[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 04:10:16 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 2 3 [4] 5 6 ... 273
61  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่ : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 05 เมษายน 2567 15:40:05


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่

เมื่อฉันเป็นนายพล ผู้ช่วยบัญชาการทหารบกอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๐ จนถึง พ.ศ.๒๔๓๒ ได้เคยมีหน้าที่ทำการปราบพวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงสมัยเมื่อฉันเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ จน พ.ศ.๒๔๕๘ มีหน้าที่ต้องคอยระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองอยู่เสมอ บางทีก็ต้องปราบปรามบ้าง แต่ไม่มีเหตุใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งฉันอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ถึงกระนั้นก็ได้ความรู้ในเรื่องอั้งยี่มากขึ้น ครั้นเมื่อฉันออกจากกระทรวงมหาดไทยมาจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีกิจตรวจค้นโบราณคดี พบเรื่องอั้งยี่ที่มีมาในเมืองไทยแต่ก่อนๆ ในหนังสือพงศาวดารและจดหมายเหตุเก่าหลายแห่ง เลยอยากรู้เรื่องตำนานของพวกอั้งยี่ จึงได้ไถ่ถามผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าอั้งยี่ที่คุ้นเคยกัน คือพระอนุวัติราชนิยม ซึ่งมักเรียกกันว่า “ยี่กอฮง” นั้นเป็นต้น เขาเล่าให้ฟังได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก จึงได้ลองเขียนบันทึกเรื่องอั้งยี่ไว้บ้างหลายปีมาแล้ว ครั้นออกมาอยู่เมืองปีนัง ฉันมาได้เห็นตำนานต้นเรื่องอั้งยี่ที่แรกเกิดขึ้นในเมืองจีน มิสเตอร์ ปิคเกอริง Mr. W.A. Pickering แปลจากภาษาจีนในตำราของพวกอั้งยี่ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไว้ในหนังสือวารสารของสมาคมรอแยลเอเชียติค Journal of the Royal Asiatic Society เมื่อ ค.ศ.๑๘๗๘ (พ.ศ ๒๔๒๑) เขาเล่าถึงเรื่องที่พวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษในแหลมมลายูด้วย เป็นอันได้เรื่องเบื้องต้นต่อกับเรื่องอั้งยี่ที่ฉันเคยรู้มาแต่ก่อนอีกตอนหนึ่ง จึงลองรวมเนื้อความเรื่องอั้งยี่เขียนนิทานเรื่องนี้


(๒)
เหตุที่เกิดพวกอั้งยี่ในเมืองจีน

เมื่อพวกเม่งจูได้เมืองจีนไว้ในอำนาจ ตั้งราชวงศ์ไต้เชงครองเมืองจีนแล้ว ถึง พ.ศ.๒๒๐๗ พระเจ้าคังฮีได้เสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลนั้นมีพวกฮวนเฮงโน้วอยู่ทางทิศตะวันตกยกกองทัพมาตีเมืองจีน เจ้าเมืองกรมการที่รักษาหัวเมืองชายแดนจีนต่อสู้ข้าศึกไม่ไหว พระเจ้ากรุงจีนคังฮีจะแต่งกองทัพออกไปจากกรุงปักกิ่ง หาตัวแม่ทัพไม่ได้ จึงให้ออกประกาศว่าถ้าใครอาสาปราบปรามพวกฮวนได้จะประทานทองเป็นบำเหน็จ ๑๐,๐๐๐ ตำลึง และจะให้ปกครองผู้คน ๑๐,๐๐๐ ครัวเป็นบริวาร ครั้งนั้นที่วัดแห่งหนึ่งอยู่บนภูเขากุ้ยเล้ง แขวงเมืองเกี้ยนเล้งในแดนจีนฮกเกี้ยน มีหลวงจีนอยู่ด้วยกัน ๑๒๘ องค์ ได้ร่ำเรียนรู้วิชาอาคมมาก พากันเข้าอาสารบพวกฮวน พระเจ้ากรุงจีนทรงยินดี แต่วิตกว่าหลวงจีนมีแต่ ๑๒๘ องค์ด้วยกัน พวกข้าศึกมีมากนัก จึงตรัสสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อเต็งกุนตัดคุมกองทัพไปด้วยกันกับพวกหลวงจีน ไปรบข้าศึกที่ด่านท่งก๊วน พวกหลวงจีนกับพวกกองทัพกรุงปักกิ่งมีชัยชนะฆ่าฟันพวกฮวนล้มตายแตกหนีไปหมด พระเจ้ากรุงจีนจะประทานบำเหน็จรางวัลตามประกาศ พวกหลวงจีนไม่รับยศศักดิ์และบริวาร ขอกลับไปจำศีลภาวนาอยู่อย่างเดิม รับแต่ทอง ๑๐,๐๐๐ ตำลึงไปบำรุงวัด พระเจ้ากรุงจีนก็ต้องตามใจ แต่ส่วนเต็งกุนตัดขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปช่วยพวกหลวงจีนรบนั้น ได้รับบำเหน็จเป็นตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ณ เมืองโอ๊วก๊วง

เต็งกุนตัดกับหลวงจีน ๑๒๘ องค์ เคยชอบพอกันสนิทสนมมาตั้งแต่ไปรบพวกฮวน เมื่อจะออกจากเมืองปักกิ่งแยกกันไป เต็งกุนตัดจึงเชิญหลวงจีนทั้งหมดไปกินเลี้ยงด้วยกันวันหนึ่ง แล้วเลยกระทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกันต่อไปในวันหน้า ก็ในเวลานั้นมีขุนนางกังฉิน ๒ คน เคยเป็นอริกับเต็งกุนตัดมาแต่ก่อน ทูลพระเจ้ากรุงจีนว่าเมื่อเต็งกุนตัดจะออกไปจากกรุงปักกิ่ง ได้ลอบกระทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกับพวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ ดูผิดสังเกต สงสัยว่าเต็งกุนตัดจะคิดมักใหญ่ใฝ่สูง จึงได้สาบานเป็นพี่น้องไว้กับพวกหลวงจีนที่มีฤทธิ์เดช โดยหมายจะเอาไว้เป็นกำลัง เวลาเต็งกุนตัดออกไปเป็นแม่ทัพบังคับบัญชารี้พลมาก ถ้าได้ช่องก็จะสมคบกับพวกหลวงจีนพากันยกกองทัพเข้ามาชิงราชสมบัติ น่ากลัวคนในเมืองหลวงจะไม่กล้าต่อสู้ เพราะกลัวฤทธิ์เดชของพวกหลวงจีน พวกขุนนางกังฉินคอยหาเหตุทูลยุยงมาอย่างนั้น จนพระเจ้ากรุงจีนคังฮีเห็นจริงด้วย จึงปรึกษากันคิดกลอุบายตั้งขุนนางกังฉิน ๒ คนนั้นเป็นข้าหลวง คนหนึ่งให้ไปยังเมืองโอ๊วก๊วง ทำเป็นทีว่าคุมของบำเหน็จไปพระราชทานเต็งกุนตัด อีกคนหนึ่งให้ไปยังวัดบนภูเขากุ้ยเล้ง ทำเป็นทีว่าคุมเครื่องราชพลี มีสุราบานและเสบียงอาหารเป็นต้นไปพระราชทานแก่พวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ เมื่อข้าหลวงไปถึงเมืองโอ๊วก๊วง เต็งกุนตัดออกไปรับข้าหลวงถึงนอกเมืองหลวงตามประเพณี ข้าหลวงก็อ่านท้องตราว่าเต็งกุนตัดคิดกบฏต้องโทษถึงประหารชีวิต แล้วจับตัวเต็งกุนตัดฆ่าเสีย ฝ่ายข้าหลวงที่ไปยังภูเขากุ้ยเล้ง พวกหลวงจีนก็ต้อนรับโดยดีมีการเลี้ยงรับที่วัด ข้าหลวงเอายาพิษเจือสุราของประทานไปตั้งเลี้ยง แต่หลวงจีนเจ้าวัดได้กลิ่นผิดสุราสามัญ เอากระบี่กายสิทธิ์สำหรับวัดมาจุ้มลงชันสูตร เกิดเปลวไฟพลุ่งขึ้นรู้ว่าเป็นสุราเจือยาพิษ ก็เอากระบี่ฟันข้าหลวงตาย แต่ขณะนั้นพวกของข้าหลวงที่ล้อมอยู่ข้างนอกพากันจุดไฟเผาวัดจนไหม้โทรมหมด พวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ตายไปในไฟบ้าง ถูกพวกข้าหลวงฆ่าตายบ้าง หนีรอดไปได้แต่ ๕ องค์ ชื่อฉอองค์หนึ่ง บุงองค์หนึ่ง มะองค์หนึ่ง โอองค์หนึ่ง ลิองค์หนึ่ง พากันไปซ่อนตัวอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในแขวงเมืองโอ๊วก๊วงที่เต็งกุนตัดเคยเป็นแม่ทัพอยู่แต่ก่อน

อยู่มาวันหนึ่งหลวงจีน ๕ องค์นั้นลงไปที่ริมลำธาร แลเห็นกระถางธูปรูปสามขามีหูสองข้างใบหนึ่ง ลอยมาในน้ำกำลังมีควันธูปขึ้นไปในอากาศ นึกหลากใจจึงลงไปยกขึ้นมาบนบก พิจารณาดู เห็นมีตัวอักษรอยู่ที่ก้นกระถางธูปนั้น ๔ ตัวว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่ากำจัดเชงเสียกลับยกเหม็งขึ้น นึกสงสัยว่าเทวดาฟ้าและดินจะสั่งให้ทำอย่างนั้นหรืออย่างไร ลองเสี่ยงทายดูหลายครั้งก็ปรากฏว่าให้ทำเช่นนั้นทุกครั้ง หลวงจีนทั้ง ๕ ประจักษ์แจ้งแก่ใจดังนั้น จึงเอาหญ้าปักต่างธูปที่ในกระถางจุดบูชา แล้วกระทำสัตย์กันตามแบบที่เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สัญญากันแต่ก่อน ว่าจะช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดิน และจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชง เอาบ้านเมืองคืนให้แก่ราชวงศ์ไต้เหม็งตามเดิม เมื่อปฏิญาณกันแล้ว เห็นสมุดตำราพยากรณ์มีอยู่ในก้นกระถางธูปด้วยก็พากันยินดียิ่งนัก แต่ในขณะนั้นเอง พวกข้าหลวงที่เที่ยวติดตามก็ไปถึง จะเข้าล้อมจับพวกหลวงจีนจึงอุ้มกระถางธูปวิ่งหนีไป เผอิญในวันนั้นนางกู้ส่วยเอง เมียเต็งกุดตัดที่ถูกฆ่าตายพาลูกและญาติพี่น้องออกไปเซ่น ณ ที่ฝังศพเต็งกุนตัด ในเวลากำลังเซ่นอยู่ได้ยินเหมือนเสียงคน แลไปดูเห็นกระบี่เล่มหนึ่งโผล่ขึ้นมาจากแผ่นดิน เอามาพิจารณาดูเห็นมีตัวอักษรจารึกที่กั่นกระบี่ว่า น่อ เล้ง โต๊ว แปลว่ามังกรสองตัวชิงดวงมุกดากัน และที่ตัวกระบี่ก็มีอักษรจารึกว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่าให้กำจัดราชวงศ์ไต้เชง คืนแผ่นดินให้ราชวงศ์ไต้เหม็ง ในเวลาที่กำลังพิจารณาตัวอักษรอยู่นั้น ได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วย นางกู้ส่วยเองก็ถือกระบี่ที่ได้ใหม่พาพวกพ้องออกไปดู เห็นพวกข้าหลวงกำลังไล่หลวงจีนทั้ง ๕ องค์มา พวกนางกู้ส่วยเองเข้าป้องกันหลวงจีน เอากระบี่ฟันถูกข้าหลวงตาย พรรคพวกก็หนีไปหมด นางกู้ส่วยเองกับหลวงจีนต่างไถ่ถามและเล่าเรื่องฝ่ายของตนให้กันฟัง ก็รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันมาแต่เดิมและได้ถูกเนรคุณอย่างเดียวกัน นางจึงให้พวกหลวงจีนอาศัยอยู่ที่บ้าน จนเห็นการสืบจับสงบเงียบแล้วจึงให้หลวงจีนทั้ง ๕ กลับไปอยู่วัดตามเดิม หลวงจีนทั้ง ๕ นี้ได้นามว่า โหงว โจ๊ว แปลว่าบุรุษทั้ง ๕ ของอั้งยี่ต่อมา

ถึงตอนนี้หลวงจีนทั้ง ๕ แน่ใจว่าเทวดาฟ้าดิน ให้คิดอ่านกู้บ้านเมืองด้วยกำจัดราชวงศ์ไต้เชง ก็ตั้งหน้าเกลี้ยกล่อมผู้คนให้ร่วมคิด ได้พรรคพวกมากขึ้น แต่กิตติศัพท์รู้ไปถึงเจ้าเมืองกรมการก็ให้ออกไปจับ หลวงจีนทั้ง ๕ จึงต้องหนีจากเมืองโอ๊วก๊วงต่อไป ไปพบนายโจรพวกทหารเสือ ๕ คน เมื่อพูดจาสนทนากัน พวกนายโจรเลื่อมใส รับจะพาโจรบริวารของตนมาเข้าพวกด้วย แล้วพาหลวงจีนไปสำนักอยู่ที่ภูเขาเหล็งโฮ้ว แปลว่ามังกรเสือ ในเวลานั้นมีหลวงจีนอีกองค์หนึ่งชื่อตั้งกิ๋มน้ำ เคยเรียนรู้หนังสือมากจนได้เป็นขุนนางทำราชการอยู่ในกรุงปักกิ่ง อยู่มาสังเกตว่าราชวงศ์ไต้เชงปกครองบ้านเมืองไม่เป็นยุติธรรม เกิดท้อใจจึงลาออกจากราชการไปบวชเป็นหลวงจีน จำศีลศึกษาวิชาอาคมของลัทธิศาสนาเต๋า อยู่ ณ ถ้ำแป๊ะเฮาะตั่ง แปลว่านกกระสาเผือก จนมีผู้คนนับถือมาก วันหนึ่งลูกศิษย์ ๔ คนไปบอกข่าวว่าหลวงจีน ๕ องค์ได้ของวิเศษ คิดอ่านจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชงกู้บ้านเมือง หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำก็ยินดีพาศิษย์ ๔ คนตามไปยังที่สำนักของหลวงจีน ๕ องค์ ณ ภูเขามังกรเสือ ขอสมัครเข้าเป็นพวกร่วมคิดช่วยกู้บ้านเมืองด้วย ในพวกที่ไปสมัครนั้นยังมีคนสำคัญอีก ๒ คน คนหนึ่งเป็นชายหนุ่มชื่อจูฮุ่งชัก เป็นราชนัดดาของพระเจ้าเซ่งจงในราชวงศ์ไต้เหม็ง อีกคนหนึ่งเป็นหลวงจีนชื่อ บั้งลุ้ง รูปร่างสูงใหญ่มีกำลังวังชากล้าหาญมาก เมื่อรวบรวมพรรคพวกได้มากแล้ว พวกคิดการกำจัดราชวงศ์ไต้เชงจึงประชุมกันทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกันทั้งหมด แล้วยกเจ้าจูฮุ่งชักขึ้นเป็นรัชทายาทราชวงศ์ไต้เหม็ง ตั้งหลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำซึ่งเป็นผู้มีความรู้มากเป็นอาจารย์ (จีนแส) และตั้งหลวงจีนบั้งลุ้งเป็น “ตั้วเฮีย” แปลว่า “พี่ชายใหญ่” และเป็นตำแหน่งจอมพล ตัวนายนอกจากนั้นก็ให้มีตำแหน่งและคุมหมวดกองต่างๆ แล้วพากันยกรี้พลไปตั้งอยู่ที่ภูเขาฮ่งฮวง แปลว่าภูเขาหงส์ (จะเป็นแขวงเมืองไหนไม่ปรากฏ) หวังจะตีเอาบ้านเมืองคืน ได้รบกับกองทหารที่ประจำเมืองนั้น รบกันครั้งแรกพวกกบฏมีชัยชนะตีกองทหารหลวงแตกหนีเข้าเมือง แต่รบครั้งหลังเกิดเหตุอัปมงคลขึ้นอย่างแปลกประหลาด ด้วยในเวลาหลวงจีนบั้งลุ้งตั้วเฮีย ขี่ม้าขับพลเข้ารบ ม้าล้มลงตัวจอมพลตกม้าตาย พวกกบฏก็แตกพ่ายพากันหนีกลับไปยังเขามังกรเสือ หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำผู้เป็นอาจารย์ เห็นว่าเกิดเหตุอันมิบังควรผิดสังเกต ตรวจตำราดูก็รู้ว่าเป็นเพราะชะตาราชวงศ์ไต้เชงยังรุ่งเรือง ในตำราว่าศัตรูไม่สามารถจะทำร้ายได้ จึงชี้แจงแก่พวกกบฏว่า ถ้าจะรบพุ่งต่อไปในเวลานั้นก็ไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ ต้องเปลี่ยนอุบายเป็นอย่างอื่น และให้พวกที่ทำสัตย์สาบานกันแล้วแยกย้ายกระจายกันไปอยู่โดยลำพังตัวตามหัวเมืองต่างๆ และทุกๆ คนไปคิดตั้งสมาคมลับขึ้นในตำบลที่ตนไปอยู่ หาพวกพี่น้องน้ำสบถร่วมความคิดกันให้มีมากแพร่หลาย พอถึงเวลาชะตาราชวงศ์ไต้เชงตก ให้พร้อมมือกันเข้าตีบ้านเมือง จึงจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชงได้ พวกกบฏเห็นชอบด้วย จึงตั้งสมาคมลับให้เรียกชื่อว่า “เทียน ตี้ หวย” แปลว่า “ฟ้า ดิน มนุษย์” หรือเรียกโดยย่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ซาฮะ” แปลว่า “องค์สาม” คือฟ้าดินมนุษย์ และตั้งแบบแผนสมาคมทั้งวิธีสบถสาบานรับสมาชิกและข้อบังคับสำหรับสมาชิก กับทั้งกิริยาอาการที่จะแสดงความลับกันในระหว่างสมาชิก ให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน จึงเกิดสมาคมลับที่ไทยเราเรียกว่า “อั้งยี่” ขึ้นในเมืองจีนด้วยประการฉะนี้ รัฐบาลจีนรู้ว่าใครเป็นพวกอั้งยี่ก็จับฆ่าเสีย ถึงอย่างนั้นพวกสมาคม “เทียน ตี้ หวย” หรือ “ซาฮะ” ก็ยังมีอยู่ในเมืองจีนสืบมา รัฐบาลทำลายล้างไม่หมดได้



(๓)
อั้งยี่ในแหลมมลายู

ในหนังสือฝรั่งแต่ง เขาว่าพวกจีนที่ทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวทำมาหากินตามต่างประเทศ ล้วนแต่เป็นชาวเมืองชายทะเลภาคใต้ และอยู่ในพวกที่เป็นคนขัดสนทั้งนั้น จีนชาวเมืองดอนหรือที่มีทรัพย์สินสมบูรณ์ หามีใครทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวหากินตามต่างประเทศไม่ และว่าพวกจีนที่ไปหากินตามต่างประเทศนั้น จีนต่างภาษามักชอบไปประเทศต่างกัน พวกจีนแต้จิ๋วมักชอบไปเมืองไทย พวกจีนฮกเกี้ยนมักชอบไปเมืองชวามลายู พวกจีนกวางตุ้งมักชอบไปอเมริกา เมื่ออังกฤษตั้งเมืองสิงคโปร์ (ตรงกับตอนปลายรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์) มีพวกจีนอยู่ในแหลมมลายูเป็นอันมากมาแต่ก่อนแล้ว ที่มาได้ผลประโยชน์จนมีกำลังเลยตั้งตัวอยู่เป็นหลักแหล่งก็มี ในสมัยนั้นจีนที่มาเที่ยวหากินทางเมืองไทย และเมืองชวามลายู มาแต่ผู้ชาย จีนที่มาตั้งตัวอยู่เป็นหลักแหล่งมาได้หญิงชาวเมืองเป็นเมีย มีลูกเกิดด้วยสมพงศ์เช่นนั้น มลายูเรียกผู้ชายว่า “บาบ๋า” เรียกผู้หญิงว่า “ยอหยา” ทางเมืองชวามลายู จีนผู้เป็นพ่อไม่พอใจจะให้ลูกถือศาสนาอิสลามตามแม่ จึงฝึกหัดอบรมให้ลูกทั้งชายหญิงเป็นจีนสืบตระกูลต่อมาทุกชั่ว เพราะฉะนั้นจีนในเมืองชวามลายู จึงต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ “จีนนอก” ที่มาจากเมืองจีนอย่างหนึ่ง “จีนบาบ๋า” ที่เกิดขึ้นในท้องที่อย่างหนึ่ง มีอยู่เสมอ ผิดกันกับเมืองไทยเพราะเหตุที่ไทยถือพระพุทธศาสนาร่วมกับจีน ลูกจีนที่เกิดในเมืองไทย ถ้าเป็นผู้ชาย คงเป็นจีนตามอย่างพ่ออยู่เพียงชั่วหนึ่งหรือสองชั่วก็กลายเป็นไทย แต่ลูกผู้หญิงเป็นไทยไปตามแม่ตั้งแต่ชั่วแรก ในเมืองไทยจึงมีแต่จีนนอกกับไทยที่เป็นเชื้อจีน หามีจีนบาบ๋าเป็นจีนประจำอยู่พวกหนึ่งต่างหากไม่

