[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 06:05:09 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 167 168 [169] 170 171 ... 273
3361  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 21 ตุลาคม 2558 15:26:24

ปางโปรดพระราหุล (๑)

ตอนว่าด้วยโปรดพระพุทธบิดาก็ได้พูดถึงราหุลกุมารมาบ้างแล้ว ขอต่อตรงที่เจ้าชายราหุลเดินตามพระพุทธเจ้า ปากก็พร่ำขอขุมทรัพย์ (หรือความเป็นรัชทายาท) จากพระพุทธองค์ ตามคำแนะนำของพระนางยโสธราพิมพา พระมารดา พระพุทธองค์ไม่ตรัสตอบ ยังคงเสด็จดำเนินไปเรื่อยๆ จนเสด็จกลับจากบิณฑบาต ไปยังป่าไทร (นิโครธราม) อันเป็นที่ประทับชั่วคราว นอกเมืองกบิลพัสดุ์

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า อันธรรมดาทรัพย์ภายนอกทั้งหลายย่อมไม่ปลอดภัย อาจวิบัติฉิบหายไปเพราะโจรภัย อัคคีภัย ราชภัย เป็นต้น แต่ทรัพย์ภายในอันเป็นทรัพย์อันประเสริฐ (อริยทรัพย์) ไม่มีวันสูญหายไป จึงรับสั่งให้พระสารีบุตร อัครสาวกบวชให้ราหุลกุมาร เพราะมีทางนี้เท่านั้นที่จะประทาน "อริยทรัพย์" ให้ได้

พระสารีบุตรก็งงเหมือนกัน เนื่องจากไม่เคยมีเด็กอายุน้อยปานนี้บวชมาก่อน จึงกราบทูลถามว่า "จะให้บวชแบบไหน"

"ให้ราหุลรับไตรสรณคมน์ก็พอ" พระพุทธองค์ตรัสตอบ

ตรงนี้ทรงหมายถึง การกล่าววาจาถึงพระรัตนตรัยสามครั้งว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

เปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์แล้ว กล่าวสมาทานศีล ๑๐ ก็เป็นสามเณรโดยสมบูรณ์

สมัยก่อนโน้น ยังไม่มีการแบ่งว่าบวชแบบไหนเรียกว่า บรรพชา แบบไหนเรียกว่า อุปสมบท คงใช้คำว่า บรรพชา เหมือนกัน พระบวชก็บรรพชา เณรบวชก็บรรพชา เรียกผู้บรรพชาว่า บรรพชิต

และคำว่า บรรพชิต (ปพฺพชิต) นี้ก็มีความหมายสองนัยคือ
(๑) "ผู้เว้นหมดทุกอย่าง" คือทุกอย่างที่เคยทำ เคยประพฤติในสมัยยังครองเรือน แม้กระทั่งการกิน ก็ปรับเปลี่ยน การแต่งกายก็เปลี่ยน ตลอดจนการเรียกขาน เปลี่ยนหมด เว้นหมด ท่านจึงเรียก บรรพชิต

(๒) ความหมายที่สอง "ผู้ก้าวเดินไปข้างหน้า" หมายความว่าละเพศผู้ครองเรือนแล้ว ก็มุ่งการลดละกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด ก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น ไม่ยอมหวนกลับมาสู่โลกียวิสัยเป็นอันขาด

เมื่อมีเด็กอายุน้อยมาบวชดังกรณีราหุลกุมารนี้ การใช้คำจึงต้องเปลี่ยน เรียกการบวชเณรว่า บรรพชา เรียกการบวชพระว่า อุปสมบท นี้คือความเป็นมาของถ้อยคำ



ปางโปรดพระราหุล (๒)

ที่บางครั้ง เรียกการบวชว่า บรรพชาอุปสมบท ทั้งสองคำนั้น ก็เพราะผู้บวชเป็นพระต้องผ่านการบวชเณรก่อนอยู่ดี ท่านจึงเรียกพร้อมกันสองคำว่า บรรพชาอุปสมบท แต่จะเรียกว่าอุปสมบทคำเดียวโดดๆ ก็ย่อมได้

เมื่อ "พระลูกชาย" เสด็จออกผนวช พระเจ้าสุทโธทนะ ก็ทรงเสียพระทัยมากแล้ว ทรงตั้งความหวังไว้ว่า ราหุล กุมารนี้แลจะเป็นตัวแทนพระบิดา แต่เมื่อราหุลกุมารถูกพระบิดานำไปบวชอีก พระองค์ย่อมทรงเศร้าโศกเสียพระทัยอย่างสุดซึ้ง ถึงต้องเสด็จไปต่อว่าต่อขานพระพุทธองค์ขนานใหญ่ ในที่สุดได้ทูลขอพรว่า ต่อไปจะให้ใครบวช ขอให้เขาผู้นั้นได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน พระพุทธองค์ก็ทรงประทานอนุญาตตามนั้น

ในพิธีอุปสมบทในเวลาต่อมา จึงมีการซักถามจากพระคู่สวดว่า อนุญฺญาโตสิ มาตาปิตูหิ = เธอได้รับอนุญาตจากบิดา มารดาแล้วหรือ นาค หรือผู้ขอบวชจะต้องตอบว่า อามะ ภันเต = ขออนุญาตแล้ว ขอรับ

ปัจจุบันนี้ เพิ่มภรรยาเข้าด้วย ภรรยาต้องอนุญาตด้วย ไม่อย่างนั้นเกิดเรื่องใหญ่แน่นอน เผลอๆ โบสถ์จะพังเอาไม่รู้ด้วย ยิ่งถ้ามีหลายบ้าน ก็ต้องจัดการให้เรียบร้อยทุกบ้าน

ราหุลสามเณรหลังจากบวชแล้ว ก็ตามเสด็จพระพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาย์ไปยังเมืองอื่น เช่น ไพศาลี และสาวัตถี

ท่านเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย และเป็นผู้ใฝ่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง คุณสมบัติข้อนี้เองที่ท่านได้รับการยกย่องในเอตทัคคะ (ความเป็น ผู้เลิศกว่าผู้อื่น)

ว่ากันว่าทุกเช้า ท่านจะลงจากกุฏิ เอามือกอบทรายแล้วอธิษฐานดังๆ ว่า "วันนี้ ขอให้พระศาสดาและพระอุปัชฌาย์ประทานโอวาทแก่เรา มากมายดุจเมล็ดทรายในกำมือของเรานี้เถิด"

ความว่านอนสอนง่าย ไม่ถือตัวว่าเป็น "ลูก" ของพระศาสดานั้นเป็นที่รู้กันไปทั่ว ครั้งหนึ่งพระจากต่างจังหวัดจำนวนมาก มาพักที่พระเชตวัน เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อที่พักไม่พอ จึงไล่สามเณรราหุลออกไปนอนข้างนอก เพราะมีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า "ห้ามภิกษุนอนในที่มุงที่บังเดียวกับอนุปสัมบันเกินหนึ่งคืน"

ราหุลไม่ทราบว่าจะไปอยู่ที่ไหน จึงไปอยู่ในวัจกุฎี (ส้วม) ของพระพุทธเจ้า นั่งตัวสั่นงันงกอยู่ท่ามกลางความมืด ตกดึก พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปยังวัจกุฎี ทรงกระแอมกระไอให้สัญญาณ ราหุลน้อยก็กระแอมตอบ พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องเข้า จึงพาราหุลน้อยกลับไปพำนักที่พระคันธกุฎีของพระพุทธองค์

รุ่งเช้าขึ้นมา พระองค์ตรัสถามพระสารีบุตรว่า สารีบุตร เธอรู้ไหมเมื่อคืนนี้ราหุลพักอยู่ที่ไหน พระสารีบุตรกราบทูลว่า ไม่ทราบพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธองค์จึงทรงเล่าเรื่องให้ฟัง เนื่องด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงลดหย่อนสิกขาบท ข้อห้ามภิกษุพักในที่มุงที่บังเดียวกันกับอนุปสัมบันเกินครึ่งคืน ให้เป็นเวลาไม่เกินสามคืน เพื่อให้มีเวลาหาที่พักได้ทัน

เรื่องราวที่เล่านี้ ชี้ว่าราหุลสามเณรเป็นผู้ว่าง่าย เคารพพระสงฆ์ พระจากบ้านนอก ย่อมไม่รู้ว่าสามเณรน้อยรูปนี้เป็นใคร ถ้าราหุลท่านถือตัว ท่านบอกว่า ท่านคือราหุล พระโอรสของพระบรมศาสดา พระเหล่านั้นคงไม่กล้าออกปากไล่ท่านแน่นอน แต่เพราะความเป็นผู้เคารพในสงฆ์ และเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ราหุลจึงไม่ปริปากแต่อย่างใด ปฏิบัติตามคำสั่งของพระภิกษุเหล่านั้นอย่างว่าง่าย

สามเณรราหุลได้รับคำแนะนำในด้านการปฏิบัติธรรมจากพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษ เนื่องจากท่านเป็นเด็กธรรมะที่สอนและวิธีการถ่ายทอดแก่ราหุลจึงมีลักษณะและจุดเน้นแตกต่างจากที่ทรงสอนแก่บุคคลทั่วไป ในพระไตรปิฎกมีบันทึกพระสูตรที่ตรัสสอนแก่ราหุลสามเณร สองหรือสามสูตร เนื้อหาน่าสนใจ ขอนำมาเสนอในคราวต่อไปก็แล้วกัน

วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อน  



ปางโปรดพระราหุล (๓)

ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า พระสูตรที่ทรงแสดงแก่พุทธบริษัทนั้น ส่วนมากเป็นการแสดงแก่ผู้ใหญ่ทั้งนั้น น้อยนักจะเป็นการเทศน์โปรดเด็กๆ โดยเฉพาะเมื่ออยากรู้ว่าทรงแสดงอะไร อย่างไร แก่เด็กๆ ก็นึกถึงสามเณรราหุลขึ้นมาทันที สามเณรราหุลบวชเมื่ออายุเพียง ๗ ขวบ ธรรมะที่ทรงแสดงแก่ราหุลสามเณร ย่อมพิเศษกว่าที่ทรงแสดงแก่ผู้อื่นแน่นอน จึงตามไปเปิดตู้พระไตรปิฎกดู ปรากฏมี จูฬราหุโลวาทสูตร มหาราหุโลวาทสูตร ได้การละ ผมคิด จึงตะลุยอ่าน อ่านแล้วก็ได้ความกระจ่างขึ้นมามากมาย ขอขยายภายหลังก็แล้วกัน

ตอนนี้ขอเล่าพระโอวาทที่ทรงสอนเด็กจากคัมภีร์รุ่นหลัง คืออรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ก่อน มีอยู่เรื่องหนึ่ง พระพุทธองค์กำลังเสด็จพุทธดำเนินเข้าไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ในระหว่างทางทอดพระเนตรเห็นเด็กเล็กๆ จำนวนหนึ่งกำลังไล่ตีงูอยู่ จึงตรัสถามว่า เด็กน้อยทั้งหลายพวกเธอกำลังทำอะไร

"ไล่ตีงู พระเจ้าข้า" เด็กพวกนี้คงรู้จักพระพุทธเจ้าเป็นใคร จึงวางไม้และก้อนดิน ยืนเจี๋ยมเจี้ยมด้วยความเขินอาย
"ตีมันทำไม" พระสุรเสียงกังวานตามมาอีก
"กลัวมันกัด พระเจ้าข้า"เด็กๆ ตอบ

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า "สมมติว่ามีใครตีพวกเธอ พวกเธอเจ็บไหม"
"เจ็บ พระเจ้าข้า"
"พวกเธออยากให้เขาตีไหม"
"ไม่อยาก พระเจ้าข้า" พวกเด็กๆ ตอบ

พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า "งูมันก็เจ็บเหมือนกัน ไม่อยากให้ใครตีมันเหมือนกัน ถ้าเธอไม่อยากให้ใครตีพวกเธอ พวกเธอก็อย่าตีงูมันสิจ๊ะ"

เด็กๆ พวกนั้นเข้าใจที่พระพุทธองค์สอน ไม่ตีงูอีกต่อไป

อ่านเรื่องนี้แล้ว เห็นได้ว่า วิธีทรงสอนเด็กนั้น ทรงยกตัวอย่างง่ายๆ ใช้คำพูดที่ตรงไปตรงมา เด็กเข้าใจในการสอน สามเณรราหุลก็เช่นกัน พระองค์ทรงสอนง่ายๆ โดยการใช้สื่อช่วย และสื่อที่ว่านี้ก็หาเอาใกล้ตัวนั่นเอง

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ราหุลสามเณรตักน้ำล้างพระบาท พระพุทธองค์ทรงเอาขันน้ำนั้นตักน้ำเต็มขัน ทรงเทน้ำออกหน่อยหนึ่งแล้วตรัสถามว่า
"ราหุล เห็นน้ำที่เราเทออกหน่อยหนึ่งไหม"
"เห็น พระเจ้าข้า" ราหุลตอบ
"เช่นเดียวกัน ราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมเทคุณความดีของตนออกทีละนิด ดุจเทน้ำออกจากขันนี้"

ทรงเทน้ำออกหมดแล้วตรัสถามว่า "เห็นน้ำที่เราเทออกหมดไหม"



ปางโปรดพระราหุล (จบ)

"เห็น พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกันราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมเทคุณความดีออกหมด ดุจน้ำที่เทออกจากขันหมดนี้" แล้วทรงคว่ำขันลง ตรัสถามว่า

"ราหุล เห็นขันน้ำที่เราคว่ำลงนี้ไหม"
"เห็น พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกันราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมคว่ำคุณความดีหมดเกลี้ยง ดุจขันน้ำที่คว่ำนี้" แล้วทรงหงายขันเปล่าขึ้น ตรัสถามว่า
"ราหุล เห็นขันเปล่าที่หงายขึ้นนี้ไหม ไม่มีน้ำแม้หยดเดียว"
"เห็น พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกันราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมไม่มีคุณความดีอะไรเหลืออยู่ ดุจขันเปล่าไร้น้ำนี้"

เห็นไหมครับ ทรงใช้สื่อช่วยสอน เป็นขั้นเป็นตอน เข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋จริงๆ ความจริงเพียงหนึ่งหรือสองขั้นตอน ก็เชื่อว่าราหุลท่านเข้าใจแล้ว แต่เพื่อให้กระจ่างชัด พระองค์จึงทรงแสดงถึงสี่ขั้นตอน เทน้ำลงหน่อยหนึ่ง - เทออกหมด - คว่ำขันลง - หงายขันเปล่าขึ้น แต่ละขั้นตอนก็สรุปเปรียบเทียบให้เห็น อย่างนี้เรียกว่า ทรงใช้เทคนิคการสอน ๔ ส. อันเป็นพุทธวิธีการสอนเฉพาะพระองค์

๔ ส. คืออะไร
๑. ส. = สันทัสสนา (แจ่มชัด)
๒. ส. = สมาทปนา (ชักชวนให้ปฏิบัติ)
๓. ส. = สมุตเตชนา (เร้าให้กล้า)
๔. ส. = สัมปหังสนา (ปลุกให้ร่าเริง)

พระธรรมเทศนาอีกกัณฑ์หนึ่งที่ประทานสามเณรราหุล คือ ให้ตรวจสอบว่ามีความบกพร่องแห่งการแสดงออกทางกาย วาจา ใจ อย่างไรบ้าง จะได้ปรับปรุงแก้ไข ทรงยกแว่นส่องหน้าขึ้นมาเปรียบเทียบ ดังนี้

"ราหุล แว่นมีไว้สำหรับทำอะไร"
"มีไว้สำหรับส่องดูหน้าตัวเอง พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกัน ราหุล เธอพึงส่องดูกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดุจส่องหน้าตัวเอง" ข้อเปรียบเทียบนี้ชัดเจน ฟังแล้วเข้าใจทันที

เมื่อราหุลเป็นหนุ่ม อายุประมาณ ๑๘ ปี พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนให้พิจารณาขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ราหุลสดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุพระอรหัต


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3362  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / สูตร กระเพาะปลาผัดแห้ง เมื่อ: 17 ตุลาคม 2558 17:43:39
.









กระเพาะปลาผัดแห้ง

เครื่องปรุง
- กระเพาะปลาต้มแล้วหั่น ½ ถ้วย
- ไข่ไก่ 2 ฟอง
- ลูกชิ้นปลากราย
- เห็ดหอมแช่น้ำให้นิ่มแล้วหั่นแฉลบ 2 ดอก
- ถั่วงอก 1/4 ถ้วย
- กระเทียมสับหยาบ 2-3 กลีบ
- น้ำซุป 1/4 ถ้วย
- ซอสหอยนางรม
- ซอสปรุงรส  
- ซีอิ๊วขาว
- น้ำตาลทราย
- ต้นหอม ผักชี
- พริกไทยป่น


วิธีทำ
1. แช่กระเพาะปลาให้นิ่ม  นำไปต้มในน้ำเดือด ใส่ขิงแก่ 2-3 แว่น และเหล้าจีน (ถ้ามี) 1/4 ช้อนชา จนกระเพาะปลาสุกนิ่ม
    นำไปล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง แล้วหั่นตามขวาง
2. ใส่น้ำมันในกระทะ รอจนน้ำมันร้อนจัดเต็มที่ ใส่ถั่วงอก ผัดโดยเร็ว ตักใส่จานพักไว้
3. ใส่น้ำมันในกระทะ เจียวกระเทียมให้เหลืองหอม ใส่ลูกชิ้นปลา เห็ดหอม กระเพาะปลา
    เติมน้ำซุป ปรุงรสด้วยซอสหอยนางรม ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย ชิมให้ค่อนข้างรสจัด (ต้องใส่ไข่ไก่ผสมลงไปอีก)
4. ใส่ไข่ไก่ ตีให้ไข่แตก ผัดให้เข้ากัน
5. ไข่ไก่สุกดีแล้ว ปิดไฟ ใส่ถั่วงอก และต้นหอมหั่นท่อน ผัดให้เข้ากัน
6. ตักใส่จานเสิร์ฟ โรยผักชี พริกไทยป่น รับประทานคู่กับซอสพริก





ส่วนผสม : กระเพาะปลา ลูกชิ้นปลากรายอย่างดี ไข่ไก่ ถั่วงอก ต้นหอม ผักชี


ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืช รอให้น้ำมันร้อนจัดเต็มที่
สังเกต : มีควันพุ่งออกรอบกระทะ เพื่อความปลอดภัย ควรปิดแก๊สก่อน
จึงใส่ถั่วงอก ผัดพลิกไปมาสองสามครั้ง ตักใส่จานพักไว้
ถั่วงอกจะกรอบและมีกลิ่นหอมของน้ำมันร้อนจัด


เจียวกระเทียมสับหยาบ 2-3 กลีบ ให้เหลืองหอม ใส่กระเพาะปลา ลูกชิ้นปลา เห็ดหอม และน้ำซุป
ปรุงรสค่อนข้างจัด


ใส่ไข่ไก่ - ไข่สุกดีแล้ว ปิดแก๊ส ใส่ถั่วงอกและต้นหอมหั่นท่อน
ผัดให้เข้ากัน ตักใส่จานเสิร์ฟ (ภาพหายไป 1 ภาพ ผู้ทำมือไว ลบภาพทิ้งโดยไม่ทันดูให้ละเอียด)





ดูวิธีต้มกระเพาะปลา ได้ที่ สูตร "กระเพาะปลารสเด็ด"
โดยกดอ่านที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีเทาด้านล่างนี้ค่ะ

http://www.sookjai.com/index.php?topic=51222.0
3363  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร เมื่อ: 17 ตุลาคม 2558 16:06:49
.



นัยสำคัญ
จาก เทวรูปพระอีศวร
เมืองกำแพงเพชร
โดย อมรา ศรีสุชาติ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ กรมศิลปากร

ประติมากรรมสำริดเทวรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชรนี้ มีประวัติความเป็นมา การค้นพบ การสูญหาย และการได้กลับคืนมาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ดังต่อไปนี้

นายแม็คคาธี นายช่างสำรวจทำแผนที่ฯ (ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมแผนที่) มาสำรวจทำแผนที่ ณ เมืองกำแพงเพชรเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๔ บันทึกการพบเห็น พระอีศวร ณ ศาลพระอีศวร ว่า “ตั้งอยู่ในกลางเมืองห่างบ้านพระยากำแพงเพชร์เดินสักสิบมินิตเท่านั้น เทวรูปนี้ว่าเปนที่คนนับถือว่าศักดิสิทธิ เปนที่บูชาเส้นสรวงกันอยู่” (ศรันย์ ทองปาน ๒๕๓๘:๙๓)

หลังจากนั้นมาอีก ๒ ปี นายรัสต์แมน พ่อค้าชาวเยอรมันและเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจการของราชพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งเบอร์ลิน ค้าขายขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองเหนือ ตามรายงานของพระยาสุจริตรักษา ผู้สำเร็จราชการเมืองตาก กล่าวถึงพฤติกรรมของนายรัสต์แมน ความว่า “...มาครั้งใด เที่ยวเก็บเอาพระพุทธรูปหล่อไปครั้งละร้อยสองร้อยองค์ทุกครั้งไป ถ้าเปนพระพุทธรูปองค์ใหญ่มิสเตอรอศแมนให้ลูกจ้างตัดเอาแต่พระเศียรไป...”  เมื่อมาพบเห็นเทวรูปที่ศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร นายรัสต์แมนคงเห็นว่าเป็นที่เคารพบูชาของคนในเมืองนี้ จึงอุบายแจ้งไปยังกงสุลเยอรมันประจำกรุงเทพฯ ว่าเป็นของที่ถูกทอดทิ้งกลางป่า ถ้าตนนำไปจะเป็นการ “ล้างผลาญศาสนาพราหมณ์ เพราะจะให้ศาสนาของพระพุทธเจ้าเจริญขึ้น” ขอให้กงสุลฯ ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่โปรดเกล้าฯให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่นั้น นายรัสต์แมนลักลอบตัดพระเศียรและพระกรของเทวรูปทั้งรูปพระอีศวรและเทวรูป/รูปเทพีที่ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลพระอีศวรนั้น ส่งลงมายังกรุงเทพฯ แต่กงสุลเยอรมันไม่เห็นชอบด้วย จึงอายัดไว้ ปรากฏในพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงมีไปยังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ตอนหนึ่งว่า “มาบัดนี้กงซุลเยอรมันมีหนังสือขึ้นมาถึงเทวัญ ว่าอ้ายราสแมนไปขโมยเอาหัวกับแขนเทวรูปนั้นลงมาแล้ว แต่กงซุลพูดจาดี ไม่เห็นชอบในการที่ราสแมนทำ ให้ยึดเอาของที่ราสแมนเอานั้นไว้ที่ศาลกงซุล ขอให้เทวัญ ฤาใครลงไปดู
(ศรันย์ ทองปาน ๒๕๓๘:๙๒-๙๓)


ภาพถ่ายวัดโบราณ (ancient temple) ในเมืองกำแพงเพชรเมื่อครั้้งการเสด็จฯ ประพาสต้น
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พุทธศักราช ๒๔๔๙)

ในเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๒๗ ระหว่างที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเสด็จฯ ขึ้นไปเชียงใหม่ ผ่านเมืองกำแพงเพชร ทรงมีหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บางตอนว่า “อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าออกมาถึงเมืองกำแพงเพชรครั้งนี้ได้เห็นเทวรูปพระอิศวรที่มิสเตอร์ราษแมนเอาพระเศียรไปนั้น เหนเปนของประหลาดงดงามมาก หล่อด้วยทองเหลืองเนื้อหนาและลวดลายวิจิตบันจงมาก...ข้าพพุทธเจ้าได้สั่งให้พญากำแพงเพชรนำเทวรูปทองสำฤทธที่มิศเตอราษมันเอาพระเศียรไปรูปหนึ่งกับศิลาจาฤกอักษรแผ่นหนึ่งเปนของสำหรับกับพระมหาธาตุเมืองกำแพงเพชร แต่องค์พระมหาธาตุนั้นล้มทำลายเสียเมื่อครั้งแผ่นดินไหว มีผู้ยกเอาแผ่นสิลานี้มาทิ้งไว้ที่สเดจน่าเมืองกำแพงเพชร ข้าพระพุทธเจาเหนว่าเปนของโบราณประหลาดควรอยู่ ณ กรุงเทพฯ จึงส่งมาลงทูลเกล้าถวาย ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ” (ศรันย์ ทองปาน ๒๕๓๘:๙๔)

เมื่อส่วนองค์ของเทวรูปส่งลงมายังกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ ผู้ทรงเป็นช่างหลวง นำพระเศียรและพระหัตถ์ติดกลับเข้ากับองค์เทวรูปพระอีศวรดังเดิม จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปจำลองของพระอีศวรองค์นี้ขึ้นเพื่อพระราชทานแก่รัฐบาลเยอรมันสำหรับราชพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งเบอร์ลิน อีกด้วย

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามของพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารระหว่างพุทธศักราช ๒๔๓๓-๒๔๓๔ ทรงเสด็จฯ เยือนพิพิธภัณฑสถาน ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า “มูเซียมหลวงที่วังน่า” (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) ทรงทอดพระเนตรเทวรูปพระอีศวร ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานฯ ปรากฏอยู่ในบันทึกของพระองค์ตอนหนึ่งว่า “ภายในพิพิธภัณฑ์นี้มีเทวรูปพระศิวะที่เป็นสัมฤทธิ์งดงามมากอยู่รูปหนึ่ง ซึ่งได้เคยจำลองแบบส่งไปเบอร์ลินแล้ว แม้แต่ทางพิพิธภัณฑสถานของอังกฤษ (The British Museum) เองก็เคยเสนอราคาให้กับทางรัฐบาลสยามถึง ๑๐,๐๐๐ ปอนด์สเตอลิง ถ้าได้เทวรูปองค์จริงไปอังกฤษ เทวรูปนี้มีเครื่องทรงแบบโบราณ มีเครื่องประดับศีรษะ พระหัตถ์อยู่ในท่าประทานพร ตาประดับมุข ตามนิ้วมือ นิ้วเท้า มีแหวนประดับ มีพระยานาค ๕ เศียรขดอยู่รอบองค์เทวรูป รูปร่างของเทวรูปนั้นกลมกลืนเข้ากันอย่างสวยงาม คงจะยังมีรูปปั้นงามๆ เช่นนี้ซ่อนอยู่อีกมากมายในภาคตะวันออกนี้ ซึ่งพวกนักโบราณคดีคงจะยังไม่มีโอกาสได้มาสืบเสาะหาดูเป็นแน่...”
(ลินจง สุวรรณโภคิน ๒๕๔๐:๔๓-๔๖)

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้น ณ เมืองกำแพงเพชร ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ทรงเสด็จฯ มา ณ ศาลพระอีศวร ทรงกล่าวว่า “...ที่นี่ซึ่งคนเยอรมันได้มาลักรูปพระอิศวรที่อยู่ (พระที่นั่ง) พุทไธสวรรย์ เดี๋ยวนี้ไปตามกลับมาได้ ยังคงเหลือ...บัดนี้ แต่พระอุมาและพระนารายณ์ซึ่งเอาศีรษะไปเสียแล้ว...”
(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๓๑:๔๔, ศิลปากร ๒๕๕๗:๗๔)


เทวรูปพระอีศวรสำริดองค์นี้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ถือได้ว่าเป็นโบราณวัตถุที่เป็นชิ้นเอก
ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งนี้ และเป็นชิ้นเอกของประเทศ
เนื่องจากเป็น ๑ ใน ๙ โบราณวัตถุสำคัญที่ควบคุมการทำเทียม ผู้ใดจะทำเทียม
ต้องได้รับการอนุญาตจากกรมศิลปากร  เทวรูปพระอีศวรนับว่าเป็นเทวรูปที่มีขนาดสูงใหญ่มาก
คือสูง ๒๑๐ เซนติเมตร นับเป็นเทวรูปพระอีศวรขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย

