นรกตั้งอยู่ระหว่างกึ่งกลางของทั้ง ๓ จังหวัด คือ เลย ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์จากประวัติ “หลวงปู่จันทา ถาวโร” พระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ วัดป่าเขาน้อย อำเภอ วังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ท่านเล่าว่า เมื่อออกพรรษาขณะนั้น เป็นฤดูแล้ง พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านได้ไปพักอยู่ที่วัดเฉลียงลับ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
วันหนึ่ง ก็เลยตั้งใจฝึกจิตตามวิธีการที่หลวงปู่ทับสอน มีประเด็นหนึ่งตั้งสัตย์ไว้ว่าจะไม่นอน วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ข้าวก็ไม่ฉัน ทำความเพียรอยู่ในอิริยาบถ ๓ คือ เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น แล้วก็ตั้งใจมั่นอธิษฐานว่า
“ถ้านรก สวรรค์ นิพพานมีจริง ! ก็ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงทรงบันดาลให้ได้เห็นในวันนี้หรือคืนนี้ ! จะได้สิ้นสงสัยว่า พระรัตนตรัยเป็น นายะโก ผู้นำโลก คือ หมู่สัตว์ออกจากวัฏฏทุกข์ได้จริง”
จากนั้นก็ออกเดินจงกรม ก้าวขวาว่า “พุทโธ” ก้าวซ้ายว่า “ธัมโม” ก้าวขวาว่า “สังโฆ” เมื่อครบสามรอบแล้วก็ย่นคำบริกรรมเป็น ก้าวขวาว่า “พุท” ก้าวซ้าย “โธ” ทำอยู่อย่างนั้นไม่ได้กำหนดเวลา มีแต่เดินกับยืน วันยังค่ำ จนกระทั่งถึง ๖ โมงเย็น จึงหยุดไปอาบน้ำชำระร่างกาย เสร็จแล้วก็ฉันน้ำร้อน จากนั้นเวลาเกือบ ๖ โมง ๓๐ นาที แสงอาทิตย์จวนจะหมดแล้ว ก็เอากลดไปกางบนศาลา แล้วเข้าที่อธิษฐาน ตั้งใจมั่นว่า “คืนนี้จะนั่งภาวนา เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาบุญ และฝึกจิตให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจธรรมต่างๆ นรก สวรรค์ นิพพานมีไหม ? ขอให้รู้เห็นเป็นไปจะได้สิ้นสงสัย”
อธิษฐานแล้วก็ไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วก็อุทิศส่วนบุญ จากนั้นเข้าที่นั่งสมาธิ ชำระจิตให้ผ่องใส ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงให้หมดเสียสิ้น นั่งเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาวางทับมือซ้าย ทำกายให้ตรงดำรงสติให้มั่นเฉพาะหน้า บริกรรมพุทโธ เป็นอารมณ์ของสติ หายใจเข้าว่า “พุท” หายใจออกว่า “โธ”
พอจิตยึดมั่นกับพุทโธได้ไม่นาน จิตก็ปล่อยวางพุทโธ เหลือแต่ผู้รู้อยู่กับสติ พอจิตรวมลงไปนั้น จะไปถึงฐานอะไรก็ไม่ทราบ เป็นฐานใหญ่กว่าขณิกสมาธิ ที่เคยเป็นมาแล้ว จิตก็วางกาย วางลม วางขันธ์ลงถึงฐานใหญ่ แสงสว่างกระจ่างแจ้งก็เกิดขึ้น
กลางคืนเหมือนกลางวัน สว่างรุ่งโรจน์ ในขณะนั้น มีความสุขและความเยือกเย็นร่าเริงบันเทิงเกิดขึ้นอย่างกล้าแข็ง จนรู้สึกแปลกประหลาดใจ ! นั่นแหละพอลงไปถึงฐานนั้นแล้วจิตก็เสวยสุขอยู่ในที่นั้นนานพอสมควร ทีนี้ผู้รู้พูดขึ้นในหัวใจว่า “นัตถิ สันติปะรัง สุขัง ความสุขอื่นเสมอเหมือนด้วยจิตสงบไม่มี” นี่แหละพูดขึ้นมาอย่างนั้นอันนี้เป็นภวังคภพ ภวังคจรณะ ภวังค์ใหญ่กว่าเมื่อครั้งที่อยู่ อำเภอกมลาไสย อันนี้ใหญ่กว่านั้น จะเป็นอะไรเล่า ? ถ้าพูดตามศัพท์หลักธรรม ก็เรียกว่า “อุปจารสมาธิ” พูดขึ้นมาอย่างนั้นว่า นี่แหละ ! อุปจารสมาธิ สมาธิธรรมอันมั่นคงหนาแน่นนะ ! ซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นจากการตั้งใจมั่น ในการเจริญสมณธรรม