ในสมัยเมื่ออังกฤษแรกตั้งสิงคโปร์นั้น พวกจีนก็เริ่มตั้งอั้งยี่คือสมาคมลับที่เรียกว่า “เทียน ตี้ หวย” หรือ “ซาฮะ” ขึ้นในเมืองมลายูบ้างแล้ว อังกฤษรู้อยู่ว่าวัตถุที่ประสงค์ของพวกอั้งยี่จะกำจัดราชวงศ์ไต้เชง อันเป็นการในเมืองจีน ไม่เห็นว่ามีมูลอันใดจะมาตั้งอั้งยี่ในเมืองต่างประเทศ สืบถามได้ความว่าพวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในเมืองมลายูไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกำจัดราชวงศ์ไต้เชง เป็นแต่เอาแบบแผนกระบวนสมาคม “เทียน ตี้ หวย” ในเมืองจีนมาตั้งขึ้น เพื่อจะสงเคราะห์พวกจีนที่มาทำมาหากินทางเมืองมลายู มิให้ต้องตกยากหรือได้ความเดือดร้อนเพราะถูกพวกมลายูกดขี่ข่มเหงเท่านั้น อีกประการหนึ่งปรากฏว่าพวกอั้งยี่มีแต่ในพวกจีนนอก แต่พวกจีนที่มาตั้งตัวเป็นหลักแหล่งและพวกจีนบาบ๋าที่เกิดในแหลมมลายูหาเกี่ยวข้องกับพวกอั้งยี่ไม่ อังกฤษเห็นว่าเป็นแต่สมาคมสงเคราะห์กันและกัน ก็ปล่อยให้มีอั้งยี่อยู่ไม่ห้ามปราม ครั้นจำเนียรกาลนานมา (ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์) เมื่อเศรษฐกิจในแหลมมลายูเจริญขึ้น พวกพ่อค้าที่ขุดแร่ดีบุกและที่ทำเรือกสวน ต้องการแรงงานมากขึ้น ต่างก็เรียกหาว่าจ้างจีนในเมืองจีน มาเป็นกรรมกรมากขึ้นโดยลำดับ จำนวนจีนที่เป็นอั้งยี่ก็มีมากขึ้น และจัดแยกกันเป็นหลายเหล่า จนเหลือกำลังผู้ที่เป็น “ตั้วเฮีย” หัวหน้าจะว่ากล่าวปกครองได้ ไม่มีใครสมัครเป็นตั้วเฮีย พวกอั้งยี่ก็แยกกันเป็นหลายกงสีเรียกชื่อต่างกัน ต่างมีแต่ “ยี่เฮีย” (แปลว่าพี่ที่สอง) เป็นหัวหน้าเป็นอิสระแก่กัน และอั้งยี่ต่างกงสีมักเกิดวิวาทตีรันฟันแทงกันจนรัฐบาลรำคาญ แต่จะบังคับให้เลิกอั้งยี่ก็เกรงจะเกิดลำบาก ด้วยอาจจะเป็นเหตุให้พวกจีนในเมืองจีนหวาดหวั่น ไม่มารับจ้างเป็นกรรมกรพอต้องการเหมือนแต่ก่อนอย่างหนึ่ง และพวกจีนกรรมกรมีมากกว่าแต่ก่อนมาก ถ้าพวกอั้งยี่ขัดขืนก็ต้องใช้กำลังปราบปราม กลายเป็นการใหญ่โตเกินกว่าเหตุ อีกประการหนึ่งเห็นว่าพวกอั้งยี่เป็นแต่มักวิวาทกันเอง หาได้ทำร้ายต่อรัฐบาลอย่างไรไม่ อังกฤษจึงตั้งข้อบังคับควบคุมพวกอั้งยี่เป็นสายกลาง คือถ้าจีนตั้งสมาคมอั้งยี่หรือสาขาของสมาคมที่ไหนต้องมาขออนุญาตต่อรัฐบาล บอกชื่อผู้เป็นหัวหน้าและพนักงานของสมาคมก่อน ต่อได้รับอนุญาตจึงตั้งได้ ถ้ารัฐบาลมีกิจเกี่ยวข้องแก่พวกอั้งยี่สมาคมไหน ก็จะว่ากล่าวเอาความรับผิดชอบแก่หัวหน้าและพนักงานสมาคมนั้น แต่นั้นมาพวกอั้งยี่สมาคมต่างๆ ก็ตั้งกงสีของสมาคม ณ ที่ต่างๆ แพร่หลาย โดยวิธี “รัฐบาลเลี้ยงอั้งยี่” เป็นประเพณีสืบมา

ที่เอาเรื่องอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษมาเล่า เพราะมามีเรื่องเกี่ยวข้องกับเมืองไทยเมื่อภายหลัง ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า



(๔)
อั้งยี่แรกมีในเมืองไทย

ในหนังสือจดหมายเหตุของไทย ใช้คำเรียกอั้งยี่ต่างกันตามสมัย แต่ความไม่ตรงกับที่จริงทั้งนั้น จึงจะแทรกคำอธิบายเรียกต่างๆ ลงตรงนี้ก่อน ชื่อของสมาคมที่ตั้งในเมืองจีนแต่เดิมเรียกว่า “เทียน ตี้ หวย” แปลว่า “ฟ้า ดิน มนุษย์” หรือเรียกโดยย่ออีกอย่างหนึ่งตามภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า “ซาฮะ” ตามภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า “องค์สาม” เป็นนามของอั้งยี่ทุกพวก ครั้นอั้งยี่แยกกันเป็นหลายกงสีจึงมีชื่อกงสีเรียกต่างกัน เช่นว่า “งี่หิน ปูนเถ้าก๋ง งี่เหง งี่ฮก ตั้วกงสี ซิวลิกือ” เป็นต้น คำว่า “อั้งยี่” แปลว่า “หนังสือแดง” ก็เป็นแต่ชื่อกงสีอันหนึ่งเท่านั้น ยังมีชื่อสำหรับเรียกตัวนายอีกส่วนหนึ่ง ผู้ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ในถิ่นอันหนึ่งรวมกันทุกกงสี เรียกตามภาษาฮกเกี้ยนว่า “ตั้วกอ” ตามภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “ตั้วเฮีย” แปลว่า “พี่ใหญ่” ผู้ที่เป็นหัวหน้ากงสีเรียกว่า “ยี่กอ” หรือ “ยี่เฮีย” แปลว่า “พี่ที่สอง” ตัวนายรองลงมาเรียกว่า “สามกอ” หรือ “ซาเฮีย” แปลว่า “พี่ที่สาม” ในจดหมายเหตุของไทยเดิมเรียกพวกเข้าสมาคมเทียนตี้หวยทั้งหมดว่า “ตั้วเฮีย” มาจนรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนคำ “ตั้วเฮีย” เรียก “อั้งยี่” ในนิทานนี้ฉันเรียกว่า อั้งยี่ มาแต่ต้นเพื่อให้สะดวกแก่ผู้อ่าน

อั้งยี่แรกมีขึ้นในเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๓ มูลเหตุที่จะเกิดอั้งยี่นั้น เนื่องมาแต่อังกฤษเอาฝิ่นอินเดียเข้าไปขายในเมืองจีนมากขึ้น พวกจีนตามเมืองชายทะเลพากันสูบฝิ่นติดแพร่หลาย จีนเข้ามาหากินในเมืองไทย ที่เป็นคนสูบฝิ่นก็เอาฝิ่นเข้ามาสูบกันแพร่หลายกว่าแต่ก่อน เลยเป็นปัจจัยให้มีไทยสูบฝิ่นมากขึ้น แม้จนถึงชั้นผู้ดีที่เป็นเจ้าและขุนนางพากันสูบฝิ่นติดก็มี ก็ในเมืองไทยมีกฎหมายห้ามมาแต่ก่อนแล้วมิให้ใครสูบฝิ่น หรือซื้อฝิ่นขายฝิ่น เมื่อปรากฏว่ามีคนสูบฝิ่นขึ้นแพร่หลายเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับฝิ่นตามกฎหมายอย่างกวดขัน แต่พวกจีนและไทยที่สูบฝิ่นติดมีมากก็จำต้องลอบหาซื้อฝิ่นสูบ เป็นเหตุให้คนลอบขายฝิ่น ขึ้นราคาขายได้กำไรงาม จึงมีพวกจีนคิดค้าฝิ่นด้วยตั้ง อั้งยี่ วางสมัครพรรคพวกไว้ตามหัวเมืองชายทะเลที่ไม่มีการตรวจตรา คอยรับฝิ่นจากเรือสำเภาที่มาจากเมืองจีน แล้วเอาปลอมปนกับสินค้าอื่นส่งเข้ามายังกงสีใหญ่ ซึ่งตั้งขึ้นตามที่ลี้ลับในหัวเมืองใกล้ๆ กรุงเทพฯ ลอบขายฝิ่นเป็นรายย่อยเข้ามายังพระนคร ข้าหลวงสืบรู้ออกไปจับ ถ้าซ่องไหนมีพรรคพวกมากก็ต่อสู้จนถึงเกิดเหตุรบพุ่งกันหลายครั้ง มีปรากฏในหนังสือพงศาวดาร ว่า

เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๕ เกิดอั้งยี่ที่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี และจังหวัดสมุทรสาคร แต่ปราบได้โดยไม่ต้องรบพุ่งครั้งหนึ่ง

ต่อนั้นมา ๒ ปีถึง พ.ศ.๒๓๘๗ พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นที่ในป่าแสมริมชายทะเล ณ ตำบลแสมดำ ในระหว่างปากน้ำบางปะกงกับแขวงจังหวัดสมุทรปราการ ต่อสู้เจ้าพนักงานจับฝิ่น ต้องให้กรมทหารปากน้ำไปปราบ ยิงพวกอั้งยี่ตายหลายคน และจับตัวหัวหน้าได้ อั้งยี่จึงสงบอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาอีก ๓ ปีถึง พ.ศ.๒๓๙๐ พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นอีกที่ตำบลลัดกรุด แขวงเมืองสมุทรสาคร ครั้งนี้พวกอั้งยี่มีพรรคพวกมากกว่าแต่ก่อน พระยามหาเทพ (ปาน) ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานจับฝิ่นออกไปจับเอง ถูกพวกอั้งยี่ยิงตาย จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังคุมกำลังไปปราบ ฆ่าพวกอั้งยี่ตายประมาณ ๔๐๐ คน และจับตัวหัวหน้าได้ จึงสงบ

ปราบพวกอั้งยี่ที่ลัดกรุดได้ไม่ถึงเดือน พอเดือน ๕ พ.ศ.๒๓๙๑ พวกอั้งยี่ก็กำเริบขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทรา คราวนี้ถึงเป็นกบฏ ฆ่าพระยาวิเศษลือชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาย แล้วพวกอั้งยี่เข้ายึดเอาป้อมเมืองฉะเชิงเทราไว้เป็นที่มั่น โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ยกพลจากเมืองสมุทรสาครไปปราบ พวกอั้งยี่ที่เมืองฉะเชิงเทราต่อสู้พ่ายแพ้ พวกจีนถูกฆ่าตายกว่า ๓,๐๐๐ คน อั้งยี่เมืองฉะเชิงเทราจึงสงบ ต่อมาอีก ๒ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๓



(๕)
อั้งยี่ในเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๔

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสปรึกษาเสนาบดี เห็นพร้อมกันว่า การจับฝิ่นเมื่อรัชกาลที่ ๓ แม้จับกุมอย่างกวดขันมาหลายปี ฝิ่นก็ยังเข้ามาได้เสมอ คนสูบฝิ่นก็ยังมีมากไม่หมดไป ซ้ำเป็นเหตุให้เกิดอั้งยี่ถึงต้องรบพุ่งฆ่าฟันกันหลายครั้ง จะใช้วิธีจับฝิ่นอย่างนั้นต่อไปเห็นจะไม่เป็นประโยชน์อันใด จึงเปลี่ยนนโยบายเป็นตั้งภาษีฝิ่นผูกขาด ถือเฉพาะแต่รัฐบาลซื้อฝิ่นเข้ามาต้มขายเอากำไร ให้จีนซื้อฝิ่นสูบได้ตามชอบใจ คงห้ามแต่ไทยมิให้สูบฝิ่น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริอีกอย่างหนึ่ง ว่าที่อั้งยี่หาพรรคพวกได้มาก เป็นเพราะพวกจีนที่ไปทำเรือกสวนหรือค้าขายอยู่ตามหัวเมือง มักถูกพวกจีนเจ้าภาษีเบียดเบียนในการเก็บอากร และถูกคนในพื้นเมืองรังแกได้ความเดือดร้อนไม่มีใครจะเกื้อหนุน จึงมักไปพึ่งอั้งยี่ ทรงแก้ไขข้อนี้ด้วยให้เลือกหาจีนที่ตั้งตัวได้เป็นหลักแหล่งแล้ว และเป็นคนซื่อตรง มีคนนับถือมาก ตั้งเป็นเป็นตำแหน่งปลัดจีนขึ้นในกรมการตามหัวเมืองที่มีจีนมาก สำหรับช่วยอุปการะและรับทุกข์ร้อนของพวกจีนขึ้นเสนอต่อรัฐบาล เมื่อทรงแก้ไขด้วยอุบาย ๒ อย่างนั้น เหตุการณ์เรื่องอั้งยี่ก็สงบเงียบมาได้หลายปี

แต่ถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๔ มีอั้งยี่เกิดขึ้นอีกด้วยเหตุอย่างอื่น เหตุที่เกิดอั้งยี่ตอนนี้เนื่องมาจากประเพณีจีนเข้าเมือง ด้วยจีนที่ทิ้งถิ่นไปทำมาหากินตามต่างประเทศล้วนเป็นคนยากจนมักไปแต่ตัว แม้เงินค่าโดยสารเรือก็ไม่มีจะเสีย เมื่อเรือไปถึงเมืองไหน เช่นเมืองสิงคโปร์ก็ดี หรือมาถึงกรุงเทพฯ ก็ดี มีจีนในเมืองนั้นที่เป็นญาติหรือเป็นเถ้าเก๋หาลูกจ้าง ไปรับเสียเงินค่าโดยสาร และรองเงินล่วงหน้าให้จีนที่เข้ามาใหม่ ไทยเรียกว่า “จีนใหม่” ทางเมืองสิงคโปร์เรียกว่า “Sing Keh” แล้วทำสัญญากันว่าเถ้าเก๋จะรับเลี้ยงให้กินอยู่ ข้างฝ่ายจีนใหม่จะทำงานให้เปล่าไม่เอาค่าจ้างปีหนึ่ง งานที่ทำนั้นเถ้าเก๋จะใช้เองหรือจะให้ไปทำงานให้คนอื่น เถ้าเก๋เป็นผู้ได้ค่าจ้าง หรือแม้เถ้าเก๋จะโอนสิทธิในสัญญาให้ผู้อื่นก็ได้ เมื่อครบปีหนึ่งแล้วสิ้นเขตที่เป็นจีนใหม่พ้นหนี้สิน จะรับจ้างเถ้าเก๋ทำงานต่อไป หรือไปทำมาหากินที่อื่นโดยลำพังตนก็ได้ มีประเพณีอย่างนี้มาแต่เดิม ถึงรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ไทยทำหนังสือสัญญาค้าขายกับฝรั่งต่างชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ การค้าขายในเมืองไทยเจริญขึ้นรวดเร็ว มีโรงจักรสีข้าวเลื่อยไม้ และมีการขนลำเลียงสินค้าอันต้องการแรงงานมากขึ้น ทั้งเวลานั้นการคมนาคมกับเมืองจีนสะดวกขึ้น ด้วยมีเรือกำปั่นไปมาบ่อยๆ พวกจีนใหม่ที่เข้ามาหากินก็มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีจีนในกรุงเทพฯ คิดหาผลประโยชน์ด้วยการเป็นเถ้าเก๋รับจีนใหม่เข้าเมือง โดยวิธีดังกล่าวมาแล้วมากขึ้นและการนั้นได้กำไรงาม ก็เกิดแข่งกันเกลี้ยกล่อมจีนใหม่ พวกเถ้าเก๋จึงเลยอาศัยจีนใหม่ของตนให้ช่วยกันเกลี้ยกล่อมจีนเข้ามาใหม่ ตลอดจนไปชิงกันหางานให้พวกจีนใหม่ของตนทำ ก็เลยตั้งพวกเป็นอั้งยี่ด้วยประการฉะนี้ แต่ผิดกับอั้งยี่รัชกาลที่ ๓ ด้วยไม่คิดร้ายต่อรัฐบาลและมีแต่พวกละน้อยๆ หลายพวกด้วยกัน

แต่เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐ ก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ ๔ มีพวกอั้งยี่กำเริบขึ้นที่เมืองภูเก็ต แต่มิได้เกี่ยวข้องกับจีนในกรุงเทพฯ ด้วยพวกอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ตขยายมาจากเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลใช้นโยบายอย่าง “เลี้ยงอั้งยี่” ดังกล่าวมาแล้ว พวกจีนในแดนอังกฤษไปมาค้าขายกับหัวเมืองไทยทางตะวันตกอยู่เป็นนิจ พวกอั้งยี่ในแดนอังกฤษจึงมาเกลี้ยกล่อมจีนที่เมืองภูเก็ต ให้ตั้งอั้งยี่เพื่อสงเคราะห์กันและกัน เป็นสาขาของกงสี “งี่หิน” พวกหนึ่งมีประมาณ ๓,๕๐๐ คน ของกงสี “ปูนเถ้าก๋ง” พวกหนึ่งมีประมาณ ๔,๐๐๐ คน อยู่มานายอั้งยี่ทั้งสองพวกนั้นวิวาทกัน ด้วยชิงสายน้ำที่ทำเหมืองล้างแร่ดีบุก ต่างเรียกพวกอั้งยี่ของตนมารบกันที่กลางเมือง ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตห้ามก็ไม่ฟัง จะปราบปรามก็ไม่มีกำลังพอการ จึงโปรดให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เมื่อยังเป็นที่พระยาเทพประชุน ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นข้าหลวงออกไปยังเมืองภูเก็ต ให้ไปพิจารณาว่ากล่าวเรื่องอั้งยี่วิวาทกัน ถ้าพวกอั้งยี่ไม่ฟังคำบังคับบัญชา ก็ให้เรียกระดมพลตามหัวเมืองปราบปรามด้วยกำลัง แต่เมื่อเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ออกไปถึง หัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองพวกอ่อนน้อมโดยดี เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ว่ากล่าวระงับเหตุวิวาทเรียบร้อยแล้ว พาตัวพวกหัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองกงสีรวม ๙ คน เข้ามาสารภาพรับผิดในกรุงเทพฯ จึงโปรดให้ถือน้ำกระทำสัตย์สาบานว่าจะไม่คิดร้ายต่อแผ่นดิน แล้วปล่อยตัวกลับไปทำมาหากินอย่างเดิม

การระงับอั้งยี่วิวาทกันที่เมืองภูเก็ตครั้งนั้น เป็นเหตุที่ไทยจะเอาวิธี “เลี้ยงอั้งยี่” อย่างที่อังกฤษจัดตามเมืองในแหลมมลายูมาใช้ที่เมืองภูเก็ตก่อน แล้วเลยเอาเข้ามาใช้ในกรุงเทพฯ เมื่อภายหลัง แต่อนุโลมให้เข้ากับประเพณีไทย มิให้ขัดกัน เป็นต้นว่าที่เมืองภูเก็ตนั้นเลือกจีนที่มีพรรคพวกนับถือมากตั้งเป็น “หัวหน้าต้นแซ่” สำหรับนำกิจทุกข์สุขของพวกของตนเสนอต่อรัฐบาล และควบคุมว่ากล่าวพวกของตนตามประสงค์ของรัฐบาล คล้ายๆ กับกรรมการจีน ที่เป็นคนมีหลักฐานมั่นคงถึงให้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเป็นหลวงก็มี แต่พวกหัวหน้าต้นแซ่นั้นก็เป็นอั้งยี่พวกงี่เฮงหรือปูนเถ้าก๋งทุกคน การที่จัดขึ้นเป็นแต่อย่างควบคุมอั้งยี่ และให้มีพวกหัวหน้าต้นแซ่สำหรับรัฐบาลใช้ไปว่ากล่าวพวกอั้งยี่ และคอยห้ามปรามมิให้อั้งยี่ต่างพวกวิวาทกัน แต่ยังยอมให้พวกจีนตั้งอั้งยี่ได้ตามใจไม่ห้ามปราม