นอกจากนั้นเทวรูปองค์นี้ยังมีความสำคัญในการให้ข้อมูลประวัติศาสตร์และอักษรศาสตร์ เนื่องจากที่ฐานของเทวรูป ปรากฏจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ข้อความมีดังนี้
“ศักราช ๑๔๓๒ (ปี) มะเมียนักษัตร อาทิตยพาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ได้หัสตฤกษ์เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา จึงเจ้าพรญาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานพระอีสวรเป็นเจ้านี้ไว้ให้ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชร แลช่วยเลิกศาสนาพุทธศาสตร์แลไสยศาสตร์แลพระเทพกรรมมิให้หม่นหมองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว แลซ่อมแปลงพระมหาธาตุแลวัดบริพารในเมือง นอกเมือง และที่แดนเหย้าเรือน ถนนทลาอันเป็นตรธานไปเถึงบางพาน ขุดแม่ไตรบางพร้อ อนึ่งย่อมขายวัวไปแก่ละว้า อันจะขายดุจก่อนนั้น ก็ห้ามมิให้ขาย อนึ่งเมื่อทำนาไซร้ ย่อมข้าวพืช ข้าวในนานั้นปลูกเอง มิได้เอาข้าวในยุ้งไปหว่านไปดำทั้งหลาย อนึ่งท่อปู่พญาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้น ก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้าแลหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนา ให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า อันทำทั้งนี้ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์”

ศักราชที่ปรากฏข้างต้นเป็นมหาศักราช ตรงกับพุทธศักราช ๒๐๕๓ จารึกนี้ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ดังนี้
เมืองกำแพงเพชรสมัยนั้นมีผู้ปกครองเมืองนามว่า พรญาศรีธรรมาโศกราช และเป็นผู้บังคับบัญชาให้สร้างประติมากรรมพระอีศวรองค์นี้ขึ้น เพื่อให้เป็นเทพคุ้มครองประชาชนและสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในเมืองกำแพงเพชร กล่าวถึงการฟื้นฟูลิทธิศาสนาที่ประชาชนเชื่อถือในเมืองกำแพงเพชรในเวลานั้น ได้แก่ พระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่นับถือเทพเจ้า และไสยศาสตร์ซึ่งหมายถึงมนตรยานหรือลัทธิตันตระ และการฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนา กล่าวถึงการฟื้นฟูระบบชลประทานจากที่เคยมีการวางรากฐานไว้แล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อให้สามารถทำนาปลูกข้าวได้ดีกว่าเดิมโดยไม่ต้องทำนาโดยอาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาลเท่านั้น และเมื่อฟื้นฟูระบบชลประทานแล้ว ย่อมต้องใช้วัวในการไถนา จึงประกาศไม่ให้ขายวัวให้กับพวกละว้าซึ่งน่าจะหมายถึงพวกลัวะซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามหุบเขาในเขตจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการสร้างพระอีศวรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งอาจเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงลับไปแล้วก่อนหน้าองค์ปัจจุบัน หากสันนิษฐานเช่นนี้ ก็น่าจะหมายถึง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ครองราชย์ พุทธศักราช ๒๐๓๔-๒๐๗๒) และ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (ครองราชย์ พุทธศักราช ๒๐๓๑-๒๐๓๔) ตามลำดับ  อนึ่ง อาจวิเคราะห์ว่า องค์ที่ ๒ อาจหมายถึง ผู้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ (ซึ่งรวมถึงเมืองกำแพงเพชรด้วย) หรือเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีเมืองหลักอยู่ที่เมืองพิษณุโลกในสมัยนั้น คือสมเด็จพระอาทิตยเจ้าซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และโปรดฯ ให้ไปครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงที่เคยเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ    อย่างไรก็ดี พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ กล่าวว่า พระอาทิตยเจ้า เสด็จฯ ไปครองเมืองพิษณุโลกเพื่อการกำกับดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือในพุทธศักราช ๒๐๖๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ล่ากว่าที่ปรากฏในพงศาวดารฉบับอื่นๆ หากถือตามศักราชที่ปรากฏในพงศาวดารฉบับนี้เป็นหลัก (นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่าศักราชในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ มีความถูกต้องมากที่สุด) ปีที่สร้างพระอีศวรคือปีพุทธศักราช ๒๐๕๓ พระอาทิตยเจ้ายังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จหน่อพุทธางกูรหรือผู้ปกครองเมืองพิษณุโลกแต่อย่างใด ก็คงจะไม่ใช่พระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ที่กล่าวถึงในจารึกฐานพระอีศวร ข้อสันนิษฐานในข้อแรกจึงน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า



จารึกอักษรไทย ภาษาไทย พุทธศักราช ๒๐๕๓
บนรอบฐานเทวรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร

จารึกที่ฐานพระอีศวรให้ข้อมูลด้านอักษรศาสตร์/ภาษาศาสตร์ ดังนี้:
๑) ใช้ศัพท์ “อีสวร” แทนพระสมัญญา “อีศวร” ของพระศิวะ แสดงถึงการปะปนการใช้ภาษาของภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี ภาษาบาลีจะไม่ใช้ ศ ศาลา แต่จะใช้ ส เสือ ในที่นี้นำ ส เสือ ตามแบบนิยมภาษาบาลีมาใช้แทน ศ ศาลา ตามแบบนิยมภาษาสันสกฤต
๒) ใช้ศัพท์ “เลิกศาสนา” เป็นศัพท์โบราณ แปลว่า ฟื้นฟูศาสนา ซึ่งต่างออกไปจากความหมายของ “เลิก” ที่ใช้ตามความเข้าใจในปัจจุบัน
๓) วลีหรือสำนวน “ทำนาทางฟ้า” แปลว่าทำนาโดยอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาล และ “นาเหมืองนาฝาย” หมายถึงการทำนาโดยระบบชลประทานที่มีเหมืองฝายหรือระบบการกักเก็บน้ำและการทดน้ำเข้านา ทำให้สามารถปลูกข้าวได้ผลดีกว่า ไม่ต้องรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว
๔) วลีหรือสำนวน “ครองสัตว์สี่ตีนสองตีน” แสดงอิทธิพลศาสนาฮินดูที่วรรณกรรมในศาสนานี้มักกล่าวถึงเทพเจ้า (เช่น พระอีศวร/พระวิษณุ) ว่าเป็นผู้ครอบครองสรรพสัตว์ทั้งสี่ตีนและสองตีน
๕) ศัพท์โบราณที่ใช้เรียกวัตถุที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์สุโขทัย เช่น”ท่อปู่พญาร่วง” หมายถึงระบบท่อน้ำในการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเหมืองฝาย กักเก็บน้ำ/ทดน้ำเข้านา ซึ่งมีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย เป็นราชอาณาจักรอิสระ
๖) ศัพท์โบราณที่สืบทอดและปรากฏอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น “พระเทพกรรม” หมายถึงศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูที่มีการนับถือเทพเจ้า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานสมุดไทยแสดงรูปภาพเทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาฮินดู เรียกว่า”ตำราพระเทพกรรม”

เหตุผลแห่งการจารึกข้อความ “การห้ามขายวัวให้กับละว้า” น่าจะมาจากความรู้ความเข้าใจของคนโบราณบนแผ่นดินไทยที่รับรู้สืบทอดต่อกันมาว่า พระศิวะ (อีศวร) มีความผูกพันกับวัว มิใช่เพียงตำนานของพระศิวะที่มีโคนนทิ ซึ่งรูปกายเป็นวัว เป็นพาหนะของพระองค์เท่านั้น แต่ได้หยิบยกเอาพระสมัญญาหนึ่งของพระศิวะมาด้วยนั่นคือ พระนาม “วฤษภธฺวช” (อ่านว่า วะ-ริ-สะ-พะ-ทะ-วัด-ชะ) แปลว่า มีธงเป็นวัว หมายความว่า พระศิวะอยู่ที่ไหนจะมีวัวนำหน้าหรือมีวัวเป็นเครื่องหมายหรือเป็นธงชัยแสดงการมาของพระองค์เสมอ ดังปรากฏในจารึกดอนขุมเงิน จังหวัดร้อยเอ็ด พุทธศตวรรษที่๑๒ ขณะเดียวกันจารึกฐานพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร กล่าวถึงการห้ามขายวัวให้พวกละว้า ชาวเมืองกำแพงเพชรที่ยอมขายวัวออกไป คงเพราะแล้งน้ำ ทำนาปลูกข้าวได้ไม่ดี ปลูกข้าวต้องรอฝนในการทำนาอย่างเดียว หรือ “ทำนาทางฟ้า” จึงมีวัวมากเกินกว่าจะนำมาใช้ไถนา แต่เมื่อเจ้าเมืองกำแพงเพชรฟื้นฟูการชลประทานให้ใหม่ ขุดคลองส่งน้ำ ทำฝายกั้นน้ำ ทดน้ำ ไม่เดือดร้อนใจในการทำนานอกฤดูฝน ทำนาได้มาก จึงมีความจำเป็นต้องใช้ “วัว” เจ้าเมืองฯ จึงต้องออกกฎหมายห้ามการขายวัว เพื่อให้มีวัวเพียงพอไว้ใช้ไถนา



ส่วนองค์ของเทวรูป-รูปเทพี (เทวสตรี)
ที่ถูกลับลอบตัดพระเศียรและพระกร โดยพ่อค้าของเก่าต่างชาติ
ณ ศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร

ทำไม เรื่อง “วัว” กับการทำนาต้องมาบันทึกไว้บนฐานเทวรูปพระอีศวร?
คำตอบก็คือ ต้องการประกาศกฎหมายหรือบทบัญญัติให้เป็นที่รับรู้กันอย่างหนึ่ง และต้องการให้รู้ว่า ”วัว” คือสัตว์ที่ผูกพันกับพระอีศวร “วัว” อยู่ที่ไหนพระอีศวรจะปรากฏองค์ที่นั่น เมื่อต้องการให้พระอีศวรคงอยู่ ต้องรักษา “วัว” ให้คงอยู่ ตราบที่มีพระอีศวรอยู่ในชุมชน พระอีศวรก็ปกป้องคุ้มครองวัวให้คงอยู่ การเคารพบูชาพระอีศวรที่ปกป้องดูแลสัตว์ทั้งสองเท้า (หมายถึง คนในชุมชน) และสัตว์สี่เท้า (โดยเฉพาะวัว) ทำให้คนและวัวต้องมีอยู่คู่กันไปเพื่อการยังชีวิตของคนในชุมชน เป็นความอยู่รอดของเมือง/ชุมชน การใช้กุศโลบายในการใช้รูปเคารพพระอีศวรที่ผูกโยงกับวัวอย่างสนิทแนบเช่นนี้ย่อมจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้โดยความสมัครใจของผู้มีศรัทธาและมีความเชื่อต่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือที่พึ่งทางใจคือ รูปเคารพพระอีศวรที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแยบคายโดยนัยนี้

ผู้คนในรัฐโบราณบนแผ่นดินไทย ก่อนราชอาณาจักรสุโขทัย เรียกพระนามของพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู ในพระสมัญญาต่างๆ กันไปหลายพระนาม ตามปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลายหลักที่พบในประเทศไทย พระนามของพระศิวะซึ่งคนไทยนิยมเรียกว่า”พระอิศวร” นั้นปรากฏหลักฐานครั้งแรกบนแผ่นดินไทยจากจารึกปราสาทพระวิหาร ๑ จังหวัดศรีสะเกษ พุทธสักราช ๑๕๘๑ และจารึกสต๊กก๊อกธม หลักที่ ๒ จังหวัดสระแก้ว พุทธศักราช ๑๕๙๕ เรียกพระนามของพระศิวะว่า ”อีศวร” (อ่านว่า อี-สะ-วะ-ระ) แปลว่า “เจ้านาย พระเจ้าแผ่นดิน บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ร่ำรวยมาก ผู้ปกครอง ผู้ครอบครอง สามี พระเจ้าสูงสุด” ปัจจุบันคนไทยเรียกเพี้ยนแผลงไปเป็น “อิศวร” ซึ่งไม่ถูกต้องตามพระนามดั้งเดิมและแปลความไม่ได้  อย่างไรก็ดี พบหลักฐานว่าในสมัยกรุงสุโขทัย คนสุโขทัยสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย เรียก “พระศิวะ” ว่า “พระอีศวร” และ “พระมเหศวร” ปรากฏในจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร พุทธศักราช ๑๙๐๔ “พระสทาคีพ" (มาจาก พระสทาศิวะ) ปรากฏตามจารึกปู่ ขุนจิตขุนจอด พุทธศักราช ๑๙๓๕ และอาจเรียกพระศิวะด้วยพระนามว่า “อีศะ” ตามจารึกคาถาป้องกันอสนีบาต พุทธศตวรรษที่ ๒๐ และ “ปรเมสูร” ซึ่งน่าจะมาจาก “ปรเมศวร” ตามจารึกคำอธิษฐาน พบที่เมืองพะเยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐

เหตุใดผู้มีอำนาจ คือ เจ้าพรญาศรีธรรมาโศกราช บัญชาการให้สร้างรูปเคารพพระอีศวรในลักษณะเช่นที่ปรากฏให้เห็นกันในปัจจุบัน?
สันนิษฐานได้ในเบื้องต้น ว่า รูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชรนี้ ช่างคงได้เค้ามาจากรูปพระอีศวรสำริดที่สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นและประดิษฐานไว้ที่เทวาลัยมหาเกษตรใกล้วัดป่ามะม่วง นอกเมืองสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๑๙๐๔ รูปเคารพสำริดขนาดใหญ่ที่เป็นรูปเทพเจ้าในศาสนาฮินดูเหล่านี้ เท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานแล้วมี ๑๔ องค์ บางรูปเคารพมีลักษณาการบางอย่างคล้ายกับพระอีศวรเมืองกำแพงเพชรที่แตกต่างออกไปจากรูปสำริดเหล่านั้น ก็มีอยู่อย่างเด่นชัด

ดังนั้น จึงขออธิบายความหมายลักษณาการของพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร ตามการพิจารณาจากคติรูปเคารพพระศิวะ (พระอีศวร) ที่มีอยู่ในคัมภีร์การสร้างรูปเคารพฯ ตามหลักประติมานวิทยาของฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาชุดคัมภีร์ที่เรียกว่า อาคม และ ตันตระ เช่น คัมภีร์ภฤคุโปรกตไวขานสาคม คัมภีร์ตันตระสารา และบางส่วนปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ สันนิษฐานว่า คนโบราณบนแผ่นดินไทยก็ย่อมรับรู้คติเช่นนี้ในการสร้างรูปเคารพเช่นกัน



ฐานศิลาแลงของศาลพระอีศวรและเทวรูปและรูปเทพี (เทวสตรี)
ก่อนเคลื่อนย้ายมาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

ลักษณาการของรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร แสดงนัยดังต่อไปนี้:
๑.รูปลอยตัว เต็มองค์ (เรียกว่า “จิตร” อ่านว่า จิต-ตระ) หรือ “วยกฺต” (อ่านว่า ยะ-ยัก-ตะ) ให้หมายความว่า เทพเจ้ามาปรากฏพระองค์ต่อหน้ามนุษย์อย่างเต็มสมบูรณ์ ในรูปร่างที่จะลงมาอยู่ในหมู่มนุษย์

๒.ยืนตรง เรียกว่า “สถานกสมภงฺค” (อ่านว่า สะ-ถา-นะ-กะ-สะ-มะ-พัง-คะ) แปลว่า การอยู่ในท่ายืนตรง เป็นท่าของรูปเคารพที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้บูชาเมื่อบูชารูปเคารพในท่านี้จะนำพาไปถึงภาวะของ “โยคะ” หรือ การหลุดพ้น หรือ เข้าถึงสัจธรรม

ฐานของเทวาลัยหรือศาลสำหรับประดิษฐานรูปเคารพที่ประทับยืนต้องเป็นฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียกว่า อายตาศระ (อ่านว่า อา-ยะ-ตาส-ระ) หรือ ฐานกลม เรียกว่า วฤตตายต (อ่านว่า วะ-ริด-ตา-ยะ-ตะ) เสมอ  สำหรับศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

๓.ลักษณาการอันราบเรียบ สงบ ไม่ถืออาวุธ เรียกว่า แสดงองค์แบบ “เสามย” (อ่านว่า เสา-มะ-ยะ) หรือ “ศานฺต” (อ่านว่า สาน-ตะ) เป็นลักษณาการของรูปเคารพที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้บูชาได้รับความสงบและได้มาซึ่งวัตถุสมบัติที่ปรารถนา อันที่จริงแล้ว โดยหลักการที่ถูกต้อง รูปเคารพลักษณาการเช่นนี้ต้องประดิษฐานไว้ริมแม่น้ำหรือบริเวณที่มีแม่น้ำมาบรรจบกัน ๒ สายหรือมากกว่า ห่างไกลออกไปจากใจกลางชุมชนหรือเมือง บนภูเขาหรือเนินเขา หรือ ที่โล่งชายป่าก่อนเข้าสู่ป่าลึก ซึ่งเป็นที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับโยคี สามารถใช้เป็นที่บูชาเข้าสมาธิได้ ข้อนี้ไม่ตรงทีเดียวกับตำแหน่งที่ตั้งศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร อย่างไรก็ดี ตามคัมภีร์ฯ กล่าวว่า รูปเคารพที่เป็นรูปสงบ หรือ “ศานฺตมูรติ” ของเทพเจ้า อาจสร้างเทวาลัยไว้กลางชุมชนหรือกลางเมืองก็ได้ ซึ่งจะนำมาซึ่ง ความสุข อายุยืน สุขภาพดีของประชาชนพลเมือง รวมทั้งชัยชนะและความเจริญมั่งคั่งของพระราชาหรือผู้ปกครอง

ตามคัมภีร์ฯ กล่าวว่า ศาลของพระอีศวรหรือเทพเจ้าที่อยู่ในปางสงบนี้ ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในภูมิที่ตั้งอย่างไร ควรจะต้องสร้างขึ้น ณ มุมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ระหว่างมุมทิศเหนือกับทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ มุมทิศตะวันออกกับทิศตะวันออกเฉียงเหนือของชุมชนหรือของเมือง สำหรับศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางมุมเมืองทิศเหนือกับทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงตามคัมภีร์ฯ

๔.ตำแหน่งการประดิษฐานของรูปพระอีศวร ถ้าตั้งวางรูปเคารพนี้ให้หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก ผู้บูชาเมื่อบูชาแล้วย่อมได้รับความสงบ ถ้าหันสู่ทิศตะวันตก ผู้บูชาย่อมได้รับความเจริญ ได้รับการเลี้ยงดูอิ่มท้อง ถ้าหันสู่ทิศใต้ ผู้บูชาย่อมได้รับชัยชนะ ถ้าหันสู่ทิศเหนือ ผู้บูชาย่อมได้รับอำนาจในการทำลายศัตรูผู้รุกราน เมื่อพระอีศวรประดิษฐานอยู่ที่ศาลพระอีศวรแต่เดิมนั้น หันหน้าสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นการกำหนดทิศทางจัดวางให้พระอีศวรอยู่ในตำแหน่งที่จะปกป้องคุ้มครองเมืองและนำความสงบร่มเย็นมาสู่ประชาชนพลเมืองตามเจตนารมณ์ของผู้ปกครองเมือง แต่เมื่อนำมาประดิษฐานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชรในปัจจุบัน พระอีศวรหันหน้าออกสู่ทิศตะวันตก ซึ่งทำให้ผู้บูชาได้รับความเจริญรุ่งเรืองและสมบูรณ์พูนสุขซึ่งสอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานของคนปัจจุบัน

คัมภีร์ฯ กล่าวว่า การประดิษฐานรูปพระอีศวรผู้นำมาประดิษฐานต้องเป็นพราหมณ์ที่ทาตัวด้วยขี้เถ้า ซึ่งหมายถึงเป็นพราหมณ์ในลัทธิปาศุปตะ หรือ กปาลิกะ ซึ่ง ปาศุปตะคือลัทธิที่นับถือพระศิวะว่าเป็นเจ้าป่าหรือเจ้าแห่งปศุ (สัตว์โลก) ผู้ดูแลคุ้มครองหรือปกป้องสัตว์โลกทั้งปวง ข้อนี้ตรงกับเจตนารมณ์การสร้างพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร เพื่อ “ให้ครองสัตว์สองตีนสี่ตีนในเมืองกำแพงเพชร”

๕.เครื่องประดับพระเศียรทรงกระบอกสูง มีกะบังหน้า เรียกว่า กิรีฏมกุฏ (อ่านว่า กิ-รี-ตะ-มะ-กุ-ตะ) : โดยทั่วไปรูปเคารพพระศิวะ (อีศวร) จะไม่สวมเครื่องประดับศีรษะในลักษณะนี้ เพราะเครื่องประดับลักษณะนี้ใช้กับรูปเคารพที่เป็นพระวิษณุ (พระนารายณ์) หรือ พระจักรพรรดิราช (จักวรรติน) หรือ พระราชาธิราช (ธรรมราชาธิราช) หรือ ผู้ปกครองแว่นเคว้นที่มีอำนาจเหนือกว่าแคว้นอื่น

เหตุที่ผู้บัญชาการให้สร้างรูปเคารพพระอีศวร โดยสวมเครื่องประดับศีรษะเช่นนี้ ก็เพื่อให้เป็นเครื่องแทนตัวของผู้มีบัญชาให้สร้างฯ ยิ่งกว่านั้นยังสอดคล้องกับนามของผู้ปกครองเมืองที่บัญชาการให้สร้างฯ คือ เจ้าพรญาศรีธรรมาโศกราช ซึ่งได้นามตามพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราช อันเป็นคตินิยม “ธรรมราชาธิราช” หรือ “จักรพรรดิราช” ตามความเชื่อแต่ครั้งอินเดียโบราณและรับมาสู่สังคมไทย ตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรตามฺพรลิงฺค (อ่านว่า ตาม-พะ-ระ-ลิง-คะ) ในภาคใต้ตอนบนของพระเจ้าศรีธรรมราชาจันทรภานุ ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จนเฟื่องฟูในราชอาณาจักรสุโขทัยและสืบต่อมาถึงจนถึงราชอาณาจักรอยุธยา

ด้านหน้าของเครื่องประดับพระเศียรทรงกระบอกนี้ มีรูปแผ่นโค้งครึ่งวงกลมคว่ำลง น่าจะหมายถึงพระจันทร์เสี้ยวที่พระศิวะทัด พระจันทร์ที่ลอยขึ้นมาจากการกวนเกษียรสมุทร ซึ่งเป็นเครื่องแสดงสัญลักษณ์ถึงการปรากฏองค์ของพระศิวะหรือพระอีศวรและเกี่ยวกับอำนาจการควบคุมดวงจันทร์ที่มีอิทธิพลต่อน้ำขึ้น-น้ำลง และการงอกงามของพืชพันธุ์

เหนือรูปจันทร์เสี้ยวขึ้นไป เป็นสัญลักษณ์คล้ายเลข ๖ ไทย เป็นรูปสัญลักษณ์แทนพระแม่คงคา เทพีแห่งน้ำ ซึ่งพระศิวะหรือพระอีศวรได้เอาพระเศียรรับไว้ เพื่อมิให้น้ำบ่าท่วมโลก การทำรูปพระอีศวรของเมืองกำแพงเพชรและทำรูปพระแม่คงคาไว้ด้วยรูปสัญลักษณ์เช่นนี้เพื่อเป็นสื่อถึง “อำนาจการควบคุมน้ำให้อยู่ในภาวะสมดุล” ของพระอีศวร สอดคล้องการวางระบบชลประทาน ควบคุมน้ำในการทำนาแบบ “นาเหมืองนาฝาย” ตามที่ปรากฏในจารึกที่ฐานพระอีศวรองค์นี้

การควบคุมธรรมชาติให้อยู่ในภาวะสมดุล สอดคล้องกับการสร้างลักษณะบ่งชี้ทางประติมานวิทยาของพระศิวะหรืออีศวร กล่าวคือ กลางพระนลาฏ มีรูปวงรี หมายถึงพระเนตรที่สาม (ดวงตาดวงที่ ๓) ของพระองค์ หากพระองค์ลืมพระเนตรดวงนี้คราใด จะมีไฟพุ่งออกมา พระองค์จึงต้องหลับพระเนตรดวงนี้ไว้เสมอ ดวงตาอีก ๒ ข้างของพระองค์หมายถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์ การมีพระเนตรทั้ง ๓ ดวง แสดงการควบคุมพลังงานแสงสว่างและความร้อนให้อยู่ในดุลยภาพเช่นเดียวกับการควบคุมความสมดุลของน้ำในโลก

๖.พระหัตถ์ ๒ ข้างที่แสดงท่า กฏกหสฺต (อ่านว่า กะ-ตะ-กะ-หัด-สตะ) หรือ สิงฺหกรณ (อ่านว่า สิง-หะ-กะ-ระ-นะ) แปลว่า ท่ากำไล หรือ ท่าสิงห์ : ความหมายในคำแปลแรกคือ ทำมือลักษณะนี้เพื่อรอดอกไม้สด หรือมาลัยสดจากผู้บูชามาสวมใส่หรือเสียบลงไป ความหมายในคำแปลที่สอง มาจากลักษณาการทำมือคล้ายหูของสิงห์ การทำท่ามือเช่นนี้ทั้งสองมือยังให้ความหมายว่า เป็นท่าที่รูปเคารพสัมพันธ์กับการอยู่ในเมือง หรือ แสดงว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นรูปเคารพสำหรับชาวเมือง เพราะคำว่า “กฏก” แปลได้อีกอย่างว่า “เมือง” หรือ “นคร” อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าพระหัตถ์ทั้งสองข้าง ไม่ถือสิ่งของหรืออาวุธใดๆ เลย ย่อมมีความหมายว่า ยิ่งไม่ถืออะไรเลยรูปเคารพจะแทนภาวะแห่งการหลุดพ้นไปสู่ความเป็น “พรหมัน” (พระเจ้าสูงสุด/สัจภาวะสูงสุด) หรือความไร้รูปมากที่สุด ซึ่งแสดงความหมายทางปรัชญา หรือ “โลกุตตระ” มากกว่า “โลกียะ”

๗.สวมยชฺโญปวีต (อ่านว่า ยัด-ชะ-โย-ปะ-วี-ตะ) และ ภุชงฺควลย (อ่านว่า พุ-ชัง-คะ-วะ-ละ-ยะ) : การสวมสายมงคลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นรูปงูและเครื่องประดับแขนเป็นรูปงู คือสัญลักษณ์แสดงความเป็นพระศิวะ เนื่องจากสายยัชโญปวีต ซึ่งพาดจากไหล่ซ้ายมาขวา เป็นเครื่องหมายของโยคีและพราหมณ์ ซึ่งพระศิวะได้ชื่อว่าเป็น “มหาโยคี” หรือ ครู หรือ เจ้าแห่งบรรดาโยคี/พราหมณ์ทั้งหลาย ที่แสดงรูปงู เพราะแสดงถึงอีกบทบาทหนึ่งของพระองค์ คือเป็น “ปศุปติ” หรือ “เจ้าป่า” หรือ “เจ้าแห่งปศุทั้งปวง” หรือ “เจ้าแห่งสัตว์โลกทั้งปวง” ซึ่งในรูปกายนี้ พระองค์ยังเป็นผู้ “ปกป้องคุ้มครองสัตว์โลก” ด้วย  ดังนั้น รูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร ซึ่งที่ฐานระบุว่าสร้างไว้เพื่อให้ “ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชร” ย่อมหมายความว่า พระองค์จะเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองและเป็นเจ้าผู้ปกครองดูแล “สัตว์สองตีน” คือ คน นก ไก่ เป็ด ฯลฯ  และสัตว์ “สี่ตีน” คือ วัว ช้าง ม้า ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตสำคัญและเป็นสัตว์เศรษฐกิจของการพัฒนาบ้านเมือง

ประติมากรรมสำริดรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชรนี้ นอกจากแสดงนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์/ภาษาศาสตร์ และโบราณคดี ยังมีนัยสำคัญทางศิลปะและเทคโนโลยีโลหกรรมชั้นสูงที่สามารถปั้นหล่อประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ที่มีความงดงามอย่างลงตัว ทั้งแสดงนัยปรัชญาและนัยทางสังคมที่ผสานสอดคล้องกัน ท้ายที่สุดเรื่องราวของโบราณวัตถุชิ้นสำคัญนี้ สะท้อนพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลทั้งการอนุรักษ์มรดกของชาติและการทูตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์แห่งสยามประเทศ.




ศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร หลังการบูรณะ
ประดิษฐานรูปจำลองของพระอีศวร


ศิลปากร : ๒๕๕๗
3364  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / อักษร ฃ และ ฅ ยังมีอยู่ในแบบอักษรไทย เมื่อ: 17 ตุลาคม 2558 11:08:30
.



