[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 16:20:49 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 268 269 [270] 271 272 273
5381  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๑๔ : พระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปัญฺโญ) เมื่อ: 27 เมษายน 2555 12:40:18
พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์




เจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ  องฺกุรปญฺโญ) วัดธาตุทอง  กรุงเทพมหานคร



พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๑๔
เจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ  องฺกุรปญฺโญ)  


 
พระธรรมเทศนา
ในการทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน
พระราชทานศพ
พระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปัญฺโญ)

ณ หอประชุม ทอง – เหรียญ  วงศ์ทองศรี
วันพุธ ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๔  เวลา ๑๐.๐๐ น.

แสดงโดย
พระเทพรัชมงคลเวที (จำนง  ธมฺมจารี)
วัดสัมพันธวงศ์

ขอถวายพระพร เจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล พระชนมสุข ทุกประการ จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์  สมเด็จพระปรมินทรธรรมมิก  มหาราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ บัดนี้จะรับพระราชทานถวาย วิสัชนา พระธรรมเทศนา ในสุสมณกถา ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี ถ้ารับพระราชทานถวาย วิสัชนา พระธรรมเทศนาไป มิได้ต้องตามโวหารและอรรถาธิบาย ในพระธรรมเทศนา ณ บทใดบทหนึ่งก็ดี ขอเดชะพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณ พระขันติคุณ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานอภัย แก่อาตมะผู้มีสติปัญญาน้อย ขอถวายพระพร

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

สมโณ อสฺส สุสมโณ

บัดนี้ จะรับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนา ในสุสมณกถา พรรณนาเรื่อง สมณะที่ดีงามในพระพุทธศาสนา  ประดับพระปัญญาบารมี เพิ่มพูนกุศล บุญราศี ทักษิณานุประทาน ปัจโจปการกิจ ที่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ  พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ บำเพ็ญอุทิศใน สัตตมวาร ที่หนึ่ง นับแต่วันถึงแก่มรณภาพ แห่งท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ  องฺกุรปัญฺโญ)  อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุทอง เป็นส่วนบูชา ธรรมพลีปัจโจปการกิจ  ด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม คารวธรรม และอปจายนธรรม อนุวัตร ตามพระพุทธโอวาทที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน ติโรกุฑฑกัณฑสูตร ว่า

อทาสิ  เม  อกาสิ  เม            ญาติมิตฺตา  สขา  จ  เม
เปตานํ  ทกฺขิณํ  ทชฺชา          ปุพฺเพ  กตมนุสฺสรํ
 

เมื่อบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่  ตามระลึกถึงความดี  อันท่านผู้ล่วงลับไป ได้กระทำแก่ตนว่าท่านผู้นั้นเป็นญาติเป็นมิตร  เป็นสหายของเรา  ได้ให้  ได้ทำ  สิ่งนั้นสิ่งนี้แก่เราแล้ว  พึงบำเพ็ญทักขิณา  คือบุญกุศล  เพื่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น

พระเดชพระคุณ พระธรรมปาโมกข์  นามเดิมว่า นพ องฺกุรปญฺโญ     อุบัติในสกุล ผลพิบูลย์  เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๕  ตำบลลาดหลุมแก้ว  อำเภอลาดหลุมแก้ว  จังหวัดปทุมธานี  โยมบิดาชื่อ นายหลิว  แซ่จิ๋ว  โยมมารดาชื่อ ปี้  ผลพิบูลย์  เป็นบุตรคนที่ ๒  ในจำนวนพี่น้อง ๒ คน คือ
๑.นางเลื่อน  ผลพิบูลย์  ถึงแก่กรรม
๒.พระธรรมปาโมกข์ (นพ  ผลพิบูลย์)

บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบางสะแกหลักเมตร หรือวัดบัวขวัญ  จังหวัดปทุมธานี  บรรพชาแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัยและบาลี เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปทุมวนาราม  กรุงเทพมหานคร  ได้รับฉายาว่า องฺกุรปญฺโญ   ศึกษาพระธรรมวินัย จบเถระภูมิ ได้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยค  มีหน้าที่การงานในวัด ๙ ข้อ สรุปได้ คือ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗  เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุต  ทรงมีพระบัญชาให้พระมหานพ  องฺกุรปญฺโญ  เปรียญธรรม ๗ ประโยค  วัดปทุมวนาราม มารักษาการเจ้าอาวาส ควบคุมดูแลการก่อสร้าง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธาตุทอง  และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้

- พุทธศักราช ๒๔๙๑  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์  เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระญาณดิลก
- พุทธศักราช ๒๕๐๐  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชญาณดิลก
- พุทธศักราช ๒๕๐๙  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพญาณกวี

พุทธศักราช ๒๕๒๓  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมปาโมกข์   ซึ่งขณะที่ท่านได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ได้มีผลงานโดยสังเขป  สรุปได้คือ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๐  ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อุโบสถ  เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓  ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา  ฝังลูกนิมิตอุโบสถวัดธาตุทอง  มีพระเดชพระคุณเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างส่วนต่าง ๆ ในวัดมาโดยตลอด เริ่มใหม่ทุกสิ่งทุกอย่าง อุโบสถใช้เวลาสร้างอยู่ ๑๕ ปี  สภาพวัดและการก่อสร้างเสนาสนะในยุคนั้น ต้องต่อสู้อุปสรรคนานัปการ ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นที่ยาวนาน อุโบสถจึงสำเร็จสมบูรณ์ การก่อสร้างเสนาสนะอื่น ๆ ได้กระทำต่อเนื่องกันมาโดยลำดับ พระเดชพระคุณเป็นพระนักพัฒนา มีทัศนวิสัยที่ยาวไกล สร้างสรรค์สิ่งสำคัญที่ให้มีเกิดขึ้นในอารามเป็นอเนกประการ ทั้งส่วนวัดและส่วนสาธารณะ ให้วัดเป็นศูนย์กลาง อำนวยความผาสุก เป็นที่พึ่งทางกายและใจ แก่ประชาชนทั่วไป  มิใช่ให้วัดเป็นศาสนสถานสำหรับผู้ทรงศีลอย่างเดียว พระเดชพระคุณยังจัดแบ่งปันเขตที่วัดให้มีส่วนที่สร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชน  โดยจัดสร้างและอำนวยการให้มีหอประชุมสำหรับประชาชนท้องถิ่น มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีโรงเรียนอนุบาลวัดธาตุทอง มีสถานที่รับเลี้ยงเด็ก พีระยา – นาวิน  ศูนย์วัดธาตุทอง  มีโรงเรียนประชาบาล วัดธาตุทอง (เรือนเขียวสะอาด)  สอนตั้งแต่ชั้น ป. ๑ ถึง ป. ๖  มีนักเรียน ๒,๐๐๐ เศษ  มีครู ๑๓๗ คน  สังกัดกรมสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร มีศูนย์เยาวชนวัดธาตุทอง  มีศูนย์สาธารณสุข ๒๑  เปิดให้บริการรักษาพยาบาล ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพอนามัย  มีคลินิกบำบัดยาเสพติด  สังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มีศูนย์วิจัยอนามัยประชาชน มีศูนย์กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย โดยทางวัดมอบให้กรมแรงงานใช้เป็นที่ทำการของกรมแรงงาน  ฝึกช่างฝีมือ และงานช่างต่าง ๆ  เป็นเขตตรวจแรงงาน  มีหอสมุดอนุสรณ์ อาคารคุณแม่จาด รักวิทยาศาสตร์ มีเสนาสนะที่อยู่ของอุบาสิกา มีฌาปนสถานและศาลาบำเพ็ญกุศล  สำหรับบำเพ็ญกุศลก่อนทำการฌาปนกิจในด้านของสังคม  ทางวัดได้ให้เอกชนและทางราชการใช้สนามด้านหน้าวัดจัดงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีได้โดยอิสระเสรี ดังนี้เป็นต้น  สรรพสรรกรณียวัตถุสถาน  ทั้งส่วนวัดและส่วนสาธารณะต่าง ๆ ที่เป็นผลงานอันสำคัญที่พระเดชพระคุณพระธรรมปาโมกข์ ได้จัดดำเนินการให้เกิดมีและดำเนินการให้เป็นไป ที่มีรูปธรรมตามที่ได้พรรณนามาโดยสังเขปนั้น เป็นผลงานที่พระเดชพระคุณ ได้ใช้ชีวิตแห่งการเป็นสมณะที่ดีงาม อุทิศตน สละความสุขส่วนตน สร้างสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่มวลชนและสังคม มาจวบกาลอวสานแห่งชีวิต  ครั้นเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔  พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปญฺโญ)  ได้ถึงมรณภาพด้วยโรคชราด้วยอาการอันสงบ  สิริรวมอายุได้ ๙๐ ปีเศษ   พระเดชพระคุณพระธรรมปาโมกข์ เป็นพระสงฆ์สุปฏิบัติ มีปฏิปทาและศีลาจารวัตร เป็นที่น่ายกย่องและเคารพรักของสาธุชนทุกชั้น  ทั้งพระภิกษุสามเณร ศิษยานุศิษย์ ญาติโยมทั้งหลาย  มี่อัธยาศัยนุ่มนวล สุภาพ อ่อนโยน เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว อยู่ในตำแหน่งฐานะใด ก็เหมาะสมกับฐานะนั้น ๆ กล่าวคือมี อัตตสัมมาปณิธิธรรม เป็นวัตรปฏิบัติ เป็นบุตรที่ดีของวงศ์ตระกูล เป็นศิษย์ที่ดีของครู – อาจารย์ เป็นอาจารย์ที่ดีของสานุศิษย์ สงเคราะห์ญาติอยู่เป็นนิจ เป็นกัลยาณมิตร สหธรรมิก ทั้งปวง เป็นผู้สอน เป็นนักปฏิบัติ ที่ตั้งมั่นอยู่ในธรรม เป็นผู้ประพฤติตนสันโดษ มีความมั่นคงในหลัก กตัญญูกตเวทิตาธรรม ดำรงมั่นคงอยู่ในพรหมวิหารธรรม มีปฏิปทาในสังคหวัตถุธรรม กล่าวคือท่านเป็นผู้ให้  ผู้บริจาคอย่างสม่ำเสมอ  จนตลอดอวสานของชีวิต เป็นผู้สงบเสงี่ยม  เจรจาอ่อนหวานไพเราะ ไม่ทำลายน้ำใจผู้ฟัง มีจิตกุศลช่วยเหลือการงาน ร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เป็นประจำ  ได้ปฏิบัติตนต่อผู้อาวุโส และศิษย์ทั้งที่อยู่ไกล และใกล้ชิดอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  ในด้านสีลาจารวัตรนั้น พระเดชพระคุณ พระธรรมปาโมกข์ถือแนวปฏิบัติตามเนติ แบบแผนธรรมวินัย ตามจารีตประเพณีนิยมของอุปัชฌาย์อาจารย์  ด้วยเหตุนี้แล พระเดชพระคุณ พระธรรมปาโมกข์ จึงเจริญงอกงามไพบูลย์ในศาสนา ทั้งในทางสมมติ  โลกิยวิสัย  ทั้งในทางคุณธรรม  สมมติตามโลกนิยม  พระเดชพระคุณเป็นพระเถระที่มีน้ำใจสูงส่ง  มีคุณธรรมสูงยิ่งอยู่ในจิตใจ  มีสภาพใจที่สะอาดบริสุทธิ์  พระเดชพระคุณจึงเป็นสมณะ ที่กล่าวได้ว่าเป็นพระเถระที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม  อยู่ด้วยเมตตาธรรม หนักแน่นในเมตตาธรรม และแผ่เมตตาธรรมไปยังบุคคลทั้งหลาย ด้วยกิริยาที่งดงาม วาจาที่ไพเราะเพราะโสต  จิตที่ประกอบไปด้วยเมตตาธรรม  มีคุณงามความดีเป็นอเนกประการ เป็นนิทัศนัยส่วนเล็กน้อยที่น้อมใจ ที่เห็นได้ว่า พระเดชพระคุณพระธรรมปาโมกข์ เป็นพระเถระที่เหมาะสมในพระพุทธศาสนา เป็นพระภิกษุสมณะที่ดีงาม ด้วยประการดังนี้ สมณะที่ดีงามในพระพุทธศาสนาโบราณบัณฑิตท่านพรรณนาไว้ โดยประการต่าง ๆ โดยนัยหนึ่ง แห่งบทสังฆคุณกล่าวได้ว่ามีองคคุณ ข้อปฏิบัติเป็น ๔ ประการ คือ สุปฏิบัติ อุชุปฏิบัติ ญายปฏิบัติ และสามีจิปฏิบัติ หรืออย่างที่ท่านสาธุชนนิยมกล่าวกันในปัจจุบันว่า พระสุปฏิปันโน ดังนี้

สุปฏิบัติ   เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า มีข้อปฏิบัติให้เป็นสุข คือที่ดี ที่งามและว่าง่าย ข้อปฏิบัติที่ดีนั้น มีกายกรรมดี มีวจีกรรมดี ที่ว่างามนั้น คือเมื่อแสดงกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมในการใด ก็แลดูงดงามไม่มีแง่ไม่มีงอน  ที่จะทำให้เกิดความกังวลใจว่าจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ แต่มีความงาม ทางกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม เป็นต้น ทำให้เกิดความรู้สึกในใจได้ว่า สมณะในพระศาสนานี้ งามอย่างนี้นี่เอง เหมือนกับที่นางจูฬสุภัททาได้กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาว่า สมณะในพระพุทธศาสนาของข้าพเจ้านี้ เป็นที่เจริญกาย เป็นที่เจริญใจ ดังคำบาลีว่า ภทฺท หมายถึงการเจริญกาย เจริญใจ ในครั้งพุทธกาล มีพระสงฆ์สาวกเป็นที่ปรากฏ และมีผู้กล่าวสรรเสริญไว้ดังนี้ แม้ในบัดนี้ก็ยังมีพระสงฆ์สาวกในลักษณะนั้นเช่นกัน จึงทำให้เห็นได้ว่า พระสงฆ์สาวกแม้จะไม่บรรลุมรรคผลในขั้นสูง แต่มีข้อปฏิบัติที่ดีงาม ทำให้เกิดความงามใจขึ้น ใจงามเพราะเห็นสมณะผู้เป็นที่งดงามถูกใจ ใจก็เกิดเป็นบุญเป็นกุศล แช่มชื่น เบิกบาน อาจหาญร่าเริง พยายามที่เข้าไปอยู่ใกล้กับท่านผู้งดงามเช่นนั้น

ประการที่ ๒  อุชุปฏิบัติ คือปฏิบัติตรงไปตรงมา ได้แก่ไม่คดโกง ไม่หน้าไว้หลังหลอก และตรงตามพระธรรมวินัย ทำความดีละความชั่ว ได้ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ปฏิบัติมุ่งต่อความดีอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นเป็นที่ตั้ง ดังนั้น พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตชนทั้งหลาย  ยกย่องว่า อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว มีปฏิปทาที่ตรง ไม่คดไม่งอ ไม่โค้ง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นผู้ปฏิบัติที่สุจริต ทั้งกาย วาจา  ใจ ได้แก่เป็นผู้ปฏิบัติไม่ลวงโลก ไม่มีมารยาสาไถย ปฏิบัติซื่อตรงต่อพระศาสดาและหมู่พระสาวกด้วยกัน ไม่มีความลี้ลับอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องปิดบังอำพราง และปฏิบัติโดยไม่มีแง่ไม่มีงอนต่อพระศาสดาและพระสงฆ์อื่นทั่วไป

ประการที่ ๓  ญายปฏิบัติ คือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น เพราะคำว่า ญายะ หรือ เญยยธรรม คำนี้ แปลว่าธรรมที่ควรรู้หมายถึงพระนิพพานอันเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นจุดหมายของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น คำว่า ญายปฏิปันโน จึงแปลว่าผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น คือหลุดพ้นจากกิเลสหรือนามรูป เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ คือเข้าถึงปฏิปทา เพื่อความรู้ในธรรม มุ่งให้เกิดความเข้าใจในสรรพสิ่งตามสภาพที่เป็นจริง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ในปัจจุบันจนถึงสังสารทุกข์และเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสอาสวะให้ออกไปจากจิต

ประการที่ ๔ สามีจิปฏิบัติคือ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติสมควร เป็นผู้ปฏิบัติชอบ คือเป็นผู้ปฏิบัติตามปฏิปทาอันชอบยิ่ง ปฏิปทาอันไม่ผิด ปฏิปทาสายกลางที่ไม่เข้าไปใกล้ที่สุด ๒ อย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค ได้แก่ เป็นผู้ปฏิบัติที่น่านับถือสมควรได้รับสามีจิกรรม คือการกระทำที่สมควรยิ่งจากผู้อื่น  เป็นต้นว่า ความเคารพนับถือและสักการบูชา ข้อพรรณนาตามที่ได้รับพระราชทานถวายวิสัชนามาโดยลำดับแล้วนั้นพอสรุปได้ว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเมื่อมีจริยาข้อปฏิบัติตามนัยดังพรรณนาแล้วนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นพระสงฆ์สาวกที่งดงาม และเมื่อเป็นพระสงฆ์สาวกที่งดงาม ย่อมก่อให้เกิดเป็นผล ๔ ประการ คือ เป็น อาหุเนยยะ ควรแก่ของคำนับ ปาหุเนยยะ ควรแก่การต้อนรับ ทักขิเณยยะ ควรแก่การทักขิณา (ของทำบุญ) เป็นอัญชลีกรณียะ ควรแก่การนอบน้อมกราบไหว้ เมื่อรวม ๔ ประการนี้แล้วกล่าวได้ว่า เป็นบุญเขตอันประเสริฐสูงสุดของชาวโลกด้วยประการดังนี้ พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์เป็นพระเถระในสังฆมณฑลในพระพุทธศาสนาปรากฏชัดเจนแก่คนทั้งหลายทั้งปวง แก่สมณชีพราหมณ์ แก่ทายกทายิกาสานุศิษย์ ว่าเป็นพระภิกษุสมณะ คือเป็นสมณะที่ดีงาม ทั้งภายในและภายนอก เป็นเหตุให้คนทั้งหลายกล่าวได้ว่า ในพระศาสนานี้มีพระสงฆ์สาวกที่ดี ที่งดงามอย่างเช่นพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ ปรากฏอยู่ในสังฆมณฑล เป็นพระเถระที่ควรยกย่องเชิดชูพระศาสนาให้เด่นชัดเจนในโลก แม้ในปัจจุบันความดีงามทั้งปวงที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ได้ปฏิบัติบำเพ็ญแล้วนั้น ยังเป็นมรดกที่ตกอยู่กับวัดธาตุทอง ให้พระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ศิษยานุศิษย์ ได้อนุสรณ์ถึงตลอดไป อิมินา กตปุญฺเญน  ด้วยอำนาจราชกุศลที่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ บำเพ็ญอุทิศ สัตตมวาร นี้ ขอให้ดวงวิญญาณของท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปญฺโญ)  ทราบด้วยญาณวิถีแล้วชื่นชมอนุโมทนาในพระราชกุศลให้สำเร็จเป็นวิบากสมบัติ สุภอภิบูล มนูญผล เป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกุลเพื่อความสุขในสัมปรายภพ สมตามพระราชเจตนาปรารภที่ทรงพระราชทานบรมราชานุเคราะห์ทุกประการ

รับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนา ในสุสมณกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี ยุติด้วยเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

             ขอถวายพระพร
         









กิมเล้ง : http://www.sookjai.com

ข้อมูลคัดลอกจาก
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด,๒๕๔๕








.


5382  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๑๓ : พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) เมื่อ: 26 เมษายน 2555 20:08:10
พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์




พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น  มนฺตาสโย) วัดปทุมวนาราม  กรุงเทพมหานคร



พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๑๓
พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น  มนฺตาสโย)



พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น  มนฺตาสโย)   เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน ปีจอ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๙ ณ บ้านคลองคราม ในคลองบางกอกน้อย  เป็นบุตรชายคนแรกของนายพันโท  พระบริคุตวรภัณฑ์ (คง สรวิสูตร์) ยกกระบัตรทหารบก  ท่านรอด เป็นมารดา  ท่านมีพี่สาวร่วมมารดาคนหนึ่ง คือคุณชุมแสง เทพหัศดินทร์  ซึ่งถึงแก่กรรมไปนานแล้ว  และมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับท่านอีก ๒ คน คือ นางพิมลเสนี (ประพันธ์  หงสกุล)  คนหนึ่ง กับนายเพชร์  สรวิสูต  อีกคนหนึ่ง  ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วเช่นกัน

เมื่อเยาว์วัย ท่านได้มีโอกาสติดตามคุณโยมบิดาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำ  และได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นรุ่นแรก รุ่นเดียวกับมหาอำมาตย์ตรีพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) เรียนจบประโยคหนึ่งแตกฉานในภาษาไทยเป็นอย่างดี และภาษาอังกฤษพอสมควร

เมื่อท่านมีอายุได้ ๑๗ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบวรนิเวศวิหาร  ได้มีโอกาสถวายการปฏิบัติต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จนเป็นที่โปรดปรานเพราะความขยัน อดทน และอยู่จนดึกเป็นนิจ  ด้วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงงานอยู่จนเลยสองยามแล้วจึงจะเสด็จเข้าที่พระบรรทม  ท่านเฝ้ารับใช้รวดเร็วทันพระทัยและรู้พระทัยเป็นอย่างดี โดยมิได้คำนึงถึงเวลาพักผ่อนของท่านเอง

ท่านเป็นสามเณรอยู่ได้ปีเศษ  ก็ลาสิกขาออกไปรับราชการของประเทศชาติในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นเวลาประมาณ ๓ ปีเศษ ก็ลาออก เพื่อไปหาความสงบและพักผ่อนเพื่อสุขภาพ  ในที่สุด ท่านก็ได้ตัดสินใจอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนรนาถสุนทริการาม วัดเดียวกับที่คุณโยมบิดาของท่านเคยบรรพชา  โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ  ทรงเป็นพระอุปัชฌายะ  พระวินัยมุนี เป็นพระกรรมวาจา  เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๐

พรรษาแรกที่อุปสมบท  ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ในวัดเล็ก ๆ ในป่าจังหวัดนครสวรรค์ หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านก็โดยสารรถไฟกลับกรุงเทพฯ พักอยู่ที่วัดนรนาถฯ บ่ายวันหนึ่ง ท่านนั่งรถรางมาลงที่สะพานยศเส (สะพานกษัตริย์ศึก ปัจจุบัน)  แล้วเดินต่อไปจนถึงชานเมืองได้พบวัดปทุมวนาราม ก็รู้สึกสนใจในความสงบร่มเย็นของวัดนี้   ท่านจึงเดินเข้าไปดูในลานวัด และพบกับพระวิสุทธสารเถระ (ผิว)  ผู้เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔  ท่านจึงเข้าไปทำความเคารพและสนทนาอยู่พักหนึ่ง  จนเกิดความประทับใจในการต้อนรับของเจ้าอาวาส  ท่านจึงกราบขอมาอยู่วัดปทุมวนารามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  พระวิสุทธสารเถระ  เดิมเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดพระบาทตากผ้า  จังหวัดอุตรดิตถ์  มีผู้คนเคารพนับถือมาก  เดิมเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามองค์ที่ ๓ มรณภาพลง  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดให้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามสืบแทนต่อไป และอยู่มาไม่นานก็มรณภาพลง  กรมพระสวัสดิ์  จึงนิมนต์พระอาจารย์หนู  จิตปัญโญ  ซึ่งเป็นเพื่อสหธรรมมิก เดินธุดงค์กับพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ จากวัดบูรพา  จังหวัดอุบลราชธานี  มาเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ของวัดปทุมวนารามต่อไป  เพราะฉะนั้น พระอาจารย์มั่นฯ จึงได้ลงมาพักอยู่ด้วยเป็นเวลาถึง ๓ ปี
          