62  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ลูกผักหวานป่า : ราชาผักแห่งพื้นบ้าน 1 ปีมีให้กินหนเดียวจ้ะ เมื่อ: 04 เมษายน 2567 11:08:08

ลูกผักหวานป่าพูนถาดขนาดใหญ่ ที่เจ้าบ้านยกมารับรองแขกผู้มาเยือน
และกล่าวสั้นๆ ให้รู้สึกสะดุ้งและเกรงใจ ว่า "ถ้าไม่รักกันจริง ไม่ยกมาให้กิน"
(มันหายาก และแพงมาก)


ลูกผักหวานป่า ราชาแห่งผักพื้นบ้าน


ลูกผักหวานป่า เป็นผักพื้นบ้านที่หากินไม่ได้ง่ายๆ หนึ่งปีมีให้ทานแค่ฤดูอากาศร้อนจัดเพียงหนเดียว (ในช่วงปลายเดือนมีนาคม - ต้นเดือนเมษายน) รสชาติลูกผักชนิดนี้อร่อยชนิดเหลือเชื่อ จึงขอจัดให้เป็น "ราชาผักพื้นบ้าน"

ลูกผักหวานบ้านนำไปกินได้ทั้งลูก ทั้งกินดิบ ต้มหรือลวกพอสุกจิ้มน้ำพริก นำไปแกงเลียง แกงคั่ว ฯลฯ รสชาติจะกรอบๆ หวานๆ เคี้ยวนุ่มลิ้น เคี้ยวเพลินจนข้าวหมดหม้อไม่รู้ตัว

ผักหวานป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Melientha suavis Pierre จัดอยู่ในวงศ์ OPILIACEAE (เป็นวงศ์พิเศษที่ยังไม่มีผักหรือผลไม้ชนิดใดที่อยู่ในวงศ์นี้) เป็นผักหวานคนละชนิดกับผักหวานที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sauropus androgynus (L.) Merr. หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “ผักหวานบ้าน

ต้นผักหวานป่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ ๔-๑๑ เมตร เปลือกต้นเรียบ กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้มีความแข็ง เป็นพืชผลัดใบตามฤดูกาล จึงเก็บสะสมอาหารไว้ที่รากและลำต้น นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักจะพบต้นผักหวานป่าได้ตามป่าเบญจพรรณในที่ราบหรือเชิงเขาที่มีความสูงไม่เกิน ๖๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล และโดยปกติจะชอบขึ้นอยู่บนดินร่วนปนทราย

สำหรับต้นผักหวานที่จะให้ผลได้นั้น จะต้องมีลำต้นแข็งแรง มีความสูงเลยศีรษะผู้ใหญ่ หรือประมาณ ๒ เมตร ขึ้นไป




ลูกผักหวานป่าลวกพอสุก กับน้ำพริกพื้นบ้านง่ายๆ ที่เจ้าบ้านยกจากครัวมารับรองแขกผู้มาเยือน




น้ำพริกชาวบ้านแบบง่ายๆ ที่มักทำติดครัวไว้เป็นประจำ


ลูกผักหวานป่าสด (กินสดๆ อร่อยชัวร์ๆ) เกือบหมดถาดในชั่วระยะแค่เคี้ยวหมากแหลก
ลงไปอยู่ในกระเพาะบรรดานายทหารผู้สูงวัยที่ได้ถือโอกาสพบปะกันหลังเกษียณ


63  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / ข้าวต้มหัวหงอก เมื่อ: 02 เมษายน 2567 11:01:15




ข้าวต้มหัวหงอก (ข้าวต้มมัดไส้กล้วย ตัดเป็นชิ้น โรยมะพร้าวขูดเป็นเส้นและน้ำตาลทรายขาวผสมงาขาวคั่ว
ฝีมือชาวอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี


ข้าวต้มหัวหงอก


ข้าวต้มหัวหงอก เป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมรับประทานมาแต่โบราณ  ข้าวต้มที่ว่านี้ไม่ใช่ข้าวต้มที่เป็นอาหารคาว แต่เป็นขนมของว่างที่อาจจะทานให้อิ่มแทนอาหารเลยก็ได้

ข้าวต้มหัวหงอกโบราณนั้นมักจะห่อเป็นชิ้นเล็กๆ ไม่นิยมห่อชิ้นใหญ่แล้วตัดเหมือนกับในปัจจุบัน มักจะเรียกกันว่า “ข้าวหนมข้าวต้ม”

ขนมข้าวต้มมักจะมีส่วนผสมหลักๆ อยู่สองอย่างคือ ไส้กล้วยและไส้ถั่ว

กระบวนการทำ : หลังจากนำใบตองไปตากแดดให้ใบตองมีความนิ่ม จะทำให้ห่อได้ง่ายขึ้น และทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ให้นำใบตองมาฉีกเป็นแผ่น ความกว้างประมาณครึ่งฝ่ามือ นำตอกไปแช่น้ำเพื่อให้อ่อนตัว แช่ข้าวเหนียวทิ้งไว้ประมาณ ๑-๒ ชั่วโมงแล้วซาวน้ำให้สะอาด  นำถั่วลิสงแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ ๓-๔ ชั่วโมง ผ่ากล้วยน้ำว้าออกเป็นสี่ส่วนตามแนวยาว  เมื่อถึงขั้นตอนการห่อขนม ให้ตักข้าวเหนียวใส่ใบตองด้านล่างที่มีสีอ่อนกว่านั้นประมาณ ๑-๒ ช้อนโต๊ะ เกลี่ยให้ข้าวอยู่ในแนวยาว ถ้าจะใส่ไส้กล้วยก็นำกล้วยน้ำว้าที่ผ่าไว้มาวางบนข้าว ถ้าจะใส่ถั่วลิสง ก็นำถั่วลิสงมาคลุกกับข้าวให้ทั่วแล้วตักใส่ใบตอง จากนั้นพับใบตอง ด้านข้างด้านใดด้านหนึ่งแล้วพับอีกด้านให้พอดีกับห่อขนมแล้วพับใบตองด้านหัวท้ายลงมาจะได้ห่อข้าวต้มชิ้นเล็กๆ ความยาวประมาณครึ่งฝ่ามือ วางห่อขนมที่ห่อแล้วนั้นไว้ โดยอาจจะใช้จานหรือกาละมัง ที่มีความหนักวางทับ เพื่อไม่ให้ใบตองที่ห่อคลายตัว เมื่อห่อข้าวต้มชิ้นเล็กๆ ได้ประมาณหกชิ้น ให้ฉีกใบตองที่มีความกว้างเท่ากับความยาวของชิ้นขนมมาหนึ่งชิ้น นำห่อข้าวต้มทั้งหกชิ้นนั้นมารวมกัน แล้วใช้ใบตองพันรวบเข้าด้วยกัน ใช้ตอกสองเส้นมัดห่อข้าวต้มทั้งหมด เพื่อไม่ให้หลุดจากกัน แล้วนำไปเรียงในหม้อจนเต็ม ใส่น้ำสะอาดลงไปจนท่วมห่อข้าวต้ม หาของหนักทับข้าวต้มไว้ ปิดฝาหม้อแล้วนำไปต้มจนสุก

ชาวล้านนามีความเชื่อว่า เมื่อต้มข้าวต้มจะต้องทำ “ชู้ข้าวหนม” คือ ห่อใบตองเปล่า ๆเป็นรูปร่างเหมือนห่อขนมใส่เข้าไปหม้อด้วย จะทำให้ขนมที่ต้มนั้นสุกทั่วถึงกัน เมื่อจะทานก็แกะข้าวต้มออกมาจากใบตอง โรยมะพร้าวขูดฝอย และน้ำตาลทราย ก็จะได้ของว่างที่อิ่มอร่อย

ข้าวต้มสามเหลี่ยม : ข้าวต้มสามเหลี่ยมนั้น อาจจะเรียกอีกอย่างว่า “ข้าวต้มเขาควาย” หรือ “ข้าวต้มหัวหงอก” เพราะมีรูปร่างสามเหลี่ยมและเวลาทานจะโรยมะพร้าวขูดฝอยเหมือนกับคนที่มีผมหงอก ส่วนผสมต่างๆ ของข้าวต้มสามเหลี่ยมนั้นก็เหมือนกับข้าวต้มไส้ถั่ว แต่ข้าวต้มสามเหลี่ยมนั้นมักจะใส่ถั่วลิสงเสียส่วนใหญ่

ข้าวต้มหัวหงอกเป็นขนมที่นิยมรับประทานเป็นของว่าง และนิยมทำในงานบุญและงานรื่นเริงต่างๆ
... อ้างอิง ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
64  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: ส้มว่อกาน : เกษตรน่ารู้ (ผลไม้ - Fruit) เมื่อ: 02 เมษายน 2567 10:44:41


ส้มว่อกาน - Wogan Orange

ส้มว่อกาน สุดยอดผลไม้แสนอร่อย  
คนไทยจะรู้จักและคุ้นเคยกันในชื่อของ “ส้มไต้หวัน“ เป็นส้มที่นิยมเป็นอย่างมากในไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยไทยนำเข้าจากประเทศจีน
เป็นส้มที่ไร้เมล็ด เนื้อนุ่ม รสชาติหวานนำ อมเปรี้ยวนิดๆ เกร็ดส้มมีมาก และหอมกลิ่นส้ม
 


750/30
65  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: ส้มปาปากัน : เกษตรน่ารู้ (ผลไม้ - Fruit) เมื่อ: 02 เมษายน 2567 10:37:13


ส้มปาปากัน

ส้มปาปากัน เป็นส้มจุกสายพันธุ์ญี่ปุ่น รสชาติหวาน หอม ตัวเกล็ดส้มร่วน  มีวิตามิน C สูง  


750/30
66  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / พระแท่นนกยูง ที่มีชื่อเสียงที่สุด และรู้จักกันไปทั้งโลก เมื่อ: 01 เมษายน 2567 19:12:20

พระราชวังซิตี้พาเลซ ชัยปุระ (Udaipur’s City Palace)
รูปภาพจาก : wikimedia

พระแท่นนกยูง

อินเดียถือพระราชบัลลังก์ (พระแท่นราชอาสน์) เป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ และในอินเดียนั่นแหละ ที่มีพระแท่นนกยูง ซึ่งเป็นพระแท่นที่มีชื่อเสียงที่สุด รู้จักกันไปทั้งโลก

พระแท่นนกยูงนี้ พระเจ้าชาห์ยะฮัน (ครองราชย์ ๑๖๒๘ ถึง ๑๖๕๘) ผู้สร้างทัชมาฮาล เพชรน้ำเอกของศิลปะมุสลิมในอินเดีย เป็นผู้ให้ทำ ใช้เวลาสร้าง ๗ ปี สิ้นเงินราว ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยล้านบาท) ในยุคสมัยนั้น  ตัวพระแท่นยาว ๖ ฟุต มีเท้า ๖ เท้า ทำด้วยทองคำทั้งแท่ง ฝังเพชร มรกต ทับทิม พนักพิงทำเป็นนกยูงโตเท่าตัวจริง ๒ ตัวรำแพนหาง ฝังเพชรนิลจินดาสลับสีต่างๆ ตามสีขนนกยูงจริงๆ ตานกยูงฝังเพชรเม็ดใหญ่  ระหว่างนกยูงทั้งสอง มีนกแก้วอีกตัวหนึ่งโตเท่านกแก้วจริงๆ สลักจากมรกตทั้งแท่ง ที่พระแท่นมีเสา ๑๒ เสา ทำด้วยทองคำทั้งแท่ง ฝังเพชรนิลจินดาต่างๆ ตั้งขึ้นไปรับเพานซึ่งดาดด้วยแพรอย่างดีที่สุด  รอบเพดานแพรเอาไข่มุกมาทำเป็นระบายเฟื่องห้อย  

พระแท่นนกยูงนี้ ได้ถูก นาดีร์ชาห์ กษัตริย์เปอร์เซีย กวาดริบเอาไปเมื่อคราวอินเดียแพ้ศึกสงคราม

ในปี พ.ศ.๒๒๖๐ “เมอร์มะหะหมุด” ได้ครองแคว้นกันดาฮาร์ (อยู่ในประเทศปากีสถาน) ท่านองค์นี้เก่งในการศึกสงคราม ได้ยกทัพไปตีประเทศเปอร์เซีย ยึดได้เมืองอิสปาหาน นครหลวง ในปี พ.ศ.๒๒๖๕      ตอนเสียกรุง “เจ้าตาห์มาสป์” โอรสกษัตริย์เปอร์เซียไปเกลี้ยกล่อมผู้คนเพื่อจะกู้กรุงคืน ได้คนมีฝีมือคนหนึ่งชื่อ “นาดีร์กูลี” เป็นทหารเอก  นาดีร์กูลีคนนี้เป็นชาติปะถ่าน (แขกปาทาน) เริ่มทำศึกตีได้เมืองเหรัต ที่ตั้งเป็นแคว้นอิสระ แล้วตีได้เมืองอื่นๆ เรื่อยไป จนตีได้กรุงอิสปาหานถวายเจ้านายสำเร็จ ได้เจ้าหญิงน้องสาวเจ้าตาร์มาสป์เป็นบำเหน็จ

เจ้าตาร์มาสป์ ได้เป็นชาห์ครองเปอร์เซียอยู่ ๓ ปี (พ.ศ.๒๒๗๓-๒๒๗๕) โอรสนามว่าอับบาส อายุ ๘ เดือน ได้เป็นกษัตริย์อยู่จนอายุได้ ๕ ขวบ (สวรรคตหรือถูกปลงพระชนม์ไม่แน่)   นาดีร์กูลีก็ได้เป็นชาห์ครองครองเปอร์เซีย ในปี พ.ศ.๒๒๗๙  ต่อจากนี้นาดีร์กูลีก็เริ่มทำสงคราม แผ่อำนาจปราบได้ดินแดนอัฟกานิสถานทั้งหมด แล้วกรีธาทัพเข้าอินเดีย ตีได้แคว้นปัญจาปตะลุยเรื่อยมา พระเจ้าโมหะเม็ดแต่งทัพใหญ่ออกต่อสู้ก็แพ้พินาศยับเยิน ข้าศึกเข้ากรุงเดลฮีได้ใน พ.ศ.๒๒๘๒  นาดีร์ปล่อยให้กองทัพเที่ยวปล้นฆ่าฟันผู้คนตายถึง ๑๐๐,๐๐๐ เศษ  พระเจ้าโมหะเม็ดยอมแพ้  นาดีร์ชาห์กวาดริบสมบัติอันมหาศาลในพระราชวังไปหมดสิ้น  ได้สมบัติชิ้นใหญ่ที่มีค่าที่สุดก็คือ พระแท่นนกยูง

นอกจากพระแท่นนกยูงนี้ ยังมีของมีค่ายิ่งยวดอีกสิ่งหนึ่ง คือ เพชรเม็ดใหญ่ ที่มีชื่อ โกห์อินูร์ ที่ไปเป็นเพชรประดับพระมหามงกุฏอังกฤษปัจจุบันนี้   พระเจ้าโมหะเม็ดเอาเพชรใหญ่นี้ ประดับผ้าโพกพระเศียรทรงเป็นประจำ  น้ำหนักเพชรนี้ประมาณ ๒๘๐ กะรัต (ว่าเดิมหนัก ๗๙๓ กะรัต แล้วเอาไปเจียระไน เสียเศษมากไป แต่เขาว่าช่างเจียระไนโกงไป)  นาดีร์ชาห์ได้ข่าวเพชรใหญ่นี้อยู่ก่อนแล้วอยากจะได้ แต่เป็นของติดผ้าโพกพระเศียรประจำองค์ก็ไม่รู้จะเอาอย่างไร จึงคิดอุบายถ่ายเทเอาจนได้ คือ เมื่อพระเจ้าโมหะเม็ดยอมแพ้แล้ว  วันหนึ่งก็มีงานเลี้ยงใหญ่ในพระราชวังกรุงเดลฮี เมื่อสององค์ทรงสนทนากัน  นาดีร์ชาห์รับสั่งว่า “ไหนๆ เราก็ได้เป็นมิตรกันแล้ว ควรจะต้องเปลี่ยนผ้าโพกกันตามธรรมเนียมสำหรับมิตรภาพของเรา”  พระเจ้าโมหะเม็ดไม่รู้จะบ่ายเบี่ยงอย่างไรก็ต้องยอม  นาดีร์ชาห์ก็ได้เพชรเม็ดใหญ่อีกเม็ดหนึ่ง ซึ่งมีราคาราว ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท เดิมเพชรนี้ไม่มีชื่อ  เมื่อนาดีร์ชาห์ได้ไป จึงไปตั้งชื่อว่า โกห์อินูร์ แปลว่า ภูเขาแห่งแสง

นาดีร์ชาห์ ขนทรัพย์สมบัติอันมหาศาลกลับไปนครอิสปาหาน ครองเมืองอยู่ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.๒๒๙๐ เกิดจลาจล  นาดีร์ชาห์ถูกฆ่าตาย และก็ในตรงนี้เอง ที่ดินแดนอัฟกานิสถานได้เกิดเป็นประเทศเป็นปึกแผ่นที่แท้จริงขึ้นเป็นครั้งแรก



อ้างอิง :
       - บันทึกประวัติศาสตร์ "ภาพแขกปะถ่าน"  ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ โดย กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา) สำนักพิมพ์ "สาส์นสวรรค์" พิมพ์เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๒
       - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
67  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / Re: หลักการจัดดอกไม้เบื้องต้น : การจัดดอกไม้ คืออะไร? เมื่อ: 01 เมษายน 2567 18:17:10

ภาพวาดระบายสีน้ำ

หลักการจัดดอกไม้เบื้องต้น

การเลือกซื้อดอกไม้สด
ดอกไม้ที่เราได้ซื้อมาใช้กันนั้นจะตัดจากต้นไม้ในเวลาเช้า และนำมาแช่น้้าให้อิ่มตัว บางชนิดจะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นขณะขนส่ง โดยการทำให้ลดลง หลังจากนั้นนำมามัดรวมกันเป็นกำหุ้มด้วยกระดาษหรือพลาสติก และสุดท้ายคือการนำจัดส่งตลาดเพื่อกระจายสู่ร้านค้าย่อยต่อไป  จะเห็นได้ว่ากว่าดอกไม้จะมาถึงมือของผู้จัดจริงๆ นั้น จะผ่านมาหลายขั้นตอน จึงมักจะเกิดความบอบช้ำ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องท้าความเข้าใจถึงสภาพดอกไม้ว่าถ้าเราต้องการซื้อดอกไม้เราจะต้องสังเกตจากอะไรบ้าง

       ๑. ก้าน จะต้องไม่เน่า โดยก้านจะต้องไม่ผ่านการแช่น้ำมาเป็นเวลานานจนกระทั่งมีกลิ่นเหม็น
       ๒. ใบ จะต้องไม่เหี่ยวช้ำและเน่า จะต้องมีความแข็งแรงตามสภาพของใบไม้ชนิดนั้นๆ
       ๓. กระเปาะดอก จะต้องไม่ลีบและแห้ง เมื่อใช้มือบีบดูจะรู้สึกว่ากระเปาะจะแข็ง
       ๔. กลีบดอก จะต้องไม่ช้ำ ไม่เหี่ยว และเน่า โดยทั่วไปดอกไม้ที่เราจะเลือกซื้อนั้นจะต้องเลือกที่ความสดให้มากที่สุด ฉะนั้นจะต้องมีความรู้และความเข้าใจในสภาพของดอกไม้แต่ละชนิด ซึ่งย่อมจะต้องมีความแตกต่างกันออกไปนอกจากนั้นควรดูเหตุผลอื่นๆ มาใช้เป็นองค์ประกอบในการเลือกซื้อด้วย เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ แหล่งเพาะปลูก และความเหมาะสมกับสภาพการใช้งาน เป็นต้น


การดูแลรักษาดอกไม้สด
ปัจจุบันดอกไม้เป็นสิ่งส้าคัญต่อการจัดงานต่างๆ เป็นอย่างมาก ฉะนั้นเราควรมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลดอกไม้ให้มีความสดและสมบูรณ์มากที่สุดก่อนที่เราจะนำเอามาใช้จัดตกแต่งให้สวยงามต่อไป

๑. Cleaning คือ การดูแลก่อนการแช่น้้า จะต้องทำความสะอาดก้านบริเวณช่วงล่างที่ต้องแช่ลงในถังน้ำโดยการปลิดใบช่วงล่างของช่อออกให้หมด ซึ่งใบไม้เหล่านี้เมื่ออัดกันแน่นๆ จะท้าให้เกิดก๊าชเอทธิลีนที่มีผลท้าให้ก้านดอกไม้และน้ำที่แช่ดอกไม้เกิดการเน่าเสียได้ง่าย

๒. Cutting under water คือ การตัดก้านดอกไม้ด้วยมีดคมๆ ใต้น้ำ น้าไปแช่ในถังน้ำที่จัดเตรียมไว้ ส่วนน้ำที่จะใช้แช่ดอกไม้จะมีปริมาณและลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังนี้