ฃ และ ฅ ยังมีอยู่ในแบบอักษรไทย
The Presence and Use
of ‘’Kho Khuat and ‘Kho Khon’, Letters of Thai Alphabet

ผู้สนใจอักษรไทยถามว่า ปัจจุบันอักษร   และ   หายไปไหน ยังคงมีอยู่ในกลุ่มอักษรไทยหรือไม่

ก่อนตอบคำถามนี้ ขอย้อนหลังไปถึงสมัยแรกที่ปรากฏมีอักษรไทยขึ้นในโลก

เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีเศษล่วงมาแล้ว ดินแดนอันเป็นที่ตั้งประเทศไทยปัจจุบันแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเลยขึ้นไปถึงบริเวณลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน มีกลุ่มชนคนไทยตั้งหลักแหล่งเป็นชนกลุ่มย่อยแผ่กระจายอยู่ทั่วไปตามบริเวณลุ่มน้ำเหล่านั้น ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จึงได้รวมตัวกันสร้างความเป็นชาติอิสระขึ้น ก่อตั้งอาณาจักรล้านนาที่ลุ่มน้ำแม่ปิง  อาณาจักรสุโขทัยที่ลุ่มแม่น้ำยม และอาณาจักรศรีอยุธยาที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ความเป็นชาติไทยของคนไทยได้ปรากฏขึ้นในโลกนับแต่นั้นเป็นลำดับสืบมาจนถึงปัจจุบัน

หลักฐานที่ได้จากจารึกสุโขทัยทำให้ทราบชัดว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งอาณาจักรสุโขทัยทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่บ้านเมืองนานัปการ โดยที่พระองค์น่าจะทรงเล็งเห็นว่า ความเป็นอิสรภาพของชาติจะแผ่ไพศาลได้ ต้องมีอารยธรรมที่บ่งบอกความเป็นไทยได้ชัดเจนโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พี่น้องไทยทุกกลุ่มได้รับรู้กันทั่วไปว่า บัดนี้ไทยมีประเทศเป็นของตนเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงกระทำให้เห็นเด่นชัดก็คือ ทรงคิดประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นในพุทธศักราช ๑๘๒๖ ดังปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๘ - ๑๑ ความว่า
“...เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้ จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้...”

ลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ขึ้นนั้นได้เปลี่ยนแปลงพัฒนารูปแบบและแพร่ขยายอิทธิพลไปอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงครึ่งศตวรรษ ก็เปลี่ยนเป็นรูปอักษรไทยสุโขทัยและเผยแพร่ไปสู่อาณาจักรใกล้เคียง ที่อาณาจักรล้านนาซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรศรีอยุธยาซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของอาณาจักรสุโขทัย

รูปอักษรที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาดังกล่าวข้างต้นเป็นการเปลี่ยนไปเฉพาะลักษณะรูปสัณฐานแห่งเส้นอักษรเท่านั้น ส่วนจำนวนตัวอักษรยังคงมีอยู่ครบถ้วนเท่าเดิม ถึงแม้ว่าในเอกสารโบราณบางชิ้น รูปตัวอักษรบางตัวจะไม่ปรากฏให้เห็น ก็มิใช่ว่าจะเลิกใช้ โดยเฉพาะรูปอักษร ฃ และ ฅ ยังคงมีใช้อยู่ตลอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงปัจจุบัน ดังตัวอย่างภาพที่ ๑ – ๕ ดังนี้




ภาพที่ ๑ รูปอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย พุทธศักราช ๑๙๓๕
จารึกปู่ขุนจิด ขุนจอด ด้านที่ ๓ บรรที่ ๕ ความว่า...กินเมืองนอกอกแม...


ภาพที่ ๒ รูปอักษรฝักขาม ภาษาไทย พุทธศักราช ๒๐๒๗
จารึกพระพุทธรูปในถ้ำ (เชียงราย) ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๓ ความว่า...คูไวเป็นองบูชา...


ภาพที่ ๓ รูปอักษรไทยที่ซิมอน เดอ ลาลูแบร์
บันทึกไว้ในหนังสือ Du royaume de Siam
ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓


ภาพที่ ๔ รูปอักษรไทย จากหนังสือชั้นประถม กข ก กา
เข้าใจว่าเป็นหนังสือที่หมอบรัดเลย์พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก
ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔


ภาพที่ ๕ รูปอักษรไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

ในระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ความเจริญด้านการพิมพ์หนังสือไทยด้วยเครื่องพิมพ์ ได้เข้ามาสู่ประเทศไทย มีการสร้างแท่นพิมพ์พร้อมตัวพิมพ์ขึ้น พิมพ์หนังสือออกเผยแพร่ ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ การพิมพ์หนังสือของไทยเรานั้น นอกจากจะพิมพ์จากแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์แล้ว ยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ตัวอักษรด้วย แต่เนื่องจากแป้นพิมพ์ดีดที่สร้างขึ้นในครั้งนั้นมีจำนวนแป้นอักษรน้อยกว่าจำนวนรูปอักษร ผู้สร้างจึงตัดอักษร ฃ และ ฅ  ออก  ทำให้อักษร ๒ ตัวนี้หายไปจากแป้นพิมพ์ดีด เป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดว่าอักษร ๒ ตัวนี้เลิกใช้แล้ว  แต่ปัจจุบันเครื่องพิมพ์สมัยใหม่มีความเจริญพัฒนาขึ้น อักษร ฃ และ ฅ ได้กลับเข้าสู่ระบบการพิมพ์ สามารถใช้รูปอักษรไทยได้ครบทั้ง ๔๔ ตัวเช่นเดิม  

ฉะนั้น จึงขอยืนยันว่ารูปอักษรไทยยังคงมีจำนวนเท่ากับเมื่อสร้างโดยเฉพาะ อักษร และ ยังคงมีอยู่ และใช้ได้เหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน


ถามมา-ตอบไป เรื่อง อักษร ฃ และ ฅ ยังมีอยู่ในแบบอักษรไทย โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (ข้าราชการบำนาญ) กรมศิลปากร

3365  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: สารคดี ชีวิตสัตว์โลก เมื่อ: 16 ตุลาคม 2558 20:12:46
.



ตั๊กแตนตำข้าว
ตั๊กแตนตำข้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Tenodera sinensis อยู่ในประเภทสัตว์ปีก นับเป็นตั๊กแตนที่มีประโยชน์ต่อการเกษตร เพราะเป็นแมลงที่กินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร ส่วนขาหน้าที่มีขนาดใหญ่ใช้ในการจับเหยื่อ โดยยามจับเหยื่อตั๊กแตนจะทำท่ายกขาหน้าและโยกไปมาคล้ายจะต่อยมวย

ชื่อ ตั๊กแตนตำข้าว ตั๊กแตนซ้อมข้าว หรือตั๊กแตนชกมวย จึงเรียกตามลักษณะท่าทางของมันที่คอยยกขาหน้าขึ้นลง คล้ายคนกำลังยกสากซ้อมหรือตำข้าวในครก และเหมือนกับนักมวยที่ยกแขนตั้งท่ามวย แต่ฝรั่งมองผิดไปจากคนไทย โดยมองว่ามันกำลังยกมือสวดมนต์ภาวนา จึงเรียก แมนติส (Praying Mantis สำนวนแปลว่า เพชฌฆาตสวดมนต์)

ขณะที่นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน คาโรลัส ลินเนียส (คาร์ล ฟอน ลินเนีย หรือคาร์ล ลินเนียส) ผู้ริเริ่มการจัดแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ และการประยุกต์ใช้ระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบทวินาม ซึ่งมีประโยชน์ในการศึกษาชีววิทยาจนถึงปัจจุบัน ตั้งชื่อตั๊กแตนชนิดนี้ว่า Mantis religiosa แปลว่า สายพันธุ์โลกเก่า

ตั๊กแตนตำข้าวพบกระจายทั่วโลกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น มีประมาณ ๑,๘๐๐ สายพันธุ์ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ (ขนาดหลอดกาแฟยาว ๒-๓ นิ้ว) สีเขียวคล้ายใบไม้ เป็นสัตว์ที่มีขาคู่หน้าที่แข็งแรงต่างไปจากตั๊กแตนชนิดอื่น และยังมีขอบหยักคล้ายซี่เลื่อยแหลมคมงอกขึ้นมาตามท้องขาท่อนปลายสุดและท่อนกลาง ไว้ช่วยตะปบเหยื่อไม่ให้หลุดรอด

โดยเฉพาะท่อนขาช่วงกลางที่โตและโค้งงอคล้ายใบมีด คล้ายแขนนักเพาะกาย นอกจากนี้ยังมีส่วนหัวที่หมุนได้เกือบรอบ และมีตาโปนเด่นออกมา ตาจะกลอกไปได้รอบๆ จ้องจับเหยื่อไม่ให้คลาดสายตา เป็นดวงตาที่จ้องมองเหยื่อไม่ให้หนีรอดไปได้ และเมื่อเข้าใกล้ระยะจู่โจม ก็จะตะปบเหยื่อด้วยขาคู่หน้าแล้วรัดแน่นด้วยซี่เลื่อยที่ท้องขา

ตามปกติถ้าไม่ตื่นกลัว มักจะคลานไต่ไปตามต้นไม้เพื่อหากิน จะไม่บินรวมกันเป็นฝูง ทั้งสามารถเปลี่ยนสีพรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ การพรางตัวทำให้มันดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยจากศัตรูที่โตกว่า ศัตรูตัวเอ้คือแมงมุมกระโดด เพราะมีความร้ายกาจพอกัน เมื่อแมลงทั้งสองชนิดนี้มาเจอกัน ผู้ที่แข็งแรงเท่านั้นจะอยู่รอดได้

เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ หลังจากจับคู่ผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ตั๊กแตนตัวผู้ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียถึงเท่าตัวจะถูกกัดกิน และ ๒-๓ วันต่อมา ตัวเมียจะหันหัวลงขับเมือกหุ้มไข่ไปเกาะตามใบไม้ กลายเป็นรังที่แข็งแรง ปลอดภัย โดยมีแม่คอยเฝ้าหวงรัง

ตั๊กแตนตำข้าวจัดได้ว่าเป็นแมลงที่มีประโยชน์ต่อการเกษตร เพราะจะคอยกำจัดแมลงศัตรูพืช ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีการทำโรงเพาะเลี้ยง โดยปล่อยให้จับคู่ผสมพันธุ์กัน แล้วเก็บรังไข่ที่คล้ายกระเปาะสามเหลี่ยมไปเกี่ยวติดกับกิ่งฝ้ายขณะที่ตกสมอ

เมื่อลูกอ่อนฟักออกมาจากรังก็จะช่วยทำหน้าที่กำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายทันที แต่ละรังจะได้ลูกอ่อนหลายสิบตัว มากพอที่จะควบคุมปริมาณหนอนได้

จะเห็นได้ว่าธรรมชาติได้มอบแมลงที่เป็นประโยชน์มาให้ เพียงแต่ต้องหาวิธีจัดการให้เหมาะสมถูกต้อง อย่างเช่นการทำประโยชน์จากตั๊กแตนตำข้าวดังกล่าว

แต่สิ่งที่ควรคำนึงคือแหล่งที่อยู่อาศัย และการใช้สารเคมีกำจัดแมลง ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็อาจจะส่งผลกระทบต่อตั๊กแตน ตำข้าวผู้คอยทำหน้าที่ควบคุมแมลงศัตรูพืช





เต่าบก - เต่าน้ำ
เต่าจัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกหนึ่งที่มีมานานตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์เช่นเดียวกับไดโนเสาร์ และสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ได้เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นสัตว์ที่มีอายุยืนมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีทั้งหมด ๙ วงศ์ ประมาณ ๓๐๐ ชนิด พบแพร่กระจายอยู่ทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน

เต่ามีกระดูกแข็งคลุมบริเวณหลัง เรียกว่า กระดอง ซึ่งประกอบด้วยแคลเซียมเป็นส่วนใหญ่ เต่าไม่มีฟัน แต่มีริมฝีปากที่แข็งแรงและคมใช้ขบกัดอาหารแทนฟัน เป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ได้ช้า พบอาศัยทั้งในน้ำจืดและในทะเล จัดเป็นเต่าน้ำ และบางชนิดอาศัยอยู่บนบก เรียกว่าเต่าบก

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปเต่าแบ่งออกกว้างๆ เป็น ๔ พวก ได้แก่

๑.เต่าทะเล หรือเทอร์เทิล (turtles) ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่ามะเฟือง รวมถึงเต่าครึ่งบกครึ่งน้ำที่พบอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง เต่าประเภทนี้จัดเป็นเต่าน้ำ มีขาที่มีลักษณะเป็นพังผืดติดกันคล้ายครีบ เพื่อช่วยให้ว่ายน้ำได้ ผิวหนังที่ขาค่อนข้างเรียบและชุ่มชื้น เต่าพวกนี้ชอบว่ายน้ำและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ ชอบกินสัตว์มากกว่าพืช จะขึ้นบกก็ต่อเมื่อจะวางไข่เท่านั้น หรือเพื่ออาบแดด โดยจะหลบอยู่ใต้ใบไม้ใบหญ้าที่แห้งๆ

๒.เต่าน้ำจืดที่มีกระดองแข็ง หรือเทอร์ราพิน (terrapins) จัดเป็นเต่าน้ำ พบอาศัยอยู่ในน้ำจืดหรือน้ำกร่อย ที่สำคัญชนิดหนึ่งได้แก่ เต่ากระอาน เป็นเต่าน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในไทย อาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา ยกเว้นเมื่อขึ้นฝั่งมาวางไข่ ขาหน้ามีเยื่อหนังคล้ายขาเป็ด ว่ายน้ำได้เร็วมาก

๓.เต่าน้ำจืดที่มีกระดองนิ่ม (soft-shelled turtle) ที่พบในประเทศไทยเรียกว่า ตะพาบ ลักษณะเด่นคือลำตัวแบน มีกระดองเป็นหนังนิ่ม ขามีพังผืดยึดต่อกันเหมือนเป็ด ปลายนิ้วมีเล็บใช้ขุดดินหรือโคลน

๔.เต่าบก หรือทอร์ทอยซ์ (tortoise) พบอาศัยอยู่บนบกเท่านั้น ไม่สามารถว่ายน้ำได้เนื่องจากขาไม่มีพังผืดยึดติดกัน เคลื่อนไหวช้า แต่ปีนป่ายเก่งเพราะมีขาที่แข็งแรง ลักษณะเด่นคือกระดองโค้งสูงมาก หัวอ้วนใหญ่ มีเกล็ดชัดเจน ส่วนขาไม่มีพังผืดระหว่างนิ้ว แต่มีอุ้งเท้าที่มีเล็บแข็งแรงและใหญ่มาก บางชนิดมีเดือยยื่นออกมาระหว่างขากับหาง ผิวหนังที่ขาเป็นเกล็ดหยาบ และขากลมมากจากที่ต้องใช้เดิน เต่าบกหลายชนิดพบอาศัยในทะเลทราย มันเก็บสะสมน้ำได้ดี ไม่ต้องกินน้ำเลยเป็นเวลาหลายวัน บางชนิดพบอยู่ในป่าชื้นและภูเขา พวกนี้ไม่ชอบอากาศร้อนแห้ง มันจะขุดหลุมลงไปหลบตัวอยู่ในพื้นดินนิ่งๆ เป็นเวลาหลายวัน แล้วจึงขึ้นมากินอาหารอีกครั้ง

เต่าบกส่วนใหญ่กินพืชผักเป็นอาหาร มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่กินเนื้อหรือกินทั้งเนื้อและพืช เต่าที่อาศัยอยู่ตามภูเขาที่ชื้นๆ จะพบว่ามันเดินหาอาหารตามลำน้ำตื้นๆ เต่าพวกนี้ส่วนมากอยู่ตามลำพัง หลายชนิดเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ได้แก่ เต่ายักษ์กาลาปากอส ซึ่งเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่และมีอายุยืนยาวที่สุดในโลก พบได้เฉพาะในหมู่เกาะกาลาปากอสเท่านั้น เต่ายักษ์เซเชลส์ ที่อาศัยอยู่เฉพาะสาธารณรัฐเซเชลส์ เต่าดาวพม่า หรือเต่าราเดียตา ซึ่งเป็นเต่าบกขนาดเล็ก กระดองสวยงาม ส่วนที่พบในประเทศไทย ได้แก่ เต่าเหลือง ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในอินโดจีน และเต่าบก อาศัยในป่าดิบเขา จัดเป็นเต่าบกขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในทวีปเอเชีย

มาถึงตอนนี้คงแยกความแตกต่างระหว่างเต่าบกกับเต่าน้ำได้แล้ว โดยใช้ลักษณะต่างๆ คือ พังผืดที่นิ้วเท้า เต่าน้ำจะมีพังผืดเชื่อมระหว่างนิ้วเท้า แต่เต่าบกไม่มี เต่าน้ำมีผิวหนังที่เรียบกว่าและชุ่มชื้นกว่า ส่วนเต่าบกผิวหนังที่ขาเป็นเกล็ดหยาบและขาจะกลมมาก เต่าบกเป็นสัตว์กินพืชผักผลไม้ เต่าน้ำชอบกินสัตว์ เช่นปลาตัวเล็ก หอย เป็นต้น





ทารันทูล่า
บึ้ง หรือ ก่ำบึ้ง หรือ อีบึ้ง ในภาษาไทย คือแมงมุมทารันทูล่า (Tarantula) เป็นสัตว์ขาปล้องจำพวกแมงมุมกลุ่มหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ Theraphosidae เป็นแมงมุมที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคโบราณกว่า ๓๕๐ ล้านปีมาแล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างร่างกายน้อยมาก

มีรูปร่างทั่วไปคล้ายกับแมงมุมท้องปล้อง แต่ทารันทูล่าไม่เหลือปล้องบริเวณท้อง โดยทั่วไปเป็นแมงมุมขนาดใหญ่ ขายาว ลักษณะเด่นคือมีเส้นขนจำนวนมากขึ้นอยู่ตามตัวและขา เห็นได้ชัดเจน ทารันทูล่ามีประสาทสายตาไม่ค่อยจะดี ขนตามตัวนี่เองที่เป็นตัวจับแรงสั่นสะเทือน ทำให้ทารันทูล่ารับรู้ได้แม้กระทั่งทิศทางหรือระยะห่างของวัตถุ

ทารันทูล่ามีขนาดแตกต่างหลากหลายตั้งแต่ ๒.๕-๓๓ เซนติเมตร (โดยเฉลี่ยประมาณ ๑๕ เซนติเมตร) น้ำหนักราว ๑๖๐ กรัม จัดเป็นแมงมุมที่มีอายุขัยยาวนานกว่าแมงมุมจำพวกอื่น มีอายุยาวนานถึง ๑๕-๒๐ ปี ส่วนมากมีสีสันลวดลายสดใส พบได้ทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ทะเลทราย ทุ่งหญ้า หรือถ้ำที่มืดมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบร้อนชื้น หรืออุณหภูมิแบบป่าดิบชื้น ยกเว้นขั้วโลกเท่านั้น

ทารันทูล่าแบ่งออกเป็น ๒ จำพวกใหญ่ตามประเภทการอยู่อาศัย คืออยู่บนต้นไม้ กับขุดรูอยู่ในดิน ประเภทที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้จะสร้างใยอย่างหนาแน่น หรืออาศัยอยู่ตามโพรงหรือซอกหลืบของต้นไม้ รวมถึงสร้างใยไว้ระหว่างกิ่งไม้

ส่วนประเภทอาศัยอยู่บนพื้นดิน จะขุดดินเป็นรูลึกประมาณ ๓๐-๔๕ เซนติเมตร หรืออยู่ในโพรง มีใยฉาบโดยรอบปากรูซึ่งจะไม่มีความเหนียวหรือเหมาะแก่การจับเหยื่อ แต่มีไว้เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และป้องกันมิให้มีสัตว์หรือสิ่งใดมารบกวน ภายนอกรูมักมีใยอยู่บริเวณรอบๆ ด้วย บางชนิดสร้างใยจนล้นออกมานอกปากรู และปากรูมักสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ หากใยขาดจะซ่อมแซมทันที

ปัจจุบันมีการค้นพบ ทารันทูล่าแล้วกว่า ๙๐๐ ชนิด และยังมีชนิดที่ค้นพบใหม่อยู่เรื่อยๆ

สำหรับในประเทศไทยมีทารันทูล่าอาศัยอยู่ประมาณ ๔ ชนิดคือ บึ้งดำ จัดเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีขนาดใหญ่ที่สุด มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าว, บึ้งสีน้ำเงิน มีขนาดย่อมลงมา มีสีน้ำเงินเข้มตลอดทั้งตัว มีสีสันสวยงาม มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าวเช่นเดียวกัน, บึ้งลาย หรือบึ้งม้าลาย เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุด มีลวดลายตามขาอันเป็นที่มาของชื่อ มีนิสัยดุร้ายก้าวร้าว แต่น้อยกว่า ๒ ชนิดแรก และ บึ้งสีน้ำตาล มีสีน้ำตาลอมแดง มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าวเช่นเดียวกัน และยังมีอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้มีการค้นพบหรือระบุชื่อทางวิทยาศาสตร์

เส้นใยสีขาวของทารันทูล่าทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันตัว เป็นตัวรับสัญญาณสั่นสะเทือนให้รู้ว่าศัตรูหรือเหยื่อเดินผ่านมา เมื่อเหยื่อเข้ามาใกล้มันจะจู่โจมและใช้เขี้ยวกัดฝังลงไปในเนื้อ ปล่อยพิษผ่านเขี้ยวจนทำให้เหยื่อชาเป็นอัมพาต จากนั้นใช้เขี้ยวฉีกเหยื่อและดูดกินของเหลวในตัวเหยื่อจนแห้งเหลือแต่ซาก พิษของบึ้งอยู่ที่ขนและต่อมพิษบริเวณเขี้ยว

บึ้งบางชนิดโดยเฉพาะในสกุล Brachypelma มีขนที่ท้องหนาแน่นประมาณ ๑๐,๐๐๐ เส้นต่อตารางมิลลิเมตร สามารถสลัดขนใส่เหยื่อหรือศัตรูเมื่อถูกรบกวน ทำให้เกิดอาการคันเป็นผื่นแดงและรอยถลอก สำหรับต่อมพิษบริเวณเขี้ยว บึ้งจะกัดและปล่อยพิษซึ่งเชื่อมต่อกับต่อมพิษเพื่อป้องกันตัวเมื่อถูกคุกคามจากศัตรู บึ้งบางชนิดมีเขี้ยวยาวถึง ๑ นิ้ว แต่พิษของบึ้งมีเพียงเล็กน้อย แค่เพียงพอจะให้เหยื่อขนาดเล็กเป็นอัมพาตเท่านั้น

สำหรับผู้ที่แพ้พิษบึ้ง เมื่อถูกกัดอาจเกิดบาดแผลบวมแดงเหมือนถูกผึ้งต่อย แต่บางคนอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอาจช็อกได้

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตอาจเกิดจากสาเหตุทางอ้อม การยั่วยุหรือทำให้บึ้งโกรธเมื่อมันกัดจะปล่อยโปรตีนตัวอื่นๆ ออกมาพร้อมกับพิษ ทำให้ผู้ถูกกัดมีความเจ็บปวดมาก แต่จะมีอาการเจ็บปวดทรมานจากบาดแผลมากกว่าความรุนแรงของพิษ

บางกรณีที่โดนกัดจนลึกเข้าไปในผิวหนังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่บาดแผลได้ การปฐมพยาบาลเมื่อถูกบึ้งกัด ให้รีบล้างด้วยน้ำสบู่ หากรุนแรงต้องพบแพทย์เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ





ปลาปักเป้า
ปลาปักเป้าเป็นปลาที่มีขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๑๐-๔๐ เซนติเมตร พบทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล มีลักษณะเฉพาะตัวคือ ลำตัวกลม ยาว หัวโต และปากเล็ก บางชนิดมีฟันและปากคล้ายนกแก้ว ครีบอกและครีบหางใหญ่ ครีบหลังและครีบก้นเล็ก หนังเหนียว ส่วนมากมีตุ่มหรือหนามกระจายทั่วตัว ปลาปักเป้าจะพองตัวเมื่อตกใจหรือถูกรบกวน มักอาศัยอยู่ตามท้องทะเลที่เป็นทรายหรือทรายปนโคลน

ปลาปักเป้าเป็นชื่อเรียกรวมปลาใน ๒ วงศ์คือ วงศ์ปลาปักเป้า และ วงศ์ปลาปักเป้าหนามทุเรียน

สำหรับท้องทะเลไทยมีปลาปักเป้าอยู่ไม่น้อยกว่า ๒๓ ชนิด ปลาปักเป้าชนิดที่มีรายงานว่าเป็นพิษต่อผู้บริโภคและพบในน่านน้ำไทย ได้แก่ ปลาปักเป้าลาย ปลาปักเป้า และปลาปักเป้าดำ ส่วนปลาปักเป้าที่รับประทานกันในประเทศต่างๆ มีอีกเกือบ ๑๐๐ ชนิดในหลายสกุล

พิษในปลาปักเป้า สารที่แยกได้จากปลาปักเป้ามี ๒ ชนิด คือ Tetrodonine และ Tetrodonic acid ซึ่งเมื่อผ่านกรรมวิธีต่างๆ แล้วจะได้สารเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin-TTXs) หรือในชื่ออื่นๆ เช่น Maculotoxin, Sheroidine, Tarichatoxin หรือ Fugu poison

TTXs ในปลาปักเป้าเป็นพิษชนิดเดียวกันกับที่พบในสัตว์ทะเลที่ใช้เป็นอาหารอื่นๆ เช่น หมึกสาย หอยกาบเดี่ยว และปลาบางชนิด พิษชนิดนี้มีคุณสมบัติไม่สลายตัวด้วยความร้อน แต่ละลายในน้ำหรือแอลกอฮอล์ได้ดี มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ที่รับประทานเข้าไปมีอาการชา คลื่นไส้ อาเจียน มีผลทำให้กล้ามเนื้อไม่ทำงาน เกิดอาการอัมพาต

ในกรณีที่ได้รับพิษจำนวนมากจะทำให้ระบบประสาทส่วนกลางไม่สามารถควบคุมการหายใจและการเต้นของหัวใจ หายใจไม่ออก หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

สารพิษชนิดนี้เป็นโปรตีนที่ทนความร้อนสูงถึง ๒๐๐ องศาเซลเซียส จึงไม่สลายด้วยวิธีการทำอาหารตามปกติ ในสภาพพีเอช (pH) เป็นกรด พิษจะอยู่ได้นาน แต่จะสลายตัวได้เร็วในพีเอชที่เป็นด่าง

ความรุนแรงของพิษขึ้นกับสัตว์ทะเลแต่ละชนิด แต่ละตัวและชนิดของเนื้อเยื่อ ในตับและรังไข่มักมีความรุนแรงของพิษสูง แต่พบว่ามีสัตว์เฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่สามารถสะสมสารพิษ TTXs ไว้ในตัวได้

จากผลการศึกษาวิจัย นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ตามทฤษฎีแล้ว เนื้อของปลาปักเป้าไม่มีพิษ หรือมีพิษน้อย เนื่องจากปลาไม่สามารถผลิตพิษได้เอง ปลาจะเริ่มสะสมพิษซึ่งถูกสร้างขึ้นจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์น้ำและที่อยู่เป็นอิสระ จึงมีรายงานว่าปลาบางชนิดมีพิษ บางชนิดไม่มีพิษ แต่ในบางทฤษฎีเชื่อว่าตอนที่ปลามีไข่อ่อนอาจจะผลิตพิษได้บ้าง โดยพิษจะสะสมอยู่ในอวัยวะภายใน พบมากที่ตับ กระเพาะ ลำไส้ รังไข่ ลูกอัณฑะ และผิวหนัง พิษของปลาจะเพิ่มมากขึ้นในฤดูวางไข่