ทีนี้ผู้รู้พูดขึ้นมาอีกว่า “ความสุขนี้ยังเป็นโลกียสุขอยู่ ซึ่งไม่แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แสงสว่างนี่คือ แสงพระนิพพาน แต่ยังไม่ใช่ตัวจริง เป็นรูปเปรียบเทียบเฉยๆ ฉะนั้นอย่าเพิ่งติดสุข นักปราชญ์ พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายผู้ได้พระนิพพานนั้น เป็นผู้ทำความเพียรเวียนหาความพ้นทุกข์ไม่ติดสุขทั้งนั้น” เมื่อตั้งมั่นพอสมควรแล้วก็พิจารณาธาตุ ๔ ขั้นธ์ ๕ น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ อนิจจาตา ไม่เที่ยง มันไม่เที่ยง แปรปรวน เปลี่ยนแปลง อยู่เป็นนิจ
ตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันนี้ จากวันนี้ก็จะแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอีก “ทุกขตา” ก็เป็นทุกข์ทุกถ้วนหน้า โลกคือหมู่สัตว์ไม่ได้ตามใจหมาย ทั้งนั้น เพราะเป็นทุกข์ เพราะใจห่วง ใจยึดอนัตตา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่เราเสียสิ้น นั่นแหละพิจารณาน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ ! เห็นแจ้งประจักษ์เสมอ มันจึงจะเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยึดธาตุขันธ์ว่า ขันธ์เป็นตน ตนเป็นขันธ์ ขันธ์มีในตน ตนมีในขันธ์ ไม่ใช่หรอก !
“เป็นแต่เพียงสัมภาระปัจจัยเครื่องอาศัยชั่วคราว ไม่แน่นอน ไม่นานก็พลัดพรากจากกันไปเท่านั้น เพราะเกิดเจ็บตาย ทอดทิ้งไว้ อย่าเพิ่งสงสัยยึดมั่นอยู่เลย ยึดไว้พอเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยชั่วคราว เพื่อให้มันได้ตนได้ธรรมได้บุญกุศล มรรคผลเกิดขึ้นจากสมบัติอันนี้” แล้วก็พิจารณาอย่างนั้น อนุโลมปฏิโลมเดินหน้า ถอยหลัง ตัวเองก็รู้แจ้งชัด คนอื่นภายนอกก็รู้แจ้งชัด ทำให้สิ้นสงสัย
“อัฑฒา เจวะ ทะฬิททา จะ สัพเพ มัจจุปะรา ยะนา ทั้งจนและมี ดีและชั่ว นอกบ้านในบ้าน นอกเมือง ในเมือง ใต้น้ำบนบก ใต้ดินบนอากาศ ทุกถ้วนหน้า เกิดมาแล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลง แก่ เจ็บ ตาย ทอดทิ้งไว้ทุกถ้วนหน้าทั้งหมด” นั่นแหละ ! ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นอย่างนั้น จิตก็สังเวช สลดใจจนน้ำตาไหล เกิดความขยันหมั่นในการทำความเพียรไม่ลดละ จนกระทั่งล่วงไปถึง ตี ๒ กับ ๓๐ นาที
มีนิมิตผ่านเข้ามาเป็น นายนิรยบาล ๘ คน เดินออกมาจากบ้านเฉลียงลับ รูปร่างสูงใหญ่มหึมาขนาดมนุษย์เรา ๖ คน จึงจะเท่ากับเขา ๑ คนนะ ! ผิวเนื้อดำแดง สวมเสื้อผ้าสีแดง และมีผ้าแดงเคียนที่ศีรษะ มือถือง้าวปลายแหลมเดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ตรงหน้าห่างประมาณ ๒-๓ วาเท่านั้นท่าน คนที่เป็นหัวหน้ากล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ! พวกข้าพเจ้าทั้ง ๘ คน เป็นนายนิรยบาล มาจากเมืองนรก จะมาเอาบุคคลผู้สิ้นอายุสังขาร ซึ่งเป็นหญิงสาวอายุ ๑๖ ปี เขาหมดเกษียณภพชาติแล้ว พวกข้าพเจ้าได้ไปทำลายธาตุขันธ์เขาให้สิ้นลมแล้ว เดี๋ยวเขาจะตามมาภายหลัง”
“พวกท่านคือนายนิรยบาลมาจากนรกจริงหรือ ?”
“จริง ! ผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองนรกเหมือนกับพวกข้าพเจ้านี้ เรียกว่า “นายนิรยบาล” นายนิรยบาลเปรียบเหมือนกับพลตำรวจ และมีจ่ายมบาลซึ่งเปรียบเสมือนท่านอธิบดีกรมตำรวจมีหน้าที่คอยควบคุมบัญชาการอีกที”
ถามเข้าไปอีกว่า “พวกท่านที่ได้ไปทำงานอยู่ในเมืองนรกนั้น ได้ทำคุณงามความดีหรือความชั่วอย่างไร ?”