พระธรรมปาโมกข์ (มนฺตาสโย  บุญมั่น  สรวิสูตร์)  มีความสนใจในทางธรรมปฏิบัติมาก จึงเข้ารับการอบรมกรรมฐานจากท่านอาจารย์มั่นฯ  และได้ติดตามธุดงค์ไปกับพระอาจารย์ในภาคเหนือ  แล้วเลยเข้าไปอยู่เมืองมะระแหม่ง ๒ ปี กับที่เมืองเมาะตะมะอีก ๒ ปี  การอยู่ในประเทศพม่าต้องแอบพูดภาษาไทยกันอย่างเบา ๆ เพราะพม่ามีชาตินิยม  จึงไม่พอใจที่จะได้ยินภาษาอื่นนอกจากภาษาพม่า  เมื่อกลับประเทศไทยท่านอาจารย์มั่นฯ เข้ามาทางเชียงรายและเชียงใหม่  ส่วนพระธรรมปาโมกข์ลงเรือที่เมืองเมาะตะมะ มาขึ้นที่นครศรีธรรมราช แล้วเดินทางกลับวัดปทุมวนาราม เช่นเดียวกับพระอาจารย์มั่นฯ ซึ่งมาถึงกรุงเทพฯ ภายหลัง  และคงพักอยู่วัดปทุมวนารามชั่วระยะหนึ่ง  จึงมีการเดินทางไปธุดงค์ด้วยกันอีก  โดยมุ่งไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เลยไปถึงประเทศลาว เลาะมาตามริมฝั่งแม่น้ำโขง  ข้ามฟากเข้าประเทศไทยที่ปากเซ ขึ้นที่วัดธาตุพนม  แล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดสกลนคร  อุดรธานี  แล้วขึ้นรถไฟมาลงที่นครราชสีมา  เดินธุดงค์ต่อไปยังเพชรบูรณ์ พิษณุโลก  อุตรดิตถ์  จนมาถึงปากน้ำโพ  จึงขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นการธุดงค์เที่ยวสุดท้าย  ครั้นเมื่อเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕  ถึงแก่มรณภาพลง  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  ก็ทรงแต่งตั้งให้ท่านรักษาการเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ ในกาลต่อมา  ท่านได้รับสมณศักดิ์มาตามลำดับ คือ
   - ๖ พ.ย. ๒๔๗๖  พระครูประทุมธรรมธาดา
   - ๕ ธ.ค. ๒๔๙๑  พระปัญญาพิสารเถร
   - ๕ ธ.ค. ๒๕๐๐  พระปัญญาพิสารเถร (ชั้นราชในนามเดิม)
   - ๕ ธ.ค. ๒๕๐๕  พระเทพมงคลปัญญาจารย์
   - ๕ ธ.ค. ๒๕๒๐  พระธรรมปาโมกข์

พระธรรมปาโมกข์ทำอะไรก็ทำจริง ๆ เช่นการเดินธุดงค์ก็เดินจริง ๆ เป็นระยะทางทั้งหมดมากมายน่าพิศวง  ส่วนการแสดงธรรมเทศนานั้น เมื่อได้กลับจากธุดงค์อยู่วัดปทุมวนารามแล้ว ท่านก็แสดงได้ดีเป็นที่สบอารมณ์แก่ผู้ฟัง  เมื่อสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้า เสด็จมาทรงสดับพระธรรมเทศนาในวันธรรมสวณะ  ที่สำคัญก็ทรงรับสั่งให้ท่านมั่นเทศน์ เจ้านายและคหบดีก็นิมนต์ให้ท่านไปเทศน์อยู่เสมอ จนเกือบจะไม่มีเวลาพักผ่อน  แต่ท่านก็ต้องรับนิมนต์เพราะไม่อยากจะขัดศรัทธา

พระธรรมปาโมกข์มีจริยาวัตรเรียบร้อยนิ่มนวล เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาแก่บรรดาผู้ที่ได้มีโอกาสวิสาสะโดยทั่วไป  ซึ่งรวมทั้งคหบดีและเจ้านายหลายพระองค์  ท่านได้รับนิมนต์ไปในงานพระราชพิธีอยู่เสมอ จึงมีโอกาสได้เฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ อย่างใกล้ชิด  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ก็ได้เสด็จมาที่วัดปทุมวนารามอยู่เนือง ๆ ครั้งสุดท้ายได้เข้าเฝ้าเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๐  ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมายกช่อฟ้าในพระอุโบสถที่ซ่อมใหม่ เมื่อเสร็จพิธีแล้วล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ก็เสด็จไปถวายความเคารพแด่พระบรมอัฐิของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งบรรจุไว้ในเจดีย์ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม  และเมื่อเสด็จออกจากโรงเรียนก็ทรงพระราชดำเนินผ่านกุฏิของพระธรรมปาโมกข์ ซึ่งคอยเฝ้าอยู่ที่กุฏิ  ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ก็ได้หยุดรับสั่งกับท่านอยู่เป็นเวลานานพอสมควรจึงเสด็จกลับ

พระธรรมปาโมกข์มีสุขภาพดีมาตลอด  มีความแข็งแรง อดทน สามารถเดินธุดงค์อยู่เป็นเวลานานปีโดยปราศจากโรคภัยอันตราย เมื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนารามท่านออกบิณฑบาตเป็นประจำและบางครั้งไปตามถนนสุขุมวิทจนเกือบถึงพระโขนง  ท่านรับนิมนต์เจ้านายและคหบดีที่มีวังและคฤหาสน์ในย่านสุขุมวิทอยู่เป็นนิจ  ทำให้เกิดความใกล้ชิดและเกิดศรัทธาแก่เจ้านายและคหบดีเหล่านั้น  เป็นเหตุให้มีผู้ติดตามมาทำบุญที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวัยชราท่านไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ และท่านได้หกล้มหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญครั้งแรกท่านต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นเวลาสองเดือนเศษ ประมาณ ๒ ปีต่อมา  ท่านก็ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจนานถึงสองเดือน  ในปลาย พ.ศ. ๒๕๒๒  ท่านเป็นลมล้มในกุฏิ  ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกเป็นแรมเดือน  แล้วย้ายมาอยู่โรงพยาบาลสงฆ์เพื่อความสะดวกบางประการ  ทุกครั้งที่ท่านป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์เป็นประจำหลายประการ  การป่วยของท่านครั้งสุดท้ายท่านมีพระฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถตั้งไว้ที่โต๊ะหัวนอนเตียง  และทุกเวลาเพลท่านจะสวดมนต์ถวายพระราชกุศลแด่ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ในระยะหลัง ๆ นี้ ท่านฉันได้น้อยและมีอาการอ่อนเพลีย

ครั้นมาถึงวันอังคารที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๒  เวลา ๘.๔๕ น. ท่านจำวัดแล้วก็ถึงแก่มรณภาพด้วยความสงบ นับอายุได้ ๙๓ ปี ๗ เดือน ๒๐ วัน และพรรษา ๗๓








กิมเล้ง : http://www.sookjai.com

ข้อมูลคัดลอกจาก
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๔๕
5383  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๑๒ : สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) เมื่อ: 26 เมษายน 2555 19:51:36
พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์




สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม  อุฑาฒิโม) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร



พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๑๒
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม  อุฑาฒิโม)



สมเด็จพระมหาวีรวงศ์   นามเดิมว่า ทิม  ฉายา  อุฑาฒิโม  นามสกุล พันธุเลปนะ  เกิดในรัชกาลที่ ๕  ในวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะโรง  จุลศักราช ๑๒๖๖  ตรงกับวันที่ ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๗  ณ บ้านดอนสะแก  ตำบลโคกโคเฒ่า  อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี  โยมบิดาชื่อ อ่อน  โยมมารดาชื่อ เทศ  ชื่อสกุลเดิมว่า พันทา  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น พันธุเลปนะ  เป็นบุตรคนที่ ๗  ในจำนวนพี่น้อง ๙ คน

เมื่ออายุได้ ๙ ปี ไปอยู่ที่วัดชายทุ่ง  ตำบลโคกหม้อ  บ้านนี้เป็นภูมิลำเนาเดิมของบรรพบุรุษ ได้เริ่มต้นเล่าเรียนศึกษาที่นั่น โดยมีอาจารย์ขันทองเป็นผู้ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด  พออายุได้ ๑๑ ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดชายทุ่งนั่นเอง  และได้เรียนอักษรสมัยอยู่ในสำนักพระอาจารย์แสง สมภารวัดชายทุ่ง จนมีความรู้ขั้นต้นสมควรแก่วัย  บวชเณรอยู่ได้ ๑ ปี ก็ลาสิกขา

พระคุณท่านมาอยู่วัดราชประดิษฐ์ฯ นี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘  ซึ่งยังเยาว์วัยมาก  โดยอาจารย์แสงแห่งวัดชายทุ่ง ได้นำพามาฝากเป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (แย้ม  อุปวิกาโส)  แต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี คุณแม่ทองดี ข้าหลวงในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตน์ศิริเชษฐ์ (พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี  พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)  เป็นผู้ให้อุปการะอบรมสั่งสอนในตอนนั้น

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓  ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดราชประดิษฐ์ฯ และได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและความรู้วิทยาการสมัยใหม่ เพิ่มเติมจากที่ได้เคยเล่าเรียนมาบ้างแล้วนั้น ลุถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๗  อายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้อุสมบทที่วัดราชประดิษฐ์ฯ นี้เอง พระพรหมมุนี (อุปวิกาสเถร)  เป็นพระอุปัชฌายะ  พระอมรโมลี (อาบ อุปคุตฺโต)  วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วได้สอบความรู้พระปริยัติธรรมทั้งนักธรรมและบาลี จนได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค นักธรรมโท แล้วปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์สอนธรรมและบาลีของสำนักเรียนนี้ควบคู่ไปกับปฏิบัติศาสนกิจอื่น ๆ อีกเพื่อสังคมส่วนรวม

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๘  พระคุณท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระเมธาธรรมรส เมื่อวันที่ ๑  มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล


เมื่อถึงรัชกาลปัจจุบัน ปี พ.ศ. ๒๔๙๐  ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์  มีศักดิ์และสิทธิ์ในการให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้อย่างถูกต้องตามพระวินัยพุทธานุญาตและตามกฎหมายคณะสงฆ์  และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม

ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๑  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพเมธากร

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์

ครั้นมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระธรรมปาโมกข์ ขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัณยบัฏว่า “พระธรรมปัญญาจารย์ ปริยัติญาณโสภณ  วิมลศีลาจารวัตร  พุทธบริษัทปสาทกร  สุนทรธรรมวินัยวาที  ตรีปิฏกวิภูสิต ยติคณิสสร  บวรสังฆาราม  คามวาสีสถิต”  ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง....

พระธรรมปัญญาจารย์ ดำรงตำแหน่งบริหารการพระศาสนาและปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์หลายอย่าง นอกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ แล้ว ยังเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายบรรพชิต  กรรรมการมหาเถรสมาคมคณะธรรมยุต  กรรมการหาทุนในโครงการพัฒนาลุมพินีขององค์การสหประชาชาติ  เป็นประธานด้านสาธารณูปการ  สร้างวัด  สร้างโบสถ์  สร้างพระพุทธรูปประธานในต่างจังหวัด ฯลฯ ลุถึง ปี พ.ศ. ๒๕๓๖  ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระธรรมปัญญาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ  มีราชทินนามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จาตุรงคประธานวิสุต  พุทธกิจโจปการวัฒนานุการี คัมภีรญาโณภาสราชโหราธิบดี  ศรีธรรมวิสุทธอุปวิกาสวรางกูร  ไพบูลปาพจนวราลงกรณ์  ธรรมยุตติณิสสร  บวรสังฆาราม  คามวาสี  อรัญยวาสี”  สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๑๐ รูป คือ
- พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ สุนทรธรรมปฏิภาณนายกปิฎกธรรมรักขิต ๑
- พระครูวินัยธร ๑
- พระครูธรรมธร ๑
- พระครูวิมลสรสิทธิ์   พระครูคู่สวด ๑
- พระครูสิลิฐสรคุณ   พระครูคู่สวด ๑
- พระครูบรรณวัตร   พระครูรองคู่สวด ๑
- พระครูพันธกิจ   พระครูรองคู่สวด ๑
- พระครูสังฆบริคุต ๑
- พระครูสมุห์ ๑
- พระครูใบฎีกา ๑

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่  ได้ทรงสมณเพศประพฤติพรตพรหมจรรย์ คือ ระบอบการครองชีวิตอันประเสริฐที่ทุกข์เข้าถึงได้โดยยาก  เจริญชนมายุจนได้เป็นพระเถระผู้ใหญ่แล้ว  จริยาวัตรที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาสมกับเป็นพระเถระพระผู้ใหญ่  ซึ่งเป็นหลักในพระศาสนาผู้มีเกียรติคุณเพียบพร้อมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิจริง ๆ ท่านยิ่งเจริญด้วยวัยมากขึ้น คุณธรรมในใจก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่าท่านเป็นผู้ชอบระเบียบประณีต มีอัธยาศัยงาม ใจสูงและมั่นคงจริง ๆ แม้จะอยู่ในปัจฉิมวัยชราภาพมากแล้ว แต่ดูท่านกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วแข็งแรงสมบูรณ์ เปล่งปลั่งผ่องใสอิ่มเอิบกระปรี้กระเปร่า ความทรงจำก็ดีมากยังไม่เลอะเลือน ประสาทหูประสาทตายังอยู่ในสภาพดี ซึ่งหายากในวัยของคนอายุปูนนี้ หลายคนไม่ยอมเชื่อว่าพระเดชพระคุณจะมีชนมายุถึงเกือบ ๙๖ ปี
 
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์มีชื่อเสียงมากในทางโหราศาสตร์ ท่านมีความรู้แตกฉานทางพยากรณ์ศาสตร์เป็นพิเศษ  ทั้งมีผู้พอใจในการพยากรณ์ของท่านมากมาย พระเดชพระคุณท่านเจริญรอยตามพระอุปัชฌาย์ของท่าน คือท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (อุปวิกาสเถร)  ผู้มีความชำนาญด้านโหราศาสตร์เป็นเยี่ยมมาก  จนถือกันว่าเป็นปรมาจารย์แห่งโหราศาสตร์ทีเดียว เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักโหราศาสตร์และในวงการของผู้สนใจศึกษาในศาสตร์นี้ ทั้งในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่และยุคต่อมา



ศาสนกิจ

๑.  งานด้านปกครอง
ได้รับภาระและหน้าสำคัญเกี่ยวกับการบริหารหมู่คณะ และคณะสงฆ์ส่วนรวม ได้เป็นผู้จัดการบริหารวัดราชประดิษฐ์ฯ ในตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นมา

 ๒.  งานเผยแผ่พระศาสนา
พระเดชพระคุณได้แนะนำสั่งสอนคนทุกชั้น ทุกเพศทุกวัย ให้เกิดศรัทธาปสาทะและสัมมาทิฏฐิ  นำคนให้มีสัมมาทิฏฐิในทางพระพุทธศาสนา  ในชีวิตและหลักในการดำเนินชีวิตอันถูกต้อง งานเผยแผ่อีกประการหนึ่ง คือ การจัดส่งพระเปรียญ พระนักธรรม พระฐานานุกรม ผู้ทรงความรู้ความสามารถไปเป็นครูอาจารย์ สอนธรรม สอนบาลี ช่วยงานพระศาสนา ปฏิบัติกิจคณะสงฆ์ด้านต่าง ๆ  ในสำนักต่าง ๆ และในต่างจังหวัด ซึ่งไม่เพียงทำหน้าที่ศาสนทายาทของพระสงฆ์เท่านั้น  ยังนำแบบแผนและขนบธรรมเนียมอันดีงามของวัดไปเผยแผ่ให้ปรากฎในสำนักอื่นอีกด้วย

๓.  เรื่องการศึกษา
ท่านเป็นพระเถระที่ใฝ่การศึกษาหาความรู้อย่างมาก และตลอดเวลา ไม่ว่าวิชาการสมัยใหม่อื่นใดไม่ขัดกับพระธรรมวินัยไม่ผิดกฎกติกาของวัด อันจะส่งตนให้เจริญก้าวหน้าและเป็นประโยชน์แก่ชาติ พระศาสนา และส่วนรวมต่อไป

๔. งานนวกรรมก่อสร้างและปฏิสังขรณ์
ในฐานะเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ  พระเดชพระคุณได้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบประการหนึ่งของภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาส  ตามที่ศาสดาตรัสไว้ในปัญจนนิบาต อังคุตตรนิกายว่า สามารถปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้สวยงามเป็นรมณียสถาน เรียกว่ารู้จักซ่อมแซมเสนาสนะอันเป็นที่อยู่อาศัยไม่ปล่อยปละละเลยเอาไว้ เพราะหน้าที่ประการนี้นั่นเอง จึงทำให้มีเสนาสนะที่อยู่อาศัยกุฏิสงฆ์สังฆาวาส  สะอาดเรียบร้อยดี มีอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมแบบถาวร มีห้องสมุด ห้องประชุม ห้องพักครูอาจารย์ พร้อมมีเสนาสนะสงฆ์แบบสมัยใหม่ให้ความสะดวกสบายเป็นเสนาสนะสัปปายะ ไม่ลำบากในการบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติ

๕. งานด้านสาธารณูปการ
พระเดชพระคุณได้แผ่ขยายงานสาธารณูปการ สร้างวัด สร้างพระอุโบสถ สร้างพระประธาน จัดสร้างสาธารณูปโภคในที่อื่น ๆ กระจายงานออกไปถึงชนบทกันดารในต่างจังหวัดอีกมากมาย เพียงแต่ท่านออกปากชักชวนผู้มีศรัทธาไปร่วมสร้างที่โน่น ปฏิสังขรณ์ที่นี่ ซ่อมอุโบสถที่จังหวัดโน้น สร้างวัดที่จังหวัดนี้ เหล่าทายกทายิกาผู้ใจบุญทั้งหลายก็เต็มใจร่วมบำเพ็ญกุศลตามกำลังเสริมสร้างบารมีกับท่านพระเดชพระคุณ นำพุทธบริษัทบำเพ็ญสาธารณูปการแก่วัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลดีแก่ชาติและศาสนา ที่สำคัญก็มี
๑. วัดเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
๒. วัดพรหมรังสี  อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
๓. วัดนาบุญเฉลิมราษฎร์  บางกระดี่ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
๔. วัดทรงธรรม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี
๕. วัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
๖. วัดอมรินทราราม อ.เมือง จ.ราชบุรี
๗. วัดไตรรัตนาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
๘. วัดสาลโคดม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
๙. วัดชายทุ่ง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
๑๐. วัดบางกุ้ง หรือวัดบางหมัน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ

สำหรับวัดโคกโคเฒ่า อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี อันเป็นวัดบ้านเกิดนั้น พระเดชพระคุณก็ช่วยอุปการะสม่ำเสมอตามกาลอันสมควร นำกฐินไปทอดบ้าง รวบรวมจตุปัจจัยถวายวัดไม่เจาะจงว่าให้สร้างหรือปฏิสังขรณ์อะไร   แล้วแต่ท่านเจ้าอาวาสจะนำไปใช้จ่ายตามที่เห็นเหมาะเห็นควร

เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ครั้งเป็นพระธรรมปัญญาจารย์ เคยอาพาธด้วยโรคทางเดินอาหาร คราวอายุก่อน ๙๐ ปี และเป็นอาพาธทางมือไม่ทำงานขาดความรู้สึก ได้ทำการพยาบาลจากโรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า  และทำการรักษากายวิภาคบำบัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึก ภปร. อาการทุเลาหายอาพาธปี พ.ศ. ๒๕๓๖  เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาเป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และเป็นมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และได้ปฏิบัติศาสนกิจ ประชุมมหาเถรสมาคมในตามวาระบางคราว แต่เมื่ออายุท่านเพิ่มขึ้น จึงได้พักการประชุม  แต่ในทางมหาเถรสมาคมได้ส่งรายงานการประชุมถึงเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์มาตลอด แต่ด้วยวัยชราสูงอายุต้องเข้าออกโรงพยาบาลตรวจร่างกายเสมอ และได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นคนไข้หลวงหลายครั้ง แต่ด้วยวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๓  พยาบาลจึงต้องนำท่านเข้าโรงพยาบาลโดยฉันพลันอีกครั้งหนึ่ง  โดยนำสมเด็จเข้ารับการรักษาที่ห้อง ไอ.ซียู. ด้วยอาการไม่รู้สึกตัว  นายแพทย์รุ่งนิรันดร์ พร้อมพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลทำการช่วยชีวิตให้ระบบหายใจทำงานได้ ทั้งได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ (ออกซิเจน)  และถวายอาหารและเภสัชทางสายยาง เนื่องจากชราภาพ ทั้งขาดความรู้สึกและโรคแทรกซ้อน จึงทำให้ร่างกายไม่รับทั้งอาหารและเภสัช  นายแพทย์ทราบว่าเป็นการทรมานต่อสังขารและร่างกายเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์

เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์มรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช  วันอังคารที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๓  เวลา ๑๔.๓๐ น. ด้วยอาการสงบ  รวมการพักรักษาครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาลศิริราช ๗ วัน รวมอายุ ๙๖ ปี







กิมเล้ง :  http://www.sookjai.com
ข้อมูลคัดลอกจาก
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๕









.
5384  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๑๑ : สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) เมื่อ: 26 เมษายน 2555 19:35:51


พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์



สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน  ธมฺมสาโร)  วัดราชผาติการาม กรุงเทพมหานคร



พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๑๑
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน  ธมฺมสาโร)


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน  ธมฺมสาโร)  วัดราชผาติการาม  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร   เดิมชื่อ วิน  ทีปานุเคราะห์  เป็นชาวจังหวัดชุมพร  เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙  ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย  ณ บ้านนาพญา  อำเภอขันเงิน  จังหวัดหลังสวน (เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ครั้งอดีต สมบูรณ์ด้วยไม้ผลนานาชนิดตามชื่อ  ปัจจุบันคือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร)  ในสกุล ทีปานุเคราะห์  โยมบิดาชื่อ นายเชย  โยมมารดาชื่อ นางบุญมี  มีอาชีพเป็นชาวสวน

เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปอยู่วัดราชผาติการามใหม่ ๆ ให้สร้างกุฎีไม้หลังเล็ก ๆ กว้างยาวพอปูที่นอนและเหลือที่นั่งอ่านหนังสือ  ฉันหมาก  ฉันน้ำชา  น้ำอ้อย  น้ำส้มคั้น เป็นครั้งคราว ไม่นิยมฉันจุกจิก  เมื่อของใหม่ออกมาก็ไม่นิยมฉัน  ดูเหมือนท่านจะรังเกียจเรื่องกาลิก* 

เมื่อเยาว์วัยได้เล่าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดนาบุญ  หลังสวน จบชั้นประถมปีที่ ๓ (ซึ่งเป็นชั้นประถมบริบูรณ์ขณะนั้น)  แล้วมาเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดโตนด  หลังสวน แต่เรียนอยู่เพียง ๖ เดือนก็ลาออก เพราะโยมบิดาประสงค์จะให้บวชเป็นสามเณร

พ.ศ. ๒๔๖๖  เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโตนด  อำเภอขันเงิน  จังหวัดหลังสวน (ขณะนั้น)  พระธรรมารามคณีสุปรีชา (หนู  อชิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์   และเล่าเรียนอยู่ที่วัดโตนดนั้น จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี และเปรียญธรรม ๓ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๗๑  ได้ย้ายเข้ามาเล่าเรียนต่อที่วัดราชาธิวาส  กรุงเทพฯ  และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชาธิวาสในปีนั้น   โดยพระธรรมารามคณีสุปรีชา (หนู  อชิโต)  เป็นพระอุปัชฌาย์   พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม)  ขณะเมื่อยังเป็นที่พระธรรมโกศาจารย์ วัดราชาธิวาส เป็นพระกรรมวาจาจารย์   ทั้งนี้ ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา และนายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ (อดีตเลขาธิการพระราชวัง) และท่านผู้หญิงกุณฑี ถวายการอุปถัมภ์ในกาลต่อมา   

 เมื่อมาอยู่วัดราชาธิวาสแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนต่อและสอบได้นักธรรมและบาลีชั้นต่าง ๆ ดังนี้ 
- พ.ศ. ๒๔๗๑  สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค และนักธรรมชั้นโท
- พ.ศ. ๒๔๗๓  สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค และนักธรรมชั้นเอก
- พ.ศ. ๒๔๗๔  สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค
- พ.ศ. ๒๔๗๕  สอบได้เปรียญธรรม ๗  ประโยค
- พ.ศ. ๒๔๗๗  สอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค
- พ.ศ. ๒๔๘๐  สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค
ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔  ในรัชกาลที่ ๘  ได้รับพระราชทานสมณศักด์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระอริยเมธี

มาในรัชกาลปัจจุบัน เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชเมธีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐  เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพโมลี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมปาโมกข์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐

ถึง พ.ศ. ๒๕๐๙  ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่พระพรหมมุนี  มีสำเนาประกาศพระบรมราชโองการสถาปนา ดังนี้


ประกาศสถาปนา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระธรรมปาโมกข์ เป็นพระเถระผู้เจริญในสมณพรหมจรรย์ อนันตปรีชาญาณ  ได้ศึกษาแตกฉานในมคธปริวรรต และอรรถธรรมวินัย สามารถสอบไล่ได้สำเร็จภูมิเปรียญธรรม ๙ ประโยค ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชาคณะที่อริยเมธี  พระราชเมธี  พระเทพโมลี  และพระธรรมปาโมกข์ โดยลำดับ  ก็รับภาระพระพุทธศาสนาและสังวรรักษาสมณวัตร ระเบียบปฏิบัติประเพณีราชการได้เรียบร้อย สมควรแก่ตำแหน่งเป็นอย่างดี มีอุตสาหะวิริยะในการประกอบพระพุทธศาสนกิจ เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรโดยอเนกประการ อาทิ ในด้านการปริยัติศึกษา เริ่มด้วยเป็นอุทเทศาจารย์สอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ในสำนักเรียนวัดราชาธิวาสวิหาร เป็นกรรมการตรวจสอบความรู้นักธรรมและบาลีสนามหลวง เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง อนึ่งนับตั้งแต่พระธรรมปาโมกข์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดราชผาติการามเป็นต้นมา  ปรากฏว่าได้อุตส่าห์พยายามจัดการฟื้นฟูการศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนนี้ ให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก  มีจำนวนผู้ที่สอบไล่ได้เป็นนักธรรมและเปรียญมากยิ่งขึ้นโดยลำดับ โดยเฉพาะเปรียญธรรม ๙ ประโยค  มีผู้สอบไล่ได้มาแล้วถึง ๓ รูป  ซึ่งไม่เคยปรากฏมีในกาลก่อน จึงนับว่าพระธรรมปาโมกข์เป็นผู้มีปรีชาสามารถจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมภายในสำนักเรียน ได้ผลดีเป็นอันมาก ควรแก่การสรรเสริญ ในด้านการบริหาร พระธรรมปาโมกข์ได้รับภาระปฏิบัติ คือ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม เป็นเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๕ เป็นเจ้าคณะอำเภอธรรมยุต  อำเภอดุสิต  อำเภอปทุมวัน  อำเภอพระโขนง  และอำเภอบางเขน  เป็นสมาชิกสังฆสภา เป็นรองประธานสังฆสภารูปที่ ๒  เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา  เป็นกรรมการคณะธรรมยุต  เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต  เป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์  เป็นกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย  เป็นกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์  เป็นพระอุปัชฌาย์  เป็นเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม  เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕  พระธรรมปาโมกข์ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม  มีหน้าที่พิจารณายกร่างกฎและระเบียบมหาเถรสมาคม  และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  ในด้านการอบรมสั่งสอน พระธรรมปาโมกข์ เคยได้รับมอบหมายให้จาริกไปแสดงธรรมอบรมประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ในเขตมณฑลนครศรีธรรมราช  และเมื่อทางราชการได้จัดให้มีคณะกรรมการอบรมข้าราชการและประชาชนขึ้น ก็ได้รับอาราธนาให้เป็นผู้ให้การอบรมด้วยรูปหนึ่ง  ได้จาริกไปแสดงธรรมอบรมข้าราชการและประชาชนในจังหวัดพระนคร  จังหวัดธนบุรี  และจังหวัดอื่น ๆ อีกหลายจังหวัด  อนึ่ง พระธรรมปาโมกข์ เป็นผู้ประกอบด้วยอุตสาหะวิริยาธิคุณ  ได้พยายามศึกษาค้นคว้าหลักธรรมในคัมภีรบาลีปกรณ์ทั้งหลาย จนเข้าถึงความเป็นผู้ฉลาดสามารถในคันถธุระวิธีพุทธสมัย  ตั้งอยู่ในวิษัยพหุลศรุตบัณฑิต  รอบรู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมเป็นอย่างดี สามารถแสดงธรรมอบรมสั่งสอนประชาชนพุทธบริษัท ให้ซาบซึ้งเข้าถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ดังเป็นที่ปรากฏว่าในทุกโอกาสวันธรรมสวนะ  จะมีประชาชนพุทธบริษัทต่างมีความเลื่อมใสนิยมไปสดับฟังพระธรรมเทศนาที่วัดราชผาติการาม ในด้านสาธารณูปการ ก็ได้พยายามเอาใจใส่จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุเสนาสนะสงฆ์ซึ่งชำรุดทรุดโทรมมากมาแต่ก่อนให้กลับคืนดี มีสภาพมั่นคงถาวรและสะอาดเรียบร้อยแจ่มใสดีขึ้นโดยทั่วพระอาราม กับได้ดำเนินการจัดสร้างโรงเรียนประปริยัติธรรมขึ้น ๑ หลัง สำหรับเป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณรและได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นอีกหลัง  สำหรับเป็นที่มาบำเพ็ญกุศลและฟังธรรมของประชาชนพุทธบริษัท จึงนับว่าพระธรรมปาโมกข์เป็นผู้มีปรีชาสามารถในการปกครองพระอารามหลวงเป็นอย่างดี

สรรพกรณียกิจซึ่ง พระธรรมปาโมกข์ได้รับปฏิบัติบำเพ็ญตามหน้าที่โดยดังกล่าวมา ปรากฏเป็นผลดียิ่งแก่การพระศาสนา ประเทศชาติและประชาชน  จึงนับว่าเป็นผู้เจริญยิ่งในสมณคุณธรรมสัมมาปฏิปทา มีปรีชาฉลาดในการบริหารพระศาสนา สมบูรณ์ด้วยอาตมหิตและปรหิตจรรยา ปรากฏอยู่แล้ว และบัดนี้ พระธรรมปาโมกข์ก็เจริญด้วยวรรษายุกาลสมบูรณ์ด้วยรัตตัญญูเถรกรณธรรม มั่นคงอยู่ในพรหมจรรย์เนกขัมมปฏิบัติ มีวัตตจริยาเป็นที่น่าเลื่อมใส เป็นหลักอยู่ในคณะธรรมยุติการูปหนึ่ง สมควรจะยกย่องให้ดำรงในสมณฐานันดรสูงขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนา พระธรรมปาโมกข์ ขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัณยบัฏว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ อุดมคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดราชผาติการามวรวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณสมบุรณคณาธิปัติ วินยานุวรรตน์สังฆานุนายก ปิฎกธรรมรักขิต ๑  พระครูวินัยธร ๑  พระครูธรรมธร ๑  พระครูพุทธพากยประกาศ พระครูคู่สวด ๑  พระครูธรรมศาสนอุโฆษ พระครูคู่สวด ๑  พระครูสังฆบริบาล ๑  พระครูสมุห์ ๑  พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาพระคุณจงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณร โดยสมควรแก่กำลังและอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญฯ

                                            ประกาศ ณ วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙  เป็นปีที่ ๒๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

                                                                 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                                                                   จอมพล ถนอม  กิตติขจร
                                                                                         นายกรัฐมนตรี

ครั้น พ.ศ. ๒๕๑๘  ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ นับเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ รูปที่ ๕

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน) เป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญในการคณะสงฆ์ด้านต่าง ๆ มาเป็นลำดับ ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการคณะสงฆ์เป็นอันมาก อาทิ
- พ.ศ. ๒๔๘๔  เป็นสมาชิกสังฆสภา
- พ.ศ. ๒๔๘๖  เป็นกรรมการเถรสมาคมธรรมยุต
- พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็นเจ้าคณะอำเภอดุสิต ปทุมวัน พระโขนง บางเขน บางกะปิ (ธรรมยุติ)
- พ.ศ. ๒๕๐๑  เป็นรองประธานสังฆสภา รูปที่ ๒ รวม ๒ สมัย
- พ.ศ. ๒๕๐๓  เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา และเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง
- พ.ศ. ๒๕๐๓  เป็นเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม
- พ.ศ. ๒๕๐๘  เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร)  ถึงมรณภาพเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖  สิริชนมายุได้ ๘๖ ปี ๖ เดือน ๑๑ วัน



         



* กาลิก : ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้ตามเวลาที่กำหนดให้ มี ๓ อย่าง เรียกว่า ยาวกาลิก คือ ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน  ได้แก่ข้าวปลาอาหาร,   ยามกาลิก คือ ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ได้แก่น้ำอัฐบาน,  สัตตาหกาลิก คือ ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียง ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้ง ๕





รวบรวมโดยกิมเล้ง : http://www.sookjai.com

ข้อมูล

- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๕
- http://www.อัครนันท์.com
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕







.
5385  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / Re: พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๑๐ : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนฯ) เมื่อ: 26 เมษายน 2555 19:04:43


เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้มาก ทั้งในด้านร้อยแก้วและร้อยกรอง พระนิพนธ์ร้อยแก้ว
มีรายการเท่าที่รวบรวมได้ขณะนี้ ดังนี้
๑. คำสวดมนต์แบบมคธ  เป็นคำบรรยายประวัติความเป็นมาพร้อมทั้งเนื้อหาธรรมที่ปรากฏในพระสูตรนั้น ทรงบรรยายไว้กว่า ๕๐ เรื่อง
๒. บันทึกของศุภาสินี  เป็นพระนิพนธ์แสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนาอย่างง่ายๆ สำหรับให้คนทั่วไปอ่านเพลิดเพลิน พร้อมทั้งได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ ตลอดถึงได้รู้เรื่องขนบประเพณีไทยที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาและกิริยามารยาทในสังคมไทยที่น่ารู้  ทรงนิพนธ์ไว้เป็นตอนๆ รวม ๖๕ เรื่อง
๓. รวมพระนิพนธ์ร้อยแก้ว  ซึ่งเป็นศาสนคดีที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและธรรมในด้านต่างๆ ทั้งสำหรับภิกษุสามเณรและสำหรับชาวบ้านทั่วไป รวม ๔๑ เรื่อง เช่น เรื่อง ความดีของพระวินัย  การเข้าวัตร   เทศกาลเข้าพรรษา   การทำหน้าที่พระอุปัชฌายะ   การสาธารณูปการ   การเข้าถึงพระรัตนตรัย   การฝึกตน   ความสามัคคี   พระคุณของแม่ เป็นต้น

ส่วน พระนิพนธ์ร้อยกรอง ซึ่งเป็นรูปแบบการประพันธ์ที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ทรงโปรดมากเช่นกัน ได้ทรงนิพนธ์ร้อยกรองแบบต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก  เท่าที่รวบรวมได้และจัดเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
๑. โคลงกระทู้ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ จำนวน ๑๑๒ บท
๒. โคลงกระทู้ปฏิทิน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ จำนวน ๕๘ บท
๓. โคลงกระทู้ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ จำนวน ๑๓๗ บท
๔. บทสักวา “วันทำบุญ” ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ รวม ๙๒ บท
๕. สักวาปฏิทิน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ รวม ๙๓ บท
๖. มงคลดอกสร้อย ไม่ปรากฏปีที่ทรงนิพนธ์ รวม ๑๑ บท
๗. ดอกสร้อยปฏิทิน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ รวม ๖๑ บท
๘. สวนดอกสร้อย ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ รวม ๓๙ บท
๙. สวนดอกสร้อย ไม่ปรากฏปีที่ทรงนิพนธ์ รวม ๕๔ บท
๑๐. ภาษิตคำกลอน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ รวม ๓๒ บท
๑๑. คำกลอนคาถาแห่งปราภวสูตร คาถาที่ ๘ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖
๑๒. คำโคลงเรื่องทิศ ๖ ไม่ปรากฏปีที่ทรงนิพนธ์ รวม ๑๐๔ บท
๑๓. กวีนิพนธ์เบ็ดเตล็ด ซึ่งเป็นบทกวีธรรมและบทสอนใจในลักษณะต่างๆ อีกมาก

พระนิพนธ์เหล่านี้ นอกจากจะเป็นสิ่งแสดงพระอัธยาศัยทางการประพันธ์ให้เป็นที่ปรากฏแล้ว ยังเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัธยาศัยและพระจริยาวัตรในด้านต่างๆ ของพระองค์อีกด้วย ในทำนองรู้จักคนจากผลงาน  ฉะนั้น พระนิพนธ์ต่างๆ เหล่านี้จึงมีคุณค่าน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

สมณศักดิ์และหน้าที่การงาน
การที่ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ถวายงาน และถวายการอุปัฏฐากใกล้ชิดแด่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มาแต่พรรษายุกาลยังน้อยนั้น นับว่าเป็นคุณประโยชน์แก่พระองค์เองอย่างมหาศาล  เพราะเท่ากับได้เข้าโรงเรียนการปกครองมาตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย  เป็นการเตรียมพระองค์เพื่ออนาคตโดยมิได้ทรงคาดคิด  การถวายปฏิบัติรับใช้สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้น เป็นโอกาสให้พระองค์ได้ทรงเรียนรู้การคณะ การพระศาสนา และการปกครอง มาเป็นเวลายาวนานเกือบ ๒๐ ปี กอปรกับพระองค์เองก็ทรงมีพระอัธยาศัยช่างคิดช่างสังเกต จึงได้ทรงเรียนรู้และซึมซับเอาแนวพระดำริและแบบแผนต่างๆจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้นไว้ได้เป็นอันมากนับเป็นทุนและเป็นฐานที่สำคัญแห่งความเจริญก้าวหน้าในพระสมณศักดิ์ และพระภาระหน้าที่ของพระองค์ในเวลาต่อมา  แม้โดยพระอัธยาศัยจะทรงถ่อมพระองค์ว่ามีความรู้น้อย เพราะทรงเป็นเปรียญเพียง ๔ ประโยค แต่เพราะพระองค์เป็นผู้ที่เรียกว่า “เจริญในสำนักของอาจารย์”  คือได้รับการฝึกอบรมมาดี มีความรู้ความสามารถในหน้าที่การงานและพร้อมด้วยพระจริยามรรยาทอันงาม  จึงเป็นเหตุให้ทรงเป็นที่ยอมรับและเจริญก้าวหน้าในพระเกียรติยศและหน้าที่การงานมาโดยลำดับ

- พ.ศ. ๒๔๖๕   ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูโฆสิตสุทธสร
- พ. ศ. ๒๔๖๖  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูธรรมธร  และในศกเดียวกันนี้ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวิจิตรธรรมคุณ ตำแหน่งฐานานุกรมของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
 - พ.ศ. ๒๔๗๗  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ปลัดซ้ายของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ที่ พระจุลคณิศร เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗
- พ.ศ. ๒๔๘๑  เป็นกรรมการคณะธรรมยุต
- พ.ศ. ๒๔๘๕  เป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และในศกเดียวกันนี้ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์เอกทางรจนาพระคัมภีร์ และจากตำแหน่งนี้เป็นเหตุให้ทรงมีคุณสมบัติได้เป็นสมาชิกสังฆสภา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔  (ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ดังกล่าว ผู้จะดำรงตำแหน่งสมาชิกสังฆสภา ต้องเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมขึ้นไป หรือเปรียญธรรม ๙ ประโยคหรือพระคณาจารย์เอก)
- พ.ศ. ๒๔๘๖ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตรวจการภาคกลาง เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตรวจการภาค ๒ รูปที่ ๑ เป็นเจ้าคณะอำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร และเป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย (ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งในที่สุดก็ล้มเลิกไป)
- พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชกวี เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และในศกเดียวกัน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สืบต่อจาก พระสาสนโสภณ (ภา ภาณโก)  ซึ่งมรณภาพในศกนั้น
- พ.ศ. ๒๔๙๐  ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรี ในสมัยที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
วัดเทพศิรินทราวาส เป็นสังฆนายก และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์  ครั้นถึงเดือนมิถุนายน ศกนั้น
ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐
-  พ.ศ. ๒๔๙๑  ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ ในสมัย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการภาค ๑
- พ.ศ. ๒๔๙๒ มีการเปลี่ยนแปลงเขตภาคทางการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ คงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการภาค ๑ เช่นเดิม  ครั้นถึงเดือนธันวาคม ศกนั้น ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒
- พ.ศ. ๒๔๙๓  ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ สมัย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก
- พ.ศ. ๒๔๙๔  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ดำรงตำแหน่งสังฆนายก  ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการเช่นเดิม  ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยภาค ๑-๒-๖ และเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต)  ภายหลังเพิ่มจังหวัดนครสวรรค์อีก ๑ จังหวัด
-  พ.ศ. ๒๔๙๘  ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ  สมัย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)  ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต เป็นสังฆนายก
-  พ.ศ. ๒๕๐๐  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
-  พ.ศ. ๒๕๐๓  ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการ  สมัยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี)  ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระมหาวีรวงค์ เป็นสังฆนายก
-  พ.ศ. ๒๕๐๔   ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการตำแหน่งเจ้าคณะธรรมยุตภาค ๑-๒-๖  และได้รับแต่งตั้งเป็นอุปนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
-  พ.ศ. ๒๕๐๖  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

ในช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์  คือได้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ และประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แทน  ซึ่งมีรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์คล้ายสมัยใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑  คือ บริหารการคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรก  ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕  ซึ่งขณะนั้นว่างเว้นจากสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ ซึ่งมีอายุพรรษาสูงสุด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามพระราชบัญญัติฯ กรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกนี้ ประกอบด้วยพระมหาเถระ ๘ รูป คือ
๑.  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ  เป็นประธาน (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ที่ ๑๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖   สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘)
๒.  สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม  (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ที่ ๑๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ (สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔)
๓.  สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม   (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช   พระองค์ที่ ๑๗  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕   สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖)
๔.  พระธรรมปัญญาบดี (วน ฐิติญาโณ) วัดอรุณราชวราราม  (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่  สมเด็จพระพุฒาจารย์   มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐)
๕.  พระอุบาลีคุณูปมาจารย์  (วาสน์ วาสโน)  วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร)  พระองค์ที่ ๑๘
๖.  พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร   (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ ๑๙  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒)
๗.  พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สาลี อินฺทปชฺโชโต) วัดอนงคาราม  (มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐)
๘.  พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) วัดสัมพันธวงศ์  (มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐)

ครั้นถึงเดือนพฤษาคม ศกเดียวกัน (พ.ศ. ๒๕๐๖)  ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

อนึ่ง กรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกนี้ ได้ประชุมกันครั้งแรก ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖

- พ.ศ. ๒๕๑๕  ได้รับเลือกเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สืบต่อจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ในศกเดียวกัน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต สืบต่อจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) เช่นเดียวกัน



สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุณฺณสิริมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สิ้นพระชนม์   ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๗  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สถาปนาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์ วาสโน) ขึ้นเป็น  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   ขณะมีพระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้



ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  มหิตลาธิเบศรามาธิบดี  จักรีนฤบดินทร  สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า  โดยที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกได้ว่างลงเป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช  เพื่อจักได้บริหารการพระศาสนาให้สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ และตามระเบียบราชประเพณีสืบไป   และโดยที่ได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาลและสังฆทัศนะในมหาเถรสมาคมโดยเอกฉันท์มติ  จึงทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  เป็นพระมหาเถระเจริญในสมณคุณเนกขัมมปฏิบัติ สมบูรณ์ด้วยศีลสมาจารวัตร รัตตัญญู  มหาเถรกรณธรรม   ดำรงสภาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน   ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล ดังมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภาร  ตามความพิสดารในประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะมหาสังฆนายก  เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ นั้นแล้ว

ครั้นต่อมา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหวิริยาธิคุณ   สามารถรับภาระธุระพระพุทธศาสนา เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ท้อถอย  ยังการพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเป็นลำดับตลอดมา  ในการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ก็ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมมาแต่เริ่มแรกเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ในการปริยัติศึกษาเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย  เป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  ส่วนในการพระอารามก็ได้เอาใจใส่ควบคุมดูแลระวังรักษา จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุสิ่งก่อสร้างในพระอาราม ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเสียหาย ให้กลับคืนดีมีสภาพงดงามมั่นคงถาวรดีขึ้นตลอดมา ดั่งเป็นที่ปรากฏแล้ว  ได้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นไว้เป็นทุนถาวรสำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม ชื่อว่าทุนพระจุลจอมเกล้าฯ เริ่มแต่พุทธศักราช ๒๕๑๓ เป็นต้นมา อนึ่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา พระมงคลวิเสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชอุฏฐายีมหาเถระเป็นประจำตลอดมา

บัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาล รัตตัญญู มหาสถาวีรธรรม มั่นคงในพระพุทธศาสนา  เป็นอจลพรหมจริยาภิรัตสงเคราะห์พุทธบริษัท  ปกครองคณะสงฆ์ ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน  ได้เป็นครูและอุปัธยาจารย์ของมหาชนเป็นอันมาก มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาลเป็นที่เคารพสักการแห่งมวลพุทธศาสนิกบริษัททั่วสังฆมณฑล ตลอดจนอาณาประชาราษฏร์ทั่วไป  สมควรจะสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล  เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป  จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณวาสนภิธารสังฆวิสุตปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปกร ชินวรวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลศีลสมาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราชเสด็จสถิต ณ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง เป็นประธานในสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ จงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์  จิรัฆฐิติรุฬห์ไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ  ให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป  คือ พระมหาคณิศร พุทธศาสนิกนิกรปสาทาภิบาล  สกลสังฆประธานมหาสถาวีรกิจการี นายกบดีศรีรัตนคมกาจารย์  พระราชาคณะปลัดขวา ๑  พระจุลคณิศร สัทธรรมนิติธรมหาเถราธิการ คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑  พระครูวินยาภิวุฒิ ๑  พระครูสุตตาภิรม ๑  พระครูธรรมาธิการ พระครูพระปริต ๑  พระครูวิจารณ์ภารกิจ พระครูพระปริต ๑  พระครูวินัยธร ๑  พระครูธรรมธร ๑  พระครูโฆสิตสุทธสร พระครูคู่สวด ๑  พระครูอมรสารนาท พระครูคู่สวด ๑  พระครูพิสาลบรรณวัตร ๑   พระครูพิพัฒบรรณกร ๑  พระครูสังฆวิธาน ๑  พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑  ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิ์สถาพร ในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๗  เป็นปีที่ ๒๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

                                           ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
                                                   สัญญา ธรรมศักดิ์
                                                       นายกรัฐมนตรี


พระอวสานกาล
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเจริญพระชนมายุยืนยาวมากพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ คือ ๙๑ พรรษา โดยปี  และทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงมาโดยตลอด   ถึง พ.ศ. ๒๕๓๑ ทรงพระประชวรด้วยพระปัปผาสะอักเสบเมื่อเดือนมิถุนายน  จึงได้เข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช   ต่อมาทรงมีพระอาการพระหทัยวายเนื่องจากเส้นโลหิตตีบและกล้ามเนื้อพระทัยบางส่วนไม่ทำงาน   เป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์  เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๒ เวลา ๑๖.๕๐ น.