อาการของพิษจะกำเริบขึ้นหลังได้รับพิษจากปลาประมาณ ๓๐ นาที ถึงหลายชั่วโมง ขึ้นกับปริมาณที่รับประทาน แบ่งเป็น ๔ ขั้น
ขั้นแรก ชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ วิงเวียน อาเจียน กระสับกระส่าย
ขั้นที่สอง ชามากขึ้น อาเจียนมาก อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง ยืนและเดินไม่ได้
ขั้นที่สาม เคลื่อนไหวแขนขาไม่ได้ พูดลำบากจนถึงพูดไม่ได้ เนื่องจากสายกล่องเสียงเป็นอัมพาต ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว
และขั้นที่สี่ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทั่วไป หายใจลำบาก เขียวคล้ำ หมดสติ รูม่านตาโตเต็มที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ อาการอาจแรงขึ้นจากขั้นแรกถึงขั้นที่สี่และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียง ๑๐-๑๕ นาทีเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยทนพิษได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง จะมีโอกาสรอดชีวิตสูง




ช้างเอเชีย-ช้างแอฟริกา
ในยุคปัจจุบันมีการแบ่งช้างออกเป็น ๒ ชนิด คือ ช้างเอเชีย และช้างแอฟริกา ช้างเอเชียเป็นช้างที่อยู่ในทวีปเอเชีย ส่วนช้างแอฟริกามีอยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งแม้ว่าช้างทั้งสองชนิดจะมีรูปร่างลักษณะภายนอกคล้ายกัน แต่ก็อยู่คนละสกุล (เหมือนวัวที่อยู่คนละสกุลกับควาย)

ข้อแตกต่างของช้างเอเชียและช้างแอฟริกามีดังนี้ ช้างเอเชีย (Elephas maximus) ช้างเอเชียที่สมบูรณ์เต็มที่มีความสูงเฉลี่ยวัดจากพื้นดินตรงขาหน้าถึงไหล่ประมาณ ๓ เมตร มีงาเฉพาะช้างตัวผู้ หรือที่เรียกว่าช้างพลาย ส่วนช้างตัวเมียหรือช้างพัง โดยปกติไม่มีงา หรือบางครั้งอาจพบมีงาสั้นๆ แต่ไม่สมบูรณ์ เรียกว่าขนาย

สำหรับช้างตัวผู้ที่ไม่มีงาก็มีบ้าง เรียกช้างพลายที่ไม่มีงาว่าช้างสีดอ หัวของช้างเอเชียเป็นโหนก เมื่อมองดูข้างหน้าจะเห็นเป็น ๒ ลอน ใบหูเป็นแผ่นกว้าง ขอบหูด้านบนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับศีรษะ ปลายงวงมีจะงอยเดียว เล็บเท้าหลังมี ๔-๕ เล็บ และช้างเอเชียมีหลังโค้งเหมือนหลังกุ้ง

ช้างเอเชียชอบ อากาศชุ่มชื้น ร่มเย็น ไม่ชอบแดดจัด และเป็นสัตว์ที่มีขนาดกะโหลกศีรษะใหญ่ มันสมองจึงใหญ่ตามไปด้วย และเพราะมีมันสมองใหญ่นี่เอง จึงทำให้ช้างเอเชียมีความเฉลียวฉลาด สามารถนำฝึกได้

ช้างเอเชียจำแนกได้เป็น ๓ ชนิดย่อย ได้แก่
๑.ช้างเอเชียพันธุ์ศรีลังกา มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะบนเกาะซีลอนหรือเกาะลังกา ปัจจุบันเป็นประเทศศรีลังกาเท่านั้น มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาช้างเอเชียทั้งหมด ตัวผู้หรือช้างพลายส่วนใหญ่เป็นช้างสีดอ มีน้อยตัวที่มีงา ส่วนตัวเมียหรือช้างพังมีแต่ขนาย
๒.ช้างเอเชียพันธุ์อินเดีย อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติบนผืน แผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย ได้แก่ ประเทศเนปาล ภูฏาน อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา แคว้นยูนนาน มาเลเซีย
๓.ช้างเอเชียพันธุ์สุมาตรา มีอยู่เฉพาะในป่าตามธรรมชาติบนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มีขนาดเล็กกว่าช้างเอเชียพันธุ์อินเดีย




 

สำหรับช้างในประเทศไทยซึ่งเป็นช้างเอเชียพันธุ์อินเดีย ยังมีลักษณะที่น่าสังเกต คือ
๑.หนังมีขนเส้นห่างๆ ปลายหางมีขนเส้นยาวๆ งอกเป็นแนวด้านหน้าและด้านหลังของปลายหางราว ๒-๓ นิ้ว ขนหางยาวราว ๗-๘ นิ้ว โค้งไปจรดกันตรงปลาย
๒.ลายฟันหน้า มักมีจำนวนตามลำดับชุดของกราม คือ ๔,๘,๑๒,๑๖,๒๔ อาจมากน้อยกว่านี้
๓.ช้างตัวผู้บางตัวมีงาใหญ่ เรียกว่าช้างงาปลี ถ้างาเล็ก ยาวเรียว เรียกว่าช้างงาเครือ
๔.ช้างตัวเมียหรือช้างพัง ไม่มีงา มีแต่ขนาย
๕.ช้างเผือก คือช้างที่มีต่อมทำสีเมลานินผิดปกติ ผิวหนังและขนเป็นสีหม้อใหม่ นัยน์ตาขาวๆ เหลืองๆ ส่วนอื่นๆ เป็นสีจาง ช้างแก่ๆ มักมีโคนงวงและใบหูตกกระเป็นสีหม้อใหม่เหมือนกัน และ
๖.ช้างป่า เรียกหน่วยนับเป็นตัว ช้างเลี้ยง เรียกหน่วยนับเป็นเชือก

ช้างแอฟริกา (Loxodonta africana) ช้างแอฟริกาที่สมบูรณ์เต็มที่สูงกว่าช้างเอเชีย คือสูงเฉลี่ยประมาณ ๓-๕ เมตร และไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียล้วนมีงาทั้งนั้น

หัวของช้างแอฟริกามีส่วนที่เป็นหน้าผากแหลมแคบและมีโหนกศีรษะลอนเดียว เมื่อเทียบเฉพาะส่วนหัว ช้างแอฟริกามีหัวเล็กกว่าช้างเอเชีย แต่มีใบหูใหญ่กว่า ขอบหูด้านบนสูงกว่าระดับศีรษะ เวลาโกรธจะกางใบหูออกเต็มที่ ปลายงวงของช้างแอฟริกามี ๒ จะงอย เท้าหลังมีเล็บ ๓ เล็บ มีสันหลังตรงหรือแอ่นลงเล็กน้อย

ช้างแอฟริกาชอบอยู่ในป่าโปร่ง ไม่กลัวแสงแดด ทนต่ออากาศร้อนของทวีปแอฟริกาได้ดี และเพราะกะโหลกศีรษะเล็กกว่าช้างเอเชีย มันสมองของช้างแอฟริกาจึงเล็กตามไปด้วย ทำให้มีความเฉลียวฉลาดน้อยกว่าช้างเอเชีย และมีความดุร้ายมาก ฝึกได้ยาก

นอกจากช้าง ๒ สกุลดังกล่าว ยังมีช้างแอฟริกาจำพวกหนึ่งมีขนาดเล็ก สูงประมาณ ๒ เมตร เรียกว่าช้างแคระ หรือช้างปิ๊กมี่ อาศัยแถบลุ่มแม่น้ำคองโก ปัจจุบันมีเหลืออยู่น้อยเพราะชาวแอฟริกันชอบล่าเอาเนื้อไปเป็นอาหาร

เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยก็เคยมีช้างค่อม ช้างขนาดเล็กเท่าควาย อาศัยตามป่าชายทะเลสาบสงขลา มีผู้พบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ทุกวันนี้ทราบว่าสูญพันธุ์ เพราะถูกล่าเอาเนื้อ





จิงโจ้น้ำ
จิงโจ้น้ำ (Water Strider หรือ Pond Skater) เป็นแมลงที่จัดอยู่ในกลุ่มประเภทมวน อันดับ Hemiptera วงศ์ Gerridae มีอยู่มากมายหลายร้อยชนิดในทุกพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำลำธารใสสะอาด สามารถพบมวนตัวนี้อยู่กันเป็นกลุ่มๆ นั่นเป็นเพราะลักษณะการดำรงชีวิตของจิงโจ้น้ำซึ่งเป็นแมลงที่ชอบอยู่รวมกัน และอยู่ในแหล่งน้ำที่ไหลช้าๆ

แม้ว่ารูปร่างของแมลงชนิดนี้จะดูบอบบางด้วยขนาดตัวที่ยาวกว่า ๕ มิลลิเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้ม หรือดำ ประกอบกับขาอันเรียวยาวทั้ง ๓ คู่ ที่มีหน้าที่แตกต่างกัน โดยขาคู่หน้ามีลักษณะสั้นกว่า ทำหน้าที่จับตัวเหยื่อเพื่อใช้เป็นอาหาร ขาคู่กลางอันแสนเรียวยาวทำหน้าที่ผลักดันเพื่อให้ตัวของมันเคลื่อนที่ และขาคู่หลังใช้ในการปรับทิศทางในขณะเคลื่อนที่ โดยทั่วไปแล้วอาจเห็นว่าแมลงชนิดนี้เคลื่อนที่เหมือนภาพสโลว์ไปตามทิศทางของกระแสน้ำ แต่บางครั้งจะเห็นได้ว่าจิงโจ้น้ำกระโดดได้ด้วย นอกจากนั้นแล้วระยะทางก็ไม่ธรรมดา มันสามารถกระโดดได้ไกลหลายเซนติเมตรโดยที่ไม่เคยเห็นแมลงชนิดนี้จมน้ำเลยสักครั้ง

แมลงทั้งหลายที่เคยพบเห็น ส่วนประกอบหลักที่แมลงเหล่านั้นมีก็คือมีปีกและบินได้ แต่ยังมีแมลงอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ธรรมดา เป็นเพราะเจ้าแมลงชนิดนี้ใช้ชีวิตอยู่ในน้ำแทนที่จะอยู่บนบก มีวิวัฒนาการในการเจริญเติบโตอยู่ในน้ำตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย รูปร่างหน้าตาก็ช่างน่าแปลกตาเสียจริง

จิงโจ้น้ำสามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้อย่างสบาย และเมื่อเคลื่อนที่โดยการกระโดดไกล ก็กลับมาทรงตัวอยู่บนผิวน้ำได้ราวกับว่าตัวไม่มีน้ำหนักเสียอย่างนั้น นั่นก็เป็นเพราะความสามารถของขาทั้ง ๓ คู่ ที่รองรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ส่วนสาเหตุที่เจ้าจิงโจ้น้ำกระโดด ก็เนื่องมาจากแรงจูงใจด้านอาหาร

ทั้งนี้ นิสัยและพฤติกรรมของแมลงตัวนี้โดยทั่วไป จะเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าไปตามกระแสน้ำ แต่เมื่อไหร่ที่มีความรู้สึกว่าผิวน้ำกำลังมีความเคลื่อนไหวบางอย่าง ก็ถึงเวลาอาหารของจิงโจ้น้ำแล้ว มันจะกระฉับกระเฉงขึ้นมาในทันที และด้วยความไวต่อความสั่นสะเทือนของผิวน้ำ ทำให้กระโดดเข้าถึงตัวเหยื่อในพริบตาแล้วใช้ขาคู่หน้าที่มีความแข็งแรงจับยึดตัวเหยื่อเอาไว้อย่างแน่น ไม่ให้หลุดรอดออกไปได้ สำหรับชนิดของอาหารจิงโจ้น้ำ คือบรรดาตัวอ่อนของแมลงที่กำลังจะโตเต็มวัยไปเป็นแมลงศัตรูพืช

มีคำอธิบายจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่า การที่จิงโจ้น้ำเดินบนผิวน้ำได้นั้น เนื่องจากบนผิวน้ำมีแรงที่เกิดจากแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุล หรือที่เรียกว่าแรงระหว่างโมเลกุล แรงดังกล่าวทำให้โมเลกุลที่อยู่ภายในถูกโมเลกุลที่อยู่รอบๆ ดึงดูดในทุกทิศทาง ไม่มีแรงดึงไปทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ

แต่โมเลกุลที่อยู่บริเวณผิวหน้าของของเหลวจะถูกดึงดูดจากโมเลกุลที่อยู่ด้านข้างและด้านล่างเท่านั้น ไม่มีแรงดึงดูดขึ้นด้านบน ที่ผิวของของเหลวจึงมีแต่แรงดึงเข้าภายใน เรียกว่าแรงตึงผิว แรงดึงนี้จะพยายามดึงโมเลกุลที่ผิวหน้าของของเหลวด้วยแรงที่มากที่สุด ทำให้ผิวหน้าของของเหลวเกิดการหดตัวลง เพื่อลดพื้นที่ผิวให้เหลือน้อย

แรงที่ดึงโมเลกุลที่ผิวหน้าของของเหลวเข้าภายในนี้ทำให้เกิดแรงตึงผิวขึ้น น้ำหรือของเหลวจึงสามารถพยุงวัตถุบางชนิดให้อยู่บนผิวหน้าได้ จิงโจ้น้ำจึงเดินบนผิวน้ำได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพราะแรงตึงผิวของน้ำอย่างเดียว จิงโจ้น้ำยังมีลักษณะพิเศษคือมีขายาว และที่ปลายขามีต่อมน้ำมัน รวมทั้งขนเล็กๆ จำนวนมากที่ปลายขาคู่กลางช่วยพยุงลำตัว



 

ไก่ป่า
ไก่ป่า หรือไก่เถื่อน (Red junglefowl) ชื่อวิทยาศาสตร์ Gallus gallus อยู่ในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae) จัดเป็นนกมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ขนาดลำตัว ๔๖-๗๓ เซนติเมตร พบการกระจายอยู่ในเขตศูนย์สูตรตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงเวียดนามและจีนตอนใต้ ไปถึงเกาะต่างๆ ในอินโดนีเซีย จัดเป็นไก่สายพันธุ์ดั้งเดิมและเป็นต้นตระกูลของไก่บ้านที่เลี้ยงกันเป็นสัตว์เศรษฐกิจในปัจจุบัน มีเสียงขันไพเราะและมีความสวยงาม บินได้ไม่ไกลและไม่สูงมาก

ลักษณะทั่วไป เพศผู้หงอนค่อนข้างใหญ่ มีเดือยแหลมข้างละ ๑ อัน ขนหางยาวและมักโค้งลงเป็นหางกะลวย ตะโพกสีขาว ใบหน้าและหงอนสีแดง อกและท้องสีดำ หลังสีแดง คอและสร้อยคอสีเหลืองแกมสีส้ม ส่วนเพศเมีย หงอนไม่ใหญ่ หางยาวปานกลางเป็นแพนหาง ลำตัวออกสีน้ำตาลและเทา ทั้งสองเพศแข้งและนิ้วสีเทาถึงดำ

สำหรับในประเทศไทยพบไก่ป่า ๒ ชนิดย่อย คือ ไก่ป่าตุ้มหูขาว พบการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกของไทย, เวียดนาม, ลาว และกัมพูชา และไก่ป่าตุ้มหูแดง พบการกระจายพันธุ์ในพม่า, มณฑลยูนนานในประเทศจีน, ในประเทศไทย ยกเว้นทางภาคตะวันออก, ลาวบางส่วน, มาเลเซีย และทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ทั้งสองชนิดย่อยมีข้อแตกต่างตรงที่ไก่ป่าตุ้มหูขาวมีลักษณะขนบริเวณคอยาว เนื้อบริเวณติ่งหูมีขนาดใหญ่ มีแต้มสีขาว ส่วนไก่ป่าตุ้มหูแดง ลักษณะขนคอยาวปานกลาง เนื้อบริเวณตุ้มหูมีขนาดเล็ก และมักมีสีแดง ซึ่งตามหลักฐานทางชีวโมเลกุลพบว่า ไก่ป่าตุ้มหูขาวเป็นบรรพบุรุษของไก่บ้านทั้งหลาย

ไก่ป่าอาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้ง ป่าไผ่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณชายป่าตั้งแต่ระดับพื้นราบจนถึงระดับความสูง ๑,๘๐๐เมตร ออกหากินเป็นฝูงเล็กๆ ๒-๕ ตัวอยู่ตามพื้นป่าพื้นดินตั้งแต่เช้าตรู่ อาหารหลักของไก่ป่าในธรรมชาติได้แก่เมล็ดพืช โดยเฉพาะเมล็ดหญ้า ขุยไผ่และผลไม้สุกที่ร่วงหล่นจากต้น ทั้งยังกินแมลง หนอน ไส้เดือนและสัตว์ขนาดเล็กตามพื้นดิน รวมทั้งใบไม้ ยอดอ่อนหรือหน่ออ่อนของพืช แต่ในกรงเลี้ยงไก่ป่าไม่สามารถจะหาหรือเลือกกินได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดเตรียมอาหารให้มีคุณค่าเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อความสะดวก ผู้เลี้ยงสามารถใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงไก่ไข่ทั่วไปได้

 ไก่ป่าตัวผู้มักขันเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงตอนเช้าและพลบค่ำ ทั้งเพื่อประกาศอาณาเขตของตัวเอง กลางคืนจะนอนเกาะพักบนกิ่งไม้สูงๆ ฤดูผสมพันธุ์ของไก่ป่าอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม ตัวผู้จับคู่ตัวเมียได้หลายตัว โดยทั่วไปไก่ป่าเพศผู้จะเริ่มสืบพันธุ์ได้เมื่ออายุ ๒ ปี แต่ในเพศเมียจะสืบพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ ๑ ปี ช่วงฤดูผสมพันธุ์นี้ไก่ป่าเพศผู้จะมีสีสันสวยงามมาก

ในธรรมชาติไก่ป่าทำรังตามพื้นดินหรือตามกอหญ้า กอไผ่ โดยสร้างเป็นแอ่งเล็กๆ อาจมีหญ้าหรือใบไม้รอง แต่ในกรงเลี้ยงควรทำที่วางไข่ไว้มุมด้านหลังกรง อาจเป็นลังสี่เหลี่ยมหรือกรอบไม้ โดยวางกับพื้น มีหญ้ารอง ที่สำคัญควรมีที่บังไพรให้ เพื่อไก่ป่าจะได้มีความรู้สึกว่าปลอดภัยและพอใจที่จะเข้าไปวางไข่ ซึ่งจะวางไข่ประมาณ ๖-๑๒ ฟอง ระยะฟักไข่ ๒๑ วัน ลูกไก่แรกเกิดมีขนอุยสีเหลืองสลับลายดำทั่วลำตัว เมื่อขนแห้งเดินตามแม่ไปหากินได้ทันที

สถานภาพ ไก่ป่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช ๒๕๓๕


ที่มาข้อมูล: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3366  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: สารคดี ชีวิตสัตว์โลก เมื่อ: 16 ตุลาคม 2558 19:00:00
.

http://www.ku.ac.th/e-magazine/oct52/image/oct3.1.jpg

ไก่เบตง

ไก่เบตง
กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดยะลา รวบรวมไว้ว่า ไก่พันธุ์เบตงได้ชื่อตามชื่ออำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใต้สุดของจังหวัดและมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ลักษณะพื้นที่เป็นที่สูง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีอาชีพทำสวนยางพาราและค้าขาย และอำเภอเบตงนี้เองที่เป็นแหล่งกำเนิดไก่ที่มีชื่อเสียงมาก เนื้อมีรสชาติอร่อยและตัวใหญ่

สืบความเป็นมาได้ว่า ไก่พันธุ์เบตงเป็นไก่ที่มีเชื้อสายมาจากไก่พันธุ์เลียงชาน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน เมื่อชาวจีนอพยพจากแผ่นดินใหญ่มาปักถิ่นฐานทำมาหากินตั้งหลักแหล่งในอำเภอเบตงได้นำไก่พันธุ์นี้มีมาแพร่หลายด้วยจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันไก่พันธุ์เบตงมีปริมาณลดน้อยลงเนื่องจากมีการอพยพโยกย้ายบ้านเรือนบ่อยๆ และประชาชนบางท้องที่ไม่ได้ทำวัคซีนป้องกันโรค เมื่อเกิดโรคระบาดไก่ก็ล้มตายเป็นจำนวนมาก และอีกประการคือ ราคาจำหน่ายในท้องตลาดมีราคาสูงเพราะหาซื้อยาก ด้วยมีคนเลี้ยงน้อยลงเพราะตลาดผู้บริโภคไม่แน่นอน

ลักษณะของไก่เบตง เพศผู้ ปากสีเหลืองอ่อน จะงอยปากงองุ้มแข็งแรง อาจเป็นเพราะต้องหาอาหารกินเองตามธรรมชาติ ทำให้ปากมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ ตานูนแจ่มใส หงอนแบบหงอนจักร หัวลักษณะกว้าง คอตั้งแข็งแรง ขนคอมีสีเหลืองทองที่หัวแล้วค่อยๆ จางลงมาถึงลำตัวลักษณะคล้ายสร้อยคอ

ปีกสั้นแข็งแรงพอเหมาะกับลำตัว ขนสีเหลือง อาจมีเส้นสีดำ ๑ หรือ ๒ เส้น ที่ปลายแถบของขน อกกล้ามเนื้อกว้างตามลักษณะไก่พันธุ์เนื้อทั่วไป ขนที่อกและใต้ปีกสีเหลืองบาง หลังมีระดับขนานกับพื้นดิน (กว้าง, เป็นแผ่นๆ) หางมีขนหางไม่ดกนักและไม่ยาวมาก บั้นท้ายเป็นรูปตัดเห็นได้ชัด ขามีขนาดใหญ่พอเหมาะกับลำตัว ขนสีเหลือง ผิวหนังมีสีแดงเรื่อๆ เพราะขนน้อย แต่ถ้าเป็นไก่ตอนจะมีขนดก หน้าแข้งกลม ล่ำสัน เกล็ดวาวแถวแนวเป็นระเบียบสีเหลือง นิ้วเหยียดตรงและแข็งแรง เล็บเท้าสีขาวอมเหลือง


  ไก่เบตงเพศเมีย หัวกว้าง ตาแจ่มใส หงอนรูปถั่วสั้น หรือจักรติดหนังสือ โคนปากมีสีน้ำตาลเข้มค่อยๆ จางมาเป็นสีเหลืองที่ปลายปาก จะงอยปากงุ้มแข็งแรง คอตั้งแข็งแรง สีเหลืองอ่อน อกกว้างหนา ขนสีเหลืองดกคลุมทั่วตัว หลังวางแนวขนาน กับพื้น ปีกพอเหมาะกับลำตัว แข็งแรง ขนปีกเต็มเป็นแบบมีสีดำประปราย หางดกสีเหลือง ขาแข็งแรง หน้าแข้งกลมสีเหลือง เกล็ดวางแถวแนวเป็นระเบียบ นิ้วเหยียดตรงและแข็งแรง เล็บสีขาวอมเหลือง

ไก่พันธุ์เบตงเป็นไก่ที่ชอบหากินอิสระในสนามหญ้าบริเวณบ้าน หรือตามป่าโปร่งๆ คงเป็นเพราะไก่พันธุ์นี้มีลักษณะไก่ป่าอยู่มาก ชาวอำเภอเบตงเลี้ยงไก่พันธุ์นี้ตามบริเวณลานบ้าน หรือในสวนยางพารา เป็นไก่พันธุ์ที่เลี้ยงเชื่องมาก ชอบหากินเป็นฝูง ตัวผู้รักลูกมาก บางครั้งจะพบว่าตัวผู้ฟักไข่แทนตัวเมีย

ทั้งนี้ ไก่พันธุ์เบตงต่อมาได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์โดยฟาร์มไก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดึงลักษณะที่แท้จริงออกมาให้ได้มากที่สุด และให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของภาคกลางได้ เกิดเป็นไก่เบตงภายใต้ชื่อ "ไก่เคยูเบตง"





วาฬบรูด้า

วาฬบรูด้า หรือวาฬแกลบ (Bryde's whale, Eden's whale) ชื่อวิทยาศาสตร์ Balaeno ptera brydei เป็นวาฬขนาดใหญ่ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในวงศ์ Balaenopteridae โดยชื่อ บรูด้า ตั้งเป็นเกียรติแก่กงสุลชาวนอร์เวย์ในประเทศแอฟริกาใต้ โยฮัน บรูด้า ทั้งนี้ เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช ๒๕๓๕ ห้ามมีการค้าขายวาฬบรูด้าระหว่างประเทศ

วาฬบรูด้ารูปร่างค่อนข้างเพรียว ลำตัวสีเทาดำ มีลายแต้มสีขาวประปรายตรงใต้คางและใต้คอ บางตัวพบมีแถบสีจางบนแผ่นหลัง บางตัวมีจุดสีจางทั้งตัวคล้ายสีเทาลายกระสีขาว เวลาอยู่ในทะเลจะสังเกตเห็นสัน ๓ สันเด่นชัดด้านบนของปาก ซึ่งจะวางตัวขนานกันจากปลายปากจนถึงตำแหน่งของรูหายใจ ในขณะที่วาฬชนิดอื่นๆ มีสันตรงกึ่งกลางปากเพียงสันเดียว เวลาผุดขึ้นหายใจเหนือผิวน้ำ จะเห็นหัวและน้ำพุที่หายใจออกมาเป็นเวลานานสักครู่ ก่อนจะเห็นครีบหลังตามมา

จุดเด่นของวาฬบรูด้าคือครีบหลังที่มีรูปโค้งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง แพนหางวางตัวตามแนวราบ และมีรอยเว้าเข้าตรงกึ่งกลาง ครีบคู่หน้ามีปลายแหลมและมีความยาวเป็น ๑๐% ของความยาวลำตัว

ใต้ปากล่างมีร่องตามยาวประมาณ ๔๐-๗๐ ร่อง พาดจากใต้ปากจนถึงตำแหน่งสะดือ แผ่นกรองที่ห้อยลงมาจากปากบนมีจำนวน ๒๕๐-๓๗๐  แผ่น แผ่นที่ยาวที่สุดยาว ๖๐ เซนติเมตร ซี่บนแผ่นกรองค่อนข้างหยาบ เพราะวาฬบรูด้าไม่มีฟัน แต่มีบาลีน คือแผ่นกรองคล้ายหวีสีเทา ใช้กรองแพลงตอน และฝูงปลากินเป็นอาหาร เช่น หมึก ปลาทู ปลากะตัก เป็นต้น

เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาว ๑๔-๑๕.๕ เมตร หนัก ๒๐-๒๕ ตัน มีวัยเจริญพันธุ์อยู่ในช่วงอายุ ๙-๑๓ ปี ให้ลูกครั้งละ ๑ ตัวทุก ๒ ปี ตั้งท้องนาน ๑๐-๑๒ เดือน ระยะให้นมน้อยกว่า ๑๒ เดือน ลูกวาฬแรกเกิดจะมีความยาวประมาณ ๓-๔ เมตร มีอายุยืนได้ถึง ๕๐ ปี

วาฬบรูด้าพบกระจายพันธุ์ในท้องทะเลเขตอบอุ่นทั่วโลก ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล โดยมากมักพบครั้งละ ๑-๒ ตัว ลักษณะเด่นในน้ำคือ เวลาจมตัวดำน้ำจะโผล่หัวเล็กน้อยแล้วทิ้งตัวจมหายไปไม่โผล่ส่วนหางขึ้นมาเหนือน้ำ

สำหรับประเทศไทย วาฬบรูด้าเป็นวาฬเพียงชนิดเดียวที่พบว่าอาศัยอยู่ประจำถิ่นในอ่าวไทย พบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด ที่พบบ่อยคือทะเลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่บรูด้าเมืองไทยมีขนาดเล็กกว่าที่พบจากแหล่งอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติหลายกลุ่มพยายามศึกษาและตั้งชื่อวาฬบรูด้าในอ่าวไทยให้เป็นวาฬชนิดใหม่ของโลก โดยปัจจุบันพบซากโครงกระดูกและสถิติทั่วประเทศรวมกว่า ๑๐๐ แห่ง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลการศึกษาติดตามวาฬบรูด้าในแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน โดยใช้เรือเฝ้าศึกษาติดตามตลอดทั้งปี พบวาฬบรูด้าอพยพเคลื่อนย้ายตามแหล่งอาหารและฤดูกาล โดยเฉพาะที่อ่าวไทยตอนบน พบได้ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ

ชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม จนถึงเพชรบุรี และบางครั้งพบบริเวณชายฝั่งทะเลชลบุรี โดยประเมินว่าประชากรวาฬบรูด้าที่พบบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีจำนวน  ๒๐-๒๕ ตัว โดยทั่วไปพบครั้งละ ๑-๓ ตัว ขนาด ๔-๒๐ เมตร พฤติกรรมอยู่รวมกันพ่อ แม่ ลูก