เขาก็บอกว่า “ความดีทั้งหลายก็ทำ ความชั่วทั้งปวงก็ทำ ทำเอาหมดทั้งนั้นไม่เลือก เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว กรรมดีและกรรมชั่วนั้น จึงนำพาไปอุบัติบังเกิดเป็นนายนิรยบาล ผู้มีหน้าที่ต้องทำงานอยู่ในเมืองนรกอันหฤโหด”
จากนั้นก็ได้ถามเขาต่ออีกว่า “นรกอยู่ที่ไหนเล่า ?”
“เมืองนรกอันร้อนระอุนั้น อยู่ใต้ภูเขาเทวดาลงไป เป็นอีกเมืองหนึ่งต่างหาก ตั้งอยู่ระหว่างกึ่งกลางของทั้ง ๓ จังหวัด คือ เลย ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์”
“นรกนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ประการใดเล่า ?”
“เป็นทุกข์ล้วนๆ หาความสุขไม่มีแม้แต่น้อยหนึ่ง”
“เป็นทุกข์อย่างไร ในดินแดนแห่งโลกนรกนั้น ?”
“ทุกข์เพราะถูกต้มด้วยน้ำร้อน และถูกสังหาร ด้วยหอกด้ามกล้า พร้าด้ามคม ของนายนิรยบาล เป็นทุกข์อย่างนั้น หาสุขไม่มีแม้เศษเสี้ยววินาที”
“พวกท่านที่ทำงานอยู่ในเมืองนรกนั้นเล่า ! เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ร้อน ด้วยเหตุผลประการใดบ้าง ?”
“เป็นทุกข์ครึ่งหนึ่งของบรรดาสัตว์นรกเหล่านั้น”
“เป็นทุกข์อย่างไร ? ขณะที่ต้องลงโทษสัตว์นรก”
“เป็นทุกข์ในขณะที่ไปสังหารสัตว์นรก ตรวจตราสัตว์นรก ถูกไฟนรกปลิวขึ้นมาไหม้ ถูกน้ำร้อน กระเด็นขึ้นมาลวกเจ็บแสบแทบจะตาย นี่เป็นเพราะกรรมชั่วที่สะสมไว้เมื่อครั้งยังชาติเป็นมนุษย์โน้น จึงให้ผลเป็นทุกข์อย่างนั้น ครั้นพอเลิกจากงานในเมืองนรก ก็กลับมาอยู่ปราสาทราชมณเฑียร กินของทิพย์อยู่สุขสบาย เพราะบุญกรรมดี สะสมไว้แต่ครั้งเมื่อยังมีชาติเป็นมนุษย์นั้น”
“คนเมืองไทยนี่ ! คงจะไปนรกกันหมดใช่ไหม ?”
“เปล่า ! คนที่มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และศีลธรรมอันดีงามนั้น ไม่ได้ไป ถึงไปแล้วก็ไม่ได้ลงนรก”
“แสดงว่าคนไทยนี้ ไม่ว่าอยู่ใกล้ไกล เมื่อตายแล้ว พวกท่านต้องไปนำเขามาทั้งหมด ใช่หรือไม่ ?”
“ใช่ ! คนในเมืองไทยนี้ ไม่ว่าชาติใด ? ภาษาใด ? ศาสนาใด ? ทั้งนั้น มีรายชื่ออยู่ในบัญชีทิพย์ของจ่ายมบาลทั้งหมด เป็นระบบสากล เขาไปจดไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในที่ลี้ลับซับซ้อนอย่างไรก็ตาม จะโกหกพกลมไม่ได้ทั้งนั้น”
ได้ถามเขาไปอีกว่า “นรกมีมากน้อยเท่าไหร่ ?”
เขาก็ตอบว่า “เฉพาะในเมืองไทยนี่ก็มีหลายขุมทั้งหมดรวมมี ๔ ภาคก็คงจะ ๔ ขุมใหญ่ๆ นั่นแหละ!”
อาตมาก็เคยเห็นใน “มหาวิบากสูตร และใน พระมาลัยสูตร ได้กล่าวว่านรกมีทั้งหมด ๔๕๗ ขุม”
ทีนี้ก็เลยถามเขาไปต่ออีกว่า
“เอาเฉพาะในเมืองไทยนี่แหละ ! เพราะต่างคนต่างอวดว่า ศาสนาของตัวนั้นเป็นของดีเลิศประเสริฐแท้ ศาสนาพุทธก็ว่า ผู้ถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว อบายไม่ได้ไป ไฟนรกไม่ได้ไหม้ ส่วนศาสนาอื่นๆ เขาก็ว่า ฆ่าสัตว์ไม่บาป และไปสวรรค์ได้ เมื่อทำบาปหยาบช้าทั้งปวงลงไป พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์นั้น จะเป็นผู้รับแทนทั้งหมด และว่าพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์เป็นผู้สร้างโลก มันจะเป็นจริงอย่างที่เขาว่านั้นหรือไม่ ?”