       ๒.๑ ถ้าต้องการให้บานเร็ว ให้แช่ในน้ำอุ่น และมีปริมาณน้ำมาก เช่น ดอกลิลลี่ ดอกกุหลาบ ดอกยิปโซฟิลล่า เป็นต้น
       ๒.๒ ถ้าต้องการให้บานช้า ให้แช่ในน้่ำธรรมดาและมีประมาณน้ำน้อย
       ๒.๓ ถ้าต้องการให้บานอย่างสมบูรณ์ และมีก้านที่แข็งแรงมากๆ ควรแช่ในน้้ำอุ่นที่ผสมอาหารดอกไม้ในปริมาณ ๐.๕ ช้อนชา ต่อน้ำ ๕ ลิตร

๓. Conditioning out of refrigeration คือ เมื่อเราแช่ดอกไม้ในถังน้ำเรียบร้อยแล้ว ควรนำถังดอกไม้วางไว้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิปกติประมาณ ๑ – ๓ ชั่วโมงเพื่อให้ดอกไม้มีการปรับสภาพตัวเองเสียก่อน จากนั้นจึงนำเอาไปแช่ในตู้ส้าหรับแช่ดอกไม้


การฟื้นตัวของดอกไม้
ดอกไม้หรือใบไม้ที่จัดส่งมาตามร้านค้าต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในงานต่อไป ต้องผ่านการบรรจุหีบห่อ ที่มักจะขาดน้ำ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่ง เมื่อต้องการจะใช้งานจะต้องช่วยให้ดอกไม้ฟื้นตัวเร็ว และมีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ต่อไป

๑. กล้วยไม้ช่อชนิดต่างๆ จะต้องตัดก้านและนำไปแช่ลงในน้ำทั้งช่อประมาณ ๑๐ – ๑๕ นาที หลังจากนั้นให้นำขึ้นไปแช่ในน้ำปกติ แต่ถ้าดอกของกล้วยไม้แช่อยู่ในน้ำนานจนเกินไป จะทำให้กลีบดอกมีสภาพช้ำน้ำ ซึ่งจะลดปริมาณความคงทนลงมาก

๒. ดอกบัว ในสมัยก่อนมีการช่วยให้ดอกบัวฟื้นตัวเร็วด้วยกรรมวิธีต่างๆ มากมายหลายวิธีด้วยกัน แต่ในปัจจุบันปริมาณการใช้ดอกบัวมีเพิ่มมากขึ้น แต่ดอกบัวเป็นดอกไม้ที่ค่อนข้างเหี่ยวเร็ว และจะดูดน้ำขึ้นไปเลี้ยงดอกได้ค่อนข้างช้า ฉะนั้นเมื่อซื้อดอกบัวมาแล้วให้ตัดก้านแช่ในน้ำเย็นหรือน้ำที่ผสมน้ำแข็ง แต่จะต้องใช้น้ำปริมาณมากๆ หลังจากนั้นให้ใช้พลาสติกคลุมดอกบัวไว้ให้มิดชิด เพื่อป้องกันลมที่จะมากระทบดอกท้าให้เกิดการดำเร็วกว่าปกติ บางท่านอาจใช้ผ้าคลุมดอกบัวแทนพลาสติก แต่การคลุมด้วยผ้ามีผลท้าให้ความชื่นจากดอกบัว และจากน้ำที่แช่ดอกบัวระเหยไปอย่างรวดเร็ว ท้าให้ดอกบัวไม่เกิดความสดชื่นเท่าที่ควร เราควรแช่ดอกบัวให้อิ่มน้ำ โดยใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงจึงจะนำดอกบัวไปพับในแบบต่างๆ แต่ถ้าดอกบัวยังไม่อิ่มน้ำแล้วน้าไปพับ จะท้าให้กลีบดอกบัวดำเร็วกว่าปกติ และเมื่อพับแล้วให้นำดอกบัวไปจุ่มในน้ำที่ผสมสารส้ม แล้วจึงน้ามาจัดลงในภาชนะได้ น้ำสารส้มจะช่วยล้างยางที่เกิดจากการพับกลีบดอกบัว ทำให้ดอกบัวดำช้ากว่าปกติ เมื่อจัดดอกบัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่นำไปใช้งาน ให้ใช้พลาสติกคลุมกันลม และเก็บความชื้นของดอกบัวทำให้มีความสดชื่น

๓. ดอกคริสชานติมัม หรือที่คนไทยมักนิยมเรียกว่า “มัม” เมื่อเปิดห่อออกให้ปลิดใบช่วงล่างออก แต่เนื่องจากดอกไม้ชนิดนี้จะมีใบที่เหี่ยวเร็วมากถ้าต้องการให้ดอกไม้ชนิดนี้อยู่ได้ทน จะต้องปลิดใบออกให้หมดทั้งช่อ หลังจากนั้นให้ตัดก้านด้วยมีดคมๆ แต่คริสซานติมัมเป็นดอกไม้ที่จัดอยู่ในประเภทก้านแข็ง จึงทำให้ดูดน้ำได้ยาก จะต้องทุบปลายก้านให้แตกเล็กน้อย ล้างบริเวณที่ทุบให้สะอาด หลังจากนั้นให้เอาน้ำเทราดหรือพรมทั้งช่อ และนำไปแช่ในถังน้ำที่มีประมาณน้ำไม่มากนัก เพราะถ้าน้ำมากจะท้าให้ก้านเน่าเร็ว  ควรใช้น้ำปริมาณน้อย แต่ตัดก้านเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ จะท้าให้ดอกคริสซานติมัมสามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด

๔. ดอกกุหลาบ เป็นดอกไม้ที่ต้องการน้ำปริมาณมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่นๆ จะต้องปลิดใบและหนามบริเวณช่วงล่างของก้านออก เอาน้ำราดบริเวณใบ ส่วนบริเวณดอกไม่ควรราดหรือพรมน้ำ เพราะน้ำจะท้าให้ดอกกุหลาบบานเร็วกว่าปกติ และที่ส้าคัญคนไทยไม่ค่อยนิยมดอกกุหลาบที่บาน หลังจากนั้นให้ตัดก้านในน้ำด้วยมีดคมๆ น้าไปแช่ลงในถังน้ำที่ผสมอาหารดอกไม้ไว้เรียบร้อยแล้ว

๖. ดอกยิปโซฟิลล่า เป็นดอกไม้จำพวกไม้เล็กๆ ฝอยๆ เมื่อซื้อมาให้กระจายช่อออกมาจากกัน โดยการคว่ำช่อลง ค่อยๆ จับช่อเขย่าให้แยกจากกัน ปลิดใบออกให้หมด จับมารวมช่อกันใหม่อีกครั้ง ห่อด้วยกระดาษ หรือพลาสติก ตัดก้านและแช่ในน้ำอุ่น เพื่อช่วยให้ดอกยิปโซฟิลล่าบานได้อย่างสมบูรณ์ ข้อส้าคัญที่ควรรู้คือห้ามนำดอกยิปโซฟิลล่าไปแช่รวมกับดอกไม้ตระกูลคริสซานติมัม เพราะคริสซานติมัมจะมีสารไซยาไนที่มีผลท้าให้ดอกยิปโซฟิลล่าแห้งเร็วกว่าปกติ นอกจากนั้นจะต้องไม่ฉีดน้ำที่บริเวณดอก เพราะดอกยิปโซฟิลล่าจะดูดนำไว้ ท้าให้ดอกช้ำน้ำและจะดำเร็วกว่าปกติ


800-28

ขอขอบคุณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฎเพชรบูรณ์ (ที่มาข้อมูล)
68  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / “ราชกิจจานุเบกษา” เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม เมื่อ: 30 มีนาคม 2567 14:04:12


“ราชกิจจานุเบกษา”
เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม

ราชกิจจานุเบกษา” เป็นประกาศของทางราชการ จัดพิมพ์ขึ้นฉบับแรกเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๐๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นเรียกว่าหนังสือพิมพ์หลวง พิมพ์ที่โรงอักษรพิมพการในพระบรมมหาราชวัง เผยแพร่ข่าวราชการและกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ส่วนราชการร่วมกันถือปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รู้กฎหมายและเรื่องราวต่างๆ อย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน รวมถึงลดผลกระทบจากวิธีการประกาศแบบเดิมที่คัดลอกลงในกระดาษข่อยส่งไปยังหัวเมืองซึ่งไม่ทันเหตุการณ์ ส่งผลเสียต่อราชการและพระเกียรติยศ

ราชกิจจานุเบกษาจึงเป็นเอกสารสำคัญที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และการบริหารบ้านเมืองในยุคสมัยหนึ่ง ทั้งยังสะท้อนถึงวิธีการใช้ภาษา เนื้อหา และเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เป็นวิทยาการสมัยใหม่ในสยาม


ขอขอบคุณ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร (ที่มาข้อมูล/ภาพ)
69  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ซุปไก่ สูตร/วิธีทำ : ซุปร้อนๆ ได้โปรตีนจากเนื้อไก่ และแร่ธาตุ - วิตามิน เมื่อ: 30 มีนาคม 2567 13:52:52



ซุปไก่
ซุปร้อนๆ ได้โปรตีนจากเนื้อไก่ และแร่ธาตุ - วิตามิน


เครื่องปรุง    
- น่องไก่           2 น่อง
- มะเขือเทศ (หั่นเป็นสองหรือสี่ชิ้น)     1 ผล
- หอมหัวใหญ่ (หั่นชิ้น หรือแบ่งครึ่ง)         ½ หัว
- รากผักชี                 1 ราก
- ผงปรุงรส                 2 ช้อนชา
- น้ำตาลกรวด       ¼ ช้อนชา
- เกลือ       ¼ ช้อนชา
- ซีอิ๊วขาว       1 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วญี่ปุ่น                 ½ ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
   1. ล้างไก่ให้สะอาด สับชิ้นใหญ่ (น่องละ 3 ส่วน) นำใส่หม้อ
   2. ใส่ส่วนผสมและเครื่องปรุงทั้งหมด เติมน้ำสะอาดพอท่วม ยกขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ
   3. หมั่นช้อนฟองทิ้ง เคี่ยวจนเนื้อไก่นุ่ม ตักใส่ถ้วยเสิร์ฟ






"Segoe Print" : 800/22
70  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดมังกรฯ (วัดเล่งเน่ยยี่) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เมื่อ: 30 มีนาคม 2567 13:30:25


วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ย่านเยาวราช ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ นักแสวงบุญมักมาขอพรเพื่อสิริมงคล สะเดาะเคราะห์สำหรับผู้ที่เกิดปีชงในแต่ละปี

วัดนี้ มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า "วัดเล่งเน่ยยี่" เพราะคำว่า "เล่ง" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า มังกร คำว่า “เน่ย” แปลว่า ดอกบัว และคำว่า “ยี่” แปลว่า วัด ชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ "วัดมังกรกมลาวาส" พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๓๐

วัดนี้ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ใช้เวลาก่อสร้าง ๘ ปีกว่าจะแล้วเสร็จ มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ

จากประตูทางเข้า เข้าไปจะถึงวิหารท้าวโลกบาลทั้ง ๔ มีเทวรูปเทพเจ้า ๔ องค์ (ข้างละ ๒ องค์) ในชุดนักรบจีนและถืออาวุธและสิ่งของต่างๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม เจดีย์ ชาวจีนเรียกว่า "ซี้ไต๋เทียงอ้วง" หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครอง ทิศต่างๆ ทั้ง ๔ ทิศ ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ทั้งหมด ๓ องค์ หรือ "ซำป้อหุกโจ้ว" พร้อมพระอรหันต์อีก ๑๘ องค์ หรือที่เรียกว่า "จับโป๊ยหล่อหั่ง"

ทางด้านขวามีเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ "ไท้ส่วย เอี๊ยะ" เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา "หั่วท้อเซียงซือกง" และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ "ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ" เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ "ไต่เสี่ยหุกโจ้ว" พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ "ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว"ซึ่งคล้ายกับพระมหากัจจายนะ "กวนอิมผู่สัก" (หรือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์) "แป๊ะกง" และ "แป๊ะม่า" รวมเทพเจ้าในวัด จะมีทั้งหมด ๕๘ องค์



ซำป้อหุกโจ้ว หรือ พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์
เป็น พระประธานประจำวัดมังกรกมลาวาส ประดิษฐานภายในอุโบสถของวัดเล่งเน่ยยี่
(ซำ แปลว่า ๓ , ป้อ แปลว่า รัตน และ ฮุกโจ้ว แปลว่า พระพุทธเจ้า)




71  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / พิธีทศระ : ภาพฮินดู เมื่อ: 29 มีนาคม 2567 11:18:44


พิธี ทศระ

พิธี ทศระ เป็นพิธีสำคัญของฮินดู ถือว่าเป็นพิธีของพระมหากษัตริย์ และทำกันอย่างมโหฬาร

วันพิธีมีในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนอัศวัน หรือ อาศวยุธ (เดือน ๑๑) ถือว่าวันนี้เป็นวันที่พระทุรคาได้ฆ่ายักษ์มหิษาสูร และเป็นวันที่พระรามได้ชัยชนะทศกัณฐ์แล้วยกทัพกลับอโยธยา

รายละเอียดของพิธีมีมากมาย สรุปย่อๆ เริ่มด้วยสมโภชเครื่องราชูปโภค ช้างต้น ม้าต้น ราชรถ พระแสงศัสตราวุธต่างๆ ฯลฯ เดินขบวน ช้างเครื่อง ม้าเครื่อง พลทหาร ฯลฯ ผ่านหน้าที่นั่งถวายตัว เสร็จแล้วพระราชทานสิ่งของแก่พวกพราหมณ์  ตอนบ่ายตั้งกระบวนแห่ที่หน้าพระราชวัง เสด็จทรงช้างพระที่นั่งออกประตูวัง เจ้าพนักงานช้างนำ ลั่นกลองพิไชยเภรี  ขบวนมโหฬารเคลื่อนจากพระราชวังไปยังทุ่งนอกพระนครที่จัดไว้เป็นมณฑลพิธี มีต้นศมีพร้อมทั้งเครื่องบูชาที่ต้นศมี มีกิ่งไม้ชนิดหนึ่งพร้อมทั้่งใบ เรียกว่า อาปตะ (ชื่อละตินเรียก Bauhinia tomentosa ตรงกับชงโค) ผูกไว้รอบใบชงโคนั้น สมมุติแทนทองคำ (ชงโคเป็นพวกปาริชาตที่กล่าวข้างต้น คงจะสมมุติเป็นไม้กัลปพฤกษ์ที่นึกเอาทองเอาเงินอะไรก็ได้) ถึงมณฑลพิธี พระมหากษัตริย์เสด็จลงจากช้างพระที่นั่งไปทำพิธีบูชาที่ต้นศมี เสร็จแล้วชักพระแสงออกฟันผลฟักทองแทนฟันสัตว์ที่ทำกันมาแต่สมัยโบราณ จากนั้นพวกเสนาอมาตย์ราชบริพารก็เข้าแย่งเก็บใบชงโคที่สมมุติเป็นทองคำนั้น นับเป็นจบพิธี  พระมหากษัตริย์ทรงช้างกลับคืนเข้าพระนคร เมื่อถึงพระราชวัง โปรดพระราชทานเครื่องยศขุนนางตามยศฐาน์บรรดาศักดิ์อีกครั้งเป็นเสร็จการ  

ในสมัยโบราณ การออกรณรงค์สงครามหรือออกปราบศัตรูหมู่ร้าย ถือเอาวันทศระนี้เป็นวันยาตราทัพ พิธีทศระดังกล่าว ตรงกับคำให้การของพราหมณ์ชื่อ อจุตนันนำ ที่เข้ามาในรัชกาลที่ ๓ เล่าถึงเมืองพาราณสีตอนหนึ่งว่า "เดือน ๑๑ พระราชพิธีชื่อว่า อาสุชะวิทานำ ขึ้น ๕ ค่ำ พระมหากษัตริย์และทหารชำระอาวุธแล้วแต่งเครื่องบูชาทำขวัญอาวุธ ที่ตั้งอยู่ในศีล ไม่ฆ่าสัตว์นั้น เอาอาวุธไปฟันต้นมะพร้าว ที่ไม่อยู่ในศี่ลนั้น เอาอาวุธไปฟันโคกระบือ ลองอาวุธ แล้วทหารนำไปสำแดงแผลงอาวุธถวายพระมหากษัตริย์หน้าพระที่นั่งพร้อมๆ กัน  ในขณะนั้น ชาวเมืองที่มีทรัพย์ ก็เอาเงินและทองไปถวายพระมหากษัตริย์ตามมากแลน้อย ที่ไม่มีทรัพย์ ได้แต่ดอกไม้ไปถวาย พระมหากษัตริย์สั่งเสนาบดีให้พิจารณาดูสุข ทุกข์ ของราษฎร แล้วสั่งให้ตระเตรียมทหาร ไพร่พลรบให้พร้อมสรรพ"

อีกตอนหนึ่งว่า "เดือน ๑ พระราชพิธีชื่อ มิคะศีระวิทานำ วันขั้น ๕ ค่ำ เอาธงใหญ่สำหรับเมืองปักไว้แปดทิศพระนคร แต่งเครื่องพลีกรรม บวงสรวงพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เป็นเทวดารักษาพระนคร ๑๐ วัน  ครั้น ณ วันเป็นคำรบ ๑๐ ทหารถืออาวุธขึ้นขี่ช้างขี่ม้า ลองเชิงเล่นหน้าพระที่นั่งพระมหากษัตริย์ แล้วจึงถอนธง ถ้าศึกสงครามจะไปตีบ้านใดเมืองใด ก็ให้ยกไปในเดือนนั้น"

ในอินเดียปัจจุบันนี้ พิธีทศระก็ยังเป็นพิธีสำคัญของพวกฮินดูท้่วไป แคว้นทางอินเดียเหนือหลายแคว้น มีมหาราชาที่มีเชื้อสายสืบเนื่องกันมาจากกษัตริย์สุริยวงศ์ และจันทรวงศ์หลายองค์ เช่น มหาราชาโยธปุระ สืบเนื่องมาจากพระรามที่ครองอโยธยา  มหาราชาไชยปุระ สืบเนื่องมาจาก พระกุศ โอรสพระรามที่ครองสาวัตถี  มหาราชาไชยสัลเมระ สืบเนื่องมาจากพระกฤษณะจันทรวงศ์  มหาราชาชากโรลิ ก็สืบเนื่องมาจากพระกฤษณะจันทรวงศ์ (แคว้นเหล่านี้ รวมอยู่ในแว่นแคว้นราชปุตน์) ล้วนมีพิธีทศระเป็นพิธีหลวง ทำกันใหญ่โตมโหฬาร มีมหรสพทั่วไป มีฟ้อนรำที่เรียกว่า รามลีลา มีการเล่นมวยปล้ำและการต่อสู้แบบกระบี่กระบองของเรา ทางอินเดียใต้ มหาราชาไมโสร์ก็ทำเป็นงานใหญ่เช่นเดียวกัน

72  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 29 มีนาคม 2567 10:32:49


