดท้าย





ร่างอันไร้วิญญาณของอินทิรา คานธี ณ เชิงตะกอนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา

ร่างอันไร้วิญญาณของ อินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย แต่งกายสีขาวนวล คลุมด้วยธงชาติ โปรยด้วยดอกไม้สีขาว นำมาตั้งไว้ที่ คฤหาสน์ทีนมูรติ ซึ่งเป็นบ้านพักของ เยาวหะราล เนรูห์ ถึงวันเสาร์ที่ ๓ พฤศจิกายน เวลา ๑๕.๔๘ น. จึงเคลื่อนย้ายไปเชิงตะกอนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ซึ่ง ณ ที่นั้น ประชาชนกว่าสามล้านคน มายืนเรียงรายเพื่อเคารพศพเป็นระยะทางกว่า ๑๑ กิโลเมตร

แล้ว ราจีป คานธี ก็ใช้คบเพลิงทำจากไม้จันทน์ จุดเพลิงกองฟืนไม้จันทน์ซึ่งชโลมด้วยน้ำมันเนยเป็นคนแรก

เปลวเพลิงลุกไหม้ร่างสตรีเหล็กของอินเดียจนมอดไหม้ ท่ามกลางเสียงร่ำไห้คร่ำครวญอย่างโศกเศร้าแสนสาหัสของประชาชน

จากนั้น ราจีป คานธี ได้นำกระดูกของอินทิรา ขึ้นเครื่องบินไปโปรยบนยอดทิวเขาหิมาลัย สูงเสียดฟ้าที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง ละอองหิมะชั่วนาตาปี ตามความต้องการของมารดา

ส่วนฆาตกรมือปืนสังหาร ถูกทหารอินโด-ทิเบตยิงในป้อมยามนั้น ปรากฏว่าตายเพียงคนเดียว ชื่อ บินซิงห์ ซึ่งเป็นคนแรกที่ชักปืนสั้นออกมาสังหารอินทิรา ส่วนอีกคนที่ยิงซ้ำด้วยปืนกลมือสเตนนั้น อาการแค่สาหัส คนนี้ชื่อ สัตวันต์ เขาได้รับการเยียวยาอย่างดีจนพ้นขีดอันตรายและถูกสอบว่า

“ใครเป็นคนบงการ”

“เรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าใครบงการเบื้องหลัง รู้แต่เพียงว่า ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม บินซิงห์ได้พูดกับผมในห้องน้ำ ตรงข้ามห้องแต่งตัวของอินทิราว่า ตอนนี้ชาวซิกข์เจ็บแค้น เพราะแผนการบลูสตาร์ ซึ่งเรื่องนี้อินทิรา คานธี จะต้องรับผิดชอบ และเมื่อเป็นการแก้แค้นแทนชาวซิกข์ เราต้องสังหาร อินทิรา คานธี เสีย”

สัตวันต์ ให้การต่อว่า  “เขาเกลี้ยกล่อมผมอยู่หลายนาที ในที่สุดก็ตัดสินใจจะร่วมงานกับเขา  บินซิงห์ นัดให้ไปพบที่วิหารทองคำ ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม และคงจะเห็นว่ารับปากกับเขาง่ายเกินไป เขาจึงไม่ยอมไว้ใจผมจนวินาทีสุดท้าย ก่อนจะยิงอินทิรา   บินซิงห์ เป็นคนบอกให้ผมยิง หากผมเปลี่ยนใจ เขาก็จะยิงผมเสีย ซึ่งตอนขณะนั้น บินซิงห์เอาปืนจ่อหัวผมตลอดเวลา จนท่านนายกอินทิราก้าวใกล้ประตู เขามากระซิบบอกผมว่า ‘มาแล้ว แกต้องยิง และระวังอย่าให้กระสุนพลาดไปถูกคนอื่น’ และทั้งๆ ที่ตกลงกับผมไว้เป็นอย่างดีแล้ว พอท่านนายกเดินผ่านประตูมา บินซิงห์ก็ยังไม่ไว้ใจผมอยู่นั่นเอง เขาลงมือยิงเสียเอง ก่อนที่ผมจะยิง ดังที่ทุกคนเห็น”

สิ้นสุดคำให้การของสัตวันต์ ก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่รัฐบาล เพราะไม่รู้อยู่ดีว่าใครอยู่เบื้องหลัง

มีการวิจารณ์กันว่า แผนสังหารโหดครั้งนี้ วางแผนที่ห่วยที่สุด แต่ที่ประสบความสำเร็จนั้น ก็เพราะหน่วยคุ้มกันรักษาความปลอดภัยของ อินทิรา คานธี ไร้คุณภาพอย่างที่สุดนั่นเอง

มือปืนทั้งสอง หลังจากลั่นกระสุนแล้วก็มิได้มีแผนหนี ยิงอย่างเดียว ยิงเสร็จแล้วก็หลบไปอยู่ในป้อมยาม หน่วยคุ้มกันก็มัวแต่พะวงนำอินทิราไปโรงพยาบาล ไม่มีใครสนใจฆาตกรแต่อย่างใด จนฆาตกรหลบเข้าไปในป้อมแล้วจึงออกติดตามไป ฆาตกรก็งี่เง่า ไม่ได้วางแผนหนีไว้ก่อนอยู่ซ่อนในป้อมให้ถูกยิง ถูกจับเอาง่ายๆ

เป็นคราวเคราะห์ที่ อินทิรา คานธี จะต้องปิดฉากการต่อสู้บนเวทีโลก เธอจึงจบชีวิตทั้งๆ ที่เดินอยู่ในบ้าน

ต้นตอสาเหตุการสังหารสะเทือนโลกนี้ พอลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้
รัฐเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อปัญจาบ อยู่ทางทิศเหนือของอินเดีย อาณาเขตทิศเหนือจรดรัฐหิมาลัย ตะวันออกจรดฮาร์ยานา ทางใต้จรดราชาสถาน ตะวันตกจรดปากีสถาน รัฐปัญจาบนี้แม้จะเป็นรัฐเล็กๆ แต่ก็เป็นหัวใจของอินเดีย เพราะที่นี่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ผลผลิตที่นำไปเลี้ยงคนในรัฐอื่นๆ เกือบทั่วประเทศอินเดีย

ชาวปัญจาบมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว หน้าตาดี เฉพาะสตรีเพศนั้น สวยงามมาก นางเอกภาพยนตร์อินเดียหลายคนมาจากรัฐปัญจาบนี้

ประชากรปัญจาบส่วนใหญ่ ถือศาสนาซิกข์ ซึ่งพวกซิกข์นี้ไม่มีวรรณะ ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน อยู่ร่วมกัน กินด้วยกัน สวดมนต์ร่วมกัน

ซิกข์เป็นขมิ้นกับปูนกับฮินดู ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในอินเดีย และถูกพวกฮินดูข่มเหงและกลั่นแกล้งต่างๆ นานา เพราะไม่อยากให้มีศาสนาใหม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ซิกข์จึงจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัว โดยเริ่มสะสมอาวุธต่างๆ ไว้ รวมทั้งเริ่มการฝึกวิธีใช้อาวุธ เพื่อต่อต้านชาวฮินดูที่เข้ามารังแกด้วย

ต่อมาครูคนสำคัญของชาวซิกข์คนที่ ๔ ชื่อ ครูรามดัส ซึ่งกษัตริย์อัคบาได้พระราชทานทรัพย์ส่วนหนึ่งให้นำมาซื้อที่ดินผืนหนึ่ง มีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่โตพอดู ครูรามดัส ลงมือขุดอ่างน้ำขนาดใหญ่ขึ้น แล้วเคลื่อนย้ายสถานที่ตั้งของศาสนาจากหมู่บ้านโตอินวัลมาที่ข้างอ่าง จนบริเวณรอบอ่างน้ำกลายเป็นเมืองใหม่ และเมืองนั้นก็เป็นศูนย์กลางของศาสนาซิกข์ ชาวบ้านเรียกว่า รามดัสจักร

ครูรามดัสได้สร้างวิหารไว้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนาในอ่างน้ำนั้นด้วย แต่ก็ไม่ทันสำเร็จ ครูรามดัสสิ้นชีวิตเสียก่อน อาจุน บุตรชายคนเล็กของเขาได้รับตำแหน่งครูซิกข์ คนที่ ๕ และเมื่อได้รับตำแหน่ง อาจุนก็สร้างวิหารต่อจนสำเร็จ

วิหารแห่งนี้แตกต่างจากวิหารทั่วไป โดยฐานของวิหารในระดับที่ต่ำกว่าพื้นดิน มีทางเข้าออก ๔ ทาง ๔ ด้าน และเมื่อสร้างเสร็จพื้นของวิหารจะปริ่มน้ำในอ่างใหญ่พอดี จึงเรียกอ่างน้ำนั้นว่า อมฤตสาร หรือสระน้ำอมฤต ต่อมากลายเป็นชื่อเมือง

ชาวซิกข์ได้พัฒนาตัวเองให้เจริญขึ้นมาพร้อมกับการสะสมอาวุธและฝึกอาวุธไว้ป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะปกป้องศาสนาอันเกิดจากการรุกรานทั้งทางตรงและนโยบายทางการเมือง

ศาสนาซิกข์ เป็นปึกแผ่นมั่นคง มีศาสนิกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมากกว่าสิบล้านคนในปัจจุบัน

ในรัฐปัญจาบ มีพรรคการเมืองอยู่หลายพรรค แต่พรรคที่ได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลย่อยครั้งที่สุด คือ พรรคกาลีดาล พรรคนี้เป็นรัฐบาลของรัฐปัญจาบ เป็นปากเสียงให้ชาวซิกข์ เรียกร้องสิทธิต่างๆ มากมายจากรัฐบาลกลางที่เดลี ถ้าข้อเรียกร้องนั้นได้รับการตอบสนองที่ดี ทางพรรคก็จะหาข้อเรียกร้องใหม่มาเสมอๆ แต่ถ้าถูกปฏิเสธจากรัฐบาลกลาง ทางพรรคก็จะสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความวุ่นวายทันที

พรรคกาลีดาล เป็นหน้าม้าก่อความวุ่นวายต่างๆ ขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้รัฐบาลของ อินทิรา คานธี หันมาเจรจา แต่ถ้ายังทำเฉยเมย ไม่สนใจต่อไป ข้าราชการและประชาชนที่ไม่ได้รู้เห็นอะไรด้วย มักถูกจับเป็นตัวประกัน ถูกลอบทำร้าย ถูกลอบยิงตายเป็นหมู่ เป็นคณะก็มีหลายครั้งหลายคราว และเหตุการณ์ร้ายแรงนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะจัดการอย่างไรก็ไม่ได้ เพราะคนทำเป็นคนของพรรคการเมืองที่มีอำนาจ ใครไปแตะต้องมีหวังถูกย้ายไปอยู่ในป่า อีกประการหนึ่ง ฆาตกรผู้ก่อการร้ายทั้งหลาย เมื่อทำการเสร็จแล้วมักหนีไปซ่อนตัวอยู่ในวิหารต่างๆ ทางศาสนา  พวกตำรวจเข้าไปยุ่มย่ามไม่ได้ โดยเฉพาะในวิหารทองคำที่รัฐปัญจาบอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ใครเข้าไปยุ่งไม่ได้เลย



ในวัยเยาว์ อินทิรา คานธี มีความใกล้ชิดกับ มหาตมะ คานธี
เนื่องจาก เยาวหราล เนห์รู บิดาของเธอเป็นผู้ใกล้ชิด
และร่วมเรียกร้องเอกราชให้แก่อินเดีย ร่วมกับมหาตมะ คานธี

เรื่องเป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนหนักเข้าเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๑๙๘๔ มีการตกลงแบ่งเขตแดนรัฐปัญจาบ กับรัฐฮายาน่า ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งกันมานาน โดยทั้งสองรัฐต่างก็เรียกร้องจะเอาเมืองจันดิการ์ ซึ่งมีเขตแดนติดต่อกันระหว่าง ๒ รัฐมาไว้กับตน และคราวนี้รัฐบาลกลางโดย อินทิรา คานธี ได้แบ่งใหม่ ให้ตัวเมืองเป็นของปัญจาบ ส่วนบางท้องที่ที่มีชาวฮินดูอยู่ให้เป็นของฮายาน่าไป แต่เรื่องก็ตกลงกันไม่ได้

นอกจากนั้นพรรคกาลีดาลยังเรียกร้องอีกหลายอย่างหลายประการ ที่สำคัญคือให้ประกาศว่า อมฤตสาร์ คือเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ ต้องอยู่เหนือการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของประเทศ ชาวซิกข์ทุกคนมีสิทธิพิเศษโดยเฉพาะเหมือนกับเป็นดินแดนอิสระ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ให้แยกไปเป็นดินแดนอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับรัฐบาลกลางนั่นเอง  

อินทิรา คานธี ไม่ยอมเล่นด้วย ถึงกระนั้นก็ยังเล่นไม้นวมโดยชวนให้มีการนั่งโต๊ะเจรจา และทบทวนข้อตกลงต่างๆ ในอดีตที่เคยทำเอาไว้สักครึ่งหนึ่งก่อน

พรรคกาลีดาล ปฏิเสธ ดึงดันจะทำตามใจที่ตั้งเอาไว้ให้ได้

อินทิราปฏิเสธเด็ดขาด

ดังนั้น แผนสกปรกทั้งหลายก็ถูกนำมาใช้ โดยพรรคกาลีดาล ตัวการสำคัญสร้างสถานการณ์วุ่นวายขึ้นทั้งภายในและภายนอกรัฐ ลอบฆ่านักการเมืองสำคัญ จี้เครื่องบิน ปล้นรถโดยสาร ลักพาตัวประกัน ฆ่าหมู่ชาวบ้าน ทำให้รัฐปัญจาบแตกแยกเป็นก๊ก เป็นเหล่า ตามที่นักการเมืองปั่นหัว และในที่สุดก็ขัดแย้ง ฆ่าฟันกันเอง

อินทิรา คานธี ผู้นำอินเดียก็ได้หาทางจัดการกับพวกก่อความวุ่นวายอย่างเอาจริงเอาจังแต่ไม่สัมฤทธิผล  ต่อมา ซิง ซาฮิบ เกียนี่ ประทับ ซิงห์  ผู้ยิ่งใหญ่ในวิหารศรีอกัลตักห์   ซาฮิบ ได้ถึงแก่ความตายโดยถูก ภิณ ดรันวัล หนึ่งในผู้ก่อการร้ายสังหาร และการตายของ ประทับ ซิงห์ นี่เอง ทำให้ตำแหน่งสำคัญทางศาสนาว่างลง ภิน ดรันวัล เลยถือโอกาสยึดวิหารทองคำไว้ทั้งหมด ทั้งกำลังคน และอาวุธ เขามีอำนาจสิทธิ์ขาดคนเดียวเหนือวิหารทองคำ เหล่าอาชญากร นักฆ่าอาชีพ ต่างเดินทางมายังวิหารทองคำเพื่อสมัครเป็นกำลังของ ภิน ดรันวัล

ภิน ดรันวัล ได้สร้างสถานศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาให้กลายเป็นปราการสำคัญการสู้รบ ที่รวมอาชญากรร้ายทั้งมวลตั้งแต่บัดนั้น

วาระนั้น การเจรจาต่างๆ จากรัฐบาลกลาง หรือรัฐบาลท้องถิ่นกับพวกคลั่งศาสนาพวกนี้ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นทุกขณะ รัฐมนตรีมหาดไทยขอร้องให้หัวหน้าพรรคกาลีดาล จับตัว ภิน ดรันวัล ส่งทางการเสียเพื่อยุติเรื่องราวโหดต่างๆ ที่เกิดขึ้นติดต่อกันมาหลายปี

แต่คำขอเหล่านี้ไม่เป็นผล  การฆ่า-สังหารยังคงมีอยู่เป็นประจำ หลายศพถูกโยนออกมาจากวิหารทองคำ มาให้เป็นอาหารสุนัขข้างถนนภายนอก

บนดาดฟ้าของวิหาร แต่ละแห่งจะมีมือปืนระดับพระกาฬรักษาการณ์อยู่ พร้อมตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ คน ที่เป็นมือปืนจากนรกจริงๆ นอกนั้นเป็นอาชญากรที่หนีมาจากรัฐอื่นๆ และพวกคนหนุ่มๆ ที่คลั่งคำสอนของ ภิน ดรันวัล มาสมทบกองกำลังโจรด้วย