“ไม่หรอกท่าน ! พูดอย่างนั้นก็เป็นเรื่องของคนหูหนวก ตาบอดพูด พูดหลอกลวงโลกและคนอื่นให้หลงตามกันเท่านั้น เพราะเมื่อทำความชั่วลงไปแล้วก็ต้องได้รับผลของความชั่วนั้น และเมื่อทำความดีลงไปแล้วก็ต้องได้รับผลของความดีนั้น เรื่องของกรรมดีหรือบุญนั้น จะส่งผลให้เห็นว่า ทางไปมนุษย์และสวรรค์สะอาดเตียนดี เหมือนกับเขาถางไว้ให้เรียบร้อยดีแล้ว ส่วนเรื่องของบาปหรือกรรมชั่วนั้น จะส่งผลให้เห็นไปว่าทางไปนรกนั้นสะอาดเตียนดี เปลวไฟในนรกที่ลุกรุ่งโรจน์ก็สำคัญว่าเป็นกองดอกไม้อันงดงาม สัตว์ทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ เลือดอาบตัวอยู่ ก็สำคัญว่าเป็นสายสร้อยสังวาล สนุกสนานรื่นเริงบันเทิง นั่นก็เป็นเพราะบาปกรรมทำให้เห็นเป็นอย่างนั้น ส่วนทางไปมนุษย์หรือไปสวรรค์นั้น กลับมองเห็นว่าเป็นป่ารกชัฏ เป็นขวากหนามนั่นแหละ เรื่องบาปเป็นเช่นนั้น !”
ได้ซักถามเขาผู้ทำหน้าที่นายนิรยบาลต่อไปอีกว่า
“สัตว์ทั้งหลายต่างศาสนากัน เมื่อตายไป และถูกท่านนำไปสู่เมืองนรกอันหฤโหดแล้ว ทำอย่างไรต่อไป ?”
เขาตอบว่า “เมื่อถึงสถานที่นั้นแล้ว จ่ายมบาลจะถามว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทำงานใดเลี้ยงชีพ ? บางคนก็ตอบว่าค้าขายบ้างก็ว่าทำไร่ ทำนา บ้างก็ว่ารับราชการต่างๆ กันไป”
จากนั้นจ่ายมบาลจะถามต่อไปว่า “นับถือศาสนาอะไร ?”
บางพวกก็ตอบว่า ศาสนาพุทธ บางพวกก็ตอบว่า ศาสนาคริสต์ อิสลาม ซิกส์ และ ฮินดู แตกต่างไป
ทีนี้จ่ายมบาลจะถามถึงเทวทูตทั้ง ๕ (ทูตะ แปลว่า เครื่องส่ง เครื่องรับรอง) คือ
๑. ชาติ ความเกิด
๒. ชรา ความแก่
๓. พยาธิ ความปวดไข้
๔. มรณะ ความตาย และ
๕. นักโทษในเรือนจำนั้น ท่านพิจารณาเห็นเป็นไปอย่างไร ?
โดยถามไปทีละศาสนา ตอนแรกก็จะถามศาสนาพุทธก่อน ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธทั้งหญิงชายก็ตอบว่า “เป็นทุกข์” ทั้งนี้เพราะอำนาจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นฝังอยู่ในใจของเขา จึงดลบันดาล จิตให้เป็นปราชญ์ ฉลาดรู้สิ่งทั้งปวงนั้น โดยไม่เก้อเขิน ไม่เดือดร้อนอาทรใจ องอาจกล้าหาญชาญชัยอย่างนั้น นับเป็นโชควาสนาของพุทธศาสนิกชน
ต่อจากนั้นจ่ายมบาลท่านก็จะถามอีกว่า “วัตร ๖ กก ๕ และ สีมาทั้ง ๘ นั้นเป็นอย่างไร ?”
ตลอดจนหลักของพุทธศาสนาอื่นๆ อีก เช่น วัตร ๓ วัตร ๔ วัตร ๕ วัตร ๖ โพชฌงค์ ๗ สมถะวิปัสสนากรรมฐาน และ ศีล สมาธิ ปัญญา ท่านทั้งหลายพิจารณาหลักการเป็นอย่างไร ?”