ปลาทู
ปลาทู ภาษาอังกฤษใช้ Mackerel (แม็กเคอเรล) เป็นปลาทะเลที่อยู่ในสกุล Rastrelliger ในวงศ์ Scom bridae วงศ์เดียวกับปลาโอ ปลาอินทรีและปลาทูน่า

มีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ในน่านน้ำที่เป็นทะเลเปิด ได้แก่ อินโด-แปซิฟิก อ่าวไทย ทะเลอันดามัน จนถึงทะเล จีนใต้และทะเลญี่ปุ่น

ส่วนใหญ่ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึก ๒๐๐ เมตร ในน่านน้ำไทย พบทั้งหมด ๓ ชนิด ได้แก่ ปลาทูสั้น Short-Bodied Mackarel เป็นชนิดที่นิยมบริโภคมากที่สุด ปลาทูลัง Indian Mackarel และ ปลาทูปากจิ้งจก หรือ ปลาลังปากจิ้งจก Island mackerel

เป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทย ตามที่มีเมนูยอดฮิตตลอดกาล คือ น้ำพริก-ปลาทู

ส่วนคำว่า ปลาทู มีข้อสันนิษฐานไม่เป็นทางการว่า อาจมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งไทยนำเรืออวนตังเกจากจีนมาใช้ ทำให้จับปลาทูได้มาก

เนื้อปลาทูมีสารโอเมก้า ๓ ค่อนข้างมาก กล่าวคือในปริมาณเนื้อ ๑๐๐ กรัม มีสารโอเมก้า ๓ ราว ๒-๓ กรัม ช่วยลดอัตราการตายจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตีบ และยังลดคอเลส เตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งลดความหนืดของเลือด ลดการ อักเสบ ทำให้ความข้นในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ปลาทูในอ่าวไทยเป็นปลาผิวน้ำ พบตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึก ๒๐๐ เมตร มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า ๑๗ องศาเซลเซียส ความเค็มของน้ำไม่เกิน ๓๒.๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ทนความเค็มต่ำได้ถึง ๒๐.๔ เปอร์เซ็นต์ จึงพบในบริเวณน้ำกร่อย หากินในเวลากลางคืน กินอาหารจำพวกแพลงตอนและสัตว์น้ำขนาดเล็ก

ปลาทูวางไข่ปีละสองครั้ง ตั้งแต่เดือนก.พ.-มี.ค. และเดือนมิ.ย.-ก.ค. ปลาทูวางไข่แบบไข่ลอยน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะลอยน้ำอยู่ได้ แหล่งวางไข่แหล่งใหญ่ในอ่าวไทยมี ๒ แห่ง คือ ในน่านน้ำบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี กับที่แหลมแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์

ปลาทูวางไข่ในทะเลค่อนข้างลึก เมื่อลูกปลาทูโตขึ้นจะเริ่มว่ายเข้าหาฝั่งแถบก้นอ่าวไทยและจะโตเต็มที่ในเวลา ๖ เดือน

ไข่ของปลาทูเป็นแบบไข่ครึ่งจมครึ่งลอยน้ำ มีหยดน้ำมันและถุงไข่แดงเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้ระบบร่างกาย ไข่มีขนาดประมาณ ๐.๘๐-๐.๙๖ มิลลิเมตร ใช้ระยะเวลาในการฟักประมาณ ๑๖-๑๗ ชั่วโมง ถุงไข่แดงของลูกปลาเริ่มยุบและหมดไปภายใน ๓ วัน

จากข้อมูลวิกิพีเดีย ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีนักมีนวิทยาชาวอเมริกัน ชื่อ ดร.ฮิวจ์ แม็กคอร์มิก สมิธ ได้รับการว่าจ้างมาเป็นที่ปรึกษากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) เพื่อสำรวจพันธุ์ปลาต่างๆ ในประเทศไทย มีหลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) เป็นผู้ช่วยและวาดภาพปลา

หลวงมัศยจิตรการเป็นผู้วาดภาพปลาทูภาพแรกในประเทศไทย ใน พ.ศ.๒๔๖๘

ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ รัฐบาลไทยนำเครื่องมืออวนลากจากเยอรมนีตะวันตกมาใช้ และเมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกทำให้การประมงขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งจำนวนปลาทูในอ่าวไทยลดจำนวนลง

การที่ปลาทูถูกจับในปริมาณมาก ทำให้น่าหวั่นเกรงว่าอาจสูญพันธุ์ลงได้หากไม่ทำอะไร ในส่วนของกรมประมงจึงใช้ความพยายามกว่า ๒ ปี ในการเพาะขยายพันธุ์ปลาทูในระบบปิดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๕๕





ปลาอันตรายในทะเลไทย
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีข้อมูลเรื่องปลาอันตรายอยู่ในวารสารเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดย วันทนา อยู่สุข และ ธีระพงศ์ ด้วงดี ระบุถึงปลาทะเลที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะจากการสัมผัสว่าด้วยปลาจำนวนมากมีอวัยวะป้องกันตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟัน หนาม ก้านครีบแข็ง ซึ่งเมื่อไปทิ่มแทงหรือตำจะทำให้เกิดบาดแผล ปลาบางพวกยังสามารถสร้างสารพิษที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ พิษเหล่านั้นสร้างโดยต่อมพิษที่อยู่ในเนื้อเยื่อที่หุ้มหนาม หรือหนังที่ปกคลุมบริเวณหนาม หรือที่ตัวหนาม

ปลาทะเลที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยการทิ่ม แทง ตำ มีเป็นจำนวนมาก จำแนกออกเป็น ๗ กลุ่ม ดังนี้
๑.กลุ่มปลากระเบน ปลากระเบนมีลำตัวแบน ครีบอกขนาดใหญ่แผ่ออกข้างตัว ทำให้เห็นลำตัวเป็นแผ่น รูปร่างเกือบกลมคล้ายว่าวหรือจาน ส่วนหางเรียวคล้ายแส้แยกออกจากลำตัวเห็นชัดเจนมีหนามแหลมบริเวณโคนหางด้านบน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละชนิด หนามเป็นแท่งแบน ยาว ปลายแหลม ขอบทั้งสองข้างมีรอยหยักเป็น ฟันเลื่อย ด้านบนมีร่องจากโคนถึงปลาย กลุ่มเซลล์สร้างพิษหรือต่อมพิษ อยู่ใต้ผิวชั้นนอก

ปลากระเบนที่มีพิษรุนแรงในน่านน้ำไทย ได้แก่ วงศ์ปลากระเบนธง และวงศ์กระเบนนก ผู้ที่ถูกหนามหรือเงี่ยงปลา กระเบน แผลมีลักษณะคล้ายแผลมีดบาด และเพราะเงี่ยงปลากระเบนมีลักษณะคล้ายฟันเลื่อย เมื่อชักเงี่ยงออกจากบาดแผล จึงทำให้แผลฉีกมากขึ้น หลังถูกตำจะมีอาการปวดเป็นระยะๆ ต่อมาแผลจะอักเสบ บวม อย่างไรก็ตาม ปลากระเบนไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว อันตรายมักเกิดจากที่คนเหยียบปลากระเบนที่ฝังตัวอยู่ตามพื้นทรายหรือทรายปนโคลน

๒.กลุ่มปลาดุกทะเล และปลากดทะเล ปลาดุกทะเลเป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัวปกคลุมด้วยเมือกลื่น รูปร่างเรียวยาว ด้านข้างแบน ส่วนหัวแบนลง มีหนวด ๔ คู่ อยู่ที่บริเวณรูจมูก ๑ คู่ ริมฝีปาก ๑ คู่ และใต้คาง ๒ คู่ ครีบหลังอันที่สอง ครีบก้น และครีบหางติดต่อกัน ครีบหลังและครีบอกมีก้านครีบแข็ง ซึ่งมีลักษณะเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อยขนาดใหญ่แข็งแรง ส่วนปลากดทะเลเป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัวมีเมือกลื่น หัวแบนปกคลุมด้วยกระดูกเป็นสันและเป็นตุ่มเม็ดหยาบๆ ครีบหางรูปส้อม ครีบหลังอันแรกและครีบอกมีก้านครีบแข็งซึ่งมีลักษณะเป็นหยักคมคล้ายฟันเลื่อยขนาดใหญ่ มีต่อมพิษอยู่ที่ผิวของเยื่อที่คลุมก้านครีบ และที่ตอนกลางของกระดูกก้านครีบ

อันตรายจากปลากลุ่มนี้เกิดจากไปสัมผัสโดนก้านครีบแข็งบริเวณครีบหลังและครีบอก โดยเฉพาะขณะที่จับปลาเพื่อปลดออกจากเครื่องมือประมง เช่น เบ็ด แห หรืออวน หรืออาจเกิดจากไปเหยียบถูกมัน เนื่องจากทั้งปลาดุกและปลากดทะเลเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามหน้าดิน และอาจมาหากินตามที่น้ำตื้นหรือปากแม่น้ำ พิษของปลากลุ่มนี้มีผลคล้ายกับพิษของปลากระเบน เมื่อถูกตำจะเจ็บปวดทันที ปลาขนาดเล็กมีผลทำให้เจ็บปวดนานประมาณ ๓๐-๖๐ นาที ส่วนปลาขนาดใหญ่อาจมีผลทำให้เจ็บปวดนานถึง ๔๘ ชั่วโมง และบาดแผลบวมอักเสบ


http://www.fisheries.go.th/mf-emdec/mainweb/km/poisonseaanimal/19b.png
 ปลากะรังหัวโขน

๓.กลุ่มปลากะรังหัวโขน มีลำตัวป้อมเกือบกลม หัวขนาดใหญ่ ส่วนหัวมีหนามจำนวนมาก ลำตัวสากและมีหนามเล็กๆ หนังหนาและเป็นปุ่ม เกล็ดละเอียด แต่บางชนิดไม่มีเกล็ด ครีบหลังยาว ครีบอกกว้าง มีก้านครีบแข็งขนาดใหญ่ที่ครีบหลัง ครีบอกและครีบท้อง ก้านครีบแข็งมีลักษณะเป็นหนาม ต่อมพิษของก้านครีบแข็งอยู่ใต้ชั้นผิว โดยอยู่รอบส่วนกลาง ส่วนปลายของก้านหนามหุ้มห่อด้วยเนื้อเยื่อ

พิษจะถูกปล่อยออกเมื่อเยื่อหุ้มหนามฉีกขาด อันตรายเกิดจากการไปสัมผัสถูกก้านครีบแข็งบริเวณต่างๆ และหนามบริเวณหัว เนื่องจากปลากลุ่มนี้ชอบอยู่นิ่งๆ ทำให้ดูคล้ายก้อนหินจึงอาจไปสัมผัสหรือเหยียบได้ พิษมีความรุนแรงมากเมื่อถูกตำหรือบาดจะปวดและบวมทันที ความเจ็บปวดอาจอยู่นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ในกรณีที่รับพิษจำนวนมากหรือแพ้ ผู้ป่วยอาจมีอาการคอแห้ง ปวดเมื่อยตามข้อต่างๆ ซึม เพ้อ ไม่ได้สติ จนเสียชีวิตได้ในที่สุด ปลาในกลุ่มนี้อาศัยตามพื้นท้องทะเล จัดอยู่ใน ๒ วงศ์ คือ วงศ์ปลาแมงป่อง และวงศ์ปลาหิน

๔.กลุ่มปลาสิงโต ปลาสิงโตมีลำตัวยาวปานกลาง แบนข้างเล็กน้อย หัวขนาดใหญ่ ลำตัวปกคลุมด้วยแผ่นกระดูกและมีหนามจำนวนมาก เกล็ดขนาดเล็ก ครีบหลังและครีบอกขนาดใหญ่แผ่กว้าง โดยทั่วไปครีบอกมีขนาดใหญ่แหลมคม ต่อมพิษมีลักษณะคล้ายกับปลากะรังหัวโขน หัวและลำตัวมีแถบลายสีน้ำตาลปนแดง ปลาสิงโตมักว่ายช้าๆ หรือลอยตัวนิ่งๆ ตามแนวปะการัง และแนวหินในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทั่วไป นักท่องเที่ยวชอบเข้าไปจับเล่นเนื่องจากดูสวยงามและคิดว่าไม่เป็นอันตราย พิษของปลาสิงโตเหมือนกับพิษของปลากะรังหัวโขน แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ปลาสิงโตจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาแมงป่อง

๕.ปลาขี้ตังเป็ด มีลำตัวป้อมแบน หนังหนา เกล็ดเล็ก ครีบหลังและครีบก้นยาว บริเวณลำตัวและครีบมีสีสันสวยงามมาก อันตรายเกิดจากการสัมผัสหนามซึ่งอยู่บริเวณโคนหาง พิษของปลาขี้ตังเป็ดมีผลคล้ายกับพิษของปลากะรังหัวโขน แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า

๖.กลุ่มปลาสลิดทะเล ปลาสลิดทะเลมีรูปร่างแบนป้อม ลำตัวแบนข้าง หัวขนาดเล็ก เกล็ดเล็กละเอียด ครีบหลังและครีบก้นยาว มีก้านครีบแข็งที่ครีบหลัง ครีบท้องและครีบก้นซึ่งมีลักษณะแหลมคมและแข็ง มักพบในเขตชายฝั่งตามพื้นท้องทะเล กองหิน แนวปะการัง และแนวหญ้าทะเล อันตรายเกิดจากการถูกก้านครีบแข็งบริเวณต่างๆ ตำ แทง เมื่อถูกตำจะเจ็บปวดมาก แต่ไม่มีรายงานว่ามีต่อมพิษ

๗.กลุ่มปลาตะกรับ ปลาตะกรับมีลำตัวป้อมสั้น แบนข้าง หัวเล็ก หนังหนา เกล็ดขนาดเล็ก ครีบหลังยาว สีพื้นลำตัวด้านล่างมีสีน้ำเงินอมเขียว ด้านท้อง สีขาวเงิน ตลอดลำตัวและครีบมีจุดสีเป็นวงสีน้ำตาลอมเทา มีก้านครีบแข็งขนาดใหญ่ที่ครีบหลัง ครีบท้องและครีบก้น อันตรายเกิดจากถูกก้านครีบแทง ตำ ซึ่งมักเกิดขณะปลดปลาออกจากเครื่องมือประมง





แกสบี้
นำความรู้เกี่ยวกับแกสบี้มาจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้ข้อมูลก่อนตัดสินใจเลี้ยงแกสบี้ว่า เพราะแกสบี้จำนวนไม่น้อยโดนเจ้าของทอดทิ้ง และแกสบี้ไม่ใช่ของเล่นที่มีชีวิต จึงมีข้อควรพึงเข้าใจคือ

๑.แกสบี้มีอายุขัยถึง ๕-๗ ปี คิดดูว่าเวลาที่ยาวนานขนาดนั้น สามารถดูแลเขาได้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเขาหรือไม่  แกสบี้เป็นสัตว์ที่จดจำเจ้าของได้ แม้กระทั่งเสียงฝีเท้า เวลาโดนทอดทิ้งจึงน่าสงสารมาก

๒.แกสบี้ต้องกินพืชที่มีกากใยเป็นอาหาร อย่าเข้าใจผิดคิดว่าแค่ให้อาหารเม็ดก็พอ เพราะร่างกายเขาย่อยด้วยแบคทีเรีย พืชผักต่างๆ โดยเฉพาะหญ้าขนจำเป็นมาก เพื่อให้สมดุลธรรมชาติของร่างกายพอดี ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาสุขภาพตามมา

๓.แกสบี้ต้องการวิตามินซีเพิ่มจากอาหาร เพราะสังเคราะห์เองไม่ได้ ก่อนเลี้ยงต้องรู้ไว้เลย แกสบี้ต้องการวิตามินซีเสริม เช่น ฝรั่ง หรือเควี่ฟรุต เป็นต้น

๔.แกสบี้ต้องได้รับการดูแลขนและอาบน้ำ จะต้องอาบน้ำแกสบี้ประมาณ ๒ สัปดาห์ครั้ง ไดร์เป่าขนให้แห้ง และต้องหมั่นหวีขนด้วย ไม่อย่างนั้นจะพันกันเป็นก้อนๆ

๕.ต้องหมั่นทำความสะอาดกรง เพราะฉี่ของแกสบี้หากนองที่พื้นกรง จะมีกลิ่นแอมโมเนียรบกวนทั้งเจ้าของและระคายเคืองจมูกแกสบี้

๖.แกสบี้ต้องการหมอเฉพาะทาง เพราะเขาตัวเล็ก ยากแก่การคำนวณปริมาณยา และมีหมอที่เชี่ยวชาญอยู่ไม่มาก ให้คำนึงสามารถจะพาไปหาหมอที่เชี่ยวชาญได้หรือไม่

๗.แกสบี้เหมาะกับเจ้าของที่โตพอ เพราะไหนจะตัดหญ้า อาบน้ำ ดูแลทำความสะอาดกรง เด็กอายุน้อยๆ ไม่สามารถทำได้ ถ้าอยากจะให้เด็กเลี้ยง ควรจะให้เด็กมีอายุประมาณ ๑๐ ขวบ ขึ้นไปจึงจะดี

๘.แกสบี้ไม่สามารถจะฝึกได้แบบสุนัข แกสบี้เป็นสัตว์กินพืช ซึ่งปกติสัตว์กินพืชจะไม่มีทักษะในการล่า หรือการเรียนรู้ที่ดีเท่าสัตว์กินเนื้อ

แกสบี้มีหลายสายพันธุ์ แบ่งตามลักษณะของขน ดังนี้
๑.สายพันธุ์ขนยาว พีรูเวี่ยน (Peruvian) ขนยาวเหยียดตรง แนวของขนจะย้อนจากท้ายลำตัวขึ้นมาทางหัว ซึ่งเกิดจากขวัญที่ส่วน ท้ายของ ลำตัว พีรูเวี่ยนเป็นหนูสายพันธุ์ขนยาวที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกๆ ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่ ผู้เลี้ยง, ซิลกี้ (Silky) มีขนยาวตรง ไม่มีขวัญ ขนจะเหยียดตรงจากทางหัวไปท้ายลำตัว และตกลงมาด้านข้าง, โคโรเน็ต (Coronet) มีขนยาวตรง คล้ายซิลกี้ แต่มีขวัญบริเวณ หน้าผาก

๒.สายพันธุ์ขนหยิก เท็กเซล (Texel) ขนยาวหยิกเป็นลอน ไม่มีขวัญเหมือนกับซิลกี้, มาริโน่ (marino) มีขนยาวหยิก มีขวัญที่หัวเหมือนโคโรเน็ต, อัลพาคา (Alpaca) มีขนยาวหยิก มีขวัญที่ก้น ขนจะย้อนมาทางด้านหน้าเหมือนพีรูเวี่ยน

๓.สายพันธุ์ขนสั้น อเมริกัน ชอร์ต แฮร์ (American Short Hair) มีลักษณะขนสั้นและเรียบตั้งแต่ปลายจมูกจนถึงท้ายลำตัว ไม่มีขวัญ มีหลายสี

อะบิสซิเนี่ยน (Abyssinian) เป็นแกสบี้ที่มีความฉลาดมากกว่าสายพันธุ์อื่น และเป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุด มีขวัญกระจายอยู่รอบตัว โดยมี ๒ ขวัญอยู่ที่ไหล่ข้างละขวัญ อีก ๔ ขวัญอยู่บนหลัง มี ๒ ขวัญอยู่บนสะโพก และอีก ๒ ขวัญอยู่ด้านหลังสุด อะบิสซีเนี่ยนที่สวยขวัญต้องไม่สะเปะสะปะ

เครสต์ (Crest) ลักษณะคล้ายชอร์ตแฮร์ ต่างกันที่พันธุ์นี้มีขวัญที่หัว ทั้งนี้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๑.อเมริกันเครสต์ สีที่ขวัญกับลำตัวจะต่างกัน
๒.อิงลิชเครสต์ ขวัญกับลำตัวมีสีเดียวกัน

เท็ดดี้ (Teddy) ลักษณะขนหนาสั้นประมาณ ๓/๔ นิ้ว ขนจะหยิกเล็กน้อย แบ่งขนได้ ๒ ประเภทคือ ขนกำมะหยี่ และขนหยาบ และ เร็กซ์ (Rex) มีลักษณะคล้ายกับเท็ดดี้ แต่การพัฒนาลักษณะขนหยิกของทั้งสองสายพันธุ์เกิดจากยีนที่ต่างกัน





คุ่น - แมลงลิ้นดำ
คุ่น เป็นชื่อที่แถบภาคเหนือใช้เรียก แมลงริ้นดำ ซึ่งข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์แมลง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ อธิบายว่า แมลงริ้นดำ (black fly) คนเหนือเรียกว่า คุ่น ส่วนชาวกะเหรี่ยงเรียกตัวเต็มวัยว่า ผะบอ (คุ่นเหลือง) คะซู (คุ่นดำ) ตัวหนอนเรียก ก่อก๊อบ เป็นแมลงในอันดับดิพเตอร่า (order diptera) วงศ์ Simuliidae มีขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยมีอกปล้องแรกโค้งนูนขึ้นชัดเจน (หลังค่อม)

แมลงริ้นดำทั่วโลกพบแล้ว ๒,๑๓๒ ชนิด ประเทศไทยมีรายงาน ๘๙ ชนิด เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีความหลากหลายของชนิดมากที่สุดประมาณ ๒ ใน ๓ (๕๘ ชนิด)

การอยู่อาศัยแมลงริ้นดำ ระยะไข่ ตัวหนอน และดักแด้ อาศัยในน้ำไหลทั้งชั่วคราวและถาวร ในลำธารบนภูเขาหรือในเขตชนบท ตัวเต็มวัยเพศเมียบางชนิดเป็นปรสิตภายนอก ดูดกินเลือดจากคนหรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการเจริญและพัฒนาการของไข่ บางชนิดไม่จำเป็นต้องกินเลือดไข่ก็เจริญได้ ส่วนตัวผู้จะดูดกินเฉพาะน้ำหวานจากดอกไม้
 
ภัยจากแมลงริ้นดำ เพศเมียบางชนิดที่เป็นปรสิตภายนอก ชอบกัดและดูดกินเลือดคนหรือสัตว์เลี้ยง ก่อความรำคาญ เช่น ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ดอยผ้าห่มปก บ้านม้งดอยปุย โดยทั่วไปแล้วจะเข้ากัดมาก ๒ ช่วงเวลาใน ๑ วัน คือช่วงเช้า และเย็น ประมาณเวลา ๐๗.๐๐-๐๘.๐๐น. และ ๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น.

ส่วนตอนสายๆ จนถึงบ่าย พบน้อย ทั้งนี้อาจเปลี่ยนแปลงเวลาเข้ากัดเล็กน้อยตามฤดูกาล การกัดทำให้เกิดอาการคัน อักเสบ บริเวณที่โดนกัดมีอาการบวมโต เป็นตุ่ม หรือแผลอักเสบ หรือในบางรายมีอาการแพ้รุนแรงจนเป็นไข้ เรียกว่าไข้ริ้นดำ ซึ่งจะมีอาการปวดหัว คลื่นไส้และอาจมีอาการหอบหืด
 
ในต่างประเทศมีรายงานพบแมลงริ้นดำเป็นพาหะนำโรคที่เกิดจากพยาธิฟิลาเรีย แต่ไม่มีรายงานการพบโรคนี้ที่ประเทศไทย

โรคที่เกิดจากพยาธิฟิลาเรียทำให้เกิดก้อนใต้ผิวหนังบริเวณลำตัว ไหล่และศีรษะ ภายในก้อนมีพยาธิตัวเต็มวัยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และจะมีอาการผิวหนังอักเสบ เมื่อตัวอ่อนพยาธิเคลื่อนเข้าไปยังลูกตา จะทำให้ตาอักเสบและบอดในที่สุด พบมากในผู้ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ แหล่งระบาดของโรคนี้พบที่แอฟริกา อเมริกากลางและใต้ คาบสมุทรอาระเบียในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ไม่มีรายงานการพบโรค

แมลงชนิดนี้กัดคนตรงบริเวณข้อเท้า หรือบริเวณอื่นๆ ที่เสื้อผ้าคลุมไม่ถึง โดยหลังจากที่ดูดกินเลือดอิ่มแล้ว ตรงแผลที่โดนกัดจะมีหยดเลือดไหลออกมาเล็กน้อยและมีอาการคัน ถ้าไม่เกาสะเก็ดแผลจะยุบหายไปภายใน ๒ สัปดาห์หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย

การใช้ประโยชน์ พบชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่แอบ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นำก่อก๊อบมาปรุงเป็นยำกินแกล้มกับสุราพื้นบ้านในโอกาสพิเศษ เช่น หลังการเก็บเกี่ยวข้าว

การหาตัวหนอนริ้นดำมาทำยำ จะใช้พุ่มไม้หรือใบตองมากันเพื่อชะลอการไหลของน้ำ จากนั้นใช้มือลูบคลำบนบริเวณที่ตัวหนอนเกาะอยู่ ตัวหนอนจะติดขึ้นมาตามฝ่ามือ ลูบจนได้ตัวหนอนมากพอแล้วก็ล้างโดยใช้น้ำสะอาดล้างหลายๆ รอบ เพื่อให้ ทรายที่ติดมากับตัวหนอนหลุดออกจนหมด

ส่วนการปรุงมีเครื่องปรุงง่ายๆ ได้แก่ พริกแห้ง (ย่างไฟก่อนใช้) ถั่วเน่า หอมแดง หอมหัวใหญ่ เกลือ และมะนาว นำมาคลุกเคล้าและชิมรสตามชอบ


ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3367  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: วัดดอนธาตุ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 15 ตุลาคม 2558 13:31:19
.



หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล)  เป็นพระภิกษุนักวิปัสสนากรรมฐานในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตโต (หลวงปู่มั่น) ซึ่งเป็นพระนักวิปัสสนากรรมฐานที่สำคัญของประเทศไทย  ศิษยานุศิษย์นักวิปัสสนากรรมฐานสายวัดป่าต่างให้ความนับถือว่าท่านเป็นบูรพาจารย์แห่งสายวิปัสสนากรรมฐาน

พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) เกิดเมื่อวันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา ตรงกับ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๒ ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายทาและนางโม่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน หลวงปู่เสาร์ได้เข้าไปพำนักรับใช้เป็นศิษย์วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเรียกว่า วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือวัดใต้เทิง) ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรในปี พ.ศ.๒๔๑๗ ขณะมีอายุได้ ๑๕ ปี ที่วัดใต้ สังกัดคณะมหานิกาย ขณะที่อยู่วัดใต้นั้นท่านได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย และหนังสือไทย ตามธรรมเนียมการศึกษาในยุคนั้น

เมื่อถึงคราวที่อายุครบบวช ในปี พ.ศ.๒๔๒๒ หลวงปู่เสาร์จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะมหานิกายที่วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดใต้ ๑๐ พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ หลวงปู่เสาร์ได้ฟังธรรมจากท่านเทวธัมมี (ม้าว) และเกิดความเลื่อมใส จึงขอมอบตัวเป็นศิษย์และกระทำญัตติกรรมใหม่ในคณะธรรมยุติกนิกาย ณ พระอุโบสถวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในสมาธิวิปัสสนา และพอใจแนะนำสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นด้วย เป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงควัตร หนักแน่นในพระธรรมวินัย ชอบวิเวก ไม่ติดถิ่นที่อยู่ และท่านได้รับความสงบใจในการปฏิบัติเป็นอย่าง

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เจริญธรรมแห่งองค์ภาวนาโดยลำดับ  ต่อมาท่านมีความคิดว่าการที่ท่านปฏิบัติภาวนาอยู่นี้ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ทางที่ดีควรออกไปอยู่ป่าดงหาสถานที่สงบจากผู้คน จิตใจคงจะสงบกว่านี้เป็นแน่แท้  ดังนั้น ท่านได้ออกธุดงค์มุ่งสู่ป่าทันทีในวันรุ่งขึ้น ความปรารถนาของท่านก็เพื่อภาวนาและพิจารณาสมาธิธรรม ถ้าแม้เป็นจริงดังคำตั้งใจแล้วเมื่อกลับเข้าสู่วัดท่านจะนำความรู้ที่เกิดจากจิตใจเหล่านั้นมาเผยแผ่ยังผู้ที่หวังซึ่งความพ้นทุกข์ต่อไป

ภายหลังจากหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ไปอยู่ป่าดง ฝึกฝนจิตใจ เจริญศีล สมาธิ ปัญญา จำพรรษาในท่ามกลางสิงสาราสัตว์ ในหุบเขา ถ้ำลึก เป็นเวลาอันสมควร ท่านจึงได้ออกมาเปิดสำนักปฏิบัติธรรม ในวัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยก่อนนั้น มีพระสงฆ์ฆราวาสที่สนใจกันอย่างจริงจังไม่มากนัก ถึงกระนั้นท่านก็ไม่ได้ลดละความพยายาม ท่านก็ได้ตั้งอกตั้งใจในการสอนอบรมผู้สนใจในธรรมให้เกิดความรู้แจ้งแก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อเป็นหลักยืนยันว่าการเจริญศีล สมาธิปัญญานี้เป็นความสงบและสามารถทำตนให้หลุดพ้นได้จริง

ดังคำพระธรรมเทศนา โดยพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต แสดงที่ วัดถ้ำกลองเพล เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ "เรื่องปฏิปทา ของพระกรรมฐาน" ตอนหนึ่งว่า "..หลวงปู่เสาร์ เป็นบูรพาจารย์ของพระกรรมฐานทั้งหลายในภาคอีสาน แต่ก่อนพระกรรมฐานไม่ได้มีมากมายเหมือนอย่างสมัยปัจจุบันนี้ เพราะว่าไม่มีใครไปศึกษา และนำไปประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใครหอบเอาความรู้จากพระไตรปิฏกมาสอนคน โดยมากสมัยก่อนเทศน์ไปตามหนังสือ อ่านให้โยมฟัง พออ่านเสร็จโยมก็สาธุ นึกว่าได้บุญแล้ว และก็พากันกลับบ้าน บางวันเทศน์เรื่องพระโพธิสัตว์ใช้ชาติ เช่น สัญชัย ท้าวก่ำกาดำ เรื่องมโฆสก ฯลฯ ไม่ให้เอาธรรมะมาสอนใจของตัวเราเอง เพราะฉะนั้นหลวงปู่ ครูอาจารย์ ทั้งหลายนี้ ท่านเอาแต่ประพฤติปฏิบัติรู้ธรรมแจ้งมาสอนเรา.. "

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ท่านมีลูกศิษย์ที่สำคัญคือ "ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต"

ปัจฉิมวัย ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านมรณภาพ ที่วัดอำมาตย์ เมืองจำปาศักดิ์ คณะศิษย์นำสรีระท่านมาถวายเพลิงที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
3368  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดดอนธาตุ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 15 ตุลาคม 2558 13:21:43
.