เมื่อไม่ว่าทางใดก็ไร้ผล จึงประกาศเอาจริงเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า:-
สองสามวันก่อนนั้นได้เกิดการนองเลือดขึ้นที่ปัญจาบ อันเป็นผลเกิดจากการกระทำของผู้ประสงค์ร้าย สร้างสถานการณ์สยองขวัญขึ้นทั่วไป เหมือนจะกดดันให้รัฐบาลสิ้นความอดกลั้น ทางรัฐบาลจึงขอเตือนว่า หากกลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่หยุดยั้งการกระทำดังกล่าว ผู้กระทำผิดจะต้องได้รับการลงโทษ

เสียงประกาศขู่ของรัฐบาล ไม่ทำให้เหล่าร้ายในปัญจาบสะดุ้งหวาดกลัว สถานีรถไฟหลายแห่งถูกเผา ชาวฮินดูถูกฆ่าโหดหลายร้อยคน

ดังนั้น รัฐบาลจึงประกาศเคอร์ฟิวในเมืองอมฤตสาร์ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๑๙๘๔ และหลังจากประกาศ กำลังทหาร ๗๐,๐๐๐ คน เข้าประจำการจุดสำคัญต่างๆ ทั่วรัฐปัญจาบ โดยเฉพาะรอบๆ วิหารทองคำ มีทหารเข้าไปประจำหนาแน่นเป็นพิเศษ

ความจริงแล้วอินทิราต้องการเพียงแค่ขู่ให้พวกคลั่งศาสนาจนกลายเป็นโจรให้หยุดยั้งการกระทำอันบ้าคลั่ง รัฐบาลคิดผิด เหตุการณ์ร้ายต่างๆ ยังก่อเกิดขึ้นไม่หยุดยั้ง

อินทิราจึงประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ให้กลุ่มต่างๆ ในรัฐปัญจาบเลิกก่อเหตุร้ายเสียแต่ก็ไร้ผล ยังมีเหตุร้ายต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฆาตกรรม วางเพลิง จี้ ปล้น ทำให้ชาวซิกข์และฮินดู ต้องเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก และทำให้ประเทศชาติเสียหายใหญ่หลวง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนามาบัดนี้ได้กลายเป็นแหล่งซ่อมสุมเหล่าอาชญากร คอยทำร้าย เข่นฆ่า ผู้เข้าไปสักการบูชา ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้อง รัฐบาลจึงขอเตือนเป็นครั้งสุดท้าย ให้หันหน้าเข้าหากันสำหรับทุกกลุ่ม พูดจากัน และนี่คือโอกาสสุดท้ายแล้ว

เหล่าก่อการร้ายไม่สนใจในคำขู่ของอินทิรา พฤติกรรมเดิมๆ ถูกทำซ้ำเติมหนักเข้าไปอีก

เมื่อมีคำตอบเช่นนี้ รัฐบาลก็สิ้นความอดทน กองพันทหารราบหน่วยรบที่ ๑๒ จากรัฐพิหาร ถูกส่งเข้ามาปฏิบัติการในอมฤตสาร์ โดยคำสั่งของ นางอินทิรา คานธี

แรกๆ หน่วยทหารจากรัฐพิหาร เพียงใช้วิธีรายล้อม ต่อมาเปลี่ยนแผนเป็นไปซ่อนตัวบนยอดตึก ซึ่งมีความสูงไล่เลี่ยกับวิหารทองคำ ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่ จนกระทั่ง ๓ มิถุนายน ๑๙๘๔  ฝ่ายรัฐต้องการให้ทุกสิ่งยุติลงโดยปราศจากการนองเลือด จึงประกาศขยายเสียงให้ออกมามอบตัว ประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีก และแล้วก็มีคำตอบ คือกระสุนปืนทุกชนิดที่กราดยิงออกมา

นับแต่วินาทีนั้น การเจรจาสันติเป็นอันสิ้นสุดลง

เช้าวันที่ ๔ มิถุนายน ๑๙๘๔ ทางทหารเริ่มตอบโต้ โดยใช้ปืน ๓.๘๗ ซีเอ็ม เมาท์เท่น (C.M.Mountain) แรงทำลายสูง กระหน่ำครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เหล่าร้ายกลับตอบโต้ด้วยจรวด อาร์.พี.จี.(Rocket Power Gum) ทำให้ฝ่ายทหารแตกกระเจิง

มาถึงตอนนี้ ทหารต้องใช้เฮลิคอปเตอร์กับรถถังเข้าถล่ม โดยรายล้อมเมืองอมฤตสาร์ไว้ทุกด้าน ปืน รถถัง หันปากกระบอกไปที่วิหารทองคำ พร้อมที่จะระเบิดวิหารศักดิ์สิทธิ์ให้พังทลายในพริบตา ศพเกลื่อนถนน

ชาวซิกข์พากันหวาดวิตกว่าวิหารศักดิ์สิทธิ์ของตนจะถูกทำลาย พากันทำร้ายทุกคนที่ขวางหน้า เล่นงานตำรวจ และทหาร ตำรวจได้รับคำสั่งให้ใช้กระสุนจริง เมื่อมีประชาชนเข้าร่วมด้วย

รัฐบาลเปลี่ยนแผนใช้หน่วยคอมมานโดปฏิบัติการ เข้าจับตัวผู้ก่อการร้ายในวิหารแบบสายฟ้าแลบ ไม่ให้วิหารทองคำเป็นอันตราย การปฏิบัติการเริ่มเมื่อตอนเที่ยงคืน วันที่ ๕ มิถุนายน ๑๙๘๔

คอมมานโด ๔๐ คน สามเสื้อเกราะกันกระสุน บุกเข้าด้านหลังของวิหาร ความมืดทำให้พวกซิกข์ ซึ่งอยู่บนยอดหอคอยมองไม่เห็น พยายามเล็ดลอดเข้าไปในวิหารครูรามดัสลังการ์ ในที่สุดก็จับได้หมด เมื่อตอนฟ้าสางพอดี ตอนนี้เหลือแต่ตัววิหาร และระเบียงรอบสระเท่านั้น ที่ยังยึดไม่ได้

เจ้าหน้าที่คอมมานโด ๔๐ คน เสียชีวิตไป ๓ คน บาดเจ็บ ๑๙ คน นอกนั้นปลอดภัย

คืนต่อมา หน่วยคอมมานโดถูกส่งเข้าไปปฏิบัติการ ณ วิหารทองคำ อันเป็นที่ซ่อนตัวของ ภิน ดรันวัล หัวหน้ากลุ่มผู้คลั่งศาสนา ขณะที่คอมมานโดบุกเข้ามายังวิหารอกัลดักห์ ก็พบกับ ภิน ดรันวัล เกิดการปะทะกัน ภิน ดรันวัล ถูกสะเก็ดระเบิดชิ้นหนึ่งตัดใบหน้า เสียชีวิตในที่ปะทะ

การต่อสู้ดำเนินการต่อไปจนถึงบ่ายวันที่ ๗ มิถุนายน ๑๙๘๔ พวกก่อการร้ายกลุ่มสุดท้ายชูธงขาวเดินออกจากวิหารทองคำ ยอมแพ้ รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ  เป็นอันว่าปฏิบัติการบลูสตาร์สิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์

ยึดวิหารได้ พวกคลั่งศาสนาเสียชีวิตร่วมพันคน ทหารเสียชีวิตร่วมสองร้อยคน

รัฐบาลชนะ แต่ปัญหาเรื่องศาสนาของซิกข์ยังไม่จบ การเข้ายึดวิหารทองคำของอินทิราครั้งนี้ สร้างความแค้นเคืองให้แก่ชาวซิกข์เป็นอย่างมาก ซิกข์ทุกคนหาทางแก้แค้นแทนชาวซิกข์ที่เสียชีวิตไป

ฮารินเดอร์ ซิงห์ ทูตประจำกรุงออสโล เป็นชาวซิกข์ผู้หนึ่ง ทำงานให้รัฐบาลอินเดียมาสิบกว่าปี ทันทีที่แผนบลูสตาร์ประสบความสำเร็จเขายื่นใบลาออกทันที ด้วยต้องการล้างแค้นอินทิรา คานธี

ฮารินเดอร์ ซิงห์ เริ่มติดต่อกับ บีน ซิงห์ ฆาตกรคนแรกที่ยิงอินทิรา   บีน ซิงห์ เป็นญาติห่างๆ ซึ่งทำหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของอินทิรา คานธี พร้อมกับส่งเงินมาให้หนึ่งแสนเหรียญดอลลาร์ เพื่อชำระแค้นของเขาให้สำเร็จ

นอกจาก บีน ซิงห์   ฮารินเดอร์ยังได้ทาบทาม บัลไบ ซิงห์ รองสารวัตรตำรวจ หน่วยคุ้มกันความปลอดภัย (รปภ.) ของ อินทิรา คานธี ให้ช่วยทำงานสำคัญให้อีกด้วย

ครั้งแรก วางแผนจะให้ บีน ซิงห์ นำระเบิดไปวางไว้ในห้องทำงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประจำ แล้วใช้รีโมทคอนโทรล แต่ไม่สามารถจะหาได้ ประกอบกับ บัลไบ ซิงห์ เรียกร้องเงินในการนี้สูงเกินไป จึงต้องยกเลิก

อย่างไรก็ตาม การประชุมแบบลับๆ ระหว่างชาวซิกข์ทั้งหลาย มีการประชุมกันเป็นประจำ ที่จะหาทางสังหารนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี ให้จงได้  ในที่สุด บีน ซิงห์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นมือสังหาร

บีน ซิงห์ เป็นคนตำบลบาโลย่า เมืองจันดีการ์ ตามวรรณะ เขาเป็นคนชั้นต่ำ ร่างเตี้ย แต่โชคดีได้เรียนหนังสือจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยปัญจาบ ปี ๑๙๗๒ บีนได้รับเลือกให้มาเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยในบ้านพักของ อินทิรา คานธี ตลอดเวลาสิบกว่าปีที่เขาทำงานมา เขาได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชามาก จวบจนกระทั่ง…

ไม่มีใครคาดคิดว่า เขาจะร่วมมือกับพวกหัวรุนแรง คิดสังหารเจ้านายของตนเองได้

เนื่องจากเขาได้รับเงินจาก ฮารินเดอร์ ซิงห์ ถึงหนึ่งแสนเหรียญดอลลาร์ และถูกเป่าหูจาก บาฮาเดอร์ ซิงห์ ผู้เป็นลุง ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญจากกระทรวงเกษตร และเป็นคนเกลียดฝ่ายรัฐบาลรุนแรง พอวิหารทองคำถูกถล่ม บาฮาเดอร์ ซิงห์ ก็หาทางตอบโต้รัฐบาลโดยหันมายุให้หลานชายดำเนินการโหดครั้งนี้ด้วย

บีน ซิงห์ ได้เลือกเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ชื่อ สัตวันต์ ซิงห์ หนุ่มวัย ๒๑ ปี จากตำบลอัตวัน ซึ่งเป็นอำเภอชายแดน ห่างจากปากีสถานเล็กน้อย

สัตวันต์ รับราชการเป็นตำรวจ กองพันที่ ๕ เมื่อปี ๑๙๘๒ ต่อมาถูกส่งไปฝึกหลักสูตรคอมมานโด สำเร็จแล้วย้ายมาอยู่กองพันที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้สัตวันต์จะรักษาการณ์อยู่ด้านนอก แต่ก็สามารถเปลี่ยนเวรเข้ามารักษาการณ์ภายในได้

สัตวันต์ถูกเกลี้ยกล่อมจาก บีน ซิงห์ จนกระทั่ง ๑๗ ตุลาคม ๑๙๘๔ จึงตอบตกลง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น เขากำลังจะแต่งงานอยู่แล้ว  ต่อมาวันที่ ๒๑ ตุลาคม บีนและสัตวันต์ มาพบกันที่วิหารทองคำ เพื่อรับทราบรายละเอียดต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ของพวกหัวรุนแรง พอประชุมเสร็จสัตวันต์ก็เดินทางกลับเดลี โดยมีชายแปลกหน้า ๕ คน ติดตามไปด้วย

เช้าวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๑๙๘๔  บีน ซิงห์ กับ สัตวันต์ ก็ร่วมกันปฏิบัติการโหด โดยลั่นกระสุนสังหารนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี จนถึงแก่ความตายดังกล่าว  เขาได้ยุติบทบาทของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย  แม้ตาย แต่โลกจะจดจำเธอไปตลอดกาล

อินทิรา คานธี เกิดในตระกูลสูง มีฐานะดี บิดาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอินเดีย ผู้นั้นคือ เยาวหราล เนรูห์  ส่วนมารดาชื่อ กมลา ซึ่งถึงแก่กรรม เมื่ออินทิราอายุ ๑๙ ปี

อินทิรา คานธี เกิด ค.ศ. ๑๙๑๗ ที่เมือง อัลลา ฮาบัต การสูญเสียมารดาไม่ได้ทำให้อินทิราขาดความอบอุ่นในชีวิตแต่อย่างใด เพราะเนรูห์บิดา ได้เอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี ตั้งแต่วัยเด็ก อินทิรา คานธี ได้ดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว ณ คฤหาสน์ของปู่ที่เมืองอัลลา ฮาบัต ในขณะนั้นทั้งบิดา และปู่ และญาติพี่น้อง ที่เป็นชายทุกคนถูกจับขังในเรือนจำ เพราะร่วมในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย

อินทิรา คานธี ได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุดเท่าที่กุลสตรีซึ่งเกิดมาในตระกูลมั่งคั่งของอินเดียจะพึงได้รับ  อินทิราศึกษาภาษาต่างประเทศขั้นต้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย “ศานตินิ เตตัน” ในอินเดีย หลังจากได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ได้จากสถานศึกษาต่างๆ ดูเหมือนจะมีความสำคัญน้อยกว่าความรู้ที่ได้รับจากจดหมายหลายฉบับที่บิดาของอินทิราเขียนถึงในระหว่างที่ถูกกักขังในเรือนจำ จดหมายเหล่านั้นพร่ำสอนด้วยวาทศิลป์อันซาบซึ้ง ได้อบรมบ่มนิสัยอย่างละเอียดอ่อน และถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนอุปนิสัยใจคอจากบิดาไปสู่ลูก โดยที่อินทิราเองอาจไม่รู้สึกตัว

อินทิรา คานธี เล่นการเมืองอย่างจริงจังเมื่ออายุ ๒๑ ปี ได้จัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า “หน่วยสื่อสารวานร” เป็นหน่วยที่ถือสารทางการเมืองเล็ดลอดผ่านแนวของอังกฤษ อันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย


3357  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: วัฒนธรรมร่วมอาเซียน เมื่อ: 28 กรกฎาคม 2558 16:07:38
.