ด้วยอำนาจของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฝังอยู่ในใจของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ เขาก็ตอบได้ศาสนาพุทธสอนว่า “เป็น อนิจจตา ไม่เที่ยงทุกขตา ก็เป็นทุกข์ อนัตตา ก็ไม่ใช่ของเขาไม่ใช่ของเรา ทั้งหมดทั้งสิ้น”
“วัตร ๖ คือ อินทรีย์ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ศาสนาพุทธสอนว่าให้สำรวมให้ดี
ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม กายจับต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง มโนน้อมนึกในธรรมารมณ์นั้นๆ ศาสนาพุทธสอนให้สำรวมให้ดี ไม่ให้ยินดียินร้ายในของเหล่านั้น ถ้ายินดียินร้ายก็เป็นเหตุให้ใจเศร้าหมองเป็นทุกข์แน่นอนเพราะ “ล้วนเป็นของไม่จีรัง”
“วัตร ๗ คือ โพชฌงค์ ๗ เป็นองค์เครื่องตรัสรู้ ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพื่อความรู้ยิ่ง
“วัตร ๗ คือ อริยทรัพย์ ๗ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และปัญญา
“สีมา ๘ คือ มรรค ๘ เป็นเครื่องดำเนินให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ มรรค ๘ ได้แก่
· สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
· สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ
· สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ
· สัมมากัมมันโต การงานชอบ
· สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ
· สัมมาวายาโม เพียรละบาป บำเพ็ญบุญชอบ
· สัมมาสติ ระลึกชอบ
· สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ
“มรรค ๘” เป็นคำสอนขององค์พระพุทธเจ้า ผู้ใดดำเนินตาม จะนำให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ ไปจนถึง “ปรมัตถสุข” คือ พระนิพพาน เป็นที่หมายแล้ว สมถวิปัสสนากรรมฐานเป็นที่ตั้ง สำหรับฝึกกายและจิตให้จิตมีสติ มีปัญญา นำจิตเข้าสู่ความสงบได้ และเป็นเครื่องกลั่นกรองกิเลสทั้งหมดออกจากดวงจิตได้ นั่นและ ผู้ที่มีใจนับถือศาสนาพุทธ เขาก็ตอบได้ถูกต้องทุกอย่าง
จากนั้นจ่ายมบาลจึงว่า
“พวกท่านเป็นนักปราชญ์ฉลาดรู้ รู้จักศาสนาที่ดี เป็นศาสนาที่ล้างบาป เป็นศาสนาที่กลั่นกรองกิเลสได้จริง เป็นศาสนาที่บำเพ็ญบุญกุศลคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้น เป็นศาสนาที่ป้องกันโลกคือหมู่สัตว์ไม่ให้ไปอบาย ถึงไปก็ไม่ได้เสวยทุกข์วิบากในอบายนั้น ฉะนั้น พวกท่านจึงไม่ต้องไปตกนรก แต่จะได้กลับไปเกิดในเมืองมนุษย์อีก”
นี่แหละ ! เพราะอำนาจของ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า และศีลธรรมที่ได้ประพฤติปฏิบัติหมั่นเพียรอุตสาหะ ละเว้นทุจริต กาย วาจา ใจ ด้วยความเคารพศรัทธาเลื่อมใสนั้นติดตามรักษาอยู่เป็นนิจ จึงสมกับคำกล่าวที่ว่า “ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะ จาริง” ผู้ประพฤติธรรม ธรรมย่อมรักษา ไม่ให้ตกไปในโลกที่ชั่ว”
“ธัมโม สุจิณโณ สุขะมาวะหิต ธรรมที่ประพฤติปฏิบัติมั่นคงดีแล้ว ทั้งกาย วาจา ใจ อบายไม่ได้ไปแน่นอน ไฟนรกไม่ได้ไหม้ จะมีแต่สุคติเป็นที่ไปล้วนๆ”
จากนั้นจ่ายมบาล ก็สั่งให้นายนิรยบาลนำผู้ที่เคารพนับถือศาสนาพุทธนั้น กลับไปเกิดยังเมืองมนุษย์อีก