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มทรงเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองบ้านเมือง โปรดให้ตั้งกระทรวงเสนาบดี ซึ่งแต่ก่อนมีเพียง ๗ กระทรวง เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ กระทรวง และเปลี่ยนตัวเสนาบดีบางกระทรวง ตัวฉันก็โปรดให้ย้ายจากตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการ ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในคราวนั้น เสนาบดีต่างกระทรวงต่างจัดการในกระทรวงของตนให้เจริญทันสมัย การงานในกระทรวงต่างๆ มีมากขึ้น และทำละเอียดกว่าแต่ก่อน ทั้งมีการคิดจัดใหม่เพิ่มขึ้นเนืองๆ ต้องการคนรับราชการในกระทรวงต่างๆ มากขึ้น เสมียนตามกระทรวงซึ่งมีอยู่แต่ก่อนหย่อนความรู้ ไม่สามารถจะทำการงานตามระเบียบใหม่ได้ทันกับการที่เปลี่ยนแปลง เสนาบดีเจ้ากระทรวงจึงต้องแสวงหาคนที่ได้เล่าเรียนมีความรู้ เช่นนักเรียนที่ได้รับประกาศนียบัตรจากโรงเรียนต่างๆ มาเป็นเสมียน ต่อมาเมื่อเสมียนเหล่านั้นทำการงานดีมีความสามารถ เจ้ากระทรวงก็กราบบังคมทูลขอให้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นขุนนางมีตำแหน่งในกระทรวงตามคุณวุฒิ เป็นเช่นนั้นมาราวสัก ๕ ปี ดูเหมือนจะเป็นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวตรัสปรารภแก่ฉัน ว่าขุนนางที่เป็นขึ้นใหม่ๆ ในชั้นนี้ไม่ใคร่ทรงรู้จัก แต่ก่อนมาลูกผู้ดีที่จะทำราชการย่อมถวายตัวเป็นมหาดเล็กตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ในเวลาเป็นมหาดเล็ก ได้เข้าเฝ้าแหนรับราชการอยู่ในราชสำนัก ทรงรู้จักแทบทุกคน บางคนก็ได้เป็นนายรองและหุ้มแพรรับราชการในกรมมหาดเล็กก่อน แล้วจึงไปเป็นขุนนางต่างกระทรวง ขุนนางที่ไม่ได้เคยเป็นมหาดเล็ก เช่นพวกที่ขึ้นจากเป็นเสมียนตามกระทรวงมีน้อย แต่เดี๋ยวนี้ขุนนางขึ้นจากเป็นเสมียนตามกระทรวงเป็นพื้น ไม่เคยเป็นมหาดเล็กจึงไม่ทรงรู้จัก (บางทีกระทรวงมหาดไทยของฉันเอง จะเป็นเหตุให้ทรงพระราชปรารภ ด้วยกำลังจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองสมุหเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ ขอคนมีความรู้ออกไปรับราชการตามหัวเมือง ฉันต้องหาคนจำพวกนักเรียนส่งไปปีละมากๆ เมื่อคนเหล่านั้นคนไหนไปทำการงานดีมีความสามารถถึงขนาด ฉันก็กราบบังคมทูลขอให้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางตามธรรมเนียม จำนวนคนรับสัญญาบัตรขึ้นใหม่สังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทยมากกว่ากระทรวงอื่นๆ แต่ข้อนี้ฉันยังไม่ได้คิดเห็นในเวลานั้น) เมื่อได้ฟังพระราชปรารภแล้ว ฉันจึงมาคิดใคร่ครวญดู เห็นว่าประเพณีโบราณซึ่งให้ผู้ที่จะเป็นขุนนางถวายตัวเป็นมหาดเล็กเสียก่อนนั้น เป็นการดีมีคุณมาก เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงรู้จัก ย่อมเป็นปัจจัยให้ทรงพระเมตตากรุณาและไว้วางพระราชหฤทัย ส่วนตัวผู้เป็นข้าราชการ เมื่อได้รู้จักและทราบพระราชอัธยาศัยพระเจ้าแผ่นดิน ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดความจงรักภักดี และยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก เพราะมหาดเล็กได้เข้าสมาคมชั้นสูง มีโอกาสไปศึกษาขนบธรรมเนียมและฝึกหัดกิริยามารยาทกับทั้งได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ตลอดจนได้คุ้นเคยกับเพื่อนมหาดเล็กซึ่งจะไปรับราชการด้วยกัน มีโอกาสที่จะผูกไมตรีจิตต่อกันไว้สำหรับวันหน้า ว่าโดยย่อเห็นว่าประเพณีที่เป็นประโยชน์อันน่าจะรักษาไว้ หาควรปล่อยให้สูญเสียไม่ เมื่อคิดต่อไปว่าจะคิดแก้ไขด้วยประการใดดี เห็นว่าจะกลับใช้ประเพณีเหมือนอย่างเดิมไม่เหมาะกับราชการในสมัยนั้น ซึ่งต้องการคนที่ได้เล่าเรียนมีความรู้การงานในกระทรวงเป็นสำคัญ เป็นแต่เพียงมหาดเล็ก จะรับสัญญาบัตรเป็นขุนนางตามกระทรวง ก็ไม่สามารถจะทำการงานได้ ทางที่จะแก้ไขควรจะให้มีโรงเรียนขึ้นในกรมมหาดเล็ก ให้นักเรียนถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีโอกาสให้เข้าเฝ้าแหนให้ทรงรู้จัก ทั้งให้ศึกษาขนบธรรมเนียมในราชสำนักไปด้วยกันกับความรู้เบื้องต้นสำหรับข้าราชการพลเรือนในกระทรวงต่างๆ แล้วให้ไปสำรองราชการอยู่ตามกระทรวงเสียชั้นหนึ่งก่อน จนทำการงานได้ดีถึงขนาด จึงให้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนนาง ต่อชั้นนั้นก็จะเป็นประโยชน์ทั้งสองอย่างประกอบกัน ฉันกราบบังคมทูลความคิดเห็นเช่นว่ามา พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย เดิมมีพระราชประสงค์จะให้ฉันจัดโรงเรียนนั้นเหมือนอย่างเคยจัด “โรงเรียนสวนกุหลาบ” มาในกระทรวงธรรมการ แต่ฉันกราบบังคมทูลขอตัว ด้วยเห็นว่าโรงเรียนมหาดเล็กจะฝึกหัดข้าราชการพลเรือนทุกกระทรวง อธิบดีโรงเรียนอิสระต่างหากจากกระทรวงต่างๆ จะดีกว่า แต่จะต้องเป็นผู้ทรงเกียรติคุณในทางวิชาความรู้ถึงผู้คนนับถือ จึงจะจัดการได้สะดวก เดิมพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) ซึ่งเพิ่งเสด็จกลับมาจากประเทศอังกฤษ โดยทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาในมหาวิทยาลัยออกสฟอร์ดแล้ว เป็นอธิบดีจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่พระองค์เจ้าระพีฯ กราบบังคมทูลว่าได้ทรงศึกษาวิชานิติศาสตร์เป็นสำคัญ สมัครรับราชการทางฝ่ายตุลาการก็พอเหมาะอีกทางหนึ่ง ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้จัดการแก้ไขระเบียบศาลยุติธรรมอยู่ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เวลานั้นกระทรวงยุติธรรมยังบัญชาการแต่ศาลในกรุงเทพฯ เพราะไม่สามารถจะรับจัดการศาลยุติธรรมได้ทั่วพระราชอาณาเขต ศาลยุติธรรมตามหัวเมืองยังขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยตามประเพณีเดิม ทรงพระราชดำริว่าจะรอการจัดศาลยุติธรรมตามหัวเมือง ไว้จนกระทรวงยุติธรรมสามารถรับจัดศาลหัวเมืองได้ก็จะช้านัก จึงดำรัสสั่งให้ลงมือจัดการศาลยุติธรรมตามหัวเมืองด้วยอีกอย่างหนึ่งในกระทรวงมหาดไทย ฉันกราบทูลขอให้ตั้งต้นจัดแต่ในมณฑลอยุธยาดูก่อน จึงทรงตั้งข้าหลวงพิเศษสังกัดขึ้นในกระทรวงมหาดไทยคณะหนึ่ง ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ เป็นนายก พระยาไกรศรี (เปล่ง) เนติบัณฑิตอังกฤษ กับมิสเตอร์ เกิก แปตริก เนติบัณฑิตเบลเยี่ยม (ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพระยาอภัยราชา โรลังยัคมินส) ทั้ง ๓ คนนี้ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ มีข้าหลวงพิเศษในท้องที่อีก ๒ คน คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) สมุหเทศาภิบาลมณฑล กับพระยาชัยวิชิต (นาค ณ ป้อมเพชร) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา รวมทั้งคณะ ๕ คน เริ่มจัดการศาลหัวเมืองในครั้งนั้น การที่ทรงตั้งข้าหลวงพิเศษจัดศาลยุติธรรมตามหัวเมืองครั้งนั้น เป็นมูลของระเบียบการศาลยุติธรรม ซึ่งใช้ต่อไปถึงที่อื่นๆ ในภายหลังตลอดมา

แต่การที่จะตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต้องรอหาตัวผู้ที่จะเป็นอธิบดีอยู่ปีหนึ่ง จนถึง พ.ศ.๒๔๔๒ เจ้าพระยาพระเสด็จ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) เวลานั้นยังเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ในกรมทหารเล็กกลับจากยุโรป พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าเหมาะแก่ตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็ก ด้วยเป็นผู้มีชื่อเสียงในการเรียนวิชาความรู้มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน และได้ไปเป็นพระครูของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช อยู่ในประเทศอังกฤษหลายปี ในระหว่างนั้นตัวเองก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย นอกจากนั้นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ได้เคยรับราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย เข้าใจระเบียบราชการพลเรือนอยู่แล้ว และมีตำแหน่งในกรมมหาดเล็กด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็ก แต่โปรดให้ฉันเป็นที่ปรึกษา ตรัสว่าพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ก็เคยเป็นเลขานุการของฉันมาแต่ก่อน คงจะทำการด้วยกันได้ พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์กับฉันปรึกษากันกะโครงการที่จะจัดโรงเรียนมหาดเล็ก ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นระเบียบการดังนี้ คือ

๑. จะรับนักเรียนอายุระหว่าง ๑๕ จนถึง ๒๐ ปี และเป็นผู้ดีโดยสกุลหรือโดยฐานะอันสมควรจะถวายตัวเป็นมหาดเล็กได้ ทั้งต้องให้มีความรู้เรียนมาแต่ที่อื่น ถึงชั้นมัธยมในสมัยนั้น

๒. จะมีนักเรียนจำกัดจำนวนเพียงเท่าที่กระทรวงต่างๆ ปรารถนาหาผู้มีความรู้เข้ารับราชการ ไม่รับนักเรียนมากเกินไปจนหางานทำไม่ได้ แต่จะกวดขันในการฝึกสอนให้มีความรู้ดีกว่านักเรียนที่กระทรวงต่างๆ จะหาได้ที่อื่นในสมัยนั้น

๓. หลักสูตรของโรงเรียนจะจัดเป็น ๓ ภาค กะเวลาเรียนราวภาคละปี ภาคที่หนึ่ง เมื่อก่อนนักเรียนจะถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ให้เรียนวิชาเสมียน อันเป็นความรู้เบื้องต้นของข้าราชการเหมือนกันทุกกระทรวง เมื่อเรียนภาคที่หนึ่งสำเร็จแล้ว ถึงภาคที่สองจึงให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ฝึกสอนขนบธรรมเนียมในราชสำนักด้วยกันกับความรู้พิเศษซึ่งต่างกระทรวงต้องการต่างกัน เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ถึงภาคที่สามให้ไปศึกษาราชการในกระทรวงซึ่งจะไปอยู่ แต่ยังคงเป็นมหาดเล็ก ไปจนมีความสามารถถึงขนาดที่กำหนดไว้ในกระทรวง ได้เป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นสัญญาบัตรในกระทรวงนั้นแล้ว จึงปลดขาดจากโรงเรียน นำโครงการนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วก็เปิดโรงเรียนมหาดเล็กที่ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรีทางฝ่ายตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๔๒ นั้น

เมื่อแรกตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก กำหนดจะรับนักเรียนเพียง ๕๐ คน พอเปิดโรงเรียนแล้วไม่ช้าก็มีคนสมัครเป็นนักเรียนพอต้องการ ส่วนการฝึกสอนในปีแรกสอนแต่ภาคที่หนึ่งคือวิชาเสมียน ให้ครูหัดเสมียนในกระทรวงมหาดไทยมาเป็นผู้สอน ขึ้นปีที่สองมีนักเรียนสอบความรู้สำเร็จ ๗ คน พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงเป็นครั้งแรก คือ:-

       ๑. นายขวัญ ณ ป้อมเพชร ภายหลังได้เป็น พระยาจงรักษ์นรสีห์
       ๒. นายเลื่อน ณ ป้อมเพชร  ภายหลังได้เป็น พระยาชวกิจบรรหาร
       ๓. นายสวัสดิ์ มหากายี       ภายหลังได้เป็น พระยานครพระราม
       ๔. นายทอง จันทรางสุ       ภายหลังได้เป็น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์
       ๕. นายสว่าง จุลวิธูร     ภายหลังได้เป็น พระยาอรรถศาสตรโสภณ
       ๖. นายสงวน สตรัต     ภายหลังได้เป็น พระยาอรรถกวีสุนทร
       ๗. นายเป้า จารุเสถียร     ภายหลังได้เป็น พระยาพายัพพิริยกิจ

นักเรียนที่ถวายตัวแล้วแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก และเวลามีการงานในราชสำนักเข้าเฝ้าแหนกับมหาดเล็กเสมอ ส่วนการฝึกสอนความรู้สำหรับราชสำนักอันเป็นภาคสองนั้น ได้พระยาชัยนันท์นิพัฒน์พงศ์ (เชย ชัยนันท์) เมื่อยังเป็นจ่ารงมหาดเล็ก เป็นครูเริ่มสอนในปีที่สอง แต่การสอนความรู้พิเศษซึ่งต้องการต่างกันเฉพาะกระทรวง มีความขัดข้องด้วยยังไม่รู้ว่ากระทรวงต่างๆ จะอยากได้นักเรียนมหาดเล็กมีความรู้อย่างใดบ้าง พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ วิตกว่าถ้าต่างกระทรวงกะความรู้พิเศษต่างๆ มาให้สอนพร้อมกันหมดทุกกระทรวง โรงเรียนก็จะไม่สามารถสอนให้ได้ ในปีที่สองของโรงเรียนนั้น อยากจะลองสอนความรู้พิเศษแต่สำหรับกระทรวงเดียวดูก่อน ฉันยอมให้ตั้งต้นด้วยกระทรวงมหาดไทย ให้ครูพร้อม วาจรัต ซึ่งภายหลังได้เป็นที่พระภิรมย์ราชา เวลานั้นสอนนักเรียนอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นครูการปกครองในโรงเรียนมหาดเล็ก และคิดให้ว่าถ้านักเรียนภาคที่สอง คนไหนจะสมัครรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ให้เรียนแบบแผนการปกครองที่ในโรงเรียนเป็นภาคต้น แล้วฉันจะส่งออกไปอยู่กับสมุหเทศาภิบาลมณฑลใดมณฑลหนึ่ง เหมือนอย่างเป็นลูกศิษย์สำหรับใช้สอยในกิจการต่างๆ เพื่อให้รู้เห็นการปกครองในหัวเมืองว่าเป็นอย่างไร มีกำหนดให้ไปศึกษาอยู่ราว ๖ เดือน แล้วจึงให้เรียกกลับเข้ามาสอบความรู้ภาคที่สองในคราวเดียวด้วยกันทั้งความรู้สำหรับราชสำนักและความรู้พิเศษสำหรับกระทรวงมหาดไทย นักเรียนคนไหนสอบได้สำเร็จ การเรียนต่อไปในภาคที่สามซึ่งเรียนแต่เฉพาะราชการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยจะให้เป็นตำแหน่งผู้ตรวจการ ออกไปฝึกหัดทำการปกครองอยู่ในหัวเมืองมณฑลละ ๒ คน จนได้รับตำแหน่งประจำราชการ กราบบังคมทูลก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้แก้ไขดังว่ามา

พอสิ้นปีที่สอง ได้นักเรียนออกไปเป็นผู้ตรวจการครั้งแรกดูเหมือน ๕ คน นักเรียนมหาดเล็กซึ่งออกไปเป็นผู้ตรวจการนั้นฉันให้เรียกตามแบบโบราณว่า “มหาดเล็กรายงาน” ยังสังกัดอยู่ในกรมมหาดเล็ก และแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก เป็นแต่ออกไปรับราชการอยู่หัวเมือง ไปอยู่มณฑลไหน เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังมณฑลนั้น ต้องเข้าไปสมทบกับมหาดเล็กที่ตามเสด็จรับราชการในพระองค์ เช่นเชิญเครื่องราชูปโภค ตั้งเครื่องเสวย และถวายอยู่งานพัดเป็นต้น สังเกตดูพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็กรายงานที่ไหน ก็ทรงแสดงพระเมตตาปรานี มักทรงทักทายและตรัสเรียกใช้สอย ทรงไถ่ถามถึงการงานที่ไปทำเพื่อจะให้มีแก่ใจ เห็นได้ว่าพอพระราชหฤทัยที่ทรงเห็นผลของโรงเรียนมหาดเล็ก ว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองได้ดังพระราชประสงค์ ส่วนการฝึกหัดมหาดเล็กรายงานนั้น ฉันสั่งให้สมุหเทศาภิบาลใช้ไปเที่ยวตรวจการงานต่างๆ ตามหัวเมืองในมณฑล เพื่อให้รู้จักภูมิลำเนาและผู้คนพลเมืองอย่างหนึ่ง ให้ไปทำการในหน้าที่ปลัดอำเภอ ให้รู้วิธีปกครองติดต่อกับตัวราษฎรอย่างหนึ่ง มหาดเล็กรายงานได้เล่าเรียนและรับอบรมจากโรงเรียนมหาดเล็กมากแล้ว ไปเป็นตำแหน่งมหาดเล็กรายงานอยู่ไม่ช้ากว่าปี ก็ชำนาญกิจการถึงขนาดที่จะเป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นรับสัญญาบัตร เช่นเป็นนายอำเภอเป็นต้นแทบทุกคน แต่เมื่อแรกเป็นตำแหน่งชั้นสัญญาบัตร เป็นแต่ปลดจากโรงเรียนมหาดเล็กไปเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางอยู่สักปีหนึ่งหรือสองปี จนปรากฏว่าทำการงานได้ดีมีความสามารถสมกับตำแหน่ง จึงได้รับสัญญาบัตรเป็นชั้น “ขุน” เป็นต้นไป

เล่าถึงเรื่องตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก มีความข้อหนึ่งซึ่งฉันควรจะกล่าวไว้ให้เป็นธรรม ตัวฉันเองเป็นแต่ต้นคิดกับเป็นที่ปรึกษาช่วยแนะนำบ้าง แต่ส่วนที่จัดโรงเรียนได้ดังพระราชประสงค์ ควรนับเป็นความชอบของพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ซึ่งพยายามจัดการมาแต่ต้นจนสำเร็จ น่าเสียดายแต่ที่พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็กอยู่เพียง ๓ ปี ถึง พ.ศ.๒๔๔๖ เมื่อทรงตั้งเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์) เวลานั้นยังเป็นพระยาวุฒิการบดี เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ท่านชำนาญแต่การฝ่ายคณะสงฆ์ กราบบังคมทูลขอให้ผู้ชำนาญการศึกษาเป็นผู้ช่วย พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็ตั้งสำเร็จแล้ว พอจะหาผู้ทำการแทนพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ต่อไปได้ แต่ทางกระทรวงธรรมการไม่ทรงเห็นตัวผู้อื่น จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ย้ายไปเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ และทรงตั้งพระยาศรีวรวงศ์ (ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก อันเคยมีชื่อเสียงแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนและได้เคยไปศึกษาในยุโรป เป็นผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กแทนพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ การโรงเรียนมหาดเล็กก็เจริญมาโดยลำดับ มีจำนวนนักเรียนสำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการเพิ่มขึ้นทุกปี แต่มีผลไม่ตรงกับที่คาดไว้เดิมอย่างหนึ่ง ด้วยนักเรียนที่เรียนสำเร็จทุกภาคมักสมัครไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งนั้น ที่สมัครไปอยู่กระทรวงอื่นมีน้อย เป็นเช่นนั้นเพราะกระทรวงมหาดไทยมีตำแหน่ง “ผู้ตรวจการ” สำรองไว้ให้นักเรียนมหาดเล็กมณฑลละ ๒ คน รวมทุกมณฑลเป็น ๓๒ คน นักเรียนที่สมัครรับราชการกระทรวงมหาดไทย พอสำเร็จการเรียนก็ได้รับเงินเดือนเป็นตำแหน่งผู้ตรวจการทันที ไม่ต้องขวนขวายหาตำแหน่งแห่งที่ทำราชการ ยังมีเหตุอื่นอีกอย่างหนึ่งด้วยในสมัยนั้นกระทรวงมหาดไทยกำลังจัดการปกครองในหัวเมืองต่างๆ ต้องการคนมีความรู้ไปเป็นตำแหน่งกรมการตามหัวเมืองมาก นักเรียนมหาดเล็กที่ออกไปเป็นผู้ตรวจการ ได้ร่ำเรียนรับความอบรมดีกว่าบุคคลภายนอก ไปอยู่ไม่ช้าก็ได้เป็นกรมการชั้นสัญญาบัตร ตำแหน่งผู้ตรวจการว่างบ่อยๆ แม้นักเรียนมหาดเล็กที่เรียนสำเร็จมีมากขึ้น ก็ยังไม่พอกับที่กระทรวงมหาดไทยต้องการ แต่กระทรวงอื่นยังไม่ใคร่มาหาคนที่โรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนมหาดเล็กก็เหมือนฝึกหัดข้าราชการให้แต่กระทรวงมหาดไทย หรือว่าอีกอย่างหนึ่งโรงเรียนมหาดเล็กทำให้เกิดประโยชน์แต่ในการปกครองหัวเมือง เป็นเช่นนั้นมาสัก ๖ ปี ก็พอสิ้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อฉันเขียนนิทานนี้ลองสืบถามถึงนักเรียนมหาดเล็กครั้งรัชกาลที่ ๕ ที่ออกไปรับราชการ ได้รายชื่อผู้ที่ได้ดีถึงเป็นพระยาในรัชกาลภายหลังถึง ๓๐ คน

ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภถึงเงินที่ชาวเมืองไทย ได้เรี่ยไรกันสร้างพระบรมรูปทรงม้าถวายสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช เมื่องานรัชมงคล มีจำนวนเงินเหลือจากที่สร้างพระบรมรูปอยู่กว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ใคร่จะทรงสร้างส่ิงอนุสรณ์ซึ่งเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองตอบแทนชาวเมืองไทยด้วยเงินรายนั้น ทรงพระราชดำริว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงตั้งไว้ เป็นประโยชน์แก่การปกครองให้ชาวเมืองไทยอยู่เย็นเป็นสุข แต่ว่าประโยชน์ยังได้เพียงในการปกครองหัวเมือง ควรจะขยายประโยชน์ของโรงเรียนนั้นให้แพร่หลายไปถึงการอื่นๆ ในฝ่ายพลเรือนให้ทั่วกัน จึงโปรดให้ขยายการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน พระราชทานเงินเหลือสร้างพระบรมรูปทรงม้าให้ใช้เป็นทุน และพระราชทานที่ดินผืนใหญ่ของพระคลังข้างที่ที่ตำบลปทุมวัน รวมทั้งตึกที่สร้างไว้เป็นวังซึ่งเรียกกันว่า “วังกลางทุ่ง” สำหรับใช้เป็นโรงเรียนด้วย พนักงานจัดโรงเรียนข้าราชการพลเรือนนั้น โปรดให้มีกรรมการคณะหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดให้ตัวฉันเป็นนายก และสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เจ้าพระยาพระเสด็จฯ เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว.ลภ สุทัศน์) พระยาศรีวรวงศ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน) พระยาเทพวิทุรฯ (บุญช่วย วณิกกุล) รวม ๖ คนด้วยกันอำนวยการ ให้พระยาศรีวรวงศ์คงเป็นอธิบดีอยู่เหมือนอย่างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้ย้ายโรงเรียนจากพระบรมมหาราชวัง ไปอยู่ที่ “วังกลางทุ่ง” ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๙ เป็นต้นมา ต่อมาตัวฉันเกิดอาการป่วยเจ็บทุพพลภาพ ต้องกราบบังคมทูลขอเวนคืนตำแหน่งนายกกรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ก็ป่วยถึงอสัญกรรมในหมู่นั้น เมื่อฉันออกจากตำแหน่งนายกกรรมการแล้ว ใน พ.ศ.๒๔๕๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ขยายการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นมหาวิทยาลัย มีนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยต่อมา เรื่องประวัติโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมีดังเล่ามานี้

เรื่องนี้ ฉันเขียนแต่เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ ได้พิมพ์ฝากไว้ในเรื่องประวัติพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) เห็นเป็นอย่างเดียวกับนิทานโบราณคดี จึงคัดเอามาพิมพ์ไว้ด้วยกัน
73  สุขใจในธรรม / เอกสารธรรม / Re: "พระคติธรรม" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อ: 29 มีนาคม 2567 10:19:36




เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานได้ทรงตั้งธรรมที่ทรงแสดงแล้ว  
และวินัยที่ทรงบัญญัติแล้วให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เมื่อทรงล่วงไปแล้ว
มิได้ทรงตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นแทนพระองค์


"พระคติธรรม" สมเด็จพระญาณสังวร กรมหลวงวชิรญาณสังวร
(สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก -เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
74  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: จำนง กับ อารมณ์ - "รู้และใช้" ภาษาไทยให้ถูกต้อง เมื่อ: 28 มีนาคม 2567 15:51:47



จำนง กับ อารมณ์

          คำบางคำในภาษาไทยนั้นสะกดอย่างไรกันแน่ พจนานุกรมเป็นเครื่องมือหาคำตอบที่ถูกต้อง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

          จำนง ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ระบุว่า จำนง เป็นคำกริยา หมายถึง “ประสงค์ มุ่งหวัง ตั้งใจ (แผลงมาจาก จง)” มีอยู่บ่อยครั้งที่หลายคนสะกดผิดเป็น จำนงค์

          เจตจำนง เป็นคำนาม หมายถึง “ความตั้งใจมุ่งหมาย ความจงใจ” ในทางปรัชญา เจตจำนง เป็นคำที่บัญญัติแทนคำภาษาอังกฤษว่า will มีความหมายว่า “๑. ความจงใจ ๒. แรงปรารถนาซึ่งเป็นพลังอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้มนุษย์กระทำการต่างๆ” บางครั้งสะกดผิดเป็น “เจตจำนงค์” หรือ “เจตน์จำนง” ก็มี

          มีเกร็ดเกี่ยวกับคำว่า “จำนงค์” ซึ่งเป็นวิสามานยนามของราชบัณฑิตท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ท่านเล่าให้ฟังว่า ชื่อท่านนั้นแยกเป็น จำนะ + องค์ โดยที่คำว่า “จำนะ” นั้นแผลงมาจาก “ชำนะ” และ “ชำนะ” ก็แผลงมาจาก “ชนะ” รวมกับคำว่า “องค์” ซึ่งแปลว่า “ส่วนของร่างกาย” รวมกันแล้วแปลว่า “ผู้ชนะ”

          อีกคำหนึ่ง คือ อารมณ์ เป็นคำนาม หมายถึง สิ่งที่ยึดหน่วงจิตโดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น รูปเป็นอารมณ์ของตา เสียงเป็นอารมณ์ของหู เครื่องยึดถือเป็นจริงเป็นจัง เช่น เรื่องนี้อย่าเอามาเป็นอารมณ์เลย; ความรู้สึกทางใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้า เช่น อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย; อัธยาศัย ปรกตินิสัย เช่น อารมณ์ขัน อารมณ์เยือกเย็น อารมณ์ร้อน; ความรู้สึก เช่น อารมณ์ค้าง ใส่อารมณ์ ความรู้สึกซึ่งมักใช้ไปในทางกามารมณ์ เช่น อารมณ์เปลี่ยว เกิดอารมณ์ เป็นวิเศษ หมายถึง มีอัธยาศัย มีปรกตินิสัย เช่น เขาเป็นคนอารมณ์เยือกเย็น เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน

          อารมณ์ ในความหมายดังกล่าวมา บางครั้งสะกดผิดเป็น อารมย์ ก็มี เช่น สะกดว่า เจตนารมย์ เพราะอาจคุ้นชินกับคำว่า รื่นรมย์ ซึ่งคำ รื่นรมย์ นี้ พจนานุกรมฯ ระบุว่า เป็นวิเศษณ์ หมายถึง สบายใจ บันเทิง เช่น สวนสาธารณะปลูกต้นไม้ไว้สวยงามน่ารื่นรมย์ ส่วนคำ “อารมย์” พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ “อารมย์” เป็นคำมาจากบาลีสันสกฤต มาจาก อา (อุปสรรค) + รมย์ รวมแล้วมีความหมายเท่ากับคำว่า “รื่นรมย์” นั่นเอง



ที่มาข้อมูล : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา Office of the Royal Society
75  สุขใจในธรรม / เอกสารธรรม / Re: พุทธธรรมเพื่อชีวิตและสังคม เมื่อ: 28 มีนาคม 2567 15:22:54


i.pinimg.com (ที่มาภาพประกอบ)

อคุณํ ธนุ ญาติกุเล จ ภริยา  ปารํ นาวา อกฺขภคฺคญฺจ ยานํ
ทูเร มิตฺโต ปาปสหายโก จ       กิจฺเจ ชาเต อนตฺถจารินี ภวนฺติฯ

ความแห่งคาถา ว่า
ธนูไม่มีสาย ๑   ภริยาอยู่ในตระกูลญาติ ๑   เรืออยู่ฝั่งโน้น ๑  
รถเพลาหัก ๑   มิตรอยู่ไกล ๑   สหายลามก ๑

ทั้ง ๖ นี้ เมื่อเกิดธุระขึ้นแล้ว ใช้ประโยชน์ไม่ได้

ดูก่อนสหาย หญิงย่อมดูหมิ่นสามีด้วยฐานะ ๘ อย่าง
ดูหมิ่นเพราะความจน ๑ เพราะความเจ็บกระเสาะกระแสะ ๑ เพราะความชรา ๑ เพราะเป็นนักเลงสุรา ๑
เพราะโง่เซอะ ๑ เพราะเมา ๑ เพราะอนุวัตตามการงานไม่ทัน ๑ เพราะทำให้ทรัพย์เกิดขึ้นไม่ได้ ๑

ต่อไปนี้เป็นคาถาอีกส่วนหนึ่งแสดงเหตุผลแห่งวัตถุทั้งแปด ว่า

ทลิทฺทํ อาตุรญฺจาปิ  ชิณฺณกํ สุราโสณฺฑกํ
ปมตฺตํ มุทฺธปตฺตญฺจ     ทตฺตํ กิจฺเจสุ หาปนํ
สพฺพกามาปณิธาเนน    อวชานนฺติ สามิกํ ฯ

(ความแห่งคาถานี้เหมือนกับข้างบน)

ที่มา นิบาตชาดก (กุณาลชาดก)
76  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / ขนมกล้วยบ้าบิ่นครก : ขนมบ้าบิ่นจากเตาขนมครก เมื่อ: 28 มีนาคม 2567 14:51:50

มุมขวาของถาดขนม : ขนมบ้าบิ่นครก จากอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ผู้ขายนำสูตรขนมบ้าบิ่นผสมกับกล้วยน้าว้าสุกบด ใส่เนื้อมะพร้าวอ่อน นำไปทำให้สุกในเตาหรือเบ้าขนมครก
ขนมมีรสชาตินุ่มเหนียว หอมกล้วยน้ำว้าสุกผสมผสานกับเนื้อมะพร้าวอ่อน ... อร่อยแปลกไปอีกรูปแบบหนึ่ง



ทำทั้งขนมครกและขนมบ้าบิ่นในเตาเดียวกัน

ขนมกล้วยบ้าบิ่นครก
เนื้อนุ่มเหนียว หวาน หอมอร่อย
77  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย (จบ) : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 28 มีนาคม 2567 14:33:01


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย (จบ)


โอสถศาลา

เมื่อคราวประชุมเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่ประชุมปรึกษาตกลงกัน ว่าจะตั้งโอสถศาลา (เวลานั้นเรียก โอสถสถาน) ขึ้นตามหัวเมือง ความคิดที่จะตั้งโอสถศาลานั้น ในบริเวณเมืองหนึ่งจะให้มีโอสถศาลาแห่งหนึ่ง มีเรือนที่อยู่ของหมอ มีห้องรักษาคนไข้ และมีร้านขายยาต่างๆ รวมอยู่ด้วยกัน สร้างด้วยเงินบอกบุญเรี่ยไร ให้หมอหลวงประจำเมืองเป็นผู้จัดการโอสถศาลานั้น และให้ได้ส่วนกำไรเป็นประโยชน์ของตนด้วยในการบางอย่างที่รัฐบาลอนุญาต

การรักษาไข้ที่โอสถศาลานั้น ให้หมอหลวงใช้เวลานอกหน้าที่ คือที่ต้องไปตรวจเรือนจำและรักษาข้าราชการเป็นต้น รับรักษาไข้เจ็บให้ราษฎรที่ไปยังโอสถศาลาแต่เวลา ๓ โมงเช้า (๙ นาฬิกา) จนเที่ยงวันทุกวัน แล้วแต่ใครจะขอให้ตรวจและรักษาโรค หรือรักษาบาดเจ็บและให้ปลูกฝี ให้หมอทำให้เป็นทาน

ยารักษาโรคต่างๆ นั้นให้เป็นของตัวหมอขายเอง รัฐบาลขายเชื่อยาโอสถศาลาให้หมอเพียงเท่าทุน และหมอจะหายาอื่นไปขายด้วยก็ได้ ให้หมอบอกบุญเรี่ยไรค่ายาสำหรับรักษาคนอนาถาด้วยอีกส่วนหนึ่ง

การตั้งโอสถศาลาสำเร็จช้า ด้วยต้องบอกบุญเรี่ยไรหาทุนให้พอก่อนจึงตั้งได้ จะจัดได้กี่แห่งในสมัยเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ฉันไม่ทราบแน่ จำได้แต่ที่พระปฐมเจดียแห่งหนึ่ง ก็สำเร็จประโยชน์ดี

การบำรุงอนามัยตามหัวเมืองที่ฉันได้เคยมีหน้าที่เกี่ยวข้อง จำได้ตามที่เล่ามา ถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมาได้ ๒๓ ปี ถอยกำลังลงทนงานไม่ไหว เกิดอาการป่วยเจ็บ ก็ต้องถวายเวนคืนตำแหน่ง เป็นสิ้นหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปกครองหัวเมืองแต่เพียงนั้น.
78  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 28 มีนาคม 2567 14:28:02


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ต่อมาโปรดให้โอนราชการพลเรือนตามหัวเมือง ซึ่งแต่ก่อนแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย กลาโหม กรมท่า มารวมขึ้นกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว และรวมหัวเมืองให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล จัดการปกครองท้องที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วทรงพระราชปรารภว่ากระทรวงเสนาบดีอื่นๆ กำลังจัดระเบียบการกระทรวงที่ในกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถจะจัดการแผนกกระทรวงนั้นๆ ออกไปถึงหัวเมืองได้ แต่ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่ควรจะรอการทำนุบำรุงหัวเมืองไว้ จนกว่ากระทรวงการแผนกนั้นๆ จะสามารถออกไปจัดการได้เอง จึงดำรัสสั่งว่าการทำนุบำรุงอย่างใดซึ่งควรจะจัดตามหัวเมืองได้ ให้กระทรวงมหาดไทยลงมือจัดการนั้นไปทีเดียว อันนี้เป็นเหตุให้หน้าที่จัดการบำรุงอนามัยตามหัวเมือง มาตกอยู่ในกระทรวงมหาดไทย เพราะกรมพยาบาลในกระทรวงธรรมการเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ดังได้เล่าไว้ในนิทานเรื่องตั้งโรงพยาบาล ยังไม่สามารถจะขยายออกไปถึงหัวเมืองได้

ตามประเพณีที่จัดขึ้นใหม่ในกระทรวงมหาดไทย มีการประชุมสมุหเทศาภิบาลในกรุงเทพฯ ทุกปี จึงปรึกษาจัดการอนามัยตามหัวเมืองในที่ประชุมนั้น มีความเห็นว่าจะจัดการตามอย่างในกรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะหัวเมืองไม่มีทุนและไม่มีคนจะใช้มากเหมือนอย่างในกรุงเทพฯ จะต้องคิดหาทางอย่างอื่น และทางที่จะจัดนั้น เห็นว่าควรเอาลักษณะการตามที่เป็นอยู่ตามหัวเมืองแล้วตั้งเป็นหลัก คิดแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นโดยลำดับไป ก็ลักษณะการอนามัยที่เป็นอยู่ตามหัวเมืองทั้งปวงนั้น ถ้าพิจารณาแยกกันก็มี ๓ อย่าง ดังนี้ คือ

อย่างที่หนึ่ง คือยาสำหรับรักษาไข้เจ็บ เป็นของมีใช้อยู่ในพื้นเมืองแล้ว ความบกพร่องในเรื่องยาอยู่ที่ไม่รู้จักหรือไม่มียาดีกว่าที่จะใช้เป็นสำคัญ

อย่างที่สอง คือความรู้ที่จะใช้ยาและรักษาพยาบาลไข้เจ็บ ก็รู้กันแพร่หลายอยู่แล้ว ใครรู้มากก็เรียกว่า “หมอ” มีอยู่ทั่วไปในพื้นเมือง ความบกพร่องในเรื่องใช้ยาและรักษาพยาบาลไข้เจ็บ อยู่ที่หมอมีความรู้น้อยเพราะไม่ได้เรียนตำรับตำรา อาศัยแต่ความคุ้นเคยเป็นสำคัญ ใครเคยรักษาไข้มากก็รู้มาก ใครเคยรักษาไข้น้อยก็มีความรู้น้อย ถึงกระนั้นก็ยังสามารถรักษาไข้ที่ไม่เหลือความรู้ให้หายได้

อย่างที่สาม คือธรรมดาคนเจ็บไข้ย่อมกลัวภัยแก่ชีวิตของตน เพราะฉะนั้นถ้าเชื่อว่าใครจะช่วยชีวิตได้ก็ให้คนนั้นมารักษา ถึงผู้อื่นจะบอกว่าหมอคนไหนดี หรือยาขนานไหนดี ถ้าตัวคนไข้ หรือผู้ปกครองเช่นพ่อแม่ของคนไข้ไม่เชื่อถือ ก็ไม่ยอมกินยาของหมอคนนั้น จะบังคับขืนใจไม่ได้

เมื่อความจริงเป็นอยู่ดังกล่าวมา จึงเห็นว่าการบำรุงอนามัยควรจะอนุโลมลักษณะที่เป็นอยู่จึงจะสำเร็จประโยชน์ กระทรวงมหาดไทยกับเทศาภิบาล จึงจัดการบำรุงอนามัยตามหัวเมืองโดยทางที่กล่าวมาเป็นการหลายอย่าง ดังจะพรรณนาต่อไป



ตั้งหมอตำบล

เรื่องตั้งหมอตำบล เป็นความคิดของเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก เห็นว่าควรอาศัยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ซึ่งกำหนด ๑๐ บ้านเป็นหมู่บ้าน ๑ ให้ราษฎรเลือกกันเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ละคน รวม ๑๐ หมู่บ้านเป็นตำบล ๑ ให้พวกผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเป็นกำนันนายตำบลคน ๑ นั้น ประกอบกับความคิดในเรื่องบำรุงอนามัย คือให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเลือกหมอในตำบลนั้นคน ๑ ซึ่งเห็นว่าดีกว่าเพื่อน แล้วรัฐบาลตั้งเป็นหมอประจำตำบล มีศักดิ์เท่ากับผู้ใหญ่บ้าน สำหรับเป็นพนักงานในการอนามัยมีอยู่ทุกตำบล รัฐบาลอยากรู้อะไรในเรื่องอนามัยตำบลนั้นจะได้ไถ่ถาม หรือจะชี้แจงอะไรในเรื่องอนามัยแก่ราษฎร ก็จะได้ให้หมอตำบลเป็นผู้ชี้แจงต่อลงไป ตัวหมอที่ได้รับความยกย่องเช่นนั้น ราษฎรในตำบลก็คงมีความเชื่อถือให้รักษาไข้ได้ผลประโยชน์ขวัญข้าวค่ายามากขึ้น คงมีผู้สมัครรับตำแหน่งหมอตำบลไม่รังเกียจ ที่ประชุมเห็นชอบด้วย ให้จัดการดังว่ามาสำเร็จได้อย่างหนึ่ง จึงมีตำแหน่งหมอตำบลขึ้นแต่นั้นมา


ทำยาโอสถศาลา

ความคิดที่จะให้มียาดี สำหรับรักษาไข้เจ็บแพร่หลายไปถึงราษฎรตามหัวเมืองนั้น เห็นพร้อมกันในที่ประชุมว่าต้องมีพนักงานทำยาที่ในกรุงเทพฯ แล้วจ่ายออกไปตามหัวเมือง จึงมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือเป็นหน้าที่ของตัวฉันจะต้องจัดการเรื่องนั้น คิดดูมีปัญหาที่จะต้องตัดสิน ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ว่าจะควรทำยารักษาโรคอะไรบ้าง ข้อนี้เห็นว่าที่จะทำยารักษาโรคทุกอย่างนั้นเป็นพ้นวิสัย จะต้องเลือกทำแต่ยาบางขนานสำหรับรักษาความไข้เจ็บซึ่งชาวเมืองมักเป็นกันชุกชุม เช่นยาแก้ไข้จับและแก้โรคบิดเป็นต้น และต้องปรึกษาหมอให้เป็นผู้กะว่าควรจะทำยาแก้โรคอะไรบ้าง

ข้อ ๒ ว่ายาที่จะทำนั้นจะใช้ยาตามตำราฝรั่งดี หรือจะใช้ยาตามตำราไทยดี ในสมัยนั้นที่ในกรุงเทพฯ บุคคลพวกสมัยใหม่ แม้จนหมอที่รักษาไข้ด้วยยาไทย เชื่อคุณยาฝรั่งมีขึ้นมากแล้ว ฉันคิดเห็นว่ายาที่จะทำจ่ายไปตามหัวเมืองทำยาฝรั่งดีกว่ายาไทย เพราะเหตุใด ฉันจะขอยืมคำอธิบายของนายชื่น พุทธิแพทย์ (พระยาดำรงแพทยาคุณ) กล่าวไว้ในหนังสือดุสิตสมิทเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ มาลงไว้ในที่นี้ ให้เข้าใจชัดเจนดีกว่าอธิบายความเห็นของฉันเอง ซึ่งคิดขึ้นในสมัยนั้น

“แพทย์ยาไทย ใช้ยาที่เป็นพรรณไม้ตามพื้นเมืองมากกว่าอย่างอื่น รวมกันหลายอย่างทั้งกากด้วย และต้องกินเป็นจำนวนมากๆ นำเข้าร่างกายเฉพาะทางปากทางเดียวเท่านั้น ซึ่งกินเวลาอันนานตั้งชั่วโมง กว่ายานั้นจะออกฤทธิ์ ถ้าคนไข้ที่กินยาทางปากไม่ได้แล้ว ก็เป็นอันหมดหนทางที่จะให้ยารักษา