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ฟ้อนระบำรำเต้น


(แถวบน) คนเต้นท่ากบ รวบรวมจากภาพเขียนสีราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่ผาลาย มณฑปกวางสี
(ภาพคัดลอกโดยสถาบันค้นคว้าทางวิชาการแห่งมณฑปกวางสี ในจีน)
(แถวกลาง) คนเต้นท่ากบ รวบรวมจากภาพเขียนสี ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว พบที่อีสานในไทย
(ภาคคัดลอกของกรมศิลปากร)
(แถวล่าง) คนเต้นท่ากับ บนหัวมีขนนกประดับ นุ่งผ้าปล่อยชายยาวออกไป ๒ ข้าง
กำลังมีการละเล่นในพิธีกรรม ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ภาพเขียนสีที่ถ้ำ (เขา)
ผาแดง บ้านโป่งหวาย ต.ด่านแม่แฉลบ  อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี (ภาพคัดลอกของกรมศิลปากร)

ฟ้อนระบำรำเต้น
คนอุษาคเนย์กางแขน ถ่างขา ย่อเข่า เป็นหลักในการฟ้อนระบำรำเต้น เรียกสามัญลักษณะ ที่ศัพท์ละครไทยเรียกท่ายืด (ทำเข่าตรง) กับ ท่ายุบ (ทำย่อเข่า)
 
ท่าเต้น ถ่างขา ย่อเข่า เป็นมุมฉาก ได้จากทำเลียนแบบให้เหมือนกบศักดิ์สิทธิ์ เรียกท่ากบ ยกย่องเป็นท่าเต้นศักดิ์สิทธิ์
 
มีหลักฐานภาพสลักตามปราสาทหินในกัมพูชาและไทย เช่น ท่ารำศิวนาฏราช บนหน้าบันปราสาทพนมรุ้ง (บุรีรัมย์) และท่าโนรา, โขน, ละคร (พระ นาง ยักษ์ ลิง) กับ legon ของอินโดนีเซีย

เต้นท่ากบ
ยกมือสองข้าง กางแขนและถ่างขาตั้งฉากคล้ายกบ
 
กบ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่บรรพชนคนอาเซียนยกย่องอย่างสูงเมื่อไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นสัญลักษณ์ของกำเนิด เพราะมีรูปร่างเหมือนมดลูกของแม่ และเป็นผู้บันดาลน้ำฝนให้ทำนา
 
มีภาพเขียนสีราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบมากที่มณฑลกวางสี ในจีนตอนใต้ หลักแหล่งของพวกจ้วง พูดภาษาตระกูลลาว-ไทย ทำนาข้าวเหนียว ปลูกเรือนเสาสูง
 
ภาพเขียนสีแบบนี้ ยังพบแพร่กระจายบนหน้าผาและผนังถ้ำในไทย ตั้งแต่ภาคอีสาน ถึงภาคกลาง
 
กลุ่มคนทั่วไปบริเวณสองฝั่งโขงบางแห่ง เช่น ในอีสาน ยังเต้นท่ากบทำก้นเตี้ย (โดยธรรมชาติ) เมื่อมีการละเล่นในงานประเพณีพิธีกรรม เช่น เซิ้งบั้งไฟ, โยนโคลน, มวยโบราณ, บวชควาย (คนเล่นเป็นควายในพิธีขอฝน ชื่อนี้ตั้งเรียกใหม่ สมัยโบราณเรียกอย่างอื่น)
 
ฟ้อนยืดยุบ
แอ่นมือสองข้าง กางแขน ย่อเข่า ทำท่าเหมือนยืดขึ้น ยุบลง สลับกัน

ฟ้อนยืดยุบเก่าสุด พบในภาพลายเส้นสลักบนภาชนะโลหะสัมฤทธิ์ ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เช่น ขวานสัมฤทธิ์, กลองทองสัมฤทธิ์ (มโหระทึก) ในภาคเหนือของเวียดนาม
 
แบบแผนนาฏยศาสตร์ของอินเดียโบราณ มิได้มีอิทธิพลเหนือแบบแผนการละเล่นเต้นฟ้อนที่มีพัฒนาการบริเวณสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์มาแต่ดั้งเดิม
 
ท่าฟ้อนรำศิวนาฏราชที่หน้าบันปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ และที่ปราสาทอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในดินแดนไทยและดินแดนกัมพูชา ล้วนแสดงลีลาแตกต่างจากท่ารำของอินเดีย แต่เป็นท่าฟ้อนรำของท้องถิ่น ดังที่มีปรากฏอยู่กับท่าฟ้อนรำของบรรดานางอัปสรทั้งที่ปราสาทนครวัดและปราสาทบายน
 
(ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, ศาสนาพราหมณ์ในราชอาณาจักรขอม, เรียบเรียงจากบทความของ Kamaleswar Bhattacharya เรื่อง Les Religions Brahmaniques dans I’ Ancien Cambodge d’ apres I’ Epigraphie et I’ Iconographie, คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดพิมพ์, ๒๕๑๖.)
 
ท่ารำ ๑๐๘ จากเมืองจิทัมพรัม (อินเดียใต้) พบไม่มากในประติมากรรมของภูมิภาคอุษาคเนย์ และไม่มีอิทธิพลมากนักในท่าเต้นฟ้อนโขนละครในไทยและในเพื่อนบ้าน ถ้าจะมีบ้างก็เป็นเพียงท่าดิบ, ท่าตาย คล้ายท่านิ่งเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งคราว ให้เข้ากับเนื้อเรื่องที่ต้องแสดงเป็นมหาเทพองค์สำคัญๆ
 
ฟ้อนรำในนาฏศิลป์อินเดีย แตกต่างกับฟ้อนรำของผืนแผ่นดินใหญ่ภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีลักษณะแตกต่างกับฟ้อนรำไทยมากทั้งในจังหวะซึ่งคล่องแคล่วว่องไวรวดเร็วกว่าของไทย และการใช้อวัยวะต่างๆ ซึ่งดูออกจะหนักหน่วงและเด็ดขาดกว่าการใช้อวัยวะในฟ้อนรำไทย ท่ารำต่างๆ ของอินเดียในสมัยก่อน ซึ่งปรากฏเป็นตำรับตำรานั้น หากจะพิจารณาแล้วก็เห็นว่าไม่มีความคล้ายคลึงกับท่ารำของไทย

 
(นาฏศิลป์ไทย โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ธนาคารกรุงเทพ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๖)


มวยโบราณอีสาน มีพื้นฐานเต้นท่ากบอุษาคเนย์


(ซ้าย) โนราตั้งเหลี่ยมเหมือนท่ากบอุษาคเนย์
(ขวา) แม่ทำยักษ์ แม่ทำลิง มีต้นแบบจากท่ากบบนภาพเขียนสี เมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
เป็นท่าพื้นเมืองของอาเซียน ไม่มาจากอินเดีย


ฟ้อนยืดยุบกับแคน ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว แสดงการละเล่นในพิธีกรรมคือฟ้อนแคนแล้วขับลำนำ
คล้องจองเป็นทำนองง่ายๆ นุ่งผ้าปล่อยชายยาว ๒ ข้าง แล้วประดับขนนกหรือใบไม้ไว้บนหัว
ลายเส้นคัดลอกจากเครื่องมือสัมฤทธิ์ที่พบในเวียดนาม (ลายเส้นและรูปสำเนาขวานสัมฤทธิ์
ได้จากเอกสารวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีของนักวิชาการฝรั่งเศสและเวียดนาม)


ฟ้อนย่อเข่าแสดงท่ายืดยุบแบบพื้นเมืองของอัปสรนางรำ
ในภาพสลักบนทับหลังปราสาทพิมาย ราวหลัง พ.ศ. ๑๖๐๐


ศิวนาฏราช ทำท่าทรงตัวเป็นสามัญลักษณะของรำพื้นเมืองสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ มีย่อเข่า
แสดงท่ายืดยุบเหมือนท่ากบ มีมืออ่อน นิ้วยาวเหมือนสวมนิ้วปลอมทำด้วยใบตอง ทั้งหมดนี้
ไม่มีในท่ารำของอินเดีย   ภาพสลักราวหลัง พ.ศ. ๑๖๐๐ บนหน้าบันปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๒๔) ฟ้อนระบำรำเต้น" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ผ้าผืนเดียว

ผ้าผืนเดียว
ผ้าผืนเดียว เตี่ยวพันกาย เป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์อาเซียนมาแต่ดึกดำบรรพ์ และอาจร่วมทั้งโลก

ผ้าเตี่ยว
เตี่ยว หมายถึง ผ้าผืนเล็ก แต่ยาว หรือผ้าแถบยาว แต่เล็กและแคบ ใช้ห่มพันรอบเอวแล้วตวัดลอดหว่างขาไปเหน็บไว้ข้างหลัง เป็นคำพูดเชิงดูถูกว่ายาจกยากจน

ผู้หญิงโบราณใส่เตี่ยวใช้ซับประจำเดือน



คนนุ่งผ้าปล่อยชายยาวออกไป ๒ ข้าง เป็นต้นเค้าผ้าผืนเดียว (แล้วเรียกผ้าขะม้าทุกวันนี้)
บนหัวมีขนนกประดับ กำลังมีการละเล่นในพิธีกรรม ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
[ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากรจากภาพเขียนสีที่ถ้ำ (เขา) ผาแดง บ้านโป่งหวาย
ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี]


ช่างฟ้อนกับแคน นุ่งผ้าปล่อยชายยาว ๒ ข้าง เหมือนผ้าขะม้า แล้วประดับขนนก
หรือใบไม้ไว้บนหัว ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว แสดงการละเล่นในพิธีกรรม
(ลายเส้นคัดลอกจากเครื่องมือสัมฤทธิ์ที่พบในเวียดนาม)


คนนุ่งผ้าปล่อยชายยาว ๒ ข้าง ต้นทางผ้าขะม้า กำลังทำพิธีกรรมเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
(ลายเส้นคัดลอกจากหน้ากลองมโหระทึกพบที่เวียดนาม)


ม้อยนุ่งเตี่ยว คนพื้นเมืองดั้งเดิม บริเวณพรมแดนลาว-เวียดนาม

ผ้าขะม้า
ผ้าผืนเดียว มีใช้ทั่วไป แต่เรียกชื่อต่างกันตามท้องถิ่น

ผ้าขะม้า เป็นชื่อไทย-ลาว เพี่ยนจากคำเขมรเรียก กรอมมา มีรากคำจากเปอร์เซีย (อิหร่าน) ว่า กะมัรฺ บันด์ (Kamar Band)

[ผ้าขะม้า มีคำอธิบายเก่าว่ากร่อนจากผ้าข่าวม้า เพราะใช้ผ้ามัดเอวห่อหนังสือข่าวสารขี่ม้าไปส่งข่าวอีกฟากหนึ่ง ซึ่งเป็นนิทาน]

คำ Kamar แปลว่า เอว, Band แปลว่า รัด, คาด ตรงกับ รัดประคด ใช้คาดเอว

[จากหนังสือ ความสัมพันธ์ของมุสลิม ทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย ของ ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๕]



ม้อย กลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมในเวียดนาม นุ่งผ้าปล่อยชายยาว ๒ ข้าง เหมือนผ้าขะม้า
(ภาพนี้เป็นแถวรับเสด็จรัชกาลที่ ๗ เสด็จเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓)

ผ้านุ่ง
ต่อมาเอาผ้าผืนเดียว เย็บชายติดกันเป็นถุง เรียก ผ้าถุง, ผ้าซิ่น, ผ้าโสร่ง

ถ้าเป็นผืนยาว เรียก ผ้าหาง ใช้นุ่งโจงกระเบนก็ได้

เป็นพยานว่าโสร่งมิได้เป็นสมบัติของพวกใดพวกหนึ่ง เช่น พม่า, มอญ, มลายู แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์



เครื่องแต่งตัวขบวนเสียมกุกนุ่งโสร่ง บนภาพสลักที่ปราสาทนครวัด
ราว พ.ศ. ๑๖๕๐ (ก่อนมีสุโขทัย ราว ๑๐๐ ปี)

สยามนุ่งโสร่ง
โสร่ง มีทั้งเป็นผ้าพื้นเรียบและทั้งลายแบบผ้านุ่งผู้ไท ซึ่งนุ่งให้เชิงผ้าข้างล่างผายนิดๆ เหมือนโสร่งมอญ-พม่า

แต่สังเกตว่าไม่ได้เพลาะชายผ้าให้เป็นถุง หากเป็นผืน และนุ่งพันแบบมลายู

รอบเอวมีดอกไม้ห้อยเป็นระย้าลงมาเป็นสายยาวเกือบจรดเข่าเหมือนระย้าประดับเอวระบำฮาวาย มือถือหอกหรือทวน และดั้ง

สรุปจากจิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม (มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๙ หน้า ๑๓๐-๑๕๐)


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๒๕) ผ้าผืนเดียว" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน นั่งยองๆ ชันเข่า

นั่งยองๆ ชันเข่า
คนอุษาคเนย์ในอาเซียน นั่งยองๆ นั่งชันเข่า ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ ต่อเนื่องจนปัจจุบัน

นั่งยองๆ คือ นั่งโดยวิธีตั้งเข่าหรือชันเข่าทั้งสองข้างไม่ให้ก้นถึงพื้น

นั่งชันเข่า คือ นั่งก้นติดพื้นโดยวิธียกเข่าทั้งสองข้างตั้งขึ้น



คนพื้นเมืองดั้งเดิมสองฝั่งโขง นั่งยองๆ และนั่งชันเข่าตามสะดวก

นั่งยองๆ ของอุษาคเนย์

นั่งยองๆ เป็นวัฒนธรรมร่วมในการแสดงความนอบน้อมของคนอุษาคเนย์ในอาเซียนสืบมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์นับพันปีมาแล้ว

เมื่อนางมณฑาลงกระท่อมปลายนาของนางรจนากับเจ้าเงาะ เพื่ออ้อนวอนให้ช่วยออกตีคลีพนันในบทละครเรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ ร.๔ เจ้าเงาะแสดงความนอบน้อมเคารพนางมณฑา (ซึ่งเป็นแม่ยาย) โดยนั่งยองๆ พนมมือเหมือนรับศีลจากพระสงฆ์ ดังมีกลอนพรรณนาว่า



นักโทษชาย ๕ คน นั่งยองๆ พนมมือ
[ที่คุกแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง ค.ศ. ๑๙๑๐ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ภาพจาก www.oldindianphotos.in]

๏ เมื่อนั้น                     เจ้าเงาะทำเหมือนถวายตัวใหม่
เฝ้าแต่แลมาแลไป             ไม่เข้าใจนบนอบหมอบกราน
นั่งยองยองมองดูแล้วปูผ้า      พนมมือเมินหน้าท่าแบกขวาน
ราวกับจะรับศีลสมภาร        พังพาบกราบกรานท่านแม่ยาย



พระสงฆ์นั่งยองๆ เหมือนปลงอาบัติในวันพระใหญ่ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ก่อนเข้าโบสถ์ทำวัตร
(จิตรกรรมฝาผนังใน หอพระไตรปิฎก สมัย ร.๓, ร.๔ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ)


นั่งชันเข่าข้างเดียวของเจ้านาย, ขุนนาง, ข้าราชการ เป็นท่านั่งอย่างนอบน้อมของคนชั้นสูง
ในราชสำนักกัมพูชา ราว พ.ศ. ๑๕๐๐ ในภาพสลักตามปราสาทหินในกัมพูชา
(ภาพโดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ท่านั่งยองๆ ตะวันออก-ตะวันตก
คำว่า นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ และนั่งงอตัว (รวมถึงการงอตัวของทารกในครรภ์มารดา) ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือ squat (กริยา) หรือ squatting(นาม)

อาจเป็นเพราะในโลกตะวันตกไม่มีวัฒนธรรมการแยกท่านั่งในลักษณะดังกล่าว

ต่างจากตะวันออก ซึ่งมีคำศัพท์หลากหลาย แสดงถึงการให้ความสำคัญและการมีมาอย่างยาวนานของวัฒนธรรมการนั่งลักษณะนี้ เช่น

ผู้รู้ภาษามอญ อธิบายว่านั่งยองๆ มีศัพท์ว่า ฮะโจะฮะจุ่น มาจากคำว่า ฮะโจะ แปลว่า นั่ง ฮะจุ่น แปลว่า ยองๆ ซึ่งใช้เฉพาะท่านั่ง ไม่ใช้ในความหมายว่างอตัว

แม้ตะวันตกจะไม่ได้แยกศัพท์ แต่มองว่าท่านั่งลักษณะนี้เป็น ‘วัฒนธรรม’ อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีความเกี่ยวข้องกับทางแพทย์และสาธารณสุข

ดังปรากฏบทความและงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับสุขอนามัยของประเทศโลกที่สาม ซึ่งใช้ส้วมแบบที่เรียกว่า ‘ส้วมนั่งยอง'



(ซ้าย) ฤๅษี ๕ ตน นั่งท่าโยคาสนะ บนทับหลังชั้นใน ด้านทิศตะวันออก ของปราสาทประธานที่ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์
อายุราว พ.ศ. ๑๖๕๐ ทับหลังแผ่นนี้จำหลักรูปฤๅษี ๕ ตนประทับนั่งในท่าโยคาสนะ คือท่านั่งชันเข่าทั้งสองข้างแล้วเอาเท้าไขว้กัน
อย่างที่พบเห็นได้ทั่วไปในปราสาทขอม หลายครั้งมักพบว่าจะสลักรูปสายโยคปัฏฏ์รัดไว้ที่หน้าแข้ง แต่ไม่มีในภาพสลักรูปนี้
(คำอธิบายโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ)
(ขวา) โภชาชานียชาดก—ท่านั่งชันเข่าแบบนักบวชและคนชั้นสูง จากลายสลักบนแผ่นหินเรื่องชาดก ในอุโมงค์วัดศรีชุม จ.สุโขทัย
(ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๕ ประมวลจารึกอักษรไทย ภาพลายเส้นจำหลักบนแผ่นหินเกี่ยวกับเรื่องชาดกต่างๆ ในชาดกห้าร้อยชาติ
ที่ประดับไว้ในเจดียย์วัดศรีชุม สุโขทัย, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๑๕)

นั่งห้อยขา
คนชั้นสูงนั่งห้อยขาข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งพับไว้ เพราะนั่งบนที่นั่งรองก้นสูงขึ้นกว่าพื้นปกติ เช่น จอมปลวก, โขดหิน, ตั่ง, เก้าอี้, ฯลฯ

ประเพณีอย่างนี้ นักวิชาการอธิบายว่าน่าจะมีต้นแบบจากวัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย พบหลักฐานเก่าสุดในไทยคือพระพุทธรูปสลักหิน ประทับนั่งห้อยพระบาทสองข้าง (ยุคทวารวดี) พบที่วัดพระเมรุ จ. นครปฐม


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๒๖) นั่งยองๆ ชันเข่า" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ


3358  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: 'อาเซียน' เรื่องน่ารู้..ที่คนไทยควรรู้ เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2558 13:22:28
.