ต่อมา จ่ายมบาลก็หันมาซักถามผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ ว่า “ศาสนาของท่านสอนอย่างไร ?” ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ นั้นก็ตอบว่า “ไม่รู้” จ่ายมบาลก็ถามเรื่อง วัตร ๖ กก ๕ สีมาทั้ง ๘ และหลักสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ก็ตอบเขาไม่ได้เลย
ดังนั้นจ่ายมบาลจึงว่า
“พวกท่านทั้งหลาย ! เหตุจะถูกหรือผิดก็เป็นเรื่องของพวกท่านเอง วันนี้จะได้ลงนรกแล้ว เพราะผลที่ทำทั้งทางกาย วาจา ใจ ทุกอย่างเป็นกรรมของพวกท่านทำเอง”
“อัตตะนา วะ กะตัง ปาปัง อัตตะนา สังกิลิสสะติ อัตตะนา อะกะตัง ปาปัง อัตตะนา วะวิสุชฌะติ ทำบาปเองย่อมเศร้าหมองเองนะ ความหมดจดและความเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะยังคงคนอื่นให้หมดจดและเศร้าหมองนั้น หาได้ไม่”
ฉะนั้น บุญก็ดี บาปก็ดี ตนของตนเองนะเป็นผู้สะสมใส่ตนไว้แล้วนั้น บุญนั่นแหละ จะนำพาไปสู่สุคติ คือ สวรรค์ ส่วนบาปนั้นจะพาดวงจิตของโลกคือหมู่สัตว์ไปสู่ทุคติ มีอบายภูมิเป็นที่ไปเบื้องหน้า คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ๔ สถานนี้เป็นที่ไปของบุคคลผู้ทำบาป ไม่มีศีล ไม่มีธรรม
ฉะนั้น พวกท่านวันนี้จะได้ลงนรกแน่นอน ! ไม่ได้กลับเมืองมนุษย์แล้ว เพราะเครื่องรับรองป้องกัน คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีในหัวใจของพวกท่าน ศีลธรรมคำสอนของนักปราชญ์ผู้ดีทั้งหลาย ไม่มีในหัวใจของท่าน พวกท่านเป็นโมฆะมนุษย์ เพราะเมื่อไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ไปพบกับคนพาลสันดานหยาบ ชักนำให้ทำความชั่วช้าลามก ถือศาสนาผิด ศาสนามหาโจรใหญ่นั่นแหละ หลอกลวงตนและบุคคลอื่น ทำความชั่วอยู่เป็นนิจ เพราะครูผู้สอนนั้นก็ล้วนแต่เป็นคนมีกิเลสหนาปัญญาหยาบทั้งนั้น
“เอ้า ! นายนิรยบาลคุมตัวไปลงนรก !”
นั่นแหละไปเสวยวิบากกรรมในนรกขุมนั้นนานเท่าใด ? แล้วแต่กรรมของสัตว์นั้นว่ามีมากน้อยเพียงใด ? บางจำพวกก็หมื่นปี บางจำพวกก็แสนปี ถูกต้มด้วยน้ำร้อน และถูกสังหารด้วยหอกด้ามกล้า พร้าด้ามคมของนายนิรยบาล เป็นทุกขืไปจนกว่าจะพ้นจากสถานที่นั้น เมื่อพ้นจากนรกแล้วไปไหนอีก ?
พ้นจากนรกก็ไปเป็นเปรต พ้นจากเปรตแล้วไปเป็นอสุรกายแล้วไปเป็นเดรัจฉานต่างๆ นานา ท่องเที่ยวเกิดดับในภพน้อยภพใหญ่ ใช้กรรมใช้เวรอยู่อย่างนั้นไม่มีวันจบสิ้นได้ เป็นทุกข์ยากแสนลำบาก เข็ญใจ ไร้ทรัพย์ อับปัญญา เพราะความดีของตนไม่มี
นั่นแหละ ! นายนิรยบาลได้เล่าเรื่องต่างๆ ในเมืองนรกให้ฟังอย่างนั้น และก่อนจะจากไป เขาก็บอกว่า
“ท่านอาจารย์ บวชในพุทธศาสนาแล้ว ก็จงไปเทศน์แนะนำพร่ำสอนพี่ป้าน้าอา ให้เขาทั้งหลายเอา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งเด๊อ ! บำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา อย่าได้ลดละ ชีวิตร่างกายล้วนแต่เสื่อมสลาย
พิจารณาธาตุขันธ์ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่เสมอ จึงจะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยินดีในโลกสงสารอีกต่อไป จิตใจจะเห็นว่าธาตุขันธ์ไม่พอกับความต้องการ ไม่นานก็จะพลัดพรากกันไปเท่านั้น
แล้วให้เร่งรีบ “ตุริตุ ตุริตัง สีฆะ สีฆัง” รีบด่วนเร็วพลัน อย่าผัดวันประกันพรุ่ง รีบสะสมแต่บุญกุศล ทาน ศีล ภาวนา เดินจงกรม ยืนภาวนา และนั่งสมาธิ กอบโกยเอาบุญกุศลใส่ตนไว้ จะมากจะน้อยปราณีตปานใด ก็เป็นของเราหมด อันนั้นแหละเป็นของดีเลิศประเสริฐแท้
สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ด้วยน้ำใสใจจริง แม้เพียงน้อยนิด ถึงไปแล้วก็ไม่ได้ตกนรกเป็นแน่นอน
ส่วนผู้ที่นับถือมากนั้นไม่ได้ไปนรก เพราะรายชื่อในบัญชีของจ่ายมบาลก็ถูกลบออกไปหมด เมื่อตายแล้ว เขาเหล่านั้น มีสวรรค์และพรหมโลกเป็นที่ไปเบื้องหน้า สำหรับผู้บุญพาวาสนาส่งสะสมบุญกุศลไว้มาก ตั้งแต่ชาติปางก่อนโน้น ! และมาชาตินี้ได้ประสบพบปะกับนักปราชญ์ ชาติเมธี ใจดีมีศีลธรรม แล้วก็ประพฤติวัตรปฏิบัติบำเพ็ญสมถวิปัสสนากรรมฐานยังจิตใจเข้าสู่อุปจารธรรมได้ และวิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น พิจารณาเห็นทุกข์ในภพน้อยภพใหญ่ ก็ล้วนมีแต่ตาย เกิดเท่าไหร่ตายเท่านั้น ไม่เว้นแม้คนเดียว ตายแล้วก็เปื่อยเน่าสาบสูญ ไม่มีอะไรเป็นเขาเป็นเราเลย
นั่นแหละ ก็รื้อถอนกิเลสออกจากดวงจิต หมดเหตุหมดปัจจัยเมื่อไร ? ก็จะได้บรรลุวิมุตติวิโมกธรรมอันยิ่งใหญ่ ได้ชื่อว่าเป็น “นิยโตมนุษย์” มนุษย์อันเยี่ยมเลิศ ประเสริฐแท้ ! เมื่อพวกเขาเหล่านั้น ดับขันธ์แล้วเข้าสู่พระนิพพาน พ้นทุกข์จากโลกสงสาร ไม่กลับมาเวียนเกิดเวียนตายอีก ไม่ต้องประสบความทุกข์ตลอดกาลนานหมดเพียงแค่นั้น” จากนั้นพวกนายนิรยบาลก็ลาจากไป
ต่อมาไม่นาน มีหญิงสาวคนหนึ่งเดินออกจากบ้านเฉลียงลับมาถึงก็กราบแล้วพูดว่า “ท่านอาจารย์ ! ดิฉันหมดเกษียณภพชาติมนุษย์ จะได้ไปสู่เมืองนรก ใจร้อนเหมือนไฟ ขออนุโมธนาส่วนบุญกับท่านบ้างเถอะ” ก็เลยอุทิศส่วนบุญให้ว่า “แม่หนูน้อยจงตั้งใจยินดีในการโมทนารับส่วนบุญกับหลวงพ่อนะ ! บุญกุศลทั้งปวงที่ได้บำเพ็ญมา ขอแบ่งครึ่งให้นะ แม่หนูน้อยจงตั้งใจโมทนารับเอาไปเถิด”
“สาธุ !” แล้วเขาก็ถามว่า
“ใจร้อนๆ เมื่อได้รับส่วนบุญจากหลวงพ่อแล้วใจก็เย็นสบายดี จะไปตกนรกไหมหนอ ?”
“ไม่ตกหรอกแม่หนูน้อย ! จงบริกรรม พุทโธ ธัมโม สังโฆ เสมอ อย่าได้ลดละ อย่าได้ประมาท เมื่อไปถึงนรกแล้ว จ่ายมบาลเขาจะซักไซ้ไต่ถามเรื่องเทวทูต ๕ และอำนาจของพุทโธ ธัมโม สังโฆ ที่ฝังอยู่ที่จิตใจของแม่หนูน้อยนั้น จะตอบได้โดยเร็วพลัน สมบัติทั้งหลาย ทั้งปวงนั้นล้วนเกิดขึ้นจาก พุทโธ ธัมโม สังโฆ ทั้งนั้น”
เขาก็ว่า “เจ้าค่ะ” จากนั้นก็กราบ ๓ ที แล้วขอลาออกเดินทางตามนายนิรยบาลไป ก็จดจำรูปร่างลักษณะของแม่หนูน้อยคนนั้นไว้ เป็นคนผิวขาว ไว้ผมยาว ใบหน้ารูปใบโพธิ์ สวมเสื้อผ้ากลางเก่ากลางใหม่ มีผ้าขาวเฉลียงบ่า นุ่งผ้าซิ่นมีลวดลายที่ปลายทั้งสอง ขณะนั้นเป็นเวลาตี ๓ กว่าแล้ว จิตก็เลยถอน จิตถอนออกแล้วได้ยินเสียงร้องไห้มาจากบ้านเฉลียงลับ วัดกับบ้านอยู่ไม่ไกลกัน
พอตื่นเช้าก็ออกบิณฑบาต พอกลับมาถึงวัด ก็มีโยมทายกนำอาหารอันประณีตมาถวาย แล้วจึงพูดว่า “ท่านอาจารย์ครับ ! เมื่อคืนลูกสาวของข้าพเจ้า เธอได้ขาดใจตายเสียแล้ว เมื่อเวลาประมาณตี ๓”
เมื่อคืนนี้ตอนที่หญิงสาวไปหาในนิมิตนั้น ก็เป็นช่วงระยะเวลาตี ๓ พอดี ตรงกันนะ ! เลยพูดกับโยมไปว่า
“อาตมาเพิ่งมาอยู่ใหม่ ไม่เคยพบเห็นลูกสาวของโยม แต่ก็จะแถลงไขให้ทราบ ลูกของโยมคนนั้นหมดเกษียณภพชาติเพียงแค่นั้น เพราะบุญเก่าเขาเอามาน้อย มีนายนิรยบาล ๘ คน มาเอาตัวไป พวกนายนิรยบาลก็มาสนทนากับอาตมาอยู่ที่วัดนี้แหละ เขาบอกว่า หญิงสาวอายุ ๑๖ ปี หมดเกษียณภพชาติเพียงแค่นั้น ทีนี้ลูกสาวของโยมเป็นคนผิวขาว ไว้ผมยาว ใบหน้ารูปใบโพธิ์ สวมเสื้อกลางเก่ากลางใหม่ มีผ้าเฉลียงบ่า นุ่งผ้าซิ่นมีลายคล้ายงูเหลือมใช่ไหม ?”