สิริพระชนมายุได้ ๙๐ พรรษา ๕ เดือน ๒๕ วัน  ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑๔ ปี ๒ เดือน ๕ วัน







กิมเล้ง : http://www.sookjai.com

ข้อมูล
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
- http://www.dhammajak.net



.
5386  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๑๐ : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนฯ) เมื่อ: 26 เมษายน 2555 18:40:36
พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนมหาเถร)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๑๐
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(วาสน์ วาสนมหาเถร)


พระชาติภูมิ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  (วาสนมหาเถร) เป็นชาวตำบลบ่อโพลง  อำเภอนครหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ประสูติในตระกูล นิลประภา เมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๐  เวลา ๑๙.๓๓ น. ท่านบิดาชื่อ นายบาง  ท่านมารดาชื่อ นางผาด  ครอบครัวมีอาชีพทำนา  เมื่อแรกประสูติท่านบิดามารดาให้ชื่อว่า “มัทรี”   เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรจึงเปลี่ยนเป็น “วาสน์”


พระประวัติเบื้องต้น
สมัยเยาว์วัย  ทรงเล่าเรียนหนังสือไทยที่วัดโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน ต่อมาได้เข้ามาเป็นศิษย์ของ พระญาณดิลก แต่เมื่อยังเป็น พระมหารอด วราสโย วัดเสนาสนารามในตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งครั้งนั้นยังเรียกว่า กรุงเก่า และได้ทรงเล่าเรียนหนังสือไทยต่อในโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (คือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ในปัจจุบัน) จนสอบไล่ได้เทียบชั้นมัธยมปีที่ ๒ จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่วัดราชบพิธ โดยเป็นศิษย์ของ พระอมรโมลี  แต่เมื่อยังเป็น พระมหาทวี ธรมธัช ป.ธ. ๙ เหตุที่ทรงย้ายเข้ามาเข้าอยู่วัดราชบพิธนั้น ได้ทรงบันทึกเล่าไว้อย่างน่าฟังว่า  

“สมัยเป็นนักเรียนอายุประมาณ ๑๔-๑๕ ปี  เป็นศิษย์อยู่ในปกครองของพระมหารอด วราสโย  (ภายหลังเป็นพระราชาคณะที่พระญาณดิลก)   เจ้าอาวาสวัดเสนาสนาราม  พระนครศรีอยุธยา สมัยยังมีชื่อว่า กรุงเก่า   ได้มีญาติผู้ใหญ่ชั้นลูกพี่ลูกน้องของยายซึ่งได้นำลูกชายมาฝากให้อยู่ในปกครองของพระผู้เป็นญาติ (พระมหาทวี ป.ธ. ๙) วัดราชบพิธอยู่ก่อนแล้ว  ได้รับการแนะนำจากพระผู้เป็นญาตินั้นว่า ให้พิจารณาเลือกดูนิสัยใจคอของลูกหลานแถวย่านบ้านบ่อโพง  ถ้าเห็นคนไหนที่มีนิสัยดี ฉลาดเฉลียวพอควร ก็ให้นำมาอยู่ด้วย  เพื่อจะได้เป็นเชื้อสายอยู่ในวัดราชบพิธนี้สืบไป  เราเป็นลูกหลานคนหนึ่ง ที่ญาติผู้ใหญ่นั้นเห็นว่า มีนิสัยควรส่งให้มาอยู่ในสำนักพระผู้เป็นญาติได้  ท่านจึงแนะนำกะพ่อแม่ให้ทราบถึงความหวังเจริญสุขของลูกต่อไปภายหน้า   แม่เต็มใจยินดีอนุญาต เพราะมีความตั้งใจอยู่แล้วว่า มีลูกชายคนเดียวจะพยายามส่งเสียไม่ต้องให้มาทำนากินเหมือนพ่อแม่  เมื่อพ่อก็เห็นชอบที่จะส่งลูกให้มาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว จึงเป็นอันเตรียมตัวได้  ขณะนั้น เรากำลังเรียนหนังสือไทยอยู่ที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย)   เมื่อได้แจ้งการขอลาออกจากโรงเรียน เพื่อไปอยู่บางกอก (เรียกตามสมัยนั้น) แล้วญาติผู้ใหญ่จึงได้กำหนดวันนำมาบางกอก โดยพ่อแม่กำลังติดการเกี่ยวข้าวอยู่ (ประมาณเดือนธันวาคม) จึงไม่ได้นำมาด้วยตนเอง

ขอบรรยายถึงความรู้สึกในสมัยนั้น  คราวโดยสารรถไฟเข้าบางกอก เนื่องด้วยได้อ่านหนังสือแบบเรียนธรรมจริยา  เล่าถึงรถเจ็ก รถไอ  และผู้คนบ้านเรือนชาวบางกอก ทำให้นึกอยากเห็น อยากดูของจริงมาแต่สมัยนั้นแล้ว  พอขึ้นรถไฟ ก็ไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ ชอบดูภูมิประเทศโดยเฉพาะทิวไม้ที่ห่างไกล  เมื่อรถไฟแล่นไป ชวนให้เห็นว่าต้นไม้เหล่านั้นวิ่งตามไปด้วย  คล้ายกับที่ครูสอนว่า โลกเราเดิน พระอาทิตย์ไม่ได้เดิน เพราะเราอยู่ในรถไฟที่วิ่งไปตามรางทำให้เราเห็นทิวต้นไม้วิ่งตาม ไม่รู้ว่ารถวิ่ง พอรถไฟผ่านสถานีสามเสน ก็ยืนเกาะหน้าต่างรถไฟจ้องดูรถเจ๊กที่วิ่งอยู่ตามถนน  ด้วยความตื่นเต้นที่ได้เห็นของจริงๆ ดีกว่าเห็นรูปในหนังสือ  (สมัยนั้นสถานีกรุงเทพฯ อยู่ที่นพวงศ์) ญาติพาออกจากสถานี มาขึ้นรถไอ  ยิ่งตื่นตาตื่นใจยิ่งนักที่ได้โดยสาร  จนรถวิ่งมาถึงสี่กั๊กเสาชิงช้า กำลังรอหลีก  จึงลงเดินมาวัดราชบพิธ ด้วยความระมัดระวังตัวแจเพราะเคยได้ฟังมาว่า คนบ้านนอกเข้ากรุงมักเหม่อมองชมผู้คนบ้านเรือน  จนกระทั่งเหยียบอ่างกะปิที่เจ้าของนำมาตากที่หน้าร้านริมทางเดินโดยไม่ทันรู้ตัว  เมื่อได้พบพระผู้เป็นญาติแล้ว ตกลงจะให้บวชเป็นสามเณร  ตอนนี้รู้สึกผิดหวัง เพราะนึกว่าจะต้องมาเรียนหนังสือไทยต่อ แต่เมื่อผู้ใหญ่เห็นดีงามเช่นนั้นก็จำอนุโลมตาม  การที่ได้รับการพิจารณาเลือกเฟ้นนิสัยใจคอ ความประพฤติว่าเป็นผู้มีแววสมควรให้จากบ้านมาอยู่วัดราชบพิธครั้งนี้ได้  จึงถือว่าเป็นรางวัลในชีวิต ครั้งที่ ๑

เมื่อได้อยู่เป็นศิษย์ ติดตามไปในงานต่างๆ เป็นการเปิดหูเปิดตา  ในฐานะเป็นลูกศิษย์ต้องนุ่งผ้าพื้น สวมเสื้อ ๕ ตะเข็บ  ประมาณ ๒ เดือนเศษ ก็เตรียมการท่องบ่นวิธีบรรพชาไปพลาง มีเรื่องขำที่ควรจำ เรื่องของเด็กบ้านนอกอยู่ตอนหนึ่ง คือเป็นระเบียบของวัด ใครจะบรรพชาอุปสมบทผู้ปกครองจะต้องนำขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อเจ้าอาวาส (กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์) ถึงฤกษ์งามยามดี ผู้ปกครองนำขึ้นเฝ้าในตำหนักที่ประทับพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนแพ มีตะลุ่มรองตามระเบียบเฝ้าเจ้านาย  ฆราวาสจะต้องใช้กิริยาหมอบ  แต่เราไม่ได้รับการแนะนำฝึกหัดไว้ก่อน  เมื่อถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้ว คงถอยออกมานั่งพับเพียบตัวตรงอยู่  แม้ผู้ปกครองจะถลึงตาเป็นเชิงให้หมอบก็หารู้ความประสงค์ไม่ จนถึงเวลาทูลลากลับ ถูกผู้ปกครองดุเมื่อตอนกลับจากตำหนักเอาว่า  “อ้ายเซ่อ ไม่รู้จักระเบียบ”  


ทรงบรรพชา
เมื่อพระชนมายุได้ ๑๕  หลังจากมาอยู่วัดราชบพิธได้ประมาณ ๔-๕ เดือน ก็ทรงบรรพชาเป็นสามเณร โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชุมพูนุท สิริวฑฺฒโน) วัดราชบพิธ ครั้งยังดำรงพระยศกรมหมื่น  เป็นพระอุปัชฌาย์   พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) วัดราชบพิธ เป็นพระศีลาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๕  ได้ทรงบันทึกเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งทรงบรรพชา และทรงศึกษาเล่าเรียนที่วัดราชบพิธไว้ว่า

“ถึงคราวบรรพชา ได้บรรพชาเป็นหางนาคของสามเณรโชติ เปรียญ ๓ ประโยค ซึ่งเป็นญาติของผู้ปกครอง  มีข้าหลวงเจ้านายในวังหลวง (ม.ร.ว.แป้น มาลากุล) เป็นผู้อุปการะจัดเครื่องอัฐบริขาร  ส่วนเรา หม่อมเจ้าหญิงไขศรี ปราโมช  ผู้อุปการะท่านผู้ปกครอง รับจัดบริขารให้ (จำได้ว่า มีพรมขนาดปูหน้าเตียง ๑ ที่นอน ๑ หมอน ๑  มุ้งประทุน ๑  ผ้าห่ม ๑)

เมื่อบรรพชาแล้ว ไม่มีใครเป็นพี่เลี้ยงแนะนำ  ในการปฏิบัติหน้าที่ของสามเณรจนถึงเวลาเกือบจะออกพรรษา (พ.ศ. ๒๔๕๕)  มหาดเล็กได้มาเตือนว่า ไม่เห็นขึ้นไปขอศีลขอทัณฑกรรมเหมือนสามเณรอื่นเลย จึงเริ่มรู้สึกว่าจะต้องศึกษาระเบียบหน้าที่ของวัดอีกมาก

การเรียนธรรมวินัยสมัยนั้น ก็เรียนสามเณรสิกขาธรรมวิภาค เที่ยวขอเรียนตามกุฏิของท่านผู้มีกะใจสอนด้วยตนเอง เพื่อเข้าสอบพร้อมกับนวกะตอนใกล้ออกพรรษา เพราะเรายังเป็นเด็กบ้านนอกยังไม่สิ้นกลิ่นโคลนสาบควาย จึงพยายามท่องจำแบบอย่างเป็นหลักให้มากกว่าการเข้าใจ สันนิษฐานปัญหาที่ออกสอบมีถึง ๒๑ ข้อ ถามแบบเป็นส่วนมาก เมื่อเช่นนี้สามเณรบ้านนอก  จึงตอบได้คะแนนเป็นที่ ๑ ชนะพวกนวกะ เพราะท่านไม่ได้ท่องจำแบบ  ถึงคราวประทานประกาศนียบัตร มีประทานรางวัลแก่ผู้สอบได้คะแนนที่ ๑ ด้วย จึงมีโอกาสได้รับรางวัล เป็นนาฬิกาพก ๑ เรือน หน้าบานอยู่หลายวัน

ในสมัยนั้นทางการคณะสงฆ์เพิ่งจัดให้สามเณรศึกษาความรู้  มีการสอบไล่ความรู้ในวิชาเรียงความ ธรรมวิภาค  ผู้สอบได้เรียกว่าสามเณรรู้ธรรม ฟังได้ในราชการ (คือยกเว้นการเกณฑ์ทหาร) เราเข้าสอบได้ ต่อมาเพิ่มวิชาพุทธประวัติอีกวิชา ๑ ต้องมีการเรียนอีก  ขณะนั้นไม่มีครูสอนโดยเฉพาะแต่ได้อาศัยพระครูวินัยธรรม (มหาเอี่ยม) รับอาสาช่วยสอนให้ มีนักเรียนราว ๔-๕ รูป ใช้ที่อยู่ของท่านที่ศาลาการเปรียญ (ศาลาร้อยปี) เป็นที่เรียน  เมื่อสอนจนนับว่าจบเรื่องจึงมีการสอบเป็นการทบทวนความรู้ เราสอบได้คะแนนดี จึงรับรางวัลเป็นกรอบรูปไม้ ๑ กรอบ (ได้นำมาใส่ประกาศนียบัตรที่สอบธรรมได้ในระหว่างพรรษา)  แม้จะดูเป็นของเล็กน้อยในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๕) แต่เมื่อนึกถึงสมัย (พ.ศ. ๒๔๕๕) นับว่ามีค่าสูงพอควรที่จะยิ้มแย้มดีใจทีเดียว”


ทรงอุปสมบท
พุทธศักราช ๒๔๖๑ พระชนมายุครบอุปสมบท  ทรงอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธ โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์  พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) วัดราชบพิธ และพระญาณดิลก (รอด วราสโย) วัดเสนาสนาราม  พระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ ตามลำดับ เมื่อปีมะเมีย วันที่ ๒ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๔๖๑  ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

เมื่อทรงอุปสมบทแล้ว ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อไป  พ.ศ. ๒๔๖๑ สอบได้นักธรรมชั้นโท  พ.ศ. ๒๔๗๐  สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค   ดูเหมือนว่าจะไม่ทรงมีพระอัธยาศัยในการศึกษาภาษาบาลี  แต่ทรงเพลินไปในการทำหน้าที่การงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายมากกว่า  ประกอบเมื่อทรงอุปสมบทแล้วเสด็จพระอุปัชาฌาย์ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)  ทรงโปรดให้รับใช้ถวายงานในด้านต่างๆ มากขึ้น  จึงพาให้เพลินไปในการงานและภาระรับผิดชอบ


พระเกียรติและภาระหน้าที่
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นที่ทรงโปรดปรานของเสด็จพระอุปัชฌาย์เป็นพิเศษกว่าภิกษุสามเณรที่ถวายงานรับใช้อื่นๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโดยพื้นพระอัธยาศัยทรงเป็นผู้เรียบร้อยละเมียดละไม ฉะนั้น เมื่อทรงมีโอกาสถวายการรับใช้และถวายอุปัฏฐาก เสด็จพระอุปัชฌาย์จึงทรงพระเมตตาโดยง่าย และทรงไว้วางพระทัยในเรื่องต่างๆ เป็นอันมาก ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อทรงอุปสมบทได้เพียง ๕ พรรษา เสด็จพระอุปัชฌาย์ก็โปรดประทานแต่งตั้งให้เป็นฐานานุกรมผู้ใหญ่ที่ พระครูโฆสิตสุทธสร พระครูคู่สวด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕  ปีรุ่งขึ้น (พ.ศ. ๒๔๖๖) โปรดให้เลื่อนขึ้นเป็น พระครูธรรมธร แล้วเลื่อนขึ้นเป็น พระครูวิจิตรธรรมคุณ ในปีเดียวกัน

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงไว้วางพระทัยในเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เพียงไร คงจะเห็นได้จากการที่ทรงปลงสมณบริขารแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ   ตั้งแต่ก่อนจะสิ้นพระชนม์ถึง ๘ ปีเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงบันทึกเล่าถึงการถวายงานในเสด็จพระอุปัชฌาย์ตลอดถึงการทรงปลงสมณบริขารไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังนี้

“ส่วนการรับสนองงานถวายสมเด็จพระอุปัชฌาย์นั้น ได้เริ่มตามโอกาสเช่นการพิมพ์หนังสือ คือในตอนแรกๆ ได้ช่วยพระครูวิจารณ์ธุรกิจ (ม.ร.ว.เฉลิม ลดาวัลย์)  ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติสนองเป็นประจำอยู่แล้ว ฝ่ายเราเพียงแต่มาสนทนาปราศรัยกับท่าน เห็นงานพิมพ์ยังค้างพอมีความรู้การพิมพ์ได้บ้างจึงช่วยพิมพ์แทนอยู่บ่อยๆ ข่าวนี้คงทราบถึงเจ้าพระคุณ ต่อมาได้ทรงรับถวายกัณฑ์เทศน์เป็นเครื่องพิมพ์ดีดแบบใหม่  รับสั่งให้มอบไว้ที่เรา วันหนึ่งเมื่อมีงานพิมพ์จึงรับสั่งหา เมื่อขึ้นเฝ้าทรงมอบเรื่องให้พิมพ์โดยรับสั่งว่าไม่ต้องรีบนักก็ได้ เมื่อทูลลากลับมาแล้วเกิดวางใจ เพราะรับสั่งไม่ต้องรีบจึงปล่อยงานพิมพ์ให้ว่างอยู่ ๒ วัน พอถึงวันที่ ๓ ก็มีพระมหาดเล็กมาถามว่าเรื่องที่สมเด็จให้พิมพ์เสร็จหรือยัง ทำให้ตกใจ ที่ประมาทตามรับสั่งหารู้ไม่ว่ามีพระประสงค์รวดเร็วเช่นนี้ จึงรีบพิมพ์เสร็จเรียบร้อยนำขึ้นถวายได้ในวันนั้น จากนี้ก็ถือเรื่องนี้เป็นครู  ประทานงานตอนเช้าต้องให้เสร็จถวายได้ตอนกลางวัน ถ้างานกลางวันต้องให้เสร็จตอนเย็นไม่ยอมให้คั่งค้างล่าช้าต่อไป นับว่าได้งานทันพระทัยเสมอ

ตราบถึงงานศพหม่อมปุ่น ชมพูนุท หม่อมมารดาในพระองค์  ซึ่งตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่ศาลาการเปรียญ (ศรป. ในปัจจุบัน)  จึงขอเล่าการศพหม่อมปุ่น ชมพูนุท ฝากไว้ในที่นี้ด้วย เสด็จฯ เจ้าพระคุณพระอุปัชฌาย์  ทรงห่วงใยในชีวิตหม่อมมารดาเป็นอย่างมาก ทรงเกรงว่าถ้าพระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนหม่อมโยมจะลำบาก  จึงโปรดให้พระคลังข้างที่สะสมเบี้ยหวัดส่วนพระองค์ในฐานะหม่อมเจ้าไว้จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อการศพของหม่อมโยม  ด้วยพระประสงค์จะตั้งศพหม่อมโยมที่วัดมะขามใต้ซึ่งได้โปรดให้สร้างมณฑปเพื่อเป็นฌาปนสถานเตรียมไว้แล้ว เหตุที่ทรงเกี่ยวข้องกับวัดมะขามใต้ (วัดชินวราราม ปัจจุบัน) นั้น ทราบว่าประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงตรวจการคณะในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง มาพบวัดมะขามใต้นี้ สร้างอุโบสถค้างอยู่เพียงผนัง ๔ ด้าน ก็หมดทุน  จึงทรงตกลงกับเจ้าอาวาสว่า ถ้าอนุญาตให้บรรจุอัฐิหม่อมโยมที่ฐานพระประธานได้ ก็จะรับช่วยสร้างจนสำเร็จ เจ้าอาวาสยินดีถวาย  จึงนำให้ได้ปฏิสังขรณ์ทั้งอารามแต่นั้นมา  ครั้นถึงคราวหม่อมปุ่น ชมพูนุท ถึงอนิจจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒  ทางราชการจึงถือว่าตำแหน่งพระสังฆราช เทียบเท่าตำแหน่งเสนาบดี  บิดามารดาเสนาบดีถึงมรณะต้องได้รับพระราชทานโกศทรงศพ  เมื่อเหตุการณ์ไม่สมพระประสงค์เช่นนี้  จึงต้องตั้งศพที่ศาลาการเปรียญด้านตะวันออกวัดราชบพิธ (ศรป. ในปัจจุบัน)  เราได้ฉลองพระเดชพระคุณอย่างเต็มสติกำลังด้วยการควบคุมทำความเรียบร้อยสถานที่ ติดต่ออาราธนาพระ และฝึกหัดพระภิกษุสามเณรในวัดทุกรูป ให้สวดสรภัญญะเตรียมไว้ทั้งพระใหม่พระเก่า เพื่ออาราธนาสวดประจำสัตตมวารเวียนกันไปจนหมดวัด

เมื่อได้รับพระราชทานเพลิงศพใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่วัดเทพศิรินทราวาส  และนำอัฐิอังคาร ไปบำเพ็ญกุศลบรรจุที่ชั้นล่างของมณฑปวัดมะขามใต้เรียบร้อยแล้ว  จากงานนี้ ๕-๖ วัน ถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. เศษ สามเณรที่อยู่เวรมาแจ้งว่า รับสั่งหา จึงเตรียมตัวขึ้นเฝ้า กำลังประทับพระเก้าอี้ที่เฉลียงหน้าตำหนักอรุณ ริมด้านตะวันออกอย่างเคย เพียงพระองค์เดียว เมื่อถวายบังคมนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้รับสั่งถามว่า “คิดจะสึกหรือยัง”   นึกในใจขณะนั้นว่าต้องทูลแบบศรีธนญชัยว่า  “เวลานี้ (คือขณะที่เฝ้าอยู่) ยังไม่ได้คิด (ตามความจริง)”   จึงรับสั่งให้ตามเสด็จเข้าภายในตำหนักที่ประทับ (พระที่นั่งสีตลาภิรมย์)  ทรงมอบซองหนังสือ ๑ ซอง รับสั่งให้อ่านดูใจความที่ทรงเป็นลายพระหัตถ์ด้วยดินสอดำ แสดงถึงครุภัณฑ์สิ่งไรเป็นของสงฆ์ สิ่งไรเป็นของส่วนพระองค์  ได้ประทานบริขารส่วนพระองค์ได้เราทั้งหมดพร้อมทั้งจตุปัจจัยบางส่วน เมื่อจบแล้ว รับสั่งถามว่า  “เป็นการปลงบริขารไหม”  ทูลตอบว่า เป็นการปลงบริขารตามหลักพระวินัยแล้ว  ได้รับสั่งอีกว่า ให้นำไปรักษาไว้ถึงคราวเจ็บหนักต่อไป ถ้ามีเวลาก็ให้นำมาอ่านทบทวนอีกครั้ง  ถ้าไม่มีเวลา ก็ให้ถือปฏิบัติตามพระหัตถ์นี้  และอย่าเปิดเผยให้แพร่งพรายจะทำให้ร่ำลือไปต่างๆ  ขณะนั้นรู้สึกน้ำตาซึมเบ้าตา  ด้วยนึกว่าจะสิ้นพระชนม์เสียเร็วกระมัง   จึงถือว่า เป็นรางวัลชีวิตอย่างสูงสุด ที่ลูกชาวบ้านจะพึงได้รับ

ได้ปกปิดเรื่องการปลงพระบริขาร จาก พ.ศ. ๒๔๗๒ จนถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ พระมหาดเล็กได้มาแจ้งตอนเวลาเช้ามืดประมาณ ๐๕.๓๐ น. ว่าเสด็จรับสั่งหา ทั้งนี้ เนื่องด้วยประชวร แต่พระอาการยังไม่เป็นที่น่าวิตกอย่างใด ครั้นรับสั่งหาในเวลาวิกาลเช่นนี้ จึงตกใจมากไม่ทันล้างหน้า รีบขึ้นเฝ้าเห็นบรรทมตะแคงเบื้องซ้าย หลับพระเนตร  จึงแสดงอาการกราบให้หนัก เพื่อรู้สึกพระองค์  เมื่อลืมพระเนตรพบแล้วรับสั่งว่านำหนังสือ (หมายถึงเรื่องปลงบริขาร) มาด้วยหรือเปล่า รีบทูลว่า ยังไม่ได้นำมา แล้วทูลลารีบมานำหนังสือ  ในระหว่างทางได้แจ้งแก่พระเณรที่ตื่นแล้ว  ว่าให้รีบแจ้งแก่พระเณรในวัดให้ทราบว่าเสด็จประชวรหนักให้รีบมาเฝ้า เมื่อนำหนังสือปลงพระบริขารนั้นมาทูลให้ทรงทราบแล้ว รับสั่งให้แก้จำนวนเงินที่ประทานแก่มหาดเล็กบางคนเสียใหม่ต่อหน้าพระภิกษุสามเณรที่กำลังรุมเฝ้าอยู่มากรูป