     บ้าน บรูไน 

หลังจากเปิดประสบการณ์ทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านแต่ละประเทศ ที่มีความเชื่อมโยงหลายด้านหลากมิติจนน่าแปลกใจ ทั้งวิถีเทศกาล อาหารหลักอย่างข้าว และการทักทาย

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งอาเซียนคล้ายกันมาก คือ "บ้าน"

เริ่มต้นกันที่ประเทศบรูไน แม้ปัจจุบันบ้านเรือนในบรูไนจะเป็นแบบผสมผสานตามค่านิยมตะวันตก แต่หลายพื้นที่ยังนิยมปลูกบ้านแบบ ท้องถิ่น เช่น "โปตองลิมัส" บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่ได้รับอิทธิพลมาจากบ้านแบบมลายูของมาเลเซีย ใต้ถุนสูงราว ๑.๕ เมตร สร้างแบ่งเป็น ๕ ส่วน ประกอบด้วยนอกชาน หน้าบ้าน โถงกลาง หลังบ้านซึ่งมักเป็นห้องนอน และห้องครัว

ส่วนบ้านน้ำของเหล่าชาวเลและผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ริมน้ำและทะเลจะคล้ายกับบ้านของชาวไทยในละแวกป่าชายเลน ทำจากไม้ไผ่และมีใต้ถุนสูง บ้านกลางน้ำที่ขึ้นชื่อและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือ "หมู่บ้านกำปงอะเยอ" บนเกาะลาบวน เป็นหมู่บ้านน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี ๒ หมู่บ้าน ได้แก่ กัมปงเบบูลอห์ และ กัมปงปาเตา-ปาเตา มีประชากรราว ๓๐,๐๐๐ คน นอกจากบ้านเรือนแล้วยังมีโรงเรียน สถานที่ราชการ สถานีตำรวจ มัสยิด และปั๊มน้ำมัน



    บ้าน  เวียดนาม

แม้เวียดนามจะมีชนพื้นถิ่นมากกว่า ๕๔ ชาติพันธุ์ แต่บ้านส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกันมาก นั่นรวมถึงบ้านในอาเซียนตอนบน ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ลักษณะเด่นๆ คือ เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง บางพื้นที่มีหลังคาลาดเอียงและกว้างเพื่อป้องกันฝน บางพื้นที่ทำหลังคาทรงสูงชะลูดเพื่อระบายอากาศร้อนชื้น

บ้านของชาวไตและชาวนุง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ นิยมปลูกบ้านบนเนินเขาใกล้พื้นที่เพาะปลูกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม

ขณะที่บ้านใต้ถุนสูงแบบชาวเวียต หรือคนเวียดนามท้องถิ่น นิยมปลูกบ้านขนาดกว้างและผนังที่บางหรือทำจากวัสดุที่โปร่งกว่า เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เนื่องจากอยู่ในภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม บ้านส่วนใหญ่ของชาวเวียตมีบันไดขึ้นสู่ชานบ้าน ๒ ข้าง ซ้าย-ขวา ห้องขวามือมักแบ่งสรรไว้สำหรับจัดตั้งหิ้งบูชาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รับรองแขก หรือเป็นส่วนของสมาชิกผู้ชายในครอบครัว และแน่นอนว่าด้านซ้ายเป็นห้องหับที่จัดวางมิดชิดของผู้หญิง

ส่วนบ้านของชาวเหมื่องในเขตภูเขาทางภาคกลางค่อนไปทางเหนือมีลักษณะผสมผสานระหว่างบ้านดั้งเดิมของชาวเวียตและชาวไต



    บ้าน  กัมพูชา - เรือนแขมร์

กัมพูชาจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีฝีมือการก่อสร้างระดับโลก ดูได้จากศาสนสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อย่า งนครวัด นครธม การันตีได้ถึงทักษะการปลูกสร้างของบรรพบุรุษชาวกัมพูชาและผู้คนในอาณาจักรเขมรได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับบ้านแบบดั้งเดิมของชาวเขมรซึ่งแบ่งเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ บ้านแขมร์หรือบ้านเขมร โรงหรือเรือนกันเตียง เรือนโรงโดล โรงเดือง และเรือนเพธ

โรงหรือเรือนกันเตียงนิยมสร้างในพื้นที่ติดลุ่มน้ำโขง มีรูปแบบผสมผสานกับวัฒนธรรมจีนที่ถ่ายทอดผ่านการค้าขายล่องแม่น้ำโขงของชาวจีนในอดีต กันตังเป็นภาษาขอมที่แผลงมาจากมณฑลกวางตุ้ง และใช้เรียกแทนชาวจีน เรือนกันตังมีหลังคาหน้าจั่วและเสาสูงเผื่อฤดูน้ำหลาก ด้านในเป็นโถงยาวและมีส่วนห้องแยกสองฝั่ง หรือหลายห้องต่อๆ กันสำหรับเจ้าของเรือนที่มีฐานะร่ำรวย ไม่ก็เป็นขุนนาง

เรือนเพธซึ่งมีหลังคาทรงปั้นหยานั้นได้รับความนิยมสร้างไปทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ ๑๙๕๐ เพราะมีผนังสูงและช่องลมระบายอากาศที่ช่วยให้ภายในบ้านปลอดโปร่ง ไม่ร้อนอบอ้าว

เรือนแขมร์สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของขุนนางระดับสูงและพระสงฆ์

ขณะที่โรงโดลเป็นเรือนส่วนขยายด้านหน้าบ้าน ช่วยคลุมโถงและทางเชื่อมจากประตูบ้านสู่ด้านใน คล้ายกับโรงเดืองซึ่งทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมเช่นเดียวกับส่วนตกแต่งนอกเรือน



   บ้าน ลาว - เฮือนลาว

เรือน หรือ "เฮือน" บ้านของชาวลาวคล้ายคลึงกับบ้านในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ คือ ไทย พม่า และลาว ส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงสำหรับหน้าน้ำ เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"เฮือน" ของชาวลาวจะมีขนาด ๕x๗ เมตร หรือ ๘x๑๒ เมตร ใต้ถุนสูงตั้งแต่ ๑.๕-๒ เมตร พื้นบ้านเป็นไม้แผ่นหรือไม้ไผ่เข้ากับผนัง หลังคามุงด้วยหญ้าและไม้ตามแต่ภูมิ ประเทศจะเอื้ออำนวย ภายในแบ่งเป็นห้องนอน ๒ ห้อง ห้องโถงกลาง ๑ ห้อง พื้นที่ส่วนครัวและชานบ้าน

สถาปัตยกรรมในแต่ละพื้นที่ของลาวแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกรุงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และเขตเชียงขวาง ในเวียงจันทน์นิยมสร้างบ้านด้วยไม้กระดานหรือไม้แผ่น เดิมเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง แต่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผสมผสานกับบ้านตะวันตก ชั้นล่างต่อเติมเป็นห้องแทนใต้ถุน บ้างใช้ไม้ บ้างใช้ปูน

ขณะที่บ้านของชาว "ลาวพวน" ในเชียงขวางยังคงเอกลักษณ์คือใต้ถุนสูง หลังคาทรงมะนิลามุงด้วยหญ้าคา ถ้ามีฐานะดีมุงด้วยกระเบื้องไม้ ไม้แป้นเกด หรือกระเบื้องดินเผา พื้นและฝาเรือนปูด้วยกระดานไม้ไผ่สีสุกสับแผ่ออกเป็นแผ่นๆ เรียกว่าฟาก



  หลายคนรู้จักหลวงพระบางในฐานะเมืองท่องเที่ยวสำคัญของลาว ด้วยความเป็นเมืองมรดกโลกที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนรับรองเมื่อปี ๒๕๓๘ จากการอนุรักษ์บ้านเรือนหรือ "เฮือน" อันเป็นเอกลักษณ์

ความโดดเด่นที่ว่านี้คือบ้านสไตล์โคโลเนียลที่ได้รับอิทธิพลในช่วงการยึดครองของฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ส่งผลให้บ้านเรือนมีลักษณะผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก บ้านบางหลังสร้างแบบดั้งเดิมตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔ คือบ้านไม้มีใต้ถุนสูงละม้ายคล้ายเรือนไทยและบ้านโบราณที่ปลูกสร้างในอาเซียนตอนบน

ขณะที่บางหลังเป็นลูกครึ่ง ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูนแบบตะวันตก แต่ชั้นบนเป็นไม้ และอีกแบบถอดสถาปัตยกรรมบ้านโคโลเนียลของฝรั่งเศส โดยมีลักษณะสำคัญ ได้แก่ รูปทรงอาคารเป็นสี่เหลี่ยมแบบสมมาตร เน้นประตูทางเข้าที่กึ่งกลางอาคาร ใช้ชุดเสาสูงเป็นแนวรับชายคาสำหรับป้องกันฝนและแสงแดด ผนังไม้ตีซ้อนเกล็ดสลับกับโครงสร้างปูน และมีระเบียงรายเรียงโดยรอบ

ด้วยความหลากหลายและการอนุรักษ์บ้านแต่ละประเภทให้คงอยู่ในสังคมสมัยใหม่ที่หมุนตามโลก จึงไม่แปลกที่หลวงพระบางจะถูกยกย่องว่าเป็นเมืองที่ได้รับการปกปักรักษาดีที่สุดของภูมิภาคเอเชีย



    บ้าน  อินโดเนียเซีย - รูมาห์อาดัต

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่มากมาย วันนี้พามาทำความรู้จักบ้านดั้งเดิมของชาวอินโดนีเซีย

บ้านแบบโบราณท้องถิ่นและดั้งเดิมนั้น ชาวอินโดนีเซีย เรียกว่า "รูมาห์อาดัต" รูปแบบการปลูกบ้านส่วนใหญ่คล้ายคลึงกันไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดใดหรือเกาะไหน และยังคล้ายกับบ้านท้องถิ่นของอีกหลายประเทศอาเซียน คือ ใช้ไม้ มีใต้ถุน และหลังคาสูง

ยกตัวอย่างเช่น บ้านเกาะเนียส์ นิยมสร้างเป็นบ้านหลังยาวต่อเนื่องกัน ฐานเป็นไม้ซุงใหญ่หลายต้น ผนังบ้านเป็นไม้ฝาหรือไม้ไผ่ หลังคาทรงสูงมุงใบจาก ใบมะพร้าว หญ้า หรือฟางข้าว เพื่อระบายความร้อน เนื่องจากได้รับลมทะเลและไอร้อนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

อีกหลังเรียกว่า "บ้านโบราณปาดัง" หรือ "ปาดังปันจาง" ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา ด้วยเอกลักษณ์หลังคาหน้าจั่ว ทรงสูงปลายแหลม เพื่อให้ฝนไหลชะจากหลังคาได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนหมู่บ้านโทราจาบนเกาะสุลาเวสีใต้ นอกจากจะโด่งดังจากพิธีกรรมศพเดินกลับบ้านตามความเชื่อแล้ว ยังมีบ้านรูปร่างสวยเป็นเอกลักษณ์มากๆ คือใต้ถุนสูง หลังคามีปลายหน้าจั่วทั้งหน้าและหลังบ้านสูงชะลูดขึ้นฟ้า เพื่อระบายอากาศให้ถ่ายเท ช่วยให้บ้านโปร่งไม่อับชื้น สามารถเก็บข้าว ปลาอาหารแห้งได้นาน



 มาติดตามเรื่องราวบ้านแบบดั้งเดิมในอินโดนีเซีย  "รูโมห์อาเจะห์" บ้านท้องถิ่นของจังหวัดอาเจะห์ สร้างขึ้นด้วยไม้แผ่นหรือไม้กระดาน หลักๆ แล้วมีส่วนประกอบสำคัญ ๓ ส่วน คือชานระเบียงหน้าบ้าน โถงกลางเรือน และส่วนหลังบ้าน ลักษณะภายนอกคล้ายเรือนไม้ของหลายประเทศในอาเซียน แม้จะไม่มีหลังคาสูงเป็นเอกลักษณ์เหมือนบ้านปาดังปันจางบนเกาะสุมาตรา แต่ชาวบ้านนิยมประดับตกแต่งลวดลายสีสันสดใสคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมโดดเด่น

อีกหลังเป็นบ้าน "บาตักรูมา" ของชนชาวบาตักบนเกาะสุมาตราเหนือ ใช้ลักษณะท่าทางการยืนของควายมาเป็นรูปแบบสร้างบ้าน และนิยมใช้กะโหลกส่วนหัวของควายมาประดับไว้บนยอดหลังคา บาตักรูมาแบ่งได้เป็น ๒ แบบ แบบแรกเรียกว่า "ซีวาลูห์ จาบู" กับจุดเด่นของ "อโย อโย รูมาห์" และ "เตอร์เซก" หลังคามุงหญ้าที่มีหน้าจั่วเล็กๆ ซ้อนบนหลังคาอีกชั้นหนึ่ง ส่วนอีกแบบ คือ "บาตัก โตบา" ที่พบมากในเขตชนชาวซีมา ลุนกัน กับหลังคาหน้าจั่วแหลมสูง เล่นลวดลายด้วยสีธรรมชาติ แดง และดำ

ทิ้งท้ายด้วยบ้าน "โอโม นิฮา" บนเกาะเนียส กับรูปแบบหลังคามุงหญ้าที่มีส่วนกลางยกสูงเพื่อระบายอากาศ ส่วนใต้ถุนสูงและเสาไม้ซุงขนาดใหญ่หลายต้นออกแบบมาเพื่อรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวโดยเฉพาะนั่นเอง



   บ้าน สิงคโปร์

ภาพรวมของสิงคโปร์เป็นสุดยอดประเทศไฮเทคโนโลยีติดระดับโลก มีตึกสูงเสียดฟ้าและสถาปัตยกรรมล้ำสมัย

แต่รู้หรือไม่ว่าอาคารบ้านเรือนจำนวนมากบนเกาะนี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมลายู จีน และอังกฤษ ผสมผสานเป็นสไตล์บ้านเฉพาะตัวแบบสิงคโปร์ ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ ยุค คือยุคก่อนอาณานิคม และยุคอาณานิคม

เริ่มแรกเดิมทีสิงคโปร์อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมัชฌาปาหิตแห่งชวา ก่อนจะถูกประมุขแห่งมะละกาครอบครอง บ้านเรือนดั้งเดิมในสมัยนี้จึงมีลักษณะถอดแบบจากเรือนไม้มลายู คือมีตีนเสา ตอม่อ และหลังคามะนิลาหรือหลังคาแบบบรานอร์ บนยอดจั่วมีลวดลายแกะสลักไม้ ขณะที่ยุคอาณานิคม โดยเฉพาะในช่วงที่อังกฤษเข้าครอบครองสิงคโปร์ บ้านเรือนมีการผสมผสานสไตล์โคโลเนียล จากเรือนไม้เปลี่ยนเป็นอาคารปูน

และเนื่องจากสิงคโปร์เป็นเมืองท่าสำคัญ การติดต่อค้าขายจึงเข้ามามีบทบาทกับสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะจีนและอินเดีย อาทิ นากอร์ ดูรกาห์ ศาสนสถานศาสนาอิสลามที่มีกลิ่นอายมัสยิดทางตอนใต้ของอินเดีย วัดฟุกตั๊กกี่ วัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดของสิงคโปร์ ส่วนโคโลเนียลสไตล์ที่ขึ้นชื่อและเก่าแก่ เช่น อาคารศาลฎีกาและรัฐสภาหลังเก่า ขณะที่ย่านอาคารร้านค้าขึ้นชื่อเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งจีน มลายู และอังกฤษ



   บ้าน พม่า-ชาวชิน

บ้านดั้งเดิมในพม่า กับบ้านของชนพื้นถิ่น "รัฐชิน" ทางภาคตะวันตกของประเทศ

ลักษณะเด่นของเรือนโบราณสไตล์รัฐชิน คือ โครงสร้างหลังคาที่โน้มคลุมโถงหน้า หรือระเบียงด้านหน้าของบ้าน ต่างจากบ้านของชาติพันธุ์อื่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะชาวชินอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขา เมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุม พายุฝนจะตกหนัก หากใช้โครงสร้างหลังคาแบบหน้าจั่วทั่วไป อาจส่งผลให้ฝนสาดกระเซ็นเข้าบ้าน และก่อให้เกิดความชื้น เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย

ส่วนประกอบอื่นๆ ของบ้านโดยรวมละม้ายคล้ายกับบ้านไม้ใต้ถุนสูงที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ชาวชินนิยมวางบันไดขึ้นสู่ชั้นบนไว้หน้าสุดตรงทางเข้าบ้านและมีหน้าต่างบานใหญ่จนเกือบชิดพื้นเรือน

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เพราะชาวชินอยู่ในป่าซึ่งมีความชื้น ไม่ใช่แค่ชื้นแฉะช่วงหน้าฝนเท่านั้น แต่ยังร้อนชื้นในช่วงฤดูร้อนด้วย เฉลียง ระเบียง หรือชานหน้าบ้าน จึงมีลักษณะเปิดโล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

และอีกความโดดเด่นของบ้านชาวชิน (ยุคก่อน) จะขาดไม่ได้ คือ โครงกระดูกสัตว์สำหรับตกแต่ง และประกาศศักดาความเป็นพรานป่า อาชีพสำคัญของชาวชิน



    บ้าน  ฟิลิปปินส์

บ้านดั้งเดิมของฟิลิปปินส์ในยุคคลาสสิคและเป็นที่รู้จักกันดี คือ "บ้านโตโรกัน" ของชาวมาราเนา ทางตอนใต้ เรือนตั้งอยู่บนตอไม้หรือเสาไม้สลักขนาดใหญ่ฝังลงดินโดยมีหินกรวดถมทับเพื่อความแน่น ฝาเรือนตั้งสูงจากพื้นเพื่อถ่ายเทอากาศจากความร้อนชื้น หลังคาหน้าจั่วทรงแหลมสูงตั้งตระหง่านกลางเรือน มีชายคาทรงป้านครอบ คลุมพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด

ขอบเรือนและพื้นประดับด้วย "ปาโนลอง" ศิลปะพื้นบ้าน เป็นไม้แกะสลักลวดลายต่างๆ ที่นิยมมากได้แก่งูและมังกร

ขณะที่บานหน้าต่างมีขนาดเล็กเพื่อป้องกันพายุฝนซัดสาด ส่วนบันไดขึ้นเรือนซ่อนอยู่ด้านข้างเรือนเพื่อความเป็นสัดส่วน

เรือนโบราณอีกแบบ คือ "บาเฮย์ คูโบ" หรือ "กระท่อมนิปา" เป็นลักษณะบ้านของชนชาวฟิลิปปินส์ท้องถิ่นส่วนใหญ่ก่อนการมาเยือนของจักรวรรดิสเปน ปัจจุบันยังคงพบเห็นกระท่อมนิปาได้ทั่วไปโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท หลักๆ แล้ว กระท่อมนิปามักสร้างด้วยไม้ไผ่หรือหญ้าคามัดเป็นแผงใช้ทำเป็นหลังคา ผนัง และบานหน้าต่าง-ประตู มักมีขนาดเล็ก ๑-๒ ห้อง สูงจากพื้นไม่มาก และมีนอกชานใช้เป็นส่วนกินข้าวและรับแขก

นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอีกหลายประเทศอาเซียน รวมถึงไทย มีบ้านท้องถิ่นที่คล้ายคลึงกับกระท่อมนิปาเช่นกัน



    บ้าน มาเลเซีย - รูมาห์ เมลายู

บ้านดั้งเดิมก่อนยุคอาณานิคมในมาเลเซีย เรียกว่า "รูมาห์ เมลายู" เป็นบ้านไม้ที่ปลูกสร้างด้วยเทคนิคเก่าแก่ อันชาญฉลาดของภูมิปัญญาท้องถิ่นเอเชีย คือ การเข้าเดือยไม้และลิ่ม ซึ่งช่วยยึดส่วนต่างๆ ของเรือนเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องพึ่งตะปู บ้านแบบนี้ยังมีให้เห็นทั่วไปในพื้นที่ชุมชนชาวมลายูบริเวณคาบสมุทรมลายู รวมถึงเกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว

องค์ประกอบหลักของบ้านรูมาห์ เมลายู มีด้วยกัน ๕ ส่วน คือ สร้างบนเสาไม้ มีบันได จัดสรรบ้านเป็นส่วนๆ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายพื้นบ้าน และหลังคาทรงสามเหลี่ยม

ในส่วนหลังคานั้น แต่ละท้องที่ก็มีหลังคาซึ่งแตกต่างกันออกไปตามสภาพภูมิประเทศและอากาศ อาทิ บ้านรูมาห์ ลันคัง หรือบ้านรูมาห์ ลอนติก ในจังหวัดเรียวและจัมบี จะมีหลังคาโค้งเหมือนโครงสร้างของเรือ คล้ายกับบ้านมินัง รูมาห์ กาดัง ของอินโดนีเซีย แต่ปลายหลังคาไม่แหลมเท่า ขณะที่บ้านรูมาห์ ลิปัต กาจัง เน้นความเรียบง่าย ปลายด้านบนสุดของหน้าจั่วจะไขว้ไม้เป็นรูปกากบาท ใกล้เคียงกับเรือนรูมาห์ ลิมัส ซึ่งเป็นสไตล์การตกแต่งที่ประทับกษัตริย์ สุลต่าน เจ้าหน้าที่ระดับสูง และอาคารสำนักงาน


 

บ้านดั้งเดิมของมาเลเซีย อีกประเภทที่สนใจและได้รับการยกย่องให้เป็นสถาปัตยกรรมของประเทศ นั่นคือบ้านยาว และหมู่บ้านน้ำในรัฐซาบาห์และซาราวัก บ้านยาวหรือบ้านที่มีลักษณะเป็นเรือนปลูกต่อกันเป็นหลังยาวๆ ตั้งอยู่บนเสาไม้ค้ำในแม่น้ำ ตัวบ้านสร้างด้วยไม้ซุง ยึดด้วยเถาวัลย์ หลังคามุงใบจาก อยู่อาศัยได้ ๒๐-๑๐๐ คน บ้านแต่ละหลังยังเชื่อมด้วยไม้กระดานสำหรับใช้เป็นทางเดิน

บ้านท้องถิ่นแบบอื่นๆ ที่มีเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน อาทิ รูมาห์ เมลากา ในรัฐยะโฮร์และมะละกา บ้านรูมาห์เบลาห์ บูบัง บนเกาะของรัฐเรียล บ้านรูมาห์ เปราบัง ลิมา ในรัฐกลันตันและตรังกานู บ้านรูมาห์ กาจาห์ เมนยูซู ของปีนัง บ้านรูมาห์ บัมบัง ปันจาง ในรัฐเกดะห์ ปะลิส เประ สลังงอร์และปะหัง และบ้านรูมาห์ เบอร์บัมบัง ลิมา ในจังหวัดเบิงกูลู

นอกจากนี้มาเลเซียยังมีบ้านลูกผสมที่ได้รับอิทธิพลจากชนชาติต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศด้วย

สถาปัตยกรรมจีนแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ สถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิม และแบบบ้าบ๋า ย่าหยา ที่นิยมปูกระเบื้องสีสันสดใสและมีลานบ้านในร่ม พบมากในรัฐมะละกา และปีนัง

ขณะที่อาคารสไตล์อินเดียจะพบเห็นในลักษณะศาสนสถานมากกว่าบ้านสำหรับอยู่อาศัย นิยมตกแต่งด้วยเครื่องประดับ จากทองแกะสลัก ลวดลายเขียนสีสด และปูกระเบื้องจากอิตาลีหรือสเปน



    บ้าน เรือนไทย-ภาคกลาง

หลายๆ คนน่าจะเคยเห็นเคยผ่านตาเรือนไทยมาแล้ว มาทำความรู้จักและเข้าใจถึงที่มาของบ้านเรือนไทยกัน

เริ่มด้วย "เรือนไทยภาคกลาง" กับลักษณะเด่นของหลังคาทรงมะนิลา คือมีหน้าจั่วสูงและชายคายื่นยาว มุงด้วยแฝกหรือกระเบื้องดินเผาตามโครงซึ่งลาดเอียง เพื่อป้องกันน้ำฝนไหลซึมรั่วเข้าเรือน ทรงสูงของหลังคายังช่วยถ่ายเทอากาศ ช่วยลดความร้อนและทำให้เรือนเย็นสบาย ส่วนชายคาที่ยื่นออกมาชัดเจนมีไว้สำหรับกันแดดจ้า เพราะอากาศของภาคกลางมีแดดแรงจัดและร้อนอบอ้าว

การยกใต้ถุนสูงเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของบ้านเรือนไทย รวมถึงเรือนดั้งเดิมของเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนอีก ๙ ประเทศนั้น หลักๆ แล้ว เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีฤดูมรสุมและฝนตกค่อนข้างชุก หากไม่ยกเรือนสูง ในหน้าน้ำหลากบ้านอาจถูก น้ำท่วมได้ ส่วนความสูงของใต้ถุนก็แตกต่างกันออกไปตามสภาพอากาศของท้องถิ่น เรือนไทยภาคกลางและภาคใต้จึงมีใต้ถุนสูงกว่าเรือนภาคเหนือและอีสาน แต่ปกติแล้วจะสูงจากพื้นดินเสมอศีรษะคนยืน

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เสาเรือน ซึ่งแบ่งได้อีก ๖ ประเภท ได้แก่ เสาหมอ เสานางเรียง เสาเอก เสาโท เสาตรี-เสาพล และเสาตอม่อ



 

ส่วนประกอบหลักของเรือน  เริ่มที่ส่วนหลังคา สิ่งแรกที่เห็นชัดและคุ้นเคยกับชื่อมากที่สุดคงหนีไม่พ้น "หน้าจั่ว" แผงฝาไม้หัวท้ายอุดโครงหลังคาเพื่อกันลมและแดดฝน หน้าจั่วที่นิยม ได้แก่ จั่วลูกฟัก หรือจั่วพรหมพักตร์ จั่วรูปพระอาทิตย์ และจั่วใบปรือ

รอบนอกเป็นไม้กรอบโครงหลังคาที่บังแนวเครื่องมุงเรียกว่า "ปั้นลม" มีลักษณะเป็นไม้แผ่นยาวคู่หนึ่งทอดเฉียงพนมปลายติดกันเป็นมุมแหลมตอนล่างบิดอ่อนงอนขึ้นเล็กน้อย มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ลมตีวัสดุมุงหลังคาจนเปิดร่อน

อีกส่วนคือ "อกไก่" หรือบางครั้งเรียกว่า "แปจอง" แต่เป็นไม้สักเหลี่ยมรูปข้าวหลามตัด ยาวตลอดเรือนและยื่นหัวท้าย ตำแหน่งของอกไก่จึงตั้งอยู่บนยอดสุดของหลังคานั่นเอง มีหน้าที่ยึดหน้าจั่ว ดั้ง และ "จันทัน" หรือไม้กรอบที่อยู่ระหว่างสองข้างของสามเหลี่ยมโครงหลังคา ทำหน้าที่รับน้ำหนัก จันทันจะมีเฉพาะส่วนของห้องซึ่งไม่มีหน้าจั่วและใช้กับดั้งแขวนเท่านั้น ส่วนห้องที่มีหน้าจั่วให้แผงหน้าจั่วรับน้ำหนักจากหลังคาแทนจันทัน

บ้านทรงไทยมีแป ๒ ชนิด ได้แก่ "แปลาน" ไม้เหลี่ยมที่พาดระหว่างจันทันกับแผงหน้าจั่ว มีความยาวตลอดเรือนเท่ากับอกไก่ ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากกลอนถ่ายสู่จันทัน อีกชนิด คือ "แปหัวเสา" ไม้เหลี่ยมยาวตลอดหลังคาสำหรับยึดหัวเสาระหว่างห้อง โดยวางทับบากอมกับขื่อ และเป็นส่วนหยุดของฝาตอนบนด้านยาวของเรือนด้วย



  เรือนไทยภาคเหนือ

เรือนไทยยุคก่อนคล้ายคลึงกันเกือบทุกภาค ต่างกันบ้างตามสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

และเพราะตอนเหนือของไทยมีอากาศหนาวเย็นกว่าภาคกลาง รูปทรงหลังคาและสัดส่วนของเรือนจึงเตี้ยคลุ่ม ขณะที่หน้าต่างเจาะเป็นช่องแคบเพื่อกันลมหนาว เรือนภาคเหนือแบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือเรือนไทยดั้งเดิมและเรือนพื้นบ้าน

เรือนไทยดั้งเดิมเป็นเรือนยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว นิยมทำหลังคาแฝด และมีไม้ไขว้แกะสลักที่รู้จักกันดีในชื่อ กาแล ซึ่งไม่เพียงใช้สำหรับตกแต่งให้สวยงามแต่ยังเป็นความเชื่อเกี่ยวกับโชคลางด้วย

ส่วนประกอบของเรือนมีอาคารอย่างน้อย ๒ หลัง หลังใหญ่ใช้เป็นห้องนอนและระเบียงหรือเติ๋น ส่วนหลังเล็กใช้ทำเป็นห้องครัวและเชื่อมเรือนทั้งสองด้วยชานบ้าน ตามปกติเรือนจะตั้งหันหน้าไปทางทิศใต้เพื่อรับลมอุ่น ส่วนบันไดตั้งอยู่ด้านหน้าหรือด้านข้างเรือน และไม่นิยมหันบันไดลงทางทิศตะวันตกซึ่งใช้ตั้งส่วนครัว

การก่อสร้างเรือนของชาวเหนือมีความละเอียดประณีตสูง ทำให้เรือนแข็งแรงทนทานอยู่ได้นานเป็นร้อยๆ ปี เห็นได้จากเรือนเก่าแก่ที่ยังหลงเหลือในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เช่นเชียงใหม่ ลำปาง



   เรือนไทยภาคใต้

ลักษณะเด่นของเรือนไทยภาคใต้ คือหลังคาทรงสูงและมีความลาดเอียงเพื่อให้น้ำฝนไหลผ่านได้สะดวก ชายคาต่อยาวออกไปคลุมถึงบันไดเนื่องจากฝนตกชุกมาก ทั้งยังนิยมปลูกเรือนวางเสาบนตอม่อ ฐานเสาทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ศิลาแลง หรือก่ออิฐฉาบปูนรองรับเป็นตีนเสา เหตุที่ไม่ฝังเสาลงดินเพราะดินมีความชื้นจากสภาพอากาศฝนชุกเกือบทั้งปี หากวางเสาลงดินเสาจะผุเร็ว

เรือนไทยภาคใต้ที่พบเห็นทั่วไปแบ่งออกเป็น "เรือนเครื่องผูก" เป็นเรือนง่ายๆ ไม่ถาวร มักเป็นกระท่อมยกใต้ถุนสูง ใช้ไม่ไผ่เป็นโครงสร้างผูกด้วยหวาย หลังคามุงจากหรือแฝก มักปลูกติดกันเป็นหมู่บ้าน เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยในช่วงที่หัวหน้าครอบครัวต้องออกทะเลไปนานหลายวัน ส่วน "เรือนเครื่องสับ" เป็นบ้านสำหรับคนมีฐานะ ปลูกด้วยไม้เคี่ยมหรือไม้หลุมพอ ตัวเรือนยาวเป็นสองช่วงของความกว้าง มีพื้นระเบียงลดต่ำกว่าตัวเรือนใหญ่ และมีชาน หลังคาจั่วตั้งโค้งติดไม้แผ่นปั้นลมแบบหางปลามุงกระเบื้องและมีกันสาด

นอกจากประเภทของเรือนแล้ว หลังคาเรือนไทยภาคใต้ยังแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ "หลังคาจั่ว" รูปจั่วตรงมุงด้วยกระเบื้อง ประดับเชิงชายและช่องลมไม้ฉลุ ขณะที่ "หลังคาปั้นหยา" รูปทรงลาดเอียงสี่ด้านไม่มีจั่ว ตรงรอยตัดเหลี่ยมครอบด้วยปูนกันฝนรั่ว แข็งแรงและ ต้านลมพายุได้ดี พบมากในจังหวัดสงขลา และ "หลังคามนิลา" หลังคาจั่วผสมปั้นหยา ด้านล่างลาดเอียงลงมารับกับหลังคาด้านยาว

เรือนไทยอีสาน  ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง บ้านส่วนใหญ่จึงมีใต้ถุนยกสูงเพื่อระบายอากาศ รวมถึงเป็นยุ้งข้าวเก็บข้าวของเครื่องใช้ในการหากินและไหหมักปลาร้า

หลังคานิยมมุงด้วยหญ้า ฝาเรือนเป็นฝาแถบตอง ใช้ใบกุงหรือใบชาดประกบกับไม้ไผ่สานเป็นตารางโปร่งๆ ส่วนหลักแบ่งเป็นเรือนนอน ส่วนที่ลดระดับจากเรือนนอนเรียกว่าเกย เป็นชานโล่งมีหลังคาคลุม มักใช้เป็นที่รับแขกและรับประทานอาหาร บันไดจะตั้งด้านหน้าเรือน รอบๆ บ้านไม่นิยมทำรั้วเพราะเป็นสังคมเครือญาติที่อยู่แบบพึ่งพา

เรือนอีสานแบ่งได้เป็น ๔ ประเภทตามลักษณะที่ปรากฏทางรูปทรง ได้แก่ เรือนทรงจั่วแฝดแบบดั้งเดิม เรือนที่มีเรือนโข่ง หรือเรือนโถงฝา ๓ ด้าน เรือนที่ไม่มีเรือนโข่ง และเรือนชั่วคราว

ในที่นี้จะขออธิบายถึงเรือนทรงจั่วแฝดซึ่งเป็นเรือนโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในอีสาน ถึงเอกลักษณ์สำคัญ คือมีหลังคาทรงจั่วสูงกว่าเรือนอื่นๆ และเป็นเรือนถาวรของผู้มีฐานะ ลักษณะทั่วไปของเรือนทรงจั่วจะเป็นเรือนแฝด ชายคาของเรือนนอนและเรือนโข่งจรดกัน ไม่มีระเบียง มุงหลังคาด้วยกระเบื้องไม้ ตัวเรือนใช้ไม้แผ่นสร้างเป็นส่วนใหญ่ มีบันไดขึ้นลง ๒ ทาง


เรื่อง-ภาพ: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3359  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2558 15:52:34
.