“ใช่แล้ว ! มันไม่ผิดหรอก ถูกต้องตรงทุกอย่าง”
“ลูกของโยม ! เป็นคนมีกิริยามารยาทดูงดงาม เรียบร้อย สุภาพ มีท่าทางเป็นนักปราชญ์ใช่ไหม?”
“ใช่แล้ว ! ลูกของข้าพเจ้าเมื่อเกิดมาพอรู้เดียงสา ถ้าไม่ได้ทำบุญแล้วจะไม่ยอมไปโรงเรียน ไม่ว่าจะมีงานบุญบวช บุญกฐิน หรือบุญอะไรที่ไหน ? ใกล้หรือไกล ที่บ้านน้อยเมืองใหญ่ เป็นต้องไปร่วมทั้งนั้น บางทีก็ไปนานเป็น ๑๐ วัน ๒๐ วัน แล้วกลับมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พ่อแม่ไม่ว่าอะไร ? เคยถามเขาว่า ทำไมจึงทำอย่างนี้ ?”
ลูกก็ตอบว่า “พ่อแม่นี้เป็นสมบัติเบื้องหน้า สมบัติข้าวของเงินทองก็เป็นสมบัติมาหาได้ไม่ ไม่ใช่สมบัติติดตามมาแต่ภพชาติปางก่อนโน้น ภพชาติปางก่อนโน้นของฉันเป็นเหตุ ถ้าฉันดีแล้ว อะไรๆ ก็ดีหมด พ่อแม่ดี ถ้าฉันชั่วแล้วอะไรก็ชั่วหมดทั้งนั้น ฉะนั้น ฉันจึงไม่หวั่นไหวเห็นว่าบุญกุศลให้ผลเป็นสุข พาให้พ้นทุกข์นั้นแหละ จะส่งผลมาให้ได้พ่อแม่ที่ดี ไม่อด ไม่อยาก ไม่ยาก ไม่จน เพราะกรรมดีของตนสะสมไว้แต่ปางก่อนโน้น มาชาตินี้จึงมาได้พ่อแม่ที่ดี ส่วนสมบัติข้าวของเงินทองก็เป็นสมบัติมาหาได้ไม่ ไม่นานก็จะจากกันไปเท่านั้น แล้วก็ทอดทิ้งไว้ เอาไปด้วยไม่ได้ทั้งสมบัติภายในและภายนอก”
นั่นแหละ ! พอฉันเช้าเสร็จแล้วเขาก็นิมนต์ไปทำพิธีเพื่อเผาศพลูกสาวของเขา ไปแต่เช้าเลยนะ ถามเขาว่า
“ทำไมจึงได้รีบเผาแต่เช้า ?” จะรีบร้อนไปไหน ?”
เขาก็ว่า “ต้องรีบปลงภาระหนัก เจ้าของร่างเขาปลงภาระหนักไปเรียบร้อยแล้ว เราผู้ยังอยู่ก็ต้องรีบปลงภาระหนัก เมื่อเสร็จแล้ว ต่างคนก็ต่างหมดภาระหนัก”
เมื่อไปถึง เปิดฝาโลงดูก็เห็นศพมีรูปร่างเหมือนอย่างที่เขาไปหาในนิมิตเมื่อคืนนั่นแหละ พอทำกิจพิธีทุกอย่างเสร็จแล้ว ก็เผาทิ้งไม่มีอะไร ? หมดเพียงแค่นั่นแหละ ! ดีหรือชั่วก็หมดเพียงแค่นั้นจริงๆ ถูกไฟเผา แล้วก็หมดทุกอย่าง นี่แหละไปเห็นเป็นอย่างนั้น ก็น่าอัศจรรย์ใจนะ ! เห็นว่านรกนั้นมีแน่นอน เพราะได้เห็นทูตานุทูตคือนายนิรยบาล เป็นผู้ส่งข่าวสารให้ทราบ พร้อมทั้งมีคนตายให้เห็นเป็นพยานอีกด้วย ก็สิ้นสงสัย
ที่มา: thammadeedee.blogspot.com/2011/01/blog-post_12.html