ในการปฏิบัติพระศพ จึงต้องรับภาระเป็นกำลังจัดการจนประดิษฐานพระโกศทองน้อยภายในตำหนักอรุณชั้นบนเรียบร้อย  ท่านผู้รักษาการหน้าที่เจ้าอาวาส พระสาสนโสภณ (ภา ภาณโก) ได้ชี้แจงว่า การปฏิบัติพระศพทุกอย่างเป็นหน้าที่ของคุณผู้รับปลงพระบริขาร  ส่วนหน้าที่การงานอันเกี่ยวกับตำแหน่งเจ้าอาวาส จงแจ้งให้ทราบ  รู้สึกหนักใจมาก เมื่อได้ร่วมมือกับภิกษุสามเณรรุ่นเดียวกัน  โดยปันหน้าที่กันคนละแผนก ร่วมใจกันสนองพระเดชพระคุณ เพราะไม่ได้เหน็ดเหนื่อยในการพยาบาล  ก็ควรร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติพระศพให้เต็มสติกำลัง จนตลอด  ส่วนพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ก็เรียนรายงานให้ทราบทุกครั้งบำเพ็ญกุศล เพื่อท่านได้มาร่วมฐานะรับแขก ปฏิบัติอยู่ประมาณปีเศษ จึงได้รับพระราชทานเพลิงและบรรจุพระอัฐิที่อนุสาวรีย์ที่ทรงสร้างเป็นรูปร่างเตรียมไว้ที่ซอกมุมกำแพง ด้านพุทธาวาส ทิศตะวันตก  การเป็นผู้จัดการพระศพ สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยสมพระเกียรติทุกอย่าง ถึงกับได้รับการยกย่องจาก พระสาสนโสภณ (ภา ภาณโก) ว่า “เรายอมแพ้คุณในการจัดการพระศพครั้งนี้  ล้วนเหมาะสมพระเกียรติทุกอย่าง  ตลอดจนเครื่องไทยทาน จำนวนพระที่ร่วมในพิธีงาน”  ผลที่ได้รับตอบแทนครั้งนี้ ซึ่งเหมือนทำปริญญาบริหารศาสตร์  จึงมิช้านานตำแหน่งหน้าที่ของการคณะก็มาถึงอย่างไม่คาดหมาย  คิดว่าล้วนเป็นผลสนองน้ำใจกตัญญูกตเวทีอย่างเต็มใจแท้จริงนั่นเอง”



ทรงเป็นกวีและนักประพันธ์
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระอัธยาศัยทางการประพันธ์ ทั้งในเชิงร้อยแก้วและร้อยกรอง  ได้ทรงเริ่มสนพระทัยในทางการประพันธ์มาแต่เมื่อเป็นสามเณร แต่มาสนพระทัยอย่างจริงจังหลังจากทรงอุปสมบทแล้ว ทรงสนพระทัยในการประพันธ์ชนิดใดบ้าง  ทรงฝึกฝนพระองค์ในเรื่องนี้อย่างไร และทรงประสบความสำเร็จในด้านการประพันธ์อย่างไรบ้าง ได้ทรงบันทึกเล่าไว้อย่างละเอียด ดังนี้

“ได้ถือโอกาสสอบตกนี้ลองฝึกฝนหัดแต่งการประพันธ์ไปตามความปรารถนาที่เคยคิดไว้แต่เมื่อยังเป็นสามเณรเล็กนั้น เมื่อเพื่อนเด็กฆราวาสไปทราบเรื่องมีการแต่งประกวดให้รางวัลกันที่ไหน ก็มักนำมาเล่าให้ฟัง ได้ลองแต่งแทนเด็กไปส่งประกวดกับเขา เป็นการฝึกฝนตนเองในการแต่งร้อยกรอง มักได้รับชมเชยบ้างและถึงกับได้รางวัลที่ ๑ ก็มีบ่อยครั้ง ถึงคราวรับรางวัลเด็กผู้ส่งเขาก็รับรางวัลเอง เราเพียงแต่ขอดูรางวัลและดีใจด้วย ชวนให้นึกถึงคราวหนึ่ง โรงละครปราโมทัย  ตั้งแสดงที่ตำบลสามยอด  ออกบทให้แต่งดอกสร้อยประกวดชิงรางวัลในหัวข้อว่า  ระบำเอย...ให้แต่งต่อจนจบ  บทนี้ได้รางวัลที่ ๑ เพราะแต่งด้วยกลอนกลบททำให้ติดใจจำได้ว่า

      ระบำเอย ระบำสยาม
      เพลินจิตหวิว พริ้วใจหวาม งามเฉิดฉาย
      เล่ห์กระบวน ล้วนแกล้งเยือน เยื้อนแย้มพราย
      โปร่งท่าเยื้อง เปรื่องที่ย้าย ปลุกใจเพลิน
      แม้ต่างชาติ มาตรตนชม นิยมเยี่ยม
      วธูไทย ไวเท่าเทียม เลี่ยมไม่เขิน
      สาวระบำ ส่ำระบอบ กอบไทยเจริญ
      เอิกก้องชื่อ อื้อเกียรติเชิญ เพลินจิตเอย.


ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๙  มีบุคคลคณะหนึ่งปรากฏชื่อว่า นายแช เศรษฐบุตร เป็นบรรณาธิการผู้จัดการออกหนังสือรายปักษ์ชื่อตู้ทอง  จุดหมายเพื่อจะรวบรวมความรู้ต่างๆ ที่ลูกเสือควรจะเรียนรู้จดจำ  ในฉบับปฐมฤกษ์มีประกวดให้แต่งโคลง ๔ สุภาพ มีกระทู้ว่า ตู้ ทอง ของ ไทย  เห็นสมควรปรารถนาที่จะได้แอบฝึกปรือมานานแล้วควรจะได้แสดงฝีปากออกแข่งขันกับเขาบ้างในครั้งนี้ จึงได้แต่งส่งประกวดมีใจความว่า

           ตู้ เพียบตำหรับพื้น พิทยา กรเอย
           ทอง ค่าพึงรักษา สิทธิ์ไว้
           ของ ควรกอบวิชชา การรอบ ตัวนอ
           ไทย จักคงไทยได้ เด่นด้วยวิทยา


ปรากฏว่าคณะกรรมการตัดสินให้ได้รับรางวัลที่ ๑  ตั้งแต่นี้ก็ได้ใจ คอยติดต่อแต่งส่งประกวดเป็นโคลงบ้าง  สักวาบ้าง ดอกสร้อยบ้าง เสมอมา ได้รับรางวัลตั้งแต่ที่ ๑ บ้างที่ ๒ ที่ ๓ บ้าง ชมเชยบ้าง นับว่าสำนวนการแต่งโคลงอยู่ในชั้นดี ถึงกับคณะกรรมการกระซิบถามเด็กศิษย์ที่ไปรับรางวัลแทนบ่อยๆ ว่า ใครเป็นคนแต่ง เพราะไม่ได้กำชับเด็กศิษย์ให้ปิดชื่อ เด็กจึงบอกตามความจริงว่า มหาวาสน์ กรรมการต่างก็ร้องอ๋อเป็นเชิงรู้จักฝีปากแต่นั้นมา

รางวัลเหล่านี้แม้จะเป็นรางวัลก็จริงแต่ได้รับในนามแฝงยังไม่ควรยกเป็นหลักฐาน ยังมีรางวัลในชีวิตที่นับเป็นเกียรติของชีวิตอยู่อีกอย่างที่ควรนำแถลงคือ เป็นประเพณีของวัด ถึงวันวิสาขบูชาก็มีการแสดงธรรมฟังเทศน์ตลอดคืนถึง ๒ วัน  วันกลางเดือนและวันแรม ๑ ค่ำ จึงต้องอาราธนาภิกษุสามเณรที่สามารถอ่านอักษรขอมได้  (สมัยนั้นหนังสือที่ใช้อ่านเทศน์ล้วนจารลงในใบลาน  สำนวนเทศน์ก็เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เป็นส่วนมาก)   เมื่อเราอุปสมบทได้พรรษา ๒  ท่านผู้วางเทศน์ก็ได้กำหนดให้เราเทศน์กัณฑ์ที่ ๓-๔ เสมอ เรียกว่าเป็นกัณฑ์ถวายตัว เพราะเจ้าพระคุณเสด็จพระอุปัชฌาย์  มักจะเสด็จขึ้นเมื่อจบเทศน์กัณฑ์ที่ ๓-๔  ทั้งนี้เพราะเราเป็นสามเณรเปรียญมาก่อนการแสดงธรรมในครั้งนั้นได้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยพอประมาณ และการแสดงธรรมในสมัยนั้นล้วนแต่มีคาถาให้ต้องว่าสรภัญญะ เรียกว่าขัดสรภัญญะหน้าธรรมาสน์ ทุกกัณฑ์  เลยเป็นการชวนให้แข่งขันกันในเชิงสรภัญญะ ต่างซุ่มซ้อมไว้อวดในวันเทศน์ นำให้สนใจในการแสดงดีขึ้น  ปกติเจ้าพระคุณทรงแสดงปกิณกะ ๑ กัณฑ์ แล้วควบกับเรื่องคัพโภกันติกะสิ้นเวลาราว ๑ ชั่วโมง เมื่อถึงยุคเราได้เทศน์ถวายตัวแล้ว ก็โปรดให้เราเทศน์กัณฑ์คัพโภกันติกะแทน  พระองค์คงทรงแสดงแต่ปกิณกะเท่านั้น ประมาณวิสาขบูชา ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เมื่อได้ถวายเทศน์ตามเคยแล้ว รุ่งขึ้นอีกประมาณ ๒ วัน  พระมหาดเล็กได้นำจีวรแพรเซี่ยงไฮ้มาถวาย พร้อมกับลายพระหัตถ์ในชิ้นกระดาษมีข้อความ “บูชากัณฑ์เทศน์เมื่อวันกลางเดือน ไพเราะดี เสียแต่ทำนองช้าเป็นคนแก่”  จึงนับรางวัลในชีวิตครั้งที่ ๕ อย่างภาคภูมิใจยิ่ง

กาลเวลาที่ผ่านมานั้นก็มีการแต่งร้อยกรองบ้าง เรียงความบ้าง  (เช่นเรียงเทศน์สำหรับแสดงในวันธรรมสวนะ) จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ มีประกาศพระราชปรารภให้มีหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กขนาด ๑๐ ขวบ อ่านเข้าใจ ครั้งแรก ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงแต่ง สาสนคุณ ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ต่อมาคณะกรรมการได้เปลี่ยนเป็นตั้งหัวข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในหนังสือนวโกวาทให้แต่งประกวดปีที่ ๒ มีหัวข้อว่า อริยทรัพย์ อำมาตย์โท พระพินิจวรรณการ ศาสตราจารย์ภาษาบาลีในราชบัณฑิตยสถาน ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๓ ประกาศให้แต่งประกวดในหัวข้อธรรมว่า ทิศ ๖ ประจำปี พ.ศ. ๒๔๗๔

เมื่อข่าวประกาศออกทั่วไปแล้ว ม.ล.สิทธิ์ นรินทรางกูร ผู้เคยอุปสมบทอยู่วัดราชบพิธ ๑ พรรษา ได้มาเยี่ยมสนทนาชวนให้ลองแต่งประกวดกับเขาบ้าง เพราะเคยทราบอัธยาศัยชอบแต่งประพันธ์มาแล้ว จึงเป็นเหตุจูงใจให้ลองดู  และเรื่องทิศ ๖ นี้ ได้เขียนเป็นโคลง ๔ สุภาพ บรรยายตามเค้าพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ ๖   ที่พระราชทานแก่เสือป่า ได้นำลงในหนังสือประจำเดือนไทยเขษมมาแล้ว จึงได้เริ่มลงมือปลายเดือนพฤษภาคม รวมเวลาประมาณ ๑ เดือนจบ เพื่อความรอบคอบได้ขอให้ขุนกิตติเวท อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดราชบพิธเกลาสำนวนอีกครั้งก่อนจึงนำส่งในนาม พระครูวิจิตรธรรมคุณ (วาสน์ นิลประภา เปรียญตรี) วัดราชบพิธ ด้วยมีหมายเหตุว่า ถ้ามีคุณค่าควรได้รับรางวัลก็ไม่ขอรับ ขอถวายพระราชกุศล

ปรากฏตามคำกราบถวายบังคมทูลรายงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา ใจความว่าเมื่อคณะกรรมการลงมติแล้วเลขานุการได้ขยายนามผู้แต่ง ได้ความว่าพระครูวิจิตรธรรมคุณ (วาสน์ นิลประภา เปรียญตรี) วัดราชบพิธ เป็นผู้แต่งสำนวนที่ ๑๑ ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ (เงิน ๒๐๐ บาท)

ได้มีพระราชปรารภในคำนำหนังสือที่พิมพ์พระราชทานในพระราชพิธีวิสาขบูชาวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ วรรคที่ ๒ ว่า “ในคราวนี้ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ได้รับรางวัลที่ ๑ข้าพเจ้าได้อ่านสำนวนที่ได้รางวัลนี้แล้วรู้สึกว่าแต่งดีมากทั้งทางใจความ และสำนวน อ่านเข้าแล้วรู้สึกจับใจ  และน่าจะนำให้ผู้อ่านเชื่อฟังประพฤติตามในทางที่ชอบจริงๆ  ทั้งถอยคำที่ใช้เลือกเหมาะเข้าใจง่ายชัดเจนมาก  ข้าพเจ้าได้อ่านสำนวนอื่นบ้างแต่เห็นว่าสำนวนที่ได้รางวัลนี้ดีกว่าสำนวนอื่นอย่างเปรียบกันไม่ได้ทีเดียว และเมื่อได้ทราบว่าผู้แต่งเป็นพระภิกษุสงฆ์ก็ยิ่งเพิ่มพูนความปิติของข้าพเจ้าขึ้นอีกมาก ข้าพเจ้าเคยได้ยินมีผู้กล่าวอยู่เนืองๆ ว่า ในสมัยนี้พระภิกษุสงฆ์ไม่ค่อยจะเอาธุระในการสั่งสอนเด็กเหมือนแต่ก่อน และถ้านิมนต์ไปเทศน์ตามโรงเรียนเป็นต้น  ก็มักใช้ถ้อยคำสำนวนที่ยากเกินไปเด็กๆ ไม่ค่อยเข้าใจ และด้วยเหตุเหล่านี้เด็กของเราจึงไม่ค่อยเอาธุระกับการศาสนาในสมัยนี้  ที่จริงอย่าว่าเด็กๆ เลย แม้ผู้ใหญ่ก็ร้องกันว่า ฟังเทศน์ไม่เข้าใจอยู่บ่อยๆ”

รางวัลในครั้งนี้คงไม่ปฏิบัติตามหมายเหตุที่ว่าจะไม่ขอรับพระราชทานรางวัล  เพราะคณะกรรมการตกลงว่า ที่ไม่ขอรับพระราชทานรางวัลเป็นเงินจำนวน ๒๐๐ บาท เพราะเกรงจะผิดวินัย จึงตกลงจัดเป็นทำนองเครื่องกัณฑ์เทศน์เป็นสิ่งของในราคา ๑๐๐ บาท ใบปวารณา ๑๐๐ บาท ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลใน พระอุโบสถพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อจากพระราชทานพัดยศแก่พระเปรียญ ๙ ประโยค และ ๖ ประโยค

นับจากได้รับพระราชทานรางวัลครั้งนี้แล้วก็เป็นที่เลื่องชื่อฤานามทั่วไป  ไปไหนมาไหนมักจะถูกชี้ให้ดูกันว่า องค์นี้แหละแต่งหนังสือเก่ง ในหลวงโปรด แทนที่หน้าจะแดงเพราะดีใจกลับจะหน้าซีดเพราะกระดากอายเสียด้วยซ้ำ คิดว่าคงมิใช่การได้รับพระราชทานรางวัลที่นับเป็นครั้งที่ ๖ เพราะการแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กนี้เท่านั้น ยังมีรางวัลได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระคณาจารย์เอกทางรจนาคัมภีร์ ในครั้งนั้นอีกด้วย จึงพลอยให้เป็นคุณสมบัติเข้าเป็นสมาชิกสังฆสภาด้วยรูป ๑ ซึ่งรู้สึกว่าออกจะเกินอำนาจวาสนาอยู่แล้ว แต่คุณสมบัติของสมาชิกสังฆสภาระบุว่าต้องเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม หรือเปรียญ ๙ ประโยค หรือพระคณาจารย์เอก และให้พิจารณาแต่งตั้งตามลำดับพรรษา เมื่อจำนวนสมาชิกขาดลงในสมัยที่รับแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์จึงได้รับให้เข้าเป็นสมาชิกสังฆสภาในเวลามิช้า ดูเป็นลัดคิวในตำแหน่งอันมีเกียรติ ที่น่าริษยาอยู่บ้างก็ได้

การได้รับพระราชทานรางวัลในการแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กครั้งนั้น ทำให้ภิกษุสามเณรตื่นตัวกันมาก ฝ่ายเราก็คงสนใจในการแต่งร้อยแก้วเกี่ยวกับเทศนาบ้าง ร้อยกรองเกี่ยวด้วยบทความคติธรรมบ้าง  และคอยส่งประกวดต่อมาอีก ๔-๕ ครั้ง  คงได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๒ เรื่อง สัมปรายิกัตถประโยชน์ ๔  รางวัลที่ ๑ เรื่องสังคหวัตถุ ๔  ต่อมาเลยหยุดเพราะภาระอื่นมากขึ้น เพียงแต่บันทึกปกิณกะจากประสบการณ์ตามเวลาเท่านั้น”


5387  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / อาหารขี้เมา ต้องกระเพราปลาหมึก (แห้ง) - โดยกิมเล้ง เมื่อ: 26 เมษายน 2555 17:00:58
อาหารขี้เมา ต้องกระเพราปลาหมึก (แห้ง) - โดยกิมเล้ง

krapao-squid




เครื่องปรุง

- ปลาหมึกแห้ง (ถ้าได้ปลาหมึกไข่จะอร่อยมาก ๆ)  
- พริกขี้หนูแห้ง
- พริกขี้หนูสด
- กระเทียม
- พริกไทยขาว
- กระเพรา
- ซีอิ๊วขาว
- น้ำมันหอย
- น้ำตาลทราย



วิธีทำ
1. ปลาหมึกแห้ง แกะตา ผ่าขูดข้างในให้สะอาด   แช่น้ำให้นิ่มประมาณ 10 นาที บีบน้ำให้แห้งพักไว้  (ตามภาพ ซื้อปลาหมึกที่แกะตาและขูดไส้แล้ว)
2. โขลกพริกไทยขาวให้ละเอียด  ใส่กระเทียมและพริกขี้หนูสดโขลกพอหยาบ ๆ  ตักขึ้นพักไว้
3. โขลกพริกขี้หนูแห้ง พอหยาบ ๆ
4. ใส่น้ำมันในกระทะนิดหน่อย  นำพริกกระเทียมที่โขลกไว้ตามข้อ 2 ผัดให้เหลืองนิดหน่อย จึงใส่พริกขี้หนูแห้งตามลงไป (ถ้าใส่พร้อมกันพริกขี้หนูแห้งมีความชื้นน้อย จะทำให้ไหม้ก่อนพริกและกระเทียมสด)
5. ใส่ซอสหอยนางรม  ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย  เติมน้ำสะอาดนิดหน่อย
6. ใส่ปลาหมึกผัดให้สุก  ตามด้วยใบกระเพรา



ใส่น่้ำมันในกระทะ เจียวพริกสด+กระเทียม+พริกไทย พอเหลืองนิดหน่อย  


จึงตามด้วยพริกขี้หนูแห้ง....พริกแห้งความชื้นน้อยไหม้ง่าย..จึงใส่ทีหลัง


ใส่น้ำมันหอย   ซีอิ๊วขาว  น้ำตาลทราย

ใส่ปลาหมึกผัดจนสุก  ชิมรสตามอัธยาศัย  ใส่ใบกระเพรา เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ด้วยรสชาติอันเผ็ดร้อน

จึงอย่าลืมนี่ด้วยนะจ๊ะ ...ไข่คู่บุญ+น้ำปลาพริก



5388  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / กินไอศกรีมปวดศีรษะ เมื่อ: 25 เมษายน 2555 22:04:44




กินไอศกรีมปวดศีรษะ
บอกยาใช้รักษาอาการปวดหัวแบบไมเกรน


โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่าอาการปวดศีรษะจี๊ดขึ้นทันทีทันใดเมื่อกินของเย็น ๆ อย่างเช่นน้ำแข็งและไอศกรีม มีความคล้ายคลึงกับอาการปวดศีรษะไมเกรน  ซึ่งอาจจะทำได้วิธีรักษาอาการปวดศีรษะแบบต่าง ๆ ด้วย

นักวิทยาศาสตร์ได้พบจากการศึกษาว่า อาการปวดศีรษะชั่วครู่นั้นเกิดเพราะเลือดพุ่งขึ้นสมองทันทีทันใด และอาการนั้นจะกลับสู่ปกติ ก็เนื่องจากหลอดเลือดหดเล็กลงอย่างเดิม พวกเขาสงสัยว่า การที่หลอดเลือดขยายและหดกลับอย่างรวดเร็วนั้น อาจจะเป็นกลไกป้องกันตัวเองของสมอง เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่ค่อนข้างสำคัญ ไม่อาจจะหยุดงานได้ ค่อนข้างอ่อนไหวกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง หลอดเลือดจึงต้องขยายได้  เพื่อรักษาสมองให้อุ่นไว้ แต่เนื่องจากสมองออกจะแออัด การที่เกิดความดันสูงขึ้นจึงอาจทำให้อาการปวดขึ้นได้.



ที่มาข้อมูล คอลัมภ์ “ชื่นชีวิต” (หน้า ๗) :  นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๕






สถานที่ : ร้านไอศกรีมภายในบริเวณห้างสรรพสินค้า   ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 
ถ่ายภาพ : กิมเล้ง -  http://www.sookjai.com





สถานที่ : ร้านไอศกรีมภายในบริเวณห้างสรรพสินค้า   ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 
ถ่ายภาพ : กิมเล้ง -  http://www.sookjai.com







.