ปางแสดงปฐมเทศนา (๑)  

จากพุทธคยาถึงสารนาถ ซึ่งในอดีตเรียกว่า ป่าอิสิปตน มฤคทายวัน อยู่ในเขตเมืองพาราณสี สิ้นระยะทางประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินโดยพระบาทไปเพื่อโปรดศิษย์เก่าทั้งห้าของพระองค์

คำว่า สารนาถ ย่อมาจากคำเต็มว่า สารังคนาค(สารังค = กวาง - นาถ = ที่พึ่ง) แปลว่าป่าอันเป็นที่พึ่งแห่งกวาง หรือป่าสวนกวาง อะไรทำนองนั้น มิใช่แปลว่า ป่าที่เป็นที่พึ่งอันเป็นแก่นสาร ดังบางคนอธิบายไม่

ปัญจวัคคีย์ศิษย์ผู้ปฏิเสธอาจารย์ เห็นแต่ไกลว่า พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จดำเนินมา ก็ชี้ให้กันดูว่า "โน่นไง บุคคลผู้คลายความเพียร เวียนมาเป็น ผู้มักมากมาแล้ว คงไม่มีใครดูแลสิท่า จึงมาหาเรา เราอย่าลุกรับ อย่านมัสการ ปูแต่อาสนะไว้ให้ อยากนั่งก็นั่ง ไม่อยากนั่งก็ตามใจ"

แต่พอพระพุทธองค์เสด็จดำเนินมาใกล้ ปัญจวัคคีย์ลืมข้อตกลงกันโดยสิ้นเชิง เพราะพระบารมีพระพุทธองค์ จึงต่างลุกขึ้นต้อนรับ อัญเชิญเสด็จไปประทับบนอาสนะ แต่ปากยังแข็งอยู่เรียกพระพุทธองค์ว่า "อาวุโส โคตม" (คุณโคตม)

พระพุทธองค์ตรัสว่า อย่าพูดกับเราอย่างนั้น บัดนี้เราได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว นั่งลง เราจะแสดงธรรมให้ฟัง

ปัญจวัคคีย์พูดว่า ไม่เชื่อ ท่านอดอาหารแทบตายยังไม่บรรลุเลย เมื่อกลับมาบริโภคอาหารจนอ้วนพีอย่างนี้ จะบรรลุได้อย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสว่า พวกเธอจงรำลึกความหลังดูซิ พวกเธออยู่กับเรามาเป็นเวลานาน เคยได้ยินเราพูดว่าได้ตรัสรู้หรือไม่

เมื่อโดนไม้นี้ ปัญจวัคคีย์นิ่งอึ้งไปอยู่พักใหญ่ ยอมรับว่าพระพุทธองค์ไม่เคยตรัสว่าได้บรรลุเลย ขนาดทรมานพระองค์จนเกือบจะสิ้นพระชนม์ ก็ไม่เคยตรัสว่าใกล้บรรลุ หรือได้บรรลุแล้ว วันนี้ตรัสว่าได้บรรลุ น่าจะบรรลุจริง (แฮะ)

คิดได้ดังนี้ จึงพร้อมใจกันนั่งลงสดับพระธรรม พระพุทธองค์จึงทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พระสูตรว่าด้วย การหมุนล้อธรรม) เนื้อหาว่าด้วย อริยสัจสี่ประการ และขั้นตอนของการตรัสรู้ของพระองค์

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาอริยสัจสี่ พระพุทธองค์ตรัสถึงทางที่ไม่ควรดำเนินสองทางก่อน แล้วชี้ถึงทางสายกลาง ถามว่าเพราะเหตุใด

เราน่าจะมาหาคำตอบดูนะครับ ก่อนจะตอบคำถามนี้ ก็ถามเพิ่มว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงไม่ทรงแสดง อนุบุพพิกถา (แถลงธรรมที่ลึกลงตามลำดับ) เพื่อปูพื้นฐาน หรือเตรียมความพร้อมก่อน (ดังที่ทรงปฏิเสธเสมอ ในเวลาต่อมา) ทำไมทรงแสดงอริยสัจทันทีเลย

คำตอบสำหรับข้อแรก (ทำไมตรัสถึงทางที่ไม่ควรดำเนินก่อน) ก็คือ พระพุทธองค์ต้องการชำระข้อ "คาใจ" ของปัญจวัคคีย์ก่อน ปัญจวัคคีย์นั้นมีความเชื่อฝังใจอยู่ว่า การทรมานตนอย่างอุกฤษฏ์เท่านั้น ทำให้บรรลุความสิ้นกิเลสได้ เมื่อเห็นพระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา จึงเลื่อมใส คอยมาปรนนิบัติ เพราะเชื่อแน่ว่า พระองค์จะต้องบรรลุสัจธรรมสูงสุดแน่ แต่เมื่อพระองค์เลิกทุกรกิริยา หันมาเสวยพระกระยาหาร ปัญจวัคคีย์จึงผิดหวัง เชื่อแน่ว่าพระองค์ไม่มีทางบรรลุธรรมแน่นอน

เพราะเหตุนี้ ทันทีที่ปัญจวัคคีย์ยอมนั่งลงฟังธรรม พระพุทธองค์จึงแก้ข้อสงสัย หรือเรียกให้ถูก "ล้างความเชื่อเดิม" ของปัญจวัคคีย์ให้หมดไป ด้วยการตรัสยืนยันว่า การทรมานตัวเองด้วยการอดอาหารนั้นไม่ใช่ทางบรรลุ เป็น "ทางตัน" สายหนึ่งในจำนวนทางตันสองสายคือ (๑) อัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตน) ที่กำลังกล่าวถึงนี้ (๒) กามสุขัล ลิกานุโยค (การหมกมุ่นในกาม) ดังลัทธิวัตถุนิยมประพฤติกันอยู่



ปางแสดงปฐมเทศนา (จบ)

เมื่อปฏิเสธทางตันทั้งสองนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงชี้ทางที่ไม่ตัน ทางที่นำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงคือ "ทางสายกลาง" อันได้แก่ อริยมรรคมีองค์แปด มีสัมมาทิฐิ เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ เป็นปริโยสาน (ปริโยสาน เท่ากับคำ อวสาน แปลว่าที่สุดครับ)

เมื่อชำระข้อค้างคาใจของปัญจวัคคีย์แล้ว พระองค์จึงทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ โดยไม่เสียเวลาแสดงอนุบุพพีกถา เป็นการปูทางก่อน

ถึงตรงนี้มีคำถามว่า อนุบุพพีกถา คืออะไร คำตอบคือ เรื่องที่พึงเข้าใจ และปฏิบัติตามลำดับ ๕ เรื่องด้วยกันคือ (๑) ทาน (๒) ศีล (๓) สวรรค์ (๔) กามาทีนวะ (โทษของกาม) และ (๕) เนกขัมมะ (การออกจากกามหรือออกบวช)

ต้องไม่ลืมว่า ปัญจวัคคีย์เป็นนักพรต สละโลกีย์วิสัยมาถือเพศเป็นนักบวชแล้ว เห็นโทษของกาม และกำลังฝึกตนเพื่อละกิเลสทั้งหลายแล้ว มีความพร้อม มีพื้นพอที่จะเข้าใจสัจธรรมสูงสุดโดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งที่ ทาน ศีล พระพุทธองค์จึงไม่ทรง เสียเวลา แสดงอนุบุพพีกถา ทรงเริ่มแสดงอริยสัจสี่เลยทีเดียว

ไม่เหมือนผู้ครองเรือนอย่างเช่น ยสกุมาร บิดามารดาของยสกุมาร หรือคนอื่นๆ ที่ทรงแสดงธรรมโปรดในภายหลัง

เนื้อหาของอริยสัจสี่เอาไว้พูดในคราวหน้า ขอพูดถึงเหตุการณ์หลังแสดงธรรมจบก่อน หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจสี่ จบลง หัวหน้าปัญจวัคคีย์คือ โกณฑัญญะ ได้ "ดวงตาเห็นธรรม" ภาษาบาลีว่า ได้ ธัมมจักขุ คือได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เข้าใจว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับเป็นธรรมดา" (ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ)

ท่านว่าการรู้เห็นอย่างนี้ เป็นยถาภูตญาณ (การหยั่งรู้ตามเป็นจริง) เป็นความเข้าใจของพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน อันเป็นระดับต้นในจำนวนพระอริยบุคคลทั้งสี่ (โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์) พระโสดาบันนั้น เป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยแล้ว ไม่มีทางหวนกลับ หรือกลับกลายเป็นอื่น มีแต่จะเดินหน้าสู่ความหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุญาณว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงแก่ท่านโกณฑัญญะแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺทัญฺโญ (โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ) ซ้ำถึงสองครั้ง

จากนั้น โกณฑัญญะทูลขอบวช พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เอหิ ภิกขุ สวากฺขาโต ธมฺโม จร พรหมฺจริยํ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยายะ (จงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์เถิด) เพียงแค่นี้การบวชของท่านก็สำเร็จ ไม่มีพิธีรีตองอะไร

ต่อมาการบวชแบบนี้มีชื่อเรียกว่า บวชแบบเอหิภิกขุ (เอหิภิกขุอุปสัมปทา) ท่านโกณฑัญญะ จึงได้เป็นพระสาวกรูปแรก และเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรก พระรัตนตรัยได้ครบจำนวนก็เมื่อคราวนี้ ก่อนหน้านี้มีแต่พระพุทธ และพระธรรม คราวนี้มีพระสงฆ์เพิ่มขึ้นเป็นพระรัตนตรัย

ชาวพุทธไทย (เน้นพุทธไทย) จึงบัญญัติวันนี้ วันที่ท่านโกณฑัญญะบวชนี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เรียกว่า วันอาสาฬหบูชา (อ่านว่า อา-สาน-หะ-บู-ชา)

อ้อ จากพระพุทธอุทานว่า อญฺญาสิ...นั้นแล คำว่า "อัญญา" จึงมาเป็นคำต้นชื่อท่านว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่บัดนั้นมา




ปางโปรดปัญจวัคคีย์ (๑)  

ปัญจวัคคีย์ คือนักพรตห้ารูป มีโกณฑัญญะ อดีตโหราจารย์ชื่อดังเป็นหัวหน้า ทั้งห้าท่านนี้มาบวชรับใช้พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งทรงทำทุกรกิริยา (คำนี้ แม้มหาเปรียญหลายประโยคก็เผลอเรียกทุกขกิริยา เสมอแฮะ ระวังไว้หน่อย) พอพระองค์ทรงเลิกอดพระกระยาหาร หันมาเสวยข้าวจนมีพระพลานามัยสมบูรณ์ เพราะทรงได้คิดว่า ต้องดำเนินทางสายกลาง ทั้งห้าท่านก็เสียใจ และเสื่อมศรัทธา พากันหนีมาอยู่ที่ป่าอันมีนามว่า "อิสิปตนะ มฤคทายวัน"

ชื่อยาวดีจัง อิสิปตนะ แปลว่าเป็นที่ประชุมของฤๅษี ส่วน มฤคทายวัน แปลว่าป่าแห่งเนื้อ เนื้อ ในที่นี้เน้นไปที่กวาง จึงมีคนแปลชัดๆ ว่า "ป่าสวนกวาง"

เฉพาะคำ ปตนะ นั้น ตามศัพท์จริงๆ แปลว่า "ที่ตกลงไป" ความหมายรองจึงหมายถึง "ที่ประชุม" หรือ "ที่อยู่" ความจริง ผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถา ท่านหมายเอาตามตัวอักษรจริงๆ ท่านเล่าว่า บรรดาฤๅษี ที่ได้ฌานเหาะเหินเดินหาวได้ เวลาเหาะผ่านมาตรงนี้ มักจะตกลงมาที่นี่ทันที ดังหนึ่งต้องอาถรรพ์ เมื่อฤๅษี ก. ก็ตกลงมา ฤๅษี ข. ก็ตกลงมา ฤๅษี ค. ฯลฯ ก็ตกลงมา นานเข้าก็เลยเต็มไปด้วยฤๅษี ว่าไปโน่น สนุกดีเหมือนกัน

ยังไง ป่านี้ก็คงเป็นที่มีฤๅษีชีไพรชุกชุมตลอดเวลายาวนาน รวมทั้งบรรดาเนื้อทั้งหลายด้วย เพราะใครๆ จะมาล่าสัตว์ ก็ย่อมยำเกรงพระคุณเจ้าผู้มีอิทธิฤทธิ์เป็นธรรมดา

ป่านี้ต่อมาจึงเรียกชื่อว่า สารนาถ (ย่อมาจากคำเต็มว่า สารังคนาถ แปลว่า ป่าอันเป็น ที่พึ่ง หรือเป็นสถานที่ปลอดภัยของกวาง ทั้งหลาย) ระยะทางจากพุทธคยาถึงสารนาถ ประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร พระพุทธองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทมุ่งหน้ามา เพื่อโปรดศิษย์เก่า ดูจากข้อความแวดล้อม เป็นความมุ่งมั่นของพระพุทธองค์มาก อยากจะมาโปรดห้าท่านนี้จริงๆ คล้ายกับทรงมีเรื่อง "ค้างคาใจ" กันอยู่ ไม่สนพระทัยจะเทศน์สอนคนอื่นก่อน ทรงต้องการโปรดเอาทั้งห้าท่านนี้เป็นสาวกรุ่นแรกจริงๆ

ผมตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ ใครจะว่าอะไร ก็ว่ามา ยินดีน้อมรับฟัง เพราะความคิดเห็นจากท่านผู้รู้เป็นประดุจน้ำทิพย์ชโลมใจให้ชื่นบาน ปานนั้นเชียวนะ

ทั้งห้าท่านนี้มีความเชื่อฝังหัวมาแต่แรกแล้วว่า การจะบรรลุมรรคผลได้ ต้องทรมานตัวเองให้ถึงที่สุด เพราะเชื่อเช่นนี้ เมื่อเห็นพระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกรกริยา จึงพากันมาเฝ้าปรนนิบัติดูแล เรียกง่ายๆ ว่า มาเฝ้าดูเลยทีเดียว ดูไปก็ยิ้มด้วยความหวังไป ยิ่งเห็นพระองค์เป็นลมเป็นแล้งสลบลง ยิ่งยิ้มด้วยความดีใจว่า ใกล้แล้วๆ ใกล้จะบรรลุแล้ว ตาเป็นประกายด้วยความหวังว่า ตนเองจะได้รับอานิสงส์ (ผล) จากการบรรลุธรรมของพระองค์บ้าง

ครั้นเห็นพระองค์ทรงเลิกอดพระกระยาหาร จึงเสียใจ ผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโกณฑัญญะผู้หัวหน้า เคยทายไว้ไม่มีเงื่อนไขว่าเจ้าชายจะออกบวช จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พอมาถึงตอนนี้ จำต้อง "เผาตำรา" ทิ้ง เจ็บปวดขนาดไหน คิดเอาก็แล้วกัน



ปางโปรดปัญจวัคคีย์ (จบ)