วัดดอนธาตุ
ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี


วัดดอนธาตุ ตั้งอยู่บนเกาะดอนธาตุ กลางแม่น้ำมูล ระหว่างบ้านทรายมูลและบ้านคันไร่  มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๐ ไร่ อยู่ทางทิศตะวันออกของแก่งสะพือ ห่างไปประมาณ ๖ กิโลเมตร

วัดดอนธาตุแห่งนี้ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ปรมาจารย์ทางด้านวิปัสสนาธุระผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย รุ่นแรก  

ปฏิปทาและวัตรปฏิบัติของท่านนั้น ได้ก่อให้เกิดสานุศิษย์องค์สำคัญ คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่สืบทอดธุดงควัตรมาจนกระทั่งบัดนี้

- เมื่อปี พ. ศ.๒๔๘๐ หลวงปู่เสาร์ (พระครูวิเวกพุทธกิจ) และท่านพระอาจารย์ดี ฉันโน ได้จาริกมาปักกลดกรรมฐานหาที่ดินเหมาะสมก่อสร้างวัดวิปัสสนากรรมฐานฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และได้ก่อสร้าง วัดภูเขาแก้ว ขึ้นเป็นรูปร่าง
- ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ พ.ศ.๒๔๙๐ พระปู่แย จาก วัดบูรพาอุบล มาจำพรรษา ๑ ปี
- ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ท่านพระปู่แดง จากวัดบูรพามาดูแลรักษา
- ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านพระอาจารย์ เหลียว ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ดูแลรักษาวัดนาน ๑๑ ปี
- หลังจากปี พ.ศ.๒๕๐๙ วัดนี้ไม่มีพระภิกษุเข้าจำพรรษาระยะหนึ่ง แม้ว่าจะขาดพระภิกษุจำพรรษาแต่มีแม่ชี ดูแลรักษาศาสนสมบัติแห่งนี้อยู่ ๒ ท่าน คือแม่ชี พัน และ แม่ชี ปลา

วัดดอนธาตุได้ รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๔๓ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

ปัจจุบัน วัดดอนธาตุ ยังมีสถานปฏิบัติธรรม อยู่จำพรรษา และอัฐบริขาร ของหลวงปู่เสาร์ หลงเหลืออยู่ เช่น กุฎิ แท่นหินนั่งสมาธิ ที่เดินจงกรม




เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
ขนาดฐานเจดีย์ ๑๖x๑๖ เมตร ความสูงถึงยอดฉัตร ๓๓ เมตร




ภายในองค์เจดีย์เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้้น อัฐธาตุ และอัฐบริขารของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

 




กุฏิที่พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เคยอยู่จำพรรษา
เป็นกุฏิไม้เล็กๆ ขนาดห้อง ๒.๕๐x๔.๐๐ ตารางเมตร ยกใต้ถุนสูง ๑.๒๐ เมตร


พระนอน ครสวรรค์วิเวกพุทธกิจศาสนา (ปางไสยาสน์)
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ โดยพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์ดี ฉนฺโน  
โดยพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นช่างปั้น
มีความตอนหนึ่งว่า "ได้สร้างขึ้นไว้เพื่อสักการบูชา กำหนดเดือน ๑๒ แต่ พ.ศ.๒๔๘๒
ถึงฤดูเดือนยี่เพ็ญ ให้พากันทำสักการะทุกปี เทอญ"


ที่นั่งวิปัสสนากรรมฐาน ของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล


ทางจงกรม ของ บูรพาจารย์ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล



อ่างล้างเท้า ปัจจุบันหาชมยาก อยู่ที่มุมบันไดขึ้นกุฏิพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล


ต้นเดือยไก่ วัดดอนธาตุ เป็นต้นไม้ที่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
ได้มาหยุดนั่งพัก สนทนาญาติโยม เป็นจุดแรก


กุฏิพระหลังเล็กๆ ของวัดดอนธาตุ สร้างอยู่ริมแม่น้ำมูล ระยะห่างกันพอสมควร


พัทสีมา (เขตแดนสงฆ์) วัดดอนธาตุ


ต้นไม้สูงใหญ่ให้ร่มเงาร่มรื่น - วัดดอนธาตุ


ชาวบ้านข้างวัดดอนธาตุ กับเห็ดไค (เห็ดป่าชนิดหนึ่ง)
เก็บไปเพื่อประกอบอาหารถวายพระวัดดอนธาตุ

 
เห็ดไค นำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้มจิ้มน้ำพริก แกง หมก
(ชาวบ้านว่าอย่างน้้น!)


วิธีหาเห็ดชนิดนี้ คือ ใช้ไม้ยาวประมาณ 1.5 เมตร เขี่ยใต้ใบไม้จะพบเห็ดขึ้นอยู่จำนวนมาก
(เห็ดชนิดนี้ขึ้นอยู่ใต้ต้นไม้สูงใหญ่ ที่มีใบไม้ร่วงหล่นทับถมกันมานาน จนทำให้ดินเกิดความชุ่มชื้น+อุณหภูมิที่เหมาะสม)


เรือข้ามฟาก ของวัดดอนธาตุ บริการรับ-ส่งฟรี


เกาะดอนธาตุ (มุมซ้ายมือที่มีต้นไม้หนาแน่น) ที่ตั้งวัดดอนธาตุ ถูกโอบล้อมด้วยลำน้ำ "แม่มูล"
3369  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ แกงเผ็ดหมูเด้ง เมื่อ: 11 ตุลาคม 2558 17:35:02
.


 
แกงเผ็ดหมูเด้ง   

เครื่องปรุง
- หมูบดหรือหมูเด้ง 300 กรัม
- หัวกะทิ 1 ถ้วย
- ถั่วฝักยาวหั่นท่อนสั้น ½ ถ้วย
- พริกเม็ดใหญ่หั่นแฉลบ 1 เม็ด
- ใบโหระพา
- น้ำตาลปีบ ¼ ช้อนชา 
- น้ำปลาดี


เครื่องปรุงน้ำพริกแกงเผ็ด (สูตรนี้ใช้ได้หลายครั้ง)
- พริกแห้งเม็ดใหญ่แกะเมล็ด 9-10 เม็ด
- กระเทียมไทย 2 หัว
- หอมแดง 4 หัว
- ตะไคร้หั่นหยาบ 1 + ½ ช้อนโต๊ะ
- ข่าหั่นหยาบ ½ ช้อนโต๊ะ
- ผิวมะกรูดหั่นหยาบ ¾  ช้อนโต๊ะ
- กะปิ 1 ช้อนชา

* โขลกเครื่องแกงทั้งหมดรวมกันให้ละเอียด ตามด้วยกะปิโขลกพอเข้ากัน



วิธีทำ
1.เคี่ยวหัวกะทิ 2 ช้อนโต๊ะ ด้วยไฟอ่อน พอแตกมัน ใส่พริกแกงลงไปผัดให้หอม
2.เติมกะทิ ¼ ถ้วย คนให้เข้ากันกับพริกแกง
3.ใส่หมูบดหรือหมูเด้ง ปั้นก้อนกลม และถั่วฝักยาว
4.พอหมูและถั่วเกือบสุก ใส่หัวกะทิที่เหลือ เร่งไฟให้เดือดใส่ใบโหระพา และพริกสดหั่นแฉลบ
5.ปรุงรสด้วยน้ำปลาดีและน้ำตาลปีบ






เคี่ยวหัวกะทิด้วยไฟอ่อน พอกะทิแตกมัน ใส่พริกแกงลงไปผัดให้หอม


เติมกะทิ¼ ถ้วย คนให้เข้ากันกับพริกแกง
ใส่หมูบดหรือหมูเด้ง ปั้นก้อนกลม


ใส่ถั่วฝักยาว


พอหมูและถั่วเกือบสุก ใส่หัวกะทิที่เหลือ เร่งไฟให้เดือดใส่ใบโหระพา และพริกสดหั่นแฉลบ
ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลปีบ
(* การแบ่งกะทิไว้ใส่หลังสุดเป็นบางส่วนนั้น เพื่อไม่ให้กะทิแตกมันมากเกินไป)


 

ติดตามสูตรอาหารและเคล็ดลับการประกอบอาหารคาว-หวาน มากมายกว่า 200 สูตร
ได้ที่  "สุขใจในครัว" สุขใจดอทคอม
www.sookjai.com
3370  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย เมื่อ: 11 ตุลาคม 2558 11:41:58
.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย



ดอกบัว

พืชพรรณ ในพุทธศาสนา : ดอกบัว

ดอกบัวเพิ่งจะเป็นจุดสนใจ พิเศษในสัปดาห์นี้เมื่อมีการปรับภูมิทัศน์ในทำเนียบรัฐบาล และมีอ่างบัวมาวางไว้ เจ้าหน้าที่ระบุว่าเพื่อความสวยงามและเป็นสิริมงคล

ดอกบัวเป็นไม้น้ำ เกิดขึ้นได้ทั่วไปโดยเฉพาะในแถบเขตร้อน คุณลักษณะเด่นของดอกบัว ใบบัว ก็คือ ไม่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกใดๆ แม้เกิดขึ้น เจริญงอกงามในพื้นที่ที่ดูสกปรก เลอะเทอะ เต็มไปด้วยโคลนตมก็ตาม

 จากเอกสารบรรยายเรื่องบัวกับวัฒนธรรมไทย โดยนาวาอากาศตรีหญิง ปริมภาก ชูเกียรติมัน กล่าวถึงเรื่องของดอกบัวมีอยู่ในไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง มี ๗ ชนิด มีชื่อดังนี้ คือ นิลุบล รัตตบล เสตุบล จงกลนี บัวแดง บัวขาวและกมุท

ในรายงานเล่มเดียวกันนี้ได้กล่าวถึงพระยาวินิจวนันดรได้รวบรวมลักษณะของพืชที่ปลูกเลี้ยงกันในเมืองไทยและกล่าวถึงบัวไทย ๑๑ ชื่อ คือ บัวสายขาวดอกเข็ม บัวสายขาวหรือ สัตตบุษย์ บัวสายแดง สัตตบรรณ จงกลนี บัวผัน บัวเผื่อน บัวผันสีครามแก่หรือนิลุบล บัวหลวงดอกไม้ซ้อนสีขาวบัวหลวงดอกไม้ซ้อนแดง สัตตบงกช สัตตบุษย์

ดอกบัวที่เป็นสัญลักษณ์ในทางพุทธศาสนาหมายถึง ความบริสุทธิ์ไม่ข้องติดกับกิเลสหรือความสกปรกใดๆ แม้พัวพันอยู่กับสิ่งนั้นก็ตาม

ภาพพระพุทธรูปทั้งรูปวาดและรูปปั้น ไม่ว่าประทับยืนหรือนั่ง จะประทับอยู่บนดอกบัว อันหมายถึงความพ้นไปแล้ว อยู่เหนือความบริสุทธิ์ไม่ข้องติดกับกิเลสที่เป็นต้นเหตุของการเกิดมีเกิดเป็น พ้นจากโลกธรรมทั้งปวง

บัวที่ใช้เป็นสัญลักษณ์บูชาพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป จะใช้บัวหลวงดอกใหญ่ เช่น บัวสัตตบุษย์สีขาวดอกใหญ่

นอกจากนี้บัวยังใช้เป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมก็คือ การนำรูปแบบของบัวมาประดับเป็นยอดเสา พระอุโบสถหรือมหาวิหาร เรียกว่า บัวกลุ่มหัวเสาสำหรับเสากลาง และเรียกบัวแวงหรือบัวเกสรหัวเสา สำหรับเสารูปทรงเหลี่ยม การนำสัญลักษณ์ของดอกบัวมาเป็นส่วนประกอบของหัวเสาก็คือความหมายของการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกบัวหรือด้วยความบริสุทธิ์




พืชพรรณในพุทธศาสนา : ต้นโพธิ์

ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ใหญ่ ชื่อจริงในภาษาบาลีชื่อว่า อัตสัตถะ แต่ที่เรียกต้นโพธิ์เนื่องจากเป็นต้นไม้ใหญ่อันเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในขณะตรัสรู้

การจะเรียกต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ต้องเรียกว่า ต้นศรีมหาโพธิ และก็ใช้เรียกหน่อที่เติบโตจากต้นศรีมหาโพธิเช่นเดียวกัน

คำว่า โพธ แปลว่า ความรู้ ความเข้าใจ

โพธิ์ แปลว่า ความตรัสรู้ คือความรู้ในความเป็นจริงที่เรียกว่า รู้ในอริยสัจ

พุทธหรือพุทธะ เป็นคำนาม แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว

คำว่า ตรัสรู้หรือความรู้ในความจริง หมายความในทางภาษาเรียกว่า รู้แจ้ง รู้ชัด

ในความหมายที่ปรากฏอยู่ในปฐมเทศนา พระพุทธเจ้าได้กล่าวแก่ปัญจวัคคีย์มีถ้อยคำบางคำที่บอกถึงความหมายของคำว่ารู้แจ้งรู้ชัด

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชา แสงสว่างได้บังเกิดแก่เราในธรรมที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน คำว่า จักษุ ญาณ ปัญญา วิชา แสงสว่าง หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ อย่างที่สุด

ในภาษาอังกฤษน่าจะหมายถึงคำว่า ENLIGHTMENT

มีความเชื่อกันในประเทศไทยว่า ได้มีการนำหน่อศรีมหาโพธิมาปลูกและเจริญเติบโตในประเทศไทยอยู่หลายแห่ง เช่น ที่อำเภอศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี เป็นต้น

วัดวาอารามทางพุทธศาสนาหลายแห่งจึงมักจะปลูกหน่อศรีมหาโพธิไว้เป็นสัญลักษณ์ที่เรียกว่าบริโภคเจดีย์ เพื่อระลึกถึงสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและหมายทางนามธรรมก็คือ ณ ที่นี้ พระพุทธศาสนาอันหมายถึงความรู้แจ้ง รู้จริง ในอริยสัจนั้น ได้หยั่งรากลง ณ ที่นี้แล้ว





ต้นไม้ในพุทธศาสนา - ต้นสาละ

สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ใช้แสดงความหมายบางอย่างทางพุทธศาสนา ที่เป็นทั้งการกล่าวถึงทางพุทธประวั และงานศิลปะทางศาสนาก็คือต้นไม้ที่แสดงถึงความหมายต่างๆ กัน

ต้นไม้ชนิดแรกที่กล่าวถึงในพุทธประวัติก็คือ การประสูติของพระพุทธเจ้าที่ตำบลลุมพินี ณ ใต้ต้นสาละ ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างทางกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ

ต้นสาละ ชื่อในทางบาลี สาละ, อสสกณณ, อสสกณณโณ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ก็ประทับอยู่ที่ใต้ต้นสาละริมแม่น้ำเนรัญชราก่อนจะเสด็จไปประทับที่ใต้ต้นโพธิ์และตรัสรู้ ในสมัยที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานพระพุทธองค์ก็ไปประทับอยู่ใต้ต้นสาละคู่

ต้นสาละจึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า

ต้นสาละนั้นมี ๒ ชนิด คือ สาละอินเดียกับสาละลังกา สาละอินเดียจะเกี่ยวพันกับพระพุทธเจ้าดังกล่าวข้างต้น สาละอินเดียกับสาละลังกาอยู่ในวงศ์ที่แตกต่างกัน สาละอินเดียอยู่ในวงศ์พวกเดียวกับไม้พะยอม เต็ง รัง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ออกดอกสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม

ส่วนสาละลังกาหรือต้นลูกปืนใหญ่ เป็นพืชอยู่ในวงศ์ต้นจัก มีดอกสีชมพูอมเหลืองแดง กลิ่นหอม ที่วัดพระนอนจักรสีห์ สิงห์บุรี ปลูกไว้ด้านทางเข้าวิหารพระนอน สาละลังกาไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า




ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

ต้นโพธิ์

ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในวันเพ็ญเดือนหก เมื่อ ๒,๖๐๐ ปี

เดิมต้นโพธิ์มีชื่อว่า อัตสัตถะต้นอัตสัตถะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ วันตรัสรู้นั้น เรียกต้นศรีมหาโพธิ

- โพธ แปลว่า ความรู้ ความเข้าใจ
- โพธิ แปลว่า ความตรัสรู้

เพราะฉะนั้น ต้นโพธิ์จึงเป็นสัญลักษณ์หลายประการทางพุทธศาสนา เช่น เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
- โพธิบัลลังก์ อาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิ
- โพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นไปในฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้
- โพธิสัตว์ ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

ปัจจุบัน ต้นศรีมหาโพธิที่พุทธคยาในอินเดีย เป็นหน่อที่ ๓ ของต้นศรีมหาโพธิที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

ในประเทศไทย วัดทางพระพุทธศาสนาจึงมักจะปลูกต้นโพธิ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ต้นโพธิ์สำคัญต้นหนึ่งในประเทศไทยคือ ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี เชื่อกันว่าเป็นหน่อหนึ่งของต้นศรีมหาโพธิที่พระพุทธเจ้าประทับ และได้นำมาปลูกในสมัยทวารวดี คือ ประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว





ดอกบัว
ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ ภาพพระพุทธเจ้าไม่ว่าจะเป็นพระ พุทธรูปที่เป็นภาพวาดหรือภาพพระบฏ หรือรูปปั้นแกะสลักใดๆ ก็ตาม ก็จะมีดอกบัวเป็นสัญลักษณ์รองที่ประทับ ไม่ว่านั่งหรือยืนเสมอ

การที่ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ เพราะดอกบัวเกิดในน้ำ ในพื้นที่ชื้นแฉะ แต่จะไม่มีสิ่งใดติดกับดอกบัวได้

ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีคำบริกรรมอยู่คำหนึ่งที่ใช้ท่องในการบูชาพระพุทธเจ้า คือคำว่า โอม มณี ปัทเม หุม (ภาษาท้องถิ่นในทิเบต เรียก โอม มานี ปาเม หุม)

โอม มณี ปัทเม หุม จึงมีความหมายว่า ปัญญาหรือความรู้ชอบหรือการตรัสรู้อริยสัจของพระพุทธเจ้าเป็นความบริสุทธิ์

ในสัญลักษณ์อีกประการของดอกบัวคือ การแบ่งภูมิ ปัญญาของสัตว์ผู้จะรู้ธรรมได้เป็นสี่พวก คือ

พวกที่หนึ่งที่เรียกว่า บัวเหนือน้ำ ที่จะบานในวันรุ่งขึ้น หมายถึงสัตว์โลก (หรือมนุษย์) ที่มีสติปัญญา บารมี ที่จะรู้ธรรมได้โดยง่าย เพียงแค่การฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเพียงหนเดียว

พวกที่สองเรียกว่า บัวปริ่มน้ำ รอโอกาสที่จะบานในเวลาต่อไป คือ สัตว์โลก (มนุษย์) ที่จะรู้ธรรมต้องมีความเพียรพยายามมากกว่าพวกแรก

พวกที่สามเรียกว่า บัวใต้น้ำ รอวันที่จะบานในโอกาสต่อไป เป็นพวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่ต้องมีสัมมาทิฏฐิที่พิจารณาศึกษาและทำความเพียรเพื่อบรรลุธรรมอันเกิดขึ้นได้

พวกที่สี่คือพวกไร้สติปัญญา มีความเชื่อที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ไม่อาจจะเข้าใจธรรมของพระพุทธเจ้าได้





ต้นไทร
พุทธประวัติเล่าว่า ในสัปดาห์ที่ ๕ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึงเสด็จข้าม แม่น้ำเนรัญชราไปยังต้นไทรอชปาลนิโครธ

ขณะเสวยวิมุติอยู่นั้น ธิดามารทั้งสาม คือ นางราคะ นางอรตี และ นางตัณหา ได้เข้าเย้ายวนด้วยเสน่ห์กามคุณต่างๆ นานา

เรื่องนี้มักมีภาพเขียนในผนังพระอุโบสถตรงข้ามพระพุทธรูปในวัดต่างๆ

ในความหมายทางธรรมะแล้ว นางราคะ หมายถึง ความกำหนัด ยินดีในกามารมณ์ ความใคร่ในกามคุณ (กามารมย์หมายถึงความยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส)

นางอรตี ความหมายคือ ความไม่ยินดี ไม่พอใจ ความอิจฉา ริษยา

นางตัณหา หมายถึง ความอยากอันมีความเกิดอีกเป็นธรรมดา เจือด้วยความกำหนัด ด้วยราคะ เพลิดเพลินใน กามารมณ์นั้น

เพราะฉะนั้น ต้นไทร ในความหมายทางธรรม และทางศาสนา คือการเตือนให้สังวรในเรื่องของกามคุณและความอิจฉาริษยานั้นแล




ไม้มุจลินท์

มุจลินท์ หรือ ต้นจิก เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตสุขในสัปดาห์ที่หก เมื่อเสด็จออกจากต้นไทร อชปาลนิโครธ

ตามพุทธประวัติระบุว่า เกิดฝนตกหนักเจือด้วยลมหนาวทั้ง ๗ วัน ทำให้มีพญานาค ๗ เศียร ชื่อมุจลินท์ (ชื่อเดียวกับต้นไม้) มาขดตัวรอบพระพุทธเจ้า ๗ รอบ และแผ่พังพานป้องกันลมหนาว

ครั้นเมื่อฝนหายแล้วจึงแปลงตนเป็นมนุษย์มายืนเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เบื้องหน้า ซึ่งในกาลนั้นพระพุทธเจ้าเปล่งอุทานวาจา (หมายความว่า ทรงกล่าวขึ้นโดยมิได้มีผู้ใดถาม) ถึงผลของการเข้าถึงนิพพานว่า ที่แท้จริงความสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัดรู้เห็นตามความเป็นจริง

ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ความปราศจากความกำหนัดคือ ความล่วงถามข้อเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสสมิมานะ คือ ความถือตัวออกให้หมดไปเป็นสุขอย่างยิ่ง

นี่คือสาระสำคัญของการแสดงธรรม ณ บริเวณไม้มุจลินท์หรือต้นจิก

ส่วนเรื่องพญานาค ๗ เศียรนั้น เป็นเรื่องราวที่ปรากฏในพุทธประวัติ ซึ่งอยู่ในความเชื่อของพุทธศาสนิกชนกันเป็นอันมาก รวมทั้งมีผู้แปลความหมายของเศียรทั้ง ๗ ก็เกิดความเชื่อในความสัมพันธ์ของเลข ๗ ที่เกี่ยวกับพุทธประวัติบางตอนตั้งแต่ประสูติจนนิพพาน และในความหมายทางปริศนาธรรมในข้อนี้ก็คือ

๗ เศียร หมายถึง วิสุทธิ ๗ ประการ วิสุทธิในคำแปลจากพจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต แปลไว้ดังนี้
วิสุทธิ ความบริสุทธิ์ ความหมดจด การชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมายคือ พระนิพพาน มี ๗ ขั้น คือ
๑.สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
๒.จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิตต์
๓.ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔.กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕.มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง
๖.ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน
๗.ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ กล่าวคือ มรรคญาณ

สรุปก็คือ การกล่าวคำอุทานของพระพุทธเจ้า ณ ต้นมุจลินท์หรือต้นจิก ก็กล่าวถึงผลหรือความสุขอันแท้จริงเป็นความสุขที่ปราศจากอามิสเจือปนจากการบรรลุจุดหมายคือนิพพาน หรือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า




ต้นเกด

ต้นเกด อีกชื่อเรียกว่า ราชายตนะ เป็นต้นไม้พุ่มสูงประมาณ ๑๐-๑๓ เมตร ลำต้นตรง เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับที่ร่มไม้เกดนี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายหลังจากตรัสรู้

ในพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ ร่มไม้เกดนี้ในสัปดาห์ที่ ๗ หรือสัปดาห์สุดท้ายของการตรัสรู้ หลังจากได้ทรงอดอาหารมาเป็นเวลา ๔๙ วัน (ไม่จำเป็นต้องสงสัยเรื่องของการอดอาหารของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นเรื่องที่มิได้เกิดประโยชน์ต่อการพ้นทุกข์ทางพุทธศาสนา)

ณ โคนต้นไม้นี้เองที่มีเรื่องราวว่า มีพ่อค้า ๒ คน ชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ผ่านมาได้เห็นพระพุทธเจ้ามีพระรัศมีอันผ่องใส บังเกิดความเลื่อมใสจึงนำ ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผงมาถวาย (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ของพระธรรมปิฎก ปอ.ปยุตฺโต กล่าวว่า คือ ข้าวตู  ส่วนเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต ให้ความหมายว่า บาลีเรียกสัตตุผงว่า มันถะ ข้าวตากที่ตำละเอียด สัตตุก้อนเรียก มธุบิณฑิกะ คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อน) และประกาศตนเป็นอุบาสกคู่แรกของพระพุทธศาสนาอย่าง (อุบาสก แปลว่า คฤหัสถ์ชายผู้นับถือพุทธศาสนาอย่างมั่นคง) (ข้อสังเกตก็คือ ขณะนั้นพระพุทธเจ้ายังมิได้ประกาศพระศาสนาหรือเทศนาในเรื่องใด แต่กลับมีผู้ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชนขึ้นก่อน)

ความสำคัญของเรื่องต้นเกดหรือราชายตนะก็คือ การที่พระพุทธเจ้าอนุโมทนาในศรัทธาของตปุสสะกับภัลลิกะ ทรงลูบพระเกศาตกลงมา ๘ เส้น มอบให้พ่อค้าทั้งสองซึ่งเล่ากันต่อมาก็คือ การนำพระเกศาทั้ง ๘ เส้นมาบรรจุอยู่ในเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้งทุกวันนี้

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ปริศนาธรรมของพระเกศา ๘ เส้นนั้นมีความหมายอย่างไร