ส่วนแพทย์ฝรั่ง ใช้ยาที่เป็นโลหะธาตุมากกว่าที่เป็นพรรณไม้ และใช้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ คือหัวยาเท่านั้น ไม่มีกากเลย ขนาดกินก็เป็นจำนวนน้อยและเก็บไว้ได้นาน อาจให้ยาทางปากก็ได้ ทางทวารก็ได้ ทางผิวหนังก็ได้ ทางหลอดโลหิตก็ได้ ซึ่งอาจจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ภายในสองสามนาที คล้ายคนเดินทางโดยรถไฟและเครื่องบิน อาจถึงที่มุ่งหมายได้สมประสงค์ทันใจ”

นอกจากเห็นว่ายาฝรั่งรักษาโรคชะงัดกว่ายาไทย โดยอธิบายดังกล่าวมา การทำยาสำหรับแจกจ่ายให้แพร่หลาย ทำยาฝรั่งสะดวกกว่าทำยาไทยด้วย เพราะอาจจะทำเป็นยาเม็ดเล็กๆ บรรจุลงกลักหรือใส่ห่อส่งไปตามที่ต่างๆ ได้ง่าย และคนไข้กินเพียงเม็ดหนึ่งหรือสองเม็ดก็เห็นคุณ อีกประการหนึ่งยาไทยก็มีใช้กันในพื้นเมืองอยู่แล้ว แต่ยาฝรั่งเช่นยาควินินแก้ไข้จับเป็นต้น ตามหัวเมืองยังหายาก จึงตกลงว่าจะทำยาฝรั่ง

แต่ความลำบากยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง ด้วยยาฝรั่ง แม้เป็นยารักษาโรคอันเดียวกัน หมอต่างคนใช้วิธีผสมเครื่องยาต่างกัน หมอฝรั่งที่มารักษาไข้เจ็บอยู่ในเมืองไทยในเวลานั้น มีทั้งหมออังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน เยอรมัน และชาติอื่นก็มีอีก ถ้าปรึกษาแต่คนใดคนหนึ่ง คนอื่นก็อาจจะโต้แย้ง จึงเห็นว่าการที่จะทำยาของรัฐบาลดังกล่าวมา เป็นสาธารณประโยชน์สำหรับบ้านเมือง ถ้าบอกบุญแก่หมอฝรั่งทุกคนขอให้ร่วมมือกันช่วยรัฐบาลในการนั้นได้ เห็นจะเป็นการดี ฉันลองทาบทามดู หมอฝรั่งก็รับจะช่วยด้วยยินดี จึงเชิญพวกหมอฝรั่งทุกชาติ มาประชุมพร้อมกันที่ศาลาลูกขุนกระทรวงมหาดไทยวันหนึ่ง ตัวฉันนั่งเป็นนายกในที่ประชุมเอง บอกพวกหมอฝรั่งให้ทราบพระราชประสงค์ที่จะบำรุงอนามัยในบ้านเมือง และกระทรวงมหาดไทยอยากจะได้ตำรายาฝรั่งบางขนาน สำหรับรักษาไข้เจ็บที่ราษฎรมักเป็นกันชุกชุม ทำส่งไปจำหน่ายตามหัวเมือง จะขอให้หมอที่มาประชุมกันนั้นช่วยในการ ๒ อย่าง คือให้ปรึกษากันว่าควรทำยาแก้โรคอะไรบ้าง เป็นยาสักกี่ขนานอย่างหนึ่ง เมื่อเห็นว่าควรจะทำยาสักกี่ขนานแล้ว ขอให้จดเครื่องยาและส่วนที่จะผสมยานั้นๆ ให้ทุกขนานอย่างหนึ่ง เขาจะรับช่วยได้หรือไม่ พวกหมอพร้อมกันรับจะช่วยทำให้ตามประสงค์ของรัฐบาล ฉันจึงให้เขาประชุมปรึกษากันโดยลำพังพวกหมอต่อไป เขาตกลงกันแนะนำให้รัฐบาลทำยาต่างๆ ๑๐ ขนาน (หรือ ๑๒ ขนาน จำไม่ได้แน่) และกำหนดเครื่องยา กับทั้งส่วนที่จะผสม Prescription ยานั้นๆ ทุกขนาน เขียนเป็นมติลงชื่อด้วยกันทุกคนเป็นสำคัญ ให้ตำรายานั้นเป็นสมบัติของรัฐบาล ฉันรับและขอบคุณเขาทุกคนแล้วก็เป็นอันสำเร็จกิจส่วนหาตำรายา ส่วนการที่จะทำยานั้น หมออะดัมสัน Hans Adamson (ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค) เป็นเชื้อมอญไม่ใช่อเมริกัน มีแก่ใจรับจะทำให้ในชั้นแรก ณ สำนักงานของเขาที่สี่แยกเจริญกรุง จะเรียกราคาเพียงเท่าทุนและจะหัดคนที่จะผสมยาให้ด้วย จนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะตั้งที่ทำยาเองต่างหาก การที่เลือกและทำยาสำหรับส่งไปตามหัวเมือง ก็สำเร็จได้ด้วยประการฉะนี้ แต่ยังไม่สิ้นความลำบาก

ความลำบากยังมีในการที่จะให้คนนิยมใช้ยาที่ทำนั้น เพราะเป็นยาฝรั่ง ในสมัยนั้นผู้ที่เชื่อถือยาฝรั่งยังมีน้อย แม้ที่ในกรุงเทพฯ คนก็ยังรังเกียจยาฝรั่งอยู่แทบทั่วไป

มีเรื่องเล่ากันมาแต่ก่อนว่า เมื่อแรกยาควินินมีเข้ามาถึงเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งรอบรู้วิชาแพทย์ไทย ทรงทดลองและเลื่อมใสก่อนผู้อื่น แต่ก็ไม่อาจใช้โดยเปิดเผย เมื่อฉันบวชเป็นสามเณรเคยได้ยินกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัส ว่ายาเม็ดแก้ไข้ของกรมหลวงวงศาฯ ที่นับถือกันนั้น เมื่อผ่าออกดูมี “ยาขาวฝรั่ง” (คือยาควินิน) อยู่ข้างในทุกเม็ด ประหลาดที่การปลอมใช้ยาควินินยังเป็นอยู่จนเมื่อฉันคิดทำยานั้น ฉันเคยถามหมอไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งฉันรู้ว่าลอบใช้ยาควินิน ว่าไฉนจึงต้องทำเช่นนั้น แกกระซิบตอบตามตรงว่า “ยาควินินดีกว่ายาไทย แต่คนไข้ไม่ยอมกิน จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ต้องปลอมให้กินเป็นยาไทย สุดแต่ให้ไข้หายเป็นประมาณ” ถ้ามีใครทูลถามกรมหลวงวงศาฯ ก็เห็นจะตรัสตอบอย่างเดียวกัน

การที่กระทรวงมหาดไทยทำยาตามตำราฝรั่ง สำหรับจ่ายไปตามหัวเมือง จึงต้องคิดอุบายแก้ไขความรังเกียจด้วยให้เรียกชื่อยาที่ทำขึ้นใหม่ว่า “ยาโอสถศาลา” แต่ละขนานใส่กลักเล็กๆ กลักละ (ดูเหมือน) ๒๐ เม็ด พิมพ์หนังสือปิดข้างนอกกลักเอาแต่ชื่อโรคเรียก เช่นว่า “ยาแก้ไข้จับ, ยาแก้ลงท้อง, ยาแก้บิด” เป็นต้น ข้างในกลักมีกระดาษใบปลิวบอกวิธีที่จะใช้ยานั้น แล้วรวมกลักยาห่อเป็นชุดๆ มีใบปลิวโฆษณาคุณของยาโอสถศาลาสอดไปด้วย ส่งไปให้หมอตำบลเป็นผู้จำหน่าย (ดูเหมือน) ราคากลักละ ๑๐ สตางค์ จำหน่ายได้เงินเท่าใด ให้ค่าขายแก่หมอตำบลเป็นส่วนลดร้อยละ ๑๐ แม้ใช้อุบายกันคนรังเกียจอย่างนั้นแล้ว กว่าจะได้ผลดังประสงค์ก็ยังนาน เพราะเป็นของแปลก แม้หมอตำบลเองก็รับไว้จำหน่ายด้วยเกรงใจโดยมาก ตัวเองยังชอบใช้ยาสมุนไพรอยู่ตามเคย ต่อบางคนจึงทดลองใช้ยาโอสถศาลา แต่ต่อมาก็ปรากฏคุณขึ้นโดยลำดับ เมื่อยาโอสถศาลาจำหน่ายได้แพร่หลายจนเห็นว่าจะทำจำหน่ายได้ยั่งยืนต่อไป กระทรวงมหาดไทยจึงได้ตั้งสถานโอสถศาลาที่โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ แล้วรัฐบาลทำยาโอสถศาลาจำหน่ายเองสืบมา



แพทย์ประจำเมือง

แต่ก่อนมา เจ้าเมืองกรมการมักเป็นชาวเมืองนั้นเอง เจ็บไข้ก็ใช้หมอในพื้นเมืองที่เคยรักษากันมาเป็นปรกติ ครั้นเมื่อจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ส่งข้าราชการในกรุงเทพฯ ออกไปรับราชการประจำอยู่ตามหัวเมืองมากขึ้นเป็นลำดับมา ต้องปรารภถึงความปลอดภัยของข้าราชการที่ไปอยู่แปลกถิ่นตามหัวเมือง จึงให้มีหมอหลวงประจำเมืองขึ้นจังหวัดละคนหนึ่ง ให้สมุหเทศาภิบาลเลือกหาหมอที่มีความรู้พอวางใจได้ ตั้งเป็นแพทย์ประจำเมือง มีหน้าที่สำหรับรักษาข้าราชการตลอดจนครอบครัว ในเวลาป่วยเจ็บอย่างหนึ่ง ตรวจอนามัยและรักษาไข้เจ็บให้นักโทษในเรือนจำอย่างหนึ่ง ทำกิจการพิเศษอันเกิดขึ้นเนื่องกับอนามัยอย่างหนึ่ง เป็นอย่างนั้นมาจนถึง พ.ศ.๒๔๔๑ มีเหตุเกิดขึ้นเมื่อฉันไปตรวจราชการมณฑลพายัพ ฉันไปครั้งนั้นเลือกข้าราชการหนุ่มๆ ที่กำลังเป็นนักเรียนศึกษาการปกครองเอาไปใช้ ๔ คน เพื่อจะให้รู้เห็นการปกครองตามหัวเมือง เวลานั้นยังไม่มีทางรถไฟสายเหนือ จึงลงเรือพ่วงเรือไฟไปจากกรุงเทพฯ จนถึงเมืองอุตรดิตถ์ พวกนักเรียน ๔ คนนั้นไปในเรือลำเดียวกัน เมื่อพ้นเมืองพิษณุโลกขึ้นไปแผ่นดินดอนพอเดินบกได้ เขาจึงชวนกันหาคนนำทางขึ้นเดินบกแต่เวลาเช้า เที่ยวเล่นและยิงนกไปพลาง จนบ่ายจึงไปดักทางลงเรือ เพราะเรือไปทางลำน้ำอ้อมค้อมมาก เที่ยวเล่นเช่นนั้นมาหลายวัน วันจะถึงเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อพวกนักเรียน ๔ คนกลับลงเรือแล้วต่างคนต่างล้างปืนตามเคย ปืนของนักเรียนคนหนึ่งยังมีปัสตันอยู่ในลำกล้องนัด ๑ เจ้าของสำคัญว่าได้เอาออกหมดแล้ว ทำปืนลั่นถูกขาเพื่อนนักเรียนอีกคนหนึ่งใกล้ๆ ลูกปรายเข้าไปจมเนื้ออยู่ในขาทั้งหมด พอเรือไปถึง ฉันรู้ก็ตกใจจะหาหมอรักษา พระประสิทธิวิทยา (สร เทศะแพทย์) หมอสำหรับตัวฉัน เป็นหมอมีชื่อเสียงก็รักษาได้แต่ทางยา ไม่ได้หัดรักษาบาดเจ็บ สืบถามหาหมออื่นก็ได้ความว่าทั้งเมืองอุตรดิตถ์ ไม่มีใครจะรักษาได้ เขาบอกว่าหมอรักษาบาดเจ็บได้ มีแต่หมอมิชชันนารีอเมริกันอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ฉันต้องให้จัดเรือลำหนึ่งมีคนแจว ๒ ผลัดรีบพาคนเจ็บล่องจากเมืองอุตรดิตถ์แจวลงมาตลอดคืนจึงถึงหมอ แต่เดชะบุญหมอรักษาหายได้ไม่เป็นอันตราย เหตุครั้งนั้นทำให้ฉันเห็นประจักษ์ใจ ว่าคนตามหัวเมืองที่ตายด้วยบาดเจ็บเพราะไม่มีหมอรู้จักรักษาเห็นจะมีมาก จำจะต้องให้มีหมอหลวงสำหรับรักษาบาดเจ็บขึ้นตามหัวเมือง ถึงคราวประชุมเทศาภิบาล ฉันจึงเสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า แพทย์ประจำเมืองต่อไปควรต้องให้รู้จักรักษาบาดเจ็บด้วยทั้งนั้น แต่จะให้เป็นเช่นนั้นโดยเร็วไม่ได้ เพราะหมอไทยที่รู้วิชาตัดผ่ารักษาบาดเจ็บยังมีน้อย และหมอยาที่เป็นตำแหน่งแพทย์ประจำเมืองทำการดีอยู่ จะไล่ออกก็ไม่ควร จึงเห็นควรจะกำหนดแต่อย่างหนึ่งว่าผู้จะเป็นแพทย์ประจำเมืองต่อไปต้องรู้วิชาตัดผ่าด้วย เช่นแพทย์ประกาศนียบัตรของโรงเรียนแพทย์ในกรมพยาบาลจึงจะเป็นได้ ที่ประชุมเทศาภิบาลเห็นชอบด้วยลงมติดังว่านั้น แต่นั้นมากระทรวงมหาดไทยก็หาหมอประกาศนียบัตรที่เรียนตลอดหลักสูตรในโรงเรียนแพทย์มาตั้งเป็นแพทย์ประจำเมือง เป็นเหตุให้พวกหมอประกาศนียบัตรที่ต้องไปหากินด้วยการอื่น กลับหาตำแหน่งในราชการได้โดยวิชาหมอ มีคนสมัครเรียนวิชาแพทย์มากขึ้น เลยเป็นปัจจัยให้โรงเรียนแพทย์กลับรุ่งเรืองดังกล่าวมาแล้ว


ทำหนองปลูกฝีดาษ

ได้เล่ามาแล้วว่าการปลูกฝีดาษในเมืองไทย เดิมใช้พันธุ์หนองส่งมาแต่อเมริกาถึงเมืองไทยปีละครั้งหนึ่ง ต่อมาใช้พันธุ์หนองส่งมาแต่ยุโรป ๒ เดือนมาถึงครั้งหนึ่ง ถึงกระนั้นพันธุ์หนองที่ได้มาแต่ยุโรปก็มักเสียกลางทาง ใช้ได้แต่คราวละสักครึ่งหนึ่ง จึงต้องเอาหนองคนที่ปลูกฝีขึ้นงามปลูกกันต่อไป ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ นั้น ฝรั่งเศสมาตั้งสาขาปาสตุรสถาน ทำหนองปลูกฝีดาษและเซรุ่มรักษาโรคอื่นขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน เมืองไทยก็ซื้อพันธุ์หนองปลูกฝีมาแต่เมืองไซ่ง่อน เพราะอาจจะส่งมาได้ภายใน ๑๕ วันหนองก็ไม่เสียในกลางทาง แต่ได้พันธุ์หนองก็ยังไม่พอใช้ ที่โรงพยาบาลก็ยังเลิกวิธีปลูกต่อกันไม่ได้ กระทรวงมหาดไทยอยากจะทำพันธุ์หนองปลูกฝีในเมืองไทยเอง หมออะดัมสัน (ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค) แพทย์ในมิชชันนารีอเมริกันรับจะทำ จึงให้ตั้งที่ทำหนองปลูกฝีขึ้น ณ สำนักงานของหมออะดัมสันที่สี่กั๊ก ถนนเจริญกรุง เมื่อราว พ.ศ.๒๔๔๔ ทำได้ แต่พันธุ์หนองยังไม่สู้ดีเหมือนอย่างที่ส่งมาจากต่างประเทศ และยังได้น้อยไม่พอใช้ เพราะที่ทำการคับแคบนัก ถึง พ.ศ.๒๔๔๕ กระทรวงมหาดไทยได้หมอมาโนส์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการทำหนองฝีดาษเข้ามารับราชการ จึงให้ย้ายที่ทำพันธุ์หนองปลูกฝีออกไปตั้งที่เมืองนครปฐม เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ ให้หมอมาโนส์เป็นผู้จัดการ แต่นั้นก็ทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษในเมืองไทยได้พอต้องการ และดีเสมอหนองที่ทำในต่างประเทศ ไม่ต้องซื้อหามาจากที่อื่นและไม่ต้องปลูกฝีต่อกันดังแต่ก่อน การปลูกฝีก็แพร่หลายไปตามหัวเมือง ด้วยจ่ายพันธุ์หนองออกไปให้แพทย์ประจำเมืองเป็นพนักงานปลูกฝีด้วย

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ เกิดโรคฝีดาษชุกชุม คล้ายกับเป็นโรคระบาด และในสมัยนั้นการบำรุงอนามัย ได้โอนจากกระทรวงธรรมการไปเป็นหน้าที่กระทรวงปกครองท้องที่ คือกระทรวงนครบาลบำรุงอนามัยในมณฑลกรุงเทพฯ กระทรวงมหาดไทยบำรุงอนามัยตามหัวเมืองมณฑลอื่นๆ กรมพยาบาลคงเป็นแต่จัดการโรงเรียนแพทย์ กับโรงพยาบาลศิริราชซึ่งเป็นที่ฝึกสอนนักเรียนแพทย์ เป็นเช่นนั้นมาแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดโรคฝีดาษชุกชุมขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกับเสนาบดีกระทรวงนครบาล ปรึกษากันจัดการป้องกันโรคระบาดด้วยปลูกฝีชาวเมืองให้มากเท่าที่จะทำได้ ถ้าหากจะต้องใช้เงินเกินกว่าที่มีอยู่ จะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเงินส่วนพระองค์ช่วย จนพอแก่การมิให้ติดขัด เมื่อปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการปลูกฝีตามรับสั่ง กระทรวงนครบาลเห็นว่าจะต้องตั้งข้อบังคับให้พลเมืองที่ยังไม่ออกฝีดาษปลูกฝีทุกคน แล้วประกาศเรียกพลเมืองมาปลูกฝีตามข้อบังคับนั้น กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าการตั้งข้อบังคับพลเมืองนั้น จำต้องกำหนดโทษผู้ขัดขืน แม้อย่างต่ำเพียงปรับไหมก็เป็นความเดือดร้อน จะทำให้คนเกิดหวาดหวั่นเสียแต่แรก ก็การปลูกฝีนั้น ที่จริงเป็นการช่วยชีวิตของผู้ที่มาให้ปลูกนั้นเอง ซ้ำพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้หมอหลวงออกไปปลูกฝีให้เป็นทาน ก็เป็นบุญของราษฎร มีแต่เป็นคุณแก่ราษฎรอย่างเดียว ข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องทำอย่างไรให้ราษฎรรู้ความจริง ก็จะพากันมาปลูกฝีด้วยความยินดี หาต้องบังคับปรับไหมให้เดือดร้อนไม่ กระทรวงนครบาลไม่เห็นชอบด้วย คงเห็นอยู่ว่าถ้าไม่ตั้งข้อบังคับ การปลูกฝีก็ไม่สำเร็จได้ ฉันตอบว่าโดยฉันจะเห็นพ้องกับกระทรวงนครบาล กระทรวงมหาดไทยก็ไม่สามารถจะจัดการได้ตามความคิดอย่างนั้น เพราะภูมิลำเนาของราษฎรตามหัวเมืองอยู่กระจัดกระจายกัน ราษฎรชาวหัวเมืองความรู้น้อยกว่าชาวกรุงเทพฯ ถ้ามีประกาศคาดโทษคนก็เห็นจะพากันตื่น ตำรวจภูธรตามหัวเมืองก็ไม่มีมาก พอจะไปเที่ยวตรวจตราราษฎรตามบ้านช่องได้ทั่วถึง เหมือนพวกกองตระเวนของกระทรวงนครบาลในกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นต่างกระทรวงต่างทำตามที่เห็นว่าจะทำได้ในท้องที่ของตนจะดีกว่า เอาแต่ให้สำเร็จตามพระราชประสงค์เป็นประมาณ ก็ตกลงกันอย่างนั้น กระทรวงนครบาลจะจัดการอย่างไร ฉันไม่ได้เอาใจใส่สืบสวน จะเล่าแต่กระบวนการที่กระทรวงมหาดไทยจัดครั้งนั้น คือ