บอกไว้ว่าจะนำคำแปล ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มาให้อ่าน จึงขอนำมาลงไว้ ณ ที่นี้ เป็นพระสูตรสั้นๆ แต่ครอบคลุมคำสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมด ว่าไปทำไมมี คำสั่งสอนทั้งหลายที่พรั่งพรูออกจากพระโอษฐ์ ในเวลาต่อมา ดังที่บันทึกไว้เป็นพระไตรปิฎก ๔๕ เล่มสมุด หนาถึง ๒๒,๓๙๐ หน้า ก็ขยายจากพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกนี้แล

คำแปลธัมมจักกัปปวัตนสูตร
"ข้าพเจ้า (พระอานนท์) สดับมาดังนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนะ มฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ว่า มีทางตัน ๒ ทาง ที่บรรพชิตไม่พึงดำเนินคือ
(๑) การหมกมุ่นในกามารมณ์ อันเป็นสิ่งเลวทราม เป็นเรื่องของชาวบ้าน ของปุถุชน (คนมีกิเลสหนา) ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์
(๒) การทรมานตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์

ตถาคต (คือพระพุทธเจ้า) ค้นพบทางสายกลาง ที่ไม่ข้องแวะเกาะเกี่ยวทางตัน ๒ อย่างนั้นเป็นทางที่ทำให้มองเห็น และรู้ความจริงอันสูงสุด เป็นที่เพื่อความสงบ ความรู้ยิ่งและความดับกิเลสได้สนิท ทางสายกลางนั้นคือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ

ทุกข์คือความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ การประสบสิ่งไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก การไม่ได้ดังปรารถนา โดยสรุปขันธ์ ๕ อันเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นนี้แหละเป็นทุกข์

เหตุเกิดทุกข์คือ ตัณหา ๓ ชนิด ที่เป็นตัวสร้างภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดยินดีเป็นตัวทำให้ติดเพลินในเรื่องต่างๆ คือ กามตัณหา (อยากได้ อยากมี อยากเป็น) ภวตัณหา (อยากให้สิ่งที่ได้ ที่มี ที่เป็นคงอยู่นานๆ) วิภวตัณหา (อยากหนีหรือสลัดภาวะที่ไม่ชอบใจ)

ความดับทุกข์คือ ความดับตัณหา ๓ ชนิดโดยไม่เหลือ ความสลัดทิ้งไป ความสละคืน ความหลุดพ้น ความไม่มีเยื่อใยใดๆ

ทางดับทุกข์คือ อริยมรรคมีองค์แปด ได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ

เราเกิดการหยั่งรู้ ความรู้ทั่วถึง ความรู้แจ้ง ความสว่าง ในสิ่งที่เราไม่เคยได้สดับมาก่อนว่านี้ทุกข์ ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริง และทุกข์นี้เราได้รู้แล้ว

นี้เหตุเกิดทุกข์ เหตุเกิดทุกข์นี้ควรละ และเหตุเกิดทุกข์นี้เราละได้แล้ว

นี้ความดับทุกข์ ความดับทุกข์นี้ควรทำให้แจ้ง และความดับทุกข์นี้ เราทำให้แจ้งแล้ว

นี้ทางดับทุกข์ ทางดับทุกข์นี้ควรทำให้เจริญ ทางดับทุกข์นี้เราทำให้เจริญแล้ว

ตราบใดการรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจ ๔ อันมี ๓ รอบ ๑๒ อาการนี้ ยังไม่ชัดแจ้ง ตราบนั้น เรายังไม่ประกาศยืนยันว่า เราได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ

ต่อเมื่อการรู้เห็นนั้นชัดแจ้ง เราจึงกล้าประกาศยืนยัน ท่ามกลางหมู่สัตว์ อันประกอบด้วย สมณะ พราหมณ์ มนุษย์ เทวดา มาร และพรหม การรู้เห็นนั้น เกิดขึ้นแก่เราจริง การหลุดพ้นนั้นเป็นของแท้จริง ชาตินี้เป็นหนสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป"

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบ พระปัญจวัคคีย์ชื่นชมภาษิตของพระองค์ โกณฑัญญะได้ "ดวงตาเห็นธรรม" เป็นการรู้เห็นแจ่มกระจ่างว่า

"สรรพสิ่งมีการเกิดขึ้น และดับไปเป็นธรรมดา"

เมื่อพระพุทธองค์ทรงหมุนกงล้อธรรมแล้ว เหล่าภุมมเทวดาร้องบอกต่อกันว่า พระพุทธเจ้าทรงหมุนกงล้อธรรม ที่ป่าอิสิปตนะ มฤคทายวันแล้ว ไม่มีใครหมุนกลับได้ ไม่ว่าสมณะ พราหมณ์ มารหรือพรหม แล้วก็บอกต่อๆ กันไปจนถึงพรหมโลก หมื่นโลกธาตุ สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ปรากฏแสงสว่างไปทั่วโลก หาประมาณมิได้ ยิ่งกว่าอานุภาพเทวดาบันดาลเสียอีก

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพุทธอุทานว่า "โกณฑัญญะ รู้แล้วหนอๆ"

ดังนั้น โกณฑัญญะจึงได้นามต่อมาว่า อัญญาโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้แล



.


ปางโปรดยสะ (๑) 

ความจริงพระพุทธรูปปางโปรดยสะ ไม่มีเรียกดอก ส่วนมากจะเรียกว่า ปางภัตตกิจ คือ ปางเสวยพระกระยาหาร คือเสวยภัตตาหารที่บ้านบิดามารดาของยสะกุลบุตร การบวชของยสะกุลบุตรนั้น ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายรวดเร็ว เพราะหลังจากยสะมาบวช สหายของท่านและบริวารตามมาบวชด้วย จนเกิดมีพระอรหันตสาวกขึ้นจำนวนทั้งหมด ๖๐ รูป ชั่วระยะเวลาไม่นาน

ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี ชื่อเสียงเรียงไร ไม่บอกไว้ มารดาของท่านนั้น คัมภีร์อรรถกถาได้แก่นางสุชาดา สุชาดาบุตรีแห่งนายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ที่พุทธคยาโน่นแหละครับ ไปยังไงมายังไงสุชาดาสาวสวยแห่งอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งอยู่คนละเมืองกับพาราณสี ได้มาอยู่ที่พาราณสี ดูเหมือนผมได้สันนิษฐาน (คอเดา) ไว้แล้วในที่อื่น จะไม่เขียนไว้ในที่นี้

เอาเป็นว่า นางเคยบนเทพที่ต้นไทรไว้ว่าถ้าได้บุตรชายจะมาแก้บน บนตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน ต่อมาได้แต่งงาน (เดาเอาว่า) กับเศรษฐีเมืองพาราณสี แล้วได้มาอยู่กับตระกูลสามี มีลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว เพิ่งนึกได้ว่าบนไว้ จึงกลับมาแก้บน (ตอนที่เอาข้าวมธุปายาสไปถวายพระโพธิสัตว์นั้นแหละครับ) แก้บนแล้วก็คงกลับเมืองพาราณสี

คืนวันหนึ่งลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเศรษฐีและคุณนายสุชาดา ตื่นขึ้นมากลางดึก เห็นภาพเหล่าสตรีที่มาประโคมดนตรี ฟ้อนรำ สร้างความสุขสนุกสนานให้ ตามที่เคยปฏิบัติมา นอนหลับมีอาการแปลกๆ เช่น บางนางก็นอนกรนเสียงดัง น้ำลายไหล บางนางก็กัดฟันกรอดๆ ละเมอไม่เป็นส่ำ บางนางผ้านุ่งห่มหลุดลุ่ย ปรากฏแก่ยสะ ดุจ "ซากศพในป่าช้า" ว่ากันอย่างนั้น

ยสะเห็นแล้วก็สลดสังเวชใจ เบื่อหน่ายเต็มที่ ถึงกับเปล่งอุทานว่า อุปัททูตัง วะตะ โภ อุปสัฏฐัง

วะตะ โภ ท่านแปลได้ความกระชับว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" ทนดูต่อไปไม่ไหว จึงเดินลงจากคฤหาสน์กลางดึก

ไม่มีจุดหมายครับ แล้วแต่เท้าจะพาไป เข้าไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวันโดยไม่รู้ตัว ขณะนั้นก็จวนสว่างแล้ว ประมาณตีสี่ พระพุทธองค์ตื่นบรรทม เสด็จจงกรมอยู่ ยสะผู้เบื่อโลกก็อุทานมาตลอดทางว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "อิทัง อะนุปัททูตัง อิทัง อะนุปะสัฏฐัง = ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง

หนุ่มยสะผู้เบื่อโลก พลันสะดุ้งตื่นจากภวังค์ จึงถอดรองเท้า เข้าไปกราบถวายบังคมแล้วนั่งเจี๋ยมเจี้ยม ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

พระพุทธองค์ตรัสเทศนา อนุปุพพิกถา เป็นการปูพื้นให้ยสะก่อนแล้ว ตามด้วยอริยสัจสี่ประการโดยพิสดาร เมื่อจบพระธรรมเทศนา ยสะดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล


ปางโปรดยสะ (จบ)

ขอแวะตรงนี้นิดหน่อย อนุบุพพิกถา คือการแสดงธรรมที่ลึกลงไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆ แล้วก็ลึกลงไปเรื่อยๆ ง่ายๆ ที่ว่านี้คือง่ายที่คนทั่วไปจะทำได้ คือเริ่มด้วย ทาน (การให้) ศีล (ความประพฤติที่ดีงาม) สักกะ (เรื่องสวรรค์ ความสุขที่พึงได้ด้วยการให้ทานรักษาศีล) กามาทีนวะ (โทษของกามคุณ) และเนกขัมมะ (การไม่หมกมุ่นในกามารมณ์)

เมื่อปูพื้นดังนี้แล้ว ก็ทรงแสดงอริยสัจครบวงจรเป็นอย่างไร ดูเหมือนได้เล่าไว้แล้วในตอนโปรดปัญจวัคคีย์

กล่าวถึงมารดาบิดาของยสะ เมื่อลูกหายไป จึงตามมาจนถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน พบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมจากพระองค์ ขณะที่ยสะเอง ก็นั่งฟังอยู่ด้วย แต่พ่อแม่ลูกมองไม่เห็นกัน เพราะอิทธาภิสังขาร (การบันดาลฤทธิ์ของพระพุทธองค์ไม่ต้องการให้เห็นกัน) ขณะพ่อแม่ฟังธรรมอยู่ ยสะก็ส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนานั้นด้วย เมื่อจบพระธรรมเทศนา พ่อแม่ของยสะได้ดวงตาเห็นธรรม ถวายตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ยสะได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากนั้นพระองค์ทรงคลายฤทธิ์ สามพ่อแม่ลูกพบหน้ากัน ท่านเศรษฐีกล่าวกับยสะว่า ลูกรักตอนลูกหายไปมารดาเจ้าร้องไห้รำพันถึงเจ้าอยู่ จงกลับบ้านเถอะ พระพุทธองค์ตรัสว่า บัดนี้ยสะบรรลุอรหัตผลแล้ว ไม่สมควรครองเรือนอีก มีแต่จะบวชครองสมณเพศต่อไป

เศรษฐีกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นก็เป็นลาภอันประเสริฐของข้าพระองค์ทั้งสอง แล้วทูลอัญเชิญพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านตนในวันรุ่งขึ้น

นี้คือที่มาของปางภัตกิจ ทำไมต้องเน้นช่วงนี้ ก่อนหน้านี้พระองค์มิได้เสวยภัตตาหารหรือ เสวยครับ หลังตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสวยสัตตุผง สัตตุก้อน จากพ่อค้าสองพี่น้อง และจากที่อื่นด้วย  แต่การเสวยภัตตาหารที่คฤหาสน์เศรษฐีนี้ เป็นกิจนิมนต์เป็นกิจจะลักษณะ เป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จออกประกาศพระพุทธศาสนา

ครูบาอาจารย์กล่าวว่า ประเพณีนิมนต์พระสงฆ์และพระบวชใหม่ไปฉันที่บ้าน อันเรียกว่าทำบุญฉลองพระใหม่ ที่ชาวพุทธไทยนิยมกระทำกันมานั้น มาจากพุทธประวัติตอนนี้เอง ว่ากันอย่างนั้น

อ้อ ลืมไป สองสามีภรรยา บิดามารดาท่านยสะเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรก ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะนะครับ ก่อนนั้นพ่อค้าสองพี่น้อง ถึงพระพุทธกับพระธรรมเป็นสรณะเท่านั้น


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3360  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: ข้อคิดจากธรรมะ โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต) เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2558 15:38:52
.


เข้าหาบัณฑิต

ผู้ที่มุ่งหวังความสุขความเจริญในชีวิต หน้าที่การงานของตนแล้ว จึงควรที่จะเข้าหาบัณฑิต

บัณฑิต หมายถึง ผู้ทรงคุณความรู้ดี มีปัญญาดี มีศีล มีสมาธิ มีจิตใจดีงาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ รู้อุบายวิธีแนะนำสั่งสอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ลักษณะของบัณฑิต เป็นคนทำดี คือ ทำอาชีพสุจริต ประกอบคุณงามความดีที่ไม่มีโทษ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญจิตตภาวนา มีเมตตา มีมารยาทงดงาม เป็นต้น

เป็นคนพูดดี คือ มีวจีสุจริต พูดจริง ไม่โกหกหลอกลวง ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดคำเหลวไหลไร้สาระ ไม่นินทาว่าร้ายผู้อื่น

เป็นคนคิดดี คือ มีมโนสุจริต ไม่คิดละโมบโลภมาก ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น รู้จักให้อภัย รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ที่พึงกระทำด้วยกาย และพึงพูดด้วยวาจา

ผู้ที่เป็นบัณฑิตชอบชักนำในทางที่ถูกที่ควร เช่น ตักเตือนให้เลิกทำในสิ่งที่ผิด ชักชวนให้ทำความดี ทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วง ใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่น เว้นแต่จะได้รับการร้องขอ หรือได้รับอนุญาตแล้ว

ชอบทำและแนะนำในสิ่งที่ถูกที่ควร ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม มีการพูดและการทำอย่างตรงไปตรงมา หากมีใครมาว่ากล่าวตักเตือนก็รับฟังด้วยดีไม่โกรธตอบ ไม่ถือโทษ หรืออวดดี ยอมรับฟังด้วยดี แล้วนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

รู้กฎระเบียบ กติกา มารยาทที่ดี เช่น การรักษาระเบียบวินัยทางกายและวาจา มีมารยาท มีความสำรวม รักษาความสะอาด และเคารพกฎระเบียบของสถานที่ ไม่ทำตามใจตนเอง

การเข้าหาบัณฑิต ต้องหมั่นไปมาหาสู่ หมั่นเข้าไปนั่งใกล้ มีความจริงใจ ให้ความเคารพยำเกรงเสมอ รับฟังคำแนะนำ คำกล่าวสอน จดจำคำสอนเอาไว้เป็นคติเตือนใจเพื่อไว้สอนตน พิจารณาใจความตามที่ได้ฟังนั้นให้ดี พยายามปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ฟังและใคร่ครวญให้ดี

การได้คบกับบัณฑิต ทำให้มีใจผ่องใสไม่มัวหมอง มีความกล้าในการทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป ได้ปัญญาเพิ่มเติม มีเหตุผลดี เป็นคนหนักแน่น มีความคิดเห็นถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิ ไม่ต้องโศกเศร้าเดือดร้อนเพราะทำความผิด เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป มีความสุข ปลอดภัยจากคนพาล

มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต สามารถตั้งตัวได้เร็ว แม้ตายจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์ สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพานได้โดยง่าย

การอยู่ร่วมกับบัณฑิตเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งหมู่ญาติ จึงควรเข้าหาบัณฑิต คบกับผู้มีปัญญาดี เป็นพหูสูต มีศีล มีวัตรห่างไกลจากกิเลส เป็นสัตบุรุษ เปรียบดังพระจันทร์คบอากาศอันเป็นทางโคจรแห่งดวงดาวฉะนั้น

ด้วยเหตุนี้ควรคบหาบัณฑิตเป็นมิตรไว้ จะช่วยให้พ้นทุกข์ ประสบสุขสันต์ ความคิดดีเลิศล้ำเป็นสำคัญ ควรคบกันไว้ทุกวันเวลา อย่าลังเลใจ




กองขยะ ๓ กอง ของชีวิต

ขึ้นชื่อว่า ขยะ คงไม่มีใครต้องการ เพราะเป็นของที่ไร้ค่า ไร้ราคา หาประโยชน์ไม่ได้ แต่ขยะบางอย่างนั้น ยังสามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