ถ้าจะตีความในประเด็นนี้ก็คือ ความต่อเนื่องไปสู่ปฐมเทศนาหรือธัมมจักรกัปปวัตนสูตร ที่กล่าวถึงหนทางอันประเสริฐที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ คือ อริยมรรคอันมีองค์ ๘ มีนัยยะสำคัญก็คือ ทางอันประเสริฐนั่นเอง
 




ต้นหว้า
ต้นหว้า เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง ๑๐-๓๐ เมตร ลำต้นตรง กลุ่มใบเป็นพุ่มกลมหนา จึงมีร่มเงาที่ให้ความสงบเยือกเย็น

ต้นหว้านี้เป็นต้นไม้ต้นที่สองที่กล่าวในพุทธประวัติว่า เมื่อครั้งปฐมวัยเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา ได้เสด็จตามพระเจ้าสุทโธทนะไปทำพิธีแรกนาขวัญหรือการเริ่มต้นฤดูกาลของการปลูกข้าว เจ้าชายสิทธัตถะในเวลานั้นได้หลีกผู้คนไปนั่งสมาธิในระดับปฐมฌานอยู่ใต้ต้นหว้า

การที่เจ้าชายสิทธัตถะเจริญสมาธิได้ระดับปฐมญาณเมื่อพระชนมายุได้ ๙ พรรษานี้เอง ที่เป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดและการปฏิบัติเพื่อหาทางไปสู่ความพ้นทุกข์ในการตรัสรู้ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ในวันเพ็ญเดือนหก ดั่งที่ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติ

กล่าวคือเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในวัยเยาว์จนมีพระชนมายุถึง ๒๙ พรรษานั้น พระองค์ได้รับการปรนนิบัติให้เสวยสุขในทางโลกก็คือการยินดีรักใคร่ พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ อย่างที่สุด (ที่เรียกว่าการบำเรอตนด้วยกามคุณ)

แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นว่าสิ่งเหล่านี้หาใช่ความสุขที่แท้จริงไม่ ภายหลังการออกบรรพชาและไปศึกษาเล่าเรียน ไม่ว่าเรื่องของการเจริญสมาธิภาวนาจนถึงระดับสูงสุด หรือการทรมานตน หรือความเชื่อว่า การทรมานตนเป็นการเผากิเลสก็ตาม ก็หาได้พ้นไปจากความทุกข์ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปมิได้

จึงเกิดกระบวนความคิดเรื่องทางสายกลางคือ การปฏิบัติตนที่จะไม่บำเรอตนด้วยกามคุณ และไม่ทรมานตนให้ยากลำบาก เจ้าชายสิทธัตถะจึงใช้วิธีพิจารณาโดยสมาธิและปัญญาดังที่พระองค์ได้เคยปฏิบัติเมื่อครั้งเป็นเด็กจนค้นพบว่าอริยสัจ ๔ คือ ความจริงแท้ ๔ ประการซึ่งรวมทั้งหนทางแห่งความดับทุกข์ คือ อริยมรรคอันมีองค์ ๘ หรือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ต้นหว้าจึงเป็นต้นไม้ที่สำคัญปรากฏชื่อในพุทธประวัติ





ต้นมณฑา
ต้นมณฑา หรือมณฑารพ เป็นไม้พุ่มสูง ๓-๑๐ เมตร เป็นวงศ์เดียวกับจำปา จำปี และยี่หุบ ออกดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม

ในพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เหล่าเทวดานางฟ้า ต่างโปรยปรายดอกมณฑารพ ถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งในขณะนั้นพระมหากัสสปะ อัครสาวกที่พระพุทธเจ้ายกย่องเป็นเลิศในทางธุดงควัตร คืออยู่ในราวป่าได้เห็นดอกมณฑารพร่วงหล่น จึงได้บอกกับพระภิกษุที่ตามมาด้วยกันว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว

พระมหากัสสปะเดินทางมาถึงหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๗ วัน และกำลังจะถวายพระเพลิง จึงถวายความเคารพพระพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการเอาใบหน้าไปซบกับพระบาทพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพนับถืออย่างยิ่งในสมัยพุทธกาล

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะเป็นประธานในการสังคายนาพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก





ประดู่ลาย
ประดู่ลายเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นตรง ใบเป็นช่อ ๓-๘ ใบ ดอกสีเหลืองอ่อนปนขาว เป็นไม้พันธุ์ดั้งเดิมของอินเดีย แถบภูเขาหิมาลัย

ในภาษาบาลีเรียก อสนะ หรือ กปิล ชาวอินเดียเรียก ลิสโซ ชาวฮินดูเรียก ลิสสู ชื่อในภาษาพื้นเมือง กปิลา สีสป

ในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันในท้องถิ่น เช่น อุบลราชธานีเรียกชะยูง, จันทบุรีเรียกประดู่ตม, ชลบุรีเรียก ประดู่ลาย, ตราดเรียกประดู่เสน, ปราจีนบุรีเรียกแดงจีน, สุรินทร์เรียกกระยูร กระยง

ความเป็นมาของประดู่ลาย คือหัวข้อเรื่อง “อันเป็นสาระสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ภิกษุ เรื่องที่มิใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญ ก็ถือได้ว่ามิใช่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน”

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ระบุว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงถือใบประดูลาย ๒-๓ ใบ ด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดูลาย ๒-๓ ใบ ที่เราถือด้วยฝ่ามือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบ ที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่า พระเจ้าข้า

อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมากก็เพราะเหตุไรเราจึงไม่บอก เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย คลายความกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่บอก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเราได้บอกแล้ว เราได้บอกแล้วว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็เพราะเหตุไรเราจึงบอก เพราะสิ่งนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย นิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงบอก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

สรุปก็คือ เรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เทศนาแก่พุทธศาสนิกชนนั้นมีเรื่องเดียวก็คือ เรื่องของทุกข์และวิธีการพ้นทุกข์ และในข้อนี้เองที่พุทธศาสนิกชนจะได้ใช้พิจารณาว่าคำเทศนาของพระภิกษุทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น คำเทศนา สั่งสอน ศีลวรรตของพระภิกษุนั้น เป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาสั่งสอน

คำสอนการปฏิบัติที่แท้จริงทางพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจในเรื่องทุกข์และการพ้นทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นนอกจากนี้หาใช่สาระสำคัญหรือจุดหมายของพุทธศาสนา





ตาล
ตาลเป็นไม้ยืนต้นตระกูลปาล์ม มีใบใหญ่ แผ่กว้าง ใบตาลแห้งนำมาดัดแปลงเป็นพัด หรือใช้บังร่มเงาแดดได้ดี

ในพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ พระสารีบุตร ซึ่งนั่งฟังธรรมอยู่นั้นได้พัดถวายแก่พระพุทธเจ้า และได้บรรลุพระอรหันต์ ณ ที่นั้น

พัดที่พระสารีบุตรพัดถวายนั้น น่าจะเป็นตาลปัตรที่ผู้คนในสมัยพุทธกาลใช้สอย แม้จนปัจจุบันก็ยังใช้ใบตาลมาดัดแปลงเป็นพัดใช้ระบายความร้อน และรวมทั้งบางคนก็ใช้เป็นแผงบังแดด ขณะเดินทางในที่แจ้งด้วย

ปัจจุบันตาลปัตรในประเทศไทยได้พัฒนารูปแบบและเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยของพระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวัสดุ เช่น ผ้าปักด้วยสีวิจิตรพิสดาร มีทั้งรูปแบบที่แสดงพุทธธรรมในระดับต่างๆ และแสดงถึงฐานานุรูปของพระสงฆ์ไทย

ในประเทศไทยพระภิกษุใช้ตาลปัตรดัดแปลงเป็นรูปพัดด้ามยาว ใช้บังหน้าในพิธีกรรมหรือการสวด และแสดงตำแหน่งในทางการปกครองของพระสงฆ์ด้วย

แต่พระภิกษุในประเทศพม่าและศรีลังกา ยังใช้ตาลปัตรที่ทำด้วยใบลานด้ามสั้น ซึ่งใช้ทั้งในเวลาสวดมนต์และพัดคลายร้อนด้วย




ต้นไทร

ต้นไทรเป็นต้นไม้ใหญ่ มีใบร่มรื่น ปกคลุมให้ความร่มเย็น ชื่อในบาลี อชปาลนิโครธ แปลว่า ที่พักของคนเลี้ยงแกะ ชื่อในฮินดูเรียก ปันฮัน ในประเทศไทยบางแห่งเรียก บันยัน

ต้นไทรมีความเกี่ยวข้องในพุทธศาสนาที่สำคัญ ๒ ตอน คือ

ตอนที่หนึ่ง ในเวลาเช้าของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนที่จะตรัสรู้ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ใต้ต้นไทรนั้น นางสุชาดานำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองมาถวาย เมื่อเสวยข้าวมธุปายาสไปแล้วได้นำถาดทองนั้นลอยน้ำในแม่น้ำเนรัญชราแล้วเสด็จไปประทับ ณ ต้นศรีมหาโพธิ์ และตรัสรู้ ณ โคนไม้นั้น

หลังจากตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วทรงประทับเสวยวิมุตสุขอยู่ ณ ใต้ต้นไม้หลายชนิดในบริเวณนั้น ในสัปดาห์ที่ ๕ ทรงกลับมาประทับวิมุตสุข ณ โคนไม้ต้นไทรนิโครธอีกครั้ง

และในครั้งนี้มีเหตุการณ์อันสำคัญก็คือ การตรัสตอบคำถามพราหมณ์ หึ ทุกชาติ (พราหมณ์ขี้บ่น) ที่ถามพระพุทธเจ้าว่า "บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ก็แลธรรมเหล่าไหนทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์"

พระพุทธเจ้าจึงทรงกล่าวว่า

"พราหมณ์ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึหึ (ไม่ขี้บ่น ด่าว่า ผู้อื่น) ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด (การที่ไม่มีกิเลสเสมือนว่าได้ฟอกล้างกิเลสที่เหมือนน้ำฝาดออกหมดสิ้น) มีตนอันสำรวมถึงที่สุดแห่งเวท (หรือความรู้อันเป็นที่สุด) มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว (เพราะพรหมหมายถึงผู้อยู่เดียวดาย ไม่ข้องแวะด้วยกามคุณ) พราหมณ์นั้นไม่มีกิเลสเครื่องผูกขึ้นในอารมณ์ไหนในโลก คือไม่มีการเกิดขึ้นของกิเลสเมื่อมีการ กระทบกันของอายตนะ ควรกล่าวว่า ตนเป็นพราหมณ์โดยธรรม

ในพระอรรกถาเรื่องปาสกสิสูตรกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังต้นไทรนิโครธนั้น ทรงเฟ้นธรรม ซึ่งมีผู้รู้หมายความว่า ธรรมสำคัญที่กล่าวถึงคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ หรือธรรมอันเกื้อกูลให้ตรัสรู้

ในความหมายแห่งสัญลักษณ์ของต้นไทร เนื่องจากไทรเป็นต้นไม้ใหญ่ ร่มรื่น มีรากไทรย้อย ที่จะแพร่ขยายพืชพรรณออกไปได้โดยรอบ พุทธศาสนาจึงเป็นดั่งต้นไทรที่พร้อมจะขยายออกไปให้ความร่มเย็นแก่โลก




ต้นโสก อโศก

อโศก แปลความหมายคือความไม่โศกเศร้า เป็นความรักที่ไม่โศกเศร้า หรือไม่เห็นแก่ตัว เรียกว่าความเมตตา จากพจนานุกรมแปลไทย-ไท อ.เปลื้อง ณ นคร เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ลำต้นโตมาก ให้ความร่มเย็นดี ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง สีส้ม มีกลิ่นหอม อินเดียเรียก ASHOKA TREE เป็นสัญลักษณ์ของความรักของชาวตะวันออก

อโศกปรากฏอยู่ในอรรถกถา (แปลว่า คัมภีร์อธิบายความในพระไตรปิฎก) ชื่อ อรรถกถาปาริฉัตรตกวิมาน) ความย่อตอนหนึ่งว่า

“พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารใกล้กรุงสาวัตถี รับนิมนต์ฉันภัตตาหารเช้าที่ปะรำใหญ่หน้าบ้านอุบาสกท่านหนึ่ง มีหญิงหาฟืนคนหนึ่งเห็นต้นอโศกมีดอกบานสะพรั่งได้นำเอาดอกอโศกมาทำเป็นช่อ (ร้อยพวงมาลัย) นำไปบูชา โดยเอาดอกไม้นั้นปูลาดรอบอาสนะ”

ในความหมายของอโศก ก็คือไม่โศกเศร้า เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตา การนำเอาดอกอโศกมาปูลาดรอบพระอาสนะพระพุทธเจ้าในความหมายก็คือ ความเป็นผู้มีกลิ่นหอม คือเป็นบุคคลอันควรบูชา เป็นผู้ทรงไว้ด้วยความเมตตาอันเป็นสิ่งสูงสุดของความรัก เพราะความเมตตาไม่เจือด้วยอามิส ด้วยกิเลส

ในวรรณคดีทางมหายานเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี ได้กล่าวถึงความงดงามของลานอโศกที่มีทั้งกลิ่นหอมและร่มรื่นที่ทั้งสองได้มาพลอดรักกัน และกล่าวถึงความรักอันแท้จริงว่า เปรียบดังสีดำของศอ (หรือคอ) พระศิวะผู้กลืนกินพิษร้ายที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทรที่ทิ้งไว้ที่จะทำลายโลก ก็ด้วยความรักของพระศิวะนั่นเอง

นอกจากนี้ชื่ออโศกอาจหมายถึงพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดีย ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเป็นผู้อุปถัมภ์และกระจายความเชื่อของพระพุทธศาสนาสู่โลกกว้าง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกของเอเชีย


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด


3371  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: ไข่ - ไข่เยี่ยวม้า เมื่อ: 08 ตุลาคม 2558 13:35:09
.


ไข่

สำนักโภชนา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไข่ไก่และไข่เป็ดเป็นอาหารที่มีการบริโภคอย่างกว้างขวาง เพราะหาซื้อง่าย ราคาไม่สูงมาก ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย มีรสอร่อย ประการสำคัญ ไข่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยให้สารอาหารที่จำเป็นหลายอย่าง (ลูกไก่และลูกเป็ดขณะเจริญเติบโตอยู่ในไข่ก็ใช้สารอาหารในไข่เจริญเติบโตขึ้นเป็นชีวิตใหม่) ต่อมาเมื่อมีการศึกษา วิจัย เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับไข่และภาวะการเกิดโรคของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร ทำให้ผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าเป็นอาหารที่บำรุงหรือทำร้ายร่างกายกันแน่

คุณค่าทางโภชนาการของไข่ ไข่ไก่ 1 ฟอง น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 50 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี โปรตีน 7 กรัม ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ ได้จัดเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุด มีคุณค่าทางชีวภาพของโปรตีน (Biological Value-BV) เป็น 100 หมายความว่าเป็นโปรตีนที่สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพในการดูดซึมสูงกว่าโปรตีนชนิดอื่น มีไขมัน 6 กรัม และยังให้วิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญมีประโยชน์ ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามิน บี1, บี2, บี3, บี6 และบี12 ธาตุเหล็ก เลซิทิน เป็นต้น ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของไข่เป็ดก็ใกล้เคียงกัน

คอเลสเตอรอลกับการบริโภคไข่ คอเลสเตอรอลเป็นสารอาหารประเภทไขมัน แต่ไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย พบในอาหารที่ได้จากสัตว์ในปริมาณที่แตกต่างไปตามชนิดและอวัยวะของสัตว์นั้นๆ คอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย พบได้ทุกเซลล์ในร่างกาย ใช้สร้างฮอร์โมนเพศ กรดน้ำดีเพื่อใช้ในการดูดซึมไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมัน เข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินอาหาร คอเลสเตอรอลที่อยู่ในอาหารที่เรารับประทาน ไม่ได้แปลงไปเป็นคอเลสเตอรอลในเลือดโดยตรง ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ร้อยละ 80-90 ร่างกายเราสร้างขึ้นมาเองจากการทำงานของตับ และวัตถุดิบหลักที่ตับใช้สร้างคอเลสเตอรอลคือน้ำตาล การรับประทานอาหารหวานๆ น้ำหวาน น้ำตาล ร่างกายใช้ไม่หมด จะถูกแปลงเป็นไขมันแทน เป็นสาเหตุของไขมันในเลือดสูงที่แท้จริง

ชนิดของไขมันที่มีในอาหารที่เรารับประทาน เช่น ไขมันชนิดอิ่มตัว ก็มีส่วนสัมพันธ์กับการเพิ่มของคอเลสเตอรอล และมีส่วนกำหนดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจ ถ้าการเพิ่มของระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเป็นคอเลสเตอรอลชนิดเลว โดยปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมีคอเลสเตอรอลชนิดเลวสูง คือ บุหรี่ ความอ้วน เบาหวาน ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ขณะที่ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมีคอเลสเตอรอลชนิดดี คือ ความสมดุลของการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน สิ่งแวดล้อม และจิตใจดีมีคุณธรรมซึ่งทำให้ไม่เครียด

ไข่ถูกมองว่าเป็นอาหารที่มีคอเลสเตอรอลค่อนข้างมาก (ไข่ไก่ 1 ฟอง มีคอเลสเตอรอลเฉลี่ยประมาณ 180-250 มิลลิกรัม ทั้งนี้ มีการกำหนดให้ร่างกายควรได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารไม่เกิน 300 มิลลกรัมต่อวัน) คอเลสเตอรอลที่มีในไข่จะมีเฉพาะในไข่แดง ไข่ขาวไม่มีคอเลสเตอรอล ไข่แดงยังมีเลซิทินที่จะไปช่วยทำให้ไขมันแตกตัวเป็นอนุภาคเล็กๆ และไหลเวียนไปกับกระแสเลือด ป้องกันการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทั้งเลซิทินยังเป็นสารช่วยบำรุงประสาทและสมอง

ควรกินไข่วันละกี่ฟอง ช่วงเวลาที่ผ่านมา ประชาชนสับสนไม่แน่ใจในประโยชน์หรือโทษของการกินไข่ และการเกิดโรคไข้หวัดนกระบาดก็มีผลทำให้คนไทยบริโภคไข่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยคนไทยบริโภคไข่เพียง 132 ฟอง/คน/ปี ขณะที่คนญี่ปุ่นบริโภคถึง 347 ฟอง/คน/ปี, จีน 310 ฟอง/คน/ปี, มาเลเซีย 246 ฟอง/คน/ปี, สหรัฐอเมริกา 243 ฟอง/คน/ปี และสหภาพยุโรป 214 ฟอง/คน/ปี

มีข้อแนะนำดังนี้
1.เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ให้ไข่แดงต้มสุกผสมกับข้าวบด ให้ครั้งแรกปริมาณน้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มขึ้น เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป จนถึงวัยรุ่น บริโภคได้วันละ 1 ฟอง
2.วัยทำงานสุขภาพปกติ บริโภค 3-4 ฟอง/สัปดาห์
3.ผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ควรบริโภคไข่ 1 ฟอง/สัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์
3372  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ ปลานิลแดดเดียว เมื่อ: 05 ตุลาคม 2558 13:19:55
.



ปลานิลแดดเดียว

ส่วนผสม
- ปลานิลตัดหัว ควักไส้ทิ้ง น้ำหนัก 1 กิโลกรัม
- น้ำสะอาด 4 ถ้วยตวง
- เกลือ 5 ช้อนโต๊ะ
  (หมายเหตุ สัดส่วนน้ำและเกลือ ตวงด้วยถ้วยตวงและช้อนขนาดมาตรฐาน มีขายตามร้านอุปกรณ์ทำขนมอบหรือห้างสรรพสินค้า)  


วิธีทำ
• ขอดเกล็ดปลา เอาหัวและใส้ออก ปั้งข้างลำตัวทั้งสองข้าง
• ล้างปลาให้สะอาด แล้วนำไปแช่น้ำเกลือ ในอัตราส่วนเกลือ 5 ช้อนตวงต่อน้ำสะอาด 4 ถ้วยตวง แช่ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง
• ล้างปลาในน้ำสะอาด แล้วนำไปตากแดดประมาณ ครึ่งวัน หรือหนังปลาแห้งตึง
• นำไปทอดด้วยไฟปานกลางจนสุกเหลืองสองด้าน
 













3373  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ พะโล้ขาหมู เมื่อ: 28 กันยายน 2558 16:49:11



พะโล้ขาหมู

เครื่องปรุง
- ขาหมู ½ กิโลกรัม
- ไข่เป็ดต้มสุก 6 - 7 ฟอง
- น้ำตาลปีบ  ¼  ถ้วยตวง
- น้ำตาลกรวด  1 ช้อนโต๊ะ   
- ข่า 3 แว่น
- กระเทียม 1 หัว  (ไม่ต้องแกะกลีบ)
- รากผักชี 1 ราก (ใหญ่)
- อบเชย 1 ชิ้น (ยาว 2 น้ิว)
- โป๊ยกั๊ก 3 ดอก
- ผงพะโล้ 1 ช้อนชา
- ซีอิ๊วดำ
- ซีอิ๊วขาว


วิธีทำ
1.คั่วอบเชย และโป๊ยกั๊กให้หอม
2.เคี่ยวน้ำตาลปีบจนละลายออกสีน้ำตาล (ไม่ต้องใส่น้ำ หรือน้ำมัน)
3.ใส่ขาหมู  ใส่อบเชย  โป๊ยกั๊ก  ผงพะโล้  ผัดให้เข้ากัน  ตักใส่หม้อ  เติมน้ำสะอาดให้ท่วมหมู
4.ใส่ไข่ไก่  กระเทียม(ไม่ต้องแกะกลีบ-ถ้ามีก้านกระเทียมใส่ไปด้วยจะเพิ่มความหอม) ข่า  รากผักชี  น้ำตาลกรวด ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว
5.ปิดฝาหม้อ เคี่ยวด้วยไฟอ่อน จนหมูเปื่อยนิ่ม



เคี่ยวน้ำตาลปีบจนละลายออกสีน้ำตาล (ไม่ต้องใส่น้ำ หรือน้ำมัน)


ใส่ขาหมู  ใส่อบเชย  โป๊ยกั๊ก  ผงพะโล้  ผัดให้เข้ากัน 


เติมน้ำสะอาดให้ท่วมหมู


น้ำตาลกรวด ผักชีบุบ และกระเทียมไทย




มีไข่นกกระทาต้มสุกเหลือจากทำกระเพาะปลาน้ำแดง ใส่ผสมไปด้วย





3374  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: ข้อคิดจากธรรมะ โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต) เมื่อ: 28 กันยายน 2558 16:23:35
.


ทำงานไม่ให้คั่งค้าง
การทำงาน จัดว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและทำชีวิตให้มีคุณค่า สามารถชักนำให้มนุษย์รู้จักสภาพอันแท้จริงของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก ทำให้มนุษย์ดำเนินไปสู่ความโชคดีและร้าย และสามารถพัฒนาโลกให้เจริญก้าวหน้าไปได้ไกล

เมื่อทราบว่ามนุษย์มีความเป็นอยู่คู่กับการทำงานเช่นนี้ ผู้ที่มีความเกียจคร้าน ไม่รู้จักวิธีการทำงานหาเลี้ยงชีพ ทำงานให้คั่งค้างเหมือนดินพอกหางหมู บัณฑิตผู้รู้จึงเรียกคนเช่นนี้ว่า คนสิ้นคิด มีชีวิตความเป็นอยู่อันไร้ค่าเท่ากับเกิดมารกโลก เพราะไม่รู้จักใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ไม่รู้จักใช้ชีวิตให้มีค่า กลายเป็นคนอนาถาไร้ที่พึ่งพิง

ส่วนผู้ที่มีความอุตสาหะประกอบการงาน ไม่มีความเกียจคร้านและเบื่อหน่าย ทำงานให้สำเร็จไม่คั่งค้าง มีความมุ่งหมายในการทำงานด้วยศรัทธาอันแน่วแน่และมั่นคง ย่อมสามารถดำรงตนให้เป็นผู้มีทรัพย์สมบัติ ได้รับเกียรติยศ เพราะการกระทำหรือการทำงานนั้นย่อม แบ่งฐานะของมนุษย์ ให้ทราบว่าดี เลวมากน้อยกว่ากันอย่างไร

สำหรับผู้ที่เคยทำการงานมาแล้วย่อมทราบได้ดีว่างานที่ดีมีประโยชน์นั้นทำได้ยากมาก เพราะจะต้องตรากตรำลำบาก นอกจากต้องทุ่มเทกำลังความคิดและความสามารถแล้ว จะต้องใช้ความรอบคอบคอยสอดส่องถึงผลที่จะมากระทบว่าจะดีหรือชั่ว จะถูกหรือผิดประการใด จะต้องทำให้ถูกจังหวะและโอกาส รวมถึงเหมาะสมแก่สถานที่นั้นๆ

อีกประการหนึ่ง เพื่อให้การงานสำเร็จเรียบร้อย ยังต้องใช้ความเก่งกล้าสามารถไม่ย่อท้อต่ออันตรายและอุปสรรค ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระหว่างอันจะเป็นเหตุให้ละการทำงาน เพราะไม่มีกำลังใจที่จะทำงานให้สำเร็จได้ ยิ่งการงานที่จะก่อให้เกิดชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างสูงด้วยแล้วก็ยิ่งสำคัญมาก ถ้าหากไม่มีหลักการทำงานประจำใจก็ยากที่จะให้สำเร็จตามความมุ่งหมายได้

หลักของการทำงานให้เสร็จลุล่วงด้วยดี คือ มีความพอใจ มีใจรักในงานที่ทำ มีความพากเพียรไม่ละทิ้งในงานที่ทำ เอาใจใส่ในงานที่ทำ และใช้การคิดพิจารณาทบทวนงานนั้นๆ ด้วยปัญญา

คุณสมบัติของนายจ้างที่ดี จัดงานให้ลูกจ้างทำตามความเหมาะสม ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความสามารถ ให้สวัสดิการที่ดี มีอะไรได้มาก็แบ่งปันให้ ให้มีวันหยุดพักผ่อนตามสมควร

คุณสมบัติของลูกจ้างที่ดี เริ่มทำงานก่อนเลิกงานทีหลัง เอาแต่ของที่นายให้ ทำงานให้ดียิ่งขึ้น นำความดีของนายไปสรรเสริญ

อานิสงส์การทำงานไม่คั่งค้าง ทำให้ฐานะของตน ครอบครัว ประเทศชาติดีขึ้น ได้รับความสุข พึ่งตัวเองได้ เป็นที่พึ่งของคนทั้งหลายได้ สามารถสร้างบุญกุศลอื่นๆ ได้ง่าย เป็นผู้ไม่ประมาท ป้องกันภัยในอบายภูมิได้ มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เป็นนิสัยติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากคนทั่วไป

บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน อดทนให้เหมือนหญ้า กระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลนั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข




สติมาปัญญาเกิด
สติ เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ขวนขวายในการสร้างความดี ไม่แชเชือนหยุดอยู่กับที่ ไม่ทอดธุระ ไม่เกียจคร้าน

สติ เป็นเครื่องเร่งเร้าให้มีความขะมักเขม้น คือเมื่อเตือนตัวเองให้ทำความดีแล้วก็ให้ทำอย่างเอาจริงเอาจัง

สติ เป็นเครื่องทำให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการทำงาน ไม่สะเพร่า ไม่ชะล่า ใจว่าสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นไร

สติเสมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ คือ คนที่มีสติเมื่อจะไตร่ตรองคิดในเรื่องใด ใจก็ปักแน่นคิดไตร่ตรองในเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น คิดไตร่ตรองจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทะลุปรุโปร่ง

สติเหมือนนายประตู เพราะจะทำหน้าที่เสมือนนายประตู คอยเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดจนเฝ้าดูถึงอารมณ์ที่ใจคิด ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นสติก็จะใคร่ครวญทันทีว่า ควรปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่ หรือควรหยุดไว้ก่อน ปรับปรุงแก้ไขให้ดีเสียก่อน

สติเสมือนหางเสือ เพราะจะเป็นตัวควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตของเราให้มุ่งตรงไปตรงไปสู่ความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่หลงไปทำในสิ่งที่ไม่ควร เหมือนคอยระวังไม่ให้เรือไปเกยตื้น