5389  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๙ : พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) เมื่อ: 25 เมษายน 2555 20:22:12

พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์



พระพรหมมุนี (ผิน  สุวโจ)  วัดบวรนิเวศวิหาร  กรุงเทพมหานคร



พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๙
(ผิน  สุวโจ)

พระพรหมมุนี (ผิน  สุวโจ)   เกิดในสกุล ธรรมประทีป เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนบุตรหญิงชาย ๗ คน ของโยมบิดามารดร  โยมบิดาชื่อ นายห้อย โยมมารดาชื่อ นางฮวด   เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๓๗ ตรงกับวันศุกร์แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ  ตำบลบ้านแหลมใหญ่  อำเภอบ้านปรก (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง)  จังหวัดสมุทรสงคราม  ตระกูลเดิมนับถือศาสนาคริสต์   และมีอาชีพทำการประมง  
 
ญาติทางฝ่ายบิดาและมารดาของท่านเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่เคร่งครัด   และมีญาติบางคนได้บวชเป็นบาทหลวงและนางชีในศาสนาคริสต์ด้วย   สมัยเมื่อยังเยาว์วัยท่านเคยไปสวดมนต์ไหว้พระในโบสถ์คริสต์กับญาติบ้างกับผู้ปกครองบ้าง และได้เคยรับศีลล้างบาปตามประเพณีของศาสนาคริสต์    แต่ด้วยเหตุที่ศาสนาคริสต์ไม่ต้องด้วยอัธยาศัยของท่าน   เพราะเคยได้รับความสลดใจหลายอย่างเกี่ยวกับการกระทำของพวกเด็กชาวคริสต์ที่กระทำต่อพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา  เป็นต้นว่า เมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรเดินบิณฑบาต ก็มักจะพากันกล่าววาจาหยาบคายต่าง ๆ ซึ่งท่านเองก็พลอยไปกับเขาด้วยในบางครั้ง ท่านเล่าว่า เคยฝันเห็นโบสถ์ในพระพุทธศาสนาลอยมาในอากาศบ้าง  ฝันเห็นอุบาสกอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวนั่งสวดมนต์กันบ้าง   ฝันเห็นตนเองปีนกำแพงเข้าไปในโบสถ์บ้าง  ปกติเป็นคนมีนิสัยกลัวบาปตกนรก   ไม่เชื่อในคำสอนของศาสนาคริสต์ในข้อที่ว่าฆ่าสัตว์ไม่บาปเพราะพระเจ้าสร้างมาให้เป็นอาหารของมนุษย์  ท่านมีความเห็นว่าคำสอนเช่นนี้ ไม่ยุติธรรม


เมื่ออุปนิสัยน้อมมาในทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้    ในที่สุดท่านจึงได้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพวงมาลัย  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสงคราม  ขณะมีอายุได้ ๑๖ ปี  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓    โดยท่านพระครูธรรมธร (แก้ว พฺรหฺมสาโร)  เป็นผู้บวชให้  ท่านจึงเป็นคนเดียวในตระกูลที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา   แล้วเล่าเรียนอยู่ในวัดนั้นเป็นเวลาปีเศษ  ก็ลาสิกขาออกไปเรียนภาษาไทยที่วัดเกตุการาม   ตำบลโรงหีบ  อำเภอบางคณฑี  จังหวัดสมุทรสงคราม

ครั้นอายุได้ ๑๙ ปี  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖  ได้กลับเข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรเป็นครั้งที่ ๒   ณ วัดเกตุการามโดยมี พระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตฺโต)  เป็นพระอุปัชฌาย์  บวชเป็นสามเณรอยู่ ๑ พรรษา  อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗  จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ณ วัดเกตุการามนั้น โดยมีพระพุทธวิริยากร (จิตต์ ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุดมธีรคุณ (เพิ่ม อุชุโก) พระครูธรรมธร อินทร  ภาสกโร  วัดเกตุการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์   เมื่ออุปสมบทแล้วก็อยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติที่วัดเกตุการามนั้น ๔ พรรษา ในพรรษาที่ ๓ สอบได้นักธรรมชั้นตรี


พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ย้ายเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ  วัดบวรนิเวศวิหาร  กรุงเทพฯ   ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงครองวัด โดยอยู่ในความปกครองของพระเทพกวี (มณี ลิมกุล) แต่เมื่อยังเป็นที่พระมหานายก    ซึ่งเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงครามด้วยกัน  การขบฉันในสมัยนั้นนับว่าอัตคัด สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงต้องทรงแบ่งเครื่องเสวยประทานเป็นครั้งคราวเสมอ การศึกษาเล่าเรียนของท่านก็เจริญก้าวหน้าไปเป็นลำดับ สอบได้นักธรรมและเปรียญชั้นต่าง ๆ  ในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ตามลำดับดังนี้
-พ.ศ. ๒๔๖๔ สอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยค  
- พ.ศ. ๒๔๖๕  สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค  
- พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค  
- พ.ศ. ๒๔๖๗  สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค  
- พ.ศ. ๒๔๖๙  สอบได้นักธรรมชั้นเอก

ในสมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงครองวัด ได้โปรดตั้งเป็นพระครูสังฆบริบาล  ฐานานุกรมในพระองค์ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระครูวินัยธรรม

ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชริญาณวงศ์ทรงครองวัด โปรดให้เลื่อนเป็นพระครูธรรมธร ฐานานุกรมในพระองค์

ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗ ในรัชกาลที่ ๘  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระสุพจนมุนี เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพมุนี  เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๘๙

ถึงพ.ศ. ๒๔๙๐  ในรัชกาลปัจจุบัน  เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมปาโมกข์ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐  และทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่พรหมมุนี เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ มีสำเนาพระบรมราชโองการสถาปนา ดังนี้



ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รังสิต  กรมขุนชัยนาทนเรนทร
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

โดยที่ทรงพระดำริเห็นว่า (คราวเดียวกับสถาปนาพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) วัดมหาธาตุ เป็นพระพิมลธรรม)

อนึ่ง พระธรรมปาโมกข์ เป็นพระเถระสมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีปรีชาญาณ ได้ศึกษาแตกฉานในมคธปริวรรตน์และอรรถธรรมวินัย สอบไล่ได้สำเร็จภูมิเปรียญธรรม ๖ ประโยค  ได้เป็นฐานานุกรมผู้ใกล้ชิดในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ตำแหน่งพระครูสังฆบริบาล และพระครูธรรมธร  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชาคณะตำแหน่งพระสุพจนมุนี พระเทพมุนี และพระธรรมปาโมกข์ โดยลำดับ  ก็ได้รับภาระพระพุทธศาสนา และสังวรรักษาสมณวัตรระเบียบปฏิบัติประเพณีราชการได้เรียบร้อยสมควรแก่ตำแหน่งเป็นอย่างดี มีความอุตสาหะวิริยะอย่างแรงกล้าในการประกอบพุทธศาสนกิจ เป็นหิตานุหิตประโยชน์ แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล อาทิ ในด้านการศึกษา เริ่มด้วยเป็นเจ้าหน้าที่ทะเบียนแห่งสำนักเรียน เป็นอุทเทศาจารย์สอนพระปริยัตติธรรม และเป็นกรรมการจัดการศึกษาแห่งสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร  เป็นผู้ช่วยแม่กองสอบนักธรรมสนามมณฑลอยุธยาและสนามมณฑลราชบุรี  เป็นผู้ช่วยแม่กองสอบนักธรรมและบาลีสนามหลวง  เป็นกรรมการตรวจสอบนักธรรมและบาลีสนามหลวง  นอกจากนี้พระธรรมปาโมกข์ยังได้รับภาระเป็นหัวหน้าศาสนาจารย์สอนธรรมจรรยาแก่นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ คือ โรงเรียนมัธยมวัดบวรนิเวศ  โรงเรียนสตรีวิทยา  โรงเรียนเบญจมราชาลัย  โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย  โรงเรียนเพ็ชรบุรีวิทยาลงกรณ์  โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนลีฟวิง   อนึ่งกรณียกิจเกี่ยวด้วยมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์อันเป็นบ่อเกิดแห่งการศาสนศึกษา พระธรรมปาโมกข์ก็ได้รับภาระเป็นกรรมการ เป็นอนุกรรมการชำระแบบเรียน เป็นกรรมการอำนวยการออกหนังสือธรรมจักษุและกรรมการตรวจเลือกพระสูตร  เป็นหัวหน้ากองบำรุงพระปริยัตติธรรม  เป็นหัวหน้ากองบัญชาการ  เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิ เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหาวิทยาลัยทางพระศาสนา พระธรรมปาโมกข์เป็นผู้ประกอบด้วยอุตสาหะวีรยาธิคุณ  ได้พยายามศึกษาค้นคว้าหลักธรรมในคัมภีร์บาลีปกรณ์ทั้งหลาย จนเข้าถึงความเป็นผู้ฉลาดสามารถในคันถธุระวิธีพุทธสมัย ตั้งอยู่ในวิษัยพหุลศรุตบัณฑิต  รอบรู้แตกฉานเชี่ยวชาญในพระปริยัติธรรมอย่างซาบซึ้งถึงขนาดสามารถจัดการศึกษาเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอนุศาสน์อบรมสั่งสอนสิกขกามบุคคล  ตลอดจนการชำระตำราแก้ไขทำแบบเรียนให้เป็นฉะบับที่ถูกต้อง  เป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาเป็นอันมาก  นับว่าได้บำเพ็ญกรณียกิจซึ่งยากที่บุคคลทั่วไปจะพึงกระทำ นำมาซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่อเนกนิกรชนพุทธบริษัท  ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิตดั่งพรรณนามา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดยกเป็นพระคณาจารย์เอกในทางคันถธุระ ดั่งปรากฏอยู่แล้ว ในส่วนบริหาร พระธรรมปาโมกข์ก็เริ่มรับภาระปฏิบัติมาแต่ครั้งอยู่ในระหว่างการศึกษาเบื้องต้น  คือรับตำแหน่งเป็นฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าดังกล่าวแล้ว  เป็นเสนาสนะคาหาปกะและปฏิคมแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร  เป็นกรรมการและรองประธานกรรมการคณะธรรมยุตติกา เป็นกรรมการเถรสมาคม  เป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔  เป็นพระอุปัชฌายะในคณะธรรมยุตติกา เป็นสมาชิกสังฆสภา และเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่  พระธรรมปาโมกข์ได้บริหารกิจการตามหน้าที่ ซึ่งได้รับภาระดังกล่าวได้เรียบร้อยเป็นผลดีตลอดมา จึงประจักษ์อยู่ทั่วไปว่าเป็นผู้เจริญยิ่งด้วยคุณธรรมวิทยาสามารถ  มีปรีชาฉลาดในการอบรมสั่งสอนศีลธรรมจรรยาเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญภิยโยภาพไปตลอดจิรัฏฐิติกาล   บัดนี้พระธรรมปาโมกข์ก็เจริญด้วยวรรษายุกาล สมบูรณ์ด้วยรัตตัญญูเถรกรณธรรม มั่นคงอยู่ในพรหมจรรย์เนกขัมมปฏิบัติ  เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต มีวัตตจริยาเป็นที่น่าเลื่อมใส เป็นหลักอยู่ในคณะธรรมยุตติการูปหนึ่ง จึงสมควรยกย่องให้ดำรงในสมณฐานันดรสูงขึ้น

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สถาปนาพระธรรมปาโมกข์เป็นที่รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัณยบัฏว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ อุดมคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ สมบุณคณาธิปัติ  วินยานุวรรตสังฆานุนายก ปิฎกธรรมรักขิต ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพุทธพากยประกาศ ๑ พระครูคู่สวด ๑ พระครูธรรมศาสนอุโฆษ ๑ พระครูคู่สวด ๑ พระครูสังฆวิจิตร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาพระคุณ ผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดรเพิ่มอิสสริยยศในครั้งนี้ จงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในพระอารามตามสมควรแก่กำลังและอิสสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญ อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสด์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

                                                                                                     ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                                                                                                 จอมพล ป. พิบูลสงคราม
                                                                                                                           นายกรัฐมนตรี



พระพรหมมุนี (ผิน) เป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญในการคณะสงฆ์ด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการคณะสงฆ์มาโดยลำดับ อาทิ
- พ.ศ. ๒๔๗๘  เป็นพระคณาจารย์เอกทางคันถธุระ
- พ.ศ. ๒๔๘๖  เป็นผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- พ.ศ. ๒๔๘๘  ร่วมกับสุชีโวภิกขุ (คืออาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ) ดำเนินการจัดตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งประกาศตั้งเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  นับเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย และได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มาตั้งแต่เริ่มตั้งจนตลอดชนมชีพของท่าน
- พ.ศ. ๒๔๘๕  เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่
- พ.ศ. ๒๔๙๓  เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ สมัยที่ ๒
- พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ สมัยที่ ๓
- พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็นเจ้าคณะธรรมยุตภาค ๑-๒-๖
- พ.ศ. ๒๕๐๑  เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑
- พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  พระพรหมมุนี (ผิน) ได้เป็นพระอาจารย์ถวายธรรมวินัยแด่พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดเวลาแห่งการทรงผนวช

พระพรหมมุนี (ผิน) ปกครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ ๔ ปี  ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔ สิริชนมายุได้ ๖๖ ปี ๘ เดือน
 




รวบรวมเรียบเรียง โดย กิมเล้ง : http://www.sookjai.com

ข้อมูล
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
- http://www.watbowon.com








.
5390  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: อาลัย - อาวรณ์ ปนเศร้า(คลุกเคล้าด้วยน้ำปลาตรา Sometime) เมื่อ: 25 เมษายน 2555 20:02:13




อาลัย - อาวรณ์ ปนเศร้า(คลุกเคล้าด้วยน้ำปลาตรา Sometime)



  อยากได้สักขวด ไว้เข้าครัว Kimleng.



เยี่ยม





.
5391  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๘ : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี เมื่อ: 25 เมษายน 2555 19:54:20


พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์



สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน  อุฏฺฐายี)
วัดมกุฏกษัตริยาราม  กรุงเทพมหานคร


พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๘
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน  อุฏฺฐายี)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  (จวน  อุฏฺฐายี)  วัดมกุฏกษัตริยาราม  พระนามเดิม  ลำจวน   ศิริสม  ภายหลังจึงทรงเปลี่ยนเป็น จวน     ประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐  ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา จ.ศ. ๑๒๕๙ (ร.ศ. ๑๖๖)  หรือวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นชาวตำบลบ้านโป่ง  อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี   ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นมณฑลราชบุรี   ท่านบิดาชื่อ “หงศ์  ศิริสม”   เป็นชาวโพธาราม  ท่านปู่สืบเชื้อสายมาจากจีนแซ่ตัน ท่านย่าสืบเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทน์   ส่วนท่านมารดา ชื่อ "จีน"    นามสกุลเดิมว่า "ประเสริฐศิลป์" ภูมิลำเนาเดิมอยู่ บ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี   ภายหลังท่านบิดาได้อุปสมบทเป็นภิกษุมาอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ถึงมรณภาพ เมื่ออายุ ๘๔ ปี   ส่วนท่านมารดาในบั้นปลายของชีวิตได้ปลงผมนุ่งขาวห่มขาวเป็นอุบาสิการักษาศีลแปดจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต  ทรงเป็นบุตรคนหัวปีในจำนวนบุตรธิดาทั้งหมด ๗ คน
 
พ.ศ. ๒๔๔๙  พระชนมายุ ๙ พรรษา  ได้เข้าศึกษาหนังสือไทยที่โรงเรียนวัดคฤหบดี ตำบลบ้านปูน  อำเภอบางพลัด (สมัยนั้น)  จังหวัดธนบุรี   จนจบชั้นประถมปีที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑  แล้วลาออกจากโรงเรียนกลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิม   ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓  พระชนมายุ ๑๔ พรรษา ท่านบิดามารดา ต้องการให้เรียนทางพระศาสนา จึงนำไปฝากให้อยู่กับพระมหาสมณวงศ์ ( แท่น โสมทัดโต ) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม ( วัดเขาวัง ) จังหวัดเพชรบุรี  ผู้เป็นพี่ของตา. พระวัดเขาวังเล่ากันต่อมาว่า ท่านเจ้าคุณมหาสมณวงศ์ เคยออกปากทำนายสมเด็จ ฯ ไว้ว่า "ลักษณะอย่างนี้ ต่อไปจะได้ดี" นัยว่าท่านหมายถึงพระเศียรที่มีลักษณะคล้ายกระพองช้าง

ถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๕ พระชนมายุ ๑๖ ในราวเดือนเมษายน  ได้เข้ามาฝากตัวอยู่กับพระศาสนโศภณ (แจ่ม) ที่คณะนอกวัดมกุฏกษัตริยาราม  เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระอริยมุนี ( แจ่ม จตฺคสลฺโล )   เรียนบาลีไวยากรณ์ในโรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริยารามกับพระมหาแสงบ้าง กับท่านเจ้าคุณอาจารย์บ้าง กับพระมหาจิณ จิณฺณาจาโร ป. ๔ บ้าง และศึกษาต่อกับพระมหาสุข สุขทายี ป.๕ ใน พ.ศ. ๒๔๕๖


บรรพชาอุปสมบท

พระชนม์ ๑๖ พรรษา ทรงบรรพชาเป็นสามเณร  เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗  ณ พระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม  มีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอริยมุนี (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป. ๗) เป็นพระสรณคมนาจารย์ (พระอาจารย์ให้สรณะและศีล)  แล้วทรงศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักพระอริยมุนี (แจ่ม)  ทรงสอบไล่องค์นักธรรมชั้นตรีภูมิของสามเณรได้
พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงเข้าศึกษาธรรมบทกับพระพินิตพินัย (ชั้น กมาธิโก) ครั้งยังเป็นพระมหาชั้นเปรียญ ๕ ประโยคในโรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์    ใน ปี พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๕๙  ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม มีสามเณรเรียนธรรมและบาลีอยู่มาก ได้ชักชวนกันออกวารสารรายปักษ์ขึ้นฉบับหนึ่ง ให้ชื่อว่า "สยามวัด" เพื่อเป็นสนามสำหรับฝึกหัดแต่ง โคลง กาพย์ กลอน กลบท และฉันท์ และจัดให้มีการประกวดแต่ง โคลง ฉันท์ เป็นต้น   

ในจำนวนสามเณรเหล่านี้ ทรงมีลายมือสวย จึงได้รับมอบให้เป็นบรรณาธิการรวบรวมและเขียนลงในสมุด ครั้งละ ๑-๒ เล่ม สำหรับนำออกอ่านในที่ประชุม ณ วันโกนแห่งปักษ์ทุกกึ่งเดือน วารสารนี้ดำเนินมาได้เกือบ ๒ ปีจึงหยุด เพราะทุกรูปมีภาระที่จะต้องเรียนมากขึ้น  การหัดแต่งกวีนิพนธ์ในครั้งนั้น ทำให้ทรงเป็นผู้สามารถในการประพันธ์โคลงฉันท์ เป็นต้น   สมเด็จฯ ทรงรู้ภาษาอังกฤษพอจะอ่านเขียนแปลได้ และรับสั่งได้บ้างแต่ไม่ชำนาญ ฉะนั้นเวลาติดต่อกับชาวต่างประเทศจึงใช้ล่ามเว้นแต่คราวจำเป็น จึงรับสั่งโดยประโยคสั้นๆ

พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม  เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ตรงกับปีมะเส็ง   มีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์  และศาสนโศภณ  (แจ่ม) แต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชกวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑  ทรงสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒  ทรงสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓  ทรงเป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์โรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔  ทรงเป็นครูสอนพระธัมมปทัฏฐกถา และธันวาคม ศกเดียวกัน ทรงสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕  ทรงสอบไล่ได้เปรียญธรรมชั้นโท ๖ ประโยค
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖  ทรงสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๗  ทรงเป็นครูสอนมังคลัตถทีปนี โรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์  และธันวาคม ศกเดียวกัน ทรงสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐  ทรงสอบเปรียญธรรม ๘ ประโยคได้
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ชั้น ๕   ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๗ และเดือนมกราคมทรงเป็นกรรมการสนามหลวง ตรวจ น.ธ.เอก และบาลีประโยค ๔,๕,๖
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒  พรรษาที่ ๑๓  ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค



พระกรณียกิจด้านการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๘ พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.๗) ครั้งยังเป็นพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ได้รับมอบจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ให้ตรวจชำระพระไตรปิฎกบางปกรณ์ คือ อปทานเถรคาถา เถรีคาถา  พุทฺธวํส จริยาปิฎก และคัมภีร์มิลินทปัญหา ในเบื้องต้นได้แบ่งการตรวจชำระออกเป็น ๒ กอง คือ กองที่ ๑ ให้พระมหาจวน อุฏฺฐายี ป.๗   เป็นหัวหน้าตรวจชำระอปทานเถรคาถา เถรีคาถา กองที่ ๒  ให้พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ ป.๗ เป็นหัวหน้าตรวจชำระ พุทฺธวํส จริยาปิฎก และ มิลินทปัญหา

สมเด็จ ฯ ได้สอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม เทียบกับฉบับอักษรพม่าและอักษรโรมันโดยตลอดเป็นเวลานาน จึงทำให้ชำนาญในอักษรทั้ง ๒ นี้ด้วย ฉะนั้น เมื่อเสด็จแทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราช (วัดเบญจมบพิตร) ไปร่วมประชุมสังคายนา ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงทรงอ่านพระไตรปิฎกอักษรพม่าได้โดยสะดวก   และโดยที่อักษรรามัญมีรูปร่างคล้ายกับอักษรพม่าโดยมาก จึงทรงสามารถอ่านคัมภีร์อักษรรามัญได้ด้วย



สมณศักดิ์และหน้าที่การงาน

- พ.ศ. ๒๔๗๖  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระกิตติสารมุนี
- พ.ศ. ๒๔๗๘  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที
- พ.ศ. ๒๔๗๘  ทรงเป็นประธานคณะกรรมการ การทำการในหน้าที่เจ้าคณะมณฑลราชบุรีร่วมกับพระญาณเวที วัดบุรณสิริ  พระวิสุทธิสมโพธิ์ วัดพระเชตุพน และพระอริยกวี วัดจักรวรรดิ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖
- พ.ศ. ๒๔๗๙  ทรงเป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฎก โดยอนุมัติของประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
- ทรงเป็นกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบของมหาเถรสมาคม ว่าด้วยพระภิกษุสามเณรในอาณาเขตชายแดนไปมาติดต่อกับต่างประเทศ
- ทรงเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๗๙  ร่วมกับพระธรรมโกศาจารย์ พระธรรมไตรโลกาจารย์ พระราชสุธี และพระศรีวิ    สุทธิวงศ์
- พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
- พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ ทรงเป็นสมาชิกสังฆสภาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- พ.ศ. ๒๔๘๔ ทรงพระกรุณาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔  แทนพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑  ตามพระราชบัญญัติใหม่คณะสงฆ์มีการปกครองแบบสังฆสภา มีคณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร แบ่งการปกครองส่วนกลางออกเป็น ๔ องค์การ คือ องค์การปกครอง องค์การเผยแผ่ องค์การศึกษา และองค์การสาธารณูปการ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕  ทรงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
- พ.ศ. ๒๔๘๖ พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี โดย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ให้มีเจ้าคณะตรวจการภาคแทนเจ้าคณะมณฑล
- เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส
   ครั้งที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ รวม ๕ เดือน ๑๓ วัน
   ครั้งที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
-  พ.ศ. ๒๔๘๘  โดยคำสั่งของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต  ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘  ทรงเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม และเป็นเจ้าอาวาสในปีเดียวกัน
-  พ.ศ. ๒๔๘๘ รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์
-  พ.ศ. ๒๔๘๙  ทรงเป็นผู้สั่งการแทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถร)  สังฆนายก
-  พ.ศ. ๒๔๙๐  ทรงได้รับพระราชทานสถาปนา เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระศาสนโศภน  ตำแหน่งเจ้าคณะรองคณะธรรมยุต มีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้



ประกาศสถานาสมณศักดิ์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต  กรมขุนชัยนาทนเรนทร
พระยามานวราชเสวี

โดยที่ดำริเห็นว่า พระธรรมปาโมกข์  เป็นพระเถระเจริญด้วยคุณสมบัติ  สรรพวิทยาสามารถ  มีปรีชาฉลาดแตกฉานในพระปริยัติไตรปิฎกสุตาคม  ได้ศึกษาอบรมจบหลักสูตรสอบไล่ได้สำเร็จภูมิเปรียญธรรม ๙ ประโยค  ทรงพระกรุณาโปรดให้มีสมณฐานันดรที่พระราชาคณะตำแหน่ง พระกิตติสารมุนี  พระราชเวที  พระเทพเวที  และพระธรรมปาโมกข์  โดยลำดับ ก็สังวรในสมณคณุอภิสมาจารวัตร รักษาระเบียบปฏิบัติขนบธรรมเนียมประเพณีราชการได้เรียบร้อย  สมควรแก่ตำแหน่งเป็นอย่างดียิ่งตลอดมา ประกอบด้วยมีอุตสาหะวีรยภาพอย่างแรงกล้า ไม่ท้อถอยในการประกอบศาสนกิจให้เจริญรุ่งเรืองสมกับเป็นธรรมทายาท เปรี่องปรีชาสามารถบำเพ็ญกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล อาทิ ในด้านการศึกษา เริ่มแต่ได้เป็นอุทเทศาจารย์สอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ในสำนักวัดมกุฏกษัตริยาราม  ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นจนถึงจบหลักสูตร  ได้ทำการแทนแม่กองสอบความรู้นักธรรมสนามสาขาแห่งสนามหลวง จังหวัดกาญจนบุรี  เป็นกรรมการตรวจความรู้นักธรรมสนามสาขาแห่งสนามหลวงมณฑลราชบุรี  และมณฑลอยุธยา  เป็นผู้ช่วยแม่กองสอบความรู้นักธรรมสนามหลวง และช่วยจัดสร้างระเบียบการศึกษาและสอบความรู้นักธรรมสนามหลวงให้ดำเนินไปโดยสะดวกและทั่วถึงทุกจังหวัด  เป็นกรรมการตรวจสอบความรู้นักธรรมและบาลีในสนามหลวงตลอดทุกประโยค เป็นกรรมการสอบวิชาจรรยาประโยคมัธยมบริบูณ์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ไขฟื้นฟูธรรมจริยาของนักเรียนภาษาไทยทั่วราชอาณาจักร เป็นกรรมการพิจารณาเทียบวิทยฐานะเปรียญกับประโยคมัธยม เพื่อให้เปรียญคฤหัสถ์ได้มีสิทธิสอบคัดเลือกเข้ารับราชการและเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยบางแห่ง  ในการบริหารได้เป็นอนุกรรมการมหาเถรสามาคม มีหน้าที่ช่วยภาระพระศาสนาแทนมหาเถรสมาคม เป็นประธานคณะกรรมการทำการในหน้าที่เจ้าคณะมณฑลราชบุรี  เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔  ก็ได้รับหน้าที่เป็นสมาชิกสังฆสภา และเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่  ในสมัยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ดำรงตำแหน่งสังฆนายก  และไม่ได้บัญชาการคณะสงฆ์เพราะเหตุอาพาธ  ได้เลือกสรรและแต่งตั้งให้พระธรรมปาโมกข์แต่ยังเป็นพระเทพเวที เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสังฆนายก  มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบแทนองค์สังฆนายกในการบริหารคณะสงฆ์ทั่วไปอยู่จนตลอดสมัย  ครั้นในปัจจุบันนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งสังฆนายกสืบต่อมา ก็ได้เลือกสรรให้พระธรรมปาโมกข์เป็นผู้สั่งการแทนสังฆนายกอีก  ได้บริหารกิจการในหน้าที่สนองพระเดชพระคุณมาด้วยความเรียบร้อยเป็นผลดีโดยตลอด  ทั้งนี้ย่อมประจักษ์ว่าพระธรรมปาโมกข์เป็นผู้เจริญด้วยอุตสาหวีรยาทิคุณ บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมวิทยาสามารถอย่างแท้จริง ได้บริหารหน้าที่อันสำคัญยิ่งที่ได้รับภาระมาให้สำเร็จลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี  มีปรีชาญาณรอบรู้ระเบียบพิธีปฏิบัติราชการและพิธีสงฆ์ได้เรียบร้อยสมกาลสมัย  ปรากฏเกียรติคุณเป็นที่นิยมสรรเสริญทั่วไปในสงฆมณฑล หมู่ข้าราชการและประชาราษฎร  อนึ่ง ย่อมปรากฏว่า พระธรรมปาโมกข์ประกอบด้วยปฏิภานปรีชาตรีปิฎกกลาโกศล  ฉลาดในโวหารนิพนธ์เทศนาปริวรรตน์  กอปรด้วยประพันธสมบัติสามารถรจนาฉันทพากย์โศลกคาถาได้อย่างไพเราะ  เพราะความเป็นผู้เชี่ยวชาญในอักษาวิธานมคธ  พากย์ฉันทลักษณะวรรณพฤตติวิธี  ได้แต่งคาถาสดุดีประเทศไทย ชื่อรตนัตตยปภาวสิทธิคาถาโดยภาษามคธ  ซึ่งทางราชการกำหนดให้แต่งและประกาศใช้อยู่ในปัจจุบันนี้  สำหรับพระสงฆ์สวดในราชพิธีรัฐพิธีตามกาลสมัย  มีอรรถรสปราฎซาบซึ้งตรึงใจในหมู่เมธีกระวีชาติราชบัณฑิต  อนึ่ง ทางเทศนาโวหารก็มีปฏิภาณพิจิตรเหมาะสมกาลสมัย  สามารถยังกุศลสวนธรรมสวนมัยให้สำเร็จบริบูรณ์ได้ในทุกโอกาส  ด้วยปรีชาฉลาดในวิธีเทศนาลีลา  จึงทรงพระกรุณาโปรดยกเป็นพระคณาจารย์เอกในทางเทศนา ดังปรากฏอยู่ในเวลานี้ ทั้งนี้ จึงเห็นว่าพระธรรมปาโมกข์เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติสรรพวิทยา  สามารถในการบริหารพระศาสนาสมบูรณ์ด้วยอัตตหิตปรหิตจรรยา  และเจริญด้วยพรรษายุกาลรัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม ยินดีในพรหมจรรย์เนกขัมมปฏิปทา เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต มีวัตตจริยาเป็นที่น่าเลื่อมใส เป็นหลักอยู่ในคณะธรรมยุตติการูปหนึ่ง สมควรยกย่องให้ดำรงสมณฐานันดรศักดิ์สูงขึ้น