ขยะในที่นี้ ไม่ได้หมายเอาขยะที่เหลือใช้จากสิ่งของต่างๆ แต่หมายถึงขยะที่มีอยู่ภายในใจของเรา คนเรานั้นถ้ามีขยะ ๓ กองนี้อยู่ในใจ ก็ไม่ต่างอะไรจากสิ่งของที่คนทั้งหลายใช้แล้วทิ้งกลายเป็นขยะ ก็จะเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าขึ้นมาทันที

ขยะที่ว่านี้ คือ อกุศลมูล ๓ ได้แก่ โลภะ ความอยากได้ โทสะ ความประทุษร้าย โมหะ ความหลงไม่รู้จริง ขยะ ๓ กองนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับบุคคล สถานที่ หรือองค์กรใดก็ตาม ก็จะทำให้บุคคล สถานที่ หรือองค์กรนั้น เกิดความเสียหายได้

อกุศลมูล แปลว่า รากเหง้าหรือต้นเหตุของความไม่ดี หมายถึงกิเลสที่อยู่ภายในใจ เป็นต้นกำเนิด เป็นบ่อเกิดแห่งความชั่ว เรียกกันทั่วไปว่า โลภ โกรธ หลง

กองที่ ๑ โลภะ หมายถึง ความอยากได้วัตถุสิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยทางทุจริตไม่ชอบธรรม เช่น ความเพ่งเล็ง มักมาก ตระหนี่ หลอกลวง ฉ้อโกง ลักขโมย ปล้นทรัพย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และประพฤติผิดในกาม เป็นต้น

กองที่ ๒ โทสะ หมายถึง ความคิดประทุษร้ายทำลายผู้อื่น คิดจะทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือเกิดความเสียหาย โทสะนี้เมื่อเกิดขึ้นทางกาย ก็จะทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บ เดือดร้อน เมื่อเกิดขึ้นทางวาจา ก็ว่าร้าย พูดคำหยาบ พูดเท็จ เป็นต้น เมื่อเกิดขึ้นทางใจ ก็เกิดความขัดเคืองใจ จองล้างจองผลาญ จองเวรกันไม่จบสิ้น

โทสะ จัดเป็นกิเลสที่ร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะทำอันตรายทุกสิ่งทุกอย่างในตัวของผู้นั้น เริ่มตั้งแต่ทำลายระบบความคิด ทำลายสุขภาพกาย สุขภาพจิต บุคคลที่ปล่อยให้โทสะครอบงำใจบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ชอบทำอันตรายแก่สังคม

กองที่ ๓ โมหะ หมายถึง ความหลงโดยไม่รู้สภาพตามความเป็นจริง ว่าอะไรผิดหรือถูก เพราะอวิชชาคือความไม่รู้ปกปิดเอาไว้ โมหะนี้ท่านเปรียบเหมือนกับความมืด ถ้าความมืดปกคลุมในที่ใด คนที่ทำอะไรอยู่ในความมืดนั้น ก็อาจจะทำผิดพลาดได้หลายอย่าง คนที่ถูกโมหะครอบงำจิตใจก็มีอาการเช่นเดียวกัน อาจจะประกอบอกุศลกรรมได้ทุกอย่าง มีการทะเลาะวิวาทกัน เป็นต้น

การจัด โลภะ โทสะ โมหะ เป็นขยะ ๓ กองนั้น เพราะเมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจของบุคคลใด ย่อมทำให้บุคคลนั้นประกอบกรรมทำชั่ว หรือประพฤติทุจริตได้ บุคคลที่ประพฤติชั่วทางกาย เป็นต้นดังกล่าวมาแล้ว ย่อมกลายเป็นคนที่ไร้ค่า ไร้ราคาเหมือนขยะที่ถูกทิ้ง เมื่อพิจารณาเห็นความพินาศของขยะ ๓ กองนี้แล้วหวังทำตนและหมู่คณะให้เจริญ ต้องหมั่นประกอบคุณงามความดี คือ กุศลมูล ๓ อย่าง ที่ตรงกันข้ามกับอกุศลมูล

บุคคลที่ดำรงตนมั่นคงอยู่ในศีลธรรม ประพฤติแต่กุศลธรรมคือคุณงามความดี ย่อมมีแต่คนสรรเสริญ มีคุณค่าต่อสังคม นั้นๆ และนำพาสังคมนั้นๆ ไปสู่ความเจริญได้ เมื่อพิจารณาเห็นโทษของอกุศลมูลและเห็นอานิสงส์ของกุศลมูลแล้ว พึงหมั่นประกอบแต่คุณงามความดี เพื่อความสงบผาสุกของตนและสังคม ตลอดถึงประเทศชาติเป็นที่สุด




วิธีระงับเวร

พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการแสวงหาความสุขด้วยการเบียดเบียนว่า ไม่มีใครได้รับความสุขที่แท้จริง เพราะการที่คนเราจะทำอะไรให้แก่คนอื่น ไม่ว่าจะยื่นอาวุธ หรือดอกไม้ให้แก่ใครๆ สิ่งนั้นย่อมมีผลสะท้อนกลับมาหาตนเอง ท่านว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว เช่น ฆ่าคนตาย อาจจะภูมิใจสักครู่หนึ่ง แต่ผลที่ตามมาจะกลายเป็นความทุกข์ร้อน

การลักทรัพย์ของผู้อื่น ได้มาก็เป็นสุข เพราะการมีทรัพย์และการจ่ายทรัพย์ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ผลบาปทำให้เกิดความทุกข์ ที่สุดก็จะถึงความความเสื่อมทั้งตัวเองและทรัพย์นั้นๆ เหมือนคลื่นในมหาสมุทร ย่อมซัดกลับเข้าหาฝั่ง

การสร้างทุกข์ให้แก่คนอื่นด้วยการตั้งใจเบียดเบียน ชื่อว่า ก่อเวร ได้แก่ ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนผู้อื่น ฆ่าคน ลักทรัพย์ เป็นต้น ผูกพยาบาทเมื่อถูกเขาทำร้าย อย่างนี้คือจองเวรผลัดกันแก้แค้น โต้ตอบกันไปมา

เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร การไม่จองเวรจะประสบผลคือ ความสงบสุขได้ จะต้องลดละการผูกอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน ส่วนคนที่ถูกโมหะครอบงำ ไม่เห็นเหตุผลที่ถูกต้องที่ชอบธรรม คิดขวนขวายแต่ให้ได้แก้แค้นเท่านั้น จะดีจะชั่ว ไม่รับฟังทั้งนั้น ย่อมประสบแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนโกรธเป็นคนเลว แต่คนโกรธตอบเป็นคนเลวกว่า หมายความว่า คนทำร้ายเขาก่อนนั้นเป็นคนร้าย แต่คนที่ร้ายตอบกลับเขานั้นเป็นคนร้ายยิ่งกว่า ส่วนคนที่ถูกประทุษร้ายแล้วไม่ประทุษร้ายตอบ พระองค์ตรัสว่า เป็นผู้ชนะที่ควรแก่การสรรเสริญ เพราะได้ทำความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนและคนอื่น

ความคิดแก้แค้นกัน นอกจากจะไม่เป็นที่สรรเสริญของคนดีทั่วไปแล้ว ชาวโลกยังตราหน้าว่าป่าเถื่อน ความคิดที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ชีวิตต่อชีวิต ทำร้ายมาก็ต้องทำร้ายไป เมื่อมีคนนั้น ก็ต้องไม่มีคนโน้น เมื่อมีคนโน้น ก็ต้องไม่มีคนนี้ การอโหสิกรรมเป็นความอ่อนแอ ดังนี้ เหตุแห่งการล้างแค้นถึงชาติหน้าก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด

ความไม่จองเวรนั้น ย่อมทำสำเร็จได้ด้วยวิธีต่างๆ คือ แผ่เมตตา อดทน ใช้ปัญญาพิจารณาโดยชอบ และมีความเสียสละ การแผ่เมตตา หากเราแผ่เมตตากะทันหันเมื่อความโกรธเกิดขึ้นเป็นการทำได้ยาก ท่านจึงให้ฝึกหัดแผ่เมตตาเป็นประจำไว้ก่อนจนเป็นนิสัย เมื่อถูกประทุษร้ายก็ไม่โกรธ

ความอดทน อดทนต่อการทำร้ายของคนอื่น ย่อมตัดเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ รู้จักอดทนต่อ คำกล่าวร้ายล่วงเกิน เหมือนช้างศึกอดทนต่อลูกศรที่พุ่งมาจาก ๔ ทิศ ในสงคราม ไม่สะดุ้งสะเทือน ฉะนั้น

การใช้ปัญญาพิจารณาโดยชอบ พิจารณาให้เห็นโทษแห่งการจองเวร โดยพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เราถูกทำเพราะเคยทำเขามาก่อนแล้ว ไม่ชาตินี้ก็ชาติที่ผ่านมา ถ้าเราแก้แค้นเขา เราจะต้องประสบทุกข์ยิ่งขึ้นอีก

ความเสียสละ เมื่อถูกเขาประทุษร้ายและเกิดความเสียหาย ก็ยอมเสียสละทิฐิมานะที่จะเอาชนะเสียได้

ทั้ง ๔ ประการนี้ แต่ละอย่างเป็นวิธีที่จะทำให้เวรและการจองเวรสงบระงับได้




เตือนตนเอง

การพิจารณาตนเอง คือ การตรวจตราตนเอง สอบสวนตนเอง ใช้สติปัญญาให้รู้ว่า ขณะนี้ตนเองเป็นอย่างไร มีสถานภาพเป็นอย่างไร ทำอะไรอยู่ เหมาะสมแล้วหรือไม่ ติชมตนเองได้ ว่ายังขาดสิ่งใดที่ต้องเติมเต็ม สิ่งใดเพียงพอแล้วก็รักษาระดับไว้

เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ทำ คำที่พูด เรื่องที่คิดไม่ถูกต้อง ก็ใช้สติเป็นเครื่องยับยั้งใจไว้ ไม่ปล่อยใจไปตามกระแสของอารมณ์ฝ่ายต่ำ คอยควบคุมพฤติกรรมที่เราแสดงออก ทางกายและทางวาจา เพราะพฤติกรรมนั้น ย่อมมีผลกระทบถึงผู้อื่นด้วย มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ว่าพฤติกรรมนั้นไปกระทบต่อกฎเกณฑ์ของสังคมเท่าไร

การดำเนินชีวิตของคนเรา แม้จะเป็นส่วนที่เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การกิน การนอน ก็เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ต้องอาศัยผู้อื่นช่วย คือ ขณะที่ยังเป็นเด็ก ก็อาศัยพ่อแม่แนะนำ ฝึกฝนให้มีความรู้ ความสามารถในวิชาการต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น เมื่อประกอบอาชีพก็ต้องมีการฝึกงาน ทดลองงานก่อน

ทุกขั้นตอนของชีวิต ต้องมีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เริ่มตั้งแต่สังคมเล็กๆ คือ ครอบครัว ต้องเกี่ยวข้องกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และที่กว้างออกไป ก็เกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนร่วมงาน ร่วมอาชีพ แต่การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุขได้นั้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกัน เป็นการละลายพฤติกรรมเข้าหากัน ยิ่งมีความสนิทสนมมากเพียงใด ก็จะมีลักษณะนิสัยใกล้เคียงกันเพียงนั้น

การใช้สติปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตนให้ทราบชัด ว่าสิ่งที่กำลังทำ คำที่กำลังพูด ผิดหรือถูก ตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ ท่านผู้รู้ติเตียนได้หรือไม่ ถ้ารู้ชัดว่าผิดพลาด ยังบกพร่องอยู่ ต้องรีบปรับปรุงแก้ไข ยอมลดมานะทิฐิไม่ถลำลึกต่อไป

เมื่อเราพิจารณาใคร่ครวญด้วยสติปัญญาของตนเอง ตักเตือนตนเอง ไถ่ถอนตนเองจากกิเลสตัณหาและความชั่วต่างๆ ได้เอง ปรับปรุงตนเองได้ นับว่าประเสริฐสุด เพราะคนส่วนมากมักเข้าข้างตนเอง มองไม่เห็นความผิดพลาดของตน เห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่น ดังภาษิตที่ว่า โทษของคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนเห็นยาก

บุคคลผู้หวังความเจริญ จงทำใจให้เป็นกลาง น้อมรับคำแนะนำของผู้รู้ ไม่เข้าข้างตนเอง พิจารณาใคร่ครวญให้เห็นข้อดี ข้อเสียของตน แล้วปรับปรุงแก้ไข ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจ ให้ถลำลึก ก็จะถึงความเจริญได้ดังประสงค์

มีคำสุภาษิตที่ท่านได้กล่าวเตือนตนเอาไว้ว่า
     "ตนเตือนตนของตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
      ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน ตนแชเชือนใครจะเตือนให้ป่วยการ"

เมื่อตนเตือนตนได้แล้ว ตนก็เป็นที่พึ่งแห่งตน นอกจากตนเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้ว ก็ยังเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ด้วย



อยู่ในถิ่นที่สมควร

การอยู่ในถิ่นที่สมควร ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมเป็นที่สบาย คือ อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง อยู่แล้วสบาย เช่น การเดินทางไปมาสะดวก ไม่มีภัยอันตราย สะอาด อากาศดี

อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เช่น มีแหล่งอาหารที่แสวงหามาได้ง่าย และสามารถจัดซื้อหามาได้ง่าย เป็นแหล่งชุมชน ไม่มีแหล่งอบายมุข

บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง ถิ่นที่มีคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี พึ่งพาอาศัยกันได้ มีศีลธรรมไม่มีโจรผู้ร้าย นักเลงอันธพาล หรือใกล้แหล่งอิทธิพลผู้มีความเห็นผิดคิดผิด

ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง มีที่พึ่งทางใจคือธรรมะ มีวัด สถานที่ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม มีโรงเรียน หรือแหล่งศึกษาหาความรู้ อยู่ในละแวกนั้น

วิธีทำบ้านให้น่าอยู่ ดูแลบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบ มีทางถ่ายเทอากาศได้สะดวก เลือกซื้อเลือกทำอาหารให้ถูกหลักอนามัย จูงใจคนในบ้านให้มีความเคารพเชื่อฟังซึ่งกันและกัน ละเว้นอบายมุข มีความขยันหมั่นเพียร มีน้ำใจต่อกัน โดยเริ่มปรับปรุงที่ตัวเราเองให้ดีก่อน แล้วจึงชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม

ชักนำกันไปวัดทำบุญ รักษาศีล ฟังเทศน์ ฝึกสมาธิจิต เป็นประจำ จัดบ้านให้มีอุปกรณ์เครื่องส่งเสริมทางใจ เช่น มีห้องพระหรือหิ้งพระ มีหนังสือธรรมะ เป็นต้น แล้วชักชวนกันให้ไหว้พระสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนาที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ

การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ได้รับความสุขกายสุขใจเต็มที่ มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม มีโอกาสบำเพ็ญบุญเต็มที่ ทั้งทาน ศีล ภาวนา
 - ได้ลาภอันประเสริฐ คือ ได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย
- ได้ฟังพระธรรมอันประเสริฐ คือ ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
- ได้เห็นอย่างประเสริฐ คือ ได้เห็นพระรัตนตรัย
- ได้รู้พระสัทธรรมอันประเสริฐ คือ ได้ศึกษาธรรมะ
- ได้การศึกษาอย่างประเสริฐ คือ ได้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา
- ได้การบำรุงอันประเสริฐ คือ ได้บำรุงพระพุทธศาสนา
- ได้ระลึกถึงอย่างประเสริฐ คือ มีใจระลึกถึงพระรัตนตรัย ไม่ประมาทด้วยการปฏิบัติธรรม
- ได้ที่พึ่งอันประเสริฐสูงสุด คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
- ได้อริยทรัพย์อันประเสริฐ เป็นหนทางดำเนินไปสู่ พระนิพพาน

ผู้ที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมเหมาะสม เพื่อประกอบสัมมาชีพตามความถนัดของแต่ละบุคคลได้อย่างสะดวกสบาย เป็นบ้านเมืองที่สงบเรียบร้อย ปราศจากภัยพิบัติอันตราย เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน การคมนาคมไปมาสะดวก เป็นประเทศเป็นที่ประดิษฐานมั่นคงแห่งคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้มีความมุ่งหมายจะประกอบอาชีพทางใด ก็สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นไปทางนั้นตามความประสงค์


จากคอลัมน์ "ธรรมะวันหยุด" หนังสือพิมพ์ข่าวสด
โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร กรุงเทพมหานคร

20-20
หน้า:  1 ... 166 167 [168] 169 170 ... 270
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.395 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้