สติ มีประโยชน์ในการควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่เราต้องการ โดยการตรวจตราความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการไว้ กันสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป ตรึงกระแสความคิดให้เข้าที่ ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย เช่น จะดูหนังสือก็สนใจ คิดติดตามไปตลอด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่น จะทำสมาธิ ใจก็จรดนิ่ง สงบตั้งมั่น ละเอียดอ่อนไปตามลำดับ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก

สติ มีประโยชน์ทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธเคือง ความลุ่มหลงมัวเมา จึงมีความโปร่งเบา ผ่อนคลาย เป็นสุข โดยสภาพของมันเอง พร้อมที่จะเผชิญความเป็นไปต่างๆ และจัดการกับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม

สติ มีประโยชน์ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุด เพราะไม่ถูกบีบคั้นด้วยกิเลสต่างๆ จึงทำให้ความคิดเป็นอิสระ มีพลัง แต่มีสติควบคุม เสมือนเรือที่หางเสือควบคุมอย่างดี ย่อมสามารถแล่นตรงไปในทิศทางที่ต้องการได้ ไม่วกวน

สติ มีประโยชน์ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่ เพราะมีความคิดที่เป็นระเบียบ และมีใจซึ่งมีพลังเข้มแข็ง จึงเป็นการเสริมสร้างปัญญาให้บริสุทธิ์

การฝึกสติทำให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะระลึกถึงการละเว้นทุจริตทางกายวาจา ใจ และประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะไปทำชั่วทำบาปอะไรเข้า ก็มีสติระลึกได้ทันทีว่า สิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นบาป ไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด ทำแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลเท่านั้น

มีสติระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้เสมอว่า การเกิดในอบายภูมินั้นมีทุกข์มากเพียงไร เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้วก็ไม่ยอมทำชั่วเลย เพราะเกรงว่าจะต้องไปเกิดในอบายภูมิ เช่นนั้น

มีสติระลึกได้ว่า การที่เราจะทำดีหรือทำชั่วนั้นขึ้นอยู่กับใจของเราเป็นสำคัญ ว่าใจของเราจะเข้มแข็ง เอาชนะความอยากต่างๆ ได้หรือไม่ และวิธีที่จะฝึกใจได้ดีที่สุดคือการฝึกทำสมาธิ จึงต้องหาเวลาทำสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ 





สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
นํ้าเมาอาจทำมาจากแป้งข้าวสุก ปรุงโดยผสมเชื้อหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่น เบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดโทษทั้งสิ้น

เช่น ทำให้เสียทรัพย์ เพราะต้องนำเงินไปซื้อหามาทั้งๆ ที่เงินจำนวนเดียวกันนี้สามารถนำเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า

ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ็บตัว หรือถึงแก่ชีวิต และคดีความ เพราะน้ำเมาทำให้ขาดสติขาดการยับยั้งชั่งใจ

ทำให้เกิดโรค โรคที่เกิดเนื่องมาจากการดื่มน้ำเมา ล้วนแล้วแต่บั่นทอนสุขภาพกายจนถึงตายได้ เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดัน

ทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อคนเมาไปทำเรื่องไม่ดี เป็นต้นว่า ไปลวนลามสตรี ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ทำให้วงศ์ตระกูล และหน้าที่การงานเสื่อมเสียไปด้วย ทำให้ลืมตัวไม่รู้จักอาย คนเมาทำสิ่งที่ไม่ควรทำ

บั่นทอนกำลังปัญญา ดื่มแล้วทำให้เซลล์สมองเริ่มเสื่อมลง ก็จะทำให้สุขภาพและปัญญาเสื่อมถอย ความสามารถโดยรวมก็ด้อยลง

การดื่มน้ำเมาไม่ได้มีโทษเฉพาะชาตินี้เท่านั้น แต่ยังมีโทษติดตัวผู้ดื่มไปข้ามภพข้ามชาติมากมายหลายประการ ตัวอย่างเช่น

เกิดเป็นคนใบ้ ตายในขณะมึนเมา คนที่เมาสุราพูดไม่รู้เรื่อง ได้แต่ส่งเสียง พอตายแล้วก็ตกนรก จากนั้นกลับมาเกิดใหม่ เศษกรรมยังติดตามมาเลยเป็นใบ้

เกิดเป็นบ้า ในอดีตดื่มเหล้ามามาก เวลาเมาก็มีประสาทหลอน เวรนั้นติดตัวมา ในภพชาตินี้เกิดมาก็เป็นบ้า อยู่ดีๆ ก็ได้ยินเสียงคนมากระซิบบ้าง เห็นภาพหลอนว่าคนนั้นคนนี้จะมาฆ่าบ้าง

เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน ดื่มสุรามากๆ ตอนเมาก็คิดอะไรไม่ออกอยู่แล้ว ด้วยเวรสุรานี้ก็ส่งผลให้เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน

เกิดเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ดื่มสุราเมามากๆ ก็ซ้อมคลานมาตั้งแต่ตอนเป็นคน พอตายเข้าก็ได้เกิดมาคลานสมใจตน

วิธีเลิกเหล้าให้ได้เด็ดขาดนั้น ต้องตรองให้เห็นโทษว่าสุรามีโทษมหันต์ ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเลิกโดยเด็ดขาด ให้สัจจะกับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือกับพระภิกษุ สิ่งใดที่จะเป็นสื่อให้คิดถึงเหล้า เช่น ภาพโฆษณา เหล้าตัวอย่างขนไปทิ้งให้หมด ถือว่าเป็นของเสนียด นำอัปมงคลมาสู่บ้าน นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองให้มาก ว่าเราเป็นชาวพุทธเป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้า เป็นศิษย์มีครู เป็นคนมีเกียรติยศ เป็นทายาทมีตระกูล นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองอย่างนี้แล้วจะได้เลิกเหล้าได้สำเร็จ เพื่อนนักเลงสุราทั้งหลาย ควรหลีกเลี่ยงออกห่าง ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวสนิทสนมกับเพื่อนขี้เหล้าอยู่ยากจะเลิกเหล้าได้

อานิสงส์การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ทำให้เป็นคนมีสติดี ไม่ลุ่มหลง ไม่มัวเมา ไม่เกิดการทะเลาะวิวาท รู้กิจการทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้รวดเร็ว ไม่เป็นบ้าใบ้ ไม่เป็นคนปัญญาอ่อน มีแต่ความสุข มีแต่คนนับถือยำเกรง มีชื่อเสียงเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป ไม่หลงทำร้ายผู้มีพระคุณ มีหิริโอตตัปปะ มีความเห็นถูกต้อง มีปัญญามาก

บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย




ธรรมมีอุปการะมาก
สติ คือ ความระลึกได้ คู่กับคำว่า สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวอยู่เสมอ

สติ เป็นไปในกิริยาที่ทำ กิริยาที่พูด กิริยาที่นึกหรือคิด คือก่อนจะทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ระลึกนึกได้ก่อนแล้วจึงทำ จึงพูด จึงคิด บุคคลผู้ที่ทำผิด พูดผิด คิดผิด ก็เพราะขาดสติ

สติเป็นไปในกิริยาที่จำ คือ กิจการใดที่ได้ทำไว้แล้ว ถ้อยคำใดที่ได้พูดไว้แล้ว เรื่องใดๆ ที่ได้คิดตกลงใจไว้แล้ว แม้ล่วงกาลเวลาช้านาน ก็ระลึกนึกถึงกิจที่ได้ทำ คำที่ได้พูด เรื่องที่ได้คิดไว้นั้นได้ ไม่ลืมเลือน

บุคคลที่ทำแล้ว พูดแล้ว ลืมเสีย ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับกิจที่จะทำ คำที่จะพูด เรื่องที่จะคิดต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายได้ ก็เพราะขาดสติ

ส่วนสัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่เสมอนั้น เป็นไปในขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด คือรู้สึกตัวอยู่เสมอว่ากำลังทำ พูด และคิดอะไรอยู่ กล่าวคือทำ พูด คิดถูกก็รู้ หรือทำ พูด คิดผิดก็รู้

เมื่อรู้ว่ากำลังทำ พูด คิดถูก ก็ให้ทำ พูด คิดอย่างนั้นๆ ต่อไป เมื่อรู้สึกตัวว่ากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดในทางที่ผิด ก็ให้หยุดเสีย ไม่ให้ทำ พูด คิดอย่างนั้นๆ ต่อไปอีก

ความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ตนมีภาวะเป็นอย่างไร มีหน้าที่ มีกิจที่จะต้องทำอะไรบ้าง ก็ให้ปฏิบัติให้สมกับภาวะและหน้าที่ที่ตนเป็นอยู่และมีอยู่นั้นๆ ไม่บกพร่อง ไม่ผิดพลาด บริบูรณ์ดี เพราะมีสัมปชัญญะควบคุมอยู่

บุคคลที่บกพร่องต่อหน้าที่ มีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งแก่ตนและคนอื่น เพราะขาดสัมปชัญญะ ไม่มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอะไรอยู่ จึงทำให้ทำ พูด และคิดไปในทางที่ผิด เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น สติและสัมปชัญญะนี้จึงมีประโยชน์แก่ทุกคน

สติและสัมปชัญญะทั้ง 2 ประการ เรียกว่า ธรรมมีอุปการะมาก คือ ผู้ที่มีใจอันสติสัมปชัญญะเข้ากำกับอยู่เสมอแล้ว ย่อมประพฤติกาย วาจา ในทางที่ถูก ที่ควร ย่อมได้รับผลคือความสุข ความเย็นใจไม่เดือดร้อน สติสัมปชัญญะเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่คนทุกคน

ผู้มีปัญญาเป็นเลิศ มีการศึกษาดี มีสมรรถภาพในการทำงานดี แต่ถ้ามีปัญญาฟุ้งไป ไม่มีสติเป็นเครื่องยับยั้ง ก็จักเป็นคนฉลาดเกินควร เข้าลักษณะที่ว่า ฉลาดแต่ขาดเฉลียว กลายเป็นผู้ทะนงว่า ตนเท่านั้นสามารถ คนอื่นสู้ตนไม่ได้

เมื่อมีความทะนงตนอย่างนี้แล้ว ความผิดพลาดไม่รอบคอบนานาประการ ก็จะพึงเกิดมีขึ้น อันจะเป็นผลเสียหายแก่ตนและคนอื่น

ถ้าผู้มีปัญญาสามารถดี และมีสติเป็นเครื่องกำกับยับยั้งอยู่ด้วย ก็จักช่วยให้มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีความเสื่อม

สติที่เป็นเครื่องระลึก ก่อให้เกิดความนึกคิด ก่อนจะทำ ก่อนจะพูดเป็นเบื้องต้น เป็นเหตุให้รอบคอบ สามารถที่จะประกอบกิจน้อยใหญ่ให้เป็นไปด้วยดี ไม่มีความผิดพลาด



3375  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / 'ปราสาทบ้านปราสาท' วัดปราสาท อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ เมื่อ: 28 กันยายน 2558 15:53:47
.


ปราสาทบ้านปราสาท
วัดปราสาท ตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ

ปราสาทบ้านปราสาท สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ทรงครองราชย์  

สร้างขึ้นตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน เทพเจ้าตีมูรติ
 
มีลักษณะเป็นอาคารก่อด้วยอิฐ จำนวน ๓ องค์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เรียงตามแนวทิศเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน

องค์ปราสาทมีแนวกำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบ มีโคปุระหรือซุ้มประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ด้านทิศใต้มีห้องที่กำแพงนอกกำแพงทางทิศตะวันออกห่างออกไปประมาณ ๓๐๐ เมตร

มีบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) กำหนดอายุโบราณสถานราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗

องค์ปราสาทที่เห็นในปัจจุบันเป็นการบูรณะดัดแปลงในสมัยหลังซึ่งมีลักษณะเป็นธาตุตามแบบศิลปะล้านช้าง ก่อด้วยอิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม

เหนือเรือนธาตุมีลักษณะเป็นชั้นจำลองอาคารขนาดลดหลั่นซ้อนกันขึ้นไป องค์กลางมีประตูทางเข้า-ออกเฉพาะด้านหน้า

อีกสามด้านก่อทึบเป็นประตูหลอก สำหรับองค์ด้านข้างทั้งสองหลังไม่มีประตูทางเข้าแต่จะก่อทึบเป็นประตูหลอกทั้งสี่ด้าน

การบูรณะดัดแปลงตัวปราสาทนี้ทำให้ปราสาทบ้านปราสาทมีลักษณะผิดแปลกไปจากปราสาทแห่งอื่นๆ









แผ่นป้ายสีน้เงินตัวอักษรสีขาว เขียนว่า “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สตรีห้ามขึ้น.!”





พระอุโบสถ อยู่ระหว่างก่อสร้าง


โครงไม้ที่ปลูกค้างไว้ คิดจนหัวจะแตกก็คิดไม่ออก
ถามชาวบ้านจึงรู้ว่า วัดมีโครงการจะก่อสร้างศาลาแต่ขาดแคลนไม้ ทำได้เพียงเท่าที่เห็นในภาพ


'ลุยทุ่ง'...เส้นทางไปวัดปราสาท ที่ตั้งปราสาทบ้านปราสาท




ควายยังงง มาทำไมกัน!
3376  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ ข้าวผัดปลาอินทรีย์เค็มทอด เมื่อ: 24 กันยายน 2558 10:26:58
.



ข้าวผัดปลาปลาอินทรีย์เค็ม

ส่วนผสม
- ข้าวสวย 3 ถ้วย
- หมูสับ 1 ขีด
- ปลาอินทรีย์เค็มทอด 1 ชิ้น
- ปลาช่อนเค็มหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า ทอดกรอบ ½  ถ้วย (หรือปลาอื่นๆ ทอดกรอบ)
- ไข่ไก่ 3 ฟอง
- คะน้าลวกสุก แล้วหั่นหยาบ
- กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย
- ซอสปรุงรส 


วิธีทำ
1.เจียวกระเทียมให้เหลืองหอม ใส่หมูสับผัดเกือบสุก ใส่ไข่ไก่
    ผัดให้ไข่ไก่กระจายทั่วกัน
2. ใส่ปลากุเลาเค็ม (แกะก้างกลางออก ยีให้เป็นชิ้นเล็ก) ใส่ปลาช่อนทอด
    ใบคะน้า ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายและซอสปรุงรส ชิมรสตามชอบ
3. จัดเสิร์ฟ รับประทานกับแกงจืด 



ข้าวผัดสูตรนี้ เปลี่ยนจากกระทะธรรมดา
เป็นกระทะที่เขาใช้ผัดราดหน้าขาย ข้าวผัดจะได้หอมกลิ่นน้ำมันจากไฟแรง



ขั้นต้น ใส่น้ำมันในกระทะ เปิดไฟให้แรงจนน้ำมันร้อนจัด มีควันลอยขึ้นตามขอบกระทะ
เราได้น้ำมันหอมจากไฟแรงแล้ว ปิดแก๊สชั่วคราว สักครู่เปิดไฟอ่อนๆ เจียวกระเทียมให้เหลือง
ใส่หมูสับลงไปผัด ใส่ไข่ไก่ ยีให้ไข่กระจายทั่วกัน


ใส่ปลาอินทรีย์ทอด (ยีให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อน)
   

ใส่ปลาช่อนเค็มทอด (หั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าแล้วทอดกรอบ) คะน้าหั่นหยาบ ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายขาว และซอสปรุงรส


ผัดให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ






ติดตามสูตรอาหารและเคล็ดลับการประกอบอาหารคาว-หวาน มากมายกว่า 200 สูตร
ได้ที่  "สุขใจในครัว" สุขใจดอทคอม
www.sookjai.com
3377  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / พระอัมพปาลีเถรี เมื่อ: 18 กันยายน 2558 10:45:46
.


พระอัมพปาลีเถรี

ราชบัณฑิต เสฐียรพงษ์ วรรณปก อรรถาธิบายไว้ว่า พระอัมพปาลีเถรี อดีตนางคณิกา หรืออัมพปาลี นามนี้ชาวพุทธส่วนมากรู้จักดี เพราะเป็นนางคณิกาหรือโสเภณีที่สวยงามในเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี แค่นั้นยังน้อยไป ที่สำคัญคือนางได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ถวายสวนมะม่วงอันเป็นสมบัติของนางให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ในปลายพุทธกาล

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพร้อมพระอานนท์ บ่ายพระพักตร์ไปยังเมืองกุสินาราเพื่อดับขันธปรินิพพาน ผ่านมาทางสวนมะม่วงของนางอัมพปาลี นางทราบเข้าจึงไปกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน ขณะที่นางกำลังเดินทางกลับบ้านนั้น สวนทางกับเจ้าลิจฉวีจำนวนหนึ่ง เมื่อเจ้าลิจฉวีทราบว่านางอัมพปาลีได้อาราธนาพระพุทธเจ้าไว้ก่อนแล้ว จึงขอ "ซื้อ"กิจนิมนต์จากนาง หมายความว่าขอให้นางสละสิทธิ์การถวายภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นมอบให้พวกเขาเสีย พวกเขาจะตอบแทนด้วยรถม้าสวยงาม ประดับประดาอย่างวิจิตรตระการตา (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงจะเป็นรถเบนซ์ราคาแพง) นางปฏิเสธ แม้จะเสนอเงินทองให้มากมายเพียงใด นางก็ยังยืนกรานปฏิเสธ นางบอกว่าการได้ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้ามีค่ามากกว่าสิ่งใด ในที่สุดพวกลิจฉวีต้องยอมแพ้

อัมพปาลีคนนี้มีประวัติอันพิสดาร อรรถกถากล่าวว่า นางเป็น "โอปปาติกะ" (ผุดเกิดที่โคนต้นมะม่วง) พวกราชกุมารแห่งเมืองไพศาลีมาพบนางเข้า ต่างจะเอาเป็นสมบัติของตน จึงถึงกับวิวาทกันใหญ่โต เมื่อเรื่องเข้าสู่ศาล ศาลให้พิพากษาว่า "ให้นางเป็นสมบัติของทุกคน" จึงได้แต่งตั้งนางให้เป็นนางนครโสเภณี (หญิงงามเมือง) เข้าใจว่าประวัตินางจะเว่อร์ไปหน่อย คงเพราะนางงดงามมาก จึงแต่งประวัติให้เป็นนางไม้ เป็นโอปปาติกะ ความจริงนางคงเป็นสตรีของใครคนใดคนหนึ่งในเมืองไพศาลีนั้นแหละ

ตำแหน่งนครโสเภณีสมัยก่อนโน้นเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ พระราชาแต่งตั้ง ดูเหมือนจะมีเงินเดือนกินด้วย มีสาวๆ ในความควบคุมดูแลอีกมาก แคว้นวัชชีหัวก้าวหน้ากว่ารัฐอื่น เป็นแคว้นแรกที่มีตำแหน่งนครโสเภณี เพื่อดูดเงินตราจากต่างประเทศ กษัตริย์เมืองเล็กเมืองน้อยได้ทราบข่าวว่าที่นครไพศาลีมีนางนครโสเภณีที่เป็นสมบัติของทุกคน ต่างก็ขนเงินมาทิ้งที่เมืองนี้กันปีละจำนวนไม่น้อย ว่ากันว่าค่าอภิรมย์กับนางอัมพปาลีคืนหนึ่งแพงหูฉี่ แต่ก็มีแขกต่างเมืองมาเยี่ยมสำนักเธอมิขาดสาย

ว่ากันอีกว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นแขกพิเศษของนางอัมพปาลี จนได้บุตรด้วยกันมาคนหนึ่ง นามวิมละ หรือวิมล หนุ่มน้อยวิมล เสด็จพ่อนำไปเลี้ยงไว้ในราชสำนักเมืองราชคฤห์ ต่อมาวิมลได้ออกบวชและได้บรรลุพระอรหัตผล หลังจากถวายสวนมะม่วงให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาแล้ว อัมพปาลีได้ฟังธรรมจากพระวิมลเถระ (บุตรชายของนาง) รู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงออกบวชในสำนักของนางภิกษุณี พิจารณาเห็นความเป็นอนิจจังแห่งสรีรร่างกายของตน ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากบรรลุธรรม พระอัมพปาลีเถรีได้กล่าวคาถาแสดงถึงสัจจะชีวิตของนาง โดยพรรณนาความงามของสรรพางค์กาย ตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า ว่าล้วนแต่งดงามเป็นที่ปรารถนาชื่นชมของชายทั่วไป แต่ถึงตอนนี้ (เมื่อนางมาบวช) อวัยวะที่งดงามเหล่านั้นทรุดโทรม เพราะชรา ไม่น่าดู ไม่น่าชมเลย เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นอนิจจัง

ยืนยันพระราชดำรัสของสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสรรพสิ่ง
...นสพ.ข่าวสด
3378  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / สูตร ไส้กรอกอีสาน เมื่อ: 16 กันยายน 2558 19:06:33
.

 

ไส้กรอกอีสาน

ส่วนผสม
- หมูสับ 1 กิโลกรัม
- กระเทียมไทย 3 หัว (70 กรัม)
- ข้าวสุก 1/2 ถ้วย
- เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
- ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
- ไส้หมู

 
วิธีทำ
1.ล้างไส้หมูให้สะอาด กลับด้านเอาด้านในออกมาข้างนอก
   ใช้สันช้อนกลางขูดเมือกออกให้หมด ขยำกับเกลือแล้วล้างน้ำหลายๆ ครั้ง
   จนหมดกลิ่น พลิกกลับไส้หมูเอาด้านนอกออกมาให้เหมือนเดิม (กรณีใช้ไส้หมูสด แต่การทำครั้้งนี้ใช้ไส้หมูสำเร็จดองเกลือ จึงเพียงแต่ล้างน้ำหลายๆ ครั้ง)
2.โขลกกระเทียม ข้าวสวย และเกลือป่น
3.ผสมหมูสับกับเครื่องที่โขลก ใส่ซีอิ๊วขาว นวดให้เข้ากัน กรอกในไส้หมู ใช้ด้ายมัดให้เป็นเปราะเท่าๆ กัน
   (ขณะกรอกใช้ปลายเข็มหมุดหรือปลายมีดแหลมทิ่มที่ไส้หมูไล่อากาศด้วย)

4.หมักไว้ประมาณ 5-6 ชั่วโมง (ไม่เปรี้ยวมาก) หรือทิ้งไว้ 1 คืน นำไปทอดได้
  




ส่วนผสม กระเทียมไทย (3 หัวใหญ่ - น้ำหนัก 70 กรัม) และไส้หมูสำเร็จ(ดองเกลือ)


โขลกข้าวสวย กระเทียม และเกลือ


ผสมในหมูสับ


นวดให้เข้ากัน


วิธีง่ายๆ : ใช้ปากขวดน้ำโพลาลิสซึ่งปากขวดใหญ่แทนกรวย
กรอกหมูโดยใช้ปลายช้อนกลางกดให้ส่วนผสมเข้าไปในไส้หมู


ขณะกรอกส่วนผสม ใช้ปลายเข็มหรือปลายมีดคว้าน(มีดขนาดเล็ก) เจาะทิ่มที่ไส้หมูไล่อากาศด้วยค่ะ


ใช้ด้ายหรือเชือกเส้นเล็กๆ มัดไส้กรอกให้เป็นเปราะๆ
[ผู้ทำไม่ได้เตรียมเชือกเส้นเล็กไว้ เพราะไม่คิดมาก่อนว่าวันนี้จะต้องทำไส้กรอก
จึงไปดึงด้ายจากจักรเย็บผ้าพร้อมกรรไกรตัดด้ายแก้ขัด]


ทิ้งไว้ 1 คืน หรือถ้าไม่ต้องการรสชาติเปรี้ยวมาก หมักไว้ 6-7 ชั่วโมงก็นำไปทอดหรือย่างได้


วิธีทอดให้ไส้กรอกสุกทั่วถึงกัน และไส้หมูไม่แตก

ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ


วางไส้กรอกในกระทะ เติมน้ำสะอาดประมาณ 1/3 หรือ 1/4 ถ้วย
ใช้ปลายเข็มหรือปลายมีดแหลมจิ้มไส้หมูให้ทั่วชิ้น
วิธีนี้ทำให้ไส้หมูไม่แตก และนำไปใช้กับทอดกุนเชียงได้


เคี่ยวด้วยไฟอ่อนจนน้ำแห้ง เหลือแต่น้ำมันพืชและไขมันจากหมู
ให้ทอดต่อไป และหมั่นพลิกไปมาจนหนังหมูเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ตักใส่ตะแกรงผึ่งให้สะเด็ดน้ำมัน





ติดตามสูตรอาหารและเคล็ดลับการประกอบอาหารคาว-หวาน มากมายกว่า 200 สูตร
ได้ที่  "สุขใจในครัว" สุขใจดอทคอม
www.sookjai.com

3379  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / สูตร ถั่วกรอบแก้ว เมื่อ: 14 กันยายน 2558 17:44:36
.




ถั่วกรอบแก้ว

ส่วนผสม
- ถั่วลิสง 300 กรัม
- น้ำตาลทรายขาว 2 ถ้วย
- เกลือป่น ¼ ช้อนชา
- โอวัลติน 2 ช้อนโต๊ะ
- ขาขาว ½ ถ้วย
- น้ำเปล่า 2+½ ถ้วย


วิธีทำ
1.ล้างถั่วให้สะอาด ผสมกับน้ำตาลทราย เกลือ และน้ำเปล่าในกระทะทองเหลือง
2.เคี่ยวด้วยไฟแรงจนกระทั่งถั่วลิสงสุกและน้ำตาลแห้ง  ลดไฟอ่อน ใส่โอวัลติน และงาขาวผัดให้ส่วนผสมเข้ากันดี
3.ผัดจนน้ำตาลเริ่มเยิ้มอีกครั้ง ผัดเร็วๆให้น้ำตาลจับเกาะถั่วลิสงอีกครั้ง ยกลง
4.ตักถั่วใส่ภาชนะพักไว้ให้เย็น บรรจุใส่ขวดโหลที่ปิดสนิท.



เก็บเศษผงและถั่วลีบหรือเป็นราทิ้ง ล้างให้สะอาด


ผสมถั่วกับน้ำตาลทราย เกลือ (หนึ่งในสี่ช้อนชาเท่านั้น) และน้ำในกระทะทอง




เคี่ยวด้วยไฟแรงจนถั่วลิสงสุก


ใส่โอวัลติน


ใส่งาขาว ผัดให้เข้ากัน
น้ำตาลที่เคี่ยวในขั้นตอนนี้จะเกาะเมล็ดถั่ว และแห้งด้าน ไม่เป็นเงาใส
(น้ำตาลเริ่มแห้ง มือซ้ายควรจับไม้ยาวๆ ช่วยเขี่ยให้ถั่วกระจายด้วยก็ดี)


ผัดจนน้ำตาลเริ่มเยิ้ม  ผัดเร็วๆ ให้น้ำตาลจับเกาะถั่วลิสงอีกครั้ง ยกลง


ตักถั่วใส่ภาชนะพักไว้ให้เย็น บรรจุใส่ขวดโหลที่ปิดสนิท

เมื่อน้ำตาลเริ่มแห้ง ต้องผัดเร็วๆอย่าหยุดมือ
(มือซ้ายใช้ไม้ยาวๆ ช่วยเขี่ยให้ถั่วกระจายด้วยก็ดี) เพราะน้ำตาลไหม้ง่าย ถั่วจะขม
ผู้ทำ-(ผู้โพสท์) ทำอยู่คนเดียว และต้องถ่ายรูปมาประกอบกระทู้ด้วย จึงค่อนข้างทุลักทุเล



ติดตามสูตรอาหารและเคล็ดลับการประกอบอาหารคาว-หวาน มายมายกว่า 200 สูตร
ได้ที่  "สุขใจในครัว" สุขใจดอทคอม
www.sookjai.com
3380  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Beautiful pictures เมื่อ: 14 กันยายน 2558 16:27:20
.
ภาพสวย
(ป้ากิมเล้ง เห็นสวยดี จึงขโมยภาพของนายซอสแม็กกี้มาโพสท์...ตั้งชื่อภาพให้ด้วย)

ชื่อภาพ : หลังฉาก
ภาพโดย : Mckaforce
หลังฉาก (หลังม่าน) เวทีการแสดงงิ้ว ที่เมืองนครสวรรค์ ปี พ.ศ.2558















"550.-550"
<font size="12">Photographer Mckaforce</font>

<font size="14">www.sookjai.com</font>
หน้า:  1 ... 167 168 [169] 170 171 ... 273
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.935 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 18 ชั่วโมงที่แล้ว