๑. แต่งประกาศพิมพ์เป็นใบปลิว ความว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าเกิดโรคฝีดาษขึ้นชุกชุม ทรงพระวิตกเกรงว่าราษฎรจะพากันล้มตาย ทรงพระราชดำริว่าโรคฝีดาษนั้นอาจจะป้องกันได้ด้วยปลูกฝี ถ้าใครปลูกแล้วก็หาออกฝีดาษไม่ แต่การปลูกฝียังไม่แพร่หลายออกไปถึงหัวเมือง คนจึงออกฝีดาษล้มตายกันมาก

จึงทรงพระกรุณาโปรดให้หมอหลวงออกมาปลูกฝีพระราชทานแก่ราษฎร มิให้ล้มตายด้วยโรคฝีดาษ หมอหลวงไปถึงที่ไหนก็ให้ราษฎรไปปลูกฝีเถิด จะได้ป้องกันอันตรายมิให้มีแก่ตน

๒. แล้วจัดพนักงานปลูกฝีเป็น ๔ พวก ให้แยกกันไปปลูกฝีตามหัวเมืองมณฑลที่เกิดโรคฝีดาษชุกชุมในเวลานั้น คือมณฑลนครชัยศรีพวกหนึ่ง มณฑลราชบุรีพวกหนึ่ง มณฑลปราจีนพวกหนึ่ง มณฑลนครราชสีมาพวกหนึ่ง มณฑลอื่นที่ฝีดาษไม่ชุกชุม แพทย์ประจำเมืองก็คงปลูกฝีอยู่อย่างปรกติ

๓. วิธีที่ไปปลูกฝีนั้น ให้ไปปลูกทีละอำเภอเป็นลำดับไป เมื่อพนักงานปลูกฝีไปถึงอำเภอไหน ให้กรมการอำเภอเรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านมาชี้แจงแล้วแจกประกาศใบปลิวให้เอาไปประกาศแก่ราษฎร และปิดไว้ตามวัดอันเป็นที่ประชุมชน และให้ปรึกษากันกะที่ที่จะไปปลูกฝีตามตำบลในอำเภอนั้นกี่แห่ง แล้วกำหนดวันว่าจะไปปลูกฝีที่ตำบลไหนวันไหน ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปนัดราษฎร เมื่อถึงวันนัดพนักงานไปตั้งทำการที่วัดแห่งหนึ่งในตำบลนั้น กำนันผู้ใหญ่บ้านพาราษฎรมาให้ปลูกฝี เมื่อปลูกตำบลหนึ่งแล้วก็ย้ายไปปลูกตำบลอื่น อำเภออื่น และจังหวัดอื่นๆ ต่อไปโดยทำนองเดียวกันทุกพวก เมื่อพวกปลูกฝีปลูกแล้วให้มีสารวัตรตามไปภายหลังราว ๗ วัน ไปตรวจการที่พวกปลูกฝีได้ทำไว้ ว่าปลูกฝีได้มากหรือขึ้นดีหรืออย่างไร และพวกชาวบ้านสรรเสริญหรือติเตียนอย่างไร ด้วยมีสัญญาแก่พวกพนักงานที่ไปปลูกฝี ว่าเมื่อทำการเสร็จแล้วจะให้รางวัลตามลำดับเป็นชั้นกัน โดยความดีที่ได้ทำ คือจำนวนคนที่ได้ปลูกฝีอย่างหนึ่ง ส่วนที่ปลูกฝีขึ้นงามอย่างหนึ่ง ได้รับความชมเชยของชาวบ้านอย่างหนึ่ง ผสมกันเป็นคะแนนตัดสิน

ปลูกฝีเป็นการพิเศษครั้งนั้น เป็นการสะดวกดีทั้ง ๔ ทาง มีปรากฏในรายงานประชุมเทศาภิบาล พ.ศ.๒๔๕๖ ว่าจำนวนคนที่ได้ปลูกฝีถึง ๗๘,๗๖๘ คน ทำได้โดยมิต้องตั้งข้อบังคับปรับไหมอย่างไร



ทำเซรุ่มแก้พิษหมาบ้า

เรื่องนี้มีกรณีเกิดขึ้นในครัวเรือนของตัวฉันเองเป็นมูลเหตุ ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังจันทร์ ณ พระปฐมเจดีย์ ฉันยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตามเสด็จไปอยู่ที่เรือนบังกะโลที่พักของฉันตามเคย วันหนึ่งเวลาบ่าย พวกลูกเด็กๆ ลงไปเล่นกันอยู่ที่สนามหญ้าหน้าเรือน มีหมาบ้าตัวหนึ่งวิ่งเข้ามาในบ้าน พวกเด็กพากันวิ่งหนี แต่ลูกหญิงบรรลุศิริสาร (เรียกกันว่า หญิงเภา) หกล้มถูกหมาบ้ากัดเอาที่ขาเป็นรอยเขี้ยว ๒ แผล ตัวเองไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่าใดนัก แต่พวกผู้ใหญ่ตกใจ ฉันก็สั่งให้เที่ยวสืบหาหมอที่ชำนาญการรักษาพิษหมาบ้าแต่ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ตรัสแนะนำให้ฉันส่งไปรักษา ณ สถานปาสเตอร์ที่เมืองไซ่ง่อน ฉันก็เห็นชอบด้วยพระราชดำริ แต่ให้สืบถึงเรือที่จะรับไปได้ความว่าเรือเพิ่งออกไปเสียเมื่อวันก่อน จะต้องรอคอยเรืออีก ๑๕ วันจึงจะไปได้ ก็ต้องให้หมอซึ่งหามาได้คนหนึ่งรักษาตามวิธีไทย ให้กินยา ทายา รักษาไม่กี่วันแผลก็หาย ตัวเด็กก็สบาย แจ่มใสเหมือนแต่ก่อน จนเชื่อกันว่าหมอคนนั้นสามารถรักษาหายแล้ว เมื่อกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ก็เป็นปรกติดีมาสัก ๓ เดือน จนเกือบลืมเรื่องที่เธอถูกหมาบ้ากัด อยู่มาวันหนึ่งหญิงเภาตื่นนอนขึ้นเช้าตัวร้อน ก็สำคัญกันว่าเป็นไข้ ให้กินยาตามเคย แต่มีอาการแปลกอย่างหนึ่งในเวลาเมื่อเธอรับถ้วยยาหรือถ้วยน้ำจะกินมือสั่นทั้งสองข้าง ต่อเมื่อวางถ้วยแล้วมือจึงหายสั่น อาการเช่นนั้นทั้งตัวฉันและใครๆ ที่อยู่ด้วย ไม่มีใครเคยเห็น แต่ก็ยังไม่ตกใจ ด้วยอาการอย่างอื่นไม่ผิดกับไข้สามัญ ครั้นสายเข้าเวลาจะกินยาหรือกินน้ำ มือยิ่งสั่นหนักขึ้นจนถึงตัวสั่น ฉันก็แปลกใจ จึงให้รับหมอปัว (ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาอัศวินอำนวยเวช) มาดู พอหมอปัวเห็นอาการก็หน้าเสีย เรียกฉันไปนั่งด้วยกันให้ห่างคนอื่น แล้วบอกว่าเป็นโรคกลัวน้ำด้วยพิษหมาบ้า ไม่มีทางที่จะรักษาให้หายเสียแล้ว ฉันได้ฟังยังไม่อยากเชื่อ ด้วยเวลานั้นอาการคนไข้ทรุดลงเพียงต้องลงนอนยังพูดจาได้ แต่อาการที่ฉันไม่เคยเห็น เป็นกิริยาโรคกลัวน้ำตรงกับตำราฝรั่งอย่างหมอปัวว่าก็จนใจ ฉันบอกผู้อื่นเพียงว่าเป็นโรคเกิดจากพิษหมาบ้ากัด มิได้ให้ใครรู้ว่าจะไม่รอด เพราะเกรงจะเกิดโศกศัลย์พาให้คนไข้ใจเสีย เพิ่มทุกขเวทนาหนักขึ้น แต่อาการโรคทรุดเร็ว พอถึงเวลาดึกค่ำวันนั้นหญิงเภาก็สิ้นชีพ เจ็บอยู่ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง แต่ไม่มีอาการเช่นเคยได้ยินเขาเล่ากัน ว่าคนจะตายด้วยพิษหมาบ้า มักร้องเป็นเสียงเห่าหอน หรือน้ำลายฟอดฟูมปากอย่างหนึ่งอย่างใด

เมื่อหญิงเภาถูกหมาบ้ากัดที่พระปฐมเจดีย์ เป็นเวลาไปตามเสด็จ คนรู้กันมาก ครั้นเธอสิ้นชีพจึงมีคนสงสาร จนเป็นเรื่องโจษกันกันแพร่หลาย มีมิตรของฉันคนหนึ่งเข้าใจว่าตัวหมอมาโนส์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ทำหนองปลูกฝีดาษ มาพูดแก่ฉันว่าที่จริงหญิงเภาไม่ควรตาย เพราะหมอปาสเตอร์พบวิธีรักษาโรคกลัวน้ำได้แล้ว ถ้าหญิงเภาอยู่ในยุโรปหรือแม้เพียงอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน อันมีสถานปาสเตอร์ ก็จะรักษาหายได้โดยง่าย ที่ต้องตายเพราะไม่มียาในกรุงเทพฯ เท่านั้น เขาเห็นว่าถ้าหากฉันคิดตั้งสถานปาสเตอร์ที่ในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุที่ลูกตายครั้งนั้น คงจะสำเร็จได้เพราะคนสงสารมีมาก คนที่หวาดหวั่นเกรงจะเป็นเช่นเดียวกันในครอบครัวของเขาก็มี และการที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ก็ไม่ยากหรือจะต้องสิ้นเปลืองเท่าใดนัก ถ้าฉันบอกบุญเรี่ยไรในเวลานั้น คงจะได้เงินพอแก่การ ฉันเห็นชอบด้วย เพราะเมื่อฉันไปยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เคยไปดูสถานปาสเตอร์ที่เมืองปารีส ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นไม่ช้านัก ตัวหมอปาสเตอร์เองเป็นผู้นำฉันเที่ยวดูทั่วทั้งสถาน และให้ดูวิธีทำเซรุ่มตั้งแต่เจาะหัวกระต่าย เอาพิษหมาบ้าฉีดลงในสมอง ให้พิษเกิดในตัวกระต่ายก่อน เมื่อกระต่ายตายด้วยพิษนั้นแล้ว เอาเอ็นในซากกระต่ายมาผสมยาทำเป็นเซรุ่ม และให้ฉีดยารักษาเด็กคนหนึ่งซึ่งถูกหมาบ้ากัดให้ฉันดู ฉันได้เคยเห็นแล้วดังว่ามา และตัวหมอมาโนส์เองก็ได้เคยไปศึกษาในปาสเตอร์สถานที่เมืองปารีส รู้วิธีทำเซรุ่มไม่ต้องหาใครมาใหม่ คิดดูการที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ในกรุงเทพฯ มีเพียงหาที่ตั้งอย่างหนึ่ง หาเครื่องใช้อย่างหนึ่ง ส่วนคนที่เป็นลูกมือทำการ ก็อาจจะใช้พวกทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษได้ ด้วยรวมการทำเซรุ่มทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ต้องเพิ่มเติมผู้คนขึ้นเท่าใดนัก ฉันจึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต แล้วประกาศบอกบุญเรี่ยไรเงินทุนที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ที่ในกรุงเทพฯ ก็มีผู้ศรัทธาช่วยกันมากทั้งไทยและพวกชาวต่างประเทศ ฉันได้อาศัยพระยามหาอำมาตย์ (เส็ง วิริยะศิริ) กับหมอมาโนส์เป็นกำลังในครั้งนั้น ในไม่ช้าก็ได้เงินพอแก่การ จึงตั้งปาสเตอร์สถานขึ้นที่ตึกของกระทรวงมหาดไทยที่ริมโรงเลี้ยงเด็ก และย้ายสถานทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษ ณ พระปฐมเจดีย์เข้ารวมกัน เมื่อจัดการเตรียมพร้อมแล้ว ได้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดสถานปาสเตอร์ (เวลานั้นเรียกว่า ปัสตุรสภา) เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ต่อมาหมอมาโนส์เกิดอาการป่วยเจ็บต้องลาออก แต่ก็ได้หมอโรแบต์ฝรั่งเศสมาแทน ทรงคุณวุฒิและมีใจรักงานเช่นเดียวกับหมอมาโนส์ ก็อาจรักษาโรคพิษหมาบ้าสำเร็จประโยชน์ได้ในเมืองไทยแต่นั้นมา และสถานปาสเตอร์นั้น ต่อมาภายหลังโอนไปขึ้นอยู่ในสภากาชาด หมอโรแบต์ก็ย้ายตามไปทำการเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นโดยลำดับมาจนขยายใหญ่โต เป็นสถานเสาวภาอยู่บัดนี้

ที่สถานเสาวภา มีรูปหม่อมเจ้าหญิงบรรลุศิริสาร อย่างปั้นครึ่งตัวหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ตั้งอยู่รูปหนึ่ง เป็นอนุสรณ์ซึ่งเธอเป็นมูลเหตุให้เกิดสถานปาสเตอร์ในเมืองไทย ฉันไปเห็นรูปนั้นเมื่อใด ก็นึกว่าเธอคงไปสู่สุคติภูมิ เพราะชีวิตของเธอช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ในเมืองไทยได้มาก



79  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / Re: "ลักษณะของดอกไม้" : การจัดดอกไม้ คืออะไร? เมื่อ: 28 มีนาคม 2567 14:06:20

ภาพระบายสีน้ำ

ลักษณะของดอกไม้

ดอกไม้ที่เราเลือกซื้อมาใช้นั้นจะมีให้เลือกมากมายหลายชนิด หลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับนักจัดดอกไม้จะแบ่งลักษณะดอกไม้ออกเป็น ๔ รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

๑. Line Flowers คือ ดอกไม้ ใบไม้ที่มีลักษณะเป็นแนว หรือเป็นเส้น ซึ่งดอกไม้ ใบไม้ เหล่านี้จะเป็นดอกใบ หรือกลุ่มช่อดอกที่เรียงขึ้นไปตามความยาวของก้านดอก เช่น กลาดิโอลัส กกธูป ซ่อนกลิ่น ลีอาทรีส เดฟีเนี่ยม แบกราส สติลกราส เป็นต้น   ด้วยลักษณะของความเป็นเส้นที่เด่นชัดของ Line Flowers นี้เอง จึงมักถูกน้ามาจัดวางให้เป็นตัวก้าหนดโครงร่างของรูปทรงการจัดดอกไม้ในภาชนะต่างๆ โดยเฉพาะก้าหนดความสูงและความกว้างของรูปทรง นอกจากนี้ยังมีเส้นที่เด่นชัดมากๆ สามารถที่จะน้ามาปักให้เป็นตัวน้าสายตาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

๒. Form Flowers คือ ดอกไม้ ใบไม้ที่มีรูปทรงที่เด่นชัดมีกลีบไม่มาก ไม่มีความซับซ้อนในรูปทรงมากจนเกินไป เช่น ดอกหน้าวัว ดอกลิลลี่ ดอกแคทรียา ใบไม้ตระกูลพิโลเดนดรอน เป็นต้น  ลักษณะที่เด่นชัดของรูปทรงของดอกไม้ ใบไม้ ประเภทนี้จึงมักถูกน้ามาปักให้เป็นจุดเด่นหรือ Focal Point ในการจัดดอกไม้ลงในภาชนะ

๓. Mass Flowers คือ ดอกไม้เดี่ยวที่มีกลีบซ้อนมากๆ และจะมองดูมีน้้าหนัก เช่น เยอร์บีร่า คาร์เนชั่น กุหลาบ เป็นต้น ดอกไม้ประเภทนี้จะมีมากในท้องตลาด เป็นดอกไม้ที่ท้าหน้าที่ในการเติมเต็มให้กับการจัดดอกไม้สามารถสร้างความสมดุลและความแตกต่างในชิ้นงานแต่ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างให้เกิดความกลมกลืนให้กับชิ้นงานที่จัดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  นอกจากนี้ในบางโอกาสที่เราไม่สามารถจัดหาดอกไม้ประเภท Form Flowers มาใช้ได้นั้น เราสามารถ Mass Flowers มาใช้แทนได้โดยการจับรวมกลุ่มในลักษณะของ Clustering ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มของสิ่งเล็กๆ ให้เกิดพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นท้าให้เกิดความเด่นชัดในตัวเองมากขึ้น

๔. Filler Flowers คือ ดอกไม้ ใบไม้ ที่ใช้แต่งเติม หรือเสริมแซมเข้าไปในแจกันที่เราจัดขึ้นมาเพื่อให้เกิดความนุ่มนวลของสีและผิวสัมผัส ดอกไม้ ใบไม้ ประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นดอกเล็กๆ ฝอยๆ เช่น ยิปโซฟิลล่า สร้อยทอง แคสเปียร์ เล็บครุฑผักชี หลิวทอง ใบโปร่งฟ้า ปริกแคระ แว็กซ์ เป็นต้น เนื่องจากลักษณะของดอกไม้ ใบไม้ประเภทนี้จะมีลักษณะเล็กๆ เมื่อใช้ปริมาณมากจนเกินไปจะท้าให้เกิดความรกรุงรัง เราสามารถที่จะน้าดอกไม้ใบไม้ประเภทนี้มาปักให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันก็จะสามารถเพิ่มความเด่นชัดและลดความรุงรังได้เป็นอย่างดี

ปัญหาของนักจัดดอกไม้ที่มักพบกันอยู่เสมอคือ ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะน้าดอกไม้ประเภทใดมาใช้ในการจัดแจกันสักหนึ่งแจกัน บางท่านอาจเคยได้ยินค้าว่า “นักจัดดอกไม้ที่ดี มีอะไรก็ต้องจัดได้” แต่ถ้านักจัดดอกไม้ที่ดีมีโอกาสที่จะเลือกดอกไม้ที่จะน้ามาใช้จัด ควรเลือกดอกไม้ให้ครบทั้งสี่ประเภท มาใช้ในการจัดแจกันหนึ่งแจกัน ซึ่งจะท้าให้สามารถจัดดอกไม้ได้อย่างลงตัวง่ายขึ้น



ขอขอบคุณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฎเพชรบูรณ์ (ที่มาข้อมูล)
80  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: รองเท้านารีฝาหอย - พืชหายากในไทย เมื่อ: 24 มีนาคม 2567 13:22:49


รองเท้านารีฝาหอย : ภาพระบายสีน้ำ

รองเท้านารีฝาหอย
พืชหายากของประเทศไทย

รองเท้านารีฝาหอย
ชื่อพฤกษศาสตร์       Paphiopedilum bellatulum (Rchb. f.) Stein
วงศ์    ORCHIDACEAE
ชื่ออื่น   รองเท้านารีเหลืองพังงา เอื้องฝาหอย


รองเท้านารีฝาหอย (อังกฤษ: Egg-in-a-nest Orchid) เป็นกล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ รองเท้านารีฝาหอยเป็นกล้วยไม้ดิน ลำต้นสั้นและแตกกเป็นกอใหญ่ ออกดอกเดี่ยว ค่อนข้างกลม  กลีบบนและกลีบในสีขาวเป็นมัน ค่อนข้างหนา ออกทแยงกัน ๔-๖ ใบ รูปขอบขนาน ตรงกลางเป็นร่องยาวแบบรางน้ำ ผิวใบด้านบนสีเขียว มีลายสีครีมทั่วไป ด้านล่างสีม่วงแดง ดอกใหญ่ บานเต็มที่กว้าง ๖-๙ เซนติเมตร ออกเป็นช่อที่ปลาย ๑-๒ ดอก ก้านช่อตั้งตรง จากแกนลำต้น ยาว ๕-๙ เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาว มีขนละเอียด แผ่นกลีบมีจุดลายสีม่วงคล้ำ กลีบกระเป๋าสีขาวล้วนหรือมีลายจุดสีม่วงอ่อนประปราย

เขตกระจายพันธุ์และถิ่นกำเนิด พบตามดอยสูงทางภาคเหนือ เช่น ดอยอินทนนท์ และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยขึ้นอยู่สูง ๗๐๐-๑.๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ในป่าดิบภูเขา โดยขึ้นอยู่ตามรอยแตกของหินที่ปกคลุมไปด้วยมอส หรือตามบริเวณป่าไผ่ที่มีการทับถมของใบไผ่ และมีความชื้นสูง ได้ร่มเงาจากต้นไม้ โดยจะได้รับแสงที่ทะลุผ่านตามช่องของใบไม้ และจะได้รับแสงมากขึ้นเมื่อป่ามีการผลัดใบในหน้าหนาว  และยังอยู่ตามซอกเขาหินปูนบนเกาะและตามฝั่งทะเล จนถึงระดับความสูง ๑๕๐ เมตร ต่างประเทศพบที่พม่าฝั่งทะเลอันดามัน จีน และลาว  ออกดอกเดือนมีนาคม - พฤษภาคม และ พฤศจิกายน - ธันวาคม

สถานภาพ พืชหายากที่ใกล้สูญพันธุ์


  
800/450
หน้า:  1 2 3 [4] 5 6 ... 273
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.413 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 17 มีนาคม 2567 23:11:11