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงให้สถาปนาพระธรรมปาโมกข์เป็นที่รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัณยบัฏว่า พระศาสนาโศภน วิมลญาณอดุลย์ ตรีปิฎกธรรมาลังการภูสิต ธรรมนิตยสาทร อุดมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ พิพิธธรรมโกศล วิมลสุตาคม อุดมคณานุนายก ตรีปฎกญาณวิจิตร ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิศิษฐสรเวท พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิเศษสรวุฒิ พระครูคู่สวด ๑ พระครูสังฆวุฒิกร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาพระคุณทั้งปวงผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดรเพิ่มอิสสริยยศในครั้งนี้ จงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในพระอาราม ตามสมควรแก่กำลังและอิสสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๐   เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

                                                                                                           ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                                                                                                         พลเรือตรี ถ ธำรงนาวาสวัสดี
                                                                                                                                      นายกรัฐมนตรี


-  พ.ศ. ๒๔๙๓  ทรงเป็นผู้สั่งการแทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถร) สังฆนายกสมัยที่ ๒
-  พ.ศ. ๒๔๙๔ ทรงเป็นสังฆนายกสืบต่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งถึงมรณภาพเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน 
-  พ.ศ. ๒๔๙๔  และคงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่อีกตำแหน่งหนึ่ง
-  พ.ศ. ๒๔๙๔  ลาออกจากตำแหน่งสังฆนายก
- พ.ศ.  ๒๔๙๔  เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ในคณะสังฆมนตรี ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัต (กิตฺติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร เป็นสังฆนายก
-  พ.ศ. ๒๔๙๙  ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติ
- พ.ศ. ๒๕๐๑  ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์  และทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ
- พ.ศ. ๒๕๐๓  ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆนายก
- พ.ศ. ๒๕๐๕  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (กิตฺติโสภณมหาเถร)  สมเด็จพระสังฆราชวัดเบญจมบพิตร สิ้นพระชนม์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือแจ้งมอบหน้าที่และอำนาจให้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
- วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖   ทรงพ้นจากตำแหน่งสังฆนายก  เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ ขึ้น  โดยคณะสงฆ์มีการปกครองแบบมหาเถรสมาคม เป็นองค์กรสูงสุดทางการปกครอง  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
- วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘   ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติ ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ข้อ ๖



สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘  ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  พระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ

ในการสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชใหม่ เพื่อให้เป็นแบบอย่างต่อไปดังคำปรารภของสำนักพระราชวังดังนี้

“ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่  ภายหลังถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนแล้ว  การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  โดยปกติกระทำรวมกับการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล สุดแต่ระยะเวลาการสถาปนาจะใกล้กับการพระราชพิธีใด  ซึ่งเสมือนกับการสถาปนาสมเด็จพระเถรองค์อื่น ๆ

ในการทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงสมณศักดิ์สูงสุด  ทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายกประธานาธิบดีสงฆ์  และทรงเป็นที่เคารพสักการะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล และพุทธมามกะโดยทั่วไป  ทรงเป็นจุดรวมของศรัทธาปสาทะแห่งพุทธบริษัททั้งในและนอกราชอาณาจักร  ประกอบด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาล กับสังฆทัสนะในมหาเถรสมาคมโดยเอกฉันทมติ  และทรงพิจาณาโดยรอบคอบด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงอาศัยพระราชอำนาจ ทรงสถาปนาสมเด็จพระเถระขึ้นทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นการเพียบพร้อมและสมบูรณ์ทุกประการ

ด้วยความสำคัญในสมณศักดิ์ประการหนึ่ง และด้วยความเพียบพร้อมในพระราชดำริพิจารณาอีกประการหนึ่ง จึงสมควรที่จะถวายพระเกียรติยศโดยตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระราชพิธีต่างหากโดยเฉพาะไม่รวมอยู่ในการพระราชพิธีอื่นใด  และให้มีลักษณะการพระราชพิธีแตกต่างกว่าก่อน  เดิมมีเพียงเจ้าพนักงานอาลักษณ์อ่านกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  และถวายพระสุพรรณบัฏ  พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์  การพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชคราวนี้  มีพระราชดำริให้ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ และถวายพระสุพรรณบัฏ  พัดยศและเครื่องสมณศักดิ์ ท่ามกลางมหาสมาคมทั้งฝ่ายพุทธจักรและราชอาณาจักร ทางฝ่ายพุทธจักรประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ  พระกรรมการมหาเถรสมาคม  เจ้าคณะภาค  เจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร  และทางราชอาณาจักรก็ครบถุกสถาบันนับแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ ประธานฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนข้าราชการทั้งมวล เพื่อมหาสมาคมดังกล่าวแล้ว จะได้พร้อมกันอนุโมทนาสาธุการ สมกับที่จะทรงเป็นสกลมหาสังฆปรินายก ทรงปกครองคณะสงฆ์ เป็นที่เชิดชูพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพรสืบไป  เลขาธิการพระราชวังจึงรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ  ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สนองกระแสพระราชดำริ โดยกำหนดจารึกพระสุพรรณบัฏในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เวลา ๑๕.๓๓ น.  และวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘  เวลา ๑๖.๐๐ น. เป็นการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  รายละเอียดแห่งการพระราชพิธีมีปรากฏในหมายกำหนดการของสำนักพระราชวังแล้ว”



พระกรณียกิจพิเศษ

พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงผนวชพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศาสนโศภน ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระราชพิธีทรงผนวชครั้งนี้

พ.ศ. ๒๕๐๙  ทรงเป็นประธานสงฆ์ในพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ  ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์  สยามมกุฎราชกุมาร  ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จไปทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๙



พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน  อุฏฺฐายีมหาเถร)  สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ เพราะถูกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กส่วนบุคคลขับสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถยนต์พระประเทียบ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔  เวลา ๑๐.๐๕ น.


สิริพระชนมายุได้ ๗๔ พรรษา ๑๑ เดือน ๒ วัน ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ๗ พรรษา












รวบรวมเรียบเรียง โดย กิมเล้ง : http://www.sookjai.com

ข้อมูล
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
http://th.wikipedia.org
http://www.jariyatam.com







.
5392  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๗ :พระศาสนโสภณ (ภา ภาณโก) เมื่อ: 25 เมษายน 2555 18:52:25
พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์




พระศาสนโสภณ (ภา  ภาณโก) วัดราชบพิธ  กรุงเทพมหานคร



พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๗
ภา  ภาณโก



พระศาสนโสภณ (ภา  ภาณโก) วัดราชบพิธ  นามเดิมว่า “ใช้” ภายหลังเปลี่ยนเป็น “ภา  กังสวร”  เกิดที่ตำบลทองนพคุณ  อำเภอคลองสาน  จังหวัดธนบุรี   เป็นบุตรของเถ้าแก่ชุนกับนางฟักทอง แซ่แต้ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี  แรม ๒ ค่ำ  เดือน ๑๒  ปีมะโรง  จ.ศ. ๑๒๔๒  หรือตรงกับวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๓  บิดามีอาชีพค้าสำเภาไปมาระหว่างเมืองไทยและเมืองจีน  นัยว่าเป็นก๊กเจ้าสัวสอน  หน้าบ้านบิดาของท่านเป็นท่าเรือสำหรับจอดพักของเรือค้าขายจำพวกเดียวกันเรียกว่าห๋วยจุ๋นล้ง  ท่านเป็นบุตรคนเดียวของบิดา และกำพร้าบิดาแต่อายุยังน้อย ภายหลังมีน้องชายร่วมมารดาอีกผู้หนึ่งชื่อเทียนเป๊า  และต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  ประทานเปลี่ยนนามใหม่เป็น “วร”  และประทานนามสกุลว่า “กังสวร”  ซึ่งต่อมาเป็นพันโท  พระสุวรรณชิต  มารดาของท่านเป็นน้าของหม่อมเจ้าหญิงประทุมแมนในกรมขุนวรจักร์ธรานุภาพ  ยายของท่านเป็นบุตรีพระยาไกรโกษา (ฤกษ์) ต้นสกุลไกรฤกษ์



การศึกษาและการบรรพชาอุปสมบท

ก่อนบวชท่านได้ศึกษาภาษาไทยกับนายรองสนองราชบรรหาร (แย้ม)  โดยบิดามารดาจ้างครูมาสอนเฉพาะเป็นพิเศษ  ไม่ได้สอบไล่เลื่อนชั้นอย่างเป็นนักเรียนในโรงเรียนสามัญ   เมื่ออายุ ๑๘ ปี ท่านแสดงความประสงค์จะบวชเป็นสามเณร  มารดาจึงจัดการให้ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐  ที่วัดบุรณศิริมาตยาราม  จังหวัดพระนคร   มีพระปัญญาวิสารเถร  (สิงห์)  เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม  จังหวัดพระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์   ในปีนั้นเองท่านได้ย้ายมาอยู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร  เจ้าอาวาสวัดราชบพิธยุคที่ ๑   เมื่ออายุครบอุปสมบท ได้เข้าอุปสมบท ณ วัดราชบพิธฯ เมื่อวันที่  ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒  โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์   พระภัทรศีลสังวร (เทด)  เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม  ครั้งยังอยู่วัดบุรณศิริ  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ภาณโก"

อุปสมบทแล้วได้ศึกษาภาษาบาลีกับอาจารย์หลายท่าน ได้แก่ สำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  ครั้งยังเป็นหม่อมเจ้าและพระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรตบ้าง  เรียนกับพระยาธรรมปรีชา (ทิม)  นายชู เปรียญ และนายนวลบ้าง ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงพระกรุณาโปรดให้ไปเรียนกับพระองค์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

จนปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ท่านสอบไล่บาลีเวยยากรณ์ ชั้นนักเรียนตรีสามัญได้ในมหามกุฎราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๔๖  สอบบาลีสนามหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค และได้เข้าสอบชั้นเปรียญธรรม ๔ ประโยคอีกแต่แปลตก หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้เข้าสอบอีกเลย  ท่านเป็นเปรียญเพียง ๓ ประโยคก็จริง แต่ความรู้ภาษาบาลีของท่านหาได้น้อยตามประโยคไม่ ดังปรากฏว่าท่านได้แปลและถือเอาใจความในพระไตรปิฏก ทั้งบาลีอัฏฐกถาและฎีกาได้เป็นอย่างดี  พยานข้อนี้ก็มีปรากฏอยู่ คือท่านได้เป็นผู้หนึ่งที่ช่วยชำระพระไตรปิฎกบาลีอัฏฐกถาอันควรแก้ไขและพิมพ์ใหม่   ในรัชกาลที่ ๗  ดังมีข้อความปรากฏในสมุดบันทึกประจำปีของท่านว่าดังนี้

“ได้ตรวจชำระฉบับสุตฺตนฺตปิฎก  อฺงคุตฺตรนิกาย สตฺตก-อฏฐก-นวกนิบาต เสร็จเมื่อวันที่ ๑๙ พ.ย.๗๐  สั่งโรงพิมพ์ให้พิมพ์ วันที่ ๒๑ พ.ย. ๗๐ โรงพิมพ์เรียงและพิมพ์ ยกแรกส่งปรู๊ฟมาให้ตรวจตั้งแต่วันที่ ๒๕ พ.ย.๗๐ เป็นต้นไป จนถึงวันที่ ๒๖ เม.ย. ๗๑  จึงส่งยกที่สุดคือยกที่ ๓๑ มาให้ตรวจได้ตรวจเสร็จในวันที่ ๒๗ เม.ย. ๗๑  ต่อนี้ได้ตรวจคำผิดทำโสธนปตฺต ตรวจจบวันที่ ๒๖ มิ.ย. ๗๑  ต่อนี้ตรวจใบพิมพ์ปทานุกกโมเป็นต้น ตรวจเสร็จทั้งหมดวันที่ ๒๗ มิ.ย. ๗๑” (เสร็จจบบริบูรณ์) ภ.ป.


สมณศักดิ์

ก่อนท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ท่านได้เคยเป็นพระครูฐานานุกรม ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ คือ พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นพระครูพุทธพากย์ประกาศ, พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นพระครูวินัยธรรม, พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นพระครูวิจารณ์ธุรกิจ, พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นพระครูปลัดสัมพิพัฒนพรหมจรรยาจารย์

ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระมหาคณิศร ตำแหน่งปลัดมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖

ในรัชกาลที่ ๗ ได้เลื่อนเป็นพระราชกวี เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ และเลื่อนเป็นพระเทพกวี เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖

ในรัชกาลที่ ๘  ได้เลื่อนเป็นพระธรรมปาโมกข์ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘  ต่อมางดการพระราชทานสมณศักดิ์ชั่วคราว ครั้นเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนาเป็นพระศาสนโศภน  ตำแหน่งเจ้าคณะรองคณะธรรมยุตติกา หรือเรียกตามประกาศว่า รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามและเกียรติคุณปรากฏในคำประกาศสถาปนาว่าดังนี้



ประกาศสถาปนา
อานันทมหิดล

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  มีพระบรมราชโองการโปรดให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระธรรมปาโมกข์ ประกอบด้วยปรีชาญาณในพระปริยัติไตรปิฎกธรรม สำเร็จภูมิเปรียญ ได้เป็นฐานานุกรมผู้ใกล้ชิดสนิทในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า โดยลำดับมาช้านาน จนถึงทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระมหาคณิศรตำแหน่งพระราชาคณะ ปลัดมหาสังฆปริณายกเป็นที่สุด ได้รับภารธุระพระพุทธศาสนา ช่วยแบ่งเบาภาระธุรกิจทั่วไปของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ให้ดำเนินไปเรียบร้อยด้วยดีเป็นที่เบาพระหฤทัยและไว้วางพระหฤทัยได้สนิท  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชกวี  พระเทพกวี  และพระธรรมปาโมกข์  เป็นลำดับมา  ก็รักษาสังวรสมณวัตรและขนบธรรมเนียมประเพณีราชการเรียบร้อยสมควรแก่ตำแหน่งมาด้วยดี  มีอุตสาหะวิริยะประกอบพุทธศาสนกิจเป็นอัตตหิต  ปรหิตประโยชน์ไพศาลทั้งทางการศึกษาและการบริหาร เป็นผู้รอบรู้ระเบียบประเพณีพิธีราชการและพิธีสงฆ์ทั่วถึง  สามารถจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ได้เรียบร้อยและเป็นประธานอนุกรรมการมหาเถรสมาคม  พิจารณาอธิกรณ์ชั้นฎีกาในคณะสงฆ์ เป็นกำลังของมหาเถรสมาคม ช่วยให้กิจการส่วนนี้ให้ลุล่วงไปด้วยดี เป็นที่นิยมสรรเสริญปรากฏเกียรติคุณโอฬาร  จึงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสังฆสภา  และสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง กับได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนคร บัดนี้ พระธรรมปาโมกข์ เจริญด้วยพรรษายุกาลเถรธรรม ประพฤติพรหมจรรย์สมบูรณ์บริสุทธิ์ มีมรรยาทอันงดงามเป็นปสาทนียคุณ ไพบูลย์ด้วยสมณวัตร์ทุกสถานเป็นหลักเป็นประธานอยู่ในคณะธรรมยุติการรูปหนึ่ง เป็นที่นิยมสักการะบูชาคารวะของพุทธมามกชนทั่วไป สมควรยกย่องให้ดำรงสมณฐานันดรศักดิ์สูงขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาพระธรรมปาโมกข์ เป็นที่รองสมเด็จพระราชาคณะมีราชทินนามตามจารึกในหิรัญยบัฏว่า พระศาสนโศภน วิมลญาณอดุลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร อุดมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ พิพิธธรรมโกศล วิมลสุตาคม อุดมคณานุนายก ตรีปิฎกญาณวิตร ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิศิษฐ์สรเวท พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิเศษสรวุฒิ พระครูคู่สวด ๑ พระครูสังฆวุฒิกร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาพระคุณทั้งปวงผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดรเพิ่มอิสสริยยศในครั้งนี้จงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในพระอาราม  ตามสมควรแก่กำลังและอิสสริยยศที่พระราชทานนี้ และขอจงเจริญ อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภานคุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วุรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธเทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘  เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

                                                                                                              ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                                                                                                              ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช
                                                                                                                                 นายกรัฐมนตรี



หน้าที่การงาน

ท่านได้เป็นครูสอนธรรมวินัยนวกะภิกษุสามเณรมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๘ ชั้นต้นก็สอนเป็นบางเวลา แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ต่อมาก็โปรดให้เป็นผู้สอนแทนพระองค์ตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐  ซึ่งเป็นปีสิ้นพระชนม์  จึงหยุดการสอนมอบภารธุระนั้นแก่พระจินดากรมุนี ครั้งยังเป็นพระครูวิจิตรธรรมคุณ รวมเวลาที่ท่านสอนอยู่ถึง ๒๒ ปี

ท่านได้เป็นกรรมการสนามหลวงทั้งนักธรรมและบาลี  ตั้งแต่สมัยจัดตั้งการสอบไล่ในยุคต้น ๆ และเป็นกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย  ตั้งแต่เป็นพระครูปลัดฯ ตลอดถึงมรณภาพ

เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ตั้งแต่เป็นพระเทพกวี เป็นประธานอนุกรรมการมหาเถรสมาคม  ซึ่งมีหน้าที่พิจารณา วินิจฉัย อธิกรณ์ ชั้นฎีกา และกิจการบางอย่าง เสนอประธานกรรมการมหาเถรสมาคม บัญชาการคณะสงฆ์แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ตั้งแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖

เป็นกรรมการเถรสมาคม คณะธรรมยุตติกาประเภทประจำ ตั้งแต่วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นกรรมการคณะธรรมธรรมยุตติกา  ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗  เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุตติกา  ตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธในยุคที่ ๓ สืบต่อมาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ตั้งแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

อนึ่ง ในสมัยประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔  เปลี่ยนระบอบการปกครองคณะสงฆ์อนุโลมการปกครองทางบ้านเมือง ท่านก็ได้เป็นสมาชิกสังฆสภา โดยตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง และต่อมาก็ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครอีกตำแหน่งหนึ่ง และดำรงตำแหน่งทั้งสองนี้จนถึงวันมรณภาพ


อวสานกาล

๘ ตุลาคม ๒๔๘๙   พระศาสนโศภน (ภา) อาพาธด้วยไข้ทรพิษ และเป็นชนิดร้ายแรงที่เรียกว่าดาดเลือด  มีโอกาสรักษาหายได้น้อย สถิติของโรงพยาบาลมักตายภายใน ๗ วัน อย่างเร็วภายใน ๓ วัน

อาพาธคราวนี้ ท่านมีสติสัมปชัญญะดีตลอดเวลา ท่านได้ถามพระบริรักษ์กฤษฎีกาศิษย์ผู้ถูกอัธยาศัยกับท่าน ซึ่งมาพยาบาลอยู่ด้วยในที่นั้นว่า “ตายหรือยัง”  เมื่อพระบริรักษ์เรียนท่านว่า “หมอเขาว่ายังไม่ตาย”  ท่านตอบว่า “ไปละอยู่กันเป็นสุข ๆ เถิด”  ต่อนั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะค่อย ๆ สั้นและน้อยจนดับหายไปในที่สุด ในเวลา ๒๓.๒๕ นาฬิกา ของวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๙






กิมเล้ง : http://www.sookjai.com

ข้อมูลคัดลอกจาก

อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
- http://th.wikipedia.org  






.



5393  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / ฝังคนทั้งเป็นให้เป็นผีเฝ้าเมือง เมื่อ: 24 เมษายน 2555 14:29:41
การสร้างเมือง "มัณฑเลย์" ตามพิธีกรรมโบราณ
โดย...กิมเล้ง : www.sookjai.com


เมืองมัณฑะเลย์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี    เป็นอดีตเมืองหลวงที่สำคัญของประเทศพม่า  สร้างโดยพระเจ้ามินดุงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐   ชื่อเมือง “มัณฑะเลย์”  นี้ได้มาจากชื่อภูเขาซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง  ภูเขานี้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์   ตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธองค์และพระอานนท์ได้เสด็จมาประทับพักที่ภูเขานั้น   และพระพุทธองค์ได้ประทานพุทธทำนายไว้ว่า  เมื่อพระพุทธศาสนาครบ ๒,๔๐๐  ปี จักเกิดมีเมืองใหญ่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาขึ้นที่เชิงเขาแห่งนี้    พระเจ้ามินดุงจึงทรงกระทำให้พุทธทำนายเกิดเป็นความจริง  โดยทรงย้ายราชธานีจากเมืองอมรปุระ มายังเมืองมัณฑะเลย์   เมืองนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า รัตนบูชา


แต่มีการสันนิษฐานอีกนัยหนึ่งว่า หลังจากพม่าได้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงอังวะมาเป็นเมืองหลวงอมรปุระแล้ว ว่ากันสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ  พม่ารบแพ้อังกฤษครั้งแล้วครั้งเล่า  เป็นสงครามที่ยืดเยื้อและดูเหมือนว่าไม่มีวันที่พม่าจะรบชนะอังกฤษได้  พระเจ้ามินดุงตัดสินพระทัยย้ายเมืองหลวงจากเมืองอมรปุระมาสู่เมืองมัณฑะเลย์ เพื่อเป็นการถือฤกษ์เอาชัยแก้เคล็ดว่าจะสามารถรบชนะกองทัพอังกฤษได้  แต่ในสุดท้ายราชวงศ์ของพม่าก็ถึงกาลอวสาน ตกเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร และสิ้นสุดการปกครองตามระบอบราชาธิปไตยของพม่า




พระเจ้ามินดง แห่งราชวงศ์อลองพญาหรือคองบอง(๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๕๑ - ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๑)

ภาพจาก http://th.wikipedia.org


ฝังคนทั้งเป็นให้เป็นผีเฝ้าเมือง

หลังจากเจ้าชายมินดุงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ามินดุง (พ.ศ. ๒๓๙๖ – ๒๔๒๑) แห่งราชวงศ์อลองพญา (Alaungpaya Dynasty) หรือราชวงศ์คองบอง (Konbaung Dynasty)  หลังแย่งชิงบัลลังก์จากพระเจ้าพุกามแมงผู้เป็นพระเชษฐาสำเร็จแล้ว ได้ทรงสร้างเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองอมรปุระ ขึ้นเป็นราชธานีเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๐๐  ตามประวัติเมื่อแรกสร้างเมืองมัณฑเลย์นั้น  ต้องเอาคนเป็น ๆ มาฝังถึง ๕๒ คน   โดยฝังตามประตูเมืองประตูละ ๓ คน ๑๒ ประตูก็เป็น ๓๖ คน  ตามมุมเมืองอีกมุมละคน  ประตูพระราชวังและมุมกำแพงพระราชวังก็ต้องฝังคนอีก  และเฉพาะใต้พระที่นั่งสิงหาสน์อันเป็นพระที่นั่งในท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนางนั้นต้องฝังถึง ๔ คน   เมื่อพระสงฆ์พม่าได้ทราบข่าวว่าโหรพราหมณ์กราบบังคมทูลพระเจ้ามินดุงให้เอาคนเป็น ๆ มาฝังตามวิธีไสยศาสตร์ จึงได้เข้าไปถวายพระพรขอบิณฑบาตชีวิตมนุษย์เหล่านั้นไว้ แต่พระเจ้า
มินดุงไม่อาจขัดโหรพราหมณ์ได้    

คนที่ถูกฝังทั้งเป็นเพื่อให้เป็นผีคอยรักษาเมืองและพระราชวังนั้นต้องเลือกคนให้ได้ลักษณะตามที่โหรพราหมณ์กำหนด  ไม่ใช่คนโทษที่ต้องโทษประการ  แต่เป็นคนที่อยู่ในวัย
ต่าง  ๆ กัน ตั้งแต่ผู้มีอายุไปจนถึงเด็ก ๆ มีทั้งผู้ชายผู้หญิง  ทุกคนต้องมีฐานะดีเป็นที่ยกย่องในกลุ่มชน  ต้องเป็นคนที่เกิดตามวันที่โหรกำหนด  ถ้าเป็นเด็กผู้ชายต้องเป็นเด็กที่ยังไม่มีรอยสักตามตัว  ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องยังไม่เจาะหู
ทหารมีหน้าที่จับคนเหล่านี้มาให้ได้จนครบ

พอมีข่าวออกไปว่าจะเอาคนมาฝังทั้งเป็น ผู้คนก็หลบไปจากเมืองมัณฑเลย์เกือบหมด  ทางราชการสั่งให้มีละครให้คนดูทั้งกลางวันกลางคืนหลายวัน แต่ไม่มีใครมาดู ในที่สุดทหารต้องเที่ยวซอกซอนค้นเอาตัวมาได้จนครบ เมื่อได้ฤกษ์ก็เลี้ยงดูคนเหล่านั้นแล้วสั่งเสียให้คอยเฝ้าเมืองและรักษาพระราชวังแล้วก็เอาลงหลุม  เอาเสาประตูใส่หลุมตามลงไป  ลูกเมียญาติพี่น้องซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลก็คงจะรับไปอย่างไม่สบายใจนัก


อนึ่ง กรุงมัณฑเลสร้างหลังกรุงรัตนโกสินทร์หลายสิบปี แต่เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ นั้น ประเพณีฝังคนได้ยกเลิกไปแล้ว



พิธีสร้างพระนครสมัยกรุงศรีอยุธยา

มีเรื่องสืบกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  โบราณถือว่าพิธีสร้างพระนครหรือสร้างบ้าน สร้างเมือง ต้องฝังอาถรรพ์ 4 ประตูเมือง ต้องฝังเสาหลักเมือง   ซึ่งการฝังเสาหลักเมืองและเสามหาปราสาทต้องเอาคนที่มีชีวิตทั้งเป็น ลงฝังในหลุม  เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าทวารมหาปราสาทบ้านเมือง ป้องกันอริราชศัตรูมิให้มีโรคภัย ไข้เจ็บเกิดแก่เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ผู้ครองนครบ้านเมือง ในการทำพิธีกรรมดังกล่าว ต้องเอาคนที่ชื่อ อิน จัน มั่น คง มาฝังลงหลุมจึงจะศักดิ์สิทธิ์

และขณะที่นายนครวัฒเที่ยว เรียกชื่อ อิน จัน มั่ง คง ไปนั้น  ใครโชคร้ายขานรับขึ้นมาก็จะถูกนำตัวไปฝังในหลุม หลุมเสาหลักเมืองนั้น จะผูกเสาคานใหญ่ชักขึ้นเหนือหลุมนั้นในระดับสูงพอสมควร  โยงไว้ด้วยเส้นเชือกสองเส้นหัวท้ายให้เสาหรือซุงนั้นแขวนอยู่ตามทางนอนเหมือนอย่างลูกหีบ   ครั้นถึงวันกำหนดที่จะกระทำการอันทารุณนี้ ก็เลี้ยงดูผู้เคราะห์ร้ายให้อิ่มหนำสำราญ  แล้วแห่แหนนำไปที่หลุมนั้น  พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้บุคคลทั้งสามนั้นเฝ้าประตูเมืองไว้ด้วย  และให้เร่งแจ้งข่าวให้รู้กันทั่ว เมื่อคนมาชุมนุมกันเขาก็ตัดเชือกปล่อยให้เสาหรือซุงหล่นลงมาบนศีรษะผู้เคราะห์ร้ายผู้ตกเป็นเหยื่อของการถือโชคถือลางนั้นบี้แบนอยู่ในหลุม

คนไทยเชื่อว่าผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้จะกลายสภาพเป็นอารักษ์จำพวกที่เรียกว่า ผีราษฏร คนสามัญบางคนก็กระทำการฆาตกรรมแก่ทาสของตนในทำนองเดียวกันนี้เพื่อใช้ให้เป็นผีเฝ้าขุมทรัพย์ที่ตนฝังซ่อนไว้





     
พระราชวังมัณฑะเลย์  ภาพจาก : www.tripdeedee.com

พระราชวังมัณฑะเลย์ พระราชวังที่ส่วนใหญ่ก่อสร้างด้วยไม้สักที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๘๘ เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโดยกองทัพอังกฤษ ได้ทิ้งระเบิดจำนวนมากมายถล่มพระราชวังมัณฑะเลย์ของพม่า ด้วยเหตุผลว่าพระราชวังนี้เป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของกองทัพญี่ปุ่น พระราชวังมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นพระราชวังไม้สักก็ถูกไฟไหม้ เผาราบเป็นหน้ากลอง หลงเหลือก็แต่ป้อมปราการและคูน้ำรอบพระราชวัง ที่ยังเป็นของดั่งเดิมอยู่

ปัจจุปัน พระราชวังที่เห็นอยู่เป็นพระราชวังที่รัฐบาลพม่าได้จำลองรูปแบบของพระราชวังของเก่าขึ้นมา แต่ที่เหมือนวังเก่าก็แค่เพียงโครงสร้างกับชื่อเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วยังไม่เห็นความสวยงามอย่างที่เล่าลือกันว่าเป็นวังที่สวยที่สุดหลังหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย







ข้อมูล  
-พม่าเสียเมือง  : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๐๐๐, กรุงเทพ, ๒๕๕๒
-www. palungjit.com
-www.tripdeedee.com
http://th.wikipedia.org






.
5394  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / กิมเล้งพาเข้าครัว - น้ำพริกอ่อง เมื่อ: 22 เมษายน 2555 16:07:16
กิมเล้งพาเข้าครัว - น้ำพริกอ่อง


เครื่องปรุง
- เนื้อหมูสับ 2 ขีด
- มะเขือเทศสีดา (มะเขือเทศลูกเล็กหรือมะเขือเปรี้ยว) 10 - 15 ผล
- น้ำปลา  
- น้ำตาลปีบ
- น้ำมันหมู หรือน้ำมันพืช
- ต้นหอมหั่นฝอย

เครื่องปรุงน้ำพริก
- พริกแห้งเม็ดใหญ่แกะเมล็ด 10 - 12  เม็ด
- กระเทียม 1 หัว
- หัวหอม  2 หัว
- รากผักชี 1 ราก
- กะปิ 1/2 ช้อนชา

วิธีทำ
1. พริกแห้งแกะเมล็ดออก แช่น้ำไว้สักครู่บีบให้แห้งเอาลงโขลกกับกระเทียม หัวหอม รากผักชี พอละเอียดใส่กะปิ
2. มะเขือเทศต้มลอกเปลือกออก นำลงโขลกรวมกับน้ำพริกตามข้อ 1  โขลกพอข้ากัน
3. ตักใส่ชาม ใส่หมูสับ น้ำปลา น้ำตาลปีบ ลงผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
3. กระทะตั้งไฟใส่น้ำมันเล็กน้อย  นำหอมแดงซอยลงเจียวพอเหลือง
4. ใส่เครื่องที่โขลกตามข้อ 2  ผัดจนแห้ง  ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปีบ ใส่ต้นหอมซอย  








(ในชาม) น้ำพริกที่โขลกรวมกับมะเขือเทศ  


ผสมหมูสับ ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลปีบ


ใส่น้ำมันในกระทะเล็กน้อย  นำหอมแดงลงเจียวให้เหลือง


นำเครื่องที่ผสมแล้วลงผัดจนเกือบแห้ง








ชุดนี้เข้มข้น
เพิ่มพริก เติมความเผ็ด














5395  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: เหตุอาถรรพ์การยกเสาหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ: 21 เมษายน 2555 10:25:49




วันนี้ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๕

วันครบ ๒๓๐ ปี พิธีลงเสาหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์





 
ลัลลา   







.
5396  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / อาถรรพ์การยกเสาหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ: 21 เมษายน 2555 08:22:54
เสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร : ภาพจาก myblog.idea2mobile.com




อาถรรพ์การยกเสาหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์
  โดย กิมเล้ง  : www.sookjai.com




“หลักเมือง”  ในไทย สร้างขึ้นตามธรรมเนียมประเพณีของพราหมณ์  ปรากฎมีมาแต่อินเดีย  ว่าก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น

ปีพุทธศักราช ๒๓๒๕    เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือเจ้าพระยาจักรี (ด้วง หรือทองด้วง)  ได้ทำการปราบปรามการจลาจลในกรุงธนบุรีจนบ้านเมืองสงบ  จึงปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕  เป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  ขณะพระชนมายุ ๔๗ พรรษา    พระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นอาณาจักรของคนไทยในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๓๒๕ (ระยะเวลา ๑๕ ปี)    ไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

การย้ายเมืองหลวงครั้งนั้น  ได้สร้างเสาหลักเมืองตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ พร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี  โดยตั้งพิธียกเสาหลักเมือง  เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕  เวลา ๐๖.๕๔ นาฬิกา   เสาหลักเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์  สูงประมาณ ๑๐๘ นิ้ว  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๙.๕๐ นิ้ว  ฐานเป็นแท่นกว้าง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖๙.๕๐ นิ้ว  ปลายเสาเป็นหัวเม็ด  ทรงมัณฑ์  บรรจุดวงชะตากรุงรัตนโกสินทร์  

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี  พระน้องนางเธอต่างพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ประสูติแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ได้บันทึกประสบการณ์อาถรรพ์ในการพระราชพิธียกเสาหลักเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำของพระองค์ ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพร้อมด้วยสมณะชีพราหมณ์จำนวนมากร่วมชุมนุมวางฤกษ์ดวงเมืองและฝังเสาหลักเมืองนั้น   ในขณะที่พราหมณ์ปุโรหิต และสมณะชีพราหมณ์นั่งล้อมกันทั้งปะรำบริเวณที่จะฝังเสาหลักเมืองและขุดหลุมเอาผ้าปูก้นหลุมพร้อมด้วยสรรพเวทย์มหายันต์รองไว้ ปรากฏว่างูเล็ก ๔ ตัวลงไปนอนอยู่  และต้องฝังทั้งเป็นลงไป ทั้งพระองค์และผู้รู้ในสมัยนั้นเกิดความเป็นห่วงกังวลว่า อะไรจะเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองต่อไปอีก หลังจากที่สงครามเก้าทัพของพม่าที่มาประชิดบ้านเมืองอยู่ ไม่ได้ถือว่าการลงไปนอนตายในหลุมหลักเมืองของงูทั้งสี่ตัวนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย  แต่ถือว่ามันเป็นอาถรรพณ์ที่บอกกล่าวว่าจะต้องมีเหตุการณ์ร้ายแก่บ้านเมือง

หลังจากเรียกประชุมชีบานาสงฆ์และผู้รู้ขบคิดกัน  ก็ไม่มีใครสามารถจะบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่กี่วันก็เกิดฟ้าผ่าลงที่ยอดปราสาทพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยขึ้นมา  ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทำนายออกมาได้ว่าบ้านเมืองในระยะนั้นจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นร้ายแรง  ทรงรับสั่งว่า "จะถาวรลำดับกษัตริย์ไปอีก ๑๕๐ ปี”  



ภายหลังพระราชพิธียกเสาหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕๐ ปี    ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัดสินพระราชหฤทัยครั้งสำคัญ  เมื่อครั้งเกิดเหตุปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงยินยอมที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๗๕  





จึงถือเป็นเหตุการณ์ที่เป็นไปตามคำทำนายของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอย่างไม่น่าเชื่อ  









.
5397  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / "กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี" มีที่มาอย่างไร? เมื่อ: 20 เมษายน 2555 19:02:07





กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี



กรุงศรีอยุธยา เสียกรุงแก่พม่าข้าศึกครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๒    สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้

หลังจากนั้น ๑๙๘ ปี

เสียกรุงแก่พม่าข้าศึกอีกเป็นครั้งที่ ๒    ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ หรือพระที่นั่งสุริยามรินทร์  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้


จึงมีภาษิตไทยกล่าวว่า  “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี”   สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้


 
ยิ้ม  ยิ้ม  ยิ้ม  ยิ้ม  ยิ้ม




.
5398  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: รู้จักเนยแข็งหรือชีสก่อน www.sookjai.com พาเข้าครัวทำชีสเค้กแสนอร่อย เมื่อ: 20 เมษายน 2555 05:37:58




- ขอบใจมากนาย mck. ที่ท้วงติง... แก้ไขแล้ว  เอ็งปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลในฐานะเจ้าของเว็ปฯ ได้ยอดเยี่ยมมาก 



โอกาสหน้าต้องมาคุยกันเรื่องค่าตัว...ประชาสัมพันธ์เว็ปฯ เอ็งไว้มากมายยังไม่ได้คุยเรื่องค่าตัว
ไม่งั้น ข้าฯ ย้ายสังกัด..... ลังเล  ลังเล  ลังเล (จะไปดีไหมวุ๊ย ?)


 
หัวเราะลั่น   หัวเราะลั่น  หัวเราะลั่น  หัวเราะลั่น  หัวเราะลั่น




.
5399  สุขใจในธรรม / ธรรมะจาก หลวงปู่มั่น / Re: มุตโตทัย โอวาทธรรมของพระอาจารย์มั่น 1- 5 เมื่อ: 19 เมษายน 2555 20:04:13




สุดยอดค่ะ  เคยอ่านหนังสือมุตโตทัยของหลวงปู่มาก่อน นานมากแล้วและได้ถวายหนังสือให้วัดไปแล้ว หนังสือเล่มเล็ก ๆ พกติดตัวได้  อยากอ่านอีกครั้ง ทุกวันนี้ยังหาซื้อไม่ได้




.
5400  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / รู้จักเนยแข็งหรือชีสก่อน www.sookjai.com พาเข้าครัวทำชีสเค้กแสนอร่อย เมื่อ: 19 เมษายน 2555 19:57:45

 



เนยแข็ง หรือชีส (cheese)
ปกิณกะโดย..กิมเล้ง







เนยแข็ง หรือชีส cheese   นั้นเกิดด้วยความบังเอิญจากการเดินทางของชายอาหรับเผ่าเร่ร่อนเบดูอินคนหนึ่งที่เดินทางรอนแรมไปในทะเลทราย    ชายผู้นั้นได้นำกระเพาะอาหารของแพะมาใช้เป็นภาชนะบรรจุน้ำนม เพื่อเป็นเสบียงอาหารระหว่างการเดินทาง  โดยบรรทุกไว้บนหลังอูฐ    ขณะที่เดินทางนั้นกระเพาะอาหารของแพะได้รับความร้อนจากอากาศในทะเลทราย  และบวกกับการถูกเขย่าตลอดระยะทาง  ส่งผลให้เอนไซม์เรนนินในกระเพาะสัตว์แยกน้ำและไขมันในนมออกจากกัน  เมื่อชายผู้นี้เกิดความกระหายหมายจะดื่มน้ำนมก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบกับก้อนนมแทนที่จะเป็นน้ำนม    ชายผู้นี้จึงนำก้อนนมที่ได้มารับประทานเป็นอาหารแทน  และกลายเป็นที่มาของการผลิตเนยและเนยแข็งในปัจจุบัน

หลายคนมีความเข้าใจผิดว่าเนยแข็งและเนยเหลวเป็นอาหารประเภทไขมันเช่นเดียวกัน   อันที่จริงแล้วเนยแข็งหรือชีส (cheese) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโปรตีนในน้ำนมวัว   ในขณะที่เนยเหลวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไขมันในน้ำนมวัว      ดังนั้น  เนยแข็งจึงจัดเป็นอาหารจำพวกโปรตีนเหมือนเนื้อสัตว์   และมีคุณค่าทางโภชนาการไม่แพ้น้ำนมวัว   เนยแข็งให้สารอาหารจำพวก แคลเซียม โปรตีน ฟอสฟอรัส วิตามินบี 12

เนยแข็ง หรือ ชีส (cheese)  คือ ผลิตภัณฑ์จากนม  ซึ่งสามารถผลิตได้จากนมวัว  แพะ แกะ ควาย  หรืออูฐ  นำไปผ่านกระบวนการคัดแยกให้โปรตีนในนมแยกตัวออกมา   หรือที่เรียกกันว่าเคิร์ด (curds)     แล้วนำโปรตีนนั้นมาผสมเชื้อราหรือแบคทีเรีย    ผ่านกระบวนการบ่มหมักเป็นชีสประเภทต่าง ๆ     ซึ่งแตกต่างจากเนยที่ทำจากไขมันของนม   อย่างไรก็ตาม ปริมาณไขมันในชีสแต่ละประเภทจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของนมที่ใช้ทำ เช่น นมสดหรือนมพร่องมันเนย  


ประเภทของชีสที่ใช้ทำขนมหรือชีสเค้ก

ชีสที่ใช้ทำชีสเค้กส่วนใหญ่เป็น “ชีสแบบสด หรือ Fresh cheese”     คือเนยแข็งที่ไม่ต้องผ่านความร้อนและไม่ต้องบ่มหมัก  ทำให้รสชาติของชีสสำหรับทำขนมหรือชีสเค้ก  กลิ่นไม่แรง  ออกรสเปรี้ยวอ่อน ๆ  เนื้อนิ่มเป็นครีมและมีความชื้นสูง เช่น  Cream Cheese,  Feta, Mozzarella,  Ricotta,  Cottage Cheese,  Mascarpone

การทำ Cream Cheese  :  ครีมชีสทำจากครีมผสมกับนมวัวและใส่แบคทีเรียแต่งรสเปรี้ยวนิด ๆ  แล้วนำไปผ่านกระบวนการไล่น้ำออกและพาสเจอร์ไรซ์*ทันที   ครีมชีสจึงมีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมและมีรสมันเพราะมีไขมันสูงถึง 60 – 70 %    

ชีสเค้กจัดเป็นของหวานที่ทันสมัยมากในปัจจุบัน   แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าชีสเค้กเป็นหนึ่งในของหวานที่ใช้เสิร์ฟนักกีฬาในการแข่งขันกีฬาสมัยโบราณมาตั้งแต่ 776 ปีก่อนคริสตศักราช  ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกที่เกาะ Delos ในประเทศกรีก   หลังจากโรมันรบชนะกรีกชีสเค้กก็เป็นที่แพร่หลายทั่วไปในโรมัน  โดยเรียกของหวานชนิดนี้ว่า “placenta”  หรือ “libum”   ปรากฏหลักฐานในบันทึกของ Marcus Porcius Cato นักเขียนสมัยโรมันผู้อบขนมลักษณะคล้ายชีสเค้กปัจจุบันนี้ ถวายพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ในสหรัฐอเมริกา ชีสเค้กจัดเป็นขนมยอดนิยมที่รับประทานกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชนชาวอเมริกันในปัจจุบัน    ร้านเบเกอรี่หรือร้านอาหารแทบทุกร้านต้องมีขนมชนิดนี้วางจำหน่าย   โดยต่างร้านต่างมีสูตรลับเฉพาะของตัวเอง  แต่ส่วนผสมหลัก ๆ ที่ใช้ในประกอบการทำก็เหมือน ๆ กัน คือครีมชีส  น้ำตาล  ไข่ไก่  และวิปปิ้งครีม   เพียงแต่เพิ่มแต่งรสชาติผลไม้หรือช็อกโกแลตที่เราต้องการลงในเนื้อชีสเค้กก่อนนำไปอบ  หรือบางทีอบเสร็จแล้วจึงราดหน้าเค้กด้วยผลไม้ เช่น  บลูเบอร์รี่   สตรอว์เบอร์รี่กวน  ส้ม  สับปะรด  หรือมูสรสต่าง ๆ   ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์ในทางการตลาดของแต่ละร้านนั่นเอง   เพราะรสชาติชีสเค้กไม่จำเป็นต้องเพิ่มเสริมแต่งก็เป็นที่ถูกปากของผู้ที่รับประทานอยูแล้ว

ชีสเค้ก จึงจัดเป็นอีกเมนูหนึ่งที่น่าสนใจหากใครจะเริ่มทำเบเกอรี่   ด้วยส่วนผสมและวิธีการทำไม่ยุ่งยากเหมือนการทำเค้กต่าง ๆ    รสชาติที่ได้มีความนุ่มนวล  หวาน  มัน  




* พาสเจอร์ไรซ์   คือกระบวนการทำลายเชื้อแบคทีเรียบางชนิด  โดยผู้คิดค้นวิธีการนี้สำเร็จคือ หลุยส์ ปาสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส   ปัจจุบันการพาสเจอร์ไรเซซัน pasteurization  ใช้เวลาและอุณหภูมิแตกต่างกัน  เช่น อุณหภูมิ 62.8 องศาเซลเซียส  เป็นเวลา 30 นาที   หรือ 77 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 วินาที  การใช้อุณหภูมิ และเวลานี้ยังไม่สามารถทำลายแบคทีเรียที่ทนร้อนอีกหลายชนิด  จึงต้องเก็บผลิตภัณฑ์พาสเจอร์ไรซ์ไว้ที่อุณหภูมิต่ำ  เพื่อป้องกันการเจริญของเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น สำหรับนมที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อนี้จะมีคุณค่าสารอาหารเกือบเท่ากับน้ำนมก่อนผ่านการฆ่าเชื้อ  ตลอดจนรสชาติของนมจะมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำนมตามธรรมชาติมากกว่าวิธีอื่น








 
สู้    โปรดติดตามวิธีการทำนะคะ...กิมเล้งยังไม่เคยทานเบเกอรี่ชนิดใดอร่อยเท่าชีสเค้กมาก่อน...วันนี้ขอตัว  หลับ  หลับ  หลับ   ...






.



หน้า:  1 ... 268 269 [270] 271 272 273
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 2.99 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 24 มีนาคม 2567 22:54:36